30 พฤษภาคม 2562

เรียนรู้โรคจริงๆ จากคนจริงๆ พลิกผันด้วยตัวเองจริงๆ

     มีสมาชิกคอร์ส RDBY7 ซึ่งจบครบปีไปแล้ว ได้เขียนจดหมายมาหาเล่าเรื่องของท่าน ผมเห็นว่าบางประเด็นที่มีประโยชน์มากๆแม้กับตัวผมเองซึ่งก็เป็นคนป่วยโรคเดียวกันท่านผู้เขียนนี้ จึงขออนุญาตนำมาเล่าให้ฟัง และขอขอบคุณคุณพิสิฐไว้เป็นอย่างสูงด้วย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

..........................................................

     สวัสดีครับผม พิสิฐ เพชรพิเชฐเชียร อายุ 50 ปีครับ
   
     เป็น โรคหัวใจขาดเลือด stable angina class2 โรคไตเรื้อรังระยะที่2 (ไตทำงานข้างเดียว GFR 61.55)  แต่ก่อนคิดว่าตัวเราเองเป็นคนดูแลสุขภาพดีมาก ยกตัวอย่างเช่น เหล้าไม่กิน บุหรี่ไม่สูบ กาแฟ น้ำอัดลมก็ไม่แตะ กินผักผลไม้เยอะ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ  แข็งแรงดี แต่นั่นเป็นความคิดที่ถูกเพียงบางส่วนเท่านั้น จุดเปลี่ยนของชีวิตครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 40 ตรวจพบว่า กรวยไตขวาถูกพังพืดบีบรัด(สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นแต่กำเนิด) รัดจนไตข้างนั้นทำงานไม่ได้ ต้องเข้ารับการผ่าตัด

     ครั้งที่สองหลังผ่าตัดได้ 5 ปี ขณะออกกำลังกายตอนเช้า มีอาการแน่นหน้าอกปวดร้าวไปที่กราม อาการไม่มาก พักแล้วหาย จึงไปโรงพยาบาล วิ่งสายพาน ผลออกมาเป็นบวก หมอนัด ฉีดสีสวนหัวใจ เท่านั้นแหละครับความเครียด วิตกกังวลโจมตีทันที สารพัดคำถามความคิดหมุนวนเกิดขึ้นในหัวว่า ดูแลตัวเองขนาดนี้ทำไมเป็นได้ไง เอาไงต่อ ไตก็ไม่ดี ทำงานข้างเดียวอีกข้างที่ถูกรัดก็ฝ่อไปแล้ว ฉีดสีไตพังแน่ จะตายมั้ย ฯลฯ  โชคดีที่คิวนัดฉีดสี อีกสามเดือน จึงไปปรึกษาหมอท่านอื่นอีก 2-3 ท่าน ก็รู้ว่าอาการไม่รุนแรงมาก

     และช่วงนั้นเริ่มอ่านบล็อกของ อจ.หมอสันต์ ได้ความรู้ว่าโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตีบตันสามารถหายได้ด้วยการดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง จึงตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะไม่ไปฉีดสีสวนหัวใจ  เข็มงวดดูแลตัวเองมากขึ้น แต่กลายเป็นทำด้วยความเอาจริงเอาจังมากไปตึงเกินไป ทั้งยังไม่สามารถจัดการความความวิตกกังวลความคิดหมุนวนได้ เลยได้โรคปวดท้องแถมมาโดยไม่รู้ตัว ช่วงนั้นจึงโฟกัสไปที่การรักษาอาการปวดท้องก่อนเพราะมันเป็นอาการเฉพาะหน้า ปวดจริงเจ็บจริง นอนไม่ได้เลย น้ำหนักลดไป 8 กิโล แต่ทำไงหมอก็รักษาผมไม่ได้ ยังปวดท้องเรื้อรังอยู่ร่วมปี จนเริ่มตระหนักกับประโยคที่หมอว่า

     “คุณเครียดมั้ย น่าจะมาจากความเครียด”

     ซึ่งผมไม่ยอมรับเพราะไม่รู้ตัวว่าเครียด คิดว่าตัวเองเป็นคนร่าเริง โกรธใครไม่เป็นจะเครียดได้ไง เมื่อทบทวนตัวเองจึงยอมรับ เริ่มหาทางรักษาตัวเองจากโรคเครียดโดยไม่พึงยา ศึกษาธรรมมะนั่งสมาธิก็ไม่เวิรค์ มันยิ่งฟุ้งยิ่งออกจากความคิดลบที่หมุนวนหยุดไม่ได้  จนไปได้วิธีของฝรั่งเรื่องการโปรแกรมจิตใต้สำนึก เปลี่ยนความคิดลบเป็นคิดบวกด้วยการพูดกับตัวเองในแง่บวกสม่ำเสมอตลอดเวลาที่นึกได้ พร้อมกับจินตนาการว่าได้ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำเมื่อหายป่วย ผมพูดกับตัวเอง ทั้งวันจริงๆ พูดว่า ฉันดีขึ้น ฉันหายแล้ว ฉันแข็งแรงขึ้น ฉันโน่นนี่นั่นอะไรที่เป็นบวกพูดหมด จนหลับ หลับอยู่เคลิ้มๆก็พูด ตื่นมาพูดต่อ  ผมโปรแกรมตัวเองแบบนี้ทุกวันประมาณ 2 เดือน วันนึงก็มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น ขณะนั่งรถอยู่และพูดกับตัวเองนั้น มีความรู้สึกเหมือนมีพลังงานอะไรบางอย่างลงที่ตัวจนซ่าน ปิติ ขนลุกทั้งตัว หลังจากนั้นอาการปวดท้อง ก็ดีขึ้นๆ จนหาย   แต่ความคิดหมุนวนก็ยังอยู่แม้จะเอาความคิดบวกไปสู้ ทำไงอาการปวดท้องก็ยังมาเยี่ยมเป็นพักๆแต่ไม่เจ็บเท่าแต่ก่อนและอยู่ไม่นาน รวมทั้งอาการเจ็บหน้าอกทั้งเวลาออกกำลังกายและเวลาอยู่เฉยก็ยังคงมีอยู่ ผมรู้ว่าคุณภาพชีวิตแบบนี้ไม่ดีแน่ จึงตัดสินใจเข้าคอร์ส พลิกผันโรคด้วยตัวเอง (Reverse Disease by yourself) รุ่นที่7  กับอจ.หมอสันต์ ซึ่งทำให้ผมเข้าใจหลัก 4 ข้อ ของ อจ.ในการพลิกผันโรคด้วยตัวเองอย่างถ่องแท้ และนำมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองทำให้คุณภาพชีวิตผมดีขึ้นมากๆๆ

ข้อ 1 เรื่องอาหาร ก่อนหน้านี้ผมมีความคิดเข้าข้างตัวเองว่ามื้อไหนกินเนื้อสัตว์ก็กินผักเยอะๆ ออกกำลังกายเยอะๆ น่าจะช่วยได้ และคิดว่าน้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนล่าเอามาทดแทนน้ำมันอื่นได้ดี ความรู้ที่ได้จากคอร์สทำให้รู้ว่าที่คิดมานั้นถูกแค่บางส่วน ถ้าอยากให้โรคมันหยุดเดินหน้าและย้อนกลับคือรักษาตัวเองได้ต้องทานอาหารที่เป็นพืชผักผลไม้ แบบไม่ขัดสีไม่ปอกเปลือก และไม่ทานน้ำมันทุกชนิด รวมทั้งงดเกลือและน้ำตาล ผมจึงหักดิบงดเนื้อสัตว์ทุกชนิด งดไข่ งดนม และทานผักผลไม้สด ถ้าปรุงก็ต้มนึงหรือผัดด้วยน้ำเท่านั้น  เช้าผมจะปั่นน้ำผักผลไม้หนึ่งโถใหญ่ กินรวดเดียวหมด ไม่มีสูตรตายตัว ในครัวมีอะไรก็เอาไปปั่น เที่ยง เย็น ทานอาหารปรุงสุก เปลี่ยนขนมมาเป็นมันเทศ ฟักทอง กล้วยน้ำว้า ทั้งสด ตาก ปิ้ง และ นัทต่างๆ วันไหนมีขนมปังโฮลวีทฟรุตนัทของเวลเนสก็สุขอย่าบอกใครเลย


ข้อ 2 เรื่องออกกำลังกาย ข้อนี้ไม่มีปัญหาสำหรับ ผมปกติผมจะวิ่งเป็นประจำ เพียงแต่ปรับเปลี่ยนวิธีบ้างคือวิ่งช้าลงหรีอเดินบ้างแต่ทำให้นานขึ้น อจ.แนะนำว่าเมื่อมีอาการเจ็บหน้าอกให้ผ่อนลงลดความเร็วหรือเดินจนอาการหายไปค่อยเพิ่มความเร็วชักคะเย่อกันแบบนี้  การออกกำลังกายที่ผมมองข้ามไปคือการเล่นกล้ามเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การที่ผมวิ่งอย่างเดียวทำให้ไม่มีกล้ามเนื้อเลยรูปร่างไม่ดีผอมเหี่ยวๆ ผมเพิ่มการยกดัมเบลตามที่อจ.แนะนำ และการเล่นกล้ามที่ชอบมากคือการเดินบันไดบ้านสองชั้นนี่แหละครับ  ผมเดินขึ้นๆลงๆ หนึ่งชั่วโมง ช้าๆไปเรื่อยๆนอกจากได้กล้ามขาและสะโพกแล้ว ยังได้อยู่กับตัวเองดูความคิดที่มันเข้ามาและหายไป  หัวเข่าที่เคยมีปัญหาก็หายปวด ช่วงที่มีปัญหาฝุ่น PM 2.5 ผมเดินบันไดในบ้านทุกวันเลย เกือบ 2 เดือน เดินจนพบว่ามันเป็นการออกกำลังกายที่ดีมากๆ 

ข้อ 3 อารมณ์ การจัดการความเครียด  ข้อนี้ทำยากมากเป็นข้อที่ยากที่สุดสำหรับผม  แต่มันคือต้นตอของปัญหาทั้งหมด ต่อให้เราทำข้ออื่นดีแค่ไหนแต่จัดการกับความเครียดไม่ได้ก็จบ ผมตระหนักดีถึงข้อนี้ดังนั้นหลังจากเข้าคอร์ส พลิกผันโรคด้วยตัวเอง ผมเข้า คอร์ส รีทรีททางจิตวิญญาณ ต่อทันที ซึ่งทำให้เข้าใจอะไรๆมากขึ้น ผมปรับจากที่ใช้วิธีโปรแกรมจิตใต้สำนึกมาที่การวางความคิด อยู่กับความรู้ตัวทีละขณะๆ ซึ่งเป็นสุดยอดวิชาของพระพุทธเจ้า เพราะการโปรแกรมจิตใต้สำนึกยังเป็นความคิดอยู่ เป็นคิดบวกคิดดีที่มีความอยากเจือปนที่เอาไปกดทับความคิดลบเอาไว้ ด้วยความที่มันยากขัดกับความเคยชินในการใช้ความคิดมาตลอด และในการที่คิดว่าความคิดคือตัวเรา ทั้งเห็นผลช้ามาก  แต่เมื่อมั่นใจในวิธีการแล้วผมเดินหน้าอย่างเดียวทำๆไปเรื่อยๆปฏิบัติอย่างจริงจังมันเหมือนการฝึกวิชา ที่ไม่เห็นผลความก้าวหน้าเลยหากอดทนพอและทำไปๆเรื่อยๆวันไหนท้อจิตมันอยากพักก็พักหายก็ทำต่อไป แล้วผลมันจะบังเกิดให้เห็น ความคิดเริ่มน้อยลง เราสามารถออกจากความคิดไปอยู่กับความรู้ตัวได้นานขึ้น การรับมือกับเหตุการณ์สดๆร้อนๆซึ่งหน้าทำได้ดีขึ้น   

     ข้อ 4 เข้ากลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน การเข้าคอร์สทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของกลุ่มที่มีหัวอกเดียวกัน สร้างแรงบันดาลใจให้กัน เรียนรู้จากกัน รู้ว่ายังมีคนทำเหมือนเรากินเหมือนเรา ต้องขอบคุณกลุ่มเพื่อน RD7 ที่เป็นกำลังใจให้กันและกันครับ

     ผ่านมา 1 ปีครึ่งแล้วที่ผมเปลี่ยนตัวเอง ยังคงสนุกกับวิถีชีวิตใหม่นี้ แม้นปรับตัวหย่อนบ้างในเรื่องอาหาร บางมื้อจำเป็นที่ต้องทานเนื้อสัตว์หรืออาหารผัดน้ำมันถ้าเลือกได้ก็เลือกเป็นปลา อาหารทะเล หรือ ไก่ ตามลำดับ งดเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูปเด็ดขาด และทานแต่น้อย ยังคงยึด หลัก 4 ข้อเป็นแกนกลางปฏิบัติ

     สิ่งที่เปลี่ยนแปลง คือ

     ผลเลือดดีหมดทุกตัว โดยเฉพาะค่าไตดีขึ้น GFR จาก เดิม 61.55 ขึ้นมา 82.95

     อาการเจ็บหน้าอกแบบไม่เกี่ยวกับการออกแรงหายไป

     อาการเจ็บหน้าอกเวลาออกกำลังกายในระดับความหนักเท่าเดิมจะเจ็บน้อยลงจนแทบไม่รู้สึก

     อาการปวดท้องหายไป

     เมื่อก่อนมีอาการบ้านหมุนปีละ 2-3 ครั้งก็ไม่เป็นอีก

     เมื่อก่อนเป็นหวัดปีนึง 2-3 ครั้ง ก็ไม่เป็นเลย

     ทั้งหมดนี้ผมแค่ทำตาม 4 ข้อ ที่อจ.หมอสันต์บอกเท่านั้น ลืมบอกว่าผมไม่ได้กินยาแผนปัจจุบันหรือสมุนไพรหรืออาหารเสริมใดๆแล้ว กินแค่วิตะมิน B12 เสริมสัปดาห์ละ 2 เม็ด (500mcgx2) ตามที่อจ.แนะนำ เนื่องจาก B12 มีในเนื้อสัตว์ ไข่ นม เท่านั้น จึงจำเป็นต้องกินป้องกันไว้ก่อน

     ขอขอบคุณ อจ.หมอสันต์ ที่ให้ความรู้กับผมและทุกๆคน แม้ไม่ได้เข้าคอร์สกับอจ. แต่ความรู้ที่อจ.ให้เป็นสาธารณะ อจ. ให้แบบไม่มีกั๊กเป็นความรู้ที่ครบถ้วนนำไปปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ขอขอบคุณอจ.หมอสมวงศ์ และทีมงานทุกๆท่าน ที่สละทั้งแรงกายแรงใจ ประทับใจมากครับ อยากจะบอกว่าทุกครั้งที่ได้กลับไปมวกเหล็กมีความรู้สึกเหมือนกลับบ้าน มีความอบอุ่น สบายกายและใจมาก

ขอบคุณมากๆๆครับ

พิสิฐ เพชรพิเชฐเชียร
25 พค. 2562

[อ่านต่อ...]

หมอสันต์ตอบคำถามเรื่องกัญชา

กราบเรียนคุณหมอสันต์

คุณแม่อายุ 85 ปีบ่นอยากจะกินกัญชาผมควรจะหาให้ท่านกินไหมครับ ท่านมีอาการนอนไม่หลับและชอบบ่นปวดเมื่อยตามตัว และรบให้หากัญชาหรือน้ำมันกัญชามาให้ท่านรับประทาน เพราะเพื่อนของท่านบอกว่ากินกัญชาแล้วนอนหลับดี กัญชารักษาโรคนอนไม่หลับจริงหรือเปล่า และที่เขาว่ากัญชารักษามะเร็งได้นั้นจริงไหม กัญชามีข้อดีข้อเสียอะไรบ้างครับ

...........................................................

ตอบครับ

1. ถามว่าคุณแม่อายุ 85 ปีอยากกินกัญชาจะหาให้ดีไหม ตอบว่าท่านอายุปูนนี้แล้วอยากกินอยากสูบอะไรก็หาให้ท่านเถอะครับ แต่คุณหลบตำรวจเอาเองนะ ผมไม่เกี่ยว

2. ถามว่ากัญชารักษาอาการนอนไม่หลับได้หรือเปล่า ตอบว่างานวิจัยการใช้กัญชาช่วยการนอนหลับยังอยู่ในขั้นอนุบาล ผลที่ได้ตอนนี้ยังสะเปะสะปะสรุปอะไรเป็นตุเป็นตะยังไม่ได้ เท่าที่ผมประเมินภาพรวมจากหลักฐานวิจัยที่มีบ่งชี้ไปทางว่ากัญชาทำให้หลับได้เร็วขึ้น 15-30 นาที ทำให้หลับฝัน (REM sleep) น้อยลง และช่วยลดความกังวลซึ่งอาจส่งผลดีต่อการนอนหลับ

3. ถามว่ากัญชาแก้ปวดได้จริงไหม ตอบว่าจริงครับ เพราะผู้ทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับกัญชาครั้งใหญ่ที่สุดคือสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐ (NAS) ซึ่งได้ประเมินผลวิจัยระดับต่างๆเกี่ยวกับกัญชามากกว่า 10,000 งานวิจัย แล้วรายงานสรุปว่ากัญชามีประโยชน์จริงแท้แน่ๆอยู่ข้อเดียวคือใช้บรรเทาอาการปวดเรื้อรังได้ โดยใช้ได้ทั้งใบกัญชา ดอก และน้ำมัน ทั้งนี้เป็นเพราะสารออกฤทธิ์กลุ่มหนึ่งในกัญชาที่ชื่อ canabinoid

4. ถามว่ากัญชาใช้รักษามะเร็งได้ไหม ตอบว่ายังไม่มีหลักฐานว่ากัญชารักษามะเร็งได้ผลแต่อย่างใด และไม่เคยมีประเทศไหนอนุมัติให้ใช้กัญชาเป็นยารักษามะเร็ง แต่เนื่องจากกัญชามีคุณสมบัติบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้เคมีบำบัด ลดความกังวล ทำให้นอนหลับง่าย จึงมีหมอจำนวนหนึ่งเอากัญชามาใช้รักษาผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดและผลข้างเคียงของโรคในคนไข้โรคมะเร็ง แต่ไม่ใช่เอามารักษามะเร็งให้หาย

     ทั้งนี้อย่าสับสนกับข้อมูลเบื้องต้นที่ว่ากัญชาอาจระงับการเติบโตของเซลมะเร็งบางชนิดในจานเพาะเลี้ยงได้ เพราะงานวิจัยในห้องทดลองไม่ใช่ข้อมูลที่จะนำมาใช้ในคนได้ทันที ยกตัวอย่างเช่นสารที่ระงับการเติบโตของมะเร็งในจานเพาะเลี้ยงนี้มีมากมายหลายชนิดรวมทั้งเปลือกมังคุดและข้าวสีม่วง  แม้กระทั่ง (ขอประทานโทษ) ฉี่ของคนเรานี่ก็ระงับเซลมะเร็งในจานเพาะเลี้ยงได้ แต่ว่าสิ่งเหล่านั้นกลับไม่มีฤทธิ์ระงับเซลมะเร็งในร่างกายคนได้แต่อย่างใด

5. ถามว่ากัญชาใช้รักษาอะไรได้อีกบ้าง ตอบว่าเท่าที่มีหลักฐานว่ากัญชาใช้รักษาได้คือ

5.1 งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน journal Clinical Psychology Review บ่งชี้ว่ากัญชาใช้รักษาการติดสุราเรื้อรังและการติดยาเสพย์ติดได้ นั่นสำหรับคนที่ติดยาเสพย์ติดแล้วนะ เอากัญชาไปทดแทนให้เลิกยาได้ แต่สำหรับคนที่ไม่เคยติดยาเสพย์ติด ข้อมูลของ NAS พบว่ากัญชาเป็นปากทางนำไปสู่การใช้ยาเสพย์ติดทุกชนิดรวมทั้งโคเคนฝิ่นและเฮโรอีนมากขึ้น

5.2 การทบทวนงานวิจัยที่ตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Clinical Psychology Review บ่งชี้ไปทางว่ากัญชาใช้รักษาโรคซึมเศร้า โรคความเครียดหลังการบาดเจ็บ (PTSD) และโรคกลัวสังคมได้ แต่ขณะเดียวกันงานวิจัยของ NAS ระบุว่าการใช้กัญชาในคนที่ไม่ได้เป็นโรคทางจิตประสาทมาก่อนจะทำให้เป็นโรคกล้วสังคมมากขึ้น อนึ่ง กัญชานี้แสลงกับโรคจิตประสาทในกลุ่มโรคจิตสองขั้ว (bipolar disorder) และโรคจิตแบบบ้า (psychosis) เพราะอาจทำให้โรครุนแรงขึ้น

5.3 กัญชา (ในชื่อ Epidiolex) ได้รับอนุม้ติจากอย.สหรัฐ (FDA) ให้ใช้รักษาโรคลมชักชนิดรุนแรงในเด็กได้ เพราะลดอาการชักได้มากกว่ายาหลอก 39%

5.4 กัญชาลดการหดตัวแบบสปาสซั่มของกล้ามเนื้อในโรคปลอกประสาทอักเสบ (Multiple sclerosis) ได้เล็กน้อย

5.5 กัญชาทำให้เกิดความรื่นเริงบันเทิงใจ (euphoria) ทำให้วางความคิดลงได้ชั่วคราว พูดแบบบ้านๆก็คือกัญชาทำให้บรรลุธรรมได้ชั่วคราวสัก 1-2 ชั่วโมง นี่เป็นเหตุให้กัญชาป๊อบปูล่ามาแต่ดึกดำบรรพ์ แต่สองชั่วโมงเองนะ หลังจากนั้นก็จะตามด้วยอาการแฮงค์คือปวดหัวมึนหัวซึมเซา

5.6 กัญชาเพิ่มความอยากอาหาร สมัยผมเป็นจิ๊กโก๋อยู่เชียงใหม่เมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน เป็นลูกค้าประจำของร้านก๋วยเตี๋ยวกัญชาแถววัดพระสิงห์...อร่อยมาก

6. ผลเสียของกัญชามีอะไรบ้าง ตอบว่า

6.1 กัญชาทำให้อาการโรคจิตสองขั้วและโรคจิตเภทกำเริบ

ุุ6.2 กัญชาทำให้มีความคิดฆ่าตัวตาย

ุ6.3 กัญชาเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นบ้า (psychosis รวมทั้งชนิด schizophrenia) แม้จะเพิ่มเพียงเล็กน้อย แต่ก็เป็นการเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ แต่ว่าในทางกลับกัน งานวิจัยดูคนที่เป็นบ้าไปเรียบร้อยแล้วลองให้เสพย์กัญชาดู กลับพบว่ากัญชาทำให้คนบ้าเหล่านั้นมีการเรียนรู้จดจำดีขึ้น

6.4 ข้อมูลของ NAS พบว่ากัญชามีความสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งอัณฑะชนิด seminoma มากขึ้น

ุ6.5 การสูบกัญชาประจำเพิ่มอาการไอเรื้อรัง

6.6 แม้จะยังไม่มีหลักฐานความสัมพ้นธ์ระหว่างมะเร็งปอดกับการสูบกัญชา แต่ควันกัญชาก็มีสารก่อมะเร็งหลายสิบชนิด รวมทั้ง nitrosamine ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งตัวเอ้ด้วย

     กล่าวโดยสรุปหลักฐานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับประโยชน์ของกัญชาในทางการแพทย์ยังมีน้อยมาก แต่ความบ้ากัญชามีมากกว่า แล้วอย่าหลงรอด้วยความหวังว่าหลักฐานวิทยาศาสตร์จะมีมากขึ้นในเวลาอันรวดเร็วนะจะรอเก้อเปล่าๆ เพราะงานวิจัยกัญชาถูกคุมกำเนิดอย่างเข้มงวด เนื่องจากกัญชาเป็นสารต้องห้ามระดับหนึ่ง (Schedule I controlled substance) ขององค์การปราบปรามยาเสพย์ติดสหรัฐ (DEA) ซึ่งคุมการใช้กัญชาในงานวิจัยอย่างเข้มงวด จึงเป็นการยากมากที่ผลวิจัยเจ๋งๆใหม่ๆจะเกิดขึ้นได้ในเร็ววันนี้ ชีวิตจริงเราต้องอยู่กับข้อมูลแค่นี้ไปอีกนานหลายปี ดังนั้นชาวไทยใครใคร่ค้ากัญชาก็จงรีบค้า เพราะความคลุมเครือของข้อมูลจะเอื้อประโยชน์ให้ทำมาค้าคล่องไปอีกนานคุ้มการลงทุน ใครใคร่กินกัญชาก็จงรีบกิน กินในช่วงนี้อย่างน้อยนอกจากจะบรรเทาปวดช่วยนอนหลับและคลายกังวลได้ระดับหนึ่งแล้วก็ยังอาจจะได้ประโยชน์เพิ่มจากผลของความเชื่อ (placebo effect) ในโรคอื่นๆอีกด้วย ขอแต่คอยหลบตำรวจเอาเองก็แล้วกัน หิ หิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Adams IB, Martin BR: Cannabis: pharmacology and toxicology in animals and humans. Addiction 91 (11): 1585-614, 1996.
2. Abrams DI: Integrating cannabis into clinical cancer care. Curr Oncol 23 (2): S8-S14, 2016.
3. Sallan SE, Cronin C, Zelen M, et al.: Antiemetics in patients receiving chemotherapy for cancer: a randomized comparison of delta-9-tetrahydrocannabinol and prochlorperazine. N Engl J Med 302 (3): 135-8, 1980.
4. Feinberg I, Jones R, Walker J, Cavness C, Floyd T. Effects of marijuana extract and tetrahydrocannabinol on electroencephalographic sleep patterns. Clin Pharmacol Ther. 1976;19(6):782–94.
5. Babson KA, Boden MT, Bonn-Miller MO. The impact of perceived sleep quality and sleep efficiency/duration on cannabis use during a self-guided quit attempt. Addict Behav. 2013;38(11):2707–13.
6. Roitman P, Mechoulam R, Cooper-Kazaz R, Shalev A. Preliminary, open-label, pilot study of add-on oral Delta9-tetrahydrocannabinol in chronic post-traumatic stress disorder. Clin Drug Investig. 2014;34(8):587–91. 49.
7. Jetly R, Heber A, Fraser G, Boisvert D. The efficacy of nabilone, a synthetic cannabinoid, in the treatment of PTSD-associated nightmares: a preliminary randomized, double-blind, placebo-controlled cross-over design study. Psychoneuroendocrinology. 2015;51:585–8.
8. Ware MA, Fitzcharles MA, Joseph L, Shir Y. The effects of nabilone on sleep in fibromyalgia: results of a randomized controlled trial. Anesth Analg. 2010;110(2):604–10.
PubMedCrossRefGoogle Scholar
9. Weaver TE, Calik MW, Farabi SS, Fink AM, Galang-Boquiren MT, Kapella MC, et al. Innovative treatments for adults with obstructive sleep apnea. Nat Sci Sleep. 2014;6:137–47.
10. Lynch ME, Ware MA. Cannabinoids for the treatment of chronic non-cancer pain: an updated systematic review of randomized controlled trials. J NeuroImmune Pharmacol. 2015;10(2):293–301. This article provided a literature review of research investigating the use of cannabinoids in treating chronic pain.
11. Russo EB, Guy GW, Robson PJ. Cannabis, pain, and sleep: lessons from therapeutic clinical trials of Sativex, a cannabis-based medicine. Chem Biodivers. 2007;4(8):1729–43.
PubMedCrossRefGoogle Scholar
12. Ferguson G, Ware M. Review article: sleep, pain and cannabis. Journal of Sleep Disorders & Therapy. 2015;4(2):191.
13. Meier MH, Caspi A, Ambler A, et al. Persistent cannabis users show neuropsychological decline from childhood to midlife. Proc Natl Acad Sci U S A. 2012;109(40):E2657-E2664. doi:10.1073/pnas.1206820109.
14. Jackson NJ, Isen JD, Khoddam R, et al. Impact of adolescent marijuana use on intelligence: Results from two longitudinal twin studies. Proc Natl Acad Sci U S A.2016;113(5):E500-E508. doi:10.1073/pnas.1516648113.
15. National Academies of Sciences, Engineering, and Medicine. The Health Effects of Cannabis and Cannabinoids: Current State of Evidence and Recommendations for Research. Washington, DC: The National Academies Press; 2017.
16. Young-Wolff KC, Tucker L-Y, Alexeeff S, et al. Trends in Self-reported and Biochemically Tested Marijuana Use Among Pregnant Females in California From 2009-2016. JAMA. 2017;318(24):2490. doi:10.1001/jama.2017.17225
    [อ่านต่อ...]

    27 พฤษภาคม 2562

    โภชนศาสตร์สำหรับคนทั่วไป

         วันนี้ผมเสร็จงานเร็ว กลับมาบ้านบนเขาตั้งแต่บ่ายโมง กำลังคิดจะเสวยสุขด้วยการทำน้ำมะพร้าวเย็นๆไปนั่งละเลียดจิบที่ระเบียงหลังบ้าน แต่เมื่อเดินออกไประเบียงหลังบ้านก็พบว่ากลางหน้าร้อนอย่างนี้ร่มไม้ที่เคยได้อาศัยถูกแดดส่องยอนเป็นมุมเอียงจากทิศเหนือเข้ามาทำให้ระเบียงร้อนจนนั่งไม่ได้เลย จึงรู้ว่ามีโปรเจ็คใหม่ให้ได้ออกแรงอีกแล้ว นั่นก็คือการหาที่นั่งตอนบ่ายในหน้ามหาร้อน ผมเดินสำรวจรอบๆในที่สุดก็มาถูกใจตรงนอกประตูด้านหน้าบ้านซึ่งเคยเป็นที่ปลูกดอกไม้แต่ตอนนี้ปลูกไม่ได้เพราะไม่มีแดด ตรงนี้นอกจากจะร่มแดดอย่างเด็ดขาดในตอนบ่ายแล้วยังมองผ่านสนามออกไปเห็นวิวสวยดีด้วย จึงตกลงปลงใจทำที่นั่งเล็กๆขึ้นที่มุมนี้ ผมคนหนึ่งกับคนสวนชื่อ "ดอน" ช่วยกันทำโปรเจ็คนี้แบบสองแรงแข็งขันในช่วงเวลาบ่ายโมงถึงบ่ายสี่โมง เพื่อความยุติธรรมผมแบ่งงานให้ดอนเป็นคนขนแผ่นหินเก่าๆเหลือใช้ที่ตีนเขาขึ้นมา ส่วนผมเป็นคนเรียงหิน หิ..หิ ท่านอย่าตั้งคำถามเรื่องความยุติธรรมนะ นี่เรียกว่ายุติธรรมดีแล้วเพราะดอนอายุน้อยกว่าผมราวสิบห้าปีเห็นจะได้ และอีกอย่างหนึ่งงานเรียงหินนี่ก็ไม่ใช่ว่าหมูนะ กว่าจะขุดย้ายดินตบดินปูหินเสร็จก็เล่นเอาผมเมื่อยไปหมดทั้งตัว พอปูหินเสร็จแล้วก็ไปเอาโต๊ะเหล็กหนึ่งตัวเก้าอี้สองตัวมาวาง ฮ่า..ฮ้า เท่ไม่เบาเลยนะ เอามือถือมาถ่ายรูปไว้หน่อยเป็นหลักฐาน..แชะ

        วันที่เหนื่อยๆและบ่ายๆที่ร้อนตับแล่บอย่างนี้ ตอบจดหมายสั้นๆก็แล้วกันนะ

    "..เรียนคุณหมอสันต์
          ดิฉันอายุ 63 ตอนนี้ยังสอนที่คณะ ... มหาวิทยาลัย ... มีปัญหาขอรบกวนให้คุณหมอช่วยคือดิฉันยอมรับว่างงกับหลักวิชาโภชนาการที่จะเอามาใช้ประโยชน์จริงๆ พยายามจะจับต้นชนปลายโดยศึกษาจากอินเตอร์เน็ทก็ยิ่งงง ดิฉันไปเข้าโรงเรียนผู้สูงอายุของเทศบาล ... ดีใจที่เขาสอนเรื่องโภชนาการแต่พอเรียนจริงคนมาสอนเองก็ยังงง เช่นคาร์โบไฮเดรตเชิงเดียวเชิงซ้อนเป็นไง ไขมันอิ่มตัวไม่อิ่มตัวเป็นไง คนสอนก็งงดิฉันก็งง ดิฉันถามว่าดิฉันใช้น้ำมันหมูทำอาหารดีไหม อาจารย์ตอบว่าไม่ดีให้ใช้น้ำมันมะกอก ดิฉันก็ใช้ตามก็พบว่าเอาน้ำมันมะกอกทอดแล้วเหม็นไหม้ กลับไปถามอาจารย์ที่โรงเรียนผู้สูงอายุท่านก็ตอบไม่ได้ รบกวนคุณหมอสันต์ช่วยเขียนสรุปวิชาโภชนศาสตร์สำหรับชาวบ้านแบบสรุปรวบยอดให้ดิฉันอ่านหน่อยได้ไหมคะ ดิฉันเชื่อว่าสว.อีกจำนวนมากก็ไม่รู้เรื่องนี้เหมือนกัน.."

    ...............................

    ตอบครับ

         โฮ่..โฮ่ นี่ท่าทางจะไม่ใช่การตอบจดหมายฉบับสั้นๆเสียแล้วเนี่ย แต่เมื่อหลวมตัวหยิบมาตอบแล้วก็ต้องเลยตามเลย ผมมีเวลาแต่สามชั่วโมงนะ เพราะเดี๋ยวเย็นพอ ม. เข้าบ้านมา ผมก็ต้องวางงานทั้งหมดเพื่อไปต้อนรับ ไม่งั้นเธองอน เอาเป็นว่าวันนี้เขียนเรื่องโภชนศาสตร์สำหรับคนทั่วไปแบบสั้นๆนะ

    โภชนศาสตร์สำหรับคนทั่วไป

    สารอาหาร (nutrients) 

         คือสิ่งที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับผ่านการกินการดื่ม แบ่งเป็น 6 หมู่ คือ (1) คาร์โบไฮเดรต (2) ไขมัน (3) โปรตีน (4) วิตามิน (5) เกลือแร่ (6) น้ำ

    คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวกับเชิงซ้อน

         คาร์โบไฮเดรต คืออาหารที่โมเลกุลประกอบด้วยธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน ที่ให้พลังงาน 4 แคลอรีต่อกรัม แบ่งเป็นสองชนิดคือ

         (1) คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว (simple carbohydrate) ก็คือน้ำตาล ซึ่งประกอบขึ้นจากโมเลกุลพื้นฐานเช่นกลูโคสเพียงหนึ่งหรือสองโมเลกุลและให้แต่พลังงานโดยไม่มีกากและคุณค่าอย่างอื่น ตัวน้ำตาลนี้ยังแบ่งออกเป็นอีกสองชนิด คือ
    น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (monosacharide) เช่นกลูโค้ส ฟรุ้คโต้ส กับ
    น้ำตาลโมเลกุลคู่ (disacharide) เช่นน้ำตาลทรายหรือซูโครส (กลูโคส + ฟรุ้คโต้ส) น้ำตาลในนมหรือแล็คโต้ส (กลูโคส + กาแล้คโต้ส) เป็นต้น
    แต่ไม่ว่าจะเป็นโมเลกุลเดี่ยวหรือคู่ก็มีลักษณะเหมือนกันคือให้แต่แคลอรีโดยไม่มีวิตามินเกลือแร่และกาก

         (2) คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (complex carbohydrate) ก็คือแป้ง ซึ่งประกอบขึ้นจากโมเลกุลกลูโคสจำนวนมากมาต่อกันเป็นสายโซ่ อาหารแป้งในธรรมชาติมีความโดดเด่นตรงที่มันมีกากหรือเส้นใย (fiber) และอาหารธรรมชาติที่มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธัญพืชไม่ขัดสี มักเป็นแหล่งของวิตามินและเกลือแร่ด้วย

    กากชนิดละลายน้ำได้และชนิดละลายไม่ได้

         กากหรือเส้นใย (fiber) มีแต่ในอาหารพืชเท่านั้น อาหารเนื้อสัตว์ไม่มีกาก กากแบ่งออกเป็นสองชนิด คือ

         (1) กากชนิดที่ละลายน้ำได้ (soluble fiber) เช่นยางเหนียวที่ผิวของธัญพืชต่างๆและผลไม้เช่นแอปเปิลเป็นต้น มีคุณต่อร่างกายมาก ทั้งเป็นแหล่งให้วิตามินและเกลือแร่และเป็นตัวดูดซับไขมันโคเลสเตอรอลในอาหารไม่ให้ถูกดูดซึมเข้าไปในลำไส้ เราจะได้รับกากชนิดนี้มากจากการเปลี่ยนธัญพืชแบบขัดสีเป็นแบบไม่ขัดสีเช่นเปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง

         (2) กากชนิดละลายน้ำไม่ได้ (insoluble fiber) คือเส้นใยหยาบทั้งหมดในอาหารพืช มีประโยชน์ที่ช่วยสร้างมวลอุจจาระทำให้อาหารไม่คั่งค้างหมักหมมอยู่ในลำไส้นานจนก่อมะเร็ง กากชนิดนี้เป็นอาหารให้แก่แบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ด้วย เราจะได้กากชนิดนี้มากจากการกินอาหารพืชทุกชนิด

    ไขมันอิ่มตัวและไม่อิ่มตัว

         ไขมัน คืออาหารที่มีส่วนประกอบของโมเลกุลคล้ายคาร์โบไฮเดรตคือทำจากธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจนเหมือนกัน แต่จัดตัวภายในโมเลกุลต่างกัน โดยหนึ่งโมเลกุลไขมันประกอบขึ้นจากกรดไขมัน (fatty acid) สามโมเลกุลมาจับกับกลีเซอรอลหนึ่งโมเลกุล ไขมันไม่ละลายในน้ำ ไขมันให้พลังงาน 9 แคลอรีต่อกรัมซึ่งมากกว่าที่ได้จากคาร์โบไฮเดรตสองเท่า ไขมันเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลของร่างกายและเป็นตัวพาวิตามินที่ละลายในไขมันคือวิตามิน เอ, ดี, อี, เค จากอาหารเข้าสู่ร่างกาย ไขมันแบ่งออกเป็นสองชนิดคือ

         (1) ไขมันอิ่มตัว (saturated fat) คือไขมันที่โครงสร้างโมเลกุลไม่มีแขนว่างที่จะรับเอาโมเลกุลไฮโดรเจนเข้าไปผนวกได้อีกแล้ว สามารถอยู่ในสภาพของแข็งนอกตู้เย็นได้ ตัวอย่างเช่น น้ำมันสัตว์ต่างๆรวมทั้งน้ำมันหมูและเนยที่ทำจากไขมันวัว น้ำมันปาลม์ น้ำมันมะพร้าว วงการแพทย์ถือว่าไขมันอิ่มตัวเป็นไขมันก่อโรคหลอดเลือด จึงควรหลีกเลี่ยง

         (2) ไขมันไม่อิ่มตัว (unsaturated fat) คือไขมันที่โครงสร้างโมเลกุลมีแขนว่างที่จะรับเอาโมเลกุลไฮโดรเจนเข้าไปผนวกได้อีก วงการแพทย์ถือว่าไขมันไม่อิ่มตัวเป็นไขมันที่ไม่ก่อโรคหลอดเลือด

    ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวและเชิงซ้อน

    ไขมันไม่อิ่มตัวยังแบ่งออกเป็นสองชนิด

         (1) ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (monounsaturated fat) คือไขมันที่โครงสร้างโมเลกุลมีแขนว่างที่จะรับเอาโมเลกุลไฮโดรเจนเข้าไปผนวกได้อีกเพียงหนึ่งโมเลกุล เช่นน้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา มีความเสถียรและทนความร้อนได้ดีพอควร คือมีจุดเดือดสูงถึง 300 องศา แต่ว่าเวลาเอาอาหารลงทอดในน้ำมันซึ่งร้อนแต่ยังไม่เดือด พอใส่อาหารปุ๊บเดือดปั๊บ นั่นไม่ใช่น้ำมันเดือดนะ เป็นน้ำที่ติดอยู่ในอาหารเดือด เพราะน้ำมีจุดเดือดต่ำ คือ 100 องศาก็เดือดแล้ว

         (2) ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (polyunsaturated fat)  คือไขมันที่โครงสร้างโมเลกุลมีแขนว่างที่จะรับเอาโมเลกุลไฮโดรเจนเข้าไปผนวกได้อีกมากกว่าหนึ่งโมเลกุล เช่นน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันบางชนิดเช่นน้ำมันรำมีส่วนผสมของไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวและเชิงซ้อนประมาณเท่าๆกัน ไขมันชนิดนี้ทนความร้อนได้น้อย มีจุดเดือดและจุดไหม้ต่ำ

    สี่ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับไขมันชนิดต่างๆ

         (1) การให้แคลอรี่ ไขมันไม่ว่าชนิดไหน อิ่มตัวไม่อิ่มตัว เชิงเดี่ยวหรือเชิงซ้อน ล้วนให้ 9 แคลอรีต่อกรัมเหมือนกันหมด นั่นหมายความว่าไขมันทุกชนิดทำให้อ้วนได้เท่ากันหมด

         (2) การกระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัว งานวิจัยพบว่าไขมันเป็นสารเคมีที่กระตุ้นให้ผนังหลอดเลือดหดตัวได้โดยตรง ซึ่งเป็นการเหนี่ยวไกให้เกิดสมองหรือหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โดยงานวิจัยพบว่าไขมันทุกชนิดกระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัวได้เท่ากันหมด

         (3) การก่อโรคหลอดเลือด งานวิจัยพบว่าไขมันอิ่มตัวเป็นไขมันก่อโรค ขณะที่ไขมันไม่อิ่มตัวเป็นไขมันไม่ก่อโรค

         (4) การทนความร้อน ไขมันอิ่มตัวเป็นไขมันที่มีจุดเดือดและจุดไหม้สูงที่สุด คือทนความร้อนมากที่สุด ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวทนความร้อนได้ดีรองลงมา ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนทนความร้อนได้น้อยที่สุด งานวิจัยพบว่าหากใช้ไขมันที่ทนความร้อนได้น้อยปรุงอาหารในรูปแบบที่ใช้ความร้อนสูงเกินจุดไหม้ของมัน ไขมันนั้นส่วนหนึ่งจะกลายเป็นไขมันทรานส์ซึ่งมีผลเสียต่อสุขภาพ

         เนื่องจากคนส่วนใหญ่กำลังประสบปัญหาได้รับแคลอรีจากอาหารมากเกินไป จึงแนะนำให้กินอาหารไขมันที่อยู่ในอาหารธรรมชาติเช่นถั่วต่างๆ นัท และเมล็ดพืช เป็นหลัก แต่หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันปรุงอาหารเพราะงานวิจัยพบว่าการใช้น้ำมันปรุงอาหารเพิ่มแคลอรีให้อาหารได้ถึงสามเท่า ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้น้ำมันปรุงอาหาร ให้ใช้ครั้งละน้อยๆ โดยใช้ความร้อนต่ำๆ และให้น้ำมันสัมผัสความร้อนเป็นระยะเวลาสั้นที่สุด โดยแนะนำให้ใช้น้ำมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวเช่นน้ำมันมะกอกหรือน้ำมันคาโนลาในการปรุงอาหาร เพราะเป็นไขมันไม่ก่อโรคที่ทนความร้อนได้ดีพอควร

    น้ำมันมะกอกแบบเวอร์จินกับแบบธรรมดา

         สภาน้ำมันมะกอกนานาชาติ (IOC) ได้กำหนดวิธีเรียกชื่อน้ำมันมะกอกไว้ว่าหากผลิตโดยวิธีหีบหรือบีบอัดโดยไม่ใช้สารเคมีเข้าไปสกัดหรือใช้ความร้อนเข้าไปกลั่น เรียกว่า vergin olive oil ซึ่งจะมีกรดไขมันอิสระค้างเจืออยู่ไม่เกิน 2g/100g จัดเป็นน้ำมันมะกอกที่มีคุณภาพสูง ไม่มีสารเคมีที่นำมาสกัดเจือปน และไม่ถูกเปลี่ยนแปลงด้วยความร้อนในกระบวนการผลิต จึงคงสีและกลิ่นตามธรรมชาติไว้ได้ นิยมใช้ปรุงอาหารเพื่อเอากลิ่นเช่นใช้ราดสลัด กรณีที่หีบเอา vergin olive oil ออกมาโดยมีกรดไขมันอิสระอื่นๆเจือปนต่ำกว่า 0.8g/100g ก็เรียกว่าเป็น extra vergin olive oil ถือว่าคุณภาพสูงสุด แต่เนื่องจากน้ำมันมะกอกชนิด vergin นี้มีกรดไขมันอิสระซึ่งมีจุดไหม้ต่ำแทรกอยู่มาก หากเอาน้ำมันมะกอกชนิดนี้ไปทำอาหารที่ใช้ความร้อนสูงจะได้กลิ่นไหม้ของกรดไขมันอิสระเหล่านั้นซึ่งมีจุดไหม้ต่ำ

         ในกรณีที่ทำน้ำมันมะกอกออกมาแล้วมีกรดไขมันค้างอยู่เยอะแต่ไม่เกิน 3.3g/100g ก็เรียกว่า ordinary vergin olive oil แต่ถ้ามีค้างอยู่เกิน 3.3g/100 ให้เรียกว่า lampante virgin olive oil ซึ่งไม่เหมาะแก่การบริโภค มีไว้สำหรับใช้เพื่อการอื่น เช่นเอาไปกลั่นเอาน้ำมันมะกอกแบบ refined olive oil

         ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นกลุ่ม vergin olive oil หรือน้ำมันที่ได้จากการหีบ ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับ refined olive oil ซึ่งผลิตมาโดยการเอาสารเคมีเข้าไปสกัดน้ำมันออกจากกากมะกอกที่เหลือจากการหีบแล้ว ต่อจากนั้นจึงใช้ความร้อนไล่สารสกัดให้ระเหยออกไป น้ำมันมะกอกแบบนี้มีสีใส ไม่มีกลิ่น มีกรดไขมันอิสระปนอยู่น้อยกว่า 0.3g/100g ทนความร้อนได้ดีมากเพราะไม่มีกรดไขมันอิสระซึ่งมีจุดไหม้ต่ำเจือปน เมื่อใช้ทำอาหารที่ใช้ความร้อนสูงจะไม่มีกลิ่นไหม้ของกรดไขมันอิสระ

