30 มิถุนายน 2567

ยุทธศาสตร์ของการเป็นพี่เลี้ยง (Coach)

ภาพวันนี้ / อุปกรณ์กีฬาสว.

หมายเหตุก่อนเริ่มเรื่อง: ช่วงนี้เว็บไซท์ drsant.com ถูกแฮ็ก เข้าใจว่าจะมาขโมยเอาข้อมูลผู้ป่วยของหมอสันต์ไปหลอกขายยาเถื่อน แต่ว่าหมอสันต์ไม่ได้เก็บข้อมูลผู้ป่วยไว้ในเว็บ จึงรอดตัวไป ตอนนี้ทาง IT เขาแก้ไขให้ปกติได้แล้ว ขออำไพที่การใช้เว็บอาจติดขัดในสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ

(หมอสันต์พูดกับแพทย์และทีมงานสาธารณสุขในการประชุมแห่งหนึ่ง ผมเอามาลงให้อ่านเผื่อท่านผู้อ่านจะเอาไปใช้ประโยชน์ในการโค้ชตัวเองหรือคนใกล้ชิด)

“..ก่อนจะตอบคำถามหมอฟ้า ผมขอพูดตรงนี้นิดหนึ่งก่อนนะ เป็นควันหลงจากการเพิ่งได้ยินคำว่า..วิสัยทัศน์

ในการจะช่วยให้คนไข้โรคเรื้อรังเปลี่ยนนิสัยอย่างที่ผมบอกแล้วว่าเราต้องไม่ใช้วิธีฝึกอบรมสอนสั่งจี้จิก แต่เราต้องใช้วิธีโค้ช

วิธีโค้ชมีรากมาจากทฤษฎีการเปลี่ยนนิสัยที่ได้ผลดีที่สุดที่เรียกว่า Motivational Interview หรือ MI ซึ่งผมขอแปลว่า การสนทนาเพื่อชี้ให้เห็นความบันดาลใจ

ซึ่งในการจะทำอย่างนี้ได้เขาก็มียุทธศาสตร์ของเขาอยู่เหมือนกัน ซึ่งมีสี่อย่าง เขียนย่อว่าเคป CAPE

C ก็คือ Compassion หรือ เมตตาธรรม

ท่านอาจจะงงว่าวิชาเปลี่ยนนิสัยมาเกี่ยวอะไรกับเมตตาธรรม คือมันมีที่มาว่าทฤษฎี MI นี้มันได้มาโดยบังเอิญจากการที่เขาพยายามทำวิจัยวิธีอื่นในการเปลี่ยนนิสัยผู้เสพย์ติด แล้วพบว่าวิธีที่เขาตั้งใจจะใช้นั้นมันไม่ได้ผลเลย แต่เมื่อเอาข้อมูลมาดูในรายละเอียดมันมีอะไรที่น่าทึ่งซ่อนอยู่ เช่นผู้ป่วยที่ผ่าน therapist (นักบำบัด) บางคน มีอัตราเปลี่ยนนิสัยได้สำเร็จถึง 80% ขณะที่ส่วนใหญ่มีอัตราสำเร็จอยู่ระดับ 0% หรือใกล้ 0 เขาจึงเอาเทปวิดิโอที่ถ่ายไว้ขณะทำวิจัยมาวิเคราะห์ดูเพื่อพยายามหาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการเปลี่ยนนิสัยสำเร็จ กับท่าทีบางท่าทีหรือคำพูดบางคำของนักบำบัด ก็พบว่าท่าทีเอาใจใส่อย่างจริงใจมีเมตตา และคำพูดที่ส่อไปทางเอื้ออาทรเมตตาปราณีของนักบำบัด มีความสัมพันธ์สูงมากกับการเปลี่ยนนิสัยสำเร็จของผู้ป่วย มันจึงเป็นที่มาว่าทำไมหลักเมตตาธรรมจึงเป็นหลักข้อแรกของทฤษฎี MI

คำว่าเมตตาธรรมนี้พวกเราอย่าเหมาเอาง่ายๆว่าเออรู้จักละ แต่ในงานวิจัยนี้มันสกัดมาจากชิ้นย่อยๆหลายชิ้น คือ

Trust การให้ความเคารพนับถือ หรือเชื่อถือ ผู้ป่วยซึ่งเป็นศิษย์ของเราในการโค้ช

Care คือการเอาใจใส่ดูแลอย่างนุ่มนวลจริงใจ

Listening คือการฟังอย่างตั้งใจ ย้ำ การที่เราตั้งใจฟังเขาด้วยความอยากรู้จริงๆว่าเขาคิดอะไร รู้สึกอย่างไร นี่ก็เป็นเมตตาธรรม

Reflection หรือการสะท้อนคำพูด คือการที่เราเอาคำพูดของเขามาสะท้อนพูดใหม่ในลักษณะที่ให้เขามองเห็นความเห็นใจหรือความเข้าอกเข้าใจที่เรามีต่อเขา นี่ก็เป็นเมตตาธรรม

Psycho-support หมายถึงการพยุงทางจิตวิทยาที่พวกเรารู้จักดีอยู่แล้ว 

คราวนี้มายุทธศาสตร์ที่สองในสี่ตัว CAPE คือตัว

A คือ Acceptance แปลว่า การยอมรับ ซึ่งมีนัยสำคัญในสี่ประเด็นซึ่งเขียนย่อยว่าอิ๊คค่า (ICCA) คือ

  • เรายอมรับ Identity หรืออัตตาของเขา คือคนเรามันเป็นธรรมชาติที่จะต้องทนงในศักดิ์ศรีของความเป็นคนของตัวเอง เรียกภาษาบ้านๆว่า อะไรดีนะ.. ความงี่เง่าที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เราเป็นโค้ช ถ้าเราไม่ยอมรับความงี่เง่าของเขา เราจะโค้ชเขาไม่ได้
  • เรายอมรับ Choice หรือการตัดสินใจเลือกของเขา คือในการโค้ชเราให้เขาเลือกเองว่าจะเลือกทำอะไร จะเอาอะไรเป็นเป้าหมาย จะทำมากแค่ไหน บางครั้งศิษย์เลือกขึ้นมา เราดูแล้วรู้ทันที โห..เป็นไปไม่ได้ดอก ทำไม่ได้แหงๆ แต่เราจะต้องยอมรับเพราะมันเป็นการเลือกของเขา อย่างน้อยเราก็ยอมรับโดยเชิญชวนให้เขามองว่ามันเป็นการเรียนรู้ลองผิดลองถูก แต่เราต้องยอมรับการเลือกของเขา
  • เรายอมรับ Capability หรือความสามารถของเขา เขาสามารถทำได้แค่นี้เราก็ยอมรับแค่นี้ เขาทำได้แค่ไหนเรายอมรับแค่นั้น
  • เรายอมรับเขาแบบ Absolute worth คือยอมรับว่าเขาเป็นชีวิตที่มีคุณค่าและมีความหมายอย่างสมบูรณ์หรืออย่างไม่มีข้อแม้ ถ้าใจเราไปมองศิษย์ว่าเป็นคนไร้ค่าเป็นขยะสังคมเปลืองภาษีราษฎร การโค้ชของเราก็จบตั้งแต่ยังไม่ทันได้เริ่มแล้ว

คราวนี้มายุทธศาสตร์ตัวที่ 3 จาก 4 ตัว CAPE คือตัว

P ย่อมาจาก Partnership หรือเป็นหุ้นส่วนกัน หมายความว่าในการโค้ชศิษย์นี้มันไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบหมอกับคนไข้ที่หมอเป็นผู้เชี่ยวชาญรู้หมดคนไข้เป็นคนไม่รู้เรื่องอะไรเลยและมีแต่จุดอ่อนให้หมอคอยชี้และจี้จิก มันไม่ใช่อย่างนั้น มันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างหุ้นส่วนสองคนที่เท่าเทียมกับ มาลงเรือลำเดียวกัน (engagement) เพื่อทำเป้าหมายร่วมกันให้สำเร็จเหมือนหุ้นส่วนสองคนมาตั้งห้างหุ้นส่วนทำการค้าด้วยกัน เราอาจถือตัวว่าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญรู้วิธีช่วยคนให้เปลี่ยนนิสัยได้ โอเค. แต่เราก็ต้องยอมรับว่าศิษย์เขาก็เป็นผู้เชี่ยวชาญเหมือนกัน คือเชี่ยวชาญเรื่องชีวิตของเขา รู้ตัวเองว่าเขาทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ คือการโค้ชเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญสองคนมานั่งทำงานด้วยกัน

ตัวย่อตัวสุดท้ายคือตัวที่สี่ จาก CAPE คือตัว

E ย่อมาจาก Evocation ซึ่งผมแปลว่าการชี้หรือเปิดประเด็นให้เห็นความบันดาลใจในตัวของศิษย์ ตรงนี้เป็นสุดยอดของวิชาโค้ช ซึ่งต้องมาเรียนมาฝึกปฏิบัติ ในภาพใหญ่ก็คือความบันดาลใจที่อยู่ในใจของเขาอยู่แล้ว เป็นพลังชีวิต เป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้สำเร็จแต่ผู้เดียว ถ้าเราหยิบตรงนี้ออกมาวางบนโต๊ะให้ลูกศิษย์เห็นความบันดาลใจที่อยู่ในใจเขาได้ เขาก็จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้สำเร็จ วิธีการที่เราจะหยิบความบันดาลใจของเขาออกมาวางบนโต๊ะสนทนากันได้เราอาศัยเครื่องมือสองอย่างคือ (1) การตั้งใจฟังเขาพูดแล้วกลั่นเอาความบันดาลใจที่ฝังแฝงอยู่ในคำพูดออกมาพูดสะท้อน และ (2) การยิงคำถามเพื่อให้เขาตอบแบบตอบแล้วเห็นความบันดาลใจของตัวเอง

ในการยิงคำถามนี้มันมีกรอบเนื้อหาที่จะถามเขียนย่อว่า DARN

ตัว D ย่อมาจาก Desire ก็คือความอยากของเขา ซึ่งเราไม่ถามตรงๆดอก เช่นเราให้เขาเล่าชีวิตของเขาให้ฟังในชีวิตนี้เขามีความมุ่งมั่นอะไร อยากได้อะไร อยากทำอะไร แล้วเราก็กลั่นเอาเนื้อหาออกมาจากคำตอบนั้น

ตัว A ย่อมาจาก ability ก็คือความสามารถของเขาในมุมมองของเขาเอง เพราะคนเรามองตัวเองว่าเก่งประมาณไหน แรงบันดาลใจก็อยู่ประมาณนั้น บางคนหล่นไปอยู่ในหลุมพรางของการดูถูกตัวเองก็เป็นอันจบเห่เปลี่ยนตัวเองไม่ได้เลยเพราะเชื่อว่าตัวเองไม่มีน้ำยา ไม่สามารถ โค้ชมีหน้าที่ชี้ให้เขาเห็นว่าความเชื่อนั้นไม่จริงอย่างไร

ตัว R ย่อมาจาก Reason คือเหตุผลที่ทำให้เขาอย่างเปลี่ยนนิสัย

ตัว N ย่อมาจาก Need คือความจำเป็นที่ทำให้เขาต้องพยายามเปลี่ยนนิสัย

ทั้งหมดนี้มันอยู่ในใจของเขาอยู่แล้ว โค้ชมีหน้าที่หยิบมันออกมาวางให้เห็นชัดๆ แล้วศิษย์ก็จะใช้แรงบันดาลใจนั้นเปลี่ยนตัวเองได้สำเร็จ

ขอโทษที่แวะนอกเรื่องนานหน่อย เอาละ กลับมาตอบคำถามของหมอฟ้า..

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

27 มิถุนายน 2567

อุลตร้าซาวด์ปกติแต่ d dimer สูงจะเป็นลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (DVT) ได้ไหม

ภาพวันนี้ / มื้อกลางวัน สลัดทุกวันแต่ไม่เหมือนกันสักวัน สุดแล้วแต่ของเหลือในครัว

เรียนคุณหมอสันต์

พี่สาวดิฉันอายุ 76 ปี รักษาความดันโลหิตสูงอยู่ ราว 2 ปี เมื่อ 7 วันมานี้ มีอาการบวม ตั้งแต่เข่าขวา ลงมาที่น่อง และข้อเท้า มีอาการเจ็บแปล๊บเหมือนไฟช้อต เป็นแนวยาวด้านข้างจากเข่าลงมาที่น่อง อาการเจ็บไม่แน่ไม่นอน ดิฉันลองกดไปทั่วๆเข่าก็ไม่เจ็บ ไปหาหมอที่เวชศาสตร์ครอบครัว วินิจฉัยว่าหลอดเลือดดำอุดตันแบบเรื้อรัง ส่งตรวจD-Dimmer Test ได้ค่า 1770 ส่งฟิล์มเข่าทั้งสองข้าง และฟิล์มchest ผลลัพธ์ปอด หัวใจ เป็นปกติ เข่าเสื่อม แต่ไม่เกี่ยวกับอาการครั้งนี้ จึงส่งทำอุตราซาวด์หลอดเลือดตั้งแต่เข่าลงมา และส่งปรึกษาคุณหมอหลอดเลือด ผลไม่พบDVT แต่ซักประวัติตรวจร่างกายแล้วน่าจะมีการเสื่อมของหลอดเลือด จึงสั่งตรวจ CTA ตั้งแต่ขาหนีบ และช่องท้องทั้งหมด เพื่อหาตำแหน่งที่อุดตัน และจะได้สั่งการรักษาให้ตรงเป้า ดิฉันกังวลใจว่าถ้าไม่หาให้เจอว่าอุดตันตรงไหน อาจเกิดเหตุก้อนเลือดหลุดเข้าไปที่ปอด แต่นั่นคือหลอดเลือดดำ แต่ที่จะสั่งตรวจนี้น่าจะเป็นหลอดเลือดแดง ก็งงๆค่ะ

อยากได้ความรู้และความเห็นจากอาจารย์ค่ะ ดิฉันติดตามเพจของอาจารย์อยู่เรื่อยๆ และชอบที่อาจารย์ตอบตรงประเด็นดี ที่สำคัญอาจารย์มักจะไม่เน้นการ investigate ที่เกินจำเป็น กราบรบกวนด้วยค่ะ ดิฉันยังไม่ได้ไปนัดทำ CTA หมอนัดให้เอาผลไปให้ดูในเดือนมิถุนายน

ขณะนี้หมอให้ยารักษาหลอดเลือดให้แข็งแรง ให้นอนยกเท้าสูง ให้ใส่ถุงเท้า support ดูทรงแล้วพี่สาวจะลำบากใจกับการใส่ถุงเท้ามาก บอกว่าไม่สามารถยัดเท้าเข้าไปในถุงได้ เพราะพี่สาวมีนิ้วเท้าขี่กันระหว่างนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ สงสารจัง โปรดให้คำแนะนำด้วยค่ะ

1 สถิติที่จะเกิดลิ่มเลือดหลุดเข้าปอด มีมากขนาดไหน นิ่งนอนใจได้มั้ย

2 หากพบ DVT ในเส้นเลือดจริงๆ เขารักษากันอย่างไร และได้ผลอย่างไร

กราบพระคุณมาล่วงหน้าค่ะ

………………………………………………..

ตอบครับ

1. ถามว่าเจ็บแปล็บแบบไฟช็อตตั้งแต่เข่าลงไปน่อง ตรวจได้ค่า d-dimer สูงผิดปกติ ทำอุลตร้าซาวด์หลอดเลือดไม่พบการอักเสบหลอดเลือดดำที่อยู่ลึก (DVT) จะสรุปว่าไม่เป็น DVT ได้ไหม ตอบว่าได้สิครับ เพราะ (1) ค่า d-dimer สูงจากอะไรก็ได้ แม้กระทั่ง “ความแก่” ก็เป็นสาเหตุให้ d-dimer สูงได้ (2) อาการเจ็บแปล็บวิ่งจากระดับเข่าแปล็บลงล่าง เข้าได้กับอาการเส้นประสาทถูกกดทับมากกว่าอาการของหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน

สำหรับท่านผู้อ่านทั่วไป d-dimer คือโปรตีนที่ร่างกายปล่อยออกมาเมื่อมีการสลายลิ่มเลือดที่ใดที่หนึ่งในร่างกาย หมอใช้เป็นตัวช่วยวินิจฉัยการเกิดลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำส่วนลึกที่ขา (DVT) หรือลิ่มเลือดอุดปอด (PE) หรือโรคเลือดแข็งตัวทั่วร่างกาย (DIC) แต่มันไม่ได้มีความจำเพาะเจาะจง จึงมีประโยชน์แค่ช่วยคัดกรองโรคเท่านั้น หมายความว่าถ้าตรวจได้ค่าปกติก็ไม่น่าจะมีการแข็งตัวของเลือด

2.. ถามว่าการตรวจ CTA (เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ขณะฉีดสีเข้าหลอดเลือด) จะช่วยวินิจฉัยลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำที่ขาได้ไหม ตอบว่าไม่ได้หรอกครับ เพราะการตรวจ CTA เป็นการฉีดสีเพื่อดูรอยตีบในหลอดเลือดแดง ไม่เกี่ยวกับว่าจะเกิดอะไรขึ้นในหลอดเลือดดำ ยกเว้นหากทำ Computer tomographic venography (CTV) ก็จะช่วยให้เห็นลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำในระดับอุ้งเชิงกรานและขาได้หากไม่เกี่ยงว่าจะเป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตน เพราะการทำ CTV ปกติจะทำทันทีตามหลัง CTA ดูหลอดเลือดแดงที่ปอด แต่กรณีพี่สาวคุณไม่มีเหตุอะไรที่จะต้องไปดูหลอดเลือดแดงที่ปอดจึงไม่คุ้มที่จะทำ CTV เพราะต้องใช้สีแยะ ส่วนการทำ CTA ที่ขานั้นไม่เกี่ยวกับการวินิจฉัยลิ่มเลือดในหลอดดำที่ขา หมอเขาจะค้นหาจุดตีบในหลอดเลือดแดงเพื่อจะหาคำวินิจฉัย 2, 3. 4 … เรื่อยไป เพราะหมอเขาชอบวินิจฉัย ส่วนตัวผมมีความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องไปค้นหาเนื่องจากผมเป็นหมอแบบไม่อยากรู้มากเพราะกลัวยากนาน อีกอย่างอาการที่เล่ามา (บวม+ปวดเวลาพัก) ไม่ใช่อาการของการตีบของหลอดเลือดแดง (ไม่บวม+ขาเย็น +ปวดน่องเวลาเดินมาก)

3.. ถามว่าสถิติที่จะเกิดลิ่มเลือดหลุดเข้าปอด มีมากขนาดไหน ตอบว่ากรณีของพี่สาวคุณยังไม่มีหลักฐานว่ามีลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำที่ขาเลยซักกะนิด อาการก็ไม่เหมือน อุลตราซาวด์ก็ไม่พบ จึงต้องไปใช้อุบัติการณ์เกิดลิ่มเลือดอุดปอดในคนทั่วไป ซึ่งสถิติในประเทศสหรัฐฯ มีโอกาสเกิด 1 ใน 1000 ต่อปี

4.. ถามว่าหากพบลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดที่ขา (DVT) จริง เขารักษากันอย่างไร ตอบว่าเขาก็รักษากันไปตามประเพณีนิยม คือให้นอนนิ่งๆเพื่อฉีดยากันเลือดแข็ง (heparin) เข้าหลอดเลือดดำนาน 2-3 สัปดาห์ แล้วให้กลับบ้านโดยเปลี่ยนยากันเลือดแข็งเป็นยากินอีกนาน 6 เดือน ยังไม่เคยมีงานวิจัยเปรียบเทียบที่จะบ่งชี้ได้เด็ดขาดว่าวิธีรักษาแบบนี้มีมรรคผลอะไรดีกว่าการอยู่เปล่าๆสักแค่ไหน แต่วงการแพทย์ทั่วโลกก็รักษากันแบบนี้เพราะวงการนี้เป็นวงการของคนหัวเก่าเคร่งครัดประเพณี หิ..หิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

ปล. (จดหมายจากท่านผู้อ่าน)

กรณี ผปที่สงสัยDVT  วันที่27มิย 67   ผมเป็นหมอทางออร์โธ  นพ ถาวร สุทธิยุทะ์  อยากให้ธรรมทานกับผป  รายนี้ว่า  อาการปวดมาจากเส้นประสาท ครับ  แต่ตัวต้นเหตุ คือกระดูกสันหลัง   ส่วนอาการที่บอกว่าไม่แน่นอน  ให้สังเกตที่หลังและคอ  เมื่อไรที่ก้มจะสัมพันธ์กับอาการ  มักเป็นบ่อยตอนนั่งโซฟาหรือตอนเช้า   วิธีแก้  ให้รีบยืนตัวตรง มองตรง เก็บคาง แล้วเหยียดแขนตรงขึ้นเหนือหัวเหมือนกำลังบิดขี้เกียจ ยืดตัวขึ้น นับ1-10ช้าๆ  ทำซ้ำได้10-20รอบ  ถ้าปวดยังรุนแรง

………………………..

