30 เมษายน 2562

ให้คุณสนใจแต่ "กาย" นี้ และ "ใจ" นี้เท่านั้น

     วันหนึ่งมีคนมาเยี่ยมที่บ้านบนเขาตอนมืดแล้ว ได้คุยกันสั้นๆ เนื้อหาน่าจะพอมีประโยชน์บ้าง จึงขอนำมาเล่าทิ้งไว้ในบล็อกนี้

     "คุณเห็นต้นไม้นั่นไหม"

     "เห็นค่ะ"

     "ทำไมคุณถึงเห็นมันได้ละ"

     "เพราะมีแสงสว่าง"

     "แล้วคุณเห็นอากาศตรงหน้าคุณนี่ไหม"

     "ไม่เห็นค่ะ"

     "ทำไมไม่เห็นละ ทั้งๆที่ตรงหน้าคุณก็มีแสงสว่าง"

     "เพราะอากาศไม่สะท้อนแสง"

     "แล้วคุณมองท้องฟ้าที่มืดสนิทโน่นซิ คุณว่ามันมีแสงวิ่งผ่านมันไหม"

     "อาจจะมี แต่ไม่มีอะไรสะท้อนแสง เราจึงมองเห็นเป็นแค่ความมืด"

     "ใช่..ไม่ใช่แสงนะที่ทำให้คุณเห็น แต่เป็นเพราะมีวัตถุที่ไม่ยอมให้แสงผ่าน ทำให้แสงสะท้อนจากวัตถุนั้นมาเข้าตาคุณทำให้คุณเห็นวัตถุได้

     สมมุติว่าความรู้ตัวของคุณซึ่งเป็นคุณที่แท้จริงนั้นเป็นความมืดอันไร้ขอบเขตเหมือนท้องฟ้านี้ ความสนใจของคุณเป็นแสง ตลอดชีวิตที่ผ่านมาคุณไม่มีโอกาสได้รู้จักความมืดอันกว้างใหญ่ซึ่งเป็นคุณที่แท้จริงเลย เพราะมีอะไรสาระพัดหยุดแสงของความสนใจไม่ให้วิ่งผ่านไปได้ แสงจึงสะท้อนกลับไปกลับมาระหว่างสิ่งเหล่านั้น อันได้แก่ สามีคุณ ลูกคุณ ทรัพย์สมบัติของคุณ เกียรติยศชื่อเสียงของคุณ บริษัทของคุณ ประเทศของคุณ อดีตอันน่าภูมิใจของคุณ ความเชื่อและคอนเซ็พท์ต่างๆในหัวคุณ เป็นต้น ชีวิตซึ่งแท้จริงเป็นแค่ความมืดสนิทเปล่าๆโล่งๆไร้ขอบเขตจึงกลายเป็น "บุคคล" ที่มีเรื่องราวเป็นตุเป็นตะขึ้นมา 
    
     การแสวงหาทางจิตวิญญาณก็คือการตระหนักรู้ว่าคุณที่แท้จริงหรือความรู้ตัวของคุณนี้เป็นเหมือนความมืดที่ไร้ขอบเขต ไม่ใช่ความเป็นบุคคลที่เกิดจากการเอาสมมุติต่างๆในชีวิตมาดักรับแสงแห่งความสนใจของคุณ คือการตระหนักรู้ว่าคุณเป็นความมืดสนิทโล่งๆว่างๆนั้นตลอดมา แม้ตอนนี้คุณก็ยังเป็นความมืดนั้นอยู่ มันเป็นธรรมชาติที่แท้จริงอันนิรันดรของคุณ คือมืดสนิทว่างๆโล่งๆไร้ขอบเขต วัตถุที่โผล่ขึ้นมาขวางทางแสงในความมืดนี้เป็นเพียงสิ่งชั่วคราวและไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นคุณที่แท้จริงซึ่งเปรียบได้กับความมืดสนิทอันกว้างใหญ่นั้น 

     ดังนั้น เพียงแค่คุณหันเหแสงแห่งความสนใจออกมาจากวัตถุที่โผล่ขึ้นมาขวางทางแสงเหล่านั้นเสีย คุณก็จะกลับไปเป็นคุณที่แท้จริง คุณก็จะได้สัมผัสความมืดอันไร้ขอบเขตนั้น ถึงจุดนี้คุณก็จะพ้นไปจากสำนึกว่าเป็นบุคคล ไม่มีกลัว ไม่มีโกรธ ไม่เสียดาย ไม่คาดหวังใดๆ และยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นที่นี่เดี๋ยวนี้แล้วได้อย่างสงบเย็น ยิ่งไปกว่านั้น คุณยังจะมีศักยภาพที่จะทำอะไรที่สร้างสรรค์ได้อีกมากมายอย่างไม่มีขีดจำกัดอีกด้วย 

     ที่ผมพูดมาทั้งหมดนี่คุณเก็ทไหม.."

     "ไม่เก็ทค่ะ แต่จะเก็บไปคิดดู"

     "การเก็บไปคิดไม่ทำให้คุณเก็ทขึ้นมาได้หรอก เพราะความคิดก็คือวัตถุที่คุณเอาขึ้นมาดักรับแสง มันจะเข้าใจความมืดที่เป็นช่องว่างที่โอบรับตัวมันและสิ่งอื่นๆทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างไร เพราะเนื้อของความมืดไม่ใช่สิ่งที่จะมองเห็นได้ คุณจะต้องถอยความสนใจออกมาจากวัตถุที่เอาขึ้นมารับแสงเหล่านั้น หมายถึงถอยความสนใจออกจากความคิดเสียด้วย แล้วความสนใจของคุณจึงจะหดกลับไปเป็นหนึ่งเดียวกับความรู้ตัวอยู่ที่ที่นี่เดี๋ยวนี้ เหมือนกับแสงที่วิ่งฝ่าความมืดและกลายเป็นหนึ่งเดียวกับความมืดโดยไม่ได้ทำให้ความมืดนั้นเปลี่ยนแปลงเลย"

     "ยิ่งไม่เก็ทใหญ่เลยค่ะ อาจารย์พูดอะไรที่มัน practical กว่านี้สักหน่อยได้ไหมคะ  เอาแบบไม่ต้องยิ่งใหญ่ก็ได้ แต่เอาแบบที่มันเวอร์ค"

     "ถ้าจะให้มันเวอร์ค คุณก็ต้องโฟกัส หรือตีวงให้มันแคบลง หมายความว่าการจะหลุดพ้นไปจากกรงความคิดของคุณเองคุณต้องเลิกสนใจสิ่งเร้าใดๆที่มาจากภายนอกเสียทั้งหมด ให้คุณสนใจแต่ "กาย" นี้และ "ใจ" นี้เท่านั้น ทุกเวลานาทีคุณสนใจแต่กายและใจนี้อย่างจริงจัง ไม่ต้องสนใจเรื่องอื่นเลย

     คุณสนใจกายนี้ในแง่ที่ว่ามันมีสองชั้นนะ ชั้นหยาบคือ physical body หรือ "รูป (form)" ซึ่งเป็นอะไรที่มีขอบเขตชัดเจนที่หุ้มด้วยผิวหนังของคุณนี้ คุณเริ่มด้วยการถอยความสนใจจากสิ่งเร้าข้างนอกมาตั้งต้นที่ physical body ก่อน ขั้นต่อไปให้คุณทิ้งความสนใจจากกายที่มีขอบเขตจำกัดนี้ไปสนใจกายชั้นที่ลึกเข้าไปซึ่งเป็นชั้นที่เริ่มไม่มีขอบเขตชัดเจน

     กายชั้นที่ลึกเข้าไปที่ว่านั้นก็คือ internal body หรือชั้นพลังงานของร่างกาย ที่เรียกกันว่า "ปราณา (Prana)" หรือ "ชี่ (Chi)" นั่นแหละ แต่ความที่มันเป็นพลังงานซึ่งจับต้องมองเห็นไม่ได้ จึงไม่มีทางที่จะไปตั้งต้นที่ตัวมันตรงๆได้ ต้องตั้งต้นที่ความรู้สึกบนร่างกายซึ่งเกิดขึ้นจากการมีอยู่และการเคลื่อนไหวของพลังงานนี้ เช่นความรู้สึกวูบวาบจี๊ดจ๊าดซู่ซ่าบนผิวหนัง ภาษาบาลีใช้คำเรียกว่า "เวทนา (feeling)" คุณอย่าหลงทางไปกับภาษานะ เพราะในศาสนาที่ใช้ภาษาบาลีก็ยังแตกความเห็นเป็นหลายนิกาย บางนิกายตีความคำว่าเวทนาว่าเป็นเวทนาทางกาย (body feeling) เท่านั้น บางนิกายก็ตีความว่ามันเป็นทั้งเวทนาทางกายและทางใจ (mental feeling) ให้คุณเหมาง่ายๆก่อนว่าสองอย่างนี้มันเป็นอย่างเดียวกันแยกกันไม่ออกก็แล้วกัน ที่แน่ๆคือมันไม่ใช่ความคิด เมื่อตั้งต้นที่เวทนานี้ได้แล้ว ให้คุณค่อยๆเปลี่ยนจากการสนใจมันอย่างผู้สังเกตไปเป็นรู้สึกหรือ feel มันแทน feel เอานะ ไม่ใช่พยายามเข้าใจด้วยความคิด feel เอาจนคุณรับรู้มันได้ว่ามันเป็นพลังงานอันไม่มีขอบเขตชัดเจน และมันเป็นอิสระจาก physical body มาถึงตอนนี้ก็เท่ากับว่าคุณได้มาจ่ออยู่ที่ปากทางจะไปสู่ความรู้ตัวหรือพลังงานชั้นละเอียดที่สุดซึ่งกว้างไกลไร้ขอบเขตแล้ว

     ขณะที่คุณตั้งใจสังเกตเวทนาไป คุณจะค่อยๆเห็นเองว่าเวทนานี้เป็นที่ตั้งหรือจุดกำเนิดของความคิด คุณก็ตามไปสังเกตความคิดได้ไม่ยาก สังเกตดูไปก็จะเห็นว่าความคิดเมื่อถูกสังเกต มันจะฝ่อหายไป เหมือนขโมยกำลังปีนรั้วจะเข้าบ้านพอเจ้าของบ้านฉายไฟดูก็จะหลบหนีไป เมื่อเฝ้าสังเกตไป ในที่สุดความคิดก็จะหมด ก็จะเหลือแต่ความมืด หรือความนิ่ง หรือความว่าง ซึ่งเป็นพลังงานชั้นในที่ละเอียดที่สุดที่ผมเรียกว่า "ความรู้ตัว (consciousness)"  คุณอยู่ตรงนี้บ่อยขึ้นๆ นานขึ้นๆ จนถึงจุดหนึ่ง ก็จะมีพลังงานจากส่วนลึกที่มีลักษณะเป็นปัญญาญาณ (intuition) ไหลเอ่อท้นขึ้นมา ปัญญาญาณนี้จะชี้ให้คุณเห็นสิ่งต่างๆตามที่มันเป็นโดยไม่ผ่านภาษาหรือความคิดซึ่งมักผูกโยงกับสำนึกว่าเป็นบุคคล มันจะชี้ให้คุณถึงบางอ้อด้วยตัวคุณเองจนคุณยอมรับความจริงที่ว่าความเป็นบุคคลของคุณนี้แท้จริงแล้วเป็นเพียงความคิด ซึ่งเป็นเพียงสิ่งชั่วคราว และในที่สุดคุณก็จะวางความเป็นบุคคลนี้ลงได้ วางลงได้หมายความว่าพฤติกรรมในการใช้ชีวิตของคุณเปลี่ยนไปตามการยอมรับความจริงนี้ นั่นแหละคือความหลุดพ้นจากกรงของความคิดอย่างแท้จริง แต่ถ้าพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคุณยังไม่เปลี่ยน ก็แสดงว่าคุณแค่เข้าใจมันในระดับความคิดแต่ยังวางมันลงไม่ได้ แปลว่าคุณยังไม่หลุดพ้นไปไหน.."

  นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

29 เมษายน 2562

มีด้วยหรือเอ็นไซม์หัวใจ trop-T/CKMB สูงแต่ไม่ได้เป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

คุณหมอคะ
หนูขอถามเรื่องคนไข้ อายุ 45 ปี เป็นโรคหัวใจขาดเลือด ตรวจสวนหัวใจไปแล้วก่อนหน้านี้ 4 ครั้ง บางครั้งก็ใส่สะเต้นท์ บางครั้งก็ไม่ใส่ ครั้งที่ 5 เมื่อ ... เข้ารพ.สวนหัวใจใส่สะเต้นท์อีก หลังจากนั้นหนึ่งเดือนก็แน่นหน้าอกหายใจไม่อิ่มจึงรีบไปโรงพยาบาลทำ ekg ได้ผลปกติ แต่เจาะเลือดดู Troponin T และ CKMB ได้ผลสูงผิดปกติทั้งคู่ จึงได้รับการตรวจสวนหัวใจอีกเป็นครั้งที่ 6 แต่คราวนี้ไม่พบความผิดปกติที่หลอดเลือด แพทย์จึงสรุปว่าผลตรวจเอ็นไซม์เป็นผลบวกปลอม หนูสงสัยว่า Troponin T นี้เป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยโรค acute MI ไม่ใช่หรือ มีด้วยหรือที่ Troponin T สูงแต่ไม่ได้เป็น acute MI ถ้ามี มีกรณีไหนบ้าง แล้วการตรวจควบสองอย่าง Troponin T กับ CKMB นี้เป็นการยืนยันแน่ชัดว่าเกิด acute MI แน่ไม่ใช่หรือ ทำไมเอ็นไซม์ทั้งสองตัวสูงแล้วสวนหัวใจกลับได้ผลปกติ

................................................

ตอบครับ

     คุณถามให้คนไข้ ผมตอบแบบพูดกับคนไข้โดยตรงเลยนะ

     1. ถามว่าโทรโปนิน (เอ็นไซม์ที่อยู่ในเซลกล้ามเนื้อหัวใจ) เป็นเครื่องมือมาตรฐานในการวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันไม่ใช่หรือ ตอบว่าใช่ครับ ที่ประชุมร่วมหมอหัวใจยุโรปและอเมริกา (ESC/ACC joint committee) ตั้งมาตรฐานว่าเมื่อใดที่โทรโปนินออกมาในเลือดมากผิดปกติบวกกับมีอาการ (เจ็บหน้าอก) และอาการแสดง (คลื่นไฟฟ้าหัวใจเปลี่ยน) ของหัวใจขาดเลือด ให้วินิจฉัยว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน แต่มาตรฐานก็คือมาตรฐานนะครับคุณพี่ มันยังมีส่วนที่เล็ดออกไปนอกมาตรฐาน ภาษาเหนือเขาเรียกว่าพวก "ลอดมอก" คือวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ตามมาตรฐานแล้ว แต่คนไข้กลับไม่ได้เป็นโรคนี้ หิ หิ วิชาแพทย์ก็งี้แหละ คือมันดิ้นได้ วันหนึ่งเมื่อวิชาแพทย์แน่นอนตายตัวดิ้นไม่ได้เมื่อใด เมื่อนั้นหมอสันต์ต้องเลิกอาชีพไปขายเต้าฮวย เพราะแพทย์จะถูกหุ่นยนต์เอไอ.แทนที่หมด

    2. ถามว่ากรณีไหนบ้างที่ไม่ได้เป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันแต่เอ็นไซม์โทรโปนินสูงผิดปกติ ตอบว่ามีหลายกรณีมากและเป็นเรื่องที่วงการแพทย์รู้กันดี ภาษาหมอเรียกว่าการวินิจฉัยแยกโรค เช่น

     2.1. โรคไตวายเรื้อรัง (CKD) วงการแพทย์ยังหาสาเหตุไม่ได้ว่าทำไมโทรโปนินจึงสูงในโรคไตเรื้อรัง หมอสันต์เดาเอาว่าคงเป็นเพราะไตขับขยะในเลือดทิ้งได้น้อยลง ทำให้โทรโปนินที่เกิดจากการทะยอยตายของกล้ามเนื้อหัวใจวันละเล็กวันละน้อยตามปกติเกิดสะสมขึ้นในเลือด นี่เป็นแค่การเดา เด่า เด้า เด๊า เด๋า นะ

     2.2. มีการบาดเจ็บต่อหัวใจ เช่นเอาหน้าอกไปแอ่นรับลูกบอล ผมเองเคยเห็นคนไข้แบบนี้มาแล้วในหนุ่มนักฟุตบอล แถมตอนเข้าโรงพยาบาลยังได้รับการตรวจสวนหัวใจแล้วใส่ขดลวดถ่าง (stent) อีกด้วย

     2.3. ภาวะหัวใจล้มเหลว (โดยที่ไม่มีกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเลย)

     2.4. อุบัติการหลอดเลือดในสมอง เออ..สมองก็สมอง มันมาเกี่ยวกับหัวใจได้ไงเนี่ย ยังไงไม่รู้ละ มันเกี่ยวก็แล้วกัน มีผู้เสนอกลไกไว้แยะมากแต่พิสูจน์ไม่ได้สักคน หมอสันต์ก็เสนอกับเขาเหมือนกัน ว่าคงเป็นเพราะสมองมีปัญหาแล้วระบบประสาทอัตโนมัติเร่งให้หัวใจเต้นเร็วเกินไปจนเซลหัวใจตายไปบ้างมั้ง นี่เป็นมั้งศาสตร์นะ ฮี่ ฮี่

     2.5. ภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดในปอด (PE)

     2.6. โรคทางเดินลมหายใจอุดกั้นเรื้อรัง

     2.7. ป่วยเป็นโรคอะไรก็ได้ ขอให้หนักถึงเข้าไอซียู. ก็โทรโปนินสูงได้ทั้งนั้น

     2.8. การออกกำลังกายหนัก เขียนมาถึงข้อนี้คิดถึงความหลังขึ้นมาได้ ขอนอกเรื่องหน่อยนะ สมัยผมยังเป็นหมอหนุ่มๆอยู่ที่เมืองโอ๊คแลนด์ มีนักรักบี้หนุ่มเจ็บหน้าอกมาตรวจพบเอ็นไซม์โทรโปนินสูงทุกคนก็เห็นพ้องกันหมดว่าต้องรีบสวนหัวใจ แต่มีหมอกะเหรี่ยงคนเดียวท้วงว่าโทรโปนินมันสูงเพราะเขาออกกำลังกายหนักไปมั้ง หมอทุกคนต่างหันมามองหน้าหมอกะเหรี่ยงเชิงตำหนิว่าตัวเองเป็นกะเหรี่ยงแล้วทำไมต้องชอบพูดอะไรที่ไม่มีหลักฐานวิจัยรองรับด้วยนะ จนหมอสันต์ต้องเผลอก้มหน้าต่ำสำนึกผิด แต่นักรักบี้คนนั้นสวนหัวใจแล้วหลอดเลือดเป็นปกติ ไม่มีใครรู้ว่าเขาเจ็บหน้าอกจากอะไร และไม่มีใครพูดถึงข้อสันนิษฐานไร้สาระของหมอกะเหรี่ยงที่ว่าเป็นเพราะเขาออกกำลังกายหนักเลย แต่เดี๋ยวนี้มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ชัดเจนแล้วว่าการออกกำลังกายหนักทำให้เอ็นไซม์โทรโปนินสูงผิดปกติได้ถึง 78% ทั้งๆที่หัวใจก็ดีๆอยู่ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นก็ไม่มีใครรู้อีกนั่นแหละ ได้แต่ใช้เวอร์บทูเดา ผมเดาเอาว่าคงเป็นเพราะการออกกำลังกายหนักหัวใจต้องเร่งสร้างเซลกล้ามเนื้อใหม่และทิ้งเซลกล้ามเนื้อเก่าเร็วขึ้น เซลเก่าที่ถูกทิ้งหรือตายลงก็จะปล่อยโทรโปนินออกมาในเลือด นี่เป็นเวอร์บทูเดานะ อย่าลืม

     2.9. มีการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจหรือกล้ามเนื้อหัวใจ จะด้วยเหตุอะไรก็ตาม แม้กระทั่งติดเชื้อไวรัสกระจอกๆอย่างไข้หวัดใหญ่

     2.10. มีเหตุให้หัวใจเต้นเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีหัวใจเต้นเร็วแบบ SVT บ้าง แบบ AF บ้าง

     2.11. เป็นความคลาดเคลื่อนของกระบวนการทางแล็บเอง เช่นมีแอนตี้บอดี้อยู่ในเลือดมาก (เช่นเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองเช่นข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือได้รับการถ่ายเลือดคนอื่นมา) ก็ทำให้ค่าโทรโปนินสูงกว่าปกติได้ มีเศษไฟบรินลอยอยู่ในตัวอย่างเลือดมากก็ทำให้ผลแล็บเพี้ยนได้

