30 กันยายน 2555

โรค "ขี้เมี่ยง" หรือโรค "หย็องกอด"


สวัสดีค่ะ คุณหมอ 

     ได้ติดตามเพจคุณหมอมาสักพักนึงแล้ว ไม่คิดว่าอยู่ๆโรคที่เคยอ่านเจออาจจะเกิดกับตัวเอง ดิฉันอายุ 26 ปี ตอนนี้กำลังเริ่มออกกำลังกาย เนื่องจากอยากลดน้ำหนัก วันนี้เริ่มวิ่งวันแรก วิ่งได้แค่ 2 นาที มีอาการเจ็บหน้าอก กลางเยื้องขวา เมื่อเปลี่ยนเป็นเดินเร็วอาการก็หายไปทันที เมื่อสลับไปวิ่งอีก ประมาณสองนาทีก็เจ็บหน้าอกอีก เริ่มลามมาทางซ้ายนิดหน่อย ปวดไปทางหลังด้วยค่ะ
อาการที่เจ็บหน้าอกไม่มากนะคะ เหมือนตื้อๆอึดอัดค่ะ ลองเอาอาการไปเสิชดู ดิฉันน่าจะเป็น หัวใจขาดเลือดใช่ไหมคะ หรืออาการนี้อาจจะเป็นโรคอื่นได้ด้วย ตอนนี้เครียดมากเลยค่ะ เพราะอายุแค่ 26 ปี

ดิฉันควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจใช่ไหมคะ จะรอคำตอบนะคะคุณหมอ

ขอบคุณล่วงหน้ามากๆค่ะ

.............................................

ตอบครับ

     สา...ธุ ขออนุโมทนากับกุศลเจตนาอันดีงาม หาได้ง่ายที่ไหนที่คนรุ่นใหม่อายุแค่ 26 ปีจะหันมาสนใจออกกำลังกายจริงจังถึงขั้นลงมือทำ เพราะเห็นน้ำยาของเด็กรุ่นใหม่แล้ว ต้องยอมรับว่าการได้รู้จักกับเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจการออกกำลังกายหนึ่งคนเนี่ยะ เป็นโอกาสยิ่งใหญ่ที่เทียบได้กับคนเลี้ยงแกะพบลูกแกะที่หลงทางที่หายไปดังที่มีเขียนไว้ในคัมภีร์ไบเบิลนั่นที่เดียว มันเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่มาก จนจีซัสถึงกับสอนให้สาวกมองเรื่องนี้ว่า

“..มาดีใจด้วยกันเถิด
ฉันหาลูกแกะที่หลงไปพบแล้ว..”

     หิ..หิ ผมเปล่าประชดประชันคนรุ่นใหม่นะครับ แต่ชื่นชมคุณด้วยน้ำใสใจจริง มาตอบคำถามของคุณดีกว่า

     1.. ถามว่าเริ่มออกวิ่งได้แค่ 2 นาที แล้วเจ็บหน้าอก เมื่อเปลี่ยนเป็นเดินเร็วอาการก็หายไปทันที เมื่อกลับไปวิ่งอีกก็เจ็บหน้าอกอีก เป็นโรคหัวใจขาดเลือดใช่หรือไม่ ตอบว่าในกรณีของคุณไม่ใช่ครับ

     2.. ถามว่าถ้าไม่ใช่โรคหัวใจขาดเลือดแล้วมันเป็นโรคอะไร ตอบว่ามันเป็นโรค “ขี้เมี่ยง” แหะ..แหะ พูดเล่นนะครับ คำว่าขี้เมี่ยงเป็นสะแลงของภาษาเหนือ แปลตรงๆก็คือชานเมี่ยงหรือใบชาที่คนเฒ่าคนเถิบเขาเคี้ยวจนหมดรสแล้วคายทิ้งแบบชานอ้อย ความหมายของคนขี้เมี่ยงก็คือคนหย็องกอดผอมแห้งแรงน้อยออกแรงทำอะไรนิดหน่อยก็มีอาการสาระพัด กลายเป็นคนทำมาหากินอะไรก็ไม่ได้ ไร้ค่าเทียบได้กับขี้เมี่ยงหนึ่งก้อนแค่นั้นเอง ผมไม่ได้ว่าตัวคุณเป็นคนไร้ค่านะครับ แต่อธิบายรากของภาษาให้ฟัง ภาษาแพทย์เขาเรียกอาการแบบคุณนี้ว่า exercise intolerance แปลว่าร่างกายทนการออกกำลังกายได้น้อย พอกล้ามเนื้อซี่โครง (intercostal muscle) ซึ่งไม่เคยออกแรงไปออกแรงมากๆเข้าทันทีทันใดก็จะมีอาการขาดออกซิเจน ทำให้เจ็บเสียดหน้าอกหรือชายโครง พอเพลาการออกกำลังกายลงก็ดีขึ้น พอเร่งมากก็เป็นใหม่

     3..ถามว่าจะรักษาโรคขี้เมี่ยง เอ๊ย ไม่ใช่.. โรคหย็องกอด เอ๊ย ไม่ใช่.. โรคออกกำลังกายได้น้อยนี้ได้อย่างไร ตอบว่าก็ต้องฝึกร่างกายให้สามารถรับการออกกำลังกายมากขึ้นวันละนิดๆทุกวันๆ จนออกกำลังกายแบบแอโรบิกได้ถึงระดับมาตรฐานสากลคือจนหอบแฮ่กๆร้องเพลงไม่ได้อยู่นานถึง 30 นาทีโดยไม่เจ็บอกหรือเสียดชายโครง ทำได้เมื่อไหร่ ก็ถือว่าเมื่อนั้นคุณได้หายจากโรคนี้แล้ว

     4.. ถามว่าแล้วหมอสันต์รู้ได้อย่างไรว่าหนูไม่ได้เจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด ถ้าหนูตายคาลู่วิ่งไปแล้วใครจะรับผิดชอบ ฮั่นแน่.. เรียกหาคนรับผิดชอบอนาคตตัวเองตั้งแต่เริ่มแตกเนื้อสาวเลยนะเนี่ย

     พูดถึงการวินิจฉัยโรคของแพทย์ มันก็มีหลักของมันอยู่นะ คือแพทย์จะมองออกมาจากสี่มุม คือ

     มุมที่หนึ่ง คือต้องมองจาก อาการวิทยา คือความรู้ที่ว่าอาการอะไร นำไปสู่โรคอะไรได้บ้าง ในความเป็นจริงต้องรู้ลึกลงไปถึงเอกลักษณ์ปลีกย่อยของอาการใดอาการหนึ่งซึ่งเมื่อไปแสดงในแต่ละโรคจะแสดงไม่เหมือนกัน อย่างเช่นอาการเจ็บหน้าอกถ้าแสดงในโรคหย็องกอดก็เป็นประมาณว่าเสียดชายโครง หรือเจ็บๆแน่นๆหน้าอกพอบังคับให้เราชลอการออกกำลังกายให้ช้าลง แต่ถ้าแสดงในโรคหัวใจขาดเลือดก็จะเป็นแบบเหงื่อแตกพลั่กจนต้องรีบนั่งลงแล้วสั่งเสียกับคนข้างๆว่าถ้าฉันตายบอกพี่เขาด้วยนะว่าฉันรักเขา ทำนองนั้น

     มุมที่สอง คือต้องมองจากสรีรวิทยา ของระบบอวัยวะต่างๆ คือความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าต่อสถานการณ์แวดล้อมอย่างหนึ่ง อวัยวะทั่วร่างกายจะสนองตอบอย่างไร อวัยวะในร่างกายของเรานี้มีอยู่หกสิบกว่าอวัยวะ ซึ่งรวบกันเข้าเป็นสิบสองระบบ ซึ่งผมท่องจำขึ้นใจตั้งแต่เป็นนักเรียน คือระบบผิวหนัง กล้ามเนื้อ กระดูก ประสาท หายใจ ไหลเวียน ทางเดินอาหาร ปัสสาวะ สืบพันธุ์ เลือด น้ำเหลือง ต่อมไร้ท่อ แต่ละอวัยวะก็ทำงานแตกต่างกันไป การเอาความรู้ส่วนนี้มาช่วยวินิจฉัยโรคก็เช่น เมื่อคนที่ไม่เคยวิ่งออกไปวิ่ง ระบบต่างๆจะทำงานอย่างไรบ้าง ที่กล้ามเนื้อกลุ่มไหนจะเกิดอะไรขึ้น จะมีอาการอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น

     มุมที่สาม คือต้องมองจากด้านสาเหตุของโรค คือความรู้ที่ว่าเมื่อเกิด “เรื่อง” ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นกับร่างกาย มันมีอะไรเป็นสาเหตุได้บ้าง ในสมองของหมอที่จะวินิจฉัยโรคแต่ละครั้ง ต้องไล่เลียงสาเหตุที่เป็นไปได้ อย่างสมัยผมเป็นนักเรียนแพทย์เขาท่องกลุ่มสาเหตุกันว่า ติดเชื้อ อักเสบ บาดเจ็บ เนื้องอก เป็นแต่กำเนิด เกิดจากการเผาผลาญ ภูมิต้านทาน ฮอร์โมน และโรคจากการรักษา แล้วก็คิดเอาแต่ละสาเหตุนี้เข้าไปเทียบว่ามันเป็นไปได้ไหม อะไรเป็นไปได้มาก อะไรเป็นไปได้น้อย