[อ่านต่อ...]

20 มิถุนายน 2567

เมื่อไปเยี่ยมคนไข้หนัก จะพูดอะไร จะทำอย่างไร

(ภาพวันนี้ / เตรียมการมื้อเช้า จากซ้ายไปขวา แยมส้มทั้งเปลือก, (สีม่วง) ผักดอง, แยมมะม่วง, เนยถั่วลิสง, โยเกิร์ตถั่วเหลือง, นัทอบ ทั้งหมดเป็นโฮมเมดฝีมือหมอสมวงศ์)

กรณีอ่านจากเฟซบุ้ค กรุณาคลิกภาพ)

เรียน คุณหมอสันต์ที่เคารพ

ญาติท่านหนึ่งป่วยหนัก ติดเตียงอยู่ในโรงพยาบาล ร่อแร่ ท่าจะไม่รอด เวลาไปเยี่ยม ทั้งๆที่ผมสนิทกับท่าน แต่ก็ไม่รู้จะพูดอะไร จะพูดตลกให้ท่านมีกำลังใจก็กลัวผิดกาละเทศะ จะปลอบท่านว่าคนเราทุกคนเกิดมาต้องตายก็กลัวท่านจะแหวเอาว่าเอ็งลองมาตายให้ข้าดูบ้างสิ จะใช้คำพูดมาตรฐานว่า “สูู้ๆนะ” ผมก็เห็นตำตาอยู่แล้วว่าท่านจะเอาอะไรไปสู้ เพราะท่านไม่ไหวแล้ว จึงได้แต่เงียบ แต่เป็นความเงียบที่อึดอัด ผมเองก็รู้สึกว่าตัวเองมีอะไรจะพูดแต่ไม่รู้ว่าอะไร ตัวท่านก็ดูเหมือนท่านมีอะไรจะพูดแต่ท่านเลือกที่จะเงียบเช่นกัน

รบกวนคุณหมอช่วยชี้แนะครับ

…………………………………………………….

ตอบครับ

1.. ถามว่าคนที่เยี่ยมไข้มีหลายแบบทั้งที่มาดีมาร้าย แต่แบบที่มีมากจนเป็นพิมพ์นิยมคือไปเยี่ยมเพื่อให้กำลังใจ

2.. ถามว่ากำลังใจนี้มันคืออะไร ตอบว่ามันก็คือพลังชีวิต แล้วพลังชีวิตนี้มันให้กันได้ไหม ตอบว่าให้กันได้แน่นอน แต่ว่าเขาให้กันอย่างไร ก่อนอื่นเราจะให้อะไรใครเราต้องมีสิ่งนั้นก่อน หมายความว่าก่อนจะไปเยี่ยมไข้เราต้องมีพลังชีวิตอยู่ในระดับสูงก่อน คนมีพลังชีวิตอยู่ในระดับสูงเป็นอย่างไร เขาจะเป็นคนผ่อนคลาย ยิ้มง่าย เผื่อแผ่ความเบิกบานให้คนอื่นทางสายตาและทางสีหน้า เราควรทำตัวให้ได้อย่างนั้นก่อน ถ้ายังทำตัวไม่ได้ ไม่ต้องไปเยี่ยมไข้ ถ้ามีเหตุอื่นเช่นต้องไปเยี่ยมเพราะกลัวคนอื่นว่าเอาว่าเป็นคนไม่มีน้ำใจ ก็ยิ่งไม่ต้องไปเยี่ยม เพราะการไปเยี่ยมไข้เพื่อเสริมอัตตาของตัวเราเองนั้น ยิ่งจะไปทำให้คนไข้เขาอาการหนักขึ้น

3.. ถามว่าแล้วถ้าไม่มีพลังชีวิต จะทำอย่างไรให้ตัวเราเองมีพลังชีวิตขึ้นมา ตอบว่าก็ทำอะไรง่ายๆแบบคิดเอาตามสามัญสำนึกก็ได้ เช่น

(1) หายใจเข้าออกลึกๆ เพราะลมหายใจคือจุดกำเนิดของพลังชีวิต

(2) ปรับท่าร่างให้ตั้งตรงไม่งองุ้ม เพราะในทางไสยศาสตร์ถือว่ากระดูกสันหลังเป็นทางวิ่งของพลังชีวิต หลังค่อมก็คือไร้พลัง

(3) ปรับการเคลื่อนไหวให้กระฉับกระเฉงคล่องแคล่ว ว่องไว มีสติ

(4) ผ่อนคลายร่างกาย ยิ้มเป็นนิจ เพราะการเกร็งกล้ามเนื้อร่างกายคือการสูญเสียพลัง

(5) อยู่กับเดี๋ยวนี้ สังเกตรับรู้ทุกอย่างที่เดี๋ยวนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังเกตความคิด มองมันจากข้างนอกโดยไม่เข้าไปขลุกในความคิด เพราะในบรรดาตัวดูดพลังชีวิตทั้งหลาย “ความคิด” โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดลบเป็นตัวดูดพลังชีวิตที่แรงที่สุด

(6) กินอาหารให้พลังชีวิต คืออาหารพืชผักผลไม้ที่หลากหลายใหม่ๆสดๆ

(7) นอนหลับให้พอ

(8) อยู่กับน้ำ ขยันดื่มน้ำ ขยันอาบน้ำ เพราะน้ำเป็นตัวขับเคลื่อนพลังชีวิตในร่างกายเรา และน้ำข้างนอกน้ำข้างในมันเสริมพลังกันได้ นี่เป็นอีกหนึ่งหลักไสยศาสตร์ หิ หิ

(9) อยู่กับธรรมชาติ สายลม แสงแดด ต้นไม้ อากาศดีๆ

(10) นั่งสมาธิวางความคิดเข้าสู่ความรู้ตัวที่ปลอดความคิดเป็นอาจิณ เพราะ ณ ที่ที่หมดความคิด คือที่ที่พลังชีวิตท็อปฟอร์มสูงสุด

4.. ถามว่าเมื่อมีพลังชีวิตแล้วเราจะให้แก่ผู้ป่วยได้อย่างไร ตอบว่าก็ใช้วิธีง่ายๆที่คิดเอาได้จากสามัญสำนึกเช่นกัน เช่น

(1) แค่ไปยืนใกล้ ยิ้มให้ ส่งผ่านความเบิกบานทางสีหน้าและสายตา แค่นี้ก็เวอร์คแล้ว

(2) ถ้าขยันพูดหน่อยก็อาจจะพูดว่า..ผมมาเยี่ยมนะ หรือ ผมลากลับแล้วนะ แค่นี้ก็เยอะแล้ว ส่วนคำพูดมาตรฐานเช่น ..สู้ๆนะ ..หายไวๆนะ ทั้งๆที่เรารู้ว่าเขาจะไม่หายแล้ว ถ้าอยากพูดก็พูดได้ มันไม่ถึงกับเสียหายอะไร แต่มันไม่มีพลังเท่ากับการส่งผ่านความผ่อนคลายและเบิกบานผ่านรอยยิ้ม สีหน้า และสายตา

ส่วนที่ไม่ควรพูดเลยคือการอบรมสั่งสอนหลักธรรมะอนิจจังทุกขังอนัตตาให้ผู้ป่วย หรือสอนให้ผู้ป่วยรีบแบ่งสมบัติ เพราะถ้าผู้ป่วยแรงดีอยู่ตัวคนพูดอาจได้รับพลังงานจากอวัยวะเบื้องต่ำได้ ประเด็นก็คือคนที่อยู่ใกล้ความตายย่อมจะรู้จักความตายดีกว่าคนที่อยู่ไกล ดังนั้นคุณไม่ต้องไปอบรมสั่งสอนเขาในเรื่องนี้

(3) ถ้าสนิทกันก็เสนอให้ความช่วยเหลือ เช่น..พูดด้วยความรู้สึกจริงใจว่าท่านมีอะไรจะให้ผมช่วยก็บอกได้เลยนะ หรือเสนอสิ่งที่คาดหมายว่าผู้ป่วยอยากได้ เช่น ให้ผมไปรับหลานที่โรงเรียนแทนไหม เป็นต้น

(4) ถ้าสนิทกันยิ่งขึ้นไปอีก ก็อาจจะนั่งด้วยกันเงียบๆนานๆแล้วค่อยๆเริ่มการสนทนาเช่น..พี่มีอะไรที่อยากจะเล่าอยากจะคุยไหม แล้วก็ทำท่าตั้งใจรับฟัง พูดตอบสนองแต่น้อย ฟังให้มากๆ

(5) ถ้าสนิทกันมากยิ่งขึ้นไปอีก และมั่นใจว่าตนเองมีพลังชีวิตดี ก็อาจสัมผัส จับมือ ใช้จินตนภาพส่งพลังชีวิตหรือเมตตาธรรม ผ่านการสัมผัส

(6) ก่อนกลับต้องไม่ลืมให้การพยุงทางจิตวิทยา (psycho support) แก่ญาติหรือคนเฝ้าไข้ พูดดีๆด้วย ซื้ออาหารดีๆไปฝาก และเสนอตัวช่วยเหลือต่างๆเท่าที่ตนทำได้และอยากทำให้อย่างจริงใจ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

15 มิถุนายน 2567

งานวิจัยระดับสูงชิ้นแรกเรื่องผลของการเปลี่ยนวิถีชีวิตต่อโรคอัลไซเมอร์ออกมาแล้ว

ภาพวันนี้ / มื้อเช้าง่ายๆ กาแฟกับผลไม้ ในสวนดอกกระเจียว

กรณีอ่านจากเฟซบุ้คกรุณาคลิกที่ภาพ

ในที่สุด งานวิจัยระดับสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบเพื่อดูผลของการเปลี่ยนวิถีชีวิตต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์ชิ้นแรกก็ออกมาแล้ว งานวิจัยนี้เป็นผลงานร่วมของหลายสถาบันรวมทั้งฮาร์วาร์ด, มหาลัยแคลิฟอร์เนียที่ซานดิเอโก้, มหาลัยดุ้ค และสถาบันวิจัยอิสระเช่นคาโรลินสกี้และ PMRI ผลวิจัยเพิ่งลงตีพิมพ์ในวารสาร Alz Res Therapy ฉบับล่าสุด ซึ่งผมขอย่อมาให้ท่านผู้อ่านดังนี้

งานวิจัยนี้ทำโดยสุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ระดับต้น (MCI) แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มควบคุมให้รักษาโดยใช้ยารักษาอัลไซเมอร์ตามปกติและใช้ชีวิตปกติ อีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มทดลองให้เปลี่ยนวิถีชีวิตแบบเข้มข้นโดยไม่มีการใช้ยาเลย แต่ให้ทำสี่อย่างต่อไปนี้ คือ

(1) กินอาหารแบบพืชเป็นหลักแบบใกล้สภาพธรรมชาติ (whole food plant based) ชนิดไขมันต่ำ โดยงดอัลกอฮอล์และน้ำตาลหรือสารทดแทนความหวานใดๆ อาหารที่กินได้มีแต่ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว นัท และวิตามินแร่ธาตุเสริมบางตัว ทั้งนี้ทีมวิจัยทำและส่งอาหารให้ถึงบ้านทุกมื้อ

(2) ให้ออกกำลังกายถึงระดับหนักปานกลาง ควบกับการเล่นกล้ามวันละอย่างน้อย 30 นาที

(3) ให้จัดการความเครียดทุกวันด้วยวิธีเช่นนั่งสมาธิ หรือยืดเหยียด หรือตามดูลมหายใจ วันละอย่างน้อย 1 ชั่วโมง

(4) บังคับให้เข้ากลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน (รวมทั้งคู่สมรสด้วย) ครั้งละ 1 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 3 ครั้ง

ทำการวิจัยอยู่นาน 20 สัปดาห์ แล้วประเมินผลโรคอัลไซเมอร์ด้วยตัวชี้วัดมาตรฐานที่ FDA อนุมัติให้ใช้ ซึ่งมีทั้งการประเมินด้วย CGIC, CDR-SB และ CDR-G พบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างสองกลุ่มในทั้งสามการประเมิน กล่าวคือกลุ่มทดลองมีอาการสมองเสื่อมดีขึ้นขณะที่กลุ่มควบคุมมีอาการเหมือนเดิมหรือแย่ลง เช่นในการประเมินด้วย CGIC พบว่ากลุ่มทดลองมีอาการของโรคดีขึ้น 71% ขณะที่กลุ่มควบคุมไม่มีอาการของโรคดีขึ้นเลย ในทางตรงกันข้ามในกลุ่มควบคุมพบว่ามีอาการแย่ลง 68%

ผู้ป่วยหลายรายในกลุ่มทดลองที่ผลประเมินว่าอาการดีขึ้น บางคนรายงานว่าเริ่มกลับมาอ่านหนังสือได้หลังจากที่อ่านหนังสือไม่ได้มานาน บางคนรายงานว่ากลับมาดูภาพยนต์ได้อีกครั้งหลังจากที่ดูไม่ได้มานานเพราะลืมว่าใครเป็นใครและเรื่องราวเป็นอย่างไร ผู้ป่วยที่เป็นผู้บริหารธุรกิจคนหนึ่งในกลุ่มทดลองเล่าว่าเขากลับมาจัดการบัญชีการเงินและการลงทุนของตัวเองได้อีกครั้งหลังจากที่สูญเสียความสามารถนี้ไปนาน เขาว่า

“มันเป็นอะไรที่มากเหลือเกินสำหรับชีวิตผม ผมเป็นใคร ผมเคยเป็นใคร ยากที่จะยอมรับว่าส่วนที่เคยเป็นผมหายไปแล้ว นี่ผมได้กลับมาตรวจสอบการเงินการบัญชีและตามดูการลงทุนของบริษัทเราได้ใหม่ทุกเดือน มันเป็นการกลับมาครั้งใหญ่ของสำนึกว่าชีวิตนี้มันยังมีอะไรควรค่าที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป”

งานวิจัยนี้ยังพบความสัมพันธ์เชิงเส้นระหว่างความเข้มของการเปลี่ยนวิถีชีวิตกับอัตราการกลับฟื้นคืนมาของภาวะสมองเสื่อม กล่าวคือ ยิ่งผู้ป่วยเปลี่ยนวิถีชีวิตตนเองไปมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้การกลับมาทำงานดีขึ้นของสมองเกิดมากขึ้นเท่านั้น

นอกจากจะทำให้อาการของโรคอัลไซเมอร์ดีขึ้นแล้ว ยังพบว่าตัวชี้วัดต่างๆที่ทางการแพทย์ใช้วัดโรคอัลไซเมอร์ก็ดีขึ้นด้วย เช่น Aβ42/40 ratio ซึ่งเป็นตัวชี้วัดแป้งอะไมลอยด์ที่สะสมในสมองของคนเป็นโรคอัลไซเมอร์ก็ดีขึ้นด้วย ขณะที่ของกลุ่มควบคุมนั้นเดินหน้าแย่ลงและแตกต่างกันกับกลุ่มทดลองอย่างมีนัยสำคัญ และเช่นกัน ความเปลี่ยนแปลงในทิศทางลดแป้งอะไมลอยด์ในสมองนี้สัมพันธ์กับความเข้มข้นของการเปลี่ยนวิถีชีวิตเช่นเดียวกับผลการตรวจประเมินอาการของโรคอัลไซเมอร์

ในแง่ของการประเมินจุลินทรีย์ในลำไส้ (gut microbiome) ก็พบว่ากลุ่มทดลองมีจุลินทรีย์ที่มักพบในคนเป็นโรคอัลไซเมอร์น้อยลง ขณะเดียวกันก็มีจุลินทรีย์ที่สัมพันธ์กับการไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์มากขึ้น

ก่อนหน้านี้งานวิจัย FINGER study ซึ่งทำที่ประเทศฟินแลนด์ก็ให้ผลคล้ายกันแต่เป็นงานวิจัยที่ระบบการสุ่มตัวอย่างและควบคุมอาหารและพฤติกรรมการใช้ชีวิตไม่ได้คุมเข้มเท่างานวิจัยนี้และไม่มีการควบคุมยาในทั้งสองกลุ่มเลย งานวิจัยนี้จึงเป็นหลักฐานระดับสูงที่เชื่อถือได้ชิ้นแรกที่ยืนยันว่าสี่กิจกรรมคือ (1) อาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ (2)การออกกำลังกายหนักพอควรควบเล่นกล้าม (3) การฝึกคลายเครียดทุกวัน (4) การเข้ากลุ่มเชิงสังคมสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ได้ และทำท่าว่าจะใช้ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย โดยทั้งหมดนี้ไม่มีการใช้ยารักษาอัลไซเมอร์เลย

งานวิจัยนี้ทำให้หมอสันต์เริ่มมั่นใจในหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่จะใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ขึ้นมาแล้ว และเกิดความกำเริบเสิบสานคิดอ่านจะทำแค้มป์รักษาโรคอัลไซเมอร์ขึ้นมาตะหงิดตะหงิด ขอเวลาศึกษาเพิ่มเติมและทดลองกับตัวเองจริงจังสักพักก่อนนะ เพราะตัวหมอสันต์ก็ทำท่าจะเป็นอัลไซเมอร์กับเขาเหมือนกัน อย่างน้อยขอทดลองกับตัวเองสัก 20 สัปดาห์คือนานเท่างานวิจัยนี้ก่อน หากหมอสันต์ทดลองกับตัวเองแล้วพบว่าได้ผลดีจริงก็คงจะได้พบกันแน่นอนสำหรับท่านที่ขี้หลงขี้ลืมทั้งหลายที่..“แค้มป์รักษาโรคอัลไซเมอร์ของหมอสันต์” หิ..หิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Ornish D, Madison C, Kivipelto M et al. Effects of intensive lifestyle changes on the progression of mild cognitive impairment or early dementia due to Alzheimer’s disease: a randomized, controlled clinical trial. Alz Res Therapy. 2024:16(122). doi:10.1186/s13195-024-01482-z

[อ่านต่อ...]

