30 มีนาคม 2567

โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ประเด็นการจะล้างไตกับการเป็นสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น

(ภาพวันนี้ / ดอกติ้ว)

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้คกรุณาคลิกภาพข้างล่าง)

เรียนถามอาจารย์ครับ

คุณพ่ออายุ 75 ปี ตอนนี้ CKD stage 5 (GFR 11) ยังช่วยเหลือตัวเองได้ แต่เริ่มมีปัญหาความจำระยะสั้น (ไม่รู้จาก CKD หรือ เริ่มมี vascular dementia) กับมีโรคร่วมอื่นเช่น AF, MDS, small aortic aneurysm, HTN, DLP ครับ

ปรึกษาอาจารย์ว่าควรล้างไตดีไหมครับ กังวลเรื่องคุณภาพชีวิตคุณพ่อ กับเห็นคนไข้ล้างไตส่วนนึง เห็นว่าล้างไตแล้ว dementia เหมือนจะมากขึ้นครับ และการล้างไตคงไปไหนมาไหนแบบเดิมได้ยากขึ้นครับ

เคยคุยเป้าหมายกับครอบครัวสนใจเรื่องคุณภาพชีวิตเป็นหลักครับ

ขอบพระคุณอาจารย์ครับ

นพ. …

………………………………………………….

ตอบครับ

ประเด็นที่ 1. การป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง สัมพันธ์กับการเป็นอัลไซเมอร์หรือสมองเสื่อมหรือไม่ ตอบว่า ณ ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานแสดงว่าเรื่องทั้งสองมีความสัมพันธ์กันแต่อย่างใด หมายความว่าการป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังไม่ได้เป็นต้นเหตุให้เกิดสมองเสื่อม แต่มีหลักฐานว่าการป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังระยะท้ายๆสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของโมเลกุลชี้บ่งโรคสมองเสื่อม เช่น NfL และ p-tau181 ซึ่งคงเกิดจากการที่ไตสูญเสียความสามารถในการขับทิ้ง แต่ที่แน่ๆคือโรคไตเรื้อรังไม่เกี่ยวอะไรกับเป็นสมองเสื่อมมากขึ้น

ประเด็นที่ 2 การล้างไต (hemodialysis) สัมพันธ์กับการเป็นสมองเสื่อมมากขึ้นหรือไม่ หลักฐานปัจจุบันพบว่าการล้างไตสัมพันธ์กับการเป็นสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น 2.4 เท่าเมื่อเทียบกับคนไม่ได้ล้างไต เขียนมาถึงตรงนี้ผมขอนอกเรื่องนิดหนึ่งว่าทุกวันนี้ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเป็นสมองเสื่อมที่เรารู้แน่แล้ว 5 ตัวคือ

(1) การล้างไต เพิ่ม 2.4 เท่า

(2) อายุ 86 ปีขึ้นไป 2.1 เท่า

(3) การเป็นคนผิวดำ 1.70 เท่า

(4) การอยู่ในบ้านพักคนชรา 1.36 เท่า

(5) การเป็นผู้หญิง 1.12 เท่า

ประเด็นที่ 3. โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย หากไม่สนใจเรื่องความยืนยาวของชีวิตแล้ว จะเอาคุณภาพชีวิตเป็นที่ตั้ง ควรจะล้างไตหรือไม่ ตอบได้ง่ายมากเลยครับ ว่าถ้าคุณภาพชีวิตทุกวันนี้ดีแล้ว ก็จะไปล้างไตทำไมละครับ เพราะสิ่งที่ต้องการคือคุณภาพชีวิต ซึ่งมีอยู่แล้ว นั่นประการหนึ่ง และการจะต้องเลือกทำอะไรไม่ทำอะไรที่ถึงขั้นเลือดตกยางออก คนที่จะพูดคำสุดท้ายคือตัวผู้ป่วยเองนะครับ ถึงเราผู้เป็นลูกจะเป็นหมอเองก็เถอะ อย่าให้ผู้ป่วยซึ่งเป็นพ่อของเราเองต้องร้องเรียนขอใช้สิทธิผู้ป่วย มันจะเสียฟอร์มว่ามีลูกเป็นหมอทั้งที นั่นอีกประการหนึ่ง

นพ.สันต์ ใ ยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Stocker H, Beyer L, Trares K, et al. Association of Kidney Function With Development of Alzheimer Disease and Other Dementias and Dementia-Related Blood Biomarkers. JAMA Netw Open. 2023;6(1):e2252387. doi:10.1001/jamanetworkopen.2022.52387
  2. McAdams-DeMarco MA, Daubresse M, Bae S, Gross AL, Carlson MC, Segev DL. Dementia, Alzheimer’s Disease, and Mortality after Hemodialysis Initiation. Clin J Am Soc Nephrol. 2018 Sep 7;13(9):1339-1347. doi: 10.2215/CJN.10150917. Epub 2018 Aug 9. PMID: 30093374; PMCID: PMC6140560.
[อ่านต่อ...]

29 มีนาคม 2567

การข้ามผ่านดงความคิดตัวเอง เราจะเริ่มได้ที่ตรงไหนครับ

(ภาพวันนี้ / ไฟฟ้ามวกเหล็กดับ จุดเทียนกินข้าววับๆแวมๆ)

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่าง)

อาจารย์ครับ

การข้ามผ่านดงความคิดของตัวเองที่อาจารย์แนะนำให้สอนเด็ก เราจะเริ่มการข้ามผ่านนี้ได้ที่ตรงไหนครับ

ขอบคุณครับ

………………………………………………………

ตอบครับ

ในการตอบคำถามนี้เมื่อผมพูดว่าความคิด ให้เข้าใจว่าผมหมายถึงประสบการณ์ในใจทุกชนิดที่เกิดขึ้นต่อยอดการรับรู้สิ่งเร้าผ่านอายตนะ รวมถึงอารมณ์ ความรู้สึกด้วย ทั้งนี้เพื่อความง่ายแก่การสื่อสาร

การจะฝ่าข้าม “ดง” ความคิดของตัวเองไปสู่ความรู้ตัวที่ปลอดความคิด ให้เริ่มเป็นขั้นตอนดังนี้

  1. เมื่อแรกเริ่ม ต้องอาศัยความคิดเชิงตรรกะสรุปประเด็นให้ตนเองเห็นด้วยอย่างถ่องแท้เสียก่อนว่า “ความคิด” ไม่ใช่ตัวเรา ถ้าเราเรียกตัวเราว่า “ฉัน” ความคิดก็ไม่ใช่ฉัน เพราะความคิดเป็นสิ่งที่ฉันสังเกตเห็นได้ ดังนั้นความคิดเป็นเพียงสิ่งที่ถูกสังเกต (the observed) ขณะที่ฉันเป็นผู้สังเกต (the observer) นี่เป็นตรรกะง่ายๆตรงไปตรงมาซึ่งทุกคนเห็นตามตรรกะได้ทันที
  2. คราวนี้ให้สังเกตดูกระบวนการสังเกตของเราเอง ว่าเราจะสังเกตเห็นอะไรได้ มันเริ่มจากการที่เราให้ความสนใจ (pay attention) เราให้ความสนใจอะไร เราก็จะสังเกตเห็นสิ่งนั้น เมื่อเราเผลอไม่ได้ตั้งใจสังเกตดูอะไร ความสนใจของเราจะไปขลุกอยู่ในความคิดโดยอัตโนมัติเพราะเราฝึกตัวเองให้เสพย์ติดความคิดมาตั้งแต่เล็กจนโต ทำให้ดูเหมือนเราถูกผนึกเป็นสิ่งเดียวกับความคิดแบบแยกกันไม่ออก แต่เมื่อเราดึงความสนใจออกจากความคิดไปจดจ่อที่สิ่งอื่น เช่น ลมหายใจ หรืออะไรก็ตามที่ปรากฎอยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือแม้แต่จดจ่อกับกิจที่เรากำลังทำเช่นล้างจาน กวาดบ้าน ความคิดก็จะถูกเพิกเฉยหรือหันหลังให้ แล้วมันก็จะฝ่อหายไปเอง ดังนั้นในขั้นตอนที่สองนี้ให้หัดสังเกตอะไรก็ได้รอบๆตัว ที่ไม่เกี่ยวกับความคิด สังเกตเห็นตามที่เห็น ไม่ต้องไปคิดต่อยอด
  3. เมื่อสามารถดึงความสนใจออกมาจากความคิดมาสังเกตสิ่งอื่นได้แล้ว คราวนี้ให้ใช้ความสนใจนั้นสังเกตดูความคิดเสียเอง ซึ่งมีสองวิธี วิธีที่ 1. ซึ่งง่ายที่สุด คือเมื่อความคิดเกิดขึ้นแล้ว เราย้อนกลับไปดู (recall) ว่าเมื่อตะกี้เราคิดอะไรอยู่ วิธีที่ 2. คือเริ่มเมื่อเราดึงความสนใจมาอยู่กับสิ่งอื่นเช่นลมหายใจได้แล้ว ความคิดเก่าหายไปแล้ว คราวนี้เราอาศัยความตื่นตัว (alertness) ตั้งใจ ตั้งตา รอดูว่าความคิดใหม่เรื่องแรกที่จะโผล่เข้ามาต่อจากนี้มันจะเป็นเรื่องอะไร ซึ่งเราไม่มีทางเดาล่วงหน้าได้ แต่เราสนใจที่จะจับมัน พอมันโผล่มาและเราจับมันได้ว่าเป็นเรื่องอะไรแล้วเราก็ทิ้งมันไป หมายความว่าเลิกสนใจมันไม่ไปคิดต่อยอด หันมาตั้งใจตั้งตารอจับความคิดที่สองที่จะโผล่ขึ้นมาใหม่ การรอจับความคิดจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างความคิดที่ 1 กับความคิดที่ 2 ขึ้น ช่องว่างระหว่างความคิดที่ 1 กับความคิดที่ 2 นี่แหละ คือความรู้ตัวยามปลอดความคิด ยิ่งเราขยันตื่นตัวตั้งตารอสังเกตดู ช่องว่างนี้ก็จะยิ่งกว้างขึ้นๆ อุปมาความคิดเหมือนฝูงชนในตลาดนัดในชนบทซึ่งแน่นขนัดไปหมด แต่ถ้าเราค่อยๆเดินเบียดเข้าไปในระหว่างคนนั้นคนนี้เพื่อมุ่งหน้าออกจากตลาด เมื่อมาใกล้ขอบๆนอกๆของตลาดผู้คนจะเบาบางลง เราก็ไม่ต้องเบียดมาก พอพ้นตลาดออกมาได้ก็กลายเป็นทุ่งนาโล่งกว้างที่ผู้คนแทบไม่มีเลย อุปมาการแหวกฝูงชนในตลาดย่อมยากเฉพาะตอนอยู่ที่ใจกลางตลาดฉันใด การแหวกหาช่องว่างระหว่างความคิดที่ 1 กับความคิดที่ 2 ก็ยากเมื่อเริ่มต้นฉันนั้น พอออกมาถึงท้องนาซึ่งเปรียบเหมือนความรู้ตัวอันกว้างใหญ่ ความคิดซึ่งเปรียบเหมือนคนในตลาดก็ไม่มีอิทธิพลใดๆอีกต่อไป
  4. เมื่อความคิดห่างออกไป ก็จะเหลือแต่ภาวะปลอดความคิดขณะที่เรายังตื่นอยู่ ซึ่งผมตั้งชื่อเรียกง่ายๆว่า “ความรู้ตัว” มันคือส่วนที่ลึกที่สุดหรือส่วนที่ไกลที่สุดของเรา ที่เรา (ฉัน) จะมีประสบการณ์กับมันได้ มันเป็นส่วนที่ภาษาไม่อาจอธิบายไปถึงเพราะมันเป็นที่ที่ไม่มีความคิดจึงใช้ภาษาซึ่งเป็นตรรกะที่ใช้สื่อความคิดไปอธิบายมันไม่ได้ ที่ตรงนี้เป็นแหล่งการเรียนรู้ขนาดใหญ่ในการเกิดมามีชีวิต มันเป็น unknown ที่เขียนเป็นตำราหรือเล่าเป็นวิดิโอคลิปไม่ได้ ทุกคนต้องออกจากความคิดของตัวเองไปทำความรู้จักกับมันเอาเอง ผมบอกได้คร่าวๆว่ามันมีอัตลักษณ์ที่สำคัญประมาณสี่ห้าอย่างคือ (1) มันเป็นพลังงานของความรักความเมตตา (love) ที่หลอมรวมทุกชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกันโดยไม่มีอัตตามาเป็นเส้นสมมุติแบ่งแยก (2) มันเป็นความเบิกบาน (joy) ที่ตามติดไล่หลังการได้ให้ ได้แชร์ ได้ยอมรับ มาโดยอัตโนมัติ ทุกครั้งที่เราให้อะไรแก่ชีวิตอื่น ให้สังเกตความเบิกบานที่ตามหลังการให้นั้นให้ดี จนรู้จักมันดี คุ้นกับมันดี มันจะช่วยให้เราเข้าถึงความรู้ตัวได้ง่ายขึ้น (3) มันเป็นความสงบเย็น (peace) เพราะมันปลอดตัวตนให้ต้องมาพะวงปกป้องหรือเชิดชู (4) มันเป็นที่ที่ทุกอย่างที่โผล่มาตรงนี้จะได้รับการยอมรับ (acceptance) อย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะที่นั่นมันไม่มีกลไกของภาษามาสร้างคอนเซ็พท์ว่าอย่างนี้รับได้ อย่างนั้นรับไม่ได้ (5) มันเป็น “บ่อ” ของปัญญาญาณหรือความรู้แบบโผล่มาให้เห็นเองอัตโนมัติ (wisdom) ซึ่งเอามาใช้ประโยชน์ในชีวิตปกติได้อย่างไม่มีขีดจำกัด

คำบอกเล่าของผมฟังดูเหลือเชื่อ ออกแนวไสยศาสตร์ ไม่เม้คเซ้นส์หากไตร่ตรองเอาตามตรรกะของเหตุและผล แต่ด้วยข้อจำกัดของภาษาผมเองจึงไม่สามารถอธิบายแจกแจงให้ลึกซึ้งกว่านี้ได้ ได้แต่แนะนำว่าให้ท่านฝึกหัดฝ่าดงความคิดที่เต็มไปด้วยคอนเซ็พท์อันคับแคบออกไปให้ได้ก่อน เหมือนคนพยายามมุดออกจากตลาดจนพ้นออกไปสู่ทุ่งนากว้างที่อุปมาเหมือนสนามของความรู้ตัวให้สำเร็จก่อน แล้วค่อยไปเรียนรู้ และรู้จักมันเอาเองในตอนนั้น

ปล. ทั้งหมดนี้หากคุณทำแล้วมันไม่เห็นทีท่าว่าจะเวิร์ค ให้หาเวลามาเข้า Spiritual Retreat

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

28 มีนาคม 2567

อย.สหรัฐฯ (FDA) อนุมัติฉลากโยเกิร์ตว่าอาจลดความเสี่ยงเบาหวานชนิด 2 ได้

(กรณีอ่านจาก fb กรุณาคลิกภาพข้างล่าง)

(ก่อนเริ่มบทความนี้ขอใช้พื้นที่ตรงนี้โฆษณาหน่อยว่าหนังสือ “คัมภีร์สุขภาพดี” ของหมอสันต์ จะมีวางขายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ (28 มีค.- 8 เมย.) ที่บู้ท L07 ของฟรีมายด์ พับบลิชชิ่ง ในราคาปกติ (เพราะของดีตั้งราคาไว้ถูก ลดไม่ลงแล้ว หิ..หิ)

……………………………………………….

หลังจากที่ผู้ผลิตโยเกิร์ตในสหรัฐฯรายหนึ่งได้ส่งหลักฐานวิจัย 117 รายการ ไปขออนุมัติ FDA เพื่อให้เขียนข้างถ้วยโยเกร์ตได้ว่ามันช่วยลดการเป็นเบาหวานประเภท 2 ได้ และหลังจากได้พิจารณากันอยู่ 5 ปี ในที่สุดองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ก็ได้อนุมัติให้ผํู้ผลิตโยเกิร์ตเขียนฉลากข้างถ้วยโยเกิร์ตได้ว่า

“กินโยเกิร์ตสม่ำเสมออย่างน้อย 2 ถ้วย (3 เสริฟวิ่ง) ต่อสัปดาห์อาจลดความเสี่ยงโรคเบาหวานประเภท2 ลงได้ ทั้งนี้ FDA ได้อนุมัติ claim นี้โดยสรุปจากหลักฐานที่มีอยู่อย่างจำกัด”

หรือ

“กินโยเกิร์ตสม่ำเสมออย่างน้อย 2 ถ้วย (3 เสริฟวิ่ง) ต่อสัปดาห์อาจลดความเสี่ยงโรคเบาหวานประเภท2 ลงได้ ทั้งนี้ตามหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่อย่างจำกัด”

คำอนุมัตินี้ออกมาเมื่อ 1 มีค. 2024 ซึ่งนับเป็นกรณีที่น้อยครั้งมากที่ FDA จะยอมให้อาหารใดๆอ้างสรรพคุณเชิงรักษาโรค (health claim) ได้อย่างนี้

แต่ก่อนที่แฟนๆบล็อกจะเฮโลไปซื้อโยเกิร์ตกินเพื่อลดหรือรักษาโรคเบาหวาน หมอสันต์ขอให้ใช้ประเด็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ต่อไปนี้พิจารณาประกอบด้วยเสมอ คือ

1.. งานวิจัยที่ใช้เป็นหลักฐานขออ้างสรรพคุณโยเกิร์ตว่าลดโรคเบาหวานได้นี้ เป็นงานวิจัย ระดับ prospective cohort study ที่แม้จะเป็นงานวิจัยคุณภาพดี แต่มีระดับชั้นที่ต่ำกว่างานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) จึงบอกได้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างการกินโยเกิร์ตกับการเป็นเบาหวานน้อยลงเท่านั้น ไม่ได้บอกว่ากินโยเกิร์ตเป็นสาเหตุให้ลดการเป็นเบาหวานได้ คือบอกได้แต่การพบร่วมกัน แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน

2.. โยเกิร์ตที่ใช้ในงานวิจัยเป็นโยเกิร์ตแท้ที่ไม่เกี่ยวกับน้ำตาลที่ใส่เพิ่มเข้าไป (added sugar) แต่ว่าในโยเกิร์ตที่เขาทำขายนั้นเกือบทั้งหมดใส่น้ำตาลเพิ่มเพียบ หากจะกินโยเกิร์ตลดโรคเบาหวานท่านควรกินกรีกโยเกิร์ตที่ไม่ใส่น้ำตาลเพิ่มเลยจึงจะดี

3.. สิ่งที่จะทำให้คนหายป่วยจากโรคเรื้อรังเช่นเบาหวานเป็นการประชุมแห่งเหตุ ไม่ใช่มีเหตุเพราะขาดจุลินทรีย์จากโยเกิร์ตอย่างเดียว ในแง่การจะกินอาหารเพื่อรักษาโรคได้อย่างแท้จริงต้องมุ่งไปที่รูปแบบการกินที่ทำให้สุขภาพดี (dietary pattern) หมายถึงอาหารทั้งหมดที่คนๆนั้นกินเป็นประจำอยู่ทุกวัน ไม่ใช่มุ่งเป้ากินอาหารตัวใดตัวหนึ่งเป็นอาหารพระเอกหรือ superfood เพียงตัวเดียว ดังนั้นการกินโยเกิร์ตเพื่อหวังลดโรคเบาหวานขณะที่รูปแบบของอาหารที่กินโดยรวมเป็นอาหารทำให้เป็นเบาหวาน (เช่นรูปแบบการกินสมัยใหม่ในปัจจุบันที่มีไขมันอิ่มตัวจากสัตว์มาก มีแคลอรี่สูง มีแป้งขัดสีหรือน้ำตาลมาก มีกากหรือเส้นใยจากพืชน้อย) ก็จะไม่มีผลในการรักษาโรคเรื้อรังดีเท่าการเปลี่ยนรูปแบบของอาหารที่กินโดยรวมแบบยกแผง โดยผมแนะนำให้เปลี่ยนการกินจากรูปแบบปัจจุบันไปหารูปแบบการกินที่มีหลักฐานว่าดีต่อสุขภาพแน่นอนแล้วเช่นอาหารมังสวิรัติ อาหารพืชเป็นหลัก อาหารเมดิเตอเรเนียน อาหารแดชไดเอ็ท เป็นต้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Chen, M., Sun, Q., Giovannucci, E., Mozaffarian, D., Manson, J. E., Willett, W. C., & Hu, F. B. (2014). Dairy consumption and risk of type 2 diabetes: 3 cohorts of US adults and an updated meta-analysis. BMC Med, 12, 215.
[อ่านต่อ...]

27 มีนาคม 2567

อยากให้หมอสันต์วิเคราะห์การที่มีผู้ตั้งตนรักษามะเร็งด้วยเครื่อง IR Imaging

(ภาพวันนี้ / กระท่อมร้างที่เคยเป็นบ้านหมอสันต์)

เรียนอาจารย์สันต์

ผม … นะครับ ผมไม่ค่อยสบายใจที่มีนัก …. ตั้งตัวเป็นผู้ให้ความรู้วิทยาศาสตร์และรักษาโรคมะเร็ง โดยอธิบายแบบ pseudoscience ผมส่งเทปวิดิโอคำบรรยายในที่สาธารณะของเขามาให้อาจารย์ช่วยวิเคราะห์และให้ความเห็น เพื่อประโยชน์แก่คนไข้ จะได้ไม่ต้องถูกหลอกครับ

……………………………………………………….