     3. ถามว่าการควบการเจาะตรวจเอ็นไซม์โทรโปนินกับ CKMB (เอ็นไซม์ในเซลกล้ามเนื้อหัวใจอีกตัวหนึ่ง) หากพบระดับสูงผิดปกติทั้งคู่ยิ่งยืนยันว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันแน่นอนไม่ใช่หรือ ตอบว่าไม่ใช่ครับ หากเอ็นไซม์โทรโปนินสูงตัวเดียวโดยที่ CKMB ไม่สูง บ่งชี้ว่าเป็นผลบวกปลอมค่อนข้างแน่ แต่หากเอ็นไซม์ทั้งสองตัวสูงก็มีความหมายว่าความจำเพาะเจาะจงของการวินิจฉัยว่าน่าจะเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมากขึ้น แต่ไม่เสมอไป ยังมีหลายกรณีที่เอ็นไซม์ทั้งสองตัวสูงผิดปกติแต่ไม่ได้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เช่นการเป็นโรคไตเรื้อรัง เป็นต้น แม้กระทั้งการออกกำลังกายหนักๆนอกจากจะเป็นเหตุให้โทรโปนินสูงได้แล้ว ก็ยังเป็นเหตุให้ CKMB สูงได้ด้วย

     ผมตอบคำถามของคุณหมดแล้วนะ ต้องขอโทษที่คำตอบของผมไม่มีอะไรสร้างสรรค์ให้คุณเท่าไหร่ ผมเห็นใจคุณที่คุณเจ็บหน้าอกบ่อย ต้องถูกสวนหัวใจใส่สะเต้นท์ซ้ำซากจนในอายุหนุ่มๆขนาดนี้คุณก็จวนจะได้เป็นแชมป์ผู้สวนหัวใจบ่อยที่สุดแล้ว ให้ผมแนะนำอะไรแก่คุณแบบไม่เกี่ยวกับหลักวิชาแพทย์สักหน่อยได้ไหม ถ้าคุณเห็นเป็นเรื่องไร้สาระก็ไขหูเสียก็ได้ คือการที่คุณถูกสวนหัวใจซ้ำซากนี้มันมีอยู่สองส่วนนะ คือส่วนที่เกี่ยวกับตัวคุณเอง กับส่วนที่เกี่ยวกับหมอ ส่วนที่เกี่ยวกับหมอนั้นผมไม่มีอะไรจะพูดถึงเพราะหมอเขาก็รักษาคุณไปตามมาตรฐานหลักวิชา ตรวจเจอนั่นก็ต้องทำนี่ เป็นธรรมดา แต่ผมอยากจะพูดถึงส่วนที่เกี่ยวกับตัวคุณเอง คือตัวคุณเองวินิจฉัยตัวเองว่าคุณเจ็บหน้าอกแบบด่วน (acute MI) แล้วจึงรีบไปโรงพยาบาล การวินิจฉัยว่าเจ็บหน้าอกแบบด่วนหรือไม่ด่วนนี้วงการแพทย์แนะนำให้ใช้นาฬิกา คือหากพัก 20 นาทีแล้วไม่หายก็ให้ถือว่าด่วน ที่ผมจะพูดกับคุณก็คือการพักรอดูเชิง 20 นาทีนี้มันมีอยู่สองแบบ คือแบบที่หนึ่งหากคุณรอดูแบบกระต๊ากตื่นตูมคิดถึงแต่เรื่องลบๆคิดถึงหน้าแม่ยายหรือลูกหนี้ที่คงจะรอดมือคุณไปได้หากคุณต้องตายลง มีโอกาสมากที่คุณอาจจะเจ็บหน้าอกนานเกินยี่สิบนาทีทั้งๆที่คุณไม่ได้เป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน แต่ถ้าหากคุณสังเกตอาการเจ็บหน้าอกอย่างมีเชิง หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกช้าๆพร้อมกับผ่อนคลายกล้ามเนื้อทั่วร่างกายลง วางความคิดไปให้หมด รับรู้อาการของร่างกายแบบยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ลุ้น ไม่ขับไล่ไสส่ง ยอมรับ และอย่ากลัว อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ยอมรับได้หมด ตายก็รับได้ คิดเสียว่าตายก็ดี จะได้ถือโอกาสนิพพานตั้งแต่วัยหนุ่มซะเลย ระหว่างที่รอไม่มีอะไรทำก็ดื่มน้ำเปล่าแก้เซ็งไปก่อน ทำแบบนี้มีโอกาสมากที่แป๊บเดียวอาการเจ็บหน้าอกก็จะหาย แล้วคุณก็จะได้ไม่ต้องไปโรงพยาบาล เพราะถ้ามันหายเจ็บในเวลาไม่ถึง 20 นาทีมันก็ไม่ใช่ acute MI ไม่ใช่กรณีที่จะต้องรีบไปโรงพยาบาล คุณก็จะได้ไม่ถูกสวนหัวใจซ้ำซาก ใส่สะเต้นท์ซ้ำซาก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Francis GS, Tang WH. Cardiac troponins in renal insufficiency and other non-ischemic cardiac conditions. Prog Cardiovasc Dis. 2004;47(3):196–206. [PubMed] [Google Scholar]
2. McLaurin MD, Apple FS, Voss EM, et al. Cardiac troponin I, cardiac troponin T and CKMB in dialysis patients without ischemic heart disease: evidence of cardiac troponin T expression in skeletal muscle. Clin Chem. 1997;43(6 Pt 1):976–982. [PubMed] [Google Scholar]
3. Manzano-Fernandez S, Boronat-Garcia M, Albaladejo-Oton MD, et al. Complementary prognostic value of Cystatin C, N-terminal pro-B-type natriuretic peptide and cardiac troponin T in patients with acute heart failure. Am J Cardiol. 2009;103(12):1753–1759.
4. Naidech AM, Kreiter K, Janjua N, et al. Cardiac troponin elevation, cardiovascular morbidity and outcome after subarachnoid hemorrhage. Circulation. 2005;112(18):2851–2856.
5. Chalela JA, Ezzeddine MA, Davis L, Warach S. Myocardial injury in acute stroke: a troponin I study. Neurocrit Care. 2004;1(3):343–346.
6. Ay H, Arsava EM, Saribaş O. CKMB elevation after stroke is not cardiac in origin: comparison with c TnT levels. Stroke. 2002;33(1):286–289.
7. Mehta NJ, Jani K, Khan IA. Clinical usefulness and prognostic value of elevated cardiac troponin 1 levels in acute pulmonary embolism. Am Heart J. 2003;145(5):821–825.
8. Baillard C, Boussarsar M, Girou E, et al. Cardiac troponin I in patients with severe exacerbation of COPD. Intensive Care Med. 2003;29(4):584–589.
9. Gunnewiek JM, Van Der Hoeven JG. Cardiac troponin elevations among critically ill patients. Curr Opin Crit Care. 2004;10(5):342–346.
10. Shave R, George KP, Atkinson G, et al. Exercise-induced cardiac troponin T release: a meta-analysis. Med Sci Sports Exerc. 2007;39(12):2099–2106.
11. Rahnama N, Faramarzi M, AA Gaeini. Effects of Intermittent Exercise on Cardiac Troponin I and Creatine Kinase-MB. Int J Prev Med. 2011 Jan-Mar; 2(1): 20–23.
12. Middleton N, George K, Whyte G, Gaze D, Collinsom P, Shave R. Cardiac troponin T release is stimulated by endurance exercise in healthy humans. J Am Coll Cardiol. 2008;52(22):1813–1814.
13. Regwan S, Hulten EA, Martinho S, et al. Marathon running as a cause of troponin elevation: a systematic review and meta-analysis. J Interv Cardiol. 2010;23(5):443–450.
14. Velhamos GC, Karaiskakis M, Salim A, et al. Normal electrocardiography and serum troponin 1 levels preclude the presence of clinically significant blunt cardiac injury. J Trauma. 2003;54(1):45–50.
15. Imizao M, Demichelis B, Cecchi E, et al. Cardiac troponin I in acute pericarditis. J Am Coll Cardiol. 2003;42(12):2144–2148.
16. Dec GW, Jr, Waldman H, Southern J, et al. Viral myocarditis mimicking acute myocardial infarction. J Am Coll Cardiol. 1992;20(1):85–89. [PubMed] [Google Scholar]
17. Redfearn DP, Ratib K, Marshall HJ, Griffith MJ. Supraventricular tachycardia promotes release of troponin I in patients with normal coronary arteries. Int J Cardiol. 2005;102(3):521–522.
18. Patane S, Marte F, Di Bella G. Abnormal troponin I levels after supraventricular tachycardia. Int J Cardiol. 2009;132(2):e57–e59.
19. Neumayr G, Hagn C, Ganzer H, et al. Plasma levels of cardiac troponin T after electrical cardioversion of atrial fibrillation and atrial flutter. Am J Cardiol. 1997;80(10):1367–1369. [PubMed] [Google Scholar]
20. Hejl CG, Astier HT, Ramirez JM. Prevention of preanalytical false-positive increases of cardiac troponin I on the Unicel DxI 800 analyzer. Clin Chem Lab Med. 2008;46(12):1789–1790.
21. Makaryus AN, Makaryus MN, Hassid B. Falsely elevated cardiac troponin I levels. Clin Cardiol. 2007;30(2):92–94.
22. Shayanfar N, Bestmann L, Schulthess G, Hersberger M. False-positive cardiac troponin T due to assay interference with heterophilic antibodies. Swiss Med Wkly. 2008;138(31–32):470.
23. van Wijk XMR, Vittinghoff E, Wu AHB, Lynch KL, Riley ED. Clin Biochem. 2017 Sep; 50(13-14):791-793. Epub 2017 Apr 23.
[อ่านต่อ...]

26 เมษายน 2562

ไวรัสตับอักเสบอี. (Hepatitis E)

เรียนคุณหมอสันต์
ดิฉันอายุ 49 เข้าใจว่าเพราะอากาศร้อนมากเกินไป ดื่มน้ำน้อยด้วย สังเกตว่าฉี่เข้มมาก คลื่นไส้ อยากอาเจียน คันตามตัว ปวดตามข้อ หวิวๆจะเป็นลมหน้ามืดหลายครั้ง และรู้สึกตัวเองเบลอๆ ไปหาคลินิกที่ ... หมอวัดไข้ได้ 39 จึงรีบขอตัวเข้ากทม.มาโรงพยาบาล ... หมอให้นอนรพ.ทันที ผลตรวจ
FBS 91
BUN 18
Cr 1.1
SGOT 1526
SGPT 1840
Total bil. 2.7
Indirect bil 1.8
Direct bil 0.9
Alk Phos 156
Na, 133
K, 4.1
anti HEV IgM positive

หมอบอกว่าเป็นตับอักเสบไวรัสอี. หมอให้นอนโรงพยาบาลหนึ่งสัปดาห์ ดิฉันขอกลับไปนอนคอนโดตัวเองในกทม.โดยตกลงจะกลับไปหาหมอตามนัดในอีกเจ็ดวัน แต่ยังมีอาการเพลียมาก อยากถามคุณหมอว่า ไวรัสตับอักเสบอี.นี้เป็นแล้วจะมีอะไรติดตามมาในระยะยาวไหม มันติดต่อคนใกล้ชิดได้หรือเปล่า ติดต่อกันได้ทางไหน เมื่อหนึ่งเดือนก่อนดิฉันได้ไปเที่ยวประเทศ ... จะเป็นเพราะไปเอาเชื้อมาจากที่นั่นได้หรือไม่ จะป้องกันไม่ให้คนใกล้ชิดเป็นโรคนี้ได้อย่างไร มีวัคซีนไหม ตัวดิฉันเองต้องดูแลตัวเองอย่างไร
ขอบพระคุณคุณหมอค่ะ

....................................................................

ตอบครับ

     ก่อนที่จะตอบคำถามของคุณ ขอเล่าภาพใหญ่ของโรคตับอักเสบจากไวรัสอี. (Hepatitis E) ให้ท่านผู้อ่านอื่นๆทราบไว้เป็นความรู้ใส่บ่าแบกหากก่อนนะว่า โรคนี้คือภาวะที่มีการติดเชื้อไวรัสอี. (HEV) ซึ่งผ่านสู่ร่างกายทางน้ำดื่มและอาหาร (faecal-oral route) เชื้อนี้ชนิดที่เป็นในคน (Genotype 1, 2) เป็นคนละชนิดกับที่เป็นในสัตว์เช่น หมู กวาง (Genotype 3, 4) เมื่อคนติดเชื้อนี้แล้วจะมีอาการตับอักเสบเป็นไข้ดีซ่านตัวเหลืองตาเหลืองนอนซมอยู่ราว 2-6 สัปดาห์แล้วก็หายไปเอง แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่เป็นตับอักเสบแบบครึกโครม (fulminant hepatitis) ทำให้ตับวายเฉียบพลันและจำนวนหนึ่งเสียชีวิตได้ โรคนี้มักระบาดในที่การสุขาภิบาลไม่ดีหาน้ำสะอาดดื่มยาก หากเป็นในพื้นที่การสุขาภิบาลดีอยู่แล้วก็มักเกิดจากการไปกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุกโดยเฉพาะอย่างยิ่งตับสัตว์และหอย ซึ่งมักเป็นเรื่องเฉพาะรายไม่เกิดการระบาดกับคนหมู่มาก การติดต่อจากการถ่ายเลือดและจากแม่สู่ลูกขณะคลอดก็เกิดขึ้นได้เหมือนกัน แต่เกิดน้อยมาก โรคนี้เมื่อเป็นแล้วไม่มีวิธีรักษาจำเพาะ ต้องรอให้มันหายเอง

     เอาละ คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

     1. ถามว่าไวรัสตับอักเสบอี.นี้เป็นแล้วจะมีอะไรติดตามมาในระยะยาวไหม ตอบว่าส่วนใหญ่ไม่มีอะไรค้างคาในระยะยาว หายแล้วหายเลย แต่มีอยู่บ้างเหมือนกัน (3% ของโรคตับอักเสบทั้งหมด) ที่เป็นโรคในรูปแบบครึกโครม (fulminant hepatitis) แล้วเสียชีวิต สรุปว่าส่วนใหญ่รอด ที่ไม่รอดก็ตาย ส่วนที่จะเรื้อรังยืดยาดนั้นไม่มี ทั้งนี้ยกเว้นเฉพาะในกรณีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

     2. ถามว่าไวรัสตับอักเสบอี.ติดต่อคนใกล้ชิดได้หรือเปล่า ถ้าได้ติดต่อกันได้ทางไหน ตอบว่าติดต่อได้ โดยคนใกล้ชิดเผลอกินอึของคุณเข้า หิ หิ พูดเล่น พูดผิด พูดใหม่นะ ภาษาเพราะๆแบบหมอๆต้องพูดว่าติดต่อกันผ่านวงจรจากอุจจาระถึงปาก (feco-oral route) เออ..ความหมายก็คือกินอึนั่นแหละไม่ใช่หรือ

     3. ถามว่าจะป้องกันไม่ให้คนใกล้ชิดติดโรคนี้จากตัวเองได้อย่างไร ตอบว่าก็อย่าให้พวกเขามากินอึคุณสิครับ หิ หิ ขอโทษ เผลอพูดไม่เพราะอีกละ ผมหมายความว่า กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ทำนองนั้น

     ถ้าเราดูข้อมูลการติดต่อโรคนี้ มันจะมีพิมพ์นิยมอยู่สองแบบนะ คือ แบบที่ 1. ระบาดในคนหมู่มาก มักจะเกิดจากการไม่มีน้ำสะอาดดื่มในชุมชน รวมไปถึงการระบาดผ่าน "น้ำแข็ง" ที่ไม่สะอาดด้วย กับ  แบบที่ 2. คือเป็นในคนคนเดียวหรือสองสามคนที่ไม่ระบาดในคนหมู่มาก แบบนี้มักเกิดจากการกินเนื้อสัตว์หรือตับสัตว์หรือหอยที่ไม่สุก

     4. ถามว่าเมื่อป่วยเป็นโรคตับอักเสบไวรัสอี.อย่างคุณนี้แล้วต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ตอบว่าในกรณีทั่วไปก็แค่นอนแซ่วอยู่เฉยๆรอให้ร่างกายกำจัดเชื้อโรคให้หมดแล้วโรคมันก็จะหายไปเอง ไม่ต้องฉีดยา กินยา ทายาอะไรทั้งนั้น อย่างมากแค่สวดมนต์อย่างเดียวก็พอ

     แต่ในกรณีของคุณนี้ ผมดูเอ็นไซม์ของตับ (SGOT, SGPT) ซึ่งออกมาในเลือดเป็นปริมาณมากจนน่าตกใจ ประกอบกับอาการทางสมองที่ว่าเบลอๆไม่รู้เรื่อง มันเป็นกรณีที่ต้องเฝ้าระวังการเป็นตับอักเสบชนิดรุนแรงครึกโครม (fulminant hepatitis) ซึ่งมักตายได้ การเฝ้าระวังนี้นิยมให้นอนในโรงพยาบาล ซึ่งหมอเขาจะ (1) ให้พักอย่างยิ่งแบบถนอมตับสุดๆ (2) ให้ได้อาหารที่ย่อยง่ายให้เพียงพอแต่ไม่มากเกินไป (3) ระวังเลือดออกสุดๆเพราะยามที่ตับเสียการทำงานจะเลือดออกง่ายมาก (4) ระวังการขาดน้ำอย่างสุดๆเพราะหากขาดน้ำนิดเดียวก็พาลช็อกตายไปเลย แล้วก็ (5) งดยาและสารพิษต่อตับให้หมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอลกอฮอลและยาแก้ปวดลดไข้พาราเซ็ตตามอลต้องงดเด็ดขาด (6) ตรวจเลือดเพื่อติดตามดูการทำงานของตับและการแข็งตัวของเลือดเป็นระยะๆจนทุกอย่างกลับมาเป็นปกติแล้วจึงค่อยให้กลับบ้าน

     กรณีของคุณนี้หมอเขาก็แนะนำคุณแล้วว่าให้นอนโรงพยาบาล แต่คุณสมัครใจกลับบ้านเอง แต่ถ้าคุณถามผมว่าสมมุติว่าเป็นตับอักเสบแบบรุนแรงครึกโครมแล้วนอนที่บ้านกับนอนที่โรงพยาบาลอย่างไหนมีโอกาสตายมากกว่ากัน ตอบว่าเออ..ผมก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน เพราะไม่เคยมีงานวิจัยเปรียบเทียบสองกรณีนี้ไว้ ดังนั้นผมจึงตำหนิคุณไม่ได้หรอกว่าการดื้อดึงรีบกลับบ้านนี้เป็นเรื่องดีหรือไม่ดีกันแน่

     5. ถามว่าไปเที่ยวไปกินที่เมืองนอกเมื่อ 30 วันก่อน เป็นไปได้ไหมว่าได้รับเชื้อมาจากตอนนั้น ตอบว่าเป็นไปได้ครับ เพราะระยะฟักตัว (จากได้รับเชื้อถึงเริ่มมีอาการ) ของโรคนี้คือ 15-60 วัน

     6. ถามว่ามีวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบไวรัสอี.ไหม ตอบว่ามีใช้แต่เฉพาะในประเทศจีน ประเทศอื่นรวมทั้งประเทศไทยไม่มี..จบข่าว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Center of Disease Control (CDC). Hepatitis E Questions and Answers for Health Professionals. Accessed on April 26, 2019 at https://www.cdc.gov/hepatitis/hev/hevfaq.htm#section4
[อ่านต่อ...]

