31 กรกฎาคม 2561

รีทรีตฟื้นฟูผู้ป่วยมะเร็ง (Cancer Retreat) 4 วัน 3 คืน

ครั้งแรก 22-25 กย. 61

Motto "สิ่งที่ได้ผลดีที่สุดในการรักษามะเร็งของคุณคือ..ตัวคุณเอง"

     ความเป็นมา

     สิ่งที่วงการแพทย์รู้ในปัจจุบัน ยังห่างไกลที่จะรักษามะเร็งส่วนใหญ่ให้หายขาด รู้เพียงแต่ว่าระบบภูมิคุ้มกันและระบบฟื้นฟูตัวเองของร่างกายมนุษย์เป็นปราการที่เชื่อถือได้มากที่สุดในการรับมือกับโรคมะเร็งนี้ แต่กระบวนการรักษามะเร็งปัจจุบันพากันมุ่งไปที่จะกำจัดเซลมะเร็งออกไปจากร่างกาย แต่ไม่ได้ทำอะไรกับปัจจัยแวดล้อมภายในร่างกายที่เอื้อให้เกิดมะเร็งขึ้นมาจากเซลปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเครียดกังวล ความกลัว สัมพันธ์ภาพที่ลุ่มๆดอนๆกับคนรอบข้าง สไสตล์ชีวิตที่เร่งรีบกดดัน โภชนาการที่เต็มไปด้วยอาหารขยะ และการขาดเป้าหมายหรือขาดความหมายในชีวิต รีทรีตฟื้นฟูผู้ป่วยมะเร็งนี้จึงเปิดขึ้นมาเพื่อให้ผู้ป่วยได้เลิกวิถีชีวิตเดิมๆที่เอื้อให้เกิดมะเร็งขึ้นมานั้นเสีย หันมาทดลองใช้ไลฟ์สไตล์แบบใหม่ที่จะเพิ่มพูนพลังกายพลังใจให้เดินหน้าไปกับชีวิตใหม่ได้เต็มศักยภาพที่ธรรมชาติให้มา

     คอนเซ็พท์ของรีทรีตฟื้นฟูผู้ป่วยมะเร็ง

     ใช้ยุทธศาสตร์เจ็ดประการ คือ

     1. เปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่

     เลิกกลัวมะเร็ง เลิกมองมะเร็งว่าเป็นศัตรูของชีวิต มันเป็นเซลของเราเองที่กลายพันธุ์ไปอย่างกะทันหันซึ่งปกติก็เกิดอยู่บ่อยๆแต่ถูกทำลายทิ้งโดยระบบภูมิคุ้มกัน การที่มันแพร่พันธ์ุต่อได้เป็นการชี้บ่งว่าปัจจัยภายในร่างกายและสไตล์การใช้ชีวิตที่ผ่านมานั้นไม่เอื้อต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันแต่กลับไปเอื้อให้มะเร็งเติบโตจนเซลดีๆถูกเบียดเบียน
     ดังนั้น เมื่อรักษาตามกระบวนการแพทย์แผนปัจจุบันเช่นผ่าตัด ฉายแสง เคมีบำบัด จบแล้วก็ควรเลิกแสวงหาความช่วยเหลือภายนอกใดๆที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่าได้ผลเสีย แล้วหันกลับเข้ามาค้นหาตัวช่วยที่ภายในตัวเองเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและพลังในการฟื้นฟูตัวเองขึ้นมาใหม่ ความกลัวมะเร็งเป็นความเครียดที่ทำร้ายระบบภูมิคุ้มกัน ความกลัวทำให้ไขว่คว้าคาดหวังลมๆแล้งกับปัจจัยภายนอก ทั้งๆที่ศักยภาพหรือพลังมหาศาลที่จะเยียวยาตัวเองนั้นอยู่ที่ภายในและเป็นสิ่งที่ทุกคนมีอยู่แล้ว เราต้องเปิดพลังนี้ออกมาใช้ การฟื้นฟูตัวเองอย่างแท้จริงจึงจะเกิดขึ้น

     2. โฟกัสที่การจัดการความเครียดกังวล 

     ความเครียดไม่ใช่เป็นอะไรที่ "เกิดขึ้น" กับเรา แต่เป็นผลจากการที่เรา "สนองตอบ" ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร แม้ในสถานะการณ์คับขัน เราก็ยังเลือกวิธีสนองตอบได้อย่างไม่เครียดหากเราได้เรียนรู้เทคนิคการฝึกสติวางความคิดกลับไปสู่ความตื่นซึ่งจะทำให้เราพร้อมที่จะเลือกสนองตอบอย่างมีเหตุผล การฝึกสติสมาธิเพื่อการอยู่ในปัจจุบันก็ดี โยคะก็ดี ไทชิก็ดี หากรู้จักใช้ ล้วนเป็นเทคนิคที่จะเอื้อต่อการวางความคิดมาอยู่กับการรับรู้พลังงานของร่างกาย ซึ่งจะเป็นสะพานทอดไปหาความตื่นหรือความรู้ตัว อันเป็นที่สงบเย็นและมีศักยภาพและพลังฟื้นฟูตนเองมากที่สุด

     3. รู้ตัวทั่วพร้อม ผ่อนคลาย และตื่น

     การรับรู้พลังงานของร่างกายผ่านความรู้สึกบนผิวกายด้วยไทชิ เป็นการทิ้งความคิดมาอยู่กับพลังของร่างกาย การผ่อนคลายร่างกายด้วยโยคะ เป็นการปล่อยให้กายและใจถอยกลับมาสู่ความสุขอันเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของมัน จากจุดนี้จะนำไปสู่สมาธิซึ่งจะก่อให้เกิดพลังบวกต่อร่างกาย ในภาวะใจเป็นสมาธิ เมื่อปล่อยใจไปไม่ต้องควบคุม ในภาวะที่ปลอดความคิด ก็จะเข้าสู่ความตื่นหรือความรู้ตัวซึ่งเป็นธรรมชาติดั้งเดิมที่สงบสุข ที่ตรงนี้ปัจจัยภายนอกที่เร่งรัดกดดันร่างกายผ่านความคิดจะสลายไป ร่างกายจะเป็นตัวของตัวเองตามธรรมชาติระบบภูมิคุ้มกันที่เคยถูกกดไว้ไม่ให้ทำงานก็จะได้รับการปลดปล่อย ระบบฟื้นฟูซ่อมแซมร่างกายก็จะทำงานได้เต็มที่

     4. เปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตเสียใหม่

     รีทรีตฟื้นฟูผู้ป่วยมะเร็งไม่ได้มุ่งกำจัดเซลมะเร็ง แต่มุ่งฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมภายในที่ถูกกดดันเสียศูนย์จนมะเร็งขยายตัวได้ให้กลับมาทำงานได้ดีเต็มศักยภาพที่มีตามธรรมชาติของมัน นั่นหมายถึง วิธีคิด แบบแผนพฤติกรรมเดิมๆที่มีผลเสียต่อสุขภาพต้องถูกปรับเปลี่ยน
     มะเร็งคือสัญญาณเตือนให้ลงมือเปลี่ยนแปลง
     จากการเป็นผู้บ่มเพาะสิ่งเสียๆถมทับบนร่างกายมาเป็นผู้เสริมสร้างสิ่งดีๆให้ร่างกาย เปลี่ยนหมดไม่ว่าจะเป็นความคิดลบ อารมณ์ลบ ความสัมพันธ์ที่ไม่ดี หันมาเริ่มต้นกิจวัตรที่ทำสิ่งดีๆให้ตัวเอง ให้เวลาตัวเองอย่างน้อยวันละ 1-2 ชั่วโมง ซึ่งในรีทรีตนี้จะเรียกว่า morning ritual ใช้เวลานี้อยู่กับตัวเอง อยู่กับปัจจุบัน ออกกำลังกายให้ถึงมาตรฐานที่การแพทย์แผนปัจจุบันแนะนำ นอกจากนี้ยังทำ ไทชิ โยคะ ฝึกสติสมาธิ และต่อจากนั้นทั้งวันก็ใช้ชีวิตในลักษณะยอมรับสิ่งที่มีที่เป็นในปัจจุบันอย่างไม่มีเงื่อนไข ใช้สี่คำหลักคือ ขอบคุณ ขอโทษ ให้อภัย และเมตตา อย่างเป็นอาจิณ

     5. โภชนาการพืชเป็นหลักที่หลากหลายและไขมันต่ำ

     โภชนาการในรีทรีตเน้นอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ ไม่มีเนื้อสัตว์เลย เสริมวิตามินเท่าที่จำเป็น โดยไฮไลท์ให้ได้รับสารต้านอนุมูลอิสระที่หลากหลาย ทุกวันที่อยู่ในรีทรีตผู้ป่วยจะได้ดื่ม Trace Elements ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่คัดเอายอดพืชผักสมุนไพรที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงนับร้อยชนิดตามตำหรับรักษามะเร็งของแพทย์แผนไทย แผนอินเดีย แผนจีน แผนยุโรป ที่ปลูกอยู่ในสวนสมุนไพรในฟาร์มของเรามาในรูปแบบของผักสดมาปั่นแบบไม่ทิ้งกากเดี๋ยวนั้นเพื่อให้เป็นเครื่องดื่มประจำวัน เพื่อให้ร่างกายได้รับธาตุอาหารที่ต้องการน้อยแต่หายากครบถ้วน อันจะเป็นการเอื้อต่อการฟื้นตัวของระบบภูมิคุ้มได้เต็มที่

     6. ใช้ประโยชน์จากทุกเทคนิคโดดเด่นที่มนุษย์มี

     โดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์แผนปัจจุบันเป็นแก่นกลาง โดยมีแพทย์แผนปัจจุบันเป็นผู้กำกับควบคุม รีทรีตฟื้นฟูผู้ป่วยมะเร็งใช้ศาสตร์ทุกอย่างที่มนุษย์มีและที่มีหลักฐานแน่ชัดแล้วว่าไม่มีผลเสียมาร่วมฟื้นฟูร่างกายและจิตใจให้ผู้ป่วย ทั้งพืชผักสมุนไพร ของไทย อินเดีย จีน ยุโรป ที่ปลูกไว้ในฟาร์มของเราเอง ทั้งการแพทย์แผนไทย และการแพทย์แบบอายุรเวดะของอินเดีย ซึ่งรวมถึงระบบโภชนาการที่ดี วิตามินและอาหารเสริมตามความจำเป็น การบรรเทาปวด ด้วยวิธีต่างๆ เป็นต้น

     7. สร้างความบันดาลใจจากกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน

     นอกจากจะสร้างบรรยากาศให้แต่ละคนมีความมุ่งมั่นความบันดาลใจด้วยตัวเองแล้ว รีทรีตยังอาศัยกลุ่มหรือทีมของคนมีหัวอกเดียวกันซึ่งมีพลวัตที่มีลักษณะเฉพาะฟอร์มกันขึ้นมาเป็นกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน การเข้าร่วมกลุ่มแม้จะโดยตั้งใจจะไปช่วยสร้างความบันดาลใจให้คนอื่นแต่ผลสุดท้ายจะได้ความบันดาลใจนั้นเสียเองเป็นทวีคูณ นี่เป็นพลังที่เกิดขึ้นโดยที่เราทำเองไม่ได้ อนึ่ง ความบันดาลใจแม้จะสร้างขึ้นได้แล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะอยู่ยั้งยืนยง ยังต้องการกระบวนการกระตุ้นที่ต่อเนื่อง กลุ่มหรือทีมจะต้องพบกันบ่อย ให้โอกาสกันและกัน สนับสนุนกันและกัน โดยกลุ่มหรือทีมเมื่อตั้งขึ้นในรีทรีตแล้ว ก็จะสื่อสารช่วยเหลือเป็นกำลังใจให้กันและกันตลอดไป

ตารางกิจกรรมรีทรีตฟื้นฟูผู้ป่วยมะเร็ง

สถานที่: เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ (Wellness We care Center) มวกเหล็ก-เขาใหญ่

ครั้งแรก 22-25 กย. 61

วันแรก

8.00-14.00
Registration- Meet with doctor
-ลงทะเบียนเข้าแค้มป์ เช็คอินเข้าห้องพัก
-วัดดัชนีมวลกาย วัดความดันเลือด ตรวจหัวใจ (auscultation & ECG) ตรวจการทำงานของปอด (lung function) ตรวจบันทึกสภาพผิวหนัง จัดทำเวชระเบียนส่วนบุคคล
-แพทย์ตรวจร่างกายและวางแผนจัดการโรคร่วมกับแพทย์ (คนละ 20 นาที)
-พักรับประทานอาหารว่างและอาหารกลางวันในขณะผลัดกันเข้าพบแพทย์

14.00 - 16.00
Getting to know each other ทำความรู้จักกันและเรียนรู้เรื่องโรคของกันและกัน

16.00 – 16.30
Tea break พักรับประทานน้ำชา

16.30 - 17.30
Briefing. Concept of cancer retreat ยุทธศาสตร์ในการฟื้นฟูตนเองจากโรคมะเร็ง (นพ.สันต์)

18.00 - 20.30
Dinner and peer support group activity อาหารเย็นและกิจกรรมผ่อนคลายกับกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน

วันที่สอง

06.30 - 08.00 น.
Morning Ritual กิจวัตรยามเช้า
-Trace Element drink ดื่มเครื่องดื่มเทรซอีลีเมนท์
-Yoga relaxation โยคะแบบผ่อนคลาย
-Muscle strength training ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ

08.00 - 9.30 น.
รับประทานอาหารเช้า อาบน้ำ พักผ่อนส่วนตัว

9.30 – 10.30 น.
Immunity system ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายกับมะเร็ง

10.30 - 11.00  น.
Coffee Break พักดื่มกาแฟ

11.00 - 12.00 น.
Workshop. Awareness การวางความคิดกลับไปอยู่กับความตื่น

12.00 - 14.00 น.
Lunch Break พักรับประทานอาหารกลางวัน และพักผ่อนส่วนตัว

14.00 – 15.00 น.
Cancer Nutrition โภชนาการผู้ป่วยมะเร็ง

15.00 – 15.30 น.
Workshop. Walking meditation เดินจงกลม

15.30 - 16.00 น.
Coffee Break พักรับประทานน้ำชา

16.00 - 18.00 น.
Workshop. Microgreen and sprout การปลูกและใช้ต้นอ่อนและเมล็ดงอก

18.00 - 20.30
Dinner & Group activities รับประทานอาหารเย็นและผ่อนคลายกับกลุ่ม

วันที่สาม

06.30 - 08.00 น.
Morning Ritual กิจวัตรยามเช้า (ในสวน)
-Trace Element drink ดื่มเครื่องดื่มเทรซอีลีเมนท์
-Taichi ไทชิ
-Body scan & relaxation รู้ตัวทั่วพร้อมและผ่อนคลาย
-Posture and balance exercise ท่าร่างและออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัว

08.00 - 9.30 น.
รับประทานอาหารเช้า อาบน้ำ พักผ่อนส่วนตัว

9.30 – 10.30 น.
Workshop. Peer support group activities จัดตั้งกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน

10.30 - 11.00  น.
Coffee Break พักดื่มกาแฟ

11.00 - 13.00 น.
Workshop. PBWF cooking การทำอาหารพืชเป็นหลักไขมันต่ำและอาหารกลืนง่าย

13.00 - 14.00 น.
Lunch Break พักรับประทานอาหารกลางวัน และพักผ่อนส่วนตัว

14.00 – 15.00 น.
Nervous system and stress ระบบประสาทและความเครียด

15.00 – 16.00 น.
Coping with pain การรับมือกับอาการปวด

16.00 - 16.15 น.
Coffee Break พักรับประทานน้ำชา

16.15 - 18.00 น.
Workshop. Herb garden tour ทัวร์สวนสมุนไพร (ฟาร์ม)

18.00 - 20.30
Dinner & Group activities
รับประทานอาหารเย็นและร้องเพลงผ่อนคลายกับกลุ่ม

วันที่สี่

06.30 - 08.00 น.
Morning Ritual กิจวัตรยามเช้า
-Trace Element drink ดื่มเครื่องดื่มเทรซอีลีเมนท์
-Aerobic exercise ออกกำลังกายแบบแอโรบิก (บ้านบนเขา)
-Tai chi ไทชิ

08.00 - 9.30 น.
รับประทานอาหารเช้า อาบน้ำ พักผ่อนส่วนตัว

9.30 – 10.30 น.
Living with cancer เรียนรู้เทคนิคดีๆจากประสบการณ์ของผู้เปลี่ยนชีวิตตัวเองได้เมื่อรู้ว่าเป็นมะเร็ง

10.30 - 11.00  น.
Coffee Break พักดื่มกาแฟ

11.00 - 12.00 น.
Peer to peer sharing แชร์ประสบการณ์เทคนิคการวางคิด (ความคาดหวังและความกลัว) ในกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน

12.00 - 14.00 น.
Lunch Break พักรับประทานอาหารกลางวัน และพักผ่อนส่วนตัว

14.00 – 1600 น.
Personal consultation นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ตอบคำถามและให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพส่วนตัวเป็นรายคน รวมทั้งปรึกษาผลแล็บ เอกซเรย์และผลการตรวจพิเศษต่างๆ โดยผู้ร่วมแค้มป์ท่านอื่นสามารถนั่งฟังและร่วมแชร์ความรู้และประสบการณ์กันในห้องได้

16,00           
ปิดแค้มป์
             
ค่าลงทะเบียน

     ราคาในปี2561 ท่านละ 9,000 บาท รวมอาหารทุกมื้อ ที่พัก อุปกรณ์การเรียน แต่ไม่รวมค่าเดินทางยังเวลเนสวีแคร์ (ผู้เรียนต้องเดินทางไปเอง) ที่พักนอนคู่สองคนต่อห้อง

วิธีลงทะเบียนเข้าเรียน

   ลงทะเบียนผ่านเว็บไซท์ได้ที่

https://www.wellnesswecare.com/th/program/good-health-by-yourself-th/13 ถ้าไม่สำเร็จให้โทรศัพท์หาคุณเอ๋ย (เชิญขวัญ) ที่เบอร์ 0636394003
การเตรียมตัวไปเข้าคอร์ส

     แนะนำให้เตรียมเครื่องแต่งกายที่ออกกำลังกายสะดวก ควรมีรองเท้าผ้าใบที่เดินบนพื้นหินขรุขระได้ และควรมีหมวกกันแดด และครีมกันแดด

การเดินทางไปเข้าคอร์ส

     สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว รถตู้กทม.-มวกเหล็ก (ขึ้นที่ใต้ทางด่วนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) หรือรถไฟ (ลงสถานีมวกเหล็ก) ในกรณีเดินทางด้วยรถตู้หรือรถไฟ ต้องหารถรับจ้างจากตลาดมวกเหล็กเข้ามาส่ง ค่ารถมอเตอร์ไซค์ส่งจากตลาดราว 100 บาท ที่เวลเนสวีแคร์ ซึ่งตั้งอยู่ในมวกเหล็กวาลเลย์ อยู่ห่างจากตลาดมวกเหล็กราว 4 กม. อาจให้รถตู้จากกทม.แวะเข้ามาส่งก็ได้โดยต้องเพิ่มเงินให้เ้ขาประมาณ 120 บาท ในกรณีที่จะให้เวลเนสวีแคร์ช่วยระสานงานหารถรับจ้างเหมาไปจากกทม. ต้องติดต่อล่วงหน้า ค่าจ้างแทกซี่ 1,500 บาทเฉพาะขาไปจากกทม.ขาเดียว หรือ 3,000 บาทสำหรับการไปส่งแล้วไปรับกลับกทม. เวลเนสวีแคร์ไม่มีบริการขนส่ง ต้องจัดหาเอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

.......................................
[อ่านต่อ...]

27 กรกฎาคม 2561

ไม่ให้ใช้ไขมันทรานส์ แล้วคนทำเบเกอรี่จะทำมาหากินอย่างไร

เรียนคุณหมอสันต์
หนูมีอาชีพทำเบเกอรี่ขาย ตอนนี้ลูกค้าประจำต่างรุมถามว่าหนูมีเบเกอรี่ที่ไม่มีไขมันทรานส์ไหม พอหนูอ้ำๆอึ้งๆเขาก็ไม่ซื้อ หนูเองก็ยังไม่รู้เลยว่าชีวิตหนูและลูกจ้างอีกสองคนจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะรัฐบาลไม่เห็นบอกเลยว่าห้ามใช้ไขมันทรานส์หรือเนยเทียมแล้วจะให้หนูเอาอะไรมาแทน เนยเทียมอุ้มน้ำและฟองอากาศได้ดีกว่าเนยแท้ ทำให้เค้กฉ่ำแต่เบาน่าทานและรสชาติก็กลมกล่อมกว่า หนูยอมรับได้ที่รัฐบาลสั่งเลิก เพราะหนูเองก็มีไขมันในเลือดสูงจึงได้ทำให้มารู้จักบล้อกของคุณหมอนี่ไง แต่คุณหมอแนะนำหนูหน่อยว่าหนูควรจะเอาอะไรมาแทน อย่าบอกว่าให้หนูเลิกทำเบเกอรี่เพราะกว่าหนูจะตั้งร้านรวงซื้อข้าวซื้อของมาได้ขนาดนี้หนูใช้เวลาเกือบ 20 ปี ถ้าบังคับให้หนูเลิกหนูตายดีกว่า

..............................................

