28 มกราคม 2554

ลูกติดเกม จะเป็นโรคจิตไหม

ลูกชายดิฉันอายุ 20 ปี เรียนมหาวิทยาลัยปี 2 ตั้งแต่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ก็เอาแต่เล่นเกมส์ มีเครื่องอยู่ในห้อง ไม่หลับไม่นอน ไปเรียนหนังสือก็หลับในห้อง การเรียนกตกจนต้องซ้ำหลายวิชาและดูท่าคงจะเรียนไม่จบ ดิฉันไม่ได้เป็นทุก๘ข์กับเรื่องที่เขาจะเรียนไม่จบ หรือจะไม่มีปริญญา แต่เป็นทุกข์กับการที่เขาติดเกมส์แล้วกลายเป็นเด็กเครียด หงุดหงิด โมโหง่าย การติดเกมส์ทำให้เขาป่วยเป็นโรคจิตได้ไหม และควรทำอย่างไรดี

แจง

.........................

ตอบครับ

เรื่องเด็กติดเกมคอมพิวเตอร์นี้ วงการแพทย์ปัจจุบันยังไม่ถือว่าเป็นโรค แม้ในมาตรฐานการจำแนกโรคฉบับใหม่ (DSM-V) ที่กำลังจะนำออกมาใช้ ก็ไม่บรรจุเด็กติดเกมเป็นโรค ผมจึงยังไม่มีวิธีรักษามาตรฐานมาบอกเล่า

แต่เมื่อไม่กี่วันมานี้เอง วารสารกุมารเวชศาสตร์ (Pediatrics) ได้ตีพิมพ์งานวิจัยซึ่งติดตามดูเด็กติดเกมระดับประถมและมัธยมจำนวนสามพันกว่าคนในอเมริกา ฮ่องกง และสิงค์โปร์ โดยตามดูนาน 2 ปี พบว่าการติดเกมทำให้เด็ก (1) สูญเสียทักษะทางสังคม (2) การเรียนแย่ลง (3) เป็นโรคซึมเศร้าง่ายขึ้น ยิ่งติดเกมมาก ยิ่งมีสามปัญหานี้มาก

งานวิจัยนี้จัดว่าเป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ชิ้นแรกที่บอกว่าการที่เด็กติดเกม เป็นปัญหาสุขภาพเหมือนเป็นโรคๆหนึ่ง ซึ่งเพิ่งออกมาหมาดๆ การจะมีข้อมูลว่าโรคนี้จะรักษายังไงยังต้องรอการวิจัยอีกนาน ในระหว่างนี้คุณรับฟังคำแนะนำแบบมวยวัดของผมไปก่อนก็แล้วกัน

คือผมเป็นหมอประจำครอบครัว จึงมองปัญหาเด็กติดเกมว่าเป็นปัญหาของทั้งครอบครัว จึงเดาสุ่มคิดวิธีการรักษานี้ขึ้นมาโดยไม่มีงานวิจัยรองรับว่ามันได้ผลหรือไม่ วิธีของผมคือ

1. เครื่องมือหลักที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ต้องใช้ ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่หรือคุณลูก คือ “การรู้จักวิธีใช้ชีวิตให้มีความสุขด้วยวิธีง่ายๆ” อันได้แก่ ซึ่งสร้างขึ้นจากองค์ประกอบสามอย่างคือ (1) การฝึกสมาธิ (meditation) เพื่อให้จิตใจสงบสุขด้วยวิธีเช่นการตามรู้ลมหายใจ (2) การฝึกตามดูหรือฝึกระลึกรู้ (recall) ความคิดของตัวเองว่าเมื่อตะกี้ตัวเองเผลอคิดอะไร พูดง่ายๆว่าฝึกสติ (3) การฝึกตัวเองให้หัดรู้สภาวะจิตใจของตัวเองอยู่เสมอ (self awareness) ทั้งสามประการนี้เป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างวุฒิภาวะทางอารมณ์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการแก้ปัญหานี้ ทั้งฝ่ายคุณพ่อคุณแม่ และฝ่ายลูก

2. เริ่มต้นการแก้ปัญหาโดยให้พ่อแม่สร้างวินัยต่อตัวเองของตัวพ่อแม่เองก่อน โดย

2.1 ฝึกตามความคิดและอารมณ์ของตัวเองให้ทัน ทำตัวเองให้เป็นคนที่มีจิตใจโปร่งโล่งสบาย ไม่ซึมเศร้า หรือโมโห หงุดหงิด ดุด่า หรือพร่ำบ่นเพื่อระบายอารมณ์ เรียกว่าจัดการอารมณ์ตัวเองให้ได้ก่อน

2.2 ทำทุกสิ่งที่ผู้ใหญ่ที่ดีมีวินัยคนหนึ่งพึงทำต่อตนเอง ได้แก่ ถ้าสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์อยู่ควรเลิก ถ้าไม่ได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอควรลงมือออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน ถ้าการรับประทานอาหารเป็นไปอย่างไม่ถูกหลักโภชนาการควรปรับเปลี่ยนไปรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ถ้าเป็นคนนอนน้อย พักผ่อนไม่พอ ควรจัดเวลานอนและเวลาพักผ่อนแต่ตัวเองให้พอ เป็นต้น

2.3 จัดการงานของตนเองให้ดี เป็นระเบียบ ไม่คั่งค้างพอกหางหมู รวมไปถึงจัดการเรื่องการเงินของตนเองให้พอดี มีรายจ่ายไม่เกินรายรับ

3. เมื่อพ่อแม่ได้สร้างวินัยต่อตนเองขึ้นมาได้ระดับหนึ่งแล้ว จึงนำความสำเร็จของการสร้างวินัยต่อตนเองนี้ไปสร้างบรรยากาศของครอบครัวที่อบอุ่นสำหรับลูกๆขึ้นมา คู่ขนานไปกับฝึกสอนให้ลูกๆสร้างวินัยต่อตัวเองของลูกๆ ดังนี้

3.1 สร้างบรรยากาศที่ดีในครอบครัวขึ้นมา มีสติตลอดว่าเวลาเข้าบ้านต้องจัดการกับอารมณ์ตนเองให้ได้ก่อน แล้วค่อยไปดูแลลูก สร้างรอยยิ้มเล็กๆ ขึ้นในบ้านทุกครั้งที่มีโอกาส จัดการบรรยากาศโดยรวมของบ้านให้เอื้อต่อการมีปฏิสัมพันธ์กัน

3.2. ให้ความเข้าใจแก่ลูก เวลาลูกพูดอะไรให้ตั้งใจฟัง ฟังเพื่อที่จะให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าลูกต้องการสื่อความคิดหรือความรู้สึกอะไรแก่เรา สรุปความเข้าใจของเราให้เขาตรวจสอบว่าเราเข้าใจเขาถูกหรือไม่ ถ้าเขาบอกว่าเราเข้าใจเขาผิดก็ต้องฟังเขาใหม่ ฟังเพื่อที่จะเข้าใจเขาจริงๆ ไม่ใช่ฟังเพื่อจะโต้ตอบหรือสั่งสอน

3.3. พูดกับลูกดีๆ พูดในลักษณะเป็นการตกลงกติกา ไม่ใช่การออกคำสั่ง กำหนดกติกาให้ชัดเจนร่วมกันว่าจะค่อยๆลดเวลาเล่นเกมลงอย่างไร

3.4. สนองต่อพฤติกรรมขบถ ต่อต้าน ไม่เชื่อฟังของลูกด้วยท่าทีไม่ใช้อารมณ์ ใช้ท่าทีที่ธรรมดาแต่มั่นคง ไม่ท้อถอยหรือประชดประชัน บอกเพียงแต่ว่าเราตกลงกันแล้วต้องทำตามที่ตกลง พ่อแม่พึงหนักแน่นในกฎระเบียบ นุ่มนวลในท่าที อย่าทำแบบบัดเดี๋ยวแข็ง ตวาด ด่า ถอดปลั๊ก บัดเดี๋ยวอ่อนพอลูกขอเล่นอีกหน่อยก็ยอม ต้องใช้ท่าทีอ่อนนอกแข็งใน ตกลงกันแล้ว 2 ชั่วโมงครบสองชั่วโมงแล้วขอให้ลูกหยุด ทำกิจกรรมอย่างอื่นดีมั้ยลูก เป็นต้น ถ้าจำเป็นต้องทำโทษก็ทำด้วยความรัก ไม่ทำเพราะเผลอโมโห

3.5. สร้างวัฒนธรรมการแสดงออกถึงความรักและหวังดีต่อกันแบบทำอย่างเปิด ทำบ่อยๆ ทำทั้งด้วยวาจา เช่นพูดออกมาบ่อยๆว่า “พ่อรักแม่นะครับ” “แม่รักลูกค่ะ” และทำทั้งการใช้ภาษากาย เช่นการสัมผัสบีบมือ โอบกอด ตบหลังตบไหล่

3.6. กำหนดกิจกรรมร่วมกันขึ้นมา อย่างน้อยสักหนึ่งอย่างในหนึ่งสัปดาห์ที่พ่อแม่ลูกทุกคนต้องมาร่วมกันทำกิจกรรมนี้ด้วยกัน โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องจัดเวลาของตัวเองมาทำสิ่งนี้ให้ได้ เช่นวันอาทิตย์ อาจเป็นการให้ช่วยคุณแม่ทำอาหาร ช่วยคุณพ่อปลูกต้นไม้ ไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปปิกนิก ไปเยี่ยมญาติ เพื่อแย่งเวลาที่ใช้เล่นเกมมาใช้เวลาเรียนรู้สิ่งที่มีประโยชน์อื่นๆอีกมาก

3.7. วางแผนการใช้เวลาบางส่วนของลูกแบบ “ภาคกึ่งบังคับ” เช่น วันเสาร์ให้เข้าคอร์ส เรียนดนตรี ศิลปะ เต้นรำ กีฬา ภาษา หากิจกรรมต่างๆ ที่คิดว่าเหมาะสมกับลูกมาให้เขาได้ลอง ได้รู้จัก ได้เลือกเองว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ผลพลอยได้นอกจากทักษะด้านต่างๆก็คือลูกจะได้มีเพื่อนมากขึ้น รู้จักเข้าสังคมกับคนอื่นๆ โดยเฉพาะกับเด็กรุ่นเดียวกัน จะทำให้ลูกไม่อยู่กับตัวเองมากเกินไป และมีโลกทัศน์กว้างขึ้นสร้างบรรยากาศ ทำให้เด็กค้นพบความสุข ความสนุกหลายๆ ด้าน

3.8. ลงทุนลงแรงสอนลูกให้มีความรับผิดชอบเป็นขั้นเป็นตอน มอบความรับผิดชอบให้เด็กทำตามความเหมาะสมกับสภาพร่างกาย เช่น ล้างจาน กวาดบ้าน รดน้ำต้นไม้ เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักมีความรับผิดชอบ ต้องทำอะไรบางอย่างถึงแม้จะเบื่อทำขี้เกียจทำแต่ต้องทำ เป็นการสร้างวินัยให้เด็ก เพื่อจะให้เด็กสร้างวินัยให้ตัวเองในอนาคตได้ อย่าเลี้ยงลูกแบบ over protected ไม่มีโอกาสได้ทำหรือได้ตัดสินใจอะไรเองเลย

3.9 กำหนดมาตรการทางการเงิน สอนให้ลูกบริหารจัดการเงินรายรับ-รายจ่ายของตนให้ได้

3.10. ชื่นชมให้กำลังใจ มองหาข้อดีในตัวลูก แม้เรื่องเล็กๆน้อยๆ ถ้าเป็นเรื่องดีก็ควรชม ให้เขาได้เกิดความรู้สึกว่าได้รับการยอมรับ ให้เขาได้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง ขณะเดียวกันก็มองข้ามข้อตำหนิเล็กๆน้อยๆของเขาไปเสียบ้าง

3.11. หมั่นสังเกตว่าลูกอาจอยู่ในภาวะเครียดหรือไม่ มีปัญหาหรือไม่ โดยตัวชี้วัดสำคัญก็คือผลการเรียน สุขภาพ พฤติกรรม และการใช้จ่ายเงิน เมื่อเห็นว่ามีปัญหา ต้องรีบเข้าไปช่วยเขาแก้ปัญหา ชี้ให้เขาเห็นด้านดีอื่นๆที่เขามี ชวนเขาหาความสุขความสำเร็จจากเรื่องอื่นๆ

3.12 การส่งลูกไปเข้าค่ายตอนปิดเทอมก็เป็นวิธีที่มีประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นค่ายแก้ไขเด็กติดเกม ค่ายเด็กอ้วน ค่ายพ่อแม่ลูกผูกพันป้องกันปัญหายุคไซเบอร์ เป็นต้น

3.12 ถึงจุดหนึ่ง ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจาะลึกลงไปถึงรากของความสำเร็จในการสร้างวินัยต่อตนเอง นั่นคือการสอนให้ลูกรู้จักร้องเตือนตัวเอง (recall) เมื่อความคิดหรือความรู้สึกลบเกิดขึ้นในใจ ควบไปกับการฝึกให้มี “ความรู้ตัว (awareness)” ว่าขณะนี้ตัวเองกำลังเฝ้ามองความคิดหรือความรู้สึกของตัวเองอยู่ รู้ว่าตัวเองมีความรู้สึกมีอารมณ์อย่างไร และฝึกสมาธิ ให้รู้วิธีเอาใจไปจดจ่อไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเช่นลมหายใจของตนเอง เป็นต้น หรืออาจใช้วิธีพากันไปวัด ที่มีการฝึกสอนการฝึกสติสัมปชัญญะและสมาธิโดยตรง

3.13 ถ้าพยายามทำทั้งหมดนี้แล้วแต่ก็ยังรู้สึกว่าสิ้นหวัง รู้สึกว่าไม่มีหนทางช่วยเหลือลูกได้ ควรหาทางขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง หรือผู้ที่เชี่ยวชาญ หรือองค์กรที่เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ถ้าไม่รู้จะไปหาที่ไหน เท่าที่ผมทราบ มีหน่วยงานที่มีหน้าที่นี้โดยตรงอยู่หน่วยหนึ่งชื่อศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ โทร. 02-3548305-7 หรือ http://cgap.icamtalk.com/index.php ผมไม่ทราบว่าเขาจะมีน้ำยาแค่ไหนเพียงใดนะครับ แต่ถ้าคุณสิ้นหวังแล้วไปหาเขาก็ไม่มีอะไรจะเสีย มีแต่ได้กับได้แหละครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Gentile, Douglas A., Choo, Hyekyung, Liau, Albert, Sim, Timothy, Li, Dongdong, Fung, Daniel, Khoo, Angeline. Pathological Video Game Use Among Youths: A Two-Year Longitudinal Study. Pediatrics 2011;0: peds.2010-1353
[อ่านต่อ...]

อุลตร้าซาวด์รายงานว่าเด็กไม่ดิ้น (fetal movement negative)

คือว่าคุณหมอนัดหนูไปตรวจดาวน์สินโดมมา แล้วคุณหมออัลตร้าซาวนด์ต้นคอเด็กให้ พอซาวน์เสร็จก็ทำการตรวจเลือดต่อคุณหมอแจ้งว่าถ้าผลเป็น ลบ ก็โอเค แต่ถ้าเป็นบวกก็ต้องมาตรวจน้ำคร่ำกันต่อ พอคุณหมอซาวน์เสร็จก็เขียนในใบว่า fetal moverment(เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของทารก) เป็นลบ ก็เลยสงสัยว่า เป็นลบหมายความว่าไงค่ะ ทารกไม่ดิ้นหรือปกติดีค่ะ พอดีลืมถามคุณหมอค่ะ ขอบพระคุณค่ะ(อายุครรรภ์ 13สัปดาห์ค่ะ)

เนม

..................................

ตอบครับ

เรื่องการดิ้นของเด็กในท้องนี้มี 4 ประเด็นที่ต้องพิจารณาแยกกันคือ

1. การทำอุลตร้าซาวด์ในงานคลินิกที่ไม่ใช่ในงานวิจัย ก็เหมือนกับการเอาไฟฉายส่องเงาตะคุ่มๆในที่มืดแป๊บเดียว เหมือนคนมาเปิดห้องนอนคุณแล้วฉายไฟเข้าแป๊บหนึ่งแล้วพบคุณนอนนิ่งอยู่บนเตียง ข้อมูลแค่นี้จะเอาไปแปลผลเป็นตุเป็นตุว่าคุณดิ้นไม่ได้เสียแล้ว เป็นไปไม่ได้ฉันได้ ข้อมูลอุลตร้าซาวด์ที่ทำแป๊บเดียวแล้วไม่พบว่ามีการขยับตัวของทารก ก็เอาไปใช้ตีความอะไรไม่ได้เช่นกัน ดังนั้นอย่าไปวิตกจริตกับใบรายงานที่เขียนว่า fetal movement negative (ไม่ดิ้น) เพราะมันใช้แปลความอะไรไม่ได้ อีกอย่างหนึ่ง อายุครรภ์ขนาดนี้ (13 สัปดาห์) ก็เร็วเกินไปที่จะบอกว่าถ้าเด็กไม่ดิ้นแล้วจะผิดปกติ เพราะเด็กบางคนไปเริ่มดิ้นเอาหลังจากนี้อีกหลายสัปดาห์

2. ข้อมูลวิจัยโดยวางอุลตร้าซาวด์เฝ้าดูเรื่องการขยับตัวของทารกในครรภ์อย่างต่อเนื่อง พบว่าทารกมีการขยับตัวตั้งแต่อายุครรภ์ 7-8 สัปดาห์ และเริ่มขยับแขนขาแยกจากกันอย่างอิสระตั้งแต่สัปดาห์ที่ 9 บิดขึ้เกียจและหาวได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 10 อ้าปากและดูดได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 11 กลืนน้ำคร่ำลงท้องได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 12 อย่างไรก็ตาม นี่เป็นข้อมูลจากทารกที่ดิ้นก่อน การขยับดิ้นของทารกแต่ละคนไม่เท่ากัน และเริ่มช้าเร็วต่างกันได้มาก

3. การศึกษาในคุณแม่จำนวนมากพบว่าการรับรู้การดิ้นครั้งแรกของลูก (quickening) มีความแตกต่างกันไปในคุณแม่แต่ละคน ตำราทางสูติศาสตร์ส่วนใหญ่กำหนดช่วงที่คุณแม่ควรรับรู้การดิ้นครั้งแรกไว้เป็นช่วงเวลายาวตั้งแต่ 13-25 สัปดาห์นับจากประจำเดือนหมด ถ้าอายุครรภ์เกิน 25 สัปดาห์แล้วยังไม่รู้สึกว่าเด็กดิ้นเลย จึงค่อยไปให้หมอตรวจดูเพื่อความแน่ใจว่าเด็กยังอยู่ดีสบายหรือเปล่า

4. หลังจากที่รับรู้ว่าเด็กดิ้นครั้งแรกแล้ว การนับความถี่การดิ้นของเด็กทุกวันเพื่อตามดูว่าเด็กผิดปกติหรือเปล่าไม่จำเป็น เพราะการทบทวนงานวิจัยพบว่าการเฝ้านับการดิ้นของเด็กไม่ได้ลดอุบัติการณ์ของทารกตายในครรภ์ลงได้ เอาเพียงแค่ว่าช่วงไหนที่รู้สึกขึ้นมาว่าลูกไม่ดิ้นหรือดิ้นน้อยผิดปกติ ค่อยไปหาหมอก็ถือว่าเป็นการเฝ้าระวังที่เพียงพอแล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Mangesi L, Hofmeyr GJ. Fetal movement counting for assessment of fetal wellbeing (Review). Cochrane Database of Systematic Reviews 2007, Issue 1.
[อ่านต่อ...]

26 มกราคม 2554

นพ.สันต์ให้สัมภาษณ์ไทยทีวี.เรื่องคนเป็นเบาหวานควรใช้ชีวิตอย่างไร

พิธีกร: ผู้ป่วยเบาหวานมีความเครียดอะไรต่างจากคนธรรมดาไหมคะ

นพ.สันต์:
เป็นความเครียดจากความไม่รู้จริงมากกว่า นี่ก็ทานไม่ได้ นั่นก็ทำไม่ได้ เรียกว่าจะกินอะไรจะทำอะไรก็ดูจะทำให้ป่วยมากขึ้นไปเสียหมด ทั้งที่ถ้ารู้ความจริงในสามประเด็นหลักคือ (1) การออกกำลังกาย (2) โภชนาการ (3) การพักผ่อนและจัดการความเครียด คนเป็นเบาหวานก็จะมีชีวิตที่มีคุณภาพได้


พิธีกร: การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยเบาหวานมีอะไรเป็นพิเศษไหมคะ

นพ.สันต์:
คือชีวิตที่จะมีคุณภาพ มันต้องมีการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว มีกิจกรรมให้ร่างกายได้ออกแรง คือต้องออกกำลังกาย การออกกำลังกายนี่เป็นทั้งวัคซีนป้องกันโรคเบาหวาน และเป็นทั้งยารักษาโรคเบาหวานด้วย การออกกำลังกายสำหรับคนเป็นเบาหวานต้องเน้นการออกกำลังกายสองแบบควบกัน คือ

แบบที่หนึ่ง คือการออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ หรือการเล่นกล้ามนั่นเอง ฟังแล้วอาจจะงงว่าทำไมจะให้คนเฒ่าคนเถิบมาเล่นกล้าม แต่งานวิจัยใหญ่ทุกงานล้วนให้ผลตรงกันว่าการเล่นกล้ามทำให้มีมวลกล้ามเนื้อมากขึ้น ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง เพราะกล้ามเนื้อเป็นอวัยวะหลักที่จะใช้น้ำตาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่เป็นเบาหวานแฝง การเล่นกล้ามลดน้ำตาลในเลือดได้มากกว่ายาเบาหวานเสียอีก สมาคมเบาหวานอเมริกันถึงกับออกคำแนะนำให้คนเป็นเบาหวานทุกคนเล่นกล้ามด้วยการยกดัมเบลทุกวัน หลักการเล่นกล้ามก็คือว่าเราทำให้กล้ามเนื้อได้ออกกำลังกายหนักๆซ้ำๆจนล้า แล้วก็พักไปสักวันแล้วก็กลับมาให้ออกแรงหนักๆซ้ำจนล้าใหม่ อย่างเช่นถ้าจะยกดัมเบล ก็ต้องเลือกดัมเบลที่หนักได้ที่ เวลายกเนี่ยต้องให้หนักจนร่างกายแทบจะสั่นเทิ้มเลยละ ยกได้สักสิบครั้งก็แขนและไหล่ล้าหมดแรงพอดี ถ้ายกไปสักสิบครั้งก็ยังมีแรงยกอยู่แสดงว่าน้ำหนักหรือแรงต้านไม่พอ ต้องเพิ่มน้ำหนักดัมเบลให้หนักยิ่งขึ้นอีก การเล่นกล้ามนี่อาจไม่ใช้อุปกรณ์อะไรเลยก็ได้ เช่นผมใช้ท่านั่งยองๆแล้วค่อยๆลุกขึ้นโดยให้หลังตรงและตรงตามองเห็นเท้าตัวเองอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ ค่อยๆขึ้นช้าๆ ลงช้าๆ อย่างนี้ ก็เป็นการเล่นกล้ามเนื้อขาที่ดีมาก ใหม่ๆอาจทำได้ครั้งเดียวหรือสองครั้งก็ล้า แต่หัดไปบ่อยๆก็จะทำได้เป็นสิบๆครั้ง การเล่นกล้ามนี้ควรทำอย่างน้อยสัปดาห์ละสองครั้งเป็นอย่างน้อย

การออกกำลังกายแบบที่สองซึ่งต้องทำควบไปกับการเล่นกล้ามก็คือการออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง หรือที่เรียกกันว่าแบบแอโรบิก เช่นเดินเร็ว วิ่งจ๊อกกิ้ง จักรยาน ว่ายน้ำ การออกกำลังกายแบบนี้มีประโยชน์กับระบบหัวและหลอดเลือดซึ่งเป็นระบบที่มักจะป่วยก่อนระบบอื่นและมักเป็นสาเหตุการตายของคนเป็นโรคเบาหวาน การออกกำลังกายแบบแอโรบิกนี้มีประเด็นสำคัญอยู่สามประเด็น คือ

(1) ต้องให้ถึงระดับหนักพอควร ซึ่งนิยามว่าต้องเหนื่อยหอบจนร้องเพลงไม่ได้ ถ้าออกไปแล้วยังร้องเพลงได้นี่แสดงว่ายังไม่ถึงระดับหนักพอควร
(2) เมื่อหนักพอควรแล้ว ต้องให้หนักพอควรต่อเนื่องกันไป 30 นาทีเป็นอย่างน้อย
(3) ต้องทำให้สม่ำเสมอ คือสัปดาห์หนึ่งต้องออกอย่างน้อย 5 ครั้ง ทำทุกวันได้ยิ่งดี

