26 ธันวาคม 2561

จะออกธุดงค์โดยเอาสมุดบัญชีแบงค์ใส่ไว้ในย่าม

กราบเรียนคุณหมอสันต์
     ผมเต็มกลืนกับชีวิตครอบครัวแล้ว ผม 62 ลูกๆพ้นอกไปหมดแล้ว เหลือแต่เมียขี้งกและขี้บ่นซึ่งนับวันแต่จะอาการหนักขึ้นๆหนึ่งคน เธอบ่นตลอดแบบว่าแทบไม่เคยเห็นใครดี ผมกำลังคิดว่าจะยกสมบัติทั้งหมดให้เมีย เหลือแต่เงินพอให้ตัวเองใช้เล็กน้อย แล้วออกธุดงค์ไปไม่ให้ใครรู้ว่าผมอยู่ที่ไหนหรือไม่ก็บวชไปเลย เพื่อจะได้พบกับความสุขในชีวิตที่แท้จริงเสียที อยากได้คำแนะนำจากคุณหมอครับว่าทำแบบนี้ดีไหม

..........................................................

ตอบครับ

     ประเด็นที่ 1. ใครกันแน่ที่เป็นปัญหา ขอโทษ เมียข้า หรือตัวข้า ถ้าเมียข้าเป็นปัญหา ถ้าเธอคนนี้ไปเป็นเมียคนอื่นก็จะไม่มีปัญหากับข้าใช่ไหม แสดงว่าจริงๆแล้วปัญหามันเกิดเพราะเมียผิดสะเป๊คทำให้ "ข้า" นี้ต้องเสียศักดิ์ชั้นของการเป็นสามีที่มีระดับหรือเปล่า ผู้ชายดีๆอย่างตัวข้านี้ มามีเมียสั่วๆอย่างนี้ได้ไง
     ในชีวิตของคนเรานี้ อีโก้จะคอยบอกเราว่าคนอื่นเป็นคนผิดอยู่เรื่อย มีแต่เราเป็นคนถูกอยู่คนเดียว คนอื่นห่วยแตกอยู่เรื่อย มีเราใช้การได้อยู่คนเดียว ผมไม่เคยได้ยินใครพูดกับผมเลยว่าตัวเขาหรือตัวเธอเองเป็นคนผิดขณะที่คนอื่นถูก คือคนเราพยายามปกป้องความเป็นบุคคลหรืออีโก้ของเรามากเกินไป โรคนี้คงจะไม่หายไปไหน ตราบใดที่เรายังเพิกเฉยต่อความจริงที่ว่าความเป็นบุคคลของเรานี้เป็นเพียงคอนเซ็พท์ที่เราคิดขึ้นมา มันไม่ใช่ของจริง และหากโรคนี้ยังไม่หาย ก็อย่าหวังว่าจะหลุดพ้นไปไหน ไม่ว่าคุณจะออกเดินธุดงค์ไปไกลสุดหล้าฟ้าเขียว เพราะความเป็นบุคคลของคุณหรือสะเป๊คที่คุณวางไว้ว่าคุณต้องเป็นคนระดับนี้มันเป็นความคิดอยู่ในหัวของคุณเอง มันจะติดตามคุณไป แล้วคุณจะหลุดพ้นได้อย่างไร

     ประเด็นที่ 2. ในความเป็นเรานี้ ส่วนไหนกันแน่ที่เป็นปัญหา ชีวิตประกอบด้วยสามส่วนคือ (1) ร่างกาย (2) ความคิด และ (3) ความรู้ตัว ร่างกายเรานี้มีสถานะเทียบเท่ารถยนต์คันหนึ่งเท่านั้น ความคิดของเราก็มีสถานะเทียบเท่าได้กับซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ชุดหนึ่งเท่านั้น ไม่มีอะไรพิศดารกว่านั้น ทุกวันนี้คนกลัวว่าปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (artificial intelligence) จะครอบครองมนุษย์ในอนาคต แต่การยอมรับปัญญาประดิษฐ์มาบงการชีวิตจะไม่เปลี่ยนโครงสร้างของชีวิตมนุษย์ไปจากปัจจุบันนี้เลย ทุกวันนี้ปัญญาประดิษฐ์ในรูปของสมาร์ทโฟนและอินเตอร์เน็ทก็บงการความคิดเราไปเกินครึ่งแล้ว แค่ในอนาคตมันอาจมีผลให้ความคิดของมนุษย์แต่ละคนมาคล้ายกันมากขึ้นเท่านั้น ประเด็นของผมคือทั้งร่างกายก็ดี ความคิดก็ดี มันไม่ใช่ "ฉัน" ที่แท้จริง ฉันที่แท้จริงเป็นความรู้ตัวซึ่งเป็นผู้สังเกตรับรู้ร่างกายและความคิดนี้อยู่ต่างหาก ความหลุดพ้นก็คือการสามารถวางความคิด วางร่างกาย ถอยไปเป็นความรู้ตัว ซึ่งเป็นตัวตนแท้จริงดั้งเดิมของเรา จากตรงนั้นมองออกมาจะเห็นความคิดว่าเป็นเพียงสิ่งที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป จะเห็นว่าความคิดที่ผ่านมาผ่านไปก็เหมือนความฝันที่เมื่อตื่นแล้วก็หายไป การตื่นจากความเพิกเฉยต่อความจริงที่ว่าความเป็นบุคคลของเรานี้เป็นเพียงความฝันหรือละครที่เล่นกันสั้นๆ การตื่นแบบนี้แหละ คือความหลุดพ้น ซึ่งเป็นสนามที่มีผู้เล่นเพียงสามเจ้า ย้ำอีกที คือ (1) ความคิด (2) ร่างกาย และ (3) ความรู้ตัว ไม่เกี่ยวกับสถานที่ภายนอกใดๆหรือบุคคลภายนอกคนไหนๆทั้งสิ้น

     ประเด็นที่ 3. ในมิติของสถานที่ คุณจะค้นหาความรู้ตัวซึ่งเป็น "ฉัน" ตัวจริงใช่ไหม มันอยู่ที่ไหนละ ข้างในหรือข้างนอก มันอยู่ข้างในนะ แล้วการจะเข้าไปข้างใน คุณต้องใช้เครื่องบิน รถ เรือ หรือเดินเท้าไปอย่างนั้นหรือ ไม่ต้องใช่ไหม ถ้างั้นคุณเข้าไปยังไง วิธีเข้าไปก็คือคุณแค่นิ่งๆเงียบๆ วางความคิดลง เพราะความคิดเป็นความกระเพื่อมไหว นิ่ง เงียบ อยู่ที่นี่ นั่นแหละ ที่นี่เดี๋ยวนี้ ตรงนี้แหละคือความรู้ตัว ตรงนี้แหละคือความหลุดพ้น ประเด็นของผมคือคุณอยู่ตรงนี้แล้วนะ มันไม่ได้ยากถึงขนาดต้องสละเรือนออกบวชหรือละทิ้งครอบครัวออกธุดงค์ จริงอยู่ การจะกลับเข้าไปค้นหาข้างในมันก็ต้องมีการฝึกฝนทักษะกันบ้างนะ เพราะข้างในของคุณมันถูกยึดครองด้วยความคิดมานาน คุณแค่ใช้เวลาที่ว่างจากงานที่จำเป็นในการดูแลครอบครัวก็พอแล้วที่คุณจะใช้ฝึกฝนนี้

     ประเด็นที่ 4. ในมิติของเวลา ความหลุดพ้น ไม่ได้เกิดในอนาคต แต่เกิดเดี๋ยวนี้ ความตั้งใจของคุณที่พยายามจะได้เป็น (becoming) พยายามจะประสบความสำเร็จ (achieving) พยายามจะบรรลุ (attainment) มันกลับจะพาคุณไกลออกไปจากเดี๋ยวนี้แบบไกลออกไป ไกลออกไป..ไกลออกไปจนกู่ไม่กลับ คุณจะหลุดพ้นคุณไม่ต้องไปทำอย่างโน้นอย่างนี้ในอนาคต อยู่ตรงนี้เดี๋ยวนี้แหละ แค่วางความคิดลง แล้วในการจะหลุดพ้น คุณอย่าไปมุ่งที่ความสมบูรณ์แบบ ตัวผมเองก็ไม่ได้มีสติหรือจอดความสนใจอยู่ที่ความรู้ตัวได้ตลอดเวลานะ  อีกอย่างหนึ่งผมไม่รู้หรอกว่าอีกหนึ่งวินาทีข้างหน้าชีวิตผมจะเกิดอะไรขึ้น ผมไม่มีญาณหยั่งรู้อย่างนั้นดอก แต่มันสำคัญที่สิ่งภายนอก ความคิด อารมณ์ กิจกรรม ความสัมพันธ์ ไม่สามารถดึงเราออกจากการเป็นความรู้ตัวได้อีกต่อไปแล้วต่างหาก ผมไม่ตื่นเต้นกับโมเมนต์ถัดไปข้างหน้า ไม่อาลัยหาสิ่งที่ผ่านมาแล้วข้างหลัง สำหรับผมคำว่า what next? ไม่มี ไม่มีอะไรให้ผมรอคอย ถ้าคุณมาอยู่ตรงนี้ได้แล้วหากคุณลองรู้สึก ลอง feel มันดู มีอะไรเหลืออยู่บ้างไหม คุณจะพบว่าสิ่งที่เหลืออยู่มันไม่ใช่อะไรที่จะต้องพยายามประคอง ประคบประหงม กุม บีบ ปกป้องเอาไว้ หรือต้องวิ่งไปหาเลย มันอยู่ได้ของมันเอง คือมันเป็นสิ่งที่ไม่ไปไหน ความจริงมันอยู่ของมันที่นี่อยู่แล้ว มันไม่เคยมา มันก็จึงไม่ต้องไป มันเป็นแค่ความนิ่งๆ เงียบๆ ว่างๆ แต่เป็นความตื่นอยู่และมีความสามารถรับรู้ได้ ถ้ามันไม่นิ่งแสดงว่ามีผู้มาสะกิด ผมหมายถึงความคิดหรือนักพากย์ประจำตัวคุณนั่นเอง แต่ว่าความคิดมันมาแล้วก็ไป มันจะไม่มีน้ำยาอะไรเลยถ้าคุณไม่เอาความสนใจไปให้ราคาแก่มัน ความคิดมันก็เป็นแค่ตัวตลกละคอนสัตว์ มันเป็นคุณไม่ได้ถ้าคุณไม่ยอมให้มันเป็น

     คือผมกำลังจะบอกคุณว่าคุณไม่ต้องหนีบ้านหรือหนีเมียไปไหนหรอก อยู่ที่นี่แหละ หลุดพ้นที่ตรงนี้เดี๋ยวนี้ ในชีวิตคนสามัญบ้านๆ มันมีสามจังหวะสำคัญนะที่จะทำให้คุณสัมผัสความหลุดพ้นได้ง่ายๆ คือ

     1. ในโมเมนต์ที่แรกเริ่มตื่นขึ้นตอนเช้า ณ ขณะนั้นความคิดของคุณยังงัวเงียไม่ทันตื่น ความคิดยังมาไม่แรง นั่นแหละ ให้เงี่ยหูให้ดี ลุกขึ้นนั่งมองดูความว่างๆเงียบๆนิ่งๆ ณ ขณะนั้น
     2. ในโมเมนต์กลางวันแสก บางเวลาที่คุณไม่มีอะไรจะทำ ไม่มีอะไรจะคิด ตรงนั้นแหละ ให้เงี่ยหูให้ดี ใส่ใจกับความเงียบและความว่างนั้น เมื่อสองวันก่อนผมสอนในแค้มป์โรคมะเร็ง ผู้ร่วมแค้มป์คนหนึ่งตั้งคำถามในชั้นเรียนว่า "คุณเคยไหม นั่งมองสวนดอกไม้หน้าบ้านแบบเฉยๆ โดยไม่คิดอะไร" แหม พูดถูกใจผมจริงๆ นั่นแหละ ใช่เลย ตรงที่ว่างๆโดยไม่มีความคิดนั่นแหละ คือความรู้ตัวซึ่งเป็นความสงบเย็นแท้จริงที่ทุกคนหลงไปแสวงหากันที่ที่อื่นแทบเป็นแทบตาย
     3. ในโมเมนต์ที่กำลังจะนอนหลับ เปลี่ยนเสื้อผ้าแล้ว ใส่ชุดนอน วางงาน วางหนังสือ ปิดทีวี ปิดไฟ ขึ้นเตียง จังหวะนี้เป็นจังหวะที่ดีที่จะนั่งสมาธิวางความคิด อยู่กับความรู้ตัวโดยไม่คิดอะไร

     นอกจากสามจังหวะนี้แล้ว ทุกโมเมนต์ในชีวิตก็เป็นโอกาส ที่คุณจะเงี่ยหู ใส่ใจความรู้ตัว ซึ่งเป็นความเงียบในหัว ไม่ต้องไปธุดงค์ ไม่ต้องไปบวช ไปบวชคุณต้องถือศีลสองร้อยกว่าข้อเชียวนะ แค่ท่องจำข้อห้ามเหล่านี้และระวังไม่ให้ใครเขานินทาว่าร้ายเอาได้ว่าคุณเป็นตาเถรทุศีล แค่นี้คุณก็หนักแล้ว แถมพวกพระเถรเณรชีองค์อื่นๆรอบตัวคุณคุณจะรู้ได้อย่างไรว่า "องค์" ของพวกท่านจะเบากว่าองค์ของเมียคุณ

     ประเด็นที่ 5. ในแง่ของความส้มพันธ์กับคนอื่น มันเริ่มที่ความสัมพันธ์กับตัวเองก่อน เมื่อฉันตัวนอกที่เป็นบุคคลไม่มี ก็จะเหลือแต่ฉันตัวในที่เป็นความรู้ตัว เมื่อไม่มีฉันที่เป็นบุคคลก็ไม่ต้องปกป้องหรือมองหาความมั่นคงปลอดภัย เพราะคอนเซ็พท์เรื่องความมั่นคงปลอดภัยเป็นความคิดที่ถูกชงหรือนำเสนอโดยอีโก้ซึ่งก็คือฉันที่เป็นบุคคล เมื่อไม่เหลือความเป็นบุคคล ทุกโมเมนต์ที่เกิดขึ้นจะเป็นปรากฎการณ์ใหม่ๆซิงๆสดๆที่ท้าทายน่าสนใจยิ่ง มันจะเป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่ไม่มีภาษาเข้ามาเกี่ยวข้อง ต่างจากชีวิตในอดีตที่ผ่านมาเมื่อคุณพูดว่าคุณเห็นภรรยา คุณสร้างความเป็นบุคคลให้เธอโดยอัตโนมัติจากความจำของคุณเอง เท่ากับว่าในการมีชีวิตอยู่กับภรรยานี้จริงๆแล้วคุณอยู่กับความจำจากอดีตของคุณเอง ไม่ได้อยู่กับตัวตนข้างในซึ่งเป็นตัวของเธอจริงๆหรอก การบรรลุความหลุดพ้นก็คือเมื่อคุณมองดูภรรยาแล้วเห็นความจำของคุณเองกำลังก่อความคิดขึ้นในหัวคุณ มองเห็นว่าตัวคุณเองอยู่นอกกระบวนการก่อความคิดนั้นโดยอัตโนมัติ คุณเป็นแค่ผู้เฝ้าสังเกตอยู่ นั่นแหละคุณหลุดพ้นแล้ว โดยได้อาศัยภรรยาของคุณเป็นตัวช่วยนะ..อย่าลืม ยามที่คุณเฝ้าสังเกตมันจะมีแต่การทำ ไม่มีผู้ทำ ผู้ทำโผล่ขึ้นมาเมื่อการทำจบไปแล้ว เพราะว่าผู้ทำนั้นสร้างขึ้นมาโดยความจำ หากคุณไปปักใจว่าคุณเป็นผู้ทำ คุณก็หลุดจากความจริงที่ว่าคุณเป็นอะไรจริงๆไปเสียแล้ว

     ประเด็นที่ 6. ความไว้วางใจ (trust) อันนี้เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยได้พูดถึงมาก่อน เพิ่งมาพูดถึงไม่นานมานี้เมื่อประสบการณ์สอนผมว่ามันเป็นประเด็นสำคัญ คือทุกๆสถานะการณ์ในชีวิตเกิดขึ้นพร้อมกับวิธีแก้ปัญหาในตัวของมันเองแบบอัตโนมัติ ไม่ต้องไปกะเก็งระแวดระวังตอบโต้แต่อย่างใด จงแค่เปิดใจยอมรับ ปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการต้องเลือกอะไรทั้งสิ้น แค่ตื่นและยอมรับยอมแพ้ทุกอย่างแบบศิโรราบ ปล่อยวางทุกอย่างด้วยความความไว้วางใจ (trust) ไว้วางใจในจักรวาลนี้ระดับ 100% ว่าเดี๋ยวทุกอย่างมันจะดีเอง ไม่ต้องพากย์ ไม่ต้องตั้งคำถาม ไม่ต้องพยายามอธิบาย คุณจึงจะหลุดพ้นได้ เหมือนอย่างแมวเวลามันหล่นลงมาจากที่สูง ขณะลอยอยู่กลางอากาศมันไม่เคยตะเกียกตะกายไขว่คว้า เพราะมันไว้วางใจว่ามันจะลงจอดบนดินได้โดยสวัสดิภาพ จะเรียกว่าความเชื่อมั่นก็ได้ แต่ไม่ใช่ความเชื่อแบบ belief นะ trust ไม่เหมือนกับ belief คุณต้องมีความไว้วางใจในความสุขที่ภายในซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของความรู้ตัว การที่คุณยักเงินในบัญชีไว้เผื่อเหนียวว่าคุณได้ประกันความสุขสบายชัวร์ๆไว้ก่อนแล้วค่อยออกไปธุดงค์เสาะหาความหลุดพ้นโดยเอาสมุดบัญชีธนาคารใส่ไว้ในย่ามด้วย นั่นหมายความว่าคุณไม่ไว้วางใจว่าความสงบเย็นจากความรู้ตัวที่ภายในซึ่งปลอดจากความเป็นบุคคลนั้นเป็นของที่มีอยู่จริง คุณยังไว้วางใจคอนเซ็พท์เรื่องความเป็นบุคคลของคุณ ไว้วางใจชื่อคุณ ไว้วางใจสมุดบัญชีธนาคารของคุณมากกว่า อย่างนี้แล้วคุณจะหลุดพ้นไปไหนได้ละ

     คุณอ่านทั้งหกประเด็นนี้สักหลายๆเที่ยว แล้วตัดสินใจว่าจะไปบวชหรือไปธุดงค์หรือไม่เอาเองนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

25 ธันวาคม 2561

จะแน่ใจได้อย่างไรว่า...ก็ลองด้วยตัวเองสิครับ

เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ
ผมคิดจะหันมากินอาหารแบบที่คุณหมอแนะนำ (ทำบอลลูนมาหมาดๆหนึ่งครั้ง ไม่ทันครบปีดีคุณหมอจะให้ทำครั้งที่สองอีกแล้ว) แต่ว่าผมยังกริ่งเกรงว่ากินอาหารพืชเป็นหลักอย่างที่คุณหมอว่าผมจะไม่อายุสั้นลงหรือครับ ผมเห็นคนกินมังสะวิรัติมีแต่คนผอมแห้งแรงน้อยซีดๆเหลืองๆดูท่าทางไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง ผมจะแน่ใจได้อย่างไรละครับว่ากินแบบนั้นแล้วผมจะไม่แย่ไปยิ่งกว่าเดิม จริงๆแล้วอาหารทำให้คนเป็นโรคหัวใจหรือทำให้คนอายุสั้นจริงหรือครับ แล้วอาหารทำให้คนเสียชีวิตจริงหรือครับ แล้วอาหารที่ว่าเลวนั้นอะไรเลวอะไรดีกันแน่ครับ

.............................................................