ตอบครับ

    ผมตัดคำขึ้นต้นจดหมายของคุณ โดยตัดคำว่ากราบออกไปเสีย เพราะรู้สึกว่ามันมากเกินไป พูดถึงเรื่องไขมันทรานส์ เช้าวันหนึ่งภรรยาบอกผมว่า

     "คุณพูดถึงไขมันทรานส์มานานไม่เห็นมีใครขยับอะไรเลย แต่พอรัฐบาลออกกฎหมายห้ามใช้ไขมันทรานส์เท่านั้นแหละทุกคนเต้นกันใหญ่"

     เป็นความจริงที่ว่าผมได้พยายามพูดถึงผลร้ายของไขมันทรานส์มาเป็นเวลาประมาณสิบปี ส่วนใหญ่ด้วยวิธีที่นุ่มนวล อย่างเมื่อหกปีก่อนผมจำได้ว่าได้เขียนบทความกึ่งตลกชิ้นหนึ่งเพื่อเตือนให้ท่านผู้อ่านรู้จักพิษภัยของไขมันทรานส์ ชื่อบทความว่า "ชั่วร้ายกว่าน้ำมันหมู" นอกจากเขียนและบรรยายซ้ำๆซากๆแล้ว ผมยังพยายามพูดคุยกับแพทย์ที่มีอำนาจหน้าที่ที่จะผลักดันการออกกฎหมายห้ามการใช้ไขมันทรานส์ทำอาหารขาย แต่พูดไปๆก็ไลฟ์บอยเพราะพูดไปแล้วก็เงียบเหมือนเป่าสาก จนผมเองถอดใจเลิกราเรื่องนี้ไปแล้ว  มาวันนี้มีกฎหมายบังคับให้เลิกไขมันทรานส์ออกมาใช้จริงๆแล้ว แต่จดหมายของคุณทำให้มองเห็นว่าเมื่อแก้ปัญหาหนึ่งก็เกิดอีกปัญหาหนึ่ง คือสั่งเลิกไขมันทรานส์แล้วคนจำนวนมากที่แขวนชีวิตอยู่กับการผลิตและการขายเบเกอรี่มวลชน (ราคาถูก) ก็มีปัญหาว่าจะดำรงชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไร ความจริงเรื่องมันไม่ได้ซีเรียสขนาดนั้น เขาไม่ได้ห้ามทำเบเกอรี่ขาย เขาห้ามใช้ไขมันทรานส์ทำแค่นั้นเอง ไม่ใช่ไขมันทรานส์ก็ทำเบเกอรี่ได้ ไม่เห็นจะมีปัญหาเลย

     ถามว่าถ้าไม่ใช้ใช้ไขมันทรานส์ จะเอาอะไรมาแทนเนยเทียมในเบเกอรี่ ตอบว่าตัวเลือกก็มีเยอะอยู่นะ ผมขอตอบรวมไปทั้งอาหารทุกชนิดเลย ไม่จำกัดเฉพาะเบเกอรี่ เพราะหลักการทดแทนมันเหมือนกัน

     ตัวเลือกที่ 1. หันกลับไปหาเนยแท้ ซึ่งเป็นไขมันอิ่มตัวตามธรรมชาติ แน่นอนว่ามันออกกลิ่นหืนๆหน่อย คุณก็ต้องลดปริมาณการใช้ลง ดีเสียอีกที่ลูกค้าจะได้รับไขมันจากอาหารน้อยๆ เพราะเนยแท้ซึ่งเป็นไขมันอิ่มตัวนี้ แม้จะไม่ชั่วร้ายเท่าไขมันทรานส์แต่วงการแพทย์ก็ยังถือว่าไม่ใช่ของดี คือถูกนับเป็นหนึ่งในสี่ของสารในอาหารที่คอนเซ็พท์โภชนาการสมัยนี้แนะนำให้กินให้น้อยลง (ไขมันทรานส์ ไขมันอิ่มตัว น้ำตาล เกลือ) ข้อเสียของตัวเลือกนี้ก็คือต้นทุนแพงขึ้นหน่อย และมันอยู่บนหิ้งได้ไม่นานเพราะหืนง่าย คุณก็ต้องวางระบบจัดส่งให้ถึงปากลูกค้าให้ไวขึ้น

      ตัวเลือกที่ 2. ใช้ไขมันที่ได้จากการเอาน้ำมันพืชมาใส่ไฮโดรเจนให้เต็ม (fully hydrogenated oil) คือไขมันทรานส์เป็นน้ำมันที่มนุษย์ทำขึ้นโดยเอาน้ำมันพืชชนิดไม่อิ่มตัวเช่นน้ำมันถั่วเหลืองมาใส่ไฮโดรเจนลงไปบางส่วน (partial hydrogenated) คำว่าไม่อิ่มตัวก็หมายความว่าโมเลกุลมีแขนว่างที่จะอ้ารับอะตอมไฮโดรเจนเข้าไปอยู่ด้วยได้อีก เมื่อใส่ไฮโดรเจนเข้าไปบางส่วนโมเลกุลที่ได้จึงมีแขนที่อิ่มตัวแล้วบ้าง แขนที่ไม่อิ่มตัวค้างอยู่บางส่วนบ้าง นั่นเป็นเอกลักษณ์ของโมเลกุลชนิดทรานส์ หากใส่ไฮโดรเจนลงไปให้เต็มแม็กจนแขนที่ว่างอยู่ทุกแขนรับเอาไฮโดรเจนเข้าไว้เต็มหมดเกลี้ยงโมเลกุลของมันก็จะกลายเป็นไขมันอิ่มตัวคล้ายน้ำมันหมูน้ำมันวัว แต่ไม่ใช่ไขมันอิ่มตัวตามธรรมชาติ เป็นไขมันอิ่มตัวแบบประดิษฐ์ รสชาติก็จะเป็นแบบประดิษฐ์ๆ ไม่มีกลิ่นของกรดไขมันอิสระอย่างน้ำมันหมูน้ำมันวัว ซึ่งอาจจะถูกปากคนที่คุ้นเคยกับไขมันทรานส์ ผลต่อสุขภาพในระยะยาวจะเป็นอย่างไรก็ยังไม่มีใครทราบ ทราบแต่ว่าไม่ผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายห้ามแต่ไขมันทรานส์ (partially hydrogenated) แต่นี่เป็นไขมันอิ่มตัวแล้ว (fully hydrogenated) โดยนิยามก็ไม่เรียกว่าไขมันทรานส์แล้ว และไม่ผิดกฎหมาย

     ไขมันแบบ fully hydrogenated นี้ทำขายกันเกร่อแล้วในอเมริกาและยุโรป ครีมเทียมใส่กาแฟเจ้าดังบางเจ้าก็เปลี่ยนไปใช้แบบนี้หมดแล้ว หากคุณจะหาซื้อในเมืองไทยผมมั่นใจว่าหาซื้อได้ไม่ยาก ราคาก็ต้องยอมรับว่าแพงกว่าไขมันทรานส์แบบเดิมแน่นอนเพราะขั้นตอนการทำยากกว่า

     นอกจากไขมันอิ่มตัวแบบมนุษย์ทำขึ้นแล้ว ยังจะมีกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่เอาน้ำมันพืชหลายชนิดเช่นน้ำมันดอกทานตะวัน ถั่วเหลือง เมล็ดฝ้าย มาคลุกเคล้ากันแล้วทำให้กลายเป็นไขมันชนิดใหม่ที่กลั่นหรือกรองเอาไขมันทรานส์ออกไปหมดแต่ยังคงเท็กซ์เจอร์และรสชาติใกล้เคียงไขมันทรานส์ แล้วเอาออกมาขายโดยพะป้ายว่าเป็น "เนยเทียมที่ไม่มีไขมันทรานส์" คุณไม่ต้องห่วง มันมาแน่ คุณเลือกช็อพเอาได้ตามกลิ่น สี และรสชาติที่ชอบ

     ตัวเลือกที่ 3. ใช้ไขมันอิ่มตัวจากพืชธรรมชาติ (saturated plant oil) ซึ่งก็คือน้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ซึ่งให้เท็กซเจอร์ที่ครีมมี่น่ากินได้ไม่แพ้ไขมันอิ่มตัวจากสัตว์ดอก แถมได้ใจคนกินมังกินเจอีกด้วย ศักดิ์ศรีในแง่ผลต่อสุขภาพอย่างน้อยก็ไม่ได้เลวไปกว่าน้ำมันหมูน้ำมันวัว ส่วนจะดีกว่าหรือไม่นั้น ต้องรอดูตามคำพังเพยที่ว่า "หนทางพิสูจน์ม้า เวลาพิสูจน์คน" ส่วนราคานั้น ถ้าเป็นน้ำมันปาล์มก็พอสูสี แต่ถ้าเป็นน้ำมันมะพร้าว ฮี่ ฮี่ เค้กมะพร้าวของคุณจะขายก้อนเท่าไหร่ครับ

     ตัวเลือกที่ 4. ทำเบเกอรี่จากไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (monounsaturated oil) เช่นน้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา โดยใช้ผลไม้บดหรือปั่นหมาดๆ (fruit puree) เข้ามาช่วยสร้างเทกซ์เจอร์ นี่เป็นนวัตกรรมทางอาหารนะ อย่าไปตั้งธงว่าทำไม่ได้ ไม่ลองดูก่อนจะรู้เรอะ

     พูดถึงการตั้งธงว่าทำไม่ได้ ในเรื่องการครัวนี้ไม่มีอะไรหรอกที่มันจะทำไม่ได้ ผมโชคดีที่ครัวปรานาที่ผมตั้งขึ้นมีเชฟซึ่งมีนิสัยพูดน้อยและไม่เคยเถียงว่าอะไรทำไม่ได้ ตอนเปิดเวลเนสวีแคร์ใหม่ๆ ผมให้เขาหาขนมปังโฮลวีทมาไว้ให้แขกทาน เขาคัดสรรยี่ห้อซึ่งเอ่ยชื่อทุกคนก็ต้องร้องอ๋อมาให้ ผมอ่านดูป้ายชื่อมีคำว่าขนมปังโฮลวีทตัวโตๆ อ่านดูฉลากพบว่าเข้าใช้แป้งโฮลวีทเพียง 21% ที่เหลือเป็นแป้งขัดขาว และมีส่วนผสมของเนยเทียมและน้ำตาลด้วย ผมบอกเชฟว่าคุณทำเองดีกว่า คุณจะใส่อะไรก็ได้ ถั่ว นัท ผัก ผลไม้ คุณใส่ได้ทั้งนั้น แต่ใช้กฎ "ห้าห้ามหนึ่งต้อง" คือห้ามใช้เนยเทียม ห้ามใช้เนยแท้ ห้ามใช้ครีมเทียม ห้ามใช้น้ำมันทุกชนิด ห้ามใช้น้ำตาล และต้องใช้แต่แป้งโฮลวีท 100% เท่านั้น 99% ก็ไม่ได้ เขาหายเข้าครัวไปหลายวันแล้วกลับออกมาด้วยขนมปังแข็งโป๊กทั้งแข็งทั้งมันทั้งจืดแถมมีกลิ่นแกลบหรือกลิ่นรำนิดๆ ผมบอกเขาว่าใช้กฎเดิม แต่ทำให้มันหวานกว่านี้หน่อย นุ่มกว่านี้หน่อย ให้ความร้อนมันมากๆหน่อยจะได้กลบกลิ่นของแป้งโฮลวีทที่ไม่ชินจมูกคนไทย เขาก็ไปทำมาจนได้ โดยเอาผลอินทผาลัมแห้งมาป่นเป็นผงผสมเข้าไปให้มีรสหวานเพิ่มขึ้น ลดอุณภูมิการอบลงเพื่อให้แป้งฟูได้มากขึ้น ขยายเวลาอบให้นานขึ้นเพื่อให้มันเกรียมกว่าเดิม ซึ่งก็คือขนมปังที่ให้แขกทานทุกเช้าที่เวลเนสวีแคร์ทุกวันนี้นั่นเอง 

     ตัวเลือกที่ 5. ทำเบเกอรี่ที่ไม่ใช้น้ำมันเลย อย่า อย่า เพิ่งรีบสรุปว่าทำไม่ได้ เสียดายที่หมอสันต์ไม่ได้มีอาชีพทำเบเกอรี่นะ ไม่งั้นได้เห็นดีกัน ลองทำดูก่อน อย่าพูดว่าทำไม่ได้ ถ้าคุณทำได้นี่เป็นผลงานขั้นเทพ เพราะนโยบายของวงการแพทย์ทุกวันนี้ที่ให้คนกินน้ำมันเยอะๆแล้วให้กินยาลดไขมันตามไปแก้นั้นมันเป็นนโยบายที่ผิดทั้งหลักวิทยาศาสตร์และหลักพุทธธรรม เพราะสิ่งทั้งหลายเกิดแต่เหตุ มันก็ต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ ไขมันในเลือดมันสูงเพราะกินเอาไขมันแคลอรี่ส่วนเกินเข้าไป มันก็ต้องไปแก้ไขที่อาหารการกิน จะไปแก้ที่อื่นที่ไม่ใช่เหตุมันจะไปแก้ได้อย่างไร ดังนั้นคุณลองทำหน่อยเถอะ แผ่นดินนี้จะสูงขึ้นทันทีถ้าคุณทำเบเกอรี่ที่ไม่ใช้น้ำมันเลยออกมาขายได้ ทำสำเร็จแล้วเอามาให้ผมช่วยโฆษณาให้ก็ได้นะ ผมจะโฆษณาให้ฟรี

     แถมอีกนิดหนึ่ง ไขมันทรานส์ส่วนหนึ่งมาสู่ร่างกายเราเพราะการใช้น้ำมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (เช่นน้ำมันถั่วเหลือง) ผัดทอดอาหารด้วยความร้อนสูง เพราะที่ความร้อนสูงระดับ 245 องศา น้ำมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนส่วนหนึ่งจะกลายเป็นไขมันทรานส์ ดังนั้นการไม่ผัดไม่ทอดอาหารเลยจึงดีที่สุด ถ้าอยากจะผัดอยากจะทอดก็อย่าใช้น้ำมัน คือใช้น้ำหรือใช้ลมร้อนแทน ถ้าจำเป็นต้องใช้น้ำมันก็ให้ใช้น้อยที่สุด ใช้ความร้อนต่ำที่สุด และหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน คือเปลี่ยนไปใช้น้ำมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (เช่นน้ำมันมะกอก) หรือน้ำมันอิ่มตัว (เช่นน้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว) แทน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

จดหมายจากท่านผู้อ่าน
Ladda Ladda
น้ำมันปาล์มไม่ใส่ไฮโดรเจนกันหืนหรือคะ เคยเห็นพ่อค้าแม่ค้าใช้น้ำมันมะพร้าวผ่านกรรมวิธีเป็นถุงๆ น้ำมันปาล์มก็ผ่านกรรมวิธีเป็นขวดและเป็นถุง น้ำมันปาล์มผ่านกรรมวิธีและน้ำมันมะพร้าวผ่านกรรมวิธีเป็นไขมันทรานส์มิใช่หรือ???

ตอบครับ

1. คำว่าน้ำมันที่ผ่านกระบวนการ (processed oil) เป็นคำหลวมๆที่ไม่มีนิยามแน่ชัด เพราะทำอะไรกับน้ำมันก็เป็นกระบวนการ (processing) หมด แต่ในแง่ของการสร้างไขมันทรานส์ นัยสำคัญอยู่ที่กระบวนการใส่ไฮโดรเจนเข้าไปในไขมันบางส่วน (partially hydrogenation) ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างไขมันทรานส์โดยตรง ส่วนกระบวนการอื่นเช่นกระบวนการปั่น การกรอง การหีบนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการทำไขมันทรานส์ ดังนั้นน้ำมันชนิดไหนถูกทำให้เป็นไขมันทรานส์หรือไม่ให้มองหาคำว่า partially hydrogenation ในฉลาก และผมแนะนำว่าอย่าสับสนเอาคำว่า "ผ่านกระบวนการ" ไปปะปนกับ "partially hydrogenation" เพราะจะทำให้เข้าใจผิดว่าน้ำมันทั้งตลาดเป็นไขมันทรานส์หมด เพราะมีหมอฝรั่งบางคนจงใจเขียนหนังสือเพื่อให้คนสับสนเช่นนี้เพื่อจะขายความน่าสนใจหนังสือของตัวเองซึ่งโจมตีการบริโภคน้ำมันพืชแบบตะพึด

2. น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ส่วนประกอบหลักเป็นไขมันอิ่มตัว (90%) มีส่วนน้อยเป็นไขมันไม่อิ่มตัว ไม่มีไขมันทรานส์เลย

3. มีการนำน้ำมันปาล์มน้ำมันมะพร้าวไปผลิตเป็นเนยเทียมหรือวัสดุผสมอาหารอย่างอื่นที่ต้องการสถานะภาพของแข็ง จึงต้องทำให้มันแข็งขึ้นโดยการใส่ไฮโดรเจนเข้าไปเพื่อทำให้น้ำมันส่วนที่เป็นไขมันไม่อิ่มตัวกลายเป็นไขมันทรานส์ น้ำมันชนิดนั้นเรียก hydrogenated palm oil หรือ hydrogenated coconut oil ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นของแข็ง เป็นกระบวนการพิเศษที่ใช้ทำเนยเทียมหรือสร้างความเป็นของแข็งให้กับน้ำมัน ไม่ใช่กระบวนการทำน้ำมันปาล์มหรือน้ำมันมะพร้าวที่ใช้ปรุงอาหารทั่วไป

4. ความสับสนทั้งหลายสำหรับผู้บริโภคจะหมดไปเมื่อกฎหมายใหม่ที่จะออกมาบังคับให้เขียนข้างฉลากว่า trans fat มีกี่กรัม ดังนั้นการอ่านฉลากก็จะบอกได้ว่าอาหารนั้นมีไขมันทรานส์อยู่หรือไม่

นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

26 กรกฎาคม 2561

สะเก็ดเงิน กับการไม่ยอมรับ (non-acceptance)

เรียน นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

 ดิฉันอายุ 43 ปี ได้สนใจปฏิบัติธรรมตามแนวทางที่คุณหมอแนะนำจริงจังมาเป็นปีแล้ว ความบันดาลใจส่วนหนึ่งดิฉันเป็นโรคสะเก็ดเงิน ไม่สวย บางช่วงถึงกับน่าเกลียด ทั้งคัน ทั้งปวด ทั้งเครียด หมอก็ได้แต่บอกว่ามันเป็นโรคที่ไม่หาย แต่ก็ให้ยาจัง ตอนนี้ได้ Azathioprine และ Neo-Tigason และ Cyclosporine ดิฉันอยากถามคุณหมอสันต์ว่า
1. โรคสะเก็ดเงินนอกจากรักษาด้วยยากินแล้วมีวิธีรักษาอย่างอื่นอีกไหม
2. คนเป็นสะเก็ดเงินควรกินอาหารอย่างไร
3. คนเป็นสะเก็ดเงินควรออกกำลังกายอย่างไร
4. การปฏิบัติธรรมมีผลต่อสะเก็ดเงินอย่างไร
5. เมื่อหันมาปฏิบัติธรรมแล้วทำไมมีความคิดลบมากขึ้น มีความกลัวว่าสะเก็ดเงินจะเป็นมากขึ้นบ้าง กลัวโน่นกลัวนี่บ้าง มีความโกรธ มีความอิจฉา โดยเฉพาะอิจฉาน้องสาวที่เขาสวยกลายเป็นดาวดวงเด่นเป็นขวัญใจทุกคนขณะที่ดิฉันเป็นหญิงตัวลาย และบางครั้งมีความเกลียด เกลียดคนที่ใจแคบและปิดกั้นคนที่ไม่เหมือนตัวเอง สรุปว่ายิ่งปฏิบัติธรรมยิ่งทุกข์ ดิฉันควรจะทำอย่างไร
ขอขอบพระคุณคุณหมอ และขอให้อยู่ตอบคำถามไปนานๆดิฉันจะได้มีที่พึ่งทางใจเมื่อยามทุกข์

.........................................................................

ตอบครับ

     ก่อนตอบคำถามขอพูดถึงโรคสะเก็ดเงินสักหน่อยนะว่า โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) นี้ เป็นผื่นผิวหนังที่เกิดจากอะไรไม่รู้ แต่วงการแพทย์เดาเอาว่าคงเกิดจากภูมิคุ้มกันของตัวเองไปแหย่ให้เซลผิวหนังแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว กลายเป็นผื่นผิวหนังสีแดงปนเงิน บางครั้งก็เป็นดอกๆ บางครั้งก็เป็นปื้นๆ โรคนี้วงการแพทย์ยังไม่มีวิธีรักษาจำเพาะ

     เอาละ ตอบคำถามนะ

     1. ถามว่านอกจากกินยาแล้ว โรคสะเก็ดเงินมีวิธีรักษาอย่างอื่นไหม ตอบว่ายังมีอีกสองวิธีครับ ซึ่งได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ได้แก่

     1.1 วิธีอบรังสีอุลตร้าไวโอเล็ตบี. (UVB) แบบว่าเอาคนไข้เข้าไปอยู่ในกล่องคล้ายโลงแก้วที่เปิดไฟไว้เหมือนเตาอบ พอผิวเกรียมได้ที่แล้วก็เอาออกมา

     1.2 วิธีย่างด้วยแสงอุลตร้าไวโอเล็ทเอ. (PUVA ย่อมาจาก psoralen – ultraviolet A therapy) คุณเคยเห็นเขาย่างเขียดไหม นั่นแหละ แต่เป็นการย่างในท่ายืน ปิดตาซะก่อน ปิดจู๋ซะด้วยเพื่อป้องกันมะเร็งที่จู๋ โดยก่อนย่างให้กินหรือทายา psoralen ก่อน ยานี้จะเข้าไปอยู่ในยีนที่ศูนย์กลางของเซล พอเซลโดนแสงอุลตร้าไวโอเล็ทเอ.เซลก็จะแตกดังปุ๊ (apoptosis) ตายคาที่ ทำให้เซลผิวหนังที่เป็นโรคหลุดลอกออกไปง่าย

     2. ถามว่าคนเป็นสะเก็ดเงินควรกินอาหารอย่างไร ตอบว่ามีหลักฐานวิทยาศาสตร์พอใช้ตอบคำถามนี้ได้อยู่สองชิ้น  คือ

   งานวิจัยชิ้นที่ 1. เป็นงานวิจัยติดตามดูผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน 3,557 คนที่ได้รับการรักษาด้วยการให้กินอาหารแบบเมดิเตอเรเนียน (ซึ่งเป็นอาหารที่กินผลไม้ ผัก ธัญพืชไม่ขัดสี ขนมปังโฮลวีท ปลา ถั่ว นัท น้ำมันมะกอก มาก) เมื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเข้มงวดกับการกินในแนวทางอาหารเมดิเตอเรเนียนกับความรุนแรงของการเกิดผื่น พบว่ายิ่งผู้ป่วยเข้มงวดกับแนวทางอาหารเมดิเตอเรเนียนมาก (กินพืชผักมาก) ความรุนแรงของการเกิดผื่นยิ่งน้อยลง

     งานวิจัยชิ้นที่ 2. เป็นงานวิจัยดั้งเดิมที่ทำมานานแล้ว เอาคนไข้โรคผิวหนังต่างๆมาทดลองอดอาหารแล้วตามด้วยให้เริ่มอาหารแบบใหม่เป็นมังสะวิรัติร้อยเปอร์เซ็นต์ (vegan) คือมังแบบ ไม่เนื้อ + ไม่ไข่ + ไม่นม แล้วพบว่าคนไข้โรคผิวหนังทุกชนิดผื่นยุบลงช่วงอดอาหาร แต่พอเริ่มกินอาหารใหม่ (อาหาร vegan นะ) โรคผิวหนังชนิดอื่นผื่นกลับเห่อขึ้นมาใหม่ แต่คนไข้โรคสะเก็ดเงินผื่นหายแล้วหายเลยไม่กลับเป็นใหม่

     ดังนั้น จากงานวิจัยทั้งสองนี้ผมแนะนำว่าคนเป็นสะเก็ดเงินหากทำได้ควรกินอาหารเจแบบไขมันต่ำไม่กินเนื้อสัตว์ใดๆทั้งสิ้น แต่ถ้าทำไม่ได้ก็กินอาหารพืชเป็นหลัก มีเนื้อสัตว์ให้น้อยที่สุด

     3. ถามว่าคนเป็นสะเก็ดเงินควรออกกำลังกายอย่างไร ตอบว่าควรออกกำลังกายตามแบบมาตรฐานสำหรับคนทั่วไปนั่นแหละ กล่าวคือให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิกให้ถึงระดับหนักพอควร (หอบแฮ่กๆ ร้องเพลงไม่ได้) วันละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 ครั้ง ควบกับการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (เล่นกล้าม) อีกสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

     4. ถามว่าการปฏิบัติธรรมมีผลต่อสะเก็ดเงินอย่างไร ตอบว่ามีงานวิจัยระดับสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบซึ่งเป็นงานวิจัยระดับสูงสุดเสียด้วย ทำวิจัยกันที่แมสซาจูเส็ท เอาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) ที่ต้องรักษาด้วยการย่างแบบ PUVA จำนวน 37 คนมาสุ่มตัวอย่างแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้ฝึกสติ (MBSR) ควบไปด้วย อีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้ฝึกสติ แล้วใช้การประเมินผิวหนังหรือภาพถ่ายผิวหนังโดยแพทย์โรคผิวหนังที่ถูกปิดบังข้อมูลวิจัยเป็นตัวชี้วัด พบว่ากลุ่มที่ฝึกสติไปด้วยมีอัตราการหายของผื่นผิวหนังมากกว่าและเร็วกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นผมจึงตอบคุณได้เต็มปากเต็มคำว่าการปฏิบัติธรรมหากทำถูกต้องจะทำให้โรคสะเก็ดเงินดีขึ้นนะ

     5. ถามว่าทำไมเมื่อหันมาปฏิบัติธรรมแล้วมีความคิดลบมากขึ้น ตอบว่าเพราะคุณกำลังปฏิบัติอยู่ในสนามเบื้องต้น คือสนามของความคิด ถ้าเปรียบเหมือนการเตะบอลกันในอังกฤษก็เท่ากับว่าคุณนึกว่าคุณเตะมาถึงระดับชาติแล้ว แต่ว่าความจริงถึงจะเป็นการเตะระดับชาติแต่คุณยังอยู่โน่น ดิวิชั่น 5 อยู่เลย ชาตินี้จะได้ขึ้นไปเตะในพรีเมียร์ลีกหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ เมื่อคุณปฏิบัติอยู่ในสนามของความคิด มันจึงเป็นธรรมดาที่คุณจะรับรู้ความคิดได้มากขึ้น

     แต่สนามนี้ก็ใช่ว่าจะพัฒนาคุณไม่ได้ ในสนามความคิด หากคุณรู้จักเลือกความคิด คุณก็พัฒนาขึ้นไปเตะในดิวิชั่นสูงๆขึ้นไปได้ ในสนามนี้ผมสอนให้คุณเอาชนะอุปสรรคตัวเดียวคือการไม่ยอมรับ (non-acceptance) ทุกอย่างที่คุณมีอยู่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ให้ได้เสียก่อน เพราะการไม่ยอมรับเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้คุณขึ้นไปเตะลีกสูงขึ้นไปไม่ได้ ได้แต่วนเวียนอยู่กับความคิด กลัว อิจฉา โกรธ เกลียด อยู่นั่นแหละ ในสนามระดับนี้แค่คุณรู้จักมองรู้จักคิด คุณก็พลิกเกมได้แล้ว ตรงนี้ผมขอยกกวีของรูมี (Rumi) มาให้คุณอ่านแทนคำพูดของผมนะ รูมีสอนว่า

      "..แล้วอะไรหรือที่เป็น "ความกลัว" ในชีวิตเรานี้ 

     ก็การไม่ยอมรับว่าทุกอย่างในชีวิตนี้มันล้วนไม่แน่นอนนั่นแหละคือความกลัวในชีวิต หากเรายอมรับความไม่แน่นอนในชีวิตได้ ชีวิตก็เป็นเรื่องของการผจญภัยไม่ใช่เรื่องของความกลัวอีกต่อไป

     แล้วอะไรหรือที่เป็น "ความอิจฉา" ในชีวิตเรา 

     ก็การไม่ยอมรับความดีงามของคนอื่นนั่นแหละคือความอิจฉา ถ้าเรายอมรับความดีงามของคนอื่น สิ่งเหล่านั้นก็จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เรามุ่งหามุ่งทำสิ่งดีๆต่อไป

     แล้วอะไรหรือที่เป็น "ความโกรธ" ในชีวิตเรา 

     ก็การที่ไม่ยอมรับว่าสิ่งทั้งหลายในชีวิตเรานี้มันอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรานั่นแหละคือความโกรธ หากเรายอมรับความจริงอันนี้ได้มันก็จะกลายเป็นความเอื้ออาทรโอนอ่อนผ่อนปรนไป

     แล้วอะไรหรือที่เป็น "ความเกลียด" ในชีวิตเรา 

     ก็การไม่ยอมรับคนอื่นอย่างที่เขาเป็นนั่นแหละคือความเกลียดในชีวิตเรา หากเรายอมรับคนอื่นอย่างที่เขาเป็นได้ มันก็จะกลายเป็นความรักหรือเมตตาธรรมไป.."

