29 ธันวาคม 2565

ส่งท้ายปีเก่า 2022 ต้อนรับปีใหม่ 2023 ขอส่งความสุขถึงทุกท่าน

ช่วงวันหยุดปีใหม่นี้ผมหยุดทำแค้มป์และปิดเวลเนสวีแคร์เพื่อให้พนักงานได้กลับบ้าน ตัวเองจะปลีกวิเวกหยุดยาวไปขุดดินฟันหญ้าโดยไม่ยุ่งกับใครสักหลายๆวัน จึงถือโอกาสนี้ส่งความสุขให้แฟนบล็อกทุกท่าน ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพดีมีความสุขในเทศกาลปีใหม่และตลอดไปนะครับ

แม้ว่าวันเวลาผ่านไปอีกหนึ่งปี แต่พูดก็พูดเถอะ ตัวผมเองกลับรู้สึก “มีแฮง” มากยิ่งขึ้น แบบว่ากระชุ่มกระชวยมีชีวิตชีวามากขึ้นกว่าเดิม มีความตั้งใจจะทำอะไรอีกหลายอย่างในปีใหม่ ทั้งหมดนี้ไม่รู้เป็นเพราะคำเตือนแนวไสยศาสตร์ของโยคีซึ่งเป็นครูของผมคนหนึ่งหรือเปล่าก็ไม่รู้ ท่านบอกผมว่าจากนี้ไปเป็นเวลานานสามปีจุดดับในดวงอาทิตย์จะใหญ่ขึ้นๆ ให้ผมเตรียมตัวให้พร้อม เพราะจะมีพลังผลักดันทุกชีวิตให้พุ่งไปตามทางที่ตั้งลำตัวเองไว้ ใครที่ทำตัวมีพลังคึกคักก็จะยิ่งคึกคักยิ่งขึ้นจนเผลอๆหลุดโลกไปเลย ใครที่ทำตัวจ๋อยก็จะยิ่งจ๋อยลงไป อุปมาเหมือนคืนพระจันทร์เต็มดวง ใครที่ตกหลุมรักโรแมนติกกันอยู่ก็มักจะได้เรื่องออกหัวออกก้อยกันคืนนั้นแหละ ขณะที่ใครมีเชื้อบ้าอยู่อย่างมนุษย์หมาป่าก็จะออกอาการบ้ากำเริบหนักเห่าหอนหรือแปลงร่างอาละวาด ผลของพระจันทร์เต็มดวงเนี่ยผมพอเข้าใจนะว่ามันคงเกี่ยวกับน้ำในร่างกายคนเพราะคนเรามีน้ำอยู่ในตัวและในสมองอย่างน้อยก็สองในสาม แค่น้ำในสมองถูกดูดขึ้นๆลงๆอารมณ์เราก็ขึ้นๆลงๆได้แล้ว แต่ผมเองยังนึกไม่ออกว่าชีวิตคนมันจะไปเกี่ยวกับจุดดับในดวงอาทิตย์อย่างไร แต่ก็เอาเถอะ ทำตัวคึกคักไว้ย่อมดีกว่าทำตัวจ๋อย

ดังนั้น สำหรับท่านผู้อ่าน ทำตามที่ครูของผมแนะนำก็ไม่เสียหลาย คือปีใหม่นี้ทำตัวคึกคักไว้อย่าทำตัวจ๋อย นับตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไปอย่างน้อยอีกสามปี แล้วรอดูซิว่าจะมีอะไรในกอไผ่ไหม ถ้าไม่มีอะไรก็เลิกแล้วกันไป เพราะว่าไสยศาสตร์ก็คือไสยศาสตร์จะไปเอาอะไรกับมันมากไม่ได้ดอก แต่อย่างน้อยก็จะได้กำไรจากการทำตัวคึกคักแล้ว หิ..หิ

และก็เช่นทุกปี สิ้นปีทีหนึ่งผมก็ต้องขออโหสิกรรมต่อท่านทีหนึ่งที่ไม่อาจตอบคำถามของท่านได้หมดเพราะคำถามเข้ามาเยอะมาก..ส์ ได้แต่ตอบเท่าที่เวลามีและเลือกตอบเฉพาะคำถามที่ประเด็นไม่ซ้ำเดิม และขอย้ำอีกทีว่าการตอบคำถามไม่ได้เพื่อแก้ปัญหาให้เฉพาะคนถามคนเดียว แต่ตอบเพื่อให้ความรู้แก่คนทั่วไปด้วย ดังนั้นทุกคำถามจะตอบทางบล็อกเท่านั้น ไม่มีตอบส่วนตัว ส่วนคลินิกออนไลน์ที่ได้ทดลองทำมาหลายเดือนแล้วนั้นตอนนี้ขอรายงานให้ทราบว่ามีอันต้องเลิกกิจการส่งท้ายปีเก่าไปเสียแล้วเพราะผมปั่นตัวเองไม่ทัน ช่องทางจะพบซักถามพูดคุยกับผมจึงเหลือแค่สองทาง คือ (1) มาเข้าแค้มป์ที่ผมสอนอยู่ที่เวลเนสวีแคร์ หรือ (2) เขียนมาถามทางอีเมล

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

28 ธันวาคม 2565

อยากให้มีกฎหมายบอกให้ระวังอันตรายของอาหาร ต้องกระทุ้งไปทางไหนครับ

สวัสดีครับคุณหมอสันต์

เมื่อหลายปีก่อน ผมเริ่มออกกำลังกาย เล่นเวทเทรนนิ่ง ตัวเองก็ถือว่าเป็นคนที่มีวินัยในตัวเองพอสมควร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพยายามกินอาหารที่มีโปรตีนให้มากที่สุด แต่เนื่องจากทุกเช้าผมค่อนข้างยุ่งช่วงเช้า จึงกินไส้กรอกจากร้านสะดวกซื้อ แบบกินล้วนๆแทนข้าวเป็นอาหารเช้าแทบทุกเช้า สลับกับหมูแฮมบ้าง กินไปได้ปีกว่าๆ จึงมาทราบข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) ว่า ใส้กรอก แฮม ฯลฯ เป็น สารก่อมะเร็งชั้นที่ 1A. ซึ่งเป็นตำแหน่งระดับเดียวกับบุหรี่ (ขอขอบคุณ ทั้ง WHO และ ทั้งเว็บหมอสันต์ด้วยที่ให้ข้อมูลภาคภาษาไทยในประเด็นนี้ได้ละเอียดเป็นอย่างยิ่ง)

 ณ ตอนนั้น ความรักตัวเอง บวกกับความมีวินัยในตนเอง จึงมีผลให้ ดูแลสุขภาพตัวเองอย่างดี ไม่สูบบุหรี่ ไม่กินเหล้า ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่เชื่อว่าจะดีต่อร่างกาย ซึ่งตอนนั้นเชื่อว่าการเน้นโปรตีนจะดีต่อกล้ามเนื้อ สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เหมือนจะดี แต่แค่เพราะความไม่รู้ในเรื่องอาหารก่อมะเร็งนี้ กลับกลายเป็นว่าพลิกผันความดีทั้งหลายเหล่านั้น มันทำให้เราสะสมปัจจัยเสี่ยงมะเร็งมากและต่อเนื่องยิ่งกว่าคนทั่วไปเสียอีก

โชคดีที่ผมรู้แต่เนิ่นๆ กินอย่างที่ว่าไปแค่ปีกว่า พอรู้เรื่องอาหารก่อมะเร็งก็หยุดทันที กินเน้นผักผลไม้มากขึ้น เลิกเนื้อแดง เนื้อแปรรูป และรวมทั้งเลิกกินเวย์ และนมวัว เปลี่ยนมากินนมถั่วเหลืองบ้าง ส่วนการออกกำลังกายก็ยังคงไว้ ทุกวันนี้ก็ถือว่าเป็นคนที่ร่างกายแข็งแรงไม่ค่อยป่วยไข้อะไร ถ้าผมไม่โชคดีรู้เรื่องนี้แต่เนิ่นๆ แล้วใช้ชีวิตกินแบบเดิมไปเรื่อยๆ ผมเองก็อาจจะเป็นอีกคนหนึ่งที่ลงเอยด้วยมะเร็ง ที่สับสนว่าเราดูแลตัวเองอย่างดี บุหรี่เหล้าไม่เสพ ทำไมต้องลงเอยด้วยโรคที่นำความยากลำบากแก่ร่างกายอย่างนี้

ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา มีข่าวคนวัยหนุ่มหลายคน ที่ดูเหมือนแข็งแรง บุคลิกหน้าตาดี หน้าที่การงานดี อนาคตน่าจะไปไกล แต่กลายเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย แหล่งข่าวต่างๆมักจะเน้นในประเด็นว่า ดูแลตัวเองอย่างดี ไม่สูบบุหรี่ แต่เป็นมะเร็ง โดยไม่มีข้อมูลใดที่คำนึงถึงเรื่องปัจจัยของมะเร็งที่มาจากอาหารการกินเลย จึงนึกขึ้นมาได้ว่าเราอยู่ในสังคมที่บุหรี่เขียนเตือนเรื่องมะเร็งไว้บนซองชัดเจน และ ห้ามเด็กซื้อ ซึ่งก็ถือว่าดีแล้ว ให้ผู้บริโภคทุกคนได้รับรู้ข้อมูล ส่วนใครที่รู้แล้วแต่ไม่แคร์ใคร่เสพก็ปล่อยให้เสพไป แต่อาหารที่ร้ายไม่แพ้บุหรี่ที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน กลับมีวางขายหาซื้อได้ง่ายดายทั่วไป ลูกเล็กเด็กแดงซื้อกินได้โดยสะดวกและไม่มีใครเตือนเรื่องมะเร็ง คนที่รู้ส่วนมากก็มีแต่คนที่สนใจหาข้อมูลเรื่องโภชนาการอย่างจริงจัง ชาวบ้านจำนวนมากซื้อไปบริโภคกับพ่อแม่พี่น้องลูกหลานในครอบครัวโดยไม่รู้ข้อมูลเลยว่าของที่กินเป็นสารก่อมะเร็งระดับเดียวกับบุหรี่ และด้วยความที่เป็นของที่หาซื้อง่าย ทำกินง่าย เก็บไว้ได้นานโดยไม่เน่าเสีย จึงกลายเป็นของที่หลายๆบ้านกินกันเป็นประจำทุกวัน คนที่มีญาติพี่น้องที่เป็นมะเร็งย่อมรู้ดีว่ามันนำความทุกข์ทรมานมาให้กับทั้งผู้ที่เป็นและบุคคลรอบข้างมากเพียงไหน การให้ความรู้เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ดีและพึงกระทำอย่างยิ่ง แต่มันก็เข้าถึงได้แค่เฉพาะคนบางกลุ่ม คนส่วนใหญ่ของประเทศก็ยังไม่รู้อยู่ดี

จึงอยากทราบว่าถ้าอยากให้ประเทศไทยมีกฎหมายที่บังคับให้อาหารทุกชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็งระดับเดียวกันกับบุหรี่ ต้องติดคำเตือนเรื่องมะเร็งเหมือนกับบุหรี่ น่าจะดีไหมครับ และถ้าจะให้เป็นอย่างนั้นได้ต้องเริ่มต้นยังไง ต้องกระทุ้งไปทางไหนครับ ไม่รู้ถามประเด็นใหญ่ไปหรือเปล่า แต่อย่างไรก็ขอบคุณสำหรับความรู้ทุกอย่างที่หมอสันต์ได้นำมาแบ่งปันครับผม

………………………………………………………………….

ตอบครับ

โห.. คำถามของคุณผมตอบไม่ได้หรอกครับ มันเกินปัญญาของผมไปแล้ว ดังนั้นผมไม่ตอบคุณดีกว่า

แต่ขอถือโอกาสนี้ย้ำเตือนให้แฟนบล็อกหมอสันต์ว่าการจะมีสุขภาพดี ต้องกินพืชมากๆ กินเนื้อสัตว์น้อยๆ หากเรียงลำดับเนื้อสัตว์ที่ควรจะเลิกก่อนตามลำดับก็คือเนื้อที่เขาเอาไปบ่มเป็นไส้กรอก เบคอน แฮม ควรต้องเลิกไปก่อนเพื่อน คิวถัดไปคือเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมคือเนื้อวัวเนื้อหมู รองลงไปอีกก็ค่อยเป็นเป็ดไก่ปลาปูกุ้งหอยหากจะกินก็กินได้แต่ถ้าลดลงได้ก็ดี ส่วนเครื่องปรุงเช่นกะปิน้ำปลานั้นมันเป็นปริมาณที่น้อยนิดถ้าอยากจะกินต่อก็กินไปเถอะ อย่าไปอ้างเป็นเหตุที่ทำให้เปลี่ยนการกินไม่ได้เลย

การจะเปลี่ยนแปลงตรงนี้คงต้องให้เป็นไปตามกำลังของแต่ละคนแบบค่อยเป็นค่อยไป ใครอยู่ตรงไหนกินเนื้อสัตว์มากหรือน้อยอยู่แต่เดิมก็เริ่มจากตรงนั้น แล้วค่อยๆดึงตัวเองมาทางกินพืชมากขึ้นๆ เช่นเคยกินพืช 10% ต่อมาเพิ่มเป็น 20% ได้นี่ก็เริ่มหรูแล้ว อย่าไปเกี่ยงว่าโฮ้ย มังสะวิรัติน้ำปลาก็กินไม่ได้ไม่เอาหรอก นั่นมันมุมมองของศาสนา แต่เรามองจากมุมของสุขภาพให้ใช้คอนเซ็พท์ spectrum คือค่อยๆขยับมาบนเส้นทางนี้ ไม่ต้องถึงกับต้องขาวหรือดำเท่านั้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

นอนหลับแค่วันละ 2 ชั่วโมง แล้วผอมลง ผอมลง

(ภาพวันนี้: โรงรถธรรมดา จะให้ดูว่าเงาอยู่หน้า แสงอยู่หลัง)

