31 ตุลาคม 2566

ท้องอืดและลมขึ้นระดับมหึมามหากาพย์

(ภาพวันนี้ / ดอกถั่วอะรูมิไร้ ที่ริมทางเดิน)

เรียน คุณหมอสันต์

จากที่ได้ดู YouTube ของคุณหมอสันต์ที่พูดถึงเรื่องลำไส้ พอดีดิฉันอายุ 65 ปี มีปัญหาลมในไส้เคลื่อนไหวตลอดเวลาและเสียงดังมาก เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม2 วันที่ผ่านมาไปใส่รากฟันเทียมเขาฉีดยาชาหลายเข็มยิ่งทำให้ลมในตัวมากขึ้น จากประสบการณ์ทุกครั้งที่ถูกฉีดยาจะมีการเคลื่อนไหวของลมเช่นตอนที่ฉีดวัคซีนด้านขวาลมก็จะไปวิ่งไปที่แขนด้านซ้าย นี่เป็นข้อสังเกตส่วนตัวที่เป็นคนที่ลมเยอะเป็นพิเศษมานานแล้ว ยิ่งหมอให้ยาฆ่าเชื้อมาฆ่าแบคทีเรียยิ่งทำให้ท้องเสียถ่ายเป็นลมมากขึ้น

คืนนี้ตื่นมากลางดึก 02:00 น ซึ่งเป็นเวลาของธาตุลมก็มีอาการเวียนหัวเหมือนที่เคยเป็นเมื่อก่อนแล้วหายไปแล้วพักหนึ่งจึงแก้ไขโดยเคาะที่กลางกระหม่อมให้ลมเรอออกเพื่อลดอาการเวียนหัวแล้วล้มได้เพื่อเดินไปห้องน้ำ  มันก็จะถ่ายพุ่งเอาลมออกแล้วอาการเวียนหัวก็จะดีขึ้นเป็นแบบนี้เป็นประจำที่มีลมเยอะ คำถามคืออาการแบบนี้จะแก้ไขอย่างไรคะ เคยกินน้ำผักปั่นที่คุณหมอสันต์แนะนำก็ลมเยอะ พยายามกินถั่วเพื่อให้ได้โปรตีนแทนเนื้อสัตว์ก็ยังไม่สำเร็จ การกินอาหารหมักดองก็จะยิ่งทำให้ลมเยอะแล้วปวดไปตามจุดต่างๆที่มีการติดขัดของพลังปราณ เมื่อกดตรงบริเวณที่ปวดก็จะมีลมออกมา ถ้าไม่เรอออกก็จะผายลมออกหรือไม่ก็ถ่ายออก

ถ้าลมมากก็จะขับถ่ายออกแบบพุ่ง อีกสิ่งแวดล้อมหนึ่งที่ทำให้ปวดหัวหรือปวดถ่ายจนถ่ายพุ่งเมื่อถ่ายออกก็หายอาการปวดคือการเข้าไปสัมผัสกับแอร์เย็นๆของแอร์บางห้องที่มีลมพุ่งเป็นพิเศษ อีกสิ่งเร้าหนึ่งก็คือการดูคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลที่มีการวิ่งของตัวหนังสือมากๆเช่นการเทรดทองคำแบบ real time หรือแม้แต่การเจอลมฝนหรือลมหนาวที่มาอย่างรวดเร็ว (ในขณะที่เขียนอยู่นี้นืกขึ้นได้ว่าน่าจะกินยาพิฆาตวาโยของหมอพื้นเมืองที่ได้รับมานานแล้ว แต่ก็ไม่อยากให้มันตีกันกับยาที่หมอฟันให้มา)

รบกวนขอความเห็นและคำแนะนำ

ขอบคุณมากค่ะ

ปล.ยินดีรายงานผลจากประสบการณ์เรื่องลมในตัวหรือเป็นตัวทดลองให้ในการวิจัยเรื่องลมซึ่งจริงๆแล้วคือสาเหตุของอาการปวดต่างๆ

……………………………………………………………

ตอบครับ

ก่อนตอบคำถามผมขอ “จำกัดเขต” ให้ชัดๆก่อนว่าผมตอบได้แต่ในขอบเขตของวิชาแพทย์แผนปัจจุบันซึ่งผมมีความรู้และใช้วิชานี้ทำมาหากินอยู่เท่านั้น วิชาแพทย์ไม่มีคอนเซ็พท์เรื่อง ดิน น้ำ ลม ไฟ ยิ่งประเภทเคาะกระหม่อมแล้วลมพุ่งออกทางก้นนั้น หิ..หิ เป็นศาสตร์ลึกลับที่วิชาแพทย์ไม่รู้จักเลยครับ ผมมิอาจล้วงลูกเอามาตอบได้

เอาละคราวนี้มาตอบคำถาม

1.. ถามว่าในคนปกติ ลมขนาดมหึมามหากาพย์ในกระเพาะลำไส้มันมาจากไหนกัน ตอบว่ามันมาจากสี่ทางคือ

1.1 กลืนลมเข้าไปดื้อๆ เช่นชอบเคี้ยวหมากฝรั่ง ชอบดูดอาหารเหลวด้วยกล้องดูด (หลอดดูดอันโตๆ) ชอบดูดอาหารแท่งแบบอมแล้วดูด อมแล้วดูด ชอบดื่มอะไรเร็วๆอั๊ก อั๊ก อั๊ก หรือแม้กระทั่งฟันปลอมหลวมก็ทำให้กลืนลมลงท้องมากขึ้น

1.2 จากตัวอาหารเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารในกลุ่มแป้งย่อยยากเช่นโอลิโกแซคคาไรด์เป็นต้น กินเข้าไปแล้วมักถูกจุลินทรีย์ในลำไส้ชนิดทำงานครึ่งๆกลางย่อยแล้วเกิดแก้สทิ้งไว้

1.3 จากจุลินทรีย์ในลำไส้บางชนิดขยันสร้างลมขึ้นมาจากอาหาร แต่หากจุลินทรีย์มีดุลยภาพดี หมายความว่ามีจุลินทรีย์ที่ถนัดย่อยอาหารกลุ่มแป้งย่อยยากได้ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ อาการลมขึ้นก็จะน้อย

1.4 จากการที่ทางเดินอาหารมีการเคลื่อนไหวน้อยอันสืบเนื่องจากการที่ร่างกายได้เคลื่อนไหวน้อย ร่างกายนี้ออกแบบมาให้ทำงานได้ดีขณะที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลาที่ตื่นอยู่ เมื่อหยุดเคลื่อนไหวก็..เสร็จ

2.. ถามว่าแล้วมันมีโรคหรือการเจ็บป่วยแบบที่ทำให้เกิดลมในท้องขึ้นมากมายบ้างไหม ตอบว่ามี ตัวอย่างของคนป่วยก็เช่นตัวคุณนี่ไง โรคแบบนี้วิชาแพทย์รู้แต่ว่ามันมีอยู่ แต่ไม่รู้สาเหตุว่ามันเกิดจากอะไรและจะรักษาอย่างไร จึงตั้งชื่อโรคแบบแพทย์รู้กันเองว่าคือ “โรคอะไรไม่รู้และไม่รู้จะรักษายังไง” จึงได้แต่ใส่เสื้อกาวน์และวางฟอร์มให้คนไข้สบายใจ แต่คนไข้ฟังชื่อโรคแล้วเลื่อมใสศรัทธาว่าตัวเองเป็นโรคที่หมอรู้จักแล้วและหมอกำลังให้การรักษาอยู่ ชื่อโรคเหล่านั้นได้แก่

2.1 โรคในกลุ่มลมค้างในท้องแยะโดยหาสาเหตุไม่ได้ ซึ่งอาจจะเรียกว่าโรค irritable bowel syndrome (IBS) บ้าง functional GI disorder บ้าง โรคอาหารไม่ย่อย (functional dyspepsia) บ้าง สมัยหมอสันต์เป็นหนุ่มทำงานเป็นหมอบ้านนอกได้ตั้งชื่อเรียกโรคในกลุ่มนี้เพื่อให้คนไข้เข้าใจง่ายว่า “โรคประสาทลงลำไส้” ซึ่งสี่สิบปีต่อมาวงการแพทย์ก็ได้พบหลักฐานว่าการทำงานของทางเดินอาหารเป็นผลจากการประสานงานหรือประสานงาของสามส่วนย่อย คือ สมอง ทางเดินอาหาร และจุลินทรีย์ในลำไส้ เรียกสายการประสานงานนี้ว่า gut-microbiota-brain axis ดังนั้นชื่อที่หมอสันต์ตั้งไว้ก็ถูกต้องแล้วอย่างน้อยสองในสาม ขาดก็แต่ส่วนจุลินทรีย์ไปเพราะสมัยโน้นความรู้แพทย์เรื่องนี้ยังไม่มี ถ้าเป็นสมัยนี้หมอสันต์จะตั้งชื่อโรคในกลุ่มนี้ว่าโรค “สมอง-ลำไส้-จุลินทรีย์ ตีกัน” ผิดถูกอย่าว่ากัน เพราะนี่เป็นโรคหมอทำ เอ๊ย.. ไม่ใช่ โรคหมอสันต์ตั้ง ซึ่งไม่ว่าจะเรียกชื่อให้วิจิตรพิศดารอย่างไร ก็ยังไม่รู้วิธีรักษาอยู่ดี

3.. ถามว่าแล้วลมในท้องเยอะที่เกิดจากโรคที่เป็นโรคจริงๆ รู้สาเหตุเหน่งๆ และรักษาได้เน็ดๆ ไม่มีเลยหรือ ตอบว่ามีเหมือนกัน แต่อาจไม่ใช่ในกรณีของคุณ เช่น

3.1 โรคขาดเอ็นไซม์ย่อยแป้งหรือน้ำตาล เช่น

3.1.1 โรคเอ็นไซม์แล็คเตสไม่พอใช้มาแต่กำเนิด (lactose intolerance ) ทำให้ย่อยแล็คโต้สซึ่งเป็นน้ำตาลในนมไม่ได้ กินนมทีไรก็นมเอ๊ย..ไม่ใช่ ลมขึ้นและท้องไส้ปั่นป่วนทุกที เป็นโรคนี้จริงก็ต้องเลี่ยงนม

3.1.2 โรคทนฟรุ้ตโต้สไม่ได้ (dietary fructose intolerance) เพราะเอ็นไซม์ฟรุ้คเตสมีไม่พอใช้มาแต่กำเนิด เวลากินอะไรหวานๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องดื่มที่ใช้น้ำเชื่อมฟรุ้คโต้สคอร์นไซรัพเป็นตัวให้ความหวานเช่นน้ำอัดลมเป็นต้น ก็จะเกิดอาการผิดสำแดงต่างๆนาๆขึ้นในทางเดินอาหาร ถ้าเป็นโรคนี้จริงก็ต้องเลี่ยงอาหารหวานที่มีส่วนผสมของฟรุ้คโต้ส ซึ่งก็คือรสหวานธรรมชาติทั้งหลายในโลกนี้นั่นเอง ยกเว้นรสหวานปะแล่มๆของกลูโค้สกินได้ไม่เป็นไร

3.2 โรคซิลิแอค (celiac disease หรือ sprue) โรคนี้มันตั้งต้นจากร่างกายมีปฏิกริยากับโปรตีนตัวหนึ่งในข้าวสาลีชื่อกลูเต็น คือเจอกลูเต็นเมื่อไหร่ร่างกายจะต่อต้านเกิดการอักเสบขึ้นที่โน่นที่นี่โดยมีศูนย์รวมการต่อต้านอยู่ในลำไส้นั่นเอง (enteropathy) มีอาการได้สองแบบ แบบแรกคืออาการเด่นที่ระบบทางเดินอาหารแบบว่าลำไส้อักเสบดูดซึมอาหารได้ไม่ดีจนขาดวิตามินเกลือแร่ต่างๆกลายเป็นโรคขาดอาหารผอม หัวโต พุงโร ก้นลีบ อีกแบบหนึ่งมีอาการเด่นอยู่นอกระบบทางเดินอาหารคือมีการอักเสบไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดก็ดี โรคเก้าท์ โรคเอ็นอักเสบเสื่อมสภาพเร็วผิดสังเกต หรือมีอาการทางระบบประสาทเช่นทรงตัวไม่ได้เวียนหัวบ้านหมุนก็ดี เป็นได้หมด ถ้าเป็นโรคซิลิแอคจริงก็ต้องงดอาหารทุกชนิดที่มีกลูเต็นเช่นแป้งข้าวสาลีเป็นต้น

3.3 โรคกระเพาะเคลื่อนไหวช้า (gastroparesis) วิธีพิสูจน์เป็นวิธีโบราณที่ไม่ซับซ้อน สมัยก่อนให้กลืนลูกปัดแล้วไปตามนับเอาที่อึว่าลูกปัดใช้เวลาเดินทางนานแค่ไหน ปกติ 24 ชั่วโมงมันควรออกไปทางทวารหนักได้แล้ว อย่างอืดสุดๆก็ไม่เกิน 7 วัน สมัยนี้การวินิจฉัยใช้วิธีให้กลืนแค้ปซูล SmartPill ซึ่งเอามาวิเคราะห์ข้อมูลได้ว่ามันเดินทางมาอย่างไรไปติดค้างอยู่ตรงไหนบ้าง แต่พูดก็พูดเถอะ ถึงวินิจฉัยโรคนี้ได้ก็ใช่ว่าจะมีวิธีรักษา เพราะสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของโรค gastroparesis คือไม่พบสาเหตุ หรือ idiopathic แล้วจะรักษาพรื้อละครับ แฮ่..แฮ่..แฮ่ ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

3.4 ข้อนี้คุณไม่ต้องอ่านก็ได้ แต่ถ้าอ่านต้องอ่านอย่างใส่ใจ คือมีหมอจำนวนหนึ่งเชื่อว่ามีโรคอยู่โรคหนึ่งซึ่งเขาตั้งชื่อว่า Small Intestinal Bacterial Overgrowth – SIBO โดยนิยามว่าคือโรคที่เกิดจากจุลินทรีย์ในลำไส้เล็กเพิ่มขนาดมากผิดปกติ ต้องรักษาโดยให้ยาฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และห้ามกินนั่นกินนี่ที่เป็นแป้งย่อยยาก แต่วงการแพทย์กระแสหลักยังไม่เชื่อว่ามีโรค SIBO อยู่จริง และวิธีรักษาที่ทำไปก็ไม่มีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าได้ผล มีแต่จะทำให้คนไข้เดือดร้อนมีชีวิตลำบากยิ่งขึ้นเพราะนี่ก็กินไม่ได้นั่นก็กินไม่ได้

3.5 โรคมหาอุตม์ (gut obstruction) หมายความว่ามีอะไรไปอุดกั้นการเคลื่อนไหวของอาหารในลำไส้ เช่นเนื้องอกของลำไส้เป็นต้น โรคนี้อาการมักจะชัดถึงขั้นท้องจะระเบิดจะเป็นจะตาย ทำให้คนไข้ต้องรีบไปหาหมอ แล้วหมอก็จะวินิจฉัยด้วยส่องกล้องดูทั้งส่องบน ส่องล่าง และทำ CT ดูภาพของท้อง เป็นต้น ส่วนการรักษานั้นมักจบด้วยการผ่าตัด ที่สำคัญและใกล้เคียงกับโรคมหาอุตม์ก็คืออาการท้องผูกเรื้อรังนี้ก็ทำให้ลมคั่งในท้องได้

4.. สรุปว่าจะให้รักษาลมในท้องแยะอย่างไร ตอบในภาพใหญ่ว่า ไม่ทราบครับ แหะ..แหะ

ไม่ใช่ผมไม่ทราบคนเดียวนะ วงการแพทย์ทั้งโลกก็ยังไม่ทราบ จึงได้แต่วางฟอร์มทำการวินิจฉัยและรักษากันไป นี่เป็นวิธีปฏิบัติวิชาชีพส่วนของแพทย์ สำหรับตัวคุณในฐานะผู้ป่วยซึ่งอยู่มาได้ถึงปูนนี้แล้วผมแนะนำว่าการจะไปเริ่มต้นด้วยการให้แพทย์ทำการตรวจวินิจฉัยไปทีละโรคนั้นอาจจะไม่ทันเสียแล้ว เพราะคนอื่นที่ท้องอืดแบบเดียวกันเขาตั้งต้นหาหมอกันมาตั้งแต่วัยหนุ่มสาวจนมาจนอายุเท่าคุณเขายังตรวจรักษากันไม่ทันเสร็จเลย ดังนั้นผมแนะนำว่าให้คุณทำการทดลองกับตัวเอง ดังนี้

4.1 ทดลองเพื่อวินิจฉัยแยกโรคขาดแล็คเตส โดยกินนมและผลิตภัณฑ์นมเต็มที่อย่างน้อยหนึ่งเดือน แล้วงดกินนมและผลิตภํณฑ์นมอีกหนึ่งเดือน แล้วประเมินผล

4.2 ทดลองเพื่อวินิจฉัยแยกโรคขาดฟรุ้คเตส โดยกินของหวานทุกอย่างที่ขวางหน้าหนึ่งเดือน แล้วงดของหวานทุกอย่างอีกหนึ่งเดือน ถ้ากลัวขาดพลังงานก็ซื้อน้ำตาลกลูโค้สกินแทนไปก่อน ครบเดือนแล้วประเมินผล

4.3 ทดลองวินิจฉัยแยกโรคซิลิแอค โดยการกินทุกอย่างที่มีกลูเต็นหนึ่งเดือน แล้วทดลองงดทุกอย่างที่มีกลูเต็นหนึ่งเดือน แล้วประเมินผลฃ

4.4 ทดลองเปลี่ยนจุลินทรีย์ในลำไส้เสียใหม่ นี่เป็นการทดลองครั้งใหญ่ซึ่งต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน อย่าสรุปผลเร็วกว่านี้เพราะการเปลี่ยนจุลินทรีย์ในลำไส้ต้องใช้เวลา วิธีทำคือเลิกกินเนื้อสัตว์ กินแต่พืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชที่ให้กากมาก และมีแป้งย่อยยากแยะรวมทั้งถั่ว งา นัท ธัญพืชไม่ขัดสี กินให้หมดแต่กินแบบเริ่มน้อยๆก่อนแล้วค่อยๆเพิ่มปริมาณขึ้น กินอาหารหมักพวก probiotic รวมทั้งโยเกิร์ตด้วย ในช่วงนี้ห้ามกินยาปฏิชีวนะใดๆ ในการเริ่มการทดลองใหม่ๆคุณจะท้องอืดมากขึ้นปางตาย แต่ผมรับประกันว่าคุณจะไม่ตาย ให้ทนทำการทดลองไป กินจนคุณขับถ่ายได้มากกว่าวันละหนึ่งครั้ง แล้วกินไปจนครบหกเดือน แล้วประเมินผล อย่าประเมินผลก่อนหกเดือน เพราะจุลินทรีย์ในลำไส้มันเปลี่ยนชนิดไม่ทัน

4.5 ทดลองรักษาโรคปสด. ประสาทแด๊กซ์ (ถ้ามี) ด้วยการออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ นอนหลับให้พอ ออกแดดทุกวัน หัดมองโลกแต่แง่ดี หัดรับรู้และยอมรับอาการแบบอยู่กับมันไป ท้องอืดก็โอเค. ท้องโล่งก็โอเค. ยอมรับหมด บางทีทดลองอันนี้อันเดียวคุณอาจจะหายเลยก็ได้ อาจจะไม่ใช่ท้องอืดหายนะ แต่คุณชาด้านกับมันไปเอง ฮิ..ฮิ

รวมเวลาทดลองทั้งหมดอย่างน้อยหนึ่งปี หากได้คำตอบและแก้ปัญหาได้ ก็ถือว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก เทียบกับเพื่อนของคุณที่เป็นแบบเดียวกันแต่เขาขยันไปหาหมอกินยามาหลายสิบปี ป่านนี้เขายังไปไม่ถึงไหนกันเลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

ปล. หลังจากตอบคำถามนี้แล้ว ผมจะหายตัวไปหลายสัปดาห์เพื่อพา ม. ไปเที่ยว ตปท. พบกันอีกที เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น

บรรณานุกรม

1. Lacy BE, Cangemi D, Vazquez-Roque M. Management of chronic abdominal distension and bloating. Clinical Gastroenterology and Hepatology. 2021;19(2):219–231.e1. doi: 10.1016/j.cgh.2020.03.056

2. Cotter TG, Gurney M, Loftus CG. Gas and bloating-controlling emissions: a case-based review for the primary care provider. Mayo Clinic Proceedings. 2016;91(8):1105–1113. doi: 10.1016/j.mayocp.2016.04.017

3. Rao SSC, Lee YY. Chapter 40: Approach to the patient with gas and bloating. In: Podolsky DK, Camilleri M, Fitz G, et al, eds. Yamada’s Textbook of Gastroenterology. 6th ed. John Wiley & Sons, Ltd; 2016:723–734.