    โคเลสเตอรอลคืออะไร

        โคเลสเตอรอลเป็นสารคล้ายไขมันหรือคล้ายขี้ผึ้งที่ร่างกายผลิตขึ้นภายในร่างกายเองเพื่อนำไปเป็นประกอบเป็นเยื่อหุ้มเซลและเส้นประสาท นอกจากนี้ยังใช้เป็นสารตั้งต้นสร้างวิตามินดี.และฮอร์โมนต่างๆ โคเลสเตอรอลเป็นสารที่พบในสัตว์เท่านั้น ไม่พบในพืช โคเลสเตอรอลไม่ใช่สารอาหารที่จำเป็นเพราะร่างกายมนุษย์สร้างขึ้นเองได้โดยตับ เราไม่จำเป็นต้องกินโคเลสเตอรอลจากอาหาร และถ้ามีโคเลสเตอรอลในร่างกายมากเกินไปจะเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เป็นโรคหลอดเลือด

    ไขมันเลว (LDL) ไขมันดี (HDL) 

         ทั้งไขมันเลว (LDL) และไขมันดี (HDL) ต่างก็เป็นไขมันในเลือดที่เป็นตัวขนส่งโคเลสเตอรอล แต่ว่าไขมันมันเลวเป็นตัวขนส่งโคเลสเตอรอลไปพอกที่ผนังหลอดเลือด หากมีไขมันเลวในร่างกายมากเกินไปก็ทำให้เป็นโรคหลอดเลือด ส่วนไขมันดีเป็นตัวดึงเอาโคเลสเตอรอลออกมาจากผนังหลอดเลือดเพื่อไปทำลายที่ตับหรือขับทิ้งที่ลำไส้ จึงเป็นไขมันที่ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือด หากกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวในอาหารนั้นมากจะทำให้ระดับไขมันเลวในเลือดสูงขึ้น วงการแพทย์จึงจัดไขมันอิ่มตัวเป็นไขมันที่ก่อโรค

    โปรตีน

         โปรตีนคือสารอาหารที่มีธาตุไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบ ร่างกายใช้โปรตีนสร้างส่วนประกอบของเซลทุกเซล และขณะเดียวกันก็สามารถนำโปรตีนไปเผาผลาญเพื่อสร้างพลังงานได้ด้วย โดยโปรตีนให้พลังงาน 4 แคลอรีต่อกรัม โมเลกุลโปรตีนประกอบขึ้นจากโมเลกุลพื้นฐานขนาดเล็กชื่อกรดอามิโน (amino acid) จำนวนมากมาต่อกัน กรดอามิโนมี 20 ชนิด โดยที่ 9 ชนิดร่างกายสร้างขึ้นเองไม่ได้ (essential amino acid) จำเป็นต้องได้รับมาจากอาหาร อาหารบางชนิดเช่น นมวัวและไข่ มีกรดอามิโนจำเป็นครบถ้วน ส่วนอาหารพืชไม่มีชนิดใดที่มีกรดอามิโนจำเป็นครบถ้วน แต่หากกินอาหารพืชให้หลากหลายก็จะได้รับกรดอามิโนจำเป็นครบถ้วนได้โดยไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลย

    มายาคติในเรื่องโปรตีน

        มายาคติ 1. เชื่อว่าอาหารโปรตีนได้มาจากสัตว์เท่านั้น เชื่อว่าพืชไม่มีโปรตีน ความเป็นจริงก็คืออาหารพืชก็มีโปรตีน อันได้แก่ ถั่วต่างๆ นัท และเมล็ดพืชหลากหลายชนิด แม้แต่ธัญพืชก็มีโปรตีนอยู่ที่ส่วนผิวของเมล็ด

         มายาคติ 2. เชื่อว่าต้องกินเนื้อสัตว์เท่านั้นจึงจะได้โปรตีนครบถ้วน หากกินพืชจะได้กรดอามิโนจำเป็นไม่ครบและจะขาดโปรตีน ความเป็นจริงก็คือการกินโปรตีนจากพืชที่หลากหลายก็จะได้รับกรดอามิโนจำเป็นครบถ้วน ตัวอย่างเช่นถั่วเหลืองเป็นพืชที่มีกรดอามิโนจำเป็นมากที่สุดคือ 8 ตัว ขาดเมทิโอนีนตัวเดียว แต่งามีเมทิโอนีนมาก ดังนั้นหากกินถั่วควบกับงาก็จะได้กรดอามิโนจำเป็นครบถ้วน

         มายาคติ 3. เชื่อว่าการขาดโปรตีนเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในทางโภชนาการ ความเป็นจริงก็คือการขาดโปรตีนไม่ใช่ปัญหาที่มีอยู่จริงในปัจจุบัน โรคขาดโปรตีน (kwashiorkor) ไม่มีใครพบเลยในประเทศไทยในยี่สิบปีที่ผ่านมานี้ งานวิจัยพบว่าคนอเมริกันโดยเฉลี่ยได้รับโปรตีนมากเกินความต้องการของร่างกายซึ่งเป็นภาวะต่อไตในการขับทิ้ง ภาวะทุโภชนาการที่พบบ่อยที่สุดในปัจจุบันไม่ใช่การขาดโปรตีน แต่เป็นการได้รับแคลอรี่มากเกินไป และการขาดไวตามิน เกลือแร่ และกาก เท่ากับว่าคนทั้งโลกทุกวันนี้บ้าโปรตีนมากเกินเหตุ

    แคลอรีคืออะไร

         แคลอรี (calorie) คือหน่วยนับของพลังงานความร้อนที่ร่างกายผลิตขึ้นได้จากอาหารแต่ละชนิด สามารถวัดได้โดยเอาอาหารชนิดนั้นไปเผาในเครื่องวัดแล้ววัดความร้อนที่เกิดขึ้น หน่วยที่พูดกันทั่วไปว่าแคลอรีนี้จริงๆแล้วคือกิโลแคลอรี (1,000 แคลอรี)แต่เรียกกันจนติดปากเสียแล้วว่าแคลอรี

         ในการผลิตพลังงานขึ้นมาจากอาหารนั้น ร่างกายจะเปลี่ยนโมเลกุลเดี่ยวในสารอาหารที่ให้แคลอรีได้ (คือกลูโคสจากอาหารคาร์โบไฮเดรต กรดไขมันจากอาหารไขมัน และกรดอามิโนจากอาหารโปรตีน) ไปเป็นสารตั้งต้นการให้พลังงานชื่ออาเซติลโคเอ. (AcetylCo-A) ซึ่งเมื่อสารนี้ถูกเผาผลาญในวงจรที่เรียกว่า Kreb’s cycle โดยการช่วยเหลือของน้ำ วิตามิน และแร่ธาตุบางตัวแล้ว ในที่สุดก็จะได้พลังงานมาใช้และได้ก้าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นของเสียเหลืออยู่

    วิตามิน

         วิตามิน คือสารอาหารที่ช่วยให้เซลร่างกายทำงานได้เป็นปกติ ร่างกายสร้างวิตามินขึ้นมาเองไม่ได้ และไม่สามารถเผาผลาญวิตามินเพื่อให้เกิดพลังงานได้ จะต้องได้รับมาจากภายนอกเท่านั้น วิตามินมีสองชนิด คือที่ละลายในไขมัน และที่ละลายในน้ำ

    วิตามินที่ละลายในไขมัน

    วิตามินเอ. ได้จากพืชผักผลไม้สีส้ม เหลือง เขียว และไข่แดง ร่างกายใช้ช่วยการทำงานของตา ผิวหนัง สร้างกระดูกและฟัน หากขาดก็จะเป็นโรคตาบอดกลางคืน ติดเชื้อที่ตา ผิวหยาบ ติดเชื้อทางเดินหายใจ

    วิตามินดี. ได้จากแสงแดด โดยได้จากอาหารน้อยมาก ร่างกายใช้ช่วยดูดซึมแคลเซียมและฟอสเฟต ช่วยสร้างกระดูก หากขาดจะเป็นโรคกระดูกอ่อน และโรคฟันผิดปกติ

    วิตามินอี. ได้จากธัญพืชกำลังงอก ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว นัท ผักใบเขียว ร่างกายใช้ป้องกันเม็ดเลือดแดงแตก ทำให้เยื่อหุ้มเซลทำงานดี หากขาดจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตก โลหิตจาง และเกิดความผิดปกติของระบบประสาท

    วิตามินเค. ได้จากผักใบเขียว และสร้างในลำไส้คนโดยแบคทีเรีย ร่างกายใช้ช่วยการแข็งตัวของเลือดหากขาดจะทำให้เป็นโรคเลือดไหลไม่หยุด

    วิตามินที่ละลายในน้ำ

         วิตามินที่ละลายในน้ำ ร่างกายไม่สามารถจัดเก็บไว้ในร่างกายได้ ต้องได้จากอาหารประจำวัน เช่นผักและผลไม้ต่างๆ ได้แก่

    วิตามินบี.1 (Thiamine) ได้จากธัญพืชไม่ขัดสี โดยเฉพาะตรงส่วนผิวของธัญพืช เนื้อสัตว์ ถั่ว นัท และเมล็ดพืชต่างๆ ร่างกายใช้เป็นส่วนของเอ็นไซม์ที่จำเป็นในการเผาผลาญและทำงานของเซล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลของระบบประสาท

    วิตามินบี.2 (Riboflavin) ได้จากผักใบเขียว ธัญพืชไม่ขัดสี นมและผลิตภัณฑ์จากนม ร่างกายใช้เป็นส่วนของเอ็นไซม์ที่จำเป็นในการเผาผลาญและทำงานของเซล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลของตาและผิวหนัง

    ไนอาซีน (B3) ได้จากธัญพืชไม่ขัดสี ผัก เห็ด หน่อไม้ฝรั่ง ถั่ว เนื้อ สัตว์ปีก ปลา ร่างกายใช้เป็นส่วนของเอ็นไซม์ที่จำเป็นในการเผาผลาญและทำงานของเซลในระบบประสาท ระบบย่อยอาหาร ระบบผิวหนัง

    วิตามินบี.6 (Pyridoxine) ได้จากผัก ผลไม้ เนื้อ ปลา สัตว์ปีก ร่างกายใช้เป็นส่วนของเอ็นไซม์ที่จำเป็นในการเผาผลาญและทำงานของเซล ช่วยสร้างเม็ดเลือด

    กรดโฟลิก(โฟเลท) ได้จากผักใบเขียวสดๆ ถั่ว เมล็ดพืช ผลไม้ เนื้อสัตว์ ร่างกายใช้เป็นส่วนของเอ็นไซม์ที่จำเป็นในการเผาผลาญและทำงานของเซล ช่วยสร้างดีเอ็นเอ.โดยเฉพาะของเม็ดเลือด

    วิตามินบี.12 (Cobalamin) ได้จากเนื้อสัตว์ สัตว์ปีก ปลา อาหารทะเล ไข่ นมวัว แต่ไม่มีในอาหารพืช ผู้กินอาหารมังสะวิรัติเข้มงวดจึงควรทดแทนวิตามินบี.12 ร่างกายใช้วิตามินบี.12 เป็นส่วนของเอ็นไซม์ที่จำเป็นในการเผาผลาญและทำงานของเซล โดยเฉพาะของเซลระบบประสาทและเม็ดเลือด และใช้เป็นผู้รีไซเคิลสารโฮโมซีสเตอีนกล้บไปใช้งานใหม่ หากขาดจะทำให้เป็นโรคเกี่ยวก้บระบบประสาท โรคโลหิตจางชนิดเม็ดเลือดแดงโต และโรคหลอดเลือดซึ่งเกิดจากการคั่งของสารโฮโมซีสเตอีน

    วิตามินซี. (Ascorbic acid) ได้จากพืชผักผลไม้ เช่น กล่ำ แคนตาลูบ สตรอเบอรี พริก มะเขือเทศ มันฝรั่ง ผักสลัด มะละกอ มะม่วง กีวีฟรุต ไม่มีในเนื้อสัตว์ ร่างกายใช้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่จำเป็นในการเผาผลาญโปรตีน ช่วยการทำงานระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยการดูดซึมเหล็กเข้าร่างกาย

    แร่ธาตุ

         คือธาตุในธรรมชาติที่ร่างกายจำเป็นต้องนำมาใช้ควบคุมการทำงานของเซลร่างกายทั้งหมด ใช้ในการสร้างกระดูก ในการแข็งตัวของเลือด และใช้เป็นส่วนประกอบของเนื้อเยื่อร่างกาย แร่ธาตุเป็นสารอาหารที่ใช้เร็วขับทิ้งเร็ว ยกเว้นเหล็กซึ่งร่างกายเก็บและรีไซเคิลได้ แร่ธาตุแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ

    (1) ธาตหลัก (Major elements) คือธาตุที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้ในปริมาณมาก เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส โปตัสเซียม โซเดียม แมกนีเซียม คลอรีน เป็นต้น แคลเซียมร่างกายใช้เพื่อสร้างกระดูก โซเดียมและโปตัสเซียมนั้นร่างกายใช้เพื่อขนส่งของเหลวไปตามส่วนต่างๆของร่างกาย แต่หากโซเดียมมีมากเกินไปก็ทำให้เป็นความดันเลือดสูง

    (2) ธาตุเล็กธาตน้อย (Trace elements) คือธาตุที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้ในปริมาณน้อยมาก แต่ก็ขาดไม่ได้ เช่นเหล็ก ไอโอดีน แมงกานีส สังกะสี ฟลูออรีน เป็นต้น เหล็กนั้นร่างกายได้จากอาหารทั้งที่เป็นสัตว์และพืช แล้วนำมาสร้างเป็นโมเลกุลตัวพาออกซิเจนในเม็ดเลือดแดง ไอโอดีนนั้นร่างกายได้จากอาหารทะเล แล้วนำมาสร้างเป็นฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ซึ่งช่วยควบคุมปฏิกริยาเคมีและการเผาผลาญของเซลร่างกาย

         แร่ธาตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธาตุเล็กธาตุน้อย มีอยู่ในอาหารพืชที่หลากหลาย ตัวบอกความหลากหลายของสารอาหารในอาหารแต่ละอย่างคือ (1) สีของอาหาร (2) รสและกลิ่นของอาหาร และ (3) ฤดูกาลที่พืชชนิดนั้นเกิดขึ้น ควรกินอาหารพืชให้หลากหลาย เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดธาตุอาหารที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธาตุเล็กธาตุน้อย

    น้ำ

         น้ำเป็นสารอาหารที่สำคัญที่สุด เป็นส่วนประกอบของทุกเซล และของน้ำในช่องต่างๆของร่างกาย เป็นตัวพาสารอาหารที่ละลายในน้ำไปสู่ปลายทาง ช่วยในการทำงานของอวัยวะเช่น ย่อยอาหาร ขับของเสีย คุมอุณหภูมิ ป้องกันร่างกายส่วนสำคัญไม่ให้ถูกกระแทก และเป็นที่ให้แร่ธาตุแตกตัวเป็นอีเล็กโตรลัยท์เพื่อการนำไปใช้งานและเพื่อรักษาดุลของน้ำและอีเล็คโตรลัยในร่างกายให้อยู่ในสภาวะที่เซลต่างๆทำงานได้เป็นปกติ ร่างกายจะสูญเสียน้ำไปเพื่อการทำงานเหล่านี้วันละราวครึ่งลิตร ซึ่งต้องได้รับการทดแทนจากภายนอก
         หากร่างกายขาดน้ำมากจะทำให้เกิดภาวะช็อกหรือเกิดไตวาย หากขาดน้ำปานกลางจะทำให้เลือดข้น เลือดแข็งตัวง่าย และเกิดอัมพาตเฉียบพลันและกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้ง่ายขึ้น งานวิจัยในผู้ใหญ่ชาวอเมริกันที่เมืองโลมาลินดารัฐแคลิฟอร์เนียพบว่าผู้ใหญ่ควรได้ดื่มน้ำวันละ 5 แก้วขึ้นไปจึงจะลดอุบัติการณ์การเกิดอัมพาตเฉียบพลันและกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันลงได้

    โภชนาการที่ดี

         คำแนะนำของรัฐบาลอเมริกัน (USDA) และรัฐบาลแคนาดา (Canada food guide 2019) แนะนำว่า

    1. โภชนาการที่ดีคือรูปแบบของการกินที่ทำให้ได้กินพืชผักผลไม้ถั่วและนัทและธัญพืชไม่ขัดสีให้มากขึ้น กินเนื้อสัตว์ให้น้อยลง โดยตัวอย่างรูปแบบการกินที่ดีเช่น (1) อาหารมังสะวิรัติ (2) อาหารเมดิเตอเรเนียน (3) อาหารลดความดัน (DASH diet) เป็นต้น

    2. ควรใช้น้ำเปล่าเป็นเครื่องดื่มประจำตัวแทนเครื่องดื่มใส่น้ำตาล

    3. สิ่งที่ไม่ดีทางโภชนาการมีสี่อย่าง คือ (1) ไขมันอิ่มตัว (2) น้ำตาล (3) เกลือ (4) ไขมันทรานส์

         เอวัง การเขียนหลักวิชาโภชนศาสตร์สำหรับชาวบ้านโดยใช้เวลา 3 ชั่วโมงก็คงทำได้เท่านี้แหละครับ ทะ..ทา

    นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
    [อ่านต่อ...]

    25 พฤษภาคม 2562

    อนาคตของอาชีพหมอและเภสัชอย่างไหนจะรุ่งกว่ากัน

    สวัสดีครับ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
    กระผมขออนุญาตปรึกษาเรื่องเรียนต่อมหาลัยระหว่าง สอบเข้าคณะแพทย์หรือเภสัช เดิมทีผมสนใจสาขาเภสัชครับ แต่เมื่อไม่กี่วันนี้ผมได้มีโอกาสคุยกับอายุรแพทย์ท่านหนึ่ง ผมลองถามว่าเรียนอะไรดีระหว่างสองคณะนี้ ท่านบอกว่าหมอดีกว่าอยู่แล้ว เพราะเภสัชไม่ได้เรียนเรื่องการวินิจฉัย เรื่องโรค anatomy การส่งตรวจทางlab ทักษะวิจัยทางคลินิก ,...ฯลฯ เท่ากับหมอ เรียนแค่เรื่องยาที่ลึกกว่า ลึกถึงระดับโมเลกุล ซึ่งถ้าไม่ได้จะไปวิจัยคิดค้นยาใหม่ๆ อาจไม่จำเป็นต้องเรียนลึกขนาดนั้นก็ได้ เรื่องยาหมอก็ได้เรียนเหมือนกัน และสุดท้ายเรื่องการปรับขนาดยา หมอก็เป็นคนเรียนอยู่ดี แถมจบมาหมอมีต่อเฉพาะทางมากมายหลายสาขา ในขณะที่เภสัชไม่มี
    ผมฟังๆดูก็คิดว่ามันจริงหลายอย่างนะครับ ตัวอย่างเช่นเทียบกับอายุรแพทย์ที่ลักษณะงานคล้ายๆเภสัชกรคือ รับฟัง วินิจฉัย และจ่ายยา  ผมว่าอายุรแพทย์ทำได้ดีกว่าเพราะเภสัชตามร้านขายยาวินิจฉัยไม่ได้เท่าแพทย์ บางโรคต้องถึงมือแพทย์เท่านั้น  แล้วจริงๆหมอเองไปเรียนเพิ่มเติมทางด้านเภสัชกรรมก็ได้ ผมเห็นหมอบางท่านทำงานเป็นที่ปรึกษาฝ่ายเภสัชกรรมก็มี ทำให้ผมคิดว่าคณะเภสัชนี่..(ขออภัยนะครับที่พูดตรงๆตามที่คิด)เป็นเหมือนสาขาลูกเมียน้อยไหม
    และหากพูดถึงในแง่บทบาทแห่งวงการสาธารณสุข หมอโดดเด่นที่สุด ทำอะไรได้หลายอย่าง เป็นผู้นำทีม และในแง่รายได้ ยังไงเภสัชก็ไม่มีทางสู้ได้เพราะความหนักหน่วงในการเรียน ความรับผิดชอบ และการอยู่เวรนั้นต่างกันมาก
    ใจจริงลึกๆผมก็ยังอยากเรียนเภสัชอยู่นะครับ เพราะไม่ชอบลักษณะชีวืตการทำงานของหมอหลายๆอย่างเช่น ต้องผ่าตัด นอนไม่เป็นเวลา แต่พอคุยกับหมอท่านนี้แล้วเริ่มลังเลเพราะมีหลายอย่างค่อนข้างจริง คุณหมอสันต์ช่วยชี้ทางให้กระผมทีได้ไหมครับว่าผมควรเลือกทางไหนระหว่างที่ใจเราชอบหรืออดทนเลือกอีกทางที่หนักกว่าแต่จบมามีทางเลือกมากกว่า เงินดีกว่า
    สุดท้ายขอถามเพิ่มเติมอีกสองอย่างครับ
    1.ถ้าเมืองไทยเป็นเหมือนประเทศพัฒนาแล้ว คือบทบาทของหมอกับเภสัชกรแยกกันชัดเจน เวลาไปคลินิกแล้วเอาใบสั่งไปซื้อยาที่ร้านขายยา แบบนี้เภสัชกรไทยเรามีสิทธิที่เรทเงินเดือนจะสูงขึ้นไหมครับ เพราะทุกวันนี้ผมไปคลินิก หมอทำหมดเลยทั้งวินิจฉัยและจ่ายยา (ซึ่งยาในคลินิกแพงกว่าร้านขายยาโดยตรง)
    2.หมอสันต์คิดเห็นอย่างไร อยากให้เมืองไทยมีระบบที่แยกบทบาทสองวิชาชีพชัดเจนไหมครับ

    ...........................................................

