31 สิงหาคม 2565

เป็นหมอรักษาคนไข้อยู่ จะไปเป็นหมอบริหารดีไหม

(ภาพวันนี้: เห็ดตีนช้างที่สวนป่ามิยาวากิ หมอสันต์ไม่กล้ากิน กลัวเป็นโรคเท้าช้าง)

เรียน อ.สันต์ที่เคารพครับ

                    ผมเป็นหมอ Fammed อยู่ที่ PCU แห่งหนึ่ง เป็น full time คนเดียวมา 10 กว่าปีแล้วครับ ตรวจคนไข้ทุกวัน  เดินทางก็สะดวกใกล้บ้าน  โดยรวมก็มีความสุขดีประมาณนึง  ไม่มีภาวะขัดสนเรื่องเงินทองแต่อย่างใด (รายได้ 120K+ต่อเดือน) ครอบครัวก็ไม่ได้เรียกร้องว่าต้องมีรายได้ หรือตำแหน่งมากกว่านี้  (แต่อาจารย์, รุ่นพี่ และเพื่อนๆมักบอกว่าอยู่แค่นี้ไม่ได้นะ) ตอนนี้ PCU อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งก็ใกล้บ้านเหมือนกันเพิ่งว่าง  ผมจะย้ายไปก็ได้  ซึ่งถ้าย้ายไปมีข้อดีคือจะได้เงินเดือนมากขึ้น ตำแหน่งใหญ่ขึ้น เพราะเป็น PCU ที่ใหญ่กว่า แต่ข้อเสียคืองานจะเครียดมากขึ้น รับผิดชอบมากขึ้น แนวโน้มคงจะต้องทำแต่งานบริหารอย่างเดียว เดินสายประชุมทุกวัน  แทบจะไม่ได้ตรวจคนไข้เลย ผมเองยังชอบตรวจคนไข้อยู่ และไม่ได้ชอบงานบริหารมากนัก (บางทีถึงขั้นเกลียดที่ต้องถูกบังคับทำตามโครงการและตัวชี้วัดไร้สาระของเบื้องบนอยู่บ่อยๆ) รวมถึงเป็นคนที่เครียดง่าย มีภาวะที่เกิดจาก psychosomatic problem ได้ง่าย แต่ก็รู้สึกเสียดายว่าจะเป็นการยึดติดกับ safe zone มากไปหรือเปล่า , ถ้าเราปรับตัวได้ เราอาจจะสร้างประโยชน์ในวงกว้างจากการเป็นผู้บริหารได้มากกว่าการตรวจคนไข้ของเราเพียงอย่างเดียว    คือมีทั้ง pro and con อยู่คู่กันครับ 

                     อยากเรียนถามมุมมองการตัดสินใจในเรื่องนี้ของอาจารย์ครับ  

ด้วยความเคารพอย่างสูง

นพ. …

………………………………………………………….

ตอบครับ

 1.. ถามว่าเป็นหมอรักษาคนไข้อยู่ที่คลินิกก๊อกๆแก๊กๆแล้วมีความสุขดีมีรายได้พอตัวแต่ใครต่อใครทั้งอาจารย์รุ่นพี่และรุ่นเพื่อนต่างก็รุมว่า “เฮ้ยอยู่แค่นี้ไม่ได้นะ เอ็งจะจมปลักนะโว้ย” แล้วจะเอาไงดีครับ ตอบว่านี่มันไม่ใช่ปัญหาของคุณหมอคนเดียว คนจำนวนมากก็เจอคำถามแบบนี้ คนอาชีพหมอจะเป็นมากกว่าคนอาชีพอื่นหน่อย เรียกตามวิชาจิตวิทยาว่ามันเป็นสัญชาติญาณฝูง (herd instinct) สมมุติเช่นวัวมันวิ่งตามกันไปกึง กึง กึง เป็นโขลง แต่ละตัวมันไม่รู้หรอกว่ามันจะวิ่งไปที่ไหนกัน พวกแถวหน้าพาวิ่งไปทางไหนพวกอยู่ข้างหลังก็กรูตามกันไป พวกที่อยู่แถวหน้าก็ไม่ใช่ว่าจะรู้นะ มันรู้แต่ว่ามันต้องวิ่ง ถ้ามันไม่วิ่งมันจะโดนพวกที่กรูตามมาข้างหลังเหยียบเอา

ที่ผมว่าคนอาชีพหมอเป็นมากกว่าคนอาชีพอื่นนี้ผมไม่มีหลักฐานอะไรดอก แต่มันเป็นข้อสรุปจากการสังเกตเพื่อนร่วมอาชีพจำนวนมากมาเป็นเวลานาน ผมจึงสรุปเอาเองว่าคนในอาชีพแพทย์นี้เป็นคนแบบไม่มีจุดยืนในชีวิต ถนัดแต่เฮโลตามกันไป นับตั้งแต่เฮโลตามกันมาจากโรงเรียนเตรียม จากนั้นก็เฮโลตามกันเรื่อยไป แล้วไม่ใช่ว่าจะเฮโลแต่เมื่ออยู่ในฝูงนี้นะ พอไปอยู่ฝูงอื่นก็ไปเฮโลตามฝูงเขาไปอีก สมัยหนุ่มๆผมไปเป็นแพทย์ใช้ทุนอยู่จ.นครศรีธรรมราช สมัยนั้นเมื่อไปอยู่บ้านนอกเราถูกตัดขาดจากความศิวิไลซ์โดยอัตโนมัติ เพราะไม่มีคอมพิวเตอร์ไม่มีอินเตอร์เน็ทไม่มีมือถือ ยุคนั้นมันเป็นยุค “ใต้ร่มเย็น” หมายความว่าปักษ์ใต้สมัยโน้นยังเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนโจรผู้ร้ายชุกชุม คนไข้มาโรงพยาบาลขามาถูกโจรปล้นถูกยิงขาหัก นอนรักษาขาในโรงพยาบาลได้สามเดือน ขากลับยังไปไม่ถึงบ้านถูกปล้นกลางทางอีกแระ การปราบโจรสมัยนั้นแม่ทัพภาคสี่ต้องเอาทหารทั้งหมวดปลอมตัวเป็นผู้โดยสารทำทีเป็นนั่งโดยสารรถทัวร์ไป พอโจรปล้นรถทัวร์ก็เจอของแข็งตายเรียบ ต้องทำกันถึงขนาดนั้น ยุคนั้นเป็นยุคที่รัฐบาลเพิ่งเริ่มส่งแพทย์หนุ่มๆสาวๆออกไปใช้ทุน พวกเราที่อยู่อำเภอต่างๆเดือนหนึ่งก็จะมาเจอกันที่จังหวัดเพื่อรับเงินเดือนทีหนึ่งเพราะสมัยนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีแบบโอนเงินเข้าบัญชี ทำให้พวกเราหมอภูธรสนิทสนมกันและได้แลกเปลี่ยนกันมาก ผมเป็นน้องเล็กสุดได้ประโยชน์มากที่สุด ผมสังเกตดูพี่ๆว่าคนที่ไปอยู่ฉวางเขาก็คุยแต่เรื่องที่เขาเลี้ยงวัวชนและพูดถึงแต่ศาสตร์อันลึกซึ้งของการเลี้ยงวัวชน ส่วนคนที่ไปอยู่ที่หัวไทรเขาก็จะพูดถึงแต่เรื่องอยากจะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ (สมัยโน้นยังเป็นเรื่องใหม่) คือผมเห็นว่าแพทย์เรานี้เป็นมนุษย์พันธุ์ที่ไม่มีพันธกิจวิสัยทัศน์ในชีวิตของตัวเองชัดเจนแน่นอนอะไรหรอก เป็นพันธ์ุไม้หลักปักขี้เลน ไปปักอยู่ที่ไหนก็จะโอนตามฝูงที่นั่นไป

เพราะฉะนั้นการที่คุณหมอมีใจโอนไปเอนมาเพราะอาจารย์บ้างพี่บ้างเพื่อนบ้างเขาว่าอย่างนั้นอย่างนี้ มันเป็นธรรมดาและเป็นธรรมชาติของเผ่าพันธุ์เรา แต่ผมแนะนำคุณหมอว่าคุณหมอต้องเลือกว่าจะตามฝูงเขาไปแบบวัวที่ปกติธรรมดาตัวหนึ่งพึงทำ หรือว่าจะยืนหยัดอยู่กับดาวประจำใจของตัวเองโดยไม่ว่อกแว่ก จะเอาอย่างไหน คุณหมอเลือกเอง

“…พายุฟ้า ครืนข่ม คุกคาม

เดือน ลับยาม แผ่นดิน มืดมน

ดาวศรัทธา ยังพรายแสง เบื้องบน

ปลุก หัวใจ ปลุกคน อยู่มิวาย…”

2.. ถามว่าการเป็นหมอรักษาคนไข้กับการก้าวหน้าไปทำงานบริหารมันต่างกันอย่างไรอย่างไหนดีกว่ากัน ตอบในฐานะคนที่ทำมาแล้วทั้งสองอย่างว่ามันมีดีเสียคนละอย่างสองอย่าง งานรักษาคนไข้มันเป็นการทำทุกอย่างตามตำราควบคู่ไปกับการใช้จิตวิทยาในการบรรเทาทุกข์ให้ผู้คน ส่วนงานบริหารมันเป็นการใช้คอมมอนเซนส์แก้ปัญหาไปวันๆ ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่าผมไม่รู้หลักวิชาบริหารเลยนะ (คุณอาจจะไม่รู้ว่าช่วงหนึ่งของชีวิตผมเคยเป็นอาจารย์สอนนักเรียนระดับปริญญาโทที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์) เมื่อมันเป็นแค่การใช้คอมมอนเซ็นส์จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องประดับประดาด้วยพิธีกรรมเพื่อให้มันขลังขึ้น การที่คุณพูดถึงโครงการและตัวชี้วัดไร้สาระนั่นก็แสดงว่าคุณพอจะเข้าใจวิชาบริหารอยู่บ้าง สรุปว่ามันมีดีเสียคนละอย่าง คุณชอบอย่างไหนก็เลือกอย่างนั้น แต่อย่าทำมันทั้งสองอย่าง เพราะการใช้ชีวิตแบบถ่างขาเหยียบสองแคมอย่างนั้นมันจะทำให้ใช้ชีวิตได้ไม่ลึกซึ้งถึงกึ๋น และมันทำให้เรากลายเป็นคนสองบุคลิก แบบว่าเป็นคนปลอมๆ ไม่ใช่คนจริงๆ ผมไม่แนะนำ แม้ว่าผมจะเคยทำอย่างนั้นมาแล้วก็ตาม

3.. ถามว่าการทำงานบริหารเนี่ยมันจะช่วยสร้างชาติสร้างโลกได้มากกว่าการนั่งตรวจคนไข้อย่างเดียวหรือเปล่าครับ ตอบว่า หิ หิ ช่างเป็นคำถามที่ไร้เดียงสา..ซะ คุณลองยกตัวอย่างสุดยอดของนักบริหารในประวัติศาสตร์ของโลกนี้มาให้ผมฟังสักสองสามคนสิ สมมุติเช่น แฟรงกลิน ดี โรสเวลต์ อเล็กซานเดอร์มหาราช เจงกิสข่าน (สำหรับหมอสันต์สุดยอดนักบริหารในประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติคือ ลื่อปุ๊กอุ้ย ซึ่งเป็นพ่อแท้ๆของจิ๋นซีฮ่องเต้ในยุคเลียดก๊กนู้น) แต่คุณหมอเหลียวไปมองรอบๆตัวสิ สิ่งที่สุดยอดนักบริหารเก่งๆเหล่านั้นทิ้งไว้ให้ชนรุ่นหลังมีอะไรบ้าง มีแต่ขี้ทั้งเพ ยิ่งเขาเป็นนักบริหารที่เก่งและกล้าตัดสินใจ อย่างฮิตเลอร์หรือแฮรี่ทรูแมน เขาก็ยิ่งทิ้งขี้กองโตไว้

ผมแนะนำว่าหากคุณหมออยากจะมีส่วนสร้างสรรค์ชาติหรือสร้างสรรค์โลกใบนี้ สิ่งแรกที่พึงทำคือวางความคิดอันแสนประแสนเสริฐทั้งหลายในหัวลงไปให้หมดก่อน ถอยกลับไปมีชีวิตอยู่ในความรู้ตัวที่สงบเย็นและสงัดจากอัตตาให้ได้ก่อน สงบเย็น ผ่อนคลาย ยิ้มแย้ม ปลอดอัตตา จนคนรอบๆตัวสัมผัสได้ จากที่ตรงนั้น พลังสร้างสรรค์ที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใครมันจะโผล่ออกมาเอง ส่วนหัวโขนที่สวมไว้ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นหมอหรือเป็นนักบริหารนั้น มันไม่ใช่ประเด็น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์  

[อ่านต่อ...]

30 สิงหาคม 2565

เจ็บหน้าอกหมอจะให้ตรวจ SPECT MIBI scan

ภาพวันนี้: กล้ากล่ำปลีแดงหมอสันต์จะปลูกให้ ม. ทำผักดองเยอรมัน (sauerkraut)

เรียนคุณหมอสันต์

ผมอายุ 72 ปี มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก ทำให้รู้สึกอึดอัดนิดหน่อย เป็นๆ หายๆ ไปโรงพยาบาลตรวจเลือดและความดันปกติ หมอแนะนำให้ตรวจ Heart SPECT MIBI ซึ่งจากการลอง serch เห็นว่าการตรวจวิธีนี้มีการฉีดสารกัมมันตภาพรังสี และจากอาการที่เป็นคิดว่าไม่ได้รุนแรงมาก จึงอยากสอบถามว่าสมควรตรวจด้วยวิธีการนี้หรือไม่ครับ

ขอบคุณครับ

………………………………………………………

ตอบครับ

โห..ให้ข้อมูลมาจิ๊ดเดียวเนี่ยนะแล้วจะให้หมอสันต์ฟันธงว่าควรหรือไม่ควร มันเสี่ยงต่อความผิดพลาดแหงๆละครับ แต่เอาเถอะ ไหนๆท่านก็ถามมาแล้ว ผมจะตอบให้โดยการเดาประกอบ โดยผมจะเดาว่า (1) ท่านมีอาการเจ็บหน้าอกแบบไม่จำเพาะเจาะจง (2) อาการเจ็บหน้าอกของท่านไม่สัมพันธ์กับการออกกำลังกาย พูดง่ายๆว่าเจ็บไม่เลือกสถานที่และเวลา (3) ท่านอาจจะได้ตรวจสมรรถนะหัวใจด้วยการเดินสายพาน (EST) แล้วได้ผลลบ หรือยังไม่ได้ตรวจแต่หมอเขาแนะนำให้ตรวจ SPECT MIBI scan แทนจะด้วยเหตุใดก็ตาม (4) ท่านยังไม่เคยถูกหามเข้าโรงพยาบาล ไม่เคยมีฮาร์ทแอทแทค สโตร๊ค และไม่เคยทำบอลลูนใส่ขดลวดถ่าง คำตอบของผมจะอยู่บนสมมุติฐานแบบนี้นะ

ก่อนจะตอบคำถามผมขอนิยามศัพท์ให้ท่านผู้อ่านทั่วไปได้ทราบก่อน

SPECT ย่อมาจาก single photon emission computed tomography แปลว่า “การถ่ายรูปอนุภาคแกมม่าโฟตอนเม็ดดียวที่ปล่อยออกมาตรงๆจากโมเลกุลกัมมันตรังสีที่ฉีดเข้าไปในร่างกาย” แปลแล้วก็ไม่รู้เรื่องใช่ไหมครับ หมอสันต์อธิบายเพิ่มหน่อย ก่อนอื่นก็ต้องรู้จักคำว่าโทโมกราฟฟี่ (tomography) ก่อน ซึ่งแปลว่าการสร้างภาพแบบที่ช่างภาพเดินวนถ่ายภาพแชะ แชะ แชะ ไปรอบๆตัวนางแบบ แต่ละแชะก็จะได้ภาพสองมิติมาหนึ่งภาพแล้วเอาภาพเหล่านั้นมาสร้างขึ้นมาเป็นภาพใหม่แบบสามมิติโดยคอมพิวเตอร์ บางครั้งจึงเรียกว่า CT ซึ่งย่อมาจาก computer tomography

ส่วนอนุภาคแกมมาโฟตอนเม็ดเดียวนั้นเป็นคำสำคัญตรงที่วิธีตรวจแบบนี้มันโบราณกว่าและมีกลไกแตกต่างจากการตรวจแบบ PET (positron emission tomography) ซึ่งดีกว่าแพงกว่าเพราะอาศัยอนุภาคโพสิตรอน ไหนๆพูดถึง PET แล้วขอพูดถึงโพสิตรอน (positron) ซะอีกหน่อย หิ หิ มันติดลม คือโพสิตรอนนี้เป็นอนุภาค (particle) หรือเม็ดเล็กๆที่อยู่ในอะตอมของสสารต่างๆ โพสิตรอนนี้มีขนาดเล็กเท่ากับอีเล็คตรอน แต่ว่ามีประจุไฟฟ้าตรงกันข้าม เวลาโพสิตรอนที่เปล่งออกไปมาจ๊ะกับอีเล็คตรอนที่อยู่ในเนื้อเยื่ออวัยวะก็จะดูดกันดังจ๊วบแล้วหายชะแว้บไปทั้งคู่แบบต่างก็แปลงร่างกลายไปเป็นพลังงานเรียกว่ารังสีแกมม่าหรือแกมม่าโฟตอนสองเม็ดกระเด็นไปคนละทาง กล้องถ่ายรูปแบบโทโมกราฟฟี่ที่รอจังหวะอยู่แล้วก็จะถ่ายรูปแชะ แชะ แชะ แล้วคอมพิวเตอร์ก็เอารูปเหล่านั้นมาสร้างเป็นภาพหัวใจสามมิติขึ้นมา

มีศัพท์อีกคำที่คุณควรรู้จักคือคำว่า MIBI มันย่อมาจากคำว่า methoxyisobutyl isonitrile ซึ่งเป็นชื่อสารเคมีที่เป็นสารกัมมันตะรังสีที่ฉีดเข้าไปในร่างกายแล้วก็จะวิ่งไปตามหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆทำให้ถ่ายภาพอวัยวะออกมาได้

โอเค. หมอสันต์ได้คลายความร้อนวิชาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ลงไปบ้างแล้ว ค่อยยังชั่ว เอาละคราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

 1.. ถามว่าหมอชวนให้ตรวจ SPECT MIBI scan จะตรวจดีไหม ตอบว่าการจะตรวจอะไรดีไหม คุณต้องถามตัวเองก่อนว่าตรวจแล้วจะได้อะไรขึ้นมา หมายความว่าถ้าตรวจได้ผลบวกจะเอาความรู้นั้นไปทำอะไร อย่างในกรณีของคุณนี้ถ้าตรวจได้ผลบวกก็หมายความว่าผนังหัวใจบางด้านเลือดไปเลี้ยงน้อยซึ่งบ่งบอกถึงหลอดเลือดหัวใจตีบไม่มากก็น้อย รู้แล้วคุณจะทำอะไร ถ้าหมอเขาจะให้คุณสวนหัวใจเพื่อทำบอลลูนใส่ลวดถ่างหรือผ่าตัดบายพาสซึ่งเป็นการรักษาแบบรุกล้ำ คุณจะยอมทำหรือเปล่า คุณต้องตอบคำถามนี้ก่อน ถ้าคำตอบคือหัวเด็ดตีนขาดก็ไม่ทำบอลลูนบายพาส แล้วคุณจะตรวจไปทำพรื้อละครับ

1.2 ถามว่า SPECT MIBI scan มีความจำเพาะเจาะจงที่จะบอกว่าเป็นโรคหลอดเลือดตีบตรงนั้นตรงนี้ต้องทำบอลลูนหรือไม่ทำไหม ตอบว่ามันไม่จำเพาะเจาะจงขนาดนั้น อย่างดีก็บอกว่าผนังหัวใจด้านนี้ทำงานได้น้อยลงซึ่งชี้บ่งว่าเลือดมาเลี้ยงได้น้อยซึ่งชี้บ่งว่ามีหลอดเลือดตีบ หากคิดจะทำบอลลูนบายพาสเข้าจริงๆก็ต้องไปตรวจสวนหัวใจ (CAG) ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

2. ถามว่าการตรวจ SPECT MIBI scan ต้องฉีดสีเป็นพิษต่อไตไหม ตอบว่าสีที่ฉีดเป็นสารกัมมันตรังสีชื่อ methoxyisobutyl isonitrile ยังไม่เคยมีรายงานว่ามันทำให้ไตพังแต่อย่างใด ต่างจากสีที่ฉีดในการสวนหัวใจซึ่งเป็นสารทึบรังสีเข้าไอโอดีน พวกนั้นทำลายเนื้อไตชัวร์ๆ อย่างไรก็ตาม MIBI ก็ใช่ว่าจะปลอดภัยเทียบได้กับน้ำเปล่า เพราะมันทำให้แพ้เฉียบพลันชักแด๊กๆได้เหมือนกัน

3. ถามว่าแล้วควรจะตรวจ SPECT MIBI scan ไหม ตอบว่าอันนี้เรื่องของคุณนะครับ ผมได้แต่ให้ข้อมูล

วิธีจัดการโรคหัวใจขาดเลือดในทุกกรณี สำหรับผู้อ่านทุกท่าน ผมแนะนำว่าเมื่อมีอาการเจ็บหน้าอกเหมือนบ้างไม่เหมือนบ้าง ให้จับเวลาที่เริ่มเจ็บจนถึงเวลาที่มันหยุด หากนานเกิน 20 นาทีแล้วไม่หายเจ็บ ให้วินิจฉัยว่าตัวเองเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute MI) ให้รีบไปโรงพยาบาล

แต่หากเจ็บแป๊บเดียวแล้วหาย ให้วินิจฉัยตัวเองได้เลยว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดชนิดไม่ด่วน (stable angina) เป็นจริงหรือไม่เป็นจริงไม่รู้ ให้วินิจฉัยว่าเป็นไว้ก่อน เพราะโดยสถิติของคนไทยวัยนี้แล้วมันมักจะเป็นมากกว่าไม่เป็น เมื่อวินิจฉัยว่าเป็นแล้วให้ลงมือจัดการโรคนี้ด้วยตัวเองเลยไม่ต้องรอไปหาหมอ ด้วยการ

(1) เปลี่ยนอาหารในทิศทางลดเนื้อสัตว์มากินพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ จนไขมัน LDL ในเลือดลดลงต่ำเป็นปกติ

(2) ออกกำลังกายให้ถึงระดับหนักพอควรทุกวัน

(3) จัดการความเครียดให้ดี

ถ้าทำสามอย่างนี้แล้วอาการมันดีขึ้นหรือหายไปก็ทำต่อไปตลอดชีวิต ถ้าทำสามอย่างนี้แล้วอาการเจ็บหน้าอกมันยังรบกวนคุณภาพชีวิตมาก คือออกแรงนิดก็เจ็บ ออกแรงหน่อยก็เจ็บจนทำอะไรที่เคยทำไม่ได้ จึงค่อยไปหาหมอเพื่อตรวจสวนหัวใจ (CAG) โดยมีเป้าหมายตั้งไว้ในใจว่าหากผลตรวจเป็นโรคจริงจะรักษาด้วยวิธีที่รุกล้ำเช่นทำบอลลูนใส่ขดลงดหรือผ่าตัดบายพาสเพื่อบรรเทาอาการให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ทั้งนี้อย่าหวังว่าบอลลูนหรือบายพาสจะทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้น มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น แค่มันช่วยบรรเทาอาการได้เท่านั้น มันไม่ได้รักษาโรค ถึงบอลลูนบายพาสแล้วโรคก็ยังเดินหน้าต่อไป ต้องยอมรับตรงนี้ก่อน

