29 กันยายน 2559

เมื่อปัญหามันหมักหมมมากเกิน จนไม่รู้จะเริ่มตรงไหนดี

หนูอายุ 35 ปี เป็นเบาหวานมาแล้วกว่าสิบปี รักษาด้วยยาฉีดอินสุลิน หมอบอกว่าเป็นเบาหวานประเภท 2 มีความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูงด้วย ได้ยาลดความดัน ยาลดไขมัน มีอยู่ช่วงหนึ่งเกิดช็อคต้องเข้าโรงพยาบาล หมอบอกว่าเกิดกล้ามเนื้อสลายตัวเฉียบพลัน ทำให้ไตวาย จึงเป็นโรคไตเรื้อรังตั้งแต่นั้นมา ทุกวันนี้มีอาการอ่อนเพลีย ออกกำลังกายก็ไม่ได้ เพราะออกแล้วหมดแรง ปวดเมื่อยไปทั่วตัว อาหารก็ไม่รู้จะกินอะไร จะกินผักผลไม้มากหมอก็ดุว่าทำให้โปตัสเซียมสูง ไตก็ทรุดลงๆคงต้องล้างไตในไม่ช้า หมอบอกว่าเป็นระยะที่สี่ใกล้เข้าระยะที่ห้าแล้ว มีอาการปัสสาวะลำบาก มีเลือดออกมาทางปัสสาวะ ยาที่กินและฉีดตอนนี้มี Losartan 50 mg วันละเม็ด, Simvastatin 10 mg วันละเม็ด, Sodamint 300 mg หนึ่งเม็ดวันละสามครั้ง, Folic acid 5 mg หนึ่งเม็ดวันละสามครั้ง, Kalimate (calcium polystyrene sulfonate) 5 กรัม วันละสองครั้ง, Tamsulosin 0.4 mg ก่อนนอน, Bethanechol Cl (ucholine) 10 mg วันละสามครั้ง, Insulin Gensulin M30/70 ฉีด 6 u เช้า 4 u เย็น

มาถึงตอนนี้หนูหมดแรง หมดหนทาง หมดพลัง หมดหวัง ได้แต่ปล่อยทุกอย่างไปเหมือนว่าวที่ขาดลอย ปัญหามันมากเกินไปจนหนูไม่รู้จะเริ่มต้นที่ตรงไหน

..........................................................

ผลตรวจแล็บ
CBC
Hct 25.6
Hb 8.6
Platelet 230

UA
Spgr 1.015
pH 6.0
Leukocyte 3+
Nitrite +ve
Protein 1+
Glucose -ve
Bile -ve
Blood 4+
WBC ครั้งแรก 50-100 ครั้งหลัง TNTC?
RBC 5-10

Blood chemistry
Sugar100
BUN41.3
Cr. 2.73
eGFR 20
Uric acid 7.9
Triglyceride162
LDL 223
Albumin 3.6
SGOT 14
SGPT 10
Sodium 137
Potassium 4.8 (ครั้งก่อน 6.2)
Cloride 106
Carbondioxide 20
Anion gap 18
Magnesium 2.1
Total calcium 9.0
Phosphorus 5.1

........................................................

ตอบครับ

ให้ผมสรุปปัญหาของคุณก่อนนะ ภาษาหมอเขาเรียกว่า problems list คือเวลาหมอเขามีคนไข้คนหนึ่งเขาก็จะเอาปัญหาทั้งหมดมาเขียนเรียงกันตามลำดับความสำคัญก่อนที่จะวางแผนรักษา ปัญหาของคุณเรียงตามลำดับได้ดังนี้

1.  ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะรุนแรง
2. เลือดออกในทางเดินปัสสาวะ ยังไม่ทราบสาเหตุ
3. โลหิตจางระดับรุนแรง ยังไม่ทราบสาเหตุ (อาจเป็นจากโรคไตเอง หรือจากเสียเลือด?)
4. โปตัสเซียมในเลือดสูง (ที่อาจเกิดจากกล้ามเนื้อสลายตัวต่อเนื่อง หรือเกิดจากยาลดความดัน)
5. เคยเป็นกล้ามเนื้อสลายตัวเฉียบพลันจากยาลดไขมัน แล้วเกิดไตวาย
6. ไตวายเรื้อรังระยะที่ 4 (GFR20) ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากไตวายเฉียบพลันุ
7. โรคเบาหวานประเภทที่ 2 ระยะที่ต้องใช้ยาฉีดอินสุลิน (IDDM)
8. โรคความดันในเลือดสูง
9. ไขมันในเลือดสูง
10. ปัสสาวะลำบาก (จากระบบประสาทเสียการทำงานเพราะเบาหวาน - diabetic neuropathy)
11. เป็นโรคต๊อแต๊ ขาดความบันดาลใจ (lack of motivation)

     โหลงโจ้ง สิบเอ็ดปัญหา จะว่ามากก็มาก จะว่าไม่มากก็ไม่มาก แต่จะมากหรือไม่มาก ทั้งสิบเอ็ดปัญหานี้ก็อยู่ตรงหน้าคุณตาแป๋วแหวว กับคุณตรงนี้ ในวันนี้ เรียบร้อยแล้ว สิ่งแรกที่พึงทำ ก็คือการยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราในวันนี้ก่อน ยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข ฝรั่งเขาเรียกว่า surrender คือ ยอม..ม ไม่ปฏิเสธ ยอมรับว่ามันเกิดขึ้นแล้ว ไม่โทษใครว่าใครทำให้มันเกิดขึ้น ใครในที่นี้ หมายความรวมถึงตัวเองด้วย จากนั้นก็ค่อยมาดำเนินการเป็นขั้นๆ ทีละวันๆ ไม่ต้องรีบร้อน ถ้าแก้ไขไม่ทันเกิดตายเสียก่อนก็ไม่เป็นไร เพราะมีใครบ้างที่จะไม่ตาย ฮี่โท่ ท้ายที่สุดก็ต้องตายหมดเหมือนกันแหละ แต่วันนี้เรายังอยู่ เอาเรื่องของวันนี้ก่อน

     ขั้นที่ 1. สิ่งที่พึงทำคือปัดฝุ่นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้พ้นทุกข์ ถูกแล้ว ความบันดาลใจ หรือ motivation นั่นแหละ ตอนนี้มันถูกทิ้งให้ฝุ่นจับเขรอะ ไม่ได้ใช้งาน แต่มันเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่าเราอยากตาย หรือไม่อยากตาย เราก็ต้องใช้ความบันดาลใจ แม้เราอยากตาย เราก็อยากตายดีๆ ตายเฟรชๆ ไม่ใช่ตายแบบอ่อนระโหยเปลี้ยล้าโรยราและเศร้าหมอง วิธีปัดฝุ่นความบันดาลใจทำได้หลายแบบ ผมจะยกตัวอย่างสักสี่แบบ

    แบบที่ 1. ก็ เฮ้ย ลุกขึ้น อะไรกันวะแค่นี้ปอดแหกถอยเข้ามุมแล้วเหรอ ลุกขึ้นมาสู้ซิโว้ย เกิดมาทั้งทีต้องสู้ไว้ลายตายไปจะได้ชื่อว่าไม่เสียชาติเกิต มุขนี้ฝรั่งเรียกว่าความกล้าหาญ (courage) ภาษาบาลีใช้คำว่า "วิริยะ" ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้ในทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องจะบรรลุธรรมหลุดพ้นจากทางโลกก็ต้องอาศัยวิริยะ

   แบบที่ 2. ก็ จริงหรือ ที่หมอว่าเราจะต้องแย่ จะต้องดาวน์ จะต้องจอด จะต้องล้างไต ไม่จริงมั้ง เรามาลองเป็นหมอปลอมแข่งกับหมอจริงดูแมะ หนุกนะโว้ย มามะ มาลอง มีลุ้น มุขนี้เรียกว่าอาศัยความสนุก (enjoyment) ซึ่งก็เป็นด้านที่มีพลังอีกด้านหนึ่งของความบันดาลใจ

     แบบที่ 3. อันนี้ลึกซึ้งหน่อยนะ คุณเคยมอบใจมอบกายถวายชีวิตให้อะไรสักอย่างไหมละ นั่นแหละ มุขนั้นเลย ฝรั่งเรียกว่า dedication เช่น พี่สาวเขาช่างดีกับเราเสียจริงนะ เป็นห่วงเป็นใยและพยายามช่วยเราสาระพัด ตัวเราจะมาทอดอาลัยท้อแท้อยู่อย่างนี้ก็ช่างกระไร เรารักพี่สาว ถ้าเราจะตายไปเสียก่อนโดยไม่ได้แสดงให้พี่สาวเห็นว่าเรารักเธอ วิญญาณของเราคงทุรนทุรายแน่ อย่ากระนั่นเลย เรามามอบกายถวายชีวิตทำทุกอย่างเพื่อให้พี่สาวเขาเป็นปลื้มและสุขใจ ก็รู้อยู่แล้วนี่ ว่าพี่สาวเขาจะเป็นปลื้มมากถ้าเราลุกขึ้นมาดูแลตัวเองจนมีสุขภาพดีได้ เอานะ เอ้า เพื่อพี่สาวของเรา อย่างนี้เป็นต้น เมื่อเราจริงจังกับอะไรสักอย่าง เขาเรียกว่าเรามี passion กับสิ่งนั้น แล้วพลังและสิ่งดีมันก็จะไหลมาเทมาช่่วยเรา ไม่รู้มาจากไหน เป็นรูปแบบของความบันดาลใจที่มีพลังมาก อย่าลืมว่าหมอสันต์เนี่ยไม่ได้คิดชอบอาชีพหมอเลยนะ ไปเรียนเกษตร จะทำไร่ทำนา ชอบแบบนั้น แต่ด้วยความรักน้องสาว ด้วยความอยากช่วยน้องสาวที่ป่วย ทำให้กลายมาเป็นหมอได้ เป็นหมอแล้วสุขหรือทุกข์ไม่รู้ แต่พลังของ dedication ทำให้คนจะทำไร่ทำนากลายมาเป็นหมอได้ละกัน  

    แบบที่ 4. อันนี้ง่าย ก็คือความเชื่อ (believe) หรือความงมงาย คนเราลงได้เชื่ออะไรสักอย่าง แม้จะเป็นความเชื่ออย่างงมงาย แต่มันก็เป็นความบันดาลใจให้เราลุกขึ้นมาทำอะไรได้เยอะแยะ เวลาที่คุณป่วย คุณต้องเชื่อก่อนว่าร่างกายของคุณจะรักษาตัวมันเองให้หายได้ ด้วยความเชื่อที่หนักแน่นเช่นนี้ มันจะกลายเป็นพลังช่วยให้คุณมีแรงทำโน่นทำนี่ จนคุณหายได้จริงๆ

     ขั้นที่ 2. คราวนี้ก็มาไล่แก้ไขปัญหาของคุณไปทีละปัญหา ปัญหาที่เรียงไว้บนสุดคือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุดตอนนี้ เพราะถ้าปล่อยไว้อาจลุกลามเป็นการติดเชื้อในกระแสเลือดแล้วทำให้คุณม่องเท่งเอาง่ายๆได้ ต้องแก้ปัญหานี้ก่อน โดยไปโรงพยาบาล คุยกับหมอ เป้าหมายก็คือให้เม็ดเลือดขาวหรือหนองที่ออกมาทางปัสสาวะนั้นหมดไปให้ได้ก่อน ซึ่งก็ต้องมีการสืบค้น ด้านหนึ่งก็เอาปัสสาวะไปเพราะดูว่ามีเชื้ออะไรแล้วให้ยารักษา อีกด้านหนึ่งก็ตรวจดูภาพจะด้วยอุลตร้าซาวด์หรืออะไรก็แล้วแต่ ดูว่าทางเดินปัสสาวะวันมีปัญหาอะไรเช่นมีนิ่ว มีซิสต์ หรือมีอักเสบที่ตรงไหนอันเป็นเหตุให้มีการติดเชื้อซ้ำซากอยู่ได้ ถ้านิ่วก็ไม่มี ซีสต์ก็ไม่่มี ก็อาจจะต้องส่องกล้องเข้าไปทางท่อปัสสาวะ (cystocopy) เพื่อดูว่ามีอะไรเป็นแหล่งการติดเชื้ออยู่ในกระเพาะปัสสาวะได้บ้าง และเนื่องจากคุณมีปัญหาปัสสาวะยากอยู่แล้ว ก็อาจจะต้องประเมินการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ (urodynamic) ว่ามันแย่ลงไปเพราะเบาหวานจนเป็นเหตุให้ปัสสาวะค้างฉี่ออกไม่หมดแล้วติดเชื้อซ้ำซากหรือไม่

     ขั้นที่ 3. ปัญหาโลหิตจางระดับรุนแรงก็ต้องรีบแก้ แรกสุดก็ต้องสืบค้นให้ได้ก่อนว่ามันเป็นโลหิตจางจากการสูญเสียเลือด หรือว่าจากโรคไตเรื้อรังเอง หมายความว่าในโรงไตเรื้อรังระยะท้ายๆ ไตจะลดการผลิตฮอร์โมนกระตุ้นไขกระดูก (erythropoietin) ทำให้ไขกระดูกผลิตเม็ดเลือดน้อย การพิสูจน์ก็ไม่ยาก เริ่มด้วยการตรวจเลือดหาระดับเหล็ก (ferritin) ถ้าเฟอริทินต่ำ แสดงว่าร่างกายสูญเสียเลือดออกไปข้างนอก ก็แก้ไขด้วยการทดแทนธาตุเหล็ก แล้วโลหิตจางก็จะดีขึ้น ถ้าแก้ไขระดับเหล็กแล้วโลหิตจางยังไม่ดีขึ้น ก็ต้องคุยกับหมอไตว่าถึงจุดนี้ต้องฉีดฮอร์โมนกระตุ้นไขกระดูกทดแทนไหม เพราะภาวะโลหิตจางที่คุณเป็นอยู่ตอนนี้มันรุนแรง เราจะปล่อยมันเฉยๆอยู่อย่างนี้โดยไม่ทำอะไรไม่ได้
     ขั้นที่ 4. ปัญหาโปตัสเซี่ยมสูงก็เป็นปัญหาด่วนเช่นกัน อย่าลืมอดีตของคุณนะ ว่ายาลดไขมันทำให้เกิดกล้ามเนื้อสลายตัวเฉียบพลัน ซึ่งทำให้โปตัสเซียมสุงปรี๊ด แล้วทำให้ไตวาย คือประมาณ 1 ใน 3000 ของคนกินยาลดไขมันจะเป็นอย่างนี้ แต่ว่าประมาณ 20% ของคนกินยาลดไขมันจะมีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อที่แม้จะไม่ถึงกับกล้ามเนื้อสลายตัวแต่การตัดชิ้นเนื้อกล้ามเนื้อมาครวจก็พบว่ามีการเสียหายของเซลกล้ามเนื่้อเกิดขึ้น (myopathy) เมื่อกล้ามเนื้อเสียหาย สิ่งที่จะออกมาในเลือดนอกจากครีอาตินที่จะทำให้ไตพังแล้วก็คือโปตัสเซียมคู่ปรับของคุณนั่นแหละ ดังนั้นผมแนะนำว่าให้คุณหยุดกินยาลดไขมัน (symvastatin) ทันที หยุดปึ๊ด ก่อนที่โปตัสเซียมของคุณจะสูงปรี๊ดเป็นครั้งที่สอง ซึ่งครั้งนี้คุณอาจจะไม่โชคดีอย่างครั้งที่แล้ว คุณไม่ต้องห่วงไขมันในเลือดสูง เพราะเหตุของไขมันในเลือดสูงเป็นเพราะอาหาร คุณไปปรับแก้ตรงนั้นได้ด้วยตัวคุณเอง ด้วยการลดอาหารเนื้อสัตว์และน้ำมันผัดทอดอาหารซึ่งเป็นแหล่งหลักของไขมันลง ไม่ใช่กินไขมันเข้าไป แล้วกินยาสะแตตินเข้าไปแก้ ทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่าสะแตตินตัวนี้แหละที่เป็นเหตุให้โปตัสเซียมสูงและทำให้ไตของคุณวายมาแล้ว อนึ่ง ในการแก้ปัญหาการเจ็บป่วยของร่างกายนี้คุณต้องเรียงลำดับความสำคัญ กล้ามเนื้อสลายตัว โปตัสเซียมสูง ไตวาย เป็นปัญหาที่มีลำดับความสำคัญสูงกว่าการที่กินไขมันมากแล้วไขมันในเลือดสูง คุณลงมือแก้ปัญหาที่สำคัญกว่าก่อน

     ถ้าหยุดยาสะแตตินแล้วสามเดือนโปตัสเซียมยังสูง คราวนี้คุณต้องมาเหล่ตัวการตัวที่สองคือยาลดความดัน (Losartan) เพราะงานวิจัยพบว่ายาตัวนี้ทำให้โปตัสเซียมสูงเกิน 5 mEq ได้ถึง 31% ของผู้ใช้ยา และทำให้โปตัสเซียมสูงเกิน 6 mEq ได้ 2.8% ของผู้ใช้ยา ดังนั้นหากหยุดยาสะแตตินแล้วโปตัสเซียมยังสูงต้องนั่งคุยกับหมอถึงการเปลี่ยนไปใช้ยาลดความดันตัวอื่นที่ไม่เพิ่มระดับโปตัสเซียม การไประงับโปตัสเซียมจากอาหารพืชผักผลไม้เป็นการแก้ปัญหาที่จะก่อปัญหาให้มากขึ้นไปอีก เพราะอาหารพืชผักผลไม้เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง กล่าวคืออาหารแนวมังสะวิรัติทำให้อัตราตายผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังต่ำกว่าการกินอาหารที่มีเนื้อสัตว์อยู่ด้วยถึง 50% ดังนั้นคำแนะนำของผมก็คืออย่างดการกินพืชผักผลไม้ ลดบ้าง เปลี่ยนชนิดและความหลากหลายบ้างได้ แต่อย่างด ถ้าจำเป็นให้งดยาที่ทำให้โปตัสเซียมสูงก่อน 

     อีกประเด็นหนึ่งคือความกลัวฟอสเฟตในอาหารพืชผักผลไม้และถั่ว กล่าวคือในอดีตวงการแพทย์เชื่อว่าโปรตีนจากพืชเช่นถั่วจะทำให้ฟอสเฟตคั่งในร่างกายคนเป็นโรคไตเรื้อรัง แต่งานวิจัยแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบได้พิสูจน์ชัดแล้วว่าความกลัวนั้นไม่เป็นความจริง กล่าวคือในความเป็นจริงโปรตีนจากพืชทำให้ฟอสเฟตคั่งน้อยกว่าโปรตีนจากเนื้อสัตว์เสียอีก

     ขั้นที่ 5. คราวนี้ก็มาถึงการจัดการปัญหาโรคเรื้อรังซึ่งคุณมีเกือบครบคือเบาหวาน ความดัน ไขมัน ไต แนวทางการจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรังผมเขียนไปบ่อยแล้ว คุณหาอ่านเอาเองละกัน หลักๆก็คือการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในสี่ประเด็น คือ (1) กินอาหารพืชเป็นหลักในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ กล่าวไม่กินของที่สกัดมา (น้ำตาล น้ำมันทำอาหาร) ไม่ขัดสี (ไม่กินข้าวขาว ขนมปังขาว กินข้าวกล้องหรือขนมปังโฮลวีทแทน) (2) ออกกำลังกาย ทั้งแบบแอโรบิก แบบฝึกกล้ามเนื้อ (3) พักผ่อนให้พอ นอนให้พอ จัดการความเครียดให้ดี (4) มีการเกื้อหนุนทางสังคมบ้าง เข้ากลุ่มเพื่อนหัวอกเดียวกัน เป็นต้น เมื่อปรับการใช้ชีวิตได้ดีแล้ว โรคเบาหวานจะดีขึ้นเอง แล้วอาการที่เกี่ยวกับการทำงานของระบบประสาทเช่นปัสสาวะไม่ออกก็จะค่อยๆดีขึ้น

     ทั้งหมดนี้คุณต้องทำเองนะ ผมเป็นเพียงผู้บอกทางให้ และตอบคำถามยากๆในทางเทคนิคเช่นเรื่องหยูกยาให้คุณเท่านั้น แต่ผมไปใช้ชีวิตแทนคุณไม่ได้ เพราะชีวิตใคร ก็ชีวิตมัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Seyed Ali Sadjadi, James I McMillan, Navin Jaipaul, Patricia Blakely, and Su Su Hline. A comparative study of the prevalence of hyperkalemia with the use of angiotensin-converting enzyme inhibitors versus angiotensin receptor blockers. Ther Clin Risk Manag. 2009; 5: 547–552.
2. Chen X, Wei G, Jalili T, Metos J, Giri A, Cho ME, Boucher R, Greene T, Beddhu S.
The Associations of Plant Protein Intake With All-Cause Mortality in CKD.  Am J Kidney Dis. 2016 Mar;67(3):423-30. doi: 10.1053/j.ajkd.2015.10.018.
3. Sharon M. Moe, Miriam P. Zidehsarai, Mary A. Chambers, Lisa A. Jackman, J. Scott Radcliffe, Laurie L. Trevino, Susan E. Donahue, and John R. Asplin. Vegetarian Compared with Meat Dietary Protein Source and Phosphorus Homeostasis in Chronic Kidney Disease. Clinical Journal of the American Society Nephrology, December 23, 2010 DOI: 10.2215/CJN.05040610





[อ่านต่อ...]

