29 สิงหาคม 2559

เจาะลึกการใช้ยาลดไขมันในผู้สูงอายุ


เรียนคุณหมอสันต์
คุณพ่ออายุ 86 ปี สูง 163 ซม. น้ำหนักตัว 58 กก. สมัยก่อนรับราชการเป็น...ทุกวันนี้ยังเดินไปมาได้แต่มีอาการอ่อนเพลียและบ่นปวดเมื่อยบ้างตามประสาคนสูงอายุ แต่ความจำดีมาก เป็นโรคความดัน ไขมัน เบาหวาน ครบสูตร กินยามานานหลายสิบปี รักษาอยู่กับคุณหมอ.. ที่.... เปลี่ยนยามาเรื่อย ที่กินอยู่ตอนนี้มี Carca (carvediol)12.5 and 6.25 mg 2 of each BID, Rosuvas 5 (rosuvastatin 5mg) OD, Losacar 25 (losartan) 1 OD, Folvite 5 (folic acid) 1 OD, Aspirin 75 1 OD, Neurobion (vit B1-6-12)
ปัญหาตอนนี้คือพ่อตัดสินใจจะเลิกกินยาทุกอย่าง บอกว่าอยู่มานานพอแล้ว เวลาที่เหลืออยากขออยู่แบบธรรมชาติ และว่าพ่อมีสติดี เขียนพินัยกรรมไว้แล้ว ลูกๆได้โอ้โลมกันจนตอนนี้ยอมกินยาความดันอย่างเดียวเพราะลูกๆรุมต่อว่าหากเป็นเส้นเลือดแตกในสมองเป็นอัมพาตก็จะเป็นภาระให้ลูกหลานแกถึงยอม แต่ยาไขมันและยาอื่นรวมทั้งยาวิตามินไม่ยอมกินเด็ดขาด ท่านอ่านบล็อกคุณหมอสันต์เป็นประจำด้วยและยืนยันว่าท่านไม่จำเป็นต้องกินยา
ดิฉันอยากถามคุณหมอสันต์ว่าการเลิกกินยาลดไขมันในผู้ป่วยสูงอายุจะมีผลเสียอะไรบ้าง นับจากวันที่หยุดกินยา จะมีชีวิตอยู่ได้อีกสักกี่เดือนกี่ปี

............................................

ตอบครับ

     ประเด็นของคุณแหลมคมมาก คือยาลดไขมันหรือยาสะแตตินนี้ มันมีประโยชน์กับคนสูงอายุที่ไขมันในเลือดสูงแต่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจอย่างคุณพ่อของคุณหรือเปล่า

     ตอบว่ามีประโยชน์หรือไม่ยังไม่แน่ครับ เพราะงานวิจัยการใช้สะแตตินป้องกันโรคหัวใจในคนสูงอายุให้ผลไปสองแง่สองง่าม งานวิจัยกลุ่มหนึ่งให้ผลว่าไม่มีประโยชน์ งานวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งให้ผลว่ามีประโยชน์ สรุปของหมอสันต์ก็คือมีประโยชน์จริงหรือไม่..ตัวหมอสันต์เองยังไม่รู้เหมือนกัน เพราะวงการแพทย์นิยามประโยขน์ของยาสะแตตินไว้ที่การลดอัตราตายหรือพูดง่ายๆว่าการทำให้อายุยืน แต่ว่าคนอายุเหยียบเก้าสิบอย่างคุณพ่อของคุณนี้ ภาษิตเมืองเหนือเขาว่า "อายุเก้าสิบ..ไข้ก็ตาย ไม่ไข้ก็ตาย" แล้วจะมียาอะไรไปยืดอายุคนในวัยนี้ได้ละครับ หิ หิ

     ขอโทษ เลิกพูดเล่น คุยกันจริงจังหน่อยดีกว่านะ เพราะว่าคนอ่านบล็อกหมอสันต์นี้ที่เป็นหมอใช้ยาสะแตตินกับคนไข้ก็มีอยู่ไม่น้อย ขอเจาะลึกหน่อยดีกว่า

     ประเด็นที่ 1. แก่ตัวลง ไขมันต้องสูงขึ้น นี่เป็นธรรมชาติหรือเปล่า?

     ถ้าเราดูข้อมูลจากงานวิจัยฟรามิงแฮม จะเห็นว่าไขมันในเลือดของคนเรานี้มันจะค่อยๆเพิ่มขึ้นตามอายุขัยแม้ว่าจะกินอาหารเดิมๆ [1] และหากตามดูไปถึงงานวิจัยฟรามิงแฮมรุ่นลูก [2] ก็จะพบว่าไขมันก็สูงขึ้นตามอายุในทั้งสองเพศ และสูงเร็วในหญิงหลังหมดประจำเดือน โดยไม่เกี่ยวกับการเป็นโรค ดังนั้นการที่ไขมันสูงในคนแก่เป็นธรรมชาติของร่างกายส่วนหนึ่งหรือเปล่า อันนี้เป็นคำถามตั้งไว้ก่อนนะ

     ประเด็นที่ 2. คนแก่ที่ไขมันในเลือดต่ำ มีอัตราตายรวมมากกว่าคนแก่ที่ไขมันในเลือดสูงนะ

     คือถ้ามาดูผลวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างโคเลสเตอรอลในเลือดกับอัตราตายรวมจากทุกโรคในคนสูงอายุ ความสัมพันธ์จะไม่เหมือนในคนอายุน้อยนะครับ เพราะในคนสูงอายุ ยิ่งมีไขมันในเลือดต่ำ ยิ่งมีอัตราตายรวมสูงขึ้น [3, 4] พูดง่ายๆว่าคนแก่ยิ่งไขมันต่ำยิ่งตายง่าย นี่ นี่..มันเป็นอย่างนี่เสียด้วยนะคะท่านสารวัตร ส่วนที่ว่าทำไมจึงเป็นอย่างนี้นั้นหมอสันต์ไม่ทราบ จะเป็นด้วยการเผาผลาญโคเลสเตอรอลเปลี่ยนไป หรือเพราะคนแก่ตายง่ายเพราะขาดอาหารซึ่งแสดงออกด้วยการมีไขมันในเลือดต่ำ หรือเป็นเพราะคนแก่ตายง่ายเพราะเป็นโรคเรื้อรังเช่นมะเร็งซึ่งมักแสดงออกด้วยการมีโคเลสเตอรอลต่ำร่วมด้วย เหล่านี้ล้วนเป็นมั้งศาสตร์ คือเป็นไปได้ทั้งนั้น
     ในความพยายามที่จะหาความดีของยาสะแตตินในคนแก่ ได้มีงานวิจัยผู้สูงอายุเฉลี่ย 79 ปีที่ติดตามดูห้าปีงานหนึ่ง พบว่าต้องแยกเอาการตายด้วยสาเหตุอื่นเช่นมะเร็งออกไปให้หมดก่อน จึงจะพอเห็นความสัมพันธ์ระหว่างการมีโคเลสเตอรอลสูงกับการตายด้วยโรคหัวใจ แต่ว่าเป็นความสัมพันธ์แบบอ่อนๆนะ ไม่ได้สัมพันธ์กันหนักแน่นเหมือนในคนอายุน้อย [5]

     ประเด็นที่ 3. งานวิจัยว่ายาสะแตตินดีกับคนแก่หรือเปล่า ยังไม่มีคำตอบเอกฉันท์

     งานวิจัยป้องกันหลอดเลือดหัวใจสกอตแลนด์ (WOSCOPS) [5] ซึ่งเป็นรากฐานที่ปลูกศรัทธาต่อยาสะแตตินให้กับวงการแพทย์ทั่วโลกจนทุกวันนี้นั้น ไม่ได้เอาผู้ป่วยอายุเกิน 65 ปีเข้าร่วมวิจัยเลยนะ

     งานวิจัยของกองทัพอากาศและรัฐเท็กซัส (AFCAPS/TexCAPS) [7] ซึ่งมีผู้อายุเกิน 65 ปีเข้าร่วมวิจัย 22% การวิเคราะห์กลุ่มย่อยเฉพาะผู้สูงอายุเหล่านี้พบว่ายาสะแตตินไม่ลดอัตราตายจากโรคหัวใจในกลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้เลย

     การวิเคราะห์กลุ่มคนไข้ที่ใช้ยาลดไขมันในงานวิจัยความดันเลือดสูง (ALLHAT-LLT)[8] พบว่ายาสะแตตินไม่ได้ลดอัตราตายรวมหรืออัตราตายจากโรคหัวใจในคนไข้ความดันเลือดสูงที่มีไขมันในเลือดสูงที่อายุเกิน 65 ปี

     ต่อมาได้มีการออกแบบงานวิจัยที่เจาะจงดูผลของสะแตตินในผู้สูงอายุโดยเฉพาะชื่องานวิจัย The Prospective Study of Pravastatin in the Elderly at Risk (PROSPER)[12] โดยทำวิจัยในผู้ป่วยอายุ 70-82 ปี เมื่อวิเคราะห์กลุ่มย่อยที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคหัวใจพบว่ายาสะแตตินไม่ได้ช่วยลดอัตราตายเลย

     งานวิจัยเมตาอานาไลซีสขนาดใหญ่สองงาน [13, 14] ที่ครอบคลุมจำนวนคนไข้มากกว่า 70,000 คน เมื่อวิเคราะห์แยกผู้ป่วยอายุเกิน 65 ปี พบว่าสะแตตินไม่สามารถลดอัตราตายลงได้

     แต่ก็มีอยู่บางงานวิจัยที่การวิเคราะห์กลุ่มย่อยผู้สูงอายุพบว่ายาสะแตตินลดอัตราตายลงได้ ได้แก่งานวิจัย (ASCOT-LLA) [9] งานวิจัย CARDS [10] งานวิจัย MEGA [11]

ดังนั้นในภาพรวมจึงตอบไม่ได้ว่ายาสะแตตินมีประโยชน์หรือไม่สำหรับผู้สูงอายุที่ไขมันสูงแต่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจ

     เก๊ง..ง หมดยกที่หนึ่ง

ยกที่สอง คราวนี้เราลองมามองโทษของยาสะแตตินต่อผู้สูงอายุบ้าง ปัญหาใหญ่ของผู้สูงอายุก็คือการที่กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ยเพลียแรงที่พาลชักนำไปสู่การลื่นตกหกล้ม ปัญหาผลเสียของกล้ามเนื้อจากยาสะแตตินนี้หากเราอ่านฉลากยาจะพบว่าเกิดในเปอร์เซ็นต์ที่ไม่มาก เพราะงานวิจัยที่เป็นที่มาของข้อมูลในฉลากยานั้นเป็นงานวิจัยในคนอายุน้อยที่บริษัทยาทำวิจัยตอนยื่นขอสิทธิบัตร แต่งานวิจัยแบบตัดขวางในทุกอายุของจริงในแคนาดาพบว่าผู้ป่วยสูงอายุกินสะแตตินแล้วมีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อมากถึง 20% [15] หรือหนึ่งในห้าเลยเชียวนะ เช่นเดียวกัน งานวิจัยสำรวจการใช้สะแตตินในสหรัฐ [16] ก็พบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ 29% และอีก 84% พบว่าผู้ป่วยต้องกินยาสะแตตินควบกับกินยาอื่นที่มีฤทธิ์ตีกับยาสะแตตินได้ ยังไม่นับว่ายาสะแตตินทำให้เป็นเบาหวานมากขึ้น [17] อย่างจริงแท้แน่นอน และยังไม่นับว่ายานี้ยังไม่รู้ว่าจะทำให้ผู้ป่วยเป็นสมองเสื่อมหรือไม่เพราะมีรายงานเข้ามาประปรายแต่ผลวิจัยในภาพใหญ่ก็ยังไม่ชัดเจนพอให้สรุปอะไรได้

     ในแง่ของคุณภาพชีวิต ผลข้างเคียงของยาคือการปวดกล้ามเนื้อและการก่อความรู้สึกอ่อนเปลี้ยเพลียแรงนั้นบั่นทอนคุณภาพชีวิตในผู้สูงอายุแน่นอน และเมื่อบรรจบกับภาวะกล้ามเนื้อลีบซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติของวัยสูงอายุก็จะยิ่ง “ซ้ำเหงา” ให้เกิดความเสี่ยงต่อการลื่นตกหกล้มมากขึ้น จึงนับว่ายาสะแตตินนี้มีข้อเสียต่อผู้สูงอายุอยู่พอควร

     สรุปว่าในภาพใหญ่ ข้อดียังไม่เอกฉันท์ว่ามีประโยชน์จริงหรือไม่ ข้อเสียมีแน่และมีมากพอควร ดังนั้นถ้าผู้สูงอายุที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจอย่างคุณพ่อของคุณอยากจะหยุดกินยาสะแตติน ผมสนับสนุนครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Abbott RD, Garrison RJ, Wilson PW, et al. Joint distribution of lipoprotein cholesterol classes. The Framingham study.Arteriosclerosis. 1983;3:260–272. [PubMed]
2. Schaefer EJ, Lamon-Fava S, Cohn SD, et al. Effects of age, gender, and menopausal status on plasma low density lipoprotein cholesterol and apolipoprotein B levels in the Framingham Offspring Study. J Lipid Res. 1994;35:779–792. [PubMed]
3. Tilvis RS, Valvanne JN, Strandberg TE, et al. Prognostic significance of serum cholesterol, lathosterol, and sitosterol in old age; a 17-year population study. Ann Med. 2011;43:292–301. [PubMed]
4. Fontana L, Addante F, Copetti M, et al. Identification of a metabolic signature for multidimensional impairment and mortality risk in hospitalized older patients. Aging Cell. 2013;12:459–466. [PubMed]
5. Corti MC, Guralnik JM, Salive ME, et al. Clarifying the direct relation between total cholesterol levels and death from coronary heart disease in older persons. Ann Intern Med. 1997;126:753–760.[PubMed]
6. Sever PS, Dahlöf B, Poulter NR, et al. Prevention of coronary and stroke events with atorvastatin in hypertensive patients who have average or lower-than-average cholesterol concentrations, in the Anglo-Scandinavian Cardiac Outcomes Trial-Lipid Lowering Arm (ASCOT-LLA): a multicentre randomised controlled trial. Lancet.2003;361:1149–1158. [PubMed]
7. Downs JR, Clearfield M, Weis S, et al. Primary prevention of acute coronary events with lovastatin in men and women with average cholesterol levels: results of AFCAPS/TexCAPS. Air Force/Texas Coronary Atherosclerosis Prevention Study. JAMA. 1998;279:1615–1622. [PubMed]
8. ALLHAT Officers and Coordinators for the ALLHAT Collaborative Research Group Major outcomes in moderately hypercholesterolemic, hypertensive patients randomized to pravastatin vs. usual care: the Antihypertensive and Lipid Lowering Treatment to Prevent Heart Attack Trial (ALLHAT-LLT) JAMA. 2002;288:2998–3007. [PubMed]
9. Sever PS, Dahlöf B, Poulter NR, et al. Prevention of coronary and stroke events with atorvastatin in hypertensive patients who have average or lower-than-average cholesterol concentrations, in the Anglo-Scandinavian Cardiac Outcomes Trial-Lipid Lowering Arm (ASCOT-LLA): a multicentre randomised controlled trial. Lancet.2003;361:1149–1158. [PubMed]
10. Neil HA, DeMicco DA, Luo D, et al. Analysis of efficacy and safety in patients aged 65-75 years at randomization: Collaborative Atorvastatin Diabetes Study (CARDS) Diabetes Care. 2006;29:2378–2384. [PubMed]
11. Nakaya N, Mizuno K, Ohashi Y, et al. Low-dose pravastatin and age-related differences in risk factors for cardiovascular disease in hypercholesterolaemic Japanese: analysis of the management of elevated cholesterol in the primary prevention group of adult Japanese (MEGA study) Drugs Aging. 2011;28:681–692. [PubMed]
12. Shepherd J, Blauw GJ, Murphy MB, et al. Pravastatin in elderly individuals at risk of vascular disease (PROSPER): a randomised controlled trial. Lancet. 2002;360:1623–1630. [PubMed]
13. Brugts JJ, Yetgin T, Hoeks SE, et al. The benefits of statins in people without established cardiovascular disease but with cardiovascular risk factors: meta-analysis of randomized controlled trials. BMJ. 2009;338:b2376. [PMC free article] [PubMed]
14. Savarese G, Gotto AM, Jr, Paolillo S, et al. Benefits of statins in elderly subjects without established cardiovascular disease: a meta-analysis. J Am Coll Cardiol. 2013;62:2090–2099. [PubMed]
15. Anderson TJ, Grégoire J, Hegele RA, et al. 2012 update of the Canadian Cardiovascular Society guidelines for the diagnosis and treatment of dyslipidemia for the prevention of cardiovascular disease in the adult. Can J Cardiol. 2013;29:151–167. [PubMed]
16. Richardson K, Schoen M, French B, et al. Statins and cognitive function: a systematic review. Ann Intern Med. 2013;159:688–697.[PubMed]
17. Sattar N, Preiss D, Murray HM, et al. Statins and risk of incident diabetes: a collaborative meta-analysis of randomised statin trials.Lancet. 2010;375:735–742. [PubMed]
[อ่านต่อ...]