พิธีกร: การออกกำลังกายนี่ถึงขั้นรักษาโรคเบาหวานได้เลยไหมคะ

นพ.สันต์:
ได้แน่นอนครับ มีงานวิจัยมากมายพิสูจน์ไว้แล้ว การออกกำลังกายเป็นวิธีรักษาโรคเบาหวานโดยตรงและเป็นวิธีที่ดีที่สุดด้วย เพื่อนผมซึ่งเป็นหมอฝรั่งเล่าให้ฟังว่าคนไข้ของเขาคนหนึ่งเป็นเบาหวานจนตามัวมองอะไรไม่ค่อยเห็น ต้องไปใช้บริการหมานำทางของมูลนิธิคนตาบอด เมื่อได้หมามาก็ต้องพาหมาไปออกกำลังกายเพราะเป็นข้อกำหนดของมูลนิธิว่าต้องดูแลหมาของเขาอย่างไร ปรากฏว่าการได้ออกกำลังกายกับหมาทุกวันทให้เบาหวานดีขึ้นๆจนเลิกยาได้ และในที่สุดการมองเห็นก็ดีพอจนไม่ต้องใช้หมา คราวนี้เลยไปซื้อหมาของตัวเองมาเลี้ยงเลย จะได้มีเพื่อนออกกำลังกายทุกวัน

พิธีกร: แล้วโภชนาการสำหรับคนเป็นเบาหวานละคะ

นพ.สันต์:
งานวิจัยที่ดีที่สุดในเรื่องโภชนาการสำหรับคนเป็นเบาหวานคืองานวิจัยของฟินแลนด์ ซึ่งทำให้เกิดการยอมรับกันไปทั่วโลกว่าโภชนาการสำหรับคนเป็นเบาหวานควรมี 3 ประเด็นคือ (1) ต้องลดแคลอรี่ลงจนลดน้ำหนักได้สัก 5% (2) ต้องจำกัดไขมัน (3) ต้องเพิ่มอาหารกาก

ในประเด็นแคลอรี่นี้ ความจริงถ้าพูดว่าควรรักษาดุลของแคลอรี่ให้เป็นลบไว้ตลอดจะเหมาะกว่า คือพลังงานหรือแคลอรี่นี้เข้ามาทางอาหาร แต่ก็ออกไปทางการเผาผลาญด้วยการออกกำลังกาย คนเป็นเบาหวานมีแคลอรี่เข้ามากกว่าแคลอรี่ออก จึงต้องรู้ว่าเราเผาผลาญแคลอรี่ได้วันละเท่าไร อย่างเช่นผู้หญิงไทยรูปร่างสวยขนาดคุณแอนนี้ หากเป็นคนออกกำลังกายสม่ำเสมอถึงขั้นหอบแฮ่กๆทุกวัน จะต้องการแคลอรี่เพียงแค่ 1,200 แคลอรี่ต่อวันเท่านั้นเอง ถ้าเป็นคนนั่งจุมปุ๊กอยู่หน้าทีวีไม่ได้ออกแรงก็ยิ่งต้องการแคลอรี่น้อยกว่านี้อีก ขณะเดียวกันก็ควรรู้ด้วยว่าอาหารอะไรให้แคลอรี่เท่าไร อาหารไทยที่ทำขายกันเป็นอาหารที่ให้แคลอรี่สูงมาก เช่นเส้นใหญ่ผัดซีอิ๊วหนึ่งจานให้ถึง 635 แคลอรี่ ดังนั้นการจะรักษาดุลของแคลอรี่ให้เป็นลบ คือเข้าน้อยกว่าออกได้นี้ ต้องหัดนับแคลอรี่ในอาหารด้วยจึงจะสำเร็จ

พิธีกร: จะให้นับแคลอรี่เลยเหรอ มันเป็นเรื่องยากเกินไปหรือเปล่าคะ หลายคนคงจะส่ายหัวว่าทำไม่ได้แน่ๆ

นพ.สันต์:
ถ้าเห็นว่านับแคลอรี่มันยากหรือหยุมหยิมเกินไป ก็ใช้วิธีดูตาชั่งก็ได้ครับ คือในงานวิจัยฟินแลนด์นั้นเขามุ่งให้ปรับอาหารและออกกำลังกายจน้ำหนักลดได้ 5% ของน้ำหนักเดิม ถ้าไม่อยากนับแคลอรี่ให้ละเอียดก็ต้องขยันชั่งน้ำหนักตัวเองบ่อยๆแทน เป้าหมายคือเอาลง 5% ก็จะไปบรรลุที่ปลายทางเดียวกัน

พิธีกร: ในเรื่องไขมัน มันมีไขมันดี ไขมันเลว จะเลือกทานอย่างไรคะ

นพ.สันต์:
เรื่องไขมันมีสองประเด็นนะ คือ (1) ไขมันในฐานะอาหารให้พลังงาน และ (2) ไขมันแบบไหนดีแบบไหนไม่ดี ในประเด็นแรก ขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารไขมันก็ล้วนให้พลังงานมากทั้งสิ้นและต้องจำกัดปริมาณโดยรวม ไม่ว่าไขมันดีหรือไขมันไม่ดี คือคนไทยพอเป็นเบาหวานก็คิดว่าต้องเลิกทานของหวาน เพราะมันมีคำว่าหวานเหมือนกัน ทั้งๆที่ศัตรูคนเป็นเบาหวานที่แท้จริงคือแคลอรี่ ตัวที่ให้แคลอรี่สูงสุดคืออาหารไขมัน เพราะหนึ่งกรัมให้ถึง 9 แคลอรี่ ขณะที่น้ำตาลหรือคาร์โบไฮเดรตอื่นๆหนึ่งกรัมให้ 4 แคลอรี่เท่านั้น ดังนั้นอาหารไขมันจึงเป็นอะไรที่คนเป็นเบาหวานควรลดให้มากที่สุด ไม่ใช้ไปกลัวของหวานจนสติแตกเลยหันมาทานของมันแทน อย่างนี้ยิ่งแย่

ในประเด็นไขมันดีไขมันเลว ต้องแบ่งก่อนนะว่าเป็นสองเรื่อง คือเรื่องไขมันในเลือดเรื่องหนึ่ง เรื่องไขมันในอาหารอีกเรื่องหนึ่ง ไขมันในเลือด ไขมันดีหรือ HDL จะได้มาจากการออกกำลังกาย ส่วนไขมันเลวได้มาจากการทานอาหารที่ประกอบด้วยไขมันผงและไขมันอิ่มตัว เอาละทีนี้ตามมาดูไขมันในอาหาร พวกที่จัดว่าเลวก่อน ที่เลวที่สุดก็คือไขมันผง หรือ solid fat หรือภาษาวิชาการเรียกว่า trans fat ที่ใช้ทำอาหารสำเร็จรูป เช่นเนยเทียม ครีมเทียมใส่กาแฟหรือคอฟฟี่เมท เค้ก คุ้กกี้ ไอศครีม พวกนี้ใช้ trans fat หมด ซึ่งทานเข้าไปแล้วไปเพิ่ม LDL ในเลือด และไม่ดีมากๆ ที่ไม่ดีรองลงมาคือไขมันอิ่มตัว เช่นน้ำมันหมู น้ำมันปาลม์ เพราะเพิ่ม LDL ในเลือดเช่นกัน ดังนั้นหากแม้นเลือกได้ก็ต้องลด trans fat และไขมันอิ่มตัวในอาหารลง ไปใช้ไขมันไม่อิ่มตัวเช่นน้ำมันมะกอก น้ำมันรำ น้ำมันถั่วเหลือง ในการเตรียมอาหารแทน

พิธีกร: แล้วอาหารกากนี่ หมายถึงธัญพืชหรือเปล่าคะ

นพ.สันต์:
อาหารกากได้มาจากพืชเท่านั้น ทั้งธัญพืช ผัก และผลไม้ ถ้าเป็นธัญพืชก็ต้องเป็นธัญพืชที่ไม่ขัดสี เช่นข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีท เป็นต้น ผักและผลไม้ทุกชนิดมีกากมากน้อยต่างกันไป ดังนั้นคนเป็นเบาหวานต้องทานผักและผลไม้ให้มาก ต้องทานผักผลไม้ให้ได้ถึงวันละ 5 เสริฟวิ่ง อย่างผลไม้ลูกเขื่องๆเช่นแอปเปิลนี้ หนึ่งลูกเท่ากับหนึ่งเสริฟวิ่ง ผักสลัดสดหนึ่งจานนี้เท่ากับหนึ่งเสิรฟวิ่ง ต้องทานผักและผลไม้รวมกันให้ได้วันละ 5 เสริฟวิ่ง คือต้องทานกันเป็นวัวเลย ถ้ามันแยะเหลือเกินทานไม่ไหว เคี้ยวไม่ไหว โดยเฉพาะคนอายุมาก ก็ใช้เครื่องปั่นความเร็วสูงปั่นเป็นน้ำแล้วดื่มก็ได้ ต้องดื่มเข้าไปทั้งหมดรวมทั้งกากด้วยนะครับ ถ้าใช้เครื่องปั่นที่ความเร็วสูงเกินหมื่นรอบต่อนาทีขึ้นไป กากมันจะละเอียดจนดื่มได้โดยไม่สากคอ

พิธีกร: แต่คนเป็นเบาหวานก็กลัวผลไม้ที่รสหวาน ก็คงต้องเลือกทานด้วยใช่ไหมคะ

นพ.สันต์:
อันนี้ต้องปรับความเข้าใจกันเสียใหม่ คนเราอย่างไรเสียก็ต้องทานคาร์โบไฮเดรตจำนวนหนึ่งอยู่แล้ว จะเป็นน้ำตาล เป็นแป้ง เป็นธัญพืชก็แล้วแต่ ประเด็นคือเราควรจะเลือกทานคาร์โบไฮเดรตจากแหล่งใดดีที่สุด ในบรรดาอาหารที่ให้น้ำตาลหรือคาร์โบไฮเดรต ผักและผลไม้จัดเป็นแหล่งที่มีคุณประโยชน์สูงสุด เพราะให้ทั้งวิตามิน เกลือแร่ และกาก ซึ่งจำเป็นต่อคนเป็นเบาหวาน ดังนั้นการทานคาร์โบไฮเดรตในรูปของน้ำตาลในผักและผลไม้ย่อมดีกว่าไปทานคาร์โบไฮเดรตในรูปของน้ำตาลที่ใส่เข้าไปในเครื่องดื่ม หรือที่เรียกว่า added sugar เพราะเมืองไทยนี้เครื่องดื่มทุกชนิดล้วนใส่น้ำตาลกันแบบเต็มแม็ก รวมทั้งเครื่องดื่มที่อ้างว่าเพื่อสุขภาพเช่นชาเขียว น้ำผลไม้ ก็ใส่น้ำตาลกันแบบนับสิบกรัมต่อแก้วขึ้นไป ดังนั้นจงกลัวน้ำตาลในเครื่องดื่ม ในขนมหวานที่ทำจากแป้งและธัญพืช แต่อย่ากลัวน้ำตาลในผักผลไม้ ให้ถือหลักว่าถ้าความหวานนั้นมาทางผักและผลไม้ก็ทานเข้าไปเถอะ อย่าไปตั้งข้อจำกัดว่านี่ทานได้นั่นทานไม่ได้เลย แต่ให้ไปจำกัดความหวานที่มาจากทางขนมหวานน้ำหวานหรือแม้กระทั่งข้าวและแป้งอย่างเข้มงวดแทน

พิธีกร: ในส่วนของการพักผ่อนและความเครียด คุณหมอมีอะไรจะพูดถึงไหมคะ

นพ.สันต์:
คือเบาหวานเป็นโรคที่ต้องอาศัยกลไกการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ ซึ่งจะทำงานเพี้ยนไปถ้าร่างกายมีความเครียดหรือร่างกายได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอ เอาตั้งแต่การนอนก่อน ต้องมีเวลานอนให้พอ คือไม่น้อยกว่า 7-8 ชั่วโมง นอกจากนั้นต้องจัดการความเครียดในชีวิตให้ดี ต้องเปิดโอกาสให้ร่างกายได้มีการสนองตอบแบบผ่อนคลาย คือชีวิตปกติร่างกายมีแต่โอกาสที่จะสนองตอบต่อสิ่งเร้าแบบเครียดหรือแบบสู้หรือหนีเป็นประจำ ทำให้ความดันขึ้น หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว เป็นต้น จึงต้องหาอะไรที่ให้ร่างกายได้มีโอกาสสนองตอบต่อสิ่งเร้าแบบผ่อนคลายทำบ้าง ซึ่งจะทำให้ความดันลดลง หัวใจเต้นช้าลง หายใจช้าลง เช่นการนั่งสมาธิ การทำโยคะ การรำมวยจีน การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าทำให้ร่างกายมีการสนองตอบแบบผ่อนคลาย จึงควรทำบ่อยๆ หาเวลาทำทุกวันได้ยิ่งดี

พิธีกร: ในแง่ของการป้องกันโรคแทรกซ้อนของเบาหวานละคะ

นพ.สันต์:
คนเป็นเบาหวานปกติก็ต้องไปหาหมอสม่ำเสมออยู่แล้ว แต่ประเด็นสำคัญคือบางทีหมอหรือระบบการดูแลเองมักจะไปมุ่งที่การรักษาระดับน้ำตาลในเลือดด้วยยาให้สำเร็จ จนเผลอลืมไปว่าเป้าหมายที่แท้จริงของการรักษาเบาหวานไป เพราะคนเป็นเบาหวานไม่ได้เสียชีวิตหรือทุพลภาพเพราะเบาหวาน แต่เสียชีวิตและทุพลภาพเพราะภาวะแทรกซ้อน ซึ่งมีอยู่สองเรื่องใหญ่ๆ คือ
1. อวัยวะปลายทางที่มักได้รับผลเสียจากเบาหวานมีสี่อวัยวะหลักคือ ตา ไต หัวใจ และเท้า
2. ปัญหาการติดเชื้อง่าย

ดังนั้นคนเป็นเบาหวานต้องทำตารางประจำปีของตัวเองไว้เลย ว่าทุกปีต้องได้รับการประเมินอวัยวะทั้งสี่อย่างน้อยหนึ่งครั้ง คือ

1. ทางด้านตาก็ต้องได้รับการส่องตรวจจอประสาทตาอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ซึ่งสมัยนี้ทำได้ง่าย ไม่ต้องหยอดยาขยายม่านตาแล้วเมาหัววิงเวียนไปครึ่งค่อนวันเหมือนสมัยก่อน ถ้าพบรอยโรคเล็กๆน้อยก็จะได้ใช้เลเซอร์ยิงรักษาเสียก่อนที่มันจะลุกลามเป็นมาก

2. ทางด้านไตนั้นก็ต้องอาศัยการตรวจเลือดซึ่งหมอมักตรวจพร้อมกับการตรวจน้ำตาลในเลือดอยู่แล้ว ตัวผลเลือดที่ใช้บอกการทำงานของไตนี้เรียกว่า GFR ซึ่งแปลว่าอัตราที่เลือดไหลผ่านตัวกรองของไต ค่า GFR นี้จะทำให้เราบอกตัวเราเองได้ว่าไตยังดีอยู่ไหม ถ้าเริ่มเป็นโรคไตเรื้อรังแล้วเป็นระยะไหน จาก 5 ระยะ ทุกปีเราต้องรู้ว่าค่า GFR ของเราได้กี่ซีซี. คนปกติจะได้มากเกิน 90 ซีซี. ถ้าได้น้อยกว่า 60 ซีซี.ก็แสดงว่าเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 แล้ว ต้องไปหาหมอไต ถ้าได้น้อยกว่า 30 ซีซี. ก็เป็นระยะที่สี่ ถ้าได้น้อยกว่า 15 ซีซี.ก็เป็นระยะที่ห้า คือต้องล้างไต มันเป็นธรรมชาติที่ค่า GFR จะลดลงทุกปี แต่ถ้าลงเร็วกว่าปีละ 5 ซี.ซี. ก็เรียกว่ามันลดลงเร็วเกินไป ทางสมาคมแพทย์โรคไตเขาแนะนำว่าต้องไปหารือกับหมอไตเพื่อดูว่ามันเป็นเพราะอะไร

3. ทางด้านหัวใจ เราเฝ้าระวังที่สามจุด

-จุดที่หนึ่งก็คือระดับไขมันในเลือด โดยเฉพาะไขมันเลว หรือ LDL ซึ่งถ้าเป็นคนทั่วไปเขาอาจยอมให้ LDL สูงได้ถึง 190 โดยไม่ต้องใช้ยา แต่ในคนเป็นเบาหวานนี้ถ้าสูงเกิน 100 แพทย์ก็จะแนะนำให้ใช้ยาลดไขมันแล้ว ดังนั้นเราต้องทราบว่าไขมัน LDL ของเราอยู่ที่เท่าไร ต้องปรับโภชนาการอีกไหม ต้องทานยาลดไขมันหรือยัง

-จุดที่สองคือความดันเลือด ซึ่งต้องไม่ให้สูงเกิน 140/90 ต้องจำความดันเลือดของเราได้

-จุดที่สาม คือการประเมินตัวหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งมีสองวิธี วิธีที่ดีที่สุดที่ผมแนะนำมากคือการใช้เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ดูปริมาณของแคลเซียมที่หลอดเลือดหัวใจหรือ CAC วิธีนี้มีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจดีมาก และให้ข้อมูลตั้งแต่ระยะเริ่มเป็น คนเป็นเบาหวานทุกคนควรได้รับการประเมินหลอดเลือดหัวใจอย่างน้อยสักครั้งหนึ่ง วิธีประเมินที่ดีรองลงมาคือการวิ่งสายพานให้เหนื่อยแล้วดูว่าหัวใจมีอาการขาดเลือดหรือไม่ เรียกว่าทำ EST ซึ่งการประเมินแบบวิ่งสายพานนี้ ผมแนะนำว่าให้ออกกำลังกายอยู่ประจำ การออกกำลังกายนั่นแหละเป็นการทำ EST ถ้าออกกำลังกายได้หนักพอควรจนเหนื่อยแฮ่กๆได้โดยไม่มีอาการเจ็บหน้าอก ก็แสดงว่ายังไม่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดถึงขั้นมีอาการ คือเท่ากับตรวจ EST ได้ผลลบอยู่แล้ว ไม่ต้องไปตรวจ EST ที่โรงพยาบาลอีก

4. ทางด้านเท้า ผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการฝึกสอนให้ดูแลเท้าตัวเองอย่างถูกวิธี ฝึกสติเวลาเดินไปมาและขึ้นลงบันไดเพื่อไม่ให้สะดุดอะไรจนเกิดแผลที่เท้าได้ง่าย เลือกรองเท้าที่นุ่มและพอดีเท้า และกรณีที่เป็นผู้สูงอายุที่หูตาชักจะฝ้าฟางแล้ว ควรได้รับการตรวจประเมินเท้าทุกปี

ส่วนปัญหาการติดเชื้อง่ายนั้น คนเป็นเบาหวานควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่ป้องกันได้ให้ครบ เช่นทุกปีต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทุกสิบปีต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นบาดทะยักหนึ่งครั้ง และพออายุ 65 ปีก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันปอดบวมหนึ่งเข็ม ทั้งหมดนี้จะช่วยลดโอกาสเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อที่ป้องกันได้

พิธีกร: ท่านผู้ชมคะ จะเห็นว่าผู้ป่วยเบาหวานต้องพึ่งสามอ.เหมือนกันนะคะ คืออ.อออกกำลังกาย อ.อาหาร และอ.อารมณ์หรือการพักผ่อน ดิฉันต้องขอขอบคุณท่านวิทยากรของเราในวันนี้ นายแพทย์ สันต์ ใจยอดศิลป์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัวเป็นอย่างมากค่ะ ขอบคุณคุณหมอมากนะคะ


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

นพ.สันต์: คือเบาหวาน
[อ่านต่อ...]

24 มกราคม 2554

นอนไม่หลับอย่างแรง ทั้งๆที่อายุ 29 ปีเอง

สวัสดีครับคุณหมอสันต์

ผมอายุ 29 ปี ครับ เป็นโรคนอนไม่หลับมานาน เคยทานยานอนหลับรวดเดียว 10 เม็ด ก็ไม่หลับ ทั้งๆ ที่ผมก็ไม่ได้มีเรื่องเครียดอะไร ไม่รู้ทำไม ปรึกษาจิตแพทย์แล้วก็ไม่หาย ผมไม่รู้จะทำอย่างไรดี ทำงานหนักก็ไม่หลับ จนเหมือนสมองผมจะระเบิดแล้ว ผมอยากนอนหลับสนิทเหมือนชาวบ้านเค้าบ้าง ไม่รู้เวรกรรมอะไร แต่ที่แน่ๆ ผมอยากจะหาย อยากนอนได้เหมือนคนปกติทั่วๆ ไป

..............................
ตอบครับ

คุณเป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง ทั้งๆที่มีอายุเพียง 29 ปี และไปหาจิตแพทย์มาแล้วปัญหาก็ยังไม่ดีขึ้น ก็ต้อง step up ขึ้นไปแก้ปัญหาระดับที่มันละเอียดซับซ้อนขึ้นไปกว่าเดิมแล้วละครับ ผมแนะนำให้คุณแก้ปัญหาเป็นขั้นๆ ดังนี้

ขั้นที่ 1. สืบค้นข้อมูลพื้นฐาน ที่จำเป็นให้ครบก่อนแล้วแก้ปัญหาที่เห็นได้ชัดๆไปก่อน คือ

1. คุณมีโรคทางกายอะไรหรือเปล่าที่ทำให้นอนไม่หลับ เช่น ไฮเปอร์ไทรอยด์ หรือกลุ่มอาการปวดเรื้อรัง เป็นต้น
2. คุณทานยาอะไรประจำหรือเปล่า เพราะยาจำนวนมากทำให้นอนไม่หลับ เช่น ยากระตุ้นเบต้ารักษาหอบหืด ยาสะเตียรอยด์ ยาต้านซึมเศร้า เป็นต้น
3. คุณใช้สารกระตุ้นหรือสารเสพย์ติดอะไรหรือเปล่า เช่น แอมเฟตามีน นิโคติน (สูบบุหรี่) แอลกอฮอล์ หรือแม้กระทั่งกาแฟอีน เพราะสารเหล่านี้ล้วนทำให้นอนไม่หลับ
4. ไลฟ์สไตล์ของคุณเป็นอย่างไร การใช้ชีวิตของคุณมันไม่ถูกสุขศาสตร์ของการนอนหลับ (sleep hygiene) หรือเปล่า เช่น ไม่ออกกำลังกายเลย เข้านอนไม่เป็นเวลา งีบกลางวันบ่อย ตื่นนอนไม่เป็นเวลา ชอบนอนแช่อยู่บนเตียงนานเกินไป สิ่งแวดล้อมของที่นอนไม่เอื้อต่อการนอนหลับ เช่น แสงมาก เสียงดัง อุณหภูมิร้อนหรือเย็นเกินไป หรือชอบทำอะไรที่ตื่นเต้นก่อนนอน หรือทานอาหารมื้อเย็นมากเกินไป หรือชอบทำกิจกรรมเช่นทำงาน ดูทีวี อ่านหนังสือ ในที่นอน เป็นต้น เพราะแนวทางการใช้ชีวิตแบบที่ว่ามานี้ล้วนเป็นเหตุให้นอนไม่หลับได้ทั้งสิ้น

ขั้นที่ 2. สอนร่างกายและจิตใจให้รู้จักสนองตอบแบบผ่อนคลาย และฝึกปฏิบัติบ่อยๆทุกวัน จะด้วยวิธีเกร็งแล้วคลายกล้ามเนื้อต่างๆไปทีจะกลุ่มกล้ามเนื้อ หรือด้วยวิธีอื่นๆเช่นฝึกสมาธิ (meditation) ให้ใจจดจ่ออยู่กับสิ่งเดียว (เช่นลมหายใจ) แทนที่จะคิดฟุ้งสร้าน หรืออาจใช้วิธีรำมวยจีน หรือเล่นโยคะ ก็ได้

ขั้นที่ 3. ใช้มาตรการจำกัดเวลานอน โดยลดเวลานอนลงเหลือเท่าที่นอนหลับจริงๆ แล้วค่อยๆกลับเพิ่มขึ้นใหม่สัปดาห์ละ 20 นาทีเมื่อระยะเวลานอนโดยไม่หลับเหลือไม่ถึง 15% ของเวลาเข้านอนทั้งหมด

ขั้นที่ 4. ก็คือไปหาจิตแพทย์ ก่อนไปต้องจดประวัติการนอนหลับย้อนหลังสัก 2 สัปดาห์พร้อมระบุกิจกรรม ยา และสารกระตุ้นที่เกี่ยวข้อง ไปด้วย เรียกว่าทำ sleep diary เพื่อให้หมอวินิจฉัยสาเหตุของโรคได้แม่นยำและให้การรักษาได้ตรงจุดที่สุด ถ้าหมอคนแรกรักษาไปสักพักแล้วไม่เวอร์ค ก็อาจหาความเห็นของหมอคนที่สอง การไปหาหมอนี้ก็ต้องทำใจว่าอาจจะมีการใช้ยา ตัวที่หนึ่งไม่ได้ผล ก็อาจใช้ยาตัวที่สอง ที่สาม และอาจต้องมีการตรวจพิเศษ เช่นเข้า sleep lab เป็นต้น


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

หลานสาวตกงาน เครียด ร้องไห้ กรี๊ด

เรียนคุณหมอ ดิฉันรับหลานสาวอายุ 28 ปี มาอยู่ด้วยค่ะ ตั้งแต่เรียนจบมาหลานสาวก็ตกงาน หางานทำไม่ได้เลย คือหลานจบนิติศาสตร์ เกรดนิยม แต่เงินเดือนจะได้อยู่ 8000 บาทไม่เกินนี้ เค้าเลยไม่ยอมทำ แล้วทำให้เค้าเครียดหนัก ถึงกับเคยคิดสั้นมาแล้ว พอมาอาศัยอยู่กับดิฉัน ดิฉันอยู่คอนโด ซึ่งก็ไม่ค่อยมีความเป็นส่วนตัว ข้างห้องจะเสียงดังมาก เปิดเพลงเหมือนอยู่ในผับ คุยกันเสียงดังมาก ปิดประตูกระแทกเสียงดัง ดิฉันก็ไม่พูดกับข้างห้องแล้วแต่หนักกว่าเดิม เค้ากระแทกดังกว่าเดิม แล้วหลานสาวจะไม่ชอบ เค้าเครียดมาก คือนอนไม่หลับอยู่แล้ว ไม่ได้พักผ่อนอยู่แล้วมาที่พักผ่อนแย่ๆ อีก คือตอนนี้หลานเครียดมากค่ะ มีอาการกรี๊ด คลุ้มคลั่ง ร้องไห้ตลอด ดิฉันควรทำอย่างไรดีคะ หลานแค่เครียดหรือจะเสียสติแล้ว คือดิฉันทำอะไรไม่ถูกค่ะ

ศิริรัตน์

.............................................................................

