30 เมษายน 2563

อยากรู้เชิงลึกเรื่องสารต้านอนุมูลอิสระและกลูต้าไทโอน

กราบเรียนคุณหมอสันต์
หนูเป็นแฟนคลับตัวจริง อยากรู้เรื่องหนึ่งแต่ไม่เห็นมีใครเคยถาม ว่ากลูต้าไทโอนทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายดีขึ้นจริงไหม กลูต้าไทโอนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีมากจริงไหม มันทำให้หน้าขาวขึ้นจริงไหม แล้วคำว่าสารต้านอนุมูลอิสระที่หนูรู้มาว่ามันเป็นของดี ขณะที่ oxidative stress เป็นของเลว หนูรู้แค่นี้โดยไม่เข้าใจอะไรลึกไปกว่านี้เลย ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าสารต้านอนุมูลอิสระนี้มันเป็นประเด็นจริงๆหรือว่าเป็นแค่เรื่องเลื่อนลอยไม่เกี่ยวกับชีวิตจริง (หนูจบสายวิทย์ อาชีพนักกายภาพบำบัด) หาอ่านที่ไหนก็มีแต่อธิบายอย่างผิวเผิน คุณหมอกรุณาช่วยอธิบายแบบลึกซึ้งแต่เข้าใจง่ายตามสไตล์คุณหมอให้หนูตาสว่างในเรื่องนี้หน่อยนะคะ

..................................................................

ตอบครับ

     1. ถามว่าเรื่องสารต้านอนุมูลอิสระมันเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องหลอก ถ้าคุณอยากเข้าใจ คุณต้องทนอ่านนะ เรื่องมันยาวและน่าเบื่อ ท่านผู้อ่านท่านอื่นที่ไม่ชอบอะไรยาวและน่าเบื่อให้ผ่านเรื่องนี้ไปได้เลย อีกอย่างหนี่งเนื่องจากผู้ถามเป็นเด็กวิทย์ ผมจะตอบโดยใช้ศัพท์แสงทางวิทย์แบบไม่กระมิดกระเมี้ยน

     ผมจะท้าวความเล่าความเป็นมาเพื่อประกอบการนิยามศัพท์แต่ละคำ เพื่อที่คุณจะได้ไม่คันหูเมื่อมีใครมาพูดคำเหล่านี้ใกล้ๆ เรื่องมันเริ่มต้นจากความรู้ตั้งเดิมที่มนุษย์มีว่าน้ำมันผัดทอดอาหารที่เป็นไขมันชนิดไม่อิ่มตัวอย่างเช่นน้ำมันถั่วเหลือง หากเราตั้งมันทิ้งไว้นานๆมันจะขึ้นหืน (rancid) เพราะตัวน้ำมันทำปฏิกริยากับออกซิเจนในอากาศ (lipid peroxidation) ทำให้น้ำมันนั้นเก่าขึ้นหืนนี่เป็นเรื่องที่รู้กันทั่วไปมานาน แล้วต่อมาราวสามสิบปีก่อนก็มีคนตั้งข้อสมมุติฐาน (เดา) ว่าเฮ้ย ไขมันที่อยู่ในเซลร่างกายมันก็น่าจะขึ้นหืนได้เหมือนกันนะ เพราะอย่าลืมว่าไขมันเป็นส่วนประกอบสำคัญของเยื่อหุ้มเซลและดีเอ็นเอ.ในเซลถ้าไขมันขึ้นหืนก็หมายความว่าเยื่อหุ้มเซลเปื่อย ดีเอ็นเอ.กระจุย คือพูดง่ายๆว่าเซลแก่และตาย นี่น่าจะเป็นปฐมเหตุของความแก่และโรคเรื้อรังต่างๆรวมทั้งโรคหัวใจหลอดเลือดและมะเร็ง ทั้งหมดนี้เป็นข้อสันนิษฐาน..แปลว่าเดาเอา

     ขณะเดียวกัน งานวิจัยในห้องทดลองและในสัตว์พบว่าออกซิเจนที่มีอยู่ทุกหย่อมหญ้าในร่างกายนั้นไม่ได้อยู่ในรูปก้าซออกซิเจนปกติ (O2เท่านั้น แต่จำนวนหนึ่งอยู่ในรูปของออกซิเจนที่มีอีเล็กตรอนมากกว่าและพร้อมจะทำปฏิกริยามากกว่าปกติ จึงเรียกว่าอนุมูลอิสระ (radical) เช่นถ้ามีหนึ่งอีเล็กตรอนเรียกว่า superoxide radical (O2)ถ้ามีสองอีเล็กตรอนก็เรียก hydrogen peroxide (H2O2)ถ้ามีสามอีเล็กตรอนก็เรียก hydroxyl radical (OH) โดยทั้งหมดนี้มีชื่อเรียกเหมาเข่งรวมว่าเป็นออกซิเจนสายพันธ์ไวต่อปฏิกริยา หรือ reactive oxygen species (ROS) และงานวิจัยในแล็บและในร่างกายสัตว์ก็พบว่าร่างกายมีเอ็นไซม์คอยสลายพวก ROS เหล่านี้อยู่แล้วอย่างเป็นธรรมชาติ เช่นเอ็นไซม์  superoxide dismutase (SOD), catalase (CAT), glutathione peroxidase เป็นต้น แต่หากทดลองใส่พวก ROS เข้าไปแยะๆให้ท่วมเอ็นไซม์ที่มีก็จะเกิดภาวะที่ล่อแหลมต่อการเกิดปฏิกริยาขึ้นหืน (oxidative stress) และเมื่อทดลองเอาโมเลกุลจากอาหารอันได้แก่วิตามินแร่ธาตุต่างๆเช่นวิตามินซี. ดี. อี. สังกะสี เซเลเนียม ใส่เข้าไปช่วย ก็พบว่าโมเลกุลเหล่านี้ไปช่วยแก้ไขภาวะ oxidative stress ให้กลับสู่ดุลภาพปกติได้ จึงเรียกโมเลกุลเหล่านี้ว่าเป็นสารต้านอนุมูลอิสระหรือ antioxidant กลไกการออกฤทธิ์ของสารต้านอนุมูลอิสระแต่ละตัวแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่ทำหน้าที่เป็นไพร่ราบทหารเลว (scavenger) ที่เอาหน้าอกไปรับคมหอกคมดาบของ ROS แล้วตัวเองเดี้ยงไป แต่ความที่ทหารเลวมีจำนวนมากทำให้ ROS ทำร้ายเซลได้ไม่ถนัด

     จากความรู้เหล่านี้ มันก็นำไปสู่สมมุติฐานว่าหากเราบ้อมบ์ใส่สารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้เข้าไปในร่างกายก็จะสามารถลดหรือรักษาโรคเรื้อรังต่างๆเช่นโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคชราได้ แต่งานวิจัยในคนที่ให้ตะบันกินสารเหล่านี้กันอยู่หลายปี บางงานวิจัยทำนานถึง 15 ปี ในภาพรวมโหลงโจ้งแล้วกลับพบว่าสารต้านอนุมูลอิสระในรูปของวิตามิน ซี อี ดี หรือแร่ธาตุสังกะสี เซเลเนียม หรือวิตามินรวม แบบเป็นเม็ดนั้นล้วนให้ผล "บ้อลัด" หรือ "แป๊ก" คือผลวิจัยในภาพรวมพบว่าไม่สามารถลดการป่วยการตายจากโรคเรื้อรังมะเร็งหรือความแก่ลงได้แต่อย่างใด

     แต่ก็ไม่ใช่ว่ากลไกการต้านอนุมูลอิสระนี้จะไม่มีอยู่จริงในร่างกายคนเสียทีเดียว อย่าลืมว่างานวิจัยต่างๆเหล่านั้นล้วนใช้สารต้านอนุมูลอิสระแบบสารสังเคราะห์อัดมาเป็นเม็ดในรูปของวิตามินแร่ธาตุเสริม ขณะที่งานวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งได้ผลตรงกันว่าหากให้คนกินอาหารพืชอันเป็นแหล่งธรรมชาติของวิตามินแร่ธาตุอันเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่หลากหลายเป็นอาหารหลัก (plant-based food) จะสามารถลดหรือพลิกผันโรคเรื้อรังเช่นความดันเลือดสูง เบาหวาน โรคหัวใจหลอดเลือด ได้ และลดโอกาสเป็นมะเร็งหลายชนิดลงได้จริงๆให้เห็นเหน่งๆ

     ทั้งหมดนี้คือข้อสรุปความรู้เรื่องสารต้านอนุมูลอิสระเท่าที่หลักฐานวิทยาศาสตร์ตีพิมพ์ไว้จะพึงมี คุณจะเอาความรู้นี้ไปประยุกต์ใช้ได้แค่ไหนนั่นก็เป็นเรื่องของคุณละครับ

     2. ถามว่ากลูต้าไทโอนคืออะไร ตอบว่า glutathione (GSH) คือโมเลกุลสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่ม scavenger หรือไพร่ราบทหารเลวที่มีอยู่แล้วเป็นจำนวนมากในน้ำวุ้น (cytoplasm) ของเซล เมื่อโดนหอกดาบของ ROS หรือถูกออกซิไดส์แล้วมันจะเดี้ยงกลายเป็น GSH disulfide (GSSG) ซึ่งร่างกายจะชุบชีวิตมันกลับมาเป็นกลูต้าไทโอนใหม่โดยใช้เอ็นไซม์ glutathione reductase อีกวิธีหนึ่งที่จะให้มีกลูต้าไทโอนมากขึ้นก็คือใส่สารตั้งต้นที่จะนำไปสร้างเป็นกลูต้าไทโอนเช่น N-acetyl-cysteine (NAC) เข้าไปในเซลก็ได้ ความรู้ทั้งหมดนี้ได้มาจากการวิจัยในสัตว์และในห้องทดลอง

     3. ถามว่าสารต้านอนุมูลอิสระช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้ไหม ตอบว่ากลไกการต่อต้านเชื้อโรคของร่างกายนั้นแบ่งเป็นสองขั้นตอน คือขั้นตอนยังไม่รู้จักเชื้อโรค (innate immunity) กับขั้นตอนหลังจากรู้จักเชื้อโรคแล้ว (adaptive immunity) ในขั้นตอนยังไม่รู้จักเชื้อโรค มาตรการหนึ่งที่ร่างกายใช้คือก่อการอักเสบขึ้น วิธีก่อการอักเสบก็คือสร้างอนุมูลอิสระหรือโมเลกุล ROS ขึ้นมาเพื่อทำสงครามทำลายเชื้อโรค จนเชื้อโรคตายหมดแล้วค่อยมาว่ากัน บางครั้งสงครามเองเป็นเหตุให้ผู้ป่วยตาย ไม่ใช่เชื้อโรค เช่นกรณีติดเชื้อโควิด19 แล้วตายจากปอดเสียหายจากการอักเสบเป็นต้น บทบาทของสารต้านอนุมูลอิสระจึงเป็นบทบาทควบคุมไม่ให้การอักเสบรุนแรงถึงขั้นทำลายร่างกายเสียเอง วิธีควบคุมก็ด้วยการเข้าไปสลายพิษของอนุมูลอิสระทั้งหลายในตอนปลายของสงคราม เรียกว่าเป็นบทบาทช่วยควบคุมการอักเสบไม่ให้ลุกลามมากเกินไป ไม่ใช่บทบาทฆ่าเชื้อโรค กลไกลดการอักเสบนี้มีหลักฐานยืนยันในงานวิจัยโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบในปอดของคนจริงๆ ซึ่งทั้งหมดนี้สอดคล้องกับข้อมูลทางโภชนาการคลินิกที่ว่าในภาวะเกิดการอักเสบเรื้อรังจากโรคเช่นโรคหัวใจและหลอดเลือด (การอักเสบของหลอดเลือด) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (การอักเสบจากภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง) งานวิจัยเปรียบเทียบพบว่าหากให้กินอาหารพืชเป็นหลักซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระอุดม จะบรรเทาอาการของโรคลงได้ 

     4. ถามว่ากลูต้าไทโอนเป็นสารช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแบบช่วยฆ่าเชื้อโรคตรงๆได้ไหม ตอบว่าช่วยในแง่ของการบันยะบันยังการอักเสบ อันนั้นช่วยแน่นอนและทราบกลไกแน่นอนแล้วว่าสารต้านอนุมูลอิสระช่วยลดการอักเสบได้อย่างไรอย่างที่เล่าไปแล้วในข้อ 3. ส่วนการช่วยฆ่าเชื้อโรคตรงๆ กลูต้าไทโอน "อาจจะ" ช่วยในการทำลายเชื้อโรคด้วยก็ได้ อาจจะเท่านั้นนะ ทั้งนี้ตอบโดยอิงข้อมูลในคนจริงๆที่เราพอจะมีอยู่คือ (1) ในคนที่เกิดมาขาดเอ็นไซม์สร้างกลูต้าไทโอน คนแบบนั้นจะติดเชื้อแบคทีเรียง่ายกว่าปกติ  (2) ในคนไข้ติดเชื้อ HIV (โรคเอดส์) ซึ่งมีธรรมชาติว่าการสร้างกลูต้าไทโอนทำได้น้อย หากให้กลูต้าไทโอนเสริมจะทำให้อัตรารอดชีวิตดีขึ้น (3) งานวิจัยในจานเพาะเลี้ยงเชื้อพบว่ากลูต้าไทโอนช่วยให้เซลมาโครฟาจทำลายเชื้อวัณโรคที่สิงอยู่ในเซลได้ดีขึ้น ทั้งหมดนี้คือข้อมูลที่มี แต่กลไกที่กลูต้าไทโอนช่วยการฆ่าเชื้อแบบตรงๆได้อย่างไรเรายังไม่ทราบ และยังไม่มีผลวิจัยการใช้กลูต้าไทโอนร่วมรักษาโรคติดเชื้อแบบตรงๆ 

     5. ถามว่ากลูต้าไทโอนกินหรือทาแล้วทำให้ผิวขาวขึ้นจริงไหม ตอบว่าได้มีการทบทวนงานวิจัยระดับสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบทั้งหมดที่มีอยู่ 3 งาน และงานวิจัยแบบไม่มีกลุ่มเปรียบเทียบอีก 1 งาน โดยผู้ป่วยกินกลูต้าไทโอนขนาด 250 - 500 มก. ต่อวัน หรือทาครีมกลูต้าไทโอน 2.0% โดยใช้การนับความเข้มข้นของเม็ดสีเมลานินบนผิวหนังเป็นตัวชี้วัด ผลสรุปของผู้วิจัยคือยังไม่สามารถสรุปได้เหน่งๆว่ากลูต้าไทโอนกินก็ดี ทาก็ดี ทำให้ผิวขาวขึ้นจริงหรือเปล่า แป่ว..ว 

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Ristoff E, Mayatepek E, Larsson A. Long-term clinical outcome in patients with glutathione synthetase deficiency. J Pediatr. 2001 Jul; 139(1):79-84.
2. Blackwell TS, Blackwell TR, Holden EP, Christman BW, Christman JWIn vivo antioxidant treatment suppresses nuclear factor-kappa B activation and neutrophilic lung inflammation. J Immunol. 1996 Aug 15; 157(4):1630-7.
3. Herzenberg LA, De Rosa SC, Dubs JG, Roederer M, Anderson MT, Ela SW, Deresinski SC, Herzenberg LA. Glutathione deficiency is associated with impaired survival in HIV disease. Proc Natl Acad Sci U S A. 1997 Mar 4; 94(5):1967-72.
4. Venketaraman V, Dayaram YK, Talaue MT, Connell ND. Glutathione and nitrosoglutathione in macrophage defense against Mycobacterium tuberculosis. Infect Immun. 2005 Mar; 73(3):1886-9.
5. Dilokthornsakul, W; Dhippayom, T; Dilokthornsakul, P. "The clinical effect of glutathione on skin color and other related skin conditions: A systematic review". Journal of Cosmetic Dermatology. 18 (3): 728–737. doi:10.1111/jocd.12910. 
[อ่านต่อ...]

29 เมษายน 2563

Ep2. โรคเครียด (vdo หมอสันต์: ชุดรักษาโรคด้วยตัวเอง)

https://www.youtube.com/watch?v=O3PmwYb_Ns8

สวัสดีครับ ผม สันต์ ใจยอดศิลป์ นะครับ

เทปนี้เป็นเทป2 หรือ Ep2 ของซีรีส์ รักษาโรคด้วยตัวเอง โดยหมอสันต์

วันนี้เราจะคุยเรื่องการรักษาโรคเครียดด้วยตัวเอง เรื่องเดียวเลย

นิยามของโรคเครียด

โรคเครียด หรือความเครียด ในมุมมองของการแพทย์ก็คือการที่ร่างกายสนองตอบต่อสิ่งคุกคาม ร่างกายมีระบบประสาทอัตโนมัติไว้ทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ เมื่อรับรู้ว่ามีสิ่งคุกคามต่อชีวิตเข้ามา ระบบประสาทอัตโนมัติก็จะสั่งการสนองตอบในลักษณะเตรียมพร้อมจะสู้หรือจะหนี เช่นหลอดเลือดหดตัว กล้ามเนื้อเกร็งตัว หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดเพิ่มขึ้น เลือดข้นและหนืดขึ้น น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น แต่ระบบที่ไม่จำเป็นต่อภาวะฉุกเฉินจะถูกเบรคไว้ เช่นระบบย่อยอาหาร ระบบสืบพันธ์ ระบบภูมิคุ้มกัน จะทำงานลดลง

สาเหตุของโรคเครียด

สาเหตุของโรคเครียดในมุมมองทางการแพทย์ก็คือ "สิ่งคุกคาม"หรือ "สิ่งเร้า (stimulus)" ซึ่งก็คือสถานะการณ์รอบตัว สมัยที่เราเป็นมนุษย์ถ้ำ สาเหตุของความเครียดก็คือเสือ สิงห์ กระทิง แรด ที่จะจับเรากินหรือทำร้ายเรา ทั้งหมดนั้นมาแล้วเดี๋ยวเดียวก็ไป แต่สมัยนี้สาเหตุของความเครียดรอบตัวอันได้แก่ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับคนรอบข้างสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ รถติด ตกงาน ที่มีงานอยู่ก็หาเงินไม่ได้มากอย่างใจ ทั้งหมดนี้มาแล้วมักอ้อยอิ่งอยู่ในรูปของความคิดลบในใจ ไม่ไปไหนสักที ชีวิตคนเราสมัยนี้จึงตกอยู่ในภาวะเครียดเรื้อรัง โดยสาเหตุก็คือ "ความคิด" ของเจ้าตัวนั่นแหละ

ผลเสียของความเครียด

เนื่องจากความเครียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเครียดเรื้่อรัง มีผลต่อระบบของร่างกายกว้างขวาง จึงทำให้เกิดโรคร้ายแรงได้ทุกโรค นับตั้งแต่โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคความดันเลือดสูง โรคภูมิแพ้ โรคภูมิคุ้มกันตนเอง หรือแม้แต่โรคอุบัติเหตุ

การรักษาโรคเครียด

แนวทางการรักษาโรคเครียดในทางการแพทย์ก็คือการจัดการต้นเหตุคือสิ่งคุกคามภายนอกหรือสิ่งเร้าไม่ให้เข้ามากระทบตัวเรา แต่แนวทางนี้มันไม่เวอร์ค ยกตัวอย่างเช่นถ้าเครียดเพราะเมียบ่น จะเอาตะกร้อไปครอบปากภรรยาได้ไหมละ คือการไปมุ่งแก้ปัญหาที่ข้างนอกมันทำในชีวิตจริงไม่ได้ การแพทย์แผนปัจจุบันจึงไม่มีวิธีรักษาโรคเครียดที่ได้ผล..จบข่าว

ที่ผมจะคุยกับท่านวันนี้ก็คือการรักษาโรคเครียดด้วยวิธี "วางความคิด" ซึ่งไม่ใช่วิธีรักษาโรคเครียดตามแบบของแพทย์แผนปัจจุบัน เพราะแพทย์แผนปัจจุบันไม่มีวิชาวางความคิด เป็นการคุยกันจากประสบการณ์ตัวผมเอง ที่ทดลองเอาวิธีวางความคิดหลากหลายรูปแบบที่มีสอนกันในรูปของศาสนาต่างๆบ้าง ลัทธิความเชื่อบ้าง เอามาทดลองปฏิบัติ อันไหนไม่ได้ผลก็ทิ้งไป อันไหนได้ผลก็เก็บไว้ใช้ บางอันก็ปรับแต่งให้มันเหมาะกับตัวเองมากขึ้น นอกจากจะพูดถึงวิธีหรือเครื่องมือแล้ว วันนี้เรายังจะทดลองใช้เครื่องมือนั้นๆไปด้วย ทีละชิ้น ทีละชิ้น ในหนึ่งชั่วโมงที่คุยกันนี้ เอาให้ได้ทั้งเครื่องมือและการทดลองใช้เครื่องมือ ม้วนเดียวจบ

