31 กรกฎาคม 2563

ยังไม่มีหลักฐานว่าอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ทำให้เป็นมะเร็งตับในคน

เรียนคุณหมอสันต์ครับ
คุณพ่อของผมอายุ 51 ปี ป่วยเป็นโรคมะเร็งตับชนิด hepatocellular carcinoma และเสียชีวิตไปแล้ว สิ่งที่ผมข้องใจอยากรู้มากคือทำไมคุณพ่อของผมซึ่งระมัดระวังอย่างมากเรื่องอาหารที่จะมี aflotoxin ท่านจะไม่กินเลย ตลอดชีวิตพ่อไม่ยอมกินถั่วลิสง อะไรที่จะเป็นราได้เช่นขนมปังพ่อก็ไม่ยอมกิน ข้าวพ่อก็กินแต่ข้าวที่ตัวเองปลูกและเป็นข้าวใหม่ที่สีคราวละน้อยๆแค่พอกินและเก็บอย่างดีไม่มีเชื้อราปนเปื้อนแน่นอน แล้วทำไมยังเป็นมะเร็งตับอยู่ละครับ ตัวผมเองควรจะป้องกันตัวเองจากมะเร็งตับอย่างไรครับ
ขอบพระคุณมากครับ

.....................................................

ตอบครับ

     1. ถามว่าอะฟลาทอกซินทำให้เป็นมะเร็งตับจริงหรือไม่ ตอบว่าไม่ทราบครับ ฮี่ ฮี่ ไม่ได้กวนนะ ไม่ทราบจริงๆ ไม่ใช่หมอสันต์ไม่ทราบคนเดียว วงการแพทย์ทั้งวงการก็ยังไม่ทราบ เพราะหลักฐานที่ว่าอะฟลาทอกซินทำให้เป็นมะเร็งตับนั้น เป็นหลักฐานในหนูทดลอง ส่วนในคน หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดใดก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานเลยว่าอะฟลาทอกซินทำให้เป็นมะเร็งตับได้หรือไม่

     เรื่องราวในห้องทดลองมีอยู่ว่างานวิจัยในหนูพบว่าเมื่อเลี้ยงหนูด้วยอาหารโปรตีนจากสัตว์ (เนื้อนมไข่) ที่มี aflatoxin จากเชื้อรา Aspergillus flavus ผสมอยู่ด้วย พบว่าทำให้หนูนั้นเป็นมะเร็งตับ (hepatocellular Ca) มากขึ้น [1] โดยพบว่าอะฟลาทอกซินไปทำให้ยีนควบคุมการเกิดมะเร็งกลายพันธ์อย่างกะทันหัน (mutation)

    ในยุคไล่เรี่ยกันนั้น นักวิจัยที่อินเดียยังได้พบด้วยว่าอาหารโปรตีนจากสัตว์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อะฟลาทอกซินก่อมะเร็งตับในหนูทดลองได้ [2] โดยพบว่าการออกฤทธิ์ของอาฟลาท๊อกซินนั้นอาศัยการทำงานของเอ็นไซม์ซึ่งคุมด้วยยีน P450 และ CYP450 ในตับ และผลเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งนี้จะลดลงเมื่อลดปริมาณหรือเลิกไม่ให้หนูกินอาหารโปรตีนจากสัตว์ และหนูจะกลับเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นเมื่อกลับมาให้กินอาหารโปรตีนจากสัตว์เพิ่มขึ้น [3, 4]

     ย้ำอีกทีว่าทั้งหมดเป็นหลักฐานในสัตว์ทดลองนะ ซึ่งมีข้อสรุปชัดๆอยู่สองประเด็น คือ

     (1) อะฟลาทอกซินเป็นสารก่อมะเร็งตับของหนู

     (2) อาหารโปรตีนจากสัตว์เป็นปัจจัยควบคุมให้อะฟลาทอกซินก่อมะเร็งตับในหนูได้มากหรือน้อย

     แต่วงการแพทย์ปัจจุบันนี้ไม่ยอมรับหลักฐานในสัตว์ทดลองว่าเป็นหลักฐานที่เราจะเอาตีความใช้ในคนได้ น่าเสียดายนับถึงวันนี้ ยังไม่เคยมีหลักฐานแม้แต่ชิ้นเดียวที่บ่งชี้ว่าอะฟลาทอกซินก่อมะเร็งตับในคนหรือในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดใดๆเลย

     งานวิจัยอะฟลาทอกซินกับการเป็นมะเร็งตับในคนที่เป็นหลักฐานดีที่สุดที่มีอยู่เป็นหลักฐานระดับระบาดวิทยา ตีพิมพ์ไว้ราวปี 1990 ในวารสาร Nutrition Research [5] เป็นการวิจัยเชิงระบาดวิทยาเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการตายจากมะเร็งตับ (HCC) กับการกินอาหารที่มีอะฟลาทอกซิน โดยทำวิจัยใน 48 ชุมชน ในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ โดยจำแนกพิสัยของการได้รับอะฟลาทอกซินสู่ร่างกาย (จากตัวอย่างอะฟลาทอกซินในปัสสาวะ) จากน้อยไปหามากซึ่งต่างกันได้ถึง 600 เท่า และแยกทั้งกลุ่มคนที่เป็นและไม่เป็นโรคตับอักเสบไวรัสบี.ออกจากกัน ผลวิจัยสรุปได้ว่า "ไม่มี" ความสัมพันธ์ใดๆระหว่างการตายจากมะเร็งตับกับการได้รับอะฟลาทอกซินเข้าสู่ร่างกายมากหรือน้อยเลย แป่ว..ว

     งานวิจัยอื่นที่พยายามจะบอกว่าอะฟลาทอกซินทำให้เป็นมะเร็งตับในคนนั้นเป็นการวิจัยแบบจับแพะชนแกะคือนั่งคาดเดาข้อมูลโดยการบวกลบคูณหารตัวเลขเชิงระบาดวิทยาในระดับทั่วโลกเอาโดยไม่ได้ไปตรวจวัดที่ตัวคนจริงๆ และเนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งตับส่วนใหญ่เป็นโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี. (ตรวจเลือดดู HBsAg ได้ผลบวก) แต่งานวิจัยอะฟลาทอกซินเหล่านั้นไม่สามารถแยกโรคไวรัสตับอักเสบบีซึ่งเป็นปัจจัยกวนหลักออกไปได้ ทำให้ข้อมูลที่อ้างว่าเป็นมะเร็งจากอะฟลาทอกซินเชื่อถือไม่ได้ ดังนั้น ณ ขณะนี้จึงยังไม่มีหลักฐานใดยืนยันได้ชัดเจนว่าอะฟลาทอกซินทำให้เป็นมะเร็งตับในคนครับ ตัวศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐ (CDC) ก็มีพันธกิจหลักข้อหนึ่งว่าจะหาความสัมพันธ์ที่แท้จริงระหว่างการได้รับอะฟลาทอกซินกับการตายจากมะเร็งตับออกมาให้ได้ แต่จนเดี๋ยวนี้ก็ยังหาความสัมพันธ์นั้นไม่ได้

     2. ถามว่าจะป้องกันมะเร็งตับได้อย่างไร ตอบว่าสาเหตุของมะเร็งตับที่วงการแพทย์ทราบชัดแล้วมีสี่อย่างคือ (1) การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี. และซี. (2) การเกิดตับอักเสบจากไขมันแทรกตับ (3) การเกิดตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ (4) การเกิดตับอักเสบจากได้รับสารพิษต่อตับ การจะป้องกันมะเร็งตับคุณดูสี่ประเด็นนี้แหละครับ คือ

     2.1 ตรวจเลือดดูสถานะของภูมิคุ้มกันโรคไวรัสตับอักเสบบี. (HBsAb) และสถานะการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg) ซึ่งจะได้ผลสามแบบ คือ

แบบที่ 1. ถ้าตรวจ HBsAgได้ผลบวกก็แปลว่ามีเชื้ออยู่ในตัว ให้ไปหาหมอโรคตับเพื่อหารือว่าสมควรใช้อินเตอร์เฟียรอนกำจัดเชื้อจะดีไหม

แบบที่ 2. ถ้าตรวจ HbsAg และ HBsAb ได้ผลลบทั้งคู่ก็แสดงว่าไม่เคยได้รับเชื้อ ให้ไปฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี.เสีย

แบบที่ 3. ถ้าตรวจ HBsAb ได้ผลบวก HBsAg ได้ผลลบ ก็แสดงว่ามีภูมิคุ้มกันโรคแล้ว ไม่ต้องทำอะไร

     2.2 ป้องกันไขมันแทรกตับโดยกินอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ เพื่อควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน และความคุมไขมันในเลือดไม่ให้สูง

     2.3 ถ้าดื่มแอลกอฮอล์ ให้เลิกเสีย

     2.4 เลิกสารพิษอื่นๆที่จะนำเข้าสู่ร่างกายให้หมด เช่น บุหรี่ ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ยาสมุนไพรที่ไม่ทราบว่าทำมาจากอะไร และยารักษาโรคหรือยาบรรเทาอาการหลายชนิดที่เป็นพิษต่อตับ ยกตัวอย่างเช่นยาแก้ปวดพาราเซ็ตตามอล เป็นต้น 

     ส่วนการกินอาหารปนเปื้อนอะฟลาทอกซินนั้น แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานว่าทำให้เป็นมะเร็งตับในคน แต่ก็มีหลักฐานชัดเจนว่าทำให้เป็นมะเร็งตับในหนูทดลอง ดังนั้นหากหลีกเลี่ยงได้ก็ควรหลีกเลี่ยงไว้ก่อน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Wogan GN, Newberne PM. Dose-response characteristics of aflatoxin B1 carcinogenesis in the rat. Cancer Res. 1967;27:2370–2376. [PubMed] [Google Scholar]
2. Madhavan TV, Gopalan C. The effect of dietary protein on carcinogenesis of aflatoxin. Arch Path. 1968;85:133–137.
3. Youngman LD. Ph.D. Thesis. Ithaca, NY: Cornell University; 1990. The growth and development of aflatoxin B1-induced preneoplastic lesions, tumors, metastasis, and spontaneous tumors as they are influenced by dietary protein level, type, and intervention; p. 203. [Google Scholar]
4. Schulsinger DA, Root MM, Campbell TC. Effect of dietary protein quality on development of aflatoxin B1-induced hepatic preneoplastic lesions. J Natl Cancer Inst. 1989;81:1241–1245. [PubMed] [Google Scholar]
5. Nonassociation of Aflatoxin with Primary Liver Cancer in a Cross-Sectional Ecological Survey in the People's Republic of China. Cancer Res 1990;50:6882-6893. T. Colin Campbell, Junshi Chen, Chongbo Liu, et al.
[อ่านต่อ...]

28 กรกฎาคม 2563

ภาพใหญ่ของหลักฐานวิทยาศาสตร์และการหลงทางในเรื่องโภชนาการ

(นพ.สันต์ บรรยายให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขที่มาเข้าฝึกอบรมที่ Wellness We Care Center) 

     วิทยาศาสตร์แบบเจาะลึกถึงโมเลกุล (Reductionism) ไม่ช่วยให้สุขภาพดีขึ้น

     หลักฐานวิทยาศาสตร์มีหลักพื้นฐานคือชำแหละสิ่งที่จะศึกษาลงไปเป็นชิ้นเล็กๆ เล็กขนาดโมเลกุลหรืออะตอมได้ยิ่งดี แล้วศึกษาคุณสมบัติของมันเปรียบเทียบกับอะตอมหรือโมเลกุลอื่นว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร วิธีการนี้เรียกว่า reductionism ซึ่งเป็นวิธีที่ดีมากในการขจัดปัจจัยกวนในการวิจัยเปรียบเทียบ ผลตามมาคือในทางโภชนาการคือเกิดข้อมูลเกี่ยวกับสารอาหาร (nutrients) ขึ้นมามากมาย โดยเอาอาหารธรรมชาติมาแบ่งหมวดหมู่และแต่ละหมู่ก็แยกแยะย่อยลงไปถึงโมเลกุล เช่นในระดับหมวดหมู่ก็แบ่งเป็นอาหารโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ แล้วก็แบ่งย่อยลงไปเป็นหมวดย่อย เช่นไขมันก็แบ่งเป็นไขมันอิ่มตัว ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน แล้วแบ่งต่อไปเป็นระดับโมเลกุล เช่นไขมันโอเมก้า 3 (ALA) ไขมันโอเมก้า 6 (LA) โมเลกุลกรดไขมันบางตัวก็พูดถึงกันมากเป็นพิเศษด้วยจุดประสงค์จะรักษาโรคบ้าง จะขายสินค้าบ้าง เช่น กรดโดโคเฮกซานิก (DHA) และกรดไอโคซาเป็นตาโนอิก (EPA) เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นผลจากการวิจัยแบบแยกส่วนหรือ reductionism ทำให้รู้ว่าโมเลกุลแต่ละตัวมีฤทธิ์ดีเสียอย่างไร

     แต่ว่าวิธีสร้างหลักฐานวิทยาศาสตร์แบบนี้มันมีข้อเสียอยู่สองประการ

     ประการแรก เมื่อเราเห็นว่าอาหารอะไรในชีวิตจริงมีประโยชน์เราก็วิจัยหาโมเลกุลที่คาดหมายว่าเป็นตัวออกฤทธิ์หลัก (active principle) เพื่อจะแยกเอามาทำยาหรืออาหารเสริมก็แล้วแต่ ยกตัวอย่างเช่นเราเห็นว่าปลามีผลดีต่อสุขภาพ เราก็หาโมเลกุลออกฤทธิ์หลักเช่นสมมุติว่าไขมันโอเมก้า 3 เป็นตัวออกฤทธิ์หลัก แล้วก็ทำยาเม็ดไขมันโอเมก้า 3 ออกมาให้คนกิน แต่กินไปนานเข้าก็กลับพบว่ามันไม่ได้ให้ผลดีอย่างที่คิด ทั้งนี้เป็นเพราะอาหารธรรมชาติมีโมเลกุลอยู่ในนั้นหลากหลายเป็นร้อยเป็นพันชนิดและส่วนใหญ่วิทยาศาสตร์ยังไม่รู้จักด้วยซ้ำ รู้จักแค่เพียงส่วนน้อย เมื่อเรากินอาหารธรรมชาติเข้าไปโมเลกุลที่หลากหลายเหล่านั้นออกฤทธิ์โดยมีความประสานสอดคล้องกัน สนับสนุนกันบ้าง เบรคกันบ้าง อย่างเป็นธรรมชาติ ขณะที่อาหารเม็ดที่เราทำมาขายให้คนกินแทนนั้นมันเป็นโมเลกุลเดียวและออกฤทธิ์อย่างโดดเดี่ยว มันจะไปเหมือนอาหารธรรมชาติได้อย่างไร ผลก็คือเราต้องผิดหวังซ้ำซากกับสารอาหารที่เราวิจัยมาแล้วว่าดีนักดีหนาแต่พอเอาทำเป็นเม็ดให้คนกินแล้วพบว่ามันไม่ได้เรื่อง

     ประการที่สอง เมื่อเราเห็นว่าสารอาหารหรือโมเลกุลชนิดไหนมีโทษต่อร่างกาย เมื่อจะเอาข้อมูลมาใช้เราต้องเดาเอาว่าอาหารที่มีสารอาหารหรือโมเลกุลอาหารชนิดนั้นอยู่เป็นอาหารที่ไม่ดีต่อร่างกาย ยกตัวอย่างเช่นเราพบว่าการมีโคเลสเตอรอลในเลือดสูงสัมพันธ์กับการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมากขึ้น เราจึงทึกทักเอาว่าอาหารที่มีเปอร์เซ็นต์โคเลสเตอรอลสูงเช่นไข่เป็นอาหารที่ก่อโรคหัวใจขาดเลือด จึงแนะนำให้คนลดการกินไข่ลง แต่เมื่อมีข้อมูลในคนจริงๆมากพอก็จึงรู้ว่าคนที่กินไข่มากกับกินไข่น้อยไม่ได้เป็นโรคหัวใจขาดเลือดแตกต่างกัน และส่วนใหญ่ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดไม่แตกต่างกัน ทั้งนี้เป็นเพราะการที่เราไปทึกทักเอาว่าอาหารที่มีโมเลกุลโคเลสเตอรอลสูงจะทำให้ระดับโคเลสเตอรอลในร่างกายสูงและทำให้เสียสุขภาพเหมือนกันหมดนั้นมันไม่เป็นความจริงเสมอไป เนื่องจากอาหารแต่ละชนิดมีโมเลกุลมากมายหลายชนิดที่ออกฤทธิ์ร่วมกันช่วยกันบ้างเบรคกันบ้างอย่างซับซ้อนจนเราคาดเดาเอาจากข้อมูลโมเลกุลชนิดเดียวในอาหารนั้นไม่ได้

     ทั้งหมดนี้ทำให้เราต้องมาผิดหวังซ้ำซากครั้งแล้วครั้งเล่าเมื่อผลวิจัยออกมาว่าสารอาหารตัวที่เราเคยหลงว่าดีแต่พอผ่านไปสิบปียี่สิบปีแล้วก็มาพบความจริงว่ามันไม่ดีจริง กลายเป็นว่าหลักฐานวิทยาศาสตร์ด้านโภชนาการทำให้เราพายเรืออยู่ในอ่างในเรื่องสุขภาพ เดี๋ยวตัวนั้นดี อ้าว..ต่อมากลายเป็นไม่ดีอีกละ ตัวที่เคยว่าเป็นของไม่ดี อ้าว..ต่อมากลับเป็นของดี และสุขภาพของผู้คนในสี่สิบปีที่ผ่านมาก็มีแต่สาละวันเตี้ยลง เป็นโรคเรื้อรังมากขึ้น อ้วนมากขึ้น ทั้งๆที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้านโภชนาการมีมากขึ้น นี่แสดงว่าเรากำลังหลงทาง สี่สิบปีมานี้มันนานพอที่จะสรุปได้แล้วว่าวิทยาศาสตร์แบบ reductionism นี้ไม่อาจทำให้สุขภาพของเราดีขึ้นได้ สิ่งที่ดีขึ้นมีอย่างเดียว คืออุตสาหกรรมอาหารซึ่งสร้างความนิยมในสารอาหารบางตัวให้ได้ราคาแพงกว่าอาหารธรรมชาติโดยวิธีอาศัยข้อมูลวิจัยทำให้คนบ้าเห่อสารอาหารบางตัวกันเป็นพักๆ เมื่อความจริงโผล่ออกมาว่าไม่ดีจริงคนก็หายบ้า ก็หันไปบ้าสารอาหารตัวใหม่จากผลวิจัยใหม่กันอีก วิธีนี้ทำให้ขายสารอาหารได้ไม่รู้จบ

     การถอยออกมามองข้อมูลในคนจริงๆในภาพใหญ่ มีประโยชน์มากกว่า

     สี่สิบปีที่ผ่านมานี้ มีข้อมูลในคนจริงซึ่งเป็นข้อมูลในระดับกลุ่มประชากรหรือข้อมูลเชิงระบาดวิทยาที่ให้ผลที่สอดคล้องต้องกันในภาพใหญ่ว่าหากแหล่งที่มาของอาหารส่วนใหญ่เป็นเนื้อสัตว์ จะสัมพันธ์กับการทำให้คนเป็นโรคเรื้อรังมากขึ้น หากแหล่งที่มาของอาหารส่วนใหญ่เป็นพืช จะสัมพันธ์กับการทำให้คนเป็นโรคเรื้อรังน้อยลง หากเราตั้งหลักที่ตรงภาพใหญ่นี้โดยไม่รีบหลงเข้าไปเล่นข้อมูลระดับสารอาหาร เราอาจจะสร้างสรรค์โภชนาการที่ดีขึ้นมาได้โดยไม่ต้องภายเรือในอ่างอย่างที่ผ่านมา ผมจะยกตัวอย่างให้ดูหลักฐานวิทยาศาสตร์ระดับนี้นะ

     1. งานวิจัยเมตาอานาไลซีส [1] ที่รวมข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่ปี 2017 ย้อนหลังไป พบว่ากลุ่มคนที่กินเนื้อสัตว์มากเป็นมะเร็งมากกว่ากลุ่มความคุมซึ่งกินสัตว์บ้างพืชบ้างถึง 64% ขณะที่กลุ่มคนที่กินพืชมากเป็นมะเร็งน้อยกว่ากลุ่มควบคุม 12% หรือพูดอีกอย่างว่ากินพืชมากจะเป็นมะเร็งต่างจากคนกินสัตว์มากถึง 76%

     ต่อมาก็ได้มีการศึกษาเชิงระบาดวิทยาอีกครั้งเพื่อเปรียบเทียบอัตราตายจากมะเร็งเต้านมใน 38 ประเทศก็ได้ผลแบบเดียวกันคือชุมชนที่กินเนื้อสัตว์มากตายจากมะเร็งเต้านมมากกว่าชุมชนที่กินพืชมาก [2]

     2. งานวิจัยรวมการตามดูกลุ่มคน (pooled cohorts) จำนวน 187,486 คน รวมจำนวนคน-ปีได้ 4,025,131 คน-ปี [3] พบว่ามีคนเป็นเบาหวานเกิดขึ้นใหม่ 15,305 คน เมื่อวิเคราะห์โดยแยกปัจจัยเสี่ยงของการเป็นเบาหวานเช่นคุณภาพอาหารและดัชนีน้ำตาลของอาหารออกไปแล้ว ก็ยังพบว่าอาหารเนื้อสัตว์ ซึ่งทำให้ร่างกายเป็นกรดสูงเมื่อวัดด้วยค่าดัชนีกรดที่ต้องขับโดยไต (PRAL) สัมพันธ์กับความเสี่ยงเป็นเบาหวานสูงกว่าอาหารพืชถึง 32%

     3. งานวิจัยรวมงานวิจัยตามดูกลุ่มคน 292,454 คน [4] ตามดูนานเฉลี่ย 10.2 ปี พบกว่ากลุ่มคนที่กินเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่นเนื้อหมูเนื้อวัว (ซึ่งมีโมเลกุล heme iron) มีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือดสูงกว่ากลุ่มคนที่ไม่กินเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมถึง 57%

     ผลเหล่านี้อาจจะเกิดจากทั้งการลดเนื้อสัตว์ซึ่งไม่ดีลงไป หรือจากการได้กินพืชซึ่งเป็นของดีมากขึ้นก็เป็นได้ ผลระยะสั้นนี้สอดคล้องกับผลระยะยาวที่ได้จากงานวิจัยเชิงระบาดวิทยา ซึ่งรายงานมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1959 เปรียบเทียบอัตราตายของโรคหัวใจหลอดเลือดจาก 20 ประเทศที่พบว่าชุมชนกินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์มากมีอัตราตายมากกว่าชุมชนที่กินพืชมาก [5]