ตอบครับ

การวิเคราะห์เนื้อหา

ผมขออนุญาตตอบอาจารย์โดยไม่แปะคลิปที่อาจารย์ส่งมาให้เพื่อจะได้สื่อสารกันแต่เนื้อหาโดยไม่เกี่ยวกับตัวบุคคลเพราะผมเองไม่รู้จักท่านผู้บรรยายในคลิปที่อาจารย์ส่งมา โดยผมขอแบ่งส่วนที่ผู้บรรยายพูดออกเป็นสามส่วน

ส่วนที่หนึ่ง คือเรื่องที่เป็นหลักพื้นฐานความจริงในวิชาเซลล์วิทยา อันได้แก่การที่เซลล์ในร่างกายสื่อสารกันด้วยวิธีต่างๆ (cell communication) เช่นส่งผ่านโมเลกุลเช่นไซโตไคน์ต่างๆหากัน เพื่อทำงานร่วมกันหรือรวมกลุ่มกันขึ้นเป็นชุมชนหรือเนื้อเยื่อ..ก็ดี การที่เซลล์ทำหน้าที่ไปตามที่ยีนกำหนดมา คือทำงานผลิตโปรตีนเมื่อถึงเวลาต้องผลิต ระเบิดตัวเองตายเมื่อถึงเวลาต้องระเบิด..ก็ดี การที่เซลล์มะเร็งไม่ยอมหยุดแบ่งตัวทั้งๆที่ยีนกำหนดมาให้หยุด ทำให้ผู้ป่วยเป็นมะเร็ง..ก็ดี การที่เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด NK ออกมาทำลายเซลล์มะเร็ง..ก็ดี การที่กลุ่มเซลล์มีการบริหารจัดการรวมกลุ่มแบ่งหน้าที่กันทำงาน (organization)..ก็ดี การที่สะเต็มเซลล์ที่ถูกซุ่มเก็บไว้ตามที่ต่างๆในร่างกาย ต่อมาได้แปลงร่างไปเป็นเซลล์อวัยวะต่างๆ (differentiation) เพื่อการซ่อมและสร้างอวัยวะที่ชำรุดขึ้นมาใหม่..ก็ดี ทั้งหมดนั้นเป็นความจริงทางเซลล์วิทยาซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปอยู่แล้ว ไม่มีอะไรเป็นของปลอมตรงไหน

ส่วนที่สอง คือการที่ผู้บรรยายเลือกวิธีสร้างภาพของเซลล์ที่กำลังทำงานอยู่ในภาวะปกติในร่างกาย (in vivo) ขึ้นมาแสดงบนจอ ด้วยการเอาคลื่นความร้อนที่เซลล์ปล่อยออกมา มาสร้างเป็นภาพ หรือ Infrared (IR) imaging เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสื่อสารระหว่างเซลล์นั้น ปัจจุบันนี้เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าเทคนิค IR imaging โดยหากใช้ร่วมกับการแยกโมเลกุลด้วยวิธี infrared spectroscopy ก็สามารถให้ข้อมูลการสื่อสารระหว่างเซลล์ขณะที่เซลล์กำลังทำงานในหน้างานจริงๆได้ ให้ข้อมูลการเคลื่อนไหวและการสั่นสะเทือนของโมเลกุลในเซลล์ที่บอกถึงองค์ประกอบระดับโมเลกุลของเซลล์และเนื้อเยื่อได้ และสามารถสร้างภาพเซลล์และโมเลกุลขึ้นมาโดยไม่ต้องฉีดสารทึบสีอะไรเข้าไปย้อมหรือ label ก็ได้ ให้ภาพเซลล์ที่กำลังมีชีวิตและกำลังเกิด dynamic process ขณะทำงานได้ แต่เทคนิคนี้ก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่ามันมีข้อจำกัดตรงที่มีขีดความสามารถแยกภาพ (spatial resolution) ได้ต่ำ ทำให้ได้ภาพแค่มัวๆซัวๆจนบางครั้งจะบอกว่าอะไรเป็นอะไรต้องใช้การเดาช่วย จึงสู้วิธีมาตรฐานอื่นที่ใช้กันอยู่เช่น fluorescence microscopy ไม่ได้ คงยากที่จะใช้ข้อมูลจาก IR imaging อย่างเดียวมาอธิบายกลไกการสื่อสารระหว่างเซลล์อย่างเป็นตุเป็นตะได้ครบถ้วน จำเป็นต้องอาศัยเทคนิคมาตรฐานอื่นๆร่วมด้วย แต่ทั้งหมดที่ผู้บรรยายพูดไปเกี่ยวกับ IR imaging ในคลิปที่ส่งมานี้ผมเห็นว่าเป็นเรื่องจริงเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีข้อไหนที่จะเรียกได้ว่าเป็นการหลอกลวง

ส่วนที่สาม คือวิธีรักษามะเร็งของผู้บรรยาย ผมสรุปได้จากคำบรรยายว่าวิธีรักษาที่ท่านใช้มีสองวิธี คือ

(1) ใช้พืชสมุนไพรไทย โดยท่านแจ้งในการบรรยายด้วยว่าคุณพ่อของท่านเป็นหมอแผนไทย

(2) ใช้วิธีกระตุ้นแนะนำให้ผู้ป่วยเปลี่ยนมาปฏิบัติพฤติกรรมที่ดี เช่น การกินอาหารที่ดี การนอนหลับให้พอ การเคลื่อนไหวและปรับบุคลิคร่างกายให้ตั้งตรง การออกแดด การได้สัมผัสธรรมชาติ การได้คลายเครียด การปฏิบัติธรรม (meditation) เครื่องมือกระตุ้นก็คือให้ผู้ป่วยติดตามดูภาพของเซลล์เม็ดเลือดที่ได้จากการเจาะเลือดผู้ป่วยเองที่ส่องดูด้วยวิธี IR imaging ทั้งนี้มีการใช้ gimmick ประกอบบ้างเช่นท่านผู้บรรยายตั้งชื่อเรียกภาพการจัดตัวของเซลล์เม็ดเลือดหรือภาพเซลล์ขนาดใหญ่บางเซลล์ว่าเป็น”เซลล์พระธาตุ” เพื่ออธิบายเมื่อส่องดูเลือดของพระสงฆ์หรือผู้มีพฤติกรรมปฏิบัติธรรมจริงจัง ตรงนี้ผมเห็นว่ามันก็เป็นเพียงการตั้งชื่อ เพราะภาพ IR imaging ก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่ามันเป็นภาพที่มี spatial resolution ต่ำ จึงเห็นเป็นแค่เงาตะคุ่มๆ ใครจะตั้งชื่อเรียกเงาตะคุ่มนั้นว่าอะไรก็คงแล้วแต่ความชอบของเขา แต่ผมสังเกตเอาจากการบรรยายท่านเน้นว่าเป็นการตั้งข้อสังเกตส่วนตัวว่าพฤติกรรมสุขภาพที่ดีสัมพันธ์กับการที่ภาพของเลือดใน IR imaging จะออกมาดี ไม่ได้อ้างว่ามีการวิจัยแสดงความสัมพันธ์เชิงสถิติระหว่างภาพดังกล่าวกับพฤติกรรมหรือยาสมุนไพรที่กินแต่อย่างใด

ความเห็นของหมอสันต์

ประเด็นที่ 1. มันผิดกฎหมายไหม ตรงนี้เป็นเรื่องของกองการประกอบโรคศิลป์ที่เขาจะไปว่ากันเองนะครับ ไม่ใช่หน้าที่ของผม แต่เท่าที่ผมมองเผินๆ ผมแยกเป็นสองประเด็น ประเด็นจ่ายสมุนไพรไทย หากท่านผู้บรรยายให้คุณพ่อของท่านซึ่งเป็นหมอแผนไทยจ่ายยาสมุนไพรให้คนไข้ หรือหากตัวผู้บรรยายเองมีใบประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย การจ่ายยาสมุนไพรไทยของท่านก็ไม่ได้ผิดกฎหมาย

ส่วนประเด็นที่ท่านอาศัยภาพจากการส่องดูเลือดของผู้ป่วยด้วยวิธี IR imaging มากระตุ้นให้ผู้ป่วยเปลี่ยนพฤติกรรมเช่น กินอาหารให้ดี นอนหลับให้พอ การเคลื่อนไหวและปรับบุคลิคร่างกายให้ตั้งตรง ออกแดดบ่อยๆ สัมผัสธรรมชาติเยอะๆ คลายเครียด และปฏิบัติธรรม (meditation) ตรงนี้มันเป็นรูปแบบของการโค้ชสุขภาพซึ่งไม่ได้มีการจ่ายยาหรือใส่วัตถุออกฤทธิ์เข้าไปในร่างกาย เมืองไทยยังไม่มีกฎหมายขึ้นทะเบียนโค้ชสุขภาพ ดังนั้นในระหว่างนี้ใครๆก็ทำตัวเป็นโค้ชสุขภาพได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

ประเด็นที่ 2. มันมีผลดีเสียต่อผู้ป่วยอย่างไร

มองทางด้านผลเสีย ที่ผมมองเห็นจะจะมีอย่างเดียวคือผู้ป่วยเสียเงิน ซึ่งผู้ป่วยที่ไปหา เขารู้อยู่แล้ว และเขายอมเสีย

ส่วนผลเสียที่ผู้ป่วยจะถูกหลอกนั้นผมไม่เห็นเป็นประเด็น เพราะทุกวันนี้วงการแพทย์แผนปัจจุบันก็ใช้ gimmick ราคาแพงแสดงภาพแบบต่างๆเพื่อร่วมรักษาโรคมะเร็งอยู่แล้วโดยที่มันไม่มีผลต่อโรคตรงๆเลย ไม่ว่าจะเป็น CT, MRI, SPECT, PET scan การที่จะมีคนเอาภาพจาก IR imaging มาใช้บ้างจึงไม่ใช่เรื่องจะสร้างความเสียหายต่อคนไข้แต่อย่างใด ส่วนที่ว่าภาพแบบไหนได้ประโยชน์คุ้มความเสี่ยงแค่ไหนนั่นเป็นเรื่องดุลพินิจของผู้ป่วยที่เขาวินิจฉัยเองได้ อย่างเดี๋ยวนี้ผู้ป่วยมักจะปฏิเสธการตรวจด้วยภาพที่ต้องฉีดสีร่วมด้วยมิใยที่แพทย์จะคะยั้นคะยอ เพราะผู้ป่วยเขาวินิจฉัยได้เองว่ามันมีผลเสียกับเขามากกว่าประโยชน์ที่จะได้

มองทางด้านผลดีบ้าง เราต้องยอมรับก่อนว่าแพทย์เรายังไม่รู้วิธีรักษาโรคเรื้อรังให้หาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็ง สิ่งเดียวที่ดูจะให้อัตราการหายสูงสุดคือ placebo effect หรือความเชื่อและศรัทธาของตัวผู้ป่วยเอง แม้วงการแพทย์แผนปัจจุบันทุกวันนี้เราก็อาศัย placebo effect เป็นตัวรักษามะเร็งเสียมาก ทำไมเราจึงแนะนำให้ผู้ป่วยรับเคมีบำบัดสำหรับมะเร็งบางชนิดทั้งๆที่เรารู้อยู่แล้วว่าอัตราการหายต่ำกว่า 1% หากไม่ใช่เพราะเราหวังผลจาก placebo effect ซึ่งบางครั้งให้ผลได้ถึง 30%

ปัญหาของผู้ป่วยมะเร็งทุกวันนี้ก็คือการที่แพทย์แผนปัจจุบันได้ทำลาย placebo effect ที่เคยมีและเคยช่วยผู้ป่วยไปเสียมาก ตัวผมเองเคยเปิดแค้มป์ให้ความรู้ในการดูแลตนเองของผู้ป่วยมะเร็ง ทำอยู่หลายครั้งแล้วก็ต้องเลิกแค้มป์ไปเพราะผู้ป่วยมาหาผมเพื่อเสาะหาวิธีที่จะให้ผมช่วยทำให้หายจากมะเร็ง ซึ่งถ้าผมรับเล่นลูกตามก็เท่ากับว่าผมอาศัยความเป็นแพทย์หลอกผู้ป่วยซึ่งไม่ใช่สิ่งที่พึงทำ แต่หากมองจากมุมของผู้ป่วย แล้วจะให้ผู้ป่วยหันไปหาใครละครับ เขาก็ต้องหันไปหาใครก็ตามที่อาจจะช่วยบรรเทาทุกข์สร้างความหวังให้เขาได้ ถ้าใครคนนั้นจะช่วยคลายทุกข์ให้ผู้ป่วยมะเร็งได้ขณะที่เราซึ่งเป็นแพทย์ทำให้ไม่ได้ เราก็ควรจะขอบคุณเขาเหล่านั้นนะครับ แม้ว่าบางครั้งเขาจะทำด้วยวิธีการสร้าง gimmick แบบข้างๆคูๆก็อย่าไปตั้งข้อรังเกียจเลย เพราะวิทยาศาสตร์ที่เราใช้หากินอยู่ทุกวันนี้ก็เต็มไปด้วยการใช้ gimmick ข้างๆคูๆ ยกตัวอย่างเช่นการขายการตรวจพิเศษต่างๆที่ไม่จำเป็นในการตรวจสุขภาพประจำปี เป็นต้น

คือในภาพรวมผมมีความเห็นสวนกระแสนิดหน่อยว่าในสนามการรักษาโรคมะเร็งนี้ แพทย์เราไม่ควร “หวง” พื้นที่มากเกินไปเพราะเราเองก็ยังไม่มีปัญญา ถ้าจะมีคนอื่นเข้ามามีบทบาทช่วยบรรเทาทุกข์ให้ผู้ป่วยของเราได้บ้าง..Why not?

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

26 มีนาคม 2567

เรื่องไร้สาระ (40) นางพญาปากกว้างสวมหมวกกันน็อค

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้คกรุณาคลิกภาพข้างล่าง)

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ ผมเพิ่งเสร็จงานสอนแค้มป์สุขภาพให้ชาวต่างชาติ และเพิ่งเสร็จถ่ายวิดิโอตอบคำถามสุขภาพแบบไล้ฟ์เพื่อเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย กำลังวางแผนว่าวันรุ่งขึ้นจะเข้ากรุงเทพ พอดีคุณแจ่มซึ่งเป็นเพื่อนเที่ยวเมื่อคราวไปญี่ปุ่นหลายเดือนก่อนโทรศัพท์มาหาหมอสมวงศ์ บอกว่าเธอกำลังพักอยู่ที่ในอุทยานเขาใหญ่ และว่าลูกไทรกำลังสุก นกเงือกกำลังพากันมากินลูกไทร ซึ่งปีหนึ่งมีหนเดียวเท่านั้น และนกฮูกตัวโตก็กำลังโผล่ให้เห็นทั้งวันไม่ไปไหนอย่างน้อยก็สองสามวันนี้เพราะมันต้องรอลูกมันในโพรงให้โตก่อน เธอชวนว่าเราอยากไปดูไหม จึงต้องเปลี่ยนแผนว่าวันพรุ่งนี้เราจะไปดูนกที่เขาใหญ่ตอนเช้า แล้วค่อยเข้ากรุงเทพตอนเย็น

บรรยากาศการเฝ้าดูนกเงือกมากินผลไทร มีทั้งไทยฝรั่งญี่ปุ่น บ้างหลับนก บ้างนั่งสมาธิ

จะไปส่องนกทั้งทีก็ต้องหากล้องส่อง แต่ค้นหาเท่าไหร่ก็ไม่เจอว่ากล้องที่เคยมีอยู่เอาไปทิ้งไว้ที่ไหนเสียแล้ว โทรไปหาหมอเบิร์ดซึ่งเป็นนักส่องนกเพื่อขอยืมกล้องเธอ เธอก็ไม่รับสายสงสัยประชุมลูกน้องอยู่ เผอิญนึกขึ้นได้ว่าตัวเองมีกล้องส่องสำรวจรังวัดอยู่ในเล้าไก่ชุดหนึ่งซึ่งผมซื้อมาไว้สำรวจปลูกป่า จึงคิดว่าเอากล้องสำรวจนั่นแหละดูนก ใช้ลูกเล่นเอียงขาตั้งสามขาหน่อยก็น่าจะเงยกล้องดูนกได้ไม่ยาก พอปลงใจได้แล้วหมอเบิร์ดถึงโทรกลับมา ผมจึงบอกเธอว่าหะแรกผมตั้งใจจะยืมกลัองแต่ตอนนี้ไม่รบกวนแล้วเพราะมีกล้องแล้ว เธออธิบายสั่งเสียเรื่องเวลาดูนกว่านกฮูกมันจะเข้าออกรังเฉพาะเช้าๆเย็นๆ ส่วนนกเงือกนั้นก็จะมาที่ต้นไทรตอนเช้าๆ ผมจึงกะว่าจะออกจากบ้านหกโมงเช้า ไปถึงเขาใหญ่เจ็ดโมงเช้าซึ่งเป็นเวลาเขาเพิ่งเปิดอุทยานพอดี

พอข่าวแพร่ออกไปเพื่อนบ้านอีกสองบ้านตัดสินใจไปด้วย คณะเรารอบนี้จึงมีกันทั้งหมด 7 คน บ้างป่วยอยู่นัดหมอไว้แล้วก็เลื่อนหมอไปก่อนเพราะอยากดูนกมากกว่าดูหน้าหมอ เราเอารถยนต์ไปสองคัน ไปถึงอุทยานเอาตอนเจ็ดโมงเช้า ไปตั้งกล้องเตรียมดูนกเงือกกันที่ กม. 30 ซึ่งมีนักท่องเที่ยวทั้งไทย ฝรั่ง ญี่ปุ่น ตั้งกล้องเตรียมพร้อมกันอยู่แล้วราวยี่สิบคน สอบถามได้ความว่านกล็อตใหญ่มากินไทรผ่านไปแล้ว เหลือแค่มาแบบประปรายคราวละตัวสองตัว ส่วนผู้ที่เราไม่ได้ตั้งใจมาดูคือพวกลิงสาระพัดขนาดนั้นมากันเพียบ ห้องโหน โจนทะยาน ขย่มกิ่งไทรกินลูกไทรกันอยู่อย่างเอิกเกริก

เห็นแมะ นกเงือกหนะ พยายามดูหน่อยสิ

พอผมตั้งกล้องสำรวจเสร็จยังไม่มีนกให้ส่องก็ส่องลิงไปก่อน คนญี่ปุ่นอายุราวหกสิบเจ็ดสิบที่ตั้งกล้องส่องขนาดยาวหนึ่งศอกอยู่ข้างๆ เขาเห็นกล้องของผมเป็นกล้องแบบประหลาดก็มาขอดูบ้าง พอเห็นลิงนั่งหยิบลูกไทรกินหนุบหนับอยู่ในกล้องเขาก็หัวเราะยกนิ้วโป้งให้แล้วพูดภาษาญี่ปุ่นซึ่งผมเดาเอาว่าเขาคงพูดว่า

“กล้องแบบนี้ดีแต่ใช้ส่องลิงเท่านั้นแหละ” ประมาณนั้น หิ..หิ

คุณแจ่มมาสมทบตามนัด เธอมากับเพื่อนนักนิยมไพรอีกคนหนึ่ง มีนกเงือกบินมาอีกสองสามตัวพอให้ได้ส่องและถ่ายรูป หลังจากนั้นก็เงียบ ผมเอาข้าวหลามที่แกะฝานเป็นแว่นใส่กล่องพลาสติกมาจากบ้านออกมาเปิดกิน แบ่งให้คนญี่ปุ่นที่นั่งข้างๆด้วย ผมบอกเขาว่า

อันนี้เป็นภาพฝีมือคุณแจ่ม ไม่ต้องบรรยาย
นกไม่มาก็กินข้าวหลามและดูลิงไปก่อน

“Bamboo sticky rice”

เขารับไปกินแล้วพร่ำพรรณาขอบคุณบวกพูดอะไรอีกไม่รู้ยาวเหยียด

พอว่างจากส่องนกก็มีเวลามองไปรอบๆ อากาศยามสายๆบนเขาใหญ่เย็นสบายดีแม้จะเป็นหน้าร้อน ผมสังเกตเหล่าคนที่มาตั้งกล้องส่องนก ส่วนใหญ่เป็นคนมีอันจะกิน ทั้งนี้ผมดูเอาจากความยาวของเลนส์ที่ติดกล้องถ่ายรูปบนขาตั้งของแต่ละคน แทบทุกคนเล่นเลนส์ยาวระดับหนึ่งศอกทั้งนั้น และผมสังเกตว่าส่วนใหญ่พวกเขาจะเป็นคนพันธ์ “นิ่ง” กางเก้าอี้ผู้กำกับนั่งเอ้เต รอการมาของนกแบบมาเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ไม่ได้แสดงอาการอาทรร้อนใจอะไร บางคนถ้าไม่หลับนกอยู่ก็คงกำลังนั่งสมาธิ ดูพวกเขาจะมีความสุขกับการได้มาตั้งกล้อง ได้มานั่ง มากกว่าการจะได้เห็นหรือไม่ได้เห็น นับว่าเขาก็มีความสุขตามแบบของพวกเขา ต่างจากพวกเราซึ่งเป็นคนพันธ์ “ยุกยิก” คือมาเพื่อจะต้องเห็นนกให้ได้ ไม่มีนกก็จะออกอาการถามหา ร้อนรน กระวนกระวาย ระเบ็งเซ็งแซ่ นักดูนกพันธุ์แท้มองพวกเราแบบสงสาร แต่พวกเราไม่รู้ตัวหรอก เรายังคงภูมิใจ และมีความสุขตามแบบพวกเรา หิ..หิ

คุณแจ่มถามว่า

“จะพาไปดูรังนกเงือกที่เป็นครอบครัวประหลาดเอาไหม” ผมตอบว่าเอา และถามว่า

“มันประหลาดยังไง”

คุณแจ่มเล่าว่าธรรดานกเงือกจะมีชีวิตอยู่กันเป็นคู่ ผัวเดียวเมียเดียวตลอดชีพ เมื่อมีลูกตัวเมียและลูกๆจะเข้าไปอยู่ในโพรงไม้แล้วปิดโพรงไม้เหลือรูเล็กนิดเดียวพอเอาจงอยปากส่งอาหารเข้าไปได้เท่านั้น ส่วนตัวผู้จะเป็นผู้ไปหาอาหารมาเลี้ยงลูกเมียจนลูกๆโตจึงจะเจาะปากรูพาลูกๆออกมาใช้ชีวิตในโลกกว้าง แต่นกเงือกที่เธอจะพาไปดูนี้ มีนกเงือกที่อยู่ข้างนอกและเวียนกันเอาอาหารมาส่งเสียเลี้ยงดูนับรวมได้ถึงห้าตัว ไม่ใช่ตัวเดียว

ผมนึกในใจว่านางนกเงือกสมัยนี้ได้พัฒนาตัวเองเรียนรู้เรื่องการใช้ประโยชน์จาก “กิ๊ก” ไปเรียบร้อยแล้วแฮะ แถมเธอผู้นี้มีกิ๊กตั้งห้าตัว ช่างเป็นนางนกเงือกที่สวยและฉลาดเสียจริง น่าเสียดายที่ผมจะไม่ได้เห็นหน้าเธอในวันนี้เพราะเธออยู่กับลูกๆในโพรงไม้ที่มีรูเข้าแค่จงอยปากลอดได้ เพื่อนอีกคนหนึ่งให้ความเห็นว่าเธอน่าจะมาจากทางมาเลเซีย เพราะทางโน้นหากคนหนึ่งอยากแต่งงานกับคนอื่นทีเดียวพร้อมกันสัก 4 คนก็สามารถทำได้ หิ..หิ

