30 สิงหาคม 2564

ความชื้นสัมพัทธ์ของร้านอาหารติดแอร์กับการควบคุมการแพร่กระจายไวรัสโควิด

เรียนคุณหมอสันต์

ทำร้านอาหารอยู่ค่ะ ตอนนี้จะได้ไฟเขียวกลับมาเปิดใหม่แล้วแต่หนูก็ยังกริ่งเกรงปัญหา เพราะยังถกเถียงกันว่าโควิดมาตามอากาศได้หรือเปล่า หนูจึงต้องรอบคอบไว้ก่อน เพราะร้านของหนูเป็นร้านติดแอร์ จะปิดแอร์เปิดประตูก็คงเป็นไปไม่ได้เพราะร้านของหนูไม่มีหน้าต่าง หนูกลัวอากาศในร้านจะเป็นที่เพาะเชื้อโควิดแจกลูกค้า หนูควรปรับปรุงร้านอย่างไร หนูลงทุนได้ การใช้ HEPA filter จะช่วยไหมคะ หรือมีวิธีอื่น

ขอบพระคุณคุณหมอค่ะ (แฟนพันธ์แท้)

……………………………………….

ตอบครับ

1.. ความข้อที่ว่าไวรัสโควิดมาตามอากาศ (airborne) ได้หรือเปล่านั้น ไม่ใช่ข้อถกเถียงกันแล้วครับ มันเป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าไวรัสซาร์สโควี2 นี้เดินทางมากับฝอยละอองเล็กๆในอากาศได้ และเราหายใจเอามันเข้าไปได้ การหายใจเอาเชื้อเข้าไปเป็นหนึ่งในสามกลไกของการได้รับเชื้อ คือ

(1) เสมหะหรือน้ำลายที่คนไข้ไอออกมา กระเด็นมาตกบนเยื่อเมือกของเราเช่น ปาก จมูก ตา

(2) มือไปสัมผัสฝอยเสมหะหรือน้ำลายที่แปดเปื้อนอยู่ตามที่ต่างๆ แล้วเผลอเอามือนั้นมาลูบหรือสัมผัสเยื่อเมือกของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณจมูก

(3) สูดหายใจเอาฝอยละอองอากาศเล็กๆ (aerosol) ที่มีเชื้อโควิดติดอยู่ด้วยซึ่งคนป่วยหายใจหรือไอออกมาเข้าไปในปอด เวลาหายใจธรรมดาก็ออกมาได้แต่น้อยหน่อย แต่เวลาพูดเสียงดังหรือไอจากก็จะออกมาได้คราวละมากๆ

คำว่า aerosol หมายถึงฝอยละอองในอากาศที่มีขนาดเล็กมาก เล็กกว่า 20 ไมครอน ถ้าเล็กถึงขนาดที่มีคุณสมบัติเชิงแอโรไดนามิกที่จะลอยเท้งเต้งอยู่ในอากาศได้นานเท่านานก็เรียกว่าเป็นฝอยละอองจากอากาศ (airborne)

มีหลักฐานชัด [1]ว่าเชื้อโควิดอยู่รอดในฝอยละอองที่ล่องลอยในอากาศขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอนได้ในห้องปิดประตูปิดหน้าต่างตลอดการวิจัยซึ่งทำอยู่นาน 3 ชั่วโมง โดยถ้ามีแรงส่งดีๆเช่นการไอหรือการจามฝอยละอองจะไปได้ไกลถึง 7-8 เมตร กระแสการหมุนเวียนของอากาศในห้องจะเป็นตัวกำหนดทิศทางและความยาวนานที่ฝอยละอองจะคงอยู่ในอากาศ ดังนั้นในแง่ของการแพร่เชื้อ นั่งกินอาหารในห้องโล่งเปิดประตูหน้าต่างย่อมดีกว่านั่งกินในห้องแอร์ที่ปิดประตูหน้าต่าง

2.. ถามว่าถ้าจำเป็นต้องปิดประตูเปิดแอร์ มีวิธีแก้ไขอย่างไรไหม ตอบว่าคุณสามารถลดเชื้อในอากาศได้ผ่านการความคุมความชื้นสัมพัทธ์ เรื่องนี้มันลึกซึ้งละเอียดอ่อนหน่อยนะคุณต้องตั้งใจอ่าน มันมีสองประเด็นคือ (1) การควบคุมหรือทำลายฝอยละออง กับ (2) การควบคุมความเข้มข้นของของเหลวในฝอยละออง

ในแง่ของการควบคุมปริมาณฝอยละออง งานวิจัยพบว่าการการระเหยของน้ำในฝอยละออง [2] จะทำให้ขนาดของฝอยละอองค่อยๆเล็กลง ยิ่งความชื้นสัมพัทธ์ลดลงน้ำยิ่งระเหยมาก ขนาดฝอยละอองยิ่งเล็กลงจนแตกออกในที่สุด เมื่อฝอยละอองแตกออก ตัวไวรัสซึ่งเกาะฝอยละอองนั้นอยู่ยังล่องลอยอยู่ในอากาศได้อีกนานแต่ยังไม่ชัดว่ารู้นานกี่ชั่วโมง ดังนั้นการพยายามทำให้ฝอยละอองระเหยจนแตกออกจึงไม่ใช่วิธีที่จะลดจำนวนไวรัสในอากาศ

แต่งานวิจัยกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ [3] พบว่าไวรัสจะคงชีพอยู่ในฝอยละอองได้มากที่สุดความชื้นสัมพัทธ์ (RH) สูง 100% และที่ภาวะอากาศแห้งจนฝอยละอองแตก คือระดับ RH ใกล้ 0% ก็จะมีไวรัสคงชีพได้มากที่สุด โดยที่ไวรัสจะอยู่รอดน้อยที่สุดจนถึงไม่รอดเลยที่ความชื้อสัมพัทธ์ 50% กลไกที่ทำให้เป็นอย่างนี้แท้จริงเป็นอย่างไรยังไม่ทราบ แต่เชื่อว่า [4] เป็นเพราะเมื่อความชื้อสัมพัทธ์ค่อยๆลดลงมาจาก 100% น้ำจะระเหยออกจากฝอยละออง ทำให้ขนาดฝอยละอองเล็กลง และความเข้มข้นของโซเดียมคลอไรด์ในฝอยละอองกลับมากขึ้นๆ จนเมื่ออากาศแห้งถึงระดับ RH 50% ซึ่งเป็นระดับที่ฝอยละอองยังไม่แตกแต่ความเข้มข้นของโซเดียมคลอไรด์จะขึ้นสูงถึงระดับที่ไวรัสมีชีวิตอยู่ไม่ได้

ซ้ายมือ:ฝอยละอองปกติมีไวรัสเกาะอยู่บนผิว กลาง: ฝอยละอองหดตัวเมื่อน้ำระเหย ขวา: ภาพขยายไวรัสที่อยู่บนผิวแตกออกและตาย

ดังนั้นในการควบคุมอากาศในห้องอาหารที่ติดเครื่องปรับอากาศ ผมแนะนำตามหลักฐานวิจัยเหล่านี้ว่าคุณควรติดเครื่องควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ให้ RH อยู่ระดับ 50% ตลอดเวลาจะลดปริมาณไวรัสในอากาศได้มากที่สุด (อากาศกทม.ขณะนี้มีความชื้นสัมพัทธ์ 85-100% แล้วแต่ว่าฝนตกหรือแดดออก) ปิดป้ายหน้าร้านเลยว่าร้านคุณควบคุมไวรัสในอากาศโดยควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ไว้ที่ 50% เป็นการเพิ่มมูลค่าอาหารของคุณอีกทาง หิ..หิ

3.. ถามว่าการใช้ HEPA filter จะช่วยไหม ตอบแบบเดาเอาว่าคงช่วยได้อย่างน้อยก็ระดับหนึ่ง เพราะมันกรองได้ถึงระดับ 0.3 ไมครอนเลยทีเดียวมันก็น่าจะกรองฝอยละอองออกได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ว่ายังไม่เคยมีงานวิจัยการหมุนเวียนของฝอยละอองเล็กๆในห้องแอร์ว่าฝอยละอองน้ำหนักรุ่นไหน มีการล่องลอยละล่องอยู่ระดับไหนอย่างไร และระดับไหนที่จะได้มีโอกาสลอยขึ้นสูงกลับไปเข้า HEPA filter โหลงโจ้งแล้วจะมีโอกาสได้ผ่านเครื่องกรองสักกี่เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้ยังไม่มีองค์ความรู้เลย แต่ในห้องต่างๆของโรงพยาบาลทั่วโลกก็ใช้กันทั่ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. van Doremalen N., Bushmaker T., Morris D.H., Holbrook M.G., Gamble A., Williamson B.N., Tamin A., Harcourt J.L., Thornburg N.J., Gerber S.I., Lloyd-Smith J.O. Aerosol and surface stability of SARS-CoV-2 as Compared with SARS-CoV. N. Engl. J. Med. 2020;382:1564–1567. doi: 10.1056/NEJMc2004973.
  2. Morawska L. Droplet fate in indoor environments, or can we prevent the spread of infection? Indoor Air. 2006;16:335–347. doi: 10.1111/j.1600-0668.2006.00432.x.
  3. Yang W, Elankumaran S, Marr LC (2012) Relationship between Humidity and Influenza A Viability in Droplets and Implications for Influenza’s Seasonality. PLoS ONE 7(10): e46789. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0046789
  4. Dbouka T and Drikakisb D. Weather impact on airborne coronavirus survival featured. Physics of Fluids 32, 093312 (2020); https://doi.org/10.1063/5.0024272

[อ่านต่อ...]

28 สิงหาคม 2564

ประท้วงเรื่องปริมาณแอนโดรกราฟโฟไลด์ในยาต้มสมุนไพรฟ้าทลายโจร

เรียนคุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์
จาก Youtube EP.12 ผลวิจัยแอนโดรกราฟโฟไลด์ต่อใบของฟ้าทะลายโจร เพื่อการรักษาโควิด19 ด้วยตนเองอยากสอบถามคุณหมอเรื่องการคำนวณปริมาณในยาหม้อว่ามีความผิดพลาดเรื่องหน่วย หรือมีข้อมูลบางอย่างผิดพลาดหรือเปล่าครับ?
ซึ่งถ้าข้อมูลของคุณหมอถูกต้องคือ
% Andrographolide ในยาต้ม = 0.37%
ยาต้มหนึ่งแก้วปริมาตร = 240ml = ประมาณน้ำหนัก 240g
– ดังนั้นปริมาณ Andrographolide ในยาต้ม 1 แก้ว(g) = (240×0.37)/100=0.888g
– คิดเป็น andrographolide (mg) = 0.888×1,000 = 888mg ครับ
– และหากหาปริมาณ Andrographolide จากปริมาณใบสด = (83.2/11.2)x(2.8×5.11)/100=1.06g
– ดังนั้นผมเข้าใจว่าเป็นการต้มใบสด 83.2g ให้ได้ปริมาณยาที่ 240ml จะได้ Andrographolide ในยาต้มคิดเป็น %จากปริมาณในใบสด = 0.888/1.06=83.77% ครับ แต่หาก เป็น 0.37% ของ 1,000ml ปริมาณ Andrographolide จะเกินจากในปริมาณใบสดครับ เช่นเดียวกับ ในชาใบสด ที่มีปริมาณในใบสดที่ 4.29g เพียง 53mg แต่ในหนึ่งแก้วมี= (240×0.29)/100=0.696g=696mg เกินจากใบสดครับ – รบกวนคุณหมอชี้แจงด้วยครับ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่ทานแบบต้มเป็นอย่างมากครับ – เพราะในอดีตหากการทานแบบต้มได้ปริมาณสาร Andrographolide ที่น้อยมากตามที่คุณหมอบอก การใช้ฟ้าทะลายโจรแบบยาหม้อก็ไม่ควรจะได้ผลกับการรักษาไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ที่ต้องการปริมาณ Aืdrographolide ที่ 30-60mg/day นะครับ
ดังนั้นจึงเรียนมาเพื่อขอความกรุณาคุณหมอช่วยตรวจสอบและชี้แจงเพื่อประโยชน์ของคนที่ทานแบบต้มด้วยครับ

ด้วยความนับถือ

(ชื่อ)

……………………………………………………………..

ตอบครับ

เห็นหรือยังครับว่าคนอ่านบล็อกของหมอสันต์เนี่ยอยู่ดับไหน (หิ หิ พูดเล่น) ขอบพระคุณที่กรุณาทักท้วงมา ผมได้ตรวจสอบแล้วสรุปว่าหมอสันต์ผิดจริงในสองกระทง คือ

(1) มีการมั่วหน่วยกันเล็กน้อยระหว่างหน่วยน้ำหนัก มก. และ กรัม

(2) เปอร์เซ็นต์ที่นักวิเคราะห์เขาแจ้งผลมา (0.3781%) นั้นเป็นเปอร์เซ็นต์แบบ w/w แปลว่าเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแอนโดรกราฟโฟไลด์ที่สกัด (ต้ม) ออกมาในน้ำได้ทั้งหมด โดยเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์กับน้ำหนักรวมของพืชสดที่ใช้ต้ม (83.2 กรัม) แต่หมอสันต์เอามาเขียนให้เข้าใจผิดว่าเป็นเปอร์เซ็นต์โดยเทียบกับปริมาตรน้ำที่ใช้ต้มทั้งหมด (1000 ml)

ดังนั้นการคำนวณปริมาณเนื้อแอนโดรกราฟโฟไลด์ในน้ำยาหม้อที่ตักมา 1 แก้ว (240 ml) ต้องคำนวณดังนี้

น้ำหนักแอนโดรกราฟโฟไลด์เป็นกรัมในน้ำต้มทั้งหมด(1000 ml) = (0.3781 x 83.2 gm) / 100 = 0.3145 gm

น้ำหนักแอนโดรฯในน้ำต้มที่ตักมาหนึ่งแก้ว(240 ml) = (0.3145 gm x 240 ml) / 1000 ml = 0.0754 gm = 75.4 mg

โปรดสังเกตว่าทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับ % แอนโดรฯในน้ำหนักแห้งนะครับ เพราะนี่เป็นเรื่องของพืชสด ไม่ใช่พืชแห้ง

ขอบพระคุณเป็นอันขาดที่กรุณาแจ้งข่าวมาทำให้รู้ว่าผิด หิ..หิ ผมได้แก้ไขสคริปต์ที่ได้เผยแพร่ออกไปก่อนหน้านี้แล้วที่ https://drsant.com/2021/08/%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%ad%e0%b8%aa%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%95%e0%b9%8c-%e0%b8%9c%e0%b8%a5%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%88%e0%b8%b1%e0%b8%a2%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%98%e0%b8%b5%e0%b9%83%e0%b8%8a%e0%b9%89.html

และได้แก้ไขวิดิโอคลิปและโพสต์อันที่ถูกต้องขึ้นใหม่แล้วที่

https://youtu.be/qj8QBZKzoOQ

สำหรับท่านที่ขี้เกียจตามไปอ่านหรือไปดู ขอสรุปว่าข้อมูลส่วนที่แก้ไขคือตารางการวิเคราะห์แอนโดรฯในยาหม้อและชาใบสด ซึ่งได้แก้ไขใหม่เป็นดังนี้ 

ใบแก่(ขณะออกดอก)ปริมาณพืชสดปริมาณน้ำที่ใช้ต้ม (ml)% แอนโดร
w/w ของพืชสด
แอนโดร(มก.)
/แก้ว(240 ซีซี)
น้ำยาหม้อ83.2 กรัม10000.3781%75.45 มก.
น้ำชาใบสด4.29 กรัม2400.2923%12.44 มก.

และได้แก้ไขคำพูดสรุปเกี่ยวกับปริมาณแอนโดรกราฟโฟไลด์ในรูปแบบของยาต้มและชาใบสดเป็น

“..งานวิจัยทำยาต้มโดยเอาส่วนเหนือดินของฟ้าทลายโจรแก่(กำลังออกดอก)หนึ่งต้น (83.2 กรัม) ต้มในน้ำ 1 ลิตร เดือดนาน 1 ชั่วโมง น้ำพร่องก็เติมให้ครบ 1 ลิตร แล้วเอาน้ำยาต้มที่ได้มาวิเคราะห์ พบว่ามีปริมาณแอนโดรกราฟโฟไลด์ 0.3781% ของน้ำหนักพืชสดที่ใช้ต้ม นั่นหมายความว่าหากดื่มน้ำยาต้มส่วนเหนือดินของต้นแก่ (ขณะออกดอก)นี้หนึ่งแก้ว (240ml) ก็จะได้รับปริมาณแอนโดรกราฟโฟไลด์ 75.4 มก. ถ้าจะดื่มยาต้มนี้รักษาโควิดให้ได้ขนาด 144 มก.ต่อวันก็ต้องดื่มวันละประมาณ 2 แก้ว

งานวิจัยทำน้ำชาใบสดโดยเอาใบแก่(กำลังออกดอก) หนึ่งกำมือ (4.29 กรัม) ใส่ในน้ำร้อนหนึ่งแก้ว (240 ml) แล้วเอาน้ำชาที่ได้มาวิเคราะห์พบว่ามีความเข้มข้นของแอนโดรกราฟโฟไลด์ 0.29%ของน้ำหนักใบสดที่ใช้ทำ หากดื่มหมดทั้งแก้วก็จะได้แอนโดรกราฟโฟไลด์เพียง 12.4 มก. ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยไปหน่อย ไม่เหมาะที่จะใช้ดื่มเอาขนาดสูงๆอย่างการรักษาโรคโควิด..”

ขอบคุณอีกครั้งครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

27 สิงหาคม 2564

เบื่องาน อยากไปทำ "ธรรมธุรกิจ"

เรียน อาจารย์ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
ตอนนี้อายุ 43 ปี ทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็ก รู้สึกเบื่องานที่ทำมาก อยากเปลี่ยนงานทำ ไปทำกับธรรมธุรกิจ ของอาจารย์ … ที่เจริญรอยตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง แต่ก็มีภาระเรื่องค่าใช้จ่ายที่ทำให้ลังเลใจอยู่ว่าควรจะทำงานเป็นพี่เลี้ยงต่อหรือลาออกไปทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ เพราะการเป็นพี่เลี้ยงเด็กเมื่อจบเคสก็ไปหาเคสใหม่ต่อวนเวียนไปเรื่อย ๆ แต่ถ้ามีโอกาสได้ร่วมงานกับธรรมธุรกิจเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุดตัวเองจะมีอาวุธทางปัญญาที่จะมีชีวิตที่เป็นสุขและยั่งยืนได้ค่ะ 
ขอเรียนปรึกษาอาจารย์ว่าจะทนทำงานต่อที่เดิมเพื่อเงินหรือจะทำตามฝันเพื่อเพิ่มปัญญาดีคะ ตอนนี้ต้องรับผิดชอบคนสองคนค่ะ (แม่และตัวเอง) ไม่มีทุนเหลือเลยค่ะ ทำร้านอาหารเจ๊งไปเมื่อปี 2563 หลังเจอโควิดรอบแรก ต้องหางานทำมาเป็นพี่เลี้ยงเด็กค่ะ ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองค่ะ บ้านที่อยู่ปัจจุบันปลูกอยู่บนที่ดินของป้า(พี่สาวแม่) ค่ะ 
ขอแสดงความนับถือ

……………………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กแล้วเบื่อ อยากจะเปลี่ยนไปทำอะไรเกี่ยวกับเกษตรพอเพียงจะดีไหม ตอบว่าดีนั้นดีแน่ แต่ผมขอฉายภาพใหญ่ให้เห็นก่อนว่านี่มันเป็นการเปลี่ยนลู่วิ่งในชีวิตเลยนะ

คือทุกวันนี้คนส่วนใหญ่กำลังวิ่งอยู่ใน “ลู่เงิน” ซึ่งเป็นลู่แข่งขันที่มีเงินเป็นเป้าหมาย ทุกคนเข้าใจกฎกติกาดี ไม่ต้องบรรยายมาก แต่ว่าคุณกำลังจะออกจากการวิ่งในลู่นี้ไปวิ่งในลู่ใหม่ ซึ่งผมเรียกว่า “ลู่ความสุข” ตรงนี้มันเป็นลู่ที่ชื่อไม่คุ้นหู แต่ความจริงมันเป็นลู่เก่าที่คนไทยเชื้อชาติไทยดั้งเดิมในชนบทวิ่งกันมาแต่บรรพบุรุษ เพียงแต่เพิ่งมาสมัยหลังไม่กี่สิบปีมานี้ต่างพากันเปลี่ยนลู่มาวิ่งใน “ลู่เงิน” กับเขาบ้าง เพราะคนไทยในชนบทหันไปเอาอย่างคนจีนในตลาดเนื่องจากเห็นเขาวิ่งในลู่เงินกันแล้วมีทรัพย์ศฤงคารมากกว่า จึงทำตามอย่างเขาบ้าง แต่เนื่องจากคนไทยแท้ในชนบทสันทัดการวิ่งใน “ลู่ความสุข” ซะเคย ไม่เหมือนคนจีนในตลาดที่เขาสันทัดการวิ่งใน “ลู่เงิน” มาแต่ในสายเลือด พอคนไทยมาวิ่งในลู่ที่ตัวเองไม่สันทัดก็สู้เขาไม่ได้ ครั้นจะกลับไปวิ่งใน “ลู่ความสุข” ก็กลับไปไม่ได้ซะแล้ว เรื่องไม่มีที่ดินนั้นก็เรื่องหนึ่ง แต่เรื่องใหญ่ก็คือคนไทยพันธ์ไทยแท้ตอนนี้มีใครยังทำเกษตรแบบยั่งยืนอย่างที่บรรพบุรุษทำมา นับหัวเฉพาะที่ยังทำเป็นและยังทำได้ มีเหลืออยู่จริงๆกี่เปอร์เซ็นต์ ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้ปรามาสชาวนาชาวไร่ เพราะโคตรเหง้าศักราชของหมอสันต์ก็เป็นชาวนา ตัวหมอสันต์เองก็เรียนจบเกษตรแม่โจ้มา ไร่นาสาโทหมอสันต์ก็ยังทำอยู่จนทุกวันนี้แม้จะทำแบบก๊อกๆแก๊กๆไม่ได้เงินแต่ก็พอรู้ตื้นลึกหนาบางของงานเกษตรกรรมอยู่บ้าง จึงกล้าถามว่าคนไทยพันธ์ไทยแท้ที่ยังทำเกษตรยั่งยืนเป็นมีเหลืออยู่กี่เปอร์เซ็นต์

ที่ฉายภาพใหญ่ให้ดูนี้ไม่ใช่จะให้ท้อถอย แต่จะให้เห็นว่าการคิดเปลี่ยนลู่วิ่งนี้เป็นการสวนกระแสที่ตัวเองเคยไหลตามมานาน ต้องถามใจตัวเองให้ดีว่าจะเอาแน่หรือเปล่าน้อง

2.. ถามว่าไม่มีทุนเหลือเลย ที่ดินก็ไม่มี อาศัยป้าอยู่ อยากจะไปเริ่มชีวิตใหม่แบบธรรมธุรกิจแนวเกษตรพอเพียงของอาจารย์ … จะดีไหม หิ หิ ตอบว่าโดยคอนเซ็พท์นั้นดีแน่ครับ มันมีสองอย่างนะ ผมไม่แน่ใจว่าคุณอยากไปทำอย่างใหน คือ

