31 กรกฎาคม 2566

แค้มป์พลิกผันโรคด้วยตนเอง (RDBY-28) วันที่ 13-16 กย. 66

(ภาพวันนี้ / เวลเนสวีแคร์ ยืนหยัดเปิดสอนแค้มป์สุขภาพมาได้เกือบสิบปีแล้วนะ)

วันนี้ขอประชาสัมพันธ์แค้มป์พลิกผันโรคด้วยตัวเองครั้งที่ 28 (13-16 กย. 66)

มีอะไรใหม่ใน RDBY-28

นับตั้งแต่ผมหยุดทำคลินิกในโรงพยาบาลมา จะมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่มีความต้องการมาหา ซึ่งพอจะจำแนกได้เป็นสี่แบบ คือ บ้างอยากมาหาผมแบบคนไข้หาหมอเช่นกรณีทั่วไป บ้างอ่านหนังสือที่ผมเขียนนำไปปฏิบัติแล้วติดขัดทำต่อไม่ได้อยากมาถามเอากับตัวคนเขียน บ้างมาเข้าแค้มป์แล้วกลับไปลดยาเองหรือไปปฏิบัติทักษะอาหารและการออกกำลังกายเองแต่ก็ยังติดขัดอยากจะกลับมาฝึกทักษะเพิ่ม บ้างถอดใจแล้วว่าทำต่อเองไม่ได้แน่ๆแล้ว (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอาหาร) อยากจะมาอยู่ที่เวลเนสวีแคร์สักพักเพื่อตั้งศูนย์ถ่วงล้อใหม่โดยหวังให้เวลเนสวีแคร์จัดพยาบาลประกบดูแลให้เพื่อพลิกผันโรคของตนเองให้สำเร็จ

เพื่อช่วยแก้ปัญหานี้โดยที่ไม่ต้องให้ผมกลับไปนั่งตรวจผู้ป่วยที่คลินิกอีกในโรงพยาบาลอีก ผมจึงปรับแค้มป์พลิกผันโรคด้วยตนเองให้เป็นคลินิกรักษาโรคเรื้อรังแบบ 100% เสียเลย กล่าวคือผู้ป่วยทุกคนมาที่แค้มป์นี้ถือว่ามาเพื่อให้ตัวผมตรวจประเมินและวางแผนจัดการโรคให้เป็นรายคน เสร็จแล้วก็เรียนรู้ฝึกปฏิบัติทักษะจำเป็นเพื่อการพลิกผันโรคด้วยตัวเองเป็นรายกลุ่มจนจบแค้มป์ RDBY หลังจากนั้นเฉพาะคนที่ทำเองแบบต่อเนื่องหลังจบแค้มป์ไม่ได้หรือคนที่มีความจำเป็นเฉพาะ สามารถเลือกมาเข้าโปรแกรมพลิกผันโรคด้วยตนเองแบบพักค้างนาน (RDBY long-stay) คือนัดหมายรายคนให้มาพักอยู่ที่เวลเนสเพื่อปฏิบัติทักษะและกินอาหารพืชเป็นหลักจนโรคอยู่ตัวพอที่จะเอากลับไปทำต่อที่บ้านเองได้ ระยะเวลาที่จะให้มาอยู่ที่เวลเนสก็แตกต่างกันไปตามความจำเป็นของโรคของแต่ละคน โดยเฉลี่ยประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือยาวกว่านั้นหากมีความจำเป็นในบางคน โดยจะเปิดรับผู้ป่วยเข้าโปรแกรม RDBY long stay นี้สำหรับผู้มาเข้าแค้มป์ RDBY28 นี้เป็นต้นไป ส่วนผู้ป่วย RDBY รุ่นก่อนหน้านี้หากมีปัญหาและประสงค์จะมาเข้าโปรแกรม RDBY long stay ก็สามารถกลับมาเข้าได้ในจังหวะเวลาที่เวลเนสวีแคร์ว่างรับได้ ถ้าไม่ว่างรับจะให้หมอสันต์เขียนจดหมายส่งตัวแจ้งแผนการจัดการโรคไปฟื้นฟูหรือฝึกทักษะที่ศูนย์สุขภาพสถานฟื้นฟูที่อื่นก็ได้

ความเป็นมาของ RDBY

มันเริ่มจากตัวผมเองเคยป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ความที่อยากหนีจากแนวทางการรักษาแบบโรงพยาบาล (กินยา สวนหัวใจ บอลลูน ผ่าตัดบายพาส) จึงทบทวนงานวิจัยเพื่อหาทางออกอื่นและได้พบว่าการจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคโดยตัวผู้ป่วยเอง ทั้งในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด การเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง ทำให้โรคดีขึ้นกว่าการรักษาในโรงพยาบาลเสียอีก จึงลงมือทำกับตัวเอง เมื่อเห็นว่าได้ผลดีจนสามารถพลิกผันโรคให้หายจากเจ็บหน้าอกและเลิกกินยาความดันยาไขมันได้หมด จึงตัดสินใจเลิกอาชีพหมอผ่าตัดหัวใจเปลี่ยนอาชีพมาเป็นหมอส่งเสริมสุขภาพ แต่เมื่อได้นั่งตรวจและสอนคนไข้ทีละคนอยู่ที่โรงพยาบาลก็พบว่ามันใช้เวลามากและช่วยคนไข้ได้เป็นจำนวนน้อย และวิธีนั่งตรวจมันยังแก้ปัญหาสำคัญที่คนไข้ต้องการไม่ได้ นั่นคือการขาดทักษะปฏิบัติการ ผมจึงเปลี่ยนแนวทางมาให้ความรู้กับคนป่วยคราวละหลายๆคน ในรูปแบบแค้มป์กินนอนเพื่อเรียนรู้ทักษะในการป้องกันและพลิกผันโรคด้วยตัวเอง (RDBY) ทำไปแล้ว 24 รุ่น ทดลองมาแล้วหลายรูปแบบ ครั้งนี้ก็เป็นการทดลองในอีกรูปแบบหนึ่ง คือขณะที่ทั้งชั้นเรียนมุ่งเรียนรู้โรคทั้งหลายในฐานะที่เป็นโรคเดียวกันมีเหตุเดียวกัน แต่ในรายคนก็มุ่งแก้ปัญหาเฉพาะของแต่ละคนคู่ขนานกันไป

ภาพใหญ่ของ RDBY-28 (13-16 กย. 66)

  1. ใช้เวลามากินมานอนที่เวลเนสวีแคร์ 4 วัน 3 คืน
  2. มาเข้าแค้มป์ครั้งเดียว ติดตามผลต่อผ่านทาง app บนอินเตอร์เน็ท
  3. ผู้ป่วยทุกคนที่มาเข้าแค้มป์ มารับการตรวจประเมินและวางแผนจัดการโรคเป็นรายคนกับหมอสันต์ก่อนการเริ่มกิจกรรมเรียนรู้ไปกับกลุ่ม
  4. แยกลงทะเบียนระหว่างผู้ป่วยกับผู้ดูแล โดยผู้ดูแลจะได้ที่พัก กิน นอน เรียน ทำกิจกรรมเช่นเดียวกับผู้ป่วย แต่จะไม่ได้เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและประเมินปัญหาสุขภาพรายคน และจะไม่มีคำสรุปสุขภาพของแพทย์ใน We Care app dashboard
  5. แค้มป์นี้เป็นการใช้วิธีการแพทย์แผนปัจจุบัน (modern medicine) ในรูปแบบการแพทย์แบบอิงหลักฐาน (evidence based medicine) มีแพทย์เป็นผู้กำกับดูแล (medically directed) โดยใช้วิธีมองปัญหาของผู้ป่วยแบบองค์รวม (holistic care) โดยเน้นการจัดการโรคเรื้อรังส่วนที่ผู้ป่วยจะทำโดยตัวเองได้ (self management) เช่นอาหาร การใช้ชีวิต การจัดการยาด้วยตัวเอง เป็นต้น
  6. ในกรณีที่ผู้สมัครเข้าร่วมโปรแกรมนี้มีแพทย์เฉพาะทางเจ้าประจำอยู่แล้ว ป่วยไม่ต้องเลิกการรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่ดูแลกันมาแต่เดิม เพราะแพทย์ประจำตัวของท่านที่เวลเนสวีแคร์จะทำหน้าที่เป็นแพทย์ประจำครอบครัว (family physician) ของท่านและเป็นพี่เลี้ยงให้ท่านดูแลตัวเองให้เป็น ส่วนการปรึกษาและใช้บริการของแพทย์เฉพาะทางเฉพาะโรคที่ทำมาแต่เดิมนั้นก็ยังทำต่อไปเหมือนเดิม
  7. ผู้สมัครเข้าร่วมโปรแกรมนี้ไม่จำเป็นต้องยกเลิกยาหรือการรักษาที่ตนเองได้มาแต่เดิมในขณะที่เริ่มหันมาใช้วิธีดูแลตนเอง เพราะการรักษาโรคตามโปรแกรมนี้ใช้หลักวิชาการแพทย์แผนปัจจุบันเช่นเดียวกันกับการรักษาในโรงพยาบาล เพียงแต่มุ่งโฟกัสที่การเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ป่วยในเรื่องการกินการออกกำลังกายและการใช้ชีวิตจนถึงระดับที่ผู้ป่วยดูแลตัวเองได้ด้วยตนเอง จึงสามารถทำคู่ขนานไปกับการรักษาในโรงพยาบาลได้ เมื่อผู้ป่วยดูแลตนเองได้ดีขึ้นแล้ว ตัวชี้วัดสุขภาพต่างๆจะค่อยๆบ่งชี้ว่าความจำเป็นที่จะต้องพึ่งการรักษาด้วยยาในโรงพยาบาลจะค่อยๆลดลงไปเองโดยอัตโนมัติจนสามารถเลิกยาได้เองในที่สุด
  8. ในกรณีที่เป็นผู้ทุพลภาพหรือช่วยเหลือตนเองไม่ได้ซึ่งตามปกติต้องมีผู้ดูแลประจำตัวอยู่แล้ว ต้องนำผู้ดูแลมาด้วย โดยผู้ดูแลต้องลงทะเบียนเป็นผู้ดูแล ทั้งนี้นอกจากอาหารและที่พักแล้ว ผู้ดูแลยังสามารถเข้าร่วมเรียนรู้และฝึกทักษะต่างๆเพื่อประโยชน์ในการติดตามดูแลผู้ป่วย แต่ผู้ดูแลจะไม่ได้พบแพทย์เพื่อตรวจประเมินปัญหาสุขภาพของตนเอง และจะไม่มีบทสรุปสุขภาพของแพทย์ในแดชบอร์ด ในกรณีที่ประสงค์จะได้รับการตรวจสุขภาพและประเมินปัญหาโดยแพทย์ด้วย ผู้ดูแลจะต้องลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยอีกคนหนึ่งแยกจากตัวผู้ป่วยที่ตนดูแล เพื่อให้ได้คิวเวลาที่จะเข้าพบแพทย์ซึ่งจำกัดสิทธิ์ไว้เฉพาะผู้ป่วยเท่านั้น
  9. เนื้อหาแยกเป็นสองส่วน คือ

ส่วนที่ 1 เป็นการพบกันรายคนเจาะลึกลงไปในปัญหาผู้ป่วยเป็นรายคน ทีละคน ตั้งแต่การประเมินสถานะและความรุนแรงของโรคจากผลการตรวจเลือด ตรวจเอ็คโค วิ่งสายพาน ตรวจหัวใจด้วยคอมพิวเตอร์ (CTA) ผลการสวนหัวใจ ตรวจพิเศษของอวัยวะต่างๆทั้ง CT, MRI ตรวจร่างกายโดยตัวหมอสันต์เอง แล้วจัดทำแผนการรักษารายคน การตัดสินใจว่าจะใช้วิธีรุกล้ำ (invasive treatment เช่นบอลลูน บายพาส) หรือจะไม่ใช้ เจาะลึกการลด ละ เลิก ยา การฟื้นฟูหัวใจ การฟื้นฟูสมอง การดูแลตัวเองในทิศทางที่มุ่งให้โรคหายสำหรับแต่ละคน ในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ให้ลด ละ เลิก ยาได้ก็จะจัดทำแผนการเลิกยาและเริ่มทำตามแผนตั้งแต่ในแค้มป์เลย

ส่วนที่ 2 เป็นการเรียนรู้รายกลุ่มโดยเจาะลึกเฉพาะโรคเรื้อรังทั้ง 8 โรค (อัมพาต หัวใจ ความดัน เบาหวาน ไขมันสูง อ้วน โรคไตเรื้อรัง โรคสมองเสื่อม) นับตั้งแต่ (1) กลไกร่วมของการเกิดโรค อันได้แก่กลไกการอักเสบของหลอดเลือด กลไกจุลินทรีย์ในลำไส้ กลไกการเผาผลาญของเซลล์ การเสียดุลยภาพของระบบประสาทอัตโนมัติ เป็นต้น (2) ปัจจัยเสี่ยง (3) อาการวิทยา (4) การวินิจฉัย (5) การรักษา รวมทั้งวิธีลดละเลิกยา

แค้มป์ RDBY28 เหมาะสำหรับใครบ้าง

แค้มป์ RDBY27 เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่วงการแพทย์ยังไม่สามารถรักษาให้หาย (ยกเว้นโรคมะเร็งซึ่งแยกไปจัดเป็นรีทรีตผู้ป่วยมะเร็งหรือ CR)

(1) โรคหลอดเลือดหัวใจ

(2) โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต)

(3) โรคความดันเลือดสูง

(4) โรคเบาหวาน

(5) โรคไขมันในเลือดสูง

(6) โรคอ้วน

(7) โรคไตเรื้อรัง

(8) โรคสมองเสื่อม

หลักสูตร (Course Syllabus) 

     1. วัตถุประสงค์

1.1 วัตถุประสงค์ในด้านความรู้
คาดหวังให้ผู้ป่วยรู้สิ่งต่อไปนี้
1.1.1 รู้กลไกพื้นฐานร่วมของโรคเรื้อรัง (1) กลไกการอักเสบของหลอดเลือด (2) กลไกจุลินทรีย์ในลำไส้ (3) กลไกการเผาผลาญของเซลล์ (4) กลไกการเสียดุลยภาพของระบบประสาทอัตโนมัติ เป็นต้น

1.1.2 รู้ปัจจัยเสี่ยงของโรคเรื้อรังแต่ละโรค

1.1.3 รู้วิธีการวินิจฉัยโรคเรื้อรังแต่ละโรคของแพทย์ และสามารถแปลผลการตรวจ เช่น EST, Echo, CAC, CTA, CAG, CT/MRI brain เป็นต้น

1.1.4 รู้แนวทางการรักษาในส่วนของแพทย์

1.1.5 รู้วิธีจัดการโรคด้วยตนเองในส่วนของตัวผู้ป่วย (1) ในแง่ของโภชนาการ (2) ในแง่ของการออกกำลังกาย (3) ในแง่ของการจัดการความเครียด (4) ในแง่ของการมีสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบตัว

1.1.6 รู้ทางเลือกวิธีรักษาทุกวิธี และรู้ประโยชน์และความเสี่ยงของแต่ละทางเลือกอย่างละเอียด
1.1.7 รู้จักยาทุกตัวที่ตนเองได้รับ ทั้งชื่อ ขนาด วิธีกิน กลุ่มยา ฤทธิ์ยา และผลข้างเคียงของยา

1.1.8 รู้วิธีจัดชั้นและประเมินหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่แพร่หลายในอินเตอร์เน็ทว่าอันไหนเป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้ระดับมากหรือระดับน้อย

1.1.9 รู้วิธีใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลผู้ป่วยบนอินเตอร์เน็ทในการติดตามดูแลสุขภาพของตนเอง
1.1.10 รู้ศักยภาพของตนเองว่าสามารถทำอะไรได้ด้วยตนเองบ้างเพื่อให้ตนเองหายจากโรค
1.2. วัตถุประสงค์ในด้านทักษะ
คาดหวังให้ผู้ป่วยสามารถทำสิ่งต่อไปนี้ด้วยตนเอง
1.2.1 บริหารจัดการโรคของตนเองได้โดยใช้ตัวชี้วัดพื้นฐาน 8 ตัว (1) น้ำหนัก (2) ความดันเลือด (3) ไขมันในลือด (4) น้ำตาลในเลือด (5) ปริมาณผักผลไม้ที่กินต่อวัน (6) เวลาออกกำลังกายต่อสัปดาห์ (7) การสูบบุหรี่ (8) การนอนหลับ
1.2.2 บริหารยาของตนเองได้ สามารถลดหรือเพิ่มยาของตนเองตามตัวชี้วัดและอาการที่เกี่ยวข้องได้

1.2.3 เลือกอาหารสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูปในตลาดที่เป็นอาหารพืชแบบไม่สกัดไม่ขัดสีและอาหาร prebiotic, probiotic ได้
1.2.4 ทำอาหารกินเองที่บ้านได้ เช่น ผัดทอดอาหารโดยใช้น้ำหรือใช้ลมร้อนแทนน้ำมันได้ อบถั่วและนัทไว้เป็นอาหารว่างเองได้ ทำเครื่องดื่มจากผักผลไม้โดยไม่ทิ้งกากด้วยตนเองได้
1.2.5 ประเมินสมรรถนะร่างกายของตนเองด้วยการสังเกตอัตราการหายใจ การนับชีพจรจากเครื่องช่วยนับ และการทำ One milk walk test ให้ตัวเองได้
1.2.6 ออกกำลังกายแบบแอโรบิกได้ด้วยตนเองได้
1.2.7 ออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยใช้ท่ากายบริหาร ดัมเบล สายยืด และกระบอง ได้ด้วยตนเอง
1.2.8 ออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัวได้ด้วยตนเอง
1.2.9 สามารถกำกับดูแลและแก้ไขท่าร่าง (posture) ในชีวิตประจำวันของตนเองได้
1.2.10 ผ่อนคลายความเครียดเฉียบพลันด้วยเทคนิคต่างๆ relax breathing ได้
1.2.11 จัดการความเครียดในชีวิตประจำวันด้วยการฝึกวางความคิดผ่านเทคนิคต่างๆเช่น นั่งสมาธิ ไทชิ โยคะ ได้
1.2.12 สามารถเปิดตัวเองออกไปมีชีวิตร่วมกับผู้อื่น มีสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบตัวได้

1.2.13 สามารถใช้ We care App ในการดูแลตนเองต่อเนื่องได้ด้วยตนเอง

1.3    วัตถุประสงค์ในด้านเจตคติ
คาดหวังให้ผู้ป่วยเกิดเจตคติต่อไปนี้
1.3.1 มีความมั่นใจว่าตนเองสามารถ (empowered) ที่จะดลบันดาลให้โรคของตัวเองหายได้
1.3.2 มีความมุ่งมั่นในพันธะสัญญา (commitment) ที่จะเป็นผู้ดูแลตนเองไม่ให้เป็นภาระแก่คนอื่น
1.3.3 มีความอยาก (motivated) ที่จะมีชีวิตอย่างมีสุขภาพดี มีความสุข

     6. ตารางกิจกรรมขณะอยู่ในแค้มป์ 

วันแรก
09.00 – 16.00     Registration and initial assessment by doctors
1) ลงทะเบียนเข้าแค้มป์
2) เช็คอินเข้าห้องพัก
3) วัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง คำนวณดัชนีมวลกาย วัด Body composition ฝึกหัดใส่ข้อมูลตัวชี้วัดเข้าเวชระเบียนส่วนบุคคลทางอินเตอร์เน็ท
4) ผลัดกันเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเป็นรายคนตามตารางเวลาที่จัดไว้ (เน้นย้ำเรื่องการพบแพทย์ตรงตามเวลาที่จัดไว้ เนื่องจากมีสมาชิกหลายท่าน)
ท่านสามารถพักผ่อนได้ตามอัธยาศัย ทางศูนย์สุขภาพ Wellness We Care Centre (WWC) มีการจัดเตรียมห้องประชุม เพื่อฉายสื่อความรู้ด้านสุขภาพในระหว่างรอคิวพบแพทย์ หากท่านต้องการนวดผ่อนคลาย ที่ WWC มีศูนย์ Herbal Treatment Centre โดยทีมแพทย์แผนไทย สามารถติดต่อขอรายละเอียดได้ที่คลินิกแผนกต้อนรับ หรือทางคลินิกแพทย์แผนไทยโดยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
15.30 – 16.00     Tea break พักดื่มน้ำชากาแฟ

16.00 – 16.30     แนะนำแคมป์สุขภาพโรคหลอดเลือดหัวใจ แนะนำการติดตั้งแอพพลิเคชั่นการติดตามตัวชี้วัดสุขภาพ (นพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล)
                            
16.30-17.10น กิจกรรมสันทนาการ : Line dance การเต้นไลน์แด๊นซ์เพื่อฝึกกล้ามเนื้อ การทรงตัว และระบบประสาท
17.10 – 19.00     cooking demonstration สาธิตสอนแสดงวิธีทำอาหารแบบพืชเป็นหลัก รูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ ไม่สกัดไม่ขัดสี ไขมันต่ำ (plant-based, whole food, low fat diet; PBWF) และรับประทานอาหารเย็น
วันที่สอง
06.45 – 7.00       BP measurement วัดความดันโลหิตตอนเช้า
(คุณโอ๋และผู้ช่วย)
07.00 – 08.00     Stretching
exercise การออกกำลังกายแบบยืดเหยียดกล้ามเนื้อ(15 นาที)
และการทดสอบพื้นฐานร่างกาย

(1) 1 minute sit-to-stand test ลุกนั่งภายใน 1 นาที (3 นาที)
(2) time up and go test การลุกเดินและวนกลับ ( 7 นาที)

(3) six-minute walk test ทดสอบสมรรถนะร่างกายด้วยวิธีเดิน 6 นาที ( 20 นาที)
08.00 – 9.30       อาหารเช้าและเวลาส่วนตัว
9.30 – 10.30       Learn from each other ทำความรู้จักกันและเรียนรู้จากโรคของกันและกัน (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ และ นพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล)
10.30 – 10.45     Tea break ดื่มน้ำชากาแฟ
10.45 – 12.00     Lecture: Pathophysiology of chronic diseases กลไกการเกิดโรคเรื้อรัง (1) กลไกการอักเสบของหลอดเลือด (2) กลไกจุลินทรีย์ในลำไส้ (3) กลไกการเผาผลาญของเซลล์ (4) กลไกการเสียดุลยภาพของระบบประสาทอัตโนมัติ
12.00 – 14.00     รับประทานอาหารกลางวันและเวลาส่วนตัว
14.00-14.30        แปลผลการทดสอบสมรรถนะ (1) Six-minute walk test, (2) One-minute sit to stand, (3) Time up and go
Workshop (1) กิจกรรมการฝึกวัดความดันเลือดด้วยตนเองอย่างถูกวิธี
14.30 – 15.30     Lecture : Hypertension โรคความดันเลือดสูง (1) กลไกการเกิดความดันเลือดสูง (2) พยาธิวิทยาของโรคความดันเลือดสูง (3) งานวิจัยการรักษาความดันเลือดสูงโดยไม่ใช้ยา (4) ชนิดของยารักษาความดันเลือดสูง กลไกการออกฤทธิ์ และผลข้างเคียง (5) การบริหารยาลดความดันรวมถึงการลดหรือเลิกยาลดความดันด้วยด้วยตนเอง (6) งานวิจัยผลของอาหารต่อโรคไตเรื้อรัง
15.30 – 16.00     Tea break ดื่มน้ำชากาแฟ
16.00 – 17.00     strengthening exercise ฝึกปฏิบัติการออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
17.00 – 19.00     cooking demonstration สาธิตสอนแสดงวิธีทำอาหารแบบพืชเป็นหลัก รูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ ไม่สกัดไม่ขัดสี ไขมันต่ำ (plant-based, whole food, low fat diet; PBWF) และรับประทานอาหารเย็น
 