ตอบครับ

ก่อนที่จะตอบคำถามของคุณ ผมขอเรียบเรียงปัญหาของคุณเสียใหม่ก่อนนะครับ จะได้ใช้หลักวิชาตอบได้ คือผมขอสรุปใหม่ว่าปัญหาของคุณมีสามอย่าง ดังนี้

1. ปัญหาของตัวคุณเอง ซึ่งอยู่ในฐานะผู้ดูแล (caregiver) สำหรับหลานสาวซึ่งเป็นผู้ป่วยเรื้อรัง คุณไม่รู้ว่าจะเดินหน้าไปกับชีวิตที่เครียดอย่างนี้อย่างไรดี
2. ปัญหาการอยู่ร่วมกันฉันท์เพื่อนบ้านที่ฝาบ้านติดกัน บ้านเขาก็เปิดเพลงดังยังกะผับแถมกระแทกประตูปึงปัง บ้านเราก็ร้องไห้และกรี๊ดหลังอาหาร เรียกว่าเป็นปัญหา “ชุมชนคนแก้วหูแตก”
3. ปัญหาหลานสาว ซึ่งตกงาน ไปหางานก็มีแต่งานที่ได้เงินน้อย รู้สึกเสียเกียรติ เสียความนับถือตนเอง เครียด คิดฆ่าตัวตาย และมีพฤติกรรมร้องไห้และกรี๊ด

เอาละ ทีนี้เรามาแกะมันทีละปัญหานะ

ปัญหาที่ 1. ตัวคุณเองในฐานะผู้ดูแลหลานซึ่งเป็นผู้ป่วยเรื้อรัง คุณเป็น caregiver คุณต้องยึดถือแนวทางการเป็นผู้ดูแลที่ถูกต้องไว้ให้มั่นดังนี้ คือ
(1) ความรับผิดชอบหลักของคุณคือดูแลตัวเองให้ตั้งมั่นได้ก่อน คุณถึงจะไปดูแลหลานได้ดี หัดเพิกเฉยกับความกดดันที่หลานสาวยัดเยียดให้ตลอดเวลาเสียบ้าง เพื่อที่คุณจะได้มีพลังดูแลเขาไปนานๆ
(2) ทำใจรับบทบาทของผู้ดูแลให้ได้ก่อน ยอมรับกับตัวเองว่านี่มันเป็น “งาน” อย่างหนึ่งของเรา และมันเป็นงานยาว คือวิ่งมาราธอน ไม่ใช่วิ่งร้อยเมตร แล้วก็มามองขอบเขตของงานให้สอดคล้องกับโลกของความเป็นจริงว่าเรามีทรัพยากรอยู่แค่ไหน เราจะดลบันดาลอะไรได้แค่ไหน เสมือนการจะวิ่งมาราธอนมันก็ต้องฟิตร่างกาย เตรียมตัวช่วยเช่นน้ำดื่ม ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น
(3) ต้องรู้จักพักเอาแรง จัดเวลาและสถานที่ให้คุณได้อยู่กับตัวเองบ้างทุกวัน ไม่ใช่จมอยู่กับหลานสาวและเรื่องของเขาทั้งวัน คุณอาจหลบฉากไปทำเรื่องง่ายๆเช่นเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์สักสิบนาที หรือหาเวลาออกไปเดินเล่น 10 – 15 นาที วันละสักสองครั้ง เพราะถ้าคุณไม่รู้จักเบรก ความคับข้องใจจะสะสมจนถึงระดับเดือดพล่านในที่สุด และความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับหลานสาวที่คุณรักก็จะพลอยเสียหายไปด้วย
(4) หาโอกาสเติมพลังให้ตัวเอง (rejuvinate) งานวิจัยในสิบปีที่ผ่านมาพบชัดแล้วว่าผู้ดูแลผู้ป่วยที่อุทิศตนให้กับคนที่ตนรักจนไม่ใส่ใจกับความจำเป็นของตัวเองนั้นท้ายที่สุดจะกลายเป็นคนป่วยเสียเอง คุณต้องออกกำลังกายทุกวัน ดูแลตนเองเรื่องโภชนาการ ไม่ใช่เครียดแล้วก็กินทุกอย่างที่ขวางหน้า
(5) รู้จักหาความช่วยเหลือจากภายนอก การที่คุณเขียนมาหาผมนี่ก็เป็นเรื่องที่ดี มีคนอื่นรอบตัวเราอีกมากที่หากเรารู้จักเลือกใช้ก็จะเบาแรงเราในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังอย่างหลานสาวคุณได้
(6) ระวังโรคซึมเศร้าจะมาเยือนตัวเอง เพราะโรคซึมเศร้าหรือ “จิตตก” นี้มันชอบกินคนที่ต้องรับภาระดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง เมื่อใดก็ตามที่เราสังเกตตนเองพบว่าเราคงจะถูกคุกคามด้วยภาวะซึมเศร้าเสียแล้ว ควรรีบเสาะหาความช่วยเหลือจากแพทย์ เพราะภาวะซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาได้ อย่าปล่อยให้มันทำลายคุณภาพชีวิตของเรา หรือแม้กระทั่งทำลายชีวิตเราโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว

ปัญหาที่ 2. ความเครียดที่เกิดจากการอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้าน ผมจะไม่พูดถึงวิธีแก้ปัญหาที่เป็นคอมมอนเซนส์ที่ชาวบ้านทั่วไปเขาทำกันอยู่แล้ว เช่น ลองคุยกับเขาดีๆดูก่อน หรือแจ้งตำรวจ หรือย้ายบ้านหนี ฯลฯ แต่ผมจะพูดถึงการแก้ปัญหาที่แก้จากตัวเรา ไม่ใช่ไปแก้ที่เพื่อนบ้าน ด้วยหลักการสนองตอบต่อสิ่งเร้าแบบสร้างสรรค์ แบบไม่ให้เราเครียด สิ่งเร้าในที่นี้ก็คือเพื่อนบ้านเสียงดัง เมื่อมีสิ่งเร้าเข้ามา เรามีวิธีสนองตอบได้สองอย่างคือ แบบทำให้เราเครียด กับแบบทำให้เราไม่เครียด ปรมาจารย์ของวิชานี้เป็นจิตแพทย์ชาวยิวชื่อ วิคเตอร์ แฟรงเคิล เขาถูกนาซีจับขังคุกและถูกทรมานต่างๆ ลูกเมียก็ถูกนาซีฆ่าตายหมด เขายังใช้วิธีสนองตอบต่อสิ่งเหล่านั้นแบบไม่ทำให้เขาเครียดได้ เช่นถูกนาซีจับแก้ผ้าทำทดลองทางการแพทย์ แทนที่เขาจะสนองตอบแบบกลัวและเคียดแค้น เขากลับสนองตอบแบบจินตนาการว่าตัวเขาออกไปยืนอยู่ที่มุมห้อง และกำลังบรรยายให้นักศึกษาแพทย์ฟังว่าเชลย ซึ่งในที่นี้ก็คือร่างกายของเขานั่นแหละ กำลังถูกนาซีทรมานอย่างไร สถานการณ์ของคุณในชุมชนคนหูแตกไม่ได้แย่เท่าค่ายนาซีนี่ครับ ลองหัดสนองตอบต่อสิ่งเร้าแบบสร้างสรรค์ดูสิ แน่นอนว่าการฝึกให้มีสติให้รู้ตัวทันทีเมื่อสิ่งเร้าเข้ามากระทบ ย่อมจะช่วยให้เราตั้งหลักสนองตอบแบบสร้างสรรค์ได้สำเร็จ

ปัญหาที่ 3. คือปัญหาของหลานสาว เธอเป็นคนป่วยทางจิตแล้วอย่างแน่นอน อย่างเบาะๆก็เป็นโรคซึมเศร้า ขั้นตอนแรกนี้ผมแนะนำให้ไปรับการรักษาโดยจิตแพทย์จะดีที่สุด ขั้นตอนต่อไปคุณอาจจะช่วยเขาได้บ้าง คือการให้เขาเรียนรู้ที่จะคิดใหม่ทำใหม่ ทางการแพทย์เรียกว่า cognitive therapy คือการเรียนรู้ที่จะสอนตัวเองให้คิดใหม่ว่าเรื่องที่เคยเป็นเหตุให้เครียดนี้ ให้มองใหม่ว่า (1) มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา (2) มันได้เกิดขึ้นแล้วในชีวิตเรา และ (3) เรามีช่องทางจัดการมันโดยไม่ให้เราเครียดได้

ความกลัวดั้งเดิมของหลานคุณรวมทั้งเด็กสมัยนี้ส่วนใหญ่คือกลัวที่จะต้องออกมาเผชิญชีวิตจริง อยากจะเรียนหนังสือไปไม่รู้จบ จบป.ตรีแล้วขอเรียน ป.โท จบป.โทแล้วของเรียนป.เอก จบป.เอกแล้วขอเรียนซูเปอร์ด็อค ถ้ามีหลักสูตรที่เรียนจนตายคาได้ก็จะเรียน เพราะกลัวที่จะต้องจบมา กลัวหางานไม่ได้ กลัวถูกปฏิเสธ กลัวจะต้องทำงานแล้วจะทำไม่ได้ กลัวสังคม คนไข้ของผมบางคนจบป.โทแล้วขอเรียนป.เอก พ่อแม่ปฏิเสธที่จะให้เงิน ก็หมกตัวเงียบอยู่ในบ้าน กลัว ไม่กล้าไปหางานทำ เพราะกลัวเขาไล่ตะเพิดว่าไม่มีงาน กลัวเขาตะโกนใส่หน้าว่าไปให้พ้น หรือกลัวเขาดูถูกว่ามีแต่งานกวาดพื้น เอาไหม เป็นต้น ความกลัวเหล่านี้เป็นผลมาจากการเลี้ยงดูในอดีตที่ไม่เปิดโอกาสให้รับมือ (cope) กับปัญหาหรือความผิดหวังมามากพอ ทำให้ขาดทักษะในการรับมือ (coping skill) จึงออกมาในรูปของการเรียกร้องให้คนอื่นมาช่วยรับมือแทน เช่นขอเรียนต่อเพื่อให้พ่อแม่รับมือกับความกลัวที่จะต้องหาเงินเองแทน ร้องกรี๊ดเพื่อให้คุณย่าและเพื่อนบ้านหันมาสนใจมาคลายเครียดให้ตัวเองแทน เป็นต้น เวลาจะทำอะไรกับใครก็จะมีเงื่อนไขมากมายเพื่อประกันไม่ให้ความนับถือตัวเองซึ่งเปราะบางมากต้องเสียไป จะทำงานก็ต้องต่อรองเงินเดือนสวัสดิการเพื่อจะได้ยืนยันกับตัวเองว่าเราเก่ง เรามีค่า ในที่สุดจึงกลายเป็นคนที่ไม่มีใครเอา เพราะเรื่องมาก กลายเป็นคนไร้ค่าไปจริงๆ

การจะแก้ปัญหานี้ มีสองส่วน คือ

ส่วนที่ 1. การ “คิดบวก” ซึ่งเป็นหลักการที่เข้าใจได้ไม่ยาก เช่นหัดคิดเสียใหม่ เงินเดือนน้อยเรอะ ก็ดีเหมือนกัน คนอื่นเขาจะได้ไม่คาดหวังกับเรามาก เราจะได้เรียนรู้ลองผิดลองถูกได้สบาย ไม่ให้เงินเดือนเลยเรอะ ก็เอาไว้ก่อนน่า อย่างน้อยก็ยังได้หัดทำงาน หัดปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ที่ต้องควักกระเป๋าค่ารถเมล์และค่าข้าวนี้แม้เราไม่ทำงานเราก็ต้องไปโน่นมานี่ต้องจ่ายเหมือนกันอยู่แล้ว อย่างนี้เป็นต้น

ส่วนที่ 2. เป็นส่วนที่ลึกซึ้งและยากกว่า คือการหัดให้มีสติระลึกได้เสมอว่าใจเราสนองตอบต่อสิ่งที่เข้ามาหา ในลักษณะลบหรือเปล่า การสนองตอบมีได้ทั้งการคิด พูด ทำ ที่สำคัญที่สุดคือการสนองตอบด้วยการคิด เพราะมันเกิดขึ้นรวดเร็วแล้วพาเราเข้าป่าโดยไม่รู้ตัว นอกจากการคอยระลึกได้ว่าเราสนองตอบไปอย่างไรแล้ว ยังต้องหัดความรู้จักใจตัวเอง ว่า ณ ขณะนี้ใจเราเป็นอย่างไร เครียดหรือว่าผ่อนคลาย ถ้าคอยระลึกได้บ่อยๆว่าเราคิดอะไรออกไป และรู้ตัวอยู่บ่อยๆว่าเราเครียดหรือผ่อนคลาย โครงการหัดคิดบวกก็จะทำสำเร็จได้ง่ายขึ้น

ลองดูนะครับ สิ่งที่หลานสาวคุณขาดไปนี้ คนเราควรจะได้รับการอบรมสั่งสอนโดยพ่อแม่ตั้งแต่สมัยเราเป็นเด็กอายุสองสามขวบแล้ว แต่น่าเสียดายที่ในวัยนั้นพ่อแม่ก็เพิ่งมีอายุกันยี่สิบกว่า ยังไม่รู้จักชีวิต กว่าพ่อแม่จะมารู้จักชีวิตก็อายุห้าหกสิบปีแล้ว ซึ่งลูกก็โตเกินไปแล้ว เราก็เลยเรียนรู้แบบผิดๆมาว่าเวลามีปัญหาจะมีคนอื่นมาแก้ให้ พอถึงตาต้องแก้เองมันก็ทำไม่เป็น มันก็เลยเป็นวงจร “ชีวิตที่จมปลักความเครียด” ที่วนเวียนกันหลายชั่วอายุคนเช่นนี้เอง แต่ถึงจะสายก็พยายามทำไปเถอะครับ ดีกว่าทนทุกข์อยู่กับความเครียดไม่มีทางออกเสียเลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

20 มกราคม 2554

ลูกสาวสามขวบต้องยืนอึ อึโผล่แล้วก็ผลุบ

ลูกสาวอายุ 3 ปี มีปัญหาค่ะ คือเค้าไม่ปวดท้องอึแต่เค้าไม่ยอมนั่ง จะยืนแล้วก็เกร็งตัวไว้และยังเกร็งก้น พออึจะออกมาก็มาตุงกางเกงแล้วอึก็ผลุบเข้าไปอีก จะทำยังไงดีค่ะ

nicha

......................................

ตอบครับ

ปัญหาของลูกสาวคุณเป็นเรื่องธรรมดามากครับ สาเหตุที่เขาไม่ยอมนั่งถ่ายเพราะเขาเจ็บก้นมากเวลาถ่าย เขาจึงยืนไว้ อั้นไว้ ขมิบไว้ ไม่ยอมถ่าย สาเหตุที่ทำให้เขาเจ็บก้นมากมีสองสาเหตุคือ
(1) เขาท้องผูกมาก แล้วอึมันแข็ง
(2) รอบรูทวารหนักแห้งและแตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสองสาเหตุนี้มาเกิดพร้อมกัน มันเจ็บมากจนเขาตั้งใจว่าหัวเด็ดตีนขาดยังไง ฉันก็ไม่ถ่าย

การแก้ปัญหาให้ทำเป็นขั้นตอนดังนี้

ขั้นที่ 1. ทำให้อึนุ่มลงให้ได้ก่อน ในระยะสั้นวิธีได้ผลทันทีก็คือให้เขาทานยาระบายเช่น Milk of Magnesia (MOM) อึจะนุ่มทันอกทันใจ

ขั้นที่ 2. แก้ปัญหาเนื้อเยื่อหูรูดทวารหนักแห้งและแตกก่อน โดยการเอากลีเซอรีนครีมทารอบๆทวารหนักให้ชุ่มน้ำมัน ทุกเช้าและเย็น

ขั้นที่ 3. ปรับโภชนาการและสุขนิสัยของเขาเสียใหม่เพื่อไม่ให้ท้องผูก ปรับสัดส่วนของอาหารที่รับประทานให้มีกาก (ผักและผลไม้) ให้มากขึ้น และให้เขาดื่มน้ำให้มากพอ

ทำสามอย่างนี้รับรองหายแน่ครับ


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

19 มกราคม 2554

ความรู้เรื่องโรคเบาหวาน

1. โรคเบาหวานคืออะไร

โรคเบาหวาน เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เพราะร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดที่ได้จากการรับประทานอาหารไปใช้ได้ตามปกติ ทั้งนี้อาจมีสาเหตุจากตับอ่อนลดการผลิตฮอร์โมนอินซูลินซึ่งเป็นตัวทำหน้าที่ช่วยให้เซลล์ร่างกายเผาผลาญน้ำตาล หรืออาจเกิดจากเซลล์ร่างกายดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน เมื่อน้ำตาลในเลือดสูงอยู่เป็นเวลานาน ก็จะเกิดโรคแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่าง ๆ เช่น ตา ไต หัวใจ ระบบหลอดเลือดของปลายขา และระบบประสาทได้

2. ฮอร์โมนอินซูลิน

อินซูลิน เป็นฮอร์โมนที่เบต้าเซลล์ของตับอ่อนผลิตขึ้นมาแล้วหลั่งเข้าสู่กระแสเลือด ฮอร์โมนนี้มีหน้าที่เป็นตัวพาน้ำตาลกลูโคสที่เกิดจากการย่อยอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต (ข้าวและแป้ง) เข้าสู่เซลล์เนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อเผาผลาญเป็นพลังงานในการดำรงชีวิต ถ้าขาดอินซูลิน หรือการออกฤทธิ์ของอินซูลินไม่ดี ร่างกายก็จะนำน้ำตาลไปใช้ไม่ได้ จึงทำให้เกิดน้ำตาลในเลือดสูง มีอาการของโรคเบาหวาน นอกจากนี้อินซูลินยังช่วยให้เซลล์นำน้ำตาลที่เหลือใช้เข้าไปเก็บในรูปของไกลโคเจน เพิ่มการสังเคราะห์โปรตีนและกรดไขมันด้วย

3. การเกิดเบาหวาน

ในคนปกติ หากไม่ได้รับประทานอาหาร ตับจะนำไกลโคเจนมาผลิตเป็นน้ำตาลเพื่อให้ร่างกายนำไปใช้เป็นพลังงานสำหรับสมองและอวัยวะอื่น ขณะเดียวกันเบต้าเซลล์ของตับอ่อนจะค่อย ๆ หลั่งอินซูลินออกมาสู่กระแสเลือดในระดับต่ำ ๆ เมื่อรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว แป้ง อาหารจะถูกย่อยสลายเป็นน้ำตาลกลูโคสในลำไส้เล็ก แล้วถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานของร่างกาย ระดับน้ำตาลที่สูงขึ้นในเลือดจะกระตุ้นให้เซลล์ของตับอ่อนหลั่งอินซูลินออกมามากขึ้น ทำให้น้ำตาลถูกนำไปเผาผลาญในเซลล์ร่างกายมากขึ้น เป็นการควบคุมให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงจนอยู่ในระดับปกติ
ในผู้เป็นเบาหวาน ไม่ว่าจะเกิดจากตับอ่อนสร้างฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ หรือเกิดจากเซลล์ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน ร่างกายจะนำน้ำตาลไปใช้ไม่ได้ ในขณะเดียวกันก็จะมีการสลายไขมันเพื่อสร้างเป็นน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีก ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงอยู่แล้ว ยิ่งสูงขึ้น จนน้ำตาลล้นออกมาทางไตและขับออกมาทางปัสสาวะ ทำให้เราตรวจพบน้ำตาลได้ทางปัสสาวะ

4. เกณฑ์วินิจฉัยโรคเบาหวาน

คนปกติ
ระดับน้ำตาลขณะอดอาหาร <100 mg/dl
ระดับน้ำตาล 2 ชม.หลังกินกลูโคส 75 กรัม <140 mg/dl

คนใกล้เป็นเบาหวาน (prediabetes)
ระดับน้ำตาลขณะอดอาหาร 100-125 mg/dl
ระดับน้ำตาล 2 ชม.หลังกินกลูโคส 75 กรัม 140-199 mg/dl

คนเป็นเบาหวาน (diabetes)
ระดับน้ำตาลขณะอดอาหาร 126 mg/dl ขึ้นไป
ระดับน้ำตาล 2 ชม.หลังกินกลูโคส 75 กรัม 200 mg/dl ขึ้นไป

5. ภาวะใกล้เป็นเบาหวาน

เบาหวานแฝง หรือภาวะใกล้เป็นเบาหวาน คือภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติแต่ยังไม่ถึงระดับที่เป็นเบาหวาน จากเกณฑ์การวินิจฉัยข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
1. มีน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหารทางปาก (FBS) เป็นเวลา 8 ชม. หากมีค่าน้ำตาลในเลือด 100-125 mg/dl (ตั้งแต่ 100 mg/dl แต่ไม่เกิน 125 mg/dl) เรียกว่า ระดับน้ำตาลขณะอดอาหารผิดปกติ
2. การตรวจโดยการรับประทานกลูโคส 75 กรัม (Glucose tolerance test) หากมีระดับน้ำตาล 2 ชั่วโมงหลังจากทานกลูโคส 140-199 mg/dl (ตั้งแต่ 140 mg/dl แต่ไม่เกิน 199 mg/dl) เรียกว่า ความทนต่อน้ำตาลบกพร่อง
ภาวะใกล้เป็นเบาหวาน เป็นชื่อเรียกเดียวกันกับภาวะน้ำตาลขณะอดอาหารผิดปกติ และภาวะความทนต่อน้ำตาลบกพร่อง ผลการตรวจทั้ง 2 แบบนี้มีคุณค่าและความน่าเชื่อถือพอ ๆ กัน แต่ถูกวงการแพทย์เบาหวานทั่วโลกตกลงเรียกใหม่ว่า “ภาวะใกล้เป็นเบาหวาน” เพื่อผลลัพธ์เชิงการป้องกันโรค

6. นัยสำคัญของภาวะใกล้เป็นเบาหวาน

ผู้ที่อยู่ในภาวะใกล้เป็นเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน งานวิจัยพบว่า 11% ของคนใกล้เป็นเบาหวาน จะกลายเป็นเบาหวานภายในเวลา 3 ปี และคนที่ใกล้เป็นเบาหวานมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ และเสี่ยงกับการเสียชีวิตมากกว่าคนปกติ การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนที่ใกล้เป็นเบาหวาน สามารถป้องกันการเป็นเบาหวานได้ งานวิจัยของฟินแลนด์พบว่า การลดน้ำหนักให้ได้ 5% ลดการบริโภคไขมันเหลือไม่เกิน 30% ของแคลอรี่รวม ลดไขมันอิ่มตัวให้เหลือไม่ถึง 10% ของแคลอรี่รวม เพิ่มการบริโภคไฟเบอร์(เช่น จากธัญพืชไม่ขัดสี) ให้ได้มากกว่า 15 กรัมต่อ 1,000 แคลอรี่ และออกกำลังกายให้ได้ไม่ต่ำกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์ ทั้งหมดนี้จะลดโอกาสเป็นเบาหวานลงได้ 58 %