แต่ถ้าใจปฏิเสธการทำบอลลูนบายพาสหัวชนฝาตั้งแต่แรกก็ไม่ต้องไปหาหมอ ให้ทู่ซี้รักษาตัวเองด้วยการทำสามอย่างที่ว่าข้างต้นต่อไป คือเปลี่ยนอาหารให้จริงจังขึ้นและออกกำลังกายให้หนักพอควรแบบเอาให้เต็มที่เท่าที่อาการเจ็บหน้าอกจะเอื้อให้ออกได้ ทำอย่างนี้ไปตลอดชีวิต หายก็หาย ตายก็ตาย

อย่าไปหาหมอเพื่อให้หมอตรวจโน่นตรวจนี่เช่นเข้าอุโมงฉีดสีเพียงเพื่อจะรักษาโรคประสาท แบบว่าหากพบว่าเป็นก็ไม่กล้าทำอะไรต่อ แต่หวังว่าหากตรวจพบว่าไม่เป็นจะได้สบายใจ การทำแบบนั้นจะทำให้ประสาทกินมากขึ้น เพราะผลการตรวจมักออกไปทางร้ายมากกว่าทางดี และมักจะตามมาด้วยการถูกเสนอโดยหมอและการบีบบังคับโดยลูกหลานให้ทำการรักษาแบบที่เจ็บตัวมากขึ้นๆ ช็อตต่อช้อตๆ ไปเรื่อยๆ ซึ่งบางรายถึงกับตายกลางคันก็มี มันไม่คุ้มกันหรอกกับการแค่จะรักษาโรคประสาทชนิดวิตกกังวล

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

29 สิงหาคม 2565

การแต่งงานเป็นสัญญาปีต่อปี แต่การมีลูกเป็นสัญญา 20 ปีเป็นอย่างต่ำ

เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ

ดิฉันเป็นแม่เต็มเวลา เลี้ยงลูกชายอายุ 8 ขวบมาตั้งแต่แรกคลอด ลูกมีประวัติพูดช้า พูดได้ตอน 2 ขวบ 8 เดือน คุณแม่พาไปพบกุมารแพทย์ด้านพัฒนาการตั้งแต่ 2 ขวบ และมีตรวจรักษา/ติดตามพัฒนาการอย่างสม่ำเสมอค่ะ คุณหมอแจ้งว่าลูกมีความบกพร่องทางภาษาและการสื่อสาร คุณหมอให้ลูกฝึกพูดกับนักฝึกการพูดเป็นระยะเๆ แต่มีช่วงที่งดการฝึกพูดไปในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประมาณ 2-3 ปีค่ะ คุณหมอเด็กเห็นว่าเขามีความเก่งและรักในวิชาคณิตศาสตร์มากค่ะ เป็น gifted child

ลูกชายเรียนอนุบาลในโรงเรียนแนวบูรณาการ ก็ร่าเริงดี แต่พอขึ้นชั้นประถมศึกษา คุณแม่เปลี่ยนเป็นโรงเรียนคาทอลิก (แนววิชาการ) พอเข้าเรียนป. 1 ไปได้สักพัก ลูกเริ่มเลียนแบบพฤติกรรมของคุณครูผู้สอนที่ตีนักเรียนมาตีคุณพ่อคุณแม่ค่ะ จนตอนนี้ลูกอยู่ชั้นป.3 ก็ยังเลียนแบบพฤติกรรมของคุณครูอยู่ คุณแม่พาลูกไปพบจิตแพทย์เด็ก ได้รับคำแนะนำให้เปลี่ยนโรงเรียนแต่โรงเรียนแนวบูรณาการที่สอนระดับชั้นประถมศึกษาด้วย เริ่มมีน้อยลง โรงเรียนอยู่ไกลบ้าน ส่วนใหญ่ไปตั้งอยู่ชานเมือง คุณแม่ควรตัดสินใจอย่างไรคะ

อีกปัญหาใหญ่ในชีวิตคือสามีไม่ค่อยยอมรับในผลวินิจฉัยของกุมารแพทย์และจิตแพทย์เด็ก เขามองว่าลูกเป็นตัวปัญหา แทนที่จะมองว่าลูกมีปัญหา ต้องการความช่วยเหลือจากพ่อแม่ สามีมีทำร้ายร่างกายลูกด้วยค่ะในยามที่เขาโมโหลูก ครอบครัวดิฉันกำลังอยู่ในสภาพวิกฤต ดิฉันตัดสินใจว่าจะเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวในอนาคต และต้องหาทางเพื่อหารายได้มาเลี้ยงลูกกับตัวเอง และต้องดูแลลูกอย่างใกล้ชิดด้วย ดิฉันเพิ่งผ่านเหตุการณ์การสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิตคือเสียคุณแม่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้ อยากเรียนปรึกษาคุณหมอว่าดิฉันจะพาชีวิตตัวเองกับลูกให้รอดไปได้อย่างไรสองแม่ลูก

กราบขอบพระคุณคุณหมอล่วงหน้าค่ะ

………………………………………………………………………………………….

ตอบครับ

ประเด็นที่ 1. ที่คุณกำลังคิดจะถอยออกมาเป็น solo mum เพื่อเลี้ยงลูกด้วยตัวเองนั้น การถอยจากการแต่งงานไม่มีปัญหา เพราะมันเป็นเหมือนสัญญาระยะสั้นแบบปีต่อปี เมื่อครบปีแล้วหากคู่สัญญาไม่มีเจตนาเป็นอย่างอื่นสัญญาก็มีผลต่อไปอีกหนึ่งปีโดยอัตโนมัติ แต่หากเจตนาเกิดไม่ตรงกันขึ้นมา ก็ไม่ต่อสัญญาได้ แต่การมีลูกด้วยกันมันเป็นสัญญาที่ผูกพันกันแน่นหนาอย่างน้อย 20 ปี การเลิกสัญญากลางคันจะเกิดความเสียหายกับทุกฝ่ายอย่างมาก

เป็นความจริงที่ว่าผมไม่สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่มีลูก แต่หากใครก็ตามคิดจะมีลูก มันไม่มีทางอื่นนอกจากจะต้องทำผ่านการแต่งงาน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่เลี้ยงยากตั้งแต่แรกเกิด หมายความว่าเมื่อเกิดมาแล้วต้องประคบประหงมนานหลายปีกว่าจะดูแลตัวเองต่อไปได้ อย่างที่ผมจั่วหัวไว้ว่า 20 ปีเป็นอย่างต่ำนั่นแหละ ไม่เหมือนกับสัตว์ชนิดอื่นที่เกิดมาแล้วจะอิงอาศัยแม่อยู่ไม่นานก็ปร๋อเองได้

การแต่งงานเป็นรูปแบบที่เวอร์คดีที่สุดในการประคบประหงมดูแลลูกมนุษย์ให้เติบใหญ่จนเข้มแข็งพอที่ไปใช้ชีวิตต่อไปเองได้ ทั่วโลกล้วนใช้รูปแบบนี้ มีบางชุมชนในอเมริกาได้ทดลองใช้ระบบคอมมูนเลี้ยงลูก หมายความว่าเด็กเกิดมาเป็นลูกของชุมชน แต่ท้ายที่สุดระบบก็เจ๊ง มันสู้ระบบการแต่งงานแบบคลาสสิกไม่ได้ เพราะภาระการเลี้ยงลูกมันเป็นภาระหนักหนาสาหัสที่ต้องอาศัยผู้มีส่วนได้เสียสูงสุดคือพ่อและแม่ช่วยกันทำอย่างไม่เกี่ยงงอน จะทิ้งให้คนเดียวทำหรือให้คนอื่นทำมันไม่เวอร์ค ความสาหัสนี้จะทวีคูณหากเผอิญได้ลูกที่พิการ

การมองการแต่งงานว่าแต่งได้ก็หย่าได้นั้นโอเคหากยังไม่มีลูก แต่หากมีลูกแล้วการชิ่งหนีภาระการเลี้ยงดูลูกร่วมกันผ่านการหย่าร้างก็ดี หรือผ่านลูกเล่นอื่นๆแม้กระทั้งการหนีไปบวชเป็นพระเป็นชีก็ดี ใครจะมีความเห็นอย่างไรก็สุดแต่เขา แต่หมอสันต์ไม่เห็นด้วย..ล้านเปอร์เซ็นต์

ผมแนะนำว่าตอนนี้คุณมีลูกแล้ว คุณกระโจนเข้ามาทำโปรเจ็คนี้แล้วเต็มตัว ฝรั่งเรียกว่าคุณ commit แล้ว ชอบหรือไม่ชอบคุณควรต้องแถกเหงือกทำไปจนโปรเจ็คนี้จบ นั่นคือจนลูกของคุณเติบใหญ่พึ่งตัวเองได้ คำว่าแถกเหงือกผมอาจจะพูดให้เท่ขึ้นหน่อยก็ได้ว่าคุณต้องเปิดรับ creativity ใหม่ๆอะไรก็ได้มาทำให้ภาระการดูแลลูกของคุณกับสามีทำไปได้ตลอดรอดฝั่ง เปล่าประโยชน์ที่จะมามัวลำเลิกเบิกประจานว่าที่ผ่านมาตัดสินใจเลือกหุ้นส่วนถูกหรือผิด แต่ตอนนี้ได้กระโจนเข้ามาแล้วมีลูกแล้ว เหมือนมุดเข้าถ้ำมาแล้วถูกหินถล่มปิดปากถ้ำ มันก็มีแต่ต้องเดินหน้าตามแสงสว่างไรๆไปจนไปโผล่ที่อีกข้างหนึ่ง การ “ไขก๊อก” ล้มสัญญากลางคันนั้นถ้ามันจำเป็นจะต้องทำจริงๆก็ทำได้ ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เสียเลย แต่ผมขอให้ประวิงหรือชลอไว้เป็นทางเลือกสุดท้ายเมื่อได้ลองทางเลือกอื่นหมดแล้วก็แล้วกัน

ประเด็นที่ 2. การศึกษาของเด็ก 8 ขวบ เป็นที่รู้กันทั่วว่าเด็กอายุ 0-8 ขวบเรียนรู้เอาจากการสังเกตสิ่งรอบตัว (perception) แล้วก่อคอนเซ็พท์ (thought) ขึ้นมาจากสิ่งที่เห็นหรือได้ยินหรือได้สัมผัส เขาไม่ได้เรียนเอาจากคอนเซ็พท์สำเร็จรูปที่ครูหรือผู้ใหญ่หรือสังคมยัดเยียดให้ ยกตัวอย่างเช่นเขาไม่สนหรอกว่าคอนเซ็พท์เรื่องผิดถูกยุติธรรมเสมอภาคที่ครูสอนเป็นอย่างไร แต่เขาเรียนรู้เอาจากการที่ครูแอบโปรดเพื่อนบางคนและแอบรำคาญเพื่อนบางคน เป็นต้น คือพูดง่ายๆว่าเด็กวัยนี้เรียนรู้เอาระหว่างบรรทัดได้เก่งกว่าผู้ใหญ่

ในห้องเรียนสี่เหลี่ยมที่เด็กทุกคนนั่งหันหน้าไปทางเดียวกันและมองไปที่ครูคนเดียว จะมีอะไรให้เขาสังเกตลอกเลียนหรือฟอร์มคอนเซ็พท์เกี่ยวกับชีวิตขึ้นมาได้มากมายละครับ การที่เขาลอกเลียนอากัปกริยาของครูนั่นก็เป็นธรรมดาเพราะมันไม่มีอะไรให้เขาเรียนรู้หรือทดลองลอกเลียนแล้วจริงๆ และพูดก็พูดเถอะ นักการศึกษาร้อยทั้งร้อยก็ล้วนเห็นพ้องต้องกันว่าเด็กวัยนี้ไม่ควรต้องไปนั่งจุมปุกอยู่ที่โรงเรียน แต่พวกนักการศึกษาเองนั่นแหละกลับพากันตั้งโรงเรียนรับเอาเด็กอายุตั้งแต่ 1-2 ขวบมานั่งเข้าแถวเรียนในห้องเรียน ด้านผู้ปกครองซึ่งต้องสาละวนทำงานเป็นหุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรมหรือในออฟฟิศกันจนไม่มีเวลาอยู่กับลูกก็สมยอมแบบผีกับโลง แล้วใครจะมาแก้ปัญหานี้ได้ละครับ

หากเลือกโรงเรียนได้ก็ดี แต่บ่อยครั้งมันเลือกไม่ได้อย่างที่คุณก็แจงให้ฟังแล้ว ดังนั้นอย่าหวังพึ่งโรงเรียน ในการให้การศึกษาแก่ลูกวัยนี้ผมแนะนำให้คุณขยันพาเขาออกจากบ้านไปสัมผัสเรียนรู้ความหลากหลายของธรรมชาติ เช่นพาเขาไปเดินป่าหรือทุ่งหญ้าสังเกตปฏิสัมพันธ์ของชีวิตในรูปแบบต่างๆตามธรรมชาติในดินในพงหญ้าในท้องฟ้า ไปตั้งเต้นท์นอนกลางดินกินกลางทรายบ้าง ให้รู้ว่าโลกนี้ไม่ใช่มีแต่มนุษย์นะ ยังมีสัตว์มีพืชอีกมากมายที่ทุกชีวิตก็มีมิชชั่นในชีวิตของตัวเองและมีวิธีที่จะอยู่รอดของตัวเอง นั่นเป็นเวทีที่เขาจะได้ฟอร์มคอนเซ็พท์เกี่ยวกับชีวิตได้ใกล้เคียง (relevant) กับชีวิตจริงมากที่สุด ส่วนโรงเรียนนั้นก็ให้เขาไปพอไม่ให้ตำรวจจับว่าหนีเกณฑ์ อย่าไปหวังว่าโรงเรียนจะให้อะไรเขาได้มากไปกว่าการได้หัดอยู่กับคนอื่นโดยไม่้ต้องชกต่อยจิกตีกันมากเกินความจำเป็น แค่นั้นก็พอแล้ว แค่โรงเรียนไม่ทำลายสิ่งที่ได้เขาเรียนรู้มาจากธรรมชาติมากเกินไปก็ถือว่าเป็นโรงเรียนที่ดีพอแล้ว อย่าไปเป็นปลื้มกับที่หมอเด็กว่าลูกเป็นเด็กมีพรสวรรค์ และอย่าไปผิดหวังกับที่สามีมองคำวินิจฉัยของหมอเด็กและหมอจิตเวชว่าไร้สาระ และอย่าไปคาดหวังว่าชีวิตของลูกจะต้องเติบโตไปเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความคิดที่ชงขึ้นมาจากอัตตาของเราผู้เป็นแม่ ไม่ใช่ชีวิตจริงสำหรับลูก ให้คุณโฟกัสที่ทำอย่างไรจะเปิดโอกาสให้ลูกได้รู้จักชีวิตจริงตามธรรมชาติให้มากที่สุด นั่นคือการศึกษาที่ดีที่สุดที่คุณจะให้กับลูกได้ในช่วงเวลานี้

ประเด็นที่ 3. สามีชอบหงุดหงิดแล้วตีลูก ผมอยากให้คุณเข้าใจว่าความทุกข์ของพ่อแม่ก็คือการมีลูกแล้วลูกไม่ได้อย่างใจ รากของความคิดแบบนี้มันมาจากการที่เราซึ่งเป็นพ่อแม่จมอยู่ในความคิดที่จะปกป้องสำนึกว่าเป็นบุคคลหรืออัตตาของเราผู้เป็นพ่อแม่เองอย่างไม่รู้ตัว เราจึงมองการมีลูกว่าเป็นสิ่งที่จะช่วยปกป้องเชิดชูอัตตาของเราให้สูงเด่น บนคอนเซ็พท์นี้มันรับไม่ได้ที่พ่อที่มีสะเป๊คสูงอย่างเราจะได้ลูกที่ตกสะเป๊คอย่างลูกงี่เง่าคนนี้ การหงุดหงิดและตีลูกจึงเกิดขึ้น

แนวทางแก้ปัญหาให้คุณทำสามอย่าง คือ

(1) เฉพาะหน้านี้ให้ค่อยๆใช้ลูกล่อลูกชนลดการปะทะกันไปแบบวันต่อวัน

(2) ฉวยโอกาสใช้มาดดุดันของพ่อสร้างวินัยที่จำเป็นให้ลูกเสียเลยในบางครั้งไม่ใช่คอยปกป้องลูกตะพึดจนลูกไม่ได้เรียนรู้ขอบเขตที่จะทำให้อยู่ในสังคมกับคนอื่นได้

(3) ขณะเดียวกันก็หาจังหวะชวนคุยกับสามีถึงแนวคิดเรื่องการยอมรับ (acceptance) ผมหมายถึงให้ยอมรับลูกตามที่เขาเป็น ยอมรับว่าลูกก็เป็นคนตัวเป็นๆอีกคนหนึ่งซึ่งอยู่นอกเขตอำนาจที่เราจะไปดลบันดาลอะไรในตัวเขาได้ แค่มีบ้านให้เขาอยู่มีอาหารที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีให้เขากินก็ถือว่าเราได้ทำหน้าที่พื้นฐานของพ่อแม่แล้ว อย่าไปหวังอะไรตอบแทนจากลูกในการทำหน้าที่พ่อแม่ให้เขา อย่าไปตั้งสะเป๊คการยอมรับไว้สูงแล้วให้ลูกสอบให้ผ่านสะเป๊ค การทำอย่างนั้นจะพากันทุกข์ทั้งพ่อแม่ลูก แลกกับสิ่งที่จะได้มาคือการได้อวยอัตตาของตัวพ่อแม่เองซึ่งอัตตานั้นเป็นเพียงแค่มายา มันไม่คุ้มกันเลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

28 สิงหาคม 2565

หมอสันต์พูดกับสมาชิกที่มาเข้าแค้มป์ขณะนั่งสมาธิในสนามหญ้า

วันนี้เราเรียนเรื่องการจัดการความเครียด หรือ stress management

ความเครียดก็คือผลจากการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ หลังจากรับรู้ว่าชีวิตกำลังถูกคุกคาม อย่างที่ผมบอกแล้วว่าความเครียดปิดการทำงานของระบบสำคัญหลายระบบรวมทั้งระบบภูมิคุ้มกันทำให้เราติดเชื้อง่ายเป็นมะเร็งง่าย และความเครียดเพิ่มการทำงานของบางระบบที่เกี่ยวกับเรื่องเลือดตกยางออกเช่นระบบหัวใจหลอดเลือดทำให้เราความดันสูง และระบบแข็งตัวของเลือดทำให้เราเกิดลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดง่าย สรุปว่าความเครียดถ้าเรื้อรังเป็นเรื่องเสียมากกว่าดี

ในยุคสมัยนี้ ความคิดคือต้นเหตุของความเครียดเรื้อรัง

เช้าวันนี้ เราจะมาฝึกวางความคิด ด้วยวิธีทำ meditation ในรูปแบบที่ง่ายที่สุด ใช้เครื่องมือเพียงสองอย่าง คือ การผ่อนคลาย (relaxation) และการสังเกต (observation)

เอ้า ทุกคนนั่งยังไงก็ได้ แต่ขอให้ตั้งลำตัวให้ตรงไว้ ยืดหน้าอกให้หลังตรงไว้

หายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้นิดหนึ่ง แล้วปล่อยลมหายใจให้มันออกมาเองช้าๆ พร้อมกับผ่อนคลายร่างกายตั้งแต่ใบหน้า คอ บ่า ไหล่ อก หลัง แขนสองข้าง ขาสองข้าง

เมื่อตั้งใจผ่อนคลายใบหน้า ยิ้มที่มุมปากนิดๆ

หายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้สักพัก หายใจออกแบบผ่อนลมยาวๆ ผ่อนคลาย ทำซ้ำหลายๆครั้ง จนทั้งร่างกายผ่อนคลาย

Relax..x ยิ้มที่มุมปากนิดๆ

เอาละ ทุกคนผ่อนคลายตัวเองได้พอควรแล้ว

คราวนี้เรามาหัดใช้เครื่องมือที่สอง คือการสังเกต

แค่สังเกต just observe สังเกตไปรอบๆตัว

ขั้นที่ 1. สังเกตภาพที่เห็นก่อน เหมือนเราเป็นกล้องถ่ายรูปสะแน็ปช็อต แชะ แชะ แชะ รับรู้ภาพและบันทึกไว้โดยไม่วิพากย์วิจารณ์อะไร ไม่ตั้งชื่อ ไม่พิพากษา แค่สังเกตรับรู้ตามที่มันเป็น ผ่อนคลายไปด้วย สังเกตไปด้วย สบายๆ

relax and observe

ขั้นที่ 2. คราวนี้เปลี่ยนมาสังเกตการหายใจของเราเอง เรากำลังหายใจเข้า..รู้ เรากำลังหายใจออก..รู้

ผ่อนคลายไปด้วย สังเกตไปด้วย relax and observe

ขั้นที่ 3. คราวนี้ให้ทุกคนค่อยๆหลับตาลง

ให้เริ่มสังเกตเสียง สังเกตเสียงที่ดังที่สุดก่อน คือเสียงผมพูด แล้วตามไปสังเกตเสียงที่ค่อยลงไป เสียงนก เสียงไก่ขัน เสียงหมาเห่าที่ไกลๆ เสียงมอไซค์ครางเบาๆอยู่ใกลมาก

จากเสียงที่เบาที่สุดก็สังเกตต่อไปถึงความเงียบ

คราวนี้ให้ปักหลักอยู่ที่ความเงียบนะ จะเห็นว่าความจริงพื้นที่รอบตัวของเราทั้งหมดนี้เป็นความเงียบเสียเกือบทั้งหมด เสียงแค่เกิดตรงนี้นิดหนึ่ง ตรงนั้นหน่อยหนึ่ง ที่เหลือเป็นความเงียบ เสียงเกิดขึ้นมาจากความเงียบ แล้วก็ดับหายไปในความเงียบ

ให้ปักหลักอยู่ที่ความเงียบ สังเกตเสียงที่โผล่ขึ้นมา แล้วดับหายไป โผล่ขึ้นมา แล้วดับหายไป

ขั้นที่ 4. คราวนี้ให้สังเกตความคิดของเราเอง

การสังเกตความคิดก็เหมือนสังเกตเสียง คือปักหลักอยู่ที่ลมหายใจซึ่งเป็นเสมือนความเงียบจากความคิด แล้วสังเกตดูว่ามีเสียงในหัวหรือความคิดของเราเองเกิดขึ้นหรือเปล่า

วิธีสังเกตความคิดมีสองวิธี

วิธีแรก คือย้อนกลับไปดู (recall) ว่าเมื่อตะกี้ หนึ่งวินาทีที่ผ่านมานี้ เราคิดอะไรอยู่ จับเอาแต่หัวเรื่อง พอจับหัวเรื่องได้แล้วก็พอใจละ ให้ปล่อยมันไป แล้วกลับมาสนใจลมหายใจใหม่ ธรรมชาติของความคิด พอถูกความสนใจไปสังเกตดูเข้า มันจะฝ่อหายไปเอง แค่เราย้อนกลับไปดูครั้งหนึ่งรู้ว่ากำลังคิดเรื่องนี้อยู่ แล้วกลับมาอยู่กับลมหายใจ แล้วย้อนกลับไปดูความคิดใหม่ ก็จะพบว่ามันหายไปแล้ว ดังนั้นการย้อนกลับไปดูความคิด เป็นเครื่องมือวางความคิดที่ดี