     ในเรื่องอาหารกับโรคหัวใจนี้ งานวิจัยของกลุ่มดร.เอสซี่ (Esselstyn) [6] ซึ่งรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดจำนวน 198 คนด้วยอาหารพืชเป็นหลัก พบว่ามีเพียงคนเดียว (น้อยกว่า 1%) ที่เกิดอัมพาตเฉียบพลันซ้ำขึ้นในสี่ปี เทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้กินพืชเป็นหลักซึ่งเกิดอัมพาตเฉียบพลันซ้ำถึง 62% (13 จาก 21) ในสี่ปี

     ผลคล้ายกันนี้พบได้จากงานวิจัยของดร.ดีน ออร์นิช [7-8]ด้วย ซึ่งได้ทำวิจัยด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบการใช้อาหารพืชเป็นหลัก การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด และการเข้ากลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน รักษาโรคหัวใจหลอดเลือด แล้วพบว่าวิธีนี้รักษาโรคหัวใจหลอดเลือดได้ผลดีกว่าวิธีดั้งเดิมมาก และเป็นหลักฐานที่รัฐบาลอเมริกันยอมให้วิธีการรักษาเชิงส่งเสริมสุขภาพแบบนี้เบิกเงินประกันสังคมและประกันสุขภาพของรัฐบาล (Medicare, Medicaid) ได้

     4.  งานวิจัย Rotterdam Study [9] ซึ่งตามดูความสัมพันธ์ระหว่างอาหารที่กินกับการเกิดกระดูกพรุนในผู้สูงอายุเกิน 55 ปีจำนวน 4028 คน ตามดูนานเฉลี่ย 14.8 ปี พบว่ากลุ่มผู้กินอาหารพืชผักผลไม้มากมีมวลกระดูกแน่นกว่าและเกิดกระดูกสะโพกหักน้อยกว่ากลุ่มที่กินอาหารไขมันจากสัตว์และอาหารหวาน

     5. ในแง่ของอาหารที่กินกับการมีอายุยืน งานวิจัยกลุ่มคนกินอาหารวีแกนและมังสะวิรัติเปรียบเทียบกับกลุ่มคนกินเนื้อสัตว์พบว่ากลุ่มคนกินอาหารมังสะวิรัติมีอัตราตายจากโรคเรื้อรังต่ำกว่าและมีอายุยืนกว่า [10]

     วิทยาศาสตร์แบบ Reductionism ทำให้เราหลงทางในเรื่องอะไรมาแล้วบ้าง

     1. เราหลงทางไปบ้าโปรตีน

     ความบ้าโปรตีนของคนเราผมแยกเป็นสามประเด็น

     ประเด็นที่ 1. เราหลงไปเชื่อว่าโปรตีนหมายถึงเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์เท่านั้น ความเชื่อนี้ทำให้เราต้องขยันกินเนื้อสัตว์เพราะกลัวขาดโปรตีน ทั้งที่เป็นความเชื่อที่ผิดจังเบอร์ เพราะกรดอามิโนจำเป็นซึ่งเป็นแหล่งต้นกำเนิดของอาหารโปรตีนทั้งหลายในโลกนี้มาจากพืชทั้งหมด แม้แต่สัตว์เช่นหมูวัวเป็ดไก่ร่างกายของมันก็ไม่สามารถสร้างกรดอามิโนจำเป็นเช่นเดียวกันร่างกายคนเช่นกัน ดังนั้นทั้งคนและทั้งสัตว์ล้วนต้องเอาโปรตีนมาจากพืชทั้งสิ้น แหล่งโปรตีนจากพืชเช่น ถั่ว งา นัท ธัญพืชไม่ขัดสี เป็นแหล่งโปรตีนที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของโลก แม้หากคนเราจะกินแต่พืชไม่กินเนื้อสัตว์เลยก็มียังได้รับโปรตีนเพียงพอทั้งปริมาณและคุณภาพ

     ประเด็นที่ 2. เราหลงไปเชื่อว่าเรามีความเสี่ยงที่จะขาดโปรตีน ทั้งๆที่ในความเป็นจริงธรรมชาติของร่างกายเราไม่ได้ต้องการโปรตีนมากอย่างที่เราคิด เมื่อร่างกายมนุษย์เป็นทารกในขวบปีแรกจะได้โปรตีนจากอาหารธรรมชาติอย่างเดียวคือนมแม่ซึ่งมีโปรตีนเพียง 0.9% คือไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำไป แค่นี้ก็พอที่จะเลี้ยงให้คนเติบโตได้เป็นปกติแล้วแม้ในช่วงที่ร่างกายโตอย่างระเบิด อาหารธรรมชาติทั่วไปมีโปรตีนเหลือเฟือ เช่น ถั่ว งา มีโปรตีน 26% เนื้อสัตว์มีโปรตีน 20% เป็นต้น โรคขาดโปรตีนจึงแทบจะเป็นโรคที่ไม่มีอยู่จริงเลยในยุคปัจจุบัน ผมถามแพทย์รุ่นหลังมาหลายคนแล้วว่ามีใครเคยเห็นคนไข้โรคขาดโปรตีน (marasmus) บ้าง ทุกคนส่ายหัว ไม่มีใครเคยเห็นสักคน ความต้องการโปรตีนของคนเรานี้ข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปคือผลวิจัยของสถาบันการแพทย์สหรัฐ (IOM) ซึ่งสรุปว่าผู้ใหญ่มีความต้องการโปรตีนวันละ 0.8 กรัม/กก./วัน เท่านั้น

     ประเด็นที่ 3. เราหลงไปเชื่อสมมุติฐานเรื่องคุณภาพของโปรตีน คือวิทยาศาสตร์แบบ reductionist ทำให้เรารู้ว่าอาหารธรรมชาติบางอย่างมีกรดอามิโนจำเป็นครบถ้วนในอาหารชนิดเดียว เช่น นม ไข่ แฟลกซีด ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ข้าวกล้อง แต่อาหารธรรมชาติบางชนิดมีกรดอามิโนจำเป็นไม่ครบ ทำให้เราจำแนกอาหารโปรตีนเป็นพวกโปรตีนคุณภาพสูง (มีกรดอามิโนจำเป็นครบ) กับโปรตีนคุณภาพต่ำ (กรดอามิโนจำเป็นไม่ครบ) แนวคิดแบบนี้ทำให้เราให้ความสำคัญกับนมและไข่ซึ่งคนจำได้ง่ายว่าเป็นอาหารมีกรดอามิโนจำเป็นครบ แต่ในความเป็นจริงอาหารมนุษย์กินแบบหลากหลายกินคราวเดียวหลายชนิด และร่างกายมนุษย์มีกลไกเลือดรับเอาสารอาหารที่ตัวเองขาดและมีระบบกักตุนสารอาหารจำเป็นทุกตัว ทำให้ในภาพรวมร่างกายได้รับกรดอามิโนจำเป็นครบถ้วนอย่างเป็นธรรมชาติ โดยสามารถพูดได้ว่าหากกินอาหารธรรมชาติอย่างหลากหลายให้มากจนได้แคลอรีรวมพอเพียง โอกาสขาดโปรตีนไม่มีเลย

     2. เราหลงทางไปบ้าไขมัน

     ผลวิจัยแบบ reductionism อีกนั่นแหละที่ทำให้เราหลงทางไปบ้าไขมัน ซึ่งผมสรุปประเด็นได้ดังนี้

     ประเด็นที่ 1. เราหลงไปสร้างไขมันทรานส์มาแทนไขมันอิ่มตัว เริ่มต้นจากเมื่อข้อมูลบ่งชี้ว่าไขมันอิ่มตัวในอาหารสัมพันธ์กับการที่โคเลสเตอรอลในเลือดสูง เราก็ขวานขวายหาน้ำมันพืชมาแทนไขมันจากสัตว์ แต่น้ำมันพืชทำให้เป็นของแข็งไม่ได้ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารต้องการไขมันในรูปแบบผงมาเคลือบอาหาร จึงได้เกิดการผลิตไขมันทรานส์ขึ้นด้วยการใส่ไฮโดรเจนเข้าไปในน้ำมันถั่วเหลือง ทั้งโลกกินไขมันทรานส์มายี่สิบปี ก่อนที่ความจะแดงขึ้นมาว่าไขมันทรานส์มีความสัมพันธ์กับการตายด้วยโรคหัวใจหลอดเลือดมากที่สุด มากกว่าไขมันอิ่มตัวเสียเอง กว่าที่เราจะกลับตัวได้ออกกฎหมายห้ามใช้ไขมันทรานส์ทำอาหาร ผู้คนก็เจ็บป่วยไปมากแล้วเพราะการหลงทางครั้งนั้น

     ประเด็นที่ 2. เราหลงไปเหมาโหลว่าไขมันอิ่มตัวจากพืชก็เลวเหมือนไขมันอิ่มตัวจากสัตว์  เนื่องจากวิทยาศาสตร์มองอาหารในรูปของโมเลกุล จึงเหมาโหลว่าอาหารใดที่มีไขมันอิ่มตัวเหมือนกันก็เลวเหมือนกันหมด ทั้งๆที่ในความเป็นไขมันอิ่มตัวในอาหารแต่ละชนิดนั้นโมเลกุลไขมันไม่เหมือนกันเสียทีเดียว อาหารเช่นไขมันอิ่มตัวจากพืชมีสายโซ่ของคาร์บอนสั้นกว่าโมเลกุลไขมันอิ่มตัวจากสัตว์เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นเวลากินอาหารคนเราไม่ได้กินโมเลกุลใดโมเลกุลหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่กินอาหารนั้นทั้งคำซึ่งแต่ละคำมีโมเลกุลอาหารหลากหลายมาพร้อมกันเป็นร้อยเป็นพันชนิด จึงไม่น่าแปลกใจที่หลักฐานเชิงระบาดวิทยา [11-12] บ่งชี้ไปทางว่าอาหารไขมันอิ่มตัวจากพืชเช่นมะพร้าวในรูปแบบอาหารตามวัฒนธรรมของกลุ่มชน (เนื้อมะพร้าว น้ำมะพร้าว กะทิ ) ไม่มีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคเรื้อรังอย่างที่อนุมานเอาจากการที่มะพร้าวมีไขมันอิ่มตัวสูงแต่อย่างใด การที่เราหลงผิดไปเหมาเข่งว่าไขมันอิ่มตัวจากพืชหรือจากสัตว์ล้วนเลวเหมือนกันหมด ทำให้ผู้คนหนีน้ำมันมะพร้าวหรือหนีกะทิไปหาเนื้อสัตว์ซึ่งผู้คนเข้าใจว่าเป็นอาหารโปรตีนไม่ใช่อาหารไขมัน แต่เผอิญงานวิจัยที่อังกฤษพบว่าเนื้อสัตว์ในรูปแบบของสัตว์เลี้ยงในฟาร์มแม้จะไม่ติดมันก็มีไขมันแทรกในเนื้อจนให้พลังงานจากไขมันได้ถึง 50% ของพลังงานจากเนื้อนั้นทั้งหมด ดังนั้นและการหนีจากกินพืชไปกินสัตว์ก็เป็นการหนีจากของดีไปหาของไม่ดีไม่ว่าจะในแง่ของชนิดของไขมันหรือสารอาหารอื่นที่ได้ตามกันมา

     ประเด็นที่ 3. เราหลงไปเสาะหากรดไขมันเฉพาะอย่างมากินแทนอาหารธรรมชาติ  งานวิจัยแบบ reductionism ที่ชงข้อมูลเรื่องไขมันโอเมก้า 3 โอเมก้า 6, DPA, EPA ทำให้เกิดความบ้าเห่อโมเลกุลไขมันที่อุตสาหกรรมผลิตขึ้นมาให้กินแทนอาหารธรรมชาติด้วยเข้าใจว่ามันจะดี ทั้งๆที่หลักฐานที่เชื่อถือได้ในคนกลับพบว่ามันไม่ได้สร้างความแตกต่างต่อสุขภาพในรูปของอัตราป่วยและอัตราตายแต่อย่างใด

     3. เราหลงไปกลัวคาร์โบไฮเดรต

     ซึ่งมีสองประเด็นใหญ่ๆ คือ กินคาร์โบไฮเดรตแล้วจะเป็นเบาหวาน กินคาร์โบไฮเดรตแล้วจะอ้วน ทั้งสองกรณีนี้เป็นความจริงหากกินคาร์โบไฮเดรตในรูปแบบธัญพืชขัดสีและหากกินมากเกินไปจนดุลแคลอรี่เป็นบวก (แคลอรี่ที่กินเข้าไป มีจำนวนมากกว่าที่เผาผลาญออกไปได้ในแต่ละวัน) ทำให้คนหนีไปอาศัยพลังงานจากอาหารเนื้อสัตว์ซึ่งกลับมีผลเสียต่อร่างกายและทำให้เป็นเบาหวานง่ายขึ้น เพราะหลักฐานปัจจุบันนี้สรุปได้ว่าอาหารเนื้อสัตว์สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานมากกว่าอาหารพืช และมีหลักฐานว่ากลไกที่เซลดื้อต่ออินสุลินได้นั้นเกิดขึ้นได้สองทาง คือทั้งการมีน้ำตาลกลูโค้สจากอาหารมากเกินไป และการมีไขมันอิ่มตัวจากอาหารมากเกินไป ยังผลให้คนเป็นเบาหวานมากขึ้น ทั้งๆที่หนีอาหารคาร์โบไฮเดรตไปหาเนื้อสัตว์แล้ว นอกจากนี้การหลีกเลี่ยงอาหารคาร์โบไฮเดรตในรูปธัญพืชไม่ขัดสีหรือในรูปของหัวใต้ดิน ก็พลาดโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากส่วนผิวของธัญพืชและผิวและเนื้อของหัวใต้ดินที่อุดมด้วยกาก ไวตามิน เกลือแร่ สารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ ซึ่งมีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย

     ทั้งหมดนี้คือภาพใหญ่ว่าวิทยาศาสตร์ทำให้เราหลงทางมาได้อย่างไร และทำไมสี่สิบปีที่ผ่านมาสุขภาพของผู้คนถึงมีแต่แย่ลงๆทั้งๆที่ข้อมูลโภชนาการที่ได้จากการวิจัยแบบ reductionism มีมากขึ้น และเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงเลิกพูดถึงสารอาหารหรือ nutrients แต่หันมาให้ผู้คนสนใจเลือกรูปแบบการกินอาหารที่ทำให้สุขภาพดีหรือ healthy eating pattern แทนโดยไม่ต้องคำนึงถึงสารอาหาร ซึ่งรูปแบบที่ผมสนับสนุนอยู่ที่เวลเนสวีแคร์ตอนนี้มีรูปแบบเดียว คืออาหารพืชเป็นหลักแบบมีไขมันต่ำในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ (low fat, whole food , plant-based diet)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Bella F. Differences in the association between empirically derived dietary patterns and cancer: a meta-analysis. Int J Food Sci Nutr. 2017;68:402–410.
68. Schwedhelm C, Boeing H, Hoffmann G, Aleksandrova K, Schwingshackl L. Effect of diet on mortality and cancer recurrence among cancer survivors: a systematic review and meta-analysis of cohort studies. Nutr Rev. 2016;74:737–748. [PMC free article] [PubMed] [Google Scholar]
2. Carroll KK, Braden LM, Bell JA, Kalamegham R. Fat and cancer. Cancer. 1986;58:1818–1825. [PubMed] [Google Scholar]
3. Kiefte-de Jong JC, Li Y, Chen M, Curhan GC, Mattei J4, et al. Diet-dependent acid load and type 2 diabetes: pooled results from three prospective cohort studies. Diabetologia. 2017;60:270–279. [PMC free article] [PubMed] [Google Scholar]
4. J. Hunnicutt, K. He, P. Xun. Dietary Iron Intake and Body Iron Stores Are Associated with Risk of Coronary Heart Disease in a Meta-Analysis of Prospective Cohort Studies. Journal of Nutrition, 2014; 144 (3): 359 DOI: 10.3945/jn.113.185124
5. Jolliffe N, Archer M. Statistical associations between international coronary heart disease death rates and certain environmental factors. J Chronic Dis. 1959;9:636–652. [PubMed] [Google Scholar]
6. Esselstyn CB Jr, Gendy G, Doyle J, Golubic M, Roizen MF. A way to reverse CAD? J Fam Pract. 2014 Jul; 63(7):356-364b.
7. Ornish D, Brown SE, Scherwitz LW, Billings JH, Armstrong WT, et al. Can lifestyle changes reverse coronary heart disease? Lancet. 1990;336:129–133. [PubMed] [Google Scholar]
8. Ornish D. Avoiding revascularization with lifestyle changes: the Multicenter Lifestyle Demonstration Project. Am J Cardiol. 1998;82:72T–76T. [PubMed] [Google Scholar]
9. de Jonge EAL, Kiefte-de Jong JC, Hofman A, Uitterlinden AG, Kieboom BCT, et al. Dietary patterns explaining differences in bone mineral density and hip structure in the elderly: the Rotterdam Study. Am J Clin Nutr. 2017;105:203–211.
10. Huang T, Yang B, Zheng J, Li G, Wahlqvist ML, Li D. Cardiovascular disease mortality and cancer incidence in vegetarians: a meta-analysis and systematic review. Ann Nutr Metab. 2012; 60(4):233-40.
11. Eyres L, Eyres MF, Chisholm A, and Brown RC. Coconut oil consumption and cardiovascular risk factors in humans. Nutr Rev. 2016 Apr; 74(4): 267–280. doi: 10.1093/nutrit/nuw002
12. Prior IA, Davidson F, Salmond CE, Czochanska Z. Cholesterol, coconuts, and diet on Polynesian atolls: a natural experiment: the Pukapuka and Tokelau island studies. Am J Clin Nutr. 1981 Aug; 34(8):1552-61.
[อ่านต่อ...]

26 กรกฎาคม 2563

เลิกจ้างผู้กำกับเสีย ไล่เขาไปเสียให้พ้นด้วย

เรียนอาจารย์ที่เคารพ
ผม ... สมาชิก SR ... ครับ ตั้งแต่กลับจาก ST ผมก็ตั้งใจฝึกวางความคิดด้วย meditation วันละชั่วโมง ใช้วิธีของอาจารย์คือเปิดรับพลังงานจากข้างนอกเข้ามา แผ่พลังงานนั้นออกไปผ่านทุกรูขุมขน คือผมมองเป็นกิจกรรมนั่งสมาธิแบบแผ่เมตตา ก็มีความก้าวหน้าในแง่ที่จิตสงบ มีความคิดน้อยลง ชีวิตประจำวันลื่นไหลมากขึ้น ความโกรธหรือหงุดหงิดลดลงไปมาก แต่มาติดตรงที่เมื่อผมพยายามจะอยู่กับปัจจุบันให้ได้ ผมกลับไม่สามารถบอกตัวเองได้ว่าตอนนี้ผมอยู่กับปัจจุบันแล้วหรือยัง หรือว่าผมยังอยู่กับความคิดของผม เช่นเมื่อผมนั่งสมาธิจนความคิดเรื่องต่างๆไม่โผล่มาแล้ว แต่ผมรู้สึกว่ายังมีอีกความคิดหนึ่งคอยบอกผมว่า
..ความคิดไม่มีแล้วนะ
..หายใจเข้าอยู่นะ
..รับเอาพลังเมตตาจากภายนอกเข้ามาสิ
..หายใจออกอยู่นะ
..แผ่พลังงานออกไปทุกรูขุมขนสิ
..นี่ความรู้สึกซู่ซ่านะ รับรู้ไว้
คือมันเหมือนมีความคิดบอกบทอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้คืออยู่ในความคิด ไม่ใช่อยู่ในปัจจุบันจริงใช่ไหมครับ

.......................................................................