(1) ไปสมัครเป็นลูกจ้างของบริษัทธรรมธุรกิจจำกัด หรือ

(2) คุณทำอะไรของคุณเองโดยยึดแนวทางหรืออุดมการณ์แบบธรรมธุรกิจ

แบบที่ 1 นั้นง่าย คุณไปเมื่อไหร่ก็ได้ ไปยื่นใบสมัครเป็นพนักงาน ถ้าเขารับ ก็ไปทำงานกับเขา ถามว่าวิธีนี้ดีไหม ตอบว่าดีแน่ครับถ้าคุณเห็นดีเห็นงามกับอุดมการณ์ของเขาและยอมรับค่าจ้างที่อาจจะต่ำลงหน่อยได้ คุณไปได้เลย ไม่มีอะไรจะเสีย มีแต่ได้กับได้

ผมอยากจะคุยถึงกรณีที่ถ้าคุณอยากจะไปทำแบบที่ 2. มากกว่า มันเป็นฝันไกลที่ท้าทายมาก แม้ว่าหากคุณเล่าให้ชาวนาสักคนหนึ่งฟังว่าคุณไม่มีเงิน ไม่มีที่ดิน ไม่เคยทำนา คุณจะมาทำนาแบบพอเพียงแบบธรรมธุรกิจเพื่อพอกพูนปัญญาให้ชีวิต ผมว่าเล่ายังไม่ทันจบชาวนาที่กำลังอ้าปากฟังอยู่นั้นคงจะกลั้นหัวเราะไม่อยู่จนต้องปล่อยก๊าก..ก ออกมา แต่ถ้าคุณถามผม ผมไม่ปล่อยก๊ากใส่คุณนะ ผมจะตอบว่าดีครับ แต่ว่าคุณต้องฝึกตัวเองไปทีละขั้นๆก่อน

ผมเดาเอาว่าคอนเซ็พท์ “ธรรมธุรกิจ” นั้นคงมีความละเอียดลึกซึ้งซ่อนอยู่ในนั้น นับตั้งแต่การมีความสุขกับทุกขณะที่ทำกิจนั้นๆอย่างจดจ่อใส่ใจ การลดการบริโภคลงให้เหลือแค่ที่จำเป็นหรือที่เรียกกันฮิตติดปากว่า “พอเพียง” การลดความยึดถือในตัวตนลงด้วยการแบ่งปัน แค่สามอย่างนี้คุณก็ต้องฝึกซ้อมล่วงหน้าโขอยู่นะก่อนจะไปลงสนามจริง ผมแนะนำว่าคุณเริ่มฝึกซ้อมก่อนตอนนี้เลย ยังไม่ต้องเลิกรับจ้างเป็นพี่เลี้ยงเด็กหรอก เริ่มซ้อมสามอย่างนี้ตอนนี้เลย ย้ำอีกทีนะ

(1) มีความสุขกับทุกขณะที่ทำงานอยู่

(2) ลดการบริโภคลงให้เหลือเท่าที่จำเป็น

(3) ลดความยึดถือในตัวตนลงด้วยการยอมรับคนอื่นและแบ่งปัน

คุณบอกว่าปลูกบ้านอยู่บนที่ของป้า แสดงว่าคุณคงมีที่ว่างอย่างน้อยสองสามตารางวาอยู่แล้ว คุณเริ่มทำเกษตรพอเพียงบนพื้นที่นั้นเลย งานเกษตรมันมีความลึกซึ้งมาก แค่พูดถึงและฟังเขาพูดโดยไม่ได้ลงมือทำเองคุณไม่มีวันเก็ท ทดลองบนพื้นที่สองสามตารางวานั้นด้วยมือตัวเองดูก่อน แล้วคุณจะเก็ท

การลดการบริโภคก็ให้ลองดูตอนนี้เลย มองไปรอบตัว อะไรบ้างที่ไม่จำเป็น เอาให้เหลือน้อยที่สุด แบบว่า minimalism คนเราสิ่งจำเป็นจริงๆในชีวิตมีไม่กี่อย่าง (1) อากาศหายใจ (2) น้ำดื่มน้ำอาบ (3) ที่ซุกหัวนอน (4) เสื้อผ้าอาภรณ์สองสามชุด (5) อาหารบรรเทาหิวมื้อต่อมื้อ แค่เนี้ยะ พอละ คุณลองดูก่อน ลดการบริโภคลงให้เหลือแค่ห้าอย่างนี้ ผูกเรื่องนี้เข้ากับการพึ่งตัวเองในเรื่องอาหารโดยการปลูกอะไรที่เก็บกินเองได้บ้างบนที่สองสามตารางวานั้น

การลดความยึดถือในตัวตนลงด้วยการให้ นี่ก็ต้องฝึกนะ ฝึกเลิกเปรียบเทียบแข่งขัน ฝึกเลิกตัดสินพิพากษา เพราะทั้งหมดนั้นคือกิจกรรมที่เอาอัตตาออกมาเป็นมาตรวัดสิ่งนอกตัว เลิกเปรียบเทียบ เลิกตัดสินพิพากษา หันมายอมรับทุกอย่าง ให้อภัยทุกคน คอยท่องคาถาสี่คำ ขอบคุณ ขอโทษ ให้อภัย เมตตา ฝึกทำอย่างนี้ไป

ทำได้ทั้งสามอย่างให้ได้ก่อน หลังจากนั้นจะเลิกเป็นพี่เลี้ยงเด็กหรือไม่เลิก จะไปทำเกษตรพอเพียงหรือไม่ทำ ทำสามอย่างนี้ได้แล้วทุกอย่างจะกลายเป็นเรื่องง่ายหมด ทางเดินในชีวิตมันจะเปิดโล่งให้คุณเลือกเดินได้ตามใจชอบ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

หมอสันต์ตอบคำถามผู้ฟังต่างชาติเรื่องโควิด

เมื่อสองสามวันก่อนผมบรรยายเรื่องโรคโควิดให้ผู้ฟังชาวต่างชาติ (เป็นภาษาอังกฤษ) มีคำถามมาก หลายคำถามเป็นคำถามที่คนไทยไม่ค่อยถามกัน ผมเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ จึงแปลเฉพาะตอนถามตอบกันมาให้อ่าน

  • ถ้าผมได้ Covishield ไปแล้วสองโด้สเมื่อสองเดือนก่อน แล้วตอนนี้มีไข้และไอ ผมมีโอกาสติดโรคมากแค่ไหน และควรทำอย่าง?

Dr.Sant:

ตามสถิติของผู้ได้รับ Covidshield ที่อินเดีย โอกาสเกิดการติดเชื้อทะลุกลางปล้อง (breakthrough infection) หลังได้รับวัคซีนครบแล้วมี 0.07% ในแง่ของการวินิจฉัยก็ต้องทำเหมือนกับตอนยังไม่ได้ฉีดวัคซีน คือต้องกักตัวเอง และตรวจ RT-PCR.

  • วัคซีนอะไรดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชาวเอเซีย?

Dr.Sant:

คำตอบนี้ไม่มี เพราะยังไม่มีการทำวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) จึงยังตอบคำถามนี้ไม่ได้

  • พอสัมผัสผู้ป่วยแล้วแม้จะยังไม่มีอาการ เราต้องกักกันตัวเองกี่วัน

Dr.Sant:

14 วัน นี่เป็นระยะกักกันโรคที่ยอมรับกันเป็นสากล

  • ช่วยคอมเมนต์เรื่องการใช้แอสไพรินป้องกันโควิดหน่อย

Dr.Sant:

งานวิจัยย้อนหลังดูกลุ่มคนที่สหรัฐชิ้นหนึ่งพบว่าการกินแอสไพรินขนาดต่ำช่วยลดโอกาสต้องเข้าไอซียู.และลดการตายของผู้ป่วยโควิดลงได้ ดังนั้นแอสไพรินมีศักยภาพที่จะใช้ช่วยรักษาโควิดอยู่ แต่เราต้องการงานวิจัยแบบ RCT สักชิ้นหนึ่งมายืนยัน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มี จึงยังไม่มีใครใช้แอสไพรินรักษาโควิดในขณะนี้

  • ฉันติดเชื้อโควิดมา 24 วันแล้ว เมื่อใดที่ฉันจะต้องตรวจ RT-PCR เพื่อยืนยันว่าปลอดภัยแล้ว ฉันต้องตรวจแอนตี้บอดี้ด้วยไหม

Dr.Sant:

คุณไม่ต้องไปตรวจ RT-PCR หลังการรักษาโควิดแล้ว เพราะไม่มีประโยชน์ ได้ผลบวกหรือลบแผนการรักษาก็ยังจะเหมือนเดิม เพราะวงการแพทย์นับการหมดไปของไวรัสที่มีชีวิตเอาจากการนับวันไป 10 วันจากวันเริ่มมีอาการ ครบสิบวันก็ถือว่าไวรัสหมดฤทธิแล้ว RT-PCR จะได้ผลบวกหรือลบก็ไม่สน เพราะ RT-PCR ได้ผลบวกก็มีความหมายแค่ว่าคุณมีซากศพของไวรัสอยู่ในตัว เอาข้อมูลนี้ไปใช้อะไรอื่นไม่ได้ ส่วนแอนตี้บอดี้ก็ไม่ต้องตรวจ มันเป็นเรื่องของงานวิจัย ไม่จำเป็นในการรักษาโควิดทั่วไป

  • ผมฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้วติดเชื้อโควิด โด้สที่ฉีดไปนั้นไม่มีความหมายใช่ไหม ผมต้องตั้งต้นฉีดวัคซีนใหม่ทั้งหมดใช่ไหม หรือว่าเดินหน้าไปฉีดเข็มสองได้เลย

Dr.Sant:

เดินหน้าไปฉีดเข็มสองได้เลยครับ ซึ่งปกติก็ต้องรอ 3 เดือนหลังการติดเชื้อ

  • ผมยังไม่ติดโควิด ได้วัคซีน astra zeneca แล้วสองเข็มเมื่อปลายพฤษภา ผมอ่านพบว่าผมต้องฉีดเข็มสาม ผมต้องฉีดเมื่อไหร่ ต้องฉีดวัคซีนคนละแบบไหม การไขว้วัคซีนคนละยี่ห้อจะดีกว่าหรือเปล่า ระยะระหว่างเข็มสองกับสามควรเป็นเท่าใด ต้องตรวจภูมิคุ้มกันก่อนหรือเปล่า

Dr.Sant:

ฉีดแอสตร้าไปแล้วสองเข็มไม่จำเป็นต้องฉีดเข็มสามนะครับ เว้นเสียแต่ว่าคุณจะเป็นคนภูมิคุ้มกันบกพร่อง ดังนั้นเข็มสามนี่ผมถือว่ามันเป็น option มากกว่า

ณ ขณะนี้เรายังไม่มีความรู้หรอกว่าแต่ละวัคซีนควรมีเข็มสามไหม ควรฉีดเมื่อไหร่

ในประเด็นการไขว้วัคซีน งานวิจัยใหม่ชื่อ Com-Cov study พบว่า Astra + mRNA ให้ภูมิคุ้มกันดีกว่า Astra+Astra ข้อมูลนี้อาจมีประโยชน์หากคุณเลือกจะฉีดเข็มสาม ในประเทศไทย Sinovac+Astra ก็ให้ภูมิคุ้มกันดีกว่า Sinovac+Sinovac. ในเยอรมัน Astra+Pfizer ก็ให้ภูมิคุ้มกันดีกว่า Astra+Astra.

การตรวจภูมิคุ้มกันระหว่างเข็มไม่จำเป็น

  • ในอนาคตเราต้องฉีด booster vaccine ไหม และควรฉีดวัคซีน pfizer หรือ moderna หลังจากได้วัคซีนอื่นแล้วไหม ผมฉีด Sinovac ครบแล้ว หากอยากฉีด Pfizer เพื่อจะได้เดินทางได้ ต้องรอนานเท่าใดจึงจะฉีด

Dr.Sant

วัคซีนไหนต้อง booster กี่เข็ม อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำวิจัยไป แล้วก็ฉีดกันไป เพราะวัคซีนโควิดนี้เรารีบเอาออกมาใช้ ยังไม่รู้หรอกว่าชนิดไหนควรได้ทั้งหมดกี่เข็ม การฉีด Sinovac + mRNA ข้อมูลวิจัยวัดระดับภูมิคุ้มกันพบว่าดีกว่า Sinovac+Sinovac ระยะห่างระหว่างเข็มสองกับเข็มสามก็ปกติ 1 เดือน

  • วัคซีนโควิดป้องกันเราจากเชื้อกลายพันธ์ได้ไหม?

Dr.Sant:

ได้บ้างไม่ได้บ้าง อย่างเช่นวัคซีน Pfizer ป้องกันเชื้อกลายพันธ์ได้ตั้งแต่ 42% ถึง 96% สุดแล้วแต่ทำวิจัยที่ไหน แต่ประเด็นที่ควรกล่าวเสียหน่อยคือแม้จะป้องกันการติดเชื้อกลายพันธ์ได้ไม่มาก แต่วัคซีนลดอัตตราตายได้มาก ระดับ 90% ขึ้นไปทีเดียว

  • วัคซีนจะป้องกันการติดเชื้อโควิดไปได้นานเท่าใด?

Dr.Sant:

ไม่มีใครรู้หรอกครับ ข้อมูลยาวที่สุดที่เรามีคือวัคซีน Pfizer จะป้องกันการติดเชื้อไปได้นานอย่างน้อย 4 เดือน หลังจากนั้นไม่รู้.

  • ที่พม่าวัคซีนหายาก เพื่อนบางคนก็ไม่อยากฉีดวัคซีน ผมควรจะพูดอย่างไรให้เขายอมรับการฉีดวัคซีน

Dr.Sant:

ถ้าเขาไม่อยากฉีดเพราะไม่มีวัคซีนก็หาวัคซีนให้เขาสิครับ แต่ถ้าเขาไม่อยากฉีดเพราะเขาเชื่อในทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด (conspiration theory) ผมก็ไม่รู้จะพูดกับเขายังไงเหมือนกัน

  • ตั้งแต่ฉีดวัคซีนกันมาทั่วโลกเนี่ย วัคซีนช่วยชีวิตคนไว้ได้แค่ไหนแล้ว?

DrSant:

ไม่มีใครรู้หรอก เพราะไม่มีใครรู้ธรรมชาติ (natural course) ของโรคนี้ มันอาจจะมีธรรมชาติลดความรุนแรงลงและมีอัตราตายที่ต่ำลงของมันอยู่แล้วไม่ว่าจะมีหรือไม่มีวัคซีนก็เป็นได้ เราไม่มีตัวเลขการทิ้งให้โรคเดินหน้าของมันเองมาเปรียบเทียบ เราจึงไม่รู้ว่าวัคซีนที่เราฉีดกันอยู่นี้มันมีมรรคผลอะไรหรือเปล่า ได้แต่เปรียบเทียบกับอัตราตายของโรคในอดีตว่าพอมีวัคซีนแล้วอัตราตายมันลดลง

  • การรักษาขณะ home isolation ควรทำอย่างไรบ้าง .

Dr.Sant:

ไม่ต้องใช้ยาเลย เพราะไม่มียาตัวไหนที่ใช้ในระยะแรกได้รับการพิสูจน์ว่าลดอัตตราตายของโรคลงได้ สิ่งที่ควรทำคือปรับอาหารให้มากินพืชผักผลไม้มากขึ้น เพราะงานวิจัยใหญ่ในหกประเทศพบว่าอาหารพืชผักผลไม้เป็นสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงติดโควิดในหมู่แพทย์พยาบาลด่านหน้าลงได้ 73% ควรออกกำลังกายทุกวัน จัดการความเครียดให้ดี นอนหลับให้พอ เพราะระบบภูมิคุ้มกันโรคจะทำงานดีถ้าทำสิ่งเหล่านี้

  • ช่วยคอมเมนต์การรักษาแบบคอกเทลในอินเดีย เช่น Azithro+Cefixime+Dexomethasone+Multivitamin ให้คนไข้ที่บ้าน

Dr.Sant:

อันนั้นมันไม่ใช่วิทยาศาสตร์ มันเป็นการรักษาที่มีพื้นฐานอยู่บนจินตนาการ ผมโนคอมเมนต์ครับ

  • วิตามินแร่ธาตอาหารเสริมจะช่วยป้องกันโควิดได้ไหม

Dr.Sant:

วิตามินและอาหารเสริมมีประโยชน์ในภาวะขาดอาหารหรือกินอาหารได้ไม่ถึงระดับปกติ แต่ในคนที่โภชนาการปกติ ไม่มีหลักฐานว่าวิตามินและอาหารเสริมจะลดการติดเชื้อโควิดหรือลดอัตราตายลงได้ครับ

  • คุณคิดว่าโควิดเป็นโรคมากับอากาศ (airborne) ไหม

Dr.Sant:

ใช้แน่นอนเลยครับ แต่มันมีวิธีมาถึงตัวเราได้สามวิธี คือ (1) เราหายใจเอาฝอยละออง aerosol ที่มีเชื้อเข้ามาในปอด (2) ฝอยน้ำลาย (droplet)ของคนป่วยปลิวมาตกบนเยื่อเมือกของเรา (3) เราเผลอเอามือไปแปดเปื้อนฝอยน้ำลายที่มีเชื้อ แล้วเผลอเอามือนั้นมาแตะเยื่อเมือกของเรา

  •  ควรให้เด็กฉีดวัคซีนไหม เด็กอายุต่ำกว่า 12 ขวบควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันโควิดไหม

Dr.Sant:

เหตุผลที่จะฉีดวัคซีนให้เด็กก็คือเพื่อไม่ให้เขาเอาโรคไปติดผู้ใหญ่ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงฉีดแต่เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ส่วนการจะฉีดวัคซีนเพื่อลดอัตราตายในเด็กนั้นไม่จำเป็น เพราะเด็กมีอัตราตายจากโรคนี้ต่ำมาก

ส่วนการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อป้องกันโควิดนั้น มันมีงานวิจ้ยย้อนหลังดูกลุ่มคนที่มิชิแกน สหรัฐฯ ซึ่งสรุปผลได้ว่าเด็กที่ได้วัคซีนไข้หวัดใหญ่เมื่อปีก่อน จะเป็นโควิดในปีนี้น้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งสอดคล้องกับคอนเซ็พท์ที่เรียกว่า virus interference หมายความว่าเมื่อเซลติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งแล้วมันจะปล่อยอินเตอร์เฟียรอนต้านไม่ให้ไวรัสตัวอื่นเข้ามาได้ง่ายๆ นี่เป็นแค่คอนเซ็พท์นะ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ช่วยป้องกันโควิดในเด็กได้หรือไม่ยังเป็นเรื่องพิสูจน์ไม่ได้ ต้องตามดู

  • โควิดมีผลต่อหญิงตั้งครรภ์อย่างไร มีวัคซีนสำหรับหญิงตั้งครรภ์ไหม ควรเลือกใช้ตัวไหน

Dr.Sant:

งานวิจัยที่ดีมากงานหนึ่งย้อนดูหญิงตั้งครรภ์ 2130 คน ในจำนวนนี้ 700 คนเป็นโควิด พบว่าการติดโควิดขณะตั้งครรภ์ทำให้อัตราตายทั้งแม่และทารกสูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นครรภ์เป็นพิษและคลอดก่อนกำหนด

วัคซีนสำหร้บหญิงตั้งครรภ์ยังไม่มี ความปลอดภัยของวัคซีนโควิดต่อหญิงตั้งครรภ์นั้นไม่มีใครรู้เลย โดยเฉพาะวัคซีนรุ่นใหม่อย่าง DNA vaccine นี้ กลไกการออกฤทธิ์ของมันคือมันจะเข้าไปในนิวเคลียสของเซลมนุษย์ ไปยุ่งกับรหัสพ้นธุกรรม (DNA) ของมนุษย์และทำให้ DNA ผลิต mRNA ออกมาเพื่อส่งเป็นคำสั่งให้ไมโตคอนเดรียผลิตโปรตีนชื่อ spike protein ออกมา ที่ผมเล่านี่มันอาจฟังเข้าใจยากหน่อย แต่ประเด็นของผมคือไม่มีใครรู้หรอกว่าเมื่อส่งไวรัสเข้าไปป้วนเปี้ยนกับรหัสพันธุกรรมของเซลของเราเองแล้วในระยะยาวจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเราและกับลูกหลานของเรา มันเป็นเรื่องที่จะรู้ได้จากการติดตามดูเท่านั้น

  • คนติดเชื้อธรรมชาติกับฉีดวัคซีนอย่างไหนจะมีภูมิคุ้มกันดีกว่ากัน.

Dr.Sant:

งานวิจัยเปรียบเทียบระดับภูมิคุ้มกันพบว่าการติดเชื้อธรรมชาติให้ภูมิคุ้มกันน้อยกว่าการฉีดวัคซีน จึงเป็นที่มาของการแนะนำให้คนที่ติดเชื้อโควิดมาแล้วเดินหน้ารับวัคซีนเหมือนคนที่ไม่เคยติดเชื้อ

  • ที่ว่าสัมผัสใกล้ชิดกับคนเป็นโรคนั้นนิยามว่าอย่างไร อย่างเราคุยด้วยโดยใส่หน้ากาก อย่างนี้เรียกสัมผัสใกล้ชิดหรือเปล่า

DrSant:

คำนิยามมันเป็นแค่การนั่งเทียนเขียนเอานะ ของศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ (CDC) นิยามว่าใกล้กันเกินกว่า 6 ฟุต นานเกิน 15 นาที ถือว่าสัมผัสใกล้ชิดกับคนเป็นโรค แต่ที่เมืองไทยนี้หมอจะรักษาคนไข้โดยอยู่ห่างกัน 6 ฟุตมันเป็นไปไม่ได้ คำนิยามจึงเปลี่ยนเป็น 1 เมตร ทั้งนี้ไม่สนว่าจะสวมมาสก์หรือไม่

  • ยาต้านไวรัสนี้ยิ่งใช้เร็วยิ่งได้ผลดีไม่ใช่หรือ ทำไมเราไม่ฉีดยาต้านไวรัสกันเสียตั้งแต่ที่บ้าน

Dr.Sant:

โดยหลักการ ใช่ แต่นับถึงวันนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสตัวไหนได้รับการพิสูจน์ว่าลดอัตราตายจากโควิดได้เลย ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากการใช้ยาในโรงพยาบาล การตั้งต้นให้ยาเสียตั้งแต่ที่บ้านอาจจะดี แต่ว่าเราต้องมีงานวิจัยระดับ RCT มารองรับมันจึงจะกลายเป็นวิธีรักษามาตรฐานขึ้นมาได้

  • อีกนานเท่าใดโรคโควิดจึงจะหมดไปจากโลกนี้?

Dr.Sant:

ผมไม่ทราบครับ บางทีหมอดูคงจะทราบกระมัง

  • CT value คืออะไร ค่าเท่าใดจึงจะปลอดภัย?”