    ตอบครับ

         วันนี้ตอบจดหมายเด็กๆหน่อยนะ แฟนบล็อกส่วนใหญ่ซึ่งเป็นสว.อย่าเพิ่งรำคาญ หากไม่อยากอ่านเรื่องของเด็กก็ผ่านบทความนี้ไปเลยก็ได้

         1. ถามว่าเรียนเภสัชหรือเรียนหมอ อย่างไหนดีกว่ากัน ตอบว่าอาชีพอะไรก็ตามที่เป็นอาชีพสุจริตและไม่ผิดกฎหมายล้วนดีทั้งนั้น เพราะอาชีพเป็นเพียงสีเสื้อที่คุณจะเลือกมาใส่ในเช้าของแต่ละวัน คุณถามหมอสันต์ว่าเช้านี้ผมควรจะหยิบเสื้อสีฟ้าหรือสีเทามาใส่ดี แล้วคุณจะให้หมอสันต์ตอบว่าอย่างไรดีละ

          สารัตถะที่แท้จริงของชีวิตไม่ใช่อยู่ที่การมีอาชีพอะไร แต่อยู่ที่การรู้จักใช้ชีวิตให้เป็นสุขและให้สร้างสรรค์ได้เต็มศักยภาพของความเป็นคนที่เรามี การจะมีความสุขและการจะสร้างสรรค์ได้เต็มศักยภาพไม่ใช่จะพบหรือเข้าถึงด้วยสิ่งที่อยู่ข้างนอกรวมทั้งการงานอาชีพก็ตาม แต่เข้าถึงด้วยการกลับหลังหันจากข้างนอกเข้าสู่ข้างใน เพราะความรู้ตัวอันเป็นที่ที่จะทำให้ชีวิตสุขสงบเย็นก็ดี ปัญญาญาณอันเป็นบ่อของศักยภาพที่แท้จริงของมนุษย์ก็ดี ล้วนจะพบได้เมื่อกลับเข้าไปสนใจข้างในตัว ไม่ใช่ไปหาที่ข้างนอกตัว

         ในทางตรงกันข้าม ยิ่งคุณเรียนเรื่องราวในโรงเรียนหรือในมหาวิทยาลัยมาก คุณยิ่งโง่ลงในแง่ของการเข้าถึงความรู้ตัวและปัญญาญาณ เพราะที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยเขาสอนคุณให้ฟูมฟักเลี้ยงดูอัตตาของคุณให้ดูจริงจังและใหญ่โตขึ้น สอนให้คุณอยู่กับความคิดเปรียบเทียบแข่งขันซึ่งเป็นเส้นทางที่จะปิดความรู้ตัวและปัญญาญาณทิ้งเสียแบบเบ็ดเสร็จ จับเอาจากคำพูดของคุณก็ได้ วิชาชีพไหนโดดเด่นกว่า วิชาชีพไหนมีรายได้มากกว่า ทั้งหมดนี้ก็เพื่อฟูมฟักความเป็นบุคคลหรืออัตตาของคุณให้ใหญ่ขึ้น มันเป็นทิศทางที่จะทำให้คุณโง่ลงในแง่ของการจะเข้าถึงความรู้ตัวและปัญญาญาณที่ภายใน เพราะคนเราจะเข้าถึงความรู้ตัวหรือปัญญาญาณไม่ได้ ถ้าไม่วางความคิดที่ว่าความเป็นบุคคลหรืออัตตาของเรานี้เป็นของจริงเป็นตุเป็นตะลงไปเสียก่อน

         2. ถามว่าถ้าเมืองไทยมีกฎหมายห้ามไม่ให้หมอขายยา คนไข้ต้องเอาใบสั่งไปรับยาจากร้านขายยาซึ่งมีเภสัชอยู่ประจำเท่านั้น แล้วเภสัชจะมีรายได้มากขึ้นไหม ตอบว่าไม่เกี่ยวกันครับ เพราะจริงๆแล้วความร่ำรวยในอนาคตของหมอและเภสัชไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎหมายอะไร แต่ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนทั่วไปจะเรียนรู้ความจริงที่ว่า "คนที่จะดูแลสุขภาพตัวเขาได้ดีที่สุดคือตัวเขาเองเท่านั้น" ได้เร็วหรือช้า ถ้าประชาชนเรียนรู้ได้เร็ว หมอและเภสัชในอนาคตก็แทบจะไม่มีอะไรทำ แต่ถ้าประชาชนเรียนรู้ตรงนี้ได้ช้า อาชีพหมอและเภสัชก็จะรุ่งเรืองไปอีกนาน เพราะสามารถคิดค้นยาใหม่ๆและวิธีผ่าตัดใหม่มาขายได้เรื่อยๆ แม้ว่ายาก็ดี การผ่าตัดก็ดี ล้วนไม่ใช่วิธีที่จะทำให้คนยุค NCD (โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) มีสุขภาพดีและอายุยืนก็ตาม การจะเรียนรู้ได้เร็วหรือช้านี้อย่าไปคาดการณ์เอาจากอดีตนะ เพราะปัญญาประดิษฐ์หรือ AI นั้นเป็นสิ่งที่ในอดีตไม่เคยมี แต่อนาคตจะมี ซึ่งจะเร่งการเรียนรู้ของผู้คนให้เร็วขึ้นเสียยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ

         3. ถามว่าหมอสันต์อยากให้เมืองไทยมีกฎหมายแยกทางหากินของหมอและเภสัชออกจากกันชัดๆไหม ตอบว่า หิ หิ ลูกเอ๋ย..หมอสันต์ชราเกินกว่าจะมีความเห็นใดๆในเรื่องโลกิยะเสียแล้วครับ แต่ว่าเพื่อไม่ให้เสียความรู้สึกที่คุณอุตสาห์ถามมา แทนที่จะตอบผมจะบอกภาพในอนาคตของสองอาชีพนี้เท่าที่ผมมองเห็นล่วงหน้าให้นะ ว่าคนทำสองอาชีพนี้จะ "รุ่ง" หรือ "ร่วง" อยู่ที่ความสามารถในการสอดแทรกการสอนให้ผู้ป่วยรู้วิธีที่จะดูแลตัวเขาเองด้วยตัวเขาเองได้สำเร็จเข้าไปในงานประจำของตน ถ้าหมอหรือเภสัชคนไหนมีความสามารถนี้และใช้ความสามารถนี้กับลูกค้าหรือคนไข้ได้มาก เขาหรือเธอก็จะเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าและมีคนรุมซื้อเพราะเป็นผู้ขายที่ขายสิ่งที่มี "คุณค่าแท้" ให้กับลูกค้า ส่วนหมอและเภสัชที่หลอกขายสินค้าที่มีแต่ "คุณค่าเทียม" บนความไม่รู้ของคนไข้นั้น แม้วันนี้พวกเขาจะดูรุ่งเรืองดี แต่เชื่อผมเถอะ เมื่อใดที่ลูกค้าเรียนรู้ความจริงพวกเขาก็จะร่วง

    นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
    [อ่านต่อ...]

    24 พฤษภาคม 2562

    คำสอนเป็นแค่คู่มือการใช้งาน (user's manual)

         ช่วงนี้หลานสาวซึ่งเป็นฝรั่งมาอยู่ด้วย มารอเข้า spiritual retreat ด้วย เด็กฝรั่งสมัยนี้มีจำนวนหนึ่งที่สนใจทางด้านจิตวิญญาณแบบไม่เกี่ยวกับศาสนาใดๆอย่างจริงจัง เจ้าหลานคนนี้ก็เหมือนกัน ลองมาฟังบทสนทนาที่ผมคุยกับเธอในคืนวันแรกที่เธอมาถึงที่บ้าน

    ราเชล

         ฉันเข้าใจถูกหรือเปล่า ว่าศาสนาพุทธไม่ได้เป็นศาสนา แต่เป็นวิธีใช้ชีวิต

    นพ.สันต์

         ถูกแล้ว ศาสนาพุทธเป็นเครื่องมือในการใช้ชีวิต หรือถ้าจะพูดให้ชัดกว่านั้นก็คือเครื่องมือในการใช้ชีวิตที่แท้จริงเป็นสิ่งที่ทุกคนมีอยู่แล้วคือ "กาย"นี้ และ "ใจ"นี้ ศาสนาพุทธเป็นคู่มือการใช้งาน (user's manual) ในการใช้งานกายนี้และใจนี้มากกว่า

    ราเชล

         ที่คุณพูดถึงว่ากายนี้และใจนี้เป็นเครื่องมือ ฉันไม่เข้าใจ

    นพ.สันต์

         พระพุทธเจ้าสอนว่าชีวิตซึ่งเรามองเผินๆว่าประกอบด้วย "กาย" นี้ (body) และ "ใจ"นี้ (mind) ในความเป็นจริงมันประกอบขึ้นจากการมารวมกันชั่วคราวขององค์ประกอบย่อยห้าอย่าง คือ

    1. รูป หรือร่างกายที่เป็นเนื้อหนัง (physical body)
    2. เวทนา หรือความรู้สึก (feeling) บนร่างกาย ซึ่งสะท้อนถึงการมีอยู่ของพลังงานในร่างกาย (energy body)
    3. ความจำ (memory)
    4. ความคิด (thought)
    5. ความรู้ตัว (consciousness)

         โดยย้ำว่าทั้งหมดนี้ล้วนเป็นของชั่วคราว แต่เมื่อรวมกันแล้วก็กลายเป็นตัวก่อให้เกิด "สำนึกว่าเป็นบุคคล (identity)" ขึ้นมาได้ โดยที่เมื่อแยกย่อยลงไปก็จะเหลือแต่ห้าอย่างข้างต้น หามีความเป็นบุคคลที่แท้จริงๆไม่

         ส่วนการเอาองค์ประกอบทั้งห้าอย่างข้างต้นมาพลิกแพลงเป็นเครื่องมือในการพ้นทุกข์ ท่านสอนไว้ในหัวข้อเครื่องมือเจ็ดอย่างที่ใช้มุ่งสู่การตรัสรู้ ได้แก่

    1. การรับรู้ความรู้สึกบนร่างกาย (body feeling)
    2. การผ่อนคลายร่างกาย (relaxation)
    3. สติ (attention)
    4. การกระตุ้นตัวเอง (motivation)
    5. จิตที่เป็นสมาธิ (concentration)
    6. การเห็นตามที่มันเป็น (seeing it as it is) ซึ่งต้องอาศัยปัญญาญาณ (intuition) เป็นผู้ชี้ให้เห็น ซึ่งปัญญาญาณนี้จะเกิดขึ้นหลังจากจิตเป็นสมาธิแล้ว
    7. การรู้จักเลือกหยิบใช้เครื่องมือให้เหมาะกับจังหวะเวลา (tool choosing)

         จะเห็นว่าในส่วนของ feeling และ relaxation นั้นเป็นการใช้ "กาย"นี้ เป็นเครื่องมือ ส่วนที่เหลืออีกห้าอย่างนั้นเป็นรายละเอียดของการใช้ "ใจ"นี้ เป็นเครื่องมือ

    ราเชล

         แล้วในการใช้เครื่องมือทั้งเจ็ดอย่างนี้มีขั้นตอนวิธีการอะไรในเชิงการปฏิบัติไหม

    นพ.สันต์

         ส่วนหนึ่ง พระพุทธเจ้าสอนการนำเครื่องมือทั้งเจ็ดนี้ลงใช้ทีละชิ้นทีละขั้นในบทสอนการทำสมาธิตามดูลมหายใจหรืออานาปานสติ 16 ขั้นตอน อีกส่วนหนึ่งเป็นการสอนให้สอดแทรกการใช้งานเครื่องมือแต่ละชิ้นในชีวิตประจำวันตามเวลาและโอกาส

    ราเชล

         ดังนั้นฉันควรเรียนอานาปานะสติ

    นพ.สันต์

         ใช่..อย่างน้อย ผมแนะนำว่าคุณเรียนเทคนิคปฏิบัติอานาปานสติแบบคลาสสิกคือนั่งสมาธิด้วย ขณะเดียวกันก็เอาจี้กงที่คุณฝึกมาบ้างแล้วมาเชื่อมต่อให้มันเป็นเรื่องเดียวกัน คือจี้กงก็คือการรับรู้ "ชี่" ซึ่งก็คือพลังงานของร่างกายหรือ energy body ซึ่งการรับรู้พลังงานนี้เรารับรู้ในรูปของความรู้สึกบนผิวกาย (เวทนา) เช่นความรู้สึกวูบๆวาบๆจิ๊ดๆจ๊าดๆเหน็บๆชาๆ ดังนั้นจี้กงก็คือ body feeling หรือ body scan นั่นแหละ ผมแนะนำให้คุณเอาจี้กงผสมอานาปานสติ แล้วเอาลูกผสมของทั้งสองอันนี้ลงไปใช้ในชีวิตประจำวันตลอดเวลาที่ตื่นอยู่

         ปลายทางของทั้งหมดนี้ก็คือการสามารถถอยความสนใจออกมาจากความคิดเพื่อมาเป็นความรู้ตัว เพื่อให้สามารถปล่อยวาง "สำนึกว่าเป็นบุคคล" หรือ identity นี้ลง เมื่อใดที่คุณสามารถย้าย identity จาก "สำนึกว่าเป็นบุคคล" ไปเป็น "ความรู้ตัว" (consciousness) ที่ไม่มีเอี่ยวเกี่ยวข้องกับบุคคลใดหรือใครแล้ว เมื่อนั้นคุณก็บรรลุความหลุดพ้น

    ราเชล

         นอกจากเรื่องเครื่องมือเจ็ดอย่างนี้แล้ว มีอะไรในคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ฉันควรรู้อีกไหม

    นพ.สันต์

         ในแง่การปฏิบัติ แค่การนำเครื่องมือทั้งเจ็ดลงฝึกใช้อย่างจริงจังก็เหลือเฟือที่จะให้คุณบรรลุความหลุดพ้นได้แล้ว แต่ในแง่ของความเข้าใจ มันอาจมีประโยชน์หากคุณจะรู้จักคำสอนอีกบทหนึ่งที่เรียกว่าความเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน (conditionality) ซึ่งท่านสอนว่าเมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น อีกสิ่งนี้จึงเกิดขึ้นตามมา เป็นทอดๆ แล้วเมื่อสิ่งนี้ดับสิ้นไป อีกสิ่งนี้ก็อีกดับสิ้นไปเป็นทอดๆ หลักการนี้พระพุทธเจ้าเอามาอธิบายแจกแจงว่าการเกิดและการดับของความทุกข์ในใจมันเป็นทอดๆ ดังนี้

    1. เริ่มต้นด้วยการที่คนเราเพิกเฉย (ignorance) ต่อความจริงที่ว่าความเป็นบุคคลหรืออัตตาของเรานี้เป็นเพียง "ความคิด" ที่ไม่ใช่ "ตัวเรา" และไม่ใช่สิ่งถาวรอะไร

    2. การเพิกเฉยดังกล่าวทำให้เกิดการหลงไปคิดยึดติดอะไรขึ้นมาสารพัด

    3. แต่ละความคิดเหล่านั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะตกกระทบลงบนร่างกาย เกิดเป็นความรู้สึก (feeling) บนร่างกายแล้วเป็นความรู้สึก (ชอบหรือไม่ชอบ) ในใจ

    4. ความรู้สึกในใจจะเหนี่ยวนำให้เกิดความคิดใหม่ในรูปของความอยาก (ขอบก็อยากได้ หรือไม่ชอบก็อยากหนี) ต่อยอดขึ้นมา

    5. ความคิดใหม่จะพัฒนาต่อไปเป็นความยึดติด (attachment) ในสิ่งซึ่งไม่ถาวรชิ้นใหม่ครั้งใหม่

    6. เมื่อสิ่งซึ่งไม่ถาวรที่ยึดติดนั้นเปลี่ยนไปก็ทำให้เกิดความทุกข์ใจ

         มองจากกลไกนี้ พฤติกรรมที่คนเราทำ จึงล้วนถูกกำหนดมาจากความคิดเก่าๆซ้ำๆซากๆ เป็น compulsive behavior ไม่มีวันหลุดออกไปจากวงจรเดิมๆนี้ได้

         วิธีที่จะหลุดออกไปจากวงจรนี้ ท่านสอนว่าจะต้องใช้ความสนใจ (attention) จดจ่อรับรู้เสียตั้งแต่ขั้นตอนเกิดความรู้สึก (feeling) ขึ้นบนร่างกายซึ่งจะต่อยอดไปเป็นความรู้สึกในใจ เมื่อสนใจจดจ่อที่ขั้นตอนเกิด feeling นี้ โดยธรรมชาติความรู้สึกเมื่อถูกความสนใจจดจ่อเฝ้าสังเกตอยู่ มันจะฝ่อหายไปเอง ก่อนที่ความคิดต่อยอด (thought formation) ใดๆจะมีโอกาสได้เกิดขึ้น ทำอย่างนี้แล้วก็หมายความว่ากลไกการเกิดพฤติกรรมใหม่ๆในชีวิตจะถูกเปลี่ยนจากแบบถูกบังคับอย่างเป็นอัตโนมัติด้วยความคิดเก่าในอดีต (compulsive behavior) มาเป็นพฤติกรรมที่เกิดแบบแบบมีสติกำกับ (conscious behavior) ความทุกข์ซึ่งปกติเกิดจากความคิดยึดติดก็จะไม่มีโอกาสได้เกิดขึ้น ภาพใหญ่ก็มีแค่นี้แหละ

    ราเชล

         ฟังดูง่ายเหลือเชื่อ แล้วทำไมไม่เห็นมีใครบรรลุความหลุดพ้นกันมากมายเลย

    นพ.สันต์

         พระพุทธเจ้าสอนว่าตัวเครื่องมือคือ "กาย"นี้ และ "ใจ"นี้ ทุกคนมีอยู่แล้วไม่ต้องเดินทางไปหาเอาจากที่ไหน ท่านเป็นเพียงผู้บอกวิธีใช้เครื่องมือเท่านั้น พูดง่ายๆว่าท่านให้ได้แต่คู่มือการใช้งานหรือ user's manual ส่วนคนจะเอาคู่มือใช้งานนี้ไปปฏิบัติหรือไม่มันไม่ใช่อะไรที่ท่านจะดลบันดาลได้ ท่านบอกว่า

         "ฉันจะทำอย่างไรได้เล่า เพราะฉันเป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น"

         ผมเดาเอาว่าการที่มีคนหลุดพ้นน้อย ก็คงเป็นเพราะว่าคนส่วนใหญ่ยังพอใจที่จะเพิกเฉย (ignore) ต่อความจริงที่ว่าสำนึกว่าเป็นบุคคลนี้เป็นแค่ความคิด เพราะคนส่วนใหญ่ยังอาลัยยึดติดกับคอนเซ็พท์ที่ว่าเราเป็นบุคคลคนนี้หรือ identity นี้อยู่ ดังนั้นแม้ user's manual จะง่ายๆตรงไปตรงมาเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าคนยังสมัครใจจะใช้เครื่องมือที่ตัวเองมีอย่างสะเปะสะปะตามใจชอบโดยไม่สนใจจะอ่าน user's manual อุปมาเหมือนคนที่ไม่ได้เป็นช่างแล้วฟลุ้คๆได้ไขควงอย่างดีมาอันหนึ่งแต่ไม่รู้ว่ามันใช้ประโยชน์ได้อย่างไร จึงเอามันแยงหูตัวเองบ้าง เอาแหย่เข้าไปในปากในลำคอในรูจมูกบ้าง ในที่สุดก็ถูกไขควงซึ่งเป็นเครื่องมือหากินที่มีประโยชน์ทิ่มแทงเอาบาดเจ็บ ฉันใดก็ฉันนั้น เครื่องมือที่เขามี คือ "กาย" นี้ กับ "ใจ" นี้ แทนที่จะเป็นเครื่องมือทำให้เขาพ้นทุกข์ ก็จึงกลายเป็นเครื่องมือให้เขาเป็นทุกข์ไปเสีย

    นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
    [อ่านต่อ...]

    22 พฤษภาคม 2562

    ผมเป็นคนชอบย้ำคิดย้ำทำ (compulsiveness)

    เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ
    ผมเป็นคนชอบย้ำคิดย้ำทำ หมอจิตเวชให้ผมกินยาแต่ผมไม่ยอมกิน ผมไม่เชื่อว่ายาจะทำให้ผมเลิกย้ำคิดย้ำทำได้ เพียงแต่ผมยังไม่รู้ว่าผมจะเลิกความคิดนี้ได้อย่างไร คุณหมอช่วยอธิบายกลไกของการย้ำคิดย้ำทำและแนะนำทางออกให้ผมหน่อยครับ
    ขอบพระคุณคุณหมอมากครับ

    .....................................................

    ตอบครับ

         ผมจะตอบคำถามโดยไม่ได้ตอบคุณคนเดียวนะ แต่จะตอบให้ผู้อ่านอื่นๆที่ไม่ได้ถามด้วย เพราะการย้ำคิดย้ำทำไม่ได้เกิดกับผู้ป่วยจิตเวชเท่านั้น แต่เกิดกับทุกๆคน

         ถ้าเราสังเกตสิ่งต่างๆที่จับต้องมองเห็นได้ (physical) ในธรรมชาติรอบตัวเรา มันมีความซ้ำซากหรือเป็นรอบๆ (cyclical) อยู่ในที เพราะธรรมชาติของมวลสารมันมีแรงดูดแรงผลัก (gravity) ต่อกัน เล็กที่สุดตั้งแต่อีเล็คตรอนที่หมุนรอบแก่นกลางของอะตอมไม่รู้จบ ใหญ่ขึ้นมาก็โลกหมุนรอบตัวเอง ดวงจันทร์หมุนรอบโลก โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ทุกอย่างมีความซ้ำซากเป็นรอบๆหมด นี่มันเป็นธรรมชาติของสิ่งหยาบๆที่จับต้องมองเห็นได้ ความเป็นรอบๆนี้ก็คือกลไกการถูกบังคับให้ย้ำทำ (compulsiveness) อยู่ในที

         แม้ความคิดที่เกิดขึ้นในใจเราซึ่งนำไปสู่ประสบการณ์ชีวิตในแต่ละวันนี้ก็มีธรรมชาติเกิดขึ้นซ้ำซากเป็นรอบๆ โดยเราเป็นผู้สร้างประสบการณ์ในแต่ละวันให้ตัวเองผ่านกลไกที่เราเรียกว่าจิตใต้สำนึก โดยที่เราไม่รู้ตัว ภาษาพฤติกรรมศาสตร์เรียกว่า "วงจรสนองตอบอัตโนมัติชนิดถูกวางเงื่อนไขไว้ก่อน (conditioned reflex)" ชีวิตของเราที่ดำเนินไปแต่ละวันเป็นการสนองตอบอัตโนมัติต่อสิ่งที่เราเคยคิดเคยทำไว้มาก่อนทั้งสิ้น ความคิดเก่าๆที่เราเคยคิดกลายมาเป็นพฤติกรรมที่ถูกบังคับให้ต้องทำอยู่ในที (compulsive behavior) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเผลอได้ปลื้มว่าเรานี้ช่างมีอิสระเสรีที่จะทำอะไรก็ได้นั่นแหละสำคัญนัก เพราะแท้ที่จริงสิ่งที่เราลงมือทำมันคือกลไกสนองตอบอัตโนมัติที่ถูกบงการโดยความคิดเมื่ออดีตของเรา มันเป็นแค่การใช้ชีวิตไปตามร่องเก่าๆบูดๆที่เราเผลอสร้างไว้โดยเราไม่รู้ตัว หาใช่ชีวิตเสรีที่เราหลงได้ปลื้มไม่

         ตัวอย่างของกลไกถูกบังคับให้ย้ำทำในชีวิตปกติของคนเราก็คือการเสาะหาความมั่นคงในชีวิต เมื่อเรากลัวความเปลี่ยนแปลง เราจะเสาะหาความมั่นคง นั่นคือการเสาะหาอะไรในชีวิตที่จะให้มันเกิดขึ้นแบบเหมือนเดิมซ้ำๆซากๆรอบแล้วรอบเล่า ให้มันมีความแน่นอน (certainty) โดยที่หารู้ไม่ว่านั้นไม่ใช่ชีวิตแล้ว นั่นเป็นความคิด ชีวิตของจริงไม่มีความแน่นอนใดๆทั้งสิ้น

         แต่ธรรมชาติของมนุษย์นี้มีความแปลกอยู่อย่างหนึ่งคือ ด้านหนึ่ง เสาะหาความปลอดภัยแน่นอนมั่นคงซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นกลไกธรรมชาติจะให้เราธำรงรักษาให้ร่างกายนี้ตั้งอยู่ได้ในสภาพอันควรในเวลานานพอควรแบบว่าไหนๆเกิดมาทั้งทีแล้วก็ให้มันดำรงอยู่ได้สักพัก แต่ อีกด้านหนึ่ง มนุษย์ก็มีธรรมชาติดิ้นรนให้หลุดพ้นจากความซ้ำซากเป็นรอบๆไม่รู้จบรู้สิ้นนี้ไปสู่สภาวะอิสระเสรีกว้างใหญ่ไร้ขอบเขตขาดการบังคับควบคุมให้ย้ำคิดย้ำทำอะไรอย่างเป็นรอบๆนี้เสียที

