28 สิงหาคม 2555

โลกของนางเอกขี้ข้า (รึเปล่าคะ)


     
เดี๋ยวนี้จดหมายของท่านผู้อ่านกองสุมมากขึ้นทุกวัน บางท่านก็ขยันเขียนมากดดันว่า

    “..ผมเห็นจดหมายของวันที่...อาจารย์ตอบไปแล้ว ทำไมของผมเขียนมาสองรอบแล้วไม่ตอบสักที

   แหะ แหะ คบกับหมอสันต์ต้อง make your heart คือทำใจซะ.. นะครับ เพราะการตอบจดหมายเป็นงานอดิเรกคลายเครียด ดังนั้นผมจึงตอบแบบเอาฮอร์โมนของตัวเองเป็นที่ตั้ง เรื่องไหนอยากตอบก็ตอบ ไม่อยากตอบก็ตากแห้งเอาไว้ก่อน หลายๆเอาไว้ก่อน พอไปถึงสิ้นปีก็กลายเป็นโละทิ้งไปก่อน เนี่ย มันเป็นยังงี้แหละค่าท่านสารวัตร ฉบับนี้ผมเลือกตอบปัญหาไร้สาระก่อนอีกละ เพราะผมเพิ่งเครียดมา ตอบคำถามไร้สาระแล้วมันหนุกดี จดหมายฉบับนี้มีว่า

     “..คือ หนูมีปัญหาเล็กน้อยที่มันวุ่นวายในใจมากเลยคะ หนูเป็นน้อง พี่ๆทุกคนจะมีงานวานให้ช่วยนิดๆหน่อยๆตลอดคะ บางทีก็รู้สึกว่ามันน่ารำคาญไม่อยากทำให้เลย ใกล้สอบก็จะมีงานมาไหว้วานตลอด จิงๆมันเป็นมาตั้งแต่เรื่องงานบ้านแล้วคะ ตั้งแต่เล็กจนโตบ้านเราแม่เป็นคนทำให้ทุกอย่างคะ ไม่มีการแบ่งหน้าที่ เพราะแบ่งแล้วก็มักจะล่มตลอด พอหนูมาช่วยแม่ทำ มันก็เลยกลายเป็นหน้าที่หนูไป ห้องน้ำใช้ด้วยกันถ้าหนูไม่ถู แม่ก็จะถูให้ พี่ๆไม่เคยถูเลยคะ พอแสดงท่าทางบอกพ่อแม่ว่าไม่อยากทำ ก็จะเจอกับคำถามที่ว่ามันหนักหนามากเลยรึไง งานแค่นี้ช่วยพี่เค้าหน่อยไม่ได้เหรอ 

งานมันไม่หนักหรอกคะ เช่นพิมพ์ชื่อลงบนซองร้อยกว่าซอง แต่ประสบการณ์ที่เคยเจอมามันไม่ธรรมดาคะ พี่เคยไปรอรับหนูวันรับประกาศนีบัตรของหนู เค้าก็เดินช้อปปิ้งรอไป พอออกมา พี่บอกให้ช่วยออกค่าที่จอดรถด้วยคะ 100บาท 

อึ้งไปซักครู่ 

อึ้งอีกรอบตอนช่วยขนของลงจากรถ ของที่เธอช้อปปิ้งมาเต็มหลังรถเลยคะ 

(ปล.พี่เป็นหมอเงิน+จ๊อบ น่าจะเกินแสนต่อเดือน ส่วนหนูยังไม่มีรายได้คะ

ปล.2 เรื่องเก็บเงิน100บาท ไม่ได้บอกแม่คะ ถ้ารู้ แม่คงว่าพี่อะคะ แต่ไม่อยากให้แม่เครียดและก็ไม่อยากให้เป็นเรื่อง 

อดีตแฟนหนูเค้าบอกว่า บ้านหนูประหลาดคะ แล้วชีวิตจริงเค้าก็ไม่ได้อยากได้นางเอกในนิยาย เลยเลิกกันแบบงงๆคะ 555)

สรุปก็คือ ไอ้งานเล็กๆน้อยที่หนูเกิดความรู้สึกว่าไม่อยากทำให้พี่ๆเนี่ยมันเป็นเพราะพื้นฐานจิตใจหนูเป็นคนเห็นแก่ตัว งานแค่เนี้ยทำให้เค้าไม่ได้ ช่วยแค่นี้แล้วทำท่าอยากจะตาย(อันนี้แม่บอก) รึป่าวคะหรือว่าหนูมีสิทธิเลือกที่จะทำให้หรือไม่ทำให้เค้าได้คะ  แล้วจะบอกพ่อแม่ พี่ให้เข้าใจได้ยังไงดีคะ พ่อก็พร่ำแต่บอกว่าทำไมละ งานมันหนักหนามากเลยหรอลูก ช่วยกันได้ก็ช่วยกันไป พี่น้องก็เหมือนแขนขา -.-ดูอย่างพ่อซิ ยังช่วยคุณป้า(พี่สาวพ่อ)ทำนู่นทำนี่เลย ช่วยกันได้ก็ช่วยกันไปนะ ถ้ามันหนักหนามากกก หนูไม่อยากทำเดี๋ยวพ่อจะวานเพื่อนพ่อช่วยทำให้แทน บลาๆ -.-*ตอนนี้อยากรู้มากคะว่า ไอ้งานแค่เนี้ย เราควรจะจัดการยังไดี  ทำให้ก็ได้นะ แต่ต้องแบบตัวกูไม่ใช่ขี้ข้าและตัวเราก็ไม่เครียด ได้บ้างคะ ขอบคุณคะ

……………………..