องค์ประกอบของชีวิต

ก่อนที่จะคุยกันลึกลงไปถึงเครื่องมือแต่ละชิ้นซึ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตนี่แหละ เรามาพูดถึงว่าชีวิตนี้ประกอบขึ้นจากอะไรบ้างก่อนนะ วิชาแพทย์แผนปัจจุบันแบ่งชีวิตออกเป็นสองส่วนคือ ร่างกาย(body) กับ ใจ (mind) ในวิชาจิตเวชอาจแบบใจออกอย่างหลวมๆเป็นอีกสองส่วนคือ ความคิด (thought) กับอารมณ์ (emotion)

ศาสนาที่วิเคราะห์องค์ประกอบของชีวิตซับซ้อนที่สุดก็คือฮินดูซึ่งอธิบายว่าชีวิตประกอบขึ้นจาก 7 องค์ประกอบ ต่อมาศาสนาพุทธเอามาลดลงเหลือ 5 องค์ประกอบ ได้แก่
(1) ร่างกาย
(2) ความรู้สึก คำบาลีใช้คำว่า เวทนา หรือ feeling (วันนี้ผมจะขอใช้สองคำคือเวทนากับความรู้สึกควบคู่กันไปเพราะเกรงว่าหากใช้คำว่าความรู้สึกคำเดียวท่านจะไปสับสนกับคำว่าความรู้ตัวซึ่งเป็นของคนละสิ่งกัน
(3) ความจำ
(4) ความคิด
(5) ความรู้ตัว (consciousness)

เพื่อความง่ายในการใช้งาน ผมเองขอลดลงเหลือ 3 องค์ประกอบ คือชีวิตประกอบด้วย (1) ร่างกาย (2) ความคิด (3) ความรู้ตัว

ทั้งหมดนี้ตัวการที่ทำให้เกิดเป็นโรคเครียดมีตัวเดียว คือ "ความคิด"

กลไกการเกิดของความคิด

วิชาแพทย์ไม่รู้หรอกว่าความคิดเกิดขึ้นจากไหนเกิดอย่างไร รู้แต่ว่าเมื่อมีความคิดเกิดขึ้นก็มีไฟฟ้าเกิดขึ้นในเนื้อสมองบางส่วน จึงเดาเอาว่าความคิดเกิดจากการทำงานของเซลสมอง เดาเอานะ ของจริงเป็นอย่างไรไม่รู้

ผู้ที่อธิบายกลไกการเกิดความคิดไว้อย่างละเอียดที่สุดคือพระพุทธเจ้า ซึ่งอธิบายกลไกการเกิดความคิดว่าเกิดเป็นขั้นตอนโดยผมขออธิบายเป็นภาษาของผมเอง ดังนี้

ขั้นที่ 1. จะต้องมีองค์ประกอบที่จะเกิดความคิดอยู่ครบถ้วนพร้อมหน้าก่อน คือต้องมีสามอย่างนี้ก่อน
(1) มีความรู้ตัว
(2) มีภาษา ซึ่งใช้บอกรูปร่าง บอกชื่อ และเล่าเรื่องราว ของสิ่งต่างๆที่เข้ามาสู่การรับรู้ได้ทันที
(3) มีประตูรับรู้สิ่งเร้าหรืออายตนะ ซึ่งมีอยู่ 6 ประตู คือตา หู จมูก ลิ้น ผิวหนัง และใจ

ขั้นที่ 2. เมื่อสัญญาณสิ่งเร้าผ่านเข้ามาทางอายตนะ สัญญาณนั้นจะถูกแปลงเป็นภาษาให้ค่าและความหมายทันทีในเวลารวดเร็วยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ แล้วจะเกิดการรับรู้ (perception) สิ่งเร้าในรูปของภาษา

ขั้นที่ 3. การรับรู้สิ่งเร้าจะก่อให้เกิดเวทนา (ความรู้สึกหรือ feeling) ขึ้นบนร่างกายหรือในใจ เวทนาบนร่างกายก็เช่นความรู้สึกเย็นร้อนอ่อนแข็งเกร็งหรือเจ็บปวด เวทนาในใจก็เป็นความรู้สึกอึดอัดหรือไม่ชอบ และความรู้สึกสบายหรือชอบ

ขั้นที่ 4. เกิดzความคิดที่ 1 ขึ้นมาต่อยอดเวทนา คือถ้าชอบก็เป็นความคิดอยากได้ ถ้าไม่ชอบก็เป็นความคิดอยากหนี

ขั้นที่ 5. เกิดความคิดที่ 2, 3, 4 ... ถูกปรุงขึ้นมาต่อยอดความคิดที่ 1 เช่นความกล้ัวเป็นความคิดที่ต่อยอดความอยากหนี ความหวังเป็นความคิดต่อยอดความอยากได้ เป็นต้น

ความซับซ้อนของขั้นตอนนี้คือความคิดที่ปรุงขึ้นมาใหม่นี้ มันทำตัวเป็นสิ่งเร้าใหม่ ที่เข้ามากระตุ้นกลไกการเกิดความคิดครั้งใหม่ ทำให้วงจรการเกิดความคิดนี้หมุนต่อไปได้ไม่รู้จบ ทำให้เราจมอยู่ในความคิดไม่รู้จบ

กลไกการดับของความคิด

     นอกจากอธิบายกลไกการเกิดของความคิดแล้ว ยังอธิบายกลไกการดับของความคิดด้วยตรรกะง่ายๆเลยว่าเมื่อต้นเหตุที่ก่อความคิดนั้นขึ้นดับไป ความคิดนั้นก็ดับตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเวทนาหรือความรู้สึกชอบไม่ชอบหมดไป ความคิดอยากได้อยากหนีก็หมดไปด้วย หรือเช่นเมื่อความคิดอยากหนีหมดไป ความกลัวก็หมดไปด้วย เป็นต้น

     ไฮไลท์สำคัญอีกอันหนึ่งของพระพุทธเจ้าคือได้พูดถึงธรรมชาติของเวทนา (feeling) ก็ดี หรือความคิดก็ดี ว่ามันเกิดขึ้นแล้วก็จะดำรงอยู่เพียงชั่วคราวแล้วก็ดับไปเองเสมอ  เปรียบเหมือนศาลาริมทางที่มีคนแวะมานั่งแล้วก็ไป ไม่มีใครกางมุ้งนอนที่ศาลาที่พักริมทางตลอดวันตลอดคืน ไม่มี ดังนั้นเมื่อเกิดเวทนาหรือความรู้สึกทางกายหรือใจขึ้นแล้ว หากเราเฝ้าสังเกตจนเห็นมันดับไปเอง ความคิดที่จะมาเกิดต่อยอดก็ไม่เกิดขึ้น

     ดังนั้นในการจะวางความคิดให้สำเร็จ ต้องฝึกเป็นคนไวต่อเวทนา (sensible) คือรู้ทันทีที่มีเวทนาหรือความรู้สึกบนร่างกายหรือในใจเกิดขึ้น แล้วเฝ้าสังเกตจนเวทนานั้นดับไป ความคิดต่อยอดก็จะไม่เกิดขึ้น เช่นเดียวกันเมื่อความคิดที่ 1 เกิดขึ้นแล้วก็เฝ้าสังเกตดูจนความคิดที่ 1 ดับไป ความคิดต่อยอดที่  2, 3, 4 ... ก็จะไม่เกิดขึ้น การฝึกตัวเองแบบนี้ จะทำให้รู้ตัวทุกครั้งที่มีเวทนาเกิดขึ้นและบล็อกความคิดได้ทันก่อนที่ความคิดจะมีโอกาสได้เกิดขึ้น

เครื่องมือช่วยวางความคิด

     ผมพอจะสรุปจากประสบการณ์ตัวเองในการทดลองวางความคิด เครื่องมือที่มีประโยชน์ในการช่วยวางความคิด มีดังนี้

     เครื่องมือ 1. การดึงความสนใจ (attention) 

     ความสนใจเป็นเสมือนแขนของความรู้ตัว เราเอาความสนใจไปจ่อไว้ที่สิ่งไหน สิ่งนั้นก็จะสำคัญขึ้นมาทันที ถ้าเราปล่อยความสนใจของเราไปตามอัธยาศัย มันก็จะไปคลุกอยู่กับความคิด ไปให้พลังงานแก่ความคิด ทำให้ความคิดกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา เราจึงต้องหมั่นถอยความสนใจออกมาจากความคิด ใหม่อาจเอาความสนใจมาจ่อไว้ที่ไหนสักแห่ง เช่นจ่อไว้ที่ลมหายใจ ทิ้งความคิดไปเสีย ไม่ไปสนใจคิดอะไรต่อยอด ในที่สุดความคิดที่เกิดขึ้นแล้วก็จะฝ่อหายไปเอง

     ทดลองดู เอ้า ท่านลองถอยความสนใจออกจากความคิดมาสนใจลมหายใจ สนใจว่าลมกำลังเข้ามาสู่ตัว กำลังออกไปจากตัว สนใจอยู่อย่างนี้สักพักแล้วลองกลับไปดูความคิดว่าเมื่อกี้เราคิดอะไรอยู่ ปรากฎว่าไม่มีแล้ว เมื่อเราถอยความสนใจออกมา ความคิดจะหมดพลังงาน แล้วก็จะฝ่อหายไป

     เครื่องมือ 2. การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ (relaxation) 

     วิธีหนึ่งที่จะลดความคิดได้แบบเนียนๆคือการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เพราะความคิดเป็นสิ่งที่ปรากฎเป็นธรรมชาติสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นเนื้อหาสาระในใจ อีกด้านหนึ่งเป็นอาการบนร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกร็งกล้ามเนื้อร่างกาย

     เอ้า ทดลองดู ลองกำมือขวา ชูกำปั้นขึ้นมาก่อน บีบกำปั้นให้แน่น รับรู้ความเกร็งของกล้ามเนืื้อแขน เอาอีกมือจับดูจะพบว่าแขนแข็งโป้ก แล้วคลายกำปั้น สั่งให้กล้ามเนื้อแขนคลายตัว คลายลงไปอีก คลายลงไปอีก คราวนี้เอาอีกมือมาจับแขนดูจะพบว่าแขนนุ่มเพราะผ่อนคลาย

     ลองดูอีกแบบ คราวนี้จะเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อทั่วตัว ให้ท่านนั่งตัวตรงยืดหลังขึ้นอย่าให้งอ หลับตา หายใจเข้าลึกๆจนเต็มปอด กลั้นไว้สักครู่นับหนึ่งถึงสิบในใจ แล้วค่อยๆปล่อยหรือผ่อนลมหายใจออกไปทางจมูกเบาๆช้าๆ พร้อมกับสั่งให้ร่างกายผ่อนคลาย ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ให้ผ่อนคลาย ทำอย่างนี้ หมายถึงหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกช้าๆ ผ่อนคลาย ทำสักสามครั้ง ก็จะรู้สึกว่าความคิดที่ค้างคาอยู่เมื่อกี้ตอนนี้หายไปหมดแล้ว เพราะการผ่อนคลายร่างกาย คือการวางความคิดลงไปด้วย

    สั่งให้ผ่อนคลายแล้ว กล้ามเนื้อจะผ่อนคลายจริงหรือเปล่าต้องตามไปดู จุดที่จะดูได้ง่ายที่สุดก็คือบนใบหน้าของเรานี่เอง ถ้าเราผ่อนคลาย เราจะยิ้มได้ ลองยิ้มดู ถ้ายิ้มไม่ได้ก็ยังไม่ผ่อนคลาย ยิ้มนิดๆแบบพระพุทธรูปก็ได้ ยิ้มให้เป็นอาจิณ ยิ้มทุกลมหายใจเข้าออก
   
     เครื่องมือ 3. การสังเกตลมหายใจ (breathing) 

     ก็คือการเอาเครื่องมือแรกคือการดึงความสนใจใช้มันดึงความสนใจออกมาจากความคิด เอาความสนใจมาจดจ่อตามดูลมหายใจ ให้รู้ว่าตัวเองกำลังหายใจเข้า กำลังหายใจออก แล้วก็เอาเครื่องมือ 2. มาร่วมด้วย คือผ่อนคลายร่างกาย หายใจเข้าเต็มปอด รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออก รู้ว่าหายใจออกและสั่งให้ร่างกายผ่อนคลาย ยิ้ม รับรู้ความผ่อนคลายไปด้วย เป็นไซเคิ้ล แบบว่า หายใจเข้า หายใจออก ผ่อนคลาย ยิ้ม

     เครื่องมือ 4. การสังเกตความรู้สึกบนร่างกาย (body scan) 

     คราวนี้ทิ้งลมหายใจไปก่อนนะ แต่ยังดึงความสนใจอยู่ เอาความสนใจมาลาดตระเวณรับรู้ความรู้สึกบนร่างกาย

     ก่อนอื่นมารู้จักความรู้สึกบนผิวกายก่อน คุณยกแขนข้างหนึ่งขึ้นมา แล้วเอามืออีกข้างลูบแขนเบาๆอย่างนี้ ลูบอย่าให้ฝ่ามือหรือนิ้วมือแตะถูกผิวหนัง ให้แตะอย่างมากแค่ขน แล้วเอาความสนใจจดจ่อรับรู้ความรู้สึกที่ผิวหนังบนแขน รับรู้ความรู้สึกขนลุก ความรู้สึกซู่ซ่า เมื่อลูบฝ่ามือผ่านไป

     คราวนี้ลองทำแบบฝึกหัดที่สอง คุณทำมือเป็นอุ้งแบบนี้ วางไว้บนตัก สบายๆ หลับตา คราวนี้คุณเอาความสนใจจดจ่อรับรู้ความรู้สึกที่อุ้งมือสองข้างนี้ มีความรู้สึกอะไรเกิดขึ้นก็รับรู้หมด จะเป็นความรู้สึกอุ่น ร้อน ลมพัดผ่าน ความรู้สึกจิ๊ดๆเหมือนมีเข็มจิ้ม ความรู้สึกวูบวาบ ผ่าวๆ ความรู้สึกเหน็บๆชาๆ ความรู้สึกอะไรก็ได้ รับรู้หมด

     บางคนอาจไม่รู้สึกอะไรเลย ไม่เป็นไร ใจเย็นๆ ให้ผ่อนคลายร่างกายลงไปก่อน ผ่อนคลาย ยิ้ม แล้วรับรู้ความรู้สึกบนฝ่ามือ เอาเครื่องมือการหายใจเข้ามาร่วมด้วยก็ได้ หายใจเข้า หายใจออก ผ่อนคลาย ยิ้ม รับรู้ความรู้สึกบนฝ่ามือ

     เมื่อรับรู้ความรู้สึกบนฝ่ามือเป็นแล้ว คราวนี้ลองกวาดความสนใจไปทั่วร่างกาย กวาดไปทีละส่วน กวาดไปถึงไหนก็รับรู้ความรู้สึกบนผิวหนังที่นั่น เริ่มตั้งแต่ตรงรูจมูกก่อนก็ได้ เพราะมีความรู้สึกลมผ่านเข้าออกให้รับรู้อยู่แล้ว แล้วก็แผ่ขยายพื้นที่ไปรับรู้รอบๆปาก จมูก แก้ม ตา คิ้ว หน้าผาก จนรับรู้ความรู้สึกได้ทั่วใบหน้า แล้วก็กวาดความสนใจต่อไปอีก ไปรับรู้หนังศีรษะตอนบน ตอนข้าง ท้ายทอย คราวนี้ไปทั่วตัวเลย แขนสองข้าง หน้าอก หน้าท้อง หลัง บั้นเอว ขาสองข้าง เข่า น่อง เท้า ฝ่าเท้า

     คราวนี้ลองฝึกรับรู้ความรู้สึกทั้งตัวทุกรูขุมขนพร้อมกันตูมเดียวเหมือนเรานั่งอยู่แล้วมีคนเอากระป๋องน้ำอุ่นมาราดจากศีรษะลงมา เราจะรู้สึกอุ่นวาบตั้งแต่หัวจรดเท้า ตูมเดียวรู้สึกได้ทั้งตั้ว หายใจเข้า หายใจลึกๆ กลั้นไว้สักครู่ หายใจออกช้าๆ ยาวๆ ผ่อนคลาย ยิ้ม รับรู้ความรู้สึกซู่ซ่าทุกรูขุมขนทั่วตัว ทำแบบนี้เป็นวงจร หายใจเข้า หายใจออก ผ่อนคลาย ยิ้ม ซู่ซ่า

     โปรดสังเกตนะว่ามาถึงตอนนี้เราเอาเครื่องมือทั้งสี่อันมาใช้พร้อมกันหมดคือการดึงความสนใจ การหายใจ การผ่อนคลาย และการสังเกตความรู้สึกบนร่างกาย

     เครื่องมือ 5. การสังเกตความคิด (aware of a thought)

     แม้จะใช้เครื่องมือทั้งสี่อย่างพร้อมกันแต่สำหรับบางคนที่ความคิดมันแรง มันก็เจาะเข้ามาจนได้ ทำให้เรา "เผลอคิด" ขณะที่กำลังใช้เครื่องมือวางความคิด เมื่อเผลอคิด อย่าพยายามแก้ไขโดยการไล่ความคิด เพราะการไล่ความคิดก็เป็นการคิด มันจะไปกันใหญ่ ให้ใช้เครื่องมือที่ห้า คือการสังเกตความคิด คือขณะที่เอาความสนใจไว้ที่ลมหายใจก็ดีหรือความรู้สึกบนผิวกายอยู่ก็ดี ให้ชำเลืองไปดู ไม่ได้ชำเลืองด้วยตานะ ชำเลืองด้วยความสนใจ ชำเลืองไปดูว่าเมื่อตะกี้ในใจกำลังมีความคิดอะไรอยู่หรือเปล่า ถ้าชำเลืองไปดูความคิดมันหนีไปก่อนแล้วก็แล้วไป เราก็กลับมาสนใจลมหายใจของเราต่อ แต่ถ้าความคิดมันยังอยู่ ยังไม่ไปไหน ให้เอาความสนใจเฝ้าสังเกตมันอยู่ข้างนอก สนใจแบบเฝ้าสังเกตอยู่ข้างนอก ไม่ใช่สนใจแบบเข้าไปผสมโรงคิดต่อยอดนะ คือทำแบบ aware of a thought ไม่ใช่ thinking a thought สังเกตอยู่สักพัก ความคิดมันก็จะฝ่อหายไปเอง เพราะความคิดมันมีธรรมชาติเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป พอมันหายไปแล้วเราก็กลับมาอยู่กับลมหายใจใหม่

    เครื่องมือ 6. สมาธิ (meditation)

    เมื่อใช้ห้าเครื่องมือข้างต้นให้เขาขากันได้ดีแล้ว คือดึงความสนใจมาอยู่กับลมหายใจ หายใจเข้า หายใจออก ผ่อนคลาย ยิ้ม ซู่ซ่า เป็นวงจรซ้ำซากอยู่อย่างนี้ คราวนี้ก็เป็นการจดจ่อความสนใจอยู่กับวงจรซ้ำซากอยู่อย่างนี้เพื่อปิดช่องไม่ให้ความคิดเข้ามา การจดจ่อซ้ำซากนี้เรียกว่าสมาธิ ในขั้นนี้ให้ปล่อยให้ความสนใจจมลึกลงไป ลึกลงไปในความไม่มีอะไร ไม่มีความคิด ไม่มีอะไรอย่างอื่น สิ่งที่ใช้เป็นเป้าในการจดจ่อไม่ว่าจะเป็นลมหายใจหรือความรู้สึกบนผิวกายก็ดูจะแผ่วห่างออกไป ห่างออกไป 

     เครื่องมือ 7. การสะดุ้งตัวเองให้ตื่น (alertness)

     เมื่อความคิดเริ่มจะหมดเกลี้ยงแล้ว ความง่วงก็จะมาเยือน เหมือนการเดินเข้าซอยที่ปลายซอยเป็นทางแยกซ้ายขวา เส้นทางหลักคือเลี้ยวขวาซึ่งจะไปหลับ เรียกว่าตกภวังค์ ม่อยกระรอก หากมาถึงตรงทางแยกนี้เราต้องใช้เครื่องมือที่ 6. คือการสะดุ้งตัวเองให้ตื่นขึ้นมารับรู้เดี๋ยวนี้ การฝึกนี้ต้องฝึกขณะที่กำลังม่อยกระรอก หรือกำลังโงกหลับ เป็นการฝึกงัดหินที่กำลังจะกลิ้งลงเขาทางขวาให้กลิ้งไปทางซ้าย ต้องใช้ความพยายามฝึกมากหน่อย พองัดได้สำเร็จก็จะพบกับความตื่นหรือสว่างอย่างยิ่งโดยไม่มีความคิด ไม่มีอะไรเลย มีแต่ความตื่นและสามารถรับรู้อยู่ นั่นก็คือ "ความรู้ตัว" อันเป็นปลายทางที่เราตั้งใจจะมา

 เมื่อหมดความคิด ก็จะเหลือแต่ความรู้ตัว

     ความรู้ตัวก็คือชีวิตในยามที่ปลอดความคิด เป็นความตื่นและความสามารถรับรู้เดี๋ยวนี้แบบสบายๆไม่อินังขังขอบกังวลหรือเสียใจอะไรทั้งสิ้น เพราะความรู้ตัวเป็นส่วนของชีวิตที่ไม่มีเอี่ยวกับความเป็นบุคคลของเรา ไม่เหมือนความคิดที่ผูกพันยึดโยงและพยายามที่จะปกป้องความเป็นบุคคลของเราอยู่ตลอดเวลาอย่างถึงที่สุด นั่นก็คือความเครียด แต่ความรู้ตัวไม่สนสิ่งเหล่านั้น เพราะความรู้ตัวไม่เกี่ยวอะไรกับความเป็นบุคคล เหมือนแสงแดดที่ไม่เกี่ยวอะไรกับสีของบ้าน ส่องมาแล้วก็ไม่ได้ทำให้สีของบ้านเปลี่ยนไป แค่ส่องมาเฉยๆ ที่ความรู้ตัวจึงเป็นที่สงบเย็นและสบายดี เป็นโทนการรับรู้ทุกอย่างตามที่มันเป็นโดยไม่มีความเป็นบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงเป็นที่ที่ไม่มีความเครียด

     การถอยจากความคิดไปเป็นความรู้ตัวทำได้ตลอดเวลาที่ไม่ได้นอนหลับ ทำได้แม้เวลาลืมตาทำกิจอยู่ ไม่จำเป็นต้องรอทำตอนนั่งหลับตาทำสมาธิหรือ meditation

     การถอยจากความคิดไปเป็นความรู้ตัวเป็นกลวิธีรักษาโรคเครียดที่ได้ผลดีที่สุด ขอให้ท่านผู้ชมเอาไปทดลองปฏิบัติในชีวิตประจำวันของท่านดูนะครับ

     สวัสดีครับ

......................................................................