เมื่อคณะเราไปถึง บังไพรก็กลายเป็นสวนจตุจักร

เราขับตามคุณแจ่ม ไปจอดรถไว้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว แล้วออกเดินเท้าตามคุณแจ่มและเพื่อนของเธอไปตามทางเดินดีๆในป่าดงดิบที่มีต้นไม้เขียวชอุ่ม เดินขึ้นๆลงๆอีกหลายร้อยเมตร ก็มาถึง “บังไพร” ขนาดประมาณห้องสุขา ที่เขาเตรียมไว้ให้ซุ่มดูนกเงือกส่งอาหารเลี้ยงลูกเมียซึ่งขังตัวเองอยู่ในโพรงแถบนี้ มีนักนิยมไพรผู้ชายอายุราวห้าหกสิบปีสองคนได้ตั้งกล้องบนขาตั้งแล้วและกำลังยืนรอการมาของนกเงือกตัวผู้อยู่อย่างใจเย็น บรรยากาศแรกเริ่มเป็นแบบกลางป่าดงดิบที่เงียบสงบและเคร่งขรึม แต่พอคณะเรามาถึง ทั้งบังไพรก็กลายเป็นสวนจตุจักร สมาชิกพวกกันเองบางท่านต้องคอยจุ๊ปากเตือนเสียงจึงลดลง แต่ก็ยังไม่วายกระซิบกระซาบซุกซิกซุกซิก และไม่วายยุกยิก เดี๋ยวคนนั้นจะเอายากันยุง เดี๋ยวคนนี้ร้องเรียนว่าไม่เห็นรูรังนกว่าอยู่บนต้นไม้ต้นไหน ต้นนั้นหรือต้นนี้ ผู้หวังดีก็ได้แต่คอยกระซิบว่าก็ต้นสูงๆนั่นไง ผมนึกขำอยู่ในใจว่าโห ในป่าดงดิบอย่างนี้ต้นไม้ยืนต้นจะไปหาต้นเตี้ยได้ที่ไหนละ

นายนกเงือก กำลังป้อนอาหารลูกเมียที่อยู่ในโพรง

“มาแล้ว มาแล้ว”

สิ้นเสียงกระซิบแหลมๆดังๆของนักนิยมไพรตัวปลอม ทั้งบังไพรก็เงียบกริบ

ผมเพิ่งรู้สึกว่าในบังไพรเพิ่งจะเกิดสมาธิขึ้นก็ตอนได้ยินคำว่า “มาแล้ว” นี่เอง

นายนกเงือกรูปร่างใหญ่กางปีกขนาดกว้างสองข้างรวมกันไม่หนีหนึ่งเมตรกวักลมอย่างช้าๆโสว์โมชั่นอยู่กลางอากาศ แล้วค่อยๆร่อนลงจอดบนกิ่งไม้ต้นถัดไป เหลียวซ้ายแลขวาลาดตระเวณ แล้วก็โผบินตรงไปยังปากรูรังนก เอาเล็บจิกปีกไม้ไว้และกางปีกอ้าแขนโอบต้นไม้ ทรงตัวนิ่งในท่ายืน หันหน้าเข้าหารู แล้วก็ซ้ายหันเก้าสิบองศาเพื่อสำรอกเอาอาหารที่นำมาจากกึ๋นขึ้นมาในปาก แล้วเคี้ยวขยำสองสามทีด้วยจงอยปาก ผมเข้าใจว่าอาหารที่สำรอกออกมาคงจะเป็นเม็ดแข็ง จากนั้นจึงขวาหันกลับไปหารู เอาปลายจงอยปากยื่นเข้าไปป้อนอาหารในรู เราไม่อาจมองเห็นนางนกเงือกและลูกๆของเธอได้เพราะปากรูเล็กนิดเดียว เสียงก็ไม่ได้ยินเพราะรูอยู่สูงจากพื้นดินราวหกเมตร นายนกเงือกทำขั้นตอนปฏิบัติ ซ้ายหัน สำรอก เคี้ยว ขวาหัน ป้อน ซ้ำๆอยู่สี่ห้าครั้ง แล้วก็บินผละออกจากต้นไม้ออกไป

“มาอีกละ มาอีกละ”

คราวนี้เป็นรอบของนายนกเงือกตัวที่สองซึ่งบินมาจอดรอคิวอยู่ที่ต้นไม่อีกต้นหนึ่งได้ประมาณห้าวิแล้ว เมื่อนายนก-1 ผละออกไป นายนก-2 ก็เข้าประจำที่ปฏิบัติการป้อนแทน ด้วยเวอร์คโปรซีเจอร์เหมือนนายนก-1 ทุกประการ คือซ้ายหัน สำรอก เคี้ยว ขวาหัน ป้อน ทำซ้ำอยู่สี่ห้ารอบ

“มาอีกแล้ว มาอีกแล้ว”

คราวนี้เป็นนายนก-3 เข้ามาทำหน้าที่ต่อ ผมจำไม่ได้ว่าทั้งหมดมากันครบห้าตัวตามที่คุณแจ่มเคยนับไว้หรือไม่ จำได้แต่ว่ามีการเวียนเข้ามาป้อนซ้ำอย่างน้อยก็ 3-4 รอบ

พอจบรอบมื้ออาหารของนกเงือก ทั้งป่าก็เงียบสงัดอยู่ครึ่งวินาที ก่อนที่เสียงภายในตลาดนัด “บังไพร” จะกลับมาใหม่ ไล่ที่ความเงียบ พาความรู้ตัวกลับมาสู่โลกของขี้ปากมนุษย์ดังเดิม

“พวกพี่ๆโชคดีมากนะครับ มาแป๊บเดียวก็ได้เห็นเลย ผมมารออยู่ชั่วโมงกว่าแล้ว”

นักนิยมไพรตัวจริงพูดกับสมาชิกของเราท่านหนึ่ง ผมไม่แน่ใจว่าเป็นการประชดหรือเป็นการขอบคุณว่าพวกเราเป็นตัวนำโชคกันแน่

เราเดินย้อนทางเดินกลับออกมา ป่าทั้งป่าอากาศเย็นสบาย ผมบอกเพื่อนที่มาทั้งๆที่ยังป่วยว่า

“พี่สูดลมหายใจเข้าลึกๆ อย่างนี้แหละที่เขาเรียกว่าอาบป่า ในอากาศของป่าอย่างนี้มีโมเลกุลดีๆที่จะช่วยฟื้นฟูร่างกายเราได้มาก”

บริเวณรอบๆศูนย์ข้อมูลเป็นภูมิทัศน์ที่น่าสนใจ ก่อนออกเดินไปดูรังนกเงือก ผมลืมเล่าว่าเราแวะดูเหล่านักนิยมไพรราวสี่ห้าคนตั้งกล้องอยู่ริมน้ำลำตะคองเหมือนรออะไรสักอย่าง จึงแวะเข้าไปสอบถาม ได้ความว่าเขาตั้งกล้องเล็งไปที่รังนกนางพญาปากกว้างหางยาว ซึ่งมีหน้าตาสะสวยเหมือนผู้หญิงที่นั่งมอเตอร์ไซค์ใส่หมวกกันน็อค จนเป็นนกขวัญใจนักนิยมไพรตัวหนึ่ง พวกเราก็เลยผสมโรงดูกับเขาไปด้วย โดยตั้งกล้องเล็งไปที่รังนกที่มีหน้าตาคล้ายๆกองขยะเจาะรูทางเข้าแขวนต่องแต่งอยู่บนต้นไม้

นางพญาปากกว้างหางยาว ฝีมือถ่ายของเพื่อนใหม่ข้างๆ

แล้วนกนางพญาก็มา โผบินเกาะรัง ป้อนอาหารลูก แล้วก็ผละออกจากรังไปหาอาหารต่อ แล้วก็กลับมาอีก คราวนี้มุดเข้าไปในรัง โผล่หน้าอันสวยงามออกมาชมวิวข้างนอก ขณะที่เสียงลั่นชัตเตอร์ดังฟึบฟับเชาะแชะไม่หยุด ได้ครู่หนึ่งเธอกองออกจากรังไปหาอาหารอีก น่าเสียดายที่กล้องสำรวจรังวัดของผมถ่ายรูปไม่ได้ ต้องอาศัยขออนุญาตใช้รูปฝีมือที่ท่านอื่นๆที่ถ่ายอยู่ด้วยกัน

พอคล้อยหลังนกบินไปแล้ว ก็เป็นรายการเม้าท์มอย สมาชิกของเราไม่วายแสดงนิสัยใฝ่รู้ไปสอบสวนเรื่องกล้องเรื่องเลนส์ต่างๆที่เขาตั้งส่องกัน ส่วนใหญ่ไปล้วงความลับเรื่องราคา

“ของผมราคาไม่แพง เพราะผมเป็นนักเล่นระดับง่ายๆสบายๆ กล้องผมไม่ถึงห้าหมื่น เลนส์ผมก็ไม่ถึงสองแสน”

สมาชิกผู้สอดรู้อ้าปากค้าง

“โห..แล้วอย่างแพงมันจะเท่าไหร่กันละคะ”

อีกท่านหนึ่งตอบให้ว่า

“ปกติที่เขาเล่นกันก็เลนส์ประมาณหกแสน กล้องประมาณสองแสน แต่บางรายอย่างเช่นที่เป็นข่าวว่าเอากล้องทูนหัวลุยน้ำลอยคอไปถ่ายรูปนกที่บึงบรเพ็ดนครสวรรค์อันนั้นเลนส์ของเขา เลนส์อย่างเดียวนะ ล้านกว่าบาท”

นักนิยมไพรท่านแรกมองดูกล้องของผมแล้วว่า

“นี่พี่เอากล้องสำรวจมาส่องเลยหรือครับ”

ผมยิ้มพยักหน้า ไม่กล้าต่อความยาวเพราะกล้องของผมราคาไม่ถึงหมื่น และเขาใช้สำรวจรังวัดไม่ใช่ใช้ส่องดูอะไรอื่น หนุ่มคนนั้นเห็นผมเงียบจึงเฉลยว่า

“ผมเรียนโยธามา จึงรู้ว่ามันเป็นกล้องสำรวจ”

ผมนึกในใจว่าอ้อ.. เป็นวิศวกร แล้วมาเอาดีทางส่องนกนี่เอง

จรเข้พันธ์พุงใหญ่ ลอยคออย่างสบายอารมณ์ในลำตะคอง

จบดูนกนางพญาแล้วเราเดินวนรอบๆริมน้ำลำตะคอง ดูกิ้งก่า ดูอะไรก็ไม่รู้ขนาดเท่าจรเข้ลอยคอไปตามลำน้ำ บางจังหวะก็ขึ้นมาตากพุงอยู่บนหาดหิน มันคงไม่ใช่จรเข้ เพราะมันพุงใหญ่กว่าจรเข้ ผมถ่ายรูปตอนมันลอยคอมาด้วย

เราแยกจากคุณแจ่มกับเพื่อนของเธอซึ่งจะไปเดินไพรตามประสาของเธอต่อ แต่เราออกจากอุทยานเขาใหญ่ แวะกินข้าวกลางวัน เอ้อระเหยพักใหญ่ แล้วก็เดินทางต่อไปยังสำนักงานเทศบาลหมูสี ตรงไปที่ห้องส้วมสีม่วงตามคำบอก เพื่อไปดูนกฮูกใหญ่ที่ต้นไม้ใหญ่ข้างห้องส้วม เรามีข้อมูลสองชุด ชุดแรกเป็นคำสั่งเสียของหมอเบิร์ดว่าจะดูนกฮูกต้องไปแต่เช้าหรือเย็นซึ่งเป็นเวลามันเข้าออกรัง อีกชุดหนึ่งเป็นข้อมูลของคุณแจ่ม ว่าตอนนี้ดูมันได้ตลอดวันเพราะลูกมันยังไม่โตมันต้องเฝ้าลูกไม่ไปไหน มันคงจะอยู่แค่สองสามวันจนลูกมันบินได้ มันจึงจะไป เธอว่าไปดูเถอะไม่เหงาหรอก มีคนตั้งกล้องส่องดูกันตรึม

แต่เมื่อมาถึงห้องส้วมสีม่วง จอดรถ ลงจากรถ เหลียวมองไปรอบๆ เงียบ..บ

ภาพที่คุณแจ่มเห็น ซึ่งเหมือนกับที่เราเห็นทุกอย่าง..ยกเว้นตัวนกฮูก

มีแต่สุภาพสตรีท่านหนึ่งถือกล้องยาวหนึ่งศอกนั่งทอดอาลัยอยู่บนก้อนหิน ผู้สื่อข่าวของเราจึงไปเสาะข่าวจากเธอ

“หนูก็ไม่รู้เหมือนกันพวกเขาไปไหนกันหมด ตอนเที่ยงหนูยังถ่ายวิดิโอลูกของเขาหัดบิน เขาบินลงมากิ่งล่าง แล้วเดินขึ้นไปต้้งต้นที่กิ่งบน นี่ไง เธอเปิดไฟล์ที่เธอบันทึกไว้ให้ดู แล้วพอหนูไปกินข้าวชั่วโมงเดียว กลับมาพวกเขาหายไปกันหมดแล้ว”

แป่ว..ว เรามาช้าไปชั่วโมงเดี่ยวหรือนี่ ทำไมเทวดามาแกล้งเราเอากลางคันอย่างนี้ ตอนเช้าให้เราเป็นคนนำโชค ตอนบ่ายมาเอาโชคไปจากเรา เฮ้อ นี่หรือที่เขาเรียกว่าโชคชะตา แล้วความผิดหวังของเราก็คอนเฟิร์มเมื่อคุณแจ่มโทรศัพท์มาเช็คว่าเราทันนกไหม เธอเล่าต่อว่า

“มีคนเขาบอกในโซเชียลว่าตอนใกล้บ่ายโมงแม่นกฮูกจับเอาหนูมาล่อลูกๆให้ลูกๆให้บินตามเธอไป พากันเข้าไปยังในป่าลึก”

จบข่าว

เราพากันขึ้นรถกลับบ้าน ลูกชายเป็นพลขับ ผมกำลังจะม่อยหลับเพราะเพลียจากการเดินป่า เสียงหมอสมวงศ์ทดสอบความจำของผมดังขึ้นมาว่า

“จำได้ไหม ชื่อของนกสีสวยๆชื่ออะไร” ผมตอบโดยไม่ต้องคิดว่า

“นางพญาปากกว้างสวมหมวกกันน็อค”

หิ..หิ..หิ ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

………………………………………………………….

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

24 มีนาคม 2567

LDL ทำให้เป็นโรคหัวใจจริงหรือไม่ ตัวช่วยคือ Mandelian Randomization

( ภาพวันนี้ / สาบเสือ)

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้ค กรุณาคลิกภาพข้างล่าง)

เรียนอาจารย์สันต์ ที่นับถือ

ผม นพ. … เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขา …. ผมมีความไม่เห็นด้วยกับแพทย์โรคหัวใจในสองประเด็น คือ (1) การปกป้องแอลกอฮอล์ว่าเป็นปัจจัยลดการตายของโรคหัวใจ (2) การปักใจเชื่อว่า LDL เป็นสาเหตุหรือเป็นปัจจัยเสี่ยงอิสระต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ทั้งสองประเด็นนี้ผมรู้สึกว่าแพทย์โรคหัวใจพาประชาชนเข้ารกเข้าพงไปผิดทางด้วยคำแนะนำที่ไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่ดีสนับสนุน

ในประเด็นแอลกอฮอล์ลดการตายจากโรคหัวใจหลอดเลือดนั้น ผมยังไม่เคยเห็นหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ที่เชื่อถือได้สักงานวิจัยเดียว งานวิจัย Framingham Study ที่หมอ cardio ชูเป็นธงนำทางนั้น มันเป็นแค่งานวิจัยเชิงระบาดวิทยาเล็กๆซึ่งมีปัจจัยกวนมากมาย ไม่น่าเชื่อว่าสาขา cardio จะเอามาสรุปเป็นตุเป็นตะว่าแอลกอฮอล์ดีต่อหัวใจทั้งๆที่แอลกอฮอลสัมพันธ์กับการเพิ่มอัตราตายจากทุกสาเหตุ รวมทั้งจากโรคหัวใจเองด้วย งานวิจัยไวน์แดงกับการตายจากโรคหัวใจก็เป็นแค่งานวิจัยเชิงระบาดวิทยาขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่ไม่ได้คำนึงถึง confound factor ที่สำคัญคืออาหารที่กลุ่มคนดื่มไวน์แดงดื่ม (Mediterranean diet) ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนกลุ่มนั้นอายุยืน

ในประเด็นการเหมาโหลว่า LDL เป็นปัจจัยเสี่ยงอิสระของโรคหัวใจหลอดเลือดนั้น ทำไมหมอ cardio ไม่พูดถึงงานวิจัยเชิงระบาดวิทยาขนาดใหญ่เหมือนกัน (Ann Intern Med. 2014 Mar 18;160(6):398-406.) ที่แสดงว่าไขมันอิ่มตัว (SFA) ซึ่งเป็นต้นเค้าของการเพิ่ม LDL ไม่ได้สัมพันธ์กับการป่วยเป็นโรคนี้ เหมือนจงใจเมินเฉยต่อความเป็นไปได้ที่โรคอาจจะเกิดจาก unknow factor ที่เป็นสาเหตุจริงของโรคซึ่งเรายังไม่รู้จัก ขณะที่การมี LDL สูงและการเป็นโรคหัวใจต่างก็เป็นผลจาก unknown factor นั้น

ผมเขียนมาหาอาจารย์ด้วยเคารพว่าอาจารย์เป็นสาย evidence based ตัวจริง ถ้าจดหมายผมทำให้อาจารย์ขุ่นเคืองผมก็ขออภัยด้วยครับ

………………………………………………………

ตอบครับ

โอ้โฮเฮะ เดี๋ยวนี้หมอเขาโซ้ยกันข้ามสาขาแบบตรงๆโต้งๆเลยนะเนี่ย หิ หิ หนุก หนุก หนุก ก่อนจะตอบจดหมายของคุณหมอ ขอบอกท่านผู้อ่านทั่วไปที่ไม่ชอบเรื่องยากๆให้ผ่านเรื่องนี้ไปเลยครับ และก่อนอื่น ผมขอนิยามศัพท์แพทย์บางคำซึ่งจะทำให้คนอ่านทั่วไปหมดสนุกหากไม่เข้าใจ

Cardio เป็นคำย่อของ Cardiology แปลว่าสาขาโรคหัวใจ ซึ่งเป็นสาขาความชำนาญสาขาหนึ่งของวิชาแพทย์แผนปัจจุบัน

Framingham Study เป็นงานวิจัยเชิงระบาดวิทยาที่ติดตามดูการเจ็บป่วยของคนในชุมชนฟรามิงแฮม ประเทศสหรัฐฯ จำนวนรวมราว 5000 คน งานวิจัยนี้เป็นที่มาของการให้ความรู้ว่าบุหรี่ ไขมัน ความดัน เบาหวาน กรรมพันธ์ เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจหลอดเลือด และว่าแอลกอฮอล์ในขนาดพอประมาณลดความเสี่ยงของโรคหัวใจหลอดเลือด

confound factor แปลว่าปัจจัยกวน คือสิ่งที่เป็นต้นเหตุจริงของการเกิดโรคแต่ผู้วิจัยไม่รู้ จึงสรุปงานวิจัยเปรียบเทียบคนสองกลุ่มที่ไม่ได้ใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่ม (RCT) ผิดความจริงไป ว่าโรคเกิดจาก “นั่น” จาก “นี่” ทั้งๆที่โรคอาจเกิดจากปัจจัยกวน ส่วน “นั่น” และ “นี่” เป็นเพียงสิ่งที่พบร่วมกันกับปัจจัยกวน ยกตัวอย่างงานวิจัยสมัยหนึ่งเคยสรุปว่ากาแฟเป็นสาเหตุของโรคหัวใจแต่ต่อมาจึงได้ทราบว่าการสูบบุหรี่ในคนที่ดื่มกาแฟต่างหากที่เป็นสาเหตุ ดังนั้นบุหรี่เป็นปัจจัยกวนของการวิจัยว่ากาแฟเป็นสาเหตุของโรคหัวใจหรือไม่ เป็นต้น

Unknown factor แปลว่าปัจจัยที่นักวิจัยยังไม่รู้จักแต่มันเป็นสาเหตุที่แท้จริงของโรค ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันนี้เรารู้ว่าคนเป็นโรคหัวใจมีไขมันเลว (LDL) สูง แต่มันเป็นไปได้ว่ามันมี unknown factor ที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เป็นทั้งโรคหัวใจอยู่ และที่เป็นต้นเหตุให้ LDL สูงด้วย พูดง่ายๆว่า LDL สูงอาจเป็นผลของโรค ไม่ได้เป็นเหตุ การมาด่วนสรุปว่า LDL เป็นเหตุของโรคหัวใจก็เป็นการสรุปผิด เป็นต้น

Evidence based แปลว่าการแพทย์แบบอิงหลักฐานวิทยาศาสตร์ ไม่อิงความเชื่อเปะปะ

เอาละ ได้นิยามศัพท์กันแล้ว คราวนี้มาตอบคำถาม

1.. ถามว่าหมอโรคหัวใจผิดไหม ที่ป่าวประกาศว่าแอลกอฮอล์มีคุณต่อหัวใจ ตอบว่าผมเห็นด้วยกับคุณว่าหมอโรคหัวใจอาจป่าวประกาศผิด เพราะเมื่อวิเคราะห์รวมหลักฐานวิจัยใหม่ๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัย INTERHEART Study ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ใหญ่กว่า ดีกว่า ครอบคลุมคนหลายชาติมากกว่า ได้สรุปปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจว่ามี 9 อย่างคือ บุหรี่ ไขมัน ความดัน เบาหวาน อ้วนลงพุง เครียด กินพืชผักผลไม้น้อย ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ออกกำลังกาย ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากข้อสรุปเดิมในประเด็นแอลกอฮอล์ คือสรุปโต้งๆเลยว่าแอลกอฮอลเป็นหนึ่งในเก้าสาเหตุหลักของโรคหัวใจ ซึ่งตัวผมเองให้น้ำหนักงานวิจัย INTERHEART ว่าเป็นหลักฐานที่ดีกว่าด้วยประการทั้งปวง ดังนั้นผมเห็นด้วยกับคุณหมอ 100% ว่าหมอโรคหัวใจพูดผิดควรพูดใหม่ว่าแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของโรคหัวใจ ไม่ใช่ดื่มแล้วจะทำให้โรคนี้ดีขึ้น แต่ว่าขอเวลาให้หมอโรคหัวใจเขาปรับตัวกับข้อมูลใหม่ๆสัก 20 ปีก่อนได้ไหมครับ เพราะไวน์แดงที่ซื้อตุนไว้ยังไม่พร่องตู้เลย หิ หิ คุณเองก็เป็นแพทย์คุณเองคุณก็รู้อยู่ว่าวงการของเรามีธรรมชาติปรับตัวช้า ต้องให้เวลากันหน่อย

