30 กันยายน 2567

ออกกำลังกายแบบนักรบวันหยุด (Weekend warrior) จะดีไหม


กราบเรียนคุณหมอ

    ดิฉันชวนสามีว่าเราไปออกกำลังกายวันอาทิตย์กันเถอะ ซึ่งเป็นวันเดียวที่เราว่างพร้อมกันทั้งคู่ เขาตอบว่าไม่มีประโยชน์หรอก เพราะการออกกำลังกายต้องทำสม่ำเสมอ ถ้าจะทำแบบนานๆทำทีอย่าไปทำดีกว่า คำถามของดิฉันคือการออกกำลังกายแบบนานๆออกทีไม่มีประโยชน์จริงหรือคะ
    ขอบคุณค่ะ

.............................................................
Scream ของ Edward Munch ถ่ายจากของจริง 



ตอบครับ

    ถามว่าการออกกำลังกายแบบนานๆออกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบนักรบวันหยุด (weekend warrior) อย่างคุณจะชวนสามีไปทำนี้ ไม่มีประโยชน์จริงไหม ตอบว่าไม่จริงหรอกครับ

    หลักฐานที่ผมใช้ตอบคือเมื่อไม่นานมานี้กลุ่มรพ.แมสเจนและบริกแฮม (ฮาร์วาร์ด) ได้ตีพิมพ์ผลวิจัยพฤติกรรมการออกกำลังกายของคนทำงานจำนวน 89,573 คนที่คาดนาฬิกาวัดกิจกรรมร่างกาย (accelerometer) ไว้ที่แขนตลอดเวลา ทำวิจัยแบบตามดูไปข้างหน้าอยู่นาน 6 ปี แล้วเอาข้อมูลมาแยกเป็นสามกลุ่ม คือกลุ่มกระจายการออกกำลังกายสม่ำเสมอเกือบทุกวัน กลุ่มนักรบวันหยุด ที่ออกกำลังกายเฉพาะปลายสัปดาห์ และกลุ่มขี้เกียจที่ออกกำลังน้อยกว่าคำแนะนำมาตรฐาน (ออกแบบหนักพอควรไม่ถึง 150 นาทีต่อสัปดาห์) แล้วเทียบข้อมูลดูความสัมพันธ์ระหว่างนิสัยการออกกำลังกายกับโอกาสป่วย 678 ชนิด แยกเป็น 16 กลุ่มโรค ซึ่งรวมทั้งโรคจิตด้วย ผลวิจัยพบว่าทั้งกลุ่มออกกำลังกายแบบสม่ำเสมอเกือบทุกวัน และกลุ่มนักรบวันหยุด ต่างก็มีความเสี่ยงการป่วยเป็นโรคสำคัญประมาณ 200 โรคต่ำกว่ากลุ่มขี้เกียจ ผลต่างนี้ชัดเจนมากในโรคที่เกี่ยวกับการเผาผลาญและโรคหัวใจหลอดเลือด

    นี่เป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่บ่งชี้ว่าการออกกำลังกายนั้นดีแน่ แบบไหนก็ได้ สม่ำเสมอหรือไม่สม่ำเสมอก็ไม่เป็นไร ขอให้เลือกเอาซักแบบหนึ่งที่เหมาะกับวิถีชีวิตของคุณ และที่สำคัญคือ..ขอให้ตั้งต้นออกซะที

     อีกประเด็นหนึ่งที่ควรย้ำในที่นี้คือผลวิจัยก่อนหน้านี้ล้วนบ่งชี้ว่าประโยชน์ของการออกกำลังกายต่อสมรรถนะร่างกายก็ดี ต่อสุขภาพก็ดี มีความสัมพันธ์กับปริมาณพลังงานทั้งหมดที่ใช้ไป (energy expedition - EE) ต่อหนึ่งหน่วยเวลาขนาดใหญ่ เช่นต่อสัปดาห์ หรือต่อเดือน มากกว่าความสัมพันธ์กับเวลาที่ใช้ออกกำลังกายและความสม่ำเสมอที่ได้ออกกำลังกาย กล่าวคือยิ่งใช้พลังงานรวมต่อสัปดาห์ไปมาก ยิ่งดี ข้อมูลนี้นำมาซึ่งคำแนะนำการออกกำลังกายมาตรฐานสากลที่แนะนำว่าให้ออกกำลังกายแบบหนักพอควร (moderate intensity) อย่างน้อย 150-300 นาทีต่อสัปดาห์ หรือหนักมาก (high intensity) อย่างน้อย 75-150 นาทีต่อสัปดาห์

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

    1. Shinwan Kany, Mostafa A. Al-Alusi, Joel T. Rämö, James P. Pirruccello, Timothy W. Churchill, Steven A. Lubitz, Mahnaz Maddah, J. Sawalla Guseh, Patrick T. Ellinor, Shaan Khurshid. Associations of “Weekend Warrior” Physical Activity With Incident Disease and Cardiometabolic Health. Circulation, 2024; DOI: 10.1161/CIRCULATIONAHA.124.068669

[อ่านต่อ...]

29 กันยายน 2567

หมอสันต์สนับสนุนรมต.สมศักดิ์ เทพสุทิน ใช้มาตรการภาษีลดโรค NCD แบบสุดลิ่ม

          ผมอ่านพบในสื่อ Hfocus.org ว่าเมื่อวันที่ 26 กย. 67 รมต.สธ.ได้จัดแถลงข่าวที่สถาบันบำราศนราดูร และได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำให้คนทั่วไปตั้งใจดูแลสุขภาพตนเอง โดยท่านรัฐมนตรีได้ตอบว่า

        "อาจมีรางวัล หรือมาตรการลดหย่อนภาษี เพราะสถาบันพระบรมราชชนกได้คำนวณวิจัยว่าในคน 50,000 คน มีคนป่วยเป็น NCDs ราว 800 คน จะลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 153 ล้านบาท ถ้าห้าแสนคนก็ลดไป 1,530 ล้านบาท"

         และได้พูดว่า

        "ถ้าจะลดความเจ็บป่วยและเสียชีวิตของคน ต้องมีทั้งทางเป็นคุณและทางลบ อย่างเช่นคนที่ปฏิบัติตัวตนที่ดีแล้ว จะมีแรงจูงใจอะไรให้บ้าง ได้ฝากให้คณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นเป็นทางการในวันที่ 30 กย. 2657 จะต้องไปพิจารณาว่าจะให้อะไรบ้าง"

        นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินจากปากของรัฐมนตรีสาธารณสุข ถึงการจะนำแนวคิด Tax Incentive หรือมาตรการจูงใจทางภาษีมาใช้ในการส่งเสริมสุขภาพและลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แค่ท่านพูดออกมาได้นี่ผมก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องสรรเสริญกันแล้ว 

       บรรทัดนี้ผมจึงขอประกาศยกย่องท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อย่างออกนอกหน้า เพราะบ้านเมืองของเราหลังการประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ในการสร้างระบบสามสิบบาทรักษาทุกโรคมาแล้ว หมอสันต์ต้องคอยมาอกหักกับรัฐมนตรี กับนายกรัฐมนตรีซ้ำซากเรื่อยมาทุกยุค ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือเป็นทหาร เขียนจดหมายไปหาก็แล้ว พูดกันแบบตัวต่อตัวก็แล้ว ฝากญาติสนิทมิตรสหายไปบอกก็แล้ว เงียบ..สุน ขอโทษ เงียบสูญไปหมดทุกราย แต่คราวนี้ตัวท่านรัฐมนตรีพูดออกมาเอง ผมจึงเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว

     ท่านผู้อ่านอาจจะแปลกใจว่าทำไมหมอสันต์ต้องมาอะไรนักหนากับพวกนักการเมืองด้วย คือเรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ ในการจะแก้ปัญหาให้คนหายป่วยจากโรคเรื้อรังนั้น มันต้องเปลี่ยนนิสัยการกินการใช้ชีวิตของคนให้ได้ ซึ่งงานวิจัยทางการแพทย์ในหลายสิบปีที่ผ่านมามันมีวิธีที่ใช้ได้ดีที่สุดประมาณสองวิธีเท่านั้น วิธีแรกคือการเปิดให้คนเห็นแรงบันดาลใจของตัวเองจนมีแรงลุกขึ้นมาเปลี่ยนตัวเองได้ (Motivational Interview - MI) กับวิธีที่สองคือการสร้างระบบใหญ่ในระดับประเทศหรือระดับสังคมบังคับเอา (Social Ecology Model - SCM) ในระหว่างสองวิธีนี้วิธีที่สองเวอร์คในชีวิตจริงดีที่สุด พิสูจน์มาแล้วในประเทศที่ผู้คนเขาสุขภาพดีกว่าบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิงคโปร์และญี่ปุ่น ในเมืองไทยเราก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วในบางเรื่องเช่นการออกกฎหมายห้ามใช้ไขมันทรานส์ทำอาหารสำเร็จรูปขาย ซึ่งได้ผลลดการใช้ไขมันทรานส์อันเป็นต้นเหตุตัวเอ้ของโรคหลอดเลือดไปได้แบบปึ๊ด..ดเดียวจบเลย แล้วกฎหมาย Tax incentive นี่มันเป็นเครื่องมือหลักของทฤษฎี SEM ในแง่ที่จะเปลี่ยนนิสัยการกินการใช้ชีวิตของผู้คนได้สำเร็จ หมอสันต์ก็เลยต้องคอยร้องแรกแหกกะเฌอด้วยเหตุนี้

      ก่อนจบ โปรดอย่าลืมเลือก เอ๊ย..ไม่ใช่ โปรดอย่าลืมช่วยกันเชียร์ ช่วยกันสรรเสริญ ท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน ให้เข็นกฎหมาย Tax incentive ด้านสุขภาพออกมาใช้ให้เสร็จทันในสมัยของท่าน เพราะผู้จะได้ประโยชน์คือคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งตอนนี้หากถือตามสถิติสาธารณสุขล่าสุด (พ.ศ.2564) คนไทยตายด้วยโรคเรื้อรังเสีย 40.6% ของการตายทั้งหมด และมีอัตราป่วยและตายด้วยโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (ยกตัวอย่างเช่นโรคเบาหวานตายเพิ่ม 20.5% ใน 5 ปี เป็นต้น)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

28 กันยายน 2567

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี (Healthy Life Bible) จะพิมพ์ครั้งที่ 3 แน่นอนแล้ว เชิญสั่งซื้อได้




      ผลการสำรวจความต้องการคนที่ไม่ชอบหนังสืออีบุ้คแต่อยากได้หนังสือเป็นกระดาษพบว่ามีอยู่มากพอที่จะพิมพ์ออกมาเป็นกระดาษขายในราคาเดิม คือเล่มละ 495 บาท ได้โดยส่งให้ฟรีทาง EMS ได้ด้วย หมอสันต์ขอขอบคุณแฟนบล็อกที่ช่วยกรอกแบบสอบถามแสดงความจำนงอยากซื้อเข้ามาทำให้ผมตัดสินใจพิมพ์ครั้งที่สามเป็นการแน่นอนแล้ว โดยหนังสือจะได้ประมาณ กลางเดือน พย. 67 เร็วกว่านี้ไม่ได้เพราะโรงพิมพ์เขามีหนังสือที่จะรีบออกงานหนังสือแห่งชาติคาแท่นพิมพ์อยู่แยะ

