03 ตุลาคม 2567

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

เรียนอาจารย์หมอสันต์ ที่นับถือ

ขอเรียนถามเรื่อง วัคซีน ป้องกันไข้เลือดออกค่ะ อายุ 70 ปี เคยป่วยเปนไข้เลือดออกแล้วเมื่อประมานอายุ 50 ปี เวลานี้ทุกคนในครอบครัวรบเร้าให้ไปฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก เพราะเขาบอกว่าถ้าเปนครั้งที่สองตอนอายุมากจะรักษาไม่ได้ค่ะ
เรียนถาม  ค่ะ ดิฉัน ควรฉีดไหมคะ และสมาชิกในครอบครัว สามี 72 ลูก 41ปี และ 36 ปี จำเป็นต้องฉีดด้วยไหมคะ      และมีผล อาการข้างเคียง ข้อห้าม ระวังอะไรบ้างคะ 
ด้วยความเคารพ และนับถือ ขอบพระคุณมากค่ะ
..... Sent from my iPhone

.........................................
ดอกขมิ้นชันบ้านหมอสันต์


ตอบครับ

    ก่อนตอบคำถามนี้ผมขอแจ้งข่าวก่อนว่าบริษัทซาโนฟีปาสเตอร์ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนไข้เลือดออกที่เชื่อถือได้และมีผลวิจัยดีที่สุดชื่อวัคซีน Dengvaxia  ได้ประกาศเลิกผลิตวัคซีนนี้สำหรับเด็กเสียแล้ว ด้วยเหตุผลว่าผลิตมาแล้วขายไม่ออก อย่างไรก็ตามยังมีวัคซีนไข้เลือดออกอีกตัวหนึ่งของบริษัททาเคดะชื่อวัคซีน Qdenga ซึ่งยังผลิตขายอยู่ แต่ไม่รู้ธุรกิจจะไปได้อีกนานเท่าไร มีอีกบริษัทหนึ่งในอเมริกาผลิตวัคซีนนี้ออกมาเช่นกันแต่การวิจัยยังไม่จบ จึงยังใช้ไม่ได้

    มูลเหตุที่วัคซีนไข้เลือดออกเด็กขายไม่ออกนั้น ผมเดาเอาว่าเป็นเพราะวัคซีนนี้ห้ามใช้ในเด็กที่ไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน เพราะหากเอาไปฉีดให้เด็กที่ไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อนจะมีความเสี่ยงที่วัคซีนจะทำให้เด็กที่ได้วัคซีนแล้วไปติดเชื้อไข้เลือดออกเข้าจะติดแบบรุนแรงมากกว่าเด็กที่ไวัคซีนหลอกเสียอีก  

    คำแนะนำมาตรฐานของศูนย์ควบคุมโรครัฐบาลสหรัฐ (CDC) ยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้เลือดออกเฉพาะในคนอายุ 9-16 ปีที่อยู่ในละแวกที่โรคชุม (เช่นเมืองไทย) และเคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาอย่างน้อยครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งการจะบอกว่าใครเคยติดเชื้อมาแล้วนี้ต้องมีหลักฐานการเจาะเลือดพบว่าติดเชื้อแน่นอนมายืนยันหมอเขาจึงจะกล้าฉีดให้ ไม่งั้นหากเกิดอะไรขึ้นหมอคนนั้นก็..เสร็จ คำแนะนำของ WHO ให้ฉีดในคนอายุ 6-19 ปี แต่ผมประเมินหลักฐานวิจัยด้วยตัวผมเองแล้วเห็นด้วยกับคำแนะนำของ CDC ที่ให้ฉีดในคนอายุ 9-16 ปีมากกว่า

    เอาละ คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

    1. ถามว่าอายุ 70 ปี เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาแล้ว ควรฉีดวัคซีนไข้เลือดออกไหม ตอบว่าไม่ว่าจะเคยหรือไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาแล้ว หากอายุเกิน 16 ปีก็ "ไม่ควร" ฉีดวัคซีนนี้ครับ แม้ว่าวัคซีนนี้ตอนออกมาใหม่ๆจะได้รับอนุมัติให้ใช้ในคนอายุ 9-45 ปีก็ตาม แต่นับถึงวันนี้ยังไม่มีงานวิจัยแม้แต่ชิ้นเดียวที่จะยืนยันว่าคนอายุมากกว่า 16 ปีจะได้ประโยชน์อะไรจากวัคซีนนี้ 