2.. ถามว่าเมื่อไม่มีหลักฐานว่า LDL สูงเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ ทำไมไม่พูดตรงๆแล้วไปทุ่มให้กับการค้นหา unknown factor แทนที่จะมามุ่งลด LDL กันเป็นบ้าเป็นหลังอย่างทุกวันนี้ ฮี่..ฮี่ แหม ตรงนี้เรื่องใหญ่นะ ใจเย็นๆนะครับคุณพี่ เอ๊ย..คุณหมอ ผมเห็นด้วยกับคุณหมอว่าเราไม่มีหลักฐานตรงๆว่า LDL เป็นปัจจัยเสี่ยงอิสระของโรคหัวใจ เราจะทำวิจัยเพื่อพิสูจน์ด้วยการสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่ม (RCT) ก็ทำไม่ได้เพราะจริยธรรมการวิจัยไม่เอื้อให้ทำอย่างนั้นได้ ดังนั้นเราไม่มีหลักฐานวันนี้ วันหน้าเราก็จะยังไม่มีหลักฐานอยู่ดี จำเป็นที่เราจะต้องพึ่งหลักฐานที่ดีที่สุดที่เรามี ผมเห็นด้วยกับคุณหมอว่าหลักฐานระดับระบาดวิทยาสองฝ่ายนั้นกินกันไม่ลงว่า LDL เป็นหรือไม่เป็นเหตุของโรคหัวใจ แต่ผมขอเสนอให้คุณหมอมองหลักฐานวิจัยในแบบ Mandelian Randomization ซึ่งเป็นหลักฐานที่ดีกว่างานวิจัยเชิงระบาดวิทยา แม้จะไม่ดีเท่า RCT แต่มันเป็นคอนเซ็พท์การวิจัยที่จะทำให้คุณหมอยอมรับว่า LDL เป็นสาเหตุของโรคหัวใจได้อย่างสนิทใจเลยนะ

ให้ผมอธิบายนะ ตอนนี้เรารู้แค่ว่าคนเป็นโรคหัวใจมี LDL สูง แต่บอกไม่ได้ว่า LDL เป็นเหตุหรือเป็นผลของโรค โอเค. ตอนนี้เรามาถึงทางตันหาทางออกไม่ได้สรุปไม่ลง แต่คอนเซ็พท์งานวิจัยแบบ Mandelian Randomization ก็คือเมื่อเราสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเพื่อขจัดปัจจัยกวนไม่ได้ เราก็อาศัยพันธุกรรมเป็นตัวสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มให้สิ เพราะพันธุกรรมแบ่งคนมาตั้งแต่เกิดไม่ผิดจริยธรรมการวิจัยใดๆทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเรื่อง LDL กับโรคหัวใจนี้ เราก็อาศัยพันธุกรรมแบ่งกลุ่มคนออกเป็นสองกลุ่ม

กลุ่มที่ 1. คือคนที่มียีนเอื้อต่อการเป็นโรคไขมันสูง (familial hypercholesterolemia) ซึ่งตรวจยีนพบและมี LDL สูงตั้งแต่อายุน้อย

กลุ่มที่ 2. คนทั่วไปที่ไม่มียีน familial hypercholesterolemia ซึ่งตอนอายุน้อยๆ LDL ก็จะยังไม่สูง

นี่คือการสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มแบบ Mandelian randomization คือเราไม่ได้สุ่มจับฉลากก็จริง แต่อาสัยยีนช่วยจับฉลากแบ่งกลุ่มให้ เที่ยงธรรมและไม่มีปัจจัยกวนใดๆเพราะแบ่งมาตั้งแต่เกิด แล้วตามดูคนสองกลุ่มนี้ไปว่าในอนาคต กลุ่มไหนจะป่วยและตายจากโรคหัวใจมากกว่ากัน ซึ่งงานวิจัยแบบนี้มีคนทำไว้แล้ว และพิสูจน์ได้แล้วว่าคนมียีน familial hypercholesterolemia จะป่วยและตายด้วยโรคหัวใจมากกว่าคนไม่มียีนนี้ ตรงนี้เป็นหลักฐานที่ดีมากที่บ่งชี้ว่า LDL เป็นปัจจัยเสี่ยงอิสระที่ทำให้เป็นโรคได้ด้วยตัวของมันเองโดยไม่ต้องพึ่งปัจจัยกวนหรือ unknown factor อื่นๆเลย

ดังนั้น ขณะที่ผมยอมรับว่างานวิจัยเชิงระบาดวิทยานั้นก้ำกึ่งว่า LDL เป็นเหตุของโรคหัวใจจริงหรือไม่ แต่งานวิจัยภายใต้คอนเซ็พท์ Mandelian randomization ผมถือว่าเป็นหลักฐานที่ชี้ได้ชัดแล้วว่า LDL เป็นสาเหตุอิสระของโรคนี้อย่างแท้จริง ผมจึงมีความเห็นขัดแย้งกับคุณหมอที่จะให้เลิกแนะนำผู้ป่วยว่า LDL ไม่ใช่สาเหตุของโรคหัวใจ

เรื่อง Mandelian randomization นี้ ผมอาจจะอธิบายห้วนไปหน่อยเพราะเวลามีน้อย แต่รบกวนคุณหมออ่านสักสองสามรอบ หากยังข้องใจหงุดหงิดหมอ cardio อยู่ไม่เลิกก็เขียนมาอีกได้ครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

21 มีนาคม 2567

เป็นเรื่องจริงหรือไม่ที่ว่าทำ IF แล้วจะตายมากขึ้น 91%

(ภาพวันนี้ / ป้ายทางเข้าบ้านหมอสันต์ ผุพังไปด้วยชราภาพ)

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้ค กรุณาคลิกภาพข้างล่าง)

ปกติผมไม่ตอบคำถามเรื่องที่ร่อนกันในอินเตอร์เน็ทว่าอะไรจริงไม่จริง เพราะถ้าทำอย่างนั้นบล็อกนี้ก็จะไม่เหลือเวลามาทำสิ่งที่เป็นวัตถุประสงค์หลักของบล็อกคือให้ความรู้เรื่องการป้องกันและพลิกผันโรคด้วยตนเอง แต่วันนี้ขอยกเว้นกฎซะหนึ่งวัน เพราะมีคำถามเรื่องนี้เข้ามามาก หลายท่านที่ถามก็เป็นแฟนพันธ์แท้ของบล็อกมานานแบบว่าถ้าไม่ตอบก็คงจะผิดใจกัน ตัวคำถามมีอยู่ว่า ที่สมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA) ได้ตีพิมพ์งานวิจัยที่สรุปได้ว่าการงดอาหารแบบ IF <8 ชม (คือมีช่วงเวลากินไม่เกิน 8 ชม.) ทำให้ตายจากโรคหัวใจหลอดเลือดเพิ่มขึ้น 91%นั้น..จริงหรือไม่? ถ้าไม่จริงทำไมเผยแพร่ออกมา? ใครเป็นสปอนเซอร์งานวิจัย มีนอกมีในหรือไม่?”

………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าเรื่อง IF ทำให้ตายมากขึ้น 91% นี้เป็นผลวิจัยของ AHA จริงหรือเปล่า ตอบว่าไม่ใช่หรอกครับ ยังไม่นับเป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำไป เพราะมันเป็นแค่โปสเตอร์ติดตามบู้ทหน้าห้องประชุม EPLC ประจำปี 2024 ของ AHA เมื่อเดือนมีค.นี้ ซึ่งประชุมกันที่เมืองชิคาโก ไม่ใช่ผลวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์มาตรฐานแบบงานวิจัยทั่วไป

ตรงนี้ผมขยายความนิดหนึ่ง คือในการประชุมวิชาการของแพทย์ปกติจะมีการระดมเชื้อเชิญว่าใครมีงานวิจัยใหม่ๆดีๆจะนำเสนอบ้าง ส่วนใหญ่มักจะเป็นงานวิจัยที่วารสารการแพทย์เขารับตีพิมพ์แล้วแต่กำลังรอคิวพิมพ์อยู่จึงจะได้รับเข้าบรรจุเป็นเรื่องที่จะเสนอในที่ประชุม นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมแพทย์ชอบไปประชุมวิชาการ เพราะจะได้รู้อะไรใหม่ๆก่อนที่วารสารจะตีพิมพ์ คือรู้ล่วงหน้าประมาณ 1-2 ปี ส่วนงานวิจัยที่ไม่ถึงขั้นที่เขาจะรับเข้านำเสนอในที่ประชุม ก็มีทางไปสองทาง ก็คือขอใช้พื้นที่หน้าห้องประชุมติดเป็นโปสเตอร์ ถ้าขอฟรีไม่ได้ก็ขอเช่าพื้นที่หน้าห้องประชุมเพื่อติดโปสเตอร์ให้คนมาอ่าน พื้นที่หน้าห้องประชุมนี้จะต้องเช่ากันในราคาแพงเอาเรื่องอยู่ เพราะบริษัทยา บริษัทเครื่องมือ จะมารุมมาตุ้มตั้งบู้ทส่งเสริมการขายสินค้าของเขาให้กับเหล่าแพทย์ซึ่งถือว่าเป็นลูกค้าสำคัญในธุรกิจนี้

2. ถามว่าถ้าไม่ใช่ผลวิจัยจริงทำไมเผยแพร่ออกมา หิ หิ ตอบว่าในการประชุมวิชาการสำหรับแพทย์นี้ มันต้องมีการโฆษณาล่อตะเข้ให้ทั้งแพทย์และบริษัทยามาร่วมการประชุม เพราะมันเป็นรายได้หลักขององค์กรผู้จัดทั้งขึ้นทั้งล่อง แพทย์มาก็ได้ค่าลงทะเบียน บริษัทยามาก็ได้ค่าขายบู้ทแสดงสินค้า ได้ค่าตั้งโปสเตอร์ ในการโฆษณาการประชุมก็ทำคล้ายๆกับงานมหกรรมประกวดภาพยนต์ที่เมืองคานส์ คือต้องมีการออกข่าวเป็นหนังสือพิมพ์และทำวิดิโอคลิปที่เล่าเฉพาะการประชุมนี้ในแต่ละวันแบบวันต่อวันเลยว่ามันน่าตื่นเต้นน่าติดตามเพียงใด คนเขียนหนังสือพิมพ์นี้ก็จ้างนักข่าวอาชีพเขียนให้ เพราะถ้าให้แพทย์เขียนก็จะไม่มีใครมาประชุม ให้นักข่าวเขาเขียนอะไรก็ได้ที่ดึงคนให้มาร่วมประชุมแยะๆ ถ้าคุณสังเกตให้ดีเขาจะมีห้อยท้ายตัวเล็กๆไว้ท้ายหนังสือพิมพ์ว่าทั้งหมดนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ไม่เกี่ยวอะไรกับองค์กรผู้จัดประชุม ข่าวที่คุณได้มาก็ได้มาจากหนังสือพิมพ์แบบนี้แหละครับ ซึ่งหากใครอยากจะให้เรื่องไหนดังมากเป็นพิเศษก็ไปจ้างสำนักข่าวยักษ์ใหญ่ให้หยิบเอาข่าวหนังสือพิมพ์นี้ไปตีข่าวอีกทอดหนึ่ง

3.. ถามว่าใครเป็นสปอนเซอร์ มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือเปล่า ตอบว่าตรงนี้คุณรู้ไปก็ไม่ได้ประโยชน์ดอกครับ เพราะสมัยนี้เขามีวิธีแหกตาที่แยบยล สมมุติว่าผมเป็นบริษัทขายสินค้าต้องการจ้างทำวิจัยส่งเสริมการขาย ผมไม่จ้างตรงๆดอก ผมไปจ้างมูลนิธิที่เป็นกลางให้สปอนเซอร์งานวิจัยแทน บางครั้งก็ไปจ้างมูลนิธิในประเทศอื่นเป็นสปอนเซอร์ให้จะได้ห่างๆตัวหน่อย แต่มาใช้ข้อมูลวิจัยในประเทศของตัวเองที่ตัวเองอยากให้ใช้ ซึ่งสำหรับวงในหากเห็นแค่นี้เขาก็พยักหน้าว่าเข้าใจแล้ว..ว

4.. ถามว่าแล้วที่โปสเตอร์นี้บอกว่าทำ IF แล้วจะตายมากขึ้น 91% นั้นจริงไหม ตอบว่าไปสรุปอย่างนั้นไม่ได้ดอกครับ เพราะมันไม่จริงในสามขั้นตอน

ก่อนจะลงไปรายละเอียดขอนิยามศัพท์ให้เข้าใจตรงกันก่อนนะวาการอดอาหารเป็นช่วงๆแบบอดสลับกับกินนี้ภาษาหมอเรียกว่า time restricted eating (TRE) ซึ่งตรงกับที่คนสมัยนี้เรียกว่า intermittent fasting (IF) ซึ่งนิยมเขียนเป็นตัวเลขเศษส่วนเช่น IF16/8 ตัวเลขตัวหน้าแปลว่าเวลาอด ตัวเลขตัวหลังแปลว่าเวลากิน แต่ในงานวิจัยนี้เขาเรียกด้วยวิธีเขียนแบบที่เขาคิดขึ้นมาเองใหม่เป็นตัวเลขตัวเดียวว่า IF<8 ชม. ซึ่งเขาแปลว่ามีเวลากินไม่เกิน 8 ชม. เข้าใจตรงกันนะ ย้ำ IF<8 ของงานวิจัยนี้เท่ากับ IF16/8 ของชาวบ้าน ดูให้ดีนะ เพราะวิธีเรียกชื่อไม่ให้เหมือนชาวบ้านก็เป็นวิธีจงใจให้คนอ่านให้เข้าใจผิดได้แบบหนึ่ง ดังนั้นผมจะเขียนแบบงานวิจัยนี้นำหน้า แล้วเขียนแบบที่คนทั่วไปคุ้นเคยเป็นตัวเอียงไว้ในวงเล็บประกบข้างหลัง เช่น IF<8 (IF16/8) เพื่อป้องกันท่านงงหรือเข้าใจผิด

การจะรู้ความจริง ต้องตามไปดูก่อนว่าเนื้อแท้ของการวิจัยนี้เขาทำมาอย่างไร เป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพมากแค่ไหน ซึ่งผมตามไปดูข้อมูลดิบมาให้แล้วเพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจเรื่องนี้ให้ถูกต้อง พบว่ามันมีเหตุให้เชื่อถือไม่ได้อยู่สามประเด็น คือ

4.1.. มันเป็นการวิจัยแบบ retrospective match case control study ซึ่งเป็นงานวิจัยระดับต่ำมีปัจจัยกวนมากยังเอามาใช้ประโยชน์ไม่ได้ หมายความว่าเป็นการย้อนไปเอาข้อมูลเก่าในอดีต ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกันเลยกับคนที่จงใจทำ IF ที่ฮิตกันอยู่สมัยนี้นะครับ คนละเรื่องกันเลย คืองานวิจัยนี้เขาไม่ได้ทำวิจัยจริงๆอย่างที่เราเข้าใจดอก แต่เขาไปเปิดอ่านผลสำรวจสำมะโนสุขภาพประชากรสหรัฐฯ (NHANES) ปี 2003-2018 คือย้อนไปยี่สิบปีที่แล้วนู่นเชียวซึ่งสมัยโน้นคนยังไม่รู้จักคำว่า IF ด้วยซ้ำไป คือเขาไปเปิดดูผลสำรวจสำมะโนประชากรตั้งแต่ยี่สิบปีก่อนซึ่งสำรวจด้วยแบบสอบถาม แล้วเลือกจดบันทึกมาเฉพาะคนที่มีข้อมูลครบสองวัน (ย้ำ 2 วันเท่านั้น) โดยเจาะจงบันทึกชั่วโมงแรกของวันที่เริ่มเปิดปากกิน และบันทึกชั่วโมงสุดท้ายของวันนั้นที่ปิดปากเลิกกิน แล้วเอาข้อมูลที่ได้มาจำแนกคนออกเป็นกลุ่มๆ คนที่นับชั่วโมงเปิดปากกินจากชั่วโมงแรกถึงชั่วโมงสุดท้าย หากนับได้น้อยกว่ากว่า 8 ชั่วโมงก็จัดให้เป็นพวก IF<8 ชม.(IF16/8) ไม่รู้แหละ สองวันนั้นผู้ตอบแบบสอบถามอาจจะไม่สบายกินอะไรไม่ลงจึงงดกินไปมื้อก็จะถูกนับเป็นพวก IF<8 ชม.(IF16/8)หมด ย้ำอีกที่ว่าไม่เกี่ยวอะไรกับคนที่ทำ IF ทุกวันนี้นะ ไม่เกี่ยวกันเลย หรือช่วงนั้นสมมุติว่าบางคนต้องไปล้างไตตอนบ่ายจึงร่นอาหารขึ้นมากินก่อนบ่าย ก็จะถูกนับเป็นพวก IF<8 ชม.(IF16/8) ด้วย เออ วิธีวิจัยแบบนี้คุณว่ามันจะเชื่อถือได้ไหมละ เพราะปัจจัยกวนที่เห็นๆอยู่ก็คือคนไม่สบายมันก็ต้องกินน้อยกว่าคนที่สุขสบายสบายดีเป็นธรรมดา แล้วมาสรุปว่าผลสุดท้ายเอาดื้อว่าพวกกินน้อยซึ่งถูกเหมาเข้าเข่ง IF<8 ชม.(IF16/8) (ไม่ใช่คนที่ตั้งใจทำ IF อย่างทุกวันนี้นะ ย้ำ) มีอัตราตายมาก ดังนั้นจึงสรุปผลวิจัยว่า IF ไม่ดี จบข่าว หิ..หิ คนอ่านงานวิจัยเป็นอ่านมาถึงแค่นี้ก็เลิกไม่อ่านต่อแล้ว

.2 การเลือกกลุ่มควบคุมและเลือกประเด็นมาสรุปทำอย่างมีอคติ กล่าวคือโดยสามัญสำนึกกลุ่มที่มีช่วงกินอาหาร12 ชั่วโมง (IF12/12) เช่นกินมื้อเช้าแปดโมงเช้ากินมื้อเย็นไม่เกินสองทุ่มน่าจะเป็นกลุ่มตัวแทนคนทั่วไปที่ควรใช้เป็นกลุ่มควบคุม แต่เขาไม่เอา เพราะหากเอากลุ่ม IF<12 (IF12/12) เป็นกลุ่มควบคุมจะไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่ม IF<12(IF12/12) กับกลุ่ม IF<8(IF16/8) เขาไปเลือกเอากลุ่มที่กินชนเที่ยงคืนคือกลุ่ม IF<16 ชม.(IF8/16) เป็นกลุ่มควบคุม เพราะจะเห็นความแตกต่างของอัตราตายที่เขาเอามาขยายผลได้ แต่โปรดสังเกตว่าเขาไม่พูดถึงกลุ่มที่มีอัตราตายต่ำสุดในงานวิจัยนี้เลย กลุ่มที่ตายน้อยที่สุดไม่ใช่กลุ่มควบคุม แต่เป็นกลุ่มที่กินตั้งแต่ตะวันขึ้นยันหลังเที่ยงคืนก็ยังตื่่นขึ้นมากินอีก คือกลุ่ม IF>16 ชม.(IF<8/>16) แปลว่ากลุ่มที่อดน้อยกว่า 8 ชม.แต่กินมากกว่า 16 ชม. พวกนี้ตายน้อยที่สุด เอ้อ แล้วทำไมไม่เห็นเขาพูดถึงเลยว่าต้องทำยังงี้สิจึงจะดี คือกินมันยันป้ายจากเช้ายันหลังเที่ยงคืนจะได้ตายน้อยที่สุด ที่เขาไม่ยอมพูดถึงกลุ่มที่ตายน้อยที่สุดนี้เลยก็เพราะพูดออกมาแล้วจะถูกฮาเพราะมันไม่เม้คเซ้นส์ เพราะคนที่กินทั้งวันทั้งคืนก็ย่อมจะต้องอ้วนแล้วจะไปมีอัตราตายจากโรคหัวใจหลอดเลือดต่ำสุดได้อย่างไร เขาจึงจงใจไม่พูดถึงผลวิจัยในส่วนนี้ เพราะกลัวคนอ่านรู้ทันและสรุปเหมาโหลได้ทันทีจากสามัญสำนึกว่าข้อมูลชุดนี้ทั้งชุดมันใช้ไม่ได้

4.3 การขยายผล อัตราตายที่ต่างกัน จาก 3.9% ให้เป็น 91% เพื่อดึงดูดความสนใจคนอ่าน กล่าวคือข้อมูลจริงในงานวิจัยนี้มีอยู่ว่ากลุ่ม IF<8ชม.(IF16/8) มี 414 คน ตายไป 31 คน อัตราตาย 7.4% ขณะที่กลุ่ม IF<16 (IF8/16) ซึ่งถูกเลือกเป็นกลุ่มควบคุมมี 11,831 คน ตายไป 423 คน อัตราตาย 3.5% มีอัตราตายต่างกัน 3.9% การลดอัตราตายเสี่ยงตายแบบนี้เรียกว่าการลดอัตราเสี่ยงสัมบูรณ์ (absolute risk reduction -ARR) ซึ่งอธิบายปุ๊บชาวบ้านเข้าใจปั๊บ เพราะแสดงที่มาที่ไปของข้อมูลแบบตรงไปตรงมาเข้าใจง่าย แต่มันไม่น่าตื่นเต้ลล์

จากข้อมูลดิบชุดเดิมนี้ เขาเปลี่ยนเป็นการนำเสนอผลในรูปของสัดส่วนการเกิดเรื่องร้าย (Hazard Ratio – HR) แล้วแสดงความแตกต่างของการเกิดเรื่องร้ายนั้นในรูปของ%การลดความเสี่ยงสัมพัทธ์ (relative risk reduction -RRR) กล่าวคือเขาคำนวณ Hazard Ratio ออกมาได้ 1.0 สำหรับกลุ่มควบคุม และ 1.91 สำหรับกลุ่ม IF<8 ชม.(IF16/8) (วิธีคำนวณ Hazard Ratio ผมขอไม่พูดถึงตรงนี้เพราะมันยุ่งตรงที่สามารถใช้ลูกเล่นเปลี่ยนตัวเลข เช่น จะเอาหรือไม่เอาเวลาที่ติดตามดูแต่ละคนมาร่วมคำนวณด้วยหรือไม่ เป็นต้น) เอาเป็นว่าเขาคำนวณ HR ของกลุ่มควบคุมได้ 1.0 และกลุ่ม IF<8 ชม.ได้ 1.91 แต่เขาไม่ได้นำเสนอผลในรูปของอัตราส่วน HR นะ เขาเอาความแตกต่างของ HR ไปสร้างเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วนำเสนอใหม่ในรูปของ RRR คือจากความแตกต่างใน HR (1.91-1.0) x 100 ได้ผลออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ความแตกต่างของอัตราตายออกมา 91% มันน่าตื่นเต้ลล์กว่ากันแยะ เห็นไหมครับ จากต่างกันจริงๆ 3.9% เขานำเสนอว่ามันต่างกัน 91% ได้โดยไม่ผิดกฎกติกาวิชาสถิติด้วย จะผิดมารยาทก็นิดหน่อยตรงที่เขาไม่บอกท่านว่า % ที่ว่านี้มันมาจากการคำนวนแบบพิศดารนะ ไม่ใช่คำนวนแบบบ้านๆอย่างที่เราเข้าใจกัน

กล่าวโดยสรุป เรื่อง IF นี้วงการแพทย์ยังไม่มีข้อมูลชี้ชัดว่ามันดีหรือไม่ดีในระยะยาว (คือยาวมากกว่า 5 ปี) มีแต่ข้อมูลในระยะสั้นว่ามันช่วยลดน้ำหนักได้และช่วยลดการดื้อต่ออินสุลินในคนไข้เบาหวานได้ ส่วนที่โปสเตอร์ติดหน้าห้องประชุมบอกว่ามันเพิ่มอัตราตายในระยะยาว (เฉลี่ย 8 ปี) ขึ้นไป 91% นั้นมันเป็นข้อสรุปจากการคุ้ยดูข้อมูลเก่าตั้งแต่ 20 ปีที่แล้วซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกันเลยกับการทำ IF ในแบบที่คนทุกวันนี้เขาทำกัน เป็นคนละกลุ่มประชากร อดกินหรือกินน้อยด้วยคนละเหตุผลคนละความตั้งใจ อีกทั้งมันยังเป็นข้อสรุปที่เชื่อถือไม่ได้ ทั้งด้วยเหตุว่ามันเป็นงานวิจัยระดับชั้นเชื่อถือได้ต่ำ (low level of evidence) และด้วยเหตุว่ามันเป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพต่ำ (low quality of evidence) ด้วย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

ปล. วันนี้ผมขออนุญาตไม่ใส่เอกสารอ้างอิง เพราะการเข้าถึงที่มาของข้อมูลดิบชุดนี้ต้องอาศัยความเป็นสมาชิกเข้าไป ซึ่งเขามีกฎกติกามารยาทสำหรับสมาชิกว่าห้ามนำข้อมูลดิบออกมาเผยแพร่ตีพิมพ์ข้างนอกด้วยวิธีใดๆทั้งสิ้น นี่แค่ผมแหกกฎของหมู่คณะก็น่าอายมากแล้ว จึงไม่กล้าแสดงที่มาของข้อมูลเพราะกลัวว่าเขาจะตามมาตื๊บเอา

[อ่านต่อ...]

