28 มิถุนายน 2562

พิธีกรรมส่วนตัว วันละหนึ่งชั่วโมง

หมอสันต์พูดกับสมาชิกในรีทรีตฟื้นฟูผู้ป่วยมะเร็ง (CR)

     นี่เป็นเช้าวันแรกที่พวกเราตื่นเช้ามารวมกันที่นี่เพื่อทำสิ่งที่ผมเรียกว่า "พิธีกรรมส่วนตัว" หรือ private ritual ชื่อว่าส่วนตัว แต่ผมบังคับให้ทุกท่านมาทำด้วยกันที่นี่ ไอเดียก็คือผมต้องการให้ทุกท่านจัดเวลาวันละหนึ่งชั่วโมงเพื่อตัวเอง เรามีชีวิตอยู่เพื่อคนอื่นมาตลอดชีวิต แต่จากนี้ไปผมขอว่าให้ทุกท่านจัดเวลาเพื่อตัวเองวันละหนึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมงนี้เราจะหยุดมีชีวิตอยู่เพื่อคนอื่นไว้ก่อน เพื่อให้เวลานี้แก่ตัวเราเอง เพื่อใช้เวลานี้ไปกับการหันความสนใจจากนอกเข้าสู่ข้างใน ทุกเช้าเราจะมารวมกันที่นี่เพื่อทำกิจกรรมหนึ่งชั่วโมงนี้ด้วยกันเพื่อให้ท่านคุ้นเคยกับชีวิตที่กันหนึ่งชั่วโมงให้ตัวเองจนเอาไปทำต่อที่บ้านเองให้กลายเป็นนิสัยให้ได้

     สาเหตุของการเป็นมะเร็งนั้นเป็นการประชุมแห่งเหตุ หมายความว่ามีหลายสาเหตุมาบรรจบกันแล้วเกิดผลคือการเป็นมะเร็งขึ้น เหตุหนึ่งคือการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราทำงานไม่ได้เต็มที่ หรือถูกบล็อกไม่ให้ทำงาน ระบบที่จะบล็อกระบบภูมิคุ้มกันได้คือระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งมีหน้าที่นำพาชีวิตให้รอดพ้นภัยคุกคามจากภายนอก เมื่อใดก็ตามที่มีภัยคุกคามจากภายนอก เมื่อนั้นระบบประสาทอัตโนมัติก็จะเปิดหวอสัญญาณอันตราย เมื่อเสียงหวอดัง ระบบการทำงานของอวัยวะทั้งร่างกายก็จะเปลี่ยนไปตามแผนปฏิบัติการฉุกเฉินที่ถูกกำหนดไว้อย่างตายตัวแล้ว นั่นคือระบบที่ไม่จำเป็นต่อการอยู่รอดฉุกเฉินเช่นระบบสืบพันธ์ ระบบย่อยอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน จะถูกลดหรือปิดการทำงานลงชั่วคราว เมื่อระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ไม่เต็มแม็ก เม็ดเลือดขาวก็เก็บกินเซลที่กลายพันธุ์ได้ไม่หมด เซลพวกนั้นจึงพากันออกลูกหลานก่อตัวเป็นมะเร็งได้ ในโลกยุคปัจจุบันนี้ภัยคุกคามที่จะกระตุ้นให้เสียงหวอดังไม่ใช่เสือสิงห์ในป่าอย่างสมัยก่อนแล้ว แต่เป็น "ความคิด" ของเราเอง แล้วความคิดเนี่ยมันก็ไม่ได้มาแบบเสือสิงห์ที่นานๆโผล่มาทีนะ มันมาทุกวันซ้ำซาก ร่างกายจึงตกอยู่ในภาวะเครียดซ้ำซาก จนระบบภูมิคุ้มกันเสียการทำงาน พูดง่ายๆว่าความคิดของเรานี่แหละ ที่เป็นเหตุผสมโรงทำให้เราเป็นมะเร็ง ดังนั้นในชั่วโมงพิธีกรรมส่วนตัวในเช้าวันแรกนี้ เราจะให้เวลาก้บการฝึกวางความคิด

     เมื่อวานนี้ผมพูดถึงว่าชีวิตคนเราหากแยกส่วนง่ายๆก็จะได้สามส่วนคือ (1) ร่างกาย (2) ความคิด (3) ความรู้ตัว

     ผมจะเริ่มด้วยการทำความรู้จักความคิดให้มากขึ้นสักหน่อยก่อน ความคิดที่เป็นต้นเหตุแห่งทุกข์นั้นหากจะแบ่งง่ายๆก็น่าจะได้สี่เข่ง คือ
     (1) ความอยาก ทั้งอยากได้ ซึ่งมีชื่อเพราะๆว่า "ความหวัง" อยากหนี ซึ่งมีอีกชื่อว่า "ความกลัว" แต่ทั้งความหวังและความกลัวก็ล้วนแต่เป็นความอยากทั้งคู่
     (2) ความหงุดหงิด หรือโกรธ ในเข่งนี้รวมทั้งความเสียดาย เสียใจ น้อยใจ ด้วย คือเป็นความไม่ได้อย่างใจ หรืออะไรๆที่เกิดขึ้นแล้วไม่เป็นไปตามที่เราอยากจะให้เป็น
     (3) ความฟุ้งสร้าน มีชื่อเพราะๆอีกชื่อหนึ่งว่าจินตนาการ คือเป็นความคิดล่องลอยเฟอะฟะไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยที่มาที่ไป
    (4) ความสงสัย ไม่แน่ใจ จะเป็นยังไงนะ จะถูกหรือผิด จะดีหรือชั่ว จะยังงั้นหรือเปล่า จะยังงี้หรือเปล่า

     แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นความคิด ไม่ว่าจะถูกจับยัดมาในเข่งไหน สืบโคตรเหง้าศักราชไปแล้วก็ล้วนมีรากมาจากที่เดียวกัน หรือชงมาจากแหล่งเดียวกัน คือมาจาก "สำนึกว่าเป็นบุคคล" หมายถึงความปักใจเชื่อว่าความเป็นบุคคลของเรานี้เป็นของจริง เรียกอีกอย่างว่ามาจาก "อัตตา" ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วความเป็นบุคคลนี้มันไม่มีอยู่จริง มันเป็นแค่ชุดของความคิดที่แต่งเรื่องเป็นตุเป็นตะขี้นโดยอุปโลกน์เอาร่างกายนี้เป็นพระเอกนางเอกถาวร ทั้งๆที่ รู้ทั้งรู้ ว่าร่างกายนี้ก็ไม่ใช่ของถาวรอะไร

     คราวนี้เรามารู้จักกับความรู้ตัวบ้าง ว่ามันคืออะไร เราไม่เคยรู้จักความรู้ตัว เพราะเรามองชีวิตเมื่อไหรก็เห็นว่ามีแต่กายและใจ แลเราก็เหมาเอาง่ายๆว่าใจก็คือความคิด เพราะมองเข้าไปในใจทีไรก็เห็นแต่ความคิดทุกครั้ง ไม่เคยเห็นความรู้ตัว

     ความรู้ตัวนี้คือส่วนของชีวิตที่ไม่ใช่ทั้งร่างกาย ไม่ใช่ทั้งความคิด ไม่ใช่ดินน้ำลมไฟที่จะจับต้องสัมผัสได้ แต่เป็นความตื่นที่มีความสามารถรับรู้ โดยไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวดองกับสำนึกว่าเป็นบุคคลหรือกับอะไรทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นสมบัติของใครด้วย แค่เป็นความตื่นและรับรู้ได้เฉยๆ แม้ร่างกายนี้จะเป็นอะไรไป หรือความคิดจะดิ้นเร่าๆอย่างไร ความรู้ตัวก็ได้แต่รู้เฉยๆ ไม่เดือดร้อนด้วย ความรู้ตัวจึงเป็นส่วนของชีวิตที่นิ่งที่สุด เย็นที่สุด ถาวรที่สุด สังเกตให้ดีเถอะ เรานั่งมองร่างกายของเรามาหลายสิบปี ร่างกายนี้เปลี่ยนจากเป็นเด็ก เป็นหนุ่มสาว มาจนเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ ร่างกายเปลี่ยนมาตลอด แต่เราผู้นั่งมองไม่เคยเปลี่ยน เพราะเราก็ยังเป็นเราคนเดิม เราคนที่นั่งมองนั่นแหละคือความรู้ตัว ถ้าเราอยากจะพ้นไปจากความทุกข์ เราต้องถอยความสนใจของเราออกไปจากความคิด ไปเป็นความรู้ตัวนี้ เราจึงจะพ้นทุกข์อย่างถาวร เพราะแม้ความคิดหรือร่างกายจะเปลี่ยนแปลงผุพังไปอย่างไร แต่ความรู้ตัวไม่เคยเปลี่ยน ความรู้ตัวนี้มีชื่อเรียกหลายอย่างสุดแล้วแต่ใครอยากจะเรียกว่าอะไร บ้างเรียกว่า เต๋า พระเจ้า ปรมาตมัน วิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ธรรมธาตุ นิพพานธาตุ ฯลฯ

     เช้าวันนี้เราจะมาเริ่มฝึกหัดระดับ ปฐม ก. กา เรื่องการถอยความสนใจออกมาจากความคิด เพื่อไปเป็นความรู้ตัว โอเค้. เริ่มกันเลยนะ ทุกคนนั่งอย่างไรก็ได้ ให้ตัวเองสบายก็แล้วกัน ถ้าไม่ชอบขัดสมาธิก็ขึ้นไปนั่งห้อยขาบนเก้าอี้ได้ แต่ขอให้หลังตรง อย่าทำหลังงอ

     เริ่ม ขั้นที่หนึ่ง ด้วยการผ่อนคลายกล้ามเนื้อร่างกายก่อน เพราะการผ่อนคลายกล้ามเนื้อร่างกายเป็นกลวิธีหนึ่งในการวางความคิด เพราะความคิดของคนเรานี้มันมีสองขา ขาหนึ่งเป็นเนื้อหาสาระของความคิดในใจ หมายถึงว่าเป็นภาษา เป็นเรื่องราว อีกขาหนึ่งเป็นอาการบนร่างกายอย่างเช่นอาการหดเกร็งกล้ามเนื้อนี้เป็นต้น กลไกที่ความคิดทำให้เกิดอาการบนร่างกายนี้มีนักปราชญ์อธิบายไว้แยะรวมทั้งพระพุทธเจ้าด้วย แต่ว่าในเวลาจำกัดนี้เราอย่าไปพูดถึงเลย เอาเป็นว่าผ่อนคลายร่างกายแล้ว ความคิดก็จะถูกวางลงไปโดยอัตโนมัติ

     การผ่อนคลายร่างกาย ให้เริ่มด้วยการหายใจเข้าลึกๆเต็มปอด อั้นไว้สักพัก แล้วค่อยๆผ่อนลมหายใจออกทางปากช้าๆ พร้อมกับสั่งให้กล้ามเนื้อร่างกายผ่อนคลาย เพราะกล้ามเนื้อของร่างกายนี้เราสั่งมันได้ เน้นที่ใบหน้าคิ้ว แก้ม คาง ก่อน ผ่อนคลาย..ย Relax..x จะรู้ว่าเราผ่อนคลายใบหน้าได้สำเร็จหรือไม่ก็ลองยิ้มที่มุมปากดู ยิ้มแบบพระพุทธรูปนั่นแหละ ถ้ายิ้มไม่ออก หรือต้องฝืนแสยะ ก็แสดงว่ายังผ่อนคลายไม่ลง ยังมีความคิดอยู่ ให้หายใจเข้าลึกๆใหม่ ค่อยผ่อนออก แล้วผ่อนคลายใหม่ ซ้ำๆหลายๆครั้ง จนผ่อนคลายได้

     นอกจากใบหน้าแล้ว คอ บ่า ไหล่ หลัง ก็มักจะเป็นจุดที่มักเกร็งเสมอ ให้ลาดตระเวณความสนใจ สำรวจไปว่าตรงไหนเกร็งก็สั่งให้ผ่อนคลาย..ย Relax..x สั่งให้ผ่อนคลายแล้วก็ตามไปรับรู้ ตามไป feel ว่ามันผ่อนคลายได้แล้วจริงๆ รับรู้เอานะ ไม่ใช่คิดเอา feel ไม่ใช่ think

     ขั้นที่สอง  เราลองเช็คดูสักนิดว่ายังมีความคิดหลงเหลืออยู่หรือเปล่า วิธีเช็คก็คือการชำเลืองมองย้อนกลับไปว่าหนึ่งวินาทีที่ผ่านไปนี้เราคิดอะไรอยู่เอ่ย ชำเลืองย้อนไปดูแว้บเดียวแล้วรีบกลับออกมา เพราะถ้าดูนานความสนใจของเราอาจจะถูกดูดเข้าไปอยู่ในความคิด กลายเป็นไปผสมโรงคิดต่อยอดเสียฉิบ แทนที่จะเป็นแค่การสังเกตความคิดจากข้างนอก ดูแว้บเดียว เอาแต่หัวเรื่อง ไม่เอาเนื้อหา แล้วรีบกลับออกมา สักพักก็แอบชำเลืองกลับไปดูอีกแว้บหนึ่ง ความคิดนั้นยังอยู่หรือเปล่า ถ้ายังอยู่ก็หลบกลับอีก อีกสักพักก็ชำเลืองกลับไปดูอีกแว้บหนึ่ง ทำอย่างนี้จนความคิดฝ่อหายไป มันเป็นธรรมชาติของความคิดที่เมื่อถูกความสนใจแอบดูแล้วมันจะฝ่อหายไปเสมอ ไม่เชื่อลองดูเอง

     ขั้นที่สาม มาถึงตอนนี้ ความคิดไม่มีแล้ว ผ่อนคลาย ตื่นอยู่ รู้ตัวอยู่ ลองเงี่ยหูฟังซิ ได้ยินเสียงอะไรไหม ได้ยินเสียงอะไรบ้าง ได้ยินเสียงนกอะไรก็ไม่รู้เสียงดังมาก ได้ยินเสียงนกเขาขันจากทางโน้น ไก่ขันอยู่ไกลๆ หมาเห่าอยู่ไกลมาก เสียงรถยนต์แผ่วๆ ถ้าเราได้ยิน เรารับรู้เสียงนั้นแบบรับรู้คลื่นความสั่นสะเทือน โดยไม่เอาภาษาเข้าไปตีความหรือคิดต่อยอด ไม่พิพากษาตัดสินว่าที่ร้องเสียงดังนี่มันน่าจะเป็นนกอะไร แค่รับรู้เป็นเสียงนกเฉยๆ หรือเมื่อมีลมพัดมาถูกผิวหนังเรารู้ว่าขนลุก แต่ไม่ไปคิดต่อยอดว่าเย็นขนาดนี้มันจะกี่องศากันเนี่ย นี่เรียกว่า "รู้" ตามที่มันเป็น ไม่มีความคิดนะ ไม่มีภาษามาเกี่ยวข้องนะ มีแต่ภาพเสียงสัมผัส การที่เรารับรู้สิ่งเร้าที่เข้ามาหาเราในรูปของภาพ เสียง สัมผัส ทีละขณะ ทีละขณะ โดยรู้ตามที่มันเป็น ไม่มีความคิด ไม่มีภาษามาเกี่ยวข้อง อย่างนี้แหละที่เขาเรียกว่าอยู่กับปัจจุบัน ดังนั้นการอยู่กับปัจจุบัน  กับความรู้ตัว ก็คืออันเดียวกัน

     ที่ตรงนี้ให้คุณสังเกตนะ การอยู่กับปัจจุบัน รับภาพเสียงสัมผัสจากสิ่งเร้าภายนอกที่เข้ามาถึงตัวที่ละช็อต ทีละช็อต รับรู้ตามที่มันเป็น โดยไม่ไปคิดอะไรต่อยอด ไม่พิพากษาตัดสิน สนใจแต่เท่าที่มันเป็น What is? ไม่สนใจว่ามันควรจะเป็นอย่างไร คือไม่สนใจ What should be? แบบนั้นเป็นความคิดไปเสียแล้ว ไม่ใช่ความรู้ตัว ต้องเปลี่ยนจาก "คิด" มาเป็น "รู้" หรือเปลี่ยนจาก think เป็น feel ให้รู้ตัว ตื่นตัว จดจ่อไปทีละขณะ ทีละช็อต ว่าช็อตต่อไปอะไรจะเข้ามา ต่อจากเสียงหมา เสียงไก่ขัน แล้วจะเป็นเสียงอะไรไม่รู้ ต้องจดจ่ออย่างตื่นตัว การใช้ชีวิตแบบนี้มันเป็นการใช้ชีวิตแบบตื่นตัว เร้าใจ เป็นมหัศจรรย์ของชีวิต เพราะช็อตต่อไปใครจะรู้ว่าอะไรจะเข้ามาในชีวิต นี่แหละคือการใช้ชีวิตอย่างแท้จริง แบบใหม่ๆ สดๆ ซิงๆ ความตื่นตัวแบบไม่มีความคิดต่อยอดนี้เสริมสร้างพลังชีวิตให้คุโชน ทำให้อวัยวะร่างกายเกิดพลังขับเคลื่อน คุณต้องใช้ชีวิตแบบนี้ อย่าใช้ชีวิตแบบเอาความสนใจไปจมอยู่ในความคิด แบบนั้นเป็นการใช้ชีวิตแบบหมักเม่า เพราะความคิดก็คือการรีไซเคิลความจำอันบูดๆเก่าๆอับๆจากอดีตของเรา หามีอะไรใหม่ไม่ มีแต่จะทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติเปิดหวอ หว้อ หว้อ หว้อ ว่าสิ่งคุกคามมาอีกแล้ว ซึ่งก็จะตามมาด้วยวงจรความเครียดซ้ำซาก
     
     ขั้นที่สี่ คราวนี้มารู้จักความรู้ตัวให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ให้ทุกคนหลับตา โฟกัสที่เสียงก่อนนะ เพื่อจะเรียนรู้ว่าเราจะอยู่แบบเป็นความรู้ตัวได้อย่างไร หายใจเข้าลึกๆ ผ่อนออกช้าๆ ผ่อนคลายร่างกาย วางความคิด วางหมายความว่าแอบดูพอรู้ว่ามันคิดอยู่ก็ถอยกลับไม่ไปคิดต่อยอด หันหลังให้ความคิดนั้นซะ ไม่ต้องไปขับไล่ แค่หันหลังให้ พอความคิดหมดแล้วให้สนใจเสียง ตั้งใจฟังว่ามีเสียงอะไรบ้าง คราวนี้ให้สังเกตเพิ่มเติมนะว่า เสียงนกดังๆเกิดจากทางนี้ เสียงนกเขาขันเกิดจากทางโน้น เสียงไก่ขัน เสียงหมาเห่านานๆครั้งอยู่ไกลออกไป ตอนแรกดูเหมือนว่ามีเสียงเต็มไปหมด แต่สังเกตให้ดีนะ เสียงนั้นเกิดทางนี้นิดหนึ่ง เสียงนี้เกิดทางนั้นหน่อยหนึ่ง แต่พื้นที่ที่เหลืออันกว้างใหญ่นั้นไม่มีเสียงนะ พื้นที่อันกว้างใหญ่ที่เหลือนั้นเป็นความเงียบนะ ให้คุณเอาความสนใจไปจดจ่ออยู่ที่ความเงียบอันกว้างใหญ่นั้น แล้วสังเกตนะ ปักหลักอยู่ที่ความเงียบแล้วสังเกต สังเกตเสียงนกเขาที่ขันๆหยุดๆ จุ๊กกรู จุ๊กกรู ตัวนั้นก็แล้วกัน เสียงมันเกิดมาจากไหน มันเกิดมาจากความเงียบนะ แล้วเสียงมันดับหายไปไหน มันดับหายไปในความเงียบนะ ดังนั้นในมุมมองของเสียง ความเงียบคือความรู้ตัว เสียงหรือสิ่งเร้านั้นเกิดขึ้นในความเงียบคือเกิดขึ้นในความรู้ตัว ในมุมมองของภาพก็คล้ายกัน เมื่อคุณหลับตา ความว่างดำๆใหญ่ๆตรงหน้านี้คือความรู้ตัว แล้วภาพทั้งหลายเกิดขึ้นในความว่างนี้ คุณลองนึกหน้าคนที่คุณรักขึ้นมาสักคนสิ ภาพหน้าของเขาหรือเธอจะโผล่เข้ามาแว้บหนึ่ง มันโผล่มาในความว่างนี้นะ และดับหายไปในความว่างนี้ ดังนั้นความรู้ตัวก็คือความเงียบหรือความว่างอันกว้างใหญ่หาขอบไม่ได้ ที่สิ่งเร้าทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นภาพเสียงสัมผัสหรือความคิด ก็ล้วนเกิดขึ้นในความว่างหรือความเงียบนี้

     ขั้นที่ห้า ทีนี้หากเราจะถอยความสนใจออกจากความคิดมาอยู่กับความรู้ตัว เราจะเอาความสนใจไปจ่อไว้ที่ไหนละ เพราะทั้งความเงียบหรือความว่างมันล้วนกว้างใหญ่เหลือประมาณ คุณอย่าไปสนใจความกว้างใหญ่ของมันเลย แม้มันจะไม่มีขอบ แต่คุณก็สามารถเลือกสนใจแค่ส่วนที่อยู่ตรงหน้าคุณก็พอ

     อนึ่ง ในการจะเป็นความรู้ตัว ให้คุณถามตัวเองบ่อยๆว่า

     "ฉันรู้ตัวอยู่หรือเปล่า"

     แล้วพยายามตอบคำถามนี้อย่างจริงจัง ในการจะตอบคำถามนี้ได้ คุณจะต้องไปควานหาว่าความสนใจของคุณกำลังไปเพลิดเพลินอยู่ที่ไหน ไปขลุกอยู่ในความคิดหรือเปล่า หรือว่ากำลังจดจ่ออยู่กับความเงียบหรือความว่างที่ตรงหน้าคุณนี้ ถ้ามันกำลังจดจ่ออยู่ที่ความว่างหรือความเงียบที่ตรงหน้านี้อยู่ คุณก็กำลังรู้ตัวอยู่

     เอาละ เช้านี้เราจบบทที่หนึ่งแค่นี้ก่อน ย้ำอีกที มีห้าขั้นนะ

(1) ผ่อนคลายร่างกายและยิ้ม
(2) ย้อนสังเกตดูความคิด
(3) รับรู้สิ่งเร้าที่นี่เดี๋ยวนี้ตามที่มันเป็น
(4) ปักความสนใจไว้ที่ความเงียบหรือความว่าง
(5) ถามบ่อยๆว่าฉันรู้ตัวอยู่หรือเปล่า