คำแนะนำของผมนี้เป็นไปตามคำแนะนำของ CDC ซึ่งแตกต่างจากคำแนะนำของ WHO ที่ได้ขยายอายุผู้รับการฉีดที่มีโรคร่วม (ที่จะเกิดเลือดออกรุนแรงหากติดเชื้อไข้เลือดออก เช่นเช่นโรคทาลาสซีเมีย เบาหวาน ความดัน โรคลำไส้ใหญ่อักเสบแบบมีแผล เป็นต้น) ออกไปถึง 60 ปี ที่ผมไม่เอาตาม WHO ก็เพราะการขยายอายุผู้รับการฉีดของ WHO เป็นการคาดเดาความเสี่ยง (ว่าคนมีโรคร่วมหากติดโรคแล้วจะแรง) โดยไม่มีหลักฐานวิจัยที่เชื่อถือได้มายืนยันเลย และไม่มีข้อมูลวิจัยในคนอายุเกิน 16 ปีเลยด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับคุณ ไม่ว่าจะใช้มาตรฐานไหน คุณอายุ 70 ปีแล้วล้วนไม่มีข้อบ่งชี้ให้ต้องฉีดวัคซีนอยู่ดี ไม่ว่าคุณจะมีโรคร่วมหรือไม่มี 

    2. ถามว่าวัคซีนไข้เลือดออกฉีดแล้วมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง ตอบว่าเรารู้แต่ผลข้างเคียงในเด็ก (เพราะวัคซีนนี้ไม่มีข้อบ่งชี้ให้ใช้ในผู้ใหญ่) ว่าผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดคือ เจ็บปวดคันตรงที่ฉีด ปวดหัว หมดแรง ไม่สบาย เป็นอยู่สองสามวัน แต่บางคนเป็นลมหมดสติก็มี และหากอยู่ไกลปืนเที่ยง หากแพ้วัคซีนแบบรุนแรงก็ตายได้เหมือนกัน

    3. ถามว่าวัคซีนนี้มีประโยชน์กับใครอย่างไรบ้าง ตอบว่ามันมีประโยชน์เฉพาะกับคนอายุ 9-16 ปีที่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาแล้ว ในแง่ที่วัคซีนจะช่วยป้องกันการ ขณะที่เด็กอายุ 9-16 ปีวัคซีนนี้มีประสิทธิผลในการลดการป่วยถึงระดับมีอาการได้ 65.6% ลดการป่วยถึงระดับรับไว้รักษาในรพ. 80.8% ลดการป่วยระดับรุนแรงได้ 93.2% โดยป้องกันการป่วยด้วยหลายสายพันธ์ (ครบสี่สายพันธุ์กรณีวัคซีน Denvaxia ได้ผลสามสายพันธุ์กรณีวัคซีน Qdenga) และมีผลป้องกันเป็นเวลานานอย่างน้อยก็ 6 ปี โปรดสังเกตว่าไม่ใช่ป้องกันได้ 100% นะ เพราะมีผู้ฉีดวัคซีนจำนวนหนึ่งที่เชื้อสามารถเจาะม่านคุ้มกันของวัคซีนเข้ามาก่อโรคได้อยู่ (vaccine breakthrough)

    4. ข้อนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมแถมให้ ว่าเรื่องวัคซีนไข้เลือดออกนี้ท่านผู้อ่าน โดยเฉพาะท่านผู้อ่านที่มีอายุต่ำกว่า 9 ปี หรืออายุสูงเกิน 16 ปี ว่าควรระมัดระวังไม่บุ่มบ่ามตัดสินใจตามคำเชียร์ของใคร เพราะมันเป็นเรื่องลึกซึ้งซับซ้อน กลไกการสร้างภูมิคุ้มกันและการป่วยของโรคไข้เลือดออกก็ซับซ้อนไม่เหมือนโรคติดเชื้ออื่นๆ กล่าวคือการติดเชื้อครั้งแรกมักไม่มีอาการและไม่รุนแรง แต่มารุนแรงเอาตอนครั้งที่สอง ข้อมูลเรื่องจังหวะหรืออายุที่จะให้วัคซีนจึงสำคัญและวงการแพทย์ก็ยังไม่รู้จริง ถ้าฉีดวัคซีนไม่ถูกจังหวะ ตัววัคซีนนั่นแหละจะเป็นตัวทำให้ป่วยจนต้องเข้านอนโรงพยาบาลเสียเอง อย่างเช่นข้อมูลในงานวิจัยก็ชัดว่าวัคซีนนี้ถ้าฉีดให้เด็กอายุ 2-5 ขวบที่ไม่ได้ติดเชื้อมาก่อน จะทำให้เด็กป่วยเป็นไข้เลือดออกถึงขั้นต้องเข้านอนรพ.มากกว่าเด็กที่ได้วัคซีนหลอกเสียอีก ส่วนผู้ใหญ่อายุเกิน 16 ปีไม่ว่าจะมีโรคร่วมหรือไม่มีก็ล้วนไม่มีข้อมูลประสิทธิผลของวัคซีนที่เชื่อถือได้เลย เพราะทุกงานวิจัยไม่ว่าจะใช้วัคซีนยี่ห้อไหนก็ล้วนทำวิจัยในคนอายุไม่เกิน 16 ปีทั้งสิ้น 