19 มีนาคม 2567

จะต้องสอนหลาน แต่ไม่รู้จะสอนอะไร เพราะสอนอะไรไป AI ก็รู้ดีกว่าหมด

(ภาพวันนี้ / ภาพวาดภูเขามวกเหล็กอ้อยสร้อย ได้ขึ้นติดแทนภาพวาดเก่าของฝรั่งแล้ว)

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้ค กรุณาคลิกภาพข้างล่าง)

เรียนคุณหมอสันต์

ผมเกษียณแล้วอายุ 70 ปี ตอนนี้ลูกชายซึ่งเป็นหมอเอาหลานสาวอายุ 8 ขวบมาแหมะให้อยู่ด้วยช่วงปิดเทอม ผมอยากจะสอนอะไรเธอบ้าง แต่ไม่รู้จะสอนอะไร ผมเป็นวิศวกร ผมรู้สึกว่าเธอรู้ทุกอย่างเองจากมือถือหมดแล้ว แต่ผมก็ยังกังวลว่าคนรุ่นเธอเมื่อ AI ทำได้หมดแล้วคนรุ่นเธอจะไปทำอะไรถึงจะยังรู้สึกว่าตัวเองมีค่าอยู่

……………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าอะไรที่เด็กจะเติบโตขึ้นไปเจอที่เขาไม่ได้เตรียมตัวมาเจอในอนาคต ตอบว่าผมเองก็ยังไม่รู้ รู้แต่ว่าไม่ใช่ AI แน่นอน เพราะทุกวันนี้เขาอยู่กับหุ่นยนต์เรียบร้อยแล้วเกินครึ่งของเวลาที่เขาตื่นอยู่ ดังนั้น AI ไม่ใช่ศัตรูของเขา แต่ศัตรูของเขา ผมว่าจะเป็นความคิดของเขาเอง เพราะ

1.1 เขาถูกสอนมาให้ยึดมั่นกับคอนเซ็พท์ดีชั่ว ถูกผิด ขยันขี้เกียจ ชนะแพ้ จนเขานึกว่ามันเป็นความจริงที่คนยอมรับนับถือกันทั่วไป แต่ความเป็นจริงคือความเปลี่ยนแปลง (Change) ต่างหากที่เป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียว คอนเซ็พท์ที่เขาเรียนมามันแทบจะใช้การไม่ได้เลยทันทีที่ออกจากห้องเรียน ดังนั้นถ้าเขาไม่มีความสามารถปรับตัว (adaptability) กับความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ถ้าเขาไม่มีความยืดหด ล้มได้ ลุกได้ (resilience) เขาก็จะต้องใช้เวลาทั้งชีวิตกว่าจะเรียนรู้ว่าคอนเซ็พท์ที่โรงเรียนสอนแท้จริงแล้วพาเขามาผิดทาง

1.2 ความสุขแท้จริงในชีวิตของคนรุ่นใหม่ต่อไปจะเหลืออย่างเดียว คือการได้เรียนรู้เติบโต learning and growth) อย่างไม่สิ้นสุด แต่ปัญหาคือจะให้เขาเรียนรู้อะไรที่ AI ไม่รู้หรือที่ประสบการณ์จริงเขายังไม่พบ เพราะสมัยนี้แค่เรียนมาถึงชั้นม.2 เขาก็เจนจบหมดแล้วเรื่องที่คนรุ่นก่อนใช้เวลาค่อนชีวิตเล่นเอาเถิดเจ้าล่อกับมันกว่าจะได้รู้แจ้ง เช่นความสนุกและความเซ็งอันเกิดจากการมีเซ็กซ์ เป็นต้น การมีชีวิตที่เหลืออีกยาวนานจากม.2 เป็นต้นไปจึงเป็นความน่าเบื่อหน่ายอย่างยิ่งในเมื่อสิ่งรอบตัวเขารู้จักเจนจบหมดแล้ว ไม่มีอะไรให้ท้าทายเรียนรู้อีกต่อไปแล้ว วิถีชีวิตของคนรุ่นพ่อแม่ที่ใช้ชีวิตไปตาม default คือเรียนหนังสือให้เก่งกว่าเพื่อน จะได้เข้าโรงเรียนดีๆกว่าเพื่อน จบมามีงานดีๆกว่าเพื่อนทำ ซื้อบ้านซื้อรถและร่ำรวยกว่าเพื่อน เด็กมันก็เห็นตำตาอยู่แล้วว่าทำอย่างนั้นแล้วไม่เห็นพ่อแม่จะมีความสุขเลย ดังนั้นหมอสันต์คาดเดาว่าสินค้าที่จะขายดีที่สุดในอนาคตคือ “ยา” หมายถึงยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทกลางไม่ว่าจะเป็นยานอนหลับ ยาต้านซึมเศร้า ยาแก้ปวด ยากระตุ้นประสาทหลอน รวมทั้งสารเสพย์ติดทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นกัญชา แอลกอฮอล์ และอนุพันธ์ของฝิ่น จะขายดี ลูกค้าหลักคือคนรุ่นใหม่ เพราะพวกหนึ่งเขาจนแต้มอยู่ในกรงความคิดของตัวเองหาทางออกไม่ได้ อีกพวกหนึ่งพยายามจะเรียนรู้เติบโตต่อไปให้ได้ว่าชีวิตนอกจากเรื่องเซ็งๆหมอนๆรอบตัวเขาที่เขาเองก็เจนจบหมดแล้วนี้ มันยังมีอะไรเหลือให้เรียนให้รู้อีกบ้าง ยาจึงเป็นการทดลองของเขา จะให้เขาไปท่องจำข้อมูลเพื่อสอบป.ตรีโทเอกนั้นเขาไม่เอาด้วยแน่นอนแล้ว..ว เพราะเขารู้ว่าถามอากู๋หรือถาม AI แป๊บเดียวเขาได้คำตอบเหล่านั้นหมดแล้ว หมอสันต์เดาว่าในยุคนั้นมหาวิทยาลัยจะเจ๊งไปหมด สวรรค์นรกก็จะเลิกกิจการไปด้วย อย่าว่าแต่ถึงยุคโน้นเลย เอาวันนี้เลยก็ได้ คุณลองไปถามเด็กดูซิว่าเขาอยากไปสวรรค์ไหม คำถามแรกที่เขาถามกลับมาคือ

“ที่นั่นมี wifi หรือเปล่า”

หิ หิ แล้วยังงี้จะไม่ให้สวรรค์เจ๊งได้ไงละครับ

2.. ถามว่าลูกชายเอาหลานมาแหมะให้สอน จะสอนอะไรเขาดี ตอบว่าก็สอนสิ่งซึ่งเขาจำเป็นต้องได้ใช้เมื่อเขาโตขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

2.1 สอนทิศทางของการเรียนรู้เติบโต ที่จะไม่มีวันพบกับทางตันและที่ AI ไม่มีวันไปถึง นั่นคือการเรียนรู้เรื่องที่พ้นไปจากความคิดหรือภาษามนุษย์ออกไป ผมหมายถึงการสอนเรื่องความรู้ตัวหรือ consciousness ผ่านกิจกรรมการฝึกวางความคิดเข้าไปอยู่ในความรู้ตัว แล้วให้เด็กไปเรียนรู้ต่อเอาเองจากตรงนั้น ตรงนี้ไม่มีใครคิดอ่านเอามาเป็นหลักสูตรสอนเด็กเพราะคนจะสอนก็ยังไม่รู้จักแล้วจะเอามันมาสอนได้อย่างไร แต่หมอสันต์อาศัยประสบการณ์ตัวเองตั้งโจทย์ที่ท้าทายให้คุณว่า

“เมื่อฝ่าข้ามความคิดของตัวเองไปให้หมด จนเข้าไปถึงความรู้ตัว (consciousness) ที่เงียบและนิ่ง ตรงนั้นมันมีลักษณะ (1) สงบเย็น (peaceful) (2) เมตตา (compassion) (3) เบิกบาน (joyful) (4) ยอมรับทุกอย่างได้ (acceptance) (5) มีปัญญาสร้างสรรค์ทะยอยโผล่ขึ้นมาเอง (wisdom)”

ผมท้าทายให้คุณในฐานะผู้ที่ต้องเป็นครูเพราะต้องสอนหลาน ใช้เวลาที่เหลืออยู่ในชีวิตของคุณเอง พิสูจน์สิ่งที่ผมพูดไว้ว่ามันมีอยู่จริงหรือไม่ ถ้าคุณออกเดินหน้าไปแล้วคุณพบ คุณก็จะสอนหลานของคุณได้ ถ้าคุณไม่พบคุณก็ไม่เสียอะไรมาก แค่หลวมตัวถูกหมอสันต์หลอกให้เสียเวลาแค่นั้นเอง แต่ผมยืนยันว่ามันเป็นการเสียเวลาที่คุ้มค่า เพราะนอกจากเรื่องนี้แล้ว เรื่องอื่นใดที่คุณจะเอาไปสอนหลานเกือบทั้งหมดล้วนไร้สาระไร้ประโยชน์ทั้งสิ้น

การสอนให้เด็กฝึกวางความคิดยังจะได้ประโยชน์ในแง่ที่ให้เด็กมองเห็นความคิด อารมณ์ และความรู้สึกของตัวเองด้วย ทำให้เขาเติบโตไปเป็นผู้มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากในคนรุ่นใหม่

2.2 สอนเรื่องเมตตาธรรม (compassion) ด้วยการพาเด็กออกไปมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ผู้อื่น ใครก็ได้ แม่ค้าในตลาด พนักงานร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งคนจรจัดข้างถนน เพราะสัมพันธภาพกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ชีวิตคนมีความสุข และเป็นสิ่งที่ AI ทำไม่ได้ มีเพื่อนผมคนหนึ่งอายุ 70 แล้วก็ยังไม่เลิกเป็นลูกจ้างกินเงินเดือนแพงๆทำงานอยู่ในบริษัทคอมพิวเตอร์ ผมถามเขาว่าปูนนี้แล้วเขาจ้างคุณไปทำอะไร เขาตอบว่าจ้างไปช่วยทำให้คนพูดกันให้รู้เรื่อง เพราะคนรุ่นใหม่เขาพูดกันไม่รู้เรื่อง

2.3 สอนเรื่องการสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creativity and Innovation) เริ่มด้วนการชวนให้เด็กสนใจธรรมชาติรอบตัว ชวนให้มองธรรมชาติให้เห็นความมหัศจรรย์ของมัน ไม่ว่าจะในแง่ของสีสัน แสงและเงา และในแง่การใช้งานการแก้ปัญหา ชวนให้จินตนการสร้างสรรค์ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆจากไอเดียของการมองธรรมชาติ รวมไปถึงการสอนการสร้างสรรค์ในกิจกรรมเช่นการวาดรูป ระบายสี ปั้นดิน เป็นต้น จินตนาการจะเป็นท่อเชื่อมโยงกับปัญญาญาณที่จะเกิดขึ้นจากการฝึกวางความคิดเข้าถึงความรู้ตัวได้ดีขึ้น

2.4 สอนเรื่องการปรับตัวและยืดหด (Adaptability and Resilience) ซึ่งเป็นการขยายประเด็นของการสร้างสรรค์และจินตนาการ สอนจากชีวิตจริงและธรรมชาติรอบตัว เพราะในชีวิตจริงข้างหน้า ความเปลี่ยนแปลงเป็นสัจจธรรมเพียงหนึ่งเดียวที่เที่ยงแท้ คุณสมบัติข้อนี้เป็นข้อที่คนรุ่นใหม่จะขาดไม่ได้

2.5 สองเรื่องการคิดวินิจฉัยแก้ปัญหา (Critical thinking and Problems solving) ถ้าหลานของคุณเรียนโรงเรียนทางเลือกที่อยู่นอกระบบโรงเรียนปกติเรื่องนี้ก็คงไม่ใช่ประเด็นเพราะเขาสอนกันอยู่แล้ว แต่ถ้าหลานของคุณเรียนในโรงเรียนตามระบบปกติคุณก็ต้องสอนเรื่องนี้ด้วยเพราะโรงเรียนของเขานอกจากจะไม่สอนแล้วยังทำลายหรือห้ามการใช้ความคิดวินิจฉัยด้วย

3.. เหนือสิ่งอื่นเครื่องมือสอนที่มีอัตราสำเร็จสูงสุดคือการทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง (Role model) ดังนั้นเมื่อคุณมีเจตนาดีจะสอนหลานใน 5 เรื่องข้างต้น คุณต้องเอาทั้ง 5 เรื่องนี้มาสอนตัวคุณเองให้ตัวเองทำตามให้เป็นก่อน ให้ถือโอกาสที่ลูกเอาหลานมาแหมะให้ เป็นโอกาสที่คุณจะๆได้เรียนรู้และเติบโตของตัวเองไปด้วย เพราะมุมมอง learning and growth ก็เป็นมุมมองที่จำเป็นต่อชีวิตผู้สูงอายุด้วย เรียกว่าเป็นการสอนเพื่อเรียน (teach to learn) เพราะไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นหลานหรือคนรุ่นคุณซึ่งเกษียณแล้ว เครื่องมือทั้งห้านี้ก็ล้วนต้องใช้เหมือนกัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

17 มีนาคม 2567

ApoA, ApoB การตรวจไขมันที่มากเกินความจำเป็นต่อการปรับวิถีชีวิต

(ภาพวันนี้ / ชมพูพันทิพย์ ที่เริ่มชรา)

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้ค กรณาคลิกที่ภาพข้างล่าง)

เรียนคุณหมอ

ไปตรวจสุขภาพประจำปีที่รพ. … แล้วคุณหมอชักชวนให้ตรวจไขมัน ApoA และ ApoB โดยบอกว่ามันให้ข้อมูลละเอียดกว่าไขมันดีไขมันเลว ผมจำเป็นต้องตรวจด้วยหรือครับ ถ้าจำเป็นทำไมผมไม่เคยได้ยินหมอที่ไหนพูดเรื่องไขมัน ApoA และ ApoB มาก่อนเลย

………………………………………..

ตอบครับ

ก่อนตอบคำถามผมขอเกริ่นไว้ก่อนนะ ว่าคำแนะนำของคุณหมอของคุณ ท่านคงมุ่งเพิ่มความละเอียดของการประเมินความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจในประเด็นการมีไขมันในเลือดสูง แต่ผมเองโปรโมทการลงมือเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อลดไขมันในเลือด ไม่โปรโมทการเสร็จากตรวจโน่นแล้วไปตรวจนี่ ถ้าผลมันขัดกันก็เสาะหาความเห็นต่อว่าอันไหนเชื่อได้อันไหนเชื่อไม่ได้ ทั้งหมดนี้เป็นการ “ชกลม” เพื่อที่จะได้ไม่ต้องลงมือเปลี่ยนวิถีชีวิต คือจะได้อ้างว่าก็ยังไม่รู้ว่าเสี่ยงหรือไม่เสี่ยงอะ ต้องรอก่อน ประมาณนั้น การเป็นคนชอบชกลมมีผลเสียต่อสุขภาพของคุณเอง คือทำให้การแก้ปัญหาถูกลากให้เนิ่นนานออกไป ผมแนะนำว่าให้เลิกเที่ยวตรวจโน่นตรวจนี่เสียที แค่รู้ว่าไขมันเลว (LDL) สูงหรือน้ำหนักตัวมากเกินพอดีก็เป็นข้อมูลที่มากเกินพอแล้ว ให้ลงมือปรับวิถีชีวิตเพื่อลดน้ำหนักและลดไขมันในเลือดลงได้เลย

เอาละ คราวนี้มาตอบคำถาม

ApoA ชื่อเต็มของมันคือ Apolipoprotein A เป็นไส้ในหรือเป็นตัวโคเลสเตอรอลที่ยัดอยู่ในเม็ดไขมันดี (HDL) หมายความว่าตัว HDL เองมันเป็นแค่เม็ดอนุภาคหรือรถบรรทุกที่ขนส่งไขมันโคเลสเตอรอลเท่านั้น สินค้าที่มีผลต่อร่างกายจริงๆคือโคเลสเตอรอลที่บรรทุกมา ตัว ApoA นี้ก็คือไขมันดีตัวจริง ซึ่งตามสมมุติฐานปัจจุบันเชื่อว่ามันช่วยเก็บไขมันที่พอกในผนังหลอดเลือดเอาไปส่งคืนให้ตับ

ApoB ชื่อจริงของมันคือ Apolipoprotein B แปลว่าโคเลสเตอรอลที่ยัดไส้อยู่ในเม็ดอนุภาคไขมันเลว (LDL) ซึ่งถือว่ามันเป็นตัวไขมันเลวที่ไปพอกตามผนังหลอดเลือดทำให้เกิดโรค (atherogenic) ตัวจริงเสียงจริง และบ่งชี้ถึงโรคได้ดีกว่าค่า LDL ซึ่งเป็นเพียงเม็ดอนุภาคหรือรถบรรทุกที่บรรทุกโคเลสเตอรอลตัวจริงมา

ได้มีพวกหมอที่ชอบวิชาคณิตศาสตร์เอาผลบวกลบคูณหารเป็นสัดส่วนออกมาเช่น ApoB / ApoA แล้วมาเทียบดูพบว่ามีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคดีกว่าค่าที่ใช้กันมาแต่ดั้ง (เดิมเช่น HDL, LDL ไตรกลีเซอไรด์) แล้วก็โปรโมทให้ตรวจ AopB /ApoB เป็นรูทีนในการประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจแทนการตรวจ LDL แต่ไม่มีใครเอาด้วยเท่าไหร่ ความพยายามที่จะบรรจุการตรวจชนิดนี้ไว้เป็นการตรวจมาตรฐานใน guidelines แทน LDL ก็ไม่สำเร็จ เพราะไม่มีหลักฐานว่าเปลี่ยนจากตรวจ LDL มาตรวจ ApoB แล้วอัตราตายจากโรคจะลดลงแต่อย่างใด แม้สำหรับหมอที่ชอบใช้ยาลดไขมันหลายตัวควบกันเช่น statin + ezetimibe+ ฉีด PCSK9 จะชอบสั่งตรวจแล็บทุกตัวที่ห้องแล็บตรวจให้ได้ ผมเองยังไม่เคยเห็นหลักฐานว่า apoB/apoA จะไปช่วยการปรับหรือเพิ่มลดขนาดยาได้ดีกว่า LDL ที่ใช้กันเป็นประจำอยู่แล้วตรงไหน

ตัวหมอสันต์เองนั้นเป็นหมอเวชศาสตร์วิถีชีวิต ไม่สนับสนุนให้ชกลม ไม่สนับสนุนให้ตรวจอะไรมากไปกว่าปัจจัยเสี่ยงที่คุ้นเคยกันดีแล้วในปัจจุบัน เช่น กรณีไขมันก็ตรวจแค่ LDL และดูความอ้วนของตัวเองจากตาชั่งหรือจากพุงตัวเองก็เกินพอแล้ว..ว เมื่อรู้แล้วว่าอ้วนหรือไขมันสูงแล้วก็ให้ลงมือจัดการปัจจัยเสี่ยงนี้ด้วยการเปลี่ยนวิถีชีวิตเสียทันทีเดี๋ยวนี้เลย อย่างนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพตนเองอย่างแท้จริง ดีกว่ามัวไปเที่ยวไปตรวจนั่นตรวจนี่ให้เรื่องมันมากขึ้นทั้งๆที่ยังไม่มีใครรู้ว่าการตรวจนั้นมันมีประโยชน์ที่แท้จริงหรือเปล่า

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Sniderman A, Langlois M, Cobbaert C. Update on apolipoprotein B. Curr Opin Lipidol. 2021 Aug 1;32(4):226-230. doi: 10.1097/MOL.0000000000000754. PMID: 33870931.

[อ่านต่อ...]