กราบสวัสดีค่ะคุณหมอ 

ดิฉันมีปัญหาสุขภาพจะถามคุณหมอ 2 ข้อนะคะ

1. ดิฉันอายุ 70 ปี เป็นโสดอาศัยอยู่คนเดียว. เคยมีปัญหาการนอนตั้งแต่วัยทองคือเมื่อตอนอายุ 57 ปี(พ.ศ 2553) ทำให้นอนไม่หลับคือหลับได้เพียงคืนละ 2 ชั่วโมงเท่านั้นเป็นอย่างนี้มาเป็นเดือนๆจึงไปหาหมอเกี่ยวกับจิตเวช. หมอให้ยามาทานก็กินได้นอนหลับอ้วนท้วนสมบูรณ์ดี จนน้ำหนักจากปกติ 45 ก.ก.ขึ้นจนถึง 49 ก.ก.คุณหมอก็ให้ลดยาลงเป็นระยะๆจนในที่สุดก็สามารถหยุดยาได้เด็ดขาด. พอหยุดยาไม่ทันไรน้ำหนักตัวก็ลดลงทันที 4 ก.ก.และก็ลดลงทุกปีถึงแม้จะทานข้าวได้ปกติหรือบางครั้ง มากกว่าปกติด้วยซ้ำแต่น้ำหนักก็ลดลงทุกปีจนปัจจุบันน้ำหนักเหลือ 37 ก.ก.ไปตรวจมาหลายที่หลายโรงพยาบาลแต่ก็ไม่เจอสาเหตุของโรคว่าเป็นอะไรทำให้ดิฉันกลุ้มใจมากผิวหนังก็เหี่ยวย่นเหมือนคนอายุ 80 ปีมีแต่หนังหุ้มกระดูกคุณหมอว่าดิฉันควรทำอย่างไรดีคะ

2. หลังจากนั้นประมาณปี 2560 ดิฉันก็ยังมีปัญหาในการนอนหลับอีกเป็นเวลานานจึงได้ไปหาหมอจิตเวชเหมือนเดิมหมอให้ยานอนหลับและยาอื่นๆอีกจนบัดนี้ผ่านมา 5 ปีแล้วก็ยังหยุดยาไม่ได้.  ดิฉันกลุ้มใจมากบางคือขนาดทานยาก็ยังไม่หลับอีกนอนตาค้างทั้งคืนจะให้เพิ่มยาก็คงไม่ไหวใจอยากเลิกมากค่ะ ถ้าคืนไหนไม่

ทานก็จะนอนตาค้างทั้งคืน..อย่างเช่นคืนนี้. คุณหมอช่วยดิฉันหน่อยเถอะค่ะว่าดิฉันควรทำอย่างไรดี

ดิฉันมีโรคประจำตัวคือไขมันในเส้นเลือด โรคน้ำในหูไม่เท่ากันทำให้เวียนหัวบ้านหมุนบ่อยๆ เป็นโรคกระเพาะถ้าทานอาหารผิดเวลาก็จะปวดท้องมาก เคยเป็นนิ่วในถุงน้ำดีคุณหมอตัดถุงน้ำดีออกไปแล้วค่ะ

ปกติดิฉันจะเดินออกกำลังกายทุกวันๆละ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงและทำโยคะบ้าง. เล่นเวทบ้างตามความเหมาะสม ทานอาหารวันละ 3 มื้อตรงตามเวลาทุกวัน บางวันก็จะมีมื้อว่างด้วยคือผลไม้หรือขนมบ้าง

 ดิฉันขอรบกวนคุณหมอเท่านี้นะคะ. ขอขอบพระคุณคุณหมอล่วงหน้าและขอให้คุณหมอมีสุขภาพกายใจที่แข็งแรงตลอดกาลนะคะ

…………………………………………………………………………….

ตอบครับ

1.. ประเด็นนอนไม่หลับ ให้ปฏิบัติตามสุขศาสตร์ของการนอนหลับ อันได้แก่

(1) ใช้ชีวิตให้จังหวะสม่ำเสมอสอดคล้องกับดวงอาทิตย์ /ออกไปถูกแดดวันละสามเวลา เช้าเที่ยงเย็น / นอนเป็นเวลา ตื่นเป็นเวลา / นอนหลังอาทิตย์ตก ตื่นก่อนอาทิตย์ขึ้น ให้ศูนย์กลางเวลานอนอยู่ที่เที่ยงคืนพอดี

(2) ออกกำลังกายให้หนักทุกวัน หนักเสียจนพังพาบไปเลยในแต่ละวัน แล้วจะหลับได้เอง

(3) เบาเครื่องก่อนนอน ผ่อนคลาย ใส่ชุดนอน หรี่ไฟ เปิดเพลงเบา ไม่ทำเรื่องตื่นเต้น ไม่กินอาหาร 3 ชม.ก่อนนอน

(4) อาบน้ำเย็นเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายลงก่อนนอน ถ้าหนาวมากอาบน้ำอุ่นนิดๆ ไม่อาบน้ำร้อน  

(5) จัดห้องนอนให้ มืด เงียบ เย็น (เย็นถึง 18 องศา) และเรียบ ไม่รก ไม่วางโทรศัพท์ นาฬิกา

(6) ใช้ห้องนอนเพื่อนอนอย่างเดียว ไม่ใช้ทำงาน

(7) ทำสมาธิแบบผ่อนคลายร่างกายไปด้วย วางความคิดให้หมด ก่อนล้มตัวลงนอน ถ้ามีความคิด ลุกมานั่งทำสมาธิใหม่ สำหรับคนนอนไม่หลับเรื้อรัง การทำสมาธิวางความคิดก่อนนอนและเมื่อตื่นกลางดึก เป็นเรื่องสำคัญที่สุด

(8) ไม่ข่มตาหลับ ถ้า 30 นาทีแล้วไม่หลับให้ลุกไปอยู่ห้องอื่น ง่วงแล้วกลับมาใหม่

(9) เลิกสารกระตุ้นรวมทั้งชา กาแฟ เมื่อใกล้เวลานอน

(10) ค่อยๆเลิกยานอนหลับ กัญชา แอลกอฮอล์ เพราะสารเหล่าดูเหมือนทำให้หลับมากขึ้น แต่แท้จริงแล้วไปลดการหลับฝัน (REM sleep) ทำให้คุณภาพการนอนหลับแย่ลง

2.. ประเด็นน้ำหนักลดลงมากทั้งๆที่อยากเพิ่ม แม้แพทย์ช่วยหาสาเหตุที่ทำให้น้ำหนักลดแล้วก็ไม่พบ ให้ทำดังนี้

(1) กินทุกอย่างที่ขวางหน้า กินทุกเมื่อเมื่อมีโอกาส อย่าไปเรื่องมากในการกิน

(2) กินอาหารให้แคลอรี่ให้มากเกินพอ เพื่อป้องกันร่างกายสลายเอากล้ามเนื้อมาสร้างเป็นพลังงาน อาหารให้แคลอรี่สูงสุดคืออาหารไขมัน ดังนั้นให้กินอาหารธรรมชาติที่มีไขมันสูง (intrinsic fat) เช่น ถั่ว งา นัท อะโวกาโด) แยะๆ นอกจากนั้นก็ควรกินอาหารคาร์โบไฮเดรตเช่นธัญพืชไม่ขัดสีซึ่งเป็นอาหารให้พลังงานได้รวดเร็ว กินให้แยะๆ

อย่าไปวอรี่เรื่องไขมันในเลือดสูง เพราะคุณอายุปูนนี้แล้วยังไม่เป็นโรคหลอดเลือดเลย ก็ไม่ควรจะไปกลัวจะตายเพราะไขมันอุดหลอดเลือดเนื่องจากโรคหลอดเลือดใช้เวลาบ่มตัวเองนานหลายสิบปี คุณควรจะกลัวตายจากโรคขาดอาหารหรือกระดูกหักมากกว่า

(3) ขยันเล่นกล้ามวันเว้นวัน เล่นจริงๆ จังๆ เพราะสำหรับคนผอมการเพิ่มน้ำหนักโดยการเพิ่มมวลกล้ามเนื้อทำได้ง่ายที่สุด การจะไปเพิ่มเนื้อเยื่อไขมันนั้นทำได้ยาก เพราะร่างกายคนผอมมักไม่ยอมสะสมไขมันอย่างคนอ้วนเขา

(4) ตรวจสุขภาพประจำปีครั้งหน้าให้หมอเขาดูการทำงานของต่อมไทรอยด์ด้วย เพราะหากต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ก็จะทำให้ผอมง่าย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

25 ธันวาคม 2565

การสร้างสรรค์ "อาหารไทยสุขภาพ"

วันนี้ผมนั่งอ่านงานวิจัยซึ่งทำที่ใต้หวันแล้วตีพิมพ์ในวารสาร Public Health Nutrition ชื่อ “งานวิจัยสำรวจโภชนาการของผู้สูงวัยใต้หวัน” (Elderly Nutrition and Health Survey in Taiwan) ในงานวิจัยนี้เขาสำรวจผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไปจำนวน 1888 คนสำรวจในทุกประเด็นของโภชนาการรวมทั้งนิสัยการทำอาหาร ถิ่นที่อยู่ ฐานะทางเศรษฐกิจ พฤติกรรมสุขภาพ อาหารที่ชอบกิน การออกกำลังกาย ความรู้โภชนาการ ติดตามวิจัยอยู่นาน 10 ปี มีคนตายไป 695 คน (36.8%) เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการตายกับประเด็นต่างๆแล้วพบว่าปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเสี่ยงตายน้อยที่สุดคือนิสัยการทำอาหารกินเอง คือคนยิ่งทำอาหารกินเองมาก ยิ่งตายน้อย คนมีนิสัยทำอาหารกินเองลดความเสี่ยงตายในสิบปีเทียบกับคนไม่ทำอาหารเองได้ถึง 47% ขณะที่ปัจจัยอื่นๆเช่นความรู้ การมีเงิน การเลือกกินนั่นไม่กินนี่ การออกกำลังกายมากหรือน้อย มีผลน้อยกว่าการทำอาหารกินเอง

สรุปว่างานวิจัยนี้บอกว่าเป็นคนแก่หากอยากอายุยืนควรทำอาหารกินเองบ้าง

อ่านแล้วก็มานั่งรำพึงคิดถึงตัวเอง ชีวิตนี้อยากทำหลายอย่างแต่ไม่ได้ทำ บางอย่างที่ตัดใจง่ายก็ตัดใจทิ้งไปเรียบร้อยแล้ว เช่นอยากฝึกเล่นเปียโน อยากวาดรูปสีน้ำหรือสีน้ำมัน ผมตัดใจเลิกฝันไปเลยเพราะลองทำแล้วมันหมดเวลาและไม่ได้เคลื่อนไหวออกกำลังกาย แต่มีอยู่อย่างหนึ่งที่อยากทำแต่ยังไม่ได้ทำ แถมยังตัดใจทิ้งไม่ได้ คือความอยากทำอาหารกินเอง

ที่อยากทำอาหารกินเองมันมีเหตุนอกเหนือจากเรื่องสุขภาพ สมัยผมเป็นเด็ก เป็นเด็กวัดอยู่หลายปี ได้กินอาหารที่หลากหลายมาก เรียกว่าคนในหมู่บ้านรอบวัดกินอะไรผมได้กินหมดเพราะเขาเอาของดีที่สุดที่เขาทำมาถวายพระ สำหรับเด็กวัดอาหารเหล่านั้นมันจะไปไหนเสีย ผมจึงติดนิสัยมีความสุขกับการได้ลองกินนั่นกินนี่ แต่พอมาเป็นหมอเวลาในชีวิตถูกดูดไปหมดแม้เวลากินก็มีอย่างจำกัดจำเขี่ยต้องกินอะไรที่ง่ายๆและเร็วๆจนตัวเองป่วยจึงค่อยได้กินของดีๆต่อสุขภาพ แต่มันเป็นเหมือนการกินตามหน้าที ไม่มีความบันเทิงอยู่ในนั้นเลย ไม่ได้ลองว่าถ้าใส่อย่างนี้จะอร่อยไหม ถ้าทำอย่างนั้นจะอร่อยไหม ความอยากทำอาหารเองจึงค้างคาในใจเรื่อยมา

เวลาผมเดินทางท่องเที่ยวเป็นเวลาสะดวกที่ผมจะได้ลองกินอะไรใหม่ๆแปลกและคิดจินตนาการว่าถ้าตัวเองทำเองจะปรับปรุงมันอย่างไร จากการเดินทางไปทั่วเมืองไทยผมสรุปได้ว่าอาหารไทยแท้นั้นจริงๆแล้วมีแต่ ต้ม, ยำ, ตำ, แกง เป็นพื้น ส่วนการผัดๆทอดๆนั้นรากของมันน่ามาจากทางจีน

ผมเกิดที่ภาคเหนือซึ่งอาหารมักจะเป็นผัก แม้จะใช้เครื่องเทศหลากหลายแต่รสชาติไม่จัด ไม่มีการใส่น้ำตาลเข้าไปในอาหารคาวเด็ดขาด ถ้าใส่ก็ถือว่าทำของดีๆให้เสียไปเลย ผมจำได้ว่าสมัยนั้นมีญาติคนหนึ่งเดินทางไปเอายา (แพทย์แผนไทย) ทางภาคกลางเพื่อเอามารักษาคนป่วยที่บ้าน เขาเดินทางไปกลับประมาณ 14 วัน ปรากฎว่าผอมเป็นคนละคน เพราะกินข้าวไม่ลงเนื่องจากคนภาคกลางใส่น้ำตาลลงไปในกับข้าว

ภาคเหนือมีการใช้ถั่วเน่าปรุงอาหาร มีน้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง กินกับผัก เช่นผักนึ่ง และมีการใช้ขนุนทำอาหารทั้งตำทั้งแกง อาหารเหนือบางตำรับที่อร่อยก็เป็นของพม่าอย่างเช่นแกงฮังเล หรือของจีนฮ่ออย่างเช่นข้าวซอย

พอมาอยู่ภาคกลางผมจึงได้มากินแกงที่มีกะทิ เครื่องเทศ น้ำจิ้ม ใช้เครื่องเทศรสแรง จัดจ้าน คงเพื่อดับกลิ่นคาวของปลาซึ่งเป็นอาหารหลักของภาคกลางสมัยนั้น เพราะภาคกลางมีคูคลองและปลาแยะตลอดปี คนภาคกลางชอบมีของแนม เช่นแกงกะทิแนมด้วยปลาเค็ม สะเดาน้ำปลาหวานต้องคู่กับปลาดุกย่าง ปลาสลิดทอดต้องกับน้ำพริกมะม่วง ไข่เค็มต้องกับน้ำพริกลงเรือ ของแนมบางอย่างที่ผมไม่เคยกินมาก่อนแต่ก็ชอบกิน เช่น ผักดอง ขิงดอง แล้วตอนที่ผมมาเรียนหนังสือภาคกลางนี่เองที่เริ่มกินอาหารสไตล์จีนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผัดๆทอดๆโดยมีเนื้อหมูเป็นวัตถุดิบหลัก