ตอบครับ

     ผมชอบใจที่แฟนคุณทิ้งท้ายก่อนบอกศาลา ว่า

     “ในชีวิตจริงผมไม่อยากได้นางเอกในนิยาย

     แหม มันเป็นวลีก่อนจากที่จ๊าบจริงๆ ถูกหรือผิดไม่รู้ แต่ฟังแล้วแซ่บอีหลี

     คำพูดของแฟนคุณทำให้ผมคิดถึงสมัยผมเป็นอินเทอร์น ผมมีเพื่อนเป็นพยาบาลคมขำไม่สวยแต่ใจดีคนหนึ่งชื่อ นางแก้ว แล้วเชื่อหรือไม่ มีพี่เรสิเด้นท์หนุ่มนักมนุษยธรรมรูปหล่อพ่อรวยมีรถเก๋งขี่  (สมัยนั้นหมอน้อยไม่มีรถเก๋งขี่กันง่ายๆหรอก) มาปิ๊งนางแก้ว เพื่อนๆทุกคนก็ ลู้น..น...น ว่า นางแก้วเอ๋ย เป็นวาสนาของคนรูปชั่วตัวดำอย่างเอ็งแล้วที่คุณโดมผู้สูงศักดิ์โน้มมาหา ไม่ลุ้นเปล่าพวกเราจัดฉากสารพัดเพื่อให้หนังจบแฮปปี้เอนดิ้งให้ได้ แล้วเชื่อหรือไม่ครับท่านผู้อ่าน พี่เรสิเด้นท์ท่านนั้นออกปากขอความรักจากนางแก้วจริงๆ ผมรู้เพราะอีกด้านหนึ่งพี่เขาก็สนิทกับผมด้วย หลังจากฉากขอความรักผ่านไปแล้วพี่เขาทำหน้าจ๋อยมาปรับทุกข์กับผมว่านางแก้วปฏิเสธเขา โอ้โฮ.. เป็นไปได้ไงเนี่ย คืนหนึ่งผมอุตสาห์รอถึงเที่ยงคืนให้นางแก้วลงเวรอี.อาร์.เพื่อจะได้คุยกันแบบเอ็กซ์คลูสีฟ แล้วก็อัดเธอเต็มๆว่าเธอปฏิเสธพี่เขาได้ไง บ้ารึเปล่า มีเหตุผลอะไรนอกเหนือปกตินักรึไงวะ คำตอบที่ผมได้จากนางแก้วคือ

     “..พี่เขาดีเกินไป

     โอ้..โฮ ผมงี้หมดมู้ดเลย อ้าว ขอโทษ ผมนอกเรื่องละ มาตอบคำถามของคุณดีกว่า

     ถามว่า ที่หนูเกิดความรู้สึกว่าไม่อยากทำให้พี่ๆเนี่ย มันเป็นเพราะพื้นฐานจิตใจหนูเป็นคนเห็นแก่ตัวรึป่าวคะ ตอบว่าไม่ใช่หรอกครับ คุณไม่อยากทำอะไรให้พี่ๆ เพราะคุณรู้สึกว่ามันเครียดที่ต้องมีชีวิตอยู่เพื่อแบกความคาดหวังของคนอื่น คุณอยากมีชีวิตที่เป็นอิสระ ไม่มีใครมาคาดหวังอะไรกับตัวคุณ ไม่ได้หมายความว่าคุณเห็นแก่ตัว

    ถามว่าหนูมีสิทธิเลือกที่จะทำให้หรือไม่ทำให้เค้าได้ไหมคะ ตอบว่า มีสิครับ ที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้นคือก่อนที่จะเลือกทำหรือไม่ทำให้พี่เขา มันมีอีกขั้นตอนหนึ่ง คือการสนองตอบ (ด้วยการคิด) ต่อคำขอหรือความคาดหวังของพี่เขา ตรงนี้แหละที่ทำให้คุณเป็นทุกข์ เรื่องจะทำหรือไม่ทำเอาไว้ก่อนนะ แต่การสนองตอบต่อคำขอหรือความคาดหวังของพี่ๆอย่างขาดสติ (แบบปี๊ด..ด) ทำให้คุณเป็นทุกข์ ไม่ใช่การทำหรือไม่ทำอะไรให้พี่เขา คุณมีเสรีภาพที่จะสนองตอบต่อสิ่งเร้าทุกชนิดที่เข้ามาหาตัวคุณในทางที่ไม่ทำให้ตัวเองเป็นทุกข์ จิตแพทย์ชาวออสเตรียชื่อวิคเตอร์ แฟรงเคิล (Victor Frankle) เรียกมันว่าเป็นเสรีภาพชิ้นสุดท้ายของมนุษย์ชน (Last freedom of human) ซึ่งไม่มีใครมาริบไปจากคุณได้ คุณเรียนรู้ที่จะใช้เสรีภาพชิ้นนี้ให้เป็น เรื่องทั้งหมดก็จะเป็นของกล้วยๆ

     ถามว่าถ้าไม่ทำ จะบอกพ่อแม่และพี่ให้เข้าใจได้ยังไงดี ตอบว่าการบอกว่าจะไม่ทำนั้นไม่จำเป็น เพราะพูดไปก็ไลฟ์บอยหาประโยชน์ไม่ได้ แต่การค่อยๆสร้างภาวะวิสัยให้ทุกคนปรับตัวกับสภาพใหม่เป็นสิ่งจำเป็น แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น คุณต้องเข้าใจก่อนนะว่าคุณกำลังอยู่ในจุดกึ่งกลางระหว่างความขัดแย้งในใจพื้นฐานสองด้าน ด้านหนึ่งก็คือการโหยหาอิสระภาพ อีกด้านหนึ่งก็คือความกลัวเหงา กลัวว้าเหว่ กลัวไร้ที่พึ่ง นักปรัชญาชาวอังกฤษชื่อเบอรทรัลด์ รัสเซล (Bertrand Russell) บอกว่า

     ..คนเราก็เป็นงี้แหละ
พอมีความอบอุ่นก็โหยหาเสรีภาพ
แต่พอมีอิสระเสรีก็ทนความเหงาและว้าเหว่ไม่ได้
ต้องเที่ยวเสาะหาความรักความเอาใจใส่อีกหละ..

     คุณจึงต้องชั่งน้ำหนักใจของคุณก่อน ว่าต่อแต่นี้ไปจะหนักไปทางเสรีภาพนะ แล้วก็ลงมือ ด้วยการออกจากบ้านไปหางานทำ (เรียนหนังสือจบแล้วไม่ใช่เรอะ) ย้ายไปอยู่นอกบ้าน กัดก้อนเกลือกินตามประสาเสรีชน ก็ไม่ต้องทำอะไรให้ใครโดยไม่ต้องบอกต้องกล่าวอะไรให้ผิดใจกันด้วย   

     ถามว่าถ้าจะทำให้ โดยไม่รู้สึกว่าตัวกูเป็นขี้ข้า และตัวเราก็ไม่เครียด มีวิธีใดจะทำอย่างนี้ได้บ้างคะ ตอบว่ามีครับ คุณต้องเปลี่ยนมุมมองในการทำอะไรให้ใครเสียใหม่ คุณเรียนรู้เอาจากคุณแม่ของคุณก็ได้ คุณแม่ของคุณทำทุกอย่างให้ทุกคนในบ้านเพราะท่านรักลูกๆ ท่านทำไปเพราะความรัก จึงไม่มีความลำบากใจหรือฝืนใจใดๆเลย ไม่รู้สึกแม้แต่น้อยว่านี่เป็นชีวิตที่เกิดมาเป็นขี้ข้าเขา ถ้าคุณจะทำอะไรให้พี่ๆ คุณก็ต้องถามตัวเองก่อนว่าทำเพราะความรักพี่ อยากจะให้พี่ได้สิ่งดีๆ จากฝีมือเรา หรือทำเพราะจำใจทำเพื่อให้พี่มารักเราหรือยอมรับเรา ถ้าเป็นอย่างหลังนี้ก็ไม่ต้องทำ ให้รีบหางานของตัวเองให้ได้ แล้วย้ายออกไปอยู่นอกบ้านให้พ้นจากพี่ๆเสีย เพราะคาริล ยิบราน เขียนกลอนสอนว่า