ตอบครับ

     1. ถามว่าอาหารทำให้คนเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหัวใจและทำให้อายุสั้นจริงหรือ ตอบว่าจริงครับ มูลนิธิบิลเกตส์ได้ตีพิมพ์ผลวิจัยขนาดใหญ่ในวารสาร Lancet งานวิจัยนี้ทำใน 188 ประเทศ สำรวจปัจจัยที่มีผลต่ออัตราตายรวม 79 ปัจจัย พบว่าอาหารเลวเป็นปัจจัยที่เพิ่มอัตราตายมากที่สุด คือสัมพันธ์กับการตายของคน 11.3 ล้านคน มากกว่าปัจจัยอื่นเช่น ความดันเลือด มลภาวะ น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง และปัจจัยที่ไม่เกี่ยวกับโภชนาการเช่น สูบบุหรี่ อ้วน ดื่มแอลกอฮอล์จัด ออกกำลังกายน้อย เป็นต้น ปัจจัยเหล่านั้นล้วนไม่หนักเท่าอาหาร คือเรื่องอื่นก็มีผล แต่เรื่องอาหารเลวมีผลต่อการตายมากที่สุด

     2. ถามว่าแล้วอาหารแบบไหนละที่ดีหรือเลวหนะ คนโน้นว่ายังโง้น คนนี้ว่ายังงี้ แต่บอกหน่อยได้ไหมว่าอาหารแบบไหนที่ว่าเป็นอาหารเลว ตอบว่าในเรื่องนี้มีงานวิจัยที่ดีมากตีพิมพ์ไว้ในวารสาร J of Nutrition ซึ่งทำการวิจัยอาหารโดยสัมพันธ์กับอัตราตายระยะยาวแล้วพบว่าอาหารที่ดีหมายถึงกินแล้วลดการตายด้วยโรคต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหัวใจหลอดเลือดให้น้อยลงได้แก่ (1) ผลไม้ (2)ผัก (3) ธัญพืชไม่ขัดสี (4) ถั่วและนัท ซึ่งเป็นผลสรุปที่สอดคล้องกับงานวิจัยทางโภชนาการอื่นๆเป็นอันดี อีกงานวิจัยหนึ่งทำที่เสปญและตีพิมพ์ไว้ในวารสารโภชนาการอเมริกัน (AJN) ซึ่งมีผลสรุปว่าแม้แต่คนที่กินเนื้อสัตว์เป็นอาหารหลักประจำวัน แค่เพิ่มการกินพืชบวกเข้าไปให้มากกว่าเดิม อัตราตายในระยะยาวก็ลดลงแล้ว

     ส่วนอาหารที่เลวหรือสัมพันธ์กับการตายมากขึ้นนั้น หนีไม่พ้นสองกลุ่มหลักคือเนื้อสัตว์ที่ผ่านการถนอม หรือ processed meat อันได้แก่ไส้กรอก เบคอน แฮม รองลงไปคือเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (red meat) ซึ่งสัมพันธ์กับการเป็นโรคดุๆหลายโรครวมทั้งโรคมะเร็ง จนกองทุนวิจัยมะเร็งโลกและสถาบันวิจัยมะเร็งอเมริกาออกแนวปฏิบัติ (guidelines)  ว่า "ให้กินอาหารที่เป็นพืชให้มากที่สุด ลดเนื้อที่การปรับแต่งถนอมและเนื้อของสัตว์เลี้้ยงลูกด้วยนมลง" 

     3. ถามว่าอาหารแบบไหนทำให้คนอายุยืน ตอบว่าอาหารพืชเป็นหลักนั่นแหละครับ งานวิจัยบลูโซนซึ่งวิจัยชุมชนที่มีคนอายุเกินร้อยปีมากที่สุดห้าแห่งของโลก (ได้แก่ (1) เมืองโลมาลินดาที่สหรัฐฯ, (2) แหลมนิโคยาที่ประเทศคอสตาริกา, (3) ซาร์ดิเนียที่ประเทศอิตาลี, (4) อิคาเรียที่ประเทศกรีก, (5) โอกินาวาที่ประเทศญี่ปุ่น พบว่าแม้ชุมชนเหล่านี้จะอยู่คนละทิศคนละทางแต่มีวิถีชีวิตที่ผ่อนคลายและออกกำลังกายมากคล้ายๆกัน และกินอาหารพืชเป็นหลักคล้ายกัน อย่างเช่นอาหารคลาสสิกดั้งเดิมของชาวเกาะโอกินาวานั้น 96% เป็นอาหารพืช แต่ว่าชาวโอกินาวาก็ไม่ใช่กลุ่มคนที่มีอายุยืนมากที่สุด แชมป์อายุยืนที่แท้จริงตามผลวิจัยที่ตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Arch Intern Med. คือชาวโลมาลินดาที่สหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวโลมาลินดาที่เป็นวีแกน หมายถึงว่าเป็นมังสะวิรัติ โดยมีอายุเฉลี่ยมากกว่าชาวอเมริกันทั่วไปถึง 10 ปี

     4. กินแต่พืชแล้วจะผอมแห้งแรงน้อยไม่แข็งแรงหรือเปล่า ตอบว่าคุณไปเอาข้อมูลมาจากไหนเหรอครับ คนที่เป็นนักกีฬาเอกระดับโลกที่กินมังสะวิรัติมีถมไป ในแง่ของความหล่อล่ำบึ๊ก Jim Morris นักกล้ามมิสเตอร์ยูเอสเอ.ก็เป็นคนกินมังสะวิรัตินะ การที่คุณจะไม่หล่อหรือจะไม่แข็งแรงนั้นไม่เกี่ยวกับการกินพืชเป็นหลัก คนทั่วไปเข้าใจเรื่องนี้ผิด Lizzie Deignan แชมป์จักรยานโลกคนสวยจอมอึดก็เป็นมังสะวิรัติ

     5. ถามว่าจะแน่ใจได้อย่างไรว่ากินแต่พืชแล้วจะดี ตอบว่าก็ลองกินดูสักสามเดือนหกเดือนก่อนสิครับ ประสบการณ์ของคุณเองนั่นแหละที่จะทำให้คุณมั่นใจ ดีกว่าเที่ยวสงสัยอะไรต่ออะไรไม่รู้จบไม่รู้สิ้นแต่ไม่ลองด้วยตัวเองจริงๆสักที แล้วของจริงเป็นอย่างไรจะรู้หรือครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

จดหมายจากท่านผู้อ่าน
     "...คุณพ่อวัย 85 ปี ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจและบายพาสมาแล้ว 2 เส้น เมื่อ25ปีก่อน คุณพ่อเป็นพ่อครัวเก่า เปิดร้านขายอาหารกินแต่อาหารจีนจนเคยปาก ผ่าตัดมาแล้วก็ยากที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน
     หลังจากผ่าตัดหัวใจ 4 ปีก่อนก็มีอันต้องผ่าตัดลำไส้ใหญ่ทิ้งไปช่วงหนึ่ง เพราะมีเนื้องอก ทำให้ขับถ่ายไม่ได้และมีเลือดออก (แพทย์คาดว่าเป็นมะเร็งระยะไม่ลุกลาม) เราตัดสินใจไม่คีโม หรือฉายแสง
หลังการผ่าตัด พอหายก็กลับมากินแบบเดิมอีก ล่าสุดต้นเดือนธันวาคมนี้ เข้า รพ. เพราะมีอาการอ๊อกซิเจนต่ำ ค่าเลือดแปรปรวน (คุณพ่อกินยาละลายลิ่มเลือด) เท้าบวม คุณหมอขอให้แอดมิด และวิเคราะห์ว่าเส้นเลือดที่บายพาสไว้น่าจะเสื่อม หรืออุดตัน เพราะเส้นหนึ่งใช้เส้นเลือดดำจากขา อายุการใช้งานจะไม่ทนเท่าเส้นเลือดแดง และคุณพ่อมีอาการหลอดลมโปพอง ตรวจพบเอ็นไซม์บางตัว ซึ่งคุณหมอคะเนว่ามาจากกการที่หลอดเลือดอุดตัน สรุปว่าจะขอสวนหัวใจเพื่อพิสูจน์ข้อสันนิษฐานว่าเป็นจริงหรือไม่
ถ้ามีเส้นไหนอุดตันก็จะทำบอลลูนตามขั้นตอน หรืออาจทำไม่ได้แล้วแต่สภาพ
     ดิฉันกลับมาหาคลิปของคุณหมอสันต์ อ่านบทความขั้นตอนการสวนหัวใจ ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ย้อนไปย้อนมา ประกอบการตัดสินใจหลายรอบ มาจบลงที่เปิดคลิปให้คุณพ่อดู ถามความเห็นให้ตัดสินใจด้วยตัวท่านเอง พ่อไม่อยากทำ เพราะพอได้นอนเตียง รพ.แล้วกว่าจะลุกขึ้นมามันยาก แค่3 วัน เก๊าเทียมก็เล่นงานแล้ว
     "พ่อ คุณหมอสันต์บอกว่าโรคหัวใจมันถอยหลังได้นะ แค่เปลี่ยนอาหาร"
     พ่อเข้า รพ.3-7ธ.ค.18 หมอปล่อยกลับเพราะไม่ยอมสวนหัวใจ เขาบอกพอแล้ว กลับมาบ้าน เริ่มอาหารที่ตัด หมู เห็ด เป็ด ไก่ ออกทั้งหมด กินข้าวต้มปลา สลัดผักกับน้ำโยเกิตรสธรรมชาติ ทุกวัน ตัดเกลือ น้ำปลา เครื่องปรุงรส ทั้งหมด กินลิสงถั่วต้ม กล้วยหอม ผลไม้ทุกชนิด กินแบบนี้มาจนวันนี้ 24 ธ.ค.18 ลุกอาบน้ำเองได้แล้ว ใช้ชีวิตได้ ขับถ่ายไม่เบ่งเสียงดังแล้ว แค่ไม่ถึงเดือนเอง ยาที่ได้มาเป็นกอบเป็นกำ ค่อยๆ ลดลงแล้ว ยาเก๊าต์ ยาขับปัสสาวะ ความดัน ลดไป 4 ตัวแล้ว มันเป็นจริง จริงๆ รอแพทย์ 11 ม.ค.19 ได้ผลอย่างไรจะมาเรียนให้ทราบอีกครั้งนะคะ
     กราบขอบพระคุณ คุณหมอสันต์เป็นอย่างสูงค่ะ คุณพ่อได้เลือกทางของตัวเองแล้ว..."

..................................................

บรรณานุกรม

1. GBD 2013 Risk Factors Collaborators. Global, regional, and national comparative risk assessment of 79 behavioural, environmental and occupational, and metabolic risks or clusters of risks in 188 countries, 1990-2013: a systematic analysis for the Global Burden of Disease Study 2013. Lancet. 2015 Dec 5;386(10010):2287-323.
2. McCullough ML. Diet patterns and mortality: common threads and consistent results. J Nutr. 2014 Jun;144(6):795-6.
3. Martínez-González MA, Sánchez-Tainta A, Corella D, Salas-Salvadó J, Ros E, Arós F, Gómez-Gracia E, Fiol M, Lamuela-Raventós RM, Schröder H, Lapetra J, Serra-Majem L, Pinto X, Ruiz-Gutierrez V, Estruch R; PREDIMED Group. A provegetarian food pattern and reduction in total mortality in the Prevención con Dieta Mediterránea (PREDIMED) study. Am J Clin Nutr. 2014 Jul;100 Suppl 1:320S-8S.
4. Katz DL, Meller S. Can we say what diet is best for health? Annu Rev Public Health. 2014;35:83-103.
5. World Cancer Research Fund / American Institute for Cancer Research. Food, Nutrition, Physical Activity, and the Prevention of Cancer: a Global Perspective. Washington DC: AICR, 2007.
Willcox DC, Willcox BJ, Todoriki H, Curb JD, Suzuki M. Caloric restriction and human longevity: what can we learn from the Okinawans? Biogerontology. 2006 Jun;7(3):173-7.
6. Fraser GE, Shavlik DJ. Ten years of life: Is it a matter of choice? Arch Intern Med. 2001 Jul 9;161(13):1645-52.
[อ่านต่อ...]

19 ธันวาคม 2561

แมมโมแกรมไม่มีประโยชน์จริงหรือ

เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ
ดิฉันอายุ 45 ปี กำลังเป็นทุกข์กับการทำหรือไม่ทำแมมโมแกรม ปกติทำทุกปี บางช่วงหมอให้ทำทุก 6 เดือน ที่กลุ้มใจเพราะเพื่อนเอาลิงค์มาให้บอกว่าแมมโมแกรมไม่มีประโยชน์ แถมการบีบเต้านมทำให้เป็นมะเร็งมากขึ้นและทำให้มะเร็งแพร่กระจายมากขึ้น รังสีเอ็กซเรย์ก็ทำให้เป็นมะเร็งมากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นความจริงหรือเปล่าคะ ถ้าแมมโมแกรมไม่มีประโยชน์ แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้เป็นมะเร็งเต้านม
เคารพรักคุณหมอค่ะ

........................................................

ตอบครับ

     1. ถามว่าแมมโมแกรมไม่มีประโยชน์จริงหรือไม่ ตอบว่าหากนับว่าประโยชน์ของแมมโมแกรมคือการลดการตายจากมะเร็งเต้านม คำตอบก็คือ "จริงครับ" ผมหมายถึงว่าหากเชื่อตามหลักฐานล่าสุดซึ่งทำวิจัยมาดีมาก แมมโมแกรมไม่มีประโยชน์ในการลดอัตราตายจากมะเร็งเต้านม ส่วนประโยชน์ในแง่อื่น เช่นการวินิจฉัยได้เร็วนั้น ไม่พูดถึงนะ งานวิจัยที่ผมใช้อ้างในการตอบคำถามข้อนี้เป็นงานวิจัยขนาดใหญ่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์อังกฤษ (BMJ) เมื่อสามปีก่อน เขาทำโดยสุ่มตัวอย่างเอาผู้หญิงจำนวนราว 90,000 คน สุ่มแบ่งออกมาแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้ทำแมมโมแกรมทุกปี อีกกลุ่มหนึ่งไม่ให้ทำ แล้วตามดูผู้หญิงเหล่านี้ไปจนครบ 25 ปี เพื่อจะลุ้นดูว่าใครจะตายจากมะเร็งเต้านมมากกว่ากัน ผลปรากฎว่า แถ่น..แทน..แท้น..น.. ตายเท่ากัน หิ หิ

     ทำไมละ ทั้งๆที่แมมโมแกรมตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ระยะแรกได้มากกว่าแต่ทำไมท้ายที่สุดแล้วอัตราตายกลับไม่ลดลง ตอบว่าเพราะการวินิจฉัยและรักษามะเร็งนี้มันมีความซับซ้อนลึกซึ้ง แมมโมแกรมมีดีที่ขยันตรวจพบก้อนเล็กก้อนน้อยที่วงการแพทย์เรียกว่ามะเร็งท่อน้ำนมชนิดเจี๋ยมเจี้ยมอยู่ในที่ตั้ง (DCIS) ซึ่งผมมีความเห็นว่าไม่ควรเรียกว่ามะเร็งด้วยซ้ำ เพราะม้นยังไม่ออกฤทธิออกเดชแบบมะเร็งเลย มะเร็งชนิดนี้ไม่ต้องขยันไปยุ่งกับเขาก็ได้ เพราะมันเป็นมะเร็งชนิดไม่ก้าวร้าว และหากตามไปดูแบบไม่ผ่าตัดก็จะพบว่าที่จะกลายเป็นมะเร็งจริงๆมีเพียง 18% เท่านั้นเองหรือน้อยยิ่งกว่านั้นคือแค่ 11% ในประเทศที่ผู้คนกินพืชเป็นอาหารหลัก ส่วนมะเร็งชนิดก้าวร้าวตัวจริงเสียงจริงนั้นแมมโมแกรมตรวจพบไม่ทันดอกครับ เพราะแค่หกเดือนมันก็ไปไหนต่อไหนแล้ว

     2. ถามว่าการบีบนมที่เกิดขึ้นขณะทำแมมโมแกรมจะทำให้เป็นมะเร็งเต้านมหรือทำให้มะเร็งแพร่กระจายจริงไหม ตอบว่าไม่มีใครทราบ ทราบแต่ว่าการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อทุกชนิดทำให้เนื้อเยื่อนั้นมีโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้น แต่เรายังไม่ทราบหรอกว่าการบาดเจ็บจากการบีบนมขณะทำแมมโมแกรมจะทำให้คนไข้เป็นมะเร็งมากขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์หรือเป็นแล้วแพร่กระจายกี่เปอร์เซ็นต์ มีแต่งานวิจัยในหนูว่าบีบนมหนูที่เป็นมะเร็ง หนูจี๊ดๆนะ แล้วจะทำให้มะเร็งแพร่กระจายมากขึ้น แต่หนูก็คือหนู ไม่เกี่ยวอะไรกับคน งานวิจัยในหนูไม่มีใครเอามาใช้ในคนหรอกครับ ต้องรอการวิจัยในคนก่อน

     3. ถามว่ารังสีเอ็กซเรย์ที่ใช้ทำแมมโมแกรมทำให้เป็นมะเร็งเต้านมได้จริงหรือเปล่า ตอบว่าได้จริงสิครับ ไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไร ขึ้นชื่อว่าเป็นเอ็กซเรย์แล้วก็ทำให้เป็นมะเร็งได้ทั้งนั้นแหละ เพราะรังสีเอ็กซเรย์เป็นสารก่อมะเร็ง โอกาสที่จะเป็นมีมากหรือน้อยนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ประเด็นสำคัญก็คือการประเมินอุบัติการของมะเร็งเต้านมเพราะรังสีส่วนใหญ่ทำกันในช่วงเวลาไม่เกิน 15 ปีหลังทำแมมโมแกรม แต่ว่าโอกาสที่รังสีเอ็กซเรย์จะทำให้เป็นมะเร็งได้จากการศึกษาพวกได้รับรังสีด้วยเหตุอื่นนั้นพบว่าใช้เวลายาวนานถึง 20 ปีขึ้นไป ปัจจุบันนี้เรายังไม่มีข้อมูลสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบผลของรังสีต่อเต้านมที่ยาวถึงระดับยี่สิบปีขึ้นไป จึงยังบอกไม่ได้ว่ารังสีเอ็กซเรย์ที่ใช้ในการทำแมมโมแกรมทำให้หญิงเป็นมะเร็งมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึงขั้นจำเป็นต้องเลิกทำแมมโมแกรมหรือเปล่า

     4. ถามว่าถ้าแมมโมแกรมไม่ดี แล้วจะป้องกันไม่ให้เป็นมะเร็งเต้านมได้อย่างไร ตอบว่า อ้าว.. ผมถามคุณกลับหน่อยสิ ทุกวันนี้คุณขับรถ คุณป้องกันอุบัติเหตุบนถนนอย่างไรบ้าง คุณก็ต้องนอนให้เต็ม ไม่ให้ง่วงนอน เรียนรู้ทักษะการขับรถให้คล่อง ดูแลรถให้ดี คาดเข็มขัด ทำตามกฎจราจร ขับรถอย่างมีสติคอยระแวดวะวังสังเกตสังกาไม่ใจลอยหรือมัวแต่จิ้มไอโฟน คุณทำแค่นี้แล้วก็ไม่ต้องไปวอรี่ว่าจะชนใครตายบนถนนได้แล้ว ถูกแมะ แต่ว่ามีใครประกันได้ไหมว่าคุณจะไม่มีวันชนใครตายบนถนนเลย..ไม่มีหรอก แต่คุณไม่วอรี่ เพราะคุณได้ทำดีที่สุดเท่าที่คุณจะป้องกันได้แล้ว แล้วคุณก็ใช้ชีวิตไปได้อย่างมีความสุข อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด

     ฉันใดก็ฉันเพล คุณกล้วเป็นมะเร็งเต้านม คุณก็ใช้ชีวิตให้ดีตามที่ข้อมูลทางการแพทย์มีอยู่แล้วสิ เช่น
(1) คุณจะต้องไม่ปล่อยตัวให้อ้วน ถ้าอ้วน ต้องลดน้ำหนักลง ด้วยการออกกำลังกายและกินอาหารแคลอรี่ให้น้อยลง เพราะยิ่งอ้วนยิ่งเป็นมะเร็งเต้านมมาก
(2) คุณต้องไม่กินเนื้อส้ตว์มาก โดยเฉพาะพวกไส้กรอก เบคอน แฮม และรองลงมาก็พวกเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เพราะวงการแพทย์รู้อยู่แล้วว่ามันสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งหลายชนิดรวมทั้งมะเร็งเต้านม
(3) คุณต้องกินอาหารเส้นใยให้แยะๆ ก็คืออาหารพวกผักผลไม้ถั่วและธัญพืชไม่ขัดสี เพราะใครๆก็รู้อยู่แล้วว่าอาหารแบบนี้ทำให้เป็นมะเร็งน้อยลง
(4) คุณจะต้องลดละเลิกแอลกอฮอล์และบุหรี่ เพราะมันสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งเต้านม
(5) คุณต้องเลิกฮอร์โมนเพศที่ใช้คุมกำเนิดหรือใช้เป็นฮอร์โมนทดแทน