Dr.Sant:

CT ย่อมาจาก cycle threshold ขอผมอธิบายวิธีตรวจวินิจฉัยโรคแบบ RT-PCR ก่อนนะว่าเขาทำกันอย่างไร

RT-PCR ย่อมาจาก Reverse transcription (RT) polymerase chain reaction (PCR) วิธีทำคือเขาเอาไวรัสมาจากแซมเปิลที่ได้จากการสว็อปจมูก เอามาฆ่าให้ตาย แล้วเอาไปขยายจำนวนด้วยวิธีก๊อปปี้ทีละเยอะๆ เปรียบเหมือนคุณเอาดอกกุญแจไปให้มิสเตอร์มินิทปั๊มดอกสำรองให้ แต่สมมุติว่าคุณใจร้อน คุณซื้อเครื่องปั๊มดอกกุญแจมาเองเสียเลยแล้วก็ปั๊มๆๆๆๆ เอาลูกกุญแจออกมาเป็นแสนเป็นล้านดอก การตรวจ RT PCR ก็เอาไวรัสไปปั๊มอย่างนั้น ปั๊มขยายจำนวนกันรอบหนึ่งก็เรียกว่า cycle หนึ่ง ปั๊มกันจนได้ตัวไวรัสมามากมายพอที่จะตรวจด้วยเครื่องตรวจพบ จำนวนรอบที่ขยายจนได้จำนวนที่ตรวจพบได้เรียกว่า CT ซึ่งค่าปกติคือหาก CT value เกิน 35 รอบหมายถึงมีเชื้อยิ่งน้อยจนตรวจไม่พบเลย (ยิ่งต้องขยายไปหลายรอบจึงตรวจพบ ยิ่งแสดงว่ามีไวรัสน้อย) ถ้าได้ CT value ต่ำกว่า 35 ก็จะรายงานผล RT-PCR ว่าได้ผลบวก บวกแรงหรือบวกอ่อนก็ดูที่ค่า CT value ยิ่งจำนวนรอบต่ำยิ่งมีเชื้อมากก็คือบวกแรงมาก

  • ถ้าจะไปยิมตอนนี้ผมควรระวังอะไรบ้าง?

Dr.Sant:

ต้องเป็นยิมที่เปิดประตูหน้าต่าง นั่นสำคัญที่สุด เพราะงานวิจัยของฮาร์วาร์ดพบว่าเมื่อปล่อยเชื้อให้เกาะฝอยละอองอากาศ (aerosol)ไว้ในห้องที่ปิดประตูหน้าต่าง มันจะล่องล่อยอยู่ในห้องได้นานถึง 3 ชั่วโมง และจะลอยจากมุมหนึ่งไปหาอีกมุมหนึ่งของห้องได้

และแน่นอน มาตรการป้องกันสากลคือสวมหน้ากาก อยู่ห่าง ล้างมือ ก็ยังต้องใช้อยู่

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

………………………….

[อ่านต่อ...]

26 สิงหาคม 2564

กินยาฟาวิพิราเวียร์ควบกับฟ้าทลายโจรได้ไหม

เรียนคุณหมอสันต์

คนไข้ตรวจ​ ATK+ แล้วเริ่มกินฟ้าทะลายโจร​ วันแรก​ วันรุ่งขึ้น​ ไปตรวจ​ pcr​ กลับมาทานฟ้าทะลายโจรต่อเป็นวันที่​ 2​ วันรุ่งขึ้น​ ผล​ pcr​ ออก​ รพ.ตามมา​ cxr​ พบมีปอดอักเสบ​ ให้เริ่มยา​ ฟาวิพิราเวีย​ ประเด็นนี้​ สามารถ​ ทานฟ้าทะลายโจรควบคู่​ไปได้ไหมครับ​ เภสัช​ ที่​ รพ.เขาให้หยุด​ ฟ้าทะลายโจร​ เนื่องจากกลัวตับอักเสบ​ ความจริงควรเป็นเช่นไรครับ

………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่ากินยาฟาวิพิราเวียร์ควบกับฟ้าทลายโจรได้ไหม ตอบว่าได้สิครับ ตำรวจไม่จับหรอก ถ้าหมอเขาไม่ยอมให้กินเพราะหมอเขาเกลียดฟ้าทลายโจร คุณก็แอบกินเองได้นี่ครับ เพราะคุณชอบฟ้าทลายโจร คือทุกวันนี้การรักษาโรคโควิดของแพทย์มีจำนวนหนึ่งออกแนวทำกันไปตามความเชื่อแบบความเชื่อทางศาสนา (faith) ของแพทย์แต่ละคน หรือบางทีก็ทำไปตามกระแสต่อต้านที่ใจแพทย์คนนั้นชอบโหนกระแสนั้นด้วย คนไข้ก็มีความเชื่อของตัวเอง โหนกระแสของตัวเอง ก็ต่างคนต่างทำได้ ไม่ผิดกติกา เพราะไม่มีใครใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์อยู่ แล้วใครจะไปว่าใครได้ละครับ เพราะอาศัยความเชื่อหรือศรัทธากันทั้งคู่

2.. ถามว่าเภสัชกรแนะนำว่ากินฟ้าทลายโจรควบกับฟาวิพิราเวียร์แล้วตับจะพังจริงไหม ตอบว่าไม่จริงหรอกครับ ยังไม่เคยมีรายงานเคสอย่างที่ว่านั้นไว้ในโลกนี้เลยสักรายเดียว การจะแนะนำว่ายาอะไรทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอะไรต้องมีหลักฐานการวิจัยในคน (clinical trial) แต่ตอนนี้มันไม่มี ความเป็นจริงในเรื่องนี้มีดังนี้

2.1 งานวิจัยที่จีนพบว่าเมื่อคนป่วยเป็นโรคโควิด จะเกิดตับอักเสบขึ้น 14-53% ทราบได้จากการที่เอ็นไซม์ของตับขึ้นสูงผิดปกติ โดยที่ไม่ทราบกลไก ได้แต่เดาเอาตามมั้งศาสตร์ว่าคงเป็นเพราะไวรัสไปป่วนตับมั้ง

2.2 ในบรรดายาที่ใช้รักษาไวรัสโควิด ยาในกลุ่มยาต้านไวรัสที่เรียกว่าอินเตอร์เฟียรอนส่วนใหญ่ก็มีหลักฐานในคนว่าทำให้เกิดตับอักเสบขึ้น นี่เราพูดถึงยาทำให้ตับพังนะ ภาษาหมอเรียกว่า drug-induced liver injury (DILI) ยาในกลุ่มอินเตอร์เฟียบางตัวมีพิษต่อตับมากจนองค์กร REFHEPS ในยุโรปซึ่งทำงานเกี่ยวกับ DILI โดยตรงได้ถอนยานั้นออกไปจากการเป็นยารักษาโรค ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ซึ่งเป็นอินเตอร์เฟียรอนเหมือนกันก็ไม่เว้น เพราะสถาบันวิจัยพัฒนาญี่ปุ่น (JAMED)ได้ให้ทุนวิจัยที่พิสูจน์ได้แล้วว่ามีความสัมพันธ์กับระดับของยาฟาวิพิราเวียร์ในเลือดกับการเกิดตับอักเสบแบบแปรผันตามขนาด คือยิ่งระดับยาสูง ยิ่งเป็นตับอักเสบได้มาก งานวิจัยนี้ทำโดยให้คนที่กินยาพาวิพิราเวียร์ขนาด 1800 มก.วันละสองครั้งในวันแรก และ 800 มก.วันละสองครั้งในวันต่อๆไปเหมือนกันหมดทุกคน แต่ระดับยาในเลือดแต่ละคนไม่เท่ากัน และการเกิดตับอักเสบก็แปรผันตามระดับยาในเลือด

2.3 ยาแก้ปวดลดไข้พาราเซ็ตตามอลนี่แหละตัวจริงเสียงจริงที่ทำให้ตับพัง พิษของยาพาราเซ็ตตามอลต่อตับนั้นเป็นของจริงแท้แน่นอน โดยเฉพาะพาราเซ็ตตามอลร่วมกับแอลกอฮอลนั้นทำให้ตับวายได้ดีนัก เมื่อประกอบกับความจริงอีกด้านหนึ่งที่งานวิจัยเชื้อซารส์โควี1ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับซาร์สโควี2เป็นเชื้อไม่ทนความร้อน ที่อุณหภูมิ 38 องศามันตายหมด ดังนั้นเมื่อป่วยเป็นโควิดเวลามีไข้ไม่ควรกินยาพาราเซ็ตตามอล แต่ควรนอนห่มผ้าให้เหงื่อแตกสั่นงั่กๆๆๆจนมันหายเองแล้วลุกไปอาบน้ำ นี่เป็นสูตรกำจัดโควิดของหมอสันต์ในเวอร์ชั่นถนอมตับ ควรมิควรแล้วแต่จะพิจารณา

2.4 งานวิจัยในคนที่เป็นหลักฐานว่าฟ้าทลายโจรทำให้ตับหรือทำให้ไตพังไม่เคยมีนะครับ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าใครเป็นคนกุข่าวนี้ขึ้นมาเป็นคนแรก และช่างเป็นการสร้างข่าวปลอมที่ติดลมบนดีเสียจริง นี่เป็นเพราะสังคมของเราเป็นสังคมแห่งความเชื่อความศรัทธาและการโหนกระแส ไม่ใช่สังคมใช้ข้อมูลหลักฐานวิทยาศาสตร์

ข้อมูลความจริงมีอยู่แต่ว่าได้มีงานวิจัยจำนวนหนึ่งพยายามใช้ฟ้าทลายโจรปกป้องตับ (hepatoprotective)จากพิษภัยของยาพาราเซ็ตตามอลและจากสารพิษต่อตับตัวอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยในหนูแล้วบอกว่าได้ผลดี จะจริงหรือเท็จมันก็เป็นเพียงความจริงในหนู ยังไม่ใช่ความจริงในคน ยังเอามาใช้ในคนไม่ได้

ข้อมูลพิษของฟ้าทลายโจรต่อตับเมื่อใช้รักษาโควิดผมหาได้แต่ในเมืองไทยเท่านั้น เพราะประเทศที่อื่นที่ใช้ฟ้าทลายโจรรักษาโควิดมากก็คือประเทศจีนแต่ว่าผมอ่านเจอร์นอลจีนไม่ออก เอาแต่ในเมืองไทยก็แล้วกันนะ งานวิจัยการใช้ฟ้าทลายโจรรักษาโควิดหากจะนับแต่ครั้งใหญ่ๆก็มีสามงาน คือ (1) ข้อมูลเชิงระบาดวิทยาการใช้ฟ้าทลายโจรรักษานักโทษที่เป็นโรคโควิดจำนวนกว่า 37,000 คน (2) งานวิจัยย้อนหลังดูกลุ่มคนไข้ที่ได้ฟ้าทลายโจรรักษาโควิด 309 คน (3) งานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบการใช้ฟ้าทลายโจรรักษาโรคโควิดเทียบกับยาหลอกกับผู้ป่วย 57 คน ทั้งสามงานวิจัยนี้ไม่มีรายงานการเกิดพิษต่อตับต่อไตอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังแม้แต่รายเดียว

2.5 การควบยาฟาวิพิราเวียร์กับฟ้าทะลายโจรจะยิ่งทำให้ตับพังมากขึ้นหรือไม่ ไม่มีใครรู้หรอกเพราะยังไม่เคยมีงานวิจัยการควบยาทั้งสองตัวในการรักษาโรคโควิดเลยแม้แต่ครั้งเดียว ได้แต่ใช้มั้งศาสตร์เดาเอา หมอคนที่เกลียดฟ้าทลายโจรก็มั้งว่ายิ่งยาหลายตัวมันก็ยิ่งช่วยกันทำลายตับมากขึ้นสิ แต่หมอที่ชอบฟ้าทลายโจรอย่างหมอสันต์ก็มั้งว่าการควบกันอาจจะดีนะเพราะขณะที่พาวิพิราเวียร์ทำให้ตับอักเสบแต่ฟ้าทลายโจรอาจมีฤทธิ์ป้องกันตับ (hepatoprotective) โหลงโจ้งแล้วอาจช่วยเกี้ยเซี้ยกันไปได้ดี แต่ทั้งหมดนี้เป็นแค่มั้งศาสตร์ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ ทุกท่านต้องเสี่ยงเอาเอง เพราะวิทยาศาสตร์ยังไม่มีข้อมูลให้

3. อันนี้ไม่เกี่ยวกับคำถามของคุณ แต่ผมถือโอกาสนี้พูดกับเพื่อนๆแพทย์และเพื่อนๆนักวิชาชีพรุ่นหลังๆ ว่าอินเตอร์เน็ทและโชเชียลมีเดียมันชักจูงให้เราไปตามกระแส เกลียดอะไรกันอยู่หรือ ฉันขอเกลียดด้วยคน ชอบอะไรกันอยู่หรือ ฉันขอชอบด้วยคน พูดง่ายๆว่าโหนกระแส แต่อย่าลืมว่าเรากำลังสวมหมวกนักวิชาชีพอยู่นะ หน้าที่ของเราคือเอาวิทยาศาสตร์มารักษาคนไข้ วิทยาศาสตร์ได้ความจริงมาจากการวิจัย วิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ความจริงมาจากการทำวิจัยในคน (clinical trial) พวกเรามีคนไข้อยู่ในมือจำนวนมากนะครับ เราได้ลงทุนไปมากมายเพื่อสร้างชุมชนของเราให้เอื้อต่อการทำวิจัย มีกองทุนวิจัย มีระบบกลั่นกรองทางจริยธรรม มีระบบให้รางวัลคนทำวิจัย ยังขาดอยู่อย่างเดียวคือแพทย์และนักวิชาชีพที่จะรวมกลุ่มกันลงมือทำวิจัย อย่างเรื่องฟาวิพิราเวียร์กับฟ้าทลายโจรรักษาโควิด อะไรดีกว่าอะไร ควบใช้มันทั้งสองอย่างจะได้หรือะเปล่า ทั้งหมดนี้ตอบได้จากการทำวิจัยทางคลินิกขนาดเล็กๆ กลุ่มตัวอย่างไม่เกินกลุ่มละร้อย ใช้เวลาวิจัยไม่เกินสามเดือน เพราะเรากำลังมีผู้ปวยจำนวนมาก แล้วพวกเราทำไมไม่ฉวยโอกาสนี้ลงมือทำวิจัยละครับ จะเสียเวลาไปโหนกระแสกับชาวบ้านเขาทำไม..ผมทิ้งไว้เป็นคำถาม

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Huang C, Wang Y, Li X, et al. Clinical features of patients infected with 2019 novel coronavirus in Wuhan, China. Lancet. 2020;395(10223):497–506. doi: 10.1016/S0140-6736(20)30183-5.
  2. Guan WJ, Ni ZY, Hu Y, China Medical Treatment Expert Group for COVID-19 et al. Clinical characteristics of coronavirus disease 2019 in China. N Engl J Med. 2020 doi: 10.1056/NEJMoa2002032.
  3. Zhang C, Shi L, Wang F-S. Liver injury in COVID-19: management and challenges. Lancet Gastroenterol Hepatol. 2020 doi: 10.1016/S2468-1253(20)30057-1.
  4. Xu L, Liu J, Lu M, Yang D, Zheng X. Liver injury during highly pathogenic human coronavirus infections. Liver Int. 2020 doi: 10.1111/liv.14435.
  5. Association between high serum favipiravir concentrations and drug-induced liver injury, Kawasuji H, Tsuji Y. et al. medRxiv 2021.05.03.21256437; doi: https://doi.org/10.1101/2021.05.03.21256437
  6. Handa SS, Sharma A. Hepatoprotective activity of andrographolide against galactosamine & paracetamol intoxication in rats. Indian J Med Res. 1990 Aug;92:284-92. PMID: 2228075.
  7. Subramaniyan, Vetriselvan & Uthirapathy, Subasini & Rajamanickam, G.V.. (2011). Hepatoprotective activity of Andrographis paniculata in ethanol induced hepatotoxicity in albino Wistar rats. Pharmacie Globale. 2.
  8. Nakbua Vallop. Departmnt of Correction revealed that inmates already cured from COVID 94.2%. Bangkokbiznews 2021 July 14; Sect. A:1 (col.1) available on August 23, 2021 at https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/948538
  9. Benjaponpithak A, Visithanon K. et al. Short Communication on Use of Andrographis Herb (FA THALAI CHON) for the Treatment of COVID-19 Patients. Journal of Thai Traditional and Alternative Medicine 2021:19(f Andrographis Herb (FA THALAI CHON) for the Treatment of COVID-19 P1);229-233 (in Thai)
  10. Efficacy and safety of Andrographis paniculata extract in patients with mild COVID-19: A randomized controlled trial. Kulthanit Wanaratna, Pornvimol Leethong, Nitapha Inchai, Wararath Chueawiang, Pantitra Sriraksa, Anutida Tabmee, Sayomporn Sirinavinmed. medRxiv 2021.07.08.21259912; doi: https://doi.org/10.1101/2021.07.08.21259912
[อ่านต่อ...]

24 สิงหาคม 2564

หมอสันต์: ผลวิจัยวิธีใช้ใบพืชสดและผงบดฟ้าทลายโจรรักษาโควิด19ด้วยตนเอง

https://youtu.be/o7Z_JEBKEx0

(สคริปต์ แก้ไขครั้งสุดท้าย 28 สค. 64)

สวัสดีครับ ผม สันต์ ใจยอดศิลป์ นะครับ

สถานที่แห่งนี้ผมตั้งชื่อว่า “ไร่นางฟ้า” มีเนื้อที่ราวหนึ่งไร่กว่าๆ ผมใช้ปลูกฟ้าทลายโจรเพื่อใช้ทำวิจัยการใช้ฟ้าทลายโจรรักษาโรคโควิด วันนี้ผมจะเล่าให้ท่านฟังถึงผลวิจัยชิ้นเล็กๆชิ้นแรกที่ทีมงานของเราเพิ่งทำเสร็จ

ปกติการจะทำวิจัยเรื่องอะไร มันต้องเริ่มด้วยการเกิดคำถามที่เราตอบไม่ได้ขึ้นมาก่อน แล้วเราจึงทำวิจัยเพื่อตอบคำถามนั้น

ในเรื่องการใช้ฟ้าทลายโจรรักษาโควิดนี้ เรามีหลักฐานที่มีบ่งชี้ว่าฟ้าทลายโจรใช้รักษาโรคโควิดได้และมีผลดีลดการเกิดปอดอักเสบได้ แต่มันจำเป็นต้องรู้ขนาดหรือปริมาณที่จะกิน งานวิจัยการใช้ฟ้าทลายในคนที่ทำกันมาแล้วล้วนกำหนดขนาดหรือ dose เอาจากปริมาณสารตัวหนึ่งชื่อแอนโดรกราฟโฟไลด์ (andrographolide) ซึ่งเชื่อกันว่ามันเป็นสารในฟ้าทลายโจรที่เป็นตัวออกฤทธิ์หลัก โดยขนาดที่ใช้ในงานวิจัยก่อนหน้านี้มีสองขนาด คือ

หากจะถือเอาตามงานวิจัยในผู้ป่วยที่ทำโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งมีอยู่สองงานวิจัย งานหนึ่งเป็นการศึกษาย้อนหลังในคนใช้ฟ้าทลายโจร 309 คน อีกงานหนึ่งเป็นการสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบใช้คน 57 คน ทั้งสองงานใช้ขนาดเดียวกัน คือวันละ 180 มก.ของแอนโดรกราฟโฟไลด์ในรูปสารสกัด กินติดต่อกัน 5 วัน ได้ผลดีทั้งสองงานสรุปว่าลดการเกิดปอดอักเสบลงได้

แต่หากจะถือเอาตามขนาดที่มีการใช้ฟ้าทลายโจรรักษาผู้ป่วยเมื่อเกิดการระบาดครั้งใหญ่ในเรือนจำ ซึ่งใช้ผงบดฟ้าทลายโจรของอภัยภูเบศรแค้ปซูลละ 400 มก. ซึ่งมี 12 มก.ของแอนโดรกราฟโฟไลด์ กินวันละ 12 แค้ปซูลก็เท่ากับ 144 มก.ของแอนโดรกราฟโฟไลด์ต่อวันนาน 5 วัน รักษาคนไข้ไป 37,656 คน ได้ผลดีเช่นกัน คือมีอัตราตายเพียง 0.1% ขณะที่ทั่วประเทศขณะนั้นมีอัตราตายมากกว่าถึง 8 เท่า (0.8%)

จะเห็นว่ามีการใช้ฟ้าทลายโจรขนาดที่ได้ผลอยู่ระหว่าง 144-180 มก.ของแอนโดรกราฟโฟไลด์ต่อวันนาน 5 วัน ใครขนาดไหนตั้งแต่ 144-180 มก.นี้ก็เลือกเอาตามใจชอบ การระบุขนาดด้วยแอนโดรกราฟโฟไลด์นี้ไม่มีปัญหาหากซื้อฟ้าทลายโจรชนิดที่มีการระบุปริมาณของแอนโดรกราฟโฟไลด์ไว้ข้างขวดชัดเจน แต่หากประชาชนทั่วไปคิดจะใช้ใบพืชสดที่ปลูกไว้หลังบ้านหรือใช้ผงบดแห้งที่ตนเองทำขึ้นมารักษาโควิดให้ตัวเองหรือคนในครอบครัว หรือซื้อผงบดซึ่งโดยทั่วไปไม่มีการระบุขนาดแอนโดรกราฟโฟไลด์ไว้ข้างขวด ก็จะเกิดคำถามขึ้นทันทีว่า

“แล้วในหนึ่งใบของฟ้าทลายโจร หรือ 1 กรัมของผงบดแห้ง มันมีแอนโดรกราฟโฟไลด์อยู่กี่มก.?”

นี่เป็นคำถามที่ชักนำให้เกิดงานวิจัยนี้

งานวิจัยนี้ใช้ฟ้าทลายโจรจากไร่นางฟ้านี่แหละครับ ชื่อ “งานวิจัยปริมาณของแอนโดรกราฟโฟไลด์ในส่วนต่างๆของฟ้าทะลายโจร” นี่เป็นนิพนธ์ต้นฉบับของงานวิจัยที่ทำเสร็จแล้ว กำลังอยู่ในระหว่างส่งไปตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ หัวหน้าคณะผู้วิจัยคือคุณธรรมรัตน์ บุญสูง ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 4 ตัวผมเองก็ร่วมเป็นผู้วิจัยอยู่ด้วย

วิธีการวิจัย

เริ่มด้วยการเพาะเมล็ดแล้วปลูกต้นฟ้าทลายโจรขึ้นมาก่อน แล้วศึกษาข้อมูลทางกายภาพของฟ้าทะลายโจร โดยการถอนต้นออกมาหลายๆต้น แล้วก็นับและชั่งเพื่อหาค่าเฉลี่ย ทำให้เราได้ข้อมูลขั้นต้นว่าหากเป็นฟ้าทลายโจรอ่อนที่ยังไม่ออกดอก เฉลี่ยแล้วแต่ละต้นจะมีน้ำหนักพืชสดส่วนเหนือดินทั้งต้นเฉลี่ย 75.42 กรัม มีจำนวนใบต่อต้น เฉลี่ย 459 ใบ มีน้ำหนักใบรวมเฉลี่ยต่อต้น 45.25 กรัม (60%)

หากเป็นฟ้าทลายโจรแก่ที่กำลังออกดอก เฉลี่ยแล้วแต่ละต้นจะมีน้ำหนักพืชสดส่วนเหนือดินทั้งต้นเฉลี่ย 82.11 กรัม มีจำนวนใบต่อต้น เฉลี่ย 448 ใบ มีน้ำหนักใบรวมเฉลี่ยต่อต้น 47.60 กรัม (58%)

จากนั้นก็ชั่งน้ำหนักของตัวอย่างใบ โดยเก็บตัวอย่างใบมาชุดละ 100 ใบ วัดขนาดและชั่งน้ำหนักไปทีละใบ แล้วเอามาคำนวณหาค่าความแปรปรวนมาตรฐาน (SD) ก็พบว่าหากเป็นใบอ่อนจากต้นที่ยังไม่ออกดอกจะมีน้ำหนักใบใกล้เคียงกัน (SD=44.77) คือมีน้ำหนักได้ตั้งแต่ 87-277 มก. ต่อใบ มีน้ำหนักเฉลี่ยต่อใบ 167.62 กรัม มีขนาดของใบเฉลี่ยกว้าง 2.2 ซม. ยาว 8.8 ซม.