วิธีที่สอง คือ ตื่นตัว ตั้งตา รอดู (watchful waiting) ว่าจาก ณ จุดนี้ซึ่งเรามีสติอยู่กับลมหายใจอยู่นี้ จากนี้ความคิดใหม่ที่จะโผล่มา มันจะโผล่มาเมื่อไหร่ และมันจะเป็นความคิดเรื่องอะไร ให้ปักหลักตั้งตาดู พอมันโผล่มาก็รับรู้หัวเรื่องของมันให้ได้ รู้แล้วก็ปล่อยมันไป แล้วกลับมาอยู่กับลมหายใจใหม่

วิธีนี้จะทำให้รู้สึกว่าชีวิตที่นี่เดี๋ยวนี้คือความมหัศจรรย์น่าตื่นตาตื่นใจตลอดเวลา เพราะเราไม่รู้หรอกว่าชีวิตนี้อีกหนึ่งนาทีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่มีใครรู้หรอก อย่างน้อยก็ไม่มีใครรู้หรอกว่าความคิดแรกถัดจากนี้ไปที่จะโผล่ขึ้นมาในหัวของเราจะเป็นความคิดเรื่องอะไร ให้คุณผ่อนคลาย ตั้งตารอ คอยสังเกตดู มารึยัง มารึยัง มาแล้วมันเป็นเรื่องอะไร แค่นี่ก็เป็นความตื่นเต้นเร้าใจในการใช้ชีวิตแล้ว

และไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องอะไร เมื่อจับมันได้หรือรับรู้ชื่อเรื่องได้แล้ว ก็แค่รับรู้ ปล่อยให้มันโผล่ขึ้นมา ยอมรับมัน ปล่อยให้มันฝ่อหายไปของมันเอง คุณแค่ดำรงสถานะของผู้สังเกตไว้หนักแน่น ไม่เผลอไปผสมโรงเล่นด้วยกับความคิด ไม่ไปผสมโรงคิด คือแค่ aware of a thought ไม่ไป thinking a thought

ให้สังเกตด้วยว่า ขณะที่เราตื่นตัว เฝ้ารอดูการมาของความคิดถัดไปอยู่นี้ ตรงนี้มันเป็นความว่างๆสบายๆไม่เคร่งเครียด เป็นความสงบเย็น เพราะมันไม่มีความคิดที่เป็นต้นเหตุของความเครียด ตรงนี้ผมเรียกมันว่า “ความรู้ตัว” ในวันนี้อย่างน้อยผมต้องการให้ทุกคนรู้จักตรงนี้ให้ดี และจากนี้ไปให้ขยันพาความสนใจมาอยู่ที่ตรง “ความรู้ตัว” นี้บ่อยๆ เนืองๆ

เอาละ คราวนี้ทุกคนลืมตาก่อน มาเล่นเกมเล็กๆกันสักเกมหนึ่ง

ผมให้น้องสต๊าฟเดินแจกเครื่องนับเล็กๆคนละสองอัน ให้ยืมนะ ไม่ใช่ให้เลย เวลาใช้ให้เอานิ้วชี้สวมเข้าไปที่ห่วงอย่างนี้ เวลาจะนับก็เอาหัวแม่โป้งกดที่ปุ่มแบบนี้ กดทีหนึ่งตัวเลขก็จะขยับไปหนึ่งตัว ให้ถือเครื่องนับไว้ที่มือซ้ายหนึ่งเครื่อง ถือไว้ที่มือขวาหนึ่งเครื่อง เวลาจะเซ็ทซีโร่ หรือตั้งศูนย์ก็หมุนปุ่มไปข้างหน้าจนมันกลับมาเป็นศูนย์ใหม่อย่างนี้

ฟังกฎกติการการเล่นก่อนนะ

ตัวนับที่มือซ้ายมีไว้สำหรับกดทุกครั้งที่คุณรับรู้สิ่งเร้าที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น ผิวหนัง คือทุกครั้งที่เห็นภาพ ได้ยินเสียง รับรู้สัมผัสผิวหนัง หรือทุกครั้งที่เกิด perception เกิดที ก็กดทีหนึ่ง

ตัวนับที่มือขวามีไว้สำหรับกดทุกครั้งที่มีความคิดเกิดขึ้น ย้ำอีกทีนะ มือซ้ายไว้กดเมื่อมี perception มือขวาไว้กดเมื่อมี thought จำแนกให้ชัดๆก่อนนะ

เมื่อมีความคิดเกิดขึ้น คุณกดมือขวา แล้วให้หยุดดูแว้บหนึ่งว่าความคิดนั้นหายไปหรือยัง ธรรมชาติความคิดจะเกิดแว้บเดียวแล้วหายไป แต่ถ้ามันไม่หาย แสดงว่ามันเบิ้ลตัวเอง คุณต้องกดอีกหนึ่งที แล้วหยุดดูอีกแว้บหนึ่ง ทำจนกว่ามัน(ความคิดนั้น)จะหายไป

คุณต้องกดทุกครั้งที่ใจรับรู้อะไรก็ตาม ถ้ารับรู้ภาพเสียงสัมผัสหรือ perception กดมือซ้าย ถ้ารับรู้ความคิดหรือ thought กดมือขวา

อย่างน้อยทุกหนึ่งลมหายใจคุณควรได้กดมือซ้ายหนึ่งทีเป็นอย่างต่ำหากคุณไม่ใจลอยไปไหน เพราะคุณได้รับรู้ลมหายใจหนึ่งลม

นี่เรากำลังฝึกใช้เครื่องมือตัวที่สองคือ “การสังเกต” หรือ observation อยู่นะ..ย้ำ

ตัวนับในมือซ้ายและขวานี้เป็นอุปกรณ์สอนให้คุณสังเกตสิ่งต่างๆที่โผล่มา ณ ปัจจุบัน ในการใช้งานเครื่องมือตัวที่สองนี้อย่าว่าลืมต้องใช้ควบคู่ไปกับเครื่องมือตัวที่หนึ่งคือ “การผ่อนคลาย” หรือ relaxation ด้วย

คือต้อง relax and observe แล้วก็ relax and observe

เอาละ ในระหว่างพักจากนี้ไปจนถึงชั่วโมงเริ่มเรียนในฮอลล์ ให้ทุกคนถือตัวนับและกดมันไปตลอด ให้ใส่ใจกดทุกครั้งที่มี perception หรือมี thought เกิดขึ้น

ในระหว่างฝึกใช้ตัวกดนี้ห้ามพูดห้ามคุยกัน การพูดการคุยกันก็คือการเข้าไปขลุกอยู่ในความคิด แต่นี่เรากำลังฝึกดูความคิดอยู่ที่ข้างนอก จะเข้าไปขลุกอยู่ในความคิดไม่ได้

ถ้าคันปากอยากพูดมากแสดงว่ามีความคิดเกิดขึ้นแล้ว ให้กดมือขวา แต่อย่าพูดออกมา

ถึงมาด้วยกันพักอยู่ห้องเดียวกันแต่สองชั่วโมงนี้อย่าพูดอะไรกัน

ให้ตั้งใจสังเกตและกดตัวนับเมื่อสังเกตพบอะไรก็ตาม ยิ่งกดข้างมือซ้ายได้มากยิ่งแสดงว่าเราสังเกตรับรู้สิ่งต่างๆในปัจจุบันได้มากไม่ได้ว่อกแว่กไปไหน ยิ่งการสังเกตของเราแหลมคม ยิ่งกดมือซ้ายได้มากขึ้น

ส่วนมือขวาซึ่งเป็นความคิดนั้น ใหม่ๆจะมีความคิดแยะและกดได้มากเกินความคาดหมายก็ให้ถือว่าเป็นธรรมดาของการเริ่มฝึกสังเกตความคิด นานไปความคิดจะค่อยๆลดลงและหมดไปเอง จนท้ายที่สุด ผ่านไปแต่ละนาทีจะพบว่าแทบจะไม่ได้กดมือขวาเลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

26 สิงหาคม 2565

คนที่มีโอกาสได้ทำทุกสิ่งทุกอย่างที่คนโง่พึงทำมาเสียให้ครบถ้วนก่อน โอกาสของเขาอาจจะดีกว่า

(ภาพวันนี้: เมเปิลแบบไทยๆ)

อาจารย์หมอสันต์คะ

หนูอยากมาเข้าเรียน spiritual retreat กับอาจารย์เพราะคนที่ไปมาแล้วบอกว่าดีมากหนูต้องมาให้ได้ แต่หนูเป็นคนชอบสนุกแบบว่าเฮฮาปาร์ตี้ ติดแบรนด์หรู ขี่รถแพง หนูเกรงว่าจะยังกิเลสหนาเข้าไม่ถึงสิ่งที่อาจารย์สอน จึงสองจิตสองใจอยู่ค่ะ

หนูขอคำแนะนำ

……………………………………………

ตอบครับ

1.. ประเด็นการติดแบรนด์หรู การที่คุณชอบของสวยๆงามๆ ชอบแบรนด์หรูๆ ไม่ใช่ประเด็นเกี่ยวของกับ spiritual หรือไม่นะ ผมมองว่าทุกอย่างในจักรวาลนี้มันเป็นเพียงการแสดงออกของจิตสำนึกรับรู้ ด้วยมุมมองนี้ทุกอย่างแท้จริงแล้วมันมีอยู่อย่างเหลือเฟือไม่มีวันหมด คุณอยากบริโภคหรือครอบครองของแพงๆแค่ไหนก็เชิญบริโภคไป มันไม่มีหมดดอก คุณไม่ต้องไปกังวลว่าคนจนจะไม่ได้คอนกระเป๋าหลุยส์เวตองอย่างคุณ เพราะทั้งหมดนี้มันเป็นเพียงสัญญลักษณ์ชิ้นเล็กๆชิ้นหนึ่งที่บ่งชี้ถึงไส้ในที่แท้ของมันซึ่งก็คือความสมบูรณ์พูนสุข (wealth) ความสมบูรณ์พูนสุขนี้มันมีเหลือเฟือไม่มีวันหมดเพราะมันเป็นธรรมชาติของจิตสำนึกรับรู้ที่เป็นความสมบูรณ์พูนสุขอันไร้ของเขตไม่มีเหือดแห้ง ดังนั้นผมไม่ต่อต้านความสมบูรณ์พูนสุข แค่เตือนว่าคุณอย่าไปติดอยู่ที่เสี้ยวหนึ่งของเปลือกชิ้นเล็กๆที่เป็นแค่สัญญลักษณ์ของมัน เพราะถ้าคุณไปติดตรงนั้นคุณอาจจะไปไม่ถึงความสมบูรณ์พูนสุขตัวจริง

2..ประเด็นการเสาะหาความรื่นเริงบันเทิงใจ เราต้องการกิจกรรมเพื่อสร้างความรื่นเริงบันเทิงใจเพราะเราไม่สามารถเข้าถึงความสงบเย็นหรือเบิกบานที่อยู่ในตัวเราได้ เรารู้สึกลึกๆว่าบางอย่างขาดหายไปจากชีวิต ในทางตรงกันข้ามมันกลับมีแต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาหรือ added on อันได้แก่ความกังวลความฟุ้งสร้านต่างๆซึ่งเราไม่ชอบไม่อยากได้และเราอยากจะลืมๆมันไปเสียด้วยซ้ำ

ดังนั้นความรื่นเริงบันเทิงใจเป็นสิ่งที่ช่วยเรา อย่างน้อยก็ชั่วครั้งชั่วคราว ผมเข้าใจ และไม่เคยขัดสิ่งเหล่านี้สำหรับคนรอบตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนฝูงและลูกน้องที่ช่วยผมทำงานอยู่ ผมโปรโมทด้วยซ้ำไป แม้กระทั่งสมาชิกที่มาเข้าแค้มป์ปลีกวิเวกทางจิตวิญญาณ (spiritual retreat – SR) ที่เวลเนสวีแคร์ บ่อยครั้งพวกเขาขอตั้งคาราโอเกะร้องเพลงกันบ้าง ขอเล่นเปียโนบ้าง ผมไม่มีปัญหา ผมเข้าใจ และผมไม่ขัด วันนี้คุณหมกมุ่นบันเทิงไร้สาระ พรุ่งนี้คุณตรัสรู้บรรลุธรรม มันเป็นคนละเรื่องที่ไม่ค่อยเกี่ยวกันเท่าใดนัก หรือจริงๆมันอาจจะเป็นสิ่งที่เสริมกันและกันอยู่ด้วยซ้ำไป คนที่มีโอกาสได้ทำทุกสิ่งทุกอย่างที่คนโง่พึงทำมาเสียให้ครบถ้วนก่อน โอกาสที่เขาจะเรียนรู้ว่าอะไรใช่อะไรไม่ใช่สำหรับชีวิตก็อาจจะเร็วกว่าคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาครบถ้วนเท่าก็ได้

เพียงแต่สำหรับตัวผมเองผมไม่ต้องการกิจกรรมเสริมความรื่นเริงบันเทิงใจใดๆแล้ว เพราะผมมีความสงบเย็นอยู่ได้ด้วยตัวผมเองในทุกขณะแล้ว คนอื่นนั้นผมเปิดไฟเขียวตามสบาย ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำเพื่อความรื่นเริงบันเทิงใจของตัวเอง ทำไปเหอะ จะเอาให้มันสุดๆยังไงก็ตามสบาย ทั้งเที่ยว ทั้งเล่น ทั้งกิน ทั้งดื่ม ทั้งเซ็กซ์ ทั้งสูบยา ขึ้นอยู่กับเวลาและโอกาสของแต่ละคน การถือศีลกินเจเคร่งครัดไม่ใช่ประเด็นสำหรับผม ใครอยากถือศีลก็เชิญ ใครอยากบันเทิงก็เชิญ อย่าปิดกั้นความรื่นเริงบันเทิงใจที่เป็นโลกิยวิสัย จนกว่ามันจะบอกมาจากข้างในคุณเองว่าโมเมนต์นี้คุณกำลังสงบเย็นเบิกบานดีแล้ว พอแล้ว จนกว่าจะถึงจุดนั้นซึ่งคุณจะหมดความอยากเสาะหาความรื่นเริงบันเทิงใจไปเอง

ผมไม่เคยบอกสมาชิกที่มาเข้าแค้มป์ SR กับผมว่าคุณต้องทำนี่ อย่าทำนั่น คือผมไม่เคยบัญญัติ Do and Don’t เพียงแต่ผมจะเตือนให้ตื่นตัว ให้รู้ตัว และให้ทำอะไรที่ตัวเองตั้งใจจะทำอย่างแรงกล้าเสียในวันนี้ อย่ารอถึงวันพรุ่งนี้ เพราะไม่มีใครบอกได้ว่าวันพรุ่งนี้เราจะยังอยู่ที่นี่หรือเปล่า

กล่าวโดยสรุป คุณอยากมา SR ก็มาได้ครับผมไม่ได้มีข้อรังเกียจเดียดฉันท์อะไร ตรงนี้ขอนอกเรื่องนิดหนึ่ง เคยมีคนงานในเวลเนสวีแคร์นี้เองตั้งข้อสังเกตว่าเธอสามารถเดาได้เลยว่าแค้มป์ไหนกำลังเปิดสอนอยู่ โดยการนับยี่ห้อรถที่จอดอยู่ในลานจอดรถ ถ้าลานจอดมีแต่เบนซ์ บีเอ็ม หรือพอร์ช เธอฟันธงเลยว่าแค้มป์นั้นเป็น SR (หิ หิ เชื่อหรือไม่?)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

25 สิงหาคม 2565

แค้มป์พลิกผันโรคด้วยตัวเอง (RDBY-24) วันที่ 15-18 กย. 65

(ภาพวันนี้: ดอกไม้ริมทางไม่ทราบชื่อ)

แค้มป์พลิกผันโรคด้วยตนเอง (Reverse Disease By Yourself – RDBY) ทำมาแล้ว 23 ครั้งสุดท้ายที่ผ่านมาได้ทดลองทำในรูปแบบเจาะลึกเฉพาะโรคหลอดเลือด ซึ่งเป็นโรคที่กว้าง เพราะรวมโรคทุกโรคที่มีกลไกการเกิดต่อยอดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ไม่ว่าจะเป็นหัวใจ อัมพาต ความดัน ไขมัน โรคไตเรื้อรัง สมองเสื่อม ได้ผลดีมากเป็นที่น่าพอใจ จึงตั้งใจว่าจะใช้เป็นรูปแบบมาตรฐานสำหรับการทำแค้มป์พลิกผันโรคในครั้งหน้านี้ (RDBY-24 วันที่ 15-18 กย. 65) และในครั้งต่อๆไป

     1. โครงสร้างของแค้มป์พลิกผันโรคหัวใจหลอดเลือดด้วยตนเอง (RDBY-24)

1.1 ใช้เวลามากินมานอนที่เวลเนสวีแคร์ 4 วัน 3 คืน
1.2 มาเข้าแค้มป์เดียว แล้วติดตามอย่างต่อเนื่องผ่าน We Care app บนอินเตอร์เน็ท โดยติดตามแบบเข้มข้น (ทุก 4 เดือน) 1 ปี แล้วติดตามแบบห่างๆ (ปีละครั้ง) ไปอีกไม่มีกำหนดสิ้นสุด

1.3 แยกลงทะเบียนระหว่างผู้ป่วยกับผู้ดูแล โดยผู้ดูแลจะได้ที่พัก กิน นอน เรียน ทำกิจกรรมเช่นเดียวกับผู้ป่วย แต่จะไม่ได้เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและประเมินปัญหาสุขภาพรายคน และจะไม่มีคำสรุปสุขภาพของแพทย์ใน We Care app dashboard

1.4 เนื้อหาแยกเป็นสองส่วน คือ

1.4.1 เจาะลึกเฉพาะโรคหลอดเลือดในภาพใหญ่สำหรับผู้ป่วยทุกคน นับตั้งแต่กลไกการเกิดโรคบนหลอดเลือด ปัจจัยเสี่ยง อาการวิทยา การวินิจฉัย การรักษา ซึ่งรวมถึงโรคปลายทางของโรคหลอดเลือด เช่นโรคหัวใจขาดเลือด โรคความดัน โรคไขมัน โรคไตเรื้อรัง โรคอัมพาต โรคสมองเสื่อม และโรคเบาหวานซึ่งถือว่าเป็นโรคพี่โรคน้องของโรคหลอดเลือดด้วย

1.4.2 เจาะลึกลงไปในปัญหาผู้ป่วยเป็นรายคน ทีละคน ตั้งแต่การประเมินสถานะและความรุนแรงของโรคจากผลการตรวจเลือด ตรวจเอ็คโค วิ่งสายพาน ตรวจหัวใจด้วยคอมพิวเตอร์ (CTA) ผลการสวนหัวใจ ตรวจพิเศษของอวัยวะต่างๆทั้ง CT, MRI แล้วจัดทำแผนการรักษา การตัดสินใจว่าจะใช้วิธีรุกล้ำ (invasive treatment เช่นบอลลูน บายพาส) หรือจะไม่ใช้ เจาะลึกการลด ละ เลิก ยา การฟื้นฟูหัวใจ การฟื้นฟูสมอง การดูแลตัวเองในทิศทางที่มุ่งให้โรคหาย

     2. ความเป็นมาของ RDBY

มันเริ่มจากตัวผมเองเคยป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ความที่อยากหนีจากแนวทางการรักษาแบบโรงพยาบาล (กินยา สวนหัวใจ บอลลูน ผ่าตัดบายพาส) จึงทบทวนงานวิจัยเพื่อหาทางออกอื่นและได้พบว่าการจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคโดยตัวผู้ป่วยเอง ทั้งในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด การเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง ทำให้โรคดีขึ้นกว่าการรักษาในโรงพยาบาลเสียอีก จึงลงมือทำกับตัวเอง เมื่อเห็นว่าได้ผลดีจนสามารถพลิกผันโรคให้หายจากเจ็บหน้าอกและเลิกกินยาความดันยาไขมันได้หมด จึงตัดสินใจเลิกอาชีพหมอผ่าตัดหัวใจเปลี่ยนอาชีพมาเป็นหมอส่งเสริมสุขภาพ แต่เมื่อได้นั่งตรวจและสอนคนไข้ทีละคนอยู่ที่โรงพยาบาลก็พบว่ามันใช้เวลามากและช่วยคนไข้ได้เป็นจำนวนน้อย และวิธีนั่งตรวจมันยังแก้ปัญหาสำคัญที่คนไข้ต้องการไม่ได้ นั่นคือการขาดทักษะปฏิบัติการ ผมจึงเปลี่ยนแนวทางมาให้ความรู้กับคนป่วยคราวละหลายๆคน ในรูปแบบแค้มป์กินนอนเพื่อเรียนรู้ทักษะในการป้องกันและพลิกผันโรคด้วยตัวเอง (RDBY) ซึ่งเดิมทำรวมโรคเรื้อรังทุกโรค ทำไปแล้ว 20 รุ่น ตอนนี้กำลังทดลองทำแบบแยกโรค โดยได้ทดลองทำแบบแยกโรคเบาหวานไปแล้วหนึ่งครั้ง ครั้งนี้จะเป็นการทดลองทำแบบแยกเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือด

     3. แค้มป์ RDBY24 เหมาะสำหรับใครบ้าง

แค้มป์ RDBY22 นี้จัดขึ้นเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease) ซึ่งรวมถึงโรค

(1) โรคหลอดเลือดหัวใจ

(2) โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต)

(3) โรคความดันเลือดสูง

(4) โรคไตเรื้อรังที่เกิดจากความดันเลือดสูง

(5) โรคไขมันในเลือดสูง

(6) โรคหลอดเลือดส่วนปลายและหลอดเลือดใหญ่โป่งพอง

(7) โรคเบาหวานในฐานะที่เป็นโรคร่วมกับโรคหลอดเลือดที่สำคัญ

         4. ภาพรวมของแค้มป์ RDBY

4.1 หลักสูตรนี้เป็นการใช้วิธีการแพทย์แผนปัจจุบัน (modern medicine) ในรูปแบบการแพทย์แบบอิงหลักฐาน (evidence based medicine) มีแพทย์เป็นผู้กำกับดูแล (medically directed) โดยใช้วิธีมองปัญหาของผู้ป่วยแบบองค์รวม (holistic care) โดยเน้นส่วนที่ผู้ป่วยจะทำโดยตัวเองได้ เช่นอาหาร การใช้ชีวิต การจัดการยาด้วยตัวเอง เป็นต้น

4.2 ในกรณีที่ผู้สมัครเข้าร่วมโปรแกรมนี้มีแพทย์เฉพาะทางเจ้าประจำอยู่แล้ว ป่วยไม่ต้องเลิกการรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่ดูแลกันมาแต่เดิม เพราะแพทย์ประจำตัวของท่านที่เวลเนสวีแคร์จะทำหน้าที่เป็นแพทย์ประจำครอบครัว (family physician) ของท่านและเป็นพี่เลี้ยงให้ท่านดูแลตัวเองให้เป็น ส่วนการปรึกษาและใช้บริการของแพทย์เฉพาะทางเฉพาะโรคที่ทำมาแต่เดิมนั้นก็ยังทำต่อไปเหมือนเดิม