          มองเผินๆก็จะรู้สึกว่าทั้งสองด้านนี้มันขัดกันอยู่ในที แต่เราสามารถจูนทั้งสองด้านนี้ให้ลงตัวได้นะ คือส่วนที่เกี่ยวกับร่างกายเราจำเป็นต้องรักษาเราก็คงการย้ำทำซ้ำๆซากๆไว้เพื่อถนอมให้ร่างกายนี้ตั้งอยู่ได้แบบดีพอควรและใช้การได้เป็นเวลานานพอควร เช่นเราต้องแปรงฟันอาบน้ำทุกวัน คือทางกายเรายอมแต่ขณะเดียวกันเราก็แหกความซ้ำซากทางใจได้โดยแทนที่จะเผลอย้ำคิดย้ำทำไปตามวงจรซ้ำซากของความคิดเก่าๆเน่าๆคืออัตตาของเรานี้ เราก็ขยันทุบทำลายความคิดทิ้งเสียทุกวันๆ ทุบให้หมดได้ยิ่งดี โผล่มาก็ทุบทิ้ง โผล่มาก็ทุบทิ้ง จนหมดความคิดเก่าๆงี่ๆเง่าๆทั้งหลาย ชีวิตก็จะได้อยู่กับเดี๋ยวนี้ซึ่งมีความใหม่ๆสดๆซิงๆที่น่าตื่นตาตื่นใจไร้ขอบเขตและท้าทาย ทุกการสนองตอบต่อเดี๋ยวนี้จะเป็นไปอย่างใส่ใจจดจ่อและรู้เอาเดี๋ยวนั้นตามที่มันเป็น เป็นพฤติกรรมการสนองตอบแบบ conscious behavior ไม่ใช่ compulsive behavior อีกต่อไปแล้ว นี่ไงละที่เป็นชีวิตในรูปแบบที่ส่วนลึกในใจของเราดิ้นรนแสวงหา คุณลองดูหน่อยสิ ลองใช้ชีวิตแบบนี้ในวันนี้ดู แล้ววันพรุ่งนี้ของคุณจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

         การจะทำอย่างนี้ได้คุณต้องหัด ทุกวันทุกคืนให้คุณฝึกหัดท่องบอกตัวเองว่ากายนี้ไม่ใช่คุณ ความคิดนี้ไม่ใช่คุณ ให้มันมีช่องว่างอยู่นิดหนึ่งระหว่างคุณกับร่างกาย และระหว่างคุณกับความคิด คุณเป็นผู้สังเกต ร่างกายและความคิดเป็นสิ่งที่ถูกคุณสังเกต คนเรากลัวสองอย่างเท่านั้นคือ กลัวทุกข์กายและกลัวทุกข์ใจ เมื่อมันไม่ใช่คุณ คุณก็จะไปทุกข์กับมันทำไมละ คุณก็แค่คอยสังเกต มันมาก็วางมันลง ทำอย่างนี้แหละ ทำอยู่เนืองๆ เมื่อวางความกลัวทุกข์กายทุกข์ใจลงได้หมดก็จะเหลือแต่ความรู้ตัวซึ่งเป็นชีวิตตัวจริง ณ ที่ตรงนี้คุณจะมีความกล้าออกเดินย่างแบบเต็มก้าว กล้าที่จะยอมรับและสำรวจเรียนรู้ชีวิตอันกว้างใหญ่ที่เดี๋ยวนี้ทีละช็อตๆโดยไม่ต้องถูกยั้งเพราะความกล้ว

         และผมบอกคุณก่อนว่าที่ตรงที่ผมเรียกว่า "ชีวิต" นี้ มันไม่มีหรอกนะว่านี่ชีวิตของผม นั่นชีวิตของคุณ แต่เดิมมันมีอยู่ว่านี่ร่างกายของผม นั่นร่างกายของคุณ นี่ความคิดของผม นั่นความคิดของคุณ แต่มันไม่มีหรอกว่านี่ชีวิตของผม นั่นชีวิตของคุณ เพราะชีวิตตัวจริงเมื่อปอกเอาความกลัวจะทุกข์กายทุกข์ใจออกไปแล้ว ก็เหมือนลมในลูกโป่งที่ผิวลูกโป่งแตกออก ลมนั้นจะกระจายไปอยู่ในส่วนไหนของอากาศภายนอกอันกว้างใหญ่คุณบอกไม่ได้ใช่ไหม ชีวิตก็เช่นกัน เมื่อมันหลุดจากสำนึกว่าเป็นบุคคลหรือ "อัตตา" ไปแล้ว มันไม่มีหรอกว่ามันเป็นชีวิตของใคร นี่แหละคือความหลุดพ้น

    นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

    [อ่านต่อ...]

    20 พฤษภาคม 2562

    ขอความรักบ้างได้ไหม?

    สวัสดีค่ะคุณหมอ
    หนูเป็นแฟนเพจในเฟสบุ้คของคุณหมอและติดตามอ่านเป็นประจำค่ะ
    หนูเปิดเจอคลิปท่านพุทธทาสโดยบังเอิญเมื่อปีที่แล้วค่ะ เนื่องจากวุ่นวายใจจากความรัก เมื่อได้มีโอกาสฟัง หนูคิดว่าชีวิตของตนสงบขึ้นและมองเห็นธรรมชาติที่เป็นมิตรกับตัวเองค่ะ หนูดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมาฟังจนหมด รวมทั้งเริ่มอ่านหนังสือด้วยค่ะ บ่อยครั้งที่หนูได้อ่านข้อเขียนจากคุณหมอ และหนูรู้สึกว่าแก่นของข้อเขียนนั้นมาจากความจริงเหมือนที่หนูได้เข้าใจจากท่านพุทธทาส หนูรู้สึกดีใจมากค่ะ
    หนูพอใจในชีวิตตัวเองทุกอย่างค่ะ แม้มีความไม่สมบูรณ์แบบบ้าง แต่ก็ไม่มีทุกข์ ยกเว้นเรื่องความรักค่ะ หนูไม่เคยมีความรักที่ผูกมัดเลยค่ะ ไม่เคยมีใครมามอบรักให้แบบคนรัก จะมีก็แต่แบบผ่านมาผ่านไป หนูอายุ 29 ปี ค่ะ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย กำลังจะเรียนต่อปริญญาเอกค่ะ หนูเคยคิดว่าการได้รับความรักจากผู้ชายสักคนเป็นสิ่งที่หนูต้องได้รับ เหมือนการรับปริญญา แต่บ่อยครั้งที่หนูผิดหวัง เพราะไม่ได้รับความรักและใส่ใจจากผู้ชายที่คบหาดูใจ ทุกครั้งที่ผิดหวัง หนูจะเป็นทุกข์มากค่ะ ร้องไห้ฟูมฟาย แต่คนรอบตัว ทั้งครอบครัวและเพื่อนก็เป็นกำลังใจให้หนููเสมอ
    หนูยังไขปริศนานี้ไม่ได้ค่ะ ทำไมหนูจึงไม่ได้เจอผู้ชายที่รักหนู ทำไมบางคนจึงเจอ หนูจะจัดการกับความกระวนกระวายใจเรื่อง "การไม่ได้เจอ" นี้อย่างไรดีคะ หนูอยากค้นหาความต้องการของตัวเองให้เจอ เผื่อหนูจะเข้าใจความจริงอีกข้อของชีวิตค่ะ
    ขอบพระคุณค่ะ
    ด้วยความเคารพอย่างสูง
    (ชื่อ) ........................
    ปล.
    คุณพ่อคุณแม่หนูหย่าขาด คุณพ่อเจ้าชู้ค่ะ สองปีมานี้หนูนัดพบสานสัมพันธ์จากแอปพลิเคชันหาคู่ ได้ศึกษาคุณหมอ 3 คนค่ะ ล้มเหลวไป 2 ส่วนคนปัจจุบันยังไม่แน่ใจค่ะ หนูเจ้าอารมณ์มาก กำลังพยายามปรับปรุง แต่ก็ไม่แน่ใจว่าคุณหมอรายนี้จะไปกันได้นานแค่ไหนค่ะ

    ............................................................

    ตอบครับ

         1. ถามว่าทำไมหนูจึงไม่ได้เจอผู้ชายที่รักหนู ทำไมบางคนจึงเจอ ตอบว่าคนที่จะได้พบกับความรัก หรือเป็นความรัก หรือถูกรักได้ จะต้องเป็นคนที่ไม่กลัวจะสูญเสีย หรือมีความพร้อม 100% ที่จะสูญเสีย "ตัวตน" หรือความเป็นบุคคลของตัวเองไป เพราะเมื่อหมดความหวงห่วงในตัวตนหรือความเป็นบุคคลของตัวเองไปจนหมดเกลี้ยงแล้วเท่านั้นแหละ สิ่งที่เรียกว่าความรักจึงจะปรากฎตัวให้เห็น

          แต่ถ้าคุณแสวงหาความรักแบบเข้าตลาดค้าขายแลกเปลี่ยน แบบที่เขาเรียกว่า barter trading สิ่งที่คุณจะพบก็คือการได้อย่างเสียอย่างทุกครั้งไป ถ้าคุณจะเอาแต่ได้ไม่ยอมเสีย ก็จะไม่มีใครยอมซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคุณ นี่มันเป็นธรรมดา

         2. ถามว่าหนูจะจัดการกับความกระวนกระวายใจเรื่อง "การไม่ได้เจอรัก" นี้อย่างไรดีคะ ตอบว่าตราบใดที่ความสุขของคุณไปขึ้นกับสิ่งภายนอกตัวคุณ ตราบนั้นชีวิตคุณก็แขวนอยู่กับสถานะการณ์ข้างนอกไม่มีเลิกจนแผ่นดินกลบหน้า คุณก็จะมัวแต่หวั่นไหวกับสิ่งภายนอกซึ่งคุณคุมไม่ได้ แล้วชีวิตคุณจะสุขได้อย่างไร คุณต้องเลิกพึ่งพาสิ่งนอกตัวก่อน สิ่งที่เรียกว่าความรักหรือความงามซึ่งมีอยู่ข้างในอยู่แล้วจึงจะฉายแสงออกมาให้คุณสัมผัสได้ ถ้าคุณสนใจชีวิต ชีวิตก็จะเบ่งบานในตัวคุณ แต่ถ้าคุณไม่สนใจชีวิต คราวนี้ชีวิตคุณจะไปทางไหนก็ไม่มีใครรู้ได้แล้ว เมื่อคุณหันเหความสนใจออกไปจากเดี๋ยวนี้คุณพลาดความงามที่เบ่งบานรอบตัวคุณไปเสียแล้ว แล้วชีวิตคุณจะเต็มอิ่มได้อย่างไร
     
        คุณกลัวขึ้นคานหาคู่ไม่ได้ ความกลัวเกิดขึ้นเพราะคุณมีชีวิตอยู่ในความคิด คุณไม่ได้มีชีวิตอยู่ในชีวิตซึ่งปรากฎตัวทีละขณะๆที่เดี๋ยวนี้ ถ้าคุณอยู่กับประสบการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นที่ตรงหน้าเดี๋ยวนี้ ความคิดทั้งหลายจะไม่มีที่อยู่ ความกลัวซึ่งก็คือจินตนาการถึงอนาคตที่ไม่มีอยู่จริงก็จะหายไปเอง

         ผมจะบอกความลับให้นะ ทุกคนสามารถมีชีวิตที่เบิกบานร้อยเปอร์เซ็นต์ในตัวเองด้วยตัวเอง แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จึงไปเสาะหาความเบิกบาน สมใจ หรือสะใจ ที่ข้างนอก คือไปสำคัญผิด (identify) ว่าความคิดเป็นตัวเอง จึงหมดโอกาสที่จะได้พบกับความเบิกบานซึ่งจะเกิดเมื่อได้ถอยความสนใจออกมาจากความคิดมาอยู่กับความรู้ตัวซึ่งเป็นตัวเองที่แท้จริง แต่นี่คุณคอยสร้างความคิดขึ้นมาแล้วพยายามคิดแยกแยะในสิ่งที่คุณก็ไม่เคยมีประสบการณ์จริงกับมัน คุณกำลังลอกเลียนสิ่งรอบตัวคุณ คุณลอกจากคนนี้นิด จากคนโน้นหน่อย เอามาปั้นเป็นตัวคุณเอง ดังนั้นคุณคือผลผลิตของสิ่งแวดล้อมรอบตัวคุณ ทำไมคุณไม่เลิกสร้างความคิดเสีย แล้วมีประสบการณ์กับของจริงที่ปรากฎอยู่ตรงหน้าทุกโมเมนต์อย่างเปิดใจยอมรับมัน

         อีกอย่างหนึ่ง คุณรู้ไหมขณะที่คุณได้ปลื้มเมื่อคุณพยายาม "เลือก" หรือ making choice คุณคิดว่าคุณมีอิสระเสรีจะเลือกอะไรก็ได้นั้น แท้จริงแล้วความอยากเลือกของคุณนั้นเป็นการถูกบังคับหรือถูกย้ำ (compulsion) ให้คุณจากฝีมือของประสบการณ์ในอดีตของคุณเอง ยกตัวอย่างเช่นคุณบอกตัวเองว่าฉันเลือกที่จะมี ผ. นี่เป็นการใช้ชีวิตเสรีของฉันเอง แต่ความเป็นจริงคือความอยากมี ผ. มันเกิดจากการเรียนรู้ในอดีตที่ผ่านมาแล้วฝังเป็นความคิดเชิงบังคับหรือย้ำให้คุณคอยคิด มันเป็นแค่ conditioned reflex ที่บงการโดยความคิดในอดีตของคุณเอง มันเป็นเพียงการใช้ชีวิตไปตามร่องเก่าบูดๆอับๆเดิมๆ ไม่ใช่การแสวงหาความรักที่เลิศลอยวิลิศมาหราอะไร บางครั้งความอยากมีคู่ครองก็เกิดจากความอยากบันเทิงเพื่อกลบเกลื่อนความบ้าหรือความว้าเหว่ข้างใน ถ้าไม่มีความบ้าข้างใน คนเราก็ไม่ต้องมีความอยากอะไร แค่นั่งมองหน่อไม้โผล่ขึ้นมากลายเป็นกอไผ่ก็มีความสุขแล้ว ไม่ต้องไปเสาะแสวงหาความบันเทิงอะไรอีกทั้งสิ้น

         อนึ่ง ถ้าคุณบอกตัวเองทุกวันว่าวันหนึ่งคุณจะต้องตายนะ คุณก็จะเคลื่อนเข้าไปใกล้การรู้สิ่งรอบตัวในมิติที่ลึกเข้าไปอีกหน่อยหนึ่ง เพราะการตระหนักว่าเราจะต้องตาย ร่างกายนี้วันหนึ่งต้องเน่าไป จะช่วยเปิดชีวิตสู่ปัญญาญาณอีกระดับหนึ่งที่อยู่เหนือความตายและการเน่าเปื่อย นั่นก็คือความรู้ตัว ซึ่งเป็นแหล่งของความสุขสงบเย็นที่แท้จริง

         3. ข้อนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมแถมให้ คือคุณอยากพบเจ้าชายในฝัน อยากมีคู่ คุณลองมีได้ ผมสนับสนุนนะ มันเป็นวิถีโลกิยะ (mundane) เป็นแรงดันของฮอร์โมน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ผมไม่ได้คัดค้าน ผมสนับสนุนให้คุณได้ใช้ชีวิตให้เต็มศักยภาพที่ชีวิตคุณเกิดมามี ซึ่งหากคุณอยากจะลองมีคู่จริงๆมันก็ไม่ใช่เรื่องยาก คุณก็ไปในที่ที่คนเขาอยากมี ม. อยู่กันแยะๆสิ เช่นค่ายทหารเป็นต้น (หิ หิ พูดเล่น) แต่ประเด็นสำคัญคือไม่ว่าคุณจะหมกมุ่นกับอะไรจริงจังมากมายแค่ไหนก็ตาม คุณต้องยั้งไว้นิดหนึ่งเสมอว่านั่นเป็นเพียง "ความคิด" หรือความเป็น "บุคคล" ของคุณเท่านั้นนะ ไม่ใช่คุณที่แท้จริง เหมือนคุณเล่นละครในบทบาทเจ้าหญิง เจ้าหญิงนั้นเป็นเพียงเจ้าหญิงในละคร คุณตัวจริงเป็นแค่ผู้รับจ้างเล่นละคร พอละครจบ คุณก็จะผลัดเสื้อผ้าไปจ่ายตลาดเตรียมทำอาหารเย็นแล้ว นั่นคือชีวิตจริงของคุณ เพราะคุณไม่ได้เป็นเจ้าหญิงจริงๆสักหน่อย ถ้าคุณอยากลองมีคู่ คุณต้องลองด้วยโลกทัศน์อย่างนี้คุณจึงจะไม่ต้องทุกข์ร้อนภายหลัง

    นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
    [อ่านต่อ...]

    17 พฤษภาคม 2562

    เมื่อพยาบาลเป็น stroke

    กราบเรียนท่านอ.สันต์ที่เคารพ
            หนูชื่อ ... เป็นพยาบาลอายุ 44 ปี นน. 68 สูง 162 Bp 120/70 ถูก Dx. เป็น strokeเมื่อเดือน ... ไปพบพ.ด้วยอาการพูดติดขัดขากรรไกรแข็งประมาณ 5 วินาทีแล้วอาการก็หายไปไม่มีอาการอ่อนแรงหรือชาที่ใดเลย MRI พบ lacuna infarction at rt. centrum พ.ค้นหาสาเหตุการเป็น เพราะไม่มีโรคประจำตัวใดๆผล lab ปัจจุบัน LDL158. HDL 60 chol. 232 Fbs. 100 bp120/70 อื่นๆผลปกติ แต่ผล protein s ต่ำกว่าปกติจึงตรวจซำ้รอผลวันที่17ตค.
       ยาที่ได้รับดังนี้ Asa 81mg  Applet ละลายลิ่มเลือด Trental 400 mg Sim 10 mg Ranitidine
       หนูไม่อยากทานยามาก เพราะทานแล้วเหนื่อยเพลียปวดตามขาไม่สุขสบายใน 2 เดือนแรกแต่ก็อดทนทานตาม พ. สั่งมาตลอด 3 เดือน เพื่อป้องกันการเป็นซ้ำแต่หลัง 3 เดือนหนูแอบหยุดยาเอง โดยทานแต่Asa 81 mg ตัวเดียว เพราะกลัวอันตรายจากยาก็เยอะมากเช่นกัน และอาการทั่วไปเป็นปกติดีค่ะ ดีกว่าตอนทานยามากหลายตัว และควบคุมอาหารมันเลี่ยงอาหารทานแป้งหรือนำ้ตาลโดยเฉพาะตอนเย็นบางทีหลังทานบ้างหากไม่มีอะไรทานแต่ไม่บ่อยนัก นน.ลดจาก 71 กก.เหลือ 68 กก.ในเวลา 2 เดือนค่ะ การออกกำลังกายยังน้อยอยู่ค่ะอาทิตย์ละ 1-2 วันโดยเดินและปั่นจยย.อยู่กับที่ จะทานไข่ทุกวันค่ะไม่ทราบทำถูกต้องหรือไม่ หนูต้องทำอย่างไรอีกบ้างคะ หนูอยากหาทางเลือกให้กับการดูแลรักษาโรคของตนเองบนความรู้ที่มากจริงๆแบบท่านอ.สันต์. ท่านอ.ได้โปรดกรุณาชี้แนะการปฎิบัติตัวที่ถูกต้องและแนะนำเรื่องยาเพื่อเป็นประโยชน์แก่ทุกๆท่านที่ได้อ่านและสำหรับหนูเองจักเป็นพระคุณอย่างสูงค่ะ
    สุดท้ายนี้หนูสนใจเข้าคอร์สของท่านอ.ค่ะอ.จัดวันไหนบ้างคะ
    ด้วยความเคารพอย่างสูง

    ..............................................................