16 มีนาคม 2567

CA 19-9 (ขอโทษ).. อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน

(ภาพวันนี้ / ถั่วบราซิลที่ปลูกไว้คลุมดินบนเชิงลาด)

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้คกรุณาคลิกภาพข้างล่าง)

เรียน อจ. หมอสันต์ ที่เคารพอย่างสูง

ดิฉันในวัย 49 ย่าง 50 ปี เมื่อ 30 ม.ค. 67 ตรวจสุขภาพประจำปี พบค่าไขมันในเลือดสูงปรี๊ด

TC 296 HDL 78 LDL  212 TG 37 แพทย์ 2 ท่าน ยืนยันว่า ต้องทานยาลดไขมันนะ ปรับอาหารเองไม่ได้หรอก ไม่ลง เป็นกรรมพันธุ์ ดิฉันไม่วี๊ดว๊ายอะไร รู้เหตุแห่งทุกข์ เพราะหลายเดือน ก่อนตรวจสุขภาพ ปล่อยเละเทะเรื่องการกินตามใจปาก เบเกอรี่ปีใหม่ ของทอดที่ชอบ และมีการจัดการความเครียดที่ไม่ดี ยกเว้นที่ทำได้คือ มีวินัย คือ ว่ายน้ำ 700-1000 เมตร และฝึกไอชิ ( Aichi) ในน้ำ พูดให้เข้าใจง่ายคือ ฝึกไทชิ ในน้ำนั่นเอง ( เป็นวิชาที่คิดค้นโดย
Mr. … ชาวญี่ปุ่น ดิฉัน ได้เรียนวิชานี้มาจาก … ท่านเมตตาช่วยรักษากระดูกต้นแขนซ้ายที่หักให้ดิฉัน แบบไม่ใช้ยา ไม่ผ่าตัด ใช้การบริหารในน้ำบนบกผสมกัน แต่ต้องมีวินัยทำทุกวัน
จนกระดูกติดหายดี โดยทีไหล่ไม่ติด ไม่ต้องดัด ดึง กายภาพใดๆ )

เข้าเรื่อง LDL ต่อค่ะ…พอมาลอง search เรื่อง LDL สูง เจอคลิปที่คุณหมอสันต์ แนะนำให้ปรับพฤติกรรมและเจาะเลือด ภายใน 6 สัปดาห์ ดิฉันไม่ลังเล ใช้ความรู้ทั้งที่เคยเรียน GHBY , SR กับคุณหมอสันต์ และความรู้ที่คุณหมอ … ทั้งรักษาทั้งสอนให้ ได้พฤติกรรมครั้งใหญ่ แบบองค์รวมอีกครั้ง ผ่านไป 6 สัปดาห์ LDL จาก 212 เหลือ 140 โอ้… มันเป็นไปได้ !!

2. ผลเลือดประจำปี นอกจาก ค่าไขมันที่สูง ก็มีค่า CA19-9 สูง ค่าปกติ 37
ค่าเลือดดิฉันได้ 61.99 (ซืัอแพคเกต สุขภาพ รพ. แห่งหนึ่ง มีตรวจอันนี้) พออ่านบทความคุณหมอ เรื่องค่าบ่งชี้มะเร็งสูง ก็ใจร่มๆ ..  แต่เอาล่ะ ไหนๆ ค่ามันขึ้นแล้ว ก็นำผลลองไปหาหมอตามสิทธิประกันสังคม (เพิ่งออกงานมา ยังไม่เคยลองใช้สิทธิ์แบบนี้) เนื่องจากอายุเข้าเลข 5 แล้ว ก็จะมีส่องกล้องลำไส้ใหญ่+ กระเพาะ ไปเลยในครั้งนี้ ส่วน
ค่า CA 19-9 หมอนัดเจาะดู เมื่อครบ 3 เดือน นับจากการตรวจเจอครั้งแรก.. ดิฉันก็รอเวลาไปตรวจติดตามผลเลือดค่ะใจก็กลางๆ ยังไม่วิตกอะไรนัก ในเรื่องค่า บ่งชี้  CA19-9 นี้
คุณหมอมีคำแนะนำใดๆ ช่วยแนะนำได้นะคะ
อื่นๆที่อยากขอบคุณ คุณหมอ เรื่องสิทธิ์ประกันสังคมนี้ ดิฉันเคยไปฟัง Lunch talk ที่ครัวปราณา เจอคุณหมอสันต์ ถามว่าเออรี่รีไทร์แล้ว จะส่งประกันสังคมต่อดีไหม ได้สิทธิ์ รพ. ราชวิถี ตอนนั้นคุณหมอมองหน้าดิฉันแล้วบอกว่าราชวิถี ดีนะ น่าถือต่อ … ถึงวันนี้พบว่ามาถูกทางค่ะ รพ. ราชวิถี ระบบ บุคคลากร เครื่องมือทันสมัย ฯลฯ  ดีกว่าที่เคยที่คิดไว้มากเลยทีเดียว เช่นเดียวกับอีกเรื่องที่เคยเรียนคลาส SR แล้วได้ถามคุณหมอว่า ดิฉันเออรี่รีไทร์ดีไหม ทำงาน
แล้วเราเครียดมาก จนร่างกายพัง และเราก็กอบกู้ตัวเองไม่สำเร็จเสียที คุณหมอตอบให้ว่าไม่ต้องคิดเลย.. (คือ ควรออก)  ออกมาแล้ว 1 ปีกว่าๆ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่หมด พบว่าจากคนที่มีสุขภาพกายใจแบบซอมบี้ เราค่อยๆ มีจัดสรรการฝึกฝนร่างกายและจิตใจใหม่ จนค่อยๆ
ได้คุณภาพชีวิตที่ดีคืนมา เงินหาย รายได้หด แต่แลกกับสุขภาพ ความสงบสุข การฝึกฝนตนเองในมิติใหม่ๆ รวมถึงมิติด้านใน นับว่าคุ้มค่ามากมาย เลยค่ะ หากแต่ทั้งหมดทั้งมวลต้องอาศัยวินัย และฝึกฝนทุกวัน ประมาณนี้ค่ะคุณหมอ
ขอให้คุณหมอสันต์มีใจเบิกบาน สุขภาพแข็งแรง  อยู่เย็นเป็นประโยชน์

จาก … นักเรียน GHBY และ SR

…………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่าไม่มีอาการผิดปกติอะไร แต่เขาขายแพคเก็จตรวจสุขภาพมี CA19-9 ด้วยจึงซื้อตรวจ แล้วได้ค่าสูงผิดปกติจะทำไงดี ผมขอแยกตอบเป็นสองกรณีนะ

1.1 สำหรับท่านผู้อ่านทั่วไป การไปใช้บริการของโรงพยาบาลนี้ ไม่ใช่ว่าเขาขายอะไรคุณต้องซื้อหมด เวลาคุณไปซูเปอร์มาร์เก็ตจะซื้อน้ำปลาขวดเดียวทำไมคุณเลือกจัง ของบางอย่างที่โรงพยาบาลเขาขายมันอาจไม่ใช่ของดีที่คุณควรซื้อ แต่เขาเอามาวางขายเพื่อหารายได้ เขาขายหมดทุกอย่างแหละที่มันไม่ผิดกฎหมาย โค้กเป๊บซี่เขาก็ยังขายเลย ไม่เฉพาะรพ.เอกชนนะ รพ.ของรัฐก็ขายทุกอย่างที่หาเงินเข้ารพ.ได้ ถ้าห้ามโรงพยาบาลขายสินค้าขี้หมาที่ไม่มีประโยชน์กับผู้ป่วยอย่างแท้จริงแบบเด็ดขาด ผมว่าโรงพยาบาล 80% ต้องเลิกกิจการไปเพราะอยู่ไม่ได้ ดังนั้นมีโรงพยาบาลดีกว่าไม่มี แต่เวลาคุณไปโรงพยาบาลคุณต้องตั้งใจซื้อของที่คุณรู้อยู่แล้วว่าคุณตั้งใจมาซื้อ เหมือนเวลาตั้งใจไปซื้อะไรที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต

อย่าง CA19-9 นี้ทั่วโลกเขาตกลงกันผ่าน guidelines เป็นดิบดีแล้วว่าไม่ควรเอามาเที่ยวตรวจคนไข้เพื่อคัดกรองมะเร็ง เพราะมันเสียมากกว่าได้ โหลงโจ้งแล้วมันชักนำให้คนไข้ต้องเสียเงินต้องประสาทกิน ต้องเจ็บตัวมากขึ้น แต่มันไม่ได้ลดอัตราตายของมะเร็งที่พบร่วมกับค่า CA19-9สูงขึ้น (เช่นมะเร็งตับอ่อน) แต่อย่างใด หมายความว่าถึงพบมะเร็งเร็วขึ้นก็ตายในเวลาเท่าเดิมอยู่ดี ดังนั้นสำหรับท่านผู้อ่านทั่วไปที่ไม่มีอาการป่วยอะไร เรื่อง CA19-9 นี้คำแนะนำของผมก็คือ (ขอโทษ).. “อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน”

1.2 สำหรับคุณ ซึ่งไปตรวจมาแล้ว และพบว่าค่า CA19-9 สูงผิดปกติแล้ว ปัญหาเฉพาะหน้าก็คือโรค ปสด. (ประสาทแด๊กซ์) ซึ่งเป็นโรคร้ายที่ต้องได้รับการแก้ไข วิธีแก้ไขอย่างนุ่มนวลที่สุดก็ต้องตรวจติดตามไปจนกว่ามันจะกลับลงมาปกติ ถ้ามันไม่ลงก็ต้องตรวจ CT ช่องท้องและอุ้งเชิงกราน ซึ่งผลการตรวจที่ได้อาจชักนำไปสู่อะไรที่จำเป็นหรือไม่จำเป็นกี่อย่างก็ยังไม่อาจรู้ได้ ต้องรับมือกันไปทีละช็อต คุณไม่ต้องไปวิตกจริตล่วงหน้า ให้ผลมันออกมาก่อน ถ้ามันทำท่าจะโกโซบิ๊กคุณค่อยเขียนเล่าผลมาอีกทีก็ได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อความสบายใจของคุณในขั้นตอนนี้ ผมขอเล่าให้ฟังถึงรายงานผู้ป่วยคนหนึ่งซึ่งไปตรวจเช็คอัพแล้วได้ค่า CA19-9 สูงถึง 96,544.3 U/mL. หลังจากถูกตรวจสาระพัดเข้าอุโมงไปหลายรอบแถมส่องโน่นแยงนี่แล้วก็ยังไม่พบอะไร จึงต้องตามเจาะเลือดตามดูไปทุกหกเดือนอยู่นานสองปี ค่า CA19-9 จึงลงมาอยู่ระดับปกติ สรุปว่ามันสูงหลุดโลกโดยไม่มีสาเหตุอะไรเลย ดังนั้นของคุณก็มองแง่ดีไว้ก่อนว่ามันคงจะไม่เจออะไรก็แล้วกัน

2.. ผมขอขอบคุณที่คุณกรุณาเล่าเรื่องการปรับวิถีชีวิตตัวเองจนลดไขมัน LDL จาก 212 เหลือ 140 มก/ดล ในเวลาแค่เดือนกว่าโดยไม่ได้ใช้ยาเลย คุณเป็นตัวอย่างคนจริงๆตัวเป็นๆที่พิสูจน์ให้เห็นจะจะว่าการเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นวิธีรักษาโรคไขมันในเลือดสูงที่ได้ผลดีมากมิใยว่ามันจะสูงเพราะพันธุกรรมหรือสูงเพราะอะไรก็ตาม ขอบคุณที่เล่าเรื่องส่วนตัวเพื่อแชร์ให้เพื่อนๆแฟนบล็อท่านอื่นได้เอาไปใช้ประโยชน์

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Meira-Júnior JD, Costa TN, Montagnini AL, Nahas SC, Jukemura J. ELEVATED CA 19-9 IN AN ASYMPTOMATIC PATIENT: WHAT DOES IT MEAN? Arq Bras Cir Dig. 2022 Sep 16;35:e1687. doi: 10.1590/0102-672020220002e1687. PMID: 36134819; PMCID: PMC9484821.

[อ่านต่อ...]

15 มีนาคม 2567

การนอนหลับกลางวัน สรุปว่าดีหรือไม่ดี

(ภาพวันนี้ / ค้นพบว่าถูกซุกซ่อนอยู่หลังบ้านเพื่อน)

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้ค กรุณาคลิกภาพข้างล่าง)

เรียนคุณหมอ

มีคนร่อนในไลน์ว่างานวิจัยของฮาร์วาร์ดว่าต้องนอนหลับกลางวันเพื่อลดอัตราตายลงไป 37% เท็จจริงอย่างไรคะ ถ้าจริงดิฉันจะได้นอนบ้าง เพราะปกติไม่เคยนอนกลางวันเลย

…………………………………………………

ตอบครับ

ถามว่านอนกลางวันทำให้อายุยืนปลอดโรคปลอดไข้จริงหรือเปล่า นี่เป็นประเด็นคำถามเรื่องเฟสของการนอนหลับ (sleep phase) ว่าในแต่ละวันหลับครั้งเดียว (กลางคืน = monphasic) หรือหลับสองครั้ง (กลางคืน+กลางวัน = biphasic) จึงจะดี ตอบว่าไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้ดอกครับ เพราะข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่มันไม่พอตอบ แต่ผมจะแสดงข้อมูลทั้งหมดที่มีให้คุณดูในบทความนี้

งานวิจัยชนเผ่าต่างๆในชุมชนดั้งเดิมในป่าอัฟริกาที่ใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมไม่ได้รับอิทธิพลจากโลกภายนอกพบว่าพวกเขานอนหลับวันละสองช่วง (biphasic sleep) คือนอนกลางคืนประมาณ 7 ชั่วโมง และตอนบ่ายอีกประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ขณะที่บางชนเผ่าเช่นชนเผ่า Hadza ประเทศแทนซาเนียนอนหลับแบบสองช่วงเฉพาะในฤดูร้อน แต่พอเข้าฤดูหนาวก็เปลี่ยนมาหลับแบบเฉพาะช่วงกลางคืนช่วงเดียว และในการนอนหลับช่วงกลางคืนนั้น ทุกชนเผ่ามักจะเริ่มนอนหลับหลังจากตะวันตกดินไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง โดยเอาเที่ยงคืนเป็นจุดกึ่งกลางของการนอนหลับ

ปัจจุบันนี้ การนอนหลับวันละสองช่วงยังปฏิบัติกันอยู่ในหลายส่วนของโลก เช่นอเมริกาใต้ แถบทะเลเมดิเตอเรเนียน แต่ส่วนใหญ่ถูกวิวัฒนาการของการผลิตและค้าขายบีบให้เปลี่ยนเป็นนอนเฉพาะกลางคืนเท่านั้นแทน งานวิจัยที่คุณพูดถึงนั้นผมเคยเห็นใน Archive Internal Medicine นานสิบกว่าปีมาแล้ว มันเป็นการวิจัยแบบตามดูกลุ่มคนแบบไปข้างหน้าในยุโรป (prospective cohort) พบว่ากลุ่มที่ได้นอนหลับตอนบ่ายด้วย มีอัตราตายจากโรคหัวใจหลอดเลือดต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ได้นอนหลับตอนบ่าย 37% นี่เป็นงานวิจัยที่มีคนทำไว้จริง แต่เป็นการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างของสองสิ่ง ไม่ได้ยืนยันว่ามันเป็นเหตุเป็นผลต่อกันหรือไม่ การจะแนะนำผู้คนให้ปิดร้านขายของหรือปิดโรงงานมานอนหลับตอนบ่ายกันดีกว่านั้น คงต้องมีหลักฐานระดับสูงมากกว่านี้ ซึ่งผมมั่นใจว่าหลักฐานแบบที่ว่าคงจะไม่มีดอก และคงไม่มีตลอดไป เพราะใครจะมาจ่ายเงินจ้างทำวิจัย

ปัจจุบันนี้ก็ยังมีบางชุมชนที่คงมีวิถีชีวิตงีบหลับตอนบ่ายอย่างเหนียวแน่นเช่นเกาะอิคาเรีย ประเทศกรีซซึ่งผู้ชายที่นั่นมีอัตราอายุยืนเกิน 90 ปีมากกว่าผู้ชายอเมริกันถึงสี่เท่า แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานแสดงกลไกให้เกิดความแตกต่างในอัตราตายนี้เพราะมีปัจจัยกวนมากมาย แต่แพทย์บางคนก็สรุปแบบ “เดา” เอาดื้อๆว่าการฝืนไม่หลับตอนบ่ายทั้งๆที่ง่วง อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราตายของผู้ชายอเมริกันสูงขึ้น เท็จจริงแค่ไหนยังไม่มีงานวิจัยมายืนยันประเด็นนี้

ที่มีข้อสรุปแน่ชัดกว่าแล้ว คือการนอนหลับได้น้อยมีผลเสียต่อสุขภาพแน่นอน ปัญหาอยู่ที่ต้องนอนวันละกี่ชั่วโมงจึงจะพอ งานวิจัยในชนเผ่า Hadza ประเทศแทนซาเนียที่มีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมพบว่าอัตราการนอนเฉลี่ยของพวกเขาคือ 6 ชั่วโมงในฤดูร้อน 7.2 ชั่วโมงในฤดูหนาว โดยให้เวลาตัวเองอยู่บนเตียงเพื่อการนอนหลับ 7 ชม.ถึง 8 ชม.ครึ่งต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับที่มูลนิธินอนหลับแห่งชาติสหรัฐ (NSF) และศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ (CDC) แนะนำว่าควรให้เวลากับการนอนหลับบนเตียงวันละ 7-9 ชั่วโมงในผู้ใหญ่

ดังนั้นผมสรุปว่า นอนวันละครั้งเดียวหรือสองครั้ง จะเอายังไงก็ได้ครับ เอาแบบที่คุณถนัด แต่ที่แน่ๆชัวร์ป้าดเลยก็คือหากให้เวลาตัวเองบนเตียงนอนน้อยกว่าวันละ 7 ชั่วโมง หรือได้หลับจริงๆน้อยกว่าวันละ 6 ชั่วโมงถือว่าคุณได้หลับน้อยกว่าธรรมชาติที่มนุษย์ปกติพึงได้ ซึ่งน่าจะมีผลเสียมากกว่าผลดี

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Naska A, Oikonomou E, Trichopoulou A, Psaltopoulou T, Trichopoulos D. Siesta in ealthy adults and coronary mortality in the general population. Arch Intern Med. 2007 Feb 12;167(3):296-301. doi: 10.1001/archinte.167.3.296. PMID: 17296887.
  2. Samson DR, Crittenden AN, Mabulla IA, Mabulla AZ, Nunn CL. Hadza sleep biology: Evidence for flexible sleep-wake patterns in hunter-gatherers. Am J Phys Anthropol. 2017 Mar;162(3):573-582. doi: 10.1002/ajpa.23160. Epub 2017 Jan 7. PMID: 28063234.
  3. Hirshkowitz M, Whiton K, Albert SM, Alessi C, Bruni O, DonCarlos L, Hazen N, Herman J, Katz ES, Kheirandish-Gozal L, Neubauer DN, O’Donnell AE, Ohayon M, Peever J, Rawding R, Sachdeva RC, Setters B, Vitiello MV, Ware JC, Adams Hillard PJ. National Sleep Foundation’s sleep time duration recommendations: methodology and results summary. Sleep Health. 2015 Mar;1(1):40-43. doi: 10.1016/j.sleh.2014.12.010. Epub 2015 Jan 8. PMID: 29073412.
[อ่านต่อ...]

12 มีนาคม 2567

ทุกประเด็นเกี่ยวกับแอลกอฮอล์

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้คกรุณาคลิกที่ภาพข้างล่าง)

เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ

ผมไปตรวจสุขภาพ CAC ได้ 244 หมอหัวใจให้กินยาแอสไพริน ยา statin และแนะนำให้ผมดื่มแอลกอฮอล์วันละสองดริ๊งค์ (ไวน์สองแก้ว) ปกติผมไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ผมอยากถามคุณหมอสันต์ว่าผมควรดื่มแอลกอฮอล์เพื่อรักษาโรคหัวใจตามที่หมอแนะนำไหมครับ

………………………………………………..