28 กันยายน 2559

ความสุขสงบภายใน กับชีวิตนิรันดร์


     เกือบจะนอนอยู่แล้ว งานสุดท้ายก่อนนอนคือส่งเมลไปขอบคุณใครที่ผมไม่รู้จัก ชื่อดาตัม เขาเขียนบทความลงในจดหมายข่าวของศูนย์สุขภาพแห่งหนึ่งในอเมริกาซึ่งผมเป็นสมาชิกอยู่ ที่อยากขอบคุณเขาเพราะบทความนั้นผมอ่านแล้วเอามาใช้ประโยชน์ได้มาก พอส่งเมล์ไป แป๊บเดียวเขาก็ติดต่อผมมาทางแชท ตอนแรกนึกว่าจะคุยกันสองสามคำแล้วเข้านอน กลายเป็นต้องคุยกันยาว แต่บทสนทนาของคนไม่รู้จักกันสองคน มีเนื้อหาที่ท่านผู้อ่านบล็อกนี้ส่วนหนึ่งอาจจะสนใจ ผมแปลเอามาลงให้อ่านบางตอน

ดาตัม: เป้าหมายปลายทางชีวิตคุณคืออะไร

หมอสันต์: ความสุขสงบภายใน (inner peace)

ดาตัม: แบบชีวิตนิรันดร์หรือเปล่า (eternal life?)

หมอสันต์: น่าจะใช่นะ

ดาตัม: แล้วเป็นอันเดียวกับนิพพานหรือเปล่า (Nirvana?)

หมอสันต์: ถ้าคุณหมายถึงภาวะที่จิตสำนึก (consciousness) มีอยู่ในภาวะที่ไม่มีความคิด (thought) ผมก็เดาเอาง่ายๆว่ามันคงเป็นอันเดียวกัน

ดาตัม:  คุณเคยเข้าไปอยู่ในภาวะนั้นมาหรือยัง

หมอสันต์: เคยแอบดูเป็นครั้งคราว แว่บหนึ่ง แว่บหนึ่ง

ดาตัม: : หมายความว่าคุณเคยตายมาแล้วหรือ

หมอสันต์: เปล่า ไม่เคยตาย แต่ก็ตอนที่ใจว่างจากความคิดไง นั่งอยู่กับธรรมชาติรอบตัว ในปัจจุบันขณะ ตอนนั้นแหละผมได้สัมผัสกับชีวิตนิรันดร์แว่บหนึ่ง

ดาตัม: : สุญญตา (Sunyata) คุณว่ามันหมายถึงอะไร?

หมอสันต์: ตอบตามความเข้าใจของผมเองนะ เพราะผมไม่ได้ศึกษาปริยัติมาดอก สุญญตา น่าจะหมายถึงอะไรที่อยู่นอกพื้นที่และเวลา (space and time) ให้ผมเรียกมันว่ามิติที่ห้านะ ถ้ามิติที่สี่คือเวลา ให้ผมอธิบายตามความเข้าใจของผมตรงนี้หน่อย สมมุติว่าบนโต๊ะนี้เป็นพื้นที่หรือ space แก้วน้ำนี้เป็นความคิด โดยธรรมชาติความคิดเกิดขึ้นในมิติของเวลาคือหมุนเวียนเปลี่ยนผันผลัดกันเกิดแล้วดับ ความคิดใหม่เข้ามาแทนความคิดเก่า ความคิดเก่ากลายเป็นอดีต เช่นนี้เรื่อยไป

ดาตัม: : แล้วปัจจุบันอยู่ไหนละ

หมอสันต์: ปัจจุบันที่รับรู้โดยจิตสำนึกนั้นอยู่นอกมิติของเวลานะ เพราะปัจจุบันเป็นสถานะที่จิตสำนึกกำลังรับรู้ความคิดที่เพิ่งเกิดขึ้น (ความคิดผ่านไปแล้ว) ซึ่งเป็นภาวะที่จิตปลอดความคิด เพราะความคิดกับจิตสำนึกรับรู้ จะไม่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ตอนที่จิตสำนึกเข้าไปรับรู้ความคิด ความคิดนั้นเป็นอดีตไปแล้ว ดังนั้นอดีตจึงไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง ส่วนอนาคตนั้นเป็นเพียงเนื้อหา (content) ของความคิด อนาคตก็ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริงเช่นกัน

ดาตัม: : โอเค. แก้วน้ำเป็นความคิด แล้วไง?

หมอสันต์: พื้นที่บนโต๊ะที่ไม่ใช่แก้วน้ำนี้ก็คือจิตสำนึก กรณีมีความคิดให้รับรู้ เราเรียกจิตสำนึกในภาวะนี้ว่าวิญญาณ ถ้าพื้นที่บนโต๊ะนี้ว่างเปล่าไม่มีแก้ว จิตสำนึกก็ไม่ต้องถูกเรียกให้มารับรู้ความคิด หมายความว่าเมื่อปลอดความคิด วิญญาณก็ไม่มี คือพูดง่ายๆว่าถ้าเราขยายพื้นที่บนโต๊ะนี้ให้กว้างไปจนสุดขอบจักรวาลโดยไม่มีโต๊ะ ไม่มีเราสองคน ไม่มีดาว ไม่มีเดือน ไม่มีอะไรเลย มีแต่ความว่างเปล่า แล้วใครจะรู้ว่ามันว่างเปล่าถูกไหม เพราะการจะรู้ว่าตรงไหนว่างมันต้องมีอะไรที่กินที่ให้เป็นสิ่งอ้างอิงและมีจิตสำนึกมารับรู้สิ่งอ้างอิงนั้น

ดาตัม: : อ้าวแล้วความว่างเปล่าตรงนั้นจะเป็นอะไรละ

หมอสันต์: ผมเดาว่าก็เป็นสุญญตา เป็นความว่างที่อยู่นอกมิติของเวลา มีแต่จิตสำนึก ไม่มีความคิด

ดาตัม: : แล้วสุญญตานี้เป็นอันเดียวกับนิพพานหรือเปล่า

หมอสันต์: ในแง่ของการเป็นสถานที่ ผมเดาเอาว่าคงใช่นะ มันคงเป็นอันเดียวกัน คือมันเป็นจิตสำนึกในภาวะว่างจากความคิด ผมเดาว่ามันเป็นอะไรที่อมตะ ไม่มีเกิด ไม่มีตาย แต่ในแง่กลไกการออกฤทธิ์ ผมว่านิพพาน หรือชีวิตนิรันดร์น่าจะหมายความรวมไปถึงวิธีการที่จิตสำนึกหลุดพ้นจากความคิดด้วย

ดาตัม: : คุณหมายความว่าจิตสำนึกเนี่ย เป็นอะไรที่ไม่ตายไปพร้อมกับเราเมื่อเราตายหรือ

หมอสันต์: ผมยังไม่เคยตายนะ ตรงนี้ผมไม่รู้จริงๆดอก แต่ความเชื่อของผมคือจิตสำนึกไม่มีวันตาย เพราะจิตสำนึกเองก็มีความละเอียดหลายระดับชั้น อีกอย่างหนึ่งถ้าจิตสำนึกหรือวิญญาณตายได้ แล้วส่วนไหนของชีวิตละ ที่จะไปมีชีวิตนิรันดร์หรือไปนิพพาน

ดาตัม: : ทั้งหมดนี้อยู่ในตัวเราเองทั้งหมดใช่ไหม

หมอสันต์: ผมว่าใช่นะ..ถ้าไม่เกี่ยงว่ามันเป็นคนละมิตินะ แต่ผมมีความรู้สึกจากการที่แอบเข้าไปดูแว่บสองแว่บว่า สิ่งที่เราเรียกว่าจิตสำนึก หรือวิญญาณ หรือแม้กระทั้ง awareness เนี่ย มันเหมือนจะย่อขยายขนาดได้ด้วยนะ หมายความว่าบางครั้งมันก็ขยายออกไปราวกับจะไปถึงสุดขอบฟ้าโน่นยังได้เลย หรือว่ามันจะเป็นเหมือนกับไฟฟ้าที่ไม่ว่าจะเป็นของแอร์ ตู้เย็น พัดลม มันล้วนมีแหล่งมาจากแหล่งกำเนิดเดียวกันคือโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ไกลโพ้นโน่น..รึเปล่า ตรงนี้ผมเองก็ไม่เข้าใจมันนัก แต่มันคงไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับผมตอนนี้หรอก ประเด็นสำคัญคือ เมื่อจิตสำนึกเป็นอิสระจากความคิด ความสุขสงบภายในก็เกิดขึ้น รู้แค่นี้ผมปักธงชัยนำทางชีวิตผมเองได้แล้ว

ดาตัม: : คุณกลัวตายไหม?

หมอสันต์: ไม่กลัว เพราะผมเลือกข้างอยู่กับจิตสำนึก ไม่ได้เลือกอยู่ข้างความคิด ผมเชื่อว่าความตายไม่มีผลอะไรต่อจิตสำนึกที่เป็นอิสระอย่างสิ้นเชิงแล้วจากความคิด

ดาตัม: : หมายความว่าทุกวันนี้คุณใช้ชีวิตโดยเป็นอิสระจากความคิดได้แล้วอย่างสิ้นเชิง

หมอสันต์: ยัง ยังไม่สิ้นเชิง ผมรู้ว่าถ้าผมเผอิญตายตอนที่จิตสำนึกเผลอกอดอยู่กับความคิด ผมก็คงต้องกลับไปเกิดใหม่ ไปตั้งต้นใหม่ที่สนามหลวง ดังนั้นผมจึงต้องใช้ทุกลมหายใจที่ผมยังเหลืออยู่ก่อนตายพาจิตสำนึกของผมออกมาจากความคิดให้ได้ตลอดเวลา

ดาตัม: : เพื่อไปสู่ชีวิตนิรันดร์?

หมอสันต์: ใช่ เพื่อให้ทันไปสู่ชีวิตนิรันดร์ ก่อนที่ผมจะตาย

ดาตัม: : กลับไปพูดถึงการเป็นอิสระจากความคิด คุณทำอย่างไร

หมอสันต์: ผมใช้อยู่สองวิธี

     วิธีที่หนึ่ง ในฐานะจิตสำนึก ผมเฝ้ามองความคิดจากข้างนอก มองเฉยๆ มองแล้วมันก็จะฝ่อหายไปเอง

     วิธีที่สอง ผมโฟกัสที่ปัจจุบัน อยู่กับเซ็นเซชั่นของร่างกาย โดยวิธีปักหมุดทอดสมอจิตสำนึกไว้ที่ร่างกาย ไม่ให้มีโอกาสได้ไปพัวพันกับความคิด เช่นปักหมุดไว้ที่ลมหายใจบ้าง ท่าร่างบ้าง การเคลื่อนไหวบ้าง การกินบ้าง หรือแม้กระทั่งการทำบอดี้สะแกน ผมหมายถึงลาดตระเวนรับรู้ความรู้สึกไปตามร่างกายทีละส่วน วิธีนี้ทำให้ความคิดเจาะยางผมได้ยาก

ดาตัม: : แต่เวลาที่ร่างกายมีความเจ็บปวด มันก็ช่วยไม่ได้ที่จะเกิดความคิด อย่างน้อยก็ในรูปของอารมณ์ความรู้สีก คุณทำยังไง

หมอสันต์: ความเจ็บปวดก็คือการที่เราไม่ยอมรับอะไรที่เกิดขึ้นในร่างกายหรือในความคิดของเรา อะไรที่ว่านั้นบ่อยครั้งก็เป็นเพียงแค่ความจำจากอดีต วิธีรับมือของผมมีวิธีเดียว คือผมยอมรับสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างไม่มีเงื่อนไข ผมจะไม่ไปถือหางเป็นตุเป็นตะกับความเจ็บปวด มิฉะนั้นก็เท่ากับผมไปถือหางอดีต ในทางปฏิบัติเมื่อมีความปวด ผมจะใช้ความปวดเป็นเป้าให้จิตสำนึกวิ่งเข้าไปรับรู้ทันที เข้าไปสนใจ รับรู้ความรู้สึก รับรู้แบบยอมรับว่ามันเกิดขึ้นแล้ว และด้วยความเข้าใจว่าธรรมชาติของมันเกิดแล้ว มันก็จะดับ ผมจะเอาความสนใจเข้าไปขี่ม้าเลียบค่ายวนๆรอบๆลูบๆคลำๆบริเวณร่างกายที่เจ็บปวด แล้วหาทางแทรกเข้าไปอยู่ที่ใจกลางของความเจ็บปวดนั้น ไปสิงอยู่กับมัน รับรู้มันแบบเฉยๆไม่ต่อต้าน ไม่พิพากษา ถ้าสมาธิดีหากมันเป็นความเจ็บปวดที่รุนแรงร่างกายก็จะร่วมมือด้วยการสร้างความสั่นสะเทือนเบาๆขึ้นมาช่วยลดความปวดเองโดยผมไม่ต้องสั่ง ผมมีประสบการณ์แบบนี้บ่อย ในที่สุดความปวดมันก็ค่อยๆฝ่อหายไปเอง ถ้าไม่หายก็เฝ้าดูกันอยู่อย่างนี้แหละ มันไม่มีโอกาสได้ขยายผลไปเป็นอารมณ์หรือความคิดเพราะจิตสำนึกผมเข้าประกบแต่ต้น แต่มีเหมือนกันที่พอหายจากที่หนึ่งแล้วมันไปตั้งต้นเกิดเป็นความปวดอันใหม่ในส่วนอื่นของร่างกาย ผมก็ตามไปดูอีก

ดาตัม: อย่างนี้คุณก็ไม่ต้องใช้ยาแก้ปวดเลยสิ

หมอสันต์: ผมไม่เคยกินยาแก้ปวดมาหลายปีแล้ว เพื่อนของผมเป็นมะเร็งตับก้อนบะเล่ง เธอก็ไม่เคยใช้ยาแก้ปวดเลย จนถึงวันที่เสียชีวิตไปอย่างสงบ

ดาตัม: พูดถึงการแยกตัวออกจากความคิด ถ้ามันเป็นอดีตที่อยู่ๆก็โผล่ขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว กว่าจะรู้ตัวมันก็สยายปีกคลุมไปทั่วแล้ว แบบนี้คุณจะรับมือยังไง

หมอสันต์: หลักพื้นฐานก็มองความคิดจากข้างนอก aware of a thought ไม่ใช่ผสมโรงคิดซะเอง หรือ thinking a thought อันนี้เข้าใจตรงกันนะ เทคนิคอันหนึ่งที่ผมใช้บ่อยคือ ตอนนี้ไม่มีความคิดแล้ว มาเฝ้าดูแล้วลุ้นดูด้วยความท้าทายซิ ว่าความคิดแรกที่จะโผล่ขึ้นมาต่อจากนี้ไปจะเป็นความคิดเรื่องอะไร วิธีนี้ทำให้ผมอยู่กับปัจจุบันโดยไม่มีความคิดได้ทีละเป็นเวลานานเกินความคาดหมาย

..................................................  

[อ่านต่อ...]

22 กันยายน 2559

ตอนหมอสันต์อยู่ป.2 แม่ต้องมัดดินสอห้อยคอ

เรียน คุณหมอที่เคารพ

ก่อนอื่นต้องขอ ขอบคุณ คุณหมอ สำหรับบทความดีๆ เรื่องราวสาระที่นำเสนอผ่าน Blog ของคุณหมอ ผมมีโอกาสเข้าไปอ่านอยู่เรื่อยๆ และพยายามนำมาปรับใช้กับตัวเองและครอบครัว

ตอนนี้ผมมีลูกชายวัย 7 ขวบ (ป. 2) และลูกสาว วัย 3 ขวบ ปัญหาที่ผมจะรบกวนขอคำแนะนำนั้น เกี่ยวกับลูกชาย วัย 7 ขวบครับ ลูกคนโตนี้โดยรวมแล้วเป็นเด็กดี เชื่อฟังพ่อแม่ได้ดีในระดับหนึ่ง รักน้องสาว ชอบคุย ชอบเล่น แต่ปัญหาที่พบอยู่ที่การเรียน ซึ่งเขายังขาดความรับผิดชอบ ไม่สามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จได้ ไม่สนใจเรียน ไม่รักษาของใช้ที่ติดตัวไป เช่น ดินสอ ยางลบ กระติกน้ำ หายเป็นประจำ ตามหาเจอบ้างไม่เจอบ้าง การบ้านทำไม่เสร็จ เสร็จแล้วลืมส่ง เป็นต้น ผมไม่ได้คาดหวังเรื่องเรียนเก่งเรียนดี เกียรตินิยมพวกนี้ แต่ยอมรับว่าตัวเองคาดหวังให้เขาเป็นคนมีความรับผิดชอบในงานที่ได้รับ งานที่ต้องทำได้  (คุณหมอเคยสอนผ่านบทความไม่ให้คาดหวัง ให้สร้างม้อตโต้ ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น ... ผมเองอาจจะยังทำใจไม่ได้ในจุดนี้...) ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตของเขาเมื่อโตขึ้นไป
  ผมจึงอยากขอรบกวนคุณหมอ ช่วยแนะนำแนวทางแก้ปัญหาให้ผมทีครับ บางทีอาจจะไม่ใช่ปัญหาของลูก แต่อาจจะเป็นปัญหาในการเลี้ยงดูลูกๆของผมเองก็ได้...

 ถ้าผมจำเป็นต้องไปพบคุณหมอหรือนักจิตแพทย์เฉพาะด้าน หรือมีค่าใช้จ่ายใดๆ รบกวนคุณหมอแจ้งและแนะนำด้วยนะครับ ขอบคุณมากๆครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง
(ชื่อ) .................
(เบอร์โทร).........

............................................................

ตอบครับ

ก่อนจะตอบคำถามขอป่าวประกาศก่อนว่าหมอสันต์ไม่ใช่หมอเด็กนะ คนเป็นหมอเด็กคือ ม. ของหมอสันต์ต่างหาก จึงขอป่าวประกาศมาเพื่อป้องกันความสับสน เพราะหลังๆนี้ชักมีจดหมายถามเรื่องเด็กมาแยะ แม้จะไม่ได้ตอบให้ก็ขยันถามมา จนหมอสันต์รู้สึกผิดนิดๆ จึงขอบตอบให้บ้างละกัน 

     1. ถามว่าเด็กป.2 ไม่รู้จักรักษาของใช้ที่ให้ติดตัวไปโรงเรียนจะทำไงดี ตอบว่าตัวหมอสันต์เองเนี่ย ตอนอยู่ ป.2 มีสมบัติติดตัวไปโรงเรียนสามชิ้น คือหนังสือ สมุด กับดินสอที่มียางลบติดปลาย หนังสือกับสมุดนั้นไม่มีปัญหาเพราะเลิกเรียนก็จับยัดเสื้อ ไม่ใช่เป้สะพายหลังนะ แต่ยัดเข้าไประหว่างผิวหนังของแผ่นหลังกับเสื้อเชิร์ตสีขาวแก่ หนังสือกับสมุดมันก็จะไปล็อกอยู่ที่เข็มขัดเพราะเสื้อมันยัดชายอยู่ พอกลับถึงบ้านก็ถอดเสื้อออก หนังสือกับสมุดมันก็จะหล่นออกมาแบบอัตโนมัติ แต่..ดินสอหาย เป็นเช่นนี้ประจำ ในที่สุดแม่ของผมต้องมัดดินสอห้อยคอให้ แล้วผมจะช่วยอะไรคุณได้ไหมเนี่ย  ขนาดแม่มัดดินสอห้อยคอให้แล้วก็ยังหายได้อีกเป็นครั้งคราวนะ เพราะเวลาเล่นตี่จับเพื่อนกระชากคอเสื้อ ดินสอติดมือไปแล้วไปเลยไม่ยอมคืน แต่ยังไงก็ต้องนับว่าวิธีของแม่ผมได้ผล ดังนั้นผมตอบคุณว่าก็ลดสมบัติที่จะให้เขาเอาไปโรงเรียนลงให้เหลือน้อยชิ้นที่สุดสิครับ แล้วมัดติดตัวเขาไว้ (หิ หิ)