     มาถึงตอนนี้ คุณรู้จักความรู้ตัวแล้วนะ การบ้านก็คือเมื่อลืมตาขึ้นใช้ชีวิตปกติแล้ว ให้คุณจุ่มหรือแช่ความสนใจของคุณอยู่ที่ความรู้ตัวอยู่เนืองๆ พำนักอาศัยอยู่ในความรู้ตัว อยู่กับปัจจุบัน อยู่กับสิ่งเร้าที่เข้ามาทีละช็อต ทีละช็อต รับรู้สิ่งเร้าเหล่านั้นตามที่มันเป็นโดยไม่ไปคิดต่อยอด นี่คือการบ้านที่คุณจะต้องเอาไปทำต่อ ให้ทำเสมอเมื่อคุณว่างจากภาระกิจการงาน เวลาคุณต้องคิดต้องอ่านทำการทำงานก็ทำไป ผมไม่ไปแย่งเวลานั้นของคุณ คุณจะได้ไม่อ้างได้ว่าคุณต้องทำงาน แต่เวลาว่างงาน เช่นเวลาเดิน เวลาอาบน้ำ แปรงฟัน ขับรถ กินข้าว ออกกำลังกาย นั่งเล่น ให้คุณฝึกถอยความความสนใจออกมาจากความคิด ไปจุ่มแช่หรือพักอาศัยอยู่ในความรู้ตัว อย่างน้อยที่สุดเวลาหนึ่งชั่วโมงที่มีไว้เพื่อพิธีกรรมส่วนตัวของคุณในแต่ละวัน คุณต้องฝึกเรื่องนี้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

23 มิถุนายน 2562

โยคะสูตร ของปตัญชลี ฉบับวิเวกานันทะ ภาค 2

     ตอนแรกผมคิดว่าลงโยคะสูตรของปตัญชลีบทที่ 1 ไปแล้วจะไม่มีคนสนใจมาก และบทต่อๆไปอาจจะไม่ต้องลง แต่กลับพบว่ามีคนสนใจเขียนมาทวงหลายท่าน ผมจึงคิดว่ารีบเอาลงต่อกันไปน่าจะดีกว่าทิ้งช่วงไปนาน โดยรอบนี้จะเป็นสุดท้ายแล้วนะ เพราะส่วนต่อจากนี้ผมคิดว่าอาจจะมีประโยชน์น้อย เพราะเป็นเรื่องของสิทธิ หมายถึงการเกิดความสามารถพิเศษต่างๆซึ่งไม่ใช่วิถีสู่ความหลุดพ้น อนึ่ง ในการแปลภาค 2 นี้เนื่องจากบางบทสั้นมากจนอ่านแล้วยากที่่จะเข้าใจ ผมจึงขออนุญาตวงเล็บตัวเอียงขยายความไว้ จึงโปรดเข้าใจด้วยว่าส่วนนี้ไม่ใช่ของปตัญชลี

     บทที่  II การปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสมาธิ

II.1 กรียาโยคะ (Kriya Yoga) เป็นคำเรียกขั้นตอนปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสมาธิ ซึ่งมีทั้งการศึกษาจากผู้อื่น การฝึกบังคับกดข่ม และการมอบผลที่ได้ทั้งหลายแก่ความรู้ตัวบริสุทธิ์โดยไม่เกี่ยวข้องกับสำนึกว่าเป็นบุคคล

II.2 การปฏิบัติสู่สมาธิทั้งหมดนี้ก็เพื่อลดความทุกข์จากความพ่ายแพ้ต่ออุปสรรคขัดขวาง

II.3 อุปสรรคขัดขวางอันนำมาซึ่งความทุกข์มีห้าอย่างคือ (1) การไม่รู้ความจริง (2) การสำคัญมั่นหมายในสำนึกว่าเป็นบุคคล (อีโก้) (3) ความยึดมั่นถือมั่น (4) ความโกรธเกลียดอยากหลีกหนี (5) ความอาลัยในชีวิต

II.4 การไม่รู้ความจริงเป็นแม่ของปัจจัยแห่งทุกข์ทั้งมวล ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบที่ซุ่มเงียบอยู่ หรือถูกโหมกระพือขึ้น

II.5 การไม่รู้ความจริง คือการไปสำคัญผิดเอาสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ถาวร เกี่ยวข้องพัวพันกับสำนึกว่าเป็นบุคคลและทำให้เป็นทุกข์ ว่าเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ถาวรไม่เกี่ยวข้องกับสำนึกว่าเป็นบุคคลและทำให้เป็นสุข

II.6 อีโก้ก็คือการที่ผู้สังเกตไปสำคัญผิดว่าเครื่องมือที่ใช้สังเกตเป็นตัวเอง

(ผู้สังเกต ก็คือความสนใจ (attention หรือ สติ) อันเป็นเสมือนแขนของความรู้ตัว 
ความรู้ตัวหรือหรือธาตุรู้นี้เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่อย่างถาวรและไม่เกิดไม่ตาย
เครื่องมือที่ใช้สังเกต ก็คือ (1) ความคิด (เชาวน์ปัญญา) (2)ความจำ และ (3) อวัยวะรับรู้ทั้งห้า)

II.7 ความยึดมั่นถือมั่น คือการที่ความสนใจหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ชอบ

II.8 ความโกรธเกลียดอยากหนี คือการที่ความสนใจหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบ

II.9  ความอาลัยในชีวิต คือการเพลิดเพลินไปกับการไหลของชีวิต แม้ผู้เรียนรู้มามากแล้วก็ยังไม่วายอาลัยในชีวิต

(ความอาลัยในชีวิตก็คือความกลัวตาย 
การเพลิดเพลินไปกับการไหลของชีวิตก็คือการปล่อยชีวิตไปตามกลไกการสนองตอบแบบอัตโนมัติ (conditioned reflex) ซึ่งบงการโดยความจำจากอดีต 
ความจำจากอดีตนั้นไม่จำกัดเพียงแค่สิ่งที่พบเห็นในชีวิตนี้ แต่รวมไปถึงสิ่งซึ่งฝังแฝงผ่านมาทางยีน เช่นลูกเป็ดที่ฟักโดยแม่ไก่พอเห็นน้ำก็กระโจนลงน้ำได้ทันทีโดยไม่กลัว 
ความกลัวตายเป็นความจำระดับละเอียดอ่อนที่ฝังแฝงมาผ่านมาทางยีนของทุกชีวิตไม่ว่าคนหรือสัตว์ การศึกษาเรียนรู้ด้วยเชาว์ปัญญาไม่อาจลบความกลัวตายนี้ได้)

II.10 ความกระเพื่อมในใจที่ละเอียดอ่อน ต้องหักล้างด้วยความกระเพื่อมแบบตรงกันข้าม

(ตัวอย่างเช่นภรรยากำลังทะเลาะกับสามีและโกรธสามีเลือดขึ้นหน้าอยู่ แต่พอลูกน้อยร้องขึ้นภรรยาก็หันไปอุ้มลูกและจูบปลอบลูกด้วยความรัก ความโกรธ(สามี)เดิมก็ถูกหักล้างไปด้วยความรัก(ลูก) ความรักเป็นความกระเพื่อมของใจในลักษณะตรงข้ามกับความโกรธเกลียด จึงหักล้างกันได้) 

II.11 การปฏิบัติภาวนา (meditation) เป็นวิธีหักล้างความกระเพื่อมหรือกิเลสในใจเสียตั้งแต่มันยังอยู่ในระยะละเอียดอ่อน

II.12 อดีตเก่าๆที่เก็บไว้ล้วนนำไปสู่ทุกข์ อดีตเหล่านี้เป็นความจำที่ได้มาทั้งจากประสบการณ์ที่รู้เห็นได้จริงในชีวิตนี้และที่เก็บไว้โดยไม่ได้ทันรู้เห็น

II.13 อดีตเก่าๆที่เก็บไว้ทำตัวเป็นราก นำไปสู่ผลคือการเกิดเป็นชีวิตในรูปแบบต่างๆ และมีประสบการณ์กับชีวิตครั้งใหม่ๆทั้งทุกข์และสุข

II.14 คนรับผลไม่ว่าจะเป็นสุขทุกข์ จากอดีตดีหรือไม่ดีที่ตัวเองทำไว้

II.15 เมื่อแยกแยะได้ก็จะเห็นว่าทั้งหมดนี้ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ล้วนผลัดกันและประกอบซึ่งกันและกัน อย่างหนึ่งหลอมละลายไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง แม้สุขท้ายที่สุดก็นำมาซึ่งทุกข์
(ต้องวางทั้งหมดนี้ไปเสียจึงจะเห็นทางออก)

II.16 ทุกข์ที่ยังมาไม่ถึง พึงหลีกเลี่ยงเสีย
(ด้วยการสร้างการกระเพื่อมในลักษณะตรงกันข้ามเข้าใส่การกระเพื่อมที่จะเกิดจากความจำจากอดีตมาชักนำให้เกิดทุกข์)  

II.17 เหตุที่ทำให้หลีกเลี่ยงทุกข์ได้ อยู่ที่จุดเชื่อมต่อระหว่างผู้สังเกตุกับสิ่งที่ถูกสังเกต

(ผู้สังเกตคือความสนใจซึ่งเป็นแขนของความรู้ตัวอันบริสุทธิ์และไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นบุคคล
สิ่งที่ถูกสังเกตคือความคิดซึ่งรวมโลกภายนอกทั้งหมดด้วย 
ความรู้ตัวเป็นสิ่งสถาพรที่ไม่แปดเปื้อนอะไรหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวดองกับความเป็นบุคคลใดๆ
แต่หากความสนใจอันเป็นแขนของมันเข้าไปเกี่ยวกระหวัดกับสิ่งที่ถูกสังเกตจนคิดว่าตัวเองเป็นสิ่งนั้น ความทุกข์ก็เกิดขึ้น)

II.18 ประสบการณ์ประกอบด้วยธาตุทั้งหลายข้างนอกและอวัยวะ (อายตนะ) มีธรรมชาติสร้างสรรค์ เมตตาและทำลายล้างอยู่ในตัวเดียวกัน ทั้งหมดนี้เป็นกลไกเพื่อเปิดให้ผู้สังเกตเลือกได้สองทาง คือจะเข้าไปเกี่ยวพันคลุกเคล้าเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์นั้นซ้ำซาก หรือจะปลีกตัวเป็นอิสระจากประสบการณ์เหล่านั้น ก็เลือกได้

II. 19 เส้นใยที่ถักทอเป็นพื้นฐานของสรรพสิ่ง ดำรงอยู่ในสี่สถานะ คือ (1) ขั้นวัตถุดิบ (เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ) (2) ขั้นปรุงละเอียด (เช่นภาพ เสียง กลิ่น รส) (3) ขั้นแสดงให้เห็น (หมายถึงความคิดอ่านเชาว์ปัญญา) (4) ขั้นไม่แสดงให้เห็น (หมายถึงความรู้ตัวหรือธาตุรู้)

II.20 ผู้สังเกตแม้จะเป็นธาตุรู้ที่บริสุทธิ์ แต่ก็รับรู้ผ่านแว่นของความคิด

II.21 ประสบการณ์ทั้งนั้นมีไว้เพื่อประโยชน์แก่ผู้สังเกต

II.22 ให้ผู้สังเกตรู้ว่าตัวผู้สังเกตเองแยกต่างหากออกมาจากประสบการณ์โดยไม่เกี่ยวข้องกัน เมื่อรู้อย่างนี้แล้วประสบการณ์ก็ไม่มีเสน่ห์ดึงดูดแก่ผู้สังเกตอีกต่อไปยังผลให้ผู้สังเกตเป็นอิสระ แต่ประสบการณ์ในธรรมชาติเหล่านั้นจะยังคงอยู่เพื่อประโยชน์แก่ผู้สังเกตอื่นๆต่อไป

II.23 จุดพบกันระหว่างผู้สังเกตกับสิ่งที่ใช้สังเกตเป็นเหตุให้ผู้สังเกตตระหนักรู้และหลุดพ้น
(จุดพบกันคือ contact หรือการที่สิ่งเร้าจากภายนอกที่ผ่านเข้ามาทางอายตนะ ถูกอายตนะแปลงเป็นสัญญาณให้ความสนใจไปรับรู้ โมเมนต์ที่ความสนใจไปรับรู้สัญญาณนี้แล้วแปลงเป็นภาษานั่นแหละ คือจุดพบกัน เช่นเมื่อเห็นภาพ โมเมนต์ใจตีความสัญญาณจากตาว่าเป็นภาพอะไรนั่นแหละคือจุดพบกัน)

II.24 ความไม่รู้ความจริง เป็นสาเหตุของการหมดโอกาสหลุดพ้น

II.25 เมื่อความไม่รู้ความจริงหมดไป การมีอยู่ของจุดพบกันระหว่างผู้สังเกตและสิ่งที่ใช้สังเกตก็หมดไป ซึ่งมีผลให้ผู้สังเกตเป็นอิสระ
(การมีอยู่ของจุดพบกันหมดไป หมายความว่าเมื่ออายตนะรายงานสัญญาณภาพเสียงหรือสัมผัสเข้ามาแล้ว ความสนใจรับรู้แล้วไม่ตีความเป็นภาษา นั่นแหละคือจุดพบกันหมดไป)

II.26 เป้าหมายการฝึกปฏิบัติคือการแยกอะไรไม่ใช่ของจริง (ความคิด) ออกจากอะไรที่จริง (ความรู้ตัว) อย่างต่อเนื่องซ้ำซาก

II.27 เมื่อความรู้ตัวหลุดพ้นจากความคิด มันจะเกิดขึ้นเป็นขั้นเป็นตอนเจ็ดขั้นตอน


II.28 โดยการปฏิบัติขั้นตอนของโยคะต่อไปนี้ อุปสรรคก็จะถูกทลายและแยกแยะความรู้ตัวออกจากความคิดได้สำเร็จ

II.29 ขั้นตอนปฏิบัติโยคะคือ (1) วินัยสังคม (Yama), (2) วินัยตนเอง (Niyama), (3) การฝึกท่าร่าง (Asana), (4) การควบคุมพลังชีวิต (Pranayama), (5) การหันความสนใจจากนอกเข้าใน (Pratyahara), (6) การจดจ่อ (Dharana), (7) การอยู่ในฌานได้ต่อเนื่อง (Dhyana), (8) การบรรลุความหลุดพ้น (Samadhi)

II.30 การไม่ทำร้าย (Ahimsa), ไม่โกหก (Satya), ไม่ลักขโมย (Asteya), ควบคุมความอยากมีเซ็กซ์ (Brahmacharya), ไม่งกอยากได้ (Aparigraha) (คือไม่ครอบครองอะไรทั้งนั้นนอกจากสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการมีชีวิต) ทั้งหมดนี้เรียกว่าวินัยสังคม (Yama)

II.31 วินัยสังคมทั้งห้าอย่างพึงปฏิบัติโดยทุกคน ทุกที่ ทุกชนชั้น ทุกชาติภาษา

II.32   การทำความสะอาด (Shaucha), ทั้งภายใน (ร่างกาย จิตใจ) ภายนอก (อาหาร บ้าน สิ่งแวดล้อม), การมีความพอเพียง (Samtosha), การมีความอดทนพากเพียรเผากิเลส (Tapas), การหันกลับเข้าไปเรียนรู้ภายในตัว (Svadhyaya), การทำทุกอย่างไม่ใช่เพื่ออัตตาของตัวเอง (Ishvara Pranidhana) ทั้งหมดนี้คือวินัยตนเอง (Niyamas)

II.33 ให้เอาความคิดตรงกันข้ามมายับยั้งความคิดที่จะนำให้ไถลออกไปนอกวิถีโยคะ

II.34 การไถลออกไปนอกวิถีโยคะก็เช่นการทำร้าย การโกรธเกลียดอิจฉา ซึ่งแม้เพียงแค่คิดอยู่คนเดียวก็จะมีพลังสะสมและวันหนึ่งจะย้อนมาบงการตัวเองด้วยพลังที่รุนแรงยิ่งขึ้นอันนำไปสู่ความทุกข์ การตระหนักอย่างนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ไถลออกไปนอกวิถีโยคะ

II.35 เมื่อการไม่ทำร้ายเข่นฆ่าตั้งมั่นได้ในใจแล้ว ความเป็นปรปักษ์ในใจผู้อื่นก็จะลดลง (เช่น แม้สัตว์ที่ดุร้ายก็กลายเป็นสงบต่อหน้าโยคี)

II.36 เมื่อวาจาสัตย์ตั้งมั่นแล้ว พูดอะไรก็จะเป็นตามนั้น (เช่น พูดให้คนป่วยหายก็หาย)

II.37 เมื่อการไม่ขโมยตั้งมั่น ทรัพย์ทั้งหลายก็จะประดังเข้ามาหาโยคี

II.38 เมื่อไม่มีเซ็กซ์ พลังงานอำนาจที่เป็นผลจากการสะกดกลั้นนั้นก็จะเกิดขึ้น

II.39 เมื่อไม่รับของขวัญจากคนอื่น ใจก็จะบริสุทธิ์ไม่ผูกพันเป็นหนี้ใคร จะเอื้อให้ระลึกอดีตได้ง่าย

II.40 เมื่อทำความสะอาดทั้งภายในภายนอก ความยึดติดในร่างกายนี้ก็หายไป

II.41 เมื่อบ่มเพาะการสร้างสรรค์ ใจก็จะเบิกบาน จดจ่อ มีพลัง ควบคุมอวัยวะได้ และมีความกำลัง พร้อมจะไปสู่การตื่นรู้

II.42 เมื่อสันโดษได้ก็เกิดความสุขอย่างยิ่ง

II.43 เมื่อบำเพ็ญตะบะเผากิเลสได้ก็จะนำมาซึ่งอำนาจเหนืออวัยวะและร่างกาย

II.44 เมื่อศึกษาปฏิบัติก็กลายเป็นหนึ่งเดียวกับความรู้ตัวอันเป็นจิตสำนึกรับรู้บริสุทธิ์ได้

II.45 เมื่อทำทุกอย่างไม่ใช่เพื่อความเป็นบุคคลของตน ก็จะเข้าถึงความหลุดพ้น

II.46 อาสนะ (asana) คือการสามารถอยู่ในท่าหนึ่งได้นิ่ง ซึ่งจะนิ่งได้ก็ต่อเมื่อไม่รู้สึกถึงร่างกายนี้อีกต่อไป

II.47 เมื่อท่าร่างนิ่งและมั่นคง ก็สามารปฏิบัติภาวนาได้ง่าย

II.48 เมื่อนั่งได้นิ่งแล้ว ความเป็นคู่ของสิ่งต่างๆ (เช่นร้อนคู่เย็น ปวดคู่ไม่ปวด) ก็ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป

II.49 จากนั้นจึงควบคุมพลังชีวิต (pranayama) ด้วยการควบคุมการหายใจเข้าออก โดยเฉพาะช่วงกลั้นหายใจและช่วงหายใจออก

II.50 การควบคุมพลังชีวิต (โดยควบคุมลมหายใจสามจังหวะ คือหายใจเข้า หายใจออก และกลั้นหายใจ) สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานที่ (อวัยวะ) และเวลา (คุมหรือกลั้นไว้สั้นหรือนาน) 

II.51 การควบคุมพลังชีวิตขั้นที่สี่คือการกลั้นหายใจแล้วนำพาพลังชีวิตให้ไหลไปภายในบ้าง ภายนอกบ้าง ตามต้องการ

II.52 หลังจากนั้นความคิดที่ห่อหุ้มความรู้ตัวก็จะเบาบางลง

II.53 ใจก็พร้อมจะเข้าสู่การจดจ่อเป็นสมาธิ

II.54 จากนั้นจึงจำกัดให้ใจไม่รับเอาสิ่งที่อวัยวะ (อายตนะ) รับมาส่งให้เพื่อเปลี่ยนเป็นความปรุงแต่งในใจ การจำกัดนี้เรียกว่าการหันความสนใจจากนอกเข้าใน (pratyahara)


บทที่ III พลังปัญญาที่เกิดขึ้น

III.1 การจดจ่อ (Dharana) คือการที่ผู้สังเกตจำกัดความสนใจให้อยู่แต่ในสิ่งที่เป็นเป้าความสนใจ

III.2 การจมดิ่งในฌาน (Dhyana) คือการที่ผู้สังเกตจดจ่อความสนใจให้อยู่กับสิ่งเป็นเป้าอย่างต่อเนื่อง

III.3 การจดจ่อเป้านั้นให้ลึกละเอียดลงไปจนกระทั่งเหลืออยู่แต่เป้าที่จดจ่อ ส่วนผู้สังเกตนั้นหายไป นั่นคือสมาธิ (samadi)

III.4 การปฏิบัติทั้งสามขั้นตอน (การจดจ่อ การจมดิ่งในฌาณ การเข้าถึงสมาธิ) รวมเรียกว่าการภาวนาสู่ความหลุดพ้น (samyama)

III.5 บนเส้นทางนี้ ปัญญาญาณ (ในลักษณะความรู้ความสามารถพิเศษที่อยู่ภายใต้การควบคุมได้) จะเกิดขึ้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

22 มิถุนายน 2562

ทำงานมากทำให้เป็นอัมพาตซ้ำซากได้หรือเปล่า

เรียนอาจารย์สันต์ที่เคารพ
หนูเป็นทันตแพทย์ อายุ 54 ปี สามีเป็นทันตแพทย์รุ่นเดียวกัน เขาเป็น stroke มาแล้วสองครั้ง ครั้งแรกพูดไม่ชัดอยู่พักใหญ่ พอรีบไปแผนกฉุกเฉินอาการก็หายไป ทำซีที.ไม่เห็นอะไร ต่อมาได้เกือบปีคราวนี้แขนอ่อนแรงไปข้างหนึ่ง ต้องฉีดยาละลายลิ่มเลือด แล้วแขนก็ค่อยๆกลับมาทำงานได้ประมาณ 80% โชคดีที่เป็นแขนซ้ายซึ่งไม่ได้ใช้ทำงาน หนูเห็นว่าเขาทำงานมากเกินไป คือเดิมเราทำคลินิกสามแห่ง เขาต้องทำงานวันละไม่ต่ำกว่า 12-14 ชั่วโมง แทบไม่มีวันหยุดเลย หนูชวนให้เขาเลิกเหลือคลินิกเดียวก็พอ แต่เขาบอกว่าเขาเลิกไม่ได้เพราะเป็นห่วงคนไข้ หนูจึงตัดสินใจเลิกมาอยู่บ้านซะเอง ไม่ได้ประชดนะคะ แต่เพื่อมา support เขาเรื่องอาหารและเรื่องอื่นๆ พยายามพูดให้เขาลดการทำงานลงเขาก็บอกว่าแต่ว่ามันไม่เกี่ยวกัน เขารับปากว่าเขาจะตั้งใจดูแลเรื่องไขมันในเลือด ความดันเลือด และการกินยาต้านเกล็ดเลือด แต่ไม่รับปากว่าจะลดการทำงานเพราะพูดแต่ว่ามันไม่เกี่ยวกัน หนูจึงต้องหยุดงานมากำกับดูแลเรื่องอาหารและการเป็นอยู่ของเขา อาจารย์คะหนูอยากถามอาจารย์ว่าการที่คนเราทำงานมาก หมายถึงเวลาทำงานแต่ละวันนานเกินไปมันมีส่วนทำให้เป็น stroke ได้มากขึ้นไหมคะ

.........................................................