     ทำทั้งหมดนี้แล้วคุณก็ใช้ชีวิตปกติสุขของคุณไปโดยไม่ต้องวอรี่ว่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่เป็น ถ้ามันจะเป็นมันก็เป็น ก็ทำไงได้ละ ได้แต่เออ..เป็นก็เป็น นี่คือวิธีใช้ชีวิตที่ดี อย่าไปหวังลมๆแล้งๆว่าวิธีการตรวจทางการแพทย์จะช่วยไม่ให้คุณเป็นมะเร็ง เพราะมันช่วยได้น้อยมาก ตัวคุณนั่นแหละจะช่วยได้ตัวเองได้มาก แต่ถ้าทำทั้งหมดนี้แล้วก็ยังวอรี่อีก ก็ไปทำแมมโมแกรมเหอะ คุ้มแน่นอน เพราะได้รักษาโรคประสาทด้วย

     5. ตรงนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมตอบแถมให้ คุณอายุยังไม่ถึง 50 ปีเลย แล้วไปขยันทำแมมโมแกรมทำไมละครับ มาตรฐานของการทำแมมโมแกรมทุกวันนี้ซึ่งกำหนดโดยคณะทำงานป้องกันโรคของรัฐบาลสหรัฐ (USPSTF) แนะนำว่าให้ทำแมมโมแกรมเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป และให้ทำแค่ปีเว้นปีไม่ใช่ทุกปี ทำไปจนถึงอายุ 75 ปีก็หยุดทำ ทั้งหมดนี้เป็นคำแนะนำที่ได้จากการวิเคราะห์หลักฐานวิทยาศาสตร์มาอย่างรอบคอบพอควรแล้ว คุณยังไม่เข้าเกณฑ์นี้เลยจะไปทำทำไมละครับ

     พูดถึง USPSTF เมื่อไม่นานมานี้ USPSTF ออกมาให้ข่าวว่าถ้าให้หญิงอายุ 40-49 ปีจำนวน 10,000 คนทำแมมโมแกรมทุกปีนาน 10 ปี จะมีคนรอดตายจากมะเร็งเต้านมได้ 4 คน ไม่แยะนะครับ สี่ในหมื่น หรือ 0.04% เมื่อทำแมมโมแกรมทุกปีนานสิบปี นี่คือประโยชน์ของแมมโมแกรม และเมื่อทำแมมโมแกรมแล้วถูกวินิจฉัยว่าได้ผลบวกต้องตัดชิ้นเนื้อ พบว่าผู้หญิงที่อายุ 40-49 ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งและตัดชิ้นเนื้อทุกๆ 100 คน ผลชิ้นเนื้อขั้นสุดท้ายจะเป็นมะเร็งเต้านมจริงๆเพียง 1 คน แปลว่าอัตราสูญเปล่าของการตัดชิ้นเนื้อเต้านมนี้มีถึง 99% โห..จะมีธุรกิจอื่นใดดีกว่าธุรกิจการแพทย์อีกไหมเนี่ย ที่อัตราความสูญเปล่าสูงถึง 99% แต่ก็ยังเป็นธุรกิจอยู่ได้ (หิ หิ พูดเล่น)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Olsen O, Gøtzsche PC. Cochrane review on screening for breast cancer with mammography. The Lancet 2001:358 (9290);1340-1342.
2. Welch HG, Passow HJ. Quantifying the benefits and harms of screening mammography.
JAMA Intern Med. 2014 Mar;174(3):448-54. doi: 10.1001/jamainternmed.2013.13635.
3. Miller, AB; Wall, C; Baines, CJ; Sun, P; To, T; Narod, SA (11 February 2014). "Twenty five year follow-up for breast cancer incidence and mortality of the Canadian National Breast Screening Study: randomised screening trial". BMJ (Clinical research ed.)2014. 348: g366. doi:10.1136/
[อ่านต่อ...]

15 ธันวาคม 2561

ขอวิธีถอยความสนใจมาสู่ความรู้ตัวเป็นของขวัญปีใหม่

สวัสดีค่ะอาจารย์
หนูเป็น extern ค่ะ ติดตามบล็อกอาจารย์มาได้สักพักแล้ว สนใจเรื่องการนำความสนใจเข้าสู่ความรู้ตัวค่ะ ชีวิตหนูยังผ่านอะไรมาไม่เยอะ แต่ที่คิดได้คือเรื่องจิตใจสำคัญมาก เพราะความทุกข์ ความไม่สมหวัง การสูญเสีย มันทำให้หนูมีความสุขน้อยกว่าตอนที่เด็กกว่านี้ หนูเลยอยากรู้ว่าการเข้าสู่ความรู้ตัวสามารถทำให้เราต้องผ่านภาวะพวกนี้ไปได้ง่ายขึ้นไหม เพราะมันน่าจะทำให้มีความสุขได้มากขึ้น มันคงคล้ายๆการปล่อยวาง แต่ไม่ถนัดด้านศาสนาอ่ะค่ะ
ถ้าทำได้ ทำอย่างไร ขอขั้นตอนเลยนะคะอยากทำตาม ถือว่าหนูขอเป็นของขวัญวันปีใหม่ 2019 นะคะอาจารย์
ขอบคุณมากเลยค่ะ
extern ตัวน้อยๆ
ปล.ปณิธานคือเรียนจบได้เงินเดือนแล้วจะไปเข้าแคมป์อาจารย์แน่นอนค่ะ

....................................................

ตอบครับ

     สำหรับท่านที่อยู่นอกวงการแพทย์ เอ็กซ์เทอร์น (extern) แปลว่านักศึกษาแพทย์ปีสุดท้าย ก็พวกคนที่หน้าตาคล้ายเด็กนักเรียนมัธยมแต่แต่งตัวคล้ายๆหมอเดินไปเดินมาอยู่บนวอร์ดคนไข้นั่นแหละ บางแห่งก็จะถูกมอบหมายให้ทำงานเท่ากับหมอจริงๆคนหนึ่ง โดยในแง่กฎหมายถือว่าเป็นการรักษาคนไข้ภายใต้การกำกับตรวจสอบอย่างใกล้ชิดของอาจารย์หรือแพทย์รุ่นพี่ ซึ่งก็มีบ้างเหมือนกันที่แพทย์รุ่นพี่อาจจะใช้วิธีตรวจสอบแบบไม่ค่อยใกล้ชิดนัก พูดง่ายๆว่าถูกพี่เขาตัดหางปล่อยวัด บางแห่งโหดยิ่งกว่านั้นเอาเอ็กซเทอร์นมาต่อคิวอยู่เวรกลางคืนผลัดเปลี่ยนกับพี่เขาซะเลยจะได้เบาแรงกันทุกฝ่าย เอ็กซเทอร์นเมื่อถูกตัดหางปล่อยก็ต้องงมหาทางไปเอาเอง จะคอยถามพี่ก็กลัวถูกพี่ด่าว่าทำไมเอ็งช่างโง่นัก ไม่ถามก็กลัวทำอะไรผิดพลาดแล้วทำให้คนไข้เสียหาย ชีวิตของเอ็กซเทอร์นจึงเป็นชีวิตที่เคร่งเครียดอยู่แล้วโดยธรรมชาติ วันๆเฝ้ารอแต่ว่าเมื่อไหร่เวรกรรมนี้จะจบสิ้นเสียที หลายคนพอเดินมาถึงจุดนี้ก็สรุปกับตัวเองได้แน่ชัดเลยว่า..สาปส่งอาชีพนี้ไปเสียดีกว่า ครูของผมคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่าสมัยที่ท่านทำงานอยู่อเมริกา  เพื่อนหมอไทยคนหนึ่งทะเลาะก้บพยาบาลฝรั่งบ๊งเบ๊ง บ๊งเบ๊ง พยาบาลซึ่งทั้งทรงอาวุโสและทรงอำนาจก็ถึงจุดเหลืออดจึงชี้หน้าหมอไทยซึ่งเป็นอินเทอร์น (intern - ซึ่งก็คล้ายเอ็กซ์เทอร์นสมัยนี้นะแหละ) ว่า

     "คุณเป็นแค่อินเทอร์นนะ ทำไมไม่รู้จักเจียมตัวเองเสียบ้าง" ข้างหมอไทยซึ่งกำลังน้อตหลุดก็ชี้หน้าตะโกนกลับไปว่า

     "ผมเป็นอินเทอร์นผมก็เป็นแค่ปีเดียวนะโว้ย แต่คุณเป็นพยาบาล คุณต้องเป็นจนตาย"

     นัยยะของบทสนทนานี้ก็คืออาชีพอินเทอร์นก็ดี อาชีพพยาบาลก็ดี มันเป็นอาชีพที่เครียด ผู้ทำอาชีพนี้ลึกๆก็เฝ้าแต่รอว่าเมื่อไหร่จะได้พ้นๆไปจากความเครียดอย่างนี้เสียที

     มาตอบคำถามของหมอน้อยคนนี้ดีกว่า

     ถามว่าการถอยความสนใจมาอยู่กับความรู้ตัวมีโปรซีเจอร์อย่างไร หนึ่ง.. สอง.. สาม.. สี่.. ห้า บอกมาซิ

     หิ หิ ตอบว่าไม่มีโปรซีเจอร์ดอกครับ

     พูดถึงโปรซีเจอร์ (procedure) คนเยอรมันเป็นชาติที่บ้าโปรซีเจอร์มากที่สุด สมัยผมเป็นหมอหนุ่มๆทำงานที่เมืองนอกในตำแหน่งขุนทาส (senior registrar) วันหนึ่งได้รับอินเทอร์นใหม่เข้ามาอยู่ในความดูแล เขาเป็นคนเยอรมันมาจากเยอรมัน มารายงานตัวแล้วก็ถามคำถามแรกว่า

     "การทำงานในทีมของคุณ มีโปรซีเจอร์อย่างไรบ้าง" ผมตอบว่า

     "ไม่มี" 

     เขาทำตาโตจนผมซึ่งตอนนั้นซีเนียร์และไม่ต้องเกรงใจใครมากแล้วถึงกับเผลอปล่อยก๊ากออกมา คนเยอรมันยึดติดโปรซีเจอร์ ชอบทำอะไรเป็นขั้นเป็นตอนเคร่งครัด เชื่อในคอนเซ็พท์ใดๆที่ถูกสั่งสอนมาเสียยิ่งกว่าเชื่อปัญญาญาณส่วนลึกของตัวเอง นั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมเยอรมันจึงเกิดผู้นำบ้าๆอย่างฮิตเลอร์ขึ้นมาได้โดยที่มีคนยอมทำตามเขาด้วยอีกต่างหาก

     กลับมาตอบคำถามของคุณหมอน้อยท่านนี้ดีกว่า ที่ผมตอบว่าการถอยความสนใจออกมาอยู่กับความรู้ตัวไม่มีขั้นตอนปฏิบัติหรือโปรซีเจอร์ก็เพราะโปรซีเจอร์เป็นความเชื่อ เป็นคอนเซ็พท์ ซึ่งทั้งหมดนั้นคือความคิด การถอยความสนใจมาอยู่กับความรู้ตัวเป็นการถอยออกมาจากความคิด ซึ่งคุณทำไม่ได้ดอกด้วยการอาศัยโปรซีเจอร์ เพราะหากทำอย่างนั้นเท่ากับคุณถอยจากความคิดหนึ่งไปอยู่กับอีกความคิดหนึ่ง แล้วคุณจะรู้ตัวได้อย่างไร เพราะรู้ตัวหมายความว่าตื่นอยู่โดยไม่มีความคิด หรือตื่นอยู่โดยไม่มีเสียงพากย์ว่านี่ขั้นที่หนึ่ง.. นี่ขั้นที่สอง.. อยู่ในหัว เพราะถ้ามีขั้นตอน ขั้นตอนเหล่านั้นก็จะเข้าครอบครองใจคุณแทนความคิดที่คุณตั้งใจจะปล่อยวาง แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร

     การจะรู้ตัวหรือตื่นอยู่โดยไม่มีความคิดนี้ คุณไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น อย่าปล้ำ อย่ายึกยัก เฉยไว้ เดี๋ยวดีเอง เพราะความรู้ตัวเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของคุณ มันเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของคุณมาตั้งแต่คุณยังไม่ได้เรียนรู้ภาษา ความรู้ตัวมันเป็นคลื่นพลังงานความสั่นสะเทือน คุณเป็นเด็กวิทย์คงเข้าใจได้ไม่ยาก ว่าคลื่นมันก็เป็นความร้อน แสง เสียง ไม่ต้องมีภาษาอะไรอธิบายคุณก็รับรู้มันได้ อย่างเช่นตอนคุณเกิดมาอายุสองเดือน หิวนมคุณรู้ อกของแม่อุ่นคุณรู้ สัมผัสของแม่คุณรู้ ดูดนมแล้วอิ่มคุณรู้ เพียงแค่คุณไม่รู้ว่านี่เรียกว่าแม่ นี่เรียกว่าอก นี่เรียกว่านม ภาษามาทีหลัง มันเป็นเครื่องมือบันทึกความจำหรือความคิด คนเราคิดเป็นภาษา ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเพิกเฉยต่อภาษาเสีย เลิกสนใจความคิดเสีย หันมาอยู่กับคลื่นความสั่นสะเทือนรอบตัวเดี๋ยวนั้น คุณก็เข้าไปอยู่ในความรู้ตัวแล้วทันที

     ผมให้คุณลองทำการบ้านสักสามอย่างนะ

     การบ้านที่หนึ่ง คุณลองวางความคิดหรือปล่อยความคิดไปไม่สนใจมัน ไม่ว่าจะเป็นความคิดเรื่องอะไรอย่าไปสนใจมันเสียชั่วคราว หันหลังให้มัน หันมาสนใจความรู้สึกใดๆบนผิวกายคุณแทน เช่นลมพัดมาถูกผิวหนังคุณเย็นๆหรือขนลุก คุณสนใจตรงนั้น สนใจความรู้สึกบนฝ่ามือก่อนก็ได้เพราะตรงนั้นมีปลายประสาทมากมันรับรู้ความรู้สึกได้ง่าย สนใจฝ่ามือจริงๆจังๆอยู่พักใหญ่คุณก็จะเริ่มรู้เองว่าที่ฝ่ามือนี่มันมีความรู้สึกสาระพัดเลยนะ จิ๊ดๆ จ๊าดๆ วูบๆวาบๆ เหน็บๆชาๆ สนใจเฉพาะสิ่งที่รู้สึก (feel) ได้นะ ไม่ใช่สิ่งที่คุณคิด (think) เอา ย้ำ feel ไม่ใช่ think ในที่สุดคุณก็จะรู้สึกได้ว่าผิวหนังทั่วร่างกายมันมีความรู้สึกต่างๆนาๆให้คุณรับรู้ได้ตลอดเวลา ความรู้สึกเหล่านี้มันถูกก่อขึ้นมาโดยความสั่นสะเทือนระดับละเอียดจากพลังงานที่ซ้อนทับอยู่ในร่างกาย ผมเรียกมันว่า internal body ก็แล้วกันนะ แบบที่คนจีนเรียกว่า "ชี่" หรือคนแขกเรียกว่า "ปราณา" นั่นแหละ พลังงานนี้ปกติมันจะถูกกลบด้วยกระแสไฟฟ้า (impulse) ที่สมองส่งไปตามเส้นประสาท ดังนั้นการจะรับรู้พลังงานนี้ได้คุณต้องผ่อนคลายร่างกาย ผ่อนคลายกล้ามเนื้อแบบสุดๆก่อน อย่าสั่งการให้กล้ามเนื้อทำอะไรใดๆทั้งสิ้น ตรงไหนเกร็งบอกให้มันผ่อนคลายก่อน หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกช้าๆพร้อมกับผ่อนคลายร่างกาย แล้วคุณจะรับรู้ internal body ได้ชัดขึ้น ทุกวัน ทุกที่ ทุกเวลา เมื่อใดก็ตามที่ว่างจากการงาน ให้คุณวางความคิดแล้วหันมาสนใจความรู้สึกบนร่างกาย ในที่สุดคุณจะรับรู้ internal body ซึ่งเป็นพลังงานไม่ใช่เนื้อตันๆว่าเป็นร่างกายคุณที่แท้จริง จากจุดนั้นมันจะไหลไปสู่พลังงานที่ลึกกว่าละเอียดกว่าสงบเย็นกว่าโดยอัตโนมัติ ตรงนั้นแหละคือความรู้ตัว

     การบ้านที่สอง คุณหาเวลาว่างๆนั่งในที่เงียบๆ มืดๆด้วยก็ยิ่งดี เลิกสนใจความคิด ทิ้งความคิดใดๆไปเสีย สนใจแต่คลื่นความสั่นสะเทือนใดๆรอบๆตัวก็พอ สนใจในฐานะที่มันเป็นคลื่น ไม่ต้องไปพากย์หรืออธิบายมันด้วยภาษา ถ้าอยู่ในที่มืดก็จะง่ายที่จะสนใจเสียง ฟังเสียงจากเสียงดัง ไปเสียงค่อย ฟังจนรู้ว่าเสียงมันเกิดขึ้นทางโน้นนิด ทางนี้หน่อย แต่สิ่งที่เป็นแบ็คกราวด์อันกว้างใหญ่ที่เป็นแหล่งที่มาของสรรพเสียงเหล่านั้นคือความเงียบ (silence) คุณค่อยๆไล่กวาดความสนใจจากเสียงดังไปเสียงค่อยไปหาความเงียบ แล้วจดจ่อความสนใจอยู่ที่ความเงียบ อย่างไม่มีความคิด ตรงนั้นแหละ ตรงความเงียบที่คุณตื่นอยู่และไม่มีความคิดนั่นแหละคือความรู้ตัว

     การบ้านที่สาม คราวนี้ผมจะให้คุณเล่นกับคอนเซ็พท์เรื่องเวลา ผมหมายถึงอดีต-อนาคต คุณนั่งอยู่เฉยๆ โดยไม่คิดอะไร นั่งอยู่งั้นแหละ แป๊บเดียวเดี๋ยวความคิดมันก็จะโผล่เข้ามาในหัว ให้คุณสังเกตความคิดของคุณ สังเกตดูความคิด (aware of a thought) นะ ไม่ใช่ให้คุณไปผสมโรงคิด (thinking a thought) ให้คุณสังเกตว่าทุกความคิดล้วนเป็นการเอาความจำหรือประสบการณ์ในอดีตของคุณมาปรุง (cook) เข้ากับคอนเซ็พท์เรื่องเวลา เช่นคุณเอาความจำเก่าๆร้ายๆมาปรุงกับคอนเซ็พท์อนาคต มันก็กลายเป็นความกลัว คุณเอาความจำร้ายๆมาปรุงกับคอนเซ็พท์อดีต มันก็กลายเป็นความเศร้าเสียใจหรือรู้สึกผิด ทั้งหมดนั้นเป็นความคิด ให้คุณสังเกตนะ ความคิดนั้นเพิ่งเกิดขึ้นแหม็บๆเดี๋ยวนี้นี่เอง มันไม่ได้เกิดที่อดีตหรือที่อนาคตนะ มันเกิดที่ปัจจุบัน เพียงแต่คุณไปปรุงเนื้อหาให้มันไปเป็นเรื่องราวในอดีตหรืออนาคตโดยที่อดีตอนาคตนั้นไม่ได้มีอยู่จริงหรอก เป็นเพียงใจคุณสมมุติขึ้นมาเท่านั้น ให้คุณแค่สังเกตให้เห็นแล้วเฝ้าดูว่าความคิดนั้นมันจะฝ่อของมันไปเอง พอคุณเฝ้าดู ความคิดนั้นจะฝ่อไป อดีต อนาคต ที่เป็นเรื่องราวในความคิดนั้นก็ฝ่อหายไปด้วย แล้วคุณเหลืออะไร คุณเหลือแต่ความรู้ตัวอยู่ในปัจจุบัน ให้คุณสังเกตนะว่าคุณอยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้โดยไม่มีความคิดเหลืออยู่ ไม่ใช่อดีต ไม่ใช่อนาคต คุณอยู่ในปัจจุบัน..ปัจจุบันนั่นแหละคือ ความรู้ตัว

     คุณทำการบ้านสามอย่างนี้ก่อน ทำเองได้เลย ฟรี ไม่เสียเงิน ขยันทำการบ้านทั้งสามนี้ไปทุกวันทุกที่ทุกเวลาที่ว่างจากการเรียนหรือการทำงาน กว่าที่คุณจะจบเอ็กซเทอร์น คุณอาจจะหลุดพ้นไปด้วยตนเองแล้วก็ได้ จะได้ไม่ต้องมาเสียเงินค่า Spiritual Retreat ให้หมอสันต์ตั้ง 9,000 บาท

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ 
[อ่านต่อ...]