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Egger JR, Paul G. Coleman. Age and Clinical Dengue Illness. Emerg Infect Dis. 2007 June; 13(6): 924–927.
2. Capeding M.R. et.al, Clinical efficacy and safety of a novel tetravalent dengue vaccine in healthy children in Asia: a phase 3, randomised, observer-masked, placebo-controlled trial ; Volume 384, Issue 9951, 11–17 October 2014, Pages 1358–1365.
3. Villar L, Dayan GH, Arredondo-Garcia JL, Rivera DM, Cunha R, Deseda C et al. Efficacy of a tetravalent dengue vaccine in children in Latin America. N Engl J Med. 2015.
4.  Hadinegoro, Sri Rezeki S., et al. Efficacy and Long-Term Safety of a Dengue Vaccine in Regions of Endemic Disease Integrated Analysis of Efficacy and Interim Long-Term Safety Data for a Dengue Vaccine in Endemic Regions. July 27, 2015DOI: 10.1056/NEJMoa1506223.
5. QDENGA. Summary of product characteristics. European Medicines Agency (https:// www.ema.europa.eu/en/medicines/human/EPAR/qdenga, accessed April 2024). 
6. Tricou V et al. Long-term efficacy and safety of a tetravalent dengue vaccine (TAK003): 4·5-year results from a phase 3, randomised, double-blind, placebo-controlled trial. Lancet Glob Health. 2024; 12(2):e257–e270. doi:10.1016/S2214- 109X(23)00522-3.
..................................
[อ่านต่อ...]

หมอสันต์ไร้สาระ 2 กิจวัตรยามเช้า

 

[อ่านต่อ...]

ทำบอลลูนแล้วเจ็บหน้าอกใจสั่น คนอื่นเป็นแบบนี้ไหม

 เรียนคุณหมอสันต์



พอดีผมอ่านเวปบล็อค ของคุณหมอมาครับ ผมมีปัญหาไขมันสูง รู้สึุกวูบตอนออกจากเล่นกีฬาตอนพักใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ชา ตะคริว มือเท้าเย็น ตอนนี้ผมอายุ 41 ครับ ไปฉีดสีแล้วพบว่าเส้นเลือดตีบคุณหมอเลยแนะนำให้ทำบอลลูนครับ ผมมีเรื่องยากปรึกษาคุณหมอครับเรื่องเกี่ยวกับการทำบอลลูน พอดีผมมีผลข้างเคียงของการทำมา ครับ ผมทำมาได้ 7 วันตีบไปสองเส้น อาการหลังทำวันที่ 3-5 มีอาการความดันขึ้นลงใจสั้น มือเท้าเย็น กล้ามเนื้อกระตุก และ หายใจไม่ปกติเหมือนก่อนครับ จนต้องเข้าแอดมิทดูอาการอีกรอบ1 คืน อาการเป็นๆหาย จนอาการดีขึ้นเมื่อวัน 5 ตอนอยู่บ้านครับ ผมอ่านเวปของคุณหมอ ได้ความรู้เพิ่มอีกเยอะครับ อาการ ณ ตอนนี้ หลังทำผ่านไป 6 วันอาการใจสั่นไม่เป็นจังหวะความดันสวิงหายไปครับ แต่ยังมีอาการของการเจ็บหน้าอกใจสั่น 1-2 ครั้ง บางครั้งไอรวมด้วย บางครั้งมีอาการเรอ เมื่อเราหายใจลึกหรือออกแรงครับ ตอนผมพิมพ์ส่งเมล์ถามคุณหมอก็มีอาการครับ 

ไม่ทราบว่ามีคนไข้ของคุณหมอเป็นเหมือนผมไหมครับ ขอบพระคุณๆหมอ สันต์ ใจยอดศิลป์  มากๆครับ
...................................