     มุมที่สี่ คือต้องมองจากพยาธิวิทยา คือความรู้เรื่องเฉพาะของแต่ละโรค ว่าโรคๆหนึ่ง มันมีอะไรเป็นสาเหตุ มีอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิด เมื่อเกิดแล้ว มันจะมีผลต่ออวัยวะต่างๆอย่างไร จะมีอาการอะไรโผล่ออกมาบ้าง และจะโผล่มาตอนไหน ยกตัวอย่างการมองในมุมนี้ ความรู้เรื่องโรคหัวใจขาดเลือดทำให้หมอรู้ว่าโรคนี้เกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลักสี่ห้าตัว อันได้แก่ (1) ไขมันในเลือดสูง (2) ความดันเลือดสูง (3) สูบบุหรี่ (4) เป็นเบาหวาน (5) มีอายุมาก (คือหญิงมากกว่า 55 ปี ชายมากกว่า 45 ปี) (5) มีพันธุกรรมสายตรงที่บรรพบุรุษตายเพราะโรคนี้ตั้งแต่อายุน้อย ซึ่งในกรณีของคุณไม่มีความเสี่ยงเหล่านี้สักอย่าง จึงแทบจะเชื่อขนมเจ็กกินได้เลยว่าโอกาสที่คุณจะเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมีน้อยมาก

     จากนั้นก็เอาความรู้ทั้งสี่มุมนี้คลุกเคล้ากันในหัว และเรียบเรียงออกมาว่าจากข้อมูลเท่าที่ได้มาตอนนี้ คนไข้น่าจะเป็นโรคอะไรได้บ้าง เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย จากนั้นจึงค่อยหาทางพิสูจน์ว่าเป็นโรคตามนั้นจริงหรือเปล่าด้วยกระบวนการสืบค้นเพิ่มเติมต่างๆเช่นแล็บ เอ็กซเรย์ เป็นต้น ทั้งหมดที่เล่ามานี่คือวิธีการวินิจฉัยโรคของแพทย์ รวมทั้งวิธีที่ผมใช้วินิจฉัยว่าคุณเป็นโรคหย็องกอด ไม่ได้เป็นโรคหัวใจขาดเลือดด้วยครับ

     5. ถามว่าควรทำอย่างไรต่อไป จะไปหาหมอดีไหม ตอบว่าให้วิ่งออกกำลังกายต่อไปทุกวัน วิ่งแบบฝึกสมรรถนะร่างกายตนเอง คือวิ่งให้หนักขึ้นๆทุกวันๆละนิดๆ ไม่ต้องไปหาหมอหรอกครับ เสียเวลาเปล่า เอาเวลาไปหัดวิ่งดีกว่า

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์    
[อ่านต่อ...]

25 กันยายน 2555

การออกแบบคอนโดคนแก่


        สวัสดีค่ะอาจารย์หมอสันต์ ใจยอดศิลป์ หนูเป็นนักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ปี 5 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี  คือหนูมีความสนใจในเรื่องที่อยู่อาศัยสำหรับคนแก่ หนูได้อ่านบทความของคุณหมอเกี่ยวกับ"คอนโดคนแก่" ที่คุณหมอเคยเขียนในบล็อกไว้เมื่อ 03 ตุลาคม 2011 ที่อาจารย์หมอ ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับที่ว่า
     "กะว่าเอาให้มันเป็นแบบอย่างของการดูแลคนแก่ที่คนต้องแห่กันมาดูเรียนรู้เอาเป็นแบบอย่างเลยละ เป็นที่ที่คนแก่จะได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพและแอคทีฟ มีการดูแลสุขภาพที่เน้นการส่งเสริมสุขภาพไม่เน้นการรักษา"
     จึงรบกวนอาจารย์หมอได้มอบทัศนคติที่ดีต่อเรื่องที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัย เพราะหนูมองว่าในอนาคตอีก 10-15 ปีนี้หรือมากกว่านั้น จำนวนผู้สูงวัยจะมีสัดส่วนมากขึ้นในอนาคต ซึ่งหนูคิดว่าการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยไม่ใช่จะมีแค่ ห้องครัว ห้องนอน ส่วนนั่งเล่น หรือเป็นบ้านที่คนส่วนใหญ่อยู่กันเพราะสิ่งนั้นจะไม่ช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนแก่ดีขึ้น แต่หากมีวิธีการทำให้คนแก่ได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ เน้นการส่งเสริมการดูแลสุขภาพ จะเป็นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับผู้สูงวัยในอนาคตได้มากว่าแนวความคิดเดิมๆ

………………………………..

ตอบครับ

     แฮ้..ดีใจมีคนชวนคุยเรื่องโปรดอีกหละ นานมาแล้วมีนศ.สถาปัตย์คนหนึ่งเขียนมาหาแบบนี้แหละ แต่แล้วก็หายแซ้บหายสอยไปเลยไม่ได้ข่าวคราว คราวนี้คุณเขียนมาอีกก็ดีแล้ว ผมจะชวนเป็นคนออกแบบคอนโดคนแก่ให้ผมซะเลย หิ..หิ ไม่ใช่หลอกใช้แรงงานเด็กนะ เขาจะให้สะตังค์ดอก เพียงแต่ว่าราคาย่อมเยาเท่านั้นเอง เอาแมะ

     มาเข้าเรื่องที่คุณถามมาดีกว่า การที่คุณซึ่งยังเป็นเด็กเอียด คิดจะออกแบบที่พักให้คนแก่ คุณต้องเปิดใจเรียนรู้ให้กว้างๆไว้ เพราะมันมีประเด็นที่คุณยังไม่รู้แต่ต้องพยายามเข้าใจมันให้ลึกซึ้งอยู่มากมายหลายประเด็น วันนี้ผมจะคุยกับแค่สองสามประเด็นก่อนนะเพราะดึกแล้ว เอาไว้วันหลังมีเวลาค่อยคุยกันต่อ

ประเด็นที่ 1. ภาพรวมของระยะ (phasing) ต่างๆ ในชีวิตของคนแก่

     คือชีวิตคนแก่นี้มันเป็นชีวิตที่ยาวมาก ศูนย์ควบคุมโรค (CDC) ได้คำนวณอายุคาดเฉลี่ยของคนที่อยู่มาได้ถึง 65 ปี ณ วันนี้ว่าถ้าเป็นหญิงจะอยู่ต่อไปได้จนเฉลี่ยถึงอายุ 85 ปี ถ้าเป็นชายจะอยู่ต่อไปได้เฉลี่ยถึงอายุ 83.3 ปี ถ้าเราใช้เกณฑ์นับตามองค์การอนามัยโลกว่าคนเริ่มกลายเป็นคนแก่เมื่ออายุ 60 ปี ก็หมายความว่าช่วงการเป็นคนแก่นี้มีความยาวนานเฉลี่ยประมาณ 25 ปี แต่ในการวางแผนรับมือกับคนแก่ไม่ว่าจะเป็นของบริษัทประกันหรือของบริษัทก่อสร้างที่พักอาศัย จะวางแผนเผื่อไว้ว่าคนแก่คนหนึ่งจะมีช่วงชีวิตยาว 30 ปี ตลอดระยะ 30 ปีนี้คนแก่ไม่ได้อยู่แบบเหมือนเดิมๆเช้ายันเย็นทุกวันตั้งแต่อายุ 60 ปียัน 90 ปี ในความเป็นจริงชีวิตคนแก่แบ่งเป็นช่วงได้ 3 ช่วง คือ

     ช่วงที่ 1. ระยะมีชีวิตอิสระ (Independent living) เป็นระยะที่คนแก่สามารถทำอะไรที่ตัวเองอยากทำ ไม่ว่าจะเป็นทำงานหาเงิน หรือทำงานจิตอาสา หรือทำงานอดิเรกที่หวังเอาแต่ความสุข อาจมีการเดินทางไปไหนไกลๆบ่อยๆ ที่พักอาศัยของคนแก่ระยะนี้ต้องมีลักษณะเป็นฐานที่มั่นซึ่งเป็นที่เอาไว้เติมพลังเท่านั้น เวลาไม่อยู่ก็ปิดประตูทิ้งไว้แล้วไปได้เลยโดยมีคนคอยดูแลให้ เมื่อกลับมาก็ต้องการมาพบกับความคึกคัก มีชีวิตชีวา ไม่เงียบเหงาเศร้าซึม มีเพื่อน มีดอกไม้ มีเสียงเพลง มีกิจกรรม มีคนช่วยทำสิ่งที่ตัวเองทำมาจนเบื่อและไม่อยากทำแล้ว เช่นทำความสะอาดห้อง ดูแลเปลี่ยนหลอดไฟ ซักรีด ทำอาหาร ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือระยะชีวิตอิสระนี้เป็นระยะแห่งการเรียนรู้ฝึกฝนทักษะที่จะดูแลตนเองต่อไปให้ได้นานที่สุด ทั้งทักษะในการเรื่องการออกกำลังกาย โภชนาการ การจัดการความเครียด สถานที่อยู่ของคนแก่ในระยะนี้ต้องออกแบบให้เป็นแหล่งเรียนรู้ฝึกฝนทักษะเพื่อให้แก่ตัวไปอย่างพึงพาตนเองได้และอย่างมีคุณภาพชีวิต เป้าหมายการสร้างที่พักให้คนแก่ก็โดยรวมก็คือต้องมุ่งยืดระยะมีชีวิตอิสระนี้ออกไปให้ยาวนานที่สุดด้วยการฝึกสอนทักษะการเป็นคนแก่ที่มีศักยภาพเนี่ยแหละ เรียกว่าสโลแกนของการดูแลคนแก่ในระยะนี้คือ education education education