22 สิงหาคม 2559

แป๊บเดียว..แต่แทบเปลี่ยนชีวิตไปเลย

เรียนคุณหมอ 
    ผมเพิ่งเกษียณมาได้ปีกว่า ตัดสินใจที่จะไม่ทำงานต่อ เพราะมีเงินมีทองพอใช้ไม่ขัดสนแล้ว อยากจะใช้วันเวลาเกษียณแบบอยู่กับบ้านสบายๆบ้าง แต่ว่าไม่มีคนใช้นะครับ ไม่ใช่ว่าขี้เหนียวเงิน แต่คนใช้หายากและเปลี่ยนบ่อยมากจนผมกับภรรยาตกลงกันว่าอยู่กันสองตายายทำอะไรเองเหอะ ปีกว่าที่ผ่านมานี้ผมไม่เคยว่างเลย เพราะผมมีโปรเจ็คซ่อมโน่นซ่อมนี่ที่บ้านตลอดปี สัปดาห์ก่อนผมเตรียมผนังบ้านส่วนที่เป็นไม้เพื่อทาสี ซื้อสีไอซีไอ.มาเตรียมไว้แล้วแหละ ถือว่างานทาสีเดินหน้าไปแล้ว 50% เหลือการเตรียมหน้างานที่โรงรถอีกเล็กน้อย ถือว่าเป็นโปรเจ็คเล็กๆที่ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง

     เช้าวันที่ 15 เมษา ผมเอาบันไดอลูมิเนียมมากางที่โรงรถ เอากล่องเครื่องมือออกมาวาง แล้วก็ลงมือใช้เลื่อยลูกหมูตัดแผ่นไม้อัดเก่าที่เปียกน้ำออกเตรียมเอาไม้อัดใหม่เข้าไปแทน ตัดแล้ววัด วัดแล้วตัด ปีนขึ้นปีนลงบันไดหลายรอบกว่าจะตัดได้พอดี กำลังจะจบตะปูตัวสุดท้ายอยู่แล้ว พอดีได้ยินเสียงรถเก็บขยะเข้ามาทางปากซอย ผมเพิ่งนึกขึ้นได้ว่าเช้านี้ลืมเอาถังขยะออกไปตั้งหน้าบ้าน จึงถอยหลังลงบันไดมาเพื่อไปเอาถังขยะ นั่นแหละ เป็นเรื่องเลย

     ผมนึกว่าผมลงมาถึงพื้นแล้วนา แต่ความจริงแล้วมันยังขาดอีกขั้นหนึ่ง แคว่ก เป็นเสียงผมหล่นลงพื้นเท่าที่ตัวผมได้ยิน เหมือนเสียงกระดาษฉีก ผมไม่รู้ตัวเองเลยว่าลงมานอนบนพื้นได้อย่างไร ไม่เข้าใจเลยว่าทำไมผมถึงพลาดท่าเสียทีล้มลงได้ง่ายถึงเพียงนี้ แต่ภรรยาผมเล่าว่าเสียงดังสนั่นเสทือนจนเธอต้องทิ้งครัววิ่งออกมาดู เธอเห็นผมนอนแอ้งแม้งอยู่กับพื้นซีเมนต์ของโรงรถจึงถามผมว่าเป็นอะไรไหม ผมตอบว่าผมลุกไม่ได้ ขยับแขนไม่ไป เหมือนใครเอากาวมาติดตัวผมกับซิเมนต์ไว้ ต่อจากนั้นเท่าที่ผมจำได้คือเพื่อนบ้านสองคนวิ่งมาดู สภาพผมไม่น่าดูเท่าไหร กระดูกแขนเหมือนจะผิดที่ผิดทางเสียจนไม่รู้ว่าข้อศอกอยู่ที่ไหน เพื่อนบ้านจะเข้ามายกผมห้ามไว้ เพราะเคยได้ยินว่าหากกระดูกสันหลังบาดเจ็บแล้วยกไม่ระมัดระวังจะกลายเป็นอัมพาต พักใหญ่รถพยาบาลที่เพื่อนบ้านผมเรียกไปก็มา พวกเขาเอาเปลเข้ามา แยกเปลเป็นสองซีกแล้วสอดเข้ามาทางซ้ายทางขวาแล้วมาล็อกกันตรงกลาง เอาเข็มขัดตราสังข์รัดผมไว้กับเปล ทุลักทุเลมากเพราะขยับนิดผมก็โอ๊ย พอได้ขึ้นไปอยู่บนรถ ผมรู้สึกว่ารถพยาบาลตกหลุมทุกหลุมที่ซอยเข้าบ้านผมมี 

     ไปถึงห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล... หมอพยาบาลวิ่งกันขวักไขว่ แต่ยังไม่มีเวลามาดูผมหรอก ไปดูคนอื่นอยู่ทั้งๆที่เป็นโรงพยาบาลเอกชนแต่ก็ไม่วายแน่น มีพนักงานมาเอ็กซเรย์ เอ็กซ์แล้วก็เอ็กซ์อีก เจาะเลือดสามรอบ ไม่รู้เจาะอะไรบ้าง แล้วหมอก็ทยอยกันเข้ามา คนสุดท้ายเป็นหมอกระดูก บอกว่าผมจะต้องผ่าตัดด่วนเพื่อแก้ปัญหากระดูกซี่โครงหักและเลือดออกในช่องอก และจะแก้ไขแขนหักไปด้วย
พวกหมอผ่าตัดผมนานสองชั่วโมง แต่ก็เอาแขนผมกลับเข้าต่อที่เก่าได้สำเร็จ มีแผ่นเหล็ก และนอตยึดอีกเจ็ดตัว ผมไม่แน่ใจว่ามีแหวนเกลียวด้วยหรือเปล่า 

     หลังจากผ่าตัด ผมนอนโรงพยาบาลหนึ่งเดือน พยายามหัดเดิน และหัดรับมือกับความปวดอย่างเหลือร้ายที่แขนและที่ซี่โครงซึ่งหมอไม่ได้ทำอะไรให้เลย แต่ละครั้งที่นักกายภาพมาควักผมขึ้นจากเตียงความปวดที่กระดูกซี่โครงมันเหลือจะพรรณนา อ้อ ผมลืมบอกไปว่ามีกระดูกหัวเข่าแตกและเอ็นไขว้กระดูกฉีกด้วย อย่างดีที่ผมได้ก็คือยาแก้ปวดกินไม่กี่เม็ด ที่เหลือผมต้องดูดซับความเจ็บปวดไว้เอง

      ออกจากโรงพยาบาลแล้วผมยังต้องไปกายภาพที่รพ.อีกสองเดือน แต่ละวันที่ไปกายภาพ มันปวดขาดใจ แต่ผมก็รู้สึกว่าตัวเองค่อยๆแข็งแรงขึ้น 

     การเจ็บป่วยครั้งนี้ทำให้ชีวิตผมแทกจะพลิกไปเลย ภรรยาผมน้ำหนักลดไป 6 กก. จากเดิมที่เป็นคนรูปร่างผอมอยู่แล้ว เธอต้องทำทุกอย่างแทนผม บางอย่างก็ต้องทำให้ผม ความเครียดที่เข้ามาเยือนชีวิตเราครั้งนี้มันสุดจะบรรยาย

     ผมเขียนมาหาหมอเพราะอยากจะให้เรื่องของผมเป็นข้อเตือนใจแก่ผู้เกษียณที่ขยันขันแข็งทั้งหลาย ว่าเรื่องร้ายๆทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะผมเผลอสติลืมตัวไปแป๊บเดียว ไม่น่าเชื่อว่าการคลาดกับสติของตัวเองเพียงช่วงแป๊บสั้นจะทำความเสียหายให้ชีวิตได้ถึงเพียงนี้ นี่ผมยังดีนะที่เอาชีวิตรอดมาได้แม้ว่าจะหมดไปล้านกว่าบาท ผมเชื่อว่าคนเกษียณอีกมากที่ล้มลงพื้นแล้วไม่มีโอกาสได้กลับออกมาจากโรงพยาบาลอีกเลย

.....................................

ตอบครับ

     ขอบคุณมาก ท่านเล่าเรื่องได้ชัดเจนเห็นภาพจนผมไม่ต้องย้ำอีก

     แต่ถึงแม้จะรู้ว่าการทรงตัวเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ ผู้เกษียณจำนวนมากก็ยังไม่รู้จักการออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัว (balance exercise) ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไปครั้งหนึ่งแล้ว จะขอเอามาให้อ่านตรงนี้อีกครั้ง เผื่อผู้สูงอายุทั่วไปที่เป็นแฟนบล็อกนี้จะเอาไปหัดทำเอง เพื่อป้องกันการลื่นตกหกล้มของตัวเอง ท่าออกกำลังกายเหล่านี้ผมใช้สอนผู้ป่วยสูงอายุของผมอยู่เป็นประจำ การออกกำลังกายเพื่อเสริมการทรงตัว มีเป้าหมายสุดท้ายที่การลดอุบัติการณ์ลื่นตกหกล้มของผู้สูงอายุ เอากันตั้งแต่หลักพื้นฐานเลยนะ

     ผู้สูงอายุมีปัจจัยที่ทำให้ลื่นตกหกล้มง่าย แปดอย่าง ได้แก่

(1) ใจลอย
(2) สายตาไม่ดี
(3) กล้ามเนื้อตะโพกและขาไม่แข็งแรง
(4) ท่าร่างไม่ตั้งตรง
(5) เท้าระพื้น (ยกเท้าไม่ขึ้น)
(6) ปฏิกิริยาสนองตอบช้าต่อสิ่งเร้าช้า
(7) กินยาที่ทำให้หกล้มง่าย
(8) ความดันเลือดตกขณะเปลี่ยนท่าร่าง (ซึ่งมักเป็นผลจากยา)

     องค์ประกอบของการทรงตัวของคนเรามีห้าอย่าง คือ

(1) สติ
(2) กล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อท่อนล่าง
(3)  กระดูกและข้อ โดยเฉพาะข้อเท้า เข่า และสะโพก
(4) สายตา
(5) อวัยวะคุมการทรงตัว ซึ่งอยู่ในหูชั้นใน

      เมื่ออายุมากขึ้น ผู้สูงอายุชอบจำกัดท่าร่างและการเคลื่อนไหวของตนมาอยู่ในท่าที่ตนเองมั่นใจในความปลอดภัยมากที่สุด คือท่ายืนกางขานิดๆหลังค่อมหน่อยๆ เวลาเดินก็เจี๋ยมเจี้ยมค่อยๆก้าวขาข้างละทีละครึ่งก้าว ซึ่งนอกจากจะไม่เท่แล้ว การใช้ท่าร่างแบบนี้ทำให้สมองเสียโอกาสได้ฝึกทำเรื่องที่ท้าทาย จึงมีผลให้ความสามารถในการทรงตัวถดถอย การออกกำลังกายแบบฝึกหัดการทรงตัว (balance exercise) เป็นการใช้ท่าร่างและการเคลื่อนไหวที่บังคับและท้าทายสมองให้ใช้องค์ประกอบทั้งห้าสวนพร้อมกัน ทั้งสติ หูชั้นใน สายตา กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ

โดยมี หลักสำคัญสามประการ คือ

(1) ต้องพยายามใช้ท่าและการเคลื่อนไหวที่ท้าทายสมองมากๆ
(2) ต้องฝึกบ่อยๆ ฝึกทุกวัน วันละหลายชั่วโมง
(3) ต้องฝึกทุกที่ทุกเวลา ท่าต่างๆที่ผมให้ไว้นี้เป็นเพียงท่าตัวอย่าง ท่านผู้อ่านสามารถนำไปดัดแปลงเพิ่มเติมให้เหมาะกับตัวเองได้ ในการฝึกถ้ามีรองเท้าเต้นรำพื้นหนังจะดีที่สุด แต่ถ้าไม่มีก็ใช้รองเท้าอะไรก็ได้

     ท่าออกกำลังกายเพื่อเสริมการทรงตัว

    ท่าที่ 1. One leg stand ยืนขาเดียว วิธีทำก็คือยืนสองขาชิดกันก่อน แล้วงอเข่ายกขาขึ้นยืนขาเดียว ทำทีละข้าง

     ท่าที่ 2. Eye tracking กลอกตาตามหัวแม่มือ วิธีทำคือยืนตั้งศีรษะตรงนิ่ง ยื่นมือออกไปให้ไกลสุดตัว ยกหัวแม่มือขึ้น แล้วเคลื่อนมือไปทางซ้ายจนสุด ขณะเคลื่อนมือไปให้กลอกตามองตามหัวแม่มือไป โดยศีรษะยังหันหน้าตรงไปข้างหน้าไม่หันไปตามหัวแม่มือ แล้วก็เคลื่อนมือไปทางขวาจนสุดและกลอกตาตาม ทำซ้ำหลายๆครั้ง

     ท่าที่ 3. Clock reach เข็มนาฬิกา วิธีทำคือยืนตรงเสมือนยืนอยู่บนหน้าปัดนาฬิกาขนาดใหญ่ แล้วยกขาข้างหนึ่งขึ้นเป็นยืนขาเดียว แล้วกางแขนสองข้างเหยียดเสมอไหล่ออกไปให้สุดทั้งทางซ้ายและขวา ตามองตรง แล้วค่อยๆหมุนตัวและแขนแต่ไม่ศีรษะและคออยู่นิ่ง ให้แขนซ้ายชี้ไปที่ 12.00 น. แขนขวาชี้ไปที่ 6.00 น. แล้วหมุนใหม่ให้แขนขวาชี้ไปที่ 12.00 น. แขนซ้ายชี้ไปที่ 6.00 น. บ้าง แล้วหมุนโดยชี้แขนไปที่ตำแหน่งต่างๆบนหน้าปัดตามเวลาที่สมมุติขึ้น แล้วสลับขา