4.3 ผู้สมัครเข้าร่วมโปรแกรมนี้ไม่จำเป็นต้องยกเลิกยาหรือการรักษาที่ตนเองได้มาแต่เดิมในขณะที่เริ่มหันมาใช้วิธีดูแลตนเอง เพราะการรักษาโรคตามโปรแกรมนี้ใช้หลักวิชาการแพทย์แผนปัจจุบันเช่นเดียวกันกับการรักษาในโรงพยาบาล เพียงแต่มุ่งโฟกัสที่การเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ป่วยในเรื่องการกินการออกกำลังกายและการใช้ชีวิตจนถึงระดับที่ผู้ป่วยดูแลตัวเองได้ด้วยตนเอง จึงสามารถทำคู่ขนานไปกับการรักษาในโรงพยาบาลได้ เมื่อผู้ป่วยดูแลตนเองได้ดีขึ้นแล้ว ตัวชี้วัดสุขภาพต่างๆจะค่อยๆบ่งชี้ว่าความจำเป็นที่จะต้องพึ่งการรักษาด้วยยาในโรงพยาบาลจะค่อยๆลดลงไปเองโดยอัตโนมัติจนสามารถเลิกยาได้เองในที่สุด

4.4 ผู้ป่วยจะต้องมาเข้าแค้มป์ หนึ่งครั้ง นาน 4 วัน 3 คืน

4.5 ในวันแรก ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกายโดยแพทย์ของวีแคร์คลินิก จัดทำฐานข้อมูลสุขภาพ วางแผนสุขภาพ และเก็บรวมรวมผลการตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษต่างๆไว้บนเฮลท์แดชบอร์ด (Health Dashboard) ซึ่งทั้งทีมแพทย์, พยาบาลของวีแคร์คลินิก และตัวผู้ป่วยเองสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้ตลอดเวลาผ่านโทรศัพท์มือถือ

4.6 ในระหว่างที่อยู่ในแค้มป์ ผู้ป่วยจะได้เรียนความรู้สำคัญเกี่ยวกับโรคของตน ได้ฝึกทักษะที่จำเป็นในการจัดการโรคของตน การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด การสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองอย่างต่อเนื่อง การโภชนาการ การตัดสินใจในการเลือกวิธีรักษา การจัดการยา ทั้งนี้ผู้ป่วยจะได้เรียนรู้การทำอาหารแบบกินพืชเป็นหลักในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ โดยไม่ใช้น้ำมัน (low fat PBWF) ด้วยตนเองด้วย

4.7 อาหารที่ใช้ในแค้มป์นี้เป็นอาหารแบบกินพืชเป็นหลัก (Plant based whole food ที่มีไขมันต่ำ) ไม่มีเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลย แม้แต่นมและไข่ก็ไม่มี

4.8 เมื่อสิ้นสุดแค้มป์ 4 วันแล้ว ผู้ป่วยจะกลับไปอยู่บ้านโดยนำสิ่งที่เรียนรู้จากแค้มป์ไปดูแลตัวเองต่อที่บ้าน โดยสื่อสารกับทีมแพทย์และพยาบาลของเวลเนสวีแคร์ผ่านเฮลท์ We Care app. ทางอินเตอร์เน็ท ผู้ป่วยสามารถติดต่อสอบถามเรื่องต่างๆรวมทั้งการปรับลดขนาดยาเมื่อตัวชี้วัดเปลี่ยนไปด้วย ทีมงานจะติดตามผู้ป่วยไปทุก 4 เดือนจนครบหนึ่งปี โดยคาดหมายว่าภายในหนึ่งปีผู้ป่วยจะสามารถดูแลตัวเองต่อไปได้ด้วยตัวเอง

สมาชิกสามารถใช้ We Care app นี้เป็นที่เก็บข้อมูลผลแล็บ รวมทั้งภาพและวิดิโอ.ทางการแพทย์ ของตนเองได้ต่อเนื่อง และสมาชิกสามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง แก้ไข ข้อมูลสุขาพของตนได้ทุกรายการ ยกเว้น Doctor’s Summary ซึ่งต้องเขียนสรุปไว้โดยแพทย์เท่านั้นเพื่อใช้เป็นเอกสารให้ข้อมูลแก่แพทย์กรณีต้องเข้าโรงพยาบาล

อนึ่ง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง สมาชิกมีหน้าที่ปรับปรุง (update) ข้อมูลดัชนีสุขภาพสำคัญเจ็ดตัวของตนคือ (1) น้ำหนัก (2) ความดัน (3) น้ำตาล (4) ไขมัน (5) จำนวนผักผลไม้ที่กินต่อวัน (6) เวลาที่ใช้ในการออกกำลังกายต่อสัปดาห์ และ (7) การสูบบุหรี่ เพื่อให้แพทย์ประจำตัวหรือทีมงานผู้ช่วยแพทย์ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงสุขภาพและวางแผนสุขภาพให้และบันทึกไว้บนแดชบอร์ดทุกปี

สมาชิกสามารถขอรับคำปรึกษาปัญหาจากแพทย์ประจำตัวของหรือทีมงานผู้ช่วยแพทย์โดยเขียนคำถามผ่านมาทาง We Care app คำถามของสมาชิกจะได้รับการสนองตอบโดยผู้ช่วยแพทย์ที่เฝ้าแดชบอร์ดอยู่ ซึ่งจะปรึกษาแพทย์ประจำตัวของสมาชิกในกรณีที่เป็นปัญหาที่ต้องแนะนำโดยแพทย์ การตอบคำถามด้วยวิธีนี้จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเพราะขณะตอบแพทย์หรือทีมงานมีข้อมูลสุขภาพของสมาชิกรายนั้นอยู่ตรงหน้าอยู่แล้ว

สมาชิกสามารถสั่งพิมพ์ใบสรุปข้อมูลสุขภาพ (Doctor’s Summary) แบบหน้าเดียวซึ่งเขียนโดยแพทย์ประจำตัวของตน ไปใช้เพื่อเวลาไปรับการตรวจรักษาในสถานพยาบาลต่างๆได้ทุกเมื่อ

4.9 ในกรณีที่เป็นผู้ทุพลภาพหรือช่วยเหลือตนเองไม่ได้ซึ่งตามปกติต้องมีผู้ดูแลประจำตัวอยู่แล้ว ต้องนำผู้ดูแลมาด้วย โดยผู้ดูแลต้องลงทะเบียนเป็นผู้ดูแล ทั้งนี้นอกจากอาหารและที่พักแล้ว ผู้ดูแลยังสามารถเข้าร่วมเรียนรู้และฝึกทักษะต่างๆเพื่อประโยชน์ในการติดตามดูแลผู้ป่วย แต่ผู้ดูแลจะไม่ได้พบแพทย์เพื่อตรวจประเมินปัญหาสุขภาพของตนเอง และจะไม่มีบทสรุปสุขภาพของแพทย์ในแดชบอร์ด ในกรณีที่ประสงค์จะได้รับการตรวจสุขภาพและประเมินปัญหาโดยแพทย์ด้วย ผู้ดูแลจะต้องลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยอีกคนหนึ่งแยกจากตัวผู้ป่วยที่ตนดูแล เพื่อให้ได้คิวเวลาที่จะเข้าพบแพทย์ซึ่งจำกัดสิทธิ์ไว้เฉพาะผู้ป่วยเท่านั้น

     5. หลักสูตร (Course Syllabus) 

     5.1 วัตถุประสงค์

     5.1.1 วัตถุประสงค์ในด้านความรู้
คาดหวังให้ผู้ป่วยรู้สิ่งต่อไปนี้
a. รู้เรื่องโรคหลอดเลือด ทั้งกลไกการเกิดโรค การดำเนินของโรค อาการวิทยา
b. รู้วิธีวัดและวิธีใช้ประโยชน์ตัวชี้วัดที่ใช้เฝ้าระวังการดำเนินของโรค

c. รู้วิธีแปลผลการตรวจพิเศษทางด้านหัวใจและหลอดเลือดอย่างละเอียด ทั้งผลการตรวจสวนหัวใจ EST, CAC, CTA, CT brain เป็นต้น
d. รู้ทางเลือกวิธีรักษาทุกวิธี และรู้ประโยชน์และความเสี่ยงของแต่ละทางเลือกอย่างละเอียด
e. รู้จักยาทุกตัวที่ตนเองได้รับ ทั้งชื่อ ขนาด วิธีกิน กลุ่มยา ฤทธิ์ยา และผลข้างเคียงของยา

f. รู้วิธีจัดชั้นและประเมินหลักฐานวิทยาศาสตร์ว่าอันไหนเป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้ระดับมากหรือระดับน้อย

g. รู้วิธีใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลผู้ป่วยบนอินเตอร์เน็ทในการติดตามดูแลสุขภาพของตนเอง
h . รู้ศักยภาพของตนเองว่าสามารถทำอะไรได้ด้วยตนเองบ้างเพื่อให้ตนเองหายจากโรค
– ในแง่ของโภชนาการ รู้ประโยชน์ของอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำต่อการดำเนินของโรค และรู้วิธีเปลี่ยนอาหารและจัดหาหรือปรุงอาหารนั้นด้วยตนเอง
– ในแง่ของการออกกำลังกาย รู้ประโยชน์และวิธีออกกำลังกายทั้งสามแบบในการฟื้นฟูหัวใจและช่วยพลิกผันโรค คือแบบแอโรบิก (aerobic exercise) แบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (strength training) และแบบเสริมการทรงตัว (balance exercise)
– ในแง่ของการจัดการความเครียด รู้ประโยชน์และวิธีจัดการความเครียดด้วยเทคนิคต่างๆทั้งสมาธิ ไทชิ โยคะ ซึ่งรวมศูนย์อยู่ที่การฝึกวางความคิด
– ในแง่ของการร่วมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน รู้ประโยชน์ของการเผื่อแผ่เอื้ออาทรแก่ชีวิตอื่น และรู้วิธีร่วมกลุ่มอย่างมีการให้มีการรับจากกันและกัน

– ในแง่ของการจัดการโรค รู้หลักวิธีชั่งน้ำหนักประโยชน์และความเสี่ยงของทางเลือกวิธีรักษาแบบต่างๆไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การทำบอลลูนใส่ขดลวด การใช้ยา รู้วิธีที่จะลดละเลิกยาที่มากเกินความจำเป็นด้วยตนเอง

     5.1.2. วัตถุประสงค์ในด้านทักษะ
คาดหวังให้ผู้ป่วยสามารถทำสิ่งต่อไปนี้ด้วยตนเอง
a.       บริหารจัดการโรคของตนเองได้โดยใช้ตัวชี้วัดพื้นฐาน 7 ตัว (1) น้ำหนัก (2) ความดันเลือด (3) ไขมันในเลือด (4) น้ำตาลในเลือด (5) ปริมาณผักผลไม้ที่กินต่อวัน (6) เวลาออกกำลังกายต่อสัปดาห์ (7) การสูบบุหรี่
b.       บริหารยาของตนเองได้ สามารถลดหรือเพิ่มยาของตนเองตามตัวชี้วัดและอาการที่เกี่ยวข้องได้

c. เลือกอาหารสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูปในตลาดที่เป็นอาหารพืชแบบไม่สกัดไม่ขัดสีได้
d.       ทำอาหารทานเองที่บ้านได้ เช่น ผัดทอดอาหารโดยใช้น้ำหรือใช้ลมร้อนแทนน้ำมันได้ อบถั่วและนัทไว้เป็นอาหารว่างเองได้ ทำเครื่องดื่มจากผักผลไม้โดยไม่ทิ้งกากด้วยตนเองได้
e.        ประเมินสมรรถนะร่างกายของตนเองด้วยการสังเกตอัตราการหายใจ การนับชีพจรจากเครื่องช่วยนับ และการทำ One milk walk test ให้ตัวเองได้
f.       ออกกำลังกายแบบแอโรบิกได้ด้วยตนเองได้
g.       ออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยใช้ท่ากายบริหาร ดัมเบล สายยืด และกระบอง ได้ด้วยตนเอง
h.         ออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัวได้ด้วยตนเอง
i.         สามารถกำกับดูแลและแก้ไขท่าร่าง (posture) ในชีวิตประจำวันของตนเองได้
j.       ผ่อนคลายความเครียดเฉียบพลันด้วยเทคนิคต่างๆ relax breathing ได้
k.         จัดการความเครียดในชีวิตประจำวันด้วยการฝึกวางความคิดผ่านเทคนิคต่างๆเช่น นั่งสมาธิ ไทชิ โยคะ ได้
l.     สามารถเปิดตัวเองออกไปมีชีวิตร่วมกับผู้อื่นในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อนได้
m. สามารถใช้เครื่องมือบนอินเตอร์เน็ทและ Wecare App ในการดูแลตนเองต่อเนื่องได้ด้วยตนเอง

5.1.3    วัตถุประสงค์ในด้านเจตคติ
คาดหวังให้ผู้ป่วยเกิดเจตคติต่อไปนี้
a.       มีความมั่นใจว่าตนเองมีอำนาจ (empowered) ที่จะดลบันดาลให้โรคของตัวเองหายได้
b.       มีความมุ่งมั่นในพันธะสัญญา (commitment) ที่จะเป็นผู้ดูแลตนเองไม่ให้เป็นภาระแก่คนอื่น
c.       มีความอยาก (motivated) ที่จะมีชีวิตอย่างมีสุขภาพดี มีความสุข

     6. ตารางกิจกรรมขณะอยู่ในแค้มป์ 

วันแรก (15 กย. 2565)
09.00 – 16.00     Registration and initial assessment by doctors
1) ลงทะเบียนเข้าแค้มป์
2) เช็คอินเข้าห้องพัก
3) วัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง คำนวณดัชนีมวลกาย วัด Body composition ฝึกหัดใส่ข้อมูลตัวชี้วัดเข้าเวชระเบียนส่วนบุคคลทางอินเตอร์เน็ท
4) ผลัดกันเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเป็นรายคนตามตารางเวลาที่จัดไว้ (เน้นย้ำเรื่องการพบแพทย์ตรงตามเวลาที่จัดไว้ เนื่องจากมีสมาชิกหลายท่าน)
               ท่านสามารถพักผ่อนได้ตามอัธยาศัย ทางศูนย์สุขภาพ Wellness We Care Centre (WWC) มีการจัดเตรียมห้องประชุม เพื่อฉายสื่อความรู้ด้านสุขภาพในระหว่างรอคิวพบแพทย์ หากท่านต้องการนวดผ่อนคลาย ที่ WWC มีศูนย์ Herbal Treatment Centre โดยทีมแพทย์แผนไทย สามารถติดต่อขอรายละเอียดได้ที่คลินิกแผนกต้อนรับ หรือทางคลินิกแพทย์แผนไทยโดยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
15.30 – 16.00     Tea break พักดื่มน้ำชากาแฟ

16.00 – 16.30     แนะนำแคมป์สุขภาพโรคหลอดเลือดหัวใจ แนะนำการติดตั้งแอพพลิเคชั่นการติดตามตัวชี้วัดสุขภาพ (นพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล)
                            
16.30-17.10น กิจกรรมสันทนาการ : Line dance การเต้นไลน์แด๊นซ์เพื่อฝึกกล้ามเนื้อ การทรงตัว และระบบประสาท
17.10 – 19.00     cooking demonstration สาธิตสอนแสดงวิธีทำอาหารแบบพืชเป็นหลัก รูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ ไม่สกัดไม่ขัดสี ไขมันต่ำ (plant-based, whole food, low fat diet; PBWF) และรับประทานอาหารเย็น
วันที่สอง (16 ก.ย. 2565)
06.45 – 7.00       BP measurement วัดความดันโลหิตตอนเช้า
(คุณโอ๋และผู้ช่วย)
07.00 – 08.00     Stretching
exercise การออกกำลังกายแบบยืดเหยียดกล้ามเนื้อ(15 นาที)
และการทดสอบพื้นฐานร่างกาย (นพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล)

(1) 1 minute sit-to-stand test ลุกนั่งภายใน 1 นาที (3 นาที)
(2) time up and go test การลุกเดินและวนกลับ ( 7 นาที)

(3) six-minute walk test ทดสอบสมรรถนะร่างกายด้วยวิธีเดิน 6 นาที ( 20 นาที)
08.00 – 9.30       อาหารเช้าและเวลาส่วนตัว
9.30 – 10.30       Getting to know each other and learn from each
other ทำความรู้จักกันและเรียนรู้จากโรคของกันและกัน (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ และ นพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล)
10.30 – 10.45     Tea break ดื่มน้ำชากาแฟ
10.45 – 12.00     Lecture: Pathophysiology of atherosclerosis กลไกการเกิดโรคหลอดเลือด (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)
(1) ระบบหัวใจหลอดเลือดยามปกติ
(2) ระบบประสาทอัตโนมัติยามปกติ
(3) การทำงานของเยื่อบุหลอดเลือด (endothelial function)
(4) กลไกการเกิดความดันเลือดตัวบนและตัวล่าง (mechanism of
blood pressure)
(5) กลไกการอักเสบของผนังหลอดเลือด (vascular inflammation)
(6) ปัจจัยเสี่ยงการอักเสบของผนังหลอดเลือด (สารพิษ/การติดเชื้อ/ภูมิคุ้มกัน/การบาดเจ็บ)
(7) กลไกการเกิดโรคไตเรื้อรังจากโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
(8) อาหารเนื้อสัตว์กับกลไกการเกิด TMAO และโรคหลอดเลือด
(9) อาหารพืชกับกลไกการต้านการอักเสบ
(10) จุลชีวิตในลำไส้กับการเกิดการอักเสบของหลอดเลือด (microbiome and vascular diseases)
12.00 – 14.00     รับประทานอาหารกลางวันและเวลาส่วนตัว
14.00-14.30        แปลผลการทดสอบสมรรถนะ (นพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล)

1.Six-minute walk test,

2.One-minute sit to stand,

3.Time up and go
Workshop (1) กิจกรรมการฝึกวัดความดันเลือดด้วยตนเองอย่างถูกวิธี (นพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล)
14.30 – 15.30     Lecture : Hypertension โรคความดันเลือดสูง (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)
(1) กลไกการเกิดความดันเลือดสูง
(2) พยาธิวิทยาของโรคความดันเลือดสูง
(3) งานวิจัยการรักษาความดันเลือดสูงโดยไม่ใช้ยา
(4) ชนิดของยารักษาความดันเลือดสูง กลไกการออกฤทธิ์
และผลข้างเคียง
(5) การบริหารยาลดความดันรวมถึงการลดหรือเลิกยาลดความดันด้วยด้วยตนเอง
(6) งานวิจัยผลของอาหารต่อโรคไตเรื้อรัง
15.30 – 16.00     Tea break ดื่มน้ำชากาแฟ
16.00 – 17.00     strengthening exercise ฝึกปฏิบัติการออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
(นพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล)
17.00 – 19.00     cooking demonstration สาธิตสอนแสดงวิธีทำอาหารแบบพืชเป็นหลัก รูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ ไม่สกัดไม่ขัดสี ไขมันต่ำ (plant-based, whole food, low fat diet; PBWF) และรับประทานอาหารเย็น
 
วันที่สาม (17 ก.ย. 2565)
06.45 – 7.00       BP measurement วัดความดันโลหิตตอนเช้า (คุณโอ๋และผู้ช่วย)
7.00 – 8.00         Stress Management การจัดการความเครียด (โยคะ สมาธิ ไทชิ) (คุณออย / นพ.สันต์)
08.00 – 10.00     อาหารเช้าและเวลาส่วนตัว
10.00 – 11.00     Lecture: Ischemic heart
disease โรคหัวใจขาดเลือด (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)
(1) กลไกพื้นฐานของโรคหัวใจขาดเลือด
(2) อาการวิทยาของหัวใจขาดเลือด แบบด่วน และแบบไม่ด่วน
(3) การแปลผลตรวจพิเศษทางด้านหัวใจ / EST / Echo /CAC
(แคลเซียมสะกอร์) / CTA / CAG (สวนหัวใจ)
(4) งานวิจัยเปรียบเทียบการรักษาโรคหัวใจด้วยวิธีรุกล้ำและไม่รุกล้ำ
(5) งานวิจัยการทำให้โรคหัวใจถอยกลับด้วยอาหารและการใช้ชีวิต
11.00 – 12.00     Lecture: Dyslipidemia and Obesity โรคไขมันในเลือดสูงและโรคอ้วน (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)
(1) ชนิดของไขมันในเลือด

( 2) ไขมันเลว (LDL) ชนิดอนุภาคใหญ่และชนิดอนุภาคเล็ก
(3) กลไกการเกิดหลอดเลือดอักเสบตามหลังไขมันในเลือดสูง
(4) กลไกการเกิดโรคอ้วน
(5) กลไกการดื้อต่ออินสุลิน
(6) มาตรฐานระดับไขมันในเลือด
(7) ยาลดไขมันในเลือดทุกกลุ่ม กลไกการออกฤทธิ์ และผลข้างเคียง
(8) วิธีบริหารยาลดไขมันในเลือด (รวมถึงการลดและเลิกยา) ด้วยตนเอง
12.00 – 14.00  รับประทานอาหารกลางวันและเวลาส่วนตัว
14.00 – 15.00     Lecture: Overview of Good health concepts Updates in Nutrition Guidelines; Plant-based, whole food, low fat diet ภาพรวมการมีสุขภาพดี และ บรรยายเรื่องโภชนาการที่มีพืชเป็นหลัก
ไม่สกัด ไม่ขัดสี (นพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล)
15.00 – 15.30     food shopping work shop กิจกรรมจ่ายตลาดฉลาดซื้อ
15.30 – 16.00     Tea break ดื่มชากาแฟ
16.00 – 17.00     Balance exercise การออกกำลังกายเสริมการทรงตัวและAerobic
exercise การออกกำลังกายแบบ high intensity interval training – HIIT (นพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล)
17.00 – 19.00     สาธิตสอนแสดงวิธีทำอาหารแบบพืชเป็นหลัก
รูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ ไม่สกัดไม่ขัดสี ไขมันต่ำ (Plant-based whole food low fat diet; PBWF) และรับประทานอาหารเย็น

วันที่สี่ (18 ก.ย. 2565)
06.45 – 7.00       BP measurement วัดความดันโลหิตตอนเช้า (คุณโอ๋และผู้ช่วย)
07.00 – 08.30     Stress management การจัดการความเครียด (Yoga, Tai Chi and meditation) (คุณออย / นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)
08.30 – 10.00     อาหารเช้าและเวลาส่วนตัว
10.00 – 10.30     Lecture : Prevention of NCDs (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)
10.30-12.00        Q&A ตอบคำถามเจาะลึกเรื่องการจัดการโรครายคน
(นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ และนพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล)
12.00 เป็นต้นไป    ปิดแคมป์
รับประทานอาหารกลางวันและเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ
 
**** ตารางกิจกรรมอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม

     7. การเตรียมรับภาวะฉุกเฉินขณะเข้าแค้มป์

ผู้ป่วยที่มาเข้าโปรแกรมนี้ส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วยหนัก บ้างทำผ่าตัดบายพาสมาแล้ว บ้างทำบอลลูนมาแล้วคนละครั้งสองครั้ง บ้างมีหัวใจล้มเหลวแค่เดินสองสามก้าวก็หอบหรือเจ็บหน้าอกแล้ว บ้างรอเปลี่ยนหัวใจอยู่ บ้างเพิ่งเป็นอัมพาตมา ความเสี่ยงที่จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันหรือหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันหรืออัมพาตเฉียบพลันมีอยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งขณะนั่งหรือนอนอยู่เฉยๆ ความเสี่ยงนี้ผู้ป่วยทุกคนต้องยอมรับว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ตามโรคของตัวเอง แต่ตัวหมอสันต์เองซึ่งเป็นหมอผ่าตัดหัวใจมาก่อนก็ไม่ประมาทในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย ได้เตรียมการด้านความปลอดภัยขณะเข้าแค้มป์ทุกครั้งรวมไปถึงการมีพยาบาลฉุกเฉินพร้อมอยู่ในศูนย์ตลอดเวลา มีอุปกรณ์เครื่องมือเพื่อรับมือกับภาวะฉุกเฉินได้ รวมทั้งขีดความสามารถที่จะเปิดหลอดเลือดให้น้ำเกลือหรือยาทางหลอดเลือดดำได้ทันที ขีดความสามารถที่จะใส่ท่อช่วยหายใจและช่วยการหายใจในภาวะฉุกเฉิน นอกจากนั้นยังมีขีดความสามารถที่จะช็อกไฟฟ้าหัวใจในกรณีฉุกเฉิน การประสานงานกับระบบรถฉุกเฉินและโรงพยาบาลใกล้เคียง และการมีพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติอยู่ประจำในแค้มป์ 24 ชั่วโมง มีแพทย์ที่ตามให้เข้ามาดูแลผู้ป่วยได้ทันทีตลอดการฝึกอบรม