วันที่สาม
06.45 – 7.00       BP measurement วัดความดันโลหิตตอนเช้า (คุณโอ๋และผู้ช่วย)
7.00 – 8.00         Stress Management การจัดการความเครียด (โยคะ สมาธิ ไทชิ) (คุณออย / นพ.สันต์)
08.00 – 10.00     อาหารเช้าและเวลาส่วนตัว
10.00 – 11.00     Lecture: Ischemic heart disease โรคหัวใจขาดเลือด (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์) (1) กลไกพื้นฐานของโรคหัวใจขาดเลือด (2) อาการวิทยาของหัวใจขาดเลือด แบบด่วน และแบบไม่ด่วน (3) การแปลผลตรวจพิเศษทางด้านหัวใจ / EST / Echo /CAC (แคลเซียมสะกอร์) / CTA / CAG (สวนหัวใจ) (4) งานวิจัยเปรียบเทียบการรักษาโรคหัวใจด้วยวิธีรุกล้ำและไม่รุกล้ำ (5) งานวิจัยการทำให้โรคหัวใจถอยกลับด้วยอาหารและการใช้ชีวิต

11.00 – 12.00     Lecture: Dyslipidemia and Obesity โรคไขมันในเลือดสูงและโรคอ้วน (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์) (1) ชนิดของไขมันในเลือด ( 2) ไขมันเลว (LDL) ชนิดอนุภาคใหญ่และชนิดอนุภาคเล็ก (3) กลไกการเกิดหลอดเลือดอักเสบตามหลังไขมันในเลือดสูง (4) กลไกการเกิดโรคอ้วน (5) กลไกการดื้อต่ออินสุลิน (6) มาตรฐานระดับไขมันในเลือด (7) ยาลดไขมันในเลือดทุกกลุ่ม กลไกการออกฤทธิ์ และผลข้างเคียง (8) วิธีบริหารยาลดไขมันในเลือด (รวมถึงการลดและเลิกยา) ด้วยตนเอง
12.00 – 14.00  รับประทานอาหารกลางวันและเวลาส่วนตัว
14.00 – 15.00     Lecture: Overview of Good health concepts Updates in Nutrition Guidelines; Plant-based, whole food, low fat diet ภาพรวมการมีสุขภาพดี และ บรรยายเรื่องโภชนาการที่มีพืชเป็นหลัก
ไม่สกัด ไม่ขัดสี
15.00 – 15.30     food shopping work shop กิจกรรมจ่ายตลาดฉลาดซื้อ
15.30 – 16.00     Tea break ดื่มชากาแฟ
16.00 – 17.00     Balance exercise การออกกำลังกายเสริมการทรงตัวและAerobic
exercise การออกกำลังกายแบบ high intensity interval training – HIIT (นพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล)
17.00 – 19.00     สาธิตสอนแสดงวิธีทำอาหารแบบพืชเป็นหลัก
รูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ ไม่สกัดไม่ขัดสี ไขมันต่ำ (Plant-based whole food low fat diet; PBWF) และรับประทานอาหารเย็น

วันที่สี่
06.45 – 7.00       BP measurement วัดความดันโลหิตตอนเช้า (คุณโอ๋และผู้ช่วย)
07.00 – 08.30     Stress management การจัดการความเครียด (Yoga, Tai Chi and meditation) (คุณออย / นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)
08.30 – 10.00     อาหารเช้าและเวลาส่วนตัว
10.00 – 10.30     Lecture : Prevention of NCDs การป้องกันโรคเรื้อรังด้วยตนเอง (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)
10.30-12.00        Q&A ตอบคำถามเจาะลึกเรื่องการจัดการโรครายคน
(นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ และนพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล)
12.00 เป็นต้นไป    ปิดแคมป์
รับประทานอาหารกลางวันและเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ
 
**** ตารางกิจกรรมอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม

การเตรียมรับภาวะฉุกเฉินขณะเข้าแค้มป์

ผู้ป่วยที่มาเข้าโปรแกรมนี้ส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วยหนัก บ้างทำผ่าตัดบายพาสมาแล้ว บ้างทำบอลลูนมาแล้วคนละครั้งสองครั้ง บ้างมีหัวใจล้มเหลวแค่เดินสองสามก้าวก็หอบหรือเจ็บหน้าอกแล้ว บ้างรอเปลี่ยนหัวใจอยู่ บ้างเพิ่งเป็นอัมพาตมา ความเสี่ยงที่จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันหรือหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันหรืออัมพาตเฉียบพลันมีอยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งขณะนั่งหรือนอนอยู่เฉยๆ ความเสี่ยงนี้ผู้ป่วยทุกคนต้องยอมรับว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ตามโรคของตัวเอง แต่ตัวหมอสันต์เองซึ่งเป็นหมอผ่าตัดหัวใจมาก่อนก็ไม่ประมาทในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย ได้เตรียมการด้านความปลอดภัยขณะเข้าแค้มป์ทุกครั้งรวมไปถึงการมีพยาบาลฉุกเฉินพร้อมอยู่ในศูนย์ตลอดเวลา มีอุปกรณ์เครื่องมือเพื่อรับมือกับภาวะฉุกเฉินได้ รวมทั้งขีดความสามารถที่จะเปิดหลอดเลือดให้น้ำเกลือหรือยาทางหลอดเลือดดำได้ทันที ขีดความสามารถที่จะใส่ท่อช่วยหายใจและช่วยการหายใจในภาวะฉุกเฉิน นอกจากนั้นยังมีขีดความสามารถที่จะช็อกไฟฟ้าหัวใจในกรณีฉุกเฉิน การประสานงานกับระบบรถฉุกเฉินและโรงพยาบาลใกล้เคียง และการมีพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติอยู่ประจำในแค้มป์ 24 ชั่วโมง มีแพทย์ที่ตามให้เข้ามาดูแลผู้ป่วยได้ในเวลา 5-10 นาทีตลอดการฝึกอบรม

ทั้งนี้อย่าได้เข้าใจผิดว่าการจะปรับวิถีชีวิตเพื่อพลิกผันโรคให้ตัวเองนั้นเป็นเรื่องอันตราย ความเป็นจริงไม่ใช่เลย การปรับการใช้ชีวิตทั้งอาหารและการออกกำลังกายเพื่อดูแลตัวเองให้ได้นั้นเป็นกลไกรักษาโรคตามธรรมชาติ มีอันตรายน้อยกว่าการรักษาด้วยยา บอลลูน หรือผ่าตัดในโรงพยาบาลอย่างเทียบกันไม่ได้ แต่ทางแค้มป์เตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยในแค้มป์ให้มากเข้าไว้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยหนักซึ่งเป็นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการเข้าแค้มป์ มาเข้าแค้มป์ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ปลอดภัยเท่าอยู่ในบ้านตัวเองเท่านั้น

ระยะก่อนเข้าแค้มป์ (Pre-camping preparation) 

ผู้ป่วยทุกท่านที่ได้รับเข้าโปรแกรมแล้ว จะต้องจัดส่งข้อมูลโรคของตนมาให้หมอสันต์วิเคราะห์ล่วงหน้าก่อนวันมาแค้มป์ โดยส่งข้อมูลมาทางคุณสายชล (โอ๋) พยาบาลประจำแค้มป์ ที่อีเมล totenmophph@gmail.com โดยอย่างน้อยต้องส่งข้อมูลพื้นฐานซึ่งจำเป็นต้องใช้ต่อไปนี้มา คือ

(1) ชื่อ นามสกุล
(2) วันเดือนปีเกิด
(3) เพศ
(4) เบอร์โทรศัพท์มือถือ
(5) อีเมลแอดเดรส
(6) เลขบัตรประจำตัวประชาชน
(7) ส่วนสูง
(8) น้ำหนัก
(9) ความดันเลือด
(10) น้ำตาลในเลือด (FBS) หรือน้ำตาลสะสม (HbA1C)
(11) ไขมันเลว (LDL)
(12) ตัวชี้วัดการทำงานของไต (eGFR หรือ Cr)
(13) เอ็นไซม์แสดงการทำงานของตับ (SGPT)
(14) การวินิจฉัย (ชื่อ) โรคทุกโรคที่รักษาอยู่ในปัจจบัน
(15) อาการป่วยทุกอาการที่มีในปัจจุบัน
(16) ยาทุกตัวที่กินอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งขนาด และวิธีกิน
(17) ผลการตรวจจำเพาะต่างๆ ถ้ามี เช่น ผลการตรวจเลือดอื่นๆ ภาพเอ็กซเรย์ปอด ผลตรวจสมรรถนะหัวใจ (EST) คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ผลการตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยคอมพิวเตอร์ (CTA) ผลการตรวจสวนหัวใจ (CAG) ผลการตรวจผลการตรวจ CT สมอง โดยกรณีเป็นภาพหากส่งเป็นไฟล์ดิจิตอลได้ก็จะเป็นพระคุณ แต่หากส่งไม่ได้จะเอาโทรศัพท์ถ่ายแล้วส่งไฟล์รูปมาก็ได้ กรณีเป็นใบรายงานผลให้เอาโทรศัพท์ถ่ายใบรายงานแล้วส่งไฟล์มาก็ได้
(18) คำบอกเล่าลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน เน้นที่
– การบรรยายลักษณะอาหารที่กินแต่ละมื้อทุกมื้อ
– การออกกำลังกายที่ทำในแต่ละวัน
– วิธีจัดการความเครียดที่ใช้อยู่ประจำ
– ความกังวล (concern) ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ หากมีอยู่ในใจก็ให้แจ้งมาให้หมอสันต์ทราบด้วย

สถานที่เรียน

Wellness we care center เวลเนสวีแคร์เซ็นตเตอร์ (มวกเหล็ก-เขาใหญ่)

วันเวลาสำหรับแค้มป์ RDBY-28

วันที่ 13-16 กย. 66

จำนวนที่รับเข้าแค้มป์ RDBY-28

รับจำนวนจำกัด 15 คน

ค่าลงทะเบียน

25,000 บาทสำหรับผู้เข้าแค้มป์

15,000 บาทสำหรับผู้ติดตาม (พักห้องเดียวกันกับผู้เข้าแค้มป์)

   ราคานี้ไม่ครอบคลุมถึงค่าเดินทางไปและกลับระหว่างบ้านของท่านกับเวลเนสวีแคร์ (ผู้ป่วยไปเองกลับเอง) ไม่ครอบคลุมค่ายาและค่ารักษาพยาบาลส่วนบุคคลของแต่ละท่าน ไม่ครอบคลุมบริการพิเศษที่ท่านเลือกใช้เช่นการนวดบำบัดต่างๆ

กรณีเป็นผู้ติดตาม ผู้ดูแลหรือ caregiver จะต้องลงทะเบียนเป็นผู้ติดตาม ราคานี้รวมค่ากิน ค่าอยู่ ค่าที่พักห้องเดียวกับผู้ป่วยของตน ค่าเข้าร่วมเรียนและร่วมทำกิจกรรมทุกอย่างในแค้มป์ แต่ไม่ได้เข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจร่างกายและไม่ได้ร้บการประเมินปัญหาสุขภาพของตนโดยแพทย์ และไม่มีรายงานสรุปปัญหาสุขภาพโดยแพทย์ในเฮลท์แดชบอร์ด

ในทุกกรณีเมื่อได้ที่นั่งแล้ว จะต้องโอนเงินค่าลงทะเบียนเข้าบัญชี ธนาคารกสิกรไทย สาขาสมุทรปราการ ชื่อบัญชี  บริษัท เมก้า วี แคร์ จำกัด เลขที่บัญชี 007-368-5478 ภายใน 24 ชั่วโมงหลังได้สำรองที่เรียนแล้ว หากพ้น 24 ชั่วโมงไปแล้วถือว่าสละสิทธิ์ ที่นั่งที่สำรองไว้ให้ท่านจะถูกคอมพิวเตอร์ตัดไปจัดสรรไปให้ผู้อื่นโดยอัตโนม้ติ

การสอบถามข้อมูลและลงทะเบียน

สอบถามข้อมูลหรือลงทะเบียนได้ที่ เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ โทร : 063-6394003 หรือ Line ID : @wellnesswecare หรือ คลิก https://lin.ee/6JvCBsf CBsf 

(นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)

[อ่านต่อ...]

28 กรกฎาคม 2566

การพูดคุยแบบสร้างแรงบันดาลใจ (Motivational Interviewing - MI)

(ภาพวันนี้ / ดอกรวงผึ้ง กับลูกค้าที่แห่เข้ามาใช้บริการ)

หมอสันต์สอนผู้มาเข้าอบรมแค้มป์โค้ชสุขภาพ (Camp For Coach) ที่เวลเนสวีแคร์ เรื่องการช่วยผู้ป่วยให้เลิกนิสัยเก่าสร้างนิสัยใหม่

การช่วยคนให้เปลี่ยนนิสัยสำเร็จเป็นเรื่องใหญ่และเป็นสาขาหนึ่งของวิชาแพทย์ เรียกว่าเวชศาสตร์การเปลี่ยนนิสัย (Behavior Medicine) มีหลายทฤษฎี หลายวิธี ที่งานวิจัยบ่งชี้ว่าใช้ได้ผลดีมีประมาณสิบทฤษฎีหรือสิบวิธี เราจะค่อยๆเรียนรู้ ค่อยๆทำความรู้จักกับมันไปทีละวิธี วันนี้เราจะเรียนวิธีที่เรียกว่า “การพูดคุยแบบสร้างแรงบันดาลใจ (Motivational Interviewing – MI)” ซึ่งเป็นทฤษฎีใหม่ แต่มีงานวิจัยเปรียบเทียบจำนวนไม่ต่ำกว่า 180 งานรองรับว่าใช้เปลี่ยนนิสัยคนได้ผลดีมาก มีอัตราความสำเร็จเฉลี่ยสูงถึง 63%

MI คืออะไร

สมัยก่อนเราช่วยผู้ป่วยให้เปลี่ยนนิสัยโดยการ “สอน” หรือ “สั่ง” หรือ “บอก” ให้ทำ ถ้าผู้ป่วยไม่ทำเราก็สรุปเอาดื้อๆว่าผู้ป่วยไม่สนใจ ขาดความบันดาลใจ ไม่ร่วมมือ เสร็จแล้วหลังจากนั้นชีวิตของทั้งสองฝ่ายก็ผ่านไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ชีวิตเราในฐานะโค้ชก็สูญเปล่าเพราะเราทำงานแล้วแต่งานไม่สำเร็จ MI เป็นวิธีโค้ชแบบใหม่ที่เกิดขึ้นมาแทนวิธีเก่าที่ล้มเหลวซ้ำซาก

MI ย่อมาจาก Motivational Interviewing ซึ่งแปลว่า การพูดคุยแบบสร้างแรงบันดาลใจ มีเอกลักษณ์ว่าเป็นวิธีโค้ชในลักษณะพูดคุยกันแบบเสมอภาคกัน ยอมรับกัน เมตตาต่อกัน และมีเทคนิคแหย่เอาพลังฮึดของผู้ป่วยให้ฉายแสงออกมา

MI ก่อกำเนิดขึ้นมาจากงานรักษาผู้ป่วยติดยาเสพติด เป็นการค้นพบโดยบังเอิญขณะประมวลผลวิดิโอคลิปในงานวิจัยการใช้เครื่องมืออย่างอื่นช่วยผู้ติดยาเสพติดให้ตัดยาได้ แล้วพบว่าตัววิธีการที่งานวิจัยนั้นตั้งใจจะประเมินไม่ช่วยให้ผู้ติดยาเลิกเสพย์ยาได้เลย แต่ว่าคำพูดบางคำ ท่าทีบางแบบของแพทย์ที่ให้ความเห็นอกเห็นใจ กลับมีความสัมพันธ์กับความสำเร็จในการตัดยาอย่างชัดเจน ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นโดยไม่ต้องรอให้ผู้ป่วยมีพลังหรือมีความพร้อมใดๆเลย แค่ช่วยเสริมความบันดาลหรือความพร้อมให้เกิดขึ้นมาจากข้างในใจของผู้ป่วยก็นำไปสู่ความสำเร็จแล้ว เท่ากับว่าความรับผิดชอบของโค้ชมีแค่การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยเท่านั้น ไม่ต้องไปพะวงถึงผลลัพท์สุดท้ายว่าผู้ป่วยจะเปลี่ยนนิสัยได้จริงหรือไม่เลย เพราะเมื่อใดที่ผู้ป่วยเขาคิดจะทำของเขาเองขึ้นมา การเปลี่ยนนิสัยที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้นเอง

“จะเปลี่ยน” หรือ “จะไม่เปลี่ยน”

ในคำพูดของผู้ป่วย จะมีคำพูดโผล่ออกมาสองขั้วเสมอ คือคำพูดแนว “จะเปลี่ยน (change talk)” และ “จะไม่เปลี่ยน (sustain talk)” และมักกลับไปกลับมาระหว่างสองขั้วนี้ ตรงกลางระหว่างสองขั้วนี้คือความรู้สึกลังเลสงสัย (ambivalence) เมื่อ “จะเปลี่ยน” โผล่ขึ้นมา ก็ดึงผู้ป่วยไปทางจะเล่นด้วยเอาด้วย (engage) กับการสร้างนิสัยใหม่ที่ดี ในทางกลับกัน เมื่อ “จะไม่เปลี่ยน” โผล่ขึ้นมา ก็จะดึงผู้ป่วยไปทางที่จะติดหล่ม (stuck) อยู่กับนิสัยที่ทำให้ป่วยเดิมๆอีกต่อไป ยุทธศาสตร์ที่โค้ช MI ใช้คือต้องแหย่ (evoke) เสริม ชี้ จุดประกาย ให้คำพูดด้าน “จะเปลี่ยน” พร่างพรูออกมาจากปากของผู้ป่วยเอง ขณะที่หาทางย่นย่อคำพูดด้าน “จะไม่เปลี่ยน” ให้หดหายหรือหมดพลังลงไป คือโค้ชเป็นผู้ชักชวนผู่ป่วยให้สำรวจเข้าไปในความลังเลสงสัยของตัวเอง แล้วให้ผู้ป่วยค้นพบเหตุผลที่ “จะเปลี่ยน” ด้วยตัวเอง

CAPE สี่ยุทธศาสตร์ของ MI

ยุทธศาสตร์ของเทคนิค MI มีสี่ประการ คือ

Compassion (เมตตาธรรม) ซึ่งมีความหมายในทางปฏิบัติรวมไปถึง (1) ความเชื่อถือกัน (2) การสัมพันธ์กันในเชิงใส่ใจดูแล (3) การฟังอย่างตั้งใจ (4) การสรุปความคำพูดผู้ป่วยอย่างเที่ยงตรงจริงใจ (5) การพยุงทางจิตวิทยา

Acceptance (การยอมรับ) ซึ่งหมายความในทางปฏิบัติรวมไปถึง (1) การยอมรับตัวผู้ป่วยอย่างที่เขาเป็น (2) การยอมรับวิถีที่ผู้ป่วยตัดสินใจเลือก (respect) (3) การยอมรับขีดความสามารถของผู้ป่วย (4) การไม่พิพากษาผู้ป่วยว่าไม่ดี คือต้องมองผู้ป่วยในทางบวกอย่างไม่มีเงื่อนไข (absolute worth)

Partnership (การเป็นหุ้นส่วนกันแบบเสมอภาค) หุ้นส่วนนี้ประกอบขึ้นจากผู้เชี่ยวชาญสองฝ่าย คือ “โค้ช” ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการช่วยคนเปลี่ยนนิสัยให้สำเร็จ ฝ่ายหนึ่ง กับ “ผู้ป่วย” ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องชีวิตของตัวผู้ป่วยเองและนำวิธีเปลี่ยนนิสัยลงปฏิบัติในชีวิตเขาเอง โค้ชจะต้องไม่ก้าวล่วงไปชี้นำในเรื่องที่ผู้ป่วยชำนาญกว่าตัวโค้ชเอง

Evocation (แหย่ให้พูดออกมาเอง) คือการที่โค้ช แหย่ ชี้ เปิด จุดประกาย ราดน้ำมัน ให้ผู้ป่วยเห็นเหตุผลของตัวเองว่าทำไมต้องเปลี่ยนนิสัย เหตุผลนั้นผู้ป่วยมีของตัวเองอยู่แล้ว โค้ชแค่เอาไฟฉายส่องให้ผู้ป่วยมองเห็น เป็นการเสริมด้าน “จะเปลี่ยน” ให้โดดเด่นขึ้นมา ขณะเดียวกันก็กดด้าน “จะไม่เปลี่ยน” ให้ฝ่อไปด้วยในตัว

OARS สี่ทักษะของ MI

ในการจะนำเทคนิคนี้มาใช้ โค้ชจะต้องเรียนรู้ทักษะสี่ประการของ MI ให้ช่ำชองก่อน คือ

ทักษะ 1. Open questions การตั้งคำถามแบบเปิด ไม่ถามตะล่อมเพื่อเอาคำตอบที่ผู้ถามอยากได้ เปิดใจรับคำตอบที่มาจากใจของผู้ป่วยซึ่งอาจไม่ได้อย่างใจของผู้ถาม

ทักษะ 2. Affirmation การชี้จุดแข็ง ตรงนี้แตกต่างจากการรักษาโรคทั่วไปที่แพทย์มีหน้าที่คอยชี้จุดอ่อน ชี้จุดที่ป่วย ชี้จุดที่ต้องแก้ไข แต่การเปลี่ยนนิสัยตามแบบ MI ต้องชี้แต่จุดแข็ง โค้ชต้องมองหาจุดแข็งและความสำเร็จในอดีตของผู้ป่วย แล้วเปิดประเด็นขึ้นมา เช่นโค้ชอาจพูดว่า

ผมเห็นแล้วคุณมีความพยายามสูงมาก”

“คุณสู้กับมันมานานแล้วจริงๆ แต่คุณก็ทนมันได้อย่างเหลือเชื่อ”

“ผมเห็นแล้วคุณเป็นแมวเก้าชีวิต ล้มแล้วลุกได้ ตั้งหลายครั้ง” เป็นต้น

การชี้จุดแข็งจะเป็นการเสริมความนับถือตัวเอง (self esteem) และความเชื่อในความสามารถของตัวเอง (self efficacy) ซึ่งสองอย่างนี้ไม่ได้เกิดจากการรับรองหรือเยินยอ เพราะการยอไม่ใช่การชี้จุดแข็ง และมีผลเสียตรงที่จะกดดันผู้ป่วยว่าต้องทำให้ได้ตามความคาดหวังของแพทย์

ทักษะ 3. Reflections การจับสาระเอากลับมาพูดซ้ำ เป็นเทคนิคที่แสดงว่าโค้ชเข้าใจและเข้าถึงสิ่งที่อยู่ในใจของผู้ป่วย ด้วยการจับใจความสำคัญว่าผู้ป่วยคิดอย่างไร แล้วพูดสาระนั้นออกมาเป็นภาษาพูดหรือสำนวนของโค้ชเองเป็นเชิงให้ผู้ป่วยตรวจสอบซ้ำว่าถูกต้องไหม แต่มันมีผลเพิ่มความสำเร็จของการเปลี่ยนนิสัย การจะทำอย่างนี้ได้ โค้ชต้องใช้เทคนิคฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) และปรับคำพูดใหม่ให้เป็นของตัวเอง ไม่ใช่การคัดสำเนาคำพูดของผู้ป่วยมาพูดซ้ำซึ่งน่าเบื่อหน่าย จะให้ดีการจับสาระควรมองลึกไปถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ในใจผู้ป่วยแล้วหยิบสาระนั้นออกมา เช่น

ผู้ป่วย “เรื่องกินขนมหวานผมก็อยากจะเลิกอยู่ แต่เวลาผมทำงานตอนดึกมันทั้งเครียดทั้งโหยเลยนะ”

แพทย์ “งานของคุณมันเครียด จนคุณเป็นห่วงว่าถ้าเลิกกินของหวานไปเสียคุณจะรับมือกับความเครียดไม่ไหว”

เป็นต้น

ทักษะ 4. Summarizing การสรุปร่วมกัน การจับสาระเอาสิ่งที่ผู้ป่วยพูดออกมากลับมาพูดให้ฟังซ้ำเป็นการสรุปร่วมกันที่ดีโดยตัวของมันเองระดับหนึ่งแล้ว แต่การสนทนากันเป็นเวลานานอาจมีประเด็นปลีกย่อยแตกออกไปมาก โค้ชต้องชวนให้ผู้ป่วยสรุปทุกประเด็น โดยหาวิธีให้ผู้ป่วยรู้ว่านี่เป็นการสรุป เช่น

“เท่าที่คุยกันมา ความเข้าใจของผมโดยรวมก็คือ..”