[อ่านต่อ...]

30 ตุลาคม 2566

ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ แล้วอยากยกน้ำหนัก ดึงสายยืด ตีเทนนิส และขับรถ

(ก่อนตอบคำถามวันนี้ขอแจ้งข่าวนิดหนึ่งว่าหนังสือ “คัมภีร์สุขภาพดี” ขายไปหมดแล้ว ตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิมพ์ครั้งที่สอง ท่านที่ต้องการจะซื้อหนังสือกรุณาอดใจรอ ประมาณว่าน่าจะออกจากโรงพิมพ์ 15 พย. นี้ ทันเป็นของขวัญปีใหม่พอดี เมื่อหนังสือออกได้แล้วผมจะแจ้งยืนยันอีกครั้ง)

เรียน อ.สันต์ ใจยอดศิลป์

      ผมชื่อ … อายุ 61 ปี ผมได้ไปใส่เครื่อง pacemaker มาเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2566 เนื่องจากหัวใจเต้นช้าผิดปกติ ผมมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการออกกำลังกายหลังใส่เครื่อง pacemaker ที่อยากเรียนถามอาจารย์ดังนี้

      1.ผมจะสามารถออกกำลังกายจำพวกกายบริหาร ยกน้ำหนักดัมเบล และดึงสายยางยืดได้หรือไม่ เพราะก่อนผมจะไปใส่เครื่อง pacemaker พวกเคยดู YouTube ของอาจารย์ที่เกี่่ยวกับการออกกำลังกายเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสำหรับผูู้สูงอายุ แล้วก็ได้ทำมาตลอด แต่พอมาใส่เครื่อง pacemaker แล้วกลัวว่าถ้าออกกำลังกายแบบนี้ อาจทำให้สายไฟของเครื่อง pacemaker หักชำรุดได้นะครับ

      2.เรื่องการขับรถและเล่นเทนนิสนี่ ต้องรอให้ผ่าน 3 เดือนไปก่อนใช่ไหมครับ  คุณหมอที่ใส่ pacemaker ให้ผมบอกว่าเรื่องขับรถขอให้ 3 เดือนก่อน ส่วนเรื่องเล่นเทนนิสคุณหมอไม่ได้เล่นเทนนิสเลยตอบไม่ได้ แต่ผมเคยหาข้อมูลใน YouTube บางเพจเขาก็บอกว่าเล่นเทนนิสได้แต่ต้อง 3 เดือนไปแล้ว

      ผมไม่แน่ใจก็เลยขอเรียนถามอาจารย์สันต์ เพราะเห็นว่าอาจารย์ชอบออกกำลังกายและได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังกายในแบบต่างๆ ไว้เป็นความรู้ที่ดีมาก

           ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

………………………………………………….

ตอบครับ

 1.. ถามว่าใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (pace maker) แล้วจะสามารถออกกำลังกายบริหารแบบยกน้ำหนัก ดึงสายยืดได้ไหม ตอบว่า ได้ครับ

2.. ถามว่าการยกน้ำหนักและดึงสายยืดจะทำให้สายไฟของเครื่องกระตุ้นหักชำรุดได้ไหม ตอบว่าไม่ได้หรอกครับ กรณีเดียวที่สายไฟจะหักชำรุดคือขณะใส่เกิดการพับแล้วมีการลากดึงหรือดัน แต่เมื่อใส่เข้าที่แล้วไม่มีหักแล้วครับ มันอยู่ในหลอดเลือดและในห้องหัวใจ คุณจะไปหักมันได้อย่างไร

3.. ถามว่าจะขับรถและเล่นเทนนิสต้องรอสามเดือนก่อนใช่ไหม ตอบว่าไม่ต้องหรอกครับ คอมมอนเซ็นส์ของการป้องกันการเสียหายของตัวเครื่องกระตุ้น (pulse generator) ก็คืออย่าให้มีอะไรไปกระแทกโครมเข้าตรงที่เขาฝังเครื่องไว้ ซึ่งปกติสำหรับคนถนัดขวาจะฝังไว้ที่ใต้ไหปลาร้าข้างซ้าย ยกตัวอย่างเช่นเล่นกีฬายิงปืนยาวโดยประทับพานท้ายปืนยันตัวเครื่องพอดี อย่างนี้ไม่ควร ส่วนท่าร่างกระโดดโลดเต้นที่ไม่มีอะไรมากระแทกตรงใต้ไหปลาร้าทำได้หมด รวมทั้งเล่นเทนนิส เล่นแบตมินตัน และตีกอลฟ์ด้วย การเคลื่อนไหวใดๆไม่มีผลต่อการหายของแผล ขออย่ามีของแข็งกระแทกตรงตัวเครื่องละกัน

จะขับรถก็ขับได้ การห้ามคนใส่ pace maker ขับรถเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่มากเกินจำเป็นซึ่งเป็นการจินตนาการแบบไกลเกิ้น..น คือจินตนาการไปไกลถึงว่าถ้าอนุญาตให้ไปขับรถแล้ว ถ้าเกิดอุบัติเหตุรถชนกันแรงๆ ถ้าหน้าอกกระแทกพวงมาลัย แล้วเครื่องอาจจะเสียหาย โห.. มีคำว่า “ถ้า” สามถ้านะ โอกาสจะเกิดเรื่องอย่างนั้นมันน้อยมาก

หากไม่นับอุบัติเหตุรุนแรงแล้ว กริยาอาการขับรถเช่นหมุนพวงมาลัยเลี้ยวไปเลี้ยวมานั้นไม่มีปัญหากับแผลและกับตัวเครื่องกระตุ้นหัวใจแต่อย่างใด ตัวหมอสันต์เองใส่ pace maker ให้คนไข้แล้วไม่เคยห้ามขับรถเลย บางคนขับรถกลับบ้านเองด้วยซ้ำ

4.. ข้อนี้คุณไม่ได้ถาม และตัวคุณคงไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว แต่ผมแถมให้ท่านผู้อ่านทั่วไป ว่าถ้าเป็นนักออกกำลังกาย หากจำเป็นต้องใส่ pace maker และหากแม้นเลือกได้ หมายความว่ามีเงินซื้อ ให้เลือกใส่ชนิด DDDR หรือ VVIR โปรดสังเกตว่ามีตัว R ต่อท้าย ซึ่งย่อมาจาก rate modulation หมายความว่ามันเป็นรุ่นที่ตัวเครื่องมันปรับอัตราการเต้นหัวใจให้เร็วขึ้นได้เองแบบอัตโนมัติขณะเราออกกำลังกาย ยิ่งเราออกกำลังกายแรงเหนื่อยมาก เครื่องก็ยิ่งเพิ่มอัตราเต้นหัวใจให้เร็ว ทำให้ไม่มีข้อจำกัดในการออกกำลังกาย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

29 ตุลาคม 2566

การเสียสติ ก็คือการทำแบบเดิมๆซ้ำๆแต่คาดหมายผลลัพท์ที่ต่างจากเดิม

(ภาพวันนี้ / ชงโคหน้าบ้าน บานรับลมหนาว)

(หมอสันต์พูดกับกลุ่มแฟนบล็อกที่มาเยี่ยม)

เวลาเราได้โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่มาเครื่องหนึ่ง เราสนใจอ่านคู่มือการใช้งานอย่างจริงจังเพราะอยากจะใช้ประโยชน์จากความซับซ้อนของมันให้เต็มที่ ฟังชั่นพื้นฐานที่สำคัญเช่นกดตรงไหนมันจะสนองตอบอย่างไร หรือถ้าเปิดแอ็พทิ้งไว้มันจะกินพลังงานของเครื่องจนแบตหมด ทุกคนที่มีโทรศัพท์มือถือจะรู้กันทั่ว

แต่ร่างกายและใจซึ่งเราได้มาตั้งแต่เกิดและจะต้องใช้มันไปจนตายนี้ มีสักกี่คนที่รู้ว่ามันก็เป็นหุ่นยนต์หรือเป็นเครื่องยนต์ (machine) ชิ้นหนึ่ง มีสักกี่คนที่รู้ว่ามันทำงานโดยกลไกอัตโนมัติเมื่อได้รับสิ่งเร้าอย่างนี้มันต้องสนองตอบอย่างนี้ทุกคราวไปเพราะฟังชั่นพื้นฐานของมันผูกเป็นวงจรไว้เช่นนั้น และมีใครรู้บ้างว่ามันทำงานได้ด้วยพลังงานเหมือนที่มือถือทำงานด้วยแบตเหมือนกัน และถ้าเปิดแอ๊พตัวหลักๆทิ้งไว้เช่นการคิดอะไรฟุ้งซ่านเปะปะหรือคิดกังวล ไม่นานแบตมันก็จะแผ่วลง

ยิ่งไปกว่านั้น มีสักกี่คนที่รู้ว่ากายและใจนี้เป็นหุ่นยนต์ที่ประกอบมาแบบยังไม่ทันเสร็จก็เอาออกมาขายแล้ว พูดอีกอย่างว่ากายและใจนี้เป็นหุ่นยนต์ที่ยังไม่สมประกอบ มีแต่ฟังชั่นพื้นฐานคือกลไกการสนองตอบอัตโนมัติ (automatic reflex) ที่ทำงานได้ไม่ค่อยพลาด แต่ฟังชั่นขั้นสูงเช่นการดาวน์โหลดข้อมูลแบบที่เรียกว่าปัญญาญาณ (intuition หรือ wisdom) ยังติดตั้งมาแบบไม่เสร็จเรียบร้อย ผู้ใช้งานซึ่งส่วนใหญ่ไม่รู้วิธีใช้ก็จะใช้ประโยชน์ไม่ได้เลย

ลองนึกภาพดูซิว่าโลกทั้งโลกนี้บริหารโดยนักการเมือง นักบริหารธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาชีพ ครูสอนวิชาต่างๆ และเหล่านักรบ ซึ่งทั้งหมดเกือบทุกคนล้วนเป็นหุ่นยนต์ที่ยังไม่สมประกอบ แล้วจุดจบของโลกใบนี้มันจะเป็นอย่างไร คุณคงพอเดาออกใช่ไหม

การทำอะไรแบบซ้ำๆซากๆอย่างที่เคยทำแล้วคาดหวังผลอย่างที่เคยได้ย่อมเป็นเรื่องปกติ อย่าว่าแต่สำหรับคนเลยแม้สำหรับหมาแมวมันก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่การที่คนจำนวนมากด้านหนึ่งก็ทำอะไรซ้ำๆซากๆไปตามกลไกสนองตอบด้วยการคิดพูดทำอย่างอัตโนมัติวันแล้ววันเล่า แต่อีกด้านหนึ่งในใจกลับ “คาดหวัง” หรือ “จินตนาการ” ว่าการทำอะไรแบบเดิมซ้ำๆซากๆนั้นจะให้ผลที่แตกต่างจากเดิม ซึ่งมันจะเป็นไปได้อย่างไร

วงจรสนองตอบด้วยการคิดพูดทำแบบอัตโนมัติ มันค่อยๆถูกผูกขึ้นตั้งแต่แรกเกิด แล้วค่อยๆซับซ้อนขึ้นและซ้ำซากมากขึ้นๆ ทำให้วิธีที่เราใช้ชีวิตมาในอดีตมีผลต่อการใช้ชีวิตของเราในปัจจุบันอย่างซ้ำซาก จนดูเหมือนเราจะหลีกเลี่ยงผลของมันไม่ได้เลย แต่ความเป็นจริงคือเราสามารถปิดหรือยกเลิกวงจรการคิดพูดทำแบบอัตโนมัตินี้ได้ โดยการฝึกสังเกตเข้าไปในใจของตัวเอง (self observation) ทุกครั้งที่มีสิ่งเร้าเข้ามา สังเกตว่าเราสนองตอบด้วยการคิดอย่างไร ด้วยการมีอารมณ์มีความรู้สึกอย่างไร สังเกตแบบรับรู้เฉยๆและขณะเดียวกันก็ติดเบรคไม่ยอมให้การคิดพูดทำอย่างอัตโนมัติเกิดขึ้นตามหลัง คล้ายกับฝึกสกดตัวเองให้หยุดอยู่นิ่งๆ แต่ทำอย่างผ่อนคลาย ปล่อยให้สิ่งเร้าผ่านเข้ามา ไม่ว่าจะมาดีมาร้ายก็ปล่อยให้มันผ่านเข้ามาก่อน ไม่รีบสนองตอบออกไปอย่างอัตโนมัติ ไม่รีบแกว่งเข้าไปหาถ้าเป็นสิ่งที่ชอบ ไม่รีบแกว่งหนีถ้าเป็นสิ่งไม่ชอบ เพราะการแกว่งคือการสร้างความคิดใหม่ขึ้น ซึ่งความคิดใหม่นี้จะทำหน้าที่เป็นสิ่งเร้าตัวใหม่ให้เกิดการสนองตอบอัตโนมัติต่อไปอีกอย่างควบคุมไม่ได้และไม่รู้สิ้นสุด ดังนั้น ให้อยู่นิ่งๆตรงกลางก่อน ยอมรับให้มันเข้ามาก่อน หายใจเข้าลึกๆก่อน สังเกตรับรู้โดยไม่คิดอะไรต่อยอดก่อน จนเมื่อความเร่งเร้าของกลไกอัตโนมัติสงบลงแล้วจึงค่อยจงใจสนองตอบออกไปอย่างรู้ตัวมีสติ ขยันฝึกทำแบบนี้ไป เน้นการฝึกที่ในลมหายใจนี้เลย เมื่อฝึกไปได้ระดับหนึ่งความคิดเปะปะไม่ว่าจะเป็นความเสียใจกับอดีต ความกลัว และความหวังลมๆแล้งๆ จะลดปริมาณลง พลังชีวิตซึ่งเคยถูกใช้ไปแบบเปะปะกับการคิดก็จะเพิ่มระดับสูงขึ้น และจะเป็นตัวเปิดให้เห็นธรรมชาติที่แท้จริงของใจขณะปลอดความคิด ซึ่งมีคุณลักษณะสามอย่างคือเป็นความตื่นที่สามารถรับรู้อะไรได้ เป็นความเมตตา และเป็นปัญญาญาณ อุปมาเหมือนการดาวน์โหลดสิ่งไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นลงมาใช้งานได้ เมื่อนั้นหุ่นยนต์ตัวนี้ก็จะสมประกอบและใช้การได้ดีเต็มศักยภาพของมัน

คุณไม่ต้องเชื่อผม แต่ผมท้าทายให้คุณทดลองกับตัวเอง ให้เห็นด้วยตัวเอง โดยให้คุณเจาะจงขยันทำเฉพาะที่ลมหายใจนี้ นั่นก็ให้คือทำทุกลมหายใจนั่นแหละ ประเด็นสำคัญคือเลิกเสียทีการทำแต่สิ่งเดิมๆ แบบเดิมๆ ซ้ำๆ ซากๆ แล้วนั่งฝันว่าสิ่งใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิมจะเกิดขึ้นในชีวิต นั่นเป็นการเสียสติไปแล้วเพราะมันเป็นไปไม่ได้ แต่มันเป็นไปได้ที่คุณจะตั้งใจขยันลงมือเลิกกลไกสนองตอบอัตโนมัติที่เป็นตัวทำลายพลังชีวิตของคุณอย่างไม่ลดละ จนเหลือพลังชีวิตมากพอที่จะเปิดให้คุณเข้าถึงสิ่งใหม่ๆดีๆกว่าเดิมได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

27 ตุลาคม 2566

ความสองฝักสองฝ่ายในใจหมอหนุ่ม

(ภาพวันนี้ / ดอกไมยราพยามเช้า)

สวัสดีครับอาจารย์

ผมเป็น extern ในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งครับ การเรียนหมอ 6 ปีมันช่างยาวนานและใช้กำลังภายในเยอะพอสมควรครับ ผมเรียนรู้ที่จะพอเอาตัวรอดไปได้ในแต่ละวัน จนกระทั่งตอนมาเป็น extern ได้ไปวนโรงพยาบาลในต่างจังหวัดหลายเดือน ซึ่งมีการทำงานที่ไม่เหมือนกับโรงเรียนแพทย์ ตัวผมมีโอกาสได้ดูแลคนไข้ ได้ฝึกทำงานเหมือนหมอคนหนึ่ง ทำให้ผมกลับมารักและเห็นคุณค่าในวิชาชีพแพทย์มากขึ้นมากๆครับ และช่วงเวลา 3 ปีของคลินิก ผมก็ค้นหาตัวเองเจอว่าชอบศัลย์ ได้ elective ในหลายๆที่ก็รู้สึกว่าใช่ แต่ติดตรง mindset ของตัวผมเองครับอาจารย์ ที่รู้สึกอยากพอ อยากวางจากการขวนขวายขะมักเขม้น (observe จาก resident ในคณะครับ) บางครั้งก็ทรมานจากความรู้สึกที่ว่าตัวเองยังรู้ไม่มากพอ ทำให้ลังเลว่าจะ fix ward หรือจะไปใช้ทุนดี และมีโอกาสได้ไปตั้งแคมป์ ได้เจอกับผู้คนใหม่ๆที่หลากหลาย ทำให้รู้สึกว่าโลกใบนี้กว้างใหญ่ มีอะไรให้น่าเรียนรู้อีกเยอะเลยครับ แต่การเรียนหมอนั้น ทั้งความหนักและตารางที่ไม่แน่นอน ทำให้การจัดสรรเวลาของผมเป็นไปได้ยากครับ จึงอยากปรึกษาว่าอาจารย์มีคำแนะนำ วิธีจัดการความคิด การจัดสรรเวลาของตัวเองอย่างไรครับ

ขอบคุณมากๆครับอาจารย์

………………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. คนที่เรียนแพทย์ซึ่งเอียนระบบการเรียนการสอบจนร่อแร่จะไปไม่ไหว แต่เมื่อได้ไป extern ได้สัมผัสกับคนไข้จริงๆ ความรักชอบอาชีพจะกลับมา มันเป็นเช่นนี้เกือบทุกคน ดังนั้นท่านที่เป็นนักศึกษาแพทย์ที่รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว เกินพอแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาการเมื่ออยู่ปี 3 ปี 4 อย่าเพิ่งตัดสินใจกระโดดร่มหนี ให้แกล้งถูลู่ถูกังเอามือทำบ้างเอาตีนทำบ้างลากตัวเองไปให้ถึงปี 6 แล้วค่อยไปประเมินเอาตอนโน้นว่าควรจะสู้หรือควรจะหนีดี เพราะตอนโน้นข้อมูลมันรอบด้านกว่า ทำให้ตัดสินใจได้ถูกต้องดีกว่า

2.. ถามว่าจบปี 6 แล้วจะเข้าโปรแกรมฝึกอบรมศัลยศาสตร์ซึ่งเป็นสาขาที่ตัวเองชื่นชอบเลยดีไหม หรือจะไปใช้ทุนในชนบทดี ตอบว่าไปใช้ทุนในชนบทก่อนดีกว่าครับ ใช้ทุนครบแล้วค่อยว่ากัน ที่ผมตอบอย่างนี้ผมตอบจากประสบการณ์ชีวิตของตัวเองไม่ได้ตอบบนหลักการรับใช้ชาติหรืออะไรทำนองนั้นทั้งสิ้น คือมองย้อนหลังไปตั้งแต่ผมไปเป็นแพทย์ใช้ทุนในชนบท กลับมาเป็นแพทย์ประบ้านในสาขาที่ชอบ ออกไปเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลศูนย์ ไปเป็นศัลยแพทย์หัวใจทำงานในต่างประเทศ กลับมาเป็นแพทย์อาวุโสวิ่งรอกหากินมือเป็นระวิงอยู่ในกรุงเทพนานจนแก่เฒ่าบางช่วงก็ทำงานบริหารไปด้วย ทั้งหมดนี้โมเมนต์ที่ผมมีความสุขที่สุดคือช่วงที่ผมใช้ทุนอยู่ในชนบท ถัดมาก็คือช่วงทำงานอยู่เมืองนอก ถัดมาก็ช่วงเป็นหมออยู่ในรพ.ศูนย์ ส่วนช่วงเป็นหมอใหญ่หากินอยู่ในกรุงเทพ เป็นช่วงที่ผมมีความสุขน้อยที่สุด นี่ว่าแต่ประเด็นความสุขนะ ไม่เอาประเด็นความภาคภูมิใจ จากตัวอย่างชีวิตของผมคนเดียวนี้คุณลองเอาไปประยุกต์ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกทางเดินของคุณเอาเองดูนะครับ