ตอบครับ

    1. ถามว่าไปทำบอลลูนมาแล้วมีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก ไอ คนอื่นเขาเป็นแบบนี้บ้างไหม ตอบว่าทั้งหมดที่คุณเล่ามานั้นเป็นภาวะแทรกซ้อนของการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งคนอื่นเขาก็เป็นกันบ้าง กล่าวคือ
    1.1 อาการเจ็บหน้าอกหลังทำบอลลูน (post PCI chest pain - PPCP) พบว่าเกิดได้ 41.9%  
    1.2 อาการใจสั่นที่เกิดจากการเต้นผิดปกติของหัวใจชนิดรุนแรง (VT หรือ VF) ซึ่งหากไม่รักษาจะถึงตายได้ พบประมาณ 8.9% นี่ไม่นับใจสั่นแบบไร้สาระเช่นโรค ปสด. ซึ่งพบแทบจะทุกรายหลังทำบอลลูน

    2. ถามว่าเมื่อเป็นอย่างนี้แล้วควรจะทำอย่างไรต่อไป ตอบว่าก็ต้องสืบค้นหาสาเหตุที่แน่ชัดของอาการหลังการทำบอลลูนนั้น เช่นอาการเจ็บหน้าอกก็ต้องประเมินว่ามีภาวะหัวใจขาดเลือดของเก่าค้างหรือของใหม่จากลิ่มเลือดอุดตันขดลวดไหม หรืออาการใจสั่นก็ต้องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจซ้ำดูใหม่บ่อยๆครั้งว่ามันเป็นการเต้นผิดปกติชนิดไหน ซึ่งควรต้องทำโดยหมอที่เขาทำบอลลูนให้ จะถามหมอสันต์ทางไปรษณีย์ว่าทำไงต่อดีหมอสันต์คงตอบไม่ได้เพราะข้อมูลรายละเอียดของตัวคุณผมไม่มี ผมจะมีรายละเอียดและแนะนำแผนการรักษาขั้นละเอียดได้ก็เฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยมาเข้าแค้มป์พลิกผันโรคด้วยตัวเอง (RDBY) เท่านั้นเพราะได้เห็นตัว ได้ตรวจร่างกาย ได้ตรวจหลักฐานทั้งหมดอย่างละเอียด ดังนั้น สำหรับของผมแนะนำให้เกาะติดปรึกษากับหมอที่เขาทำบอลลูนให้ ก่อนไปพบหมอให้จดข้อสงสัยหรือเรื่องที่ไม่สบายใจไปถามเป็นข้อๆทุกครั้งที่พบกันจะได้ไม่ลืม หารือและตัดสินใจร่วมกับหมอว่าจะทำอย่างไรต่อไป

     3. ข้อนี้คุณไม่ได้ถาม แต่หมอสันต์แถมให้ เผื่อคนที่กำลังจะทำบอลลูนจะได้เอาไปใช้ประโยชน์ประกอบการตัดสินใจ ว่าการทำบอลลูนนั้นมันไม่ใช่ทำแล้วจบเลย มันมีประเด็นที่ต้องตระหนักดังนี้
    3.1 มันมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ ที่ถึงตายก็มี 0.5-2.5% ที่คางเหลืองคือไม่ตายแต่เลี้ยงไม่โตก็มีสารพัดแบบ สุดแล้วแต่ว่าจะเป็นภาวะแทรกซ้อนทางสมอง ทางหัวใจ หรือทางไต เป็นต้น
    3.2 มันต้องกินยาไปตลอดชีวิต อย่างน้อยยาต้านเกล็ดเลือดก็ต้องกินไปตลอดชีวิต ไม่กินก็จะเกิดความเสี่ยงจากการมีขดลวดอยู่ในหลอดเลือดไปกระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือดขึ้น
    3.3 ขดลวดหรือ stent นี้หมอเขารับจ้างเอาใส่เข้าไปอย่างเดียว เขาไม่รับจ้างเอาออก เอาใส่แล้ว หากไม่ชอบใจ จะเอาออกนั้นเป็นไปไม่ได้
    3.4 หลังการทำบอลลูนแล้วชีวิตจะถูกบังคับให้เปลี่ยนไป อย่างน้อยก็ต้องไปพบหมอทุกระยะจะถี่กี่เดือนก็แล้วแต่หมอจะนัด จะต้องมีการปรับยาเพิ่มยาลดยากันเรื่อยไป ส่วนใหญ่จะเป็นไปทางเพิ่มมากกว่าทางลด
    3.5 เป็นข้อสำคัญที่สุด คือบอลลูนไม่ใช่วิธีรักษาโรคหัวใจขาดเลือดให้หาย เป็นแค่วิธีบรรเทาอาการของโรค คืออาการเจ็บหน้าอก ส่วนโรคนั้นจะดำเนินรุดหน้าต่อไป การจะทำให้โรคหาย ต้องเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต อันได้แก่เปลี่ยนอาหารเป็นอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว (โดยเฉพาะเนื้อสัตว์) ต่ำ มีแคลอรี่ต่ำ มีกาก (คือพืช) มาก เปลี่ยนนิสัยการออกกำลังกายและการจัดการความเครียด ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่มีใครมาทำให้ ตัวเราต้องทำเอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Chang CC, Chen YC, Ong ET, Chen WC, Chang CH, Chen KJ, Chiang CW. Chest pain after percutaneous coronary intervention in patients with stable angina. Clin Interv Aging. 2016 Aug 18;11:1123-8. doi: 10.2147/CIA.S103605. PMID: 27574412; PMCID: PMC4993255.
2. Rymer JAWegermann ZKWang TY, et al. Ventricular Arrhythmias After Primary Percutaneous Coronary Intervention for STEMI. JAMA Netw Open. 2024;7(5):e2410288. doi:10.1001/jamanetworkopen.2024.10288
...........................
[อ่านต่อ...]