     ท่าที่ 4. Staggered stance ยืนต่อเท้าบนเส้นตรง วิธีทำคือยืนตรงอยู่บนเส้นตรงสมมุติเส้นเดียวที่ลากจากหน้าไปหลัง บนขอนไม้หรือไม้กระดานแผ่นเดียว ให้หัวแม่เท้าซ้ายไปต่ออยู่หลังส้นเท้าขวา แล้วสลับขา

    ท่าที่ 5. Heal to toe เดินต่อเท้าบนเส้นตรง วิธีทำคือทำท่ายืนต่อเท้าบนเส้นตรง บนขอนไม้หรือไม้กระดานแผ่นเดียว กางมือออก มองไปข้างหน้า แล้วเดินแบบเอาส้นเท้าซ้ายย้ายไปต่อหน้าหัวแม่เท้าขวา ทำเช่นนี้สลับข้างกันไป จนเดินไปสุดขอนไม้หรือแผ่นไม้กระดาน แล้วเดินถอยหลังกลับจนสุดขอนไม้

    ท่าที่ 6. Just walk เดินธรรมดา วิธีทำคือยืนบนขอนไม้ ตัวตรง เอาถ้วยกาแฟทูนไว้บนหัว มองไปข้างหน้า แล้วเดินไปบนขอนไม้แบบเดินแกว่งแขนธรรมดา มีสติ รู้ตัวว่ากำลังก้าวขาไหน กำลังหายใจเข้าหรือออก

     ท่าที่ 7. Knee marching เดินแถวทหาร วิธีทำคือ เดินสวนสนามบนขอนไม้ เวลาเดินยกเข่าสูงเสมอข้อตะโพก แกว่งแขนสูงเสมอไหล่ เดินไปจนสุดขอนไม้

     ท่าที่ 8. Single limb with arm เดินแถวแบบทหารใหม่ วิธีทำคือขึ้นไปยืนบนขอนไม้แบบยืนต่อเท้าบนเส้นตรง ยืนบนเท้าซ้ายก่อน ยืดตัวตรง ตามองไปข้างหน้า แล้วยกมือขวาและเข่าขวาขึ้นแบบทหารจะเดินแถวสวนสนามแต่ยกมือผิดข้าง เดินแบบนี้ไปบนของไม้สลับเท้าซ้ายขวาจนสิ้นสุดขอนไม้

     ท่าที่ 9. Grapevine เดินไขว้ขาไปทางข้าง วิธีทำคือยืนบนขอนไม้ ยืนตรงยืดหน้าอก ยืดศีรษะขึ้น หันข้างให้กับแนวขอน แล้วเดินไปทางซ้ายโดยเอาเท้าขวาไขว้ไปทางด้านหลังของเท้าซ้าย เดินแบบนี้ไปจนสุดขอนไม้ แล้วเดินกลับ

     ท่าที่ 10. Body circle ท่าขี้เมา วิธีทำคือยืนบนขอนไม้หรือบนพื้น กางขา แล้วโยกตัววนเป็นวงกลม โยกวนไปแล้ววนมาแบบคนเมาเหล้า ลองพยายามแกล้งจะล้มแล้วพยายามประคองตัวเองไม่ให้ล้ม

     ท่าที่ 11. Dynamic walking เดินและเหลียว วิธีทำคือเดินบนขอนไม้ ตั้งศีรษะตรง มองไปข้างหน้า แล้วกวาดสายตามองจากหัวไหล่ซ้ายไปจนถึงหัวไหล่ขวา แล้วกวาดสายตากลับ โดยขณะกวาดสายตาให้เดินไปด้วยโดยไม่ให้เสียจังหวะการเดิน หรืออาจจะถือหนังสืออ่านขณะเดินไปด้วย

     ท่าที่ 12. Stepping ก้าวข้าม วิธีทำคือเดินแบบยกเข่าสูงเพื่อก้าวข้ามตอไม้ที่วางไว้เป็นช่วงๆ โดยไม่ให้เสียจังหวะการเดิน

     ท่าที่ 13. Balancing wand เลี้ยงกระบองไว้บนมือ วิธีทำคือ ยืนบนขอนไม้หรือบนพื้นราบ เอาไม้กระบองตั้งไว้บนฝ่ามือ ย่อเข่าลง ตามองที่กระบอง ปล่อยมือที่ประคองกระบอง แล้วเลี้ยงกระบองให้ตั้งอยู่บนมือ ขณะเดียวกันก็ซอยเท้าอยู่กับที่ แล้วออกเดินไปบนขอนไม้ เดินหน้า ถอยหล้ง แล้วเดินไขว้ขาไปข้างแบบ grape vine โดยไม่ให้กระบองหล่นจากฝ่ามือ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

...................................................................

จดหมายจากท่านผู้อ่าน

     ดิฉันเป็นคนสูงวัย(มาก)คนหนึ่ง อายุ 72 แถมไม่มีบุตร มีสามีป่วยด้วยทั้งผ่าหัวใจ อายุ 73 ส่วนตัวเองเป็นความดัน เบาหวาน ส่วนสามี สารพัดโรค ผ่าหลอดเลือดหัวใจ.ผ่าสมองเพราะอุบัติเหตุ เลยทำให้ผลกระทบความจำเสียไป การเคลื่อนไหวผิดไป ก้มคอ งอหลัง ก้าวติดๆข้างหนึ่ง ล้มเพราะขาไม่พร้อมใจเดินไปด้วยกัน ภาพหลอน เห็นอะไรต่ออะไร ลมชักเมื่อเห็นอะไรเร็วๆก็ชัก รถติดก็ชัก หนังทีวีต้องเอาวิวง่ายๆ หากเป็นหนังแอ็คชั่นก็ชัก หนาวไปชัก..ต่อมลูกหมากโต ความดันโลหิตสูง เก๊าท์.ประมาณนี้ค่ะ

     ...ดิฉันจึงจำต้องทำหน้าที่ทุกอย่าง ตั้งแต่เป็นพ่อบ้านเอง ซ่อม สร้าง ปรับปรุง แก้ไข ทุกอย่าง
เป็นตั้งแต่พยาบาลเองจนถึงนักกายภาพ คนขับรถ ยามฉุกเฉิน รวมทั้งนักโภชนาการ นักปลุกระดมกำลังใจ นักปฏิบัติให้เห็นทางแห่งธรรม. สิ่งเดียวที่ดิฉันยึดเป็นหลักแรก คือ การรู้จักตน ดิฉันทราบว่า ไม่มีสิทธิป่วย อย่างน้อยก็รู้ว่า จะไม่มีใครประคองเรา เราเหลือแค่ สองมือ สองเท้า หนึ่งหัวและหนึ่งจิตใจ มีแค่นี้จริงๆ ดิฉันไม่กลัวชีวิต เพราะคิดว่า มันเป็นหนทางปกติ ใช้ปลุกระดมตัวเองไม่ให้จิตตกเป็นอันดับแรก เพราะหากจิตตกเมื่อไร มันเซซ้ำและใจรวนหดหู่ อันนี้สำคัญสำหรับดิฉันค่ะ จึงใช้การป้องกันจิตตกด้วย ไม่คิดวันหน้า ไม่คิดสิ่งที่ผ่าน อยู่กับปัจจุบันด้วย Now and Now พอตั้งมั่นแบบนี้ ไม่เศร้า ไม่อ่อนแอ ระทดระทวยเลย สู้แต่ละนาที แต่ละวิกฤติ อย่างหนุกหนานและท้าในใจว่า...เรียมเอ๊ย..ครานี้ คือ excercise ของจริงละหว้า จะแพ้ ชนะให้รู้ไป

     ..สรุปนะคะ เดินทางกับชีวิตยามยาก วิกฤติ ด้วยพลังทั้งหมดที่มี ในที่สุด พบว่า สิ่งที่ได้คือ ความแข็งแกร่ง อย่างชนิดคิดไม่ถึงเลยล่ะค่ะ เวลาผ่านมา 3 ปีเศษแล้ว เหตุการณ์ทำให้กระตุ้นแและเรียนรู้ถึงทางแห่งพุทธธรรม นี่คือชีวิตของสรรพสิ่ง นี่คือ วัฏสงสาร นี่คือ ไตรลักษณ์ นี่คือหนทางแห่งชีวิต

     ดิฉันสอนสามีให้รู้จักการดูกาย ดูใจ.มองให้เห็นว่าชีวิตนั้นมันงดงาม ขาข้างซ้ายไม่เดิน มองลงไปให้เห็นว่า กล้ามเนื้อทุกมัด เอ็นทุกเส้น กระดูกทุกส่วน มันเห็นยังไง รู้สึกอย่างไร..ไม่มีแรงเหรอ..งั้นมาเล่นงัดขางัดข้อกัน..หนุกหนาน ลุกจากเตียงไม่ได้ ทำไมจึงลุกไม่ได้ สมองไม่สั่งเหรอ..งั้นเรียมสั่งเอง..ว่าแล้วก็พูดเสียงสั่งเสียงดัง เข้ม หนัก เขาค่อยๆขยับ..ลองไปเรื่อยๆ วันนี้ เขาเดินได้เอง ความจำกลับมาดูแล้ว 99.99%  คิดแบบตรรกะ คิดแบบปรัชญา ทำได้ดีมากๆค่ะ ไม่ชัก ไม่ประสาทหลอน ออกกำลังสม่ำเสมอ ทำ Cadiac Rehab ผลวิเศษมากเลยค่ะ เดินส่ายพาน ขี่จักรยาน ทำ PT..OT สมบูรณ์ หน้าตามีเลือดฝาด ใจสงบเยือกเย็น สมาธิ ภาวนา เผื่อแผ่ เมตตา ต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง

     ..เล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นกำลังใจค่ะ เพราะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ..มีทุกข์ วันหนึ่งก็ทุกข์ทุเลาเบาบางได้ค่ะ อยู่ now and now รักษาดวงจิตไว้ค่ะ นี่คือบันไดขั้นแรก

     ..จริงๆแล้ว ทุกคนมีชีวิตที่สวยงาม งดงามตามสไตล์ของตน ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตในทุกข์ หรือ ไม่ว่าจะโชคดีพบสุขสมใจปรารถนา มันคือครรลองของชีวิตที่ดำเนินไปตามเหตุที่มี เหตุผลักดันให้การเดินทางของชีวิตลดเลี้ยว เหมือนการเดินทาง หากเรานั่งรถไป เพื่อจุดหมายใดสักที่หนึ่ง เข่น สวนสวยงาม ชายทะเล...อะไรก็ได้ที่คิดว่า น่าจะมีสุข ระหว่างทางเรานั่งหลับๆตื่นๆ เมื่อยบ้าง หิวบ้าง ไปเรื่อยๆ อย่างนี้เรียกว่าไม่สุข เรายอมไม่สุข เพื่อกำลังจะเดินทางไปพบสุขที่เป็นเป้าหมาย

     ...แต่การเดินทางชีวิต มันยาวนาน เราควรดูดซับสิ่งที่เรียกว่า ความพอใจ ความสุข ความเบิกบาน..ได้ตลอดการเดินทาง เพราะเป้าหมายสุดท้ายคือ ..ไม่มีอะไรเลยจริงๆ เห็นแล้ว มองทุกอย่างที่เราพบผ่าน อย่างเบิกบานและยินดี มันอยู่ที่เรามองจริงๆ ฝึกทางแห่งพุทธะ ในที่สุด จะเห็นจริงๆในมิติที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเลยว่า ชีวิตมันสวยงามทุกยาม.

............................................

ตอบครับ (ครั้งที่2)

จดหมายของคุณพี่เกินคำบรรยายใดๆ คุณพี่อายุ 72 ตัวคนเดียวแถมสามีป่วยห้อยแข้งห้อยขา แต่วิธีที่คุณพี่ใช้ชีวิตนั้นจะเป็นตำนานสอนผู้อ่านบล็อกหมอสันต์ไปอีกนานเท่านาน ผมขอขอบคุณคุณพี่แทนผู้อ่านแฟนๆบล็อกทุกคนด้วยครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

21 สิงหาคม 2559

ถั่วเหลืองและน้ำเต้าหู้กับการเป็นมะเร็งเต้านม

เห็นแชร์กันมากมายเรื่องน้ำเต้าหู้ เต้าหู้ ถั่วเหลือง นมถั่วเหลือง ว่ามีผลทำให้มะเร็งต่างๆลุกลามโดยเฉพาะมะเร็งเต้านม เพราะมีสารอาหารที่มีค่าทองแดงสูง อยากทราบข้อเท็จจริงมากๆเลยค่ะ ว่ามีผลให้มะเร็งลุกลามจริงมั้ยคะ

       ขอบคุณคุณหมอมากๆค่ะ
ส่งจาก iPhone ของฉัน

.....................................................................

ตอบครับ

     มีจดหมายจำนวนมากเข้ามาด้วยอาการ “กระต๊าก” กับข่าวสุขภาพสาระพัดที่แชร์กันทางไลน์บ้างทางเฟซบ้าง ซึ่งผมไม่เคยตอบเลย เพราะผมถือว่าได้เคยพูดถึงวิธีจัดชั้นและวิเคราะห์หลักฐานวิทยาศาสตร์ไปบ่อยครั้งมากแล้ว ท่านผู้อ่านต้องเอาวิธีการนั้นไปหัดกลั่นกรองหลักฐานที่ร่อนมาจากอินเตอร์เน็ทเอาเอง สำหรับท่านที่ไม่ยอมกลั่นกรองอะไรด้วยตัวเอง ได้แต่ร้องกระต๊าก..กระต๊าก นั้น ผมคงจนปัญญาไม่รู้จะช่วยอย่างไรได้

     แต่ว่าวันนี้เป็นวันพิเศษ คือจะตอบจดหมายกระต๊ากเรื่องเต้าหู้หรือถั่วเหลืองทำให้เป็นมะเร็งเต้านม เพราะมีมาหลายฉบับมาก และขอให้ถือว่าได้รวบตอบให้แล้วทุกฉบับในคราวนี้

     ในการตอบคำถามนี้ผมขอแยกเป็นสองประเด็นนะ คือ (1) กินถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองเช่นเต้าหู้และนมถั่วเหลือง ทำให้เป็นมะเร็งเต้านมจริงหรือไม่  และ (2) สารเคมีที่ตกค้างในถั่วเหลือง ทำให้เป็นมะเร็งเต้านมจริงหรือไม่

     ประเด็นที่ 1. ถามว่าถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองเช่นเต้าหู้และนมถั่วเหลือง ทำให้เป็นมะเร็งเต้านมจริงหรือไม่ ตอบว่าเรื่องนี้มีหลักฐานสองระดับ

     กรณีที่ 1. หลักฐานระดับในคน ตอบได้เลยว่าถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ไม่ทำให้เป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น ไม่เคยมีหลักฐานวิทยาศาสตร์ระดับงานวิจัยในคนแม้แต่ชิ้นเดียวที่บ่งชี้ไปในทางว่าการกินถั่วเหลืองหรือนมถั่วเหลืองจะมีความสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม มีหลักฐานวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่า

     1.1 การกินถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง สัมพันธ์กับการการลดอุบัติการณ์เป็นมะเร็งเต้านม งานวิจัยที่ใหญ่ที่สุดในเรื่องนี้เป็นการทบทวนงานวิจัยแบบเมตาอานาไลซีสที่เอางานวิจัยคิดตามดูกลุ่มคนในเอเซียขนาดใหญ่รวมทั้งสิ้น 8 งานวิจัยมาวิเคราะห์ ซึ่งให้ผลสรุปว่าคนยิ่งกินถั่วเหลืองมาก ยิ่งมีอุบัติการณ์เป็นมะเร็งเต้านมต่ำ