12 มิถุนายน 2567

ทำหมันชายหมันหญิงใครควรเป็นฝ่ายทำ มันก็แล้วแต่ว่าใครใหญ่

ภาพวันนี้ / ดอกสาละ

กรณีอ่านจากเฟซบุ้ค กรุณาคลิกภาพ

สวัสดีค่ะ คุณหมอ

บ้านหนูกินเจกันทั้งครอบครัวค่ะ ตอนนี้มีลูก 2 คน คนแรก 5 ขวบ คนที่ 2 อยู่ในท้อง 5 เดือนค่ะ

อยากจะมีแค่นี้พอแล้วค่ะ จะรบกวนสอบถามดังนี้ค่ะ 1.หญิงหรือชายควรทำหมันมากกว่ากันคะ 2.หญิงควรทำหมันด้วยว้ธีใดดีที่สุดคะ 3. ชายทำหมันด้วยวิธีใดดีที่สุดคะ 4. ทำแล้วจะเกิดผลกระทบอะไรตามมาทีหลังไหมคะ เช่นฮอร์โมน หรือ อารมณ์แปรปรวน

ขอบพระคุณสำหรับคำตอบล่วงหน้าค่ะ

…………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าในการจะทำหมัน ระหว่าง ผ. กับ ม. ใครควรจะเป็นฝ่ายทำ ตอบว่ามันก็แล้วแต่ใครใหญ่สิครับ เพราะคนที่ใหญ่กว่าก็ต้องเป็นคนพูดคำสุดท้ายเสมอ ในกรณีที่คุณใหญ่ มันก็ขึ้นอยู่กับสไตล์ของคุณว่าจะใช้ความใหญ่ตัดสินใจสั่งให้เขาทำหรือตัดสินใจทำมันเสียเอง

2.. ถามว่าถ้าหญิงทำควรทำวิธีใดดีที่สุด ตอบว่าหากกำลังท้องอยู่ วิธีทำหมันหลังคลอด (ผูกตัดปีกมดลูก) เป็นวิธีง่ายที่สุด เพราะทำง่าย ได้ผลคุมกำเนิดได้สูงสุด (>99%) วิธีรองลงไปคือ (1) การฝังขดลวดทำหมันถาวรไว้ที่ปีกมดลูก (Sterilization implant) ได้ผล >99% คือแพทย์ใช้เครื่องมือผ่านเข้าไปทำทางช่องคลอด (3)ใส่ห่วง IUD (>99%)ไว้ที่ช่องคลอด (ชั่วคราว) (4) ฝังแท่งฮอร์โมนคุมกำเนิดใต้ผิวหนัง (Implantable rod) ได้ผล >99% ทำทีเดียวอยู่ได้ 3 ปี ยาฉีดคุมกำเนิด (ทุกสามเดือน) ได้ผล>99%

ส่วนวิธีกินยาคุมกำเนิด (ทุกวัน) หรือใช้แผ่นแปะผิวหนัง หรือใช้วงแหวนชุบฮอร์โมนใส่ในช่องคลอดผมไม่แนะนำเพราะได้ผลแค่ 95%

ความจริงวิธีที่ได้ผล 100% ก็มีนะ หากคุณอยากจะทำ คือห้ามมีเซ็กซ์เด็ดขาด (หิ..หิ)

3.. ถามว่าถ้าฝ่ายชายทำ ควรใช้วิธีไหน ตอบว่าวิธีผ่าตัดทำหมันชาย (ตัดผูกท่อนำอสุจิ) ดีที่สุด ทำง่าย แค่ฉีดยาชาทำแป๊บเดียว ได้ผล>99% วิธีรองลงไปคือใช้ถุงยางอนามัย ได้ผล 84-89 % (ใช้ป้องกันเอดส์ได้ด้วย) อีกวิธีหนึ่งซึ่งผมไม่แนะนำคือคอยชักออกให้ทัน เพราะเปอร์เซ็นต์ได้ผลไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับดวง

อนึ่ง กรณีพลั้งเผลอ ควรรู้จักวิธีกินยาคุมฉุกเฉิน เม็ดแรกกินภายใน 72 ชม.หลังมีเซ็กซ์ เม็ดที่สองกินหล้งเม็ดแรก 12 ชม. เปอร์เซ็นต์ได้ผล 75-85%

4.. ถามว่าทำแล้วใครจะเกิดผลกระทบเช่นอารมณ์แปรปรวนมากกว่ากัน ตอบว่าไม่เกี่ยวกันเลยครับ ไม่ว่าชายหรือหญิง การทำหมันไม่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ยกเว้นกรณีคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมน ส่วนโรค ปสด.จากความขี้ป๊อดของตัวเองเช่นนกเขาไม่ขันในผู้ชายหรือเบื่อ ผ. ในผู้หญิงนั้น เป็นเรื่องของความคิดที่ซุ่มอยู่ในใจของแต่ละคนมานานแล้ว ไม่เกี่ยวกับการทำหรือไม่ทำหมัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. US Food and Drug Administration Birth Control Guide 2010. Accessed at http://www.fda.gov/ForConsumers/ByAudience/ForWomen/ucm118465.htm

[อ่านต่อ...]

08 มิถุนายน 2567

Spiritual Trap กับดักสลายพลังชีวิต

ภาพวันนี้ / ดอกกระเจียว

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้ค กรุณาคลิกที่ภาพ)

หมอสันต์พูดกับสมาชิก SR

คำว่า Spirituality ซึ่งเป็นที่มาของชื่อแค้มป์นี้แปลว่าพลังชีวิต (life energy) ไม่ได้แปลว่าวิญญาณที่จะล่องล่อยไปหลังตายแล้วอย่างที่บางคนเข้าใจ

แหล่งที่มาของพลังชีวิตก็คือความสนใจ (attention) ของเรานั่นเอง ครูสอนรำมวยจีนของผมท่านหนึ่งพูดว่า “จิตอยู่ที่ไหน ชี่อยู่ที่นั่น” จิตของท่านในที่นี้ก็สติหรือความสนใจ ชี่ท่านหมายถึงพลังชีวิต

อะไรที่เราสนใจมันมาก เราก็จะทำจะเล่นกับมันบ่อยๆ เรียกว่าเรารักชอบหรือถูกจริต (passion) กับสิ่งนั้น และหากเราเล่นกับมันทำกับมันมากเข้า มันก็จะกลายเป็นเป้าหมายชีวิต (life purpose) ของเราไปโดยปริยาย

ดังนั้นเรื่องพลังชีวิตนี้จึงมีคำสำคัญอยู่สามคำ คือ attention, passion และ life purpose ทั้งสามคำนี้เป็นตัวให้กำเนิดและให้ความต่อเนื่องแก่พลังชีวิต

แล้วที่ผมจั่วหัวไว้ว่า Spiritual trap นี้หมายความว่าอย่างไร

ผมตั้งใจให้หมายถึงเหตุการณ์ที่คนเราเมื่อเกิดมาก็ถูกครอบด้วยกรงของคอนเซ็พท์หรือการปลูกฝังความคิดผิดชอบชั่วดีเสียอยู่หมัดและต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่เล็กจนโต ทั้งชีวิตไม่มีโอกาสได้พบเห็นอะไรที่อยู่พ้นกรงของคอนเซ็พท์ที่ถูกปลูกฝังให้ เผอิญว่าคอนเซ็พท์เหล่านั้นล้วนเป็นความคิดที่คนหรือกลุ่มชนอุปโลกน์ขึ้น และเมื่อถูกฝังลงไปในหัวของเราแล้วก็จะถูกรีไซเคิลขึ้นมาเป็นความคิดอีกครั้งแล้วครั้งเล่าทำให้ทั้งชีวิตไม่ได้สัมผัสอะไรใหม่ๆเลยนอกจากขยะรีไซเคิลในรูปของความคิดเก่าๆที่ดาหน้าโผล่ขึ้นมาในแต่ละวัน

หนึ่งในขยะที่เราถูกปลูกฝังให้ก็คือคอนเซ็พท์ที่ว่าเกิดมาเป็นคนจะต้องใช้ชีวิตให้มีคุณค่าและมีความหมาย ซึ่งคุณค่าและความหมายนี้ไม่ใช่แม้กระทั่งความคิดที่เราคิดขึ้นเองด้วยซ้ำไป แต่เป็นคอนเซ็พท์สำเร็จรูป (default) ที่ถูกชงไว้ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้วเหมือนนมผงเลี้ยงเด็กที่เด็กมีหน้าที่ถือขวดแล้วดูดเท่านั้น

ในชีวิตจริง มันจะมีบางช่วงบางเวลาที่เราจะเกิด “ค้นพบ” ขึ้นมาว่าเอ๊ะ ชีวิตของเราเนี่ยมันไร้ค่า ไร้ความหมาย

ช่วงเวลาที่เกิดการเอ๊ะขึ้นนี้ เท่าที่ผมสังเกตเอาจากผู้ป่วยของผมอย่างน้อยก็มีอยู่สามช่วง คือช่วงเข้าครึ่งชีวิต (mid life) คือราวสี่สิบห้าสิบ ช่วงหนึ่ง ช่วงเกษียณใหม่ๆ คือราวหกสิบอีกช่วงหนึ่ง และช่วงที่แก่แดดแก่ลมได้ที่คือราวเจ็ดสิบปลายๆต่อแปดสิบอีกช่วงหนึ่ง พิมพ์นิยมของเสียงเอ๊ะนี้ก็คือ

“..ไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ต่อไปทำไม อยู่ไปเพื่ออะไร”

เพราะว่าชีวิตที่ผ่านมา หรือที่กำลังเป็นอยู่ ณ ขณะนั้น มันไม่ได้สะเป็คว่าเป็นชีวิตที่มีคุณค่ามีความหมาย ตรงกันข้ามมันดูจะเป็นชีวิตที่ไร้ค่าไร้ความหมายเสียมากกว่า มันจึงทำให้ถอดใจและท้อถอย คนส่วนหนึ่งสามารถเอาตัวรอดสันดอนทั้งสามจุดนี้ไปได้ด้วยการเอาคอนเซ็พท์เรื่องคุณค่าและความหมายของชีวิตเดิมๆที่ตนฝังหัวตนไว้ขึ้นมารีวิวหรือมาสำทับกับตัวเองให้ทนต่อไป แบบว่า

“..เออ น่า อยู่ไปเหอะ อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ลูกหลาน”

แต่บางคนก็ไม่สามารถรอดสันดอนไปได้ บ้างต้องจบด้วยยาต้านซึมเศร้า บ้างไม่กินยาแต่ก็มีชีวิตอยู่แบบพระเอกนางเอกเรื่องศาลาคนเศร้า บ้างเสาะหาวิธีไปใช้บริการ Euthanasia ที่สวิสเซอร์แลนด์ บ้างก็ commit suicide จบข่าวรู้แล้วรู้รอดไปเลย

อาการที่ถูกคอนเซ็พท์เรื่องคุณค่าและความหมายของชีวิตดูดให้หล่นพลุบลงไปนี่แหละที่ผมเอามาตั้งเป็นชื่อเรื่องวันนี้ว่า Spiritual Trap

แล้วทำไมผมแปลคำจั่วหัวเรื่องว่า “กับดักสลายพลังชีวิต”

ก็เพราะอาการหล่นลงไปในกับดักนี้มันเป็นอาการเดียวกับคนที่หมดสิ้นซึ่งพลังชีวิต เหตุที่พลังชีวิตหมดก็เพราะมันถูกทอนหรือถูกดูดด้วยความคิดลบซ้ำซาก ซึ่งในที่นี้ก็คือความคิดที่ว่าชีวิตนี้มันไม่ได้มาตรฐานของชีวิตที่มีคุณค่าและมีความหมาย

การจะออกจากกับดักนี้ก็ไม่ยากเลย แค่ทุบคอนเซ็พท์คุณค่าและความหมายของชีวิตทิ้งไปเสียก็หลุดจากกับดักได้แล้ว

ตลอดชีวิตของคนเรามันมีหลายครั้งมากที่เราสร้างคอนเซ็พท์หรือกรงความคิดครอบเราเองไว้ทำให้กระดิกกระเดี้ยลำบากมีชีวิตที่อับจน แต่กรง “คุณค่าและความหมายของชีวิต” นี้เป็นกรงที่จัดว่าดูหรูไฮที่สุดขณะเดียวกันก็เป็นคอนเซ็พท์ที่ซังกะบ๊วยต่อชีวิตเรามากที่สุด

ย้ำอีกที คุณค่าและความหมายของชีวิตเป็นคอนเซ็พท์ซังกะบ๊วย ชีวิตที่ดีไม่เกี่ยวอะไรกับคุณค่าและความหมาย คุณค่าและความหมายเป็นส่วนหนึ่งของนิทานที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราวชีวิตเรา (life situation) ซึ่งเป็นเรื่องโกหกทั้งเพ เพราะเรื่องราวชีวิตของเรามันไปตั้งฐานอยู่บนคอนเซ็พท์เรื่องเวลาอดีตอนาคตซึ่งไม่มีอยู่จริง แล้วมันจะเป็นเรื่องจริงไปได้อย่างไร สิ่งที่เป็นของจริงคือการใช้ชีวิต (living) ซึ่งเกิดเฉพาะที่เดี๋ยวนี้ และซึ่งเรามีทรัพยากรอยู่สองอย่างเท่านั้นคือ (1) พลังชีวิต (2) เวลา ซึ่งเผอิญอย่างหลังนี้เขาให้มาแค่ทีละหนึ่งลมหายใจ ถ้าในหนึ่งลมหายใจนี้เรารู้วิธีปลุกพลังชีวิตขึ้นมาเราก็ใช้ชีวิตอย่าง joyful ได้ ชีวิตนี้ก็เป็นชีวิตที่ดีแล้ว อย่าไปห่วงว่าชีวิตของเราจะไม่มีคุณค่าไม่มีความหมาย เมื่อชีวิตของเรา joyful คนอยู่รอบๆตัวเราเขาจะได้รับใบบุญเอง นั่นแหละคือคุณค่าและความหมายที่แท้จริงของชีวิต

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

แปะก๊วยมะพร้าวอ่อน

สำหรับ 3 คน     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • แปะก๊วยสุก 200 กรัม
  • น้ำมะพร้าวน้ำหอม 500 มิลลิลิตร
  • เนื้อมะพร้าวน้ำหอม 150  กรัม
  • น้ำช่อดอกมะพร้าว 100  มิลลิลิตร (หรือน้ำตาลมะพร้าว)
  • ใบเตย 2-3 ใบ

วิธีทำ

  1. เทน้ำมะพร้าวใส่หม้อตั้งไฟกลาง ใส่ใบเตย รอน้ำเดือด
  2. ใส่แปะก๊วย เนื้อมะพร้าว น้ำช่อดอกมะพร้าว คนให้ทั่ว ปิดฝาไว้
  3. ขณะต้ม หากมีฟอง หมั่นช้อนฟองออก
  4. เมื่อน้ำเดือดอีกครั้ง ปิดไฟ แล้วตักใส่ถ้วยเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

ผลไม้รวมลอยแก้ว

สำหรับ 3 คน     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • ผลไม้รวมที่มีอย่างละ 100 กรัม (รวม 500 กรัม)
  • (ในที่นี้มีองุ่นไร้เมล็ด, องุ่นไซมัส, สับปะรด, แก้วมังกร, ส้ม)
  • น้ำช่อดอกมะพร้าว 1 ขวด (325 มล.)  หรือใช้น้ำตาลมะพร้าว 50 กรัม ละลายในน้ำ 400 มล. แทนได้
  • น้ำแช่ดอกอัญชัน 50 มล. 
  • (น้ำเปล่า 50 มล. + ดอกอัญชันแห้ง 5 กรัม)
  • น้ำ 500 มล. (สำหรับแช่ผลไม้)
  • ดอกเกลือ ½ ช้อนโต๊ะ (สำหรับแช่ผลไม้) 
  • ดอกเกลือ ¼ ช้อนชา (สำหรับปรุงรส)
  • ใบเตย             1 – 2 ใบ
  • มะนาว 1 ช้อนโต๊ะ (สำหรับบีบใส่น้ำอัญชันให้เปลี่ยนจากสีครามเป็นสีม่วง และน้ำลอยแก้วจะมีรสอมเปรี้ยวนิดๆ หรืออาจไม่ใช้ก็ได้)

วิธีทำ

  1. หั่นผลไม้เป็นชิ้นพอดีคำใส่จานไว้ แช่ดอกอัญชันในน้ำทิ้งไว้ให้สีออกเข้ม
  2. นำน้ำสะอาดผสมกับเกลือครึ่งช้อนโต๊ะ คนให้ละลายเข้ากัน จึงนำผลไม้ที่หั่นไว้ลงแช่ ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที ให้ผลไม้ดูดน้ำเกลือ
  3. นำน้ำช่อดอกมะพร้าวเทลงในหม้อ ตั้งไฟกลาง ใส่ใบเตยและเกลือ คนให้ละลาย ปิดฝาไว้ รอน้ำเดือด แล้วจึงปิดไฟ ยกลงจากเตา ทิ้งให้เย็น
  4. เมื่อเย็นลงถึงอุณหภูมิห้อง จึงเทใส่ภาชนะแก้ว ตามด้วยน้ำแช่ดอกอัญชัน (ที่กรองเอาดอกออกแล้ว) หากชอบสีม่วงและรสอมเปรี้ยวนิดๆให้ใส่น้ำมะนาว คนเข้ากัน
  5. นำผลไม้ที่แช่ไว้ สะเด็ดน้ำเกลือออก แล้วนำใส่ในน้ำช่อดอกมะพร้าวต้มผสมอัญชันที่เตรียมไว้ ปิดภาชนะ เก็บใส่ตู้เย็นไว้ เสิร์ฟเย็นพร้อมน้ำแข็งบดตามใจชอบ
[อ่านต่อ...]