3.. พูดถึงการเป็นหมอแล้ว “รู้ไม่มากพอ” มันเป็นกันทุกคน ความรู้เกิดจากการได้รักษาคนไข้ เราแบ่งสาขาของเราเป็นสูติ ศัลย์ Med เด็ก แต่คนไข้เขามาทั้งตัวและใจเขาด้วย มาแบบ holistic การจะเรียนรู้เอาจากคนไข้เราต้องหัดเรียนแบบ holistic ไม่ใช่มองแต่จากมุมของศัลย์หรือสูติ เมื่อรักษาคนไข้นานไปคุณหมอจะค่อยๆเรียนรู้ไปเองว่าสิ่งที่ทำให้คนไข้หายจากโรคไม่ใช่เราเนรมิตให้ แต่เป็นพลังในตัวในใจของเขาเอง บทบาทของหมอเมื่อมีประสบการณ์มากขึ้นจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นบทบาทของ “โค้ช” โดยอัตโนมัติ ในบทบาทนี้เราจะเข้าใจคนไข้เป็นรายคน ไม่ใช่เป็นรายวิชาสูติ ศัลย์ Med เด็ก และความสุขที่ได้จากการรักษาคนไข้ 90% เกิดจากบทบาทโค้ช มีเพียง 10% เท่านั้นที่เกิดจากการใช้วิชาสูติ ศัลย์ Med เด็ก การเรียนเป็นโค้ชเรียนจากการรักษาคนไข้ไปทีละคน เป็นการเรียนที่ต่อเนื่องจนเราเลิกอาชีพจึงจะจบ ดังนั้นอย่าไปห่วงเรื่องการที่เรายังรู้ไม่มากพอ ตราบใดที่ยังรักษาคนไข้อยู่ ความรู้มันจะมากขึ้นๆ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

24 ตุลาคม 2566

ความตายของคนใกล้ชิดเป็น "ครูใหญ่" ให้รู้ซึ้งถึงคุณค่าของแต่ละลมหายใจของเราที่เหลืออยู่

คุณหมอครับ

ภรรยาผมเพิ่งสิ้นลมไป ผมรู้สึกชา เชื่องช้า เหมือนทำอะไรไม่ถูกเมื่อต้องอยู่คนเดียว ผมไม่ใช่คนเข้าวัดเข้าวา ในใจมีแต่ภาพอดีต ผมร้องไห้บ้าง กลัวความเหงา กลัวความลึกลับของความตาย

………………………………………………………………………

ตอบครับ

1.. การเป็นคนไม่เคยสนใจศาสนาไม่เข้าวัดเข้าวาในช่วงชีวิตที่ผ่านมานั้นไม่ใช่ประเด็นสลักสำคัญอะไร ดีเสียอีกที่ไม่มีคอนเซ็พท์โน่นนี่นั่นมาเป็นขยะรกหน่วยความจำในหัว การจะมีชีวิตที่ดี ไม่จำเป็นต้องไปฟังเอาจากใครพูดที่ไหน แค่ขยันทิ้งคอนเซ็พท์เก่าๆที่สังคมหรือภาวะรอบตัวยัดเยียดให้เรายึดถือเกี่ยวพันโดยไม่จำเป็นไปเสียให้หมด แล้วเริ่มต้นสังเกตรับรู้ยอมรับทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาที่เดี๋ยวนี้ตามที่มันเป็น ค่อยๆถอยกลับเข้าไปสู่ความสงบที่ส่วนลึกของใจเราเอง แล้วก็จะมีชีวิตที่ดี คือสงบเย็นและสร้างสรรค์ได้เอง

2.. อดีตเป็นเพียงความคิดที่เราคิดขึ้นที่เดี๋ยวนี้โดยเราจงใจเรียบเรียงให้ต่อเนื่องเหมือนนิยายเรื่องยาวเอาไว้ให้ตัวเองอ่าน ดังนั้นหากจะแสวงหาสิ่งดีๆในชีวิต อย่าไปยุ่งกับอดีต อย่าไปคิดถึงหรือจมอยู่กับอดีต และอย่าไปปักหลักเชื่อว่าคุณเป็นสิ่งเดียวที่คงที่สถาพรที่นั่งมองความเปลี่ยนแปลงของสิ่งรอบตัวอยู่อย่างหวาดระแวงเหมือนไม้หลักปักอยู่กลางแม่น้ำที่ไหลเชี่ยว ถ้าคุณมองโลกจากมุมนั้นชีวิตคุณจะลำบากมากเพราะมีแต่คุณปักหลักนิ่งอยู่คนเดียวขณะที่อย่างอื่นล้วนถาโถมเข้ากระแทกใส่คุณไม่เว้นแต่ละนาที แต่ถ้าคุณเปลี่ยนมุมมองใหม่ ยอมรับให้ตัวเองไหลไปตามความเปลี่ยนแปลงรอบตัวเหมือนไม้ที่ลอยไปตามน้ำ โดยที่ตัวคุณก็เป็นหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย คุณจะพบว่าสิ่งรอบตัวคุณที่เคลื่อนไหวไปพร้อมกับคุณนั้นดูเหมือนมันนิ่ง และคุณจะรู้สึกถึงความสงบในความเคลื่อนไหว

3.. วิธีในทางปฏิบัติก็คือให้หัดอยู่กับลมหายใจนี้ ยอมรับทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา ที่เดี๋ยวนี้ ไม่แกว่งไปกอดรัดสิ่งที่ชอบเอาไว้ ไม่แกว่งหนีสิ่งที่ไม่ชอบ อะไรผ่านเข้ามาและผ่านออกไปยอมรับหมด วิธีตรวจสอบว่าคุณอยู่ที่เดี๋ยวนี้หรือเปล่าก็ง่ายมาก คุณได้ยินเสียงต่างๆรอบตัวคุณไหม พัดลม เสียงจิ้งหรีด เสียงรถยนต์ครางแต่ไกลเบาๆ หรือแม้กระทั่งความเงียบ ลองเงี่ยหูฟังซิ จับแต่เสียง ไม่ต้องตีความ ให้คุณทำตัวเป็นความเงียบ เงี่ยหูฟังเสียงทุกเสียงที่เกิดขึ้นในความเงียบ แล้วดับหายไปในความเงียบ ถ้าคุณได้ยิน คุณก็กำลังอยู่กับเดี๋ยวนี้

หรือคุณลองมองไปรอบๆตัวคุณซิ คุณเห็นอะไรที่อยู่ที่เดี๋ยวนี้ไหม หลอดไฟ หน้าต่าง ต้นไม้ ท้องฟ้า เห็นตามที่มันเป็น ไม่ต้องพากย์ว่ามันดีหรือไม่ดี ให้ทำตัวเป็นพื้นที่ว่างเปล่ากว้างใหญ่ไกลสุดขอบฟ้า ที่ภาพทุกภาพเกิดขึ้นในพื้นที่ว่างเปล่านี้ ถ้าคุณเห็น คุณก็กำลังอยู่กับเดี๋ยวนี้

หรือคุณลองชำเลืองเข้าไปในใจของคุณซิ คุณกำลังคิดอะไรอยู่ ถ้าตอบได้ว่ากำลังคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ ลองกลับไปมองอีกทีซิ ยังมีความคิดนั้นอยู่หรือเปล่า ถ้าตอบได้ว่าไม่มีแล้ว ไม่มีความคิดเลย ก็แสดงว่าคุณก็กำลังอยู่กับเดี๋ยวนี้แล้ว เพราะที่เดี๋ยวนี้ไม่มีความคิด ถ้ามีความคิดโมเมนต์นั้นก็ไม่ใช่เดี๋ยวนี้เสียแล้ว ให้คุณมองใหม่ ต่อเมื่อความคิดหายไปแล้วโดยที่คุณยังรู้ตัวอยู่นั่นแหละ จึงจะเป็นเดี๋ยวนี้ เพราะเดี๋ยวนี้คือความว่างเปล่าระหว่างความคิดสองความคิด ความคิดแรกจบไปแล้ว ความคิดที่สองยังไม่มา ตรงนั้นแหละคือเดี๋ยวนี้

4.. อุปมาชีวิตในภาพใหญ่เหมือนคุณไปเที่ยวเมืองลำปางแล้วได้ไปนั่งโดยสารรถม้า “ตัวรถ” ก็คือร่างกายของเรา “ม้า” ก็คือพลังชีวิตซึ่งเรารับรู้ได้ในรูปของอารมณ์ความรู้สึก “คนขับ” ก็คือความคิดหรืออีโก้ ส่วนตัวเราที่แท้จริงนั้นคือผู้โดยสารที่นั่งอยู่หลังคนขับ ตราบใดที่คุณดำเนินชีวิตโดยเข้าใจผิดว่าตัวเองเป็นคนขับรถ คุณก็ไม่ได้อยู่กับเดี๋ยวนี้ ต่อเมื่อคุณถอยไปเป็นผู้โดยสาร นั่งสังเกตอยู่เฉยๆ นั่นแหละคุณอยู่กับเดี๋ยวนี้ และในฐานะผู้โดยสาร คุณย่อมไม่ผูกพันกับทั้งรถ ทั้งม้า ทั้งคนขับ เพราะเมื่อถึงที่หมาย คุณจ่ายค่าโดยสารแล้วก็เดินจากกันไปคนละทาง

5.. ความตายของคนใกล้ชิดเป็น “ครูใหญ่” ให้รู้ซึ้งถึงโอกาสในแต่ละลมหายใจของเราที่ยังเหลืออยู่ ความตระหนักว่าเราทุกคนจะต้องตาย จะตายเวลาไหนก็ได้ ตายได้ทุกเมื่อ ปลายสุดของลมหายใจออกรอบนี้ หากไม่ตามมาด้วยลมหายใจเข้าของรอบใหม่ ชีวิตก็จบลงแล้ว ทำให้แต่ละลมหายใจที่ “เดี๋ยวนี้” มันเป็นโอกาสที่มีค่ามาก เพราะโอกาสอย่างนี้อาจจะไม่มีอีกแล้ว

ประเด็นคือ เราจะใช้ชีวิตในลมหายใจนี้อย่างไรให้เราสงบเย็นและสร้างสรรค์ได้มากที่สุด แทนที่จะสูญเสียแต่ละลมหายใจไปกับการจมอยู่ในความคิดซ้ำซากวกวน ซึ่งทั้งไม่สงบเย็น และทั้งไม่สร้างสรรค์

6.. ความกลัวตายเป็นความคิดที่ชงขึ้นมาโดยอีโก้ เป็นแค่อีกหนึ่งความคิด เป็นความคิดที่ไม่สร้างสรรค์เสียด้วย สิ่งที่สำคัญคือทำอย่างไรจึงจะทิ้งหรือปล่อยอีโก้ให้มันตายไปเสียก่อนที่ความตายของร่างกายจะมาถึงเพื่อป้องกันไม่ให้อีโก้พาเราออกอาการทุรนทุรายจนหมดโอกาสที่เราจะได้สัมผัสเรียนรู้ความสงบเย็นและสร้างสรรค์ของช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญของชีวิตที่เรียกว่า “ความตาย” นี้ การจะทิ้งอีโก้นี้ด่านใหญ่ก็คือการยอม “ลงแดง” จากการเสพย์ติดความคิด เพราะความคิดมันทำให้เราเกิดความเพลินและอาลัยใยดีทำให้เราติดหนึบอยู่กับมันเลิกไม่ได้ การฝึกวางความคิดจึงเป็นสารัตถะสำคัญของการดำรงชีวิตในลมหายใจนี้

7.. “ความเหงา (loneliness)” หรือความโหยหาที่เกาะเกี่ยวที่มั่นคง เป็นความคิดไร้สาระซึ่งก่อให้เกิดความทุกข์เมื่อเราต้องอยู่คนเดียว หากคุณเปลี่ยนเอาการต้องอยู่คนเดียวนี้มาสังเกตชีวิตจากมุมมองใหม่ คือสังเกตสิ่งรอบตัวจากมุมของเดี๋ยวนี้ตามที่มันเป็นโดยไม่คิดอะไรต่อยอด สถานะการณ์จะเปลี่ยนจากเหงาเป็น “วิเวก (solitude)” ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนความทุกข์จากความเหงาให้เป็นความสงบเย็นและสร้างสรรค์ เพราะเมื่อปลอดความคิด คุณจะเข้าถึงส่วนลึกของใจคุณได้เองอย่างเป็นอัตโนมัติ ซึ่งมันมีอัตลักษณ์อยู่สามอย่างคือ (1) มันเป็นความตื่นและรู้ตัว (2) มันเป็นความรักความเมตตา (3) มันเป็นปัญญาญาณสร้างสรรค์ ซึ่งที่วิเวกนี้แหละเป็นที่ที่คุณจะเรียนรู้ที่จะไม่กลัวตายได้เอง เพราะที่วิเวกนี้ “อีโก้” ไม่ได้มาอยู่กับคุณด้วย

8.. โปรดสังเกตว่าผมไม่ได้ปลอบโยนคุณเลยที่สูญเสียภรรยาไป ยามที่คนเรากำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตอย่างที่คุณเจออยู่ขณะนี้ เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่คนเราจะเปลี่ยนมุมมองต่อชีวิต จากมุมของอีโก้ซึ่งต้องการคำปลอบโยนว่า สู้สู้นะ ทุกอย่างยังเหมือนเดิม มาเป็นมุมของการยอมรับเดี๋ยวนี้ซึ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นี่จะเป็นทางเดียวที่จะพาไปสู่ความสงบเย็นและสร้างสรรค์ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ผมตอบคุณวันนี้คุณอาจน่าผิดหวังที่มันไม่ใช่คำปลอบโยน แต่ผมแนะนำว่าหากคุณอ่านวันนี้แล้วผิดหวัง ให้คุณทิ้งไว้อีกหลายๆวันแล้วกลับมาอ่านใหม่อีกหลายๆรอบ เผื่อคุณจะใช้ประโยชน์จากมันได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

22 ตุลาคม 2566

โรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 รักษาให้ตัวชี้วัดไต (GFR) ดีขึ้นได้ด้วยเปลี่ยนอาหารมากินพืชเป็นหลัก

(ภาพวันนี้ / ต้อยติ่ง)

เรียนคุณหมอสันต์

ผมอายุ 72 เป็นโรคไต ตอนนี้ค่าไตเหลือ 34 หมอให้ยามากินเยอะมากตามรายการแนบ ห้ามกินผักผลไม้มาก ห้ามกินโปรตีนมาก แล้วผมจะกินอะไรละครับ ผมอยากถามคุณหมอสันต์ว่ายาโรคไตที่ได้มานั้นมันมียาอะไรบ้าง มันทำหน้าที่อะไร มันจำเป็นไหม นอกเหนือจากยาเหล่านี้จะมีวิธีอื่นไหมที่ผมจะมีชีวิตต่อไปจนตายไปเองโดยไม่ต้องล้างไต

ขอบคุณครับ

…………………………………………………

ตอบครับ

เป็นความจริงที่ว่าการรักษาโรคไตเรื้อรังในปัจจุบันโฟกัสอยู่ที่การใช้ยา ซึ่งก็เหมือนกับการรักษาโรคเรื้อรังอื่นๆ เพราะวงการแพทย์กระแสหลักยังมีความเชื่อเช่นนี้อยู่ ยารักษาโรคไตทั้งหมดนั้นแบ่งเป็นหมวดตามหลักการแก้ปัญหาโรคไต ได้หลายกลุ่ม ได้แก่

(1) การลดความดันเลือดด้วยยาในกลุ่ม ACEI และ ARB,
(2) การลดไขมันในเลือดด้วยยาในกลุ่ม statin

(3) การกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นด้วยการฉีดยากระตุ้นไขกระดูกกลุ่ม erythropoietin

(4) การลดบวมด้วยยาขับปัสสาวะ

(5) การจับเอาฟอสเฟตส่วนเกินออกจากร่างกายด้วยยาเช่นแคลเซียมคาร์บอเนต แคลเซียมอะซิเตท และยา sevelamer

(6) การจับเอาโปตัสเซียมส่วนเกินออกด้วยยาเช่น calcium polystyrene sulfonate และยา Patiromer

(7) การให้วิตามินดีชดเชยที่ประสิทธิภาพการร่วมผลิตวิตามินดีของไตลดลง และ

(8) การให้กินแคลเซียมทดแทนเพราะการดูดซึมจากอาหารทำได้น้อยลงอันเป็นผลสืบเนื่องจากการขาดวิตามินดี.

ทั้งหมดนี้มีผลบรรเทาการขาดและลดการคั่งค้างของสารที่มีมากเกินไปเหล่านั้นในผู้ป่วยที่ยังไม่ได้ล้างไต [1] แต่เปลี่ยนการทำงานของไตที่วัดด้วย GFR ให้กลับมาดีดังเดิมได้น้อยมากหรือไม่ได้เลย ภาพใหญ่ของโรคไตเรื้อรังทุกวันนี้จึงเมื่อเป็นแล้วดูเหมือนมีแต่จะเดินหน้าไปเป็นมากขึ้นๆ

ยังมีประเด็นผลเสียของยารักษาโรคไตเรื้อรังด้วยวิธีปัจจุบันต่อไตเองอีก กล่าวคือมีหลักฐานวิจัยในคนว่ายารักษาโรคไตเรื้อรังเองบางตัวเช่นยา ACEI มีผลทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้นและค่า GFR ลดลง [2]

ในแง่ของการรักษาโรคไตเรื้อรังด้วยอาหาร ได้มีความพยายามที่จะคิดอาหารบำบัดโรคไตเรื้อรังที่มีสาระหลักอยู่ที่การจำกัดโปรตีน (renal diet) แต่ผลวิจัยกลับพบว่าอาหารดังกล่าวชลอความเสื่อมของไตได้น้อยมาก [2] อย่างไรก็ตามอาหารแบบนี้ยังถือเป็นแนวทางหลักของอาหารรักษาโรคไตเรื้อรังอยู่จนถึงปัจจุบัน เมื่อควบรวมแนวคิดการจำกัดโปรตีนเข้ากับแนวคิดจำกัดโปตัสเซียมและฟอสเฟตจึงทำให้คนไข้โรคไตเรื้อรังได้รับคำแนะนำว่าโน่นก็กินไม่ได้ นี่ก็กินไม่ได้ จนคนไข้คนหนึ่งบอกผมด้วยความหมดอาลัยว่า

“ทุกวันนี้ผมกินได้แต่ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้”

สมมุติว่าเราลองทิ้งแนวคิดเรื่องสารอาหาร (nutrients) ไปก่อน หันมามองจากมุมของรูปแบบของการกิน (eating pattern) งานวิจัยจากข้อมูลประชากร NHANES ที่ตีพิมพ์ไว้ในวารสารสมาคมโรคไตอเมริกัน [3] พบว่าเมื่อติดตามดูอัตราตายของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจำนวนพันกว่าคน แยกเป็นสองกลุ่มคือกลุ่มกินอาหารปกติ กับกลุ่มกินอาหารพืชเป็นหลัก ติดตามไปนาน 8 ปี พบว่ากลุ่มกินอาหารพืชเป็นหลัก (plant-based diet) มีอัตราตายต่ำกว่ากลุ่มกินอาหารปกติถึงห้าเท่า (11% vs 59%) ข้อมูลนี้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในคนจริงๆจำนวนมากที่แสดงว่าการเลือกรูปแบบของการกินที่ดี โดยไม่ต้องพะวงว่ากินมากไปน้อยไป เป็นทางไปที่ดีกว่าการมาโฟกัสที่สารอาหารตัวเล็กตัวน้อยทีละตัวจนในที่สุดแทบไม่เหลืออะไรให้กินได้เลย