24 เมษายน 2562

ชั้นเรียนทำอาหารหลักสูตรที่ 2 (PBWF Cooking Class-2

   วันนี้ของดตอบคำถามเพื่อแจ้งข่าวการเปิดสอนทำอาหารพืชเป็นหลักแบบไม่ใช้น้ำมัน ชั้นเรียนที่ 2 (PBWF cooking class-2) จำนวน 5 เมนู ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 12 พค. 62 เพื่อต่อยอดชั้นเรียน cooking class-1 ซึ่งเรียนไปแล้ว 9 เมนู โดยมีรายละเอียดดังนี้

หลักสูตรเรียนทำอาหารพืชเป็นหลักแบบไม่ใช้น้ำมัน ชั้นเรียนที่ 2
(Course Syllabus for Plant Based Whole Food Cooking Class-2)

สถานที่: ครัวปราณา (Pranaa Kitchen) ในเวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ (WellnessWeCare Center) มวกเหล็ก

วัตถุประสงค์ (Objective)

วัตถุประสงค์ด้านความรู้ (knowledge)

1. รู้ผลวิจัยการใช้อาหารพืชเป็นหลักในรูปแบบไม่สกัดและไม่ขัดสี (plant-based, whole food) ต่อการป้องกันและพลิกผันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
2. รู้แหล่งและรู้วิธีคัดเลือกวัตถุดิบทำอาหารพืชเป็นหลัก
3. รู้หลักและวิธีและมาตรฐานการชั่งตวงวัดในการทำอาหาร
4. รู้หลักและวิธีใช้อุปกรณ์ทำอาหารพืชเป็นหลักที่สำคัญ รวมทั้งเครื่องปั่นความเร็วสูงไม่ทิ้งกาก เตาอบไฟฟ้า เตาแก้ส เครื่องไมโครเวฟ เครื่องทำไอซ์ฟรุต ตู้แช่เย็น และภาชนะผิวไม่ติดมัน
5. รู้เมนูอาหารพืชเป็นหลักที่จำเป็น

วัตถุประสงค์ด้านทักษะ (skill)

1. สามารถเลือกวัตถุดิบอาหารพืชเป็นหลักที่มีคุณภาพจากแหล่งที่เชื่อถือได้ด้วยตัวเอง
2. สามารถชั่งตวงวัดวัดถุดินทำอาหารด้วยระบบเมตริกด้วยตัวเองอย่างถูกต้อง
3. สามารถใช้อุปกรณ์ทำอาหารพืชเป็นหลักที่สำคัญ รวมทั้งเครื่องปั่นความเร็วสูงไม่ทิ้งกาก เตาอบไฟฟ้า เตาแก้ส เครื่องไมโครเวฟ เครื่องทำไอซ์ฟรุต ตู้แช่เย็น และภาชนะผิวไม่ติดมัน ด้วยตนเอง
4. สามารถปรุงอาหารพืชเป็นหลักต่อยอดจากหลักสูตร PBWF Cooking Class-1 อย่างน้อย 5 เมนู ด้วยตนเอง คือ
(1.) สะเต็กฟองเต้าหู้
(2) แกงจืดแตงกวายัดไส้วีแกน
(3) แกงหยวกกล้วย
(4) ผัดไทยฟองเต้าหู้
(5) สาคูวีแกน

วัตถุประสงค์ด้านเจตคติ (Attitude)

 ให้เชื่อว่าการทำอาหารพืชเป็นหลักโดยไม่ใช้น้ำมันทำได้ง่าย และอร่อยด้วย

การจัดประสบการณ์เรียนรู้ (Learning experience)

1. แจกหนังสือคู่มือการทำอาหารพืชเป็นหลักคนละเล่ม
2. บรรยายนำหลักโภชนาการแบบ low fat, plant based, whole food โดยแพทย์ของเวลเนสวีแคร์
3. การสาธิตสอนแสดงการทำอาหารโดยทีมงานวิทยากรของเวลเนสวีแคร์
4. การลงมือปฏิบัติการทำอาหารด้วยตนเองทุกเมนูที่ครัวปราณา โดยมีอุปกรณ์ครัวประจำตัวแต่ละคน

การประเมินผล (Evaluation)

1. ประเมินความรู้โดยการสอบถามปากเปล่า กรณีที่สอบความรู้ไม่ผ่าน วิทยากรจะซ่อมโดยการอธิบายซ้ำให้เข้าใจ
2. ประเมินทักษะโดยวิทยากรใช้เช็คลิสต์ประเมินผู้เรียนรายคนทีละรายการทีละเมนู ว่าผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์เชิงทักษะ (ทำได้เอง) ครบทุกข้อ ในกรณีที่ยังปฏิบัติบางทักษะได้ไม่ครบวิทยากรจะให้ปฏิบัติซ้ำ

ตารางวันเวลาการฝึกอบรม

การฝึกอบรมครั้งถัดไปจะมีวันที่ 12 พค. 62 ครั้งต่อไปจะมีวันไหนบ้างสามารถตรวจสอบได้ที่คอลัมน์ขวามือของบล็อกนี้ หรือที่เว็บไซท์ www.wellnesswecare.com ตารางการฝึกอบรมตั้งแต่เช้าถึงเย็น มีดังนี้

8.30 – 9.00 น.  ลงทะเบียนและเตรียมตัวเรียนทำอาหาร
9.00 – 9.30   บรรยายนำเรื่องหลักโภชนาการแบบ low fat, plant based, whole food
9.30 – 12.30 น.  ลงมือปฏิบัติการทำอาหารภาคเช้า

เมนู (1.) สะเต็กฟองเต้าหู้
เมนู (2) แกงจืดแตงกวายัดไส้วีแกน
เมนู (3) แกงหยวกกล้วย
เมนู (4) ผัดไทยฟองเต้าหู้

พักเบรกอาหารว่างในระหว่างการทำงาน

12.30 – 14.00 น.  รับประทานอาหารกลางวัน

เมนู (5) สาคูวีแกน

    ค่าเรียน PBWF Cooking Class2 

     ค่าเรียนคนละ 3,500 บาท ราคานี้รวมค่าอาหารกลางวัน อาหารว่างสองเบรก ค่าวิทยากร ค่าวัตถุดิบอาหาร และตำราอาหารของครัวปราณา (ราคา 300 บาท) อีกคนละเล่ม แต่ไม่รวมค่าเดินทาง ทุกคนต้องเดินทางไปเอง และไม่รวมค่าที่พัก

     กรณีประสงค์ที่จะพักค้างคืนที่เวลเนสวีแคร์ ก็มีห้องพักให้ (ห้องละสองเตียง) ค่าห้องรวมอาหารเช้า (สองคน) ลดพิเศษจากคืนละ 3,000 บาทเหลือ 2,000 บาทสำหรับผู้เข้าเรียน PBWF Cooking Class บวกค่าอาหารเย็นอีกหัวละ 200 บาท

     วิธีลงทะเบียนเข้าเรียน

             ลงทะเบียนได้ 3 วิธี

(1) ผ่านทางไลน์ @wellnesswecare
(2) อีเมล chernkwan@wellnesswecare.com
(3) โทรศัพท์ หมายเลย 0636394003

วิธีลงทะเบียนเข้าเรียน

    1. โทรศัพท์ลงทะเบียนกับเวลเนสวีแคร์ที่คุณเชิญขวัญ (เอ๋ย) หมายเลข  0636394003
    2. ลงทะเบียนทางไลน์ @wellnesswecare
    3. ลงทะเบียนทางอีเมล host@wellnesswecare.com
    4. (ปิดการใช้งานชั่วคราว) ลงทะเบียนผ่านเว็บไซท์และจ่ายเงินทางออนไลน์ได้ที่ https://www.wellnesswecare.com/th/program/good-health-by-yourself-th/13

     ในทุกกรณีเมื่อได้ที่นั่งแล้ว จะต้องโอนเงินค่าลงทะเบียนเข้าบัญชี ธนาคารกสิกรไทย สาขาสมุทรปราการ ชื่อบัญชี  บริษัท เมก้า วี แคร์ จำกัด เลขที่บัญชี 007-368-5478 ภายใน 24 ชั่วโมงหลังได้สำรองที่เรียนแล้ว หากพ้น 24 ชั่วโมงไปแล้วถือว่าสละสิทธิ์ ที่นั่งที่สำรองได้จะถูกจัดสรรไปให้ผู้อื่นก่อน

     กรณีมีปัญหาให้โทรศัพท์หาน้องเจ้าหน้าที่ชื่อคุณเอ๋ย (เชิญขวัญ) ที่ 0636394003

     การเดินทางไป

     ครัวปราณา อยู่ในเวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านมวกเหล็กวาลเลย์ ย่านมวกเหล็ก-เขาใหญ่ สามารถใช้ Google map โดยคีย์คำว่า wellness we care หรือใช้แผนที่ข้างล่าง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

.................................
[อ่านต่อ...]

23 เมษายน 2562

ปรับปรุงแค้มป์พลิกผันโรคด้วยตนเอง (RDBY-13)

     ผมขอแจ้งการปรับปรุงแค้มป์พลิกผันโรคด้วยตนเอง (Reverse Disease By Yourself - RDBY) ครั้งใหม่ ซึ่งจะมีผลใช้ตั้งแต่กับ RDBY-13 (วันที่ 1-5 สค. 62) ดังนี้

     1. ประเด็นสำคัญของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

     1.1 ขยายเวลาเป็น 5 วัน 4 คืน จากเดิมที่มาครั้งแรก 3 วัน 2 คืน ทั้งนี้ตามคำแนะนำของสมาชิกเก่าที่บอกว่าเวลาสั้นกว่านี้รีบร้อนเกินไป เหนื่อยเกินไป เรื่องที่ต้องรู้ต้องฝึกมีมากเกินไป จำไม่ได้ เก็บเอาไปใช้ได้ไม่หมด

     1.2 ลดจำนวนครั้งการมาเข้าแค้มป์จาก 2 รอบเหลือ 1 รอบ เนื่องจากมีกลไกการติดตามอย่างต่อเนื่องผ่าน Dashboard บนอินเตอร์เน็ทอยู่แล้ว และเป็นไปตามคำแนะนำของสมาชิกที่ว่าการนัดหมายมาครั้งที่สองซึ่งอีกนานหลายเดือนข้างหน้าพอถึงเวลาจริงแล้วมักมาไม่ได้เนื่องจากมักมีเหตุการณ์ในชีวิตใหม่ๆที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นตอนนั้น

     1.3 ปรับเนื้อหาสาระเฉพาะส่วนของการจัดการความเครียดและการสร้างความบันดาลใจอย่างต่อเนื่องโดย

     - ในส่วนการจัดการความเครียดนั้นเปลี่ยนจากการฝึกทำหลายๆแบบมาโฟกัสที่การวางความคิดผ่านการรับรู้ความรู้สึกบนร่างกายซึ่งสื่อถึงพลังงานภายในของร่างกาย (internal body) เพียงอย่างเดียว

     - ในส่วนของการสร้างความบันดาลใจก็เปลี่ยนจากการใช้เครื่องมือทางจิตวิทยา (เช่นการคิดบวก การใช้หลัก NPL) เป็นพื้นฐาน มาเป็นการใช้พลังงานภายในของ internal body เป็นพื้นฐานเพียงอย่างเดียว

     2. ความเป็นมาของ RDBY

        มันเริ่มจากตัวผมเองเคยป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ความที่อยากหนีจากแนวทางการรักษาแบบโรงพยาบาล (กินยา สวนหัวใจ บอลลูน ผ่าตัดบายพาส) จึงทบทวนวรรณกรรมและได้พบว่าการจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคโดยตัวผู้ป่วยเอง ทั้งในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด การเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง ทำให้โรคดีขึ้นกว่าการรักษาในโรงพยาบาลเสียอีก จึงลงมือทำกับตัวเอง เมื่อเห็นว่าได้ผลดีจนสามารถพลิกผันโรคให้หายจากเจ็บหน้าอกและเลิกกินยาความดันไขมันได้หมด จึงตัดสินใจเลิกอาชีพหมอผ่าตัดหัวใจเปลี่ยนอาชีพมาเป็นหมอส่งเสริมสุขภาพ แต่เมื่อได้นั่งตรวจและสอนคนไข้ทีละคนอยู่ที่โรงพยาบาลก็พบว่ามันใช้เวลามากและช่วยคนไข้เป็นจำนวนน้อย และวิธีนั่งตรวจมันยังแก้ปัญหาสำคัญที่คนไข้ต้องการไม่ได้ นั่นคือทักษะปฏิบัติการและความบันดาลใจ ผมจึงเปลี่ยนแนวทางมาให้ความรู้กับคนป่วยคราวละหลายๆคน ทั้งในรูปแบบเขียนบล็อกตอบคำถาม และในรูปแบบแค้มป์กินนอนเพื่อเรียนรู้ทักษะและสร้างแรงบันดาลใจในการป้องกันและพลิกผันโรคด้วยตัวเอง (RDBY) ซึ่งก็ทำมาได้เกือบสี่ปี ทำไปสิบกว่ารุ่นแล้ว

     3. แค้มป์ RDBY เหมาะสำหรับใครบ้าง

     แค้มป์ RDBY จัดขึ้นสำหรับผู้ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทุกโรค โดยเน้นที่ (1) โรคหัวใจขาดเลือด (2) โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต) (3) โรคเบาหวาน (4) โรคความดันสูง (5) โรคไขมันในเลือดสูง (6) โรคอ้วน รวมทั้งโรคที่เป็นผลสืบเนื่องจากโรคเรื้อรังเหล่านี้เช่นโรคไตเรื้อรังเป็นต้น

     ในกรณีที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง อาจเลือกไปเข้าแค้มป์โรคมะเร็ง (Cancer Camp) ซึ่งเจาะลึกเรื่องของผู้ป่วยมะเร็งโดยเฉพาะก็ได้ หรือจะมาเข้าแค้มป์ RDBY นี้ก็ได้เช่นกัน

     4. ภาพรวมของแค้มป์ RDBY

     4.1 หลักสูตรนี้เป็นการใช้วิธีการแพทย์แผนปัจจุบัน (modern medicine) ในรูปแบบการแพทย์แบบอิงหลักฐาน (Evidence Based Medicine) โดยมองปัญหาของผู้ป่วยแบบองค์รวม (holistic care)

    4.2 หลักสูตรนี้จัดสำหรับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เน้นที่โรคหัวใจ อัมพาต เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง อ้วน ในกรณีโรคมะเร็ง อาจเลือกเข้า RDBY หรือมาเข้าแค้มป์โรคมะเร็ง (Cancer Camp) โดยตรง หรือจะมาแค้มปนี้ก็ได้

    4.2 ในกรณีที่ผู้สมัครเข้าร่วมโปรแกรมนี้มีแพทย์เฉพาะทางเจ้าประจำอยู่แล้ว ป่วยไม่ต้องเลิกจากแพทย์เฉพาะทางที่ดูแลกันมาแต่เดิม เพราะแพทย์ประจำตัวของท่านที่เวลเนสวีแคร์จัดให้จะทำหน้าที่เป็นแพทย์ประจำครอบครัว (family physician) ของท่าน และจะประสานเชื่อมโยงกับแพทย์เฉพาะทางที่ดูแลผู้สมัครมาแต่เดิมให้ดูแลต่อไปในลักษณะการดูแลร่วมกัน

    4.3 ผู้สมัครเข้าร่วมโปรแกรมนี้ไม่จำเป็นต้องยกเลิกยาหรือการรักษาที่ตนเองได้มาแต่เดิมในขณะที่เริ่มหันมารักษาด้วยวิธีดูแลตนเอง เพราะการรักษาโรคตามโปรแกรมนี้ใช้หลักวิชาการแพทย์แผนปัจจุบันเช่นเดียวกันกับการรักษาในโรงพยาบาล เพียงแต่มุ่งโฟกัสที่การเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ป่วยในเรื่องการกินการออกกำลังกายและการใช้ชีวิตจนถึงระดับที่ผู้ป่วยดูแลตัวเองได้ด้วยตนเอง จึงสามารถทำคู่ขนานไปกับการรักษาในโรงพยาบาลได้ เมื่อผู้ป่วยดูแลตนเองได้ดีขึ้นแล้ว ตัวชี้วัดสุขภาพต่างๆจะค่อยๆบ่งชี้ว่าความจำเป็นที่จะต้องพึ่งการรักษาด้วยยาในโรงพยาบาลจะค่อยๆลดลงไปเองโดยอัตโนมัติจนสามารถเลิกยาได้ในที่สุด

    4.4 ผู้ป่วยจะต้องมาเข้าแค้มป์หนึ่งครั้งนาน 5 วัน 4 คืน

    4.5 ในวันแรก ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกายโดยแพทย์ของเวลเนสวีแคร์ จัดทำฐานข้อมูลสุขภาพ วางแผนสุขภาพ และเก็บรวมรวมผลการตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษต่างๆไว้บน Health Dashboard ซึ่งทั้งทีมแพทย์, ผู้ช่วยแพทย์ของเวลเนสวีแคร์ และตัวผู้ป่วยเองสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้ตลอดเวลา

     4.6 ในระหว่างที่อยู่ในแค้มป์ ผู้ป่วยจะได้เรียนความรู้สำคัญเกี่ยวกับโรคของตน ได้ฝึกทักษะที่จำเป็นในการจัดการโรคของตน การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด การสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองอย่างต่อเนื่อง การโภชนาการ ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องทำอาหารแบบ PBWF ด้วยตนเองทุกมื้อ อย่างไรก็ตาม ทางเวลเนสวีแคร์จะจัดทำอาหารสำรองไว้เพียงหนึ่งรายการในแต่ละมื้อ สำหรับผู้ที่ไม่สามารถทำอาหารด้วยตนเองได้เลย

     4.7 เมื่อสิ้นสุดแค้มป์ 5 วันแล้ว ผู้ป่วยจะกลับไปอยู่บ้านโดยนำสิ่งที่เรียนรู้จากแค้มป์ไปปฏิบัติที่บ้าน โดยสื่อสารกับทีมแพทย์และพยาบาลของเวลเนสวีแคร์ผ่าน Health Dashboard ทางอินเตอร์เน็ท ผู้ป่วยสามารถติดต่อสอบถามเรื่องต่างๆรวมทั้งการปรับลดขนาดเมื่อตัวชี้วัดเปลี่ยนไปด้วย โดยคาดหมายว่าภายในหนึ่งปีผู้ป่วยจะสามารถดูแลตัวเองต่อไปได้ด้วยตัวเอง

     สมาชิกสามารถใช้ Health Dashboard นี้เป็นที่เก็บข้อมูลผลแล็บใหม่ๆ รวมทั้งภาพและวิดิโอ.ทางการแพทย์ ของตนได้ต่อเนื่อง สมาชิกสามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง แก้ไข ข้อมูลสุขภาพของตนได้ทุกรายการ ยกเว้น Patient Summary ซึ่งต้องสรุปให้โดยแพทย์เท่านั้น

     อนึ่ง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง สมาชิกมีหน้าที่ปรับปรุงข้อมูลดัชนีสุขภาพสำคัญเจ็ดตัวของตนคือ (1) น้ำหนัก (2) ความดัน (3) น้ำตาล (4) ไขมัน (5) จำนวนผักผลไม้ที่กินต่อวัน (6) เวลาที่ใช้ในการออกกำลังกายต่อสัปดาห์ และ (7) การสูบบุหรี่ เพื่อให้แพทย์ประจำตัวหรือทีมงานผู้ช่วยแพทย์ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงสุขภาพและวางแผนสุขภาพให้และบันทึกไว้บน Dashboard

     สมาชิกสามารถขอรับคำปรึกษาปัญหาจากแพทย์ประจำตัวของหรือทีมงานผู้ช่วยแพทย์โดยเขียนคำถามผ่านมาทาง Dashboard คำถามของสมาชิกจะได้รับการสนองตอบโดยผู้ช่วยแพทย์ที่เฝ้า Dashboard อยู่ ซึ่งจะปรึกษาแพทย์ประจำตัวของสมาชิกในกรณีที่เป็นปัญหาที่ต้องแนะนำโดยแพทย์ การตอบคำถามนี้จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเพราะขณะตอบแพทย์หรือทีมงานมีข้อมูลสุขภาพของสมาชิกอยู่ตรงหน้าอยู่แล้ว

     สมาชิกสามารถสั่งพิมพ์ใบสรุปข้อมูลสุขภาพ (Patient Summary) แบบหน้าเดียวซึ่งเขียนโดยแพทย์ประจำตัวของตน ไปใช้เพื่อเวลาไปรับการตรวจรักษาในสถานพยาบาลต่างๆได้ทุกเมื่อ

     4.8 เมื่อพ้นหนึ่งปีไปแล้ว หากผู้ป่วยอยากจะกลับมาทบทวนทักษะและติดตามความรู้ใหม่ๆที่เรียนไปก็สามารถทำได้โดยสมัครมาเข้าแค้มป์ติดตาม (RDBY follow up) ซึ่งจัดให้ปีละครั้งสำหรับผู้เคยผ่านแค้มป์ RDBY มาแล้ว โดยจัดแบบรวมหลายรุ่นมาเข้าแค้มป์ติดตามด้วยกัน

     4.9 ในกรณีที่เป็นผู้ทุพลภาพหรือช่วยเหลือตนเองไม่ได้ซึ่งตามปกติต้องมีผู้ดูแลประจำตัวอยู่แล้ว ต้องให้ผู้ดูแลมาลงทะเบียนเข้าคอร์สเต็มแบบเป็นผู้ป่วยคนหนึ่งด้วย โดยได้รับส่วนลด 30% ผู้ดูแลจะได้เรียนและฝึกทักษะต่างๆเหมือนผู้ป่วยทุกประการ

     5. หลักสูตร (Course Syllabus) 