    ตอบครับ

         ประเด็นที่ 1. การวินิจฉัยอัมพาตเฉียบพลัน (stroke)ด้วยตนเอง

         ขอถือโอกาสทบทวนความจำสำหรับคนทั่วไปก่อน ขอให้จดจำเกณฑ์วินิจฉัยอัมพาตเฉียบพลันหรือ สโตร้ค ที่เขียนเป็นคำย่อว่า FAST โดย

    F= facial drooping แปลว่าหน้าเบี้ยว ซึ่งจะทราบจากเวลาให้ยิงฟันหรือเวลายิ้ม

    A= Arm weakness แปลว่าแขนข้างหนึ่งอ่อนแรง เช่นยกไม่ขึ้น หรือหยิบจับอะไรแล้วหล่น

    S= Speech difficulties แปลว่าพูดไม่ชัดหรือไม่ได้

    T= Time แปลว่าเรื่องเวลาสำคัญเป็นนาทีทอง ยิ่งรีบไปรพ.ยิ่งรักษาเร็ว ยิ่งได้ผลดีเพราะฉีดยาละลายลิ่มเลือดได้ทัน แต่ถ้าเกิน 4 ชั่วโมงไปแล้วก็แทบไม่มีประโยชน์เลย

         อย่างกรณีคุณนี้เป็นตัวอย่างที่ดีให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นเอาอย่าง คือแค่พูดติดๆขัดๆเหมือนขากรรไกรแข็งคุณก็วินิจฉัยตัวเองได้แล้วว่าเป็นสโตร้ค สมกับเป็นพยาบาลระดับมืออาชีพ ผิดกับพยาบาลรุ่นพี่ของคุณท่านหนึ่ง นานมาแล้ว ในยุคก่อนที่เกณฑ์วินิจฉัย FAST นี้จะออกมา เธอมาปรึกษาผมว่าจะพาสามีไปหาหมอดีไหม ไปหาหมอไหนดี เขาไม่พูดกับเธอมาสองวันแล้ว เธอนึกว่าเขางอนเธอ เพราะเขางอนเธอประจำ แต่เขาไม่เคยงอนนานถึงสองวันทั้งๆที่เธอง้ออย่างสุดๆแล้ว ผมจึงบอกเธอว่าเขาเป็นสโตร้คไปเสียแล้วมั้ง ซึ่งการณ์ต่อมาเมื่อพาไปหาหมอและตรวจ CT สมองแล้วก็พบว่าเขาเป็นสโตร๊คไปเสียแล้วจริงๆ สองวัน ในมือของพยาบาลวิชาชีพ หิ หิ เชื่อหรือไม่

         ประเด็นที่ 2. โปรตีนเอส. (protein S) คืออะไร

         ตอบว่ามันคือโมเลกุลในร่างกายที่ทำหน้าที่ช่วยต้านการแข็งตัวของเลือด คนบางคนมีพันธุกรรมที่ทำให้โปรตีนตัวนี้ต่ำ เรียกว่าเป็นโรคขาดโปรตีนเอส (protein s deficiency) ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำได้ง่าย หลอดเลือดดำนะไม่ใช่หลอดเลือดแดง คือทำให้เป็นโรคที่เรียกว่าลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำส่วนลึก (deep vein thrombosis - DVT) ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับการเป็นสโตร้คของคุณ ซึ่งเป็นลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดแดงในสมอง กรณีของคุณนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับโปรตีนเอสต่ำ เพราะข้อมูลวิจัยในผู้ป่วยจริงถึงทุกวันนี้ยังไม่เคยหลักฐานมั่นเหมาะว่าโปรตีนเอสต่ำทำให้เกิดสโตร้ค

         ประเด็นที่ 3. แล้วสโตร้คของคุณเกิดจากอะไร

         ตอบว่าไม่มีใครทราบหรอกครับ ได้แต่เดาเอาว่ามันอาจจะเกิดจากปัจจัยเสี่ยงไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง วงการแพทย์แบ่งปัจจัยเสี่ยงอัมพาตออกเป็นสองกลุ่ม คือปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้ซึ่งส่วนนั้นคุณไม่ต้องไปรู้มันหรอก มาสนใจส่วนที่สองคือปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้ดีกว่า ได้แก่

    1. ความดันเลือดสูง
    2. สูบบุหรี่
    3. เป็นเบาหวาน
    4. กินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวมาก มีเนื้อสัตว์มาก
    5. ไม่ได้ออกกำลังกาย
    6. อ้วน
    7. ไขมันในเลือดสูง
    8. หลอดเลือดที่คอตีบ (carotid artery disease)
    9. หลอดเลือดส่วนปลายตีบ
    10. หัวใจห้องบนเต้นรัว (AF)
    11. โรคหัวใจอื่น เช่นหลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจล้มเหลว โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
    12. โรคเลือดที่ทำให้เลือดแข็งตัวง่าย
    13. ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนมาก

         ประเด็นที่ 4. เป็นสโตร้คแล้วควรทำตัวยังไงต่อไปดี 

         ตอบว่าคุณก็จัดการปัจจัยเสี่ยงทั้ง 13 ประการข้างต้นนั่นแหละครับ ซึ่งผมขอไฮไลท์แค่สี่ห้าเรื่อง คือ

         1.  กินอาหารกากใยและธัญพืชไม่ขัดสี (ข้าวกล้องแทนข้าวขาว) เพราะงานวิจัยทบทวนวรรณกรรมเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกากใยและธัญพืชไม่ขัดสีกับอุบัติการณ์อัมพาต พบว่ามีความสัมพันธ์กันในลักษณะแปรผันตามปริมาณที่บริโภค ยิ่งบริโภคอาหารกากและธัญพืชไม่ขัดสีมาก ยิ่งเป็นอัมพาตน้อย

         2. กินผักผลไม้ให้มาก เพราะงานวิจัยทบทวนวรรณกรรมเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอาหารผักผลไม้กับอุบัติการณ์อัมพาต พบว่ามีความสัมพันธ์กันในลักษณะแปรผันตามปริมาณที่บริโภค ยิ่งบริโภคผักผลไม้มากยิ่งเป็นอัมพาตน้อย

         3. อย่าอดนอน เพราะงานวิจัยพบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการอดนอนกับการเป็นอัมพาต ยิ่งมีเวลานอนน้อยกว่า 7-8 ชม. ยิ่งเป็นอัมพาตมาก

         4. อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ เพราะเมื่อร่างกายขาดน้ำ เลือดจะข้นหนืดไหลช้า จับตัวเป็นลิ่ม และเกิดอัมพาตได้ง่าย ข้อมูลยืนยันว่าการขาดน้ำเป็นเหตุหนึ่งของสโตร้คก็มีคนทำวิจัยไว้แล้วชัดเจนแน่นอน

         5. อย่าทำอะไรที่แหย่ให้หลอดเลือดหดตัวแรงๆ เพราะจะซ้ำเหงาให้เป็นอัมพาตเฉียบพลันง่ายขึ้น หลอดเลือดจะหดตัวแรงแบบไม่ยอมคลายง่ายๆเมื่อเยื่อบุผิวด้านในของหลอดเลือดผลิตกาซไนตริกออกไซด์ (NO) ไม่ได้ กาซนี้คอยทำให้หลอดเลือดขยายตัว พอไม่มีกาซนี้หลอดเลือดเล็กๆก็จะหดตัวฟ้าบ..บ ถ้าหดมากก็ถึงขั้นเลือดวิ่งไม่ไปและจับกันเป็นลิ่ม ปัจจัยที่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ได้มีสี่อย่างคือเมื่อ
    (1) ระดับไขมันในเลือดขึ้นสูงฉับพลัน โดยเฉพาะช่วงภายใน 6 ชม. แรกหลังกินอาหารมื้อมันๆหนักๆ
    (2) ระดับโซเดียมในเลือดสูง หมายความว่าเมื่อกินเค็ม เค็ม เค็ม ซ้ำซาก
    (3) มีความเครียดเฉียบพลัน หมายความว่า..ปรี๊ดแตก
    (4) สูบบุหรี่

         ประเด็นสำคัญคือคนเป็นสโตร้คแล้วครั้งหนึ่ง โอกาสจะเป็นครั้งที่สองจะสูงกว่าคนไม่เคยเป็นประมาณ 13% ในปีแรก ดังนั้นคุณต้องจริงจังก้บการป้องกัน วันนี้คุณได้เป็นพยาบาลทำหน้าที่ช่วยเหลือคนเจ็บไข้ เป็นชีวิตที่ดีที่คุณมีความสุขและภาคภูมิใจ แต่ถ้าคุณเป็นสโตร้คซ้ำๆเหน่งๆอีกสักครั้งเดียว คุณอาจจะต้องกลายเป็นคนไข้อัมพาตติดเดียง เป็นภาระให้คนอื่นเขามาดูแลหยอดน้ำหยอดข้าวให้คุณไปตลอดชีวิต คุณว่ามันสนุกไหมละ

         ประเด็นที่ 5. เรื่องการกินไข่กับการเกิดสโตร๊ค

         ตอบว่าข้อมูลความสัมพ้นธ์ตรงๆแบบเป็นเหตุเป็นผลกันระหว่างการกินไข่กับการตายจากโรคหลอดเลือด(ทั้งหัวใจและสมอง) ยังไม่มี มีแต่ข้อมูลเชิงระบาดวิทยาซึ่งยังขัดแย้งกันจนสรุปอะไรเป็นตุเป็นตะไม่ได้ ข้อมูลสุดท้ายที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร JAMA เมื่อเดือนมีค.ปีนี้ (2019) บ่งชี้ไปทางว่าการกินอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูงเช่นไข่มากทำให้มีไขมันเลว (LDL) สูงและตายจากโรคหลอดเลือดมากขึ้น พูดง่ายๆว่าไข่ไม่ดี ผมแนะนำว่าขณะที่ข้อมูลยังหลวมอยู่นี้ คุณจะกินไข่มากหรือไม่กินมากให้ดูที่ไขมัน LDL ในเลือดของคุณเป็นหลักดีที่สุด เพราะข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างไขมัน LDL ในเลือดกับอัตราตายนั้นชัดเจนแน่นอนแล้ว อย่างตัวคุณนี้ไขมัน LDL ในเลือดสูงจนหมอเขาสั่งให้ยาลดไขมัน คุณก็ควรจะอยู่ห่างๆไข่ไว้น่าจะดีกว่า แต่สำหรับท่านผู้อ่านท่านอื่นที่ไขมัน LDL ไม่ได้สูง การกินไข่ก็ไม่น่าจะมีผลเสียอะไร

    นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

    บรรณานุกรม

    1. ุZhong VW, Horn LV, Cornelis MC, et al. Associations of Dietary Cholesterol or Egg Consumption With Incident Cardiovascular Disease and Mortality. JAMA. 2019;321(11):1081-1095. doi:10.1001/jama.2019.1572
    [อ่านต่อ...]

    16 พฤษภาคม 2562

    CR-2..หมอสันต์ใจแคบกับวิธีรักษามะเร็งเกินไปหรือเปล่า

         วันนี้จะพูดถึงการเปลี่ยนแปลงวิธีทำแค้มป์รีทรีตฟื้นฟูผู้ป่วยมะเร็ง (Cancer Retreat)

         เมื่อผมทำแค้มป์รีทรีตฟื้นฟูผู้ป่วยมะเร็ง (Cancer Retreat - CR1) เมื่อปีที่แล้ว เมื่อผมเริ่มต้นด้วยการอารัมภบทกับสมาชิกแค้มป์ว่า "แค้มป์นี้ไม่ใช่แค้มป์ที่จะรักษามะเร็งให้หาย แต่เป็นแค้มป์ที่จะช่วยให้ทุกท่านเปลี่ยนทัศนคติต่อโรคมะเร็งและอยู่กับมันได้โดยไม่ทุกข์" พอจบชั่วโมงนั้นสมาชิกท่านหนึ่งก็มาเปรยกับผมว่า

         "คุณหมอสันต์ใจแคบกับวิธีรักษามะเร็งเกินไปหรือเปล่า"

         ความหมายของเธอคือผมจำกัดตัวเองอยู่แค่การแพทย์แผนปัจจุบันผ่าตัดฉายแสงเคมีบำบัดแบบคับแคบจนสรุปว่ามะเร็งที่จบการรักษาเหล่านี้แล้วหากไม่หายก็คือไม่หาย ผมจำได้ว่าได้แก้ตัวไปน้ำขุ่นๆว่าผมจำเป็นต้องอิงหลักฐานวิทยาศาสตร์เพราะผมเป็นแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ก็มีความตะหงิดในใจขึ้นมาสองประการ คือ

         (1) ที่ว่าเมื่อผ่าตัดฉายแสงเคมีบำบัดแล้วไม่หายก็คือไม่หาย ผมได้ศึกษาหลักฐานวิจัยครบถ้วนหรือยังก่อนที่จะสรุปอย่างนั้น 

         (2) การทำแค้มป์รีทรีตผู้ป่วยมะเร็งด้วยวิธีให้ดับความหวังว่าจะหายมาโฟกัสที่การยอมรับและอยู่กับมัน วิธีนี้มันทำให้ตัวผมเองสบายใจว่าไม่ได้ไปสร้างความหวังลมๆแล้งๆให้คนไข้  แต่ว่ามันมีวิธีช่วยผู้ป่วยที่ดีกว่านี้ไหม เช่นไม่ดับความหวัง ขณะเดียวกันก็ฝึกที่จะยอมรับและอยู่กับมันได้ด้วย

         การถูกคนไข้ตอกเอาตรงๆว่าผมใจแคบทำให้ความตะหงิดทั้งสองประการนี้ยังอยู่ในใจเรื่อยมาและผมก็ยังไม่มีเวลาเคลียร์มันสักที จนกระทั่งมีเพื่อนที่เป็นหมอมะเร็งส่งงานวิจัยของดร.เคลลี่ เทอร์เนอร์ (Dr. Kelly A. Turner) ซึ่งทำงานเกี่ยวกับผู้ป่วยมะเร็งและหนังสือที่เธอเขียนชื่อ Radical Remission ซึ่งผมขออนุญาตแปลว่า "หายแบบเย้ยฟ้าท้าดิน" มาให้อ่าน ผมอ่านจบแล้วก็รู้สึกว่าผมพอจะมีทางเคลียร์ความตะหงิดในใจของตัวเองได้แล้วละ แต่ก่อนอื่นขอผมเล่าสาระของงานวิจัยและหนังสือของเธอก่อนนะ ในแง่ของการวิจัยมันออกจะเป็นการวิจัยออกบ้านๆสักหน่อย คือย้อนรอยซักประวัติสัมภาษณ์ผู้ป่วยที่หายจากมะเร็งแบบเย้ยฟ้าท้าดินจำนวนพันกว่าคน โดยเธอนิยามการหายแบบเย้ยฟ้าท้าดินว่าเป็นกรณีใดกรณีหนึ่งต่อไปนี้

         1. มะเร็งหายไปเองโดยไม่ได้รักษาตามสูตรไม่ว่าจะเป็นผ่าตัดฉายแสงหรือคีโมเลย
         2. คนไข้รักษาตามสูตรผ่าตัดฉายแสงหรือคีโมอยู่แล้วไม่เห็นผลก็เลิก ไปเสาะหาการแพทย์ทางเลือก แล้วก็หาย
         3. คนไข้ควบการรักษาตามสูตรด้วยแอบใช้การแพทย์ทางเลือกด้วย แล้วก็หายแบบไม่รู้ว่าหายจากอะไร

         งานวิจัยของเธอสรุปออกมาได้ว่ามีปัจจัยอยู่ 75 ปัจจัยที่อาจจะเป็นเหตุให้มะเร็งหาย โดยที่มีอยู่ 9 ปัจจัยที่เกิดขึ้นซ้ำซากในคนไข้ที่หายหลายคนเรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อยดังนี้

    1. เปลี่ยนอาหารที่เคยกิน ไปกินอาหารที่ไม่เคยกิน ซึ่งส่วนใหญ่เน้นเพิ่มการกินผักผลไม้ เลิกเนื้อสัตว์ น้ำตาล นมวัว แป้งขัดขาว

    2. หันมารับผิดชอบดูแลตัวเองจริงจังโดยไม่หวังพึ่งใครอีกต่อไปแล้ว

    3. เชื่อและทำตามปัญญาญาณ (intuition) ของตัวเองโดยไม่ฟังคำทัดทานทักท้วงใดๆทั้งสิ้น

    4. ใช้พืชสมุนไพรในการรักษา

    5. ปลดปล่อยอารมณ์ขุ่นมัวที่ค้างคาอยู่ในใจ

    6. สร้างความคิดบวกและอารมณ์บวก

    7. เปิดรับความเกื้อกูลทางสังคมจากคนอื่น

    8. หันกลับไปหารากเหง้าทางจิตวิญญาณของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นศาสนาหรือความเชื่อก็ตาม

    9. บอกตัวเองได้อย่างหนักแน่นว่าทำไมจะต้องมีชีวิตอยู่ ทำไมจะต้องไม่ตาย

         แม้งานวิจัยของดร.เคลลี่จะเป็นแค่การสัมภาษณ์ผู้ป่วยแล้วบันทึกซึ่งเป็นหลักฐานวิจัยระดับต้องฟังหูไว้หู แต่ผมปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งเก้าประการข้างต้นนั้นมันมีอะไรที่มีสาระจริงจังซ่อนอยู่พอควร บางอย่างก็มีหลักฐานวิทยาศาสตร์เห็นๆเช่นยาเคมีบำบัดประมาณครึ่งหนึ่งก็สกัดมาจากพืชสมุนไพร แล้วพืชสมุนไพรที่วงการแพทย์ยังไม่รู้จักอีกเยอะแยะละจะไม่มีที่ให้ผลรักษามะเร็งบ้างเลยหรือ ปัจจัยอื่นๆนั้นก็รู้กันดีอยู่แล้วว่าล้วนมีผลเกื้อกูลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายซึ่งเป็นระบบที่เชื่อถือได้มากที่สุดที่จะทำให้มะเร็งหาย

         เมื่อใกล้กำหนดที่จะเปิดรีทรีตผู้ป่วยมะเร็งครั้งต่อไป (CR2) คือ 27-30 มิย.62 นี้ ผมพยายามคิดว่าทำอย่างไรจึงจะเอางานวิจัยของดร.เคลลี่มาสร้างประโยชน์กับคนไข้ให้ได้นอกเหนือจากที่ผมได้ทำอยู่แล้วใน CR1 ความจริงในทีมงานของผมก็มีทรัพยากรที่จะทำอะไรให้มากขึ้นได้อยู่ คือในเวลเนสวีแคร์เองมีทีมงานแพทย์แผนไทยที่เรียนจบปริญญาถือใบประกอบโรคศิลป์มาตรฐานอยู่ถึง 6 คน มีทั้งแพทย์แผนไทยคลาสสิกและแพทย์แผนไทยประยุกต์ คลินิกการแพทย์ทางเลือกที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องก็มีแล้ว แถมยังมีที่ปรึกษาเป็นหมออายุรเวดะจากอินเดียที่สามารถให้คำแนะนำเชิงลึกในส่วนของอายุรเวดะแก่แพทย์แผนไทยได้ด้วย องค์ความรู้เรื่องพืชสมุนไพรก็ได้สร้างไว้แยะพอควร ทั้งสวนสมุนไพรที่เชื่อมต่อกับอุทยานผักพื้นบ้านเฉลิมพระเกียรติของรัฐบาล ที่ อ.บึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี ก็ปลูกและเลี้ยงดูมาได้พักใหญ่แล้ว จนผอ.อุทยานฯพูดเป็นเชิงติดตลกแต่จริงจังกับผมว่า "เผื่อน้ำท่วมภาคกลางจนสวนนี้จมมิดน้ำ ผมจะไปเอาพันธ์พืชที่เวลเนสวีแคร์กลับมาปลูกใหม่นะ"

         ผมดูความพร้อมแล้วจึงได้ตัดสินใจปรับเปลี่ยนการทำรีทรีตฟื้นฟูผู้ป่วยมะเร็งครั้งที่ 2 นี้ให้แตกต่างจากครั้งที่ 1 เล็กน้อย กล่าวคือ 80% จะเหมือนเดิมในส่วนของ

    (1) การเปลี่ยนทัศนคติต่อโรค

    (2) การโฟกัสที่การจัดการความเครียดกังวล วางความคิด มาอยู่กับความรู้ตัว

    (3) การเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตเสียใหม่

    (4) โภชนาการแบบพืชเป็นหลักที่หลากหลายและไขมันต่ำ

    (5) การสร้างความบันดาลใจจากกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน

         นอกจากยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ข้างต้นซึ่งจะทำต่อไปเหมือนเดิมโดยผมในฐานะแพทย์แผนปัจจุบันเป็นผู้ดูแลแล้ว ใน CR2 นี้ ขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในแค้มป์ จะมีการเพิ่มการรักษามะเร็งด้วยพืชสมุนไพรตามหลักวิชาแพทย์แผนไทย โดยแพทย์แผนไทยที่มีใบประกอบโรคศิลป์ควบคู่กันไปด้วย นอกจากแพทย์แผนไทยซึ่งรับผิดชอบต่อการรักษาด้วยสมุนไพรนี้โดยตรงแล้ว ยังจะมีแพทย์อายุรเวดะจากอินเดียคอยให้คำปรึกษาแก่แพทย์แผนไทยในส่วนที่เกี่ยวกับความรู้อายุรเวดะของอินเดียด้วย

         ดังนั้นหน้าตาของรีทรีตฟื้นฟูผู้ป่วยมะเร็งครั้งใหม่ (CR2) จะเป็นดังนี้

         ตารางกิจกรรมรีทรีตฟื้นฟูผู้ป่วยมะเร็ง

         สถานที่: เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ (Wellness We care Center) มวกเหล็ก-เขาใหญ่

         วันเวลา: ครั้งที่ 2 วันที่  27-30 มิย.62

         วันแรก

    8.00-14.00
    Registration- Meet with doctor
    -ลงทะเบียนเข้าแค้มป์ เช็คอินเข้าห้องพัก
    -ซักประวัติตรวจร่างกายกับแพทย์แผนปัจจุบัน
    -ซักประวัติตรวจร่างกายกับแพทย์แผนไทย
    -จัดทำเวชระเบียนส่วนบุคคล
    -พักรับประทานอาหารว่างและอาหารกลางวันในขณะผลัดกันเข้าพบแพทย์

    14.00 - 16.00
    Getting to know each other ทำความรู้จักกันและเรียนรู้เรื่องโรคของกันและกัน

    16.00 – 16.30
    Tea break พักรับประทานน้ำชา

    16.30 - 17.30
    Briefing. Concept of cancer retreat
    - ยุทธศาสตร์ในการฟื้นฟูตนเองจากโรคมะเร็ง (นพ.สันต์)
    - ภาพรวมแผนการรักษามะเร็งของแพทย์แผนไทย (โดยแพทย์แผนไทย)
    - ภาพรวมแนวทางรักษามะเร็งแบบอายุรเวดะของอินเดีย (Dr.Joshi)
    18.00 - 20.30
    - กินยาสมุนไพรของแพทย์แผนไทย
    Dinner and peer support group activity อาหารเย็นและกิจกรรมผ่อนคลายกับกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน

         วันที่สอง

    06.30 - 08.00 น.
    Morning Ritual กิจวัตรยามเช้า สมาธิ โยคะ ไทชิ ฝึกกล้ามเนื้อ
    -Trace Element drink ดื่มเครื่องดื่มเทรซอีลีเมนท์
    - กินยาสมุนไพรของแพทย์แผนไทย

    08.00 - 9.30 น.
    รับประทานอาหารเช้า อาบน้ำ พักผ่อนส่วนตัว

    9.30 – 10.30 น.
    Immunity system ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายกับมะเร็ง

    10.30 - 11.00  น.
    Coffee Break พักดื่มกาแฟ

    11.00 - 12.00 น.
    Workshop. Awareness การวางความคิดกลับไปอยู่กับความตื่น

    12.00 - 14.00 น.
    Lunch Break พักรับประทานอาหารกลางวัน และพักผ่อนส่วนตัว

    14.00 – 15.00 น.
    Cancer Nutrition โภชนาการผู้ป่วยมะเร็ง

    15.00 – 15.30 น.
    Workshop. Body scan and Tai Chi ฝึกตามดูเวทนา และฝึกไทชิขั้นละเอียด

    15.30 - 16.00 น.
    Coffee Break พักรับประทานน้ำชา

    16.00 - 18.00 น.
    Workshop. Microgreen and sprout การปลูกและใช้ต้นอ่อนและเมล็ดงอก

    18.00 - 20.30
    - กินยาสมุนไพรของแพทย์แผนไทย
    Dinner & Group activities รับประทานอาหารเย็นและผ่อนคลายกับกลุ่ม

         วันที่สาม

    06.30 - 08.00 น.
    Morning Ritual กิจวัตรยามเช้า สมาธิ โยคะ ไทชิ ฝึกกล้ามเนื้อ
    -Trace Element drink ดื่มเครื่องดื่มเทรซอีลีเมนท์
    - กินยาสมุนไพรของแพทย์แผนไทย

    08.00 - 9.30 น.
    รับประทานอาหารเช้า อาบน้ำ พักผ่อนส่วนตัว

    9.30 – 10.30 น.
    Nervous system and stress ระบบประสาทและความเครียด
    Total Life Change เปลี่ยนชีวิตอย่างสิ้นเชิง (นพ.สันต์)
    10.30 - 11.00  น.
    Coffee Break พักดื่มกาแฟ

    11.00 - 13.00 น.
    Workshop. PBWF cooking การทำอาหารพืชเป็นหลักไขมันต่ำและอาหารกลืนง่าย

    13.00 - 14.00 น.
    Lunch Break พักรับประทานอาหารกลางวัน และพักผ่อนส่วนตัว

    14.00 – 15.00 น.
    Balance exercise ฝึกซ้อมการทรงตัว เตรียมความพร้อมก่อนไปเดินป่า

    15.00 – 16.00 น.
    Coping with pain การรับมือกับอาการปวด

    16.00 - 16.15 น.
    Coffee Break พักรับประทานน้ำชา

    16.15 - 18.00 น.
    Workshop. Herb garden tour ทัวร์สวนสมุนไพร (ฟาร์ม)

    18.00 - 20.30
    - กินยาสมุนไพรของแพทย์แผนไทย
    Dinner & Group activities
    รับประทานอาหารเย็นและร้องเพลงผ่อนคลายกับกลุ่ม