      แต่ว่าถึงบรมครูรูมีจะสอนให้คิดดีอย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดอย่างไรเสียคุณก็ต้องขึ้นมาเล่นในสนามที่สูงขึ้นมาจากสนามของความคิด ผมแนะนำให้คุณถอยความสนใจออกมาจากความคิดมาเป็นผู้สังเกตมองดูความคิด aware of a thought ถ้าคุณทำได้ นั่นก็คือคุณหลุดขึ้นไปเล่นในพรีเมียร์ลีกได้แล้วนะ เพราะเมื่อหมดความคิดคุณเป็นกลายเป็นความตื่นไปแล้ว สนามลึกสุดระดับนี้มันขึ้นมาถึงยากก็จริง แต่มาถึงแล้วมันกลับเล่นไม่ยาก คุณพยายามขึ้นไปให้ถึงก่อนแล้วจะเห็นจริงตามที่ผมว่า

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Phan C, Touvier M et al. Association Between Mediterranean Anti-inflammatory Dietary Profile and Severity of Psoriasis. Results From the NutriNet-Santé Cohort. JAMA Dermatol. Published online July 25, 2018. doi:10.1001/jamadermatol.2018.2127
2. Lithell H, Bruce A, Gustafsson IB, Höglund NJ, Karlström B, Ljunghall K, Sjölin K, Venge P, Werner I, Vessby B. A fasting and vegetarian diet treatment trial on chronic inflammatory disorders. Acta Derm Venereol. 1983;63(5):397-403.
3. Kabat-Zinn, J., Wheeler, E., Light, T., Skillings, A., Scharf, M. J., Cropley, T. G., et al. (1998). Influence of a mindfulness meditation-based stress reduction intervention on rates of skin clearing in patients with moderate to severe psoriasis undergoing phototherapy (UVB) and photochemotherapy (PUVA). Psychosomatic Medicine, 60(5), 625.
[อ่านต่อ...]

25 กรกฎาคม 2561

รองช้ำ (เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ Plantar fasciitis)

เรียน คุณหมอสันต์ ที่เคารพ
4 ปีแล้วที่เป็นลูกศิษย์คุณหมอ ทำตามที่ไปเข้าค่าย [{(แทบ)}] ทุกอย่าง ท้าวความก่อนเพราะคุณหมอลูกศิษย์เยอะอาจจะจำไม่ได้ ดิฉัน ... ค่ะ ออกกำลังกายด้วยการเดินเร็วๆ ผสมวิ่งเยาะๆ ทุกวัน ย้ำว่าทุกวัน มาตลอด โดยประมาณ 1 ชม./วัน ตี 4 ครึ่ง ถึง ตี 5 ครึ่ง นาฬิกาออกกำลังกายบอกว่า burn 300-450 cal เสมอๆ แต่ต้นปีนี้รู้สึกว่ารองเท้ามันคงจะสึก เดิน-จ็อกแล้วมันกระแทก (Asic) แต่ด้วยความขี้เหนียวไม่ยอมเปลี่ยน และรู้สึกตัวว่ากลายเป็นคนเสพติดออกกำลังกาย ถ้าวันไหนตื่นมาแล้วจำเป็นว่าต้องงดออกไปวิ่งจะหงุดหงิดมาก รุ่งขึ้นมี double เข้าไป ไม่อย่างนั้นจะรู้สึกผิดมาก ดิฉัน ปีนี้ 56 ปี นน. 53-54 สูง 160 ไปตรวจสุขภาพประจำปีกับคุณหมอ... ที่ ... คุณหมอบอกว่าตัวชี้วัดทุกอย่างดี
จนเมื่อเดือนประมาณมีนาคมเจ็บฝ่าเท้ามากๆ ร้อนผ่าวเจ็บไปทั้งฝ่าเท้าทั้งวัน หาหมอกระดูกแล้ว กินยาอยู่ 10 วันไม่ดีขึ้น กลางเดือนมีนาฉีดยาที่ฝ่าเท้าทั้ง 2 ข้างข้างละ 2 เข้ม (2 จุด) ค่อยๆ ดีขึ้นจากเดิมสักครึ่งหนึ่ง แล้วก็แย่ลงอีก กลางเดือนเมษายน ไปหาหมออีก ฉีดยาอีก อย่างเดิมแต่เปลี่ยนย้ายตำแหน่ง ไม่ดีขึ้นเลยจนถึงวันนี้ คิดว่าพรุ่งนี้ (15 พค) คงต้องไปหาคุณหมอกระดูกอีก อาการมันคือร้อนผ่าวทั้งฝ่าเท้า ตรง Arch มีจุดเจ็บเหมือนเส้นมันยึด ฝ่าเท้ามันร้อนผ่าเอ้วชา เหมือนเราไปยืนเดินบนพื้นซีเมนต์ร้อนๆ นานๆ อาการผ่าวร้อนอย่างนี้ทั้งวันไม่ว่าจะยืนเดินนั่งนอน พอกลางคืนนอน เช้าตื่นมาจะดีขึ้นมาก พอเวลาผ่านไปชั่วโมง 2 ชั่วโมงก็เป็นอีก
- จะทำอย่างไรดีกับอาการข้างบนดีค่ะ ไม่อยากกินยาเยอะ ซึ่งก็บอกคุณหมอกระดูกไปแล้วด้วยว่าดิฉันไม่ชอบกินยา
- แล้วขา-ฝ่าเท้า มาเป็นแบบนี้ ตอนนี้คุณหมอเขาให้งดเดินก่อน แล้วดิฉันจะไปออกกำลังกายอะไรได้  Rotator cuff ที่ไปผ่าตัดมา ยังฟื้นตัวไม่หมด ยังเจ็บอยู่ ยังยกแขนได้ไม่สูง
- ยาฉีด ฉีดมากๆ คงไม่ดีแน่ แล้วดิฉันจะทำอย่างไรดี
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

.....................................................

ตอบครับ

ก่อนตอบคำถาม ขอเล่าสรุปให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นฟังไปด้วยก่อนว่าเอ็นฝ่าเท้าอักเสบคือภาวะที่มีการเสื่อมสภาพหรือการระคายเคืองของเอ็นฝ่าเท้าตรงที่เกาะกับกระดูกส้นเท้า (calcaneal tuberosity) เชื่อกันว่าเกิดจากการที่เอ็นฝ่าเท้าถูกยืดหรือกระชากมากเกินไปทำให้เกิดการฉีกขาดขนาดเล็กๆ (microtear) ของเอ็น ถ้าการบาดเจ็บลักษณะนี้เกิดซ้ำๆซากๆก็จะสะสมและเรื้อรัง เวลาลงน้ำหนักมีอาการเจ็บแปล๊บที่ฝ่าเท้าใกล้ไปทางส้นค่อนเข้ามาข้างใน บางคนเอานิ้วมือกดตรงนี้ดูก็หรือดึงหัวแม่โป้งเท้าให้กระดกขึ้นก็ร้องจ๊ากแล้ว จะเจ็บมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงน้ำหนักสี่ห้าก้าวแรก ในกรณีที่มีการตัดชิ้นเอ็นออกมาตรวจจะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงแบบการเสื่อมสภาพเรื้อรังและมีบางบริเวณขาดเลือดไปเลี้ยงทำให้การหายยิ่งช้า แต่ไม่มีการอักเสบอย่างชื่อเรียก

สาเหตุที่แท้จริงนั้นวงการแพทย์ไม่ทราบ แต่โรคนี้เกิดมากในนักวิ่งจึงเชื่อว่ามันน่าจะเกี่ยวกับการวิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีไม่เข้มงวดในการใช้อุปกรณ์ป้องกัน เช่น เลือกรองเท้าหรือแผ่นรองพื้นไม่เหมาะกับลักษณะเท้า, ขี้เหนียวไม่ซื้อรองเท้าที่ฝ่าเท้ารับน้ำหนักได้ดี, ขี้เหนียวไม่เปลี่ยนรองเท้าเมื่อพื้นรองเท้าหมด เป็นต้น นอกจากนี้สาเหตุภายในก็อาจมีส่วน เช่น ฝ่าเท้าแบน หรือฝ่าเท้าเว้ามากเกินไป ขายาวไม่เท่ากัน และเท้าและขาผิดรูปในลักษณะต่างๆ การที่หัวแม่เท้าตก (reduced dorsiflex) ก็มีหลักฐานว่าเป็นอีกเหตุหนึ่งของโรคนี้ แม้แต่ความแก่ (สูงวัย) ก็เป็นอีกเหตุหนึ่งเช่นกันเพราะแผ่นไขมันที่รองเป็นเบาะรับกระดูกส้นเท้าบางลงตามวัย

เอาละคราวนี้มาตอบคำถาม

     1. ถามว่าจะทำอย่างไรดีกับอาการเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ ตอบว่าสิ่งแรกคือทำใจก่อน ว่าโรคนี้เป็นแล้วอาการจะอยู่นานหลายเดือน แต่ท้ายที่สุดก็มักจะหายไปเอง สถิติพบว่าเมื่อเป็นแล้ว 80% จะหายไปเองในเวลา12 เดือน แต่ยิ่งมีกิจกรรมใช้เท้าแบบหนักๆซ้ำๆซากๆยิ่งหายช้า และมี 5% ที่ต้องจบลงด้วยการผ่าตัดกรีดหย่อนเอ็นฝ่าเท้าอาการจึงจะหาย

     เมื่อได้ทำใจแล้วก็ให้รักษาเป็นขั้นๆจากน้อยไปหามาก เริ่มด้วยการประคบเย็น หาแผ่นยาขยายหลอดเลือด (nitroglycerin patches) มาแปะ พักการใช้งานฝ่าเท้าไว้ก่อน หากเสพย์ติดการออกกำลังกายก็เปลี่ยนกิจกรรมเช่นไปปั่นจักรยานหรือเดินเร็วแทน หรือเปลี่ยนไปทำครอสเทรนนิ่ง หรือไปเล่นกล้ามด้วยท่าที่ทำได้ หรือว่ายน้ำ ฯลฯ คืออะไรก็ได้ที่ไม่ต้องกระโดดโลดเต้น

     แล้วก็ไปหากายอุปกรณ์ เช่นรองเท้าเฝือก (splinting shoe) ปลอกหุ้มส้น (heel orthoses) แผ่นรองพื้นเท้า (insole) ถุงเท้ารองช้ำ (plantar fasciitis socks) ซึ่งมีทั้งแบบลุคธรรมดาๆไปจนถึงแบบมีสายดึงหัวแม่โป้งให้เงยหน้าตลอดเวลาด้วย (ใส่แล้วเรียกร้องความสนใจได้ดีมาก หิ หิ) การใช้กายอุปกรณ์ช่วยจะทำให้กลับไปมีชีวิตที่แอคทีฟได้เร็วขึ้น

     ถ้ายังไม่ดีขึ้นก็ไปหาหมอ ซึ่งหมอก็จะให้ยามากิน แน่นอนว่ายายอดนิยมก็คือยาแก้ปวดแก้อักเสบที่ไม่ใช่สะเตียรอยด์ (NSAIDs) ถ้ากินแล้วยังไม่สะใจก็ฉีด สิ่งที่หมอฉีดมีหลายอย่างนะ อย่างแรกที่ยอดนิยมก็คือสะเตียรอยด์ ซึ่งมีข้อเสียที่ทำให้เอ็นบางจ๋อยลง จ๋อยลง และยิ่งฉีกขาดง่ายขึ้น อย่างที่สองที่นิยมฉีดกันก็คือโบทอกซ์ อย่างที่สามก็คือฉีดเลือดของตัวเอง (autologous blood injection) หรือเกล็ดเลือดของตัวเอง (platelet-rich plasma (PRP) injection) เข้าไปตรงนั้น นัยว่าจะได้ไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ จะได้มีการหายตามมาซะที ซึ่งก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ในการกระตุ้นให้เกิดการอักเสบนี้ หากฉีดอะไรแล้วก็ยังไม่อักเสบสะใจก็ให้ไปโน่นเลย ช็อคเวฟ (ESWT) จะอักเสบสะใจดีมาก ทำแล้วบวมแดงอลึ่งฉึ่ง ส่วนการจะหายจากเจ็บเอ็นฝ่าเท้าหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องค่อยไปลุ้นเอาหลังการอักเสบยุบแล้ว

     ทั้งหมดนั่นก็ใช้เวลาไปอย่างน้อยสักหนึ่งปี หากยังไม่หายอีก คราวนี้ก็ให้หมอกระดูกเขาผ่าตัดหย่อนเอ็นฝ่าเท้าเสียให้รู้แล้วรู้รอด

    2. ขอพูดที่คุณไม่ได้ถามหน่อย พูดเผื่อท่านผู้อ่านท่านอื่นที่เป็นนักวิ่งด้วย คือในการจะเป็นนักวิ่งคุณต้องเรียนรู้และพิถีพิถันเรื่องรองเท้า เลือกรองเท้าที่รับแรงกระแทกได้ดีๆ วิธีเลือกที่ง่ายที่สุดคือซื้อรองเท้าที่แพงๆ ถ้าฝ่าเท้าคุณแบนก็ต้องวางอินโซล (insole) ที่เหมาะกับฝ่าเท้าด้วย เมื่อรองเท้าคุณเก่าก็ต้องรีบเปลี่ยนอย่าขี้เหนียว การจะดูว่าเก่าหรือไม่เก่าดูจากการดูดซับแรงกระแทก ซึ่งเวลาวิ่งคุณจะสังเกตรับรู้ได้ จะให้ดีต้องมีรองเท้าดีๆไว้หลายๆคู่เอาไว้ผลัดเปลี่ยนกันออกวิ่งในแต่ละวัน ไม่ใช่ใช้คู่เดียวทุกวี่ทุกวันตลอดชีพ

     กิจกรรมก็ต้องมีความพิถีพิถัน เวลายืนก็อย่ายืนนิ่งๆนานๆ ก่อนและหลังวิ่งก็ต้องยืดฝ่าเท้าและน่องด้วย หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายบนพื้นที่เรียบแข็ง แม้แต่จะเดินเท้าเปล่าในบ้านพื้นหินอ่อนก็ถือว่าแข็งเกินไปแล้ว ยิ่งการออกกำลังกายแบบกระโดดโลดเต้นมากก็ยิ่งเจ็บเอ็นฝ่าเท้ามาก การขยันวิ่งทุกวันก็เป็นการโหลดฝ่าเท้ามากเกินไป ควรพักเป็นบางวันเพื่อไปออกกำลังกายแบบอื่นสลับบ้าง เช่นเดินเร็ว จักรยาน หรือครอสเทรนนิ่ง

     ขอแถมอีกเรื่องหนึ่ง ผู้ป่วยโรคนี้บางคนเอ็กซเรย์พบเงี่ยงกระดูก (spur) ที่กระดูกส้นเท้า ก็ปักใจเชื่อว่าเป็นเพราะเงี่ยงกระดูกจึงไปชวนหมอให้ผ่าตัดเหลากระดูกส้นเท้าซึ่งหมอบางคนก็เหลาให้นะ แต่การทำอย่างนั้นงานวิจัยพบว่าเงี่ยงกระดูกไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคนี้ และเหลาเอาเงี่ยงกระดูกออกก็ไม่ได้ทำให้โรคนี้หายมากไปกว่าการอยู่เปล่าๆ

     ที่คุณเล่าว่าออกจากแค้มป์มาสี่ปีแล้วขยันทำตัวดีตลอดทำทุกอย่างที่เรียนรู้มาจากแค้มป์จนตัวชี้วัดสุขภาพทุกตัวดีหมดนั้นก็ดีแล้วและขอบคุณที่เขียนมาเล่า จะได้เป็นตัวอย่างที่ดีให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นเห็นว่าคนที่เขาตั้งใจดูแลตัวเองและลงมือทำแล้วประสบความสำเร็จนั้นมีอยู่มาก จะได้เลิกเอาแต่เกี่ยงงอน งอแง งีดง้าด แล้วไม่ลงมือทำอะไรสักที

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

จดหมายจากผู้อ่าน1
Pornlapat Brown
ดิฉันเป็นเหมือนกันไปหาหมอฝรั่งตรวจๆถามๆให้เอกสารมาชุดหนึ่งบอกให้ไปอ่านแล้วทำตามนั้น ไม่มียาอะไรเลย
ให้ใช้ปลายเท้าหนีบเก็บสิ่งของ ดิฉันใช้ลูกแก้วใช้เท้าที่เจ็ปนั้งหนีบเก็บใส่กระป๋อง หายค่ะต้องใช้เวลาแล้วไม่กลับมาเป็นอีกเลยพอรู้สึกตึงๆเท้าก็เริ้มใส่ใจที่จะระวังก่อนเจ็ป
ดิฉันปั่นจักรยานรู้ตัวบางครั้งวางเท้าผิดก็ต้องคอยเช็คตัวเอง ใส่ถุงเท้าหนาเกินไป บางเกินไป อะไรแบบนั้น

จดหมายจากผู้อ่าน2
Naowarat Khamapan
ขอแบ่งปันประสบการณ์ของตัวเอง เผื่อจะมีประโยชน์กับผู้ถามบ้าง เพราะเป็นแล้วทรมาณมากๆๆๆๆๆ
โรคนี้นักวิ่งเป็นเยอะ ดิฉันก็เคยเป็น ตอนเป็นก็หาหมออากู๋ 😂รวบรวมข้อมูลและแก้ด้วยตัวเอง สำหรับ case ของตัวเองคิดว่าสาเหตุน่าจะมาจากหลายอย่างประกอบกัน ดิฉันใช้หลายวิธีผสมๆกัน
1 ยืดน่อง>>เส้นเอ็นตึงมาจากน่องที่วิ่งระยะยาว หลังวิ่งเสร็จแล้วยืดไม่พอ ใช้วิธียืดน่องเยอะๆ ลงทุนซื้อไม้ยืดน่อง 2 แบบ ยืดบ่อยๆ ทั้งน่องบนและน่องล่างใกล้เอ็นร้อยหวาย
2 หาแผ่นรองฝ่าเท้าที่นูนพอดีรับกับอุ้งเท้า>>ดิฉันเป็นคนฝ่าเท้าโค้งมาก ถ้าใส่รองเท้าที่แผ่นรองเท้าไม่ support ฝ่าเท้าที่โค้งทำให้เวลาลงน้ำหนัก ภาระจะโหลดไปที่เอ็นเยอะ และถ้าเป็นการวิ่งระยะยาว เอ็นฝ่าเท้าก็จะยืดๆหดๆแบบนี้เป็นหลายพันครั้ง อาจเกิดการฉีกขาดและบรรดาเอ็นทั้งหลายมีเส้นเลือดไปเลี้ยงน้อยเลยเยียวยาตัวเองช้า ก็ต้องหารองเท้าที่มีแผ่นรองเท้านูนๆที่ support ฝ่าเท้าได้
3 นวดฝ่าเท้าและออกกำลังกายเท้า>>ระหว่างนั่งทำงานก็เอาลูกกอล์ฟวางบนพื้นแล้วใช้ฝ่าเท้าคลึงลูกกอล์ฟ สลับกับออกกำลังกายเท้าเหมือนท่านข้างบนโดยใช้นิ้วเท้าทั้ง 5 งุ้มหยิบลูกกอล์ฟ
4 แช่น้ำร้อน>>กลับถึงบ้านก็แช่น้ำร้อนจัดๆ ย้ำว่าจัดๆผสมสมุนไพร
5 นวดประคบฝ่าเท้า>>หาหมอนวดรู้ใจ
ทำบ่อยๆผสมๆกันไป ตอนนี้หายขายวิ่ง half marathorn เฉลี่ยเดือนละครั้งก็ไม่มีอาการ (เคาะไม้ๆๆ😂)

...................................................
บรรณานุกรม
1. Khan KM, Cook JL, Kannus P, Maffulli N, Bonar SF. Time to abandon the "tendinitis" myth. BMJ. 2002 Mar 16. 324(7338):626-7.
2. Chen H, Ho HM, Ying M, Fu SN. Association between plantar fascia vascularity and morphology and foot dysfunction in individuals with chronic plantar fasciitis. J Orthop Sports Phys Ther. 2013 Oct. 43(10):727-34.
3, Riddle DL, Pulisic M, Pidcoe P, Johnson RE. Risk factors for Plantar fasciitis: a matched case-control study. J Bone Joint Surg Am. 2003 May. 85-A(5):872-7.
4. Werner RA, Gell N, Hartigan A, Wiggerman N, Keyserling WM. Risk factors for plantar fasciitis among assembly plant workers. PM R. 2010 Feb. 2(2):110-6; quiz 1 p following 167. [Medline].
5. Reid DC. Running: injury patterns and prevention. Sports Injury Assessment and Rehabilitation. New York, NY: Churchill Livingstone; 1992. 1131-58.
6. Pohl MB, Hamill J, Davis IS. Biomechanical and anatomic factors associated with a history of plantar fasciitis in female runners. Clin J Sport Med. 2009 Sep. 19(5):372-6. [Medline].
7. Bolivar YA, Munuera PV, Padillo JP. Relationship between tightness of the posterior muscles of the lower limb and plantar fasciitis. Foot Ankle Int. 2013 Jan. 34(1):42-8.
8. Acevedo JI, Beskin JL. Complications of plantar fascia rupture associated with corticosteroid injection. Foot Ankle Int. 1998 Feb. 19(2):91-7.
9. McPoil TG, Martin RL, Cornwall MW, Wukich DK, Irrgang JJ, Godges JJ. Heel pain--plantar fasciitis: clinical practice guildelines linked to the international classification of function, disability, and health from the orthopaedic section of the American Physical Therapy Association. J Orthop Sports Phys Ther. 2008 Apr. 38(4):A1-A18.
10. Aqil A, Siddiqui MR, Solan M, Redfern DJ, Gulati V, Cobb JP. Extracorporeal shock wave therapy is effective in treating chronic plantar fasciitis: a meta-analysis of RCTs. Clin Orthop Relat Res. 2013 Nov. 471(11):3645-52.
11. Babcock MS, Foster L, Pasquina P, Jabbari B. Treatment of pain attributed to plantar fasciitis with botulinum toxin a: a short-term, randomized, placebo-controlled, double-blind study. Am J Phys Med Rehabil. 2005 Sep. 84(9):649-54.
12. Martin RP. Autologous blood injection for plantar fasciitis: a retrospective study. Paper presented at: Annual meeting of the American Medical Society for Sports Medicine; April 16-20, 2005; Austin, Texas. Clin J Sport Med. 2005 Sept. 15:387-8.
13. Kumar V, Millar T, Murphy PN, Clough T. The treatment of intractable plantar fasciitis with platelet-rich plasma injection. Foot (Edinb). 2013 Jun-Sep. 23(2-3):74-7.
14. Mahindra P, Yamin M, Selhi HS, Singla S, Soni A. Chronic Plantar Fasciitis: Effect of Platelet-Rich Plasma, Corticosteroid, and Placebo. Orthopedics. 2016 Mar-Apr. 39 (2):e285-9.
[อ่านต่อ...]