7. ปัจจัยเสี่ยงของการเป็นเบาหวาน

■ ผู้ที่มีญาติสายตรง (พ่อ,แม่,พี่,น้อง) เป็นเบาหวาน แต่ไม่ได้หมายความว่าลูกของผู้เป็นเบาหวานต้องเป็นเบาหวานทุกคนเสมอไป
■ ความอ้วน
■ การไม่ได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และความเครียด
■ การมีอายุมากขึ้น ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป
■ การอยู่ในภาวะใกล้เป็นเบาหวาน
■ เป็นโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
■ มีประวัติเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือมีลูกที่น้ำหนักแรกคลอดมากกว่า 4 กิโลกรัม
■ เป็นโรคของตับอ่อน เช่น ตับอ่อนอักเสบ หรือได้รับการผ่าตัดตับอ่อน
■ ได้รับยาบางชนิดเช่น สเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ ยาคุมกำเนิดบางชนิด

8. ชนิดของโรคเบาหวาน

ในมุมมองของกลไกการเกิดโรค แบ่งเบาหวานออกเป็น 2 ชนิด (type) คือ

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (type I diabetes) คือเบาหวานที่เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ เป็นโรคในกลุ่มที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันแบบผิดปกติที่เรียกว่าออโต้แอนติบอดี้ (autoantibody) ขึ้นมาทำลายอวัยวะของตนเอง มักพบในเด็กและวัยรุ่น แต่ก็มีอยู่ถึง 25 % ที่มาแสดงอาการเอาหลังจากอายุ 20 ปีแล้ว จึงมีชื่อเรียกเบาหวานชนิดที่ 1 ในกลุ่มที่เป็นในผู้ใหญ่ว่า เป็นกลุ่มสร้างภูมิคุ้มกันทำลายตนเองแบบช้าๆ (latent autoimmune diabetes mellitus in adult หรือ LADA) โดยผู้ป่วยมักมีรูปร่างผอม และดื้อต่อการรักษา ทั้งด้วยวิธีโภชนะบำบัด ออกกำลังกาย และใช้ยากิน มักต้องได้รับการรักษาด้วยการฉีดอินซูลินเป็นสำคัญ บางครั้งการวินิจฉัยเบาหวานชนิดที่ 1 ในผู้ใหญ่ต้องใช้วิธีตรวจเลือดหาออโต้แอนติบอดี้ช่วย ในประเทศไทยพบเบาหวานชนิดที่ 1 ประมาณ 3.4%

โรค เบาหวานชนิดที่ 2 (type II diabetes) เกิดจากเซลล์ร่างกายทั่วๆไปมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน คือไม่สามารถนำน้ำตาลจากกระแสเลือดเข้าสู่เซลล์เพื่อนำไปใช้ได้ ทั้ง ๆ ที่ตับอ่อนก็ยังคงผลิตอินซูลิน และปล่อยออกมาสู่กระแสเลือดได้อยู่ แม้ว่าจะปล่อยออกมาในปริมาณที่ต่ำกว่าปกติอยู่บ้าง ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จึงมักจะอ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอ้วนแบบลงพุง (central obesity) ในประเทศไทยพบเบาหวานชนิดนี้ประมาณ 95-97 % ของผู้เป็นเบาหวานทั้งหมด มักพบในผู้ที่อายุมากกว่า 30-40 ปี แต่ปัจจุบันนี้เริ่มพบว่า เด็กป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 กันมากขึ้น โดยมักเป็นในเด็กอ้วน

9. อาการของเบาหวาน

อาการที่พบบ่อยในผู้เป็นเบาหวาน มีทั้งส่วนที่เป็นผลจากภาวะน้ำตาลสูงโดยตรง และส่วนที่เป็นอาการเนื่องมาจากโรคแทรกซ้อน คือ
1.. ปัสสาวะบ่อยและมาก / ปัสสาวะกลางคืน คนปกติมักจะไม่ตื่นขึ้นมาปัสสาวะกลางดึก หรือหากจะตื่นขึ้นมาปัสสาวะกลางคืนก็มักไม่เกินคืนละ 1 ครั้ง แต่ในผู้เป็นเบาหวาน เมื่อระดับน้ำตาลสูงมาก จะมีน้ำตาลออกมากับปัสสาวะซึ่งจะดึงน้ำตามออกมาด้วย ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ มีปริมาณปัสสาวะมาก ต้องตื่นขึ้นมาปัสสาวะกลางดึกบ่อย ๆ
2.. คอแห้ง กระหายน้ำ ดื่มน้ำมาก เป็นผลจากการที่ร่างกายสูญเสียน้ำมากทางปัสสาวะ ทำให้ร่างกายขาดน้ำ เกิดการกระหายน้ำตามมา
3.. หิวบ่อย รับประทานจุ แต่น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ความหิวเกิดจากร่างกายเอาน้ำตาลกลูโคสไปใช้เป็นพลังงานได้ไม่พอเพียง ส่วนอาการน้ำหนักลด เกิดจากมีการสลายเอาโปรตีนในเซลล์กล้ามเนื้อและไขมันในเซลล์ไขมันมาเผาผลาญเป็นพลังงานแทนน้ำตาล
4.. ถ้าเป็นแผลจะหายยาก มีการติดเชื้อตามผิวหนัง หรือเกิดฝีบ่อย การที่น้ำตาลในเลือดสูงทำให้ติดเชื้อง่าย และทำให้เม็ดเลือดขาวมีความสามารถในการกำจัดเชื้อโรคลดลง
5.. คันตามผิวหนัง มีการติดเชื้อราง่าย โดยเฉพาะบริเวณช่องคลอด ซอกพับ สาเหตุของอาการคันเกิดขึ้นได้หลายอย่าง เช่น ผิวหนังแห้งเกินไป หรือการอักเสบของผิวหนังจากเชื้อรา ซึ่งพบได้บ่อยในผู้เป็นเบาหวาน
6.. ตาพร่ามัว ซึ่งเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น จากระดับน้ำตาลในเลือดสูงและน้ำตาลไปคั่งอยู่ในเลนส์ตา ทำให้จอตาผิดปกติ , หรือมีระดับน้ำตาลสูงมานานจนเกิดความผิดปกติของจอประสาทตา หรือตามัวจากต้อกระจก
7.. ชาปลายมือปลายเท้า เนื่องจากเมื่อน้ำตาลในเลือดสูงอยู่นาน จะทำให้เส้นประสาทเสื่อม การรับความรู้สึกไม่ดีดังเดิม เกิดแผลที่เท้าได้ง่าย เมื่อเกิดแผลขึ้นก็หายยาก แต่ติดเชื้อได้ง่าย
8.. หย่อนสมรรถภาพทางเพศ เนื่องจากเกิดความผิดปกติขึ้นกับเส้นประสาทอัตโนมัติ หรือเกิดจากหลอดเลือดตีบ

10. การควบคุมน้ำตาลในเลือด

ปรัชญาของการควบคุมน้ำตาลในเลือดมีอยู่ 4 อย่างคือ
(1) โภชนาการ ที่เจาะจงสำหรับคนเป็นเบาหวาน
(2) การออกกำลังกายสม่ำเสมอ
(3) การควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน
(4) การใช้ยาลดน้ำตาลในเลือด ตามความจำเป็น
อย่างไรก็ดี ในกรณีของคนเป็นเบาหวานแฝงหรือมีน้ำตาลในเลือดสูงระดับใกล้เป็นเบาหวาน การใช้ยาลดน้ำตาลได้ผลไม่ดีเท่าการออกกำลังกายและโภชนาการ

11. โภชนาการเพื่อป้องกันและรักษาเบาหวาน

งานวิจัยของฟินแลนด์ ทำให้เกิดการยอมรับกันทั่วไปถึงหลักการสำคัญทางด้านโภชนาการ 4 อย่าง ที่ทำให้คนในภาวะใกล้เป็นเบาหวานสามารถป้องกันเบาหวานได้คือ
(1) การลดแคลอรี่จากอาหารลง ควบกับการออกกำลังกายเพื่อให้น้ำหนักลดลงอย่างน้อย 5 %
(2) ลดการบริโภคไขมันอิ่มตัวให้เหลือไม่ถึง 10 % ของแคลอรี่รวม
(3) ลดการบริโภคไขมันให้เหลือไม่เกิน 30 % ของแคลอรี่รวม
(4) บริโภคไฟเบอร์(เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี) ให้ได้มากกว่า 15 กรัมต่อ 1,000 แคลอรี่

ลดอาหารให้พลังงานลง

แคลอรี่คือหน่วยนับพลังงานที่ร่างกายใช้ ร่างกายสร้างแคลอรี่จากอาหารพลังงาน ได้แก่

(1) คาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว แป้ง น้ำตาล อาหารกลุ่มนี้จะถูกร่างกายเอามาเผาผลาญเป็นพลังงานก่อนเพื่อน โดย 1 กรัมของคาร์โบไฮเดรตจะเผาผลาญได้พลังงาน 4 แคลอรี่

(2) ไขมัน ให้พลังงานมากกว่าคาร์โปไฮเดรตหนึ่งเท่าตัว คือ 1 กรัมของไขมันจะเผาผลาญได้ 9 แคลอรี่ ดังนั้นการลดแคลอรี่จึงต้องมุ่งลดอาหารไขมัน

(3) โปรตีน โดยโปรตีน 1 กรัมให้พลังงานได้ 4 แคลอรี่ แต่ร่างกายจะหันมาใช้โปรตีนเป็นพลังงานก็ต่อเมื่อไม่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตให้ใช้แล้ว ดังนั้นการลดอาหารให้พลังงานจึงควรมุ่งไปที่ไขมันและคาร์โบไฮเดรต ไม่จำเป็นต้องลดโปรตีน

เพราะฉะนั้นเราจึงควรทราบปริมาณแคลอรี่ในอาหารที่ตนเองชอบรับประทาน โดยวิธีอ่านฉลากหรือศึกษาจากผลวิจัย เช่นสถาบันวิจัยมหิดลรายงานไว้ว่า เส้นใหญ่ผัดซีอิ้วให้พลังงาน 635 แคลอรี่ ข้าวราดกระเพราไก่ให้ 495 แคลอรี่ ชีสเบอร์เกอร์ให้ 280 แคลอรี่ ปาท่องโก๋หนึ่งคู่ให้ 140 แคลอรี่ เป็นต้น (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ในหน้า...)

(4) นอกจากนี้ยังต้องทราบแคลอรี่ที่ตนเองใช้ในแต่ละวัน ซึ่งคนทั่วไปต้องการแคลอรี่วันละประมาณ 20-35 แคลอรี่ต่อน้ำหนักตัว 1 กก.ต่อวัน แต่เพื่อให้จำง่าย ผมได้แบ่งความต้องการแคลอรี่ในคนทั่วไปออกเป็น 3 กลุ่มดังได้กล่าวถึงแล้วในหน้า 22 คือ กลุ่มที่ 1. ผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรือผู้หญิงรูปร่างปานกลางที่ไม่ได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่กำลังต้องการลดน้ำหนัก กลุ่มนี้ต้องการใช้พลังงานวันละ 1,200 – 1,600 แคลอรี่ กลุ่มที่ 2. ผู้หญิงตัวใหญ่หรือผู้ชายร่างเล็กที่ใช้แรงงานมาก หรือผู้ชายรูปร่างปานกลางที่ไม่ได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรือผู้ชายรูปร่างปานกลางที่ใช้แรงงานมากอยู่แล้วแต่อยากลดน้ำหนักด้วย กลุ่มนี้ต้องการใช้พลังงานวันละ 1,600-2,000 แคลอรี่ กลุ่มที่ 3ใ ชายหรือหญิงรูปร่างขนาดกลางถึงใหญ่ที่ชอบออกแรงแข็งขันทั้งวัน หรือผู้ชายตัวใหญ่มากที่ไม่ได้ใช้แรงงานอะไรมากมาย หรือคนตัวใหญ่มากและใช้แรงงานมาก แต่ต้องการลดน้ำหนัก คนกลุ่มนี้ต้องการใช้พลังงานวันละ 2,000 – 2,400 แคลอรี่

อย่างไรก็ดี ความรู้ที่ว่าในแต่ละวันท่านควรได้รับพลังงานจากอาหารจำนวนกี่แคลอรี่ และตัวท่านเองเป็นประเภทที่ควรจะใช้พลังงานวันละกี่แคลอรี่นั้น ถือเป็นความรู้พื้นฐานในการกำหนดอาหารที่ควรรับประทานในแต่ละวัน โดยมีเป้าหมายคือไม่ให้รับประทานอาหารพลังงานเข้าไปมากกว่าแคลอรี่ที่ต้องการใช้ ซึ่งมีเคล็ดดังนี้

• เลือกรับประทานผักสด สลัด หรือซุปใสก่อนการรับประทานอาหารอื่น ซึ่งจะช่วยลดปริมาณอาหารที่มีไขมันหรือแคลอรี่สูงได้
• หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์เพราะมักมีแคลอรี่อยู่เสมอ ควรดื่มน้ำเปล่า หรือ ชาจีนแทนจะดีกว่า
• งดน้ำหวานหรือน้ำอัดลม
• หลีกเลี่ยงอาหารมัน หรือหวาน
• เลือกนั่งกับผู้ที่รู้จักและสนทนากับผู้ที่นั่งข้างเคียงขณะรับประทาน เพื่อจะได้รับประทานช้าลง
• ก่อนรับประทานอาหารควรดื่มน้ำเปล่า เพื่อให้อิ่มเร็วขึ้น
• ไม่รับประทานอาหารจนอิ่มมากเกินไป เมื่อเหลืออีก 4-5 คำจะอิ่ม ควรหยุดได้
• ไม่ปล่อยให้ตนเองหิวจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนไปงานเลี้ยง ควรรับประทานอาหารว่างก่อนไปงานเผื่อมีการเสิร์ฟอาหารช้า
• ไม่รับประทานเพราะความเกรงใจผู้อื่น แต่รับประทานเพื่อสุขภาพของตนเอง

ลดไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์

ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์เกิน 10% ของแคลอรี่ทั้งหมดที่ร่างกายได้รับในแต่ละวัน
แม้ว่าคนไทยจะทราบถึงแหล่งที่มาและผลเสีย ของไขมันอิ่นตัวและไขมันทรานส์กันมากขึ้น และพยายามหลีกเลี่ยงที่จะบริโภคไขมันทั้ง 2 ตัวนี้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ปรุงอาหารรับประทานเอง ที่นิยมใช้ไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำ มาปรุงอาหารแทนน้ำมันปาล์มหรือน้ำมันหมูซึ่งเป็นไขมันอิ่มตัว อย่างไรก็ดี อาหารทอดหรือผัดส่วนมากที่วางขายกันในท้องตลาด ยังใช้ไขมันอิ่มตัวในการปรุงเพื่อประหยัดต้นทุน เพราะฉะนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารปรุงสำเร็จ ซึ่งเป็นแหล่งที่จะทำให้ร่างกายได้รับไขมันอิ่มตัวด้วย
การคำนวณว่าในแต่ละวันเราบริโภคไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์เกินวันละ 10% ของแคลอรี่หรือยังนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก วิธีที่ง่ายที่สุดที่เราสามารถทำได้ก็คือการลดการบริโภคไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้นั่นเอง

ลดไขมันรวมเหลือไม่เกิน 30% ของแคลอรี่ทั้งหมด

แม้ว่าเราควรจะบริโภคไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันถั่วเหลืองแทนไขมันอิ่มตัวอย่างน้ำมันปาล์ม น้ำมันหมู เพื่อลดอุบัติการการป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเกิดจากไขมันอิ่มตัวไปเพิ่มโคเลสเตอรอลชนิดเลวในร่างกาย แต่การเปลี่ยนมารับประทานไขมันไม่อิ่มตัวนี้ก็เป็นคนละเรื่องกับการลดการบริโภคไขมันโดยรวมลงให้เหลือไม่เกิน 30% ของแคลอรี่ที่ได้ทั้งหมด ซึ่งมีเจตนาจะลดแคลอรี่จากอาหารลงให้ต่ำกว่าแคลอรี่ที่เผาผลาญไปในแต่ละวัน เพื่อผลต่อการลดน้ำหนักและป้องกันโรคเบาหวาน เพราะฉะนั้นคำแนะนำให้ลดการบริโภคไขมันลงไม่ให้เกิน 30% ของแคลอรี่ที่ร่างกายจะได้รับในแต่ละวันนี้ จึงหมายถึงการลดการบริโภคไขมันทุกชนิดลง ไม่ว่าจะเป็นชนิดอิ่มตัวหรือไขมันทรานส์หรือไขมันไม่อิ่มตัว โดยหากเป็นไปได้ก็ควรจะลดไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ลงให้เหลือน้อยที่สุดก่อน ถ้าไขมันยังมากเกินอีกก็ลดไขมันไม่อิ่มตัวลงเป็นลำดับต่อไป

การลดปริมาณอาหารไขมันโดยรวมลง ทำได้โดย

(1) เลี่ยงอาหารไขมันที่มองเห็นด้วยตา (visible fat) ทุกชนิด
(2) เปลี่ยนวิธีปรุงอาหารจากทอด ผัด แกงกะทิ มาเป็น ปิ้ง ต้ม นึ่ง ย่าง แทน
(3) รับประทานผักและผลไม้ให้มาก ด้านหนึ่งเพื่อให้อิ่มท้องเสียก่อนจะได้ไม่รับประทานไขมันมาก โดยไม่ต้องกลัวว่าจะได้น้ำตาลจากผลไม้มากเสียจนไม่ยอมรับประทานผลไม้เลย เพราะผลไม้มีความจำเป็นในแง่ที่เป็นอาหารกากและเป็นแหล่งวิตามินเกลือแร่ ควรรับประทานผลไม้เต็มที่ แต่ไปลดไขมันและคาร์โบไฮเดรตจากแหล่งอื่น เช่น ข้าว แป้ง และน้ำตาลในขนมหวานแทน อีกประการหนึ่งพึงเข้าใจว่า น้ำตาลเกี่ยวกับการเป็นเบาหวานในแง่ที่มันเป็นแหล่งให้แคลอรี่ที่เหลือใช้ ซึ่งอาหารไขมันในปริมาณเท่ากันเป็นแหล่งให้แคลอรี่ได้มากกว่าน้ำตาลถึงหนึ่งเท่าตัว

รับประทานกากชนิดละลายได้ เกิน 15 กรัมต่อ 1,000 แคลอรี่

เพราะงานวิจัยในอาสาสมัครพบว่ากากชนิดละลายได้ ช่วยลดไขมันชนิดเลว (LDL) ลดไตรกลีเซอไรด์ เพิ่มไขมันชนิดดี (HDL) และลดอุบัติการการเป็นเบาหวานได้ เพราะฉะนั้นเราจึงควรรับประทานอาหารที่ปรุงจากธัญพืชทั้งเมล็ด หรือธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง โอ๊ตแบรนด์ ขนมปังโฮลวีท เพราะมีกากชนิดละลายได้เป็นส่วนประกอบ

อย่าจำกัดแคลอรี่ด้วยการจำกัดผลไม้

เพราะนอกจากผลไม้จะเป็นแหล่งของวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายแล้ว น้ำตาลซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของผลไม้ ยังเป็นแหล่งให้พลังงานในระดับต่ำกว่ากว่าไขมันและคาร์โปไฮเดรตที่ได้จากธัญพืชขัดสีแล้ว

12. การออกกำลังกายเพื่อป้องกันและรักษาเบาหวาน

การออกกำลังกาย หมายถึง การขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว มีกิจกรรมให้ร่างกายได้ออกแรง การออกกำลังกายเป็นทั้งวัคซีนป้องกันโรคและยารักษาโรค เพราะขณะที่ออกกำลังกาย จะมีเซลล์ภูมิคุ้มกันออกมาไหลเวียนในกระแสเลือด เหมือนมีแม่บ้านออกมาเก็บกวาดบ้าน
การออกกำลังกายมี 3 ชนิด คือ การออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรง (strength training), การออกกำลังกายแบบแอโรบิก (aerobic exercise) และการออกกำลังกายแบบยืดหยุ่น (flexibility exercise)

12.1การออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรง

การออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ ก็คือการเล่นกล้ามนั่นเอง เป็นการออกกำลังกายที่มุ่งเพิ่มขนาดและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทำไปทีละกลุ่มกล้ามเนื้อ โดยอาศัยแรงต้านต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อเป็นตัวบังคับให้กล้ามเนื้อออกแรง ตัวอย่างของการออกกำลังกายชนิดนี้ก็อย่างเช่น การยกน้ำหนัก โดยอาจจะใช้ตัวเองเป็นน้ำหนักอย่างการวิดพื้น หรือใช้อุปกรณ์เป็นน้ำหนักอย่างดัมเบล การดึงสปริงยืด การบีบด้ามสปริง เป็นต้น
การออกกำลังกายชนิดนี้จะช่วยเพิ่มความแข็งแรง (strength) และความอดทนของกล้ามเนื้อ จากการที่กล้ามเนื้อต้องหดตัวอย่างต่อเนื่องและซ้ำซาก (endurance) ทำให้ขนาดของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลทำให้กระดูกแข็งแรง เอ็นมีความเหนียวและรับแรงได้มากขึ้น ข้อต่างๆที่เกี่ยวข้องมีความคล่องตัวในการเคลื่อนไหวมากขึ้น
เป้าหมายของการออกกำลังกายแบบสร้างกล้ามเนื้อคือ ค่อย ๆ เพิ่มงานให้ระบบกล้ามเนื้อและกระดูกขึ้นไปทีละขั้น ๆ เพื่อให้ระบบกล้ามเนื้อและกระดูกมีความแข็งแรงมากขึ้นกว่าเดิมทุกครั้งที่มีการเพิ่มงานให้ ซึ่งการเพิ่มงานให้กล้ามเนื้อนี้ทำได้ 3 อย่างคือ (1) เพิ่ม intensity คือเพิ่มแรงต้านที่กระทำต่อกล้ามเนื้อ (2) เพิ่ม volume ซึ่งหมายถึงการเพิ่มจำนวนกล้ามเนื้อที่ต้องสู้กับแรงต้าน (3) เพิ่ม frequency หมายถึงเพิ่มความถี่ของการสู้กับแรงต้าน ทั้งความถี่ของการทำต่อครั้ง และความถี่ของการออกกำลังกายต่อสัปดาห์

การทำให้กล้ามเนื้อได้ออกแรงด้วยการออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงมี 2 วิธี คือ

(1) การให้กล้ามเนื้อได้ออกแรงขณะอยู่นิ่งๆ (static strength training) เช่น ขณะที่ยืนยกลูกเหล็กดัมเบลที่มีน้ำหนักพอสมควร (เช่นข้างละ 10 กก.) ชูขึ้นเหนือศีรษะแล้วนิ่งอยู่ในท่านั้น ซึ่งจะมีกล้ามเนื้อจำนวนมากถูกบังคับให้ออกแรงหดตัวในขณะที่ยืนนิ่งอยู่ ทั้งกล้ามเนื้อมือ แขน หน้าอก ไหล่ แผ่นหลัง และกล้ามเนื้อหน้าท้อง การออกแรงและใช้พลังงานนี้จะยังคงมีอยู่จนกว่าเราจะวางดัมเบลลง เช่นเดียวกันกับการบีบด้ามสปริง กล้ามเนื้อแขนจะต้องออกแรงตลอดเวลาที่เราบีบด้ามสปริงคาอยู่ในจังหวะบีบ และจะได้พักก็ต่อเมื่อเราคลายมือจากด้ามสปริง ดังนั้นการออกกำลังกายลักษณะนี้จึงต้องออกแรงโดยค้างอยู่ในท่านั้น ๆ นานพอสมควร นานจนรู้สึกสึกว่ากล้ามเนื้อใกล้จุดล้า กล้ามเนื้อจึงจะได้ออกแรงเต็มที่

(2) การให้กล้ามเนื้อได้ออกแรงไปพร้อมๆกับการยืดหดตัว (dynamic strength training) เช่น การใช้มือสองข้างดึงสปริงยืดให้อ้าออก ในขณะที่ดึง กล้ามเนื้อแขนและหน้าอกจะมีการยืดตัวและหดตัวไปตามแขนที่เคลื่อนที่อ้าออกจากกัน ในจังหวะที่หุบแขนเข้า กล้ามเนื้อแขนก็จะได้ออกแรงต้านแรงหดตัวของสปริง และสิ้นสุดการออกแรงเมื่อสปริงหดตัวเต็มที่แล้ว การออกกำลังกายแบบนี้จึงต้องเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ ให้มีการออกแรงต้านแรงสปริงหรือแรงโน้มถ่วง เพราะถ้าเคลื่อนไหวพรวดพราดตามแรงหดตัวของสปริงหรือแรงโน้มถ่วง กล้ามเนื้อจะได้ออกแรงน้อย