     1.2 สำหรับคนที่เป็นมะเร็งเต้านมไปเรียบร้อยแล้ว การทบทวนงานวิจัยซึ่งติดตามดูผู้เป็นมะเร็งเต้านมโดยเปรียบเทียบผู้ที่กินกับไม่กินถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง พบว่าหญิงเป็นมะเร็งเต้านมที่กินถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองมีอัตรากลับเป็นมะเร็งเต้านมซ้ำหลังตัดออกแล้ว (recurrent rate) ต่ำกว่าหญิงที่ไม่กินถั่วเหลือง 29% และมีอัตราตาย(mortality rate) ต่ำกว่าหญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมแต่ไม่กินถั่วเหลือง 36%  ทั้งนี้นิยามว่าการกินถั่วเหลืองคือกินเทียบกับสารฟลาโวนอยด์หนัก 17 กรัมต่อวัน (เทียบเท่านมถั่วเหลืองหนึ่งแก้วต่อวัน)

     กรณีที่ 2. หลักฐานระดับในห้องทดลอง ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานระดับต่ำกว่าในคน เพื่อตอบคำถามว่าไฟโตเอสโตรเจนจากถั่วเหลือง ทำให้เป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้นเช่นเดียวกับเอสโตรเจนจากแหล่งอื่นเช่นยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนทดแทนหรือไม่ พบว่าหลักฐานเท่าที่มีอยู่ตอนนี้ยังขัดแย้งกันอยู่ คือบางงานวิจัยสรุปว่าไฟโตเอสโตรเจนกระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้ บางงานวิจัยว่าไฟโตเอสโตรเจนเหมือนยาต้านมะเร็งเต้านม คือไปจับกับตัวรับเอสโตรเจนก็จริงแต่มีผลระงับการเกิดมะเร็งคล้ายกับการออกฤทธิ์ของยาต้านมะเร็งบางตัว(SERM) สรุปว่าโหลงโจ้งแล้วหลักฐานในห้องทดลองยังขัดกันเอง จนไม่สามารถสรุปอะไรได้ในตอนนี้ครับ

     ดังนั้น ตราบใดที่ยังไม่มีหลักฐานที่ดีกว่าปัจจุบัน หมอสันต์แนะนำให้ท่านผู้อ่านถือเอาตามหลักฐานระดับระบาดวิทยาและผลการวิจัยตามดูกลุ่มคนในภาพใหญ่ ซึ่งเป็นหลักฐานระดับสูงกว่า และมีผลว่ากินถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง สัมพันธ์กับการลดอุบัติการณ์เป็นมะเร็งเต้านมครับ ลดนะ..ไม่ใช่เพิ่ม

     ประเด็นที่ 2. สารเคมีตกค้างในถั่วเหลืองทำให้เป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้นหรือไม่

     เรื่องนี้มีคนกระต๊ากขึ้นมา เพราะเป็นผลสืบเนื่องจากสงครามน้ำลายระหว่างบริษัทมอนซานโต้ผู้ผลิตถั่วเหลืองตัดแต่งพันธุกรรม(GMO) กับพวกเอ็นจีโอ. (NGO) กรุณาอ่านอย่างใจเย็นๆ และอย่าสับสนกับตัวย่อนะ จีเอ็มโอ.ไม่ได้เป็นญาติกับเอ็นจีโอ.

     เรื่องมีอยู่ว่าบริษัทมอนซานโต้ผลิตยาฆ่าวัชพืชออกมาตัวหนึ่งชื่อ Round up ready ซึ่งมีสารออกฤทธิ์ชื่อไกลโฟเสท (glyphosate) ยาฆ่าวัชพืชชนิดนี้เป็นรุ่นฆ่ารูดมหาราช คือมันเจ๋งขนาดที่ว่าไม่ว่าพืชชนิดไหนเป็นตายเรียบ แล้วมอนซานโต้ก็ผลิตถั่วเหลืองตัดแต่งพันธุกรรม(จีเอ็มโอ.)ออกมารุ่นหนึ่งชื่อ round up ready soy ถั่วเหลืองรุ่นนี้มันเป็นพืชชนิดที่ทนไกลโฟเสทได้ นั่นก็คือปลูกถั่วเหลืองยี่ห้อราวด์อัพ แล้วพ่นย่าฆ่าวัชพืชยี่ห้อราวด์อัพ ทุกอย่างฉลุย ถั่วเหลืองงาม วัชพืชไม่มี ชาวไร่ได้เงิน ขอบคุณมอนซานโต้

     ต่อมาพวกเอ็นจีโอ.ได้กระต๊ากขึ้นมาว่าสารเคมีไกลโฟเสทที่ตกค้างในถั่วเหลืองจีเอ็มโอ.อาจทำให้ผู้คนเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น โดยเผยแพร่ข้อมูลผลวิจัยการเอายาฆ่าวัชพืชราวด์อัพหรือสารไกลโฟเสทเหยาะลงในจานเพาะเลี้ยงเซลในห้องแล็บนะ ไม่ใช่ในร่างกายคน แล้วรายงานว่าไกลโฟเสทนี้ทำให้เซลมีอันเป็นไปต่างๆนาๆ อย่างน้อยก็ว่าไปกระตุ้นตัวรับเอสโตรเจนที่เซล ซึ่งตัวรับชนิดนี้เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่าหากถูกกระตุ้นมากจะทำให้อุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น ทั้งหมดนี้ว่ากันในห้องแล็บล้วนๆนะ ไม่ใช้การทดลองในคนจริงๆ

     ข้างนักวิจัยของมอนซานโต้ก็โต้แย้งว่า จะบ้าเรอะ (หิ หิ พูดเล่น เขาไม่ได้ใช้คำว่าบ้าหรอก) นักวิจัยของมอนซานโต้โต้แย้งว่าความเข้มข้นของไกลโฟเสทที่นักวิจัยฝ่ายเอ็นจีโอ.ใช้หยอดในจานเพาะเลี้ยงเซลในห้องแล็บนั้นมันเข้มข้นมากกว่าความเข้มข้นของไกลโฟเสทที่ผู้บริโภคจะพึงได้รับจริงจากการกินถั่วเหลืองอย่างเทียบกันไม่ได้ จะมาโมเมว่ากินถั่วเหลืองเคลือบยา เอ๊ย ไม่ใช่กินถั่วเหลืองที่มีไกลโฟเสทตกค้างแล้วจะเป็นนั่นเป็นนี่จากงานวิจัยขี้หมาระดับนี้ได้ไง ซึ่งหมอสันต์ก็เห็นด้วยว่า..เออ จริงแฮะ

     สรุปและแปลไทยให้เป็นไทยได้ความว่า มอนซานโต้และชาวไร่ขายถั่วเหลืองจีเอ็มโอที่มียาฆ่าหญ้าไกลโฟเสทตกค้างอยู่ให้แก่ผู้บริโภค นี่เป็นความจริงและมีหลักฐาน แต่ที่เอ็นจีโอ.โวยวายว่าไกลโฟเสทที่ตกค้างในถั่วเหลืองจีเอ็มโอ.จะทำให้ผู้บริโภคเป็นมะเร็งมากขึ้นนั้น ไม่เป็นความจริง และไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ระดับเชื่อถือได้สนับสนุนเลย อย่างน้อยก็ ณ วันนี้

    เก๊ง..ง ระฆังหมดยก ผมชูมือให้มอนซานโต้ ถั่วเหลืองจีเอ็มโอ และยาฆ่าหญ้าไกลโฟเสท เป็นฝ่ายชนะ

     และผมแนะนำท่านผู้อ่านว่า ณ วันนี้อย่าไปสนใจเรื่องถั่วเหลืองจีเอ็มโอและยาฆ่าหญ้าไกลโฟเสทกับการเป็นมะเร็งเลยครับ จะไปเข้าตำรารู้มากยากนานเปล่าๆ เพราะมันยังไม่่มีหลักฐาน ผมว่าท่านเอาแค่เรื่องใกล้ตัวที่มีหลักฐานสนับสนุนเหน่งๆแล้วอย่างเช่นการกินพืชผักผลไม้ให้มากขึ้นและออกกำลังกายทุกวันให้รอดก่อนเถอะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Wu AH, Yu MC, Tseng CC and Pike MC. Epidemiology of soy exposures and breast cancer risk. British Journal of Cancer (2008) 98, 9–14. doi:10.1038/sj.bjc.6604145

2. Nechuta SJ, Caan BJ et al. Soy food intake after diagnosis of breast cancer and survival. An in-depth analysis of combined evidence from cohort study of US and Chinese women. Am J Clin Nutr 2012;96:123-32

[อ่านต่อ...]

17 สิงหาคม 2559

อาหารสำหรับคนกรดยูริกสูง และ..เจาะลึกเรื่องแดชไดเอ็ท

เรียนคุณหมอสันต์

ผมเป็นคนป่วยเก้าท์ที่มีความสับสนเรื่องอาหารการกิน ไปหาหมอคนก่อนห้ามผมกินหน่อไม้ฝรั่ง และสัตว์ปีกทุกชนิด พอเปลี่ยนหมอหมอคนใหม่บอกว่ากินอะไรก็ได้ที่ไม่ปวดข้อกินเข้าไปเหอะ ถ้าไม่กินโน่นไม่กินนี่คุณจะไม่มีอะไรจะกิน คุณหมอสันต์ครับ จริงๆแล้วคนเป็นเก้าท์ควรกินอาหารอย่างไรครับ

....................................................

ตอบครับ

     ในเรื่องอาหารการกินสำหรับคนเป็นโรคเก้าท์หรือคนมีกรดยูริกสูงนี้ แต่ก่อนร่อนชะไรมา วงการแพทย์อาศัยข้อมูลแบบอ้อมๆ จากห้องแล็บแล้วเอามาคิดปะติดปะต่อกัน วิธีนี้ทางวิทยาศาสตร์เรียกว่าวิธี extrapolation แปลว่าวิธีเดาเอา แล้วสรุปออกมาเป็นคำแนะนำให้คนไข้ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ดอก แต่วงการแพทย์ก็ไม่มีหลักฐานที่ดีกว่านี้ วิธีอาศัยข้อมูลห้องแล็บมาคิดปะติดปะต่อกันก็คือเราทราบจากในห้องแล็บว่ากรดยูริก สร้างขึ้นมาจากโมเลกุลในอาหารชื่อพิวรีน เราก็ไปสำรวจว่าอาหารชนิดไหนมีพิวรีนมาก ซึ่งก็ได้ข้อสรุปดังนี้

     อาหารกลุ่มที่มีพิวรีนสูงสุด คือ ตับ ไต ไก่งวง ปลาซาร์ดีน
   
     อาหารกลุ่มที่มีพิวรีนปานกลาง คือ หน่อไม้ฝรั่ง เนื้อวัว เนื้อไก่ ปู เป็ด ถั่ว เห็ด กุ้ง หมู

     อาหารที่มีสารพิวรีนน้อยเช่น ผลไม้ ธัญพืช ไข่ นม มะเขือเทศ ผักใบเขียว

     แล้วเราก็สอนผู้ป่วยว่าอะไรที่มีพิวรีนมากก็กินน้อยๆ อะไรที่มีพิวรีนน้อยก็กินมากๆ ผู้ป่วยเอาไปปฏิบัติก็ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง กล่าวคือบางคนกินอาหารที่มีพิวรีนมากกลับพบกว่ากรดยูริกไม่สูง บางคนเข้มงวดเรื่องอาหารพิวรีนแทบตายกลับพบว่ากรดยูริกสูงเอาๆ โดยที่วงการแพทย์เองไม่มีข้อมูลเลยว่าอาหารอย่างไหนจะลดหรือเพิ่มกรดยูริกในเลือดของคนกินได้

     แต่มาถึงวันนี้ เรามีหลักฐานระดับสูง(วิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ)ที่จะบอกได้แล้วว่าอาหารแบบไหนลดกรดยูริกได้ อย่างน้อยก็มีแล้วหนึ่งงานวิจัยที่รับไว้ตีพิมพ์ในวารสาร Arthritis & Rheumatology ในงานวิจัยนี้เขาเอาผู้ป่วยที่เป็นความดันสูงด้วยมีกรดยูริกสูงด้วยมา 103 คน สุ่มตัวอย่างแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินอาหารลดความดันแบบแดชไดเอ็ท (DASH diet) อีกกลุ่มหนึ่งให้กินอาหารอเมริกันธรรมดา พบว่ากลุ่มที่กินอาหารลดความดันแบบแดชไดเอ็ทลดกรดยูริกในเลือดลงได้ ขณะที่กลุ่มกินอาหารธรรมดากรดยูริกไม่ลดเลย นอกจากนี้ตอนท้ายงานวิจัยยังได้ทดลองเพิ่มเกลือเข้าไปในอาหารแต่ละกลุ่มทีละน้อยๆ พบว่ายิ่งอาหารมีเกลือมาก อาหารนั้นยิ่งมีผลลดกรดยูริกได้น้อยลง

     ไหนๆก็พูดถึงแดชไดเอ็ทแล้ว ขอเจาะลึกเสียหน่อยว่ามันคืออะไรกันแน่ เพราะแฟนบล็อกหมอสันต์เขียนมาถามแบบไม่เข้าใจว่าแดชไดเอ็ทมันไปไงมาไง เช่นถามว่าจะกินแดชไดเอ็ทแต่ไม่ชอบดื่มนมจะทำไงดี ทำโง้นดีไหม ทำงี้ดีไหม คือไม่เข้าใจที่มาจึงนึกว่าแดชไดเอ็ทเป็นกฎหมาย ต้องกินมันทุกอย่างที่เขาลิสต์ไว้ เอาละนะ มาเจาะลึกเลยดีกว่า

     แดชไดเอ็ท เกิดจากงานวิจัยตั้งต้นที่พบว่าอาหารที่ลดความดันเลือดได้ดีคืออาหารพืชล้วนๆโดยไม่มีเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์อย่างนมอย่างไข่เลย แต่การจะทำสูตรอาหารให้คนกินโดยไม่ให้มีเนื้อนมไข่เลยนั้น ลิง..เอ๊ย ไม่ใช่ คนที่ไหนจะยอมกินละครับ จึงได้มีการประชุมคิดสูตรอาหารแดชขึ้นเพื่อให้มันมีส่วนผสมพอกระเดือกได้แต่ว่าทำให้สุขภาพดีลดความดันเลือดได้ด้วย ส่วนที่ใส่เข้ามาเพื่อให้คนยอมกินแต่ใจจริงไม่อยากให้คนกิน ก็ใส่คำว่า "ไม่เกิน" ไว้ หมายความว่ากินน้อยๆยิ่งดี สูตรที่คิดขึ้นมาสำหร้บฝรั่งซึ่งร่างกายต้องการ 2,000 แคลอรี่ต่อวันจึงเป็นดังนี้

