(ภาพวันนี้ : เอื้องผึ้ง หลังบ้าน)
เรียนคุณหมอสันต์ที่นับถือ
ดิฉันเพิ่งเกษียณปีนี้ คือ 60 พบว่าตัวเองเครียดมากกว่าตอนทำงาน รู้สึกไม่ดีที่ได้แต่หายใจทิ้งไปวันๆ รู้สึกว่าตัวเองพอเกษียณแล้วขาดเป้าหมายในชีวิต ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นฝันมาตลอดว่าเกษียณแล้วจะได้หยุดวิ่งตามหานั่นหานี่เสียที ดิฉันควรจะทำอย่างไรให้ความรู้สึกไร้ค่านี้หายไป
………………………………………………………………………….
ตอบครับ
คุณเขียนมาก็ดีแล้ว เราจะได้คุยกันถึงเรื่องเป้าหมายชีวิตของผู้เกษียณกันบ้าง เนื่องจากเราไม่เคยพูดกันถึงเรื่องนี้กันมาก่อนเลย
เมื่อตอนเราเป็นเด็ก ผู้ใหญ่มักถามว่า
“ไอ้หนู โตขึ้นเอ็งอยากจะเป็นอะไร”
หิ หิ พูดถึงตอนนี้ขอนอกเรื่องหน่อยนะ สมัยผมเป็นเด็ก เล่นคลุกฝุ่นอยู่ในตลาดบ้านนอกมีทั้งเด็กไทยเด็กจีนเล่นด้วยกัน เด็กจีนตัวขาว เด็กไทยอย่างผมตัวดำ วันหนึ่งมีซินแสแก่ๆคนหนึ่งเดินเท้าผ่านตำบลของเรา แล้วเอามือชี้ผมว่า
“เจ้าเด็กคนนี้มีราศรีเทพปราบมังกร”
ผมอยู่มาจนแก่ยังไม่ได้ปราบมังกรสักตัว ได้แต่ปราบไส้เดือนไปสิบกว่าตัว กล่าวคือผมมีผลงานการดึงพยาธิไส้เดือนออกจากรูจมูกคนไข้เด็กสมัยผมเป็นหมอหนุ่มๆไปใช้ทุนอยู่ที่อำเภอปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ประมาณปีพ.ศ.2523 นั่นเป็นครั้งเดียวที่คำทำนายของซินแสใกล้ความจริงมากที่สุด
ต่อมาเมื่อผมกลับจากเมืองนอกมาเป็นหมอผ่าตัดหัวใจอยู่ที่รพ.ราชวิถี ตึกที่พวกหมอผ่าตัดหัวใจทำงานอยู่เรียกสั้นๆว่าตึกสะอาด (ตามชื่อของผู้บริจาคเงินสร้างตึก) ซึ่งเป็นที่รู้กันทั้งรพ.ว่าเป็นตึกที่มีแต่พวกหมออีโก้สูงพูดภาษาคนไม่รู้เรื่อง มีอยู่วันหนึ่งมีคนไข้คนจีนอายุมากกระเสือกกระสนมาพบผมที่ตึกสะอาด เหลือบดูประวัติก็เห็นว่าผ่านโรงพยาบาลดังๆมาจนครบหมดแล้ว ผมจึงถามว่ารักษาอยู่โรงพยาบาลเหล่านั้นดีกว่าที่นี่อีกแล้วอาแปะจะมาที่นี่อีกทำไม อาแปะตอบผมว่า
“เพราะมีซินแสทำนายว่าให้มาที่ตึกนี้ จะมีเทพช่วยชุบชีวิตให้”
ผมตอบอาแปะว่า
“ตึกนี้เทพไม่มีดอก แต่คนที่คิดว่าตัวเองเป็นเทพนะมีเพียบ..บ”
ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น
กลับมาเรื่องของเราต่อดีกว่า พอโตขึ้นเข้าสู่วัยคนแก่ เคยมีใครถามเราบ้างไหมว่า
” ลุ้ง..ง แก่แล้วลุงอยากจะเป็นใคร”
ฮ่า ฟังคำถามให้ดีนะ อยากเป็นใคร ไม่ใช่อยากเป็นอะไร
อยากเป็นอะไรคือวิชาชีพ ทำอะไรกิน นั่นสำคัญสำหรับเด็กๆ แต่ไม่สำคัญแล้วสำหรับคนแก่ แก่แล้วจะเป็นคนยังไงเนี่ยสิสำคัญ