ตอบครับ

     ถามว่าการบ้างาน ทำงานวันละยาวนานหลายชั่วโมง เป็นเหตุให้เป็นอัมพาตเฉียบพลันซ้ำซาก (recurrent stroke) ได้ไหม ตอบว่าข้อมูลที่มีอยู่นับถึงวันนี้ มีแต่ว่าการทำงานมากสัมพันธ์กับการเป็นอัมพาตเฉียบพลันมากขึ้น แต่ไม่รู้ว่ามันเป็นสาเหตุกันจริงหรือไม่ หรือว่าสองเรื่องนี้บังเอิญฟลุ้คๆมาเกิดในคนๆเดียวกันก็ไม่ทราบ

     งานวิจัยที่ว่าการทำงานมากสัมพันธ์กับการเป็นอัมพาตเฉียบพลันมากขึ้นนี้ เป็นงานวิจัยที่ทำที่ฝรั่งเศสชื่องานวิจัย CONSTANCES ตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Stroke ในงานวิจัยนี้เขาตามดูคน 143,592 คน ตามดูอยู่นาน 7 ปี เพื่อจะดูว่าการทำงานมาก จะสัมพันธ์กับการเป็นอัมพาตเฉียบพลันมากกว่าคนที่ทำงานพอควรหรือเปล่า โดยนิยามว่าการทำงานมากคือทำงานวันละเกิน 10 ชั่วโมงขึ้นไปอย่างน้อยปีละ 50 วัน ผลปรากฎว่าเจ็ดปีผ่านไปมีคนเป็นอัมพาตไป 1,224 คน เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ก็พบว่าพวกที่ทำงานมาก เป็นอัมพาตเฉียบพลันมากกว่าพวกที่ทำงานปกติ 29% ยิ่งถ้าทำงานมากติดต่อกันมานานอย่างน้อย 10 ปี จะเป็นอัมพาตเฉียบพลันมากกว่าคนทำงานปกติถึง 45% เลยทีเดียว

     ข้อมูลแค่นี้ก็พอแล้วแหละที่จะใช้ชักชวนให้เขาลดการทำงาน เพราะในการจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทุกวันนี้วงการแพทย์เราไม่รู้หรอกว่าอะไรเป็นสาเหตุของโรค เรารู้แต่ว่าอะไรบ้างที่พบร่วมกันการเป็นโรค ซึ่งเราเรียกง่ายๆว่าปัจจัยเสี่ยง และเราก็อาศัยจัดการปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เพื่อป้องกันการเป็นโรค ซึ่งก็ได้ผลดี โดยที่ไม่ต้องไปรอการพิสูจน์ว่าปัจจัยเสี่ยงตัวนี้เป็นสาเหตุที่แท้จริงของโรคหรือเปล่าเลย เพราะการพิสูจน์อย่างนั้นอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยในอนาคต

     แต่ถ้าใช้ข้อมูลแค่นี้ชักชวนแล้วเขายังไม่ยอมลดการทำงานลง คุณก็ต้องมองหาสาเหตุอื่นที่ทำให้เขาไม่ยอมลดการทำงาน ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุที่คุณคาดไม่ถึงก็ได้ เช่นสมมุติว่ามีนางยักษ์ขิณีอยู่ที่บ้าน เป็นตายอย่างไรเขาก็คงไม่ลดการทำงานใช่ไหมครับ (อะจ๊าก..ก ขอโทษครับ พูดเล่น)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
  1. Marc Fadel, Grace Sembajwe, Diana Gagliardi, Fernando Pico, Jian Li, Anna Ozguler, Johannes Siegrist, Bradley A. Evanoff, Michel Baer, Akizumi Tsutsumi, Sergio Iavicoli, Annette Leclerc, Yves Roquelaure, Alexis Descatha. Association Between Reported Long Working Hours and History of Stroke in the CONSTANCES Cohort. Stroke, 2019; DOI: 10.1161/STROKEAHA.119.025454
[อ่านต่อ...]

20 มิถุนายน 2562

โยคะสูตร ของปตัญชลี ฉบับวิเวกานันทะ ภาค 1

     นานมาแล้วผมเคยเล่าเรื่องย่อและแปลบางตอนของหนังสือโยคะสูตรของปตัญชลีให้อ่านในบล็อกนี้ โดยใช้ต้นฉบับที่คนอเมริกันและคนอินเดียร่วมกันแปล แต่วันนี้ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือเดียวกันนี้แต่แปลเป็นภาษาอังกฤษโดยโยคีอัจฉริยะของอินเดียผู้ล่วงลับไปตั้งแต่วัยหนุ่มชื่อวิเวกานันทะ  (swami vivekananda) ผมเห็นว่าแปลได้สละสลวยคมคายกว่าฉบับที่ผมเคยอ่านมาแล้วมาก จึงขอแปลต่อเป็นภาษาไทยทิ้งไว้ในบล็อกนี้อีกครั้ง โดยจะลงทีละบทเท่าที่เวลาอำนวย วันนี้เอาเฉพาะบทที่ I. (จากสี่บท) บทแปลนี้อาจจะน่าเบื่อสำหรับผู้ที่ไม่ได้สนใจคอนเซ็พท์ของการทำสมาธิแบบต่างๆ ก็ขอให้ท่านที่ไม่สนใจเปิดผ่านบทความนี้ไปโดยไม่ต้องแวะอ่าน ผมเขียนลงไว้ด้วยหวังว่าสำหรับท่านที่สนใจเรื่องการฝึกสมาธิ บางแง่มุมที่ปตัญชลีพูดไว้ อาจกระตุกให้เกิดการร้องอ๋อหรือเอาไปต่อยอดสิ่งที่ท่านกำลังติดขัดอยู่ได้ 

บทที่ I. ภาพรวมของสมาธิสู่ความหลุดพ้น

I.1 เอาละ ได้เวลาอธิบายว่าชีวิตเรารวมเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างไร

I.2 ชีวิตรวมเป็นหนึ่งเดียวได้โดยการแยกความคิด ไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับความรู้ตัว

I.3 เมื่อถึงตอนนั้น ผู้สังเกตได้ถอยออกจากการคิดกลับมาเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของตัวเอง

I.4 บ่อยครั้งผู้สังเกตไปสำคัญมั่นหมายว่าตัวเองเป็นความคิด

I.5 การรู้เห็นโผล่ขึ้นมาในใจได้ห้าแบบซึ่งบ้างทำให้เป็นทุกข์ บ้างไม่ทำให้เป็นทุกข์

I.6 การรู้เห็นห้าแบบคือ (1) รู้เห็นตามที่มันเป็น (2) รู้เห็นผิดไปจากที่มันเป็น (3) จินตนาการ (4) นิทรา (หลับแบบไม่ฝัน)  (5) รู้เห็นจากความจำ

I-7 วิธีรู้เห็นอย่างถูกต้องมีสามแบบคือ (1) รู้เห็นตรงๆ (2) รู้เห็นจากการคิดหาผลเอาจากเหตุ (3) รู้เห็นจากการฟังเอาจากผู้รู้

I.8 การรู้เห็นผิดไปจากที่มันเป็น คือการทึกทักเอาในใจว่าสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ที่ในความจริงแล้วมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น

I.9 จินตนาการคือความคิดที่กระโดดตามหลังคำบอกเล่าที่เพิ่งได้ยินมาโดยไม่มีความจริงตามนั้น

I.10 นิทรา (การหลับแบบไม่ฝัน) คือใจที่ดำรงอยู่โดยไม่มีการกระเพื่อมอะไรให้รับรู้ได้เลย

I.11 ความจำคือการฟื้นสำเนาประสบการณ์ต่อสิ่งเร้าเมื่อครั้งเก่าๆขึ้นมาใหม่

I.12 การเป็นนายความคิดหรือการหยุดความคิด ทำได้โดยการฝึกปฏิบัติปล่อยวางความยึดถือ

I.13 การฝึกปฏิบัติก็คือการพยายามตีกรอบความคิดให้อยู่ภายใต้การสังเกตของความสนใจ

I.14 เจ้าต้องฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่องซ้ำซากยาวนานจึงจะเกิดพื้นฐานที่มั่นคง

I.15 การปล่อยวางความยึดถือคือการทิ้งความหิวกระหายอยากได้ในประสบการณ์ที่เคยได้รับ หรือในสิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังมาไปเสีย

I.16 การปล่อยวางความยึดถืออย่างยิ่ง รวมไปถึงการทิ้งความยึดถือในความรู้ตัว

I.17 ในการทำสมาธิสี่ขั้นตอนคือ (1) จดจ่อ (2)เกาะติดอย่างละเอียด (3) เกิดความเบิกบาน (4) มีตัวตนผู้สังเกตรับรู้ ทั้งหมดนี้เรียกว่าฝึกสมาธิแบบมีเป้าให้จดจ่อ

I.18 แล้วก็จะสามารถต่อยอดไปฝึกสมาธิอีกแบบหนึ่ง คือแบบปล่อยให้ความคิดหดกลับไปยังความว่างที่มันโผล่ออกมา เหลือแต่ความสนใจจอดนิ่งเงียบอยู่โดยไม่มีเป้าให้จดจ่อ

I.19 (สมาธิแบบหลังนี้) หากไม่ควบคู่กับการปล่อยวางความรู้ตัว จะกลายเป็นเหตุให้กลับมาเกิดใหม่อีก แม้ว่าจะมีฤทธิ์เดชเกิดขึ้นก็ตาม

I.20 สำหรับคนที่ไม่อยากมีฤทธิเดชอะไร สามารถหลุดพ้นได้ด้วยการปฏิบัติวิถีทั้งห้า คือ  (1) ศรัทธา (2) พลังงาน (3) (การเฝ้าดู) ความจำ  (4) สมาธิ (5) อาศัยปัญญาญาณแยกแยะ

I.21 ยิ่งใส่พลังงานเอาจริงเอาจังมาก ยิ่งประสบความสำเร็จมาก

I. 22 ความเอาจริงเอาจังยังแตกต่างกันสามระดับ คือ น้อย ปานกลาง มาก

I.23 หรือจะปฏิบัติบูชาแบบมอบกายถวายชีวิตแก่ความรู้ตัวอันเป็นสำนึกรับรู้บริสุทธิ์หรือพลังงานต้นกำเนิดของเราทุกคนก็ได้

I.24 พลังงานต้นกำเนิดหรือจิตสำนึกรับรู้บริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ไม่ถูกแปดเปื้อนโดยความคิดรักชอบชังหรือกรรมใดๆ

I.25 ความรู้ตัว ซึ่งเป็นจิตสำนึกรับรู้บริสุทธ์หรือพลังงานต้นกำเนิดนี้ เป็นปัญญาที่ไม่มีปัญญาใดยิ่งกว่า

I.26 ความรู้ตัว ซึ่งเป็นจิตสำนึกรับรู้บริสุทธิ์หรือพลังงานต้นกำเนิดนี้เป็นครูของครูทุกคนมาแต่โบราณ เพราะมันไม่ได้อยู่ในมิติของเวลา

I.27 พลังงานจากการสั่นสะเทือนของเสียงเปล่ง "โอม" เป็นวิธีเข้าไปถึงความรู้ตัวอันเป็นพลังงานต้นกำเนิดนี้

I.28 การเปล่งเสียงโอมซ้ำซากและการนั่งสมาธิอยู่กับความหมายของเสียงโอมเป็นวิธีเข้าความรู้ตัวอันเป็นพลังงานต้นกำเนิด

I.29 ทำให้เกิดปัญญามากขึ้นๆ และค่อยๆทำลายอุปสรรคกีดขวางทั้งมวล

I.30 อุปสรรคที่ชักจูงให้หันเหออกไปจากเส้นทางสู่ความหลุดพ้นได้แก่ (1) ป่วย (2) ขี้เกียจ (3) ความสงสัย (4) ความสงบนิ่งเกินไป (5) การหยุด (6) การรู้เห็นผิดๆ (7) การละความอยากทางโลกไม่ได้ (8) การไม่มีสมาธิ (9) การหลุดลอย

I.31 สิ่งที่ควบคู่กับการไม่มีสมาธิคือ (1) เศร้า (2) เครียด (3) ร่างกายสั่น (4) หายใจไม่สม่ำเสมอ

I.32 วิธีแก้คือจดจ่ออยู่กับอะไรสักอย่างเพียงอย่างเดียว

I.33 การเข้าถึงความรู้ตัวทำได้โดยการ (1) สร้างมิตรไมตรี (2) เมตตา (3) ดีใจสุขใจด้วยกับคนที่มีความสุข (4) วางอุเบกขากับคนที่มีความทุกข์

I.34 หรือโดยการควบคุมพลังชีวิต ผ่านการควบคุมลมหายใจ ช่วงที่กักลมหายใจไว้ และช่วงที่หายใจออก

I.35 การทำสมาธิแบบจดจ่ออยู่กับประสบการณ์รับรู้สิ่งเร้าในลักษณะที่ทำให้การรับรู้ละเอียดแหลมคมขึ้นช่่วยทำให้มีความยืนหยัดมากขึ้น

I.36 หรือจดจ่ออยู่กับแสงเรืองที่ภายใน ก็จะทำให้ใจนิ่งและสงบได้เช่นกัน

I.37 หรือจดจ่ออยู่กับหัวใจที่ปล่อยวางทุกอย่างอย่างสิ้นเชิง

I.38 หรือจดจ่ออยู่กับการรู้ที่เกิดขึ้นในความฝัน

I.39 หรือจดจ่ออยู่กับเป้าอะไรดีๆที่ตัวเองที่ชอบหรือเคยประสบมา

I.40 แล้วใจก็จะนิ่งได้ ไม่ว่าจะอาศัยเป้าที่ใหญ่หรือเล็ก

I.41 เมื่อใจสงบนิ่งลงก็จะใสเหมือนผลึกแก้ว ที่รู้ทั้งสิ่งที่ถูกรู้ (ความคิด) ทั้งอาการที่เข้าไปรู้ (สติ) และทั้งตัวผู้รู้เอง (ความรู้ตัว)

I.42 สมาธิแบบหนึ่งเป็นการผสมผสานสามอย่าง คือ (1) คลื่นความสั่นสะเทือน (เสียง) (2) ภาษาหรือชื่อที่ใช้เรียกเสียงนั้น (3) ความหมายของชื่อนั้นในใจซึ่งหยิบเอามาจากความจำ ทั้งสามอย่างนี้ผสมกลมกล่อมกันไป เรียกว่าเป็นสมาธิแบบมีผู้สังเกตและมีเป้า

I.43 สมาธิอีกแบบหนึ่งเมื่อมีคลื่นความสั่นสะเทือนเกิดขึ้น มีภาษาตามมา แต่ความหมายของชื่อนั้นในความจำถูกกรองไม่ให้เอามาตีความชื่อนั้น ความคิดก็ไม่มีที่จะอยู่ เหลือแต่คลื่นความสั่นสะเทือนเป็นเป้าอยู่ในการรับรู้ เรียกว่าเป็นสมาธิแบบไม่มีผู้สังเกต

I.44 สมาธิทั้งสองแบบเกิดได้ทั้งกับเป้าที่หยาบหรือเป้าที่ละเอียด

I.45 เป้าที่ละเอียดทั้งหลาย (เช่นความคิด และสำนึกว่าเป็นบุคคล) ล้วนไปสิ้นสุดที่สถานะดั้งเดิมที่ไร้รูป

I.46 สมาธิแบบทั้งหลายที่กล่าวมานี้ยังมีเมล็ดพันธ์ของความจำจากอดีตค้างอยู่ ไม่ได้ถูกทำลายไปไหน

I.47 เมื่อทำสมาธิแบบไม่มีผู้สังเกตเกิดมากเข้า ความรู้ตัวจะค่อยๆยืนหยัดมั่นคง

I.48 เกิดปัญญาญาณหยั่งรู้

I.49 ปัญญาญาณหยั่งรู้นี้แทงตลอดไปถึงสิ่งที่เหตุผลหรือคำแนะนำซึ่งอาศัยภาษาไม่เคยแทงทะลุไปถึงได้

I.50 ปัญญาญาณหยั่งรู้ก่อให้เกิดความเข้าใจแบบรับรู้ตรงๆตามที่มันเป็น ซึ่งจะลดความคิดอย่างอื่นที่เป็นการรู้มาผ่านภาษาลงไป (เหมือนไฟกองใหญ่จะดับไฟกองเล็กกองน้อยทั้งหลาย)

I. 51 เมื่อใดที่ปัญญาญาณหยั่งรู้นี้ดับตามความรู้อื่นๆไปจนไม่เหลืออะไรแล้ว สมาธิแบบไม่มีเป้า ซึ่งเป็นความหลุดพ้นแบบไม่มีเมล็ดพันธ์ใดๆจากความจำเหลืออยู่จึงจะเกิดขึ้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

18 มิถุนายน 2562

จะเลิกดื่มกาแฟไปดื่มช็อกโกแลตเพื่อป้องกันอัลไซเมอร์ดีไหม

เคยอ่านพบข้อเขียนว่าการดื่ม Chocolate ทุกวันจะช่วยยืดอายุการเป็นอัลไซเมอร์จริงไหมคะ มีประโยชน์สำหรับคนเป็นวัยทองหรือไม่ แล้วมีผลเสียอะไรบ้างไหมคะถ้าดื่มมากๆ (ตอนนี้อายุ 53 ปี ปกติเป็นคนธาตุแข็ง เป็น tinnitus มา 3 ปีกว่า แต่ไม่ดังมากค่ะ และไม่มีอาการบ้านหมุน) 

ขอบพระคุณค่ะ

............................................

ตอบครับ

     ความจริงผมมีหลักประจำตัวว่าจะไม่ตอบจดหมายที่ถามเรื่องอาหารเสริมหรือสิ่งที่คนเขาทำมาค้าขายกันในตลาด เพราะ ม. ห้ามไว้ เนื่องจากเป็นห่วงสวัสดิภาพของผมเอง แต่เรื่องช็อกโกแลตนี้มีจดหมายเข้ามาหลายฉบับ หนึ่งในนั้นเป็นจดหมายจากสมาชิกคอร์ส RDBY เอง จะไม่ตอบก็ไม่ได้ จึงรวบตอบเสียวันนี้

     ก่อนจะตอบคำถามของคุณ ขอพูดถึงภาพใหญ่ก่อนนะ ว่า

     1. ช็อกโกแลตที่จะพูดถึงในวันนี้ ผมหมายถึงดาร์คช็อกโกแลต คือผมหมายถึงผงของเมล็ดโกโก้ (Theobroma cacao) ที่ขมปี๋ไม่ได้ใส่อะไรหรือสกัดเอาอะไรออกทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวอะไรกับเครื่องดื่มช็อกโกแล็ตที่ทำขึ้นมาจากผลโก้โก้บดบวกนมวัวบวกน้ำตาล   

     2.  โกโก้มีโมเลกุลที่แยกได้แล้วไม่น้อยกว่า 300 ชนิด รวมทั้งคาเฟอีนด้วย ที่ยังแยกไม่ได้ก็ยังมีอีกมาก แต่ก็เดาเอาว่าตัวที่ออกฤทธิ์หลักคือโมเลกุลในกลุ่มฟลาโวนอยด์ซึ่งเป็นสารในกลุ่มโปลีฟีนอลในผลไม้และผักอันถือกันว่าเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีเลิศประเสริฐศรีนั่นแหละ ตัวที่เชื่อกันว่าออกฤทธิ์กลั่นที่สุดที่อยู่ในโกโก้ชื่อ flavan-3-ols บางทีจึงเรียกสั้นๆว่าฟลาวานอล 

     3. หลักฐานเรื่องสารต้านอนุมูลอิสระมีคุณสาระพัดสาระเพซึ่งเป็นหลักฐานระดับห้องทดลองนั้นมีแยะ แต่วงการแพทย์ไม่ได้ใช้หลักฐานระดับห้องทดลองมารักษาคน ต้องใช้หลักฐานวิจัยในคนเป็นหลัก บทความนี้ผมจึงจะไม่พูดถึงหลักฐานในห้องทดลองและในสัตว์ทดลอง จะพูดถึงแต่งานวิจัยในคนเท่านั้น หลักฐานว่าฟลาโวนอยด์ดีต่อระบบหัวใจหลอดเลือดนั้นมีขึ้นตั้งแต่งานวิจัยคนสูงอายุที่เนเธอแลนด์ (DZE stydy)ที่ตีพิมพ์ในวารสารแลนเซ็ทราวยี่สิบปีมาแล้ว มีเนื้อความโดยสรุปว่าคนที่กินฟลาโวนอยด์ในอาหารชนิดต่างๆมากจะตายจากโรคหัวใจหลอดเลือดน้อย [1] 

     ก่อนหน้านั้นไม่มีใครสนใจช็อกโกแลตในแง่จะเป็นตัวให้ฟลาโวนอยด์เพราะช็อกโกแล็ตแต่ละยี่ห้อก็มีฟลาวานอยด์ต่างกันได้ลิบลับเพราะกระบวนการผลิตช็อกโกแล็ตส่วนใหญ่ตั้งใจจะแยกเอาฟลาวานอลออกทิ้งเพราะมันขมปี๋ขัดใจตลาด จนกระทั่งมีผู้ไปทำวิจัย [2] แบบขุดคุ้ยดูใบมรณบัตรของคนปานามาที่เป็นอินเดียนเชื้อสายคูนาซึ่งดื่มช็อกโกแล็ตแบบขมปี๋ระดับได้ฟลาโวนอยด์วันละ 900มก.เป็นประจำ แล้วเปรียบเทียบกับคนปานามาทั่วไปว่าอินเดียนกูนาจะตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจน้อยกว่าหรือเปล่า และก็พบว่าตายน้อยกว่าจริงๆ จึงเริ่มมีการกระดี๊กระด๊าว่าช็อกโกแล็ตเป็นของดีแม้ว่าการวิจัยแบบคุ้ยใบมรณบัตรวงการแพทย์จะนับว่าเป็นหลักฐานระดับจิ๊บจ๊อย (retrospective case control study) ที่ไม่มีการควบคุมปัจจัยเสี่ยงตัวอื่นๆเลยก็ตาม แล้วต่อมาก็มีหลักฐานวิจัยลักษณะเดียวกันนี้ในยุโรป [3] และในอเมริกา [4,5] ซึ่งให้ผลไปทางเดียวกัน ดังนั้น ณ วันนี้จึงพอจะพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าดาร์คช็อกโกแล็ตมีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจน้อยลง นอกจากนี้การยำรวมงานวิจัยแบบแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบก็พบว่าการได้กินดาร์คช็อกโกแลตสัมพันธ์กับการลดความดันเลือดลงได้ด้วย ถึงแม้จะลดลงไม่มาก คือลดความดันตัวบนได้ประมาณ 3-4 มม. ถือว่าหน่อมแน้มหากเทียบกับแฟลกซีด (ลดได้ 10-15 มม.) กลไกการลดความดันเลือดนี้ก็ค่อนข้างจะตกลงกันได้ว่าน่าจะผ่านการไปเพิ่มก้าซไนตริกออกไซด์ (NO) ที่เยื่อบุหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดขยายตัวขึ้น

     เอาละ คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ ถามว่ากินดาร์คช็อกโกแลตแล้วจะช่วยชลอการเป็นโรคอัลไซเมอร์จริงไหม ตอบว่าไม่มีใครรู้หรอกครับ ว่าจริงหรือไม่จริง ถึงต่อให้พระเจ้ามาเป็นแพทย์แผนปัจจุบันเองวันนี้ ผมท้าเลยว่าพระเจ้าก็ไม่รู้ เพราะหลักฐานวิจัยมันขัดแย้งกันเอง และงานวิจัยยังมีไม่มากพอที่จะสรุปให้เป็นตุเป็นตะได้ 