ตอบครับ

     คุณมีความก้าวหน้ามากแล้ว จากเดิมที่จมอยู่ในความคิดลบอย่างไม่รู้ตัวทั้งวัน มาถึงขั้นที่เคลียร์ความคิดลบเหล่านั้นได้เกือบหมด เหลือแต่ "ผู้กำกับ" คอยบอกบทอยู่คนเดียว นี่นับเป็นผลงานที่น่าประทับใจที่ทำได้ในเวลาไม่ถึงปี แต่ตอนนี้มาถึงด่านใหญ่ คือด่าน "ผู้กำกับ" เอาละ มาตอบคำถามของคุณ

     ถามว่าการมี "ผู้กำกับ" คอยบอกบท เป็นการอยู่ในความคิดใช่ไหม ตอบว่าใช่แล้วครับ

     ถามว่าการมีผู้กำกับบอกบทยังไม่ได้อยู่กับปัจจุบันใช่ไหม ตอบว่ายังไม่ได้อยู่กับปัจจุบันครับ ยังอยู่ในความคิดอยู่ เพราะผู้กำกับที่บอกบทนั่นแหละคือความคิด ชีวิตก็ยังอยู่ในมิติของเวลา ตอนนี้เป็นอย่างนี้ กำลังจะทำอย่างนั้นเพื่อจะได้ไปเป็นอย่างโน้น นี่คือกระบวนการคิด ความคิดคือการเคลื่อนไหวของความจำในมิติของเวลาในใจ (psychological time) จากที่เป็นอยู่อย่างนี้ขณะนี้จะไปเป็นอย่างนั้นในตอนโน้น เรียกว่าเป็น process of becoming คือ Now I am this จะไปสู่ I will become that นี่เป็นปัจจุบันเก๊ ไม่ใช่การอยู่กับปัจจุบันจริงๆอย่างที่เราตั้งใจจะอยู่ดอก

     สิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณ คือสำนึกว่าเป็นบุคคลหรืออีโก้ของคุณนี้ เขาขยัน เขาพยายามจะทำหน้าที่ช่วยคุณ เพราะเขากลัวตัวเขาเองจะตกงาน บทบาทของเขาก็เช่น

     "โอ้ จะปฏิบัติสู่ความหลุดพ้นหรือ ดี ดี ดี หลุดพ้นจากความคิดหรือ ดี ดี ดี มา ผมช่วยนะ ผมช่วยดูต้นทางให้ ตอนนี้มีความคิดหรือเปล่า ย้อนแอบมองดูซิ ไม่มีนะ ตอนนี้ไม่มีความคิด ตอนนี้ว่างอยู่หรือเปล่า ว่างอยู่นะ ตรงนี้แหละ ใช่แล้ว ตรงนี้แหละคือความรู้ตัว ไม่มีความคิดแล้ว เห็นไหม"

     คุณจะไม่ไปไหนหรอกหากยังปล่อยให้ผู้กำกับทำหน้าที่พากย์สดประกบชีวิตคุณอยู่อย่างนี้ คุณต้องเลิกจ้างผู้กำกับเสีย ไล่เขาไปให้พ้นเสียด้วย ไล่แรงๆ ไป๊.. บอกว่าไปให้พ้น ไล่แบบไม่ต้องเกรงใจกันเลย แล้วก็เผื่อใจไว้เลยนะ ไล่ออกไปทางประตูเดี๋ยวพี่แกก็จะค่อยๆโผล่หัวมาพากย์ทางหน้าต่าง แต่ว่าคุณอย่าไปสนใจคำพูดของผู้กำกับ พูดก็พูดไป ได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง แต่ไม่สนใจ ให้สนใจความรู้สึก (feeling) สดๆที่กำลังเกิดขึ้น อย่าเอาคำพูดเข้าไปตั้งชื่อเรียก แต่ให้รับรู้ฟีลลิ่งด้วยการรู้สึกเอาแทน ไม่ใช่ด้วยการเข้าใจมันผ่านภาษา เรียกว่ารับรู้ด้วยวิธี "รู้" ไม่ใช่ด้วยวิธี "คิด" พูดอย่างนี้จะงงไหมเนี่ย ให้ลองทำ แล้วจะค่อยๆเก็ทเอง เรากำลังหายใจเข้า อย่าให้มีคำพูดว่า "หายใจเข้า" เกิดขึ้นในหัว แต่สนใจความรู้สึกว่าหน้าอกกำลังกระเพือมขึ้น รอบๆรู้จมูกรับรู้ว่าลมกำลังวิ่งผ่านเข้ามา สนใจ feeling บนร่างกาย ไม่สนใจคำพูดในหัว หายใจออกรู้สึกซู่ซ่าไปทั่วตามขุมขน อย่าให้มีคำว่าซู่ซ่าเกิดขึ้นในหัว แต่ให้รู้สึกเอาจากรูขุมขนว่ามันมีความซู่ซ่าเกิดขึ้น ่เพราะปัจจุบันที่แท้จริงนั้นไม่มีเรื่องราวใดๆ ไม่มีภาษาแม้แต่คำเดียว มีแต่การรับรู้ความรู้สึก (ไม่ใช่ความคิด) ทีเกิดขึ้นใหม่ๆซิงๆที่เดี๋ยวนี้ ทีละขณะ ทีละขณะ ใหม่ๆจะรู้สึกว่าประดักประเดิดมากเพราะนักพากย์ไม่ยอมไปไหน จะต้องคอยพากย์อยู่นั่นแหละ แต่ให้เพิกเฉยต่อเขาเสีย สมมุติเองง่ายๆว่าเรานั่งอยู่นี้นั่งอยู่แบบคนหัวขาด จินตนาการตัดส่วนศีรษะหรือสมองทิ้งไปเสียก่อน ร่างกายเหลือแต่มือ เท้า แขน ลำตัว ขา เข่า เท้า สนใจรับรู้ความรู้สึกตรงจากร่างกายส่วนที่เหลือโดยไม่ยุ่งกับหัวหรือสมอง เพราะนักพากย์นั่งทำงานที่หัวหรือที่สมอง การสมมุติแบบนี้จะได้หลบเขาพ้น

      การอยู่กับปัจจุบันคือการไม่มีความคิดเลย เป็นการอยู่กับความรู้สึก (feeling หรือ sensation) ที่เกิดขึ้น ณ เดี๋ยวนี้ล้วนๆ เป็นการรับรู้ตามที่มันเป็น ไม่มีภาษามาเกี่ยวข้องเลย ไม่มีคำพูดแม้แต่คำเดียวเข้ามายุ่งด้วย ไม่มีเรื่องราว ไม่อยากได้อะไร อยากจะหนีอะไร ไม่มีทั้งสิ้น ยอมรับทุกอย่างที่มีอยู่เป็นอยู่ที่ที่นี่เดี๋ยวนี้หมดแบบยอมรับยอมแพ้ไม่มีเงื่อนไข หากมีคำพูดแม้แต่คำเดียวโผล่เข้ามาในหัว นั่นเราถูกดูดเข้าไปอยู่ในความคิดซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวในมิติของเวลาไปเสียแล้ว เราหลุดจากปัจจุบันไปแล้ว การอยู่กับปัจจุบันเป็นการอยู่กับสิ่งที่มีปรากฎอยู่ตรงหน้าแล้วที่เดี๋ยวนี้ (What is) ไม่มีเรื่องราวประกอบ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับว่าสิ่งนี้มันควรจะเป็นอย่างไรต่อไป (What should be?)

    อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยได้ก็คืออย่าไปทำอะไรโดยหวังผล เช่นทำเพื่อจะเอาความหลุดพ้น จะเอารางวัลชีวิต เพราะการทำอะไรโดยมีความหวังในผลนั่นคือกระบวนการคิด ให้เปลี่ยนเป็นการทำอะไรแบบการทดลองแค่อยากรู้แต่ไม่คาดการณ์ ออกหัวหรือออกก้อยก็ช่างแต่ขอลองดูเพราะอยากรู้อยากสำรวจ ออกหัวหรือออกก้อยก็ได้ทั้งนั้น ไม่สนใจด้วย สนใจแค่จะลองทำดู การย้ายความสนใจมาที่การลองทำดูแทนการสนใจว่าผลลัพท์จะออกหัวหรือออกก้อย เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะอยู่กับปัจจุบัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์



[อ่านต่อ...]

25 กรกฎาคม 2563

อย่างนี้ไม่ใช่เป็นโรคหัวใจ แต่เป็นโรคกรดไหลย้อน

ดิฉันอายุ 60 ปี น้ำหนัก 51 กก. สูง 162 ซม. เมื่อเกษียณแล้วได้ออกกำลังกายมาก ด้วยการตีเทนนิส 2 วัน วันละ 1 ชม วิ่งsky walk 3 วันวันละ 30 นาที ระยะประมาณ 4.5 km หลังอาหารเช้าและเย็น เดินครั้งละประมาณ 1 km เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ขณะวิ่งออกกำลังกายมีอาหารรู้สึกซ่าๆไปทั่วหน้าอก พอหยุดวิ่งอาการก็หายไปในเวลาสองสามนาที ต่อมาหลายวันก็เกิดอาการแบบนี้อีกขณะนอนหลับแล้วตื่นขึ้นมาพบว่ามีอาการซ่าๆทั่วหน้าอก เป็นอยู่นานราว 5 นาทีก็หายไป รุ่งเช้าจึงไปโรงพยาบาล หมอให้ตรวจวิ่งสายพานพบว่าได้ผลบวก จึงได้ตรวจสวนหัวใจ ผลการตรวจสวนหัวใจเป็นดังที่ส่งมาให้ คือสรุปว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่ยังไม่มากไม่ต้องทำบอลลูนหรือวางขดลวด (​CAG=LM0%, LAD40%, LCX0%, RCA0%) ได้รับยากินมียา Cardiprin (acetylsalicylic acid) 100mg 1x1pc, 3. Xarator (atorvastatin) 5mg 1x1pc เย็น (หยุดยา 10 วัน เพราะรู้สึกปวดกล้ามเนื้อ) Rivotril (clonazepam) 0.25mg 1xhs, Mealin (mianserin) 5 mg 1/2xhs. ต่อมาก็มีอาการแบบเดิมอีกขณะนอนกลางคืน กลับไปหาหมอหัวใจ หมอได้ส่งต่อให้ไปไปตรวจโรงทางเดินอาหารและส่องกล้องตรวจกระเพาะ ผลตามที่ส่งมาให้ มี การอักเสบของผิวหลอดอาหาร (esophagitis) ได้ยารักษามาเพิ่มอีกคือมียา Gasviscon (sodium alginate dual action) 10ml 1xhs เป็นต้น จึงกลายเป็นว่าต้องกินยามาก และหมอบอกว่าบางตัวเช่น Cardiprin และ Xarater จะต้องกินไปตลอดชีวิต ทุกวันนี้ ทานสัตว์เนื้อแดง(หมูและเนื้อ) น้อยมาก ตอนเช้าทานกล้วยน้ำว้า 2 ลูก ทุกวัน ส่วนอาหารหลักเป็นข้าวและกับข้าวต่างๆ เช่น ปลาทอด(น้ำมันน้อยมาก)หรือนึ่ง ผัดผักต่างๆแบบน้ำมันน้อย แกงจืดผักใส่หมูสับ(ไม่ทานหมูสับ) ผักสด ไข่ต้ม(ทานเฉพาะไข่ขาว) ต้มซุ๊ปไก่ใส่หอมใหญ่ มะเขือเทศ แคร็อท มันฝรั่ง ถ้าทานนอกบ้านส่วนใหญ่เป็นก๋วยเตี๋ยวน้ำลูกชิ้นปลา หรือ ไก่อยากถามคุณหมอว่าหากไม่อยากกินยาควรจะทำอย่างไร
ขอบคุณค่ะ

.............................................................

ตอบครับ

     1. ประเด็นอาการวิทยา อาการแสบซ่าๆทั่วหน้าอกเป็นอาการไม่จำเพาะเจาะจง แต่ก็อาจเป็นอาการหัวใจขาดเลือดได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยผู้หญิงซึ่งอาการของโรคนี้มักมาแบบไม่จำเพาะเจาะจง แต่ข้อที่ผมใช้วินิจฉัยว่าอาการของคุณไม่ใช่อาการของโรคหัวใจขาดเลือดคือโรคหัวใจขาดเลือดของจริงมันมีอยู่สองแบบ คือ

     (1) กรณีเจ็บหน้าอกแบบไม่ด่วน (Stable angina) อันเกิดจากมีรอยตีบที่หลอดเลือดแต่ยังไม่ตัน เลือดยังพอผ่านไปได้ ซึ่งมีเอกลักษณ์ว่าอาการเจ็บหน้าอกจะเกิดเวลาออกกำลังกายหรือมีอารมณ์เครียดรุนแรง และอาการจะหายไปในเวลาไม่เกิน 20 นาทีหลังจากได้พักหรือคลายเครียดแล้ว และ

     (2) กรณีกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute MI)อันเกิดจากมีลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดที่ตีบอยู่แล้วให้ตันไปเลยในทันทีทันใด ซึ่งเป็นการเจ็บหน้าอกได้ไม่เลือกเวลาไม่ว่ากำลังทำอะไรอยู่ก็ตาม แต่มีเอกลักษณ์ว่าการเจ็บหน้าอกแบบนี้จะไม่หายไปในเวลา 20 นาที มีแต่อาการจะมากขึ้นๆ เกือบทั้งหมดจะต้องไปจบที่โรงพยาบาล หรือกลับบ้านเก่าไปเสียก่อนโดยไม่ทันได้ไปโรงพยาบาล

     เมื่อมาวิเคราะห์ดูอาการของคุณ เมื่อคุณมีอาการครั้งแรกขณะวิ่งออกกำลังกายและหายไปเมื่อพักนั้นมันเหมือนอาการของ stable angina แต่เมื่อคุณมีอาการแบบเดียวกันอีกครั้งขณะตอนนอนพักอยู่บนเตียงตอนกลางคืนแล้วหายไปเองในเวลาไม่กี่นาทีนั้นมันไม่เข้ากับโรคอะไรเลย จะว่าเป็น stable angina ก็ไม่ใช่เพราะมันเกิดขณะพัก ไม่ได้ออกแรงหรือเครียดอะไร จะว่าเป็น acute MI ก็ไม่ใช่เพราะมันเกิดแป๊บเดียวแล้วก็หายไปไม่ได้เจ็บต่อเนื่องเกิน 20 นาที ดังนั้นผมสรุปจากมุมอาการวิทยาว่าอาการของคุณไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจขาดเลือด

     2.  ประเด็นผลการสวนหัวใจ ผลการสวนหัวใจที่ส่งมาให้นั้นผมอ่านว่าเป็นหลอดเลือดหัวใจที่ใกล้เคียงกับหลอดเลือดหัวใจปกติ รอยตีบที่หลอดเลือดซ้ายหน้า (LAD) ที่ว่าตีบอยู่ 40% นั้น มันเป็นไปได้ทั้งมีโรคอยู่จริงๆโดยที่เพิ่งเป็นโรคในระยะแรก หรือทั้งเป็นแค่การคอดเว้าของผนังหลอดเลือดปกติซึ่งในบางคนไม่ได้มีเส้นผ่าศูนย์กลางเสมอเท่ากันตั้งแต่ต้นถึงปลาย เพราะหลอดเลือดของคนเรานี้มันมีธรรมชาติเด้งได้ โค้งได้ ป่องได้ คอดได้ ลักษณะที่หลอดเลือดบางตอนค่อยๆคอดลงมาแบบราบเรียบและคอดเพียงเล็กน้อยแล้วค่อยๆกลับป่องออกมาเท่าเดิมอีกอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเสมอไปหากพื้นที่หน้าตัดของส่วนที่คอดไม่ได้เล็กกว่าค่าเฉลี่ยของพื้นที่หน้าตัดปกติของหลอดเลือดนั้น คือกล่าวโดยสรุป ผมอ่านภาพผลการตรวจสวนหัวใจของคุณว่าคุณอาจจะไม่มีโรคหลอดเลือดเลย หรือถ้ามีก็เป็นโรคระดับเล็กน้อย ซึ่งก็สอดคล้องกับที่คุณหมอที่รักษาคุณท่านได้ตัดสินใจใม่ใช้บอลลูนขยายหรือใส่ขดลวดถ่างเพราะท่านก็คงคิดแบบเดียวกับผม

    3. ประเด็นผลการส่องตรวจกระเพาะอาหาร (gastroscopy) ผลการส่องตรวจที่ส่งมาพบชัดเจนว่ามีการอักเสบของเยื่อบุผิวด้านในของหลอดอาหารตอนล่างร่วมกับการหลวมของกล้ามเนื้อหูรูดปลายล่างของหลอดอาหาร ซึ่งเป็นหลักฐานที่แน่ชัดว่าคุณเป็นโรคกรดไหลย้อน (GERD) อย่างแน่นอน และอาการของโรคกรดไหลย้อนนี้มันมีได้สาระพัดแบบ โดยที่บ่อยครั้งมาก อาการโรคนี้ไม่สามารถแยกออกจากอาการของโรคหัวใจขาดเลือดได้

    4. ผลสรุปการวินิจฉัยโรค ผมสรุปตามหลักฐานที่ให้มาทั้งหมดว่าคุณเป็นโรคกรดไหลย้อนแน่ แต่โรคหัวใจขาดเลือดคุณอาจจะเป็นในระยะต้นหรือไม่เป็นเลยก็ได้ อย่างไรก็ตามแนวทางการจัดการโรคที่ปลอดภัยที่สุดคือให้ถือว่าคุณเป็นทั้งสองโรคและให้จัดการทั้งสองโรคไปพร้อมกัน โดยผมแนะนำว่า

     5. สรุปคำแนะนำในการดูแลรักษาตัวเอง

     5.1 ให้โฟกัสที่การจัดการโรคกรดไหลย้อนเป็นสำคัญเพราะเป็นโรคที่เป็นที่มาของอาการแสบซ่าๆที่หน้าอกของคุณ โดย

     5.1.1 ยกหัวเตียงให้สูงขึ้น 8 นิ้ว ด้วยการเอาหนังสือหรือก้อนอิฐเสริมขาเตียงด้านศีรษะทั้งสองขาให้สูงขึ้น หรือไปซื้อฟูกรักษากรดไหลย้อน ซึ่งมีลักษณะสูงข้างบนต่ำข้างล่างมาปูทับที่นอนเดิม เมืองไทยนี้ก็มีขาย ทั้งนี้อย่าหวังพึ่งการหนุนหมอนหลายใบแทนเพราะมันไม่ช่วยแก้ปัญหากรดไหลย้อนนะครับ

     5.1.2 ต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่แสลงต่อโรคกรดไหลย้อน ในรายการอาหารที่คุณเล่ามาอย่างน้อย หอมใหญ่ และมะเขือเทศก็แสลงต่อกรดไหลย้อน อาหารอื่นที่แสลงต่อโรคกรดไหลย้อนก็เช่น 
     (1) อาหารไขมันสูงทุกชนิดรวมทั้งของผัดของทอดเพราะอาหารพวกนี้กระตุ้นฮอร์โมนบีบท่อน้ำดี (cholecystokinin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดปลายหลอดอาหารคลายตัวและทำให้อาหารอ้อยอิ่งอยู่ในกระเพาะอาหารนานขึ้นและย้อนขึ้นมาได้ง่ายขึ้น 
     (2) สะระแหน่หรือมินท์ งานวิจัยพวกที่ชอบดื่มชาเป็ปเปอร์มินท์ก็พบว่าเป็นกรดไหลย้อนมากกว่าคนไม่ดื่ม 
     (3) น้ำส้มคั้น เพราะงานวิจัยพบว่าน้ำส้มคั้นทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนซึ่งอาจจะเป็นเพราะกรดในตัวน้ำส้มนั่นเอง 
     (4) ชอกโกแล็ต เพราะมันมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อหูรูดปลายล่างหลอดอาหารได้ นอกจากนั้นมันทำมาจากโกโก้ซึ่งมีสารทีโอโบรมีนและคาเฟอีนและฮอร์โมนซีโรโทนินซึ่งล้วนคลายกล้ามเนื้อหูรูดได้ 
     (5) พริก เพราะงานวิจัยพบว่าสาร capsaicin ในพริกออกฤทธิ์ชลอการย่อยอาหารและทำให้อาหารผ่านออกจากกระเพาะช้าลง ไม่นับว่าตัวพริกเองมีความร้อนแรงสามารถระคายเคืองเยื่อบุหลอดอาหารได้อีกต่างหาก 
     (6) เกลือ เพราะงานวิจัยพบว่าคนยิ่งชอบกินเค็มมาก ยิ่งเป็นกรดไหลย้อนมาก 
     (8) แอลกอฮอล์ เพราะมันทั้งออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อหูรูด ทั้งกระตุ้นการหลั่งกรด และตัวมันเองก็เป็นสารระคายเคืองเยื่อบุ 
     (9) น้ำอัดลม งานวิจัยทำที่เกาหลีพบว่าคนดื่มน้ำอัดลมมีความเสี่ยงเกิดอาการกรดไหลย้อนมากกว่าคนไม่ดื่ม 69% 
     (10) นม เพราะงานวิจัยพบว่านมเป็นอาหารที่เพิ่มอาการกรดไหลย้อน

      5.1.3 เลิกนิสัยกินจนอิ่มเต็มที่ ควรหยุดกินตั้งแต่อีกห้าหกคำจะอิ่มก็หยุดได้แล้ว และ 3 ชั่วโมงก่อนเวลานอน รูดซิบปาก ห้ามกิน
     
     5.2 ควรเลิกยาแอสไพริน (Cardiprin) เสีย เพราะมาตรฐานใหม่ (AHA/ACC guiedlines 2019) ของการใช้ยาต้านเกล็ดเลือดในโรคหัวใจขาดเลือด ได้เลิกใช้ยาต้านเกล็ดเลือดในการป้องกันโรคแบบปฐมภูมิไปแล้ว (หมายถึงใช้ในผู้ที่มีความเสี่ยงแต่ยังไม่ได้เป็นโรคในระยะที่มีอาการมากถึงขึ้นเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน)  ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งยาแอสไพรินเป็นยาที่แสลงต่อกรดไหลย้อนเพราะมันกัดกระเพาะอาหาร ดังนั้นในกรณีของคุณนี้การกินยาแอสไพรินได้ไม่คุ้มเสีย

     5.3 ส่วนยาลดไขมัน (Xarater) นั้น หากคุณตั้งใจเปลี่ยนอาหารมาเป็นอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ วันหนึ่งในอนาคตหากระดับไขมันเลว (LDL) ในเลือดของคุณลดต่ำลงจนถึงเกณฑ์เป้าหมาย คุณก็ค่อยๆเลิกยาตัวนี้ได้

     5.4  ความเครียดมีผลทั้งทำให้การหลั่งกรดในกระเพาะมากขึ้นซึ่งทำให้กรดไหลย้อนรุนแรงขึ้น และมีผลทั้งทำให้โรคหัวใจขาดเลือด (ถ้าคุณเป็นจริง) มีอาการมากขึ้น ดังนั้นคุณต้องถือเอาการจัดการความเครียดเป็นวาระแห่งชาติ ความเครียดเกิดจากความคิด ให้คุณฝึกวางความคิด อ่านที่ผมเขียนตอบไปเรื่องการทำสมาธิวางความคิด ผมตอบไปบ่อยมาก ให้หาอ่านย้อนหลังแล้วทดลองปฏิบัติดู

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Jarosz M1, Taraszewska A1. Risk factors for gastroesophageal reflux disease: the role of diet. Prz Gastroenterol. 2014;9(5):297-301. doi: 10.5114/pg.2014.46166. Epub 2014 Oct 19.
2. Feldman M, Barnett C. Relationships between the acidity and osmolality of popular beverages and reported postprandial heartburn. Gastroenterology. 1995 Jan;108(1):125-31.
3. Murphy DW, Castell DO. Chocolate and heartburn: evidence of increased esophageal acid exposure after chocolate ingestion. Am J Gastroenterol. 1988 Jun;83(6):633-6.
4. Horowitz M1, Wishart J, Maddox A, Russo A. The effect of chilli on gastrointestinal transit. J Gastroenterol Hepatol. 1992 Jan-Feb;7(1):52-6.
5.Nilsson M, Johnsen R, Ye W, Hveem K, Lagergren J. Lifestyle related risk factors in the aetiology of gastro-oesophageal reflux. Gut. 2004 Dec;53(12):1730-5.
6. Allen ML, Mellow MH, Robinson MG, Orr WC. The effect of raw onions on acid reflux and reflux symptoms. Am J Gastroenterol. 1990 Apr;85(4):377-80.
7. Song JH, Chung SJ, Lee JH, Kim YH, Chang DK, Son HJ, Kim JJ, Rhee JC, Rhee PL. Relationship between gastroesophageal reflux symptoms and dietary factors in Korea. J Neurogastroenterol Motil. 2011 Jan;17(1):54-60. doi: 10.5056/jnm.2011.17.1.54.
8. Feldman M, Barnett C. Relationships between the acidity and osmolality of popular beverages and reported postprandial heartburn. Gastroenterology. 1995 Jan;108(1):125-31.
9. 2019 ACC/AHA Guideline on the Primary Prevention of Cardiovascular Disease: A Report of the American College of Cardiology/American Heart Association Task Force on Clinical Practice Guidelines. J Am Coll Cardiol 2019;March 17:[Epub ahead of print].
[อ่านต่อ...]