ผลพลอยได้จากการออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคือ มวลกล้ามเนื้อจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเซลล์กล้ามเนื้อเป็นกลุ่มเซลล์หลักที่เผาผลาญน้ำตาลให้ร่างกาย การออกกำลังกายแบบนี้จึงช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ดีมาก โดยมีงานวิจัยจำนวนมากยืนยันได้ถึงประโยชน์เหล่านี้ ตัวอย่างเช่นงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ทำกับคนสูงอายุชาวฮิสแปนิค (ชาวอเมริกันเชื้อสายอเมริกาใต้ซึ่งพูดภาษาสเปน) ซึ่งเป็นเชื้อชาติที่ขึ้นชื่อลือชาว่า มักเป็นเบาหวานชนิดที่ดื้อต่ออินซูลินมากที่สุด โดยนำเอาชาวฮิสแปนิคที่มีอายุเกิน 55 ปีและเป็นเบาหวานอยู่ด้วยมา 62 คน แล้วแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้เล่นกล้าม อีกกลุ่มหนึ่งให้ใช้ชีวิตตามปกติ เมื่อทำจนครบ 16 สัปดาห์แล้วก็ตัดชิ้นเนื้อตัวอย่างกล้ามเนื้อของทั้ง 62 คนออกมาตรวจ รวมถึงวัดน้ำตาลในเลือด วัดอินซูลิน และวัดกรดไขมันอิสระในร่างกาย ผลปรากฏว่ากลุ่มที่เล่นกล้าม มีคุณภาพของเซลล์กล้ามเนื้อดีกว่า น้ำตาลในเลือดต่ำกว่า กรดไขมันอิสระในเลือดต่ำกว่า และสนองตอบต่ออินซูลินได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เล่นกล้าม จึงสรุปได้ว่า การออกกำลังกายแบบเล่นกล้ามเหมาะสำหรับคนเป็นเบาหวาน แม้กระทั่งเบาหวานชนิดดื้อต่ออินซูลิน

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกหลายชิ้นยืนยันว่า การออกกำลังกายแบบเล่นกล้ามนี้ลดน้ำตาลในเลือดถึงขั้นใช้แทนการใช้ยาได้ หลักฐานเหล่านี้ชัดเจนจนสมาคมแพทย์เบาหวานอเมริกัน (ADA) [2] แนะนำให้คนที่น้ำตาลในเลือดสูงระดับใกล้เป็นเบาหวานขึ้นไป ออกกำลังกายจนเหนื่อยปานกลางอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาทีขึ้นไป โดยให้มีการยกน้ำหนักรวมอยู่ด้วย คือให้ยกดัมเบลครั้งละ 3 ชุด ชุดละ 8-10 หน โดยน้ำหนักของดัมเบลจะต้องมากพอที่จะทำให้แขนล้าจนยกได้ไม่เกิน 8-10 หนในแต่ละชุด ถ้ายกซ้ำได้เกินกว่านี้ก็ควรเพิ่มน้ำหนักให้หนักขึ้น

12.2 การออกกำลังกายแบบต่อเนื่องหรือแบบแอโรบิก

การออกกำลังกายแบบแอโรบิก หมายถึงการออกกำลังกายแบบที่ต้องให้ได้ระดับความหนักพอควร แล้วทำต่อเนื่องกันไป ที่ว่าหนักพอควรนั้น นิยามว่าต้องเหนื่อยจนหอบ ทราบได้จากการที่เมื่อลองร้องเพลงดู จะร้องเพลงไม่ได้ ถ้ายังร้องเพลงได้เป็นเพลงอยู่ ก็แสดงว่ายังไม่ถึงระดับหนักพอควร ส่วนที่ว่าทำต่อเนื่องกันไปนั้นหมายความว่าเมื่อได้ระดับหนักพอควรแล้วควรทำต่อเนื่องไปในระดับหนักพอควรนั้นนาน 30 นาที ในกรณีที่ทำนานขนาดนั้นไม่ได้ อาจใช้วิธีออกกำลังกายแบบแป๊บเดียว (short bouts) ซึ่งนิยามคำว่าแป๊บเดียวนี้หมายถึงให้ถึงระดับหนักพอควรแล้วทำต่อเนื่องกันไปอย่างน้อย 10 นาที อะไรที่หนักน้อยกว่านี้และต่อเนื่องกันไปน้อยกว่า 10 นาที ไม่ถือเป็นการออกกำลังกายแบบต่อเนื่องหรือแอโรบิก

การที่ไม่ได้ใช้แรงมากฮวบฮาบทันที ทำให้กล้ามร่างกายมีเวลาเผาผลาญอาหารแบบใช้ออกซิเจนจึงเป็นที่มาของชื่อแอโรบิกซึ่งหมายความว่ามีการใช้อากาศหรือใช้ออกซิเจน เป็นคำเรียกให้เห็นความแตกต่างจากการออกกำลังกายอีกแบบหนึ่งที่ทำแบบพรวดพราดสั้นๆเหมือนวิ่งแข่งร้อยเมตร ซึ่งกล้ามเนื้อจะเผาผลาญอาหารแบบไม่ใช้ออกซิเจน

การออกกำลังกายแบบต่อเนื่องหรือแอโรบิกเหมาะกับทุกๆคน ขั้นตอนของการออกกำลังกายแบบนี้ไม่ควรเริ่มพรวดพราดหรือหยุดทันที ในการออกกำลังกายแต่ละครั้งควรมี 3 ขั้นตอนคือ (1) ระยะอบอุ่นร่างกายหรือวอร์มอัพจนถึงระดับหนักพอควรหรือร้องเพลงไม่ได้ (2) ระยะออกกำลังกายต่อเนื่องกันไปในระดับหนักพอควรหรือร้องเพลงไม่ได้อยู่นาน 30 นาที หรืออย่างน้อยก็ 10 นาทีกรณีที่ออกกำลังกายแบบแป๊บเดียว (3) ระยะช้าลงหรือคูลดาวน์ ก่อนที่จะหยุด

ตัวอย่างการออกกำลังกายแบบแอโรบิกเช่นการเดินเร็ว (brisk walk) วิ่งจ๊อกกิ้ง เต้นรำ ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิกตามเสียงเพลง วอเตอร์แอโรบิก ปั่นจักรยาน เป็นต้น การออกกำลังกายแบบแอโรบิกทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้น มีเหงื่อออก กล้ามเนื้อทั่วร่างกายได้ออกแรงนานๆ จึงทำให้ระบบหัวใจหลอดเลือดได้มีโอกาสทำงานหนักมากกว่าปกติ เป็นการสร้างความแข็งแรงให้กับระบบหัวใจและหลอดเลือด ทุกคนควรออกกำลังกายแบบแอโรบิกทุกวัน หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละประมาณ 30 นาทีขึ้นไป
งานวิจัยการออกกำลังกายแบบต่อเนื่องหรือแอโรบิก ล้วนถือมาตรฐานเดียวกันคือต้องได้ระดับหนักพอควร ต้องทำต่อเนื่องกันไปอย่างน้อย 30 นาที และต้องทำไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 5 วัน ขอย้ำอีกครั้งว่าคำว่าหนักพอควรหมายถึงต้องเหนื่อยจนอัตราการเต้นของหัวใจหรือชีพจรเร็วขึ้นกว่าระยะพักอย่างชัดเจน หายใจหอบกว่าระยะพักอย่างชัดเจน เมื่อทดลองร้องเพลงต้องร้องเพลงไม่เป็นเพลง ถ้ายังร้องเพลงได้สบายๆถือว่ายังไม่ได้ระดับหักพอควร หากสมมุติว่าพลังงานทั้งหมดเรามีสิบส่วน การออกกำลังกายระดับหนักพอควรหมายความว่าเราต้องใช้พลังงานไปให้ถึง 5-6 ส่วน (ขณะที่การออกกำลังกายระดับหนักมากเราจะไม่เพียงแต่ร้องเพลงไม่ได้เท่านั้น แม้แต่พูดก็ยังไม่ได้ และเราจะใช้พลังงานไป 7-8 ส่วนจาก10 ส่วน)

จำเป็นที่จะต้องออกกำลังกายแบบต่อเนื่องให้ถึงระดับหนักพอควร มิฉะนั้นก็จะไม่ได้ประโยชน์จากการออกกำลังกายอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกกำลังกายเพื่อลดการเป็นโรคหัวใจ รักษาเบาหวาน ป้องกันมะเร็ง หรือแม้กระทั่งรักษาสมองเสื่อมและช่วยให้ความจำดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เอาคนสูงอายุ เฉลี่ย 70 ปี มา 33 คน มาสุ่มแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิกให้ไดระดับหนักพอควร ไม่ว่าจะเป็นด้วยวิธีเดินเร็ว วิ่ง เต้นแอโรบิก เล่นกล้าม หรือว่ายน้ำ ก็แล้วแต่ โดยให้ทำวันละ 45-60 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 4 วัน อีกกลุ่มหนึ่งให้ออกกำลังกายแบบยืดหยุ่นเบาๆตามสบายไม่เคี่ยวเข็ญให้ได้ระดับหนักพอควร ทั้งสองกลุ่มทำแบบนี้ไปนาน 6 เดือน แล้วเอามาตรวจความจำดู พบว่ากลุ่มที่ออกกำลังกายจนถึงระดับหนักพอควรมีความจำดีขึ้นมากกว่ากลุ่มออกกำลังระดับเบาๆอย่างมีนัยสำคัญ

ในประเด็นความถี่ของการออกกำลังกายนั้น ยิ่งออกกำลังกายสม่ำเสมอได้ทุกวันยิ่งดี งานวิจัยส่วนใหญ่ที่เห็นผลประโยชน์ของการออกกำลังกายจะมีเวลาออกกำลังกายถึงระดับหนักพอควรนับรวมเวลาได้ 150 – 300 นาทีต่อสัปดาห์ โดยกระจายเฉลี่ยไปเกือบทุกวันหรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 4-5 วัน

1.3 การออกกำลังกายแบบยืดหยุ่น

การออกกำลังกายแบบยืดหยุ่น หรือ Flexibility exercises มีหลักพื้นฐานคล้ายกับการบิดขี้เกียจ เช่น การทำกายบริหาร การฝึกโยคะ การรำมวยจีน เป็นต้น ควรออกกำลังกายแบบยืดหยุ่นนี้หลังการออกกำลังกายแบบแอโรบิก หรือการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยให้เป็นส่วนหนึ่งของระยะคูลดาวน์ การออกกำลังกายแบบยืดหยุ่นเพื่อเป็นการวอร์มอัพต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะการยืดกล้ามเนื้อในขณะที่กล้ามเนื้อยังเย็นอยู่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อได้ การยืดกล้ามเนื้อทำได้สองแบบคือแบบอยู่กับที่ (static stretching) เช่นการบิดขี้เกียจ การทำกายบริหาร หรือการทำโยคะ กับแบบยืดหดไปเคลื่อนไหวไปด้วย (dynamic stretching) เช่นการเต้นบัลเลต์ การรำกระบอง
เมื่อยืดกล้ามเนื้อ ควรยืดกล้ามเนื้อเต็มที่จนรู้สึกตึงเล็กน้อย การยืดกล้ามเนื้อแต่ละครั้งควรคงไว้ในท่ายืดเต็มที่ประมาณ 15-30 วินาทีเพื่อให้สร้างความยืดหยุ่นได้เต็มที่ การออกกำลังกายแบบยืดหยุ่นนี้อาจจะทำแบบเบาๆสั้นๆแทรกกลางระหว่างการทำงานในแต่ละวันก็ได้ การออกกำลังกายแบบยืดหยุ่น หากใช้ท่าที่เน้นให้การทรงตัวลุก นั่ง ยืน เดิน ได้ดีขึ้น อาจเรียกว่าเป็นการออกกำลังกายเพื่อเสริมการทรงตัว (balance exercise) ก็ได้ เป็นการออกกำลังกายที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เพราะทำให้พิสัยของการเคลื่อนไหว (range of motion) ของข้อต่างๆดีขึ้น

13. การลดน้ำหนักเพื่อป้องกันและรักษาเบาหวาน

เนื่องจากผมได้เขียนเรื่องการลดน้ำหนักเป็นตอนๆแยกไว้ต่างหากในเว็บนี้แล้ว จึงไม่เขียนซ้ำในที่นี้อีก ขอให้ท่านหาอ่านเอาเองในเว็บนี้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
..............................
บรรณานุกรม

1. Wang J, Luben R, Khaw KT, et al. Dietary energy density predicts the risk of incident type 2 diabetes: the European Prospective Investigation of Cancer (EPIC)-Norfolk Study. Diabetes Care. Nov 2008;31(11):2120-5.
2. Dluhy RG, McMahon GT. Intensive glycemic control in the ACCORD and ADVANCE trials. N Engl J Med. Jun 12 2008;358(24):2630-3.
3. CDC. National Diabetes Fact Sheet, 2007. Centers for Disease Control and Prevention. Available at http://www.cdc.gov/diabetes/pubs/pdf/ndfs_2007.pdf. Accessed January 20, 2010.
4. Brooks N, Layne JE, Gordon PL, Roubenoff R, Nelson ME, Castaneda-Sceppa C. Strength training improves muscle quality and insulin sensitivity in Hispanic older adults with type 2 diabetes. Int J Med Sci. 2006 Dec 18;4(1):19-27.
5. Sigal RJ, Kenny GP, Wasserman DH, Castaneda-Sceppa C, White RD. Physical activity/exercise and type 2 diabetes: a consensus statement from the American Diabetes Association. Diabetes Care. 2006 Jun;29(6):1433-8.
6. Exercise Associated With Preventing, Improving Mild Cognitive Impairment. Arch Neurol. 2010;67[1]:71-79, 80-86.
7. Physical Activity Guidelines Advisory Committee. Physical Activity Guidelines Advisory Committee Report, 2008. Washington, DC: U.S. Department of Health and Human Services, 2008. Accessed at http: // www. health. Gov / paguidelines / Report/ pdf/ CommitteeReport.pdf, on January 18, 2010.
8. Haskell WL, Lee, IM, Pate R R, Powel KE, Blair SN, Franklin BA, Macera CA, Heath GW, Thompson PD, Bauman A. Physical Activity and Public Health: Updated Recommendation for Adults From the American College of Sports Medicine and the American Heart Association. Circulation2007; 116(9):1081-1093.
[อ่านต่อ...]

17 มกราคม 2554

Claw hands

สวัสดีค่ะคุณหมอ ดิฉันอยากปรึกษาเรื่องการผ่าตัดแก้ไขความพิการที่นิ้วมือ เนื่องจากดิฉันมีนิ้วมืองอ เหยียดได้ไม่ตรง เป็นมาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งมีเพียงนิ้วโป้งทั้งสองข้างเท่านั้นที่เป็นปกติ ดิฉันคิดเองว่าอาจเป็นเพราะหนังบริเวณนิ้วมือตึง หรืออะไรก็ไม่ทราบแต่ก็เป็นปัญหาที่ดิฉันกลุ้มใจและอยากแก้ไขให้เร็วที่สุด จึงใคร่ถามคุณหมอว่า การผ่าตัดแก้ไขนิ้วมือลักษณะนี้ ต้องใช้เวลารักษานานเท่าไหร่กว่าจะหายเป็นปกติ ค่ารักษาประมาณเท่าไหร่
Jira
……………………………………………………….
ตอบครับ

ถ่ายรูปส่งมาให้ดูหน่อยได้ไหม่ครับ จะได้ตอบคำถามได้ตรงประเด็น
เพราะไม่เห็นภาพ ผมก็เลยไม่ทราบว่าต้องตัดยืดผิวหนังที่ติดมากแค่ไหน ต้องเอาหนังจากที่อื่นมาปะช่วยหรือเปล่า ต้องยืดเอ็นหรือทำให้เอ็นยาวขึ้น (lengthening) ด้วยไหม ประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นตัวบอกว่าต้องใช้เวลารักษานานเท่าใด และใช้ค่าใช้จ่ายมากหรือน้อยเพียงใด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

.................................................................................


เห็นรูปแล้วครับ คุณเป็นคนไข้ที่ร่วมมือกับหมอดีมาก... น่ารัก
ความผิดปกติของมือคุณมีชื่อเรียกว่า claw hand deformity ประเมินจากภาพ ประเด็นการใช้งาน (กำสิ่งของ) ไม่น่าจะเป็นปัญหามาก มีแต่ประเด็นความสวยงามที่เป็นปัญหา
การแก้ไข claw hand ต้องอาศัยศัลยแพทย์ทางมือ (hand surgeon) ซึ่งเป็นศัลยแพทย์พันธ์ศํลยกรรมกระดูกหรือศัลยกรรมพลาสติกที่ไปเรียนการผ่าตัดมือโดยเฉพาะอีกต่อหนึ่ง ทำผ่าตัดให้ วิธีการผ่าตัดต้องทำเป็นขั้นตอน ขั้นแรกคือต้องย้ายเอ็นก่อนโดยทำสองขยัก ซึ่งมีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า extensor to flexor 4 tail tendon transfer (EF4T) กับ palmaris longus 4 tail tendon transfer (PL4T) อาจจะมีการปลูกผิวหนังแถมถ้าผิวหนังเดิมไม่ดีหรือไม่พอ ขั้นตอนการผ่าตัดนี้ทำวันเดียวเสร็จ แต่ขั้นตอนกายภาพบำบัดหลังผ่าตัดนี่สิครับ หลายเดือน อาจจะนานถึงหกเดือน โดยที่อาจต้องติดเครื่องดึงน่าเกลียดแบบรูปที่ให้มาดูนี้ไว้ด้วยในระยะแรก
ค่าใช้จ่ายการผ่าตัดตกประมาณ 1 แสนบาท นอนรพ.สักสามวัน
ค่าใช้จ่ายกายภาพบำบัดอีกต่างหาก ครั้งหนึ่งประมาณ 1,000 บาท นาน หกเดือน ทำถี่แค่ไหนแล้วแต่อาการ
ทั้งหมดนี่เพียงเพื่อความสวยงาม เพราะการใช้งานนั้นเขาดีของเขาอยู่แล้ว คุ้มหรือไม่คุ้มคุณวินิจฉัยเอาเองเถอะนะครับ
ถ้าสนใจจะทำแนะนำให้มาที่ศูนย์โรคกระดูกและข้อ โดยต้องโทรศัพท์มานัดหมายล่วงหน้าว่าต้องการเจอกับ hand surgeon เพื่อปรึกษาเรื่อง claw hand เพราะถ้าไม่นัดละเอียดมาเจอหมอกระดูกทั่วไปก็จะตรวจๆเก็บค่าตรวจแล้วส่งปรึกษา hand surgeon เท่ากับว่าเสียเงินเสียเวลาสองเด้ง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
……………………………………………

ขอบพระคุณคุณหมอมากค่ะ ดิฉันอยากจะผ่าตัดอาทิตย์หน้าเลย แต่ว่าอยากทราบว่าเครื่องมือที่ใช้ดึงมือนี่ต้องใส่ไปนานเท่าไรคะ เนื่องจากต้องรับปริญญาประมาณเดือนกุมภาฯนี้อ่ะค่ะ แล้วถ้าผ่าพร้อมกันทีเดียวสองมือสามารถทำได้รึเปล่า จะเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวันมากแค่ไหนคะ


Jira

........................

ถ้าจะเอาแผนดูแลหลังผ่าตัดละเอียดที่นับกันเป็นวันนี่ คุณต้องมาคุยกับหมอผ่าตัดแล้วละครับ ท่านจะประเมินแผนดูแลหลังผ่าตัดอย่างละเอียดให้คุณได้หลังจากได้ประเมินความรุนแรงของความผิดปกติของมือแล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

Panic disorder

รักษาโรคความดันโลหิตสูงที่ร.พ.พญาไท 2 มาประมาณ 1 ปีแล้ว แต่เมื่อประมาณเดือนที่แล้วต้องเข้าไป admission กลางดึกเพราะมีอาการนอนไม่หลับ หัวใจเต้นเร็ว ซึ้งหลังจากตรวจคลื่นหัวใจ กับ x-ray หัวใจและตรวจเลืดแล้ว ไม่พบอาการโรคหัวใจ แต่ความดันคืนนั้นขึ้นสูงมาก คุณหมอให้ทานยา Sanax เพื่อให้นอนหลับ ก็อาการดีขึ้นหลังจากได้นอนหลับ กลังจากกลีบจากโรงพยาบาลก็พยายามไม่ทานยา sanax แต่มีอาการบางครั้งเหมือนกับอาการในบทความของโรค Panic Disorder ทุกอย่าง ซึ่งผมมีอาการแบบนี้มาประมาณเกือบปีแล้ว ไม่ใช่หลังจากออกจากโรงพยาบาลเมื่อเดือนที่แล้ว เพียงแต่ไม่เคยทราบว่าเป็นอะไร และจะเป็นบ่อยเวลาขับรถกลับบ้าน ซึ่งอยู่ ๆ ก็จะเป็ยขึ้นมาเฉย ๆ อยากทราบว่าผมเป็น Panic Disorder หรือเปล่า เพราะดู ๆ แล้วอาการเหมือนกันทุกอย่าง และไม่ทราบว่ายา sanax ที่คุณหมอให้มาใช้รักษาได้หรือเปล่า แต่กลัวว่าจะง่วงเวลากินหลังจากมีอาการ หรือควรจะเป็นยาตัวอื่นๆ

วัฒนา

.................................

ตอบครับ

1. การวินิจฉัยโรคกลัวเกินเหตุ หรือ Panic disorder วินิจฉัยเอาจากอาการ ไม่มีการตรวจทางแล็บยืนยัน ดังนั้นถ้ามีอาการครบเกณฑ์โดยที่รู้แน่ชัดแล้วว่าไม่ได้เป็นโรคอื่น ก็วินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ได้เลยครับ เกณฑ์วินิจฉัย (DSM-IV) นิยามโรคนี้ว่าอยู่ๆก็กลัวอะไรขึ้นมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย กลัวแบบสุดขีด (intense fear) ขึ้นถึงขีดสุดในเวลาไม่เกิน 10 นาที และต้องมีอาการร่วมคือ (1) กังวลว่าจะกลับเป็นอีก (2) กังวลว่ากลับเป็นแล้วจะมีผลเสียตามมา (3) มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปเพราะความกลัวนั้น ทั้งนี้อาการเหล่านี้ต้องไม่เกิดจากยา หรือการเจ็บป่วยอื่นใด และต้องเป็นอยู่นานเกินหนึ่งเดือน โดยต้องมีอาการอย่างน้อย 4 อย่างใน 13 อย่างต่อไปนี้

1.1 ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว

1.2 เหงือแตก

1.3 ตัวสั่นหรือสะทกสะท้าน

1.4 หายใจสั้นๆขัดๆ

1.5 รู้สึกอะไรติดคอ หายใจไม่ได้

1.6 เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก

1.7 คลื่นไส้ ไม่สบายท้อง

1.8 เวียนหัว หรือเป็นลม

1.9 เหมือนไม่เป็นตัวของตัวเอง คล้ายๆกับผีเข้า

1.10 กลัวคุมสติไม่อยู่ กลัวจะเป็นบ้า

1.11 กลัวตาย

1.12 รู้สึกชาๆตื้อๆหรือเหมือนมีแมลงไต่ที่ผิวหนัง

1.13 หนาวสั่นหรือร้อนวูบวาบ


2. เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่วงการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุ ยาที่ใช้จึงเป็นยาบรรเทาอาการ ยา Alprazolam (Xanax) ที่คุณได้รับมานั้นก็เป็นยายอดนิยมตัวหนึ่งในการรักษาโรคนี้ ยานี้ทำให้ง่วงได้ แต่ไม่มีอันตรายอย่างอื่น ไม่เสพย์ติด เพียงแต่อาจทำให้เกิดความรู้สึกว่าต้องพึ่งยาจึงจะอยู่ได้ (psychological dependence) เคยมีคนไข้เขียนมาที่นี่แล้วเล่าให้ผมฟังว่าเป็นโรคนี้และกินยานี้ไปนับได้ถึง 3,000 เม็ด ซึ่งช่วยยืนยันว่าถึงไม่เสพย์ติด แต่ก็ทำให้กินกันจนลืมได้เหมือนกัน


3. ที่รพ.พญาไท 2 มีคลินิกจิตเวชซึ่งรักษาโรคนี้โดยตรงครับ เปิดทุกวัน ทั้งนี้คุณต้องทำใจก่อนนะว่าการรักษาทางจิตเวชในเมืองไทยเรานี้จะใช้ยาเป็นวิธีหลักแทบจะวิธีเดียวเลยหละ การรักษาร่วมอย่างอื่นเช่นการสอนให้คิดใหม่ (Cognitive therapy) หรือการทำพฤติกรรมบำบัด (behavioral therapy) เช่นการพาคนไข้กลับไปเจอกับสิ่งที่ทำให้กลัวซ้ำๆหลายๆครั้งจนดื้อด้านต่อความกลัวไปเองนั้น จะไม่ทำกัน เข้าใจว่าเพราะเสียเวลามาก หมอจึงไม่มีเวลาทำ ดังนั้นคุณมารพ.จะได้แต่ยา ส่วนการรักษาร่วมแบบอื่นคุณต้องทำเอง


4. ผมแนะนำเพิ่มเติมแบบหลังไมค์หน่อยนะ คืออยากให้คุณทำความเข้าใจกับ “จิตใจ” หรือ mind ของเราให้ถ่องแท้ คือใจนี้ประกอบด้วยกิจกรรมหรือพฤติกรรมทางจิตสามอย่างคือ (1) ความคิด หรือ though (2) ความรู้สึก หรือ feeling (3) ความรู้ตัวหรือ self awareness พฤติกรรมทั้งสามอย่างนี้จะเกิดได้ทีละอย่าง จะเกิดพร้อมกันไม่ได้ เช่นเมื่อกำลังคิด หรือกำลังกลัว เราจะไม่มีความรู้ตัว แต่อาจจะสลับกันเกิดวูบวาบวูบวาบได้ ความคิด จะก่อตัวแล้วพอกพูนกันเองขึ้นเป็นความคิดใหม่ๆ ต่อยอดกันไปเรื่อยๆ (mental formation) รวมทั้งต่อยอดไปเป็น feeling เช่นความกลัว ตัว feeling นี้เป็นการผสมโรงกันระหว่างส่วนของใจกับอาการทางร่างกาย เช่นถ้ากลัวก็จะมีใจสั่น เป็นต้น เรื่องนี้มีสองประเด็น ประเด็นที่ 1. คือต้องสร้างความรู้ตัวให้เกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะความรู้ตัวจะเป็นตัวแทนที่หรือบล็อคความคิดและความรู้สึกโดยอัตโนมัติ ประเด็นที่ 2. คือการบล็อคความคิดและความรู้สึกจะใช้วิธีห้ามใจนั้นไม่ได้ ต้องใช้วิธีใช้ความรู้ตัวเฝ้ามองมันเฉยๆ (bare attention) นี่เป็นสุดยอดวิชาของเรื่องนี้ คุณลองเอาไปทำดูนะครับ


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. American Psychiatric Association. Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, Fourth Edition, Text Revision. Washington, DC: American Psychiatric Press; 2000.
2. American Psychiatric Association. Practice guideline for the treatment of patients with panic disorder. Work Group on Panic Disorder. American Psychiatric Association. Am J Psychiatry. May 1998;155(5 Suppl):1-34.