     ผลวิจัยที่พอจะตกลงกันได้ก็คือเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่าฟลาวานอลจากโกโก้ทำให้เลือดเข้าไปเลี้ยงสมองบางพื้นที่มากขึ้น [6, 7] แต่มันก็ไม่เกี่ยวกับว่าความจำจะดีขึ้นหรือจะสั่วลงนะ เพราะมีสารจำนวนมากที่มีฤทธิ์ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองบางพื้นที่มากขึ้น รวมทั้งก้าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นก้าซเสียที่เราคุ้นเคยนี้ด้วยก็เพิ่มเลือดไปเลี้ยงสมองเหมือนกัน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าอะไรที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้นแล้วจะชลอการขี้หลงขี้ลืมลงได้

     ส่วนประเด็นที่ว่าดาร์คช็อกโกแล็ตทำให้ความจำดีขึ้นหรือไม่ ทำให้อารมณ์ดีขึ้นหายซึมเศร้าหรือไม่นั้น ผลวิจัยกลับออกมาแบบสองฝักสองฝ่าย ขัดแย้งกันเองจนสรุปไม่ลง บางงานวิจัยก็ว่าทำให้ความจำดีขึ้น บางงานวิจัยก็ว่าไม่ได้ทำให้ความจำดีขึ้น แต่ทุกงานวิจัยล้วนเป็นงานวิจัยเบื้องต้นขนาดเล็กๆกะป๊อกกะแป๊ก บ้างว่าได้ผลดีบ้างว่าได้ผลไม่ดี เช่นงานวิจัยหนึ่งให้คนสูงอายุกินโกโก้ที่มีฟลาวานอลแบบเข้มข้นคือสูงถึง 500 มก. แล้ววัดความจำเทียบกับคนกินโกโก้หลอก พบว่าความจำไม่แตกต่างกันทั้งกินโกโก้จริงหรือโกโก้หลอก [8-10] 

    ข้างฝ่ายสนับสนุนดาร์คช็อกโกแล็ตว่าช่วยแก้ความขี้หลงขี้ลืมนั้นให้นัำหนักกับการทำวิจัยแบบตามดูกลุ่มคนโดยไม่ได้จับฉลากแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบที่ตีพิมพ์ไว้ในวารสารโรคอัลไซเมอร์ [11] ซึ่งตามดูกลุ่มคนสูงอายุ 531 คนนาน 2 ปีเทียบระหว่างพวกที่กินกับไม่กินดาร์คช็อกโกแลตว่าใครจะขี้ลืมมากกว่ากันโดยนิยาม "ขี้ลืม" ว่าได้คะแนนทดสอบความจำแบบง่าย (MMSE) ลดลงในสองปีมากกว่า 2 คะแนน ผลวิจัยปรากฎว่าหากนับเฉพาะคนที่มีระดับคาเฟอีนในเครื่องดื่มที่ดื่มทุกชนิดทั้งวันต่ำกว่า 75 มก. พวกที่กินดาร์คช็อกโกแล็ตขี้ลืมน้อยกว่าพวกที่ไม่กิน แต่หากนับรวมคนที่ดื่มคาเฟอีนจากเครื่องดื่มทุกชนิดได้มากกว่า 75 มก.ต่อวันขึ้นไป พบว่าคะแนนความขี้ลืมไม่ต่างกันเลยไม่ว่าจะกินหรือไม่กินดาร์คช็อกโกแลต แปลไทยให้เป็นไทยก็คือกินดาร์คช็อกโกแลตลดความขี้ลืมได้เฉพาะคนในที่ไม่ดื่มกาแฟ ถ้าดื่มกาแฟอยู่แล้ว กินหรือไม่กินดาร์คช็อกโกแลตก็ความจำดีเท่ากัน แปะเอี้ย หิ..หิ   

     อย่างไรก็ตามองค์กรความปลอดภัยอาหารยุโรป (The European Food Safety Authority) ได้โหมโรงอุดหนุนดาร์คช็อกโกแลตอย่างนอกหน้าไปแล้วเรียบร้อยโดยประกาศว่า [12] เครื่องดื่มโกโก้ที่มีฟลาวานอล 200 มก.ขึ้นไปช่วยให้หลอดเลือดยืดหยุ่นทำให้เลือดไหลเวียนเป็นปกติดี ฮี่..ฮี่ หมอสันต์รู้สึกว่านี่จะเป็นการออกอาการอยากขายช็อกโกแล็ตมากไปหน่อย เพราะงานวิจัยต่างๆที่ทำในคนเช่นงานวิจัยผลช็อกโกแล็ตต่อความดันเลือดสูงนั้นอัดโกโก้ขมปี๋ให้ผู้เข้าร่วมวิจัยจนได้รับฟลาโวนอลสูงเฉลี่ยวันละ 670 มก.โน่นเทียว ซึ่งเทียบได้กับการกินดาร์คช็อกโกแลตแบบแท่งถึงวันละ 12 แท่ง นี่ของจริงนะครับ หากท่านจะเอาดีทางกินดาร์คช็อกโกแลตท่านต้องกินให้ได้ขนาดนั้น

     กล่าวโดยสรุป ดาร์คช็อกโกแลตทำให้สมองเสื่อมช้าลงหรือไม่ยังไม่ทราบ แม้ทุกวันนี้คำแนะนำการประกอบวิชาชีพ (clinical guidelines) ของวงการแพทย์โดยรวมก็ยังไม่ได้แนะนำให้กินดาร์คช็อกโกแลตเป็นอาหารสุขภาพ ดังนั้นท่านจะกินหรือไม่กินช็อกโกแลตก็เชิญตามสะดวกใจของท่านเถิด แต่หมอสันต์แนะนำว่าอยากกินก็กินไปเถอะ ไม่เพียงแต่ดาร์คชอกโกแล็ตเท่านั้น แต่หมอสันต์แนะนำว่าอะไรขมๆให้ขยันกินเข้าไว้ เพราะโมเลกุลที่มีคุณความดีในทางโภชนาการทั้งหลายส่วนใหญ่มีรสขมทั้งสิ้น การลุยกินของขมมีข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือทำให้ท่านเลิกติดรสหวาน ซึ่งเป็นการเสพย์ติดที่มีแต่เสียกับเสียไม่มีข้อดีอะไรเลย แล้วดาร์คช็อกโกแลตนี้อยากดื่มอยากกินมากก็ดื่มได้กินได้ เพราะยังไม่เคยมีรายงานทางการแพทย์ว่ามันโอเวอร์โด้สหรือดื่มกินกันเกิดขนาดจนมีข้อเสียเลยนะครับ ก็มันขมปี๋ออกอย่างนั้นถ้าไม่ใช่อินเดียนเผ่าคูนาแล้วจะมีใครหรือที่จะดื่มได้ทีละมากๆ

     ก่อนจบย้ำอีกที ดาร์คช็อกโกแลตไม่ได้เป็นญาติอะไรกับช็อกโกแล็ตที่คนซื้อดื่มกันตามปั๊มน้ำมันและร้านกาแฟนะครับ อย่างนั้นเรียกว่าไวท์ช็อกโกแลต

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Hertog MG, Feskens EJ, Hollman PC, Katan MB, Kromhout D. Dietary antioxidant flavonoids and risk of coronary heart disease: the Zutphen Elderly Study. Lancet (1993) 342(8878):1007–11. doi:10.1016/0140-6736(93)92876-U
2. Bayard V, Chamorro F, Motta J, Hollenberg NK. Does flavanol intake influence mortality from nitric oxide-dependent processes? Ischemic heart disease, stroke, diabetes mellitus, and cancer in Panama. Int J Med Sci (2007) 4(1):53–8. doi:10.7150/ijms.4.53
3. Bel-Serrat S, Mouratidou T, Börnhorst C, Peplies J, De Henauw S, Marild S, et al. Food consumption and cardiovascular risk factors in European children: the IDEFICS study. Pediatr Obes (2013) 8(3):225–36. doi:10.1111/j.2047-6310.2012.00107.x
4. Djoussé L, Hopkins PN, North KE, Pankow JS, Arnett DK, Ellison RC. Chocolate consumption is inversely associated with prevalent coronary heart disease: the National Heart, Lung, and Blood Institute Family Heart Study. Clin Nutr (2011) 30(2):182–7. doi:10.1016/j.clnu.2010.08.005
5. Djoussé L, Hopkins PN, Arnett DK, Pankow JS, Borecki I, North KE, et al. Chocolate consumption is inversely associated with calcified atherosclerotic plaque in the coronary arteries: the NHLBI Family Heart Study. Clin Nutr (2011) 30(1):38–43. doi:10.1016/j.clnu.2010.06.011
6. Lamport DJ, Pal D, Moutsiana C, Field DT, Williams CM, Spencer JP, et al. The effect of flavanol-rich cocoa on cerebral perfusion in healthy older adults during conscious resting state: a placebo controlled, crossover, acute trial. Psychopharmacology (Berl) (2015) 232(17):3227–34. doi:10.1007/s00213-015-3972-4
7. Decroix L, Tonoli C, Soares DD, Tagougui S, Heyman E, Meeusen R. Acute cocoa flavanol improves cerebral oxygenation without enhancing executive function at rest or after exercise. Appl Physiol Nutr Metab (2016) 41(12):1225–32. doi:10.1139/apnm-2016-0245
8. Crews WD, Harrison DW, Wright JW. A double-blind, placebo-controlled, randomized trial of the effects of dark chocolate and cocoa on variables associated with neuropsychological functioning and cardiovascular health: clinical findings from a sample of healthy, cognitively intact older adults. Am J Clin Nutr (2008) 87:872–80.
9. Camfield DA, Scholey A, Pipingas A, Silberstein R, Kras M, Nolidin K, et al. Steady state visually evoked potential (SSVEP) topography changes associated with cocoa flavanol consumption. Physiol Behav (2012) 105:948–57. doi:10.1016/j.physbeh.2011.11.013
10. Pase MP, Scholey AB, Pipingas A, Kras M, Nolidin K, Gibbs A, et al. Cocoa polyphenols enhance positive mood states but not cognitive performance: a randomized, placebo-controlled trial. J Psychopharmacol (2013) 27:451–8. doi:10.1177/0269881112473791
11. Afonsoa M, Joséa DM, Alexandrea M, Nunoc L, Henriquec B. Chocolate Consumption is Associated with a Lower Risk of Cognitive Decline. Journal: Journal of Alzheimer's Disease, vol. 53, no. 1, pp. 85-93, 2016 DOI: 10.3233/JAD-160142
12. European Food Safety Authority, 2014.  Scientific Opinion on the modification of the authorisation of a health claim related to cocoa flavanols and maintenance of normal endothelium-dependent vasodilation pursuant to Article 13(5) of Regulation (EC) No 1924/2006 following a request in accordance with Article 19 of Regulation (EC) No 1924/2006. Accessed on June 16, 2019 at http://www.efsa.europa.eu/en/efsajournal/pub/3654
[อ่านต่อ...]

12 มิถุนายน 2562

โรคซึมเศร้า ไม่เอาแบบอธิบายกว้างๆนะ

เรียน คุณหมอสันต์
ผมเคยสอบถามคุณหมอทางที่อยู่นี้ แต่ยังไม่เคยได้รับคำตอบ แม้จะได้ตามอ่านอยู่ประจำ เข้าใจว่าคำถามไม่น่าสนใจ ซ้ำหรือไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น หรือจดหมายไม่ถึง(ที่อยู่ผิด) แต่ก็จะถามเรื่อยๆครับ
ในครั้งนี้ขอถามเรื่องโรคซึมเศร้า แม้ทราบว่าคุณหมอไม่ถนัดเท่าหัวใจหลอดเลือด แต่คุณหมอมีข้อมูลจากงานวิจัยทางด้านสุขภาพต่างๆที่น่าเชื่อถือแน่นอน
ต้องยอมรับว่านอกจากโรคNCDsแล้ว โรคซึมเศร้าก็เป็นปัญหาสุขภาพของสังคมยุคนี้ และมีผู้ป่วยมากทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ในอัตราที่เพิ่มขึ้น และเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น ถี่ขึ้นเรื่อยๆ โดยที่แวดวงสาธารณสุขยังให้ความสำคัญน้อยกว่าโรคNCDs แต่ก็ทำให้เกิดความสูญเสียกับทรัพยากรบุคคลของชาติ ไม่น้อยและยังไม่มีแนวโน้มลดลง จากปัจจัยแวดล้อมทางสังคมสมัยใหม่
ทั้งนี้การให้ความรู้ ความเข้าใจหรือสร้างความรับรู้ถึงที่มาที่ไปกับสังคมก็มีน้อยมาก ผู้ป่วยหรือบุคคลทั่วไปไม่รู้ว่าโรคนี้เกิดจากอะไร(อาจมีภาพกว้างๆว่าเป็นโรคจิตชนิดหนึ่ง หรือที่น่ากลัว โรคจิตก็คือคนบ้า ทำให้ ไม่ยอมรับ ปกปิด เพราะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือในสังคม) แล้วเราจะป้องกันตัวเองจากโรคนี้ได้อย่างไร  ในความเป็นจริงที่อยากเรียนถามคุณหมอ(แบบไม่ใช่อธิบายกว้างๆโดยทั่วไปแบบตามเว็ปการแพทย์) คือ มันเป็นโรคทางกายคือความบกพร่องของสารเคมีหรือสารสื่อประสาทในสมอง เหมือนโรคเบาหวาน ที่เป็นโรคทางกายที่ เกี่ยวกับ อินซูลิน น้ำตาล บกพร่อง มากน้อย หรือเป็นโรคทางด้านจิตใจ หรือเป็นทั้งคู่ แต่อะไรเกิดก่อน เกิดหลัง คือ สารเคมี บกพร่องทางกาย จึงเกิดอาการทางจิต หรือ มีความเครียด กระทบกระเทือนทางจิตใจ ก่อน เป็นสาเหตุให้สารสื่อประสาทบกพร่อง ซึ่งถ้าบุคคลเข้าใจเรื่องเหล่านี้อย่างถูกต้องมากขึ้น ก็จะสามารถระมัดระวังป้องกันตัวเอง รวมทั้งการรักษา ฟื้นฟูด้วยความเข้าใจในการดูแลตัวเอง และไม่จำเป็นต้องใช้ยาไปตลอดชีวิต เหมือนที่คุณหมอได้พยายามแนะนำ การปฏิบัติตัวและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบชีวิตเพื่อหลีกเลี่ยงหรือรักษาโรคNCDs ให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
การใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าซึ่งใช้เวลาต่อเนื่องยาวนาน เช่นเดียวกับผู้ป่วยความดันสูงหรือไขมันในเส้นเลือดสูง จะส่งผลกระทบอะไรที่เป็นผลข้างเคียงในระยะยาวบ้างหรือไม่ มีงานวิจัยทางด้านนี้ที่พึงระวังมั้ย เช่น ยากลุ่ม Lexapro ที่ว่าปลอดภัยใช้แพร่หลาย มานานมาก
ผมก็ไม่ทราบว่าจดหมายนี้จะถึงมีคุณหมอมั้ย เพราะคงมีผู้กลั่นกรอง หรือที่อยู่จะถูกหรือไม่ และคุณหมอจะกรุณาเห็นประโยชน์กับท่านอื่นๆมั้ย แต่หวังว่าจะได้เห็นคุณหมอตอบคำถามในFBของคุณหมอ
ขอบพระคุณมากครับ

.............................................................

ตอบครับ

เรียน คุณหมอสันต์

     1. ถามว่าเขียนมาทางเมลนี้ตั้งหลายครั้งแล้วไม่เห็นหมอสันต์ตอบ จดหมายไม่ไม่ถึงหรืออย่างไร ตอบว่าจะหมายนั้นถึงแน่นอนครับ เพราะอีเมลสมัยนี้มีความแน่นอนกว่าไปรษณีย์สมัยก่อนอย่างเทียบกันไม่ได้ แต่ว่าที่ผมไม่ได้ตอบนั้นคงเป็นผลจากการประชุมแห่งเหตุ กล่าวคือ (1) เมลเข้ามาวันละไม่ต่ำสิบยี่สิบฉบับ แต่ผมมีเวลาตอบให้ได้เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1-2 ฉบับ ที่เหลือก็เก็บๆไว้แล้วไปโละทิ้งเมื่อส่งท้ายปีเก่าแต่ละปี (2) อาจเป็นเรื่องที่ซ้ำกับที่เคยตอบไปแล้ว อาจจะซ้ำกับเรื่องเมื่อสิบปีก่อน (บล็อกนี้อายุสิบกว่าปีแล้ว) (3) มีเมลเรื่องอื่นมาแย่งที่ เช่นเรื่องการเสาะหาความหลุดพ้น การหางานทำ การนอนกับแฟนไม่สำเร็จ ฯลฯ แล้วหมอสันต์นี้มีธรรมชาติเป็นคนปกติเสมอต้นเสมอปลายซะที่ไหน บางอารมณ์ก็อยากจะตอบเรื่องบ้าๆบ้าง

     ดังนั้น เมลไหนจะได้ตอบหรือไม่ได้ตอบจึงแล้วแต่ดวง ขอให้แฟนๆบล็อกที่กรุณาเขียนเข้ามาโปรด make your heart แปลว่าทำใจ ถ้าได้ตอบก็ถือว่าผู้เขียนได้ช่วยทำบุญที่คำถามของท่านนำไปสู่คำตอบที่ผู้อ่านท่านอื่นจะได้เอาไปใช้ประโยชน์ด้วย ถ้าไม่ได้ตอบก็ถือว่าได้ทำบุญด้วยการให้ทานอันยิ่งใหญ่แก่หมอสันต์..คืออภัยทาน

     2. ถามว่าหมอสันต์ถนัดเรื่องการรักษาโรคอะไรบ้าง ตอบว่าไม่ถนัดซักกะโรค เพราะผมเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ไม่มีหน้าที่ไปเจาะลึกเพื่อรักษาโรคใดโรคหนึ่ง แต่มีหน้าที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถป้องกันและพลิกผันโรคของเขาเองด้วยตัวเขาเองได้ ดังนั้นถ้าจะหาวิธีแก้ปัญหาโรคด้วยตัวท่านเองมาที่นี่ก็มาถูกที่แล้ว แต่ถ้าจะหาหมอมารักษาโรคให้ตัวท่านอย่างลึกซึ้งถึงพริกถึงขิงที่ได้ผลเร็วระดับใกล้กับเสกเปรี้ยงหายเลย ต้องไปที่คลินิกเฉพาะโรคนั้นๆครับ

     3. ถามว่าโรคซึมเศร้า (major depressive disorder) เกิดจากอะไร ตอบว่าไม่ทราบครับ ไม่ใช่ตัวหมอสันต์คนเดียวที่ไม่ทราบ คนอื่นที่ประกอบอาชีพแพทย์แผนปัจจุบันในโลกใบนี้ก็ยังไม่มีใครทราบ เพราะยังไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ใดที่จะยืนยันสาเหตุของโรคนี้ได้ ที่มีคนพูดเป็นคุ้งเป็นแควว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากสาเหตุนั้นสาเหตุนี้ นั่นเป็นการเดาเอาตามหลักวิชา "มั้งศาสตร์" ไม่ใช่พูดตามหลักฐานวิจัยแบบการแพทย์แผนปัจจุบัน

     4. ถามว่าโรคนี้เป็นความบกพร่องทางกายเช่นขาดสารเคมี หรือว่าเป็นโรคทางใจ ตอบว่าหากถือเอาตามวิชามั้งศาสตร์ โรคซึมเศร้าเป็นผลจากการประชุมแห่งเหตุ ภาษาแพทย์เรียกว่าปัจจัยเสี่ยง ประดังมากันหลายทาง ดังนี้

     มั้งศาสตร์ 1 คือโทษการเปลี่ยนแปลงระดับของสารเคมีที่ใช้เชื่อมต่อกระแสไฟฟ้าระหว่างเซลประสาท (neurotransmitter) แต่ในความเป็นจริงวงการแพทย์ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล หมายความว่าอาจเกิดโรคซึมเศร้าขึ้นก่อนแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงระดับสารเคมีตามก็เป็นได้

     ความสำเร็จของการทดแทนสารเคมีที่เปลี่ยนไปในรูปแบบของยาต้านซึมเศร้านั้น ขึ้นอยู่กับดวงของคนไข้ คือบางรายก็ได้ผล บางรายก็ไม่ได้ผล งานวิจัยเปิดโปงที่ทำโดยกลุ่มอาจารย์ที่ฮาร์วาร์ดนำโดย Dr. Kirsch ซึ่งเอาข้อมูลผลวิจัยที่บริษัทยาไม่ยอมตีพิมพ์ (เพราะมีผลสรุปว่ายาต้านซึมเศร้าไม่ได้ผล) มายำรวมกับข้อมูลที่ตีพิมพ์แล้ว ทำให้เราได้ทราบว่ายาต้านซึมเศร้าในกลุ่ม SSRI ชื่อ Prosac ซึ่งเป็นยาดังมากที่สุดในยุคนั้นได้ผลดีกว่ายาหลอกในคนไข้เพียง 10% ของคนไข้ทั้งหมดที่ใช้ยานี้เท่านั้นเอง

     มั้งศาสตร์ 2. คือโทษกรรมพันธ์ เพราะคนไข้จำนวนหนึ่งมีปัจจัยพันธุกรรมเกี่ยวข้องด้วย งานวิจัยคู่แฝดพบว่าหากคนหนึ่งเป็นโรคซึมเศร้าอีกคนหนึ่งก็มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้า 40-50% งานวิจัยอุบัติการณ์ของโรคในกลุ่มผู้สืบสันดานสายตรง (first degree relative) พบว่าหาในสายตรงมีคนเป็นโรคซึมเศร้า คนอื่นในสายตรงด้วยกันจะมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าสูงกว่าคนทั่วไปประมาณ 3 เท่า

     มั้งศาสตร์ 3. คือโทษการสนองตอบต่อสิ่งเร้าภายนอก (stressors) อย่างผิดวิธี หมายความว่ามีเรื่องเกิดขึ้นที่ภายนอกตัว แต่ตัวเองรับรู้เรื่องนั้นในเชิงลบ เช่นคู่สมรสตาย พ่อตาย แม่ตาย แฟนทิ้ง ตกงาน กลัวการสอบ เล่นหุ้นแล้วเจ๊ง ป่วยเป็นมะเร็ง เป็นโรคสมองเสื่อม โรคพาร์คินสัน โรคปวดเรื้อรัง พิการ นอนไม่หลับ ขาดญาติมิตรเกื้อหนุน มีภาระต้องดูแลพ่อแม่ที่ชรา เหงา เศร้า เบื่อ เป็นต้น ที่ว่าสนองตอบอย่างผิดวิธีก็หมายความว่าคนอื่นเขาก็มีความเครียดแบบเดียวกันนี้แต่ที่เขาไม่เป็นโรคซึมเศร้าก็มีถมไป

     มั้งศาสตร์ 4. โทษยา เพราะผู้ป่วยบางรายโรคซึมเศร้าเกิดเพราะยา เช่น ยาลดความดัน ยาสะเตียรอยด์ หรือเสพย์โคเคน ยาบ้า เฮโรอีน กัญชา และแอลกอฮอล

     มั้งศาสตร์ 5. โทษดวงอาทิตย์ที่หายหน้าไป เพราะเป็นความจริงที่ว่าเมื่อเข้าฤดูหนาวที่ไม่เห็นดวงอาทิตย์นานๆ ผู้คนก็จะป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากัน

     มั้งศาสตร์ 6. โทษพ่อแม่รังแกฉัน เพราะงานวิจัยจำนวนหนึ่งพบว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในวัยเด็กมีความสัมพันธ์กับพ่อแม่แบบไม่ค่อยดี หรือพ่อแม่เลี้ยงแบบปกป้องเกินเหตุ หรือพ่อแม่รักลูกไม่เท่ากันเป็นต้น

    มั้งศาสตร์ 7. โทษหลอดเลือดสมองอุดตัน เพราะคนไข้ที่เป็นอัมพาตเฉียบพลัน หรือโรคหัวใจ หรือเบาหวาน หรืออัลไซม์เมอร์ ก็จะเป็นโรคซึมเศร้ามากด้วย

     ยังมีมั้งศาสตร์อื่นๆอีกแยะ แต่วันนี้เอาแค่นี้พอ เพราะพูดมากไปมันก็เป็นแค่ "มั้ง" อยู่ดี มันยังไม่ใช่ของจริง

     5. ถามว่ายา Lexapro ที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้าแบบกินกันจนลืมนั้นมีโทษอะไรบ้าง ตอบว่า Lexapro (Escitalopram oxalate) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทกลาง ซึ่งยาในกลุ่มนี้จะมีผลข้างเคียงต่อระบบประสาทกลางได้ทุกชนิด สำหรับยาตัวนี้ผลข้างเคียงที่โดดเด่นคือ ง่วงเหงาเซาซึม หาวบ่อย นอนไม่หลับ มีเสียงวิ้งๆในหู วิงเวียนก่งก๊ง คลื่นไส้ จะขย้อนอาเจียน ลมในท้องแยะ จุกเสียดแน่น ท้องผูก น้ำหนักเปลี่ยน บ้างเพิ่มมาก บ้างลดมาก (แบบว่าคนอ้วนกินน้ำหนักเพิ่ม คนผอมกินน้ำหนักลด) ปากแห้ง เป็นต้น

     ในระยะยาวอาจทำให้หมดอารมณ์ทางเพศ อวัยวะเพศไม่แข็งตัว เลือดออกง่าย เป็นไข้คล้ายไข้หวัดใหญ่ สมองสับสน หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อเกร็ง หงุดหงิดงุ่นง่าน กลัวเกินเหตุ ก้าวร้าว พูดมาก หรือกลับซึมเศร้าหนักยิ่งขึ้น

     6. ถามว่าจะป้องกันตัวเองจากโรคนี้ได้อย่างไร ตอบว่าเมื่อยังไม่รู้สาเหตุ ก็จะไปรู้วิธีป้องกันที่แท้จริงได้อย่างไรละครับ วิธีป้องกันก็เป็นมั้งศาสตร์อีกนั่นแหละ ซึ่งผมจะเลือกมาแนะนำเฉพาะวิธีที่ผมใช้กับตัวเองแล้วได้ผลดี คือ

     6.1 ออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายทำให้เกิดสารต้านความซึมเศร้าที่ชื่อเอ็นดอร์ฟิน

     6.2 ตากแดด

     6.3 จัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดทุกตัว โดยโฟกัสที่ตัวชี้วัดง่ายๆเจ็ดอย่าง คือ (1) น้ำหนัก (2) ความดัน (3) ไขมัน (4) เบาหวาน (5) การกินผักผลไม้ (6) การออกกำลังกาย (7) การไม่สูบบุหรี่

     6.4  เปลี่ยนชีวิต ในเก้าประเด็น ตามแบบของหมอสันต์ คือ

(1) จากงอเป็นเหยียด หมายถึงเปลี่ยนท่าร่างที่งองุ้มให้ตั้งตรงผึ่งผาย ยืดหน้าอก แขม่วพุง
(2) จากช้าเป็นเร็ว หมายถึงเปลี่ยนการเคลื่อนไหวจากช้างุ่มง่าม ไปเป็นรวดเร็วกระฉับกระเฉง
(3) จากซึมเป็นตื่น กระตุ้นตัวเองให้ตื่นเต็มๆกับทุกอย่างที่เข้ามาหาทุกขณะจิต
(4) จากคิดเป็นรู้ คือทิ้งความคิด มาสนใจรับรู้สิ่งเร้าตรงหน้าตามที่มันเป็นโดยไม่คิดอะไรต่อยอด
(5) จากเกร็งเป็นผ่อนคลาย ผ่อนคลายก็คือยิ้มออก ยิ้มไว้เสมอ หัวเราะบ่อยๆ
(6) จากนั่งเป็นเดิน อย่าเอาแต่นั่ง ลุกเดิน เดินทั้งวัน
(7) จากกินสัตว์ เป็นกินพืช หมายถึงเปลี่ยนอาหาร เป็นมังสวิรัติหรือน้องๆมังสวิรัติ
(8) วันละชั่วโมง เพื่อตัวเอง จัดเวลาให้ตัวเอง หนึ่งชั่วโมงนี้ไม่ยุ่งกับใคร ปิดหน้าจอ ไม่คิดอะไร อยู่กับตัวเอง อยู่กับการรับรู้ปัจจุบัน จะด้วยสมาธิ โยคะ ไทชิ หรือนั่งเฉยๆก็ได้
(9) ถามตัวเองว่าวันนี้ตื่นมาทำไม คือใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย

      7. ผมตอบคำถามคุณหมดแล้วนะ แต่ไหนๆก็พูดถึงโรคซึมเศร้าแล้ว ขอพูดแถมไปถึงการวินิจฉัยโรคนี้หน่อย เผื่อท่านผู้อ่านท่านอื่นจะเอาไปไว้วินิจฉัยตัวเอง ว่ามันไม่มีวิธีตรวจแล็บหรือเอ็กซเรย์เพื่อบอกว่าใครเป็นโรคนี้จริงหรือไม่ การวินิจฉัยอาศัยดูโหงวเฮ้ง หมายความว่าอาศัยฟังจากประวัติและมองดูคนไข้ อนึ่ง เพื่อให้วิธีดูโหงวเฮ้งของแพทย์ทั่วโลกทำได้ใกล้เคียงกัน วงการแพทย์ (DSM5) จึงได้กำหนดเกณฑ์การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยควรมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อยห้าอย่างภายในระยะ 2 สัปดาห์ต่อกัน โดยในห้าอย่างนั้นต้องมีอย่างที่ 1 และ 2 อยู่ด้วย คือ
(1) มีอารมณ์ซึมเศร้า
(2) ไม่สนใจเรื่องใดๆ หรือสิ่งบันเทิงใดๆ
(3) น้ำหนักลด หรือน้ำหนักเพิ่มผิดตา
(4) นอนไม่หลับ หรือเอาแต่นอนหลับทั้งวัน
(5) การเคลื่อนไหวลนลาน หรือเชื่องช้าผิดจากเดิม
(6) เปลี้ยล้าหรือหมดพลัง
(7)  รู้สึกตัวเองไร้ค่า
(8) ตั้งสติไม่ได้ คิดอะไรไม่ตก ตัดสินใจอะไรไม่ได้
(9) คิดวนเวียนเรื่องความตาย อยากตาย การฆ่าตัวตาย

     8. ว่าจะจบแล้วแต่เพิ่งนึกขึ้นได้ ว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจถูกชวนให้ตรวจสมองแบบพิศดาร ซึ่งมีหลายแบบ ขอเล่าให้รู้จักไว้เสียด้วย จะได้ไม่เสียเงินฟรี เช่น

      (1) ตรวจการทำงานสมองด้วยการใส่คลื่นแม่เหล็กเข้าไป (Functional MRI หรือ fMRI) ตรวจการทำงานนะ ไม่ใช่ตรวจภาพ คือถ้าตรวจ MRI ธรรมดาเนี่ยเป็นการเอาสนามแม่เหล็กไปเปลี่ยนทิศทางการหมุนรอบตัวเองของอะตอมไฮโดรเจนในเนื้อเยื่อต่างๆ พอหยุดคลื่นแม่เหล็ก อะตอมเหล่านั้นหันกลับมาหมุนในทิศทางเดิมพร้อมกับปล่อยพลังงานออกมา คอมพิวเตอร์จะจับพลังงานเหล่านี้มาสร้างเป็นภาพของสมอง นั่นคือ MRI แบบธรรมดาที่ใช้กันทั่วไป แต่ fMRI นี้ใช้หลักการจับภาพตัวพาออกซิเจนในเม็ดเลือด (hemoglobin) โดยจับมาเป็นสองแบบ แบบกำลังขนออกซิเจนอยู่ กับแบบปล่อยออกซิเจนไปแล้ว แล้วให้คอมพิวเตอร์สร้างภาพขึ้นมาว่าเนื้อสมองส่วนไหนมีการขนออกซิเจนไปปล่อยมาก ก็แสดงว่าเนื้อสมองส่วนนั้นกำลังทำงานมาก เพราะเมื่อทำงานเซลต้องใช้ออกซิเจนในการเผาผลาญเอาพลังงาน

     (2) ตรวจคลื่นแม่เหล็กที่เซลสมองก่อขึ้น (Magnetoencephalography - MEG) คล้ายๆกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) แต่ MEG เจาะจงตรวจคลื่นแม่เหล็กที่เกิดจากกิจกรรมไฟฟ้าของเซลสมองอีกทีหนึ่ง ซึ่งหลบการบดบังของกระโหลกศรีษะและเนื้อเยื่อข้างเคียงได้ดีกว่า แต่ผลบั้นปลายก็คือข้อมูลที่ว่าเนื้อสมองตรงไหนมีกิจกรรมไฟฟ้ามาก (ก็น่าจะทำงานมาก)

     (3) ตรวจการทำงานเนื้อเยื่อโดยฉีดโมเลกุลติดฉีดสารเปล่งรังสี (Positron emission tomography – PET) วิธีการคือเอาโมเลกุลที่เซลใช้เป็นวัตถุดิบเวลาทำงานอยู่เป็นประจำ เช่นกลูกโคส มาแปะสารเปล่งรังสีเข้าไปกับตัวโมเลกุล แล้วฉีดเข้าไปในร่างกาย แล้วตามไปวัดดูว่าสารเปล่งรังสีเหล่านี้ไปออกันอยู่ที่ตรงไหนมาก ก็แสดงว่าเนื้อเยือตรงนั้นมีการทำงานใช้กลูโคสมาก

     (4.) ตรวจการทำงานของเนื้อเยื่อโดยฉีดสารเปล่งรีงสีแกมม่า (Single photon emission computed tomography - SPECT) อันนี้คือฉีดสารเปล่งรังสีแกมม่าเขาไปในกระแสเลือด แล้วตามวัดรังสีแกมม่าว่าสารที่ฉีดเข้าไปออกันอยู่ที่ตรงไหนมาก ซึ่งก็แสดงว่ามีเลือดไปเลี้ยงตรงนั้นมาก แสดงว่าเซลกำลังทำงานมาก

     จะเห็นว่าการตรวจการทำงานของสมองทุกวิธี ไม่ว่าจะเป็น fMRI, MEG, PET scan, SPECT scan ล้วนบอกได้เพียงแต่ว่าเนื้อสมองส่วนไหนกำลังทำงานมาก เนื้อสมองส่วนไหนทำงานน้อย หรือไม่ทำงานเลย แต่ความรู้แพทย์ปัจจุบันนี้ยังไม่รู้หรอกว่าเนื้อสมองส่วนที่เห็นทำงานอยู่มากๆนั้น มันกำลังทำอะไรของมันอยู่ หรือมันก่อโรคอะไรบ้าง มันกำลังทำความดีหรือมันกำลังทำความชั่ว เรามิอาจรู้ได้ เพราะสมองนี้ประกอบขึ้นจากเซลประสาทรูปร่างเหมือนต้นไม้จำนวนนับร้อยล้านต้น บางต้นมีความยาวจากหัวจรดเท้าของเจ้าตัว แต่ละต้นมีจุดปล่อยไฟฟ้าออกสีข้างหรือ synapse อีกเป็นร้อยจุด เชื่อมต่อกันไปมามั่วไปหมด แล้วสร้างการเชื่อมต่อใหม่เช่นปิดตรงนี้ไปเปิดใหม่ตรงโน้นอยู่ตลอดเวลาทุกวัน ความรู้แพทย์ปัจจุบันยังไม่รู้แม้แต่น้อยว่าเซลสมองเซลไหนเวลามันทำงานหรือไม่ทำงานแล้วมันจะทำให้เกิดโรคอะไรอย่างไร ไม่รู้แม้แต่เซลเดียว การตรวจการทำงานของเนื้อสมองจึงไม่มีประโยชน์ในการช่วยรักษาโรคซึมเศร้าเลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Kirsch I, Deacon BJ, Huedo-Medina TB, et al. Initial severity and antidepressant benefits: a meta-analysis of data submitted to the Food and Drug Administration. PLoS Med. 2008;5(2):e45.
[อ่านต่อ...]

11 มิถุนายน 2562

ประเด็นคือการย้าย identity ออกไปจากความเป็นบุคคลนี้

เรียน อจ สันต์ครับ
ขอปรึกษาเรื่องการปฏิบัติหน่อยครับ ช่วงก่อนหน้านี้ 5-6 เดือน กำลังสติค่อนข้างดี ความคิด ความกังวล ความสงสัยอะไรผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เมื่อเดือนพฤษภาคม ช่วงหนึ่งมีความสงสัยเกี่ยวกับความคิดเรื่องความดัน ก็เกิดความกังวล (ทั้งๆ ที่เดือนมีนาคม 2562 ไปพบแพทย์ตามนัด วัดครั้งแรก 160|90 แต่พอพบหมอ หมอวัดได้ 130|80) พอเกิดความกังวล ความดันตัวบนก็เลยเพิ่ม 160-170 ผมก็ตั้งใจว่าจะเลิกวัดความดันไปเลย
จากนั้นก็ปฏิบัติต่อเนื่อง แต่ความคิด ความสงสัย ความกังวล ก็กลับไปกลับมา บางช่วงสติก็กลับมาดีเห็นความคิด ความกังวล ก็ผ่านเลย แต่บางช่วงสติก็อ่อนลง เวลามันเผลอแว๊ปไปคิดเรื่องความดัน จิตมันไปติดความกังวล ทำให้การนอนเป็นแบบ หลับๆ ตื่นๆ (โดยปกติผมเป็นคนที่นอนหลับง่ายมาก เข้านอนไม่เกิน 23.00 น. ใช้เวลา 1-2 นาที ก็หลับเลย ตื่นอีกครั้งก็เช้า) เวลาเกิดทุกข์ขึ้นมาผมก็พยายามอยู่กับมันไม่แทรกแซง ก็เห็นทุกข์มันดับไป แต่มันก็กลับมาใหม่ ไปๆ มาๆ
อยากขอคำแนะนำ จาก อจ สันต์ครับ ว่าพอจะมีเทคนิคที่จะแนะนำในการวางความคิดที่ไร้สาระแบบนี้ได้อย่างไร (ปัจจุบันผมก็เดินจงกรม เช้าและกลางคืน บางวันบ่ายๆ ก็ฝึกนั่งแบบหลวงพ่อเทียน ระหว่างวันก็พยายามอยู่กับเนื้อกับตัว) ผมฝึกมาต่อเนื่องก็เกือบ 3 ปีแล้ว ช่วงก่อนหน้านั้นความคิด ความกังวล มันจะมาแค่ไม่นาน แต่รอบนี้ดูเหมือนมันไม่หนัก ไม่มีอะไร แต่รู้สึกว่ามันวนเวียนอยู่
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
ปล.  ปัจจุบันหมอให้ทาน Prenolol 25 mg ครึ่งเม็ด, Twynsta 40/5 1 เม็ด, Bestatin 10 mg

...............................................................

ตอบครับ

     1. เรื่องความดันเอาไว้ก่อนนะ เพราะมันเป็นผลตามหลัง เอาเรื่องความคิดก่อน เพราะในคนที่ความดันผันแปรขึ้นๆลงๆตามเหตุการณ์ประจำวันมากๆอย่างนี้ แสดงว่าความดันสูงไม่ได้เกิดจากโรคที่ผนังหลอดเลือด แต่เกิดจากการบีบตัวของหลอดเลือด ซึ่งควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งถูกกระตุ้นอีกต่อหนึ่งโดยความคิด ดังนั้นในกรณีนี้ความคิดเป็นเหตุให้ความดันสูง เมื่อใดก็ตามที่คุณวางความคิดได้ ความดันเลือดของคุณมันก็จะลงมาเอง

     2. ความคิดแบบจุดเทียนเวียนวนเวียนไปวนมาไม่เลิก ห่างบ้าง ถี่บ้าง มันมีรากมาจากไหนกันนะ? ทั้งหมดนี้มันมีรากมาจากสำนึกว่าเป็นบุคคล (identity) ของเรา เพราะความเป็นบุคคลของเราเกิดขึ้นจากการเอาร่างกายนี้บวกเข้ากับเรื่องราวแต่หนหลังที่ปะติดปะต่อผูกขึ้นเป็นปูมไว้ในหน่วยความจำ รวมโหลงโจ้งออกมาเป็นคอนเซ็พท์ว่านี่คือเรา หรือนี่คือ "ฉัน" ดังนั้นฉันหรือตัวตนของเรานี้เป็นแม่ของความคิดทั้งหลาย ตราบใดที่ identity ของเรายังเป็น "ฉัน" ตัวนี้อยู่ แล้วความคิดมันจะไปไหนพ้นละ เพราะแม่ของมันยังอยู่นี่ การจะให้ความคิดหมดไปมันต้องมีการเปลี่ยนตัวตน (shift of identity) มันต้องมีการย้ายสำมะโนครัวย้ายบ้าน ย้ายวิก เปลี่ยนชื่อ ว่าเราไม่ได้เป็นบุคคลอันประกอบด้วยร่างกายและชุดความคิดนี้อีกต่อไปแล้ว เราไม่ใช่ร่างกายนี้ เราไม่ใช่ความคิดนี้ เราย้ายไปเป็น "ความรู้ตัว" ซึ่งไม่ได้มีเอี่ยวได้เสียกับใครหรือบุคคลคนไหนทั้งสิ้นแล้ว แม้แต่ "ฉัน" ที่เป็นวิกเดิมของเราความรู้ตัวก็ไม่มีเอี่ยวไม่มีได้เสียด้วย นี่แหละที่เขาเรียกแบบบ้านๆว่า "บวชที่ใจ" ซึ่งจำเป็นกว่าการไปบวชทางกายแบบห่มผ้าเหลืองหรือเดินธุดงค์เสียอีก

     เพื่อความเข้าใจ ขอขยายความ เปรียบเหมือนคุณได้รับมอบหมายให้เล่นละครแบบกรีกสมัยก่อน ที่ผู้เล่นคนหนึ่งต้องคอยเปลี่ยนหน้ากากเปลี่ยนเสียงพูดเพื่อให้ผู้เล่นคนเดียวเล่นละครได้หลายตัว แต่ละเสียงพูดที่พูดลอดแต่ละหน้ากากออกมาเรียกในภาษาลาตินว่า persona ซึ่งก็เป็นที่มาของคำว่า person หรือ "บุคคล" ในปัจจุบันนี้ ถ้าคุณเป็นผู้เล่นที่ดี

     คุณหยิบหน้ากาก 1 ขึ้นมา ทำเสียงชายแก่ หลัว หลัว หลัว ใส่อารมณ์ แบบชายแก่ แล้วก็วาง

     แล้วหยิบหน้ากาก 2 ขึ้นมา ทำเสียงหญิงสาว เจี๊ยบ เจี๊ยบ เจี๊ยบ ใส่อารมณ์แบบหญิงสาว แล้วก็วาง

     แล้วหยิบหน้ากาก 3 ขึ้นมา ทำเสียงชายหนุ่มผู้มีเงินมีอำนาจ ห้าว ห้าว ห้าว ใส่อารมณ์แบบชายหนุ่ม แล้วก็วาง..