[อ่านต่อ...]

24 เมษายน 2563

ควรฉีดหรือไม่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ระหว่างโควิด19 ระบาด

สวัสดีค่ะคุณหมอ
... ยังติดตามอ่านบทความของคุณหมอตลอดนะคะ และยังคงประพฤติปฏิบัติคนคามที่ได้เรียนจากคุณหมอในแค้มป์ RD2 แม้จะยังไม่ได้ทาน plant base diet 100% ก็ตาม น้ำหนักก็ค่อยๆลง จนอาการปวดเข่าบรรเทาเบาบางจนสามารถเดินได้เฉลี่ยวันละ 7-8 กิโล เดินจงกรมและนั่งสมาธิได้วันละ 1 ชั่วโมง ทุกอย่างก็ดูจะเข้าร่องเข้ารอยดีค่ะ
วันนี้มีเรื่องรบกวนอยากเรียนถามคุณหมอว่า ในขณะที่โรค Covid 19 กำลังระบาด เราควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ไหมคะ เห็นมีคุณหมอออกมาแนะนำแย้งกันอยู่ กลุ่มหนึ่งบอกว่าควรฉีด อีกกลุ่มไม่แนะนำให้ฉีด จึงขอเรียนปรึกษาคุณหมอสันต์ว่ามีความเห็นอย่างไรคะ
ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ

.........................................................

ตอบครับ

     1. ถามว่าระหว่างโควิด19 ระบาดควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไหม ตอบว่าควรฉีดไปตามปกติครับ

     องค์การอนามัยโลก (WHO) เองก็กลัวแพทย์จะเข้าใจผิดในเรื่องนี้จึงได้ออกคำแนะนำเรื่องนี้อย่างเจาะจงว่าในระหว่างโควิด19 ระบาด การฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน (VPD) ต้องฉีดให้ครบตามปกติอย่าหยุด มิฉะนั้นจะไปสร้างผู้ป่วยโรคอื่นขึ้นมาแข่งกับโรคโควิด19 ซึ่งทำให้ระบบดูแลรักษาพยาบาลที่หลังแอ่นอยู่แล้วแอ่นหนักเข้าไปอีก โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ยิ่งสำคัญ เพราะพอป่วยมาจะมีอาการเหมือนโควิด19 ก็จะนำไปสู่กระบวนการการตรวจวินิจฉัยโควิด19 ซึ่งจะทำให้ทรัพยากรที่มีจำกัดอยู่แล้วยิ่งถูกใช้มากขึ้นไปอีก

     2. ถามว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะทำให้มีอาการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ใช่ไหม ตอบว่าเป็นไปไม่ได้ และเป็นความเข้าใจผิด สมัยนี้วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีสองแบบเท่านั้น คือ (1) วันซีนเชื้อตาย (2) วัคซีนสังเคราะห์ (recombinant) วัคซีนทั้งสองแบบนี้ไม่ใช่ไวรัสที่จะกลับมามีชีวิตและก่อโรคได้

     3. ถามว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่อาจมีผลข้างเคียงรุนแรงเช่นไข้สูงทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโควิด19 ได้ไหม ตอบว่าไม่ได้ครับ เพราะมันเป็นเชื้อตายหรือวัคซีนสังเคราะห์ งานวิจัยเปรียบเทียบผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนจริงและการฉีดน้ำเกลือพบว่าการเกิดอาการไข้ต่ำๆ ไอ น้ำมูกไหล ปวดเมื่อยตามตัวเกิดขึ้นทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน แต่กลุ่มฉีดวัคซีนจริงมีอาการปวดบวมแดงที่แขนมากกว่ากลุ่มฉีดน้ำเกลือเท่านั้น ซึงอาการจะเกิดทันทีและคงอยู่นานแค่ 1-2 วัน

     4. ถามว่าระหว่างฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะทำให้ภูมิคุ้มกันโรคโควิด19 ลดลงไปชั่วคราวใช่ไหม ตอบว่าไม่ใช่ครับ วัคซีนไม่ใช่ยากดภูมิคุ้มกัน แต่เป็นยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน ระบบภูมิคุ้มกันทำงานพ่วงกันเป็นระบบ คือทั้งระบบที่ทำลายได้แม้ยังไม่รู้จักเชื้อโรค (innate immunity) และระบบรู้จักเชื้อโรคแล้วค่อยทำลาย (adaptive immunity) เวลามันแอคทีฟ มันจะแอคทีฟแบบพ่วงกันไปทั้งระบบอย่างประสานกลมกลืนกัน ดังนั้นในเชิงทฤษฎีการฉีดวัคซีนโรคหนึ่งจะทำให้ภูมิคุ้มกันทั่วไปในส่วน innate immunity ดีขึ้นด้วยอันจะเป็นอานิสงให้โอกาสติดเชื้อโรคอื่นลดลงด้วย นั่นเป็นทฤษฏีนะ แต่ยังไม่มีหลักฐานว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทำให้การติดเชื้อโควิด19 ลดลงจริงหรือไม่เท่านั้น ซึ่งในอนาคตการวิจัยเรื่องนี้จะต้องมีขึ้นแน่นอน

     ข้อสมมุติฐานว่าวัคซีนอื่นทำให้ภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด19 ดีขึ้นนี้ มีความสนใจจริงจังมากในกรณีวัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็เป็นคำอธิบายได้อย่างดีว่าทำไมประเทศที่มีการฉีดวัคซีนวัณโรคปูพรมอย่างประเทศไทยและตุรกีจึงมีอัตราการติดโรคโควิดต่ำและอัตราตายต่ำ ขณะที่ประเทศที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนวัณโรคปูพรมอย่างอิตาลี สเปญ สหรัฐ มีอัตราการติดโรคสูงและอัตราตายสูง ข้อเท็จจริงเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรต้องรอดูผลวิจัยหลังจบลอคดาวน์แล้ว

หมายเหตุ
     มูลเหตุที่องค์การอนามัยโลกต้องออกมาให้แนวทาง (guidelines) ว่าควรเดินหน้าฉีดวัคซีนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในช่วงไวรัสโควิด19 ระบาดในครั้งนี้เป็นเพราะก่อนหน้านี้ได้มีการเผยแพร่ผลวิจัยที่ชื่อ Pentagon Study [3] โดยเหมาสรุปว่างานวิจัยนั้นบอกว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทำให้เป็นโควิด19 มากขึ้น ซึ่งเป็นการสื่อข้อมูลที่ทำให้ผู้คนเข้าใจผิด

     ผมขออนุญาตเล่าเรื่องงานวิจัยนี้หน่อยนะ มันเป็นการวิจัยแบบสำรวจของมูลย้อนหลังในหมู่เจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐจำนวนสองพันกว่าคน ภาษาวิจัยเรียกว่าเป็นการทำ match case control study การทำวิจัยแบบนี้ไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรเป็นสาเหตุอะไรนะครับ และไม่ใช่การสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างคนสองกลุ่ม แต่เป็นการเอาข้อมูลในอดีตของคนสองกลุ่มมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งตามชั้นของหลักฐานแล้วถือว่าเป็นหลักฐานระดับต่ำสุดในบรรดางานวิจัยในคนด้วยกัน

    ผลสรุปของงานวิจัยนี้คือวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มหรือลดภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อไวรัสอื่น (virus interference) ในภาพรวม แต่ถ้าเจาะลึกแยกแยะสกุลของไวรัสทางเดินลมหายใจส่วนบนลงไปก็พบว่าสำหรับไวรัสบางตัวเช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธ์อื่น ไวรัส parainfluenza, ไวรัส RSV, และไวรัสที่ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ พบว่าคนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ติดเชื้อพวกนี้น้อยลงเล็กน้อย แต่สำหรับไวรัสชนิด coronavirus และ metapneumovirus คนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ติดเชื้อพวกนี้มากขึ้นเล็กน้อย แต่ในภาพรวมโหลงโจ้งก็คือวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่สัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสอื่นในภาพรวม

     งานวิจัย Pentagon Study นี้ นอกจากเป็นการวิจัยแบบย้อนหลังในกลุ่มประชากรเล็กๆที่ไม่ได้สุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มซึ่งแทบไม่มีน้ำหนักอะไรแล้วยังไม่เกี่ยวอะไรกับเชื้อโควิด19 ด้วยนะครับ เพราะสมัยที่ทำวิจัยนี้ยังไม่มีเชื้อซาร์สโควี2 ซึ่งเป็นต้นเหตุโรคโควิด19 เกิดขึ้นในโลกนี้ การเอางานวิจัยนี้มาไฮไลท์ว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทำให้ติดเชื้อไวรัสโควิด19 มากขึ้น เป็นการใช้ข้อมูลแบบคาดเดา (extrapolation) ซึ่งวิธีการแบบนี้ไม่ใช่การใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง การจะเหมาว่าไวรัสสกุล coronavirus ทุกสายพันธ์รวมไปถึงสายพันธ์ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในโลกเลยด้วยจะเหมือนกันหมดก็เหมือนทำวิจัยคนไทยสองพันคนแล้วบอกว่าคนไทยเลวเหมือนกันหมด มันไม่จริง เพราะในหนึ่งสกุลของไวรัสมีความกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งกว่าชนิดของมนุษย์ทุกเผ่าทั้งโลกรวมกันเสียอีก ตั้งแต่ไม่มีพิษภัยอะไรเลยไปจนถึงทำให้เป็นโรคถึงตายได้ การคาดเดาต่อจากผลวิจัยหรือ extrapolation นี้เป็นวิธีที่คนชอบทำกัน ส่วนใหญ่ทำเพื่อตะแบงผลวิจัยมาขายสินค้าของตัวเอง แฟนๆบล็อกของหมอสันต์ต้องรู้ทันว่าคนปล่อยข่าวงานวิจัยรายไหนจงใจใช้ข้อมูลแบบ extrapolation จะได้ไม่หลงกระต๊ากตามเข้าไป

พ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. World Health Organization (WHO). Guiding principles for immunization activities during the COVID-19 pandemic. Accessed on Apr24, 2020 at https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/331590/WHO-2019-nCoV-immunization_services-2020.1-eng.pdf
2. Center for Disease Control and Prevention (CDC). Misconceptions about Seasonal Flu and Flu Vaccines. Accessed on Apr24, 2020 at https://www.cdc.gov/flu/prevent/misconceptions.htm
Vaccine. 2020 Jan 10;38(2):350-354. doi: 10.1016/j.vaccine.2019.10.005. Epub 2019 Oct 10.
3. Wolff GG. Influenza vaccination and respiratory virus interference among Department of Defense personnel during the 2017-2018 influenza season. Vaccine. 2020 Jan 10;38(2):350-354. doi: 10.1016/j.vaccine.2019.10.005.


[อ่านต่อ...]

23 เมษายน 2563

กินยา NSAID อยู่ต้องหยุดกินระหว่าง COVID19 ระบาดไหม

เรียนคุณหมอสันต์
มีเพื่อนส่งลิงค์นี้มาให้ว่า BMJ วิจัยแล้วว่ายา NSAID ทำให้เป็นโควิด19 หนักขึ้น ทำให้หนูกังวลเพราะหนูเป็นรูมาตอยด์ และหมอให้กินยา Arcoxia ทุกวัน จะขอหมอให้หยุดยาก็ไปรพ.ไม่ได้ มันจะทำให้หนูติดเชื้อโควิด19 ง่ายขึ้นไหม หรือถ้าติดแล้วหนูจะเป็นแรงกว่าธรรมดาไหม
ขอบพระคุณคุณหมอนะคะ

.......................................................

ตอบครับ

     ประเด็นที่ 1. การใช้ประโยชน์จากหลักฐานวิทยาศาสตร์

     ข้อมูลที่คุณอ้างถึงว่าตีพิมพ์ใน BMJ นั้น [1] มันเป็นจดหมายถึงบรรณาธิการ ไม่ใช่ผลวิจัย ซึ่งตรงนี้ผมขอถือโอกาสแวะคุยนิดหนึ่งถึงวิธีตีค่าความเชื่อถือได้ (appraisal) ของข้อมูล ว่าเราดูหลายองค์ประกอบรวมกันเรียงตามลำดับดังนี้

     (1) ชั้นของหลักฐานวิจัย เช่นถ้าเป็นการวิจัยสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ก็เป็นชั้นสูงสุด ถ้าเป็นการวิจัยในคนแต่ไม่ได้สุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มก็เป็นชั้นรองลงมา ถ้าเป็นการวิจัยในแล็บหรือในสัตว์ก็เป็นหลักฐานชั้นต่ำ ส่วนความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหรือจดหมายถึงบรรณาธิการนั้นไม่ใช่หลักฐานวิทยาศาสตร์เลย

     (2) วารสารที่ตีพิมพ์งานวิจัย ถ้าเป็นวารสารที่เชื่อถือได้เช่น NEJM, JAMA, BMJ, Lancet ก็ได้คะแนนส่วนนี้สูง เพราะวารสารที่ดีจะมีระบบตรวจสอบขั้นตอนการวิจัยเป็นการช่วยผู้อ่านอีกทางหนึ่ง

     (3) ผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งดูได้จากคำประกาศผลประโยชน์ทับซ้อนท้ายงานวิจัย ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยผลดีของการใช้วิตามินดี.รักษาโควิด19 ที่สปอนเซอร์โดยบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายวิตามินดี. ก็ต้องเหล่ไว้ก่อนว่าผลวิจัยอาจมีอคติเพราะอยากขายยา ปัจจุบันนี้งานวิจัยที่ตีพิมพ์กันอยู่ มีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือพูดง่ายๆว่าทำวิจัยเพื่อสนับสนุนการขายสินค้าเสียประมาณ 80%

     ประเด็นที่ 2. ความสัมพันธ์ระหว่าง NSAID กับการติดเชื้อทางเดินลมหายใจมีแน่..แต่ 

     ความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยาต้านการอักเสบในกลุ่ม NSAID กับการเกิดภาวะแทรกซ้อนติดเชื้อในปอดนั้นมีอยู่แน่นอน ทั้งนี้จากงานวิจัยดูย้อนหลังขนาดใหญ่ [2] ใช้ผู้ป่วย 59,250 คน พบว่าการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางปอดพบมากที่สุด (3.8%) ในคนที่กำลังใช้ยา NSAID รองลงไป (2.4%) ในคนที่เคยใช้ยานี้มาก่อน และต่ำที่สุด (2.3%) ในคนที่ไม่เคยใช้ยานี้เลย

     แต่นั่นเป็นแค่ความสัมพันธ์ระหว่างของสองสิ่งนะ ไม่ใช่หลักฐานที่จะบอกว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดอะไร หมายความว่ามันมีปัจจัยกวนอื่นๆอีกแยะที่อาจเป็นสาเหตุที่แท้จริงแต่เราไม่อาจทราบได้จากข้อมูลแค่นี้ ผมยกตัวอย่างนะ สมมุติว่าการเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองเป็นสาเหตุร่วมให้เป็นโควิด19 มากขึ้น แล้วคนเป็นโรคนี้ก็กินยา NSAID กันมาก พอมาวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างยา NSAID กับโรคโควิด19 ก็พบว่าคนที่เป็นโควิด19 กินยา NSAID มากกว่าคนที่ไม่เป็น อย่างนี้จะเหมาว่ายา NSAID ทำให้เป็นโควิด19 ไม่ได้ เพราะเหตุที่แท้จริงคือการเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง ไม่เกี่ยวอะไรกับยา NSAID เลย เป็นต้น

     ประเด็นที่ 3. NSAID ทำให้โควิด19 รุนแรงขึ้นจริงไหม

     ตอนที่มีข่าวนี้ออกมาใหม่ๆเมื่อเดือนที่แล้วผมก็พยายามหาข้อมูลเพื่อตอบคำถามข้อนี้ เพราะคนไข้ของผมจำนวนหนึ่งก็กินยา NSAID อยู่ ผมพบว่ามีงานวิจัย 73 งานที่เจาะลึกดูความสัมพันธ์ระหว่างยา NSAID กับการติดเชื้อไวรัสทางเดินลมหายใจ (ไวรัสรวมๆนะไม่ได้เจาะจงโควิด19) ผมพบว่ามีความแตกต่างกันน้อยมากระหว่างผู้ใช้กับไม่ใช่ยา NSAID ทั้งในแง่ของอัตราตาย ความเสี่ยงที่จะเกิดอัมพาตเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และการหายใจล้มเหลว ดังนั้นผมจึงตอบคุณได้ว่านับถึงวันนี้ไม่มีหลักฐานตรงๆเลยแม้แต่ชิ้นเดียวว่ายา NSAID ทำให้คนเป็นโรคโควิด19 มีอาการรุนแรงขึ้น

     ดังนั้นท่านที่กำลังใช้ยา NSAID รักษาโรคอยู่ ก็ใช้ต่อไปเถอะอย่าไปกังวลเลยแม้โควิด19 จะมาเพราะยังไม่มีหลักฐานอะไรชวนให้กังวล ส่วนคนที่จะกินยา NSAID เพื่อบรรเทาอาการปวดข้อหรืออาการไข้ก็ควรใช้เท่าที่จำเป็น ไม่ควรใช้ยานี้พร่ำเพรื่อ เพราะวงการแพทย์รู้อยู่แล้วว่ายานี้เป็นพิษต่อไต และมีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือด และเป็นสาเหตุของเลือดออกในกระเพาะอาหาร

หมายเหตุเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
     หมอสันต์ไม่ได้มีเอี่ยวอะไรกับผู้ผลิตและจำหน่ายยา NSAID และบล็อกของหมอสันต์นี้ไม่มีสปอนเซอร์ไม่ว่าทางตรงทางอ้อม แต่โปรดสังเกตว่าหมอสันต์หลีกเลี่ยงการพูดถึงอะไรที่จะกระทบการทำมาหากินของคนอื่นโดยเฉพาะเรื่องยา วิตามิน อาหารเสริม สาเหตุที่แท้จริงเป็นเพราะ ม. ห้ามไว้ (หิ หิ)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1.  Russell B, Moss C, Rigg A, Van Hemelrijck M. COVID-19 and treatment with NSAIDs and corticosteroids: should we be limiting their use in the clinical setting?. Ecancermedicalscience. 2020;14:1023. Published 2020 Mar 30. doi:10.3332/ecancer.2020.1023
2. Basille D, Thomsen RW, Madsen M, et al. Nonsteroidal antiinflammatory drug use and clinical outcomes of community-acquired pneumonia. Am J Respir Crit Care Med2018;198:128-31. doi:10.1164/rccm.201802-0229LE
3. Epperly H, Vaughn FL, Mosholder AD, Maloney EM, Rubinson L: Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drug and Aspirin Use, and Mortality among Critically Ill Pandemic H1N1 Influenza Patients: an Exploratory Analysis. Japanese journal of infectious diseases 2016, 69(3):248-251
4. Wen Y-C, Hsiao F-Y, Lin Z-F, Fang C-C, Shen L-J: Risk of stroke associated with use of nonsteroidal anti-inflammatory drugs during acute respiratory infection episode. Pharmacoepidemiology and drug safety 2018, 27(6):645-651
5. Wen Y-C, Hsiao F-Y, Chan KA, Lin Z-F, Shen L-J, Fang C-C: Acute Respiratory Infection and Use of Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs on Risk of Acute Myocardial Infarction: A Nationwide Case-Crossover Study. The Journal of infectious diseases 2017, 215(4):503-509
6. Grimaldi-Bensouda L, Abenhaim L, Michaud L, Mouterde O, Jonville-Béra AP, Giraudeau B, David B, Autret-Leca E: Clinical features and risk factors for upper gastrointestinal bleeding in children: A case-crossover study. European Journal of Clinical Pharmacology 2010, 66(8):831-837.