     การพิมพ์ครั้งที่ 3 นี้จะเป็นการพิมพ์ครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะเปลี่ยนวิธีการเผยแพร่ไปเผยแพร่ต่อในระยะยาวในรูปแบบของอีบุ้คบนอินเตอร์เน็ทให้สมเจตนารมณ์เดิมของหมอสันต์ที่อยากจะเผยแพร่ความรู้ด้วยวิธีที่ไม่สร้างขยะให้รกโลกในระยะยาว และการพิมพ์ครั้งนี้จะเป็นการพิมพ์แบบ limited edition คือพิมพ์น้อยตามจำนวนผู้ที่แสดงความจำนงซื้อไว้ทาง Google form ก่อนหน้านี้ มีเผื่อเหลือเผื่อขาดแค่นิดหน่อยเท่านั้น แม้ว่าจะสงวนสิทธิ์ให้ผู้ที่ได้แสดงความจำนงซื้อไว้แล้วทางกูเกิ้ลฟอร์มได้สิทธิ์ซื้อก่อน แต่ทุกคนก็ต้องทำการซื้อและจ่ายเงินทางไลน์เหมือนกันหมด พิมพ์ครั้งนี้แล้วหมดแล้วก็คือหมด ไม่มีการพิมพ์อีก  เพราะไหนๆจะเลิกกิจการบนดินเพื่อย้ายวิกไปหากินบนอินเตอร์เน็ทกันทั้งทีแล้วผมก็ไม่อยากมีหนังสือเหลือค้างบานเบอะรกบ้าน 

     การสั่งซื้อและจ่ายเงินสามารถทำได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยขอให้เข้าใจให้ตรงกันก่อนว่าถึงจ่ายเงินแล้ววันนี้แต่หนังสือกว่าจะได้ก็กลางเดือนพย. 67 นะครับ วิธีสั่งซื้อให้เข้ามาทางไลน์หนังสือหมอสันต์หรือพิมพ์ Iine ID ว่า @healthylife (มีคำว่า @นำหน้าด้วย เขียนด้วยตัวพิมพ์เล็กหมดและเขียนติดกันหมด) สั่งซื้อแล้วก็จ่ายเงินตามระบบของไลน์ก่อนจึงจะถือว่าซื้อได้สำเร็จและจบกิจ ไม่ต้องห่วงว่าหนังสือหมดหรือยัง เพราะถ้ายังจ่ายเงินซื้อได้ก็แปลว่ายังไม่หมด หมดเมื่อไหร่ก็ปิดเก๊ะหยุดรับเงินเมื่อนั้น ง่ายดี

     ในการจ่ายเงิน หากมีปัญหาก็คุยกับแอดมินทางไลน์ได้เลย หรือหากอยากคุยทางโทรศัพท์ก็โทรหาหมอสมวงศ์ (0868882521) หรือเขียนอีเมลหาเธอ (somwong10@gmail.com) หรือเขียนติดต่อมาทางเฟซบุ้คเพจ (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์) แต่ไม่ว่าจะติดต่อเข้ามาทางไหน ท้ายที่สุดก็ยังต้องไปซื้อขายกันที่ไลน์ที่เดียวและวิธีเดียวเท่านั้น เพราะไลน์เขาบังคับให้จ่ายเงินทางเขาหมด 

ปล. ผมต้องขอโทษด้วยที่ลืมปลดล็อครับเงินก่อนการประกาศเปิดรับสั่งซื้อหนังสือ ทำให้ท่านที่สั่งซื้อเข้ามาท่านแรกๆซื้อไม่สำเร็จ ตอนนี้ได้แก้ไขปลดล็อคแล้ว (ตั้งแต่ 8.30 น./29 กย. 67) ต่อจากนี้ทุกท่านล้วนสามารถสั่งซื้อได้ตามสบายครับ ทุกท่านรวมทั้งท่านที่ได้แสดงความจำนงซื้อเข้ามาทางกูเกิ้ลฟอร์มก่อนหน้านี้แล้วก็ขอให้ยืนยันเจตจำนงเดิมด้วยการสั่งซื้อจ่ายเงินทางไลน์ด้วยนะครับ เพราะการติดต่อกลับเพื่อเตือนท่านเป็นรายคนอาจทำไม่ได้หมดทุกคนเนื่องจากข้อมูลที่ได้มาทางกูเกิ้ลฟอร์มของหลายท่านยังไม่ละเอียดพอที่จะเอื้อให้ติดต่อกลับไปยังท่านเป็นการส่วนตัวได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์


     สำหรับท่านที่ไม่รู้เรื่องหนังสือนี้มาก่อน ผมขอให้รายละเอียดไว้ข้างท้ายนี้ด้วย

…………………………………………………………

ชื่อหนังสือ คัมภีร์สุขภาพดี   (Healthy Life Bible)

     หนังสือ..คัมภีร์สุขภาพดี โดยนพ.สันต์ ใจยอดศิลป์และพญ.ดร.พิจิกา วัชราภิชาต เป็นหนังสือมีภาพประกอบแบบเข้าใจง่าย พิมพ์สี่สี ขนาดหนา 423 หน้า ราคาเล่มละ 495 บาท ค่าส่งฟรี

     คำนำ ของ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

     ในวัย 70 ปี ในยุคสมัยที่โรคของคนส่วนใหญ่คือโรคเรื้อรังที่เกิดจากการกินและการใช้ชีวิตซึ่งแพทย์ไม่มีปัญญาที่จะไปรักษาให้หายได้ และหลักฐานวิทยาศาสตร์ก็ล้วนบ่งชี้ไปทางว่าการเปลี่ยนวิธีกินวิธีใช้ชีวิตต่างหากที่จะทำให้ผู้คนหายจากโรคเรื้อรังได้ เวลาในชีวิตที่เหลืออยู่ของผมนี้ สิ่งที่ผมอยากทำมากที่สุดก็คือทำอย่างไรจึงจะช่วยให้คนทั่วไปสามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้ด้วยตัวเอง กล้าเปลี่ยน lifestyle หรือเปลี่ยนวิธีกินวิธีใช้ชีวิตเพื่อให้ตนเองมีสุขภาพดีไม่เป็นโรคเรื้อรัง ที่เป็นแล้วก็หายจากโรคเรื้อรังได้   

     นั่นทำให้ผมคิดจะเขียนหนังสือสักเล่มไว้เป็นคู่มือสุขภาพสำหรับคนทั่วไปแบบปูความรู้พื้นฐานเรื่องร่างกายมนุษย์และผลวิจัยเกี่ยวกับโรคเรื้อรังที่สำคัญไว้ให้อย่างหนักแน่น คนในบ้านใครเป็นอะไรหรืออยากรู้อะไรก็มาเปิดอ่านดูได้ทุกเมื่อ สอนวิธีกลั่นกรองข้อมูลหลักฐานวิจัยที่ตีพิมพ์กันอย่างดกดื่นในอินเตอร์เน็ทด้วยว่าอะไรเชื่อได้มากน้อยแค่ไหน ผมคิดมาหลายปีแล้ว แต่มันมาติดตรงที่ผมยังไม่สามารถสื่อเรื่องกลไกการทำงานของร่างกายและกลไกการเกิดโรคเรื้อรังให้เข้าใจง่ายๆได้ จะไม่พูดถึงเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ก็ไม่ได้ เพราะสมัยหนึ่งผมเคยไปสอนในชั้นที่ผู้เรียนเป็นกลุ่มแพทย์ที่จบแพทย์จากต่างประเทศแต่สอบใบประกอบโรคศิลป์ไม่ได้สักที พอสอนไปได้ชั่วโมงเดียวผมสรุปได้ทันทีว่าแพทย์เหล่านั้นมีปัญหาตรงที่ความรู้พื้นฐานเรื่องร่างกายมนุษย์ไม่แน่นทำให้สร้างความรู้ต่อยอดไม่ได้ ดังนั้นเมื่อจะเขียนหนังสือเล่มนี้ผมจะต้องมีวิธีสื่อให้ผู้อ่านซึ่งไม่มีพื้นอะไรเลยให้เข้าใจหลักพื้นฐานวิชาแพทย์อย่างถ่องแท้ก่อน การจะสื่อเรื่องยากให้ง่ายมันต้องใช้ภาพช่วยบ้าง ใช้การ์ตูนบ้าง แต่ผมเองวาดภาพไม่เป็น ผมเคยลองจ้างช่างวาดภาพเวชนิทัศน์มาลองวาดให้ก็ไม่ได้อย่างใจ จึงทำได้แค่ “ซุกกิ้ง” คือจับโครงการเขียนหนังสือเล่มนี้ใส่ลิ้นชักไว้ตั้งหลายปี

     จนกระทั่งผมได้พบกับคุณหมอมาย นักอาหารบำบัด (พญ.ดร.พิจิกา วัชราภิชาต) ตอนที่พบกันนั้นเธอตั้งรกรากอยู่ที่อังกฤษ มีครอบครัวอยู่ที่นั่น ซื้อบ้านอยู่ที่นั่น ทำงานอยู่ที่นั่น ได้ใบอนุญาตให้เป็นผู้พำนักตลอดชีพ (PR) ของประเทศอังกฤษแล้วด้วย หมอมายนอกจากจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่เรียนมามากทั้งปริญญาแพทย์จากจุฬาและปริญญาโทปริญญาเอกจากมหา’ลัยลอนดอนแล้ว ยังเป็นผู้ที่ได้ศึกษาต่อเนื่องและปฏิบัติด้วยตนเองอย่างลึกซึ้งในเรื่องอาหารบำบัด ยิ่งไปกว่านั้นเธอมีงานอดิเรกเป็นนักวาดภาพวาดการ์ตูนด้วย เมื่อเธอยอมรับคำชวนของผมให้กลับมาทำงานด้วยกันที่เมืองไทย หนังสือเล่มนี้จึงได้เกิด 

     ผมมั่นใจว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นคู่มือให้ท่านดูแลสุขภาพตัวเองด้วยตัวเองได้ 99% โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นความรู้ทางการแพทย์มาก่อนเลย มันเป็นหนังสือที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย ใช้เวลาอ่านสั้น จบสมบูรณ์ในแต่ละเรื่องแต่ละตอนโดยไม่ต้องอ่านจนหมดเล่มถึงจะเข้าใจ สงสัยเรื่องใดเมื่อใดก็เปิดอ่านเฉพาะเรื่องนั้นได้เมื่อนั้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์…”

สารบัญ Table of content

บทนำ

1. ทำอย่างไรเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินทางการแพทย์

1.1 การเรียกรถฉุกเฉิน และแอ็พมือถือ EMS 1669  

1.2 เจ็บหน้าอกแบบด่วน

1.3 อัมพาตเฉียบพลัน

1.4 แพ้แบบเฉียบพลัน (Anaphylaxis)

1.5 หน้ามืด เป็นตะคริว เป็นลม หมดสติ

1.6 ปวดศีรษะเฉียบพลันแบบอันตราย

1.7 ปวดท้องเฉียบพลันและท้องร่วง

1.8 กินสารพิษเข้าไป

1.9 สัมผัสสารพิษ

1.10 แผล ผิวหนังฉีกขาด 

1.11 แผลถลอก

1.12 กระดูกหัก

1.13 การยกย้ายผู้บาดเจ็บ 

1.14 ฟันหัก ฟันหลุด

1.15 สัตว์กัด งูกัด แมลงต่อย

1.16 พิษแมงกะพรุน

1.17 จมน้ำ

1.18 ไฟฟ้าดูด

1.19 บาดเจ็บกล้ามเนื้อ

1.20 ชัก

1.21 วิธีใช้สิทธิเบิกเงิน UCEP ในภาวะฉุกเฉิน

2. ทำความเข้าใจกลไกการเกิดโรคเรื้อรังแบบไม่ติดต่อ

2.1 ไมโครไบโอม ชุมชนจุลชีพในลำไส้

2.2 อนุมูลอิสระและสารต้านอนุมูลอิสระ

2.3 การอักเสบในร่างกาย

2.4 การสูญเสียดุลยภาพของระบบประสาทอัตโนมัติ

2.5 การดื้อต่ออินซูลิน

3. สุขภาพดีด้วยตนเอง

3.1  โภชนาศาสตร์สมัยใหม่สำหรับทุกคน

3.1.1 คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate)