คนภาคกลางชอบกินอาหารอิสาน ผมก็เลยพลอยได้กินไปด้วย ทั้งส้มตำ น้ำตก ลาบ อ่อม ไก่ย่าง แกงหน่อไม้ ซุบหน่อไม้ มีผักแนมทั้ง สด ต้ม ลวก

พอไปเรียนหนังสือภาคใต้น่าเสียดายที่ผมแทบไม่ได้รู้จักอาหารใต้จริงจังเพราะการเรียนแพทย์ต้องอยู่แต่ในมหาลัยซึ่งกินอาหารแบบคนกรุงเทพ อย่างดีก็มีน้ำพริกกะปิบวกผักสดแจกฟรีเท่านั้นเองที่เป็นอาหารใต้แท้ ส่วนแกงไตปลา แกงเหลือง หรือข้าวยำน้ำบูดู ผมแทบไม่มีโอกาสได้ซาบซึ้งเลย น่าเสียดาย

พอไปอยู่เมืองนอกก็กินอาหารแบบฝรั่งที่มีแต่เนื้อสัตว์เป็นพื้นทั้ง เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะ นม เนย และชีส กลับมาอยู่เมืองไทยก็ติดนิสัยการกินที่ไม่ดีจากฝรั่งมาจนตัวเองป่วยเป็นโรคหัวใจจึงบังคับให้ตัวเองกินอาหารมังสวิรัติแบบไม่มีเนื้อสัตว์เลย นี่กินมังมาแล้ว 15 ปีแล้ว อยู่ในที่หากินไม่ได้ก็ทำตัวเป็นเจเขี่ย อาหารมังสวิรัติในเมืองไทยนี้พูดก็พูดเถอะอย่าโกรธกันเลยนะ..มันไม่อร่อย หิ หิ แถมมันยังเสียความเป็นอาหารไทยไปโข เพราะคนทำอาหารมังสวิรัติเขาไม่ยอมรับกะปิน้ำปลาเพราะถือว่าเป็นเนื้อสัตว์ และเขาไม่กล้าใช้กะทิเพราะกะทิถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร้าย ผมในฐานะผู้ซื้ออาหารกินก็เลยแห้ว อดกินของแซ่บๆร้อนๆแรงๆของภาคกลางอย่างเช่น แกงเขียวหวาน แกงมัสมั่น พะแนง ฉู่ฉี เป็นต้น เมื่อไม่กี่วันก่อนผมไปบรรยายให้แพทย์ต่างชาติที่บาหลี นั่งเครื่องบินการบินไทยไป ได้กินฉู่ฉี่ปลา โห..อร่อย นึกภาพว่าถึงไม่ใส่ปลาเอาพืชเช่นถั่วมาใส่แทนก็จะยังอร่อยเพราะความแซ่บ

ผมรักษาตัวเองด้วยอาหารมังสวิรัติมาตั้งแต่อายุ 55 ปีจนอายุ 70 ปี สารภาพว่ายังโหยหาอาหารอร่อยๆรสแซ่บๆอยู่อย่างไม่จืดจาง ไม่ใช่โหยหาเนื้อสัตว์นะเพราะท้องผมไม่ค่อยเอาเนื้อสัตว์แล้วตอนนี้ แต่ผมโหยหาเครื่องเทศ เครื่องแกงรสแซ่บๆ รวมทั้ง กะปิ น้ำปลา และกะทิ

ผมมีคนไข้หลายคนที่เริ่มต้นก็ดูแลตัวเองดีพอโรคดีขึ้นแล้วก็…ดีแตก ผมถามว่าทำไมไม่ตั้งใจกินอาหารอย่างที่เรียนไป เขาตอบว่า “มันไม่อร่อย” ซึ่งผมฟังแล้วอึ้งกิมกี่ เพราะผมเองก็เจอปัญหาแบบเดียวกันเพียงแต่ผมบังคับตัวเองได้เขาบังคับไม่ได้

พออ่านงานวิจัยของใต้หวันฉบับนี้แล้ว ไฟอยากทำอาหารกินเองของผมก็คุขึ้นมาอีก ย้ำอีกที ไม่ใช่อยากกินเนื้อสัตว์ แต่อยากกินเครื่องเทศอยากกินเครื่องแกงของอาหารไทยแท้ จึงตั้งใจว่าจะต้องทำอาหารกินเองเสียที ตั้งใจว่าจะเริ่มปีใหม่นี้แหละ ผมไม่เชื่อดอกว่าอาหารไทยเป็นอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เพราะแท้จริงแล้วที่เราเรียกว่าอาหารไทยนั้นมันแบ่งเป็นสองส่วน

ส่วนที่ 1. คือสมุนไพร เครื่องเทศ เครื่องแกง กะปิ น้ำปลา รวมทั้งกะทิ ซึ่งเป็นสารัตถะของความเป็นอาหารไทย ยังไม่เคยมีหลักฐานเลยว่าส่วนนี้จะเป็นเหตุให้คนไทยป่วย (แม้กระทั่งกะทิ)

ส่วนที่ 2. คือวัตถุดิบอาหารที่เอามาใส่ ซึ่งมันเลือกได้ว่าจะเลือกใส่พืชผักผลไม้ถั่วงานัทซึ่งดีต่อสุขภาพ หรือจะหนักไปทางเนื้อสัตว์และไขมันจากสัตว์ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพ ผมว่าการเลือกวัตถุดิบอาหารนี่มากกว่าที่ทำให้คนไทยป่วย

ควบคู่ไปกับการคิดทำอาหารเอง ผมกำลังวางแผนจะทำวิจัยเพื่อพิสูจน์ว่าถ้าเราออกแบบ “อาหารไทยสุขภาพ” ที่ใช้สมุนไพร เครื่องเทศ เครื่องแกง กระปิ น้ำปลา รวมทั้งกะทิ แบบอาหารไทยแท้ได้ไม่จำกัด แต่ใช้วัตถุดิบอาหารที่หนักไปทางพืชผักผลไม้ถั่วงานัทธัญญพืชไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ถ้าจะมีก็ให้น้อยๆและเน้นไปทางปลาปูหอยกุ้ง แล้วแบ่งกลุ่มวิจัยเป็นสองกลุ่มเพื่อเทียบการกิน “อาหารไทยสุขภาพ” นี้กับการกิน “อาหารสมัยนิยม” อย่างที่คนส่วนใหญ่เขากินกันอยู่ทั่วไปว่าอย่างไหนจะเป็นอาหารที่ทำให้ตัวชี้วัดสุขภาพดีขึ้นและพลิกผันโรคเรื้อรังได้ดีกว่ากัน ผลการวิจัยจะออกหัวหรือออกก้อย ก็ต้องคอยดูกันต่อไป

หาก “อาหารไทยสุขภาพ” สามารถทำให้ตัวชี้วัดสุขภาพดีขึ้นและพลิกผันโรคเรื้อรังได้จริง ถึงตอนนั้นเราก็สามารถโปรโมท “อาหารไทยสุขภาพ” นี้ไปได้ทั่วโลก ซึ่งจะดีกับทั้งคนปลูก คนทำ คนขาย และคนกิน แต่มันจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ต้องรอดูผลวิจัยที่จะออกมา

ต้นปี 2566 ผมจะส่งเรื่องขออนุมัติกรรมการจริยธรรม เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว ผมจะประกาศหาอาสาสมัครจากทั่วประเทศเข้าร่วมการวิจัย ท่านที่สนใจจะสร้างประวัติศาสตร์หน้านี้ด้วยกันถึงตอนนั้นก็เชิญสมัครเข้าร่วมการวิจัยได้เลยครับ รายละเอียดการวิจัยต้องรอเรื่องผ่านกก.จริยธรรมก่อนจึงจะแจ้งท่านได้ ส่วนการบริจาคเงินนั้นรอบนี้คงไม่ต้องรบกวนแฟนบล็อกหมอสันต์แล้ว เพราะผมมีผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม แต่ประสงค์จะออกเงิน ตีตั๋วรอให้เงินอยู่ หิ..หิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Chen RC, Lee MS, Chang YH, Wahlqvist ML. Cooking frequency may enhance survival in Taiwanese elderly. Public Health Nutr. 2012 Jul;15(7):1142-9. doi: 10.1017/S136898001200136X. Epub 2012 May 11. PMID: 22578892.
[อ่านต่อ...]

23 ธันวาคม 2565

เรื่องโรคหัวใจคุณอย่าไปย้ำคิดย้ำทำกับการวินิจฉัย ให้ลงมือจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรค

(ภาพวันนี้: กล่ำปลีม่วงกำลังห่อรับลมหนาว)

เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพครับ

ผมอายุ 52 ปี สูง 182 cm หนัก 77 kg ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ทำงานในสภาวะที่มีความเครียดสูงพอสมควรแต่ไม่ตลอดเวลา และทานอาหารที่แย่อย่างไม่ระมัดระวังตัว ชอบทานเนื้อวัว ผักก็ทานตามที่ให้มา ดื่ม Alcohol บ้างตามโอกาสเดือนละ 2-4 ครั้ง ในอดีตต้นปีเคยมีจุกเสียดพัก 2 ชม ไม่หาย จึงไป รพ เพื่อตรวจ ทั้งตรวจเอมไซน์ X-ray ECG ผลทุกอย่างปรกติครับ

ผมทำการตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี แต่ผลปีนี้ซึ่งตรวจเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565 ออกมาดังนี้ครับ น้ำตาล และน้ำตาลสะสม ปรกติ, Cholesterol = 247 (สูงแบบนี้มาโดยตลอด swing บ้างเล็กน้อย), HDL = 56
– LDL = 178 (สูงแบบนี้มาโดยตลอด swing บ้างเล็กน้อย), TG = 59 ปรกติ, ค่าตับ/ไตปรกติ, X-ray and ECG ปรกติ, ผล EST ดังนี้ครับ: Good exercise capacity but significantly dropped from 2021 (was 8:20 min).
There were 1 mm of horizontal ST segment depression in II,III,aVF with ST segment elevation in aVL and aVR since the end of stage 2 through 10th min of recovery without angina.
IMP : Positive EST for ischemia at moderate-high workload. Treadmill score = +2

ซึ่งผมก็ได้พบกับหมอหัวใจหลังจากนั้นใน 1 สัปดาห์โดยทำ Echo ผลออกมาปรกติดี และได้รับยามา 3 ตัว B-Aspirin, Lipitor 20 mg และยาอมใต้ลิ้นเมื่อมีอาการ (isosorbide) โดยที่คุณหมอหัวใจให้นัดหมายทำการสวนหัวใจ ในกลางเดือนมกราคม 2566

หลังจากนั้นผมได้ศึกษา clips ของคุณหมอและปัญหาถามตอบที่พอจะสัมพันธ์กับกรณีของผม ผมได้ปฎิบัติตัวอย่างจริงจังซึ่งผ่านมาแค่ 3 สัปดาห์ดังนี้ครับ คือ ลดเนื้อสัตว์ใหญ่ลงทันที 90% โดยทานเนื้อปลาแทน, ผักและผลไม้เป็นหลัก, เริ่มออกกำลังกายโดยการเดิน treadmill เพื่อให้ได้ความเหนื่อย >150 นาทีต่อสัปดาห์ โดยยังไม่หักโหมนักเพราะพึ่งเริ่มแต่จะทำให้มากขึ้นตามลำดับครับ, พยายามนอนหลับให้มากขึ้น > 6-7 ชม ต่อวัน (อดีต แค่ 3-4 ชม), ลดความเครียดลงไปได้ครึ่งประมาณครึ่งนึงของที่เคย (ทำใจ ลดความคาดหวัง และอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น) แต่จะทำให้ได้ดีมากขึ้นกว่านี้ครับ, หนักลดลงไปเล็กน้อยประมาณ 1.5kg, HR จากนาฬิกา เฉลี่ย 4 weeks อยู่ประมาณ 62 bpm (avg Resting) และ 113 bpm (avg High) แต่ตอนออกกำลังกายผมก็สามารถทำได้ถึง >148 bpm เป็นช่วงๆ ครับ

จากข้อมูลของผมที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ใคร่ขอเรียนถามคุณหมอดังนี้ครับ

1. หากทำการสวนหัวใจฉีดสีตามนัดหมายแต่เพื่อวิเคราะห์หาความตีบเท่านั้น โดยที่จะขอใช้แนวทางการรักษาไม่รักษาแบบรุกล้ำ ทั้ง balloon และ ขดลวด จะเป็นสามารถเป็นไปได้ไม๊ครับ คุณหมอผู้นัดตรวจท่านแนะนำว่าถ้าไม่เกิน 70% ก็ไม่ทำอะไร แต่ผมเกรงว่าหากตีบเกินแล้วผมควรจะทำอย่างไรดี? ถอยออกมาก่อนจะดีหรือไม่ หรือมีวิธีการตรวจอื่นที่เหมาะสมกับกรณีของผมก่อนที่จะสวนหัวใจหรือไม่

2. หากผมต้องการใช้แนวทางไม่รุกล้ำดังในข้อ 1 ผล EST ของผมมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ในการที่จะเกิดปัญญาที่ไม่คาดคิดกับหัวใจในอนาคต เพราะต้องเดินทางต่างประเทศปีละ 3-4 ครั้งครับ และหากคุณหมอชี้ว่ามีความเสี่ยงผมควรจะปฏิบัติตัวเช่นไรในระหว่างเดินทางไกลครับ

3. ผมสังเกตว่าการเหนื่อยหลังจากการออกกำลังกายจะใช้เวลาในการ Recovery ค่อนข้างนาน ซึ่งสัมพันธ์กันกับผล EST อันนี้เป็นข้อบ่งชี้อะไรที่น่ากังวลไม๊ครับ และผมสามารถที่จะพัฒนาการ recovery ของผมได้อย่างไรบ้างครับ

4. ผมเริ่มทานยา Lipitor 20mg แล้ว แต่ยังไม่ได้เริ่มทาน B-Aspirin 81mg เลยเนื่องจากยังต้องทำฟันอีก 1-2 ครั้งและจะมีการเย็บแผลและเลือดออกพอควร ซึ่งคุณหมอคลีนิคหัวใจให้ผมเริ่มทานหลังจากที่ทำฟันแล้วเสร็จ, ผมควรจะเริ่มทานเลยไม๊ครับถ้าหากยังต้องไปสวนหัวใจตามนัดหมาย

5. PM2.5 มีผลมากน้อยแค่ไหนกับปัญหาหลอดเลือดตีบครับ

6. หากคุณหมอมีคำแนะนำใดๆ เพิ่มเติมกับผู้ที่เริ่มต้นดูแลสุขภาพอย่างผมก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งครับ

ท้ายนี้ขอให้คุณหมอสันต์ มีสุขภาพกายและใจแข็งแรงอยู่คู่สังคมไทยไปนานๆครับผม
Merry Christmas and Happy New Year 2023

จากผม นาย …

Sent from my iPad

…………………………………………………………….