      คุณจะไม่มีปัญหาเลยถ้าคุณทำหน้าที่แค่ผู้เล่นละคร แต่นี่คุณหยิบหน้ากากชายหนุ่มขึ้นมาแล้วคุณเล่นแปะหน้ากากนั้นเข้ากับหน้าตัวเองแบบลืมแกะออกไปเลย คุณกลายเป็นชายหนุ่มคนนั้นไปจริงๆเสียแล้ว เสียง persona ที่คุณเปล่งออกมาเพื่อแสดงถึงความเป็นชายหนุ่มในละครนั้นได้กลายเป็นคุณไปจริงๆเสียแล้ว นั่นแหละปัญหา นั่นแหละที่เขาเรียกว่าสำนึกว่าเป็นบุคคล (identity) หรือจะใช้คำบ้านๆว่าอีโก้ก็ได้ คุณจะต้องย้ายวิก ลาออก ทิ้งตัวตนหรือ identity นี้ไปเสียก่อน คุณไม่ใช่นายอธิปัตย์คนนี้อีกต่อไปแล้ว ร่างกายนี้ก็ไม่ใช่คุณอีกต่อไปแล้ว มันยังเป็นร่างกายของคุณอยู่แต่มันไม่ใช่คุณแล้ว เหมือนรถโตโยต้าเป็นของคุณก็จริงแต่รถโตโยต้าไม่ใช่คุณ คุณดูแลเอาเข้าอู่ให้มันใช้การได้เต็มสมรรถนะแต่ก็ไม่ต้องถึงขนาดลงไปชกต่อยกับคนอื่นกลางถนนเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีให้กับรถโตโยต้าเกินเหตุเพราะมันเป็นแค่รถของคุณ มันไม่ใช่คุณ ถ้าคุณไม่สามารถย้ายวิกเปลี่ยน identity ได้อย่างนี้ ความคิดเดิมๆที่จุดเทียนเวียนวนก็จะไม่มีวันหายไปไหน เพราะความคิดเหล่านั้นมันประดังกันขึ้นมาด้วยจุดประสงค์เดียว คือมุ่งปกป้องสำนึกว่าเป็นบุคคลทั้งสิ้น

     3. ในทางปฏิบัติทำอย่างไร ผมสังเกตว่าสามปีที่ผ่านมาคุณใช้ยุทธวิธีใช้ความสนใจ (สติ) ตามรู้ความคิด ฟังตามที่คุณเล่าแรกๆดูเหมือนจะเวอร์ค อ้าวนานไปกลับไม่เวอร์ค วิธีนี้มันอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกจริตของคุณก็ได้ ผมเข้าใจว่าเป็นเพราะคุณไปสู้รบในสนามของ "ภาษา" หรือสนามของ "ความคิด" ซึ่งเป็นสนามที่ persona เขาได้เปรียบเพราะเขาเกิดและเติบโตมาในสนามนี้ จึงสกัดกั้นคุณได้ทุกซอกทุกมุมทุกช็อต

     ผมแนะนำว่าจากนี้ไปในหลายเดือนข้างหน้านี้ คุณลองเปลี่ยนสนามเล่น คือเลิกเล่นในสนามของภาษา แต่ไปเล่นในสนามของคลื่นความสั่นสะเทือน (vibration) ที่ไม่มีภาษา เรียกว่าย้ายไปเล่นในสนามปรมัตถ์ อะไรที่เป็นภาษาคืออะไรที่เรียกชื่อได้ บอกรูปร่างได้ เลิกยุ่งด้วยให้หมด เหลือไว้แค่คำพูดไม่กี่คำที่ใช้ดึงคุณออกจากสนามของภาษาเท่านั้น เช่น "ผ่อนคลาย (relax) " "ซู่ซ่า (body scan)" "รู้ตัว (consciousness)" นอกจากนั้นอะไรที่เรียกเป็นภาษาได้อย่าไปยุ่งด้วยเลยทั้งสิ้น โผล่ขึ้นมาปุ๊บก็ดีดทิ้งไปให้หมดปั๊บ สนใจแต่คลื่นความสั่นสะเทือนที่เข้ามาสู่การรับรู้ในปัจจุบัน (perception) ไม่ว่าจะเป็นในรูปของภาพ (image) เสียง(sound) หรือสัมผัสของผิวหนัง (body sensation) หรือความรู้สึก (feeling) ก่อนที่ภาษาจะเข้ามาเกี่ยวข้อง แบบที่เขาเรียกว่ารู้เห็นตามที่มันเป็น ก็คือรู้เห็นว่ามันเป็นคลื่นความสั่นสะเทือน ไม่มีภาษาเข้ามาตีความหรือพากย์ 

     คุณจะเห็นว่ามีหลายศาสนาหลายนิกายสอนวิธีเดินบนเส้นทางนี้ ด้วยการเปล่งเสียงโอมบ้าง เปล่งเสียงท่องบ่นมันตราที่ไม่มีความหมายอะไรในเชิงภาษาบ้าง บ้างก็ตีระฆัง ฆ้อง กลอง ฉิ่ง ฉาบ บ้างก็แค่ลาดตระเวณความสนใจดูความรู้สึกบนผิวกายเฉยๆ เส้นทางสายนี้ท้ายที่สุดมันจะนำคุณไปสู่จุดเดียวกันที่คุณเคยพยายามจะไปด้วยการใช้สติตามดูความคิดตลอดสามปีที่ผ่านมา นั่นคือไปเป็นความรู้ตัว (consciousness) ในเมื่อคุณไปทางโน้นแล้วสามปีไม่เวอร์ค ทำไมคุณไม่ลองมาทางนี้ดูบ้างละครับ

ถาม 

     body scan หรือซู่ซ่านี้ เหมือนกับความรู้ตัวทั่วพร้อมไหมครับ

ตอบ

     เหมือนกัน แต่ขอขยายความหน่อยว่าอย่ามองแค่ผิวเผินว่า body scan เป็นการรับรู้แค่เวทนา (feeling) หรือความรู้สึกบนผิวกาย ให้มองลึกซึ้งกว่านั้นว่าเวทนาเหล่านั้นเกิดจากการที่อายตนบนผิวกายรับรู้การมีอยู่ของพลังงานของร่างกาย (internal body หรือ energy body หรือ "ปราณา" ในภาษาแขก หรือ "ชี่" ในภาษาจีน) ซึ่ง energy body นี้เป็นคลื่นความสั่นสะเทือนที่อยู่นอกภาษา และเป็นปากทางนำไปสู่ความรู้ตัวซึ่งเป็นคลื่นความสั่นสะเทือนเหมือนกันแต่ในความละเอียดที่สูงกว่า

     ถ้าสังเกตให้ดี พระพุทธเจ้าเรียงลำดับส่วนประกอบของชีวิตจากหยาบไปละเอียดว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในอุปนิษัทของฮินดูก็เรียงคล้ายๆกันเรียกว่า Five sheaths คือ
Annamaya (รูป), Pranamaya (เวทนา) Manomaya (สังขาร), Vijnanamaya (ปัญญาญาณ) Anandamaya (ความรู้ตัว)

     เมื่อยำรวมกันมันก็จะมีประมาณหกชั้น แน่นอนว่าการเดินทางจากนอกเข้าในมันจะต้องผ่าน ต้องเข้าใจ และต้องรู้จักใช้ประโยชน์และระวังโทษของหลักกิโลเมตรทั้งหกหลักนี้คือ (1) รูป (ร่างกาย) (2) เวทนา (พลังงานร่างกาย) (3) สัญญา (ความจำ) (4) สังขาร (ความคิด) (5) ปัญญาญาณ (intuition) และ (6) วิญญาณ (ความรู้ตัว)

     แต่ถ้าคุณจะลัด ผมแนะนำให้คุณโฟกัสที่หลักกิโลเมตรสองหลักก็พอ คือ เวทนา (feeling) และปัญญาญาณ (intuition)  นั่นหมายความว่าคุณต้องให้น้ำหนักการเห็นตามที่มันเป็น หรือการ "อยู่กับปัจจุบัน" เพราะปัญญาญาณเป็นเครื่องมือชี้ให้เห็นตามที่มันเป็น ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่นอกภาษา อยู่นอกเวลา และอยู่แต่กับคลื่นความสั่นสะเทือนที่เดี๋ยวนี้ล้วนๆโดยไม่ต้องยุ่งอะไรกับความคิดหรือความจำเลย คุณต้องทำให้ได้ถึงขนาดว่าฟังเมียพูดแล้วได้ยินเป็นเสียงดนตรีที่มีแต่ instrument ไม่มีเสียงคำร้อง คือไม่จับเอาสาระในเชิงภาษาจากสิ่งเร้าใดๆทั้งสิ้น ต้องทำให้ได้ถึงขนาดนั้นจึงจะเรียกได้ว่ารู้เห็นตามที่มันเป็น

     ถ้ามีเวลาว่างก็แวะมาคุยกันได้นะ หรือจะมาเข้า Spiritual Retreat ก็น่าจะได้ประโยชน์

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

10 มิถุนายน 2562

นอนไม่หลับทำให้เป็นความดันสูงได้ไหม

ถนนในหมู่บ้านดารดาษไปด้วยสีแดง
     เช้าวันนี้ตั้งใจจะตื่นสาย แต่หมอสมวงศ์มาปลุกชวนไปเดินเล่นตามถนนในหมู่บ้าน ไม่ได้เดินมาหลายเดือนแล้วรู้สึกบรรยากาศหลายอย่างเปลี่ยนไป ถนนออกจากบ้านดารดาษไปด้วยสีแดงของหางนกยูงทั้งบนต้นและที่ร่วงหล่นอยู่บนพื้น แวะบ้านเพื่อนบ้านที่เขาปลูกไม้ใหญ่ไว้บนสนามหญ้าเดี๋ยวนี้กลายเป็นป่าน้อยๆไปแล้ว ต้นเบาบับที่เหมือนต้นไม้เอารากชี้ขึ้นฟ้าเดี๋ยวนี้ต้นใหญ่กว่าตัวคนเสียอีก ลมเหนือพัดมาที่มวกเหล็กทำให้อากาศเย็นสบายเหมือนหน้าหนาวทั้งๆที่เป็นเดือนมิถุนา เป็นเช้าที่สดใสดี เมื่อกลับมานั่งกินกาแฟที่ระเบียงแล้วเย็นสบายจนไม่อยากลุกไปไหน จึงหยิบจดหมายสั้นๆขึ้นมาตอบ

...........................................

กราบเรียนคุณหมอสันต์
ผมชื่อ... อายุ 31 ปี มีปัญหาความดันเลือดสูง 180/100 แพทย์ตรวจทุกอย่างทั้งคอมพิวเตอร์ต่อมหมวกไตและเจาะเลือดดูฮอร์โมนต่างๆก็ไม่พบสาเหตุ ผมไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล ทำงานเป็นวิศวกร ก็มีความเครียดบ้างตามประสาแต่ก็ไม่มากอะไร แต่ผมมักมีปัญหาเข้านอนแล้วหลับยาก นานเป็นชั่วโมงกว่าจะหลับได้ ผมอยากทราบว่าการนอนไม่หลับนี้เป็นสาเหตุของความดันเลือดสูงได้ไหม ถ้าได้ผมควรจะแก้ปัญหาเรื่องนอนไม่หลับนี้อย่างไร จะหาน้ำมันกัญชามากินดีไหม
ป่าไม้น้อยๆบนสนามหญ้าของเพื่อนบ้าน

...............................

ตอบครับ

     1. ถามว่านอนไม่หลับทำให้เป็นความดันสูงได้ไหม ตอบว่าได้อย่างแน่นอนครับ มีงานวิจัยที่จะตอบคำถามนี้ได้ตรงๆซึ่งตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Psychosomatic Medicine โดยเอาคน 300 มาติดเครื่องวัดความดันแบต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืน โดยตอนกลางคืนก็ติดเครื่องวัดประสิทธิภาพการนอนหลับแบบผูกข้อมือด้วย และพบว่าคนที่นอนไม่หลับตอนกลางคืน จะมีความดันเลือดสูงในวันรุ่งขึ้น รวมทั้งคนที่ความดันสูงที่สุดของกลุ่มก็เป็นคนที่นอนไม่หลับเมื่อคืนที่ผ่านมา
ต้นเบาบับ จากเท่านิ้วก้อยโตขึ้นใหญ่กว่าคน

     ก่อนหน้านี้วงการแพทย์มีหลักฐานมานานแล้วว่าการนอนไม่หลับทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมากขึ้น ทำให้เกิดอัมพาตเฉียบพลันมากขึ้น งานวิจัยนี้ทำให้เชื่อมโยงได้ว่าสาเหตุอาจจะเป็นเพราะการนอนไม่หลับทำให้ความดันกระตุกขึ้นในวันถัดไปนี่เอง

     2. ถามว่าจะแก้ปัญหานอนไม่หลับในคนอายุน้อยได้อย่างไร ตอบว่าไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ การแก้ปัญหานอนไม่หลับก็เหมือนกันหมด คือต้องปฏิบัติสุขศาสตร์ของการนอนหลับ (sleep hygiene) ซึ่งผมสรุปให้ฟังดังนี้

     (1) เข้านอนเป็นเวลา

     (2) การไม่นอนกลางวันยาวๆ

     (3) การปรับห้องนอนให้ เรียบ เงียบ มืด เย็น

     (4) การไม่ทำงานในห้องนอน ไม่กินของว่างหรือคุยในห้องนอน

     (5) ไม่เอาสิ่งกระตุ้นเช่น ทีวี โทรศัพท์ ไลน์ เฟซ นาฬิกาปลุก ไว้ในห้องนอน

     (6) อุ่นเครื่องก่อนนอนด้วยการหยุดกิจกรรมตื่นเต้น 30 นาทีก่อนนอน พักอริยาบท หยุดความคิดให้หมดแล้วค่อยเข้านอน

     (7) ไม่ทานอาหารมื้อใหญ่ใน 3 ชม.ก่อนนอน

     (8) ออกกำลังกายหนักพอควรทุกวัน

     (9) ออกแดด ยิ่งแดดจัดยิ่งดี เพราะแดดช่วยจัดรอบการปล่อยฮอร์โมนช่วยการนอนหลับให้สมอง

     (10) งดกาแฟและยาที่ทำให้นอนไม่หลับ

     (11) ทำสมาธิวางความคิดให้หมดก่อนนอน

     3. ถามว่าจะไปหากัญชามากินดีไหม ตอบว่าการกินยา ไม่ว่าจะกินยาอะไร ควรสงวนไว้เป็นมาตรการขั้นสุดท้ายเมื่อการปรับสุขศาสตร์ของการนอนหลับไม่ได้ผลแล้ว และหากจะใช้ยาก็ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 6 เดือน อย่าไปจับคำพูดของหมอที่พูดให้สบายใจว่ายานั้นยานี้กินแล้วไม่ติด ที่หมอเขาบอกไม่ติดคือไม่ติดทางกาย (physical dependent) แบบว่าไม่ได้กินแล้วจะลงแดง แบบนั้นไม่ติด แต่การติดยานอนหลับทางใจ (psychological dependent) เกิดขึ้นในทุกกรณีที่กินยาประจำ แม้กระทั่งยาแก้แพ้หรือยาแก้ปวดก็ทำให้ติดยาทางใจได้

     การปฏิบัติสุขศาสตร์ของการนอนหลับรับประกันว่าได้ผลแน่นอนหากทำจริง ผมยังไม่เคยเห็นผู้ป่วยที่ปรับสุขศาสตร์ของการนอนหลับจริงจังครบทุกข้อแล้วยังไม่ได้ผล ยังไม่เคยเห็นสักราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อที่ให้ทำสมาธิวางความคิดให้ได้หมดก่อนนอนนั้นเมื่อทำจนถึงวางความคิดได้จริงแล้วก็นอนหลับได้ทุกราย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Caroline Y. Doyle, John M. Ruiz, Daniel J. Taylor, Joshua W. Smyth, Melissa Flores, Jessica Dietch, Chul Ahn, Matthew Allison, Timothy W. Smith, Bert N. Uchino. Associations Between Objective Sleep and Ambulatory Blood Pressure in a Community Sample. Psychosomatic Medicine, 2019; 1 DOI: 10.1097/PSY.0000000000000711
[อ่านต่อ...]

09 มิถุนายน 2562

ขอโทษครับ จังหวะนี้ผมจำเป็นต้องพูด

     ผมเข้าใจดีว่าท่านผู้อ่านบล็อกนี้ความสนใจหลักอยู่ที่การดูแลสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต อย่างที่ไปไกลหน่อยอย่างมากก็ไปทางการหาทางหลุดพ้นไปจากความคิดซ้ำซากไร้สาระในหัวของตัวเอง ที่นี่ไม่ใช่ที่ของคนที่สนใจเรื่องนอกตัวที่จับสาระได้ยากอย่างเช่นเรื่องการเมือง เขาตั้งรัฐบาลกันอย่างไร ใครจะเอากระทรวงไหน กระทรวงไหนแลกกับกระทรวงไหนแล้วใครจะได้เปรียบจะเสียเปรียบ เพราะฉนั้นการเอาเรื่องการเมืองมาพูดที่นี่เป็นการเล่นลิเกผิดวิก ซึ่งนอกจากจะหาคนดูไม่ค่อยได้แล้วยังจะได้รับก้อนอิฐและขวดเป็นสิ่งตอบแทนอีกด้วย

     แต่ว่าจังหวะที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบกำลังพยายามจัดตั้งรัฐบาลกันอยู่นี้ ผมต้องขออภัยต่อท่านผู้อ่านด้วยที่ผมจำเป็นต้องพูดอะไรเกี่ยวกับการเมืองตอนนี้ เพราะถ้าไม่พูดตอนนี้ ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองของมันแล้ว ผ่านช่วงของการก่อร่างสร้างรัฐบาลและช่วงของการตกลงกันในนโยบายว่ารัฐบาลใหม่จะทำอะไรไม่ทำอะไรแล้ว มันก็สายเกินไปที่ผมจะพูดอะไรที่จะนำไปสู่ประโยชน์แก่สาธารณะอย่างจริงจังเสียแล้ว

     ระบบหรือกลไก หรือโครงสร้างของสังคมของเราทุกวันนี้ การจะสร้างสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นกับคนหมู่มากในเวลาอันสั้นได้มีสองวิธีเท่านั้น

     วิธีที่ 1. คือการสร้างกระแส หรือความนิยม หรือความอยากเปลี่ยนแปลงขึ้นในใจผู้คน แล้วผู้คนจะเปลี่ยนแปลงตัวเองตามแบบกึ่งอัตโนมัติ

     วิธีที่ 2. คือการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ระเบียบ หรือนโยบายสาธารณะ

     ถ้าเราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่คนมีอารมณ์ร่วมได้ง่ายเช่นเรื่องแฟชั่นการแต่งกาย การรักชอบดาราสวยๆหล่อๆ วิธีที่ 1. เป็นวิธีที่ดี แต่หากเราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานซึ่งพ้นออกไปจากความสนใจในเรื่องผิวเผินของคนส่วนใหญ่ หรือในเรื่องที่จำเป็นต้องฝืนความเคยชินที่ไม่ดีที่ผู้คนส่วนใหญ่ทำอยู่ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอาศัยวิธีที่ 2. คือการเปลี่ยนแปลงผ่านกฎหมาย ระเบียบและนโยบายสาธารณะ

     จังหวะที่กำลังมีการจัดตั้งรัฐบาล กำลังมีการเขียนนโยบาย จึงเป็นจังหวะที่ผมควรจะพูดในสิ่งที่ผมเห็นว่าจำเป็นต้องพูด ประเด็นที่ผมจะพูดก็เป็นประเด็นซ้ำซากแบบแผ่นเสียงตกร่อง ว่า

     (1) ปัญหาการก่อตัวของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในคนไทยโดยเฉพาะเมื่อเรามีคนแก่มากขึ้นเป็นปัญหาใหญ่มาก ใหญ่กว่าที่คนทั่วไปที่ไม่คุ้นเคยกับข้อมูลสถิติทางการแพทย์และการสาธารณสุขจะมองเห็นได้ หากไม่มองข้อมูลสถิติและผลวิจัยเหล่านั้นอย่างละเอียดลึกซึ้งพินิจพิเคราะห์ ซึ่งผมได้พูดไปอย่างละเอียดแล้วเมื่อผมคุยกับสื่อมวลชนเมื่อสองสามวันก่อนหน้านี้ (https://visitdrsant.blogspot.com/2019/06/blog-post_7.html)

     (2) วิธีที่เราใช้รับมือกับปัญหาซึ่งเราทำตามฝรั่งเรื่อยมาอย่างเป็นอัตโนมัติ คือการมุ่งไปที่การดูแลรักษาในโรงพยาบาลด้วยยา ด้วยการผ่าตัด เป็นวิธีที่นอกจากจะไม่ได้ผลกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในแง่ของการลดอัตราตายแล้ว ยังจะพาชาติและสังคมของเราล่มจมทางการเงินด้วย

     (3) ทางแก้ปัญหาที่จะให้ผลเร็วที่สุดคือการเปลี่ยนนโยบายสาธารณะในเรื่องการแพทย์และการสาธารณสุข ให้บ่ายโฉมหน้าจากการมุ่งไปทางการรักษามาเป็นมุ่งไปทางการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งผมขอถือโอกาสนี้เสนอทางแก้ต่อพรรคการเมืองที่รับผิดชอบเป็นรัฐบาล และพรรคการเมืองที่รับผิดชอบบริหารจัดการดูแลกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอให้ท่านรับไว้พิจารณา 7 เรื่อง ดังนี้

     3.1 การป้องกันพลิกผันโรคเรื้อรังได้ดีที่สุดเกิดขึ้นจากการที่ตัวผู้ป่วยดูแลตัวเองให้ตัวชี้วัดสุขภาพเจ็ดตัวต่อไปนี้อยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ (1) น้ำหนัก (2) ความดัน (3) ไขมันในเลือด (4) น้ำตาลในเลือด (5) จำนวนผักผลไม้ที่กินต่อวัน (6) เวลาที่ใช้ออกกำลังกายต่อสัปดาห์ (7) การไม่สูบบุหรี่ ทั้งเจ็ดตัวนี้เป็นดัชนี้ที่วัดได้อย่างเป็นรูปธรรมสี่ตัวคือน้ำหนัก ความดัน ไขมัน น้ำตาล หากรัฐบาลใหม่ใช้มาตรการจูงใจด้วยส่วนลดการเสียภาษี กล่าวคือให้คนที่ดูแลตัวเองจนดัชนีสุขภาพแต่ละตัวในสี่ตัวนี้เป็นปกติอยู่ได้เมื่อสิ้นปีภาษีก็ให้นำหลักฐานไปลดหย่อนภาษีได้เหมือนนำหลักฐานการบริจาคเงินไปลดภาษี ก็จะสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนใส่ใจที่จะดูแลดัชนีสุขภาพเหล่านี้ของตนเป็นปกติด้วยตัวเองมากขึ้น

     3.2 การแพทย์ทุกวันนี้อะไรที่ "เบิกได้" แพทย์จะทำให้คนไข้ อะไรที่เบิกไม่ได้แพทย์จะไม่ทำ แม้จะเป็นสิ่งที่ดีก็จะไม่ทำ เพราะทำยากและติดขัดทุกทิศทุกทาง ทุกวันนี้สิ่งที่เบิกได้มีแต่การรักษาเมื่อป่วยแล้วเช่นค่าผ่าตัด ค่าทำบอลลูน ค่ายา ค่าตรวจวินิจฉัยเมื่อมีอาการ ส่วนการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเช่น การเข้าโปรแกรมเลิกบุหรี่ การเข้าโปรแกรมเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตเมื่อเป็นโรคเรื้อรัง แม้จะมีหลักฐานว่าให้ผลดีกว่าการรักษา แต่ก็เบิกไม่ได้ โรงพยาบาลทั้งหลายก็ไม่มีโปรแกรมเหล่านี้ แต่ในประเทศเช่นสหรัฐฯที่การไปเข้าโปรแกรมเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตกินนอน 12 วันเป็นสิ่งที่เบิกได้ โรงพยาบาลต่างๆก็ทำโปรแกรมเหล่านี้ให้ผู้ป่วยมากขึ้น หากแก้กฎหมาย ให้กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นสิ่งที่เบิกได้ ก็จะทำให้หน่วยบริการสุขภาพทุกระดับบ่ายโฉมหน้าจากทิศทางมุ่งรักษามามุ่งการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมากขึ้น

     3.3 อาหารไทยมองผิวเผินเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ แต่ในความเป็นจริงวิธีปรุงอาหารไทยปัจจุบันนี้แตกต่างจากอดีต ทำให้เมนูเดียวกัน ปัจจุบันนี้กลายเป็นอาหารที่ (1) มีแคลอรี่สูง (2) มีไขมันอิ่มตัวมาก (3) มีเกลือมาก (4) มีน้ำตาลมาก (5) มีพืชผักผลไม้น้อย ซึ่งเป็นทิศทางที่ตรงข้ามกับอาหารสุขภาพ คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าการจะทำอาหารไทยแบบอาหารสุขภาพทำอย่างไร หากรัฐบาลจัดทำคำแนะนำโภชนาการแห่งชาติ Thailand Food Guide ขึ้นเผยแพร่ทุกสี่หรือห้าปีโดยอาศัยข้อมูลวิทยาศาสตร์และผลวิจัยล่าสุดเป็นรากฐาน ก็จะทำให้ผู้คนรู้ทิศทางที่เขาควรจะมุ่งไปในทางโภชนาการเมื่อทำอาหารไทย โดยที่ในคำแนะนำนั้นอย่างน้อยควรจะมีเมนูวิธีทำ Thai Healthy Food และควรจะไฮไลท์การเอาน้ำเปล่าเป็นเครื่องดื่มประจำตัวของคนไทยทุกคนแทนเครื่องดื่มใส่น้ำตาลหรือแอลกอฮอล

     3.4 รัฐบาลควรจะเป็นเจ้าภาพในแง่ของการช่วยเหลือผู้บริโภค ด้วยการตรวจรับรองคุณภาพและออกตรา Thai Healthy Food ให้แก่ร้านอาหารทั่วเมืองไทยและทั่วโลกที่ผลิตอาหารตามเมนูที่แนะนำไว้ใน Thailand Food Guide ฉบับล่าสุด ซึ่งนอกจากจะช่วยผู้บริโภคแล้ว ยังจะช่วยอุตสาหกรรมอาหารไทยสู่ตลาดโลก ซึ่งจะมีผลต่อการเกษตรกรรมในลักษณะปลอดภัยต่อสารพิษด้วย

     3.5 ควรจะอาศัยอำนาจตามกฎหมายสถานพยาบาล ดำเนินการให้รงพยาบาลทุกแห่งมีแต่ Thai Healthy Food ให้คนไข้ และให้ร้านจำหน่ายอาหารในโรงพยาบาลขายแต่เมนูอาหารที่ประกอบหรือปรุงตามที่แนะนำไว้ใน Thai Healthy Food เท่านั้น

     3.6 กระทรวงสาธารณสุขควรจะให้ความสำคัญของการส่งแพทย์ไปประจำที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศ โดยก่อนจะส่งแพทย์เหล่านั้นออกไปจะต้องมีโปรแกรมสอนทักษะให้แพทย์ส่งเสริมสุขภาพของตัวเองให้ได้สำเร็จก่อนโดยใช้ตัวชี้วัดมาตรฐานทั้งเจ็ดตัวเป็นตัววัด เมื่อตัวเองทำได้แล้ว จึงจะส่งแพทย์เหล่านั้นไปนำทีมส่งเสริมสุขภาพที่รพ.สต. โดยให้แพทย์เหล่านั้นได้รับการจูงใจในเชิงค่าจ้างตามสมควรไม่ให้ด้อยกว่าหากพวกเขาอยู่ในภาคการรักษาพยาบาล

    3.7 รัฐบาลควรสปอนเซอร์ให้รัฐบาลท้องถิ่นสร้าง "เมืองสุขภาพ" (Healthy Town) ขึ้นในภาคต่างๆเพื่อเป็นเมืองตัวอย่างสมบูรณ์แบบที่เอื้อผู้คนที่อยู่อาศัยในเมืองนั้นและผู้มาเยือนได้มีสุขภาพดี เช่น (1) หาอาหารที่ดีต่อสุขภาพทานได้ง่าย (2) วิถีชีวิต การเดินทางไปมา การทำงาน และการพักผ่อน ล้วนเอื้อให้ได้เคลื่อนไหวออกกำลังกาย (3) ผู้สูงอายุได้มีโอกาสเป็นสมาชิกที่สร้างสรรค์ของสังคมแทนที่จะฝังตัวเองอยู่แต่ในบ้าน (4) เอื้อต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยไม่สร้างมลภาวะไปปล่อยให้เมืองอื่น

      ทั้งเจ็ดประการนี้ผมขอฝากไว้ต่อท่านสมาชิกพรรคการเมือง สมาชิกสภา และผู้จะมาร่วมเป็นองค์กรบริหารของรัฐบาลชุดใหม่นี้ด้วยครับ ได้พูดกับท่านแล้วผมก็สบายใจว่าผมได้ทำหน้าที่ของผมในจังหวะที่ควรทำแล้ว

     ส่วนข้างท่านผู้อ่านนั้น ขอให้ท่านผู้อ่านสบายใจได้ว่าผมจะกลับไปทำหน้าที่เดิมของผมคือให้ความรู้และสอนทักษะการป้องกันและพลิกผันโรคต่อไปเหมือนเดิม โดยท่านไม่ต้องกังวลว่าผมจะใช้พื้นที่บล็อกนี้ไปกับเรื่องการเมืองซ้ำซากอีก รับประกันว่าบทความนี้จะเป็นบทสุดท้ายเรื่องการเมืองในยุคของรัฐบาลชุดใหม่นี้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

................................................