     ช่วงที่ 2. ระยะที่ต้องอาศัยผู้ช่วยบ้าง (assisted living) เป็นระยะที่คนแก่ยังอยู่อาศัยอย่างอิสระเสรีได้ในสถานที่ออกแบบมาดีและมีระบบสนับสนุนดี แต่ว่าต้องการคนช่วยดูแล (caregiver) ในบางเวลา เช่นคนช่วยหัดให้ทำกายภาพบำบัดหลังการเจ็บป่วยเป็นอัมพาตหรือผ่าตัด คนช่วยจัดยาหรือเตือนให้กินยา คนพาอาบน้ำ หรือพาเข้านอน หรือพาไปโรงพยาบาล หรือพาไปช็อปปิ้ง พาไปล้างไต หรือแม้กระทั่งพาไปเที่ยวเมืองนอก องค์ประกอบของการที่พักอาศัยของคนแก่ระยะนี้นอกจากการออกแบบที่คำนึงถึงการให้คนแก่ที่เริ่มจะหง่อม หรือที่ขี้หลงขี้ลืม หรือเป็นอัมพาตบางส่วน สามารถช่วยตัวเองได้มากที่สุดแล้ว ยังต้องมีระบบผู้ดูแล (caregiver) ที่ดี หมายความว่ามีการสร้างผู้ดูแลมืออาชีพที่มีทักษะวิชาชีพที่ดี มีเจตคติที่ดี มาทำงานบริการคนแก่ในระบบที่ออกแบบไว้อย่างมีประสิทธิภาพ คือใช้ผู้ดูแลน้อยคน แต่การออกแบบสถานที่ที่ดีจะช่วยให้ผู้ดูแลสามารถดูแลคนแก่ได้ทั่วถึงและได้ผลดีกว่าการไปนั่งดูแลกันที่บ้านแบบหนึ่งต่อหนึ่งเสียอีก การออกแบบที่พักคนแก่ในระยะนี้เป็นความท้าทายสูงสุดและต้องใช้กึ๋นของผู้ออกแบบเป็นอย่างมาก และเป็นการทำงานที่ต้องซิ้งค์กันระหว่างสถาปนิกผู้ออกแบบกับผู้วางแผนสร้างชุมชนคนแก่แห่งนั้น เพราะการออกแบบจะต้องสอดคล้องกับกิจกรรมของชุมชน

     ช่วงที่ 3. ระยะช่วยตัวเองไม่ได้เลย (nursing home care) พูดง่ายๆว่าเป็นระยะสุดท้ายของชีวิตแล้ว เป็นระยะล้มหมอนนอนเสื่ออย่างแท้จริง ไม่สามารถช่วยตัวเองได้เลย และหมดโอกาสที่จะกลับมาลุกนั่งยืนเดินได้อีกแล้ว ตามสถิติระยะนี้กินเวลาเพียงประมาณ 1 ปีสุดท้ายของชีวิตเท่านั้น และหากคนแก่ได้รับการสอนการฝึกทักษะดูแลตัวเองมาดี ระยะนี้จะยิ่งสั้นมากหรือไม่มีเลย การออกแบบที่พักคนแก่ระยะนี้ก็คือการออกแบบสถานพยาบาลที่มีบรรยากาศของบ้านนั่นเอง ไฮไลท์ของการออกแบบไปอยู่ที่การรู้จักเลือกใช้เครื่องมือทางการแพทย์ กายอุปกรณ์ เครื่องทุ่นแรงต่างๆ มาช่วยการทำงานของผู้ดูแลให้มีประสิทธิภาพโดยไม่ให้เสียความรู้สึกของการเป็นมนุษย์ไป รายละเอียดปลีกย่อยมีมาก ผมขอไม่พูดถึงตอนนี้
    
     แต่ละระยะของสามระยะนี้ ต้องการการออกแบบที่แตกต่างกัน และในอดีตก็อยู่คนละที่กัน คนแก่ต้องย้ายสถานที่เมื่อย้ายระยะของชีวิต แต่คอนโดคนแก่ที่ผมจะสร้างขึ้นนี้ใช้คอนเซ็พท์อีกแบบหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า CCRC ย่อมาจาก Continuing Care Retirement Community แปลว่า “ชุมชนคนเกษียณอายุที่มีระบบดูแลต่อเนื่อง” ความจริงไส้ในของ CCRC นี้ก็แตกต่างกันไปตามผู้ออกแบบ ในแง่ของความเป็นเจ้าของก็มีตั้งแต่แบบจ่ายเงินซื้อเข้าแพงๆครั้งเดียวอยู่จนตายไปจนถึงจ่ายเงินเช่าเป็นรายปี ในแง่ของการประสานช่วงชีวิตของคนแก่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการแยกแต่ละระยะอยู่คนละตึกแต่อยู่บริเวณเดียวกัน แต่ของผมนี้จะเป็นอะไรที่ใหม่แปลกยิ่งกว่า คือจะออกแบบให้ผสมผสานกิจกรรมการเรียนรู้ การใช้ชีวิต และการปรับแต่งอาคารสถานที่ในลักษณะเป็นพลวัต คือค่อยๆเปลี่ยนไปตามช่วงชีวิตของเจ้าของห้องผู้พักอาศัย ดังนั้นการออกแบบยิ่งยากขึ้นไปอีก เพราะต้องออกแบบไว้เผื่อการเปลี่ยนแปลงเมื่อระดับความต้องการของคนแก่เปลี่ยนไปด้วย นอกจากนี้ยังต้องออกแบบระบบสนับสนุนส่วนกลางของคอนโดแห่งนั้นให้เกื้อหนุนให้คอนเซ็พท์นี้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอนไม่ว่าจะเป็นระยะไหนของชีวิต และจะต้องซิงค์กับระบบผลิตและ supply ผู้ดูแล (caregiver) ได้อย่างมีจังหวะจะโคนกลมกลืนไร้รอยต่อด้วย

ประเด็นที่ 2. ความต้องการของคนแก่   

    คุณจะออกแบบบ้าน ก็ต้องรู้ความต้องการของเจ้าของ อันนี้แน่นอน งานวิจัยคนแก่ในเมืองไทยหลายครั้งหลายหนสรุปความต้องการของคนแก่หลักเหมือนกันหมดสี่ประการ คือ

(1) ต้องการเห็นลูกหลานเป็นคนดีมีความสำเร็จในชีวิต
(2) ต้องการมีสุขภาพดีไม่เจ็บป่วยเรื้อรังให้เป็นภาระของลูกหลาน และไม่ตายยากตายเย็นหรือตายอย่างทรมาน
(3) ต้องการมีเงินใช้
(4) ต้องการมีงานที่มีประโยชน์ทำ

     งานวิจัยในคนแก่ฝรั่งก็ให้ผลคล้ายกัน เพียงแต่ไปไฮไลท์ข้อที่ต้องการมีงานที่มีประโยชน์ทำไว้เป็นข้อหนึ่ง และลดความสำคัญของการเฝ้ามองความสำเร็จของลูกหลานลงไปเป็นข้อสุดท้าย แต่สาระหลักทั้งสี่ข้อก็ยังเหมือนกัน
     จะเห็นว่าในภาพรวมคนแก่ต้องการเป็นอิสระ ไม่เป็นภาระใคร และมีชีวิตยามแก่ที่มีคุณค่า การจะให้คนแก่บรรลุวัตถุประสงค์นี้ จะต้องมีการซิงค์การออกแบบที่พักอาศัยเข้ากับการออกแบบชุมชนและกิจกรรมของชุมชน แน่นอนกิจกรรมของชุมชนต้องเน้นการเรียนรู้ เรียนรู้ และเรียนรู้ เพราะคนแก่ที่ก้าวมาเป็นคนแก่เมื่ออายุ 60 ปีนั้น ยังไม่เดียงสาเลยว่าจะใช้ชีวิตในวัยแก่อย่างไรจึงจะได้ตามความฝันทั้งสี่ข้อนั้นได้ การจัดระบบการเรียนรู้และพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตให้คนแก่จึงเป็นส่วนสำคัญของการออกแบบ