ตอบครับ

1.. ถามว่าหากยอมสวนหัวใจฉีดสีตามหมอนัดเพื่อวินิจฉัยความตีบเท่านั้น โดยจะขอใช้แนวทางไม่รักษาแบบรุกล้ำ ไม่ทำทั้ง balloon และ ขดลวด จะเป็นไปได้ไหม ตอบว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ได้ ขึ้นกับหมอคนที่สวนหัวใจให้คุณว่าเขา “อยาก” ทำบอลลูนใส่ขดลวดหรือไม่ครับ จริงอยู่วงการแพทย์โรคหัวใจมี guidelines เป็นมาตรฐานว่ากรณีไหนควรทำ กรณีไหนไม่ควรทำการรักษาแบบรุกล้ำ แต่งานวิจัยพบว่าแพทย์จำนวนหนึ่งไม่ได้ทำตาม guidelines คือท่านทำตามความ “อยาก” ของท่านแทน

ดังนั้นเมื่อพิจารณาปัจจัยแวดล้อมที่ตัวคุณนอนอยู่บนเขียงแล้ว + ความอยากทำของแพทย์ + วิธีให้ข้อมูลของแพทย์ที่บอกแต่ข้อบ่งชี้ของการทำการรักษาแบบรุกล้ำแต่ไม่บอกทางเลือกอื่น + กองเชียร์อันได้แก่ลูกเมียซึ่งศรัทธาการรักษาแบบรุกล้ำมากกว่าเชื่อน้ำยาในการดูแลตัวเองของคุณ โอกาสที่คุณจะพ้นจากการถูกทำบอลลูนใส่ขดลวดเมื่อได้สมัครใจสวนหัวใจแล้วนั้น หมอสันต์ให้ความเห็นว่า..มีน้อยมาก..ส์ เติมเอสด้วยนะ แปลว่าน้อยจริงๆ

ดังนั้นผมแนะนำว่าให้คุณตัดสินใจข้ามช็อตเสียแต่ตอนนี้ว่าอยากทำการรักษาแบบรุกล้ำหรือไม่ ถ้าไม่อยาก ให้อยู่ห่างๆการสวนหัวใจไว้ดีกว่าครับ

2. ถามว่าหากเลือกรักษาแบบไม่รุกล้ำ จะเสี่ยงตายมากแค่ไหน ตอบว่าคนที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดระดับไม่มีอาการอย่างคุณนี้ความเสี่ยงตายไม่ต่างจากคนทั่วไปครับ แต่ที่น่าสนใจก็คือคนที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดที่เจ็บหน้าอกระดับ 1-3 จาก 4 ระดับพบว่าการรักษาแบบไม่รุกล้ำกับแบบรุกล้ำมีความเสี่ยงตายเท่ากันในระยะ 10 ปีครับ

3. ถามว่าการที่ออกกำลังกายแล้วเหนื่อยต้องพักนาน กับผล EST ได้ผลบวก น่ากังวลไหม ตอบว่าอาการคลาสสิกของหัวใจขาดเลือดคือออกแรงแล้วเจ็บแน่นหน้าอกซึ่งคุณไม่มีอาการดังกล่าว ส่วนอาการออกกำลังกายแล้วเหนื่อยและการตรวจ EST พบคลื่นหัวใจเปลี่ยนโดยไม่เจ็บหน้าอกเป็นอาการไม่จำเพาะเจาะจงที่อาจเกิดจากความไม่ฟิต

ดังนั้นแทนที่จะนั่งกังวล ผมแนะนำให้คุณสร้างความฟิตให้ตัวเองโดยออกกำลังกายแบบแอโรบิกแล้วค่อยๆเพิ่มระยะที่เหนื่อยจนหอบแฮ่กๆให้มากขึ้นทุกวันๆ แล้วประเมินตัวเองดูโดยใช้เวลาหลายเดือน หากมีอาการเหนื่อยมากแม้ออกกำลังกายแค่นิดๆหน่อยๆจนคุณภาพชีวิตไม่ดีเลยแม้จะทดลองหลายเดือนแล้ว ก็ควรพิจารณาไปรับการตรวจสวนหัวใจเพื่อทำบอลลูนหรือบายพาสเพื่อบรรเทาอาการให้คุณภาพขีวิตดีขึ้น

4. ถามว่าต้องรอทำฟันก่อนหรือควรเริ่มยาแอสไพรินเลย ตอบว่าต้องรอทำฟันก่อนสิครับ การให้ยาแอสไพรินในกรณีของคุณนี้ถือเป็นการให้แบบ primary prevention ซึ่งมาตรฐานปัจจุบันให้กับไม่ให้อัตราตายก็ไม่ต่างกัน ไม่จำเป็นต้องรีบ

5. ถามว่าฝุ่น PM2.5 มีผลมากน้อยแค่ไหนกับปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ ตอบว่ามันเป็นแค่สถิติแสดงความสัมพันธ์ระหว่างมลภาวะกับการตายของคนในยุโรป ซึ่งพบว่าในเมืองที่อยู่กันหนาแน่นมีมลภาวะมากมีคนตายมากกว่านอกเมืองประมาณ 129 คนต่อประชากรแสนคน ก็คือตายเพิ่มเกือบดับเบิ้ล เรียกว่า excess death ซึ่งส่วนใหญ่ตายจากโรคหัวใจขาดเลือดและโรคปอด เรารู้แค่นี้ รายละเอียดมากกว่านี้ไม่มี ในประเด็นนี้หากคุณเลือกได้ก็เลือกไปอยู่นอกๆเมืองได้ก็ดี แต่หากเลือกไม่ได้ก็ช่างมันเถอะครับ

6. ถามว่าหมอสันต์มีคำแนะนำเพิ่มเติมไหม ตอบว่ามี คือในเรื่องโรคหัวใจขาดเลือดนี้ คุณอย่าไปใส่ใจการวินิจฉัยให้มาก เด็กมัธยมก็วินิจฉัยโรคนี้ได้แล้วจากการมีปัจจัยเสี่ยงและความชุกของโรคในหมู่คนไทย ความพยายามที่จะยืนยันการวินิจฉัยให้ละเอียดไม่จำเป็น รังแต่จะทำให้คุณเจ็บตัวและตายเร็วขึ้นด้วยการรักษาที่มากเกินไป ข้อมูลเท่าที่มีว่ามีปัจจัยเสี่ยงถ้าเป็นคนไทยวัยผู้ใหญ่ก็ให้วินิจฉัยว่าตัวเองเป็นโรคนี้ได้แล้ว สิ่งที่คุณควรใส่ใจมากกว่าคือการลงมือเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต นับตั้งแต่อาหาร การออกกำลังกาย และการจัดการความเครียด ทั้งนี้ให้ถือคอนเซ็พท์ง่ายๆว่าการกินและการใช้ชีวิตในแบบที่ผ่านมานำคุณมาสู่การเป็นโรคนี้ คุณไม่มีทางหายจากโรคนี้ได้หากคุณยังกินและยังใช้ชีวิตแบบเดิม

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Howard DH, Shen YC. Trends in PCI volume after negative results from the COURAGE trial. Health Serv Res. 2014 Feb;49(1):153-70. doi: 10.1111/1475-6773.12082. Epub 2013 Jul 5. PMID: 23829189; PMCID: PMC3922471.
  2. Jos Lelieveld, Klaus Klingmüller, Andrea Pozzer, Ulrich Pöschl, Mohammed Fnais, Andreas Daiber, Thomas Münzel. Cardiovascular disease burden from ambient air pollution in Europe reassessed using novel hazard ratio functionsEuropean Heart Journal, 2019; DOI: 10.1093/eurheartj/ehz135
[อ่านต่อ...]

22 ธันวาคม 2565

จะตัดลูกอัณฑะของคุณพ่อก็ต้องถามคุณพ่อสิครับ เพราะมันอัณฑะของท่าน

(ภาพวันนี้: ฟ้าเป็นฟ้าในหน้าหนาว)

สะบายดี

ขวรบกวนอีกคั้ง พ่วผมเปันมะเรังต่อมลูกหมาก หมแนะนำให้ผ่าตัดเพาะเชื่อมะเรังลามรอดปอด เพี่นแนะนำให้ตัดอันทะออก ขวความช่วยเหลือ

 ขอบใจ

…………………………………………………………………………

ตอบครับ

แฟนบล็อกหมอสันต์ที่เป็นคนในประเทศเพื่อนบ้านมีมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ถามมาเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งผมได้ประกาศไปแล้วว่าผมไม่ตอบคำถามเป็นภาษาอังกฤษ บ้างจึงใช้กูเกิ้ลแปลเป็นภาษาไทยมาให้ อ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง พอผมตอบไปเป็นภาษาไทยก็เอากูเกิ้ลแปลกลับเป็นภาษาของเขาใหม่ ใจความจะตรงกันหรือไม่ก็สุดแต่บุญกรรม มีอยู่คนหนึ่งเป็นฝรั่งเมียไทย อาศัยเมียอ่านและแปลให้ คงจะจับความได้อยู่ เพราะต่อมาตัวเขาเขียนตอบมาหาผมว่า

“Khob Khun Krub. Sabai Jai Law.”

มาตอบคำถามของชาวประเทศเพื่อนบ้านท่านนี้กันดีกว่า

1.. ถามว่ามะเร็งต่อมลูกหมากมีทางเลือกในการรักษากี่วิธี ตอบว่ามีอย่างน้อย 5 ทางเลือก คือ

1.1 รอดูเชิงไป (watchful waiting) ไม่ทำอะไรทั้งนั้น PSA ก็ไม่ตรวจ จะลงมือทำอะไรก็ต่อเมื่อมีอาการจนชีวิตไปต่อไม่ได้ (เช่น ฉี่ไม่ออกเป็นต้น) จึงค่อยลงมือรักษาเพื่อแก้ไขอาการ ทางเลือกนี้นิยมใช้ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่อายุเกิน 75 ปีไปแล้ว เพราะในภาพใหญ่มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งโตช้า หากมาพบเอาตอนอายุ 75 ปีไปแล้วโอกาสที่จะได้ตายจากเหตุอื่นจะมีมากกว่าตายจากมะเร็งต่อมลูกหมาก ดังนั้นจะไม่รักษามันเลยก็ได้

1.2 เฝ้าระวังอย่างขยันขันแข็ง (active surveillance) คือไม่ผ่าตัดไม่รักษาอะไรทั้งสิ้น แต่ขยันตรวจดู PSA ทุก 3-6 เดือน และขยันไปตัดชิ้นเนื้อซ้ำทุกปี เมื่อใดที่มะเร็งรุนแรงขึ้น ซึ่งทราบจากคะแนนวัดความแรงของมะเร็ง (Gleason score) สูงขึ้น ก็ค่อยตัดสินใจไปผ่าตัดหรือรักษาด้วยวิธีอื่นๆ วิธีเฝ้าระวังแบบนี้เกิดขึ้นเพราะข้อมูลเปรียบเทียบการตายในระยะยาวว่ากรณีเป็นมะเร็งชนิดไม่ก้าวร้าว(ซึ่งเป็น 95% ของมะเร็งต่อมลูกหมากทั้งหมด) การรักษาหรือไม่รักษาให้อัตรารอดชีวิตในระยะยาวไม่ต่างกัน จึงเปิดให้ผู้ป่วยไม่ว่าอายุเท่าใดเลือกว่าชอบแบบไหนก็เลือกแบบนั้นได้

1.3 ผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออก (prostatectomy) เป็นวิธีมาตรฐานที่ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ (urologist) มักเสนอให้เป็นทางเลือกแรกแก่ผู้ป่วยทันทีที่วินิจฉัยได้จากการตัดชิ้นเนื้อว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ทางเลือกนี้หากเป็นมะเร็งชนิดไม่ก้าวร้าว อัตรารอดชีวิตไม่แตกต่างจากการไม่ผ่าตัด แต่หากเป็นมะเร็งชนิดก้าวร้าว ทางเลือกนี้จะลดอัตราตายในระยะยาวได้ดีกว่าการไม่ผ่าตัด

เทคนิคในการผ่าตัดก็มีหลายแบบ เช่นตัดเหี้ยน (radical prostatectomy) ส่องกล้องผ่านหน้าท้องเข้าไปตัด (laparoscopic prostatectomy) ผ่าเปิดผิวหนังเข้าไปตัด (open prostatectomy) เป็นต้น

1.4 การใช้รังสีรักษา (radiation therapy) เป็นความพยายามที่จะรักษาให้หายเช่นเดียวกับการผ่าตัด ซึ่งแยกเป็นสองแบบ คือฉายแสง และฝังแร่ (brachytherapy)

1.5 การรักษาด้วยฮอร์โมน (hormone therapy) เป็นวิธีรักษาที่เกิดจากความรู้ที่ว่าตัวกระตุ้นให้มะเร็งต่อมลูกหมากโตได้ โตดี โตไม่เลิก คือฮอร์โมนเพศชาย (androgen) จึงนำมาสู่การรักษาด้วยการลดฮอร์โมนแอนโดรเจนวิธีใดวิธีหนึ่งในสองวิธีคือ (1) ใช้ยากินหรือฉีดเพื่อต้านแอนโดรเจน (2) ตัดลูกอัณฑะซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ที่ผลิตแอนโดรเจนออก (orchidectomy) ซึ่งช่วยเพิ่มความยืนยาวของชีวิตได้ระดับหนึ่ง ทางเลือกนี้นิยมใช้ในผู้ป่วยที่ทำผ่าตัดไม่ได้ หรือทำผ่าตัดแล้วแต่มะเร็งก็ยังแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นอยู่

นอกจากนี้ยังมีวิธีรักษาเล็กๆน้อยปลีกย่อยอื่นๆ เช่น เคมีบำบัด ภูมิคุ้มกันบำบัด ยาล็อคเป้า ซึ่งผมขอไม่พูดถึงในที่นี้ การที่มะเร็งต่อมลูกหมากมีทางเลือกแยะเป็นเพราะมันไม่มีทางไหนดีที่สุดสักทางเดียว

2. ถามว่าคุณพ่อเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก หมอจะขอตัดอัณฑะ ควรยอมให้หมอตัดไหม ตอบว่าก็ต้องถามคุณพ่อท่านดูสิครับเพราะมันอัณฑะของท่าน การตัดสินใจของผู้ป่วยมักจะขึ้นอยู่กับอายุและการให้ความสำคัญกับกิจกรรมทางเพศของผู้ป่วยแต่ละคนเพราะสิ่งแรกที่จะเสียไปอย่างถาวรจากการตัดอัณฑะคือเซ็กซ์ แลกกับสิ่งที่จะได้มาคือมะเร็งจะลดการเติบโตหรือลดความรุนแรงลง ทั้งนี้ขอให้เข้าใจตรงกันก่อนว่าการตัดอัณฑะไม่ได้ทำให้มะเร็งหาย

3. ข้อนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมแถมให้ มีงานวิจัยการทดลองรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในระยะไม่รุนแรงด้วยการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตคือ กินพืชเป็นหลัก ออกกำลังกาย จัดการความเครียด มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง แล้วพบว่าทำให้มะเร็งลดความรุนแรงลง ค่า PSA ลดลง มะเร็งลดการรุกรานลง คุณให้ข้อมูลนี้แก่คุณพ่อด้วยก็จะเป็นทางเลือกที่ท่านทำได้เองอีกทางหนึ่งนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Ornish D, Weidner G, Fair WR, Marlin R, Pettengill EB, Raisin CJ, Dunn-Emke S, Crutchfield L, Jacobs FN, Barnard RJ, Aronson WJ, McCormac P, McKnight DJ, Fein JD, Dnistrian AM, Weinstein J, Ngo TH, Mendell NR, Carroll PR. Intensive lifestyle changes may affect the progression of prostate cancer. J Urol. 2005 Sep;174(3):1065-9; discussion 1069-70. doi: 10.1097/01.ju.0000169487.49018.73. PMID: 16094059.
[อ่านต่อ...]