...................................


เรียน คุณหมอสันต์

ขอบพระคุณมากครับสำหรับคำแนะนำ ผมผจะพยายามทำให้ดีที่สุด โดยเฉพาะจะพยายามให้อยู่ในภาวะ Self Awareness ให้มากที่สุด อย่างเช่นทุกวันนี้เวลาขับรถกลับบ้านก็จะพยายามไม่คิดว่าเราจะมีอาการอีก พยายามฟังเพลง มองไปไกล ๆ รถติดก็ไม่คิดมาก ปล่อยวางจิตใจไปเรื่อย ๆ อาการจะแค่กรุ่น ๆ แต่ไม่ peak ขึ้นมาเหมือนเมื่อก่อน โดยเฉพาะถ้านอนหลับเต็มที่จะช่วยได้มากทีเดียวครับ ผมได้นัดพบจิตแพทย์ในวันอาทิตย์นี้แล้วครับ จะลองปรึกากับคุณหมอดู

ขอบพระคุณอีกครั้งครับ

วัฒนา / 12 พย. 53
[อ่านต่อ...]

สามีดูดแล้วมีของเหลวไหลออกมาทางหัวนม

เคยป่วยเป็นวัณโรคต่อมน้ำเหลืองเมื่อสองปีก่อน แล้วยังมีก้อนหลงเหลืออยู่ที่หน้าอกค่ะจำนวนสามสี่ก้อน สามีบอกว่าเวลาดูดหน้าอก เหมือนมีน้ำอะไรออกมาจากหัวนมด้วย (ขอโทษด้วยนะค่ะที่ไม่สุภาพ) แต่พอลองบีบเบาๆ ดูก็ไม่มีน้ำอะไรออกมาค่ะ อยากทราบว่าแบบนี้ต้องผ่าก้อนในหน้าอกออกหรือจะตรวจแมมโมแกรมได้ไหมค่ะ

จอย

..........................................................

ตอบครับ

1. การเป็นวัณโรคต่อมน้ำเหลืองแล้วมีก้อนต่อมน้ำเหลืองแข็งๆเหลือให้คลำได้ นั่นเรื่องหนึ่ง ซึ่งแนวทางการจัดการก็คือเมื่อใดก็ตามที่มันโตขึ้น (อาจเป็นเนื้องอกหรือกลับเป็นวัณโรคใหม่) หรือกดเจ็บ (อาจเกิดการอักเสบติดเชื้อบักเตรีอื่น) ก็ควรตัดออกมาตรวจดู

2. การมีของเหลวไหลออกมาได้ทางหัวนม นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นน้ำนมนั่นแหละแม้ว่าเราจะไม่ได้ให้นมลูก สาเหตุของการที่น้ำนมไหลไม่เลือกเวลาเช่นนี้มีได้ร้อยแปด เช่น

2.1 สามีดูดหัวนมหรือกระตุ้นเต้านมหรือหน้าอก หรือใส่บราเซียรัด
2.2 เครียด
2.3 มีเพศสัมพันธ์
2.4 กินยาบางชนิดเช่นยากล่อมประสาท ยาแก้ซึมเศร้า ยาคุมกำเนิด สมุนไพร เป็นต้น
2.5 ร่างกายขาดน้ำ
2.6 การออกกำลังกาย (กระตุ้นโปรแล็คติน ทำให้น้ำนมไหลได้บ้าง)

ถ้าคุณไม่สบายใจ อยากจะจัดการปัญหานี้อย่างเป็นระบบ ให้คุณแยกเป็นสองเรื่อง

เรื่องที่หนึ่งคือการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมประจำปี เป็นสิ่งที่ควรทำ อันนี้ขึ้นกับอายุของคุณ ถ้าอายุต่ำกว่า 35 ปีก็ใช้วิธีอุลตร้าซาวด์เป็นหลักเพราะเต้านมทึบ การเอ็กซเรย์ (แมมโมแกรม) จะไม่เห็นอะไร ถ้าอายุเกิน 40 ปีก็นิยมทำสามอย่างรวมกันทุกปี คือคลำด้วยมือ+ ตรวจอุลตร้าซาวด์ + ทำแมมโมแกรม ด้วย อันนี้ผู้หญิงทุกคนควรทำอย่างน้อยปีเว้นปี บางคนก็ทำทุกปี แล้วแต่ความนิยม

เรื่องที่สองคือของเหลวที่ไหลออกมา คุณต้องวินิจฉัยก่อนว่าน้ำที่ไหลออกมานั้นมันเป็นอะไร ด้วยการให้สามีดูดแล้วบ้วนออกมาให้ดู ถ้าเป็นเหมือนน้ำนมจางๆก็ไม่น่าจะมีอะไร แต่ถ้าเป็นเลือดละก็ต้องไปโรงพยาบาล เพราะการมีเลือดไหลออกจากหัวนมเป็นอาการอย่างหนึ่งของมะเร็งเต้านม ถ้าการดูด้วยตามันยังไม่หายข้องใจ ก็ไปเอากระปุกเก็บตัวอย่างของเหลวเพื่อส่งตรวจเซลวิทยามาจากโรงพยาบาลแล้วให้สามีบ้วนใส่กระปุกไปตรวจ จะได้หายข้องใจว่าเป็นแค่น้ำนมหรือเป็นการติดเชื้อหรือเป็นเนื้องอก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

.........................................................................

ทุกคำถามคุณหมอจะตอบอย่างละเอียดทำให้คนไข้เข้าใจวิธีการปฏิบัติตนในขั้นแรกว่าควรทำอย่างไรก่อน ขอบคุณมากๆ ค่ะ ขอให้คุณหมอสุขภาพแข็งแรงนะค่ะ

จอย / 11 มค. 54
[อ่านต่อ...]

16 มกราคม 2554

กลัวเข็มฉีดยาขี้ขึ้นสมอง ขอยาสลบเพื่อเจาะเลือด

ผมต้องไปเจาะเลือดเพื่อตรวจสุขภาพแต่ผมกลัวเข็มมาก แบบเห็นแล้วร้องดังเลย ผมอยากถามว่าถ้าจะต้องเจาะเลือดจริงๆ ผมจะขอทานยาสลบก่อนได้ไหม โดยผมจะให้ญาติพี่น้องสนิทไปนั่งคอยด้วย แบบนี้จะได้หรือป่าวครับ ถ้าไม่ได้เพราะอะไร อยากทราบสาเหตุที่ให้ยาสลบไม่ได้จริงๆ

..............................

ตอบครับ

1. ทำให้คุณสลบเพียงเพื่อจะเจาะเลือดไม่ได้หรอกครับ เพราะผิดหลักจริยธรรมวิชาชีพของแพทย์เขา คือแพทย์เขามีกฎเหล็กอยู่ว่าจะต้องไม่ทำอะไรที่มีโทษมากกว่าประโยชน์ เรียกว่าเป็นกฎข้อแรกของการประกอบอาชีพแพทย์เลยหละ (First rule, do no harm.) ถ้าหมอคนไหนใช้วิธีระงับความรู้สึกของคนไข้ซึ่งเป็นเรื่องที่มีภาวะแทรกซ้อนถึงตายได้ เพียงเพื่อจะระงับความรู้สึกเจ็บเท่ายุงกัดจากการเจาะเลือด หมอคนนั้นรับประกันโดนแพทยสภายึดใบประกอบวิชาชีพแน่นอน

2. ถ้าคุณอยากเอาชนะความกลัวอย่างจริงจัง ผมแนะนำให้ไปเรียนรู้จากเด็ก ถ้าห่วงว่าเขาจะไม่ให้เข้าไปดูคุณบอกผมให้แจ้งคลินิกเด็กของรพ.พญาไท 2 ก่อนก็ได้ ผมจะขอให้เขาอนุญาตให้คุณเข้าไปดูเป็นกรณีพิเศษ ให้คุณไปเรียนรู้ว่าเด็กอายุสองสามขวบที่ฉีดวัคซีนกันโครมๆเขารอดตายกันออกมาได้อย่างไร ความแตกต่างกันมันอยู่ที่การรู้จักสนองตอบต่อสิ่งเร้าอย่างชาญฉลาดเท่านั้นเอง สิ่งเร้าก็คือการที่คุณจะต้องเจาะเลือด การสนองตอบของคุณก็คือจินตนาการฟุ้งสร้านสติแตกที่เหลวไหลไม่มีขีดจำกัดจนกลายเป็นการสะกดจิตตัวเองไปเรียบร้อยว่า..กูตายแน่ละคราวนี้ แต่เด็กไม่มีจินตนาการเชิงลบเหล่านี้ แม้หลังฉีดแล้ว ถ้าคุณยังไม่เรียนรู้ที่จะสนองตอบต่อสิ่งเร้าอย่างชาญฉลาด คุณก็จะยิ่งเจ็บมากกว่าเด็ก แบบว่า..พยาบาลอะไรวะ มือหนักชิบ แถมหน้าบึ้งอีกต่างหาก แต่เด็กรับรู้ไปตามความเป็นจริง เจ็บแป๊บเดียวก็ร้องแป๊บเดียวแล้วก็เปลี่ยนเป็นหัวเราะ ไม่เจ็บก็ไม่ร้อง เท่านั้น ไม่มีความคิดลบอื่นๆมาเสริม

การที่คุณกลัวเข็มฉีดยามากฟังดูเหมือนเป็นเพียงเรื่องตลกเบาสมอง แต่พื้นฐานของเรื่องนี้คือคุณกำลังเรียนรู้ที่จะมีชีวิตแบบ "สุขยาก ทุกข์ง่าย" ซึ่งเป็นทิศทางตรงกันข้ามกับทิศทางที่ชีวิตที่ดีควรจะเป็น คือ "ทุกข์ยาก สุขง่าย" ทำไม่ไม่เอาโอกาสที่จะได้มาเจาะเลือดนี่แหละ เป็นโอกาสที่จะได้หัดสนองตอบต่อสิ่งเร้าต่างๆที่เข้ามาในชีวิตแบบสร้างสรรค์และทำให้ชีวิตเราดีขึ้นละครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

14 มกราคม 2554

กระเทียมกับโคเลสเตอรอล..อย่าให้เขาหลอก

ดิฉันไปตรวจสุขภาพมา ผลคือ คอเลสเตอรอลสูงถึง 220 ค่ะ ได้ยินเพื่อนพูดกันว่า ถ้าทานน้ำมันกระเทียมจะทำให้ลดลงได้ จริงหรือไม่คะ ขอคำยืนยันก่อนจะเริ่มกินน่ะค่ะ

..................................

ตอบครับ

1. เอาประเด็นโคเลสเตอรอลก่อนนะ มาถึงสมัยนี้แล้ว ถ้ามีข้อมูลเพียงแต่ว่าโคเลสเตอรอล 220 ถือว่าเป็นข้อมูลที่น้อยเกินไป เพราะค่าโคเลสเตอรอลเป็นผลบวกของไขมันดี (HDL) + ไขมันเลว (LDL) + หนึ่งในห้าส่วนของไตรกลีเซอไรด์ สมมุติว่าคุณเป็นยอดหญิงนักกีฬาซึ่งตรวจเลือดพบว่า

Cholesterol 220 mg/dl
HDL 95 mg/dl
LDL 99 mg/dl
Triglyceride 130 mg/dl

นี่แสดงว่าสุขภาพของคุณดีวิเศษมากเลยนะ ทั้งๆที่โคเลสเตอรอล 220 mg/dl เนี่ยถ้าเรามองตรงค่านี้อย่างเดียวก็นึกว่าสูงเกินพอดี ดังนั้นเวลาไปตรวจสุขภาพอย่าโดนคณิตศาสตร์ของไขมันมันหลอกเอา ให้มุ่งไปที่ไขมัน LDL คุณเท่าไร มากกว่าที่จะมุ่งไปที่ค่าโคเลสเตอรอลรวมคุณเท่าไร จะดีกว่า

2. ทีนี้มาประเด็นที่ว่ากระเทียมลดโคเลสเตอรอลได้จริงหรือไม่ การจะไม่ถูกใครเขาต้มเอาเงินคุณในเรื่องนี้คุณต้องเข้าใจว่าความรู้เรื่องนี้มีพัฒนาการมาสองยุค

2.1 ยุคแรก เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1993 คือสิบแปดปีมาแล้ว ในยุคนั้นการวิจัยแบบติดตามดูกลุ่มคนมาเปรียบเทียบกันโดยไม่ได้สุ่มตัวอย่าง พบว่าการกินกระเทียมอัดเม็ดขนาดเทียบเท่ากระเทียมสด 1.5 – 3 กรัมต่อวัน มีผลลดไขมัน LDL ในเลือดได้ประมาณ 9%

2.2 ยุคหลัง คือประมาณปี ค.ศ. 1998 คือสิบสามปีมาแล้ว ได้มีการทำวิจัยสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มคนกินกระเทียมอัดเม็ดกับไม่กินแล้วเอาผลมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งเป็นหลักฐานการวิจัยที่ดีกว่ายุคแรก พบว่าการรับประทานกระเทียมเสริมดังกล่าวไม่มีผลต่อระดับโคเลสเตอรอล

ผู้คนต่างก็เลือกเอาผลวิจัยทั้งสองยุคนี้ไปหากินเพื่อผลประโยชน์ของตน พวกทำกระเทียมอัดแคปซูลขายก็จะพูดถึงแต่ผลวิจัยยุคแรกลูกเดียว ทั้งๆที่ความเป็นจริงนั้นต้องเชื่อตามผลวิจัยยุคหลังเพราะเป็นหลักฐานที่ดีกว่า ดังนั้นสรุปคำแนะนำของผมก็คืออย่าไปเสียเงินซื้อน้ำมันกระเทียมหรือกระเทียมอัดเม็ดทานเลยครับ จะถูกเขาหลอกเอาเงินเปล่าๆ เอาแค่กระเทียมในส้มตำและอาหารไทยๆก็พอแล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Warshafsky S, Kamer RS, Sivak SL. Effect of garlic on total serum cholesterol: a meta-analysis. Ann Intern Med. 1993;119: 599-605.
2. Jaini AK, Vargas R, Gotzkowsky S, et al. Can garlic reduce level of serum lipids? A controlled clinical study. Am J Med 1993;94:632-5.
3. Silagy C, Neil A. Garlic as a lipid lowering agent – a meta-analysis. J R Coll Physician London 1994;28:39-45.
4. Isaacsohn JL, Moser M, Stein EA, et al. Garlic powder and plasma lipids and lipoproteins. A multicenter, randomized, placebo-controlled trial. Arch Intern Med 1998;158:1189-94.
5. Berthold HK, Sudhop T, von Bergman K. Effect of garlic oil preparation on serum lipoproteins and cholesterol metabolism. JAMA 1998;279:1900-2.
[อ่านต่อ...]

Female orgasm

สวัสดีครับคุณหมอสันต์ที่เคารพ

ผมอายุ 31 ปี แฟนอายุ 25 ปีครับ ปัญหาคือแฟนผมไม่เคยถึงจุดสุดยอดเลยสักครั้ง ผมพยายามใส่ใจเธอ ทำทุกอย่างที่เธอจะถึงได้ แต่ก็ไม่เคยเลยสักครั้ง ทั้งออรัลให้ด้วย ผมออรัลให้เธอนานถึง ครึ่งชม. ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะถึงเลย แฟนผมมีปัญหาเรื่องกามตายด้านหรือเปล่าครับ ผมแปลกใจว่าเวลาเล้าโลมแค่นิดเดียว เธอก็มีน้ำหลั่งออกมาแล้ว คือก็พร้อมแล้วแต่พอมีอะไรกันจริงๆ กลับไม่เคยถึงเลยทำให้แฟนผมไม่ค่อยอยากจะมีอะไรกับผม กลุ้มใจมากเลยครับ

เชาวน์

.....................

ตอบครับ

อาชีพของผมคือแนะนำดูแลรักษาผู้ป่วยโดยใช้ข้อมูลหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่มีรูปแบบการวิจัยที่ดี และตีพิมพ์ไว้ในวารสารการแพทย์อย่างเป็นระบบ แต่งานวิจัยเรื่อง female orgasm ส่วนใหญ่เป็นการทำโพลที่ปิดบังชื่อผู้ตอบ ซึ่งในทางการแพทย์ถือเป็นหลักฐานระดับเรื่องเล่า (anecdotal) ไม่ใช่การวิจัยเปรียบเทียบ ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ผมจึงไม่มีอะไรจะมาตอบคุณ แต่เมื่อคุณถามมาแล้วผมก็ต้องตอบ คำตอบต่อไปนี้ของผมมาจากหลักฐานระดับ anecdotal อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้

1. การสำรวจด้วยวิธีสอบถามแบบไม่เปิดเผยชื่อผู้ตอบในอเมริกา พบว่า 75% ของผู้หญิง จะไม่มี orgasm จากการมีเพศสัมพันธ์แบบปกติหากไม่ได้ใช้นิ้วมือ หรือสิ่งของเช่นวัสดุเทียม เข้าช่วย และพบว่า 10-15% ของผู้หญิง ไม่เคยมี orgasm เลยในชีวิต ไม่ว่าจะกระตุ้นด้วยวิธีใดๆ

2. ได้มีแพทย์และนักพฤติกรรมศาสตร์จำนวนหนึ่งพยายามบอกผู้คนว่าที่ผนังช่องคลอดด้านหน้า ประมาณสองนิ้วจากปากช่องคลอดเข้าไปมีจุดที่เรียกว่า g-spot ซึ่งหากกระตุ้นบริเวณนี้ด้วยนิ้วหรือด้วยวิธีจัดท่าหรือด้วยวิธีอื่นๆ จะทำให้เกิด orgasm ได้ง่ายขึ้น แต่การศึกษาทางกายวิภาคศาสตร์อย่างละเอียดไม่พบว่ามี g-spot อยู่จริง และข้อมูลที่ว่าการกระตุ้น g-spot ทำให้เกิด orgasm ได้ง่ายขึ้นก็เป็นข้อมูลระดับเรื่องเล่าเท่านั้น

3. ได้มีนัก”เพศปฏิบัติ” จำนวนหนึ่งพยายามเสนอว่าการมีเพศสัมพันธ์แบบมีการสื่อสารกันและหลอมรวมกันอย่างลึกซึ้ง (tantric sex) เช่นเคลื่อนไหวช้าๆไปด้วยกัน การมองตากัน การใช้คำพูดดีๆสื่อสารกันในระหว่างมีเพศสัมพันธ์ และเน้นเจตนาที่จะให้อีกฝ่ายหนึ่งมีความสุขมากกว่าที่จะปลดความใคร่ของตนเอง จะทำให้ฝ่ายหญิงเกิด orgasm ได้มากขึ้น แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงเรื่องเล่าเช่นกัน

4. ประเด็นที่ว่าคุณควรจะทำอย่างไรต่อไปดี ผมแนะนำดังนี้

4.1 สื่อสารกับแฟนของคุณให้ดี หารือกันอย่างนุ่มนวลด้วยเจตนา “เพื่อเธอ ไม่ใช่เพื่อตัวเรา” ถามเธอว่าก่อนหรือหลังแต่งงานก็ตาม เธอเคยทำ masturbation แล้วเกิด orgasm ไหม ถ้าเคย เธอทำอย่างไร ขอให้เธอทำให้ดูขณะที่มีเพศสัมพันธ์กันในระหว่าง fore play ก็ได้ โดยคุณทำหน้าที่เป็นกองเชียร์ แล้วคุณก็เรียนรู้จากตรงนั้น แล้วค่อยๆช่วยเป็นคนทำให้เธอแทนตัวเธอเอง ต้องช่วยให้ได้จังหวะกับความรู้สึกของผู้หญิงด้วย นั่นหมายความว่าต้องสื่อสารกันในระหว่างช่วยให้ดี มุ่งให้เธอได้สิ่งที่เธอต้องการก่อน ส่วนความต้องการของคุณนั้นค่อยมาว่ากันทีหลัง อย่าไปหวังว่ามันจะต้องขึ้นเกิดพร้อมกัน เพราะนั่นมันเป็นเรื่องเล่าไร้สาระ

4.2 ทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายหญิง ควรถ่ายปัสสาวะให้กระเพาะปัสสาวะว่างก่อนการมีเพศสัมพันธ์ เพราะความรู้สึกใกล้เกิด orgasm เป็นความรู้สึกคาบเกี่ยวกับความรู้สึกปวดปัสสาวะ หากมีความกังวลเรื่องการปัสสาวะและอั้นไว้ ก็จะไม่เกิด orgasm

4.3 การทำโพลในหมู่ผู้หญิงได้ผลคล้ายกันว่าต้องมีความรู้สึกผ่อนคลาย สบาย relax และก่อน จึงจะเกิด orgasm ตามมา คุณก็ต้องช่วยให้เธอ relax ก่อน

4.4 ฝ่ายชายจะต้องตัดเล็บให้สั้น ตะไบเล็บให้ดี รักษาเล็บให้สะอาด เพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บแก่ฝ่ายหญิงกรณีใช้นิ้วมือช่วย ซึ่งเป็นวิธีช่วยที่ดูจะได้ผลมากกว่าวิธีอื่น

4.5 ถ้าได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว มันไม่สำเร็จ ก็ปลงซะ ไปสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้แฟนของคุณในเรื่อง ซึ่งมีโอกาสถมไป

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

................................................

ผมขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำดีๆ ทั้งหมดที่คุณหมอกล่าวมาทั้งสิ้น จริงๆ แล้วคุณหมอพูดถูกทุกอย่างเลย ผมอาจจะไม่ได้ดูความต้องการของแฟนผมแต่มัวแต่มองความต้องการของตนเอง ขอบคุณมากๆ ครับ

เชาวน์
[อ่านต่อ...]

13 มกราคม 2554

รู้สึกเกิดภาวะเครียดสะสม

เรียน คุณหมอ

เนื่องจากดิฉันรู้สึกเกิดภาวะเครียดสะสม ไม่ทราบว่าต้องปฏิบัติตนอย่างไรดีค่ะ ดิฉันต้องการปรึกษาค่ะ

..............................