     1. มีธัญพืชไม่ขัดสี เช่นข้าวกล้อง 6-9 เสริฟวิ่งต่อวัน แปล.. หนึ่งเสริฟวิ่งของธ้ญพืชเท่ากับธัญพืชหุงสุกครึ่งถ้วย แปลอีกที..หนึ่งเสริฟวิ่งเท่ากับ 120 กรัม นั่นหมายความว่าแต่ละวันต้องมีข้าวกล้องหรือธัญพืชอื่น 720 = 1080 กรัม ก็คือต้องกินข้าวกล้องหุงสุกแล้ววันละเป็นกิโล เออ..คราวนี้ชัดแมะ ตรงนี้คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจนึกว่าอาหารสุขภาพต้องกินคาร์ไบไฮเดรตน้อยๆ แต่ความเป็นจริงไม่ใช่ เพราะถ้ากินคาร์โบไฮเดรตน้อยจะไปเอาพลังงานจากไหนละ ในเมื่ออาหารสุขภาพเขาตัดไขมันลง แล้วในกรณีแดชไดเอ็ทเขากลัวโปรตีนส่วนเกินไปทำให้ไตแย่ด้วย ก็ต้องมากินคาร์โบไฮเดรตเป็นหลัก โดยที่ต้องเป็นคาร์โบไฮเดรตจากธัญพืชไม่ขัดสีคือถ้าข้าวก็ควรเป็นข้าวกล้อง

     2. ผักวันละ 4-5 เสริฟวิ่ง แปล..หนึ่งเสริฟวิ่งเท่ากับผักสลัดหนึ่งถ้วย (240 ซีซี) ซึ่งก็คือสลัดหนึ่งจานแบบไทยๆนั่นแหละ นั่นหมายความว่าถ้าจะพึ่งผักจากสลัดอย่างเดียวต้องวันละ 4-5 จานนะ พูดง่ายว่าต้องกินผักวันละถาด ไม่ใช่เอาผักโรยหน้าสองสามใบแล้วภาคภูมิใจเหลือเกินว่าวันนี้ได้กินผักแล้ว การนับหนึ่งเสริฟวิ่งของผักนี้ ในกรณีที่เป็นผักต้มสุกหรือผักในน้ำแกง หนึ่งเสริฟวิ่งเท่ากับผักต้มครึ่งถ้วย (120 กรัม) ทั้งนี้ไม่นับน้ำนะ นับแต่ตัวผัก

     3. ผลไม้วันละ 4-5 เสริฟวิ่ง แปล..หนึ่งเสริฟวิ่งของผลไม้เท่ากับผลไม้ลูกเขื่องเช่นแอปเปิลโตๆหนึ่งลูก หรือถ้าหั่นออกมาแล้วก็ครึ่งถ้วย (120 กรัม) หรือน้ำผลไม้ปั่นไม่ทิ้งกากก็ 120 ซีซี. หรือค่อนแก้ว แต่ถ้าผลไม้ลูกโตมากอย่างกล้วยหอมยักษ์หนึ่งเสริฟวิ่งก็ประมาณครึ่งถึงสองส่วนสามลูก วันหนึ่งให้ได้ 4-5 เสริฟวิ่งนะอย่าลืม นั่นหมายความว่าถ้าจะกินผลไม้ลูกเขื่องอย่างเดียวก็วันละ 4-5 ลูก

     4. นมไร้ไขมันไม่เกินวันละ 2-3 แก้ว อันนี้สำหรับคนติดนม ถ้าไม่กินก็ไม่เป็นไร เพราะนมและผลิตภัณฑ์ของนมไม่ใช่ส่วนที่ออกฤทธิ์ลดความดันเลือด แต่เหตุที่นมได้เข้ามาอยู่ในสูตรแดชผมเข้าใจว่าเป็นเพราะอิทธิพลของอุตสาหกรรมนมส่วนหนึ่งและเป็นเพราะความกลัวคนไม่ยอมกินอาหารที่ไม่มีนมอีกส่วนหนึ่ง ถ้าดูสูตรของพวกอยู่นอกเขตอิทธิพลของอุตสาหกรรมนมอย่างสูตรอาหารของฮาร์วาร์ด จะไม่แนะนำให้ดื่มนมเลย อนึ่ง คำว่านมนี้รวมถึงโยเกิร์ตจากนมไร้ไขมันด้วย แต่ไม่รวมถึงชีส เพราะชีสมัน..เค็ม จึงแสลงกับความดันเลือดสูง ทั้งนี้อย่าลืมว่าแดชไดเอ็ทเป็นอาหารลดความดัน

     5. นัท (nut) เมล็ด (seed)  และถั่ว (bean) ต่างๆ สัปดาห์ละ 4-5 เสริฟวิ่ง แปล..หนึ่งเสริฟวิ่งของถั่วและนัทสุกเท่ากับหนึ่งถ้วยหรือ 240 กรัม แปลอีกที..นั่นคือต้องกินถั่วกินนัทสัปดาห์ละ 960 – 1200 กรัมหรือประมาณหนึ่งกิโลต่อสัปดาห์ หารเฉลี่ยแล้วก็ประมาณสองอุ้งมือ (170 กรัม) ต่อวันทุกวัน..เยอะนะ เยอะ

     6. กินไขมัน "ไม่เกิน" วันละ 2-3 เสริฟวิ่ง แปล..หนึ่งเสริฟวิ่งของไขมันเท่ากับน้ำมันทำอาหารหนึ่งช้อนชา (5 กรัม) ช้อนชานะ ไม่ใช่ช้อนโต๊ะ เพราะถ้าช้อนโต๊ะนั่นมัน 15 กรัม

     7. เนื้อไม่ติดมัน ทั้งไก่ ปลา และเนื้ออื่นๆ ไม่เกินวันละ 6 เสริฟวิ่ง มีคำว่า “ไม่เกิน” อยู่ด้วยนะ โปรดสังเกต คือยิ่งกินน้อยยิ่งดี แต่ต้องใส่ไว้ในสูตรไม่งั้นไม่มีใครเอาด้วยกับสูตรนี้ ใส่ทั้งๆที่ข้อมูลบอกว่าอาหารเนื้อสัตว์ทำให้ความดันเลือดเพิ่มขึ้นและทำให้ไตทำงานแย่ลง หนึ่งเสิรฟวิ่งของเนื้อสัตว์เท่ากับเนื้อ 30 กรัมหรือหนึ่งออนซ์ แปลอีกที..ประมาณเท่าไก่ไม่ติดหนังในแกงมัสหมั่นไก่หนึ่งชิ้น วันหนึ่งไม่เกิน 6 ชิ้น หิ หิ น้อยไปหน่อยแมะ

     8. ขนมหวานไม่เกิน..ไม่เกินนะ ไม่เกิน 5 เสริฟวิ่งต่อสัปดาห์ แปล..หนึ่งเสริฟวิ่งของขนมหวานเท่ากับน้ำตาลทรายหนึ่งช้อนโต๊ะ

     จะเห็นว่าอาหารแดชไดเอ็ทก็คืออาหารที่มีพืชเป็นหลัก ในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ ไม่สกัด ไม่ขัดสี (plant based, whole food) นั่นเอง โดยทำสูตรให้คนทั่วพอรับได้ แต่ก็พยายามเชียร์อยู่ในทีให้กินเนื้อสัตว์น้อยลงๆ กินไขมันและน้ำตาลน้อยลงๆ กินธัญพืชไม่ขัดสี ผัก ผลไม้ มากขึ้นๆ

     นอกจากความรู้ใหม่ที่ว่าอาหารที่มีพืชเป็นหลักจะทำให้กรดยูริกลดลงแล้ว ข้อมูลที่อาจมีประโยชน์กับคุณคืองานวิจัยบางรายบ่งชี้ว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคน้ำตาลฟรุคโต๊สในเครื่องดื่มกับการเป็นโรคเก้าท์มากขึ้น แต่งานวิจัยบางรายพบว่าไม่มีความสัมพันธ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตามการดื่มเครื่องดื่มใส่น้ำตาลก็ไม่มีประโยชน์อะไรอยู่แล้ว จึงควรเลิกเสีย

    นอกจากนี้ ถ้าคุณอ้วน ต้องลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกายและปรับโภชนาการ เพราะยิ่งอ้วน ยิ่งเป็นเก้าท์มากขึ้น

     นอกจากนี้ ถ้าคุณดื่มแอลกอฮอล์ ต้องเลิก เพราะแอลกอฮอล์ทั้งเป็นตัวให้พิวรีนซึ่งจะกลายเป็นกรดยูริกมากขึ้น ทั้งทำให้ไตขับกรดยูริกทิ้งได้น้อยลง

     นอกจากนี้ ถ้าคุณทานยาที่ทำให้เป็นเก้าท์ง่าย ต้องเปลี่ยน เช่นยาขับปัสสาวะทั้งกลุ่ม thiazide, furosemide ยาวัณโรคเช่น ethambutol (Myambutol), pyrazinamide ยาแก้ปวดแอสไพริน ยา levodopa ยาลดไขมัน nicotinic acid เป็นต้น

     นอกจากนี้ คุณควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 5-7 แก้วขึ้นไป เพราะสาเหตุหนึ่งที่คนกรดยูริกสูงจนไตพังเร็วคือมีน้ำไหลเวียนในร่างกายไม่เพียงพอ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Juraschek, S. P., Gelber, A. C., Choi, H. K., Appel, L. J. and Miller, E. R. Effects of the Dietary Approaches To Stop Hypertension (DASH) Diet and Sodium Intake on Serum Uric Acid. J Arthritis & Rheumatology2016. (Accepted Author Manuscript) doi:10.1002/art.39813
2. Choi HK, Curhan G. Soft drinks, fructose consumption, and the risk of gout in men: prospective cohort study. BMJ2008; 336 : 309 doi: 10.1136/bmj.39449.819271.BE

[อ่านต่อ...]

14 สิงหาคม 2559

การเลี้ยงเด็กด้วยอาหารพืชเป็นหลัก

(เขียนให้ "ชีวจิต" เมื่อเมย. 59)

     สองสามวันก่อนหมอรุ่นน้องคนหนึ่งพาลูกและสามีมาเยี่ยมผมที่บ้านมวกเหล็ก สามีของเธอเป็นฝรั่ง ลูกสองคนจึงออกแนวฝรั่ง ยังไม่ทันไปอนุบาลเลย ตัวบะเล่งเท่งแล้ว คุยกันไปคุยกันมาจึงได้ทราบว่าครอบครัวนี้เป็นวีแกนกันทั้งบ้านรวมทั้งลูกเล็กเด็กแดงด้วย วีแกน (vegan) หมายความว่าคนที่กินแต่พืช ไม่กินอะไรที่มาจากสัตว์เลย เนื้อ นม ไข่ ไก่ ปลา ก็ไม่ให้กินทั้งนั้น ภรรยาผมซึ่งเป็นหมอเด็ก (หมายความว่าเป็นกุมารแพทย์) เธอคงตั้งใจจะถามหมอรุ่นน้องคนนั้นว่าแล้วไม่กลัวลูกเล็กๆขาดโปรตีนหรือ แต่พอเห็นไซส์ของเด็กทั้งสองคนซึ่งทั้งแน่นทั้งสูงทั้งใหญ่อยู่หัวเคิฟของวัย เธอก็จึงเงียบไป

     สมัยที่ผมยังเลี้ยงลูกเล็ก มีหมอเด็กชาวอเมริกันคนหนึ่งชื่อสป็อค (Dr.Spock) ซึ่งดังมากเพราะเขียนหนังสือที่คนอเมริกันที่เลี้ยงลูกทุกคนต้องได้อ่าน พอแก่ตัวได้ที่แล้วหมอสป็อกแกออกแนวต่อต้านอาหารเนื้อสัตว์ ก่อนตายเขาเขียนมรดกแนะนำแฟนๆหนังสือเขาไว้ว่า

    “ความรู้แพทย์วันนี้ชัดแล้วว่าอาหารเนื้อนมไข่มีผลเสียระยะยาวต่อสุขภาพ และเด็กได้โปรตีนและเหล็กอย่างเหลือเฟือจากถั่ว ผักและพืชอื่นๆจนไม่ต้องกินโคเลสเตอรอลจากเนื้อสัตว์ก็ได้ แคลเซียมจากพืชผักผลไม้ก็มีแยะไม่ขาด ผม (ดร.สป็อก) จึงขอแนะนำว่าเด็กอายุสองขวบขึ้นไปไม่ควรให้กินเนื้อนมไข่แล้ว ควรให้กินแต่พืชเท่านั้น” 

     พอผมเล่าให้ภรรยาฟังเพื่อชักชวนเธอให้ทำตาม เธอตอบว่า

     “สป็อก ก็สป็อกสิ ฉันไม่ใช่สป็อกนะ”

      แป่ว..ว

     ตั้งแต่นั้นมาผมไม่เคยแหยมเข้าไปในเขตอิทธิพลของหมอเด็กอีกเลย เพราะ กัว..ว โห นี่ขนาดผมอ้างหนังสือของดร.สป็อคซึ่งขายมากเป็นอันดับสองรองจากคัมภีร์ไบเบิ้ลเลยนะ ยังต้องถอยกรูดแทบไม่ทัน

     ความจริงหมอสป็อคนี้ตอนที่หนังสือของแกเริ่มดังใหม่ๆเมื่อราวปีค.ศ. 1946 ตัวแกนั่นแหละเป็นหัวหอกให้เลี้ยงเด็กด้วยเนื้อนมไข่ ตอนหลังๆแกก็ค่อยๆมาเน้นเนื้อไม่ติดมัน แต่พอตัวแกเองป่วยแทบเอาตัวไม่รอดแล้วมาดีขึ้นเหมือนตายแล้วเกิดใหม่เพราะแกหันมากินอาหารแบบวีแกน ประมาณปีค.ศ. 1991 ตั้งแต่นั้นมาแกเลยบ้าวีแกน และเริ่มขายไอเดียจนมาเขียนทิ้งทวนก่อนตายว่าใครที่อยากเห็นลูกมีสุขภาพดีต้องจับลูกเป็นวีแกนให้หมด

     อันที่จริง ตอนจะพิมพ์หนังสือครั้งสุดท้ายก่อนแกตาย หมอปาร์คเกอร์ซึ่งเป็นผู้ร่วมนิพนธ์อุตส่าห์ชวนว่าเราเสนอให้พ่อแม่เด็กเลือกได้สองอย่างตามใจชอบดีไหม ว่าใครอยากเป็นวีแกนก็ให้เลี้ยงลูกแบบวีแกนก็ได้ แต่หมอสป็อคไม่ยอม ผมเข้าใจว่าสมองแกคงจะแข็งได้ที่แล้วตอนนั้น หิ หิ หมอสป็อคยืนยันกับหมอปาร์คเกอร์ว่าเขาต้องการให้หนังสือของเขาเป็นหัวหอกในการทะลวงให้โลกเห็นความจริงที่ว่าอาหารเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์นี่แหละเป็นต้นกำเนิดของโรคร้ายทั้งหลาย

มาถึงวันนี้ หมอสป็อคได้ตายไปนานแล้ว หนังสือคู่มือการเลี้ยงเด็กของเขายังติดตลาดอยู่ไม่เคยเสื่อมคลาย และผมดูท่าว่าจะไม่เสื่อมคลายภายในหลายสิบปีข้างหน้านี้ แต่ไอเดียที่จะให้คนเลี้ยงลูกให้เป็นวีแกนของแกไม่เห็นติดตลาดเลยแฮะ

     สาเหตุที่ผู้คนทั่วไปไม่ยอมให้เด็กกินอาหารวีแกนส่วนใหญ่มักจะอ้างกันว่ากลัวเด็กจะไม่โตและขาดโปรตีนขาดแคลเซียมขาดสาระพัด แต่นั่นไม่ใช่ข้ออ้างที่แท้จริงหรอก เพราะได้มีงานวิจัยอย่างดีชิ้นหนึ่งทำที่เมืองโลมา ลินดา ซึ่งเป็นเมืองของคนนับถือศาสนาคริสต์นิกายเซเวนเดย์แอดเวนทิสอยู่ทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย นิกายนี้สอนไม่ให้กินเนื้อสัตว์ งานวิจัยนี้ได้เปรียบเทียบการเติบโตของเด็กในโรงเรียน ระหว่างเด็กของครอบครัวที่เคร่งศาสนาซึ่งเป็นวีแกนกันทั้งบ้านรวมทั้งตัวเด็กด้วย กับเด็กของครอบครัวที่นับถือนิกายอื่นหรือนับถือนิกายนี้แต่ไม่เคร่ง คือเด็กได้กินเนื้อสัตว์ในชีวิตประจำวันปกติ ผลวิจัยพบว่าหากเทียบกันหัวต่อหัว เพศต่อเพศ อายุต่ออายุ ชั้นเรียนต่อชั้นเรียน เด็กแว้น เอ๊ย ไม่ใช่ เด็กวีแกนมีความสูงเฉลี่ยนำหน้าเด็กกินเนื้อสัตว์ไป 2 ซม.เสมอต้นเสมอปลายแบบม้วนเดียวจบ แต่หากนับความกว้าง (หิ หิ หมายความว่าความอ้วนหรือดัชนีมวลกาย) พบว่าเด็กกินเนื้อสัตว์อ้วนกว่าเด็กที่กินอาหารแบบวีแกน พูดๆง่ายๆว่างานวิจัยนี้มีผลสนับสนุนว่าการเลี้ยงเด็กด้วยอาหารวีแกนดีกว่าอาหารเนื้อสัตว์ เพราะมีใครไม่อยากให้ลูกสูงแต่อยากให้ลูกอ้วนบ้าง?