ดังนั้น ผมซึ่งเป็นหมอทั่วไปไม่ใช่หมอไต ขอแนะนำผู้ป่วยโรคไตโดยใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์เท่าที่มีตีพิมพ์แล้วถึงปัจจุบันว่า คนเป็นโรคไตเรื้อรังสิ่งที่ควรทำมากที่สุดคือการเปลี่ยนอาหารมาใช้รูปแบบของการกินอาหารในแนวกินพืชเป็นหลักหรือแนวมังสวิรัติ ควบคู่ไปกับการลดยาที่จะมีพิษต่อไต ยาที่มีพิษต่อไตเด่นมากก็เช่นยาแก้ปวดแก้อักเสบข้อ (NSAID) ยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะ (เช่น omeprazol) และสารทึบรังสีที่ฉีดเข้าร่างกายเพื่อตรวจวินิจฉัยด้วยภาพไม่ว่าจะเป็นการสวนหัวใจ (CAG) การทำ contrast CT ทำ MRA เป็นต้น ส่วนยาอื่นๆที่หมอไตให้กินเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่บ่งชี้โดยตัวชี้วัดต่างๆนั้นผมมีความเห็นว่าหากไม่มีปัญหาเรื่องผลข้างเคียงจากยาก็น่าจะกินไปก่อน คิดเอาแบบบ้านๆว่ามันน่าจะดีกว่าอยู่เปล่าๆ

อย่างไรก็ตาม ผมให้ความสำคัญสูงสุดไว้ที่การกินอาหารพืชเป็นหลัก และการลดสารที่เป็นพิษต่อไต ขอให้คุณเอาคำแนะนำนี้ไปพิจารณาดูว่าจะทำตามดีไหม

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Steiber A.L., Kopple J.D. Vitamin Status and Needs for People with Stages 3-5 Chronic Kidney Disease. J. Ren. Nutr. 2011;21:355–368. doi: 10.1053/j.jrn.2010.12.004.
  2. Klahr S., Levey A.S., Beck G.J., Caggiula A.W. The Effects of Dietary Protein Restriction and Blood-Pressure Control on the Progression of Chronic Renal Disease. N. Engl. J. Med. 1994;330:877–884. doi: 10.1056/NEJM199403313301301.
  3. Chen X, Wei G, Jalili T, Metos J, Giri A, Cho ME, Boucher R, Greene T, Beddhu S. The Associations of Plant Protein Intake With All-Cause Mortality in CKD.  Am J Kidney Dis. 2016 Mar;67(3):423-30. doi: 10.1053/j.ajkd.2015.10.018.
  4. Pedrini MT, Levey AS, Lau J, Chalmers TC, Wang PH. The effect of dietary protein restriction on the progression of diabetic and nondiabetic renal diseases: a meta-analysis. Ann Intern Med. 1996 Apr 1;124(7):627-32. doi: 10.7326/0003-4819-124-7-199604010-00002. PMID: 8607590.
  5. Adair KE, Bowden RG. Ameliorating Chronic Kidney Disease Using a Whole Food Plant-Based Diet. Nutrients. 2020 Apr 6;12(4):1007. doi: 10.3390/nu12041007. PMID: 32268544; PMCID: PMC7230354.
  6. Ketoanalogue-Supplemented Vegetarian Very Low-Protein Diet and CKD Progression.Garneata L, Stancu A, Dragomir D, Stefan G, Mircescu G. J Am Soc Nephrol. 2016 Jul; 27(7):2164-76.
  7. Sharon M. Moe, Miriam P. Zidehsarai, Mary A. Chambers, Lisa A. Jackman, J. Scott Radcliffe, Laurie L. Trevino, Susan E. Donahue, and John R. Asplin. Vegetarian Compared with Meat Dietary Protein Source and Phosphorus Homeostasis in Chronic Kidney Disease. Clinical Journal of the American Society Nephrology, December 23, 2010 DOI: 10.2215/CJN.05040610
  8. Campbell K.L., Johnson D.W., Bauer J.D., Hawley C.M., Isbel N.M., Stowasser M., Whitehead J.P., Dimeski G., McMahon E. A Randomized Trial of Sodium-Restriction on Kidney Function, Fluid Volume and Adipokines in CKD Patients. BMC Nephrol. 2014;15:57. doi: 10.1186/1471-2369-15-57.
  9. Phosphorus-containing food additives and the accuracy of nutrient databases: implications for renal patients.Sullivan CM, Leon JB, Sehgal ARJ Ren Nutr. 2007 Sep; 17(5):350-4.
  10. Ameliorating Chronic Kidney Disease Using a Whole Food Plant-Based Diet.Adair KE, Bowden RG. Nutrients. 2020 Apr 6; 12(4)
[อ่านต่อ...]

20 ตุลาคม 2566

เป็นหมอเปิดคลินิกจนคนไข้ติด เกษียณแล้วอยากปิดแต่ปิดไม่ลง

(ภาพวันนี้ / ดอก ฮอลลี่ฮ็อค)

ขอคำปรึกษาจากอจ.หมอค่ะ

เราสองคน สามีจบแพทย์ … รุ่น … ดิฉันพยาบาล ดิฉันลาออกก่อนเกษียณค่ะ ส่วนคุณหมอรับราชการจนเกษียณ เราสองคนจากรพ. … ไปอยู่ รพ. … ย้ายไปจว. … ก่อนจะย้ายมา จว … เพราะ อจ.ในกระทรวงให้มาช่วยเพราะที่นี่หมอลาออกกันมากขาดแคลนแพทย์ อยู่มาตั้งแต่ปี … เกษียณแล้วอยากจะปิดคลินิกแต่ปิดไม่ลงเพราะเป็นห่วงคนไข้ จะขอปรึกษาอจ.ว่าตอนอจ.จะปิดคลินิก อจ.ทำยังไงคะ ห่วงคนไข้ปิดไม่ได้สักทีค่ะ คิดว่าจะปิดต้นปี 67 ค่ะ

……………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าเปิดคลินิกทำมาจนเกษียณ จะปิดดีไหม ตอบว่าทุกอย่างเมื่อมี “เปิด” ก็ต้องมี “ปิด” ไม่ปิดตอนนี้ก็ต้องไปปิดเอาตอนสุดท้าย คือตายคา (ขอโทษ หิ หิ) ถ้าเลือกแบบแรกต้องมีแผนลูกประกอบ คือปิดแล้วจะไปทำอะไร เพราะปัญหาของผู้สูงอายุที่ป่วยหรือเป็นทุกข์อยู่ทุกวันนี้สาเหตุหนึ่งคือแก่แล้วไม่มีอะไรทำ แต่ถ้าเลือกเอาแบบหลังไม่ต้องมีแผนลูกประกอบ เพราะเมื่อตายคาแล้วปัญหาทุกอย่างก็จบไปพร้อมกันแบบรูดมหาราช

2.. ถามว่าสมัยหมอสันต์ปิดคลินิกส่วนตัวของตัวเองทำอย่างไร ตอบว่า โห.. ผมต้องทบทวนความจำหน่อยนะ เพราะนั่นมันปีพ.ศ. 2525 ซึ่งก็คือสี่สิบกว่าปีมาแล้ว ผมจำได้ว่าสมัยหนุ่มๆผมทำอะไรไม่มีแผนมากหรอก เล่าเรื่องวันเปิดก่อนนะ พออยากมีเงินมาใช้หนี้ผมก็เปิดคลินิก เปิดโดยขาดแผนที่ดี เปิดมาวันแรกลูกค้าล้นหน้าร้านจนยาหมดยังมีลูกค้ารอตรึม ผมจึงปิดประตู ก็ยังมีลูกค้ายื่นมือสลอนเข้ามาขอซื้อยาทางหน้าต่าง ผมต้องแอบออกประตูหลังปล่อยให้เด็กเอียดอายุ 15 ปี ซึ่งจ้างมาเป็นเสมียนหน้าร้านรับหน้าลูกค้าแทน หิ..หิ

พอถึงวันจะปิดคลินิก ผมใช้วิธีประกาศไปในหมู่เพื่อนแพทย์รุ่นเดียวกันที่ทำงานอยู่ในละแวกแถบนั้นว่าใครอยากมาทำคลินิกของผมต่อบ้าง โชคดีที่มีเพื่อนคนหนึ่งมารับช่วง ก่อนปิดสองสามเดือนผมบอกคนไข้ว่าผมจะไปละนะ คนไข้โรคเรื้อรังทุกคนต้องเลือกว่าจะสมัครใจไปรักษากับใครที่ไหน ทางเลือกแรกก็คือผมดึงหมอเก่งจากจุฬามาทำต่อที่นี่ให้ อีกทางเลือกหนึ่งคือหากท่านจะไปรักษาต่อกับหมออื่นที่เมืองอื่นเช่นที่หาดใหญ่หรือกรุงเทพฯให้บอกมาผมจะทำหนังสือส่งตัวอย่างละเอียดให้ คนที่ไม่ย้ายไปไหนผมก็เขียนประวัติเก่าทิ้งไว้ให้หมอใหม่อย่างละเอียด ปรากฎว่ามีคนไข้ขอไปรักษาต่อที่มอ.หาดใหญ่แค่สองสามคน ที่เหลืออยู่รักษาที่คลินิกเดิมต่อหมด และทุกคนแฮปปี้ มีบ้างที่คนไข้เป็นประเภทริปแวนวิงเคิล คือหลับไปหลายปีแล้วตื่นขึ้นมานึกว่าทุกอย่างยังอยู่ที่เดิม เพื่อนของผมที่มารับช่วงทำคลินิกต่อเขาเป็นคนตลก พบกันเมื่อราวสามสิบปีให้หลังเขาเล่าให้ผมฟังว่าเมื่อผมกลับจากบ้านนอกมาได้ราวยี่สิบปีแล้ว มีตาแก่คนหนึ่งเดินเข้าคลินิกมาแล้วถามเสมียนว่า

“หม้อสั้นยู่ม้าย..ย”

ฮ่า ฮ่า ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

3. ถามว่าจะทำอย่างไรกับความรู้สึกเป็นห่วงคนไข้ที่ดูแลกันมานาน ตอบว่า คุณเป็นคนรุ่นไม่ห่างจากผมมากนี่ น่าจะเคยได้อ่านหนังสือกำลังภายในมาบ้าง เช่นของ ว. ณ เมืองลุง และ น. นพรัตน์ เป็นต้น ในหนังสือกำลังภายในมีสำนวนที่ใช้กันบ่อยมากสำนวนหนึ่งว่า

“ไม่มีงานเลี้ยงใด ไม่เลิกรา”

ความเป็นห่วงคนไข้เป็นปัญหาในใจของเราซึ่งเป็นแพทย์พยาบาลที่ “อิน” กับงานอาชีพ แต่ไม่ใช่ปัญหาของคนไข้ ปัญหาของคนไข้นั้นเราวางแผนแก้ปัญหาตามหลักวิชาชีพไว้ให้เขาหมดแล้ว เช่นการสรุประวัติ การทำหนังสือส่งตัว เป็นต้น ส่วนปัญหาในใจของเรา เราต้องแก้ไขของเราเอาเอง

ปล. ในโอกาสเกษียณอายุจากงานอาชีพนี้ ขอให้ท่านทั้งสองมีสุขภาพดีมีความสุขในชีวิตวัยเกษียณนะครับ

น.พ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

เพราะความซึมเศร้าในอีกมุมหนึ่งก็คือการ "หด" ของพลังชีวิต

(ภาพวันนี้ / ใบพุดทรา)

อาจารย์คะ
หนูเป็นมะเร็งตับ ตอนแรกเป็นแล้วเลิกทำงาน ยิ่งแย่ จึงกลับมาทำงานแบบลดการทำงานลง
เมื่อกลางเดือนที่แล้วหนูไปเรียนสีนำ้กับอาจารย์ … ช่วงอยู่ในการวาดรูป อาการปวดตามตัวหายไปหมดเลยคะ รู้สึกถึงจิตใจเบิกบาน (ส่วนใหญ่ตอนนี้ ใจยังไม่ค่อยเบิกบานคะ)   
อาการปวดที่หายไป เหมือนกับตอนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ ไปเข้าคอร์สสุขภาพยาวๆ แวะเยี่ยมญาติ อาการเกร็งคอ ปวดตัว ก็จะหายไป พอใกล้กลับมาเมืองไทย ก็รู้ตัวว่าเริ่มเกร็ง และค่อยๆเริ่มปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้จับได้เลยว่าเริ่มเกร็งตรงไหนก่อน อีกอย่างคือตอนไปเที่ยว อาการใจสั่นจาก PVC ก็ลดลงเยอะคะ กลับมาอยู่กรุงเทพ เพิ่มฃึ้นเยอะ หนูใช้ Apple Watch ไม่รู้ว่าคิดไปเอง หรือมีอัตตาสูงเวลากลับมาเมืองไทยเลยเริ่มเป็นอีก หรือแค่เวลาเดินทาง กิจกรรมเยอะ นั่งเฉยๆน้อย (อันนี้ไม่น่าอธิบายทั้งหมด เพราะบางที ก่อนจะกลับ 1 วันก็เริ่มค่อยๆปวดเพิ่มขึ้นแล้วคะ) ตอนนี้ที่รับรู้ได้ชัดเจนขึ้น คือตอนใจหม่นหมอง หรือเวลาใจเบิกบานคะ  ซึ่งส่วนใหญ่ใจยังไม่สงบเย็นคะ ความสม่ำเสมอในการจัดการกับความคิดคงยังน้อยคะ

การจับความคิดแล้วจัดเข้าหมวดหมู่แล้ววางลง กับการตามดูความคิดแบบรู้สึกตัว  ใช้ได้ทั้ง 2 อย่างพร้อมกันใช่ไหมคะ

ส่วนใหญ่ตอนตื่นมากลางคืนจะรู้ว่าคิ้วขมวดอยู่เลยคะ  แสดงว่าเรามีความคิดไหมคะ นอนถึงไม่ค่อยสนิท ตอนนี้พอตื่นมาแล้วรู้สึกว่าคิ้วขมวดก็กำหนดรู้และให้คลายอาการเกร็งคะ ถูกไหมคะ

เคารพ
Sent from my iPhone

………………………………………………………………………

ตอบครับ

1. การที่เมื่อใจหม่นหมองแล้วรู้ เมื่อใจเบิกบานแล้วรู้ เป็นความก้าวหน้าที่ดี ในขั้นนี้ยังไม่ต้องไปลุ้นหรือไปพยายามทำให้ใจสงบ ไม่ต้องไปวิเคราะห์ว่าอะไรทำให้สงบ อะไรทำให้หม่นหมองด้วย แค่มันสงบเรารู้ มันไม่สงบเรารู้ นี่เรียกว่าเป็นการจับขั้นตอน perception ได้ แค่นี้ก็เป็นความก้าวหน้าที่ดีมากแล้ว 

2. การตีทะเบียนความคิดแล้วดีดทิ้งเมื่อมันมาอีก ใช้ควบคู่กับการสังเกตหรือชำเลืองดูความคิดได้สิครับ ใช้ทั้ง 2 อย่างไปด้วยกันได้ เพราะมันเป็นคนละประเด็นกัน การสอบสวนตีทะเบียนความคิดเป็นการเตือนว่าความคิดนี้เคยมาแล้วนะอย่าเสียเวลาไปยุ่งกับมันอีก ประเด็นสำคัญคือหนึ่งความคิดสอบสวนกันครั้งเดียวแล้วจบ อย่าสอบสวนซ้ำซาก

ส่วนการสังเกตหรือชำเลืองดูว่าเมื่อกี้คิดอะไรอยู่นั้นเป็นเหมือนการตีระฆังเตือนตัวเองให้อยู่กับความรู้ตัว ณ ขณะนี้ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ อย่าไปจมอยู่กับความคิดใดๆ

3. การที่คิ้วขมวดก็ดี หน้าไม่ยิ้มก็ดี คอบ่าไหล่เกร็งก็ดี ล้วนบ่งบอกว่าความสนใจของเราไปขลุกอยู่ในความคิด ต่างจากเมื่อเรียนวาดรูปซึ่งเป็นการทำสมาธิ ความสนใจถูกลากออกจากความคิดมาอยู่กับปัจจุบันขณะที่วาดรูป กล้ามเนื้อจึงไม่เกร็ง

การที่คุณให้ความสนใจการเกร็งหรือการผ่อนคลายกล้ามเนื้อนั้นดีแล้ว เพราะวิธีที่ง่ายที่สุดในการวางความคิดคือการผ่อนคลายกล้ามเนื้อให้ได้ตลอดเวลา ยิ้มที่มุมปากได้บ่อยๆ การจะทำอย่างนั้นได้เราต้องอยู่กับปัจจุบันขณะ รู้เห็นอะไรที่เข้ามาขณะนี้ตามที่มันเป็น คืออยู่กับ perception ภาพ เสียง สัมผัส หรือขั้นตอนของกิจกรรมตรงหน้าตลอด หากเราหลุดจาก perception เมื่อไหร่ เราก็จะกลับเข้าไปอยู่ใน thought ซึ่งจะกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติทำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อร่างกาย ทุกครั้งเมื่อเราเห็นว่ากล้ามเนื้อเกร็งเรารีบสั่งขยับท่าร่างสั่งให้ผ่อนคลายนั้นก็ถูกแล้ว ควรฝึกผ่อนคลายช่วงกลางวันขณะตื่นอยู่ให้ได้ก่อน ส่วนที่มันเผลอเกร็งช่วงหลับนั้นมันเป็นปฏิกริยาสนองตอบอัตโนมัติที่กระตุ้นโดยความจำ หรือพูดแบบบ้านๆว่ามันเป็นกรรมเก่า ปล่อยมันไปก่อนเถอะ ถ้าช่วงตื่นผ่อนคลายได้ดี ต่อไปช่วงหลับมันจะผ่อนคลายได้เอง 

4. เมื่อเราเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ทำงานน้อยลง ในมุมมองของอีโก้ (identity) มันจะคอยชี้ว่ามีบางอย่างขาดหายไป ซึ่งคือความนับถือตัวเอง (ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของอีโก้) ที่ถดถอยลงนั่นเอง จะเกิดความกลัวที่ตัวเองจะไม่เป็นที่ยอมรับของคนอื่น (มันคงเป็นสัญชาติญาณของ pack animal ที่ฝังแฝงมานาน) เกิดความกังวลว่าสถานะตัวตนของตัวเองจะไม่สูงเด่นไม่มั่นคงปลอดภัย ความกลัวนี้เป็นปากทางนำไปสู่อารมณ์ซึมเศร้า คนทั่วไปแก้ปัญหาโดยการกลับไปอยู่กินกับอีโก้ใหม่ นั่นก็คือวิถีของพวกคนบ้างาน (workaholic) ตรงนี้แหละที่จะชี้ให้คุณเห็นว่าความคิดคือสิ่งเสพย์ติด เมื่อเคยคิดอย่างนี้แล้วมันอดคิดซ้ำอีกไม่ได้ อั้นไม่อยู่ ต้องคิดมันต่อไป คิดให้มากขึ้น นั่นเป็นวิถีชีวิตของ “ขี้ยา” ซึ่งไม่ใช่วิถีที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนอย่างเราซึ่งเวลาได้พิสูจน์แล้วว่าเส้นทางนั้นนำเรามาสู่การป่วยที่ตรงนี้ วิธีแก้ปัญหาเชิงจิตวิทยาที่มุ่งประนีประนอมกับอีโก้นั้นมันไม่เวอร์คดอก ควรมุ่งหน้ารู้ทุกอารมณ์ รู้ทุกความคิด มองดูมันจนมันฝ่อหายไป หรือตีทะเบียนความคิดนั้นไว้แล้วดีดทิ้งเมื่อมันมาอีก พูดง่ายๆว่าต้องมุ่งหน้าทิ้งอีโก้ วันสำเร็จก็คือวันที่ทุกความคิดถูกรู้ทันและถูกตีตกไปได้หมดครั้งแล้วครั้งเล่า จนความคิดเหล่านั้นไม่กลับมาอีก เมื่อนั้นความจำในอดีต (ซึ่งก็คืออีโก้) ก็จะรังควาญเราไม่ได้อีกต่อไป 

เครื่องมือรับมือกับความซึมเศร้า ด้านหนึ่งคือการขยันสังเกตเห็นรู้ทันกิจกรรมในใจของเราไม่ว่าจะเป็นความคิดอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ สังเกตดูมันไปเฉยๆ อีกด้านหนึ่งคือการเพิ่มพลังชีวิต เพราะความซึมเศร้าในอีกมุมหนึ่งก็คือการ “หด” ของพลังชีวิต

เราเพิ่มพลังชีวิตได้จากการอยู่กับธรรมชาติสายน้ำสายลมแสงแดด หรือการทำกิจกรรมเช่นรำมวยจีน โยคะ นั่งสมาธิ หรือการได้ทำสิ่งที่ชอบที่เป็น passion ได้ใช้ creativity หรือที่ได้ฟูมฟักเมตตาธรรมด้วยการช่วยเหลือเจือจานชีวิตอื่น