02 ตุลาคม 2567

01 ตุลาคม 2567

รักษาโรคนอนกรนด้วย CPAP จะผิดธรรมชาติหรือเปล่า

 กราบเรียนคุณหมอสันต์ที่นับถือ

    ดิฉันอยากเรียนสอบถามความคิดเห็นต่อเรื่อง sleep apnea แนวทางการวินิจฉัย  การรักษาซึ่งดูแล้วมันขัดกับวิถีทางตามธรรมชาติ การใส่เครื่องมือ ไม่แน่ใจว่าเรียก CPAP ใช่หรือไม่ค่ะ ครอบจมูก มีสายรัดให้กระชับกับศีรษะ ว่าจะรบกวนความนอนสบายๆแบบธรรมชาติค่ะ  เห็นเพื่อนใส่ บอกว่าข่วงแรกลำบากมาก นอนหลับไม่สนิทเป็นเดือนค่ะ

ขอแสดงความนับถือเป็นอย่างสูงค่
---------------------
ส่งจาก iPhone ของฉัน


ตอบครับ

    1. ถามว่าการวินิจฉัยโรคนอนกรน (Obstructive Sleep Apnea - OSA) ทำอย่างไร ตอบว่ามาตรฐานทั่วไปก็ต้องทำการตรวจใน sleep lab ซึ่งหมายถึงให้เข้าไปนอนหลับในห้องนั้นหนึ่งคืนแล้ววัดความถี่ของดัชนีรบกวนการนอนหลับ (respiratory disturbance index - RDI) หากพบว่าเกิดมากกว่า15 ครั้ง/ชั่วโมงขึ้นไปในกรณีทั่วไป หรือ 5 ครั้ง/ชั่วโมงขึ้นไปในกรณีที่มีอาการกรนหรือง่วงกลางวันหรือมีโรคที่เป็นสาเหตุร่วม ก็วินิจฉัยว่าเป็นโรคนอนกรนได้ครับ

    2. ถามว่าการรักษาโรคนอนกรนด้วยการให้ใส่งวงช้าง (continuous positive airway pressure - CPAP) จะไม่ขัดกับธรรมชาติหรือ ตอบว่า สมมุติว่าคุณเป็นต้อกระจกอ่านหนังสือพิมพ์ไม่ได้แล้วหมอเขาผ่าตัดเอาเลนส์เทียมใส่ให้แล้วอ่านได้ มันเป็นการรักษาแบบผิดธรรมชาติหรือเปล่าละครับ

    การเป็นโรคนอนกรน แปลว่าร่างกายทำงานผิดไปจากสะเป๊คดั้งเดิมของมัน กล่าวคือเดิมลมหายใจวิ่งเข้าออกได้สะดวก แต่ต่อมาจะด้วยอ้วนเกินไปหรือจะด้วยอะไรก็แล้วแต่ลมหายใจมันเกิดวิ่งเข้าออกไม่สะดวกเพราะเนื้อเยื่อช่วงบนของปากและลำคอมันยวบลงมาอุดกั้นทางเดินลมหายใจ นี่เป็นเรื่องผิดธรรมชาติแล้ว การรักษาก็ต้องพยายามแก้ให้ลมหายใจมันวิ่งเข้าออกได้อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งมีหลายวิธีทั้งลดความอ้วน ทั้งฝึกการนอนแบบตะแคง ทั้งทำผ่าตัด ทั้งใส่อุปกรณ์ยัดเข้าไป ทั้งใช้ CPAP ทั้งหมดนี้วิธีใช้ CPAP เป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด

    3. ถามว่าจมูกเค้าโล่งอยู่ดีๆเอา CPAP ไปครอบไว้มันจะยิ่งทำให้หายใจไม่ออกไม่ใช่หรือ ตอบว่าไม่ใช่หรอกครับ การหายใจนี้ร่างกายทำขึ้นเพื่อให้ออกซิเจนเข้าไปในเลือดได้มากพอ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการแลกเปลี่ยนออกซิเจนที่ถุงลมในปอด (alveoli) การแลกเปลี่ยนนี้เกิดขึ้นตลอดเวลาทั้งช่วงหายใจเข้าและช่วงหายใจออก ช่วงหายใจออกหากระบบการหายใจไม่แข็งแรงถุงลมในปอดจะแฟบทำให้แลกเปลี่ยนก้าซได้น้อย แต่หากช่วยเพิ่มความดันในลมหายใจออกขึ้นไปสักหน่อย (เช่นการหายใจเข้าลึกๆแล้วทำปากจู๋ค่อยๆเป่าลมออกจากปากอย่างที่นักกีฬาชอบทำกันเวลาเหนื่อยมาก) ถุงลมจะพองอยู่นานขึ้นและเกิดการแลกเปลี่ยนก้าซได้มากขึ้น ตัวเครื่อง CPAP มันแค่ทำหน้าที่ช่วยเราทำปากจู๋ค่อยๆเป่าลมออกจากปากเวลาเรานอนหลับด้วยการอัดความดันอากาศขนาดเบาะๆ (1-5 ซม.น้ำ)เข้าไปในทางเดินลมหายใจ เป็นวิธีเลียนแบบธรรมชาติ แต่เมื่อใส่ CPAP ใหม่ๆจะรู้สึกแน่นอึดอัดทนไม่ได้ ทำให้ผู้ซื้อ CPAP มาแล้วราว 80% ซืัอมาแล้วไม่ได้ใช้ นี่ยังไม่นับพวกที่เลิกใช้เพราะเมียตกใจเมื่อตื่นมาพบมนุษย์ต่างดาวนอนอยู่ข้างๆ (หิ..หิ พูดเล่น) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะ CPAP เป็นตัวช่วยหลักของคนเป็นโรคนอนกรนที่ไม่สามารถลดน้ำหนักและปรับนิสัยการนอนของตัวเองได้ 

ดังนั้นหากคุณเป็นโรคนอนกรน ให้ญาติดีกับ CPAP ให้ได้ ทู่ซี้ใช้มันไป มันจะอัดลมเข้ามาขัดขวางการหายใจออกของเราก็ช่างมัน ปล่อยให้มันอัดเข้ามา อย่าไปหายใจออกไล่สู้ จะเปลืองแรงเปล่าๆ เพราะความดันลมที่อัดเข้ามานั้นจิ๊บจ๊อยไม่ผิดธรรมชาติและไม่ก่อความเสียหายอะไรแน่นอน มีแต่ได้กับได้

ในกรณีที่คุณญาติดีกับ CPAP ไม่ได้เลย คุณก็ต้องหันมาทุ่มเทกับการเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อรักษาโรคนอนกรน ซึ่งต้องรวมถึง (1) การลดน้ำหนักอย่างเอาเป็นเอาตาย (2) การฝึกนอนตะแคง ไม่นอนหงาย (3) การปรับสุขศาสตร์การนอนหลับ เช่น ออกกำลังกายให้หนัก ตากแดดทุกวัน จัดเวลานอนให้พอ เข้านอนเป็นเวลา ตื่นเป็นเวลา ทำสมาธิวางความคิดให้สนิทก่อนนอน เป็นต้น เพราะสาเหตุของการสะดุ้งตื่นกลางดึกส่วนหนึ่งเกิดจากสมองไม่ยอมหยุดคิด ซึ่งหา่กคุณลองปฏิบัติจริงจังดูสักพัก คุณเองก็อาจจะเปลี่ยนทัศนคติว่า..เออใส่ CPAP ง่ายกว่าแยะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ 
[อ่านต่อ...]