ขนมบุหงัด (แกงบวดรวมธัญพืช)

สำหรับ 3 คน     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • ธัญพืชรวม      100 กรัม (ต้มสุก)
  • กล้วยน้ำว้า     100 กรัม (ต้มสุก)
  • เผือก               25 กรัม
  • มันเทศ            25 กรัม
  • ข้าวโพดหวาน  30 กรัม
  • น้ำตาลมะพร้าว 40 กรัม
  • น้ำสะอาด         200 มิลลิลิตร
  • กะทิ                 200 มิลลิลิตร
  • ดอกเกลือ         ¼ ช้อนชา
  • งาขาวคั่ว          1 ช้อนชา
  • ใบเตย             1 – 2 ใบ

วิธีทำ

  1. นำน้ำใส่หม้อตั้งไฟกลางใส่ใบเตยลงไป
  2. เมื่อน้ำเดือด ใส่เผือก มันเทศ ดอกเกลือ ธัญพืชรวม ข้าวโพดหวาน คนให้เข้ากัน ปิดฝาไว้
  3. เมื่อเผือกและมันเทศสุก ใส่กะทิลงไป 
  4. พอเดือดใส่น้ำตาลมะพร้าว คนให้น้ำตาลละลายเข้ากัน
  5. ใส่กล้วยน้ำว้าสุกลงไป ปิดฝาไว้สักครู่ ปิดไฟเมื่อทุกอย่างเข้าเนื้อดีแล้ว ตักใส่ถ้วย โรยด้วยงาขาวคั่ว เตรียมเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

สาคูลำไยมะพร้าวอ่อน

สำหรับ 4 คน     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • สาคูแท้ 100 กรัม
  • ลำไยสด 150 กรัม
  • เนื้อมะพร้าวอ่อน 150 กรัม
  • น้ำมะพร้าวอ่อน 650 มิลลิลิตร
  • น้ำตาลมะพร้าว 100 กรัม
  • ดอกเกลือ ½ ช้อนชา
  • กะทิ 250 มิลลิลิตร
  • ใบเตย 2 – 3 ใบ

วิธีทำ

  1. นำนำ้มะพร้าวเทใส่หม้อตั้งไฟกลาง ใส่ใบเตย รอเดือด
  2. จึงค่อยๆใส่สาคูลงไปทีละน้อย คนไปเรื่อยๆ จนใสให้เหลือตากบเล็กน้อย
  3. จากนั้นใส่น้ำตาลมะพร้าวลงไปคนให้ละลาย
  4. ใส่ลำไยและเนื้อมะพร้าวอ่อนลงไป คนให้เข้ากันจนทั่ว ปิดไฟ ตักใส่ถ้วย
  5. เตรียมกะทิราดหน้า โดยนำกะทิใส่หม้อตั้งไฟกลาง พอร้อนใส่ดอกเกลือ คนให้เข้ากัน (อย่าให้กะทิแตกมัน) ปิดไฟ ตักราดหน้าสาคู พร้อมเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

เต้าส่วนธัญพืช

สำหรับ 4 คน     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • ธัญพืชรวม 100 กรัม (ต้มสุก)
  • ถั่วเขียวซีก 50 กรัม (เลาะเปลือกนึ่งสุก)
  • แห้วต้มสุก 50 กรัม
  • น้ำตาลมะพร้าวแท้ 40 กรัม
  • ดอกเกลือ ½ ช้อนชา
  • แป้งท้าวยายม่อม 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำละลายแป้ง 2 ช้อนโต๊ะ
  • กะทิ 250 มิลลิลิตร
  • น้ำมะพร้าวน้ำหอม 300 มิลลิลิตร
  • ใบเตย 2 – 3 ใบ

วิธีทำ

  1. นำนำ้มะพร้าวใส่หม้อตั้งไฟกลาง ใส่ใบเตยลงไป รอน้ำเดือด
  2. ผสมน้ำละลายแป้งท้าวยายม่อมคนให้เข้ากัน พักไว้
  3. เมื่อน้ำมะพร้าวเดือด ค่อยๆใส่แป้งท้าวยายม่อมที่ละลายน้ำไว้ลงไป ระหว่างใส่คนไปเรื่อยๆ อย่าให้แป้งเป็นก้อน จนแป้งละลายเข้ากันดี
  4. ใส่น้ำตาลมะพร้าวลงคนให้ละลาย ตามด้วยแห้วต้ม คนให้เข้ากัน จากนั้นใส่ธัญพืชรวมและถั่วเขียวนึ่งลงไป คนทุกอย่างเข้ากัน แล้วปิดไฟ
  5. เตรียมกะทิราดหน้า โดยนำหม้อตั้งไฟกลาง พอร้อนใส่กะทิและดอกเกลือ คนให้เข้ากัน รอให้เดือดเล็กน้อย แต่อย่าให้กะทิแตกมัน จึงปิดไฟ ตักราดหน้าเต้าส่วนพร้อมเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

ถั่วเขียวต้มใบเตย

สำหรับ 4 คน     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • ถั่วเขียว 150 กรัม (ยังไม่แช่)
  • น้ำตาลอ้อย 50 กรัม
  • ใบเตย 3 – 4 ใบ
  • น้ำสะอาด 700 มิลลิลิตร
  • ดอกเกลือ ½ ช้อนชา

วิธีทำ

  1. ล้างถั่วเขียวให้สะอาดประมาณ 2 – 3 น้ำ
  2. แล้วจึงนำมาแช่ในน้ำสะอาด 4 – 5 ชั่วโมง
  3. เมื่อแช่ได้ที่แล้ว นำมาล้างให้สะอาดอีก 2 น้ำ
  4. นำน้ำสะอาดใส่หม้อตั้งไฟกลาง ใส่ใบเตย ดอกเกลือ ลงไป พอน้ำเดือดใส่ถั่วเขียว แล้วปิดฝาหม้อ หรี่ไฟลงเล็กน้อย ใช้ไฟกลางค่อนข้างอ่อน ต้มไปเรื่อยๆ คอยช้อนฟองออก
  5. เมื่อถั่วเขียวสุก ใส่น้ำตาลอ้อย คนเข้ากัน ต้มต่ออีกเล็กน้อยจนน้ำเดือด จึงปิดไฟ ตักใส่ถ้วยเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

มันเทศสามสีต้มขิง

สำหรับ 4 คน     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • มันเทศรวม 300 กรัม (ปอกเปลือก หั่นชิ้นหนาพอประมาณ)
  • ขิงแก่หั่นแว่น 50 กรัม (ปอกเปลือก)
  • น้ำตาลมะพร้าว 50 กรัม (หรือน้ำตาลโตนด)
  • น้ำสะอาด 600 มิลลิลิตร

วิธีทำ

  1. นำน้ำใส่หม้อตั้งไฟกลาง 
  2. พอเดือด ใส่ขิงและมันเทศลงไป ปิดฝา
  3. ต้มจนมันสุก จึงใส่น้ำตาลมะพร้าว คนเข้ากัน ปิดฝา
  4. ต้มต่ออีกเล็กน้อย ให้น้ำตาลละลายเข้ากันหมด
  5. ปิดไฟ ตักใส่ถ้วยเสิร์ฟ

[อ่านต่อ...]

07 มิถุนายน 2567

Silence Meditation เปลี่ยนมุมมองของผู้สังเกตเป็นมองจากความเงียบอันกว้างใหญ่

ภาพวันนี้ / ทุ่งดอกถั่วบราซิลที่ปลูกไว้กันดินพังบนเชิงลาด

กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกที่ภาพ

(หมอสันต์สอนสมาชิก SR ฝึก silence meditation กลางสนามหญ้าตอนเช้า)

เช้านี้เราจะฝึกปฏิบัติ silence meditation ซึ่งผมแปลว่า “การเปลี่ยนมุมมองของผู้สังเกตมาเป็นมองจากความเงียบอันกว้างใหญ่”

ให้ทุกคนนั่งในท่าตามสบาย แต่ขอให้ตั้งหลังให้ตรงไว้

เริ่มต้นด้วยการผ่อนคลายร่างกายก่อน หายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้สักพัก ปล่อยลมหายใจออกช้าๆแบบสบายๆ ผ่อนคลายใบหน้า ยิ้มที่มุมปากนิดๆ ผ่อนคลายคอ บ่า ไหล่

วันนี้เราจะเลือกใช้เครื่องมือ “การสังเกต” หรือ “observation” ที่เราได้เรียนไปแล้วเมื่อวาน

อย่างที่เราเคยคุยกันแล้วว่าเมื่อเราสังเกตสิ่งใด เราแค่รับรู้สิ่งนั้นตามที่มันเป็น ไม่ไปตั้งชื่อให้ หรืออธิบายความหมาย หรือตีความว่ามันดีหรือไม่ดี แค่สังเกตและรับรู้อยู่ห่างๆว่ามีสิ่งนั้นปรากฎขึ้น

เราจะเริ่มด้วยการสังเกตเสียง หลับตาก่อนก็จะง่ายขึ้น แล้วสังเกต ฟังเสียง เริ่มจากเสียงที่ดังที่สุด คือเสียงผมพูด แล้วขยับไปฟังเสียงที่ดังรองลงไป เสียงนกร้อง เสียงไก่ขัน เสียงหมาเห่าอยู่แต่ไกล

คราวนี้ให้เงี่ยหูฟังเสียงที่เบาจนแทบไม่ได้ยิน เสียงลมพัดใบไม้ เสียงมอเตอร์ไซค์วิ่งอยู่ไกลออกไปมากๆ

คราวนี้ ให้ฟังเสียงที่เบาลงไปกว่านั้นอีก ซึ่งก็คือความเงียบ

ให้สนใจความเงียบ

ให้สังเกตว่าเมื่อมีเสียงหนึ่งเกิดขึ้น ณ ที่หนึ่ง รอบๆเสียงนั้นคือความเงียบ เสียงเกิดขึ้นในความเงียบ แล้วดับหายไปในความเงียบ

ให้สังเกตว่าแท้จริงแล้วพื้นที่อันกว้างใหญ่รอบๆตัวเรานี้คือความเงียบ กว้างใหญ่จนสุดประมาณ เสียงเกิดขึ้นที่นั่นบ้าง ที่นี่บ้าง ใกล้บ้าง ไกลบ้าง ดังบ้าง ค่อยบ้าง ทุกเสียงเกิดขึ้นจากความเงียบ แล้วดับหายไปในความเงียบ

เมื่อวานนี้เราได้ทดลองถอยตัวเองออกมาให้ห่างจากร่างกายของเรานิดหนึ่ง ให้ห่างจากความคิดของเรานิดหนึ่ง เพื่อเป็นผู้สังเกตดูร่างกายของเรา สังเกตดูความคิดของเรา

วันนี้ให้ทดลอง ใช้จินตนภาพช่วยนิดหน่อย สมมุติว่าเราในฐานะผู้สังเกตที่ได้ถอยออกมาห่างจากร่างกายนิดหนึ่ง ห่างจากความคิดนิดหนึ่งนี้ คราวนี้สมมุติว่าเราในฐานะผู้สังเกต เป็นความเงียบอันกว้างใหญ่สุดประมาณรอบตัวเรานี้

ปักหลักเป็นความเงียบ ตั้งใจสังเกตเสียงทุกเสียงที่เกิดขึ้น

เสียงทุกเสียงเกิดขึ้นในตัวเรา..ซึ่งก็คือความเงียบ ดังอยู่สักพัก แล้วก็แผ่วหายใปในตัวเรา..ซึ่งก็คือความเงียบ

ในมุมมองของเสียง แหล่งกำเนิดของมันคือความเงียบ

ในมุมมองของภาพ แหล่งกำเนิดของมันคือความว่างเปล่า หรือ space โดยที่ทั้งสองอย่างนี้คือความเงียบและความว่างเปล่า ในมุมมองของการรับรู้ มันเป็นสิ่งเดียวกัน

ดังนั้นให้สมมุติตัวเองเป็นทั้งความเงียบและความว่างเปล่าในคราวเดียวกัน สังเกตการเกิดขึ้นของเสียงก็ดี ภาพก็ดี ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดับหายไปในตัวของเราเองทั้งสิ้น

พวกเราที่นั่งอยู่ในสนามนี้มีตั้งยี่สิบกว่าคน หากทุกคนมีความเงียบ/ความว่างเปล่าอันกว้างใหญ่สุดประมาณคนละอันแล้วจะเอาที่ไหนมาพอเก็บความเงียบ/ความว่างเปล่าของพวกเรากันละ

ความเป็นจริงก็คือความเงียบก็ดี ความว่างเปล่าก็ดี มันมีแค่หนึ่งเดียว เมื่อเราถอยออกจากตัวตนหรือความคิดไปเป็นผู้สังเกตหรือเป็นความเงียบ/ความว่างเปล่า เราต่างถอยไปเป็นสิ่งเดียวกัน เพราะความเงียบ/ความว่างเปล่าก็คือความไร้ตัวตน เมื่อไร้ตัวตนแล้วเราจะนับได้หรือว่ามันมีกี่อัน? ดังนั้นความรู้ตัวหรือ consciousness นี้ขอให้เข้าใจก่อนว่ามันไม่ใช่ของใครของมัน เพราะ “ใคร” หรือ “มัน” คือตัวตน ความรู้ตัวไม่เกี่ยวกับตัวตน มันจึงมีหนึ่งเดียว

เมื่อเราถอยออกไปเป็นความเงียบ/ความว่างเปล่าซึ่งทำตัวเป็นแค่ผู้สังเกตแล้ว ความคิดก็จะถูกทอนลงไปเป็นแค่สิ่งที่ถูกสังเกต ไม่ใช่ “ตัวตน” ที่เราต้องเหนื่อยยากดิ้นรนปกป้องเชิดชูอีกต่อไป สิ่งที่เหลืออยู่จึงมีแต่ความสงบ (peaceful) เพราะสงัดจากการต้องดิ้นรน

ความคู่กับความสงบมาคือความรู้สึกว่าเราในฐานะผู้สังเกตนี้เป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตอื่น ไม่มีเราไม่มีเขา จะใช้คำแบบบ้านๆว่าเกิดเป็นเมตตาธรรม (compassion) ก็ได้ มันตามกันมาเองเมื่อเราทิ้งความคิดปกป้องตัวตนของเรา โดยเราไม่ต้องตั้งใจแผ่เมตตาให้ใครแต่อย่างใด ความรู้สึกว่าเราได้เป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตอื่นมันมาเอง

ตามกันมาติดๆเมื่อเรารู้สึกว่าเรานี้เป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตอื่น ก็คือความรู้สึกปลาบปลื้ม หรือเบิกบาน (joyful) อุปมาเหมือนเวลาเราให้เงินขอทานแล้วเราเกิดความปลื้มนิดๆขึ้นมาเองโดยเราไม่ได้ตั้งใจหรือจงใจให้มันเกิด

ดังนั้นเมื่อเราทิ้งความคิด ออกไปเป็นความเงียบ/ความว่างเปล่า เฝ้าสังเกตดูสิ่งต่างๆ เห็นสิ่งต่างๆตามที่มันเป็น ความสงบ ความเมตตา ความเบิกบาน จะโผล่ขึ้นมาในใจเราเอง

อันที่จริงทั้งสามอย่างนี้มันอยู่ของมันที่นั่นอยู่แล้ว เราแค่ถอยจากความคิดเข้าไปพบมัน เท่านั้นเอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

06 มิถุนายน 2567

กรีนสมูทตี้

สำหรับ 1  แก้ว     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • แอปเปิ้ลเขียว     100  กรัม  (แช่แข็ง)
  • สับปะรด             100 กรัม  (แช่แข็ง)
  • เคลใบหยิก         50 กรัม
  • เซเลอรี่               50 กรัม 

วิธีทำ

  1. นำสับปะรด,แอปเปิ้ลเขียว,เซเลอรี่และเคลใส่ลงในโถปั่น
  2. ปั่นให้เข้ากันจนเป็นเนื้อเนียนละเอียด จึงเทใส่แก้วเสิร์ฟ (ในกรณีที่เครื่องปั่นไม่สามารถปั่นส่วนผสมได้ในเบื้องต้นเพราะไม่มีส่วนผสมที่มีน้ำเป็นตัวนำ สามารถใส่น้ำลงไปได้เล็กน้อย ประมาณ 50ml แล้วคนให้ แอปเปิ้ลเขียวและสับปะรดละลายเล็กน้อยจึงปั่นต่อจนเนียน)
[อ่านต่อ...]

น้ำเต้าหู้

สำหรับ 4 แก้ว     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • ถั่วเหลืองซีก 200 กรัม (ยังไม่แช่น้ำ)
  • น้ำสะอาด 1 ลิตร (ไม่รวมน้ำล้างและแช่ถั่ว)
  • ใบเตย 2 – 3 ใบ

วิธีทำ

  1. นำถั่วแห้งมาล้างให้สะอาด 2 – 3 น้ำ จากนั้นนำมาแช่ในน้ำสะอาดประมาณ 4 ชั่วโมง
  2. นำถั่วที่แช่แล้วมาล้างอีก 2 น้ำ เมื่อสะเด็ดน้ำ ใส่ลงในโถปั่น เติมน้ำสะอาดที่เตรียมไว้เทลงไปพอท่วมถั่ว แล้วปั่นจนละอียด
  3. เมื่อปั่นละเอียดแล้ว เติมน้ำสะอาดที่เหลือลงไป ค่อยๆเทส่วนผสมที่ปั่นลงในกระชอนผ้าขาวบาง แล้วคั้นเอาแต่น้ำนมถั่วจนกากแห้ง
  4. นำน้ำนมถั่วที่ได้เทใส่หม้อ เปิดไฟกลาง ใส่ใบเตยลงไปแล้วปิดฝา
  5. เมื่อใกล้เดือด หมั่นคน เพื่อไม่ให้ติดก้นหม้อ พอเดือด ลดไฟลงเคี่ยวไฟอ่อนประมาณ 15 นาที ปิดไฟ ยกลงจากเตา เตรียมเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

หลนเต้าเจี้ยว

สำหรับ 1-2 คน  

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • พืชบดแทนเนื้อสัตว์     33   กรัม
  • เต้าหู้ขาว                          66   กรัม
  • กะทิ                                 70   กรัม
  • เต้าเจี้ยวเมล็ด                   16    กรัม
  • น้ำตาลมะพร้าว                  25   กรัม
  • น้ำปลา                              2    กรัม
  • น้ำมะขามเปียก                  5     กรัม
  • หอมแดง                          15    กรัม
  • พริกชี้ฟ้าแดง                     5     กรัม
  • พริกชี้ฟ้าเขียว                    5     กรัม

วิธีทำ

  1. นำพืชบดแทนเนื้อสัตว์ และเต้าหู้นวดกับกะทิ ใส่หม้อ ตั้งไฟกลาง
  2. ใส่เต้าเจี้ยว น้ำตาลมะพร้าว น้ำปลา น้ำมะขามเปียก คนให้เข้ากัน
  3. ปรับไฟแรง พอเดือดใส่หอมแดง พริกชี้ฟ้าแดง พริกชี้ฟ้าเขียว
  4. ปิดไฟ  ตักเสิร์ฟคู่กับผักเคียง
[อ่านต่อ...]

น้ำพริกปลาทู

สำหรับ 1-2 คน  

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • หมูกรอบจากพืช            30             กรัม 
  • พริกจินดาแดง                             15             กรัม 
  • หอมแดง                                     70             กรัม 
  • กระเทียมจีน                                20             กรัม 
  • น้ำมะนาว                                     8              กรัม 
  • น้ำปลา                                        4              กรัม 
  • น้ำตาล                                        2              กรัม 

วิธีทำ

  1. นำกระทะตั้งไฟกลาง ใส่หมูกรอบจากพืชย่างจนขึ้นสี พักไว้
  2. ย่างพริก หอมแดง กระเทียม จนสุก ตักขึ้นพักไว้
  3. โขลกหมูกรอบ พริก กระเทียมและหอมแดง พอละเอียด
  4. ปรุงรสด้วย น้ำมะนาว น้ำปลา น้ำตาล เติมน้ำ คนให้เข้ากัน
  5. ตักเสิร์ฟ ทานพร้อมกับผักเคียงตามชอบ
[อ่านต่อ...]