23 กรกฎาคม 2563

การสั่นสะเทือน (vibration) ขณะฝึกสมาธิ

เรียนคุณหมอสันต์
     หนูจะไปฝึกสมาธิกับครูฝรั่ง ซึ่งสอนให้หายใจเข้าออกลึกๆสามสิบครั้งแล้วก็กลั้นหายใจนิ่งไปให้นานที่สุด คือกลั้นไปอย่างน้อยนาทีครึ่ง หรือนานกว่านั้นถ้ากลั้นได้ เพื่อให้เกิดสมาธิ การฝึกแบบนี้จะมีอันตรายไหม

............................................................

ตอบครับ

      วิชากลั้นหายใจที่ฝรั่งสอนนั้นความจริงเป็นวิชาของโยคีนะครับ เขาเรียกว่าปราณายามา คือเล่นกับลมหายใจเพื่อควบคุมพลังชีวิต ถามว่ามันอันตรายไหม ตอบว่ามันไม่อันตรายดอก อยากลองทำก็ทำไปเถอะ แล้วสมองคุณทนขาดออกซิเจนได้นานถึงสี่นาที คุณกลั้นได้นานขนาดนั้นก็กลั้นไปเถอะ

     เพียงแต่ขอให้คุณเข้าใจไว้ก่อนว่าการหายใจแบบเข้าออกลึกๆแรงๆติดๆกันไปนานๆ จะทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดจะถูกชะออกไปทางลมหายใจออก (CO2 washed out) ทำให้เลือดเป็นด่างมาก ซึ่งจะทำให้แคลเซียมไหลเข้าไปอยู่ในเซลจนระดับแคลเซี่ยมในเลือดต่ำถึงขนาดเหนี่ยวนำให้เกิดความรู้สึกเหน็บๆชาๆบนผิวหนังหรือทำให้กล้ามเนื้อเป็นตะคริวหรือชักเกร็งหรือชักกระตุกได้ การรู้สึกเหน็บๆชาๆบนผิวหนังอาจช่วยการทำสมาธิในแง่ที่ทำให้รับรู้ความรู้สึกบนผิวกายได้ง่ายขึ้น ส่วนการเกร็งหรือกระตุกนั้นมันเป็นการชักเกร็งที่รู้ตัวดีอยู่ ภาวะอย่างนี้ภาษาแพทย์เรียกว่า hyperventilation syndrome มันไม่ได้มีอันตรายต่อสมอง มันไม่ใช่การชักแบบชักจนหมดสติและสมองขาดเลือดที่เรียกว่าลมบ้าหมูหรือ epilepsy มันคนละอย่างกัน

     อีกเรื่องหนึ่งคือหากการชะคาร์บอนไดออกไซด์นี้เกิดขึ้นมากอาจจะเกิดภาวะหยุดหายใจ (apnea) ขึ้นชั่วคราว อาจจะหยุดนานเป็นนาที แต่เมื่อคาร์บอนได้ออกไซด์เริ่มสะสมในเลือดใหม่ กลไกการหายใจซึ่งเป็นอัตโนมัตก็จะกลับมาเอง ในวิชาแพทย์นี้ยังไม่เคยมีข้อมูลรายงานไว้แม้แต่รายเดียวว่าใครที่กลั้นหายใจแล้วจะตายไปเลย เพราะหากกลั้นหายใจแล้วตายได้คนที่อยากจะฆ่าตัวตายก็คงไม่ต้องเหนื่อยยากไปซื้อเชือกหรือซื้อยานอนหลับเป็นขวดๆมากิน การหยุดหายใจชั่วคราวนี้อาจจะมีประโยชน์ในการฝึกสมาธิก็ได้ ในแง่ที่ว่าเจ้าตัวจะได้สัมผัสกับภาวะที่ตื่นมีสติดีอยู่แต่ติดต่อกับร่างกายของตัวเองไม่ได้ ซึ่งทำให้ได้ไอเดียว่าการดำรงอยู่โดยไม่มีร่างกายนั้นมันเป็นอย่างไร

     พูดถึงการสั่น (vibration) หรือชักกระตุกขณะนั่งสมาธินี้มันเกิดขึ้นได้เสมอแม้ในคนที่ไม่ได้กลั้นหายใจ พูดในภาษาสมาธิก็อาจจะอธิบายว่ามันเกิดจากเมื่อหมดความคิดแล้วจะมีพลังงานจากภายนอกไหลเข้ามา พลังงานระดับหยาบนี้ก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนบนร่างกายก่อน แล้วพลังงานระดับละเอียดคือปัญญาญาณจึงจะตามมา แต่หากพูดในภาษาแพทย์ มันเป็นกลไกของระบบประสาทอัตโนมัติที่จะไม่ยอมให้ร่างกายอยู่นิ่งๆนานๆ แต่ไม่ว่ากลไกพื้นฐานของจริงมันจะเป็นอย่างไร อันตรายมันเกิดขึ้นได้เสมอจากการบาดเจ็บของศีรษะหรือแขนขาที่จะไปกระแทกเอากับของแข็งรอบๆตัว ตัวผมเองก็เคยโดนมาแล้ว นั่งสมาธิอยู่โดยไม่มีประสบการณ์จึงไม่ได้ระวังตัว วันหนึ่งร่างกายเกิดสั่นเทิ้มขึ้นมา ก็ปล่อยให้มันสั่นไป มากเข้า มากเข้า จนหัวแกว่งไปโขกเอากับผนังปูน โป๊กยักษ์ จุหนึ่งลิตร โห..เจ็บมาก เกือบจะบรรลุธรรมไปเสียแล้ว

     แล้วธรรมชาติของการที่ร่างกายสั่นขณะนั่งสมาธินี้มันจะสั่นแบบดิ้นรนไปทุกทิศทุกทาง เราเบรคที่หัว มันไปสั่นที่แขน เราเบรคที่แขนมันไปสั่นที่ตัว เราเบรคที่ตัวมันไปสั่นที่ขา เราเบรคไว้ทั้งตัวทั้งแขนทั้งขามันสั่นในแนวกระดอนขึ้นจากพื้น ชนิดที่ทำให้ตัวเองเด้งสูงจากพื้นที่นอนได้ทีเป็นฟุต นี่ไม่ใช่การเหาะเหินเดินอากาศหรอกนะอย่าเข้าใจผิด แค่เป็นการสั่นอย่างแรงของร่างกาย แต่การเหาะอาจจะเกิดขึ้นได้เหมือนกันหากมันกระดอนอยู่บนเตียงแล้วไม่ตกลงที่เดิม คือกระดอน กระดอน หลายที ขยับไปทีละนิด ทีละนิด แล้วตกขอบเตียง..ป๊าบ..บ นั่นแหละการเหาะ หิ หิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

21 กรกฎาคม 2563

หลักฐานวิทยาศาสตร์ล่าสุดเกี่ยวกับไขมันอิ่มตัว (Saturated fat) และสุขภาพ

      เมื่อเดือนที่แล้ววารสารวิทยาลัยแพทย์โรคหัวใจอเมริกัน (JACC) ได้ตอบรับรายงานการทบทวนงานวิจัยชิ้นหนึ่ง [1] เพื่อจะลงตีพิมพ์ในวารสาร งานชิ้นนั้นชื่อ "ไขมันอิ่มตัวและสุขภาพ: การทบทวนและข้อเสนอให้เปลี่ยนคำแนะนำอาหาร" เนื้อหาสาระผมเห็นว่ามีประโยชน์ แม้ว่าในคณะผู้ทำรายงานทบทวนการวิจัยชิ้นนี้ซึ่งมีจำนวน 12 คน ผมอ่านดูแล้วเป็นผู้ได้รับสปอนเซอร์จากอุตสาหกรรมผลิตนมเสีย 6 คน แต่ผมก็ยังเห็นว่ามีประโยชน์ถ้าใช้ดุลพินิจให้ดี จึงนำมาให้อ่าน และเนื่องจากเรื่องที่จะเขียนนี้อาจทำให้แพทย์จำนวนมาก (โดยเฉพาะแพทย์โรคหัวใจ) ไม่ค่อยสบายใจว่าผมชักจะพูดอะไรนอกรีต ผมจึงให้บรรณานุกรมบอกที่มาของหลักฐานไว้ค่อนข้างละเอียดกว่าปกติ

     ก่อนที่ผมจะเขียนเจาะลึกถึงหลักฐานวิทยาศาสตร์ล่าสุดเรื่องไขมันอิ่มตัว ผมขอทำความเข้าใจกับท่านถึงข้อจำกัดต่างๆที่เรามีอยู่ ได้แก่

     1. ข้อจำกัดของโลกที่เราอยู่อาศัย

     โลกเรานี้เป็นโลกทุนนิยม อยู่ด้วยกันได้ด้วยการซื้อการขาย สินค้าหลักที่ซื้อขายกันก็คืออาหาร เมื่อมีการขายก็มีการส่งเสริมการขาย อาหารธรรมชาติลุ่นๆขายไม่ค่อยได้ราคาเพราะใครๆก็ปลูกก็ทำขายได้ จึงมีการผลิตอาหารแบบแยกเอามาเฉพาะโมเลกุลบางโมเลกุลจากอาหารธรรมชาติ เพื่อให้ขายได้ราคา เมื่อมีการขายก็ต้องมีการส่งเสริมการขาย ในรูปของการบอกว่าสินค้านั้นดี การบอกด้วยงานวิจัยเป็นวิธีบอกที่ขลังที่สุด จึงมีงานวิจัยเกี่ยวกับโมเลกุลย่อยในอาหารหรือที่เรียกกันว่า "สารอาหาร (nutrient) ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก มีอยู่ปีหนึ่งผมเคยนั่งทบทวนงานวิจัยเรื่องอาหาร ปรากฎว่าเฉพาะในปีนั้นมีงานวิจัยเรื่องอาหารตีพิมพ์ออกมาเกือบ 8,000 ชิ้น ระบบอย่างนี้ทำให้เกิดชื่อเรียกสารอาหาร เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ ซึ่งยังแยกย่อยไปอีกเช่น ไขมันอิ่มตัว ไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งก็ยังแยกย่อยไปอีกเป็นไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน ซึ่งเชิงซ้อนนี้ก็แยกย่อยไปอีกเป็นไขมันโอเมก้า 6 ไขมันโอเมก้า 3 เป็นต้น ยังไม่นับสารอาหารระดับโมเลกุลเดี่ยวที่พยายามจะวิจัยขึ้นมาให้ขายได้เช่น แอลคาร์นิทีน เรสเวอราทอล เป็นต้น แทบทุกงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารมาตรฐานล้วนสปอนเซอร์โดยอุตสาหกรรมอาหารที่จ้างทำวิจัยเพื่อมุ่งขายผลิตภัณฑ์ของตน แต่การวิจัยมันก็มีกฎเกณฑ์และวัฒนธรรมของมันอยู่ เท่ากับว่าในแต่ละงานวิจัยผู้อ่านต้องสกัดให้ออกว่าอันไหนเป็นข้อมูลความจริงจากผลวิจัย อันไหนเป็นลูกเล่นที่ใส่เข้ามาเพื่อขายอาหาร ผมมองเห็นว่าเราจะต้องอยู่ในระบบนี้ไปอีกนานหลายสิบปี จึงจำเป็นที่ท่านผู้อ่านจะต้องตามให้ทัน

     2. ข้อจำกัดของวิชาแพทย์แผนปัจจุบัน

     วิชาแพทย์แผนปัจจุบันรวมทั้งวิชาโภชนาการด้วย มีพื้นฐานอยู่บนงานวิจัยว่าอะไรดีอะไรไม่ดีสำหรับร่างกายมนุษย์ แต่งานวิจัยมีเป็นจำนวนมาก อย่างที่ผมบอกเมื่อตะกี้ว่าเรื่องอาหารเรื่องเดียวปีเดียวก็วิจัยออกมาตั้ง 8,000 รายการเข้าไปแล้ว แถมยังมีหลายระดับชั้น หลายระดับความน่าเชื่อถือ จึงเปิดโอกาสให้คนทำมาค้าขายสามารถเลือกทำวิจัยเลือกหยิบงานวิจัยเฉพาะส่วนที่จะทำให้ตนขายสินค้าได้มาไฮไลท์ วิธีเลือกทำวิจัยก็โดยการจ้างแพทย์หรือจ้างนักวิจัยหรือจ้างกรรมการคัดเลือกงานวิจัยมาทำคำแนะนำ ผมเคยนั่งอยู่ในคณะทำงานเลือกผลวิจัยมาทำคำแนะนำสมัยทำงานให้สมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA) ได้เห็นด้วยตาตัวเองว่าพวกที่รับเงินเขามานี้มันมีความเหนียวแน่นดื้อรั้นแค่ไหนในการจะทำจ๊อบตัวเองให้สมค่าจ้าง แม้ในหมู่แพทย์และนักวิชาชีพที่บริสุทธิ์ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการค้าขายก็ยังอาจมีอคติเลือกหยิบผลวิจัยที่ตัวเองชอบขึ้นมาไฮไลท์โดยไม่พูดถึงผลวิจัยส่วนที่ตัวเองไม่ชอบ วิธีการแบบนี้เรียกว่า hand pick ถ้าเป็นทนายความเขาเรียกว่าพูดความจริงครึ่งเดียว แปลไทยให้เป็นไทยก็คือการบิดเบือนข้อมูลนั่นแหละ มันเกิดขึ้นเสมอ มันเกิดขึ้นทุกที่ มันทำโดยทุกคน ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ เพราะทุกคนก็มีตัวตน ดังนั้นท่านผู้อ่านก็ต้องใช้ดุลพินิจของตัวเองเข้าไปประกอบด้วยในการตีความงานวิจัยต่างๆ

     3. Reductionism ข้อจำกัดของหลักฐานวิทยาศาสตร์

     กระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องลดปัจจัยกวน (confound factor) ในการเปรียบเทียบของสองสิ่ง การจะลดปัจจัยกวนได้ต้องหดตัวแปรในแต่ละกลุ่มตัวอย่างลง ลด ลด ลด จนในที่สุดเหลือน้อยที่สุดคือถ้าเป็นการวิจัยอาหารก็เป็นการวิจัยเปรียบเทียบโมเลกุลเดียว คือกินโมเลกุลนี้ กับไม่กินโมเลกุลนี้ จะต่างกันอย่างไร วิธีแบบนี้เรียกว่าย่อของจริงให้เหลือเล็กจิ๊ดเดียว (reductionism) พอได้ผลมาแล้วก็เอากลับไปประยุกต์ใช้กับชีวิตจริงซึ่งในอาหารแต่ละชนิดที่กินมีโมเลกุลเป็นหมื่นชนิด ไม่ใช่มีชนิดเดียว พอนานไปความก็จึงแดงขึ้นว่าผลวิจัยที่สรุปมานั้นไม่เป็นความจริง ยกตัวอย่างเช่นในชีวิตจริงเรากินแกงกะทิ กินหมูสามชั้น กินถั่วเหลือง กินงา แต่ในการวิจัยเรามีข้อมูลเกี่ยวกับไขมันอิ่มตัว ไขมันไม่อิ่มตัว โคเลสเตอรอล แล้วเราก็เอาผลวิจัยไปประยุกต์ว่าไขมันอิ่มตัวคือหมูสามชั้นและแกงกะทิ ไขมันไม่อิ่มตัวคือถั่วเหลือง ซึ่งมันอาจประยุกต์กันไม่ได้ เพราะหมูสามชั้นกับแกงกะทิมีโมเลกุลเป็นพันเป็นหมื่นชนิดแถมไม่เหมือนกันด้วย จะมีเหมือนกันก็เฉพาะโมเลกุลไขมันอิ่มตัวแค่นั้นแล้วจะไปเหมาเข่งว่าหมูสามชั้นเหมือนแกงกะทิมันก็กระไรอยู่ แต่ทุกวันนี้วิทยาศาสตร์ใช้วิธีนี้แนะนำอาหารให้ผู้คน มันจึงมีโอกาสที่จะผิดความจริงไปได้มาก

     งานวิจัย "ไขมันอิ่มตัวและสุขภาพ"

     เอาละ คราวนี้มาคุยถึงงานวิจัยที่ผมจั่วหัวไว้ งานวิจัยนี้สปอนเซอร์โดยอุตสาหกรรมผลิตนมวัว เจตนาของเขานั้นชัดอยู่ แต่ประโยชน์ที่เราจะได้คือมีความจริงอะไรใหม่ๆที่เรายังไม่รู้ที่อาจรู้ได้จากตรงนี้บ้าง งานวิจัยนี้ไมใช่การทำวิจัยใหม่แต่เป็นการทบทวนวรรณกรรม หมายความว่าเป็นการเปิดอ่านงานวิจัยเก่าๆทั้งหลายบรรดามีทั้งหมดแล้วทำข้อสรุปขึ้นมาใหม่เพื่อให้เห็นภาพใหญ่ภาพเดียวชัดๆว่าถ้าเรามองผ่านงานวิจัยที่มีอยู่แล้วทั้งหมด ภาพใหญ่ภาพเดียวนี้มันจะเป็นอย่างไร ซึ่งสรุปได้ว่า

     1. คำแนะนำของวงการแพทย์ที่แนะนำว่าให้จำกัดการกินไขมันอิ่มตัว (saturated fat) เพราะเป็นไขมันก่อโรคหลอดเลือดนั้นไม่น่าจะเป็นความจริง เพราะการยำรวมงานวิจัยแล้ววิเคราะห์รวมกันพบว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างการกินไขมันอิ่มตัวกับการตายเร็วและการเป็นโรคหลอดเลือด แถมยังมีบางงานวิจัยที่บ่งชี้ไปทางว่าการกินไขมันอิ่มตัวมากสัมพันธ์กับการเป็นอัมพาตเฉียบพลัน (stroke) น้อยลง

     2. การจะบอกว่ากินไขมันอิ่มตัวแล้วไปเพิ่มไขมันเลวในเลือด (LDL) ซึ่งสัมพันธ์กับการเป็นโรคหลอดเลือดก็เป็นการสรุปแบบผิดความจริง เพราะอาหารที่เป็นไขมันอิ่มตัวเพิ่มไขมันเลวชนิดอนุภาคใหญ่ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคน้อยกว่าไขมันเลวชนิดอนุภาคเล็ก

     3. การประเมินผลของอาหารต่อสุขภาพจะประเมินโดยมองแต่สารอาหารเฉพาะตัวหรือเฉพาะโมเลกุลที่อยู่ในอาหารนั้นไม่ได้ จะต้องคำนึงถึงสารอาหารทั้งหมดที่ผู้กินได้จากอาหารนั้นด้วย

     4. นมสดมีไขมันเต็มที่ เนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ทำเป็นไส้กรอกเบคอนแฮม ไข่ และดาร์คช็อกโกแล็ต เป็นอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวมากและมีโมเลกุลอาหารอื่นอยู่รวมกันอย่างซับซ้อน เมื่อกินอาหารเหล่านี้แล้วก็ไม่มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หลักฐานที่มีถึงทุกวันนี้ไม่สนับสนุนให้จำกัดอาหารเหล่านี้

     คำอธิบายของหมอสันต์

     ที่งานวิจัยนี้สรุปออกมานั้น อะไรจริง อะไรไม่จริง

     ข้อสรุปข้อ 1. ที่ว่าไขมันอิ่มตัวไม่สัมพันธ์กับการเป็นโรคหลอดเลือด หมอสันต์จะว่าไง ตอบว่า

     1.1 นับถึงวันนี้วงการแพทย์ยังถือว่าไขมันอิ่มตัวเป็นต้นเหตุของโรคหลอดเลือดอยู่ แต่หลักฐานและความเห็นแย้ง (controversy) มีมากขึ้นๆ วันหนึ่งข้างหน้าวงการแพทย์จะเปลี่ยนความเห็นในเรื่องนี้หรือไม่ ผมไม่ทราบครับ

     1.2 อย่างน้อยมีหลักฐานใหม่สามชิ้น [2-4] ที่บ่งชี้ว่าถ้ามองเฉพาะไขมันอิ่มตัวอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงว่ามันได้จากอาหารชนิดไหน (ไม่แยกแยะว่าได้จากพืชหรือได้จากสัตว์) พบว่าไขมันอิ่มตัวไม่สัมพันธ์กับการเป็นโรคและอัตราตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจ

     ข้อสรุปข้อ 2. ที่ว่ากินไขมันอิ่มตัวแล้วไปเพิ่มไขมันเลวในเลือด (LDL) ไม่ใช่ประเด็นต้องกังวล เพราะอาหารที่เป็นไขมันอิ่มตัวเพิ่มไขมันเลวชนิดอนุภาคใหญ่ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคน้อยกว่าไขมันเลวชนิดอนุภาคเล็ก หมอสันต์จะว่าไง ตอบว่า

     2.1 เป็นความจริงที่ว่าไขมันเลว (LDL) มีอนุภาค (particle) ย่อยอยู่ในตัวมันหลายชนิด และอนุภาคชนิดเล็กมีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าอนุภาคชนิดใหญ่ [5-8]

     2.2 เป็นความจริงที่ว่ากรดไขมันอิ่มตัวจากอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรด myristic และกรด palmitic (ซึ่งมีมากในน้ำมันมะพร้าวและน้ำมันปาล์ม) จะไปเพิ่มไขมันเลวในเลือดชนิดที่มีอนุภาคใหญ่มาก [9] ซึ่งเป็นอนุภาคชนิดที่สัมพันธ์กับการเป็นโรคน้อย

     2.3 เป็นความจริงที่ว่าในการทดลองลดอาหารคาร์โบไฮเดรตและเอาอาหารไขมันอิ่มตัวเข้าไปแทนไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ทำให้ค่าไขมันเลวในเลือด (LDL) สูงขึ้น โดยที่ส่วนที่สูงขึ้นนั้นเป็นไขมันเลวชนิดอนุภาคใหญ่ [10] ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคน้อยกว่าชนิดอนุภาคเล็ก

     2.4 ในเชิงพันธุกรรม คนที่ไขมันเลว (LDL) ในเลือดสูงมีสองแบบ [11] คือแบบอนุภาคเล็ก (phynotype B) และแบบอนุภาคใหญ่ (phenotype A) และมีหลักฐานว่าการเพิ่มไขมันอิ่มตัวในคนที่มียีนแบบ phynotype B ทำให้เพิ่มจำนวนไขมันเลวชนิดอนุภาคเล็กในเลือดซึ่งสัมพันธ์กับการเป็นโรคมากขึ้น [12] ดังนั้นจะสรุปลุ่นๆว่ากินไขมันอิ่มตัวไปเถอะไม่ต้องไปสน LDL ก็ไม่ได้ ต้องดูพันธุกรรมของแต่ละคนด้วย