[อ่านต่อ...]

22 เมษายน 2563

รู้สึกเบื่อ เหนื่อย พอแล้ว ขอแยกตัวกลับ

กราบเรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพและนับถือสุดๆค่ะ
ขอรบกวนปรึกษาคุณหมอในเรื่องขี้หมามากๆหน่อยค่ะ
คุณหมอคะดิฉันเลือกทางไหนดีระหว่างหน้าที่ภรรยาที่คอยดูแลสามีที่แสนวิเศษกับชีวิตเงียบสงบท่ามกลางสายลมแสงแดดที่ตนรักแต่ต้องแลกกับการทิ้งความรับผิดชอบต่อสามี
ดิฉันอายุ 53 สามี 55  ลูกโตรับผิดชอบตัวเองไปหมดแล้ว ทรัพย์สมบัติก็มีพอเกษียณได้แล้วจากฝีมือสามีคนเดียว สามีมีบุคลิกจริงจัง เครียดง่าย เครียดนาน ไม่สนใจเรื่องสุขภาพ ชีวิตให้ความหมายกับคำว่าหัวหน้าครอบครัวเท่านั้น จะกินอยู่หลับนอนยังไงก็ได้ขอให้ได้หาเงิน และปกป้องดูแลคนในครอบครัว เวลาเครียดมากๆ ก็ขอดื่มแอลกอฮอล์คลายเครียด  สามีจึงมีปัญหาสุขภาพมาเป็นสายๆเช่นหมอนรองกระดูกเคลื่อนจนนั่งแทบไม่ได้ ความดันโลหิตสูง คอเรสรอลเริ่มสูง ส่วนดิฉันเองเป็นสายสุขภาพอย่างแรง ติดตามยึดแนวทางของหมอสันต์มานานแสนนาน ปลูกผักกินเอง กินอาหารพืชผักเป็นหลัก เราก็เลยง้างกันเรื่องนี้เป็นระยะๆ มาถึงตอนนี้ดิฉันรู้สึกเบื่อ เหนื่อย พอแล้ว ขอแยกตัวกลับไปอยู่บ้านที่ต่างจังหวัดใช้ชีวิตกับสายลมแสงแดดกับการดูแลสุขภาพตัวเองเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อลูกหลานในอนาคต แต่กลับกลายเป็นว่าเป็นการสร้างภาระให้สามี ต้องเวียนขับรถไปๆมาๆเพื่อมาเฝ้ามาดูแลเมียที่อยู่คนเดียวนี่อีก ทั้งๆที่ตัวเองก็ทำงานหนักและต้องเจ็บทรมานกับอาการเจ็บหลังที่ต้องขับรถนานๆ ตอนนี้เลยไม่มีใครมีความสุข
ขอบพระคุณค่ะ

...............................................

ตอบครับ

อามิตตาภะ พุทธะ

นี่เป็นตัวอย่างของการใช้ความยึดถือเกี่ยวพันไปในทางทำลายมากกว่าสร้างสรรค์

     สมัยผมทำงานอยู่เมืองนอก มีเพื่อนคนหนึ่งเป็นหมอดมยาฝรั่ง มีปัญหากับลูกชายที่เขารักมากแต่ลูกก็ไม่เอาไหน ไม่ตั้งใจเรียนหนังสือ นั่นก็ไม่เอานี่ก็ไม่เอา เขาปรับทุกข์เรื่องลูกกับผมบ่อยมาก ในที่สุดลูกขอเงินพ่อหยุดเรียนกลางคันเพื่อเดินทางรอบโลกแสวงหาตัวตนของตัวเองแบบบักหำน้อยพเนจร พ่อก็อนุญาต ในวันที่เขาจะไปส่งลูกที่สนามบิน บังเอิญเช้าวันนั้นเราออกเวรที่รพ.เอกชนด้วยกัน ผมจึงเสนอตัวว่าจะขับรถแวะไปส่งเขาที่สนามบินและรอรับเขากลับไปทำงานกันต่อที่รพ.รัฐบาล (เราทำงานสองโรงพยาบาล) ที่ผมเล่านี่ก็เพื่อจะไฮไลท์ตอนสำคัญที่พ่อเขาสั่งลาลูกบังเกิดเกล้าก่อนจากว่า

     "Don't write to me. For me, no news is good news"

     "ไม่ต้องจดหมายมาหาพ่อ  พ่อจะถือว่าการไม่มีข่าว คือข่าวดี"

      คือสมัยโน้นไม่มีอีเมล การติดต่อกันต้องจดหมายเท่านั้น ผมฟังแล้วน้ำตาซึม พ่อที่รักลูกอย่างกับดวงใจตามติดชีวิตความเป็นอยู่ลูกแทบจะทุกฝีก้าว ตัดใจบอกลูกว่าไม่ต้องส่งข่าวคราวมาหาพ่อดอก เพื่อจะให้ลูกได้เป็นอิสระจากความห่วงใยของพ่อ เพื่อให้ลูกได้เที่ยวเสาะหาประสบการณ์ชีวิตของเขาให้สนุก

     กลับมาตอบคำถามของคุณดีกว่า ถามว่าจะทำอย่างไรดี ตอบว่าคุณมี 2 ทางเลือก

     ทางเลือกที่ 1. แก่แล้ว ตัวใครตัวมัน 

     นี่เป็นทางเลือกที่หมอสันต์สรรเสริญมากที่สุด ตอนหนุ่มๆผมตำหนิคนที่คิดอย่างนี้มาก แต่พอตัวเองยิ่งแก่ก็ยิ่งเข้าใจทางเลือกนี้ว่ามันเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดจริงๆ เพราะเมื่อกำลังจะตายอยู่แล้ว แต่ละคนต้องขวานขวายไปทำมิชชั่นที่ตัวเองเกิดมาอยากทำให้เสร็จเสียก่อนตาย จะมามัวห่วงเตี้ยอุ้มค่อมอยู่ทำไม ฉันจะเอาของฉันยังงี้ คุณจะเอาของคุณยังไงก็เรื่องของคุณ หากเลือกทางนี้แล้วก็อย่าไปจมอยู่กับความรู้สึกผิดเพราะมันเป็นแค่คอนเซ็พท์หรือเป็นแค่สมมุติ ผมหมายถึงการเป็นภรรยาของผู้ชายซื่อบื้อที่แสนดีคนหนึ่งมันเป็นแค่เรื่องสมมุติ เป็นแค่ละครที่เล่นกันมาหลายปี หากเบื่อเล่นแล้วจังหวะเหมาะๆเช่นลูกพ้นอกไปแล้วก็เลิกเล่นได้ ลองไปเล่นบทอื่นที่อาจจะใช่ชีวิตที่เสาะหามานานมากกว่าจะเป็นไรไป หากจะให้มันนุ่มนวลยิ่งขึ้นหน่อยก็ตั้งโต๊ะคุยกับคุณสามีดีๆ สุนทรียสนทนา ให้เขาเข้าใจ แต่ไม่ใช่ให้เขาอนุมัติ ว่า

    "..วาระสุดท้ายของชีวิตนี้ฉันได้ตัดสินใจแล้วว่าจะออกธุดงค์จากอาคาริยวิสัยไปแสวงหาโมกขธรรม...จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ"

     แจ้งแล้วเขาจะเสียใจหรือจะดีใจ นั่นเรื่องของเขา คุณอย่าไปอาเวคอาวรณ์

     เขียนมาถึงตอนนี้ขอนอกเรื่องหน่อย เรื่องนี้เกิดขึ้นในเมืองไทยนี้แหละ ประมาณสิบกว่าปีมาแล้ว ผมไปผ่าตัดที่รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง เสร็จแล้วก็นั่งคุยกันเล่นในหมู่พวกหมอใหญ่ด้วยกันที่ห้องพักแพทย์ แล้วก็มีนักศึกษาทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทคนหนึ่งนัดมาขอสัมภาษณ์หมอใหญ่ท่านหนึ่ง สัมภาษณ์กันใกล้ๆนั่นแหละ ซึ่งผมก็ได้ยินด้วย หัวข้อวิทยานิพนธ์ก็คือหากอีกสามเดือนจะตายท่านอยากจะทำอะไร หมอใหญ่ท่านนั้นตอบว่า

     "เก็บเสื้อผ้าลงกระเป๋า เดินออกจากบ้าน" นักศึกษาสาวผู้สัมภาษณ์ถามว่า

     "ไม่อยากอยู่กับภรรยาที่รักในช่วงสุดท้ายของชีวิตหรือคะ" คุณหมอใหญ่ตอบว่า

     "อยู่กันมาสี่สิบปี พอแล้ว"

     ฮ่า ฮ่า ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

     ทางเลือกที่ 2. แบ่งให้กันและกันคนละครึ่ง 

     คุณยอมเสียเวลาครึ่งหนึ่งให้สามี สามียอมเสียเวลาครึ่งหนึ่งให้คุณ สามียอมเหนื่อยปวดหลังปวดเอวขับรถมาเยี่ยมคุณบ้าง คุณยอมเหนื่อยไปเยี่ยมสามีบ้าง คุณยอมฟังสามีพล่ามเรื่องไร้สาระของเขาบ้าง เขายอมมาดูคุณทำเรื่องไร้สาระของคุณที่บ้านนอกบ้าง ไม่ใข่วิธีที่ดีที่สุด เพราะมันเหนื่อยเอาการอยู่ แต่มันเป็นความลงตัวในแง่ของเมตตาธรรมและความห่วงใยที่คู่ชีวิตมีต่อกัน นานไปมันอาจพัฒนาไปในทางที่ว่ากิจกรรมของคนที่มีประโยชน์ต่อชีวิตจะดึงอีกคนหนึ่งที่มัวแต่จมอยู่กับเรื่องไร้สาระให้เข้ามาหามากขึ้นๆจนเกิดการแต่งงานใหม่ คือทั้งคู่มาใช้ชีวิตแนวทางเดียวกัน 100% ด้วยความเต็มใจของทั้งสองฝ่ายในที่สุดก็เป็นไปได้

     ทั้งสองทางเลือกนี้คุณเลือกทางไหนก็ได้ เอาแบบที่ชอบที่ชอบ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

21 เมษายน 2563

ถามหมอสันต์เรื่องการวางแผนการศึกษาของลูก

คุณหมอสันต์คะ
หนูกับแฟนอยากปรึกษาคุณหมอด่วนเรื่องการศึกษาของลูกชาย เขากำลังจะเข้ามหาวิทยาลัยปีหน้า แฟนอยากกัดฟันส่งเขาไปเรียนออสเตรเลีย แต่ดูเขาเนือยๆผิดเพื่อนวัยเดียวกัน ความรู้เขาไม่น่าห่วง เพราะหนูให้เขากวดวิชากับอาจารย์ดีๆมาตั้งแต่ป.5 หนูกำลังไม่มั่นใจ เรียนในประเทศ ต่างประเทศ เรียนแพทย์ หรือเรียนธุรกิจ ลูกชายเขาไม่ออกเสียงอะไรเลย เหมือนกับว่าพ่อแม่เองไงเองงั้น ไม่กระตือรือล้นเลย
ขอบคุณค่ะ

......................................................


ตอบครับ

      1. ให้เลิกคิดส่งลูกเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเสีย

     มาถึงสมัยนี้ การส่งลูกเข้าเรียนมหาวิทยาลัยให้จบปริญญาตรีเป็นก้าวพลาดครั้งใหญ่ที่สุดของพ่อแม่ อย่าไปพูดไกลถึงปริญญาโทเอกหรือโพสท์ด็อค โห..นั่นเป็นความคิดที่โบราณและไร้สาระมากที่สุด ฟังแล้วต้องรีบไปล้างหูเลย เพราะคนเราเกิดมาเพื่อใช้ชีวิตอย่างสงบเย็น เบิกบาน และสร้างสรรค์ แต่มหาวิทยาลัยจะทำให้เด็กไม่มีวันได้พบสิ่งเหล่านั้น มหาวิทยาลัยเป็นที่ที่จะดองสมองเด็กจากการเป็นคนที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมีความสามารถสำรวจขุดค้นมาแต่กำเนิดให้กลายเป็นหุ่นยนต์ซื่อบี้อไม่สามารถจะคิดอ่านริเริ่มสร้างสรรค์อะไรต่อไปได้ แม้แต่จะหาความสุขในชีวิตตัวเองก็ยังทำไม่ได้เพราะมหาวิทยาลัยได้โปรแกรมคอนเซ็พท์เก๊ให้เด็กเข้าใจว่าขี้หมาคือความสุขในชีวิต กว่าเด็กจะพบว่าสิ่งนั้นที่แท้เป็นขี้หมาไม่ใช่ความสุขในชีวิตเขาก็แก่หง่อมเสียแล้ว ดังนั้นสิ่งสุดท้ายที่พ่อแม่ที่รักลูกจะทำก็คือการส่งลูกไปเรียนมหาวิทยาลัย ผมแนะนำว่าให้เรียนจบภาคบังคับก็พอแล้ว จากนั้นให้ออกมาทำมาหากิน หรือหากไม่อยากทำมาหากิน ออกมาเป็นบักหำน้อยพเนจรตุปัดตุเป๋ไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันก็ยังดีกว่าไปเรียนมหาวิทยาลัย

     โลกต่อจากนี้ไปสิ่งที่แน่นอนที่สุดคือความไม่แน่นอน การมีความคิดสร้างสรรค์ (creativity) หรือจินตนาการ (imagination) เป็นคุณสมบัติเดียวที่จะทำให้คนอยู่ในโลกแบบนี้ได้อย่างมีความสุข แต่โรงเรียนกวดวิชาและมหาวิทยาลัยได้ลบสิ่งนี้ออกไปจากหัวเด็กเสียแล้ว จินตนาการเป็นท่อต่อไปหาสิ่งที่เรียกว่าปัญญาญาณ (intuition) หรือไอเดียที่ปิ๊งขึ้นมาในหัวของเขาขณะไม่ได้ตั้งใจคิดอะไร เมื่อไม่มีจินตนาการก็ยากที่จะเกิดปัญญาญาณ โอกาสที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆในชีวิตได้นั้นจึงริบหรี่เต็มที อย่างดีก็รู้จักแค่ทำตามปัญญาประดิษฐ์ (AI) และชีวิตอนาคตของเขาก็จะถูกนำทางหรือบงการด้วยปัญญาประดิษฐ์เท่านั้น

     ความสุขในชีวิตเกิดจากการได้สำรวจค้นหาเรียนรู้สิ่งใหม่ แต่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยปิดโอกาสที่เด็กจะได้สนใจธรรมชาติรอบตัว หมดโอกาสที่จะได้ทำตาโต (wonder) กับปรากฏการณ์ใดๆในธรรมชาติ ไม่มีความรู้สึก (feeling) ที่ลึกซึ้งกับสิ่งสวยงามรอบตัวหรือแม้กระทั่งกับสัตว์เลี้ยงอย่างหมาแมว เพราะสิ่งที่เขาเรียนจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมีอย่างเดียวคือการจดจำและเชื่อตามที่คนอื่นบอก ซึ่งล้วนเป็นความจำเก่าๆของคนรุ่นเก่าที่ล้าสมัยเสียเก้าสิบเปอร์เซ็นต์

      2. ครูที่สำคัญที่สุดคือพ่อแม่
 
     สิ่งที่สำคัญที่สุดในแง่ของการศึกษาคือการบ่มเพาะ

     (1) จินตนาการ (imagination) ที่สามารถคิดอะไรพ้นกรอบที่อายตนะรับรู้ออกไปได้ และ
     (2) ปัญญาญาณ (intuition) อันจะนำไปสู่
     (3) ความบันดาลใจ (inspiration) ในการจะใช้ชีวิตนี้ให้มีความหมายและมีคุณค่า

     คนที่จะเปิดให้เด็กบ่มเพาะสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้คือพ่อแม่เป็นหลัก โรงเรียนเป็นรอง ทั้งสามประการนี้เด็กเขาจะบ่มเพาะขึ้นมาเองโดยไม่ต้องมีใครสอนเพราะมนุษย์เราธรรมชาติให้สมองส่วนหน้ามาเพื่อการนี้อยู่แล้ว เพียงแค่เปิดโอกาสให้เขาได้สัมผัสศึกษาธรรมชาติ ให้เด็กได้ใช้ชีวิตกลางแจ้งกลางแดดกลางฝน คลุกดิน คลุกต้นไม้ใบหญ้า หมาแมว เป็ดไก่ บวกกับให้เด็กได้มีโอกาสฝึกสมาธิวางความคิดเข้าสู่ความว่างอันสงบเย็นแล้วเฝ้ามองและเลือกหยิบปัญญาญาณที่จะโผล่ขึ้นมาในรูปของไอเดียที่ปิ๊งขึ้นมาขณะที่ใจปลอดความคิด ทั้งหมดนี้จะเป็นไปได้ง่ายขึ้นถ้าพ่อแม่ในฐานะเพื่อนร่วมเรียนรู้มีความเข้าใจและทำเป็นอยู่ก่อน แต่หากพ่อแม่มัวแต่ทำมาหากินเก็บเงินไว้ส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัยไม่ว่าเมืองไทยหรือเมืองนอกโดยพ่อแม่ก็ไม่มีโอกาสได้รู้จักสิ่งเหล่านี้เลย สิ่งที่เด็กจะได้จากพ่อแม่ก็มีแค่การลอกเลียนแบบความเครียดกังวลมาจากพ่อแม่ เพราะเมื่อชีวิตของพ่อแม่เป็นชีวิตที่เคร่งเครียด แน่นอนว่าสิ่งที่เขาเรียนรู้จดจำจะต้องมีแต่วิธีการสนองตอบต่อสิ่งเร้าไปในทางเพิ่มความเครียดให้ตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่ สิ่งที่เขาเรียนรู้มาในวัยนี้จะวนเวียนอยู่กับความคิดลบหน้าเดิมไม่กี่อย่าง เช่น โทษคนอื่น (blame) รู้สึกด้อย (shame) รู้สึกว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อ (victim) รู้สึกผิด (guilt) แล้วสิ่งเหล่านี้ก็จะฝังเป็นจิตใต้สำนึกให้เขาเอาไปใช้งานในตลอดชีวิตในวันหน้า