     2. ถามว่าลูกอยู่ป.2 ไม่ทำการบ้านจะทำไงดี ก่อนตอบคำถามนี้ขอนอกเรื่องหน่อยนะ เรื่องการบ้านเด็กป.2 เนี่ยแหละ สมัยที่ผมเป็นแพทย์ฝึกหัดอยู่รพ.เลิดสิน ประมาณพ.ศ. 2523 ก็สามสิบกว่าปีมาแล้ว เวลาอยู่เวรห้องฉุกเฉินจะมีเจ้าหน้าที่อยู่กันสามคนคือหมอเวรหมายถึงตัวผมเอง พยาบาล และยามซึ่งมีไว้ปลดปืนออกจากคนไข้เพราะคนไข้สมัยนั้นชอบพกปืนมาห้องฉุกเฉิน ยามจึงต้องมีคุณสมบัติรูปร่างใหญ่ถนัดใช้มือใช้เท้าและห้าวๆหน่อย ยามคนนี้แกมีลูกเรียนป.2 แล้วลูกแกเอาการบ้านมาให้แกทำ แกทำไม่ได้ ก็เลย ว. (วิทยุสื่อสาร)ไปถามยามอีกคนหนึ่งซึ่งเฝ้าประตูหน้ารพ.และมีลูกเรียนชั้นเดียวกัน ยามคนนั้นก็ทำการบ้านข้อนี้ให้ลูกเขาไม่ได้เหมือนกัน แกก็จึงหาจังหวะเห็นพยาบาลว่างๆก็เอาการบ้านป.2 ถามพยาบาล พยาบาลก็ทำไม่ได้จึงเอาการบ้านมาปรึกษาผมอีกต่อหนึ่ง ท่านผู้อ่านเชื่อหรือไม่ครับ ผมก็จนปัญญาทำไม่ได้ ผมแก้เขินยังไงรู้ไหมครับ เปล่า..ผมไม่ได้ปรึกษาแพทย์ประจำบ้านดอก ผมร้องบอกยามที่เป็นพ่อเด็กด้วยเสียงดังว่า

     "ครูบ้า"

     (อุ๊บ..กราบขอโทษครับคุณครู)

     กลับมาเรื่องลูกของคุณไม่ยอมทำการบ้านดีกว่า ผมแนะนำว่า

     1. คุยกับเขาดีๆก่อน สั้นๆ ตรงๆ ง่ายๆ ก่อน ถ้าลูกลืมเอาของไปโรงเรียน ลูกจะไม่มีของใช้นะ ถ้าลูกไม่ทำการบ้าน ลูกจะถูกครูทำโทษนะ สะเต็พนี้ง่ายมาก พ่อแม่คนไหนเขาก็ทำกัน และทำได้ทั้งนั้น

     2. ความรับผิดชอบเป็นทักษะ (skill) ซึ่งต้องมีการสอน สาธิตให้ดู แล้วให้ลงมือทำภายใต้การกำกับ เขาถึงจะทำเป็น มันไม่ใช่ความรู้ (knowledge) ที่เพียงแค่บอกแล้วเขาจะเก็ทเอาไปใช้ได้ ดังนั้นคุณต้องสอนและต้องกำกับเขาก่อน ตัวอย่างเช่นการจะสอนการทำงานเป็นขั้นเป็นตอนให้เขา คุณก็สอนให้เขาทำ mental check list เช่น ก่อนขึ้นรถก็ให้เขาไล่เช็คลิสต์ในใจด้วยเสียงอันดังให้พ่อแม่ฟังว่า (1.) สมุด มายัง (2.) ดินสอ มายัง (3.) หนังสือ มายัง เป็นต้น เขาทำได้เราก็แสดงความชื่นชม เขาไม่ทำเราก็ยังไม่ออกรถ คือเราต้องลงไปเล่นกับเขาให้มันจริงจัง สะเต็พนี้เป็นสะเต็พที่มีประโยชน์กับเด็กชั่วชีวิต แต่ไม่มีพ่อแม่คนไหนทำ รวมทั้งตัวหมอสันต์สมัยมีลูกเล็กก็ไม่ได้ทำ เพียงแต่มารู้ว่าควรจะทำเอาเมื่อลูกโตแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นผมเคยได้ยินแต่ว่าพ่อแม่บางคนออกรถโดยที่ลูกยังอยู่ในห้องส้วม เพราะนึกว่าลูกนั่งอยู่หลังรถแล้ว พูดง่ายๆว่าตัวพ่อแม่เองยังทำเมนทอลเช็คลิสต์ไม่เป็นเลย อย่าลืมว่าการทำเม็นทอลเช็คลิสต์เป็นทักษะที่ต้องใช้ชั่วชีวิต ยิ่งไปมีอาชีพการงานที่ใช้สมองมากสลับซับซ้อนยิ่งต้องท่องเช็คลิสต์ทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นงานผ่าตัดหัวใจหรืองานขับจรวดไปดวงจันทร์ ดังนั้นตอนนี้ลูกของคุณยังเล็กก็ทำซะ ยังไม่สาย

     3. ให้เขาหัดรับมือ (cope) กับผลงานห่วยๆของเขาด้วยตัวเขาเอง อย่าไปทำอะไรให้เขา อย่าไปช่่วยเขา เขาไม่ทำการบ้าน ปล่อยให้เขาไปโดนครูอัดเอง เวลาเขาโดนครูอัด อย่าตามไปปกป้อง แต่ให้ความเห็นใจแบบพวกเดียวกันโดยไม่ซ้ำเติมว่าครั้งหน้าเราตั้งใจทำซะหน่อยละกันจะได้ไม่โดนอัด เขาลืมของ อย่าขับรถกลับมาเอาของให้เขา เวลาสอนการบ้าน ให้เขาถามก่อนจึงค่อยอธิบาย โดยต้องเป็นการอธิบายแบบท้าทายให้เขาคิดต่อเอาเอง ไม่ใช่ไปทำแทนเขา ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะสอบตก สอบตกก็ซ้ำชั้น ซึ่งก็ยิ่งดี เขาจะได้มีวุฒิภาวะที่แมทช์กับภาระงานที่ได้รับมอบหมาย เราจะได้ไม่ปวดหัวไม่รู้จบ จบช้ากว่าเพื่อนไปสองสามปีก็ไม่เป็นไรหรอก สมัยผมเป็นผู้อำนวยการรับเด็กจบมหาลัยมาแล้วต้องรออีกไม่ต่ำกว่าสามปีห้าปีกว่าเขาหรือเธอจะ cope กับความรับผิดชอบของตัวเองได้ ดังนั้นช้าตอนเด็กดีกว่ามาช้าเอาตอนเป็นผู้ใหญ่ การฝึกทักษะการรับมือ (coping skill) เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องทำให้ลูก แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ทำ ยิ่งไปกว่านั้นยังไปบล็อกการเสริมสร้างทักษะในการรับมือของลูกเสียฉิบ ด้วยการเข้าไปช่วยทำ ไปปกป้อง ฝรั่งเรียกว่า helicopter parents คือพ่อแม่ที่ทำตัวเป็น ฮ.ลาดตระเวณคุ้มกันลูก ครูให้เกรดบี.ก็ไปเอ็ดครูว่าทำไมลูกฉันไม่ได้เอ. ซึ่งทำเช่นนั้นสิ่งที่เด็กจะได้มาแทนทักษะการรับมือกลับได้อัตตาปลอมๆว่ากูแน่ (ทั้งๆที่กูไม่เอาไหน) มาแทน ซึ่งเป็นอะไรที่จะทำลายชีวิตของลูกในวันข้างหน้าไปอีกนาน..น มาก คุณต้องไม่สอนให้ลูกสนใจเรื่องศักดิ์ศรีซึ่งเป็นเรื่องไร้สาระและพาชีวิตล่มจม แต่ต้องสอนให้ลูกสนใจเรื่องฝีมือ ซึ่งเป็นเรื่องมีสาระที่จะนำพาชีวิตลูกให้รุ่งเรือง

     รู้สึกผมจะตอบคำถามคุณหมดแล้วนะ แถมท้ายนิดหนึ่ง ว่าพ่อแม่เป็นคนสำคัญเหลือเกินที่จะวางพื้นฐานชีวิตที่ดีให้ลูก ชีวิตที่ดีไม่ใช่ชีวิตที่มีการศึกษาจบปริญญาสูงๆอะไรแบบนั้น แต่ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่ดำเนินไปอย่างมีความสุขและมีคุณค่าต่อสังคม ตัวคุณเองในฐานะพ่อแม่ชัดเจนหรือยังว่าอะไรนำมาซึ่งความสุขในชีวิต และคุณสามารถลงมือใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ด้วยตัวเองหรือยัง ใช่..เราพูดถึงความสุขในวันนี้นี่แหละ ถ้าคุณยังไม่ชัด หรือคุณยังไม่รู้ หรือคุณยังทำไม่เป็น ลูกของคุณก็ไม่มีวันจะรู้ได้หรอก ยกเว้นถ้าตอนตั้งท้องแฟนคุณฝันว่าช้างเผือกเอาดอกบัวมายื่นให้ (เพราะลูกคุณจะตรัสรู้เองได้ไง.. หิ หิ) คุณจะต้องรีบหัดใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในวันนี้ด้วยตัวเองให้เข้าใจชัดเจนก่อน โดยในการหัดนี้ก็เอาลูกเข้ามาหัดไปด้วยพร้อมๆกัน ถือว่ายังไม่สาย เพราะลูกคุณยังไม่ถูกโปรแกรมความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการมีความสุขเข้าไปในสมองมากนัก เขาจะหัดได้ง่ายกว่าคุณ สำหรับท่านผู้อ่านท่านอื่นที่ยังไม่มีลูก หากตัวเองยังไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตในวันนี้อย่างไรให้มีความสุข ผมว่าอย่ามีลูกเป็นดีที่สุดครับ เพราะเตี้ยไม่อาจจะอุ้มค่อมได้ฉันได การมีลูกของคุณก็จะเป็นฉันนั้น

ปล. เรื่องการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในวันนี้ ถ้าคุณสนใจลองอ่านที่ผมตอบจดหมายท่านผู้อ่านท่านหนึ่งเมื่อวันสองวันมานี้ เรื่องการปรับเปลี่ยนอาหารและออกกำลังกายไม่สำเร็จหรืออะไรเนี่ยแหละ ผมพูดถึง Pleasure Trap และเครื่องมือเจ็ดอย่างที่ผมใช้เปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเอง นั่นเป็นประสบการณ์ส่วนตัวของผม คุณจะลองเอาไปประยุกต์ใช้ดูก็ได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

21 กันยายน 2559

คอร์สสุขภาพปรับปรุงใหม่ GHBY

    วันนี้ของดตอบจดหมายหนึ่งวัน เพื่อแจ้งข่าวการปรับเปลี่ยนเนื้อหาสาระของคอร์สสุขภาพสองวันหนึ่งคืนซึ่งเดิมเรียกว่าคอร์ส TLM เพื่อให้สอดคล้องกับหลักฐานวิทยาศาสตร์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น โดยจะถือโอกาสนี้เปลี่ยนชื่อเสียใหม่ให้สื่อความหมายตรงๆยิ่งขึ้นว่า GHBY (Good Health By Yourself) แปลว่า "คอร์สสุขภาพดีด้วยตัวเอง" เนื้อหาหลักใหญ่ยังคงเดิม แต่ส่วนที่ปรับเปลี่ยนคือ


1. ปรับเปลี่ยนเนื้อหาโภชนาการจากเดิมที่ใช้แนวทาง DASH diet มาเป็นแนวทาง Whole Food Plant Based (WFPB) diet เพื่อให้สอดคล้องกับหลักฐานใหม่ๆที่บ่งชี้ถึงอันตรายของเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ผ่านกระบวนการปรับถนอม (processed meat), เนื้อแดง (red meat) และโปรตีนในนม (casein) ที่มีความสัมพันธ์กับการกระตุ้นเซลมะเร็งในห้องทดลอง


2. เพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับอาหารพืชที่หาง่าย เน้นผักพื้นบ้าน ผักสวนครัว และเครื่องเทศ โดยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสได้สัมผัสของจริง ในสวนผักจริงๆ รวมทั้งประสบการณ์ที่จะนำไปปลูกผักในกระถางกินเองได้

3. เพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับ sprout หรือการเพาะเมล็ดให้งอกเพื่อนำมาทำอาหาร ทั้งในรูปแบบการเพาะริมหน้าหน้าต่าง การเพาะในตู้เย็น เป็นต้น

4. ยกเลิกเนื้อหาเกี่ยวกับความแตกต่างของน้ำมันปรุงอาหารชนิดต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับ WFPB ที่เน้นการไม่ใช้น้ำมันเลย

5. เปลี่ยนการฝึกทำอาหารจากเดิมที่ทำอาหารใช้น้ำมันน้อยมาเป็นทำอาหารแบบไม่ใช้น้ำมันทั้งหมด 

6. ยกเลิกการฝึกแอโรบิกในน้ำ (water aerobic) เพื่อเอาเวลามาฝึกทักษะอื่นที่มีโอกาสได้ใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงมากกว่า

7. เพิ่มการฝึกออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัว (balance exercise) นอกเหนือจากการออกกำลังกายแบบแอโรบิกและการฝึกกล้ามเนื้อ เพื่อให้ได้ประโยชน์แก่กลุ่มอายุผู้เข้าเรียนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ

8. เพิ่มการฝึกทักษะสร้างความบันดาลใจ (motivation)

9. เพิ่มกิจกรรมตั้งกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน

10. การใช้แดชบอร์ดส่วนตัว (personal dashboard) ที่เว็บไซท์ของเวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ ในการติดตามดูตัวชี้วัดสุขภาพตนเองแบบต่อเนื่องตลอดไป

11. ขยายเวลาในวันที่สองเพื่อเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับการฝึกปฏิบัติการช่วยชีวิตแบบ Hands only CPR

     หลักสูตรใหม่นี้จะเริ่มใช้ตั้งแต่คอร์สแรกที่เปิดรับต่อจากคอร์สที่เต็มแล้วนับถึงวันนี้ คือจะเริ่มใช้ในคอร์ส GHBY1 วันที่ 11-22 กพ. 2560

................................................................

คอร์สสุขภาพดีด้วยตัวเอง
Good Health By Yourself (GHBY) Camp Manual

Motto
 “เรียน” สิ่งที่ยังไม่เคยรู้ (knowledge) 
“ทำ” สิ่งที่ยังไม่เคยทำ (skill)
ชอบ สิ่งที่ไม่เคยชอบ (attitude) 

คอนเซ็พท์ของแค้มป์ (Conceptual Design)

     ให้คนกลุ่มเล็กๆประมาณไม่เกิน 24 คน ได้มาพักผ่อนปลายสัปดาห์ (2 วัน 1 คืน) ร่วมกับ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ที่เวลเนสวีแคร์เซ็นตเตอร์ ที่มวกเหล็ก ซึ่งสงบเงียบและไม่มีบุคคลภายนอกมารบกวนยุ่งเกี่ยว แล้วเรียนรู้สาระสำคัญเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพตนเอง และฝึกทักษะต่างๆที่จำเป็นต้องใช้ในการดูแลสุขภาพตนเองไปด้วยกัน รวมทั้งจับกันเป็นกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และช่วยเหลือกันและกันในอนาคต ในบรรยากาศการพูดคุยแบบกันและไม่เป็นทางการ

วัตถุประสงค์  (Objectives)

1. วัตถุประสงค์ด้านความรู้ (knowledge)

มุ่งให้ผู้เข้าคอร์สมีความรู้ในเรื่องต่อไปนี้

1.1 ภาพรวมงานวิจัยใหม่ล่าสุดเกี่ยวกับภาพรวมของการมีสุขภาพดี ในสี่ประเด็น (1) โภชนาการที่มีพืชเป็นหลัก (2) การออกกำลังกาย (3) การจัดการความเครียด (4) การปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนที่ดี
1.2 ภาพรวมโภชนาการในแนวกินพืชในรูปแบบใกล้ธรรมชาติ (Whole food, plant based)
1.3 วิเคราะห์คำแนะนำโภชนาการของอนุกรรมการวิทยาศาสตร์ USDA 2015
1.4 วิเคราะห์คำแนะนำเรื่องอาหารที่ปรับแต่ง (processed food) และเนื้อแดง (red meat) ของ WHO 2015
1.5 วิธีอ่านและแปลความหมายฉลากอาหาร (1) ประเด็นหน่วยบริโภค (2) ประเด็นแคลอรี่ (3) ประเด็นไขมันทรานส์ (4) ประเด็นชนิดของไขมัน (5) วิธีวิเคราะห์ปริมาณเส้นใย
1.6 อาหารพืชที่มีคุณสมบัตดีต่อสุขภาพอย่างโดดเด่น
1.7 Sprout everything เรียนรู้คุณค่าและวิธีทำต้นอ่อนเมล็ดงอกชนิดต่างๆ
1.8 งานวิจัยผลของการปรุงอาหารแบบต่างๆต่อการทำลายคุณค่าของอาหาร
1.9 การออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง (aerobic exercise) สามประเด็น (1) หนักพอควร คือหอบเหนื่อยร้องเพลงไม่ได้ (2) ต่อเนื่อง คือ 30 นาทีขึ้นไป (3) สม่ำเสมอ คือ สัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 5 วัน
1.10 การออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อ (strength training) สิบประเด็น (1) กลุ่มกล้ามเนื้อหลักสิบกลุ่ม (2) การฝึกทีละกลุ่มกล้ามเนื้อ (3) การยืดกล้ามเนื้อก่อน (4) การฝึกท่าร่าง (5) การทำซ้ำจนล้า (6) การทำเพิ่ม (overload) ทีละนิด (7) หลักการหายใจ (8) หลักเคลื่อนไหวช้า (9) หลักพิสัยการเคลื่อนไหว (10) หลักพักและฟื้น
1.11 การออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัว (balance exercise) รวมถึง 5 องค์ประกอบของการทรงตัว และ 7 ปัจจัยที่ทำให้ลื่นตกหกล้มง่าย
1.12 ความเครียด และกลไกการเกิด และผลต่อร่างกาย
1.13 MBT การฝึกสติเพื่อรักษาโรค
1.14  สุขศาสตร์ของการนอนหลับ (Sleep hygiene)
1.15 กลุ่มเพื่อนเกื้อกูล
1.16 ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพอย่างง่าย 7 ตัวของ AHA (1) น้ำหนัก (2) ความดัน (3) น้ำตาล (4) ไขมัน (5) อาหารพืช (6) การออกกำลังกาย (7) บุหรี่
1.17 ทฤษฎีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง (stage of change model)
1.18 แรงบันดาลใจ (motivation)

2 วัตถุประสงค์ด้านทักษะ 

มุ่งให้ผู้เข้าแค้มป์ มีทักษะ สามารถทำสิ่งต่อไปนี้ได้ด้วยตนเองที่บ้านได้
2.1 เลือกอาหารแนว whole food, plant based มาเพื่อการบริโภคของตัวเองและครอบครัวได้
2.2 อ่านฉลากอาหาร แปลความหมาย และใช้ประโยชน์จากฉลากอาหารได้
2.3 ลงมือทำอาหารแนว whole food, plant based ได้ด้วยตนเอง
2.4 เลือกซื้อและ/หรือปลูกผักสวนครัว ผักพื้นบ้าน และเครื่องเทศที่ดีต่อสุขภาพได้ด้วยตนเอง
2.5 ออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง (aerobic exercise) ได้ด้วยตนเอง
2.6 ประเมินและติดตามดูสมรรถนะร่างกายตนเองด้วยวิธี one mile walk test ได้
2.7 ออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (strength training) ได้ด้วยตนเอง ทั้งแบบมือเปล่า ใช้ดัมเบล ใช้สายยืด และใช้กระบอง
2.8 ออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัว (balance exercise) ได้ด้วยตนเอง
2.9 ฝึกสติแบบ MBT ได้ด้วยตนเองและนำไปใช้ประโยชน์ได้
2.10 ปฏิบัติสุขศาสตร์ของการนอนหลับได้ด้วยตนเอง
2.11 มีทักษะและใช้ประโยชน์จากกลุ่มเพื่อนเกื้อกูล (group support) เป็น
2.12 ใช้ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพอย่างง่าย 7 ตัวของ AHA ติดตามดูแลสุขภาพของตนเองได้
2.13 สร้างแรงบันดาลใจ (motivation) ให้ตนเองได้

3 วัตถุประสงค์ด้านเจตคติ

มีเป้าหมายให้ผู้เข้าแค้มป์มีเจตคติที่
3.1 รักแนวทางดูตนเองแบบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (health promotion attitude)
3.2 ชอบการใช้ชีวิตแบบกระตือรือล้นและเคลื่อนไหวมาก (active lifestyle attitude)
3.2 ชอบดูแลตัวเองและทำอะไรด้วยตนเอง (do it yourself attitude)

แผนกิจกรรม

สถานที่: เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ (Wellness We care Center) มวกเหล็ก-เขาใหญ่