    ข้อสรุปข้อ 3. ที่ว่าการมองผลของอาหารต่อสุขภาพจะมองแต่สารอาหารเฉพาะตัวที่อยู่ในอาหารนั้นไม่ได้ จะต้องคำนึงถึงสารอาหารทั้งหมดที่ผู้กินได้จากอาหารนั้นด้วย หมอสันต์จะว่าอย่างไร ตอบว่า เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ อย่างเช่นคนชอบกินหมูสามชั้นสุขภาพเขาแย่ลงอาจจะไม่ใช่เพราะหมูสามชั้นก็ได้ อาจเป็นเพราะอาหารที่เขากินมันไม่มีพืชผักก็ได้ เป็นต้น หมอสันต์เป็นคนต่อต้านลัทธิ reductionism แต่เมื่อมาประกอบอาชีพแพทย์ซึ่งมีแต่งานวิจัยที่ทำขึ้นมาจากมุมมอง reductionism ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่กล้อมแกล้มอยู่ในอาชีพนี้ไปรอวันเลิกไปนั่งสมาธิ หิ หิ จึงขอบ่นแต่ว่าเมื่อไหร่เราจะเลิกพูดถึงสารอาหาร (nutrient) เช่นโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมันอย่างโน้นอย่างนี้กันเสียที แล้วหันมาพูดถึงรูปแบบของการกินที่ทำให้สุขภาพดี (healthy food pattern) เช่นกินอาหารแบบมีพืชแยะๆ เป็นต้น

      ข้อสรุปข้อ 4. ที่ว่า นมสดแบบมีไขมันเต็มที่ เนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ทำเป็นไส้กรอกเบคอนแฮม ไข่ และดาร์คช็อกโกแล็ต เป็นของดีไม่ควรห้ามกินหมอสันต์จะว่าอย่างไร ตอบว่า ตรงนี้เขาใส่เข้ามาเพื่อให้เบิกเงินสปอนเซอร์การวิจัยได้ อย่าไปว่าอะไรเขาเลยครับ

     ถามจริงๆเหอะ โดยส่วนตัวหมอสันต์คิดอย่างไรกับไขมันอิ่มตัว

     คนเราก็เป็นเสียอย่างนี้ พูดไปเรื่อยเปื่อยก็ว่าเชื่อไม่ได้ต้องมีหลักฐาน บอกหลักฐานแล้วก็ยังไม่แล้วใจต้องถามความคิดเห็นส่วนตัวอีก โอเค.ถามมาก็ตอบให้ได้ โดยส่วนตัวผมมีความเห็นว่าการที่วงการแพทย์ไปเล็งเป้าไปที่สารอาหาร (nutrient) ชนิดใดชนิดหนึ่งเช่นเล็งไปที่ไขมันอิ่มตัวว่าเป็นเหตุของโรคนั้นเป็นการเล็งผิดเป้าไปเสียตั้งแต่แรกแล้ว ทำให้มีผลเสียตามมามากมาย เริ่มตั้งแต่แนะนำให้จำกัดไขมันอิ่มตัวไว้ไม่เกิน 10% ของแคลอรี่รวม จำกัดโคเลสเตอรอลไว้ไม่เกิน 300 มก.ต่อวัน แล้วหลักฐานต่อมาก็พิสูจน์ว่าคำแนะนำเหล่านี้เหลวไหลไร้สาระ ประเด็นของผมไม่ได้ไฮไลท์ที่ว่าวงการแพทย์พูดแล้วมันไม่เป็นความจริง แต่ผมไฮไลท์ตรงที่เราเล็งเป้าผิด เรามัวไปเล็งเป้าเล็ก เราไปเล็งสารอาหารรายตัว ทั้งๆที่เราควรจะเล็งเป้าใหญ่ คือแบบแผนของอาหารที่เรากินในภาพรวม พอเล็งเป้าผิดแล้วผลเป็นไง เราก็ไปมั่วกันอยู่แต่กับไขมันอิ่มตัวว่ามันเลว มันชั่ว เราจะเอาอะไรมาแทนมันดี เอาไขมันทรานส์มาแทน อ้าวไม่ดีอีก เอาไขมันไม่อิ่มตัวมาแทน อ้าวไม่ดีอีก ทั้งหมดนี้เสียเวลาไปหลายสิบปี แล้วของดีๆที่เราควรจะกินละ อย่างเช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืชไม่ขัดสี นัท เมล็ดต่างๆ ไม่มีใครพูดถึงเลย เพราะเรามัวแต่ไปเล็งเป้าอยู่ นี่.. มันผิดพลาดตรงนี้แหละค่าท่านสารวัตร

     ยัง..ยัง เกมเล็งเป้ายังเล่นกันไม่เลิก ต่อไปพอบอกผู้คนว่าที่ว่าวงการแพทย์เคยบอกว่าไขมันอิ่มตัวเป็นของเลวนั้นพูดผิดขอพูดใหม่นะว่ามันไม่ได้เลวแล้ว คนก็จะเฮโลกินไขมันอิ่มตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งหมูเห็ดเป็ดไก่ของชอบเพราะคนกำลังเล่นเป้าไขมันอยู่ และโลกทั้งโลกก็เล่นเป้ากันเพลินเสียแล้ว แถมเราถนัดเป้าเล็ก ซึ่งยังมีเป้าเล็กอีกหลายเป้าให้เล่น เช่น โคเลสเตอรอล ไขมันดี ไขมันเลว ไขมันเลวอนุภาคใหญ่ ไขมันเลวอนุภาคเล็ก เล่นกันไปสนุกสนานโดยไม่สนใจภาพใหญ่ของอาหารที่กิน คือจะกินเอาผลแล็บหรือกินเอาเป้า ทำอย่างนี้แล้วใครได้ดี ก็อุตสาหกรรมอาหารที่ผลิตอาหารแปลกๆและขายได้ราคาแพงกว่าอาหารธรรมชาตินั่นแหละครับที่เป็นฝ่ายได้ พอนานไปข้อมูลออกมาว่าเป้านั้นไม่ใช่ ก็ย้ายเป้าใหม่บนคอนเซ็พท์ reductionism เดิมๆโดยไม่มีใครพูดถึงภาพใหญ่ของการกินอาหารเพื่อให้สุขภาพดี ก็ไปเข้าทางผู้ผลิตอาหารแปลกๆอีกนะแหละ โปรดักส์เก่าไม่เดินแล้ว เปลี่ยนโปรดักส์ใหม่ เล่นกันไปไม่เลิก

     เขียนมาถึงตรงนี้ผมมองว่าคอนเซ็พท์ที่อันตรายอีกคอนเซ็พท์หนึ่งคือ nutrient density หมายความว่าการเลือกอาหารให้ได้สารอาหารต่อหน่วยพลังงานให้ได้มากที่สุด มันชวนคนมาเล่นเป้าเล็กคือสารอาหารอีกแล้ว มันไปเข้าทางการตลาดเพื่อขายอาหารอุตสาหกรรม เพราะพอเล่นสารอาหารก็จะเกิดความบ้าสารอาหารบางตัวเช่นความบ้าโปรตีน หรือเช่นการเอากากเทียมมาใส่ในอาหารเพื่อเอาตัวเลขว่ามีกากมาก และการจับแพะชนแกะเช่นการทำให้เข้าใจว่าโปรตีนคือเนื้อนมไข่ไม่เกี่ยวกับพืชทั้งๆที่ในความเป็นจริงอาหารพืชตามธรรมชาติล้วนก็เพียงพอที่ให้โปรตีนแก่ร่างกาย (ซึ่งวิจัยไว้โดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐแล้วว่าโปรตีนแค่ 10% ของแคลอรี่ทั้งหมดก็เพียงพอแล้ว)

     ผมแนะนำว่าให้เราในฐานะคนที่จะต้องดูแลตัวเองถอยมามองภาพใหญ่ของการกินอาหารกับการมีสุขภาพดีนะครับ งานวิจัยเชิงระบาดวิทยาให้ผลคงที่มาตลอดว่าอัตราการป่วยและตายนั้นผกผันกับสัดส่วนของอาหารโปรตีนจากสัตว์ หมายความว่ายิ่งกินสัตว์มากจะยิ่งป่วยและตายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็ง หัวใจ และกระดูกพรุน ความสัมพันธ์นี้คงที่ลงไปจนถึงโปรตีนจากสัตว์เหลือ 0% ในพวกมังสวิรัติเลยทีเดียว โดยที่หลักฐานในห้องทดลองทุกวันนี้ก็อธิบายได้ชัดเจนแล้วว่าอาหารโปรตีนจากสัตว์ทำให้เกิดโรคหัวใจและมะเร็งได้อย่างไร [13] ผลเสียอันนี้มันเกิดขึ้นได้ทั้งสองทาง ทางหนึ่งคือการได้เนื้อสัตว์ซึ่งเป็นของไม่ดีมากเกินไป อีกทางหนึ่งคือเมื่อกินเนื้อสัตว์มากก็ได้กินอาหารพืชซึ่งเป็นของดีน้อยเกินไป

     ข้อมูลอีกอันหนึ่งที่คนไม่ค่อยได้พูดถึงคือเรารู้มานานแล้ว [14-16] ว่าอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์เป็นตัวเพิ่มโคเลสเตอรอลในเลือดมากกว่าโคเลสเตอรอลจากอาหาร แม้แต่ Ancel Keys ซึ่งเป็นผู้ตั้งต้นให้เล็งเป้าไปที่ไขมันอิ่มตัวก็ยังพูดไว้ตั้งแต่ปี 1956 แล้วว่า [17] "ตอนนี้มันชัดเจนแล้วว่าโคเลสเตอรอลในอาหารอย่างเดียวมีผลต่อโคเลสเตอรอลในเลือดน้อยมาก"

     ผมเห็นว่าเราได้พลาดโอกาสดีไปตั้งแต่เมื่อสี่ห้าสิบปีที่แล้วตรงที่หากตอนนั้นเราหยิบเอาหลักฐานที่ว่าโปรตีนจากสัตว์ไม่ดีต่อสุขภาพนี้ขึ้นมาไฮไลท์แทนที่จะมาเล่นเป้าไขมันอิ่มตัวไม่อิ่มตัว ป่านนี้สุขภาพของผู้คนน่าจะฉลุยแล้ว แต่นั่นมันผ่านไปแล้ว ช่างมันเถอะ มาเอาตอนนี้ดีกว่า ตอนนี้เรายังเล่นเป้าผิดกันอยู่นะ และจะเล่นกันเพลินไปอีกหลายสิบปี โดยที่สุขภาพของผู้คนก็จะยังไม่ดีขึ้น จนกว่าจะมีคนบ้าสักคนหนึ่งลุกขึ้นมาล้มล้างวิทยาศาสตร์แบบ reductionism นี้ลงไปได้สำเร็จ ไม่งั้น reductionism ก็จะเป็นเครื่องมือของอุตสาหกรรมอาหารโดยเอาสุขภาพของผู้คนเป็นแพะต่อไปไม่มีวันเลิกรา

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Astrup, A., Magkos, F., Bier, D. M., Brenna, J. T., de Oliveira Otto, M. C., Hill, J. O. et al. Saturated Fats and Health: A Reassessment and Proposal for Food-based Recommendations: JACC State-of -the-Art Review. J Am Coll Cardiol, doi:10.1016/j.jacc.2020.05.077 (2020).
2. Chowdhury R, Warnakula S, Kunutsor S, Crowe F, Ward HA, Johnson L, et al. Association of dietary, circulating, and supplement fatty acids with coronary risk: a systematic review and meta-analysis. Ann Intern Med. 2014. March 18;160(6):398–406. 10.7326/M13-1788
3. Mente A, de Koning L, Shannon HS, Anand SS. A systematic review of the evidence supporting a causal link between dietary factors and coronary heart disease. Arch Intern Med. 2009. April 13;169(7):659–69. Epub 2009/04/15. eng. 10.1001/archinternmed.2009.38
4. Siri-Tarino PW, Sun Q, Hu FB, Krauss RM. Meta-analysis of prospective cohort studies evaluating the association of saturated fat with cardiovascular disease. Am J Clin Nutr. 2010. March;91(3):535–46. Epub 2010/01/15. eng. 10.3945/ajcn.2009.27725
5. Musunuru K, Orho-Melander M, Caulfield MP, Li S, Salameh WA, Reitz RE, et al. Ion mobility analysis of lipoprotein subfractions identifies three independent axes of cardiovascular risk. Arterioscler Thromb Vasc Biol. 2009. November;29(11):1975–80. PMC2772123. Epub 2009/09/05. eng. 10.1161/ATVBAHA.109.190405
6. Williams PT, Zhao XQ, Marcovina SM, Otvos JD, Brown BG, Krauss RM. Comparison of four methods of analysis of lipoprotein particle subfractions for their association with angiographic progression of coronary artery disease. Atherosclerosis. 2014. April;233(2):713–20. 10.1016/j.atherosclerosis.2014.01.034
7. St-Pierre AC, Cantin B, Dagenais GR, Mauriege P, Bernard PM, Despres JP, et al. Low-density lipoprotein subfractions and the long-term risk of ischemic heart disease in men: 13-year follow-up data from the Quebec Cardiovascular Study. Arterioscler Thromb Vasc Biol. 2005. March;25(3):553–9. Epub 2004/12/25. eng. 10.1161/01.ATV.0000154144.73236.f4
8. Mora S, Otvos JD, Rifai N, Rosenson RS, Buring JE, Ridker PM. Lipoprotein particle profiles by nuclear magnetic resonance compared with standard lipids and apolipoproteins in predicting incident cardiovascular disease in women. Circulation. 2009. February 24;119(7):931–9. Epub 2009/02/11. eng. 10.1161/CIRCULATIONAHA.108.816181
9. Dreon DM, Fernstrom HA, Campos H, Blanche P, Williams PT, Krauss RM. Change in dietary saturated fat intake is correlated with change in mass of large low-density-lipoprotein particles in men. Am J Clin Nutr. 1998. May;67(5):828–36. Epub 1998/05/16. eng.
10. Krauss RM, Blanche PJ, Rawlings RS, Fernstrom HS, Williams PT. Separate effects of reduced carbohydrate intake and weight loss on atherogenic dyslipidemia. Am J Clin Nutr. 2006. May;83(5):1025–31; quiz 205. Epub 2006/05/11. eng. [PubMed] [Google Scholar]
11. Austin MA, King MC, Vranizan KM, Krauss RM. Atherogenic lipoprotein phenotype. A proposed genetic marker for coronary heart disease riskCirculation. 1990. August;82(2):495–506. Epub 1990/08/01. eng.
12. Chiu S, Williams PT, Krauss RM. Effects of a very high saturated fat diet on LDL particles in adults with atherogenic dyslipidemia: A randomized controlled trial. PLoS One. 2017;12(2):e0170664. Published 2017 Feb 6. doi:10.1371/journal.pone.0170664
13. Campbell, T. C. Nutrition renaissance and public health policy. J. Nutr. Biology 3, 124-138, doi:DOI:10.1080/01635581.2017.1339094 (2017) (2017).
14. Clarkson, S. & Newburgh, L. H. The relation between atherosclerosis and ingested cholesterol in the rabbit. J. Exp. Med. 43, 595-612 (1926).
15. Kritchevsky, D. in Animal and vegetable proteins in lipid metabolism and atherosclerosis (eds M.J. Gibney & D Kritchevsky) 1-8 (Alan R. Liss, 1983).
16. Sirtori, C. R., Noseda, G. & Descovich, G. C. in Current Topics in Nutrition and Disease, Volume 8: Animal and Vegetable Proteins in Lipid Metabolism and Atherosclerosis. (eds M.J. Gibney & D. Kritchevsky) 135-148 (Alan R. Liss, Inc., 1983).
17. Keys, A., Anderson, J. T. & Mickelsen, O. Serum cholesterol in men in basal and nonbasal states. Science 123, 29 (1956).
[อ่านต่อ...]

20 กรกฎาคม 2563

สิบโรคสิบเรื่อง น่าจะมีอีกเรื่องที่สิบเอ็ด คือเรื่องยาตีกัน

กราบเรียน คุณหมอครับ

ผมขอความกรุณาคุณหมอรบกวนเวลาสอบถามเรื่องทาน Aspirin หน่อยนะครับ
คุณพ่อผมอายุ 68 ปีแล้วครับ เบื้องต้น เมื่อตอนอายุ 63 ปี คุณพ่อเริ่มมีอาการของโรค MDS โดยตอนนั้น ตรวจค่า CBC ได้ platelet ประมาณ 50000 กว่าๆ หลังจากที่หัวแม่โป้งเท้าเดินไปชนแล้วเลือดไหลไม่หยุด จึงไป รพ และครั้งนั้นทาง รพ. ได้ตรวจค่า CBC จึงได้ทราบว่าค่าเกล็ดเลือดต่ำกว่าเกณฑ์
แต่ ณ.เวลานั้นคุณพ่อยังไม่ได้คิดอะไรมาก เนื่องจาก กินข้าวลง ทานข้าวได้ เดินได้เหมือนคนปกติแข็งแรง หลังจากนั้นตอนอายุ 65-66 ปี เริ่มมีอาการเจ็บคอไม่ค่อยหาย  ต้อง admit ให้ยาฆ่าเชื้อ ปีนึง 2 ครั้ง คุณหมอทางด้านโลหิตวิทยา ได้เริ่มให้ยา androgen กับ steriod เพื่อเพิ่มค่าเม็ดเลือดขาว
ขณะที่คุณพ่อได้รับยาอยู่นั้น ได้ไป ตจว. และนอนค้างห้องที่ไม่สะอาด จึงติดเชื้อวัณโรคกลับมา หลังจากทานยารักษาวัณโรค ค่าเม็ดเลือดแดงก็ drop ลงทันที เริ่มมีการให้  red pack cell ตามอาการ ขณะรักษาวัณโรคอยู่ ( ใช้สูตร 9 เดือน ) ได้เจอ Mycotic Aneurysm ตรงที่คอซึ่งไม่สามารถใช้ stent ได้ คุณหมอจึงต้องผ่าแบบเปิด ก่อนจะทำคุณหมอได้ฉีดสีประเมิณหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจไม่มีปัญหาอะไร 100%, ลิ้นหัวใจ98% แต่ได้เจอเส้นเลือดหัวใจตีบ 3 เส้น 20%, 50% 70% โดยที่คุณพ่อไม่เคยมีอาการเจ็บหน้าอกมาก่อน คุณหมอเลยแจ้งว่าไหนๆก็ต้อง ผ่าแบบ open แล้วก็จัดการทั้ง Aneurysm และ by pass หัวใจไปเลย การผ่าตัดออกมาไม่มีปัญหาครับ หลังจากนั้น ก็ได้ทำ stent ที่ Thoracic aortic aneurysm ต่อ ณ. ตอนนี้ยังเหลือเส้น Abdominal aneurysm ซึ่งคุณหมอแจ้งว่าต้องรอสั่งทำจาก ตปท. เพราะเส้นนี้ต้องใช้สั่งทำตามแต่ละคนเลย ใช้แบบมาตรฐานไม่ได้ครับ
ผมเลยขอเรียนถามคุณหมอหน่อยนะครับ
ตอนนี้คุณพ่อค่อนข้างจะซีดเมื่อทาน ASA 81 mg. , หลังจากทำ CABG และ stent ที่ทรวงอกมาแล้ว 1 ปีครึ่ง พอที่หยุด ASA ได้ไหมครับ หรือจะต้องทานตลอดชีวิตครับ ?
เพราะเดือนที่แล้วคุณหมอจะส่องกล้องที่ลำไส้ (เนื่องจากมีสาเหตุที่ให้เลือดไป 6 ถุง ค่า Hb ก็ขึ้นมาจาก 5.9--> 7.9  ก่อนจะกลับบ้านคุณพ่อแจ้งว่าถ่ายเป็นสีดำ คุณหมอเลยไม่ให้กลับและอยู่ต่อ เพื่อส่องกล้องครับ )คุณหมอเลยสั่งหยุด ASA เกือบ 1 เดือน ช่วง 1 เดือนนั้น ค่า Hb คุณพ่ออยู่ที่ 8.1 ตลอดโดยที่ไม่ต้องให้เลือดเลยครับ และพอให้เลือด 2 packs ขึ้นเป็น 11 กว่าๆ เลยครับ พอกลับมาทาน ASA ได้ 1 สัปดาห์ Hb ก็ drop จาก 11.x-->8.1 ครับ
ผลของการส่องกล้องครั้งแรกเจอ สะเก็ดเลือด ( ที่ทำให้คุณพ่อถ่ายเป็นสีดำ ) พอส่องครั้งที่สองสะเก็ดหายไปหมดแล้ว และไม่มีสิ่งผิดปกติ แต่เหลือมุมขวาบนของลำไส้คุณหมอส่องไม่ถึงทั้งสองครั้งครับ เพราะมันตีบ คุณหมอส่องกล้องจึงตอบอะไรไม่ได้ว่ายังมีรั่วส่วนนั้นไหม
คุณหมออายุกรรมเลย ฉีดสีดู พบว่าผนังลำไส้มันหนาตัวขึ้นมานิดหน่อย แต่ยังสรุปไม่ได้ว่าเป็นมะเร็งไหม เลยรอฉีดสีอีกทีเมื่อ 1 เดือนข้างหน้าครับ
คุณหมอส่องกล้องแจ้งก่อนเห็นผลฉีดสีว่า ไม่ค่อยมีคนเป็นมะเร็งส่วนนั้น แต่หลังฉีดสีคุณหมออายุรกรรมบอก 50-50  คุณหมอว่าแนวโน้มอันตรายมากไหมครับ?
โรค MDS คุณพ่อเป็นแบบ Hypocellular MDS multilineage dysplasia blast 7% จาก BM Biopsy ล่าสุดครับ ต้องฉีด Filgrastim 480 mg. สัปดาห์ละ 2 เข็มครับเพื่อกระตุ้นเม็ดเลือดขาว ซึ่งตอบสนองได้ดีครับ
ส่วน EPO 40000 IU ฉีดทีไร เลือดออกตามปากหรือทวาร หรือทางปัสสวะ ไม่ก็ขึ้นผื่นแดงๆ ไล่ไปตั้งแต่อกลงท้อง แล้วก็หายไปภายใน 1-2 วัน
ไม่ฉีดก็ไม่เป็นครับ คุณหมอด้านโลหิตวิทยาเลยสรุปว่าEPO ไม่ได้ผลเลยเลิกฉีดครับ
ทางด้านเกร็ดเลือดไม่ค่อย critical ครับ  ส่วนมากจะอยู่ที่ 80000-100000 นานๆ จะเหลือ 60000 ทีนึงครับ คุณหมอจะเติมต่อเมื่อจะทำอะไรที่ต้องให้เกร็ดเลือดเกิน 100000 เท่านั้นครับ
เป็นไปได้ไหมครับว่า EPO ได้ผลแต่ระบบเส้นเลือดเขาอ่อนแอ จึงรั่วออกมาจากจุดต่างๆประกอบกับทาน ASA ด้วยครับ?
คุณพ่อมักจะบ่นปวดหลังเสมอๆ ถ้าทาน Arcoxia ก็หายครับ แต่ล่าสุดคุณหมอได้เปลี่ยนเป็น ultracet แทน เพราะคุณหมอด้านหัวใจไม่ค่อยชอบให้ทาน Arcoxia เท่าไหร่เนื่องจากยามักจะสร้างปัญหาให้กับหัวใจ
คุณพ่อได้เคย x-ray,MRI โดยคุณหมอ orthopedic คุณหมอแจ้งว่ากระดูกปกติ น่าจะปวดมาจากกล้ามเนื้อช่วงเอวต้องมาพยุงมาก เลยทำให้ปวดครับ คุณหมอไม่ได้ทำการนัดต่อแล้วเพราะไม่น่าจะมีอะไรในส่วนของ orthopedic
การที่คุณพ่อปวดหลังสาเหตุเกิดจากที่เขาไม่ค่อยออกกำลังกาย หรือว่าเพราะ Abdominal aneurysm ครับผม? ( เมื่อราวๆ 1 ปีที่แล้ว เส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 4.8 cm. ครับ )
ค่า Ferritin คุณพ่ออยู่ที่ประมาณ 4000 ทาน Deferasirox อยู่ครับ แต่ค่า Sodium อยู่ที่ 124
เท่าที่ผมทราบถ้ามันต่ำมากๆจะทำให้ซึม ที่ผ่านมาคุณหมอด้านโรคไตใช้วิธีจำกัดน้ำ 1 ลิตร/ วัน ถึงจะได้ผล ทานเม็ดเกลือเท่าไหร่ก็ไม่ขึ้นเลย
การที่ค่า Ferritin สูง มันอันตรายมากไหมครับ และค่า Sodium ต่ำ ให้ทำผู้ป่วยซึม และมีผลข้างเคียงอื่นๆที่ผมควรระวังไหมครับ?
ขอขอบพระคุณคุณหมอมากๆครับ หากจะสละเวลาตอบคำถามผมครับ เนื่องจากโรคนี้คนเป็นน้อยมาก  และแต่ละคนก็มี gene mutation ต่างกัน
การรักษาจึงยิ่งยากขึ้นไปอีก เพราะแต่ละคนก็ตอบสนองกับยาแตกต่างกันครับ หากคุณหมอมีแนวทางปฎิบัติตัวผมก็จะได้นำไปแจ้งคุณพ่อเพื่อปฎิบัติตามที่คุณหมอแนะนำครับ
ด้วยความเคารพ

.........................................................