น้ำพริกเผา

สำหรับ 1-2 คน  

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • พืชบดแทนเนื้อสัตว์              110        กรัม
  • น้ำพริกเผา                                 150        กรัม
  • พริกป่น                                       3           กรัม
  • น้ำปลา                                       1            กรัม

วิธีทำ

  1. นำกระทะตั้งไฟกลาง ใส่พืชบดแทนเนื้อสัตว์ลงไป ลวนจนสุก
  2. ปรับไฟอ่อน ใส่น้ำพริกเผา พริกป่น น้ำปลา ผสมให้เข้ากัน
  3. ตักเสิร์ฟ ทานคู่กับผักเคียงตามชอบ
[อ่านต่อ...]

น้ำพริกอ่อง

สำหรับ 1-2 คน  

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • พืชบดแทนเนื้อสัตว์               50         กรัม
  • น้ำพริกน้ำเงี้ยว                             10         กรัม
  • มะเขือเทศ                                  180        กรัม
  • เต้าเจี้ยว                                       9          กรัม
  • น้ำต้มสุก                                     15          กรัม

วิธีทำ

  1. นำมะเขือเทศ น้ำพริก โขลกให้ละเอียดเล็กน้อย ตักพักไว้
  2. ตั้งกระทะไฟกลาง ลวนพืชบดแทนเนื้อสัตว์ให้สุก ใส่น้ำพริกน้ำเงี้ยว
  3. ผัดต่อด้วยไฟอ่อนเติมน้ำ ใส่เต้าเจี้ยว เร่งไฟแรงจนเดือด ปิดไฟ
  4. ตักเสิร์ฟ ทานกับผักสด หรือผักต้ม
[อ่านต่อ...]

แจ่วมะเขือเทศ

สำหรับ 3 คน     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • มะเขือเทศสุก 300 กรัม (ยิ่งมะเขือเทศสุกมาก จะมีความหวานธรรมชาติ)
  • หอมแดง 50 กรัม
  • กระเทียม 30  กรัม
  • ผักชีไทย 5 กรัม
  • ผักชีฝรั่ง(ใบเลื่อย) 5 กรัม
  • ข้าวคั่ว 1 ช้อนโต๊ะ
  • พริกป่น 1 ช้อนชา
  • น้ำมะขามเปียก 2 ช้อนชา
  • ซอสปรุงรสฝาเขียว 1 ช้อนโต๊ะ
  • เกลือ (หรือดอกเกลือ) ½ ช้อนชา

วิธีทำ

  1. นำกะทะตั้งไฟกลาง เมื่อร้อนใส่มะเขือเทศ หอมแดง กระเทียมลงคั่ว
  2. ปิดฝา อบไว้เล็กน้อย เพื่อให้ข้างในมะเขือเทศสุก
  3. คั่วจนทุกอย่างสุกมีสีน้ำตาลเข้ม จึงปิดไฟ
  4. นำหอมกระเทียมที่ได้มาโขลกเข้ากันพอหยาบ
  5. ลอกเปลือกมะเขือเทศที่ไหม้ออกแล้วใส่ลงในครก โขลกรวมกันเบาๆ จึงใส่ดอกเกลือ น้ำมะขาม ซอสฝาเขียว คนให้เข้ากัน ใส่ข้าวคั่ว และพริกป่นลงคน สุดท้ายใส่ผักชีไทยและฝรั่งที่ซอยไว้ ตักใส่ถ้วย เตรียมเสิร์ฟกับผักต่างๆ
[อ่านต่อ...]

ห่อหมกสไตล์อีสาน (หมกหม้อ)

สำหรับ 3 คน     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • เต้าหู้ขาว 150 กรัม
  • เห็ดเข็มทอง 200 กรัม
  • ผักชีลาว 50 กรัม
  • ใบแมงลัก 30 กรัม
  • ต้นหอม 30 กรัม
  • ใบมะกรูด 4 – 5 ใบ
  • พริกแห้ง 4 – 5 เม็ด
  • กระเทียม 10 กรัม
  • หอมแดง 20 กรัม
  • ตะไคร้ 20 กรัม
  • กระชาย 20 กรัม
  • พริกขี้หนูสด 3 – 4 เม็ด
  • ปลาร้า (เจหรือธรรมดา) 2 ช้อนโต๊ะ
  • ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนโต๊ะ
  • เกลือ    ½ ช้อนชา
  • ใบตองสด สำหรับรองส่วนผสมหมก

วิธีทำ

  1. โขลกพริกแห้ง ตะไคร้ ดอกเกลือเข้าด้วยกัน
  2. ใส่กระเทียม หอมแดง กระชายลงโขลกให้เข้ากันพอหยาบ
  3. นำเต้าหู้ เห็ดเข็มทองและส่วนผสมที่โขลกไว้ขยำเข้ากัน ใส่ซีอิ๊วขาว ปลาร้า และผักที่เตรียมไว้ลงคลุกเคล้าเข้ากันให้ทั่ว
  4. ตั้งกะทะไฟกลาง นำใบตองปูรองในกะทะ 2 ชั้น แล้วนำส่วนผสมที่คลุกเข้ากันเทลงบนใบตอง นำใบตองปิดทับอีกชั้น แล้วปิดฝา 
  5. ใช้ไฟกลางประมาณ 10 นาที จนหมกสุกทั่วกัน จึงปิดไฟ นำใส่จานเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

เต้าหู้นึ่งซีอิ๊ว

สำหรับ 2 คน     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • เต้าหู้นิ่ม 200 กรัม
  • เห็ดหูหนูดำ 20 กรัม (ซอยบาง)
  • เห็ดหอมแช่น้ำ 20 กรัม (ซอยบาง)
  • ขิงซอยบาง 20 กรัม
  • ต้นหอม, ขึ้นฉ่าย 20 กรัม (อย่างละ 10 กรัม)
  • พริกชี้ฟ้าแดง 10 กรัม (หั่นเส้น)
  • กระเทียมทุบ 1 กลีบ
  • ซอสเห็ดหอม 1 ช้อนโต๊ะ
  • ซีอิ๊วเห็ดหอม 2 ช้อนชา
  • น้ำมันงา 1 ช้อนชา
  • น้ำสต็อกผัก 50 มิลลิลิตร

วิธีทำ

  1. นำเต้าหู้ใส่จานสำหรับเข้าหม้อนึ่ง ใส่น้ำสต็อกผัก เห็ดหอม เห็ดหูหนู กระเทียม ซอสเห็ดหอมและซีอิ๊วเห็ดหอม (ราดน้ำซอสบนเต้าหู้เพื่อให้ซอสซึมเข้าเนื้อ)
  2. ตั้งหม้อนึ่งใช้ไฟกลาง เมื่อน้ำเดือด นำจานที่เตรียมเต้าหู้ไว้ ใส่ลงแล้วปิดฝา
  3. เมื่อทุกอย่างสุก ใส่ขึ้นฉ่าย ต้นหอม ขิง พริกชี้ฟ้าแดงลงไป ปิดฝา
  4. ปิดไฟเมื่อผักสุก แล้วราดด้วยน้ำมันงาให้ทั่ว
  5. นำจานออกจากหม้อนึ่ง เตรียมเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

หมูกระเทียมพริกไทย

สำหรับ 1 คน

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • พืชบดแทนเนื้อสัตว์           90      กรัม
  • กระเทียมจีนสับ                        7        กรัม
  • รากผักชีสับ                              3        กรัม
  • พริกไทยดำป่น                         1        กรัม
  • ซอสเห็ดหอม                          5       กรัม
  • ซีอิ๊วขาว                                 2 กรัม
  • น้ำตาลทราย                           2 กรัม
  • น้ำสะอาด                                50 กรัม

วิธีทำ

  1. นำกระทะตั้งไฟกลาง ใส่น้ำมัน เนื้อบดจาดพืช
  2. ลวนเนื้อบดจนสุก ใส่กระเทียม รากผักชื พริกไทยดำ
  3. ปรุงรสด้วยซอสเห็ดหอม ซีอิ๊วขาว น้ำปลา น้ำตาลทราย เติมน้ำ
  4. ปรับไฟแรง คนให้เข้ากัน ปิดไฟ ตักเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

04 มิถุนายน 2567

ไก่จำลองทอด

สำหรับ 1 คน

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • พืชบดแทนเนื้อสัตว์        280   กรัม
  • ซอสเห็ดหอม                        10     กรัม
  • ซีอิ๊วขาว                               8    กรัม
  • น้ำตาล                                  5      กรัม
  • น้ำมันงา                               1     กรัม
  • ซีอิ๊วดำฉลากส้ม                    1     กรัม
  • รากผักชีสับ                          10    กรัม
  • กระเทียมจีนสับ                      3     กรัม
  • พริกไทยขาวป่น                    10    กรัม
  • เห็ดออรินจิ                            3     กรัม

วิธีทำ

  1. นำพืชบดแทนเนื้อสัตว์และส่วนผสมทั้งหมด
  2. คนส่วนผสมให้เข้ากัน  หมักไว้ 30 นาที
  3. นำพืชบดแทนเนื้อสัตว์ที่หมักแล้วขึ้นรูปเป็นไก่จำลอง
  4. นำไก่จำลองทอดด้วยไฟอ่อนจนสุกทั้งสองด้าน
  5. จัดใส่จานเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

เห็ดและเทมเป้ทอดขมิ้น

สำหรับ 2 คน     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • เห็ดออรินจิ 200  กรัม
  • เทมเป้ 100  กรัม
  • ขมิ้นสด 30 กรัม (หรือผงขมิ้น 2 ช้อนชา)
  • กระเทียม 20  กรัม
  • พริกไทยขาว  ¼ ช้อนชา
  • ซอสเห็ดหอม  2 ช้อนชา
  • ซอสฝาเขียว   2 ช้อนชา
  • รากผักชี 1 ช้อนชา
  • เกลือ ¼ ช้อนชา

วิธีทำ

  1. นำขมิ้นสดใส่ถุงพลาสติกแล้วตำในครก (เพื่อไม่ให้สีเหลืองของขมิ้นติดในครก จะได้ไม่ยุ่งยากในการล้างและใช้ตำเครื่องต่อ)
  2. โขลกพริกไทยและรากผักชีให้ละเอียด แล้วจึงใส่ดอกเกลือและกระเทียมลงโขลกเข้ากันพอหยาบ
  3. นำซอสฝาเขียวและซอสเห็ดหอมเทลงในชามผสมคนเข้ากัน ใส่เห็ดออรินจิและเทมเป้ลงไปคลุกเข้ากันให้ทั่ว
  4. นำเครื่องที่ตำไว้ลงคลุกเข้ากัน ตามด้วยขมิ้นขยำให้เข้ากันจนทั่ว หมักทิ้งไว้ 10 – 15 นาทีเป็นอย่างน้อย เพื่อให้เครื่องซึมเข้าเนื้อเห็ดและเทมเป้
  5. นำเห็ดและเทมเป้ที่หมักแล้วใส่ในหม้อทอดไร้น้ำมัน โดยเริ่มจากเห็ดก่อนใช้เวลาประมาณ 10 นาที ไฟกลาง (ดูที่เนื้อเห็ดสุกจนแห้งพอประมาณ) แล้วตามด้วยเทมเป้ ใช้เวลาประมาณ 7 นาที เนื้อไม่แห้งมาก เตรียมใส่จานเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

วุ้นเส้นผัดฟองเต้าหู้ผักรวม

สำหรับ 2 คน     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • วุ้นเส้นไม่ฟอกสี  70 กรัม (วุ้นเส้นแห้งที่แช่น้ำแล้ว)
  • ฟองเต้าหู้ 50 กรัม
  • เห็ดชิเมจิ 20 กรัม
  • เห็ดนางฟ้า 20 กรัม
  • เห็ดหูหนูดำ 10 กรัม
  • มะเขือเทศ 30 กรัม
  • แครอท 20 กรัม
  • ขึ้นฉ่าย 10 กรัม
  • ต้นหอม 10 กรัม
  • หอมใหญ่ 30 กรัม
  • ถั่วลันเตา 20 กรัม
  • กะหล่ำปลี 30 กรัม
  • ข้าวโพดอ่อน 10 กรัม
  • กระเทียม 10 กรัม
  • ซอสเห็ดหอม 1 ช้อนโต๊ะ
  • ซีอิ๊วเห็ดหอม 1 ช้อนโต๊ะ
  • ซีอิ๊วหวาน 2 ช้อนชา
  • น้ำมันงา 1 ช้อนโต๊ะ
  • งาขาวคั่ว 2 ช้อนชา
  • น้ำ 150 มิลลิลิตร

วิธีทำ

  1. นำกะทะตั้งไฟกลาง ใส่กระเทียมลงคั่วให้หอม
  2. ใส่เห็ดชิเมจิ เห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนูดำลงผัดให้เข้ากัน ตามด้วยน้ำสะอาด
  3. ใส่วุ้นเส้นลงไป ตามด้วยซอสเห็ดหอม ซีอิ๊วเห็ดหอม ซีอิ๊วหวาน แล้วผัดให้เข้ากัน จึงใส่แครอท ข้าวโพดอ่อน มะเขือเทศ แล้วปิดฝา
  4. เมื่อวุ้นเส้นสุกดีแล้ว ใส่หอมใหญ่ ถั่วลันเตา กะหล่ำปลี ฟองเต้าหู้ ลงผัดเข้ากันจนผักสุก
  5. ใส่ขึ้นฉ่าย ต้นหอม ตามด้วยน้ำมันงา ผัดให้เข้ากันแล้วปิดไฟ ตักใส่จานเสิร์ฟโรยด้วยงาขาวคั่ว
[อ่านต่อ...]

ผัดผักรวมมิตร

สำหรับ 2 คน     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • เห็ดออรินจิ 50  กรัม
  • เห็ดชิเมจิ 30 กรัม
  • ดอกกะหล่ำ 30 กรัม
  • บร็อคโคลี่ 30 กรัม
  • ข้าวโพดอ่อน 20 กรัม
  • ถั่วลันเตา 20 กรัม
  • แครอท 20 กรัม
  • พริกหวานแดง,เหลือง 40 กรัม (อย่างละ 20 กรัม)
  • เห็ดหอมแห้งแช่น้ำ 20 กรัม
  • กระเทียมสับ 10 กรัม
  • งาขาคั่ว 2 ช้อนชา
  • ซอสเห็ดหอม 1 ช้อนโต๊ะ
  • ซีอิ๊วเห็ดหอม 2 ช้อนชา
  • น้ำมันงา 2 ช้อนชา
  • น้ำ 100 มิลลิลิตร

วิธีทำ

  1. นำกะทะตั้งไฟกลาง ใส่กระเทียมลงไปคั่วให้หอม
  2. ใส่เห็ดหอมผัดเข้ากัน ตามด้วยเห็ดออรินจิลงผัดรวมกัน 
  3. ใส่เห็ดชิเมจิ ตามด้วยน้ำสะอาด ซอสเห็ดหอม ซีอิ๊วเห็ดหอม คนเข้ากัน แล้วปิดฝา ให้น้ำซอสซึมเข้าในเนื้อเห็ด
  4. ใส่ผักที่สุกยากลงก่อน ได้แก่ ดอกกะหล่ำ บร็อคโคลี่ แครอท ข้าวโพดอ่อน คนให้เข้ากันแล้วปิดฝา รอจนผักสุก 
  5. ใส่ผักที่สุกง่าย ได้แก่ ถั่วลันเตา พริกหวาน ผัดให้เข้ากัน พอสุกใส่น้ำมันงา แล้วปิดไฟ คนให้เข้ากัน ตักใส่จานเสิร์ฟโรยด้วยงาขาวคั่ว
[อ่านต่อ...]

ถั่วแขกผัดพริกเกลือ

สำหรับ 1 คน  

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • หมูกรอบจากพืช             90          กรัม
  • ถั่วแขก                                       120         กรัม
  • พริกจินดาแดงสับละเอียด               2           กรัม
  • กระเทียมจีนสับละเอียด                  6           กรัม
  • เกลือ                                           1         กรัม
  • น้ำสะอาด                                     15          กรัม
  • เต้าหู้งาดำ                                    25          กรัม
  • เต้าหู้เห็ดหอม                               30          กรัม

วิธีทำ

  1. นำกระทะใส่น้ำมัน ตั้งไฟกลาง ใส่หมูกรอบ ผัดจนขึ้นสี
  2. ใส่พริก กระเทียม ผัดให้ส่งกลิ่นหอม จากนั้นปรับไฟแรง ใส่ถั่วแขก เต้าหู้
  3. ปรุงรสด้วยเกลือ ผัดต่อจนถั่วแขกสุก ปิดไฟ ตักเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

ผัดมะเขือยาวเต้าเจี้ยว

สำหรับ 1 คน

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • พืชบดแทนเนื้อสัตว์           60       กรัม
  • กระเทียมจีน                            10       กรัม
  • เต้าเจี้ยว                                   7       กรัม
  • ซอสเห็ดหอม                          6      กรัม
  • มะเขือยาว                              100       กรัม
  • แครอท                                   35        กรัม
  • ใบโหระพา                              15        กรัม
  • น้ำสะอาด                                50       กรัม

วิธีทำ

  1. นำกระทะตั้งไฟ ใส่น้ำมัน ใส่กระเทียม พืชบดแทนเนื้อสัตว์จนสุก
  2. เร่งไฟแรง ใส่มะเขือยาว น้ำสะอาด เต้าเจี้ยว และ ซอสเห็ดหอม ผัดจนมะเขือสุก
  3. ใส่ใบโหรพา และปิดไฟ ตักเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

คั่วกลิ้ง

สำหรับ 1 คน

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • พืชบดแทนเนื้อสัตว์       100       กรัม
  • พริกแกงคั่วกลิ้ง                    6       กรัม
  • ใบมะกรูดซอย                      1          กรัม
  • น้ำปลา                                2     กรัม
  • น้ำสะอาด                            14     กรัม

วิธีทำ

  1. นำพืชบดแทนเนื้อสัตว์ ใส่พริกแกง นวดให้เข้ากัน
  2. นำกระทะตั้งไฟกลาง ใส่พืชบดแทนเนื้อสัตว์ เติมน้ำ ผัดจนแห้ง ปรุงรสด้วย น้ำปลา
  3. ปิดไฟ ตักใส่จานเสิร์ฟ โรยด้วยใบมะกรูดซอย
[อ่านต่อ...]