ประเด็นที่ 3. ความปลอดภัยในที่พักอาศัยของคนแก่  
    
     ผมพูดถึงความปลอดภัย (safety) นะ ไม่ใช่การรักษาความปลอดภัย (security) เรื่องการรักษาความปลอดภัยอย่างเรื่องแขกยาม ระบบกล้องวงจรปิดนั้นเป็นเรื่องของคอนโดทั่วไปที่เขาต้องมีกันอยู่แล้ว แต่เรื่อง safety ของคนแก่หมายถึงการออกแบบสถานที่เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ การลื่นตกหกล้ม หรืออื่นๆซึ่งจะชักนำให้ชีวิตคนแก่เป๋ไปก่อนเวลาอันควร ความปลอดภัยในที่พักอาศัยคนแก่เป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่ง ซึ่งมีประเด็นปลีกย่อย ผมยกตัวอย่างเช่น
     เริ่มต้นที่ห้องน้ำก่อนนะครับ ห้องน้ำสำหรับคนแก่มีประเด็นคือ

( 1 ) ลูกบิดประตู ต้องไม่ใช่ลูกบิดแบบปุ่มกลมๆหมุนๆตามบ้านทั่วไป เพราะคนแก่กำลังข้อมือไม่ดี ไม่มีแรงบิด ต้องใช้ที่เปิดประตูแบบคันโยก หลักอันเดียวกันนี้ใช้กับก๊อกน้ำด้วย ก๊อกที่หมุนกันสิบรอบแถมต้องขันชะเนาะอีกต่างหากจึงจะปิดน้ำได้ไม่เหมาะกับคนแก่ ต้องเอาแบบโยกด้ามไปมา

( 2 ) ประตูห้องน้ำตามบ้านคนทั่วไปที่เวลาเปิดจะเปิดบานประตูเข้าไปในห้องก็ไม่เหมาะ สำหรับคนแก่ยุต้องเป็นแบบเปิดออกมานอกห้อง เพราะเวลาคนแก่หกล้มหรือหมดสติขวางปากประตูอยู่ด้านใน ผู้ดูแลจะได้เปิดประตูเข้าไปช่วยได้ หากเป็นประตูแบบเปิดเข้า การผลักประตูเข้าไปอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บแก่คนแก่ที่นอนกองอยู่ที่หลังประตู

( 3 ) ความกว้างของห้องน้ำก็เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ควรสร้างห้องน้ำให้กว้างกว่าหนึ่งวา หมายความว่ายืนอยู่กลางห้องน้ำแล้วกางแขนออกสองข้างต้องสามารถแตะผนังห้องน้ำทั้งซ้ายและขวาได้ และต้องติดราวระดับเอวไว้บนผนังทั้งสองข้าง เวลาล้มจะได้คว้าราวข้างใดข้างหนึ่งไว้ได้

(4) พื้นห้องน้ำต้องราบเรียบ ไม่มีขั้น ไม่มีธรณีประตู การระบายน้ำก็อาศัยวิธีให้พื้นเอียงจากส่วนแห้งลงไปหาส่วนเปียก

( 5 ) โถสุขภัณฑ์อย่าใช้ของแพง เพราะโถแพงจะเตี้ย คนสูงอายุนั่งแล้วลุกไม่ขึ้น โถสูงจะถูก ให้ใช้โถที่มีความสูงเท่าหรือสูงน้องๆม้านั่งที่นั่งอยู่ประจำ และต้องเผื่อความจำเป็นที่จะต้องทำราวโหนในอนาคตด้วย ราวโหนที่อยู่ข้างโถก็ใช้ไม่ได้ เพราะไม่ถูกต้องด้วยหลักท่าร่าง (ergonomic) ของคนสูงอายุ ที่จับโหนแบบเป็นเชือกห้อยลงมาจากเพดานก็ไม่เหมาะเช่นกัน เพราะต้องพึ่งกล้ามเนื้อแขนซึ่งเป็นกล้ามเนื้อส่วนที่อ่อนแอที่สุดของคนแก่ ต้องทำราวโหนแบบอยู่ที่ข้างหน้าตรงๆ เพราะคนแก่จะได้อาศัยทั้งกล้ามเนื้อแขนและกล้ามเนื้อขายกตัวขึ้นพร้อมกัน เรื่องนี้มันเป็นทริกที่ลึกซึ้ง เอาไวเวลาทำจริงผมจะทำให้ดู

( 6 ) อ่างล้างหน้าแบบแปะเข้ากับผนังก็ไม่ดี เพราะคนแก่เข่าสองข้างแข็งแรงไม่เท่ากัน ชอบเท้าอ่างล้างหน้า อ่างแบบแปะผนังมักโครมลงมาง่ายๆ ควรทำอ่างแบบฝังลงไปบนเคาน์เตอร์ดีกว่า

( 7 ) สีของกระเบื้องบุพื้นกับผนังอย่าให้เป็นสีเดียวกัน และอย่าให้ลวดลายมากจนไม่รู้ตรงไหนเป็นพื้น ตรงไหนเป็นผนัง คนแก่จึงมักเผลอเดินเอาหัวชนผนังบ่อยๆเพราะการวางสีกระเบื้องไม่ถูกหลักนี่เอง จะให้ดีควรให้สีพื้นตัดกับสีผนังให้เห็นๆจะๆไปเลย

( 8 ) พื้นห้องน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนเปียก ควรปูแผ่นยางกันลื่นที่ฝรั่งเรียกว่า bath mat แผ่นนี้ช่วยป้องกันการลื่นล้มได้ สมัยก่อนที่โรงพยาบาลของผมนี้ผู้ป่วยลื่นล้มในห้องน้ำบ่อย พอเอาแผ่นยางปูพื้นก็ลดปัญหาได้มาก นอกจากนี้ที่อาบน้ำควรมีม้านั่งเตี้ยที่มีขาสี่ขามั่นคงไม่ไถลง่ายไว้ให้นั่งเวลาอาบน้ำด้วย จะได้ลดความเสี่ยงจากการลื่นล้มขณะยืนอาบน้ำ

( 9 ) ประการสุดท้ายก็คือเครื่องทำน้ำร้อนสำหรับคนแก่ต้องตั้งไว้ให้ตัดไม่ให้น้ำร้อนเกินไป เพราะคนแก่มีปฏิกิริยาสนองตอบหรือรีเฟล็กซ์ช้ากว่าธรรมดา กว่าจะรู้ว่าน้ำร้อนผิวหนังก็ลอกไปเป็นแถบแล้ว

     คราวนี้ก็มาว่าถึงตัวบ้าน มีหลักดังนี้

( 1 ) ก็คือการออกแบบตกแต่งทางเดินในบ้าน ต้องทำให้โล่งและเรียบตลอด เอาหีบห่อ สายไฟ แร็คหนังสือพิมพ์ กระถางต้นไม้ ออกไปให้พ้นทางเดิน สองข้างทางเดินควรมีที่เกาะยึด ถ้าเป็นผนังก็ควรมีราวเกาะบนผนัง ถ้าเป็นโต๊ะก็ต้องแข็งแรงมั่นคงให้ยึดเหนี่ยวได้ อย่าเอาเก้าอี้โยกมาไว้ใกล้ทางเดิน เพราะเวลาจะล้มคนแก่หันไปพึ่งเก้าอี้โยกก็..เรียบร้อย คือโครมลงไปทั้งคนทั้งเก้าอี้

( 2 ) พรมปูพื้นแบบเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมวางตามห้องรับแขกไม่เหมาะสำหรับบ้านคนแก่ ควรเอาออกไปเสีย เพราะทำให้สะดุดขอบ หรือย่นไถลจนหกล้มได้ง่าย หากชอบอยากจะใช้พรมต้องเอาเทปสองหน้ายึดกับพื้นให้แน่น

( 3 ) ถ้าเป็นบ้านพื้นไม้กระดาน ต้องหมั่นตรวจตราซ่อมพื้นกระดานที่หลวมหรือกระเดิดขึ้นให้ราบสนิท เพราะคนแก่เตะแล้วเกิดแผลทีหนึ่ง รักษาแผลกันนานเป็นปี ไม่คุ้มกัน ยิ่งถ้าสะดุดหกล้มยิ่งเป็นเรื่องซีเรียส อย่าดูเบาเป็นอันขาด การลื่นตกหกล้มของคนแก่บางทีเป็นเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียว คือล้มนิดเดียว แต่กระดูกตะโพกหัก ต้องนอนโรงพยาบาลหลายเดือน บางรายติดเชื้อถึงเสียชีวิตก็มีบ่อย

( 4 ) ต้องมีระบบรักษาพื้นให้แห้งตลอดเวลา

( 5) ถ้าพื้นเป็นกระเบื้อง ควรใช้กระเบื้องแบบไม่ลื่น และถูพื้นด้วยขี้ผึ้งแบบไม่ลื่น