ตอบครับ

     ผู้ป่วยอายุ 68 ปี เป็นโรคซับซ้อนหลายโรค ผมสรุปเป็นปัญหาเรียงลำดับตามความสำคัญดังนี้

     1. โรคไขกระดูกเสื่อม (myelodysplastic syndrome - MDS) ซึ่งทำให้เกิดโลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ และเลือดออกง่าย
     2. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือหัวใจขาดเลือด (IHD) ซึ่งผ่าตัดบายพาสไปแล้ว และกินยาแอสไพรินซึ่งทำให้เลือดออกง่าย
     3. ภาวะเลือดออกในลำไส้ จากจุดที่สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งลำไส้แต่ยังพิสูจน์ไม่ได้
     4. โรควัณโรคซึ่งรักษาด้วยยาครบแล้ว
     5. โรคหลอดเลือดแดงที่คอโป่งพองจากการติดเชื้อ (mycotic aneurysm) ซึ่งรักษาด้วยการผ่าตัดใส่หลอดเลือดเทียมไปแล้ว
     6. โรคหลอดเลือดใหญ่ที่หน้าอกโป่งพอง (thaoracic aortic aneurysm - TAA) ซึ่งผ่าตัดใส่หลอดเลือดเทียมไปแล้ว
     7. โรคหลอดเลือดใหญ่ที่ท้องโป่งพอง (abdominal aortic aneurysm - AAA) ซึ่งมีแผนว่าจะผ่าตัดใส่เส้นเลือดเทียมในไม่กี่เดือนข้างหน้า
     8. อาการปวดหลังซึ่งอาจเกิดจาก AAA หรือปวดกล้ามเนื้อหลังก็ได้ แต่จำเป็นต้องใช้ยาบรรเทาปวด
     9. ภาวะโซเดียมต่ำซึ่งอาจจะเกิดจากโรคไตเรื้อรังชนิดสูญเสียเกลือ (salt wasting nephropathy) หรือจากพิษของสาระพัดยาที่ได้ก็ยังไม่รู้
     10. ภาวะพิษของเหล็กและเหล็กคั่งค้างในร่างกายจากเม็ดเลือดแตกและการถ่ายเลือดซ้ำซาก

     โห.. สิบโรค สิบเรื่อง แต่ละเรื่องก็มียามาให้สองสามตัว รวมยาแล้วน่าจะมีสักยี่สิบตัว คุณไม่ได้ให้ชื่อยาทั้งหมดมาแต่ผมก็พอเดาได้ว่าน่าจะยังมีอีกปัญหาเป็นปัญหาที่สิบเอ็ด คือปัญหายาตีกัน ซึ่งหมอเขายังไม่ได้ไฮไลท์ตอนนี้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคหนักและซับซ้อนขนาดนี้ผมตอบคำถามให้คุณทางไปรษณีย์ไม่ได้หรอกครับ การจะแนะนำอะไรต้องมีข้อมูลมากกว่านี้อีกเพียบ ต้องได้ตรวจร่างกายผู้ป่วยด้วย จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะตอบคำถามให้ได้เป็นเนื้อเป็นหนังทางบล็อกนี้ ผมแนะนำให้คุณจับเขาคุยกับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายที่ดูแลคุณพ่ออยู่ ซึ่งผมนับแล้วมีไม่น้อยกว่า 8 ท่าน คุณต้องจับเข่าคุยไปทีละท่าน รวมแล้ว 16 เข่า (หิ หิ พูดเล่น) จึงจะสรุปแผนการรักษาที่เป็นของจริงแท้มีประโยชน์ได้ ตัวผมนั้นทำได้แค่ตอบคำถามให้คุณแบบข้างๆคูๆ ดังนี้

     1. ถามว่าจะเลิกกินยาแอสไพรินได้ไหม ตอบว่าการใช้ยาแอสไพรินหลังการทำผ่าตัดบายพาสก็ดี หลังการผ่าตัดใส่หลอดเลือดเทียมที่หลอดเลือดใหญ่ aorta ก็ดี หลังการใส่หลอดเลือดเทียมที่คอหรือที่ขาก็ดี เป็นการรักษาตามประเพณีนิยม ไม่เคยมีงานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบที่พิสูจน์ได้ว่ายาแอสไพรินในกรณีเหล่านี้ช่วยลดจุดจบที่เลวร้ายให้ผู้ป่วยได้จริงหรือไม่ ดังนั้นในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคอื่นที่มีโอกาสตายจากเลือดออกมากเช่นกรณีคุณพ่อคุณนี้ โทษของยาแอสไพรินนั้นชัด แต่ประโยชน์ยังไม่ชัด การเลิกยาแอสไพรินก็ทำได้ครับ ตำรวจไม่จับหรอก

     2. ถามว่าหมอส่องกล้องลำไส้เห็นบริเวณที่สงสัยเป็นเนื้องอกแต่อยู่ในหลืบที่ตัดชิ้นเนื้อไม่ได้บอกได้แต่ว่า 50-50 มันอันตรายไหม ตอบว่าอ้าว..แล้วหมอสันต์จะรู้ไหมเนี่ย ลำไส้ท่อนไหนผมยังไม่รู้เลย เพราะคุณไม่ได้ส่งรายงานการส่องตรวจลำไส้มาให้ดู

     3. ถามว่าเป็นไปได้ไหมที่ยากระตุ้นไขกระดูก (EPO) อาจจะได้ผลแต่คนไข้ซีดเอาซีดเอาเพราะเสียเลือดจากยาแอสไพริน ตอบว่าเป็นไปได้ครับ

     4. ถามว่าการที่คุณพ่อปวดหลังนี้เป็นเพราะไม่ได้ออกกำลังกายหรือเป็นเพราะหลอดเลือดโป่งพองที่ท้อง ตอบว่าเป็นไปได้ทั้งสองอย่างครับ แต่โอกาสจะเกิดจากหลอดเลือดที่มีขนาดแค่ 4.8 ซม.นั้นมีน้อยมากครับ

     5. ถามว่าการที่ค่า Ferritin สูง 4000 มันอันตรายมากไหมครับ ตอบว่าอันตรายมากครับ เพราะเป็นอย่างนี้อีกไม่นานตับก็จะเจ๊งและอวัยวะสำคัญอื่นๆก็จะทนพิษของเหล็กไม่ไหว..โดยเฉพาะหัวใจ

     6. ถามว่าค่า Sodium ต่ำทีให้ทำผู้ป่วยซึม มีผลข้างเคียงอื่นๆไหมครับ ตอบว่ามีครับ มีเพียบ ผลที่สำคัญที่สุดคือตาย หมายความว่าโซเดียมในเลือดต่ำนี้ทำให้ตายได้เพราะอวัยวะสำคัญทำงานไม่ได้

     7. ถามว่าหมอสันต์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปฎิบัติตัวอย่างไร ตอบว่า

7.1 หยุดยาแอสไพริน เพราะประโยชน์ไม่ชัวร์ แต่โทษมีชัวร์ๆ
7.2 หยุดยา Arcoxia
7.3 เริ่มใช้ชีวิตใหม่ในแนวที่ทำให้ชีวิตมีคุณภาพ โดย
7.3.1 ออกแดดทุกวันเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคติดเชื้อที่จะมาหาเพราะไขกระดูกผิดปกติ
7.3.2 ออกกำลังกายสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อหลัง เช่นรำกระบอง และการยืดเหยียดต่างๆ
7.3.3 กินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระอันได้แก่พืชผักผลไม้มากๆเพื่อให้กลไกธรรมชาติของร่างกายค่อยๆเยียวยาตัวเอง
7.4 เอายาทุกตัวไปปรึกษากับคุณหมออายุรกรรมที่รักษาอยู่เพื่อเมคชัวร์ว่าไม่มียาตัวไหนเป็นต้นเหตุให้โซเดียมต่ำ เพราะหมอแต่ละคนมักไม่รู้หรอกว่าผู้ป่วยทานยาทุกตัวอะไรบ้าง และเพราะมันมีโอกาสมากเหลือเกินที่ผู้ป่วยได้ยามากอย่างคุณพ่อของคุณนี้จะเกิดผลข้างเคียงของยาทำให้โซเดียมต่ำระดับกินเกลือวันละกำมือแล้วก็ยังเอาไม่อยู่
7.5 ใช้ชีวิตในลักษณะอยู่กับวันนี้ ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น และอยู่กับมัน วันข้างหน้าอะไรจะเกิดขึ้นนั้นเอาไว้ก่อน ปักหลักอยู่กับวันนี้ อะไรมาหาก็ให้มันมา แล้วรับมือกับมันไปทีละช็อต อย่าไปคิดข้ามช็อตจะเสียเวลาที่จะมีความสุขกับการใช้ชีวิตที่เดี๋ยวนี้ไปเปล่าๆ 

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

19 กรกฎาคม 2563

คุณกำลังตกร่องรีไซเคิ้ลความจำเก่าๆบูดๆของคุณ

คุณหมอสันต์ครับ
ผมวางความคิดไม่ได้ ทำอย่างไรก็วางไม่ได้ ผมอยากถามคุณหมอว่า
1. ผมไม่เข้าใจว่าทำไมผมจึงอยู่ภายใต้การกำกับของความคิดตลอดเวลาโดยที่ผมไม่มีหนทางออกจากมันไปได้ คนอื่นเขาก็เป็นแบบเดียวกับผม เวลาประชุมกันเรื่องงาน เพื่อนร่วมงานบางคนเขาก็เถียงคำไม่ตกฟากแสดงว่าเขาก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลความคิดของเขาโดยเขาไม่รู้ตัว (ซึ่งเผอิญเป็นความคิดไร้เหตุผลเสียด้วย)
2. ทำอย่างไรคนเราจึงจะประชุมกันแล้วพูดกันรู้เรื่องได้ข้อสรุปที่ดี นอกจากการบอกว่าให้ตั้งใจฟังคนอื่นแบบ deep listening ซึ่งเป็นแค่คำบอกแต่การปฏิบัติจริงนั้นไม่มีแก่นสารอะไร
3. คนเรานี้จะสามารถทำการงานโดยไม่ต้องคิดได้ไหม
4. ช่วยบอกวิธีวางความคิดแบบลัดที่ปฏิบัติได้
5. เมื่อวางความคิดได้แล้ว รู้ตัวแล้ว ลึกลงไปกว่านั้นมีอะไรอีกไหม

..............................................................

ตอบครับ

     1. ถามว่าทำไมคนเราจึงเผลอตัวเป็นทาสของความคิดตลอดเวลา ตอบว่าเพราะความคิดเป็นสิ่งเดียวที่มนุษย์เรารู้จัก เมื่อเรารู้จักอะไร เราก็อยู่กับสิ่งนั้น อวยกับสิ่งนั้น เราย่อมจะไม่ไปอวยกับอะไรอื่นที่เราไม่เคยรู้จักใช่ไหมละ

     2. ถามว่าประชุมกันแล้วพูดกันไม่รู้เรื่องจะทำอย่างไรดี ตอบว่าคุณก็แพลมออกมาในคำถามของคุณเองนะว่าที่พูดกันไม่รู้เรื่องนั้นเพราะการเป็นคนไร้เหตุผล การจะประชุมกันให้รู้เรื่องต้องตั้งต้นด้วยการยอมรับความจริงว่ามันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนที่เบื้องลึกจะเป็นคนไร้เหตุผล (irrational) เพราะความคิดของแต่ละคนก็คือการเคลื่อนไหวของประสบการณ์หรือความจำในอดีตของเขาในเวลา วันนี้เมื่อผมพูดถึง "เวลา" ขอให้เข้าใจตรงกันว่าผมหมายถึงเวลาที่เราวาดขึ้นในใจหรือ psychological time นะ ไม่ใช่เวลาที่เข็มนาฬิกาติ๊กตอกๆ นั่นเป็น clock time ไม่เกี่ยวกัน

     พูดง่ายๆว่าความคิดก็คือการรีไซเคิ้ลความจำเก่าๆบูดๆของแต่ละคน แล้วความจำบูดๆเหล่านั้นมันมาจากไหน มันล้วนชงขึ้นมาโดยสำนึกว่าเป็นบุคคลหรืออีโก้ของแต่ละคนซึ่งมีเป้าหมายจะปกป้องอีโก้ซึ่งเป็นความคิดตัวแม่ให้ดำรงอยู่ ในเมื่ออีโก้เป็นเพียงชุดของความคิดซึ่งไม่ใช่ของที่มีอยู่จริง แล้วทุกคนมานั่งประชุมกันเพื่อปกป้องสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงของใครของมัน แค่ให้พูดกันรู้เรื่องบ้างก็บุญแล้วนะคุณ

     ที่คุณว่า deep listening เป็นคำแนะนำไร้สาระ เออ ผมว่ามันก็ไม่ถึงขนาดนั้นนะ คือในระดับความคิดการฟังอย่างตั้งใจเป็นเครื่องมือที่ดีมากนะ เพราะ

     (2.1) มันทำให้คุณเห็นหัวคนอื่น นั่นคือเมตตาธรรมถูกไหม เมตตาธรรมเป็นพลังงานเชื่อมโยงชีวิตทุกชีวิตเข้าด้วยกันนะ คุณเริ่มตรงนี้ก็เริ่มจะสื่อสารกันรู้เรื่องไปค่อนครึ่งแล้วทั้งๆที่ยังไม่ได้เอ่ยปากพูดอะไรกันเลย

     (2.2) เมื่อคุณล้างหูตั้งใจฟัง คุณเคลียร์ความคิดของคุณทิ้งไปจากหัวคุณก่อนถูกไหม ไม่งั้นคุณจะรับฟังความคิดใหม่เข้าหัวคุณได้ยังไง การที่คุณเคลียร์ความคิดของคุณทิ้งไปเนี่ย คุณได้วางความคิดของคุณสำเร็จขั้นหนึ่งแล้ว เป็นประโยชน์กับตัวคุณแล้ว เห็นไหม

     (2.3) คุณตั้งใจจะเป็นคนมีเหตุมีผล (rational) นั่นหมายความว่าคุณต้องวางสำนึกว่าเป็นบุคคลหรืออีโก้ของคุณลงไปก่อนเพื่อจะเอาเหตุผลขึ้นมานำ ถูกไหม ก็เท่ากับว่าคุณได้ลดตัวตนคุณลงไปอีกละ เป็นประโยชน์กับคุณอีกละ เห็นไหม 

     ดังนั้นถามว่าทำอย่างไรประชุมกันจึงจะพูดกันรู้เรื่อง คำตอบก็คือ deep listening ที่มีสามองค์ประกอบข้างต้นครบถ้วนนั่นแหละ เป็นคำตอบให้คุณ

     3. ถามว่าคนเราจะทำ (act) โดยไม่ต้องคิดได้ไหม ตอบว่าได้ ถ้าคุณนิยามว่าการคิดหมายถึงการคิดในรูปแบบปกติที่เป็นการรีไซเคิลความจำบูดๆเก่าๆ

     แต่ประเด็นสำคัญคือการทำโดยไม่คิดมันมีสองระดับนะ คือ

     3.1 การ "ทำ" ในระดับต่ำกว่าความคิด คือทำผ่านสัญชาติญาณ (instinct) ของเซลร่างกายเลยโดยไม่ต้องรอคิด หรือโดยเป็นอิทธิพลจากฮอร์โมนหรือดีเอ็นเอ.ที่ฝังอยู่ในเซลก็แล้วแต่ ถามว่าวิธีนี้จะใช้ทำงานได้ไหม คุณก็ลองเอาหมาแมวสักตัวมานั่งโต๊ะเป็นผู้จัดการดูสิ เพราะหมาแมวมีสัญชาติญาณทุกอย่างครบเครื่องดีกว่าคนเสียอีก คุณว่ามันจะเป็นผู้จัดการได้ไหมละ

     3.2 การ "ทำ" ในระดับสูงกว่าความคิด คือคุณต้องวางความคิดลงไปให้หมดก่อน เหลืออยู่แต่ความรู้ตัวที่ปราศจากความคิด ณ ที่ตรงนั้นสิ่งหนึ่งในรูปแบบของพลังงานจากภายนอกจะโผล่เข้ามา เรียกว่าเป็นปัญญาญาณ (intuition) หรือความรู้จริงแบบไม่บิดเบือน (insight) ก็ได้ มันมาจากไหนไม่รู้ แต่ว่ามันโผล่มาแน่ในภาวะที่หมดความคิดแล้ว จากเจ้าตัวปัญญาญาณนี้คุณสามารถทำ (act) ได้เลยโดยไม่ผ่านความคิดได้ หรือคุณจะให้เจ้าปัญญาญาณนี้ทำงานร่วมกับกลไกการคิดของสมองก็ได้ ซึ่งก็จะได้ความคิดอีกแบบหนึ่งขึ้นมาเป็นความคิดชนิดที่ไม่ใช่การรีไซเคิ้ลความจำเก่าๆของคุณ

     ถามว่าแล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเจ้าปัญญาญาณนี้จะโผล่มา ตอบว่าคุณก็วางความคิดให้ได้หมดก่อนสิครับ แล้วคุณก็จะได้เห็นประจักษ์ด้วยตัวเอง วิธีอื่นไม่มี

     แต่ผมชี้เบาะแสล่วงหน้าไว้ให้ก่อนนะ ว่าหากคุณตั้งใจ๊ ตั้งใจ วางความคิดด้วยความมุ่งมั่นจะให้ปัญญาญาณโผล่ขึ้นมา แบบทำอะไรเพื่อจะให้จบด้วยรางวัลหรือการลงโทษ ปัญญาญาณมันไม่โผล่นะ เพราะความมุ่งมั่นตั้งใจนั้นเป็นกลไกการก่อความคิดในมิติของเวลาครั้งใหม่ขึ้นในใจคุณ คือตอนนี้ฉันเป็นนี่ ฉันกำลังจะเปลี่ยนไปเป็นนั่น I am this ไปสู่ I am becoming that นี่เป็นการสร้างความคิดใหม่ เรียกว่าเป็นกระบวนการ becoming เป็นการปลูกมิติของเวลาขึ้นในใจครั้งใหม่ เมื่อมีเวลา ความจำเก่าๆก็จะเคลื่อนไหวได้ เพราะอย่าลืมว่าความคิดก็คือการเคลื่อนไหวของความจำในเวลา นั่นคือกลไกการรีไซเคิลความคิดจะถูกกุขึ้นมาใหม่ วิธีนี้ปัญญาญาณจะไม่เกิด ปัญญาญาณมันจะเกิดได้ก็เฉพาะในที่ที่ไม่มีความคิด ไม่มีสำนึกว่าเป็นบุคคล ไม่มีเวลา คือมีแต่เดี๋ยวนี้เท่านั้น ดังนั้นมันต้องเป็นการสำรวจสืบค้นแบบสังเกตเอาโดยไม่มีความพยายามจะให้มันเกิดและไม่เกี่ยวกับเป้าหมายที่เป็นรางวัลหรือการลงโทษ

    4. ถามว่าทำอย่างไรจึงจะวางความคิดได้แบบลัด ตอบว่าคุณก็แค่วางมันลงแบบวางกระบุงวางตะกร้า นั่นแหละลัดที่สุด แต่ถ้าคุณทำไม่ได้ คุณก็ต้องฝึกสมาธิ (meditation) ซึ่งมีหลายวิธี ฝึกจนคุณวางความคิดในขณะนั่งสมาธิได้แล้วก็ขยายผลไปวางความคิดในขณะทำกิจประจำวัน

     วิธีที่ผมแนะนำให้ลองใช้คือการตามดูลมหายใจ (breathing meditation) โดยใช้เครื่องมือ 7 อย่างสลับกันไปตามจังหวะเวลาอันควร ได้แก่
     (1) ความสนใจ (attention)
     (2) ลมหายใจ (breathing)
     (3) ความรู้สึกบนร่างกาย (body scan)
     (4) การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ (relaxation)
     (5) การกระตุ้นตัวเองให้ตื่น (alertness)
     (6) การสังเกตความคิด (aware of a though)
     (7) การจดจ่อซ้ำซาก (concentration)

     วิธีใช้เครื่องมือเหล่านี้ผมเขียนไปบ่อยมาก คุณหาอ่านย้อนหลังเอาในบล็อกนี้ได้

     5. ถามว่าเมื่อวางความคิดได้แล้ว รู้ตัวแล้ว ลึกลงไปกว่านั้นมีอะไรอีกไหม ตอบว่านี่คุณกำลังตกร่องรีไซเคิลความจำบูดๆของคุณอีกละนะ คือตกไปอยู่ในเวลา จากตรงนี้ซึ่งกำลังเป็นนี่อยู่จะไปเป็นนั่น คุณจะไปไหนไม่รอดหรอก ถ้าคุณทิ้งเวลาออกไปจากใจคุณไม่ได้ อยู่กับเดี๋ยวนี้ให้ได้ก่อน แล้วมีอะไรอยู่หลังกอไผ่นั้นไหม คุณก็จะได้เห็นเอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

17 กรกฎาคม 2563

สร้างพฤติกรรมใหม่ดีๆให้สำเร็จด้วยเทคนิคทำนิดเดียว (Tiny Habit)

(นพ.สันต์ฝึกอบรมแพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งจะไปเป็นโค้ชแก่ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปในการดูแลสุขภาพตนเองในรพ.ทั่วประเทศ ตัดมาเฉพาะตอนที่คุยกันเรื่องเทคนิค Tiny Habit)

....................................................................