วันแรก

8.30 -9.30 น.  เดินทางถึงเวลเนสวีแคร์ (มวกเหล็ก-เขาใหญ่) เช็คอินที่บ้าน Grove House เข้าห้องพัก ทำกิจธุระส่วนตัว
9.30-10.00 ทำความรู้จักกัน Getting to know each other
10.00 -10.30 Briefing1: Evidence based total lifestyle modification
                        หลักฐานวิทยาศาสตร์ที่สรุปได้ว่าการปรับวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง ทำให้อายุยืน
                        และชีวิตมีคุณภาพ
10.30-11.00 Briefing2: USDA 2015 Advisory Committee's Guidelines for Nutrition
                        บรรยายคำแนะนำโภชนาการปัจจุบัน อะไรควรกิน อะไรไม่ควรกิน
11.00 – 12.00 Workshop 1: Food shopping
                        กิจกรรมจ่ายตลาด ฉลาดซื้อ
12.00 – 13.30 Workshop2: Cook your own meal
                        ชั้นเรียนทำอาหารด้วยตนเองในแนวกินพืชเป็นหลักในแบบใกล้เคียงธรรมชาติ Whole food, plant-based แล้วรับประทานอาหารกลางวันที่ตัวเองทำ
13.30 – 13.45 Workshop 3: Muscle stretching 
                        ฝึกปฏิบัติการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
13.45 – 14.45 Workshop 4: Muscle strength training  
                        ฝึกปฏิบัติการออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
14.45-15.45 Workshop5: Line dance
                        ฝึกปฏิบัติการออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัวด้วยวิธีไลน์ด้านซ์
14.45 – 16.15 Coffee break
                        พักดื่มกาแฟ
16.15 – 17.30 Workshop6: Herbs Spices and Sprout 
                        ทัวร์สวนครัวผักพื้นบ้านและพืชเครื่องเทศ แล้วทำกิจกรรมปลูกผักและเพาะเมล็ด                             งอกเพื่อเป็นอาหาร
17.30 – 18.30 พักผ่อนตามอัธยาศัย อาบน้ำ
18.30 – 20.30 Dinner: อาหารเย็น ร้องเพลงเล่น พูดคุยแลกเปลี่ยน
20.30         กลับห้องพัก พักผ่อน เตรียมความพร้อมสำหรับเช้าวันรุ่งขึ้น

วันที่สอง

เวลา รายละเอียด

6.00 – 7.00 Workshop 7: One mile walk test
                        ฝึกประเมินสมรรถนะร่างกายตนเองด้วยวิธี One mile walk test
7.00 – 8.00  Workshop 8: Tai Chi
                        ฝึกปฏิบัติเคลื่อนไหวอย่างมีสติ ด้วยวิธี Tai Chi
8.00 – 8.30  Workshop 9: Balance Ecercise
                        ฝึกปฏิบัติออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัว
08.30– 9.45  Breakfast
                        อาบน้ำ รับประทานอาหารเช้า
9.45 – 10.30 Workshop 10 : MBT(mindfulness based stress treatment)
                        ฝึกปฏิบัติสติเพื่อรักษาโรค MBT
10.30-10.45 Coffee break และ Workshop 11: Mindful eating
                        ฝึกปฏิบัติกินอย่างมีสติ
10.45 – 11.45 Workshop 12 : AHA's Seven simple health index
                        ภาคปฏิบัติการประเมินปัจจัยเสี่ยงสุขภาพส่วนบุคคล
                        และจัดทำแผนสุขภาพส่วนบุคคลผ่าน personal dashboard
11.45 – 12.15 Briefing: Stage of Change Model and Motivation
                       ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง และการสร้างความบันดาลใจ
12.15 -13.15 Lunch break
                        พักรับประทานอาหารกลางวัน
                   

13.-15 – 14.00 Workshop 13 Hands only CPR
                        ฝึกปฏิบัติการช่วยชีวิตด้วยมือเพียงอย่างเดียว
14.00 -14.30   Workshop 14. Support group
                       การจัดตั้งกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน

14,30 - 14.45 ปิดแค้มป์ ถ่ายรูป

14.45 - 17.00 Post camp clinical questions
                      เวลาสำรองสำหรับผู้เข้าร่วมแค้มป์แลกเปลี่ยนพูดคุยและปรึกษาปัญหาสุขภาพส่วนตัวเป็นรายคน (ตามคิว) กับนพ.สันต์รวมทั้งปรึกษาผลแล็บ เอกซเรย์และผลการตรวจพิเศษต่างๆ โดยผู้ร่วมแค้มป์ท่านอื่นสามารถนั่งฟังและร่วมแชร์ความรู้และประสบการณ์กันในห้องได้

ค่าลงทะเบียน

     ราคาปกติของคอร์ส GHBY คือท่านละ 9,000 บาท รวมอาหารทุกมื้อ ที่พัก อุปกรณ์การเรียน แต่ไม่รวมค่าเดินทางยังเวลเนสวีแคร์ (ผู้เรียนต้องเดินทางไปเอง)
   
วิธีลงทะเบียนเข้าเรียน

1. แจ้งสำรองที่เรียน

     1.1 ทางโทรศัพท์ที่ พญ.สมวงศ์ ใจยอดศิลป์ โทร. 086 8882521
     1.2 ทางอีเมล somwong10@gmail.com

2. ชำระเงินค่าลงทะเบียน

     โอนเงินเข้าบัญชี ธนาคารกรุงเทพ สาขาเมืองทองธานี เลขบัญชี 931 0 06792 2 ชื่อบัญชี นายสันต์ ใจยอดศิลป์
 
3. ยืนยันการรับลงทะเบียน

     ส่งภาพถ่ายสลิปใบโอนเงินที่เขียนชื่อของท่านด้วยปากกาทับไว้อย่างชัดเจนบนใบสลิปนั้นด้วย ส่งไปยังพญ.สมวงศ์ทางอีเมล somwong10@gmail.com  ในกรณีไม่สะดวกในการส่งภาพถ่าย จะโทรศัพท์บอกกับพญ.สมวงศ์ที่หมายเลข 086 8882521 โดยตรงด้วยตนเองก็ได้

     ขอความกรุณาอย่าส่งใบสลิปมาโดยไม่เขียนชื่อว่าเป็นเงินของใคร เพราะทางเวลเนสวีแคร์ได้รับใบสลิปแล้วก็ยังไม่รู้จะลงทะเบียนในชื่อใครอยู่ดี

     การลงทะเบียนจะเสร็จสมบูรณ์เมื่อทางเวลเนสวีแคร์ได้รับทั้งเงินและชื่อผู้ส่งเงินแล้วเท่านั้น

4. การคืนเงินค่าลงทะเบียนกรณีไปเข้าคอร์สไม่ได้

     ในกรณีที่คอร์สนั้นเปิดสอนแบบขาดทุน จะไม่คืนค่าลงทะเบียนที่ชำระแล้วให้เลย (0%)

     ในกรณีที่คอร์สนั้นเปิดสอนแล้วมีกำไร จะคืนเงินให้บางส่วนโดยหักค่าใช้จ่ายที่จ่ายล่วงหน้าในการเตรียมคอร์สก่อน ทั้งนี้ทางเวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์สงวนสิทธิ์ที่จะกำหนดยอดเงินที่จะต้องคืนแต่เพียงข้างเดียว

การเตรียมตัวไปเข้าคอร์ส

     แนะนำให้เตรียมเครื่องแต่งกายที่ออกกำลังกายสะดวก ควรมีรองเท้าผ้าใบที่เดินบนพื้นหินขรุขระได้ และควรมีหมวกกันแดด และครีมกันแดด

การเดินทางไปเข้าคอร์ส

     สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว รถตู้มวกเหล็ก (ขึ้นที่ใต้ทางด่วนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) หรือรถไฟ (ลงสถานีมวกเหล็ก) ในกรณีเดินทางด้วยรถตู้หรือรถไฟ ต้องหารถรับจ้างจากตลาดมวกเหล็กเข้ามาส่ง ที่เวลเนสวีแคร์ ซึ่งตั้งอยู่ในมวกเหล็กวาลเลย์ อยู่ห่างจากตลาดมวกเหล็กราว 4 กม. กรณีที่จะให้เวลเนสวีแคร์หารถไปรับต้องแจ้งล่วงหน้า ค่ารถไปรับ 60 บาท ถ้าเป็นมอเตอร์ไซค์ 250 บาทถ้าเป็นรถปิคอัพ ในกรณีที่จะให้เวลเนสวีแคร์ช่วยระสานงานหารถรับจ้างเหมาไปจากกทม. ต้องติดต่อล่วงหน้า ค่าจ้าง 1,500 บาทเฉพาะขาไปขาเดียว หรือ 3,000 บาทสำหรับการไปส่งแล้วไปรับกลับ

    กรณีเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ใช้แผนที่ดังนี้


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

20 กันยายน 2559

กับดักความเพลิน (Pleasure Trap)

เรียนคุณหมอสันต์

ผมอายุ 66 ปี ติดตามอ่านคุณหมอจากไลน์ที่เพื่อนส่งให้ แล้วย้อนอ่านบทความเก่าๆของคุณหมอไปเยอะ ผมเชื่อว่าคนเกษียณอ่านของคุณหมอเยอะมาก ผมซื้อหนังสือที่คุณหมอพูดถึงมาอ่านด้วยหลายเล่ม ทั้งเอสเซลสตีน ดีน ออร์นิช นีล บาร์นาร์ด ผมรู้และตระหนักว่าต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองตามแนวทางที่คุณหมอแนะนำให้ได้ เพราะทุกวันนี้ชีวิตเกษียณกำลังมุ่งไปสู่การเป็นภาระคนอื่น ทั้งหัวใจ เบาหวาน ความดัน ไขมัน อ้วน แต่ก็แค่รู้ว่าจะต้องไปทางไหน แต่มันทำไม่ได้ เมื่อเริ่มเปลี่ยนอาหารแล้วก็รู้สึกว่าชีวิตแย่ลง มันโหยหาของชอบที่เคยกิน ถามตัวเองว่าทำไมต้องมาลำบากด้วยในเมื่อเราจะอยู่สบายแบบเดิมๆก็ได้ กินยาก็กินสิไม่เห็นเป็นไร ตายก็ตาย ไม่เห็นจะเป็นไร ความพยายามที่จะออกกำลังกายก็ล้มเหลวในลักษณะเดียวกัน
ขอคำแนะนำจากคุณหมอครับ

..............................................................

ตอบครับ

     มีอยู่ช่วงหนึ่งในชีวิตที่ผ่านมา ผมได้ไปเยี่ยมและแหมะตัวเองอยู่ที่รีสอร์ทสุขภาพแห่งหนึ่งชื่อ True North Health Center ที่เมืองซานตาโรซา แคลิฟอร์เนีย ได้ผูกมิตรกับเพื่อนหลายคนที่นั่น บ้างก็เป็นหมอ บ้างก็ไม่ใช่ หนึ่งในจำนวนนั้นคือดักลาส ไลซ์ ( Douglas Lisle) ซึ่งคุยกันถูกคอเพราะเขาเป็นคนมีศิลปะในหัวใจ โดยอาชีพเขาเป็นนักจิต(วิทยา) ทำงานด้านช่วยให้คนไข้เอาชนะนิสัยไม่ดี

     ดักลาสมีแนวคิดของตัวเองซึ่งเขาเขียนความคิดนี้ออกมาเป็นหนังสือ ชื่อว่า “กับดักความเพลิน (Pleasure Trap)”

     โดยตั้งสมมุติฐานว่าสัญชาติญาณของมนุษย์และสัตว์ที่ถ่ายทอดมาทางพันธุกรรมนั้นคือมุ่งเสาะหาอาหารเพื่อยังชีพ และเซ็กซ์เพื่อการดำรงเผ่าพันธ์ โดยพันธุกรรมได้ผูกโยงความเพลิน (pleasure) เป็นสิ่งตอบแทน โดยที่การเสาะแสวงหาความเพลินนี้จะเลือกใช้วิธีที่เปลืองแรงหรือเปลืองพลังงานเสาะหาให้น้อยที่สุด

     เขาเล่าถึงงานวิจัยที่ขังนกไว้ แล้วมีปุ่มให้จิกสองปุ่ม ปุ่มน้ำเงินจิกแล้วประตูกรงจะเปิดออกให้นกบินออกไปเป็นอิสระ ไปบินหาตัวหนอนเพื่อได้กินและหาตัวเมียเพื่อมีเซ็กซ์เอาเองได้ ส่วนปุ่มแดงนั้นจิกแล้วแล้วประตูอีกด้านหนึ่งของกรงจะเปิดออกพาไปหาอีกกรงหนึ่งซึ่งมีตัวเมียรออยู่ที่นั่นแล้วและมีหนอนให้กินด้วย พบว่าหลังจากเรียนรู้แล้วครั้งเดียวนกก็เจาะจงจิกแต่ปุ่มแดงไม่สนปุ่มน้ำเงินอีกเลย

     อีกการทดลองหนึ่งได้เปลี่ยนปุ่มน้ำเงินเป็นเมื่อจิกแล้วจะได้ไปกรงอีกกรงหนึ่งที่มีโคเคนให้กิน ปุ่มแดงไปสู่กรงที่มีนกตัวเมียและตัวหนอน ก็พบว่าเมื่อเรียนรู้สองปุ่มแล้วนกเลือกจิกปุ่มน้ำเงินซ้ำซากด้วยความพอใจที่ได้เสพย์โคเคน ไม่สนตัวเมียแล้ว ไม่สนแม้กระทั้งอาหาร โดยมันตั้งใจจิกปุ่มน้ำเงินซ้ำซากเพื่อจะได้ไปกินโคเคนจนตัวมันเองต้องตายไปเพราะขาดอาหาร

     ดักลาสเล่าว่างานวิจัยนี้เขาไปเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมของนก แต่นกยังใช้หลักชีวิตเดิม คือมุ่งหาความเพลินโดยออกแรงน้อยที่สุด โดยไม่รู้ว่าสิ่งแวดล้อมได้ถูกเปลี่ยนไปในลักษณะที่ถ้ามันยังใช้หลักชีวิตเดิม สัญชาติญาณเดิมของมันจะฆ่าตัวมันเอง

     เขาพูดถึงว่ามันเป็นเช่นเดียวกับที่แมลงบินเข้าชนหลอดไฟ เพราะสัญชาติญาณของแมลงที่ต้องบินเข้าหาแหล่งกำเนิดแสงเพื่อพามันไปตั้งชีวิตใหม่ในที่ที่ไกลจากที่เดิม ซึ่งในธรรมชาติแหล่งกำเนิดแสงก็มักจะเป็นดวงจันทร์ แต่เมื่อเห็นหลอดไฟ สัญชาติญาณเดิมก็ยังจะพามันบินเข้าชนอยู่นั่นแหละ แม้ว่าจะชนหลอดไฟแล้ว ชนหลอดไฟอีก จนตัวมันตาย

     งานวิจัยทางการแพทย์เรื่องการหลั่งโดปามีนในพื้นที่ต่างๆของสมองพบว่าความเพลินเกิดขึ้นพร้อมกับเมื่อบริเวณเบซอลแกงเกลียและพอนส์ (pons) ในสมองมีสารโดปามีนหลั่งออกมามาก บริเวณนั้นในทางการแพทย์เรียกว่าศูนย์ความเพลินหรือ  pleasure center ในการใช้ชีวิตแบบธรรมดาๆของมนุษย์ ทำให้เกิดความเพลินบ้างไม่เพลินบ้าง โดยที่ความเพลินหลักคือก็คือได้กินอาหารและการได้มีเซ็กซ์นั่นแหละ ถือเป็นความเพลินในระดับที่ธรรมดาๆ ไม่หวือหวา แต่สารเสพย์ติดเช่นโคเคน หรือเฮโรอีน ทำให้เกิดความเพลินในระดับเอ็กซตร้า เพราะกระตุ้นการหลั่งโดปามีนในสมองได้แบบพรวดพราดโดยไม่ต้องออกแรงเสาะหามากมาย มีอีกสองกิจกรรมที่อาจจะก่อให้เกิดการหลั่งโดปามีนมากแบบนั้นได้ คือการออกกำลังกายให้ถึงระดับหนักและการได้นั่งสมาธิให้ถึงระดับลึกซึ่งต้องเหนื่อยยากและฝึกฝนกันนานกว่าจะทำได้ คนได้เสพย์โคเคนหรือเฮโรอีนจึงไม่สนความเพลินอย่างอื่นแล้ว แม้แต่เซ็กซ์ก็ไม่สน เพราะมันต้องเสียเวลาออกแรงกว่าจะได้ความเพลิน แต่ยาเสพย์ติดนี่มันเป็นความเพลินแบบเอ็กซตร้าที่ได้มาแบบไม่ต้องออกแรง

     งานวิจัยพบว่าอาหารที่สกัดหรือขัดสีเอากากออกไปจนได้แคลอรี่สูงเข้มข้น เช่น น้ำมันปรุงอาหาร และน้ำตาล สามารถกระตุ้นสมองให้หลั่งโดปามีนที่ pleasure center ทำให้เกิดความพอใจและอยากได้รับอาหารนั้นมากขึ้นเช่นเดียวกับโคเคนหรือเฮโรอีน พูดง่ายๆว่าอาหารมันๆและหวานๆเป็นความเพลินแบบเอ็กซตร้าที่เราเสพย์ติด และเมื่อเสพย์ติดตรงนี้แล้วก็ไม่อยากเสาะหาอะไรอย่างอื่นแล้วเพราะเปลืองแรงและไม่สะใจเท่า จะเอาแต่ตรงนี้เท่านั้น เราไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะเราแค่ทำตามสัญชาติญาณดั้งเดิมที่ถ่ายทอดมายังเราผ่านหลายชั่วอายุคน แต่เราไม่รู้ว่าสิ่งแวดล้อมด้านอาหารของเราได้เปลี่ยนไปแล้ว ในชั่วอายุคนก่อนๆเมื่อสัญชาติญาณนี้ค่อยๆพัฒนามาในยีน อาหารที่สกัดเอามาแต่แคลอรี่เข้มข้นอย่างน้ำมันกับน้ำตาลยังไม่มี แต่ตอนนี้มันกลายเป็นอาหารรอบๆตัวเราไปเสียแล้ว แต่เราก็ยังไปตามสัญชาติญาณเดิมของเราที่เอาความเพลินแบบไม่ต้องออกแรงมากเป็นที่หมาย แม้ว่าความเพลินอันนี้จะทำให้ตัวเราเองตายเราก็จะยอมตาย เหมือนอย่างที่คนไข้เบาหวานของผมคนหนึ่งท่านเล่ามอตโต้ของท่านสมัยที่ก่อนจะมาเข้าแค้มป์สุขภาพของผมว่า

     “..กินก่อน ตายทีหลัง”

     เมื่อการกินของมันๆหวานๆมันคือการเสพย์ติด พอจะหันมาทำตัวดีกินอาหารธรรมชาติอันได้แก่การกินผักหญ้า ถั่ว ข้าวกล้อง ซึ่งเต็มไปด้วยกาก สมองซึ่งติดอาหารไร้กากและมีแคลอรี่สูงระดับเอ็กซตร้าก็แสดงอาการลงแดง มันเป็นการลงแดงในระดับสัญชาติญาณซึ่งมีพลังมาก ไม่ใช่ในระดับสำนึกผิดชอบชั่วดีซึ่งมีพลังน้อยกว่า ผู้เปลี่ยนมากินอาหารเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพจึงพบว่าแนวทางชีวิตใหม่เป็นแนวทางที่สูญเสียความเพลิดเพลินที่เคยมีในระดับที่ยากจะรับได้ ต้องยื้อยุดกับสัญชาติญาณที่คอยฟ้องตัวเองว่าความเพลินในชีวิตกำลังจะหายไปแบบตลอดกาลเสียแล้ว มันเป็นอะไรที่รับไม่ได้นะ แรงดึงที่จะพาถอยกลับไปสู่อาหารเดิมตลอดเวลาในระยะลงแดงนี้จะรุนแรงอยู่นานประมาณ 1-2 เดือน คนที่สู้แรงนี้ไม่ไหวก็จะเปลี่ยนอาหารไม่สำเร็จ ต้องล้มลุกคลุกคลานครั้งแล้วครั้งเล่าเหมือนคนที่ติดยาเสพย์ติดแล้วเลิกไม่ได้สักที ท้ายที่สุดก็ต้องเสพย์มันต่อไปแม้มันจะทำให้ตัวเองตายก็ยอม ตายก็ตาย ไม่เห็นจะเป็นไร

     น่าเสียดายที่วงการแพทย์ไม่มีความรู้ที่จะมาสร้างกลยุทธ์เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยฝ่าช่วงลงแดงนี้ให้สำเร็จ นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมอัตราความสำเร็จในการรักษาผู้ติดยาและการรักษาโรคอ้วนของแพทย์แผนปัจจุบันจึงต่ำมาก เมื่อแพทย์แผนปัจจุบันไม่มี know-how ผมเองซึ่งเป็นศิษย์ในสำนักนี้ก็เลยบ้อลัดไปด้วย สิ่งที่ผมพอจะมี ก็เป็นเพียงแค่ประสบการณ์ส่วนตัวของผมเอง ซึ่งผมใช้เปลี่ยนแปลงตัวเองตอนที่ผมป่วย ผมจะแชร์ให้คุณและท่านผู้อ่านทุกท่าน ส่วนท่านจะเอาไปประยุกต์ใช้กับตัวเองแล้วได้ผลมากน้อยแค่ไหนนั้นก็สุดแล้วแต่ สิ่งผมจะแชร์กับท่านก็คือ