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 1.
ทำได้จะดีมากค่ะ แต่เหมือนเรากำลังเอื้อมที่จะคว้าแต่คว้าไม่ถึงค่ะอาจารย์

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 2.
 หวังว่าจะมีนักการเมืองดีๆสักคนมาอ่านและนำไปดำเนินการ ขอแชร์นะคะคุณหมอ

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 3.
ควรจะทำ และต้องรีบทำ แต่เชื่อได้ "ไม่ทำ" ผมเอา หรรม เป็นประกันเลย

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 4.
เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะ แต่จะทำอย่างไรดีค่ะบทความนี้จะไปถึงรัฐบาลใหม่และเห็นว่าควรจะเริ่มปฏิวัติการดูแลสุขภาพคนไทยในมิติใหม่ได้แล้ว นโยบายยาฟรีแล้วไม่ดูแลสุขภาพ เท่าไรก็ไม่พอ ขออนุญาตแชร์นะคะ

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 5.
แชร์แล้วค่ะ นโยบายเป็นประโยชน์แก่คนไทย อยากให้รัฐบาลพิจารณา

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 6.
นโยบายสาธารณะ จากการตั้งรับที่ปลายเหตุ- curative care ปรับสู่การป้องกันโรคตั้งแต่ต้นทาง- preventive care เป็นทางออกของสังคมสูงวัยของไทย ยากที่สุดคือการปรับ mindset ของ policy maker และ practitioners ค่ะ
คุณหมอสันต์พูดถูกเสมอมา..

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 7.
อยากกินผัก​ ผลไม้อย่างสบายใจ​ แต่ก็กลัวจะเป็นการสะสมสารพิษในร่างกายพร้อมกันไปด้วย​ สธ.ทำไมยังให้ขายสารพิษที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรอยู่อีก​ มีอะไรไปบดบังจิตสำนึกไว้หรือไงครับ
จะรอดูว่ารัฐบาลนี้เก่งทษฤฎี หรือปฏิบัติ​ ในเรื่องของสุขภาพประชาชนมากกว่ากัน

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 8.
สาธารณสุขไทย ยังขาดงบประมาณเยอะ บุคคลากรใน สธ.ทำหนัก เครียด การบริการก็แย่ไปด้วย หมอ กับ คนไข้ ไม่เป็นมิตรกัน พยาบาลบริการแบบเอาจำนวนเข้าไว้ให้ทันเวลาทางรัฐตัดงบจำกัด บุคคลากรไม่มีแรงจูง ในตำแหน่ง หน้าที่ ตัวอย่างยกเลิกบรรจุ พยาบาล ทั้งที่บุคคลากรขาด แต่ราชการอื่นกลับมีบุคคลากรล้นเหลือ มีเวลาไปน้งตีกอฟ ตกปลา ทั้งชีวิต ควรเอาความจริงมาพูดบ้าง ว่าราชการ กระทรวงไหนทำงานไม่คุ้มกับตำแหน่งเงินเดือนก็โยกงบเหล่านั้นมาให้กระทรวง สธ.ดีกว่า ทำงานให้ประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ คำอ้างเพื่อประชน

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 9.
แนวคิดนี้ของลุงหมอ หนูเคยคิดเช่นนี้ไว้เหมือนกันค่ะ แต่ ๆ ๆ รัฐบาลชุดใหม่ (รบ.ประยุทธ์) นี้ที่ลุงหมอจะฝากแนวคิดนี้ให้เขาทำ เขาจะทำให้รึเปล่าหนูไม่รู้นะคะ เพราะช่วง ๕ ปีก่อนยังเห็นรัฐบาลตัดงบสายสาธารณสุขและไม่กระจายความก้าวหน้าการแพทย์ไปยังต่างจังหวัดอยู่เลย

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 10.
ขอร่วมลงชื่อสนับสนุน และขอให้หมอทั้งหลาย เจ้าหน้าที่สาธารณาสุขทุกท่านโปรดพิจารณาและร่วมกันพลักดันแนวคิดนี้ให้เป็นจริงด้วยการร่วมกันส่งข้อความให้ดังไปสู่สังคม(รอสื่อไม่ได้เพราะยังไม่มีเสียงใดๆเลยหลังหมอสันต์ออกอากาศ)

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 11,
เข้าใจคุณหมอที่คิดถึงความสำคัญของสุขภาพว่าเป็นปัจจัยสำคัญเร่งด่วนในระดับมหภาค ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ / ส่วนหนูก็จะดูแลสุขภาพให้ดียิ่งๆขึ้นไปตามที่ได้ความรุ้ตลอดมาจากคุณหมอค่ะ

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 12.
คงดีมาก สุขภาพดี ลดหย่อนภาษีได้....ทุกคนจะได้หันมาดูแลสุขภาพตัวเอง ประหยัดงบของรัฐ ไม่ต้องไปออเต็มรพ.ค่ะ

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 13.
ขอบคุณค่ะอาจารย์ ถ้า รบ.มีที่ปรึกษาดี หรือ รมต.ดีมีวิสัยทัศน์ คงวาดอนาคตที่หวังได้ ที่เห็นอยู่ตอนนี้วังเวงค่ะ

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 14.
เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะ การสร้างเสริมสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญมากๆ แม้ทุกวันนี้มีงบ สปสช.และ สสส.สำหรับด้านนี้ ลงกระตุ้นถึงชุมชน แต่ยังจำกัดด้วยปัจจัยหลายอย่างรวมถึงการจะทำอย่างไรจะจูงใจให้คนยอมหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพอย่างเต็มใจด้วย

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 15.
นโยบายนี้ต้องนำเสนอผู้บริหารรัฐบาล กำหนดเป็นวาระแห่งชาติอย่างเร่งด่วน สุขภาพประชาชนต้องมาก่อน ค่ะ

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 16.
เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งค่ะคุณหมอ ทุกวันนี้ประชาชนต้องหาความรู้ในการดูแลสุขภาพเอาเองตามมีตามเกิด ข้อมูลข่าวสารเยอะมาก ไม่ทราบว่าข้อมูลไหนจริงข้อมูลไหนเท็จค่ะ ในเรื่องพื้น ๆ เช่นอาหาร จะต้องเลือกกินแบบไหนอย่างไรจึงจะมีประโยชน์และไม่เกิดโรคตามมา การออกกำลังกาย ออกด้วยวิธีใด อย่างไรจึงจะมีประโยชน์ บางครั้งทำไปแบบไม่มีความรู้ก็เป็นอันตราย เจ็บตัวไปอีกค่ะ เวลาเจ็บป่วยไปหาหมอ (ในบางโรค เช่นปวดเข่า)หมอก็ให้ยาไปทาน แต่ไม่ได้บอกวิธีที่จะให้หายปวดเข่าแบบยั่งยืนโดยไม่ใช้ยา เช่นสอนวิธีสร้างกล้ามเนื้อเข่าให้ผู้ป่วยค่ะ

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 17.
ข้อเสนอของคุณหมอ ดีทั้งหมดเลย แต่รัฐจะทำตามได้ไหม นี่สิน่าคิด

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 18.
อนุทินไงคะจะมีสมองทำอะไรแบบที่อาจารย์กล่าว

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 19.
อยากให้ผู้มีอำนาจได้อ่าน จะได้มีโอกาสทำสิ่งต่างๆที่คุณหมอพูดมา ถึงจะทำไม่ทั้งหมด แต่ก็ยังดีค่ะ
มีสิ่งจูงใจให้ประชาชนหันมารักตัวเองให้มากขึ้น โรคต่างๆ ที่คุณหมอเอ่ยมาคงจะเกิดน้อยลง และคนก็คงจะเสียชีวิตน้อยลงด้วย

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 20.
คุณหมอจับประเด็นได้ชัดเจน มีแนวทางเป็นข้อๆ โดยผู้รับผิดชอบเอาไปคิดต่อยอดได้ทันที
จึงขอสนับสนุนอีกเสียงให้รัฐบาลนำไปพิจารณาดำเนินการให้เกิดเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นได้จริง ใน
ระหว่างนี้เราต้องช่วยตัวเองด้วยการปรับพฤติกรรมการทานอาหารของเรา ปัญหาหลักที่พบคือ เราจะคุมได้เมื่ออยู่ในบ้าน พอไปข้างนอกหรือที่ทำงาน การหาอาหารที่ไม่มัน ไม่หวาน ไม่เค็มดูเป็นเรื่องยากมาก และด้วยภาวะเร่งรีบในชีวิต สุดท้ายเราจึงละเลยในเรื่องนี้ไปในที่สุด
ขอขอบคุณคุณหมอที่ยังแน่วแน่เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ให้กับสาธารณชนได้รับรู้ตลอดเวลา สำหรับตัวเองคิดว่าคุ้มกับการลงทุนให้กับตัวเองและครอบครัวด้วยการเข้าแค้มป์สุขภาพของคุณหมอ แม้จะต้องออกเงินเองและไม่ได้รับการลดหย่อนภาษีก็ตามค่ะ หลังตัวเองได้เข้าแค้มป์สุขภาพของคุณหมอเมื่อ 2 ปีแล้ว สุขภาพปัจจุบันดีกว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัดเจน นี่ขนาดปรับพฤติกรรมการโดยรวมได้เพียงแค่ 70 - 80% เท่านั้นนะคะ

(ขอตัดจม.จากผู้อ่านมาแค่ 20 ฉบับนะครับ)

.........................................................
[อ่านต่อ...]

07 มิถุนายน 2562

หมอสันต์พูดกับสื่อมวลชนที่มาเยี่ยมชมเวลเนสวีแคร์

สวัสดีครับ

     ผมขอขอบพระคุณทุกท่านที่กรุณาแวะมาเยี่ยมชมเวลเนสวีแคร์ ท่านมาก็ดีแล้ว ผมขอถือโอกาสนี้เล่าให้ท่านฟัง เพื่อให้ท่านเข้าใจอย่างลึกซึ้งด้วยหลักฐานการวิจัยทางการแพทย์ว่าเวลเนสวีแคร์ทำอะไร ทำไปทำไม ผมเห็นว่าท่านเป็นคนสำคัญที่จะช่วยชาติบ้านเมืองได้ ผมจึงจะพูดกับท่านอย่างลึกซึ้งแบบที่ผมไม่เคยพูดกับผู้ป่วยหรือคนทั่วไปมาก่อน คือผมจะพูดกับท่านในฐานะที่ท่านเป็นคนระดับที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ให้ชาติบ้านเมืองได้

     คุณวิเวกกับผมมาร่วมกันทำเวลเนสวีแคร์ด้วยโจทย์ที่ว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นทุกวัน และวิธีการที่สังคมเราใช้รับมืออยู่ทุกวันนี้ คือการมุ่งไปที่การใช้ยา การผ่าตัด การทำหัตถการต่างๆนั้น ยิ่งทำไปก็ยิ่งชัดเจนขึ้นว่าชาติและสังคมของเราจะหมดตัวเสียก่อน โดยที่ปัญหาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนั้นก็ยังไม่หายไปไหน กลับมีทีท่าว่าจะมากขึ้นด้วยซ้ำ

ความใหญ่โตของปัญหา

     ก่อนอื่นผมขอจูนให้เรามาอยู่ในเรือลำเดียวกันก่อนนะว่าเรากำลังอยู่ตรงไหนในเรื่องนี้ ทึ่ว่าปัญหามันมากนั้นมากอย่างไร โรคที่ว่าส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทยจนอาจเป็นเหตุให้ประเทศล่มจมได้มีอยู่ห้าโรค คือ
     1. โรคความดันโลหิตสูง
     2. โรคหัวใจ
     3. โรคหลอดเลือดสมอง
     4. โรคมะเร็ง และ
     5. โรคเบาหวาน

     ในปีพ.ศ. 2560 พบว่าคนไทยตายจากมะเร็งเป็นอันดับหนึ่งคือปีละ 78,540 คน ตามด้วยโรคหลอดเลือด (หัวใจและสมอง)ปีละ 66,240 คน

     เฉพาะโรคหัวใจในปี พ.ศ. 2560 คนไทยตายด้วยโรคหัวใจ 20,746 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 2.3 คน เพิ่มขึ้น 35% ใน 15 ปี คือจากปีพ.ศ. 2545 ซึ่งตาย 15,361 คน
     ในปี พ.ศ. 2558 คนไทยเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 98,148 คน หรือมีอัตราเป็นโรคเพิ่มปีละ 150 คนต่อประชากรแสนคน

     ในแง่ของอัตราเพิ่มของโรคความดันเลือดสูง ในช่วงเวลาห้าปี (พ.ศ. 2556 – 2560) โรคความดันเลือดสูงตามเกณฑ์เก่า (140/90 มม.)ในคนไทยได้เพิ่มจาก 12,342 คนต่อประชากรแสนคน เป็น 14,926 คนต่อประชากรแสนคน หรือเพิ่มขึ้น 20% ถ้ามองในแง่ความชุกสถิติปีพ.ศ. 2557 พบว่าโรคนี้มีความชุกในประชากรวัยผู้ใหญ่สูงถึง 24.7% แต่ส่วนที่ต่อคิวจะเป็นความดันเลือดสูงนั้นมีมากกว่า คืองานวิจัย InterAsia พบว่าคนไทยผู้ใหญ่ที่ใกล้จะเป็นความดันเลือดสูง (ความดันตัวบนเกิน 120 - 139 มม.) มีอยู่ถึง 30.8%

     ในแง่ของโรคเบาหวานก็ไม่ได้น้อยหน้า ปัจจุบันคนไทยวัยผู้ใหญ่เป็นเบาหวาน 4.8 ล้านคน และมีอัตราเพิ่มอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนมีอายุน้อย ไม่ต้องไปดูไกล ไปดูที่รพ.อำเภอมวกเหล็กนี้ก็ได้ รพ.อำเภอเล็กๆโรงเดียว มีคนไข้เบาหวานลงทะเบียนอยู่ถึงกว่า 1,500 คน เรียกว่าที่มวกเหล็กนี้แทบจะตั้งสถาบันวิจัยโรคเบาหวานได้เลย

     โรคไขมันในเลือดสูงซึ่งเป็นปฐมเหตุของโรคหลอดเลือดทั้งที่หัวใจและสมองก็ใช่ย่อย ผมให้ท่านดูข้อมูลสามกรณีคือ
     1. ข้อมูลของสำนักวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พบว่าปีพ.ศ. 2557 คนไทยผู้ใหญ่ป่วยเป็นโรคไขมันในเลือดสูง 26 ล้านคน (44%)
     2. งานวิจัยที่ผมทำเองที่รพ.พญาไท 2 พบว่าผู้ป่วยอายุเกิน 40 ปีที่มาตรวจสุขภาพจำนวนสามพันกว่าคน เป็นโรคไขมันในเลือดสูง 55%
     3. งานวิจัยระดับไขมันในเลือดของแพทย์และพยาบาลรพ.นพรัตน์ราชธานี พบว่าบุคลากรทางการแพทย์ในรพ.นั้นเป็นโรคไขมันในเลือดสูง 69.9%

     ทั้งหมดนั้นคือความใหญ่โตของปัญหา

ทรัพยากรที่เราทุ่มลงไป แก้ปัญหาได้ตรงจุดไหม

     คราวนี้มาดูนะว่าทรัพยากรที่เราทุ่มเทลงไปมันแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ตรงจุดไหม ในสิบปีที่ผ่านมา ประเทศชาติของเราเพิ่มศูนย์หัวใจให้มากขึ้นทั่วประเทศเพื่อทำบอลลูนขยายหลอดเลือดให้ได้มากขึ้น ให้เบิกค่าทำได้ฟรีจากสามสิบบาทและประกันสังคมด้วย จนการรักษาโรคหัวใจด้วยวิธีรุกล้ำ (ใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดและใส่ลวดถ่าง) ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก จากร้อยละ 4.51 ของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยในปี 2548 เป็นร้อยละ 26.25 ของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยในปี 2558

     มาดูซิว่าในเชิงวิทยาศาสตรแล้วมันแก้ปัญหาได้ไหม

     ดูในภาพใหญ่ก่อนนะ งานวิจัยนี้ชื่อ EuroAspire เป็นการตามดูคนไข้โรคหลอดเลือด 13,935 คน ซึ่งรักษาอยู่ในโรงพยาบาลชั้นดีของยุโรป 76 รพ.ใน 22 ประเทศ ใช้เวลาติดตามดู 12 ปี เพื่อจะตอบคำถามให้ได้ว่าถ้าคนไข้เขาทำตามที่หมอบอก ให้กินยาก็กิน ให้ทำบอลลูนก็ทำ แล้วเขาจะดีขึ้นไหม ปรากฎว่ามีแต่สาละวันเตี้ยลงนะครับ ผมชี้ให้ท่านดูสามจุด คือผ่านไปสิบสองปี
     อ้วนมากขึ้นจาก 25% เป็น 38%
     เป็นเบาหวานมากขึ้นจาก 17% เป็น 28%
     เป็นความดันสูงมากขึ้นจาก 32% เป็น 56%
นี่อยู่ในมือหมอนะ เท่ากับว่ารักษากันไปรักษากันมาเกินครึ่งกลายเป็นโรคความดันเลือดสูง นี่เป็นคำตอบว่าการแพทย์ที่มุ่งไปที่การใช้ยาและการทำผ่าตัดทำหัตถการแบบรุกล้ำนั้นมันแก้ปัญหาโรคเรื้อรังไม่ได้

     มาดูผลของการขยันทำบอลลูนขยายหลอดเลือดบ้าง งานวิจัยนี้ชื้อ COURAGE trial เอาคนไข้โรคหัวใจขาดเลือดที่เจ็บหน้าอกแบบไม่ด่วน (stable angina) ระดับ 1-3 จากทั้งหมด 4 ระดับที่สวนหัวใจแล้วมีจุดตีบสองเส้นบ้างสามเส้นบ้างมาจับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเอาไปทำบอลลูนใส่สะเต้นท์หมด อีกกลุ่มหนึ่งไม่ทำ ให้กินยาเท่านั้น แล้วตามไปดูสิบสามปีดูว่ากลุ่มไหนจะมีจุดจบที่เลวร้ายและตายมากกว่ากัน ปรากฎว่าไม่ต่างกันเลยนะครั้ง พูดง่ายๆว่าคนไข้เจ็บหน้าอกแบบไม่ด่วน การทำบอลลูนไม่ได้ช่วยอะไร

     แล้วคนไข้ที่เจ็บหน้าอกแบบด่วน (acute MI) ละ หมายความว่าเจ็บพักยี่สิบนาทีแล้วไม่หายต้องหามไปโรงพยาบาล พวกที่ด่วนจริงๆนั้นการทำบอลลูนฉุกเฉินช่วยชีวิตได้ไม่มีปัญหา แต่พวกที่รอดตายผ่านช่วงเร่งด่วน 24 ชั่วโมงแรกมาได้เองละ หลังจากนั้นการทำบอลลูนมีความจำเป็นไหม งานวิจัยนี้ชื่อ OAT trial เอาผู้ป่วยที่ผ่าน 24 ชั่วโมงไปได้แล้วมา 2,166 คน จับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม ทำบอลลูนกับไม่ทำ ตามดูสิบกว่าปี อัตราตายไม่ต่างกันเลยเช่นกัน

     ก่อนหน้านี้วงการแพทย์มักจะถกเถียงกันว่าการทำบอลลูนแม้จะไม่ทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้น แต่ก็ช่วยบรรเทาอาการเจ็บหน้าอกได้มากกว่าไม่ใช่หรือ แต่เมื่อไม่นานมานี้เองได้มีการทำวิจัยนี้ที่อังกฤษ ชื่องานวิจัย ORBITRA trial เอาคนไข้ที่เป็นโรคหัวใจมีอาการเจ็บหน้าอกแล้วมา 230 คน เอามาจับฉลากแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
     กลุ่มที่ 1. เอาไปทำการตรวจสวนหัวใจแบบหลอกๆ กล่าวคือพาเข้าห้องสวนหัวใจ เอาเข็มแทงที่ขา ใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือด ขึ้นภาพหัวใจเต้นดุ๊บๆบนจอเหมือนเวลาทำบอลลูนใส่ลวดถ่างจริงๆ แต่ว่าไม่ได้เอาบอลลูนเข้าไปขยายหลอดเลือดและไม่ได้ใส่ลวดถ่างค้ำไว้ เรียกว่าเป็นการผ่าตัดหลอก แต่ผู้ป่วยไม่รู้ว่าตนเองอยู่ในกลุ่มถูกหลอก
     กลุ่มที่ 2. เอาไปทำบอลูนจริงๆ กล่าวคือพาเข้าห้องสวนหัวใจ เอาเข็มแทง ใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือด เอาบอลลูนเข้าไปขยายรอยตีบ แล้วเอาลวดถ่าง (stent) ค้ำไว้