( 6 ) ระบบแสงสว่างในบ้านคนแก่เป็นเรื่องบิ๊ก บิ๊ก บิ๊ก จริงๆ มีหลักอยู่สองประการคือประการที่หนึ่งแสงต้องมากกว่าธรรมดาเพราะคนสูงอายุเลนซ์ตาขุ่นรับแสงได้น้อยลง จะให้ดีติดไฟบอกทางที่ฝรั่งเรียกว่า night light เหมือนไฟบอกทางบนเครื่องบินไว้ทั่วบ้าน ประการที่สองต้นแสงต้องไม่อยู่ในตำแหน่งที่แยงตา โดยเฉพาะเวลาเดินขึ้นหรือลงบันได ต้องไม่เห็นหลอดไฟ เพราะตาของคนแก่นี้ม่านตาจะหดขยายเพื่อตอบสนองต่อแสงได้ช้า ถ้าเป็นคนหนุ่มคนสาวเมื่อมองหลอดไฟม่านตาจะหดพรึ่บไม่ให้แสงเข้าไปถึงจอประสาทตามาก พอหันไปมองที่มืดม่านตาก็จะถ่างขยายฟึบเพื่อให้แสงเข้าไปหาจอประสาทตาได้มากที่สุด แต่ม่านตาของคนแก่ไม่ไวเช่นนั้น พอมองหลอดไฟปุ๊บตาจะพร่ามองอะไรไม่เห็นไปอีกหลายวินาที ทำให้เกิดอุบัติเหตุง่าย

( 7 ) บันไดต้องมองเห็นแต่ละขั้นชัด อาจจะคาดเทปสีให้เห็นขอบ ถ้าพื้นบันไดเป็นไม้ลื่นก็ต้องติดมุมกันลื่น สองข้างบันไดต้องมีราวให้เกาะทั้งซ้ายมือขวามือ

( 8 ) อุบัติเหตุมักเกิดจากคนแก่ตื่นกลางดึกแล้วคลำหาสวิตช์หรือคลำหาทางไปห้องน้ำ ดังนั้น ห้องนอนต้องมีสวิตช์อยู่ข้างเตียง หรือมีโคมไฟข้างเตียง ให้เปิดไฟได้ก่อนที่จะลุกขึ้น ไฟฉายต้องมีไว้ให้ตลอดเวลา

( 9 ) ต้องศึกษาลักษณะการใช้บ้านว่าเจ้าของมีกิจกรรมอะไรบ้าง แล้วออกแบบให้เหมาะกับท่าร่างการทำกิจกรรมนั้น เรียกว่าหลักเออร์โกโนมิก( ergonomic) หรือเออร์โก้ดีไซน์ อย่างเช่นถ้าชอบทำอาหาร แต่มีครัวแบบมาตรฐานซื้อจากห้างไปติดตั้ง ครัวแบบนี้ที่เก็บจานอยู่สูงเหนือศีรษะ คนแก่ต้องเอาม้าต่อขาปีนขึ้นไปหยิบจาน ซึ่งไม่ดี จะให้ดีต้องออกแบบให้ที่เก็บจานอยู่ต่ำ หยิบได้โดยไม่ต้องปีน เป็นต้น

    วันนี้คุยกันแค่นี้ก่อนนะเพราะดึกแล้วคุณขา แล้วอย่าลืมที่ผมชวนให้มาออกแบบโครงการคอนโดคนแก่ของผมนะ ทำเป็นวิทยานิพนธ์ของคุณก็ได้.. เขาพูดจริงนะตัวเอง


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์


บรรณานุกรม
1.      CDC National Vital Statistic Report. Accessed on September 25, 2012 at http://www.cdc.gov/nchs/data/nvsr/nvsr61/nvsr61_03.pdf
[อ่านต่อ...]

24 กันยายน 2555

บาดเจ็บจากเม็ดยาที่กิน (Drug induced injury)


เรียนคุณหมอสันต์ที่นับถือ
     ผมอายุ 32 ปี หนัก 65 กก. สูง 166 ซม. ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา เล่นกีฬาบาสเก็ตบอลเป็นประจำทุกเย็นวันธรรมดา เล่นกันทีก็เกินชั่วโมงเหงื่อท่วม ผมมีสุขภาพทั่วไปดี ไม่มีโรค ไม่ต้องกินยาอะไร ยกเว้นยาวิตามินรวมและวิตามินซี. 1500 มก. ซึ่งผมกับแฟนทานเป็นประจำ
     ปัญหาคือเมื่อคืนที่ผ่านมา ขณะนั่งดูโทรทัศน์สบายๆอยู่ ผมมีอาการเจ็บตรงกลางหน้าอกมาก เหมือนมีอะไรจุกคอหอย เป็นอยู่นานครึ่งชั่วโมง อาการไม่ดีเลย แฟนเอาน้ำมาให้ดื่มก็กลืนไม่ลง แฟนขับรถพาไปที่โรงพยาบาล.... ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐบาล หมอเวรห้องฉุกเฉินวินิจฉัยว่าเป็นหัวใจขาดเลือด ได้ทำคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และเจาะตรวจ troponin T แล้วรับไว้รักษาในห้องไอซียู. แต่พอวันรุ่งขึ้นมีหมอโรคหัวใจมาตรวจ โดยสั่งตรวจคลื่นหัวใจซ้ำ แล้วก็บอกว่าคลื่นหัวใจทั้งสองครั้งปกติ และ troponin T ก็ปกติ และวินิจฉัยว่าผมไม่ได้เป็นหัวใจขาดเลือด ให้กลับบ้านได้ แต่ว่าผมยังมีอาการเจ็บหน้าอกอยู่เลย ขณะที่เขียนอีเมลนี้ (ประมาณหกชั่วโมงหลังจากกลับถึงบ้าน) ผมอาการดีขึ้นแล้ว แต่ผมเป็นกังวลมาก อยากถามคุณหมอว่า
1.      ผมควรไปตรวจหัวใจด้วยการวิ่งสายพานที่รพ.เอกชนไหม เพราะรพ.รัฐบาลเขาไม่ยอมทำให้
2.      ทำไมหมอไม่รีบตรวจสวนหัวใจให้ผมขณะเจ็บหน้าอก การทำแค่คลื่นไฟฟ้าหัวใจและเจาะเลือดดู troponin T พอไหมที่จะบอกว่าผมไม่ได้เป็นหัวใจวาย
3.      ผมควรจะกลับไปตรวจสวนหัวใจไหม
4.      มีการตรวจอย่างอื่นที่น้อยกว่าการสวนหัวใจแต่ให้ข้อมูลใกล้เคียงกันหรือเปล่า หมายความว่าให้ผมทราบแน่ชัดว่าผมไม่ได้เป็นโรคหัวใจขาดเลือด
5.      ถ้าผมไม่เป็นโรคหัวใจ คุณหมอว่าผมเป็นอะไรครับ
ขอบพระคุณคุณหมอครับ

…………………………………

ตอบครับ

     1..ถามว่าควรไปตรวจสมรรถนะหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (exercise stress test - EST) ไหม ตอบว่าไม่จำเป็นครับ เพราะการตรวจ EST เป็นการตรวจคัดกรองโรคหัวใจขาดเลือดชนิดไม่ฉุกเฉิน (stable angina) กล่าวคือถ้ามีหลอดเลือดตีบ เวลาออกแรงมากๆขณะทำ EST หัวใจจะแสดงอาการขาดเลือดให้เห็นได้ แต่ในกรณีของคุณ คุณเล่นบาสเก็ตบอลได้เป็นชั่วโมงทุกวัน นั่นเป็น stress test ที่พิสูจน์ได้อย่างดีแล้วว่าคุณไม่ได้เป็นโรคหัวใจขาดเลือดแบบ stable angina ไม่ต้องไปตรวจซ้ำอีกหรอก

     2.. ถามว่าในการวินิจฉัยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute MI) ที่คุณเรียกว่าหัวใจวายนั้น ไม่ต้องมีการสวนหัวใจหรือ ตอบว่าไม่ต้องครับ ตามเกณฑ์วินิจฉัยขององค์การอนามัยโลก มีเกณฑ์วินิจฉัยสามข้อคือ
2.1 คลื่นไฟฟ้าหัวใจเปลี่ยน
2.2 เอ็นไซม์หัวใจ (เช่น (troponin T) ในเลือดสูงขึ้น
2.3 ตรวจชิ้นเนื้อของหัวใจ  (กรณีที่คนป่วยตายแล้ว) พบกล้ามเนื้อหัวใจตาย
     ในแง่ของการวินิจฉัย ในชีวิตจริงเราไม่ต้องรอให้คนไข้ตายก่อนจึงจะวินิจฉัย เราใช้ข้อมูลสองข้อแรกก็มากเกินพอแล้ว
     ยิ่งในแง่ของการรักษาแล้ว เราใช้ข้อมูลน้อยกว่านั้นอีก เราใช้เพียงสองอย่างเท่านั้นคือ (1) อาการเจ็บหน้าอกที่ต่อเนื่องไม่หาย (2) คลื่นไฟฟ้าหัวใจเปลี่ยน มีข้อมูลสองอย่างนี้ก็ชัวร์ป๊าดพอให้หมอลงมือรักษาได้แล้วไม่ว่าจะเป็นให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดฉุกเฉิน ไม่ต้องรอดูผลเอ็นไซม์ troponin T ด้วยซ้ำไป