และก่อนจบการสนทนาควรถามปลายเปิด เช่น

“มีอะไรที่ผมควรรู้อีกไหมครับ”

EFEP สี่ขั้นตอนปฏิบัติของ MI

ประโยชน์ที่จะเกิดกับตัวเอง และปัจจัยในตัวที่จะเอื้อให้ทำสำเร็จ (empowering) (3)

Engaging “เล่นด้วย” ในขั้นนี้เสมือนเป็นการตั้งเวทีประชุมความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายขึ้นก่อน ประมาณว่า “เราจะพายเรือไปด้วยกัน” เป็นการสร้างสัมพันธภาพเพื่อทำงานร่วมกัน (working relationship) ไม่ใช่การตั้งโต๊ะอบรมสั่งสอนหรือวิเคราะห์จิตหรือค้นหาความจริงโดยผู้เชี่ยวชาญ เพราะงานเปลี่ยนนิสัยจะใช้บทบาทแบบผู้เชี่ยวชาญนั้นไม่เหมาะแน่ การมาเล่นด้วยกันต้องไม่สั่ง ไม่เตือน ไม่ขู่ ไม่แนะนำ ไม่เล็คเชอร์ ไม่ชี้ทางออก ไม่เถียงผู้ป่วย ไม่เห็นแย้ง ไม่พิพากษา ไม่วิจารณ์ ไม่ตำหนิ ไม่ตกลง ไม่อนุมัติ ไม่ถากถาง ไม่หมายหัว ไม่ถามแยง ไม่เห็นเป็นเรื่องตลก ไม่หันหลังให้ ไม่เปลี่ยนเรื่องกลางคัน แต่ก็ไม่ตั้งหน้าตั้งตาเก็บข้อมูลจนลืมสร้างความเชื่อมโยงหรือฉายไฟฉายให้ผู้ป่วยเห็นเหตุผลและความตั้งใจของผู้ป่วยเอง

Focusing “มุ่งไปที่เดียวกัน” เมื่อผูกมิตรตกลงลงเรือลำเดียวกันช่วยกันพายเรือแล้ว ขั้นต่อไปก็คือการมุ่งหน้าไปที่เดียวกัน นั่นคือชวนให้ผู้ป่วยเรียงลำดับความสำคัญแล้วเลือกหยิบสักเรื่องหนึ่งขึ้นมาทำก่อน

Evoking “แหย่ให้พูดเองว่าทำไมจะเปลี่ยน” พอมุ่งมั่นจะเปลี่ยนนิสัยแล้ว เป็นธรรมดาที่มักจะยังไม่วายมีความลังเล งานวิจัยพบว่ายิ่งโค้ชแหย่ ผลักดัน ยืนยัน ไปทาง “จะเปลี่ยน” มากกว่า “จะไม่เปลี่ยน” ได้มากเท่าใดการเปลี่ยนนิสัยก็ยิ่งมีโอกาสสำเร็จมากเท่านั้น ตัวโค้ชเองต้องมีสติจดจ่อรอจังหวะที่คำพูดแนว “จะเปลี่ยน” โผล่ขึ้นมาแล้วฉวยโอกาส “งับ” เสริมต่อยอดได้ทันที

Planning “จัดทำแผน” เมื่อบรรยากาศออกไปทางจะเปลี่ยนโน่นนี่นั่นพร่างพรูดีแล้วโค้ชมีหน้าที่เก็บรวบรวมประเด็นทั้งหมดแล้วยื่นกลับไปให้ผู้ป่วยเหมือนกอบดอกไม้เป็นกำมือยื่นให้ผู้ป่วยเลือกลำดับความสำคัญเอาสิ่งที่ผู้ป่วยเห็นว่าจำเป็นขึ้นมาวางแผนทำก่อน การวางแผนเป็นการทำร่วมกัน อาจใช้วิธีวางแผนแบบ SMART goal ซึ่งเป็นวิธีที่แพร่หลายดีแล้ว คำว่า SMART เป็นคำย่อของคำสำคัญห้าคำคือ (1) Specific (ทำอะไร), (2) Measurable (วัดอย่างไร), (3) Achievable (ทำสิ่งที่ทำได้จริง) , (4) Relevant (ทำสิ่งที่จำเป็นต้องทำ), (5) Time bound (เริ่มเมื่อไหร่จบเมื่อไหร่)

ทั้งหมดนั้นคือศาสตร์ของการสื่อสารแบบสร้างแรงบันดาลใจ (Motivational Interviewing-MI) ที่ผมต้องการให้ทุกคนเอาไปฝึกใช้ขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นโค้ชช่วยให้ผู้ป่วยเปลี่ยนนิสัยของเขาให้สำเร็จ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

27 กรกฎาคม 2566

ต่อมลูกหมากโต ฉี่ขัด แต่ยายังเอาอยู่ ควรผ่าตัดดี หรือควรกินยาดี

(ภาพวันนี้ / ศิลปะแบบปล่อยปละละเลย)

เรียนคุณหมอสันต์

ผมอายุ 63 ปี ปัสสาวะติดขัด ไปหาหมอ หมอใช้นิ้วล้วงทวารหนัก บอกว่าเป็นต่อมลูกหมากโต ให้ยามากิน อาการดีขึ้นเล็กน้อย ตอนหลังหยุดกินยา (กลัวมีผลต่อไต) ประมาณ 4 เดือน จนรู้สึกว่าปัสสาวะติดขัดหนักกว่าก่อนไปหาหมอ คือตอนถ่ายปัสสาวะจะเจ็บปวดมาก ถ่ายไม่ค่อยออก เลยต้องกลับมากินยาอีก ตอนนี้อาการดีขึ้นครับ ถามคุณหมอว่าผมควรจะกินยาไปเรื่อยๆ (น่าจะตลอดชีวิต) หรือผ่าตัดดีครับ

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดีของหมอสันต์ คลิกภาพดูรายละเอียดได้

…………………………………….

ตอบครับ

ประเด็นการวินิจฉัย โรคที่คุณเป็นคือต่อมลูกหมากโตโดยมีอาการปัสสาวะลำบาก (lower urinary tract symptoms – LUTS) ร่วมด้วย อาการนั้นคุมอยู่ได้ด้วยยา

ประเด็นการรักษา ถามว่า ควรกินยาเรื่อยไปหรือผ่าตัดดี ตอบว่า ตราบใดที่ยายังคุมอาการได้ดีอยู่ ก็ควรกินยาต่อไป ยี่สิบปีสามสิบปีไม่ซีเรียส แต่ถ้ายาเอาไม่อยู่ก็ต้องทำการรักษาแบบรุกล้ำ (ผ่าตัด) ไม่แบบใดก็แบบหนึ่ง แต่หากยาคุมอาการได้ไม่มีใครแนะนำให้ผ่าตัดหรอกครับ ตัวหมอเองเมื่อเป็นก็ไม่ยอมผ่าตัด ผมเคยเห็นหมอศัลยกรรมปัสสาวะที่เป็นโรคนี้มีอาการมากจนนั่งประชุมอยู่ครึ่งวันท่านเดินเข้าห้องน้ำนับสิบครั้งแต่ท่านก็ไม่ยอมผ่าตัด ผมเห็นว่าการผ่าตัดควรจะทำแบบเป็นไม้สุดท้ายเท่านั้น เพราะการผ่าตัดมีภาวะแทรกซ้อนที่ผู้ป่วยมักรับไม่ได้ เช่น ปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ นกเขาไม่ขัน เป็นต้น

ประเด็นการรักษาด้วยยา ยารักษาต่อมลูกหมากโตให้หายยังไม่มี มีแต่ยาบรรเทาอาการ ซึ่งแบ่งเป็นสองชนิด คือ

1.. ยาคลายกล้ามเนื้อหูรูดท่อปัสสาวะ เช่นยา terazosin (Hytrin) หรือ tamsulosin (Flowmax) ยาในกลุ่มนี้ผมแนะนำไม่เหมือนหมอคนอื่น คือผมแนะนำว่ากินบ้างไม่กินบ้างหรือกินๆหยุดๆก็เป็นลูกเล่นที่ดีเหมือนกัน เพราะยาคลายกล้ามเนื้อหูรูดต่อมลูกหมากออกฤทธิ์ผ่านระบบประสาทอัตโนมัติ หากขยันกินต่อเนื่องร่างกายจะค่อยๆปรับตัวสู้กับยาทำให้ต้องใช้ยามากขึ้นๆ ทำให้เกิดการด้านยา (drug tolerance) หากหยุดยาไปสักพักแล้วกลับมากินใหม่ก็จะกลับได้ผลดีอีกครั้ง

2.. ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย เช่นยา dutasteride (Avodart) ยาในกลุ่มนี้การกินต่อเนื่องจะให้ผลดีกว่าการกินๆหยุดๆ เพราะยิ่งหยุดฮอร์โมนเพศชายได้ดี ยิ่งเบรคต่อมลูกหมากไม่ให้โตได้มาก

ประเด็นอาหารรักษาต่อมลูกหมากโต นอกจากยาแล้วอาหารอุดมผักผลไม้มีผลลดอาการต่อมลูกหมากโตได้มากกว่าอาหารที่มีผักผลไม้น้อย งานวิจัยที่ฮ่องกงซึ่งติดตามชายจีนอายุ 65 ปีขึ้นไปจำนวน 1998 คน เป็นเวลานาน 4 ปีพบว่ากลุ่มที่กินผักผลไม้มาก (มากกว่า 350 กรัมต่อ 1000 แคลอรี่) มีอาการต่อมลูกหมากโตน้อยกว่าและอาการเดินหน้าช้ากว่ากลุ่มที่กินผักผลไม้ปานกลาง ขณะที่อาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศนั้นไม่ต่างกัน

ประเด็นสมุนไพรรักษาต่อมลูกหมากโต สมุนไพรรักษาต่อมลูกหมากแบบอัดเม็ดใส่ขวดขายนั้นเป็นที่นิยมใช้กันมากทั่วโลก แต่ยังไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์รองรับว่าได้ผลจริงจังเลยแม้แต่ตัวเดียว ตัวที่เด่นที่สุดคือ Saw palmetto ตัวรองลงไปก็เช่น Beta-sitosterol, Pygeum, Stinging nettle เป็นต้น หากคุณอยากทดลองใช้สมุนไพรก็ลองได้โดยเสี่ยงคุณเอาเอง ตาดีได้ ตาร้ายเสีย ข้อมูลวิทยาศาสตร์ยังมีไม่มากพอที่จะสรุปอะไรได้เป็นตุเป็นตะ

ประเด็นต่อมลูกหมากโตกับวิตามินดี.ต่ำ เรื่องที่น่าสนใจอีกอย่างคืองานวิจัยพบว่าคนเป็นต่อมลูกหมากโตมีวิตามินดีต่ำกว่าคนที่ไม่เป็นต่อมลูกหมากโต ไม่มีใครทราบว่ามันเกี่ยวกันอย่างไร แต่ผมแนะนำให้คุณเจาะดูระดับวิตามินดี หากต่ำกว่าปกติก็ควรขวานขวายออกแดดหรือกินวิตามินดี.เสริมก็ไม่เสียหลาย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Liu ZM, Wong CKM, Chan D, Tse LA, Yip B, Wong SY. Fruit and Vegetable Intake in Relation to Lower Urinary Tract Symptoms and Erectile Dysfunction Among Southern Chinese Elderly Men: A 4-Year Prospective Study of Mr OS Hong Kong. Medicine (Baltimore). 2016 Jan;95(4):e2557. doi: 10.1097/MD.0000000000002557. PMID: 26825896; PMCID: PMC5291566.
  2. Espinosa G, Esposito R, Kazzazi A, Djavan B. Vitamin D and benign prostatic hyperplasia — a review. Can J Urol. 2013 Aug;20(4):6820-5. PMID: 23930605.
[อ่านต่อ...]

25 กรกฎาคม 2566

หมอสันต์ให้สัมภาษณ์สื่อเรื่องการสร้างแพทย์รุ่นใหม่เพื่อมาทำงานทางด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิต

(ภาพวันนี้ / ท้องฟ้าสีแปลกก่อนฝนมา)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ให้สัมภาษณ์สื่อ เรื่องการวางพื้นฐานสร้างทิศทางอนาคตให้ “เวชศาสตร์วิถีชีวิต” ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 กค. 66

“..ผมเริ่มมองเห็นมาตั้งหลายสิบปีแล้วว่าทิศทางที่วงการแพทย์เรามุ่งหน้าไปด้วยการมุ่งให้การรักษา ให้ยาผ่าตัด โดยเอาโรงพยาบาลเป็นฐานที่มั่นที่ตั้งรับนั้นมันไปไม่รอดดอก เพราะมันเป็นระบบที่กินทรัพยากรณ์ระดับล้างผลาญเลยทีเดียวแต่ก็ยังแก้ปัญหาโรคเรื้อรังซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพหลักของยุคสมัยนี้ไม่ได้ ตอนนั้นผมเองก็คิดไม่ออกว่าจะเอาวิธีไหนมาแก้ปัญหาโลกแตกนี้

คัมภีร์สุขภาพดี หนังสือเล่มใหม่ของหมอสันต์ สนใจคลิกดูในภาพได้

จนกระทั่งเมื่อราวสิบห้าปีก่อนเมื่อตัวผมเองป่วยเป็นโรคหัวใจเสียเอง แล้วประสบความสำเร็จจากการรักษาโรคของตัวเองด้วยการเปลี่ยนวิธิกินอาหารและวิธีใช้ชีวิต ประกอบกับหลักฐานวิจัยสนับสนุนเริ่มทะยอยออกมามากขึ้นๆว่าการเปลี่ยนวิถีชีวิตสามารถป้องกันและรักษาโรคเรื้อรังได้ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ ความดัน เบาหวาน โรคสมองเสื่อม โรคมะเร็ง เป็นต้น ผมจึงมั่นใจว่าแนวทางเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) ซึ่งมุ่งสอนให้ผู้ป่วยและคนทั่วไปให้เปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยตัวเขาเองนี่แหละ เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืนตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

เมื่อเชื่อมันอย่างนี้ ผมจึงเลิกทำงานผ่าตัดหัวใจ หันทำแต่เรื่องนี้เรื่องเดียวแบบแหกคอกออกมาทำตั้งแต่นั้นตลอดสิบห้าปีที่ผ่านมา โดยทำในรูปแบบคลินิกให้คำแนะนำคนไข้อยู่ในโรงพยาบาลได้หลายปีแล้วก็สรุปว่ามันส่งผลต่อผู้ป่วยจำนวนน้อยไม่ทันใจ จึงเปลี่ยนวิธีมาตั้ง “เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์” ขึ้นเป็นฐานในการฝึกอบรมผู้ป่วยและคนทั่วไปมาจนถึงทุกวันนี้ นับถึงวันนี้เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ดำเนินการมาได้เกือบสิบปีแล้ว โดยมีผมเป็นแพทย์หลักอยู่คนเดียว มุ่งให้การสอนคนทั่วไปและตัวผู้ป่วยโดยตรง มีบ้างที่จัดฝึกอบรมแพทย์แต่ก็เป็นส่วนน้อย

แต่ว่าวันนี้ผมอายุได้เจ็ดสิบขึ้นแล้ว มันจำเป็นต้องมองไปในอนาคตว่าทำอย่างไรจะทำให้ “เวชศาสตร์วิถีชีวิต” นี้มันแทรกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง และเป็นส่วนสำคัญของการแพทย์ไทยให้ได้

ในด้านหนึ่ง ตัวผมเองดึงแพทย์รุ่นใหม่ๆในระดับที่เป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆอยู่แล้วเช่นเป็นหมอเบาหวานบ้าง เป็นหมอเวชศาสตร์ครอบครัวบ้าง ให้หันมาเรียนรู้ฝึกปฏิบัติทำการสอนแนวทางเวชศาสตร์วิถีชีวิต ทั้งโดยผสานแนวทางนี้เข้าไปในการดูแลผู้ป่วยของเขาซึ่งเขาดูแลอยู่แล้วตามปกติ ทั้งโดยสอนคนทั่วไปให้รู้จักการเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง ผมได้รวบรวมทีม หรือสร้างทีมแพทย์รุ่นใหม่ที่สนใจทางด้านนี้ขึ้นมา ชักชวนให้น้องๆแพทย์เหล่านั้นให้ขยันแวะเวียนผลัดกันมาให้ความรู้กับผู้ป่วยที่มาเข้าแค้มป์สุขภาพที่เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ นัดกินข้าวคุยเชิงวิชาการกันเป็นครั้งคราว กระตุ้นให้พวกเขานำหลักเวชศาสตร์วิถีชีวิตไปใช้กับการดูแลผู้ป่วยในคลินิกปกติของพวกเขาด้วย ในรูปแบบที่เรียนรู้ร่วมกันไป สอนคนไข้ร่วมกันไป ทำวิจัยร่วมกันไป คล้ายๆกับเป็น fellowship program เมื่อผมเกษียณหยุดทำงานไปแล้ว เหล่าน้องๆแพทย์ผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่เหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการสืบทอดหลักวิชาเวชศาสตร์วิถีชีวิตนี้ให้มีผลป้องกันและพลิกผันโรคเรื้อรังแก่ผู้คนในวงที่กว้างออกไปๆไม่รู้จบ

นอกจากการคิดสร้างทีมแพทย์แล้ว ผมยังให้เวลากับการสร้างบุคลากรผู้ช่วยแพทย์ด้วย ที่เราเรียกรวมๆว่า health care provider (HCP) ทุกวันนี้ที่ทำงานอยู่กับผมระดับที่จบปริญญาตรีขึ้นไปมีราวสิบคน ผมให้ทุกคนเข้าโปรแกรมฝึกอบรมต่อเนื่องที่จัดขึ้นภายในโดยผมสอนเอง เพื่อให้ทุกคน “ครบเครื่อง” ในเรื่องเวชศาสตร์วิถีชีวิต สามารถคุยกับผู้ป่วยให้คำแนะนำผู้ป่วยในเรื่องนี้ได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกกำลังกาย การทำอาหาร เป็นต้น แม้ในอนาคตเมื่อเขาหรือเธอย้ายไปทำงานที่อื่นแล้วสิ่งนี้จะติดตัวพวกเขาไปสร้างประโยชน์ให้ผู้ป่วยได้ไม่รู้จบ

ในอีกด้านหนึ่ง สำหรับแพทย์จบใหม่ที่ยังไม่ได้เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาใด แพทยสภาเองก็ได้อนุมัติให้มีการฝึกอบรมหลักสูตรสามปี (resident training) เพื่อนำไปสู่การสอบรับวุฒิบัตรเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นสาขาใหม่ล่าสุดที่เปิดให้มีการฝึกอบรม โดยเริ่มการฝึกอบรมกันที่กรมอนามัยเป็นแห่งแรก นับเป็นการเริ่มต้นแผ้วถางทางอย่างสวยงามมากๆ เพราะจะทำให้แพทย์จบใหม่ที่สนใจทางนี้มีที่ฝึกอบรมให้ได้วุฒิบัตรที่ทั้งทางราชการและเอกชนยอมรับให้เอามาปรับเงินเดือนได้เหมือนผู้เชี่ยวชาญการแพทย์สาขาอื่น

ท้งสองด้านนี้ จะเป็นพลังทำให้เวชศาสตร์วิถีชีวิตปักหลักได้อย่างมั่นคงในฐานะสาขาหนึ่งของการแพทย์ไทย ซึ่งมันจะเป็นพื้นฐานไปสู่การเปลี่ยนโฉมหน้าของวงการแพทย์ไทยในระยะยาว ก่อนที่การแพทย์จะไปถึงทางตัน..คือทำกันจนทรัพยากรหมดแต่ก็ยังเอาโรคเรื้อรังไม่อยู่

สาระสำคัญของเวชศาสตร์วิถีชีวิตก็คือการป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง เช่นโรคหัวใจหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคอ้วน เป็นต้น ด้วยการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตแทนการใช้ยาให้ได้มากที่สุด ไม่ใช้เลยได้ยิ่งดี โดยมีเสาหลักของวิชานี้ 6 เรื่อง คือ (1) อาหารพืชเป็นหลักแบบใกล้เคียงธรรมชาติ (WFPB) (2) การเคลื่อนไหวออกกำลังกาย (3) การแก้ปัญหาการนอนไม่หลับหรือหลับไม่พอ (4) การจัดการความเครียด (5) การหลีกเลี่ยงสารพิษจากนอกร่างกาย (6) การสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับคนรอบตัว โดยทั้งหมดนี้ยึดแนวทางการแพทย์แบบอิงหลักฐานวิทยาศาสตร์เป็นแกนกลางของเนื้อหาวิชา..”

……………………………………………………….

[อ่านต่อ...]