..และการงานก็จะว่างเปล่า เมื่อไม่มีความรัก
และเมื่อเธอทำงานด้วยความรักนั้น เธอได้โอบตนเองเข้ากับตนเอง เข้ากับผู้อื่น และเข้าสู่พระผู้เป็นเจ้าแล้ว

ก็การงานที่จะทำด้วยความรักนี้ คืออย่างไรเล่า
คือการทอผ้าด้วยเส้นด้ายที่ดึงจากดวงใจของเธอ 
ราวกับว่าผ้าผืนนั้นจะเป็นเครื่องนุ่งห่มของคนรักของเธอ

คือการสร้างบ้านขึ้น ด้วยดวงใจเอิบอิ่มในความรัก 
ประหนึ่งว่าสร้างบ้านนั้นเพื่อคนรักของเธออยู่

เมื่อหว่านเมล็ดพันธุ์ ก็ด้วยความละมุนละไม และเก็บเกี่ยวผลอันผุดขึ้นด้วยความปราโมทย์ ดุจดังว่าที่รักของเธอจะเป็นผู้บริโภคผลนั้นๆ
คือการอาบรดทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอจับทำด้วยลมหายใจจากวิญญาณของเธอ

และถ้าเธอไม่อาจประกอบการงานได้โดยมีความรัก 
แต่ด้วยความจำเจเบื่อหน่าย 
เธอก็ควรวางมือ และไปนั่งตามประตูโบสถ์ ขอทานท่านผู้ทำงานด้วยใจรักดีกว่า
..

ท่อนท้ายเนี่ย เจ็บดีนะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

26 สิงหาคม 2555

เรื่องสถิติการแพทย์ คนที่ไม่อยากให้ชีวิตลำบากโปรดอย่าอ่าน


อาจารย์ครับ

ผมชอบอ่านบล็อกของอาจารย์
แต่ในบทความวันที่ 19 สค. 55 อาจารย์อธิบาย specificity 99.97% แปลว่าถ้าเอาคนไม่เป็นโรคมา 10,000 คน จะตรวจได้ผลลบ 9,997 คน อีก 3 คน (0.03%) ตรวจได้ผลบวก หรือมีผลบวกเทียม 0.03% แล้วอาจารย์ถามว่าอ่านแล้วงงไหม

ผมว่าคนอ่านงงนะครับ ผมว่าถ้าเปลี่ยนคำพูดเสียใหม่ว่า

“..ถ้าตรวจได้ผลบวกในคน 10,000 คน หมายความว่า 9,997 คนติดเชื้อ แต่มีอยู่ 3 คนไม่ติดเชื้อ (แต่ผลทดสอบบอกผิด)..”

พูดแบบนี้อาจารย์ว่าจะเข้าใจง่ายกว่าไหมครับ
ขอบคุณครับ

.....................................

ตอบครับ

     ขอบคุณมากๆครับที่อ่านแล้วช่วยเขียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ผมคิดว่าไม่มีใครสนใจ แต่คุณสนใจ ผมรู้สึกดีมากที่จะมีคนคุยเรื่องสถิติด้วย ก็เลยขอถือโอกาสนี้สัมมนากับคุณถึงเรื่องหลักสถิติที่เราใช้กันในทางการแพทย์เสียเลย สำหรับท่านผู้อ่านท่านอื่นที่ไม่อยากหาเรื่องให้ชีวิตตัวเองต้องประสบกับความลำบากโดยใช่เหตุ ผมแนะนำให้ข้ามบทความนี้ไปเสีย ไม่ต้องอ่านก็ได้ครับ เดี๋ยวจะหาว่าผมไม่เตือน

     คำว่า “ความจำเพาะ” หรือ specificity มีคำนิยามในภาษาสถิติว่า “คือโอกาสที่คนไม่เป็นโรค จะตรวจได้ผลลบ (ส่วนที่เหลือนั้นก็ตรวจได้ผลบวก ซึ่งเป็นผลบวกเทียม เพราะไม่ได้เป็นโรค)

     ขณะเดียวกันก็มีคำที่คู่กันคือคำว่า “ความไว” หรือ sensitivity ซึ่งมีคำนิยามในภาษาสถิติว่า “คือโอกาสที่คนที่เป็นโรคแล้ว จะตรวจได้ผลบวก (ส่วนที่เหลือนั้นก็ตรวจได้ผลลบ (ซึ่งเป็นผลลบเทียม เพราะเป็นโรคอยู่แล้วยังตรวจได้ผลลบ)

     ในการตรวจเอดส์ด้วยวิธี ECLIA นั้นมีความไว 100% และมีความจำเพาะ 99.97% หมายความว่าผลลบเทียมไม่มี แต่มีผลบวกเทียม 0.03% แต่ระวังนะครับ การจะเปลี่ยนคำพูดจาก แบบที่ 1 ว่า

       “..ถ้าเอาคนไม่เป็นโรคมา 10,000 คน จะตรวจได้ผลลบ 9,997 คน อีก 3 คน ตรวจได้ผลบวก (ทั้งๆที่ไม่ติดเชื้อ)..”

ไปเป็นพูดแบบที่ 2 ว่า

     “..ถ้าตรวจได้ผลบวกในคน 10,000 คน หมายความว่า 9,997 คนติดเชื้อ แต่มีอยู่ 3 คนไม่ติดเชื้อ..”