         วันที่สี่

    06.30 - 08.00 น.
    Morning Ritual กิจวัตรยามเช้า สมาธิ โยคะ ไทชิ ฝึกกล้ามเนื้อ
    -Trace Element drink ดื่มเครื่องดื่มเทรซอีลีเมนท์
    - กินยาสมุนไพรของแพทย์แผนไทย
    - Bush walk กิจกรรมเดินป่า

    08.00 - 9.30 น.
    รับประทานอาหารเช้า อาบน้ำ พักผ่อนส่วนตัว

    9.30 – 10.30 น.
    Living with cancer เรียนรู้เทคนิคดีๆจากประสบการณ์ของผู้เปลี่ยนชีวิตตัวเองได้เมื่อรู้ว่าเป็นมะเร็ง

    10.30 - 11.00  น.
    Coffee Break พักดื่มกาแฟ

    11.00 - 12.00 น.
    Peer to peer sharing แชร์ประสบการณ์เทคนิคการวางคิด (ความคาดหวังและความกลัว) ในกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน

    12.00 - 14.00 น.
    Lunch Break พักรับประทานอาหารกลางวัน และพักผ่อนส่วนตัว

    14.00 – 1600 น.
    Personal consultation นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ตอบคำถามและให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพส่วนตัวเป็นรายคน รวมทั้งปรึกษาผลแล็บ เอกซเรย์และผลการตรวจพิเศษต่างๆ โดยผู้ร่วมแค้มป์ท่านอื่นสามารถนั่งฟังและร่วมแชร์ความรู้และประสบการณ์กันในห้องได้

    16,00         
    ปิดแค้มป์
               
    ค่าลงทะเบียน

         ท่านละ 9,000 บาท รวมอาหารทุกมื้อ ที่พัก อุปกรณ์การเรียน แต่ไม่รวมค่าเดินทางยังเวลเนสวีแคร์ (ผู้เรียนต้องเดินทางไปเอง) ที่พักนอนคู่สองคนต่อห้อง

    วิธีลงทะเบียนเข้าเรียน

       ลงทะเบียนผ่านเว็บไซท์ได้ที่

    https://www.wellnesswecare.com/th/program/good-health-by-yourself-th/13 ถ้าไม่สำเร็จให้โทรศัพท์หาคุณเอ๋ย (เชิญขวัญ) ที่เบอร์ 0636394003

    การเตรียมตัวไปเข้าคอร์ส

         แนะนำให้เตรียมเครื่องแต่งกายที่ออกกำลังกายสะดวก ควรมีรองเท้าผ้าใบที่เดินบนพื้นหินขรุขระได้ และควรมีหมวกกันแดด และครีมกันแดด

    การเดินทางไปเข้าคอร์ส

         สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว รถตู้กทม.-มวกเหล็ก หรือรถไฟ (ลงสถานีมวกเหล็ก) ในกรณีเดินทางด้วยรถตู้หรือรถไฟ ต้องหารถรับจ้างจากตลาดมวกเหล็กเข้ามาส่ง ค่ารถมอเตอร์ไซค์ส่งจากตลาดราว 120 บาท ที่เวลเนสวีแคร์ ซึ่งตั้งอยู่ในมวกเหล็กวาลเลย์ อยู่ห่างจากตลาดมวกเหล็กราว 4 กม. อาจให้รถตู้จากกทม.แวะเข้ามาส่งก็ได้โดยต้องเพิ่มเงินให้เ้ขาประมาณ 120 บาท ในกรณีที่จะให้เวลเนสวีแคร์ช่วยระสานงานหารถรับจ้างเหมาไปจากกทม. ต้องติดต่อล่วงหน้า ค่าจ้างแทกซี่ 1,500 บาทเฉพาะขาไปจากกทม.ขาเดียว หรือ 3,000 บาทสำหรับการไปส่งแล้วไปรับกลับกทม. เวลเนสวีแคร์ไม่มีบริการขนส่ง ต้องจัดหาเอง

    นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
    [อ่านต่อ...]

    15 พฤษภาคม 2562

    ปฐม ก. กา สู่ความหลุดพ้นสำหรับคนวัยทำงาน

    สวัสดีครับ อาหมอ
         ผมอ่านบทความของอาหมอ แล้วเข้าใจการใช้ชีวิตมากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่า เราจะวางความคิดลงได้อย่างไร ในเมื่อเรายังมีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง เช่น ครอบครัว ลูก เป็นต้น เพราะบางครั้งเราก็ยังมีความเป็นห่วงอยู่ จะมีวิธีคิดอย่างไรให้เราสบายใจไม่เป็นห่วงมากจนเกินไป ถ้าเราตัวคนเดียวความข้องใจนี้คงหมดไป
    รบกวนอาหมอช่วยแนะนำด้วยครับ
    จาก คนที่ยังวางความคิดได้ไม่หมด

    ...............................................................

    ตอบครับ

         วันนี้หยิบคำถามเบสิกขึ้นมาตอบบ้างนะ ไม่เฉพาะสำหรับผู้แสวงหาหน้าใหม่เท่านั้น แต่ยังเผื่อฟลุ้คว่าหน้าเก่าที่ก้าวหน้ามากแล้วแต่ติดแหง็กอยู่ที่ไหนสักแห่งไปต่อไม่ได้ อ่านแล้วอาจจะได้คิดอะไรบางอย่างที่มีประโยชน์กับตัวเองขึ้นมา

         ประเด็นที่ 1. ภาพใหญ่ของการใช้เวลา

         ชีวิตคนเราวันหนึ่งมี 24 ชั่วโมง คือ

         เวลานอน ราว 8 ชั่วโมง
         เวลาทำงาน อีกราว 8 ชั่วโมง คือทำจริงบ้างไม่ทำจริงบ้างนับหมด
         เวลาอื่นๆนอกเวลาทำงาน มีอยู่ราว 8 ชั่วโมง เวลาเหล่านี้เราใช้ทำกิจอื่นเช่นอาบน้ำ แปรงฟัน กินข้าว เดินไปเดินมา ขับรถ ขี้นรถเมลหรือเรือบิน หรือทำเรื่องไร้สาระอื่นๆที่ไม่ใช่การทำงาน นี่คือภาพใหญ่ของเวลาคนเราที่มีในหนึ่งวัน

         ในการจะวางความคิดนั้นให้คุณโฟกัสที่เวลาอื่นๆนอกเวลาทำงานก่อน เอาแค่เนี้ยะ อย่าไปยุ่งกับเวลาทำงานหาเงินหรือเลี้ยงดูลูกเมีย เอาแค่เวลาที่ว่างจากการทำงานก่อน คุณจะได้ไม่อ้างได้ว่าเอาแต่ทำงานจะเอาเวลาที่ไหนมาวางความคิด

         ถ้าแค่นี้คุณก็ยังไม่ได้ ผมต่อรองขอให้คุณเริ่มต้นด้วยการเจียดเวลาส่วนตัวออกมาวันละครึ่งชั่วโมงก่อน เอาแค่นี้ก็ได้ แค่วันละครึ่งชั่วโมง เพื่อการหัดวางความคิด ถ้าแค่ครึ่งชั่วโมงคุณก็ยังยอมไม่ได้ก็จบข่าว เลิกพูดกันดีกว่า หันมาทำใจตามภาษิตชาวบ้านที่ว่า ..สัตว์โลก ย่อมเป็นไปตามกรรม

         ประเด็นที่ 2. การทำงานก็เป็นเครื่องมือวางความคิด

         ที่คุณอ้างว่าคุณทำงานเลี้ยงดูลูกเมียมากเหลือเกินนั้น จริงๆแล้วคุณทำงานจริงหรือเปล่า ก่อนจะพูดกันต่อไปผมขอพูดถึงหลักการทำงานที่เป็นของจริงก่อนนะ ไม่ว่าจะทำงานอะไร คนเดียวหรือหลายคน ผมมีคุณวุฒิที่จะพูดเรื่องนี้ได้อยู่บ้าง เพราะผมเองเคยเป็นทั้งผู้บริหารสูงสุดขององค์กรธุรกิจมาก่อน และเคยเป็นทั้งอาจารย์สอนวิชาบริหารในระดับปริญญาโทมาด้วย ดังนั้นผมขอใช้สิทธิพูดถึงวิธีการทำงานสักหน่อย คือในการทำงานไม่ว่างานอะไร ใหญ่หรือเล็ก เรามีวิธีทำอยู่เจ็ดขั้น

         ขั้นที่ 1. เราวาดภาพใหญ่หรือ วิสัยทัศน์ (vision) ของชีวิตหรือโลกที่เราอยากเห็นอยากให้เป็นขึ้นมาก่อน

         ขั้นที่ 2. แล้วเราก็กำหนดลงเป็นทิศทางหรือ พันธกิจ (mission) ว่าชีวิตเรานี้หรือองค์กรของเรานี้จะมีอยู่เพื่ออะไร

         ขั้นที่ 3. เราลงมือ ตั้งเป้าหมาย (set goal) ในมิติของเวลาว่าเมื่อถึงวันนั้นเวลานั้น เรามีเป้าหมายว่าจะทำอะไรให้สำเร็จบ้าง เพื่อให้บรรลุพันธกิจใหญ่ที่ตั้งไว้ในระยะยาว

         ขั้นที่ 4. เรานั่งลง วางแผน (planning) โดยระบุลงไปว่าเราจะมีกี่ขั้นตอน อย่างเช่นเราจะปูแผ่นหินเป็นทางเดินลัดสนามหญ้า เราก็วางแผนว่าเราจะปูแผ่นที่หนึ่งก่อน แล้วค่อยปูแผ่นที่สอง แล้วค่อยปูแผ่นที่สาม

         ขั้นที่ 5. แล้วเราก็ มอบหมายงาน (delegation) ถ้างานมีเราทำอยู่คนเดียวก็ง่าย คือเราเหมาหมด แต่ถ้าเราเป็นผู้บริหาร มีลูกน้อง เราก็มอบหมายให้คนนี้ทำงานนี้ คนนั้นทำงานนั้น

         ขั้นที่ 6. แล้วเราก็ ตามไปจี้จิก (supervision) นี่เป็นขั้นตอนการลงมือทำ ถ้าเราทำอยู่คนเดียวก็แค่ตามดูตัวเองว่าทำไปถึงไหนแล้ว แต่ถ้าใช้ให้ลูกน้องทำอาจจะยากขึ้นไปอีกหน่อย เพราะการกำกับตรวจสอบลูกน้องนั้นมันต้องมีเทคนิคบ้างเพราะลูกน้องเป็นคนที่มีสัญชาติญาณมีความคิดความอ่านของเขาเองไม่ใช่ลูกกะโล่ที่เราสั่งคำไหนแล้วจะเป็นคำนั้น นอกจากนั้นการตามงานอาจจะต้องใช้เครื่องมือกันลืม ตั้งแต่บันทึกกันลืม (to do list) ไปจนถึงตารางตามงานที่ระบุว่ามอบหมายให้ใครไปทำอะไรจะเสร็จเมื่อไหร่ ที่เรียกกันติดปากในภาษาบริหารว่า Gantz Chart

         ขั้นที่ 7. เราต้อง ประเมินผล (evaluation) การประเมินนี้ก็เพื่อการพัฒนา ต้องประเมินทุกแง่ทุกประเด็นไม่ใช่แค่ประเมินความสำเร็จของงาน ยังต้องประเมินแผนที่วางไปว่าเข้าท่าไหม ประเมินคนคือลูกน้องแต่ละคนว่าใครมีจุดอ่อนจุดแข็งที่จะต้องปรับปรุงอย่างไรแล้วแจ้งให้เขาทราบ จะมีการให้รางวัลหรือลงโทษก็ว่ากันไปตามความจำเป็น หัวหน้าจำนวนมากไม่กล้าประเมินลูกน้องเพราะกลัวลูกน้องไม่รัก..เวรกรรม ที่แย่ยิ่งไปกว่านั้นคือคนเรามักไม่กล้าประเมินตัวเองเพราะกลัวอัตตาเขาจะโกรธเอาที่ไปว่าเขาโง่..เวรกรรมอีกเหมือนกัน

         ในแต่ละขั้นตอนที่เราทำงาน เราทำอย่างจดจ่อตั้งใจ แน่นอนต้องมีการใช้จินตนาการ ใช้ความคิดวินิจฉัยจนเราวางแผนได้สำเร็จและเขียนลงไปเป็นขั้นตอนปฏิบัติได้ พอมาถึงขั้นตอนปฏิบัติ เราก็ลงมือปฏิบัติอย่างจดจ่อ เมื่อเราปฏิบัติขั้นที่ 1 เรามุ่งอยู่แต่การทำขั้นที่ 1 ให้สำเร็จ ไม่ไปคิดกังวลข้ามช็อตไปถึงขั้นที่เจ็ด ขั้นที่สิบ หรือขั้นสุดท้าย เรา concentrate นี่คือสมาธิ ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการไปสู่ความหลุดพ้น แบบว่าทำไปทีละขั้น ทีละขั้น one thing at the time เมื่อลงมือทำอะไรแล้วไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ก็ต้องทำให้จบและสรุปงานกับตัวเองให้ได้ว่าเรื่องนี้จบแล้ว เช่นตื่นนอนก่อนจะลุกไปก็ปูที่นอนให้เรียบร้อยเสียก่อนพร้อมกับบอกตัวเองว่าเราจบการนอนแล้ว การสรุปกับตัวเองตอนจบของแต่ละเรื่องที่ทำไปเป็นเทคนิคการสร้างจิตตานุภาพ (will power) ว่าตัวเรานี้จะทำอะไรก็ทำได้สำเร็จ เหมือนกับการสร้างกล้ามเนื้อให้กับจิตของเรา ดังนี้แม้ในการทำงานหากทำให้เป็นคือวางความคิดไปจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำจากต้นจนจบก็เป็นเครื่องมือช่วยวางความคิดฟุ้งสร้านอยู่ในที ถ้าคุณอ้างว่าคุณทำงานแล้วฟุ้งสร้านมาก วางความคิดไม่ได้ คุณทำงานไม่เป็นแล้ว เพราะคุณมัวไปกังวลกับผลลัพท์แทนที่จะจดจ่อกับกระบวนการทำ ผลสุดท้ายก็คือเละตุ้มเป๊ะเอาดีไม่ได้ คุณต้องจดจ่อกับกระบวนการทำที่ตรงหน้า โดยถือไว้ก่อนว่าผลลัพท์จะเป็นศูนย์ก็ไม่ไปกังวลสนใจ (focus on process, zero result) แล้วผลสุดท้ายมันจะออกมาดีเอง

         ประเด็นที่ 3. ขั้นตอนการฝึกวางความคิดนอกเวลาทำงาน นอกเวลาทำงาน เป็นนาทีทองของชีวิต ให้คุณใช้ทุกเวลานาทีไปกับการฝึกวางความคิด ซึ่งผมแนะนำเบสิกให้คุณง่ายๆ 4 ขั้นตอน โดยไม่อิงหรือเกี่ยวข้องกับศาสนาใด ดังนี้

         ขั้นที่ 1. ให้คุณเริ่มถอยความสนใจออกมาจากความคิด มาอยู่กับลมหายใจก่อน พูดง่ายๆว่าให้สังเกตลมหายใจ เผลอคิดก็ถอยออกมาจากความคิดซะ มาสนใจลมหายใจแทน อย่างน้อยให้รู้ว่าตอนนี้กำลังหายใจเข้า หรือตอนนี้กำลังหายใจออก ทำอย่างนี้ไปจนความคิดค่อยๆบางลง ขั้นตอนนี้ต้องลงทุนลงแรงมากหน่อยนะ เพราะความคิดของคนเรานี้มันยิ่งกว่าลิง ให้คุณเอาความสนใจของคุณเป็นผู้สังเกต ให้ความคิดและลมหายใจเป็นสิ่งที่ถูกสังเกต ใหม่ๆความคิดกับลมหายใจจะแย่งซีนกัน คุณต้องถือหางลมหายใจเสมอ อย่าเผลอยอมพวกลิง เพราะ จับตัวนี้วางลง ตัวนั้นมาอีกละ หันไปจับตัวนั้นวาง ตัวเดิมกลับมาใหม่อีกแล่ว แต่อย่าท้อถอย ให้พากเพียรพยายามไป จงใจเลือกสนใจแต่ลมหายใจ selective attention ในที่สุดความสนใจก็สามารถจดจ่ออยู่ที่สิ่งเดียวได้เป็นเวลานานพักใหญ่
     นี่คือสมาธิ ตรงนี้ต้องขยันทำ ต้องทุ่มเท

         เพราะมันเป็นขั้นตอนที่ยิ่งใหญ่และสำคัญมาก เพราะความคิดนั้นมีแบ้คอัพที่แข็งแรงคือวงจรสนองตอบอัตโนมัติที่มีความจำในอดีตเป็นตัวขับเคลื่อน (conditioned reflex) ความจำนี้อาจถอยลึกไปถึงพันธุกรรมหรืออะไรกรรมๆเก่าๆทั้งหมดด้วย ขั้นตอนนี้คือการตัดทอนพลังของกรรมๆเก่าๆให้หมดพลังขับเคลื่อน โผล่มาก็จับวาง โผล่มาก็จับวาง พากเพียรทำไป ในที่สุดก็จะทำได้เอง มันไม่ใช่ศาสตร์ลึกลับอะไร แต่คนส่วนใหญ่มาจอดตายอยู่ตรงขั้นตอนนี้เพราะไม่พยายามมากพอในที่สุดก็เลยต้องยอมตัวเป็นลูกไล่ของพวกลิงไปตลอดชีวิต นั่นก็คือหมดโอกาสหลุดพ้นอย่างถาวร อนึ่งการทำอย่างนี้มันเป็นการทำชีวิตของคุณให้ง่ายขึ้นด้วยนะ คุณลดความคิดลง เท่ากับว่าคุณ simplify ชีวิตของคุณ คุณก็เบาลงแล้ว ยังไม่ทันหลุดพ้นจริงจังคุณก็เบาแล้ว

         ขั้นที่ 2. ให้คุณหัดผ่อนคลายร่างกาย (relaxation) พูดง่ายๆว่าสั่งกล้ามเนื้อให้คลายตัว กล้ามเนื้อแขนขาลำตัวของเรานี้เราสั่งมันได้ ให้คุณหายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้สักพัก เวลาหายใจออกให้ผ่อนลมหายใจออกทางปากช้าๆแล้วสั่งให้กล้ามเนื้อทั่วตัวผ่อนคลายตั้งแต่หัวจรดเท้า ลองเอาความสนใจไล่สำรวจดู ตรงไหนตึงหรือเกร็งมากก็สั่งให้ตรงนั้นผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ เมื่อไหร่ที่เครียดก็หายใจเข้าลึกๆ เป่าลมหายใจออกทางปากช้าๆ ผ่อนคลาย relax..x....x ทำอย่างนี้เป็นการยิงนกทีเดียวได้สองตัว

         นกตัวที่หนึ่ง คือการผ่อนคลายกล้ามเนื้อเป็นการช่วยวางความคิด เพราะความคิดของคนเรานั้นมีสองขา ขาหนึ่งเป็นเนื้อหาสาระของความคิด อีกขาหนึ่งเป็นอาการตึงเกร็งของร่างกาย คุณลงมือที่ขาหนึ่ง อีกขาหนึ่งก็เปลี่ยนตาม คุณผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ความคิดก็จะถูกวางลงไปโดยอัตโนมัติ

         นกตัวที่สอง คือการผ่อนคลายกล้ามเนื้อเป็นการลดกระแส (impulse) ไฟฟ้าในเส้นประสาทที่วิ่งจากสมองไปยังกล้ามเนื้อ ไฟฟ้านี้มันแรง หากมันวิ่งอยู่มันจะกลบพลังงานในรูปแบบคลื่นความสั่นสะเทือนอื่นๆที่ละเอียดกว่าเช่นพลังชีวิต (energy body) ไม่ให้คุณรับรู้ได้ แต่หากไฟฟ้าในเส้นประสาทนี้ลดลง สนามมันจะว่างจนคุณรับรู้พลังชีวิตของคุณในขั้นต่อไปได้ง่ายขึ้น

         ขั้นที่ 3. คือการถอยความสนใจจากร่างกายชั้นนอกไปอยู่กับชั้นของพลังชีวิต ตรงนี้เป็นอะไรที่คุณต้องใจเย็นๆทำความเข้าใจ แล้วเอาไปทดลองปฏิบัติ แล้วค่อยประมวลว่าอะไรเป็นอะไร อย่าประเมินเอาจากความคิดเชิงตรรกะ เพราะสิ่งที่ผมจะพูดถึงต่อจากนี้ไป ไม่อาจประเมินเอาได้จากความคิดเชิงตรรกะ ต้องประเมินเอาจากการมีประสบการณ์จริงเท่านั้น

         ก่อนอื่นให้คุณเข้าใจคอนเซ็พท์ที่เป็นพื้นฐานของกิจกรรมขั้นนี้ก่อน ว่าชีวิตเรานี้มันซ้อนกันเป็นชั้นๆจากหยาบลงไปถึงละเอียดหลายชั้น แต่ผมจะพูดถึงแค่สองชั้น คือ ชั้นนอกสุดคือร่างกายที่เป็นเนื้อตันๆนี้ (รูป หรือ physical body) เป็นชั้นที่มีขอบเขตชัดเจนคือผิวหนังที่หุ้มรอบอยู่นี้ ชั้นถัดเข้าไปคือชั้นของพลังชีวิต (energy body) ซึ่งเป็นพลังงานที่ภาษาแขกเรียกว่า "ปราณา" และภาษาจีนเรียกว่า "ชี่" ชั้นนี้เป็นพลังงานที่ซ้อนร่างกายอยู่แต่ซ้อนกันแบบไม่มีขอบเขตชัดเจนเพราะมันเป็นแค่พลังงานเหมือนกับก้อนหมอกหรือก้อนเมฆที่หาขอบเขตชัดๆไม่ได้ แล้วเราจะไปจับต้องหรือมองเห็นมันก็ไม่ได้ แต่เราสามารถรู้สึกหรือ feel การมีอยู่ของมันได้ผ่านความรู้สึกบนร่างกายที่ภาษาบาลีเรียกว่า "เวทนา (feeling)" ในลักษณะของความรู้สึกวูบๆวาบๆจิ๊ดๆจ๊าดๆเหน็บๆซ่าๆหรือขนลุกขนชันบนผิวหนัง การฝึกรับรู้เวทนานี้คุณต้องหัดลาดตระเวณความสนใจของคุณไปบนผิวหนังทั่วร่างกาย (body scan) ลาดตระเวณไปพลางก็ใส่ใจรับรู้ความรู้สึกในบริเวณนั้นไปพลาง กิจกรรมที่คุณจะฝึก body scan ได้ง่ายก็เช่นการรำมวยจีน และการฝึกโยคะผสมสมาธิ เป็นต้น