ทั้งนี้อย่าได้เข้าใจผิดว่าการจะปรับวิถีชีวิตเพื่อพลิกผันโรคให้ตัวเองนั้นเป็นเรื่องอันตราย ความเป็นจริงไม่ใช่เลย การปรับการใช้ชีวิตทั้งอาหารและการออกกำลังกายเพื่อดูแลตัวเองให้ได้นั้นเป็นกลไกรักษาโรคตามธรรมชาติ มีอันตรายน้อยกว่าการรักษาด้วยยา บอลลูน หรือผ่าตัดในโรงพยาบาลอย่างเทียบกันไม่ได้ แต่ทางแค้มป์เตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยในแค้มป์ให้มากเข้าไว้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยหนักซึ่งเป็นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการเข้าแค้มป์ มาเข้าแค้มป์ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ปลอดภัยเท่าอยู่ในบ้านตัวเองเท่านั้น

     8. การลงทะเบียนเข้าแค้มป์ RDBY

วิธีลงทะเบียนเข้าเรียน

1. โทรศัพท์ลงทะเบียนกับเวลเนสวีแคร์ที่หมายเลข  063 6394003 หรือ 02 038 5115
2. ลงทะเบียนทางไลน์ @wellnesswecare
3. ลงทะเบียนทางอีเมล host@wellnesswecare.com
ในทุกกรณีเมื่อได้ที่นั่งแล้ว จะต้องโอนเงินค่าลงทะเบียนเข้าบัญชี ธนาคารกสิกรไทย สาขาสมุทรปราการ ชื่อบัญชี  บริษัท เมก้า วี แคร์ จำกัด เลขที่บัญชี 007-368-5478 ภายใน 24 ชั่วโมงหลังได้สำรองที่เรียนแล้ว หากพ้น 24 ชั่วโมงไปแล้วถือว่าสละสิทธิ์ ที่นั่งที่สำรองไว้ให้ท่านจะถูกจัดสรรไปให้ผู้อื่นโดยอัตโนม้ติ

     9. การตรวจสอบตารางแค้มป์

สามารถตรวจสอบตารางแค้มป์ล่วงหน้าได้โดยวิธีสอบถามทางโทรศัพท์ที่หมายเลข  0636394003 หรือทางไลน์ @wellnesswecare หรือทางอีเมล host@wellnesswecare.com

   10. ราคาค่าลงทะเบียน

ค่าลงทะเบียนสำหรับตลอดคอร์ส (เข้าแค้มป์ 4 วัน 3 คืน ติดตามทางเฮลท์แดชบอร์ด อย่างน้อยหนึ่งปี) คนละ 23,000 บาทสำหรับตัวผู้ป่วย สำหรับผู้ติดตามคนละ 14,000 บาท ค่าลงทะเบียนนี้รวมถึงใช้จ่ายในการเข้าแค้มป์ ค่าอาหารวันละ 3 มื้อ ค่าที่พัก 4 วัน 3 คืน การติดตามทางเฮลท์ แดชบอร์ด นานหนึ่งปี ค่าวิทยากร ค่าอุปกรณ์การฝึกทักษะ ค่าตรวจร่างกายโดยแพทย์ ค่าเจาะเลือดฉุกเฉินกรณีที่แพทย์สั่งให้เจาะ ค่าใช้จ่ายในการติดตามโดยแพทย์และพยาบาลทางเฮลท์แดชบอร์ดหลังจากออกจากแค้มป์กลับไปอยู่บ้านแล้ว
แต่ราคานี้ไม่ครอบคลุมถึงค่าเดินทางไปและกลับระหว่างบ้านของท่านกับเวลเนสวีแคร์ (ผู้ป่วยไปเองกลับเอง) ไม่ครอบคลุมค่ายาและค่ารักษาพยาบาลส่วนบุคคลของแต่ละท่าน ไม่ครอบคลุมบริการพิเศษที่ท่านเลือกใช้เช่นการนวดบำบัดต่างๆ

กรณีเป็นผู้ติดตาม ผู้ดูแลหรือ caregiver จะต้องลงทะเบียนเป็นผู้ติดตามซึ่งมีค่าลงทะเบียนคนละ 12,000 บาท ราคานี้รวมค่ากิน ค่าอยู่ ค่าที่พักห้องเดียวกับผู้ป่วยของตน ค่าเข้าร่วมเรียนและร่วมทำกิจกรรมทุกอย่างในแค้มป์ แต่ไม่ได้เข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจร่างกายและไม่ได้ร้บการประเมินปัญหาสุขภาพของตนโดยแพทย์ และไม่มีรายงานสรุปปัญหาสุขภาพโดยแพทย์ในเฮลท์แดชบอร์ด

     11. ระยะก่อนเข้าแค้มป์ (Pre-camping preparation) 

ผู้ป่วยทุกท่านที่ได้รับเข้าโปรแกรมแล้ว จะต้องจัดส่งข้อมูลโรคของตนมาให้แพทย์วิเคราะห์ล่วงหน้าก่อนวันมาแค้มป์ โดยส่งข้อมูลมาทางคุณสายชล (โอ๋) พยาบาลประจำแค้มป์ ที่อีเมล totenmophph@gmail.com โดยอย่างน้อยต้องส่งข้อมูลพื้นฐานซึ่งจำเป็นต้องใช้ต่อไปนี้มา คือ

(1) ชื่อ นามสกุล
(2) วันเดือนปีเกิด
(3) เพศ
(4) เบอร์โทรศัพท์มือถือ
(5) อีเมลแอดเดรส
(6) เลขบัตรประจำตัวประชาชน
(7) ส่วนสูง
(8) น้ำหนัก
(9) ความดันเลือด
(10) น้ำตาลในเลือด (FBS) หรือน้ำตาลสะสม (HbA1C)
(11) ไขมันเลว (LDL)
(12) ตัวชี้วัดการทำงานของไต (eGFR หรือ Cr)
(13) เอ็นไซม์แสดงการทำงานของตับ (SGPT)
(14) การวินิจฉัย (ชื่อ) โรคทุกโรคที่รักษาอยู่ในปัจจบัน
(15) อาการป่วยทุกอาการที่มีในปัจจุบัน
(16) ยาทุกตัวที่กินอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งขนาด และวิธีกิน
(17) ผลการตรวจจำเพาะต่างๆ ถ้ามี เช่น ผลการตรวจเลือดอื่นๆ ภาพเอ็กซเรย์ปอด ผลตรวจสมรรถนะหัวใจ (EST) คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ผลการตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยคอมพิวเตอร์ (CTA) ผลการตรวจสวนหัวใจ (CAG) ผลการตรวจผลการตรวจ CT สมอง โดยกรณีเป็นภาพหากส่งเป็นไฟล์ดิจิตอลได้ก็จะเป็นพระคุณ แต่หากส่งไม่ได้จะเอาโทรศัพท์ถ่ายแล้วส่งไฟล์รูปมาก็ได้ กรณีเป็นใบรายงานผลให้เอาโทรศัพท์ถ่ายใบรายงานแล้วส่งไฟล์มาก็ได้
(18) คำบอกเล่าลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน เน้นที่
– การบรรยายลักษณะอาหารที่กินแต่ละมื้อทุกมื้อ
– การออกกำลังกายที่ทำในแต่ละวัน
– วิธีจัดการความเครียดที่ใช้อยู่ประจำ
– ความกังวล (concern) ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ หากมีอยู่ในใจก็ให้แจ้งมาให้หมอสันต์ทราบด้วย

     12. สถานที่เรียน

คือ เวลเนสวีแคร์เซ็นตเตอร์ (มวกเหล็ก-เขาใหญ่) ตามแผนที่ข้างล่างนี้

(รายละเอียดอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความจำเป็นและความต้องการของผู้เรียนแต่ละแค้มป์)

13. วันเวลาสำหรับแค้มป์ RDBY-24

วันที่ 15-18 กย. 65)

14. จำนวนที่รับเข้าแค้มป์ RDBY-24

รับจำนวนจำกัด 15 คน

(นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)

[อ่านต่อ...]

22 สิงหาคม 2565

ทนไปหาหมอที่รพ.ต่อไปไม่ไหว คนแยะ หมอไม่มีเวลาคุยด้วย และให้ยาซ้ำซาก คิดจะซื้อยามาฉีดเอง

(ภาพวันนี้: กว๊านพะเยา)

ขอโทษที่รบกวนนะคะ 

คือเพื่อนเป็นผู้ชาย  ป่วยเป็นโรคไต แต่ไม่ได้ฟอกไต  ใช้วิธีคุมอาหาร  ตอนนี้มีปัญหาด่วน จะขอความกรุณาคุณหมอแนะนำนะคะ  ตามที่เพื่อนบอกมาคือเหตุการณ์เป็นดังนี้โดยสรุป

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วเกิดเป็นงูสวัด ขึ้นที่ใบหน้า มีแพทย์อาวุโสท่านหนึ่งที่รู้จักแนะนำให้ไปซื้อยาต้านไวรัสงูสวัดมากิน 5 มื้อต่อวัน เป็นความผิดของเราเองที่ลืมบอกว่าเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ไปซื้อยาตามที่สั่งมาและเริ่มกินไปได้ 1 วัน รู้สึกไม่สบายมาก รีบไปหาหมอที่โรงพยาบาล … หมอเลยขอดูยาและบอกว่าผู้ที่เป็นโรคไตห้ามกินยาชนิดนี้ซึ่งมัน Overdose มันเป็นอันตรายต่อไตเลยเช็คเลือด ผลออกมาว่า creatinine ขึ้นเป็น 2.75 หมอปรับยาต้านไวรัสให้ใหม่ แบ่ง dose ตามสัดส่วนของ GFR สัปดาห์ที่ 2  งูสวัดหายไปเช็คเลือดใหม่ ค่า creatinine เหลือ 2.2 สัปดาห์ที่ 3 ไปเช็คเลือดใหม่ค่า creatinine ปัจจุบันขึ้นเป็น 2 .54   สาเหตุเนื่องจากไปรับประทานแยม มะม่วงหาวมะนาวโห่จำนวนมาก(หมอบอก)

แต่เรื่องโลหิตจาง มีค่า Hb = 8 ค่า  Hct = 24 ค่า RBC Count =2.6 อาการปัจจุบันอ่อนเพลียไม่มีแรงแบบสุดๆ ฉีดยากระตุ้นเม็ดเลือดมาเป็น 10 ปี 6 ปีหลัง ใช้ยาฉีด NESP แบบ 30 แล้ว 4 ปีต่อมาใช้ยาฉีด NESP ขนาด 40 มาจนถึงปัจจุบัน

    เนื่องจากหมอที่โรงพยาบาล … ไปกี่ทีก็ให้ซื้อยาฉีดมาตุนครั้งละ 6 เข็ม 10 เข็ม และสามารถนำไปฉีดเองโดยให้พยาบาลฉีดเดือนละ 1 ครั้ง หรือจะฉีดเองก็ได้ คำถามมีอยู่ว่าตอนนี้ค่าของเลือดมันไม่ขึ้นมาเลยมันควรจะต้องเพิ่มความเข้มข้นของยาฉีดขึ้นมาอีกระดับหรือไม่? หรือฉีด NESP 40 ถี่ขึ้นเป็น 3 สัปดาห์ต่อครั้งแทนที่จะเป็น 1 เดือน?

ปัญหาที่ไม่กลับไปโรงพยาบาล … เพราะ

(1) เป็นคลินิกนอกเวลาซึ่งมีคนจำนวนมากมายและ

(2) แพทย์ผู้ตรวจ แพทย์ไม่ค่อยมีเวลาพูดคุยอะไรมากนัก สั่งยาลดความดันและยาฉีดกระตุ้นเม็ดเลือดเป็นแบบนี้มา ตลอด 6-7 ปีที่รักษาอยู่  อาจเป็นเพราะมีคนไข้มากมายจนล้น เลยไม่ค่อยมีเวลาก็เป็นได้

เลยตัดสินใจไม่ไปรักษาต่อ 4 ปีมาแล้ว เพราะไปทุกครั้งก็เหมือนเดิม จึงซื้อยากระตุ้นเม็ดเลือด ให้พยาบาลฉีดทุกเดือน

   สรุปปัญหาก็คือจะเพิ่มความถี่ให้เร็วขึ้นในการฉีดยากระตุ้นเม็ดเลือดหรือเพิ่มขนาดความเข้มข้นให้มากกว่า 40 ของยา กระตุ้นเม็ดเลือดไปที่ ขนาดไหน

ขอบคุณค่ะ

……………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าทนไปหาหมอที่รพ.ต่อไปไม่ไหวแล้ว คนแยะ หมอไม่มีเวลาพูดด้วย และจ่ายยาซ้ำซากมาหลายปี ตัดสินใจซื้อยามาฉีดเองดีกว่า แค่อยากรู้ว่าต้องฉีดอย่างไร ถ้าไม่ได้ผลต้องเพิ่มเป็นขนาดเท่าใด หมอสันต์ช่วยบอกหน่อย ตอบว่า โห..หมอสันต์ตอบให้ไม่ได้ดอกครับ เพราะ

1.1 ในด้านหนึ่ง ขึ้นชื่อว่ายาก็คือสารพิษ การใช้ต้องอยู่ในมือของคนที่รู้จักพิษของมันดี ซึ่งก็คือหมอ การแนะนำหรือสนับสนุนให้คนไข้ซึ่งไม่รู้จักพิษของยาดีพอเอายามากินมาฉีดด้วยตัวเอง ไม่รู้ว่าจังหวะไหนต้องฉีดเพิ่มฉีดลดเท่าใด เดี๋ยวก็คนไข้ก็จะได้เจอพิษของยาเด๊ดสะมอเร่ดอก หมอสันต์แนะนำไม่ได้ดอกครับ เพราะมันผิดกฎหมาย และผิดหลักจริยธรรมการประกอบวิชาชีพข้อแรกเลยเชียว คือหลักไม่ทำร้ายคนไข้ (Non maleficence)

หมอสันต์แนะนำให้ได้แต่การจัดการโรคในส่วนที่ผู้ป่วยพึงทำได้ด้วยตนเองเช่นการเปลี่ยนอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการความเครียดเป็นต้น

ในส่วนของยานั้นหมอสันต์ก็แนะนำได้แต่การลด หรือเลิก ยาที่กำลังทำให้เกิดพิษหรือผลข้างเคียง หรือยาที่ไม่จำเป็นต้องใช้แล้ว หรือหมดความจำเป็นต้องใช้เมื่อการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตได้ผลดีแล้ว เช่นในกรณีคนไข้ความดันสูงที่เปลี่ยนอาหารจนความดันลดลงแล้ว หมอสันต์แนะนำได้ว่าควรลดหรือเลิกยาความดัน หรือเช่นคนไข้เบาหวานที่เปลี่ยนอาหารจนน้ำตาลในเลือดลดลงแล้ว หมอสันต์แนะนำได้ว่าควรลดหรือเลิกยาลดน้ำตาลในเลือด หรือเช่นคนไข้โรคไขมันในเลือดสูงที่เปลี่ยนอาหารจนไขมันในเลือดลดลงแล้ว หมอสันต์ก็แนะนำได้ว่าควรลดหรือเลิกยาลดไขมัน อย่างนี้เป็นต้น

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าใครอยากจะลดหรือเลิกยาอะไรแล้วเขียนมาถามแล้วหมอสันต์จะแนะนำได้ทันที เพราะในชีวิตจริงหมอสันต์ไม่ได้แนะนำให้ลดหรือเลิกยาทางไปรษณีย์โดยไม่รู้รายละเอียดของคนไข้ จะแนะนำการลดและเลิกยาก็ต่อเมื่อมาเป็นคนไข้ที่มาเข้าแค้มป์กับหมอสันต์ได้ตรวจร่างกายกันอย่างละเอียดและได้มากินมานอนอยู่ด้วยกันหลายวันแล้วเท่านั้น หรืออย่างน้อยก็ได้มาเข้าคลินิกของหมอสันต์ซึ่งมีรายละเอียดประกอบการตัดสินใจอย่างครบถ้วนอยู่ในมือแล้วเท่านั้นจึงจะแนะนำการลดหรือเลิกยาอย่างปลอดภัยได้

ส่วนการจะให้คนไข้เริ่มต้นกินยาอะไรก็ตามนั้น ไม่ใช่สิ่งที่หมอสันต์ถนัด หากมีคนไข้คนไหนที่จำเป็นต้องเริ่มต้นกินหรือฉีดยาอะไรหมอสันต์จะส่งคนไข้นั้นไปหาแพทย์เฉพาะทางที่เขาถนัดการใช้ยานั้นๆ เพราะหมอสันต์ไม่สันทัดการสั่งใช้ยาใดๆทั้งสิ้น แต่สันทัดการสอนให้คนไข้เปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเองจนลดหรือเลิกยาจนหมดเกลี้ยงได้

1.2 ในอีกด้านหนึ่ง ที่คุณพี่พูดว่า การไปโรงพยาบาลมันไม่คุ้มค่า มันไม่คุ้มเวลา มันไม่ไหว เพราะคนไข้แยะ หมอไม่มีเวลาพูดด้วย และจ่ายยาซ้ำซากมาหลายปี ตรงนี้ผมเข้าใจและเห็นใจ แต่มันเป็นปัญหาระดับชาติที่ยังไม่มีใครมีปัญญาแก้ไขได้ ตัวหมอสันต์ก็ไม่มีปัญญา อย่างมากที่ทำได้ก็แค่พยายามสอนคนให้รู้วิธีใช้ชีวิต วิธีกิน วิธีอยู่ วิธีดูแลตัวเอง จะได้ไม่ต้องป่วย จะได้ไม่ต้องไปออกันที่โรงพยาบาล ทำได้แค่นี้

2. ไหนๆคุณพี่ก็เขียนมาแล้ว ถึงจะตอบข้อที่คุณพี่อยากให้ตอบไม่ได้ ผมแถมให้ข้อหนึ่งก็แล้วกัน ว่าในการจัดการโรคไตเรื้อรังนั้นขอให้แบ่งเป็นสองส่วนคือ

2.1 ส่วนที่ต้องจัดการโดยแพทย์ อันได้แก่

(1) การประเมินระดับเหล็กในร่างกายเพื่อวินิจฉัยแยกโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

(2) การตรวจเลือดเพื่อคัดกรองโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง โดยเฉพาะโรค SLE และภาวะไตอักเสบ (glomerulonephritis) ซึ่งเป็นกรณีที่จะได้ประโยชน์จากยาสะเดียรอยด์

(3) การตรวจประเมินการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะและนิ่วในทางเดินปัสสาวะ และความพิการของระบบไตและหลอดปัสสาวะ ซึ่งเป็นเรื่องแก้ไขได้

(4) การตรวจหาภาวการณ์ติดเชื้อซ้ำซากในระบบทางเดินปัสสาวะ

(5) การประเมินโรคเบาหวานและความดันเลือดสูง ซึ่งเป็นสาเหตุของไตพิการที่บ่อยที่สุด

(6) การแก้ไขภาวะพร่องวิตามินดี. ภาวะพร่องฮอร์โมนพาราไทรอยด์

(7) การใช้ยากระตุ้นไขกระดูก

(8) การทดแทนเกลือแร่ที่ขาด

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของแพทย์ คุณพี่ต้องปล่อยให้แพทย์เขาทำของเขาไป

2.2 ส่วนที่จัดการได้ด้วยตัวผู้ป่วยเอง อันได้แก่

(1) การกินอาหารในแนวพืชเป็นหลักหรือมังสวิรัติ เพราะหลักฐานใหม่พบว่าให้อัตรารอดชีวิตดีกว่ากินอาหารแบบกินไม่เลือกถึง 5 เท่า ตรงนี้เป็นเรื่องใหม่ หมอเองก็มีความเห็นไม่ลงรอยกัน ผู้ป่วยต้องตัดสินใจเอง

(2) การออกกำลังกาย

(3) การระวังไม่ให้ร่างกายตกอยู่ในภาวะขาดน้ำ (dehydration) อย่าซี้ซั้วกักน้ำด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นโรคไตแล้วกลัวบวม ไตเลยพังไปเลย ที่ถูกต้องคือโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 – 4 นี้เป็นระยะที่ยังไม่บวมหรอก ต้องให้ร่างกายได้น้ำไหลเวียนในร่างกายเพียงพอ ไตจึงจะเป็นปกติอยู่ได้

(4) อย่าไปรับการฉีดสารทึบรังสี (radiocontrast agents) เพื่อการวินิจฉัยโน่นนี่นั่นโดยไม่จำเป็น

(5) อย่ากินหรือฉีดยาที่มีพิษต่อไตโดยไม่จำเป็น เช่นยาแก้ปวดแก้อักเสบในกลุ่มกลุ่ม non steroidal antiinflammatory drugs (NSAID) และกลุ่ม COX2 inhibitors เช่นยา Voltaren ยา Arcoxia หรือยาปฏิชีวนะในกลุ่ม aminoglycosides หรือยาลดการหลั่งกรดเช่น omeprazole เป็นต้น ถ้าหมอคนไหนจะให้ยาอะไร ควรปรึกษาหมอไตเจ้าประจำทุกครั้ง

ทั้ง 5 ข้อหลังนี้คุณพี่ให้ผู้ป่วยลงมือปฏิบัติกับตัวเองได้ทันที ไม่ต้องรอให้แพทย์สั่ง

ผมคงตอบคุณพี่ได้เท่านี้ ขออำไพที่สิ่งที่คุณพี่เจาะจงถามมาผมตอบให้ไม่ได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

21 สิงหาคม 2565

เมื่อหลงทางในชีวิต ให้ตามตัวชี้นำเล็กๆนี้ไป

(ภาพวันนี้: เทียนหยด)

หนูชื่อพญ. … เป็นพชท.2 อยู่ที่รพช. … จังหวัด … ไม่ได้เคยอ่านบล็อกอาจารย์มาก่อน แต่พี่พยาบาลที่เห็นหนูมีความทุกข์แนะนำให้หนูเขียนมาหาอาจารย์ หนูจำใจต้องมาเป็นพชท. อยู่ห่างไกลเพราะโชคไม่ดีตอนจับฉลาก ก่อนออกมาใช้ทุนก็ พูดง่ายว่าหนูอกหักมาด้วย ก็ไม่ได้เสียใจฟูมฟายอะไรนักหรอก เพราะเขาก็ไม่ใช่ว่าเป็นเพื่อนที่ดีอะไร คบกับเขาหนูมีแต่ทุกข์ แต่ออกมาเป็นพชท.หนูยิ่งพบว่าตัวเองทุกข์หนัก หนูเข้าใจว่ามันเป็นความเหงา ว้าเหว่ ขาดเพื่อนที่เข้าใจ อยากจะกลับบ้านไปอ้อนแม่ แต่แม่ก็เพิ่งแต่งงานใหม่ (พ่อเสียชีวิตไปหลายปีละ) มีบ้างเวลาดูคนไข้แล้วช่วยเขาได้ก็มีความอิ่มใจเล็กๆ แต่พอวันหยุดก็เหงาดับจิต เพื่อนๆพชท.เขาก็ไปแต่งงานหรือกลับบ้านไปอ้อนแม่กันหมด เหลือแต่หนูอยู่เฝ้าบ้านพักอยู่คนเดียว