21 ธันวาคม 2565

การอดอาหารแบบเป็นช่วงๆ (Intermittent Fasting - IF) เพื่อรักษาเบาหวาน

(ภาพวันนี้: พวงประดิษฐ์ริมทางเดิน)

คุณหมอครับ

ผมเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ใช้ยาอยู่กินสองตัว อยากปรึกษาคุณหมอว่าจะอดอาหารแบบ IF รักษาเบาหวานดีไหมครับ

ของคุณครับ

……………………………………………………..

ตอบครับ

ก่อนที่จะตอบ ผมขอเล่าถึงหลักฐานวิทยาศาสตร์จากการทำวิจัยในคนในเรื่องการอดอาหารแบบเป็นช่วงเวลา (intermittent fasting – IF) เช่นการอดเฉพาะช่วงกลางคืน ก่อนนะ

วงการแพทย์รู้มานานแล้วจากการวิจัย [1] ว่าการกินอาหารหลังตะวันตกดินแล้วร่างกายจะจัดการน้ำตาลที่กินเข้าไปได้ไม่ดีเท่าการกินอาหารตอนตะวันยังไม่ตกดิน กล่าวคือการกินอาหารตอนกลางคืนจะทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นสูงกว่า และสูงค้างเติ่งอยู่นานกว่าการกินอาหารตอนกลางวัน และทราบกลไกแล้วด้วยว่ากลางคืนเมื่อฮอร์โมนเมลาโทนินออกมาแล้วจะบล็อกการปล่อยอินสุลินจากตับอ่อน แม้ว่าจะมีกลูโค้สในเลือดสูงขึ้นเป็นต้วกระตุ้นให้ตับอ่อนปล่อยอินสุลินก็ตาม ซึ่งความรู้เท่านี้ก็เพียงพอที่จะสร้างนิสัยกินอาหารมื้อหนักเสียตั้งแต่ช่วงตะวันขึ้น และเลิกกินมื้อหนักช่วงตะวันตกเพื่อป้องกันเบาหวาน

งานวิจัยอดอาหารแบบ IF ในอดีตมีทำไปแล้วมากกว่า 494 เปเปอร์หรือจำนวนงานวิจัย การทบทวนงานวิจัยที่ใหญ่ที่สุดได้เลือกงานวิจัยที่ดีที่สุด 23 งานมาทำวิจัยแบบเมตาอานาไลซีส [2] พบว่าการอดอาหารแบบ IF ลดน้ำหนักได้ 3% โดยเฉลี่ย ทำให้มวลไขมันในร่างกายลดลง และทำให้กลไกการเผาผลาญอาหารเช่นความไวต่ออินสุลินของเซลล์ร่างกายดีขึ้น จึงถือว่าเป็นหลักฐานบ่งชี้โดยอ้อมว่าการอดอาหารแบบ IF น่าจะเป็นผลดีต่อการป้องกันและรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมีมูลเหตุอยู่ที่การที่เซลล์ดื้อต่ออินสุลิน

งานวิจัยการใช้การอดอาหารแบบ IF รักษาผู้ป่วยเบาหวานโดยตรงซึ่งจะเป็นตัวให้แสงสว่างชี้นำในเรื่องนี้เขากำลังทำวิจัยกันอยู่ที่อลาบามา (สหรัฐฯ) ยังไม่ได้สรุปผลออกมา งานนี้ใช้ผู้ป่วยเบาหวาน 144 คน ผลสรุปของงานนี้จะตอบได้เด็ดขาดว่าควรใช้ IF รักษาเบาหวานหรือไม่

ดังนั้นนับถึงวันนี้หลักฐานระดับสูงที่พิสูจน์ว่า IF รักษาเบาหวานได้แบบชัดๆจึงยังไม่มี ทำให้วงการแพทย์ยังไม่ถือว่าการอดอาหารแบบ IF เป็นวิธีมาตรฐานในการป้องกันและรักษาโรคเบาหวาน

แต่อย่างไรก็ตาม หมอสันต์ก็ยังสนับสนุนให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ทดลองรักษาเบาหวานให้ตัวเองด้วยการอดอาหารแบบ IF ได้เลยโดยไม่ต้องรอผลวิจัยจากอลาบามา คำสนับสนุนของผมมีพื้นฐานอยู่บนหลักฐานวิจัยแบบอ้อมๆที่ได้จากการทบทวนงานวิจัยข้างต้น [2] โดยหากท่านคิดจะทดลองกับตัวเองจริงให้ท่านลดหรืองดอินสุลินและยากินทั้งหมดที่ออกฤทธิ์ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำลงมาก่อนที่จะเริ่มอดอาหาร ยกเว้นเฉพาะยา metformin ไม่ต้องลดหรืองดก็ได้เพราะยานี้ไม่ทำให้เกิดน้ำตาลในเลือดต่ำ เมื่อได้เริ่มอดอาหารไปแล้ว หลังจากนั้นจึงค่อยๆปรับลดหรือเพิ่มยาตามผลเลือดที่ได้เป็นวันๆไปจนขนาดยาและระดับน้ำตาลเข้าที่

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Van Cauter E, Désir D, Decoster C, Féry F, Balasse EO. Nocturnal decrease in glucose tolerance during constant glucose infusion. J Clin Endocrinol Metab. 1989;69(3):604-611.
  2. Adafer R, Messaadi W, Meddahi M, et al.. Food timing, circadian rhythm and chrononutrition: a systematic review of time-restricted eating’s effects on human health. Nutrients. 2020;12(12):3770.

[อ่านต่อ...]

20 ธันวาคม 2565

อาการหลังเป็นอัมพาต (Post Stroke) รวมทั้งตาพร่ามัว และอาการปวด

(ภาพวันนี้: เจ็ดสิบแล้ว นานๆได้แต่งเครื่องแบบที จึงถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน)

สวัสดีครับคุณหมอ

ผมชื่อ … นะครับ ได้ไปเข้าคอร์ทของคุณหมอที่เขาใหญ่ เมื่อวันที่หนึ่งถึงสี่ธันวาคมครับ ผมเป็น สโต๊ค มาก่อน สองครั้งเมื่อสามปีที่แล้ว และเมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา โดยเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเป็นที่สมองน้อย แต่ตอนนี้ Fully Recover แล้วครับ คุณหมอวิเคราะห์ว่าร่างกายผมน่าจะโอเค แต่มีปัญหาเรื่องความกังวล ต้องจัดการเรื่องนั้น และความดันยังสูงอยู่ ประมาณร้อยสี่สิบ เก้าสิบ ครับ

ตอนนี้ก็พยายามปฏิบัติตัวตามแนวทางที่เรียนจากคุณหมอมาได้ประมาณสักแปดสิบถึงเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ครับ แต่เมื่อเช้าระหว่างไปทำงาน เดิน อยู่อยู่ตาก็เริ่มพร่า เหมือนซ้อนกัน แต่เป็นไม่มากนะครับ และเป็นอยู่แป๊บเดียว แต่อาการนี้ เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นอยู่ประมาณหนึ่งถึงสองนาที ก่อนที่จะเป็นสโตรกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็เลยทำให้มีความกังวลใจขึ้นมาว่านี่เป็นสัญญาณว่ามีปัญหาอะไรหรือเปล่า

จะขอรบกวน ปรึกษาคุณหมอหน่อยครับก็ควรจะทำอย่างไรดี ตอนนี้ก้อไม่มีอาการ BEFAST นะครับ เนี่ยนอกจากเรื่องตาพร่าที่เป็นเล็กน้อย อย่างที่เรียนคุณหมอข้างต้นครับ

ขอบคุณมากครับ

Best regards,

………………………………………………………………………..

ตอบครับ

ก่อนตอบคำถามขอขยายความคำว่า BEFAST ที่ท่านเจ้าของจดหมายพูดถึงหน่อยนะครับ เพราะมันมีประโยชน์สำหรับผู้อ่านทั่วไป BEFAST เป็นคำย่อให้คนทั่วไปวินิจฉัยโรคอัมพาตเฉียบพลันหรือ stroke ของตัวเองได้ คำนี้วงการแพทย์เพิ่งคิดขึ้นมาแทนคำเก่า FAST คำนี้มีความหมายดังนี้

B = Balance = สูญเสียการทรงตัว ยืนไม่อยู่ เดินตรงไม่ได้

E = Eye = การมองเห็นมีปัญหา เช่นตามืดเฉียบพลัน

F = Facial = หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยวเวลายิ้มหรือพูด

A = Arm = แขนตกหรืออ่อนแรงข้างหนึ่ง ยกแขนไม่ขึ้น

S = Speech = การพูดเสียไป พูดไม่ได้ พูดไม่ชัด

T = Time = เวลา ไม่เกี่ยวกับอาการ แต่เตือนว่าเวลาเป็นนาทีทอง ให้รีบไปโรงพยาบาล

เอาละคราวนี้มาตอบคำถาม

1.. ถามว่าเป็นสโตร๊คมาแล้ว อยู่ๆก็ตาพร่าขึ้นมาแป๊บหนึ่ง มันจะเป็นซ้ำหรือเปล่า ตอบว่ามันเป็นไปได้ทั้งนั้น มันอาจเป็นแค่อาการของไมเกรนซึ่งไม่ทราบสาเหตุหรือซึ่งสัมพันธ์กับการอดนอนก็ได้ มันอาจเป็นอาการขนาดเบาของการเป็นสโตร๊คซ้ำก็ได้ ซึ่งหากมันเป็นเช่นนั้น เราก็ได้ป้องกันเต็มที่แล้วโดยการจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดให้ดีและกินยาต้านเกล็ดเลือดอย่างที่คุณทำอยู่แล้ว ส่วนนั้นทำแล้วก็จบแค่นั้นไม่ต้องไปกังวลต่อ ทำเต็มที่แล้วอะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด

ที่ควรจะพูดถึงคือมันเป็นได้อีกอย่างหนึ่ง เขาเรียกว่าการสูญเสียการมองเห็นหลังเกิดอัมพาตที่สมองส่วนหลัง (post occipital stroke vision loss) หมายความว่าคนเป็นอัมพาตเฉียบพลันที่สมองส่วนหลังอย่างคุณนี้ บางคนตอนหลังเป็นใหม่ๆการมองเห็นจะยังดีอยู่ได้ด้วยการทำงานชดเชยของเนื้อสมองส่วนที่ยังไม่เสียหาย แต่แล้วพอเวลาผ่านไปสักหกเดือนการมองเห็นกลับค่อยๆมีปัญหาขึ้นมาอีกทั้งนี้เป็นเพราะอัมพาตชนิด occipital stroke ซึ่งเริ่มต้นด้วยความเสียหายของเนื้อสมองส่วนหลังนั้น มันจะทำให้ค่อยๆเกิดการเสื่อมของเส้นประสาทควบคุมการมองเห็นย้อนกลับจากเนื้อสมองมาจนถึงลูกตา ทำให้การมองเห็นที่ดีๆอยู่หลังการเป็นอัมพาตใหม่ๆค่อยๆแย่ลงภายหลังได้ ซึ่งในประเด็นนี้ผมเคยอ่านงานวิจัยหนึ่งทำที่โรเชสเตอร์ (สหรัฐฯ)ว่าการใช้โปรแกรฟื้นฟูสายตา (เช่นการให้ระวังจ้องดูแล้วชี้เป้าแสงที่โผล่แว้บๆๆๆขึ้นมาตามจุดต่างในลานสายตา) จะช่วยชลอหรือแก้ไขการเสื่อมของการมองเห็นชนิดนี้ได้ ดังนั้นคุณก็ประยุกต์หลักอันนี้ไปใช้ด้วยตนเองได้ คือขยันฝึกการจ้องมองรับรู้จุดต่างๆบนลานสายตาทุกวันก็น่าจะดีกว่าอยู่เปล่าๆนะ

เทคนิคอื่นๆที่ใช้ได้ก็เช่น (1) ถ้าภาพซ้อน ลองหลับตาข้างหนึ่ง หรือเอาอะไรปิดตาข้างหนึ่งเวลาอ่านหนังสือหรือดูทีวี (2) ถ้ามองเห็นด้วยตาเดียว ให้หันหน้าและศีรษะไปข้างนั้นเพื่อช่วยการมองเห็น (3) เวลาอ่านหนังสือก็ใช้ไม้บรรทัดและปากกาคอยคุมให้รู้ว่าอ่านถึงตรงไหนอยู่บนบรรทัดไหน (4) จัดแสงให้สว่างพอส่องมาจากข้างๆ (4) จัดบ้านหรือครัวไม่ให้รก มีของน้อยๆ หยิบง่ายๆ (5) ผมไม่แน่ใจว่าเมืองไทยมีคลินิกหมอตาที่ไหนทำโปรแกรมฟื้นฟูสายตาหรือเปล่า ถ้าทำเองแล้วไม่ดีขึ้นคุณก็ไปเสาะหาคลินิกที่ว่านี้เอาเองก็แล้วกัน

2.. อีกอาการหนึ่งที่คนเป็นอัมพาตชอบเขียนมาถามแต่ผมยังไม่ได้ตอบจึงขอรวบตอบด้วยกันตรงนี้ คือการมีอาการปวดโน่นปวดนี่ หรือเหน็บชา หรือปวดร้อนๆไหม้ๆ หลังเป็นอัมพาต ทั้งหมดนี้เรียกว่า “อาการปวดจากระบบประสาทกลางหลังเป็นอัมพาต” หรือ Central post-stroke pain (CPSP) คือปวดด้วยเหตุในสมอง ไม่ใช่เหตุที่อวัยวะเช่นแขนขา บางครั้งก็เป็นอาการเสียการรับรู้ (ชา) บางครั้งก็รับรู้มากไป (ปวด) ซึ่งเกิดจากกลไกปรับตัวของระบบประสาทที่พอรับรู้รายงานทางประสาทได้น้อยลงก็ขยายสัญญาณที่รับรู้มานั้นให้ใหญ่ขึ้น (neural hyperexcitability) แนวทางการจัดการปัญหานี้หมอสันต์แนะนำว่าให้ใช้หลักปฏิบัติธรรมของบรรดาหลวงพ่อสาย “หนอ” คือปวดก็ปวดหนอ ร้อนก็ร้อนหนอ ชาก็ชาหนอ แค่นั่นพอ ไม่ได้ต้องไปแสวงหาการรักษาอื่นๆมากมายอันจะเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอื่นๆมากเข้าไปอีก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.. Saionz EL, Tadin D, Melnick MD, Huxlin KR. Functional preservation and enhanced capacity for visual restoration in subacute occipital stroke. Brain. 2020 Jun 1;143(6):1857-1872. doi: 10.1093/brain/awaa128. PMID: 32428211; PMCID: PMC7296857.