     มองเผินก็น่าจะเป็นคนละด้านของเรื่องเดียวกันนะครับ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ เพราะความจำเพาะ (specificity) เป็นการพูดถึงโอกาสที่คนที่ไม่เป็นโรคจะตรวจได้ผลลบ คือเป็นการพูดถึงฐานที่เป็นจำนวนคน หรือจำนวนผู้ป่วย หรือจำนวนผู้ไม่ป่วย
     ส่วนการพูดในแบบที่สองนั้นเป็นการพูดถึงฐานที่เป็นจำนวนครั้งของการตรวจ (test) ว่าในการตรวจที่ได้ผลบวก 10,000 ครั้งนั้น จะมีกี่ครั้งที่เจ้าของเลือดเป็นโรคจริงๆ ซึ่งการพูดแบบที่ 2 นี้ทางสถิติเรียกว่าเป็นการพูดถึง โอกาสเป็นโรคจริงเมื่อตรวจได้ผลบวก (positive predictive value)

     คุณอาจจะฉุนกึกว่าแล้ว positive predictive value กับ specificity มันต่างกันตรงไหนวะ

     แฮ่..แฮ่ ตัวเลขมันอาจจะเท่ากันหรือเกือบเท่ากันนะครับ แต่มันต่างกันที่ความหมายเวลาเราพูดถึง เพื่อที่เราจะได้ไม่ทะเลาะกัน ผมขอเปลี่ยนวิธีอธิบายใหม่ โดยใช้ตารางที่ในวิชาสถิติเรียกว่า 2 x 2 Contingency Table ซึ่งเขียนเป็นตารางดังนี้


+ve ของจริง
คนเป็นโรค
-ve ของจริง
คนไม่เป็นโรค
Test +ve
ตรวจได้ผลบวก
A
B
Test –ve
ตรวจได้ผลลบ
C
D

     จากตารางข้างบนนี้ ผมจะเขียนนิยามคำทั้งสี่คำเสียใหม่ดังนี้
1.      ความไวของการทดสอบ (Sensitivity) =  a / (a+c)
หมายควายว่าในบรรดาคนที่เป็นโรคจริงๆทั้งหมด (a+c) มีกี่คนที่ตรวจได้ผลบวก (a)
2.       ความจำเพาะของการทดสอบ (Specificity) =  d / (b+d)
หมายควายว่าในบรรดาคนที่ไม่เป็นโรคทั้งหมด (b+d) มีกี่คนที่ตรวจได้ผลลบ (d)
3.      โอกาสเป็นโรคของผลบวก (Positive predictive value) =  a / (a+b)
หมายควายว่าในบรรดาคนที่ตรวจได้ผลบวกทั้งหมด (a+b) มีกี่คนที่เป็นโรคจริง (a)
4.      โอกาสไม่เป็นโรคของผลลบ (Negative predictive value) =  d / (c+d)
หมายควายว่าในบรรดาคนที่ตรวจได้ผลลบทั้งหมด (c+d) มีกี่คนที่ไม่เป็นโรคจริงๆ (d)

     ค่าทั้งสี่ค่าความหมายไม่เหมือนกันสักค่า แต่ผลการคิดตัวเลขอาจจะอนุโลมได้ว่าเท่ากัน ผมจะลองใส่ค่าจริงของการตรวจเอดส์ด้วยวิธี ACLIA ให้ดูนะครับ



+ve ของจริง
คนเป็นโรค
-ve ของจริง
คนไม่เป็นโรค
Test +ve
ตรวจได้ผลบวก
10,000
3
Test –ve
ตรวจได้ผลลบ
0
9,997


     จะเห็นว่าขณะที่ความจำเพาะของการตรวจ (specificity) เท่ากับ =  d / (b+d) หรือ 99.97% แต่โอกาสเป็นโรคของผู้ตรวจได้ผลบวก (positive predictive value) เท่ากับ =   a / (a+b) =  0.99970009 หรือคร่าวๆ 99.97% 

     คือตัวเลขเท่ากัน แต่เป็นการมองความหมายมาจากคนละมุมมอง คนละความหมาย 

    ท่านผู้อ่านท่านอื่นงงมากใช่ไหมครับ ผมบอกแล้ว ถ้าไม่อยากทำชีวิตให้ลำบากอย่าอ่าน ตัวใครตัวมันละครับ ส่วนผมขอตัวไปนอนก่อนแล่ว เพราะเพิ่งกลับมาจากสอน Health Camp มาสามวันสามคืนรวด ยังไม่หายมึน บ๊าย..บาย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

22 สิงหาคม 2555

ชั่วร้ายกว่าน้ำมันหมู



 (บทความเขียนให้นิตยสาร Guitar Affection)

ชั่วร้ายกว่าน้ำมันหมู

      ผมเพิ่งได้คนทำครัวคนใหม่มาไม่นาน เธอเป็นคนมีรสนิยม ความที่เคยทำงานตามบ้านทูตในต่างประเทศมาก่อน เธอจึงซึมซับทัศนคติเกี่ยวกับการรักษาทรวดทรงองค์เอวจากบรรดาคุณหญิงคุณนายที่แวะเวียนมาเป็นแขกของเจ้านายเก่าของเธอไม่น้อย และเธอไม่ใช่แม่ครัวชนิด “สำเนาถูกต้อง” แบบว่าเห็นแค่ครึ่งตัวก็วินิจฉัยได้แล้วว่าหุ่นอย่างนี้ต้องเป็นแม่ครัว ไม่ เธอไม่ใช่อย่างนั้น เธอมีความอรชรอ้อนแอ้น และ “ไว้ตัว” เรื่องอาหารการกิน หลักฐานยืนยันอย่างหนึ่งก็คือเธอไม่เคยแตะต้อง “Narrow Pig” ซึ่งเป็นอาหารพิเศษของผมในตู้เย็นเลย Narrow Pig ก็คือ "แคบหมู" ไงครับ ตอนเด็กๆผมเรียกมันว่าอย่างนั้น คือตัวผมเป็นคนเหนือ ที่เหมือนคนเหนือทั้งหลายตรงที่นับถือแคบหมูว่าเป็นของขวัญที่พระเจ้าประทานมาให้ ทุกระยะห้าหกเดือน “คุณย่า” ที่พะเยาก็จะส่งแคบหมูที่ทอดแบบออริจินอลของทางเหนือมา มันอร่อยจริงๆแบบหาซื้อกินที่ไหนไม่ได้ ชนิดที่แม่ครัวคนก่อนๆล้วนอดใจไม่ได้ต้องเก็บภาษีในอัตราสังคมนิยมไปซะค่อนครึ่งก่อนที่แคบหมูรสโอชาจะมาถึงเจ้านาย แต่แม่ครัวคนนี้เธอไม่แตะมันเลย วันหนึ่งผมนั่งทานแคบหมูอยู่จึงถือโอกาสชวนเธอด้วย เธอตอบว่า
     
     “น้ำมันหมูนี่มันชั่วร้ายมากไม่ใช่เหรอคะ คุณหมอ”                                                   
     
     เล่นเอาผมอึ้งกิมกี่ไป ได้แต่หัวเราะหึ หึ หึ
     แม่ครัวของผมคนนี้เธอมีความสนใจใฝ่รู้ด้วย อาศัยที่อ่านภาษาอังกฤษออก เวลาไปซื้ออาหารอะไรมาเธอจะนั่งอ่านฉลากแล้วขยันถาม ความที่ผมดื่มแต่กาแฟดำ ส่วนเธอนั้นดื่มกาแฟใส่ครีมและน้ำตาล เธอจึงต้องช็อปครีมและน้ำตาลของตัวเอง วันหนึ่งเธอซื้อครีมเทียมใส่กาแฟมา แล้วนั่งอ่านฉลากพลางตะโกนถามผมพลางว่า
     