เพราะ “ความรู้ตัว” หรือ “ใจที่ปลอดความคิด” ซึ่งเป็นส่วนลึกสุดในชีวิตนี้นั้นจะเข้าถึงก็ด้วยการทิ้งความคิดที่มาจากอีโก้ไปก่อนเท่านั้น มันมีอัตลักษณ์อยู่สามอย่างคือ (1) มันเป็นความตื่นและสามารถรับรู้ (awareness) (2) มันเป็นเมตตาธรรม (compassion) (3) มันเป็นปัญญาญาณสร้างสรรค์ (creative intuition) ให้คุณทำความคุ้นเคยกับอัตลักษณ์ทั้งสามอย่างนี้ เมื่อเข้าถึงความรู้ตัวแล้ว ความซึมเศร้าจะหายไปเอง เพราะที่ความรู้ตัวมันไม่มีอีโก้ จึงจะไม่มีใครมาดราม่าอะไรให้วุ่นวายอีก

ดังนั้น กล่าวโดยสรุป ผมแนะนำให้ทิ้งคุณค่าและความหมายที่ได้มาจากการยึดกุมคอนเซ็พท์เดิมๆไปเสียแบบทิ้งลงถังขยะไปง่ายๆดื้อๆเลย เพราะทั้งหมดนั้นเป็นแค่ความคิด แล้วหันมาแสวงหาเรียนรู้สิ่งใหม่ที่น่าตื่นเต้นมหัศจรรย์กว่า นั่นคือการจะได้รู้จักใจนี้ในยามที่ปลอดความคิด เมื่อนั้นจะได้สัมผัสความสุขสงบเย็นของ compassion และจะได้พบกับความสนุกน่าตื่นตาตื่นใจของ creative intuition การมาแสวงหาสิ่งใหม่ในแนวนี้มีแต่ได้กับได้ ดีกว่าการกลับไปเป็นคนบ้างานเป็นไหนๆ 

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

18 ตุลาคม 2566

เรื่องไร้สาระ (33) โปรเจ็ค: Kitchen Island

สัปดาห์นี้ไม่ต้องทำแค้มป์เพราะมีแพทย์ท่านอื่นมาทำแค้มป์เฉพาะโรคแทน ขอบคุณที่ช่วยสงเคราะห์ผู้สูงวัย ผมมีเวลามองหาอะไรสักอย่างที่ไร้สาระทำแล้ว สิ่งแรกที่ป๊อบอัพขึ้นมาในหัวก็คือทำโต๊ะกลางครัวหรือ Kitchen Island เสียใหม่ เพราะตัวเก่าที่ผมทำไว้สิบกว่าปีมาแล้วมันเล็กและคับแคบ เนื่องจากคุณหมอสมวงศ์เธอใช้ครัวแบบนานาชาติคือนอกจากจะทำต้มยำทำแกงแบบไทยๆแล้วยังทำขนมปังซาวโด ขนมปังแข็งบิสคอติแบบอิตาลี่ ทำเนยถั่วและแยมสาระพัดผลไม้ไว้กินเอง ยังไม่นับพวกคัมบูฉะซึ่งเลิกไปกลางคันเพราะรับมือกับการเติบโตของสโคบี้ไม่ไหว ทำให้บัดเดี๋ยวต้องเคลียร์ผิวโต๊ะเพื่อนวดแป้ง บัดเดี๋ยวต้องเคลียร์ผิวโต๊ะเพื่อหั่นแตงโมง แถมการออกแบบโต๊ะเดิมก็ไม่ถูกต้องด้วยหลักเออร์โกดีไซน์ ใช้ไปได้สักสิบปีเธอเริ่มบ่นว่าผิวโต๊ะต่ำไป ผมก็เสริมขาโต๊ะให้สูงขึ้น แก้ปัญหาไปได้ แต่บางปัญหาต้องมีวิธีแก้ที่ลึกซึ้งกว่านี้ เช่นเพื่อนบ้านเอาหม้อเหล็กญี่ปุ่นหนัก 5 กก.สำหรับอบขนมปังมาขายถูกๆให้ เธอก็ซื้อมาใช้ด้วยความยินดี แต่ผมแอบสังเกตเห็นเธอต้องโก้งโค้งก้มลงไปยกหม้อที่หนักอึ้งขึ้นมาจากพื้นใต้โต๊ะ ยังไม่นับที่แขวนของใช้มีไม่พอ ที่ครอบหูกันเสียงเมื่อใช้เครื่องปั่นต้องไปแชร์ที่แขวนร่วมกับเขียงเล็กเขียงใหญ่ จะใช้เขียงก็เกะกะที่ครอบ จะใช้ที่ครอบก็เกะกะเขียง ของที่ควรจะหาได้ง่ายๆเช่นยางรัดหรือไม่ขีดไฟ บทจะใช้จริงเดินทั่วครัวก็ยังหาไม่เจอ เพราะอัตคัตที่เก็บจึงต้องอพยพมันเรื่อยไป แถมการออกแบบครัวไม่ทำนึงถึงฟังชั่นทำให้ขั้นตอนการทำงานเยิ่นเย้อเช่นจะหั่นขนมปังทีต้องเดินไปปลดเขียงจากนู่น..น แล้วไปก้มเปิดลิ้นชักหยิบมีดทางนี้ แล้วมาหั่นขนมปังทางนั้น แล้วต้องล้างมีดทางโน้น ต้องเอามีดไปตากที่นู้น..น รอให้แห้งแล้วก็ต้องเอามีดเข้าที่เก็บในลิ้นชัก แทนที่จะทำที่เก็บเขียงไว้ตรงที่หั่น ทำที่เก็บมีดไว้ใกล้ๆให้ตากมีดให้แห้งไปด้วยเลย เป็นต้น สรุปว่า ทำโต๊ะกลางครัวใหม่เป็นการชอบด้วยเหตุผลทั้งปวง

เขียนแบบบนเศษกระดาษใช้แล้ว

พอผมเปรยถึงโครงการนี้ในโต๊ะอาหารเย็นกับเพื่อนๆ ก็ได้รับการตอบสนองในเชิงลบ

บ้างเสนอทางออกที่ง่ายกว่า ว่า

“คุณหมอซื้อโต๊ะอิเกีย สองหมื่นแปดส่งถึงบ้าน ไม่ต้องเหนื่อย”

บ้างสอนธรรมะแบบให้รู้จักยอมรับ

“ใช้โต๊ะเก่ามาได้ตั้งเกือบยี่สิบปีแล้ว ทนใช้ไปอีกหน่อยไม่ดีกว่าหรือ”

ผมได้แต่ยิ้มไม่พูดอะไร แต่กลับมาถึงบ้านก็หยิบกระดาษใช้แล้วขึ้นมาเขียนแปลน ผมเป็นคนชอบของโรแมนติก มันจะต้องเป็นโต๊ะไม้สนที่ท็อปเป็นไม้จริงๆหนาปึ๊ก เสาขนาดใหญ่ เข้ามุมแบบเนี้ยบ พื้นผิวทำงานบนโต๊ะไม่ต่ำกว่าสองตารางเมตร ชั้นล่างเป็นที่เก็บของแบบเออร์โก้ดีไซน์ ที่เก็บหม้อเหล็กหนักบรรลือโลกต้องยกสูงขึ้นมาใกล้เอวจะได้ไม่ต้องก้มลงไปยก ติดลิ้นชั้นเลื่อนออกแล้วถูกดูดกลับเข้าที่เองของฮาฟาเล่เอาไว้เสียบมีดและเป็นที่ตากมีดในตัวเพราะมีถาดรองรับหยดน้ำ เวลาจะใช้มีดก็ดึงลิ้นชักออกมา เวลาใช้เสร็จก็ดันลิ้นชักเข้าไปเก็บ ที่เก็บเขียงออกแบบให้เป็นช่องเสียบซ่อนไว้ใต้ผิวโต๊ะนั่นเองไม่ต้องไปแขวนรุงรังที่ไหน ด้านหน้าขวามือติดหิ้งกระจกครึ่งวงกลมสองชั้นแบบหมุนได้ของอิเกีย ซ้ายมือติดลิ้นชักไม้สนสองชั้นของอิเกีย เสาโต๊ะติดสวิงแร็คของโฮมโปรแบบใส่สาระพัดขวดเวลาจะใช้ก็หมุนแรคหยิบขวดได้โดยไม่ต้องมุดเข้าไปหาใต้โต๊ะ

เจ็ดวันทำเสร็จ เข้าประจำการแล้วเรียบร้อย

เขียนแปลนแล้วก็สั่งซื้อไม้สนจากลาซาด้า เคลียร์พื้นที่โรงรถเพื่อใช้ทำการ เพราะงานนี้งานช้าง จะไปทำการในเล้าไก่ไม่ได้ พื้นที่ไม่พอ จากนั้นก็ออกปากกับเพื่อนสายอุปกรณ์ขอยืมเครื่องตัดไม้แบบตั้งองศาได้อย่างละเอียด เพราะของผมมีแต่เลื่อยวงเดือนที่ใช้ซอยไม้แนวยาว เขาใจดียกเครื่องมือมาให้ถึงที่ พร้อมกับเอาอุปกรณ์เข้ามุมไม้ของต่างประเทศแบบใหม่ๆแกะกล่องมาให้ใช้ประมาณสี่ชุด ซึ่งต้องกล่าวด้วยความขอบคุณว่า ผมไม่ได้ใช้เลย แหะ แหะ แล้วก็ไปยืมซีแคล้มป์ที่ใช้รัดไม้เข้าหากันเวลาทากาวจากเพื่อนที่เป็นนายช่างอีกคนหนึ่ง

งานตัดไม้ผ่านไปด้วยดีโดยได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนนายช่าง งานเลื่อยผ่าซีกไม้เพื่อเป็นคานรับผิวโต๊ะมีเพื่อนมาช่วยสองคน รวมเป็นสาม รุมกันทำงานที่ผมเข้าใจว่าออกแบบให้ใช้คนๆเดียวทำ ทำให้ต้องมีการประสานงานด้วยวาจาเป็นอันมาก ผลก็คือเครื่องควันขึ้นและเหม็นไหม้ หิ หิ จะด้วยเหตุว่าเป็นเครื่องเก่า หรือด้วยเหตุว่านายช่างมีจำนวนแยะเกินไปผมก็ไม่แน่ใจ


Swing Racks ติดอยู่ที่ขาโต๊ะ

ผมเรียกผู้รับจ้างที่ใช้บริการประจำให้มาเอาเครื่องเลื่อยวงเดือนไปซ่อมที่ปากช่อง กำชับให้รีบดำเนินการเพราะงานใหญ่กำลัง in progress จะช้าไม่ได้ ไม่รู้เขาเอาไปซ่อมอีท่าไหน ซ่อมไปซ่อมมาได้เครื่องเลื่อยวงเดือนใหม่มาเครื่องหนึ่งแทน 6300 บาท..จบข่าว

งานต่อไปคือการอัดกาวแผ่นท็อปซึ่งเป็นไม้จริงๆแท้ๆขนาดหนา 4.5 ซม.เข้าด้วยกันให้เป็นแผ่นใหญ่ขนาด 100×200 ตร.ซม. แล้วขัดผิว ผมมีแผนจะใช้กาวลาเท็กซ์ซึ่งผมคุ้นเคย แต่เพื่อนผู้ชำนาญการพิเศษบอกว่า

“ลาเท็กซ์คุณภาพต่ำ ต้องใช้กาวไทท์บอนด์ ของอเมริกา” ผมสารภาพว่า

“เกิดมาผมไม่เคยได้ยินชื่อนี้ และของผมก็ไม่มี จะซื้อลาซาด้าก็ขี้เกียจรอ” เพื่อนคนหนึ่งว่า

“ของผมมีครึ่งหลอด” ผมบอกว่าไม่พอใช้หรอก เพื่อนอีกคนหนึ่งว่า

“ของผมมีเป็นลิตร”

ในที่สุดก็ได้ทดลองใช้กาวไทท์บอนด์ ซึ่งต้องสรุปว่า ของเขาดีจริงๆ

คราวนี้ก็มาถึงขั้นตอนประกอบโครงสร้างซึ่งเป็นขั้นตอนที่ควรจะใช้คนมากกว่าหนึ่งคน แต่ผมต้องทำคนเดียว เพราะเพื่อนๆเขาไม่ว่าง บางคนต้องไปหาหมอตามนัด บางคนต้องไปช่วย ม. ซักผ้า

ซากแตรวงเก่า แขวนเพื่อความเท่

พอตกเย็นลุงดอน คนสวน กลับจากตัดหญ้าแวะมาเอียงคอดูโต๊ะขนาดมหึมาที่ผมประกอบขึ้น และถามว่า

“แล้วคุณหมอจะเอาเข้าไปในบ้านยังไงครับ” ผมตอบว่า

“เป็นคำถามที่ดี”

คำถามของลุงดอนทำให้ต้องแยกงานเป็นสองขั้นตอน ประกอบเสากับพื้นชั้นล่างก่อนเพื่อให้เอียงโต๊ะเข้าประตูบ้านได้ ส่วนที่เหลือเอาไปทำต่อในบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานละเอียดคือการติดตั้งหิ้งหับอุปกรณ์ต่างๆที่ซื้อมา ส่วนที่ซับซ้อนที่สุดคือการติดตั้งลิ้นชักไม้สนของอิเกีย โชคดีที่ได้ลูกชายมาช่วย ทันทีที่เขาสำรวจของเสร็จก็รายงานว่า

“พ่อซื้อของมาผิด ไม้ฝาปิดบนล่างเป็นคนละขนาดกับลิ้นชัก และไม่มีเหล็กไขว้หลังจะทำให้ลิ้นชักตั้งอยู่ไม่ได้ แสดงว่าพ่อต้องซื้อทางอินเตอร์เน็ท เพราะถ้าซื้อที่ร้านพนักงานเขาจะช่วยทักท้วง”

ผมเป็นคนไม่ชอบชักเข้าชักออก ซื้อของแล้วไม่ชอบคืน จึงบอกลูกว่าให้ประกอบไปบนสิ่งที่มี มันตั้งเองไม่ได้ก็ยึดมันกับส่วนของโต๊ะ ส่วนของที่ซื้อมาผิดพ่อจะหาวิธีใช้ประโยชน์เองภายหลัง

แล้วก็มาถึงงานลงน้ำมันเคลือบผิวไม้ เมื่อนำเสนอวาระนี้ในโต๊ะอาหารเย็น เพื่อนที่เป็นช่างไม้แนะนำให้ใช้แล้คเกอร์ ผมบอกว่า

“ผมทนสีเหลืองทองวาววับของแล็คเกอร์ไม่ได้”

เพื่อนที่เป็นศิลปินสีอะคริลิกแนะนำว่า

“ให้ใช้น้ำยาชนิด water-based ที่ใช้ทำความสะอาดภาพเขียนสีอะคริลิก มันไม่เปลี่ยนสีของพื้นผิวเลย แต่เคลือบเงาได้” ส่วนเพื่อนที่เป็นคนทำครัวก็ว่า

“แล้วมันจะไปทนการใช้งานแบบขูดขีดในครัวได้ยังไง” เออ..มีประเด็น ขอปิดประชุมก่อนยังไม่ต้องสรุปมติ

เรื่องไปจบที่ที่ปรึกษาใหญ่ พนักงานขายของร้านอุปกรณ์ก่อสร้าง

“พี่เอางี้เลย เคมเกลซชนิดรองพื้นรุ่นใหม่ นี่.. ทาโดยไม่ต้องทาทับหน้า แล้วขัดกระดาษทรายน้ำ เชื่อหนู”

ผมเชื่อเธอ ถ้าไม่เพราะชื่อชั้นของเคมเกลซ ก็คงเพราะเธอมีท่าทางฉะฉานทะมัดทะแมงดี

ในที่สุดโปรเจ็ค Kitchen Island ก็สำเร็จด้วยดีในเวลา 7 วันตามแผน นับเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงชิ้นหนึ่งของหมอสันต์ในปีนี้ ขอบคุณเพื่อนๆที่ช่วยให้โปรเจ็คนี้เป็นไปได้ และขอบคุณลูกชายที่มาทำงานส่วนที่เกินสมองของคนแก่จะทำได้ให้

เสร็จงานโต๊ะแล้ว ผมขี้เกียจขนเครื่องมือกลับเล้าไก่ จึงเกิดไอเดียว่าที่เล้าไก่มันคับแคบ ควรลดชั้นมันเป็นโรงเก็บจอบเสียมเสีย แล้วย้ายโรงช็อพมาไว้ที่โรงรถดีกว่า คิดได้แล้วจึงทาสีขาวให้โรงรถซะใหม่ เอาอุปกรณ์ช่างมาตั้งถาวร พบซากแตรวงเก่าอันหนึ่งถูกทิ้งอยู่ในเล้าไก่จึงหยิบมาแขวนเท่ๆ และเพื่อแสดงถึงความโรแมนติกและความเป็นศิลปิน ผมหารูปเก่าๆที่หมอสมวงศ์ลดชั้นลงมาจากบ้านใหญ่มาแขวนประดับเพื่อสร้างบรรยากาศแบบ Carpenter Shop Gallery

ไม่แน่นะ หนาวนี้อาจเป็นที่นัดกินน้ำชาตอนสายๆกันก็ได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

17 ตุลาคม 2566

ถ้าความตายจะมาถึง มันจะมาถึงที่ปลายสุดของลมหายใจนี้ด้วยตัวของมันเอง

(ภาพวันนี้ / Morning walk วันฟ้าครื้ม)

เรียนคุณหมอ

เพิ่งได้รับทราบการวินิจฉัยโรคที่แท้จริงของตัวเองที่เป็นสาเหตุให้กลืนอะไรไม่ได้จากการที่คุณหมออธิบายผล CT ให้ฟังวันนี้เอง ว่ามะเร็งเต้านมเดิมที่ผ่าตัดฉายแสงเคมีบำบัดครบแล้วนั้นกลับมาอีกโดยแพร่ไปที่ปอด ต่อมน้ำเหลืองในทรวงอก ซึ่งขยายโตถึง 7 ซม.จนเบียดหลอดอาหารให้กลืนไม่ได้ มะเร็งส่วนหนึ่งได้แพร่ไปที่ตับด้วย ดิฉันได้คุยกับลูกๆถึงเรื่องจะให้อาหารเพื่อบรรเทาอาการโดยการใส่สายยางให้อาหารทางจมูกหรือทางหน้าท้องแล้ว ได้ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ทำ แต่จากนี้ไปควรทำตัวอย่างไร ขอคำแนะนำด้วย

………………………………………………..