     แต่ผมไม่แปลกใจว่าทำไมคนฝรั่งทั่วไปถึงไม่อยากให้ลูกกินอาหารวีแกน โถ อาหารวีแกนเนี่ยแค่ทำให้ผู้ใหญ่กินยังยากเลย จะทำเลี้ยงเด็กนะจะไหวหรือ การจะเป็นวีแกนหมายความว่าฝรั่งต้องหันมากินข้าวกินถั่ว การหุงข้าวและทำพาสต้าหนะไม่ยากหรอก แต่การจะปรุงถั่วกินเนี่ย.. ลองมากวนถั่วกินเองสักมื้อหนึ่งดูไหมละ มันใช้เวลาค่อนวันเลยนะคุณพี่ขา
 
     ที่เขียนอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าหมอสันต์ไม่เห็นด้วยกับการให้เด็กกินอาหารแบบวีแกนนะ ผมเห็นด้วย..แต่ผมไม่ทำ

    "อ้าว หมอสันต์พูดอย่างนี้ได้ไง ทำไมเห็นด้วยแล้วตัวเองไม่ทำ" 

    หิ หิ ตอบว่า

    "เพราะตอนลูกผมยังเด็ก ม. ของผมไม่ยอมให้ทำ"

     ..จบข่าว


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

12 สิงหาคม 2559

MBT Day Camp ฝึกสติรักษาโรค

     ผมเพิ่งติดตาม Blog ของอาจารย์มาได้ไม่นาน ยังตามอ่านบทความเก่าๆยังไม่หมดเลย คิดว่ากว่าจะอ่านหมดคงอีกหลายเดือน  คงรบกวนขอคำปรึกษาคุณหมอไม่มากดังนี้ครับ
     ...ผมเคยทำบอลลูนหัวใจเมื่อ 2 ปีที่แล้ว คงเพราะสูบบุหรี่จัด(มาก) เพิ่งรู้ว่าการเจ็บแน่นหน้าอกตอนเส้นเลือดหัวใจตีบมันหนักหนาสาหัสมากขนาดไหน ยังจำไม่เคยลืม ที่ผ่านมาก็ตรวจเลือด ซึ่งตัวเลขต่างๆอยู่ใน Range ระดับกลางๆทุกตัว ตอนนี้ผมมีอาการเจ็บแปล๊บๆที่หน้าอกซ้าย เวลาที่มีอะไรแปลกๆเกิดขึ้นแถวๆหัวใจก็จะทำให้วิตกกังวลตลอด  ปรึกษาแพทย์ที่ทำบอลลูนให้ ก็บอกว่าน่าจะเกิดจากเส้น ไม่ใช่อาการของหัวใจ แต่ผมรู้สึกแปลกๆว่ามันเจ็บแปล็บๆบ่อยมาก เรียกว่าเกือบตลอดทั้งวัน นั่งหรือนอนนิ่งๆก็เจ็บแปล็บๆได้ และที่สำคัญเวลาที่เจ็บแปล็บๆมันเหมือนจะมีอาการวูบ มันเหมือนความดันต่ำ มีเหงื่อออกนิดหน่อย
     ผมเป็นหอบหืด ต้องพ่นยาเช้าเย็น  และตอนนี้เป็นโรคกระเพาะเพิ่มเข้ามาอีก อยากขอคำแนะนำคุณหมอว่าผมควรตรวจอะไรเพิ่มเติม เพื่อความอุ่นใจ เคยขอคุณหมอที่ทำบอลลูนว่าผมอยากเดินสายพาน ทำ Echo หมอบอกว่าอาการของผมไม่ใช่โรคหัวใจ ก็เลยยังไม่ได้ทำอะไร ทุกวันนี้ออกกำลังกายปกติ ไม่เหนื่อยง่ายเหมือนก่อน จะมีแค่เรื่องเจ็บแปล็บๆที่ทำให้กังวลมาก

     ผมชอบบทความต่างๆในเวป คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะอ่านหมด ขอบคุณคุณหมอที่สละเวลามาทำ Blog ให้ได้อ่าน ขอบคุณมากจริงๆ

................................................................

ตอบครับ

     ปัญหาของคุณเป็นปัญหาเชิงอาการวิทยา หมายความว่าปัญหาเกิดจากการมีอาการ ซึ่งอาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับโรคก็ได้ คือเจ็บหน้าอกบ่อย เจ็บแล้วไม่รู้ว่าเป็นเจ็บอกจากหัวใจขาดเลือด หรือเจ็บจากกรดกัดกระเพาะอาหาร หรือเจ็บเพราะประสาทกิน (panic disorder) ทั้งสามอย่างนี้แยกไม่ออก คนไข้ก็แยกไม่ออก หมอก็แยกไม่ออก ต่อให้หมอเทวดาก็แยกไม่ออก จึงไม่แปลกใจที่ในสถาบันการแพทย์ระดับดีมากๆก็ยังไม่วายเผลอจับคนไข้โรคประสาทสวนหัวใจฟรีบ่อยๆ และบางคนโดนหลายครั้ง เพราะอาการมันแยกสาเหตุไม่ออกจริงๆ

     การจะรับมือกับปัญหานี้ คุณต้องฝึกสามอย่าง คือ

1.. ต้องเรียนรู้เชิงอาการวิทยาว่าเจ็บอย่างไหน น่าจะเป็นหัวใจขาดเลือด กล่าวคือ ถ้าเจ็บเพราะหัวใจขาดเลือด (angina) มักจะมีแคแรคเตอร์ดังนี้
1.1 เจ็บแบบหนักๆตื้อๆ หรือเหมือนใครเอาเข็มขัดมารัดหน้าอก 
1.2 เจ็บเป็นบริเวณกว้าง เอานิ้วชี้จิ้มไม่ได้ เป็นทั่วไปหมด
1.3 อาจมีการเจ็บร้าวไปกราม หรือแขนซ้าย หรือไหล หรือหลัง
1.4 มักเป็นตอนออกแรง หรือตอนเครียด
1.5 พอผ่อนการออกแรงลง หรือผ่อนคลายความเครียด ด้วยการหายใจเข้าลึกๆแล้วผ่อนลมหายใจออกและบอกกล้ามเนื้อทั่วตัวให้ผ่อนคลาย อาการจะหายไป
1.6 ไม่เกี่ยวกับท่าร่าง การขยับตัว หรือการไอ หมายความว่าไม่เจ็บเฉพาะขยับตัวหรือตอนไอ
1.7 ถ้าเจ็บแบบกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute MI) มักจะเจ็บแบบข้อ 1.1 - 1.6 แต่พักเกิน 20 นาทีแล้วก็ยังไม่หาย (กรณีนี้ต้องไปโรงพยาบาล)

2. ต้องเรียนรู้ที่จะรับรู้อาการต่างๆของร่างกาย และอยู่กับมันแบบนิ่งๆไม่กระต๊าก เพราะร่างกายเรานี้ คนดีๆไม่ต้องเป็นโรคอะไรก็มีอาการสาระพัดชนิดได้แล้ว อย่างคุณลองให้ความสนใจฝ่ามือของคุณสักพักสิ คุณจะรู้สึกว่าฝ่ามือนั้นอุ่นขึ้น ความเป็นจริงก็คือว่าปลายประสาทเขารับรู้และรายงานอุณหภูมิเข้ามาตลอดเวลา แต่เราไม่สนใจเราจึงไม่ได้รับรู้ พอเราสนใจเราก็รับรู้ว่ามีอาการ หรืออย่างคุณลองตั้งใจไว้ที่ปลายลิ้นตอนบนสักพักสิ ถ้าสมาธิดีพอก็จะได้รับรู้ความรู้สึกแปล๊บๆๆที่ปลายลิ้นตอนบนเหมือนไฟฟ้าชอตเล็กๆหรือเหมือนมีอะไรเผ็ดๆค้างอยู่ ไฟฟ้าจากตัวรับความรู้สึกเผ็ดที่นั่นจะถูกส่งเข้าสมองตลอดเวลา เป็นแบคกราวด์รีพอร์ต คือรายงานแม้ในภาวะปกติ ถ้าเราสนใจ เราก็จะรับรู้ได้ สรุปว่าอาการสาระพัดของร่างกายมันมีแยะ สำคัญที่เราตั้งใจรับรู้ให้ตลอดเวลา (come back to our sense) ที่นี่ เดี๋ยวนี้ และรับรู้แบบเฉยๆ อย่ารับรู้แบบฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด

3. ต้องเรียนรู้ที่จะตามให้ทันความคิดที่ก่อตัวขึ้นในสมองของเรา (formation of thought) เช่นความกลัวนี่ก็เป็นความคิดอย่างหนึ่ง ถ้าความคิดก่อตัวขึ้น แล้วเราไม่รู้ตัว เราก็จะถูก "อำ" ด้วยความคิดนั้น นั่นคือที่มาของความกลัวอาการของร่างกาย (panic disorder) คืออาการไม่ได้เป็นปัญหา แต่ความคิดที่ก่อตัวขึ้นโดยเราไม่รู้ตัว นั่นแหละตัวปัญหา

     การที่คนเรามีความทุกข์กับอาการของร่างกายนี้ ทำให้การนำวิธีฝึกสติรักษาโรค (MBT - Mindfulness Based Treatment) ช่วยแก้ปัญหาให้คนไข้ได้ ความจริง MBT นี้แต่ก่อนเรียกว่าฝึกสติลดความเครียด ( MBSR - mindfulness based stress reduction) แต่พอเอามารักษาโรคกันจริงจังจึงเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น MฺฺBT ไป งานวิจัยความสำเร็จของการฝึกสติรักษาโรค ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในยุคการใช้สติลดความเครียดหรือยุค MBSR

     พูดมาถึงตอนนี้ก็มาลงมือสร้างความแตกต่างในเรื่องนี้กันเสียเลยดีกว่า คือผมผลัดผู้ป่วยหลายคนมาหลายเดือน บ้างก็หลายปีแล้ว ว่าผมจะนัดสอนการฝึกสติแบบ MBT แบบ day camp คือไปเช้ากลับเย็นสักหนึ่งครั้ง แต่ก็ผัดผ่อนมาเรื่อยนัดกันไม่ได้สักที ขอถือโอกาสนี้นัดเสียเลย คือวันที่ 10 กย. 59 ผมบังเอิญว่างขึ้นมาเพราะมีการงดการประชุมที่จะให้ผมไปเป็นวิทยากร จึงเอาเป็นว่าผมจะเปิดคอร์ส MBT day camp ที่เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์มวกเหล็ก โดยรับไม่เกิน 10 คน มีคนไข้รอเรียนอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่เต็มสิบ คุณและท่านผู้อ่านท่านอื่นที่สนใจก็สมัครมาเรียนได้ เนื้อหาสาระของการเรียนจะเป็นประมาณนี้

..............................................

แค้มป์ฝึกสติรักษาโรคแบบวันเดียว (MBT day camp)

9.00 - 9.30 Autonomous nervous system briefing บรรยายสรุปเรื่องระบบประสาทอัตโนมัติ

9.30 - 10.00 Road map of MBT เส้นทางการฝึกสติรักษาโรคจากต้นจนจบ

10.00 - 10.30 Visualization of thought ฝึกมองความคิด

10.30 - 11.00 Mindful breathing ฝึกสติอยู่กับการหายใจ

11.00- 11.30 Posturing ฝึกสติอยู่กับท่าร่าง

11.30-11.45 STOP technique ฝึกหยุดดูปัจจุบัน

11.45-12.15 Mindful movement ฝึกสติอยู่กับการเคลื่อนไหว

12.00-13.00 Mindful eating ฝึกสติอยู่กับการกิน

13.00-13.30 Body scan ฝึกลาดตระเวณความรู้สึกทั่วร่างกาย

13.30- 13.45 Muscle relaxation ฝึกการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

13.45 - 14.15 Befriending death ฝึกผูกมิตรกับความตาย

14.15-14.30 RAIN technique ฝึกเทคนิคจำความคิด

14.30-15.45 Sitting meditation ฝึกนั่งสมาธิ

15.45 - 16.15 Coping with pain ฝึกรับรู้อาการปวดแบบเฉยๆ

16.15 - 16.30 Debriefing สรุปสิ่งที่เรียนตลอดวัน

ความคาดหวัง

วัตถุประสงค์คือให้มีความรู้และทักษะการฝึกสติแบบ MBSR หรือ MBT พอที่จะเอาไปฝึกปฏิบัติต่อในชีวิตประจำวันของแต่ละคนได้

อย่างไรก็ตาม ชั้นเรียนนี้จัดเป็นครั้งแรก หลักสูตรที่กำหนดขึ้นอาจพอดีหรือไม่พอดีกับพื้นฐานทางจิตวิทยาของแต่ละคน ซึ่งแตกต่างกันได้มาก ผลสำเร็จจึงยังคาดเดาไม่ได้

ค่าเรียน

คนละ 2,500 บาท ราคานี้รวมค่าอาหารกลางวัน อาหารว่างสองเบรก ค่าวิทยากร ผู้ช่วยวิทยากร ค่าสถานที่ ค่าห้องแอร์ และอุปกรณ์การเรียนที่ต้องใช้ในศูนย์ แต่ไม่รวมค่าเดินทาง ทุกคนต้องเดินทางไปเอง

ไม่จำเป็นต้องพักค้างคืนที่เวลเนสวีแคร์ เพราะการเดินทางด้วยรถยนต์ไปกทม.ใช้เวลาไม่เกิน 2 ชม. แต่สำหรับผู้ประสงค์ที่จะพักค้างคืนที่เวลเนสวีแคร์ ก็มีห้องพักให้ (ห้องละสองเตียง) ค่าห้องรวมอาหารเช้า (สองคน) คืนละ 2,500 บาท 