2.. Klit H, Finnerup NB, Jensen TS. Central post-stroke pain: clinical characteristics, pathophysiology, and management. Lancet Neurol. 2009 Sep;8(9):857-68. doi: 10.1016/S1474-4422(09)70176-0. PMID: 19679277.

[อ่านต่อ...]

19 ธันวาคม 2565

จะไปเมืองนอกก็กลัวติดโควิด จะฉีดวัคซีนก็กลัวตาย

เรียนคุณหมอสันต์

จะไปต่างประเทศ กลัวติดโควิดแต่ไม่กล้าฉีดวัคซีนเข็ม 3 เพราะกลัวเสียชีวิต เพราะเห็นมีคนที่รู้จักเสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีนได้ไม่นาน รบกวนปรึกษาคุณหมอว่าเท่าที่คุณหมอติดตามข้อมูลปัจจุบันวัคซีนโควิดปลอดภัยขึ้นหรือยัง คุ้มที่จะฉีดหรือไม่คุ้มคะ

ขอบพระคุณค่ะ

……………………………………………………..

ตอบครับ

ข้อมูลล่าสุดที่มีคือ ทีมพยาธิแพทย์ที่เยอรมันได้รายงานการตรวจศพของผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ที่ฉีดวัคซีนโควิด (mRNA) แล้วตายกะทันหันภายใน 20 วันหลังฉีดวัคซีน โดยได้ตรวจศพผู้ป่วยในกลุ่มนี้จำนวน 25 ศพ พบว่ามีอยู่ 4 ศพในวัยผู้ใหญ่ (ไม่จำกัดเฉพาะวัยรุ่น) ที่พบมีพยาธิสภาพที่หัวใจแสดงว่ากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบแบบเฉียบพลันแน่นอนโดยที่ตรวจไม่พบสาเหตุอื่น (นอกจากการฉีดวัคซีน) ผลตรวจทางพยาธิทั่วทั้งร่างกายสรุปได้ว่าผู้ป่วยเสียชีวิตจากหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดที่นำไปสู่หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน

งานวิจัยนี้ให้ข้อมูลสองสามอย่าง คือ

(1) ในบรรดาผู้ตายกะทันหันภายใน 20 วันหลังฉีดนั้น มีประมาณ 16% ที่เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันขึ้นแน่นอน

(2) ภาวะหัวใจอักเสบเฉียบพลันหลังฉีดวัคซีนโควิด จำนวนหนึ่งสัมพันธ์กับการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดที่ทำให้หัวใจล้มเหลวถึงตายได้

(3) การตายกะทันหันเกิดตอนไหนก็ได้อย่างน้อยก็ใน 20 วันหลังฉีด

ประโยชน์ที่ได้จากงานวิจัยนี้คือการดูแลผู้ฉีดวัคซีนโควิดมาแล้วควรมีระยะเฝ้าระวังการตายกะทันหันนานพอสมควร อย่างน้อยก็ 3 สัปดาห์ขึ้นไป เพราะหากเฝ้าระวังก็จะวินิจฉัยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันได้เร็ว ก็จะลงมือรักษาเร็ว ผลการรักษาก็จะย่อมดีกว่าการไม่เฝ้าระวังเลย

นอกจากงานวิจัยของเยอรมันที่ผมเล่าให้ฟังนี้แล้ว งานวิจัยที่แคนาดาซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิทยาลัยหัวใจอเมริกัน (JACC) บ่งชี้ว่ากลุ่มเสี่ยงเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันสูงสุดหลังฉีดวัคซีนคือคนอายุต่ำกว่า 40 ปี โดยโอกาสเกิดมากสุดใน 21 วันแรกหลังฉีด อีกงานวิจัยหนึ่งเป็นของไกเซอร์เพอรมาเนนเท ซึ่งรายงานว่าการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันจาก mRA เกิดขึ้นกับเข็มหลังๆ มากกว่าเข็มแรกๆ ศูนย์ควบคุมโรครัฐบาลสหรัฐฯ (CDC) เอง ก็เคยออกคำแนะนำว่าควรทิ้งช่วงห่างระหว่างเข็มกระตุ้นออกไปอย่างน้อย 8 สัปดาห์เพื่อลดอุบัติการณ์เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน

น่าเสียดายที่ไม่มีงานวิจัยใดๆระบุได้เลยว่าอุบัติการณ์ของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันจากวัคซีนโควิดนี้มีโอกาสเกิดกี่เปอร์เซ็นต์ ศูนย์ควบคุมโรครัฐบาลสหรัฐฯเองก็ยังสรุปอุบัติการณ์ไม่ได้ ได้แต่คาดเดาว่าอาจะเกิดประมาณ 52.4 รายต่อล้านรายกรณีวัคซีนไฟเซอร์ และ 56.3 รายต่อล้านรายกรณีวัคซีนโมเตอร์นา หรือ 5 รายต่อแสนราย ซึ่งหากการคาดเดานี้ถูกต้องก็ต้องถือว่าเป็นอุบัติการณ์ที่ต่ำมาก เพราะสมมุติว่าไทยฉีดวัคซีนได้ครบตามเป้า 56 ล้านคนก็จะมีคนเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันแค่ 2,912 คนเท่านั้นเอง

ในแง่ของการเปรียบเทียบคนฉีดวัคซีนกับไม่ฉีดวัคซีนว่าใครจะตายมากกว่ากัน หมายความว่าคนฉีดก็ตายเพราะวัคซีน คนไม่ฉีดก็ตายเพราะโควิด ฝ่ายไหนจะตายมากกว่ากัน น่าเสียดายที่นับถึงวันนี้ยังไม่มีผลวิจัยใดๆเปรียบเทียบให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมได้เลย ถึงในอนาคตก็อาจจะไม่มีตัวเลขเลยก็ได้เพราะอัตราตายจากการติดเชื้อโควิดเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขึ้นๆลงๆไปตามเชื้อ ขณะที่อัตราตายที่สัมพันธ์กับวัคซีนค่อนข้างคงตราบใดที่ยังไม่เปลี่ยนวัคซีน ทำให้ตัวเลขเปรียบเทียบอัตราตายถึงจะรวบรวมตัวเลขมาได้ก็คงแทบไม่มีความหมายอะไรสำหรับเชื้อที่ระบาดอยู่ ณ ช่วงเวลานั้น

ทุกวันนี้วงการแพทย์จัดการโรคโควิดและฉีดวัคซีนโควิดไปโดยอาศัยสามัญสำนึกมากกว่าอาศัยข้อมูลจริงเพราะข้อมูลจริงมีไม่พอ หมายความว่าอาศัยการคาดการณ์ว่ากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันจากวัคซีนน่าจะเกิดน้อยกว่ากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลันจากการติดเชื้อไวรัสตัวเป็นๆ วงการแพทย์จึงประเมินว่าประโยชน์ของวัคซีนน่าจะมีมากกว่าความเสี่ยงของวัคซีน ความเชื่อนี้จะเป็นจริงหรือไม่ยังไม่มีใครทราบ

ดังนั้นคุณและท่านอื่นๆที่ชอบถามมาว่าฉีดเข็มสองแล้วฉีดเข็มสาม สี่ ห้า จะเสี่ยงกว่าไม่ฉีดไหม คำตอบก็คือไม่มีใครตอบให้ได้เพราะข้อมูลเด็ดๆจะๆที่จะให้ฟันธงได้ยังไม่มี ให้ท่านตัดสินใจเอาเองจากการเดาของท่านเองก็แล้วกันนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Schwab C, Domke LM, Hartmann L, Stenzinger A, Longerich T, Schirmacher P. Autopsy-based histopathological characterization of myocarditis after anti-SARS-CoV-2-vaccination. Clin Res Cardiol. 2022 Nov 27:1–10. doi: 10.1007/s00392-022-02129-5. Epub ahead of print. PMID: 36436002; PMCID: PMC9702955.
  2. Goddard K, Hanson KE, Lewis N, Weintraub E, Fireman B, Klein NP. Incidence of Myocarditis/Pericarditis Following mRNA COVID-19 Vaccination Among Children and Younger Adults in the United States. Ann Intern Med. 2022 Oct 4:M22-2274. doi: 10.7326/M22-2274. Epub ahead of print. PMID: 36191323; PMCID: PMC9578536.
[อ่านต่อ...]

16 ธันวาคม 2565

แค้มป์คุณภาพชีวิตผู้สูงวัยครั้งที่ 2 (SQL-2)

(ภาพวันนี้: สุพรรณิการ์ มาช้า แต่ก็มา)

แค้มป์สุขภาพชีวิตผู้สูงวัยครั้งแรก (SQL-1) เมื่อสองเดือนก่อนประสบความสำเร็จด้วยดี สมความตั้งใจที่ผมอยากทำอะไรให้ผู้สูงอายุได้ทำอะไรที่ดูเหมือนจริงจัง แต่ทำเล่นๆ แบบว่า

“Focus on enjoyment, not achievement.”

“ใส่ใจความสนุก ไม่ใส่ใจความสำเร็จ”

โดยผมบอกหมอเน็ทซึ่งเป็นผู้ช่วยของผมว่าทำอะไรก็ได้ให้ผู้สูงวัยได้มีโอกาสใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับที่งานวิจัย FINGER ค้นพบว่าป้องกันและแก้สมองเสื่อมได้..คือ

(1) อาหารพืชเยอะๆและหลากหลาย

(2) ได้ออกกำลังกายหลายชนิดหลายประเภท

(3) ได้ทำกิจกรรมท้าทายสมองแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน

ซึ่งหมอเน็ทก็ปั่นออกมาเป็นตารางที่เอามาใช้ได้ผลในทางปฏิบัติอย่างดีเยี่ยม บรรดาผู้สูงวัยต่างแฮปปี้ แต่ว่ายังมีอีกจำนวนหลายท่านที่เข้าแค้มป์ครั้งที่แล้วไม่ทันเพราะเต็มเสียก่อน จึงถูกผลัดให้รอแค้มป์หน้า ซึ่งมาได้ฤกษ์เปิดเป็น SQL-2 เอาช่วง 13-15 มค. 66

ดังนั้นแฟนบล็อกหมอสันต์ท่านใดสนใจจะมาร่วมแจมในแค้มป์เบาๆนี้ก็เชิญได้เลยนะครับ

ตารางกิจกรรม

วันแรก (13 มค. 66 ) 

09.00-09.30    Registration ลงทะเบียนเข้าแค้มป์ เช็คอินเข้าห้องพัก 

09.30-11.00   Meet Dr.Sant พบกับหมอสันต์ ทำความรู้จักกันในวันเบาๆและตอบคำถามสุขภาพทุกเรื่อง  

10.00-12.00   Sudoku เกมท้าทายสมองแบบญี่ปุ่น  (คุณหมอเน็ท) 

12.00-14.00    Cooking demo and lunch สาธิตสอนทำอาหาร PBWF และอาหารเที่ยง 

14.00-17.00  Watercolor painting ฝึกเขียนภาพสีน้ำ

18.00-20.00    Dinner รับประทานอาหารเย็น ควบร้องเพลงกับเปียโน  

วันที่ 2 (14 มค. 66 ) 

70.00 – 8.00 Let’s see how fit you are? ทดสอบความฟิตร่างกาย

(1) One Minute Sit-to-Stand test ลุกนั่งภายใน 1 นาที 

(2) Time Up and Go test การลุกเดินและวนกลับ 

(3) Balance and flexibility exercise  ฝึกการทรงตัว

(4) Six-minute walk test ทดสอบสมรรถนะด้วยการเดิน 6 นาที  

08.00 – 09.30  Breakfast and personal time  รับประทานอาหารเช้า ควบร้องเพลงกับเปียโน 

9.30 – 10.30 Health overview ภาพรวมของการมีสุขภาพดีและการใช้ตัวชี้วัดสุขภาพ 7 อย่าง(คุณหมอเน็ท) 

10.30 – 11.30 Fun with herbs and spices สนุกกับสมุนไพรและเครื่องเทศ เกมทายชื่อสมุนไพรและเครื่องเทศ (มอง จับ ดม ชิม), เกมเลือกสมุนไพรและเครื่องเทศให้คนขี้โรค

11.30-12.00 Relaxing Yoga โยคะเพื่อการผ่อนคลาย 

12.00 – 14.00  Lunch อาหารกลางวัน 

14.00-15.30   Strength training ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ(คุณหมอเน็ท) 

16.00 – 17.00  Line dance สนุกกับการเต้นไลน์ด้านซ์ 

18.00 – 20.00  Dinner รับประทานอาหารเย็น

วันที่ 3  (15 มค. 66 ) 

07.00 – 08.00 Stress management จัดการความเครียดด้วยการฝึกสมาธิและไทชิ (คุณหมอสันต์)

08.00 – 09.30  Breakfast and personal time รับประทานอาหารเช้า และพักผ่อนส่วนตัว 

09.30 – 12.00  Little green world เพลิดเพลินกับโลกใบเล็กในขวดโหล(โดยครูอ้น) 

12.00 – 13.00  Lunch อาหารกลางวัน 

13.00 น.         Camp Finale ปิดแค้มป์ 

ค่าลงทะเบียน

แค้มป์คุณภาพชีวิตผู้สูงวัย (Senior quality life camp) คนละ 12,000 บาท

ราคานี้รวมอาหาร ที่พัก และอุปกรณ์กิจกรรม

ในกรณีที่แชร์ห้องพักก้นได้ (ห้อง double bed) ห้องละ 2 คน จะได้ส่วนลดค่าห้องคนละ 1,000 บาท

ไม่จำกัดอายุผู้เข้าร่วมแค้มป์

วิธีลงทะเบียนเข้าเรียน

โทรศัพท์ลงทะเบียนกับเวลเนสวีแคร์ที่หมายเลข 0636394003

หรือไลน์ @wellnesswecare

หรืออีเมล host@wellnesswecare.com

การเตรียมตัวไปเข้าคอร์ส

     แนะนำให้เตรียมเครื่องแต่งกายที่เคลื่อนไหวทำกิจกรรมและออกกำลังกายสะดวก ควรมีรองเท้าผ้าใบที่เดินบนพื้นหินขรุขระได้ และควรมีหมวกกันแดด และครีมกันแดด

การเดินทางไปเข้าคอร์ส

     เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ตั้งอยู่ในมวกเหล็กวาลเลย์ เลขที่ 204/39 ม.5 ต.มิตรภาพ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว หรือขึ้นรถตู้กทม.-มวกเหล็ก หรือรถไฟ (ลงสถานีมวกเหล็ก) ในกรณีเดินทางด้วยรถตู้หรือรถไฟ ต้องหารถรับจ้างจากตลาดมวกเหล็กเข้ามาส่งเอาเอง เพราะเวลเนสวีแคร์ตั้งอยู่ในมวกเหล็กวาลเลย์ซึ่งอยู่ห่างจากตลาดมวกเหล็กราว 4 กม.

    กรณีเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ให้ใช้ Google Map โดยพิมพ์คำว่า Wellness We Care Center

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

15 ธันวาคม 2565

อัตตา ชื่อและรูปร่าง ลูกคิด เลขศูนย์ กับปัญญาญาณ

(ภาพวันนี้; มะขวิด เขาว่ากินได้ จะลองกินดู)

หมอสันต์พูดกับสมาชิก SR

สมัยก่อนเราไม่มีเลขศูนย์ใช้ ภาษาอีจิปต์โบราณใช้สัญญลักษณ์แทนหลักเลขใหญ่ๆ เช่นหลักแสนใช้รูปสัตว์คล้ายตัวเงินตัวทอง หลักล้านใช้รูปเทวดา เป็นต้น โรมันใช้อักษร X แทนค่าที่มากกว่า 9 โดยถ้าอักษร X ไปอยู่หน้าตัวไหนก็มีความหมายว่าให้เพิ่มจำนวนให้เลขตัวนั้นไปอีก 9+1 ถ้าอักษร X ไปอยู่หลังเลขตัวไหนก็ให้หักค่าเลขตัวนั้นออกจาก 9+1 วุ่นวายขายปลาช่อนดีไหม

แม้ในสมัยพระพุทธเจ้าก็ยังไม่มีเลขศูนย์ใช้ การอ้างถึงจำนวนมากมักใช้คำพูด เช่น “ห้าร้อย” แปลว่ามากพอควร หรือ “โกฏิ” แปลว่ามากๆระดับสองล้านโน่นเลย

คนจีนได้ทำลูกคิดขึ้นมานับเลขโดยมีรางล่างซึ่งประกอบด้วยเสาร้อยลูกคิดแทนหลัก แต่ละหลักมีลูกคิด 5 ลูกตามนิ้วมือทั้งห้านิ้ว ครบห้าก็ดีดรางบนแทนได้หนึ่งลูกแปลว่าครบหนึ่งมือ หากดีดลูกรางบนครบ 2 ลูกก็คือครบสองมือก็ดีดรางล่างของหลักใหม่แทนได้หนึ่งลูก แบบนี้ก็จะบวกเลขไปได้ไม่รู้จบตราบใดที่ต่อความกว้างของรางลูกคิดเพื่อขยายจำนวนหลักออกไปได้ และพอบวกจบก็อ่านตัวเลขได้ทันทีโดยไม่ต้องตีความยุ่งยาก แต่ต้องพกลูกคิดไปด้วยจึงจะบวกเลขคราวละมากๆและอ่านยอดรวมได้

เลขศูนย์เพิ่งเกิดขึ้นประมาณ 1,000 ปีหลังพระพุทธเจ้า จากการนั่งสมาธิของชาวอินเดียคนหนึ่งชื่อพรหมคุปต์ ซึ่งในสมาธิเขาเรียนรู้ว่าเมื่อพ้นไปจากชื่อและรูปร่าง (names and forms) ที่พรรณาได้โดยภาษาหรืออัตตาแล้วเขาพบว่ามันเป็นความว่างเปล่าที่ไม่มีมูลค่าใดๆทั้งสิ้นไม่ว่าจะมองจากคอนเซ็พท์ใดๆที่อัตตาของเขายึดถืออยู่ แต่ในความว่างเปล่านั้นหากมีการรับรู้อะไรสักอย่างหนึ่งขึ้นเป็นประสบการณ์ในใจ ความว่างเปล่านั้นกลับมีขีดความสามารถที่จะขยายความหรือสรรหาข้อมูลประกอบประสบการณ์นั้นได้ทันทีแบบกว้างไกลไม่มีที่สิ้นสุด เขาจึงคิดเลขศูนย์ขึ้นมาเพิ่มเติมจากตัวเลข 1-9 ที่มีใช้กันอยู่แต่เดิมโดยเรียกมันว่า “สุญญา” โดยให้เลขศูนย์นี้มีคุณสมบัติแทนความว่างเปล่าและความสามารถที่จะทวีคูณจำนวนไปได้อย่างไม่สิ้นสุด

มาถึงยุคนี้แล้วสิ่งที่พรหมคุปต์พบในการนั่งสมาธิก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง กล่าวคือใจของเรานี้ปกติจะเต็มไปด้วยความคิดที่ชงขึ้นมาจากคอนเซ็พท์ต่างๆที่อัตตาของเรายึดถือ ความคิดทั้งหมดนั้นมีเป้าหมายเดียวกันคือเพื่อปกป้องและเชิดชูอัตตานี้ให้สูงเด่น สมาธิก็คือการ “จดจ่อ” ความสนใจไว้ที่อะไรสักอย่างแบบจดจ่อลึกลงไป ลึกลงไป จนเป้าที่จดจ่อนั้นหายไปเหลือแต่ความรู้ตัวโดยไม่มีความคิด ซึ่งนั่นก็คือสมาธิ หรือสุญญา ที่ตรงนั้นไม่มีชื่อ ไม่มีรูปร่าง ไม่มีเรื่องราวใดๆทั้งสิ้น มีแต่ความว่างเปล่า เมื่อจุ่มแช่อยู่ตรงนั้นนานพอ จะพบว่าที่ตรงนั้นเป็นความสงบเย็น และเมื่อมีปรากฎการณ์ใดๆเกิดขึ้นในใจ ใจที่ว่างเปล่าปราศจากความคิดนั้นกลับมีความสามารถแสดงข้อมูลประกอบได้อย่างกว้างขวางพิศดารชนิดที่เชาว์ปัญญาและการคิดเอาตามเหตุผลแห่งตรรกะไม่อาจทำได้มากเท่า ขีดความสามารถอันนี้ผมเรียกว่าปัญญาญาณ (intuition) ก็แล้วกันนะจะได้ไม่ไปเข้าร่องของศาสนาไหน ปัญญาญาณจะนำเสนอสิ่งที่เราอยากรู้พอดี ในเวลาที่เราต้องการพอดี แบบลงตัวไม่มีที่ติ

ดังนั้นเป้าหมายของการจดจ่อหรือสร้างสมาธิจึงมีสองอย่างคือ (1) เพื่อให้ได้พบกับความสงบเย็น และ (2) เพื่อให้เกิดปัญญาญาณอันจะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการใช้ชีวิตของเราได้ดียิ่งขึ้น

การจะนั่งสมาธิเกิดปัญญาญาณนี้ให้เป็นจริงได้ มันต้องมีเหตุครบสองอย่าง คือ

อย่างที่ 1. ต้องหนักแน่นในคอนเซ็พท์พื้นฐานสามประการ ได้แก่

(1) สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีใครไปควบคุมบังคับได้ ทำได้แค่ยอมรับมัน

(2) หากไม่ยอมรับมันแต่คิดจะไปควบคุมบังคับมันก็จะไม่สำเร็จแล้วก็จะเป็นทุกข์

(3) ตัวเราหรืออัตตาของเราที่เราพยายามปกป้องเชิดชูด้วยการควบคุมบังคับสิ่งรอบตัวนี้ มันไม่ได้มีอยู่จริง

ทั้งสามประการนี้ก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่คุ้นหูอยู่แล้วนั่นเอง ซึ่งเป็นคอนเซ็พท์พื้นฐานที่ทุกคนท่องได้ เข้าใจได้ แต่จะหนักแน่นในคอนเซ็พท์นี้ได้แค่ไหนนั่นอีกเรื่องหนึ่ง

อย่างที่ 2. ต้องช่ำชองในการฝึกใช้เครื่องมือวางความคิดที่ชงขึ้นมาจากอัตตาในทุกสภาพการณ์ของการใช้ชีวิตปกติ ซึ่งวันนี้เราก็ได้เรียนเครื่องมือดังกล่าวไปแล้ว 5 ชิ้น คือ (1) การตามดูลมหายใจ (2) การผ่อนคลายร่างกาย (3) การสังเกตความคิด (4) การตามดูพลังชีวิตหรือ body scan และ (5) การจดจ่อสมาธิ ซึ่งทั้งห้าอย่างนี้ฝึกใช้ได้ง่ายๆผ่านการนั่งสมาธิหรือ meditation ทุกวัน ร่วมกับการฝึกใช้มันในชีวิตประจำวันขณะตื่นอยู่

คำว่า “หนักแน่นในคอนเซ็พท์ ช่ำชองในการใช้เครื่องมือ” นี้ มันกินความลึกมากนะ ขอให้หมั่นทบทวนฝึกฝนทั้งสองส่วนไปให้พร้อมๆกัน ผมเคยเล่าให้ท่านฟังแล้วถึงหลวงพ่อชาวอเมริกันท่านหนึ่งที่ว่าท่านบวชเป็นพระภิกษุสายวัดป่ามายี่สิบกว่าปี เทศน์สอนญาติโยมแทนพระอาจารย์ได้ นั่งสมาธิในป่าได้นิ่งระดับผึ้งมาทำรังบนหนวดเคราไชเข้ารูจมูกออกมาทางปากท่านก็ยังนิ่ง แต่วันหนึ่งเข้ากรุงเทพมาต่อวีซ่าที่สถานทูต ต่อคิวไปสองชั่วโมงไปถึงเคาน์เตอร์ก็ถูกเสมียนไล่ให้ไปเข้าคิวใหม่เพราะเข้าคิวผิดที่ พอไปเข้าคิวใหม่ไปอีกสองชั่วโมงเสมียนเคาน์เตอร์ที่สองไล่ให้ไปเข้าคิวแรกเพราะว่ามาเข้าคิวผิดที่อีก ถึงจุดนี้ท่านก็ระเบิดผรุสวาทเป็นภาษาอเมริกันขนานแท้ลั่นสถานทูต ซึ่งตัวท่านเล่าเองว่าที่ท่านคิดว่าคอนเซ็พท์อนิจจังทุกขังอนัตตาของท่านแน่นปึ๊กแล้วนั้น แท้จริงแล้วมันยังไม่แน่นจริงเพราะอัตตาของท่านก็ยังใหญ่คับฟ้าอยู่โดยท่านไม่รู้ตัว และที่ท่านคิดว่าตัวเองช่ำชองในการใช้เครื่องมือวางความคิดจนเหลือแต่ความว่างเปล่าแล้วนั้นจริงๆแล้วท่านช่ำชองแต่กับยุงกับผึ้งซึ่งเหยียบอัตตาท่านได้ไม่มาก แต่พอมาเจอคนจริงๆซึ่งเหยียบอัตตาของท่านเข้าแบบเต็มฝ่าเท้าท่านก็เป๋ได้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้นการหนักแน่นในคอนเซ็พท์ ช่ำชองในการใช้เครื่องมือนี้ ต้องเอามันออกมาทดสอบในชีวิตจริงบ่อยๆ ทุกวันๆ ยิ่งถูกเหยียบอัตตาหนักๆตรงๆบ่อยๆ ยิ่งเป็นการทดสอบตัวเองที่มีประสิทธิผลดี

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

14 ธันวาคม 2565

เป็นโรคไตเรื้อรังระยะ 2 แต่เป็นโรคปสด.ระยะ 5

(ภาพวันนี้: แค่โชว์ฝีมือเล่นแสงและเงา)

สวัสดีค่ะคุณหมอสันต์

อายุ 57 ปี ส่วนสูง 157 cm. น้ำหนัก 43 kg. ทานอาหารมังสวิรัติแบบ นม ไข่ ปลา ดื่มน้ำ 1.5-2 ลิตรต่อวัน ทานผัก ผลไม้ ถั่ว อัลมอนด์ ดาร์กช็อคโกแลต ทานไข่ต้ม(ไข่ขาว) 2-3 ฟองต่อวัน ทานของทอด ทานแกงกะทิ ทานขนมหวานบ้าง ออกกำลังกายโยคะสัปดาห์ละ 5 วันๆละ 1 ชั่วโมง  เดินสัปดาห์ละ 2 วันๆละ1 ชั่วโมง ระยะทาง 3-5 กม. หนูตรวจพบว่าเป็นโรคถุงน้ำในไตจากการตรวจร่างกายประจำปีโดยการตรวจอัลต้าซาวน์ช่องท้องตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 (16 ปีที่แล้ว) รักษาที่แผนกอายุรกรรม รพ.ศิริราชด้วยการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะทุก 6 เดือน ไม่มียา ครั้งล่าสุดวันที่  6 ธ.ค. 2565 มีผลตรวจดังนี้ค่ะ ค่าeGFR    88.77 Creatinine .75 Protein       Trace Occult blood  Trace Calcium oxalate crystal 2+ HBA1C   5.6 Cholesterol  250 Triglyceride  38 HDL-CHOL   100 LDL     142.4 ความดัน  107/70  ชีพจร 70 เป็นพาหะธาลัสซีเมีย Hemoglobin  13.3

ผลตรวจครั้งนี้ค่าeGFR ตกลงมาจากตรวจครั้งก่อนๆ 99.24 ,101.49 , 95.52 หนูรู้สึกเครียดมากๆ กลัวมาก จิตตก นอนหลับไม่สนิทตื่นกลางดึกเช้ามาอ่อนเพลียไม่มีสมาธิเลยค่ะ

ขอรบกวนเรียนสอบถามคุณหมอดังนี้ค่ะ

  1. ผลตรวจปัจจุบันจัดว่าเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะที่เท่าไรคะ 

2. มีความเสี่ยงที่จะเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องฟอกไตประมาณช่วงอายุเท่าไรคะ

3. ค่าeGFR สามารถทำให้ดีขึ้นได้หรือไม่คะ  หนูพยายามหาอ่านเรื่องไตวายเรื้อรังจากถุงน้ำในไตไม่ค่อยพบเลยค่ะ

4. น้ำดื่มแบบ RO สามารถดื่มได้หรือไม่คะ ปรกติหนูดื่มน้ำแบบขวดยี่ห้อเซเว่นเป็นน้ำ RO หนูดูคลิปคุณหมอท่านหนึ่งว่าคนเป็นโรคไตไม่ควรดื่มเพราะน้ำดื่ม RO เป็นกรด ทำให้ไตทำงานหนัก

5. สุดท้ายนี้หนูขอคำแนะนำจากคุณหมอว่าหนูควรปฏิบัติตัวอย่างไร หรือควรพบแพทย์เฉพาะทางโรคไตหรือไม่คะ

กราบขอบพระคุณคุณหมอมากๆค่ะ

(ชื่อ) ………….