     การจะเป็นโค้ชที่ดี คุณต้องโค้ชตัวเองให้สำเร็จก่อน ผมจะไม่พูดถึงการใช้ทฤษฎีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง (stage of change model) เพราะพวกเรารู้จักดีแล้ว และจะไม่พูดเรื่องการบำบัดแบบ cognitive behavior therapy เพราะผมเพิ่งพูดไปทางซูมเมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้เอง ในการโค้ชตัวเองที่จะให้คุณทดลองทำในแค้มป์นี้ ผมจะให้คุณทดลองใช้เท็คนิคที่เรียกว่า "ทำนิดเดียว" หรือ (Tiny Habit) เทคนิคไทนี่แฮบิทนี้มีวิธีทำเป็นขั้นตอน ดังนี้

     ขั้นที่ 1. สำรวจพฤติกรรมดีๆที่เป็นไปได้

     การเสริมสร้างสุขภาพจะสำเร็จหากทำพฤติกรรมใหม่ที่ดีได้สำเร็จ ให้คุณคิดก่อนว่าพฤติกรรมใหม่ที่ดีที่คุณควรทำมันมีอะไรที่เป็นไปได้บ้าง เอ้า..ทำการบ้านกันเดี๋ยวนี้เลยนะ ให้คุณเขียนลงบนกระดาษ สมมุตินะ สมมุติว่าผมให้ไม้คทาวิเศษคุณอันหนึ่ง หากคุณอยากทำพฤติกรรมดีๆอะไรก็ตามในชีวิตนี้ ด้วยไม้คทาวิเศษนี้คุณจะทำได้สำเร็จอย่างยั่งยืนอย่างไม่มีเงื่อนไข คุณลองลิสต์ขึ้นมาซิ ว่าคุณอยากมีพฤติกรรมใหม่ที่ดีๆอะไรเป็นนิสัยประจำตัวบ้าง เขียนมาเถอะ ด้วยไม้คทาวิเศษนี้มันเสกให้คุณทำได้สำเร็จหมด ยกตัวอย่างเช่น

จะวิดพื้นวันละ 50 ครั้ง
จะนั่งสมาธิวันละครึ่งชั่วโมง
จะทำสุริยนมัสการเช้าละ 12 ครั้ง
จะกินผลไม้วันละสองจาน
จะเดินวันละหมื่นก้าว
จะงดกินอาหารหลังเที่ยงวันจนถึงรุ่งเช้า
จะยิ้มทักคนอื่นก่อน
จะดื่มน้ำวันละสองลิตร
จะผ่อนคลายกล้ามเนื้อใบหน้า
จะกินถั่ววันละกำมือ
จะเลิกกินเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
จะผ่อนคลายคอบ่าไหล่
จะกระโดดเชือกวันละร้อยครั้ง
จะยืดตัวให้ตรงอยู่เสมอ....
เป็นต้น

     ขั้นที่ 2. เลือกอันดีที่สุดขึ้นมาทำก่อน

     ในการเลือกพฤติกรรมขึ้นมาทำจริง ให้ยึดหลักในการเลือกสองประการ คือเลือกอันที่ (1) ทำง่าย และ (2) ได้ผลแรง

     1. ทำง่าย หมายความว่ามีปัจจัยเกื้อหนุนห้าอย่างต่อไปนี้พร้อม คือ
     1.1 คุณจัดเวลาให้ได้
     1.2 คุณจัดเงินให้ได้ (ถ้าต้องใช้เงิน)
     1.3 ร่างกายของคุณแข็งแรงพอทำได้
     1.4 จิตใจของคุณพร้อมทำ
     1.5 คุณผนวกมันเป็นกิจวัตรประจำวันได้

     2. ได้ผลแรง หมายความว่าอะไรก็ตามที่ทำแล้วมีประสิทธิผลต่อชีวิตสูง ให้เอาไว้ลำดับต้นๆ เรื่องที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในเรื่องสุขภาพก็หนีไม่พ้นสี่องค์ประกอบของการมีสุขภาพดี คือ (1) อาหาร (2) การออกกำลังกาย (3) การจัดการความเครียด และ (4) การมีเพื่อนช่วยกันและกัน พฤติกรรมใดก็ตามในทั้งสี่เรื่องนี้ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ได้ผลแรง

     ขั้นที่ 3. ลงมือทำ ซึ่งมีสี่สะเต็พ คือ

     -3.1 หาที่เกี่ยวสมอ (anchoring) หมายความว่าพฤติกรรมใหม่จะเกิดขึ้นเป็นกิจวัตรประจำวันได้ต้องเริ่มต้นด้วยการหาที่ยึดเกาะกับกิจวัตรประจำวันที่ทำเป็นประจำทุกเมื่อเชื่อวันอยู่แล้วอันใดอันหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น

เมื่อฉี่เสร็จ ฉันจะ..วิดพื้น
เมื่อเดินผ่านประตู ฉันจะ..โหนบาร์ (ที่ติดไว้ที่วงกบประตู)
เมื่อลืมตาตื่น ฉันจะบอกตัวเองว่า..
เมื่อเท้าแตะพื้นตอนเช้า ฉันจะ....
เมื่อแปรงฟันเสร็จ ฉันจะ....
เมื่ออึเสร็จ ฉันจะ....
เมื่อสตาร์ทรถเสร็จ ฉันจะ...
เมื่อหัวถึงหมอน ฉันจะ....

    3.2 ทำเล็กๆ ก็คือเริ่มเล็กๆระดับจิ๋วๆเลยเสมอ อย่าโลภมาก เช่น

เมื่อเดินผ่านประตู ฉันจะโหนบาร์หนึ่งครั้ง
เมื่อฉี่เสร็จ ฉันจะวิดพื้นสองที
เมื่อลืมตาตื่น ฉันจะบอกตัวเองว่าวันนี้เป็นวันดี
เมื่อเท้าแตะพื้นตอนเช้า ฉันจะทำสคว็อชหนึ่งครั้ง
เมื่อแปรงฟันเสร็จ ฉันจะยกดัมเบลสองครั้ง
เมื่ออึเสร็จฉันจะทำท่า Lunges สองที
เมื่อสตาร์ทรถเสร็จ ฉันจะยิ้มกว้างหนึ่งที
เมื่อหัวถึงหมอน ฉันจะนอนสมาธิหนึ่งนาที

     การทำเล็กๆมันมีข้อดีนะ ตรงที่ 

     (1) มันทำได้เร็ว 
     (2) มันทำได้ทันที 
     (3) มันปลอดภัยไม่ต้องกลัวเสียความนับถือตัวเอง 
     (4) จากเล็กมันกลายเป็นใหญ่ได้เอง โดยเราไม่ต้องเคี่ยวเข็ญ 
     (5) มันไม่ต้องอาศัยความบันดาลใจหรือพลังใจมากมาย 
     (6) มันเปลี่ยนชีวิตคุณได้ เพราะมันก็สร้างวงจรระบบประสาทอัตโนมัติใหม่จนกลายเป็นนิสัยถาวรได้เช่นเดียวกับการเกิดนิสัยถาวรทั้งหลาย 

     3.3 ทำทันที หมายความว่าเมื่อฉี่เสร็จ ก็วิดพื้นสองทีทันที ใหม่ๆอาจต้องจัดให้มีการเตือนให้ทำทันที วิธีเตือนก็เช่น

     เขียนไว้บนกระจกห้องน้ำ
     ตั้งกระดิ่งในโทรศัพท์มือถือ
     แปะโน้ตที่ตู้เย็น
     แปะโน้ตที่จอโทรศัพท์มือถือ
     บอกให้ลูกหรือเพื่อนคอยเตือน เป็นต้น

     3.4 แล้วเฉลิมฉลอง คือการเฉลิมฉลองหรือ celebration เนี่ยเป็นสูตรสำเร็จที่ตายตัวในการทำพฤติกรรมใหม่ให้ยั่งยืน เพราะมันเป็นการผูกวงจรระบบประสาทอัตโนม้ติที่้เรียกว่า condition reflex ให้ครบวงจร อันจะนำไปสู่การทำซ้ำซากจนกลายเป็นนิสัยใหม่ขึ้นมาได้ อันที่จริงการเฉลิมฉลองนี้เนื่องจากมันเป็นส่วนสำคัญมาก ผมแนะนำให้เฉลิมฉลอง ณ สามจุดเลย คือ หนึ่ง เมื่อนึกได้ว่าจะทำ  สอง เมื่อกำลังทำ สาม เมื่อทำสำเร็จแล้ว

     วิธีการเฉลิมฉลองก็เลือกเอาแบบที่ตัวเองชอบ ตัวอย่างเช่น

ชูกำปั้นร้องว่า เย้..
ยิ้มกว้างๆแล้วร้อง ฮ้า..
จิตนาการว่าลูกๆนั่งปรบมือให้อยู่
ฮัมเพลงท่อนที่ชอบ
เต้นรำไปรอบๆสองสามก้าว
ปรบมือ
ผงกศีรษะ หงึก หงึก หงึก
ชูหัวแม่โป้งให้ตัวเอง
จินตนาการว่าฝูงชนกำลังปรบมือให้
บอกตัวเองว่า Good Job
หายใจเข้าลึกๆแล้วยิ้ม
ดีดนิ้ว
หลับตาจินตนาการเห็นมีคนจุดพลุให้
เงยหน้าขึ้นกางแขนรูปตัววี
เคาะจังหวะกลองแต๊กบนโต๊ะ
วาดการ์ตูนยิ้ม
ยิ้มให้ตัวเองในกระจก
ยกมือไหว้ตัวเอง
เอากำปั้นทุบหน้าอกซ้ายสามครั้ง
ถูมือด้วยความดีใจ
ไฮไฟว์ตัวเอง (กับกระจกเงา หรือมือซ้ายกับมือขวา)
เงยหน้ายิ้มกับท้องฟ้า
กระโดดตบมือเหนือศีรษะ
โพสท์ท่าเบ่งกล้าม
สูดลมหายใจดูดพลังงานเข้าตัว
ดมดอกไม้ที่วางไว้ใกล้ๆ
ส่งจูบ
หัวเราะดังๆ

หรืออะไรก็ได้ที่ทำให้คุณรู้สึกว่าสะใจหรือสุขใจเมื่อได้ทำ

     การบ้านเฉพาะตัว

     ให้ทุกคนเลือกพฤติกรรมใหม่สำหรับตัวเองอย่างน้อยหนึ่งพฤติกรรม แล้วลงมือทำด้วยหลักสี่สะเต็พ คือหาที่เกี่ยวสมอกับกิจวัตรประจำวัน, ทำเล็กๆ, ลงมือทำเลย, แล้วเฉลิมฉลอง โดยให้ทำพฤติกรรมนั้นเลยตั้งแต่วันนี้ และทำทุกวันตลอดที่ยังอยู่ในแค้มป์นี้ ทุกคนต้องมีประสบการณ์จริงด้วยตัวเองกับตรงนี้นะ เพื่อจะได้เอาประสบการณ์นั้นมาแชร์กันในวันสุดท้าย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Fogg, B. J.. Tiny Habits: The Small Changes That Change Everything. Boston: Houghton Mifflin Harcourt, 2020. 
[อ่านต่อ...]

13 กรกฎาคม 2563

ความมืดนั้น มันจะกลายเป็นมืดแบบเจิดจ้า ขณะที่ความเงียบนั้นจะยิ่งเงียบ

(ระยะหลังมานี้ ชอบมี "แขก" ที่แสวงหาความเงียบสงบมาเช่าที่เวลเนสวีแคร์นอนปลีกวิเวก บ้างก็มาเป็นกลุ่มเพื่อมาปฏิบัติธรรมด้วยกัน บ้างก็มาสองสามคนเพื่อมาอยู่เงียบๆนิ่งๆเฉยๆ บางครั้งผมแวะลงไปทำธุระที่นั่นก็มีโอกาสได้พูดคุยด้วยบ้าง บางเรื่องที่คุยกันอาจจะมีประโยชน์กับท่านผู้อ่านบล็อก)

แขก

     คุณหมอสันต์นับถือพุทธหรือเปล่าครับ เพราะในบทความที่เขียนบ่อยครั้งมากที่ไม่เป็นไปตามแนวคำสอนของพระพุทธเจ้า

นพ.สันต์

     ถ้าการนับถือหมายถึงการเลือกหยิบเอาบางส่วนมาใช้ ผมนับถือหลายศาสนาครับ อย่างน้อยก็ ฮินดู คริสต์ พุทธ และอิสลามนิกายซูฟี่ สรุปว่าผมหยิบเอาหลายศาสนามาใช้ คนสอนผมหลายคนอยู่นอกวงศาสนา คือเป็นชาวบ้านธรรมดาบ้าง เป็นคนทรงบ้าง เป็นหมอผี (shaman) บ้าง คือใครว่าอะไรดีผมเอามาลองหมด อะไรที่ตัวเองลองแล้วเวอร์คก็เก็บไว้ใช้ อะไรที่ไม่เวอร์คก็ทิ้งไป

     แต่ถ้าการนับถือหมายถึงการเข้าร่วมพิธีกรรมหรือการระบุไว้ในทะเบียนบ้าน ช่วงหนึ่งของชีวิตผมเติบโตมาในวัดพุทธ คือเป็นเด็กวัดอยู่หลายปี คือเป็นพุทธ 100% สวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็นทุกวัน อีกช่วงหนึ่งในโบสถ์คริสต์และเข้ารีตลงทะเบียนจุ่มน้ำรับศีลมหาสนิท คือเป็นคริสต์ 100% พอเป็นผู้ใหญ่ก็หันไปนับถือสายโยคี รับมันตราส่วนตัวมาจากกูรูซึ่งถ่ายทอดต่อๆกันมาเป็นสาย ต่อมาก็มีครูหลายคน ทั้งที่เป็นโยคีที่สอนคำสอนในภควัทคีตา และทั้งโยคีอิสระที่ปฏิเสธภควัทคีตา ดังนั้นแม้จะนับเอาแต่ส่วนที่เป็นพิธีกรรม ผมก็ยังเป็นคนหลายศาสนาอยู่ดี ดังนั้นนับผมว่าเป็นคนไม่มีศาสนาจะง่ายกว่า และข้อสำคัญคำพูดของผมจะอ้างว่าเอามาจากศาสนาใดๆนั้นไม่ได้เลย เพราะมันมั่วซั่วไปหมดเดี๋ยวจะไปทำให้ของจริงเขาเสีย

แขก

     คำว่าหลุดพ้นในที่นี้หมอสันต์หมายถึง

นพ.สันต์

     หลุดพ้นจากกรงจองจำที่ก่อขึ้นมาจาก "ความคิด" ของตัวเอง ความคิดที่ชงขึ้นมาเพื่อปกปักษ์รักษาสำนึกว่าเป็นบุคคลนี้ ด้วยเข้าใจผิดว่าสำนึกว่าเป็นบุคคลนี้เป็นของจริงที่จีรังยั่งยืน

แขก

     หมอสันต์พูดถึงความรู้ตัวบ่อยมาก จนเหมือนกับมันเป็นเป้าหมายของชีวิต ความรู้ตัวนี้มันเป็นอันเดียวกับนิพพานหรือเปล่า

หมอสันต์

     ต้องขอโทษด้วยนะ โดยความสัตย์จริง ผมไม่รู้จักคำว่านิพพานว่าแท้จริงแล้วเขานิยามกันว่าอย่างไร ผมจึงตอบคำถามนี้ให้คุณไม่ได้ แต่ถ้าถามผมว่าความรู้ตัวคืออะไร ผมตอบได้ เพราะผมรู้จักมันดี คือหากแบ่งง่ายๆชีวิตประกอบด้วยสองส่วนคือ

(1) ร่างกาย และ
(2) จิตใจ

     หากเอาจิตใจมาแบ่งต่อไปอีกอย่างหยาบๆก็แบ่งได้เป็นอีกสองส่วน คือ

     (2.1) ความคิด กับ

     (2.2) ความรู้ตัว

     พูดง่ายๆว่าความรู้ตัวก็คือใจของเราขณะที่ตื่นอยู่โดยไม่มีความคิด นี่เป็นการนิยามกันตามภาษาพูดนะ ความรู้ตัวของจริงไม่มีภาษาใดอธิบายได้ เพราะมันเป็นแค่คลื่นพลังงานจับต้องมองเห็นไม่ได้

แขก

     แล้วการเสาะหาแค่ความรู้ตัวนี้พอไหม ผมหมายถึงว่าชาติหน้าเราจะต้องกลับมาเกิดอีกไหม

นพ.สันต์

     ชาติหน้าหมายถึงอนาคตนะ อนาคตเป็นคอนเซ็พท์เรื่องเวลา ผมหมายถึงว่าอนาคตเป็นแค่ความคิด ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง ในการใช้ชีวิต สิ่งที่มีอยู่จริงคือเดี๋ยวนี้ ดังนั้นผมไม่สนใจชาติหน้า เพราะมันไม่ใช่เดี๋ยวนี้ซึ่งเป็นมิติที่เราใช้ชีวิตอยู่

แขก

     หมายความว่าหมอสันต์ไม่เชื่อเรื่องชาติหน้า

นพ.สันต์

     ไม่ "เชื่อ" และไม่ "ไม่เชื่อ"

     สังเกตให้ดีนะ คำหลังนี้มีคำว่าไม่อยู่สองที คืออะไรที่ผมไม่ได้มีประสบการณ์กับมันผมจัดเป็นสิ่งที่ผม "ไม่รู้" สิ่งที่ผมไม่รู้ ผมจะไม่รีบทึกทักว่าจะเชื่อ หรือจะไม่เชื่อมันดี ผมก็แค่จัดเป็นสิ่งที่ผมยังไม่รู้ คือเปิดกว้างไว้ว่าวันหนึ่งผมอาจจะมีประสบการณ์จริงกับมันแล้วผมก็จะได้ "รู้" มัน ซึ่งถึงตอนนั้นเชื่อหรือไม่เชื่อก็คงไม่มีความหมายแล้ว เพราะคุณรู้แล้ว อย่างเช่นคุณรู้แล้วว่าไฟมันร้อน คุณไม่ถามดอกว่าคุณเชื่อไหมว่าไฟมันร้อน เพราะคุณรู้แล้วจะไปถามว่าเชื่อหรือไม่เชื่ออีกทำไมถูกไหม

แขก

     ไม่พูดถึงชาติหน้า แล้วจัดการกับความกลัวตายอย่างไร

นพ.สันต์

     ความกลัวเป็นความคิดที่ยอมรับคอนเซ็พท์เรื่องเวลานะ ความกลัวก็คือการคิดคาดการณ์หรือจินตนาการว่าประสบการณ์ไม่ดีที่เราได้เคยรับรู้มาในอดีต (จากคำบอกเล่าหรืออะไรก็ตาม) จะเกิดขึ้นกับเราในอนาคต แต่ผมรู้ว่าคอนเซ็พท์เรื่องเวลาไม่ใช่ของจริง มันเป็นเพียงความคิด สำหรับผมอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง แต่ความกลัวเป็นความคิดที่มีอยู่จริงเพราะมันเกิดที่เดี๋ยวนี้ เท่ากับว่าคนกลัวต้องทุกข์กับความกลัวแบบทุกข์ฟรี

แขก

     แล้วถ้าเกิดตาย หรือกำลังจะตายขึ้นมาละ

นพ.สันต์

     ความตายถ้ามันจะมาถึง มันจะมาถึงที่เดี๋ยวนี้ ถ้าผมปักหลักพร้อมอยู่ที่เดี๋ยวนี้ ผมก็รับมือกับสิ่งที่มาถึง ณ เดี๋ยวนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นอะไร รับมือไปทีละช็อต ทีละช็อต ในลักษณะยอมรับทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาตามที่มันเป็น โดยไม่เอาความคิดไปใส่สีตีไข่ ตอนนี้ความตายยังไม่มา ผมยังหายใจอุ่นๆอยู่เลย สิ่งที่ผมพึงทำก็คือผมจะใช้ชีวิตที่ยังตัวเป็นๆอุ่นๆอยู่ในวันนี้อย่างไร ไม่ใช่ไปนั่งเทียนคิดถึงความตายในอนาคตซึ่งไม่มีอยู่จริง ย้ำอีกทีนะ ความตายในอนาคตไม่มี ถ้าคนเราจะตายเราจะตายที่เดี๋ยวนี้ ถ้าเดี๋ยวนี้คุณยังไม่ตาย ความตายก็ไม่มี ถ้าคุณวางความคิดจินตนาการถึงสิ่งที่ยังไม่มีไปเสียให้เกลี้ยง ความกลัวก็ไม่มีที่อยู่