ผัดผงกะหรี่เต้าหู้และฟองเต้าหู้

สำหรับ 2 คน     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • เต้าหู้ขาว 100 กรัม
  • ฟองเต้าหู้ 100 กรัม
  • หอมใหญ่ 50 กรัม
  • เซเลอรี่ (ขึ้นฉ่ายฝรั่ง) 50 กรัม
  • ขึ้นฉ่ายไทย 10 กรัม
  • ต้นหอม 10 กรัม
  • กระเทียมสับ 10 กรัม
  • พริกชี้ฟ้าแดง 10 กรัม
  • ผงกะหรี่ 1 ช้อนโต๊ะ
  • นมจากพืช 150 มิลลิลิตร (นมถั่วเหลืองหรือนมอัลมอนด์ หรืออื่นๆ)
  • น้ำตาลมะพร้าว ½ ช้อนชา
  • ซอสเห็ดหอม 1 ช้อนโต๊ะ
  • ซีอิ๊วเห็ดหอม 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

  1. นำเต้าหู้ขาวใส่ในหมอทอดไร้น้ำมัน ไฟกลางประมาณ 7 – 10 นาทีพอผิวตึง
  2. เทนมจากพืช 30 มล. ลงผสมกับผงกะหรี่ คนให้เข้ากัน แล้วพักไว้
  3. ตั้งกะทะไฟกลาง ใส่กระเทียมลงคั่วให้หอม ใส่เต้าหู้ลงผัดเข้ากัน เทส่วนผสมผงกะหรี่กับนมพืชลงไป ผัดให้เข้ากัน เติมนมพืชลงอีก 50 มล. คนเข้ากัน
  4. ใส่ซอสเห็ดหอม ซีอิ๊วเห็ดหอม น้ำตาลมะพร้าว คนให้ละลายเข้ากัน ใส่ฟองเต้าหู้ ตามด้วยนมพืชที่เหลือลงคนให้เข้ากัน รอเดือดอีกครั้ง
  5. ใส่เซเลอรี่ หอมใหญ่ ลงผัดพอสุก ตามด้วยขึ้นฉ่าย ต้นหอม พริกชี้ฟ้าแดง ผัดให้เข้ากันแล้วปิดไฟ เตรียมเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

ถามหมอสันต์เรื่องใบมะละกอรักษามะเร็งปอด

ภาพวันนี้ / เฟื่องฟ้า ไม่ธรรมดา

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้ค กรุณาคลิกที่ภาพ)

เรียนคุณหมอสันต์

ผมเป็นมะเร็งปอดและต้มใบมะละกอกินตามที่ท่านรัฐมนตรี … แถลงข่าว แต่ตอนนี้มีนพ. … ที่รพ. … ออกข่าวว่าใบมะละกอเป็นพิษต่อตับต่อไตและอาจทำให้เป็นมะเร็งเสียเอง ทำให้ผมชะงัก รบกวนคุณหมอสันต์ช่วยให้ข้อมูลของจริงหน่อยครับว่ามันเป็นอย่างไร

……………………………………………..

ตอบครับ

1.. ประเด็นใบมะละกอรักษามะเร็งปอดได้หรือไม่ ข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ตอนนี้มีงานวิจัยที่ผมทราบอย่างน้อยก็ 3 งานที่ตีพิมพ์เป็นหลักฐานไว้ในต่างประเทศว่าใบมะละกอสามารถยับยังการเติบโตของเซลล์มะเร็งปอดบ้าง มะเร็งเต้านมบ้าง มะเร็งต่อมลูกหมากบ้าง ในจานเพาะเลี้ยง โดยกลไกการทำลายเซลล์มะเร็งนั้นเป็นการเร่งให้เซลล์มะเร็งระเบิดตัวเอง (apoptosis) ได้มากขึ้น แต่ผมยังไม่เคยเห็นรายงานการวิจัยในคน กรณีที่มีการแถลงข่าวว่าใบมะละกอต้มรักษามะเร็งปอดในคนจริงๆได้นั้น เป็นหลักฐานในระดับรายงานผู้ป่วย (case report) ผมเข้าใจว่าอย่างน้อยก็มีหนึ่งคนที่ยืนยันตัวตนได้และตีพิมพ์ไว้ในวารสารการแพทย์ของเกาหลีแต่ผมไม่ได้เอามาอ้างไว้เพราะข้อมูลค่อนข้างหละหลวมไม่รัดกุม ผมเชื่อว่าต่อไปคงจะมีการตีพิมพ์หลักฐานในคนหลายๆคน (case series) ออกมา ซึ่งจะนำไปสู่การวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ อันจะเป็นหลักฐานที่ตกผลึกจริงๆว่าใบมะละกอรักษามะเร็งในคนได้ผลจริงหรือไม่ ในระหว่างนี้เราก็ต้องอยู่กับความรู้แบบครึ่งๆกลางๆ จริงหรือไม่จริงก็ยังไม่ชัวร์ รู้แค่นี้ไปก่อน

2.. ประเด็นที่มีคนออกมาโพนทะนาว่าใบมะละกอมีพิษต่อตับบ้างต่อไตบ้างและว่ามีไซยาไนด์เป็นอันตรายต่อร่างกายนั้น ไม่เป็นความจริงเลย เรื่องไซยาไนด์ในพืชอาหารนั้นความเป็นจริงคือพืชอาหารจำนวนมากมีไซยาไนด์เป็นส่วนประกอบรวมทั้งแอปเปิลเป็นต้น แต่มันไม่เป็นพิษเพราะปริมาณที่ต่ำและมีการสลายตัวเร็วมาก ประเด็นหลักฐานพิษของใบมะละกอในคนไม่ว่าจะต่อตับหรือต่อไตไม่เคยมีใครค้นพบหรือตีพิมพ์ไว้เลย มีงานทดลองในหนูหนึ่งงานวิจัยที่ให้หนูกินใบมะละกอในความเข้มข้น 14 เท่าของที่ใช้กินในคน ให้หนูกินอยู่นาน 13 สัปดาห์ ก็ไม่พบว่าเกิดพิษใดๆขึ้นกับหนูทดลองเลย ดังนั้นหากมีแพทย์ท่านใดค้นพบในคนจริงๆว่าใบมะละกอเป็นพิษต่อตับก็ควรจะรีบรายงานไว้ในวารสารการแพทย์ ถือว่าเป็นหน้าที่ของแพทย์เพราะเป็นเรื่องสำคัญและเป็นข้อมูลที่จำเป็นต่อความปลอดภัยของผู้คน ในเรื่องนี้ ณ ขณะนี้ผมยืนยันอย่างหนักแน่นว่าไม่มีหลักฐานแม้แต่ชิ้นเดียวว่าใบมะละกอจะเป็นพิษต่อตับหรือไตของคน ใครที่มีหลักฐานแตกต่างจากนี้รบกวนช่วยสงเคราะห์ส่งมาให้ผมเอาบุญด้วย ดังนั้น บนข้อมูลที่วงการแพทย์มีอยู่ขณะนี้ ผมแนะนำว่าใครที่อยากใช้ใบมะละกอเป็นอาหารหรือเป็นยาสมุนไพรก็ขอให้ใช้ได้อย่างสบายใจ คนหลายชาติพันธ์เช่นคนอินโดนีเซีย ก็ใช้ใบมะละกอเป็นอาหาร พืชสกุลใกล้กันคือผักไชยา (Cnidoscolus chayamansa McVaugh) คนไทยก็ใช้เป็นอาหารอยู่ทุกวันนี้

3.. ประเด็นเมื่อเป็นมะเร็งปอดแล้วควรใช้ใบมะละกอรักษาไหม ตอบว่ามันเป็นทางเลือกในการรักษาที่ขึ้นอยู่กับความชอบของผู้ป่วยแต่ละคน ผมมักจะพูดกับผู้ป่วยมะเร็งเสมอว่าหลังจบการรักษาตามสูตรคือผ่าตัดฉายแสงเคมีบำบัดแล้ว หากยังไม่สบายใจจะเสาะหาการรักษาเพิ่มเติมด้วยพืชสมุนไพรก็เป็นวิธีร่วมรักษามะเร็งที่ดี ผมไม่มีข้อโต้แย้งในเรื่องนี้เลย ยิ่งจะไปห้ามผู้ป่วยไม่ให้ใช้สมุนไพรรักษามะเร็งนั้นแพทย์จะเอาข้อมูลอะไรไปห้ามเขาหรือครับ เพราะวิชาแพทย์เรายังไม่รู้เลยว่ามะเร็งเกิดจากอะไรจะรักษาอย่างไรให้มันหาย แล้วเราจะเอาอะไรไปห้ามผู้คนไม่ให้รักษาด้วยวิธีนั้นวิธีนี้ซึ่งแตกต่างไปจากวิธีที่เราใช้อยู่ ดังนั้นในเรื่องการรักษามะเร็งนี้มันเป็นสนามเปิด ใครมีอะไรที่ทำท่าว่าจะดีก็ควรรีบเอามาโพนทะนาให้ได้ลองได้วิจัยกันเพื่อจะได้รู้ความจริง ไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย หรือแม้กระทั่งคนทั่วไปก็ควรเข้ามามีส่วนพัฒนาความรู้การรักษามะเร็งทั้งนั้น อย่าไปคิดว่ามันเป็นสนามผูกขาดสำหรับแพทย์แผนปัจจุบันเท่านั้นเลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Zuhrotun Nisa F, Astuti M, Murdiati A, Mubarika Haryana S. nti-proliferation and Apoptosis nduction of Aqueous Leaf Extract of Carica papaya L. on Human Breast Cancer Cells MCF-7. Pak J Biol Sci. 2017;20(1):36-41. doi: 10.3923/pjbs.2017.36.41. PMID: 29023013.
  2. Otsuki, N., Dang, N. H., Kumagai, E., Kondo, A., Iwata, S., & Morimoto, C. (2010). Aqueous extract of Carica papaya leaves exhibits anti-tumor activity and immunomodulatory effects. Journal of Ethnopharmacology, 127(3), 760-767.
  3. Pandey, S., & Cabot, P. J. (2012). Carica papaya leaf extract inhibits human prostate adenocarcinoma cell proliferation in vitro and in vivo. Asian Pacific Journal of Tropical Biomedicine, 2(8), 623-628.
  4. Ismail Z, Halim SZ, Abdullah NR, Afzan A, Abdul Rashid BA, Jantan I. Safety Evaluation of Oral Toxicity of Carica papaya Linn. Leaves: A Subchronic Toxicity Study in Sprague Dawley Rats. Evid Based Complement Alternat Med. 2014;2014:741470. doi: 10.1155/2014/741470. Epub 2014 Oct 29. PMID: 25530788; PMCID: PMC4228719.
[อ่านต่อ...]

ผัดฉ่าเทมเป้

สำหรับ 2 คน     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • เทมเป้ 100 กรัม
  • เห็ดออรินจิ 50 กรัม
  • กระชายซอย 20 กรัม
  • พริกไทยอ่อน 10 กรัม
  • มะเขือเปราะ 50 กรัม
  • มะเขือพวง 20 กรัม
  • ยอดมะพร้าว 20 กรัม
  • ใบมะกรูดฉีกเล็ก 2 – 3 ใบ
  • พริกชี้ฟ้าแดง 10 กรัม
  • ข้าวโพดอ่อน 10 กรัม
  • โหระพา 10 กรัม
  • กระเทียม 10 กรัม
  • พริกขี้หนูสด 5 กรัม
  • ซอสเห็ดหอม 1 ช้อนโต๊ะ
  • ซีอิ๊วเห็ดหอม 1 ช้อนโต๊ะ
  • ซีอิ๊วหวาน 1 ช้อนชา
  • น้ำ 150 มิลลิลิตร

วิธีทำ

  1. โขลกกระเทียม พริกขี้หนูสดพอหยาบ แล้วพักไว้
  2. ตั้งกะทะไฟกลาง ใส่น้ำลงไปเล็กน้อย นำพริกกระเทียมที่โขลกไว้ลงผัดในกะทะให้หอม
  3. ใส่เห็ด เทมเป้ และยอดมะพร้าวลงผัดเข้ากัน เทน้ำลงไปจนหมด ใส่ซอสเห็ดหอม ซีอิ๊วเห็ดหอม ซีอิ๊วหวานลงไป คนเข้ากันแล้วปิดฝา
  4. เมื่อน้ำซอสงวดลงและซึมเข้าในเนื้อเทมเป้และเห็ด รวมทั้งยอดมะพร้าวแล้ว ใส่มะเขือเปราะมะเขือพวง ข้าวโพดอ่อนลงไป ปิดฝารอจนสุก
  5. จึงใส่กระชายซอย พริกชี้ฟ้าแดง ใบมะกรูด โหระพา พริกไทยอ่อนลงไปผัดให้เข้ากัน แล้วปิดไฟ เตรียมใส่จานเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

เต้าหู้ผัดพริกไทยดำ

สำหรับ 2 คน     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • เต้าหู้ขาว 150 กรัม
  • เห็ดออรินจิ 50 กรัม
  • พริกหวาน3สี 90 กรัม (อย่างละ 30 กรัม)
  • หอมใหญ่ 30 กรัม
  • ข้าวโพดอ่อน 30 กรัม
  • ต้นหอม       10 กรัม
  • กระเทียม 5 กรัม
  • รากผักชี 1 ช้อนชา
  • พริกไทยดำ 1 ช้อนชา
  • ซอสเห็ดหอม 1 ช้อนโต๊ะ
  • ซีอิ๊วเห็ดหอม 2 ช้อนชา
  • น้ำตาลมะพร้าว ¼ ช้อนชา
  • น้ำ 150 มิลลิลิตร

วิธีทำ

  1. นำเต้าหู้ใส่หม้อทอดลมร้อนประมาณ 10 นาที จนมีผิวตึงสีเหลืองทอง
  2. โขลกพริกไทย รากผักชี กระเทียมเข้ากัน
  3. ตั้งกะทะไฟกลาง ใส่น้ำสะอาดลงไปเล็กน้อย แล้วนำส่วนผสมที่โขลกไว้ลงผัด 
  4. ใส่เห็ดออรินจิผัดเข้ากัน เติมน้ำที่เหลือลงไป ใส่เต้าหู้ ซอสเห็ดหอม ซีอิ๊วเห็ดหอม น้ำตาลมะพร้าว คนเข้ากันแล้วปิดฝา เพื่อให้น้ำซอสเข้าเนื้อเห็ดและเต้าหู้
  5. เมื่อน้ำซอสงวดลง ใส่ข้าวโพดอ่อน หอมใหญ่ พริกหวานลงผัด พอสุก ใส่ต้นหอมแล้วปิดไฟ เตรียมเสิร์ฟ (อาจเติมน้ำได้อีก หากน้ำซอสแห้งเกินไป)
[อ่านต่อ...]

ผัดพริกแกง

สำหรับ 1 คน

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • หมูกรอบจากพืช          50      กรัม
  • พริกแกงเผ็ด                              5       กรัม
  • น้ำต้มสุก                                   50      กรัม
  • ซอสเห็ดหอม                             2       กรัม
  • น้ำปลา                                      2       กรัม
  • น้ำตาลทราย                              1       กรัม
  • ถั่วฝักยาว                                  50     กรัม
  • พริกชี้ฟ้าแดง                             10     กรัม
  • ใบมะกรูด                                    2     กรัม
  • ข้าวโพดอ่อน                             56     กรัม

วิธีทำ

  1. นำกระทะตั้งไฟใส่น้ำมัน ใส่หมูกรอบจากพืชลงไปคั่วในกระทะ
  2. ใส่พริกแกงลงไปผัดจนหอม ใส่น้ำลงไป และปรุงรส
  3. เร่งไฟแรง ใส่ถั่ว ข้าวโพดอ่อน และพริกชี้ฟ้าแดง ใบมะกรูด ผัดจนสุก พร้อมเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

ผัดกะเพรา

สำหรับ 1 คน

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • พืชบดแทนเนื้อสัตว์          100       กรัม
  • กระเทียมจีน                            7       กรัม
  • พริกจินดาแดง                         8     กรัม
  • ซอสเห็ดหอม                          10        กรัม
  • ซอสปรุงรสฝาเขียว                   4      กรัม
  • น้ำตาลทราย                            1      กรัม
  • ใบกะเพรา                               15       กรัม
  • ถั่วฝักยาว                                50       กรัม

วิธีทำ

  1. นำกระทะตั้งไฟ ใส่พืชบดแทนเนื้อสัตว์ ลวนจนสุก
  2. ใส่ กระเทียม พริก ผัดจนส่งกลิ่นหอม ใส่ถั่วฝักยาว
  3. ปรุงรสด้วย ซอสเห็ดหอม ซอสปรุงรส น้ำปลา น้ำตาล
  4. เร่งไฟแรง ใส่ใบกะเพรา ปิดไฟ พร้อมตักเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

แหนมเห็ด

สำหรับ 1-2 คน

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • พืชบดแทนเนื้อสัตว์                      120            กรัม
  • เห็ดนางฟ้าฉีกต้มสุก                      80              กรัม
  • กระเทียมไทย                               30              กรัม
  • เกลือป่นหยาบ                              3                กรัม
  • ข้าวสวยหุงสุก                              60              กรัม
  • พริกขี้หนูสวน                                2               กรัม

วิธีทำ

  1. นำข้าวสวย กระเทียม เกลือ โขลกให้ละเอียด 
  2. นำพืชบดแทนเนื้อสัตว์ เห็ดนางฟ้า คนให้ส่วนผสมเข้ากัน
  3. บรรจุใส่ถุง และเก็บในอุณหภูมิห้อง 3-4 วัน ก่อนนำมาทาน 
[อ่านต่อ...]

เมี่ยงคำใบชะพลู

สำหรับ 1-2 คน

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • พืชบดแทนเนื้อสัตว์      100   กรัม
  • น้ำตาลมะพร้าว                    60    กรัม
  • กะปิ                                    2     กรัม
  • น้ำปลา                                2     กรัม
  • ข่า                                      4     กรัม
  • ถั่วลิสงคั่วบด                       3      กรัม
  • มะพร้าวคั่ว                          2      กรัม

วิธีทำ

  1. นำกระทะตั้งไฟกลาง ใส่พืชบดแทนเนื้อสัตว์จนสุก และพักไว้
  2. ห่อกะปิและข่าด้วยใบตอง นำไปย่างจนหอม ตำกะปิและข่านำกระทะตั้งไฟอ่อน ใส่เนื้อบดจาก
  3. พืช น้ำตาลมะพร้าว กะปิ น้ำปลา และน้ำต้มสุก คนให้เข้ากัน 
  4. ตั้งไฟจนเดือด ปิดไฟ ใส่มะพร้าวคั่ว ถั่วลิสงบด
[อ่านต่อ...]

ยำรวมมิตร

สำหรับ 1-2 คน

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • พืชบดแทนเนื้อสัตว์              70            กรัม
  • เห็ดหลินดำ                                50            กรัม
  • เห็ดหลินขาว                              50            กรัม
  • เห็ดออรินจิ                                 35           กรัม
  • เส้นแก้ว                                      50          กรัม
  • เห็ดเข็มทอง                               40           กรัม
  • น้ำปลา                                       10           กรัม
  • มะนาว                                        20           กรัม
  • น้ำตาล                                        5         กรัม
  • ต้นหอม                                       5            กรัม
  • ขึ้นฉ่าย                                        5            กรัม
  • แครอท                                       18           กรัม
  • พริกสวน                                      5          กรัม

วิธีทำ

  1. นำพืชบดแทนเนื้อสัตว์ผัดในกะทะ
  2. ตั้งน้ำให้เดือด นำผักลวกให้สุก ผสมน้ำปลา มะนาว พริกสวน น้ำตาล
  3. พร้อมเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

ยำถั่วพู

สำหรับ 1-2 คน

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • น้ำพริกเผา                                  30           กรัม
  • น้ำตาลมะพร้าว                            10           กรัม
  • น้ำปลา                                       10           กรัม
  • น้ำมะนาว                                    15           กรัม
  • พืชบดแทนเนื้อสัตว์               160         กรัม
  • ถั่วพู                                           100         กรัม
  • หอมเจียว                                    30           กรัม
  • กะทิ                                           30           กรัม

วิธีทำ

  1. นำกระทะตั้งไฟกลาง ใส่พืชบดแทนเนื้อสัตว์ลวนจนสุก 
  2. ลวกถั่วพูจนสุก และนำมาผ่านน้ำเย็น พักไว้
  3. ผสมน้ำพริกเผา กะทิ น้ำตาลมะพร้าว น้ำปลา น้ำมะนาว คนให้เข้ากัน
  4. จากนั้นใส่ถั่วพู พืชบดแทนเนื้อสัตว์ คลุกให้เข้ากัน
  5. จัดใส่จานเสิร์ฟ โรยด้วยหอมเจียว
[อ่านต่อ...]