     1..ผมเรียนรู้จากการที่ต้องถอยกลับไปตั้งหลักที่สนามหลวงครั้งแล้วครั้งเล่าว่า คำถามที่โดนที่สุดที่ผมถามตัวเองแล้วได้ผลทุกครั้งคือ ท้ายที่สุดแล้วในชีวิตนี้ผมต้องการอะไร อะไรที่ผมคิดว่าคนที่มีความรู้ความสามารถเท่าที่ผมมีควรจะได้บรรลุก่อนที่จะตาย What is the life you deserve? เมื่อถามคำถามนี้บ่อยๆ ในที่สุดคำตอบมันจะชัดขึ้นๆจนเป็นคำตอบเดิมๆทุกครั้งที่ถาม คราวนี้ก็สวยเลย เพราะผมสามารถปักเสาธงเป้าหมายปลายทางไว้บนเนินที่เด่นชัดแล้ว ทุกครั้งที่ผมล้มลงไป ผมก็จะลุกขึ้นมา เงยหน้ามองไปยังเนินเสาธงนั้น ปัดฝุ่นออกจากเสื้อผ้าแล้วเดินหน้าต่อไปได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาวกวน หรือคร่ำครวญกับตัวเองเหมือนแต่ก่อน ผมเรียกเทคนิคนี้ว่า “re-focus” คือพอล้มลงหรือเสียศูนย์ก็ลุกขึ้น แล้วปรับโฟกัสใหม่ แล้วออกเดินหน้าต่อไป

     2.. ในช่วงกลางๆของการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ผมศึกษาความสำเร็จของคนอื่นที่เน้นการหลีกเลี่ยงตัวเหนี่ยวไกชักลากตัวเองให้กลับไปสู่วิถีชีวิตเดิม ไม่ว่าจะเป็น คน สถานที่ หรือสิ่งของ บางคนก็ตั้งเป็นทฤษฎีเรียกว่าทฤษฎีความยืนหยัดกับสิ่งเย้ายวน (temptation theory) ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับแนวทางนั้น คือหมายความว่าต้องหนีจากคน สถานที่ สิ่งของ ที่จะพาเราจมปลักอยู่กับความเดิมๆ ผมปักใจกับแนวทางนี้จนตั้งปณิธานว่าถ้ามันจำเป็น หากผมจะต้องปลีกตัวออกไปอยู่ที่ไหนสักแห่งคนเดียวไม่ยุ่งเกี่ยวกับใครเลยตลอดชีวิตที่เหลือ ผมก็จะทำ เพราะว่าแก่ปูนนี้แล้วผมไม่ต้องแคร์ใครแล้ว และก็ไม่มีใครมาอะไรกับผมมากแล้วด้วย แต่พอเอาแนวทางนี้ลงมาปฏิบัติ ผมกลับพบความจริงว่าตัวเหนี่ยวไกที่จะลากผมกลับไปจมปลักกับความเดิมๆนั้นไม่ใช่ใครที่ไหนหรอก มันก็ก็คือตัวผมเองนั่นแหละ จะพูดให้ชัดกว่านั้นมันก็คืออดีตหรือความคุ้นเคยในหัวของผมเองนั่นแหละ ไม่ว่าผมจะปลีกตัวไปอยู่ที่ไหนเจ้าความคิดในหัวนี้มันก็จะตามผมไป ดังนั้นในระยะท้ายๆของการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตัวเองผมจึงหันมาให้ความสำคัญกับการฝึกสติ การฝึกถอยเอาใจมาตั้งหลักอยู่กับลมหายใจ การตามความคิดของตัวเองให้ทัน เพื่อจะได้ไม่ถูกความจำในอดีตของตัวเองฉุดตัวเองไว้กับวิถีชีวิตแบบเดิมๆที่คุ้นเคย

     3.. ในการออกเดินทางพาตัวเองไปสู่เป้าหมาย เท่าที่ผ่านมา ผมมาตรึกดูแล้ว โดยสรุปผมใช้เครื่องมือ 7 อย่างเท่านั้นเอง

     อย่างที่หนึ่ง ก็คือใช้สติเสริมสร้างอำนาจให้ consciousness ของเรา ผมหมายถึงการฝึกความสามารถที่จะย้อนกลับไปดูความคิดของตัวเองที่เพิ่งผ่านไป แล้วเฝ้ามองมันจนมันฝ่อหายไปได้ คำว่า consciousness นี้คำแปลในภาษาบาลีคือคำว่า "วิญญาณ" นะ ซึ่งเป็นคำแปลที่สะใจผมมาก เรื่องสตินี้ในระยะยาวมันหมายถึงการ position วิญญาณของตัวเองให้เป็นผู้เฝ้าดูร่างกายและความคิดของตัวเองจากภายนอกตลอดเวลา ดูเฉยๆโดยไม่เข้าไปพิพากษาหรือตัดสินอะไร คือต้องเข้าใจก่อนว่าวิญญาณหรือ consciousness ของเราเนี่ยมันเป็นของใหญ่และเป็นตัวตนที่แท้จริงของเราตลอดมาตั้งแต่เริ่่มจำความได้จนกระทั่งเราตายนะ ส่วนร่างกายและความคิดของเรานั้นมันเป็นเพียงของเล็กๆชั่วคราวที่อยู่ในนั้นและเป็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงเรื่อยมาจนไม่เคยบอกความเป็นตัวเราได้เลย ดังนั้นเราต้องใช้สติเสริมสร้างอำนาจให้วิญญาณของเราซึ่งเป็นตัวตนที่แท้จริงของเราเข้าควบคุมชีวิตของเราให้ได้ อย่าปล่อยให้ความคิดหรือความจำในอดีตหรือสัญชาติญาณมาควบคุมเรา

     อย่างที่สอง ก็คือ ความรู้จักสังเกตสังกาเล็กๆน้อยๆ ไม่ใช่คิดวิเคราะห์มากมายนะ เอาแค่สังเกตแล้วสรุปก็พอแล้ว เพราะความล้มเหลวหรือผิดพลาดในการเดินไปข้างหน้ากับชีวิตของเรานี้มันเป็นเรื่องเดิมๆซ้ำๆซากๆ แค่สังเกตนิดเดียวเราก็อ๋อแล้ว แต่ถ้าไม่สังเกตเลย เราก็บอดซ้ำซากอยู่นั่นแหละ

     อย่างที่สาม ก็คือ อันนี้สำคัญ ผมจะเรียกมันว่าอย่างไรดีละคุณจึงจะเข้าใจ ขอใช้ศัพท์หลายคำนะ อาจจะเรียกว่าความกล้าลุย (courage) หรือความบันดาลใจ (motivation) หรือความสุดจิตสุดใจ (dedication) หรือความอุตสาหะพยายาม (drive) หรือพลัง (energy) หรือความขยัน (diligence) แล้วยังรวมความสนุกสนาน (enjoyment) อยู่ในนั้นด้วย คำทั้งหมดนี้ผมตั้งใจจะใช้อธิบายถึงเครื่องมือชิ้นเดียวกัน ผมเรียกรวมๆว่าความกล้าลุยก็แล้วกันนะ เมื่อเราล้มลงและหมดแรง เจ้าตัวนี้มันจะฉุดเราขึ้นมาว่า เฮ้ย ลุกขึ้น อะไรกันวะ แค่นี้จอดแล้วเหรอ เมื่อเราเบื่อและท้อถอย เจ้าตัวนี้จะเอานิ้วจี้สีข้างเราและว่า มาน่า มันสนุกนะโว้ยเอ็ง มันเป็นของชอบของเราไม่ใช่หรือ นี่แหละ ตัวตนของเรานะ ประมาณนี้  ความกล้าลุยนี้แต่ก่อนผมไม่เคยให้ราคา แต่ในการปรับวิถีชีวิตของตัวเองเพื่อออกจากวิถีชีวิตเดิมๆนี้ เดี๋ยวนี้ผมพบว่าผมขาดมันไม่ได้เลย ความกล้าลุยนี้มันจะแรงดีมากถ้าได้ออกกำลังกายให้หนักจนเหนื่อยทุกวัน ช่วงไหนไม่ได้ออกกำลังกาย ความกล้าลุยกับชีวิตก็จะฝ่อลงไป

     อย่างที่สี่ ก็คือ การมีชีวิตอยู่กับที่นี่เดี๋ยวนี้ อยู่กับ sensation ของเราเอง ณ ขณะนี้ อยู่กับภาพที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ลมที่เพิ่งพัดมากระทบผิวกาย ความคิดที่เพิ่งผ่านแว่บไป แค่เนี้ยะ เป็นปลื้มกับปัจจุบัน ขอบคุณฟ้าดินที่ทำให้มีวันนี้ มองสิ่งรอบตัว ณ ขณะนี้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของมัน มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ไม่ถอยไปในอดีต ไม่ล่วงหน้าไปในอนาคต เพราะเมื่อเราพูดถึงการปรับวิถีชีวิต หรือการมีชีวิต หรือแม้กระทั่งตัวชีวิตเอง เราหมายถึงเดี๋ยวนี้เท่านั้นนะ

     อย่างที่ห้า ก็คือ การผ่อนคลาย เพราะผมเพิ่งมารู้ตัวเอาตอนแก่นี่เองว่าตัวผมเนี่ยเคร่งเครียดมากเกินไปจนหัวคิ้วผูกโบว์แบบถาวรไปแล้ว ความเคร่งเครียดทำให้สูญเสียพลัง ในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ผมหัดผ่อนคลาย หัดยิ้ม ผมว่ามันสำคัญนะ มันทำให้ผมไม่หมดแรงง่ายๆ

   อย่างที่หก ก็คือ การมีสมาธิ ผมหมายถึงความสามารถที่จะจดจ่ออยู่กับอะไรสักอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว ทีละอย่าง อันนี้มันเป็นเบสิกที่เข้าใจง่ายๆ ถ้าเราจดจ่อไม่ได้ เราจะเดินมุ่งไปยังเนินเสาธงลิบๆข้างหน้าโน้นให้ตรงทางได้อย่างไร ถูกแมะ

    อย่างที่เจ็ด ก็คือ ทัศนคติ “ช่างมันเถอะ” คือในการเดินหน้าไปกับชีวิตนี้มันมีอะไรที่ไม่สมบูรณ์แยะมาก มีความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นไปอย่างใจเราคาดแยะมาก แล้วผมเนี่ยยิ่งแก่ยิ่งรับรู้อะไรมามาก ถ้าผมไปใส่ใจตั้งคำถามว่าทำไม ทำไม ทำไม ผมก็ไม่ต้องไปไหนกันพอดี ถ้าเป็นเรื่องนอกตัวที่ผมไม่มีอำนาจไปดลบันดาลอะไรได้ เดี๋ยวนี้ง่ายมาก..ช่างมันเถอะ ผมรับรู้ แล้วก็เฉยเสีย ไม่ออกแอคชั่น แต่ถ้าเป็นเรื่องในตัวผมเองเช่นผมพ่ายแพ้แก่ความขี้เกียจหรือแก่ความคิดฟุ้งสร้านหรือความคิดลบเดิมๆที่กลับมาครอบหัวผม ผมไม่ช่างมันนะ ผมจะหันไปหยิบเครื่องมือตัวอื่นเช่นสติ สมาธิ หรือความกล้าลุย มารับมือแทน

      เครื่องมือทั้งเจ็ดอย่างนี้ผมใช้มาระยะหนึ่งแล้ว พบว่ายิ่งใช้ยิ่งชำนาญ และทำให้ผมก้าวหน้ากับชีวิตดีมาก ไม่ได้หมายถึงก้าวหน้ากับตำแหน่งหน้าที่การงานนะเพราะผมเกษียณแล้วไม่มีสิ่งเหล่านั้นแล้ว แต่หมายถึงว่าก้าวหน้าตรงไปหาเสาธงที่ผมปักไว้บนเนิน คุณจะเอาไปลองดูก็ได้นะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

จะเจาะน้ำคร่ำ แต่กว่าจะได้เจาะคงคลั่ง

สวัสดีครับ คุณหมอ
                  พอดีว่าแฟนผมตั้งท้อง อายุ34 กว่า  ๆ  แต่ถ้าถึงกำหนอคลอด ก็เกิน 35 ครับ   เลยไปตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาล...  ซึ่งที่นั่นเรียกว่า oscar สิ่งที่กลัวคือ ดาวซินโดน ผลออกมาแล้วมีความเสี่ยง 1: 1009     ซึ่งก็ทำให้เบาใจไปครับ   แต่ไปติดตรงที่โครโมโซมคู่ที่ 13 และ  18   ผลออกมา 1: 138  ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง  ตอนนี้แฟนเครียสมาก นอนไม่หลับเลย    หมอที่ไปตรวจเห็นว่ามีความเสี่ยงเลยนัดตรวจน้ำคล่ำเลยครับ  วันที่ 25 ตุลาคมที่จะถึงนี้  อยากสอบถามคุณหมอครับ ว่าผลที่ออกมามันเชื่อถือได้ขนาดไหนครับ  แล้วจะให้แฟนไปตรวจซ้ำดีมั้ยครับ คือเราเข้าใจว่ายังไม่เป็น  แต่จิตใจมันค่อนข้างแย่ไปเลย  จะรอให้ถึงวันเจาะน้ำคล่ำ แฟนผมคงคลั่งซะก่อน ในระหว่างรอเจาะน้ำคลั่ง เราทำอะไรได้บ้างครับ

***ผมแนบผลตรวจเป็นเอกสารแนบนะครับ

ขอบพระคุณครับ

.............................................................

ตอบครับ

     ไม่ได้ตอบคำถามของคนอายุน้อยๆเสียนาน เพราะว่าเป็นพลเมืองชั้นสองของบล็อกนี้ คงไม่ว่ากันนะเพราะบล็อกนี้เป็นบล็อก..ของคนแก่ โดย..คนแก่ และ..เพื่อคนแก่ หิ หิ ชัดแมะ แต่ว่าวันนี้ฟ้ามืดเมฆดำ ขอเปลี่ยนบรรยากาศมาตอบคำถามของคนหนุ่มคนสาวเพื่อความสดใสเสียบ้างนะ

     ก่อนที่จะตอบคำถาม การที่คุณไปตรวจแล้วโวยวายว่าโครโมโซมตัว 13 กับตัว 18 ของคุณเกิดติดขัดมีความเสี่ยงขึ้นมา ฟังดูเหมือนโลกจะแตกอยู่รอมร่อแล้ว แสดงว่าคุณยังไม่เข้าใจว่าแฟนของคุณไปตรวจอะไรมา ผมขอทำความเข้าใจตรงนี้ก่อนนะ การตรวจที่คุณไปตรวจนี้เขาเรียกว่าเป็นการตรวจคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรมสามชนิดคือดาวน์ซินโดรม(T21) เอ็ดวาร์ดซินโดรม (T18) และพาเทาซินโดรม(T13) ด้วยวิธีตรวจที่เรียกว่า conbined test ซึ่งประกอบด้วยการตรวจอุลตร้าซาวด์ดูความหนาของท้ายทอย (nuchal pad) ของทารก หรือเพื่อดูความใสของเนื้อเยื่อท้ายทอย (nuchal translucency – NT) (หากผลตรวจยิ่งพบว่าท้ายทอยมีความใสมาก แสดงว่ายิ่งมีโอกาสเกิดหัวใจล้มเหลวที่สัมพันธ์กับดาวน์ซินโดรมมาก) ควบกับการเจาะเลือดหาสารชี้บ่งบางตัวจากสารชี้บ่งต่อไปนี้

     1. Pregnancy associated plasma protein A (PAPP-A) ซึ่งผลิตจากรก ถ้าเป็นดาวน์ซินโดรม จะผลิต PAPP-A ได้ต่ำกว่าปกติ

     2. Beta human chorionic gonadotrophin (beta hCG) ซึ่งผลิตจากรกเช่นกัน ถ้าเป็นดาวน์ซินโดรม จะผลิต beta hCG ได้สูงกว่าปกติ

     3. Alpha fetoprotein (AFP) ซึ่งผลิตจากถุงไข่แดงของตัวอ่อนและตับ ถ้าเป็นดาวน์ซินโดรม จะผลิต AFP ได้ต่ำกว่าปกติ

    4. Unconjugated estriol (uE3) ซึ่งผลิตจากรกและต่อมหมวกไตของตัวอ่อน ถ้าเป็นดาวน์ซินโดรม จะผลิต uE3 ได้ต่ำกว่าปกติ

    5. Inhibin-A ซึ่งผลิตจากรก ถ้าเป็นดาวน์ซินโดรม จะผลิตได้มากกว่าปกติ .

         ปกติโครโมโซมจะมีคู่เดียว แต่ในความผิดปกติกลุ่มนี้โครโมโซมดันมีแถมมาอีกอันหนึ่งเป็นเป็นคู่ครี่งหรือสามอัน จึงเรียกว่า trisomy เขียนย่อว่า T

     เช่นถ้า T21 ก็คือโครโมโซมคู่ที่ 21 มีคู่ครึ่ง ซึ่งเรียกว่าดาวน์ซินโดรม (Down syndrome) เมือคลอดออกมาก็ปัญญาทึบเรียนรู้อะไรได้ช้า สื่อสารกับคนอื่นได้ยาก ทั้งนี้มีความรุนแรงต่างกันได้มากสุดแล้วแต่ดวงของแต่ละคนด้วย ไม่มีทางรู้หรอกว่าเกิดมาแล้วจะโง่ปานใดจนกว่าจะไปโรงเรียนโน่นแหละ

     ถ้า T18 ก็คือโครโมโซมคู่ที่ 18 มีคู่ครึ่ง ซึ่งเรียกว่าเอ็ดวาร์ดซินโดรม (Edward's syndrome) ส่วนใหญ่ตายเรียบตั้งแต่ยังไม่ทันได้เกิด

    ถ้า T13 ก็คือโครโมโซมคู่ที่ 13 มีคู่ครึ่ง ซึ่งเรียกว่าพาเทาซินโดรม (Patau's syndrome) ส่วนใหญ่ตายเรียบตั้งแต่ก่อนเกิดเช่นกัน

     ผลอุลตร้าซาวด์และผลเลือดนี้เมื่อได้แล้วเขาก็จะเอาไปให้โหรดู..เอ๊ย ไม่ใช่ ให้คอมพิวเตอร์คำนวณตัวเลขออกมาสองตัว คือ

     (1) ความเสี่ยงเป็นดาวน์ซินโดรม (T21) กับ
     (2) ความเสี่ยงสองอย่างควบคือเป็นเอ็ดวาร์ดและพาเทาซินโดรม (T18 และ T13)

     แล้วก็เอามาบอกให้คุณทราบ โดยถือว่าถ้าความเสี่ยงต่่ำกว่า 1 ใน 150 ก็ถือว่าจิ๊บจ๊อย (lower risk result) ถ้ามีความเสี่ยงสูงกว่านี้ก็เป็นธรรมเนียมว่าหมอเขาจะต้องเสนอบริการเสริม เพื่อสืบค้นให้ลึกซึ้งขึ้นไป นั่นก็คือการเจาะน้ำคร่่ำเอาโครโมโซมเด็กออกมาตรวจดูให้รู้แจ้ง

    การตรวจทำนองนี้บางที่ก็เรียกให้เป็นภาษาการตลาดว่า OSCAR (One-Stop Clinic for Assessment of Risk) เป็นการตรวจที่มีความไว (sensitivity) ประมาณ 90% หมายความว่าถ้าเอาคนมีลูกในท้องที่มีโครโมโซมผิดปกติแบบกลุ่มดาวน์มา 100 คนมาตรวจ จะพบว่าผิดปกติเสีย 90 คน อีกสิบคนผลตรวจปกติ ทั้งๆเด็กทารกผิดปกติ

    ถามว่าแล้วหมอทำไมจึงไปให้ความสำคัญกับตัวเลข 1:150 ทำไมไม่ตัดเกรดกันที่ 1:130 ซึ่งถ้าตัดอย่างนั้นแฟนผมก็จะได้สอบผ่านไม่ต้องคลั่ง หิ หิ ตอบว่าตัวเลข 1:150 นี่เป็นการยกเมฆเอา..เอ๊ย ไม่ใช่ พูดเล่น เอ๊ย พูดจริง ถ้าคำว่า "ยกเมฆ" ตรงกับภาษาอังกฤษว่า arbitrarily เพราะในการตรวจคัคกรองอะไรก็ตาม เราจำเป็นต้องยกเมฆเอาตัวเลขขึ้นมาสักตัวหนื่งเพื่อคัดเอาคนที่เสี่ยงสูงกว่าจุดนี้ไปตรวจเพิ่มเติม

     เอาละ ได้ปูพื้นความรู้เรื่องการตรวจคัดกรองพันธุกรรมของทารกในครรภ์มาพอควรแล้ว คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