14 ธันวาคม 2561

หมอสันต์พูดกับแพทย์และนักวิชาชีพที่สมาคมผู้ให้ความรู้เบาหวาน

สวัสดีครับ

     ในบรรดาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั้งหลายในเมืองไทยนี้ รวมทั้งโรคมะเร็ง หัวใจ ความดัน เบาหวาน โรคไต ผมสรุปความเห็นส่วนตัวว่าในสามสิบปีที่ผ่านมา โรคเบาหวานเป็นโรคที่ได้รับการจัดการโรคอย่างเป็นระบบดีที่สุดเมื่อเทียบกับโรคอื่น ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของทุกท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้ นักวิชาชีพด้วยกันที่ดูแลโรคเรื้อรังอื่นๆทำไม่ได้อย่างท่านซึ่งดูแลโรคเบาหวาน แต่ทั้งๆที่มีการจัดการโรคดีขนาดนี้แล้ว อัตราป่วยด้วยโรคเบาหวานของคนไทยก็ยังไม่ลดลง แถมกลับเพิ่มขึ้นอย่างค่อนข้างเร็ว แสดงว่ายังมีเหตุบางอย่างที่พวกเรายังอาจมองไปไม่ถึงจึงยังไม่ได้แก้ไข

     สิ่งที่ผมจะแชร์กับท่านในวันนี้เป็นมุมมองของผมซึ่งเป็นคนนอกวงการโรคเบาหวาน เป็นมุมมองของหมอหัวใจและหมอเวชศาสตร์ครอบครัว และเป็นมุมมองของคนไข้โรคหัวใจ หมายความว่าตัวผมเองเป็นทั้งหมอหัวใจ หมอเวชศาสตร์ครอบครัว และเป็นคนไข้ด้วย ดังนั้นท่านต้องทำใจก่อนนะว่าอาจจะได้ยินอะไรที่เป็นเรื่อง “นอกรีต” ที่คนในวงการโรคเบาหวานเขาไม่เชื่อถือหรือไม่ยึดถือปฏิบัติกัน ความแตกต่างระหว่างผมกับท่านนั้นมีมาก เพราะเราอยู่ในโลกคนละใบ หรือจะพูดให้ใกล้ความจริงกว่านั้นเราอยู่ในกะลาคนละใบ ท่านใหญ่และเจนจบคับกะลาของท่าน ผมก็เจนจบคับกะลาของผม เออ..แล้วเราจะพูดกันรู้เรื่องไหมเนี่ย แต่มันมีจุดร่วมที่จะทำให้ผมกับท่านพูดกันรู้เรื่องอยู่จุดหนึ่ง ตรงที่เราต่างก็ทำเวชปฏิบัติแบบอิงหลักฐาน หรือทำ evidence based medicine ดังนั้นวันนี้ผมจะมาแบบสงวนจุดต่าง แสวงจุดร่วม อะไรที่พูดไปแล้วท่านจะรุมตื้บผมก็จะไม่พูด แต่จะพูดถึงประสบการณ์ของผมเฉพาะในส่วนที่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์สนับสนุนซึ่งเป็นหลักฐานระดับสูงที่ท่านอาจพอยอมรับได้

     ในการพบกันครั้งนี้มีเวลาจำกัด ผมเองอยากจะสงวนเวลาส่วนหนึ่งไว้สำหรับการซักถามพูดคุย เรื่องโรคเบาหวานนั้นช่างเป็นเรื่องที่กว้างใหญ่ไพศาล ผมจึงจะใช้วิธีเลือกหยิบมาพูดเฉพาะประเด็นที่เป็นมุมมองที่อาจแตกต่างจากมุมที่ท่านเคยมองอยู่เท่านั้น

     ก่อนที่จะเข้าประเด็นที่จะพูด ผมขออนุญาตเกริ่นถึงภูมิหลังของผมสักหน่อยเป็นการทำความรู้จักกันและกัน อาชีพเดิมของผมคือเป็นหมอผ่าตัดหัวใจ ช่วงหนึ่งในชีวิตเคยอยู่ที่นิวซีแลนด์ อีกช่วงหนึ่งเคยทำงานเป็นอนุกรรมการให้กับสมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA) ที่ดัลลัสทำให้เข้าใจระบบการออกมาตรฐานคำแนะนำหรือ guidelines เป็นอย่างดี อีกช่วงหนึ่งเคยทำงานเรื่องหัวใจร่วมกับฮาร์วาร์ด เคยเป็นศัลยแพทย์เยี่ยมเยือนที่บริกแฮมแอนด์วีแมนฮอสพิทอลของฮาร์วาร์ด ความชำนาญของผมคือทำบายพาส หมายถึง CABG ทำไปแล้วสองพันกว่าราย ทำมาตั้งแต่หาคนไข้ทำไม่ได้เพราะไม่มีใครเป็นโรคนี้ คนไข้ไทยคนแรกของผมเป็นหลวงพ่ออายุ 84 ปี ผ่าไป ผ่าไป คนไข้ค่อยๆมีจำนวนมากขึ้นๆ อายุคนไข้ก็ลดลงๆ คนไข้คนสุดท้ายที่ผมผ่าตัดบายพาสก่อนจะเลิกอาชีพนี้มีอายุแค่ 27 ปี เหตุที่ผมเลิกอาชีพก็เพราะตัวผมเองป่วย ป่วยเป็นโรคที่ตัวเองรักษานั่นแหละ และผมก็ไม่ยอมรับการทำบอลลูนการทำบายพาส ไม่มีเหตุผลอะไรมาก แค่กลัวตายก่อนเวลาอันควรเท่านั้น ตอนนั้นผมอายุ 55 ปี อย่าลืมว่านิยามของการตายก่อนเวลาอันควรหรือ premature death ในทางการแพทย์คือการตายก่อนอายุ 70 ปีนะ การเลือกวิธีรักษาตัวเองของผมก็มีพื้นฐานอยู่บนหลักฐานวิทยาศาสตร์นั่นแหละ ไม่ได้เลือกวิธีพิสดารอะไร ผมเลือกวิธีเปลี่ยนสไตล์การใช้ชีวิตคือ เปลี่ยนอาหาร หันมาออกกำลังกาย ดูแลตัวเองให้ตัวชี้วัดง่ายๆเจ็ดตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ (1) น้ำหนัก (2) ความดัน (3) ไขมัน (4) น้ำตาล (5) ปริมาณกินพืชผักผลไม้ที่กินต่อวัน (6) จำนวนเวลาที่ใช้ออกกำลังกายต่อสัปดาห์ (7) การไม่สูบบุหรี่  เจ็ดตัวง่ายๆแค่นี้ ซึ่งสมาคมหัวใจอเมริกันเรียกว่า Simple Seven ทำเอง ดูเอง เมื่อตัวชี้วัดต่างๆของผมดีขึ้น โรคของผมถอยกลับได้ ผมก็เกิดชอบแนวทางนี้ จึงเกิดไอเดียว่าเลิกผ่าตัดเสียเถอะ มาสอนคนไข้ให้ดูแลตัวเองให้เป็นดีกว่า คิดได้แล้วก็จึงเปลี่ยนอาชีพ ไปฝึกอบรมและทำวิจัยทางเวชศาสตร์ครอบครัวและสอบบอร์ดเวชศาสตร์ครอบครัวได้แล้วจึงหันมาทำงานสอนคนไข้อย่างเดียว โดยตั้งแค้มป์กินนอนสอนกันอยู่ที่มวกเหล็ก

     เอาละคราวนี้มาเข้าประเด็นที่ผมอยากจะแชร์กับท่าน

ประเด็นที่ 1. โรคเบาหวานเป็นโรคที่หายได้

     ถ้านิยามคำว่าการหายจากโรคนี้คือ “หยุดยาได้หมดเกลี้ยงโดยที่น้ำตาลในเลือดปกติอยู่ต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือนหลังหยุดยา” โรคเบาหวานเป็นโรคที่หายได้ (แน่นอนว่าหายได้ตราบใดที่ยังใช้ชีวิตกินอยู่แบบดีๆอยู่ ไม่ใช่หายแล้วกลับไปกินแบบเดิมก็ต้องกลับเป็นโรคอย่างเดิมแหงๆ)

     ยกตัวอย่าง งานวิจัยนี้ (1) ทำที่สกอตแลนด์ วิธีที่เขาทำคือสุ่มเลือกคลินิกแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวหรือ GP ทั่วไปเทศมา 49 คลินิก เอามาสุ่มแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้การรักษาเบาหวานแบบลดความอ้วนแบบเอาเป็นเอาตาย ขอให้ลดน้ำหนักได้เหอะ กับอีกกลุ่มหนึ่งให้รักษาเบาหวานไปตามไกด์ไลน์มาตรฐานปกติ มีคนไข้เข้าร่วมวิจัย 298 คน กลุ่มละ 149 คน ทำวิจัยอยู่นาน 12 เดือน เป้าหมายคือจะให้หายจากเบาหวาน (นิยามว่าเลิกยาได้หมดแล้วน้ำตาลในเลือดกลับเป็นปกตินานติดต่อกันอย่างน้อย 2 เดือนหลังเลิกยาหมดแล้ว) และลดน้ำหนักได้เป็นเนื้อเป็นหนัง (นิยามว่าลดได้ 15 กก.ขึ้นไป) ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มที่มุ่งลดน้ำหนักอย่างเอาเป็นเอาตายสามารถลดน้ำหนักอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังได้ 24% โดยที่ภาพรวมของทั้งกลุ่มลดได้เฉลี่ยคนละ 10.0 กก. ขณะที่กลุ่มควบคุมไม่มีใครลดน้ำหนักได้เป็นเนื้อเป็นหนังเลยและภาพรวมเฉลี่ยลดได้คนละ 1.0 กก.
     แต่ความสำคัญอยู่ตรงนี้ กลุ่มลดน้ำหนักได้เป็นเนื้อเป็นหนัง โรคเบาหวานหาย 46% คือหาย 68 คน ขณะที่กลุ่มควบคุมหาย 4%
     ข้อสรุปจากงานวิจัยนี้คือการลดน้ำหนักคนอ้วนอย่างเอาเป็นเอาตาย จะทำให้โรคเบาหวานหายได้ถึง 46% แต่ความสำคัญที่ผมอยากจะไฮไลท์ก็คือโรคเบาหวานประเภท2นี้ไม่ใช่โรคที่เป็นแล้วจะต้องเป็นกันไปจนตาย ในงานวิจัยนี้ซึ่งทำกันแค่ปีเดียว เกือบครึ่งหนึ่งเลิกยาได้หมดโดยที่น้ำตาลในเลือดกลับเป็นปกติต่อเนื่อง พูดแบบบ้านๆก็คือโรคนี้มันหายได้ และในงานวิจัยนี้เกือบครึ่งหายได้ด้วยการลดน้ำหนักอย่างจริงจัง

ประเด็นที่ 2. อาหารเจแบบไขมันต่ำ ทำให้เบาหวานหายได้มากกว่าอาหารเบาหวานมาตรฐาน

     งานวิจัยนี้ (2) ทำโดยหมอเบาหวานชื่อบาร์นาร์ด เขาสุ่มตัวแบ่งกลุ่มคนไข้เบาหวาน 99 คนที่ใช้ทั้งยาฉีดยากินออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งกินอาหารเบาหวานที่แนะนำโดยสมาคมเบาหวานอเมริกัน (ADA) ซึ่งเป็นอาหารสุขภาพมาก อีกกลุ่มหนึ่งกินอาหารพืชล้วนๆในรูปแบบที่ไม่ผัดไม่ทอด (low fat vegan) คือให้ไขมันต่ำเข้าไว้ ไม่ให้กินเนื้อสัตว์เลย นม ไข่ ปลา ก็ไม่ให้กิน พบว่ากลุ่มที่กินอาหารวีแกนไขมันต่ำเลิกยาเบาหวานได้มากกว่าเท่าตัว (43%vs26%) ลดน้ำตาลสะสมได้มากกว่าเท่าตัว (1.22%vs0.38%) ลดน้ำหนักได้มากกว่าเท่าตัว (6.5 กก.vs 3.1 กก) ลดไขมันเลวได้มากว่าเท่าตัว (21.2% vs 10.7%)

     งานวิจัยอาหารวีแกนแบบไขมันต่ำอีกพวกหนึ่งคืออาหารที่ดัดแปลงมาจากอาหารของพระเซ็นในญี่ปุ่น ที่เรียกว่าอาหารมาโครไบโอติก ซึ่งเป็นอาหารพืชล้วนๆไม่มีเนื้อสัตว์เลย มีเส้นใยมาก มีธัญพืชไม่ขัดสีโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวกล้องมาก มีถั่ว ผักต่างๆ งา และชาเขียวมากอาหารสไตล์นี้ให้ผลต่อโรคเบาหวานแบบน่าทึ่งมาก

     ครั้งแรก (3) เป็นการวิจัยแบบ cohort โดยเอาคนไข้เบาหวานระดับดื้อด้านที่ทำอย่างไรก็ลดน้ำตาลสะสมให้ต่ำกว่า 8.5% ไม่สำเร็จมา 16 คน บางรายน้ำตาลสะสมสูงถึง 12.6% ทั้งๆที่ฉีดยากินยาอยู่ ให้คนไข้เหล่านี้กินอาหารมาโครไบโอติกนาน 6 เดือน พบว่าคนไข้ทุกคนเลิกอินสุลินได้หมด ส่วนใหญ่เลิกยากินได้ มีเหลือ 25% ที่ยังต้องกิน glibencamide ตัวเดียว โดยที่เฉลี่ย LDL/chol/Tg ลดลง 16.4%/22.7%/37.0% ขณะที่ HDL เพิ่มขึ้น 97.8% น้ำตาลในเลือดลดลง 63.8% HbA1c ลดลง 54.5% ตลอด 6 เดือนที่กินอาหารนี้อยู่

     ต่อมาได้มีการวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบที่อิตาลี (4) เอาคนไข้เบาหวานมา 56 คนสุ่มแบ่งเป็นสองกลุ่มๆละ 28 ทำวิจัยอยู่นาน 21 วัน กลุ่มหนึ่งให้กินอาหารมาโครไบโอติก อีกกลุ่มหนึ่งให้กินอาหารของสมาคมเบาหวาน (ADA) โดยนับแคลอรี่ของทั้งสองกลุ่มให้เท่ากันเพะ (isocaloric) ปิดโรงแรมสองโรงเพื่อทำวิจัยกันเลย พบว่าอาหารมาโครไบโอติกลดน้ำตาลและไขมันในเลือดและน้ำหนักได้ดีกว่ากลุ่มกินอาหารสมาคมเบาหวานชัดเจน ความแตกต่างนี้ยังคงอยู่ชัดเช่นเดิมในงานวิจัยติดตามนานหลังจากนั้นอีก 6 เดือน (5)

     ที่ผมจะชี้ให้ท่านดูคืออาหารของสมาคมเบาหวานนี้เป็นอาหารที่สุขภาพม้าก..ก มาก ผมยกตัวอย่างเมนูมาให้ดูวันหนึ่งนะ

มื้อเช้า
นมพร่องมันเนย 200 กรัม
ขนมปังโฮลวีท 50 กรัม

มื้ออาหารว่าง
ลูกแพร์ 200 กรัม

มื้อกลางวัน
สลัดหน่อไม้ฝรั่งราดน้ำมะนาวและน้ำมันมะกอก
ถั่วต้ม
โฮลวีทพาสต้า

มื้ออาหารว่าง
สัปประรด 200 กรม

มื้อเย็น
ปลาค้อดย่าง 140 กรัม
ซุปผัก

     จะเห็นว่าเป็นอาหารแนวพืชเป็นหลักเหมือนกันและสุขภาพม้าก..ก มาก ที่จะแตกต่างจากอาหารมาโครไบโอติกก็ตรงนมพร่องมันเนยแก้วหนึ่ง น้ำมันที่ใช้ราดสลัดนิดหนึ่ง กับปลาค้อดชิ้นเท่าฝ่ามือชิ้นหนึ่งเท่านั้น แต่ผลต่อน้ำตาลในเลือดนั้นกลับต่างกันมาก

ประเด็นที่ 3. อาหารเนื้อสัตว์ต่างหากที่สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวาน

      งานวิจัยขนาดใหญ่ (6,7) ที่กลุ่มประเทศทางภาคพื้นยุโรปได้ร่วมกันทำงานเพื่อติดตามดูกลุ่มคน 448,568 คนแบบตามไปดูข้างหน้า แล้วดูความสัมพันธ์ของอาหารกับการเจ็บป่วย เรียกว่างานวิจัยเอพิก (EPIC study) ตามมาแล้วสิบห้าปี พบว่าอาหารที่สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 นั้นไม่ใช่อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) อย่างที่คนทั่วไปเคยเข้าใจกัน แต่เป็นอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการถนอม (ไส้กรอก เบคอน แฮม)

ประเด็นที่ 4. อาหารไขมันต่างหากที่ก่อการดื้อต่ออินสุลิน

      งานวิจัยพิสูจน์กลไกการดื้อต่ออินสุลิน [8] พบว่าการดื้ออินสุลินเกิดจากการมีไขมันเก็บสะสมไว้ในเซลมาก งานวิจัยนี้ทำโดยทำการวัดระดับความเข้มข้นของไกลโคเจนและกลูโคสที่อยู่ในเซลกล้ามเนื้อไว้ก่อน แล้วทำให้น้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติ แล้วฉีดอินสุลินเข้าสู่กระแสเลือดให้ระดับอินสุลินในเลือดสูงผิดปกติ แล้ววัดการนำกลูโคสเข้าเซลและวัดอัตราเปลี่ยนกลูโคสเป็นไกลโคเจนในเซล ซึ่งพบว่าอินสุลินทำให้มีการนำกลูโค้สเข้าเซลมากขึ้น มีการเปลี่ยนกลูโคสในเซลไปเป็นไกลโคเจนมากขึ้น อันเป็นกลไกการทำงานของร่างกายตามปกติ ต่อมาในขั้นทดลองก็ทำการฉีดไขมันจากอาหารตรงเข้าไปไว้ในเซลกล้ามเนื้อก่อน แล้วทำให้น้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติ แล้วฉีดอินสุลินเข้าสู่กระแสเลือดให้ระดับอินสุลินในเลือดสูงผิดปกติ แล้ววัดการนำกลูโคสเข้าเซลและวัดอัตราเปลี่ยนกลูโคสเป็นไกลโคเจนในเซลอีกครั้ง ซึ่งครั้งหลังนี้พบว่าอินสุลินไม่สามารถนำกลูโค้สเข้าไปในเซล และไม่มีการเปลี่ยนกลูโคสในเซลไปเป็นไกลโคเจน ซึ่งเป็นสภาวะการณ์ที่เซลกล้ามเนื้อดื้อต่ออินสุลิน อันสืบเนื่องมาจากการมีไขมันไปสะสมในเซลกล้ามเนื้อมาก
      หลักฐานที่ว่าไขมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันอิ่มตัวจากสัตว์ทำให้เกิดการดื้อต่ออินสุลินอันเป็นต้นเหตุของเบาหวานชนิดที่ 2 นี้ได้มีการวิจัยกันบ่อยครั้ง  อีกงานวิจัยหนึ่ง[9] ทำที่มหาวิทยาลัยลอนดอนได้เลือกผู้ไม่กินเนื้อสัตว์เลย (วีแกน) และกินคาร์โบไฮเดรตในปริมาณสูงมากอยู่แล้วมา 21 คน แล้วเลือกผู้กินเนื้อสัตว์ที่มีโครงสร้างสุขภาพคล้ายๆกันและกินคาร์โบไฮเดรตน้อยอยู่แล้วมา 21 คน ให้ทั้งสองกลุ่มออกกำลังกายเท่ากัน กินอาหารที่มีแคลอรี่เท่ากันทุกวันต่างกันเฉพาะเป็นเนื้อสัตว์หรือเป็นพืชเท่านั้น กินอยู่นาน 7 วันแล้วเจาะเลือดดูปริมาณอินสุลินที่ร่างกายผลิตขึ้นและตัดตัวอย่างชิ้นกล้ามเนื้อออกมาตรวจดูปริมาณไขมันสะสมในกล้ามเนื้อทั้งก่อนและหลังการทดลอง พบกว่ากลุ่มวีแกนที่กินแต่พืชมีระดับอินสุลินในเลือดต่ำกว่าและมีไขมันสะสมในกล้ามเนื้อน้อยกว่ากลุ่มที่กินเนื้อสัตว์มาก ซึ่งผลนี้ชี้บ่งไปทางว่าอาหารพืชหรือคาร์โบไฮเดรตไม่ได้กระตุ้นการเพิ่มอินสุลิน แต่อาหารเนื้อสัตว์หรือไขมันต่างหากที่กระตุ้นการปล่อยอินสุลินและทำให้เป็นเบาหวาน
     ดังนั้นผู้เป็นเบาหวานจึงควรจำกัดอาหารไขมัน ไม่กินไขมันที่ได้จากการสกัดเช่นน้ำมันที่ใช้ผัดทอดอาหารต่างๆ กินแต่ไขมันที่อยู่ในอาหารตามธรรมชาติเช่นถั่วหรือนัททั้งเมล็ดก็พอแล้ว