     ความที่พ่อแม่ตั้งใจที่จะเลี้ยงดูลูกให้ได้ดีมากเป็นพิเศษตามความเชื่อของตนซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากวิธีการเลี้ยงลูกของชาวบ้านในซอยหรือในที่ทำงานเดียวกันอีกต่อหนึ่ง ทำให้เด็กหมดโอกาสได้เรียนรู้การรับมือกับความไม่แน่นอนในชีวิต เด็กที่พ่อแม่รักลูกมากจึงกลายเป็นเด็กที่ทุกข์ง่าย สุขยาก จดจำแต่ความคับข้องใจที่พ่อแม่ไม่ตามใจเขา และถนัดแต่การประท้วงสำแดงพลังเพื่อให้ตัวเองอุ่นใจว่าพ่อแม่ยังคงเป็นทาสที่ซื่อสัตย์ของเขาอยู่ โดยที่ลึกๆในใจเขามีความกลัวที่พ่อแม่จะตายจากเขาไป เพราะเขาใช้บริการพ่อแม่มากจนเขาไม่รู้จะมีชีวิตอยู่ด้วยตนเองได้อย่างไรหากไม่มีพ่อแม่ ดังนั้นหากเป็นพ่อแม่ที่เปิดโอกาสให้ลูกฝึกรับมือกับความไม่แน่นอนในชีวิตไม่ได้ ก็เหลืออีกทางเดียวเท่านั้นคือปล่อยให้ลูกได้มีโอกาสผจญชีวิตจริงแบบตุปัดตุเป๋ด้วยตัวเองผ่านการทำงานตั้งแต่อายุยังน้อยจะดีกว่า การทำงานนั้นเป็นชีวิตจริงแต่มหาวิทยาลัยเป็นชีวิตเทียมที่ดองเด็กเอาไว้รอวันให้ออกไปมีปัญหากับชีวิตจริงที่ไม่ได้มีอะไรเหมือนที่มหาวิทยาลัยสอนเลย

      3. เริ่มที่ความตั้งใจจริงที่จะทำเพื่อลูกก่อน
 
     การไม่ส่งลูกเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเป็นการฝ่าแรงต้านสาระพัด โดยเฉพาะแรงต้านในใจของพ่อแม่เอง แต่ขอให้ครวญ คิด พินิจ ให้ดี ความคิดต่อต้านนั้นมาจากไหน ถ้าไม่ใช่มาจากความยึดมั่นในความเป็นบุคคลของเราผู้เป็นพ่อแม่เอง เราอยากให้ลูกเป็นอย่างใจเรา ลูกจะได้เป็นที่ยอมรับของสังคม นั่นหมายถึงเราจะได้เป็นที่ยอมรับของสังคมด้วย เรากลัวถูกตราหน้า่าเป็นพ่อแม่ที่ล้มเหลวมีลูกที่ไม่ได้เรื่อง การจะไม่ส่งลูกไปเข้ามหาวิทยาล้ยจึงเป็นการคิดแหกคอกครั้งใหญ่ จะต้องวาง identity หรืออัตตาว่าเราเป็นบุคคลผู้ที่อยากให้ใครต่อใครยอมรับนี้ลงไปก่อน จึงจะทำการใหญ่นี้ได้สำเร็จ

     ขั้นต่อไปก็คือการเป็นเพื่อนลูกในการทำความรู้จักกับธรรมชาติรอบตัว เริ่มจากธรรมชาติรอบตัวที่บ้าน ท้องฟ้า หญ้า ต้นไม้ริมทาง รวมไปถึงการซึมซับศิลปะและความสวยงาม แล้วหาโอกาสพาเขาเดินทางไปพักในธรรมชาติ เช่นวนอุทยาหรือป่าเขาลำเนาไพร ไปพักแบบเพื่อศึกษาความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ อยู่กับแสงแดด ธารน้ำต้นไม้ หญ้าระบัดสัตว์เล็กสัตว์น้อย ซึ่งจะเป็นสื่อธรรมชาติพาไปสู่ความรักในการขุดค้นดูความมหัศจรรย์ของสิ่งรอบตัว อันเป็นช่องเปิดไปหา creativity ทั้งหมดนี้มันควรจะเริ่มมาตั้งแต่ชั้นอนุบาลแล้ว แต่ว่ามาเริ่มตอนนี้ก็ยังไม่สายเกินไป ดีกว่าดันให้เขาไปผิดทางจนกว่าที่เขาจะรู้ตัวก็แก่เสียแล้ว

     จากนั้นจึงคุยกับเขาถึงสิ่งที่เขาชอบ สิ่งที่เขาอยากทำ และบอกเขาว่าพ่อกับแม่อยากให้เขามีความสุขในชีวิตแค่น้้นเป็นพอ เขามีอิสระที่จะเลือกทางเดินชีวิตของเขาเองได้ จะเข้ามหาวิทยาลัยหรือไม่เข้า หากเขาไม่เลือก หรือหากเขาขอคำแนะนำพ่อแม่ พ่อกับแม่ก็ควรแนะนำให้เขาว่าไม่ควรไปเข้ามหาวิทยาลัยโดยชี้แจงเหตุผลตามความเป็นจริง เมื่อไม่เข้ามหาลัยก็อาจเริ่มต้นการทำงานอะไรก็ได้ ตะก๊อก ตะแก๊ก ทำงานไปเรียนรู้ชีวิตไป ฝึกใช้ชีวิตให้มีความสุข นั่นแหละคือปลายทางที่คนเราเกิดมา คือเกิดมาเพื่อใช้ชีวิตให้มีความสุข

     ผลการคุยกันจะออกมาอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น เพราะชีวิตเป็นของเขา เขาต้องเป็นผู้เลือก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

.....................................................
จดหมายจากท่านผู้อ่าน1.
เห็นด้วยกับคุณหมออย่างยิ่งค่ะ ถึงแม้ว่าลูกจะจบโทถาปัดอีกไม่นาน แต่นั่นคือความสุขที่เธอเลือกเอง ได้เรียนอย่างสนุกมาตลอด ไม่เคยต้องเรียนพิเศษ เหมือนเด็กอื่น ดิฉันสอนลูกเอง และดิฉันก็ได้เห็นแบบที่ คุณหมอแนะนำ เมือ่ไปหาลูกที่เมืองนอก จึงได้เห็นว่า ตปท เค้าไม่สนใจกระดาษปริญญา เค้าเลือกคนที่ ความสามารถ ปสก ที่คนนั้นมี เด็กๆที่นั่น เรียน เล่น และได้ทำงานที่ดี มีความสุข จริงๆ ถ้าจะมีก็เรียนเพิ่มทักษะ เป็นคอร์สๆไป. ถ้าเข้าไปค้นอ่านจะพบว่า บ.ใหญ่ทั่วโลก รับสมัคร พนง โดยไม่กำหนดวุฒิ จะจบอะไรก็ได้ แต่คุณต้องมี ปสก ในงานที่เค้ารับ เท่านั้นปี. ดังนั้น พออ่าน ที่คุณหมอเริ่มต้น รู้สึกว่า นี่คือเส้นทางที่ถูกต้องจริงๆค่ะ
......................................................
จดหมายจากท่านผู้อ่าน2.
คำตอบของคุณหมอมันไม่น่าเชื่อเลยว่าตัวดิฉันได้ทำตัวแบบนั้นโดยที่ดิฉันเรียนหนังสือจบการศึกษาผู้ใหญ่แค่มอ 3 ก็ใช้ชีวิตแบบที่คุณหมอพูดเนื่องมาจากว่าพ่อแม่ยากจนก็มีความเพียรพยายามแล้วก็ทำให้ตัวเองได้ยืนขึ้นมาสู่จุดเป็นหมอแผนไทยที่สามารถปรุงยาได้รักษาคนได้แล้วส่วนลูกลูกดิฉันก็เลี้ยงตามที่คุณหมอพูดทุกอย่างไม่ได้ส่งให้ลูกเรียนหนังสือสูงๆแต่ส่งให้ลูกได้เรียนรู้ชีวิตความเป็นจริงของธรรมชาติจนบัดนี้ลูกคนโตอายุ 38 ลูกคนเล็กอายุ 26 ทั้งสองคนมีความสุขและช่วยเหลือตัวเองได้เมื่อเวลาที่มีร้านร้านก็มีความสุขสรุปคนในบ้านเรามีความสุขมากเลยค่ะจากการที่เรียนรู้ที่จะหาความสุขจากธรรมชาตินี่แหละค่ะขอบคุณคุณหมอมากค่ะที่คำตอบของคุณหมอทำให้เรารู้ว่าเราเดินมาถูกทาง
.......................................................
จดหมายจากท่านผู้อ่าน3.
แนวทางที่คุณหมอแนะนำดิฉันบังเอิญได้เจอกับตัวเองด้วยชีวิตที่พลิกผัน_จากที่ลูกๆได้เข้ามหาวิทยาลัยได้แต่แล้วลูกก้าวข้ามชีวิตนักศึกษาไม่ได้จะเรียน4ปีไม่จบ_ต่อรองยึดให้1ปีถ้ายังมีปัญหาไม่สามารถจบตามที่คุยกัน. ดิฉันขอให้ลูกเดินตามที่ดิฉันวางไว้. และวินาทีที่การยึดหยุ่นมันจบคือจะจบช้ากว่าที่ตกลง ดิฉันตัดสินใจหาวิชาชีพที่ทำมาหากินได้ ให้เขาขายก๋วยเตี๋ยวที่ดิฉันทำให้ครอบครัวกินเองตั้งแต่เขาเป็นเด็ก ฝึกทุกอย่างให้ลูกพาไปหาวัตถุดิบที่ดี ไปตลาด สอนเปิด​ ปิดเตา​แก้ส_สอนลวกเส้น​ สอนการเรียงลำดับความสำคัญงานทุกอย่างในร้านๆหนึ่งที่ควรจะมี.ดิฉันโดนกระแสจากเพื่อนๆญาติๆต่อว่ามากมาย แต่ดิฉันคิดว่านี่แหละคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่มอบให้ลูก.
เขาเรียนรุ้กะดิฉัน2ปีเขาเริ่มมีความมั่นใจเพราะจากคำชมของลูกค้าว่าก๋วยเตี๋ยวอร่อย.ยอมรับว่าเหนื่อยมากๆเพราะดิฉันก้อเริ่มอายุมากเเล้ว.แต่เหนื่อยแบบมีความสัขคะ.
จนมาวันนี้เจอพิษโควิท_19 ลูกๆดิฉันก้ออยู่ได้ไม่ตกงานขายอยุ่กับบ้าน.มีความสุข​แบบพอเพียงคะ.แต่กว่าจะเจอว่าเราทำสวนกระแสแบบแนวคิดอาจารย์หมอ_มันถูกต้องที่สุด​ ดิฉันโดนสังคมโจมตีมากๆ
แต่ดิฉันมุ่งมั่นว่านี่คือสมบัติอันยิ่งใหญ่ที่จะมอบให้ลูกได้.ห้กำลังใจทุกๆครอบครัวนะคะ.
สู้ๆคะ
ขอบคุณอาจารย์คะที่นำความรู้มาให้อ่านและมีประโยชน์มาก
............................................................
จดหมายจากท่านผู้อ่าน4.
ขอบคุณ คุณหมอมากค่ะ เป็นแนวความคิดที่ดีมากค่ะ ไม่ยึดติดกับใบปริญญา มีความอิสระในการใช้ชีวิต ออกแบบชีวิตที่เราชอบด้วยตนเอง เรียนรู้ชีวิตด้วยตนเอง หาความสุข และมีความสุขได้ง่ายๆ เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น
...................................................
จดหมายจากท่านผู้อ่าน5.
ขอบคุณมากค่ะคุณหมอ ลูกดิฉันกำลังจะขึ้น ม.4 และดิฉันก็ไม่ได้ส่งลูกเรียนกวดวิชาเลย อาศัยเรียนใน รร. คะแนนก็กลางๆอ่ะค่ะ หน้าบ้านฉันเป็นถนนใหญ่ในเมืองนราธิวาสและหลังบ้านเป็นแม่น้ำบางนรา และงานอดิเรกของครอบครัวคือเลี้ยงนกเลี้ยงไก่ และตกปลาหลังบ้าน และที่สำคัญเมื่อคืนเมื่อคืนพวกตกปลาได้ปลากระพง1ตัวโอ้ยดีใจไหญ่เลย และดูพวกเขามีความสุขมากเลยค่ะ ตรงกับข้อมูลที่คุณหมอบอกเลยค่ะ และวันนี้เป็นหน้าที่คุณแม่ต้องทำปลากระพงนึ่งมะนาวแล้วล่ะ
..................................................
[อ่านต่อ...]

20 เมษายน 2563

รุ่นพี่เขาว่ามะนาวเป็นด่าง..จริงหรือคะ

คุณหมอคะ
รุ่นพี่คนหนึ่งส่งข้อมูลเรื่อง corona virus มาให้ อ้างว่ามาจาก John Hopkins University อ่านดูแล้วก็พอเข้าใจ แต่งานวิจัย ทำในปี 1991 เลยทำให้สงสัยว่า เป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ ถ้าเป็น fake information ก็ขออภัยด้วยค่ะ ถ้าถูกต้องจะได้ส่งต่อให้คนอื่นๆต่อไป
อีกเรื่องหนึ่ง เขาบอกว่า lemon มีค่า pH 9.9 และ lime มีค่า pH 8.2 ทั้ง2 ตัวนี้น่าจะเป็นกรดมากกว่าเป็นด่าง คิดว่าน่าจะลองเอาน้ำมะนาวมาวัดpH ดู
ฝากคุณหมอพิจารณาด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

..................................................................

ตอบครับ

     1. ถามว่าธรรมชาติของไวรัสที่ผู้ร่อนข่าวสารอ้างว่าเอามาจากงานวิจัยในวารสาร JOURNAL OF VIROLOGY, Apr. 1991, P. 1916-1928. Vol. 65, No. 4 ทั้งหมดนั้นเป็นของจริงหรือไม่ ตอบว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องตามที่เขาคัดลอกมา ข้อมูลนี้ยังใช้ได้อยู่ แม้จะตีพิมพ์ไว้นานแล้วก็ตาม

     2. ถามว่าเรื่องอาหารเป็นด่างรักษาไวรัสนั้นเป็นข้อมูลจริงเช่นกันหรือไม่ ตอบว่าไม่เกี่ยวกัน ข้อมูลวิจัยเรื่องธรรมชาติของไวรัสก็เรื่องหนึ่ง ส่วนที่ผู้ร่อนข่าวสารชักจูงให้กินอาหารเป็นด่างต้านไวรัสก็อีกเรื่องหนึ่ง ไม่เกี่ยวกัน

     3. ถามว่ามะนาวเป็นด่างจริงหรือไม่ ตอบว่าโถ คุณพี่ มะนาวมันเป็นกรดอาเซติกเปรี้ยวจี๊ดมันจะเป็นด่างไปได้อย่างไร pH ของมะนาวอยู่ที่ 2-3 ครับ ขณะที่สารที่เป็นกลางมี pH 7.0 โดยประมาณ สารน้ำในร่างกายมี pH 7.4 โดยประมาณ

     4. ถามว่าแล้วทำไมเขาว่ามะนาวเป็นด่าง ตอบว่า เออ.. แล้วผมจะรู้ไหมเนี่ย แหะ แหะ

     ผมเดาเอาว่าเขาคงจะหมายถึงว่ามะนาวเป็นอาหารในกลุ่มที่กินแล้วจะมีกรดเหลือไปขับทิ้งที่ไตน้อย กล่าวคือมันมีคนแบ่งอาหารที่คนเรากินออกตามศักยภาพที่จะสร้างกรดไปเป็นภาระให้ไตขับทิ้งหลังจบการเผาผลาญอาหารแล้ว (potential renal acid load - PRAL) หรือบ้างก็เรียกง่ายๆว่าอาหารสร้างกรด ซึ่ง ถ้าแบ่งอาหารตามคอนเซ็พท์นี้ก็จะแบ่งอาหารออกได้เป็นสามกลุ่ม คือ

     1. กลุ่มอาหารสร้างกรด (Acidifying foods) ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไก่ ปลา ไข่ แอลกอฮอล์

     2. กลุ่มอาหารเป็นกลาง (Neutral foods) ได้แก่ไขมัน แป้ง น้ำตาล

     3. กลุ่มอาหารสร้างด่าง (Alkalizing foods)ได้แก่ ผลไม้ นัท ถั่ว และผักต่างๆ รวมทั้งมะนาวด้วย

     การแบ่งอาหารเป็นสามกลุ่มนี้จะมีประโยชน์หรือมรรคผลอะไรผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน เพราะร่างกายนี้มีระบบสร้างดุลของกรดและด่างที่ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว กินอะไรเข้าไปร่างกายปรับเข้าสู่ดุลหมด นับถึงวันนี้ยังไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์แม้แต่ชิ้นเดียวที่บ่งชี้ว่าอาหารสร้างกรดหรืออาหารสร้างด่างจะมีผลต่อสุขภาพอย่างไร ผมทราบว่าบางท่านไปตั้งหลักชิมปัสสาวะ ถ้าเปรี้ยวก็แสดงว่ากินอาหารสร้างกรดมาก ซึ่งก็แหงอยู่แล้วเพราะกลไกของระบบรักษาดุลของกรดด่างของร่างกายมีเครื่องมือหลักคือไต(ปัสสาวะ)และปอด (คาร์บอนไดออกไซด์) แต่ประเด็นก็คือว่าฉี่เปรี้ยวแล้วมีอะไรไหม อันนี้วงการแพทย์ยังไม่มีข้อมูลที่จะบ่งชี้อะไรเป็นตุเป็นตะได้

     แต่ถ้าใครชอบจะกินอาหารสร้างกรด หรือชอบกินอาหารสร้างด่าง ตอนนี้ก็เป็นความชอบของแต่ละคน เชิญตามสะดวก ส่วนหมอสันต์นั้นเชียร์ให้กินแต่พืชตามงานวิจัยผลของอาหารต่อโรคเรื้อรัง ซึ่งเผอิญพืชเป็นอาหารสร้างด่าง ดังนั้นหมอสันต์จึงถูกจัดเป็นพวกด่างไปโดยปริยาย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

โรคสมองเสื่อมสไตล์ "หญิงแก่บ้าอำนาจ"

สวัสดีคุณหมอค่ะ
     ขอโทษที่รบกวนคุณหมอนะคะ ตอนนี้ทำอะไรกันไม่ถูกจริงๆค่ะ คุณแม่อายุ 75 ปี  คุณหมอระบบประสาท ทำการ mri และคุณหมอจิตแพทย์ลงความเห็นว่า คุณแม่เส้นเลือดตีบที่สมองส่วนหน้า
  ทำให้มีอาการพาร์กินสัน และโรคสมองเสื่อม และยังมีอาการหลงผิด คือเห็นภาพหลอน แล้วคิดไปเองว่าคุณพ่อพาผู้หญิงเข้าบ้าน อาละวาดใส่คุณพ่อทั้งวันทั้งคืนค่ะ แม้ว่าทุกคนในบ้านจะพยายามอธิบายค่อยๆบอก ค่อยๆพูดคุณแม่ก็ไม่ฟังค่ะ คุณแม่จะพูดว่า ฉันผิด ฉันเลว เข้าข้างแต่พ่อ เข้าข้างผู้หญิงคนนั้นที่พามา โดนคุณไสย หลงเสน่ห์กันไปหมด ใครพูดอะไรไม่ได้เลยค่ะ  พยายามคุยดีดีก็แล้ว
  จนคุณหมอจิตแพทย์ บอกให้คุณพ่อดุ ห้ามพฤติกรรม แล้วปล่อยคุณแม่ไว้คนเดียว ซึ่งก็ไม่ได้ผลค่ะ พูดไม่หยุด พอทุกคนบอกให้ใจเย็นๆ อย่าเพิ่งคุย โกธร โมโหเลยค่ะ คุยด้วยไม่ได้เลย ไม่สามารถใช้เหตุผลใดๆด้วยได้  แล้วก็กลับมาพูดว่าคุณพ่อ คุณพ่อเดินหนี ไม่คุย ไม่ฟัง ตามที่คุณหมอจิตแพทย์แนะนำ  ก็ไม่ยอมค่ะ โกรธ โมโห กรี๊ด ตีคุณพ่อ ทุกคนห้ามคุณแม่ แล้ว เดินหนี พอไม่มีใครฟัง ก็โมโห จนไม่รู้จะทำยังไงแล้วค่ะ เครียดกันทั้งบ้านจริงๆ
   จึงอยากสอบถามคุณหมอค่ะ ว่าต้องทำอย่างไรดี ควรแก้ปัญหานี้อย่างไรอีกบ้าง ตอนนี้สงสารคุณพ่อมาก และสงสารคุณแม่ด้วย คือทุกข์ใจในเรื่องที่ไม่จริง และห่วงสุขภาพของทั้งคุณพ่อคุณแม่ค่ะ แบบนี้ไม่ไหวกันจริงๆ
ขอบคุณคุณหมอมากนะคะ ที่กรุณา

..........................................................................