     1. ถามว่าผลที่ออกมามันเชื่อถือได้ขนาดไหนครับ ตอบว่ามันเป็นวิชาหมอดู ที่ต้องจับการเคลื่อนไหวของดาราจักร เอกภพ และดวงดาว ฮี่..ฮี่ พูดเล่น มันเป็นวิชาสถิติ วิชาการคำนวณความอาจเป็นไปได้ (probability) ซึ่งต้องอาศัยคณิตศาสตร์ ตัวผมเองเคยเรียน ม. ปลายกับเขามาซะที่ไหนละ เพราะเป็นเด็กสอบเทียบ แล้วผมจะอธิบายให้คุณเข้าใจได้ไหมละเนี่ย แต่เอาเถอะ ผมชอบอธิบาย คุณถามมาผมก็จะอธิบาย เรื่องเป็นอย่างนี้ เมื่อราวปี 1800 นักคณิตศาสตร์เยอรมันชื่อคาร์ล เฟรเดริก เก้าส์ ได้พบความจริงว่าเราสามารถคาดเดาการกระจายตัวของข้อมูลใดๆในโลกนี้ได้แม่นยำระดับ 95% เลยทีเดียว แล้วเขาก็เขียนสมาการและกราฟอธิบายความคิดของเขาซึ่งกลายเป็นรากฐานของวิชาสถิติในเวลาต่อมา ก็คือกร๊าฟที่เรียกว่า Gaussian distribution หรือ normal distribution ที่ครูใช้ตัดเกรดเด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมถึงมหาลัยนั่นแหละ ต่อมาเมื่อมีข้อมูลหลายชุดเกิดขึ้นในพื้นที่และเวลาเดียวกัน คนก็เอาหลักนี้มาประยุกต์เพื่อวิเคราะห์ (คาดเดา) ว่าการกระจายตัวของข้อมูุลเหล่านั้นมันจะยึดโยงสัมพันธ์กันอย่างไร กลายมาเป็นหลักพื้นฐานในการทำวิจัยทางการแพทย์เรียกว่า Gaussian multivariate distribution ต่อมาในปี 1987 หมอ Palomaki ได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างค่า AFP และสารเคมีตัวอื่นในหญิงตั้งครรภ์ในอายุต่างๆกับการคลอดบุตรออกมาเป็นดาวน์ซินโดรมแล้วตีพิมพ์ไว้ พอมาในปี 1990 หมอกลุ่มหนึ่งนำโดย Reynolds ได้ใช้หลัก Gaussian multivariate distribution คำนวณโอกาสเป็นดาวน์ซินโดรมจากข้อมูลนั้น ซึ่งเป็นรากฐานให้เกิด combined test แล้วก็มีคนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เอาฟังชั่นคณิตศาสตร์เหล่านี้ใส่เข้าไปในคอมแล้วให้มันเคาะออกมาเป็นตัวเลขความเสี่ยงรายงานให้คุณทราบ ถามว่ามันเชื่อถือได้แค่ไหน ตอบว่ามันเชื่อถือได้ในขอบเขตที่เจ้้าคอมพิวเตอร์พูดเสียงเหน่อๆออกจมูกกับคุณว่า

     "แฟงของคุงมีโอกาก 1 ใน 138 ที่จะคลอกลูกออกมาเป็ง T18 หรือ T13 ทั้งนี้ผงพูกด้วยความมั่งจาย 95%"  

     คอมพิวเตอร์ตัวนี้ไม่มีทางผิดเลย เพราะเจ้าคอมตัวนี้พูดถึงความเป็นไปได้ 1 ใน 138 เป็นความเป็นไปได้นะ ไม่ใช่ความได้เป็นไปแล้ว ฟังให้ดีนะ แถมเจ้าคอมตัวนี้ยังออกตัวอีกว่ามันมั่นใจแค่่ 95% ยังมีโอกาสพูดผิดได้อีก 5% นะ ดังนั้นเจ้าคอมตัวนี้ไม่มีทางผิดเลย เพราะมันดิ้นชิ่งหลบได้ทุกเมื่อ

     เรื่องจึงมาตกที่คุณว่าจะเชื่อเจ้าคอมตัวนี้มากแค่ไหน จะให้น้ำหนักความเป็นไปได้ 1 ใน 138 มากแค่ไหน มันฟังดูเป็นเรื่องคณิตศาสตร์ชั้นสูง แต่ท้ายที่สุดก็จะมาอยู่ที่ดุลพินิจของผู้ใช้ข้อมูลอยู่ดี

     พูดถึงตรงนี้ขอนอกเรื่องหน่อยนะ ในบรรดาคนที่มีอาชีพเอาคณิตศาสตร์ชั้นสูงมาใช้ทำมาหากิน ไม่มีใครเกินพวกนักเศรษฐศาสตร์นักการเงินที่แบงค์ชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) แทบทุกคนรัฐบาลส่งไปเรียนเมืองนอกเมืองนา หลายคนเป็นลูกศิษย์ (เรื่องสุขภาพ) ของผม บางคนก็สนิทกัน ผมถามคนหนึ่งว่าไหนลองบอกผมซิว่าสูตรทางเทคนิคอลหรือสูตรสมาการทางการเงินสูตรไหนที่ดีที่สุดในการตัดสินใจซื้อขายหุ้น เขาตอบว่า

     "...เมื่อใดที่เห็นพวกหมอเข้าไปซื้อหุ้นในตลาด เมื่อนั้นเป็นเวลาเหมาะที่จะขายหุ้นแล้ว"

     ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

     คุยกันถึงไหนแล้วนะ อ้อ ตอบคำถามอยู่

     2. ถามว่าระหว่างรอเจาะน้ำคร่ำ จะทำอะไรได้บ้างเพื่อที่จะได้ไม่คลั่ง ตอบว่า อามิตตาพุทธ โยม..การที่คุณโยมจะมีลูกเนี่ยเท่ากับว่าคุุณยอมรับความเสี่ยงต่างๆรวมทั้งโอกาสที่จะมีลูกพิการไว้เรียบร้อยแล้วนะ เอาเบาะๆแค่โอกาสจะเกิดหัวใจพิการนี่ก็ 8 ใน 1,000 เข้าไปแล้ว นี่เป็นสัจจะธรรม พิการอย่างอื่นโน่นนี่นั่นอีกโหลงโจ้งก็ไม่ต่่ำกว่า 1 ใน 100 หรือ 1% แม้พระเจ้าจะมาทำคลอดให้เองโอกาสได้ลูกพิการก็ไม่ต่ำกว่านี้แน่นอน ดังนั้นโอกาสเป็นเอ็ดวาร์ดซินโดรมหรือพาเทาซินโดรม 1 ใน 138 นั้นนะเด็กๆ นี่ยังไม่นับโอกาสที่จะมีลูกบังเกิดเกล้าที่พูดภาษาคนไม่รู้เรื่องอีกไม่รู้กี่เปอร์เซ็นต์นะ แล้วโอกาสที่แม่จะตายระหว่างคลอดอีกหละ โอกาสทีแม่จะตายไปในระหว่างคลอดในเมืองไทยนี้ก็คือ 48 ต่อแสน ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาที่เซ็นไว้ล่วงหน้ากับยมพบาลเรียบร้อยแล้ว รอการส่งมอบเมื่อเวลามาถึงอย่างเดียว เมื่อมากันจนถึงป่านนี้แล้วคุณจะไปคลั่งอะไร คลั่งไปแล้วจะได้อะไรขึ้นมา ชีวิตนี้คือความไม่แน่นอนล้วนๆ อีกอย่างหนึ่งผลตรวจคัดกรองเป็นเพียงตัวเลขความเป็นไปได้ แล้ว 1:138 มันเป็นความเสี่ยงที่น้อยมาก ก็คือ 0.7% เท่านั้นเอง ถ้าคุณยอมรับความเสี่ยงแค่นี้ไม่ได้ คุณคงมาเกิดผิดที่เสียแล้ว คุณต้องไปเกิดเป็นพรหมลูกฟักละกระมังจึงจะมีความสุขอยู่ได้ การเกิดเป็นมนุษย์นี้มันมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นรอบตัวตลอดเวลา วิธีที่จะใช้ชีวิตก็คือทำอย่างไรจึงจะมีความสุขในท่ามกลางความไม่แน่นอนเหล่านี้ คำว่าความสุขหมายถึงเดี๋ยวนี้นะ เพราะความสุขคือสถานะของจิต ซึ่งปรากฎแก่เราเดี๋ยวนี้เท่านั้น ทำอย่างไรนะหรือ ก็คิดบวกไง จะมีลูก ก็ไปทำเรื่องที่คนจะมีลูกเขาทำแล้วจะมีความสุข เช่นชวนกันทำอาหารดีๆกิน  พากันไปออกกำลังกาย เพื่อให้สุขภาพของคุณพ่อคุณแม่ดี ของคุณลูกก็จะดีตาม พากันไปหาซื้อเสื้อผ้า อู่ เปล ของเล่นเตรียมไว้ให้ลูก นี่แหละสิ่งที่จะทำได้ คิดแต่ด้านบวก ด้านลบไม่ต้องคิด อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ไม่ต้องไปจินตนาการว่าถ้ามันเกิดแล้วคุณจะแย่อย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าคิดบวกไม่เป็น คิดทีไรมันมีแต่ลบ ก็ต้องฝึกสติ ผมเขียนถึงการฝึกสติไว้บ่อย จะไม่เขียนซ้ำอีกในที่นี้ ลองหาย้อนอ่านเอาเองนะ

     3. ถามว่าแล้วจะให้แฟนไปตรวจแบบเดิมซ้ำอีกทีดีมั้ยครับ ตอบว่าจะบ้าเรอะ คุณไปมองผลการตรวจคัดกรองเหมือนผลสอบ มีได้มีตก ถ้าตกขอสอบซ่อม แล้วถ้าตรวจอีกก็ตกอีกละ จะตรวจครั้งที่สามไหม นั่นเป็นความบ้าประการแรก

     คุณไปฝากความสุขไว้กับผลการตรวจคัดกรอง ถ้าผลตรวจได้คะแนนความเสี่ยงต่ำกว่า 1:150 คุณก็เป็นสุข ถ้าได้คะแนนความเสี่ยงสูงกว่า 1:150 คุณก็เป็นทุกข์ นั่นเป็นความบ้าประการที่สอง จำคำของหมอสันต์ไว้นะ ตราบใดที่คุณฝากความสุขทุกข์ของคุณไว้กับสิ่งที่เกินอำนาจที่คุณจะไปควบคุมบังคับได้ คุณจะเป็นทุกข์ทั้งชาติ

     4. ข้อนี้ไม่ใช่การตอบคำถาม แต่เป็นคำปลอบโยน ข้อมูลที่คุณพอจะปลอบแฟนคุณได้ก็คือ

     ประเด็นที่ 1. การตรวจพบว่าโอกาสได้ลูกเป็นดาวน์ซินโดรมมีน้อยมาก น้อยกว่าคนรุ่นราวคราวเดียวกันแยะ นั่นเป็นเรื่องที่ดี
   
     ประเด็นที่ 2. ในส่วนของเอ็ดวาร์ด (T18) กับพาเทา (T13) ซินโดรมนั้น ตอนนี้คุณมีสองตัวเลขนะ
   
     ตัวเลขชุดที่หนึ่ง คือผลการคำนวณราหูอมจันทร์ด้วยสมการเก้าเซียน (Gaussian) เจ้าคอมพิวเตอร์ที่คุณไปดูมาบอกว่าคุณมีความเสี่ยง 1:138 แต่

     ตัวเลขชุดที่สอง ก็คือสถิติประชากรนานาชาติซึ่งเป็นของจริงๆไม่ใช่การคำนวณ พบว่าอุบัติการณ์ของ T18 คือ 3:10,000 ส่วนอุบัติการณ์ของ T13 อยู่ที่ 1:20,000 ซึ่งต่ำมาก คุณจะเลือกเชื่อตัวเลขชุดไหนก็แล้วแต่

     เอาข้อมูลจากประสบการณ์ส่วนตัวเพิ่มก็ได้ ในชีวิตจริงผมยังไม่เคยมีโอกาสได้เห็นคนไข้ไม่ว่าจะเป็น T18 หรือ T13 เลยสักคน ผมถามภรรยาของผมซึ่งเป็นหมอเด็กอยู่รพ.เด็กซึ่งเป็นชุมทางเด็กพิการแรกคลอดสาระพัดชนิด ว่าเธอเคยเห็นเอ็ดวาร์ดซินโดรมหรือพาเทาซินโตรมบ้างไหม เธอก็ตอบว่าเกิดมายังไม่เคยเห็นเลย

     ประเด็นที่ 3. ในกรณีที่เรื่องแย่กลายเป็นแย่ที่สุด (if worse comes to worst) ทั้ง T18 และ T13 นั้นต่างจากดาวน์ซินโดรมตรงที่ T18 และ T13 เป็นโรคระดับ "แรง" กว่ามาก ส่วนใหญ่เป็นแล้วตายเรียบตั้งแต่ยังไม่เกิด หมายความว่าแท้ง ที่จะเกิดออกมาตัวเป็นๆได้นั้นน้อยมาก (rare) ฟังดูคุณก็ตั้งใจเดินหน้าไปเจาะน้ำคร่ำอยู่แล้ว ให้คุณสบายใจได้ว่าโอกาสที่จะต้องเลี้ยงลูกพิการเพราะ T18 หรือ T13 นั้นไม่มีแน่นอน เพราะถ้าพบว่าเป็น หมอเขาจับทำแท้งหมด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

1. Sepulveda W, Wong AE, Dezerega V; First-trimester ultrasonographic screening for trisomy 21 using fetal nuchal translucency and nasal bone. Obstet Gynecol. 2007 May;109(5):1040-5. [abstract] 
2. Wald NJ, Rodeck C, Hackshaw AK, et al; First and second trimester antenatal screening for Down's syndrome: the results of the Serum, Urine and Ultrasound Screening Study (SURUSS). Health Technol Assess. 2003;7(11):1-77.

3. Palomaki GE, Haddow JE. Maternal serum alpha-fetoprotein, age, and Down syndrome risk. Am J Obstet Gynecol 1987; 156:460-3
4. Reynolds TM, Penney MD. The mathematical basis of multivariate risk screening: with special reference to screening for Down's syndrome associated pregnancy. Ann Clin Biochem 1990; 27:452-8
[อ่านต่อ...]

15 กันยายน 2559

เรียนรู้การพลิกผันโรคเรื้อรังจากคุณมนสักย์

คุณมนสักย์ ภูวนารถนรานุบาล
คุณมนสักย์อายุ 56 ปี ประสบการณ์ของท่านจะเป็นบทเรียนที่ดีมากสำหรับท่านผู้อ่านทั่วไป ผมขอขอบคุณ คุณมนสักย์ เป็นอย่างมาก ที่อนุญาตให้เผยแพร่บันทึกการคุยกันทางบล็อกนี้ได้  

หมอสันต์:  คุณมนสักย์ช่วยเล่าให้ท่านผู้อ่านทางบล็อกฟังหน่อยสิครับ ว่าปัญหาสุขภาพของท่านมันต้้งต้นอย่างไร

คุณมนสักย์: คือจริงๆแล้วเริ่มต้นเลยก็คือเป็นเบาหวาน พอเป็นเบาหวานเราคุมไม่ดี ก็ทำให้ความดันโลหิตสูง ประกอบกับทานยาเยอะ ยาความดัน ยาเบาหวาน พอเป็นเบาหวานหมอก็ให้ยาลดไขมันอะไรพวกนี้อะครับ ยาตัวนี้ก็จะทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น

หมอสันต์:  ที่ว่านานนี้นานกี่ปีครับ

คุณมนสักย์: ก็สิบปีนะ กินยาลดไขมันเนี่ย ประกอบกับว่ามีช่วงหนึ่งเราปล่อยให้น้ำตาลสูงอยู่เป็นเวลานาน ก็มีอาการปลายประสาทอักเสบ

หมอสันต์:  มันสูงประมาณไหนครับ

คุณมนสักย์: สามสี่ร้อย

หมอสันต์:  อันนี้หมายความว่าได้ยาเบาหวานด้วยใช่ไหม

คุณมนสักย์: ได้แล้วนะครับ ก็ยังสามสี่ร้อยเลย

หมอสันต์:  นี่พูดถึงน้ำตาลในเลือดนะ

คุณมนสักย์: ฮะ ก็ประมาณว่า เออ ช่างมันเถอะ กินก่อน ตายทีหลัง ประมาณนั้น

หมอสันต์:  ฮะ ฮะ ฮ่า

คุณมนสักย์: แต่ก็ไม่รู้นะฮะว่ามีโรคไตด้วย จนกระทั่งไอเยอะมาก เป็นไข้ นอนอยู่ในที่นอนสองสามวัน น้ำท่าก็ไม่ค่อยได้กินเพราะไม่อยากลงมาเอาน้ำ นอนซมอยู่บนเตียง จนไม่ไหวแล้ว ไอมาเป็นอาทิตย์แล้ว ก็เลยไปหาหมอ หมอเขาเจาะเลือด พอเจาะเลือดปุ๊บ ค่าไต (Cr) ขึ้นไป 5 เลยนะครับ

หมอสันต์:  อื้อ ฮือ

คุณมนสักย์: หมอบอกโอ้ยไม่ได้แล้ว คุณต้องแอดมิท พอเขาจับแอดมิท เค้าก็ให้กินน้ำเยอะ แล้วหมอก็ให้กลับบ้านได้ และสั่งว่าคุณจะกินน้ำได้ไม่เกิน 800 ซีซี.

หมอสันต์:  อ้าว ตอนนี้จำกัดน้ำ

คุณมนสักย์: ใช่ ผมก็กลับมาทำอย่างที่เขาบอก โอ๊ ไม่ไหวอะ เราไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง ไม่กระชุมกระชวยอะไรเลย หมอก็นัดตรวจทุกเดือน ผลเลือดกลับแย่ลง ผมก็เลยลองดูว่าเอ๊ะ ถ้าไตเราวายเพราะเราทานน้ำน้อย เราทำความสะอาดไตซะหน่อยดีไหม ผมก็กินน้ำร้อนเลย กินเอง ทุกคืนก่อนนอน

หมอสันต์:  เยอะไหม

คุณมนสักย์: ก็หนึ่งแก้วกาแฟ ก็กินอย่างนี้ทุกวัน พอกลับไปหาหมอ ค่าไตก็ดีขึ้น ตอนนั้นเราก็ไม่เข้าใจว่าโปตัสเซียมโซเดียมเกี่ยวข้องอย่างไรเราไม่รู้ หมอบอกว่าไม่ควรกินเนื้อสัตว์ ควรเลี่ยงมาเป็นปลาจะย่อยง่ายหน่อย หมูปิ้งห้ามเกินสี่ไม้ ผมก็ลองดูแต่มันก็โหย ผมจึงเปลี่ยนแบบหยุดกินเนื้อสัตว์หมดมาเป็นกินพืชแทนอะไรที่เป็นเนื้อสัตว์ก็เปลี่ยนเป็นพืชแทนหมด แล้วน้ำหนักก็เริ่มลด ค่าไตมันก็ดีขึ้น แต่ผมก็ยังทานน้ำร้อนอยู่นะ แล้วผมดูทีวีเจอว่าหมออะไรก็ไม่รู้บอกว่าซีออยทำให้ไตดี ผมก็ไปซื้อซีออยมากิน เจาะเลือดไม่ค่อยเห็นความแตกต่างหรอก แต่ก็รู้สึกว่ากระปรี้กระเปร่าขึ้นกวาดบ้านถูพื้นล้างรถแล้วไม่เพลีย

แล้วต่อมาเมื่อปีที่แล้วตอนที่ผมติดต่อคุณหมอสันต์นั่นแหละ ผมมีปัญหาเจ็บหน้าอกข้างซ้าย เข้าโรงพยาบาล หมอซึ่งเป็นหมอผู้หญิงวัยรุ่นมากดๆแล้วบอกว่า โอ๊ย ไม่มีอะไรหรอกเป็นกล้ามเนื้ออักเสบ ผมนึกในใจว่าผมไม่ได้ออกกำลังกายมันจะอักเสบได้ไง

หมอสันต์:  ฮ่า ฮ่า ฮ่า

คุณมนสักย์: เป็นหมอผู้หญิงวัยรุ่นนะฮะ เธอว่ากินยาสองสามวันก็หาย ผมก็เอายามากิน วันต่อมาที่ผมต้องเข้าโรงพยาบาลอีกเพราะน้องที่มีแฟนเป็นฝรั่งเขามา เนี่ย ร้องห่มร้องไห้ทะเลาะกับแฟน ผมก็บอก เอ๊า มา ม้า มา ไม่เป็นไร มานั่งคุยกัน ผมก็คุย จนตีหนึ่ง แต่หนูไม่อยากกลับบ้านอะ กลับไปก็ต้องไปเจออีก เอ้า ไม่เป็นไร เดี๋ยวไปกินข้าวต้มก็แล้วกัน ผมก็ขับรถออกมา พอขับรถออกมา เฮ้ย เป็นไรเนี่ย มันหายใจแล้วไม่ได้ออกซิเจนหงะ


หมอสันต์:  ตัวคุณมนสักย์เองเหรอ

คุณมนสักย์: ใช่ครับ ผมก็จอดข้างทางตรงพระรามเก้า ตรงข้ามปิยะเวชพอดี น้องเขาเอาน้ำให้กิน เฮ้ย ยิ่งกินยิ่งหายใจไม่ออกว่ะ น้องเขาบอกว่าเฮ้ยพี่ไปโรงพยาบาลดีไหม ผมก็เออ เออ แล้วเลี้ยวรถกลับเข้าปิยเวชเลย พอนั่งรถเข็นปุ๊บ ผมก็ไม่รู้ตัวเลย หมอเขาใส่เครื่องช่วยหายใจ กำลังสะลึมสะลือหมอเขาจับปั๊มมือเลย คงกลัวผมไม่จ่ายตังค์ อยู่ได้สิบสองชั่วโมงเขาก็ส่งผมไปโรงพยาบาลที่ผมมีประกันสังคม ที่โรงพยาบาล..... เขาเอารถมารับ เข้าซีซียู. จำกัดน้ำ ไม่ให้กินอะไรอยู่สองวัน ก็รู้สึกสบายขึ้น เขาบอกว่าคุณเป็นโรคหัวใจ เขาเอาคลื่นหัวใจมาให้ดูเลยนะครับ