23 กรกฎาคม 2566

เจาะลึกปัญหาคนหนุ่มสาวที่เรียนก็ไม่เรียน ทำงานก็ไม่ทำ (NEETs)

(ภาพวันนี้ / คนซื้อหลอก..เอ๊ย บอกว่าเป็นทารากอน แต่ปลูกตอนมันเป็นโควิด คือไม่มีกลิ่น หิ..หิ)

คุณหมอครับ

ปัญหาที่อยากปรึกษาขณะนี้ คือผมเป็นลูกคนที่ 1 ในบรรดาลูก 3 คน น้องสาวและน้องชายอีก 2 คน อายุ 33 และ 32 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาโทและตรี แต่มีอาการของ ฮิคิโคโมริ (ความผิดปกติทางจิต มีพฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคม) มีอาการ OCD ล้างมือบ่อยครั้ง คนนึงเป็นแบบซึม นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์วันละ 16 ชั่วโมง อีกคนนึงเป็นแบบจ่าคลั่ง ทำลายล้าง โดยสรุป ผมเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นคนเดียวที่หาเงินเลี้ยงแม่ ซึ่งผมให้เงินเลี้ยงในระดับสุขสบายตามอัตภาพ แต่แม่ไม่สามารถตัดลูกที่เป็นฮิคิโคโมริ และไซโคพาธได้ และไม่สามารถรักษาอาการของทั้ง 2 คนได้

คัมภีร์สุขภาพดี หนังสือเล่มใหม่ของหมอสันต์ สนใจคลิกที่ตัวภาพ

ผมอยากขอคำแนะนำจากอาจารย์สันต์ครับ

……………………………………………………………………….

ตอบครับ

นีทส์ (NEETs) คืออะไร

ก่อนอื่น เพื่อให้ท่านผู้อ่านทั่วไปตามทัน เรามาทำความรู้จักกับคำว่านีทส์ (NEETs) ก่อน คำนี้ย่อมาจาก Not in Education, Employment or Training ผมแปลว่า “เรียนก็ไม่เรียน ทำงานก็ไม่ทำ ฝึกอบรมก็ไม่ฝึก” เป็นคำที่ใช้เจาะจงเรียกเยาวชนคนหนุ่มคนสาวเป็นหลัก ส่วนผู้สูงวัยอย่างหมอสันต์ถึงแม้จะไม่เรียนไม่ทำไม่ฝึกแล้วเขาก็ไม่นิยมเรียกเป็นนีทส์

ทำไมจึงมีนีทส์

งานวิจัยที่สนับสนุนโดย สสส. พบว่านีทส์ไทยมีอยู่ 13.7% ของเยาวชนทั้งหมด ซึ่งใกล้เคียงกับของฝรั่ง แต่ที่แตกต่างจากฝรั่งคือนีทส์ฝรั่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ขาดโอกาส คือเป็นคนจน มีภาระทางบ้าน เข้าไม่ถึงการศึกษาและตลาดแรงงาน แต่นีทส์ไทยเป็นเยาวชนในครัวเรือนรายได้สูงเสียแยะ ทั้งที่มีโอกาสทางสังคมและการศึกษามากกว่า งานวิจัยนี้พบว่านีทส์ในกลุ่มลูกคนรวยเกิดจาก (1) ขาดแรงจูงใจ ไม่เห็นว่าการศึกษาหรือการทำงานจะให้อะไรแก่เขา ซึ่งความคิดนี้ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการประเมินตัวเองว่าไม่สามารถเรียนได้จึงหันหลังให้ซะเลย (2) ไม่รู้ว่าตนเองต้องการทำงานอะไร (3) ประเมินศักยภาพตัวเองต่ำ มองว่าตนไม่สามารถ (4) ผู้ปกครองไม่เห็นว่าเป็นปัญหา จึงปล่อยไป (5) ส่วนหนึ่งไม่ทำงานเพราะอยากทำงานสมัยใหม่เช่นทำอะไรแบบ “อี” คือทำบนอินเตอร์เน็ท เช่น อยากเป็นนักกีฬา E-Sports (ซึ่งฝึกทักษะผ่านการเล่นเกมคอมพิวเตอร์) แต่คนหัวโบราณมองว่าๆเป็นนีทส์ที่วันๆเอาแต่เล่นเกม

ทัศนคติการทำงานของคนรุ่นใหม่ก็มีส่วนให้เกิดนีทส์ คือคนรุ่นใหม่อยากทำงานที่ได้รับเงินก้อนใหญ่ตูม..ม ยิ่งเงินมาก ยิ่งมองว่าเป็นความมั่นคง และวางแผนจะเกษียณตัวเองเร็ว ไม่สนงานที่ค่อยๆ เลื่อนขั้น ค่อยๆ ได้เงินมากขึ้นๆเหมือนงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ คนรุ่นเก่าภาคภูมิใจเมื่อได้ทำงานที่คนยกย่อง เช่น เป็น ตำรวจ ทหาร หมอ พยาบาล ครู อาจารย์ แต่คนรุ่นใหม่อยากเป็นเจ้านายของตัวเอง เป็นฟรีแลนซ์ เป็นเจ้าของธุรกิจ

งานวิจัยฝรั่งพบว่าถ้าคนคนหนึ่งเป็นนีทส์ มักกลายเป็นคนต๊อแต๊ ประเมินคุณค่าตัวเองต่ำ สมองเชื่องช้าลง และมีโอกาสกลับเข้ามาทำงานอีกครั้งยาก

ในเชิงครอบครัวและการเลี้ยงดู งานวิจัยแบบสอบถามของฝรั่งพบว่าลูกจะเป็นนีทส์มากขึ้น ถ้า (1) มีแต่แม่ไม่มีพ่อ (solo mum) (ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม) (2) การเลี้ยงลูกแบบ over protect หรือทำอะไรแทนลูกหมดจนลูกไม่ได้ฝึกทำอะไรเลย (3) การที่พ่อแม่ตั้งความหวังกับลูกสูง (4) การที่พ่อแม่คอยตำหนิติเตียนว่าลูกไม่เอาไหน ทำให้เด็กไม่มั่นใจในตัวเอง จนไม่กล้าทำอะไร

ส่วนเหตุที่คนเรียนจบสูงๆแล้วยังเป็นนีทส์นั้นผมเดาเอาว่าเป็นเพราะระบบการศึกษาเป็นระบบปิดกั้นออกจากโลกของความเป็นจริง พอเรียนจบมาออกมาอยู่ในโลกคนละใบกับห้องสี่เหลี่ยมในโรงเรียนหรือมหาลัยมันนึกไม่ออกจริงๆว่าจะนำสิ่งที่เรียนมาเชื่อมโยงกับการทำงานจริงได้อย่างไร การศึกษาเน้นการท่องจำ มีกิจกรรมน้อย เมื่อไม่มีกิจกรรมก็ไม่ได้ฝึกทักษะทางสังคมเช่นการทำงานเป็นทีม พอไปทำงานจริงก็ล้มเหลว ลาออกมาเป็นนีทส์ดีกว่า

ทั้งหมดนั้นเป็นข้อมูลความจริงจากผลวิจัยเท่าที่เรามีเกี่ยวกับคนเป็นนีทส์

วิธีแก้ปัญหานีทส์แบบหมอสันต์

ก่อนตอบคำถามนี้ท่านผู้อ่านต้องทำใจก่อนนะว่าความเห็นของผมบางเรื่องก็ขวางโลก ในภาพใหญ่ผมเห็นว่าแนวทางดำเนินชีวิตแบบ default life ที่ทุกคนต้องมีงานทำ มีคนจ้าง ต้อง make money หรือทำเงินได้แยะ เป็นเรื่องไร้สาระ แนวทางเช่นนี้ทำให้มนุษย์เราขย่มโลกและสิ่งมีชีวิตอื่นๆเสียจนจะไม่เหลือชิ้นดีแล้ว อีกประการหนึ่ง การมีงานทำแบบมีองค์กรจ้างหรือมีนายจ้างจะไม่ใช่สิ่งปกติในอนาคต เมื่อหุ่นยนต์ AI ทำอะไรแทนมนุษย์ได้เกือบหมดรวมทั้งเป็นหมอแทนก็ยังได้เลย งานที่คนจำนวนมากทำกันอยู่ตอนนี้ก็จะไม่มีให้ทำแล้ว ผู้คนส่วนใหญ่ก็จะมีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องทำสิ่งที่เรียกว่า “งาน” อีกต่อไป ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้คนจำนวนมาก ประมาณหนึ่งหมื่นล้านคนทั่วโลก ซึ่งไม่มีอะไรทำ ไม่ให้เกิดอาการ “ง่อมมือ” (เหงามือ) จนฉีกเนื้อคนด้วยกันเอง

สำหรับการแก้ปัญหานีทส์นี้ ผมเห็นว่า

1.. ถ้าคนเป็นนีทส์เขาไม่ไปเดือดร้อนคนอื่น หมายความว่าพ่อแม่เขาเลี้ยงเขาได้ ปล่อยเขาเหอะ อย่าไปยุ่งกับเขาเลย เพราะสังคมไทยทุกวันนี้ก็โอบอุ้มเลี้ยงดูคนทุกวัยที่เป็นนีทส์อยู่โดยพฤตินัยในรูปแบบต่างๆอยู่หลายล้านคน ผมขอไม่จาระนัยในขั้นละเอียดนะ แต่ถึงจะมีนีทส์ทุกวัยอยู่หลายล้าน เราคนไทยก็อยู่กันได้เพราะเราไม่ไปยุ่งอะไรพวกนีทส์เขา เห็นแมะ มันมีความลงตัวของมันอยู่

2.. ในกรณีที่คนเป็นนีทส์เขาหมดคนเลี้ยงดู เช่นพ่อแม่ของเขาตาย หรือสมบัติของเขาหมดเกลี้ยง หรือองค์กรใจบุญที่เลี้ยงดูเขาอยู่เกิดเจ๊งไม่มีเงินเลี้ยง เขาจะหายจากการเป็นนีทส์เอง ท่านสาธุชนทั้งหลายอย่ากังวลไปเลย

3.. สำหรับพ่อแม่ของเด็กวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นที่เป็นนีทส์ ผมแนะนำวิธีแก้ปัญหาว่า

3.1 ยอมรับเขาตามที่เขาเป็นก่อน แทนที่จะบ่นหรือแช่งชักหักกระดูกกันทุกวันแต่ก็ทิ้งลูกไปไหนไม่ลง ยอมรับกันและยิ้มให้กันให้ได้ก่อน ขีวิตในรังนกนีทส์มันจะได้ไม่มีแต่อับเฉาขุ่นเคือง

3.2 กรณีที่เงินที่เราจะเลี้ยงดูเขามีจำกัด ก็บอกเขาตรงๆและให้เขาอย่างจำกัด คือให้แต่สิ่งจำเป็น โชคดีที่คนเป็นนีทส์ตัวจริงเขาหรือเธอมักกินน้อยใช้น้อยตามธรรมชาติของคนแบบนี้อยู่แล้ว อนึ่ง การที่เราให้เขานั้นเราให้ด้วยความรัก ไม่ใช่ให้เพราะจำใจให้ อีกด้านหนึ่งก็คิดเสียว่าเราช่วยแบกรับภาระแทนสังคม เพื่อไม่ให้เจ้านีทส์คนนี้ต้องไปขอทานเกะกะข้างถนน

3.3 เมื่อใดที่เราไม่อยากให้อะไรเขาอีกต่อไปแล้วก็ค่อยใช้ไม้สุดท้าย คือหนีจากลูกไปดื้อๆ ผมเห็นแม่รายหนึ่งใช้วิธีนี้ ทิ้งบ้านไว้ให้ลูกอยู่ แต่ตัวคุณแม่หลบหนีไปตั้งต้นชีวิตใหม่ที่สงบเย็นกว่าในที่อื่นโดยไม่บอกไม่กล่าวให้ลูกรู้ว่าไปอยู่ไหน ข้างลูกก็มาถามเอากับหมอสันต์ยิกๆว่าแม่ตัวเองไปอยู่ไหน แต่หมอสันต์ก็แบ๊ะ แบ๊ะ บอกไม่ได้ แล้วต่อจากนั้นเกิดอะไรขึ้นหรือครับ ผมจะเล่าให้ฟัง คุณลูก (ซึ่งพ่อไม่มีมาหลายปีแล้ว) ก็ปล่อยให้หญ้าสูงท่วมบ้าน ผมเผ้ารุงรัง ไม่อาบน้ำอาบท่าอยู่นานราวหกเดือน เมื่อเห็นว่าไม่มีใครมาช่วยตัดหญ้าให้แน่นอนแล้ว ประกอบกับเขาคงจะเซ็งการเป็นนีทส์แล้วด้วย จึงค่อยๆลุกขึ้นมาอาบน้ำตัดผมและตัดหญ้าหน้าบ้าน ค่อยกลายเป็นผู้เป็นคนขึ้นมาเอง หิ..หิ

3.4 ถ้าพ่อแม่ยังมีพลัง ก็อย่าหยุดที่จะฝึกสอนลูกนีทส์ ด้วยการมอบหมายถ่ายทอดความรับผิดชอบในเรื่องง่ายๆให้ทีละนิดๆอย่างอดทน เหมือนคนฝึกน้องหมาให้ทำนั่นทำนี่ไปทีละอย่าง บางครั้งน้องหมาเหมือนจะพูดรู้ภาษา แต่บางครั้งน้องหมาก็ไม่รู้ภาษาดื้อๆ ให้ทำใจอย่างนี้

4.. สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นพ่อแม่ แต่ต้องมารับภาระเลี้ยงดูคนเป็นนีทส์ เช่น ลูกคนที่ขยันทำมาหากิน เพราะเงินที่หาเอามาเป็นค่าเลี้ยงดูพ่อแม่จะถูกพ่อแม่กระเบียดกระเสียนไปเลี้ยงเจ้าพี่หรือเจ้าน้องที่เป็นนีทส์โดยอัต-ตะ-โม-นัด อัตโนมัติ ในชนบทมีปัญหาแบบนี้มาก มากจริงๆ เพราะบางครอบครัวในชนบทมีลูกเป็นนีทส์หลายคน แต่มีลูกขยันแค่คนเดียว เจ้าลูกขยันนี้ก็จึงแบนแต๊ดแต๋ เจ้าลูกนีทส์อยากได้อะไรก็ออดอ้อนหรือไม่ก็ออกอาการ ดราม่า ทุบบ้านพัง รังควาญเอากับพ่อแม่ พ่อแม่ก็มารีดเอาจากลูกขยัน พอลูกขยันไม่ให้ พ่อแม่ก็น้อยอกน้อยใจ ถึงขั้นฆ่าตัวตายประชดลูกขยันก็มี แล้วท่านผู้อ่านเชื่อไหม ไม่รู้ว่าเป็นอะไร เด็กที่มาทำงานที่บ้านผมในสี่สิบห้าสิบปีที่ผ่านมามักจะเป็นเด็กลูกขยันที่เกิดมาในรังนกนีทส์เสียเกือบทุกคนไป เวลาฟังพวกเธอเล่าว่าชีวิตของเธอต้องแบกโลกไว้บนบ่าอย่างไร ฟังแล้ว มันน่าเห็นใจจริงๆ ซึ่งสำหรับคนหัวอกลูกขยันนี้ผมแนะนำว่า

4.1 ยอมรับพี่น้องนกนีทส์ตามที่เขาเป็น ยิ้มให้กันให้ได้ทุกวันก่อน

4.2 ถ้ามีกำลัง และยังมีเมตตาธรรมพอ ก็ช่วยๆกันไป คิดเสียว่าชั่วดีถี่ห่างก็เป็นพี่น้องคลานตามกันออกมา สงเคราะห์เขาได้ ก็เป็นการทำบุญอย่างใหญ่

4.3 ถ้าแบกรับไม่ไหวจริงๆ ก็ให้ใช้วิธีมาตรฐาน คือหนี วิธีหนีมาตรฐานคือหากเป็นหญิงก็หนีไปมี ผ. หรือหนีไปบวชชี หากเป็นชายก็หนีไปมี ม. หรือหนีไปบวชพระ บ้างหนีไปไหนไม่รู้ คือหายตัวไปเลยโดยทิ้งจดหมายไว้ให้พ่อแม่ว่าผมไม่ไหวแล้ว แล้วก็หายตัวแว้บ..บไป เมื่อตัดสินใจหนีแล้วก็ไม่ต้องมาอาลัยอาวรณ์ คิดเสียว่าไม้ท่อนหนึ่งลอยมาพบไม้อีกท่อนหนึ่งกลางมหาสมุทรแล้วจากกันไปฉันใด การมาพบกันของผู้เกิดมาก็ฉันนั้น

นี่เป็นการแก้ปัญหาแบบหมอสันต์ หิ..หิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

21 กรกฎาคม 2566

รู้สึกว่าชีวิตไม่มีทางออก

(ภาพวันนี้ / ดอกแก้วมังกร)

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี ของหมอสันต์ สนใจคลิกดูรายละเอียดได้

อาจารย์คะ

หนูทำงานเป็นแพทย์มา10 ปี อดทนทำงานหนักมากมานาน จนรู้สึกว่าที่ผ่านมามันว่างเปล่า ตอนนี้คิดแต่อยากลาออก แต่ไม่รู้จะไปไหน ทำอะไรต่อ รู้สึกเค้วงมากคะ

แต่งานที่ทำตอนนี้รู้สึกไม่ไหวแล้วคะ งานหนักมากขึ้นมาก เหนื่อยทั้งกายใจ  จนต้องร้องไห้บ่อยๆ

อาจารย์ช่วยแนะนำหนูทีคะว่าหนูควรทำอย่างไรต่อ

………………………………………………

ตอบครับ

ในชีพหนึ่งของการเกิดมาเป็นคนนี้ เมื่อใดก็ตามที่สามสหายวัฒนะมาพบกัน คือ

     (1) หมดอารมณ์
     (2) ทำอะไรก็ไม่สำเร็จดั่งใจหมาย และ
     (3) ตัวตนแตกแยก (depersonalization)

     เมื่อนั้น สิทธิการิยะท่านว่ามันเป็นอาการของโรคเบิร์นเอ้าท์ (burn out) ซึ่งผมขอแปลว่าโรค “เอียนการทำงาน” ทั้งนี้อย่าสับสนกับอีกคำหนึ่งคือ bore out ซึ่งผมแปลว่าโรค “เอียนการไม่ได้ทำอะไร” เพราะทั้งสองเรื่องนี้สาเหตุตรงกันข้ามแต่ให้อาการป่วยที่เหมือนกัน แล้วคุณหมอไม่ต้องไปค้นหาโรคนี้ในระบบจำแนกโรคทางจิตเวช (DSM 5) นะครับ เพราะมันไม่มี แต่มีอยู่ในระบบการจำแนกโรคทั่วไป (ICD10) เราสามารถวินิจฉัยภาวะนี้ได้โดยใช้ชื่อ “ปัญหาเกี่ยวกับความยากลำบากในการจัดการชีวิต” หรือ Problems related to life-management difficulty ซึ่งมีโค้ดโรคว่า Z73

     พูดถึงอาการป่วยที่ว่า depersonalization นั้นผมก็เคยเป็น คือมีอยู่วันหนึ่งขณะเป็นผู้อำนวยการใหญ่ ผมพูดกับพนักงานลูกน้องซึ่งมีอยู่ถึง 2,000 คน พอพูดไปแล้วผมถามตัวเองว่า เฮ้ย คนที่พูดกับพนักงานเมื่อกี้นี้ตัวผมจริงๆหรือเปล่า มันไม่ใช่ผมนี่ ผมไม่เคยพูดอะไรแบบฝืดๆฝืนๆอ้ำๆอึ้งๆอย่างนี้นี่นา แล้วถ้าไม่ใช่ผม คนเมื่อกี้เป็นใครกันวะ ประมาณนั้น

     มองในแง่อาการวิทยา เบิร์นเอ้าท์มันเหมือนกับโรคซึมเศร้ายังกับแกะ แต่ว่ามีอาการเด่นอยู่ที่ใครจะทำอะไรตูก็ไม่เอาด้วยแล้วทั้งนั้น (no engagement) เมื่อวัดผลการทำงานก็จะพบว่าผลงานดร็อปลง เมื่อวัดสุขภาพก็จะพบว่ามีฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียดออกมาในเลือดมากขึ้น แต่เบิร์นเอ้าท์ไม่เหมือนความเครียดตรงที่ความเครียดมักไปจบที่การระเบิด ซึ่งอาจจะเป็นการระเบิดพลังก็ได้ แต่เบิร์นเอ้าท์มีที่จบที่เดียว คือความต๊อแต๊สิ้นหวัง เบิร์นเอ้าท์ในหมู่แพทย์มันมีอยู่มากอย่างแน่นอนเป็นสัจจะธรรม มีงานวิจัยเรื่องนี้ตีพิมพ์ไว้แล้วแยะมากจนทำให้เราพอจะมีข้อมูลอยู่บ้างว่าจากจุดนี้เราควรจะไปทางไหนดี

     ในภาพรวม สาเหตุของเบิร์นเอ้าท์งานวิจัยพบว่ามันเกิดจากการทำงานในอาชีพที่เครียดมากเกินไป ทำงานเป็นเวลานานมากเกินไป หรือการต้องทำงานที่ยากเกินไป โดยมีทรัพยากรน้อยเกินไป ไม่ว่าจะเป็นเงิน เวลา กำลังคน เครื่องมืออุปกรณ์ บางครั้งก็เป็นงานที่เรียกร้องความสามารถเกินที่มนุษย์ปกติพึงจะมีด้วยซ้ำ

     สำหรับแพทย์ไทย เบิร์นเอ้าท์ผมเดาเอาว่าถูกซ้ำเหงาโดยความห่วยของระบบการทำงานในวงการแพทย์ไทยด้วย ผมไม่อยากจะเซด เพราะเซดแล้วมันปวดเฮด สรุปว่าไม่เซดดีกว่า ปัญหาพื้นฐานก็คือการเอาเปรียบกันในหมู่แพทย์ต่างวัยกัน ทำให้ความสัมพันธ์ภายในทีมไม่ดี เวลามีน้อย งานมีมาก ระบบงานไม่มีประสิทธิภาพ หัวหน้าเผ่าและรองหัวหน้ามีแยะ แต่ตัวคนทำงานมีไม่พอ

     ในภาคตัวบุคคล เมื่อวิจัยลงไปพบว่าปัจจัยเสี่ยงที่มีนัยสำคัญคือ การเป็นผู้น้อย หมายความว่ามีตำแหน่งเป็นไพร่ราบทหารเลวในองค์กรใหญ่ การเป็นคนอารมณ์ขึ้นๆลงๆ, การไม่ชอบงานที่ทำ, การมีความเครียดทางครอบครัวเป็นพื้น, และการไม่มี ผ. (หิ หิ หมายถึงการไม่ได้แต่งงานนะครับ เป็นปัจจัยเสี่ยงของเบิร์นเอ้าท์อย่างหนึ่ง นี่เป็นผลวิจัยนะ ผมไม่ได้มั่วนิ่มเอาเอง)