      “0% โคเลสเตอรอล นี่หมายความว่าดีใช่ไหมคะหมอ” ผมตอบว่า      
      
      “ไม่ใช่ มันหมายความว่าของที่อยู่ในซองนี้ไม่มีความดีใดๆจะแจ้งให้ท่านทราบแล้ว นอกจากข้อมูลว่ามันทำมาจากพืชเท่านั้น” เธอหัวเราะ แฮ้ แฮ้ แฮ้ แล้วว่า
      
      “แต่หนูได้ยินมาแต่ว่าโคเลสเตอรอลเป็นของไม่ดี ทำให้เป็นโรคหัวใจ” ผมตอบว่า
     
      “โคเลสเตอรอลที่เป็นของไม่ดีคือโคเลสเตอรอลชนิดเลวหรือ LDL ที่อยู่ในเลือดของเรา ไม่ใช่โคเลสเตอรอลในอาหาร ความเกี่ยวข้องระหว่างโคเลสเตอรอลในอาหารกับ LDL ในเลือดยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่ามันเกี่ยวข้องกันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ของที่ทำจากน้ำมันพืชทุกชนิดไม่มีโคเลสเตอรอลอยู่แล้ว น้ำมันปาล์มก็ไม่มีโคเลสเตอรอล แต่ก็เป็นไขมันอิ่มตัวซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้นคำว่า No Cholesterol ในฉลากอาหารจึงไม่มีความหมายอะไรทั้งสิ้น” เธออ่านและถามต่อไปอีกว่า
     
      “0% ไขมันอิ่มตัว ก็ต้องดีใช่ไหมหมอ เพราะหนูได้ยินมาว่าน้ำมันหมูที่ชั่วร้ายเป็นไขมันอิ่มตัว” ผมตอบว่า
     
      “ดี..ถ้าข้างในนั้นไม่ใช่ไขมันชนิดที่ชั่วร้ายกว่าไขมันอิ่มตัว” เธออ่านต่อไปอีกว่า
     
      “ผลิตจากไขมันถั่วเหลือง อย่างนี้ต้องหมายความว่าดีแน่ๆเลยใช่ไหมคะหมอ” ผมถามว่า
     
      “ของข้างในนั้นเป็นผงหรือเป็นน้ำ” เธอตอบว่า
     
      “ครีมเทียมใส่กาแฟมันก็ต้องเป็นผงสิคุณหมอ” ผมจึงบอกเธอว่า
     
      “อย่างนี้หมายความว่าของที่อยู่ในนั้นชั่วร้ายกว่าน้ำมันหมู” คราวนี้เธอร้องฮ้าและเผลอปล่อยซองครีมเทียมหลุดมือ
     
      ความเป็นจริงก็คือว่าครีมเทียมที่ใส่กาแฟในมือเธอนั้นเป็นไขมันชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า ไขมันทรานส์ (trans fat) ซึ่งได้จากการนำไขมันไม่อิ่มตัว เช่นน้ำมันถั่วเหลืองมาอัดไฮโดรเจนเข้าไปเพื่อทำให้มันแข็งเป็นไข จะได้ทำเป็นผงได้ แล้วเอามาทำอาหารอุตสาหกรรมเช่น เค้ก คุ้กกี้ ขนมกรุบกรอบ ครีมเทียม เนยเทียม บางทีคนจึงเรียกง่ายๆว่าไขมันผง หรือไขมันแข็ง (solid fat) ตอนนี้ในอเมริกากำลังมีการรณรงค์ต่อต้านอาหารที่ไม่ควรกินโดยใช้สโลแกนว่า SoFAS โดยคำว่า SoF ย่อมาจาก solid fat ก็คือเจ้าไขมันทรานส์นี่แหละ ส่วนคำว่า AS ย่อมาจาก added sugar ซึ่งหมายถึงน้ำตาลในเครื่องดื่ม ทั้งไขมันทรานส์ และทั้งน้ำตาลในเครื่องดื่ม กำลังถูกหมายหัวเป็นอะไรน้องๆสารพิษในทางโภชนาการเลยทีเดียว
          
            พิษภัยของไขมันทรานส์ได้รับการพิสูจน์โดยงานวิจัยของฮาร์วาร์ดซึ่งติดตามดูคนถึงแปดหมื่นกว่าคนไปนานถึง 12 ปี โดยจำแนกออกเป็นกลุ่มๆตามชนิดของที่มาของพลังงานที่ได้เพิ่มเข้ามาระหว่างการวิจัย แล้วเปรียบเทียบกันว่าการบริโภคแหล่งพลังงานแบบไหนจะเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดมากกว่ากันโดยใช้กลุ่มที่ได้พลังงานเพิ่มมาจากคาร์โบไฮเดรตเป็นตัวตั้ง งานวิจัยนี้พบว่าพวกที่ได้พลังงานจากไขมันทรานส์ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าพวกที่ได้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรตถึง 93%พวกที่ได้พลังงานจากไขมันอิ่มตัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าพวกที่ได้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรต 17% ส่วนพวกที่ได้พลังงานเพิ่มมาจากไขมันไม่อิ่มตัวนั้นเป็นโรคน้อยกว่าพวกที่ได้พลังงานเพิ่มจากคาร์โบไฮเดรต งานวิจัยนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่าไขมันทรานส์ชั่วร้ายที่สุด ร้ายกว่าไขมันอิ่มตัวเช่นน้ำมันหมูตั้งแยะ

           ดังนั้นก่อนจะร้องบอกคนอื่นที่ทานแคบหมูว่าอย่านะ อันตราย ให้มองเค้ก คุ้กกี้ ขนมกรุบกรอบ และครีมเทียม ในมือเราก่อนนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

.............................................