ขณะที่ใบแก่จากต้นที่กำลังออกดอก พบว่ามีน้ำหนักแตกต่างกันได้มาก (SD=51.22) คือมีน้ำหนักได้ตั้งแต่ 27-221 มก. มีน้ำหนักเฉลี่ยต่อใบ 116.53 กรัม มีขนาดของใบเฉลี่ยกว้าง 1.9 ซม. ยาว 6.9 ซม.

จากนั้นก็เอาตัวอย่างที่เก็บได้ส่วนหนึ่งไปตากแห้ง ถ้าไม่แห้งก็เอาไปอบต่อในเครื่องอบด้วยอุณหภูมิ 40 องศาซี. จนแห้งสนิท พบว่าสัดส่วนของน้ำหนักแห้งต่อน้ำหนักสดคือ 1:4 จากน้้นก็เอาไปบดให้ละเอียดเป็นผงด้วยเครื่อง แล้วก็บรรจุแต่ละตัวอย่างลงซองพลาสติกปิดซีลไฟฟ้าเพื่อส่งไปวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยที่อีกส่วนหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างเก็บเป็นพืชสดเพื่อตรวจหาปริมาณแอนโดรกราฟโฟไลด์ในน้ำที่ได้จากการต้มแบบยาหม้อ และในน้ำชาที่ชงขึ้นจากใบพืชสด

ขั้นตอนต่อจากนั้นคือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เขต4 ทำการวิเคราะห์โดยใช้เครื่องวิเคราะห์และใช้สารมาตรฐานเพื่อการอ้างอิงของกรมวิทย์เอง ใช้เวลาวิเคราะห์อยู่ประมาณหนึ่งสัปดาห์ก็ได้ผลวิเคราะห์ออกมาดังนี้

ปริมาณแอนโดรกราฟโฟไลด์ในส่วนต่างๆของพืช

พบว่าหากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อน้ำหนักแห้ง (w/w) ใบอ่อนก่อนออกดอกมีแอนโดรกราฟโฟไลด์ 3.65% ใบแก่(ขณะออกดอก)มี 5.11% ส่วนเหนือดินอ่อน(ก่อนออกดอก) มี 2.95%  ส่วนเหนือดินแก่(ขณะออกดอก)มี 4.90% ต้นและกิ่งอ่อน (ก่อนออกดอก) มี 1.03% ต้นและกิ่งแก่(ขณะออกดอก)มี 0.68% ดอก ฝัก และเมล็ดมี 1.90% จะเห็นได้ว่าใบแก่(ขณะออกดอก)มีปริมาณแอนโดรกราฟโฟไลด์สูงสุดคือ 5.11%

ตารางที่ 1. ปริมาณแอนโดร ในส่วนต่างๆของพืช (% w/w ของนน.แห้ง)

ส่วนของพืชอ่อนแก่
ใบ3.65%5.11%
ส่วนเหนือดิน2.95%4.90%
ต้นและก้าน1.03%0.68%
ดอกและเมล็ด1.90%

จะเห็นว่าเมื่อเทียบส่วนต่างๆของพืช ใบเป็นส่วนที่มีแอนโดรกราฟโฟไลด์สูงสุด รองลงมาคือส่วนเหนือดินโดยรวม โดยที่ส่วนลำต้นและก้านมีน้อยที่สุด

เมื่อเทียบระหว่างพืชที่อ่อน (ก่อนออกดอก) กับพืชที่แก่ (ขณะออกดอก) พบว่าพืชแก่(ขณะออกดอก)มีแอนโดรกราฟโฟไลด์มากกว่าทั้งในใบ และในส่วนเหนือดินโดยรวม ยกเว้นในส่วนของลำต้นและก้านที่พืชแก่มีแอนโดรกราฟโฟไลด์น้อยกว่าพืชอ่อน

สัดส่วนของแอนโดรกราฟโฟไลด์ในใบพืชสด

ใบสดอ่อน (ก่อนออกดอก) มีขนาดใบใหญ่และสม่ำเสมอ มีความเบี่ยงเบนมาตรฐานน้อย มีน้ำหนักสดเฉลี่ยใบละ 167.62 มก. น้ำหนักแห้งเฉลี่ยใบละ 41.9 มก. มีแอนโดรกราฟโฟไลด์เฉลี่ยใบละ 1.53 มก.

ใบสดแก่(ขณะออกดอก) มีขนาดใบใหญ่บ้างเล็กบ้างไม่สม่ำเสมอ มีความเบี่ยงเบนมาตรฐานมาก มีน้ำหนักสดเฉลี่ยใบละ 116.53 มก. น้ำหนักแห้งเฉลี่ยใบละ 29.13 มก. มีแอนโดรกราฟโฟไลด์เฉลี่ยใบละ 1.48 มก.

ท่านอย่าเพิ่งงงว่าก็ใบแก่มีเปอร์เซ็นต์สารสูงกว่าใบอ่อนแล้วทำไมโหลงโจ้งแล้วจำนวนสารเป็นมก.ต่อใบจึงต่ำกว่าใบอ่อนละ ที่เป็นเช่นนี้เพราะใบแก่มันมีขนาดใบเล็กขณะที่ใบอ่อนมันมีขนาดใบใหญ่ โหลงโจ้งแล้วปริมาณสารต่อใบในใบอ่อนจึงมีมากกว่าในใบแก่เล็กน้อย แต่มันเป็นความแตกต่างกันระดับจิ๊บๆ หากใช้ใบสดท่านไม่ต้องไปกังวลว่าเป็นใบแก่หรือใบอ่อนก็ได้ ขอให้ขนาดใบใหญ่ๆหน่อยเข้าไว้ก็ใช้แทนกันได้

ตารางที่ 2. ปริมาณแอนโดรในใบสดหนึ่งใบ

ส่วนของพืชนน.สด (มก)นน.แห้ง (มก)แอนโดร(มก.)ต่อใบ
ใบสดอ่อน 1 ใบ167.6241.91.53
ใบสดแก่ 1 ใบ116.5329.131.48

การใช้ฟ้าทลายโจรรักษาโรคโควิด

ดังได้กล่าวแล้วว่าขนาดของฟ้าทลายโจรที่ใช้รักษาโรคโควิดได้ผลคือ 144-180 มก.ของแอนโดรกราฟโฟไลด์ต่อวันนาน 5 วัน หากเราตั้งใจจะกินฟ้าทลายโจรให้ได้อย่างน้อยเท่าขนาดต่ำสุด คือ 144 มก.ต่อวัน ถ้าเป็นใบอ่อนซึ่งมีเปอร์เซ็นต์แอนโดรกราฟโฟไลด์ต่อน้ำหนักแห้ง 3.65% หากจะให้ได้แอนโดรกราฟโฟไลด์ 144 มก.ก็ต้องใช้น้ำหนักผงบดแห้ง 3.9 กรัม ซึ่งจะได้จากใบสดหนัก 15.6 กรัม ซึ่งมาจากจำนวนใบเฉลี่ย 94 ใบ

ส่วนใบแก่ขณะออกดอกซึ่งมีเปอร์เซ็นต์แอนโดรกราฟโฟไลด์ต่อน้ำหนักแห้ง 5.11% หากจะให้ได้แอนโดรกราฟโฟไลด์ 144 มก.ก็ต้องใช้น้ำหนักผงแห้ง 2.8 กรัม ซึ่งจะได้จากใบสดหนัก 11.2 กรัม ซึ่งมาจากจำนวนใบเฉลี่ย 97 ใบ

แต่เพื่อความง่ายในการกินใบสด ผมแนะนำว่าไม่ต้องไปแยกว่าเป็นใบแก่หรือใบอ่อน ให้กินเหมือนกันหมดคือวันละ 99 ใบ แบ่งเป็นสามมื้อ มื้อละ 33 ใบ กินติดต่อกัน 5 วัน

%แอนโดร/นน.แห้งนน.แห้งที่มี 144 มก.นน.สดที่มี 144 มก.จำนวนใบ
ใบสดก่อนออกดอก3.65%3.9 กรัม15.6 กรัม94 ใบ
ใบสดขณะออกดอก5.11%2.8 กรัม11.2 กรัม97 ใบ

ถ้าจะกินแบบผงบดผมแนะนำแบบปัดเศษทศนิยมรวบยอดจำง่ายๆว่า ถ้าเป็นผงบดของใบแก่ให้กินวันละ 3 กรัม หากเป็นผงบดจากใบอ่อนก็กินวันละ 4 กรัม ย้ำอีกทีว่านี่เป็นผงบดจากส่วนใบเท่านั้นนะ ไม่เอาต้นและกิ่งมาบดด้วย

ฟ้าทลายโจรในรูปยาหม้อและน้ำชาใบพืชสด

งานวิจัยทำยาต้มโดยเอาส่วนเหนือดินของฟ้าทลายโจรแก่(กำลังออกดอก)หนึ่งต้น (83.2 กรัม) ต้มในน้ำ 1 ลิตร นาน 1 ชั่วโมง แล้วเอาน้ำยาต้มที่ได้มาวิเคราะห์ พบว่ามีปริมาณแอนโดรกราฟโฟไลด์ 0.37% ของน้ำหนักพืชสด นั่นหมายความว่าหากดื่มน้ำยาต้มส่วนเหนือดินของต้นแก่ (ขณะออกดอก)นี้หนึ่งแก้ว (240ml) ก็จะได้รับปริมาณแอนโดรกราฟโฟไลด์ 75.45 มก. ถ้าจะดื่มยาต้มนี้รักษาโควิดให้ได้ขนาด 144 มก.ต่อวันก็ต้องดื่มวันละประมาณ 2 แก้ว

งานวิจัยทำน้ำชาใบสดโดยเอาใบแก่(กำลังออกดอก) หนึ่งกำมือ (4.29 กรัม) ใส่ในน้ำร้อนหนึ่งแก้ว (240 ml) แล้วเอาน้ำชาที่ได้มาวิเคราะห์พบว่ามีความเข้มข้นของแอนโดรกราฟโฟไลด์ 0.29% หากดื่มหมดทั้งแก้วก็จะได้แอนโดรกราฟโฟไลด์เพียง 12.44 มก. ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยไปหน่อย ไม่เหมาะที่จะใช้ดื่มเอาขนาดสูงๆอย่างการรักษาโรคโควิด

ใบแก่(ขณะออกดอก)ปริมาณพืชสดปริมาณน้ำที่ใช้ต้ม (ml)% แอนโดร
w/w ของพืชสด
แอนโดร(มก.)
/แก้ว(240 ซีซี)
น้ำยาหม้อ 83.2 กรัม10000.3781%75.45 มก.
น้ำชาใบสด 4.29 กรัม2400.29% 12.44 มก.

การนำไปใช้ประโยชน์

ในชีวิตจริงจะเอาข้อมูลที่วิจัยได้นี้ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง เราเรียนรู้ได้จากคนที่เขาทำอยู่เป็นประจำ คือแพทย์แผนไทย น่าจะดีที่สุด วันนี้ผมจึงชวนแพทย์แผนไทยท่านหนึ่งมาให้ความรู้กับท่าน เธอกำลังขี่จักรยานอยู่ทางโน้น เราไปฟังจากเธอกันเลย เธอชื่อคุณ ชนิตา ศรีนวลสกุลณี

คุณชนิตา ศรีนวลสกุลณี

สำหรับท่านที่จำเป็นต้องใช้ฟ้าทลายโจรรักษาโรคโควิดแล้วหาซื้อยาไม่ได้  แต่มีต้นฟ้าทะลายโจรอยู่ที่บ้าน  สามารถทำยาทานเองได้ซึ่งหากจะให้ได้ขนาดอย่างน้อยเท่าขนาดต่ำสุดคือ 144 มก.ของแอนโดรกราฟโฟไลด์ต่อวัน สามารถทำได้ 3 วิธี คือ

  1. ใช้ฟ้าทะลายโจรผงบดจากใบแก่ (ที่ตากแห้งแล้วบดเป็นผงเก็บไว้) ครั้งละ 1 กรัม ชงในน้ำอุ่น  150 ml    ดื่มก่อนอาหาร 3 เวลา  เช้า กลางวัน  เย็น นาน 5 วัน (โดยจะต้องกินผงยาให้หมด)
  2. ใช้ฟ้าทะลายโจรผงบดแห้งจากใบแก่ 2 ช้อนโต๊ะ (13 กรัม) )  ผสมน้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ ผสมให้เข้ากัน ปั้นเป็นเม็ดยาลูกกลอน ถ้าปั้นยังไม่ได้ก็เติมน้ำผึ้งอีกได้ จะปั้นได้ประมาณ 40 เม็ด (มีผงบด 325 mg/เม็ด มีแอนโดรกราฟโฟไลด์ 16.6 มก./เม็ด) ทานครั้งละ 3 เม็ดวันละ  3 เวลา  ก่อน อาหาร เช้า กลางวัน  เย็น นาน 5 วัน
  3. ใช้ใบสดที่กำลังโตเต็มที่ จะเป็นใบแก่หรือใบอ่อนก็ได้ ครั้งละ 33 ใบ  ตำหรือปั่น ให้ละเอียด  ชงในน้ำอุ่น  150 ml ดื่มก่อนอาหาร 3 เวลา  เช้า กลางวัน  เย็น นาน 5 วัน โดยต้องดื่มทั้งตะกอนและกากด้วยให้หมด 

    หากท่านใดทานแล้วขมติดปากมาก สามารถทานมะนาว น้ำผึ้ง แทรกเกลือ ตามได้นะคะ 

หมอสันต์สรุป

วันนี้เราได้คุยกันถึงผลวิจัยของทีมงานของเราซึ่งวิเคราะห์ปริมาณแอนโดรกราฟโฟไลด์ในส่วนต่างๆของฟ้าทลายโจร สรุปได้ว่าฟ้าทลายโจรที่กำลังออกดอกมีเนื้อยาแอนโดรกราฟโฟไลด์มากกว่าช่วงก่อนออกดอก ส่วนของใบพืชมีเนื้อยามากกว่าส่วนต้นและกิ่ง โดยที่หนึ่งใบแก่ที่กำลังออกดอกจะมีแอนโดรกราฟโฟไลด์ 1.48 มก. ขณะที่หนึ่งใบอ่อนก่อนออกดอกจะมีใบละ 1.53 มก.เพราะขนาดใบอ่อนมีขนาดใบใหญ่กว่า การใช้ฟ้าทลายโจรรักษาโรคโควิดนั้นสามารถทำได้ด้วยตนเองโดยใช้ใบพืชสด หากจะกินให้ได้ขนาดต่ำสุดที่ได้ผล (144 มก.ของแอนโดรกราฟโฟไลด์ต่อวัน) ให้กินแบบจำได้ง่ายๆว่า วันละ 99 ใบไม่ว่าจะเป็นใบแก่หรือใบอ่อนก็ได้ แบ่งเป็นสามมื้อ มื้อละ 33 ใบ นาน 5 วัน ส่วนวิธีทำกินจะทำอย่างไรได้บ้างนั้นมีวิธีอยู่สามวิธีซึ่งแพทย์แผนไทยเพิ่งเล่าไปเมื่อตะกี้นี้เอง ผมคงไม่ต้องพูดซ้ำ

วันนี้เราคุยกันแค่นี้ ผมคงต้องลาไปก่อน ท่านผู้ชมอย่าลืมปลูกฟ้าทลายโจรไว้หลังบ้านบ้าง เผื่อยามยากโควิดระบาดหนักหนา หายาไม่ได้เลย โรงพยาบาลก็เข้าไม่ได้ ก็จะยังพึ่งตัวเองได้ สวัสดีนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

https://youtu.be/qj8QBZKzoOQ

[อ่านต่อ...]

20 สิงหาคม 2564

ป่วยเป็นโควิดทั้งคู่ แต่ทำไมได้รับการรักษาต่างกันมาก

คุณหมอสันต์คะ

ดิฉันอายุ 60 ปี ป่วยเป็นโควิดโดยติดจากสามี ตั้งแต่วันพฤหัสคือประมาณห้าวันแล้ว ตอนนี้กำลังรักษาตัวอยู่ที่ฮอสปิเทลโรงพยาบาล … ที่ชลบุรีส่วนสามีอยู่ที่ฮอสปิเทลของโรงพยาบาล … ที่กทม. ขณะนี้อาการมีแค่ไม่สบายเนื้อตัว ไอบ้าง ได้เอ็กซเรย์ปอดไปสองครั้งแล้วหมอบอกว่าปอดเคลียร์ ตัวดิฉันเองได้รับการรักษาด้วยยาเยอะมากมาเป็นห่อใหญ่เยอะจนน่ากลัว สังเกตว่าทุกคนได้ยาห่อใหญ่เหมือนกันหมด เท่าที่ดิฉันพยายามอ่านดูมียา lopinavir และยาเพร็ดนิโซโลน ซึ่งดิฉันไม่กล้ากิน สองวันต่อมาพอหมอรู้ว่าไม่กล้ากินยาก็เอายา favipiravir มาให้อีกนอกจากนั้นยังมียาอมยาแก้ไออีกหลายตัว ขณะที่ข้างสามีที่ไปอยู่อีกฮอสปิเทลหนึ่งไม่ได้ยาอะไรเลย เวลามีไข้ขึ้นไปขอยาพาราเซ็ตตามอลก็ขอยากเย็นกว่าจะได้ แต่ว่าสามีได้เอ็กซเรย์ทุกวันและหมอก็บอกว่าปอดเคลียร์ทุกวัน อยากปรึกษาคุณหมอสันต์ว่าดิฉันควรกินยาเพร็ดนิโซโลนหรือไม่ และควรจะช่วยสามีให้ได้รับยาอย่างไรดี

…………………………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าสามีเป็นโควิดหมอไม่ให้ยาอะไรเลยเป็นการรักษาที่ถูกต้องแล้วหรือ ตอบว่าน่าจะถูกต้องอยู่นะครับ เพราะหากนับตามหลักฐานวิทยาศาสตร์เท่าที่มีถึงวันนี้ วงการแพทย์ยังไม่รู้วิธีรักษาโรคโควิดให้หายเลย ก็ในเมื่อยังไม่รู้วิธีรักษา แล้วจะให้ยาอะไรดีละครับ ถ้าจะพอนับว่าเริ่มจะมีหลักฐานส่อไปทางว่าจะให้ผลดีอยู่บ้างก็คือฟ้าทลายโจร แต่ว่าหลักฐานมันเพิ่งเริ่มโผล่มา ยังไม่ถึงกับแน่นปึ๊ก วงการแพทย์นี้ต้องมีหลักฐานแน่นปึ๊กก่อน จึงจะยอมรับเป็นมาตรฐานการรักษาได้

2.. ถามว่าสามีเป็นโควิดแล้วไข้ขึ้น ไปขอยาพาราเซ็ตหมอให้มาอย่างยากเย็น อย่างนี้หมายความว่าอย่างไร หิ หิ ผมชมหมอคนนี้นะครับ ถ้าเป็นผมเองผมก็ไม่ให้กินยาลดไข้ เพราะเชื้อโรคโควิดนี้มันไม่ทนไข้ งานวิจัยเชื้อไรวัสซาร์สโควี1ซึ่งเป็นพี่น้องกันพบว่าพวกมันจะตายเรียบในอุณหภูมิที่สูงถึง 38 องศาซี. ดังนั้นเมื่อป่วยเป็นโควิดแล้วเป็นไข้ คุณอย่ากินยาลดไข้ดีที่สุด ให้นอนห่มผ้าปล่อยให้ร้อนเหงื่อแตกพลั่กจนไข้มันลงเองแล้วจึงลุกไปอาบน้ำ นี่น่าจะเป็นวิธีรักษาโควิดที่เข้าท่าที่สุดเท่าที่วิชาความรู้แพทย์มีอยู่ตอนนี้ คำแนะนำของผมอาจจะไม่เหมือนของหมอคนอื่นนะ ให้คุณใช้วิจารณาญาณในการรับฟัง คือผมไม่รักษาแบบมีอาการอะไรโผล่มาให้ยาหมด แต่จะพยายามเข้าใจกลไกการดำเนินของโรคแล้วให้ยาเฉพาะเมื่อจำเป็น

3.. ถามว่าหมอแนะนำให้กินยาให้หมด ควรจะกินยาทั้ง lopinavir และ favipiravir ควบกันไปเลยได้ไหม ตอบว่ายาทั้งสองตัวนั้นเป็นยาในกลุ่มเดียวกันเรียกว่ายาต้านไวรัส ความจริงมีอีกตัวหนึ่งดังกว่าในอเมริกาชื่อ remdesivir ยาทั้งสามตัวนี้ชื่อว่าเป็นยาต้านไวรัสก็จริง แต่มันทำได้แค่ทำให้อาการเบาลงหน่อยเท่านั้น ส่วนตัวชี้วัดสำคัญคือการต้องให้ออกซิเจน การต้องเข้าไอซียู. หรือการตาย ยาทั้งสามตัวนี้ไม่ช่วยอะไรเลย ในกรณีของคุณซึ่งมีอาการเบาไม่เดือดร้อนอะไรอยู่แล้ว ถ้าเป็นผม ผมไม่กินยาพวกนี้หรอกครับ

ผมแนะนำให้คุณกินฟ้าทลายโจรแทน เพราะอย่างน้อยก็มีหลักฐานว่ามันลดการเกิดปอดอักเสบซึ่งเป็นปากทางไปสู่การต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและการตายได้ (จาก10% เหลือ 0% ในงานวิจัยแบบ RCT) วิธีกินก็คือกินให้ได้แอนโดรกราฟโฟไลด์วันละ 180 มก.ทุกวันติดต่อกัน 5 วัน คุณแอบกินเองไปเลยไม่ต้องไปขอหมอเขาหรอก เพราะหากเขาไม่เห็นด้วยก็จะทะเลาะกันเปล่าๆซึ่งมีแต่เสียกับเสีย ยานี้ยังไม่มีหลักฐานว่าจะตีกับยาต้านไวรัสตัวอื่นไม่ว่าจะเป็นทั้งโลปินอเวียร์หรือฟาวิพิราเวียร์ และที่คนเขาลือกันว่ากินแล้วจะทำให้ตับพังทำให้ไตพังทำให้เป็นอัมพาตนั้นก็ไม่จริง เป็นเรื่องเหลวไหล ไม่เคยมีหลักฐานในคนแม้แต่ชิ้นเดียวที่บ่งชี้ว่าฟ้าทลายโจรจะทำให้ตับไตพังอย่างที่กล่าวกัน

เวลาอ่านฉลากคุณต้องละเอียดละออนะ มันมีคำอยู่สองคำซึ่งไม่เหมือนกัน

คำที่หนึ่ง คือ Andrographis paniculata แปลว่าผงบดฟ้าทลายโจร ซึ่งจะมีขนาด 250-500 มก.ต่อแคปซูล ไม่เกี่ยวอะไรกับแอนโดรกราฟโฟไลด์

คำที่สองคือ Andrographolide ตัวนี้แหละ ที่ใช้เป็นตัวบอกขนาดของยา ส่วนใหญ่หากเป็นสารสกัดหยาบจะมีตัวนี้อยู่ประมาณ 20 มก.ต่อแคปซูล แต่หากเป็นผงบดจะไม่บอก เพราะคนทำขายก็ไม่รู้ว่ามีอยู่กี่มก. จะให้ดีควบหลีกเลี่ยงไปใช้ชนิดที่เขาบอกขนาดแทน หากหาไม่ได้ ให้คุณเดาหรือสมมุติเอาว่ามันคงจะมีเท่าของอภัยภูเบศร คือ 3% หรือแคปซูล 400 มก.ของผงบดมีแอนโดรกราฟโฟไลด์ 12 มก.