ตอบครับ

คนที่จะจัดการความเครียดได้ดีที่สุดคือตัวเราเอง

หลักการจัดการความเครียด

(1) หลีกเลี่ยงต้นเหตุของความเครียด หัดปฏิเสธคนบ้าง ใครที่ทำให้เราเครียดก็หลบหน้าเขาเสีย ถ้าดูทีวีแล้วเครียดก็ปิดทีวี.เสีย ถ้าขับรถแล้วเครียดก็นั่งรถเมล์แทน ถ้าคุยการเมืองแล้วเครียดก็อย่ายกเรื่องการเมืองมาคุย ถ้ามีคนยกขึ้นมาคุยก็ขอตัวไม่ร่วมด้วย สมาคมกับผู้คนโดยใช้หลัก “สงวนจุดต่าง แสวงจุดร่วม” หมายความว่าเลือกทำแต่เรื่องที่ทำร่วมกันได้แล้วทั้งสองฝ่ายมีความสุข ถ้าเครียดเรื่องเวลาไม่พอก็วางแผนการใช้เวลาให้ดี เรียงลำดับทำเรื่องที่สำคัญก่อน อย่าไปมัวแต่ทำเรื่องด่วนซึ่งบ้างก็สำคัญบ้างก็ไม่สำคัญจนไม่มีเวลาทำเรื่องสำคัญที่ไม่ด่วน

(2) ปรับเปลี่ยนต้นเหตุของความเครียดใช้หลักเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส เปลี่ยนความขัดแย้งเป็นการประนีประนอมแบบพบกันครึ่งทางหรือแบบต่างฝ่ายต่างก็ชนะ เปลี่ยนวิธีสื่อสารให้คนอื่นทราบความคาดหวังของเราอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา อย่าเก็บกด มองภาพใหญ่ให้ออกว่ามันไม่คุ้มที่จะมาเครียดกับส่วนเล็กๆ อย่าทำตัวเป็นคนที่ต้องสมบูรณ์ไปทุกอย่าง (perfectionist) หรือวางตัวเองในตำแหน่งที่ตัองล้มเหลวแต่แรก หมายความว่าคาดหมายกับตัวเองมากเกินไป หัดคิดบวก ปรับทัศนคติให้เห็นด้านดีของตัวเอง

(3) อะไรที่เลี่ยงก็ไม่ได้ ปรับเปลี่ยนก็ไม่ได้ ให้ยอมรับมัน ยกตัวอย่างเช่น ความตายของคนที่เรารัก การเจ็บป่วย ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อย่าไปตั้งความคาดหวังหรือพยายามควบคุมสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็แล้วไป ให้อภัยแล้วเดินหน้าต่อไป

(4) เพิ่มศักยภาพตนเองในการเผชิญความเครียด งานวิจัยทางการแพทย์สรุปว่าสิ่งต่อไปนี้ทำให้คนเรามีศักยภาพที่จะเผชิญความเครียดได้มากขึ้น

(4.1) ฝึกให้ร่างกายตอบสนองต่อความผ่อนคลาย (relaxation response) อย่างสม่ำเสมอทุกวัน หมายถึงทำกิจกรรมที่ทำแล้วร่างกายจะผ่อนคลาย กล้ามเนื้อคลายตัว ความดันเลือดลดลง จะด้วยวิธีใดก็ได้ เช่น นั่งสมาธิ ฝึกหายใจลึก รำมวยจีน ฝึกโยคะ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น

(4.2) ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปสู่แนวส่งเสริมสุขภาพ ได้แก่ (1) ออกกำลังกายทุกวัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที การออกกำลังกายทำให้มีการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินซึ่งเป็นสารต่อต้านความเครียดโดยตรงเข้าสู่กระแสเลือด (2) รับประทานอาหารให้ถูกต้อง (3) นอนหลับและพักผ่อนให้เพียงพอ ในการทำงานก็เบรกสั้นๆเพื่อผ่อนคลาย (4) ลด ละ เลิกสารกระตุ้นต่างๆ เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ ยา กาแฟ หรือแม้กระทั่งน้ำตาลฃ

(4.3) การหัวเราะ และการทำตัวเป็นคนมีอารมณ์ขันอยู่เสมอ ทำให้สุขภาพดี และต้านความเครียดได้ชะงัด ถ้าตัวเองไม่มีศักยภาพที่จะหัวเราะเองได้ ก็ควรพยายามใกล้ชิดกับคนที่หัวเราะเก่ง

(4.4) เปลี่ยนกรอบความคิดไปสู่การคิดบวก สื่อสัมพันธ์คบหากับคนที่คิดบวก ถอนตัวเองออกจากปลักของการชิงดีชิงเด่นเอาชนะคะคานหรือเสริมอัตตาของตัวเอง หันมาสนใจการทำอะไรเพื่อคนอื่นให้มากขึ้น

(4.5) หันไปทำเรื่องที่ทำให้เกิดความรื่นเริงบันเทิงใจบ้าง เช่น หาเวลาไปเดินเล่น ไปอยู่กับธรรมชาติ จุดเทียนหอม เขียนบันทึก นอนแช่น้ำนานๆ เล่นกับสัตว์เลี้ยง ทำสวน ดมดอกไม้ อ่านหนังสือดีๆ ไปใช้บริการนวดคลายเครียด ฟังดนตรี ดูหนังตลก เล่นเปียโน เขียนภาพ ถีบจักรยาน ดูดาว เป็นต้น

ขั้นสูงสุดของการจัดการความเครียด

การสนองตอบต่อสิ่งเร้าอย่างไรจึงจะไม่เครียดเป็นเรื่องลึกซึ้ง ความเครียดเกิดจากการสนองตอบด้วยการคิดฟุ้งสร้านกังวลไปมากมาย ทุกคนรู้ว่าคิดบวกดี แต่ทำอย่างไรจึงจะตามให้ทันการเผลอคิดลบของตัวเองนี่สิ เป็นไฮไลท์ที่แท้จริงของการจัดการความเครียด ผมแนะนำเทคนิคสองอย่าง อย่างที่หนึ่งคือ การระลึกได้ (recall) ว่าเอ๊ะ..เมื่อตะกี้ใจเราเผลอไปคิดอะไรหรือเผลอไปมีความรู้สึกอะไร ยิ่งคอยตามดูใจตัวเองบ่อยและเอ๊ะบ่อยเท่าไร ยิ่งดีเท่านั้น อย่างที่สองคือ การรู้สถานะตัวเอง (self awareness) ว่า ณ ขณะนี้ สภาพร่างกายและจิตใจของเราเป็นอย่างไร มันกำลังเครียด หรือกำลังสบาย แบบรู้เฉยๆแต่ไม่ต้องไปแทรกแซงชี้นำหรือบังคับกดข่มอะไร ความคิดที่กังวลฟุ้งสร้านและจิตใจที่เคร่งเครียดเมื่อถูกเฝ้ามองก็จะสงบลงแบบอัตโนมัติ ความยากอยู่ตรงที่ทั้ง recall และ self awareness นี้เป็นทักษะ (skill) เหมือนกับการว่ายน้ำ ต้องหัดทำบ่อยๆจึงจะทำได้เก่ง คนแม้จะอ่านหนังสือวิธีว่ายน้ำจนเข้าใจถ่องแท้แล้วก็ยังว่ายน้ำไม่เป็นถ้าไม่ได้ฝึกว่าย เพราะทักษะไม่ใช่ความรู้ (knowledge) ที่จะอ่านทำความเข้าใจแล้วใช้ประโยชน์ได้เลย ดังนั้นผมแนะนำว่าขั้นแรกนี้คุณยังไม่ต้องไปหาจิตแพทย์หรอกครับ ลองฝึกทักษะการทำ recall และ self awareness ก่อน ถ้าขยันฝึก ความเครียดก็จะหมดไปเอง ไม่ต้องไปหาหมอ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

12 มกราคม 2554

อยากจบเคสถุงยากแตก จะได้มีความสุขเสียที

คือผมอ่านบทความที่คุณหมอตอบผมมาครับ เลยมีคำถามว่าในเมื่อการตรวจแบบ ECILA มีความไวสูงมากและสามารถตรวจได้ตั้งแต่ 1 เดือนถึง 6 สัปดาห์ ผมตรวจตอน 95 วันประมาณ 3 เดือน หลังเสี่ยง ผลสามารถยืนยันได้มัยคับว่าปลอดภัยแล้ว ในกรณีทานยาต้านฉุกเฉิน (PEP) หริอว่าอย่างไงก็ต้องรอ 6 เดือนอยู่ดีครับ เพราะมันทำให้ผมเกิดความกังวลใจมากเลยครับ ผมอยากจะจบเคสนี้เร็วๆ ครับแล้วกลับมามีความสุขสักที ขอบคุณครับ
ขอถามอีกข้อหนึ่งคือครับว่า การตรวจแบบ NAT ที่ 70 วัน และ 95 วัน ผ่านนั้น สามารถตัดเรื่อง windows period 6 เดือนของ ยาต้าน (PEP) ได้มัยครับ เพราะตั้งแต่เสี่ยงมา ผมกังวลกับเรื่องการติดเชื้อมากครับ

moo
.....................................................

ตอบครับ

1. ตรวจหาเอดส์ทั้งแบบ 4th generation ECILA ด้วย แบบ NAT ด้วย เมื่อ 95 วันหลังเสี่ยง แล้วคู่นอนก็เป็น seronegative คือเลือดเป็นลบด้วย ถามว่ายืนยันได้ไหมว่าปลอดภัยแล้ว ผมตอบแบบนั่งยัน นอนยัน ยืนยันว่ามั่นใจได้สูงมากทีเดียว (very assuring) เป็นจิ๊กโก๋ก็ต้องพูดว่าชัวร์ป๊าด ว่าปลอดภัยแล้วครับ ขอให้หายบ้าได้

2. สำหรับท่านผู้อ่านทั่วไป ผมขอเล่าภาพรวมในประเด็น window period หรือระยะที่อาจติดเชื้อได้แม้จะตรวจเลือดได้ผลลบของโรคเอดส์นี้ให้ฟัง คือเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเราจะบอกว่าพ้น window period แล้วก็ต่อเมื่อกลุ่มตัวอย่างของข้อมูลอยู่ในเขตความเชื่อมั่นทางสถิติใกล้ 100% ปัจจุบันนี้วงการแพทย์มีตัวเลขนี้อยู่สองชุด คือ

2.1 ชุดแรกเป็นตัวเลขดึกดำบรรพ์ตั้งแต่ปีค.ศ. 1985 ได้มาจากการเอาประวัติว่าผู้ป่วยสัมผัสโรค (มีเซ็กซ์) เมื่อใด และเริ่มตรวจเลือดได้ผลบวกเมื่อใดมาคำนวณ แล้วสรุปว่าค่า window period อยู่ที่ 6 เดือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ได้จากความไม่แน่นอนของการให้ประวัติจากคนไข้ บวกกับเทคนิคทางห้องแล็บแบบโบราณ (1st genteration ELIZA)

2.2 ตัวเลขอีกชุดหนึ่ง ซึ่งได้จากการวิเคราะห์เลือดที่บริจาคธนาคารเลือดจำนวนมากเป็นหลักแสนตัวอย่างขึ้นไป รู้วันแน่นอนว่าเจาะเลือดมาเมื่อไร คนไข้รับเลือดไปเมื่อไร เริ่มตรวจได้ผลบวกครั้งแรกเมื่อไร บวกกับเทคนิคทางแล็บที่ดีขึ้นกว่าสมัยเก่ามาก (4th generation ECILA) ตัวเลขชุดหลังนี้บ่งชี้ว่า window period ของโรคนี้อยู่ที่ 4-6 สัปดาห์

ตัวเลขทั้งสองชุดนี้มีคนชอบหยิบเอาไปเล่นทั้งคู่ ถามผมว่าผมเชื่อถือตัวเลขชุดไหนมากกว่ากัน ผมตอบได้ทันทีโดยไม่ลังเลว่าผมเชื่อตัวเลข 4-6 สัปดาห์ของ 4th generation มากกว่า เพราะผมสามารถตรวจสอบที่มาที่ไปของตัวเลขได้อย่างแจ่มแจ้งไม่มั่วซั่วเหมือนตัวเลขชุด 6 เดือนซึ่งพลิกอ่านเจอร์นาลจนตาแฉะก็ยังไม่เคลียร์อยู่ดี

3. ประเด็นที่ว่าการทานยาต้านเอดส์แบบป้องกันล่วงหน้า (pre-exposure prophylaxis) มีผลทำให้ window period ต้องขยายออกไปไหม ขยายออกไปนานเท่าไร ประเด็นนี้ไม่มีใครทราบ ได้แต่เดากันไปคนละทาง หลักฐานจะจะก็ไม่มี มีกรณีที่รายงานว่าได้ยา PEP แล้ว window period ยาวขึ้นอยู่รายเดียว ซึ่งก็บังเอิญเป็นไวรัสตับอักเสบซี.ด้วย ทางการแพทย์เรียกว่ามีปัจจัยกวน จึงใช้เป็นหลักฐานอะไรไม่ได้ ดังนั้นประเด็นนี้ทิ้งไปดีกว่าครับ อย่าเก็บเอามาคิดให้ปวดหัวเลย

4. คุณบอกว่า “อยากจะจบเคสนี้เร็วๆ ครับแล้วกลับมามีความสุขสักที” ทำให้ผมคิดขึ้นมาได้ว่าเคยได้ฟังใครสักคนพูดน้า อาจจะเป็นครูของผมสมัยผมอยู่เมืองนอก หรือเป็นหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งที่เคยอ่านก็ไม่แน่ใจแล้ว เขาบอกว่า “If you want to be happy, be.” แปลว่า “ถ้าคุณอยากจะมีความสุข..ก็มีเสียสิ” แปลไทยให้เป็นไทยก็คือว่าการจะมีหรือไม่มีความสุข มันอยู่ที่เราเลือกจะมีหรือเลือกที่จะไม่มี เพราะความสุขก็คือสถานะทางอารมณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นผลจากการที่เราสนองตอบต่อสิ่งเร้าภายนอกอย่างไร สิ่งเร้าภายนอกในที่นี้ก็คือคุณเที่ยวมาแล้วถุงยางแตก คุณเลือกสนองตอบได้สองอย่าง ถ้าอยากจะมีความสุขคุณก็สนองตอบแบบว่า ฮ้า.. หมอสันต์บอกว่าปลอดภัยใกล้ 100% ชัวร์ป๊าด สบายใจละ ไปฉลองกันดีกว่า (คราวนี้ขอถุงสองชั้นนะ..พูดเล่น) แต่ถ้าคุณไม่อยากมีความสุขคุณก็สนองตอบแบบว่า ยังมีโอกาสเป็นไปได้อยู่อีกตั้ง 0.01% นะ เราจะแจ๊คพอตไหมเนี่ย แล้วถ้าเราแจ๊คพอตมันจะ...ฯลฯ แล้วก็คิด คิด คิด ฟุ้งสร้านสติแตก คุณจะเลือกสนองตอบแบบไหนละ คุณเลือกเองนะครับ ผมเปล่ายุ่ง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

...........................................

ขอบคุณมากครับ คุณหมอ ผมอ่านแล้วผมมั่นใจและสบายใจขึ้นเยอะมากเลยครับ ผมคงไม่ไปทำอะไรเสี่ยงๆ แบบนี้อีกแล้วครับ

moo
[อ่านต่อ...]

บริจาคเลือดแล้วพบว่าเป็นพาหะไวรัสบี. หมอว่าไม่เป็นไร

1.ทราบว่าตนเองเป็นพาหะ HBsAG จากการบริจาคเลือดเมื่อ ธ.ค.2553 แต่ทางศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ แจ้งว่าหากไม่มีอการอ่อนเพลีย ตาเหลือง ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา + มีภาวะโลหิตจาง (ธรรมดา) + ภูมิแพ้
2.หนูมีปัญหา คือ มาจัดฟันที่พญาไท 2 2.5 ปี จนเกือบจะได้รับการผ่าตัดขากรรไกร.และทราบจากเพื่อนที่ผ่านการผ่าตัดว่าต้องมีการใช้เลือด ซึ่งอาจจะมาจากการจองเลือดผู้อื่น หรือใช้เลือดจากการเก็บเลือดของตนเอง.. ในเคสนี้หนูจะใช้เลือดตัวเองได้ไหม ถ้าไม่ได้หนูจะหาทางรักษาพาหะดังกล่าวทันการผ่าตัดไหม
3. การผ่าตัดขากรรไกร..จำเป็นต้องใช้เลือดจริงๆ หรือเปล่า เพราะหากมองผิวเผินการผ่าตัดเคสนี้..ไม่น่าจะต้องใช้น่ะค่ะ
*กราบขอบคุณนะคะ..โดยส่วนตัวไม่ค่อยกล้าที่จะคุยเจาะจงกับคุณหมอผ่าตัด..เพราะเคยพอกันก่อนหน้าการจัดฟันค่ะ

จจ.
..............................................

ตอบครับ

1. การเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี. สามารถถ่ายเลือดให้ตัวเอง (autotransfusion) ได้ครับ ดีกว่าการรับเลือดจากคนอื่น เพราะการรับเลือดจากคนอื่นมีความเสี่ยงที่จะได้ไวรัสตับอักเสบซี.แถมมา อย่างไรก็ตามถ้าจำเป็นคุณก็สามารถรับเลือดจากคนอื่นก็ได้ ดังนั้นการเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี.จึงไม่ต้องเลื่อนแผนการผ่าตัดของคุณ

2. การผ่าตัดขากรรไกรล่าง ปกติไม่ต้องใช้เลือด แต่โดยหลักความปลอดภัย หมอต้องเตรียมเลือดไว้ให้พร้อม เผื่อมีเหตุการณ์นอกเหนือปกติที่ทำให้เลือดออกมาก การเตรียมการเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดา

3. การที่คุณไปบริจาคเลือดแล้ว blood bank ตรวจพบ HBsAg ได้ผลบวก แล้วแนะนำว่าถ้าไม่มีอาการอ่อนเพลียตัวเหลืองตาเหลืองไม่ต้องรักษา เป็นการให้ข้อมูลที่ผมคิดว่าสั้นเกินไป ถ้าคุณอยากทราบตื้นลึกหนาบางเรื่องนี้อย่างละเอียด ผมจะเล่าให้ฟัง คุณต้องตั้งใจอ่านอย่างมากนะ

การตรวจพบ HBsAg ได้ผลบวก แปลว่าคุณมีเชื้อไวรัสบี.อยู่ในตัว แปลว่าคุณเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี. ซึ่งมีประเด็นที่คุณควรทราบดังนี้

ประเด็นที่ 1. ระยะของโรค คือโรคนี้มี 3 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1. ระยะยังไม่รู้จักกัน (immune tolerance phase) หมายความว่าร่างกายยังไม่รู้จักเชื้อ ไม่รู้ว่านี่คือศัตรู จึงปล่อยให้อาศัยอยู่ได้อิสระ

ระยะที่ 2. รู้จักกันและเริ่มทำสงคราม (immune active หรือ immune clearance phase) เป็นระยะที่ร่างกายเริ่มรู้จักไวรัส และเม็ดเลือดขาวจับกินไวรัส ขณะเดียวกันไวรัสส่วนหนึ่งก็อาศัยเม็ดเลือดขาวเป็นสถานที่ก๊อปปี้เพิ่มจำนวนตัวเอง เป็นการสู้กัน มีความเสียหายต่อเซลตับ มีการอักเสบ มีอ่อนเพลียตัวเหลืองตาเหลือง

ระยะที่ 3. สงบศึกและยอมให้ไวรัสอยู่ (inactive chronic carrier phase) คือสู้กันไม่รู้แพ้ชนะ แต่พออยู่กันอย่างสงบได้ ไวรัสลดจำนวนลงไปมาก แต่ยังมีอยู่ในตัว ร่างกายก็ไม่ได้โถมปราบปรามแล้ว

ประเด็นที่ 2. คุณควรทำอย่างไรต่อไปดี คือเป้าหมายของการรักษาโรคนี้คือการป้องกันไม่ให้เป็นมะเร็งตับ เนื่องจากมะเร็งตับเป็นผลสืบเนื่องจากตับแข็ง ตับแข็งเป็นผลสืบเนื่องจากพังผืดแทรกตับ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากเซลตับเสียหาย ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการเกิดตับอักเสบตัวเหลืองตาเหลือง การป้องกันมะเร็งตับจึงมุ่งที่พยายามไม่ให้เกิดตับอักเสบขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้นคนที่เป็นโรคแน่นอนแล้วอย่างคุณนี้ ต้องไปหาหมอโรคตับ เพื่อเจาะเลือดอย่างละเอียดแล้วสรุปให้ได้ว่าโรคอยู่ในระยะไหน เพราะแต่ละระยะก็มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดตับอักเสบแตกต่างกันไป แต่ถ้ารอให้มีตัวเหลืองตาเหลืองก่อนค่อยไปหาหมอ นั่นก็หมายความว่าตับอักเสบเกิดขึ้นแล้ว ปฏิกิริยาลูกโซ่ที่นำไปสู่มะเร็งตับก็ยั้งไม่อยู่แล้ว พูดง่ายๆว่ารอไปหาหมอตอนโน้นก็สายเกินไป
ผมเดาว่าวัยคุณยังไม่มาก (จากการที่คุณจะไปเหลากรามอะไรนั่น) จึงมีความเป็นไปได้ที่โรคของคุณจะอยู่ในระยะที่ร่างกายยังไม่รู้จักเชื้อ (immune tolerance) เพราะหากคุณติดมาจากแม่ตั้งแต่สมัยคุณอยู่ในท้อง ร่างกายจะนึกว่าไวรัสนี่ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอม นึกว่าเป็นพวกเดียวกัน จึงอยู่กันมาได้ตั้งนานหลายสิบปีโดยไม่ได้กำจัด และปล่อยให้ไวรัสแบ่งตัวเพ่นพ่านเต็มไปหมด แต่โดยพฤติกรรมของไวรัส วันหนึ่งร่างกายต้องรู้จักว่านี่เป็นสิ่งแปลกปลอม และวันนั้นสงครามต้องเกิดขึ้น ซึ่งสงครามเกิดเมื่อไร ตับก็พังเมื่อนั้น รอแต่ว่าจะเกิดเมื่อไร แต่หมอจะป้องกันได้ด้วยการเลือกจังหวะใช้ยาต้านไวรัสและใช้ยาช่วยลดการอักเสบเสียหายที่ตับ ดังนั้นคำแนะนำก็คือคุณควรไปติดตามการรักษากับหมอโรคตับอย่างต่อเนื่อง ต้องเป็นหมอโรคตับ (hepatologist) นะ จึงจะพูดกันรู้เรื่อง เพราะบ่อยครั้งที่อย่าว่าแต่หมออายุรกรรม (intertnist) เลย แม้แต่หมอโรคทางเดินอาหาร (gastroenterologist) บางท่านก็ยังตามเรื่องวิธีรักษาไวรัสตับอักเสบบีไม่ทัน เพราะโรคไวรัสตับอักเสบบี.แบบเรื้อรังเป็นโรคทันสมัย มีข้อมูลใหม่ออกมาตลอดเวลา

ประเด็นที่ 3. ถ้าคุณไปหาหมอโรคตับ เขาจะทำอะไรกับคุณบ้าง เขาจะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมอีกเพียบ เช่นเจาะเลือดดู

-HBeAg (โปรตีนจากตัวไวรัสที่กำลังแบ่งตัว) เพื่อดูว่าไวรัสกำลังมีการแบ่งตัวอย่างระเบิดเถิดเทิงอยู่ในตัวคุณหรือเปล่า ถ้ามีก็แย่หน่อย

-Anti HBe (ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อไวรัสที่กำลังแบ่งตัว) เพื่อดูว่าร่างกายเริ่มรู้สึกรู้สมหรือยังว่ามีไวรัสเข้ามานะ ถ้าร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อยีนไวรัสแล้ว ก็จะเบาใจได้ว่าปลายทางสงครามนี้ร่างกายน่าจะเป็นฝ่ายชนะ

-Anti HAV (ภูมิคุ้มกันตับอักเสบเอ.) ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับไวรัสบี. ไม่ได้เป็นญาติกันด้วย แต่ข้อมูลนี้มีนัยสำคัญว่าควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสเอ.ก่อนไหม ดีกว่ารอให้ไวรัสสองชนิดสองแรงแข็งขันรุมยำตับเราให้เละ

-Anti HCV (ภูมิคุ้มกันเชื้อตับอักเสบซี) เพื่อให้แน่ใจว่างานนี้เป็นงานของบี. อย่างเดียว ซีไม่เกี่ยว ปัจจุบันเรายังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสซี. แต่ความรู้นี้ก็ช่วยให้เราระวังไม่รับการถ่ายเลือดซี้ซั้วเพื่อป้องกันไวรัสซี.ที่จะมากับการถ่ายเลือดได้

-HBV-DNA (คือตัวไวรัสตัวเป็นๆ) ว่ามีอยู่ในตัวกี่แสนกี่ล้านก๊อปปี้ ถ้ามีมากก็ปราบยากหน่อย

-SGOT/SGPT (คือเอ็นไซม์ของตับ) เพื่อดูว่ามีภาวะตับอักเสบอยู่หรือเปล่า เพราะถ้าตับอักเสบไม่มาก ดูภายนอกไม่มีอาการ แต่มีเอ็นไซม์ของตับออกมาในเลือดแล้ว แสดงว่าสงครามเกิดแล้ว หมอจะได้เข้าไปแทรกแซงได้ทัน

-Liver biopsy (คือการเอาเข็มจิ้มตับเพื่อเอาชิ้นเนื้อมาตรวจ) ปกติหมอจะไม่ทำ ยกเว้นข้อมูลอื่นๆชวนให้สงสัยว่าตับอักเสบเกิดขึ้นแล้วแต่พิสูจน์ไม่ได้ จึงจะทำ

ประเด็นที่ 4. การป้องกันโรคนี้ในหมู่คนใกล้ชิดคุณ คุณต้องเอาสามีและลูก (ถ้ามี) มาตรวจเลือดดูสถานะของโรคนี้ให้หมดทุกคน คือตรวจ HBsAg (ตัวเชื้อไวรัสบี) และ HBsAb (ภูมิคุ้มกันไวรัสบี) ถ้าไม่มีเชื้อ และยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ก็จับฉีดวัคซีนให้หมด ถ้ามีเชื้อแต่ไม่มีภูมิก็เหมือนคุณ ควรพาไปหาหมอพร้อมกับคุณเสียเลย

ประเด็นที่ 5. คุณควรเตรียมพร้อมฟูมฟักภูมิต้านทานของร่างกายคุณไว้ให้ดี ด้วยการพักผ่อนให้พอ ออกกำลังกายให้หนักพอและสม่ำเสมอ กินอาหารถูกส่วนซึ่งต้องหนักไปทางผักและผลไม้ และจัดการความเครียดทางใจให้ดี เพราะเมื่อวันทำสงครามที่สมรภูมิตับมาถึง ไม่มีอะไรช่วยคุณได้มากเท่าภูมิต้านทานของร่างกายตามธรรมชาติ


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Keeffe EB, Dieterich DT, Han SH, et al. A treatment algorithm for the management of chronic hepatitis B virus infection in the United States: an update. Clin Gastroenterol Hepatol. Aug 2006;4(8):936-62.
[อ่านต่อ...]