ตอบครับ

     ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมีหลายสไตล์ ของคุณแม่ของคุณนี้เป็นสไตล์ "หญิงแก่บ้าอำนาจ" ปัญหาของคุณกำลังจะเป็นปัญหาเบอร์ต้นๆของครอบครัวไทยในอนาคต คือการมีผู้ป่วยสมองเสื่อมไว้ในความดูแล 

     คุณแม่ของคุณอยู่ในความดูแลของจิตแพทย์อยู่แล้ว ได้ยาบำบัดอาการโรคจิตจากพยาธิสภาพของเนื้อสมอง (organic brain syndrome - OBS) อยู่แล้ว การตอบคำถามของคุณเราจะคุยกันในประเด็นว่าครอบครัว ซึ่งก็คือลูกหลาน ควรจัดการปัญหาเมื่อมีคุณพ่อคุณแม่หรือปู่ย่าตายายเป็นสมองเสื่อมแต่อยู่บ้านด้วยกันอย่างไรดี

     อีกประการหนึ่ง ก่อนจะมาถึงจิตแพทย์คุณแม่ของคุณน่าจะถูกส่งต่อมาจากอายุรแพทย์หรือแพทย์ทั่วไป ซึ่งผมมั่นใจว่าแพทย์ท่านได้วินิจฉัยสาเหตุสมองเสื่อมที่เป็นหญ้าปากคอกที่แก้ได้ง่ายๆออกไปหมดแล้ว อันได้แก่ 

1.      สมองเสื่อมจากยาต่างๆที่กำลังกินอยู่
2.      ขาดวิตามินบี.12
3.      ขาดโฟเลท
4.      ขาดวิตามินดี
5.      โรคฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ต่ำ (hypothyroidism) 

     มาถึงขั้นนี้แล้ว จะไม่พยายามไปรักษาที่ตัวโรคแล้วนะ ส่วนนั้นให้คุณทำใจอย่างเดียว แต่จะมามุ่งที่การจัดการดูแล ซึ่งผมแนะนำว่า

     1. การจัดการเรื่องความปลอดภัย ตั้งแต่

     1.1 การป้องกันการลื่นตกหกล้ม ดูแลสถานที่ที่คุณแม่อยู่หรือใช้งานไม่ให้มีอะไรที่สะดุดง่าย ติดตั้งราวจับตามจุดที่จำเป็น เพราะถ้าหกล้มกระดูกสะโพกหักก็เป็นหนังเรื่องยาวอีก   

     1.2 การป้องกันการทำร้ายตนเองและผู้อื่น ติดตั้งล็อคสิ่งจำเป็นและอันตรายให้หมด เช่นตู้ยา ที่เก็บอาวุธอย่างปืน มีด แอลกอฮอล์ ปรับตัวควบคุมอุณหภูมิน้ำร้อน (คนสมองเสื่อมชอบอาบน้ำร้อนจนลวกตัวเอง) ไม้ขีดไฟ (เพราะคนเป็นสมองเสื่อมจุดไฟเผาบ้านตัวเองนี่เป็นเรื่องเกิดบ่อยมาก) เครื่องดับเพลิงในบ้านต้องพร้อมใช้งานเสมอ

     1.3 ทำการกักขังถ้าจำเป็น เช่นขังให้เดินไปได้บางห้องที่ชัวร์ว่าปลอดภัยแล้วเท่านั้น หน้าต่างใส่ลูกกรงให้หมด อย่าไปคิดมากว่าเป็นลูกจะขังคุณแม่ได้อย่างไร หากจำเป็นต้องขังก็ต้องขัง คุณอย่าลืมว่านายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กของอังกฤษ ยิ่งใหญ่ขนาดไหน ทำคุณประโยชน์แก่ชาติไว้มากมายเท่าไหร่ บั้นปลายของชีวิตเป็นสมองเสื่อม แม้ตัวเองจะเดินไปเดินมาได้ พูดภาษาคนรู้เรื่อง แต่ก็ยังถูกจับขังอยู่ตั้งหลายปีก่อนเสียชีวิต 

     ถ้าคุณไม่ยอมขังคุณแม่ของคุณไว้ในบ้าน ก็ไม่มีใครจะรับคุณแม่ของคุณไปขังให้ได้ เพราะโรงพยาบาลเกือบทุกแห่งไม่สามารถดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้ โรงพยาบาลทั่วไปนั้นดูแลไม่ได้เลย โรงพยาบาลโรคจิตก็ผลักดันให้ครอบครัวเอาไปดูแลเองเพราะรพ.ดูแลไม่ไหว คนไข้อัลไซเมอร์มีแต่จะมากขึ้นๆทุกปีตามความยืนยาวของอายุคน ตอนนี้น่าจะเป็นท็อปไฟว์ของโรคดุที่เป็นสาเหตุการตายสูงสุดแล้ว วัดวาอารามก็ไม่รับ เพราะรับเข้าไปปฏิบัติธรรมแล้วพระเถรเณรชีแตกกระเจิง หลวงพ่อทุกวัดไม่มีวัดไหนรับคนไข้โรคจิตทุกประเภทเข้าวัด เพราะหลวงพ่อก็กลัวเหมือนกัน หิ หิ

     2. การดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม 

     มีหลายประเด็น ในเวลาอันจำกัดนี้ขอพูดประเด็นเดียว คือการรับมือกับอาการประสาทหลอน ผมแนะนำว่า

     2.1 อย่าไปโต้เถียง โบราณว่าอย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา นั่นแหละ ใช้ได้เลย

     2.2 สนองตอบต่อการแสดงออกของอารมณ์ไปในทางเอื้ออาทรใส่ใจ เช่นถ้าเศร้าก็ปลอบ ถ้ากลัวก็พูดหรือยิ้มแสดงสีหน้าให้อุ่นใจ ถ้าโกรธออกงิ้วก็ให้วางเฉยเสียอย่าไปสนองตอบใดๆ

     2.3 อย่าให้ดูทีวีที่เป็นเรื่องเอะอะมะเทิ่งรุนแรง หรือนางเอกแสดงอารมณ์แว้ด แว้ด..ด เพราะบางครั้งผู้ป่วยสมองเสื่อมจะ "เล่นด้วย" กับเรื่องในทีวี.โดยแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นเรื่องจริง อะไรเป็นแค่นิยายน้ำเน่า

     3. หลักการสื่อสารกับผู้ป่วยสมองเสื่อม

    3.1 การจะให้คนสมองเสื่อมสนใจว่าเราจะพูดกับท่าน เราควรจะเข้าไปหาท่านทางด้านหน้า อย่าพูดแบบอยู่คนละห้องหรืออยู่ข้างๆ

    3.2 ขึ้นต้นประโยคด้วยการแนะนำตัวเองอยู่ในทีทุกครั้ง สบตาทุกครั้งที่พูดกัน

    3.3 พูดกับท่านแบบตัวต่อตัว อย่าพูดแบบวงสนทนา

    3.4 จับมือท่านบีบเวลาพูด เพื่อให้ท่านสนใจว่าเรากำลังพูดด้วย

    3.5 ใช้คำง่ายๆ สั้นๆ พูดเป็นประโยคสั้นๆ พูดซ้ำๆถ้าจำเป็น เวลาท่านพูดมา หากไม่สมบูรณ์เราก็ต่อเสียให้สมบูรณ์ โดยไม่ตำหนิ

    3.6 อย่าทำเสียงสูง อย่าทำเสียงดัง อย่าตะคอก ใจเย็นๆ

    3.7 อย่าถามคำถามที่ท้าทายให้รื้อฟื้นความจำในอดีต เพราะจะก่อความรู้สึกว่าท่านถูกดูถูกได้ หรือไม่ก็นำไปสู่การทะเลาะกัน ถ้าท่านจำไม่ได้แล้วแต่งเรื่องใหม่ขึ้นมาแทน ก็แค่แสดงให้ท่านรู้ว่าเราเข้าใจ และเพียงแค่ทบทวนประเด็นสำคัญให้ท่านทราบโดยไม่ให้เสียหน้าก็พอแล้ว

    3.8 ถ้าจะให้ท่านทำอะไรแล้วท่านไม่เอาด้วย เราก็ต้องยอมรับว่าท่านยังไม่ร่วมมือ อย่าฝืน อย่าสั่ง อย่าเร่ง

    3.9 พูดอะไรกับท่านให้เจาะจง อย่าพูดกว้างๆ อย่าตีวัวกระทบคราด 

    3.10 ใช้หลักการสอนทักษะ เมื่อจะสอนให้ทำอะไรที่ท่านลืมวิธีทำไปแล้ว กล่าวคือเอางานที่จะสอนให้ทำมาแตกย่อยเป็นขั้นเป็นตอน สาธิตภาพรวมให้ดูก่อน แล้วสาธิตการทำจริงแยกทีละขั้น แล้วให้ทำตามทีละขั้น แล้วให้ท่านทำใหม่เองตั้งแต่ต้นจนจบ สรุปตบท้ายเมื่อทำเสร็จแล้ว ให้คำชมเมื่อทำได้สำเร็จ สอนด้วยน้ำเสียงที่อบอุ่น

     3.11 ตอกย้ำจุดแข็ง ไม่ใช่จุดอ่อนของท่าน โฟกัสที่ความสำเร็จ ไม่ใช่ความล้มเหลว

     3.12 แกล้งโง่เสียบ้าง ถ้าท่านว่าเราผิด อย่าเถียง พูดว่า “หนูขอโทษ” จะดีกว่า แม้ว่าเราจะไม่ได้ทำผิดก็ตาม การเถียงเพื่อให้คนสมองเสื่อมยอมรับความเสื่อมของตัวเองนั้น เป็นการพาท่านไปโฟกัสที่จุดอ่อนของท่าน ซึ่งมีแต่จะทำให้อาการของท่านแย่ลงและเป็นภาระให้เรามากขึ้น

     3.15 อินไปกับเรื่องที่ท่านเล่า สนใจฟัง พูดเสริมตรงที่เป็นข้อมูลความจริง ตรงไหนไม่จริงอย่าขัด แม้บางครั้งจะเป็นเรื่องโกหกชัดๆ แต่คนสมองเสื่อมจำเรื่องราวได้กระท่อนกระแท่นและจำเป็นต้องแต่งส่วนที่ขาดหายไปเสริมเข้ามาใหม่เพื่อให้สื่อสารกับคนอื่นได้ หากไปขัดคอ การสื่อสารก็จะมีแต่ลดน้อยลง

     3.16. อย่าให้ข้อมูลมาก ยิ่งให้ข้อมูลมาก คนเป็นโรคสมองเสื่อมยิ่งย่อยข้อมูลยาก เวลาสนทนาให้แต่ข้อมูลที่จำเป็น และทำให้ข้อมูลนั้นเข้าใจง่าย เจาะทีละหนึ่งประเด็น เมื่อเข้าใจประเด็นแรกดีแล้ว จึงค่อยไปประเด็นที่สอง

     3.17 อย่าไปคาดหวังว่าท่านจะจำหรือทำอะไรได้มากมาย

     3.18 ยืนหยัดเคารพนับถือท่านอยู๋อย่างจริงใจ อย่านินทาท่านทั้งๆที่ท่านก็นั่งอยู่ตรงนั้น

     4. การป้องกันผู้ดูแลไม่ให้บ้า

     เป็นเหตุการณ์ปกติที่ผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมจำนวนหนึ่งจบลงด้วยการที่ตัวเองเครียด หรือป่วยซะอีกคน ผมแนะนำคุณในฐานะตัวผู้ดูแล ว่า

     4.1  ฝึกวิชาหูทวนลม ถ้ายังไม่สำเร็จวิชานี้ก็เอาปลั๊กหรือสำลีอุดหูซะ

     4.2 ความรับผิดชอบของคุณในฐานะผู้ดูแล (caregiver) คือรับผิดชอบต่อตัวคุณเองก่อน ไม่ให้กายหรือใจของคุณป่วย ดังนั้นหมั่นเติมพลังให้ตัวเอง ออกกำลังกายทุกวัน ดูแลโภชนาการตัวเองให้ดี กินผักและผลไม้แยะๆ ไม่ใช่เอาแต่ต้มมาม่ากิน นั่งสมาธิให้ผ่อนคลายทุกวันด้วย

    4.3 รู้จักพักเอาแรง จัดเวลาและสถานที่ให้คุณได้อยู่กับตัวเอง ผ่อนคลาย นั่งสมาธิ สิ่งนี้คุณต้องจงใจทำให้ได้ทุกวัน ถ้าคุณไม่เรียนรู้ที่จะจัดเวลานอก ความคับข้องใจจะสะสมจนถึงระดับเดือดพล่านในที่สุด

    4.4  ตั้งทีมของคุณขึ้นมา อย่ารับเละอยู่คนเดียว พี่น้องมีหลายคนก็ช่วยกัน ใครช่วยอะไรมาก็รับไว้ 

    4.5 ขยันมองหาว่าภาวะซึมเศร้ามาเยือนคุณหรือเปล่า อย่าลังเลที่จะหาหมอถ้าสงสัย 

     คุณมีภาระอันหนักหนาสาหัส ผมรู้..แต่ช่วยคุณได้แค่นี้จริงๆ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

18 เมษายน 2563

คุยกันเรื่องสถิติเพื่อการอ่านงานวิจัยและตำราแพทย์

ถึง อาจารย์สันต์ ใจยอดศิลป์
     สวัสดีครับ ผมนศพ. ... เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครับ ผมได้อ่านบทความเรื่อง “เรื่องสถิติการแพทย์ คนที่ไม่อยากให้ชีวิตลำบากโปรดอย่าอ่าน” ที่โพสต์ไว้เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2555 เพราะด้วยความที่อยากทบทวนความเข้าใจอีกรอบ เพราะไม่ได้ใช้นานแล้ว ทำให้ผมเข้าใจได้ง่ายขึ้นมาก สร้างวิธีจำของตัวเองง่ายขึ้น แต่ในช่วงท้ายของบทความ ที่เขียนอธิบายยกตัวอย่างว่า Specificity กับ PPV มีความหมายต่างกันนั้น PPV ไม่น่าจะมีค่าเท่ากับ 1 หรือ 100% แต่น่าจะมีค่าเท่ากับ 10,000 หารด้วย 3 + 10,000 เท่ากับ 0.9997 หรือ 99.97% นะครับ
ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าบทความที่เคยเขียนไปแล้วจะแก้ไขใหม่ได้หรือไม่ หรือผมเองที่เข้าใจผิด รบกวนอาจารย์ช่วยชี้แนะด้วยครับ
ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง
นศพ. ...

..............................................................

ตอบครับ

     แฮ้..ดีใจ มีคนอ่านบทความของผมจริงจังจนจับผิดที่ผมเขียนได้ โห บทความเก่าตั้งแปดปียังมีคุณอ่านอยู่นะ คุณหมอไม่ได้เข้าใจอะไรผิดดอกครับ ผมเขียนผิดเอง ผมได้แก้ให้แล้ว ขอบพระคุณที่เขียนมาทักท้วงทันเวลา เพราะถ้ามาช้ากว่านี้อีกแปดปีผมคงหมดปัญญาวิเคราะห์เพราะเป็นอัลไซเมอร์ไปแล้ว

ไหนคุณก็เขียนมาเรื่องสถิติแล้ว ผมขอถือโอกาสนี้เอาบทความที่เพิ่งแก้ไขไปมาลงให้ท่านผู้อ่านทั่วไปที่สนใจได้อ่านอีกครั้ง

..........................................................
      ผมชอบอ่านบล็อกของอาจารย์ แต่ในบทความวันที่ 19 สค. 55 อาจารย์อธิบาย specificity 99.97% แปลว่าถ้าเอาคนไม่เป็นโรคมา 10,000 คน จะตรวจได้ผลลบ 9,997 คน อีก 3 คน (0.03%) ตรวจได้ผลบวก หรือมีผลบวกเทียม 0.03% แล้วอาจารย์ถามว่าอ่านแล้วงงไหม ผมว่าคนอ่านงงนะครับ ผมว่าถ้าเปลี่ยนคำพูดเสียใหม่ว่า
     “..ถ้าตรวจได้ผลบวกในคน 10,000 คน หมายความว่า 9,997 คนติดเชื้อ แต่มีอยู่ 3 คนไม่ติดเชื้อ (แต่ผลทดสอบบอกผิด)..”
พูดแบบนี้อาจารย์ว่าจะเข้าใจง่ายกว่าไหมครับ
ขอบคุณครับ

..............................................................
ตอบครับ

     ขอบคุณมากๆครับที่อ่านแล้วช่วยเขียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ผมคิดว่าไม่มีใครสนใจ แต่คุณสนใจ ผมรู้สึกดีมากที่จะมีคนคุยเรื่องสถิติด้วย ก็เลยขอถือโอกาสนี้สัมมนากับคุณถึงเรื่องหลักสถิติที่เราใช้กันในทางการแพทย์เสียเลย สำหรับท่านผู้อ่านท่านอื่นที่ไม่อยากหาเรื่องให้ชีวิตตัวเองต้องประสบกับความลำบากโดยใช่เหตุ ผมแนะนำให้ข้ามบทความนี้ไปเสีย ไม่ต้องอ่านก็ได้ครับ เดี๋ยวจะหาว่าผมไม่เตือน

     คำว่า “ความจำเพาะ” หรือ specificity มีคำนิยามในภาษาสถิติว่า “คือโอกาสที่คนไม่เป็นโรค จะตรวจได้ผลลบ (ส่วนที่เหลือนั้นก็ตรวจได้ผลบวก ซึ่งเป็นผลบวกเทียม เพราะไม่ได้เป็นโรค)

     ขณะเดียวกันก็มีคำที่คู่กันคือคำว่า “ความไว” หรือ sensitivity ซึ่งมีคำนิยามในภาษาสถิติว่า “คือโอกาสที่คนที่เป็นโรคแล้ว จะตรวจได้ผลบวก (ส่วนที่เหลือนั้นก็ตรวจได้ผลลบ (ซึ่งเป็นผลลบเทียม เพราะเป็นโรคอยู่แล้วยังตรวจได้ผลลบ)

     ในการตรวจเอดส์ด้วยวิธี ECLIA นั้นมีความไว 100% และมีความจำเพาะ 99.97% หมายความว่าผลลบเทียมไม่มี แต่มีผลบวกเทียม 0.03% แต่ระวังนะครับ การจะเปลี่ยนคำพูดจาก แบบที่ 1 ว่า

       “..ถ้าเอาคนไม่เป็นโรคมา 10,000 คน จะตรวจได้ผลลบ 9,997 คน อีก 3 คน ตรวจได้ผลบวก (ทั้งๆที่ไม่ติดเชื้อ)..”

ไปเป็นพูดแบบที่ 2 ว่า

     “..ถ้าตรวจได้ผลบวกในคน 10,000 คน หมายความว่า 9,997 คนติดเชื้อ แต่มีอยู่ 3 คนไม่ติดเชื้อ..”