ประเด็นที่ 5. ผลไม้เป็นของดี ไม่ใช่ของแสลงต่อเบาหวาน

      งานวิจัยติดตามกลุ่มคนประมาณสองแสนคนของฮาร์วาร์ด [10] ซึ่งได้เกิดผู้ป่วยเบาหวานขึ้นระหว่างการติดตาม 12,198 คน เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการกินผลไม้กับการเป็นเบาหวานพบว่าการกินผลไม้สดโดยเฉพาะอย่างยิ่งองุ่น แอปเปิล บลูเบอรี่ สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานน้อยลง แต่การดื่มน้ำผลไม้คั้นแบบทิ้งกากกลับสัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานมากขึ้น

     เช่นเดียวกัน งานวิจัยขนาดใหญ่ทางยุโรปชื่อ EPIC study [6,7] ก็ได้รายงานผลที่สอดคล้องกันว่าอาหารที่สัมพันธ์กับการลดการป่วยจากเบาหวานคือผักและผลไม้ ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ที่หวานหรือไม่หวานก็ตามก็ล้วนสัมพันธ์กับการลดโอกาสเป็นเบาหวานทั้งสิ้น
      การกินผลไม้สดทั้งลูกแม้จะหวาน ก็ไม่ทำให้คนเป็นเบาหวานแย่ลง งานวิจัยระดับสูงชิ้นหนึ่ง [11] ได้สุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มคนไข้เบาหวานที่กำลังรักษาด้วยยาอยู่ออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้จำกัดผลไม้ไม่ให้เกินวันละสองเสิรฟวิ่ง อีกกลุ่มหนึ่งให้กินผลไม้มากๆเกินสองเสริฟวิ่งขึ้นไปและไม่จำกัดจำนวนทั้งไม่จำกัดว่าหวานหรือไม่หวานด้วย ทำวิจัยอยู่ 12 สัปดาห์แล้ววัดน้ำตาลสะสมในเลือด และภาวะดื้อต่ออินซุลินก่อนและหลังการวิจัย พบว่าทั้งสองกลุ่มมีการเปลี่ยนแปลงของน้ำตาลไม่ต่างกัน

      หากกินผลไม้ทั้งผลโดยไม่ทิ้งกากหรือสกัดเอาน้ำ แม้แต่ผลไม้ที่มีรสหวานที่สุด คืออินทผาลัมหรือลูกเดท (date) ก็ไม่มีผลต่อน้ำตาลในเลือด งานวิจัย [12] ให้คนกินอินทผาลัมทั้งพันธ์เมดจูลและพันธ์ฮาลาวีวันละ 100 กรัม (สองกำมือ) ทุกวัน กินอยู่นาน 4 สัปดาห์แล้วเจาะเลือดก่อนและหลังการวิจัย พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย แถมไตรกลีเซอไรด์ลดลงเสียอีก 8-15% ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของดัชนีมวลกายและไขมันในเลือดทั้ง LDL และ HDL ผลด้านดีอีกอย่างหนึ่งจากความเป็นผลไม้ก็คือมีสารต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น และการเกิดออกซิเดชั่นในร่างกายลดลง 33% 

ประเด็นที่ 6. อย่าจัดอาหารธัญพืชว่าเลวตะพึด 

     ผู้ป่วยเบาหวานกลัวธัญพืช แต่อาหารธัญพืชไม่ได้เลวร้ายสำหรับคนเป็นเบาหวานตะพึด เฉพาะข้าวขาวและแป้งแบบขัดสีเท่านั้นที่ทำให้โรคเบาหวานแย่ลง ส่วนข้าวกล้องและธัญพืชไม่ขัดสี และคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเช่นมันเทศกลับทำให้โรคเบาหวานดีขึ้น

     การวิเคราะห์ผลวิจัยติดตามสุขภาพแพทย์และพยาบาลของฮาร์วาร์ด [13] พบว่าการบริโภคข้าวขาวมาก(สัปดาห์ละ 5 เสริฟวิ่งขึ้นไป) สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานชนิดที่สองมากขึ้นกว่าคนที่ไม่ได้บริโภคข้าว ขณะที่การบริโภคข้าวกล้องมาก (สัปดาห์ละ 2 เสริฟวิ่งขึ้นไป) กลับสัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานชนิดที่สองน้อยลงกว่าคนที่ไม่ได้บริโภคข้าว

     การทบทวนงานวิจัยที่ทำในยุโรป [14] เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างการกินธัญพืชชนิดขัดสีและไม่ขัดสีกับการเป็นเบาหวานประเภท 2 ก็พบว่าการกินธัญพืชไม่ขัดสีมีผลลดความเสี่ยงการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ขณะที่การกินธัญพืชขัดสีกลับมีผลเพิ่มความเสี่ยงการเป็นเบาหวานชนิดที่2 มากขึ้น

     งานวิจัยรักษาผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้อินสุลินด้วยการให้อาหารคาร์โบไฮเดรตชนิดมีกากมาก (high carbohydrate high fiber - HCF) พบว่าทำให้ต้องใช้อินสุลินน้อยลงขณะที่ทำให้ระดับน้ำตาลต่ำลงและไขมันรวมในเลือดลดลง [15]

ประเด็นที่ 7. อย่าไปคิดว่าคนไข้จะปฏิเสธอาหารเจ
   
     การคาดหมายว่าหากแนะนำให้กินพืชผักผลไม้มากขึ้นแล้วคนไข้จะปฏิเสธิเพราะกลัวว่าคุณภาพชีวิตจะแย่ลงนั้น เป็นเพียงมายาคติ เพราะงานวิจัยการใช้อาหารมังสวิรัติรักษาผู้ป่วยเบาหวานพบว่านอกจากจะไม่ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงแล้ว อาหารมังสวิรัติยังทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น อารมณ์ดีขึ้น และพฤติกรรมการกินดีขึ้น[16]

     สำหรับเจ้านายที่เป็นเจ้าของโรงงานหรือบริษัท การคาดการณ์ว่าการช่วยพนักงานที่เป็นเบาหวานเปลี่ยนมากินอาหารพืชเป็นหลักทำได้ยากนั้นก็เป็นเพียงมายาคติ เพราะงานวิจัยสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบเอาพนักงานในสิบบริษัทที่มีน้ำหนักเกินและเป็นเบาหวานมาแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งกินอาหารปกติ อีกกลุ่มหนึ่งกินแต่พืชที่ไม่ใช้น้ำมันปรุง โดยทุกบริษัทมีร้านอาหารมังสวิรัติบริการภายใน ทำการวิจัยนาน 18 สัปดาห์ พบว่าพนักงานสามารถรับอาหารมังสวิรัติได้ดี กลุ่มกินมังสวิรัติลดน้ำหนักได้มากกว่า (4.3 กก เทียบกับ 0.08 กก) ลดไขมันเลว LDL ได้ดีกว่า (13.0มก./ดล. เทียบกับ 1.7 มก./ดล.) น้ำตาลสะสมลดลงมากกว่า (0.7% เทียบกับ 0.1%)เมื่อเทียบกับอีกกลุ่ม [17]

ประเด็นที่ 9. อย่ามองแต่แคลอรี่ ให้มองกากด้วย
   
     อาหารแม้จะมีแคลอรี่เท่ากันแต่ผลต่อโรคเบาหวานไม่เท่ากัน อาหารที่มีกากและไวตามินเกลือแร่มากกว่า (พืช) จะทำให้โรคเบาหวานดีขึ้นมากกว่าอาหารกากน้อยวิตามินเกลือแร่น้อย (สัตว์) แม้จะแคลอรี่เท่ากัน

     งานวิจัยแบบติดตามกลุ่มคนแบบไปข้างหน้า พบว่าการกินอาหารกากใยสูงสัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 น้อยลง[18]
     งานวิจัยอาหารผู้ป่วยเบาหวานที่เน้นเลือกอาหารที่มีสารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการต่อหน่วยแคลอรีสูง (high nutrient density - HND) สามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่า และทำให้ตัวชี้วัดปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือดดีกว่าการไม่เลือกอาหารแบบ HND[19]
     งานวิจัยรักษาผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้อินซูลินด้วยการให้อาหารคาร์โบไฮเดรตชนิดมีกากใยมาก (high carbohydrate high fiber - HCF) พบว่าทำให้มีความจำเป็นต้องฉีดอินซูลินน้อยลงและทำให้ระดับน้ำตาลต่ำลงและไขมันรวมในเลือดลดลง[20]

ประเด็นที่ 10. ชากาแฟดีต่อเบาหวานถ้าไม่ใส่น้ำตาล

     การดื่มชา (ไม่ใส่น้ำตาล) และกาแฟ (ดำ) มากๆมีความสัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานน้อยลง

     งานวิจัยแบบเมตาอะนาไลซิสโดยนำงานวิจัยจริง 12 รายการมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มชากับการเป็นเบาหวาน พบว่าการดื่มชาวันละ 3 แก้วขึ้นไป สัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงของเบาหวานชนิดที่ 2 ลง[21]
     อีกงานวิจัยหนึ่งได้ทำการวิเคราะห์แบบเมตาอานาไลซีสงานวิจัยตามดูกลุ่มคนแบบไปข้างหน้า จำนวน 13 งานวิจัย ซึ่งมีคนเป็นเบาหวานเกิดขึ้นระหว่างการวิจัย 9,473 คน เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างโอกาสเป็นเบาหวานกับการดื่มกาแฟดำ พบว่าคนยิ่งดื่มกาแฟดำมาก ยิ่งสัมพันธ์กับการมีโอกาสเป็นเบาหวานน้อยลง [22]

ประเด็นที่ 11. ปลายประสาทอักเสบ ดีขึ้นได้

     อาการปลายประสาทอักเสบในเบาหวาน ดีขึ้นได้ด้วยการกินอาหารพืชเป็นหลัก
     งานวิจัยเอาผู้ป่วยเบาหวานที่มีปลายประสาทอักเสบรุนแรงมาสุ่มแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินอาหารพืชเป็นหลักไขมันต่ำควบคู่กับการได้รับวิตามินบี 12  อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มควบคุมให้กินวิตามินบี 12 อย่างเดียวโดยไม่บังคับให้กินอาหารพืชเป็นหลัก ทำการทดลองอยู่นาน 20 สัปดาห์ แล้วตรวจประเมินอาการด้วยแบบประเมินปลายประสาทอักเสบมีชิแกน (MNSI scale) และแบบประเมินอาการปวดของ McGill และแบบประเมินคุณภาพชีวิตของ Norfolk พบว่าผู้ป่วยกลุ่มที่กินอาหารพืชเป็นหลักไขมันต่ำมีอาการปลายประสาทอักเสบลดน้อยลงกว่ากลุ่มควบคุม และมีน้ำหนักตัวลดลงมากกว่า 6.4 กก. ซึ่งบ่งชี้ว่าการรักษาอาการปลายประสาทอักเสบด้วยอาหารพืชเป็นหลักแบบอาหารธรรมชาติ ได้ผลดีกว่าการพยายามให้กินวิตามินบี 12 โดยที่ยังได้อาหารเนื้อสัตว์อยู่ตามปกติ[23]

ประเด็นที่ 12. เบาหวานลงตา ดีขึ้นได้ 

     วอลเตอร์ เคมป์เนอร์ ใช้ข้าวต้มรักษาโรคเบาหวาน หัวใจ ความดัน แล้วทำให้โรคเหล่านั้นดีขึ้นได้ ในแง่ของเบาหวานลงตาก็หายได้ โดยถ่ายภาพหลักฐานไว้อย่างดี (44 คน หาย 13 คน) (24)

ประเด็นที่ 13. อาหารอะไรดี อะไรไม่ดี ต่อเบาหวาน

     การทบทวนงานวิจัยระดับแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ 41 งานวิจัยพบว่าถั่วในกลุ่ม pulses (chickpeas, beans, peas, lentils) ทำไห้ตัวชีวัดเบาหวานดีขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มกินอาหารอื่นในแคลอรี่เท่ากัน
อาหารอื่นที่ช่วยโรคเบาหวานนอกจากกลุ่มถั่วแล้ว ได้แก่ มะขามป้อม (Amla) แฟลกซีด ซินนามอน
อาหารที่ทำให้เบาหวานแย่ลงได้แก่ไข่ สารพิษไดออกซิน ส่วนปลานั้นข้อมูลยังขัดแย้งกันอยู่

ประเด็นที่ 14. อาหารคีโตทำให้ตัวชี้วัดเบาหวานดีขึ้น แต่อัตราตายระยะยาวเพิ่มขึ้น

     งานวิจัยที่อังกฤษ (25) เอาคนเป็นเบาหวานมา 21 คน ให้กินอาหารคีโตนาน 16 สัปดาห์แล้วเจาะเลือดโดยไม่เปรียบเทียบกับใคร พบว่าเฉลี่ยแล้ว HbA1c ลดลงจากเดิม 16% นน.ลดลงจากเดิม 6.6% หยุดยาได้ 7 คน ลดยาได้ 10 คน ไตรกลีเซอไรด์ลดลง 42% แต่ไขมันตัวอื่นไม่เปลี่ยนแปลง
อีกงานวิจัยหนึ่งทำที่ตะวันออกกลาง ใช้คนไข้เป็นร้อย ตามนาน 24 สัปดาห์ ได้ผลใกล้เคียงกัน

     แต่ปัญหาของอาหารกลุ่ม low carb คืออัตราตายในระยาว คือ 5 ปีขึ้นไปสูงขึ้น งานวิจัยเมตาอานาลัยซีส 17 งานวิจัย (26) ตามดูกลุ่มคน 272,216 คนพบว่าอาหารที่ได้แคลอรี่จากคาร์บน้อยเกินไป
<30 31="" p="">
<30 31="" p="">     รู้สึกผมจะใช้เวลาไปหมดแล้ว ผมขออีกสิบห้านาทีนะครับ เพื่อให้เป็นเวลาสำหรับการตอบคำถาม มีคำถามอะไรเชิญตอนนี้เลยครับ
<30 31="" p="">
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Lean ME, Leslie WS, et al. Primary care-led weight management for remission of type 2 diabetes (DiRECT): an open-label, cluster-randomised trial. Lancet. 2018 Feb 10;391(10120):541-551. doi: 10.1016/S0140-6736(17)33102-1. Epub 2017 Dec 5.
2. Barnard, N.D., et al., A low-fat vegan diet improves glycemic control and cardiovascular risk factors in a randomized clinical trial in individuals with type 2 diabetes. Diabetes Care. 2006 Aug;29(8):1777-83.
3. Porrata C, Sánchez J, Correa V, Abuín A, Hernández-Triana M, Dacosta-Calheiros RV, Díaz ME, Mirabal M, Cabrera E, Campa C, Pianesi M. Ma-pi 2 macrobiotic diet intervention in adults with type 2 diabetes mellitus. MEDICC Rev. 2009 Oct;11(4):29-35.
4. Andreea Soare,1 Yeganeh M Khazrai,1 Rossella Del Toro,1 Elena Roncella,1Lucia Fontana,2 Sara Fallucca,1 Silvia Angeletti,3 Valeria Formisano,1Francesca Capata,1 Vladimir Ruiz,4 Carmen Porrata,5 Edlira Skrami,6Rosaria Gesuita,6 Silvia Manfrini,1 Francesco Fallucca,7 Mario Pianesi,8 andPaolo Pozzilli 1, for the MADIAB Group. The effect of the macrobiotic Ma-Pi 2 diet vs. the recommended diet in the management of type 2 diabetes: the randomized controlled MADIAB trial. Nutr Metab (Lond). 2014; 11: 39. Published online 2014 Aug 25. doi:  [10.1186/1743-7075-11-39]
5 Soare A, Del Toro R, Khazrai YM, Di Mauro A, Fallucca S, Angeletti S, Skrami E, Gesuita R, Tuccinardi D, Manfrini S, et al. 6-month follow-up study of the randomized controlled Ma-Pi macrobiotic dietary intervention (MADIAB trial) in type 2 diabetes. Nutr Diabetes. 2016 Aug; 6(8): e222.
6. InterAct, C., et al., Association between dietary meat consumption and incident type 2 diabetes: the EPIC-InterAct study. Diabetologia, 2013. 56(1): p. 47-59.
7. InterAct, C., Adherence to predefined dietary patterns and incident type 2 diabetes in European populations: EPIC-InterAct Study. Diabetologia, 2014.57(2): p. 321-33.
8. Roden, M., et al., Mechanism of free fatty acid-induced insulin resistance in humans. J Clin Invest, 1996. 97(12): p. 2859-65.
9. Goff, L.M., et al., Veganism and its relationship with insulin resistance and intramyocellular lipid. Eur J Clin Nutr, 2005. 59(2): p. 291-8.
10. Muraki, I., et al., Fruit consumption and risk of type 2 diabetes: results from three prospective longitudinal cohort studies. BMJ, 2013. 347: p. f5001.
11. Christensen, A.S., et al., Effect of fruit restriction on glycemic control in patients with type 2 diabetes--a randomized trial. Nutr J, 2013. 12: p. 29.
12. Rock, W., et al., Effects of date ( Phoenix dactylifera L., Medjool or Hallawi Variety) consumption by healthy subjects on serum glucose and lipid levels and on serum oxidative status: a pilot study. J Agric Food Chem, 2009.57(17): p. 8010-7.
13. Sun, Q., et al., White rice, brown rice, and risk of type 2 diabetes in US men and women. Arch Intern Med, 2010. 170(11): p. 961-9.
14. Aune, D., et al., Whole grain and refined grain consumption and the risk of type 2 diabetes: a systematic review and dose-response meta-analysis of cohort studies. Eur J Epidemiol, 2013. 28(11): p. 845-58.
15. Anderson, J.W. and K. Ward, High-carbohydrate, high-fiber diets for insulin-treated men with diabetes mellitus. Am J Clin Nutr, 1979. 32(11): p. 2312-21.
16. Kahleova H, Hrachovinova T, Hill M, Pelikanova T. Vegetarian diet in type 2 diabetes--improvement in quality of life, mood and eating behaviour. Diabet Med. 2013;30(1):127-9. doi: 10.1111/dme.12032. PubMed PMID: 23050853.
17. Mishra S, Xu J, Agarwal U, Gonzales J, Levin S, Barnard ND. A multicenter randomized controlled trial of a plant-based nutrition program to reduce body weight and cardiovascular risk in the corporate setting: the GEICO study. Eur J Clin Nutr. 2013;67(7):718-24. doi: 10.1038/ejcn.2013.92. PubMed PMID: 23695207; PubMed Central PMCID: PMCPMC3701293.
18. Yao B, Fang H, Xu W, Yan Y, Xu H, Liu Y, et al. Dietary fiber intake and risk of type 2 diabetes: a dose-response analysis of prospective studies. Eur J Epidemiol. 2014;29(2):79-88. doi: 10.1007/s10654-013-9876-x. PubMed PMID: 24389767.
19.        Dunaief DM, Fuhrman J, Dunaief JL, Ying G. Glycemic and cardiovascular parameters improved in type 2 diabetes with the high nutrient density (HND) diet. Open Journal of Preventive Medicine. 2012;02(03):364-71. doi: 10.4236/ojpm.2012.23053.
20.        Anderson JW, Ward K. High-carbohydrate, high-fiber diets for insulin-treated men with diabetes mellitus. Am J Clin Nutr. 1979;32(11):2312-21. PubMed PMID: 495550.
21. Yang WS, Wang WY, Fan WY, Deng Q, Wang X. Tea consumption and risk of type 2 diabetes: a dose-response meta-analysis of cohort studies. Br J Nutr. 2014;111(8):1329-39. doi: 10.1017/S0007114513003887. PubMed PMID: 24331002.
22. Muley A1, Muley P, Shah M. Coffee to reduce risk of type 2 diabetes?: a systematic review. Curr Diabetes Rev. 2012 May;8(3):162-8.
23. Bunner AE, Wells CL, Gonzales J, Agarwal U, Bayat E, Barnard ND. A dietary intervention for chronic diabetic neuropathy pain: a randomized controlled pilot study. Nutr Diabetes. 2015;5:e158. doi: 10.1038/nutd.2015.8. PubMed PMID: 26011582; PubMed Central PMCID: PMCPMC4450462.
24. Kempner W, Peschel RL, Schlayer C. Effect of rice diet on diabetes mellitus associated with vascular disease. Postgrad Med. 1958;24:359-371.
25. Cai Chen, 1 , 2 Yan Yang, 3 Xuefeng Yu, 3 Shuhong Hu, 3 and Shiying Shao  3 Association between omega‐3 fatty acids consumption and the risk of type 2 diabetes: A meta‐analysis of cohort studies. J Diabetes Investig. 2017 Jul; 8(4): 480–488.
26. Sievenpiper JL1, Kendall CW, Esfahani A, Wong JM, Carleton AJ, Jiang HY, Bazinet RP, Vidgen E, Jenkins DJ. Effect of non-oil-seed pulses on glycaemic control: a systematic review and meta-analysis of randomised controlled experimental trials in people with and without diabetes. Diabetologia.  doi: 10.1007/s00125-009-1395-7. Epub 2009 Jun 13.
27. William S Yancy, Jr, 1,2 Marjorie Foy,1 Allison M Chalecki,1 Mary C Vernon,3and Eric C Westman2
. A low-carbohydrate, ketogenic diet to treat type 2 diabetes.   Nutr Metab (Lond). 2005; 2: 34. doi:  [10.1186/1743-7075-2-34]
28. Hussain TA, Mathew TC, Dashti AA, Asfar S, Al-Zaid N, Dashti HM. Nutrition. 2012 Oct; 28(10):1016-21. Epub 2012 Jun 5.
29. Seidelmann SB, Claggett B, et al. Dietary carbohydrate intake and mortality: a prospective cohort study and meta-analysis. Lancet Public Health. 2018 Sep;3(9):e419-e428. doi: 10.1016/S2468-2667(18)30135-X.