หมอสันต์:  เป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

คุณมนสักย์: ครับ แล้วก็ไตวายพร้อมกันด้วย มันก็เลยน้ำท่วมปอด พอออกจากโรงพยาบาลได้เขาก็นัดมาคุยกับหมอโรคไตโดยเฉพาะ บอกว่าคุณไตวายอยู่อย่างนี้ไม่ได้แล้วแหละ แต่ตอนนี้ที่สำคัญกว่าคือหัวใจ ต้องทำบอลลูนหรือบายพาส แต่สภาพไตคุณเนี่ยถ้าฉีดสี...วาย..ย แน่นอน ผมก็ จะต้องให้คำตอบเดี๋ยวนี้เลยเหรอ เธอบอกว่าประมาณเดือนหนึ่งก็แล้วกัน แล้วค่อยให้คำตอบก็ได้ ผมถามว่าแล้วถ้าจะผ่าต้องผ่าที่ไหน เธอบอกว่าที่รพ.โรคทรวงอก

ผมก็เลยโทรไปหาเพื่อนรุ่นเดียวกันที่เป็นหมอ เขาบอกว่าหมอตึ๋งเนี่ยเพื่อนกันอยู่รพ.... เขาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ถ้าโทรไปหาเขา..ผ่าแน่นอน ถ้าที่โรคทรวงอก เพื่อนเราเป็นหมอผ่ามือหนึ่งด้วย หมอ... โทรหาคนนี้มึงก็ต้องผ่าเหมือนกัน เพราะมันเป็นหมอผ่าตัดหัวใจโดยเฉพาะ ผมก็ว่าอ้าว เราจะแค่ปรึกษาอะ เขาก็จึงว่าถ้างั้นลองไปคุยกับหมอคนนี้ดีไหม เขาก็ให้รายละเอียดของคุณหมอสันต์มา ผมก็เลยเข้าไปอ่านบล็อกคุณหมอสันต์ แล้วก็เขียนไปหา หมอสันต์ตอบว่ารับคนไข้เพิ่มอีกไม่ไหวแล้ว อีกคนเดียวก็ไม่ได้แล้ว จะตอบคำถามตอนนี้ก็ไม่ได้เพราะอยู่อเมริกา ปัญหามันละเอียดอ่อน ผมยังจำได้เลย ผมก็ยังดีใจนะว่าอยู่ถึงอเมริกายังอุตสาห์ตอบกลับมา แล้วคุณหมอบอกว่าจะมีคอร์สอีกทีเดือนมกรา ผมก็นึกในใจว่าเอ๊ะ แล้วเราจะอยู่ถึงไหมเนี่ย

ผมก็เลยคุยกับเพื่อนที่เป็นเหมือนกัน แต่เขาบายพาสไปแล้ว ผมคุยเพราะอยากรู้เรื่องการกิน เขาก็บอกว่า เขากินมื้อเดียวนะ เพื่อตัดปัญหาโน่นนี่นั่น แล้วเขาก็ไม่ได้ทำตามหมอบอก เพราะเขาก็ทะเลาะกับหมออยู่เหมือนผมเงี้ย ผมก็บอกว่าอ้าวแล้วไงหงะ เขาว่าหมอบางคนก็คอมเมอร์เชี่ยลมากเกินไป แต่เขาว่าที่แน่ๆมึงกินแต่วุ้นเส้นกับเห็ดนะมึงอยู่ได้อยู่แล้ว แล้วเขาก็อธิบายให้ฟัง คือเขาเป็นคนแบบว่าถ้าเขาสงสัยอะไรเขาจะนั่งค้นเน็ทหลังขดหลังแข็งข้ามวันข้ามคืน เขาว่าต้องช่วยหัวใจบ้างโดยกินโคคิวเทนและโอเมก้า 3 อะไรงี้

หมอสันต์:  เดี๋ยวก่อน คนที่แนะนำให้กินโคคิวเทนเนี่ย เขาเป็นเพื่อน แต่ไม่ได้เป็นหมอใช่ไหม เพราะงานวิจัยว่าโคคิวเทนช่วยคนหัวใจล้มเหลวได้เนี่ย ในทางการแพทย์มันสรุปว่าได้ผลแน่นอนอยู่แล้ว

คุณมนสักย์: ไม่ได้เป็นหมอครับ เป็นเพื่อน แต่รายนี้เขาศึกษาอะไรละเอียด เขาละเอียดถึงขั้นรู้ว่าอย่างถ้ามีการอักเสบของกล้ามเนื้อก็ทำให้ค่าครีอาตินินสูงขึ้นได้ อะไรอย่างเงี้ย ผมถามถึงอาหารเสริมของอเมริกาที่เขาใช้ จะซื้อจากเน็ทอยู่แล้ว แต่กดครั้งแรกราคาพันหนึ่ง กดครั้งที่สองราคาสองพัน ผมก็เลยเฮ้ย เปลี่ยนดีกว่า พอดีผมเคยอยู่อังกฤษไงฮะ เคยใช้เฮลท์สะแปน ก็เลยเสิร์ชเฮลท์สะแปน มียาตัวหนึ่งที่เขาขายอยู่ชื่อฮาร์ทซินเนอร์จิก ซึ่งเป็นส่วนผสมของโคคิวเทน โอเมก้า 3 กระเทียมสกัด อะไรพวกเนี้ย ซึ่งก่อนหน้านี้ผมลองมาหมดแล้วพวกสมุนไพรเนี่ย กระเทียมกับมะนาวนี่ก็ลองมาแล้ว จนไม่ไหวแล้ว กินจนลิ้นพองหงะ ผมก็เลยเอางี้ดีกว่า สะดวกดี ก็เลยสั่งมาจากเมืองนอก กล่องหนึ่งแปดร้อยบาท แล้วก็กินเห็ดกับวุ้นเส้นทุกวัน จนกระทั้งผมก็เอียนเหมือนกัน พยายามเปลี่ยนเป็นผัดวุ้นเส้นมั่ง ยำมั่ง สุกี้มั่ง ก็กินอยู่แค่นี้ ครบเดือนแล้วไปหาหมอ หมอเค้าก็บอก เอ๊า..า มันลดลงมาเกือบทุกตัวได้ไงเนี่ย แต่หมอเขาจะให้ผมผ่าอย่างเดียว เขาอยากได้เงินไง เขาบอกว่าถ้าพร้อมผ่าตัดแล้วมาทำเส้นเลยนะ ผมว่าอ้าวทำเส้นทำไมงะ เขาบอกก็จะต้องฟอกไตไง ผมก็นึกในใจว่าเอ้า แล้วคุณเป็นใครคุณจะมาให้ผมฟอกไตตลอดชีวิต วันเว้นวัน คุณมาเจ็บกับผมเหรอ แต่รู้สึกว่าเขาจะเป็นเจ้าของเครื่องฟอกไตที่โรงพยาบาลด้วย

จนกระทั่งหลังจากนั้นผมไปเข้าคอร์สกับคุณหมอสันต์ หมอบอกไม่ให้ใช้น้ำมันทำกับข้าว ผมก็เปลี่ยน ให้ร้านที่หน้าหมู่บ้านเขาทำให้ แต่มันก็เบื่อเหมือนกัน กินผักทุกวัน

หมอสันต์:  แล้วทำไงละ เบื่อแล้วแก้ไขยังไง

คุณมนสักย์: ผมก็ เฮ้ย เราไม่ต้องกินทุกวันก็ได้นี่นา เบื่อเราก็เปลี่ยนกินเนื้อบ้าง แล้วผมก็สังเกตเวลาผมไปหาหมอ เฮ้ยบางเที่ยวโปตัสเซียมมันต่ำ ผมก็ไปเชิร์ชในเน็ทแล้วก๊อปเขาออกมา ถ้าช่วงไหนหมอเจาะเลือดแล้้วโปตัสเซียมมันต่ำ ผมก็กลับมากินผักคะน้าหรือผักอะไรที่มันเป็นสีเขียวมากขึ้น แต่ผักสีขาวพวกกล่ำก็ยังกินอยู่ พอโปตัสเซียมมันปกติผมก็ไปคอนเซนเตรทที่โซเดียม กินเกลือลดโซเดียมอะไรเงี้ยฮะ

แล้วที่หมอสันต์สอนว่าต้องออกกำลังเนี่ย ครั้งแรกๆที่ผมขี่จักรยานรอบๆหมู่บ้านเนี่ย ครั้งแรกๆ ขี่ได้รอบเดียวนี่ผมแน่นหน้าอกไปหมดละ แต่เดี๋ยวนี้ขี่ได้ 7-8 รอบก็ยังไม่รู้สึกอะไร แต่เรื่องไตเนี่ยต้องมาดูบาล้านซ์เคมีในร่างกาย ครั้งนี้เจาะเลือดโปตัสเซียมสูงหรือเปล่า โซเดียมสูงหรือเปล่า ถ้าโซเดียมสูงก็ลดอาหารรสชาติลง ต้องดูละเอียดอย่างนี้เลย นี่กำลังรอไปตรวจครั้งหน้าวันที่ 6 ตุลา อยากรู้เหมือนกัน ตอนนี้ผมทานสมุนไพรจีน ปกติผมเป็นโรคไตปัสสาวะมันจะเหลืองใช่ไหมละ พอกินแล้วมันใสเลย คือตัวนี้เพื่อนที่เป็นคนเบลเยี่ยมเขาแนะนำ ว่าแม่ของเขาอายุ 96 เป็นทั้งเบาหวาน ไต เก้าท์ กินสมุนไพรตัวนี้แล้วเลิกยาได้หมดเลย เฮ้ย พูดเป็นเล่นไปน่า อายุ 96 แล้วเนี่ยนะ เขาบอกว่าตอนนี้แม่ของเขาขุดดินทำสวนได้ละ

หมอสันต์:  ณ วันนี้คุณมนสักย์กินยาอะไรอยู่บ้าง

คุณมนสักย์: คือผมก็กินยาตามหมอสั่งแหละครับ ยาเบาหวานนี่ก็ฉีดเช้าเย็น แต่ยาไขมันเขาสั่งวันละเม็ดแต่ผมไม่กินตามเขาสั่ง ผมกินครึ่งเม็ดวันเว้นวัน แต่ผลเลือดผมก็ปกตินะ ตอนนี้ไขมันเลวอยู่ที่ 97 เองหงะ ยาความดันไม่กิน ตอนนี้ผมลงหมดทุกอย่างละ เหลือไตอย่างเดียวที่ยัง 2.2 อยู่ แต่ผมวัดน้ำตาลทุกวัน หมอบอกไม่ต้องวัดทุกวันก็ได้ แต่ผมอยากรู้ว่ากินอะไรแล้วน้ำตาลเป็นอย่างไร อย่างวานนี้ผมกินทุเรียนไปพูหนึ่งโรตีอีก มาวัดน้ำตาลเช้านี้มันก็ยังต่ำดีอยู่ สมุนไพรจีนตัวนี้อะดี

หมอสันต์:  ไปเข้าแค้มป์รอบหน้าเอาสมุนไพรตัวนี้ไปด้วยสิ ผมจะส่งไปวิเคราะห์ดูหน่อย

คุณมนสักย์: อ๋อ หมอผู้หญิงคนหนึ่งเธอส่งไปวิเคราะห์ให้แล้วว่ามีสะเตียรอยด์หรือเปล่า แล้วผลก็พบว่าไม่มีสะเตียรอยด์ ตอนนี้หมอผู้หญิงคนนั้นกลายเป็นตัวแทนขายสมุนไพรนี้ไปแล้ว

หมอสันต์:  ฮ้า ฮะ ฮ่า

คุณมนสักย์: คือแกก็ไม่เห็นค่อยได้ทำงานหมอเท่าไหร่ คือที่นี่เขาเป็นแบบสหกรณ์ไงฮะ คนแนะนำใครมาซี้อก็จะได้เปอร์เซ็นต์หมดทุกอย่าง อู้ว..ว เดือนๆหนึ่งเขาได้กันเป็นแสน จึงไม่ค่อยซีเรียสกับการเป็นหมอเท่าไหรละ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ผมไม่ได้สนใจนะ ส่วนตัวสมุนไพรนั้นมันเป็นพวกถั่งเช่า พวกโสม พวกเก๋ากี้ อะไรพวกนี้อะฮะ แต่ว่ามีผสมเหล้าประมาณ 5% เพื่อให้ดูดซึมเข้าร่างกายได้เร็ว แต่ก่อนผมนอนไม่ค่อยหลับ สมุนไพรตัวนี้ทำให้หลับสบายถึงเช้าเลย

หมอสันต์:  แล้วทุกวันนี้กินยังไง อยู่อย่างไง

คุณมนสักย์: เช้าก็กาแฟ อาหารเช้าก็ผลไม้ กลางวันก็ให้เขาทำให้ เปลี่ยนเมนูไปเรื่อยๆ มีผักก็ให้เขาทำผัก มีเวลาก็ทำกินเอง เมนูก็แบบที่ผมส่งไปให้ ที่คุณหมออ้อยเอาลงในไลน์ของกลุ่มนั่นแหละ ถ้าทำเองผมไม่ใช้เนื้อ ส่วนมากเป็นปลา ใช้เตาอบ ไม่ใช้น้ำมัน ไม่ได้ไปซื้อเตาทอดด้วยลมร้อนอย่างที่ใช้ในแค้มป์ เพราะเตาอบที่มีมันก็ทำได้คล้ายกันอยู่แล้ว เพียงแต่รูปทรงมันคนละแบบ บ่ายสามโมงก็ทานผลไม้อีกเที่ยวหนึ่ง ผมทานผลไม้ก่อนข้าวเพื่อให้ได้เอ็นไซม์ ห้าโมงเย็นก็ทานอาหารเย็น ก่อนกินข้าวตอนเย็นๆก็ออกไปขี่จักรยาน เจ็ดแปดรอบ รอบหมู่บ้าน ไม่เจ็บหน้าอกเลย จะแน่นหน้าอกบ้างก็หลังทานอาหารแล้วไม่ได้เรอ แบบฮาร์ทเบิร์นงี้ ไม่ได้แบบเจ็บหัวใจ แต่สองเดือนหลังมานี้ผมไม่มีแน่นหน้าอกเลยนะ

หมอสันต์:  น้ำหนักเป็นไงบ้าง

คุณมนสักย์: ตอนก่อนเข้าโรงพยาบาลครั้งแรกเลย 69 ตอนไปเข้าแค้มป์คุณหมอสันต์ครั้งแรกเลย 64 หลังจากนั้นผมลดลงมา ตอนนี้ 59 กก. ขึ้นลงหนึ่งกิโลผมไม่นับนะ เพราะมันแล้วแต่อาหารที่ทาน อย่างวันนี้ทานทุเรียนนี่ผมรู้ละ พรุ่งนี้ขึ้นแน่ ถ้าทานผักก็ลดลง บางวัน 58 ก็มี ผมทำงานปกตินะ ล้างรถก็ทำ ไม่เคยเหนื่อยเหมือนแต่ก่อนที่แค่ขึ้นสะพานลอยก็แย่แล้ว แล้วเรื่องน้ำนี่ผมไม่ได้กิน 800 ซีซี.นะ ผมทานวันละสองลิตร

หมอสันต์:  หมอห้ามไม่สน?

คุณมนสักย์: คือหมอไม่ได้อยู่กับเราอะฮะ คือเราดูว่าเราเป็นไง ถ้าเราทำงานเหงื่อออกแยะเงี้ยะ คือผมทำงานจะไม่เปิดแอร์เลยนะ กวาดบ้านถูบ้านซักผ้า ที่ทุกอย่างมันดีนี่ผมว่ามันเป็นเพราะอาหารที่มีพืชเป็นหลัก ลดของมันของทอด ไม่ได้ว่าอดอยากนะฮะ เราอยากกินก็กินบ้าง ถ้าของดีๆไม่มีให้กิน มีอะไรก็กินไปก่อน แต่ถ้าเลือกได้ก็จะเลือกเป็นผัก แต่ถ้าไปข้างนอกเขาไม่ทำให้นะฮะ อย่างไปเซ็นทรัลเงี้ย เขาบอกเขาทำให้ไม่ได้ เขาต้องทำอาหารตามสูตร เขาต้องใส่น้ำมันเท่านั้นเท่านี้ เราก็กิน ไม่เป็นไร ถ้ามีก็เลือก ไมมีก็..ตามยะถากรรม มันก็ดี อย่างอินสุลินฉีดตอนนี้ผมก็กำลังจะลดลงอีก เพราะกินทุเรียนแล้วน้ำตาลในเลือดยังต่ำผมคงต้องลดอินสุลินลง

หมอสันต์:  การบริหารยาเองเนี่ยทำมานานหรือยัง

คุณมนสักย์: เอ้อ ก็ประมาณหกเจ็ดเดือนมาแล้ว คือหมอเนี่ย พอน้ำตาลขึ้นก็จะเพิ่มยาอย่างเดียว ผมว่า เอ๊ อย่างงี้เราก็ต้องตายเร็วสิเพราะยามันเยอะเกิน ผมถามหมอว่าคุณหมอเคยเป็นเบาหวานหรือเปล่า หมอบอกว่าไม่เป็นแต่พ่อของหมอเป็น ผมบอกว่าเวลาที่หมอเปลี่ยนยาเนี่ย ผมใช้เวลาถึงสามสี่เดือนนะกว่าจะแอดจั๊สว่าจะเปลี่ยนอาหารอย่างไรให้ลงตัว แล้วปัจจัยอื่นก็เกี่ยวข้อง อย่างการนอนไม่พอก็มีผล ช่วงไหนนอนไม่พอ รู้เลย หน้าห้อยเหี่ยวเลย

หมอสันต์: จะต่อต้าน medical establishment หน่อยๆหรือเปล่าเนี่ย

คุณมนสักย์: คือ ผมเรียนตรงๆเลยนะคุณหมอ คือถ้าเป็นหมอจบใหม่เขาก็วินิจฉัยโรคและให้ยาตามอาการแค่นั้น เพราะเขาไม่มีประสบการณ์ แต่พอคุณหมออายุเยอะก็คอมเมอร์เชียลจะเอาแต่เงินอีก แล้วไม่ค่อยสนใจคนไข้เท่าไหร่ เรียกว่าไม่มีจริยธรรมก็ได้ อย่างหมอคนหนึ่งพอผมกินทุเรียนไป เขาเห็นผลเลือดแล้วว่า..เป็นไง ตะกละละสิ โอ้โห ผมงี้ของขึ้นเลย

หมอสันต์:  ฮะ ฮะ ฮะ คุณมนสักย์แนะนำอะไรให้ท่านผู้อ่านบล็อกหน่อยสิ

คุณมนสักย์: สิ่งแรกเลยก็คือต้องคอนโทรลตัวเอง คุณกินได้แค่ไหน คุณก็ต้องลดลงมาแค่นั้น เป็นน้อยรีบทำเสียก่อน เพราะถ้าเป็นเยอะแล้วมันกลับไม่ได้แล้ว อยากจะกินอะไรก็กินได้แต่กินน้อยหน่อย คอนโทรลอาหารเป็นหลัก การออกกำลังกายและพักผ่อนก็สำคัญ และอายุขนาดนี้จะว่าอาหารเสริมสมุนไพรไม่จำเป็นจะทำตับไตพังก็ไม่ใช่ เพราะสิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เราอยู่ได้ถึงวันนี้เหมือนกัน แต่เราก็ต้องศึกษาให้ละเอียดก่อนซื้อด้วย ผมเชิร์ชในเน็ท ถามคนที่เขาใช้อยู่ เขามีวิดิโออะไรให้ดูก็ดูหมดอ่านหมด ลองชิมดูก่อนด้วย เพราะผมเคยกินสมุนไพรลดความดันเหมือนกัน ของโรงพยาบาล.... กินทีเป็นชาม กินได้สองอึกอาเจียรเลย แต่นี่รสชาติเขาใช้ได้ แต่ก่อนผมกินพวกโสม แต่เลิกไปหมดแล้ว ตอนนี้ก็เหลือซีออย เซ็นทรุมซิลเวอร์ ฮาร์ทซินเนอร์จิก และสมุนไพรจีนนี่แหละ

หมอสันต์:  แล้วชีวิตส่วนตัวเป็นไงบ้าง ชีวิตรัก ราบเรียบ?

คุณมนสักย์: คือ.. มีแฟนเด็กมันก็ต้องยังงี้แหละครับ

.........................................