02 มิถุนายน 2567

ยำแก่นตะวัน

สำหรับ 2 คน     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • แก่นตะวัน         150 กรัม
  • ข้าวโพดหวาน    50 กรัม
  • มะเขือเทศราชินี  20 กรัม (ผ่าครึ่ง)
  • แครอท              10 กรัม  (ขูดเส้น)
  • กระเทียม            3 กรัม
  • พริกสด              10 กรัม
  • ซีอิ๊วขาว              2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำมะนาว            1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำตาลมะพร้าว   1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

  1. นำแก่นตะวันที่ปอกเปลือกแช่ในน้ำที่บีบน้ำมะนาวทิ้งไว้ขึ้นมาหั่นเป็นเส้นๆแล้วพักไว้
  2. นำพริกสดและกระเทียมที่ตำไว้เทใส่ในชามผสม
  3. ใส่ซีอิ๊วขาว น้ำมะนาว น้ำตาลมะพร้าวลงไปแล้วคนให้เข้ากันจนน้ำตาลละลาย
  4. นำแก่นตะวัน ข้าวโพดหวาน มะเขือเทศราชินีใส่ลงในน้ำยำแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน
  5. ตัดใส่จานเสิร์ฟแต่งด้วยแครอทเส้น แกล้มด้วยผักสลัด
[อ่านต่อ...]

ลาบ

สำหรับ 1 คน

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • พืชบดแทนเนื้อสัตว์               75                   กรัม
  • น้ำปลา                                        5                 กรัม
  • น้ำมะนาว                                     5                    กรัม
  • พริกป่น                                       1                  กรัม
  • ข้าวคั่ว                                        6                 กรัม
  • น้ำตาล                                        2                     กรัม
  • หอมแดงซอย                                 25                กรัม
  • ต้มหอมซอย                                   5                  กรัม
  • ผักชีฝรั่งซอย                                  5                  กรัม
  • ใบมิ้น                                             2                  กรัม
  • น้ำต้มสุก                                        50                 กรัม
  • เห็ดหลินดำ                                    35                 กรัม
  • เห็ดหลินขาว                                  25                 กรัม

วิธีทำ

  1. ใส่น้ำเปล่าในหม้อ ตั้งไฟกลาง ใส่พืชบดแทนเนื้อสัตว์ ใส่เห็ด
  2. ใส่พริกป่น ข้าวคั่ว น้ำปลา น้ำตาล น้ำมะนาว คนให้เข้ากัน
  3. จากนั้นใส่ผักทั้งหมด คนให้เข้ากัน ตักเสิร์ฟทาน พร้อมกับผักสด
[อ่านต่อ...]

น้ำตกเห็ด-เทมเป้ย่าง

สำหรับ 2 คน     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • เทมเป้ 100 กรัม (หั่นสไลด์หนาประมาณ 3 มิลลิเมตร)
  • เห็ดออรินจิ 100 กรัม (หั่นแฉลบไปมา ไม่บางมาก)
  • หอมแดงซอย 15 กรัม
  • ใบมะกรูดซอย 3 – 4 ใบ  
  • ผักชีไทยซอย 10 กรัม
  • ผักชีฝรั่งซอย 10 กรัม
  • ใบสะระแหน่ 5 กรัม (ไว้โรยหน้า)
  • น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ
  • ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนโต๊ะ
  • พริกป่น ½ ช้อนชา
  • ข้าวคั่ว 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำสะอาด 50 มิลลิลิตร

วิธีทำ

  1. ตั้งกะทะย่างไฟกลาง เมื่อร้อนใส่เทมเป้และเห็ดออรินจิลงไป ย่างให้หอมจนสุก และมีสีน้ำตาลเข้มทั้งสองด้าน
  2. ผสมน้ำ ซีอิ๊วขาว และน้ำมะนาวลงในชามผสม 
  3. ใส่เทมเป้ลงแช่ในน้ำส่วนผสมประมาณ 1 – 2 นาทีเพื่อให้น้ำซึมเข้าในเนื้อเทมเป้ 
  4. ใส่เห็ดที่ย่างไว้ลงไปคลุกเข้ากัน ตามด้วยใบมะกรูดซอย หอมแดง พริกป่น คนเข้ากัน แล้วจึงใส่ข้าวคั่วคลุกเคล้าให้ทุกอย่างเข้ากันดี
  5. สุดท้ายใส่ผักชีไทย-ฝรั่งที่ซอยไว้ คนเข้ากันเล็กน้อย จัดใส่จานเสิร์ฟโรยหน้าด้วยใบสะระแหน่ ทานกับผักสดตามชอบ
[อ่านต่อ...]

ส้มตำไทยถั่วรวม

สำหรับ 1 คน     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • มะละกอดิบ 100 กรัม
  • มะเขือเทศ    30 กรัม
  • แครอท         20 กรัม
  • ถั่วฝักยาว     20 กรัม
  • ถั่วนัทรวม          20 กรัม
  • กระเทียม      3  กรัม
  • พริกสด         10 กรัม
  • มะนาว          1 ช้อนโต๊ะ + 1 ช้อนชา
  • ซีอิ๊วขาว        2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำตาลมะพร้าว 1 ช้อนโต๊ะ
  • ถั่วลิสงคั่วบด  1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

  1. ตำพริกสดกับกระเทียมไม่ต้องละเอียดมาก
  2. ใส่ถั่วฝักยาวลงไปตำด้วยพอหยาบ แล้วจึงใส่น้ำตาลมะพร้าว ซีอิ๊วขาว น้ำมะนาว ตำเบาๆให้เข้ากันจนน้ำตาลละลาย
  3. ใส่มะเขือเทศ มะละกอดิบ แครอทลงไป ตำเบาๆพอเข้ากันดี
  4. ใส่ถั่วลิสงบดลงไปคลุกเคล้าเข้ากันพอประมาณ
  5. ตักใส่จานเสิร์ฟ โรยถั่วรวมที่เตรียมไว้ ทานแกล้มกับผักสด
[อ่านต่อ...]

แกงเทโพ

สำหรับ 1-2 คน

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • พริกแกงคั่ว                              25        กรัม
  • หมูกรอบจากพืช         70        กรัม
  • ใบมะกรูด                                  1         กรัม
  • ลูกมะกรูด                                15         กรัม
  • น้ำสะอาด                                150       กรัม
  • กะทิ                                        200      กรัม
  • มะขามเปียก                               6        กรัม
  • ผักบุ้ง                                      100      กรัม
  • น้ำตาลมะพร้าว                          8      กรัม

วิธีทำ

  1. นำกระทะตั้งไฟ ใส่หมูกรอบจากพืช ย่างจนขึ้นสี ตักขึ้นพักไว้
  2. นำกระทะตั้งไฟกลาง ใส่กะทิ ใส่พริกแกงคั่ว
  3. ผัดพริกแกงจนสุก ปรุงรสด้วย น้ำปลา น้ำตาลมะพร้าว
  4. เร่งไฟจนเดือด ใส่ผักบุ้ง ใบมะกรูด ลูกมะกรูด
[อ่านต่อ...]

แกงมัสมั่น

สำหรับ 1-2 คน

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • หมูกรอบจากพืช             100      กรัม
  • พริกแกงมัสมั่น                              40       กรัม
  • กะทิ                                             300     กรัม
  • น้ำปลา                                          2        กรัม
  • น้ำตาลมะพร้าว                               8     กรัม
  • มันฝรั่ง                                          35       กรัม
  • ถั่วลิสงคั่วเต็มเมล็ด                            7      กรัม
  • ใบกระวาน                                         1  กรัม
  • ลูกกระวาน                                       1   กรัม
  • หอมแดง                                          10     กรัม
  • น้ำสะอาด                                         300   มล.
  • ถั่วขาวต้มสุก                                     25     กรัม
  • ลูกเดือยต้มสุก                                   25    กรัม

วิธีทำ

  1. นำกระทะตั้งไฟ ใส่หมูกรอบจากพืช ย่างจนขึ้นสี ตักขึ้นพักไว้
  2. นำกระทะตั้งไฟกลาง ใส่กะทิเคี่ยว ใส่พริกแกงมัสมั่น
  3. ผัดพริกแกงจนสุก ใส่น้ำสะอาด ปรุงรสด้วย น้ำปลา น้ำตาลมะพร้าว
  4. เร่งไฟจนเดือด ใส่มันฝรั่ง หอมแดง ถั่วลิสง ถั่วขาว ลูกเดือย ลูกกระวาน และใบกระวาน เขี้ยวไฟกลางจนมันฝรั่งนิ่ม ตักเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

แกงพะแนงหมูกรอบ

สำหรับ 1-2 คนทาน

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • หมูกรอบจากพืช             55        กรัม
  • พริกแกงแดง                                14     กรัม
  • กะทิ                                            300      กรัม
  • น้ำตาลมะพร้าว                             17     กรัม
  • น้ำปลา                                         5         กรัม
  • มะเขือพวง                                   40        กรัม
  • พริกชี้ฟ้าแดง                                10        กรัม
  • ใบมะกรูด                                      2         กรัม
  • เต้าหู้เหลือง                                 45        กรัม

วิธีทำ

  1. นำกระทะตั้งไฟ ใส่หมูกรอบจากพืชลงไปย่างจนขึ้นสี ตักขึ้นพักไว้
  2. นำกระทะตั้งไฟ ใส่กะทิเคี่ยว ใส่พริกแกง ผัดจนสุก
  3. ใส่หมูกรอบ เต้าหู้เหลือง ปรุงรสด้วย น้ำตาลมะพร้าว น้ำปลา
  4. เร่งไฟจนเดือดจัด ใส่มะเขือพวง พริกขี้หนู ใบมะกรูดฉีก
  5. จัดเสิร์ฟ โรยใบมะกรูดซอยฝอย เพื่อความสวยงาม
[อ่านต่อ...]

แกงเขียวหวาน

สำหรับ 1-2 คน

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • พืชบดแทนเนื้อสัตว์       55    กรัม
  • พริกแกงเขียวหวาน                       25    กรัม
  • กะทิ                                            216   กรัม
  • น้ำต้มสุก                                     116   กรัม
  • น้ำตาลมะพร้าว                             4   กรัม
  • มะเขือเปราะ                                 40    กรัม
  • ยอดมะพร้าว                                 50    กรัม
  • พริกชี้ฟ้าแดง                                10    กรัม
  • ใบมะกรูด                                      2     กรัม
  • ใบโหระพา                                   10    กรัม
  • มะเขือพวง                                   20    กรัม

วิธีทำ

  1. ตั้งกระทะ ใส่กะทิเล็กน้อย ใช้ไฟกลาง ใส่พริกแกงเขียวหวาน
  2. ผัดพริกแกงเขียวหวานจนสุก เติมกะทิและน้ำ
  3. ปั้นพืชบดแทนเนื้อสัตว์ใส่ในน้ำแกงเขียนหวาน ใส่น้ำตาลมะพร้าว
  4. ใส่มะเขือเปราะและยอดมะพร้าว หลังผักสุก
  5. ใส่พริกชี้ฟ้า ใบมะกรูด และโหระพา รอจนเดือด และเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

ต้มกะทิใบเหลียง

สำหรับ 2 คน     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • ผักเหลียง 150 กรัม
  • กะทิ 250 มิลลิลิตร
  • กะปิ (เจหรือธรรมดา) 1 ช้อนโต๊ะ
  • หอมแดงทุบ 30 กรัม
  • พริกไทยขาวป่น 1 ช้อนชา
  • ดอกเกลือ 1 ช้อนชา
  • น้ำตาลมะพร้าว 1 ช้อนชา
  • น้ำสะอาด 250 มิลลิลิตร

วิธีทำ

  1. เทน้ำใส่หม้อตั้งไฟใส่หอมแดง ดอกเกลือ กะปิ คนให้ละลายแล้วปิดฝา
  2. เมื่อน้ำเดือดใส่พริกไทยป่น และน้ำตาลมะพร้าว คนเข้ากัน
  3. จากนั้นใส่ใบเหลียงลงไปคนให้ทั่ว
  4. ใส่กะทิ คนให้เข้ากัน แล้วปิดฝาไว้ รอจนผักเหลียงสุก
  5. เมื่อผักเหลียงสุก จึงปิดไฟ ตักใส่ชามเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

ต้มข่ามะพร้าวอ่อน

สำหรับ 2 คน     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • น้ำมะพร้าวอ่อน 300 มิลลิลิตร
  • เนื้อมะพร้าวอ่อน 50 กรัม
  • กะทิ 250 มิลลิลิตร
  • เห็ดนางฟ้า 50 กรัม
  • เห็ดออรินจิ 50 กรัม
  • เห็ดชิเมจิ 30 กรัม
  • กะหล่ำปลี 50 กรัม
  • ข่าอ่อน 30 กรัม
  • หอมแดงทุบ 30 กรัม
  • ตะไคร้ 20 กรัม  
  • ใบมะกรูด 3 – 4 ใบ
  • พริกสด 10 กรัม
  • ผักชี 10 กรัม
  • ซอสเห็ดหอม 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ
  • เกลือ (หรือดอกเกลือ) 1 ช้อนชา

วิธีทำ

  1. เทน้ำและเนื้อมะพร้าวอ่อนใส่หม้อตั้งไฟ
  2. พอน้ำเดือดใส่ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หอมแดงทุบลงไป
  3. ตามด้วยเห็ดสามอย่างที่เตรียมไว้ กะหล่ำปลี ดอกเกลือ แล้วปิดฝา
  4. พอน้ำเดือดผักสุกดีแล้ว จึงใส่พริกสด ตามด้วยซอสเห็ดหอมและกะทิ คนให้เข้ากัน แล้วปิดฝา รอน้ำเดือด
  5. เมื่อน้ำเดือดใส่ผักชีลงไปแล้วปิดไฟ แล้วจึงใส่น้ำมะนาว ตักใส่ชามพร้อมเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

ต้มโคล้งเห็ดสามอย่าง

สำหรับ 2 คน

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • เห็ด 3 อย่าง ในที่นี้ใช้เห็ดหัวลิงแห้ง 50 กรัม, เห็ดหูหนูขาว 30 กรัม, เห็ดหูหนูดำ 30 กรัม
  • (สามารถใช้เห็ดอื่นๆแทนได้ตามชอบ) 
  • ผักชีไทย 10  กรัม 
  • ผักชีใบเลื่อย (ชีฝรั่ง) 10  กรัม
  • ใบกะเพรา 10 กรัม
  • หอมแดงทุบ 30 กรัม
  • ข่าซอยบาง 30 กรัม
  • ตะไคร้ซอยบาง 30 กรัม
  • มะเขือเทศท้อ 30 กรัม
  • ใบมะกรูด 3 – 4 ใบ (ฉีกเล็ก)
  • เกลือ (หรือดอกเกลือ) 1 ช้อนชา
  • น้ำมะนาว 2 ช้อนชา
  • ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำมะขาม 1 ช้อนโต๊ะ
  • พริกแห้งคั่ว 3 – 4 เม็ด
  • น้ำสะอาดหรือน้ำสต็อกผัก     500 มิลลิลิตร

วิธีทำ

  1. นำน้ำหรือน้ำสต็อกใส่หม้อตั้งไฟ พอเดือดใส่ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หอมแดงทุบ ดอกเกลือ ตามด้วยเห็ด 3 อย่าง แล้วปิดฝา
  2. พอน้ำเดือดอีกครั้งใส่มะเขือเทศ ซีอิ๊วขาว น้ำมะขาม แล้วปิดฝา
  3. ต้มจนสุกจนมีกลิ่นหอม จึงใส่ผักทุกอย่างที่เตรียมไว้ ตามด้วยพริกแห้ง
  4. ปิดไฟ แล้วใส่น้ำมะนาว พร้อมเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

เห็ดต้มขมิ้น

สำหรับ 2 คน     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • เห็ดนางฟ้า 50 กรัม
  • เห็ดออรินจิ 50 กรัม
  • ขาเห็ดหอม 50 กรัม
  • ขมิ้น 20 กรัม (ทุบพอแตก)
  • ข่า 20 กรัม (ซอยบาง)
  • ตะไคร้ 20 กรัม (ซอยบาง)
  • หอมแดงทุบ 30 กรัม
  • พริกสด 3 – 4 เม็ด
  • ใบมะกรูดฉีกเล็ก   3 – 4 ใบ
  • มะขามเปียก 10 กรัม
  • ซอสเห็ดหอม 1 ช้อนโต๊ะ
  • เกลือ (หรือดอกเกลือ) ½ ช้อนชา
  • น้ำสะอาด 500 มิลลิลิตร

วิธีทำ

  1. นำนำ้สะอาดใส่หม้อตั้งไฟ 
  2. ใส่ข่า ตะไคร้ หอมแดง ขมิ้น ดอกเกลือลงไปแล้วปิดฝาหม้อ รอน้ำเดือด
  3. เมื่อน้ำเดือดใส่เห็ดสามอย่าง ตามด้วยพริกสด ใบมะกรูด มะขามเปียก ซอสเห็ดหอมแล้วปิดฝา 
  4. เมื่อเห็ดสุกดีแล้ว ปิดไฟ ยกออกจากเตา
  5. ตักใส่ชามเตรียมเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

แกงเหลืองปักษ์ใต้เทมเป้

สำหรับ 2 คน     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • ขมิ้น 5 กรัม
  • หอมแดง 5 กรัม
  • กระเทียมเล็ก 5 กรัม
  • พริกสด 10 กรัม
  • ผักบุ้งไทย 20 กรัม
  • หัวไชเท้า 30 กรัม
  • ยอดมะพร้าว 50 กรัม
  • มะละกอดิบ 50 กรัม
  • เทมเป้ 100 กรัม
  • กะปิ (เจหรือธรรมดา) 1 ช้อนโต๊ะ
  • ซอสเห็ดหอม 2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำมะขามเปียก 2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำตาลมะพร้าว 2 ช้อนชา
  • น้ำมะนาว 2 ช้อนชา
  • เกลือ (หรือดอกเกลือ) 1 ช้อนชา
  • น้ำสะอาด 500 มิลลิลิตร