หนูกำลังหลงทางชีวิต

………………………………………………………………

ค่อนข้างจะเป็นจดหมายไร้สาระ แต่ว่าบล็อกนี้ปวารณาตัวไว้สิบกว่าปีมาแล้วว่าจะให้ priority แก่แพทย์และพยาบาลที่มีปัญหาเป็นลำดับสูงสุดก่อน ส่วนผู้ป่วยผู้สูงวัยซึ่งเป็นแฟนประจำของบล็อกนั้นเป็นลำดับถัดไป

ประเด็นที่ 1. เมื่อหลงทางแล้วจะทำไงดี

สมัยก่อนเมื่อผมยังหนุ่มอายุแค่ 17 ปี ชอบไปเดินป่าเป็นลูกกระเป๋งของครูซึ่งเป็นนายพรานล่าสัตว์เป็นอาชีพ (หมอสันต์นี้เป็นคนทำบาปมาก่อน) ป่าที่สัตว์แยะที่สุดในสมัยโน้นคือป่าดอยผ้าห่มปก (จ.เชียงราย) ไม่ใช่สัตว์แยะอย่างเดียว ผีสางนางไม้ก็แยะด้วย มีอยู่ครั้งหนึ่งปลายหน้าฝน เราไปกันสามคน กะว่าจะเดินกันแค่ 3 วันแล้วก็จะลงจึงเตรียมสะเบียงไปแค่นั้น แต่ชื่อของดอยมันก็บอกอยู่แล้ว คือบางส่วนของมันเสียบอยู่ในก้อนเมขตลอดกาล เราเดินขึ้นไปถึงดอยลูกหนึ่งซึ่งบนแปดอยราบเรียบคล้ายภูกระดึงแต่ว่าหมอกครอบคลุมจัดตลอดกาลชนิดที่ยื่นมือกางนิ้วออกไปข้างหน้าจะมองไม่เห็นนิ้วของตัวเอง และเมื่อเดินอยู่ในหมอกได้ค่อนวัน ครูก็ชวนให้วางเป้นั่งพัก และบอกผมกับเพื่อนซึ่งเป็นลูกกระเป๋งว่า

“เราหลงทางเสียแล้ว”

ครูบอกยุทธวิธีขณะนั่งมวนบุหรี่สูบสายตายครุ่นคิดว่า

“ฝนเพิ่งหยุดไปไม่นาน ถ้าเราเดินตามรอยน้ำเก่าๆเล็กๆไป มันจะค่อยๆรวมกันไหลลงไปหาธารเล็กๆ หากเราเจอธารเล็ก เราก็ตามมันไปจนถึงธารที่มีน้ำจริงๆ แล้วเราก็ตามน้ำลงไป มันจะพาเราลงไปต่ำพอที่จะหลุดลงไปต่ำกว่าก้อนเมฆ แล้วเราก็จะมองเห็น แล้วเราก็จะหาทางกลับบ้านได้”

แน่นอนว่าด้วยยุทธวิธีของครูซึ่งเป็นพรานอาชีพ แม้หลงทางแล้วเราก็ยังหาทางกลับบ้านจนพบ

ที่ผมเล่าเรื่องนี้ก็เพื่อจะบอกคุณหมอว่า ในการดำเนินชีวิตนี้ มันจะมีตัวชี้นำเล็กๆตัวหนึ่ง คือความสุขเล็กๆ ความอิ่มใจเล็กๆ ความภาคภูมิใจเล็กๆ ความสนุกเล็กๆ ความกระดี๊กระด๊าเล็กๆ ความตื่นเต้นมหัศจรรย์เล็กๆ เมื่อหลงทางในชีวิต ให้ตามรอยของตัวชี้นำเล็กๆนี้ไป ไม่ต้องไปสนใจสังคม หรือสายตาคาดหมายของคนอื่น หรือการประกวดประขันเอาชนะคะคานกับเพื่อนร่วมรุ่น หรือตัวเลขในบัญชีธนาคาร ทั้งหมดนั้นไร้สาระ ตอนนี้เราตัวคนเดียวและกำลังหลงทาง ให้ทำแค่ตามตัวชี้นำเล็กๆนี้ไป แล้วมันจะพาเราไปหาทางที่ถูกเอง

ประเด็นที่ 2. ตอนนี้เราอยู่คนเดียว เจ้าเพื่อนเลวที่ทำให้เราทุกข์นั้นคือใครกันนะ

เดิมเรามีแฟน เราเป็นทุกข์ พูดแบบบ้านๆว่าเพราะแฟนของเราเขาเป็นคนเลว ตอนนั้นเราอยู่สองคน เราเป็นทุกข์ เราโทษเขา มันฟังดูมีเหตุผลว่าการมีเพื่อนเลวทำให้เราเป็นทุกข์ แต่ตอนนี้เราอยู่คนเดียว แล้วเราเป็นทุกข์ เจ้าเพื่อนเลวที่ทำให้เราเป็นทุกข์ครั้งนี้มันคือใครกันนะ นี่เป็นปริศนาธรรมที่คุณหมอต้องขบให้แตกก่อนที่จะเดินหน้าไปกับชีวิต

สุดยอดปรารถนาของการเกิดมามีชีวิตของทุกชีวิตก็คืออิสรภาพหรือ freedom นิยามง่ายๆว่าคือเมื่อได้อยู่คนเดียวโดยไม่ต้องพึ่งพาใครแล้วก็ยังเป็นสุขอยู่ได้ มีคำพูดอีกคำที่ความหมายคล้ายๆกันคือ “วิเวก” หรือ solitude ซึ่งมีความหมายตรงกันข้ามกับความเหงาหรือ loneliness ซึ่งนิยามว่าเมื่ออยู่คนเดียวแล้วเป็นทุกข์ ต้องได้อยู่กับคนอื่นจึงจะหายทุกข์ ตอนนี้คุณหมอได้อยู่คนเดียวแล้ว ไม่ต้องพึ่งพาใคร มีงานทำ มีเงินเดือนกิน เรียกว่าบนเส้นทางการแสวงหาอิสรภาพคุณหมอมาได้ค่อนทางแล้ว แต่กลับประสบกับความเหงารุนแรง โหยหาการได้แอบอิงพึ่งพิงคนอื่น เท่ากับว่าตอนนี้ชีวิตมาถึงทางสองแพร่ง คือจะยอมเชื่อความเหงาไปค้นหาคนอื่นคือใครสักคนให้เราเกาะหรือพักพิงให้หายเหงา หรือจะเชื่อมั่นในอิสรภาพ เดินหน้าต่อไปแล้วเรียนรู้ความวิเวกคือการมีความสุขเมื่อได้อยู่คนเดียวให้สำเร็จ แน่นอนผมแนะนำอย่างหลัง แต่มันเป็นชีวิตของคุณหมอ คุณหมอเป็นคนตัดสินใจเลือกเอง ไม่ใช่ผม

กลับเข้าประเด็นที่ผมตั้งไว้ เมื่อเราอยู่คนเดียวแล้วเป็นทุกข์ แล้วใครกันนะที่เป็นเพื่อนเลวคอยก่อทุกข์ให้เราแม้ขณะที่เราอยู่คนเดียว คำตอบนั้นไม่ยาก คุณหมอก็เดาได้ ก็คือ “ความคิด” ของเรานั่นไง ที่ทำหน้าที่เป็นเพื่อนเลวคนนี้ เมื่อรู้แล้ววิธีแก้ก็ชัดอยู่แล้ว ก็แค่สลัดเจ้าเพื่อนเลวคนนี้ทิ้งไปเสีย ดังนั้นหัวใจของเรื่องคือการรู้จัก “วางความคิด” คุณหมอไม่เคยอ่านบล็อกของผม ให้ค้นหาบทความเก่าๆเรื่องวิธีวางความคิด ผมเขียนไว้แยะมาก อ่านแล้วฝึกทำตาม หากทำแล้วไม่สำเร็จ ชีวิตยังเป็นทุกข์ ให้หาเวลาสี่ห้าวันมาเข้า Spiritual Retreat ผมให้คุณหมอเข้าเรียนฟรี แค่บอกชื่อและบอกย้ำกับเจ้าหน้าที่ว่าผมสัญญาไว้ว่าจะให้คุณหมอเข้าเรียนฟรี

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

20 สิงหาคม 2565

จดหมายจากแพทย์ผู้คิดตั้งต้นชีวิตใหม่

สวัสดีครับอาจารย์ 

ผมติดตามอ่านบทความของอาจารย์มานาน ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้สึกว่าได้ประโยชน์ นำมาใช้ได้กับทั้งตนเอง และคนไข้ด้วยครับ โดยเฉพาะเทคนิคการอ่าน paper ที่อาจารย์สอนแบบอ่านแล้วเข้าใจง่าย (+วิธีหา paper อ่านโดยไม่เสียตังค์ อิอิ) สนุกด้วยครับ เลยตั้งใจเขียน email มาขอบคุณเป็นลายลักษณ์อักษรครับ 

ขออนุญาตเล่าประวัติตัวเองสั้น ๆ ประวัติผม Drama มากครับ อาจารย์ ฮ่า ๆ พลิกผันไปมา จากเด็กเรียนทั่วไปที่สอบติดคณะแพทย์ จากนั้นก็ใฝ่ฝันอยากจะเป็น transplant surgeon แต่ฝันสลายเพราะ burn out เสียก่อนตอนเรียน gen Sx แต่ก็กัดฟันเรียนจนจบนะครับ สอบบอร์ดผ่านด้วย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เป็น Surgeon เพราะทำไม่ไหว เลยหันเหตัวเองไปทำงานบริษัทยาอยู่สิบกว่าปี เครียดมากครับ เพราะ commercial pressure หนักมาก ฮ่า ๆ สุดท้ายลงเอยด้วย “ซึมเศร้า” เรียบร้อย (เคยต้อง admit เพราะ high risk for suiside เลยได้ประสบการณ์การนอนโรงพยาบาลจิตเวชที่ต้องโดนค้นตัวก่อนนอนโรงพยาบาล และถ้าต้องการสายฉีดล้างก้นต้องไปขอยืมที่หัวหน้าพยาบาล! เป็นประสบการณ์ที่ลืมไม่ลงและไม่อยากกลับเข้าไปอีกครับ) สุดท้ายเลยต้องลาออกมา กลับมาเป็นแพทย์ GP ทั่วไป ตอนนี้ทำมาได้เกือบสองปีแล้วครับ

ทีนี้ก็เลยต้องฟื้นฟูความรู้ DM HT DLP และอีกสารพัดโรค รวมถึงทักษะทางคลินิกทั้งหลายกลับมาใหม่ ก็ได้บทความของอาจารย์นี่ล่ะครับ เป็น “ทางลัด” ในการฟื้นฟูวิชาการ ต้องกราบขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงจริง ๆ ครับ

โดยรวมแล้วตอนนี้มีความสุขดี เงินน้อยพอประทังชีวิต แต่ก็อยู่ได้ครับ ตั้งใจจะอ่านบทความของอาจารย์ให้หมด ! (แต่ดูแล้วมีเป็นพัน ๆ เลย คงอีกหลายเดือน แต่บ่ยั่นครับ เพราะว่าเป็นคนบ้าตำรามาแต่ไหนแต่ไร ฮ่า ๆ) เพื่อจะฟื้นความเป็นแพทย์กลับมาให้ได้ครับ 🙂 อ่านไปฝึกไปก็รู้สึกว่าน่าจะต่อยอดอีกหน่อย เดี๋ยวผมจะเก็บตังค์และหาทางไปเรียนกับอาจารย์เรื่องการฟื้นฟูและดูแลโรคเรื้อรังต่าง ๆ ให้ได้สักครั้งหนึ่งครับ

สุดท้ายนี้ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิิ์ทั้งหลายจงดลบันดาลให้อาจารย์และครอบครับมีความสุข สุขภาพแข็งแรงตลอดไปครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

นพ. …

……………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ขอบคุณคุณหมอมากที่เขียนมาเล่าให้ฟัง และขอต้อนรับกลับมาสู่อาชีพแพทย์ใหม่อีกครั้ง

2.. ไหนๆคุณหมอเล่าอดีตให้ฟังแล้ว ผมขอแทรกเสียหน่อยว่าคนเรานี้ไม่ว่าจะเรียนมาทางไหนประกอบอาชีพอะไร การเคยเป็นโรคซึมเศร้าและเคยมีความคิดฆ่าตัวตายมาก่อนไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ ณ โมเมนต์นี้เราจะดำเนินชีวิตอย่างไรให้มีความสงบเย็นและสร้างสรรค์ ทีละโมเมนต์ ทีละโมเมนต์ โรคซึมเศร้าก็ดี โรคจิตสองขั้วก็ดี โรคจิตย้ำคิดย้ำทำก็ดี ล้วนเป็นสมมุติบัญญัติที่เราตั้งขึ้นมาเรียกความคิดของเราเองที่มุ่งปกป้องเชิดชูสำนึกว่าเป็นบุคคลหรือ “อัตตา” ของเราเองทั้งนั้น แล้วในการเกิดมาเป็นคนนี้ มีใครหรือที่จะไม่มีความคิดปกป้องเชิดชูอัตตาตัวเอง มันก็มีเหมือนกันหมดทุกคนแหละ มากหรือน้อย ค่อยหรือแรง แตกต่างกันไป คุณหมออย่าไปให้ราคากับอดีต ความเชื่อที่พูดกันบ่อยมากว่าคนเราทุกคนเกิดมาชดใช้กรรมเก่านั้นเป็นความจริงเฉพาะคนที่ลืมอดีตไม่เป็น แต่สำหรับคนที่ลืมอดีตมาอยู่กับแต่ที่นี่เดี๋ยวนี้ได้ กรรมเก่าทำอะไรเขาไม่ได้หรอก เพราะกรรมเก่านั้นตามเขามาในรูปของความคิดที่มากระตุ้นย้ำให้เขาสนองตอบแบบอัตโนมัติซ้ำซากโดยเขาเองไม่รู้ตัว ถ้าเขาอยู่ที่เดี๋ยวนี้และตั้งหลักรับรู้ทุกความคิดที่โผล่ขึ้นมาที่เดี๋ยวนี้ได้และสนองตอบต่อแต่ละความไปอย่างมีสติไม่ใช่อย่างเป็นอัตนโนมัติ กรรมเก่าจะไปทำอะไรเขาได้

3.. ที่คิดจะหาความรู้โดยการคุ้ยบทความเก่าของหมอสันต์ขึ้นมาอ่านนั้นขอให้โชคดีนะครับ เพราะบางครั้งผมเองยังค้นหาบทความที่ผมเขียนไม่เจอ เพราะเขียนมาสิบกว่าปี มากกว่า 2000 บทความ ตัวผมเองไม่รู้ว่าเขียนเรื่องอะไรไว้บ้าง เพราะเป็นการเขียนแบบใครถามอะไรมาก็ตอบไป ผมเองจะหาบทความของตัวเองต้องไปอาศัยอากู๋ สมัยก่อนอากู๋ขึ้นมาให้ทันที แต่สมัยนี้อากู๋ไปขึ้นของคนอื่นที่เขาจ่ายเงินให้อากู๋ก่อน ผมจึงพึ่งอากู๋ได้น้อยลง

อย่างไรก็ตาม การจะฟื้นความเป็นแพทย์กลับมานั้นมันมีอยู่สามส่วน

ส่วนที่ 1. คือความรู้พื้นฐานทางการแพทย์ ส่วนนี้มันฟื้นฟูไม่ยาก เพราะมันเป็นหลักวิชาที่ตายตัวแล้ว หมายความว่ามันไม่เปลี่ยนแล้ว กายวิภาค สรีรวิทยาของร่างกายที่สรุปไว้เมื่อหลายสิบปีก่อนอย่างไร ทุกวันนี้ก็ยังใช้ข้อสรุปอย่างนั้น

ส่วนที่ 2. คือความรู้เรื่องการจัดการโรคเรื้อรัง อันนี้แหละที่คุณหมอต้องระวังไม่พลัดหลงไปฟื้นผิดที่ ความเป็นจริงก็คือวงการแพทย์กำลังหลงทางในการรักษาโรคเรื้อรัง ลองไล่ดูไปเถอะ อัตราความสำเร็จในการรักษาโรคอ้วนทุกวันนี้คือ 5% ความสำเร็จในการรักษาโรคเบาหวานคือติดลบ หมายความว่ายิ่งรักษาไป จำนวนคนเป็นเบาหวานยิ่งมากขึ้น ความสำเร็จในการรักษาโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคสมองเสื่อม และโรคไตเรื้อรังผมไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการให้ แต่ก็มีอัตราสำเร็จต่ำอย่างน่าใจหายไม่แพ้กัน มองในภาพรวมแล้วคุณหมอซึ่งเพิ่งมาจากภาคธุรกิจอาจจะฉงนว่า

“..ด้วยอัตราความสำเร็จที่ต่ำขนาดนี้ธุรกิจนี้มันอยู่ได้อย่างไร”

หิ หิ มันอยู่ได้ด้วยการประชุมแห่งเหตุ เราอย่าไปพูดถึงมันเลยเพราะมันไม่ใช่ประเด็นของเรา ประเด็นของเราคือในเมื่อการรักษาโรคเรื้อรังที่ผ่านมามันล้มเหลว หากเราจะทำงานนี้ต่อไปเราต้องมองหา creativity ใหม่ๆ ซึ่งจุดที่ผมจะแนะนำคุณหมอก็คือให้เรียนรู้ creativity ใหม่ๆเอาจากคนไข้ ค่อยๆสรุปเอาความสำเร็จของคนไข้คนหนึ่งที่เทียบเคียงกับหลักฐานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในภาพใหญ่แล้วว่ามีความสอดคล้องกันไปใช้กับคนไข้อีกคนหนึ่งต่อๆกันไป ไม่ต้องไปพะวงกับวิธีจัดการโรคเรื้อรังแบบคลาสสิกตามตำราที่เน้นการใช้ยาผ่าตัดเคมีบำบัดฉายแสงดอก เพราะเราอยู่รู้เต็มอกแล้วว่านั่นมันได้ผลน้อย

ส่วนที่ 3. คือการจะเป็นแพทย์นี้ มันต้องใช้ชีวิตให้เป็นแบบอย่างแก่คนไข้ด้วย ตรงนี้ผมขอคัดลอกจดหมายของสมเด็จพระราชบิดา ลงวันที่ 4 กพ. 2471 ซึ่งที่มีไปถึงสมาชิกสโมสรแพทย์จุฬาฯ ความตอนหนึ่งว่า

“…ท่านไม่ควรเรียนวิชานี้ขึ้นใจแล้วใช้เป็นเครื่องมือหากินเท่านั้น ควรเก็บคำสอนใส่ใจและประพฤติตาม ผู้ที่จะบำบัดทุกข์ต้องเป็นตัวอย่างความประพฤติซึ่งจะนำมาแห่งสุขภาพ แพทย์ที่ไม่ประพฤติตามวิธีที่ตัวสอนแก่คนไข้แล้ว จะหาความไว้วางใจจากคนไข้ได้อย่างไร

แพทย์ผู้ที่ไม่เชื่อในสิ่งที่ตนทำ และพูดหลอกให้คนไข้เชื่อนั้น คือแพทย์ทุจริตที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “แคว๊ค” ถึงแม้ผู้นั้นจะได้รับการศึกษาวิทยาศาสตร์

ท่านนายแพทย์บุนเดสเซนได้กล่าวว่านักสุขวิทยาทุกคนจะต้องอยู่กินเป็นตัวอย่างสุขภาพ จึงจะเป็นพ่อค้าความสุขดี..”