อีกประเด็นหนึ่ง ตั้งแต่เรียนหนังสือจนจบมาทำงานจนเกษียณ เราใช้ชีวิตไปตามคนอื่นลิขิต ฝรั่งเรียกว่า default life ต้องเรียนให้เก่ง ต้องเข้ามหาลัย ต้องหางานทำ ต้องได้ตำแหน่งสูงกว่าคนอื่น แต่ว่าตอนนี้แก่แล้วไม่มีใครมาสนใจลิขิตชีวิตของเราอีกต่อไปแล้วนะ เรามีอิสระที่จะเป็นอะไรของเราเองจริงๆแล้ว
ดังนั้นต่อคำถามที่ว่าแก่แล้วอยากเป็นใครนี้ คุณจงตั้งใจตอบคำถามนี้อย่างปราณีตบรรจงเลยนะ เพราะนั่นจะเป็นเป้าหมายชีวิตของคุณ มันจะมีผลสร้างความบรรเจิดให้ชีวิตคุณจากนี้ไป
การมีเป้าหมายชีวิตทำให้สุขภาพดีและอายุยืน
เป้าหมายชีวิตที่หนักแน่น คือพลังนำพาชีวิตให้ยืนยาวและมีคุณภาพ งานวิจัยที่สนับสนุนโดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (NIH) ชิ้นหนึ่งซึ่งมุ่งหาความสัมพันธ์ระหว่างการมีเป้าหมายแน่นอนในชีวิตกับการมีอายุยืนพบว่าคนที่มีเป้าหมายแน่นอนว่ามีชีวิตอยู่ไปทำไมมีอายุยืนกว่าคนใช้ชีวิตอย่างไม่มีเป้าหมาย งานวิจัยอีกหลายชิ้นล้วนให้ผลสรุปไปทางเดียวกันว่าการมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่ามีชีวิตอยู่ไปทำไมสัมพันธ์กับการลดจุดจบที่เลวร้ายของโรคเรื้อรังลงและการมีความยืนยาวของชีวิตเพิ่มขึ้น ดังนั้นหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนการมีเป้าหมายชีวิตต่อการมีสุขภาพดีมีอายุยืนนั้นแน่ชัดแล้ว
เราอยู่ในสังคมปฏิเสธความแก่
สังคมทุกวันนี้กลัวความแก่ด้วยเหตุผลสามอย่าง (1) กลัวว่าคนแก่ซึ่งไม่ทำการผลิตอะไรแล้วได้แต่อ้าปากรอกินจะขยายจำนวนล้นประเทศ (2) กลัวสังคมคนแก่จะฉุดเศรษฐกิจของชาติลงเหว (3) กลัวสังคมคนแก่จะสร้างความขัดแย้งบทใหม่ขึ้นในสังคม คือความขัดแย้งระหว่างคนแก่กับคนที่ยังไม่แก่
เราจึงไม่กล้าตั้งเป้าหมายของการเป็นคนแก่ เพราะเราอยู่ในสังคมที่ปฏิเสธความแก่ แต่มันช่วยไม่ได้แล้วเพราะเราแก่แล้ว เราต้องเลิกวัฒนธรรมกลัวแก่นี้เสียที เลิกกลัวแก่ เลิกกลัวตาย หันมาสร้างสำนึกคุณค่าของการมีชีวิตแบบองค์รวมตั้งแต่เกิดถึงตาย หรือใช้มุมมองของ “การแก่อย่างสร้างสรรค์” ซึ่งผมนิยามว่าคือการให้คนแก่ได้ทำงานบ้านด้วยตัวเอง ได้ทำงานอาสาสมัคร ได้ทำงานวิชาชีพ ได้ทำธุรกิจ ได้ทำจ๊อบใหม่วัยเกษียณ จะได้เงินไม่ได้เงินนั่นไม่สำคัญ การแก่อย่างสร้างสรรค์นอกจากจะช่วยให้ตัวคนแก่เองมีความสุขมีสุขภาพดีแล้วยังช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมได้ด้วย
เป้าหมายชีวิตคืออะไร
คำว่าเป้าหมายนี้จริงๆแล้วมันคืออะไร ผมนิยามแบบบ้านๆด้วยคำสองคำ คือ “แสวงหา” และ “ให้” คือหาอะไร แล้วเอาไปให้ใคร ตื่นเช้ามาหากมีในใจว่าวันนี้จะเลือกแสวงหาอะไรเพื่อเอาไปให้ใคร ชีวิตในวันนี้ก็มีเป้าหมายแล้ว เป้าหมายคือการตอบคำถามว่า “ทำไม” ของชีวิตในวันนี้ได้ เช่นคำถามคลาสสิกที่ผมอยากให้คนแก่ทุกคนถามตัวเองทุกวันว่า..วันนี้ตื่นมาทำไม