    ทีนี้เราจะแก้ไขมันอย่างไร

     ในส่วนขององค์กรนั้นอยู่นอกเขตอำนาจเรา อย่าไปยุ่งเลย มาโฟกัสที่การแก้ไขในภาคตัวบุคคล งานวิจัยบอกว่าวิธีที่ลดเบิร์นเอ้าท์ที่ได้ผลคือการยอมรับการสนับสนุนจากเพื่อน (peer support), การฝึกสติลดความเครียด, การออกกำลังกาย, การลาพักร้อน การจัดเวลาพักประจำวัน และการหันเหไปทำอะไรอื่นบ้าง เช่น กีฬา ดนตรี ธรรมชาติ โยคะ เขียนบันทึก (reflective writing) เป็นต้น

     คำแนะนำส่วนตัวผมมีคำเดียว คือ “ดุล (balance)” คุณหมอต้องเรียนรู้ที่จะถ่วงดุลในทุกๆเรื่อง ดุลระหว่างการเป็นผู้ให้กับการเป็นผู้รับ ดุลระหว่างความเครียดกับการผ่อนคลาย ดุลระหว่างความซีเรียสกับการเม้คโจ๊คไร้สาระหัวเราะบ้าง ดุลระหว่างการออกกำลังกายกับการนอนหลับ ดุลระหว่างการทำงานกับการอยู่ว่างๆเฉยๆไม่ต้องทำอะไร ดุลระหว่างเวลางานกับเวลาส่วนตัว ดุลระหว่างสถานที่ทำงาน กับที่บ้าน

     เพื่อที่จะเอาคอนเซ็พท์นี้มาใช้ คุณหมอต้องรื้อคอนเซ็พท์ชีวิตเดิมๆทิ้งไปก่อน เริ่มต้นด้วยการรื้อเป้าหมายชีวิตเดิมๆทิ้งไปเสียก่อน เพราะเป้าหมายใหม่คือ “ชีวิตที่ได้ดุล” รื้อทิ้งของเก่าไปไม่ต้องสนใจ ทิ้งแบบหักดิบเลย ยังไม่ต้องไปคิดไกลถึงว่าจะเลิกอาชีพหรือไม่เลิก จะไปขายเต้าฮวยหรือจะขายกล้วยปิ้ง ยังไม่ต้องคิด เพราะนั่นมันไม่เกี่ยวอะไรกับเป้าหมายใหม่เฉพาะหน้า เป้าหมายที่จะมี..”ชีวิตที่ได้ดุล” ในวันนี้

     การมีชีวิตที่ได้ดุล หมายถึงชีวิตในวันนี้เท่านั้น เพราะเรามีชีวิตอยู่แต่ในวันนี้วันเดียว เราไม่ได้มีชีวิตอยู่เมื่อวานนี้ และไม่ได้มีชีวิตอยู่ในวันพรุ่งนี้ ดังนั้น ตื่นเช้ามาอย่าเพิ่งเลิ่กๆๆทำโน่นทำนี่อย่างเป็นอัตโนมัติไปตามสัญชาติญาณ แต่ให้มองชีวิตในวันนี้ว่าวันนี้เราจะจัดดุลในเรื่องใดบ้าง เรากำลังเริ่มตอนเช้าของวัน อย่างน้อยเราจัดเวลาได้ละถูกแมะ สมมุติว่าการจัดดุลเวลางานกับเวลาส่วนตัวเสียใหม่จะมีผลให้งานเสียหาย เจ้านายด่า ก็ (ขอโทษ) ช่างมัน ไปก่อน อธิบายได้ก็อธิบาย ถ้าลำบากจะอธิบายก็ไม่ต้องอธิบาย นี่มันชีวิตของเรา เวลาของเรา เราจะใช้มันอย่างไรมันเรื่องของเรา เจ้้านายไม่ให้สองขั้นเราก็ไม่แคร์ เพราะสองขั้นไม่ใช่เป้าหมายชีวิตของเรา แต่ชีวิตที่ได้ดุลต่างหากคือเป้าหมาย ค่อยๆบรรจงจัดดุลในเรื่องต่างๆในชีวิตไปทีละเรื่องๆ บางเรื่องเราไม่เคยทำ ไม่มีทักษะ ก็ต้องฝึกทำ หรือฝืนทำนิดๆ อย่างเช่นการออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่ง การยิ้ม การพูดตลก การเม้คโจ๊ก เป็นต้น

     คุณหมอใช้เวลานานเท่าที่ตัวเองต้องการในการจัดดุลของชีวิตในวันนี้ เน้นเฉพาะวันนี้ ทีละวันๆ เริ่มต้นแต่ละวันด้วยพิธีกรรมที่ผ่อนคลาย เช่นยืดเหยียดกล้ามเนื้อ หรืออย่างน้อยก็ใส่ใจมองดูอะไรที่สวยๆงามๆนอกหน้าต่าง กินอาหารสุขภาพ ออกกำลังกาย ปรับการนอนหลับ ออกแดด สัมผัสลม สัมผัสดิน สัมผัสหญ้า กำหนดขอบเขตขีดเส้นตายไม่ให้งานรุกเข้ามาในชีวิตส่วนตัว โดยการแบ่งแยกเวลากันให้เด็ดขาด หลีกหนีจากเทคโนโลยีและหน้าจอซึ่งมีแต่จะเพิ่มความคิดไร้สาระ ฟูมฟักความเป็นศิลปินในตัวเราให้งอกเงย ทำงานอดิเรก เช่นดนตรี ศิลปะ ฝึกสติ และหัดจัดการความเครียดให้เป็น

     เมื่อจัดดุลชีวิตลงตัวแล้ว ค่อยมาประเมินว่าชีวิตที่เดินมาถึงจุดนี้ ที่เลือกมาเป็นหมออยู่ที่ตรงนี้ มันเหมาะกับเราไหม จะไปต่อดีหรือไม่ หรือจะเลิกไปทำอย่างอื่น ถึงตอนที่ชีวิตได้ดุลแล้วค่อยมาคิดวินิจฉัย เพราะการด่วนวินิจฉัยตัดสินตอนนี้โดยที่เรายังไม่ได้เป็นนายของชีวิตเราเองอย่างแท้จริง คุณหมอจะไปไหนไม่รอดหรอก อย่างดีหนีจากโรค burn out ได้ แต่คุณหมอก็จะไปเป็นโรค bore out แทน ซึ่งก็จะแย่พอๆกัน

     ในการสร้างดุลชีวิตนี้ ผมขอสองเรื่อง คือ

     เรื่องที่ 1. อย่าไปอยากทำทุกอย่างให้ได้ดีหมด มันเป็นไปไมได้หรอก ชีวิตคนเรานี้มันต้องเอามือทำบ้าง ขอโทษ.. เอาตีนทำบ้าง

     เรื่องที่ 2. อย่าไปมี “องค์” มากจนเราเสียดุลระหว่างการเป็นผู้ให้และการเป็นผู้รับ อย่าไปคิดว่าเราเป็นคนที่ฟ้าส่งมาทำหน้าที่พระผู้ช่วยให้รอด เราจึงจะต้องทำตัวเท่แบบเป็นผู้ให้ ให้ ให้ ตลอดเวลาเท่านั้น นี่เป็นคอนเซ็พท์ชีวิตที่ผิดมาก  คือผมจะย้ำความสำคัญของการยอมรับ peer support ผมรู้สึกว่าแพทย์ไทยมีอะไรไม่ยอมคุยกับคนอื่นเพราะกลัวเสียฟอร์ม ซึ่งผมอยากให้คิดใหม่ เราทำงานเป็นผู้ใช้แรงงาน มีอะไรที่บีบคั้นอึดอัด มันจะมามีใครมาเห็นหัวอกเราได้ดีไปกว่าพวกขี้ข้าด้วยกัน ถูกแมะ คุณหมออย่าไปตั้งแง่ว่าคนรอบตัวเรามันแย่ ผมกล้ารับประกันว่าไม่เป็นความจริง ลึกลงไปในใจแล้วมนุษย์เราเป็น social animal ทุกคนมีสัญชาติญาณเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและมีความสุขที่ได้ให้และได้รับความช่วยเหลือจากกันและกัน คุณหมอต้องทำลายกำแพงที่กั้นตัวเองจากญาติสนิทมิตรสหายและเพื่อนร่วมงานลง

ถ้าเริ่มตั้งไข่ด้วยตนเองไม่ได้สักทีในเวลาสองสามเดือน ให้มาเข้าแค้มป์ Spiritual Retreat ครั้งต่อไป ไม่ต้องห่วงเรื่องค่าใช้จ่าย ผมให้คุณหมอเข้าเรียนฟรี

     นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Bianchi, R., Boffy, C., Hingray, C., Truchot, D., & Laurent, E. Comparative symptomatology of burnout and depression. Journal of Health Psychology, 2013;18(6):782-787.
2. Freudenberger H. J. Staff burnout. J Soc Issues. 1974;30(1):159–165.
3. Maslach C., Jackson S. E., Leiter M. P. Maslach Burnout Inventory Manual. 3rd ed. Palo Alto, CA: Consulting Psychologists Press; 1996.
4. Becker J. L., Milad M. P., Klock S. C. Burnout, depression, and career satisfaction: cross-sectional study of obstetrics and gynecology residents. Am J Obstet Gyn. 2006;195(5):1444–1449.
5. Shapiro S., Astin J., Bishop S., Cordova M. Mindfulness-based stress reduction for health care professionals: results from a randomized trial. Int J Stress Manage. 2005;12(2):164–176.

[อ่านต่อ...]

20 กรกฎาคม 2566

อาการลิ้นแปร่งๆและเท้าซ่าๆขณะกินยาต้านไวรัสตับอักเสบบี. (Entecavir)

(ภาพวันนี้ ; แมลงอะไรเอ่ย)

เรียน​ คุณหมอสันต์

ดิฉันอายุ69ปีน้ำหนัก51กก.สูง164ซม.ปัจจุบันรับยาไวรัสตับอักเสบบี(Entecavir0.5mg)​ตั้งแต่อายุ55ปี(ยาเปลี่ยนมารอบที่4แล้วค่ะ)​

ช่วง3-4เดือน​มีความรู้สึกมีรสแปร่งๆที่ปลายลิ้น(ไม่ใช่รสขม, หวาน, เปรี้ยว)​ลองหาข้อมูลใน​googleก็ไม่มีข้อมูลใดลักษณะแบบดิฉัน

จึงสังเกตตัวเอง​ พบว่าน่าจะแพ้สารเคมีทุกชนิดจากสบู่, ยาสระ, แป้ง​ ทั้งๆที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนสุดและจากธรรมชาติที่ขายกัน

เมื่อวานนี้เด็กถูพื้นดิฉันเดินเท้าเปล่ารู้สึกทันที​ ขณะกำลังถามคุณหมอลิ้นดิฉันยังมีความรู้สึกรสแปร่งๆ

ขอคำแนะนำ​ และควรหาหมอสาขาไหนค่ะ​ (อดีตเป็น​ ขรก.ที่​ … ค่ะ)

ด้วยความเคารพ

………………………………………………………….

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี ของหมอสันต์ (สนใจคลิกที่ภาพดูได้ครับ)

ตอบครับ

1.. ถามว่าอาการรู้สึกรสแปลกๆที่ปลายลิ้น และมีความรู้สึกแปลกๆมากกว่าปกติเมื่อเท้าสัมผัสพื้น เป็นอาการอะไร ตอบว่าเป็นอาการผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลายที่ทำหน้าที่รับความรู้สึกขาเข้า (sensory neuropathy) ในกรณีที่เป็นกับเส้นประสาทหลายเส้นอย่างของคุณนี้ก็เรียกว่า polyneuropathy ภาษาบ้านๆเรียกง่ายๆว่า “ปลายประสาทอักเสบ”

2.. ถามว่ายาต้านไวรัสรวมทั้งยา Entecavir ทำให้เกิดอาการปลายประสาทอักเสบได้หรือไม่ ตอบว่าได้สิครับ ตอนที่ยานี้ออกมาใหม่ไม่มีรายงานว่าทำให้ปลายประสาทอักเสบเลยจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่ายานี้ไม่ทำให้เกิดปลายประสาทอักเสบ แต่ต่อมาก็มีรายงานคนไข้ที่กินยานี้นานแล้วเกิดอาการปลายประสาทอักเสบซึ่งมีทั้งระดับไม่รุนแรงไปจนถึงระดับรุนแรง

3.. ถามว่ามีอาการแบบนี้ควรจะไปหาหมอสาขาไหน ตอบว่าก็ต้องไปหาหมอประสาทวิทยา (neurologist) สิครับ แต่ก่อนที่จะไปหาหมอประสาทวิทยา ผมแนะนำว่าให้หารือกับหมอผู้จ่ายยา entecavir ว่าจะขอทดลองหยุดยาสักสามเดือนได้ไหม แล้วประเมินอาการปลายประสาทอักเสบดู หากอาการหายไปก็แสดงว่าเป็นเพราะยา ก็ไม่ต้องไปหาหมอประสาทวิทยาเพื่อค้นหาสาเหตุอีก แค่หยุดยาก็จบแล้ว ในการคุยกับหมอนี้ต้องเสนอวาระว่าเป็นแค่การทดลองนะ ไม่ใช่การปฏิเสธยาที่หมอให้ เพราะหมอบางท่านก็อาจจะมีความปักใจเชื่อว่ายาที่ท่านใช้เป็นยาดีร้อยเปอร์เซ็นต์พอใครไปว่ายาของท่านไม่ดีก็จะเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมาทันที ดังนั้นให้แค่ขอทดลองหยุดยาดูชั่วคราวแค่นั้น จะได้ไม่สูญเสียความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหมอกับคนไข้

ทั้งนี้ทั้งนั้นขอให้ระวังว่าการหยุดยาฆ่าไวรัสกรณีเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี.เรื้อรังอย่างคุณนี้ ต้องหารือหมอโรคตับผู้จ่ายยาก่อน เพราะถ้าหากร่างกายอยู่ในภาวะโรคสงบแล้วนั้นสามารถหยุดยาได้ง่ายๆโดยไม่เป็นไร (เพราะในภาวะโรคสงบเชื้อไม่แบ่งตัว ยานี้ไร้ประโยชน์อยู่แล้วเนื่องจากออกฤทธิ์ได้เฉพาะเมื่อเชื้อแบ่งตัว) แต่หากร่างกายกำลังสู้กับเชื้อโรค กำลังมีสงครามกันครึกโครมยังไม่เพลี่ยงพล้ำแก่กัน และเชื้อกำลังแบ่งตัวอยู่ (ทราบจากการที่ HBeAg ยังสูงอยู่) การหยุดยากะทันหันอาจทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวนและกลับเป็นโรคแบบ active ได้ ซึ่งหมอโรคตับที่รักษาคุณอยู่จะเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงของการหยุดยาได้ดีที่สุด

4.. ถามว่าสาเหตุอื่นของปลายประสาทอักเสบมีอะไรอีกบ้าง ตอบว่ามีเยอะแยะแป๊ะตราไก่ ที่พบบ่อยก็คือไม่ทราบสาเหตุ (หิ หิ) ที่พบไม่บ่อยก็คือพิษของโลหะหนักต่างๆ แต่ผมแนะนำว่าอย่าไปมัวหาสาเหตุอื่นกรณีกำลังกินยาที่มีผลข้างเคียงให้เกิดปลายประสาทอักเสบได้แบบเหน่งๆอยู่แล้ว ให้ทดลองหยุดยานั้นก่อน นี่เป็นวิธีจัดการผลข้างเคียงของยาที่เป็นมาตรฐานปฏิบัติกันมาช้านาน สูตรสำเร็จที่แพทย์ใช้เป็นหลักก็คือ

“ให้คิดไว้ก่อนว่ามันเกิดจากยาหรือจากการแทรกแซงรักษาของแพทย์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่”

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.. Song JH, Kim SY, Shin JK, Hong SD, Rim KS, Park HN, Lee JH, Lee YB, Oh SH, Hwang SG. [A Case of Severe Peripheral Polyneuropathy Occurring after Entecavir Treatment in a Hepatitis B Patient]. Korean J Gastroenterol. 2016 Apr 25;67(4):216-219. Korean. doi: 10.4166/kjg.2016.67.4.216. PMID: 27112249.

[อ่านต่อ...]

18 กรกฎาคม 2566

คัมภีร์สุขภาพดี Healthy Life Bible โดย นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ /พญ.ดร.พิจิกา วัชราภิชาต

ในที่สุดผมก็เขียนหนังสือที่ผมอยากจะเขียนมาชั่วชีวิตได้สำเร็จ คือผมอยากจะเขียนหนังสือที่ใช้เป็นหมอประจำบ้านของท่านแทนตัวผมเองได้ ให้หนังสือสามารถช่วยท่านป้องกันและพลิกผันโรคเรื้อรังได้ด้วยตัวท่านเอง ช่วยท่านแก้ปัญหาสุขภาพทั้งเรื่องฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉินด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด และช่วยตอบคำถามทางการแพทย์ทุกด้านให้ท่านได้มากที่สุด ผมตั้งชื่อหนังสือว่า “คัมภีร์สุขภาพดี” เป็นหนังสือขนาดใหญ่หน่อย (19 x26 ซม.) หนา 423 หน้า พิมพ์สี่สีเพราะมีภาพประกอบแยะ พิมพ์ด้วยอักษรตัวโต แต่ก็คุมน้ำหนักไว้ที่ 750 กรัมเพื่อให้ผู้สูงวัยถือนอนอ่านได้ ขายในราคาเล่มละ 495 บาท ส่งให้ฟรี

หนังสือนี้ต้องซื้อกับหมอสมวงศ์ทางไลน์ “หนังสือหมอสันต์” โดยพิมพ์ Line ID ชื่อ @healthylife (โปรดสังเกตว่ามีตัว @ ด้วย และใช้อักษรตัวเล็กเขียนติดกันหมด) ไม่วางตามร้านหนังสือเพราะจะทำให้ราคาหนังสือสูงขึ้น กรณีไลน์มีปัญหาให้โทรศัพท์หาหมอสมวงศ์ (0868882521) หรือเขียนอีเมลหา (somwong10@gmail.com) หรือติดต่อทางเฟซบุ้คเพจ (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์) แต่ไม่ว่าจะติดต่อเข้ามาทางไหน ท้ายที่สุดก็ยังต้องไปซื้อขายกันที่ไลน์ที่เดียว เพราะโครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ต้องใช้ระดับอาวุโสมาดำเนินการเอง หากซื้อขายกันหลายทางเดี๋ยวเป็น ลืม..ม แล้วท่านก็จะไม่ได้หนังสือ (หิ หิ)

การซื้อไม่ต้องจอง ใช้วิธีซื้อขายกันเลย ตามวิธีที่ไลน์เขากำหนด เลือกเอาตามวิธีที่ชอบ เพราะตั้งแต่ 1 ตค 66 เป็นต้นไปทางไลน์เขาจะบังคับใช้ระบบจ่ายเงินใหม่ผ่านบัตรเครดิต/เดบิต และแอป mobile banking ของไลน์เอง จะไม่อนุญาตให้ผู้ซื้อโอนเงินตรงเข้าบัญชีผู้ขายแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นตั้งแต่ 1 ตค 66 เป็นต้นไป หากท่านจะซื้อหนังสือผมรบกวนให้ท่านทำรายการเองและเลือกวิธีจ่ายเงินที่ไลน์เปิดให้เลือกได้เลย หากสั่งซื้อแล้วมีปัญหาท่านก็ยังสามารถแจ้งไลน์ @healthylife ให้ช่วยแก้ปัญหาได้อยู่เหมือนเดิมครับ

ผม “ขอ” แรงแฟนบล็อกให้ช่วยกระจายข่าวหนังสือนี้ให้แพร่หลายหน่อยนะครับเป็นการช่วยหมอสันต์ให้บรรลุเจตนาที่เขียนหนังสือนี้ขึ้นมา อนึ่ง เพื่อให้แฟนบล็อกได้ไอเดียว่าข้างในหนังสือมีอะไรบ้าง ผมได้ก๊อปคำนำและสารบัญของหนังสือมาลงไว้ให้ดูท้ายนี้ด้วย

…………………………………………………………

ชื่อหนังสือ คัมภีร์สุขภาพดี   (Healthy Life Bible)

หนังสือออกใหม่ของหมอสันต์..คัมภีร์สุขภาพดี

“….คำนำ ของ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

ในวัย 70 ปี ในยุคสมัยที่โรคของคนส่วนใหญ่คือโรคเรื้อรังที่เกิดจากการกินและการใช้ชีวิตซึ่งแพทย์ไม่มีปัญญาที่จะไปรักษาให้หายได้ และหลักฐานวิทยาศาสตร์ก็ล้วนบ่งชี้ไปทางว่าการเปลี่ยนวิธีกินวิธีใช้ชีวิตต่างหากที่จะทำให้ผู้คนหายจากโรคเรื้อรังได้ เวลาในชีวิตที่เหลืออยู่ของผมนี้ สิ่งที่ผมอยากทำมากที่สุดก็คือทำอย่างไรจึงจะช่วยให้คนทั่วไปสามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้ด้วยตัวเอง กล้าเปลี่ยน lifestyle หรือเปลี่ยนวิธีกินวิธีใช้ชีวิตเพื่อให้ตนเองมีสุขภาพดีไม่เป็นโรคเรื้อรัง ที่เป็นแล้วก็หายจากโรคเรื้อรังได้   

นั่นทำให้ผมคิดจะเขียนหนังสือสักเล่มไว้เป็นคู่มือสุขภาพสำหรับคนทั่วไปแบบปูความรู้พื้นฐานเรื่องร่างกายมนุษย์และผลวิจัยเกี่ยวกับโรคเรื้อรังที่สำคัญไว้ให้อย่างหนักแน่น คนในบ้านใครเป็นอะไรหรืออยากรู้อะไรก็มาเปิดอ่านดูได้ทุกเมื่อ สอนวิธีกลั่นกรองข้อมูลหลักฐานวิจัยที่ตีพิมพ์กันอย่างดกดื่นในอินเตอร์เน็ทด้วยว่าอะไรเชื่อได้มากน้อยแค่ไหน ผมคิดมาหลายปีแล้ว แต่มันมาติดตรงที่ผมยังไม่สามารถสื่อเรื่องกลไกการทำงานของร่างกายและกลไกการเกิดโรคเรื้อรังให้เข้าใจง่ายๆได้ จะไม่พูดถึงเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ก็ไม่ได้ เพราะสมัยหนึ่งผมเคยไปสอนในชั้นที่ผู้เรียนเป็นกลุ่มแพทย์ที่จบแพทย์จากต่างประเทศแต่สอบใบประกอบโรคศิลป์ไม่ได้สักที พอสอนไปได้ชั่วโมงเดียวผมสรุปได้ทันทีว่าแพทย์เหล่านั้นมีปัญหาตรงที่ความรู้พื้นฐานเรื่องร่างกายมนุษย์ไม่แน่นทำให้สร้างความรู้ต่อยอดไม่ได้ ดังนั้นเมื่อจะเขียนหนังสือเล่มนี้ผมจะต้องมีวิธีสื่อให้ผู้อ่านซึ่งไม่มีพื้นอะไรเลยให้เข้าใจหลักพื้นฐานวิชาแพทย์อย่างถ่องแท้ก่อน การจะสื่อเรื่องยากให้ง่ายมันต้องใช้ภาพช่วยบ้าง ใช้การ์ตูนบ้าง แต่ผมเองวาดภาพไม่เป็น ผมเคยลองจ้างช่างวาดภาพเวชนิทัศน์มาลองวาดให้ก็ไม่ได้อย่างใจ จึงทำได้แค่ “ซุกกิ้ง” คือจับโครงการเขียนหนังสือเล่มนี้ใส่ลิ้นชักไว้ตั้งหลายปี