[อ่านต่อ...]

13 ธันวาคม 2561

แค้มป์ลดน้ำหนัก (Weight Loss Camp)

(ปรับปรุงข้อมูลครั้งสุดท้าย 19 สค. 63)

1. เป้าหมาย

     ให้คนอ้วนลดน้ำหนักตัวเองได้อย่างยั่งยืนและมีสุขภาพดีด้วย

2. ยุทธศาสตร์

     (1) สร้างแรงบันดาลใจ
     (2) เปลี่ยนอาหารที่กินทุกวันไปเป็นอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ (PBWF)
     (3) ต้องทำอาหารกินเองเป็น อาหารทุกมื้อในแค้มป์คือชั้นเรียนทำอาหาร
     (4) รู้จักหาซื้ออาหารดีกินเองได้
     (5) ออกกำลังกายแบบเล่นกล้ามผสมแอโรบิกและการทรงตัว
     (6) จัดการความเครียดแบบวางความคิดมาอยู่กับความรู้ตัว
     (7) ใช้พลังกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน

3. ความเป็นมา

        นับตั้งแต่ตัวหมอสันต์เปลี่ยนอาชีพจากหมอผ่าตัดหัวใจมาเป็นหมอเวชศาสตร์ครอบครัวไ้ด้หลายปีแล้ว ทำแค้มป์สอนคนทั่วไปและผู้ป่วยให้รู้วิธีดูแลสุขภาพตัวเองในรูปแบบต่างๆรวมไปแล้วกว่า 100 ครั้ง มีคนถามเสมอว่าเมื่อไหร่จะทำแค้มป์ลดน้ำหนัก คำตอบทุกครั้งก็คือ "ยังไม่มั่นใจ" หมายความว่าหมอสันต์ยังไม่มั่นใจว่าทำแล้วจะช่วยให้คนอ้วนลดน้ำหนักได้สำเร็จ แม้จะไปทำรายการ "เต้นเปลี่ยนชีวิต" ช่วยให้คนลดน้ำหนักได้ทีละหลายสิบกิโลมาแล้วแต่ก็ยังไม่มั่นใจ วิชาความรู้และหลักฐานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์นั้นมีมากพออยู่ แต่ที่ขาดไปคือเทคนิคในการจัดการความเครียดและสร้างความบันดาลใจให้ต่อเนื่อง ตลอดเวลาที่ผ่านมาผมแอบทำงานกับผู้ป่วยที่มาเข้าแค้มป์จำนวนหนึ่งซึ่งเป็นคนอ้วน ลองอย่างโน้น ลองอย่างนี้ รวมทั้งลองกับลูกน้องของผมเองที่อ้วนด้วย ประสบการณ์ทำให้โลกทัศน์ของผมค่อยๆเปลี่ยนไป จากเดิมที่รู้สึกว่าโรคอ้วนเป็นโรคที่สิ้นหวังแม้แต่การเย็บปากหรือมัดกระเพาะก็ยังเอาไม่อยู่ มาเป็นความมั่นใจว่าผมจะสามารถทำแค้มป์ที่ช่วยคนอ้วนจำนวนหนึ่งให้ลดน้ำหนักตัวเองอย่างยั่งยืนและมีสุขภาพดีได้

4. งานวิจัยพื้นฐาน

ผลวิจัยพื้นฐานที่ทำมาใช้ในแค้มป์ลดน้ำหนักรวมถึง

4.1 การตั้งใจนับแคลอรี่แล้วพยายามกินตามนั้น ลดน้ำหนักในระยะยาวไม่ได้
4.2 วิธีอดอาหารแบบต่อเนื่อง (fasting) ลดน้ำหนักในระยะยาวไม่ได้
4.3 อาหารที่มีโปรตีนหรือไขมันจากเนื้อสัตว์เป็นหลัก ลดน้ำหนักได้ดีในระยะแรก แต่มีผลเสียต่อความยืนยาวของชีวิตในระยะยาว
4.4 อาหารที่ลดน้ำหนักได้ดีและไม่มีผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว คืออาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ (PBWF)
4.5 น้ำเป็นตัวช่วยลดน้ำหนัก ทั้งในรูปแบบของน้ำดื่ม น้ำชา กาแฟ น้ำซุป น้ำแกง และผลไม้ที่มีน้ำมาก
ุ4.6 การออกกำลังกายผสมแอโรบิกเข้ากับการเล่นกล้าม ช่วยลดน้ำหนักโดยไม่สูญเสียกล้ามเนื้อ ไม่เหี่ยว
4.7 โยคะ (asana) ช่วยลดน้ำหนักได้
4.8 การฝึกสมาธิ (meditation) ช่วยลดน้ำหนักได้
4.9 การฝึกมวยจีน (Tai Chi) ช่วยลดน้ำหนักได้
4.10 การเข้ากลุ่มเพื่อนที่ดี ช่วยลดน้ำหนักได้
4.11 การเข้าครัวทำอาหารเอง ช่วยลดน้ำหนักได้
4.12 การเขียนบันทึก (journal) ช่วยลดน้ำหนักได้

     ผลวิจัยทั้งสิบสองประเด็นนี้จะถูกนำมาใช้ในแค้มป์ นอกจากนั้นยังใช้ยุทธวิธีอื่นที่ตัวผมเองมีประสบการณ์ว่าดี โดยที่ยังไม่มีหลักฐานวิจัยในระดับกว้างรองรับด้วย เช่น การจัดการความเครียดแบบวางความคิดมาอยู่กับความรู้ตัว การสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง การสร้างแรงบันดาลใจผ่านกลุ่ม เป็นต้น

5. ทีมงาน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์เป็นหัวหน้าทีม มีทีมงานที่ประกอบด้วยแพทย์ นักจิตวิทยาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ผู้ช่วยแพทย์ ครูโยคะ พยาบาล นักบำบัดทางเลือกทั้งตามแนวทางแพทย์แผนไทยและแผนอายุรเวชของอินเดีย

6. ตารางกิจกรรม

วันที่ 1.

8.00-14.00 Registration
ลงทะเบียนเข้าแค้มป์ เช็คอินเข้าห้องพัก ตรวจร่างกายโดยแพทย์เป็นรายคน วัดดัชนีมวลกาย วัดความดันเลือด รวบรวมผลการตรวจตัวชี้วัดพื้นฐานต่างๆเชิงสุขภาพรวมทั้งไขมันในเลือด น้ำตาลในเลือด การทำงานของตับ การทำงานของไต การทำงานของต่อมไทรอยด์ แล้วสรุปปัญหาสุขภาพ กำหนดแผนแก้ไขรายคน จัดทำเวชระเบียนส่วนบุคคล พักรับประทานอาหารว่างและอาหารกลางวันในขณะผลัดกันเข้าพบแพทย์
14.00 - 15.30
Getting to know each other, learn from each other ทำความรู้จักกันและเรียนรู้จากกันและกัน
15.30 – 16.30
Briefing: Total Lifestyle Modification, how to do it. ทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิงได้
16.30-17.30
Fitness Test-1: One mile walk test ทดสอบสมรรถนะร่างกายครั้งที่ 1 ด้วยวันไมล์วอลค์เทสต์
17.30-18.00
Garden tour ทัวร์สวนผัก เรียนรู้พืชอาหารและสมุนไพร
18.00 - 19.00 Introduction to cooking and dinner ทำความคุ้นเคยกับครัว และทานอาหารเย็น
19.00 - 20.00 Peer support group activity กิจกรรมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน

วันที่ 2.

6.30 - 7.30
Workshop: Morning walk เดินออกกำลังกายตอนเช้า
7.30 – 9.00
Breakfast and personal time - ทำอาหารเช้ากินเอง อาบน้ำ และพักผ่อนส่วนตัว
9.00 - 10.00
Briefing: Nutrition for weight loss โภชนาการเพื่อการลดน้ำหนัก
10.00 - 11.00
Workshop: Food shopping จ่ายตลาดฉลาดซื้อ
11.00-12.00
Briefing: Concept of PBWF cooking การทำอาหารในแนวพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ
12.00 - 13.00
Cook your own lunch ทำอาหารกลางวันกินเอง
13.00 - 14.00
Personal time เวลาส่วนตัว
14,00 - 15.00
Workshop: Principle of strength training หลักการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
15.00 - 16.00
Workshop: Principle of balance exercise หลักการออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัว
1ุ6.00 - 17.00
Workshop: Line dance ไลน์ด้านซ์
17.00 – 18.00 Personal time: เวลาส่วนตัว
18.00 - 19.00 Cook your own dinner ทำอาหารเย็นกินเอง
19.00 - 20.00 Peer support group activity กิจกรรมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน

วันที่ 3.

6.30 - 7.30
Workshop: Morning walk เดินออกกำลังกายตอนเช้า
7.30 – 9.00
Breakfast and personal time - ทำอาหารเช้ากินเอง อาบน้ำ และพักผ่อนส่วนตัว
9.00 - 10.00
Workshop: Self awareness and Tai Chi ฝึกสติด้วยการรับรู้พลังชีวิต
10.00 - 12.00
Workshop: Full Yoga โยคะลดน้ำหนัก
12.00 - 13.00
Cook your own lunch ทำอาหารกลางวันกินเอง
13.00 - 14.00
Personal time เวลาส่วนตัว
14,00 - 15.00
Workshop: ฺBush walking เดินป่า
15.00 - 16.00 Cha Cha Cha บอลลูมด้านซ์จังหวะชะชะช่า
16.00 - 17.00 Line dance ไลน์ด้านซ์
17.00 – 18.00 Personal time: เวลาส่วนตัว
18.00 - 19.00 Cook your own dinner ทำอาหารเย็นทานเอง
19.00 - 20.00 Peer support group activity กิจกรรมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน

วันที่ 4.

6.30 - 7.30
Workshop: Morning walk เดินออกกำลังกายตอนเช้า
7.30 – 9.00
Breakfast and personal time - ทำอาหารเช้ากินเอง อาบน้ำ และพักผ่อนส่วนตัว
9.00 - 10.00
Workshop: Self dialog การสอบสวนความคิด
10.00 - 12.00
Workshop: Strength training ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
12.00 - 13.00
Cook your own lunch ทำอาหารกลางวันกินเอง
13.00 - 14.00
Personal time เวลาส่วนตัว
14,00 - 18.00
Workshop: ฺLong walk เดินทางไกล อุทยานมวกเหล็ก น้ำตกมวกเหล็ก ตลาดมวกเหล็ก สถานีรถไฟ หลุมศพราเบค
18.00 - 19.00 Cook your own dinner ทำอาหารเย็นกินเอง
19.00 - 20.00 Peer support group activity กิจกรรมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน

วันที่ 5.

6.30 - 7.30
Workshop: Morning walk เดินออกกำลังกายตอนเช้า
7.30 – 9.00
Breakfast and personal time - ทำอาหารเช้ากินเอง อาบน้ำ และพักผ่อนส่วนตัว
9.00 - 10.00
Workshop: Self motivation แรงบันดาลใจ
10.00 - 12.00
Workshop: Yoga โยคะลดน้ำหนัก
12.00 - 13.00
Cook your own lunch ทำอาหารกลางวันกินเอง
13.00 - 14.00
Personal time เวลาส่วนตัว
14,00 - 15.00
Workshop: ฺBush walking เดินป่า
15.00 - 16.00 Cha Cha Cha เต้นชะชะช่า
16.00 - 17.00 Line dance ไลน์ด้านซ์
17.00 – 18.00 Personal time: เวลาส่วนตัว
18.00 - 19.00 Cook your own dinner ทำอาหารเย็นกินเอง
19.00 - 20.00 Peer support group activity กิจกรรมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน

วันที่ 6.

6.30 - 7.30
Workshop: Morning walk เดินออกกำลังกายตอนเช้า
7.30 – 9.00
Breakfast and personal time - ทำอาหารเช้ากินเอง อาบน้ำ และพักผ่อนส่วนตัว
9.00 - 10.00
Workshop: Am I aware? ฉันรู้ตัวอยู่หรือเปล่า
10.00 - 12.00
Workshop: Strength training ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
12.00 - 13.00
Cook your own lunch ทำอาหารกลางวันกินเอง
13.00 - 14.00
Personal time เวลาส่วนตัว
14,00 - 15.00
Workshop: ฺBush walking เดินป่า
15.00 - 16.00 บอลรูมด้านซ์
16.00 - 17.00 Line dance ไลน์ด้านซ์
17.00 – 18.00 Personal time: เวลาส่วนตัว
18.00 - 19.00 Cook your own dinner ทำอาหารเย็นกินเอง
19.00 - 20.00 Peer support group activity กิจกรรมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน

วันที่ 7.

6.30 - 7.30
Workshop: ฺFitness test-2 ทดสอบฟิตเนสครั้งที่สอง
7.30 – 9.00
Breakfast and personal time - ทำอาหารเช้ากินเอง อาบน้ำ และพักผ่อนส่วนตัว
9.00 - 10.00
Workshop: Being in the now อยู่กับปัจจุบัน
10.00 - 12.00
Workshop: Strength training ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
12.00 - 13.00
Cook your own lunch ทำอาหารกลางวันกินเอง
13.00 - 14,00
Camp Finale: สรุป ชั่งน้ำหนัก ปิดแค้มป์

6. ความปลอดภัยขณะเข้าแค้มป์

     เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์เตรียมการด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้เข้าแค้มป์ทุกครั้ง รวมไปถึงการมีอุปกรณ์เครื่องมือเพื่อรับมือกับภาวะฉุกเฉินได้เทียบเท่ากับห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลทั่วไป รวมทั้งขีดความสามารถที่จะเปิดหลอดเลือดให้น้ำเกลือหรือยาทางหลอดเลือดดำได้ทันที ขีดความสามารถที่จะใส่ท่อช่วยหายใจและช่วยการหายใจในภาวะฉุกเฉิน นอกจากนั้นยังมีขีดความสามารถที่จะช็อกไฟฟ้าหัวใจในกรณีฉุกเฉิน โดยมีแพทย์หรือพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติอยู่ประจำในแค้มป์ 24 ชั่วโมง ตลอดการฝึกอบรม

   7. การลงทะเบียนเข้าแค้มป์

กรุณาติดต่อที่คุณเอ๋ย (เชิญขวัญ) ที่หมายเลข 063 639 4003 หรือ 02 038 5115หรือไลน์ @wellnesswecare หรืออีเมล chernkwan@wellnesswecare.com แล้วโอนเงินเข้าบัญชีกระแสรายวัน ธนาคารกสิกรไทย สาขาสมุทรปราการ ชื่อบัญชี  บริษัท เมก้า วี แคร์ จำกัด เลขที่บัญชี 007-368-5478
หรือลงทะเบียนด้วยตนเองผ่านเว็บไซท์
https://www.wellnesswecare.com/th/static/program-calendar

8. ราคาค่าลงทะเบียน

     คนละ 13,000 บาท ค่าลงทะเบียนนี้ครอบคลุมถึงค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าวิทยากร ค่าอุปกรณ์การฝึกทักษะ ค่าตรวจร่างกาย ค่าประกันอุบัติเหตุ ค่าใช้จ่ายในการติดตามโดยแพทย์และพยาบาลเมื่อออกจากแค้มป์กลับไปอยู่บ้าน ค่าบริการฐานข้อมูลติดตามตัวชี้วัดทางอินเตอร์เน็ท (personal health dashboard) เป็นต้น แต่ไม่ครอบคลุมถึงค่าเดินทางไปและกลับระหว่างบ้านกับแค้มป์ (ผู้ป่วยไปเองกลับเอง) ไม่ครอบคลุมค่ายาและค่ารักษาพยาบาลส่วนบุคคลใดๆทั้งสิ้น

9. วันเวลาเปิดแค้มป์ครั้งที่ 2 (WL2)

     10 กพ. - 16 กพ. 63

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

11 ธันวาคม 2561

ศักยภาพของคนที่จะดูแลตัวเองได้นั้นมีมากมายมหาศาล

     ก่อนจะตอบจดหมายในวันนี้ ขอแจ้งข่าวนิดหนึ่งว่าช่วงวันหยุดยาวปีใหม่นี้ เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ไม่ได้ปิด ยังคงเปิดให้ผู้สนใจเข้าไปนอนพักได้ตามปกติ ดังนั้นท่านที่ไม่รู้จะไปไหนดี ทำไมไม่มานอนพักที่เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ละครับ อย่างน้อยก็ได้ทานอาหารสุขภาพ (พืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ) ได้พักผ่อนในบรรยากาศเงียบสงบร่มรื่นไม่จุ้นจ้าน สำหรับคนสูงอายุก็มีที่ฝึกออกกำลังแบบกายเสริมการทรงตัวให้ใช้ฟรี สำหรับคนที่ชอบการรักษาทางเลือกก็สามารถใช้บริการนวดบำบัดหรือนวดผ่อนคลายทั้งแบบแผนไทยและแผนอายุรเวชอินเดียได้ (เสียเงินเองนะ) นอกจากนี้ในวันที่ 31 ธค. 61 เวลา 15.00 - 17.00 น.ยังจะมีกิจกรรม Walk rally ให้ท่านที่สนใจการเดินออกกำลังกายแบบสนุกๆเข้าร่วมได้ฟรีอีกด้วย กลางคืนก็มีกิจกรรมคลายเครียดโน่นนี่นั่นฟรีเช่นกัน และเป็นปกติของวันหยุดยาวที่ไม่มีแค้มป์ ผมกับหมอสมวงศ์จะไปกินข้าวเย็นร่วมกับเพื่อนๆและแฟนๆบล็อกที่นั่น

     อ้อ..สำหรับคนที่ไม่เคยมานอนพักที่เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ ที่นี่จะไม่มีบางอย่างที่บางท่านอาจเห็นเป็นเรื่องสำคัญนะ คือ (1) ไม่มีทีวี. เพราะผมเห็นว่าที่ปลีกวิเวกที่ดีไม่ควรมีทีวี. (2) ไม่มีการจุดพลุ (3) ไม่มีที่สูบบุหรี่ หากท่านจะสูบบุหรี่ต้องไปนู้น..น ที่ถนนดำข้างนอก