24 กรกฎาคม 2561

ดิฉันพยายามทำความเข้าใจเรื่องความตื่น

เรียนคุณหมอสันต์
ดิฉันพยายามทำความเข้าใจเรื่องความตื่น มันเป็นอันเดียวกับที่เขาเรียกว่า ตื่น รู้ เบิกบาน หรือเปล่า มันไม่เห็นภาพเอาเสียเลย แล้วอย่างนี้จะถอยออกจากสิ่งกระตุ้นความสนใจต่างๆและถอยจากร่างกายและถอยจากความคิดไปอยู่ในความตื่นอย่างที่หมอสันต์บอกได้อย่างไร เพราะยังไม่รู้เลยว่าความตื่นคืออะไรอยู่ที่ไหน

............................................

ตอบครับ

     สิ่งที่เราเรียกว่า "ความตื่น" หรือ "ความรู้ตัว"  หรือหากผมจะควบสองคำนี้เข้าด้วยกันก็จะกลายเป็น "ความตื่นรู้" วันนี้ผมใช้คำว่าความตื่นรู้ก็แล้วกันนะ ส่วนที่ว่ามันเป็นอันเดียวกันกับที่เขาว่า ตื่น รู้ เบิกบาน หรือเปล่า ตอบว่ามันก็อันเดียวกันนั่นแหละ เพื่อที่จะตอบคำถามคุณว่ามันคืออะไรอยู่ที่ไหน แม้มันเป็นสิ่งที่ไม่อาจอธิบายให้เห็นหรือเข้าใจด้วยภาษา แต่ผมจะพยายามอธิบายนะ ผมจะไฮไลท์ให้คุณเห็นแง่มุมต่างๆในห้าประเด็น

     ประเด็นที่ 1. ความตื่นรู้นี้ไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่จิตใจหรือความคิด คนทั่วไปมองว่าชีวิตนี้ประกอบด้วยร่างกาย และจิตใจเท่านั้น แต่ผมขออนุญาตแบ่งเสียใหม่ว่าชีวิตนี้ประกอบด้วยสามส่วนคือ

    1. ร่างกาย (body)
    2. ความคิด (mind)
    3. ความตื่นรู้ (consciousness)
 
    สมมุติว่าเรานั่งกันอยู่ที่โขดหินริมชายหาด ผมว่างงานขึ้นมาผมก็แบ่งสิ่งที่เห็นออกเป็นสามส่วนเล่นๆ คือ
   
     (1) คลื่น
     (2) ฝอยน้ำ (ที่กระจายเมื่อคลื่นกระทบหิน)
     (3) ทะเล

     มันเป็นการแบ่งเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ ฉันใดก็ฉันเพล มันจะเป็นอันเดียวกันหรือดองกันอย่างไรอย่าเพิ่งไปสนก่อนนะ เอาเป็นว่าความตื่นรู้นี้ไม่ได้เป็นผลผลิตของร่างกาย และไม่ได้เป็นผลผลิตของความคิดด้วย ทั้งสามส่วนคือ ร่างกาย ความคิด และความตื่นรู้ สื่อถึงเป้าคนละอันกัน แยกกันได้ คุณรับฟังคอนเซ็พท์นี้ไว้ก่อนนะ โดยให้ลืมคอนเซ็พท์วิทยาศาสตร์หรือคอนเซ็พท์ทางการแพทย์ที่ว่าร่างกายนี้เป็นผู้ให้กำเนิดจิตใจซึ่งหมายความรวมถึงความตื่นรู้ด้วยไปเสียก่อน การเรียนก็เป็นอย่างนี้แหละ เพราะถ้าคุณไม่ทิ้งคอนเซ็พท์เดิมคุณจะเข้าใจคอนเซ็พท์ใหม่ไม่ได้ ขั้นต่อนต่อไปคือเมื่อคุณเข้าใจคอนเซ็พท์ใหม่แล้วคุณก็ต้องเรียนรู้ที่จะทิ้งคอนเซ็พท์ใหม่เสียอีกทีหนึ่งเพื่อที่จะไป "เป็น" ความตื่นรู้ผ่านการปฏิบัติจริงๆ

     ประเด็นที่ 2. ความตื่นรู้นี้มันส่องสว่างให้เห็นความคิดและร่างกาย คือมันเป็นอะไรที่อยู่ข้างนอก มันเป็นคนละอันกับความคิดและร่างกายก็จริง แต่มันส่องสว่างให้เห็นความคิดและร่างกาย ถ้าไม่มีความตื่นรู้เราก็จะไม่เห็นความคิดไม่เห็นร่างกายของเรา เปรียบเหมือนผมยื่นมือออกไปอังแดด แสงแดดส่องสว่างให้เห็นมือผมได้ ถ้าไม่มีแสงแดดผมก็ไม่เห็นมือผม

     ประเด็นที่ 3. ความตื่นรู้นี้ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยร่างกายหรือความคิด ไม่มีร่างกาย ไม่มีความคิด ความตื่นรู้นี้ก็ยังดำรงอยู่ได้ ก็เปรียบเหมือนแสงแดดที่ส่องมือผมอีกที แสงแดดทำให้เห็นมือผม แต่แสงแดดไม่ใช่ส่วนหนึ่งของมือผม ไม่ได้เกี่ยวอะไรกันเลย แต่มันมาส่องสว่างให้เห็นมือนี้ว่าเป็นชิ้นเป็นอันเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา

     ประเด็นที่ 4. เราจะรู้ว่ามีความตื่นรู้อยู่ ก็ต่อเมื่อร่างกายและจิตใจกำลังทำงานอยู่เท่านั้น อย่าเพิ่งงงนะ กลับมาดูมือที่ยื่นออกไปรับแสงแดดในที่โล่งๆนี้อีกที การมีมืออยู่ ทำให้เห็นแสงแดดที่ตกกระทบที่มือ พอผมหดมือกลับเข้าร่มแสงแดดที่ตกกระทบที่มือเมื่อตะกี้ก็ไม่เห็นแล้ว ฉันใดฉันนั้น หากไม่มีร่างกายและความคิดไว้เป็นที่ให้ความตื่นรู้มาส่องสว่างลูบไล้ ก็จะไม่มีโอกาสได้เห็นว่ามีความตื่นรู้อยู่

     ประเด็นที่ 5. เมื่อไม่มีร่างกาย ไม่มีความคิด ก็ไม่มีการรับรู้ความตื่นรู้ เพียงแต่ไม่มีใครไปรับรู้นะ ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่อยู่มีนะ มันอยู่ของมันที่นั่นแหละ แต่ไม่มีการรับรู้ เมื่อผมหดมือกลับเข้าร่ม เรามองไม่เห็นแสงแดดตกกระทบฝ่ามือแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าแสงแดดจะไม่มีอยู่นะ แสงแดดยังมีอยู่ แต่เรามองไม่เห็นเพราะไม่มีอะไรไปอังแดด เมื่อไม่มีอะไรไปอังแดด ก็ไม่รู้ว่ามีแสงแดดอยู่

     ผมพูดวกไปวนมาน่ากวนโอ๊ยมากเลยใช่ไหม ความจริงผมไม่ได้กวนนะ ผมพยายามอย่างที่สุดที่จะใช้ภาษาอธิบายสิ่งที่ภาษาอธิบายไม่ได้ ผมว่าผมทำได้ดีมากแล้วนะเนี่ย หิ หิ

     คราวนี้มาพูดถึงการปฏิบัติ  ที่ผมบอกคุณว่าให้คุณถอยความสนใจลึกเข้ามาเป็นขยักๆ ถอยจากสิ่งเร้าภายนอก เข้ามาปักหลักอยู่ที่ร่างกายที่มีตาหูจมูกลิ้นผิวหนังเป็นประตูนี้ ถอยจากร่างกายมาปักหลักดูความคิด ถอยจากความคิดมาเป็นผู้สังเกตตัวจริงซึ่งอยู่ชั้นในสุด ผู้สังเกตตัวจริงในที่นี่ก็คือความตื่นรู้นั่นเอง

     คุณไม่ต้องถามถึงที่อยู่ของความตื่นรู้นี้หรอก เพราะถามไปก็ไลฟ์บอย ที่อยู่ (space) มันเป็นคอนเซ็พท์นะ หมายความว่าเป็นสิ่งที่ใจเราสมมุติขึ้น ของจริงมันไม่มีหรอก ของบางอย่างมันไม่ได้ต้องการที่อยู่แบบแก้วน้ำที่ต้องวางบนโต๊ะ เพราะมันเป็นแค่คลื่น อย่างความคิดของคุณเงี้ยะ คุณจะรู้หรือว่ามันอยู่ที่ไหน อยู่ในหัวของคุณ หรืออยู่ในอากาศรอบๆตัวคุณ หรืออยู่ในหน้าอกของคุณ ถามไปก็ไม่มีใครตอบคุณได้ รู้แต่ว่าความคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้มันผุดขึ้นมา รู้แค่นี้พอแล้ว อย่าไปหาที่อยู่ของมันเลย ประเด็นสำคัญคือคุณสามารถถอยจากสิ่งกระตุ้นภายนอก จากร่างกาย จากความคิด มาเป็นความตื่นรู้ได้โดยไม่ต้องไปรู้หรอกว่าบ้านของความตื่นรู้มันอยู่ที่ไหน

     ประการสุดท้าย..ที่เที่ยวสงสัยโน่นนี่นั่นไม่รู้จบเนี่ย เคยลองลงมือถอยความสนใจออกมาจากความคิด หรือพูดอีกอย่างว่าเคยลงมือวางความคิดมาอยู่ที่ความตื่นรู้บ้างแล้วหรือยัง ถ้ายัง ให้เลิกสงสัยอะไรต่อมิอะไรซะ ความสงสัยเป็นความคิดนะ วางมันลงเดี๋ยวนี้เลย เมื่อมีความคิดอะไรผุดขึ้นมาก็วางลงอีก อีก อีก จนไม่เหลือความคิด สิ่งที่เหลืออยู่ขณะปลอดความคิด นั่นแหละคือความตื่นรู้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

21 กรกฎาคม 2561

หัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะเป็นพักๆแบบไฟฟ้าปล่อยออกมาจากห้องบน (PAC)

เรียนคุณหมอที่เคารพ
ดิฉันอายุ52สูง148หนัก48 เป็นแฟนคุณหมอมานานแล้วค่ะ เพราะกำลังสู้กับเบาหวานน่ะ ไม่มีอาการใดๆนะคะ เช้าวิ่ง 6 km 6 วัน สบายๆ ไม่เหนือยค่ะ หัวใจบางครั้งเต้นเร็ว ร้อยนิดๆค่ะ เป็นมาเกิน10ปีค่ะ
พึ่งไปหาหมอหัวใจค่ะ หมอให้ติด Holter และ abp 24 hrs พบว่า หัวใจเต้นผิดจังหวะตอนออกกำลังกาย
และ bp สูง คือเกิน140/80 นิดๆ หมอให้กินยา bisoprolol 1 เม็ดหลังอาหารเช้าค่ะ กินแล้ว หัวใจเต้นช้าลง  แต่เหนื่อยมาก วิ่ง2โลก็เหนื่อยสุดๆ ขึ้นบันไดก็เวียนหัวค่ะ
ขอเรียนถามคุณหมอค่ะ
1ที่กินยาเพราะเชือว่าหัวใจเต้นช้าลง คงได้พักมากขึ้นน่าจะมีอายุการใช้งานดีขึ้น  เป็นความเชื่อที่ถูกมั้ยคะ
2ทำไมต้องให้หัวใจเต้นต่ำกว่า100คะ จำเป็นรึเปล่า
3 เลิกกินยาดีมั้ยคะ รึทนๆไป ก็พอทนได้นะคะ ถ้ากินแล้วมันดีจริงก็จะอดทนค่ะ
ขอบพระคุณมากค่ะ
ส่งจาก iPad ของฉัน

..........................................................

ตอบครับ

ภาพคลื่นหัวใจที่ส่งมาเป็น paroxysmal atrial tachycardia (PAC) สลับการมีไฟฟ้าผิดปกติปล่อยแทรกออกมาจากผนังหัวใจห้องล่าง (PVC) นานๆครั้ง คำว่า PAC นี้แปลว่า
   
     "ภาวะที่หัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะแบบเร็วกว่าปกติเป็นพักๆโดยที่ไฟฟ้าถูกปล่อยออกมาจากหัวใจห้องบน"

     นี่เป็นคำแปลของหมอสันต์เองนะ คำแปลของราชบัญฑิตไม่มีหรอก คำว่าไฟฟ้าปล่อยมาจากหัวใจห้องบน หมายถึงเป็นการปล่อยใกล้กับจุดปล่อยปกติ ไฟฟ้าจะให้จังหวะการเต้นกับหัวใจทุกห้องให้เต้นตามกันไปแบบมีจังหวะจะโคน นอกจากจะกำหนดให้เต้นเร็วหรือช้าแล้วเมื่อไฟฟ้าออกไปจากตรงนี้การเต้นของแต่ละห้องก็จะเข้าขากันเป็นอันดีมีก่อนมีหลังตามลำดับไม่ลัดคิว ทำให้หัวใจส่งเลือดออกไปเลี้ยงร่างกายได้เป็นปกติ ดังนั้น PAC นี้จึงเป็นภาวะที่ไม่มีอันตรายอะไร ไม่ทำให้อายุสั้น ไม่ทำให้เกิดลิ่มเลือดง่าย สามารถออกกำลังกายได้เหมือนคนปกติ ไม่ต้องกินยากันเลือดแข็ง ต่างจากกรณีที่ไฟฟ้าถูกปล่อยรัวออกมาจากที่อื่นซึ่งไม่ได้มีหน้าที่ในการปล่อยไฟฟ้าโดยตรง เช่นสมมุติว่าปล่อยรัวออกมาจากผนังของห้องล่าง (VF) หัวใจจะเต้นรัวแบบเต้นแร้งเต้นกาผิดจังหวะจะโคนบางทีก็เต้นขย่มกันเองจนหัวใจไม่สามารถส่งเลือดออกไปเลี้ยงร่างกายทำเอาตายได้ง่ายๆ แพทย์จึงต้องรีบทำโน่นนี่นั่นสาระพัด หรืออย่างเบาะๆกรณีไฟฟ้าปล่อยรัวออกมาจากผนังของห้องบน (AF) หัวใจห้องบนก็จะเต้นรัวไม่เป็นส่ำยุบยิบยับแบบถุงที่เอาหนอนเป็นพันใส่ไว้ข้างใน เลือดจึงไม่ไปไหนได้แต่ไหลวนไปวนมาอยู่นั่นแล้วจนเกิดเป็นลิ่มเลือดขึ้น เมื่อลิ่มเลือดหลุดพลั้วะไปก็ไปอุดตันหลอดเลือดต่างๆทำให้เกิดเรื่องร้ายขึ้นได้ จนต้องกินยากันเลือดแข็งเพื่อป้องกันการก่อตัวของลิ่มเลือด แต่กรณี PAC หรือกรณีมี PVC แทรกนานๆครั้งนี้ไม่มีเรื่องร้ายๆเหล่านั้นใดๆทั้งสิ้นเลย

     เอาละ คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

     1. ถามว่าที่หมอให้กินยานี้คุณยอมกินเพราะเชื่อว่าหัวใจเต้นช้าลง คงได้พักมากขึ้น น่าจะมีอายุการใช้งานดีขึ้น  เป็นความเชื่อที่ถูกมั้ยคะ ตอบว่าเป็นความเชื่อที่ผิดครับ ความเป็นจริงคือการที่หัวใจเต้นเร็วบ้างช้าบ้างในภาวะ PAC ไม่ว่าจะมีหรือไม่มี PVC แทรกบ้างก็ตาม ไม่มีผลทอนอายุการใช้งานของกล้ามเนื้อหัวใจแต่อย่างใด และการกินยาก็ไม่มีผลยืดอายุการใช้งานของกล้ามเนื้อหัวใจแต่อย่างใด

     2. ถามว่าทำไมหมอต้องให้หัวใจเต้นต่ำกว่า 100 คะ ตอบว่าก็เพราะหมอชอบตัวเลขกลมๆ นะสิครับ ไม่ใช่แต่หมอหรอกที่ชอบตัวเลขกลมๆ นักบัญชีก็ชอบ (ขอโทษ นอกเรื่อง กลับมาที่เรื่องของเราดีกว่า) คือสิ่งที่หมอเขาสนใจมากในกรณี PAC และหรือ PVC นานครั้งคืออาการที่รบกวนคุณภาพชีวิตของคนไข้ เพราะหมอเขาถือว่าตัวเองจะได้ทำความดีหากได้ทำอะไรที่ได้ยืดอายุคนไข้หรือได้เพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนไข้ ในกรณีของ PAC และ PVC นี้คนไข้ไม่ได้อายุสั้นจึงไม่ต้องไปยืดอายุให้เขา แต่คนไข้เป็นทุกข์เพราะอาการใจสั่น การลดอาการนี้แหละที่เป็นเป้าหมายของหมอในการรักษาโรคนี้ และความที่อัตราการเต้นของหัวใจก็มักไปกับอาการใจสั่นของคนไข้ คือยิ่งหัวใจเต้นเร็วยิ่งมีอาการใจสั่นมาก หมอจึงวางแนวทางการรักษาว่าถ้าอัตราเต้นเร็วกว่าจุดสมมุติ ณ จุดหนึ่งก็สมควรใช้ยาเบรกไว้เสียหน่อย จุดสมมุตินั้นก็เหมาเอาว่าเอากันตรงตัวเลขกลมๆ 100 ครั้งต่อนาทีนี่ก็แล้วกัน แต่บางหมอก็ไม่เอา 100 นะ แล้วแต่ใครชอบเลขอะไร หมอบางคนชอบเลขเก้าก็เอา 90 บางหมอที่เกิดมาเพื่อจ่ายยาหากหัวใจเต้น 80 ครั้งเขาก็จ่ายยาให้แล้ว เป็นต้น

     3. ถามว่าจำเป็นหรือเปล่าในภาวะ PAC และ PVC ที่ต้องกินยากดให้หัวใจเต้นช้ากว่า 100 ครั้งต่อนาที ตอบว่าไม่จำเป็นหรอกครับ แต่หากคนไข้เป็นทุกข์กับอาการใจสั่นหมอเขาก็อยากทำอะไรสักอย่างมากกว่าจะเอามือซุกหีบอยู่เฉยๆ คนไข้อุตสาห์มาหาแล้วจะยืนเอามือซุกหีบเฉยอยู่ได้ไง อีกอย่างหนึ่งมันขึ้นกับว่าคุณไปหาหมอคนไหนด้วย คุณไปหาหมอท่านหนึ่งท่านอาจช่วยคุณด้วยการให้ยากดการเต้นของหัวใจให้ช้าลง แต่ถ้าคุณมาหาหมอสันต์แล้วคุยโขมงโฉงเฉงว่าหนูเนี่ยวิ่ง6 กม.สัปดาห์ละ 6 วันนะคะ ผมก็จะถามคุณว่าแล้วคุณเดือดร้อนอะไรไหมกับอาการใจสั่น หากคุณตอบว่าคุณไม่เดือดร้อน ผมก็จะไม่ยุ่งอะไรกับคุณ ผมหมายความว่าจะไม่ให้คุณกินยาอะไร ก็ในเมื่อคุณไม่เดือดร้อนก็แสดงว่าคุณภาพชีวิตคุณยังดีอยู่ แล้วยาจะไปเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คุณได้ตรงไหนละครับ ถูกแมะ

     4. ถามว่าเลิกกินยาดีไหม หรือจะให้ทนๆไป ตอบว่าตรงนี้คุณตัดสินใจเองได้แล้ว คุณก็ตัดสินใจเองสิ คือผมให้ข้อมูลคุณแล้วว่า PAC และ PVC ไม่ทำให้อายุคุณสั้นลง ยาก็ไม่ทำให้อายุคุณยาวขึ้น แต่กรณีที่คุณทุกข์กับอาการใจสั่น ยาช่วยลดอาการใจสั่นได้ ก็เท่ากับว่ายาช่วยให้คุณภาพชีวิตของคุณดีขึ้นได้ แต่หากยากินแล้วทำให้คุณหมดเรี่ยวหมดแรงแสดงว่ายาไปลดคุณภาพชีวิตในอีกด้านหนึ่งคือทำให้คุณวิ่งไม่ได้เท่าเดิม คุณก็ต้องชั่งน้ำหนัก ว่าด้านหนึ่งใจสั่น ด้านหนึ่งหมดแรง คุณจะเลือกข้างไหน แล้วตัดสินใจเอง คือให้เอาความทุกข์จากอาการเป็นหลัก อย่าเอาโรคเป็นหลักในการตัดสินใจใช้ยา เพราะ PAC และ PVC เป็นโรคที่เป็นเองหายเอง ไม่มียาตัวไหนไปทำให้มันหายหรอก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

20 กรกฎาคม 2561

นพ.สันต์ ให้สัมภาษณ์วารสาร SUPALAI@HOME

     ในยุคที่ผู้คนต่างตื่นตัวหันมาใส่ใจการดูและสุขภาพ เมื่อเอ่ยชื่อ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ก็คงไม่ต้องแนะนำกันมาก เพราะชื่อเสียงของท่านโด่งดังมานาน ประวัติอย่างสั้นที่คุณหมอสันต์บอกเล่าในบล็อกของท่าน กล่าวถึงตัวเองอย่างถ่อมตัวมีใจความว่านพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ อดีตเป็นศัลยแพทย์หัวใจที่ต่อมาหันมาสนใจเวชศาสตร์ครอบครัว เคยทำงานบริหารเป็นผู้อำนวยการรพ.พญาไท 2 อยู่ 6 ปี ตอนนี้เกษียณแล้ว และไปตั้ง Wellness We care Center ที่อ.มวกเหล็ก เปิดแค้มป์สุขภาพ สอนให้คนมีสุขภาพดีด้วยตนเอง และสอนคนที่ป่วยแล้วให้พลิกผันโรคด้วยตัวเอง ด้วยโภชนาการที่มีพืชเป็นอาหารหลัก การออกกำลังกาย การจัดการความเครียดอย่างเป็นระบบ และการเข้ากลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน ทำงานจิตอาสา คือช่วยมูลนิธิสอนช่วยชีวิต มูลนิธิช่วยผ่าตัดหัวใจเด็ก และเป็นที่ปรึกษาให้กับรพ.มวกเหล็กด้วย มีงานอดิเรกทำสวนปลูกผักปลูกดอกไม้ เคยทำ "ไร่หมอส้นต์เกษตรอินทรีย์" แล้วเลิกไป และไปเริ่มทำฟาร์มใหม่อีกครั้งที่มวกเหล็ก ชื่อ Nature We Care Farm... คนที่อ่านประวัติคุณหมอมาถึงตรงนี้ก็มักจะอมยิ้ม

......................................................