จนกระทั่งผมได้พบกับคุณหมอมาย นักอาหารบำบัด (พญ.ดร.พิจิกา วัชราภิชาต) ตอนที่พบกันนั้นเธอตั้งรกรากอยู่ที่อังกฤษ มีครอบครัวอยู่ที่นั่น ซื้อบ้านอยู่ที่นั่น ทำงานอยู่ที่นั่น ได้ใบอนุญาตให้เป็นผู้พำนักตลอดชีพ (PR) ของประเทศอังกฤษแล้วด้วย หมอมายนอกจากจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่เรียนมามากทั้งปริญญาแพทย์จากจุฬาและปริญญาโทปริญญาเอกจากมหา’ลัยลอนดอนแล้ว ยังเป็นผู้ที่ได้ศึกษาต่อเนื่องและปฏิบัติด้วยตนเองอย่างลึกซึ้งในเรื่องอาหารบำบัด ยิ่งไปกว่านั้นเธอมีงานอดิเรกเป็นนักวาดภาพวาดการ์ตูนด้วย เมื่อเธอยอมรับคำชวนของผมให้กลับมาทำงานด้วยกันที่เมืองไทย หนังสือเล่มนี้จึงได้เกิด 

ผมมั่นใจว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นคู่มือให้ท่านดูแลสุขภาพตัวเองด้วยตัวเองได้ 99% โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นความรู้ทางการแพทย์มาก่อนเลย มันเป็นหนังสือที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย ใช้เวลาอ่านสั้น จบสมบูรณ์ในแต่ละเรื่องแต่ละตอนโดยไม่ต้องอ่านจนหมดเล่มถึงจะเข้าใจ สงสัยเรื่องใดเมื่อใดก็เปิดอ่านเฉพาะเรื่องนั้นได้เมื่อนั้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์…”

สารบัญ Table of content

บทนำ

1. ทำอย่างไรเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินทางการแพทย์

1.1 การเรียกรถฉุกเฉิน และแอ็พมือถือ EMS 1669  

1.2 เจ็บหน้าอกแบบด่วน

1.3 อัมพาตเฉียบพลัน

1.4 แพ้แบบเฉียบพลัน (Anaphylaxis)

1.5 หน้ามืด เป็นตะคริว เป็นลม หมดสติ

1.6 ปวดศีรษะเฉียบพลันแบบอันตราย

1.7 ปวดท้องเฉียบพลันและท้องร่วง

1.8 กินสารพิษเข้าไป

1.9 สัมผัสสารพิษ

1.10 แผล ผิวหนังฉีกขาด 

1.11 แผลถลอก

1.12 กระดูกหัก

1.13 การยกย้ายผู้บาดเจ็บ 

1.14 ฟันหัก ฟันหลุด

1.15 สัตว์กัด งูกัด แมลงต่อย

1.16 พิษแมงกะพรุน

1.17 จมน้ำ

1.18 ไฟฟ้าดูด

1.19 บาดเจ็บกล้ามเนื้อ

1.20 ชัก

1.21 วิธีใช้สิทธิเบิกเงิน UCEP ในภาวะฉุกเฉิน

2. ทำความเข้าใจกลไกการเกิดโรคเรื้อรังแบบไม่ติดต่อ

2.1 ไมโครไบโอม ชุมชนจุลชีพในลำไส้

2.2 อนุมูลอิสระและสารต้านอนุมูลอิสระ

2.3 การอักเสบในร่างกาย

2.4 การสูญเสียดุลยภาพของระบบประสาทอัตโนมัติ

2.5 การดื้อต่ออินซูลิน

3. สุขภาพดีด้วยตนเอง

3.1  โภชนาศาสตร์สมัยใหม่สำหรับทุกคน

3.1.1 คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate)

(1) คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว

(2) คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน

(3) ทำไมเราจึงควรเลือกกินคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน

(4) Resistant starch คืออะไร

3.1.2 เส้นใยอาหาร (Fiber)

(1) เส้นใยแบบละลายน้ำได้

(2) เส้นใยแบบละลายน้ำไม่ได้

(3) ทำไมเราจึงควรเลือกกินอาหารที่มีเส้นใย

3.1.3 ไขมัน (Fat)

(1) ไขมันแบบอิ่มตัว (Saturated fat)

(2) ไขมันแบบไม่อิ่มตัว (Unsaturated fat)

3.1.4 ไขมันแบบไม่อิ่มตัว

(1) ไขมันแบบไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (Monounsaturated fat)

(2) ไขมันแบบไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (Polyunsaturated fat)

3.1.5 ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับไขมันที่ควรรู้

ประเด็นที่ 1. แคลอรีจากไขมัน

ประเด็นที่ 2. การกระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัว 

ประเด็นที่ 3. การก่อโรคทางหลอดเลือด 

ประเด็นที่ 4. น้ำมันประกอบอาหารต่างชนิดทนความร้อนไม่เท่ากัน 

ประเด็นที่ 5. เปรียบเทียบน้ำมันมะกอกแบบเวอร์จินกับแบบธรรมดา

3.1.6 คอเลสเตอรอล (Cholesterol)

(1) ไขมันเลว (LDL)

(2) ไขมันดี (HDL)

(3) LDL(C) และ LDL(P) คืออะไร

(4) LDL pattern A และ LDL pattern B คืออะไร

3.1.7 โปรตีน (Protein)

3.1.8 ความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับโปรตีนที่ควรรู้

ข้อที่ 1. เข้าใจผิดว่าอาหารโปรตีนต้องได้มาจากเนื้อนมไข่ไก่ปลาหรือสัตว์เท่านั้น

ข้อที่ 2. เข้าใจผิดว่าพืชมีกรดอะมิโนจำเป็นไม่ครบ 

ข้อที่ 3. เข้าใจผิดว่าการขาดโปรตีนเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในทางโภชนาการ

3.1.9 ผลเสียของโปรตีนจากสัตว์

3.1.10  แคลอรี (Calorie)

3.1.11 วิตามิน (Vitamins)

3.1.12 ความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับวิตามินที่ควรรู้

          ข้อที่ 1. เข้าใจผิดว่าพืชมีวิตามินไม่ครบ

ข้อที่ 2. เข้าใจผิดว่าวิตามินสกัดเม็ดมีคุณสมบัติเหมือนกับวิตามินที่พบในอาหารธรรมชาติ

ข้อที่ 3. เข้าใจผิดว่าการกินวิตามินเสริมไม่มีโทษ

3.1.13 แร่ธาตุ (Minerals)

(1) ธาตุหลัก (Major elements) 

(2) ธาตุเล็กธาตุน้อย (Trace elements)

3.1.14 น้ำ

(1) ทำไมเราต้องดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน

(2) เราควรดื่มน้ำวันละเท่าไร

3.1.15 Prebiotic 

3.1.16 Probiotic 

3.1.17 พฤกษาเคมี (Phytonutrients) 

3.1.18 โภชนาการที่ดีหน้าตาเป็นอย่างไร

3.1.19 รูปแบบอาหารที่ใช้พืชเป็นหลักและไขมันต่ำ

3.1.20 อาหารรูปแบบเมดิเตอเรเนียน (Mediterranean)

3.1.21 DASH อาหารรักษาความดันเลือดสูง

3.1.22 โภชนาการสำหรับแม่และเด็ก

3.2 การออกกำลังกาย

3.2.1 ประโยชน์ของการออกกำลังกาย

3.2.2 ชนิดของการออกกำลังกาย

3.2.3 มาตรฐานของการออกกำลังกาย

3.2.4 การประเมินตนเองก่อนออกกำลังกาย

3.2.5 การออกกำลังกายแบบแอโรบิก

3.2.6 กลุ่มกล้ามเนื้อพื้นฐานของร่างกาย

3.2.7 ระยะ (phase) ของการออกแรงกล้ามเนื้อ

3.2.8 การออกกำลังกายแบบยืดหยุ่น(flexibility)

3.2.9 การออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ

3.2.10 การออกกำลังกายเพื่อเสริมการทรงตัว

3.2.11 การออกกำลังกายแก้ไขออฟฟิศซินโดรม

3.2.12 ความปลอดภัยของการออกกำลังกาย

3.3 การจัดการความเครียด

3.3.1 ทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบประสาทอัตโนมัติ ANS (Autonomic nervous system)

3.3.2 Simplest meditation เทคนิคการวางความคิดแบบง่ายที่สุด

3.3.3 เทคนิคการตัดกระแสความคิด

3.3.4 Identity การสำนึกว่าเป็นบุคคล

3.3.5 Self inquiry เทคนิคการสอบสวนและลงทะเบียนความคิด

3.3.6 Body scan พลังชีวิตและการรับรู้พลังชีวิต

3.3.7 Concentrative meditation การฝึกสมาธิและเข้าฌาน

3.3.8 Breathing meditation อานาปานสติ

3.3.9 Coping with pain การรับมือกับอาการปวดด้วยวิธีทำสมาธิ

          3.4 การนอนหลับ

3.5 การสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้าง

3.6 Simple-8 ดัชนีสุขภาพสำคัญ 8 ตัวง่ายๆ 

          3.6.1 น้ำหนัก (ดัชนีมวลกาย)

3.6.2 ความดันเลือด

3.6.3 ไขมันในเลือด

3.6.4 น้ำตาลในเลือด

3.6.5 จำนวนผักผลไม้ที่กินต่อวัน

3.6.6 เวลาที่ใช้ออกกำลังกายต่อสัปดาห์

3.6.7 การสูบบุหรี่

3.6.8 การนอนหลับ

3.7 Tiny Habit การสร้างนิสัยใหม่ด้วยการทำนิดเดียว

3.8 การตรวจสุขภาพประจำปีและฉีดวัคซีนป้องกันโรค 

3.9 ระยะสุดท้ายของชีวิต

4. พลิกผันโรคด้วยตนเอง         

          4.1 โรคหลอดเลือดแดงแข็ง ต้นทางของโรคเรื้อรัง

4.2 โรคหัวใจขาดเลือด

                     4.2.1 โรคหัวใจขาดเลือดคืออะไร

                     4.2.2 อาการของโรคหัวใจขาดเลือดเป็นอย่างไร

4.2.3 การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ

4.2.4 การจัดการโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

4.2.5 การจัดการโรคหัวใจขาดเลือดชนิดไม่ด่วน

4.2.6 อาหารสำหรับโรคหัวใจขาดเลือด

4.2.7 การออกกำลังกายสำหรับโรคหัวใจขาดเลือด

4.2.8 การรับมือกับความเครียดเฉียบพลันในโรคหัวใจ

4.2.9 การดื่มแอลกอฮอล์ในโรคหัวใจ

4.2.10 การตัดสินใจว่าจะทำบอลลูน/บายพาสหรือไม่

4.2.11 หัวใจเต้นผิดจังหวะแบบต่างๆ

4.2.12 เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบต่างๆ

4.2.13 ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นอย่างไร

4.2.14 การป้องกันการตายกะทันหัน

4.3 โรคความดันเลือดสูง

4.3.1 โรคความดันสูงคืออะไร

4.3.2 นัยสำคัญของความดันเลือดสูง

4.3.3 สาเหตุของความดันเลือดสูง

4.3.4 การวัดความดันด้วยตัวเองอย่างถูกต้อง

4.3.5 ความดันวัดที่บ้านกับที่โรงพยาบาลจะเชื่อตัวไหนดี

4.3.6 อาการของโรคความดันเลือดสูง

4.3.7 วิธีรักษาความดันเลือดสูงด้วยตนเอง

4.3.8 ยารักษาความดันเลือดสูงชนิดต่างๆ

4.3.9 การป้องกันโรคความดันเลือดสูง

4.3.10 ผลวิจัยความดันที่เอาไปพลิกผันโรคให้ตัวเองได้

4.3.11  วิธีลดและเลิกยารักษาความดันเลือดสูง

4.4 โรคเบาหวาน

4.4.1 โรคเบาหวานคืออะไร      

4.4.2 ชนิดของโรคเบาหวาน

4.4.3 กลไกการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1

4.4.4 กลไกการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (การดื้อต่ออินซูลิน)

4.4.5 การวินิจฉัยโรคเบาหวาน

4.4.6 มายาคติเกี่ยวกับโรคเบาหวาน

4.4.7 วิธีรักษาโรคเบาหวานโดยไม่ใช้ยา

4.4.8 วิธีลดและเลิกยาเบาหวาน

4.5 โรคไขมันในเลือดสูง

                     4.5.1 โรคไขมันในเลือดสูงคืออะไร

4.5.2 การรักษาไขมันในเลือดสูงด้วยตนเอง

4.5.3 ระดับ LDL ที่พึงประสงค์ตามระดับความเสี่ยงแต่ละคน

4.5.4 ความเสี่ยงและประโยชน์ของยาลดไขมัน

4.5.5 การลดและเลิกยาลดไขมัน

4.6 โรคอัมพาต

          4.6.1 โรคอัมพาตคืออะไร

4.6.2 การวินิจฉัยอัมพาตเฉียบพลัน

4.6.3 การจัดการโรคอัมพาตเฉียบพลัน

4.6.4 การฟื้นฟูหลังการเป็นอัมพาต

4.7 โรคสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์

4.7.1 นิยามโรคสมองเสื่อม

4.7.2 การตรวจคัดกรองโรคอื่นที่อาการคล้ายสมองเสื่อม

4.7.3 การรักษาสมองเสื่อมด้วยตนเอง 

4.7.4 ยารักษาโรคสมองเสื่อม

4.7.5 อย่าเร่งให้ตัวเองเป็นสมองเสื่อมเร็วขึ้น

4.7.6 ยารักษาโรคสมองเสื่อม

4.8 โรคมะเร็ง

                     4.8.1 โรคมะเร็งคืออะไร

4.8.2 สาเหตุของโรคมะเร็ง

4.8.3 การวินิจฉัยโรคมะเร็ง

4.8.4 ข้อมูลเรื่องอาหารกับโรคมะเร็ง

4.8.5 การตรวจคัดกรองมะเร็ง

4.8.6 การรักษามะเร็งตามแบบแพทย์แผนปัจจุบัน

4.8.7 งานวิจัยรักษามะเร็งต่อมลูกหมากด้วยอาหาร

4.8.8 การดูแลรักษาตนเองหลังการผ่าตัดเคมีบำบัดฉายแสง

4.8.9 การแพทย์เลือกในการร่วมรักษามะเร็ง

4.9 โรคอ้วน

4.9.1 นิยามของโรคอ้วน

4.9.2 หลักฐานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการลดน้ำหนัก

4.9.3 การลดน้ำหนักด้วยอาหารพืชเป็นหลัก

4.10 โรคไตเรื้อรัง

4.10.1 นิยามโรคไตเรื้อรังและเกณฑ์วินิจฉัย

4.10.2 การรักษาโรคไตเรื้อด้วยตัวเองตามหลักฐานใหม่

4.10.4 โปตัสเซียมกับโรคไตเรื้อรังระยะต่างๆ

4.10.5 ฟอสเฟตจากอาหารพืชและสัตว์ต่อโรคไตเรื้อรัง

4.10.6 การป้องกันโรคไตเรื้อรัง

4.10.7 การบำบัดทดแทนไตแบบต่างๆ

5. Human body ร่างกายมนุษย์

          5.1 พื้นฐานโครงสร้างทางกายภาพในร่างกายของเรา

5.1.1 อวัยวะ

5.1.2 เนื้อเยื่อ

5.1.3 เซลล์

5.1.4 อวัยวะย่อยในเซลล์ (organelles)

5.1.5 โมเลกุลขนาดใหญ่

5.1.6 โมเลกุลขนาดเล็ก

5.1.7 อะตอม

5.1.8 อิเล็กตรอน โปรตอน และควาร์ก

          5.2 ระบบการทำงานต่างๆในร่างกายของเรา

                     5.2.1 Integumentary system ระบบผิวหนัง

5.2.2 Nervous system ระบบประสาท

5.2.3 Muscular system ระบบกล้ามเนื้อ

5.2.4 Skeletal system ระบบกระดูก

5.2.5 Respiratory system ระบบการหายใจ

5.2.6 Circulatory system ระบบการไหลเวียน

5.2.7 Alimentary system ระบบทางเดินอาหาร

5.2.8 Urinary system ระบบทางเดินปัสสาวะ

5.2.9 Reproductive system ระบบสืบพันธ์

5.2.10 Hematology system ระบบเลือด

5.2.11 Lymphatic system ระบบน้ำเหลือง

5.2.12 Endocrine system ระบบต่อมไร้ท่อ

5.2.13 Microbiomes ชุมชนจุลชีพในร่างกาย

5.2.14 Homeostasis ร่างกายนี้ซ่อมแซมตัวเองได้

6. อาการผิดปกติที่พบบ่อย (Common Symptoms)

6.1 ปวดหัว 

6.2 ไข้ 

6.3 เจ็บคอ 

6.4 คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม 

6.5 ไอ 

6.6 หอบ หายใจไม่อิ่ม 

6.7 ปวดท้อง 

6.8 ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอ อาหารไม่ย่อย 

6.9 ท้องเสีย 

6.10 ท้องผูก 

6.11 เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก 

6.12 หน้ามืด เป็นลม 

6.13 หมดสติ 

6.14 ชัก 

6.15 แขนขาอ่อนแรง 

6.16 พูดไม่ชัด 

6.17 ปากเบี้ยว 

6.18 ตามืดเฉียบพลัน 

6.19 ทรงตัวไม่อยู่ 

6.20 ปวดฟัน เสียวฟัน 

6.21 ปวดท้องเมนส์ 

6.22 ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตามตัว 

6.23 ปวดกระดูก 

6.24 ปวดนิ้วมือ ปวดข้อมือ 

6.25 ปวดหู 

6.26 ปวดต้นคอ ปวดคอ 

6.27 ปวดหัวไหล่ 

6.28 ปวดหลังปวดเอว 

6.29 ปวดสะโพก 

6.30 ปวดเข่า 

6.31 ปวดน่อง 

6.32 ปวดข้อเท้า 

6.33 ปวดส้นเท้า 

6.34 ปวดฝ่าเท้า 

6.35 ปวดนิ้วเท้า 

6.36 ปวดแสบเวลาปัสสาวะ 

6.37 ปวดก้น 

6.38 ปวดอวัยวะเพศ 

6.39 ปวดตอนร่วมเพศ 

6.40 ปวดอัณฑะ 

6.41 เจ็บเต้านม ปวดเต้านม 

6.42 เจ็บตา 

6.43 ก้อนผิดปกติ 

6.44 นอนไม่หลับ 

6.45 นอนกรน 

6.46 อ้วน ลงพุง น้ำหนักเพิ่ม 

6.47 ผอม น้ำหนักลดโดยไม่ได้ตั้งใจลด 

6.48 หนาวสั่น 

6.49 ไม่สบาย 

6.50 อ่อนเพลีย เปลี้ยล้า ไม่มีแรง 

6.51 ลื่นตกหกล้มง่าย 

6.52 หลังค่อม 

6.53 ซีด โลหิตจาง 

6.54 ดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง 

6.55 เขียว เล็บเขียว ปากเขียว มือเขียว 

6.56 บวม 

6.57 เหน็บ / ชา 

6.58 สะอึก 

6.59 ผิวสีคล้ำ 

6.60 ลมพิษ 

6.61 จ้ำเลือด 

6.62 ผมร่วง 

6.63 รังแค 

6.64 ใจสั่น / ใจเต้นเร็ว 

6.65 ตะคริว 

6.66 มือสั่น 

6.67 เวียนหัว บ้านหมุน 

6.68 ขี้หลงขี้ลืม 

6.69 เมารถเมาเรือ 

6.70 เลือดกำเดาไหล 

6.71 จมูกไม่ได้กลิ่น 

6.72 แผลในปาก ร้อนใน 

6.73 กลิ่นปาก 

6.74 น้ำลายไหลจากมุมปาก 

6.75 เสียงแหบ 

6.76 กลืนลำบาก 

6.77 คลื่นไส้ / อาเจียน 

6.78 เรอเปรี้ยว / กรดไหลย้อน 

6.79 เบื่ออาหาร 

6.80 ถ่ายดำ ถ่ายเป็นเลือด 

6.81 กลั้นอุจจาระไม่อยู่ 

6.82 กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ /ปัสสาวะบ่อย 

6.83 ปัสสาวะเป็นเลือด 

6.84 เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด 

6.85 ประจำเดือนไม่มี / ไม่มา 

6.86 ตกขาว 

6.87 ร้อนวูบวาบ 

6.88 อวัยวะเพศไม่แข็งตัว 

6.89 การคุมกำเนิด 

6.90 ของเหลวหรือน้ำนมไหลจากเต้านม 

6.91 ตามีอะไรลอยไปมา (Floaters) 

6.92 ตาเห็นแสงระยิบระยับ 

6.93 ตาแห้ง 

6.94  ตาโปน 

6.95  ตามัว / ตามืด 

6.96  หนังตาตก 

6.97 เสียงในหู 

6.98 คันหู 

6.99 หูตึง หูหนวก 

6.100 หูน้ำหนวก 

6.101 กังวล / เครียด 

6.102 กลัวเกินเหตุ (panic) 

6.103 ซึมเศร้า (depress) 

6.104 ย้ำคิดย้ำทำ 

6.105 เห็นภาพหลอน / ได้ยินเสียงหลอน

7. การแปลผลการตรวจทางการแพทย์

7.1 CBC การตรวจนับเม็ดเลือด

7.2 UA การตรวจปัสสาวะ

7.3 Blood chemistry การตรวจวิเคราะห์ทางชีวเคมีของเลือด

8. รู้จักใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์

9. บรรณานุกรม

10.  เกี่ยวกับผู้เขียน

…………………………………………………………….

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

16 กรกฎาคม 2566

โรคขี้กังวลในนักศึกษา (generalized anxiety disorder - GAD)

(ภาพวันนี้ / ต้อยติ่งในดง)

สวัสดีครับ

ผมอยากขอความกรุณาหน่อยครับ ตอนนี้ผมอายุ 19 เรียนคณะพยาบาลอยู่ปี2 ผมเป็นคนนึงที่คิดมากครับ แต่ก็พยายามจะไม่คิดมาก ฝึกนั่งสมาธิ ทำจิตใจให้สงบ แต่งานก็เยอะด้วยครับกับการเรียนคณะนี้ ผมชอบมีอาการปวดหัวตรงขมับบ่อยมาก เป็นๆหายๆ ทุกวัน พอมีวิธีช่วยไหมครับคุณหมอ

ขอบคุณมากครับ

……………………………………………………..