มันแตกต่างกับชีวิตวัยเกษียณแบบล่องลอยไปอย่างไร้ทิศทาง ตื่นเช้ามาจนจวนจะบ่ายสามโมงแล้วยังทรงชุดนอนอยู่เลย แถมลืมไปแล้วด้วยว่าวันนี้แปรงฟันไปแล้วหรือยัง หิ หิ นั่นคือตัวอย่างตัวเป็นๆของชีวิตวัยชราที่ไร้เป้าหมาย
และเมื่อผ่านโลกมาถึงปูนนี้แล้ว มันเป็นธรรมชาติที่สิ่งที่เราเลือกจะหา มันจะเป็นเรื่องข้างในมากกว่าเรื่องข้างนอกตัว
ทำไมต้องมีเป้าหมายชีวิต
เราต้องมีเป้าหมายชีวิต เพราะ
(1) มันจะให้พลังงานขับเคลื่อนชีวิตเรา
(2) มันจะทำให้เราเป็นแมวเก้าชีวิตที่ฟันฝ่าอุปสรรคของความชราแบบล้มแล้วลุก ล้มแล้วลุก ได้โดยไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึงอะไร
(3) มันจะทำให้เรา “เติบโตสู่วัยชรา” ซึ่งจะทำให้ชีวิตจากครรภ์มารดาถึงสุสานดำเนินไปอย่างสมบูรณ์เต็มศักยภาพที่เรามี ผมเรียกว่าเป็น purposeful aging ไม่ใช่แค่ชราเพราะแดดเพราะลม (default aging)
จะค้นหาเป้าหมายชีวิตยามแก่ได้อย่างไร
เป้าหมายชีวิตไม่ใช่สิ่งที่จะไปหาที่ข้างนอก แต่เป็นการเปิดเผยตัวตนข้างในของเราออกมา มันคืออะไรที่เรารักชอบอยากทำ (passion) และคืออะไรที่ใจเราให้ค่า (value) มีคำสำคัญอยู่สองคำนะ passion กับ value คุณใช้แค่สองคำนี้ก็พอในการค้นหาเป้าหมายชีวิต
ตัวช่วยให้การใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมายสำเร็จ
ชีวิตวัยเกษียณที่ดี ผมนิยามว่าคือ (1) การได้อยู่ในที่ที่คุณอยากอยู่ (2) กับผู้คนที่คุณรัก และ (3) ได้ทำสิ่งที่คุณอยากทำ
ดังนั้นในการจะให้เป้าหมายชีวิตที่เด่นชัดดีแล้วผลักดันให้ชีวิตเป็นสุขได้จริง มันจำเป็นต้อง (1) ปลุกพลังชีวิตหรือพลังใจให้คุโชนไว้ (2) บ่มเพาะรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบตัวให้ดี (3) นอนให้หลับ (4) วางความคิดลบให้ได้ (5) ใช้ชีวิตแบบแอคทีฟขยันขันแข็ง (6) ใส่ใจส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และ (7) ทำทุกอย่างเพื่อปลุกความสุขในตัวให้ตื่นขึ้น
ผมเขียนเรื่อยเจื้อยคุณเลือกหยิบเอาไปใช้เองนะครับ ขอให้คุณมีความสุขกับวัยเกษียณตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
- Vern L. Bengtson, PhD, Frank J. Whittington, PhD, From Ageism to the Longevity Revolution: Robert Butler, Pioneer, The Gerontologist, Volume 54, Issue 6, December 2014, Pages 1064–1069, https://doi.org/10.1093/geront/gnu100
- Cohen R, Bavishi C, Rozanski A. Purpose in life and its relationship to all-cause mortality and cardiovascular events: a meta-analysis. Psychosom Med. 2016;78(2):122-133. doi:10.1097/PSY.0000000000000274