ตอบครับ

คำตอบวันนี้ใช้สำหรับการดูแลตัวเองที่บ้านสำหรับผู้ป่วยทุกคนที่เป็นมะเร็งระยะแพร่กระจายที่จบการรักษาผ่าตัดเคมีบำบัดฉายแสงแล้ว และตัดสินใจไม่ให้การรักษาแบบประคับประคองใดๆเช่นการให้อาหารทางสายยาง เป็นต้น โดยเน้นกรณีกลืนอาหารไม่ได้

1.. ในเรื่องอาหาร เน้นอาหารที่เหลวระดับใกล้เคียงกับน้ำ เช่นน้ำผลไม้ น้ำหวาน น้ำผักปั่นหรือน้ำถั่วปั่นเจือน้ำมากๆ เป็นต้น อยากกินอะไรที่รสชาติถูกปาก เช่นก๋วยเตี๋ยว ก็ซื้อมาปรุงให้เต็มยศแล้วเอาเอาใส่โถปั่นความเร็วสูงปั่นให้ละเอียดแล้วเจือน้ำจนหายข้นหนืดแล้วจิบทีละนิดๆทั้งวัน ไม่กินทีละมากๆแบบกินอาหารเป็นมื้อ

ถ้าใจไม่อยากกิน ก็ไม่ต้องกิน การกินอาหารไม่ได้ หรือภาวะอดอาหาร มันก็มีข้อดีของมัน คือมันทำให้ร่างกายเกิดสารเอ็นดอร์ฟิน ทำให้จิตใจสงบ ทำให้คุณภาพชีวิตในระยะนี้ดี

2.. ชีวิตมีอยู่สองส่วนคือ (1) สถานการณ์ในชีวิต (life situation) คือเรื่องราวต่างๆที่เราเล่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิต มีอดีต มีอนาคต กับ (2) การใช้ชีวิต (living) คือการที่เรายังรู้ตัวอยู่ ยังมีชีวิตอยู่ ยังหายใจได้อยู่เมื่อเดี๋ยวนี้

ให้คุณโฟกัสที่การใช้ชีวิต อย่าไปยุ่งกับสถานะการณ์ในชีวิต การใช้ชีวิตเขาใช้กันทีละลมหายใจ มันจึงเป็นเรื่องง่าย มีประเด็นเดียว คือเราจะใช้ชีวิตในลมหายใจนี้อย่างไรให้ชีวิตมันสงบเย็นและสร้างสรรค์ ทีละลมหายใจ ทีละลมหายใจ

ความสงบเย็นเกิดจากการที่ใจเรายอมรับ ยอมรับทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในแต่ละขณะ ยอมรับความหิว ยอมรับความปวด ไม่เกร็งกล้ามเนื้อร่างกายต่อต้าน ในทางตรงกันข้ามให้ผ่อนคลายร่างกาย โอนอ่อนผ่อนตามทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นความปวด ความหิว ยิ้มรับมัน มองให้เห็นทุกอย่างเป็นความผ่อนคลาย หรือแม้กระทั่งเป็นความขบขัน

ในการยอมรับ ให้คิดถึงคำพูดสี่คำ ขอบคุณ ขอโทษ ให้อภัย เมตตา

ให้อยู่กับเดี๋ยวนี้โดยไม่ไปจมอยู่ในความคิด กรณีมีความคิดผุดขึ้นมาในใจมาก ให้ใช้สิ่งที่ตัวเองถนัด เช่น เสียงดนตรี หรือเสียงเพลง หรือการร้องเพลงในใจ ช่วยป้องกันไม่ให้ใจของเราไปจมอยู่ในความคิด อีกวิธีหนึ่งคือให้ลองทำสมาธิแบบต่างๆ เช่นการตามดูลมหายใจ การผ่อนคลายร่างกาย เป็นต้น นอกจากนั้นการได้อยู่กับธรรมชาติ ต้นไม้ สีเขียว ฟังเสียงนกเสียงไก่ ก็ช่วยให้อยู่กับปัจจุบันขณะได้ดีขึ้น

3,, กรณีเกิดความปวดขึ้นก็ใช้วิธียอมรับเช่นกัน หากทนไม่ไหว ก็ให้ไปขอหมออนามัยมาช่วยให้ยาแก้ปวดนานๆครั้ง หมออนามัย ผมหมายถึงพนักงาน รพ.สต. ซึ่งมีโลกทัศน์ในการทำงานแตกต่างจากแพทย์ในโรงพยาบาลทั่วไป หมายความว่าพนักงานรพ.สต.จะเข้าใจเรื่องการดูแลแบบองค์รวมสำหรับผู้ป่วยที่จบการรักษาในโรงพยาบาลแล้วได้ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นการมาเยี่ยมเยือนพูดคุยในฐานะเพื่อน การบรรเทาความทรมาน การดูแลตัดแต่งแผลกดทับ เขาทำได้หมด และพวกเขามักมากันเป็นทีม หมุนเวียนไปตามบ้านต่างๆที่มีผู้ป่วยที่ต้องการการประคับประคอง

ชีวิตจริงคือการมีชีวิตอยู่คู่กันไปกับความปวดบ้าง ความหิวบ้าง สลับกันไป เป็นไปไม่ได้ที่เราจะฉีดยาแก้ปวดจนไม่เหลืออาการปวดเลยตลอดเวลา แต่เป็นไปได้ที่เราจะยอมรับที่จะอยู่กับความปวดไปโดยไม่คิดต่อต้านขัดขืนอะไรโดยไม่มีความทรมาน เพราะ “ความทรมาน” เป็นแค่ความคิด หากเรายอมรับความปวดและวางความคิดต่อยอดลงได้ ความทรมานก็ไม่มี

4.. ให้โฟกัสอยู่ที่การใช้ชีวิตในลมหายใจนี้อย่างสงบเย็น หมายความรวมถึงการไม่คิดถึงอนาคต การไม่คิดถึงความตาย โปรดสังเกตให้ดีนี่ผมพูดไม่เหมือนคนอื่นหรือไม่เหมือนที่พระสงฆ์องค์เจ้าเขาเทศน์กันนะ คือผมพูดว่าในการใช้ชีวิตอย่าไปยุ่งกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง อย่าไปกังวลถึงความตาย รู้แล้ว..ว ว่าคนเราทุกคนก็ต้องตายทุกคน แต่ในการใช้ชีวิตปกติไม่เห็นจะต้องมานั่งคิดกังวลถึงความตายเลย ถ้าความตายจะมาถึง มันจะมาถึงที่ปลายสุดของลมหายใจนี้ด้วยตัวของมันเอง คือมันจะรอจนจบปลายสุดของลมหายใจออก แล้วไม่มีลมหายใจเข้าใหม่เข้า คือมันจะเป็นการมาที่สงบ อย่าไปตีความคำว่า “มรณานุสติ” ผิด มรณานุสติหมายความว่าให้ใช้ชีวิตในลมหายใจนี้เสมือนว่าลมหายใจนี้จะเป็นลมหายใจสุดท้ายแล้วจะได้ไม่ต้องกังวลถึงลมหายใจหน้า ไม่ได้หมายความว่าให้คิดกังวลตลอดเวลาว่าความตายจะมาถึงแล้วจะทำยังไงกันดีละ ดังนั้นในเรื่องความตายนี้อย่าปล่อยให้ความคิดหลอกคุณโดยพยายามทำจอมปลวกให้เป็นภูเขา อย่าปล่อยให้มันกระต๊าก..ก ตื่นตูมเสียจนใจเราไม่สงบ ผมรับประกันได้ว่าคุณจะได้หายใจครบเข้าและออกทุกลมแน่นอน แค่ใช้ชีวิตไปทีละลมหายใจ มีกิจอะไรที่ตรงหน้าที่ควรทำก็ทำไป มีอะไรผ่านเข้ามาก็ยอมรับ ยิ้มให้กับทุกคนที่ผ่านเข้ามาช่วยดูแลเรา ถ้าไม่มีใครมาดูแลเราก็ยิ้มให้กับท้องฟ้า อากาศ และธรรมชาติรอบตัว ได้วันใหม่ตื่นขึ้นมาอีกหนึ่งวันก็อยู่ใช้ชีวิตไปอีกหนึ่งวัน หากไม่ตื่นก็คือไม่ตื่น

ไม่ต้องไปคิดกังวลล่วงหน้ากับอะไรทั้งสิ้น แล้วทุกอย่างมันจะลงตัวของมันเอง หากยังไงก็อดคิดกังวลถึงความตายไม่ได้ พยายามวางความคิดก็ไม่สำเร็จ ก็ให้ใช้วิธีคิดบวกไล่คิดลบ คือคิดเสียว่าความตายก็คือการหลับจากความตื่นขณะนี้ซึ่งเป็นฝันเรื่องยาวเรื่องหนึ่ง แล้วไปตื่นในอีกความฝันหนึ่ง แค่นั้นเอง แต่ถ้าฝึกเรื่องการวางความคิดมาแล้วและสามารถวางความคิดลงได้ ชีวิตในฉากนี้จะยิ่งง่าย คือก็แค่อยู่กับความรู้ตัวไปทีละขณะ รอรับชมรับฟังความตื่นเด้นมหัศจรรย์ฉากใหม่ของชีวิตที่จะเข้ามาในแต่ละลมหายใจ ด้วยใจที่ผ่อนคลายยอมรับและอยากรู้อยากเห็น

มีอะไรที่คิดว่าผมจะช่วยได้ ให้เขียนมาหาอีกได้

สันต์

[อ่านต่อ...]

14 ตุลาคม 2566

หมอสันต์ประกาศชวนคนไทยทั่วไปเข้าร่วมงานวิจัยอาหารไทยเพื่อสุขภาพ (Healthy Thai Diet)

วันนี้ของดตอบคำถามหนึ่งวันเพื่อประกาศปชส.ชวนแฟนบล็อกเป็นอาสาสมัครเข้าร่วมงานวิจัยอาหารไทยเพื่อสุขภาพที่หมอสันต์เคยเกริ่นไว้นานแล้ว

งานวิจัยอาหารไทยสุขภาพ

การวิจัยนี้ทำโดยคณะผู้วิจัย 13 คนโดยมีหมอสันต์เป็นหัวหน้าคณะ มีวัตถุประสงค์ที่จะตอบคำถามว่าการบริโภคอาหารไทยสุขภาพ(Healthy Thai Diet-HTD) ซึ่งเป็นอาหารไทยแท้ใช้เครื่องปรุงอาหารไทยแท้ได้ทุกอย่างรวมทั้งกะทิ กะปิ น้ำปลา แต่เปลี่ยนเฉพาะวัตถุดิบอาหารให้เป็นพืชล้วนๆไม่มีเนื้อสัตว์เลย จะมีผลดีต่อสุขภาพในรูปของการเปลี่ยนแปลงน้ำหนัก น้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด ความดันเลือด ตัวชี้วัดการอักเสบ ตัวชี้วัดการทำงานของตับและไต ชนิดจำนวนและขนาดยาที่กิน ชนิดของจุลินทรีย์ในลำไส้ และการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดที่จอประสาทตา หรือไม่

วิธีวิจัยคือคณะผู้วิจัยจะเปิดรับอาสาสมัครที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปที่มีค่าดัชนีสุขภาพ (น้ำหนัก ความดัน ไขมัน น้ำตาล) ตัวใดตัวหนึ่งสูงผิดปกติ หรือป่วยเป็นโรคเรื้อรังที่สัมพันธ์กับอาหาร (หัวใจ เบาหวาน ความดัน ไขมันสูง อ้วน) โรคใดโรคหนึ่งโดยที่อาจจะกินยาหรือไม่กินยาอยู่ก็ได้ จำนวนรวมทั้งสิ้น 60 ท่าน แล้วใช้คอมพิวเตอร์สุ่มตัวอย่างแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มควบคุม ซึ่งต้องกินอาหารปกติที่ตนเองเคยกิน นาน 3 เดือน และ กลุ่มทดลอง ซึ่งต้องกินอาหารไทยสุขภาพ (Healthy Thai Diet) นาน 3 เดือน แล้วใช้การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนัก ความดันเลือด น้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด ตัวชี้วัดการอักเสบ ตัวชี้วัดการทำงานของตับและไต ชนิดจำนวนและขนาดยาที่กิน ชนิดของจุลินทรีย์ในลำไส้ และการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดที่จอประสาทตา เป็นดัชนวัดผล

ประโยชน์ที่อาสาสมัครจะได้รับ

นอกจากจะได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์งานวิจัยซึ่งจะมีผลดีต่อสุขภาพของคนที่กินอาหารไทยและต่อเกษตรกรไทยผู้ผลิตพืชอาหารไทยแล้ว อาสาสมัครทุกคนจะได้รับทราบผลการตรวจดัชนีวัดสุขภาพของตนเองอย่างละเอียดซึ่งรวมทั้งการตรวจเลือด การตรวจจุลินทรีย์ในลำไส้ (microbiomes) การตรวจสภาพหลอดเลือดในจอประสาทตา และจะได้เรียนรู้วิธีการทำอาหารไทยสุขภาพผ่านการเข้าแค้มป์ฝึกทำอาหารสองสัปดาห์เต็ม และได้รับหนังสือและเอกสารเพื่อใช้ในการทำอาหารเพื่อนำไปใช้ในการดูแลสุขภาพของตนเองต่อไปในระยะยาวด้วย

คณะผู้วิจัยจะเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายใดๆที่เกิดขึ้นในการทำวิจัยนี้รวมทั้ง ค่าเดินทางจากกทม.ไปจุดนัดตรวจและเจาะเลือด และค่าเดินทางจากจุดนัดในกทม.ไปเข้าแค้มป์ที่มวกเหล็ก ค่าตรวจเลือดและตรวจพิเศษทางการแพทย์ต่างๆ ค่าเข้าแค้มป์ฝึกอบรม ค่าหนังสือและเอกสารให้ความรู้ เป็นต้น ส่วนค่าเครื่องบินรถราเดินทางจากต่างจังหวัดมานั้นต้องขออำไพที่งบมีไม่พอ ส่วนนั้นต้องรบกวนเป๋าตังค์ของใครของมันละครับ

ปฏิทินการวิจัย

15 ตค. 66- 20 พย. 66 เปิดรับอาสาสมัครเข้าร่วมงานวิจัย

30 พย. 66 แจ้งผลการคัดเลือกอาสาสมัครและผลการแบ่งกลุ่มกลับไปยังผู้สมัครทุกท่าน

16 ธค.66 วันตรวจร่างกายและเจาะเลือดก่อนเริ่มการวิจัย (ที่ศูนย์วิจัย)

5-19 มค. 67 อาสาสมัครกลุ่มทดลองเข้าแค้มป์ฝึกทำและฝึกกินอาหารไทยสุขภาพ (14 วัน)

8 พค. 67 วันตรวจร่างกายและเจาะเลือดหลังสิ้นสุดการวิจัย

8-9 พค. 67 แค้มป์เรียนรู้อาหารไทยสุขภาพสำหรับอาสาสมัครกลุ่มควบคุม (2 วัน)

วิธีสมัครเข้าร่วมการวิจัย

QR code สำหรับกรอกใบสมัครเข้าร่วมโครงการวิจัย

ท่านที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมการวิจัยได้โดยใช้ QR code ตรงนี้ หรือกดลิงค์ https://forms.office.com/r/FgLK1hCs83 เพื่อเข้าไปกรอกใบสมัครได้ทันที

สำหรับท่านที่สนใจอ่านคำชี้แจงอย่างเป็นทางการสำหรับอาสาสมัคร กรุณกดลิงค์นี้

https://drive.google.com/file/d/1J8C7mUrf9sJyBhU5K0rlhYnr1uHpt-Yg/view?usp=sharing

ส่วนท่านที่สนใจอ่านโครงการวิจัยโดยรวมทั้งหมดที่มีข้อมูลวิชาการอย่างละเอียด กรุณากดลิงค์นี้

https://drive.google.com/file/d/1VK57zcDCCx_aUsZA5BJ3M0q8hkktdm8O/view?usp=sharing

ขอเชิญชวนแฟนบล็อกหมอสันต์ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังหรือมีดัชนีสุขภาพเช่นน้ำหนักความดันไขมันน้ำตาลผิดปกติ และมีความพร้อมที่จะมาเจาะเลือดสองครั้งและมาเข้าแค้มป์แบบอยู่ยาวสองสัปดาห์ ช่วยสมัครและช่วยบอกต่อให้มีผู้สมัครเข้าร่วมวิจัยกันเยอะๆนะครับ เพราะนี่มันเป็นงานวิจัยเพื่อชาติเลยเชียวนะ หิ..หิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

11 ตุลาคม 2566

วัคซีนป้องกันติดเชื้อปอดอักเสบแบบรุกล้ำ (IPV) สำหรับผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

เรียนคุณหมอสันต์

การฉีดวัคซีนปอดอักเสบสำหรับคนอายุ 65 ปีขึ้นไปสรุปว่าเขาจะเอายังไงกันแน่ ต้องฉีดเข็มเดียวหรือสองเข็มคะ

…………………………………..

ตอบครับ

เรื่องวัคซีนปอดอักเสบแบบรุกล้ำ (invasive pneumococcal vaccine) นี้ มีการเปลี่ยนแปลงชนิดวัคซีนและวิธีฉีดบ่อยมาก นานมาแล้วหลายปีผมเคยตอบคำถามนี้โดยการเล่าประวัติศาสตร์ให้ฟังว่าการเปลี่ยนแปลงวิธีฉีดวัคซีนนี้ที่ผ่านมามีมาเป็นขั้นตอนอย่างไรบ้าง บางช่วงแนะนำฉีดเข็มเดียว บางช่วงแนะนำฉีดสองเข็ม หลังจากเขียนไปยาวเหยียดผลก็คือท่านผู้อ่านเขียนมาถามว่า “สรุปว่าหมอสันต์จะให้ฉีดเข็มเดียวหรือสองเข็ม?” หิ..หิ

ดังนั้นการตอบคำถามในวันนี้จะไม่มีการลำเลิกถึงประวัติศาสตร์ให้สับสน แต่ขอแจ้งแนวปฏิบัติล่าสุดอันเดียว (ACIP 2023-2024) ตรงๆโต้งๆเลยว่า

1.. กรณีคนทั่วไปที่อายุ 65 ปีขึ้นไปและไม่เคยได้วัคซีนปอดอักเสบมาก่อน ให้ฉีดวัคซีนปอดอักเสบแบบรุกล้ำด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งในสองวิธีต่อไปนี้ คือ วิธีที่หนึ่ง ฉีดวัคซีน PCV20 (Prevnar20) เข็มเดียวแล้วจบ หรือ วิธีที่สอง หากไม่มีวัคซีน PCV20 (Prevnar20) ก็ให้ฉีดวัคซีน PCV15 (Vaxneuvance) หนึ่งเข็มแล้วตามด้วยวัคซีน PPSV23 (Pneumovax23) อีกหนึ่งเข็มห่างกันหนึ่งปี

2.. กรณีที่เคยได้วัคซีนปอดอักเสบชนิด PPSV23 (Pneumovax23) อย่างเดียวมาก่อน ให้ฉีดวัคซีน PCV20 (Prevnar20) เข็มเดียวเมื่อพ้น 1 ปีหลังจากได้ PPSV23 (Pneumovax23) โด้สสุดท้ายแล้ว หรือหากไม่มีวัคซีน PCV20 (Prevnar20) ก็ให้ฉีดวัคซีน PCV15 (Vaxneuvance) หนึ่งเข็มแทนแล้วตามด้วยวัคซีน PPSV23 (Pneumovax23) อีกหนึ่งเข็มห่างกันหนึ่งปี

3.. ถ้าเคยได้วัคซีนปอดอักเสบชนิด PCV13 อย่างเดียวมาก่อนให้ฉีดวัคซีน PCV20 (Prevnar20) เข็มเดียวเมื่อพ้น 1 ปีหลังจากได้ PCV13 โด้สสุดท้ายแล้ว หรือหากไม่มีวัคซีน PCV20 (Prevnar20) ก็ให้ฉีดวัคซีน PCV15 (Vaxneuvance) หนึ่งเข็มแทนแล้วตามด้วยวัคซีน PPSV23 (Pneumovax23) อีกหนึ่งเข็มห่างกันหนึ่งปี

4.. ถ้าเคยได้วัคซีนปอดอักเสบควบทั้งชนิด PCV13 และ PPSV23 มาก่อน ให้ฉีดวัคซีน PCV20 (Prevnar20) เข็มเดียวเมื่อพ้น 5 ปีหลังจากได้วัคซีนเก่าโด้สสุดท้ายแล้ว หรือหากไม่มีวัคซีน PCV20 (Prevnar20) ก็ให้ฉีดวัคซีน PCV15 (Vaxneuvance) หนึ่งเข็มแทน แล้วตามด้วยวัคซีน PPSV23 (Pneumovax23) อีกหนึ่งเข็มห่างกันหนึ่งปี

นี่ว่ากันเฉพาะกรณีคนทั่วไปนะ ยังไม่นับผู้มีความเสี่ยงพิเศษเช่นภูมิคุ้มกันบกพร่อง เจาะน้ำไขสันหลัง หรือใส่หูชั้นในเทียม ซึ่งมีวิธีฉีดที่พิศดารไปกว่านี้แต่ผมขอไม่พูดถึง เดี๋ยวท่านผู้อ่านจะสับสน

ปล. ณ เวลาที่ผมนั่งเขียนบทความนี้ เมืองไทยยังไม่มีวัคซีน PCV20 (Prevnar20) ใช้ คงต้องรอสักพัก ส่วนวัคซีน PCV15 (Vaxneuvance) และวัคซีน PPSV23 (Pneumovax23) นั้นมีใช้แล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Kobayashi M, Pilishvili T, Farrar JL, Leidner AJ, Gierke R, Prasad N, et al. Pneumococcal Vaccine for Adults Aged ≥19 Years: Recommendations of the Advisory Committee on Immunization Practices, United States, 2023MMWR. 2023 / 72(RR-3);1–39.
[อ่านต่อ...]