(1) คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว

(2) คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน

(3) ทำไมเราจึงควรเลือกกินคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน

(4) Resistant starch คืออะไร

3.1.2 เส้นใยอาหาร (Fiber)

(1) เส้นใยแบบละลายน้ำได้

(2) เส้นใยแบบละลายน้ำไม่ได้

(3) ทำไมเราจึงควรเลือกกินอาหารที่มีเส้นใย

3.1.3 ไขมัน (Fat)

(1) ไขมันแบบอิ่มตัว (Saturated fat)

(2) ไขมันแบบไม่อิ่มตัว (Unsaturated fat)

3.1.4 ไขมันแบบไม่อิ่มตัว

(1) ไขมันแบบไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (Monounsaturated fat)

(2) ไขมันแบบไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (Polyunsaturated fat)

3.1.5 ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับไขมันที่ควรรู้

ประเด็นที่ 1. แคลอรีจากไขมัน

ประเด็นที่ 2. การกระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัว 

ประเด็นที่ 3. การก่อโรคทางหลอดเลือด 

ประเด็นที่ 4. น้ำมันประกอบอาหารต่างชนิดทนความร้อนไม่เท่ากัน 

ประเด็นที่ 5. เปรียบเทียบน้ำมันมะกอกแบบเวอร์จินกับแบบธรรมดา

3.1.6 คอเลสเตอรอล (Cholesterol)

(1) ไขมันเลว (LDL)

(2) ไขมันดี (HDL)

(3) LDL(C) และ LDL(P) คืออะไร

(4) LDL pattern A และ LDL pattern B คืออะไร

3.1.7 โปรตีน (Protein)

3.1.8 ความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับโปรตีนที่ควรรู้

ข้อที่ 1. เข้าใจผิดว่าอาหารโปรตีนต้องได้มาจากเนื้อนมไข่ไก่ปลาหรือสัตว์เท่านั้น

ข้อที่ 2. เข้าใจผิดว่าพืชมีกรดอะมิโนจำเป็นไม่ครบ 

ข้อที่ 3. เข้าใจผิดว่าการขาดโปรตีนเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในทางโภชนาการ

3.1.9 ผลเสียของโปรตีนจากสัตว์

3.1.10  แคลอรี (Calorie)

3.1.11 วิตามิน (Vitamins)

3.1.12 ความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับวิตามินที่ควรรู้

          ข้อที่ 1. เข้าใจผิดว่าพืชมีวิตามินไม่ครบ

ข้อที่ 2. เข้าใจผิดว่าวิตามินสกัดเม็ดมีคุณสมบัติเหมือนกับวิตามินที่พบในอาหารธรรมชาติ

ข้อที่ 3. เข้าใจผิดว่าการกินวิตามินเสริมไม่มีโทษ

3.1.13 แร่ธาตุ (Minerals)

(1) ธาตุหลัก (Major elements) 

(2) ธาตุเล็กธาตุน้อย (Trace elements)

3.1.14 น้ำ

(1) ทำไมเราต้องดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน

(2) เราควรดื่มน้ำวันละเท่าไร

3.1.15 Prebiotic 

3.1.16 Probiotic 

3.1.17 พฤกษาเคมี (Phytonutrients) 

3.1.18 โภชนาการที่ดีหน้าตาเป็นอย่างไร

3.1.19 รูปแบบอาหารที่ใช้พืชเป็นหลักและไขมันต่ำ

3.1.20 อาหารรูปแบบเมดิเตอเรเนียน (Mediterranean)

3.1.21 DASH อาหารรักษาความดันเลือดสูง

3.1.22 โภชนาการสำหรับแม่และเด็ก

3.2 การออกกำลังกาย

3.2.1 ประโยชน์ของการออกกำลังกาย

3.2.2 ชนิดของการออกกำลังกาย

3.2.3 มาตรฐานของการออกกำลังกาย

3.2.4 การประเมินตนเองก่อนออกกำลังกาย

3.2.5 การออกกำลังกายแบบแอโรบิก

3.2.6 กลุ่มกล้ามเนื้อพื้นฐานของร่างกาย

3.2.7 ระยะ (phase) ของการออกแรงกล้ามเนื้อ

3.2.8 การออกกำลังกายแบบยืดหยุ่น(flexibility)

3.2.9 การออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ

3.2.10 การออกกำลังกายเพื่อเสริมการทรงตัว

3.2.11 การออกกำลังกายแก้ไขออฟฟิศซินโดรม

3.2.12 ความปลอดภัยของการออกกำลังกาย

3.3 การจัดการความเครียด

3.3.1 ทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบประสาทอัตโนมัติ ANS (Autonomic nervous system)

3.3.2 Simplest meditation เทคนิคการวางความคิดแบบง่ายที่สุด

3.3.3 เทคนิคการตัดกระแสความคิด

3.3.4 Identity การสำนึกว่าเป็นบุคคล

3.3.5 Self inquiry เทคนิคการสอบสวนและลงทะเบียนความคิด

3.3.6 Body scan พลังชีวิตและการรับรู้พลังชีวิต

3.3.7 Concentrative meditation การฝึกสมาธิและเข้าฌาน

3.3.8 Breathing meditation อานาปานสติ

3.3.9 Coping with pain การรับมือกับอาการปวดด้วยวิธีทำสมาธิ

          3.4 การนอนหลับ

3.5 การสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้าง

3.6 Simple-8 ดัชนีสุขภาพสำคัญ 8 ตัวง่ายๆ 

          3.6.1 น้ำหนัก (ดัชนีมวลกาย)

3.6.2 ความดันเลือด

3.6.3 ไขมันในเลือด

3.6.4 น้ำตาลในเลือด

3.6.5 จำนวนผักผลไม้ที่กินต่อวัน

3.6.6 เวลาที่ใช้ออกกำลังกายต่อสัปดาห์

3.6.7 การสูบบุหรี่

3.6.8 การนอนหลับ

3.7 Tiny Habit การสร้างนิสัยใหม่ด้วยการทำนิดเดียว

3.8 การตรวจสุขภาพประจำปีและฉีดวัคซีนป้องกันโรค 

3.9 ระยะสุดท้ายของชีวิต

4. พลิกผันโรคด้วยตนเอง         

          4.1 โรคหลอดเลือดแดงแข็ง ต้นทางของโรคเรื้อรัง

4.2 โรคหัวใจขาดเลือด

                     4.2.1 โรคหัวใจขาดเลือดคืออะไร

                     4.2.2 อาการของโรคหัวใจขาดเลือดเป็นอย่างไร

4.2.3 การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ

4.2.4 การจัดการโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

4.2.5 การจัดการโรคหัวใจขาดเลือดชนิดไม่ด่วน

4.2.6 อาหารสำหรับโรคหัวใจขาดเลือด

4.2.7 การออกกำลังกายสำหรับโรคหัวใจขาดเลือด

4.2.8 การรับมือกับความเครียดเฉียบพลันในโรคหัวใจ

4.2.9 การดื่มแอลกอฮอล์ในโรคหัวใจ

4.2.10 การตัดสินใจว่าจะทำบอลลูน/บายพาสหรือไม่

4.2.11 หัวใจเต้นผิดจังหวะแบบต่างๆ

4.2.12 เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบต่างๆ

4.2.13 ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นอย่างไร

4.2.14 การป้องกันการตายกะทันหัน

4.3 โรคความดันเลือดสูง

4.3.1 โรคความดันสูงคืออะไร

4.3.2 นัยสำคัญของความดันเลือดสูง

4.3.3 สาเหตุของความดันเลือดสูง

4.3.4 การวัดความดันด้วยตัวเองอย่างถูกต้อง

4.3.5 ความดันวัดที่บ้านกับที่โรงพยาบาลจะเชื่อตัวไหนดี

4.3.6 อาการของโรคความดันเลือดสูง

4.3.7 วิธีรักษาความดันเลือดสูงด้วยตนเอง

4.3.8 ยารักษาความดันเลือดสูงชนิดต่างๆ

4.3.9 การป้องกันโรคความดันเลือดสูง

4.3.10 ผลวิจัยความดันที่เอาไปพลิกผันโรคให้ตัวเองได้

4.3.11  วิธีลดและเลิกยารักษาความดันเลือดสูง

4.4 โรคเบาหวาน

4.4.1 โรคเบาหวานคืออะไร      

4.4.2 ชนิดของโรคเบาหวาน

4.4.3 กลไกการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1

4.4.4 กลไกการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (การดื้อต่ออินซูลิน)

4.4.5 การวินิจฉัยโรคเบาหวาน

4.4.6 มายาคติเกี่ยวกับโรคเบาหวาน

4.4.7 วิธีรักษาโรคเบาหวานโดยไม่ใช้ยา

4.4.8 วิธีลดและเลิกยาเบาหวาน

4.5 โรคไขมันในเลือดสูง

                     4.5.1 โรคไขมันในเลือดสูงคืออะไร

4.5.2 การรักษาไขมันในเลือดสูงด้วยตนเอง

4.5.3 ระดับ LDL ที่พึงประสงค์ตามระดับความเสี่ยงแต่ละคน

4.5.4 ความเสี่ยงและประโยชน์ของยาลดไขมัน

4.5.5 การลดและเลิกยาลดไขมัน

4.6 โรคอัมพาต

          4.6.1 โรคอัมพาตคืออะไร

4.6.2 การวินิจฉัยอัมพาตเฉียบพลัน

4.6.3 การจัดการโรคอัมพาตเฉียบพลัน

4.6.4 การฟื้นฟูหลังการเป็นอัมพาต

4.7 โรคสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์

4.7.1 นิยามโรคสมองเสื่อม

4.7.2 การตรวจคัดกรองโรคอื่นที่อาการคล้ายสมองเสื่อม

4.7.3 การรักษาสมองเสื่อมด้วยตนเอง 

4.7.4 ยารักษาโรคสมองเสื่อม

4.7.5 อย่าเร่งให้ตัวเองเป็นสมองเสื่อมเร็วขึ้น

4.7.6 ยารักษาโรคสมองเสื่อม

4.8 โรคมะเร็ง

                     4.8.1 โรคมะเร็งคืออะไร

4.8.2 สาเหตุของโรคมะเร็ง

4.8.3 การวินิจฉัยโรคมะเร็ง

4.8.4 ข้อมูลเรื่องอาหารกับโรคมะเร็ง

4.8.5 การตรวจคัดกรองมะเร็ง

4.8.6 การรักษามะเร็งตามแบบแพทย์แผนปัจจุบัน

4.8.7 งานวิจัยรักษามะเร็งต่อมลูกหมากด้วยอาหาร

4.8.8 การดูแลรักษาตนเองหลังการผ่าตัดเคมีบำบัดฉายแสง

4.8.9 การแพทย์เลือกในการร่วมรักษามะเร็ง

4.9 โรคอ้วน

4.9.1 นิยามของโรคอ้วน

4.9.2 หลักฐานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการลดน้ำหนัก

4.9.3 การลดน้ำหนักด้วยอาหารพืชเป็นหลัก

4.10 โรคไตเรื้อรัง

4.10.1 นิยามโรคไตเรื้อรังและเกณฑ์วินิจฉัย

4.10.2 การรักษาโรคไตเรื้อด้วยตัวเองตามหลักฐานใหม่

4.10.4 โปตัสเซียมกับโรคไตเรื้อรังระยะต่างๆ

4.10.5 ฟอสเฟตจากอาหารพืชและสัตว์ต่อโรคไตเรื้อรัง

4.10.6 การป้องกันโรคไตเรื้อรัง

4.10.7 การบำบัดทดแทนไตแบบต่างๆ

5. Human body ร่างกายมนุษย์

          5.1 พื้นฐานโครงสร้างทางกายภาพในร่างกายของเรา

5.1.1 อวัยวะ

5.1.2 เนื้อเยื่อ

5.1.3 เซลล์

5.1.4 อวัยวะย่อยในเซลล์ (organelles)