ขอให้คุณหมอมีความสุขกับการกลับมาเป็นหมออีกครั้งนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

18 สิงหาคม 2565

งานวิจัยใหม่ของแพทย์ไทยบ่งชี้ว่าอัตราเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีน mRNA ในวัยรุ่นสูงกว่าที่เคยคิดราว 300 เท่า

(ภาพวันนี้: โรสแมรี่ เครื่องเทศฝรั่ง)

เรียนคุณหมอสันต์ที่นับถือ

ไม่รู้จดหมายนี้จะทำให้คุณหมอรำคาญหรือเปล่า คือหนูกับสามียังสรุปกันไม่ได้เรื่องที่จะต้องให้ลูกสาวอายุ 17 ปีฉีดวัคซีน mRNA เข็มสอง จนเครียดทุกวัน หนูอยากพาลูกไปฉีดวัคซีน เรามีลูกสาวคนเดียว ครั้งสุดท้ายคุณหมอตอบเรื่องการฉีดวัคซีนเด็ก คราวนี้หนูรบกวนคุณหมอตอบวัคซีนวัยรุ่นหน่อยเถอะนะคะ

…………………………………………………………………

ตอบครับ

ปกติผมโยนจดหมายถามเรื่องวัคซีนทิ้งหมดเพราะผมไม่มีข้อมูลอะไรจะมาตอบ แถมตอบไปทีก็เป็นการเรียกแขกพากันมารุมอัดกันที แขกที่ทักท้วงก็ไม่ใช่ใครที่ไหนไกล ล้วนเป็นกากี่นั้งในวงการแพทย์ด้วยกันนี่แหละจนภรรยาผมบ่นว่าให้ผมเลิกเขียนเรื่องวัคซีนเสียได้ไหม เพราะเรื่องวัคซีนนี้อย่าว่าแต่จะทำให้ผัวเมียตีกันได้เลย ยังทำให้แพทย์ตีกันได้ด้วย

แต่ผมหยิบจดหมายของคุณขึ้นมาตอบ เพราะตอนนี้มีหลักฐานใหม่เกิดขึ้น กล่าวคือแพทย์ไทยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งผมไม่รู้จักมักจี่เป็นการส่วนตัวสักคน รู้แต่ว่าทำงานอยู่ที่รพ.ภูมิพลบ้าง รพ.อายุรศาสตร์เขตร้อนบ้าง รพมิติเวชศรีนครินทร์บ้าง ได้ทำวิจัยระดับติดตามดูกลุ่มคนไปข้างหน้า (prospective cohort study) ในคนอายุ 13-18 ปี ที่ไม่เคยมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งได้รับวัคซีน mRNA เข็มสอง จำนวน 301 คนทั้งชายหญิง เจาะจงดูผลต่อหัวใจเท่านั้น งานวิจัยทำเสร็จแล้วกำลังรอตีพิมพ์แต่ได้เปิดเผยนิพนธ์ต้นฉบับใน preprint.com

สาระสำคัญของผลวิจัยนี้มีอยู่ว่าวัยรุ่นที่ได้วัคซีน mRNA เข็มสอง มีภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจเกิดขึ้น 29.24% เป็นหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ (tachycardia) 7.64%), หอบเหนื่อยหายใจไม่อิ่ม 6.64% ใจสั่น 4.32% เจ็บหน้าอก chest pain 4.32% ความดันเลือดสูง 3.99% มีเอ็นไซม์หัวใจเพิ่มสูงขึ้น 2.33% ในจำนวนนี้ที่ยืนยันว่าเป็นหัวใจอักเสบแน่นอนแล้ว 1 ราย ขณะที่อีก 2 รายสงสัยว่าจะเป็นเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และอีก 4 รายสงสัยว่าจะเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบระดับไม่มีอาการ (subclinical myocarditis) ผลวิจัยได้แสดงหลักฐานต่างๆรวมทั้งเอ็นไซม์หัวใจและภาพ cMRI ของกล้ามเนื้อหัวใจ คณะผู้วิจัยได้สรุปว่าวัยรุ่นที่ได้รับวัคซีน mRNA เกิดภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจขึ้นได้ตั้งแต่หัวใจเต้นเร็วจนถึงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดยที่อาการมักไม่มากและหายได้ใน 14 วัน และคณะผู้วิจัยได้สรุปแนะนำว่าวัยรุ่นที่ได้รับวัคซีน mRNA ทุกคนควรได้รับการตรวจติดตามดูหัวใจเพื่อเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน

นั่นเป็นรายงานของนิพนธ์ต้นฉบับนะ คราวนี้มามองจากมุมของหมอสันต์บ้าง

1.. งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยชิ้นแรกของโลกที่เป็นงานวิจัยสูงระดับ prospective cohort ที่ศึกษาผลกระทบต่อหัวใจของวัยรุ่นที่ได้วัคซีน mRNA งานวิจัยอื่นที่มีมาล้วนเป็นการย้อนหลังดู (retrospective) เช่นรวบรวมข้อมูลจากคำรายงานพิษของวัคซีนที่รายงานเข้ามาทางเว็บไซท์ (VAERS) ซึ่งความน่าเชื่อถือน้อยกว่ามาก ผมต้องขอชื่นชมแพทย์ไทยที่ได้สร้างสรรค์งานวิจัยนี้ขึ้นมา ผมเชื่อว่าทั่วโลกจะได้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยนี้ทันที ผมยกให้งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยระดับ world class ที่ใช้ state of the art ในการทำวิจัย กล่าวคือเมื่อจะศึกษากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ก็ใช้ทั้งเอ็นไซม์หัวใจและภาพหัวใจจาก cMRI ซึ่งพูดก็พูดเถอะ ตั้งแต่มีโรคโควิดมาและวัยรุ่นทั่วโลกก็ป่วยเพราะวัคซีนไปแยะแล้ว ผมยังไม่เคยเห็นสถาบันไหนในโลกคิดอ่านทำงานวิจัยระดับนี้ไว้เลยจนกระทั่งมาเห็นในงานวิจัยของแพทย์ไทยเราเองฉบับนี้

2.. กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) เป็นเรื่องซีเรียส หมอหัวใจทุกคนรู้ว่ากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเป็น 20% ของสาเหตุการตายกะทันหันในวัยรุ่นและคนวัยหนุ่มสาว ยังไม่นับว่ามันจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจพิการและการส่งผ่านไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติไป ซึ่งจะส่งผลเสียต่อไปในวันข้างหน้า

3.. รายงานการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังการได้วัคซีน mRNA เข็มสองในคนอายุ 12-39 ปีมีรายงานระดับคลาสสิกไว้ว่ามีอัตราเกิดประมาณ 12.6 คนต่อล้านคน หรือ 0.001% ซึ่งเป็นตัวเลขที่อยู่ในใจของผู้คนในแง่ของความปลอดภัยของวัคซีนตลอดมา แต่งานวิจัยของคณะแพทย์ไทยนี้รายงานว่าเกิดขึ้น 1 ใน 301 หรือ 0.33% มากกว่ากันราวสามร้อยเท่า หากเทียบกับข้อมูลจากทางอิสราเอลที่ศึกษาผลของวัคซีนในวัยรุ่นชายรายงานไว้ว่าเกิด 1 ราย :12,361 รายก็ยังต่างกันมากอยู่ดี นี่ยังไม่นับที่หัวใจอักเสบจนเอ็นไซม์หัวใจสูงขึ้นโดยไม่มีอาการ หากนับรวมก็เท่ากับว่าอัตราเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในรายงานของแพทย์ไทยนี้สูงถึง 2.33% ของผู้ได้รับวัคซีนทั้งหมด ถามว่าหมอสันต์เชื่อผลวิจัยอันไหนมากกว่ากัน ตอบว่าผมเชื่อผลวิจัยของแพทย์ไทยนี้มากกว่า ด้วยเหตุผลว่าข้อมูลอื่นๆก่อนหน้านั้นเป็นผลวิจัยแบบย้อนหลังไปดู (retrospective) และได้ตัดเอาผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่หลักฐานไม่พอพิสูจน์ว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่เกิดจากวัคซีนทิ้งหมด แต่งานวิจัยของแพทย์ไทยนี้เป็นงานวิจัยแบบตามไปดูข้างหน้า การคัดเลือกผู้เข้าวิจัย การกำหนดตัวชี้วัดและวิธีติดตามดูกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วไม่มีตกหล่น จึงเชื่อถือได้มากกว่า แม้ว่ายอดรวมผู้ป่วยจะน้อยกว่า แต่ยอดรวม 301 คนนี้ก็ถือว่ามากพอควรสำหรับงานวิจัยทางคลินิก ไม่ได้ขี้เหร่แต่อย่างใด อีกอย่างหนึ่ง หากสดับให้ดีในวงการแพทย์ทั่วโลกนี้เราก็จะได้ยินได้ฟังหลักฐานเล็กๆที่สอดคล้องกับงานวิจัยของแพทย์ไทยนี้มาบ้างแล้วก่อนหน้านี้ เช่นผมเคยอ่านในวารสาร VACCINE ว่าในช่วงเวลาแค่ 3 สัปดาห์ รพ.แห่งหนึ่งในอิสราเองได้รับผู้ป่วยหนุ่มๆอายุเฉลี่ย 22 ปีที่ป่วยด้วยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังจากได้วัคซีนไว้รักษาในรพ.ถึง 6 ราย เป็นต้น

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมอยากชี้ก็คือนี่เป็นงานวิจัยแรกที่แสดงว่ามีผู้ป่วยที่ได้วัคซีนแล้วเกิดกล้ามเนื้ัอหัวใจเสียหายจนเอ็นไซม์หัวใจสูงขึ้นนับรวมได้ถึง 2.33% ไม่มีงานวิจัยไหนได้เคยแสดงให้เห็นแง่มุมนี้มาก่อนเลย กล้ามเนื้อหัวใจที่เสียหายจนมีเอ็นไซม์ออกมาแม้จะยังไม่มีอาการอะไรนี้ มันจะทำให้เกิดอะไรกับหัวใจในอนาคตเมื่อผ่านไปแล้วสิบปียี่สิบปีบ้าง พระเจ้าเท่านั้นที่จะรู้ได้

4.. นับถึงวันนี้ยังไม่มีงานวิจัยแม้แต่ชิ้นเดียวที่จะบอกว่าการฉีดวัคซีนเข็มสองเข็มสามให้วัยรุ่นจะมีประโยชน์คุ้มค่ากับความเสี่ยงหรือไม่ เรารู้เพียงแต่ว่าวัคซีนปัจจุบันไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ BA.5 ได้อย่างมีนัยสำคัญ มีแต่ป้องกันการป่วยหนักถึงเข้าโรงพยาบาลได้ระดับหนึ่ง โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าประโยชน์ที่พึงได้จากวัคซีนนี้จะคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่เกิดจากวัคซีนหรือไม่

สรุปว่าในภาวะที่มีสามสาเหตุมาบรรจบกัน คือ

(1) ทุกวันนี้การติดเชื้อ BA.5 ไม่ได้เป็นความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอย่างมีนัยสำคัญในคนกลุ่มเด็กและวัยรุ่น

(2) มีความเสี่ยงเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีนเห็นๆจากงานวิจัยนี้ในอัตราสูงกว่าที่เคยเชื่อกันมาก

(3) ยังไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบประโยชน์และความเสี่ยงของวัคซีน ณ ปัจจุบันให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม

ในฐานะแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ผมจะเอาหลักฐานอะไรมาเชียร์ให้คุณพาลูกสาวไปฉีดวัคซีนละครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Mansanguan, S.; Charunwatthana, P.; Piyaphanee, W.; Dechkhajorn, W.; Poolcharoen, A.; Mansanguan, C. Cardiovascular Effects of the BNT162b2 mRNA COVID-19 Vaccine in Adolescents. Preprints 2022, 2022080151 (doi: 10.20944/preprints202208.0151.v1). Mansanguan, S.; Charunwatthana, P.; Piyaphanee, W.; Dechkhajorn, W.; Poolcharoen, A.; Mansanguan, C. Cardiovascular Effects of the BNT162b2 mRNA COVID-19 Vaccine in Adolescents. Preprints 2022, 2022080151 (doi: 10.20944/preprints202208.0151.v1).
  2. Witberg G, Barda N, Hoss S, Richter I, Wiessman M, Aviv Y, Grinberg T, Auster O, Dagan N, Balicer RD, Kornowski R. Myo- carditis after Covid-19 Vaccination in a Large Health Care Organization. N Engl J Med. 2021;385(23):2132-39.
  3. Kuntz J, Crane B, Weinmann S, Naleway AL; Vaccine Safety Datalink Investigator Team. Myocarditis and pericarditis are rare following live viral vaccinations in adults. Vaccine. 2018;36(12):1524-27.
  4. Abu Mouch S, Roguin A, Hellou E, Ishai A, Shoshan U, Mahamid L, et al. Myocarditis following COVID-19 mRNA vaccination. Vaccine. 2021;39(29):3790-93.
[อ่านต่อ...]

เรื่องไร้สาระ (29) เพชรบุรี, แสงกับเงา, ค้างคาวกับเหยี่ยว

ช่วงนี้ผมต้องเร่งเขียนสคริปต์วิดิโอให้ความรู้ที่จะเอาขึ้นเก็บไว้บนอินเตอร์เน็ทเป็นร้อยม้วน เขียนกันจนตาแฉะก็ไม่จบสักที หมอสมวงศ์เห็นคร่ำเคร่งจึงชวนว่าไปเที่ยวใกล้ๆอย่างเพชรบุรีกันไหม ไปพักบ้านญาติของเราเอง เขามีบ้านพักตากอากาศอยู่ที่ชะอำ ผมก็ว่าเออ ดีเหมือนกัน เพราะผมเกิดมายังไม่เคยเที่ยวเพชรบุรีเลย สมัยหนุ่มๆมักต้องไปประชุมแพทย์ที่ชะอำแต่ก็ได้อยู่ในโรงแรมประชุมเสร็จแล้วก็รีบกลับ

รอบนี้เรารวบรวมคณะสว.ได้ 7 คน เอารถส่วนตัวไปสองคัน ออกจากกรุงเทพแต่เช้า ไปพบกันที่ถ้ำเขาหลวง เพชรบุรี เมื่อเวลา 9.00 น.

ทางลงออริจินอลทางเดียวของถ้ำ ต้องรูดตามรากไม่ลงไปทางนี้

ใครว่าลิงไม่เอาไหน

เริ่มต้นก่อนขึ้นถ้ำก็เกิดความสับสนเล็กน้อย ชาวบ้านส่วนหนึ่งแนะนำว่าอย่าจอดรถตรงนี้ลิงมันซน ให้ไปจอดที่วัด ชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งแนะนำว่าจอดตรงนี้แหละแล้วเดินขึ้นไปเองเลยแป๊บเดียวก็ถึงแล้ว เขาอยากจะได้เงินจึงจะให้ไปนั่งรถที่วัด ผมฟังความสองข้างก็วินิจฉัยได้ทันทีว่าเป็นกรณีผลประโยชน์ไม่ลงตัวโดยมีลิงซนอยู่ตรงกลาง จะทำตามชาวบ้านค่ายไหนผมไม่มีปัญหาทั้งนั้น แต่ผมไม่อยากเสี่ยงกับลิง จึงเลือกไปจอดที่วัดและนั่งรถขึ้นถ้ำไป พอไปถึงที่เขาขายตั๋วปากทางเข้าถ้ำก็เห็นด้วยว่าลิงที่นี่ซนจริง ถังขยะทุกใบต้องหุ้มเกราะ แม้แต่ร้านขายของฝากและห้องส้วมก็ต้องกรุลวดตะแกรงแบบกรงน้องหมาไว้รอบด้านเหมือนช้อปปิ้งในกรง คนขายตั๋วบอกว่าตอนนี้ลิงมีเป็นหมื่นตัวแล้ว ค่าทำหมันตัวละ 2,000 บาทรัฐบาลมีงบทำหมันให้ปีละ 2 แสน สรุปว่าไม่ทันลิง เธอบอกว่ามันสืบพันธ์เร็วมาก ซึ่งผมก็เห็นกับตาว่ามันขยันสืบพันธ์จริงๆ หิ หิ

ผมคิดถึงคุณมีชัย (สีประกายรุ้ง) ท่านเคยเล่าเป็นโจ๊กให้ผมฟังว่าสมัยท่านเสนอนโยบายวางแผนครอบครัวครั้งแรก จอมพลผู้มีอำนาจสมัยนั้นไม่เอาด้วย เพราะท่านจอมพลไปเชื่อกุนซือคนหนึ่งที่ให้ข้อมูลเชิงทฤษฎีว่าถ้าประชากรเพิ่มถึงจุดหนึ่ง ธรรมชาติจะยุติการเพิ่มประชากรเอง คุณมีชัยก็พยายามไปหาว่าเขาเอาหลักฐานที่ไหนมาพูดอย่างนั้นนะ ในที่สุดก็ไปพบว่า อ้อ มันเป็นทฤษฎีการเลี้ยงแพะ ถ้าแพะมันหนาแน่นไม่มีกินมันก็จะมีลูกน้อย โชคดีที่คุณมีชัยไม่ยอมแพ้ทฤษฎีแพะ จึงออกจากราชการมาทำงานวางแผนครอบครัวแบบองค์กรเอกชนจนประสบความสำเร็จด้วยดีอย่างที่เห็น

มองลอดประตูกำแพงใต้กลองเข้าไป เห็นพระพุทธรูปสีทององค์ใหญ่

แต่ว่าประชากรลิงที่ถ้ำเขาหลวงนี้แม้แต่ทฤษฎีแพะก็คงใช้ไม่ได้ เพราะผมเห็นมีป้ายร้านขายอาหารลิงอยู่ ตราบใดที่ลิงยังมีอาหารกินจากนักท่องเที่ยว ตราบนั้นมันก็ขยันออกลูกไม่เลิก เรื่องลิงล้นหน้าถ้ำนี้จะไปจบที่ไหนผมก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ว่าผมเป็นแค่นักท่องเที่ยวนะ ปล่อยให้อบต.เขาจัดการของเขาไปดีกว่า

เริ่มเที่ยวกันที่ก้นถ้ำ

ถ้าผมจะเล่าตั้งแต่ปากถ้ำปัจจุบันเข้าไปท่านผู้อ่านจะเข้าใจความจริงผิดไป ผมจะไปเริ่มเล่าที่ก้นถ้ำดีกว่า เพราะเมื่อแรกเริ่มที่ร.4 สมัยที่ท่านทรงออกผนวชเป็นพระภิกษุและมาพำนักที่นี่นั้น ทางเข้าถ้ำนี้มีทางเดียว คือปล่องสูงที่ก้นถ้ำที่ผมถ่ายรูปให้ดูนี้ ทุกคนจะเข้ามาต้องไต่รากไม้ลงมาทางรูนี้รูเดียว พอเข้ามาแล้วก่อนจะไปถึงโถงถ้ำใหญ่มีคอคอดซึ่งร.4ทรงให้สร้างกำแพงแบบกำแพงเมืองขวางไว้ มีประตูแบบประตูเมือง เหนือประตูมีกลองใหญ่ มียามเฝ้า พอมีคนแปลกหน้าบุกเข้ามาก็มีการย่ำกลองให้คนในถ้ำรู้ ผมถ่ายรูปจากนอกประตูเมืองเข้ามา เห็นกำแพง เห็นประตู เห็นกลองเหนือประตู เมื่อมองผ่านประตูเมืองเข้าไปจะเห็นพระพุทธรูปสีทององค์ใหญ่ในโถงใหญ่ของถ้ำ

ความวิจิตรพิศดารสุดบรรยายในถ้ำเขาหลวง

โถงใหญ่ ที่เล่นแสงและเงา

สนุกกับการเล่นแสงและเงา

เมื่อเข้ามาในโถงใหญ่แล้ว ผนังถ้ำทุกด้านสวยงามและได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดีไม่มีที่ติ แสงสว่างที่ลงมาจากรูสูงเหนือศีรษะเปิดโอกาสให้เล่นสนุกกับการถ่ายรูปโดยเน้นแสงและเงา ในโถงนี้มีพระนอนใหญ่ พระนั่งใหญ่ และพระพุทธรูปเล็กๆอีกเพียบ แต่ไม่ได้ไปรบกวนความงามตามธรรมชาติของผนังถ้ำ ซึ่งวิจิตรพิสดารมาก มีซอกมีหลืบแยกแยะออกไป มีหินงอกหินย้อยให้จินตาการว่านี่เป็นช้างสามเศียร นี่เป็นพญานาค นี่เป็นเจ้าแม่กวนอิม ความสวยงามภายในถ้ำแห่งนี้ไม่อาจบรรยายออกมาเป็นภาษาพูดหรือเขียนได้ ท่านต้องมาชมเองเอง โดยท่านต้องมีเวลาพินิจพิเคราะห์ในรายละเอียด จึงจะซาบซึ้งถึงความงามของถ้ำนี้

นอกจากจะเพลิดเพลินกับการเล่นกับแสงและเงาแล้ว ผมถ่ายรูปของเล่นเชิงจินตนาการมาให้สองสามจุด จุดแรกคือที่รูปปูนปั้นของทหารองค์รักษ์นอนอยู่ ถ้าเล็งแสงและเงากับหลืบหินให้ดีจะเกิดภาพม้าขึ้นบนผนัง ทำให้จินตนาการได้ว่านั่นเป็นม้าของทหารองค์รักษ์ผู้นอนยามอยู่ตรงนี้

เมื่อเลือกมุมให้ดี จะเกิดเงาม้าประจำตัวขององค์รักษ์ที่นอนเฝ้าอยู่ตรงนั้นขึ้น

มองยังไงก็ได้ ให้เห็นคุณตาที่คนลือว่าออกมาช่วยชีวิตเด็ก

อีกจุดหนึ่งเป็นผนังถ้ำธรรมดาแต่เมื่อตั้งกล้องทำมุมนิดหนึ่งก็จะได้แสงเงาเป็นคุณตานั่งสมาธิอยู่ คนที่นี่เล่าขานกันว่าเมื่อไม่นานมานี้มีเด็กจะมากระโดดปล่องถ้ำฆ่าตัวตายที่นี่และมาลาตายกับพระพุทธรูปในนี้ทุกองค์ แล้วได้พบกับคุณตานุ่งขาวและได้คุยกันจนเด็กเปลี่ยนใจกลับบ้านแต่โดยดี คุณตาคนนั้นชาวบ้านบอกว่ามีคนได้พบหลายคน เป็นมอญที่ถูกกวาดต้อนมาแล้วถูกนำมาทำงานที่นี่ พอร.5 เลิกทาสแล้วก็ไม่ไปไหน ขออยู่ที่นี่ต่อ…ว่างั้น

อีกจุดหนึ่งเป็นปูนปั้นรูปฤาษีตาไฟนั่งสมาธิอยู่ในความมืด มีคนเอาผ้าดิ้นทองสีคล้ำๆไปห่มให้ ถ้าจัดแสงให้ดีถ่ายรูปออกมาจะได้ภาพสะท้องทองคำเปลวนิดๆในความมืด ดูศักดิ์สิทธิมาก ไม่เชื่อดูรูปถ่าย

ฤาษีตาไฟในความมืด

ผลงานซ่อมที่ต้องเดาใจช่าง

ปางปาลิไลยก์หลังการซ่อมแซมต่อแขนซ้าย..ผิดองศา?

ตรงด้านหนึ่งของผนังถ้ำมีพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ขนาดใหญ่กว่าคนจริงนั่งอยู่ มือขวาหงายฝ่ามือ มือซ้ายคว่ำฝ่ามือ สำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคยกับรุ่นของพระพุทธรูป พระปางปาลิไลยก์ปั้นตามความในพระไตรปิฎกที่เล่าว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งพระพุทธเจ้าเบื่อหน่ายพระลูกศิษย์ที่ทะเลาะกันไม่เลิกจึงหลบเข้าไปอยู่คนเดียวในป่าเลไลย์นานโข อาศัยช้างกับลิงเป็นโยมอุปฐาก เป็นพระพุทธรูปปางนี้ผมเข้าใจว่านิยมปั้นกันหลายยุคตั้งแต่ยุคทวาราวดีเป็นต้นมา

ภาพประวัติศาสตร์วางไว้ในถ้ำ โปรดสังเกตหัตถ์ซ้ายปางปาลิไลยก์หงายขึ้น

ที่ผมพูดถึงพระปางปาลิไลยก์ในถ้ำนี้ก็เพราะมีคนสะกิดบอกผมว่าในรูปถ่ายอนุสรณ์ครั้งดุ๊กโยฮัน อัลเบรกต์ (Duke Johon Alberkt) จากเยอรมันมาเยี่ยมถ้ำเขาหลวงสมัยร.5 ภาพของพระปางปาลิไลยก์หัตถ์ซ้ายฝ่ามือหงายขึ้น แต่ช่างที่มาซ่อมที่หลังซ่อมแล้วกลายเป็นฝ่ามือซ้ายคว่ำลง ผมพินิจดูรูปถ่ายหมู่ซึ่งวางไว้ริมผนังถ้ำนั่นเองก็เห็นจริงตามนั้น และเมื่อกลับไปดูพระพุทธรูปก็เห็นรอยควั่นต่อปูนระดับเหนือข้อมือซ้ายเล็กน้อย จึงเป็นปริศนาว่าทำไมช่างซ่อมไปหมุนมือพระพุทธรูปไป 180 องศา จากหงายเป็นคว่ำ ผมเดาใจช่างว่ามีความเป็นไปได้สองอย่าง คือ (1) ช่างอาจจะเมา (2) ช่างอาจจะดื้อ แบบว่า..