     5.1 วัตถุประสงค์

     5.1.1 วัตถุประสงค์ในด้านความรู้
คาดหวังให้ผู้ป่วยรู้สิ่งต่อไปนี้
a. รู้เรื่องโรคของตัวเอง ทั้งพยาธิกำเนิด พยาธิวิทยา อาการวิทยา
b. รู้จักตัวชี้วัดที่ใช้เฝ้าระวังการดำเนินของโรค
c. รู้ทางเลือกวิธีรักษาทุกวิธี และรู้ประโยชน์และความเสี่ยงของแต่ละทางเลือกอย่างละเอียด
d. รู้จักยาทุกตัวที่ตนเองได้รับ ทั้งชื่อ ขนาด วิธีกิน กลุ่มยา ฤทธิ์ยา และผลข้างเคียง
e . รู้ว่าตนเองสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อให้ตนเองหายจากโรค
     - ในแง่ของโภชนาการ รู้ประโยชน์ของอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ (low fat, plant based, whole food) รู้โทษของเนื้อแดงและเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการปรับแต่งหรือถนอม
     - ในแง่ของการออกกำลังกาย รู้ประโยชน์และวิธีออกกำลังกายทั้งสามแบบ คือแบบแอโรบิก (aerobic exercise) แบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (strength training) และแบบเสริมการทรงตัว (balance exercise)
     - ในแง่ของการจัดการความเครียด รู้ประโยชน์และวิธีจัดการความเครียดด้วยเทคนิคต่างๆซึ่งรวมศูนย์อยู่ที่การฝึกวางความคิด
     - ในแง่ของแรงบันดาลใจ รู้จักพลังงานของร่างกาย (internal body) และการใช้พลังงานของร่างกายเป็นแหล่งบ่มเพาะแรงบันดาลใจให้ต่อเนื่อง
     - ในแง่ของการร่วมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน รู้ประโยชน์และพลังของกลุ่มและรู้วิธีทำกิจกรรมในกลุ่ม
f. รู้วิธีใช้ Health Dashboard ในการป้องกันและพลิกผันโรคด้วยตนเอง

     5.1.2. วัตถุประสงค์ในด้านทักษะ
คาดหวังให้ผู้ป่วยสามารถทำสิ่งต่อไปนี้ด้วยตนเอง
a.       บริหารจัดการโรคของตนเองได้โดยใช้ตัวชี้วัดพื้นฐาน 7 ตัว (1) น้ำหนัก (2) ความดันเลือด (3) ไขมันในเลือด (4) น้ำตาลในเลือด (5) ปริมาณผักผลไม้ที่กินต่อวัน (6) เวลาออกกำลังกายต่อสัปดาห์ (7) การสูบบุหรี่
b.       เลือกอาหารสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูปในตลาดที่เป็นอาหารพืชแบบไม่สกัดไม่ขัดสีได้
c.       ทำอาหารทานเองที่บ้านได้ เช่น ผัดทอดอาหารโดยใช้น้ำหรือใช้ลมร้อนแทนน้ำมันได้ อบถั่วและนัทไว้เป็นอาหารว่างเองได้ ทำเครื่องดื่มจากผักผลไม้โดยไม่ทิ้งกากด้วยตนเองได้
f.        ประเมินสมรรถนะร่างกายของตนเองด้วยการสังเกตอัตราการหายใจ การนับชีพจรจากเครื่องช่วยนับ และการทำ One milk walk test ให้ตัวเองได้
g.       ออกกำลังกายแบบแอโรบิกได้ด้วยตนเองได้
h.       ออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยใช้ท่ากายบริหาร ดัมเบล สายยืด และกระบอง ได้ด้วยตนเอง
i.         ออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัวได้ด้วยตนเอง
j.         สามารถกำกับดูแลท่าร่าง (posture) ในชีวิตประจำวันของตนเองได้
k.       ผ่อนคลายความเครียดเฉียบพลันด้วยเทคนิค relax breathing ได้
l.         จัดการความเครียดในชีวิตประจำวันด้วยการฝึกวางความคิดผ่านเทคนิคต่างๆเช่น นั่งสมาธิ ไทชิ โยคะ ได้
m.     สามารถร่วมกิจกรรมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน ทั้งในเชิงเป็นผู้เปิดแชร์ความรู้สึกและเป็นผู้ให้การพยุงได้
n. สามารถใช้ Health Dashboard ในการดูแลตนเองต่อเนื่องได้ด้วยตนเอง

5.1.3    ในด้านเจตคติ
คาดหวังให้ผู้ป่วยเกิดเจตคติต่อไปนี้
a.       มีความมั่นใจว่าตนเองมีอำนาจ (empowered) ที่จะดลบันดาลให้โรคของตัวเองหายได้
b.       มีความมุ่งมั่นในพันธะสัญญา (commitment) ที่จะเป็นผู้ดูแลตนเองไม่ให้เป็นภาระแก่คนอื่น
c.       มีความอยาก (motivated) ที่จะมีชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีความสุข

     6. ตารางกิจกรรมขณะอยู่ในแค้มป์

วันที่ 1 (ของ 5 วัน)

8.00-15.00 Registration & Meet with doctors
ลงทะเบียนเข้าแค้มป์ เช็คอินเข้าห้องพัก วัดดัชนีมวลกาย วัดความดันเลือด จัดทำเวชระเบียนส่วนบุคคล พบกับแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและจัดทำเวชระเบียน พักรับประทานอาหารว่างและอาหารกลางวันในขณะผลัดกันเข้าพบแพทย์ตามตารางเวลาที่จัดไว้

17.00 - 19.00 น. Kitchen tour สาธิตสอนแสดงวิธีทำอาหารแบบ PBWF และเริ่มทำอาหารด้วยตนเองทานเอง

19.00 - 20.00 น. ชั่วโมงสันทนาการภายในกลุ่ม

วันที่ 2. (ของ 5 วัน)

6.30 - 8.00 น.
Aerobic exercise and one mile walk test เรียนการออกกำลังกายแบบแอโรบิกและทดสอบความฟิตร่างกายด้วยวิธีเดินหนึ่งไมล์

8.00 - 9.30
ทำอาหารเช้าทานเองและเวลาส่วนตัว

9.30 - 10.45
Learn from each other ทำความรู้จักกันและเรียนรู้จากโรคของกันและกัน

10.45 -11.00
Tea break พักดื่มน้ำชา

11.00-12.00
Learn from each other ทำความรู้จักกันและเรียนรู้จากโรคของกันและกัน (ต่อ)

12.00 -14.00
ทำอาหารกลางวันทานเองและเวลาส่วนตัว

14.00 – 15.00
Briefing. Plant-based, whole food บรรยายเรื่องโภชนาการที่มีพืชเป็นหลัก ไม่สกัด ไม่ขัดสี

15.00-16.00
Tea break & Workshop: Shopping wisely พักรับประทานน้ำชา และทำเวอร์คชอพจ่ายตลาดฉลาดซื้อ

16.00-17.00
Relaxing Yoga โยคะเพื่อการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

17.00 - 19.00 น.
ทำอาหารแบบ PBWFด้วยตนเองทานเอง

19.00 - 20.00 น. ชั่วโมงสันทนาการภายในกลุ่ม

วันที่ 3. (ของ 5 วัน)

6.30 - 8.00 น.
- Body Scan ฝึกวางความคิดมาอยู่กับพลังงานของร่างกาย
- Tai Chi ฝึกวางความคิดมาอยู่กับพลังงานของร่างกายขณะเคลื่อนไหว

8.00 - 9.30
ทำอาหารเช้าทานเองและเวลาส่วนตัว

9.30 - 10.30
Self management for heart disease จัดการโรคหัวใจขาดเลือดด้วยตนเอง

10.30 -10.45
Tea break พักดื่มน้ำชา

10.45-11.30
- Workshop: Blood pressure measurement ฝึกปฏิบัติ วิธีวัด บันทึก และวิเคราะห์ความดันเลือด
- Self management for hypertension จัดการโรคความดันเลือดสูงด้วยตนเอง

11.30 - 12.00
Dyslipidemia and Obesity การพลิกผันโรคไขมันในเลือดสูงและโรคอ้วน

12.00 -14.00
ทำอาหารกลางวันทานเองและเวลาส่วนตัว

14.00 – 15.00
Workshop: Strength training การออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (เล่นกล้าม)

15.00-15.45
Workshop: Balance exercise การออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัว

15.45 - 16.00
Tea break พักรับประทานน้ำชา

16.00-17.00
Leisure time: เวลาพักผ่อนส่วนตัว

17.00 - 19.00 น.
ทำอาหารแบบ PBWFด้วยตนเองทานเอง

19.00 - 20.00 น. ชั่วโมงสันทนาการภายในกลุ่ม

วันที่ 4. (ของ 5 วัน)

6.30 - 8.00 น.
Morning Ritual ฝึกใช้เวลาส่วนตัวตอนเช้าให้เป็นกิจวัตร
- Meditation นั่งสมาธิ
- Muscle stretching & Muscle strength training ยืดเหยียดกล้ามเนื้อและเล่นกล้าม
- Tai Chi รำมวยจีน

8.00 - 9.30
ทำอาหารเช้าทานเองและเวลาส่วนตัว

9.30 - 10.30
Self management for diabetese จัดการโรคเบาหวานด้วยตนเอง

10.30 -10.45
Tea break พักดื่มน้ำชา

10.45 -11.30
Self management for CKD จัดการโรคไตเรื้อรังด้วยตนเอง

11.30 -12.00
Self motivation การสร้างแรงบันดาลใจให้ตนเองอย่างต่อเนื่อง

12.00 -14.00
ทำอาหารกลางวันทานเองและเวลาส่วนตัว

14.00 – 15.00
Workshop: Relaxing Yoga

15.00-15.45
Workshop: Balance exercise with line dance ทรงตัวด้วยการฝึกไลน์ด้านซ์

15.45 - 16.00
Tea break พักรับประทานน้ำชา

16.00-17.00

Leisure time: เวลาพักผ่อนส่วนตัว

17.00 - 19.00 น.
ทำอาหารแบบ PBWFด้วยตนเองทานเอง

19.00 - 20.00 น. ชั่วโมงสันทนาการภายในกลุ่ม

วันที่ 5. (ของ 5 วัน)

6.30 - 8.00 น.
Morning Ritual ฝึกใช้เวลาส่วนตัวตอนเช้าให้เป็นกิจวัตร
- Meditation นั่งสมาธิ
- Muscle stretching & Muscle strength training ยืดเหยียดกล้ามเนื้อและเล่นกล้าม
- Tai Chi รำมวยจีน

8.00 - 9.30
ทำอาหารเช้าทานเองและเวลาส่วนตัว

9.30 - 10.45
Workshop: Simple seven health risks management การจัดการโรคด้วยดัชนีง่ายๆเจ็ดตัว

10.45 -11.00
Tea break พักดื่มน้ำชา

11.00-12.00
Workshop: Health Dashboard การใช้แดชบอร์ดบนอินเตอรเน็ทเพื่อการติดตามต่อเนื่อง

12.00 -14.00
ทำอาหารกลางวันทานเองและเวลาส่วนตัว

14.00 - 16.00

เวลาสำรองสำหรับผู้ที่ต้องการปรึกษาปัญหาส่วนตัว

     7. การเตรียมรับภาวะฉุกเฉินขณะเข้าแค้มป์

     ผู้ป่วยที่มาเข้าโปรแกรมนี้ส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วยหนัก บ้างทำผ่าตัดบายพาสมาแล้ว บ้างทำบอลลูนมาแล้วคนละครั้งสองครั้ง บ้างมีหัวใจล้มเหลวแค่เดินสองสามก้าวก็หอบหรือเจ็บหน้าอกแล้ว ความเสี่ยงที่จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันหรือหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันมีอยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งขณะนั่งหรือนอนอยู่เฉยๆ ตัวหมอสันต์เองเป็นหมอผ่าตัดหัวใจมาก่อน จึงไม่ประมาทในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย ได้เตรียมการด้านความปลอดภัยขณะเข้าแค้มป์ทุกครั้งรวมไปถึงการมีอุปกรณ์เครื่องมือเพื่อรับมือกับภาวะฉุกเฉินได้เทียบเท่ากับห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลทั่วไป รวมทั้งขีดความสามารถที่จะเปิดหลอดเลือดให้น้ำเกลือหรือยาทางหลอดเลือดดำได้ทันที ขีดความสามารถที่จะใส่ท่อช่วยหายใจและช่วยการหายใจในภาวะฉุกเฉิน นอกจากนั้นยังมีขีดความสามารถที่จะช็อกไฟฟ้าหัวใจในกรณีฉุกเฉิน การประสานงานกับระบบรถฉุกเฉินและโรงพยาบาลใกล้เคียง และการมีแพทย์หรือพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติอยู่ประจำในแค้มป์ 24 ชั่วโมง ตลอดการฝึกอบรม

     ที่เล่าทั้งหมดนี้ให้ฟังอาจทำให้เข้าใจผิดว่าการจะปรับวิถีชีวิตเพื่อพลิกผันโรคให้ตัวเองนั้นเป็นเรื่องอันตราย ความเป็นจริงไม่ใช่เลย การปรับการใช้ชีวิตทั้งอาหารและการออกกำลังกายเพื่อดูแลตัวเองให้ได้นั้นเป็นกลไกรักษาโรคตามธรรมชาติ มีอันตรายน้อยกว่าการรักษาด้วยยา บอลลูน หรือผ่าตัดในโรงพยาบาลอย่างเทียบกันไม่ได้ แต่หมอสันต์เตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยในแค้มป์ให้มากเพื่อให้ผู้ป่วยหนักซึ่งเป็นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการเข้าแค้มป์ กล้ามาเข้าแค้มป์เท่านั้นเอง

     8. การลงทะเบียนเข้าแค้มป์ RDBY

     ลงทะเบียนได้ 3 วิธี

(1) ผ่านทางไลน์ @wellnesswecare
(2) อีเมล chernkwan@wellnesswecare.com
(3) โทรศัพท์ หมายเลย 0636394003

วิธีลงทะเบียนเข้าเรียน

    1. โทรศัพท์ลงทะเบียนกับเวลเนสวีแคร์ที่คุณเชิญขวัญ (เอ๋ย) หมายเลข  0636394003
    2. ลงทะเบียนทางไลน์ @wellnesswecare
    3. ลงทะเบียนทางอีเมล host@wellnesswecare.com
    4. (ปิดการใช้งานชั่วคราว) ลงทะเบียนผ่านเว็บไซท์และจ่ายเงินทางออนไลน์ได้ที่ https://www.wellnesswecare.com/th/program/good-health-by-yourself-th/13

     ในทุกกรณีเมื่อได้ที่นั่งแล้ว จะต้องโอนเงินค่าลงทะเบียนเข้าบัญชี ธนาคารกสิกรไทย สาขาสมุทรปราการ ชื่อบัญชี  บริษัท เมก้า วี แคร์ จำกัด เลขที่บัญชี 007-368-5478 ภายใน 24 ชั่วโมงหลังได้สำรองที่เรียนแล้ว หากพ้น 24 ชั่วโมงไปแล้วถือว่าสละสิทธิ์ ที่นั่งที่สำรองได้จะถูกจัดสรรไปให้ผู้อื่นก่อน

     9. การตรวจสอบตารางแค้มป์

สามารถตรวจสอบตารางแค้มป์ล่วงหน้าได้ทางคอลัมน์ทางขวามือของบล็อกหมอสันต์นี้ (visitdrsant.blogspot.com) หรือที่เว็บไซท์ https://www.wellnesswecare.com/th/static/program-calendar

     10. ราคาค่าลงทะเบียน

     ค่าลงทะเบียนสำหรับตลอดคอร์ส (เข้าแค้มป์ 5 วัน 4 คืน ติดตามทาง HealthDashboard อย่างน้อยหนึ่งปี แล้วต่อเนื่องไม่กำหนดวันจบ) คนละ 25,000 บาท ค่าลงทะเบียนนี้รวมถึงใช้จ่ายในการเข้าแค้มป์กินนอน 5 วัน 4 คืน (โดยแชร์ห้องพักกับสมาชิกท่านอื่น รวมห้องละ 2 ท่าน)  และการติดตามทาง Health Dashboard อย่างเข้มข้นนานหนึ่งปี ในการเข้าแค้มป์แต่ละครั้งก็ครอบคลุมถึงค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าวิทยากร ค่าอุปกรณ์การฝึกทักษะ ค่าตรวจร่างกาย ค่าใช้จ่ายในการติดตามโดยแพทย์และพยาบาลทาง Health Dashboard) หลังจากออกจากแค้มป์กลับไปอยู่บ้านแล้ว แต่ไม่ครอบคลุมถึงค่าเดินทางไปและกลับระหว่างบ้านกับแค้มป์ (ผู้ป่วยไปเองกลับเอง) ไม่ครอบคลุมค่ายาและค่ารักษาพยาบาลส่วนบุคคลใดๆทั้งสิ้น

    ในกรณีที่จะประสงค์นอนพักคนเดียว 1 ห้อง จะต้องชำระค่าห้องเพิ่ม 2,000 บาท  สำหรับทั้ง 4 คืน

     กรณีเป็นผู้ติดตาม ผู้ดูแลหรือ caregiver ก็ต้องลงทะเบียนเรียนเหมือนผู้ป่วยทุกอย่าง ค่าลงทะเบียนผู้ติดตามคนละ 17,500 บาท ซึ่งรวมค่ากิน ค่าอยู่ ค่าเข้าร่วมเรียนและทำกิจกรรมทุกอย่างในแค้มป์เหมือนผู้ป่วยทุกอย่างรวมทั้งการตรวจร่างกายโดยแพทย์และการติดตามดูแลหลังจบแค้มป์ผ่าน Health Dashboard

     11. ระยะก่อนเข้าแค้มป์ (Pre-camping preparation) 

     ผู้ป่วยทุกท่านที่ได้รับเข้าโปรแกรมแล้ว จะต้องจัดส่งข้อมูลโรคของตนมาให้แพทย์วิเคราะห์ล่วงหน้าก่อนวันมาแค้มป์ โดยส่งข้อมูลมาทางคุณสายชล (โอ๋) พยาบาลประจำแค้มป์ ที่อีเมล totenmophph@gmail.com โดยอย่างน้อยต้องส่งข้อมูลพื้นฐานซึ่งจำเป็นต้องใช้ต่อไปนี้มา คือ

(1) ชื่อ นามสกุล
(2) วันเดือนปีเกิด
(3) เพศ
(4) เบอร์โทรศัพท์มือถือ
(5) อีเมลแอดเดรส
(6) เลขบัตรประจำตัวประชาชน
(7) ส่วนสูง
(8) น้ำหนัก
(9) ความดันเลือด
(10) น้ำตาลในเลือด (FBS) หรือน้ำตาลสะสม (HbA1C)
(11) ไขมันเลว (LDL)
(12) ตัวชี้วัดการทำงานของไต (eGFR หรือ Cr)
(13) เอ็นไซม์แสดงการทำงานของตับ (SGPT)
(14) การวินิจฉัย (ชื่อ) โรคทุกโรคที่รักษาอยู่ในปัจจบัน
(15) อาการป่วยทุกอาการที่มีในปัจจุบัน
(16) ยาทุกตัวที่กินอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งขนาด และวิธีกิน
(17) ผลการตรวจจำเพาะต่างๆ ถ้ามี เช่น ผลการตรวจเลือดอื่นๆ ภาพเอ็กซเรย์ปอด ผลตรวจสมรรถนะหัวใจ (EST) คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ผลการตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยคอมพิวเตอร์ (CTA) ผลการตรวจสวนหัวใจ (CAG) ผลการตรวจผลการตรวจ CT สมอง โดยกรณีเป็นภาพหากส่งเป็นไฟล์ดิจิตอลได้ก็จะเป็นพระคุณ แต่หากส่งไม่ได้จะเอาโทรศัพท์ถ่ายแล้วส่งไฟล์รูปมาก็ได้ กรณีเป็นใบรายงานผลให้เอาโทรศัพท์ถ่ายใบรายงานแล้วส่งไฟล์มาก็ได้
(18) คำบอกเล่าลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน เน้นที่
- การบรรยายลักษณะอาหารที่กินแต่ละมื้อทุกมื้อ
- การออกกำลังกายที่ทำในแต่ละวัน
- วิธีจัดการความเครียดที่ใช้อยู่ประจำ
- ความกังวล (concern) ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ หากมีอยู่ในใจก็ให้แจ้งมาให้หมอสันต์ทราบด้วย

     12. สถานที่เรียน

     คือ เวลเนสวีแคร์เซ็นตเตอร์ (มวกเหล็ก-เขาใหญ่) ตามแผนที่ข้างล่างนี้

(รายละเอียดอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความจำเป็นและความต้องการของผู้เรียนแต่ละแค้มป์)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

16 เมษายน 2562

ติดเชื้อ, อักเสบ, บาดเจ็บ, เนื้องอก, เป็นแต่กำเนิด, เกิดจากการเผาผลาญ

อาจารย์คะ
หนูเป็นนศพ.5 ต้องเวียนไปที่รพ. .... และพี่เขาให้ผลัดกันอยู่เวรโดยไม่มีแพทย์รุ่นพี่ back up เลย หนูเครียดมาก เวลานอนก็ผวา เวลาเจอคนไข้ก็มือไม้สั่นเพราะต้องคอยเปิด DDx หรือค้นอากู๋หาข้อมูลเพราะไม่ชัวร์เลยว่าคนไข้จะเป็นอะไรได้บ้าง คนไข้เห็นเข้าก็ทำท่าดูแคลนหนู เวลาราวด์กับรุ่นพี่ก็ถูกพี่เขาตำหนิอย่างแรงว่าวินิจฉัยแยกโรคแค่นี้ก็ทำได้ไม่ครอบคลุม เครียดจนอยากจะร้องกรี๊ดหรือทิ้งทุกอย่างหนีไปซะตอนนี้เลย ก็ตอนเรียนหนูต้องอยู่กับอินเตอร์เน็ทแทบจะตลอดเวลา แต่พอมาอยู่อย่างนี้หนูแทบไม่มีเวลาเปิดเน็ทเลยจึงเหมือนคนหมดท่า
อาจารย์ช่วยแนะนำหนูด้วย

...........................................