10 ตุลาคม 2566

แค้มป์พลิกผันโรคเบาหวานด้วยตนเอง RDMBY-2 โดยหมอจิ๊บ (พญ.จริญญา)

พญ. จริญญา จูพานิชย์ (หมอจิ๊บ)

แคมป์เบาหวานแค้มป์แรกจบแล้วและว่างเว้นมานานมากเพราะผมยังควานหาตัวหมอเบาหวานที่จะมาทำแค้มป์ยังไม่พบ ตัวหมอสันต์เองไม่ใช่หมอเบาหวานย่อมไม่เหมาะจะเป็นผู้ทำแค้มป์รักษาโรคเบาหวานเพราะยังรู้ตื้นลึกหนาบางของยารักษาโรคไม่ดีเท่าหมอเบาหวาน แต่ตอนนี้ผมหาตัวหมอเบาหวานคนนั้นพบแล้ว เธอชื่อ พญ.จริญญา จูพานิชย์ (หมอจิ๊บ) เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคเบาหวานที่เห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับวิธีใช้ชีวิตเป็นกิจที่หนึ่งในการรักษาเบาหวาน นอกจากจะครบเครื่องเรื่องโรคเบาหวานที่เธอทำมานานปีแล้ว เธอยังสนใจเป็นพิเศษในการสอนแบบ coaching ให้ผู้ป่วยลดน้ำหนักให้ได้ด้วย เพราะเธอมองเห็นความเป็นญาติสนิทกันระหว่างโรคเบาหวานกับโรคอ้วน

เมื่อได้ตัวผู้สอนแล้วผมจึงตัดสินใจเปิด “แค้มป์รักษาโรคเบาหวานด้วยตนเอง ครั้งที่ 2 (RDMBY-2)” ในวันที่ 11-13 พย. 66 ที่เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ โดยแค้มป์นี้จะสอนโดยตรงและอำนวยการสอนโดยคุณหมอจิ๊บล้วนๆ หมอสันต์จะไม่ได้โผล่หน้ามาทักทายเลย (เพราะช่วงนั้นหมอสันต์อยู่ต่างประเทศ หิ หิ)

รายละเอียดของแค้มป์มีตารางแค้มป์ประมาณนี้
Day 1
09.30-10.30 ลงทะเบียน เช็คอินที่บ้าน Grove House 
10.30-12.00 ทำความรู้จักซึ่งกันและกันผ่านกิจกรรมกลุ่ม Wellness We care team
12.00-13.30 รับประทานอาหารกลางวัน
13.30-14.30 การดูแลเบาหวานแบบองค์รวม
14.30-15.00 Tea break
15.00-16.30 เรียนรู้อาหารแบบพืชเป็นหลักที่มีงานวิจัยว่าช่วยควบคุมเบาหวาน
16.30-17.30 Dinner (IF)
17.30-18.30 สาธิตอาหารแบบพืชเป็นหลัก ไม่สกัด ไม่ขัดสี

Day 2
07.30-08.00 Morning routine and stress management กิจวัตรยามเช้า
08.00-09.30 Breakfast
09.30-10.30 รู้จักเบาหวาน กลไก การรักษาโดยใช้ยา (DM overview) โดยคุณหมอจิ๊บ

10.30-11.00 Coffee/tea break
11.00-11.45 กิจกรรมฐาน 2 ฐาน ฐานละ 45 นาที

  • กิจกรรมจ่ายตลาดฉลาดซื้อ
  • การเลือกคาร์โบไฮเดรตคุณภาพ
    11.45-12.30 สาธิตอาหารแบบพืชเป็นหลักสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
    12.30-13.45 พักกลางวัน
    13.45-14.30 กิจกรรมฐาน 2 ฐาน ฐานละ 45 นาที (ต่อ)
  • กิจกรรมจ่ายตลาดฉลาดซื้อ
  • การเลือกคาร์โบไฮเดรตคุณภาพ
    14.30-15.00 บริหารเท้าและฝึกการทรงตัว ลดการเกิดแผลเบาหวาน
    15.00-15.15 Tea break
    15.15-16.30 Muscle strength training and Aerobic exercise ออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรง และ แอโรบิค
    16.30-17.30 Dinner (IF)
    17.30 -18.00 แนะนำการติดตามตัวชี้วัดสุขภาพ โดยใช้ Wellness We Care App

Day 3
07.30-8.00 Morning routine and stress management กิจวัตรยามเช้า
8.00-9.00 Breakfast
9.00-10.15 Foot care การดูแลเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
10.15-11.00 กิจกรรมฐาน 2 ฐาน ฐานละ 45 นาที
ฐาน 1 Stress management
ฐาน 2 วางแผนมื้ออาหารด้วยตัวเอง

11.00-11.15 Coffee/tea break
11.15-12.00 กิจกรรมฐาน 2 ฐาน ฐานละ 45 นาที (ต่อ)
ฐาน 1 Stress management
ฐาน 2 วางแผนมื้ออาหารด้วยตัวเอง
12.00-13.00 Lunch
13.00-13.30 แชร์ประสบการณ์จากผู้ป่วยเบาหวานที่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจนพลิกผันโรคเบาหวานได้สำเร็จ
13.30-14.30 กิจกรรมเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อบรรลุเป้าหมาย
14.30-15.00 สรุปประเด็น/ตอบคำถาม
ปิดแคมป์

ราคาค่าลงทะเบียน

ผู้ป่วยราคา 19,000 บาท (พักเดี่ยว)
ผู้ติดตามราคา 18,000 บาท (พักคู่กับผู้ป่วย)
ราคานี้รวมค่าอาหาร ที่พัก และกิจกรรม ไม่รวมค่าเดินทาง โดยผู้เข้าร่วมแค้มป์จะต้องเดินทางมาเอง
อาหารทุกมื้อรวมทั้งอาหารว่างเป็น plant-based, whole food, low fat พืชเป็นหลัก ไม่สกัด ไม่ขัดสี
ไม่มีเนื้อสัตว์รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากสัตว์

วิธีสมัคร
☎สอบถามเพิ่มเติมและสมัครเข้าแค้มป์ได้ที่
Tel : 063-6394003
Line ID : @wellnesswecare
Line OA click https://lin.ee/6JvCBsf

………………………………………………………………………………..

[อ่านต่อ...]

09 ตุลาคม 2566

จะฟื้นฟูตัวเองเมื่อเป็นโรคพาร์คินสันอย่างไร

(ภาพวันนี้ / เปลี่ยนจากชมวิวมาชม carpenter shop ส่วนตัวของหมอสันต์แก้เบื่อบ้าง ตอนนี้กำลังบ้าทำโต๊ะกลางครัว kitchen island)

     ฉบับนี้ขอตอบคำถามของผู้ป่วยพาร์คินสันที่ถามวิธีฟื้นฟูตัวเอง ก่อนจะตอบคำถาม ผมขอพูดถึงโรคพาร์คินสัน (Parkinson Disease) ให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นๆได้ทราบเป็นแบ็คกราวด์ไว้สักหน่อยนะครับ 
     โรคนี้มีนิยามว่าคือภาวะที่มีการเสื่อมของเซลประสาทที่ทำหน้าที่ปล่อยโดปามีนในก้านสมอง (substantia nigra) 
     มีสาเหตุประมาณ 10% เกิดจากพันธุกรรม ที่เหลือ 90% ไม่ทราบสาเหตุ 
     มีอาการสำคัญห้ากลุ่มคือ (1) มือสั่น (2) กล้ามเนื้อเกร็งแข็ง (3) การเคลื่อนไหวช้าและผิดปกติ (4) ทรงตัวลำบาก (5) อาจมีอาการที่ไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเช่น ท้องผูก ซึมเศร้า สมองเสื่อม เห็นภาพหลอน การนอนผิดปกติ พฤติกรรมผิดปกติ ลุกแล้วหน้ามืด อั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นต้น 
     โรคนี้วินิจฉัยจากอาการเท่านั้น ไม่มีวิธีตรวจยืนยันทางแล็บใดๆขณะคนไข้ยังมีชีวิตอยู่ แต่หากหลังการเสียชีวิตแล้วถ้านำเนื้อสมองมาตรวจทางพยาธิวิทยาจะพบว่ามีการเสื่อมของเซลประสาทชนิดที่มีเม็ดสี (neuromelanin) อยู่ในเซล โดยเซลที่รอดชีวิตมักมีเม็ดย้อมติดสีเหมือนอาทิตย์ทรงกลดเรียกว่า Lewy body


     การรักษาโรคนี้มีสี่ส่วน

     ส่วนที่หนึ่ง คือการกินยาบรรเทาอาการ แม้จะไม่ทำให้หายแต่ก็ช่วยประคองคุณภาพชีวิตไม่ให้เสื่อมรวดเร็วเกิยไป ยามาตรฐานที่ใช้คือ Levodopa (Sinemet) ร่วมกับยา carbidopa ตัวออกฤทธิ์บรรเทาอาการสั่นและเกร็งตัวจริงคือ levodopa ส่วน carbidopa นั้นออกฤทธิ์ยับยั้งการเปลี่ยน levodopa ไปเป็น dopamine จึงทำให้มีผลทางอ้อมให้มี levodopa มากขึ้น

อย่างไรก็ตามเมื่อใช้ levodopa นี้นานไปประสิทธิภาพของยาจะลดลงและการเคลื่อนไหวผิดปกติมากขึ้น การใช้ยาต่างๆจะได้ผลดีในระยะ 5-6 ปีแรก ในรายที่ยาคุมอาการไม่ได้ผล อีกทางเลือกหนึ่งคือการผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (deep brain stimulation – DBS) โดยที่ผลที่ได้ยังมีความไม่แน่นอนสูง และเป็นเพียงการบรรเทาอาการเท่านั้น    

     ส่วนที่สอง คือโภชนาการ สำหรับคนเป็นโรคนี้ มุ่งไปที่การป้องกันท้องผูก โดยเน้นการกินอาหารกากมาก (พืชผักผลไม้ทุกชนิด) เน้นพืชที่เป็นอาหารเลี้ยงจุลินทรีย์ (prebiotic) และอาหารหมักที่เป็นตัวจุลินทรีย์ (probiotic) เพราะงานวิจ้ยทำที่อังกฤษพบว่าตัวจุลินทรีย์ประกอบเป็นถึง 52% ของน้ำหนักอุจจาระทั้งหมด ดังนั้นหากจุลินทรีย์ในลำไส้มีปริมาณมากและมีความหลากหลาย มวลอุจจาระก็จะมากและท้องไม่ผูก

ในกรณีที่เป็นคนชอบกินอาหารโปรตีน ควรกระจายอาหารโปรตีนไปตลอดวันทุกมื้อมื้อละเล็กมื้อละน้อย ไม่ให้ไปมากในมื้อที่จะกินยา เพราะหากมีโปรตีนมากตัวโปรตีนในอาหารจะแข่งกับ levodopa ในการถูกดูดซึมทำให้ยาเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง

ส่วนที่ 3. คือการออกกำลังกาย ถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการบรรเทาอาการโรคนี้ เพราะช่วยให้ใช้กล้ามเนื้อทำงานได้ดีขึ้น ท่าร่างดีขึ้น ทรงตัวดีขึ้น การออกตัวเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น นอกจากนี้วงการแพทย์กำลังสนใจข้อมูลในสัตว์ทดลองที่พบว่าการออกกำลังกายอย่างแข็งขันมีผลป้องกันการเสื่อมของเซลประสาทในสัตว์ที่สมองเสียหายแบบพาร์คินสันได้

ส่วนที่ 4. คือการจัดการความเครียดและวางความคิด แม้ว่าจะยังไม่มีงานวิจัยผลของการจัดการความเครียดต่ออาการสั่นในโรคพาร์คินสัน แต่ผมแนะนำคุณอย่างเต็มปากเต็มคำ แม้จะเป็นหลักฐานระดับเรื่องเล่า (anecdotal) แต่มันเป็นประสบการณ์ของผมเองที่ฟื้นฟูคนไข้พาร์คินสันมา กล่าวคือผู้ป่วยโรคพาร์คินสันที่มาเข้าแค้มป์ Spiritual Retreat ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับโรคของเขา จบแค้มป์แล้วแน่นอนว่าด้านจิตใจหรือความเครียดคลายลง แต่ที่สำคัญคือพบว่าจบแค้มป์แล้วอาการสั่นน้อยลงหรือบางคนอาการสั่นที่เป็นอยู่ตลอดเวลาถึงกับหายไปเลยจนเจ้าตัวประหลาดใจ จะหายไปชั่วคราวหรือหายไปนานอันนั้นผมไม่ทราบเพราะจบแค้มป์แล้วผมไม่ได้ติดตามดู

วิธีออกกำลังกายและฟื้นฟูผู้ป่วยโรคพาร์คินสัน 

     
     แม้จะมีงานวิจัยศึกษาการออกกำลังกายสารพัดแบบในคนเป็นโรคพาร์คินสัน วิธียอดนิยมคือ (1) การรำมวยจีน ไทเก๊ก (2) การเต้นชะชะช่า (3) การเต้นแทงโก้ (4) การปั่นจักรยาน (จักรยานจริงๆ) แต่ปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อมูลวิจัยมากพอสรุปได้ว่าการออกกำลังกายแบบไหนดีที่สุดสำหรับคนไข้โรคนี้ 

     แม้จะไม่มีหลักฐานวิจัย แต่ผมแนะนำให้ใช้หลักการออกกำลังกายสำหรับโรคพาร์คินสันที่นิยมใช้กันตามศูนย์กายภาพบำบัดดังๆในอเมริกา ซึ่ง (1) เน้นการออกกำลังกายไปหลายๆแบบ ทั้งรำมวยจีน เต้นชะชะช่า ขี่จักรยาน (2) เน้นการเล่นกล้ามหรือฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อตามแบบมาตรฐาน และ (3) เน้นการฝึกประเด็นเฉพาะโรคอีก 17 ประเด็นต่อไปนี้ คือ  

     1.      ออกกำลังให้มากเข้าไว้ ออกกำลังกายทุกวันวันละหลายชั่วโมง น้ำที่ไหลไม่กลายเป็นน้ำแข็งฉันใด กล้ามเนื้อที่ได้ออกแรงก็จะยังไม่แข็งตรึงฉันนั้น

2.      ฝึกทรงตัวให้มั่น ยืนกางขาห่างกันสิบนิ้วจนเป็นนิสัย อาจดูไม่เท่ แต่ปลอดภัย

3.      ฝึกการออกตัว (initiation movement) เชิดหน้าขึ้น ยกหัวแม่ตีนขึ้น ให้ถือคติหากหัวแม่ตีนไม่ยก เท่ากับไม่ได้ก้าว เมื่อใดที่ขาแข็งติดพื้น โยกน้ำหนักไปทางส้นเท้า ยกหัวแม่ตีนขึ้น โยกน้ำหนักไปขาอีกข้าง แล้วงอเข่ายกเท้าก้าวเดิน

4.      ฝึกทรงตัวบนขาเดียว ยืนขาเดียวจับราว เอาเท้าอีกข้างเคลื่อนไหวไปมา เดินหน้า ถอยหลัง ไปข้าง เขียนวงกลมบนพื้น

5.      ฝึกเดินแบบใกล้เคียงปกติ ก้าวให้ยาว วางก้อนอิฐหรือหนังสือไว้เป็นช่วงๆ ยกเท้าลอยกลางอากาศ ก้าวข้ามก้อนอิฐหรือหนังสือ เอาส้นลงพื้นก่อน แกว่งแขนให้เต็มที่เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อไหล่ ถือม้วนหนังสือพิมพ์หรือดัมเบลเล็กๆไว้สองมือเพื่อช่วยการแกว่งแขนได้กระชับขึ้น มองไกล อย่ามองพื้น ให้เท้าเดาเอาเองว่าพื้นอยู่ตรงไหน

6.      ฝึกเลี้ยวให้ปลอดภัย ก้าวให้สั้นลงขณะเลี้ยว วางเท้าให้ห่างกัน โยกน้ำหนักไปเท้าซ้ายทีขวาทีขณะเลี้ยว และห้ามไขว้ขา

7.      ฝึกป้องกันการล้ม หัดฟุตเวอร์คด้วยวิธีเคลื่อนไหวเร็วๆสั้นๆไปข้างๆ ไปข้างหน้า ไปข้างหลัง อย่าหวังพึ่งกำแพง เพราะมันไม่เคยอยู่ที่นั่นเวลาคุณล้ม หากเคยเล่นกีฬาเช่นเทนนิสหรือแบดมินตัน ให้จินตนาการว่ากำลังอยู่ในสนามกีฬา ถือไม้เปล่า แล้วฟุตเวิร์คเข้าหาลูก ถอยรับลูก เข้าตีแบ้คแฮนด์ โฟร์แฮนด์ เป็นต้น

8.      ฝึกหย่อนตัวลงนั่งเก้าอี้ โน้มตัวไปข้างหน้า กระดกก้นไปข้างหลัง ย่อตัวลงช้าๆ จนก้นถึงพื้นเก้าอี้ ถ้าขาแข็งเดินไปนั่งเก้าอี้ไม่ได้ ให้ตั้งใจแกล้งเดินผ่านมันไปก่อน แล้วแวะนั่งขณะเดินผ่าน (คนเป็นโรคนี้ตั้งใจทำอะไรแล้วมักสั่นหรือเกร็งจนทำไม่ได้)

9.      ฝึกลุกจากเก้าอี้ โน้มตัวไปข้างหน้า แล้วนับ หนึ่ง สอง สาม ลุกพรวด ลุกแบบสายฟ้าแลบ เพราะคนเป็นโรคนี้ลุกช้าๆจะลุกไม่ขึ้น ทำเก้าอี้ประจำตัวแบบเสริมขาหลังสี่นิ้วทำให้ลุกง่าย อย่าให้คนช่วยดึงแขน แต่ให้ดันหลังแทน

10.  ฝึกลุกจากเตียง หนุนขาหัวเตียงให้ยกสูงขึ้นมากกว่าขาท้ายเตียงเพื่อให้ลุกง่าย ผูกผ้าเป็นปมไว้กับปลายเตียงไว้ดึงตัวเองขึ้นลุกนั่งบนเตียง แล้วหมุนตัวด้วยแรงเหวี่ยงอย่างแรงมานั่งห้องขาข้างเตียง ก่อนที่จะลุกนั่งแบบเดียวกับลุกจากเก้าอี้

11.  ฝึกถ่วงดุล ถ้าลำตัวเอียงไปข้างหนึ่ง ให้หิ้วของอีกข้างหนึ่งถ่วง

12.  ฝึกมือ หางานให้มือทำทั้งวัน ฝึกกลัดและปลดกระดุม หั่นอาหาร เขียนหนังสือ เขียนภาพ บีบลูกบอล ฉีกกระดาษ นับแบงค์ นับเหรียญ เอาเหรียญเข้าออกกระเป๋า เล่นเครื่องดนตรี แต่งตัวให้ตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบ ทำซ้ำแยะๆ ใช้หลักซ้อม 20 ครั้ง ทำจริงครั้งที่ 21

13.  ฝึกแขน โดยติดตั้งรอกไว้เหนือเก้าอี้ นั่งลงดึงเชือกผ่านรอกไปทางโน้นทีทางนี้ที กางแขนและไหล่ไปทุกทาง (working pulley when seated)

14.  ฝึกการออกเสียง ไม่ต้องรอให้มีปัญหาการพูด ให้ฝึกการออกเสียงไว้เลย คือกระตุ้นการพูด คิดดังๆ ตะโกนความคิดออกมา อ่านหนังสือพิมพ์แบบออกเสียง หรือนับเลขดังๆ

15.  ฝึกแสดงสีหน้า ทำหน้าใส่กระจก แยกเขี้ยว ยิงฟัน ยิ้ม หัวเราะ นวดหน้า เคี้ยวอาหารให้หนักๆ ย้ายอาหารในปากไปมา ข้างซ้ายที ข้างขวาที จนละเอียดก่อนกลืน

16.  ฝึกป้องกันกล้ามเนื้อเกร็งแข็ง โดย

16.1ยืนหน้าชนผนัง ห่างสัก 8 นิ้ว แล้วยกแขนทาบผนังให้สูงสุดแขน โถมน้ำหนักลงบนผนังแล้วยืดแขนให้ทุกส่วนของร่างกายแนบกับผนัง

16.2ยืนหลังพิงชิดผนัง ยกขาซอยเท้าให้สูงที่สุดแบบทหารเดินแถว

16.3จับราวอะไรสักอย่าง แล้วนั่งยองให้ต่ำสุดเท่าที่ทำได้แล้วค่อยๆลุกขึ้น

16.4นั่งเก้าอี้พนักตรง เอามือไขว้พนัก แอ่นอก เชิดหน้ามองเพดาน

16.5นั่งเก้าอี้ สองมือยกกระบองขึ้นเหนือศีรษะให้สูงสุด

16.6นั่งเก้าอี้ ซอยเท้าบนพื้น ยกเข่าให้สูงสุดๆ

16.7นอนหงายกดทุกส่วนของร่างกายลงกับพื้นให้ราบ

16.8นอนคว่ำมือไขว้หลังตามองเพดานยกอกจากพื้น

16.9นอนคว่ำเตะเท้าสลับแบบว่ายน้ำ

16.10                  หันศีรษะไปซ้ายทีขวาที

16.11                  ยืนเท้าสะเอวซอยเท้า

16.12                  ยืนถ่างขาโน้มตัวไปหน้า โน้มไปด้านข้าง โน้มไปข้างหลัง โยกตัวเป็นวงกลม

17. ฝึกวางความคิดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เมื่อมีความคิด ระบบประสาทอัตโนมัติจะส่งไฟฟ้าไปกระตุ้นกล้ามเนื้อให้เกร็งตัวทำให้สั่นง่ายและเคลื่อนไหวยาก วิธีฝึกวางความคิดให้หาอ่านที่ผมเคยเขียนไว้เอาเองในบล็อกนี้ หรือมาเข้าแค้มป์ SR ก็ได้

     การฟื้นฟูตัวเองจากโรคพาร์คินสัน ทำเองที่บ้านดีที่สุด ควรมีผู้ดูแล แล้วให้ผู้ดูแลนั่นแหละเป็นครูฝึกการออกกำลังกายให้ การลงทุนฝึกการออกกำลังกายในผู้ป่วยพาร์คินสันเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด เพราะทำให้มีคุณภาพชีวิตบั้นปลายที่ดี อันเป็นยอดปรารถนาของผู้สูงอายุทุกคน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1.     National Collaborating Centre for Chronic Conditions. Parkinson’s disease: National clinical guideline for diagnosis and management in primary and secondary care. London, UK: Royal College of Physicians; 2006.