         ใหม่ๆคุณทำ body scan ไปทีละส่วนของร่างกาย พอชำนาญเข้าคุณก็ลาดตระเวณตูมเดียวทั่วตัวในหนึ่งลมหายใจ รับรู้พลังชีวิตว่าเป็นกลุ่มก้อนของพลังงานโดยทิ้งความรับรู้ร่างกายที่เป็นเนื้อตันๆนี้ไปเสีย อย่าลืมว่าคุณต้องรู้สึก (feel) เอานะ ไม่ใช่คิด (think) เอา เพราะเรากำลังจะออกจากโลกของความคิดที่มีภาษากำกับ ไปสู่โลกของพลังงานความสั่นสะเทือนที่ทุกอย่างต้อง feel เอาโดยไม่มีความคิดหรือภาษากำกับ เมื่อทำได้แล้วให้คุณปักหลักความสนใจของคุณอยู่ที่พลังชีวิตนี้เป็นอาจิณ จะกลับออกไปคิดก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นในเรื่องการงานและการใช้ชีวิตเท่านั้น มาถึงจุดนี้คุณจะเริ่มพบว่าการเอาความสนใจมาไว้ที่พลังชีวิตนี้มันเป็นที่ที่สงบเย็น ไม่ต้องไปอินังขังขอบเดือดเนื้อร้อนใจอะไรกับความคิดซึ่งอยู่ข้างนอก แม้กระทั่งร่างกายที่เป็นเนื้อตันๆนี้เมื่อมันได้รับบาดเจ็บหากคุณอยู่ตรงพลังชีวิตนี้คุณก็จะรู้สึกว่าคุณไม่ได้อินังขังขอบกับร่างกายเนื้อตันๆนัก พูดง่ายๆว่ามาถึงขั้นนี้คุณได้เริ่มย้าย "องค์" ของคุณจากที่เป็นร่างกายตันๆมาเป็นพลังชีวิตแทน ตรงนี้เป็นการเริ่มต้น shift of identity อย่างเนียนๆที่สำคัญมาก เพราะส่วนที่หินที่สุดของการวางตัวตนก็คือการวางร่างกายตันๆนี้ว่าไม่ใช่เรา แม้จะเป็นของเรา แต่ก็ไม่ได้เป็นเรา และวันหนึ่งเราก็ต้อง "คืน" ร่างกายนี้ให้กับผืนดินซึ่งเป็นที่มาของมันไป

         ขั้นที่ 4. สามประสาน เมื่อคุณปักหลักเอาพลังชีวิตเป็นบ้านหรือเป็นที่จอดของความสนใจได้ชัดเจนแน่นอนดีแล้ว ขั้นต่อไปเป็นขั้นที่ผมตั้งชื่อเรียกเองว่าขั้น "สามประสาน" สามอย่างที่จะประสานกันนี้มีอะไรบ้าง มีดังนี้

        ตัวประสานที่ 1. คือ ความสนใจ (attention) หรือสตินั่นแหละ

        ตัวประสานที่ 2. คือ พลังชีวิต (energy body) หรือปราณา หรือชี่ สุดแต่จะเรียก

        ตัวประสานที่  3. คือ พลังงานจากข้างนอก (grace) ตรงนี้ขออธิบายเพิ่มเติมหน่อยนะ คำว่า grace นี้ตรงกับคำภาษาสันสกฤตว่า "กรุณา" ดังนั้นหากผมจะใช้คำภาษาไทยว่า "พลังเมตตา" ก็น่าจะพออนุโลมความหมายว่าตรงกันได้ มันเป็นพลังงานเย็นๆจากภายนอกที่หลั่งมาเองเหมือนฝนที่โปรยให้กับทุกชีวิตเสมอหน้ากัน คุณยังไม่ตัองวินิจฉัยตัดสินด้วยความคิดเชิงตรรกะตอนนี้หรอกว่ามันมีอยู่จริงหรือไม่ แต่เอาไว้ให้คุณได้มีประสบการณ์กับตัวเองแล้วค่อยสรุปเอาเองภายหลังว่ามันมีหรือไม่มี

         เอาละ คราวนี้คุณมาฟังคอนเซ็พท์ก่อนว่าเทคนิคสามประสานนี้ทำอย่างไร สามประสานก็คือคุณเอาความสนใจหรือสติของคุณเป็นผู้ประสาน เมื่อคุณหายใจเข้า คุณ "เปิด" เปิดนี่เป็นคำสำคัญนะ เป็น key word เมื่อคุณหายใจเข้าลึกๆให้คุณเปิดรับเอา grace หรือพลังเมตตาจากข้างนอกเข้ามาสู่ตัวคุณ อั้นไว้สักพัก เมื่อคุณผ่อนลมหายใจออกช้าๆก็ให้พลังเมตตานี้คลุกเคล้าเป็นหนึ่งเดียวกับพลังชีวิตของคุณแล้วแผ่มันออกไปจากตัวคุณ ผ่านทุกรูขุมขนกลับไปสู่ภายนอก ให้มันเป็นพลังเย็นๆชุ่มฉ่ำไปหล่อเลี้ยงชีวิตอื่นๆอย่างไม่เลือกหน้า ทั้งหมดนี้ให้คุณ feel เอานะ ไม่ใช่ think เอา ทำอย่างนี้เป็นอาจิณทุกลมหายใจ จนถึงจุดหนึ่งคุณจะบรรลุเรื่องสำคัญสองเรื่องคือ

         (1) ความเป็นคุณหรือ องค์ (identity) ของคุณนี้คือพลังชีวิต (energy body) ไม่ใช่ร่างกาย (physical body) อีกต่อไปแล้ว นี่เป็นการย้ายองค์ (shift of identity) ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญมาก 

         (2) คุณจะค่อยๆรู้สึกหลังจากที่ได้แผ่พลังชีวิตของคุณผ่านทุกรูขุมขนออกไปสู่ภายนอกครั้งแล้วครั้งเล่าแล้ว ว่าคุณสามารถรับรู้ (sense) ได้ว่าขอบเขตของความเป็นคุณนี้ ใหม่ๆมันจำกัดอยู่แค่ที่หุ้มด้วยผิวหนังหรือออกไปอย่างมากก็แค่ปลายขนเท่านั้น แต่ต่อมาๆคุณจะค่อยๆรู้สึกว่าคุณสามารถรับรู้ หรือ sense ว่าขอบเขตของความเป็นคุณมันขยายออกไปได้ไกลจากที่ร่างกายตันๆนี้นั่งอยู่ จากใกล้ๆค่อยๆไกลออกไป จนไปได้ไกลมาก จนคุณรู้สึกว่าทั้งร่างกายของคุณก็ดี ความคิดของคุณก็ดี แม้กระทั่งต้นไม้ก็ดี ก้อนหินก็ดี ลูกเมียของคุณก็ดี รถโตโยต้าของคุณก็ดี ล้วนปรากฎอยู่ภายในขอบเขตของความเป็นคุณนี้ทั้งสิ้น และสิ่งต่างๆที่กล่าวมานั้นอย่างมากก็เป็นได้แค่สมบัติของคุณ แต่ไม่ใช่คุณอย่างเด็ดขาด เพราะความเป็นคุณได้ย้ายจากร่างกายที่แคบๆจำกัดอยู่แค่ใต้ผิวหนังมาเป็นความตื่นที่มีความสามารถรับรู้ สงบเย็น แม้จะจับต้องมองเห็นไม่ได้ แต่ก็สามารถรู้สึกเอาได้ว่ามีความกว้างไกลไร้ขอบเขต สิ่งนี้แหละที่ผมใช้คำเรียกว่า "ความรู้ตัว"

         การที่คุณสามารถเคลื่อนย้าย "องค์" เดิมของคุณจาก "ความเป็นบุคคล" ที่มีร่างกายตันๆนี้เป็นฐานที่มั่นมีความคิดความจำที่ผูกติดกับมันอยู่ มาเป็น "ความรู้ตัว" ที่เป็นพลังงานความสั่นสะเทือนซึ่งมีแต่ความตื่นและความสามารถรับรู้อันว่างเปล่าไร้ขอบเขตและไม่มีได้มีเสียอะไรกับใครที่ไหนนี้ นี่แหละเป็นการย้ายองค์ (shift of identity) ครั้งสำคัญที่สุด และหากคุณทำสำเร็จ ตรงนี้แหละ คือความหลุดพ้น

    นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
    [อ่านต่อ...]

    14 พฤษภาคม 2562

    ความในใจที่อยากจะบอกเมื่อได้มาเข้าแคมป์ RDBY ของคุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์

         มีสมาชิกแค้มป์ RDBY ท่านหนึ่ง ได้กรุณาเขียนเล่าเรื่องของตัวเองมาให้เพื่อแชร์ความรู้กับเพื่อนในกลุ่ม เขียนขึ้นมาจากหัวใจของตัวเอง สำนวนน่ารักน่าอ่านมาก ผมจึงขออนุญาตนำลงในบล็อกนี้ ซึ่งท่านก็อนุญาตด้วยดี ต้องขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงเลยนะครับ
    สันต์

    ...........................................................

         ผมขอแนะนําตัว ผมชื่อ นายกิติยศ วีรเธียรภิญโญ อายุ 62 ปี ปัจจุบันเกษียณแล้ว ผมได้บํานาญจากการทํางานและการใช้ชีวิตอย่างผิดๆ มา 3 โรค คือโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง (NCD) ต้องกินยาวันละกว่า 10 เม็ด ค่าหมอค่ายาเฉลี่ยเดือนละหนึ่งหมื่นบาท ผมขอออกตัวก่อน ผมเป็นคนที่ไม่ชอบเล่นกีฬา ไม่ชอบออกกําลังกาย เป็นคนตามใจปากชอบกินอาหารอร่อย เจ้าไหนว่าอร่อยเป็นอันว่าเสร็จผม คําฝรั่งว่า “YOU ARE WHAT YOU EAT” คําพูดนี ้จริงแท้ที่สุด ผมเพิ่งเข้าใจ ความเชื่อเดิมของผม คือ ผมต้องกินยาไปตลอดชีวิต เพราะเชื่อว่าโรคที่เป็นอยู่ไม่มีวันหาย ความเชื่อนี้เกิดจากความเชื่อว่ามาจากพันธุกรรม และจากความเห็นของคุณหมอหลายๆ ท่าน จึงคิดว่าในเมื่อมันรักษาไม่หายก็ต้องทําใจอยู่กับมันให้ได้ และ Enjoy กับชีวิตที่เคยชินไปวันๆ

         แต่ใครจะคิดว่ามีความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่กําลังจะเกิดขึ้นหลังจากผมได้มาพบ Wellness We Care ของ อ.หมอสันต์ ใจยอดศิลป์ ท่านได้เฉลยให้รู้ว่าร่างกายของเรานี้มีกลไกอัตโนมัติที่ปกป้องตนเองที่ซับซ้อนมาก ถ้าเรารู้วิถีปฏิบัติที่ถูกต้องร่างกายจะซ่อมแซมตัวเองให้เป็นปกติได้ โดยไม่ต้องใช้ยาใดๆ เลย ความเข้าใจในเรื่องนี ้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สําคัญ ผมจึงขอนุญาตเขียนเป็นข้อๆ นะครับ

         1. จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อประมาณเดือนกันยายน 2561 ตอนนั้นผมมีนํ้าหนักประมาณ 107 กก. ค่าเบาหวานประมาณ 150 ความดันโลหิต อยู่ที่ประมาณ 155/100 ต้องกินยาวันละกว่า 10 เม็ด ลูกชายคนเล็กซึ่งเป็นทันตแพทย์ ได้แนะนําให้ผมมาเข้าคอร์ส “Rejuvenation Retreat” ของ Wellness We care บอกว่าเป็นคอร์สนวดแผนไทย เค้าออกค่าใช้จ่ายให้หมด (มารู้ทีหลังว่าเค้าหลอกให้มาเพราะเป็นห่วงสุขภาพพ่อ-แม่) ผมกับภรรยาตกลงมาเข้าคอร์ส Rejuvenation Retreat ความรู้สึกที่มาถึงเอ๊ะมันดูเงียบๆ วังเวงพิกล มาทราบทีหลังว่าคอร์สนี้เค้าจํากัดอยู่ที่ 4-6 คน เนื่องจากห้องนวดมีจํากัด ในโปรแกรม มีนวดนํ้ามันแบบอายุรเวทอินเดียสลับนวดไทยทั้งวันเช้า-บ่าย แหม! เพลินเลยครับ แต่ที่เซอร์ไพรซ์ สุดๆ คือเค้าทําอาหารแบบไม่มีเนื้อสัตว์ให้กินที่อร่อยมากตลอดหลักสูตรเลยครับ ผมงี้ฟินสุดๆ แน่นอนครับเรื่องความอร่อยนี่ ผมนี่แหละแม่ช้อยตัวจริง หลักสูตร 4 วัน 3 คืนเท่านั้นครับ แต่สิ่งที่เซอร์ไพร์ซครั้งที่สองนี่สิครับ โอ้พระเจ้า! นํ้าหนักตัวผมหายไป 2 กก. เหลือ 105 กก. ค่าเบาหวานเหลือ 100 ความดันโลหิต เหลือ 120/80 ผมรีบกลับมาส่งการบ้านให้ลูกชายทันทีเค้าก็ลองเอาสูตรอาหารที่ผมแอบไปจีบเชฟในครัวของแคมป์ไปทํากิน นํ้ำหนักลดลงกันทั้งครอบครัว ค่าไขมันในเลือดลดลงเป็นปกติทุกคน OMG !! (เดิมสูงจนต้องกินยากันทุกคน) ผมมานั่งคิด เอ...นี่แค่เปลี่ยนอาหารเปลี่ยนเพียง 4 วันเท่านั้น ยังเกิดผลมากมายขนาดนี้จุดเปลี่ยนมันอยู่ตรงนี้แหละครับ

         2. แรงบันดาลใจ มันเกิดขึ้นตอนผมนั่งคิดต่อว่า “โถ ลูกเอ๋ย ลูกอยากเห็นพ่อแม่มีสุขภาพดี และอยู่กับพวกเค้าไปนานๆ” (อันนี้สารภาพว่าแอบคิดเอง เค้าไม่ได้พูดกับเราตรงๆ) ไอ้ผมมันคนหัวดื้อ เค้าเลยต้องใช้อุบายแบบนี้ กอร์ปกับจุดเปลี่ยนที่กล่าวไว้ข้างต้น ผมและภรรยาจึงได้มาสมัครเข้าคอร์ส “พลิกผันโรคด้วยตัวเอง Reverse Disease By Yourself – RDBY” โดยลูกชายคนเล็กอีกแหละครับ เป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้อีก คราวนี้ได้มีโอกาสพบคุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์ ท่านได้ซักประวัติการรักษาของผมอย่างละเอียด เอาผลเลือดที่ส่งมาให้ท่านก่อนล่วงหน้ามาวิเคราะห์ให้ฟังแล้วบอกว่าโรคที่ผมเป็นอยู่มีโอกาสหายขาดโดยไม่ต้องกินยา ผมฟังแล้วหัวใจมันพองโตทันทีครับ ท่านบอกว่าเพียงให้เปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ด้วยการกินอาหารไม่มีเนื้อสัตว์หรือมีแต่ให้น้อย (โดยเฉพาะให้งดเว้นสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม) และให้ออกกําลังกายทุกวันแบบต่อเนื่องจนเหนื่อยพอควร (เรียกว่า aerobic zone) เพียงแค่นี้เองคุณก็จะบรรลุเป้าหมายไม่ต้องกินยาตลอดชีวิต นอกจากนี้ตลอดหลักสูตรคุณหมอได้แนะนําวิธีการดําเนินชีวิตที่ถูกต้อง มีการนํางานวิจัยเกี่ยวกับอาหารที่กินแล้วให้คุณให้โทษ อย่างครบถ้วน ชี้ให้เห็นว่าร่างกายคนเรามีระบบปกป้องตัวเอง หากเราปฏิบัติตัวไม่ถูกต้องเค้าจะส่งสัญญาณให้รู้ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น คุณหมอได้แนะนําวิธีปฏิบัติตัวอย่างง่ายๆ โดยจะมีดัชนีตัววัดเพียง 7 ตัวเท่านั้นเป็น
    Guidelines (จะไม่ขอกล่าวในที่นี้) ซึ่งปฏิบัติได้ง่ายดายและเจ๋งจริงๆ

         3. ผลที่ได้จากคอร์ส RDBY

         3.1 ผลเลือดล่าสุด อยู่ในเกณฑ์ปกติเกือบจะทุกตัว จนคุณหมอที่ผมรักษาอยู่ประจําแปลกใจอย่างมาก ซักถาม อืม..ต้องใช้คําว่าคาดคั้นมากกว่า ว่าผมไปกินยาหรือรับการรักษาจากที่อื่นหรือเปล่า กินยาครบตามสั่งมั้ย ซึ่งผมได้เรียนว่าผมไปเข้าคอร์ส RDBY ของคุณหมอสันต์ฯ มา นอกจากไม่ได้กินยาอย่างอื่นเพิ่มแล้ว ผมยังขอสารภาพตามตรงว่าผมงดยาเบาหวานของคุณหมอด้วย (คุณหมอเริ่มมีสีหน้าเปลี่ยนแปลง) ตอนนี้รู้สึกว่าคอแห้งขึ้นมาทันที แต่ก็ฝืนพูดออกมาด้วยเสียงที่แหบแห้งว่าผมจําเป็นต้องงดยาเนื่องจากผมเปลี่ยนวิถีการกินอาหารมากินอาหารคลีนซึ่งมีนํ้าตาลและแป้งน้อยอยู่แล้ว หากกินยาตามเดิม เกรงว่าค่านํ้าตาลในเลือดจะตํ่าเกินไป” (ขณะพูดพยายามสังเกตสีหน้าคุณหมอว่าโกรธอยู่รึเปล่า แต่ด้วยเหตุว่าผลเลือดออกมาดีเหตุผลที่กล่าวอ้างข้างต้นจึงพอฟังขึ้น อันนี้ดูจากสีหน้าคุณหมอนะครับ) คุณหมอท่านเลยอนุญาตให้ลดยาต่อแล้วนัดเจาะเลือดอีก 3 เดือน โอ้พระเจ้า !! ผมรีบกล่าวลาแล้วหันหลังเอามือแตะอกเป่าลมออกจากปาก คิดอยู่ในใจ “รอดตัวแล้วเรา” แอบเห็นพยาบาลยืนอมยิ้มอยู่ข้างๆ ขณะรอคุณหมอเขียนใบสั่งยาด้วย

         3.2 ปัจจุบันผมได้รับอนุญาตจากคุณหมอให้ลดยาลงเหลือครึ่งหนึ่ง จากวันละ 10 เม็ด เหลือเพียง5 เม็ด แถมยาลดความดันคุณหมอสันต์ให้กินวันเว้นวันอีก คิดอยู่ในใจ “อ้า มาถูกทางแล้วเรา” ค่ายาไม่ต้องพูดถึง จากเดือนละหมื่นบาท เหลือเพียงประมาณสี่พันบาท อนาคตค่ายาไม่ได้กินเงินผมอย่างแน่นอน

         3.3ตอนนี้ต้องบอกว่าผมสามารถเปลี่ยนวิถีการกินอาหารมาเน้นกินพืชเป็นหลัก ได้อย่างสิ้นเชิง สามารถคิดค้นเมนูอาหารที่เหมาะสําหรับตัวเองได้มากกว่า 10 เมนู สลับสับเปลี่ยนกันไป ทําให้ไม่เบื่อ การดําเนินชีวิตไม่ยุ่งยาก เข้าที่เข้าทาง แถมสบายเนื้อสบายตัว เพราะนํ้าหนักหายไปเกือบ 20 กก. อานิสงค์ยังส่งต่อไปถึงภรรยา และครอบครัวผม ทุกคนต่างมีสุขภาพดีขึ้น นํ้าหนักตัวลดลงอยู่ในเกณฑ์ปกติทุกคน

         3.4 ส่วนการออกกําลังกายผมเริ่มจากเดินต้องถือไม้เท้าช่วยพยุงตัวจนสุนัขแถวบ้านเห่ากันระงม ปัจจุบันไม่ต้องถือแล้ว สุนัขกลายเป็นเพื่อนซี้กันไปแล้ว สามารถเดินได้วันละกว่า 5 กม. ใช้เวลา 1 ชม. ชิลลล มากๆๆๆ ผมรู้สึกว่านี่แหละกีฬาที่ผมชอบ แอบเห็นเพื่อนบ้านออกมาเดินกันตามหลายคนด้วย

         3.5 คุณหมอสันต์ฯ บอกว่าโรคที่เป็นอยู่อย่าไปซีเรียส ให้โฟกัสที่นํ้าหนักตัวเป็นหลัก โอ้โฮ อะไรจะง่ายขนาดนี้ ขอบอกครับ ใครว่า RDBY ยาก นี่เลยครับไม่มีอะไรง่ายไปกว่านี้อีกแล้ว การปฏิบัติตัวก็ทําตาม 7 ดัชนีที่คุณหมอสันต์ให้ไว้ไง (มีอะไรบ้างตอนนี้ลืมไปแล้ว เดี๋ยวให้ทีมงานคุณหมอบอกแล้วกัน)

         3.6 ระหว่างอยู่ในแคมป์ มีกิจกรรม ฝึกรํามวยไทเก็ก, มีโยคะ, มีเสริมสร้างกล้ามเนื้อ, ฝึกการทรงตัว กิจกรรมเหล่านี้ล้วนแต่มีผลทําให้มีสมาธิ และมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่กับปัจจุบัน ซึ่งมีผลต่อจิตใจ ทําให้ระบบประสาทอัตโนมัติทํางานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

         3.7 ขอยืนยันครับว่ามาถูกทางอย่างที่สุด ผลที่เกิดขึ้นกับตัวเองและครอบครัวเป็นเครื่องยืนยัน จนมีคนแอบทําตามหลายคนครับ บางคนก็เริ่มถามสูตรอาหาร เริ่มออกมาเดินตาม เป็นต้นครับ

         4 สรุปครับ

         4.1 นํ้าหนักตัวปัจจุบันเหลือ 89.8 กก. ค่านํ้าตาลเหลือ 126 ค่าความดันโลหิตเฉลี่ยเหลือ 112/70 ชีพจร 66 bpm เป้าหมายต่อไปนํ้าหนักให้เหลือ 85 กก. ค่านํ้าตาล 110 ค่าความดันโลหิตโอเคแล้ว งดยาทุกชนิดอย่างสิ้นเชิง ถอยอายุตัวเองลงไปอีก 20 ปี

         4.2 ผมซาบซึ้งใจมาก โดยเฉพาะลูกๆ แม้เค้าจะไม่ได้บอกรักด้วยคําพูด แต่เค้าแสดงออกด้วยความห่วงใย อันนี้แหละครับเป็นแรงบันดาลใจสําคัญอย่างมากสําหรับผม

         4.3 ต้องขอขอบคุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์ และทีมงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคุณหมอสมวงศ์ , ดอกเตอร์เลิฟ, คุณออย, คุณโอ๋, คุณเอ๋ย, เชฟไวพจน์ อีกหลายท่านที่ไม่ได้เอ่ยชื่อ ท่านเหล่านี้ช่วยให้ข้อแนะนําอํานวยความสะดวกในทุกๆด้าน และที่ลืมไม่ได้คือเพื่อนๆ ในรุ่น RDBY 10 ทุกคน ตลอดระยะเวลาทีอยู่ในแคมป์ด้วยกันผมสัมผัสได้ถึงมิตรภาพ ความเอื้ออาทรต่อกันได้อย่างชัดเจน ผมจะไม่มีวันลืมเลยจริงๆ ขอบคุณมากๆ ครับ

    กิติยศ วีรเธียรภิญโญ
    5 พฤษภาคม 2562
    [อ่านต่อ...]