วิธีทำ

  1. นำหอมแดง กระเทียม ขมิ้น พริกสด เกลือ กะปิ เทใส่ลงในโถปั่น ใส่น้ำสะอาดลงไปเล็กน้อย ปั่นพอหยาบ
  1. นำน้ำสะอาดที่เตรียมไว้เทใส่หม้อ ตั้งไฟจนเดือด แล้วนำส่วนผสมที่ปั่นไว้เทลงในน้ำเดือดจนหมด แล้วปิดฝา
  2. เมื่อน้ำเดือดอีกครั้ง ใส่เทมเป้ ยอดมะพร้าว หัวไชเท้า มะละกอ และซอสเห็ดหอมปรุงรส แล้วปิดฝา
  3. เมื่อผักในหม้อสุกดีแล้ว จึงใส่ผักบุ้งไทย น้ำมะขามเปียก และน้ำตาลมะพร้าว
  4. ใส่น้ำมะนาวเป็นลำดับสุดท้าย แล้วจึงปิดไฟ พร้อมเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

01 มิถุนายน 2567

แกงอ่อมอีสานเห็ดและเทมเป้

สำหรับ 2 คน     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • เทมเป้ 50 กรัม
  • เห็ดนางฟ้า 30 กรัม
  • ขาเห็ดหอม 50 กรัม
  • กะหล่ำปลี 20 กรัม
  • ผักกวางตุ้ง 30 กรัม
  • บวบ 30 กรัม
  • ผักชีลาว 20 กรัม
  • ต้นหอม 20 กรัม
  • ใบแมงลัก 10 กรัม
  • ใบมะกรูดฉีก 2 – 3 ใบ
  • ตะไคร้ซอย 30 กรัม
  • พริกแห้ง 4-5 เม็ด
  • กระเทียมไทย 10 กรัม
  • ดอกเกลือ ½ ช้อนชา
  • ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนโต๊ะ
  • ปลาร้า (เจหรือธรรมดา) 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำสะอาด 500 มิลลิลิตร

วิธีทำ

  1. โขลกพริกแห้ง ดอกเกลือ กระเทียม และตะไคร้เข้าด้วยกัน พอหยาบ
  2. นำกะทะตั้งไฟกลางใส่ส่วนผสมที่โขลกไว้ลงผัดให้หอม
  3. ใส่เทมเป้ ขาเห็ดหอม เห็ดนางฟ้าลงไปผัดให้เข้ากัน จากนั้นใส่น้ำสะอาดแล้วปิดฝา รอน้ำเดือด
  4. ใส่กะหล่ำปลี ผักกวางตุ้ง บวบใบมะกรูดลงไปก่อน 
  5. พอผักเริ่มสุก ใส่ซีอิ๊วขาว น้ำปลาร้า ตามด้วยผักใบทั้งหมด คนให้เขากัน แล้วปิดไฟ เตรียมเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

แกงส้มผักรวม

สำหรับ 1-2 คน

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • หมูกรอบจากพืช      30      กรัม
  • พริกแกงส้มใต้                               20      กรัม
  • กระชาย                                        8        กรัม
  • หอมแดง                                      16       กรัม
  • เต้าหู้ขาว แข็ง (ปั่น)                       40       กรัม
  • น้ำต้มสุก                                       350     กรัม
  • น้ำปลา                                          10       กรัม
  • น้ำมะขามเปียก                               19      กรัม
  • น้ำตาลมะพร้าว                               16   กรัม
  • ผักกาดขาว                                    40      กรัม
  • แครอท                                          15      กรัม
  • หัวไชเท้า                                       25      กรัม
  • ดอกกะหล่ำ                                    30      กรัม
  • เต้าหู้ขาว แข็ง (หั่นชิ้น)                    25      กรัม
  • เต้าหู้งาดำ แข็ง                               15      กรัม

วิธีทำ

  1. โขลกพริกแกงส้ม กระชาย หอมแดง เต้าหู้ขาว และหมูกรอบจากพืชจนเข้ากันดี
  2. ต้มน้ำเดือด นำพริกแกงที่โขลกใส่ลงไป คนให้ละลาย
  3. ปรุงรสด้วยน้ำตาลมะพร้าว น้ำปลา น้ำมะขามเปียก จนเดือด
  4. ใส่ผักลงไป รอผักสุกจนนิ่ม พร้อมตักเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

แกงแคขนุนอ่อน

สำหรับ 2 คน     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

เครื่องแกง

  • พริกแห้ง 3 – 4 เม็ด
  • ดอกเกลือ ½ ช้อนชา
  • เม็ดผักชี ½ ช้อนชา
  • ข่าซอย 2 – 3 แว่น
  • ขมิ้นซอย 5 กรัม
  • ตะไคร้ซอย 20 กรัม
  • กระเทียม 10 กรัม
  • หอมแดง 20 กรัม
  • กะปิ (เจหรือธรรมดา) 1 ช้อนโต๊ะ (อาจใช้ถั่วเน่าแทนได้)

วัตถุดิบอื่น

  • ขนุนอ่อนต้ม  150 กรัม
  • ขาเห็ดหอม  100 กรัม
  • ใบชะพลู    10 กรัม
  • ชะอม 30 กรัม
  • ใบตำลึง 20 กรัม
  • มะเขือพวง 20 กรัม
  • ใบมะกรูดฉีกเล็ก 2 – 3 ใบ
  • พริกขี้หนูสด   ตามชอบ
  • น้ำปลาร้า (เจหรือธรรมดา)  1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำสะอาด 500 มิลลิลิตร

วิธีทำ

  1. โขลกเครื่องแกงโดย นำพริกแห้ง เม็ดผักชี ดอกเกลือ โขลกพอเข้ากัน ใส่ตะไคร้ ขมิ้น ข่าลงโขลกรวมกัน ตามด้วยหอมแดง กระเทียมลงโขลก สุดท้ายใส่กะปิ โขลกทุกอย่างให้เข้ากัน พักไว้
  2. นำหม้อตั้งไฟกลาง พอร้อนใส่เครื่องแกงลงผัด ให้หอม 
  3. เทน้ำลงไป ตามด้วยขนุนอ่อนต้ม ขาเห็ดหอม ปิดฝาไว้ ต้มให้น้ำแกงซึมเข้าเนื้อขนุน
  4. เมื่อน้ำเดือด ใส่มะเขือพวง น้ำปลาร้า คนเข้ากันแล้วปิดฝา
  5. เมื่อมะเขือพวงสุก ใส่ผักทั้งหมดที่เตรียมไว้ (ชะพลู ชะอม ตำลึง มะกรูด และพริกสด) ลงไป คนเล็กน้อย แล้วปิดไฟ
[อ่านต่อ...]

แกงเลียง

สำหรับ 2 คน     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • เห็ดหูหนูดำ 10 กรัม
  • เห็ดหูหนูขาว 10 กรัม
  • เห็ดชิเมจิ 20 กรัม
  • ใบอ่อมแซ่บ 10 กรัม
  • ใบแมงลัก 10 กรัม
  • ข้าวโพดอ่อน 10 กรัม
  • ข้าวโพดหวาน 10 กรัม
  • ฟักทอง 30 กรัม
  • บวบ 30 กรัม
  • กระชายซอย 20 กรัม
  • หอมแดง 20 กรัม
  • พริกไทยขาว 1 ช้อนชา
  • กะปิ (เจหรือธรรมดา) 1 ช้อนโต๊ะ
  • ซอสเห็ดหอม 2 ช้อนโต๊ะน้ำหรือน้ำสต็อกผัก 500 มิลลิลิตร

วิธีทำ

  1. ตำพริกไทยขาวให้ละเอียด ตามด้วยกระชายและหอมแดง ตำพอหยาบ แล้วจึงใส่กะปิ ตำให้เข้ากัน แล้วพักไว้
  2. นำน้ำหรือน้ำสต็อกผักใส่ในหม้อ ตั้งไฟจนเดือด แล้วจึงใส่ส่วนผสมที่ตำไว้ลงไป คนให้ละลาย รอน้ำเดือดอีกครั้ง
  3. พอน้ำเดือด จึงใส่ฟักทอง ข้าวโพดอ่อน ข้าวโพดหวาน เห็ดหูหนูดำ แล้วปิดฝา รอน้ำเดือดอีกครั้ง
  4. เปิดฝาแล้วใส่บวบ เห็ดชิเมจิ เห็ดหูหนูขาว แล้วปรุงรสด้วยซอสเห็ดหอม คนให้เข้ากัน แล้วปิดฝาให้ผักสุกทั่วกัน
  5. เมื่อน้ำเดือดและผักสุกทั่วกันดีแล้ว สุดท้ายใส่ใบอ่อมแซ่บและใบแมงลักทั้งหมดลงไป คนให้เข้ากัน แล้วปิดไฟทันที
[อ่านต่อ...]

ตุ๋นฟักเห็ดหอม

สำหรับ 2 คน     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • ฟักแก่ 300 กรัม
  • เห็ดหอม 30 กรัม (แช่น้ำ)
  • รากผักชี 3 ราก
  • กระเทียม 3 กลีบ (10 กรัม)
  • พริกไทยขาวเม็ด ¼ ช้อนชา
  • เครื่องสมุนไพรจีน 20 กรัม
  • ซอสเห็ดหอม 1 ช้อนโต๊ะ
  • ซีอิ๊วเห็ดหอม 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำสะอาด 600 มิลลิลิตร

วิธีทำ

  1. นำน้ำสะอาดใส่หม้อตั้งไฟกลาง รอน้ำเดือด
  2. ใส่กระเทียม รากผักชี พริกไทยขาวเม็ด เห็ดหอม และฟักลงในน้ำเดือด
  3. ตามด้วยสมุนไพรจีน (ยกเว้นเก๋ากี้) ใส่ซีอิ๊วเห็ดหอมและซอสเห็ดหอมลงไป คนเข้ากัน แล้วปิดฝา
  4. ลดไฟลง ตุ๋นไฟอ่อน ประมาณ 15 – 20 นาที
  5. เมื่อตุ๋นได้ที่แล้ว ใส่เก๋ากี้ลงไป คนเข้ากันแล้วปิดไฟ เตรียมเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

เกี๊ยวน้ำ

สำหรับ 1-2 คน

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • พืชบดแทนเนื้อสัตว์         200      กรัม
  • เกลือ                                    1      กรัม
  • พริกไทยขาวป่น                     1        กรัม
  • น้ำมันหอย                             6        กรัม
  • ซีอิ๊วขาว                                6        กรัม
  • น้ำตาลทราย                           1        กรัม
  • เหล้าจีน                                 3        กรัม
  • น้ำมันงา                                 3        กรัม
  • แป้งเกี๊ยว                             150       กรัม
  • ผักกวางตุ้ง                            80       กรัม
  • น้ำซุปผัก                             750       กรัม

วิธีทำ

  1. นำพืชบดแทนเนื้อสัตว์ เครื่องปรุงรส ผสมและนวดให้เข้ากัน
  2. นำไส้เกี๊ยวห่อ และพักไว้อย่างน้อย 15 นาที ก่อนลวก
  3. ตั้งน้ำให้เดือด นำเกี๊ยวลวกให้สุก ลวกกวางตุ้ง และอุ่นน้ำซุปพร้อมเสิร์ฟ
[อ่านต่อ...]

แกงจืดผักรวมสาหร่ายเต้าหู้

สำหรับ 2 คน     

วัตถุดิบและเครื่องปรุง

  • เห็ดเข็มทอง 30 กรัม
  • ผักกาดขาว 30 กรัม
  • ผักกวางตุ้ง 30 กรัม
  • แครอท 30 กรัม
  • หัวไชเท้า 30 กรัม
  • ขึ้นฉ่าย,ต้นหอม 20 กรัม (อย่างละ10 กรัม)
  • กระเทียม 1 กลีบ
  • สาหร่ายวากาเมะ 30 กรัม
  • เต้าหู้นิ่ม 100 กรัม
  • ซีอิ๊วเห็ดหอม 1 ช้อนโต๊ะ
  • ซอสเห็ดหอม 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำสต็อกผัก 600 มิลลิลิตร

วิธีทำ

  1. นำหม้อตั้งไฟกลาง ใส่น้ำสต็อกผักและกระเทียมลงไป ปิดฝา
  2. เมื่อน้ำเดือด ใส่หัวไชเท้าและแครอท ซึ่งเป็นผักสุกยาก ลงไปก่อน
  3. เมื่อผักสุก ใส่ซอสเห็ดหอม และซีอิ๊วเห็ดหอมลงไป คนเข้ากัน
  4. ตามด้วยผักกาดขาว กวางตุ้ง เห็ดเข็มทอง สาหร่ายวากาเมะ ขึ้นฉ่าย ต้นหอม คนเข้ากันเล็กน้อย จึงใส่เต้าหู้นิ่ม แล้วปิดไฟ
  5. ตักใส่ชาม เตรียมเสิร์ฟ (สามารถโรยหน้าด้วยกระเทียมเจียวตามชอบ)
[อ่านต่อ...]

ทำไม่ไม่มีใครพูดถึงเบาหวานประเภทที่ 1 มัน hopeless ใช่ไหม

ภาพวันนี้ / กุหลาบบนเขา รับไอฝนตอนอรุณ

กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกที่รูปภาพ

เรียนคุณหมอสันต์

จะทราบได้อย่างไรคะว่าเป็นเบาหวานtype1 หรือ type2?  อ่านบทความ+ดูคลิปเกี่ยวกับเบาหวานมาเยอะ ไม่มีใครพูดถึงการรักษาtype1เลยค่ะ type1นี่hopelessหรือคะ?

ตอบครับ

…………………………………………….

ก่อนตอบคำถามขอสรุปปะหน้าก่อนนะว่า

เบาหวานประเภทที่ 1 คือผู้ที่ตับอ่อนถูกภูมิคุ้มกันของตัวเองทำลาย ทำให้ผลิตอินสุลินซึ่งเป็นฮอร์โมนทำหน้าที่เป็นกุญแจเปิดเอาน้ำตาลเข้าไปในเซลล์ไม่ได้ อุปมาเหมือนคนมาถึงห้องแล้วจะเข้าห้องแต่ไม่มีกุญแจเปิดเข้าห้อง ตัองได้กุญแจจากข้างนอกมา คือฉีดอินสุลินให้ ส่วน

เบาหวานประเภทที่2 คือผู้ที่ตับอ่อนผลิตอินสุลินได้เหลือเฟือ แต่เซลล์ดื้อไม่ยอมฟังคำสั่งของอินสุลิน (insulin resistance) จึงไม่ยอมรับเอาน้ำตาลเข้าเซลล์ อุปมาเหมือนถือกุญแจมาจะไขเข้าห้อง แต่เขาลงกลอนข้างในไว้ ก็เข้าห้องไม่ได้อยู่ดี

เกริ่นจบละ คราวนี้มาตอบคำถาม

1.. ถามว่า จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นเบาหวานประเภทที่ 1 ตอบว่าทราบได้จากการตรวจวินิจฉัยสี่ขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่ 1. ต้องพิสูจน์ว่าเป็นเบาหวานก่อน ด้วยการเจาะเลือดหลังอดอาหารแล้วพบว่าน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 125 มก./ดล.

ขั้นตอนที่ 2. ตั้งข้อสงสัยว่าจะเป็นประเภทที่ 1 ถ้าผู้ป่วยอายุน้อย เช่นสิบขวบหรือวัยรุ่น เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 3. เจาะเลือดดูโมเลกุลซีเพ็พไทด์ (c-peptide) ซึ่งเป็นโมเลกุลคู่แฝดของอินสุลิน หากตัวนี้สูงก็หมายความว่าอินสุลินสูงด้วย ก็จะค่อนข้างชัวร์ว่าเป็นเบาหวานประเภทที่ 1

ขั้นตอนที่ 4. เจาะเลือดดู ภูมิคุ้มกันต่อต้านตับอ่อน เช่น glutamic acid decarboxylase (GAD), หรือ tyrosine phosphates IA-2 ถ้าพบว่าสูงก็ชัวร์ป๊าด..ด ว่าเป็นประเภทที่ 1

ype1 รักษาเหมือน type2 ทุกอย่างแต่ต้องให้อินสุลินฉีดควบยากินtype2

Type1 ไม่ใช้ hopeless แต่มีความยากในการเลิกฉีดอินสุลิน การวินิจฉัยต้องชัวร์

2.. ถามว่าเบาหวานประเภทที่ 1 รักษาอย่างไร ตอบว่ารักษาเหมือนเบาหวานประเภทที่ 2 แต่อาจจะต้องให้ความสำคัญกับการฉีดอินสุลินต่อเนื่องเพราะเป็นสิ่งจำเป็นขาดไม่ได้

3.. ถามว่าเบาหวานประเภทที่ 1 นี้ hopeless หมดหวังแน่นอนใช่ไหม ตอบว่าไม่ใช่หรอกครับ ทุกวันนี้คนเป็นเบาหวานประเภทที่1 มีถมถืด และล้วนมีชีวิตที่ดี ที่ประกอบอาชีพเป็นหมอก็มี บางรายก็มีรายงานว่าหายก็มีเหมือนอย่างที่ผมให้เอกสารอ้างอิงไว้ข้างท้ายนี้ มีทั้งหายจริงบ้าง หายชั่วคราวบ้าง แต่อย่างน้อยก็มีหลักฐานว่าที่หายก็มี ยิ่งหากมองไปในอนาคต ก็ยิ่งมีแต่ความหวังว่าสิ่งดีๆจะมีมากขึ้น เช่น (1) ตับอ่อนปลอม ซึ่งแปะผิวหนังหรือฝังไว้ใต้ผิวหนัง แล้วมันตรวจน้ำตาลในเลือดเองและฉีดอินสุลินเองโดยเจ้าตัวลืมไปเลยว่าตัวเองเป็นเบาหวานประเภทที่ 1 ตอนนี้เริ่มผลิตออกมาแล้ว แต่รอแค่ปรับให้เนี้ยบ อีกไม่นานก็จะมีให้หาซื้อได้ (2) การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (stem cell) ซึ่งนับวันงานวิจัยก็ยิ่งให้ข้อมูลชวนกระดี๊กระด๊าว่ามันจะเข้าไปซ่อมตับอ่อนให้หายได้

4.. ข้อนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมแถมให้เผื่อท่านผู้อ่านที่จะมีลูกหลานเอาไปใช้ป้องกันโรคได้ คือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เด็กเป็นเบาหวานประเภทที่ 1 เท่าที่วงการแพทย์ทราบมี (1) แม่อ้วน หรืออายุมากตอนที่ท้อง (2) ติดเชื้อไวรัส enterovirus (3) เด็กดื่มนมวัวมาก (4) เด็กอ้วน (5) เด็กมีจุลินทรีย์น้อย (6) เด็กกินหวานมาก

ส่วนปัจจัยที่ช่วยป้องกันไม่ให้เป็นเบาหวานประเภทที่ 2 ได้แก่ (1) ระดับวิตามินดีแม่สูงขณะท้อง (2) เด็กได้ดื่มนมแม่แต่แรก (3) เด็กได้กินกลูเต็นเร็ว (อยู่ในธัญพืชบางชนิด) (4) เด็กได้กินจุลินทรีย์ (probiotic) (5) เด็กได้วัคซีนต้านไวรัสโรต้า

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

  1. Moole H, Moole V, Mamidipalli A, Dharmapuri S, Boddireddy R, Taneja D, Sfeir H, Gajula S. pontaneous complete remission of type 1 diabetes mellitus in an adult – review and case report. J Community Hosp Intern Med Perspect. 2015 Oct 19;5(5):28709. doi: 10.3402/jchimp.v5.28709. PMID: 26486109; PMCID: PMC4612476.
[อ่านต่อ...]