23 สค. 55
0จดหมายจากผู้อ่าน

แล้วพวก ถั่วเหลืองชนิดผงสำเร็จรูป ใช้ชงดื่มหล่ะค่ะ

   ตอบครับ
   พวกถั่วบดเป็นผงชงดื่มเช่นถั่วห้าสีบ้าง สามสีบ้าง พวกนั้นเป็นถั่วบดธรรมดา จัดเป็นอาหารธรรมชาติ ไม่ก่อโรค ไม่ใช่น้ำมันถั่วเหลืองอัดไฮโดรเจน (hydrogenization) ให้เป็นไขมันทรานส์ การทำไขมันทรานส์ยากและต้นทุนแพงกว่าการทำถั่วบดเทียบกันไม่ได้ ครีมเทียมที่ทำจากไขมันทรานส์จะเป็นผงเนียนเวลาละลายน้ำจะกระจายตัวไปในน้ำได้สนิทไม่เป็นตะกอน ต่างจากถั่วบดที่เป็นผงหยาบเวลาละลายน้ำแล้วก็ไม่ละลายไปไหนยังคงเป็นก้อนตะปุ่มตะป้ำนอนก้นแก้วอยู่ 
อันที่จริง การเอาถั่วมาบดแล้วละลายน้ำให้คนกินง่ายไม่ต้องเคี้ยวนี้เป็นไอเดียที่ผมสนับสนุนว่าเจ๋งนะครับ เพราะถั่วต่างๆเป็นอาหารอุดมคุณค่าที่วงการโภชนาการทั่วโลกสนับสนุนให้คนบริโภคมากขึ้น เพราะให้ทั้งโปรตีน ไวตามิน และเกลือแร่ ที่ร่างกายต้องการ แม้จะมีแคลอรี่สูงพอควร แต่เราก็ไปลดแคลอรี่ลงจากอาหารที่ไม่มีคุณค่าอื่นๆเช่นข้าวขาว แป้ง น้ำตาล ต่างๆแทน การกินถั่วบดละลายน้ำนี้มีประเด็นที่ต้องระวังประเด็นเดียวเท่านั้น คือจะต้องมีการบรรจุและจัดเก็บที่ดี เพื่อไม่ให้เชื้อราไปงอกงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเปิดใช้แล้วทานไม่หมดจะเก็บอย่างไรให้แห้งสนิทเป็นเรื่องสำคัญ เพราะอาหารธรรมชาติกับเชื้อรานี้เป็นของคู่กัน และเชื้อราบางชนิดก็ไม่น่ารัก มันผลิตพิษ (toxin) ที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับร่างกายเราเท่าไหร่

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์   



[อ่านต่อ...]

21 สิงหาคม 2555

เป็นโรคพาร์คินสันจะออกกำลังกายอย่างไร


คุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์ครับ
คุณพ่ออายุ 79 ปี เป็นโรคพาร์คินสัน ตอนนี้ได้ยา Cozaar 50 mg Mevalotin 40 mg Sinemet 25/100 mg Plavix 75 mg อาการหลักคือตัวท่านจะแข็งทื่อๆเดินลำบากต้องลากฝ่าเท้าไปบนพื้นทีละนิดๆ ความจำเสื่อม ปกติท่านเป็นคนแข็งแรงทำงานมาก รักษากับหมอประสาทวิทยามา 8 ปี แล้วที่รพ.... แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น มีแต่แย่ลง คนรู้จักเขาบอกว่าเขาเป็นโรคนี้แล้วไปฉีดสะเต็มเซลหมดไปหกแสนกว่าแล้วดีขึ้น อยากถามคุณหมอว่าโรคนี้จะมีโอกาสดีขึ้นไหม มันเกิดจากอะไร แล้วควรจะดูแลท่านอย่างไรต่อไปดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกาย เนื่องจากคุณพ่อเคยล้มในห้องน้ำแล้วหัวฟาดแต่โชคดีไม่เป็นไร หมอจึงบอกว่าไม่ให้ทำอะไรเอง จึงไม่ได้ออกกำลังกายเลย ถ้าคุณหมอสันต์แนะนำให้ออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายอย่างไรครับ
ขอบคุณคุณหมอที่เขียนบทความที่มีประโยชน์มากมาย

....................................

ตอบครับ

     ก่อนจะตอบคำถามของคุณ ผมขอพูดถึงโรคพาร์คินสัน (Parkinson Disease) ให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นๆได้ทราบเป็นแบ็คกราวด์ไว้สักหน่อยนะครับ 
     โรคนี้มีนิยามว่าคือภาวะที่มีการเสื่อมของเซลประสาทที่ทำหน้าที่ปล่อยโดปามีนในก้านสมอง (substantia nigra
     มีสาเหตุประมาณ 10% เกิดจากพันธุกรรม ที่เหลือ 90% ไม่ทราบสาเหตุ 
     มีอาการสำคัญห้ากลุ่มคือ (1) มือสั่น (2) กล้ามเนื้อเกร็งแข็ง (3) การเคลื่อนไหวช้าและผิดปกติ (4) ทรงตัวลำบาก (5) อาจมีอาการที่ไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเช่น ซึมเศร้า สมองเสื่อม เห็นภาพหลอน การนอนผิดปกติ พฤติกรรมผิดปกติ ท้องผูก ลุกแล้วหน้ามืด อั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นต้น 
     โรคนี้วินิจฉัยจากอาการเท่านั้น ไม่มีวิธีตรวจยืนยันทางแล็บใดๆ ถ้าคนไข้ยังมีชีวิตอยู่ แต่หากหลังการเสียชีวิตแล้วถ้านำเนื้อสมองมาตรวจทางพยาธิวิทยาจะพบว่ามีการเสื่อมของเซลประสาทชนิดที่มีเม็ดสี (neuromelanin) อยู่ในเซล โดยเซลที่รอดชีวิตมักมีเม็ดย้อมติดสีเหมือนอาทิตย์ทรงกลดเรียกว่า Lewy body

     การรักษาโรคนี้มีสองส่วน
     ส่วนที่หนึ่ง คือการป้องกันเซลประสาทเสื่อม (neuroprotective therapy) ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่ายังไม่มียาใดรักษาในส่วนนี้ได้ พูดง่ายๆว่าโรคนี้รักษาไม่หาย
     ส่วนที่สอง คือการบรรเทาอาการ แม้จะไม่ทำให้หายแต่ก็ต้องรีบรักษา มิฉะนั้นจะคุณภาพชีวิตจะเสื่อมอย่างรวดเร็ว ยามาตรฐานที่ใช้คือ Levodopa (ก็คือ Sinemet นั่นแหละ) ร่วมกับยา carbidopa ตัวออกฤทธิ์บรรเทาอาการสั่นและเกร็งตัวจริงคือ levodopa ส่วน carbidopa นั้นออกฤทธิ์ยับยั้งการเปลี่ยน levodopa ไปเป็น dopamine จึงทำให้มีผลทางอ้อมให้มี levodopa มากขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อใช้ levodopa นานไปประสิทธิภาพของยาจะลดลงและการเคลื่อนไหวผิดปกติมากขึ้น การใช้ยาต่างๆจะได้ผลดีในระยะ 5-6 ปีแรก ในรายที่ยาคุมอาการไม่ได้ผล อีกทางเลือกหนึ่งคือการผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (deep brain stimulation - DBS) โดยที่ผลที่ได้ก็เป็นเพียงการบรรเทาอาการเท่านั้น    
     โภชนาการสำหรับคนเป็นโรคนี้มุ่งไปที่การป้องกันท้องผูก นอกจากนี้ในคนที่ยาได้ผลน้อย ควรกระจายอาหารโปรตีนไปตลอดวันไม่ให้ไปมากตอนใกล้เวลากินยา เพราะหากมีโปรตีนมากจะแข่งกับ levodopa ในการถูกดูดซึมทำให้ยาเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง
     การออกกำลังกายเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการบรรเทาอาการโรคนี้ เพราะช่วยให้ใช้กล้ามเนื้อทำงานได้ดีขึ้น ท่าร่างดีขึ้น ทรงตัวดีขึ้น การออกตัวเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น นอกจากนี้วงการแพทย์กำลังสนใจข้อมูลในสัตว์ทดลองที่พบว่าการออกกำลังกายอย่างแข็งขันมีผลป้องกันการเสื่อมของเซลประสาทในสัตว์ที่สมองเสียหายแบบพาร์คินสันได้