     "..ผมเป็นคนที่ขอแค่วันนี้อยู่สบายๆ อย่าว่าแต่อนาคตไกลๆเลย แค่ชั่วโมงหน้าผมก็ไม่คิด อยู่ไปทีละช็อต ทีละโมเมนต์ อดีตไม่มี อนาคตไม่มี เป็นคนแก่ที่ไม่มีวาระ ไม่มีอะเจนดา

     ผมพร้อมเปิดรับอะไรก็ตามที่จะเข้ามา การที่เราจะเป็นคนเปิดรับได้ง่าย เราต้องไม่มีความคิด ต้องวางความคิดให้หมด สมัยก่อนผมจะมีความกังวลถึงอนาคต งานในความรับผิดชอบ ความเป็นความตายของคนไข้ สมองผมไม่เคยว่าง เวลาที่มีความคิดน้อยที่สุดคือเวลากำลังผ่าตัด ถามว่าสมัยนี้กับสมัยก่อนต่างกันยังไง สมัยก่อนความคิดเยอะ เครียด อยู่แต่ในความคิดอยู่แต่ในความกังวล ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของคนอื่นไม่ใช่เรื่องของตัวเรา สมัยนี้ไม่มีความคิดไม่มีความกังวลอะไร"

     หลายคนที่เป็นแฟนคลับของคุณหมอ คงพอทราบว่าจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้หมอผ่าตัดหัวใจมือหนึ่งที่เป็นผู้บริหารโรงพยาบาลตัดสินใจเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองมาสู่บทบาทผู้ทำงานเพื่อสังคมในด้านการเผยแพร่วิธีการรักษาสุขภาพโดยไม่ต้องพึ่งหมอนั้น คือการที่คุณหมอพบว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจ

     "พอตัวเองป่วย เจ็บหน้าอกเวลาออกแรง ก็รู้แล้วว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด เพราะตัวเองเป็นหมอโรคหัวใจ การเป็นหัวใจขาดเลือดมันตายได้ง่ายๆ เราอยู่กับคนไข้ เรารู้จุดนี้ มันก็เหมือนกับดึงเรามาจากสิ่งที่เรากำลังมุ่งหน้าไปไหนก็ไม่รู้ จึงถอยกลับมาตั้งหลักกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ความเป็นไปได้ที่เราอาจจะตายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เราก็มาจัดแจงทรัพย์สมบัติเรียบร้อยหมด แล้วก็ถามตัวเองว่า 

     ตายได้ยัง...

     ยัง ยังไม่ได้ 

     ทำไม 

     มันเป็นอะไรที่บอกไม่ถูก อายุน้อยเกินไป ชีวิตกำลังทำอะไรอีกตั้งเยอะแยะ แต่ความที่เป็นหมอก็รู้ว่าคนไข้แบบนี้จะตายเมื่อไหร่ก็ได้ เราก็เป็นคนไข้ มันจำเป็นที่เราจะต้องทำยังไงก็ได้ให้เรามีความพร้อมที่จะตาย ไม่อย่างนั้นชีวิตจากนี้ไปเราก็จะอยู่ไปอย่างทุรนทุรายเหมือนคนไข้ที่เราเห็น

     ตราบใดที่ยังทำใจไม่ได้ว่าตายเมื่อไหร่ก็ได้ ชีวิตที่เหลือจะไม่มีความสุขเลยเพราะกลัวตาย ก็เลยต้องมาทำการบ้านกับเรื่องที่ทำยังไงไม่ให้กลัวตาย หลังจากลองมาหลายแบบ ท้ายที่สุดก็ลงตัว คือ หัดวางความคิด พอหัดวางความคิดได้แล้วชีวิตก็สบายดี แต่ไม่ใช่ว่าเป็นแบบนี้แล้วไม่ทำงานอะไรนะ งานก็ทำ ยังฝึกอบรม ยังสอนคน ยังทำอะไรอยู่ ทำโดยโฟกัสที่ตัวงานแต่ไม่สนใจว่าผลจะเป็นยังไง เพราะเราไม่ได้ไปได้ดิบได้ดีกับผลเหล่านั้นแล้ว เพราะเราทำใจได้ว่าเราจะตายเมื่อไหร่ก็ได้แล้ว เราไม่สนอะไรแล้ว"

     คุณหมอสันต์บอกเราว่าท่านพร้อมตายทุกเมื่อ แต่โปรเจกต์ที่ทำตอนนี้ก็ไม่เล็ก ดูเหมือนตั้งใจอยู่ยาว

     "การทำงาน ผมปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ คนทำงานกับเราก็ให้เขาค่อยๆเข้ามาเรียนรู้ตามธรรมชาติ สมัยก่อนผมทำงานดูแลธุรกิจเป็นผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชน เราซีเรียสว่าถ้าคนคนนี้ขาดแล้วเราจะทำยังไง แต่พอเรื่องจริงเกิดขึ้น คนสำคัญขาดไปโดยกะทันหัน สามวันแค่นั้นแหละ ทุกอย่างมันก็ลงตัว ตอนหลังผมเลยเลิกคิดว่าตัวเองต้องแบกโลกไว้ ผมกลายเป็นคนที่เรียกว่าไว้ใจจักรวาล ปล่อยให้จักรวาลเป็นคนบริหารจัดการทุกสิ่งทุกอย่างไป ในเมื่อใครก็ตามสร้างโลกนี้ขึ้นมา เขาก็ต้องเป็นคนดูแลโลกนี้ ไม่ใช่หน้าที่ของผมที่จะแบกโลกไว้"

     คุณหมอเล่าว่าอุปนิสัยส่วนตัวของท่านเป็นคนรักความสงบ ชอบอยู่เงียบๆไม่ยุ่งกับคนมาก แต่ในชีวิตการทำงานต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนมาก

     "ถ้าถามเรื่องแรงบันดาลใจว่าทั้งๆที่ไม่ชอบยุ่งกับใคร ทำไมถึงมาทำงานนี้ อันที่หนึ่ง คือการที่ตัวเองป่วยแล้วหันมาดูแลตัวเองแล้วตัวเองดีขึ้น ก็อยากจะสอนคนอื่นให้รู้จักดูแลตัวเอง อันที่สอง การประกอบอาชีพผ่าตัดหัวใจมานาน มันเป็นงานที่เหนื่อยยากมาก แต่การที่ผ่าตัดหัวใจไปแล้วโรคของเขาไม่ได้หาย ถ้าเขาไม่ตาย อีกประมาณสิบปีเขาก็กลับมาอีก กลับมาแต่ละทีก็ต้องมาทำงานหนักมากเลย มันเป็นอะไรที่ไม่คุ้มเลย หมอก็เหนื่อย คนไข้ก็เหนื่อย

     อย่างไรก็ตาม การมีชีวิตที่ดี การมีสุขภาพที่ดี เงื่อนไขหลักอยู่ที่ตัวบุคคล มันเหมือนกับพระสอนให้คุณบรรลุอรหันต์บรรลุธรรม พระไม่ได้ทำให้คุณบรรลุธรรม ตัวคุณต่างหากที่ต้องปฏิบัติเองให้บรรลุธรรม การที่จะให้คนมีสุขภาพดี ผมแค่เป็นคนสอน เป็นคนกระตุ้น แต่ว่าผมไปทำแทนเขาได้ซะเมื่อไหร่ ตัวเขาต้องทำเอง"

     นอกจากนี้ คุณหมอสันต์ยังให้มุมมองเกี่ยวกับปัญหาผู้สูงอายุที่เป็นภาระของลูกหลานและสังคมไว้อย่างน่าคิด

     "การมองเห็นภาพสังคมผู้สูงอายุในอนาคตไม่ต้องใช้ญาณวิเศษอะไร เป็นการคาดการณ์ทางสถิติอยู่แล้วว่าต่อไปผู้สูงอายุจะมากขึ้น จะมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น แต่คุณภาพชีวิตจะแย่ลง ชีวิตที่ยืนยาวขึ้นนั้น ในงานวิจัยครั้งหลังสุดที่แคนาดาทำ 50% ของสิบปีสุดท้ายของชีวิตคน จะเป็นชีวิตที่ไม่มีคุณภาพ เราดูจากข้อมูลเหล่านี้เราก็รู้แล้ว คนแก่จะเยอะ คุณภาพชีวิตจะแย่ ทุกคนก็มองเห็นตรงนี้ ไม่ใช่ผมมองเห็นคนเดียว นักสถิตินักวิทยาศาสตร์ทุกคนก็มองเห็นหมดแหละ หลายคนก็พยายามจะใช้วิธีของเขาแก้ คือยืดอายุเกษียณออกไปบ้าง พยายามให้คนแก่ทำอะไรมากขึ้นบ้าง ไม่ใช่หกสิบปีปุ๊บก็นั่งรอกินบำนาญ แล้วต่อไปไปใครจะมาเลี้ยง

     สำหรับการแก้ปัญหา ประเด็นที่หนึ่ง ทิศทางของการบริหารจัดการด้านสุขภาพจะต้องเปลี่ยนไป เส้นทางปัจจุบันนี้เรามุ่งไปที่ hospital treatment การใช้การแพทย์แผนใหม่ การผ่าตัด ใช้ยา ใส่วัสดุเทียม ใช้เทคโนโลยี  ไม่สนใจตัวเอง เป็นอะไรก็ไปโรงพยาบาล ทิศทางนี้สังคมจะจ่ายไม่ไหว มันเจ๊งแน่นอน อันที่หนึ่ง มันใช้เงินเยอะ ถึงจุดหนึ่งสังคมก็ไม่มีเงินจ่าย นักวิชาการทางด้านสถิติ ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านสาธารณสุข ทุกคนมองเห็นหมด อันที่สอง มันเป็นทางที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งๆที่เราทำอย่างนี้ไม่ใช่ว่าสุขภาพของผู้คนจะดีขึ้น เอาง่ายๆการเป็นโรคเรื้อรัง ไม่ใช่ว่าเราทำอย่างนี้แล้วจุดจบที่เลวร้ายของโรคจะลดลงก็เปล่า อายุคนจะยืนยาวขึ้นเพราะการทำอย่างนี้ก็เปล่า เพราะฉะนั้นทางนี้เป็นทางที่ผิด จะต้องถอยกลับมาหาอีกทางหนึ่ง ซึ่งเรารู้ว่าให้คนหันมาดูแลสุขภาพตัวเองผ่านการกินการใช้ชีวิตการจัดการความเครียดแล้วสุขภาพจะดีขึ้น ดังนั้นทิศทางการดูแลสุขภาพต้องเปลี่ยนไป"

     เมื่อพูดถึงความแก่ ความเจ็บแล้ว ก็ต้องคุยเรื่องความตาย ซึ่งเป็นหนึ่งในสัจจธรรมของทุกชีวิต เราอยากรู้มุมมองของคุณหมอสันต์ว่าในอนาคตคนเรามีความเป็นไปได้ไหมที่จะมีสิทธิ์ตัดสินใจเองว่าจะมีชีวิตอยู่ยาวนานแค่ไหน

     "ในอนาคตถ้าคุณมองไปให้ไกล ชีวิตของคนจะถูกบงการด้วยหุ่นยนต์ (artificial intelligence - AI) เหมือนอย่างคนรุ่นนี้ อีกสามชั่วโมงเขาจะกินอะไร เขาก็จะเช็คกับอากู๋ (Google) ใช่ไหม ว่าจะไปกินข้าวที่ไหนดี อากู๋คือหุ่นยนต์ สิ่งเหล่านี้จะกำหนดชีวิตของผู้คน ถ้าถามว่าคนจะฆ่าตัวตายได้ไหม มีวิธีตายแบบทางการแพทย์ไหม มันขึ้นอยู่กับหุ่นยนต์จะเป็นตัวกำหนด หุ่นยนต์ก็มาจากความคิดของผู้คนส่วนใหญ่ ซึ่งผมเดาไม่ถูกเลยว่าการกำหนดความตายในอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ผมมั่นใจว่าตัวปัญญาประดิษฐ์นี่แหละจะเป็นตัวกำหนด อากู๋คือปัญญาญาณ (intuition) ของผู้คนในอนาคต เกิดจากความคิดอ่านของคนในโลกนี้ แล้วมันก็จะมาบงการให้คนใช้ชีวิตไปในแนวนี้

     ยกตัวอย่างการไปหาหมอ การไปโรงพยาบาล ต่อไปจะถูกทดแทนโดยหุ่นยนต์ หมอจะเป็นอาชีพที่ไม่จำเป็น หุ่นยนต์เป็นตัวบอกตั้งแต่ต้น เพราะว่ามันรวบรวมความคิดความอ่านหลักวิชาไว้หมด มันสามารถที่จะไล่เรียงได้อย่างรวดเร็วว่าอาการที่คุณมีจะเป็นโรคอะไรได้บ้าง ทางเลือกในการรักษาที่ดีที่สุดคืออะไร ผมมั่นใจได้เลย 20-30 ปีข้างหน้าอาชีพแพทย์จะลดความสำคัญ ถามถึงอนาคตไกลๆผมตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับหุ่นยนต์จะบงการ ตอบได้แต่ว่าชีวิตคนจะไม่เหมือนทุกวันนี้"

     คุณหมอพูดถึงอนาคตที่ฟังแล้วบอกไม่ถูกว่ามันจะดีขึ้นหรือน่ากลัว แต่สำหรับคนที่ไม่กลัวตายอย่างคุณหมอสันต์ เราก็อยากรู้ว่าถ้าถามถึงสิ่งที่กลัวโดยอัตโนมัติไม่ต้องใช้สติ ไม่ต้องใช้ความฉลาด สิ่งที่คุณหมอสันต์กลัวที่สุดคืออะไร

     "ตอนนี้ผมพ้นสิ่งเหล่านั้นมาแล้ว ความกลัวมันเป็นความคิด เป็นความเชื่อ ความกลัวคือความเชื่อว่าสิ่งร้ายๆจะเกิดขึ้นกับเรา ผมเรียนรู้ชีวิตมาถึงขั้นที่ผมวางความคิดได้ ไม่หมด 100% แต่ก็ 99% สิ่งที่เรียกว่าความกลัวก็ดี ความเชื่อก็ดี ความชั่วความดีก็ดี ผมไม่มี ผมพ้นจากสิ่งเหล่านั้นไปแล้ว ผมตอบได้ว่าไม่กลัวอะไรเลย

     ความกลัวเป็นต้นเหตุของความเจ็บป่วย คุณต้องหัดวางความคิดให้เป็น แล้วความกลัวจะหมดไป ธุรกิจอุตสาหกรรมการแพทย์อยู่ได้เพราะความกลัว เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการประกันชีวิต ถ้าคนไม่กลัว เขาเจ๊งกันหมด

     การจะมีชีวิตที่เป็นสุข คือการเป็นอยู่อย่างสงบร่มเย็นในชีวิตประจำวันเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ต้องไปวัดไปวา ไปบวช เท่านั้น วัดก็มีสิ่งแวดล้อมที่เครียดได้เหมือนกัน ตัวผมเองไม่ใช่คนเข้าวัดถือศีลกินเจ คือกลัวว่าถ้าเป็นพระก็ต้องมีศีลเป็นร้อยสองร้อยข้อ กลัวจะเครียด"

     พูดถึงการบวชหรือถือศีลปฏิบัติธรรม วิถีชีวิตประจำวันของคุณหมอในเรื่องการกินอยู่และการออกกำลังกายนั้นก็เคร่งครัดพอๆกับนักบวช ไม่ว่าจะเป็นการกินเพื่อสุขภาพ งดน้ำตาลและเกลือ ซึ่งเป็นความบันเทิงปากที่ใครๆก็ขาดไม่ได้

     "อาหารเป็นสิ่งเสพย์ติด การเลิกสิ่งเสพย์ติดมันยาก คุณต้องมีอะไรที่ทำให้คุณเบิกบานได้มากกว่านั้นคุณถึงจะเลิกมันได้ การเลิกยาเสพย์ติดกับอาหารมีกลไกเหมือนกัน ในทางการแพทย์มีข้อมูลชัดเจน ทำถึงขนาดเอาเอ็มอาร์ไอ.มาดูการเปลี่ยนแปลงของสมองในคนติดโคเคนกับคนติดน้ำตาล เวลาอยากกินน้ำตาลกับอยากเสพย์โคเคนมีการเปลี่ยนแปลงในสมองเหมือนกัน แต่เราก็ยังไม่สามารถทำให้คนเลิกเสพย์ติดอาหารได้ สำหรับตัวผมเองนั้นเลิกได้เพราะผมวางความคิดให้ได้ก่อน มาถึงจุดนี้อาหารที่ไม่มีเครื่องปรุงมันมีรสชาติที่แท้ของมัน พอเราเลิกติดแล้วก็รู้ว่ารสชาติเดิมมีแค่นั้น แต่รสชาติแท้จริงของอาหารมีรสชาติใหม่ๆแปลกๆเสมอ"

     คุณหมอย้ำว่าการมีสุขภาพดี ชีวิตดี ทำได้ง่ายๆด้วยตัวเองที่บ้าน โดยให้คำแนะนำว่าบ้านที่จะทำให้คนเรามีชีวิตที่ดี มีสุขภาพดี ควรประกอบด้วยอะไรบ้าง

     "เรื่องที่อยู่อาศัยมีสองส่วนนะครับ ส่วนที่มีความสำคัญน้อย กับส่วนที่มีความสำคัญเยอะ ส่วนที่เป็นพื้นที่ส่วนตัว ห้องนอนแค่ใช้ซอกหลืบเล็กๆก็พอ ห้องนอนไม่จำเป็นต้องใหญ่ ห้องนอนที่ดีในทางการแพทย์หนึ่งคือต้องเงียบ สองต้องสะอาด สามต้องมืด สี่ต้องเย็น ส่วนที่สองคือพื้นที่ร่วม ที่จำเป็นที่สุดคือมีอากาศสำหรับใช้หายใจ หากคุณเปิดบ้านออกมาสูดอากาศแล้วหายใจได้ไม่เต็มปอดคุณอายุสั้นแน่นอน แสงแดดก็มีความจำเป็นสำหรับทุกชีวิตบนโลกนี้ สามคือมีน้ำสะอาดที่จะดื่มจะใช้ สี่คือสถานที่ออกกำลังกาย ควรเป็นพื้นที่ร่วมที่หากมีต้นไม้ด้วยก็ยิ่งดี อันสุดท้ายสำหร้บที่พักอาศัยที่ดีคือจะต้องเข้าถึงอาหารที่จะทำให้สุขภาพดีได้ง่ายๆ"

     สิ่งที่คุณหมอพูดเกี่ยวกับการมีชีวิตที่ดีของคนเรานั้นขึ้นอยู่กับการจัดการตัวเองเกือบ 100% แต่ถ้าพิจารณาชีวิตคนเราจริงๆ ทุกข์ส่วนใหญ่เกิดจากการอยู่ร่วมกับคนอื่น

     "ความสำคัญอยู่ที่เวลาเราอยู่กับคนอื่นแล้วเป็นทุกข์ เพราะเรามองชีวิตว่านี่เป็นเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นเป็นคนอื่น แต่ชีวิตจริงๆ ถ้าคุณถอยลึกลงไป ชีวิตมีสองระดับ ระดับแรกทุกอย่างตั้งชื่อเรียกได้ บอกรูปร่างได้ สิ่งเหล่านี้เราตั้งขึ้น ชื่อทั้งหลายเราก็ตั้งขึ้น รูปร่างเราก็ตั้งขึ้น สูง ต่ำ ดำ ขาว แต่ถ้าเราถอยลงไปอีกระดับหนึ่งทุกอย่างจะเป็นคลื่น คลื่นของการสั่นสะเทือน แสง เสียง สัมผัส เป็นคลื่นหมด ตั้งชื่อเรียกไม่ได้ ในระดับของคลื่น คุณกับผมประกอบขึ้นมาจากสิ่งเดียวกัน เวลาผมมองคุณลึกๆ ผมเห็นสิ่งเดียวกันไม่ว่าในตัวคุณหรือในตัวผม

     ชีวิตเป็นอย่างนี้ รากของทุกชีวิตเป็นสิ่งเดียวกัน ด้วยความเข้าใจอันนี้คุณจะไม่มีปัญหาหรอกเวลาอยู่กับใคร มันเป็นสิ่งเดียวกันไม่ใช่นั่นคุณนี่ผม แต่ที่มีปัญหาเพราะเรายังไม่เข้าใจสิ่งนี้ เราไปตีกรอบภายใต้ผิวหนังนี้ว่าเป็นเรา ภายในเขตหมุดโฉนดนี้ว่าเป็นที่ดินของเรา เรามีปัญหาเพราะสิ่งที่เราสมมุติขึ้นในใจเรา การอยู่ด้วยกันมีปัญหาเพราะสิ่งที่ใจเราสมมุติขึ้น เราไม่ต้องไปยุ่งกับใครหรอก แก้ตรงนี้ ตรงสิ่งที่ใจเราสมมุติขึ้น อย่าว่าแต่อยู่กับคนเลย การอยู่กับสัตว์ก็จะไม่มีปัญหา ถ้าคุณข้ามข้อสมมุติได้"

     จากวิทยาทานที่คุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์ กรุณามอบให้ในครั้งนี้ สิ่งที่ตัวเราและเชื่อว่าผู้อ่านน่าจะสรุปได้ตรงกันคือ ทุกความสำเร็จในการจัดการให้มีชีวิตที่ดี ล้วนขึ้นอยู่กับใจ คือความคิด ดังที่คุณหมอสันต์เรียกว่า "การวางความคิด" จึงเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับทุกคนที่คำตอบนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจน ก็สามารถทำได้เท่าเทียมกัน หากวางความคิดได้ ใช้ชีวิตถูกทาง จิตใจมีความสุข ร่างกายก็มีความสุขและแข็งแรง มีชีวิตอยู่ได้อย่างสุขสบายไม่ต้องเป็นภาระใคร ยิ้มได้หัวเราะได้ไปอีกนาน ดังสุภาษิตที่ว่า "จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว" นั่นเอง

     Sant Chaiyodsilp MD (FCTS, FRCST, FRCFMT) is the Senior Consultant and Specialist at Check Up Center, Phyathai 2 Hospital and Chief Wellness Coach at Mega. The heart surgeon turned family physician promotes the idea that heart disease can be reversed with a plant-based whole food diet. The body's ability to heal is greater than one might believe.
     As the wellness coach, he guides people to reverse their heart disease with the help of a plant-based diet, exercise, stress management within the scope of the evidence-based medicine. His own life journey became the inspiration in his career. Dr. Sant who was suffering from ischemic heart disease eschewed the surgeon's scapel and looked for alternative ways to heal himself.
     He decided to change his career from being a heart surgeon to become a family physician, focusing on encouraging his patients to reverse their diseases by changing their lifestyle, in the way he had done.
     Through knowledge, skill and the right attitude, he believes that one can reverse or prevent heart iseases caused due to a poor lifestyle.