“พระปางปาลิไลยก์ที่ไหนๆเขาก็มือขวาหงายมือซ้ายคว่ำกันทั้งนั้น ฉันว่าช่างรุ่นก่อนที่ปั้นพระปางปาลิไลยก์ของถ้ำเขาหลวงนี้ปั้นแบบไม่รู้เรื่อง ฉันเลยโชว์ฟอร์มแก้ให้ซะเลย..หิ หิ”

วังบ้านปืน

ออกจากถ้ำเราหาอะไรกิน แล้วไปเที่ยวกันต่อที่วังบ้านปืน ซึ่งเป็นวังที่สร้างตั้งแต่สมัยเสด็จพ่อร.5 มาเสร็จเอาสมัย ร.6 แค่มองจากภายนอกก็เลื่อมใสในสถาปัตยกรรมแบบเยอรมันที่ลงตัวสวยงามแล้ว แถมรักษาพื้นที่โดยรอบและต้นหมากรากไม้ไว้ดีเยี่ยม เมื่อเข้าไปข้างในมีทหารหนุ่มรูปหล่อใจดีท่านหนึ่งมาพาเดินชมห้องนั้นห้องนี้ งานก่อสร้างวังแห่งนี้นับว่าฝีมือเนี้ยบและเยี่ยมวรยุทธ์ การออกแบบก็ไม่มีที่ติ แม้จะเป็นสถาปัตยกรรมเยอรมันแต่อยู่เมืองไทยก็ไม่ร้อนเพราะมีการเพิ่มช่องลมเหลือประตูหน้าต่างแล้วทำชายคายื่นคุ้มกันไว้ ผิดจากอาคารทรงยุโรปที่อยู่ในยุโรปทั่วไปซึ่งหากเอามาตั้งเมืองไทยก็คงร้อนตับแล่บ โถงด้านหน้าปูพื้นด้วยกระเบื้องตัดเป็นรูปทรงโค้งที่ไม่รู้ใช้อะไรตัดจึงตัดได้เนี้ยบเหลือเกิน เมื่อมองลงมาจากชั้นบน เส้นโค้งของกระเบื้องและเงาแสงจากประตูหน้าสร้างภาพหลอกตาทำให้ดูเหมือนพื้นโถงชั้นล่างนูนขึ้นเป็นรูปโดม

เมื่อมองลงมาจากระเบียงชั้นบน เห็นพื้นโถงชั้นล่างหลอกตาเป็นโดมนูนขึ้นมา
ภาพเขียนรุ่นอาร์ต นูโว ของแท้ บนอาร์คโค้งเหนือประตู โปรดสังเกตลิงเอลฟ์

รูปปั้นศิลปะรอคโคโคแบบเยอรมันมีประดับทั่วไป

ห้องที่น่าทึ่งที่สุดคือห้องบรรทม เสาทุกต้นหุ้มฉาบด้วยทองแดงแกะลวดลายแบบยุโรป เหนือประตูอาร์คโค้งทุกบานมีภาพวาดแนวอาร์ต นูโว ของจริง ผมถ่ายรูปมาให้ดูบานหนึ่ง ภายในวังมีตุ๊กตาเทพตัวเล็กตัวน้อยอ้วนจ้ำม่ำสไตล์ศิลปะแบบรอคโคโคเยอรมัน น่ารัก กระจายอยู่ทั่วไป ข้างหลังวังเป็นสวนแบบอังกฤษคลาสสิก เดินชมวังบ้านปืนจบแล้วไม่น่าเชื่อว่าในเมืองไทยนี้จะมีอาคารที่สร้างได้อย่างพิถิถันอย่างนี้อยู่ด้วย

นอกจากตัวอาคารแล้ว หากไม่นับหุ่นสลักสีดำเป็นเทพโปไซดอนยืนโชว์จู๋อยู่หนึ่งองค์แล้วอย่างอื่นไม่มีอะไรเลย ในห้องส้วมบางห้องมีโถส้วมชักโครกแบบโบราณติดตั้งอยู่ แต่ผมมั่นใจว่านั่นไม่ใช่ของจริง เพราะผมเคยอ่านบันทึกของท่านเจ้าคุณนรรัตน์ว่าสมัยหนุ่มๆท่านเป็นมหาดเล็กที่รับใช้ใกล้ชิดพระเจ้าอยู่หัวร.6 ท่านเล่าว่าหน้าที่หลักของท่านก็คือเอาโถพระบังคลหนักเบาออกไปทิ้งทุกวัน นั่นเป็นหลักฐานอย่างชัดว่าสมัยร.6 ยังไม่มีส้วมชักโครกใช้  

พระนครคีรี

หอดูดาว (ซ้ายสุด) วัง และปราสาทที่เป็นจุดสูงสุด

ออกจากวังบ้านปืนเราไปขึ้นรถรางขึ้นเขาไปเที่ยวพระนครคีรี ฝนตกพรำๆทำให้พื้นลื่นแต่สิ่งที่ได้มาคืออากาศเย็นลงทำให้เดินเที่ยวสนุกขึ้น เมื่อขึ้นไปถึงหมู่อาคารอันเป็นจุดสูงสุดของพระนครคีรี ผมถามเจ้าหน้าที่ว่ามองทะเลต้องมองทางไหน เขาพามายืนชี้ทิศให้

คุณจ๋อตั้งใจกินหญ้า prebiotic เพื่อชดเชยให้แก่อาหารมนุษย์

จากจุดนี้มองลงไปทิศตะวันออกเฉียงใต้ หากมองข้ามหมู่หลังคาตึก บ้าน และวัดวาอารามอันแออัดยุ่งเหยิงออกไป ไกลออกไปหน่อยเป็นนาข้าวที่มีต้นตาลแทรกอยู่ทั่วไป ไกลออกไปอีกเป็นป่าชายเลนซึ่งเริ่มเจือสีฝ้าจางๆของไอฝน ไกลออกไปอีกจึงเห็นทะเลไรๆเชิดขึ้นสูงเหมือนฉากละคร สีฟ้าหม่นของทะเลเบลนด์ไปกับท้องฟ้าอย่างไม่รู้ว่าทะเลจบที่ไหนท้องฟ้าเริ่มที่ไหน ช่างเป็นทิวทัศน์ที่สวยงามตรึงตาตรึงใจเสียนี่กระไร โอ้..ใครหนอเป็นคนแรกที่บอกว่าจุดนี้วิวดีขนาดนี้สมควรจะสร้างวังขึ้นตรงนี้ ขอขอบคุณผู้สร้างสรรค์สิ่งสวยงามนี้ไว้ให้คนรุ่นหลังอย่างผมได้มาชื่นชม

เราเข้าชมด้านในของวังซึ่งไม่มีความวิจิตรพิสดารอะไร เข้าใจว่าพระเจ้าอยู่หัวร.4 อิ่มกับความวิจิตรของผนังถ้ำเขาหลวงแล้วคงจะเห็นว่าป่วยการจะตกแต่งวังอย่างไรก็ไม่ได้ครึ่งของถ้ำเขาหลวงดอก จึงไม่ต้องแต่งมันซะงั้น ที่น่าสนใจก็คือห้องบรรทม ซึ่งมีขนาดเล็ก ลึกลับ และซุกซ่อน ต้องฝ่าด่านคนเฝ้าซึ่งเป็นประตูเล็กๆชนิดที่ฝรั่งตัวสูงแทบจะต้องคลานเข้าไป นี่เป็นคอนเซ็พท์เดียวกับที่พักในถ้ำเขาหลวงเช่นกัน คือระแวดระวังไม่ให้อะไรเข้ามาถึงตัวได้ง่ายๆ

แล้วเราเดินชมข้างนอก มีหอดูดาว ตัววัง และส่วนที่เป็นปราสาท พื้นที่โดยรอบมีเหล่าฝูงลิงเป็นผู้อยู่อาศัยหลัก ผมสังเกตว่ามันยังชีพอยู่ด้วยอาหารเป็นกล่องเป็นถุงของนักท่องเที่ยวรวมทั้งเครื่องดื่มในกล่องเตตราแพคและในขวดพลาสติกซึ่งมันดูดหรือดื่มกันอย่างตั้งใจ ขอบคุณน้ำตาลที่เพิ่มเข้ามาในเครื่องดื่ม หวังว่าพวกเจ้าคงจะไม่เป็นเบาหวานเร็วเกินไป ขณะเดินดูรอบหอดูดาวของร. 4 ผมเหลือบเห็นลิงตัวหนึ่งกำลังเด็ดหญ้าแห้วจากกระถางต้นไม้บนกำแพงกินอย่างตั้งอกตั้งใจจึงหยุดดู เดาเอาว่ามันคงจะกินสักเส้นสองเส้นเพื่อเป็นยาแล้วหยุด แต่ปรากฏว่ามันเด็ดหญ้าแห้วหมูในกระถางกินจนเกลี้ยงกระถาง ผมนึกยิ้มในใจ มันคงรู้ว่าอาหารบรรจุเสร็จเป็นกล่องเป็นซองที่คนยื่นให้นั้นคงจะไม่มีอะไรไปเลี้ยงจุลินทรีย์ในลำไส้ของมัน มันจึงหันมากินหญ้าเป็น prebiotic ชดเชยอย่างเอาเป็นเอาตาย

เดิมตั้งใจว่าจะเดินเท้าไปที่วัดแก้วซึ่งอยู่ที่เขาอีกลูกหนึ่ง แต่ฝนทำให้เปลี่ยนใจ ลงจากเขาไปเที่ยววัดใหญ่แทน    

บ้านประตูฝีมือสลักไม้ช่างยุคอยุธยา โปรดสังเเกตไฮไลท์ของป้า มัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์

วัดใหญ่สุวรรณาราม

ค่ำแล้ว เราไปเที่ยวกันต่อที่วัดใหญ่สุวรรณาราม ฟังว่าเป็นวัดสมัยอยุธยาที่ยังมีอะไรเก่าๆแท้ๆให้เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งลายแกะสลักประตูโบสถ์รุ่นอยุธยาซึ่งไม่มีเหลือให้เห็นในที่อื่นอีกแล้ว

เมื่อเราไปถึงวัดก็ตรงรี่เข้าไปดูประตูไม้ที่ว่า ผมเห็นว่า “ป้า” ผู้ร่วมคณะเดินทางของเราเป็นผู้มีพื้นเพอยู่แถบนี้จึงขอให้ท่านเป็นมัคคุเทศก์บรรยาย ผมถามว่า

“ประตูนี่มันมีความมหัศจรรย์ตรงไหนหรือครับ”

คุณป้าชี้ไปที่รูใหญ่บนประตูขนาดขวดน้ำปลาขวดเล็กๆลอดได้และว่า

“ความมหัศจรรย์มันอยู่ตรงนี้” ผมถามต่อว่า

“มันคือรูอะไรครับ” เธอตอบว่า

“รอยขวานจาม”

“อ้าว..แล้วใครเอาขวานไปจามเข้าละครับ” คุณป้ามัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ตอบว่า

“ก็ขโมยอะสิ”

ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

ภาพเขียนสีฝุ่นบนผนังปูนที่วัดใหญ่ คนรุ่นหลังคงไม่ได้เห็นภาพสวยๆแบบนี้เสียแล้ว

เราเดินชมภายในโบสถ์ไม้ซึ่งมีภาพเขียนบนผนังไม้แต่ว่าเลอะเลือนน่าเสียดายมาก แล้วก็มาดูภาพเขียนภายในโบสถ์ปูน เข้าใจว่าเป็นภาพเขียนด้วยสีฝุ่น เลอะเลือนน่าเสียดายเช่นกัน ผมถ่ายรูปมาให้ท่านเห็นความสวยงามภาพหนึ่ง น่าจะเป็นภาพแม่ธรณีบีบมวยผม เป็นภาพที่เขียนได้สวยงามมากจริงๆ คนรุ่นหลังคงจะไม่ได้เห็นภาพนี้เสียแล้วเพราะตอนนี้ผนังปูนก็หลุดร่อนไปมากแล้วพอควร

ยังชมวัดใหญ่ไม่จบดีฝนก็เทลงมา เราต้องยกเลิกที่จะไปชมวัดเกาะและถอยทัพขึ้นรถมุ่งหน้าเข้าที่พักที่หาดชะอำ

ถ้ำเขานางขวาง

วันรุ่งขึ้นเราใช้เวลาครึ่งวันพักผ่อนอยู่บ้านริมทะเล ผมลงลอยคอในทะเลและขึ้นมาตากแดด คนอื่นเขียนภาพบ้าง เดินเล่นบ้าง ตกเที่ยงก็ออกไปกินข้าวที่แพปลา แล้วขับรถตั้งใจจะไปดูวังมฤคทายวันและบ้านเจ้าพระยารามราฆพแต่ปรากฎว่าเขาปิด พอดีสมาชิกท่านหนึ่งเกิดอาการแพ้ท้องอยากกินไอติมชนิดหนึ่ง จึงขับต่อไปถึงหัวหิน ซื้อขนมปังบาแกตตุนไว้ตอนเช้า และแวะร้านไอติมในซอยข้างๆซึ่งเสริฟไอศครีมในโอ่งเล็กๆ ที่น่าสนใจกว่านั้นคือป้ายหน้าร้าน

“ถ้าท่านไม่ชอบแมวให้นั่งกินที่หน้าบ้าน

ไม่ต้องเข้าไปในบ้าน

จะได้ไม่ต้องดราม่าเวลาเจอแมว”

เมื่อมองผ่านกระจกเข้าไปจึงเห็นว่าภายในร้านซึ่งติดแอร์ดิบดีนั้นมีแมวยั้วเยี้ยทุกเพศทุกวัยนับได้สิบกว่าตัว สมาชิกท่านหนึ่งจึงว่า

“พวกเรานั่งข้างนอกละกัน เขาจะได้ไม่ต้องทนดูดราม่าคนแก่”

พระพุทธรูปยุคทวาราวดี ที่ไม่รู้ใครเอาไปเก็บไว้ในถ้ำเล็กๆนี้

อิ่มแล้วเราขับกลับจะเข้าที่พัก ผมบอกหมอพอให้พาแวะไปถ้ำเล็กๆใกล้ที่พักเพื่อไปดูพระพุทธรูปยุคทวาราวดีที่ถ้ำนี้ จึงนัดแนะกับป้าซึ่งเป็นคนขับรถอีกคันหนึ่งว่าเราจะไปถ้ำเขานาขวาง ถ้ามีเวลาก็จะแวะดูโบราณสถานยุคทวารวดีโคกเศรษฐีซึ่งขุดเจอใหม่แถวนี้ แล้วจะไปดูค้างคาวยกทัพบินออกจากถ้ำที่ตำบลนายาวเวลา 17.30 น. แล้วต่างคนต่างก็ขับกันไปของใครของมัน เพราะไม่ว่าใครขับก็ต้องอาศัยกู คือกูเกิ้ลกันทั้งนั้น

เราขับชมท้องนาที่มีต้นตาลขึ้นที่นั่นบ้างที่นี่บ้าง ผมเพิ่งรู้ว่าชะอำมีชนบทมีท้องนาที่เงียบสงัดเพียงนี้ นาข้าวเพิ่งปักดำไปมีสีเขียวสลับกับสีเงินของผิวน้ำบนท้องนาที่ยังไม่ได้ปักดำ ตาลเดี่ยวยืนต้นอยู่กลางนาอย่างสงบเสงี่ยม ช่างเป็นบุญตาที่ได้มาสัมผัสบรรยากาศที่ไม่คาดว่าจะได้สัมผัสที่ชะอำ ไม่มีแม้แต่สายไฟฟ้าให้รกตา พอเราขับไปถึงปลายถนนที่กูเกิลบอกก็เห็นป้ากำลังตะโกนสัมภาษณ์ชาวบ้านอยู่อย่างเอาเป็นเอาตาย ขณะที่ชาวบ้านทำหน้าเหรอหรา เธอตะโกนซ้ำๆว่า

“จะไปถ้ำค้างคาวไปทางไหนคะ”

ผมจึงเปิดกระจกรถตะโกนออกไปว่า

“ไม่ใช่ ป้า เราไม่ได้ไปถ้ำค้างคาว เราจะไปถ้ำเขานาขวาง”

พระนอนใหญ่ในถ้ำ มหึมา แต่ซุกซ่อน

คุยกันอยู่นานจึงได้รับคำแนะนำว่าให้ขับรถแยกขึ้นถนนป่าหญ้านี้ขึ้นไปแล้วจะไปถึงเอง ดูสาระรูปของถนนที่เป็นหญ้ารกมีต้นกระบองเพชรสองข้างแล้วป้าไม่กล้าขับขึ้น ผมจึงให้หมอพอขับนำลุยพงหญ้าขึ้นไป ในที่สุดก็มาถึงตีนบันได้ เราเดินขึ้นบันได้ไปอีกราย 50 ขั้นก็ถึงถ้ำ และก็ได้เห็นพระพุทธรูปทวาราวดีสมใจ และยังแถมได้เห็นพระนอนขนาดใหญ่สร้างซุกซ่อนไว้ตอนบนของถ้ำอีกด้วย ผมปีนขึ้นไปดู บรรยากาศวังเวงมาก จนผมอดไม่ได้ต้องนั่งหลับตาทำสมาธิอยู่นานสองสามนาที พลพรรคอยู่ข้างล่างไม่กล้าขึ้นมา ทำท่าทางกลัวความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าที่เจ้าทาง ผมตะโกนว่าขึ้นมาได้ พลพรรคคนหนึ่งพูดตลกว่า

“เฮ้.. หลวงพ่อบอกไม่เป็นไรขึ้นไปได้ ขึ้นเลย”

ออกจากถ้ำเขานางขวางซึ่งไม่มีใครรู้จักแล้ว เราขับลงไปข้างล่างแวะดูแหล่งโบราณคดีโคกเศรษฐีซึ่งเพิ่งขุดค้นใหม่ หมอพอบอกว่าของที่ขายได้ขโมยควักไปขายหมดแล้ว ของที่ยังดีแต่ขายไม่ได้กรมศิลป์เอาเข้าไปเก็บในพิพิธภัณฑ์ ที่นี่จึงเหลือแต่อิฐ ผมบอกพลพรรคว่า

“ถ้าจะดูของในยุคทวาราวดี อย่าคาดหวังว่าจะเห็นอะไรมาก นอกจากอิฐเก่าและใบเสมาหิน”

ถ้าจะดูของยุคทวาราวดี อย่าคาดหมายอะไรมากกว่าอิฐเก่ากับเสมาหิน
กองหน้าทัพค้างคาวเริ่มกรูกันออกจากปากถ้ำ

ค้างคาวกับเหยี่ยว

จากนั้นขับไปดูค้างคาวที่ตำบลนายางซึ่งไม่ไกลจากที่พัก ตั้งใจไปให้ถึงทันเวลา 17.30 น.เพราะกูเกิลบอกว่ามันจะออกจากถ้ำเวลานี่เป๊ะไม่เกี่ยวกับตะวันตก แต่เราไปรอตั้งนานมันก็ไม่ออกมาสักที หมอพอบอกว่ามันจะออกมา 20 นาทีก่อนตะวันตก วันนี้ตะวันจะตก 18.40 น. ดังนั้นเราต้องรออีกชั่วโมงหนึ่ง หลายคนเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่ก็เริ่มเมื่อยขาและเข้าไปเอกเขนกรอในรถ มีหญิงชาวบ้านวัยกลางคนคนหนึ่งขับมอไซค์ผ่านมา เธอจอดรถคุยกับพวกเราว่าไม่ได้เห็นนักท่องเที่ยวมาดูค้างคาวหลายปีแล้วตั้งแต่โควิด เธอปลอบว่าเดี๋ยวค่ำๆค้างคาวก็จะออกมาแน่ ใจเย็นๆ พวกเราก็ตกลงว่าจะเย็นกันต่อไปอีก

นานอีกหนึ่งอสงไขย์ก็มีลุงชาวบ้านผมขาวคนหนึ่งขี่มอไซค์ผ่านมา เขาเบาเครื่องลง ไม่ได้จอดรถ แต่ยกนาฬิกาขึ้นดู แล้วตะโกนบอกพวกเราว่า

“อีกเจ็ดนาทีมันจะออกมา ให้ดูเหยี่ยว เหยี่ยวจะมาก่อน”

ฝูงค้างคาวบีนจัดขบวนทัพเชิดขึ้นสู่ท้องฟ้า

ผมดูแล้วอีกเจ็ดนาทีก็เป็นเวลาใกล้เคียงกับที่หมอพอบอก แต่ข้อมูลที่ว่าเหยี่ยวจะมาก่อนทำให้ผมหันไปสนใจเหยี่ยวแทน และก็เป็นดังคาด ไม่กี่นาทีต่อมาเหยี่ยวสองตัวก็บินมา ตัวหนึ่งจอดซุ่มอยู่ที่กิ่งไม้หน้าผาไม่ไกลจากปากปล่องถ้ำค้างคาว อีกตัวหนึ่งถลาลมเล่นอยู่ไกลออกไป

ยุทธการของพญาเหยี่ยว พลาดสิบครั้ง แต่ก็ได้อาหารกลับบ้านในที่สุด

สักครู่ก็มีเสียงเอะอะจากพลพรรคของเราเอง จับความได้ว่าฝูงค้างค้าวออกมาแล้ว จริงดังว่า มีเสียงดังซู่ ค้างคาวไม่รู้กี่หมื่นกี่แสนตัวบินออกจากปากถ้ำแบบแถวหน้ากระดานเรียงสิบต่อเนื่องกันยาวเหยียดเป็นรูปตัวเอสยาวหลายร้อยเมตร ตัวนำพาขบวนเชิดหัวขึ้นบนท้องฟ้า พากันบินไปไกลลิบสุดลูกตา

ฉับพลันนั้นเหยี่ยวที่คอยอยู่ก็พุ่งเข้าใส่กลางแถวขบวน ค้างคาวส่งสัญญาณให้กันแล้วแปรอักษรให้ขบวนเลื้อยเหมือนงูหลบเหยี่ยวได้อย่างสวยงาม เหยี่ยวจึงพุ่งเข้าสู่ความว่างเปล่า แต่มันไม่เลิกแค่นั้นมันวนกลับมาอีกรอบ เวลาของมันยังมีอีกแยะ เพราะชาวบ้านบอกว่าค้างคาวใช้เวลายกทัพออกจากถ้ำราวครึ่งชั่วโมงจึงจะหมด

เหยี่ยวพุ่งมาอีกแล้ว ค้างคาวแปรอักษรหลบได้อย่างสวยงามอีก เป็นอย่างนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าร่วมสิบครั้ง แล้วก็มีอยู่ครั้งหนึ่งเหยี่ยวบินแบบหักมุมทันทีเจาะเข้ากลางแถวค้างคาวได้สำเร็จ ค้างคาวแตกแถวกระเจิง แล้วเหยี่ยวก็บินจากไป ผมเข้าใจว่าคงได้อาหารเย็นติดมือกลับบ้านไปแล้วเรียบร้อย

เหยี่ยวไปแล้ว กองทัพค้างคาวยังเดินหน้าเสียงดังซู่ ซู่ มีกันตั้งเป็นล้าน ถูกเหยี่ยวแฮ้บไปตัวสองตัวไม่พรือหรอก

พวกเราดูค้างคาวอยู่นานเกือบยี่สิบนาทียังไม่มีทีท่าว่าจะหมด เลยตัดสินใจเดินหน้ากลับที่พักเพราะเมื่อยคอแล้ว

ผลโกงกางรูปมีดดาบปลายทิ่มดิน พร้อมหล่นปักขี้เลน
หลมผักเบี้ย

วันรุ่งขึ้นเราเสวยสุข แช่น้ำทะเล และตากแดดอยู่ที่บ้านริมทะเลอีกครึ่งวันจนถึงเที่ยงวันจึงออกเดินทางกลับกรุงเทพ แวะชมโครงการวิจัยการกำจัดน้ำเสียที่แหลมผักเบี้ยซึ่งให้ความรู้ดีมาก แต่ผมถ่ายรูปมาให้ดูรูปเดียว เป็นผลโกงกางรูปมีดดาบเอาปลายชี้ลง ยามเมื่อมันแก่ได้ที่มันจะหล่นลงเอาปลายมีดดาบปักบนขี้เลนกระจายเป็นตับอยู่บนผิวโคลนเต็มไปหมด แล้วจากนั้นด้ามดาบก็จะแตกใบออกมาเป็นโกงกางต้นใหม่..อะเมซซิ่ง

ออกจากแหลมผักเบี้ยเราแวะกินกลางวันริมทาง ก่อนที่จะแยกย้ายกลับบ้านใครบ้านมัน เป็นอันจบทริปนี้

ก่อนจบ หมอสันต์ขอขอบคุณญาติผู้น่ารักที่เอื้อเฟื้อที่พักในการเที่ยวครั้งนี้ไว้ตรงนี้ด้วยนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์   

[อ่านต่อ...]