เอาละที่นี้มาตอบคำถามของคุณ

     ถามว่าไปฉีดสะเต็มเซลดีไหม ตอบว่าไม่ทราบครับ เพราะยังไม่รู้ว่าโรคนี้เกิดจากอะไรเลย จะไปรู้วิธีรักษาได้อย่างไร เท่าที่ผมทราบตอนนี้มีการวิจัยเรื่องสะเต็มเซลนี้อยู่มากพอควร โดยเฉพาะในทางยุโรปซึ่งไม่มีข้อจำกัดทางกฎหมายมาก แต่ก็ยังไม่เห็นมีผลวิจัยอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน คงต้องรอต่อไปครับ ส่วนพวกกองหน้าที่ยอมเสียเงินหกแสนบาทไปลองดูแบบลุ่นๆนั้นก็ช่างเขาเถอะ เพราะถ้าไม่มีหน่วยกล้าตายชอบเสี่ยงลองของใหม่ๆอย่างนี้บ้าง การแพทย์ก็คงไม่เจริญเร็วอย่างทุกวันนี้หรอกครับ

     ถามว่าการออกกำลังกายดีไหม ตอบว่าดีสิครับ ดีแน่ 
     
     ถามว่าการออกกำลังกายแบบไหนดีกว่าแบบไหนนั้น แม้จะมีงานวิจัยศึกษาการออกกำลังกายสารพัดแบบในคนเป็นโรคพาร์คินสัน รวมไปถึงการรำมวยจีน ไทเก๊ก เต้นชะชะช่า หรือเต้นแทงโก้ (จริงๆไม่ได้พูดเล่น) แต่ปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อมูลพอสรุปได้ว่าการออกกำลังกายแบบไหนดีที่สุดสำหรับคนไข้โรคนี้ 
    
     ผมขอแนะนำคุณให้ทำตามหลักการออกกำลังกายสำหรับโรคพาร์คินสัน ที่นิยมใช้กันตามศูนย์กายภาพบำบัดดังๆในอเมริกา ซึ่งเขามีหลักว่านอกจากการฝึกกล้ามเนื้อแบบมาตรฐานทั่วไปแล้ว ควรเน้นการฝึก 16 ประเด็นต่อไปนี้เพิ่มเติม คือ  