     ค่าที่พัก ห้องละ 3,000 บาทรวมอาหารเช้าสำหรับผู้พักสองท่าน (ราคาเต็ม high season ไม่มีส่วนลด) ท่านที่สนใจจะจองห้องพัก กรุณาติดต่อที่คุณเอ๋ย (เชิญขวัญ) ที่หมายเลข 063 639 4003 หรือ 02 038 5115หรือไลน์ @wellnesswecare หรืออีเมล chernkwan@wellnesswecare.com

     เอาละ..คราวนี้มาตอบจดหมายกันดีกว่า

............................................ 
กราบเรียน คุณหมอ ครับ
ผมเดาสุ่มที่จะเขียนถึงคุณหมอตรงนี้ คือผมไม่มีความรู้ทางเฟสบุคหรือ โซเซียนเลย ใช้มือถือเพียงกดเข้าออก และให้ลูกหลานทำให้ คือ ผมเพียง ต้องการ กราบขอบพระคุณ คุณหมอที่ช่วยรักษาผม จากอาการ แน่นหน้าอก หายใจติดขัด คืออย่างนี้ครับ ปกติ ผมเป็นถุงลมโป่ง ความดัน ไขมัน 3 อย่างนี้ ผมตรวจประจำ ที่ รพ ... 3 เดือนครั้ง เมื่อ 5 เดือนก่อน ผมมีอาการ เจ็บ แน่นหน้าอก เหนื่อยง่ายมาก หายใจแรง บังเอิญถึงกำหนดผมต้องไปพบแพทย์พอดี และแพทย์ตรวจเขียนสั่งผมไปแผนกหัวใจ ผมไปพบ จนท และให้ใบนัดผมวันที่ 6 มกราคม 62
ผมวิตกมาก เมื่อกลับมา ก็เปิด you tube ศึกษา เปิดไปมาพบคุณหมอในคลิปที่คุณหมอกับนายแพทย์อีกคนและสุภาพสตรีอีกคนพูดกัน คุณหมอว่าคุณหมอป่วยเกี่ยวกับเส้นเลือดอุดตัน และคณหมอรักษาที่ต้นเหตุ งดเนื้อสัตว์ กินผัก และอื่นๆ
มจึงปฏิบัติตาม ตั้งแต่เดือน กรกฏาคม มาถึงวันนี้ อาการ ทุกอย่างที่ผมบอกมาหายหมด จริงๆ ผมออกกำลังทุกวัน ได้ดังนี้ 
ปั่น จกย 30 นาที แล้วลงเดิน 1.5 กม แกว่งแขน 500 
เล่นเครื่องโยก 20 นาที รวมๆประมาณ 1 ชม 30 นาที
เหนื่อยเหมือนกัน แต่ไม่มาก ไม่รู้สึกเจ็บหน้าอก แน่นอีก ผมยังไม่ได้ตรวจแพทย์ เพราะยังไม่ถึงวันนัด
แต่ความรู้สึกส่วนตัว ผมดีมาก ผมเดินขึ้นเนินได้สบาย ผมยังคงละเนื้อสัตว์ แต่ผมกินปลาน่ะครับ ผมหุงข้าวใส่ถั่วแบบคุณหมอ นน. ผมลด 4 โล เอวลด 3 นิ้วเศษ
ผมขอกราบเท้าขอบพระคุณคุณหมอครับ
อาจผิดช่องทาง ผมขออภัยครับ 
ผมชื่อ ... ครับ
พิมพ์ผิด บ้างขออภัยด้วยครับ ผมอายุ 77 ครับ

........................................

ตอบครับ

     จดหมายฉบับนี้ไม่มีคำถาม เพียงแค่อยากจะเล่าอะไรให้ฟัง ผมหยิบจดหมายฉบับนี้มาตอบด้วยสองเหตุผล คือ (1) อยากให้แฟนบล็อกหมอสันต์ได้มองผู้ชายอายุ 77 ปีท่านนี้แล้วกลับมามองตัวเอง และ (2) วันนี้ผมเพิ่งเสร็จจากทำแค้มป์พลิกผันโรคด้วยตัวเอง (RDBY10) ยังวุ่นวายเคลียร์งานค้างจึงไม่อยากตอบจดหมายที่ต้องตอบยาวๆ โดยในการตอบครั้งนี้ ผมขอไฮไลท์ให้ท่านผู้อ่านชำเลืองดูจดหมายของท่านผู้ที่ส่งมาใน 3 ประเด็น

     ประเด็นที่ 1. ศักยภาพที่คนเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่งจะดูแลสุขภาพของตัวเองด้วยตัวเองให้สำเร็จนั้น มันมีมากมายมหาศาลมาก อายุ 77 ปี ใช้เน็ทไม่คล่อง เขียนหนังสือยังผิดๆถูกๆ (ผมถือวิสาสะแก้ไปหลายคำเพื่อไม่ให้การอ่านของท่านอื่นๆติดขัด) แต่ขอเพียงแค่รู้ทิศทางว่าจะต้องเดินไปทางไหน ก็สามารถเดินไปได้ด้วยตัวเองแบบ ปร๋อ.. งานวิจัยทางการแพทย์ครั้งแล้วครั้งเล่าก็ให้ผลแบบเดียวกัน ว่าขอแค่ผู้ป่วยมีความบันดาลใจแร้ง..ง...ง พอที่จะลุกขึ้นมาดูแลตัวเองเท่านั้น การจัดการโรคของผู้ป่วยที่ว่ายากๆราวกับปัญหาโลกแตกนั้นก็จะง่ายดุจพลิกฝ่ามือ

     ประเด็นที่ 2. ในการดูแลตัวเองนั้น การรู้จักเลือกใช้ช่วงจังหวะเวลาให้มันผสานกับการรักษาของแพทย์ที่โรงพยาบาลมีความสำคัญ อย่างในรายนี้หมอเขานัดตรวจ (สวนหัวใจ) ในเวลาไม่นานหรอก คือ 7 เดือน (ดีกว่าที่นิวซีแลนต์สมัยผมเป็นหมอผ่าตัดหัวใจอยู่ที่นั่น คนไข้ได้คิวผ่าตัดบายพาสในอีก 4 ปีข้างหน้า..ถ้าคุณยังอยู่ หิ หิ) ท่านผู้เขียนจดหมายนี้ใช้ช่วงเวลาก่อนที่จะถึงวันหมอนัดครั้งต่อไปลงมือทดลองเปลี่ยนสไตล์การใช้ชีวิตใหม่ทั้งการกินพืชเป็นหลักลดเนื้อสัตว์ลงและการออกกำลังกาย แล้วก็พบว่าอาการของโรคคืออาการเจ็บหน้าอกเวลาออกแรงหายเป็นปลิดทิ้งแม้จะเดินขึ้นเนิน ปั่นจักรยานหรือใช้เครื่องโยกก็ไม่เจ็บ ข้อมูลนี้มีประโยชน์มากในการพบกับหมอครั้งต่อไป เพราะมันเป็นข้อมูลคุณภาพชีวิตซึ่งหมอเขาจำเป็นต้องใช้ประกอบการให้คำแนะนำว่าควรจะจัดการกับโรคนี้ต่อไปอย่างไรดี ถ้าไม่รู้จักใช้จังหวะที่รอหมอนัดทำการทดลองเปลี่ยนสไตล์การใช้ชีวิต ข้อมูลดีๆเช่นนี้ก็จะไม่มี การตัดสินใจแนะนำของแพทย์ก็อาจจะหันเหไปสู่การตรวจวินิจฉัยและรักษาแบบรุกล้ำซึ่งมีความเสี่ยงและอาจจะไม่ได้มีประโยชน์มากไปกว่าการไม่ทำ

     ประเด็นที่ 3. ในการดูแลสุขภาพตัวเองด้วยการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ทั้งอาหารและการออกกำลังกายนั้นน สิ่งสูงค่าที่สุดที่ได้มาไม่ใช่เป็นแค่อาการของโรคหายไป แต่เป็นชีวิตที่หายไป เราได้ชีวิตที่หายไปกลับมา เหมือนที่ท่านผู้อาวุโสท่านนี้ใช้คำว่า "..ความรู้สึกส่วนตัว ผมดีมาก" ในการจัดการโรคเรื้อรังอย่างโรคหัวใจหลอดเลือด สิ่งนี้ไม่มีใครทำให้ท่านได้ หมอเทวดาก็ทำให้ท่านไม่ได้ ท่านต้องทำด้วยตัวท่านเอง แม้งานวิจัยทางการแพทย์ก็มีข้อสรุปเช่นเดียวกันนี้ ว่าความพยายามที่จะรักษาโรคหัวใจหลอดเลือดด้วยยาหรือด้วยการรักษาแบบรุกล้ำเช่นบอลลูนหรือผ่าตัดบายพาสนั้น อย่างเก่งก็ลดอัตราตายก่อนเวลาอันควรลงได้แค่ 20-30% แต่หากตัวผู้ป่วยลงมือเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของตัวเองโดยให้ตัวชี้วัดง่ายๆเจ็ดตัวอยู่ในร่องในรอย (ได้แก่น้ำหนัก ความดัน ไขมัน น้ำตาล การกินผักผลไม้ การออกกำลังกาย การไม่สูบบุหรี่) จะลดอัตราตายก่อนเวลาอันควรลงได้ถึง 91%

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ 


[อ่านต่อ...]

06 ธันวาคม 2561

ที่เดินของผู้สูงอายุ..ไม่มีหมา ไม่มีรถยนต์

     หลายวันมานี้ไม่ได้ตอบจดหมายผู้ป่วยเลย พอจะว่างจากแค้มป์ GHBY สำหรับผู้บริหารแบ้งค์เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน กำลังจะพักรอแค้มป์ RDBY10 ที่จะเข้าปลายสัปดาห์นี้ เพื่อนก็ชวนไปเที่ยวภูกระดึง สามวัน สองคืน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผมยังไม่เคยไป ก็จึงไปกับเขา เพิ่งกลับมาถึงมวกเหล็กเมื่อคืน ก่อนที่จะกลับมาหยิบจับงานที่ค้างคาอยู่ ขอใช้เวลาสักเล็กน้อยเล่าเรื่องไปเที่ยวภูกระดึงให้แฟนบล็อกที่เป็นผู้สูงอายุฟังนะ

2 ธค. 61

     พอตัดสินใจจะไปเที่ยวกับเขาก็มีแต่เสียงท้วงติงรวมทั้งจากคนใกล้ชิดที่จำใจต้องติดตามไปด้วย ว่าภูกระดึงมันเป็นสถานที่ต้องห้ามสำหรับผู้สูงอายุนะ สำหรับคนหัวเข่าไม่ดีนะ สำหรับคนเป็นโรคหัวใจนะ สำหรับคนกลัวที่สูงนะ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนั้นมันเป็นสะเป๊คประจำตัวหมอสันต์ทุกอย่าง ผมก็ได้แต่บอกเหล่าผู้หวังดีเหล่านั้นว่า

     "สาระพัดปัญหาที่คนเรามองเห็นนั้น ล้วนเป็นการชงเอาประสบการณ์ในอดีตไปคาดการณ์อนาคตทั้งสิ้น ใจคอคุณจะไม่ลองเสาะหาความแปลกใหม่ในชีวิตด้วยการเดินไปข้างหน้าแบบไม่ต้องเชื่อมโยงกับอดีตบ้างเลยหรือ"

      ในวันที่ออกเดินทาง การนับหัวครั้งสุดท้ายทั้งคณะมีกันเก้าคน เป็นคนสูงอายุเกือบหมด ที่อายุมากกว่าเขาเพื่อนคือเจ็ดสิบกว่า ดังนั้นหมอสันต์จึงจัดเป็นระดับกลางๆ มีผู้ชายฝรั่งและผู้หญิงญี่ปุ่นด้วย เป็นเพื่อนของเพื่อนคนที่เป็นเจ้ากี้เจ้าการจัดทัวร์นี้อีกที เช่ารถตู้หนึ่งคัน ออกจากบ้านบนเขาที่มวกเหล็กแต่เช้า 6.30 น. หลับๆตื่นๆมาในรถ มาถึงตีนเขาภูกระดึงเอาตอน 12.00 น. ชั่งกระเป๋าที่จะให้เขาหาบขึ้นไปให้ จ่ายเงินค่าหาบ กินข้าว แล้วก็ออกเดินเท้าขึ้นภู ทางอุทยานอนุเคราะห์อุปกรณ์ปีนเขาให้ฟรี นั่นคือไม้ไผ่แห้งสำหรับแทนไม้เท้าคนละอัน

     อากาศร้อนเปรี้ยง แต่ก็มีที่พักให้เป็นระยะๆ เพื่อนฝรั่งที่มาด้วยซึ่งศึกษาข้อมูลมาก่อนบอกว่าภูกระดึงนี้มีความสูงจากทะเล 1280 เมตร แต่ช่วงที่ไต่ความสูงชันมีเฉพาะกม.แรกและกม.สุดท้ายเท่านั้น ตรงกลางค่อนข้างราบเรียบ เท่ากับว่าช่วงไต่ความสูงต้องมีความชันเกิน 60 องศาขึ้นไป
มองลงไปจากไหล่ทางเดิน เห็นผานกเค้าตะคุ่มอยู่ข้างล่าง

     ที่ว่ากันว่ามาภูกระดึงหัวเข่าจะพังนั้นเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะอวัยวะที่ใช้ทั้งขาขึ้นขาลงจริงๆแล้วไม่ใช่หัวเข่า แต่เป็นกล้ามเนื้อหน้าขา (quadriceps) หลังขา (hamstrings) และน่อง (gastroc) ความสูงทั้งหมดที่ต้องไต่หากเทียบเป็นตึกที่สูงชั้นละ 4 เมตรก็คือประมาณ 300 ชั้น ดังนั้นสำหรับคนที่หัวเข่าไม่ดีหากอยากมาภูกระดึงก็มาได้ เพียงแต่ต้องค่อยๆซ้อมเดินขึ้นลงบันไดตามแบบที่หมอสันต์เคยแนะนำ (https://www.youtube.com/watch?v=hr8PsRcrDwE) ให้ได้ 300 ชั้นในหนึ่งวันก่อน ก็จะขึ้นลงภูได้อย่างสบายๆ สามร้อยชั้นนะ ไม่ใช่สามร้อยขั้น แต่ตัวผมเองมาแบบไม่ทันได้ซ้อมอะไรหรอก เพราะมัวแต่ทำงานและลืม จึงต้องมาลุ้นกับของจริงเอาตอนนี้ อาศัยการเดินจริงๆกับภูเขาจริงๆเป็นการซ้อมไปในตัว ใช้หลักการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ แบบว่าเดินช้าๆ จับจังหวะการเดินให้เข้ากับการหายใจ หายใจเข้าทางจมูลลึกๆ หายใจออกช้าๆทางปาก ผ่อนคลายร่างกายให้เต็มที่ก่อนที่จะก้าวในแต่ละก้าว ขณะเดียวกันก็เอาหลักการรับรู้พลังงานของร่างกาย (ชี่) มาประยุกต์ด้วย คือขณะที่ผ่อนคลายร่างกายก็ลาดตระเวณความสนใจไปทุกรูขุมขนทั่วร่างกาย รับรู้ความรู้สึกยิบๆยับๆจิ๊ดๆจั๊ดๆตามผิวหนังและความรู้สึกบนกล้ามเนื้อไปด้วย หากพบว่าตรงไหนตึงก็บอกให้เขาผ่อนคลาย ตรงไหนเริ่มปวดหรือล้าก็ผ่อนการเดินลงพร้อมกับรับรู้พลังงานบริเวณนั้นมากขึ้นจนเขาหายเมื่อยหายล้าจึงค่อยขยับเพิ่มความเร็วในการเดินขึ้น เช่นเดียวกัน การจับการหายใจก็จะรู้อาการหอบเหนื่อยไปด้วย หากหอบเหนื่อยมากก็เดินช้าลง จดจ่ออยู่ที่ทีละก้าว ทีละก้าว ไม่ต้องไปสนใจว่าจะถึงหรือไม่ถึง ถ้าถึงจะถึงเมื่อไหร่ ใจโปร่งโล่ง ร่างกายเบา เดินแบบนี้เดินทั้งวันก็ไม่มีเหนื่อย ไม่ว่าความชันจะมากแค่ไหนก็ตาม คนเป็นโรคหัวใจขาดเลือดก็เดินได้ เพราะไม่มีช่วงจังหวะไหนจะเฆี่ยนให้ร่างกายต้องเร่งออกแรงจนหัวใจปั๊มไม่ทันเลย อย่างไรก็ตามเพื่อนฝรั่งเห็นผมเดินช้ามากเขาตะโกนแซวว่า

     "คุณจะเอาแอสไพรินแบบเคี้ยวไหม ผมมีนะ"

     น่าเสียดายที่คนสวนใหญ่ไม่ได้เดินในแบบของคนแก่อย่างหมอสันต์ พวกเขาเดินแบบรีบๆจ้ำๆจะไปถึงที่หมายเร็วๆจะได้พ้นๆความยากลำบากตรงนี้ไปเสียที พวกเขากำลังหนีสิ่งที่เขาตั้งใจจะมาเสาะหา ได้แต่ถามกันว่าถึงไหนละ อีกนานไหม เช็คกูเกิ้ลดูซิขึ้นมาได้กี่เมตรแล้ว บางครั้งก็ด่าไปด้วย บางครั้งก็สบถไปด้วย ทำให้ทั้งเหนื่อย ทั้งเครียด แล้วก็ทะเลาะกัน ว่ากันว่าเป็นแฟนกันหากกำลังหวานอยู่ดีๆอย่าพากันมาภูกระดึง เพราะจะมาแตกกันที่นี่ แล้วตรงหน้าผมตอนนี้ก็มีอยู่คู่หนึ่งพอดี รุนแรงถึงกับฝ่ายหนึ่งจะไปอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมให้ไปต้องพูดกันให้รู้เรื่องก่อน ฝ่ายจะไปก็ผลักฝ่ายไม่ยอมให้ไปแรงๆจนเกือบจะตกหน้าผาที่สูงชันจนคนเห็นเหตุการณ์ต้องเผลอร้องวี้ดออกมา ความร้อน ความเหนื่อย ความเครียด เป็นเชื้อประทุทำให้การทะเลาะกันถึงจุดเดือดเร็วขึ้น ผู้คนหยุดมองด้วยความตลึง เป็นห่วง แต่ไม่กล้าเข้าไปยุ่ง หรือไม่ก็..จะไป แต่กลัวพลาดที่จะเห็นฉากเด็ดๆของทริปนี้

     ผมเดินเข้าไปหาทั้งคู่อย่างช้าๆ เข้าไปตบไหล่ฝ่ายชายซึ่งเป็นคนต่างชาติ และพูดกับเขาเป็นภาษาอังกฤษแบบให้กำลังใจว่า

     "เราเป็นลูกผู้ชาย เธออาจจะทำอะไรผิดพลาดมหันต์ แต่ให้อภัยเธอเสียเถอะ" เขาฮึดฮัดมาก หายใจฟืดฟาดพูดว่า

     "ใช่ ผมเป็นลูกผู้ชาย ผมรู้ และผมก็ให้อภัยเธอมาตั้งแต่เช้าจนถึงบ่าย แต่เธอยึดเอากระเป๋าเงินและพาวเวอร์แบงค์ของผมไปหมด พูดดีๆยังไงเธอก็ไม่ยอมคืน แล้วผมจะให้อภัยเธอต่อไปได้อย่างไร" ผมหันไปทางผู้หญิงและพูดกับเธอว่า

     "เราก็ยอมเขาสักครึ่งทางสิ คืนของเขาให้เขาเสียไม่ดีหรือ" เธอแหวกลับมาใส่ผมฉอด ฉอด ฉอด ทันทีว่า

     "อ๋อ.. พี่เชื่อเขาหรือ พี่เชื่อที่เขาพูดใช่ไหม" ผมรีบแก้ตัวว่า

     "เปล่า เปล่า ลุงไม่รู้หรอกว่าเรื่องทั้งหมดเป็นมาอย่างไร แต่มันจะเป็นมาอย่างไรไม่สำคัญ ลุงเพียงแต่บอกว่าหากเราผ่อนปรนให้เขาสักครึ่งหนึ่ง มันก็เป็นความเมตตานะ สัญญากับลุงได้ไหมว่าหนูจะผ่อนให้เขาสักครึ่งหนึ่ง" 