     มองเผินก็น่าจะเป็นเรื่องเดียวกันนะครับ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ เพราะความจำเพาะ (specificity) เป็นการพูดถึงโอกาสที่คนที่ไม่เป็นโรคจะตรวจได้ผลลบ คือเป็นการพูดถึงฐานที่เป็นจำนวนคน หรือจำนวนผู้ป่วย หรือจำนวนผู้ไม่ป่วย

     ส่วนการพูดในแบบที่สองนั้นเป็นการพูดถึงฐานที่เป็นจำนวนครั้งของการตรวจ (test) ว่าในการตรวจที่ได้ผลบวก 10,000 ครั้งนั้น จะมีกี่ครั้งที่เจ้าของเลือดเป็นโรคจริงๆ ซึ่งการพูดแบบที่ 2 นี้ทางสถิติเรียกว่าเป็นการพูดถึง โอกาสเป็นโรคจริงเมื่อตรวจได้ผลบวก (positive predictive value)

     คุณอาจจะฉุนกึกว่าแล้ว positive predictive value กับ specificity มันต่างกันตรงไหนวะ

     แฮ่..แฮ่ ตัวเลขมันอาจจะเท่ากันหรือเกือบเท่ากันนะครับ แต่มันต่างกันที่ความหมายเวลาเราพูดถึง เพื่อที่เราจะได้ไม่ทะเลาะกัน ผมขอเปลี่ยนวิธีอธิบายใหม่ โดยใช้ตารางที่ในวิชาสถิติเรียกว่า 2 x 2 Contingency Table ซึ่งเขียนเป็นตารางดังนี้



+ve ของจริง
คนเป็นโรค
-ve ของจริง
คนไม่เป็นโรค
Test +ve
ตรวจได้ผลบวก
A
B
Test –ve
ตรวจได้ผลลบ
C
D

     จากตารางข้างบนนี้ ผมจะเขียนนิยามคำทั้งสี่คำเสียใหม่ดังนี้

1.      ความไวของการทดสอบ (Sensitivity) =  a / (a+c)

หมายควายว่าในบรรดาคนที่เป็นโรคจริงๆทั้งหมด (a+c) มีกี่คนที่ตรวจได้ผลบวก (a)

2.       ความจำเพาะของการทดสอบ (Specificity) =  d / (b+d)

หมายควายว่าในบรรดาคนที่ไม่เป็นโรคทั้งหมด (b+d) มีกี่คนที่ตรวจได้ผลลบ (d)

3.      โอกาสเป็นโรคของผลบวก (Positive predictive value) =  a / (a+b)

หมายควายว่าในบรรดาคนที่ตรวจได้ผลบวกทั้งหมด (a+b) มีกี่คนที่เป็นโรคจริง (a)

4.      โอกาสไม่เป็นโรคของผลลบ (Negative predictive value) =  d / (c+d)

หมายควายว่าในบรรดาคนที่ตรวจได้ผลลบทั้งหมด (c+d) มีกี่คนที่ไม่เป็นโรคจริงๆ (d)

     ค่าทั้งสี่ค่าความหมายไม่เหมือนกันสักค่า แต่ผลการคิดตัวเลขอาจจะอนุโลมได้ว่าเท่ากัน ผมจะลองใส่ค่าจริงของการตรวจเอดส์ด้วยวิธี ACLIA ให้ดูนะครับ




+ve ของจริง
คนเป็นโรค
-ve ของจริง
คนไม่เป็นโรค
Test +ve
ตรวจได้ผลบวก
10,000
3
Test –ve
ตรวจได้ผลลบ
0
9,997

     จะเห็นว่าขณะที่ความจำเพาะของการตรวจ (specificity) เท่ากับ =  d / (b+d) หรือ 99.97%

     แต่โอกาสเป็นโรคของผู้ตรวจได้ผลบวก (positive predictive value) เท่ากับ =   a / (a+b) =  0.99970009 หรือคร่าวๆ 99.97%

     คือตัวเลขเท่ากัน แต่เป็นการมองความหมายมาจากคนละมุมมอง คนละความหมาย

    ท่านผู้อ่านท่านอื่นงงมากใช่ไหมครับ ผมบอกแล้ว ถ้าไม่อยากทำชีวิตให้ลำบากอย่าอ่าน ตัวใครตัวมันละครับ ส่วนผมขอตัวไปนอนก่อนแล่ว เพราะเพิ่งกลับมาจากสอน Health Camp มาสามวันสามคืนรวด ยังไม่หายมึน บ๊าย..บาย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

15 เมษายน 2563

ไหนๆมันจะเป็นเงินกงเต๊กอยู่แล้ว จะไปสงวนเงินสดสุดชีวิตทำไม

คุณหมอสันต์ครับ
ผมอ่าน (https://visitdrsant.blogspot.com/2020/04/19.html) ที่คุณหมอว่ารัฐบาลอเมริกันพิมพ์เงินออกมามากจนเงินจะกลายเป็นแบงค์กงเต๊ก ก็ในเมื่อมันจะกลายเป็นแบงค์กงเต๊กอยู่แล้ว คุณหมอจะแนะนำให้คนที่มีเงินน้อยอย่างเราสงวนเงินสดสุดชีวิตไปทำไมละครับ รีบใช้ๆมันไปเสียก่อนที่มันจะกลายเป็นเงินกงเต๊กไม่ดีกว่าหรือครับ

................................................................

ตอบครับ

     ผมไม่อยากให้บล็อกนี้เป็นที่คุยกันเรื่องเงินทองและการทำมาหากินนะครับ เพราะไม่ใช่เรื่องที่ผมมีความรู้ ผมจึงตอบไปตามคอมมอนเซ้นส์หรือสามัญสำนึกแบบไม่มีกรอบของหลักวิชา ซึ่งการตอบแบบลูกทุ่งลุ่นๆอย่างนี้อาจทำให้ผมถูกตื้บได้ แค่ตอบครั้งที่แล้วไปครั้งเดียวก็มีความเห็นจากท่านผู้อ่านจากแวดวงธนาคารว่าคุณหมอแนะนำให้คนหยุดชำระหนี้อย่างนี้จะไม่ดีกระมัง ดังนั้นผมขอตอบจดหมายเรื่องเงินทองและการทำมาหากินฉบับนี้เป็นครั้งสุดท้ายเพราะจดหมายนี้สืบเนื่องมาจากบทความที่แล้ว ต่อไปจะไม่พูดถึงเรื่องนี้อีกแล้ว เพราะผมต้องการให้บล็อกของผมเป็นที่ตอบจดหมายเพื่อช่วยให้คนดูแลสุขภาพของตัวเองได้ด้วยตัวเอง อันเป็นเรื่องที่ผมถนัดและจะช่วยผู้คนได้อย่างเป็นเนื้อเป็นหนังมากกว่า

     เอาละ ตอบจดหมายของคุณว่า..คือเงินนั้นมันเป็นสิ่งที่วิ่งเข้าหาคนรวยแต่วิ่งหนีคนจน

     ถ้าเราดูในอเมริกา คนรวยนั้นเครดิตเขาดี เขาจึงได้เงินจำนวนมากๆมาฟรีๆ อยากได้เท่าไหร่เขาก็จะได้ ในรูปของซอฟท์โลน คือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ แล้วคุณอย่าไปคิดว่าเงินกู้ของคนรวยนี้เขาจะใช้คืนนะ ไม่หรอก เขากู้ไปแล้วเขาเอาเงินไปใช้ลงทุนเลยโดยไม่คิดจะใช้คืน เพราะเขาใช้เงินต่อเงิน หมดท่าเขาก็ออกเครดิตในรูปของหุ้นกู้หรือบอนด์ ก็คือสร้างหนี้ใหม่ต่อเพื่อเอาเงินสดมาใช้มากขึ้นอีก จนท้ายที่สุดของที่สุดเมื่อบริษัทของคนรวยจะล้ม รัฐก็จะพิมพ์แบงค์กงเต๊กมาอุ้มกิจการของเขาในรูปของการให้ธนาคารกลางเข้ามาซื้อหุ้นกู้ซึ่งเป็นหนี้เน่าของบริษัทใหญ่ๆไว้ทั้งหมด ก็แปลว่าหนี้ที่คนรวยก่อขึ้นไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบนั้นท้ายที่สุดเขาไม่ต้องเอาเงินสดมาใช้คืน ดังนั้นคนรวยเขาใช้ชีวิตแบบเป็นนายของเงิน เขาก่อหนี้ เขาก็ไม่ต้องใช้คืน นี่เป็นสิ่งที่เป็นอยู่ในอเมริกานะ

     แต่ชีวิตคนจนมันเป็นหนังคนละเรื่อง คนจนใช้ชีวิตแบบเป็นทาสของเงิน เพราะคนจนดำรงชีวิตอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีเงิน บ้านต้องเช่า ข้าวต้องซื้อ ผักสักต้นต้องซื้อเขากิน น้ำเปล่าเพื่อดื่มสักขวดหนึ่งก็ต้องไปซื้อเขาดื่ม หากไม่มีเงินแค่ร้อยบาทก็ต้องอดข้าวอดน้ำ

     ดังนั้นคนจนเมื่อถูกเลิกจ้างงานหากคิดจะมีอิสระภาพก็ต้องหาวิธีดำรงชีวิตอยู่โดยเป็นอิสระจากเงินให้ได้ก่อน คือต้องอยู่แบบไม่ต้องไปง้อซื้ออะไรจากใคร บ้านก็ไม่ต้องเช่าเขา อาหารก็จำกัดการซื้อเขาเฉพาะที่จำเป็นสุดๆจริงๆ เสื้อผ้า เครื่องประดับ รถรา มอไซค์ ทีวี เครื่องเสียง ซึ่งเป็นส่วนเกินของความจำเป็นพื้นฐานก็ไม่ต้องไปซื้อหา  มันจะเป็นชีวิตใหม่ในรูปแบบพออยู่พอกินและพึ่งตัวเองได้โดยไม่ต้องไปง้อซื้อหรือขายอะไรกับใคร คนที่ไม่มีที่ดินของตัวเองแต่พอมีเงินจะซื้อที่ดินได้ผมก็แนะนำให้ซื้อที่ดินทำกินผืนเล็กๆสักงานสองงานในต่างจังหวัดไว้เพื่อการเริ่มต้นการมีชีวิตอยู่แบบพออยู่พอกิน คนที่ไม่มีที่ดินและไม่มีปัญญาซื้อที่ดินก็ไปขอแหมะอยู่ท้ายสวนของคนรู้จักหรือขอเช่าเขาถูกๆสักหนึ่งงานเพื่อเริ่มต้นการมีชีวิตแบบพออยู่พอกิน การทำอย่างนี้มันไม่ใช่การทำอาชีพนะ มันเป็นการใช้ชีวิตในแบบที่เป็นไปได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพโดยไม่ต้องมีอาชีพอะไร แต่ขอให้สงวนเงินสดที่มีอยู่ไว้สุดชีวิต ไม่ยุ่งกับเงินกู้นอกระบบเด็ดขาดเพราะจะเป็นการชักนำเภทภัยเข้ามาสู่ตัวเอง ไม่สร้างหนี้ใหม่กับสถาบันการเงินใดๆแม้ว่าเขาจะมาชักชวนหรือเอาดอกถูกมาล่อก็อย่าหลงกล ส่วนหนี้เก่าหากมีอยู่ก็หยุดการชำระเสียดื้อๆทั้งต้นและดอกโดยบอกเขาไปตรงๆว่าเราไม่มีเงิน เรากำลังจะตั้งต้นชีวิตใหม่ หากลืมตาอ้าปากได้เราจะกลับมาชำระให้หมดภายหลัง แต่ตอนนี้ตกงานแล้วต้องหยุดชำระหนี้อย่างเดียว

     ในช่วงแรกของการจะตั้งตัวให้อยู่ได้ด้วยตัวเองโดยเป็นอิสระจากเงินนี้มันเป็นช่วงที่ต้องใช้เงินในกรณีจำเป็น เช่นการสร้างเพิงที่อยู่อาศัยของตัวเองเพื่อจะได้ไม่ต้องไปเช่าเขาก็ต้องใช้เงิน การเริ่มต้นผลิตอาหารกินเองเพื่อจะได้ไม่ต้องซื้อเขากินทุกมื้อก็ต้องใช้เงินตั้งต้น แม้ในการดำรงชีวิตแบบพออยู่พอกินในระยะยาวเองมันก็ยังต้องอาศัยเงินในบางเรื่องบางครั้งเหมือนกัน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องสงวนเงินสดสุดชีวิต ที่ว่าสุดชีวิตนี้ไม่ใช่ว่าจะเป็นเงินสดมากมายอะไรนะ เพราะสถิติของธนาคารประเทศไทยพบว่าคนไทย 80% มีเงินสดฝากแบงค์ไว้ไม่ถึง 5 หมื่นบาท เงินแค่ไม่ถึง 5 หมื่นบาทแค่นี้แหละที่ผมบอกว่าต้องสงวนไว้สุดชีวิต ในตอนนี้อย่าเอาเงินนี้ไปซื้ออะไรที่มันไม่จำเป็น สงวนเอาไว้เป็นทุนสร้างชีวิตใหม่

     สำหรับท่านผู้อ่านท่านอื่นอาจมองว่าหมอสันต์ทำไมแนะนำให้คนทิ้งความรับผิดชอบ ผมตอบว่านี่มันเป็นการหนีตายจากวิกฤติเฉพาะหน้าเพื่อความอยู่รอดของตัวเองและครอบครัว เมื่อคนจนหนีตายด้วยการหยุดการชำระหนี้ไม่มีใครเดือดร้อนมากมากดอก แบ้งค์อย่างมากก็มียอดหนี้สูญเพิ่มขึ้น ซึ่งในที่สุดรัฐก็จะเอาเงินภาษีมาซื้อหนี้สูญนั้นไป ดังนั้นการหยุดจ่ายต้นจ่ายดอกเป็นยุทธวิธีแก้ปัญหาที่นุ่มนวลที่สุดแล้วเท่าที่ผมคิดได้สำหรับสังคมที่มีปริมาณคนตกงานบานเบอะอย่างตอนนี้ แล้วอีกอย่างหนึ่ง เงินนั้นมันเป็นเพียงมายานะครับ เป็นเพียงสิ่งสมมุติที่ผู้คนยอมรับเอาเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนข้าวปลาอาหารและของใช้ สมัยก่อนเราใช้ดินเผาบ้าง กาบหอยบ้างทำเป็นเงิน อย่าไปหลงบูชาเงินว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นหนี้เขาแล้วไม่มีเงินชดใช้ต้องซีเรียสจริงจังถึงขั้นฆ่าตัวตาย ผมเคยเป็นนักเรียนเกษตร ปรมาจารย์ของวิชาเกษตรท่านหนึ่งคือท่านสิทธิพร กฤดากร ซึ่งท่านพูดว่า

     "เงินทองเป็นมายา ข้าวปลาเป็นของจริง"

     เมื่ออยู่แบบพออยู่พอกินได้สำเร็จแล้ว คราวนี้ชีวิตมันก็จะฉลุย เงินมันจะไม่ใช่นายของเราอีกต่อไปแล้ว ตราบใดที่เราไม่เผลอโลภมากไปสร้างหนี้ขึ้นมาใหม่อีก เงินมันจะค่อยๆวิ่งเข้ามาหาเราเองทีละเล็กทีละน้อยจากการขายสิ่งที่เหลือใช้จากการใช้ชีวิตแบบพออยู่พอกิน และเมื่อเราตั้งหลักอยู่ได้ด้วยตัวเองแล้ว เราก็จะมีพลังงานเหลือไปร่วมมือกับเพื่อนๆผู้มีอุดมการณ์เดียวกันเพื่อช่วยกันคิดช่วยกันทำอะไรร่วมกันในลักษณะที่จะทำให้การซื้อขายแลกเปลี่ยนผลิตผลส่วนเกินของเราเป็นไปได้ง่ายขึ้น เงินมันก็ค่อยๆวิ่งเข้ามาหาเรามากขึ้นๆ

     แต่หากเราเผลอไปสร้างหนี้ขึ้นมาใหม่ วงจรชั่วร้ายก็จะกลับมาหาเราใหม่อีกทันทีนะ เพราะในการบี้ให้มีการชำระหนี้นั้น คนจนจะถูกบี้แบบสุดๆก่อนเขาเพื่อน เพราะคนรวยใช้ยุทธศาสตร์บี้เอาการชำระหนี้จากคนจนเพื่ออาศัยการบี้นี้เป็นการตีวัวกระทบคราดบีบให้รัฐมาอุ้มหนี้ให้คนรวย เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าหากคนจนอยู่ไม่ได้รัฐก็จะอยู่ไม่ได้ทำให้ท้ายที่สุดรัฐก็จำต้องอุ้มคนรวยเพื่อให้คนรวยอวยหนี้ให้กับคนจน อวยนี้ไม่ได้หมายความว่ายกให้เลิกเลยนะ อย่างดีก็แค่ผ่อนปรนรอจังหวะที่จะบี้กันต่ออีกเมื่อคนจนพอจะมีเงินจ่าย ดังนั้นเมื่อใดที่เป็นหนี้เขา เมื่อนั้นก็จะไม่มีวันได้อยู่อย่างสงบสุข ต้องรอเงินกงเต๊กที่รัฐอาจจะพิมพ์แจกคนจนเป็นพักๆซึ่งก็ทั่วถึงบ้างไม่ทั่วถึงบ้าง หรือไม่ก็รอวันที่คนจนพากันลุกฮือขึ้นมาโค่นล้มระบบสังคมที่ไม่มีการแบ่งเฉลี่ยกันนี้ลงไปเสีย หากไม่มีวันนั้น ก็อย่าหวังว่าชีวิตของคนจนที่เป็นหนี้เขาจะได้อยู่อย่างสงบสุข

     แต่คุณอย่าไปหวังว่าวันแห่งการโค่นล้มระบบสังคมเก่านั้นจะมาถึงเร็ว หรือมันอาจไม่มาเลยก็ได้แม้ว่าจะมีนักการเมืองจำนวนหนึ่งเร่งให้มันให้เกิดขึ้นเร็วๆเพื่อสนองตัณหาส่วนตนของพวกเขา เพราะสังคมมนุษย์มันมีธรรมชาติว่าขณะที่การเปลี่ยนแปลงดำเนินไปมันจะมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มีนวัตกรรมในการแก้ปัญหาแบบใหม่ๆเกิดขึ้นตลอดเวลา และในหมู่คนรวยมันก็ไม่ใช่จะมีแต่คนเห็นแก่ตัวไปเสียทั้งหมด 100% คนรวยที่ตั้งใจจะเปิดช่องทางแบ่งปันให้คนจนก็มีแยะซึ่งส่วนนี้จะเป็นเซฟตี้วาลว์ช่วยปลดปล่อยความอัดอั้นได้ ดังนั้นหากคุณเป็นคนจนที่ฝันถึงวันที่คนจนจะลุกฮือขึ้นโค่นล้มระบบเก่าพร้อมๆกัน วันนั้นมันอาจไม่เกิดขึ้นง่ายๆนะ

     ดังนั้นยามนี้การสงวนเงินสดสุดชีวิตเพื่อเอาเงินนั้นมาตั้งต้นสร้างชีวิตใหม่ของตัวเองในรูปแบบที่พออยู่พอกินและเป็นอิสระจากเงินย่อมเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่คนจนคนหนึ่งซึ่งถูกเลิกจ้างงานพึงจะทำได้ ส่วนคนที่มีเงินมากหรือคนมีเงินสดแยะ ซึ่งผมนิยามว่าคือคนที่มีเงินฝากแบงค์มากกว่า 5 หมื่นบาทขึ้นไป ณ ตอนนี้ คนกลุ่มนั้นเป็นคนส่วนน้อยแค่ 20% ของประเทศไทย เขาจะใช้ชีวิตอย่างไรก็ช่างเขาเถอะ เราซึ่งเป็นคนมีเงินสดน้อยและกำลังตกงาน อย่าไปเอาอย่างเขาเลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
...........................................................