วิธีลงทะเบียนเข้าเรียน

1. แจ้งสำรองที่เรียน

     1.1 ทางโทรศัพท์ที่ พญ.สมวงศ์ ใจยอดศิลป์ โทร. 086 8882521 หรือคุณตู่ (ฐานวีร์ พีรกุล) โทร. 081 900 8321 หรือ 086 985 8628
     1.2 ทางอีเมล somwong10@gmail.com หรือ thannawee_pur@phyathai.com

2. ชำระเงินค่าลงทะเบียน

     โอนเงินเข้าบัญชี ธนาคารกรุงเทพ สาขาเมืองทองธานี เลขบัญชี 931 0 06792 2 ชื่อบัญชี นายสันต์ ใจยอดศิลป์

3. ยืนยันการรับลงทะเบียน

     ส่งภาพถ่ายสลิปใบโอนเงินที่เขียนชื่อของท่านด้วยปากกาทับไว้อย่างชัดเจนบนใบสลิปนั้นด้วย ส่งไปยังพญ.สมวงศ์ทางอีเมล somwong10@gmail.com  ในกรณีไม่สะดวกในการส่งภาพถ่าย จะโทรศัพท์บอกกับพญ.สมวงศ์ที่หมายเลข 086 8882521 โดยตรงด้วยตนเองก็ได้

     ขอความกรุณาอย่าส่งใบสลิปมาโดยไม่เขียนชื่อว่าเป็นเงินของใคร เพราะทางเวลเนสวีแคร์ได้รับใบสลิปแล้วก็ยังไม่รู้จะลงทะเบียนในชื่อใครอยู่ดี 

     การลงทะเบียนจะเสร็จสมบูรณ์เมื่อทางเวลเนสวีแคร์ได้รับทั้งเงินและชื่อผู้ส่งเงินแล้วเท่านั้น

4. เงินค่าลงทะเบียนรับแล้วไม่มีคืน ถ้ามาไม่ได้ก็ไม่คืน เพราะเอาไปจ่ายค่าจ้างคนค่าสถานที่ค่าอาหารไปแล้ว

   การลงทะเบียนเรียนใช้สูตรเดิม คือมาก่อนได้ก่อน เต็มสิบคนแล้วปิด เพราะถ้ามากกว่านั้นจะเป็นสติแตกไม่ใช่สติรักษาโรค 

สถานที่ 

เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์  อยู่ในมวกเหล็กวาลเลย์ ย่านมวกเหล็ก-เขาใหญ่

(สถานที่นี้ยังไม่เปิดอย่างเป็นทางการ ไม่มีป้ายบอก แถมอยู่ในหมู่บ้านร้างพงรก ท่านต้องคลำทางไปเอาเอง ตามแผนที่ข้างล่าง)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์



[อ่านต่อ...]

09 สิงหาคม 2559

หลักฐานเกี่ยวกับประโยชน์ของชาและกาแฟ

สวัสดีครับ
ผมหาบทความของคุณหมอเกี่ยวกับ 'ชา' ไม่เจอใน blog คุณหมอครับ 'ชา' ที่เราชงน้ำร้อนดื่มกัน เช่น ชาเขียว ชาอู่หลง ชาเจียวกู่หลาน
     1.ผลวิจัยระดับเกรด A มีการสรุปว่า ่ชา' ส่งเสริม สุขภาพ และ/หรือ ต่อต้าน โรคต่างๆ บ้างไหมครับ?
(ถ้าผลวิจัยเกรดAไม่มี มีผลวิจัยพอจะศึกษาอื่นๆก็ได้ครับ)
     2.ถามต่อเนื่อง ถ้าให้คุณหมอแนะนำชาสัก 2-3 อย่าง ช่วยแนะนำด้วยครับ ปล.ถ้าช่วยเรื่อง ไขมันในเส้นเลือด เบาหวาน, ตับไต ก็ดีครับ?
     ขอให้มีความสุข และ อยู่ให้สาระความรู้กับแฟนคลับไปนานๆครับ 
ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง

...................................................................

ตอบครับ

     น้ำเปล่า เป็นเครื่องดื่มที่ดีที่สุด
    
     ก่อนจะพูดถึงชาหรือกาแฟ ขอพูดถึงน้ำเปล่าก่อนนะ เพราะเมื่อเราจะพูดถึงคุณประโยชน์ของเครื่องดื่ม จะข้ามเครื่องดื่มที่ดีที่สุดไปได้อย่างไร น้ำเปล่าเป็นทั้งวัตถุดิบในการผลิตพลังงานของเซล และเป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลทุกเซลในร่างกาย ร่างกายไม่สามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่มีน้ำเพียงพอ การขาดน้ำนอกจากจะทำให้การทำงานของเซลทุกเซลผิดปกติและการเสียหายต่ออวัยวะหลักเช่น ไต หัวใจ สมอง หลอดเลือด แล้ว ยังอาจนำไปสู่ภาวะเลือดข้นหนืดและการตายกะทันหันจากลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดหรือจากหลอดเลือดเกร็งตัวอันสืบเนื่องมาจากการที่เยื่อบุหลอดเลือดผลิตไนตริกออกไซด์ไม่ได้ หรือจากภาวะช็อกจากการขาดน้ำดื้อๆเลย ดังนั้นน้ำจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการมีชีวิตเป็นลำดับที่สองรองลงมาจากอากาศบริสุทธิ์ที่เราอาศัยหายใจอยู่ทุกวัน
     
     เป็นที่น่าแปลกใจที่วงการแพทย์ไม่ได้ทำวิจัยถึงปริมาณน้ำที่เพียงพอสำหรับร่างกายไว้เลย คำแนะนำที่ใช้สอนกันอยู่ทั่วไปว่าควรดื่มน้ำให้ได้วันละอย่างน้อย 8 แก้วของแก้วขนาด 8 ออนซ์ (240 ซี.ซี.) หรือที่เรียกกันว่าคำแนะนำ 8 x 8 นั้น เมื่อสืบสาวลงไปแล้ว ต้นตอกลับเป็นเพียงการคาดเดาเอาของคนเพียงคนเดียวโดยไม่มีหลักฐานวิจัยใดๆรองรับทั้งสิ้น[1]
     งานวิจัยที่น่าจะพอเรียกได้ว่าเป็นหลักฐานบ่งชี้ปริมาณน้ำที่ควรดื่มต่อวันที่ดีที่สุดเป็นงานวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณน้ำดื่มและความเสี่ยงการเกิดจุดจบที่เลวร้ายของโรคหัวใจหลอดเลือด ชื่องานวิจัยสุขภาพแอดเวนทิส (The Adventis Health Study) ซึ่งศึกษาการดื่มน้ำและของเหลวทุกชนิดของชาย 8,280 คน หญิง 12,017 คน อายุ 38-100 ปี ที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคอะไรและที่ส่วนใหญ่ดื่มแต่น้ำและน้ำผลไม้ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เพราะคนพวกนี้เป็นพวกธรรมะธรรโมเคร่งศาสนา ใช้เวลาวิจัยติดตามดูนาน 6 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าวมีคนเกิดจุดจบที่เลวร้ายทางด้านหัวใจขึ้น 246 ครั้ง และพบว่าเมื่อยึดเอาคนที่ดื่มน้ำวันละไม่เกิน 2 แก้ว (ดื่มน้อย) เป็นเกณฑ์ พบว่าผู้ที่ดื่มน้ำวันละ 3-4 แก้ว (ดื่มปานกลาง) มีความเสี่ยงเกิดเรื่องร้ายทางหัวใจหลอดเลือดน้อยกว่าผู้ที่ดื่มน้อย 35% และผู้ที่ดื่มน้ำวันละ 5 แก้วขึ้นไป (ดื่มมาก) มีความเสี่ยงเกิดเรื่องร้ายทางหัวใจหลอดเลือดน้อยกว่าผู้ที่ดื่มน้อย 54% คือสรุปว่ายิ่งดื่มน้ำมากยิ่งมีความเสี่ยงตายลดลง ความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มน้ำน้อยกับการมีความเสี่ยงตายมากนี้คงอยู่แม้จะได้แยกเอาผู้มีปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและปัจจัยกวนอื่นๆเช่นการดื่มของเหลวอื่นเสริม การออกกำลังกาย ความอ้วน ความผอม ออกไปแล้วก็ตาม 
     ในทางกลับกัน งานวิจัยนี้พบว่ายิ่งดื่มของเหลวอื่นที่ไม่ใช่น้ำมาก (ส่วนใหญ่เป็นน้ำผลไม้คั้นแบบทิ้งกากไปเอาแต่น้ำหวานไว้) ยิ่งมีความเสี่ยงการเกิดจุดจบที่เลวร้ายทางหัวใจมากขึ้น
     จากงานวิจัยนี้ สามารถให้คำแนะนำแบบมีหลักฐานสนับสนุนได้ว่าคนทั่วไปควรดื่มน้ำมากๆอย่างน้อยวันละ 5 แก้วขึ้นไป และไม่ควรดื่มของเหลวหวานๆอื่นเช่นน้ำผลไม้แบบคั้นเอากากทิ้ง แทนการดื่มน้ำเปล่าเป็นปริมาณมากเกินไป
     
     นอกจากปริมาณแล้ว ผู้บริโภคควรคำนึงถึงคุณภาพด้วย ในเชิงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้วถือว่าน้ำก๊อกหรือน้ำประปาซึ่งมีการไหลอยู่ตลอดเวลา เป็นน้ำที่มีการปนเปื้อนบักเตรีน้อยที่สุด แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะนิยมน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกโดยเข้าใจว่าสะอาดกว่าน้ำประปา ซึ่งความจริงมิได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป งานวิจัยคุณภาพน้ำดื่มบรรจุขวดในตลาดเมืองฮิวสตัน (สหรัฐ) จำนวน 35 ยี่ห้อ ทั้งน้ำแร่ น้ำกรอง น้ำอัดก๊าซ พบว่ามี 4 ยี่ห้อที่มีบักเตรีปนเปื้อนสูงกว่าน้ำประปา[2]


     ชา

     ชากับการป้องกันมะเร็ง
     ชาเป็นใบพืชที่มีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ทั้งชาเขียวและชาขาวต่างผลิตจากพืชชนิดเดียวกันและมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระมากพอๆกัน แต่ชาขาวจะมีสารต้านอนุมูลอิสระมากขึ้นถ้าใส่มะนาวลงไปด้วย งานวิจัยในห้องทดลองพบว่าชาสามารถระงับการเติบโตของเนื้องอกหลายชนิดรวมทั้งเซลมะเร็งได้ หลักฐานว่าชาระงับการเติบโตของเนื้องอกได้นี้ มีหลักฐานถึงระดับการวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบในคนที่พิสูจน์ได้ว่าขี้ผึ้งชาเขียว (polyphenol E) สามารถใช้ทาหูดหงอนไก่แล้วมีผลป้องกันการกลับเป็นหูดหงอนไก่ได้ดีกว่าขี้ผึ้งหลอก[3]

     ชากับการมีอายุยืน
     งานวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มชาเขียวกับอัตราตายจากทุกสาเหตุในคนญี่ปุ่นอายุ 40-69 ปี จำนวน 90,914   คนติดตามดูนาน 16.7 ปี มีคนตาย 12,874 คน เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์พบว่ายิ่งดื่มชาเขียวเป็นจำนวนถ้วยต่อวันมากยิ่งมีอัตราตายต่ำกว่าผู้ดื่มชาเขียวน้อยหรือไม่ดื่ม โดยสัมพันธ์กับอัตราตายด้วยโรคหัวใจหลอดเลือดมากที่สุด[4] ทั้งนี้ต้องย้ำก่อนนะครับว่านี่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างของสองสิ่งที่อาจจะไม่เป็นเหตุเป็นผลต่อกันเลยก็ได้

      ชากับการป้องกันเบาหวาน
     งานวิจัยเมตาอานาไลซีส 12 รายการเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มชากับความเสี่ยงการเป็นเบาหวานพบว่าการดื่มชาวันละ 3 แก้วขึ้นไปสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงของเบาหวานชนิดที่ 2 ลงเมื่อเทียบกับผู้ดื่มน้อยหรือไม่ดื่ม [5]

     ชากับการลดความดันเลือดและลดโคเลสเตอรอล
      การทบทวนงานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบครอบคลุมกลุ่มตัวอย่าง 1,536 คน พบว่าชาเขียวลดความดันเลือดได้เล็กน้อย (1.94 มม.) ลดโคเลสเตอรอลรวมและ LDL ในเลือดได้ปานกลาง (8%) [6]

     ชากับการมีฟันแข็งแรง
     งานวิจัยแบบตัดขวางเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มชากับการเกิดฟันหลุดร่วงในคนญี่ปุ่นอายุ 40-64 ปีจำนวน 25,078 คนพบว่าการดื่มชาวันละ 1 ถ้วยขึ้นไปมีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงเกิดฟันหลุดร่วงลงได้
[7]

     ชากับการลดความเสี่ยงโรคพาร์คินสัน
     งานวิจัยเมตาอานาไลซีสผู้ป่วยพาร์คินสัน 2,215 คนเทียบกับคนทั่วไป 145,578 คน พบว่ายิ่งดื่มชามากยิ่งมีโอกาสเป็นพาร์คินสันน้อย[8]

     ชาและกาแฟกับการลดความเสี่ยงโรคตับและมะเร็งตับ
งานวิจัยเชิงระบาดวิทยาพบว่าการดื่มชาและกาแฟสัมพันธ์กับการเป็นโรคตับเรื้อรังและโรคมะเร็งตับน้อยลง
[9]

     ความเข้าใจผิดว่าชาและกาแฟทำให้กระดูกหักง่าย
การดื่มชาหรือกาแฟไม่ได้เพิ่มอุบัติการณ์กระดูกหัก ทั้งนี้การทบทวนงานวิจัยทั้งหมดที่ทำมาก่อนปี 2013 ซึ่งครอบคลุมประชากร 195,992 คน ในจำนวนนี้เกิดกระดูกสะโพกหัก 9,958 คน เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดกระดูกหัก (จากกระดูกพรุน) กับการดื่มชาหรือกาแฟ พบว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดกระดูกหักกับการดื่มชาหรือกาแฟเลย[10]

     กาแฟ

     ความเข้าใจผิดว่ากาแฟทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ
     งานวิจัยให้นักดื่มกาแฟจำนวน 50 คน ที่ดื่มประจำวันละ 3-6 แก้ว ให้ทำการทดลองสองครั้งแยกกัน แต่ละครั้งทดลองนานสามวัน ครั้งแรกให้ดื่มกาแฟ 200 ซีซี.สี่ครั้งต่อวัน (มีคาเฟอีน 4 มก./กก) ครั้งที่สองให้ดื่มน้ำเปล่า 200 ซีซี.สี่ครั้งต่อวัน โดยทั้งสองครั้งมีการควบคุมอาหาร น้ำดื่ม และกิจกรรมอื่นๆให้เท่ากันอย่างเข้มงวด แล้วตรวจวัดปริมาณน้ำทั้งหมดในร่างกาย (TBW) วัดมวลกายที่ไม่ใช่น้ำ (BM) ความเข้มข้นของปัสสาวะ ความเข้มข้นของปริมาตรเม็ดเลือด ความเข้มข้นของน้ำเลือด ปริมาณปัสสาวะใน 24 ชั่วโมง และดัชนีวัดการขาดน้ำต่างๆ พบว่าการดื่มหรือไม่ดื่มกาแฟในสภาพที่ร่างกายได้รับน้ำจากการดื่มน้ำและอาหารเท่ากันไม่มีผลให้ร่างกายขาดน้ำแต่อย่างใด[11]