     1.      ออกกำลังให้มากเข้าไว้ ออกกำลังกายทุกวันวันละหลายชั่วโมง น้ำที่ไหลไม่กลายเป็นน้ำแข็งฉันใด กล้ามเนื้อที่ได้ออกแรงก็จะไม่แข็งตรึงฉันนั้น
2.      ฝึกทรงตัวให้มั่น ยืนกางขาห่างกันสิบนิ้วจนเป็นนิสัย อาจดูไม่เท่ แต่ปลอดภัย
3.      ฝึกการออกตัว (initiation movement) เชิดหน้าขึ้น ยกหัวแม่ตีนขึ้น หัวแม่ตีนไม่ยก เท่ากับไม่ได้ก้าว เมื่อใดที่ขาแข็งติดพื้น โยกน้ำหนักไปทางส้นเท้า ยกหัวแม่ตีนขึ้น โยกน้ำหนักไปขาอีกข้าง แล้วงอเข่ายกเท้าก้าวเดิน
4.      ฝึกทรงตัวบนขาเดียว ยืนขาเดียวจับราว เอาเท้าอีกข้างเคลื่อนไหวไปมา เดินหน้า ถอยหลัง ไปข้าง เขียนวงกลมบนพื้น
5.      ฝึกเดินแบบใกล้เคียงปกติ ก้าวให้ยาว วางแมกกาซีนไว้เป็นช่วงๆ ยกเท้าลอยกลางอากาศ ก้าวข้ามแมกกาซีน เอาส้นลงพื้นก่อน แกว่งแขนให้เต็มที่เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อไหล่ ถือม้วนหนังสือพิมพ์ไว้สองมือเพื่อช่วยการแกว่งแขน มองไกล อย่ามองพื้น ให้เท้าเดาเอาเองว่าพื้นอยู่ตรงไหน
6.      ฝึกเลี้ยวให้ปลอดภัย ก้าวให้สั้นลงขณะเลี้ยว วางเท้าให้ห่างกัน โยกน้ำหนักไปเท้าซ้ายทีขวาทีขณะเลี้ยว และห้ามไขว้ขา
7.      ฝึกป้องกันการล้ม หัดฟุตเวอร์คด้วยวิธีเคลื่อนไหวเร็วๆสั้นๆไปข้างๆ ไปข้างหน้า ไปข้างหลัง อย่าหวังพึ่งกำแพง เพราะมันไม่เคยอยู่ที่นั่นเวลาคุณล้ม
8.      ฝึกหย่อนตัวลงนั่งเก้าอี้ โน้มตัวไปข้างหน้า กระดกก้นไปข้างหลัง ย่อตัวลงช้าๆ จนก้นถึงพื้นเก้าอี้ ถ้าขาแข็งเดินไปนั่งเก้าอี้ไม่ได้ ให้ตั้งใจเดินผ่านมันไป แล้วแวะนั่งขณะเดินผ่าน (คนเป็นโรคนี้ตั้งใจทำอะไรแล้วมักสั่นหรือเกร็งจนทำไม่ได้)
9.      ฝึกลุกจากเก้าอี้ โน้มตัวไปข้างหน้า แล้วนับ หนึ่ง สอง สาม ลุกพรวด ลุกแบบสายฟ้าแลบ เพราะคนเป็นโรคนี้ลุกช้าๆจะลุกไม่ขึ้น ทำเก้าอี้ประจำตัวแบบเสริมขาหลังสี่นิ้วทำให้ลุกง่าย อย่าให้คนช่วยดึงแขน แต่ให้ดันหลังแทน
10.  ฝึกลุกจากเตียง หนุนขาหัวเตียงให้ยกขึ้นเพื่อให้ลุกง่าย ผูกผ้าเป็นปมไว้กับปลายเตียงไว้ดึงตัว ลุกนั่งบนเตียง แล้วหมุนตัวด้วยแรงเหวี่ยงอย่างแรงมานั่งห้องขาข้างเตียง
11.  ฝึกถ่วงดุล ถ้าลำตัวเอียงไปข้างหนึ่ง ให้หิ้วของอีกข้างหนึ่งถ่วง
12.  ฝึกมือ หางานให้มือทำทั้งวัน ฝึกกลัดและปลดกระดุม หั่นอาหาร เขียนหนังสือ เขียนภาพ บีบลูกบอล ฉีกกระดาษ นับแบงค์ นับเหรียญ เอาเหรียญเข้าออกกระเป๋า เล่นเครื่องดนตรี แต่งตัวให้ตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบ ทำซ้ำแยะๆ ใช้หลักซ้อม 20 ครั้ง ทำจริงครั้งที่ 21
13.  ฝึกแขน โดยติดตั้งรอกไว้เหนือเก้าอี้ นั่งลงดึงเชือกผ่านรอกไปทางโน้นทีทางนี้ที กางแขนและไหล่ไปทุกทาง (working pulley when seated)
14.  ฝึกการออกเสียง ในรายที่มีปัญหาการพูด มีหลักว่าให้กระตุ้นการพูด คิดดังๆ ตะโกนความคิดออกมา อ่านออกเสียง นับเลขดังๆ
15.  ฝึกแสดงสีหน้า ทำหน้าใส่กระจก แยกเขี้ยว ยิงฟัน ยิ้ม หัวเราะ นวดหน้า เคี้ยวอาหารให้หนักๆ ย้ายอาหารในปากไปมา ข้างซ้ายที ข้างขวาที จนละเอียดก่อนกลืน
16.  ฝึกป้องกันกล้ามเนื้อเกร็งแข็ง โดย
16.1ยืนหน้าชนผนัง ห่างสัก 8 นิ้ว แล้วยกแขนทาบผนังให้สูงสุดแขน โถมน้ำหนักลงบนผนังแล้วยืดแขนให้ทุกส่วนของร่างกายแนบกับผนัง
16.2ยืนหลังพิงชิดผนัง ยกขาซอยเท้าให้สูงที่สุดแบบทหารเดินแถว
16.3จับราวอะไรสักอย่าง แล้วนั่งยองให้ต่ำสุดเท่าที่ทำได้แล้วค่อยๆลุกขึ้น
16.4นั่งเก้าอี้พนักตรง เอามือไขว้พนัก แอ่นอก เชิดหน้ามองเพดาน
16.5นั่งเก้าอี้ สองมือยกกระบองขึ้นเหนือศีรษะให้สูงสุด
16.6นั่งเก้าอี้ ซอยเท้าบนพื้น ยกเข่าให้สูงสุดๆ
16.7นอนหงายกดทุกส่วนของร่างกายลงกับพื้นให้ราบ
16.8นอนคว่ำมือไขว้หลังตามองเพดานยกอกจากพื้น
16.9นอนคว่ำเตะเท้าสลับแบบว่ายน้ำ
16.10                  หันศีรษะไปซ้ายทีขวาที
16.11                  ยืนเท้าสะเอวซอยเท้า
16.12                  ยืนถ่างขาโน้มตัวไปหน้า โน้มไปด้านข้าง โน้มไปข้างหลัง โยกตัวเป็นวงกลม
     จะเห็นว่าเยอะแยะมากมายเลยใช่ไหมครับ จนไม่น่าจะมีศูนย์กายภาพบำบัดที่ไหนในเมืองไทยมีเวลาทำให้ได้ ดังนั้นการทำเองที่บ้านจึงจะดีที่สุด ซึ่งก็ต้องแน่นอนว่าจะต้องมีผู้ดูแล แล้วให้ผู้ดูแลนั่นแหละเป็นครูฝึกการออกกำลังกายให้ การลงทุนฝึกการออกกำลังกายให้ผู้สูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรังเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด เพราะทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตบั้นปลายที่ดี อันเป็นยอดปรารถนาของผู้สูงอายุทุกคน ดังนั้น ถ้าคุณจะทดแทนบุญคุณท่านละก็ ตรงนี้แหละครับ ใช่เลย ถ้าคุณยังไม่มั่นใจ ก็ลองไปซ้อมเป็นครูฝึกจากศูนย์กายภาพบำบัดที่ไหนสักแห่งก่อน ถ้าหาที่ไปฝึกไม่เจอ (ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่ามีที่ไหนรับฝึกให้หรือเปล่า) คุณมาหาผมก็ได้ ผมจะฝึกให้ จะให้เวลาคุณฟรีๆสักสามชั่วโมง เพราะผมมองเห็นว่าเรื่องการช่วยผู้สูงอายุให้ได้ออกกำลังกายนี้เป็นเรื่องสำคัญไม่มีอะไรสำคัญยิ่งไปกว่าแล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.     Wirdefeldt K, Adami HO, Cole P, Trichopoulos D, Mandel J. Epidemiology and etiology of Parkinson's disease: a review of the evidence. Eur J Epidemiol. Jun 2011;26 Suppl 1:S1-58. 
2.     National Collaborating Centre for Chronic Conditions. Parkinson's disease: National clinical guideline for diagnosis and management in primary and secondary care. London, UK: Royal College of Physicians; 2006.
3.     Grosset D, Taurah L, Burn DJ, MacMahon D, Forbes A, Turner K, et al. A multicentre longitudinal observational study of changes in self reported health status in people with Parkinson's disease left untreated at diagnosis. J Neurol Neurosurg Psychiatry. May 2007;78(5):465-9
4.     Morris ME, Martin CL, Schenkman ML. Striding out with Parkinson’s disease: evidence – based physical therapy for gait disorders. Physical Therapy 2010; 90 (2): 280 – 288 
5.     Smith AD, Zigmond MJ. Can the brain be protected through exercise? Lessons from an animal model of parkinsonism. Exp Neurol 2003;184:31-39.
6.     Hackney ME, Earhart GM. Tai Chi improves balance and mobility in people with Parkinson disease. Gait Posture. 2008;28:456–460.
7.     Hackney ME, Earhart G. Effects of dance movement control in Parkinson’s disease: a comparison of Argentine tango and American ballroom. J Rehabil Med.2009; 41:475–481.
[อ่านต่อ...]