5.1.5 โมเลกุลขนาดใหญ่

5.1.6 โมเลกุลขนาดเล็ก

5.1.7 อะตอม

5.1.8 อิเล็กตรอน โปรตอน และควาร์ก

          5.2 ระบบการทำงานต่างๆในร่างกายของเรา

                     5.2.1 Integumentary system ระบบผิวหนัง

5.2.2 Nervous system ระบบประสาท

5.2.3 Muscular system ระบบกล้ามเนื้อ

5.2.4 Skeletal system ระบบกระดูก

5.2.5 Respiratory system ระบบการหายใจ

5.2.6 Circulatory system ระบบการไหลเวียน

5.2.7 Alimentary system ระบบทางเดินอาหาร

5.2.8 Urinary system ระบบทางเดินปัสสาวะ

5.2.9 Reproductive system ระบบสืบพันธ์

5.2.10 Hematology system ระบบเลือด

5.2.11 Lymphatic system ระบบน้ำเหลือง

5.2.12 Endocrine system ระบบต่อมไร้ท่อ

5.2.13 Microbiomes ชุมชนจุลชีพในร่างกาย

5.2.14 Homeostasis ร่างกายนี้ซ่อมแซมตัวเองได้

6. อาการผิดปกติที่พบบ่อย (Common Symptoms)

6.1 ปวดหัว 

6.2 ไข้ 

6.3 เจ็บคอ 

6.4 คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม 

6.5 ไอ 

6.6 หอบ หายใจไม่อิ่ม 

6.7 ปวดท้อง 

6.8 ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอ อาหารไม่ย่อย 

6.9 ท้องเสีย 

6.10 ท้องผูก 

6.11 เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก 

6.12 หน้ามืด เป็นลม 

6.13 หมดสติ 

6.14 ชัก 

6.15 แขนขาอ่อนแรง 

6.16 พูดไม่ชัด 

6.17 ปากเบี้ยว 

6.18 ตามืดเฉียบพลัน 

6.19 ทรงตัวไม่อยู่ 

6.20 ปวดฟัน เสียวฟัน 

6.21 ปวดท้องเมนส์ 

6.22 ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตามตัว 

6.23 ปวดกระดูก 

6.24 ปวดนิ้วมือ ปวดข้อมือ 

6.25 ปวดหู 

6.26 ปวดต้นคอ ปวดคอ 

6.27 ปวดหัวไหล่ 

6.28 ปวดหลังปวดเอว 

6.29 ปวดสะโพก 

6.30 ปวดเข่า 

6.31 ปวดน่อง 

6.32 ปวดข้อเท้า 

6.33 ปวดส้นเท้า 

6.34 ปวดฝ่าเท้า 

6.35 ปวดนิ้วเท้า 

6.36 ปวดแสบเวลาปัสสาวะ 

6.37 ปวดก้น 

6.38 ปวดอวัยวะเพศ 

6.39 ปวดตอนร่วมเพศ 

6.40 ปวดอัณฑะ 

6.41 เจ็บเต้านม ปวดเต้านม 

6.42 เจ็บตา 

6.43 ก้อนผิดปกติ 

6.44 นอนไม่หลับ 

6.45 นอนกรน 

6.46 อ้วน ลงพุง น้ำหนักเพิ่ม 

6.47 ผอม น้ำหนักลดโดยไม่ได้ตั้งใจลด 

6.48 หนาวสั่น 

6.49 ไม่สบาย 

6.50 อ่อนเพลีย เปลี้ยล้า ไม่มีแรง 

6.51 ลื่นตกหกล้มง่าย 

6.52 หลังค่อม 

6.53 ซีด โลหิตจาง 

6.54 ดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง 

6.55 เขียว เล็บเขียว ปากเขียว มือเขียว 

6.56 บวม 

6.57 เหน็บ / ชา 

6.58 สะอึก 

6.59 ผิวสีคล้ำ 

6.60 ลมพิษ 

6.61 จ้ำเลือด 

6.62 ผมร่วง 

6.63 รังแค 

6.64 ใจสั่น / ใจเต้นเร็ว 

6.65 ตะคริว 

6.66 มือสั่น 

6.67 เวียนหัว บ้านหมุน 

6.68 ขี้หลงขี้ลืม 

6.69 เมารถเมาเรือ 

6.70 เลือดกำเดาไหล 

6.71 จมูกไม่ได้กลิ่น 

6.72 แผลในปาก ร้อนใน 

6.73 กลิ่นปาก 

6.74 น้ำลายไหลจากมุมปาก 

6.75 เสียงแหบ 

6.76 กลืนลำบาก 

6.77 คลื่นไส้ / อาเจียน 

6.78 เรอเปรี้ยว / กรดไหลย้อน 

6.79 เบื่ออาหาร 

6.80 ถ่ายดำ ถ่ายเป็นเลือด 

6.81 กลั้นอุจจาระไม่อยู่ 

6.82 กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ /ปัสสาวะบ่อย 

6.83 ปัสสาวะเป็นเลือด 

6.84 เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด 

6.85 ประจำเดือนไม่มี / ไม่มา 

6.86 ตกขาว 

6.87 ร้อนวูบวาบ 

6.88 อวัยวะเพศไม่แข็งตัว 

6.89 การคุมกำเนิด 

6.90 ของเหลวหรือน้ำนมไหลจากเต้านม 

6.91 ตามีอะไรลอยไปมา (Floaters) 

6.92 ตาเห็นแสงระยิบระยับ 

6.93 ตาแห้ง 

6.94  ตาโปน 

6.95  ตามัว / ตามืด 

6.96  หนังตาตก 

6.97 เสียงในหู 

6.98 คันหู 

6.99 หูตึง หูหนวก 

6.100 หูน้ำหนวก 

6.101 กังวล / เครียด 

6.102 กลัวเกินเหตุ (panic) 

6.103 ซึมเศร้า (depress) 

6.104 ย้ำคิดย้ำทำ 

6.105 เห็นภาพหลอน / ได้ยินเสียงหลอน

7. การแปลผลการตรวจทางการแพทย์

7.1 CBC การตรวจนับเม็ดเลือด

7.2 UA การตรวจปัสสาวะ

7.3 Blood chemistry การตรวจวิเคราะห์ทางชีวเคมีของเลือด

8. รู้จักใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์

9. บรรณานุกรม

10.  เกี่ยวกับผู้เขียน

…………………………………………………………….


[อ่านต่อ...]

เรื่องไร้สาระ (42) เมืองมืด Rjukan


          หากนับรวมการที่เครื่องบินมาช้าไปหนึ่งชั่วโมง กับเจอด่านตม.อีกสองชั่วโมง เวลาสามชั่วโมงที่เราสำรองไว้ก็หมดพอดี แต่ก็ขับรถออกจากสนามบินออสโลด้วยความหวังว่าเราจะทำเวลาได้ทันตามแผน พอขับมาได้พักใหญ่จึงได้เรียนรู้ว่าที่เขาบอกว่าที่นี่จำกัดความเร็ว 80 กม./ชม.นั้นไม่จริงดอก ส่วนใหญ่จำกัดที่ 60 กม./ชม ช่วงผ่านบ้านเรือนผู้คนก็จำกัดให้วิ่งแค่ 40 พอถึงช่วงที่เปิดให้วิ่ง 80 กม.จริงๆก็วิ่งไม่ได้ เพราะถนนฉวัดเฉวียนและแคบถึงขนาดตีเส้นขาวแบ่งครึ่งไม่ได้ ต้องปล่อยให้รถที่สวนกันลุ้นกันเอาเอง ทำให้ใด้บทเรียนที่หนึ่งว่าการวางแผนเวลาเที่ยวนอร์เวย์นี้ต้องคูณสองไม่โลภมาก ถึงกระนั้นก็ยังมีรถขับแซงหน้าเราไปเฟี้ยว เฟี้ยว เป็นว่าเล่น ไปได้สักพักก็เห็นพวกเฟี้ยวเหล่านั้นถูกตำรวจดักจับเข้าแถุวจ่ายค่าปรับที่ข้างทาง ทำให้กัปตันของเราถึงกับออกปากชมตัวเองที่มีความอดทนอดกลั้นไม่เหยียบคันเร่งตามคนอื่นเขา    

          เป้าหมายแรกของเราคือจะไปสวมหมวกกันน็อกใส่ที่ครอบหูเพื่อนั่งรถไฟขนแร่ลงไปชมเหมืองเงินที่นอกเมือง Kongsberg ฟังว่าเราต้องเดินทางลงลึกไปจากผิวดินถึง 1 กม. ซึ่งเป็นระดับลึกกว่าน้ำทะเล 500 เมตร น่าจะอลังการ์อยู่ แต่เราต้องไปให้ทันรอบเที่ยงวันเมื่อออกจากเหมืองจึงจะเดินทางต่อไปให้ทันถึงที่พักได้ก่อนมืด นี่ก็เที่ยงแล้วเรายังอยู่ห่างเหมือนอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง จึงตัดสินใจปลง เปลี่ยนแผนแวะดูโบสถ์ไม้โบราณแบบสะเตวี ชื่อ Heddal stave church ซึ่งเป็นอันที่เก๋าที่สุด ใหญ่ที่สุด สงวนไว้ดีที่สุดในบรรดาโบสถ์ไม้โบราณซึ่งทั้งประเทศมีเหลืออยู่แค่ 28 แห่ง แห่งนี้สร้างมาตั้งแต่ปี 1300 และได้เป็นมรดกโลกด้วย

 


     เสร็จจากการชมโบสถ์ พวกเราซึ่งมีกันแค่ห้าคนก็ถือโอกาสควักเอาแซนด์วิชที่ซื้อมาจากสนามบินออกมาปิกนิคที่โต๊ะริมทุ่งนานั่นเลย จากนั้นก็เดินทางต่อไปอย่างไม่รีบร้อน ขับรถขึ้นทางเล็กไปบนเขาสูงมากที่ไม่มีต้นไม้เลย เห็นชาวบ้านนอร์เวย์เอารถยนต์มาจอดอยู่ริมทางเป็นจำนวนมากหลายสิบคัน เข้าใจว่าคงจะมีอะไรน่าสนใจจึงแวะดู ปรากฎว่าพวกเขาแค่มาจอดรถเพื่อเดินไพรขึ้นไปบนยอดเขาสูง นี่สมดังคำกล่าวที่ว่าการจะเดินไพรแบบชาวนอร์เวย์ไม่ต้องไปมองหาป้าย trail ใดๆทั้งสิ้น วันไหนแดดดีเห็นเขาจอดรถออกันอยู่ที่ไหนก็คือที่นั่นแหละเป็นแหล่งเดินไพรของเขา เดินดุ่มๆไปได้ทุกที่ไม่ตัองกลัวว่าจะไปบุกรุกที่ใครเพราะกฎหมายมีว่าที่ส่วนบุคคลที่ไม่ได้ล้อมรั้วไว้ทำการใดการหนึ่งโดยเฉพาะประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปเดินได้