จดหมายจากท่านผู้อ่าน
 อันนี้ดิฉันเห็นต่างนะค่ะ ชอบและติดตามคุณหมอมาตลอดค่ะ คิดว่ามนุษย์เป็นสังคมที่ต้องพึ่งพากัน มีอาชีพหลากหลายกันไป เพื่อเพิ่มเติมซึ่งกันและกัน แต่ละคนมีความสนใจและพรสวรรค์ต่างกัน ก็ควรมุ่งทำให้ดีที่สุด ลดค่านิยมฟุ้งเฟ้อ รับผิดชอบในการกระทำ น่าจะช่วยได้บ้างนะค่ะ

ตอบครับ
ขอบพระคุณครับ
     ผมไม่ได้ปฏิเสธหลักพื้นฐานของสังคมอันไพบูลย์ในปัจจุบันซึ่งประกอบด้วย
(1) division of labor แยกกันทำตามความชำนาญ
(2) economy of scale ยิ่งทำเรื่องเดียวให้ใหญ่ๆให้แยะๆยิ่งทำได้ดี
(3) capital credit access อาศัยอำนาจของเงินทุนในการทำการ
     แน่นอนแนวทางสามอย่างนี้เวอร์คสำหรับคนที่พัฒนาตัวเองมาจนมีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านและใช้ความชำนาญนั้นหาเงินได้มากพอซื้อสิ่งอื่นที่เราไม่มีเวลาหรือไม่มีความชำนาญในการผลิตมาใช้ (ตราบใดความชำนาญของเรายังมีคนจ้างหรือของอย่างเดียวที่เราผลิตยังมีคนซื้อ) ผมไม่ได้ต่อต้านเลย ผมเองก็ใช้ชีวิต 80% อยู่ในแนวทางสามอย่างนี้
     แต่ทำไมผมตอบคำถามในทิศทางตรงกันข้ามกับแนวทางทั้งสามนี้ ก็เพราะผมตอบคำถามให้น้องซึ่งตกงานและไม่มีวี่แววว่าเมื่อไหร่จะมีคนจ้างทำงานอีก ไม่มีความชำนาญพิเศษอะไรที่จะไปหาผู้ว่าจ้างใหม่ และไม่มีเครดิตที่จะกู้เงินมาลงทุนทำอะไรของตัวเอง ผมตอบคนที่อยู่ในที่นั่งอย่างนี้ ว่าตกที่นั่งอย่างนี้แล้วไม่ได้หมายความว่าจะหมดโอกาสมีชีวิตที่ดี ยัง..มันยังไม่หมดโอกาส มันยังมีโอกาสจะมีชีวิตที่ดี ชีวิตที่ดีมากๆด้วย นั่นก็คือวิธีที่ผมแนะนำนั่นแหละ
     บางท่านเขียนมาแย้งว่าผมเรียนเกษตรมาจึงเห็นการทำเกษตรเป็นของง่าย คนอื่นไม่เคยเรียนมาจะไปทำได้อย่างไร ตรงนี้ผมยอมรับว่าการเกษตรมันก็มี know how ของมัน แต่อย่าลืมว่าโคตรเหง้าศักราชของไทยเราเป็นชุมชนกสิกรรมนะครับ และโชคดีที่ระบบสังคมแบบใหม่นี้ยังไม่ได้ทำลายภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยเราไปเสียหมดเกลี้ยง มันยังพอเหลือซากให้ขุดคุ้ยได้ เปิดยูทูปก็จะเห็นแหล่งความรู้ในรูปของปราชญ์ชาวบ้านให้ความรู้ฟรีเยอะแยะ ไม่ได้หมายความว่าทำตามนั้นจะได้ตามนั้น แต่หมายความว่าเราไม่ถึงกับต้องไปเริ่มต้นจากจุดที่ไม่รู้อะไรเลย การเกษตรคุณค่าของมันอยู่ที่การได้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และเป็นการเรียนรู้ธรรมชาติที่ยิ่งเรียนก็ยิ่งสนุก ดังนั้นอย่าเอาความไม่รู้หรือไม่เดียงสาทางการเกษตรมาเป็นกำแพงความกลัวกั้นไม่ให้กล้าเริ่มต้นชีวิตใหม่ซึ่งเป็นชีวิตจริง ชีวิตจริงไม่มีล้มเหลว มีแต่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แล้วในการใช้ชีวิตแบบพึ่งตัวเองเพื่อให้แค่พออยู่พอกิน ทำอะไรล้มเหลวมา อย่างมากก็เสียแรงงานของเราเอง ซึ่งก็คือการได้ออกกำลังกายโดยไม่ต้องเสียเงินค่าเข้ายิม ไม่มีอะไรน่ากลัว

สันต์
[อ่านต่อ...]

14 เมษายน 2563

เซ็กซ์ พรหมจรรย์ และวิปัสนา

     หนูอายุจา38แล้วค่ะ แม่ชอบบอกให้มีผัวมีลูกซะ แถมจาให้หนูเอาผัวฝรั่งด้วย หนูละปวดกบาล ขี้เกียจฟังแกพล่าม  หนูเป็นโสดมานานแล้วคะ สบายตัวสบายใจดี เบาดี (พอหนูมีหลานละ หนูยังปวดหัวแทนแม่มันเลยค่ะ ไหนจาลูกจาผัว) #โชคดีหนูไม่มีผัว ไม่มีลูกด้วย เย้...
     แต่ในหนังสือ ข้ามห้วงมหรรณพ มันก็บอกว่าสิ่งมีชีวิตทุกอย่าง พอเกิดมาก็เป็นไปตามสันชาตญาน เช่น แม้แต่อมีบาก็ยังอยากสืบพันธุ์ขยายพันธุ์หาทางขยายพันธุ์จนได้
     อย่างคนเรา พอ14 เราก็มีอารมณ์อยากมีแฟน อยากมีเซ๊กส์พอ20กว่ามีแฟนแล้วเราก็อยากแต่งงาน ละก็อยากมีลูก พอแก่มาเราก็อยากมีหลาน อยากมีเหลน(หนูก็เคยเป็น ตอนนั่นมีแฟนคนแรกอายุ23 หนูก็มีความรู้สึก โลดสดสวย อยากแต่งงาน อยากแต่งงาน ไปบอกแม่ แต่แฟนหนูจน มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว หนูก็เพ้อเรื่องงานแต่งอยู่คนเดียว)
     แต่ทุกวันนี้หนูทำตรงข้ามกับที่หนังสือบอกไว้ คือหนูถือพรหมจรรย์เลิกมีเซ๊กส์ละหนูก็โสดนานเลย คุณหมอว่าเราควรใช้ชีวิตแบบฝืนฮอร์โมนแบบที่หนูทำมั๊ยคะ? คือพอมีกามารมณ์ หนูก็พยายามมอดละเบี่ยงเบนความสนใจไปทำอย่างอื่นซะ ดูเหมือนเป็นการฝืนธรรมชาติเนอะ ไม่รู้ล่ะ หนูจาตายคนเดียว ไม่ทิ้งลูกทิ้งหลานไว้ในโลกนี้หรอก แค่ชีวิตหนูคนเดียวก็ทรมานแล้ว เหอๆ
     เห็นหมอชอบตอบคำถามส่วนใหญ่ว่า ให้ปล่อยวางความคิด พอหนูเห็นความว่าง เห็นช่องว่างของใจแล้ว รู้สึกสบายแล้ว ให้ไปไหนต่อคะ ละการยกจิตขึ้นสู่วิปัสนาแปลว่าอะไรคะ มันคืออะไรอ่ะคะ?
     หนูมีอีกปัญหานึง เวลาเพลงฮิตๆที่หนูเพิ่งชอบ เพิ่งอินกับมัน ชอบฟังมัน เมโลดี้เนื้อเพลงนั้นมันจาชอบเข้ามาดังในหัวไม่หยุดเลย วนๆ  มาแล้วมาอีก หลายรอบมาก ทำไงดีอ่ะคะจาหยุดเสียงเพลงในหัวแบบนี้ได้
ของคุณค้าาาา
(ชื่อ)
..........................................................

ตอบครับ

     1. ถามว่าแม่เร่งให้เอา ผ. ทุกวันจะทำอย่างไรดี ปัญหานี้ไม่ใช่คุณคนเดียวที่เจอ บ้างถูกเร่งให้มีแฟน บ้างถูกเร่งให้แต่งงานมีสามี บ้างถูกเร่งให้มีลูก ทั้งหมดนี้มันเป็นความบันเทิงในชีวิตของผู้เป็นแม่ในฐานะผู้ชราซึ่งไม่มีอะไรอย่างอื่นทำแล้ว คุณอย่าไปถือสาเลย แต่ถามว่าคุณควรจะทำอย่างไร ตอบว่าคุณก็ฝึกวิชาหูทวนลม หรือถ้าคุณกับแม่คุยอะไรกันตรงไปตรงมาได้ คุณอาจจะพูดอย่างที่ลูกสาวของคนไข้ของผมคนหนึ่งพูดกับเธอก็ได้

     "..ก็หนูหาไม่ได้อะ แม่เก่งแม่ก็หามาให้หนูสักคนสิ"

     2. ถามว่าไปอ่านหนังสือข้ามห้วงมหรรณพเขาแนะนำให้มีเซ็กซ์เพราะมันเป็นสัญชาติญาณ เอ.. คุณหมายถึงนิตยสารข้ามห้วงมหรรณพที่ อ. อัฉราวดี วงศ์สกุล เป็นบก.อยู่หรือเปล่า ถ้าทางคุณจะเก็ทมาผิดแล้วนะ ผมไม่เคยอ่านหนังสือข้ามห้วงมหรรณพ แต่ผมรู้จักอ.อัจฉราวดี คุณจับความมาผิดแน่นอน หรือคุณจับความแบบทนาย คือทนายมีกฎหมายกำหนดว่าห้ามพูดโกหก ดังนั้นทนายจะถนัดมากในการพูดความจริงแบบพูดแค่ครึ่งเดียว เพราะแค่พูดความจริงครึ่งเดียวนี้คนพูดเก่งก็เปลี่ยนสีดำให้เป็นสีขาวได้

     กลับมาประเด็นของคุณดีกว่าว่าการใช้ชีวิตแบบฝืนฮอร์โมนเพศนี้มันผิดธรรมชาติและเสียหายไหม ตอบว่าคุณจะทำแบบไหนก็ได้ขอให้เอาตามที่คุณชอบ เพราะคุณจะชอบอะไรไม่ชอบอะไรมันขึ้นอยู่กับขั้นตอนพัฒนาการของชีวิตคุณว่ามันพัฒนามาถึงขั้นไหนแล้ว ทุกชีวิตเกิดมาล้วนถูกโปรแกรมไว้ในดีเอ็นเอ.ของเซลแล้วว่าจะต้องดิ้นรนเพื่อการอยู่รอดและสืบทอดเผ่าพันธ์ก่อนที่จะตายไป ดังนั้นก็ต้องดิ้น รน กิน ถ่าย สืบพันธ์ นอน และเสาะหาความปลอดภัย สลับกันไปเรียกว่าเป็นสัญชาติญาณการใช้ชีวิตเพื่อความอยู่รอด (survival instinct) เนื่องจากกลไกการเรียนรู้ของสัตว์ทุกระดับเป็นกลไกย้ำคิดย้ำทำซ้ำซาก (compulsiveness) คือถ้าทำครั้งนี้อย่างนี้แล้วเกิดความชอบครั้งหน้าก็จะทำอย่างนี้อีก ธรรมชาติก็จึงมักจะผูกอะไรที่สัตว์ชอบไว้ตอนจบของการทำอะไรเพื่อความอยู่รอด เช่นให้เกิดความอิ่มเมื่อได้กิน เกิดความสดชื่นเมื่อได้หลับ เกิดความผ่อนคลายปลอดโปร่งเบิกบานว่างจากความคิดแว้บหนึ่งเมื่อถึงออร์แกสซั่มตอนปลายของการมีเซ็กซ์ เป็นต้น กลไกย้ำคิดย้ำทำนี้ทำให้สัตว์ "ติดกับ" ต้องวนเวียนใช้ชีวิตอยู่ใน survival mode อย่างไม่รู้จะออกจากวงจรนี้ไปอย่างไรได้ มีแต่จะหาทาง "ตกแต่ง" สัญชาติญาณเพื่อการอยู่รอดนี้ให้มันโรแมนติกขึ้นหรือน่ารื่นรมย์ขึ้น บ้างติดในอาหาร ต้องแสวงกิน กลางคืนก็ยังฝันถึงอาหาร และตกแต่งถ้วยชาม แก้ว ผ้าปูโต๊ะ ให้วิจิตร บ้างติดในการขับถ่ายถึงขั้นต้องทำโถส้วมทองคำไว้ใช้ส่วนตัว บ้างติดในเซ็กซ์ มีเมียไม่รู้กี่คนแต่ก็ยังขยันหาเมียอีกเพราะไม่รู้จะหยุดที่ตรงไหน ทั้งหมดนี้ต่างก็ภาคภูมิใจว่าตัวเองนี้มีชีวิตที่อิสระเสรีอยากทำอะไรก็ได้ทำ แต่หารู้ไม่ว่าตัวเองกำลังติดกับดักของรางวัลเล็กๆที่ธรรมชาติวางไว้ที่ปลายร่องของวงจรย้ำคิดย้ำทำหรือ compulsiveness ทำให้ไม่สามารถออกจากวงจร survival instinct นี้ไปได้ ก็ต้องใช้ชีวิตแบบกิน ถ่าย สืบพันธ์ นอน และเสาะหาความปลอดภัยเพื่อปกป้องตัวเอง จนกว่าจะตายไป

     ควบคู่ไปกับการโปรแกรม survival instinct ไว้ในดีเอ็นเอ.กับการสร้างวงจรเรียนรู้แบบย้ำคิดย้ำทำไว้ให้กับทุกชีวิต ธรรมชาติยังเปิดให้ทุกชีวิตค่อยๆพัฒนาตัวเองไปด้วย โดยการให้สมองส่วนหน้าใหญ่ขึ้นๆ ซึ่งในแง่นี้มนุษย์พัฒนามาได้ไกลกว่าสัตว์อื่น มีสมองส่วนหน้าที่ใหญ่กว่าเขาเพื่อน มีความสามารถคิดวินิจฉัยและจดจำได้มากกว่า ทำให้เกิดคำถามว่า

     "เอ๊ะ ชีวิตมีแค่เนี้ยเหรือ กิน ถ่าย สืบพันธ์ แล้วนอน"

     ตั้งคำถามได้แล้ว สมองที่พัฒนามาถึงระดับหนึ่งแล้วยังสามารถค้นหาคำตอบด้วยวิธีต่างๆได้ด้วย จนคนจำนวนหนึ่งเกิดความสามารถที่จะ "สังเกต" ดูร่างกายและความคิดของตัวเองโดยไม่เข้าไปกระโดดโลดเต้นตามสัญชาติญาณของร่างกายหรือผสมโรงเต้นไปกับความคิด แน่นอนว่าแต่ละคนอยู่ที่ขั้นตอนของการพัฒนาการที่แตกต่างกัน บางคนมาถึงจุดนี้ บางคนยังมาไม่ถึง แต่คนที่มาถึงจุดที่รู้ตัวและสังเกตความคิดของตัวเองได้แล้วก็จะพบว่าชีวิตที่แท้จริงหรือความรู้ตัวนี้เป็นอิสระจากร่างกายและจากความคิด จุดนี้แหละคือความหลุดพ้นจากการจองจำของ survival instinct และกลไกการย้ำคิดย้ำทำ (compulsiveness) 

     ดังนั้นคุณถามว่าคุณจะฝืนใจเลิกมีเซ็กซ์หันมาถือพรหมจรรย์ได้ไหม ตอบว่าได้สิครับหากพัฒนาการของคุณมาถึงจุดนี้แล้ว แต่มีคนอีกจำนวนหนึ่งอยู่ในระดับเบื่อๆอยากๆ คืออยากจะเลิกมีเซ็กซ์ แต่พอมีใครมาให้ท่าก็...เสร็จ นั่นก็ไม่เป็นไร เพราะพัฒนาการของเรายังอยู่ที่ตรงนั้น เราก็ย่ำอยู่ตรงนั้นไปก่อนได้ เมื่อใดที่พัฒนาการของเรามันจะข้ามพ้นตรงนั้นได้ มันก็จะข้ามพ้นได้เองแบบชิว..ชิว เพราะฉะนั้นหากคุณกระหายอยากมีเซ็กซ์มากเหลือเกินทนไม่ไหวก็กลับไปมีเซ็กซ์ซะให้หนำใจก่อนก็ได้ เบื่อเมื่อไหร่ค่อยเดินหน้าต่อก็ได้ นี่เป็นคำตอบของหมอสันต์นะ ไม่เกี่ยวอะไรกับคำสอนของพระสงฆ์องค์เจ้า

     3. ถามว่าหมอชอบบอกให้ปล่อยวางความคิด พอหนูเห็นความว่าง เห็นช่องว่างของใจแล้ว รู้สึกสบายแล้วไงต่อละคะ ตอบว่าคำว่า

     "แล้วไงต่อ"

     เป็นความคิดนะ คือความคิดนี้มีมิติอยู่ในเวลาทางจิตวิทยา (psychological time) คือหากไม่อยู่ในอดีตก็อยู่ในอนาคต ความรู้สึกผิด เศร้า เสียใจ เป็นความคิดที่อยู่ในมิติของอดีต ความกังวง กลัว หรือข้องใจสงสัย เป็นความคิดที่อยู่ในมิติของอนาคต เมื่อใดที่ในหัวของคุณมีคำถามว่า "แล้วไงต่อ" แสดงว่าชีวิตของคุณยังจมอยู่ในความคิด ยังไม่อยู่ในความรู้ตัว ความรู้ตัวคือปัจจุบัน คือเดี๋ยวนี้ ไม่มีคำว่าแล้วไงต่อ เพราะเดี๋ยวนี้ก็คือเดี๋ยวนี้ จะไปมีแล้วไงต่อได้ไงละ ดังนั้นแทนที่จะเสาะหาคำตอบให้คำถามว่าแล้วไงต่อ ให้คุณเลิกถามถึงอนาคตเสีย อยู่กับเดี๋ยวนี้ให้ได้ก่อน คุณจึงจะพ้นจากความคิด หรือวางความคิดได้จริง

     4. ถามว่า "ยกจิตขึ้นสู่วิปัสนา" แปลว่าอะไร ตอบว่าผมไม่ทราบครับ ผมเข้าใจว่ามันเป็นคำสอนของพระสงฆ์ในศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ผมเองไม่มีความรู้เรื่องศาสนาพุทธ ยิ่งพุทธนิกายเถรวาทผมยิ่งแทบไม่รู้เลย ดังนั้นคุณต้องไปถามคนที่พูดคำนี้เอาเอง ถ้าจะบีบเอาคำตอบจากผมก็จะเป็นแค่การเดาใจคนพูด ซึ่งมันมีโอกาสผิดมากกว่าถูก

     การเดาที่ 1. ผมเดาว่าคนพูดหมายถึงเมื่อเอาความสนใจจดจ่อกับเป้าเช่นลมหายใจจนความคิดจรหมดไปแล้ว ให้เริ่มหันมาพิจารณาไตร่ตรองถึงความเป็นอนิจจังของสรรพสิ่งเพื่อจะได้ปล่อยวางความยึดถือ (ผมเดาใจคนพูดเฉยๆนะ แต่ขอย้ำตรงนี้หน่อยว่าตัวหมอสันต์เองไม่แนะนำให้ใครพิจารณาไตร่ตรองอะไรทั้งนั้น เพราะนั่นเป็นการตั้งต้นความคิดใหม่ซึ่งจะพาวนเวียนอยู่ในโลกของความคิดอีกไม่รู้จบ)

     การเดาที่ 2. ผมเดาว่าคนพูดหมายความว่าเมื่อความสนใจจดจ่อที่เป้าเช่นลมหายใจจนความคิดจรหมดแล้ว ให้ถอยการจดจ่อเพื่อเปิดให้ความคิดโผล่ขึ้นมา แล้วสังเกตความคิดนั้นให้เห็นอาการที่มันเกิดขึ้น อยู่ได้พักหนึ่ง แล้วก็ดับไป

     ทั้งหมดนั้นเป็นแค่การเดาใจคนพูดคำนี้ขึ้นมา ของจริงคนพูดเขาตั้งใจจะหมายความว่าอย่างไรคุณก็ไปถามคนพูดเอาเองสิครับ

     5. ถามว่าเพลงฮิตๆที่คุณชอบมันจะชอบเข้ามาดังในหัวไม่หยุดเลย วนๆ  มาแล้วมาอีก หลายรอบมาก ทำไงดี ตอบว่าก็นั่นคือการฝึกสมาธิแบบที่เรียกว่า "มันตรา" คือให้เสียงอะไรก็ตามอ้อยอิ่งวนเวียนอยู่ในหัวให้เราจดจ่อที่เสียงนั้นเพื่อเบียดให้ความคิดจรตกไป มันก็เป็นของดีอยู่แล้ว คุณก็แค่ตามฟังมันไปโดยไม่ต้องเหนื่อยไปรบกับความคิดจร ดีแล้วไง เพียงแต่ว่าคุณอย่าเผลอไปตีความเนื้อเพลงเข้าก็แล้วกัน เพราะนั่นจะกลายเป็นความคิด แค่ฟังเสียงดนตรี ตามที่มันเป็นเสียงดนตรี วิธีนี้ก็ทำให้บรรลุธรรมได้นะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]