.............................................
[อ่านต่อ...]

18 กรกฎาคม 2561

การรับมือกับมะเร็ง

ผมอายุ 72 ปี ตอนนี้กำลังเป็นมะเร็งสำไส้ใหญ่ หมอกำลังให้เคมีบำบัดและรังสีรักษา แล้วมีแผนว่าจะผ่าตัด ตอนนี้มีอาการปวดค่อนข้างมาก ผมอยากปรึกษาคุณหมอสันต์ว่า
1. ผมควรจะกินอย่างไร กินอะไรบ้าง
2. ผมกินอะไรก็กลืนไม่ค่อยลงและสำลักและไอบ่อย หมอและลูกๆคะยั้นคะยอให้ใส่สายยางให้อาหารตรงลงกระเพาะ ผมควรจะใส่ไหม
3. ผมควรจะรับมือกับอาการปวดอย่างไร
4. คุณหมอสันต์มีอะไรจะแนะนำผมอีกไหมครับ
ขอขอบพระคุณคุณหมอสันต์มากครับ

..........................................

ตอบครับ

     1. ถามว่าคนเป็นมะเร็งควรกินอย่างไร ผมตอบตามคำแนะนำ (Guidelines) ของสมาคมมะเร็งอเมริกัน (ACS) ซึ่งได้ออกคำแนะนำมาตรฐานให้ผู้ป่วยมะเร็งกินอาหารดังนี้

     1.1 จำกัดการทานเนื้อสัตว์ในรูปแบบไส้กรอก เบคอน แฮม (processed meat) และจำกัดการทานเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (red meat) เช่นเนื้อหมูเนื้อวัว ให้เหลือน้อยที่สุด (แปลว่าไม่กินได้ยิ่งดี)

     1.2 ทานผักและผลไม้ให้มากๆเข้าไว้ อย่างน้อยวันละสองถ้วยครึ่ง

        ในแง่ของการทานผักผลไม้ให้มากๆนี้ หมอสันต์แนะนำเพิ่มเติมว่านานๆครั้งให้หาผักพื้นบ้านแปลกๆหาทานยากๆอย่างละนิดอย่างละหน่อยรวมทั้งเห็ดต่างๆตามฤดูกาลมาทานสดบ้างปั่นบ้างตามสะดวก เพราะการได้ธาตุที่หายากและที่ร่างกายใช้น้อย (trace element) ซึ่งมักมีแต่ในพืชเท่านั้น น่าจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานดีขึ้น นี่เดาเอานะ แต่อย่างน้อยหมอสันต์ก็มีหลักฐานระดับเรื่องเล่า คือตัวอย่างเมียของเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ทำตัวอย่างนี้แล้วอยู่มาได้เกินยี่สิบปี คือเธอจะไปตลาดบ้านนอกทุกเช้าแล้วซื้อผักทุกอย่างที่ชาวบ้านเขาทานกันมาทานสดบ้างต้มบ้างอย่างละนิดอย่างละหน่อยๆ เธอบอกว่ารุ่นเดียวกันที่นั่งรอหมออยู่ที่คลินิกที่สวนดอกไปกันหมดแล้ว เหลือเธอคนเดียว

     1.3 ทานธัญพืชไม่ขัดสี (เช่นข้าวกล้องหรือขนมปังโฮลวีท) แทนธัญพืชขัดสี

     1.4 ทานอาหารในปริมาณพอดีไม่ทำให้อ้วน ถือหลักผอมไว้เป็นดี แต่อย่าผอมจนผิดปกติ (อย่าให้ดัชนีมวลกายต่ำกว่า 18.5) เพราะขณะที่ความอ้วนสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งมากขึ้น แต่ถ้าผอมเกินไปก็จะอ่อนแอสะง็อกสะแงก ทำกิจกรรมประจำวันลำบาก ชีวิตไม่มีคุณภาพ

     1.5 ถ้าดื่มแอลกอฮอล์อยู่ให้จำกัดไม่เกินวันละ 1-2 ดริ๊งค์

     1.6 ให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอด้วย คือออกกำลังกายถึงระดับหนักพอควร (หอบแฮ่กๆร้องเพลงไม่ได้) สัปดาห์ละ 150 นาที หรือหนักมาก (พูดไม่ได้) สัปดาห์ละ 75 นาที โดยทะยอยออกแบบกระจายตลอดสัปดาห์ ร่วมกับหาโอกาสทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากกว่าชีวิตประจำวันปกติบ่อยๆ

     2. ถามว่าถ้าเป็นมะเร็งแถมทานอาหารไม่ค่อยได้จะทำอย่างไร ตอบว่าควรหันไปใช้วิธีเลือกเอาอาหารอุดมคุณค่ามาปั่นรวมกันด้วยเครื่องปั่นความเร็วสูงโดยไม่ทิ้งกากหรือส่วนดีๆใดๆเลยดื่ม เพราะงานวิจัยในเนอร์ซิ่งโฮมได้ผลสรุปว่าเป็นวิธีช่วยให้ผู้ป่วยได้อาหารครบถ้วนพอเพียงมากขึ้น มีโอกาสขาดอาหารน้อยลง ประเด็นสำคัญคือเครื่องปั่นต้องเป็นเครื่องปั่นความเร็วสูงเกิน 30,000 รอบต่อวินาที จะได้ปั่นทุกอย่างให้เหลวเป็นฝุ่นหรือเป็นน้ำได้หมดโดยไม่ต้องทิ้งกากหรือไม่ต้องมีเม็ดกากเหลือให้ต้องเคี้ยวอีก

     3. ถามว่าในกรณีที่ดื่มน้ำผักผลไม้ปั่นแล้วดื่มไม่ได้ เพราะชอบไอ ชอบสำลัก ควรทำอย่างไร ตอบว่าให้หาทางทำอาหารไม่ให้แข็งจนเคี้ยวยาก ไม่ให้เหลวจนเป็นน้ำ คือทำให้มันหนืดๆนุ่มๆไม่ต้องใช้ฟันเคี้ยวและกลืนง่ายดีด้วย วิธีทำก็คือต้องไปหาซื้อแป้งชนิดหนึ่งมา (ผมเห็นขายในญี่ปุ่นและอเมริกา แต่ผมไม่เคยเห็นในเมืองไทย แต่น่าจะมีขาย คุณไปหาเอาเองนะ) แล้วปั่นอาหารผักผลไม้ให้เหลวเป็นน้ำแล้วเอาแป้งแบบนี้ปริมาณนิดหน่อยคลุกๆๆกับอาหารปั่นนั้นแล้วคนๆๆจนมันหนืดๆนุ่มๆแล้วก็ตักกิน จะลื่นคอดีมากและกลืนได้ง่ายไม่สำลักเลย

     เรื่องที่หมอและลูกๆแนะนำให้ใส่สายยางให้อาหารนั้น คุณจะเชื่อใครก็แล้วแต่คุณนะครับ แต่หมอสันต์แนะนำว่าอย่าใส่สายนี้เป็นอันขาดตราบใดที่คุณยังกลืนอาหารได้เองแม้จะกลืนได้แบบลุ่มๆดอนๆก็อย่ายอมใส่สายนี้ เคี้ยวไม่ไหวไม่เป็นไร ปั่นเอาได้ แต่ที่คนเราจะกลืนไม่ได้เลยนี้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก เฉพาะคนไข้หลังอัมพาตแบบหนักๆเหน่งๆเท่านั้นที่จะกลืนไม่ได้ แค่คุณยังกลืนได้อยู่ ดังนั้นอย่าใส่สายนี้นะ

     ไหนๆก็พูดถึงเรื่องนี้แล้วขอถือโอกาสสั่งเสียเรื่องตัวเองหน่อยนะ เป็นการบอกให้ลูกเมียรู้เจตนาด้วย คือถ้าหมอสันต์ป่วยเป็นอะไรแล้วออกอาการกินน้อยหรือกินไม่ได้ ถ้าตัวหมอสันต์เองไม่ได้สั่ง ห้ามลูกเมียยอมให้ใครใส่สายให้อาหารทางจมูกตรงเข้ากระเพาะอาหารผมเป็นอันขาดนะ ผมกลัวเจ้าสายนี้มากเลย เพราะถ้าผมจะกินผมจะกินของผมเอง ไม่ต้องมายัดเยียด ถ้าผมหยุดกินก็หมายความว่าผมเตรียมตัวตายแล้ว เพราะธรรมชาติของสัตว์ทุกขนิดเวลาใกล้ตายเขาจะหยุดรับอาหารก่อนนานหลายวัน งานวิจัยบอกว่าการอดอาหารจะทำให้การตายราบเรียบเงียบสบายยิ่งขึ้นเพราะมีสารเอ็นดอร์ฟินออกมาช่วย พร้อมที่จะตายเมื่อไหร่ผมก็จะบอกลาทุกๆคนแล้วเลิกกินน้ำกินอาหาร ผมต้องการแบบนี้ ผมไม่ต้องการให้ผู้หวังดีมาใส่อาหารแบบบายพาสให้โดยที่ผมไม่ได้ตั้งใจจะกิน เพราะทำแบบนั้นหากผมอยากจะตายก็ตายไม่ได้สักที ชีวิตฉากสุดท้ายที่ผมควรจะกำกับได้ด้วยตัวเองก็จะมีอันป่นปี้เสียหายหมด แบบน้้นผมไม่เอา

     4. ถามว่าจะรับมือกับอาการปวดจากมะเร็งได้อย่างไร ตอบว่าให้ใช้วิธีถอยออกมาเป็นผู้สังเกตอย่างไม่ยึดถือเกี่ยวพัน (detached awareness) ซึ่งมีวิธีฝึกปฏิบัติเป็นขั้นตอน คือ

     ขั้นที่ 1. ตั้งต้นที่มุมมองปัจจุบันก่อน ให้คุณมองสิ่งทั้งหลายรอบตัว ฟัง สัมผัส มองให้เห็นว่าสิ่งทั้งหลายรอบตัวนอกร่างกายคุณนั้นมันไม่ใช่คุณ มันเป็นสิ่งที่ถูกคุณเฝ้ามอง (the observed) โดยตัวคุณหรือ "ฉัน" เป็นผู้เฝ้ามอง (the observer) แล้วให้คุณมองให้เห็นนะว่าสิ่งนอกตัวคุณนั้นมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่คุณยังอยู่ที่นี่ ในร่างกายนี้ อยู่มาตั้งเกิดแล้ว สิ่งที่อยู่ในตัวฉันนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ดังนั้นสิ่งที่อยู่นอกร่างกายไม่ใช่ฉัน แต่สิ่งที่อยู่ในร่างกายนี้เป็น "ฉัน"

     ขั้นที่ 2. คราวนี้ให้คุณถอยความสนใจจากสิ่งแวดล้อมภายนอกมาสนใจเฉพาะที่ร่างกายของคุณ โดยเฉพาะอวัยวะรับรู้ของคุณเองอันประกอบด้วย ตา หู ผิวหนัง เป็นต้น คุณมองดูอวัยวะรับรู้ของคุณนะ มองดูนี่ผมหมายความว่าให้รับรู้ว่ามีมันอยู่ มันกำลังทำงานอยู่ ไม่จำเป็นต้องเอาตาไปมองจริงๆหรอก ให้คุณมองให้เห็นว่าตาก็ดี หูก็ดี มันไม่ใช่ผู้ดูหรือผู้ฟังหรือผู้สังเกตปรากฎการณ์ภายนอกที่แท้จริงนะ ผู้สังเกตที่แท้จริงคือใจของคุณ ซึ่งอาจจะอยู่ที่ไหนสักแห่งในร่างกายนี้แหละ สมมุติว่าอยู่ในหัวสมองหรืออยู่ในหน้าอกก็ได้ตามถนัด ใจคือผู้สังเกตที่แท้จริง แค่อาศัยตาและหูและผิวหนังเป็นเครื่องมือในการสังเกตเท่านั้น มองให้เห็นว่าอวัยวะรับรู้และร่างกายนี้ไม่ใช่ "ฉัน" หรือผู้สังเกตตัวจริงนะ ใจของคุณต่างหากที่เป็น "ฉัน" หรือเป็นผู้สังเกตตัวจริง ให้คุณลงมือทำจริงๆ จนเห็นจริงตามนี้นะ

     การสังเกตร่างกายนี้ หมายความรวมถึงการสังเกตอาการปวดบนร่างกายด้วย สังเกต รับรู้ แต่ไม่เข้าไปมีหุ้นหรือมีส่วนร่วม (detachment) ปวดก็รู้ว่าปวด รับรู้ตั้งแต่มันเกิดขึ้น มันยังอยู่ แล้วมันหายไป เอาความสนใจไปลาดตระเวณรอบๆที่ปวด แล้วก็ชะแว้บเจาะเข้าไปอยู่ในใจกลางของความปวด แบบอยู่ด้วยอะ ขอทำความรู้จักหน่อยนะ เป็นเพื่อนกันนะ ไม่ขับไล่ มาแอบดูเฉยๆ ขยันพูดกับตัวเองดังๆว่า

     "ฉันไม่ใช่ร่างกาย"

     "I am not the body"

     ขั้นที่ 3. คราวนี้คุณถอยความสนใจของคุณถอยร่นจากตา จากหู จากผิวหนังหรือจากร่างกายที่กำลังปวด ไม่ต้องสนใจร่างกายแล้ว ถอยเข้ามาสู่ภายในยิ่งขึ้น มาสนใจสิ่งที่คุณเรียกว่า "ใจ" เพียงอย่างเดียว สิ่งที่เราเรียกว่าใจนี้ก็คือความคิด (thought) ซึ่งหากจะแยกย่อยออกไปมันก็อาจมาในรูปแบบของอารมณ์ (emotion) และความรู้สึก (feeling) แต่ทั้งหมดนั้นก็คือความคิดนั่นแหละ ให้คุณลองจับเอาตรงที่ใดที่หนึ่งมาเป็นตัวอย่างนะ เอาที่ความรู้สึกหงุดหงิดก็แล้วกัน คุณมีความหงุดหงิดเพราะไม่สบอารมณ์กับอาการปวดที่ไม่หาย แต่คุณหงุดหงิดเรื่องอะไรไม่สำคัญนะ สาระของความคิดที่ทำให้คุณหงุดหงิดหรือโกรธไม่สำคัญ แต่ประเด็นอยู่ที่..ความโกรธหรือความหงุดหงิดเป็นเพียงปรากฎการณ์ที่คุณสังเกตดูมันได้

          ตัวความโกรธเป็นความคิด มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป มันไม่ใช่คุณ ตั้งใจมองให้ดีนะ ความโกรธเป็นความคิด มันเป็นเพียงสิ่งที่ถูกสังเกต ตัวมันสังเกตตัวมันไม่ได้หรอก มันไม่ใช่ "ฉัน" ตัวจริง เพราะตัวมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่มีผู้สังเกตอีกผู้หนึ่งแอบสังเกตมันอยู่ ผู้สังเกตผู้นั้นนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง ผู้สังเกตผู้นั้นแหละเป็น "ฉัน" ตัวจริง คุณเคยแต่จมอยู่ในความคิด (thinking a thought) แต่ผมกำลังสอนให้คุณสังเกตความคิดของคุณ (aware of a thought) โดยอาศัยความสนใจเป็นเครื่องมือ ให้คุณขยันพูดกับตัวเองดังๆว่า

     "ฉันไม่ใช่ความคิด"

     "I am not the mind"

     ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญนะคุณ คุณใจเย็นๆลองทำแล้วลองทำอีก จนคุณเห็นความแตกต่างระหว่างความคิด กับการสังเกตความคิด มองให้ออกว่าร่างกายที่เจ็บปวดไม่ใช่คุณ ความคิดไม่ใช่คุณ ความกลัวไม่ใช่คุณ หากคุณมาถึงขั้นนี้ได้ ไม่จมหรือกอดอยู่ในความคิด แต่ถอยออกมาสังเกตอยู่ข้างนอก ความคิดของคุณ ไม่ว่าจะมาในรูปความคาดหวัง (expectation) หรือความกลัว (fear) จะแผ่วหรือหมดพลังทันที เพราะความคิดโดยตัวมันเองมันไม่มีพลังดอก มันได้พลังจากความสนใจ (attention) ของคุณ

      การที่คุณถอยจากสิ่งภายนอก จากร่างกาย จากความคิด เข้ามาเป็นผู้สังเกตอยู่ที่ส่วนลึกสุดในความเป็นคุณนี้ คือคุณตื่นแล้วจากการจมอยู่ในความคิด หรือคุณกลายเป็นความตื่น ผมบอกคุณว่าตรงความตื่นที่ไม่มีความคิดนี้แหละคือความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย เป็นที่ที่คุณจะได้พบกับความสงบเย็น ที่นี่ เดี๋ยวนี้ โดยไม่อยู่ในมิติของเวลา เรื่องราวภายนอกที่คุณสังเกตรวมทั้งร่างกายและความคิดด้วยไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไป เป็นเพียงสิ่งที่คุณสังเกตรับรู้ว่ามันกำลังเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติของมัน แต่คุณในฐานะความตื่นยังอยู่ แบบตื่น รู้ สบายๆ เป็นนิรันดร ไม่เปลี่ยนแปลง

     คุณอย่าแค่ฟังผมพูดแล้วคิดตามแล้วพยักหน้าหงึกๆเหมือนเมื่อได้ยินได้ฟังคอนเซ็พท์ใหม่ๆทั้งหลาย แค่นั้นมันไร้ประโยชน์ ถ้าคุณจะให้ได้ประโยชน์ คุณต้องลงมือทำตามที่ผมบอก ทำไป พยายามไป แล้วคุณก็จะทำได้ มันไม่ใช่เรื่องยาก เพราะการหลุดพ้นหรือความตื่นนี้มันเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของเราที่อยู่กับเรามาตั้งแต่ก่อนที่เราจะมารู้จักความคิดเสียอีก ทั้งหมดนี้เป็นแค่การกลับบ้านเก่า ไม่ใช่การแสวงหาหรือค้นพบอะไรใหม่ ขอให้ลองทำดูก่อน อย่าเอาแต่คิดตาม ย้ำ..ลงมือทำ อย่าเอาแต่คิดตาม

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.  Kushi LH1, Doyle C, McCullough M, Rock CL, Demark-Wahnefried W, Bandera EV, Gapstur S, Patel AV, Andrews K, Gansler T. American Cancer Society Guidelines on nutrition and physical activity for cancer prevention: reducing the risk of cancer with healthy food choices and physical activity. CA Cancer J Clin. 2012 Jan-Feb;62(1):30-67. doi: 10.3322/caac.20140.

[อ่านต่อ...]

16 กรกฎาคม 2561

ประกาศรับสมัครแพทย์มาร่วมงาน

ขอหยุดตอบคำถามหนึ่งวันเพื่อใช้พื้นที่บล็อกประกาศหาแพทย์มาร่วมทำงาน

ประกาศรับสมัครแพทย์ประจำเวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์

คุณสมบัติ

1. จบแพทยศาสตร์บัณฑิตและมีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา

2. เป็นผู้มั่นคงในแนวทางเวชปฏิบัติแบบเวชศาสตร์ครอบครัว (family medicine) สิบประการ อันได้แก่
2.1 ดูแลผู้ป่วยแบบต่อเนื่อง
2.2 สัมพันธ์กับผู้ป่วยแบบคนกับคน (personal relationship)
2.3 รับฟังข้อมูลที่เป็นอัตวิสัย (subjective data) ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ ความคาดหวัง ความกังวล
2.4 เอาผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมทั้งในมิติของ กาย จิต สังคม (bio-psycho-social)
2.5 มุ่งส่งเสริมสุขภาพ
2.6 มุ่งการป้องกันโรค
2.7 ดูแลผู้ป่วยแบบเจาะลึกเป็นรายคน ร่วมกับผู้ป่วยจัดทำแผนสุขภาพส่วนบุคคล แล้วช่วยผู้ป่วยให้บรรลุผลสำเร็จตามแผน
2.8 มุ่งพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง ผ่านการวิจัยขณะทำงานประจำ (R to R)
2.9 เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยง (coordinator) เครือข่ายสุขภาพรอบตัวผู้ป่วย และยอมรับเอาการแพทย์ทางเลือกมาสร้างการดูแลแบบผสมผสาน (integrative care) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้ประโยชน์สูงสุด
2.10 มุ่งขยายช่องทางให้ผู้ป่วยเข้าถึงทีมงานได้ง่ายขึ้นไม่ว่าจะด้วยโทรศัพท์ ไลน์ เฟซบุ้ค อีเมล เว็บไซท์ หรือเทคโนโลยีอื่นๆ

3. เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางด้านสุขภาพ ผ่านการดูแลตัวเองให้เห็นเป็นตัวอย่าง (role model) และการสอน ทั้งสอนในชั้นเรียนและสอนผ่านสื่อต่างๆเช่นวิดิโอคลิปและโซเชียลมีเดีย
 
4. เป็นผู้มุ่งมั่นที่จะหันเหทิศทางการดูแลสุขภาพของผู้คนในสังคมไทยเสียใหม่ จากทิศทางเดิมที่คอยแต่จะพึ่งโรงพยาบาล พึ่งยา พึ่งการทำหัตถการด้วยเทคโนโลยีต่างๆ แต่เพียงถ่ายเดียว มาสู่ทิศทางใหม่ที่มุ่งป้องกันและพลิกผันโรคด้วยตนเอง (self management) ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตและอาหารการกินของตัวเองเสียใหม่

5. ต้องสามารถอพยพย้ายถิ่นไปอยู่ประจำที่เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ ที่ อ. มวกเหล็ก จ.สระบุรี (เช่าบ้านพักให้อยู่)

6. สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้

7. สิ่งที่ไม่มีความสำคัญ และไม่ถือเป็นคุณสมบัติที่ต้องพิจารณา คือ อายุ เพศ ความยาวนานของประสบการณ์วิชาชีพ สาขาวิชาชีพที่ชำนาญ สถาบันหรือประเทศที่เรียนจบ

งานที่จะมาทำ

งานทั้งหมดนี้เป็นเป้าหมายที่จะต้องทำในระยะยาว ทั้งนี้เป็นที่เข้าใจแล้วว่าบางคนอาจไม่สันทัดบางทักษะ จึงอาจจะต้องมีระยะฝึกฝนบางทักษะก่อนระยะหนึ่ง 

1. สอนและให้คำแนะนำผู้มาเข้าคอร์สฝึกอบรมทางด้านสุขภาพต่างๆที่เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ อ.มวกเหล็ก รวมทั้งสอนผ่านสื่อการสอนเพื่อการเผยแพร่เช่นวิดิโอคลิป และเขียนบทความทางเว็บในบางโอกาส