ตอบครับ

     ผมตอบคุณหมอประเด็นเดียวนะ เฉพาะประเด็นที่เมื่อไม่มีอินเตอร์เน็ท จะเป็นหมอได้อย่างไร

     ก่อนอื่นคุณหมอต้องไม่ปฏิเสธการจดจำข้อมูล คุณหมอต้องเข้าใจว่าพื้นฐานของเชาว์ปัญญาคือความจำ อย่างน้อยคุณหมอต้องจำข้อมูลพื้นฐานอะไรได้ระดับหนึ่งจึงจะคิดวิเคราะห์ได้รวดเร็ว ข้อมูลละเอียดปลีกย่อยค่อยไปค้นหาเอาจากอินเตอร์เน็ท อย่าเอะอะอะไรก็เปิดอากู๋โดยถือว่าชีวิตนี้ไม่ต้องจำอะไรทั้งสิ้น นั่นเป็นวิธีเรียนแพทย์ที่ผิดวิธีนะครับ

     ผมจะเล่าวิธีที่คนรุ่นผมเรียนมานะ คนรุ่นผมเรียนด้วยวิธีท่องจำล้วนๆ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์ ทั้งมหาลัยไม่มีคอมพิวเตอร์เลยสักเครื่องเดียว เชื่อหรือไม่ อย่าว่าแต่คอมส่วนตัวและสมาร์ทโฟนที่นักเรียนแพทย์สมัยนี้มีกันคนละเครื่องสองเครื่องเลย แต่การท่องจำแบบจะเอามาใช้งานได้จริงก็ต้องมีหลักนะ กล่าวคือต้องจำโครงใหญ่ของการวินิจฉัยโรคก่อนว่ามันมีห้ามุมมอง คือ

     มุมที่ 1. กายวิภาคศาสตร์ หรืออวัยวะอะไรอยู่ที่ไหน ตับ ไต ไส้ พุง เรื่องนี้คุณหมอเองก็ไม่น่าจะมีปัญหา ทุกคนผ่าศพกันมาคนละหกเดือนก็ต้องจำได้ขึ้นใจอยู่แล้ว ดังนั้นคนไข้เอานิ้วชี้ว่าปวดที่ตรงนี้คุณหมอหลับตาบอกได้เลยว่าอวัยวะที่อยู่ลึกเข้าไปมีอะไรบ้าง

     มุมที่ 2. คือ อาการวิทยา หรืออาการอะไร เป็นโรคอะไรได้บ้าง ถ้าเป็นอาการที่คนไข้เป็นบ่อยคนรุ่นผมต้องหลับตาท่องได้เลย เช่นครูถามว่าคนไข้เจ็บแน่นหน้าอกเป็นอะไรได้บ้าง ก็ต้องตอบสวนทันทีว่าเป็นได้เจ็ดโรคครับ (1) กรดไหลย้อน (2) หัวใจขาดเลือด (3) เจ็บกล้ามเนื้อหน้าอก (4) เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (5) เยื่อหุ้มปอดอักเสบ (6) ลิ่มเลือดอุดปอด (7) หลอดเลือดใหญ่ปริแตก เป็นต้น

     มุมที่ 3. คือ สรีรวิทยา หรือ ระบบอวัยวะ ซึ่งมีอยู่ 12 ระบบ สมัยผมเรียนโดยวิธีท่องว่า ผิวหนัง, กล้ามเนื้อ, ประสาท, กระดูก, หายใจ, ไหลเวียน, ทางเดินอาหาร, ปัสสาวะ, สืบพันธ์, เลือด, น้ำเหลือง, ต่อมไร้ท่อ

     มุมที่ 4. คือ สาเหตุของโรค เป็นการไล่เรียงกลุ่มสาเหตุของโรค ซึ่งมีอยู่ 9 กลุ่ม ซึ่งแน่นอนว่านักเรียนแพทย์สมัยโบราณรุ่นผมท่องกันได้ขึ้นใจ คือ ติดเชื้อ, อักเสบ, บาดเจ็บ, เนื้องอก, เป็นแต่กำเนิด, เกิดจากการเผาผลาญ, ภูมิต้านทาน, ฮอร์โมน, และโรคจากการรักษา นี่ทั้งหมดนี้ผมเขียนออกมาจากหัวนะเนี่ย คือเมื่อท่องจนจำได้แล้วและใช้มันอยู่เรื่อยมันก็ไม่เคยลืมแม้จะผ่านไปแล้วกี่สิบปี อย่าลืมว่านี่ผมอายุ 67 ปีแล้วนะ

     มุมที่ 5. คือ พยาธิวิทยา คือโรคอะไรมีเรื่องราวหรือการดำเนินโรคอย่างไร ถ้าเป็นโรคสำคัญก็ต้องจำได้หมดว่ามันกระทบต่อระบบไหนบ้าง เช่นโรคลิ้นหัวใจตีบเรื่องราวก็เริ่มตั้งแต่การติดเชื้อสเตร็ปที่คอในวัยเด็ก แล้วภูมิคุ้มกันที่ทำลายเชื้อไปทำลายลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจอักเสบ มีพังผืดแทรกลิ้น ลิ้นตีบ รั่ว หัวใจล้มเหลว เป็นต้น

     เมื่อได้คนไข้มาคนหนึ่ง ก็เอาข้อมูลที่ได้จากการซักประวัติว่าอาการเป็นอย่างไร ตรวจร่างกายพบอะไรที่ตรงไหน มาเทียบเคียงไตร่ตรองตรวจสอบไปตามมุมมองทั้งห้าข้างต้นไปทีละมุมมองว่ามันเกิดเหตุที่อวัยวะใด ไล่ไปทีละอวัยวะ มันทำให้ระบบสรีรวิทยาใดฟั่นเฟือนไปบ้าง ไล่ไปทีละระบบจนครบ 12 ระบบ มันน่าจะเกิดจากกลุ่มสาเหตุใด ไล่ไปทีละกลุ่มสาเหตุจนครบ 9 กลุ่ม มันน่าจะเป็นโรคอะไรได้บ้าง ไล่ไปทีละโรค ทั้งหมดนี้วิเคราะห์จากพื้นฐานความจำที่ท่องเป็นนกแก้วไว้ทั้งสิ้น โดยไม่ต้องเปิดอากู๋เลยเพราะไม่มีให้เปิด มีบ้างบางครั้งถ้าไม่ชัวร์ก็ทำทีไปเข้าห้องน้ำแล้วแอบเปิดโพยที่โน้ตย่อพับใส่กระเป๋าไว้ ก็พอเอาตัวรอดไปได้

     ถ้าคุณหมอไม่ประสบความสำเร็จกับการเรียนโดยพึ่งอากู๋อย่างเดียว ทำไมไม่ลองเอาวิธีการเรียนแบบท่องจำของหมอรุ่นโบราณมาผสมผสานกับการพึ่งอากู๋ดูสิครับ มันอาจจะช่วยชีวิตคุณหมอได้นะ

ปล.

     เรื่องที่เครียดจนอยากจะกรี๊ดและทิ้งไปดื้อๆนั้นไม่ใช่ความผิดปกติ มันเป็นเรื่องธรรมดา คุณหมออย่าตำหนิตัวเอง ให้ความเห็นอกเห็นใจตัวเองหน่อย เอาใจตัวเองบ้าง ว่างปุ๊บก็ให้แว้บไปดูหนังฟังเพลงหรืออยู่กับธรรมชาติเป็นการผ่อนคลาย วิชาแพทย์นั้นกว้างใหญ่ไพศาลจะเรียนให้รู้หมดทันทีที่จบปีหกนั้นเป็นไปไม่ได้หรอก ขอแค่มีเมตตาธรรมต่อคนไข้อย่างแน่วแน่ ก็จะเกิดพลังที่จะเรียนรู้ควบคู่ไปกับการทำงานจนในที่สุดก็กลายเป็นคุณหมอที่เก่งได้ ส่วนที่รุ่นพี่เขาด่าเขาตำหนินั้นก็ช่างเขาเถอะ เขาอาจจะตกอยู่ในความกลัวว่ามีน้องที่ไม่เดียงสามาอยู่ด้วยแล้วชีวิตเขาจะลำบาก เขาด่ามาก็แค่ทำท่าก้มหน้าต่ำสำนึกผิดขณะที่ในใจก็แผ่เมตตาให้อภัยเขาซะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

15 เมษายน 2562

สัดส่วนระหว่างไขมันเลวและดี (LDL/HDL ratio) ยังใช้ได้อยู่หรือเปล่า

อาจารย์คะ แพทย์บางท่าน บอกว่า เรื่องไขมันในเลือดนี้ให้ดูที่ค่า HDL ด้วย ถ้า LDL/HDL = มากกว่า 3.5 ก็อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ต้องกังวล จึงควรเพิ่ม HDL และ HDL จะไปจับ LDL ไปทำลายที่ตับ
เป็นอย่างนี้ใช่มั้ยคะ

.....................................................

ตอบครับ

     ผมจะตอบคุณเป็นประเด็นไปนะ เพื่อให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นเอาไปใช้ประโยชน์ได้

     1. เป็นความจริงที่พิสูจน์ได้จากงานวิจัยติดตามกลุ่มคนในชุมชนฟรามิงแฮมว่าไขมันดี (HDL) หากใครมีมากก็มีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคน้อยลง พูดง่ายๆว่า HDL ใครมีมากก็ถือว่าดวงดีจะเป็นโรคนี้น้อย [1]
   
     2. แล้วก็มีหมอจำนวนหนึ่งที่ชอบวิชาคณิตศาสตร์ลองเอาค่าสองค่านี้ (HDL กับ LDL) มาบวกลบคูณหารกันแล้วเอาสูตรที่คิดขึ้นได้นี้ไปเทียบกับความเสี่ยงของการเป็นโรคดู แล้วก็รายงานออกมาว่า [2-5] เฮ้ย..ย ถ้าเอา LDL ตั้งเอา HDL หาร หากได้คำตอบมากกว่า 3.5 จะสัมพันธ์กับการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดมากขึ้นนะ จึงได้เกิดการใช้ผลหารนี้ (LDL/HDL ratio) เป็นตัวบ่งชี้ความเสี่ยง แล้วเมื่อไม่นานมานี้ก็มีงานวิจัยหนึ่งทำที่ฟินแลนด์ชื่อ KIHD Study [6] ซึ่งติดตามดูผลหารนี้ในคน 2,616 คนเป็นเวลานาน 23 ปีแล้วรายงานว่า ฮ้า จริงนะ หากผลหารนี้ได้ค่ามากกว่า 3.5 จะสัมพันธ์กับการตายกะทันหันจากโรคหัวใจ (SCD) มากขึ้น ขณะที่หากไปดูที่ระดับไขมัน HDL หรือ LDL ทีละตัวจะไม่มีความสัมพันธ์กับการตายกะทันหันเลย จึงสรุปผลวิจัยว่าอย่ากระนั้นเลย เราเลิกใช้ค่าอื่นๆเสียเถอะ หันมาใช้ค่า LDL/HDL ratio แทนกันดีกว่า ซึ่งหมอรักษาโรคหัวใจจำนวนหนึ่งก็ศรัทธาและใช้วิธีนี้กับคนไข้ของตัวเองมาจนทุกวันนี้

     3. แล้วก็ยังมีหมอที่ชอบคณิตศาสตร์อีกจำนวนหนึ่ง [7] มีความเห็นว่าหารกันไม่ดีหรอก รบกันดีกว่า เอ๊ย.. ขอโทษ พูดผิด ลบกันดีกว่า ก็จึงเอาค่าโคเลสเตอรอลรวมในเลือดตั้งแล้วเอาค่า HDL ไปลบ ได้ผลออกมาเรียกว่า non HDL cholesterol แล้วไปเทียบกับข้อมูลไขมันของผู้ป่วยในหลายๆงานวิจัยดูก็พบว่าค่านี้สัมพันธ์กับจุดจบที่เลวร้ายของโรคหัวใจมากกว่าค่าอื่นใดทั้งสิ้น ดังนั้นจึงสรุปงานวิจัยว่าควรหันมาใช้ค่าผลลบนี้แทนค่าอื่นๆดีกว่า

     เอาเป็นว่าตอนนี้โดยสรุปการใช้คณิตศาสตร์รักษาไขมันสูงมีสองวิธีแล้วนะ วิธีที่หนึ่งคือใช้ผลหาร วิธีที่สองคือใช้ผลลบ หมอคนไหนชอบแบบไหนก็พากันใช้แบบนั้นกันคนไข้ของเขา เพราะนี่เป็นโลกเสรี ใครจะห้ามใครได้ละครับ

     4. คำถามของคุณที่ว่าผลหาร LDL/HDL ratio นี้ใช้บอกความเสี่ยงของโรคได้ดีกว่าค่าไขมัน LDL จริงหรือไม่ ผมตอบว่าคุณอย่าไปสนใจวิธีบวกลบคูณหารของแพทย์นักคณิตศาสตร์เลยครับ สิ่งที่คุณควรสนใจคือคุณควรจะกินอย่างไรจะใช้ชีวิตอย่างไรให้ไขมันในเลือดของคุณต่ำลงมาเป็นปกติ ส่วนจะเอาค่าไขมันตัวไหนเป็นเกณฑ์นั้นผมแนะนำให้ใช้ LDL เป็นตัวชี้วัดตัวเดียวก็พอแล้ว ทั้งนี้ผมแนะนำตามคำแนะนำเวชปฏิบัติล่าสุดของสมาคมหัวใจอเมริกันและวิทยาลัยแพทย์โรคหัวใจอเมริกัน (AHA/ACC 2018 Guidelines)[8] ซึ่งได้ประมวลหลักฐานบรรดามีทั้งหลายในโลกนี้แล้วออกคำแนะนำแบบง่ายๆลุ่นๆปฏิบัติได้ทันทีว่าให้มุ่งลดไขมันเลว (LDL) ในผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจแล้วลงให้ต่ำกว่า 70 มก./ดล. โดยการปฏิบัติตัวเรื่องการกินการอยู่และการใช้ยาลดไขมัน ทั้งนี้ไม่ต้องไปเสียเวลากับการบวกลบคูณหารใดๆทั้งสิ้น

     อนึ่งเพื่อเป็นการทบทวนความจำคนขี้ลืม ในแง่ของการกินอย่างไรเพื่อให้ไขมันในเลือดต่ำลง เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ผมได้เล่าถึงงานวิจัยหนึ่ง [9] ซึ่งศึกษาไขมันในเลือดของคนกินอาหารแบบต่างๆแล้วพบว่า
     - พวกกินเนื้อสัตว์ มีไขมัน LDL ในเลือดเฉลี่ย 123.43 มก./ดล.
     - พวกมังสะวิรัติแบบกินนมกินไข่ (lacto-ovo) มีไขมัน LDL ในเลือดเฉลี่ย 101.47 มก./ดล.
     - พวกมังสะวิรัติแบบกินนม (lacto vegetarian) มีไขมัน LDL ในเลือดเฉลี่ย 87.71 มก./ดล.
     - พวกมังสะวิรัติแบบเข้มงวดไม่กินนมไม่กินไข่ (vegan) มีไขมัน LDL ในเลือดเฉลี่ย 69.28 มก./ดล.

     ดังนั้นหากคุณไขมันในเลือดสูงอย่าไปทำตัวให้ยุ่งอยู่กับคณิตศาสตร์เพื่อจะได้ไม่ต้องแก้ไขนิสัยการกินของตัวเองเลย ถ้าเป็นแฟนบล็อกหมอสันต์จริงให้ทิ้งคณิตศาสตร์ไปเสีย แล้วมุ่งหน้าไปทางมังสะวิรัติลูกเดียว จะมังมากมังน้อยแต่ขอให้ไปทางมังทิศเดียว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Gordon T, Castelli WP, Hjortland MC, Kannel WB, Dawber TR. High density lipoprotein as a protective factor against coronary heart disease. The Framingham Study. Am J Med. 1977 May; 62(5):707-14.
2. Kannel WB: Risk stratification of dyslipidemia: insights from the Framingham Study. Curr Med Chem Cardiovasc Hematol Agents, 2005; 3: 187-193
3. Ingelsson E, Schaefer EJ, Contois JH, McNamara JR, Sullivan L, Keyes MJ, Pencina MJ, Schoonmaker C, Wilson PW, D'Agostino RB, Vasan RS: Clinical utility of different lipid measures for prediction of coronary heart disease in men and women. JAMA, 2007; 298: 776-785
4. Hsia SH, Pan D, Berookim P, Lee ML: A population-based, cross-sectional comparison of lipid-related indexes for symptoms of atherosclerotic disease. Am J Cardiol, 2006; 98: 1047-1052
5. Kastelein JJ, van der Steeg WA, Holme I, Gaffney M, Cater NB, Barter P, Deedwania P, Olsson AG, Boekholdt SM, Demicco DA, Szarek M, LaRosa JC, Pedersen TR, Grundy SM, Group TNTS, Group IS : Lipids, apolipoproteins, and their ratios in relation to cardiovascular events with statin treatment. Circulation, 2008; 117: 3002-3009
6. Kunutsor SK, Zaccardi F, Karppi J, Kurl S, Laukkanen JA. Is High Serum LDL/HDL Cholesterol Ratio an Emerging Risk Factor for Sudden Cardiac Death? Findings from the KIHD Study. J Atheroscler Thromb. 2017 Jun 1;24(6):600-608. doi: 10.5551/jat.37184. Epub 2016 Oct 26.
7. Salim S. Virani. Non-HDL Cholesterol as a Metric of Good Quality of Care
Opportunities and Challenges. Texus Heart Inst J. 2011; 38(2): 160–162. PMCID: PMC3066801
PMID: 21494527
8. 2018 ACC/AHA/AACVPR/AAPA/ABC/ACPM/ADA/AGS/ APhA/ASPC/NLA/PCNA Guideline on the Management of Blood Cholesterol: A Report of the American College of Cardiology Foundation/American Heart Association Task Force on Clinical Practice Guidelines. J Am Coll Cardiol 2018;Nov 10:[Epub ahead of print].
9. De Biase SG1, Fernandes SF, Gianini RJ, Duarte JL. Vegetarian diet and cholesterol and triglycerides levels. Arq Bras Cardiol. 2007 Jan;88(1):35-9.
[อ่านต่อ...]