ขับขึ้นไปสูงมาก หนาวเย็น ที่คนมาเดินไพรกันเป็นร้อย


           เราหารือกันว่าวันนี้แดดดี เวลาที่พอมีจากการไม่ได้ลงเหมืองน่าจะพากันไปนั่งรถไฟแนวดิ่ง Tuddalsvegen ซึ่งจะพาเราวิ่งขึ้นตามอุโมงที่เจาะเป็นไส้ไว้ในภูเขาที่มีทิศทางเกือบตั้งดิ่ง พาเราขึ้นไปสูงถึง 1800 เมตรจากระดับน้ำทะเล เขาว่าวันที่แดดดีอย่างนี้สามารถมองเห็นไกลได้ถึงสวีเดน จะได้ขึ้นไปเดินยืดเส้นยืดสายหลังจากนั่งเครื่องบินมานานบ้าง ตกลงกันดิบดีแล้วจึงขับไปสถานีขึ้นรถ เตรียมไม้เท้าเดินไพรกันดิบดี เห็นกองหน้าที่เข้าไปในห้องขายตั๋วออกมาทำหน้าจ๋อยๆพิกลผมจึงตามไปดู ได้ความจากคนขายตั๋วซึ่งพูดภาษาอังกฤษอย่างชัดเจนสุภาพเรียบร้อยแต่เย็นเฉียบว่า

     "คุณจะขึ้นไปตอนนี้ก็ขึ้นได้ แต่วันนี้ตอนนี้มีคนอยู่ข้างบนยอดเขาแล้วจำนวนมาก ขากลับลงมาคุณจะต้องรอคิวขึ้นรถไฟกลับอย่างน้อยสองชั่วโมง ถึงคุณจะเดินกลับเองก็ยิ่งใช้เวลาหลายชั่วโมงเหมือนกัน"

     แป่ว..ว เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าการจะวางแผนใช้เวลาเที่ยวในประเทศนอร์เวย์นั้นคูณสองก็ยังอาจจะไม่พอ จะให้ดีต้องคูณสาม เพราะมีเรื่องเซอร์ไพรส์แยะ หิ..หิ ไม่เป็นไร ถ้างั้นเราแวะเที่ยวที่ Tinn Museum ซึ่งเข้าดูได้ฟรีสักสิบนาที เพราะของฟรีคงไม่มีอะไรให้ดูมาก แล้วก็เข้าไปเที่ยวที่จตุรัสเมืองรุคาน (Rjukan) ก่อนจากขับตรงดิ่งไปยังเมืองเรินดอล (Rondal) ซึ่งเป็นที่พัก 

     ทินน์มิวเซียมไม่ใช่ที่เขาขุดดีบุกนะครับ เป็นปาร์คเล็กๆเข้าฟรีที่เขาย้ายเอาบ้านชนบทแบบโบราณของจริงมาตั้งให้ชม มีห้องน้ำให้ด้วย แต่เราไม่ได้ทดสอบว่าใช้ได้หรือเปล่า มีพื้นที่ประมาณสิบไร่ มีบ้านประมาณสิบหลัง แต่ละบ้านมีหน้าต่างกระจกให้มองแบบถ้ำมองเข้าไปข้างในเพื่อดูเฟอร์นิเจอร์ข้าวของเครื่องใช้ที่ชาวนายุคกลางใช้กันอยู่และจัดแสงไว้ให้สวยงามพอดี เดินได้สักพักก็ทั่วและสมความคาดหมายว่าของฟรีไม่มีอะไรมาก ที่น่าเซอร์ไพรส์ก็คือปาร์คฟรีนี้แม้จะไม่มีใครอยู่ประจำทำงานดูแลรักษาแต่ก็สอาดเรียบร้อยไม่มีขยะแม้แต่ชิ้นเดียว

เดินเล่นและถ้ำมองดูทินน์มิวเซียม


ยังพอมีเวลาเหลือ เราแวะเข้าไปเที่ยวในเมืองรุคาน (Rjukan) กันดีกว่า เมืองนี้ผมตั้งชื่อให้ว่า "เมืองมืด" กล่าวคือที่คนเขาล่ำลือกันว่ากันว่าที่เมืองทรอมโซ (Tromso) ตอนเหนือของประเทศผู้คนบ่นว่าสามเดือนในหนึ่งปีจะไม่ได้เห็นตะวันเลยนั้นเด็กๆ ที่เมืองมืดแห่งนี้ แต่ละปีคือจากปลายเดือนกันยาถึงต้นเดือนมีนา จะไม่ได้เห็นตะวันเลย ทั้งเมืองอยู่ในความมืดตลอดห้าเดือน เพราะเมืองนี้ยัดอยู่ในก้นหุบเขาที่เกิดจากเทือกเขาสูงสองเทือกวางขนานกันในแนวตะวันตก-ตะวันออก ที่ตรงนี้มันอยู่ราวเส้นละติจูด 60 องศาเหนือ แปลว่าตอนเที่ยงวันแดดมันจะไม่ตั้งหัวแบบบ้านเรา แต่มันจะสองเฉียงๆเลียดดินทำมุมเงยอยู่แค่ 30 องศา อาการจะหนักเป็นพิเศษในหน้าหนาวเพราะตะวันมันอ้อมข้าว เดือดร้อนกันจนเมื่อราวร้อยปีก่อนถึงต้องทำรถไฟแนวตั้งดิ่งเอาคนขึ้นไปหาแดดที่บนเขา มาเมื่อราวสิบกว่าปีมานี้ชาวเมืองได้ลงขันกันสร้างกระจกยักษ์ขนาด 17 ตารางเมตร จำนวนสามบาน ตั้งเรียงตระหง่านไว้บนเขาด้านทิศเหนือ แล้วทำระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมให้กระจกหมุนตามดวงอาทิตย์ตลอดเวลาไม่ว่ากี่โมงกระจกก็จะสะท้อนแสงแดดให้ส่องลงมาที่จตุรัสกลางเมืองพอดี เห็นไหมครับว่าแดดมันเป็นของดีมีราคาแค่ไหน ถ้าไม่มีมันถึงจะเห็นคุณค่า

โปรดสังเกตกระจกสะท้อนแสงแดดวับๆบนเขานู้นลงมา

กระจกยักษ์ทั้งสามบานตั้งตระหง่านอยู่บนเขา

     เรามาเมืองมืดในเดือนที่ยังไม่มืด จึงมีโอกาสได้เดินเล่นชมเมือง เป็นเมืองเล็กๆที่มีความสวยงามเพราะทั้งเมืองสร้างขึ้นโดยบริษัทไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อให้พนักงานของบริษัทที่ต้องมาทำงานในเมืองมืดนี้ได้เอาครอบครัวมาอยู่ด้วยได้ และได้มีสังคมแบบชาวบ้านชาวเมืองอื่นๆเขา สถาปัตย์กรรมจึงเป็นแบบว่าถ้าเป็นระดับวิศวะก็อยู่บ้านแบบหนึ่ง ถ้าเป็นระดับพนักงานขุดก็อยู่บ้านอีกแบบหนึ่ง เป็นต้น จึงเป็นเมืองเล็กระดับตำบลแห่งเดียวในโลกที่มีทั้งผังเมืองและผังชนิดของบ้านที่ทำไว้ร้อยปีแล้ว เมืองรุคานนี้เป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกด้วย ไม่ใช่เพราะมันมืด แต่เพราะมันเป็นเมืองที่ทั้งเมืองคนตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อรับใช้อุตสาหกรรมรุ่นปี 1900 โน่น

เดินเล่นในเมืองมืด ในเดือนที่ยังไม่มืดดี

     จากนั้นก็ขับรถต่อไปมุ่งหน้าตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านพื้นที่สูงอันเปล่าเปลี่ยว มีหิมะดารดาษตามยอดเขา นานๆมีบ้านคนเสียทีหนึ่ง บางครั้งขับไปนานมาเจอบ้านอยู่หลังเดียวตั้งอยู่โดดเดี่ยวในทางกลางความหนาวเย็นและควันไฟกรุ่นลอยขึ้นมาจากปล่องบนหลังคาซึ่งมุงด้วยหญ้า ผมขอให้กัปตันหยุดรถเพื่อถ่ายรูปบ้านหลังนี้มาให้ดูด้วย 

     นั่งรถกันต่อมาอีกหนึ่งอสงไขยเวลาก็มาถึงเมืองรอนดาล (Rondal) เข้าพักในกระท่อมในที่จอดรถบ้าน ที่ข้างบ้านพักมีบ้านหลังหนึ่งที่หลังคาบ้านไม่ใช่แค่ปลูกหญ้าเท่านั้น แต่ปลูกเป็นป่าเลยทีเดียว ผมถ่ายรูปมาให้ดูด้วย 

บางหลังไม่ปลูกแค่หญ้าบนหลังคา แต่ปลูกป่าเลย

     สไตล์การมุงหลังคาด้วยหญ้ามีเป็นเอกลักษณ์ของสะแกนดิเนเวียมาหลายร้อยปีแล้ว ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในนอร์เวย์ บ้างมีหลังคาเขียวเรียบร้อยเหมือนสนามหญ้า บ้างเป็นป่าอย่างหลังที่อยู่ข้างบ้านที่ผมพักนี้ บ้างทำเป็นสวนดอกไม้ บ้างเป็นที่นกกาอาศัยทำรัง มีคนเล่าว่าบ้างเอาแพะแกะขึ้นไปเล็มหญ้าบนหลังคาก็มี แต่ผมยังไม่เคยเห็นด้วยตาตัวเอง ทำไมถึงทำหลังคาแบบนี้กันมาแต่โบราณก็ไม่มีใครทราบได้ ได้แต่เดาเอาว่าอาจเพื่ออาศัยพืชเป็นฉนวนทำให้อุ่นในหน้าหนาวและเย็นสบายในหน้าร้อน และสบายหูจากเสียงดังข้างนอกด้วย บ้างเดาว่าน่าจะเอาไว้ดูดซับน้ำฝนซึ่งตกปรอยๆทั้งปีเพราะมันลดการไหลทิ้งจากหลังคาได้ถึงปีละ 40-90% ผมไปศึกษาวิธีทำหลังคาชนิดนี้เมื่อไปเยี่ยมหมู่บ้านไวกิ้งในอีกสองวันต่อมา จึงได้ทราบว่าสมัยก่อนวิธีทำเขาต้องถากเอาเปลือกไม้เบิร์ช (berch) มามุงเป็นชั้นล่างเพื่อกันน้ำก่อน แล้วใส่ดินใส่ปุ๋ยแล้วปลูกหญ้าหรือพืชอื่นลงไป แต่สมัยนี้การใช้เปลือกไม้เบิร์ชนั้นเด็กๆแล้ว เขาหันมาใช้ของสมัยใหม่ที่กันน้ำได้เริ่ดกว่าที่เรียกว่า.. พลาสติก แทน หิ หิ  