2.     Morris ME, Martin CL, Schenkman ML. Striding out with Parkinson’s disease: evidence – based physical therapy for gait disorders. Physical Therapy 2010; 90 (2): 280 – 288 

3.     Smith AD, Zigmond MJ. Can the brain be protected through exercise? Lessons from an animal model of parkinsonism. Exp Neurol 2003;184:31-39.

4.     Hackney ME, Earhart GM. Tai Chi improves balance and mobility in people with Parkinson disease. Gait Posture. 2008;28:456–460.

5.     Hackney ME, Earhart G. Effects of dance movement control in Parkinson’s disease: a comparison of Argentine tango and American ballroom. J Rehabil Med.2009; 41:475–481.

[อ่านต่อ...]

05 ตุลาคม 2566

หมอสันต์พูดกับสมาชิก SR-33 เรื่องคอนเซ็พท์ของชีวิต

(ภาพวันนี้ / หมอกเช้า หน้าบ้าน)

เรามาที่นี่ เพื่อเสาะหาวิธีหลุดพ้นออกไปจากกรงความคิดของเราเอง จะด้วยเหตุใดก็ตาม (1) บ้างมาเพราะความคิดทำให้เครียด (2) บ้างมาเพราะความคิดทำให้เราป่วย (3) บ้างมาเพราะความคิดทำให้ไม่มีความสุข หรือบางคนมาด้วยเหตุพิเศษ คือ (4) ใจมีแต่ความสงสัยตะหงิดๆว่าชีวิตมันมีแค่นี้หรือ กิน นอน ขับถ่าย สืบพันธ์ ป่วย ทุกข์ แล้วก็ตายไป มันมีอะไรควรค่าแก่การเสาะหาทำความรู้จักมากกว่านี้อีกไหม

ไม่ว่าแต่ละท่านจะมาด้วยเหตุใดก็ตาม ผมจะแบ่งเรื่องที่เราจะพูดจะทำขณะอยู่ด้วยกันสี่วันที่นี่ออกเป็นสองส่วน คือ (1) คอนเซ็พท์ของชีวิต (2) การลงมือปฏิบัติเพื่อวางความคิด สี่วันนี้ผมคาดหวังจะให้ท่าน “แม่นยำในคอนเซ็พท์ของชีวิต และช่ำชองในการใช้เครื่องมือวางความคิด”

“แม่นยำในคอนเซ็พท์ ช่ำชองในการใช้เครื่องมือ”

ผมมีเวลาให้กับคอนเซ็พท์แค่ 5% เพื่อจะได้ให้เวลากับการฝึกใช้เครื่องมือวางความคิด 95 %

ในชั่วโมงแรกนี้เรามาคุยกันเรื่องคอนเซ็พท์ของชีวิตก่อน

ผมมีคอนเซ็พท์หลักของชีวิตที่จะเสนอให้ทำความเข้าใจเพียงห้าเรื่องเท่านั้น คือ

คอนเซ็พท์ที่ 1. การยอมรับ (Acceptance) หมายถึงการที่เราควรจะขยันผ่อนคลาย ยิ้ม นิ่ง กับแต่ละโมเมนต์ของชีวิต “นิ่ง” หมายความว่าเราอยู่นิ่งๆ ตรงกลาง ไม่แกว่งไปกอดรัดสิ่งที่ชอบ ที่อยากได้ ไม่แกว่งหนีสิ่งที่ไม่ชอบ หรือไม่อยากได้ อะไรโผล่เข้ามาในชีวิตเรา เราก็โอเค.หมด เรายอมรับหมด อะไรที่จะจากเราไปเราก็โอเค.หมด ยอมรับหมด ไม่ต่อสู้ ไม่ดิ้นรน ไม่ร้อนรนกระวนกระวาย ไม่กระต๊าก..ก ไม่ดราม่า ไม่ปกป้อง ไม่ต่อต้านอะไร

เน้นเป็นพิเศษกับการยอมรับคนรอบตัว แบบยอมรับเขาตามที่เขาเป็น ไม่ไปหงุดหงิดหรือพยายามอยากจะให้เขาเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น

การยอมรับนี้หมายความรวมถึงยอมรับความไม่จีรัง (impermanence) ของทุกอย่างในชีวิตนี้ด้วย ยอมรับว่าในชีวิตนี้ไม่มีอะไรที่เราจะเป็นเจ้าของหรือบงการได้ (selflessness) ด้วย

คอนเซ็พท์ที่ 2. การใช้ชีวิต (Living) หมายถึงการที่เราให้ความสำคัญกับการมีชีวิตอยู่หรือการดำรงชีวิตอยู่ ณ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ว่าเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด ถ้าจะขยายการใช้ชีวิตให้กว้างที่สุดก็ไม่เกินลมหายใจนี้ คือชีวิตดำรงอยู่ทีละลมหายใจ เริ่มจากหายใจเข้าไปสิ้นสุดที่ปลายของการหายใจออก ณ ที่ปลายของลมหายใจออก หากไม่มีการหายใจเข้าครั้งใหม่ ชีวิตก็จบแค่นั้น ดังนั้นการใช้ชีวิตเป็นเรื่องง่าย ตราบใดที่ยังหายใจเข้าออกได้ ก็ยังใช้ชีวิตได้ ประเด็นคือเราจะใช้ชีวิตในลมหายใจนี้อย่างไรให้มันเป็นชีวิตที่สงบเย็น และสร้างสรรค์

ต่างจากการมองชีวิตจากอีกมุมหนึ่ง คือ สถานะการณ์ในชีวิต (Life situation)ซึ่งเป็นเรื่องราว เป็นนิยาย เป็นดราม่า เป็นนิทาน ที่เราแต่งขึ้นจากฉากหรือเหตุการณ์รอบตัวโดยมีตัวตนหรืออีโก้ของเราเป็นศูนย์กลาง มีเรื่องราวเป็นตุเป็นตะ ในมิติของเวลา มีอดีต มีอนาคต เหมือนหนังที่เราสร้างขึ้นมาเองแล้วฉายให้ตัวเองดู แต่ว่าเผอิญเรามีความสามารถสร้างได้แต่หนังห่วยๆ ดูแล้วก็เครียด น้อยมากที่การสร้างหนังให้ตัวเองดูจะมีคนสร้างหนังดีๆที่ตัวเองดูแล้วผ่อนคลายเป็นสุข ดังนั้นประเด็นของผมคืออย่าไปให้ความสนใจกับสถานะการณ์ในชีวิตมากนัก ให้โฟกัสที่การใช้ชีวิตทีละลมหายใจ

คอนเซ็พท์ที่ 3. การเปลี่ยนตัวตน (Change of identity) คนเรานี้แท้จริงแล้วมีสองตัวตน “ตัวตนแรก” ที่เรารู้จักคุ้นเคยคือการเป็นบุคคลคนนี้ มีชื่อนี้ นามสกุลนี้ เรียนจบมาเรื่องนี้ ทำมาหากินอาชีพนี้ อยู่ในสังคมในประเทศนี้ มีเกียรติ ศักดิ์ศรี มีทรัพย์ที่ขึ้นทะเบียนไว้เท่านี้ มีความผูกพันกับคนรอบตัวกับคนนี้ในสถานะนั้น กับคนนั้นในสถานะนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นแค่เรื่องราวที่เราวาดภาพตัวของเราขึ้นในสมองของเราเอง พูดง่ายว่าตัวตนที่หนึ่งเป็นเพียงความคิด เป็นเพียงชุดของความคิดที่เราสมมุติขึ้นและพยายามยึดถือปกป้องให้มันดูเป็นจริงเป็นจัง

“ตัวตนที่สอง” ก็คือตัวเราเองในภาวะที่ปลอดตัวตนที่หนึ่ง หรือผมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าคือ “ความรู้ตัวในขณะปลอดความคิด”

ฟังให้ดีนะ ความรู้ตัวในขณะปลอดความคิด เรากำลังพูดถึงภาวะปลอดความคิด เมื่อไม่มีความคิด ก็ไม่มีภาษาไปอธิบายได้เพราะภาษามีขึ้นเพื่อสื่อความคิด จึงทำได้แต่พูดอ้อมๆให้เห็นรางๆ แล้วไปทำความรู้จักกับมันเอาเอง แต่ในการสื่อถึงตัวตนที่สองหรือความรู้ตัวขณะปลอดความคิดนี้ยังไงเราก็ต้องอาศัยภาษา ผมจึงขอสรุปเป็นภาษาแบบเลาๆว่ามันมีสามลักษณะอยู่ในสิ่งเดียวกัน แบบ three in one คือ

(1) มันเป็นความตื่นและรู้ตัว (awareness) หมายความว่าตื่นอยู่ และสามารถรับรู้ได้

(2) มันเป็นความเมตตา (compassion) เพราะตรงนี้ไม่ผลประโยชน์ของตัวตนที่หนึ่งมาเกี่ยวข้อง มันจึงไม่มีเส้นแบ่งระหว่างชีวิตเรากับชีวิตอื่น หมายความว่าจากมุมของความรู้ตัวนี้ ชีวิตเรากับชีวิตอื่นเป็นสิ่งเดียวกัน

(3) มันเป็นปัญญาญาณ (wisdom) หรือในภาษาอังกฤษอาจใช้คำว่า intuition หรือ insight ก็ได้ เอาเป็นว่ามันเป็นปัญญาที่ผุดขึ้นมาเองโดยไม่ผ่านการเรียนรู้ในอดีตของเราละกัน ความจริงมันได้ผุดขึ้นมาเองดอก มันอยู่ที่นั่นแหละ เพียงแต่ว่าความคิดของเราบังมันเอาไว้

การเปลี่ยนตัวตน ผมหมายถึงเราตั้งใจย้ายการเป็นตัวตนแรกมาเป็นตัวตนที่สอง จากการเป็นบุคลลคนหนึ่งที่มีทรัพย์มีความยึดถือเกี่ยวพันที่ต้องปกป้องดูแล มาเป็นความรู้ตัวที่สงบเย็นมีเมตตาต่อทุกชีวิตอย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่มีผลประโยชน์ อุปมาเหมือนเรามีบ้านหลังหนึ่งอยู่ในกรุงเทพ ต่อมาปลูกอีกหลังหน้าที่ต่างจังหวัด แล้วเราก็ค่อยๆย้ายจากหลังแรกมาอยู่หลังที่สองมากขึ้นๆ ตอนวัยทำงานอาจแทบไม่มีเวลาไปอยู่บ้านต่างจังหวัดเลย พอเกษียณแล้วก็มาอยู่บ้านต่างจังหวัดสัปดาห์ละหลายวัน แต่ว่าบ้านที่กรุงเทพก็ยังอยู่ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงรุนแรงแบบว่าย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดแล้วขายบ้านกรุงเทพทิ้ง

การเปลี่ยนตัวตนต้องเกิดขึ้นก่อน มนุษย์เราจึงจะหลุดพ้นจากกรงของความคิดที่ครอบเราไว้อย่างอยู่หมัดได้ เพราะทุกความคิด สืบโคตรเหง้าศักราชไปเถอะ ล้วนชงขึ้นมาเพื่อปกป้องหรืออวย “ผลประโยชน์” ของตัวตนที่หนึ่งทั้งสิ้น ตราบใดที่ตัวตนที่หนึ่งยังแข็งแรงอยู่ ตราบนั้นความคิดก็จะยังเป็นนายเราอยู่ร่ำไป

คอนเซ็พท์ที่ 4. เรื่ององค์ประกอบของชีวิต นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ นักคิดทุกยุคพูดเหมือนกันว่าชีวิตเป็นเพียงสิ่งประกอบชั่วคราวขึ้นมาจากองค์ประกอบย่อย บ้างแบ่งองค์ประกอบย่อยเหล่านั้นออกเป็นสองส่วนบ้าง สามส่วนบ้าง ห้าส่วนบ้าง เจ็ดส่วนบ้าง แต่คอนเซ็พท์หลักมักคล้ายกัน ผมจะเลือกเอาที่เขาแบ่งองค์ประกอบของชีวิตออกตามเป็นห้าส่วน คือ

(1) ร่างกาย (physical body) ซึ่งมีวิธีทำงานแบบกลไกอัตโนมัติเสีย 95% เหลืออีก 5% เป็นการทำงานภายใต้การกำกับของความคิดจิตใจ

(2) พลังชีวิต (life energy) หมายถึงพลังงานที่ขับเคลื่อนให้ชีวิตเคลื่อนไหวดำเนินไปได้ เรารับรู้พลังชีวิตในรูปแบบของความรู้สึก (feeling) ทั้งทางร่างกายเช่น ความปวด ความรู้สึกซู่ซ่า และทางใจเช่น ความรู้สึกคึกคักกระดี๊กระด๊า

(3) ความจำ (memory) ทั้งความจำที่เกิดจากการเรียนรู้ตั้งแต่เด็กจนโต และความจำที่ฝังแฝงมาในเซลร่างกายในรูปของยีนที่เราได้จากพ่อและแม่ ซึ่งยีนนั้นยังถูกปรับเปลี่ยนด้วยสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

(4) ความคิด (thought) ซึ่งอาจแยกย่อยไปได้อีกสามแบบคือ สัญชาติญาณ (instinct) ความคิดอ่าน (intellect) และปัญญาญาณ (intuition) แต่ละแบบมีกลไกการเกิดต่างกัน สองแบบแรกมีกลไกการเกิดแบบวงจรสนองตอบอัตโนมัติ และเกิดแบบเดิมๆ ซ้ำๆซากๆ และวกๆวนๆ

(5) ความรู้ตัว (consciousness) คือความตื่น ความรู้ตัว ความสามารถรับรู้ได้ เป็นส่วนที่ลึกละเอียดที่สุดของชีวิต มีธรรมชาติประจำสามอย่าง คือเป็นความรู้ตัว เป็นความเมตตา และเป็นปัญญาญาณ

ความเข้าใจองค์ประกอบของชีวิตมีความสำคัญอย่างไร อุปมาเราได้โทรศัพท์ไอโฟนมาเครื่องหนึ่ง มันทำอะไรได้แยะมาก แต่เราใช้มันได้นิดเดียวคือแค่โทรศัพท์ เปิดไลน์ เปิดเฟส และดูติ๊กต๊อก อย่างอื่นเราไม่รู้ว่ามันทำอะไรได้บ้างและเราก็ไม่เคยใช้ แต่ไอโฟนยังดีที่มีคู่มือการใช้งาน ส่วนชีวิตอันประกอบด้วยกายและใจนี้มันเป็นเครื่องมือที่ซับซ้อนกว่าไอโฟนหลายเท่า นอกจากเราไม่มีไอเดียว่ามันประกอบขึ้นมาจากอะไรและใช้การอะไรได้บ้างแล้ว คู่มือใช้งานก็ไม่มี เราก็เลยนึกว่าเราเป็นแค่หุ่นยนต์รุ่นโบราณตัวหนึ่ง เกิดมาแล้วก็กิน ขับถ่าย นอน เข้าโรงเรียน ทำงาน แต่งงาน สืบพันธ์ แล้วก็ตายไป เหมือนกับหุ่นยนต์ตัวอื่นๆซึ่งทำเช่นนี้มาช้านาน เหมือนกับหมาแมว ต่างกันแค่ว่ากว่าจะทำเพียงแค่นี้ได้เราเป็นทุกข์แทบตาย ขณะที่หมาแมวมันทำได้เท่ากันโดยไม่เห็นมันจะต้องทุกข์ร้อนอะไรมากมายเลย

แต่ถ้าเราสนใจกายนี้และใจนี้เหมือนคนที่ซื้อไอโฟนมาแล้วขยันอ่านคู่มือการใช้งานดูเสียหน่อย เราก็จะรู้ว่าองค์ประกอบส่วนสำคัญสองส่วนคือร่างกายและความคิดนั้น มันมีกลไกการทำงานแบบปฏิกริยาสนองตอบอัตโนมัติ (automatic reflex) ซึ่งดูเผินๆเหมือนว่าเราเข้าไปแทรกแซงอะไรไม่ได้เลยต้องปล่อยไปตามยถากรรม แต่หากเรารู้วิธีและลงมือเข้าไปแแทรกแซงตัดตอนวงจรสนองตอบอัตโนมัติของมันอย่างได้จังหวะ เราก็จะเข้าถึงฟังชั่นดีๆอื่นๆของมันได้ และจะพบว่าการใช้ชีวิตนั้นง่ายมาก

คอนเซ็พท์ที่ 5. ทิศทางในการดำเนินชีวิต โลกนี้มีแต่ข้อกำหนดวิธีดำเนินชีวิตเต็มไปหมด โดยนักปกครองบ้าง โดยนักบวชบ้าง ที่เขียนไว้เป็นหนังสือหรือคัมภีร์ก็มาก แต่ไม่มีหนังสือหรือคัมภีร์เล่มไหนเลยที่จะใช้เป็นเอกสารอ้างอิงขั้นสุดท้าย (reference) ได้แม้แต่เล่มเดียว ไม่ว่าจะเป็นพระไตรปิฏก คัมภีร์ไบเบิล คัมภีร์เวดะ คัมภีร์เต๋า ดังนั้นสำหรับทิศทางการใช้ชีวิตของผมเอง ผมพึ่งแต่ประสบการณ์ของตนเอง ผมไม่ได้ “เชื่อ” หรือไม่ได้ “ไม่เชื่อ” คำสอนใดๆโดยทันที แต่ใครว่าอะไรดีผมรับฟังแล้วเอามาลองปฏิบัติดูเองหมด แล้วประเมินเอาจากประสบการณ์ของตนเอง ที่ดีจริงก็เก็บเอาไว้ใช้ ที่ไม่ดีจริงก็ทิ้งไป โดยไม่สนใจว่าใครเป็นคนพูดไว้

ในการกำหนดทิศทางดำเนินชีวิต มันเป็นเรื่องของใครของมัน ผมทำได้แค่ยกตัวอย่างของผมมาแชร์ให้ฟังเท่านั้น เบื้องนอกผมทำตัวให้อยู่ในสังคมได้ไม่ไปทำให้คนอื่นเดือดร้อน ขณะที่ทิศทางการดำเนินชีวิตของผมที่แท้จริงคือมุ่งทิ้งคอนเซ็พท์ ตรรกะ คำสอนใดๆ ที่ได้เรียนรู้มาแล้วไปให้หมด เพื่อถอยเข้าไปหา “ความรู้ตัวที่ปลอดความคิด” ซึ่งเป็นส่วนลึกในตัวเอง ผมพบว่าที่ตรงนี้นอกจากจะสงบเย็นแล้ว ยังเป็นแหล่งของศักยภาพที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆขึ้นมาได้เต็มศักยภาพที่ผมเองมีอีกด้วย คือมันเป็นแหล่งของปัญญาและความรู้ที่หาไม่พบที่ข้างนอก มันทำให้ผมบรรลุเป้าหมายสุดท้ายที่มีไว้ในใจ คือการมีชีวิตที่

“สงบเย็น และสร้างสรรค์”

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]