     3.. ถามว่ามาถึง ณ จุดนี้ ควรกลับไปตรวจสวนหัวใจไหม ตอบว่าไม่ควรครับ เพราะการสวนหัวใจเป็นการตรวจที่รุกล้ำ พลาดท่าเสียทีขึ้นมาถึงตายได้ หมอเขาจะเลือกทำเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับการจัดชั้นว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงตายจากโรคหัวใจสูงเท่านั้น ส่วนคุณผมดูข้อมูลทั้งหมดที่ให้มาแล้วคุณอยู่ในชั้นของผู้มีความเสี่ยงตายจากโรคหัวใจต่ำ โอกาสที่จะตรวจพบโรคหัวใจมีน้อยเสียจนไม่คุ้มกับความเสี่ยงของการตรวจ

     4.. ถามว่า มีการตรวจอย่างอื่นที่น้อยกว่าการสวนหัวใจแต่ให้ข้อมูลใกล้เคียงกันหรือเปล่า ตอบว่ามีครับ ก็การตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ไง (coronary CTA) ถ้าอยากเสียเงินสองหมื่นกว่าบาทก็ไปเลย รพ.เอกชนไหนก็ได้ เขาทำให้คุณแน่นอน แต่ผมว่าคุณอย่าไปทำเลย เพราะดูจากข้อมูลที่คุณให้มา ผมเดาว่าถึงทำ CTA ไปก็ไม่เจออะไรผิดปกติ

     5.. ถามว่าถ้าไม่เป็นโรคหัวใจ คุณเป็นอะไร ตอบว่า แหะ..แหะ ผมจะไปรู้เรอะ แต่ถ้าจะเอาแค่ข้อมูลที่ให้มา ผมมองว่าอย่างหนึ่งที่อาจเป็นได้ก็คือการบาดเจ็บของหลอดอาหารจากเม็ดยาวิตามินซี.ที่คุณกิน ภาษาหมอเรียกว่า drug induced injury หมายความว่าเม็ดยาบางชนิดถ้ากลืนลงไปแล้ว ถ้ามันไปจอดนิ่งอยู่ที่หลอดอาหารนานๆหลายชั่วโมงหรือเป็นวัน มันจะกัดกร่อนหลอดอาหารให้บาดเจ็บ และเจ็บหน้าอกได้ ถ้าเจอเข้าแบบจั๋งหนับบุเรงนองก็ทำเอาหลอดอาหารทะลุถึงตายได้เลยทีเดียว ทีนี้ถามว่าทำไมยามันไปจอดนิ่งอยู่ที่หลอดอาหารโดยไม่ลงไปกระเพาะอาหารละ มันก็มีสาเหตุจากการกินยาแบบซี้ซั้ว หรือกินยาไม่เป็น เช่น

     5.1 กินยาแล้วไม่ดื่มน้ำตาม หรือดื่มน้ำตามนิดเดียว คุณคงไม่ทราบมังครับว่ามาตรฐานของการกินยาเม็ดทุกชนิดคุณต้องดื่มน้ำตามอย่างน้อยเป็นร้อยซีซี.ขึ้นไป หรือเป็นแก้ว ไม่ใช่จิบแค่พอให้ยาผ่านคอ ถ้ากินยาพร้อมกันหลายๆชนิด ในระหว่างกินแต่ละเม็ดอาจดื่มน้ำทีละนิดๆได้ แต่เมื่อกินเม็ดสุดท้ายเสร็จแล้วก็ต้องดื่มน้ำตามมากๆ

     5.2 กินยาในท่าพิสดาร เช่นนอนกิน หรือกินยาแล้วนอนทันที ซึ่งคุณต้องทำความเข้าใจใหม่ว่าการกินยาเม็ดนี้ ที่ถูกกินแล้วต้องนั่งหัวตั้งอยู่อย่างน้อย 10-15 นาทีจึงจะนอนลงได้ ถ้ามีอันป่วยต้องนอนผงกหัวขึ้นไม่ได้ หากจะกินยาก็ต้องกินยาน้ำหรือบดยาเป็นผงผสมน้ำแทน อย่ากินยาเม็ด

     5.3 อนึ่ง พึงเข้าใจว่ายาเม็ดบางชนิดมีฤทธิ์กัดกร่อนมาก ต้องระวังเป็นพิเศษ เช่น
5.3.1 ยา Alendronate (Fosamax) ที่ผู้หญิงหมดประจำเดือนกินรักษากระดูกพรุน
5.3.2  วิตามินซี. และยาเม็ดโปตัสเซียม
5.3.3 ยาปฏิชีวินะในกลุ่ม Doxycycline, tetracycline, clindamycin, tinidazole  
5.3.4 ยาแก้ปวดแก้อักเสบ แอสไพริน Ibuprofen, Indomethacin, prednisolone
5.3.5 ยาเม็ดเหล็กบำรุงเลือดที่ผู้หญิงกินรักษาโลหิตจางจากการเสียเลือดประจำเดือน
5.3.6 ยาแก้หอบหืด Theophylline

     ถามว่า ถ้ามันเกิดการบาดเจ็บจากเม็ดยาจริงจะต้องทำอะไรบ้าง ตอบว่ามาถึงป่านนี้ก็ไม่ต้องทำอะไรแล้วครับ เยื่อบุหลอดอาหารมันรักษาตัวมันเองได้ เอาแค่กินยาเม็ดครั้งต่อไป ตั้งอกตั้งใจดื่มน้ำตามมากๆหน่อยก็แล้วกัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ 
[อ่านต่อ...]

23 กันยายน 2555

ชาวม้ง กับคลินิกควันตัม


ผมชื่อ ….. เป็นชาวเขาเผ่าม้ง ในจังหวัดเชียงใหม่ ใกล้กับดอยอินทนนท์ วันนี้ผมได้อ่านบทความเกี่ยวเครื่อง quantuam scan ของคนนี้ในบล็อกของท่าน http://visitdrsant.blogspot.com/2011/08/quantum-scan.html ผมเลยอยากจะปรึกษากับท่าน
     1.. ความเป็นมาที่ผมได้รู้จักกับเครื่องนี้ พอดีที่หมู่บ้านของมีญาติป่วยคนหนึ่ง อยู่ๆ ร่างกายก็ไม่มีแรง ตอนแรกขยับข้อมือไม่ได้ แล้วลามมาถึงแขน และส่วนบนของร่างกาย ไปตรวจร่างกายหลายรพ. เช่น รพ.รามเชียงใหม่ รพ.แมคคอร์มิก หมอจีน หลายที่ก็ไม่ทราบสาเหตุ พอดีมีคนแนะนำให้ไปตรวจเครื่อง quantuam scan ที่ อ.แม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งคลินิกนี้อยู่ใกล้กับชายแดนไทย-พม่ามาก เขาไปตรวจ หมอที่นั่นบอกว่าเขาเป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือคล้ายๆโรคของ คุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ ท่านคงทราบนะครับ ค่าตรวจทั่วไปอยู่ที่ 1,500 บาทต่อครั้ง แล้วเขาต้องเสียค่ายาแต่ละครั้งอยู่ที่ 25,000 (สองหมื่นห้าพันบาทถ้วน)
https://mail.google.com/mail/e/360 ผมเลยอยากถามว่า คลินิกนี้เป็นคลินิกเถื่อนหรือเปล่า อยู่ใกล้ชายแดนด้วย แล้วเครื่องนี้หวังผลได้แค่ไหน
     2.พอดีภรรยาของผม เรามีลูก 2 คน หลังคลอดคนที่ 2 ภรรยาของผมร่างกายไม่ค่อยมีแรง และมักมีโรคหลายอย่าง เช่น เจ็บท้องใกล้ซี่โครงด้านซ้าย, เจ็บท้องน้อย, ข้อมือ ข้อเท้า ข้อพับมักจะปวดอยู่บ่อย ๆ , ปวดหัว, ที่มือมีตุ่มใสและหนอง คันและแห้งตลอด ถ้าได้สัมผัสน้ำหรือสารเคมี (น้ำยาล้างจาน,น้ำบนดอน,ผงซักฟอก ฯลฯ)  ภรรยาเลยบอกผมให้ผมพาแกไปตรวจเครื่อง quantuam scan ที่แม่สาย ผมเลยอยากจะหาข้อมูลดูก่อนว่าเครื่องนี้หวังผลได้มากแค่ไหน ค่าตรวจผมไม่กังวลเท่าค่ายา ผมว่ามันแพงมากเกินไป
https://mail.google.com/mail/e/360 ผมอยากถามว่าจะพาภรรยาไปตรวจดีหรือเปล่า ถ้าไม่ดี ควรจะไปตรวจร่างกายแบบไหนและโรงพยาบาลไหนในเชียงไหม่ที่ได้ผล
https://mail.google.com/mail/e/360 เครื่องนี้ในเชียงใหม่ ผมหาดูแล้วไม่มีรพ.ไหนมีเลย ที่กรุงเทพมีหรือเปล่าครับ
https://mail.google.com/mail/e/360 ถ้าเป็นคลินิกเถื่อน ฝากท่านด้วยนะครับ

ด้วยความเคารพและนับถือ
..... เชียงใหม่
โทรศัพท์ ......