4. ถามว่าควรจะกินสะเตียรอยด์ (prednisolone) ไหม ตอบว่าไม่ควรครับ เพราะ steroid ได้ผลดีในการรักษาโรคนี้ในระยะที่มีปฏิกริยาในร่างกายมาก (hyperactive immune reaction) ซึ่งเป็นระยะท้ายของโรคที่มีการใส่เครื่องช่วยหายใจแล้ว งานวิจัยที่ว่าสะเตียรอยด์ได้ผลดีเป็นการวิจัยในคนไข้ที่ใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ทั้งหมด ไม่ใช่คนไข้ที่แทบไม่มีอาการอะไรเลยอย่างคุณ การกินสะเตียรอยด์ในจังหวะที่เพิ่มเริ่มติดเชื้อโดยที่ร่างกายยังไม่มีปฏิกริยาภูมิคุ้มกันรุนแรง จะกลับมีผลเสียที่ยาจะไปกดระบบภูมิคุ้มกันทำให้ร่างกายกำจัดเชื้อไวรัสได้ยากขึ้น

ทั้งหมดที่ผมแนะนำนี้เป็นการแนะนำทางไปรษณีย์โดยไม่เห็นตัวไม่ได้ตรวจร่างกายคนไข้ได้แต่รับฟังเรื่องราว คนที่จะรักษาคุณได้ดีที่สุดคือคุณหมอที่ดูแลคุณอยู่ หากท่านฟังปอดแล้วได้ยินเสียงปอดเสียหายมาก เอ็กซเรย์แล้วปอดแย่มาก ท่านก็จะสั่งใช้สะเตียรอยด์ ดังนั้นเรื่องสะเตียรอยด์นี้คุยกับคุณหมอที่รักษาคุณอยู่ดีที่สุดครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

19 สิงหาคม 2564

หมอสันต์พูดถึงวิธีรับมือกับโรคมะเร็ง

สวัสดีคะคุณหมอ
ตอนแรกอายุ48ปีใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเพิ่งจะรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งที่Rectal stage 3. ตอนแรกกลุ่มใจมากร้องให้ทุกวันแต่วันหนึ่งมีเพื่อนแนะนำให้ดูวีดีโอคุณหมอเกี่ยวกับเรื่องโรงมะเร็งแล้วมีกำลังใจขึ้นเยอะ ตอนนี้จิตใจก็เริ่มดีขึ้นจะเริ่มทำการรักษาประมาณอาทิตย์หน้าคะ
ขอบคุณพระคุณคุณหมอมากๆที่ให้แง่คิดที่ดีกำการเข้าใจเรื่องโรคต่างๆและวิธีการรับมือกำโรคเหล่านั้น
ขอบคุณมากค่ะ

………………………………………………………..

ตอบครับ

ท่านไม่ได้ถามอะไรก็ไม่ต้องตอบ แต่จดหมายของท่านถือเป็นโอกาสที่จะเอาวิธีรับมือกับโรคมะเร็งที่ผมเคยพูดไว้นานแล้วมาเผยแพร่ให้แฟนบล็อกทราบอีกครั้ง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

16 สิงหาคม 2564

อย่าหาเรื่องไปตรวจภูมิคุ้มกันโควิดเล่น มันจะพาชีวิตไปสู่ความยุ่งยากโดยไม่จำเป็น

เรียนคุณหมอสันต์

หนูฉีดวัคซีนโควิดครบแล้ว ฉีดแบบซิก้า คือเข็มแรกซิโนแวค เข็มสองแอสตร้า หลังจากนั้นสามเดือนหนูไปซื้อแพคเก็จตรวจภูมิคุ้มกันโควิดที่โรงพยาบาล …………… ราคา 1200 บาท พบว่าไม่มีภูมิ หนูควรจะฉีดวัคซีนเข็มที่สามแบบบุคลากรทางการแพทย์ไหม และควรจะฉีดเมื่อใดคะ

…………………………………………………………………….

ตอบครับ

ก่อนที่จะตอบคำถาม ขอพูดเหมาโหลสำหรับแฟนบล็อกหมอสันต์ทุกท่านว่า “อย่า” หาเรื่องไปตรวจภูมิคุ้มกันโรคโควิด (antibody for spike protein ในรูปของ IgG และหรือ IgM) หลังการฉีดวัคซีนไม่ว่าจะหลังการฉีดเข็มแรกหรือเข็มสองหรือเข็มสาม ไม่ว่าจะหลังฉีดวัคซีนอะไร และไม่ว่าจะหลังการฉีดแล้วกี่วัน เพราะ

ประการที่ 1. การตรวจภูมิคุ้มกันโรคโควิดหลังการฉีดวัคซีน ไม่ใช่มาตรฐานการรักษาโรคโควิดของวงการแพทย์ทั่วโลกในปัจจุบัน เพราะวงการแพทย์ยังไม่รู้ว่าการตรวจพบหรือไม่พบแอนติบอดี้ระดับเท่าได มีความสัมพันธ์กับอัตราการติดเชื้อและอัตราตายหลังการติดเชื้อแค่ไหน จึงเป็นการตรวจที่ใช้เฉพาะในงานวิจัยเท่านั้น ส่วนในการรักษาโรคข้อมูลที่ตรวจมาได้ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เอาไปตัดสินใจอะไรไม่ได้เลย อย่าหลงคารมผู้เสนอขายสินค้าซึ่งปรารถนาแค่จะขายลูกเดียว

ประการที่ 2. น้ำยามาตรฐาน (reference agent) ที่จะใช้ในการตรวจภูมิคุ้มกันโควิดในโลกนี้ยังไม่มี WHO ยังไม่เคยออกมาตรฐานน้ำยาตรวจภูมิคุ้มกันโควิด หน่วยมาตรฐานที่จะวัดภูมิคุ้มกันที่ยอมรับกันทั่วไปก็ยังไม่มี ถ้าคุณอ่านใบรายงานผลจะรายงานหน่วยนับเป็น AU ซึ่งย่อมาจาก Arbitrary Unit ฟังดูหรูเชียว แต่มันแปลว่า “หน่วยมั่ว” คือของใครของมัน มั่วกันขึ้นมาเอง บางแห่งก็รายงานผลเป็นเปอร์เซ็นต์ บางแห่งรายงานผลเป็นสัดส่วนความเจือจางของตัวทำละลายที่ยังตรวจพบภูมิได้ เช่น 1 ต่อ 20, 1 ต่อ 40, 1 ต่อ 80 เป็นต้น บางแห่งใช้วิธีตรวจด้วยการดูโหงวเฮ้ง เรียกว่าแบบ rapid test โดยหยดเลือดแหมะลงบนกระดาษตรวจแล้วดูสีเอาแล้วอ่านเอาจากสีว่ามีภูมิหรือไม่มี ทั้งหมดนี้ผลตรวจแปลความหมายอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น ตรวจพบหรือไม่พบก็เชื่อถือไม่ได้ ตรวจพบระดับเท่านั้นเท่านี้จะติดโรคน้อยลงหรือตายน้อยลงแค่ไหนก็แปลผลไม่ได้ ต้องฉีดวัคซีนซ้ำหรือเปล่าก็ไม่รู้ แล้วจะตรวจไปทำพรื้อละครับ

ประการที่ 3. ผมขอใช้เวลาอธิบายหลักวิธีสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนของร่างกายสักหน่อยนะ มันสำคัญที่ท่านต้องเข้าใจหลักพื้นฐานก่อนเที่ยวไปตรวจนั่นตรวจนี้ คือการฉีดวัคซีนนี้เป็นการกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันในส่วนที่เรียกว่าภูมิคุ้มกันแบบเจาะจง (adaptive immunity) ระบบนี้ทำงานเป็นสามส่วนใหญ่ๆคือ

(1) ระบบจดจำหน้าตาเชื้อโรค (memory cell)

(2) ระบบสร้างเม็ดเลือดขาวพื่อเจาะจงทำลายเชื้อโรค (Cell Mediated Immune Response – CMIR)

(3) ระบบสร้างโมเลกุลภูมิคุ้มไปทำลายเชื้อโรค (Humoral Immune Response – HIR)

ทั้งสามระบบย่อยนี้ทำงานประสานกันทันทีจนเชื้อโรคหมด พอเชื้อโรคหมดแล้วส่วนการสร้างเม็ดเลือดขาวและการสร้างภูมิคุ้มกันจะหยุดทำงาน แต่ส่วนระบบจดจำจะทำงานต่อเนื่องไม่มีหยุด ถ้าเราเจาะเลือดตรวจดูภูมิคุ้มกันในจังหวะนี้จะพบว่ามีภูมิต่ำหรือไม่มีภูมิเลย แต่ไม่ได้หมายความว่าวัคซีนที่ฉีดไปนั้นจะไม่คุ้มกันการติดเชื้อหรือจะไม่ลดการตาย เพราะพอเราไปติดเชื้อจริงเข้าตูม…ม ระบบจดจำก็จะแจ้งผลิตทั้งเม็ดเลือดขาวและภูมิคุ้มกันขึ้นมาทันที แบบว่าสะเป๊คมีอยู่แล้ว ผลิตได้ทันทีตามต้องการ นี่เป็นหลักพื้นฐานในการทำงานของวัคซีนที่วงการแพทย์ทราบดี งานวิจัยหลักฐานทำนองนี้มีชัดมาก ชัดที่สุดในกรณีวัคซีนโรคตับอักเสบไวรัสบี. หลังฉีดวัคซีนครบ 3 เข็มแล้ว ตรวจพบว่าไม่มีภูมิ แต่พอไปสัมผัสเชื้อจริงก็เกิดภูมิคุ้มกันสูงขึ้นพรวดทันที่และพอที่จะป้องกันการติดเชื้อได้

ยกตัวอย่างในเรื่องโควิดนี้ก็ได้ พอเราฉีดวัคซีนไปสองเข็มแล้วงานวิจัยตรวจภูมิพบว่าไม่มีภูมิหรือมีภูมิต่ำ แต่พอฉีดเข็มที่สามก็พบว่ามีภูมิสูงขึ้นพรวดพราด ประเด็นที่ผมจะชี้ไม่ใช่ประเด็นวัคซีนเทพวัคซีนมารใครดีกว่ากัน แต่ผมจะชี้ให้เข้าใจกลไกการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันหลังได้วัคซีนว่าเมื่อจำเชื้อโรคได้แล้ว และทำลายเชื้อโรคหมดแล้ว ภูมิก็จะตก นี่เป็นปกติธรรมดา โดยที่วงการแพทย์ยังไม่รู้ก็คือยังไม่รู้ว่าวัคซีนโควิด19ตัวไหนใช้เวลากี่วันภูมิจึงจะตก การไปตรวจแบบสุ่มๆแล้วพบว่าภูมิตกแล้วร้องกระต๊าก..กระต๊าก.. นี่ไม่ใช่เป็นปกติธรรมดา แต่เป็นความบ้องตื้น หรือมองในแง่ไม่ดีก็เป็นการแกล้งบ้องตื้นเพื่อขายสินค้า ซึ่งหากมีเพื่อนแพทย์ทำอย่างหลังนี้เสียเองผมก็ได้แต่เสียใจ

กล่าวโดยสรุป การตรวจภูมิคุ้มกันโควิด19ควรเป็นเรื่องของการทำวิจัยเพื่อวางแผนเลือกชนิดและระยะเวลาฉีดวัคซีนเท่านั้น ประชาชนทั่วไปไม่ควรไปยุ่งด้วยเพราะจะเอาผลมาเปลี่ยนแผนจัดการโรคของตัวเองไม่ได้ หากคิดว่าจะตรวจเพื่อความสบายใจแต่บางกรณีอย่างเช่นของคุณนี้ผลตรวจออกมาแล้วกลับกลายเป็นไม่สบายใจยิ่งขึ้น คือเสียมากกว่าได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

14 สิงหาคม 2564

การเลือกยาปฏิชีวนะรักษาโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ (UTI)

เรียนคุณหมอสันต์

ผมเป็นแพทย์หลังเกษียณไม่ได้ทำคลินิกแล้ว เพราะอายุ 74 ปีแล้ว อย่างมากก็ช่วยดูแลแนะนำญาติและลูกหลาน อยากรบกวนถามเรื่องยาที่ใช้รักษา UTI ในปัจจุบันว่าควรใช้ยาอะไร เพราะผมรู้สึกว่า Bactrim ไม่ค่อยเวอร์คแล้ว ตอนหลังมีคนแนะนำให้สั่ง Norfloxacin แต่เท่าที่ผมใช้ดูก็ไม่ค่อยเวอร์คอีก จะสั่งยาทีไรก็นึกชื่อยาใหม่ไม่ออก

………………………………………….

ตอบครับ

ขอเรียกท่านว่าอาจารย์ก็แล้วกันนะครับ เพราะเป็นธรรมเนียมวงการแพทย์ไทยเรานิยมเรียกผู้อาวุโสกว่าตัวเองว่าอาจารย์ เพื่อหลบเลี่ยงคำเรียกที่ผู้อาวุโสในวงการเดียวกันใช้เรียกรุ่นน้องว่า “คุณหมอ”

ถามผมเรื่องการเลือกยาปฏิชีวนะ ผมว่าอาจารย์ถามมาผิดที่เสียละมังครับ เพราะครั้งสุดท้ายที่ผมใช้ยาพวกนี้มันนานจนผมจำไม่ได้แล้ว ผมรู้แต่ว่ายาปฏิชีวนะรักษาโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ (urinary tract infection – UTI) มันก็เปลี่ยนหน้ากันมาเรื่อยเพราะปัญหาเชื้อดื้อยา ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าเมืองไทยเรานี้ใครใคร่ใช้ยาอะไรก็ใช้ และยิ่งยาใหม่ๆแพงๆยิ่งนิยมกันว่าแรงก็ยิ่งชอบใช้ แพทย์ไม่ใช้ สัตว์แพทย์ก็ใช้ สัตวแพทย์ไม่ใช้ ชาวบ้านก็ใช้กันซะเอง การใช้แบบชาวบ้านนี้มีทั้งให้คนด้วยกันกิน ให้สัตว์กิน หรือแม้กระทั่งฉีดให้กับพืชผลทางเกษตรกรรม เพราะเมืองไทยเรานี้แสนดีหนักหนา ยาอะไรไปร้านขายยาก็ขอซื้อได้หมดยกเว้นยาที่ตำรวจรู้จักเช่นกัญชาจึงจะซื้อได้ยากหน่อย แต่เอาเถอะ อย่าว่าแต่เมืองไทยเลย ทั่วโลกเขาก็มีปัญหาเหมือนกัน เพียงแต่เมืองไทยจะล้ำหน้าหน่อยในเรื่องความไม่บันยะบันยัง เอเซียโดยรวมก็ล้ำหน้าฝรั่ง ดังนั้นหากจะไปดู guideline การรักษา UTI ของฝรั่งจะเห็นว่า โห..เชย ในการตอบคำถามของอาจารย์นี้ผมเลือกเอา guideline ของเกาหลีมาตอบปนๆกับความไวของการเพาะเชื้อในเมืองไทย เพราะดูแล้วเกาหลีไม่ล้าสมัยกว่าเมืองไทยมากนัก ส่วนเมืองไทยนั้นออก guideline ไม่ทันเพราะเชื้อดื้อยาเร็วเกิน หิ..หิ

ยาเรียงลำดับตามความไวของการสนองตอบของเชื้อ คือ

  1. cefuroxime (Ceftin) 250-500 mg q 12 hr การสนองตอบ 99.2%
  2. nitrofurantoin (Macrodantin) 100 mg bid การสนองตอบ 93%
  3. trimethoprim-sulfamethoxazole ( TMP/SMX ซึ่งก็คือ Bactrim เดิมนั่นแหละ) 160 mg bid 3 วัน การสนองตอบ 93% ยกเว้นในชุมชนที่ดื้อยานี้ อาจสนองตอบแค่ 80%
  4. ciprofloxacin (Cipro) 500 mg bid การสนองตอบ 92.5%
  5. fosfomycin 3 gm (ผง) กินทีเดียว คุ้มไปสามวัน การสนองตอบ 91%
  6. ยาในกลุ่ม beta lactam เช่น amoxicillin/clavulanic acid (Augmentin), cefdinir, cefaclor, cefpodoxime proxetil การสนองตอบ 89%

ทั้งหมดนี้ให้กันนาน 3-14 วันแล้วแต่ชนิดและความรุนแรงของโรค ตัวผมเองชอบ nitrofurantoin และ fosfomycin เป็นพิเศษเพราะเป็นยาโบราณมี safety profile ดีและหมออื่นๆเขาไม่ชอบใช้กันทำให้ผมไม่เคยพบเชื้อดื้อเลย อาจารย์ชอบตัวไหนก็ลองดูนะครับ ถ้าอาจารย์อยากจะดูข้อมูลการดื้อยาของเมืองไทยที่ทันสมัย ผมแนะนำให้อาจารย์ไปดูของ National Antimicrobial Resistance Surveillance Center (NARST) [3] ข้อมูลเขาทันสมัยที่สุด ถ้าเจอรายที่ดื้อยาจริงๆอาจารย์ช่วยส่งไปให้แพทย์โรคติดเชื้อเขาช่วยดูหน่อยก็ดีนะครับ วงการของเราจะมีความรอบรู้และปรับตัวรับกับเชื้อดื้อยาได้มากขึ้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Kang CI, Kim J, Park DW, et al. Clinical Practice Guidelines for the Antibiotic Treatment of Community-Acquired Urinary Tract Infections. Infect Chemother. 2018;50(1):67-100. doi:10.3947/ic.2018.50.1.67
  2. Hooton TM. Clinical practice. Uncomplicated urinary tract infection. The New England Journal of Medicine. 2012;366(11):1028-37.
  3. National Antimicrobial Resistance Surveillance Center (NARST), Thailand. Percentage of susceptible organisms isolated from urine. Accessed on August14, 2021 on http://narst.dmsc.moph.go.th/antibiograms/2020/12/Jan-Dec2020-Urine.pdf
[อ่านต่อ...]

13 สิงหาคม 2564

เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากแน่นอนแล้ว แต่จะรักษาต่อดีไหม

เรียน คุณหมอสันต์ ค่ะ
ขอคำแนะนำสำหรับคุณพ่อ อายุ 84 ปีค่ะ มีโรคตามที่ผู้สูงวัยมีกัน คือ เบาหวาน ความดันสูง เก้าท์  ระวังไต  ได้ผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกแล้ว คุณพ่อตรวจสุขภาพทุก 6  เดือนค่ะ ที่ผ่านมา ก็อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ค่า PSA  ที่ตรวจมาก็จะไม่เกิน 3.5-4.5  ซึ่งคุณหมอรับได้ และทานยาต่อมลูกหมากมาตลอด น่าจะประมาณ 20 ปี  (ปัจจุบัน ทาน xatrial xl tab 10 mg 1 เม็ดก่อนนอน, prostagutt 1 เม็ด เช้า, เย็น) ค่ะ เมื่อปลายเดือน มิ.ย ตรวจ PSA ค่าขึ้นไป 6.5 (ตามเอกสารแนบ)  หมอสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก  จึงทำการตัดชิ้นเนื้อตรวจ และพบว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก (ตามเอกสารแนบ) ในสัปดาห์หน้า จะนัดทำ BONE SCAN และสัปดาห์ถัดไป ทำ MRI ค่ะ  หมอวางแผนการรักษา คือ ฉายแสง และให้ยาฮอร์โมน เท่านั้นค่ะ (ไม่แนะนำการรักษาด้วยวิธีอื่น)
คุณหมอสันต์ค่ะ  ขอคำแนะนำด้วยค่ะว่าควรทำ BONE SCAN, MRI และทำการรักษา ฉายแสง ให้ฮอร์โมนไหมคะ  คุณพ่ออายุมากแล้วค่ะ เลยกังวลค่ะ  และจะถึงนัดกับทาง รพ.แล้ว.ในปลายสัปดาห์(19/8/64) หน้าค่ะ
ขอบพระคุณมากๆ ค่ะ ในความช่วยเหลือครั้งนี้

……………………………………………………………………

ตอบครับ

ถามว่าอยู่ดีๆ สุขสบายดี แล้วไปตรวจ PSA ได้ 6.5 ได้ตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมายพบว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ถามว่าคุณพ่อควรจะทำ bone scan, MRI แล้วตามด้วยฉายแสงและรักษาด้วยฮอร์โมนไหม

ก่อนจะตอบขอฟื้นฝอยหาตะเข็บหน่อยนะว่าทำไมมาถามเอาตอนนี้ละครับ ทำไมไม่ถามเอาตั้งแต่ตอนจะตรวจ PSA ควรจะถามตั้งแต่ตอนนั้นว่าจะตรวจ PSA ไปทำพรื้อ ถ้า PSA สูง แล้วจะตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากไหม ถ้าตัดชิ้นเนื้อแล้วพบว่าเป็นมะเร็งจะรักษาด้วยผ่าตัดหรือฉายแสงหรือฮอร์โมนไหม หากคำตอบตอนนั้นได้ว่าหากเป็นมะเร็งจะไม่รักษา ก็ไม่ต้องตรวจ PSA ให้เสียเงินถูกไหมครับ ไม่ต้องตัดชิ้นเนื้อให้เจ็บตัว ถูกไหมครับ นี่เป็นตัวอย่างคลาสสิกที่แฟนบล็อกหมอสันต์ทุกท่านต้องจำให้ขึ้นใจนะครับ ว่าการจะไปตรวจอะไรในทางการแพทย์ที่เขาเสนอขายให้ จะต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าตรวจเพื่ออะไร ผลที่ตรวจได้จะนำมาเปลี่ยนแผนการดูแลตัวเองที่ทำอยู่ในขณะนี้ไหม ถ้าไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็จะไม่เปลี่ยนแผนดูแลตัวเอง ก็ไม่ต้องตรวจให้เสียเวลาเสียเงิน

เอาเถอะ ตอนนี้มันล่วงเลยมาถึงตอนนี้แล้ว คือตรวจ PSA ไปแล้ว ตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากไปแล้ว รู้ว่าเป็นมะเร็งแน่นอนแล้ว ถามว่าจะตรวจ bone scan และ MRI เพื่อวินิจฉัยแยกการแพร่กระจายของมะเร็งไหม ก็ต้องมองข้ามช็อตว่าถ้ามีแพร่กระจายไปโน่นไปนี่แล้วจะตามไปรักษา (ผ่าตัด ฉายแสง เคมีบำบัด ฮอร์โมนบำบัด)ไหม ถ้าคำตอบได้ว่าจะไม่ตามไปรักษาก็ไม่ต้องตรวจ แต่ถ้าจะตามไปรักษากันให้สุดลิ่มก็เดินหน้าตรวจ คนที่จะตอบคำถามนี้ได้ไม่ใช่หมอสันต์นะครับ ต้องเป็นตัวคนไข้เพราะเจ้าตัวย่อมเป็นผู้ชั่งน้ำหนักประโยชน์และความเสี่ยงและตัดสินใจเลือกได้ดีที่สุดเพราะมันเป็นชีวิตของท่าน ดังนั้นคุณถามตัวท่านเอาเองดีที่สุด