     เธอยังฮึดฮัดไม่พูดอะไร แต่ผมเห็นแววตาเฮี้ยวบนใบหน้าสะสวยนั้นอ่อนโยนลง ฝ่ายชายก็คงสัมผัสได้ เขายอมเปิดทางให้ผู้หญิงไปข้างหน้าแต่โดยดี ผมหันไปตบไหลผู้ชายและสำทับอีกครั้งว่า

     "ใจเย็นๆ" 

   ผมหันหน้าเดินขึ้นเขาโดยไม่หันกลับมามองอีก ทั้งคู่ยังยืนห่างกันและตะโกนส่งเสียงทะเลาะกันต่อแต่เบาลง เพื่อนที่แอบหันกลับไปดูเหตุการณ์รายงานว่าผู้หญิงโยนกระเป๋าเงินใส่หน้าผู้ชาย และกระเป๋านั้นร่วงลงกับพื้น อ้า.. นั่นแหละ วิธีพบกันที่ครึ่งทางของเธอ

     เราหันกลับมาสนใจการเดินทางของเราต่อ เพื่อนที่เคยมาบอกว่าใกล้จะถึงซัมแฮ่กซึ่งเป็นจุดพักและมีอะไรเย็นๆให้ดื่มแล้ว ขณะที่กำลังเผลอดีใจนั้นก็มีเสียงวีดว้ายและผู้ชายวัยกลางคนๆหนึ่งซึ่งกำลังเดินทางลงจากเขาพลาดท่าอะไรสักอย่าง เขากำลังกลิ้งหลุนๆอย่างไม่เป็นท่าลงมาทางที่ผมอยู่ ผมรีบวิ่งเข้าไปหาเพื่อช่วยหยุดเขาแต่เขาคว้าตอไม้เล็กๆและหยุดตัวเองได้ตรงหน้าผมพอดีโดยที่ผมยังไม่ทันได้ออกแรงช่วยอะไรเลย ได้แต่พะยุงตัวเขาขึ้น ผมสังเกตว่าเขาไม่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ส่วนคนรอบข้างก็ถามกันเซ็งแซ่ว่า

     "เจ็บไหม เป็นอะไรไหม" 

     เขาปัดฝุ่นแล้วยิ้มยืนยันกับทุกคนว่าเขาไม่เป็นไร ก๊วนนักท่องเที่ยวที่เดินตามหลังลงมาเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งก็ซุบซิบวิเคราะห์ข่าวในหมู่กันเองตามธรรมเนียม สว.ชายพูดว่า

     "เจ็บนะไม่เจ็บหรอก แต่อาย เจ็บเดี๋ยวก็หาย แต่อายกลับไปถึงบ้านแล้วยังไม่หาย" แล้วก็มีเสียงสว.หญิงสอดขึ้นว่า

     "ถึงขั้นนี้แล้วใครมามัวอายอยู่ก็บ้าแล้ว เหนื่อยถึงขั้นนี้ฉันไม่เหลือฟอร์มอะไรแล้ว"

     ผมฟังอยู่ก็นึกเห็นด้วยอยู่ในใจ ว่า "องค์" หรือตัวตนของเรานี้ มันจะก๋าอยู่ได้ก็เฉพาะในยามที่เราไม่ได้ผจญความยากลำบาก แต่เมื่อใดที่เรายากลำบากสุดถึงขีดหนึ่ง องค์นี้มันก็จะจ๋อยไป เพราะองค์มันไม่ใช่ของจริง ความเป็นเราที่แท้จริงนั้นมันเป็นการรับมือกับอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นไปทีละช็อตแบบไม่มีองค์ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเผชิญความยากลำบากถึงขีดสุดเจ้าองค์ตัวปลอมนี้ก็จะเผ่นหนีเราไป เมื่อนั้นแหละ เป็นโอกาสทองที่เราจะได้เป็นเราที่แท้จริงเสียที

     ตลอดทางที่ผ่านมา มีป้ายให้ระวังช้างเป็นระยะๆ จนเพื่อนสว.ผู้ร่วมทางคนหนึ่งบ่นคนเขียนป้ายว่า

     "บอกแต่ให้ระวังช้าง ระวังช้าง แต่ไม่เห็นบอกว่าเวลาช้างมาจะให้กูทำอย่างไร" 

     ในคณะเรา บ้างเดินช้า บ้างเดินเร็ว แต่ในที่สุดส่วนใหญ่ก็มาพบกันที่ซัมแฮ่ก เรานั่งดื่มน้ำมะพร้าวทอดอารมณ์มองลูกหาบที่ส่วนใหญ่ถอดเสื้อเผยให้เห็นกล้ามกำลังเหงื่อท่วมแบกน้ำหนักระดับ 80 กก.ต่อคน บ้างอายุมากจนรู้สึกว่าน้ำหนักนั้นมันอาจจะมากเกินไปสำหรับเขาอยู่เหมือนกัน ผมสังเกตเห็นเกือบทุกคนเปิดเพลงหมอลำขณะหาบ บ้างยักเยื้องได้จังหวะอยู่ในที สังเกตจากการที่เขาหรือเธอถึงกับยอมก้าวถอยนิดหนึ่งเมื่อจังหวะเพลงมันน่าถอย ผมสังเกตรองเท้าที่พวกเขาใส่ บ้างใส่รองเท้านันยาง บ้างก็รองเท้าแตะ แต่บ้างก็มีรองเท้าบู้ทอย่างดีระดับนอร์ทเฟซใส่เลยทีเดียว นึกฉงนอยู่ในใจว่าลูกหาบมีปัญญาซื้อรองเท้าระดับนี้มาใส่กันเลยหรือนี่

     เราคุยกันฆ่าเวลาให้หายเหนื่อย ผมถามเพื่อนผู้หญิงญี่ปุ่นว่า

     "จริงหรือที่ญี่ปุ่นมีสถานที่เป็นป่าที่เวลาคนแก่อยากตายก็เข้าไปในป่านั้นแล้วไม่กลับมาอีกเลย" เพื่อนคนไทยอีกคนเสริมว่า

     "ได้ยินว่าอยู่แถวทะเลสาปทั้งห้า" เพื่อนญี่ปุ่นพยักหน้าและว่า

     "โอะบะซุเตะ นั่นมันเป็นเรื่องเล่าปรัมปราเมื่อสมัยเก่าก่อน สมัยนี้ไม่มีใครทำอย่างนั้นแล้ว" ผมถามว่า

     "แล้วคนแก่เขาไปของเขาเอง หรือว่าลูกหลานเขาเอาไปปล่อย" เธอตอบว่า

     "ก็มีทั้งสองอย่าง ที่ลูกหลานพาไปนั้นก็เป็นเพราะผู้สูงอายุตัดสินใจไปและขอให้ลูกหลานพาไปส่ง" ผมว่า

ยามสาย ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
     "น่าสนใจนะ ถึงจุดหนึ่งผมอาจจะอยากจะไปที่แบบนั้นบ้าง" เธอตอบโดยแทบไม่ต้องคิด พร้อมกับชี้มือไปที่พุ่มไม้หลังป้ายระวังช้างป่าว่า

     "คุณไม่ต้องไปถึงโน่นหรอก คุณเดินเข้าไปตรงนี้ก็ได้ "

     หิ หิ หิ แคว่ก แคว่ก แคว่ก ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

     แล้วเราก็ออกเดินทางกันต่อไป ปีน ปีน ปีน จนขึ้นมาถึงจุดสูงที่สุดที่เรียกว่าหลังแป คนไทยกรูไปถ่ายรูปเป็นหลักฐานกับป้าย "ครั้งหนึ่งในชีวิตพิชิตภูกระดึง" ส่วนคนต่างชาติเดินไปชมวิวผานกเค้าที่เห็นลิบๆอยู่ข้างล่าง จากนั้นก็เดินบนพื้นราบไปอีกราว 3 กม. ถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ซื้อข้าวกิน อากาศเย็นลงอย่างรวดเร็วมาอยู่ราว 11 องศา แล้วเข้าพักที่บ้านพักของอุทยานซึ่งมีความสะดวกเทียบได้กับโรงแรมระดับประมาณ 1 ดาว
นักท่องเที่ยวทุกวัยมาภูกระดึง

3 ธค. 61

     อิ่มอร่อยกับอาหารเช้าแบบซื้อเขากินแล้ว เราก็พากันออกเดิน มีนักท่องเที่ยวทุกวัยอยู่บนทางเดิน บนภูกระดึงนี้ทางเดินเป็นพื้นที่ราบเรียบ สองข้างทางเดินเป็นป่าสนสองใบ อากาศเย็น เป็นทางเดินที่ถูกเสป็คที่เดินสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งจะต้อง
(1) ไม่มีหมา
(2) ไม่มีรถยนต์
(3) อากาศเย็นดี
(4) มีธรรมชาติ สูงๆต่ำๆบ้างก็ดี
(5) มีทางเดินรอบหนึ่งประมาณ 1-3 กม.

ไม่มีหมา ไม่มีรถยนต์ อากาศเย็นดี มีธรรมชาติ

ตัวผมเองเคยคิดจะทำที่เดินออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุให้ได้สะเป๊คทั้ง 5 ข้อนี้แต่ก็ยังไม่มีปัญญา มาครั้งนี้ผมพบโดยบังเอิญว่าทางเดินบนภูกระดึงมีสมบัติทั้งห้าประการครบถ้วน จากจุดหนึ่งไปหาอีกจุดหนึ่งระยะประมาณ 1-3 กม. โดยมีที่พักของศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเป็นศูนย์กลาง อากาศเย็น ปลายทางทุก 1-3 กม.ก็มีน้ำตกบ้าง หน้าผาบ้าง ให้ปิกนิกอ้อยอิ่งได้ครึ่งค่อนวัน บ่ายร้อนจัดก็หลบเข้างีบในที่พัก

     ดังนั้นผมแนะนำแฟนๆบล็อกที่เป็นผู้สูงวัยว่าหากท่านจะหาที่เดินออกกำลังกายที่ได้สะเป็คครบถ้วน ให้ท่านมาเดินที่ภูกระดึง มาครั้งหนึ่งให้วางแผนอยู่บนนี้สัก 7-14 วัน ให้เช่าบ้านพักของอุทยาน จะดีกว่านอนเต้นท์ เพราะกลางวันในเต้นท์จะร้อน แต่ในบ้านพักจะเย็น ให้เตรียมผลไม้มาแยะๆ จ้างลูกหาบแบกมา เพราะบนนี้ไม่มีผลไม้ทาน มีก็แต่แตงโม (ลูกละ 350 บาท) ส่วนผลไม้อื่นๆหายาก
น้ำตกถ้ำใหญ่ เงียบดี แต่ว่าใบเมเปิลสีแดงร่วงลงไปหมดแล้ว

อยู่ที่นี่กลางคืนอากาศเย็นแบบกรอบๆ (crispy) ทำให้นอนหลับสนิทและหลับสบาย ตื่นนอนสายๆแล้วค่อยออกไปเดินเล่น บ่ายๆก็กลับเข้าที่พักเพื่องีบสักงีบหนึ่ง เย็นๆก็ออกไปเดินเล่นอีกรอบ แต่ละรอบไม่ต้องเดินไกล เอาแค่คราวละสามสี่กม.ก็พอ เป้าหมายก็น้ำตกโน้นน้ำตกนี้บ้าง หรือผาโน้นผานี้บ้าง แม้แต่สวนดอกไม้ป่าบนภูกระดึงนี้ก็มีแต่ไม่มีใครรู้จักหรือให้ความสนใจหรือไฮไลท์มันขึ้นมา ไปถึงก็ไปตั้งปิกนิกอ้อยอิ่งอยู่ได้แห่งละครึ่งค่อนวัน ทำแบบนี้ได้ทุกวัน อย่าไปกังวลกับการขึ้นและลงภูที่ใครต่อใครวาดให้เห็นเป็นอุปสรรคที่น่ากลัว เพียงแค่ซ้อมเดินขึ้นลงบันไดช้าขึ้นลงให้ได้วันละ 200-300 ชั้นผมรับประกันได้ว่าท่านเดินขึ้นลงภูกระดึงได้ฉลุยแน่ๆ

สระอโนดาษ

     เราเดินกันมาได้พักใหญ่ก็มาถึงน้ำตกถ้ำใหญ่ เป็นน้ำตกเล็กๆที่เงียบสงบ มีลานหินให้นั่งสมาธิหน้าน้ำตกด้วย ฟังว่าเวลาใบเมเปิลร่วงลงบนลานหินจะเป็นสีแดงฉานลานตาไปหมด แต่เวลาที่เรามาถึงนี้ใบเมเปิลซึ่งออกสีแดงกะหร็อมกะแหร็มได้ร่วงไปหมดเกลี้ยงแล้วเรียบร้อยก่อนหน้านี้

     เราเดินทางกันไปถึงจุดท่องเที่ยวชื่อสระอโนดาษ เป็นทะเลสาปเล็กๆอยู่กลางพื้นที่คล้ายๆปากปล่องภูเขาไฟหากจะเปรียบทั้งภูกระดึงเป็นภูเขาไฟลูกหนึ่ง วันที่เรามาถึงนี้เป็นวันธรรมดาที่ไม่มีนักท่องเที่ยวมากนัก สระอโนดาษจึงเป็นสถานที่เงียบสนิท น้ำในบึงนิ่งดุจกระจกเงา

คุณไปเถอะ ผมพบสิ่งที่ผมแสวงหาแล้ว

     ผมแอบเดินสำรวจไปรอบๆบึง พบว่ามีลำธารน้ำใสไหลรินเล็กๆเสียงดังจ๊อกๆ ผมชวนหมอสมวงศ์ลงไปนั่งปิกนิกบนธารหินกันสองคน หยิบขนมปังโฮลวีทขึ้นมากินกับน้ำเปล่า รู้สึกว่าเมื่อยล้าที่กล้ามเนื้อพับใน (vastus medialis) จนหากจะฝืนเดินต่อไปคงแย่ จึงล้มตัวลงนอนบนแผ่นหิน เอาหมวกปิดหน้า ฟังเสียงน้ำไหลจ๊อกๆ แล้วเคลิ้มไป ได้ยินเสียงเพื่อนๆเรียกแผ่วๆว่าไปกันเถอะ เขาจะไปดูผาหล่มสักกัน ซึ่งอยู่ห่างออกไป 8 กม. ผมจึงตะโกนตอบไปว่า

     "คุณไปกันเถอะ ผมพบสิ่งที่ผมแสวงหาแล้ว"

     ผมตื่นขึ้นมา สองตายายพากันเดินกลับมาที่พัก เพื่อเตรียมตัวออกเดินยาวไปพบกับเพื่อนๆซึ่งจะไปดูตะวันตกดินกันที่ผาหมากดูก ขณะที่รอหมอสมวงศ์อาบน้ำ ผมออกมายืนรับอากาศเย็นที่หน้าบ้านพัก เห็นกวางใหญ่ตัวเมียตัวหนึ่งเยี่ยมหน้าพ้นจากชายป่าออกมาเมียงมองอยู่แต่ไกล ไกลจนเกือบมองไม่เห็นลูกตา ผมตั้งใจพูดกับเธอเบาๆว่า
เธอชอบขนมปังโฮลวีทของเวลเนสวีแคร์แฮะ

     "คุณสนใจขนมปังโฮลวีทของเวลเนสวีแคร์ไหมละ" 

     ดูเหมือนเธอจะเก็ท จึงยุรยารตออกจากป่าเดินตรงรี่มาหาผมเป็นระยะทางราวสามร้อยเมตร ท่าทางเธอจะตั้งท้องเสียด้วย ทั้งๆที่รู้ๆอยู่ว่าการให้อาหารแก่สัตว์ป่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อสัญญากับเธอผู้นี้แล้วก็ต้องรักษาสัญญา เพราะสัญญาก็เป็นกฎหมายเหมือนกัน ปรากฎว่าเธอชอบขนมปังโฮลวีทของเวลเนสวีแคร์แฮะ คงเป็นเพราะมันมีนัทอยู่ในนั้น คราวนี้เธอเดินตามตื้อผมต้อยๆ ผมหมดขนมปังไปหลายแผ่น จนกลัวจะไม่พอแจกเพื่อนมื้อเช้าพรุ่งนี้ จึงต้องตัดใจบอกว่า

     "พอแล้ว เดี๋ยวน้ำหนักเกินแล้วจะเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อร้งนะ"

ตะวันตกที่ผาหมากดูก
     บ่ายคล้อยแล้ว เราสองตายายออกเดินอีกรอบเพื่อไปผาหมากดูก ระยะทางประมาณ 2.5 กม. ไปถึงก็ไปสมทบกับเพื่อนๆซึ่งประสบความสำเร็จในการเดินตากแดดเปรี้ยงๆเป็นระยะ 8 กม.จากสระอโนดาษเพื่อไปชมผาหล่มสัก แล้วเดินต่อมาที่นี่อีกราว 10 กม. เพื่อมาดูดวงอาทิตย์ตกร่วมกับผม ซึ่งเพิ่งอาบน้ำเสร็จและเดินลัดออกมาจากที่พักเพียง 2.5 กม.เท่านั้นเอง หิ หิ ผมยอมแพ้ คุณชนะ

4 ธค. 62
   
     วันนี้เราตื่นเช้ากว่าปกติ เพื่อจะเอาสัมภาระมากองให้ลูกหาบก่อนเวลา 6.00 น. ไม่มีใครอ้อยอิ่งเพราะผอ.ทัวร์บอกว่าใครเอาสัมภาระมาไม่ทันเวลาลูกหาบออกต้องหาบลงเอง หิ หิ ที่จริงเขาไม่ได้พูดหรอก ผมพูดแทน ทุกคนประพฤติดี มาตรงเวลา เราไปกินอาหารเช้ากันที่ร้าน ตั้งใจว่าจะเก็บบรรดากาแฟ ขนมปัง ขนมพาย ที่เราขนขึ้นมาเองให้หมด แต่ก็ไม่มีปัญญาชงกาแฟเอง เพราะบนนี้ไม่มีไฟฟ้า แล้วเราก็ไม่ได้หาบเตาแก้สปิกนิกมา จึงทำทีเป็นฟอร์มไปขอซื้อน้ำร้อนที่ร้านค้า เธอก็รู้แกวแต่ก็บอกเราอย่างสุภาพว่า

     "น้ำร้อนต้มให้ฟรีค่า..า"

     ด้วยความเกรงใจพวกเราจึงต้องอุดหนุนปาท่องโก๋ของเธอไปถาดเล็กๆถาดหนึ่ง และเก็บขนมปังของตัวเองกลับบ้านใครบ้านมัน

      การเดินทางขาลงโหดคนละแบบกับขาขึ้น แต่ก็โหดพอๆกันเพราะต้องอาศัยกำลังขาและน่องคอยยั้งตัวเองไว้ไม่ให้คะมำหน้าตลอดทาง เมื่อลงมาถึงแล้วคนต่างชาติรีบไปอาบน้ำ แต่คนไทยซักแห้ง แล้วก็มานั่งรอลูกหาบซึ่งออกเดินทางมาก่อนเราแต่ยังมาไม่ถึง ผมนั่งสมาธิรอเพื่อผ่อนคลายร่างกายให้หายปวดเมื่อย แต่ก็แอบเห็นและได้ยินเพื่อนฝรั่งเอารองเท้าบู้ทของตัวเองไปให้ลูกหาบคนหนึ่ง เพื่อนผู้หญิงญี่ปุ่นถามว่า

     "อ้าว แล้วคุณไม่ใส่รองเท้าหรือ" เพื่อนฝรั่งตอบว่า

     "มันเก่าแล้ว เป็นเวลาที่ผมจะซื้อของใหม่เสียที"

     ข้างลูกหาบคนนั้นพอได้รองเท้าไปแล้วเขาดูดีใจอย่างออกนอกหน้าจนอดใจไม่อยู่ ต้องถอดรองเท้าของตัวเองออกแล้วลองรองเท้าใหม่เดี๋ยวนั้นเลยแบบลุกลี้ลุกลน มันใหญ่กว่าเท้าของเขาหลายเบอร์ แต่เขาก็ยังดีใจอยู่ดี จนผมอดไม่ได้ต้องคอมเมนท์ค่อนแคะเป็นภาษาอังกฤษกับเพื่อนญี่ปุ่นและฝรั่งว่า

     "ดูเขาจะดีใจเกินมูลค่าสิ่งที่เขาได้รับจริงไปแยะนะ" เพื่อนฝรั่งได้ยินก็ร้องว่า

     "อ้าว ผมนึกว่าคุณนิพพานไปแล้ว คุณแอบดูอยู่หรือนี่"

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]