    นี่ทนเมาเครื่องบินนั่งเขียนมาตั้งนานเพิ่งเล่าได้วันเดียวนะเนี่ย การเดินทางรอบนี้นาน 14 วัน จะให้เขียนเล่าทุกวันก็ไม่ไหวเพราะพรุ่งนี้ผมก็ต้องเริ่มสางงานที่กองสุมไว้รอคงไม่มีเวลาเขียนแล้ว จึงขอตัดช่องน้อยเอารูปมาแปะต่อท้ายให้ดูประมาณวันละรูปแทนก็แล้วกัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

สองตายา บนหน้าผ่า pulpit rock

บริกเกน ห้องแถวมหาชน ถ่ายตอนโพล้เพล้




ปิคนิกที่ฟาร์มบนเขา ที่เห็นลิบๆข้างล่างโน้นคือเมืองฟร็อม

จากบนเขาตำบล Loen ตั้งใจถ่ายกลาเซียร์สีขาวบนสุดของภาพ


กระท่อมทึ่พักของเราบนเขาที่ปลายสุดของ Geiranger fjord

นั่งปล่อยอารมณ์ข้างถนนตอนขับเลียบสันเขาจากกีแรงเกอร์

ถ่ายจากหัว "เรือเงียบ" ขณะล่อง Trollfjord ที่โลโฟเทน

สองตายายในคืนออกล่าแสงเหนือที่โลโฟเทน

โรงแรมที่พักที่ตำบลฮอมเนย (Hamnøy)

หัวปลาขนาดบะเร่อบะร่าที่เอามาตากให้แห้งลมเย็น



ปิกนิกกันที่หาด Haukland ที่โลโฟเทน ก่อนไฮกิ้งขึ้นเขา





ซุปไวกิ้งเลี้ยงแขก ถ้วยละ 160 โครน

แพ Kon Tiki ของแท้ที่พิพิธภัณฑ์ในเมืองออสโล


........................................................
[อ่านต่อ...]

10 กันยายน 2567

เพื่อสนองตอบต่อเสียงบ่น อี..บุ๊ค



(ภาพวันนี้ / หนังสือพิมพ์ครั้งที่2 ล็อตสุดท้าย ส่งออกวันนี้)

ยังไม่ทันได้ออกเดินทางไปท่องเที่ยวเลย อยากจะรีบเคลียร์ความกังวลถึงเสียงเรียกร้องแฟนๆบล็อกเรื่องไม่ชอบอ่านอีบุ๊ค จึงต้องมานั่งแจ้งข่าวเปลี่ยนแผนว่าขอเช็คยอดผู้คิดจะซื้อหนังสือ “คัมภีร์สุขภาพดี” แบบเป็นหนังสือกระดาษก่อน โดยผมขอให้ท่านที่คิดจะซื้อช่วยกรอก Google Form ในลิ้งค์ที่ส่งมานี้ แต่ยังไม่ต้องจ่ายเงินนะครับ ขั้นนี้เอาแค่ “คิดจะซื้อ” ก่อน


https://forms.gle/pk2k6PbCUyukYPvF6

ผมจะแจ้งให้ท่านทราบทันทีว่าจะพิมพ์ครั้งที่ 3 เมื่อมียอดผู้จะซื้อมากพอที่จะสั่งพิมพ์ได้ จากนั้นค่อยเปิดให้ท่านสั่งซื้ออย่างเป็นทางการเข้ามา ทั้งหมดนี้อย่างช้าน่าจะได้หนังสือในเดือนตค. 67

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

09 กันยายน 2567

หนังสือ “คัมภีร์สุขภาพดี” หมดเกลี้ยงแล้ว ต้องไปอ่านทาง meb e-book

 


วันนี้ของดการตอบคำถามหนึ่งวันเพื่อแจ้งข่าวว่าหนังสือคัมภีร์สุขภาพดี ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ได้ขายออกไปหมดเกลี้ยงแล้ว ไม่มีขายแล้วแม้แต่เล่มเดียว

 

สำหรับแฟนบล็อกที่อยากจะอ่านหนังสือนี้ ก็เหลืออยู่ทางเดียวคือต้องไปอ่านทางอีบุ๊ค เพราะหมอสันต์ตั้งใจมานานแล้วว่าเมื่อขายหนังสือที่เป็นกระดาษหมดก็จะย้ายวิกไปเปิดเป็นอีบุ๊คลูกเดียวเพื่อลดโลกร้อน (ทันสมัยซะด้วย หิ..หิ) โดยตอนนี้ได้วางขายที่ร้าน meb e-book ซึ่งเป็นร้านอีบุ๊คที่ดังกว่าเขาเพื่อนไปเรียบร้อยแล้ว หมอมายบอกว่าจะเปิดขายที่อีกร้านหนึ่ง คือที่ร้านศูนย์หนังสือจุฬา ยังไม่แน่ใจว่าตอนนี้เปิดได้แล้วหรือยัง ถ้าสนใจก็ลองเช็คดูนะครับ

 

สำหรับแฟนบล็อกระดับสว.ที่พากันโอดครวญมาว่าอ่านอีบุ๊คไม่ได้เพราะมันไม่มัน ขอให้หมอสันต์พิมพ์หนังสือเป็นกระดาษออกมาเป็นการพิมพ์ครั้งที่สาม ฮี่..ฮี่ อันนี้ขอให้การ “ภาคเสธ” ไว้ก่อนนะครับ คือไม่รับปาก แต่ก็ไม่ปฏิเสธ แบบว่าถนอมไมตรีท่าน เอาไว้เที่ยวกลับมาก่อนแล้วค่อยคิดอีกที

 

และถือโอกาสแจ้งข่าวซะเลยว่าหมอสันต์จะหยุดงานไปเที่ยวเดินไพรไฮกิ้ง กว่าจะกลับมาก็สิ้นเดือนกย. ในระหว่างเที่ยวจะไม่ตอบคำถามทั้งทางเฟซทางบล็อก ไม่ทำรายการคลินิกออนไลน์ทางยูทูป และไม่เขียนบทความอะไรทั้งสิ้น ถ้ามีบทความอะไรโผล่มาในช่วงนี้ให้ระวังไว้ก่อนว่าน่าจะเป็นของปลอม (หิ..หิ)

 

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

หมอสันต์รับเชิญคุณดู๋ (สัญญา คุณากร) ไปออกรายการเจาะใจอีกครั้ง 7 กย. 67

 


หมอสันต์รับเชิญคุณดู๋ (สัญญา คุณากร) ไปออกรายการเจาะใจอีกครั้ง 7 กย. 67 

[อ่านต่อ...]

05 กันยายน 2567

หลอดเลือดใหญ่ในทรวงอกโป่งพอง (Thoracic Aortic Aneurysm)


(ภาพวันนี้ / พู่จอม

พล หล่นเกลื่อนพื้น)

เรียนคุณหมอที่นับถือ


ผมอายุ 71 ปี อยู่เชียงใหม่ครับ หมอตรวจพบว่าผมเป็นเส้นเลือดโป่ง ในทรวงอก เยื้องด้านขวา ขนาด 6.2 เซ็นต์ แนะนำให้ผมผ่าตัดรักษา และให้กลับไปปรึกษาครอบครัว เมื่อครบสามเดือนแล้วให้ไปพบหมอ
ผมควรผ่าตัดหรือมีวิธีรักษาแบบอื่นไหมครับ และมีอันตรายไหมครับ ผมสูง178 น้ำหนัก78 ผมมีอาชีพเล่นเปียโนและเป่าแซก ทำงานอาทิตย์ละสองวันยังเป่าแซกได้ไหมครับ และในช่วงนี้ผมออกกำลังกายได่ไหมครับ ปกติผมจะจ๊อกกิ้งวันละครึ่งชั่วโมง สลับยกเวทน้ำหนัก 2 กิโล 30 คร้้ง ( 2 เซ็ท) ตอนนี้หยุดทำครับ
ขอความกรุณาให้คุณหมอแนะนำครับ

.....................................................................

ตอบครับ

1.. ก่อนตอบคำถาม ผมขอสรุปก่อนนะว่าโรคที่คุณเป็นนี้คือโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ในทรวงอกโป่งพอง (Thoracic aortic aneurysm) ซึ่งมีหลายชนิด หลายตำแหน่ง หลายระดับความรุนแรง ผมไม่มีข้อมูลอะไรเลย จึงขอเดาเอาว่าเป็นชนิดเกิดบนช่วงหลอดเลือดโค้งลง (descending aneurysm) และไม่มีผลต่อการทำงานของลิ้นหัวใจ ซึ่งเป็นชนิดที่มีระดับความรุนแรงต่ำที่สุดในบรรดาโรคเดียวกันนี้

2.. ถามว่าเป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ทรวงอกโป่งพอง มีอันตรายไหม ตอบว่ามีอันตรายสิครับ กล่าวคือในขนาดที่ใหญ่ 6.0 ซม.ขึ้นไปอย่างของคุณนี้ มันมีโอกาสแตก 14.2% ต่อปี

3.. ถามว่ามีวิธีรักษากี่วิธี ตอบว่ามีวิธีรักษา 3 วิธี คือ

วิธีที่ (1) ผ่าตัด (aneurysmectomy/aortoplasty หรือ open repair) เป็นการผ่าตัดใหญ่จนถึงโคตรใหญ่ มีอัตราตายสูง (ในคนอายุขนาดคุณผมให้อัตราตายสูงถึง 10%) และมีอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนสำคัญคือมีโอกาสเป็นอัมพาตท่อนล่าง 6.7% เพราะในการผ่าตัดต้องหนีบหลอดเลือดใหญ่ที่เลี้ยงแกนประสาทสันหลังไว้ช่วงเวลาหนึ่งทำให้แกนประสาทสันหลังขาดเลือด

วิธีที่ (2) เจาะรูที่ขาหนีบแล้วเอาหลอดเลือดเทียมและขดลวดถ่างเข้าไปใส่ (Thoracic endovascular aortic repair - TEVAR) เป็นการรักษาแบบหรูไฮเลิศสะแมนแตน แต่ว่ามันเบิกค่าอุปกรณ์แพงๆไม่ได้นะคุณต้องออกเงินเอง และบ่อยครั้งพอตรวจดูภาพของโรคอย่างละเอียดแล้วพบว่าทำ TEVAR ไม่ได้ด้วยเหตุผลทางเทคนิค นอกจากนั้นอัตราการเกิดอัมพาตท่อนล่างก็ยังมีอยู่ 2.3%

วิธีที่ (3) ไม่ทำอะไรทั้งสิ้น อยู่เฉยๆ ยอมรับความเสี่ยงที่จะแตกดังโพล้ะ 14.2% ต่อปี

4.. ถามว่ากรณีของคุณควรรับการรักษาแบบไหนดี ตอบว่ากรณีของคุณให้คุณจับไม้สั้นไม้ยาวเอาเองดีที่สุดครับ ผมให้ข้อมูลประกอบไปหมดแล้ว ถ้าเป็นตัวหมอสันต์เป็นผู้ป่วยซะเองหมอสันต์จะเลือกไม่ทำอะไรทั้งสิ้น เพราะหมอสันต์รับไม่ได้เลยกับการต้องมาเป็นอัมพาตท่อนล่างเอาเมื่อยามแก่ อีกอย่างหนึ่งถึงจะตายแบบแตกดังโพล้ะหมอสันต์ก็ไม่กลัว ชอบเสียอีก เพราะมันตายเร็วดี หิ..หิ นอกจากนั้นยังมีโอกาสที่แตกแล้วดวงไม่ถึงฆาตเขาหามส่งโรงพยาบาลให้หมอเขาผ่าตัดด่วนทัน ผมก็ไปลุ้นอัตราตายจากการผ่าตัดด่วนซึ่งน่าจะอยู่ที่ 20% เรียกว่าทางเลือกนี้เป็นทางเลือกที่ยังมีลุ้นได้สองรอบ