2. ทำวิจัยพัฒนาเมนูอาหารสุขภาพเพื่อเผยแพร่ เน้นอาหารพืชเป็นหลัก (PBWF) และอาหารที่ชอบแต่กินอย่างไรให้มีผลดีต่อสุขภาพ (eat what you like the right way)

3. ทำวิจัยพัฒนารูปแบบของการดูแลสุขภาพด้วยตนเองโดยมีทีมงานแพทย์สนับสนุนผ่านเทคโนโลยี (cloud-based clinic)

4. ทำวิจัยพัฒนาการดูแลแบบผสมผสาน (integrative care) เน้นการใช้อาหาร (พืชผักสมุนไพร) การออกกำลังกาย การฟื้นฟูสมรรถนะ การจัดการความเครียด การสร้างความบันดาลใจ การร่วมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน

5. เป็นแพทย์ประจำ "เมก้าเวดะสหคลินิก" ซึ่งเป็นคลินิกดูแลสุขภาพแบบผสมผสานที่เน้นการสอนให้ดูแลตนเองโดยมีทีมแพทย์สนับสนุนทางไกล (cloud-based clinic)

สถานะภาพและเงินเดือน

1. แพทย์มีสถานะเป็นคู่สัญญาของบริษัทเมก้า วีแคร์จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีฐานะมั่นคงอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ในกรณีที่แพทย์อายุไม่ถึง 60 ปี สัญญาจ้างจะเป็นสัญญาจ้างตลอดชีพ (เกษียณเมื่ออายุ 60 ปี) ในกรณีที่แพทย์มีอายุเกิน 60 ปี สัญญาจ้างจะเป็นสัญญาจ้างคราวละ 5 ปี

2. เงื่อนไขเวลาทำงานสามารถยืดหยุ่นได้ตามความจำเป็นของผู้สมัคร ทั้งจำนวนวันหรือจำนวนชั่วโมงที่ทำต่อสัปดาห์

3. ค่าตอบแทนเป็นค่าจ้างในรูปแบบของเงินเดือน โดยแพทย์เป็นผู้เสนอเงินเดือนที่ตนเองต้องการ

การสมัคร

     เขียนอีเมลมาหาผมโดยตรงที่ chaiyodsilp@gmail.com เล่าถึงมิชชั่นในชีวิตของท่าน เงินเดือนที่ต้องการ เงื่อนไขพิเศษที่ท่านอยากได้ ทุกเงื่อนไขบอกมาให้หมดไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยน หลังจากเห็นอีเมลของท่านแล้วผมก็จะสื่อสารตรงกลับไปยังตัวท่าน แล้วเราก็เวอร์คกันต่อจากตรงนั้น

ข้อมูลระหว่างบรรทัด

     ผมกำลังค้นหาคนที่จะมาร่วมกับผมในการหันเหทิศทางการดูแลสุขภาพของผู้คนในสังคมไทยเสียใหม่ ผ่านการให้ความรู้ผู้คน เขาหรือเธอจะต้องมีความสุขกับสิ่งที่จะมาทำ ผมรู้ว่าการค้นหาต้องใช้เวลา แต่ผมรอได้ ถ้าจำเป็นผมรอได้นานเป็นปีหรือสองปีก็รอได้ สมมุติว่าคนที่ใช่ยังรับราชการอยู่อีกตั้งปีหนึ่งจึงจะเกษียณแล้วจึงจะมาได้ หรือกำลังติดพันธะสัญญาที่ไม่อยากจะทิ้งมาพรวดพราด หากเป็นคนที่ผมเชื่อว่าน่าจะใช่ ผมก็จะรอ นานก็จะรอ แต่อย่าให้ผมรอเกินสองปีนะ เพราะผมเองก็แก่แล้วเดี๋ยวผมจะตายเสียก่อน หรือหากบางท่านไม่แน่ใจตัวเองว่าจะแฮปปี้กับงานแบบนี้หรือไม่ อยากจะเหยียบสองแคมโดยทำงานในโรงพยาบาลที่เดิมไปก่อนแล้วลองมาแหยมลองทำดูเป็นครั้งคราวก่อน หากคุณหมอตั้งใจจริงและหากผมเชื่อว่าคุณหมอเป็นคนที่มีศักยภาพและที่จะมีความสุขกับงานนี้จริง ผมก็จะเปิดโอกาสให้มาลองทำแบบพาร์ทไทม์ก่อนได้ ทั้งนี้โดยมีข้อแม้ว่าขอลองกับทีละคน หรือขอรอทีละคนนะ เพื่อให้ผมได้โฟกัส สอน แนะนำ เต็มที่ หากลองแล้วพบว่าชอบจริงก็ลุยกันต่อ หากไม่ชอบก็กลับที่เก่าโดยสิ่งที่ผมสอนและแนะนำไปนั้นก็จะไปเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยของคุณหมอในอนาคตอยู่ดีแม้ว่าคุณหมอจะไม่ได้ทำงานกับผมต่อก็ไม่เป็นไร

     กล่าวโดยสรุป ด้วยความที่อยากได้คนที่ใช่ ผมเปิดกว้างอ้าซ่า และจะรออย่างใจเย็น เพื่อให้ได้คนคนนั้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

13 กรกฎาคม 2561

ฉีดวัคซีนไวรัสบี.แล้วภูมิไม่ขึ้น หมอจะให้คุมตลอดกาล แล้วจะมีลูกได้ไง

สวัสดีครับ คุณหมอ

ผมเจอข้อมูลจากเว็บ http://visitdrsant.blogspot.com/2011/01/blog-post_12.html จึงอยากเรียนสอบถามครับ ผมกับแฟนแต่งงานกัน แฟนผมเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบ บี(แฟนเคยตรวจ 6 เดือนก็ยังพบเชื้อ และไม่มีภูมิ) ผมตรวจเลือดก่อนแต่งงาน ยังไม่เคยติดเชื้อ และยังไม่มีภูมิ ไวรัส ตับอักเสบบีครับ ผมจึงไปฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิ ฉีดครบ 3 เข็ม แล้วครับ
เข็มที่ 1 วันที่ 3/8/2560
เข็มที่ 2 วันที่ 31/8/2560
เข็มที่ 3 วันที่ 25/1/2561
ทางคุณหมอที่ รพ. ก็บอกว่า ครบ 3 เข็ม แล้ว จะมีภูมิตลอดชีวิต แต่ก็ไม่ได้มีการตรวจอีกว่า มีภูมิขึ้นจริงหรือไม่ หลังจากนั้น วันที่ 23/6/2561 ผมไปตรวจเลือดและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ครับ (วางแผนจะมีลูก) ผลออกมาคือ ผมยังไม่มีเชื้อ และไม่มีภูมิ เหมือนเดิมเลยครับ ตรวจไม่เจอภูมิ ถ้านับจากเข็มที่ 3 มา ก็ประมาณ 5 เดือน คุณหมอที่ฉีดวัคซีนให้ ก็สรุปให้ผมเลยว่า ผมเป็นประเภทภูมิไม่สร้าง ไม่ต้องฉีดซ้ำ เพราะฉีดไปก็ไม่ขึ้น ทำให้ผมร้อนใจมากครับ คิดไม่ออกว่า ผมกับภรรยาจะใช้ชีวิตแบบสามีภรรยาปกติได้ยังไง ถ้าต้องใช้ถุงยางป้องกันทุกครั้ง รวมถึงการมีลูกด้วยครับ
ถ้าผมจะไปลองฉีดกระตุ้นอีกสักเข็ม แล้วตรวจดูว่าภูมิขึ้นไหม ได้ไหมครับ แต่คงต้องเปลี่ยนหมอ เพราะคุณหมอท่านเดิม ไม่ยอมฉีดให้ครับ
บางครั้งผมก็คิดว่า ไหนๆก็แต่งงานกันแล้ว ไม่ต้องป้องกันก้ได้ แต่อีกใจก็ถ้าติดเชื้อจริงขึ้นมาแล้วภูมิไม่สร้าง ผมก็จะเสี่ยงมากเลย
รบกวนคุณหมอแนะนำหน่อยครับ ว่าผมกับภรรยาควรจะทำอย่างไรดีครับ
ขอบพระคุณมากครับ

..............................................

ตอบครับ

     1. ถามว่าตัวเองฉีดวัคซีนไวรัสบี.แล้วครบสามเข็มภูมิไม่ขึ้นแม้จะเพิ่งตรวจเลือดไปหมาดๆ (5 เดือนหลังจากวัคซีนเข็มที่สาม) จะลองเบิ้ลอีกสักเข็มจะได้ผลไหม ตอบว่างานวิจัยความแตกต่างระหว่างฉีดสามเข็มกับสี่เข็มโอกาสที่ภูมิจะขึ้นมากกว่ากันมีน้อยมาก จนมาตรฐานวัคซีนนี้กำหนดให้ฉีดแค่สามเข็ม พูดง่ายๆว่าสามเข็มไม่ขึ้น สี่เข็มก็มักจะไม่ขึ้น คนอย่างคุณนี้เรียกว่าเป็นคนพันธุ์ไม่สนองตอบต่อวัคซีน (vaccine non-responder)

     2. ถามว่าแล้วผมกับภรรยาจะใช้ชีวิตแบบสามีภรรยาและมีลูกได้ยังไง ตอบว่า..อ้าว ทำไมถึงมาถามวิธีมีลูกกับหมอสันต์ละ (หิ หิ ขอโทษ พูดเล่น) วิธีจะอยู่กินกันฉันท์สามีภรรยาและมีลูกได้ด้วย คุณทำได้เบื้องต้นสามวิธี ดังนี้

     วิธีที่ 1. ฉีดวัคซีนซ้ำในขนาดสูง คือปกติวัคซีนเนี่ยเขาฉีดขนาด 10 มก.เข้ากล้ามเดือนที่ 0, 1, 6 ซึ่งจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันถึงระดับวัดได้ (10 mIU/Ltr) ใน 95% ของคนที่ถูกฉีด แต่เผอิญคุณเป็น 5% ที่เหลือ มีงานวิจัยสองงานทดลองฉีดวัคซีนขนาดเบิ้ลสี่เท่า (40 mg) ที่เดือน 0, 1, 6 คือสามเข็มครบสูตร แล้วตรวจภูมิซ้ำพบว่ามีภูมิเกิดขึ้น 68-80% และยังมีอีกงานหนึ่งฉีดขนาด 80 มก.ในคนเป็นตับแข็งและไวรัสซี.ก็พบว่าเพิ่มอัตราการเกิดภูมิคุ้มกันขึ้นมาจาก 54% เป็น 78%

     วิธีที่ 2. ฉีดวัคซีนเข้าชั้นใต้ผิวหนังแทนที่จะฉีดเข้ากล้าม ทั้งนี้มีงานวิจัยจำนวนหนึ่งแสดงหลักฐานบ่งชี้ว่าเซลที่เป็นผู้ชูวัคซีนเป็นเป้าล่อให้ร่างกายสร้างภูมิขึ้น (antigen presenting dendritic cells) มีอยู่มากในชั้นใต้ผิวหนัง (intradermal) มากกว่าในชั้นกล้ามเนื้อ ซึ่งนำไปสู่การวิจัยเปรียบเทียบในคนไข้ตับอักเสบเรื้อรังที่ดื้อด้านต่อวัคซีนจนพบว่าวิธีฉีดเข้าใต้ผิวหนังโดยแบ่งฉีดแขนสองข้างๆละ 20 มก.ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้จาก 0% เป็น 69% และมีอีกงานวิจัยหนึ่งฉีดเข้าใต้ผิวหนังให้คนไข้ล้างไตพบว่าเกิดภูมิคุ้มกัน 79% ขณะที่ฉีดเข้ากล้ามได้ภูมิคุ้มกันแค่ 40%
 
    วิธีที่ 3. ฉีดวัคซีนแบบพิเศษที่มีตัวผสม (adjuvant) ตัวใหม่ซึ่งเดิมใช้อลูมิเนียมเป็นตัวผสมหลัก แต่วัคซีนพิเศษนี้ใช้โมเลกุลชื่อ 3D-MPLเข้าผสมกับอลูมิเนียมด้วย ซึ่งงานวิจัยพบว่าสามารถเพิ่มอัตราการเกิดภูมิคุ้มกันขึ้นไปได้ถึง 98%

     ทั้งสามวิธีนี้เป็นจุดตั้งต้นที่จะแก้ปัญหานะ ถ้าทำทั้งสามอย่างนี้ภูมิยังไม่ขึ้นก็ต้องหาคนรู้จริงกว่าหมอสันต์มาช่วยแล้วแหละ คนที่รู้เรื่องวัคซีนดีมักเป็นหมอเด็ก ผมแนะนำท่านหนึ่งซึ่งเก่งเรื่องนี้มากชื่อนพ.ยง ภู่วรวรรณ ผมไม่ได้เจอท่านหลายสิบปีแล้ว คุณไปสืบถามเองเองก็แล้วกันว่าตอนนี้ท่านทำอะไรอยู่ที่ไหน แล้วก็ตะเกียกตะกายไปขอคำแนะนำจากท่านเอาเอง อย่าบอกว่าผมใช้ให้มานะ เดี๋ยวผมโดนเอ็ด

     ถ้าหาหมอเด็กก็แล้ว หมอโรคตับก็แล้ว ภูมิคุ้มกันก็ยังไม่ขึ้น คราวนี้ก็ต้องไม้สุดท้ายแล้วครับ คือกลับมาหาหมอสูตินรีเวชคนเดิมที่ให้คำแนะนำก่อนแต่งงานแก่คุณนั่นแหละ เพื่อ..

     "ผสมเทียม!"

      (ฮิ ฮิ ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Double-dose hepatitis B vaccination in cirrhotic patients on a liver transplant waiting list.
Bonazzi PR, Bacchella T, Freitas AC, Osaki KT, Lopes MH, Freire MP, Machado MC, Abdala E
Braz J Infect Dis. 2008 Aug; 12(4):306-9.
2. Decreased immunogenicity of recombinant hepatitis B vaccine in chronic hepatitis C.
Wiedmann M, Liebert UG, Oesen U, Porst H, Wiese M, Schroeder S, Halm U, Mössner J, Berr F
Hepatology. 2000 Jan; 31(1):230-4.
3. Intradermal hepatitis B vaccination: a systematic review and meta-analysis. Sangaré L, Manhart L, Zehrung D, Wang CC. Vaccine. 2009 Mar 13; 27(12):1777-86.
Efficacy of high-dose intra-dermal hepatitis B virus vaccine in previous vaccination non-responders with chronic liver disease.
4. Dhillon S, Moore C, Li SD, Aziz A, Kakar A, Dosanjh A, Beesla A, Murphy L, Van Thiel DH
Dig Dis Sci. 2012 Jan; 57(1):215-20.
5. Intradermal versus intramuscular hepatitis B vaccination in hemodialysis patients: a prospective open-label randomized controlled trial in nonresponders to primary vaccination.
Barraclough KA, Wiggins KJ, Hawley CM, van Eps CL, Mudge DW, Johnson DW, Whitby M, Carpenter S, Playford EG Am J Kidney Dis. 2009 Jul; 54(1):95-103.
6. The immunogenicity and reactogenicity profile of a candidate hepatitis B vaccine in an adult vaccine non-responder population. Jacques P, Moens G, Desombere I, Dewijngaert J, Leroux-Roels G, Wettendorff M, Thoelen S Vaccine. 2002 Nov 1; 20(31-32):3644-9.

........................................
[อ่านต่อ...]

12 กรกฎาคม 2561

อายุน้อยแล้วใส่สะเต้นท์ (stent)..อย่าเสาะหาคำรับประกัน

สวัสดีค่ะ คุณหมอสันต์ที่เคารพ
ติดตามบทความที่คุณหมอตอบผ่านfacebookมาสักระยะหนึ่ง มีเรื่องอยากจะรบกวนปรึกษาคุณหมอค่ะ
สามีอายุ 47 ปี ไม่ดืมเหล้าไม่สูบบุหรี่ สููง  170 cm หนัก 70 kg ldl 153 fbg  98  วัดเมื่อ สค 59 เมื่อตรวจพบความผิดปกติจากการเดินสายพานเพราะเริ่มมีอาการเเน่นหน้าอกเมื่อออกกำลังกาย
จึงมีการฉีดสีเมื่อกลางเดือนธันวา พบว่ามีเส็นเลือดอุดตัน 100 % 1 เส้น และ 90 % 1 เส้น (ตามเอกสารแนบ) คุณหมอจึงได้ใส่ สะเตนท์ที่เส้น 90%เลย ซึ่งในเส้น 100% จะทำการใส่อีกครั้งหนึ่งในเดือน เม.ย.นี้
หลังจากที่มีการตรวจพบว่ามี ldl สูงนั้นก้มีการคุมอาหารแต่เพียงเล็กน้อย จนเมื่อใส่สะเตนท์ จึงเริ่มคุมอาหารอย่างจริงจัง คือทานผัก ผลไม้ และปลาเป็นอาหารหลัก ปรุงโดยไม่ใช้นำ้มันเลย และมีการออกกำลังกายเบาๆ เช่นขี่จักรยาน หรือเดิน ทุกวัน (ไม่กล้าออกกำลังกายหนักเพราะยังตันอีก 1 เส้น) จนทำให้เมื่อเดือน ก.พ. มีการตรวจเลือดพบว่า ldl 50 fbg 102 น้ำหนักเหลือ 60 kg
ยาที่กินหลังใส่สะเตนท์
1. clopidogrel    2.aspirin baby  ยาทั้ง 2 ตัวนี้ กินมาโดยตลอด
3. omeprazole  กินมาระยะเดียว เลิกกินเพราะอ่านเจอบทความคุณหมอเกี่ยวกับยาลดกรด โดยกินอาหารในมื้อเช้ามากขึ้น และควบคุมอาหารให้จืด รวมทั้งกินยาหลังอาหารทันที
4. simvastatin กินครั้งละ 2 เม็ด มาลดลงหลังเดือนก.พ.เหลือ 1 เม็ด จริงๆอยากจะเลิกกินแต่ยังไม่กล้าค่ะ
5. bisoprolol   กินมาระยะเดียวเนืองจากกินแล้วอัตราการเต็นของหัวใจ ต่ำกว่า 50 จึงขอลองหยุดกินแล้ววัดอัตราการเต็นของหัวใจพบว่าอยู่ในช่วง 50-70 ความดัน 100-120เดิมความดันไม่สูงอยู่แล้ว(วัดทุกวันเป็นเวลา 1 เดือน) จึงขอคุณหมอหยุดจริงจัง
ขอเรียนถามคูณหมอดังนี้
1. เส้นที่พบว่าตัน 100% จะไม่ใส่สะเตนท์ได้หรือไม่ จะสามารถกลับมาโล่งด้วยการทานอาหารได้หรือไม่คะ ถ้าได้เราควรจะไปตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่อไรดี เพราะคุณหมอว่าเป็นเส้นสำคัญ และเกรงว่า หลอดเลือดจะเสียหายมากขึ้น(จริงๆไม่อยากใส่เลยค่ะ และคิดว่าสามารถควบคุมอาหาร และออกกำลังกายอย่างจริงจังได้อยู่แล้ว)
2. ยาที่กินถ้าใส่สะเตนท์แล้วจะสามารถเลิกได้อย่างจริงจังหรือไม่ หลังจาก 1 ปี หรือควรจะกินยาตัวใดต่อเนื่องดีคะ
3. หลังจากที่มีการคุมอาหารอย่างจริงจัง แม้ ldl จะลด แต่ fbg กลับสูงขึ้นเล็กน้อย เราควรปรับปรุงเรื่องใดดีคะ
4. ตัวสะเตนท์ที่ใส่ไปแล้วจะมีการสร้างผังผืดไปหุ้ม ทำให้มีโอกาศอุดตันอีกหรือไม่ แม้ควมคุมอาหารอย่างจริงจัง
สุดท้ายนี้ขอขอบพระคุณคุณหมอเป็นอย่างสูง และขอให้คุณหมอมีสุขภาพแข็งแรงเพื่อให้องค์ความรู้กับผู้อื่นต่อไป

.....................................................

ตอบครับ

    สามีของคุณเป็นตัวอย่างคนไทยยุคใหม่ ที่เป็นโรคและเริ่มมีอาการตั้งแต่อายุน้อย นี่ยังดีนะ สามีของคุณมีอาการครั้งแรกแบบเจ็บหน้าอกชนิดไม่ด่วน (stable angina) คือเจ็บหน้าอกตอนออกแรงพักไม่ถึง 20 นาทีก็หาย คนที่โชคร้ายกว่าคือคนที่มีอาการครั้งแรกชนิดด่วน หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute MI) คือเจ็บหน้าอกไม่เลือกเวลาแม้จะพักเกิน 20 นาทีก็ไม่หาย ต้องหามเข้ารพ.แก้ทันก็หายแก้ไม่ทันก็ตาย แต่ก็ยังมีอีกนะ พวกที่โชคร้ายกว่านั้น คือพวกที่มีการตายกะทันหันเป็นอาการครั้งแรก คือมีอาการครั้งแรก ครั้งเดียว ป๊อก..ก แล้วก็ไปเลย สวีวี่วี

     ในอีกด้านหนึ่ง สามีของคุณยังเป็นตัวอย่างของคนยุคใหม่ ที่เมื่อได้ตั้งใจจะหันกลับมาดูแลตัวเองอย่างจริงจังแล้วก็ทำได้สำเร็จและทำได้ดี ดังนั้นการแก้ปัญหาสุขภาพให้คนรุ่นใหม่นี้จึงไม่ใช่ไปตั้งสมมุติฐานว่าคนรุ่นใหม่ไร้ความเพียร (motivation) ที่จะดูแลตัวเองเพราะพวกเขาไม่เคยถูกสอนให้ดูแลตัวเองมาตั้งแต่เด็ก หมอนั่งสอนไปก็เหมือนเป่าสากไร้สาระเสียเวลาเปล่า สามีของคุณเป็นตัวอย่างตัวเป็นๆว่าสมมุติฐานเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่อย่างที่ว่านี้ ไม่เป็นความจริง

     เอาละ มาตอบคำถาม

     1. ถามว่าเส้นที่พบว่าตัน 100% จะไม่ใส่สะเตนท์ได้หรือไม่ ตอบว่าได้ เพราะตำรวจไม่จับคุณหรอก ในแง่ของหลักฐานวิจัยทางการแพทย์ คนที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบสองเส้นบ้างสามเส้นบ้างที่ไม่ได้ตีบที่โคนหลอดเลือดข้างซ้าย (LM) อย่างสามีคุณนี้ งานวิจัยชื่อ COURAGE trial ซึ่งให้จับฉลากแบ่งคนไข้แบบนี้เป็นสองพวก พวกหนึ่งเอาไปทำบอลลูนใส่สะเต้นท์หรือบายพาสหมด อีกพวกหนึ่งไม่ทำ แล้วตามดูไปสิบกว่าปีพบว่าอัตราการรอดชีวิตไม่ต่างกัน

     2. ถามว่าหลอดเลือดที่ตันไปจะสามารถกลับมาโล่งด้วยการกินผักกินหญ้าได้หรือไม่ ตอบว่าไม่ทราบครับ เพราะไม่มีใครเคยแสดงหลักฐานไว้ว่าหลอดเลือดที่ตันสนิทแบบที่คนเหนือเรียกว่า "ตั๋นติ๊ก" นั้นมันกลับมาโล่งได้หรือไม่ แต่มีคนเคยแสดงหลักฐานจากภาพฉีดสีสวนหัวใจซ้ำว่าหลอดเลือดที่มันตีบไป (ไม่ตัน) มันกลับมาตีบน้อยลงหรือโล่งขึ้นกว่าเดิมได้ ด้วยการกินอาหารแบบเจไขมันต่ำเพียงสามปี