ตอบครับ

คนที่กำลังเรียนหนังสือ จะต้องมีช่วงหนึ่งหลายๆช่วงในชีวิต ที่รู้สึกว่านี่มันจะไม่ไหวแล้วนะ มันสุดทนแล้วนะ เรื่องที่จะต้องอ่านต้องทำความเข้าใจต้องจำเพื่อไปสอบมีแยะ เวลามีไม่พอ ที่สำคัญพลังชีวิตหดหายไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง มีแต่อาการผิดปกติบนร่างกายเต็มไปหมดแทบทุกระบบ เช่น ระบบประสาทอัตโนมัติ (ใจสั่น เหงื่อแตก ความดันขึ้น) ระบบกล้ามเนื้อกระดูก (เปลี้ยล้า ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ) ระบบทางเดินอาหาร (คลื่นไส้ ท้องร่วง) ระบบหายใจ (หายใจไม่อิ่ม หอบหืด) จิตประสาท (กลัวเกินเหตุ คิดกังวลซ้ำซาก ตั้งสติไม่ได้ หงุดหงิดโมโหง่าย นอนไม่หลับ ซึมเศร้า) ทำอะไรก็ไม่ค่อยสำเร็จ มองทุกอย่างเป็นปัญหาใหญ่ไปหมด มีปัญหาสลึงเดียวก็มองเห็นเป็นปัญหาสิบบาทร้อยบาท ถ้าจะว่ากันตามเกณฑ์วินิจฉัยทางการแพทย์ (DSM-IV) ถือว่านี่เป็นโรคๆหนึ่ง ชื่อโรคขี้กังวล หรือ GAD (ย่อมาจาก generalized anxiety disorder) ถือเป็นโรคคอมมอน หมายความว่าคนเป็นกันทั่ว ดังนั้นปัญหาที่คุณประสบอยู่นี้เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร

วิธีแก้ปัญหา ผมแนะนำให้แยกทำเป็นสองเรื่องดังนี้

1.. ในสนามความคิด ให้เอาความคิดบวกไล่ความคิดลบ ซึ่งมีประเด็นสำคัญห้าหกประเด็น คือ

(1) เลือกคิดแต่เรื่องที่อยู่ตรงหน้า เช่นวิชาที่เรากำลังอ่าน การบ้านที่เรากำลังทำ สมัยผมเรียนแพทย์ ครูที่ผมนับถือมากคือวิลเลียม ออสเลอร์ ท่านสอนว่าระหว่างวันนี้กับเมื่อวานนี้มีฉากเหล็กกั้นอยู่ ระหว่างวันนี้กับพรุงนี้ก็มีฉากเหล็กกั้นอยู่ เราอยู่แต่ในโลกของวันนี้ก็พอ ทำเรื่องในวันนี้ให้ดี เรื่องในวันพรุ่งนี้เช่นผลสอบจะเป็นอย่างไรช่างมันก่อน

(2) หัดนิ่งเสียบ้าง อย่าเอะอะก็กระโจนเข้าไปในสนามความคิด เวลามีสิ่งเร้าอะไรโผล่เข้ามา ให้นิ่งสักพัก ไม่ต้องรีบสนองตอบ ไม่ต้องกลัวเจ๊ง ไม่ต้องกลัวพัง ไม่ต้องกลัวอะไรทั้งสิ้น อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด นิ่งๆ ดูเชิงสักพักก่อน ยอมรับทุกอย่างที่พระพรหมโยนมาใส่ชีวิตเรา อย่าบ่น ยอมรับมันตามที่มันเป็น ไม่ต้องดราม่า ไม่ต้องตั้งแง่กับชีวิตว่านี่หรือชีวิต ไม่ต้องไปคิดอะไรต่อยอดสิ่งที่สังเกตพบเห็น แค่รับรู้มันตามที่มันเป็น ไม่ต้องเอาตัวตนของเราเข้าไปพิพากษาตัดสินอะไรทั้งสิ้น ยอมรับลูกเดียว แค่ท่องคาถา “ขอบคุณ ขอโทษ ให้อภัย เมตตา”บ่อยครั้งแค่นิ่งๆก็ไม่ต้องคิดอะไรต่อได้แล้ว

(3) หัดตีทะเบียนความคิด ความคิดของเรานี้มันมาจากความจำ มันจึงมีธรรมชาติซ้ำซากวกวนไม่รู้จบ วิธีที่จะไม่คิดซ้ำซากวกวนก็คือหัดตีทะเบียนความคิด ความคิดหนึ่งเกิดขึ้นมา ยอมเสียเวลาสอบสวนวิเคราะห์มันหน่อย มันมีเหตุผลอะไรเป็นแรงผลักดันอยู่เบื้องหลัง มันมีประโยชน์หรือมีโทษ หากมีโทษมากกว่ามีประโยชน์ก็ตีทะเบียนไว้ในใจให้หมายเลขด้วยว่าเป็นความคิดมีโทษอันดับที่ 1, 2, 3… และตั้งใจว่าหากมันกลับมาเราจะทิ้งมันทันที ตั้งชื่อมันไว้ก็ได้ เช่น “เจ้าความคิดกลัวสอบตก” เป็นต้น ทำอย่างนี้กับความคิดตัวแสบทุกความคิด หนึ่งความคิดสอบสวนครั้งเดียวแล้วตีทะเบียนเลยอย่าไปสอบสวนความคิดเดียวซ้ำซากหลายครั้งจะกลายเป็นการสนับสนุนการคิดวกวนไปเสียฉิบ เมื่อมันกลับมาอีกเราจำมันได้แล้วก็ดีดมันทิ้งได้เลยทันที ไม่ต้องไปคิดซ้ำอีก

(4) สนใจแต่เรื่องที่เรามีอำนาจที่จะทำให้มันดีขึ้นได้ (influence) เช่นวิชาที่เราเรียน อย่าไปสนใจเรื่องไกลตัวที่เราไม่มีอำนาจควบคุมบังคับได้แต่เป็นห่วงเป็นใย (concern) เช่นด้อมส้มกับเสื้อแดงใครจะชนะ อย่างนี้เป็นเรื่องที่เราไม่มีอำนาจไปควบคุมบังคับ ไม่ต้องไปเสียเวลาสนใจหรือคิด อย่าเป็นคนแบกโลกไว้ นั่นมันเป็นวิธีใช้ชีวิตของคนโง่ เหมือนแม่ค้าหาบกระบุงตะกร้าขึ้นรถไฟ พอขึ้นไปอยู่บนรถไฟแล้วก็ยังหาบกระบุงตะกร้านั้นอยู่ เพราะกลัวกระบุงตะกร้านั้นจะไม่ได้เดินทางไปถึงปลายทางกับตัวเอง

(5) ยอมรับอาการของร่างกายที่เกิดจากความเครียดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ปวดหัวก็โอเคปวดหัว ไม่ต้องไปเฝ้ามองวันมันจะปวดมากขึ้นไหม มันจะมาถี่ไหม ปวดก็ปวด หายก็หาย เครียดมันก็ปวด หายเครียดมันก็หาย ถ้าพอทนได้ก็ไม่ต้องใช้ยา แค่ยอมรับมัน

(6) รู้จักเป็นปลื้ม (pride) กับชีวิตเสียบ้าง อย่าไปเปรียบเทียบหรือเอาอย่างคนรอบตัวที่ไม่เคยพอใจอะไรในชีวิตของพวกเขาแต่ละคนเลย หากเผลอคิดแบบเขาก็จะเป็นแบบเขาไปอีกคน คือมีแต่ความรู้สึกว่าชีวิตนี้ช่างมีปัญหาที่แก้ไม่ตก อะไรที่อยากได้ก็ไม่เคยมี ทรัพยากรณ์ที่จะแก้ปัญหาก็ไม่เคยพอ หัดมองไปรอบตัวให้เห็นสิ่งที่เราควรจะเป็นปลื้มกับมันบ้าง เช่นการได้เข้ามาเรียนพยาบาลนี้ก็เป็นความปลื้มอย่างใหญ่แล้ว เราจะมีโอกาสได้มีอาชีพการงานที่เป็นที่ต้องการมีงานทำแน่นอนมั่นคง แถมจะได้ช่วยบรรเทาทุกข์ให้ชีวิตอื่นด้วย เป็นต้น แม้เรื่องเล็กๆก็ปลื้มกับมันได้ เช่นถูห้องนอนแล้วมันสะอาด ก็ปลื้มได้แล้ว   

2.. ในสนามพลังงาน หรือพลังชีวิต

นอกจากการปรับตัวในสนามความคิดแล้ว คุณต้องสร้างพลังชีวิตให้มันคุโชนขึ้นมาด้วย ด้วยการ

(1) หายใจเอาพลังงานเข้ามาแยะๆก่อน ฝึกหายใจลึกๆ กลั้นไว้สักพัก แล้วค่อยผ่อนลมหายใจออกยาวๆ คล้ายจงใจถอนหายใจ ใช้วิธีนับไปด้วยก็ได้ 4-4-8 เข้านับ 1-2-3-4 แล้วกลั้นไว้ขณะนับ 1-2-3-4 แล้วผ่อนลมหายใจออกและนับ 1-2-3-4-5-6-7-8 ทำอย่างนี้ทุกครั้งที่คิดขึ้นได้ทุกวัน ทุกที่ ทุกเวลา และหาเรื่องสูดลมหายใจลึกๆบ่อยๆ รับเอาพลังงานเข้าไปให้เต็มอิ่มพร้อมกับลมหายใจด้วย

(2) ผ่อนคลายกล้ามเนื้อร่างกาย ตอนที่หายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้สักพักนั้น ตอนหายใจออกให้ผ่อนลมหายใจออกมาแบบสบายๆแล้วผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนทั่วร่างกายพร้อมกันไป ยิ้มที่มุมปากไปด้วย ทำไปพร้อมกับการทำงานก็ได้ เมื่อกล้ามเนื้อคลายตัวไฟฟ้าในเส้นประสาทที่วิ่งไปกระตุ้นกล้ามเนื้อจะสงบลง เราจะเริ่มรับรู้หรือ feel พลังชีวิตได้ การผ่อนคลายเริ่มที่การยิ้มให้ได้ก่อน ยิ้มทั้งวัน นั่นหมายความว่าเราได้พลังชีวิตเพิ่มขึ้นตลอดวัน

(3) ในการเรียน ให้เรียนอย่างสุดจิตสุดใจ อย่าไปตั้งแง่ว่าวิชานี้กิจกรรมนี้ชอบหรือไม่ชอบ เอาเป็นว่าอย่างไรเสียตอนนี้เราต้องเรียนให้จบ ให้หาความสุขจากการได้ลงมือเรียนและทำการบ้านอย่างสุดจิตสุดใจ ทำอย่างสุดฝีมือ แน่วแน่ จริงจัง เพราะการได้ทำอย่างสุดจิตสุดใจทุ่มสุดตัวโดยไม่สนใจว่าใครจะเอาหัวเดินต่างตีนก็ช่างเขาเป็นการเพิ่มพลังชีวิต ทำงานเล็กๆเสร็จไปชิ้นหนึ่งแล้วก็เฉลิมฉลองกับตัวเองเสียหน่อย ชูกำปั้นให้ตัวเองแล้วร้องเย่ ในใจ ก็ได้

(4) หาเวลาออกกำลังกาย ถ้าไม่มีเวลาก็เอาตอนพักกินข้าวเที่ยงนั่นแหละ ออกไปเดินขึ้นลงที่บันไดครึ่งชั่วโมง การได้ออกกำลังกายให้เหนื่อยเป็นการเพิ่มพลังชีวิต

(5) ทุกครั้งที่มีโอกาสให้ออกไปรับแดดรับลมข้างนอกบ้าง ธรรมชาติเช่นต้นไม้ ที่โล่งกว้าง ท้องฟ้า แสงแดด ลมพัด อยู่กลางสายฝนโปรยปราย เป็นสนามพลังงาน แค่เปิดรับเอาพลังงานเข้ามา กางมือออก สูดลมหายใจเข้าลึกๆ ผ่อนคลาย ยิ้ม พลังก็มาแล้ว

(ุ6) เลือกกินอาหารที่เสริมพลังชีวิต กินพืชผักผลไม้ถั่วนัทมากๆ ยิ่งอยู่ในสภาพสดยิ่งดี กินเนื้อสัตว์น้อยๆ หลีกเลี่ยงของหวานหรือเครื่องดื่มรสหวานเพราะจะทำให้เกิด sugar dip คือพลังหมดแม้จะกินหวานไปหยกๆ อย่ากินแบบสวาปามเพราะจะบั่นทอนพลังชีวิตคือกินอิ่มเกินไปแล้วอืดเป็นงูเหลือมจนทำอะไรไม่ได้ กินแค่พอใกล้จะอิ่มก็หยุด ไม่ต้องรอให้อิ่ม ปล่อยให้ตัวเองหิวสักนานๆอย่ารีบหาอะไรกิน เพราะความหิวจะทำให้ร่างกายสร้างพลังชีวิตเพิ่มขึ้นจากอาหารที่เก็บตุนไว้เรียบร้อยแล้วในตับ

(7) จัดเวลานอนหลับให้พอ อย่าเปิดดูหน้าจอจนค่ำมืดดึกดื่น หมดกิจประจำวันแล้วรีบอาบน้ำนอน

(8) ทำสมาธิ วางความคิดก่อนนอนสักห้านาที ถ้าไม่ได้ก็สักหนึ่งนาทีก็ยังดี

(9) อยู่ใกล้คนที่เขามีพลัง อาศัยพลังจากคนอื่นช่วยพยุงเราบ้าง อาจารย์ที่ปรึกษาเป็นแหล่งพลังที่ดีของนักศึกษา ควรเข้าหาอาจารย์ที่ปรึกษา เปรยความทุกข์กังวลให้ท่านฟัง แค่ท่านนั่งรับฟังเรา พลังเราก็มาแล้ว เพราะอาจารย์ที่ปรึกษาเราย่อมเป็นผู้หนึ่งที่มีความปรารถนาดีต่อเราโดยไม่มีอะไรเคลือบแฝงอย่างแท้จริง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

14 กรกฎาคม 2566

ความว่างเปล่า (Space) ความเงียบ (Silence) และเวลา ณ ปัจจุบันขณะ (Now)

(ภาพวันนี้ / ตื่นจากนอนเล่น มองออกไปนอกประตู)

(หมอสันต์พูดกับสมาชิกที่มาเข้า Spiritual Retreat)

สมมุติว่าเรายืนมองเสาประตูฟุตบอลสองต้นซ้ายขวา ระหว่างเสาทั้งสองต้นนั้นคือช่องว่างหรือความว่างเปล่า ทั้งๆที่เราก็กำลังมองดูช่องว่างนั้นอยู่ แต่มันไม่มีอะไรให้มองเห็น พูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่าช่องว่าง (space) หรือความว่างเปล่า ก็คือความรู้ตัว (consciousness) ที่ดำรงอยู่โดยไม่มีการสนองตอบของใจเราต่อสิ่งที่เห็น จะด้วยไม่มีภาพให้ดู หรือด้วยเราจงใจไม่สนองตอบก็แล้วแต่

สมมุติว่าเรากำลังฟังเสียงนก เสียงนกตัวที่หนึ่งร้องดังขึ้น เบาลง แล้วเงียบไป อีกสักครู่นกตัวที่สองก็ร้องดังขึ้น ช่องว่างระหว่างเสียงของนกตัวที่ 1 และเสียงของนกตัวที่ 2 เป็นความเงียบ (silence) ทั้งๆที่เราก็เปิดหูรับฟังอยู่ แต่มันไม่มีอะไรให้ได้ยิน พูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่าความเงียบก็คือความรู้ตัวที่ดำรงอยู่โดยไม่มีการสนองตอบต่อเสียง (หรือไม่สนใจเสียง)

สมมุติว่าเรามีความคิดที่ 1 โผล่ขึ้นมาในใจ สมมุติว่าเป็นเรื่องงานที่เจ้านายเร่งรัดจะรีบเอา สักพักหนึ่งความคิดนั้นหมดไป ครู่หนึ่งต่อมาก็มีความคิดที่ 2 โผล่ขึ้นมาในใจอีก คราวนี้สมมุติว่าเป็นเรื่องที่ลูกขอเงินไปซื้อไอโฟน 14 ระยะห่างจากความคิดที่ 1 ไปหาความคิดที่ 2 เราเรียกว่าเวลา (time) แต่เนื่องจากเรากำลังสนใจมันอยู่ ผมจึงเรียกมันว่าเวลา ณ ปัจจุบันขณะ หรือเดี๋ยวนี้ (now) แทนก็แล้วกัน ปกติเราไม่ได้สังเกตดอกว่าระหว่างความคิดที่ 1 กับความคิดที่ 2 มันมีช่องว่างอยู่ แต่ถ้าเราสังเกตให้ดี มันมีช่องว่างนั้นอยู่ ทั้งๆที่เราก็ตื่นตัวอยู่ สังเกตอยู่ แต่ความคิดไม่มี (หรือมีแต่เราไม่ได้สนใจ) พูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่าเวลาในระหว่างความคิดสองความคิดก็คือความรู้ตัวที่ดำรงอยู่โดยไม่มีความคิด ซึ่งก็คือที่เรียกกันว่า “ปัจจุบัน” หรือ “ที่นี่เดี๋ยวนี้” นั่นแหละ

ดังนั้นความรู้ตัวก็คือ ความว่าง (space) หรือ ความเงียบ (silence) หรือ เวลา ณ ปัจจุบัน (now) ที่เรามีความตื่นอยู่ มีความสามารถรับรู้รออยู่ แต่ไม่มีความคิด จะด้วยไม่มีสิ่งกระตุ้นความสนใจของเรา หรือมีสิ่งกระตุ้นแต่เราเพิกเฉยต่อมันก็ตาม

ผมอยากจะให้ทุกท่านสังเกตเจ้าตัว “ความรู้ตัว” (consciousness) นี้ทุกครั้งที่มีโอกาส ว่ามันมีธรรมชาติสงบเย็น

การมีภาพเป็นเป้าของความสนใจผ่านการมองก็ดี การมีเสียงเป็นเป้าของความสนใจผ่านการได้ยินก็ดี การมีความคิดเป็นเป้าของความสนใจผ่านการคิดก็ดี ล้วนก่อให้เกิดประสบการณ์ขึ้นในใจ (mental activities) ใครที่เคยได้อ่านหนังสืออภิธรรมปิฎกซึ่งเป็นหนังสือที่คนรุ่นหลังเขียนขึ้นอธิบายคำสอนของพระพุทธเจ้า เขาตั้งชื่อเรียกประสบการณ์ในใจเหล่านี้ว่า “เจตสิก” ชื่อเรียกนั้นไม่สำคัญอะไรดอก แต่ประเด็นสำคัญคือประสบการณ์ในใจเหล่านี้ล้วนเกิดในที่เดียวกันกับความรู้ตัว หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายกว่านั้น ประสบการณ์ในใจเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นในความรู้ตัว

ผมไม่ได้แนะนำให้ท่านอ่านหนังสืออภิธรรมปิฏกดอกนะเพราะมันจะเยอะเกินไป แต่ไหนๆพูดถึงหนังสือชุดนี้แล้วขอแวะเล่าในภาพใหญ่ให้ฟังหน่อยว่าในหนังสือชุดนี้เขามองการเรียนรู้ชีวิตออกเป็นสี่ส่วนคือ

(1) ความรู้ตัว (consciousness) คือความตื่นและความสามารถรับรู้สิ่งเร้า

(2) กิจกรรมหรือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในใจ (mental activities) เช่น ความรู้สึก ความคิด เป็นต้น

(3) สิ่งเร้าทางกายภาพที่ผ่านเข้ามาทางร่างกาย (stimuli) เช่นภาพ เสียง สัมผัส เป็นต้น

(4) ความรู้ตัวในภาวะปลอดกิจกรรมในใจ (primordial consciousness)

ซึ่งในหนังสือเรียกสี่ส่วนนี้เป็นภาษาบาาลีว่า “จิต, เจตสิก, รูป, นิพพาน”

ขอย้อนกลับไปพูดถึง “เวลา” หน่อย ศัพท์คำว่าเวลานี้ใช้กันในสามความหมายนะ

(1) เวลาตามปฏิทิน หรือ Clock time ซึ่งเป็นคอนเซ็พท์ที่มนุษย์เราคิดขึ้นนับจำนวนรอบของการหมุนซ้ำๆซากๆของโลกรอบตัวเองบ้าง รอบดวงอาทิตย์บ้าง ในรูปของวันเดือนปี ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นคอนเซ็พท์ที่มีประโยชน์มาก อย่างน้อยมันก็ทำให้พวกเรามานั่งพร้อมหน้ากันที่นี่ได้

(2) เวลาในใจคน หรือ Psychological time อันนี้เป็นเวลาสมมุติเพื่อใช้ประกอบการเดินเรื่องราวของความคิด ซึ่งความคิดนี้มีธรรมชาติว่าหากไม่ดำเนินเรื่องอยู่ในอดีต (เสียใจ ภูมิใจ สะใจ โกรธ ผิดหวัง) ก็เป็นการเดินเรื่องในอนาคต (กังวล กลัว คาดหวัง) เวลาในใจคนนี้ ไม่ว่าจะอดีตหรืออนาคต มันไม่ได้มีอยู่จริงนะ มันเป็นเพียงความคิดที่คิดขึ้นในวันนี้ทั้งนั้นแหละ

(3) ปัจจุบันขณะ หรือที่นี่เดี๋ยวนี้ (NOW) คือความรู้ตัวที่ตื่นอยู่ในภาวะที่ปลอดความคิด ปัจจุบันขณะดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีจุดสิ้นสุด เมื่อใดที่เราตื่นอยู่โดยปลอดความคิด เมื่อนั้นก็จะเข้ามาอยู่กับปัจจุบันขณะ เพราะมันอยู่ที่นี่แหละ อยู่ที่ส่วนลึกที่สุดของชีวิตเรานี่แหละ ไม่เคยไปไหน อยู่ที่ว่าเราจะทิ้งความคิดได้หรือเปล่า หากเราทิ้งได้ เราก็จะได้มาอยู่กับมันโดยอัตโนมัติ แต่หากเราทิ้งความคิดไม่ได้ ไปขลุกอยู่ในความคิดตลอดเวลา วันทั้งวันเราก็ไม่ได้อยู่ในปัจจุบันขณะเลย

กลับมาหาสิ่งที่ผมตั้งใจจะพูดถึงในเช้าวันนี้ ว่าเมื่อกิจกรรมหรือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในใจงวดลง สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือความรู้ตัวซึ่งโดยตัวของมันเองมีธรรมชาติสงบเย็น ตรงนี้แหละที่ผมอยากให้ท่านทำความรู้จักกับมัน จะด้วยวิธีทิ้งความสนใจภาพที่เห็นไปให้หมดจนเหลือแต่ความว่างเปล่า หรือทิ้งเสียงที่ได้ยินไปให้หมดจนเหลือแต่ความเงียบ หรือทิ้งความคิดไปให้หมดจนเหลือแต่ปัจจุบันขณะที่ไม่มีความคิด ก็ได้ แล้วท่านจะเห็นธรรมชาติของมันว่ามันเป็นความสงบเย็น ไม่เครียด และหากรู้จักมันดีขึ้น ท่านจะเห็นด้วยตนเองว่ามันมีธรรมชาติที่เป็นบ่อให้พลังสร้างสรรค์เกิดขึ้นมาได้ง่ายๆด้วย ที่ตรงนี้แหละที่จะเป็นที่รักษาโรคเครียดให้เราได้ เพราะความเครียดนั้นเกิดจากการสนองตอบต่อสิ่งเร้า ซึ่งสิ่งเร้าตัวเบ้งของมนุษย์ในยุคปัจจุบันมีตัวเดียว คือความคิดของเราเอง อย่าไปโทษโลกข้างนอกหรือสถานะการณ์ข้างนอก เพราะโลกข้างนอกและสถานะการณ์ข้างนอกทั้งหมดนั้นล้วนปรากฎต่อเราในรูปของความคิดที่เราชงขึ้นในหัวเราเองทั้งสิ้น หากเราวางความคิดลงได้ ความเครียดก็จะหมดไป ไม่ว่าโลกข้างนอกจะเป็นอย่างไร

สี่วันที่เราจะอยู่ด้วยกันนี้ เราจะวนเวียนทำกิจกรรมเพื่อเป้าหมายนี้เท่านั้น คือการฝึกใช้เครื่องมือวางความคิด เพื่อให้เราถอยเข้ามาจนถึงส่วนที่ลึกที่สุดในตัวเรา คือ “ความรู้ตัวในภาวะปลอดความคิด” นี้ให้ได้ เพราะเราจะได้ประโยชน์มหาศาลจากการได้รู้จักมัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

10 กรกฎาคม 2566

เจ็บหน้าอก ตีบ 1, 2, 3 เส้น ตีบเท่านั้นเท่านี้เปอร์เซ็นต์ และตีบที่ LM นิดหน่อย

(ภาพวันนี้ / ดอกเข้าพรรษา)

สวัสดีค่ะ คุณหมอสันต์

คุณพ่อไปตรวจหัวใจที่ รพ. เนื่องจากมีอาการแน่นหน้าอกระหว่างยกน้ำหนักออกกำลังกายที่ฟิตเนสค่ะ แต่แน่นไม่นาน อาจจะเนื่องจากฝืนยกน้ำหนักเกินกำลัง  แต่กิจวัตรประจำวันก็ปกติไม่ได้เจ็บหน้าอกอะไร

ผลการตรวจฉีดสีออกมาว่า หลอดเลือดตีบ 3 เส้นและมีอยู่หนึ่งเส้นที่ค่อนข้างจะตีบมาก ประมาณ 90% ..  คุณหมอที่ รพ.จึงแนะนำให้ผ่าทำบายพาส  แต่พอได้ดูคลิปของคุณหมอพูดเรื่องรักษาหัวใจขาดเลือดด้วยตนเอง ก็เลยสนใจ …  คุณพ่อจึงอยากขอปรึกษาคุณหมอให้แนะนำเป็นการส่วนตัวได้มั้ยคะ  เพราะสอบถามโปรแกรมของศูนย์ wellnesswecare  จะมีคอร์สว่างที่คุณหมออบรมอีกที 12-14 สิงหาคมเลยค่ะ

รบกวนคุณหมอช่วยพิจารณาด้วยนะคะ

ขอบคุณมากค่ะ

……..