..............................................

ตอบครับ

     อยู่แถวดอยอินทนนท์หรือครับ ผมว่าผมเคยไปบ้านคุณนะ ขออนุญาตผมละเมอเพ้อพกถึงความหลังสักหน่อยนะ มันเป็นช่วงหยุดยาวปีใหม่ พ.ศ. 2513 ผมกับเพื่อนอีกสามคนเดินจากดอยสุเทพไปทางดอยปุยโดยกะจะเดินป่าไปออกที่แม่แจ่ม ไปถึงหมู่บ้านม้งเอาตอนโพล้เพล้ กระหายน้ำจนตาลาย ผ่านกระต๊อบหลังเล็กของแม่เฒ่าคนหนึ่ง เพื่อนของผมซึ่งรู้ภาษาม้งอยู่สองคำก็แวะเข้าไปพูดกับแม่เฒ่าว่า

    “กู๋..กู๋ เฮาเด้”

    ผมถามว่าแปลว่าอะไร เพื่อนตอบว่า “กู๋” แปลว่าฉัน “เฮาเด้” แปลว่าดื่มน้ำ แม้ฟังดูไม่น่าจะได้น้ำกิน แต่แม่เฒ่าก็เดินไปหยิบน้ำเต้าที่มีน้ำอยู่เกือบเต็มมาให้พวกเราดื่มแก้กระหายจริงๆ ผมเห็นวิวจากบ้านแม่เฒ่าสวยจึงขยับจะนั่งบนพื้นไม่ไผ่ แต่เพื่อนร้องห้าเสียงหลงว่าอย่านั่งนะ เพราะเขากลัวกระท่อมน้อยโย้เย้หลังนั้นจะรับน้ำหนักเพิ่มไม่ไหวแล้วจะพังลงมา คืนนั้นเราเดินเลยกระต๊อบแม่เฒ่าขึ้นไปนอนที่โรงเรียนตชด. ซึ่งมีธงสังกะสีซึ่งเวลาลมพัดจะส่งเสียงกะลึ่งๆๆ  วันรุ่งขึ้น เราทั้งสี่เลิกแผนเดินป่าไปแม่แจ่มแต่ใช้เวลาทั้งวันตัดไม้ในป่ามาซ่อมบ้านแม่เฒ่าแทน ทำอยู่ทั้งวันจึงเสร็จ พวกเราเปลี่ยนมันทั้งเสา ตง ผนัง หน้าต่าง หลังคา เหลือที่เป็นของออริจินอลอยู่แต่พื้นฟากไม่ไผ่สีเหลืองมันวับเท่านั้น เราทั้งสี่นั่งฉลองปีใหม่บนกระต๊อบของแม่เฒ่านั่นเอง เป็นปีใหม่ที่ดีมากปีหนึ่ง และผมยังจำได้จนทุกวันนี้

     เฮ้..ลุง เลิกเพ้อเจ้อได้แล้ว ตอบคำถามเสียทีสิ

     โอ.เค. ครับ โอ.เค. เอ้า ตอบก็ตอบ

     1.. ถามว่าคลินิกหนึ่งอยู่ติดชายแดนแม่สาย-พม่า เป็นคลินิกเถื่อนหรือเปล่า ตอบว่า

“..เออ.. แล้วผมจะรู้มั้ยเนี่ย” 

     คือในทางกฎหมายเขาได้ขึ้นทะเบียนเป็นคลินิกกับสาธารณสุขจังหวัดหรือเปล่าผมไม่รู้ แต่ในทางจริยธรรม การเปิดคลินิก เอาเครื่องวัดประจุไฟฟ้าที่ตั้งชื่อว่าเครื่องควันตัมมาจ่อตรวจแล้วพิมพ์คำวินิจฉัยออกมาอย่างวิลิศมาหลาพิศดารพันลึกยิ่งกว่าเกจิอาจารย์นั่งทางในมองเห็น เช่นรู้ไปถึงว่ามีมะเร็งกำลังก่อตัวที่อวัยวะไหน แล้วเก็บค่ายาที่ไม่ยอมบอกชื่อว่าตัวยาชื่ออะไรอีกคราวละเป็นหมื่นเป็นแสน พฤติกรรมอย่างนี้ผมบอกได้เพียงแต่ว่าแพทย์ที่ดีเขาไม่ทำกัน เพราะมันเป็นการหลอกเอาเงินจากคนที่ไม่รู้เท่าทัน หรือที่ภาษาเหนือเขาเรียกว่า  จุ๊ เอาสะตังค์คนสึ่ง คุณคงจะเกิดไม่ทันรำวงงานวัดใช่ไหมละ คือรำวงตามงานวัดสมัยผมแตกเนื้อหนุ่ม จังหวะที่ฮอทที่สุดสมัยนั้นคือ ชะ..ชะ..ช่า ซึ่งมีท่วงทำนองเสียงกลองว่า

     ชึ่ง..ชึ่ง โป๊ง โป๊ง ชึ่ง
     ชึ่ง..ชึ่ง โป๊ง โป๊ง ชึ่ง
      โป๊ะ..ชึงตะลึงตึงชึ่ง

และพวกเด็กๆเอาเสียงกลองของจังหวะนี้มาร้องเป็นเพลงว่า

     “..สึ่งตึง ฮาตึงสึ่ง
     สึ่งตึง ฮาตึงสึ่ง
     จุ๊.....เอาสะตังค์คนสึ่ง...”

     แหะ..แหะ คนที่ไม่ใช่คนเหนืออ่านแล้วไม่เข้าใจก็อย่าหงุดหงิดเลย ช่างมันเถอะ ข้ามไปเลย เพราะมันไม่มีสาระอะไรหรอก

     2.. ถามว่าเครื่องควันตัมอะไรเนี่ยหวังผลในการวินิจฉัยหรือรักษาโรคได้แค่ไหน ตอบว่าวงการแพทย์ไม่ได้จัดเครื่องควันตัมเป็นเครื่องมือตรวจวินิจฉัยหรือรักษาโรคแม้แต่นิดเดียว จึงไม่มีข้อมูลหลักฐานวิทยาศาสตร์ใดๆตีพิมพ์ไว้ คนหัววอกเขาเอาเครื่องนี้ไปหากินของเขาเอง คุณเคยเห็นในหนังอี.อาร์.ที่หมอเขาเอาเครื่องช็อกไฟฟ้ารักษาคนหัวใจหยุดเต้นไหมครับ สมัยก่อนในอเมริกามีคนหิ้วเครื่องช็อกไฟฟ้าแบบนั้นไปตามชนบทเพื่อรับจ้างช็อกคนหัวล้านให้ผมกลับดกดำ ถามว่าความสำเร็จของการหากินแบบนี้หวังผลได้กี่เปอร์เซ็นต์ แหะ..แหะ ผมไม่ทราบจริงๆครับ ผมจะทราบก็เฉพาะเรื่องที่มีข้อมูลวิทยาศาสตร์รองรับเท่านั้น

     3.. ถามว่าคุณควรจะพาเมียไปตรวจกับเครื่องควันตัมไหม ตอบว่าไม่ควรครับ ถามว่าอยู่เชียงใหม่ควรจะไปตรวจที่โรงพยาบาลไหนถึงจะเจ๋ง ตอบว่าโรงพยาบาลทุกโรงเขาก็โอ.นะครับ แต่ถ้าจะให้ผมแนะนำอย่างน้อยหนึ่งโรง ผมแนะนำโรงพยาบาลสวนดอกไงครับ ชื่อเต็มของเขาคือคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่แห่งนี้เป็นสถาบันการแพทย์ระดับเสาหลักที่เชื่อถือได้แห่งหนึ่งของเมืองไทย และแน่นอน..ไม่มีบริการตรวจรักษาด้วยเครื่องควันตัมสองหมื่นห้า  หิ..หิ

     4.. คุณไปหาเครื่องควันตัมทั่วเชียงใหม่แล้วไม่มี ถามว่าที่กรุงเทพฯมีหรือเปล่า ตอบว่าอะไรที่เป็นของหลอกลวงต้มตุ๋นชาวบ้านละก็ กรุงเทพจะพลาดได้ไงละครับ ของไม่ดีกรุงเทพต้องมีก่อน นี่เป็นสัจจะธรรม เพียงแต่ว่าบ้างมีอยู่บนดิน บ้างมีอยู่ใต้ดิน คุณหาไปเถอะ รับประกันว่าเจอ

     5.. คุณบอกว่าถ้าเป็นคลินิกเถื่อน ฝากผมจัดการด้วย แหะ..แหะ ตอนนี้หมอสันต์แก่แล้วและต้องอยู่ในโอวาทของเมีย คือว่าเมียห้ามยุ่งเรื่องของชาวบ้าน เธอบอกว่าผมอยากทำดีก็ทำไป แต่อย่ายุ่งเรื่องของคนอื่น แบบว่าเธอตรากฎหมายชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ ออกมาบังคับใช้ เธอคงกลัวผมโดนพิษโลหะหนักเช่นตะกั่วแล้วจะเสียสุขภาพมังครับ ดังนั้นที่ฝากให้ผมจัดการคลินิกเถื่อนนั้นต้องขออำไพนะเจ๊า..า ..มิสามารถ