แต่ถ้าถามความเห็นของหมอสันต์ ผมแนะนำในฐานะแพทย์ประจำครอบครัวว่า

1.. เกิดเป็นผู้ชายหากอายุมาก (เกิน 75 ปี) และอยู่สุขสบายดี ไม่ต้องไปตรวจ PSA

2.. หากเผลอตรวจ PSA ไปแล้วพบว่าได้ค่าสูงแต่อยู่สุขสบายดียังฉี่ออกและอั้นฉี่ได้ ก็ไม่ต้องไปตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก

3.. หากเผลอไปตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากไปและยืนยันว่าเป็นมะเร็งแล้ว โดยที่ยังอยู่สบายดีฉี่ออกอยู่ก็ไม่ควรไปตรวจการแพร่กระจาย (bone scan, MRI)

4. หากเผลอไปตรวจการแพร่กระจายแล้วไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรก็ไม่ต้องเดินหน้ารักษามะเร็งด้วยผ่าตัดฉายแสงหรือฮอร์โมนบำบัดหรือเคมีบำบัด

คำแนะนำข้อ 1 และ 2 นั้นเป็นไปตามคำแนะนำล่าสุดของคณะกรรมการป้องกันโรคของรัฐบาลสหรัฐฯ (USPSTF) ว่าเกิดเป็นชายที่อยู่มาได้ถึงอายุ 75 ปีแล้ว อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยนโดยการเที่ยวตรวจ PSA เพราะผลที่ได้ออกมาจะนำไปสู่การตรวจและการรักษาที่ไม่จำเป็นต่างๆนาๆ โดยที่เมื่อเทียบกับคนที่อยู่นิ่งๆอยู่เปล่าๆโดยไม่แกว่งเท้าหาเสี้ยนแล้ว อัตราตายจากมะเร็งต่อมลูกหมากโหลงโจ้งแล้วก็ไม่แตกต่างกัน

ส่วนคำแนะนำข้อที่ 3 และ 4 นั้นเป็นผลจากการใช้ดุลพินิจเทียบประโยชน์และความเสี่ยงของการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในคนแก่อายุ 84 ปี กล่าวคือในการจะรักษาด้วยวิธีการรุนแรงรุกล้ำทั้งหลาย วงการแพทย์มุ่งประโยชน์ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งในสองอย่างคือ

(1) ความยืนยาวของชีวิต

(2) คุณภาพชีวิต

หากทำไปแล้วไม่ได้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างนี้ การรักษานั้นเรียกว่าเป็นการรักษาไร้ประโยชน์ (futile treatment) ซึ่งตามหลักจริยธรรมวิชาชีพแพทย์ แพทย์ไม่พึงให้การรักษาที่ไร้ประโยชน์แก่คนไข้

ข้อมูลการแพทย์ปัจจุบันพิสูจน์ไม่ได้ว่าการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากที่แพทย์ทำไปสาระพัดนั้นจะยืดอายุคนป่วยให้ยืนยาวออกไปได้จริงหรือเปล่า แปลไทยให้เป็นจีนก็คือรักษาไม่รักษาก็แปะเอี้ย คือตายในเวลาเท่าๆกัน เพราะทุกวันนี้วงการแพทย์ยังไม่ทราบเลยว่าโรคมะเร็งต่อมลูกหมากนี้ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติ (natural course) มันจะเป็นอย่างไร ถ้ายังไม่รู้เลยว่าปล่อยโรคไว้จะเป็นอย่างไร แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าการเข้าไปรักษาผ่าตัดคีโมฉายแสงจะดีกว่าโรคปล่อยไว้ จริงแมะ ดังนั้นมะเร็งต่อมลูกหมากนี้จะใช้หลักคิดแบบมะเร็งที่อื่นที่ว่าตรวจวินิจฉัยได้เร็ว รักษาได้เร็ว อัตราการหายสูงนั้น ใช้ไม่ได้ งานวิจัยเรื่องนี้ที่ดีที่สุดชื่อ PIVOT study ซึ่งเอาคนเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรกมา 695 คน จับฉลากแบ่งเป็นสองพวก พวกแรกผ่าตัดรักษาไปตามสูตร พวกที่สองทิ้งไว้ไม่ทำอะไรเลย แล้วตามดูไป 10 ปี พบว่าพวกที่ทำผ่าตัดเกิดมะเร็งขยายตัวและแพร่กระจายน้อยกว่าพวกไม่ทำอย่างมีนัยสำคัญ แต่อัตราการรอดชีวิต (length of life) ของทั้งสองพวก ซึ่งเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของการรักษา กลับพบว่าไม่ต่างกันเลย

ส่วนเรื่องประโยชน์ในด้านคุณภาพชีวิตนั้น คุณพ่อของคุณตอนนี้ฉี่ได้อั้นได้นี่เรียกว่ามีคุณภาพชีวิตที่สุดยอดแล้ว การรักษามีแต่จะทำให้คุณภาพชีวิตที่ดีๆอยู่นี้แย่ลง ต้องเข้าๆออกๆโรงพยาบาล ยังไม่นับว่าจะโดนพิษของรังสีและของยาอีก เมื่อความยืนยาวของชีวิตก็ไม่ได้ คุณภาพชีวิตก็มีแต่จะขาดทุน แล้วจะรักษาไปทำพรือละครับ

คำแนะนำของผมอาจไม่เหมือนกับของหมอคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมอผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา คำแนะนำของผมเกิดจากการชั่งน้ำหนักหลักฐานวิทยาศาสตร์จากมุมมองแบบองค์รวมของแพทย์ประจำครอบครัว ย่อมแตกต่างจากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาที่มองมาจากมุมของการมุ่งรักษาโรคนั้นให้สุดๆกันไปเลยรู้ดีรู้ชั่วกันไปข้างหนึ่ง

อีกอย่างหนึ่ง การแพทย์แผนปัจจุบันนี้มันมีสองด้าน ด้านสว่างก็คือการมุ่งเอาวิทยาศาสตร์มาช่วยรักษาคนเจ็บไข้ให้หาย อีกด้านหนึ่งซึ่งผมขอเรียกว่าเป็นด้านมืดของการแพทย์แผนปัจจุบันก็คือการที่ธุรกรรมทั้งหมดมีธรรมชาติเป็นการเสนอขายสินค้า ผมหมายถึงว่าทั้งการวินิจฉัยก็ดี การตรวจก็ดี และการรักษาก็ดี คือสินค้า โดยที่บริษัทยา บริษัทเครื่องมือ โรงพยาบาล ซึ่งเราเรียกรวมๆว่า medical industry เป็นผู้ขาย คุณจะต้องเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากด้านสว่าง แต่หลีกเลี่ยงการพลัดหลงเข้าไปสู่ด้านมืด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. U.S. Preventive Services Task Force. Screening for prostate cancer: U.S. Preventive Services Task Force recommendation statement. Ann Intern Med. Aug 5 2008;149(3):185-91..

2. Bill-Axelson A, Holmberg L, Ruutu M, Häggman M, Andersson SO, Bratell S, Spångberg A, Busch C, Nordling S, Garmo H, Palmgren J, Adami HO, Norlén BJ, Johansson JE; Scandinavian Prostate Cancer Group Study No. 4. Radical prostatectomy versus watchful waiting in early prostate cancer. N Engl J Med. 2005 May 12;352(19):1977-84.

[อ่านต่อ...]

11 สิงหาคม 2564

การเชื่อหมอหรือไม่เชื่อหมอล้วนเป็นความคิด ซึ่งมีแต่จะทำให้โรคนอนไม่หลับแย่ลง

เรียนอาจารย์หมอค่ะ
   หนูมีปัญหานอนไม่หลับติดต่อกันมาประมาณ 1 เดือน ทานยานอนหลับทุกวัน วันใหนไม่ทานนอนไม่หลับเลยค่ะ พยายามนั่งสมาธิ อยู่กับลมหายใจเข้าออกก็แล้ว ยิ่งสดชื่นยิ่งตาสว่างค่ะ แต่ก่อนเครียดหนักทั้งจากปัญหาสุขภาพกรดไหลย้อนที่เป็นเรื้อรังค่ะ และเครียดกับงานที่เร่งรีบและปริมาณงานที่มากขึ้นสัมพันธ์กับสถานการณ์โรคระบาดโควิด หนูจึงตัดสินใจไปพบจิตแพทย์ที่คลินิก ซึ่งวันที่ไปนั้นคนไข้เยอะมากส่วนใหญ่มาตามนัดขอรับยาเดิมค่ะ หนูหวังไปปรึกษาหาทางแก้ไขโดยไม่อยากทานยา หมอคุยด้วยไม่ถึง10นาทีรีบสั่งยาให้ มีทั้งยาต้านซึมเศร้า ยาคลายเครียด ยานอนหลับ 4 ตัวเลยค่ะ ที่รีบเพราะมีคนไข้รอตรวจอีกหลายคน หนูกังวลกว่าเดิม เพราะประเมินตัวเองแล้วไม่ได้ซึมเศร้าและไม่พร้อมจะทานยาเหล่านั้น ตอนนี้เลยกังวลมากค่ะถ้าทานยาก็กลัวว่าจะต้องทานไปตลอด และความเครียดต่างๆก็ดีขึ้น แต่ยังนอนไม่หลับ แต่ถ้าไม่ทานก็กลัวว่าไม่เชื่อหมอแล้วจะเป็นรุนแรงขึ้นมั้ยค่ะ หนูควรทำอย่างไรดีคะควรรักษาอย่างไรดีค่ะ  กราบขอบพระคุณอาจารย์หมอล่วงหน้าค่ะสำหรับคำแนะนำค่ะ

ส่งจาก iPhone ของฉัน

……………………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่านอนไม่หลับไปหาหมอแล้วได้ยามาและหมอบอกว่าเป็นหลายโรคยิ่งกังวลกว่าเดิมและยังนอนไม่หลับอยู่ ควรจะเชื่อหมอหรือไม่เชื่อหมอดี ตอบว่าการเชื่อหมอ หรือการไม่เชื่อหมอ ล้วนเป็น “ความคิด” ซึ่งเป็นต้นเหตุตัวเอ้ของการนอนไม่หลับ วิธีแก้ปัญหาก็คือให้คุณออกมาจากความคิดนั้นหรือความคิดอื่นใดเสียในเวลาเข้านอน แล้วก็จะแก้ปัญหาได้เอง พูดอย่างนี้คุณเก็ทไหมเนี่ย คือผมพยายามจะจับประเด็นเรื่องให้คุณใหม่ ว่ามันไม่ใช่ประเด็นจะทำตามหมอดีหรือไม่ ตรงนั้นคุณเอาแบบไหนก็ได้เอาแบบที่คุณชอบ เพราะมันไม่ใช่ประเด็น มันไม่สำคัญ แต่ประเด็นแท้จริงอยู่ที่จะวางความคิดให้สำเร็จอย่างไร ตรงนี้ต่างหากที่สำคัญที่คุณต้องใส่ใจลงมือทำ

การจับประเด็นให้ได้หรือการ “เก็ท” หรือ “ไม่เก็ท” นี่มันสำคัญมากนะ คุณคงคุ้นเคยกับเรื่องเล่าในพุทธประวัติที่ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าเอาธรรมะออกสอนครั้งแรกแก่ปัญจวัคคี เหตุการณ์นั้นเรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ไหนๆก็พูดกันเล่นๆมาถึงตรงนี้แล้วผมขอแวะตีความสาระคำสอนในวันนั้นเสียหน่อยก่อนที่จะเดินหน้าเรื่องเก็ทไม่เก็ทของเราต่อ

ในวันนั้นท่านสอนอยู่สามประเด็น คือ

(1) ทุกข์ของคนเรานี้มันเกิดแต่เหตุคือความอยาก เมื่อเหตุดับ ทุกข์ก็ดับ (อริยสัจสี่)

(2) การจะไม่พลัดลงไปในหลุมของความอยาก ไม่ว่า “อยากได้” หรือ “อยากหนี” วิธีทำคือให้เอาใจไว้ตรงกลางๆ (มัชฌิมาปฏิปทา) ไม่แกว่งตามหรือยึดติดสิ่งที่ชอบ (กามสุขัลลิกานุโยค) ไม่ลำบากลำบนทรมานตนเพื่อหนีสิ่งไม่ชอบ (อัตตกิลมถานุโยค)

(3) การเอาใจไว้ตรงกลางๆนี้แปลเป็นภาคปฏิบัติในชีวิตจริง (มรรค 8) ได้ว่าจะต้องตั้งลำหรือตั้งทิศทาง (ที่จะไม่แกว่งไปยึดติดหรือแกว่งหนี) ให้ถูกก่อน เมื่อจะคิดก็ให้ไปในทิศทางนั้น เมื่อจะพูดจะทำหรือจะประกอบอาชีพหรือจะพากเพียรทำอะไร ก็ให้ไปในทิศทางนั้น แม้เมื่อจะใช้สติทิ้งความคิดเข้าสู่สมาธิและความรู้ตัวก็ให้ทำไปในทิศทางนั้น

คุณสังเกตให้ดีนะ สาระของทั้งสามท่อนนี้ช่างสอดรับกันเป็นปี่เป็นขลุ่ย เป็นการแกะเอาของที่ดูเหมือนรวมกันเป็นกระจุกไม่รู้ตรงไหนเป็นตรงไหน คลี่ออกมาให้เห็นทีละชิ้นๆเพื่อให้เอาไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย มันช่างลึกซึ้งจนต้องลุ้นว่าสอนแล้วจะมีคนเข้าถึงได้ไหมเนี่ย

เอาละ คราวนี้ก็มาถึงเรื่องของเรา คือ “เก็ท” หรือ “ไม่เก็ท”

พอสอนจบแล้วพระพุทธเจ้าสังเกตเห็นว่าโกญทัญญะเปลี่ยนไป ท่านจึงอุทานว่า

“อัญญาสิ วะตะ โภ โกณทัญโญ

อัญญาสิ วะตะ โภ โกณทัญโญ ติ” ซึ่งหมอสันต์แปลว่า

โกณทัญญะ เก็ทแล้ว..ว...ว เห็นมั๊ย”

หิ หิ หมอสันต์ไม่รู้ภาษาบาลีหรอก อย่าถือสาคำแปลเลยนะ เอาเป็นว่าการ “เก็ท” หรือ “ไม่เก็ท” เนี่ยมันสำคัญ

เออ แล้วเรากำลังคุยกันเรื่องอะไรนะ ลืมไปละ อ้อ เรื่องนอนไม่หลับ เอ้า คุยกันต่อ

2.. ถามว่าพยายามนั่งสมาธิ อยู่กับลมหายใจเข้าออกแล้ว ยิ่งสดชื่นยิ่งตาสว่าง ยิ่งนอนไม่หลับ จะแก้ไขอย่างไร ตอบว่า การที่นั่งสมาธิแล้วตาสว่างสดชื่น (alert) แสดงว่าประสบความสำเร็จในการวางความคิดจนมาอยู่กับความรู้ตัวได้แล้ว นี่เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่นะ คือออกจากสถานะการณ์ในชีวิต (life situation) มาได้แล้วนะ ถามว่าจะทำอย่างไรต่อไป ตอบว่าก็ลงมือใช้ชีวิต (living) สิ เพราะผมพูดกรอกหูท่านผู้อ่านบ่อยๆว่าสถานะการณ์ในชีวิตเป็นคนละเรื่องกับการใช้ชีวิต สถานะการณ์ในชีวิตเป็นเรื่องราวในหัว ส่วนการใช้ชีวิตเป็นการอยู่ที่เดี๋ยวนี้ไปทีละลมหายใจ คือมีแต่ลมหายใจนี้เท่านั้น ดังนั้นวิธีใช้ชีวิตของคุณตอนนี้ซึ่งกำลังลืมตาโพลงอยู่บนเตียงนอนก็คือ หายใจเข้าลึกๆ ยิ้ม กลั้นไว้สักพัก ค่อยๆผ่อนลมหายใจออก ผ่อนคลายร่างกาย สบายๆ สงบเย็น เนี่ย การใช้ชีวิตทำแค่นี้แหละ ทำอย่างนี้ไปทีละลมหายใจ ไม่ต้องไปยุ่งกับว่าจะนอนหลับหรือไม่หลับ จะหลับได้ตอนกี่โมง จะตื่นตอนกี่โมง ทั้งหมดนั้นเป็นความคิดหรือเป็นสถานะการณ์ในชีวิต อย่าไปยุ่ง ให้คุณใช้ชีวิตลูกเดียว อย่างอื่นไม่ยุ่งเลย เดี๋ยวทุกอย่างมันจะดีเอง

3. ถามว่าเมื่อเชื่อว่าตัวเองไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า ควรจะกินยาต้านซึมเศร้าที่หมอให้มาไหม ตอบว่าคุณจะเอายังไงก็ได้เอาแบบที่คุณชอบ เพราะมันเป็นเรื่องไม่สำคัญ แต่ถ้ากินคุณก็อย่ากินติดต่อกันไปนานเกิน 6 เดือน ยาพวกนี้เขาห้ามใช้ติดต่อกันนานเกิน 6 เดือน ถ้าคุณกินยาพวกนี้ติดต่อกันไปนานๆ แบบว่านานจนลืม ไม่ว่าจะเป็นยานอนหลับหรือยาต้านซึมเศร้า มันจะทำให้สมองคุณเสื่อมได้นะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

08 สิงหาคม 2564

ฟาวิพิราเวียร์ - ไอเวอร์เมคติน - ฟ้าทลายโจร ยังไม่มีข่าวดีจากสามสหายวัฒนะ

(last updated, Aug10, 2021)

ฟาวิพิราเวียร์, ไอเวอร์เมคติน และฟ้าทลายโจร เป็นสามสหายวัฒนะ ที่อาจมาช่วยผู้ป่วยโควิดได้ ลองมาประเมินข้อมูลวิทยาศาสตร์นับถึงวันนี้ก่อนนะ ว่าแต่ละสหายมีศักยภาพประมาณไหน

  1. ฟาวิพิราเวียร์ไม่ช่วยให้ไวรัสหมดจากตัวเร็วขึ้น ไม่ช่วยให้ใช้ออกซิเจนน้อยลง ไม่ช่วยให้เข้าไอซียูน้อยลง ไม่ช่วยลดการตาย

งานวิจัยรวบรวมผลการวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (meta-analysis of RCT)[1] เพื่อประเมินผลของการใช้ฟาวิพิราเวียร์รักษาโรคโควิด19 เทียบกับยาหลอกรวมทั้งสิ้น 9 งานวิจัย โดยใช้ตัวชี้วัดสำคัญ 5 ตัว ได้ผลดังนี้

  1. การขจัดเชื้อหมดจากตัว (viral clearance) ใน 14 วัน พบว่าฟาวิพิราเวียร์ได้ผลไม่แตกต่างจากยาหลอก (p=0.094)
  2. การต้องใช้ออกซิเจนมากหรือน้อย พบว่าฟาวิพิราเวียร์ได้ผลไม่แตกต่างจากยาหลอก (p=0.ุุ664)
  3. อัตราการต้องเข้ารักษาในไอซียู. พบว่าฟาวิพิราเวียร์ได้ผลไม่แตกต่างจากยาหลอก
  4. อัตราตายในผู้ป่วยระดับเบาและหนักปานกลาง พบว่าพบว่าฟาวิพิราเวียร์ได้ผลไม่แตกต่างจากยาหลอก
  5. การมีอาการดีขึ้นเมื่ออยู่รพ.ครบ 7 วัน พบว่าพบว่าฟาวิพิราเวียร์ได้ผลดีกว่ายาหลอก (p=0.001)

กล่าวโดยสรุป นับถึงวันนี้ ฟาวิพิราเวียร์ช่วยได้แค่บรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้มากกว่ายาหลอก แต่ในเรื่องซีเรียสอื่นๆที่เราอยากให้ยาช่วย เช่น การขจัดเชื้อให้หมดจากตัว การต้องเข้าไอซียู. และการตาย นั้น ฟาวิพิราเวียร์ช่วยอะไรได้ไม่มากกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญเลย ข้อมูลนี้ไม่ได้ต่างจากยาต้านไวรัสตัวอื่น รวมทั้ง remdesivir ซึ่งไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่าช่วยอะไรอย่างอื่นได้นอกจากลดเวลาที่มีอาการป่วยลงได้บ้างเช่นกัน

2. ไอเวอร์เมคติน เสียรูปมวยไปกับงานวิจัยปลอม และข้อมูลรวมล่าสุดยังไม่เห็นประโยชน์ที่ชัดเจน

ยา ivermectin มีความร้อนแรงมากในเวทีโลก แต่ไม่ร้อนแรงในเวทีเมืองไทย เพราะในเวทีเมืองไทย ivermectin เป็นยารักษาสัตว์ แถมในอดีตยังเคยถูกขึ้นทะเบียนเป็นยากำพร้าเพื่อรักษาพยาธิ stongyloides ในคน ความเป็นกำพร้าจะติดตัวยานี้ไปตลอดชีพ การจะเอายานี้มาขึ้นทะเบียนใหม่เป็นยารักษาคนในเรื่องอื่น อย่าว่าแต่เรื่องรักษาโควิดเลย ชั้นแค่จะเอามารักษาหิดเห็บเหาไรโลนก็ไม่ได้แล้ว (แต่พวกหมอก็ใช้กันอยู่แบบผิดกฎหมาย โดยเรียกว่าเป็นการใช้แบบ off label) การจะเปลี่ยนขึ้นทะเบียนใหม่ต้องเลิกสิทธิพิเศษของความเป็นยากำพร้า ซึ่งไม่มีบริษัทยาไหนมีกึ๋นจะทำได้เนื่องจากกระบวนการขั้นตอนมันมาก…ส์ มีตัวเอสต่อท้ายด้วยนะ..โปรดสังเกต ผู้ค้ายาในประเทศไทยทั้งยี่ปั๊วซาปั๊วและนายหน้ากินเปอร์เซ็นต์จึงไม่มีใครสนใจ ivermectin เพราะเมื่อค้าขายไม่ได้แล้วจะสนใจไปทำไม ivermectin ในเมืองไทยจึงไม่ฮ็อท

แต่ในต่างประเทศ ivermectin เป็นยารักษาโควิดที่สุดฮ็อท มีงานวิจัยใช้ยานี้รักษาโควิดออกมาเยอะแยะแป๊ะตราไก่ บ้างก็สรุปว่าได้ผล บ้างก็สรุปว่าไม่ได้ผล แต่ยานี้มาเสียรูปมวยอย่างจังเกือบถูกน้อคเอ้าท์เมื่องานวิจัยเชิงระบาดวิทยาขนาดใหญ่ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ ivermectin กับการลดอัตราตายได้อย่างน่าทึ่งซึ่งเป็นต้นฉบับก่อนพิมพ์ [2]ถูกเปิดโปงว่าเป็นงานวิจัยปลอมที่ใช้คนไข้ปลอมจากฐานข้อมูลปลอมของบริษัท Surgisphere ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทนี้ก็คุ้กงานข้อมูลปลอมเรื่องการใช้ยาคลอโรควินรักษาโควิดไปตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal มาแล้ว (งานวิจัยนั้นถูกเพิกถอนจากวารสารไปแล้ว) จุดประสงค์ของการปลอมก็เพื่อขายยานั่นแหละ..เวร คำเดียวเลยจริงๆ