5.. ถามว่าจะเป่าแซ็กโซโฟน ยกน้ำหนัก เล่นกล้าม และวิ่งจ๊อกกิ้ง ได้ไหม ตอบว่าปูนนี้แล้วคุณอยากทำอะไรก็ทำไปเหอะ

ในแง่ของหลักฐานวิทยาศาสตร์นั้น ยังไม่มีหลักฐานแม้แต่ชิ้นเดียวที่จะบ่งชี้ว่าการเป่าแซ็กหรือยกน้ำหนักหรือจ๊อกกิ้งจะทำให้หลอดเลือดที่โป่งพองอยู่แล้วแตกเร็วขึ้น ในทางตรงกันข้าม การออกกำลังกายจะช่วยลดความดันเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้หลอดเลือดแตก

6.. ถามว่าหมอสันต์มีอะไรจะแนะนำอีกไหม ตอบว่าควรใส่ใจรักษาความดันเลือดไม่ให้สูง ด้วยการ (1) กินพืชผักผลไม้มากๆ (2) ลดเกลือในอาหารลง (3) ออกกำลังกายสม่ำเสมอ (4) ลดน้ำหนัก ในกรณีของคุณหากคุณลดน้ำหนักลงสัก 10 กก. ก็จะได้ดัชนีมวลกาย 21 ซึ่งกำลังดี แต่ความดันตัวบนคุณจะลดลงไปจากเดิมประมาณ 20 มม. ซึ่งดีต่อโรคหลอดเลือดโป่งพองมากๆ

7.. ข้อนี้คุณไม่ได้ถาม แต่เป็นคอมเม้นต์นอกประเด็นของหมอสันต์ ว่าคุณอายุ 71 ปีแล้วยังเป่าแซ็กหากินได้ ผมงืด..ด จริงๆ ผมยกย่องให้คุณไอดอลของผมเลยนะเนี่ย อ่านจดหมายของคุณแล้วทำให้ผมขยันตั้งใจซ้อมสีไวโอลินมากขึ้น เผื่อวันหน้าผมอาจจะต้องใช้มันหากินบ้าง หิ..หิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Umegaki, Takeshi et al. Paraplegia After Open Surgical Repair Versus Thoracic Endovascular Aortic Repair for Thoracic Aortic Disease: A Retrospective Analysis of Japanese Administrative Data. Journal of Cardiothoracic and Vascular Anesthesia, Volume 36, Issue 4, 1021 - 1028
[อ่านต่อ...]

04 กันยายน 2567

วิทยาศาสตร์สำหรับผู้อยากหยุดยาต้านเกล็ดเลือด..แต่กลัว


 

(ภาพวันนี้ / ฝนตก ได้แต่มองออกนอกหน้าต่าง)

เรียน คุณหมอสันต์ที่นับถือ

ขอเรียนปรึกษา และขอความเห็นของท่านครับ ผมอายุ49ปี มีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูงทานยาประจำ และไขมันในเลือดสูงบ้าง ลดบ้างเวลาคุมอาหารไม่ได้ทานยาครับ งานที่ทำต้องขับรถเดินทางบ่อย ช่วง 3 ปีที่แล้วผมเคยมีอาการแน่นหน้าอกตอนขับรถ ก็แวะไปตรวจที่โรงพยาบาลทันทีแต่อาการแน่นหน้าอกหายไปแล้ว หมอห้องฉุกเฉินตรวจคลื่นไฟฟ้าปกติ ต่อมาตุลาคมปีที่แล้วผมมีอาการแน่นหน้าอกและจุกที่คอระหว่างขับรถเป็นอาการแน่นหน้าอกในรอบ 2-3 ปี แต่แน่นแล้วหายประมาณ 3 รอบ ผมตรวจที่โรงพยาบาลจังหวัด ... คุณหมอตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้า ดูอาการ 4 ชม.ก็ให้กลับโรงแรมบอกว่ากล้ามเนื้ออักเสบ หลังจากนั้นก็ไม่แน่นหน้าอกอีกเลยทำให้ผมก็ลืมไม่ได้ไปหาหมอเพิ่มเติม ต้นปีนี้ไปพบแพทย์ ตรวจสุขภาพประจำปีและเล่าอาการปลายปีที่แล้วให้หมอฟัง หมอส่งตรวจ CTA พบเส้นเลือดตีบสองเส้น หมอให้ฉีดสีและสวนหัวใจใส่ลวด 1 เส้น อีกเส้นตีบประมาณ40% ยังไม่ทำอะไร

ผมทำบอลลูนขยายหลอดเลือดครบ 5 เดือนแล้ว หมอให้ทานยาแอสไพริน 81 มก. สองเม็ด และ clopidogrel 75 มก. แต่พอเริ่มทานยาผมมีปัญหาเรื่องปวดท้องกระเพาะ หมอก็ให้ยารักษาแผลกระเพาะมาเพิ่ม หมอที่รักษาบอกต้องใช้ยาสองตัวนี้อย่างน้อย1ปี หลังจากนั้นทานแอสไพรินตลอดชีวิต จึงขอสอบถามความเห็นคุณหมอเพื่อเป็นข้อมูล

1.ผมสามารถลดหรือหยุดยาได้ก่อนครบ 1 ปี หรือไม่ความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนครับ เดินสายพานเดือนนี้ผลปกติครับ (ก่อนทำบอลลูนเดินสายพานก็ปกติครับ)

2. หากหยุดไม่ได้ผมสามารถงดยาได้สูงสุดกี่วัน กรณีต้องผ่าตัด

3. แอสไพรินที่คุณหมอตอบคำถาม ครั้งที่แล้วว่าต้องวางแผนหรือทยอยหยุด ไม่ควรหยุดทันที มีรายละเอียดอย่างไรครับ

ผมเสียดายที่พบเพจและรู้จักคุณหมอช้าเกินไป หากรู้ก่อนทำบอลลูนน่าจะดีไม่น้อย แต่ รู้ช้าก็ยังดีกว่าไม่รู้เลย

ขอบพระคุณมากครับ

ส่งจาก iPhone ของฉัน

...................................................

 

ตอบครับ

1.. ถามว่าสวนหัวใจทำบอลลูนใส่ขดลวดแล้ว แต่ทนผลข้างเคียงยาต้านเกล็ดเลือดไม่ไหว หากลดหรือหยุดยาได้ก่อนครบ 1 ปี จะมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ตอบจากงานวิจัย j-Cypher Registry ว่า

กรณีที่ 1 การลดยาต้านเกล็ดเลือดที่กินควบลงจากสองตัวเหลือตัวเดียวโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดในขดลวดจะเพิ่มขึ้นจาก 0.55% ในหนึ่งปี เป็น 1.26%  

กรณีที่ 2 หากหยุดกินทั้งสองตัวโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันในขดลวดจะเพิ่มจาก 0.55% เป็น 2% ในหนึ่งปี

จะเห็นว่าในภาพรวมมันก็ไม่ได้เสี่ยงตายระดับระเบิดระเบ้อแต่อย่างใดแต่มันก็มีความเสี่ยงอยู่ หากทนยาได้ก็ควรจะทนกินยาไปก่อน น่าจะดีกว่าอยู่เปล่าๆ

2.. ถามว่าหากไม่หยุดยาแต่แค่จะงดกรณีต้องผ่าตัด สามารถงดยาได้นานสูงสุดกี่วัน ตอบว่าไม่มีข้อมูลยืนยันในประเด็นนี้เลย ปัจจุบันนี้วงการแพทย์ใช้หลักชั่งน้ำหนักประโยชน์ของยาต้านเกล็ดเลือดและความเสี่ยงที่เลือดจะออกขณะผ่าตัด คนที่จะชั่งตรงนี้คือตัวหมอผ่าตัด ซึ่งเขาไม่ได้ชั่งด้วยข้อมูลแต่เขาชั่งด้วย ”ใจ” ของเขาเอง แล้วแต่ว่าใครขี้ป๊อดแค่ไหน สมัยหมอสันต์ยังทำผ่าตัดอยู่ไม่เคยงดยาต้านเกล็ดเลือดของคนไข้ก่อนการผ่าตัดไม่ว่าจะผ่าอะไร เพราะหมอสันต์เป็นหมอพันธ์ผิดปกติ

ข้อมูลวิจัยฤทธิ์ต่อต้านเกล็ดเลือดหลังหยุดยาทันทีพบว่าฤทธิ์จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญใน 7 วัน แต่หากจะให้หมดฤทธิ์จริงๆเกลี้ยงๆข้อมูลบ่งชี้ว่าต้อง 14 – 28 วันครับ

3.. ถามว่าที่หมอสันต์เคยบอกว่าการหยุดยาต้านเกล็ดเลือดต้องค่อยๆหยุดนั้นหมายความว่าอย่างไร ตอบว่าข้อมูลมีอยู่ว่าการหยุดยาทันทีจะทำให้เลือดจับตัวมากขึ้นแบบเด้งดึ๋ง มากกว่าสมัยไม่เคยได้ยาเลยเสียอีก ภาษาหมอเรียกว่ามันมี rebound จึงทำให้อุบัติการณ์หลอดเลือดอุดตัน(โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมองสูง)พุ่งขึ้นช่วง 8-25 วันนับจากวันที่หยุดยาแบบทันที คือเริ่มเกิดเรื่องเมื่อเกล็ดเลือดใหม่ได้เข้ามาแทนที่เกล็ดเลือดเก่าแล้ว แต่มีประเด็นสำคัญคือ rebound นี้เกิดเฉพาะหยุดยาต้านเกล็ดเลือดทุกตัวเกลี้ยงเท่านั้น จะไม่เกิดกรณีกินยาอยู่สองตัวแล้วหยุดกะทันหันตัวเดียว [2]  ความเสี่ยงนี้ยังไม่มีงานวิจัยชั่งตวงวัดออกมาเป็น % รู้แต่ว่ามีความเสี่ยงอยู่

วิธีปฏิบัติที่จะหยุดยาโดยลดความเสี่ยงนี้ด้วยคือค่อยๆหยุดยา (taper off) ลงทุกสัปดาห์โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เช่นกรณีกินอยู่สองตัว สัปดาห์แรกลดเหลือตัวเดียวเช่นเหลือแอสไพริน สัปดาห์ที่สองลดขนาดแอสไพรินเหลือครึ่งเม็ด (40 มก.) สัปดาห์ท่าสามลดเหลือครึ่งเม็ดวันเว้นวัน สัปดาห์ที่สี่จึงหยุดหมด เป็นต้น