     ท่านผู้อ่านครับ สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของคุณมนสักย์ก็คือ

1. ความเชื่อที่ว่าโรคไตเรื้อรัง เป็นแล้วไม่มีหาย มีแต่จะเดินหน้าไปฟอกไตอย่างเดียวนั้น ไม่เป็นความจริง คุณมนสักย์เป็นตัวอย่างของคนเป็นโรคไตเรื้อรังที่การดำเนินของโรคมีทิศทางถอยกลับให้เห็นได้

2. นอกจากโรคไตเรื้อรังแล้ว โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูง ของคุณมนสักย์ก็มีทิศทางถอยกลับให้เห็นแล้ว กล่าวคือสามารถลดยาไขมันลงเหลือเพียง 25%ของที่เคยกิน และยาเบาหวานก็ลดลง ส่วนอาการเจ็บหน้าอกนั้นหายไปเลยทั้งๆที่ออกกำลังกายมากขึ้น ส่วนความดันเลือดสูงนั้นหายไปตั้งแต่ลดน้ำหนักได้เป็นสิบกก.

3. ปัจจัยหลักที่ทำให้โรคเรื้อรังทั้งหลายถอยกลับได้นี้ เป็นเพราะการเปลี่ยนมากินอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ และการควบคุมอาหารเค็ม

4. ในการเปลี่ยนมากินอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ คุณมนสักย์ทำได้สำเร็จเพราะไม่เข้มงวดเกินไป อยากก็กินเนื้อสัตว์ก็กินเนื้อสัตว์บ้าง หาอะไรไม่ได้ก็กินเท่าที่จะหากินได้

5.  ไม่ใช่ว่าวิตามิน อาหารเสริม และสมุนไพรจะไร้ประโยชน์ไปเสียหมด การใช้โคคิวเทนในคนเป็นหัวใจล้มเหลวมีหลักฐานวิจัยทางการแพทย์ยืนยันแน่ชัดว่ามีประโยชน์ ส่วนสมุนไพรและอาหารเสริมอื่นๆที่ไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์รองรับ ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะมีแต่โทษไม่มีคุณ โดยคุณมนสักย์ใช้ดุลพินิจของตัวเองศึกษาและเลือกใช้อย่างพิถีพิถัน ซึ่งผมมองว่านอกขอบเขตของวิชาแพทย์และหลักฐานวิทยาศาสตร์ไปแล้ว แพทย์ไม่อาจให้ความเห็นอะไรได้ จึงไม่มีอะไรดีกว่าดุลพินิจของตัวผู้ป่วยเองในการตัดสินใจว่าอะไรดีไม่ดี

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

................................................................


จดหมายจากท่านผู้อ่าน

สมุนไพร อะไรเอ่ย? อยากทราบมากเลย จากคนเฒ่า อายุ70ช่วยบอกเอาบุญหน่อย เจ้า
See Translation
Like · Reply · Message · 2 · 6 hrs

ตอบครับ

ต้องขอประทานโทษจริงๆด้วยครับ บล็อกหรือเพจของหมอสันต์ขออนุญาตไม่ออกชื่อยาสมุนไพรหรืออาหารเสริมใดๆ ไม่ใช่เพราะหมอสันต์รังเกียจสมุนไพร แต่เพราะแพทยสภาห้ามไม่ให้แพทย์เผยแพร่อะไรที่อยู่นอกเนื้อหาหลักวิชาแพทย์แผนปัจจุบัน ถ้าเป็นสมุนไพรก็จะพูดถึงได้แต่ที่มีผลวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ระดับเชื่อถือได้รองรับแน่ชัดแล้วเท่านั้น ดังนั้นท่านลองสืบเสาะผ่านทางอื่นเอาเองก็แล้วกันนะครับ

นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

14 กันยายน 2559

หลักฐานวิทยาศาสตร์เรื่องอะโวคาโด กับทุเรียน


เรียน คุณหมอสันต์ ที่เคารพยิ่ง

  ดิฉันเคยเขียนจดหมายมาปรึกษาคุณหมอเรื่องเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองตีบ ได้รับคำแนะนำที่ดีมากค่ะ ปัจจุบันดิฉันสบายดี เหมือนคนปกติทุกอย่าง  วันนี้ดิฉันอยากเรียนถามคุณหมอเรื่องอะโวคาโดกับการลดไขมันในเลือดค่ะ เนื่องจากสามีได้ไปอ่านเจอว่ามันเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพ จึงซื้อมาให้ดิฉันทาน ปกติดิฉันไม่ชอบเลยเพราะมันไม่หวาน แต่พอลองทานกับโยเกิร์ตหรือน้ำผึ้ง หรือทานสดๆ กลับพบว่ามันอร่อย ตอนนี้ติดใจ ทานเกือบทุกวัน วันละ1-2 ผล กลายเป็นผลไม้โปรดไปแล้ว เพราะทางบ้านดิฉันมีอะโวคาโดโครงการหลวงให้กินตลอดเกือบทั้งปี  คำถามมีอยู่ว่า
1.อะโวคาโดมีไขมันดี ช่วยลดไขมันในเลือดได้จริงหรือไม่
2.ดิฉันควรรับประทานอะโวคาโดวันละกี่ผลจึงจะลดไขมันในเลือดได้ และไม่เกิดผลเสียต่อโรคหลอดเลือดสมองตีบ
3.อะโวคาโด ช่วยลดน้ำหนักได้จริงหรือ

กราบขอบพระคุณยิ่งค่ะ

ครูเชียงราย
...........................................................

ตอบครับ

     ตลอดหลายปีที่เขียนบล็อกมา ผมพยายามโน้มน้าวให้ท่านผู้อ่านกินผัก ผลไม้ ถั่ว และธัญพืชที่ไม่ขัดสี ให้มากขึ้น พยายามให้ท่านกินพืชในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ แต่ผมพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงประโยชน์ของอาหารเฉพาะชนิดเช่นผลไม้ชนิดนั้นผักชนิดนี้ แม้จะมีผู้ถามเข้ามามาก ที่มีผู้ถามเข้ามามากคงเป็นเพราะไปอ่านสรรพคุณวิเศษต่างๆในอินเตอร์เน็ทแล้วไม่แน่ใจว่าจะเชื่อถือได้หรือเปล่าจึงอยากดับเบิลเช็คกับผมอีกที สาเหตุที่ผมหลีกเลี่ยงไม่ตอบมาตลอดเป็นเพราะ

     1. โภชนาการเพื่อการมีสุขภาพดีนั้น ไม่มีความจำเป็นต้องเจาะลึกวัดปริมาณสารอาหารในอาหารแต่ละอย่าง เอาแค่ความรู้ตื้นๆว่าอาหารพวกไหนควรกินมาก (พืช) อาหารพวกไหนควรกินน้อย (สัตว์) และรูปแบบการเตรียมอาหารว่าแบบไหนดี (สดหรือปรุงน้อยๆ) แบบไหนไม่ดี (อาหารปรับแต่งถนอมหรือบรรจุเสร็จ) รู้แค่นี้ก็พอแล้วถ้าไม่อยากจะรู้มากยากนาน เพราะข้อมูลวิทยาศาสตร์ก็จำแนกดีชั่วได้แค่ระดับหยาบๆประมาณนี้แหละ ส่วนการเจาะลึกละเอียดลงไปถึงสารอาหารเช่น แคลอรี่ ไขมัน โคเลสเตอรอล โปรตีน คาร์โบไฮเดรต หากมองหลักฐานวิทยาศาสตร์ในภาพรวมแล้วเฉพาะผู้รู้จริงจึงจะตระหนักว่าไม่สามารถสรุปได้เลยว่าอะไรดีหรือเลว

     2. ข้อมูลที่ใช้อ้างสรรพคุณของพืชผักผลไม้ที่เจาะจงลึกลงไปถึงแต่ละชนิดเหล่านั้นส่วนใหญ่หากเป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ก็เป็นแค่หลักฐานในห้องทดลอง หรือในสัตว์ทดลอง ซึ่งเป็นหลักฐานระดับต่ำและผมถือว่ายังเชื่อถือไม่ได้ หรือไม่ก็เป็นสรรพคุณที่อ้างต่อๆกันมาในรูปแบบของการแพทย์แผนโบราณหรือการแพทย์ทางเลือก ซึ่งไม่ใช่ข้อมูลวิทยาศาสตร์

     แต่เรื่องอะโวกาโดกับทุเรียนนี้มีคำถามมาบ่อยมากเป็นพิเศษ ในวันนี้จึงขอตอบให้สักครั้งหนึ่งก็แล้วกัน และจะตอบควบไปเลยทั้งอะโวคาโดและทุเรียน

ถามว่าอะโวกาโดและทุเรียน เป็นผลไม้ที่มีไขมันสูงและให้แคลอรี่สูงใช่ไหม  ตอบว่าใช่ครับ มันเป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ทราบกันมานานแล้ว งานวิจัยส่วนประกอบของผลไม้ไทยที่ดีที่สุดเท่าที่ผมอ่านเจอ เป็นงานวิจัยของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (NIH) ซึ่งวิจัยผลไม้ไทยหลายตัว พบว่าผลไม้แต่ละชนิดมีสารอาหารต่อร้อยกรัมของผลไม้ดังนี้

สารอาหาร          ลิ้นจี่      ทุเรียน ขนุน มังคุด ทับทิม อะโวคาโด  ฝรั่ง


โปรตีน (กรัม)         0.83              1.47        1.47         0.41        1.67         2         2.55
ไขมัน (กรัม)         0.44              5.33        0.3         0.58    1.17   14.66 0.95
คาร์โบไฮเดรต (กรัม)16.53      27.09   24.01 17.91 18.7         8.53 14.32
เส้นใย (กรัม)         1.3            3.8    1.6          1.8            4             6.7   5.4

     จะเห็นว่าทุเรียนมีไขมันมากกว่าลิ้นจี่ ขนุน มังคุด ทับทิม ฝรั่ง ประมาณเกือบ 10 เท่า ขณะที่อะโวคาโดมีมากกว่าราว 25 เท่า คือพูดง่ายๆว่าในแง่ของการมีไขมันอะโวคาโดเป็นระดับปู่ ทุเรียนเป็นระดับพ่อ ส่วนผลไม้อื่นๆนั้นเป็นระดับหลานๆหรือเหลนๆ

     อะโวกาโดและทุเรียนมีไขมันสูงและแคลอรี่สูง แล้วมันทำให้ป่วยไหม ตอบว่าหลักฐานนับถึงวันนี้ยังไม่มีสักชิ้นเดียวที่จะบอกว่าคนกินอะโวคาโดหรือกินทุเรียนจะมีอันเป็นไป ผมหมายถึงป่วยหรือตายด้วยโรคใดๆมากกว่าคนที่ไม่กิน ดังนั้นอะโวกาโดและทุเรียนมีไขมันสูงและแคลอรี่สูงก็จริง แต่ก็ไม่ได้ทำให้คนกินป่วยหรือตายมากขึ้นแต่อย่างใด

     อะโวกาโดและทุเรียนทำให้ไขมันในเลือดสูงขึ้นใช่ไหม ตอบว่าไม่ใช่ครับ ในทางตรงกันข้าม งานวิจัยแบบเมตาอานาไลซีสที่เอาผลวิจัยให้คนกินอะโวคาโดแล้วตามเจาะเลือดดูเปรียบเทียบกับคนไม่กินรวมสิบงานวิจัยมาวิเคราะห์ผลรวม จำนวนคนที่ถูกวิจัยทั้งหมด 229 คน พบว่าคนกินอะโวคาโดมีโคเลสเตอรอลรวมลดลงเฉลี่ย 18.8 มก./ดล. ไขมันเลว (LDL) ลดลงเฉลี่ย 16.5 มก./ดล. ไขมันไตรกลีเซอไรด์ลดลง 27.2 มก./ดล. เมื่อเทียบกับคนที่ไม่กินอะโวคาโด พูดง่ายๆว่ากินอะโวคาโดแล้วลดไขมันในเลือดลงได้ เออ..เอากับเขาสิ นี่เป็นข้อมูลในคนซึ่งได้จากการวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบนะ ถือเป็นหลักฐานระดับสูงที่เชื่อถือได้

      น่าเสียดายที่ฝรั่งไม่ได้ทำวิจัยผลของทุเรียนต่อระดับไขมันในเลือดของคนไว้ เข้าใจว่าหาคนเข้าร่วมวิจัยไม่ได้เพราะฝรั่งคงทนกลิ่นทุเรียนไม่ไหว มีแต่งานวิจัยในหนูโดยแบ่งหนูออกเป็นกลุ่มๆแล้วให้กินอาหารมันๆบวกทุเรียน บางกลุ่มได้กินทุเรียนหลอกหรือทุเรียนปลอม บางกลุ่มได้กินหมอนทอง บางกลุ่มได้ชะนี บางกลุ่มได้ก้านยาว พบว่าหนูกลุ่มที่ได้กินทุเรียนลดไขมันในเลือดลงได้ โดยหมอนทองสามารถลดไขมันในเลือดหนูลงได้สูงสุด คือลดโคเลสเตอรอลรวมได้ 8.7% และลดไขมันเลวได้ 20.1% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้กินทุเรียนปลอม แต่อย่าลืมว่านี่เป็นงานวิจัยในสัตว์ทดลองนะ เป็นเพียงหลักฐานระดับต่ำ ต้องฟังหูไว้หู

       แต่ความเชื่อดั้งเดิมในสมมุติฐานทางการแพทย์ที่ว่าทุเรียนเป็นอาหารไขมันสูง กินแล้วไขมันในเลือดก็ต้องสูงตามไปด้วยนั้น เป็นเพียงความเชื่อ ไม่จัดว่าเป็นหลักฐานด้วยซ้ำไปนะ ดังนั้นหลักฐานในสัตว์ทดลองก็ยังมีศักดิ์ศรีสูงกว่าความเชื่อซึ่งไม่ใช่หลักฐาน หมายความว่าผมประเมินว่ามีความเป็นไปได้ว่ากินทุเรียนจะลดไขมันในเลือดมากกว่าที่จะเพิ่มไขมันในเลือด เพราะอย่างน้อยทุเรียนก็ลดไขมันในเลือดในสัตว์ได้ ส่วนที่ว่าทุเรียนจะเพิ่มไขมันในเลือดนั้น ไม่มีหลักฐานเลยไม่ว่าในสัตว์หรือในคน และผมจะประเมินเช่นนี้จนกว่าจะมีหลักฐานใหม่ๆที่ดีกว่านี้

      ทำไมคนกินผลไม้ที่ไขมันสูงมากๆจึงมีไขมันในเลือดต่ำลงได้ เรามาดูที่อะโวกาโดก่อนนะ เพราะมีไขมันมากกว่าทุเรียนสามเท่า และมีข้อมูลในคนมากพอที่จะสรุปอะไรได้แล้ว งานวิจัยผลสำรวจสำมะโนสุขภาพประชากรสหรัฐ (NHANES) ซึ่งตามดูคน 17,560 คน ในจำนวนนี้ชอบกินอะโวคาโดทุกวัน 347 คน เมื่อเปรียบเทียบคนกินกับคนไม่กินอะโวคาโด พบว่าคนกินอะโวคาโดกินผักและผลไม้โดยรวมมากกว่า กินอาหารโดยรวมที่มีคุณภาพสูงกว่า กินกาก (เส้นใย) มากกว่า เมื่อกินอาหารพืชมากขึ้นก็หมายความว่ากินอาหารเนื้อสัตว์ลดลง นอกจากนี้พวกเขายังดื่มและกินอะไรที่ใส่น้ำตาลเพิ่มน้อยกว่าคนที่ไม่กินอะโวคาโด และเมื่อดูผลการตรวจร่างกายแล้วคนกินอะโวคาโดลงพุงน้อยกว่าคนไม่กิน และมีปัจจัยเสี่ยงรวมที่จะเป็นเมตาโบลิกซินโดรมต่ำกว่าคนไม่กิน 50%

     นี่ไงคือคำตอบ เพราะคนกินอะโวคาโดเขากินอาหารโดยรวมดีกว่าคนทั่วไป ดังนั้นหากท่านจะเอาผลวิจัยไปใช้ว่าได้การละ คราวนี้เรากินผลไม้ไขมันสูงอย่างอะโวคาโดหรือทุเรียนเท่าไหร่ก็ได้ เพราะมันช่วยลดโคเลสเตอรอล โอเค.. ท่านทำได้ แต่ท่านต้องกินผักผลไม้โดยรวมมากขึ้น กินอาหารที่ให้กากมากขึ้น กินเนื้อสัตว์น้อยลง กินน้ำตาลน้อยลง ให้เหมือนพวกคนที่เขาวิจัยมาด้วยนะ แต่ถ้าท่านกินทุเรียนแยะแต่หมูเห็ดเป็ดไก่ก็กินแยะเหมือนเดิม กาแฟเย็นหวานๆก็กินมากเหมือนเดิม น้ำผลไม้หวานๆก็กินมากเท่าเดิม แบบนั้นผลวิจัยช่วยอะไรท่านไม่ได้นะครับ

     อีกอย่างหนึ่ง ไหนๆก็จะกินผลไม้ไขมันสูงอย่างอะโวคาโดหรือทุเรียนทั้งทีแล้ว คุณกินควบเข้าไปกับผักผลไม้ในมื้ออาหารได้ไหมครับ จะได้อาศัยประโยชน์จากการความเป็นไขมันให้มันช่วยพาวิตามินที่ละลายในไขมัน (A,D,E,K) เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้นด้วย

     จบละ..เอ๊ย เดี๋ยวก่อน เขียนมาเรื่อยเปื่อยลืมตอบคำถามให้คุณ เอ้า ตอบนะ

1. ถามว่าอะโวคาโดช่วยลดไขมันในเลือดได้จริงหรือไม่ ตอบว่า จริงครับ
2. ถามว่าควรรับประทานอะโวคาโดวันละกี่ผล ตอบว่า ในการสำรวจ NHANES ฝรั่งเขากินวันละเฉลี่ย 68 กรัมก็ราว 1-2 ผลครับ
3. ถามว่าอะโวคาโด ช่วยลดน้ำหนักได้จริงหรือ ตอบว่าจริง “ถ้า” คุณกินกินผักผลไม้โดยรวมมากขึ้น กินกากมากขึ้น กินเนื้อสัตว์น้อยลง และลดการกินน้ำตาลทรายลง เหมือนอย่างที่พวกฝรั่งที่กินอะโวคาโดในงานวิจัย NHANES เขาทำกัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

.......................................................

บรรณานุกรม

1. Peou S, Milliard-Hasting B, Shah SA. Impact of avocado-enriched diets on plasma lipoproteins: A meta-analysis. J Clin Lipidol. 2016 Jan-Feb;10(1):161-71. doi: 10.1016/j.jacl.2015.10.011.
2. Leontowicz H1, Leontowicz M, Haruenkit R, Poovarodom S, Jastrzebski Z, Drzewiecki J, Ayala AL, Jesion I,Trakhtenberg S, Gorinstein S. Durian (Durio zibethinus Murr.) cultivars as nutritional supplementation to rat's diets. Food Chem Toxicol. 2008 Feb;46(2):581-9.
3. Fulgoni VL 3rd1, Dreher M, Davenport AJ. Avocado consumption is associated with better diet quality and nutrient intake, and lower metabolic syndrome risk in US adults: results from the National Health and Nutrition Examination Survey (NHANES) 2001-2008. Nutr J. 2013 Jan 2;12:1. doi: 10.1186/1475-2891-12-1.
4. Gorinstein S, Poovarodom S, Leontowicz H, et al. Antioxidant properties and bioactive constituents of some rare exotic Thai fruits and comparison with conventional fruits: In vitro and in vivo studies. Food Research International, Volume 44, Issue 7, August 2011, Pages 2222-2232.
5. Heinecke LF, Grzanna MW, Au AY, et al. Inhibition of cyclooxygenase-2 expression and prostaglandin E2 production in chondrocytes by avocado soybean unsaponifiables and epigallocatechin gallate. Osteoarthritis Cartilage. 2010 Feb;18(2):220-7. Epub 2009 Sep 6. 2010.
6. Kopec RE, Cooperstone JL, Schweiggert RM, et al. Avocado consumption enhances human postprandial provitamin A absorption and conversion from a novel high-β-carotene tomato sauce and from carrots. J Nutr. 2014 Aug;144(8):1158-66.
7. Pieterse Z, Jerling JC, Oosthuizen W, et al. Substitution of high monounsaturated fatty acid avocado for mixed dietary fats during an energy-restricted diet: Effects on weight loss, serum lipids, fibrinogen, and vascular function. Nutrition, Volume 21, Issue 1, January 2005, Pages 67-75.
8. Wang L, Bordi PL, Fleming JA, et al. Effect of a moderate fat diet with and without avocados on lipoprotein particle number, size and subclasses in overweight and obese adults: a randomized, controlled trial. J Am Heart Assoc. 2015 Jan 7;4(1). pii: e001355.
9. Wang L, Fleming J, and Kris-Etherton P. The Effects of One Avocado Per Day on Small, Dense LDL and the Relationship of TG, VLDL, HDL, ApoB, and ApoB/A1 with LDL Particle Size. Journal of Clinical Lipidology, Volume 7, Issue 3, May—June 2013, Pages 267-268.
10. Wien M, Haddad E, Oda K, et al. A randomized crossover study to evaluate the effect of Hass avocado intake on post-ingestive satiety, glucose and insulin levels, and subsequent energy intake in overweight adults. Nutr J. 2013 Nov 27;12:155.

[อ่านต่อ...]