อย่างไรก็ตามท่ามกลางเรื่องปลอมบ้าง เรื่องจริงบ้าง การใช้ ivermectin ทั่วโลกก็ยังอยู่ในระดับฮ็อทไม่เสื่อมคลาย มีงานวิจัยออกมาเป็นระยะๆ ซึ่งงานวิจัยแบบเมตาอานาไลซีสของหอสมุดโค้กเรนได้รวบรวมและแปลผลไว้เป็นอย่างดีสรุปได้ความว่ามีงานวิจัยทั้หมด 14 งาน จำนวนคนไข้รวม 1,678 คน เทียบสองกลุ่มระหว่าง ivermectin กับยาหลอก สรุปว่ายังไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่าง ivermectin กับยาหลอกในประเด็น (1) อัตราตาย (2) การขจัดเชื้อจากร่างกายหลัง 7 วัน (3) การต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือออกซิเจน (4) จำนวนวันที่ต้องนอนในรพ. และ(5) การใช้ยานี้ป้องกันโรคโควิด

และผู้วิจัยสรุปว่าหลักฐานปัจจุบันยังไม่มากพอที่จะสนับสนุนให้ใช้ ivermectin รักษาผู้ป่วยโควิดในคนหากจะใช้มาตรฐานปัจจุบันที่จะยอมรับงานวิจัยระดับ RCT ที่เห็นความแตกต่างกันชัดเจนเท่านั้น (ขณะนี้มีงานวิจัยใหม่เรื่อง ivermectin กำลังทำอยู่ทั่วโลกราว 31 รายการ)

ในเมืองไทยนี้ผมทราบมาอย่างไม่เป็นทางการว่าที่ศิริราชได้ทำวิจัยในผู้ป่วยไปแล้ว 120 คนและได้ผลว่าไม่มีความแตกต่างระหว่าง ivermectin กับยาหลอก ขณะนี้ทางศิริราชกำลังขยายกลุ่มตัวอย่างของการวิจัยไปเป็น 1,000 คน คาดว่าน่าจะได้คำตอบเพื่อเป็นแนวทางการใช้ ivermectin ให้กับแพทย์ไทยในอนาคตอันไม่ไกลนี้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้วันหนึ่งข้างหน้า ivermectin จะมีหลักฐานสนับสนุนว่าใช้รักษาโควิด19 ได้ดี แต่หมอสันต์เอาปูนหมายหัวไว้ล่วงหน้าได้เลยว่าอย่างไรเสียยา ivermectin ก็จะไม่รุ่งในเมืองไทย ด้วยเหตุผลหลักคือความเป็นยากำพร้าทำให้ทำมาค้าขายไม่ได้ไม่ว่าบนดินหรือใต้ดิน เมื่อพ่อค้าไม่ยุ่ง มันก็ไม่รุ่ง สัจธรรมเรื่องการค้าขายก็มีแค่นี้

3. ฟ้าทะลายโจร ดี..แต่ยังไม่มีผลวิจัยระดับ RCT ที่มีขนาดกลุ่มใหญ่พอ

เมื่อมีโรคโควิด19 มา ได้มีการทำวิจัยในห้องทดลองที่ไต้หวันและในเมืองไทย แล้วสรุปผลได้ตรงกันว่าฟ้าทะลายโจรระงับยับยั้งเชื้อไวรัสซาร์สโควี2ซึ่งเป็นเชื้อต้นเหตุของโรคโควิด19ทั้งนอกเซลและในเซลได้ ต่อมาก็ได้มีการทดลองใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิด19 ในคนกลุ่มเล็ก (case series) ซึ่งสรุปผลได้ว่าฟ้าทะลายโจรในขนาดที่ใช้ (180 มก.ของแอนโดรกราฟโฟไลด์ต่อวันนาน 5 วัน) สัมพันธ์กับการที่ไวรัสลดจำนวนลงและหมดไปจากตัว (viral shedding) ได้ โดยที่ไม่มีผลข้างเคียงที่มีนัยสำคัญ

ในระยะนั้นเผอิญเกิดการระบาดของโควิดในเรือนจำซึ่งมีการใช้ฟ้าทลายโจรรักษา ทำให้เกิดข้อมูลเชิงระบาดวิทยาจากกรณีนั้นขึ้นมาว่ามีผู้ต้องขังติดเชื้อสะสมรวม 37,656 คน หายป่วยสะสม 35,472 ราย (94.2%) ตายสะสม 47 ราย (0.1%) ซึ่งเมื่อเปรียบกับข้อมูลระดับประเทศซึ่งมีอัตราตายสะสม 0.8% แล้วก็พบว่าในเรือนจำซึ่งมีการใช้ฟ้าทลายโจรมีอัตราตายต่ำกว่าทั่วประเทศซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ฟ้าทลายโจรถึง 8 เท่า 

ต่อมาพัฒนาการทางวิชาการในเรื่องนี้ก็แยกกันทำไปสองทาง ทางหนึ่งคือได้มีการทำวิจัยแบบย้อนหลังตามดู (retrospective cohort study) กลุ่มคนไข้โควิด19 ที่ได้รับการรักษาต่างกันสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งใช้ฟ้าทลายโจร 309 คน อีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้ใช้ฟ้าทลายโจร 526 คน แล้วพบว่ากลุ่มที่ได้ฟ้าทลายโจรเป็นปอดบวม 3 คน (0.9%) กลุ่มที่ไม่ได้ฟ้าทลายโจรเป็นปอดบวม 77 คน (14.64%) ซึ่งเป็นความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.001) งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในรูปของรายงานสรุป (short communication) ในวารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

อีกด้านหนึ่งก็มีการทำวิจัยการใช้ฟ้าทลายโจรรักษาโควิด19 ในรูปของการวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) รายละเอียดของงานวิจัยมีอยู่ว่าผู้วิจัยได้ใช้ผู้ป่วย 57 คน สุ่มตัวอย่างแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่ง 29 คน ให้กินฟ้าทะลายโจรซึ่งมีเนื้อยาแอนโดรกราฟโฟไลด์ 180 มก.ต่อวันกินนาน 5 วัน อีกกลุ่มหนึ่ง 28 คน ให้กินยาหลอก โดยใช้การเกิดปอดอักเสบ (pneumonia) เป็นตัวชี้วัด พบว่ากลุ่มที่กินยาหลอกเกิดปอดอักเสบ 3 คน (10.7%) ขณะที่กลุ่มที่กินฟ้าทะลายโจรไม่เกิดปอดอักเสบเลย (0 คน) แต่น่าเสียดายที่กลุ่มตัวอย่างเล็กไปหน่อย คงต้องรองานวิจัยใหม่ที่มีขนาดกลุ่มตัวอย่างใหญ่กว่านี้ คือใหญ่พอที่เห็นความแตกต่างของผลการรักษาได้ชัดเจนกว่านี้

บทสรุป

ยังไม่มีข่าวดีจากสามสหายวัฒนะ ทั้งฟาวิพิราเวียร์ ไอเวอร์เมคติน และฟ้าทลายโจร ดังนั้น อนาคตของการรักษาโควิดจะเป็นฉันใด ม่าย..ย รู้

สำหรับแพทย์ ตัวหมอสันต์มีความเห็นว่าช่องทางที่เราในฐานะแพทย์ไทยจะสร้างประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ได้ก็คือการเร่งช่วยกันทำให้งานวิจัยระดับ RCT ที่ใช้ยาทั้งสามตัวนี้รักษาคนไทยให้เกิดขึ้นด้วยวิสัยทัศน์แบบนักวิทยาศาสตร์กันดีกว่า พวกเราจะไปเสียเวลา จะไปให้ราคา หรือจะไปเต้นตามการเมืองและการค้าที่อยู่เบื้องหลังการแสวงประโยชน์จากทุกแง่ทุกมุมของการเจ็บป่วยครั้งใหญ่ของผู้คนในครั้งนี้ไปทำไม พวกเขาจะทำอะไรก็ช่างพวกเขาเถอะเพราะมันเรื่องของเขา แต่พวกเราซึ่งเป็นแพทย์ เรามาหาทางรักษาคนไข้ของเราให้หายกันดีกว่า เพราะเรามาเรียนแพทย์ก็เพราะเราอยากช่วยคนไข้ของเราให้หายไม่ใช่หรือ

สำหรับคนทั่วไป ณ วันนี้ยาทั้งสามตัวนี้ (ฟาวิพิราเวียร์ ไอเวอร์เมคติน และฟ้าทลายโจร) ยังเป็นความหวังอยู่ทั้งสามตัว แต่เนื่องจากไอเวอร์เมคตินนั้นยังใช้ไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย ส่วนฟาวิพิราเวียร์นั้นต้องมีใบสั่งแพทย์ จึงเหลือฟ้าทะลายโจรตัวเดียวที่ชาวบ้านเข้าถึงได้ง่าย ราคาถูก และมีความปลอดภัย ผมจึงแนะนำว่าขณะที่รอผลวิจัยที่ชัดเจนกว่านี้ หากมีอะไรจะเป็นภัยถึงตัว ผมหมายถึงไปสัมผัสโรคโควิดมาหรือมีอาการคล้ายจะติดโรคโควิดขึ้นมา ให้รีบลงมือใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาตัวเองไปก่อน จนกว่าเราจะมีข้อมูลที่ชัดเจนกว่านี้ ส่วนคำขู่ผลข้างเคียงของฟ้าทลายโจรเช่นว่าจะทำให้ตับพัง จะทำให้ไตพัง จะทำให้ความดันเลือดตกวูบวาบ จะทำให้เป็นอัมพาต จะทำให้เลือดแข็งตัวช้า หรือจะทำให้เลือดแข็งตัวเร็ว ทั้งหมดนั้นไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์รองรับเลยว่าจะเกิดเรื่องอย่างนั้นขึ้นจริงๆในคน เพราะในบรรดางานวิจัยที่ใช้ฟ้าทลายโจรรักษาโรคในคนที่ตีพิมพ์แล้วประมาณ 33 งาน ไม่มีงานวิจัยไหนพบภาวะแทรกซ้อนรุนแรงดังกล่าวเลยแม้แต่รายงานเดียว ดังนั้นถ้ามีแพทย์หรือนักวิจัยท่านใดพบเห็นรายงานผลแทรกซ้อนรุนแรงของฟ้าทลายโจรในคนก็ช่วยบอกเอกสารอ้างอิงให้หมอสันต์ทราบเอาบุญด้วย ผมจะได้ช่วยอ่านประเมินในรายละเอียดแล้วช่วยเผยแพร่ให้อย่างเป็นกิจลักษณะ ดีกว่าจะเที่ยวขู่ชาวบ้านแบบลมๆแล้งๆซึ่งจะมีผลให้สาธารณชนเกิดความกลัวสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ซึ่งไม่มีแง่มุมสร้างสรรค์ใดๆเลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Hassanipour S, Arab-Zozani M, Amani B, Heidarzad F, Fathalipour M, Martinez-de-Hoyo R. The efficacy and safety of Favipiravir in treatment of COVID-19: a systematic review and meta-analysis of clinical trials. Sci Rep. 2021 May 26;11(1):11022. doi: 10.1038/s41598-021-90551-6.
  2. WHO Solidarity Trial Consortium. Repurposed Antiviral Drugs for Covid-19 — Interim WHO Solidarity Trial Results. N Engl J Med 2021; 384:497-511 DOI: 10.1056/NEJMoa2023184
  3. Popp M, Stegemann M, Metzendorf M-I, Gould S, Kranke P, Meybohm P, Skoetz N, Weibel S. Ivermectin for preventing and treating COVID-19. Cochrane Database of Systematic Reviews 2021, Issue 7. Art. No.: CD015017. DOI: 10.1002/14651858.CD015017.pub2.
  4. Shi TZ, Huang YL, Chen CC, Pi WC, Hsu YL, Lo LC, Chen WY, Fu SL, Lin CH. Andrographolide and its fluorescent derivative inhibit the main proteases of 2019-nCoV and SARS-CoV through covalent linkage. Biochem Biophys Res Commun. 2020;533(3):67–473.
  5. Khanit Sa-ngiamsuntorn, Ampa Suksatu et al. Anti-SARS-CoV-2 Activity of Andrographis paniculata Extract and Its Major Component Andrographolide in Human Lung Epithelial Cells and Cytotoxicity Evaluation in Major Organ Cell Representatives. Nat. Prod. 2021, 84, 4, 1261–1270. https://doi.org/10.1021/acs.jnatprod.0c01324
  6. Benjaponpithak A, Visithanon K. et al. Short Communication on Use of Andrographis Herb (FA THALAI CHON) for the Treatment of COVID-19 Patients. Journal of Thai Traditional and Alternative Medicine 2021:19(f Andrographis Herb (FA THALAI CHON) for the Treatment of COVID-19 P1);229-233
  7. Efficacy and safety of Andrographis paniculata extract in patients with mild COVID-19: A randomized controlled trial. Kulthanit Wanaratna, Pornvimol Leethong, Nitapha Inchai, Wararath Chueawiang, Pantitra Sriraksa, Anutida Tabmee, Sayomporn Sirinavinmed. Rxiv 2021.07.08.21259912; doi: https://doi.org/10.1101/2021.07.08.21259912
[อ่านต่อ...]

อย่าเพิ่งกระต๊ากตามเขาไป ใจเย็นๆฟังให้ได้ศัพท์ก่อน

เมื่อวานนี้ผมเล่าเรื่องคณะผู้วิจัยชาวไทย ที่ทำวิจัยฟ้าทะลายโจรรักษาโควิดได้ขอถอนต้นฉบับของตัวเองกลับออกมาจากเว็บไซท์งานวิจัยรอตีพิมพ์ ( medRxiv) เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดในการคำนวณเชิงสถิติในประเด็นการคิดค่านัยสำคัญทางสถิติ (p-value) คิดไม่ถึงว่าจะมีผู้ตัดเอาบทความของผมครึ่งบรรทัดไปโพนทะนาผ่านทางหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆว่าฟ้าทลายโจรใช้รักษาโควิดไม่ได้ผลเสียแล้วควรต้องเลิกใช้..ไปโน่นเลย ผู้คนก็พากันกระต๊าก กระต๊าก ต่อๆกันไป ซึ่งเป็นการตัดบทความของผมเอาไปแค่บรรทัดเดียวแล้วเอาไปกระเดียดที่ได้ผลแบบอะเมซซิ่งทิงนองนอยมากส์

ตัวผมเองไม่ถือสานะครับ เพราะเรื่องก็ดี ชื่อก็ดี ภาพของผมก็ดี มักมีคนชอบเอาไปทำยำใหญ่ใส่สาระพัดเป็นประจำอยู่แล้ว เอาไปขายยาสีฟันก็ยังเคยมีเลย หิ หิ ครั้งนี้ผมก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร แต่กลับมองเห็นเป็นโอกาสดีที่จะทำให้ผู้คนได้หันมาสนใจและพยายามทำความเข้าใจงานวิจัยทางการแพทย์ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น จะได้ไม่ถูกคนกระเดียดข้อมูลให้ตื่นตกใจได้ง่ายๆ

ขอย้อนไปเริ่มต้นที่สนามหลวงก่อนนะ

เมื่อมีโรคโควิด19 มา ได้มีการทำวิจัยในห้องทดลองที่ไต้หวันและในเมืองไทย แล้วสรุปผลได้ตรงกันว่าฟ้าทะลายโจรระงับยับยั้งเชื้อไวรัสซาร์สโควี2ซึ่งเป็นเชื้อต้นเหตุของโรคโควิด19ทั้งนอกเซลและในเซลได้ [1,2]

ต่อมาก็ได้มีการทดลองใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคโควิด19 ในคนกลุ่มเล็ก (case series) จำนวน 6 คน ซึ่งสรุปผลได้ว่าฟ้าทะลายโจรในขนาดที่ใช้ (180 มก.ของแอนโดรกราฟโฟไลด์ต่อวันนาน 5 วัน) สัมพันธ์กับการที่ไวรัสลดจำนวนลงและหมดไปจากตัว (viral shedding) ได้ โดยที่ไม่มีผลข้างเคียงที่มีนัยสำคัญ งานวิจัยนี้ไม่ได้ตีพิมพ์ แต่นำเสนอในที่ประชุมวิชาการโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก [3]

ต่อมาพัฒนาการทางวิชาการในเรื่องนี้ก็แยกกันทำไปสองทาง ทางหนึ่งคือได้มีการทำวิจัยแบบย้อนหลังตามดู (retrospective cohort study) กลุ่มคนไข้โควิด19 ที่ได้รับการรักษาต่างกันสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งใช้ฟ้าทลายโจร 309 คน อีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้ใช้ฟ้าทลายโจร 526 คน แล้วพบว่ากลุ่มที่ได้ฟ้าทลายโจรเป็นปอดบวม 3 คน (0.9%) กลุ่มที่ไม่ได้ฟ้าทลายโจรเป็นปอดบวม 77 คน (14.64%) ซึ่งเป็นความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.001) งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในรูปของรายงานสรุป (short communication) ในวารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก [4]

อีกด้านหนึ่งก็มีการทำวิจัยการใช้ฟ้าทลายโจรรักษาโควิด19 ในรูปของการวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ซึ่งถือว่าเป็นระดับหลักฐานชั้นสูงสุดของการวิจัยทางการแพทย์ รายละเอียดของงานวิจัยมีอยู่ว่าผู้วิจัยได้ใช้ผู้ป่วย 57 คน สุ่มตัวอย่างแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่ง 29 คน ให้กินฟ้าทะลายโจรซึ่งมีเนื้อยาแอนโดรกราฟโฟไลด์ 180 มก.ต่อวันกินนาน 5 วัน อีกกลุ่มหนึ่ง 28 คน ให้กินยาหลอก โดยใช้การเกิดปอดอักเสบ (pneumonia) เป็นตัวชี้วัด พบว่ากลุ่มที่กินยาหลอกเกิดปอดอักเสบ 3 คน (10.7%) ขณะที่กลุ่มที่กินฟ้าทะลายโจรไม่เกิดปอดอักเสบเลย (0 คน) เป็นความแตกต่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.039) ซึ่งคณะผู้วิจัยได้ส่งผลไปตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ โดยเผยแพร่นิพนธ์ต้นฉบับล่วงหน้าในเว็บไซท์งานวิจัยรอการตีพิมพ์ (medRxiv)[5] แต่ต่อมาคณะผู้วิจัยพบความผิดพลาดในการคำนวณค่า p-value ว่าที่คำนวณได้ p = 0.039 นั้นผิดไป ที่ถูกต้องเป็น p = 0.1 จึงได้ขอถอนนิพนธ์ต้นฉบับกลับมาแก้ไขความผิดพลาดดังกล่าว

ผมได้เล่าเรื่องการขอถอนต้นฉบับกลับมาแก้ไขให้แฟนบล็อกฟัง และแจ้งเปลี่ยนข้อสรุปของผมเองที่เคยพูดว่าหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนให้ใช้ฟ้าทลายโจรรักษาโรคโควิด19มีมากพอแล้วนั้น ผมต้องขอแก้ไขคำพูดใหม่ เป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนให้ใช้ฟ้าทลายโจรรักษาโรคโควิด19ในคนยังมีไม่มากพอ (เพราะยังขาดงานวิจัยระดับ RCT) จึงต้องทำวิจัยซ้ำโดยการขยายกลุ่มตัวอย่างให้ใหญ่ขึ้น

เพราะการที่กลุ่มตัวอย่างเล็กได้ค่า p มากกว่า 0.05 ก็บอกได้แค่ว่ายังบอกไม่ได้ว่าความแตกต่างในผลการรักษา (คือการเกิดปอดบวม) ในทั้งสองกลุ่มมันต่างกันจริงหรือไม่ การจะรู้ได้ก็ต้องมีกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่กว่านี้

ทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรสักแอะเดียวที่จะบ่งชี้ว่าการใช้ฟ้าทลายโจรรักษาโรคโควิด19ไม่ได้ผล ฟังให้ดีนะ “ยังไม่มั่นใจว่ามันได้ผลจริงหรือเปล่า” ไม่เหมือนกับ “ใช้แล้วไม่ได้ผล”

ซึ่งยาคู่แข่งกันที่ใช้ในเมืองไทยอีกตัวคือ Favipiravir ก็มีข้อมูลน้อยประมาณเดียวกัน คือทุกอย่างติดอยู่ที่ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือนับถึงวันนี้การใช้ Favipiravir แล้วจะทำให้ไวรัสโควิด19หายไปจากตัวเร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ..รึก็เปล่า จะทำให้ใช้ออกซิเจนน้อยลง..รึก็เปล่า จะทำให้ต้องเข้าไอซียู.น้อยลง..รึก็เปล่า และที่สำคัญจะทำให้คนป่วยตายน้อยลง..รึก็เปล่า [6]

แต่ฟ้าทลายโจรมันมีความพิเศษกว่า Favipiravir ตรงที่แค่ทำวิจัยซ้ำขยายกลุ่มตัวอย่างให้ใหญ่ขึ้นอีกนิดเดียว ก็จะเห็นดำเห็นแดงแล้วว่าได้ผลหรือไม่ได้ผลต่างจากยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ เท่าที่ผู้รู้ทางสถิติคำนวณให้คร่าวๆ หากพิจารณาจากอัตราการเป็นปอดบวมของผู้ใช้และผู้ไม่ใช้ฟ้าทะลายโจรในงานวิจัย retrospective cohort ที่ได้รายงานไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แค่ขยายกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัย RCT ไปให้ได้กลุ่มละ 40 คน คือขยายอีกกลุ่มละ 10 คน ก็จะเห็นดำเห็นแดงกันแล้ว

อีกทั้งฟ้าทลายโจรเป็นพืชสามัญในท้องถิ่น หาง่ายกว่า ราคาถูกกว่า มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของชาติมากกว่าไปซื้อยาเขามาทั้งๆที่ผลการรักษาก็แปะเอี้ย ในแง่การค้าขายระดับนานาชาติ หากจะขายฟ้าทลายโจร ก็ต้องมีงานวิจัยระดับ RCT สนับสนุน ตัวหมอสันต์จึงลุ้นตัวโก่งให้ทำงานวิจัยนี้ต่อให้เบ็ดเสร็จสะเด็ดน้ำโดยยินดีช่วยทุกอย่างเท่าที่หมอแก่คนหนึ่งจะช่วยได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

  1. Shi TZ, Huang YL, Chen CC, Pi WC, Hsu YL, Lo LC, Chen WY, Fu SL, Lin CH. Andrographolide and its fluorescent derivative inhibit the main proteases of 2019-nCoV and SARS-CoV through covalent linkage. Biochem Biophys Res Commun. 2020;533(3):67–473.
  2. Khanit Sa-ngiamsuntorn, Ampa Suksatu et al. Anti-SARS-CoV-2 Activity of Andrographis paniculata Extract and Its Major Component Andrographolide in Human Lung Epithelial Cells and Cytotoxicity Evaluation in Major Organ Cell Representatives. Nat. Prod. 2021, 84, 4, 1261–1270. https://doi.org/10.1021/acs.jnatprod.0c01324
  3. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. การเสวนาวิชาการฟ้าทะลายโจรสมุนไพรไทยใน COVID-19 เมื่อ 17 มิย.64. https://www.youtube.com/watch?v=2phuTUSCld8&t=7681s
  4. Benjaponpithak A, Visithanon K. et al. Short Communication on Use of Andrographis Herb (FA THALAI CHON) for the Treatment of COVID-19 Patients. Journal of Thai Traditional and Alternative Medicine 2021:19(f Andrographis Herb (FA THALAI CHON) for the Treatment of COVID-19 P1);229-233
  5. Efficacy and safety of Andrographis paniculata extract in patients with mild COVID-19: A randomized controlled trial. Kulthanit Wanaratna, Pornvimol Leethong, Nitapha Inchai, Wararath Chueawiang, Pantitra Sriraksa, Anutida Tabmee, Sayomporn Sirinavinmed. Rxiv 2021.07.08.21259912; doi: https://doi.org/10.1101/2021.07.08.21259912
  6. Hassanipour S, Arab-Zozani M, Amani B, Heidarzad F, Fathalipour M, Martinez-de-Hoyo R. The efficacy and safety of Favipiravir in treatment of COVID-19: a systematic review and meta-analysis of clinical trials. Sci Rep. 2021 May 26;11(1):11022. doi: 10.1038/s41598-021-90551-6.
[อ่านต่อ...]