     ขั้นตอนการสวนหัวใจนี้ผ่านไปโดยไม่มีใครตายจากการวิจัยครั้งนี้ หลังจากนั้นจึงติดตามดูอาการเจ็บหน้าอกและความสามารถออกกำลังกายของทั้งสองกลุ่มว่ากลุ่มไหนจะเจ็บหน้าอกน้อยและออกกำลังกายได้มากกว่ากันในระยะยาว ผลปรากฎว่าทั้งสองกลุ่มมีอาการเจ็บหน้าอกเท่ากัน และออกกำลังกายได้มากเท่ากัน แปลไทยให้เป็นไทยก็คือว่างานวิจัยนี้พิสูจน์ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างชัดเจนว่าการทำบอลลูนถ่างหลอดเลือดและใส่ขดลวดค้ำไว้หรือทำ PCI ในผู้ป่วยที่เจ็บหน้าอกแบบไม่ด่วนไม่มีผลลดอาการเจ็บหน้าอกและไม่มีผลทำให้ออกกำลังกายได้มากขึ้นแต่อย่างใด ผลที่เกิดขึ้นเป็นเพียงผลจากการถูกหลอก ซึ่งวงการแพทย์เรียกว่า placebo effect  จากกระบวนการทำ PCI เท่านั้น นี่จัดว่าเป็นตะปูตอกปิดฝาโลงเรื่องที่ว่าคนไข้แบบไม่ด่วนทำบอลลูนมีประโยชน์จริงหรือไม่มีได้เลย

     สรุปว่าเงินที่เราทุ่มลงไปเปิดศูนย์หัวใจทำบอลลูนใส่สะเต้นท์กันเอิกเกริกนั้นมันแก้ปัญหาส่วนใหญ่ไม่ได้ เพราะ 80% ของการทำบอลลูนที่เราทำไปเป็นผู้ป่วยเจ็บหน้าอกแบบไม่ด่วนหรือด่วนแต่เกิน 24 ชั่วโมงไปแล้วซึ่งการทำบอลลูนไม่มีประโยชน์

แล้วมันมีวิธีอื่นในการแก้ปัญหาไหม

     นานมาแล้ว หมอคนนี้ชื่อ Caldwell Esselstyn ได้ทำงานวิจัยโดยเอาคนไข้โรคหัวใจของเขามา 22 คน จับคนไข้สวนหัวใจ ฉีดสี ถ่ายรูปไว้ว่าคนไหนหลอดหัวใจตีบที่หลอดเลือดเส้นไหน ตีบมากตีบน้อยแค่ไหน แล้วให้คนไข้เหล่านี้กินแต่อาหารมังสะวิรัตแบบไขมันต่ำ กินอยู่นาน 5 ปี แล้วเอาคนไข้ทั้งหมดกลับมาสวนหัวใจฉีดสีถ่ายรูปใหม่ แล้วเอารูปครั้งแรกและครั้งที่สองมาเปรียบเทียบกัน ก็พบว่าหลอดเลือดหัวใจตีบของคนไข้เหล่านี้กลายเป็นโล่งขึ้น อย่างตัวอย่างคนไข้คนนี้ ก่อนเริ่มวิจัย ผลฉีดสีเป็นอย่างนี้ คือเวลาเราฉีดสีเข้าไปในหลอดเลือดแล้วถ่ายเอ็กซเรย์ออกมาเป็นภาพยนตร์ ตัวสีจะเห็นเป็นสีขาวอย่างนี้ เวลาที่สีวิ่งผ่านจุดที่หลอดเลือดหัวใจมันตีบแคบหรือขรุขระ เนื้อสีสีขาวมันก็จะถูกบีบให้แคบและเห็นขอบขรุขระด้วยอย่างนี้ ส่วนภาพนี้เป็นผลการฉีดสีหลังจากกินมังสะวิรัติไปแล้วห้าปี จะเห็นว่ารอยตีบรอยขรุขระที่หลอดเลือดหายไป เหลือแต่ลำสีที่วิ่งได้เต็มหลอดเลือดตามปกติ

     นี่เป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ชิ้นแรกที่ยืนยันว่าโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่เราเชื่อกันมาแต่เดิมว่าเป็นแล้วไม่มีทางหายนั้นไม่เป็นความจริง ผลการติดตามฉีดสีซ้ำนี้ยืนยันว่ามันหายได้ และในงานวิจัยของเอสซี่นี้ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้มันหายคือการปรับอาหารการกิน เดี๋ยวนี้หมอเอสซี่เขาดังมากเสียแล้ว เป็นหมอประจำตัวประธานาธิบดี ผมมีนัดจะเจอกับเขาเดือนกันยานี้ที่แคลิฟอร์เนีย

     แล้วก็มีหมอหัวใจคนหนึ่ง ชื่อ Dean Ornish ได้ทำงานวิจัยที่เอาไข้โรคหัวใจมา 99 คน จับฉลากแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ใครจับได้เบอร์ดำ ไปเข้ากลุ่มควบคุมซึ่งไม่ต้องทำอะไรนอกจากใช้ชีวิตแบบที่เคยทำมาตามปกติ ใครจับได้เบอร์แดงไปเข้ากลุ่มที่ต้องปรับชีวิต คือต้องทำสี่อย่าง ได้แก่ (1) ต้องกินอาหารมังสะวิรัติไขมันต่ำ (2) ต้องออกกำลังกายสัปดาห์ละ 5 ครั้ง (3) ต้องจัดการความเครียดด้วยการทำสมาธิตามดูลมหายใจ หรือรำมวยจีน หรือโยคะ อย่างใดอย่างหนึ่ง ทุกวัน (4) ให้เข้ากลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ก่อนเริ่มวิจัยก็เอาทุกคนทั้งสองกลุ่มมาสวนหัวใจฉีดสีถ่ายรูปหลอดเลือดไว้ก่อน พอครบหนึ่งปีก็เอามาสวนหัวใจฉีดสีถ่ายรูปอีก พอครบห้าปีก็เอาทุกคนมาสวนหัวใจฉีดสีถ่ายรูปอีก ผลวิจัยที่ได้ยืนยันงานวิจัยของเอสเซลส์ทีน คือ กลุ่มที่ปรับชีวิตรอยตีบที่หัวใจโล่งขึ้น ขณะที่กลุ่มที่อยู่เฉยๆรอบตีบเดินหน้าตีบแคบลง อาการเจ็บหน้าอกกลุ่มที่ปรับชีวิตก็ลดลงไป 97% กลุ่มอยู่เฉยๆอาการเพิ่มขึ้น 165% ผลการสวนหัวใจเมื่อห้าปีก็ยิ่งยืนยันว่ากลุ่มที่ปรับชีวิตรอยตีบก็ยิ่งโล่งขึ้นอีก กลุ่มที่อยู่เฉยๆรอยตีบก็ยิ่งตีบแคบลงอีก ต้องเจ็บหน้าอกบ่อยกว่า เข้าโรงพยาบาลบ่อยกว่า

     หลักฐานที่ชัดเจนว่าการเปลี่ยนวิถีชีวิตสามารถรักษาโรคหัวใจได้ ทำให้รัฐบาลสหรัฐออกกฎหมายให้การเข้าโปรแกรมเปลี่ยนวิถีชีวิตสามารถนำค่าใช้จ่ายไปเบิกจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลโรคหัวใจจากกองทุนของรัฐบาล (CMS - Center of Medicare and Medicaid Service) หลังจากใช้เวลาทบทวนหลักฐานวิทยาศาสตร์นาน 16 ปีในที่สุดก็ได้อนุมัติให้การเข้าโปรแกรมปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบกินนอนในศูนย์สุขภาพ 12 วัน เป็นค่าใช้จ่ายที่คนไข้โรคหัวใจเอาไปเบิกจากกองทุนทั้งสองของรัฐบาลได้ ซึ่งบริษัทเอกชนและบริษัทประกันต่างก็ค่อยๆพากันเจริญรอยตามแถมยังได้ขยายผลไปครอบคลุมโรคเบาหวาน ความดัน ไขมัน และโรคอ้วนด้วย

     มามองในมุมกว้างคือการจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดบ้างนะ นานมาแล้วที่วงการแพทย์อาศัยข้อมูลการศึกษากลุ่มคนยุโรปเท่านั้น แต่ภาพที่ดีที่สุดของปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดคืองานวิจัยที่สนับสนุนโดยมูลนิธิบิลเกตส์ซึ่งทำใน 52 ประเทศรวมทั้งในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ชื่องานวิจัย INTERHEART study ทำการศึกษาผู้ป่วยที่เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันครั้งแรกในชีวิตทั่วโลกจำนวน15,152 ราย เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม 14,820 ราย ได้ข้อสรุปว่าคนที่เกิดหัวใจวายครั้งแรกในชีวิตนี้ไม่ว่าจะอายุเท่าไร อยู่ที่ส่วนไหนของโลกก็ตาม 90% ของคนเหล่านี้ อย่างน้อยต้องมีปัจจัยเสี่ยงสิบอย่างต่อไปนี้ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง คือ
(1) สูบบุหรี่
(2) มีสัดส่วนไขมันเลวในเลือดสูง
(3) ความดันสูง
(4) เป็นเบาหวาน
(5) อ้วนแบบลงพุง
(6) เครียด
(7) ไม่ได้กินผลไม้ทุกวัน
(8) ไม่ได้กินผักทุกวัน
(9) ไม่ได้ออกกำลังกายทุกวัน
(10) ดื่มแอลกอฮอล์เป็นอาจิณ

     นี่เป็นข้อมูลปัจจัยเสี่ยงที่ดีที่สุดที่วงการแพทย์มีอยู่ตอนนี้ ผมตั้งข้อสังเกตให้ท่านดูสองประเด็นนะ

     ประเด็นที่ 1. คือปัจจัยเสี่ยงตัวเอ้คือ การกินผลไม้น้อย, กินผักน้อย, ไม่ออกกำลังกาย ความอ้วน และ ความเครียด เราแทบไม่ได้พูดถึงกันเลย ไปพูดถึงแต่เรื่องบุหรี่ ไขมัน ความดัน เบาหวาน กันเสียมาก

     ประเด็นที่ 2. วงการแพทย์ไทยยังติดกับดักข้อมูลเล็กๆที่ได้จากคนยุโรปบางกลุ่มที่ว่าแอลกอฮอล์ระดับไม่มากทำให้หัวใจดีขึ้น ทำให้แม้แต่สสส.เองก็ยังไม่กล้าต่อต้านแอลกอฮอล์ แต่ข้อมูลจากงานวิจัย INTERHEART นี้ซึ่งรวมคนเอเซียด้วยและเป็นข้อมูลขนาดใหญ่กว่าได้บ่งชี้ชัดๆเลยว่าแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ แปลไทยให้เป็นไทยก็คือว่าความเชื่อที่ว่าแอลกอฮอล์ดีต่อหัวใจนั้นเป็นความจริงเฉพาะในกรณีของชุมชนฝรั่งในสภาพแวดล้อมของประเทศอุตสาหกรรมบางชุมชน แต่ไม่เป็นความจริงเมื่อพิจารณาถึงคนทั่วโลกที่รวมทั้งคนเอเซียด้วย

ง่ายๆ 7 อย่าง บทสรุปสู่การแก้ปัญหา 

      สมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA) ได้สรุปข้อมูลจากงานวิจัยเท่าที่มีมาแล้วกำหนดดัชนีวัดง่ายๆขึ้นมาเจ็ดตัว คือ (1) น้ำหนัก (2) ความดัน (3) ไขมัน (4) น้ำตาล (5) การกินผักผลไม้ (6) การออกกำลังกาย (7) การไม่สูบบุหรี่ เมื่อนำดัชนีนี้ตรวจสอบกับอัตราตายของผู้ป่วยจริงในการสำรวจสำมะโนประชากรสุขภาพสหรัฐ (NHANES) ก็พบว่าคนที่ปรับวิธีใช้ชีวิตตัวเองจนดัชนี้เหล่านี้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้แม้เพียงแค่ 5 ดัชนี โอกาสที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตในเวลา 5.8 ปีจะลดลงไปถึง 88% กรณีที่นับเฉพาะการตายด้วยโรคหัวใจ และ 78% กรณีนับการตายรวมจากทุกสาเหตุ ขณะที่การรักษาในโรงพยาบาลด้วยยาและการทำบอลลูนผ่าตัดจะลดอัตราตายได้เฉลี่ยเพียง 20-30% เท่านั้น ดัชนีเจ็ดตัวนี้จึงเป็นแก่นกลางที่เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์นำมาใช้ฝึกสอนให้ผู้ป่วยป้องกันและพลิกผันโรคเรื้อรังด้วยตัวเองในทุกวันนี้

     ทั้งนี้ได้แบ่งกิจกรรมออกเป็นสี่หมวดคือ

(1) กินอาหารพืชเป็นหลักชนิดไขมันต่ำในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ
(2) ออกกำลังกาย
(3) จัดการความเครียด ด้วยสมาธิ ไทชิ โยคะ
(4) เข้ากลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน

     ทั้งสี่กลุ่มนี้เวลเนสวีแคร์ไฮไลท์เรื่องอาหารว่าเป็นประเด็นสำคัญที่สุด ใช้สโลแกนอาหารพืชเป็นหลักชนิดมีไขมันต่ำในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ  หรือ low fat, plant based, whole food (PBWF)

     กินพืชเป็นหลัก (plant-based) หมายความว่ากินผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว นัท เมล็ดพืชต่างๆ เป็นอาหารหลัก โดยอาจกินอาหารเนื้อสัตว์แต่น้อย ไปจนถึงไม่กินอาหารเนื้อสัตว์เลยก็ได้

     แบบไขมันต่ำ (low fat) หมายความว่ากินแต่อาหารไขมันในอาหารธรรมชาติเช่นถั่ว นัท แต่ไม่ใช้น้ำมันปรุงอาหาร หรือใช้ให้น้อยที่สุด

     ในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ (whole food) หมายความว่ากินพืชในรูปแบบที่ไม่สกัดเอามาแต่แคลอรีหรือเอามาแต่ไขมัน แต่กินพืชทั้งหมดนั้น เช่น ทั้งเมล็ด หรือทั้งผล ในกรณีเป็นธัญพืชก็กินแบบไม่ขัดสี หรือขัดสีให้น้อยที่สุด ในกรณีที่เป็นการปั่นผักหรือผลไม้ให้เป็นของเหลวดื่มก็ปั่นโดยไม่ทิ้งกาก

     งานวิจัยทางการแพทย์พิสูจน์ได้แล้วว่าอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ (low fat PBWF) เป็นอาหารที่ทำให้โรคหลอดเลือดหัวใจถอยกลับได้ ลดอาการเจ็บหน้าอกลงได้ถึง 97% ในเวลาหนึ่งปี ทำให้หยุดใช้ยาในผู้ป่วยเบาหวานได้ถึง 43% ในเวลาหกเดือน ลดน้ำหนักเฉลี่ยลงได้ 6.3 กก. ในหกเดือน ลดความดันเลือดลงตัวบนลงได้เฉลี่ย 11 มม.ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ ลดไขมันเลวในเลือดได้มากโดยจำแนกตามชนิดอาหารที่กินได้ดังนี้

     - พวกกินเนื้อสัตว์ มีไขมัน LDL ในเลือดเฉลี่ย 123.43 มก./ดล.

     - พวกมังสะวิรัติแบบกินนมกินไข่ (lacto-ovo) มีไขมัน LDL ในเลือดเฉลี่ย 101.47 มก./ดล.

     - พวกมังสะวิรัติแบบกินนม (lacto vegetarian) มีไขมัน LDL ในเลือดเฉลี่ย 87.71 มก./ดล.

     - พวกมังสะวิรัติแบบเข้มงวดไม่กินนมไม่กินไข่ (vegan) มีไขมัน LDL ในเลือดเฉลี่ย 69.28 มก./ดล.

เวลเนสวีแคร์ท้าทายให้ท่านมาร่วมกันแก้ปัญหาของชาติ

     ดังที่ผมได้เล่าไปแล้วว่าหลักฐานว่าการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตรักษาโรคเรื้อรังได้ดีนั้นมันชัดเจนดีแล้วจนรัฐบาลอเมริกันให้เบิกค่าเข้าโปรแกรมเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตได้เหมือนเบิกค่ายากินและค่าผ่าตัด ประเทศไทยของเราก็มาถึงเวลาที่นโยบายการใช้จ่ายเงินของชาติในเรื่องการแพทย์และสาธารณสุขจะต้องเปลี่ยน เราจำเป็นต้องให้เงินกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคซึ่งไม่แพงและมีผลต่อโรคมากกว่าบ้างแทนที่จะทุ่มเงินส่วนใหญ่ไปกับการรักษาด้วยยาและการผ่าตัดซึ่งแพงและมีผลต่อโรคน้อย ระบบกฎหมายและภาษีก็ต้องเปลี่ยน  ว่าไปแล้วระบบกฎหมายและภาษีนี้สำคัญที่สุด อย่างเช่นเรื่องไขมันทรานส์เป็นของไม่ดี ผมพูดมานานตั้งสิบปีไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น แต่พอมีการออกกฎหมายห้ามใช้ไขมันทรานส์ทำอาหารสำเร็จรูปขาย เท่านั้นแหละไขมันทรานส์ก็หายไปจากตลาดทันที ในแง่ของการส่งเสริมสุขภาพนี้ก็เช่นกัน ถ้ามีมาตรการดีๆเช่นการจูงใจทางภาษี (incentive taxation) ใครที่ดูแลตัวเองจนดัชนีสุขภาพตัวสำคัญอยู่ในเกณฑ์ปกติในปีนั้นได้ ก็จะได้ส่วนลดภาษีที่จะต้องเสียลง อย่างนี้คนก็จะใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น เป็นต้น

     ผมตระหนักดีว่าแม้หลักฐานวิจัยที่ทั่วโลกมีอยู่ขณะนี้ก็มากเกินพอแล้วที่จะหันมาป้องกันโรคเรื้อรังด้วยการปรับวิธีใช้ชีวิต แต่คนจำนวนหนึ่งก็ยังอยากจะเห็นผลวิจัยในคนไทย เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์จึงได้ตัดสินใจลงทุนทำวิจัยผลของการปรับวิธีใช้ชีวิตเพื่อรักษาโรคเรื้อรังในคนไทย เพราะถ้าเราไม่ทำก็ไม่รู้ว่าใครจะทำ เราจะใช้เวลาทำวิจัย 5 ปี คือพ.ศ. 2562-2566 โดยจะเปิดรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังประมาณ 200 คน มาเข้าโปรแกรมเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตแล้วติดตามดูความเปลี่ยนแปลงในดัชนีสุขภาพตัวสำคัญ และดูต้นทุนการดูแลรักษาที่ทั้งตัวผู้ป่วยและหรือที่สังคมจะต้องจ่าย แล้วตีพิมพ์ผลวิจัยในวารสารการแพทย์ไว้เป็นหลักฐาน ด้วยความหวังว่าผลวิจัยนี้จะช่วยดึงให้สังคมของเราหันเหมาสู่ทิศทางส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมากขึ้น แต่แน่นอนว่าการเดินหน้าแก้ปัญหาไม่ต้องรอผลวิจัยนี้ เพราะหลักฐานที่มีอยู่ทั่วโลกตอนนี้ก็มากเกินพอแล้ว

   ผมขอถือโอกาสนี้ทั้งชวนและทั้งท้าทายท่าน ว่าเรามาช่วยกันสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้เมืองไทยเถอะ โดยมาสนับสนุนการป้องกันและพลิกผันโรคเรื้อรังด้วยการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต ถ้าท่านซึ่งเป็นสื่อมวลชนเอาด้วย ทุกภาคส่วนของสังคมเอาด้วย ในที่สุดรัฐบาล ระบบกฎหมาย ระบบการจัดสรรงบประมาณก็จะเอาด้วย แล้วสิ่งดีๆต่อสุขภาพของคนไทยเราก็จะเกิดขึ้น ความสำเร็จของการร่วมมือกันทั้งสังคมอย่างนี้มีตัวอย่างให้เห็นแล้วที่ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งสามารถลดอัตราตายจากโรคหัวใจลงมาได้ถึง 75% ในเวลา 25 ปี

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1.  Theeratrakoolchai O, Chaimanee A. Prevalence of dyslipidemia and associated factors among medical personnel in Nopparat Rajchathani hospital.  Thammasat Medical Journal 2017:17(1);9-17
2. Boden WE, O'rourke RA, Teo KK, et al; COURAGE Trial Co-Principal Investigators and Study Coordinators.The evolving pattern of symptomatic coronary artery disease in the United States and Canada: baseline characteristics of the Clinical Outcomes Utilizing Revascularization and Aggressive DruG Evaluation (COURAGE) trial. Am J Cardiol. 2007;99:208-212.
3. Hochman JS, et al. Coronary intervention for persistent occlusion after myocardial infarction (OAT trial). N Engl J Med. 2006;355(23):2395-2407.
4. Al-Lamee R, Thompson D, Dehbi HM, Sen S, Tang K, Davies J et al. Percutaneous coronary intervention in stable angina (ORBITA): a double-blind, randomised controlled trial. The Lancet (advanced on line publication Nov2, 2017;  DOI: http://dx.doi.org/10.1016/S0140-6736(17)32714-9
5. Yusuf S, Hawken S, Ounpuu S, Dans T, Avezum A, Lanas F, McQueen M, Budaj A, Pais P, Varigos J, Lisheng L; INTERHEART Study Investigators. Effect of potentially modifiable risk factors associated with myocardial infarction in 52 countries (the INTERHEART study): case-control study. Lancet. 2004 Sep 11-17;364(9438):937-52.
6. Ford ES, Greenlund KJ, Hong YL. ideal cardiovascular health and mortality from all causes and diseases of the circulatory system among adults in the United States.Circulation. 2012; 125:987–995.
7. Meister, K. A., Whelan, E. M. and Kava, R. The health effects of moderate alcohol intake in humans: an epidemiologic review. Critical Reviews in Clinical and Laboratory Sciences 2000: 37; 261–296.
8. Barnard, N.D., et al., A low-fat vegan diet improves glycemic control and cardiovascular risk factors in a randomized clinical trial in individuals with type 2 diabetes. Diabetes Care. 2006 Aug;29(8):1777-83.
9. De Biase SG1, Fernandes SF, Gianini RJ, Duarte JL. Vegetarian diet and cholesterol and triglycerides levels. Arq Bras Cardiol. 2007 Jan;88(1):35-9.
10. Puska, P. Successful prevention of non-communicable diseases: 25-year experiences with North Karelia Project in Finland, Public Health Medicine, 2002; 4 (1): 5.
[อ่านต่อ...]