13 เมษายน 2562

วันสงกรานต์..ตรงไหนนะที่เป็นจุดเปลี่ยนระหว่างสองโลก

     วันนี้วันสงกรานต์ งดตอบจะหมายนะครับ แต่จะลงเรื่องที่หมอสันต์พูดกับสมาชิกแค้มป์ Spiritual Retreat แทน เผื่อท่านผู้อ่านจะเอาไปประยุกต์ใช้กับชีวิตในปีใหม่ได้

     "..นั่งตามสบายนะ ไม่ต้องสำรวม ที่นี่ไม่ใช่วัด และผมก็ไม่ใช่สมภาร ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายคุณเหยียดเท้าตรงมาหาผมได้ เพราะถ้าเหยียดเท้าไปทางอื่นคอของคุณก็จะบิดและเมื่อย ผมไม่ mind เรื่องการแต่งกายว่าจะเรียบร้อยไม่เรียบร้อย ไม่ต้องกลัวผมตื่นเต้น เพราะผมคุ้นกับฝรั่งมังค่าที่ยอดจะไม่เรียบร้อยมาแยะพอควร ที่นี่ไม่มี dress code ให้ทำตัวตามสบาย ตัวผมเองไม่ได้มีฐานะเป็นครูหรือเป็นอาจารย์ ผมเป็นแค่เพื่อนของทุกๆคนเท่านั้น การคุยกันในแค้มป์นี้จะเป็นการคุยกันอย่างเพื่อน คุยกันอย่างคนคุยกับคน

     คุณอาจต้องทนรำคาญผมหน่อยนะ ที่ระยะหลังมานี้ผมเนิบนาบเชื่องช้าลง ไม่ใช่เป็นเพราะว่าผมแก่แล้ววางฟอร์ม เปล่าเลย ผมเจตนาคุยกับคุณแบบเพื่อนคุยกับเพื่อน ไม่มีฟอร์ม แต่เป็นเพราะว่าการคุยกันในแค้มป์นี้หากเป็นเรื่องทางจิตวิญญาณผมไม่ได้คุยจากโผที่เตรียมไว้ เพราะนี่มันไม่ใช่เล็คเชอร์หรือการปราศัยหาเสียงหรือการปลุกระดมมวลชน มันเป็นการแลกเปลี่ยนกันของสมาชิกสมาคมผู้เสาะหาความหลุดพ้น

     ทุกคนคือคนที่มีศักยภาพที่จะหลุดพ้นจากกรงความคิดของตัวเองไปสู่ศักยภาพไร้ขอบเขตที่มนุษย์คนหนึ่งจะพึงมี ดังนั้นเมื่อผมพูดกับคุณผมพูดด้วยความเคารพนับถืออย่างยิ่งในความเป็นคนผู้มีศักยภาพที่จะหลุดพ้น ด้วยความรักเมตตาอย่างยิ่ง ว่าทำอย่างไรผมกับคุณจึงจะเกี่ยวก้อยกันไปสู่ความหลุดพ้นได้ ดังนั้นเวลาผมพูด ผมตัังใจมองดูหน้าคุณ ตั้งใจฟังคำถามของคุณ แล้วก็ค่อยๆพูดไปตามสิ่งที่โผล่ขึ้นมาในหัวใจของผม ณ ขณะนั้น บางจังหวะไม่มีอะไรโผล่ขึ้นมาในใจเลย ผมก็ไม่มีอะไรจะพูด มันก็เลยดูเหมือนผมอ้ำๆอึ้งๆติดๆขัดๆ แต่ผมก็อยากจะรักษาวิธีพูดไปตามสิ่งที่เกิดขึ้นเองสดๆจากหัวใจนี้เอาไว้ คือมันกลายเป็นสไตล์ของผมไปเสียแล้ว

     เพราะสิ่งที่ผมอยากจะสื่อจากใจผมไปถึงใจคุณนั้นส่วนใหญ่มันสื่อเป็นคำพูดไม่ได้ บางครั้งผมพูดสื่อเนื้อเรื่องได้ครึ่งเดียว เมื่อผมชงักนิ่งสนิทอยู่กลางความเงียบไม่รู้จะพูดคำไหนต่อดี คุณก็ต้องมาอยู่ในความเงียบเดียวกับผม อยู่นิ่งๆ เงียบๆ โดยไม่ต้องคิดคาดเดาว่าคำต่อไปคุณจะได้ยินคำว่าอะไรบ้าง แค่อยู่นิ่งๆเงียบๆ เมื่อเราต่างนิ่งๆเงียบๆอยู่ในความว่างเดียวกัน มันมีโอกาสที่สิ่งที่สื่อเป็นคำพูดไม่ได้แต่มันมากับคำพูดเสมือนเงาหรือกลิ่นอโรมาที่ตามคำพูดมานั้น มันจะลอยอ้อยอิ่งอยู่ในความว่างนั้นแล้วอีกฝ่ายหนึ่งก็รับเอาไปได้

     เวลาผมคุยกับคุณผมไม่ได้พยายามคลี่ตรรกะหรือคอนเซ็พท์ของเนื้อหาภาษาให้เชาว์ปัญญาของคุณเห็นคล้อยตามนะ ไม่เลย สิ่งที่ผมอยากจะสื่อให้คุณไม่ใช่สิ่งที่ภาษาจะสื่อได้ สิ่งที่ผมพยายามจะทำเป็นเสมือนเราโอบกอดกันด้วยเมตตาธรรมในใจทั้งของทั้งสองฝ่ายมากกว่า

     แล้วก็มันจะมีอยู่เสมอที่อยู่ๆในใจผมก็มีอะไรสาระพัดพร่างพรูออกมา หมายความว่าบ่อยครั้งที่ผมพูดไถลออกไปนอกประเด็นที่เราคุยกันแบบเบ๊อะบ๊ะเฟอะฟะ ให้คุณทักท้วงหรือ remind ผมได้ มิฉะนั้นเราอาจไม่สามารถจบประเด็นที่เราคุยกันได้ในเวลาอันควร

     เรื่องที่จะพูดกันมันมีมากมายเหลือเกิน แต่กลับไม่รู้จะพูดอะไร ผมเองรู้สึกว่าตัวเองมีชีวิตอยู่ในสองโลก คือโลกของภาษา กับโลกที่ไม่มีภาษา ผมกำลังเรียนรู้ที่จะหาวิธีกลางๆที่เราจะสื่อสารกันและพากันไปให้ได้

       โลกที่มีภาษาก็คือความคิด โลกที่ไม่มีภาษาก็คือโลกของคลื่นความสั่นสะเทือนหรือพลังงานซึ่งก็คือความรู้ตัวขณะไม่มีความคิด แล้วตรงไหนของชีวิตละที่เราจะเดินข้ามไปมาระหว่างโลกทั้งสองได้

     ผมพูดบ่อยๆว่าชีวิตแบ่งเป็นสามส่วน คือร่างกาย (body) ความคิด (thought) และความรู้ตัว (consciousness) โดยที่มีความสนใจหรือสติ (attention) เป็นแขนของความรู้ตัวคอยวิ่งรอกไปมาในระหว่างทั้งสามส่วนนี้ เมื่อพยายามมองทั้งสามส่วนนี้ มันแทบมองไม่เห็นเลยว่าจะมุดเข้าตรงไหนจึงจะไปยืนอยู่จุดเปลี่ยนระหว่างโลกของภาษากับโลกของคลื่นความสั่นสะเทือนได้

    ผู้รู้แต่โบราณแบ่งชีวิตออกยิบย่อยกว่าที่ผมแบ่งนี้ ยกตัวอย่างเช่นเฉพาะส่วนของร่างกาย ปราชญ์ก็ยังแบ่งย่อยออกเป็นอีกสองระดับความละเอียด คือ
     (1) ร่างกายตันๆนี้ (form หรือ รูป) กับ
     (2) พลังงานที่เป็นพื้นฐานคอยขับเคลื่อนร่างกายนี้อยู่ (ปราณ หรือ ชี่) แต่ว่าความสนใจหรือสติของเราไม่สามารถรับรู้พลังงานนี้ตรงๆได้ ได้แต่รับรู้ความรู้สึกบนร่างกาย ที่ภาษาบาลีเรียกว่า "เวทนา" (feeling) ซึ่งเกิดจากการมีอยู่หรือการเคลื่อนไหวของพลังงานนี้เช่นความรู้สึกวูบๆวาบๆจี๊ดๆจ๊าดๆเหน็บๆชาๆบนผิวหนัง

     นั่นก็คือในทางปฏิบัติเฉพาะร่างกายถูกแบ่งย่อยลงไปอีกเป็นเป็นสองชั้นแล้ว คือ รูป (form) และเวทนา (feeling)

     ส่วนของความคิดนั้น หากวิเคราะห์ด้วยเหตุผลแห่งตรรกะ ความคิดมีองค์ประกอบพื้นฐานหลักๆสามอย่างเท่านั้น คือ
     (1) ความจำ (memory)
     (2) ความเชื่อเรื่องเวลาในใจ (psychological time)
     (3) ความเชื่อว่าความเป็นบุคคล (identity) ของเรานี้เป็นของจริงที่คงอยู่อย่างถาวร

     ถ้าดูให้ดีอย่างที่สองและสามล้วนเป็นความเชื่อซึ่งก็คือความคิดนั่นเอง แต่ "ความจำ" เป็นสิ่งที่แปลกแยกออกไปเล็กน้อย ปราชญ์โบราณบางท่านจึงจัดให้ความจำเป็นอีกชั้นหนึ่งของชีวิต แยกออกมาจากความคิด

     ก็เท่ากับว่าไล่มาถึงตอนนี้ชีวิตมีห้าส่วนแล้วนะ คือ ร่างกาย (body), ความรู้สึกบนร่างกาย (feeling), ความจำ (memory), ความคิด (thought) และความรู้ตัว (consciousness)

     ยังมีอีกนะ ปราชญ์บางศาสนายังเพิ่มส่วนที่หกเข้ามาด้วยการแยกชั้นของความคิดให้ยิบย่อยลงไปอีก คือนอกจากจะประกอบด้วย "ความจำ" และตัว "ความคิด" ที่ปรุงแต่งขึ้นมาจากสำนึกว่าเป็นบุคคลและความเชื่อว่าเวลามีจริงแล้ว ยังมีความคิดอีกแบบหนึ่งที่จะโผล่ขึ้นมาเมื่อความคิดปรุงแต่งดับหมดเกลี้ยงลงไปแล้ว เรียกว่า "ปัญญาญาณ (intuition)" จะว่าเป็นความคิดก็ไม่ใช่เพราะไม่ได้คิดขึ้นมา มันมาเอง จะว่าเป็นความรู้ตัวก็ไม่ใช่ เพราะมันถูกสังเกตได้โดยความรู้ตัว ปราชญ์บางท่านจึงจัดให้ปัญญาญาณนี้เป็นอีกชั้นหนึ่งของชีวิตแทรกอยู่ระหว่างความคิดกับความรู้ตัว อ้าว นับไปนับมาชีวิตมีหกส่วนแล้วนะ

     ยังมีอีกนะ ในส่วนของความรู้ตัว ปราชญ์บางศาสนาบางนิกายก็เอามาแยกย่อยเป็นความรู้ตัวที่รับรู้ผ่านอายตนะอันจำกัดของร่างกาย (individual consciousness) กับความรู้ตัวที่ลึกละเอียดและเป็นหนึ่งเดียวกับพลังงานพื้นฐานของจักรวาลนี้ (cosmic consciousness) ที่รับรู้ทุกอย่างได้ไม่มีขอบเขตสิ้นสุด เท่ากับว่าคราวนี้ชีวิตมีเจ็ดส่วนเข้าไปแล้ว ซึ่งบางส่วนเราก็ได้แต่ฟังหูไว้หู อย่าเพิ่ง "เชื่อ" หรืออย่าเพิ่ง "ไม่เชื่อ" เพราะเรายังไม่รู้ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ ต้องรอไปประสบเอาเอง

     ผมคุยพล่ามเรื่อยเจื้อย ไม่เห็นมีใครทักท้วงผมเลยว่าเมื่อไหร่จะเข้าประเด็นสักที ประเด็นก็คือทั้งๆที่เรามีเครื่องมือสำคัญคือความสนใจหรือสติที่สามารถโลดแล่นไปสนใจได้ทุกที่อยู่แล้วนี้ แต่ที่ตรงไหนของชีวิตนะ ที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างโลกของภาษากับโลกไร้ภาษาที่มีแต่คลื่นความสั่นสะเทือน

     การจะออกจากโลกของภาษาได้จะต้องถอยความสนใจออกมาจากความคิด ต้องวางความคิดลงไปให้หมดก่อน การจะเข้าไปอยู่ในคลื่นความสั่นสะเทือนได้นอกจากจะออกมาจากความคิดได้แล้วยังต้องถอยความสนใจออกจากร่างกายนี้ด้วย แล้วจะเอาความสนใจไปจ่อไว้ตรงไหนละ ส่วนไหนของชีวิตทั้งเจ็ดส่วนที่ไม่ใช่ความคิด และไม่ใช่ร่างกาย ที่ให้ความสนใจไปจดจ่อได้โดยไม่ยุ่งกับภาษา คำตอบก็คือที่เวทนา (feeling) นั่นไง ตรงนั้นเป็นเพียงคลื่นความสั่นสะเทือนที่ไม่มีความคิด ถ้าจ่ออยู่ตรงนั้นได้จนความคิดหมดเกลี้ยง อย่างน้อยคุณก็จะสงบเย็น ปัญญาญาณก็จะเกิดขึ้นโดยง่าย การจะเห็นสิ่งต่างๆตามที่มันเป็นโดยไม่มีภาษาเกี่ยวข้องก็เป็นไปได้ และโอกาสหลุดพ้นจากอิทธิพลของความคิดอย่างถาวรก็จะตามมา

    แล้วทำอย่างไรจะจ่อความสนใจอยู่ที่เวทนา (feeling) ได้ละ อย่างน้อยคุณต้องทำสองอย่าง คือ

     (1) คุณต้องลาดตระเวณความสนใจไปตามร่างกาย (body scan) ให้เป็น เรียกว่าบ่มเลี้ยงความรู้ตัวทั่วพร้อมไว้ตลอดเวลา

     (2) คุณต้องผ่อนคลายร่างกาย (relaxation) ให้เป็น เพราะการจะรับรู้ความรู้สึกบนร่างกายซึ่งเกิดจากคลื่นความสั่นสะเทือนของ "ปราณา" หรือ "ชี่" ซึ่งเป็นของแผ่วเบาละเอียดอ่อนได้นั้น คุณจะต้องปิดสวิสต์คลื่นไฟฟ้าหรือกระแสประสาททั่วร่างกายซึ่งเป็นคลื่นที่โดดเด่นและชัดแรงกว่าเสียก่อน ด้วยการผ่อนคลายร่างกายลงให้สุดๆ

     พอคุณจ่ออยู่ที่เวทนา (feeling) ได้สำเร็จ ความคิดทั้งหลายที่ต่อคิวเกิดจะถูกบล็อกโดยอัตโนมัติ เพราะกลไกการเกิดความคิดนี้ ถ้าคุณตามให้ทันก็จะเห็นว่าทุกความคิดล้วนเกิดขึ้นต่อยอดความรู้สึกบนร่างกายหรือเวทนานี้ทั้งสิ้น ตราบใดที่คุณจ่ออยู่กับเวทนาไม่ว่อกแว่กไปไหน ตราบนั้นความคิดจะเกิดไม่ได้

     สี่วันที่อยู่ด้วยกันนี้ คุณเอาแค่นี้พอ ถอยความสนใจออกมาจากความคิด มาจ่ออยู่ที่เวทนา (feeling) ด้วยเทคนิค body scan และ relaxation เมื่อหมดความคิดจนจิตเป็นสมาธิดีแล้ว ปัญญาญาณจะชี้นำคุณไปต่อเอง โดยที่คุณไม่ต้องไปรู้ล่วงหน้าว่ามันจะเกิดอะไรบ้าง เพราะรู้ไปมันก็ไม่เหมือนหรือไม่ใช่ของที่คุณจะประสบจริง เพราะของที่คุณจะประสบจริงเป็นคลื่นความสั่นสะเทือน แต่สิ่งที่คุณขอรู้ล่วงหน้านั้นเป็นภาษา มันจะไปเหมือนกันได้อย่างไร

    ทั้งนี้ทั้งนั้นสี่วันนี้ผมเน้นประเด็นหนึ่งนะ ว่าอย่าไปฝันหาความต่อเนื่อง เพราะนั่นเป็นภาพหลอนของคอนเซ็พท์เรื่องเวลา ให้คุณเอาแค่เดี๋ยวนี้ ทีละเดี๋ยวนี้ ผมให้หนึ่งเดี๋ยวนี้อย่างยาวที่สุดก็แค่หนึ่งลมหายใจเข้าออก อย่าให้แต่ละเดี๋ยวนี้ของคุณนานกว่านั้น อย่าพูดถึงอีกหนึ่งนาทีข้างหน้าหรืออีกหนึ่งชั่วโมงข้างหน้า ยิ่งชาติหน้ายิ่งไม่ต้องไปพูดถึงเลย เพราะคุณจะไม่หลุดพ้นไปไหนหากคุณเผลอหลุดจากเดี๋ยวนี้ เอาแค่เดี๋ยวนี้พอ ทีละเดี๋ยวนี้ ทีละช็อต ทีละช็อต อดีตอนาคตไม่มี เมื่อใดที่คุณประสบความสำเร็จที่เดี๋ยวนี้ คุณก็จะประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิต เพราะชีวิตทั้งชีวิตก็มีแต่เดี๋ยวนี้แค่นั้น เดี๋ยวอื่นไม่มี.."

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

ไขมัน LDL ต้องต่ำแค่ไหนจึงจะถูกใจแพทย์ผู้รักษา

เรียนคุณหมอสันต์
     ผมชื่อนพ. ... เป็นหมอที่แก่แล้ว อายุ ... ปี หยุดรักษาคนไข้มาได้ยี่สิบกว่าปีตั้งแต่เกษียณ ไม่ค่อยได้ติดตามเรื่องราววิชาการแล้วเพราะตาไม่ค่อยดี ตัวเองก็เป็นคนไข้ให้หมอรุ่นลูกรุ่นหลานดูแล พยายามทำตัวเป็นคนไข้ที่ดีแต่ก็อดตั้งข้อสงสัยในใจไม่ได้ เพราะหมอเอาแต่จะเพิ่มยาลดไขมันเพื่อให้ LDL ลงต่ำอย่างใจเขา แล้วก็มีเพื่อนหมอรุ่นเดียวกันที่เหลืออยู่บางคนส่ง article มาให้อ่านซึ่งสรุปได้ว่า cholesterol ไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงของโรค atherosclerosis อีกต่อไปแล้ว ผมอยากถามหมอสันต์ว่า LDL นี้จริงๆแล้วยังเป็นปัจจัยเสี่ยงอยู่หรือเปล่า และค่า LDL ปกติควรเป็นเท่าไรจึงจะปลอดภัย ถ้าจะเอาระดับที่หมอผู้ดูแลผมเขาต้องการผมก็ต้องกินยา statin ไปตลอดชีวิตใช่ไหม
ขอบคุณหมอสันต์นะครับ

..................................................

ตอบครับ

     นานๆจะมีจดหมายจากแพทย์รุ่นอาจารย์เขียนมาหา ผมจึงรีบตอบให้เลย ผมถือว่ามันเป็นธรรมดาที่เมื่ออายุมากขึ้นก็ย่อมจะต้องทิ้งการติดตามข่าวคราวแวดวงวิชาชีพไปสนใจเรื่องอื่นๆตามวัยแทน จดหมายของอาจารย์ทำให้ผมนึกย้อนไปถึงสมัยประมาณปีพ.ศ. 2523 ผมจบแพทย์ใหม่ๆออกไปใช้ทุนบ้านนอก ซึ่งที่นั่นเป็นเมืองเก่ามีหมอรุ่นอาจารย์ที่เกษียณแล้วหลายท่าน วันหนึ่งเมื่อผมไปเยี่ยมคารวะแพทย์อาวุโสท่านหนึ่งในฐานะหมอใหม่รุ่นลูกรุ่นหลานที่เข้ามาอยู่ในเมืองนี้ ท่านถามผมถึงเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ซึ่งเป็นของใหม่ว่า

     "ไอ้เครื่อง CT นี่มันเอาคนเข้าไปตรวจแล้วมันบอกออกมาเป็นชื่อโรคได้เลยใช่ไหมหมอ"

     หิ หิ ผมแอบอมยิ้มในใจก่อนที่จะอธิบายท่านว่าเครื่องซีที.มันทำงานอย่างไร พอกลับบ้านมาเล่าเรื่องนี้ให้เมียฟัง ก็โดนเมียดุว่าถ้าคุณมีอายุยืนถึงเจ็ดสิบห้าปีคุณจะมีน้ำยากล้าถามเรื่องใหม่ๆกับหมอรุ่นใหม่ๆอย่างท่านไหม

     กลับมาตอบจดหมายให้อาจารย์ดีกว่า

     1. ถามว่าโคเลสเตอรอลหรือไขมันในเลือดสูงเป็นสาเหตุให้เกิดโรคหัวใจจริงหรือเปล่า ผมตอบอย่างมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ให้อาจารย์เลยว่าจริงครับ อาจารย์อย่าไปฟังข้อมูลจากพวกปากหอยปากปูซึ่งบางคนก็เป็นแพทย์ที่จับเสี้ยวของงานวิจัยระดับต่ำๆบางเสี้ยวมากระเดียด ผมตอบอาจารย์ได้อย่างเต็มปากเต็มคำจากงานวิจัยระดับดีชื่อ INTERHEART study ซึ่งสนับสนุนโดยองค์กรไม่แสวงกำไร ที่ทำการศึกษาผู้ป่วยที่เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันครั้งแรกในชีวิตทั่วโลกรวม 52 ประเทศ เปรียบเทียบกับคนเพศวัยอายุและชาติพันธุ์เดียวกัน ได้ข้อสรุปว่าคนที่เกิดหัวใจวายครั้งแรกในชีวิตนี้ไม่ว่าจะอายุเท่าไร อยู่ที่ส่วนไหนของโลกก็ตาม 90% ของคนเหล่านี้ อย่างน้อยต้องมีปัจจัยเสี่ยงสิบอย่างต่อไปนี้ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง คือ
(1) สูบบุหรี่
(2) มีสัดส่วนไขมันเลวในเลือดสูง
(3) ความดันสูง
(4) เป็นเบาหวาน
(5) อ้วนแบบลงพุง
(6) เครียด
(7) ไม่ได้กินผลไม้ทุกวัน
(8) ไม่ได้กินผักทุกวัน
(9) ไม่ได้ออกกำลังกายทุกวัน
(10) ดื่มแอลกอฮอล์เป็นอาจิณ

     ดังนั้นการที่ไขมันเลวในเลือดสูงจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่แน่นอนของโรคนี้

     อนึ่ง ไหนๆก็พูดถึงงานวิจัย INTERHEART แล้ว ผมอยากจะชี้ให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นๆเห็นอีกสองประเด็นจากงานวิจัยนี้ คือ

     (1) ให้ตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงที่วงการแพทย์มักลืมพูดถึง คือ เครียด, ไม่กินผลไม้, ไม่กินผัก, ไม่ออกกำลังกาย และ