แขก

     แต่คนเราต้องเตรียมพร้อมตั้งอยู่ในความไม่ประมาทไม่ใช่หรือ

นพ.สันต์

     แหม..พูดถูกเส้น ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทแปลว่าอย่าไปอยู่ในความคิดไม่ใช่หรือ ให้อยู่กับสติหรือความรู้ตัวที่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่หรือ ถ้าคุณจะไม่ประมาทกับความตาย คุณก็อยู่กับความรู้ตัวที่เดี๋ยวนี้สิ อย่าไปอยู่ในความคิดกลัวตายในอนาคต อยู่กับความรู้ตัวที่เดี๋ยวนี้เพราะความตายอาจจะมาในวินาทีถัดไปข้างหน้านี้ก็ได้ คุณมีสติอยู่กับเดี๋ยวนี้เมื่อมันมาคุณจะได้เลือกสนองตอบได้แบบเท่ๆ สุขุมๆ ไม่ใช่มัวแต่หลงไปอยู่ในความคิด พอมีอะไรโผล่มาที่เดี๋ยวนี้ก็เผลอตัวสะดุ้งโหยงกระต๊ากสติแตกปล่อยให้วงจรย้ำคิดดึงเอาความสนใจกระเจิดกระเจิงไปในความคิดลบๆงี่ๆเง่าๆเดิมๆโดยตัวเองไม่ทันได้ตั้งหลักเลือกเลยว่าจะสนองตอบต่อสถานะการณ์สำคัญนี้อย่างไร

แขก

     ถึงอย่างไรการเข้าถึงความรู้ตัวตามแบบของหมอสันต์ก็ไม่ได้พาให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

นพ.สันต์

     ชาติหน้ามาอีกละ ชอบจังนะความคิดเรื่องอดีตอนาคตเนี่ย เอาเป็นว่าถ้าจะคุยกับหมอสันต์คุยได้แต่เรื่องเดี๋ยวนี้ ไม่รับคุยเรื่องอดีตและอนาคต

แขก

     ความรู้ตัวของคุณหมอสันต์นี่มันเป็นอันเดียวกับ "สติ" หรือเปล่า

นพ.สันต์

     คำว่า "สติ" นี้ผมไม่ค่อยถนัด ผมขอใช้คำว่า "ความสนใจ" หรือ attention แทนนะ

     ส่วนคำว่า "ความรู้ตัว" ผมใช้ตรงกับคำอังกฤษว่า awareness  ทั้งสองคำคือสติกับความรู้ตัวนี้เป็นของสิ่งเดียวกันแต่มองจากคนละมุม เปรียบเสมือนว่าความสนใจเป็นแขนของความรู้ตัว คือบ่อใหญ่ของพลังงานที่แท้จริงคือความรู้ตัว แต่ความสนใจจะดูดเอาพลังงานจากบ่อใหญ่นี้ไปหล่อเลี้ยงอะไรก็ตามที่มันไปสนใจอยู่ เช่นหากความสนใจไปอยู่ในความคิด ความคิดนั้นก็จะใหญ่ขึ้นมา ใหญ่เสียจนเราคิดว่าในใจเรามีแต่ความคิดไม่มีความรู้ตัวอยู่เลย แต่แท้จริงแล้วความรู้ตัวเป็นพลังงานเบื้องหลังที่หล่อเลี้ยงความคิดทุกความคิดอยู่ หากถอยความสนใจออกมาจากความคิดนั้นเสีย ความคิดนั้นก็จะฝ่อหายไปทันที หรือเปรียบอีกอย่างหนึ่ง ความรู้ตัวเป็นเหมือนช่องว่างอันกว้างใหญ่ที่เป็นพื้นที่ให้ความคิดต่างๆเกิดขึ้นได้ในช่องว่างนั้น เปรียบเหมือนห้องนี้เป็นที่ว่างให้โต๊ะตั่งม้านั่งตั้งอยู่ในนี้ได้

แขก

     การฝึกอยู่กับความรู้ตัว ก็คือการคอยดึงสติออกมาจากความคิดมาอยู่กับความรู้ตัวในชีวิตประจำวันตลอดเวลา มีอะไรที่ซับซ้อนกว่านี้อีกไหม

นพ.สันต์

     ไม่มีแล้ว ถ้าทำได้ แค่นั่นก็พอแล้ว เรียกว่าบรรลุความหลุดพ้นแล้ว 100% คือความคิดหมดโอกาสที่จะเกิดได้โดยปราศจากการรับรู้ของความสนใจหรือสติ นั่นแหละคุณหลุดพ้นแล้ว แค่นั้นพอแล้ว

     แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็คงต้องมาตั้งต้นด้วยการฝึกสมาธิแบบนั่งหลับตา หรือ meditation ฝึกเข้าถึงความรู้ตัวขณะทำ meditation จนช่ำชองแล้วค่อยๆผ่องถ่ายไปใช้ในชีวิตจริง

     ที่ผมเรียกว่าเข้าถึงความรู้ตัวนี่มันมีอะไรที่ลึกซึ้งอยู่เหมือนกันนะ คือเมื่อนั่งหลับตา วางความคิด อยู่กับความรู้ตัว  เห็นแต่อะไรมืดๆ เงียบๆ นิ่งๆ อยู่ แต่หากสนใจจดจ่อลึกลงไปในความมืดนั้น มันจะกลายเป็นมืดแบบเจิดจ้า คือมืดแบบมีชีวิตชีวาขึ้นมา ขณะที่ความเงียบนั้นจะยิ่งเงียบ และความนิ่งนั้นจะยิ่งนิ่ง ใหม่ๆมันก็จะแยกเป็นสองข้าง คือคุณในฐานะเป็นผู้สังเกต กำลังนั่งดูความมืดเงียบนิ่งนั้น นี่คุณเป็นผู้ดู นั่นความมืดเป็นผู้ถูกดู แยกกันชัดเจน แต่ต่อไปมันจะกลายเป็นว่าคุณเองค่อยๆ "จุ่ม" ลงไปอยู่ในความมืดเงียบนิ่งนั้น คุณค่อยๆกลายเป็นความมืดเงียบนิ่งนั้นไปทีละน้อยๆอย่างไม่รู้ตัว จนถึงจุดหนึ่ง คุณกลายเป็นความมืดเงียบนิ่งนั้นไปเสียแล้ว 100% ทุกอย่างหยุดนิ่ง เหลือแต่ความตื่นและความสามารถรับรู้โด่เด่อยู่เป็นหนึ่งเดียวกับความมืดเงียบนิ่ง ลึกยิ่งไปกว่านี้ก็จะเป็นประสบการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นขณะรู้ตัวและส่วนใหญ่เป็นประสบการณ์ที่มีประโยชน์ แต่อย่างน้อยตรงนี้มันสบายๆสงบเย็นไม่เคร่งเครียด เพราะไม่มีความคิดเข้ามารบกวน ไม่มีอะไรนอกจากนี้ คือมีแต่ความตื่น สามารถรับรู้ สงบเย็น มีแค่นี้แหละ ตอนเรานั่งสมาธิมันก็อยู่ตรงนี้ได้นานหน่อย พอออกมาใช้ชีวิตประจำวันมันก็ผลุบๆโผล่ๆ คือในชีวิตประจำวันเราฝึกปักหลักอยู่ที่ความรู้ตัว (เป็นฉันตัวใน) แล้วก็โผล่ออกมาใช้ความคิดเป็นบุคคลคนหนึ่ง (เป็นฉันตัวนอก) เมื่อจำเป็น ผลุบๆโผล่ๆ ฝึกอยู่อย่างนี้จนเราอยู่เป็นฉันตัวในได้เสียสัก 90% เป็นฉันตัวนอกแค่ 10% แค่นี้ชีวิตก็จะสงบเย็นแล้ว และนานไปมันก็จะขยับไปเป็นฉันตัวใน 100% เอง

แขก

     แล้วเราต้องทำงานอย่างไรจึงจะมีความสุข

นพ.สันต์

     เราต้องทำชีวิตเราให้สงบเย็นก่อน จึงจะออกไปใช้ชีวิตออกไปทำการงาน อย่าไปใช้ชีวิตทำการงานเพื่อเสาะแสวงหาความสุขสงบเย็น เพราะนั่นเป็นการหาผิดที่ ความสุขสงบเย็นมันเป็นคุณสมบัติตามธรรมชาติของความรู้ตัวซึ่งมันอยู่ข้างใน ไม่ใช่ข้างนอก เมื่อเราสุขสงบเย็นแล้ว เราค่อยออกไปทำงานออกไปใช้ชีวิต การทำงานจึงจะเป็นการทำเพื่อโลกหรือเพื่อคนอื่น เพราะไม่มีความจำเป็นต้องทำเพื่อฉันตัวนอกอีกต่อไปแล้ว เพราะตอนนี้ฉันย้ายมาเป็นฉันตัวในแล้ว สงบเย็นดีแล้ว สุขดีแล้ว เลิกอาลัยอาวรณ์กับฉันตัวนอกแล้ว ไม่ต้องไปหาอะไรมาเพิ่มให้กับฉันตัวนอกอีกแล้ว

แขก

     หมอสันต์ให้ความสำคัญกับ meditation แต่คนจำนวนมากทำ meditation แล้วก็พบว่ามันเครียดที่ต้องคอยบังคับวิ่งไล่จับความคิดตัวเอง จนต้องเลิกราไป มีคำแนะนำอะไรตรงนี้ไหม

หมอสันต์

     meditation ก็คือการโต๋เต๋คนเดียวในธรรมชาติที่เงียบสงบ เริ่มต้นด้วยการนั่งลงในท่ามกลางธรรมชาติแล้วก็ปล่อยทุกอย่างไปตามสบาย เริ่มด้วยการเอาความสนใจไปจดจ่อที่ร่างกายส่วนไหนก็ได้ที่ไม่ใช่ศรีษะหรือหัว เพราะถ้าอยู่ที่หัวมันมีแนวโน้มจะคิด เอาความสนใจไปจ่อไว้ที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ท้อง หน้าอก หรือทุกรูขุมขนก็ได้ เอาที่คุณถนัด แล้ว "รู้สึก" ถึงความรู้สึกบนร่างกาย ซึ่งร่างกายนี้มันมีธรรมชาติสามารถรับรู้ (sense) พลังงานของชีวิตที่ขับเคลื่อนให้อวัยวะร่างกายทำงาน จะเป็นความรู้สึกซู่ๆซ่าๆ วูบๆวาบๆ จิ๊ดๆจ๊าดๆ เหน็บๆ ชาๆ เจ็บๆ คันๆ หรือปวดๆ เกร็งๆ หรือผ่อนๆ คลายๆ ก็ได้ทั้งนั้น ทั้งหมดนี้สื่อถือพลังงานชีวิต พลังงานชีวิตนี้คอยขับเคลื่อนร่างกาย มันเปิดรับแลกเปลี่ยนกับพลังงานที่เป็นพื้นฐานของทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเราตลอดเวลา ให้อยู่กับพลังชีวิตนี้ทั้งวันมันก็จะเป็นการอยู่กับธรรมชาติรอบตัวไปโดยปริยาย มันจะค่อยๆทำให้คุณรู้สึกว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติรอบตัว ไม่ได้เป็น "กูแน่" ที่แยกตัวออกมาจากธรรมชาติมาสถาปนาตัวเป็นผู้ยิ่งใหญ่อยู่คนเดียว ให้คุณอยู่กับธรรมชาติอย่างนี้ทุกเมื่อที่คิดขึ้นได้ อยู่แบบรู้สึก (feel) เอานะ ไม่ใช่อยู่แบบคิด (think) เอา หมายความว่าคุณเอาฝ่ามือรู้สึกเอาว่าฝ่ามือตอนนี้มีความรู้สึกอะไรบ้าง ไม่ใช่เอาสมองไปคิดเอาว่าฝ่ามือมีความรู้สึกอะไรบ้าง มันไม่เหมือนกัน ทำอย่างนี้จนเริ่มรู้สึกว่าความรู้ตัว ร่างกาย และธรรมชาติรอบตัว เป็นสิ่งเดียวกัน แล้วจึงค่อยเริ่มนั่งหลับตาทำสมาธิ การฝึกสมาธิก็จะมีความก้าวหน้าได้ง่ายขึ้น

     ทั้งหมดนี้ให้ทดลองทำเอง ประเมินผลเอง สิ่งไหนดีก็เก็บไว้ทำต่อ สิ่งไหนไม่ดีก็ทิ้งไป เน้นที่การทดลองทำ ไม่ต้องไปเสียเวลาอ่านหนังสือเล่มแล้วเล่มเล่า ดูวิดิโอม้วนแล้วม้วนเล่า เหล่านั้นคือการเร่ร่อนตระเวนไปในความคิด ซึ่งไม่มีประโยชน์สร้างสรรค์อะไร มีแต่จะก่อความคิดใหม่ในรูปของความสงสัยเฟะฟะไม่รู้จบ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

12 กรกฎาคม 2563

ฝ่ามือเหลือง ผิวเหลือง ถูกเพื่อนไล่ให้ไปหาหมอ

วันนี้ตอบจดหมายควบสองฉบับเรื่องเดียวกัน ท่านที่หนึ่งถามเรื่องของเด็ก อีกท่านถามเรื่องของผู้ใหญ่ เรื่องเดียวกัน ตอบให้ฉบับเดียวนะ

สวัสดีค่ะ คุณหมอ

     ได้อ่านบทความเรื่องตัวเหลืองไปบ้างแล้วค่ะแต่จะรบกวนขอถามเน้นย้ำ สำหรับเด็ก 1.3 ขวบ อีกครั้งค่ะ หนูกับแฟน กินเจ มา 10 ปีแล้วค่ะ ก่อนมีลูกหนูมีกรรมพันธุ์แม่เป็นธาลัสซีเมีย หนูเป็นธารลัสชนิด E แบบซ่อน (ไม่เข้าใจ ได้ตรวจตอนท้องถึงรู้ค่ะ) ตอนนี้ลูก 1.3 ขวบ ที่ผ่านมา ปั่นอาหารให้ลูกทานค่ะ
ข้าวกล้อง ถั่ว 5 สี ผักใบเขียว งาดำ งาขาว แฟล๊ก มันฝรั่ง ฟักทอง แครอท มะเขือเทศ เห็ดต่างๆ บีทรูท งาม่อน ฯลฯ พยายามให้ได้ผัก 5 สี และเน้นผักใบเขียวค่ะ ผักใบเขียว ตำลึง คะน้า บล๊อคโคลี ผักบุ้ง ยอดมะรุม ใบยอ วอเตอเครส ต้มหม้อเดียวกัน ปั่นรวมกัน แช่ฟรีซ กินได้ประมาณ 1 อาทิตย์ ถ้าจะกินพรุ่งนี้ ก็จะเอามาแช่ตู้ธรรมดาก่อน 1 คืน ก่อนทานอุ่นไมโครเวฟก่อนค่ะ
ผลไม้ ฝรั่ง แอปเปิ้ล กล้วย มะม่วงสุก ขนุน แตงโม มีอะไรก็กินได้หมดค่ะ ปั่นบ้าง ไม่ปั่นบ้าง โดยเฉพาะช่วงนี้ มะม่วงสุกเกือบทุกมื้อค่ะ
หมอให้เสริมธาตุเหล็กอาทิตย์ละครั้งค่ะ (เด็กไทยกินเสริมจนอายุ 1.6 ขวบ) ตอนนี้ยังกินนมแม่อยู่ค่ะ ลูกแข็งแรง อารมณ์ดีค่ะ ไม่ป่วยเลย
คำถามคือ
1.ตอนนี้ลูก ตัวเหลือง โดยเฉพาะมือ เท้าเหลือง ค่ะ ผิดปกติไหมคะ ต้องไปตรวจไหมคะ
2.อาหารที่เอาทุกอย่างปั่นรวมกัน ใช้ได้ไหมคะ
ถ้าภาพไม่ถูกกาลเทศะ ขออภัยคุณหมอด้วยนะคะ
ขอบพระคุณค่ะ

...........................................

ตอบครับ

     1. ถามว่าผิวสีเหลืองเกิดจากอะไร ผิวที่มีสีเหลืองมากขึ้นนอกจากเม็ดสี(melanin) ตามธรรมชาติ เป็นสีของ beta carotene ซึ่งมีอยู่ในพืชอาหารที่กินนั่นแหละโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่ออกสีส้ม สีแดง และสีเหลือง มันเป็นตัวตั้งต้นให้ร่างกายสร้างเป็นวิตามินเอ. (provitaminA) เรื่องความปลอดภัยของเบต้าแคโรทีนนี้แม้ในวงการแพทย์ก็เคยถกเถียงกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเบต้าแคโรทีนที่ผลิตจากระบบอุตสาหกรรมแล้วเอามาใส่ในอาหารเสริมเพื่อเพิ่มวิตามินเอ. ในที่สุดก็เกิดการประชุมเพื่อทบทวนหลักฐานวิทยาศาสตร์ในเรื่องความปลอดภัยของเบต้าแคโรทีนขึ้นที่เมืองโฮเฮนไฮม์ (Hohenheim) ประเทศเยอรมันนี ถ้าผมจำปีไม่ผิด ในปี ค.ศ. 2009 ซึ่งได้ข้อสรุปที่ใช้กันในวงการแพทย์จนทุกวันนี้ว่าเบต้าแคโรทีนไม่ว่าจะมาจากอาหารธรรมชาติหรือที่ผลิตมาทางอุตสาหกรรมล้วนเป็นสารอาหารที่ปลอดภัยต่อร่างกายไม่ว่าร่างกายจะได้รับมากแค่ไหน ทั้งนี้โดยยอมรับว่าการที่มันสะสมใต้ผิวหนังและทำให้ผิวเป็นสืเหลืองนั้นเป็นธรรมชาติของมันโดยไม่มีผลเสียต่อร่างกายแต่อย่างใด

     2. ถามว่าการเป็นโรคทาลาสซีเมีย หรือเป็นพาหะของโรคทาลาสซีเมีย มีส่วนทำให้ตัวมีสีเหลืองขึ้นได้ไหม ตอบว่ามีส่วนครับ โดยที่กลไกที่ทำให้เกิดสีเหลืองนั้นเป็นคนละกลไกกับการสะสมเบต้าแคโรทีนจากอาหาร คือเม็ดเลือดของคนเป็นโรคหรือเป็นพาหะของโรคทาลาสซีเมียจะรูปร่างเล็กและบิดเบี้ยวทำให้มีอายุสั้นและแตกสลาย (hemolysis) หมดอายุเร็ว เมื่อเม็ดเลือดแตกแล้วตับจะเปลี่ยนมันให้กลายเป็นน้ำดี ซึ่งส่วนหนึ่งจะบ่าท้นเข้ามาในกระแสเลือดเรียกว่าเป็นดีซ่านทำให้ตัวเหลือง แต่ตัวเหลืองแบบดีซ่านจะแตกต่างจากตัวเหลืองจากเบต้าแคโรทีนตรงที่ดีซ่านน้ำดีที่ทำให้เป็นสีเหลืองอยู่ในกระแสเลือดซึ่งเราจะเห็นความเหลืองนี้ชัดที่ลูกตาขาวและน้ำปัสสาวะเพราะตรงลูกตาขาวความเหลืองในหลอดเลือดฝอยจะเห็นชัดเนื่องจากสีตัดกับสีขาวของลูกตา ขณะที่น้ำดีในเลือดจะถูกขับออกไปทางปัสสาวะทำให้ปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้ม ส่วนการเหลืองจากเบต้าแคโรทีนนั้นเป็นการเหลืองในชั้นนอกของหนังกำพร้า (stratum corneum) ซึ่งจะเห็นความเหลืองนี้ชัดที่ฝ่ามือฝ่าเท้าและผิวหนังส่วนที่สีอ่อน ยิ่งสีผิวอ่อนก็ยิ่งเห็นความเหลืองชัดขึ้น โดยที่สีปัสสาวะเป็นปกติ

     3. ถามว่าแล้วมีโรคอะไรที่ทำให้เป็นดีซ่านรุนแรงกว่าการเป็นพาหะทาลาสซีเมียได้ไหม ตอบว่ามีครับ มีอยู่สองกรณีคือ

     (1) กรณีที่เกิดตับอักเสบรุนแรง เซลตับตายลงเป็นจำนวนมาก น้ำดีในเซลตับก็จะบ่าท้นออกมาในกระแสเลือดได้ และ

     (2) กรณีที่มีการอุดกั้นการไหลของน้ำดี เช่นเป็นนิ่วหรือเนื้องอกหรือมีการอักเสบในท่อน้ำดี

     ทั้งสองกรณีนี้เป็นเรื่องค่อนข้างเฉียบพลัน มักจะมีอาการรุนแรงเช่น มีไข้ อ่อนเปลี้ยเพลียแรง คลื่นไส้อาเจียนหรือการย่อยอาหารไขมันเสียไป และปัสสาวะสีเหลืองจัดจนเป็นเหลืองปนเขียว เป็นกรณีแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการเกิดผิวหนังเป็นสีเหลืองจากเบต้าแคโรทีน

      4. ถามว่าฝ่ามือเหลืองหรือผิวหนังมีสีเหลืองต้องไปหาหมอไหม ตอบว่าถ้าไม่มีไข้และปัสสาวะไม่ได้เปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้มขึ้นมาแบบฉับพลันทั้งๆที่ร่างกายไม่ได้ขาดน้ำก็ไม่ต้องไปหาหมอดอกหรอกครับ เพราะมันเป็นแค่การเหลืองจากสีของเบต้าแคโรทีนซึ่งไม่ใช่โรคที่ต้องรักษา ถ้าไปหาหมอ หมอเขาก็จำเป็นต้องตรวจโน่นตรวจนี่เพื่อเอาหลักฐานมาพิสูจน์ว่าคุณไม่มีอะไรผิดปกติทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่ามันจะปกติ แล้วจะเสียเงินและเจ็บตัวไปทำไมละครับ

     5. ถามว่าในกรณีที่อยากลบสีเหลืองออกจากผิวหนังเพราะอยากสวยอยากหล่อจะทำอย่างไรดี ตอบว่าปัญหาที่คนเราเป็นทุกข์อยู่ทุกวันนี้เพราะไม่อยากได้สิ่งตัวเองมี แต่ไปอยากได้สิ่งที่ตัวเองไม่มี ยุทธศาสตร์ในการปลดทุกข์นี้ง่ายนิดเดียว คือเปลี่่ยนเป็นอยากได้สิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้วซะ และเลิกอยากได้สิ่งที่ตัวเองไม่มี แค่นี้ก็สุขได้แล้ว

     หากผมพูดอย่างนี้แล้วคุณยังไม่เก็ทก็เหลืออยู่อีกวิธีเดียวละครับ คือตากแดดให้มากๆเพื่อจะเปลี่ยนสีผิวหนังของคุณให้เข้มขึ้น แล้วสีเหลืองที่ผิวหนังก็จะถูกข่มด้วยสีดำเอง นี่เรียกว่าเป็นยุทธศาสตร์ "ดำ ขำคม ข่มเหลือง" หิ..หิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]