     ความเข้าใจผิดว่ากาแฟทำให้เป็นโรคความดันเลือดสูง
      เป็นความจริงที่ว่าเมื่อดื่มกาแฟแล้วไปวัดความดันเลือดทันที ความดันเลือดจะสูงขึ้นประเดี๋ยวประด๋าวแล้วมันก็ลง แต่ไม่เป็นความจริงที่ว่าดื่มกาแฟเป็นประจำแล้วจะทำให้เป็นโรคความดันเลือดสูง ทุกวันนี้แพทย์บางท่านก็ยังแนะนำให้คนเป็นความดันเลือดสูงเลิกดื่มกาแฟด้วยความเข้าใจผิดว่ากาแฟมีความสัมพันธ์กับการเป็นความดันเลือดสูง ความเชื่อเช่นนั้นเคยมีอยู่ในหมู่แพทย์ทั่วโลกจนเมื่อฮาร์วาร์ดได้ตีพิมพ์งานวิจัยขนาดใหญ่ไว้ในวารสารสมาคมแพทย์อเมริกัน (JAMA)[12] งานวิจัยนี้เป็นการตามดูผู้หญิงจำนวนถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นกว่าคนโดยติดตามนานถึง 12 ปี ในประเด็นจำนวนกาแฟที่ดื่มต่อวันกับการเป็นความดันเลือดสูง แล้วก็มีข้อสรุปออกมาแน่ชัดว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มหรือไม่ดื่มกาแฟกับการเป็นหรือไม่เป็นความดันเลือดสูงแต่อย่างใด

      ความเข้าใจผิดว่ากาแฟทำให้เป็นโรคกระเพาะและกรดไหลย้อน
     งานวิจัยกลุ่มคนสุขภาพดี 9,517 คนที่ญี่ปุ่น เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มกาแฟกับการเป็นโรคที่สัมพันธ์กับการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากสี่โรค คือ
 (1) โรคกรดไหลย้อนแบบไม่มีหลอดอาหารอักเสบ (NERD)
(2) โรคแผลในกระเพาะอาหาร(GU)
(3) โรคแผลในลำไส้ส่วนต้น(DU) และ
(4) โรคหลอดอาหารอักเสบจากกรดไหลย้อน (RE)
โดยทำวิจัยควบกับการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเมตาอานาไลซีสในผู้ดื่มกาแฟ 5,451 คน ผู้ไม่ดื่มกาแฟ 2,562 คน พบว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มกาแฟกับการเป็นโรคใดโรคหนึ่งทั้งสี่โรคข้างต้น [13]

     กาแฟทำให้การทำงานของสมองระยะสั้นดีขึ้น                             
      งานวิจัยพบว่ากาแฟทำให้การทำงานของสมองระยะสั้นดีขึ้น ทั้งความเร็วในการสนองตอบ ความเร็วในการตัดสินใจเลือก การย้อนระลึกความจำชั่วคราวด้วยวาจา การใช้จินตนาการวิเคราะห์แก้ปัญหาเชิงสามมิติ (visuospatial reasoning) งานวิจัยต่างๆล้วนให้ผลตรงกันว่ากาแฟทำให้สมองทำงานเหล่านี้ดีขึ้นทุกประเด็น ผลอันนี้พบได้แม้ในคนอายุมาก งานวิจัยในหญิงอายุ 80 พบว่ากลุ่มที่ดื่มกาแฟมากกว่ามีการทำงานของสมองในประเด็นเหล่านี้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ดื่มหรือดื่มน้อยกว่า[14]

     กาแฟกับการป้องกันสมองเสื่อม
     ความสามารถของกาแฟในการช่วยป้องกันสมองเสื่อมนี้มีนี้มีหลักฐานสนับสนุนสองชิ้น ซึ่งบังเอิญเป็นหลักฐานระดับกลางไม่ใช่หลักฐานระดับสูง กล่าวคือ
     ชิ้นที่ 1 เป็นการวิจัยแบบเทียบคู่ (match case control study) โดยเอาผู้ป่วยสมองเสื่อมมา 54 คน แล้วไปเอาคนธรรมดาที่มีอายุและลักษณะอื่นๆคล้ายๆกันแต่ไม่ได้เป็นสมองเสื่อมมา 54 คน แล้วตรวจสอบย้อนหลังถึงปริมาณกาแฟที่ดื่มใน 20 ปีที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มที่เป็นสมองเสื่อมดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีนเฉลี่ย 73.9 มก.ต่อวัน (เทียบเท่ากาแฟประมาณครึ่งแก้ว) ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้เป็นสมองเสื่อมดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีนเฉลี่ย 198.7 มก.ต่อวัน (เทียบได้กับกาแฟประมาณหนึ่งแก้วครึ่ง) ข้อมูลนี้บ่งบอกว่าคนชอบดื่มกาแฟเป็นสมองเสื่อมน้อยกว่าคนไม่ชอบดื่มกาแฟ[15]
     ชิ้นที่ 2. เป็นงานวิจัยที่แคนาดาทำแบบติดตามกลุ่มคนไปข้างหน้า (prospective cohort study) โดยเอาคนอายุ 65 ปีขึ้นไปที่สมองยังดีๆอยู่ยังไม่เสื่อมมาหกพันกว่าคน เอามาตรวจสอบปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่อาจเป็นสาเหตุหรืออาจะเป็นตัวช่วยป้องกันสมองเสื่อมแล้วบันทึกไว้ หลังจากนั้นอีก 5 ปีจึงตามไปดูคนกลุ่มนี้อีกครั้งซึ่งพบว่าเหลืออยู่ 3,894 คน ในจำนวนนี้กลายเป็นสมองเสื่อมไป 194 คน เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆแล้วสรุปได้ว่าปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเป็นสมองเสื่อมคือ การมีอายุมาก มีการศึกษาต่ำ และมียีนสมองเสื่อม (ApoE4) ส่วนปัจจัยที่สัมพันธ์กับการที่สมองไม่เสื่อมมีสามปัจจัย คือ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การดื่มกาแฟ และการใช้ยาแก้ปวดแก้อักเสบข้อ (NSAID) เป็นประจำ [15]

     กาแฟกับการลดความเสี่ยงเบาหวาน
     หลักฐานจากงานวิจัยติดตามพยาบาลสี่หมื่นกว่าคนของฮาร์วาร์ด นาน 12 ปีพบว่าพยาบาลที่ดื่มกาแฟมาก เป็นเบาหวานน้อยกว่าพยาบาลที่ไม่ดื่มกาแฟหรือดื่มน้อย[16]

     กาแฟกับการลดความเสี่ยงโรคพาร์คินสัน
     งานวิจัยเปรียบเทียบพบว่าคนดื่มกาแฟมาก(เกินวันละสามแก้วครึ่ง) เป็นโรคพาร์คินสันน้อยกว่าคนไม่ดื่มกาแฟ[17]
     งานวิจัยแบบติดตามดูกลุ่มคนใน CPS II cohort ซึ่งต่อมามีชายเป็นพาร์คินสัน 197 คน หญิง 120 คน พบว่าคนที่ยิ่งดื่มกาแฟมาก ยิ่งมีโอกาสเป็นพาร์คินสันน้อย[18]
     งานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ ให้ผู้ป่วยพาร์คินสันกินยาเม็ดกาแฟอีนวันละ 100 มก.วันละสองครั้งเทียบกับยาหลอก นาน 6 สัปดาห์ พบว่าคาแฟอีนไม่ลดอาการง่วงเหงาหาวนอนตอนกลางวันลงแต่อย่างใด แต่ทำให้การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อแบบจงใจในผู้ป่วยพาร์คินสันดีขึ้น[19]

     คนดื่มกาแฟอายุยืนกว่าคนไม่ดื่ม
     การติดตามดูกลุ่มคนสูงอายุในงานวิจัย NIH-AARP จำนวนราวสี่แสนคนนาน 14 ปีเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการดื่มกาแฟกับอัตราตายพบว่าคนยิ่งดื่มกาแฟมากยิ่งมีอัตราตายรวมต่ำกว่าคนดื่มกาแฟน้อยหรือไม่ดื่ม ความสัมพันธ์นี้มีอยู่ในช่วงการดื่มกาแฟวันละ 0 – 6 แก้ว[20]

     ข้อดีอื่นๆของกาแฟ
     กาแฟลดโอกาสเป็นนิ่วในถุงน้ำดีทั้งในผู้ชายและผู้หญิง[21]
     คนดื่มกาแฟเป็นเก้าท์น้อยกว่าคนที่ไม่ดื่ม
     กาแฟกระตุ้นลำไส้ใหญ่ ทำให้ขับถ่ายอุจจาระสะดวก
     คนดื่มกาแฟเป็นมะเร็งในปาก หลอดอาหาร ลำคอ เต้านม เยื่อบุโพรงมดลูก ตับ และต่อมลูกหมาก น้อยกว่าคนที่ไม่ดื่ม
                           
     ข้อเสียของกาแฟ

1.      กาแฟทำให้ติด
2.      กาแฟทำให้นอนไม่หลับในบางคน แต่ก็ทำให้เป็นโรคหลับมากเกินไปในบางคน โดยเฉพาะเมื่อดื่มกาแฟในตอนบ่าย ทำให้กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่สัมพันธ์กับปัญหานอนไม่หลับในผู้สูงอายุอย่างมาก
4.      กาแฟทำให้กระวนกระวาย โกรธง่าย ในบางคน
5.      กาแฟรบกวนการดูดซึมเหล็ก และเพิ่มโอกาสเป็นโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กถ้าดื่มกาแฟติดกับมื้ออาหาร
6.      กาแฟมีสารเพิ่มโคเลสเตอรอล (LDL) ในเลือด แต่สารนั้นจะถูกกรองออกทิ้งไปก่อนหากปรุงกาแฟด้วยวิธีใช้กระดาษกรอง
7.      กาแฟทำให้หญิงมีครรภ์เพิ่มความเสี่ยงทารกตายระหว่างคลอด
8.      การดื่มกาแฟร่วมกับกินยาแก้ปวดพาราเซ็ตตามอลเพิ่มความเสียหายต่อตับมากขึ้น

     กล่าวโดยสรุปในเรื่องเครื่องดื่ม น้ำเปล่าเป็นเครื่องดื่มที่ดีที่สุด ชาและกาแฟเป็นเครื่องดื่มที่มีผลดีต่อสุขภาพมากกว่าผลเสีย และถือเป็นเครื่องดื่มที่ดีรองลงมาจากน้ำเปล่า ดีเสียยิ่งกว่าน้ำผลไม้สำเร็จรูปที่คั้นเอากากทิ้งไปเหลือแต่น้ำหวานใสๆ

     ส่วนที่จะให้หมอสันต์แนะนำว่าชาชนิดใดดีกว่าชนิดใดนั้นแนะนำไม่ได้เพราะไม่มีหลักฐานครับ งานวิจัยชาส่วนใหญ่วิจัยแบบรูดมหาราช คือดื่มชาหรือไม่ดื่มชา แค่นั้น ไม่มีงานวิจัยเปรียบเทียบชนิดของชาที่มีผลสรุปแตกต่างกันชัดเจนพอจะมาแนะนำให้ท่านเลือกชาได้ ท่านเลือกด้วยดุลพินิจของท่านเองก็แล้วกัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Valtin, H., "Drink at least eight glasses of water a day." Really? Is there scientific evidence for "8 x 8"? Am J Physiol Regul Integr Comp Physiol, 2002. 283(5): p. R993-1004.
2.  Saleh, M.A., et al., Chemical, microbial and physical evaluation of commercial bottled waters in greater Houston area of Texas. J Environ Sci Health A Tox Hazard Subst Environ Eng, 2008. 43(4): p. 335-47.
3. Tzellos, T.G., et al., Efficacy, safety and tolerability of green tea catechins in the treatment of external anogenital warts: a systematic review and meta-analysis. J Eur Acad Dermatol Venereol, 2011. 25(3): p. 345-53.
4. Saito, E., et al., Association of green tea consumption with mortality due to all causes and major causes of death in a Japanese population: the Japan Public Health Center-based Prospective Study (JPHC Study). Ann Epidemiol, 2015. 25(7): p. 512-518 e3.
5. Yang, W.S., et al., Tea consumption and risk of type 2 diabetes: a dose-response meta-analysis of cohort studies. Br J Nutr, 2014. 111(8): p. 1329-39.
6. Onakpoya, I., et al., The effect of green tea on blood pressure and lipid profile: a systematic review and meta-analysis of randomized clinical trials. Nutr Metab Cardiovasc Dis, 2014. 24(8): p. 823-36.
7. Koyama, Y., et al., Association between green tea consumption and tooth loss: cross-sectional results from the Ohsaki Cohort 2006 Study. Prev Med, 2010. 50(4): p. 173-9.
8. Barranco Quintana, J.L., et al., Parkinson's disease and tea: a quantitative review. J Am Coll Nutr, 2009. 28(1): p. 1-6.
9.    Georgoulis, M., et al., The impact of cereal grain consumption on the development and severity of non-alcoholic fatty liver disease. Eur J Nutr, 2014. 53(8): p. 1727-35.
10.    Sheng, J., et al., Coffee, tea, and the risk of hip fracture: a meta-analysis. Osteoporos Int, 2014. 25(1): p. 141-50.
11.    Killer, S.C., A.K. Blannin, and A.E. Jeukendrup, No evidence of dehydration with moderate daily coffee intake: a counterbalanced cross-over study in a free-living population. PLoS One, 2014. 9(1): p. e84154.
12.    Winkelmayer, W.C., et al., Habitual caffeine intake and the risk of hypertension in women. JAMA, 2005. 294(18): p. 2330-5.
13.    Shimamoto, T., et al., No association of coffee consumption with gastric ulcer, duodenal ulcer, reflux esophagitis, and non-erosive reflux disease: a cross-sectional study of 8,013 healthy subjects in Japan. PLoS One, 2013. 8(6): p. e65996.
14.    Johnson-Kozlow, M., et al., Coffee consumption and cognitive function among older adults. Am J Epidemiol, 2002. 156(9): p. 842-50.
15. Maia, L. and A. de Mendonca, Does caffeine intake protect from Alzheimer's disease? Eur J Neurol, 2002. 9(4): p. 377-82.
16. Salazar-Martinez, E., et al., Coffee consumption and risk for type 2 diabetes mellitus. Ann Intern Med, 2004. 140(1): p. 1-8.
17. Ross, G.W., et al., Association of coffee and caffeine intake with the risk of Parkinson disease. JAMA, 2000. 283(20): p. 2674-9.
18. Palacios, N., et al., Caffeine and risk of Parkinson's disease in a large cohort of men and women. Mov Disord, 2012. 27(10): p. 1276-82.
19. Postuma, R.B., et al., Caffeine for treatment of Parkinson disease: a randomized controlled trial. Neurology, 2012. 79(7): p. 651-8.
20. Freedman, N.D., et al., Association of coffee drinking with total and cause-specific mortality. N Engl J Med, 2012. 366(20): p. 1891-904.
21. Leitzmann, M.F., et al., Coffee intake is associated with lower risk of symptomatic gallstone disease in women. Gastroenterology, 2002. 123(6): p. 1823-30.

[อ่านต่อ...]