     (2) งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยใหญ่ชิ้นแรกที่ติงว่าอย่าไปหวังพึ่งแอลกอฮอล์ว่าจะทำให้รอดจากโรคหัวใจ เพราะในงานวิจัยนี้ซึ่งทำแบบครอบคลุมคนทั่วโลกพบว่าแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เป็นโรคมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ได้แรง (p.03) เท่าปัจจัยอื่น (p 0·0001) ก็ตาม

     แต่ที่เหน็ดขนาดกว่านั้น ผมจำได้ว่านานมาแล้วมีหมอชั้นครูคนหนึ่งชื่อวิลเลียม โรเบิร์ตส์ (บก.วารสารโรคหัวใจอเมริกัน (AJC) และหัวหน้าหน่วยโรคหัวใจวิทยาลัยแพทย์เบย์เลอร์) ได้พูดในที่ประชุมแพทย์โรคหัวใจอย่างโต้งๆว่าสาเหตุของโรคหัวใจที่แท้จริงคือการมีไขมันในเลือดสูงเพียงอย่างเดียว เหตุอื่นเป็นเพียงเหตุร่วมเท่านั้น โดยที่เขาแสดงข้อมูลประกอบด้วยว่าคนที่โคเลสเตอรอลรวมในเลือดอยู่ระดับ 90 - 140 มก./ดล.แม้ว่าจะเป็นคนที่สูบบุหรี่ หรือความดันสูง หรือเป็นเบาหวาน หรืออ้วน หรือเป็นพันธ์ที่นั่งจุมปุ๊กดูทีวี.ทั้งวันโดยไม่ออกกำลังกายเลยก็ตาม ไม่มีใครเป็นโรคหัวใจสักคน ซึ่งเป็นความจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ ดังน้้นไขมันในเลือดสูงเป็นเหตุของโรคนี้แน่นอน และหากไขมันในเลือดต่ำมากถึงระดับหนึ่ง ก็จะไม่เป็นโรคนี้ นี่ก็ของแน่อีกเหมือนกัน

     2. ถามว่าไขมันเลว (LDL) ต่ำแค่ไหนจึงจะถือว่าปลอดภัยจากโรคนี้ ตอบว่าต้องต่ำระดับ 50-70 มก./ดล. จึงจะปลอดภัยครับ นี่ผมตอบจากงานวิจัยสองกลุ่มนะ กลุ่มแรกเป็นการวิจัยระดับไขมันในชุมชนที่ล่าสัตว์อยู่ในป่าในเขาและไม่มีใครเป็นโรคหลอดเลือดเลยนั้นพบว่าค่า LDL ของพวกเขาอยู่ระดับ 50-70 มก./ดล.เท่านั้น กลุ่มที่สองเป็นการยำรวมงานวิจัยผู้ป่วยที่ใช้ยาลดไขมันแทบทุกงานแบบเมตาอานาไลซีส พบว่าถ้า LDL อยู่ต่ำกว่าระดับ 70 มก./ดล.ก็แทบจะไม่มีใครพบจุดจบที่เลวร้ายของโรคนี้เลย ดังนั้นตัวเลข 70 มก./ดล.จึงเป็นตัวเลขที่ใช้ได้และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในปัจจุบัน

     3. ถามว่าถ้าจะยอมให้ LDL ต่ำอย่างหมอผู้ดูแลเขาต้องการก็ต้องกินยาลดไขมันตลอดชีวิตใช่ไหม ตอบว่าไม่ใช่ครับ เพราะอาหารอย่างเดียวก็ทำให้ LDL ลงมาต่ำระดับปลอดภัยได้แล้วโดยไม่ต้องใช้ยาเลย ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยหนึ่งศึกษาไขมันในเลือดของคนกินอาหารแบบต่างๆพบว่า

     - พวกกินเนื้อสัตว์ มีไขมัน LDL ในเลือดเฉลี่ย 123.43 มก./ดล.

     - พวกมังสะวิรัติแบบกินนมกินไข่ (lacto-ovo) มีไขมัน LDL ในเลือดเฉลี่ย 101.47 มก./ดล.

     - พวกมังสะวิรัติแบบกินนม (lacto vegetarian) มีไขมัน LDL ในเลือดเฉลี่ย 87.71 มก./ดล.

     - พวกมังสะวิรัติแบบเข้มงวดไม่กินนมไม่กินไข่ (vegan) มีไขมัน LDL ในเลือดเฉลี่ย 69.28 มก./ดล.

     ดังนั้นถ้าไม่ชอบกินยาและอยากให้ไขมันในเลือดลดลงถึงระดับไม่ก่อโรค อาจารย์ก็เปลี่ยนอาหารเอาสิครับ

     ถึงแม้คนที่เปลี่ยนอาหารได้ระดับหนึ่งเพราะติดอาหารเนื้อสัตว์อยู่และต้องใช้ยาลดไขมันช่วย หากเปลี่ยนอาหารควบกับการใช้ยาไปด้วยก็จะใช้ยาลดไขมันในขนาดน้อยลงได้ น้อยลงระดับวันละ 5 มก. คือแค่เสี้ยวของเม็ดก็ยังได้เลย การลดขนาดยาลงให้ต่ำสุดเป็นการยิงนกสองตัวในคราวเดียว คือทำให้สนใจเพื่อที่จะปรับอาหารเพื่อเลิกยาให้ได้ด้วย และทำให้มีผลข้างเคียงของยาน้อยลงด้วย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Yusuf S, Hawken S, Ounpuu S, Dans T, Avezum A, Lanas F, McQueen M, Budaj A, Pais P, Varigos J, Lisheng L; INTERHEART Study Investigators. Effect of potentially modifiable risk factors associated with myocardial infarction in 52 countries (the INTERHEART study): case-control study. Lancet. 2004 Sep 11-17;364(9438):937-52.
2. De Biase SG1, Fernandes SF, Gianini RJ, Duarte JL. Vegetarian diet and cholesterol and triglycerides levels. Arq Bras Cardiol. 2007 Jan;88(1):35-9.
[อ่านต่อ...]

08 เมษายน 2562

ไตวายจากโรคเอสแอลอี.จะกินอาหารอย่างไรดี

เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ
หนูอายุ 20 ปี เป็นโรคเอสแอลอี.แล้วมีไตพิการ lupus nephritis class V โดยการตัดชิ้นเนื้อมาตรวจ ตอนนี้ได้ยาสะเตียรอยด์และยา Plaquenil ยังปวดข้อหมดแรง ค่าไตลดลงมาจาก 102 ตอนนี้เหลือ 16 หมอบอกว่าไม่มีทางจะเบรกมันได้นอกจากต้องรอเปลี่ยนไต และให้หาญาติที่จะบริจาคไตไว้ได้เลย หนูฟังแล้วหดหู่เลย นอกจากยาของหมอไตแล้วหนูอยากปรึกษาคุณหมอว่าหากหนูจะรักษาด้วยอาหารควบคู่ไปด้วยมันจะมีวิธีใดบ้างไหมคะ

.............................................

ตอบครับ

      นับถึงวันนี้ วงการแพทย์ยังไม่มีหลักฐานระดับสูงมายืนยันว่าอาหารแบบไหนจะช่วยรักษาไตพิการจากเอสแอลอี. (lupus nephritis) ได้ มีแต่หลักฐานระดับรายงานผลการรักษา (case series) ซึ่งถึงแม้จะเป็นหลักฐานในคนแต่ก็เป็นหลักฐานที่ได้จากคนจำนวนน้อยและไม่ได้เปรียบเทียบกับคนอื่นที่กินอาหารอย่างอื่น แต่เนื่องจากคุณป่วยเรียบร้อยแล้วและกำลังดิ้นรนหาวิธีรักษาด้วยอาหารอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้แล้ว หากจะรอหลักฐานวิจัยระดับสูงกว่านี้ก็คงไม่ทันการ จะลองทำตามหลักฐานระดับรายงานผู้ป่วยนี้ก่อนก็ได้ ผมจะเล่ารายงานผู้ป่วยชุดนี้ให้ฟังนะ เขาตีพิมพ์ไว้ในวารสาร International Journal of Disease Reversal and Prevention (IJDRP) เป็นการรายงานผลการใช้อาหารแบบเจดิบ (raw vegan) รักษาผู้ป่วยไตวายจากเอสแอลอี. มีผู้ป่วยในรายงานนี้เพียงสองราย ผมจะเล่าเฉพาะรายที่คล้ายกับคุณนะ

     ผู้ป่วยเป็นหญิงอายุ 24 ปี ป่วยเป็นเอสแอลอี.มาตั้งแต่อายุ 15 และไตเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ได้ตัดชิ้นเนื้อพบว่าเป็นไตวายแบบ lupus nephritis ได้ให้การรักษาด้วยยาหลายตัวรวมทั้ง Plaquenil และได้เข้าขื่อรอเปลี่ยนไตอยู่ เธอขอให้หมอไตแนะนำเรื่องอาหารก็ได้รับคำตอบว่ามันไม่มีประโยชน์ เธอจึงไปลงทะเบียนเข้าคอร์สพลิกผันโรคของแพทย์ผู้รายงาน (Dr. Goldner) เป็นเวลานาน 6 สัปดาห์ ก่อนหน้านั้นเธอกินอาหารแบบตะวันตกตามปกติทั่วไป แต่ในคอร์สนี้เธอถูกกำหนดให้กินอาหารแบบเจดิบ (raw vegan) อย่างเข้มงวด หมายความว่าอาหารเจที่ไม่ผ่านการปรุงใดๆตามสมมุติฐานว่าอาหารแบบนี้มีฤทธิ์ต้านการอักเสบมากจึงชลอการดำเนินของโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองได้ โดยเธอต้องงดอาหารเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น ไข่ นมวัว โยเกิร์ต ชีส ต้องงดหมด และงดอาหารสำเร็จรูปที่บรรจุขายในกล่องในซองทุกชนิด อาหารแต่ละวันของเธอประกอบด้วยผักใบเขียวและผักกลุ่ม cruciferous (บรอคโคลี่ เคล กล่ำปลี กล่ำดอก) วันละ 400 กรัม กินผลไม้มาก กินธัญพืชที่มีไขมันโอเมก้าสาม (เจียซีดและแฟล็กซีด) วันละอย่างน้อยครึ่งถ้วยตวง (120 กรัม) และดื่มน้ำเปล่าวันละ 2.2 ลิตร อาหารของเธอประยุกต์เลือกเฉพาะที่มีโปตัสเซียมต่ำเพราะเธอเป็นโรคไตระยะสุดท้ายแล้ว ดังนั้นผักที่กินส่วนใหญ่เป็นผักเช่น ผักสลัด (romaine lettuce) เคล บรอคโคลี่ แตงกวา บลูเบอรี่ แอปเปิล เมล็ดเจีย เป็นต้น โดยส่วนใหญ่กินในรูปปั่นความเร็วสูงไม่ทิ้งกากจนเหลวละเอียดเป็นสมูธตี้ดื่มได้ โดยในตอนเริ่มต้นผู้ป่วยแต่ละคนต้องดื่มสมูธตี้นี้ถึง 1.9 ลิตรต่อวัน แล้วค่อยๆเพิ่มจนได้ 2.8 ลิตรต่อวัน บวกน้ำเปล่าอีกรวมเป็น 3.8 ลิตรต่อวัน ส่วนอาหารว่างก็กินพวกแตงกว่า เบอรี่ และขนมพุดดิ้งทำจากเมล็ดเจียป่นกับนมอัลมอนด์และผลไม้อื่นบ้างโดยไม่ใส่น้ำตาล ตอนเริ่มต้นค่าไต (GFR) ของเธอคือ14 ml/min. แม้เธอจะตั้งใจกินยาอย่างไม่ตกหล่นมาตลอด 9 ปี  เธอได้ให้หมอไตตรวจติดตามเธอขณะเข้าคอร์สทุกสัปดาห์เพราะเธอกลัวว่าโปตัสเซียมของเธอจะสูงเกิดขีดอันตราย อย่างไรก็ตามระดับโปตัสเซียมของเธออยู่ในระดับปกติมาตลอดที่อยู่ในคอร์ส เมื่อเข้าคอร์สได้หนึ่งสัปดาห์ค่า GFR ของเธอขยับขึ้นมาเป็น 16 ml/min แล้วก็ค่อยๆเพิ่มสัปดาห์ละ 2–3 ml/min จนเมื่อครบ 6 สัปดาห์ค่า GFR ก็ขึ้นมาเป็น 27 ml/min. โปตัสเซียมลงจาก 5.3 เหลือ 3.5 อาการปวดลดลง มีพลังงานมากขึ้น จากไม่มีแรงเป็นออกกำลังกายได้ทุกวัน ความดันเลือดลดลงจนลดยาความดันได้สองตัว และหมอไตบอกว่าไม่จำเป็นต้องเข้าชื่อรอเปลี่ยนไตแล้ว ยา Plaquenil ก็ลดลงจากทุกวันเหลือสัปดาห์ละสามครั้ง

     ผู้ป่วยอีกคนหนึ่งที่รายงานในวารสารนี้ก็มีลักษณะคล้ายๆกัน ผมย้ำอีกครั้งนะว่านี่เป็นหลักฐานระดับต่ำ คือเป็น case series ไม่ใช่งานวิจัยแบบแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ ผลสรุปที่ได้ยังต้องฟังหูไว้หู แต่ในกรณีที่คุณไม่มีทางไปแล้ว จะทดลองปฏิบัติตามรายงานนี้ก็ไม่มีอะไรเสียหายนะครับ จนกว่าวงการแพทย์จะมีหลักฐานวิจัยอาหารสำหรับโรคเอสแอลอี.ลงไตที่เป็นงานวิจัยระดับสูงกว่านี้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Goldner, MD, B. (2019). Six Week Raw Vegan Nutrition Protocol Rapidly Reverses Lupus Nephritis: A Case Series. International Journal of Disease Reversal and Prevention, 1(1). Retrieved from https://ijdrp.org/index.php/ijdrp/article/view/47
[อ่านต่อ...]

07 เมษายน 2562

การสังเกตความคิด เป็นคนละเรื่องกับโรคจิตสองขั้ว (bipolar disorder)

สวัสดีค่ะอ.หมอสันต์
มีความสงสัยเกี่ยวกับความเป็นอัจฉริยะของคน เช่นนักดนตรีชื่อก้องโลกอย่างบีโธเฟน โมสาส หรือที่ยังมีชีวิตอยู่ อย่างYann Tiersen ชาวฝรั่งเศสที่มีความสามารถเล่นดนตรีได้หลายอย่าง ร้องเพลงก็ได้ด้วย หรือ พวกนักวิทยาศาสตร์ เช่นไอสไตน์ หลุยปาสเตอร์ กาลิเลโอ ฯลฯ การที่ท่านเหล่านี้คิดค้นนวัตกรรม หรือประดิษฐ์อะไรขึ้นมา หรือมีความสามารถรอบด้านเป็นพิเศษ เกิดจากอะไร อย่างไร หรือเป็นเพราะว่า พวกเขาเหล่านี้ มีปัญญาญาณหรือเข้าถึงได้ จึงมีพรสวรรค์ต่างๆขึ้นมาหรือเปล่า ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ความรู้ตัวหรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีย่อมเกิดขึ้นตามไปด้วย ใช่หรือไม่ แต่บางท่านยังมีความหลงผิดไปบ้างเช่นเสพสิ่งเสพติด หรือสร้างสิ่งที่มาทำลายโลกได้
ที่ถามเพราะว่าเห็นความขัดแย้งในตัวเองของคนเก่งๆหลายคน ชีวิตหน้าฉากกับหลังฉากแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดตัวอย่างเช่น นักพูดบางคนพูดเก่ง มีสาระและสนุกมาก แต่ในชีวิตจริงเป็นคนเงียบขรึม มีโลกส่วนตัวสูง ตลกบางท่านเวลาอยู่หน้าจอสร้างความสนุกสนานเฮฮา แต่หลังฉากไม่ตลกเลย ชีวิดกลับรันทด หดหู่  จึงสงสัยว่าความเก่งหรือพรสวรรค์เกี่ยวข้องกับปัญญาญาณไหมคะ
อีกหัวข้อนึงคือ การออกมาเป็นผู้สังเกตตัวเองทำยากมากเลย เคยอ่านที่หมอสันต์เล่าให้เห็นภาพว่าเหมือนกับมีความคิด 2 คนในตัวคนคนเดียวกัน หรือการพูดกับตัวเองบ่อยๆ ทำให้นึกถึง ไบโพลา และกลัวจะเขัาขั้นโรคจิตหรือเปล่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังตั้งใจฝึกต่อค่ะ
ขอบคุณค่ะ

...............................................................

ตอบครับ

     1. ถามว่าความเป็นอัจฉริยะเกิดจากอะไร ตอบว่าไม่ทราบครับเพราะผมเองก็ไม่เคยเป็นอัจฉริยะจึงยังไม่มีประสบการณ์

     2. ถามว่าอัจฉริยภาพเป็นปัญญาญาณได้หรือไม่ ตอบว่าถ้าตอบตามความหมายของภาษาพูดก็ได้สิครับ เพราะความคิดหลักแหลมใดๆที่ไม่ได้บ่มขึ้นมาจากประสบการณ์ในอดีตเรานิยามว่าคือจินตนาการ (imagination) และปัญญาญาณ (intuition)ทั้งสิ้น สุดแล้วความล้ำลึกกว้างไกลของมัน ถ้าตื้นหน่อยและต้องช่วยคิดตั้งต้นให้ด้วยก็เป็นจินตนาการ ถ้าล้ำลึกกว้างไกลไร้ขอบเขตและมาเองโดยไม่ได้คิดเอาเลยก็เรียกว่าเป็นปัญญาญาณ

     3. ถามว่าถ้าอัจฉริยภาพเป็นปัญญาญาณ ทำไมอัจฉริยะบางคนจึงไม่มีความรับผิดชอบชั่วดี หิ หิ ตอบว่าชั่วหรือดีนี้อยู่ที่จะนิยามกันเอาเองนะครับ และมันคนละเรื่องกันกับปัญญาญาณ ความรับผิดชอบชั่วดีเป็น "คอนเซ็พท์" ซึ่งเป็นเรื่องของ "ความคิด" อันผูกพันกับการสำคัญมั่นหมายว่าตัวเองนี้เป็นบุคคลหรือมีตัวตน (identity) และโดยธรรมชาติของความคิดทุกช็อตที่เกิดขึ้นจะผูกพันหรือยึดโยงกับการเรียนรู้ในอดีตของคนๆนั้นด้วย ใครจะมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีมากหรือมีน้อยจึงย่อมแล้วแต่การเรียนรู้ในอดีตของแต่ละคน ถ้ามีมากเกินไปภาษาบ้านๆเขามักเรียกว่า "คนบ้าดี" ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าการเป็นคนอย่างนั้นจะดีหรือเปล่านะ

     ส่วนปัญญาญาณนั้นเป็นเรื่องของการ "ปิ๊ง" หรือการ "รู้แจ้ง" ข้อมูลใหม่ๆขึ้นๆมาดื้อๆในหัวโดยไม่เกี่ยวกับคอนเซ็พท์หรือความคิดหรือการเรียนรู้ใดๆที่มีมาก่อนหน้านั้นเลย เรียกว่าเป็นการดูดหรือดาวน์โหลดความรู้ใหม่ๆจากไหนก็ไม่รู้เข้ามาสู่ตัวเองเหมือนดาวน์โหลดไฟล์จากกูเกิ้ลมาลงคอมของตัวเอง การจะเกิดปัญญาญาณนั้นต้องสามารถวางความคิดให้จิตเป็นสมาธิอยู่ในความรู้ตัวให้ได้ก่อนเป็นปฐม เพราะปัญญาญาณไม่เกิดในจิตที่จมอยู่ในความคิด ดังนั้นแค่ขอให้วางความคิดทำจิตเป็นสมาธิให้เป็น ก็สามารถปิ๊งไอเดียอะไรแปลกๆหรือเกิดปัญญาญาณได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นคนดีหรือเป็นคนบ้าดี เป็นคนชั่วหรือเป็นคนบ้าชั่วก็เกิดปัญญาญาณได้ เป็นคนง่าวคนเอ๋อที่จิตเป็นสมาธิก็เกิดปัญญาญาณได้ แม้กระทั่งเป็นขี้ยาที่เสพย์สารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทเช่นกัญชาหรือเฮโรอีนในขนาดที่มากได้ที่พอหมดความคิดก็เกิดปัญญาญาณขึ้นในขณะเมายาได้เช่นกัน

     ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขอย้ำก่อนนะว่าปัญญาญาณหรือญาณทัศนะนี้ไม่ใช่จุดหมายปลายทางของการแสวงหาความหลุดพ้นจากความคิดงี่เง่าของตัวเอง แต่มันเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสาธิตสอนแสดงให้ตัวเราเองเห็นทุกอย่างตามที่มันเป็น อันจะเป็นช่องทางให้วางความคิดงี่เง่าไร้สาระที่ทำให้เราสำคัญผิดว่าตัวเรานี้เป็นบุคคลมีตัวมีตนเป็นตุเป็นตะลงไปเสียได้เท่านั้น การสามารถวางความคิดงี่เง่าไร้สาระลงไปเสียได้นั่นแหละ เป็นปลายทางของการแสวงหาความหลุดพ้นที่แท้จริง