ตอบครับ

ถามว่าหมอแนะนำให้ดื่มแอลกอฮอล์เพื่อรักษาหัวใจ ควรดื่มไหม ตอบว่าไม่ควรดื่มครับ คำแนะนำเช่นว่านั้นไม่สอดคล้องกับหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่มีในปัจจุบัน

ไหนๆคุณก็เขียนมาแล้ว วันนี้ขอพูดถึงแอลกอฮอล์ในทุกประเด็นเลยนะ และผมจะให้หลักฐานวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องไว้อย่างละเอียดเพราะบทความนี้จะขัดแย้งกับคำแนะนำของหมอโรคหัวใจจำนวนมากที่ยังปักใจเชื่อว่าแอลกอฮอล์ลดอัตราตายของผู้ป่วยได้ ผมจะว่าไปทีละประเด็นนะ เอาทุกประเด็นที่ผมนึกได้

ประเด็นที่ 1. แอลกอฮอล์คืออะไร

แอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol หรือ ethanol) เป็นสารที่ทำให้เกิดอาการมึนเมา มีอยู่ในเบียร์ สุรา ไวน์ ซึ่งเกิดขึ้นจากการหมักพืชที่มีแป้งหรือน้ำตาลโดยอาศัยยีสต์เป็นผู้เปลี่ยนน้ำตาลหรือแป้งเป็นแอลกอฮอล์

ประเด็นที่ 2. หน่วยนับของแอลกอฮอล์

วงการแพทย์บอกปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่มโดยใช้หน่วยเป็นดริ๊งค์ (drink) โดยหนึ่งดริ๊งค์เท่ากับแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 14 กรัม หรือเท่ากับ เบียร์ (5%) 12 ออนซ์ หรือ 360 ซีซี. หรือลิเควียร์ (7%) 8 ออนซ์หรือ 240 ซีซี. หรือเท่ากับไวน์ (12%) 5 ออนซ์ (150 ซีซี.) หรือเท่ากับเหล้าสปิริต เช่น จิน รัม วอดก้า วิสกี้ (40%) หนึ่งช็อต หรือ 45 ซีซี. (1.5 ออนซ์) 

นอกจากนี้วงการแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจยังได้นิยามการดื่มพอประมาณ (moderate) ว่าคือการดื่มไม่เกิน 2 ดริ๊งค์ในผู้ชาย และไม่เกิน 1 ดริ๊งค์ในผู้หญิง

แอลกอฮอล์ไม่ว่าได้มาจากเครื่องดื่มชนิดไหน จะเป็นเบียร์เป็นไวน์ก็มีผลเสียต่อสุขภาพเหมือนกันหากดื่มในปริมาณหรือจำนวนกรัมของแอลกอฮอล์ที่เท่ากัน

ประเด็นที่ 3. ผลเสียระยะสั้นของแอลกอฮอล์ต่อสุขภาพ

  • เพิ่มการตาย บาดเจ็บ และทุพลภาพจากอุบัติเหตุ ลื่นล้ม จมน้ำ หรือถูกไฟคลอก6,7
  • เพิ่มพฤติกรรมรุนแรงรวมทั้งฆาตกรรม ฆ่าตัวตาย ทำร้ายร่างกาย ปลุกปล้ำข่มขืนกระทำชำเรา และความรุนแรงต่อคู่สมรสและบุตรธิดาของตนเองในครอบครัว 6-10
  • เกิดภาวะพิษแอลกอฮอล์ฉุกเฉิน ซึ่งนำไปสู่ภาวะโคม่าและเสียชีวิตได้ 11
  • เพิ่มพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ เช่นมีเซ็กซ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือมีเซ็กซ์กับคู่นอนหลายคน ซึ่งนำไปสู่การตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจและเกิดโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งโรค HIV12,13
  • เพิ่มการแท้งบุตร ตายระหว่างคลอด กรณีผู้ดื่มเป็นหญิงตั้งครรภ์ 6,12,14,15

ประเด็นที่ 4. ผลเสียระยะยาวของแอลกอฮอล์ต่อสุขภาพ

การดื่มแอลกอฮอล์เป็นอาจิณเรื้อรังนำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรังระดับรุนแรงหลายโรค รวมถึง

  • โรคความดันเลือดสูง โรคหัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจพิการ อัมพาต
  • โรคตับแข็ง และโรคของระบบทางเดินอาหาร เช่นหลอดอาหารอักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบ เลือดออกในทางเดินอาหาร6,16
  • โรคมะเร็ง รวมทั้งมะเร็งเต้านม มะเร็งช่องปาก มะเร็งลำคอ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 6,17
  • ทำให้ระบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เพิ่มโอกาสป่วยและตายจากโรคติดเชื้อ 6,16
  • ทำให้ความจำเสื่อม สมองเสื่อม การเรียนรู้เสียหาย 6,18
  • ทำให้เกิดโรคทางจิตและประสาทหลายโรค รวมทั้งโรคซึมเศร้า วิตกกังวล และเป็นบ้า (psychosis)6,19
  • ทำให้เกิดปัญหาสังคม รวมถึงปัญหาครอบครัว ปัญหาการทำงาน และมีผลกระทบต่อการจ้างงาน6,20,21
  • ทำให้ติดสุราเนื่องจากแอลกอฮอล์เป็นสารเสพย์ติดชนิดหนึ่ง 5

ประเด็นที่ 5. ความเข้าใจผิดว่าดื่มแอลกอฮอล์พอประมาณแล้วลดอัตราตายได้

การดื่มแอลกอฮอล์ระดับมากเป็นผลร้ายต่อสุขภาพนั้นเป็นที่ทราบและยอมรับกันดีมานานแล้ว แต่ในช่วงประมาณปีค.ศ. 1990 เป็นต้นมา วงการแพทย์ได้เผยแพร่ข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์ในระดับพอประมาณ (moderate) คือไม่เกินสองดริ๊งค์ในผู้ชายหนึ่งดริ๊งค์ในผู้หญิง กับการลดอัตราตายจากโรคหัวใจหลอดเลือด ตามผลการวิจัยเชิงระบาดวิทยาที่ได้มาในช่วงนั้น จึงได้นำมาสู่ความนิยมการดื่มแอลกอฮอล์และความเชื่อว่าการดื่มแอลกอฮอล์พอประมาณทำไห้สุขภาพดีอย่างกว้างขวาง ทั้งๆที่การสรุปข้อมูลเชิงระบาดวิทยาเหล่านั้นไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยกวน (confound factors) ซึ่งพบร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ และซึ่งเป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้อัตราตายลดลง ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยอัตราตายที่สัมพันธ์กับการดื่มไวน์แดงในหมู่ผู้กินอาหารเมดิเตอเรเนียนไม่ได้คำนึงถึงตัวอาหารเมดิเตอเรเนียนซึ่งมีแคลอรีส่วนใหญ่มาจากพืชและอาจเป็นปัจจัยหลักที่ลดอัตราตายในกลุ่มผู้ดื่มไวน์แดงลง เมื่อวิเคราะห์แยกปัจจัยกวนลักษณะนี้ออกไปแล้วก็ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์ระดับพอประมาณกับการลดอัตราตายรวมแต่อย่างใด และอีกปัจจัยหนึ่งคือการจำแนกว่าผู้ดื่มแอลกอฮอล์น้อยแม้ระดับเคยดื่มครั้งเดียวหรือสองครั้งในชีวิตก็ถูกจัดเข้ากลุ่มผู้ดื่มระดับพอประมาณหมดทำให้ให้ผลสรุปของงานวิจัยผิดเพี้ยนไป เพราะในการวิเคราะห์ข้อมูลระดับลึกจะปรากฎเสมอว่าอัตราตายของกลุ่มดื่มแอลกอฮอล์พอประมาณนั้นจะเป็นรูปตัว J คือต่ำมากในหมู่ดื่มน้อยมากและนานๆครั้งแล้วสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในหมู่ผู้ดื่มเป็นอาจิณและดื่มค่อนไปทางมาก

งานวิจัยแบบเมตาอานาไลซีสที่รวบรวมข้อมูลวิจัยแบบไปข้างหน้ารวมประชากรในงานวิจัยได้ 3,998,626 คน มาจากงานวิจัย 87 งาน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตไปในระหว่างติดตามดู 367,103 คน เมื่อได้วิเคราะห์โดยแยกปัจจัยกวนต่ออัตราตายที่สำคัญทั้งเชิงบวกและเชิงลบออกไปอย่างละเอียดแล้ว พบว่าอัตราตายรวมของผู้ดื่มแอลกอฮอล์ระดับพอประมาณ ไม่ได้แตกต่างจากอัตราตายของผู้ไม่ดื่มแอลกอฮอล์แต่อย่างใด22   

แม้ในข้อสรุปดั้งเดิมที่ว่าการดื่มแอลกอออล์ระดับพอประมาณสัมพันธ์กับการเกิดจุดจบเลวร้ายของโรคหัวใจหลอดเลือดลงนั้น ได้มาจากงานวิจัยฟรามิงแฮม24 ซึ่งเป็นกลุ่มคนชาติเดียว (อเมริกัน) กลุ่มเล็กๆ จำนวน 1948 คน ซึ่งจัดว่าเป็นข้อมูลขนาดเล็ก งานวิจัยตามดูกลุ่มคนหลายชาติหลายภาษาในยุคต่อมามีหลายรายการที่ให้ผลที่หลากหลายไปคนละทาง งานวิจัยส่วนหนึ่งไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์ระดับพอประมาณกับการลดอัตราตายจากโรคหัวใจหลอดเลือดลงแต่อย่างใด บางงานวิจัยกลับให้ผลไปทางตรงกันข้าม ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยขนาดใหญ่ชื่อ INTERHEART study23 ซึ่งทำการศึกษาคนป่วยโรคหัวใจใน 52 ประเทศ จำนวน 15152 คนที่ป่วยเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันแล้วหมดทุกคน เมื่อวิเคราะห์เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงร่วมกันของผู้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันทั้งหมด พบว่าปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจสูงสุดเก้าปัจจัยเรียงจากเสี่ยงมากไปหาน้อย คือ

(1) บุหรี่  

(2) ไขมันในเลือดผิดปกติ (ApoB/ApoA)

(3) ความดันเลือดสูง

(4) เบาหวาน

(5) อ้วนลงพุง

(6) ความเครียด

(7) การกินผักผลไม้น้อยหรือไม่กิน

(8) การดื่มแอลกอฮอล์

(9) การไม่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

จะเห็นว่าในงานวิจัยนี้ซึ่งใหญ่กว่าและศึกษากับผู้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันแล้วโดยตรงจำนวนมากและหลากหลายชาติพันธ์ พบว่าแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำมาสู่การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายที่ติดเก้าอันดับสูงสุดและแรงกว่าการไม่ออกกำลังกายเสียอีก ซึ่งขัดแย้งกับผลวิจัยเก่าก่อนหน้านี้ที่สรุปว่าแอลกอฮอล์เป็นตัวลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือด  

โดยสรุป การทบทวนหลักฐานที่มีนับถึงวันนี้ แอลกอฮอล์ทำให้อัตราตายรวมเพิ่มขึ้น รวมทั้ง

การตายจากโรคหัวใจหลอดเลือดด้วย และการดื่มแอลกอฮอล์ระดับพอประมาณ (1 ดริ๊งค์ในผู้หญิง 2 ดริ๊งค์ในผู้ชาย) ก็ไม่ได้สัมพันธ์การลดอัตราตายรวมลงแต่อย่างใดหากได้วิเคราะห์ผลวิจัยโดยแยกปัจจัยกวนออกไปอย่างละเอียดก่อน ดังนั้นหมอสันต์จึงแนะนำว่าผู้ที่ไม่เคยดื่มแอลกอฮอล์ไม่ควรเริ่มดื่มเลย ผู้ที่ดื่มอยู่แล้วควรลดปริมาณการดื่มลงให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้หรือเลิกดื่มไปเลยยิ่งดี ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดอยู่หรือไม่ก็ตาม คำแนะนำนี้อาจขัดแย้งกับคำแนะนำของแพทย์โรคหัวใจจำนวนมาก ท่านผู้อ่านต้องใช้วิจารณาญาณทบทวนงานวิจัยที่ผมแนบท้ายบทความนี้ แล้วตัดสินใจเอาเองว่าท่านจะเชื่อใคร

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Centers for Disease Control and Prevention. Alcohol-Related Disease Impact Application website. Accessed February 29, 2024.
  2. Esser MB, Leung G, Sherk A, Bohm MB, Liu Y, Lu H, Naimi TS. Estimated deaths attributable to excessive alcohol use among US adults aged 20 to 64 years, 2015 to 2019JAMA Netw Open 2022;5:e2239485.
  3. Sacks JJ, Gonzales KR, Bouchery EE, Tomedi LE, Brewer RD. 2010 National and State Costs of Excessive Alcohol ConsumptionAm J Prev Med 2015; 49(5):e73–e79.
  4. U.S. Department of Agriculture and U.S. Department of Health and Human Services. 2020 – 2025 Dietary Guidelines for Americans. 9th Edition, Washington, DC; 2020.
  5. Esser MB, Hedden SL, Kanny D, Brewer RD, Gfroerer JC, Naimi TS. Prevalence of Alcohol Dependence Among US Adult Drinkers, 2009–2011Prev Chronic Dis 2014;11:140329.
  6. World Health Organization. Global status report on alcohol and health—2018. Geneva, Switzerland: World Health Organization; 2018.
  7. Alpert HR, Slater ME, Yoon YH, Chen CM, Winstanley N, Esser MB. Alcohol consumption and 15 causes of fatal injuries: A systematic review and meta-analysisAm J Prev Med 2022;63:286–300.
  8. Greenfield LA. Alcohol and Crime: An Analysis of National Data on the Prevalence of Alcohol Involvement in Crime  [PDF – 229 KB]. Report prepared for the Assistant Attorney General’s National Symposium on Alcohol Abuse and Crime. Washington, DC: U.S. Department of Justice, 1998.
  9. Mohler-Kuo M, Dowdall GW, Koss M, Wechsler H. Correlates of rape while intoxicated in a national sample of college womenJournal of Studies on Alcohol 2004;65(1):37–45.
  10. Abbey A. Alcohol-related sexual assault: A common problem among college studentsJ Stud Alcohol Suppl 2002;14:118–128.
  11. Kanny D, Brewer RD, Mesnick JB, Paulozzi LJ, Naimi TS, Lu H. Vital Signs: Alcohol Poisoning Deaths — United States, 2010–2012MMWR 2015;63:1238-1242.
  12. Naimi TS, Lipscomb LE, Brewer RD, Colley BG. Binge drinking in the preconception period and the risk of unintended pregnancy: Implications for women and their childrenPediatrics 2003;11(5):1136–1141.
  13. Wechsler H, Davenport A, Dowdall G, Moeykens B, Castillo S. Health and behavioral consequences of binge drinking in collegeJAMA 1994;272(21):1672–1677.
  14. Kesmodel U, Wisborg K, Olsen SF, Henriksen TB, Sechler NJ. Moderate alcohol intake in pregnancy and the risk of spontaneous abortionAlcohol & Alcoholism 2002;37(1):87–92.
  15. American Academy of Pediatrics, Committee on Substance Abuse and Committee on Children with Disabilities. 2000. Fetal alcohol syndrome and alcohol-related neurodevelopmental disordersPediatrics 2000;106:358–361.
  16. Rehm J, Baliunas D, Borges GL, Graham K, Irving H, Kehoe T, et al. The relation between different dimensions of alcohol consumption and burden of disease: an overview. Addiction. 2010;105(5):817-43.
  17. International Agency for Research on Cancer. Personal Habits and Indoor Combustions: A Review of Human Carcinogens, Volume 100E 2012. Available from: http://monographs.iarc.fr/ENG/Monographs/vol100E/index.php.
  18. Miller JW, Naimi TS, Brewer RD, Jones SE. Binge drinking and associated health risk behaviors among high school students. Pediatrics. 2007;119(1):76-85.
  19. Castaneda R, Sussman N, Westreich L, Levy R, O’Malley M. A review of the effects of moderate alcohol intake on the treatment of anxiety and mood disordersJ Clin Psychiatry 1996;57(5):207–212.
  20. Booth BM, Feng W. The impact of drinking and drinking consequences on short-term employment outcomes in at-risk drinkers in six southern statesJ Behavioral Health Services and Research 2002;29(2):157–166.
  21. Leonard KE, Rothbard JC. Alcohol and the marriage effectJ Stud Alcohol Suppl 1999;13:139–146.
  22. Stockwell T, Zhao J, Panwar S, Roemer A, Naimi T, Chikritzhs T. Do “Moderate” Drinkers Have Reduced Mortality Risk? A Systematic Review and Meta-Analysis of Alcohol Consumption and All-Cause Mortality. J Stud Alcohol Drugs. 2016 Mar;77(2):185-98. doi: 10.15288/jsad.2016.77.185. PMID: 26997174; PMCID: PMC4803651.
  23. Yusuf S, Hawken S, Ounpuu S, Dans T, Avezum A, Lanas F, McQueen M, Budaj A, Pais P, Varigos J, Lisheng L; INTERHEART Study Investigators. Effect of potentially modifiable risk factors associated with myocardial infarction in 52 countries (the INTERHEART study): case-control study. Lancet. 2004 Sep 11-17;364(9438):937-52. doi: 10.1016/S0140-6736(04)17018-9. PMID: 15364185.
  24. Friedman LA, Kimball AW. Coronary heart disease mortality and alcohol consumption in Framingham. Am J Epidemiol. 1986 Sep;124(3):481-9. doi: 10.1093/oxfordjournals.aje.a114418. PMID: 3740047.
[อ่านต่อ...]

11 มีนาคม 2567

ชีวิตวัยเกษียณที่ตีบตัน

(ภาพวันนี้ / ปาล์มสิบสองปันนากำลังออกดอก)

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้คกรุณาคลิกที่ภาพข้างล่าง)

คุณหมอสันต์ครับ

ผมเป็นวิศวกร อายุ 81 ปี ทำงานที่อเมริกามาหลายสิบปี ตอนนี้เกษียณร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว มีความรู้สึกว่าชีวิตมันตีบตัน มันไม่รู้จะทำอะไรต่อ ได้พยายามไปหลายแง่หลายมุม ทั้งทำงานจิตอาสาก๊อกๆแก๊กๆ พบว่ามันไม่เวิร์ค ความที่เรียนมามากทางวิทยาศาสตร์จึงไม่ยอมรับอะไรที่อาศัยแต่ความเชื่อ ก็ได้ลองศึกษา consciousness ในแง่มุมของ quantum physics ก็ยิ่งไม่เวอร์คใหญ่ อยากถามคุณหมอว่าทำอย่างไรชีวิตวัยเกษียณจึงจะไม่ตีบตัน

……………………………………………………………

ตอบครับ1.. ก่อนตอบคำถาม ผมติดใจที่คุณพี่บอกว่าได้ศึกษา consciousness ในมุมของควันตั้มฟิสิกส์ ผมขอคุยกันตรงนี้ก่อนนะ ก่อนอื่นสำหรับท่านผู้อ่านทั่วไป โปรดอย่าสับสนระหว่างควันตั้มฟิสิกส์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโมเดอร์นฟิสิกส์ กับเมตาฟิสิกส์ ผมขอเคลียร์ตรงนี้ก่อนนะ ว่า

ควันตั้มฟิสิกส์ (Quantum physics) คือวิชาวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาถึงสสารและพลังงานในระดับที่เล็กกว่าอะตอม ด้วยวิธีชั่งตวงวัดหรือใช้ตรรกะเชิงคณิตศาสตร์คิดคำนวณ วิชานี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาโมเดิร์นฟิสิกส์

โมเดิร์นฟิสิกส์ (Modern physics) คือวิชาฟิสิกส์ในยุคประมาณร้อยกว่าปีหลังมานี้ ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาถึงสสารและพลังงานด้วยหลักคิดทฤษฏีใหม่ที่ทฤษฎีฟิสิกส์ยุคเก่าอธิบายไม่ได้ เช่น ทฤษฎีสัมพันธภาพ ทฤษฏีความไม่แน่นอน เป็นต้น

เมตาฟิสิกส์ (Metaphysics) เป็นสาขาวิชาปรัชญาที่โฟกัส เรื่องความจริง (reality) การดำรงอยู่ (existence) หรือการมีชีวิตอยู่ (being) บางครั้งก็สนใจไปถึงคอนเซ็พท์ของเวลาและพื้นที่ว่างเปล่า (time and space) เฉพาะส่วนที่วิทยาศาสตร์ยังเข้าไม่ถึงยังอธิบายไม่ได้ ดังนั้นเมตาฟิสิกส์ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ หรือจะพูดว่าเมตาฟิสิกส์เป็นไสยศาสตร์ก็ไม่ผิด

2.. ความตีบตันในชีวิตเกษียณ ที่คุณพี่พูดถึงนี้ ท่านไม่ได้หมายถึงจนแต้มในเรื่องหาเงินไม่พอใช้ หรือชีวิตขาดความสุขสบาย แต่ท่านหมายถึงความตีบตันในเรื่องการเรียนรู้และเติบโต เพราะมาถึงวัยนี้แล้ว มันเป็นแบบว่า Been there, Done that คือที่ไหนที่คนเขาอวดกันว่าได้ไป ตัวเองก็ไปมาหมดแล้ว อะไรที่คนเขาอวดกันว่าได้ทำ ตัวเองก็ทำมาหมดแล้ว แต่ชีวิตก็ยังอยู่ ยังไม่ตาย แล้วจะให้ทำอะไรต่อ ลองศึกษาเชิงลึกเข้าไปในเรื่องความรู้ตัว (consciousness) ในมุมของวิทยาศาสตร์ซึ่งรวมถึงควันตั้มฟิสิกส์ก็พบว่าไม่ส่งผลอะไรให้ มองเผินๆจึงรู้สึกว่ามันตีบตันเสียแล้ว ชีวิตนี้จะเรียนรู้เติบโตได้อย่างไรต่อไป หรือว่าต้องนั่งรอการมาของอาหารเย็น หรือความตาย สุดแล้วแต่ว่าอย่างไหนจะมาถึงก่อนกัน (หิ..หิ พูดเล่น) ทั้งนี้คุณพี่ท่านมีข้อแม้ด้วยว่าต้องเป็นแนวทางวิทยาศาสตร์นะ ไสยศาสตร์หรือความเชื่องมงายไม่เอา จบข่าว

3.. โอเค. ผมตอบคุณพี่ภายใต้กรอบของวิทยาศาสตร์ไม่เอาไสยศาสตร์..ว่า การจะเรียนรู้เติบโตต่อไป จะต้องสรุปด้วยตรรกะเหตุผลให้ลงตัวก่อนว่า “ฉัน” (consciousness) นี้ ไม่ได้เป็นอะไร โดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ให้ได้ดอกว่า “ฉัน” นี้เป็นอะไร แค่นี้ก็ทะลายกรอบให้การเรียนรู้เติบโตเดินหน้าต่ออย่างฉลุยได้แล้ว โดยผมแยกเป็นประเด็นย่อยสามประเด็น คือ

1.. ร่างกายนี้เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และเสื่อมสลายไป โดยเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม และแลกเปลี่ยนหมุนเวียนโมเลกุลกันไปกันไปมา ผ่านอาหาร น้ำ อากาศ แสงแดด เป็นต้น โดยที่เราควบคุมบังคับหรือเปลี่ยนแปลงได้เพียงระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นระดับเล็กน้อย หรือพูดง่ายๆว่าหากเราเรียกตัวเราเองว่า “ฉัน” ร่างกายนี้ก็ไม่ใช่ “ฉัน” นี่เป็นประเด็นที่หนึ่ง เราอาจอ้างแบบสมมุติหรือออกโฉนดเอาแบบรู้แต่เฉพาะตัวเองว่ามันเป็นของฉัน แต่..มันไม่ใช่ “ฉัน”

2.. ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ที่เกิดขึ้นในใจเรา เป็นเพียงประสบการณ์ที่ “ฉัน” รับรู้และจดจำ เกิดขึ้นแล้วก็ดับหายไป ดังนั้น ความคิดก็ดี อารมณ์ความรู้สึกก็ดี ก็ไม่ใช่ “ฉัน” ซึ่งเป็นผู้รับรู้ประสบการณ์เหล่านี้ นี่เป็นประเด็นที่สอง

3.. ตัวตน (identity) ของเรา ที่เราร่วมกับคนรอบตัวสมมุติร่วมกันขึ้นว่าเราเป็นคนชื่อนี้ เพศนี้ เรียนจบสถาบันนี้ มีอาชีพนี้ อยู่ประเทศนี้ นับถือศาสนานี้ ชอบพรรคการเมืองพรรคนี้ เป็นคนดีอย่างนี้ ทั้งหมดนี้เป็นคอนเซ็พท์หรือชุดของความคิดที่เราตั้งขึ้นและยึดถือแบบรู้อยู่แก่ใจของเราเอง จริงอยู่มันเป็นตัวกำหนดประสบการณ์ในใจเราว่าต้องมีทิศทางปกป้องและเชิดชูตัวตนนี้เข้าไว้ แต่ตัวตนนี้ก็ไม่ใช่ “ฉัน” ที่เป็นเพียงผู้รับรู้ประสบการณ์ทั้งหลายเกี่ยวกับตัวตนนี้ นี่เป็นประเด็นที่สาม