05 มกราคม 2554

จะผ่าตัดลดความอ้วน

ดิฉันอายุ 23 ปีคะ ตอนนี้ น้ำหนัก 110 kg สูง 163 cm คะ ดัชนีมวลกายอยู่ที่ประมาณ 43 คะ กำลังคิดว่าจะเข้ารับการรักษาโรงอ้วน เนื่องจากว่า มีอาการหายใจไม่ออก และเริ่มมีอาการ ปวดข้อเท้าคะ เนื่องจากดิฉันเป็นครูจึงต้องเดินและยืนบ่อยๆ และมักจะไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองมากนัก เดิมทีทางบ้านมีพันธูกรรมในเรื่องของ โรคความดันโลหิตสูง และ เบาหวานคะ พอตอนเริ่มรู้สึกกลัว แต่ก็ไม่สามารถลดน้ำหนักลงได้เลยคะ ทดลองมาหลายวิธีมากๆคะ ทั้งออกกำลังกาย ช่วงแรกลดเป็นสิบกิโลเลยคะ แต่พอ หลังๆไม่มีเวลาน้ำหนักก็เริ่มขึ้นมา และมากกว่าเดิมมากมายคะ ลองทั้งยาต่างๆ ผลิตภัณต่างๆก็ไม่สำเร็จคะ จึงอยากปรึกษาคุณหมอในเรื่องการผ่าตัดลดความอ้วน ว่าตัวดิฉันสามารถผ่าตัดได้หรือไม่คะ แล้วอย่าทราบเรื่องค่าใช้จ่ายด้วยคะ ว่าจะต้องใช้เท่าไร ขอคุณมากคะ

(แนส)

อยากทราบเหมือนกันค่ะ หนูอายุ 17 ปี น้ำหนักประมาณ 80 กว่าได้ สูง 166 ค่ะ มีอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่ค่อยจะทัน ปวดหัวเข่าด้วยค่ะ ตอนนี้มีอาการความดันโลหิตสูงอยู่ค่ะ ถ้าผ่าค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ค่ะ (แต่ก่อนหนูหนัก 72 แล้วก็ทานยาลดความอ้วนไป 5 เดือน ลดเหลือ 61 พอเลิกทานเอง น้ำหนักก็ขึ้นมาถึง 80 กว่าเลยค่ะ)

(น้ำ)

.................................

ตอบครับ

1. เอาประเด็นข้อบ่งชี้ของการผ่าตัดก่อน คือการผ่าตัดชนิดนี้ทางการแพทย์ถือเป็นไม้สุดท้ายไม่ใช่ว่าใครอยากผ่าก็จะได้ผ่า ต้องมีข้อบ่งชี้ หมอจึงจะผ่าตัดให้ได้ คือต้องอ้วนถึง class II (ดัชนีมวลกาย 40 ขึ้นไป) ถ้าดัชนีไม่ถึง 40 แต่เกิน 35 ขึ้นไปแต่มีโรคร่วมรุนแรงเช่นนอนกรนหรือเป็นเบาหวาน หมอก็ยอมผ่าตัดให้ กรณีคุณแนสไม่มีปัญหา แต่กรณีคุณน้ำยังผ่าตัดไม่ได้ เพราะดัชนีมวลกาย 29 เท่านั้นเอง นอกจากดัชนีมวลกายแล้ว หมอยังต้องดูความพร้อมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย เพราะหลังผ่าตัดผู้ป่วยต้องเข้าใจสรีรวิทยาของทางเดินอาหารที่จะถูกเปลี่ยนไปอย่างมากและต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามมากมาย ต้องทานแต่อาหารโปรตีนสูง ไขมันต่ำ และเสริมวิตามินแร่ธาตุเพียบ บางครั้งต้องใช้วิธีฉีด ซึ่งต้องเสริมกันตลอดชีวิต วิธีทานอาหารก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นมื้อเล็กๆ ทานทีละน้อย เคี้ยวอย่างละเอียดช้าๆแล้วจิบน้ำตาม จะผลีผลามทานแบบตะกรุมตะกรามไม่ได้ ดังนั้นถ้าเป็นคนไข้ประเภทพูดภาษาคนไม่รู้เรื่องหมอก็อาจไม่ยอมผ่าตัดให้เพราะผ่าแล้วปรับพฤติกรรมการทานอาหารตามไม่ได้ก็จะกลับมีปัญหามากกว่าก่อนผ่าเสียอีก

2. ประเด็นเทคนิคของการผ่าตัด การผ่าตัดที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบันคือวิธีที่เรียกว่า Bariatric surgery ซึ่งยังแตกแขนงมีลูกเล่นปลีกย่อยออกไปได้สองแบบ คือ (1) วิธีบีบกระเพาะ หรือ gastric restriction จะด้วยวิธีเอาเชือกมัดคอกระเพาะอาหารดื้อๆ เรียกว่า gastric banding ซึ่งอาจเอาปลายเชือกมาโผล่หน้าท้องไว้เผื่อรัดให้แน่นหรือคลายให้หลวมตามต้องการ หรืออาจจะเหลากระเพาะที่มีรูปทรงอ้วนท้วนทิ้งไปบางส่วนให้เหลือรูปทรงเรียวยาวเหมือนแขนเสื้อ sleeve gastrectomy ก็ได้ (2) วิธีบีบกระเพาะร่วมกับทำให้ขาดอาหาร (malabsorbtion) โดยทำทางให้อาหารลัดลำไส้ไปบางส่วน การผ่าตัดสามารถทำได้ทั้งแบบผ่าตัดผ่านกล้องและแบบเปิดหน้าท้องโล่งโจ้ง แบบแรกจะเป็นที่นิยมมากกว่า

3. เมื่อคิดจะผ่าตัดชนิดนี้ ต้องเตรียมเงินไว้ผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่งหลังจากนั้นด้วย เพราะเมื่อน้ำหนักลดลงฮวบฮาบหลังผ่าตัด หนังหน้าท้องและหน้าอกและข้อพับต่างๆจะพับย่นจนก่อปัญหาสุขศาสตร์ของผิวหนัง ต้องมาไล่ทำศํลยกรรมตกแต่งเอาผิวหนังส่วนที่เหลือออกอีกหลายรอบ

4. ค่าผ่าตัดเฉพาะ Bariatric surgery ถ้าทำกับหมอที่มีฝีมือดีใช้เงินโหลงโจ้งประมาณ 5 แสนบาท ไม่นับการทำศัลยกรรมตกแต่งแก้ปัญหาผิวหนังพับย่นหลังจากนั้นอีกต่างหาก

5. ที่คุณบอกว่าพยายามออกกำลังกายและปรับโภชนาการเต็มที่แล้วนั้น การที่คุณบอกว่าพักหลังไม่มีเวลา แสดงว่าคุณยังไม่เข้าใจว่าการ “เอาจริง” ในเรื่องการออกกำลังกายและโภชนาการนั้นคืออย่างไร องค์ประกอบของการลดความอ้วนมีสามอย่างคือออกกำลังกาย โภชนาการเพื่อลดแคลอรี่ และด้านจิตใจหรือความมุ่งมั่นที่จะทำ เรื่องมันยาวพูดตรงนี้ไม่จบ ผมเคยเขียนเรื่องนี้เป็นตอนๆลงไปในเว็บนี้แล้วคุณลองคุ้ยอ่านดู อีกอย่างหนึ่งรพ.พญาไท 2จะเอาคนที่ดัชนีมวลกายเกิน 25 จำนวน 10 คนไปเข้าค่าย ( 26-27 กพ. 54) เพื่อเรียนรู้การลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี ผมจะไปช่วยด้วย ผู้ป่วยเสียเงินไม่มาก (ประมาณไม่เกิน 6,000 บาท) ถ้าคุณสนใจลองโทรคุยกับคุณตู่ (0819008321) เขาจะรับคนน้ำหนักมากกว่าก่อน คุณมีสิทธิลุ้น


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

03 มกราคม 2554

ให้ช่วยแปลผลอุลตร้าซาวด์ช่องท้อง

เรียน คุณหมอสันต์ ที่เคารพ

ดิฉันได้อ่านความรู้ต่างๆที่คุณหมอเผยแพร่ในเว็บไซต์ ได้ความรู้หลายประการและได้อารมณ์ขันด้วย ดิฉันขอเรียนสอบถามเกี่ยวกับผลการทำอัลตราซาวด์มดลูกดังนี้นะคะ
ดิฉันอายุ 51 ปี เป็น ความดันโลหิตสูง และ ไฮโปไทรอยด์ ซึ่งควบคุมได้ กินยาตามแพทย์สั่ง และเป็นพาหะทาลัสสีเมียด้วยค่ะ เคยรักษาภาวะมีบุตรยาก จาก Endometriosis cyst (กินยา) และผ่าตัด ผังผืด และmyoma มาก่อน แล้วมาผ่าคลอดเมื่อปี 2540 ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมาดิฉันได้ทำ ultrasound ทุก 1-2 ปี คุณหมอบอกว่ามีเนื้องอกขนาดเล็ก ไม่น่าห่วง เมื่อ 8 ส.ค. 53 ดิฉันได้ทำ transvaginal ultrasound เนื่องจากมีอาการปวดท้องและปวดหน่วงที่ก้นมากกว่าปกติเวลามีประจำเดือน ได้ผลดังนี้นะคะ
Findings
Prominent globular shape antevert uterus with heterogeneous low echo, about 4.8x3.9x7.4 cm cm size. Several myomas are seen at posterior and right lateral wall, about 1.7-2.4 cm. One submucous myoma is noted at mid uterine portion, about 7mm in size. Normal endometrial echoes. Normal appearance of the left ovary. Right ovary shows few follicular cysts, about 1.2 and 2.2 cm. No adnexal mass or free fluid.
Impression
-Uterine adenomyosis with several myomas at posterior and right lateral wall. One submucous myoma at mid uterine portion, about 7mm in size.
-Few cysts at right ovary suggestive of follicular cysts.
คุณหมอบอกว่า ไม่ต้องทำอะไร myoma จะฝ่อไปเองเพราะใกล้ menopause แล้ว ดิฉันมีประจำเดือนค่อนข้างปกติ (รอบ 21-25 วัน)มี 2-3 วัน มีขาดหายไป 2-3 เดือนเมื่อปีที่แล้ว
แต่เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 53 ดิฉันได้ตรวจเลือดก่อนพบแพทย์ตามที่นัดหมาย ปรากฏว่าค่า CA 125 สูง (71.7 U/ml) ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีค่านี้มาก่อนเลย คุณหมอถามว่าจะผ่าตัดเอามดลูกออกไหม ดิฉันยังไม่ได้ตัดสินใจในเรื่องนี้ เพราะอยากศึกษาเพิ่มเติมให้ตัวเองเข้าใจพอสมควรด้วย
นอกจากนี้ แล้ว ดิฉันมีอาการปวดท้องด้านขวามาก แน่น มี แก็สตั้งแต่ปี 2008 ยังหาสาเหตุไม่ได้ ทำcolonoscopy ไปเมื่อ 2008 พบว่ามีinternal hemorrhoid ตั้งแต่นั้นดิฉันตรวจค่า CEA ทุกปี มีค่าไม่เกิน 7 มีอาการดีขึ้นหลังจากเลี่ยงอาหารนมเนย น้าเต้าหู้ และงดดื่มน้ำก่อนและหลังอาหารครึ่งชั่วโมง แต่ ครั้งนี้ค่า CEA ขึ้นไปเป็น 10.0 ng/ml ดิฉันไม่มีอาการท้องผูก และทานผักผลไม้และข้าวกล้องเป็นประจำ

จึงขอเรียนปรึกษาคุณหมอสันต์ ดังนี้ค่ะ

1. Prominent globular shape antevert uterus with heterogeneous low echo หมายความว่าอะไรคะ น่าเป็นห่วงไหมคะ
2. One submucous myoma คืออะไรคะ คุณหมเห็นว่าอย่างไรบ้างคะ
3. ควรตรวจอะไรเพิ่มเติม ก่อนการตัดสินใจตัดมดลูก เช่นการตรวจscc และcyfra21-1 (อ่านจาก web หนึ่ง)
4. จะมีวิธีรักษาอย่างอื่นไหมคะ
5. จากเงื่อนไขที่กล่าวมาและสภาพร่างกายที่เป็นอยู่ ดิฉันควรตัดสินใจผ่าตัดมดลูกหรือไม่
6. Myoma ชนิดนี้จะพัฒนาไปเป็นมะเร็งไหม
7. ถ้าตัดมดลูก ควรทำแบบใด เหลือรังไข่ไว้ได้หรือไม่ ดิฉันกังวลเรื่องฮอร์โมนตก

สุดท้ายนี้ ขออวยพรให้คุณหมอมีความสุขมีสุขภาพแข็งแรง และเป็นที่พึ่งของผู้ป่วยที่รอความหวังตลอดไป กราบขอบพระคุณค่ะ

สนน.

..............................

ตอบทีละข้อนะครับ

1. Prominent globular shape antevert uterus with heterogeneous low echo หมายความว่ามดลูกกลมเหน่งและกระดกหัวมาข้างหน้า เนื้อมดลูกมี แน่นสลับหลวม ถามว่าน่าเป็นห่วงไหม..ตอบว่าไม่น่าห่วงครับ

2. One submucous myoma ก็คือมีเนื้องอกมดลูกก้อนหนึ่งอยู่ใกล้กับเยื่อบุโพรงมดลูก ถามว่าผมเห็นว่าอย่างไรหรือครับ ผมก็เห็นว่ามันเป็นเรื่องปกติที่เนื้องอกมดลูกมันก็อยู่เปะปะไปเรื่อย ใกล้เยื่อบุบ้าง ใกล้ผิวนอกบ้าง

3. ควรตรวจอะไรเพิ่มเติมไหม เช่น การตรวจ scc และ cyfra21-1 โอ้โฮ.. มันจะโกโซบิ๊กแล้วนะครับ คือลำพังสารชี้บ่งมะเร็งที่คุณรู้จักเช่น CA 125 และ CEA มันก็ทำให้คุณตกใจพอแรงแล้วนะ นี่คุณจะไปตรวจหาสารชี้บ่งมะเร็งอื่นๆที่วงการแพทย์ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันหมายความว่าอย่างไร จะไม่ไปกันใหญ่หรือครับ ตัว SCC-Ag (squamous cell carcinoma antigen นั้นเป็นตัวที่มักจะสูงขึ้นเมื่อเกิดมะเร็งในเนื้อปอด ส่วน cyfra 21-2 (cytokeratin fragment) นั้นมักจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีมะเร็งเยื่อหุ้มปอด ทั้งสองตัวนี้วงการแพทย์ยังตกลงกันไม่ได้เลยว่ามันมีประโยชน์อะไรหรือเปล่าในแง่ของการคัดกรองโรค แต่พวกหากินทางทำแล็บก็เอามาเร่ขายเองตังค์กันแล้ว ถ้าคุณไม่อยากสติแตกก็อย่าไปยุ่งกับสารชี้บ่งมะเร็งมากกว่าที่คุณรู้จักแล้วเลยครับ

4. จะมีวิธีรักษาอย่างอื่นไหมคะ.. รักษาอะไรละครับ คุณยังไม่ทันได้เป็นอะไรเลย รักษามดลูกหัวกระดกนะรึ? (พูดเล่นนะครับ แหะ..แหะ)

5. ดิฉันควรตัดสินใจผ่าตัดหรือไม่ ผมแยกเป็นสองประเด็นนะ

5.1 ประเด็นเนื้องอกมดลูก (myoma) ผมเห็นว่าไม่ควรผ่าตัด เพราะข้อบ่งชี้การผ่าตัดก็คือมันต้องก่ออาการเช่นไปกดอวัยวะข้างๆเช่นกดกระเพาะปัสสาวะจนปวดปัสสาวะบ่อย หรือทำให้เลือดออกจากโพรงมดลูกแบบแยะมาก หรืออย่างน้อยก็มีขนาดโตขึ้นๆๆจนหมอสูติอดใจไม่ไหว ซึ่งถือเป็นมาตรฐานที่พ้องต้องกันโดยมิได้นัดหมายว่าอย่างน้อยก็ต้องโต 5 ซม.ขึ้นไปหมอสูติจึงจะจับผ่าตัดได้โดยไม่ถูกกล่าวหาว่าคันไม้คันมือเกินเหตุ

5.2 ประเด็นความกลัวมะเร็งรังไข่ อันนี้มันต้องพิจารณาแยกเป็นสามมุมมอง คือ

5.2.1 ภาพของรังไข่ ในกรณีนี้ก็คืออุลตร้าซาวด์ การที่พบถุงน้ำเล็กๆที่รังไข่ไม่ได้มีความหมายอะไรมาก เพราะหญิงทุกคนเมื่อเกิดการตกไข่ไปแล้วย่อมจะเหลือโพรงโบ๋โจ๋ (follicle) อยู่ที่รังไข่ ซึ่งต่อมามักกลายเป็นถุงน้ำ (follicular cyst) ดังนั้นสิ่งตรวจพบในกรณีอุลตร้าซาวด์ของคุณถือว่าเป็นซีสต์ปกติ มีโอกาสน้อยมากที่ซีสต์แบบนี้จะเป็นมะเร็ง น้อยจนไม่ต้องตัดสินใจรักษาซีสต์แบบนี้

5.2.2 ประเด็นค่า CA-125 ถ้าอยู่ดีๆมาเจาะดู CA-125 แล้วพบว่าสูงกว่าปกติอย่างคุณนี้ โอกาสเป็นมะเร็งรังไข่ (positive predictive value) มีเพียง 0.2% เท่านั้นเอง ซึ่งน้อยมากจนตัดทิ้งได้ไม่ต้องทำอะไรกับมัน แต่ถ้าภาพของรังไข่มีก้อนหรือซีสต์ที่รังไข่อยู่ ร่วมกับมี CA125 ที่ผิดปกติสูงขึ้นๆ เรื่อยๆ อันนี้ถือเป็นลางว่าก้อนหรือซีสต์นั้นอาจจะเป็นมะเร็ง

5.2.3 ประเด็นอาการ คือมะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งที่ไม่มีอาการของมันเอง พวกหมอถึงเรียกมันว่าเป็น silent killer แต่มันก็อาการอ้อมๆ เหมือนกัน หนึ่งในอาการอ้อมๆเหล่านั้นก็คือปวดท้องส่วนล่างโดยหาสาเหตุไม่ได้ ซึ่งคุณมีอาการแบบนี้อยู่และส่องตรวจลำไส้ใหญ่ไปแล้วก็ไม่พบอะไร จึงยังเป็นที่กังขาอยู่ว่าอาการมาจากอะไรกันแน่ แต่อาการแบบนี้มันก็มาจากอะไรก็ได้ร้อยแปด รวมทั้งโรค ป.ส.ล.ท.น. (ย่อมาจากประสาทลงท้องน้อย) หมายความว่าเซ็งอะไรขึ้นมาก็ปวดท้อง โดยที่ตรวจไม่พบอะไรเลยก็เป็นได้ เพราะอาการเป็นเรื่องอัตวิสัย (subjective) ทางแพทย์ถือว่าถ้าไม่มีหลักฐานอื่น จะไปเอานิยายกับอาการเป็นตุเป็นตะไม่ได้

เมื่อเอาทั้งสามมุมมามัดรวมกัน ก็พอประเมินได้ว่าตอนนี้ความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งรังไข่ของคุณพอจะมีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากถึงขั้นมีนัยสำคัญ แต่จะมีนัยสำคัญขึ้นมาทันทีหากเมื่อเวลาผ่านไปแล้วค่า CA-125 มันเพิ่มเอาๆหรือหากภาพอุลตร้าซาวด์พบว่าซีสต์ที่รังไข่มันกลายเป็นก้อนตัน ดังนั้นผมแนะนำว่าคุณน่าจะเลือกติดตามดู CA-125 และอุลตร้าซาวด์ไปสักทุก 3 เดือนหรือทุก 6 เดือน ถ้า CA- 125 มันสูงขึ้นๆๆ หรืออุลตร้าซาวด์เห็นก้อนตันที่รังไข่ ก็ค่อยผ่าตัดซะให้รู้แล้วรู้รอด

6. Myoma ชนิดนี้จะพัฒนาไปเป็นมะเร็งไหม ตอบว่าตามสถิติแล้วเนื้องอกมดลูกมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้น้อยมากๆ (extremely uncommon) น้อยจนไม่คุ้มที่จะผ่าตัดออกเพื่อป้องกัน

7. ถ้าตัดมดลูก ควรทำแบบใด เหลือรังไข่ไว้ได้หรือไม่ เพราะกังวลเรื่องฮอร์โมนตก ตอบว่า โธ่..ห้าสิบแล้ว เป็นอายุเฉลี่ยของวัยหมดประจำเดือนแล้ว ไม่ต้องห่วงฮอร์โมนอีกแล้วครับ ในกรณีของคุณนี้หากจะผ่าตัด ต้องยกยวงออกหมดลูกเดียว เพราะเป้าหมายการผ่าตัดคือเอารังไข่ออกมาตรวจเพื่อทั้งเป็นการวินิจฉัยและเป็นการรักษามะเร็งรังไข่ในคราวเดียวกัน จะเอาออกข้างเดียวก็ไม่ได้ เพราะจะรู้ได้ไงละครับว่ามันเป็นที่ข้างไหน หรือจะรู้ได้อย่างไรว่ามันไม่ได้เป็นทั้งสองข้าง อีกอย่างหนึ่ง การเป็นลูกผู้หญิงนี้พอประจำเดือนหมดแล้วอวัยวะสืบพันธ์ก็มีสภาพเหมือนหมาล่าเนื้อแก่ๆที่มีหมดปัญญาทำภาระกิจหลักแล้ว เลี้ยงไว้ก็มีแต่จะเปลืองข้าวสุกและก่อปัญหาไม่จบ เดี๋ยวเลือดออก เดี๋ยวเป็นมะเร็งปากมด เดี๋ยวเป็นมะเร็งโพรงมด เดียวเป็นมะเร็งรังไข่ ฯลฯ หมอสูติจึงนิยมยกยวงแบบ TAH-BSO (ย่อมาจาก total abdominal hysterectomy - bilateral oophorectomy แปลว่าตัดมดออกหมดเกลี้ยงทั้งตัวทั้งปากทั้งปีก แถมรังไข่อีกสองข้าง) ซึ่งถ้าเขาแนะนำอย่างนี้ก็อย่าไปว่าหมอสูติเขาห้าวนะครับ เพราะถ้าผมเป็นหมอสูติ ผมก็จะทำแบบนั้นเหมือนกัน..ม้วนเดียวจบ ดับเหตุได้สนิทไม่เหลือ แฮปปี้เอนดิ้งแน่นอน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]