     6..สำหรับท่านผู้อ่านท่านอื่นที่ไม่รู้จักเครื่องควันตัม ผมเล่าให้ฟังคร่าวๆนะครับ เครื่อง Quantum นี้ ต้นแบบมันเรียกกันว่า Quantum Xrroid หรือเรียกอีกชื่อว่า QXCI เคยได้รับอนุญาตให้นำเข้าไปขายในอเมริกาโดย FDA อนุญาตให้ใช้เป็นเครื่องช่วยฝึก Biofeedback ก่อนอื่นผมขออธิบายหลักการของ biofeedback ก่อน คือมันเป็นเทคนิคช่วยฝึกให้ร่างกายตอบสนองแบบผ่อนคลาย คือวงการแพทย์ยอมรับกันทั่วไปว่าถ้าร่างกายสนองตอบแบบเครียด เช่น กล้ามเนื้อเกร็ง ความดันขึ้น หัวใจเต้นเร็ว สุขภาพจะแย่ แต่ถ้าร่างกายสนองตอบแบบผ่อนคลาย เช่นกล้ามเนื้อคลายตัว หายใจช้าลง ความดันลดลง หัวใจเต้นช้าลง ก็จะเป็นผลดีต่อร่างกายโดยรวม การฝึกให้ร่างกายสนองตอบแบบ biofeedback ก็คือต่อขั้วไฟฟ้าของเครื่อง biofeedback เข้ากับตัวผู้ป่วย เครื่องก็จะส่งสัญญาณบอกการทำงานของอวัยวะที่สัมพันธ์กับความเครียด เช่นอัตราการเต้นของหัวใจ ระดับของการหดตัวของกล้ามเนื้อ เป็นต้น ให้ผู้ใช้ทราบ เพื่อผู้ใช้ค่อยๆเรียนรู้วิธีควบคุมการสนองตอบของร่างกายของตนเองไปโดยมีเครื่องนี้ช่วยนำทาง จนสามารถทำให้ร่างกายผ่อนคลายได้เองโดยไม่ต้องมีเครื่อง bio feedback นำทางในที่สุด วิธีนี้ถือว่าเป็นการฝึกการตอบสนองแบบผ่อนคลายที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แต่คนขายเครื่องเมื่อนำเครื่อง Quantum Xrroid นี้เข้าไปในอเมริกาได้แล้ว ก็จัดแจงมั่วนิ่มเร่ขายว่าเป็นเครื่องสร้างสมดุลของพลังชีวิต (bioenergy force) ซึ่งเป็นพลังที่หลักวิชาการแพทย์แผนปัจจุบันถือว่าเป็นสิ่งเหลวไหลไร้สาระไม่มีอยู่จริง สิ่งที่เจ้าเครื่องนี้ทำจริงๆคือมันเพียงแค่ส่งสัญญาณไฟฟ้าขนาดต่ำเข้าสู่ร่างกาย แล้ววัดความต้านทานไฟฟ้าของผิวหนังแล้วรายงานกลับมายังตัวเครื่อง ซึ่งตัวเครื่องจะเอาค่าความต้านทานนี้ไปกระตุ้นหน่วยความจำให้แสดงผลออกมาแต่งเป็นเรื่องยกเมฆร้อยแปดพันเก้า ใช้ทั้งศัพท์แสงของการแพทย์ปัจจุบันและศัพท์ที่ฟังเหมือนวิทยาศาสตร์ล้ำลึกแต่เก๊ (pseudoscience) ทั้งวินิจฉัยให้เสร็จเช่นบอกว่ากำลังมีมะเร็งก่อตัวขึ้นที่นั่นที่นี่ มีสารพิษชนิดนั้นอยู่ปริมาณเท่านี้ เป็นต้น หนังสือพิมพ์ Seattle Times ได้เปิดโปงกลโกงวิธีหากินนี้เมื่อปี 2008 จน FDA ได้ถอนใบอนุญาตให้จำหน่ายเครื่องนี้ในอเมริกาไป แต่แม้จะหากินในอเมริกาไม่ได้ คนขายก็ยังไม่วายเอาเครื่องนี้มาเที่ยวหลอกคนอยู่ทั่วไปรวมทั้งในเมืองไทยเราด้วย เพราะว่าเมืองไทยนี้มียังมีคนสึ่งตึงซึ่งเป็นเป้าหมายทางการตลาดอยู่อีกมาก


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ 

บรรณานุกรม 

1. Willmsen, Berens MJ. Miracle machines: 21st century snake oil. Seattle Times. Series that began in November 2007.


.................................................

จดหมายจากผู้อ่าน
25 กย. 55

ขอบคุณ คุณหมอสันต์มากนะครับ ที่ให้คำแนะนำที่ดีมาก จะไม่ลืมพระคุณเลยครับ คุณหมอเป็นคนเหนือหรือเปล่าครับ รู้จักสำเนียงดีมาก ถึงแม้ผมจะเป็นชนเผ่าม้งแต่อยู่ภาคเหนือ ก็พูดเหนือได้เป็นอย่างดี รู้ความหมายดีครับ และคุณหมอยังรู้ภาษาม้งอีก เจ๋งจริงๆ  ผมดูลักษณะการตอบของคุณหมอ ผมเดาว่า คุณหมอมีนิสัยคล้ายๆผม คือคุณหมอเป็นคนอัธยาศัยดี ชอบตลก ไม่ซีเรียสกับชีวิต ชอบมีสังคมมากๆ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่เป็นเลิศ ผมว่าหาคนอย่างคุณหมอยากนะ หมอส่วนมากจะหวงความรู้ ต้องเอาเงินมาแลกถึงจะยอมเอ่ยปาก

อยากชวนคุณหมอมาเที่ยวบ้านผมด้วยครับ บ้านผมอยู่ติดกับดอยอินทนนท์ ชื่อหมู่บ้าน.... ม... ต.... อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ประมาณต้นเดือน พฤศจิกายน จะมีทุ่งบัวตองที่แม่ฮ่องสอน และมีปีใหม่ม้งประมาณ กลางเดือน มกราคม 2556 ผมมีรถตู้บริการนำเที่ยว ถ้าว่างขอเรียนเชิญพาครอบครัวมาเที่ยวได้นะครับ
วันนี้ขอสอนภาษาม้งให้ เอาที่จำเป็น แบบว่าจะได้ไม่อดตายและมีเพื่อนเป็นคนม้ง
1.สวัสดี nyob zoo (ย้อซง)
2.กินข้าว noj mov (น้อม๋อ)
3.ดื่มน้ำ haus dej (เฮาเด้)
4.ขอพักค้างคืน thov tsev pw (ท๋อเจ๋ปือ)
5.หิวข้าว (tshaib plab) ไช้ปล๊า
6.ปวดท้อง (mob plab) ม๊อปล๊า
7.ไม่สบาย (tsis zoo nyob) จีซงย๊อ
8.ช่วยด้วย (pab kuv thiab) ป๊ากู๋เที๊ย
9.ฉันคิดถึงเธอ (kuv nco koj) กู๋จอก้อ
10.ฉันรักเธอ (kuv hlub koj) กู๋ลู๊ก้อ

คุณหมอเอาไว้พูดกับภรรยานะครับ  เอารูปภรรยาและลูกชายคนเล็กมาให้ดูครับ

ด้วยความเคารพและนับถือ

...............................

ตอบครั้งที่ 2.

1.      ขอบคุณที่ส่งรูปที่น่ารักมาให้ดูครับ และขอบคุณที่ชวนไปเที่ยว ถ้ามีโอกาสไปทางนั้นจะแวะไปหานะครับ
2.      ที่ว่าหมอส่วนใหญ่หวงความรู้นั้นขอแก้ข่าวหน่อยว่าไม่จริงนะครับ หมอทุกคนมีความเหมือนกันอยู่อย่างคือถูกสอนให้ใช้การให้ความรู้ (Health Education) เป็นเครื่องมือรักษาโรค แต่ที่บางครั้งไม่ได้เอ่ยปากนั้นเป็นเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งในสองสาเหตุเท่านั้น คือ (1) เวลามันไม่พอ คิวคนไข้ยังยาว ข้าวหมอยังไม่ได้กิน หรือ (2) มันไม่ชัวร์ หมายความว่าเนื้อหาสาระเรื่องที่จะพูดหมอยังจำได้ไม่แม่น มันต้องกลับไปเปิดหนังสือทบทวน ตั้งใจว่าอย่างนั้น แต่พอคล้อยหลังคนไข้ก็ลืม ลืม ลืม เพราะหมอทุกคนถูกสอนให้เป็นคนขี้ลืม ใครที่ไม่สามารถลืมวิชาเก่าได้ทันทีที่สอบเสร็จ มีหวังสอบวิชาใหม่ตก เพราะข้อมูลมันจะล้นหน่วยความจำ

กู๋ลู๊ก้อ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]