ข้อสรุปเพียงสามข้อแค่นี้ คือ (1) ฉันไม่ใช่ร่างกาย (2) ฉันไม่ใช่ความคิดอารมณ์ความรู้สึก (3) ฉันไม่ใช่ตัวตน แค่นี้ก็มากเกินพอแล้วที่จะทำให้ “ฉัน” มีความสุขจากการเรียนรู้เติบโตไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดจากการสามารถมองเห็นทุกอย่างแบบโปร่งใสไม่มีอะไรปิดบังบิดเบือน โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปเรียนควันตั้มฟิสิกส์ด้วยซ้ำไปว่า “ฉัน” นี้มันเป็นใครมีหน้าตาที่แท้จริงเป็นอย่างไร และการที่ผมตั้งชื่อให้ “ฉัน” ว่าคือ “ความรู้ตัว” นี้ก็เป็นเพียงการตั้งชื่อให้เพื่อให้สื่อสารกันได้ง่าย แต่หากจะให้ผมนิยามคำว่า “ความรู้ตัว” นี้ให้ละเอียดผมก็นิยามให้ไม่ได้หรอก เหมือนกับที่คุณพี่ก็เห็นแล้วว่าพวกฝรั่งเขายังเถียงกันไม่ตกฟากเลยว่า consciousness นี้มันคืออะไรอยู่ที่ไหนหน้าตาอย่างไรทำงานอย่างไร เอาสูตรของผมง่ายกว่า คือไม่ต้องไปนิยาม “ฉัน” ให้ได้ดอก ไม่จำเป็น ไม่ต้องรู้หรอกว่า “ฉัน” เป็นอะไร แค่รู้ว่า “ฉัน” ไม่ได้เป็นอะไรก็เดินหน้าไปกับชีวิตได้ฉลุยแล้ว แล้วพูดก็พูดเถอะ อย่าหาว่า ส. ใส่เกือก เลยนะ มันคันปาก ควันตัมฟิสิกส์ก็ดี โมเดิร์นฟิสิกส์ก็ดี เมตาฟิสิกส์ก็ดี ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่ประเด็น (irrelevant) มันล้วนเป็นการผลาญเวลาในชีวิตยามแก่ไปอย่างไร้สาระเท่านั้น

4.. เมื่อได้ยอมรับจากการชั่งตวงวัดด้วยตรรกะแบบวิทยาศาสตร์แล้วว่า “ฉัน” ไม่ใช่อะไรทั้งสามอย่างนั้นแล้ว และลงมือฝ่าข้ามความเชื่อ ความยึดติด หรือยึดถือพัวพัน กับสามอย่างนั้นไปให้พ้นเสียได้แล้ว ชีวิตมันก็จะโล่งไม่ตีบตันอีกต่อไปในแง่ของการเรียนรู้และเติบโต เพราะฉันที่เป็นอิสระจากร่างกาย จากความคิด และจากตัวตน มันเป็นฉันที่สามารถรับรู้สิ่งที่ไม่เคยรู้ (unknown) ได้อย่างโปร่งใส อย่างไม่ถูกอะไรปิดบังหรืออำพรางไว้ และได้อย่างไม่สิ้นสุด นั่นแหละคือการเรียนรู้เติบโตต่อไปอย่างแท้จริงของผู้เกษียณทั้งหลาย สิ่งที่ได้เรียนรู้ใหม่ๆนับจากนี้ จะเป็นพลังสร้างสรรค์ให้ทำอะไรได้อีกไม่รู้จบตราบใดที่ยังมีพลังชีวิตให้ทำอะไรได้อยู่ แล้วคำว่าตีบตันก็จะไม่มีในพจนานุกรมของผู้เกษียณหรือผู้สูงวัยอีกต่อไป

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

10 มีนาคม 2567

จะถอนพิษเฉียบพลันของ paracetamol ได้อย่างไร

(ภาพวันนี้ / เช้าวันหนึ่งในฤดูร้อนที่มวกเหล็กวาลเลย์ โปรดสังเกตเหงื่อแตก เพราะเพิ่งเดินขึ้นเขามา)

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้คกรุณาคลิกภาพข้างล่าง)

คุณหมอที่เคารพ

ฉุกเฉินค่ะ ลูกหนูอายุสองขวบกินยาน้ำแก้ไข้พาราซีตามอลของพี่เขาไปจนหมดขวด กินตอนเที่ยงวันนี้ หนูพาไปโรงพยาบาล หมอไม่ได้ล้างท้อง แต่ให้น้ำเกลือเป็นซองและยาเม็ดดำมาบดกิน ให้กลับมาสังเกตอาการที่บ้านแล้วนัดอีกวันพรุ่งนี้เช้า หนูไม่สบายใจขอปรึกษาคุณหมอว่าควรจะทำอย่างไรดี

……………………………………..

ตอบครับ

1.. คำถามของคุณคือวิธีรักษาพิษของยาพาราเซ็ตตามอล เด็กกินสารพิษตอนประมาณเที่ยงวัน นี่มันหกโมงเย็น ก็ผ่านมา 6 ชั่วโมงแล้ว

ก่อนอื่นผมขอคำนวณน้ำหนักเด็กก่อนนะ เพราะตัวเองไม่ใช่หมอเด็กคิดในใจไม่ได้ คำนวณจากสูตรสมัยผมเรียนวิชาเด็ก คือ “2 คูณอายุปี บวกแปด” ก็ 2 คูณ 2 เป็นสี่ บวก 8 เป็น 12 กก.

แล้วก็มาคำนวณว่ากินยาไปมากถึงระดับเป็นพิษรุนแรงหรือเปล่า กล่าวคือหลักวิชามีว่าพิษพาราเซ็ตตามอลจะเกิดขึ้นแน่นอนหากินยามากกว่า 200 mg/kg หมดในเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง ดังนั้นระดับพิษสำหรับลูกคุณก็คือ 12×200 หรือ 2400 มก.ก็คือ 2.4 กรัม

แล้วก็มาดูว่าในน้ำยาที่กินมีเนื้อยาพาราเซ็ตตามอลเท่าไร ปกติเขาใส่มาสองความเข้มข้น คือ 125 กับ 250 มกต่อช้อนชา คิดทางร้ายไว้ก่อนว่ายาที่เด็กกินเป็นแบบความเข้มข้นมาก หากจะกินให้ถึงระดับเกิดพิษแน่นอนซึ่งต้องกินระดับ 2.4 กรัม ก็คือจะต้องกิน ยาหนึ่งกรัมได้จากน้ำยา 4 ช้อนชาใช่ไหม คือผมคิดจาก 1000/250 = 4 หากจะกิน 2.4 กรัมก็ต้องกิน 10 ช้อนชา นี่ลูกคุณกินเข้าไปทั้งขวดซึ่งมี 60 ซีซี. (คือขวดยาเด็กมันจุ 60 ซีซี.) ก็คือกินเข้าไป 12 ช้อนชา เพราะหนึ่งช้อนชามี 5 ซีซี. จึงกินเข้าไปเกินระดับที่จะเป็นพิษต่อตับแน่นอน ตามหลักวิชาแพทย์ก็คือต้องให้ยาแก้พิษทันทีในเวลาไม่เกิน 8 ชั่วโมง

การรักษาปกติหากมาในเวลาไม่เกิน 4 ชั่วโมงหมอเขาจะใส่สายยางล้างท้องแล้วใส่ถ่านบดหรือ activated charcoal เข้าไปดูดพิษยา แต่นี่มัน 6 ชั่วโมงผ่านไปแล้วหมอเขาจึงไม่ล้างท้อง หลังจากนั้นปกติหมอเขาจะเจาะเลือดดูระดับพาราเซตตามอลในเลือดว่ามันสูงแค่ไหน ดูด้วยว่ามันกำลังเพิ่มขึ้นหรือมันกำลังลดลงก่อนที่จะตัดสินใจรักษา แต่นี่มันผ่านไป 6 ชั่วโมงแล้ว จะมามัวรอดูผลเลือดคงไม่ทันการแล้วละ ต้องรักษาแบบฉุกเฉินทันที เพราะงานวิจัยบอกว่าหากให้ยาแก้พิษได้ทันใน 8 ชั่วโมง จะป้องกันพิษต่อตับได้ 100% ตัวยาแก้พิษมาตรฐานก็คือ NAC หรือ N acetyl cysteine ซึ่งต้องให้กันแบบหยอดเข้าหลอดเลือดดำทางสายน้ำเกลือ

2.. ถามว่ากรณีที่หมอให้กลับบ้านแล้วโดยไม่ได้รับยาแก้พิษอะไรเลยควรจะทำอย่างไรต่อ ตอบว่าผมแนะนำให้คุณติดต่อศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี โทร 1367 (24 ชม) แล้วทำตามเขาแนะนำว่าจะให้ไปโรงพยาบาลไหนที่ใกล้บ้านที่สุด เพราะไม่ใช่ว่าทุกโรงพยาบาลจะมียา NAC ไว้ฉีดแก้พิษ หากไปในที่ที่เขาไม่มียาหรือไปเจอหมอที่ถามว่ามียาแก้พิษพาราเซ็ตตามอลอยู่ในโลกนี้ด้วยเหรอ? ก็..จบข่าว

3.. ถามว่าในกรณีที่ไม่มีโอกาสได้ยาฉีด มีวิธีอื่นไหม ตอบว่าก็มีงานวิจัยใช้ NAC แบบยากินในขนาด 140 mg/kg ทันทีแล้วสี่ชั่วโมงต่อมาให้อีก 70 mg/kg ทุกสี่ชั่วโมงจนครบ 17 ครั้ง อย่างไรก็ตามแม้ว่ายา NAC แบบกินจะหาง่ายเพราะมันเป็นยาละลายเสมหะที่ใครก็หาซื้อบนโต๊ะได้ และกินหลังหลัดๆหรือแม้แต่กินพร้อมพาราเซ็ตตามอลก็ยังได้ แต่ผมก็ไม่แนะนำให้คนทั่วไปรักษาพิษของพาราเซ็ตตามอลด้วยตนเองยกเว้นเพื่อแก้ขัดเฉพาะหน้าขณะเดินทางไปโรงพยาบาลเท่านั้น เพราะพิษของพาราเซ็ตตามอลนี้มันเป็นเรื่องใหญ่ พลาดท่าเสียทีก็ตับวาย ต้องไปขวานขวายผ่าตัดเปลี่ยนตับ หรือไม่ก็..ตาย เด๊ดสะมอเร่

4.. อันนี้ไม่เกี่ยวกับคุณ แต่ผมเขียนไว้เผื่อมีหมอที่เป็นแฟนบล็อกและยังอยู่ในวัยหากินอยู่เวร ER อยากจะทบทวนความรู้เรื่องการฉีด NAC แก้พิษพาราเซตามอล ว่าวิธีคลาสสิกที่ใช้กันมานานแล้วมีอยู่อันเดียวคือของหมอ Prescott คือฉีด NAC ทางหลอดเลือดดำ (IV) ตูมเดียว 150 mg/kg จบในช่วงเวลา 15 นาที ตามด้วย 50 mg/kg ใน 4 ชม.ต่อมา ตามด้วย 100 mg/kg ในช่วงเวลา 16 ชม รวมโด้สโหลงโจ้ง 300 mg/kg จบในเวลา 20 ชม. 15 นาทีไม่ขาดไม่เกิน หลังจากนั้นหากมีเหตุให้ต้องให้ต่อก็ให้ในขนาด 6.25 mg/kg/hr (คนรุ่นหลังที่กลัวผลข้างเคียงของตัว NAC เองได้ปรับวิธีให้เป็น 150 mg/kg ในช่วงเวลา 60 นาทีแทนที่จะเป็น 15 นาที แล้วพบว่าได้ผลดีพอๆกัน)

ก่อนจบ อย่าลืม! ศูนย์พิษวิทยา รามาธิบดี โทร 1367 (24 ชม.)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Prescott L., Illingworth R., Critchley J., Stewart M., Adam R., Proudfoot A. (1979) Intravenous N-acetylcystine: the treatment of choice for paracetamol poisoning. Br Med J 2: 1097–1100
  2. Kerr F., Dawson A., Whyte I., Buckley N., Murray L., Graudins A., et al. (2005) The Australasian clinical toxicology investigators collaboration randomized trial of different loading infusion rates of N-acetylcysteine. Ann Emerg Med 45: 402–408 
[อ่านต่อ...]

09 มีนาคม 2567

ทำไมหมอสันต์ยอมให้มีกะทิในงานวิจัยอาหารไทยสุขภาพ ทั้งๆที่รู้ว่ากะทิไม่ดี

(กรณีอ่านจากเฟซบุ้ค กรุณาคลิกภาพข้างล่าง)

เรียนคุณหมอ

ดิฉันอยากสมัครเข้าร่วมงานวิจัยอาหารไทยสุขภาพของคุณหมอแต่เปลี่ยนใจไม่สมัครกลางคันเมื่อเห็นคำอธิบายงานวิจัยว่ากลุ่มทดลองจะต้องกินอาหารไทยสุขภาพซึ่งใช้กะทิได้ด้วย เพราะข้องใจว่าทำไมให้มีกะทิในอาหารไทยสุขภาพทั้งๆที่รู้ว่ากะทิเป็นไขมันอิ่มตัว ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคหัวใจหลอดเลือด แต่แม้จะไม่ได้สมัครร่วมงานวิจัยแต่ก็ยังไม่หายข้องใจจึงรบกวนคุณหมอช่วยอธิบายด้วยว่าทำไมอาหารไทยสุขภาพต้องมีกะทิด้วย ถ้าคำถามนี้ละลาบละล้วงดิฉันขออภัยด้วย

…………………………………………………….

ตอบครับ

ไม่ลาบไม่ล้วงเลยครับ ที่งานวิจัยของผมต้องรอการพิจารณาของกรรมการจริยธรรมอยู่ราวแปดเดือน สาเหตุหนึ่งก็เพราะกรรมการข้องใจว่าการที่ผมเอากะทิมาให้อาสาสมัครกิน จะเป็นการชอบด้วยจริยธรรมหรือไม่เนี่ยแหละ กว่าผมจะอธิบายให้ท่านกรรมการยอมรับ ก็ต้องหอบหลักฐานวิจัยมาแสดงให้ท่านเห็นจนหายข้องใจท่านถึงยอมให้ทำวิจัยได้ ดังนั้นขนาดกรรมการวิจัยซึ่งเป็นนักวิจัยอยู่แล้ว เข้าถึงหลักฐานข้อมูลวิจัยได้ตลอดเวลาทันทีทุกเมื่ออยู่แล้ว ยังข้องใจในประเด็นนี้เลย การที่คุณจะข้องใจในประเด็นนี้บ้างผมจึงไม่ถือว่าเป็นเรื่องละลาบละล้วงหรือลูบคมอะไรเลย

1.. ถามว่าทั้งที่รู้ๆอยู่ว่ากะทิเป็นของไม่ดี ทำไมต้องเอามาใช้ในอาหารไทยสุขภาพด้วย แยกตอบเป็นสองประเด็นย่อยนะ คือ

ประเด็นที่ 1. ที่เขาว่ากะทิเป็นของไม่ดีนั้น มีแต่เขาว่าต่อๆกันมา แต่ข้อมูลหลักฐานที่แท้จริงไม่มี มีแต่การคาดการณ์ (extrapolation) เอาจากข้อมูลซึ่งได้จากการวิจัยในกลุ่มคนที่กินเนื้อสัตว์และนมเนยมาก ว่าไขมันอิ่มตัวในอาหารสัมพันธ์กับการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดมากขึ้น จึงคาดการณ์ต่อเอาโดยไม่มีงานวิจัยยืนยันว่าน้ำมันมะพร้าว (ไม่ใช่กะทิ หรือเนื้อมะพร้าว หรือน้ำมะพร้าวนะ) ซึ่งโมเลกุลส่วนใหญ่จัดเป็นไขมันอิ่มตัวเหมือนกัน ก็ต้องสัมพันธ์กับการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดมากขึ้นด้วย การคาดการณ์แบบนี้ไม่ใช่หลักฐานวิทยาศาสตร์ และขัดกับหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่มีให้เห็นจับต้องได้แล้ว เช่น

  1. โมเลกุลไขมันอิ่มตัวที่เป็นส่วนประกอบหลักของน้ำมันมะพร้าวคือกรดลอริก [1] ซึ่งแตกต่างจากของน้ำมันปาล์ม น้ำมันหมู และนมเนย ที่เป็นกรดปาลมิติก จะเหมาโหลเอาง่ายๆว่ามันทำให้เกิดโรคเหมือนกันโดยไม่มีหลักฐานวิจัยยืนยันย่อมไม่ได้
  2. งานวิจัยตามดูกลุ่มคนที่กินน้ำมันสองแบบ คือกลุ่มหนึ่งกินน้ำมันมะพร้าว อีกกลุ่มหนึ่งกินน้ำมันดอกทานตะวัน กินนานตามดูกันนาน 6 ปี ไม่พบว่ามีอัตราการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดต่างกัน [2]
  3. งานวิจัยทุกงานวิจัยให้ผลตรงกันว่าน้ำมันมะพร้าวทำให้ระดับไขมันดี (HDL) สูงขึ้น
  4. งานวิจัยเปรียบเทียบระหว่างน้ำมันมะพร้าวกับไขมันอิ่มตัวจากสัตว์(นมเนย) พบว่าน้ำมันมะพร้าวเพิ่มระดับไขมันเลว (LDL) น้อยกว่าไขมันอิ่มตัวจากสัตว์ แปลว่าเมื่อเทียบความเลวแล้วน้ำมันมะพร้าวไม่ได้เลวเท่าไขมันอิ่มตัวจากสัตว์ [3]
  5. งานวิจัยแบบเมตาอานาไลซีสซึ่งใช้ข้อมูลวิจัยที่มีเกือบทั้งหมดมาวิเคราะห์ดูภาพใหญ่ พบว่าน้ำมันมะพร้าว (1) หากเปรียบเทียบกับไขมันอิ่มตัวจากสัตว์ น้ำมันมะพร้าวจะเพิ่มไขมันดีได้มากกว่า และเพิ่มไขมันเลวน้อยกว่า (2) หากเปรียบเทียบกับน้ำมันพืชชนิดไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (MUFA) น้ำมันมะพร้าวจะเพิ่มไขมันดีได้มากกว่าและเพิ่มไขมันเลวได้พอๆกัน (3) หากเปรียบเทียบกับน้ำมันพืชชนิดไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (PUFA) น้ำมันมะพร้าวจะเพิ่มไขมันดีได้มากกว่า ขณะเดียวกันก็เพิ่มไขมันเลวได้มากกว่าด้วย [4]

กล่าวโดยสรุปหลักฐานที่มีอยู่ขณะนี้ยังมีไม่มากพอที่จะสรุปว่าโหลงโจ้งแล้วน้ำมันมะพร้าวดีหรือเสียต่อสุขภาพแน่ชัดเป็นประการใด

ประเด็นที่ 2. ผมทำงานวิจัยนี้เพื่อค้นหารูปแบบของการกิน (eating pattern) ที่ทำให้สุขภาพดีสำหรับคนไทย อาหารไทยที่คนไทยกินกันทุกวันนี้ทำให้คนไทยมีไขมันในเลือดสูง งานวิจัยสุ่มตัวอย่างเจาะเลือดดูไขมันในเลือดคนไทยวัยผู้ใหญ่ที่ยังไม่ป่วยทุกภาคทั่วประเทศจำนวน 19,021 คน พบว่ามีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติสูง (dyslipidemia) อยู่มากถึง  66.5% ของผู้ที่ถูกสุ่มเจาะเลือดทั้งหมด[5] แม้ในงานวิจัยการตรวจเลือดเพื่อตรวจสุขภาพประจำปีของบุคลากรแพทย์และสาธารณสุขในโรงพยาบาลจำนวน 753 รายที่กำลังทำงานตามปกติอยู่ในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น ก็พบว่ามีภาวะไขมันในเลือดสูงผิดปกติอยู่ถึง 68.1%ของบุคลากรทั้งหมด[6] ดังนั้นอาหารไทยแบบที่กินกันทุกวันนี้ไม่ใช่อาหารสุขภาพแน่นอน ผมจึงตั้งสมมุติฐาน (เดา) ขึ้นมาจากงานวิจัยระดับระบาดวิทยาหลายงานที่บ่งชี้ความสัมพันธ์ระหว่างอาหารเนื้อสัตว์กับการเป็นโรคเรื้อรังว่าอาหารไทยส่วนที่มีผลดีหรือเสียต่อสุขภาพนั้นคือวัตถุดิบว่าเป็นเนื้อสัตว์หรือพืช ไม่ใช่ส่วนที่เป็นเครื่องปรุง จึงออกแบบงานวิจัยให้กลุ่มกินอาหารไทยสุขภาพใช้เครื่องปรุงไทยได้ทุกอย่างรวมทั้งกะทิ เพียงแต่ไม่ให้ใช้เนื้อสัตว์เป็นวัตถุดิบ สมมุติฐานนี้จะถูกหรือผิด ผลของอาหารที่ออกแบบใหม่นี้จะดีต่อสุขภาพจริงดังคาดหรือไม่อย่างไร ก็คงต้องรอให้ผลสรุปการวิจัยออกมาก่อน ซึ่งคงจะสรุปได้ต้นเดือนเมษายนนี้ แล้วผมรับปากว่าจะมาเล่าผลให้ฟัง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Khaw KT, Sharp SJ, Finikarides L, et al. Randomised trial of coconut oil, olive oil or butter on blood lipids and other cardiovascular risk factors in healthy men and women. BMJ Open. 2018;8:e020167
  2. Sabitha P, Vaidyanathan K, Vasudevan DM, et al. Comparison of lipid profile and antioxidant enzymes among south Indian men consuming coconut oil and sunflower oil. Indian J Clin Biochem. 2009;24:76–81.
  3. Eyres L, Eyres MF, Chisholm A, et al. Coconut oil consumption and cardiovascular risk factors in humans. Nutr Rev. 2016;74:267–280
  4. Teng M, Zhao YJ, Khoo AL, Yeo TC, Yong QW, Lim BP. Impact of coconut oil consumption on cardiovascular health: a systematic review and meta-analysis. Nutr Rev. 2020 Mar 1;78(3):249-259. doi: 10.1093/nutrit/nuz074. PMID: 31769848.
  5. Aekplakorn W, Taneepanichskul S, Kessomboon P, Chongsuvivatwong V, Putwatana P, Sritara P, Sangwatanaroj S, Chariyalertsak S. Prevalence of Dyslipidemia and Management in the Thai Population, National Health Examination Survey IV, 2009. J Lipids. 2014;2014:249584. doi: 10.1155/2014/249584. Epub 2014 Mar 30. PMID: 24800083; PMCID: PMC3985300.
  6. Suwannabupha, D., Kamsa-ard, S. Incident and Associated Factors of Dyslipidemia in Personnel of Faculty of Medicine, Khon Kaen University. Srinagarind Med J 2021; 36(3): 317-327.
[อ่านต่อ...]