07 สิงหาคม 2564

จำเป็นต้องมีการวิจัยรักษาโควิด-19 ด้วยฟ้าทลายโจรซ้ำด้วยกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่ขึ้น

เมื่อวานนี้ ทีมผู้วิจัย (ชาวไทย) ซึ่งได้ทำวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ที่สรุปผลได้ว่าฟ้าทะลายโจรใช้รักษาโควิด19แล้วมีผลดีลดการเกิดปอดอักเสบได้ ได้ขอถอนนิพนธ์ต้นฉบับของตนเองที่รอตีพิมพ์กลับคืนจากคลังวารสารรอตีพิมพ์ (medRxiv) ด้วยเหตุผลว่ามีความผิดพลาดในการคำนวณค่านัยสำคัญของความแตกต่าง (p-value) จึงของดการเผยแพร่ไว้ก่อนเพื่อป้องกันการนำผลวิจัยไปใช้ด้วยสำคัญผิด

เจาะลึกลงไปอีกหน่อยก็คือในงานวิจัยนั้นรายงานว่า

กลุ่มผู้ใช้ฟ้าทลายโจร 29 คน เป็นปอดอักเสบ 0 คน

กลุ่มที่ใช้ยาหลอก 28 เป็นปอดอักเสบ 3 คน

คำนวณนัยสำคัญของความแตกต่างได้ p=<0.039 ซึ่งเป็นความแตกต่างที่มีนัยสำคัญ (ตัดกันที่ p=<0.05)

แต่หากคำนวณอย่างถูกต้องแท้จริงแล้วค่านัยสำคัญจริงๆคือ p=0.1

แปลไทยให้เป็นไทยก็คือจะต้องเปลี่ยนคำสรุปว่า “ยังสรุปไม่ได้ว่าการใช้ฟ้าทลายโจรลดปอดบวมได้แตกต่างจากใช้ยาหลอกหรือไม่”

ท่านผู้อ่านอาจคิดแย้งว่า

“..อ้าว..ได้ไง ก็กลุ่มหนึ่งเป็นปอดบวมสามคนอีกกลุ่มหนึ่งไม่เป็นเลย ต่างกันเห็นๆจะมาสรุปว่าไม่ต่างกันได้อย่างไร”

หิ..หิ ใจเย็นๆครับคุณพี่ เรากำลังเล่นกับวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นระบบความเชื่อที่ให้ความสำคัญกับโอกาสเป็นไปได้ (probability) และนัยสำคัญของความแตกต่าง (significantly difference) โดยกำหนดกฎกติกามารยาทร่วมกันขึ้นมาว่าหากค่า p ต่ำกว่า 0.05 ให้ถือว่าเป็นความแตกต่างที่มีนัยสำคัญ หากต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญ ก็ถือเอาแบบสมมุติว่าคือไม่แตกต่างกัน เออ..งงแมะ

“..แล้วค่า p นี้มันได้มาอย่างไร เรื่องใหญ่ขนาดนี้ทำไมจึงคำนวณผิดได้”

หิ หิ ใจเย็นครับ ตอบว่าสมัยนี้ค่า p ได้มาจากการจิ้มค่าต่างๆที่ได้จากการวิจัยเข้าไปในคอม แล้วคอมก็คำนวณตามสูตรออกมาให้ หากได้ค่าผิดไม่ได้หมายความว่าคอมคำนวณผิดนะ แต่หมายความว่า..จิ้มผิด ซึ่งเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเป็นประจำ เดี๋ยวต้องขอถอนต้นฉบับกลับ เดี๋ยวต้องเขียนคำแก้ไขไปตีพิมพ์ต่อท้าย นี่เป็นวิถีชีวิตปกติของนักวิจัย

“..แล้วทำอย่างไรจะให้มันเกิดความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญขึ้นมาได้ละ”

ตอบว่าก็ต้องทำวิจัยใหม่โดยขยายกลุ่มตัวอย่างให้ใหญ่ขึ้น วิธีการรักษาที่ให้ผลแตกต่างกันหากทำวิจัยเปรียบเทียบโดยใช้กลุ่มตัวอย่างเล็กจะมองไม่เห็นความแตกต่างนั้น แต่หากกลุ่มตัวอย่างใหญ่ขึ้นก็จะเห็นความแตกต่างนั้นโดยง่าย เพราะค่า p-value ออกแบบไว้ชดเชยความเล็กของกลุ่มตัวอย่าง ยิ่งกลุ่มตัวอย่างเล็ก ยิ่งยากจะเห็นความแตกต่างผ่านค่า p-value แต่ในทางกลับกันหากใช้กลุ่มตัวอย่างใหญ่เว่อร์เกินความจำเป็นก็จะกลายเป็นความเซ่อทางการวิจัย คือเสียเงินเสียเวลาและเดือดร้อนอาสาสมัครมากโดยใช่เหตุ

ประเด็นไม่ใช่อยู่ที่ทำไมจิ้มคอมผิด แต่ประเด็นอยู่ที่มันจำเป็นต้องทำการวิจัยนี้ซ้ำใหม่ด้วยกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เพราะตราบใดที่โควิด19ยังมีโดยวัคซีนยังไม่มา เรื่องนี้ก็จะยังคงเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย และเป็นเรื่องระดับชาติ เพราะฟ้าทลายโจรรักษาโควิดได้จริงหรือไม่เป็นเรื่องสำคัญ หากฟ้าทลายโจรรักษาโควิดได้จริง เราก็จะได้อาศัยฟ้าทลายโจรนำพาชาติให้พ้นภัย (หิ..หิ พูดเหมือนจอมพลตราไก่เลย)

ตัวหมอสันต์เองกำลังดูลาดเลาที่จะลุ้นให้เกิดงานวิจัยนี้ โดยกำลังพูดคุยหารือกับผอ.รพ.มวกเหล็ก ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เขต4(สระบุรี) และเซียนด้านการวิจัยทางการแพทย์ท่านหนึ่งในเมืองหลวง เรื่องสปอนเซอร์ที่จะดูแลค่าใช้จ่ายในการวิจัยนั้นไม่หนักใจ แต่เกรงใจที่ต้องไปรบกวนน้องๆที่หน้างานซึ่งทุกวันนี้งานรูตีนเขาก็อ๊วกรับประทานกันอยู่แล้ว จะพูดกับแต่ละคนทีนึงก็ต้องรอท่านกลับเข้าบ้านกันก่อน ซึ่งก็ไม่เคยต่ำกว่าสามทุ่ม แต่แม้จะเกรงใจก็คิดว่าจะเดินหน้าทำ เพราะหากไม่ทำ เราก็จะยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก กันอยู่ตรงนี้ไปไหนต่อไม่ได้ ส่วนจะทำวิจัยครั้งนี้ได้สำเร็จหรือไม่ก็ต้องตามลุ้นกันต่อไป

ในระหว่างที่งานวิจัยใหม่นี้ยังไม่ออกมา ชาวไทยเราก็ต้องอาศัยข้อสรุปใหม่ล่าสุดที่ว่า “ยังไม่ทราบว่าฟ้าทลายโจรลดปอดบวมในคนไข้โควิด-19ได้แตกต่างจากยาหลอกหรือไม่” ไปพลางๆก่อนนะครับ และที่หมอสันต์เคยบอกว่าหลักฐานวิทยาศาสตร์สนับสนุนการใช้ฟ้าทลายโจรรักษาโควิดตอนนี้มีมากพอแล้วนั้น ก็ต้องถอนคำพูด และขอใช้คำพูดใหม่ว่า

“หลักฐานวิทยาศาสตร์สนับสนุนการใช้ฟ้าทลายโจรรักษาโควิดตอนนี้ยังมีไม่พอ ต้องรอการวิจัยซ้ำด้วยกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่ขึ้น”

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

ปล. หลังเขียนบทความนี้ไม่กี่ชั่วโมง ผมก็ได้ทราบทางหลังไมค์อย่างไม่เป็นทางการว่าสถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์(ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)กำลังจะทำงานวิจัยเดียวกันนี้อยู่พอดี ฮี่..ฮี่ สบายหมอสันต์เขาแล้ว ผมเปลี่ยนแผนเป็นนั่งรอดีกว่า

บรรณานุกรม

1. Efficacy and safety of Andrographis paniculata extract in patients with mild COVID-19: A randomized controlled trial. Kulthanit Wanaratna, Pornvimol Leethong, Nitapha Inchai, Wararath Chueawiang, Pantitra Sriraksa, Anutida Tabmee, Sayomporn Sirinavinmed. medRxiv 2021.07.08.21259912; doi: https://doi.org/10.1101/2021.07.08.21259912

[อ่านต่อ...]

05 สิงหาคม 2564

วิธีใช้ประโยชน์จากผลตรวจ Rapid test และ RT-PCR ในประเด็นความไวและความจำเพาะ

คุณหมอสันต์คะ

หนูเผอิญคลุกคลีกับเพื่อนซึ่งเป็นไข้ไอหอบแล้วไปตรวจ RT-PCR ได้ผลบวกว่าเป็นโควิดต้องเข้าฮอสปิเทล หนูเองก็มีอาการไอมากแต่ไม่มีไข้ จึงไปตรวจ Rapid test ที่รพ. …. ได้ผลเป็นลบ ก่อนหน้านั้นหนูฉีดวัคซีนซีโนแวคครบสองเข็มแล้ว แต่เพื่อนหนูไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย พอตรวจได้ผลลบ หนูก็กลับไปทำงานตามปกติได้ห้าวัน แต่อาการไอไม่ลดลงแล้วมีปวดเมื่อยและมีไข้เพิ่มขึ้นมา หนูจึงไปขอตรวจ RT-PCR ที่รพ. … แต่เขาไม่ยอมตรวจให้ ต่อมาได้อาศัยเส้นไปตรวจที่รพ. … แล้วปรากฎว่าได้ผลบวก ก็คือหนูเป็นโควิดจริงๆ เพื่อนๆของหนูที่ที่ทำงานต่างก็กระเจิงไปตามๆกัน ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ละคะ ตรวจ Rapid test แล้วได้ผลลบ หนูก็กลับไปทำงานก็ไม่ผิดอะไรไม่ใช่หรือ แต่ถ้ารู้ว่าจะเป็นอย่างนี้จะมี Rapid test ไว้ทำไม เพราะผลมันหลอก ทำให้คนรอบข้างเดือดร้อนกันเปล่าๆ

รบกวนคุณหมอช่วยแนะนำและหนูจะได้อธิบายเพื่อนๆได้ว่าหนูไม่ได้ผิดอะไร

………………………………………………………….

ตอบครับ

พุทธัง ธัมมัง สังคัง อะไรมันจะคันอย่างนี้

พอมี Rapid test ออกมาก ทุกคนก็เฮโลกันไปตรวจ แต่ตรวจแล้วใช้ประโยชน์จากผลการตรวจไม่เป็น การตรวจที่ดีก็เลยกลายเป็นโทษไปฉิบ (หิ..หิ ขอโทษ)

วันนี้จะขอพูดถึงการตรวจ Rapid test กับ RT-PCR นี่หน่อยนะ ในประเด็นความไว (sensitivity) และความจำเพาะ (specificity) ของการตรวจทั้งสอง เรื่องที่จะอธิบายนี้มันเข้าใจยากและปวดเฮดหน่อย ท่านที่มาอ่านบล็อกหมอสันต์เอาม่วนไม่เอาเรื่องปวดหัวให้ผ่านบทความนี้ไปเลย ที่ผมเขียนเรื่องนี้เพราะเห็นว่ามันจำเป็นเมื่อคนไปรับการตรวจเป็นจำนวนมากก็จำเป็นต้องเข้าใจวิธีแปลผลและใช้ประโยชน์จากผลการตรวจ

ประเด็นที่ 1. รู้จักความไว (sensitivity) และความจำเพาะ (specificity)

การตรวจใดที่มีความไว (sensitive) หมายความว่าตรวจเจอหรือคันพบคนเป็นโรคได้เก่ง ถ้ามีคนเป็นโรคมาทีไรเป็นตรวจเจอทุกที โอกาสที่จะเกิดผลลบเทียม (หมายถึงว่าเขาเป็นโรคมาแต่ดันไปบอกว่าเขาปกติ) แทบไม่มีเลย อย่างนี้เรียกว่าการตรวจนั้นมีความไว (sensitivity) สูง

การตรวจใดที่มีความจำเพาะ (specify) หมายความว่าตรวจได้แม่น หากผลตรวจบอกว่าใครเป็นโรคก็จะต้องเป็นโรคจริงๆ ไม่มีผิดพลาด โอกาสที่จะเกิดผลบวกเทียม (หมายถึงว่าเขาไม่ได้เป็นโรค แต่ดันไปบอกว่าเขาเป็นโรค) แทบไม่มีเลย อย่างนี้เรียกว่าการตรวจนั้นมีความจำเพาะ (specificity) สูง

ประเด็นที่ 2. รู้จักการตรวจ RT-PCR

RT-PCR ย่อมาจาก reverse transcription (RT) and polymerase chain reaction (PCR) แปลว่าการตรวจหาไวรัสโดยเอาตัวไวรัสที่ได้จากการสว็อบจมูกมาฆ่าเสียก่อนแล้วแยกเอารหัสพันธุกรรม (RNA) ของมันออกมา แล้วก๊อปปี้ย้อนเอาแม่แบบที่ปั๊มระหัสพันธุกรรมนี้ (DNA) ขึ้นมา เปรียบเหมือนเอาดอกกุญแจมาหนึ่งดอกแล้วสร้างเครื่องปั๊มลูกกุญแจขึ้นมาหนึ่งเครื่อง แล้วเอาเครื่องนั้นไปปั๊มดอกกุญแจแบบนั้นออกมามากมายจนพอที่จะตรวจวัดปริมาณได้

การตรวจ RT-PCR มีความไว (sensitivity) 96.7% มีความจำเพาะ (specificity) 100% จึงเป็นการตรวจที่ใช้ยืนยันว่าคนที่มีอาการเหมือนคนติดเชื้อนั้นจริงๆแล้วติดเชื้อจริงหรือเปล่า ถ้าผลการตรวจบอกว่าติดเชื้อจริงก็คือติดเชื้อจริงๆไม่มีพลาด แต่ว่าถ้าผลการตรวจว่าไม่ติดเชื้อ ยังมีโอกาสติดเชื้อได้อยู่ราว 3.3% ดังนั้นหากอาการให้สงสัยมากๆแต่ตรวจ RT-PCR ได้ผลลบก็ต้องตรวจซ้ำเพื่อยืนยันอีกครั้งหรืออีกหลายครั้ง

ประเด็นที่ 3. รู้จักการตรวจ Rapid test (Antigen test)

Rapid test หรือ Antigen test เป็นการเอาตัวไวรัสตัวเป็นๆที่สว็อบได้จากโพรงจมูกมา แล้วตรวจหาโมเลกุลบางตัวซึ่งอยู่บนผิวของไวรัส วิธีนี้ทำได้รวดเร็วมาก แค่ 15 นาทีก็ได้แล้ว มันเป็นการตรวจที่มีความไว (sensitivity) 60.5% ถ้าเป็นคนไม่มีอาการ หรือ 72.1% ถ้าเป็นคนที่มีอาการป่วยแล้ว ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งมันมีความจำเพาะ (specificity) 99.5%.

จะเห็นว่า Rapid test มีความจำเพาะใกล้เคียงกับ RT-PCR แปลว่าหากตรวจได้ผลบวกก็แทบจะเชื่อขนมเจ๊กกินได้เลยว่าเป็นโรคแหงๆไม่ต้องไปนั่งยันยืนยันอะไรอีกดอก ให้แยกตัวเอง สงบสติอารมณ์ อยู่กับบ้านได้เลย โดยไม่ต้องไปมะรุมมะตุ้มขอตรวจยืนยันให้วุ่นวายขยายเชื้อ ตรงนี้คือประโยชน์ของ Rapid test คือถ้าได้ผลบวกก็ตัดตอนจบตรงนี้ได้เลย เปลี่ยนแผนการจัดการโรคได้เลย

แต่ขณะเดียวกันมันมีความไวเพียง 60.5% – 72.1% ซึ่งต่ำกว่า RT-PCR มาก หมายความว่าหากผลการตรวจได้ผลลบหรือไม่เป็นโรค โอกาสที่จะเป็นโรคยังมีอยู่ถึง 27.9 – 39.5% แปลไทยให้เป็นไทยว่าถ้าผลตรวจ Rapid test ออกมาลบ ก็เท่ากับไม่มีประโยชน์เลย หากมีเหตุการณ์แวดล้อมหรืออาการบ่งชี้หนักแน่นว่าน่าจะเป็นโรคแหงๆก็ควรขวานขวายไปตรวจ RT-PCR เพื่อดูว่าเป็นโรคจริงหรือเปล่า

สรุปว่าผลตรวจ Rapid test หากได้ผลบวก มีประโยชน์ ลัดขั้นตอนลงมือกักกันตัวเองได้เลย แต่หากผลตรวจได้ผลลบ ไม่มีประโยชน์ หากมีอาการที่ชวนสงสัยให้ไปตรวจ RT-PCR เพื่อความแน่ใจ

ในกรณีของคุณนี้ผลตรวจ Rapid test ได้ผลลบ เป็นกรณีที่คุณจะไม่ได้ประโยชน์จากการตรวจ การที่คุณเอาผลลบไปปรับแผนจัดการโรคของคุณ (คือกลับไปทำงานสบายใจเฉิบ) เป็นเพราะคุณไม่เข้าใจข้อจำกัดของการตรวจ Rapid test ซึ่งผมไม่ว่าคุณนะ เพราะหมอจำนวนมากเองก็ยังไม่เข้าใจเรื่อง specificity และ sensitivity นี้เลย ผมจะมาคาดหวังเอาอะไรกับคุณซึ่งเป็นคนไข้ธรรมดาๆก็ใช่ที่ ได้แต่หวังว่าเมื่อคุณอ่านบทความนี้แล้วคุณจะเก็ท..ถึงบางอ้อ

ประเด็นแถม: การจัดการโรค

ประเด็นนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมแถมให้ คือประเด็นการจัดการโรค สำหรับคนที่ (1) สัมผัสใกล้ชิดคนเป็นโรคโควิดมา หรือ (2) มีอาการเหมือนเป็นโรคโควิด จะต้องลงมือจัดการโรคให้ตัวเองทันที การจัดการโรคต้องทำสามด้าน คือ

ด้านที่ 1. ขวานขวายหาการตรวจวินิจฉัยอย่างที่คุณทำไปแล้ว

ด้านที่ 2. กักกันตัวเองออกจากคนอื่นทันที

ด้านที่ 3. ลงมือรักษาทันทีด้วยการกินฟ้าทะลายโจร (180 มก.ของแอนโดรกราฟโฟไลด์ต่อวัน 5 วัน) ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายด้วยการกินอาหารพืชเป็นหลักที่หลากหลาย ออกกำลังกาย ผ่อนคลาย นอนหลับให้พอ

ด้านที่ 1 และด้านที่ 2 นั้นไม่มีปัญหาเพราะใครๆก็แนะนำอย่างนี้ แต่ด้านที่ 3 นั้นเป็นคำแนะนำของหมอสันต์คนเดียว เพราะตอนนี้วงการแพทย์ไทยดูจะมีหมอสันต์คนเดียวหรือเปล่าไม่รู้ที่ประเมินหลักฐานวิทยาศาสตร์แล้วตัดสินว่าหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ทั้งๆที่ตีพิมพ์แล้วและที่รอตีพิมพ์ มีมากพอที่จะสรุปได้แล้วว่าฟ้าทะลายโจรทำลายไวรัสได้จริงทั้งในเซลและนอกเซล และใช้รักษาโรคโควิดในคนแล้วมีผลลดจุดจบที่เลวร้ายคือลดการเกิดปอดอักเสบลงได้ และยิ่งรีบใช้เมื่อแรกรับเชื้อเร็วเท่าไหร่ยิ่งได้ผลดีเท่านั้น นี่เป็นความเห็นของหมอสันต์คนเดียว ไม่ใช่ของวงการแพทย์ไทย

แพทย์หลายท่านไม่เข้าใจหมอสันต์ ตัวหมอสันต์เองก็ไม่เข้าใจแพทย์หลายท่าน เพราะขณะที่ยา Favipiravia ไม่มีหลักฐานสนับสนุนแม้แต่ชิ้นเดียวว่ามันจะทำให้คนป่วยโรคโควิดตายน้อยลงแต่อย่างใดแต่แพทย์หลายท่านก็ยังปฏิบัติต่อ Favipiravia แบบให้เกียรติเหลือเกิ้น..น เออ นี่มันเป็นกรณีที่ต่างคนต่างก็ไม่เข้าใจกัน จึงขอละไว้ในฐานที่ไม่เข้าใจไว้ก่อน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Brihn A, Chang J, OYong K, Balter S, Terashita D, Rubin Z, Yeganeh N. Diagnostic Performance of an Antigen Test with RT-PCR for the Detection of SARS-CoV-2 in a Hospital Setting – Los Angeles County, California, June-August 2020. MMWR Morb Mortal Wkly Rep. 2021 May 14;70(19):702-706. doi: 10.15585/mmwr.mm7019a3. PMID: 33983916; PMCID: PMC8118154.
  2. Efficacy and safety of Andrographis paniculata extract in patients with mild COVID-19: A randomized controlled trial. Kulthanit Wanaratna, Pornvimol Leethong, Nitapha Inchai, Wararath Chueawiang, Pantitra Sriraksa, Anutida Tabmee, Sayomporn Sirinavinmed. Rxiv 2021.07.08.21259912; doi: https://doi.org/10.1101/2021.07.08.21259912
  3. Shi TZ, Huang YL, Chen CC, Pi WC, Hsu YL, Lo LC, Chen WY, Fu SL, Lin CH. Andrographolide and its fluorescent derivative inhibit the main proteases of 2019-nCoV and SARS-CoV through covalent linkage. Biochem Biophys Res Commun. 2020;533(3):67–473.
  4. Khanit Sa-ngiamsuntorn, Ampa Suksatu et al. Anti-SARS-CoV-2 Activity of Andrographis paniculata Extract and Its Major Component Andrographolide in Human Lung Epithelial Cells and Cytotoxicity Evaluation in Major Organ Cell Representatives. Nat. Prod. 2021, 84, 4, 1261–1270. https://doi.org/10.1021/acs.jnatprod.0c01324
  5. Hassanipour, S., Arab-Zozani, M., Amani, B. et al. The efficacy and safety of Favipiravir in treatment of COVID-19: a systematic review and meta-analysis of clinical trials. Sci Rep 11, 11022 (2021). https://doi.org/10.1038/s41598-021-90551-6
[อ่านต่อ...]