     4. ถามว่าถ้าหัดสังเกตความคิดนานไปจะเป็นบ้าชนิดโรคจิตสองขั้ว (bipolar disorder) ได้หรือเปล่า ตอบว่า ไม่เกี่ยวกันเลยครับ การสังเกตความคิด (aware of a thought) เป็นการถอยความสนใจออกมาจากความคิดมาอยู่กับความรู้ตัว ส่วนโรคจิตสองขั้วเป็นการจมอยู่ในความคิด (thinking a thought) อย่างถอนตัวไม่ขึ้น ในลักษณะที่เป็นการจมแบบเหวี่ยงไปมาของความคิดชนิดที่แสดงออกเป็นอาการทางร่างกายได้ (mood) ความคิดแบบนั้นจะเรียกว่าอารมณ์ก็ได้ บัดเดี๋ยวก็เหวี่ยงไปทาง "คึก" คือคิดว่าตัวเองนี้ยิ่งใหญ่สำคัญ บัดเดี๋ยวก็เหวี่ยงไปทาง "เศร้า" คือคิดว่าตัวเองนี้ไร้ค่า ไม่ว่าจะกำลังคึกหรือกำลังเศร้าก็ล้วนกำลังจมอยู่ในความคิด ไม่มีโอกาสได้รู้ตัว การรักษาโรคจิตสองขั้วมีทั้งส่วนการใช้ยาและส่วนการทำจิตบำบัด ในส่วนการทำจิตบำบัดนั้นจะต้องมุ่งพาให้ผู้ป่วยถอยความสนใจออกมาจากความคิดมาอยู่กับความรู้ตัวจึงจะเป็นการแก้ปัญหาตรงจุด พูดง่ายๆว่าการหัดสังเกตความคิดเป็นเครื่องมือรักษาโรคจิตสองขั้ว ไม่ใช่เป็นเหตุให้เกิดโรคจิตสองขั้ว

    5. ข้อนี้คุณไม่ได้ถาม แต่ผมแนะนำจากการเห็นสำบัดสำนวนที่คุณเขียนมา คุณเป็นคนเจ้าความคิด ความเป็นคนเจ้าความคิดของคุณจะพาคุณวนเวียนจมอยู่ในความคิดชนิดที่ไม่มีวันหลุดออกไปไหนได้ เพราะโดยธรรมชาติความคิดหนึ่งเมื่อผุดขึ้นมาแล้ว ก็จะเป็นหัวเชื้อที่ความสนใจของคุณจะนำไปคลุกเคล้ากับประสบการณ์ในอดีตแล้วปรุงเป็นอีกความคิดหนึ่งขึ้นมา ความคิดใหม่อีกความคิดหนึ่งที่ผุดขึ้นมานี้ ก็จะเป็นหัวเชื้อที่ความสนใจของคุณจะนำไปคลุกเคล้ากับประสบการณ์ในอดีตแล้วปรุงเป็นความคิดใหม่อีกความคิดหนึ่งขึ้นมาอีก เป็นเช่นนี้ซ้ำซากๆๆๆชั่วนิจ นิรันดร ชั่วนิจ นิรันด๊อน..น อย่างน้อยผมประกันได้ว่ามันจะเป็นเช่นนี้ไปจนคุณตาย หลังจากคุณตายไปแล้วมันยังจะเป็นเช่นนี้อยู่หรือเปล่าอันนั้นผมไม่รับประกันเพราะผมเองยังไม่เคยตายจึงยังไม่ทราบ

     ทางเดียวที่คุณจะหลุดจากตรงนี้ไปสู่ความสงบเย็นได้คือคุณต้องหัดวางความคิด ผมพูดบ่อยๆว่าการสังเกตความคิดเป็นวิธีหัดวางความคิดที่ดี แต่หากคุณบอกว่ามันยาก ไม่ถนัดหรือไม่ถูกจริต คุณลองอีกวิธีหนึ่งซึ่งอาจจะง่ายกว่าและคนเขาใช้กันเยอะแยะดูไหมละ คือการหันเหความสนใจของคุณออกจากความคิดมาอยู่กับร่างกาย เช่นอยู่กับลมหายใจของคุณ หรืออยู่กับความรู้สึกซู่ซ่าวูบวาบจิ๊ดจ๊าดบนผิวกายทั่วตัวของคุณ การถอยความสนใจจากความคิดมาอยู่กับลมหายใจนั้นง่าย เพราะมาเมื่อไหร่ลมหายใจมันก็อยู่ที่นั่น คุณรับรู้ลมหายใจของคุณได้ทันที แต่การจะถอยมาอยู่กับความรู้สึกซู่ซ่าวูบวาบจิ๊ดจ๊าดบนผิวกายทั่วตัวของคุณนั้นจะยากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง คือคุณต้องฝึกผ่อนคลายร่างกายให้เป็นก่อนคุณจึงจะรับรู้ความรู้สึกบนผิวกายของคุณได้

     ในการถอยความสนใจออกมาจากความคิดนี้คุณไม่ต้องไปสนใจความคิดว่ามันจะเผลอคิดเรื่องอะไร ขอแค่หลุดจากความเผลอคิดเมื่อไหร่ก็รีบหันเหความสนใจออกจากความคิดมาอยู่กับร่างกายทันที ถ้าทั้งวันมันไม่มีโอกาสได้หลุดจากความเผลอคิดเลยก็ลองเริ่มต้นด้วยการตั้งโทรศัพท์ปลุกตัวเองทุกหนึ่งชั่วโมงก็ได้ พอเสียงโทรศัพท์ดังทีหนึ่งก็หันเหความสนใจออกมาจากความคิดมาอยู่กับร่างกายทีหนึ่ง พากเพียรฝึกทำอย่างนี้ไป ในที่สุดคุณก็จะวางความคิดมาอยู่กับร่างกายได้เกือบตลอดเวลา ถึงตอนนั้นร่างกายไม่ว่าจะเป็นลมหายใจหรือความรู้สึกบนผิวกายมันจะค่อยๆลดความเด่นชัดและเปิดทางให้ความรู้ตัวซึ่งเป็นคลื่นพลังงานความสั่นสะเทือนที่ละเอียดอ่อนค่อยๆเด่นชัดขึ้นมาแทนโดยอัตโนมัติ จนในที่สุดจิตก็จะเป็นสมาธิไม่มีความคิดเลย มีแต่ความรู้ตัว เมื่อนั้นแหละปัญญาญาณจะไหลเข้ามาสาธิตสอนแสดงให้คุณเห็นทุกอย่างตามที่มันเป็นเอง ถึงตอนนั้นคุณก็จะเอาแต่นั่งผงกหัวว่า อ้อ.. เข้าใจละ อ้อ..เข้าใจละ คุณจะหายจากความเป็นคนเจ้าความคิดและขี้สงสัยเอง และคุณก็จะสงบเย็นไม่ว่าสถานะการณ์ในชีวิตของคุณจะเป็นอย่างไร

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

03 เมษายน 2562

ถูกให้กินยาเบาหวานเพียงเพราะ "ใกล้จะเป็นเบาหวาน"


เรียนคุณหมอสันต์%
ผมอายุ 27 ปี น้ำหนัก 92 กก. สูง 176 ซม. ไม่ได้ป่วยเป็นโรคอะไร แต่หมอที่ (ที่ทำงาน) ได้จ่ายยา Glucophage 500 มก.ให้กิน เนื่องจากน้ำตาลในเลือด 110 น้ำตาลสะสม 6.0% โดยหมอแนะนำว่าให้รักษาแบบเบาหวานไปเลยเพราะยังไงต่อไปก็จะต้องเป็นเบาหวานอยู่แล้วเริ่มรักษาแต่ต้นมือจะดีกว่า ใจผมไม่อยากอยู่ๆก็ต้องมากินยาตลอดชีพ ผมเป็นแฟนบล็อกหมอสันต์มาปีกว่า และชื่นชอบคุณหมอที่ตอบคำถามโดยมีงานวิจัยมาประกอบคำแนะนำ อยากทราบความเห็นของคุณหมอว่าวงการแพทย์ลดตัวเลขเพื่อให้ยาเบาหวานเร็วขึ้นทำไม อย่างผมนี้ควรจะเริ่มรักษาเบาหวานด้วยยาจริงหรือไม่
ขอบพระคุณครับ

...............................................................

ตอบครับ

     1. ถามว่าอย่างคุณวินิจฉัยว่าเป็นอะไร ตอบว่าตามผลเลือดที่ส่งมา คุณอยู่ในเกณฑ์ที่วงการแพทย์ปัจจุบันนี้เรียกว่า "ใกล้จะเป็นเบาหวาน" หรือ pre-diabetes ซึ่งนิยามว่ามีน้ำตาลในเลือด 100 - 125 มก./ดล. หรือมีน้ำตาลสะสมในเม็ดเลือด (HbA1c) ตั้งแต่ 5.7-6.4% นี่เป็นมาตรฐานที่กำหนดโดยสมาคมเบาหวานอเมริกัน (ADA) [1]

     2. ถามว่าวงการแพทย์ลดสะเป๊คโรคเบาหวานลงมาเพื่ออะไร ตอบว่าสะเป๊คของโรคเบาหวานถูกลดลงเรื่อยมาจริง กล่าวคือสมัยที่ผมเป็นนักเรียนแพทย์การวินิจฉัยเบาหวานต้องมีน้ำตาลหลังอดอาหาร 140 มก./ดล.ขึ้นไป แต่เดี๋ยวนี้ลดลงมาแค่ 126 มก./ดล. แถมยังมีการวินิจฉัยภาวะใกล้จะเป็นเบาหวานที่น้ำตาล 100 มก./ดล.เพิ่มเข้ามาอีกด้วย ทั้งหมดนี้มีเจตนาเพื่อให้คนเป็นเบาหวานมีการตื่นตัว (aware) เพื่อจะได้ขยันดูแลตัวเองเสียแต่ต้นมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะใกล้จะเป็นเบาหวานนั้นมีขึ้นมาเพื่อการป้องกันเบาหวานโดยเฉพาะ

     3. ถามว่าการให้ยารักษาเบาหวานกับคนที่ยังไม่เป็นเบาหวาน แค่ใกล้จะเป็นเบาหวานก็ให้ยากันแล้ว มันจำเป็นหรือ ก่อนอื่นผมไม่ได้มีนอกมีในนะ แต่ขอออกตัวก่อนว่าสมาคมเบาหวานอเมริกัน (ADA) ไม่ได้เป็นคนแนะนำให้ใช้ยารักษาเบาหวานแก่ผู้ป่วยใกล้จะเป็นเบาหวานนะ ผู้ที่แนะนำให้ทำเช่นนี้คือสมาคมแพทย์โรคต่อมไร้ท่ออเมริกัน (AACE) [2] ส่วนประเด็นที่ว่าจะเป็นคำแนะนำที่เข้าท่าหรือไม่เข้าท่านั้น ท่านสาธุชนโปรดใช้ดุลพินิจเอาเอง โดยผมให้ข้อมูลประกอบการพิจารณาของท่านดังนี้

     ประเด็นที่ 1. หลักฐานที่ดีที่สุดบ่งชี้ว่าการป้องกันไม่ให้คนใกล้จะเป็นเบาหวานกลายเป็นเบาหวาน คือการให้คนไข้เปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกาย ซึ่งจะป้องกันการเป็นเบาหวานได้ดีกว่าการใช้ยา metformin (Glucophage) ถึงหนึ่งเท่าตัว งานวิจัยนี้ชื่องานวิจัย DPPRG [3] เป็นงานวิจัยขนาดใหญ่ใช้คนสามพันกว่าคนสุ่มตัวอย่างแบ่งเป็นสามกลุ่มเปรียบเทียบกัน ซึ่งในประเด็นวิธีป้องกันเบาหวานนี้ยังไม่มีงานวิจัยไหนทำได้ดีกว่างานวิจัยนี้

   ประเด็นที่ 2. คนเป็นเบาหวานนี้จะมีอนาคตที่ย่ำแย่หากน้ำตาลในเลือดสูงตั้งแต่เท่าไหร่เป็นต้นไป ตอบว่าหิ หิ นี่เป็นประเด็นที่แพทย์ใช้เถียงกันแก้เซ็งได้ทุกยุคทุกสมัย เพราะมันยังไม่มีคำตอบระดับที่ชัวร์ป้าด ่อีกทั้งการจะตอบคำถามนี้ต้องไปคุ้ยดูงานวิจัยเก่าๆที่ทำกันสมัยที่ยังไม่มีการใช้ยารักษาเบาหวานมากมายระเบิดระเบ้ออย่างทุกวันนี้ ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัย [4] การตามดูคนพื้นเมืองอเมริกัน (อินเดียแดง) ซึ่งเป็นชาติพันธ์ที่มีอุบัติการณ์เป็นเบาหวานสูงมาก พบว่าหากน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับ 126-150 โดยไม่ใช้ยาเลย สิบปีผ่านไปเขาจะเป็นโรคไตเรื้อรังกันมากแค่ไหน ปรากฎว่าเป็นแค่ 8.4% ในสิบปี (8.4/1000 person-year) เรียกว่าแทบไม่ต่างจากคนทั่วไป (ความชุก หรือ prevalence ของการเป็นโรคไตเรื้อรังในคนทั่วไปคือ 14%) แปลไทยให้เป็นไทยก็คือถึงน้ำตาลสูงถึง 150 มก./ดล. โดยไม่ได้ยา ปล่อยไปนานถึงสิบปีก็ยังไม่มีอะไรในกอไผ่

     ประเด็นที่ 3. อนาคตของคนที่ใกล้จะเป็นเบาหวานในแง่ที่จะกลายเป็นเบาหวานจริงๆนี้มันมากถึงขนาดต้องใช้ยาป้องกันกันสุดฤทธิสุดเดชไหม ตอบว่าครึ่งหนึ่ง (50%) ของคนใกล้จะเป็นเบาหวานนี้เมื่อหลายปีผ่านไปจะมีน้ำตาลในเลือดกลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ และจะมีเพียงประมาณ 5-10% ที่จะกลายเป็นโรคเบาหวานจริงๆ เท่ากับว่าอีก 90% จะไม่ได้จบลงด้วยการเป็นโรคเบาหวาน

     ประเด็นที่ 4. องค์กรวิชาชีพทางการแพทย์อื่นๆเขาเห็นดีเห็นงามกับสมาคมแพทย์ต่อมไร้ท่ออเมริกัน (AACE) ที่จะให้ยาเบาหวานแก่คนที่ใกล้จะเป็นเบาหวานนี้หรือไม่ ผมสรุปให้ฟังดังนี้

      (1) องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกคำแนะนำเมื่อปี 2006 [5] แบบไม่เห็นด้วยว่ามาตรฐานที่กำหนดโดย ADA นั้นตั้งค่าน้ำตาลผิดปกติไว้ต่ำเกินไป ยกตัวอย่างเช่นหากเอาเกณฑ์ใกล้จะเป็นเบาหวานไปคัดกรองคนจีนเพื่อเอามาให้ยาก็จะมีผลให้ต้องจ่ายยาให้แก่คนจีนเพิ่มขึ้น 493 ล้านคนทันที

     (2) สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (IDF) ได้แนะนำ [6] ต่อต้านว่าไม่ควรมีคำว่า "ใกล้จะเป็นเบาหวาน" และไม่ควรทำการตรวจค้นหาคน "ใกล้จะเป็นเบาหวาน"

     (3) คณะกรรมการป้องกันโรคของรัฐบาลสหรัฐฯ (USPSTF) ได้แนะนำ [7, 8] ต่อต้านการตรวจคัดกรองหาคนใกล้จะเป็นเบาหวานมาให้ยารักษา เพราะการให้ยาคนใกล้จะเป็นเบาหวานไม่ได้ลดอัตราตายลง

     (4) กระทรวงบริการสุขภาพแห่งชาติอังกฤษ (NHS) ไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองหาผู้ใกล้จะเป็นเบาหวาน โดยพวกหมออังกฤษให้เหตุผลว่าคุณค้นหาคนใกล้จะเป็นเบาหวานมากินยาเบาหวานทุกคน 100% เพื่อจะลดโอกาสที่เขาจะเป็นโรคลง 31% ซึ่งหากเขาเป็นโรคแล้วนี้เขาจึงจะต้องไปกินยาเบาหวาน แปลไทยให้เป็นไทยว่าคุณจะลดโอกาสที่เขาจะต้องไปกินยาลง 31% ด้วยวิธีจับเขากินยาตอนนี้ซะเลยให้หมด 100% มันเป็นวิธีที่เข้าท่าไหมละ ฮี่..ฮี่ นี่หมอสันต์ไม่ได้พูดเองนะ พวกหมออังกฤษเขาพูดกัน [8] พวกหมออังกฤษเขามีนิสัยค่อนแคะการเมืองในวงการแพทย์ยังงี้แหละ อย่าไปถือสาเขาเลย

     กล่าวโดยสรุป แหม ไม่อยากสรุปเลย เพราะพี่ๆเพื่อนๆและน้องๆหมอเบาหวานทุกคนเขาและเธอล้วนน่ารัก หมอสันต์ไม่อยากต้องมาร้องเพลง

     "..เมื่อวานนี้ เรายังดีกันอยู่
     เหตุใดไม่รู้ หลงเคืองกัน
     ฉันเอง หัวใจ ได้แต่ งงงัน
     เธอโกรธฉัน ด้วยเหตุใด"

     อีกทั้งมารยาทในการทำมาหากินของวงการแพทย์ทั่วโลกใบนี้คือสาขาใครสาขามัน แปลว่าคุณเป็นหมอหัวใจคุณก็ว่าเรื่องหัวใจของคุณไป อย่าออกมานอกเขต หิ หิ แต่เผอิญหมอสันต์มีหนังสือรับรองความเชี่ยวชาญอีกสาขาหนึ่ง คือสาขาการดูแลคนทั้งตัวและทั้งครอบครัว (Family Medicine) ดังนั้นหมอสันต์ขอสรุปโดยอาศัยคุณวุฒินี้ โดยไม่เกี่ยวกับองค์กรวิชาชีพใดๆนะ ว่า...

     "..เมื่อท่านถูกวินิจฉัยว่าใกล้จะเป็นเบาหวาน (pre-diabetes) ให้ท่านรีบสำเหนียกเต้นแร้งเต้นกาป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นเบาหวาน ซึ่งหลักฐานวิจัยก็มีอยู่แล้วโต้งๆ [9] ว่าท่านควรเปลี่ยนอาหารมากินพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำและออกกำลังกายจริงจัง ถ้าอ้วนอยู่ก็ทำตัวให้หายอ้วน โดยที่ท่านไม่จำเป็นต้องกินยาเบาหวาน เพราะยังไม่มีหลักฐานเบ็ดเสร็จใดๆยืนยันว่าการกินยาเบาหวานของท่านจะมีประโยชน์คุ้มความเสี่ยงของยา"

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Standards of Medical Care in Diabetes—2010. American Diabetes Association Diabetes Care 2010 Jan; 33(Supplement 1): S11-S61.
2. Handelsman Y, Bloomgarden Z, Grunberger G et al. “American Association of Clinical Endocrinologists and American College of Endocrinology – clinical Practice guidelines for Developing a Diabetes Mellitus Comprehensive Care Plan – 2015.” Endocrine Practice 1 April 2015;21(suppl1)
3. Diabetes Prevention Program Research Group (DPPRG). REDUCTION IN THE INCIDENCE OF TYPE 2 DIABETES WITH LIFESTYLE INTERVENTION OR METFORMIN. N Engl J Med. 2002 Feb 7; 346(6): 393–403. doi: 10.1056/NEJMoa012512
4. Lee ET, Lee VS, Lu M, Lee JS, Russell D, Yeh J. “Diabetes Study.” Diabetes 1994 Apr;43(4):572-579
5. http://www.who.int/diabetes/publications/Definition%20and%20diagnosis%20of%20diabetes_new.pdf
6. IDF. The epidemic of pre-diabetes: the medicine and the politics. BMJ 2014; 349:g4485
7. Selph S, Dana, T, Blazina I, Bougatsos C, Patel H, Chou R. “Screening for Type 2 Diabetes Mellitus: A Systematic Review for the U.S. Preventive Services Task Force Screening for Type 2 Diabetes Mellitus.” Ann Intern Med. 2015 Jun;162(11):765-776
8. Yudkin J, Montori V. The epidemic of pre-diabetes: the medicine and the politics. BMJ 2014;349:g4485
9. Barnard, N.D., et al., A low-fat vegan diet improves glycemic control and cardiovascular risk factors in a randomized clinical trial in individuals with type 2 diabetes. Diabetes Care. 2006 Aug;29(8):1777-83.

[อ่านต่อ...]