………………………………………………………….

ตอบครับ

1.. ถามว่าจะขอปรึกษาหมอสันต์เป็นการส่วนตัวได้ไหม ตอบว่าผมไม่ตรวจรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลแล้วครับเนื่องจากอายุมากแล้ว แต่ยังรักษาและให้คำแนะนำผู้ป่วยเป็นรายคนอยู่ โดยผู้ป่วยต้องมาเข้าแค้มป์พลิกผันโรคด้วยตัวเอง (RDBY – Reverse Disease By Yourself) ซึ่งจัดประมาณทุกสองเดือน ครั้งถัดไปจะจัดในวันที่ 13-16 กย. 66 ครับ เหตุที่ผมต้องรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีกึ่งบังคับให้มาเข้าแค้มป์ด้วยก็เพราะนอกจากการจะได้คุยกันสองต่อสองแล้ว การดูแลตัวเองเพื่อให้หายจากโรคเรื้อรังมันเป็นทักษะที่ต้องมาฝึกปฏิบัติอย่างจริงจังจึงจะกลับไปทำเองได้ ผมเคยลองวิธีนั่งแนะนำกันที่คลินิกสองต่อสองอย่างเดียวแล้วมันไม่ได้ผลเพราะกลับบ้านผู้ป่วยก็ทำไม่ได้เพราะไม่มีทักษะที่จะทำ จึงมาจบที่การรักษาด้วยวิธีให้มาเข้าแค้มป์ RDBY ครั้งหนึ่งมาอยู่ 4 วัน ซึ่งเท่าที่ทำมาแล้ว 27 ครั้งผมพบว่ามันได้ผลดีมาก และยิ่งนานก็ยิ่งดีมากยิ่งขึ้น เพราะยิ่งทำไปผมยิ่งมีความเจนจัดในการฝึกสอนทักษะมากขึ้น ดังนั้นในอนาคตผมคงจะรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังด้วยรูปแบบการให้มาเข้าแค้มป์พลิกผันโรคด้วยตัวเอง (RDBY) เพียงวิธีเดียว ไม่ไปนั่งตรวจรักษาแบบคุยกันสองต่อสองที่คลินิกอีกแล้ว

2.. ถามว่าอาการแน่นหน้าอกขณะยกน้ำหนักในยิม พอพักแล้วหายไป เกิดจากอะไร ตอบว่ามันเป็นอาการของโรคหัวใจขาดเลือดชนิดไม่ด่วน (stable angina) ซึ่งมีเอกลักษณะว่าเจ็บแน่นหน้าอกขณะออกแรง พอพักหรือผ่อนการออกแรงลงก็หายไปในเวลาไม่เกิน 20 นาที เป็นกรณีที่ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลทันที หรือไม่ต้องไปโรงพยาบาลเลยก็ได้ สามารถวินิจฉัยตัวเองได้เลยว่าเป็นโรคนี้แล้ว และสามารถรักษาตัวเองได้เลยด้วยการจัดการปัจจัยเสี่ยงทั้งหลายเช่นความดันเลือด ไขมันในเลือด ให้ดี ด้วยวิธีเปลี่ยนอาหารมากินพืชเป็นหลักแบบไม่ผัดไม่ทอด และเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตในแง่ของการออกกำลังกายและการจัดการความเครียดไปเสียอย่างสิ้นเชิง ไม่ต้องกลัวว่าจะวินิจฉัยตัวเองผิด เพราะการจัดการโรคนี้ด้วยตัวเองมีแต่ได้กับได้ไม่มีเสีย แม้วินิจฉัยผิดก็มีแต่จะทำให้สนใจดูแลร่างกายตัวเองดีขึ้น

คำว่า “20 นาที” นี้เป็นคำสำคัญ เพราะหากเจ็บแม้จะพักแล้วนานเกิน 20 นาทีแล้วไม่หาย มันเป็นอีกโรคหนึ่งเรียกว่า “กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute MI) ซึ่งมีกลไกการเกิดที่แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว กล่าวคือกรณีแรกแค่หลอดเลือดตีบแต่ไม่ตัน แต่กรณีหลังมีลิ่มเลือดมาอุดหลอดเลือดที่ตีบทำให้หลอดเลือดตันจนเลือดวิ่งไปเลี้ยงหัวใจไม่ได้เลย กรณีหลังนี้ต้องไปโรงพยาบาลทันที เพราะการรักษาที่ดีที่สุดคือการสวนหัวใจฉุกเฉินเพื่อเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออก ซึ่งต้องทำภายในเวลาไม่เกินประมาณ 3 ชั่วโมงนับตั้งแต่เจ็บหน้าอก จึงจะได้ผลดีที่สุด

3.. ถามว่าเมื่อเจ็บหน้าอกแบบไม่ด่วน ควรจะต้องตรวจสวนหัวใจ (CAG) หรือไม่ ตอบว่าตรงนี้เป็นทางเลือกสองแพร่งซึ่งจะต้องมองข้ามช็อตไปก่อนว่าจะยอมรับการรักษาแบบรุกล้ำด้วยการทำบอลลูนหรือผ่าตัดบายพาสหรือไม่ ตัวช่วยตัดสินใจก็คือคุณภาพชีวิตอย่างเดียว เพราะหากอาการเจ็บหน้าอกมันรบกวนคุณภาพชีวิตมากจนตั้งใจจะรับการรักษาแบบรุกล้ำแน่นอนแล้วก็ให้เดินหน้าสวนหัวใจ แต่หากมองข้ามช็อตไปแล้วยังยอมรับเรื่องคุณภาพชีวิตได้และไม่ประสงค์จะรับการรักษาแบบรุกล้ำในขั้นนี้ ก็อย่าไปตรวจสวนหัวใจ เพราะเมื่อไปตรวจสวนหัวใจแล้วจะถูกผลักเข้าสู่ปรากฏการณ์น้ำตกเป็นชั้นๆ คือถูกกดดันให้ยอมรับการรักษาแบบรุกล้ำชนิดมากขึ้นๆเป็นทอดๆ ตามมาด้วยการต้องกินยาวันละเป็นกำมือ ถึงตอนนั้นจะมานั่งเสียใจภายหลังว่ารู้อย่างนี้ไม่รับการรักษาแบบรุกล้ำเสียก็ดี แต่ถึงตอนนั้นมันสายไปเสียแล้ว

อย่าเอาความหวังที่จะยืด “ความยืนยาวของชีวิต” มาผลักดันให้ตัวเองเข้ารับการตรวจสวนหัวใจหรือรับการรักษาแบบรุกล้ำ เพราะไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์แม้แต่ชิ้นเดียวที่บ่งชี้ว่าการรักษาแบบรุกล้ำทำให้ผู้ป่วยโรค stable angina มีความยืนยาวของชีวิตเพิ่มขึ้น ซึ่งรายละเอียดตรงนี้ผมจะอธิบายเพิ่มภายหลัง

4.. ถามว่าผลการตรวจสวนหัวใจที่ส่งมาให้หมอสันต์ดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่ารอยตีบบนหลอดเลือดบางจุดมีมากถึง 90% นั้นควรจะทำอย่างไรต่อไป ตอบว่าการวิเคราะห์ผลการตรวจสวนหัวใจเพื่อวางแผนการรักษา ต้องวิเคราะห์ข้อมูลประกอบไปทีละประเด็นดังนี้

ประเด็นที่ 1. การทำงานของหัวใจห้องล่างซ้าย (LV function) เป็นประเด็นสำคัญที่สุด เพราะยิ่งหัวใจห้องล่างซ้ายทำงานแย่ หรือพูดง่ายว่าหัวใจล้มเหลวรุนแรง ผู้ป่วยยิ่งจะได้ประโยชน์จากการรักษาแบบรุกล้ำมาก แต่ถ้าหัวใจห้องล่างซ้ายทำงานดีเป็นปกติอยู่ ประโยชน์ที่จะได้จากการรักษาแบบรุกล้ำอาจจะมีบ้างในแง่ของการช่วยบรรเทาอาการเจ็บหน้าอกในอนาคต แต่ประโยชน์ในการเพิ่มความยืนยาวของชีวิตหรือการลดจุดจบที่เลวร้ายของโรคแทบไม่มีเลย ในกรณีของคุณพ่อคุณนี้ การทำงานของหัวใจห้องล่างซ้ายยังเป็นปกติดีอยู่

ประเด็นที่ 2. ความรุนแรงของอาการเจ็บหน้าอก ซึ่งแบ่งเป็นเกรดตั้งแต่ 1-4 ยิ่งมีความรุนแรงของอาการเจ็บหน้าอกมาก คือระดับ 4 (อยู่เฉยๆก็เจ็บ) ยิ่งจะได้ประโยชน์จากการรักษาแบบรุกล้ำมาก แต่หากอาการเจ็บหน้าอกอยู่ระดับ 1-3 การรักษาแบบรุกล้ำจะได้ประโยชน์เฉพาะในแง่ของการบรรเทาอาการ แต่จะไม่ได้ประโยชน์ในแง่ของความยืนยาวของชีวิตหรือการเกิดจุดจบที่เลวร้ายอื่นๆ ในกรณีของคุณพ่อคุณนี้ความรุนแรงของการเจ็บหน้าอกอยู่เกรด 2 คือออกแรงมากถึงจะเจ็บ แค่เคลื่อนไหวไปมาหรือออกแรงนิดหน่อยไม่เจ็บ

ประเด็นที่ 3. การกระจายตัวของรอยตีบ หลอดเลือดหัวใจแบ่งออกเป็นสองข้าง คือข้างขวา (RCA) ข้างซ้ายซึ่งออกมาเป็นโคนเส้นเดียวก่อน (LM) แล้วแยกเป็นแขนงซ้ายหน้า (LAD) และแขนงซ้ายข้าง (LCx)

ซึ่งมีประเด็นย่อยต้องพิจารณาอีก 2 ประเด็น คือ

(1) การกระจายตัวของรอยตีบ เนื่องจากเรานับหลอดเลือดหัวใจว่ามีเส้นใหญ่อยู่ 3 เส้น คือ RCA, LAD, LCx หากรอยตีบกระจายตัวบนสองเส้นในสามเส้นก็เรียกว่าตีบสองเส้น ถ้ากระจายตัวอยู่บนทั้งสามเส้นก็เรียกว่าตีบสามเส้น ถือกันว่ายิ่งตีบหลายเส้นโรคยิ่งมาก ยิ่งตีบหลายเส้นหากรักษาแบบรุกล้ำยิ่งให้ผลดี ในกรณีของคุณพ่อคุณนี้เรียกว่าตีบสามเส้น ถือว่าเป็นโรคมากหากมองจากมุมนี้ แต่ข้อมูลนี้ยังเอาไปตัดสินว่าควรรักษาแบบไหนไม่ได้ เพราะงานวิจัยปัจจุบันพบว่าการกระจายตัวของรอยตีบ ไม่ว่าจะเป็น 1 เส้น หรือ 2 เส้น หรือ 3 เส้น ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีรุกล้ำหรือไม่รุกล้ำก็ให้ผลต่อความยืนยาวของชีวิตไม่ต่างกัน

(2) การมีรอยตีบบนโคนหลอดเลือดข้างซ้าย (LM) หรือไม่ งานวิจัย CASS study และงานวิจัย SWEDEHEART ทำให้เราทราบว่าหากมีรอยตีบบนโคนหลอดเลือดซ้าย (LM) ระดับมีนัยสำคัญคือตีบ 75% ของพื้นที่หน้าตัดขึ้นไป การรักษาด้วยการผ่าตัดบายพาส (CABG, ไม่ใช่การทำบอลลูน) เป็นวิธีรักษาเดียวที่ให้ผลต่อความยืนยาวของชีวิตดีที่สุด ดังนั้นจึงเป็นธรรมเนียมหรือเป็นมาตรฐานจนถึงวันนี้ว่าผู้ป่วยที่มีรอยตีบระดับมีนัยสำคัญ (>75%) ที่ LM แพทย์จะแนะนำให้ทำผ่าตัดบายพาสหมด ในกรณีของคุณพ่อของคุณนี้มีรอยตีบที่ LM แต่เป็นรอยตีบที่ไม่มีนัยสำคัญ (30-50% ของพื้นที่หน้าตัด) จึงเป็นอะไรที่จะอ้างเอางานวิจัย CASS study มาแนะนำการรักษาก็ไม่ได้ แต่การเริ่มมีโรคที่ LM ก็มักทำให้แพทย์มีใจเอียงไปทางที่อยากให้ทำผ่าตัดบายพาส นั่นเป็นใจของแพทย์นะ แต่ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานวิจัยสนับสนุนเลยว่าการมีโรคที่ LM แค่ระยะเริ่มต้นหรือระดับไม่มีนัยสำคัญหากทำผ่าตัดบายพาสจะมีประโยชน์อะไรกับคนไข้หรือไม่

ประเด็นที่ 4. ความรุนแรงของการตีบในเชิงกายวิภาค (anatomical) เราเรียกเป็น % ของการลดลงของพื้นที่หน้าตัดที่เลือดไหลผ่าน โดยตกลงยกเมฆถือกันเอาว่าหากพื้นที่หน้าตัดหายไปเกิน 75 % หรือพูดแบบบ้านๆว่าตีบ 75% ถือว่ามีนัยสำคัญเชิงกายวิภาค หากไม่มีการตีบที่โคนหลอดเลือดซ้าย (LM) อย่างมีนัยสำคัญแล้วเปอร์เซ็นต์การตีบในหลอดเลือดอื่นไม่ว่าจะกี่เปอร์เซ็นต์ล้วนไม่ใช่ข้อมูลที่จะใช้แยกผู้ป่วยไปรับการรักษาแบบไหน เพราะงานวิจัยในผู้ป่วยที่ LM ไม่ตีบอย่างมีนัยสำคัญ พบว่าการตีบที่หลอดเลือดอื่นไม่ว่าจะกี่เส้นหรือเส้นละกี่ % การรักษาแบบรุกล้ำหรือไม่รุกล้ำล้วนให้ผลในแง่ความยืนยาวของชีวิตและการเกิดจุดจบที่เลวร้ายไม่ต่างกัน

ประเด็นที่ 5. ความรุนแรงในเชิงการขัดขวางการไหลของเลือด ซึ่งแพทย์เรียกเป็นเกรดของการไหล (TIMI flow grade) กล่าวคือ

เกรด 0 ก็คือตันไปเรียบร้อยแล้ว เลือดไม่ไหลเลย

เกรด 1 ก็คือเลือดไหลผ่านได้นิ้ดเดียว แต่ไปเลี้ยงปลายทางไม่ถึง

เกรด 2 ก็คือเลือดไหลผ่านไปถึงปลายทางได้บ้างแต่ไม่ปกติ

เกรด 3 ก็คือเลือดไหลไปถึงปลายทางได้ฉลุย เท่าคนปกติ

ในกรณีของคุณพ่อคุณนี้จุดตีบทุกจุดในทั้งสามเส้น วัดได้ TIMI flow เกรด 3 หมด คือเลือดไหลผ่านได้เป็นปกติหมด

แล้วจะเลือกวิธีรักษาอย่างไรดี

คุณพ่อของคุณเป็นโรคหัวใจขาดเลือดชนิดไม่ด่วน (stable angina) มีความรุนแรงการเจ็บหน้าอกเกรด 2 (คือค่อนมาทางเบา) มีจุดตีบบนหลอดเลือดสามเส้น ซึ่งทุกจุดเลือดยังไหลผ่านได้ปกติหมด (TIMI-3) มีรอยตีบที่โคนหลอดเลือดซ้าย (LM) เล็กน้อยที่ไม่มีนัยสำคัญและไม่ใช่ตัวก่อให้เกิดอาการ

งานวิจัยเปรียบที่ทำอย่างดีแล้วชื่อ COURAGE trial และงานวิจัย ISCHEMIA trial พบว่าคนไข้แบบนี้ ไม่ว่าจะหลอดเลือดตีบสองเส้นสามเส้นก็ตาม ตีบเส้นละกี่ % ก็ตาม ไม่ว่าจะเจ็บหน้าอกมากหรือเจ็บน้อย (class 0-III) การรักษาด้วยวิธีรุกล้ำ (การทำบอลลูนใส่ขดลวดถ่าง) ให้ผลในแง่ของความยืนยาวของชีวิตไม่แตกต่างจากการอยู่เฉยๆไม่ทำบอลลูน ดังนั้นการตัดสินใจจึงมาอยู่ที่น้ำหนักของคุณภาพชีวิต ถ้าเห็นว่าอาการเจ็บหน้าอกแบบนี้รับไม่ได้เลยก็ไปทำการรักษาแบบรุกล้ำ ถ้าเห็นว่าเจ็บหน้าอกแค่นี้รับได้สบายมากก็ไม่ต้องไปทำการรักษาแบบรุกล้ำ เพราะไม่ว่าจะทำหรือไม่ทำ อัตราตายก็ไม่ต่างกัน

โปรดสังเกตว่าผมไม่ชักชวนให้คุณพ่อคุณรับการผ่าตัดบายพาส (CABG) แม้จะมีโรคที่ LM เพราะโรคที่ LM ของคุณพ่อคุณอยู่ในระดับไม่มีนัยสำคัญและไม่ได้เป็นต้นเหตุของอาการเจ็บหน้าอก อีกทั้งไม่รบกวนการไหลของเลือดเลย จะไปรักษาตามงานวิจัยที่ทำกับคนที่โรคที่ LM มีรอยตีบอย่างมีนัยสำคัญและเป็นต้นเหตุของการเจ็บหน้าอกแบบในงานวิจัย CASS study หรืองานวิจัย SWEDEHEART แล้วหวังว่าความยืนยาวของชีวิตจะเพิ่มขึ้นเหมือนงานวิจัยทั้งสองนั้นคงไม่ได้ การทำอย่างนั้นเป็นการอ้างผลวิจัยข้ามกลุ่มประชากร (extrapolation) ซึ่งไม่ใช่วิธีการทางวิทยาศาสตร์

อนึ่ง ไม่ว่าจะตัดสินใจเลือกแบบไหน สิ่งที่คุณต้องทำแน่นอนคือการเปลี่ยนอาหาร เปลี่ยนวิธีออกกำลังกาย และลงมือจัดการความเครียด คือเปลี่ยนวิถีชีวิตไปอย่างสิ้นเชิง วิธีทำให้หาดูในบล็อกเก่าๆที่ผมเขียนไว้ หรือไม่ก็หาทางมาเข้าแค้มป์ RDBY

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Boden WE, O’rourke RA, Teo KK, et al; COURAGE Trial Co-Principal Investigators and Study Coordinators.The evolving pattern of symptomatic coronary artery disease in the United States and Canada: baseline characteristics of the Clinical Outcomes Utilizing Revascularization and Aggressive DruG Evaluation (COURAGE) trial. Am J Cardiol. 2007;99:208-212.

2. Stergiopoulos K1, Boden WE2, Hartigan P3, Möbius-Winkler S4, Hambrecht R5, Hueb W6, Hardison RM7, Abbott JD8, Brown DL. Percutaneous coronary intervention outcomes in patients with stable obstructive coronary artery disease and myocardial ischemia: a collaborative meta-analysis of contemporary randomized clinical trials. JAMA Intern Med. 2014 Feb 1;174(2):232-40. doi: 10.1001/jamainternmed.2013.12855.

3. Caracciolo EA, Davis KB et. al. Comparison of Surgical and Medical Group Survival in Patients With Left Main Coronary Artery Disease. Long-term CASS Experience. Circulation 1995,  1;91(9):2325-34. doi: 10.1161/01.cir.91.9.2325.

4. Persson J, Yan J, Angerås O, Venetsanos D, Jeppsson A, Sjögren I, Linder R, Erlinge D, Ivert T, Omerovic E. PCI or CABG for left main coronary artery disease: the SWEDEHEART registry. Eur Heart J. 2023 Jun 8:ehad369. doi: 10.1093/eurheartj/ehad369.

………………………………………………………………….

[อ่านต่อ...]