4.. ข้อนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมแถมให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นที่ไม่ต้องการมาพิลาปรำพันภายหลังว่าน่าจะเจอหมอสันต์ก่อนที่จะไปสวนหัวใจใส่ขดลวด คือผมจะบอกว่าในกรณีที่ท่านไม่ได้เป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute MI ซึ่งหมายถึงมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกต่อเนื่องนานเกิน 20 นาทีแม้พักแล้วก็ยังไม่หายจนต้องถูกหามเข้าโรงพยาบาล) เพียงแค่ไปตรวจสุขภาพประจำปี ถ้าหมอจะอ้างอะไรก็ตามแล้วเสนอให้รับการตรวจสวนหัวใจ (CAG) ให้ท่านมองข้ามช็อตไปก่อนว่าอาการป่วยที่ท่านกำลังเป็นอยู่นี้มันรบกวนคุณภาพชีวิตท่านมากจนท่านจะต้องตัดสินใจทำบอลลูนหรือผ่าตัดบายพาสหรือไม่ หากอาการมันมากจนท่านตัดสินใจได้ล่วงหน้าเลยว่าหากหมอชวนให้ทำบอลลูนหรือบายพาสท่านก็จะยอมทำ ให้ท่านเข้ารับการตรวจสวนหัวใจได้ แต่หากท่านมองข้ามช็อตไปแล้วว่าอาการที่ท่านเป็นนี้มันไม่ได้รบกวนอะไรท่านมากเลยและยังไงท่านก็จะไม่ทำบอลลูนหรือบายพาสเพราะอาการแค่นี้ ก็อย่ายอมเข้ารับการตรวจสวนหัวใจ เพราะ..(ขอโทษ) จะเป็นการแกว่งตีนหาเสี้ยนเปล่าๆ


อนึ่ง ให้ใส่ใจพิจารณาจากข้อมูลความจริงจากผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ อย่าไปวอกแวกกับคำขู่ที่ว่าถ้าไม่ทำแล้วจะมีอันเป็นไป เช่น วูบหมดสติ หรือตายกะทันหัน เป็นต้น เพราะข้อมูลความจริงที่เป็นสถิติจากการวิจัยคือคนที่ไม่ได้เป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน แค่มีอาการเจ็บหน้าอกแบบไม่ด่วน การรักษาแบบรุกล้ำ (บอลลูน) กับการรักษาแบบไม่รุกล้ำ ทั้งสองแบบมีความยืนยาวของชีวิตไม่ต่างกัน หมายความว่าประโยชน์ของบอลลูนมีแค่การบรรเทาอาการ แต่ไม่ได้เพิ่มความยืนยาวของชีวิต หรือในบางกรณีทำบอลลูนกลับทำให้แย่ลง กล่าวคือ

   – งานวิจัย RITA-II trial เอาคนไข้แบบนี้ 1,018 คน สุ่มแบ่งครึ่งหนึ่งไปทำบอลลูนใส่สะเต้นท์อีกครึ่งหนึ่งไม่ทำ พบว่ากลุ่มทำบอลลูนมีอาการทุเลาลงมากกว่าแต่ขณะเดียวกันก็มีจุดจบที่เลวร้าย(ตัวตาย หรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย) มากกว่า (6.3%) เมื่อเทียบกับกลุ่มไม่ทำ (3.3%)

     – งานวิจัย AVERT ซึ่งเปรียบเทียบคนไข้แบบนี้ 341 คน พบว่ากลุ่มกินยาลดไขมันอย่างเดียวโดยไม่ทำบอลลูนกลับมาเจ็บหน้าอกใน 18 เดือน เป็นจำนวน13% ขณะที่กลุ่มทำบอลลูนกลับมาเจ็บหน้าอก 21% คือพวกทำบอลลูนกลับเจ็บหน้าอกมากกว่า

     – งานวิจัย COURAGE trial ซึ่งเลือกเอาเฉพาะคนที่มีรอยตีบที่โคนหลอดเลือด (ยกเว้นโคนใหญ่ซ้าย LM) อย่างน้อย 70% ขึ้นไป ตีบหนึ่งเส้นบ้าง สองเส้นบ้าง สามเส้นบ้าง ที่มีอาการเจ็บหน้าอก class I-II และที่วิ่งสายพาน (EST) ได้ผลบวกด้วย แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งทำบอลลูน อีกกลุ่มหนึ่งไม่ทำ แล้วติดตามดูไปนานเฉลี่ย 4.6 ปี พบว่าทำบอลลูนกับไม่ทำมีอัตราการตายกับการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันในห้าปีไม่ต่างกันเลย

     – งานวิจัย MASS ซึ่งนับเอาจุดจบเลวร้ายหลายอย่างเป็นตัวชี้วัดรวม (คือนับทั้งตัว (1) การที่ตัวคนไข้ตาย (2) การที่กล้ามเนื้อหัวใจตาย (3) การเจ็บหน้าอกแบบดื้อด้านหลังทำ) หลังจากการเปรียบเทียบกันไปสามปีพบว่ากลุ่มที่ทำบอลลูนมีจุดจบเลวร้ายมากกว่า (24%) เมื่อเทียบกับกลุ่มไม่ทำ (17%)

อนึ่ง ก่อนตัดสินใจตรวจสวนหัวใจหรือทำบอลลูน ควรแม่นยำเรื่องข้อมูลความเสี่ยงของการทำหัตถการทั้งสองนี้ ซึ่งผมขอเอามาทบทวนให้ฟัง ดังนี้

ความเสี่ยงของการตรวจสวนหัวใจ (CAG)

     - โอกาสตายเพราะสวนหัวใจ 0.1% คือประมาณว่าทุก 1000 คนจะตาย 1 คน (ตัวเลขจากผู้ป่วย 2 แสนคน)
     - โอกาสเกิดไตวายเฉียบพลัน (Cr เพิ่มเกิน 1.0 mg/dl) มี 5% ของผู้ป่วย แต่การทำงานของไตจะค่อยๆกลับเป็นปกติในไม่กี่วัน ที่จะกลายเป็นไตวายเรื้อรังจนต้องล้างไตมีน้อยกว่า 1 % 
     - โอกาสเป็นอัมพาตเฉียบพลันภายใน 36 ชม.หลังทำ 0.1 – 0.6%
     - โอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการฉีดสี มีต่ำกว่า 0.1%

-          โอกาสติดเชื้อรวมทั้งติดเชื้อในกระแสเลือด มี 0.06% หากทำที่ขา และสูงถึง 0.6% หากทำที่แขน

     นอกจากนี้เป็นภาวะแทรกซ้อนจิ๊บๆเช่นเลือดออกตรงที่แทงเข็ม เป็นต้น

ความเสี่ยงจากการทำบอลลูนใส่สะเต้นท์

     - โอกาสตายในรพ. 1.4 – 2.6% ยิ่งรพ.เล็กทำบอลลูนนานๆทียิ่งตายมาก
     - โอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันแบบมีคลื่น STEMI 0.4%
     - โอกาสตายในหนึ่งปีหลังจำหน่ายออกจากรพ. 0.4 – 2.4%
     - โอกาสเกิดการถูกทิ่มทะลุหลอดเลือด 0.2-0.6%
     - โอกาสเกิดสะเต้นท์อุดตันในหนึ่งปีแรก 10-20%
     - โอกาสเกิดเลือดออกในทางเดินอาหารขนาดหนักจากการกินยาต้านเกล็ดเลือดสองตัว 2.9% ถ้าไม่ใช้ยา PPI ซึ่งลดเหลือ 1.1% ถ้าใช้ยา PPI

     นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงอื่นๆที่วงการแพทย์รู้ว่ามีอยู่จริง แต่ยังนิยามอุบัติการณ์ออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้ เช่น ความเสี่ยงที่เลือดจะออกในสมองจากการควบยาต้านเกล็ดเลือดสองตัว ความเสี่ยงที่จะเกิดไตวายเรื้อรังจากการใช้ยาลดการหลั่งกรด (PPI) นานๆ เป็นต้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.      Yano M, Natsuaki M, Morimoto T, Nakagawa Y, Kawai K, Miyazaki S, Muramatsu T, Shiode N, Namura M, Sone T, Oshima S, Nishikawa H, Hiasa Y, Hayashi Y, Nobuyoshi M, Mitsudo K, Kimura T; j-Cypher Registry Investigators. Antiplatelet therapy discontinuation and stent thrombosis after sirolimus-eluting stent implantation: five-year outcome of the j-Cypher Registry. Int J Cardiol. 2015 Nov 15;199:296-301. doi: 10.1016/j.ijcard.2015.06.023. Epub 2015 Jun 18. PMID: 26226333.

2.      Ford I. Coming safely to a stop: a review of platelet activity after cessation of antiplatelet drugs. Ther Adv Drug Saf. 2015 Aug;6(4):141-50. doi: 10.1177/2042098615588085. PMID: 26301068; PMCID: PMC4530348.Bottom of Form

 

3.      Levine GN, Bates ER, Blankenship JC, Bailey SR, Bittl JA, Cercek B, et al. 2011 ACCF/AHA/SCAI Guideline for Percutaneous Coronary Intervention: a report of the American College of Cardiology Foundation/American Heart Association Task Force on Practice Guidelines and the Society for Cardiovascular Angiography and Interventions. Circulation. 2011 Dec 6. 124 (23):e574-651. [Medline].

4.      Fox KA, Poole-Wilson PA, Henderson RA, Clayton TC, Chamberlain DA, Shaw TR, et al. Interventional versus conservative treatment for patients with unstable angina or non-ST-elevation myocardial infarction: the British Heart Foundation RITA 3 randomised trial. Randomized Intervention Trial of unstable Angina. Lancet. 2002. 360(9335):743-51.

5.      Coronary angioplasty versus medical therapy for angina: the second Randomised Intervention Treatment of Angina (RITA-2) trial. RITA-2 trial participants. Lancet. 1997 Aug 16. 350 (9076):461-8.

6.      Pitt B, Waters D, Brown WV, van Boven AJ, Schwartz L, Title LM, et al. Aggressive lipid-lowering therapy compared with angioplasty in stable coronary artery disease. Atorvastatin versus Revascularization Treatment Investigators. N Engl J Med. 1999. 341(2):70-6. 

7.      Teo KK, Sedlis SP, Boden WE, O’Rourke RA, Maron DJ, Hartigan PM, et al. Optimal medical therapy with or without percutaneous coronary intervention in older patients with stable coronary disease: a pre-specified subset analysis of the COURAGE (Clinical Outcomes Utilizing Revascularization and Aggressive druG Evaluation) trial. J Am Coll Cardiol. 2009 Sep 29. 54 (14):1303-8.

8.      Hueb W, Soares PR, Gersh BJ, Cesar LA, Luz PL, Puig LB, et al. The medicine, angioplasty, or surgery study (MASS-II): a randomized, controlled clinical trial of three therapeutic strategies for multivessel coronary artery disease: one-year results. J Am Coll Cardiol. 2004. 43(10):1743-51.

9.      Hueb WA, Soares PR, Almeida De Oliveira S, Ariê S, Cardoso RH, Wajsbrot DB, et al. Five-year follow-op of the medicine, angioplasty, or surgery study (MASS): A prospective, randomized trial of medical therapy, balloon angioplasty, or bypass surgery for single proximal left anterior descending coronary artery stenosis. Circulation. 1999 Nov 9. 100 (19 Suppl):II107-13.

10. Henderson RA, Pocock SJ, Sharp SJ, Nanchahal K, Sculpher MJ, Buxton MJ, et al. Long-term results of RITA-1 trial: clinical and cost comparisons of coronary angioplasty and coronary-artery bypass grafting. Randomised Intervention Treatment of Angina. Lancet. 1998. 352(9138):1419-25. [Medline].

11. Henderson RA, Pocock SJ, Clayton TC, Knight R, Fox KA, Julian DG, et al. Seven-year outcome in the RITA-2 trial: coronary angioplasty versus medical therapy. J Am Coll Cardiol. 2003. 42(7):1161-70. [Medline].

 

[อ่านต่อ...]