     3. ถามว่าถ้าจะเปลี่ยนชีวิตมาทำตัวดีกินอาหารดีๆเสียใหม่แล้วเราควรจะไปตรวจสวนหัวใจซ้ำอีกครั้งเมื่อไรดี ตอบว่าคุณจะไปตรวจสวนหัวใจซ้ำอีกทำไมละครับ การตรวจสวนหัวใจไม่ใช่การไปเดินศูนย์การค้านะ ทำทีไตของคุณก็เจ๊งไประดับหนึ่ง แล้วหากพลาดท่าเสียทีก็ถึงตายได้นะ แพทย์จะทำก็ต่อเมื่อผลของการตรวจนั้นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแผนการรักษาอย่างมีนัยสำคัญ เช่นการตัดสินใจว่าจะทำบอลลูนใส่สะเต้นท์หรือไม่ ดังนั้นหากคุณตัดสินใจปรับการใช้ชีวิตโดยไม่ทำบอลลูนตอนนี้ ก็ไม่ต้องไปสวนหัวใจซ้ำเพื่อขย่มไตเล่นดอก แค่ใช้ชีวิตปกติไปแล้วใช้อาการและคุณภาพชีวิตเป็นตัวบ่งชี้ ถ้าอาการมันมากจนคุณภาพชีวิตเสียไป เช่นเจ็บหน้าอกบ่อยจนไม่เป็นอันทำอะไรที่เคยสนุกเพลิดเพลิน จนคุณตัดสินใจได้แน่แล้วว่าไปทำบอลลูนหรือบายพาสดีกว่า ถึงตอนนั้นค่อยกลับไปฉีดสีสวนหัวใจซ้ำโดยกะทำบอลลูนด้วยแบบม้วนเดียวจบเลย

     4. ถามว่าถ้าใส่สะเตนท์แล้วจะสามารถเลิกยาที่กินได้หมดไหม หรือว่าต้องรอไปหลังจาก 1 ปี หรือว่าควรจะกินยาตัวใดต่อเนื่องดี ตอบว่าข้อมูลที่วงการแพทย์มีอยู่ตอนนี้สรุปได้ว่าการควบยาต้านเกล็ดเลือดสองตัว (aspirin + clopidogrel) ได้ประโยชน์คุ้มค่าใน 1 ปีแรกในแง่ของการลดอัตราการต้องกลับมาทำบอลลูนซ้ำ หลังจากหนึ่งปีไปแล้วการใช้ยาต้านเกล็ดเลือดตัวเดียวหรือสองตัวจะคุ้มค่ามากกว่ากัน หมอเองก็ยังตกลงกันไม่ได้เพราะหลักฐานมันก้ำกึ่ง บ้างว่าต้องควบต่อ บ้างว่าตัวเดียวก็พอ หมอสันต์อยู่ข้างหมอที่ว่าตัวเดียวก็พอ ส่วนยาอื่นนอกจากยาต้านเกล็ดเลือด ตัวไหนจำเป็น ตัวไหนไม่จำเป็น มันก็ขึ้นอยู่กับตัวชี้วัดสุขภาพของสามีคุณสิครับ เช่นถ้าความดันเลือดเขาสูงทำอย่างไรก็ไม่ลง ก็ต้องกินยาลดความดัน อย่างนี้เป็นต้น คือกินยาเฉพาะที่มีข้อบ่งชี้ว่าควรกิน ส่วนยาที่สถิติบอกว่าดีแต๊ดีว่าคนเป็นโรคหัวใจขาดเลือดทุกคนต้องกินรูดมหาราชถ้าไม่กินแล้วจะเสียชาติเกิดนั้น แหะ แหะ ยาวิเศษแบบนั้นยังไม่มี อย่างดีหากสามีของคุณขยันทำบอลลูนซ้ำๆซากๆและขยันกินยาวันละสองกำมือทุกวัน อัตราตายก่อนวัยอันควรของเขาจะลดลงได้อย่างมากก็ไม่เกิน 30% มีแต่การใช้ชีวิตที่ดี อันได้แก่การกินอาหารพืชเป็นหลักโดยมีไขมันต่ำ การออกกำลังกายทุกวัน และจัดการความเครียดให้ดี จึงจะให้ผลวิเศษอย่างนั้นได้ คือถ้าทำจนตัวชี้วัดดีหมดก็จะลดอัตราตายก่อนเวลาอันควรได้ถึง 91%

     3. ถามว่าหลังจากที่มีการคุมอาหารอย่างจริงจัง แม้ ldl จะลด แต่ fbg กลับสูงขึ้นเล็กน้อย หมายความว่าอย่างไร ตอบว่า หมายความว่าความขยันซอยตัวเลขของวงการแพทย์ ทำให้คนไข้เป็นโรคปสด. (ประสาทแด๊กซ์) เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น กล่าวคือค่าน้ำตาลในเลือด (FBS) แต่ไหนแต่ไรมาวงการแพทย์ยอมรับกันว่าหากน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 125 (หรือน้ำตาลสะสมตั้งแต่ 6.5%ขึ้นไป) นี่เราเรียกว่าเป็นโรคเบาหวานก็แล้วกัน แต่ต่อมาคนป่วยเบาหวานเพิ่มจำนวนขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ วงการแพทย์ก็มาตกลงกันว่าเราหาทางจี้เตือนให้ผู้ป่วยหันมาสนใจป้องกันเบาหวานให้มากขึ้นดีกว่า โดยตั้งคำว่า "ใกล้จะเป็นเบาหวาน" ขึ้นมา นิยาม (แปลว่าทึกทักเอา) เอาตรงที่ตัวเลขกลมๆท่องง่ายๆคือ 100 นี่ก็แล้วกัน ว่าถ้าน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ 100 ขึ้นไป เราจะเรียกว่าผิดปกติแล้ว โดยเรียกชื่อว่า "ภาวะใกล้จะเป็นเบาหวาน" (pre-diabetes) ผลเลือดของใครออกมาเกินร้อยก็จะพิมพ์ตัว H ซึ่งแปลว่าสูงไว้หลังตัวเลข การทำอย่างนี้มีข้อดีคือทำให้คนหันมาใส่ใจเรื่องอาหารการกินของตัวเองมากขึ้นเมื่อน้ำตาลในเลือดเกิน 100 แต่ก็มีข้อเสียคือก่อความกังวล และเป็นช่องทางให้หมอจำนวนหนึ่งจับผู้ป่วยน้ำตาลในเลือดเกิน 100 (แต่ไม่เกิน 125) กินยาเบาหวานหมดรูดมหาราชทั้งๆที่ไม่มีหลักฐานอะไรเลยว่าการทำอย่างนั้นจะมีประโยชน์อะไรต่อคนไข้ ช่างเป็นการเตะหมูเข้าปากคนทำยาเบาหวานขายเสียจริงๆ

     กล่าวโดยสรุป เมื่อน้ำตาลในเลือดอยู่ในย่าน 100-125 ให้หันมาสนใจอาหารการกินเพื่อป้องกันเบาหวานอย่างจริงจัง กรณีสามีคุณเขาสนใจอาหารการกินดีอยู่แล้ว ก็อย่าไปใส่อารมณ์อะไรกับตัวเลขนี้เลย ตัวชี้วัดทางการแพทย์เป็นเพียงตัวช่วยแบ็คอัพการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ให้โฟกัสที่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตว่าทำได้หรือไม่ได้ ถ้าทำไม่ได้จะแก้ไขอย่างไร ถ้าทำได้แล้วทำอย่างไรจะทำได้ยั่งยืน อย่ามาโฟกัสที่ตัวเลขที่ต่างกันแค่นิดๆหน่อยๆหรือโผล่เข้าไปในย่านผิดปกตินิดๆหน่อยๆเลย มันเป็นการโฟกัสผิดที่ ตัวเลขไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ชีวิตคุณดีขึ้น แต่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตต่างหากที่จะทำให้ชีวิตคุณดีขึ้น

     4. ถามว่าตัวสะเตนท์ที่ใส่ไปแล้วจะมีการสร้างผังผืดไปหุ้ม ทำให้มีโอกาศอุดตันอีกหรือไม่ แม้ควมคุมอาหารอย่างจริงจังแล้ว ตอบว่า เนี่ย เนี่ย คนรุ่นใหม่ เห็นแมะ ต้องการการประกัน ต้องการคำมั่น ต้องการการสะแต๊มป์คำว่าปกติ หรือ "NORMAL" ต้องการแค่เนี้ยะ อย่างอื่นไม่สนละ ขอหนูนอร์มอลก็พอแล้ว ขอโอกาสที่หนูจะเป็นอะไรไปลดลงเหลือศูนย์หนูก็พอใจละ หนูจะได้ไปลันล้าของหนูต่อ นี่ลุงสันต์จะสอนอะไรให้นะ ในชีวิตจริงไม่มีอะไรนอร์มอลหรือแอ็บนอร์มอล และในวิชาแพทย์นี้ไม่มีการค้ำประกันใดๆ แพทย์ค้ำประกันให้คุณได้อย่างเดียวคือความตาย หมายความว่าทุกคนทั้งคนไข้และหมอได้ตายเหมือนกันหมดแน่นอนเมื่อถึงเวลา ส่วนเรื่องอื่นไม่มีการค้ำประกัน คือชีวิตนี้อย่าเสาะหาการค้ำประกันเลยคุณ แม้คุณจะซื้อประกันกับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ตอนเศรษฐกิจล่มเขายังเจ๊งให้เห็นๆเลยเห็นแมะ หรือแม้คุณจะซื้อบัตรสิทธิพิเศษของรพ.เอกชนระดับเจ๋งที่สุดของเมืองไทยซึ่งสัญญาว่าจะดูแลคุณฟรีไปตลอดชาติ แต่พอโปรเจ็คนี้เขาขาดทุนเขายังเบี้ยวคุณจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันเลยเห็นแมะ นี่ไม่ใช่แต่เมืองไทยนะ ฝรั่งก็เป็น ไม่นานมานี้เพื่อนผมที่ทำงานในโรงเลี้ยงคนแก่ (CCRC) เขียนมาเล่าว่าบริษัทที่เขาทำงานอยู่ต้องบังคับให้คนแก่ที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกโรงเลี้ยงสัญญาว่าจะไม่ฟ้องโรงเลี้ยงไม่ว่าโรงเลี้ยงจะเลี้ยงคุณด้วยมือหรือด้วยเท้า ถ้าไม่เซ็นก็ไม่ขายกรมธรรมให้ คือพูดง่ายๆว่าที่สัญญาว่าจะให้โน่นให้นี่นั้นถึงเวลาจะไม่ให้ก็ได้นะ ถ้ายอมรับไม่ได้ก็ไม่ต้องซื้อ หิ หิ ที่การซื้อขายสมัยนี้มันซับซ้อนขนาดนี้ก็เพราะลูกค้าแสวงหาคำสัญญาที่ดีเกินความเป็นจริงอย่างคุณนี่แหละ จึงต้องมีสัญญาแบบว่าสัญญาว่าจะให้ แล้วให้สัญญาว่าจะยอมรับถ้าไม่ให้ ฮู้ย..ย ปวดหัวไหมละ เอ๊ะ เราคุยกันเรื่องอะไรอยู่เนี่ย

     สรุปเลยนะ สรุปว่าเมื่อใดที่มีสะเต้นท์ เมื่อนั้นมีโอกาสอุดตัน ฟันธง..เคาะโป๊ก นี่เป็นสัจจธรรม ชัดดีแมะ แต่แถมให้ใจชื้นขึ้นนิดหนึ่งว่า โอกาสอุดตันนั้นจะมากขึ้นถ้าเลือดแข็งตัวง่ายหรือโรคที่หลอดเลือดเดินหน้าไปเร็วขึ้น และจะน้อยลง (น้อยลง แต่ไม่เป็นศูนย์นะ) หากกินอาหารหรือยาและใช้ชีวิตไปในทิศทางที่ทำให้เลือดแข็งตัวยากขึ้นและการดำเนินของโรคเดินหน้าช้าลงหรือหยุดนิ่งไม่เดินหน้า หรือถอยหลังกลับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

ปรับปรุงแค้มป์ปลีกวิเวกทางจิตวิญญาณ (Spiritual Retreat)

(ปรับปรุงครั้งสุดท้าย 20 พย. 61)

     แค้มป์ปลีกวิเวกทางจิตวิญญาณ Spiritual retreat ทำไปแล้วหกครั้ง แต่ละครั้งก็มีเหตุให้ต้องปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาสาระไปตามข้อมูลที่ได้จากการทำแค้มป์ก่อนๆ ครั้งนี้เป็นครั้งที่เจ็ด (SR7) เป็นครั้งที่จะมีการปรับปรุงเนื้อหามากที่สุด จึงขอแจ้งล่วงหน้า

    Spiritual หมายถึงการเสาะหาหรือเดินทางฝ่าข้ามชีวิตส่วนที่เป็นร่างกายและความคิดเจ้าประจำที่ก่อตัวเป็นความสำคัญมั่นหมายว่าเราเป็นบุคคลคนนี้มีชีวิตเวียนว่ายอยู่ในโลกนี้ ด้วยการหันเหความสนใจกลับจากการสนใจโลกภายนอกเข้าไปสนใจภายใน วางความคิดที่ยึดถือว่าเรานี้เป็นบุคคลลง หันเข้าไปสู่ส่วนลึกที่สุดที่ภายในคือความตื่นหรือความรู้ตัว (awareness) ซึ่งเป็นสถานะที่เป็นนิรันดร ไม่เปลี่ยนแปลง

     Retreat คือการปลีกวิเวกหลีกเร้น ไปอยู่ในสถานที่สงบเงียบเป็นธรรมชาติ เพื่อให้ได้มีเวลาที่สันโดษและเป็นส่วนตัว

     Spiritual retreat ก็คือการปลีกวิเวกหลีกเร้นเพื่อหันเหความสนใจจากโลกภายนอกกลับเข้าไปแสวงหาความสุขสงบเย็นภายในตัว โดยเรียนรู้ผ่านการอยู่ในสถานที่สงบเงียบเป็นเวลานานหลายวันบ้าง หลายสัปดาห์บ้าง หลายเดือนบ้าง อาจจะอยู่คนเดียว หรืออยู่กับกลุ่มที่ต่างมุ่งแสวงหา "ความหลุดพ้น" เหมือนกัน

    แค้มป์นี้ไม่เกี่ยวกับศาสนาใด ไม่มีพิธีกรรม ไม่ต้องปฏิบัติบูชา ไม่ต้องนุ่งห่มแบบใดแบบหนึ่งเป็นการเฉพาะ ในแค้มป์จะพูดหรือทำสิ่งเดียวเท่านั้น คือเรื่องที่จะหลุดพ้นไปจากความยึดติดในความเป็นบุคคลไปสู่ความตื่น โดยโฟกัสที่..ที่นี่ เดี๋ยวนี้

การปรับเปลี่ยนที่สำคัญใน SR7

     1. ลดการอิงศาสนาใดๆ ลดการใช้ศัพท์แสงทางศาสนา

     2. เป้าหมายคือให้สามารถวางความคิดเพื่อเข้าไปสู่ความตื่นรู้ โดยใช้ความสนใจ (attention) เป็นตัวเลือกหยิบเครื่องมือห้าตัวต่อไปนี้มาใช้ให้เหมาะกับจังหวะเวลา คือ (1) การกระตุ้นตัวเอง (motivation),  (2) การลาดตระเวณร่างกาย (body scan),  (3) การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ (relaxation),  (4) การเสริมสร้างสมาธิ (concentration),  (5) การเปิดรับและใช้ประโยชน์จากปัญญาญาณ (intuition)
 
     3. เรียนผ่านการฝึกปฏิบัติ (workshop) สลับกับการสนทนาในรูปแบบ sat sang เพื่อแชร์ประสบการณ์

     4.  ผมพบจากชั้นเรียนก่อนๆว่าในบรรดาเครื่องมือที่ให้ฝึก การโฟกัสความสนใจอยู่กับปัจจุบันผ่านอวัยวะรับรู้ (sensation) และการเปิดรับปัญญาญาณ (intuition) เป็นสิ่งที่ผู้เรียนมีทักษะน้อยที่สุด จึงปรับเพิ่มเวลาเพื่อให้ทำกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ทั้งสองเรื่องนี้เข้ามา รวมสามกิจกรรม คือ การปั้นดินเหนียว (clay work) การวาดลายเส้น (drawing) การวาดภาพสีน้ำ (painting) โดยประยุกต์แนวทางการสอนของ Rudolf Steiner มาใช้

     5. จะไม่พูดถึงชาติหน้า หรือคอนเซ็พท์ใดๆที่มีแต่จะเพิ่มความคิด

     รีทรีตนี้จัดขึ้นสำหรับ

     1. ผู้ที่มีความเครียดซึ่งแก้เองไม่ตก

     2. ผู้ที่ต้องการหาความสงบทางใจ

     3. ผู้ที่ต้องการค้นหาความหมายของชีวิต

  ตารางกิจกรรม Spiritual Retreat

(สี่วันสามคืน)

สถานที่: เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์

วันแรก

11.00 - 12.00 น. Getting to know you รู้จัก-ทักทาย
12.00 - 14.00 น. Lunch break พักกลางวัน
14.00 - 14.30 น. Lecture1. "I" Though ความคิด "ฉัน"
14.00 - 15.00 น. Workshop1. Consciousness - Awareness รู้จักความรู้ตัว
15.00 – 15.30 น. Workshop2. Body scan ลาดตระเวณร่างกาย
15.30 - 16.00 น. Coffee Break พักผ่อนในความเงียบสงบ
16.00 - 17.00 น. Workshop3. Yoga muscle relaxation โยคะแบบผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
17.00 - 18.00 น. Workshop4. Body scan and relaxation meditation นั่งสมาธิแบบลาดตระเวณและผ่อนคลายร่างกาย
18.00 - 19.00 น. Dinner อาหารเย็น
19.00 -               Private time เวลาพักผ่อนส่วนตัว

วันที่สอง

06.30 - 07.00 น. Workshop5. Aware of awareness meditation นั่งสมาธิแบบเป็นความตื่น
07.00 - 08.00 น. Workshop6. "Tai Chi" ตามรู้การเคลื่อนไหวร่างกายด้วยไทชิ
08.00 - 09.00 น. Breakfast รับประทานอาหารเช้า อาบน้ำ
09.00 – 10.30 น. Workshop7. การถอยความสนใจจากนอกสู่ใน (Self Inquiry)
10.30 - 11.00 น. Coffee Break พักในความเงียบสงบ
11.00 - 12.00 น. Workshop8. Dependent Origination ฝึกใช้วงจรการเกิดดับของความคิด
12.00 - 14.00 น. Lunch Break พักกลางวัน
14.00 – 14.30 น. Workshop9. Walking meditation ฝึกตามรู้อริยาบทของร่างกาย
14.30 – 15.30 น. Workshop10. Anapanasati ฝึกปฏิบัติ16 ขั้นตอนสู่ความหลุดพ้น
15.30 - 16.00 น. Coffee Break ในความเงียบสงบ ไตร่ตรองสิ่งที่ได้เรียนรู้
16.00 - 17.00 น. Workshop11. Acceptance And Surrender การหลุดพ้นด้วยวิธียอมรับยอมแพ้
17.00 - 18.00 น. Workshop12. Sunset meditation นั่งสมาธิกับแสงอาทิตย์
18.00 - 19.00 น. Dinner รับประทานอาหารเย็น

วันที่สาม

06.30 - 08.00 น. Workshop13. Silence meditation on the mountain นั่งสมาธิแบบอยู่กับปัจจุบันในความเงียบที่บนเขา
08.00 - 09.00 น. Breakfast รับประทานอาหารเช้า
09.00 - 17.00 น. Rotation training แยกกลุ่มหมุนเวียนทำกิจกรรม
Workshop14. (1 ชม.) Process focus, and intuition through clay work เรียนการทำงานแบบไม่หวังผลและการฝึกใช้ปัญญาญาณจากงานปั้นดินเหนียว
Workshop15. (1 ชม.) Process focus, and intuition through drawing เรียนการทำงานแบบไม่หวังผลและฝึกใช้ปัญญาญาณจากงานเขียนภาพลายเส้น
Workshop16. (1 ชม.) Sensation, feeling & imagination through painting เรียนการรับรู้สิ่งเร้าในปัจจุบัน การเกิดความรู้สึกผสานกับการใช้จินตนาการในงานระบายสีน้ำ
Workshop17. (15 นาที)(Dr. Love) Bringing relaxation to your daily life by Ayurveda ประยุกต์ใช้อายุรเวดะในชีวิตประจำวัน
Workshop18. (30 นาที)(TTM therapist) Sensation through massage. วางความคิดมารับรู้การนวดสัมผัส
Workshop19. (15 นาที) Remedy พบนพ.สันต์ ตัวต่อตัวเพื่อแก้ไขความติดขัดในการวางความคิด
17.00 - 18.30 น. แชร์ผลการปฏิบัติ focus on process และ intuition
18.30 - 19.30 น. Dinner รับประทานอาหารเย็น

วันที่สี่ (วันสุดท้าย) 

06.30 - 07.00 น. Workshop20. Anapanasti meditation ทบทวนฝึก 16 ขั้นตอนสู่ความหลุดพ้น
07.00 - 08.00 น. Workshop21. Magic wand ฝึกวางความคิดด้วยไม้คทา
08.00 - 09.00 น. รับประทานอาหารเช้าและทำกิจส่วนตัว
09.00 – 09.30 น. Lecture2: Reality Shifting การเลือกประสบการณ์ที่ปัจจุบัน
09.30 - 10.00 น. Lecture3: Patanjalis' Yoga Sutra ปตัญชลีโยคะ เส้นทางปฏิบัติสู่ความหลุดพ้นแบบโยคี (บรรยายเป็นภาษาอังกฤษโดย Dr. Joshi แปลโดยนพ.สันต์)
10.00 - 10.30 น. Lecture4: ฺBuddha's ways ขั้นตอนปฏิบัติสู่ความหลุดพ้นที่สอนย้ำซ้ำซากโดยพระพุทธเจ้า
10.30 - 11.00 น. Coffee Break ในความเงียบสงบ
11.00 - 12.00 น. Summary of techniques สรุปเทคนิคการวางความคิดที่เรียนแล้วทั้งหมด และ
Sat sang เพื่อแชร์ประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนก่อนจาก
12.00 - 13.00 น. ปิดแค้มป์ รับประทานอาหารกลางวันแล้วอำลา


...............................................

ค่าใช้จ่ายในการมาเข้าแค้มป์ SR

     คนละ 9,000 บาท ราคานี้รวมอาหารวันละสามมื้อ อาหารว่างวันละสองเบรค ค่าที่พักห้องพักเดี่ยวห้องละ 1 คน สี่วัน สามคืน (กรณีมาคู่ที่แชร์ห้องเตียงคู่ห้องเดียวกันได้ ลดเหลือคนละ 8,000 บาท) ทั้งหมดนี้ไม่รวมค่าเดินทาง ทุกคนต้องเดินทางไปและกลับด้วยค่าใช้จ่ายของตนเอง

จำนวนที่รับเข้าแค้มป์

     รับไม่เกิน 15 คน (ยกเว้นมาคู่นับเป็นหนึ่งได้)

วิธีลงทะเบียนเข้าแค้มป์

ลงทะเบียนบนเว็บและจ่ายเงินทางออนไลน์ โดยท่านสามารถลงทะเบียนได้โดยโทรศัพท์ติดต่อคุณเอ๋ย (เชิญขวัญ) ที่หมายเลข 0636394003 หรือไลน์ @wellnesswecare หรืออีเมล chernkwan@wellnesswecare.com

    นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]