หมายเหตุ; หนูไม่มีเฟสบุ๊คค่ะ คุณหมอให้หนูรับคำตอบจากคุณหมอทางใด สามารถแจ้งได้เลยตามที่คุณหมอสะดวกนะคะ  

…………………………………………………………………….

ตอบครับ

1.. ถามว่าเป็นคนมีถุงน้ำที่ไตมานานแล้ว ผลตรวจ GFR ได้ 88.8 เป็นโรคไตเรื้อรังระยะเท่าไร ตอบว่าเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 2/5 คือระยะที่ 2 จากทั้งหมด 5 ระยะ แต่ว่าอาจจะเป็นโรคปสด.ระยะที่ 5/5 เสียแล้วหรือเปล่าไม่รู้เนี่ย หิ..หิ

ตรงนี้ขอขยายความให้ท่านผู้อ่านทั่วไปเอาไปใช้ประโยชน์ได้ด้วยว่าค่า GFR คิดขึ้นมาเพื่อให้คนที่ไตทำท่าจะไม่ดีได้ตั้งหลักทัน โดยแบ่งเป็น 5 ระยะ คือ

ระยะที่ 1. เฉพาะคนมีมีพยาธิสภาพที่ไต (เช่นมีซิสต์ เนื้องอก นิ่ว หรืออักเสบที่ไต) แต่ไตทำงานดี (GFR>90)

ระยะที่ 2. เฉพาะคนมีพยาธิสภาพที่ไต (เช่นมีซิสต์ เนื้องอก นิ่ว หรืออักเสบที่ไต) แต่ไตเริ่มทำงานได้ลดลง (GFR 60-89)

ระยะที่ 3. ใครก็ตาม ที่ไตเสียการทำงานไปอย่างมีนัยสำคัญ (GFR 30-59)

ระยะที่ 4. ใครก็ตาม ที่ไตเสียการทำงานไปมากแต่ยังพอมีชีวิตอยู่ได้ (GFR 15-29)

ระยะที่ 5. ใครก็ตาม ที่ไตเสียการทำงานไปมากจนอาจมีชีวิตอย่างปกติสุขต่อไปไม่ได้หากไม่ได้รับการบำบัดทดแทนไต (GFR 0-14)

ดังนั้นเฉพาะคนที่มีพยาธิสภาพที่ไตเท่านั้นจึงจะได้เป็นโรคไตระยะที่ 1 หรือ 2 ส่วนคนทั่วไปที่ไม่มีพยาธิสภาพที่ไตจะเริ่มเป็นโรคไตก็เริ่มเป็นระยะที่ 3 เลย ไม่มีการเป็นระยะ 1 หรือ 2

การเป็นโรคไตเรื้อรังระยะ 2 อย่างคุณนี้หมายความว่าไตยังทำงานพอใช้ได้อยู่ แต่ความที่เรามีโรคของไตอยู่ก่อนแล้วซึ่งในที่นี้ก็คือซีสต์ ทำให้เราต้องระมัดระวังดูแลไตแต่เนิ่นๆให้มากกว่าคนทั่วไปเขา แต่ไม่ได้หมายความว่าไตของคุณเสียการทำงานไปแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น

2. ถามว่าเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 2 มีความเสี่ยงที่จะเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องฟอกไตประมาณช่วงอายุเท่าไรคะ หิ หิ ตอบว่าคำถามนี้มีคนตอบได้คนเดียวคือพระพรหม หรืออีกคนหนึ่งที่อาจตอบได้คือหมอดู หมอสันต์ตอบไม่ได้หรอกครับ เพราะไม่เคยมีงานวิจัยสถิติภาพรวมว่าคนเป็นโรคไตระยะที่ 2 จะมีชีวิตปกติโดยไม่ต้องบำบัดทดแทนไตไปได้เฉลี่ยนานกี่ปี

อย่าลืมว่าเขาคิดค่า GFR มาให้คนที่มีความเสี่ยงที่ไตจะเสียหายให้หันมาใส่ใจดูแลไตตัวเอง ไม่ใช่ให้มานั่งกังวลถึงอนาคตนะจ๊ะหนูจ๋า ให้ใช้ประโยชน์จากตัวชี้วัดทางการแพทย์ให้ถูกทาง หากทำไม่ได้ก็อย่ามายุ่งกับตัวชี้วัดทางการแพทย์เลยดีกว่า ไม่ต้องตรวจไม่ต้องวัดอะไรทั้งสิ้น รอให้ป่วยจนใช้ชีวิตต่อไม่ได้ค่อยเข้าโรงพยาบาลจะดีกว่า ดีกว่าขยันตรวจโน่นนี่นั่นพอได้ผลตรวจมาแล้วมานั่งประสาทกิน เพราะโรคประสาทกินทำลายคุณภาพชีวิตและบั่นทอนความยืนยาวของชีวิตได้มากกว่าโรคอื่นใดทั้งสิ้น

3. ถามว่า ค่า GFR สามารถทำให้ดีขึ้นได้หรือไม่คะ ตอบว่า ได้ครับ งานวิจัยเกี่ยวกับผู้ป่วยถุงน้ำในไตโดยเฉพาะไม่มี แต่งานวิจัยเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังโดยภาพรวมพอมี ซึ่งสรุปว่าต้องทำสองอย่างคือ

(1) ไม่ขย่มไตให้โทรมลงไปยิ่งกว่าเดิม ด้วยการ 1.1 กินยาแก้ปวดแก้อักเสบข้อ (NSAID) 1.2 กินยาลดการหลั่งกรดเช่น omeprazole เป็นเวลานานๆ 1.3 กินหรือฉีดยาปฏิชีวนะที่มีพิษต่อไต 1.4 ฉีดสารทึบรังสืในการวินิจฉัยโรค ซึ่งมีพิษต่อไตมากสุดๆ 1.5 กินสมุนไพร อาหารเสริม หรืออะไรก็ไม่รู้ที่ไม่รู้กำพืดที่มา ใครเขาเอาอะไรมาขายให้และบอกว่าดีก็ซื้อกินหมด แบบนั้นไตพังมาแยะแล้ว 1.6 ปล่อยให้ร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำนานๆ

(2) ปรับวิธีใช้ชีวิต โดยเปลี่ยนมากินอาหารแบบกินพืชเป็นหลัก เพราะงานวิจัยพบว่าคนเป็นโรคไตเรื้อรังที่กินอาหารแบบกินพืชเป็นหลักมีอัตราตายใน 8 ปีต่ำกว่าคนกินเนื้อสัตว์เป็นหลักถึง 5 เท่า นอกจานนี้ก็ควรใช้ชีวิตในวิถีสุขภาพเฉกเช่นคนธรรมดาทั่วไป เช่นออกกำลังกายทุกวัน จัดการความเครียด ดูแลการนอนหลับ มีสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบตัว เป็นต้น

4. ถามว่าน้ำดื่มแบบ RO คนเป็นโรคไตสามารถดื่มได้หรือไม่คะ ตอบว่าดื่มได้สิครับ ตำรวจที่ไหนจะไปจับคุณ RO ก็คือวิธีกรองน้ำให้สะอาดวิธีหนึ่งโดยอาศัยแผ่นกรองที่ละเอียดมาก

เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ ผมขอขยายความหน่อยนะ

osmosis เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เซลล์ร่างกายดูดเอาน้ำจากภายนอกเข้าไปในเซลล์ผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นรูพรุนละเอียดอย่างยิ่งชนิดที่เชื้อโรคผ่านไม่ได้แต่โมเลกุลน้ำผ่านได้ (semipermeable membrane) วิธีดูดเข้าก็อาศัยแรงดึงดูด (osmotic pressure) ของโมเลกุลใหญ่ในเซลล์ดูดเอาน้ำเข้าหาตัว

reversed osmoses ความจริงไม่เกี่ยวอะไรกับการใช้แรงดึงดูด แต่ยืมชื่อมาเรียกเท่ๆ แค่เป็นการกรองธรรมดาคือใช้แรงดันอัดเข้าทางฝั่งสกปรกแรงๆเพื่อไล่โมเลกุลน้ำให้มุดผ่านแผ่นกรองซึ่งมีรูพรุนระเอียดระดับใกล้เคียงกับ semipermeable membrane เพื่อให้น้ำสะอาดไปทางโน้น ของสกปรกอยู่ทางนี้

ดังนั้นน้ำที่ได้จากกระบวนการ RO ก็คือน้ำกรองที่สะอาดปราศจากเชื้อโรคนั่นเอง ส่วนว่าน้ำนั้นจะเป็นกรดหรือเป็นด่างนั้นเป็นประเด็นสารดูดสีดูดกลิ่นที่เลือกใช้ร่วมในการกรอง แต่จะเป็นกรดเป็นด่างไม่สำคัญ เพราะเข้าไปในร่างกายแล้วจะถูกระบบถ่วงดุล (buffer system) ของร่างกายเปลี่ยนให้เป็นกลางเหมือนกันหมด จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่คนเป็นโรคไตจะดื่มน้ำ RO ไม่ได้

5. ถามว่าควรทำตัวอย่างไรและควรพบแพทย์เฉพาะทางโรคไตไหม ตอบว่าทำตัวตามข้อ 3 และไม่จำเป็นต้องไปหาหมอโรคไตในขั้นตอนนี้เพราะในเรื่องซีสต์ก็มีหมอติดตามดูอยู่แล้วว่ามันไม่ใช่กรณีที่จะต้องผ่าตัดเอาซีสต์ออกแต่อย่างใด ส่วนในเรื่องการทำงานของไต ไตของคุณยังทำงานอยู่ในเกณฑ์เท่าคนทั่วไปอยู่จึงยังไม่มีอะไรให้หมอโรคไตช่วยดูแลตอนนี้ รอจน GFR ต่ำกว่า 60 โน่นแหละค่อยคิดอ่านไปหาหมอไต

6.. ถามว่าไม่มีเฟซบุ้คจะอ่านหมอสันต์ได้ทางไหน ตอบว่าทาง http://www.drsant.com ไงครับ คนส่วนใหญ่อ่านหมอสันต์ทางใครก็ไม่รู้ร่อนมาทางไลน์บ้าง ทางเฟซบ้าง จึงไม่สามารถติดตามอ่านหมอสันต์ต่อเนื่องได้ต้องอาศัยใบบุญให้คนอื่นร่อนมาให้อ่าน ซึ่งก็เป็นวิธีที่เวิร์คดีเหมือนกัน แต่วิธีหนึ่งที่แน่นอนว่าไม่เวอร์คคือเขียนอีเมลมาหาแล้วรอหมอสันต์ตอบทางอีเมล เพราะชาติหน้าตอนบ่ายๆก็จะยังไม่ได้คำตอบ เพราะหมอสันต์ไม่ตอบคำถามทางเมลส่วนตัว กฎกติกาของการถามหมอสันต์คือทุกคำถามจะตอบทาง public เพื่อให้คนอื่นได้ประโยชน์ด้วยเท่านั้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

13 ธันวาคม 2565

รีทรีตผู้ป่วยมะเร็งครั้งที่6 (CR6) วันที่ 18-21 มค. 2566 โดยพญ.ภัควีร์ นาคะวิโร (หมอโบ)

(ภาพวันนี้: ตุ๊กตาเหล็กสองตายายอายุ 20 ปี ทาสีใหม่)

รีทรีตผู้ป่วยมะเร็งครั้งที่5 (CR5) ของคุณหมอโบ (พญ.ภัควีร์ นาคะวิโร) ประสบความสำเร็จด้วยดีเป็นที่ชื่นชมของสมาชิกผู้มาเข้ารีทรีต และมีหลายท่านที่เข้าไม่ได้เนื่องจากเต็มเสียก่อน คุณหมอโบจึงได้เปิด รีทรีตผู้ป่วยมะเร็งครั้งที่6 (CR6) ซึ่งจะจัดขึ้นช่วงวันที่ วันที่ 18-21 มกราคม 2566 ที่เวลเนสวีแคร์เซนเตอร์ มวกเหล็ก สระบุรี โดยคุณหมอโบเป็นโต้โผและหัวเรือในการดำเนินการเช่นเคย (ตัวหมอสันต์เองจะเข้าไปช่วยสอนเฉพาะเรื่องการจัดการความเครียดด้วยวิธีวางความคิด)

วันนี้ผมจึงของดการตอบคำถามในวันนี้เพื่อให้พื้นที่แก่รายละเอียดของแค้มป์นี้ เผื่อจะมีประโยชน์สำหรับแฟนบล็อกทึ่ป่วยเป็นมะเร็งและสนใจที่จะมารีทรีตครั้งนี้

คุณหมอโบเป็นแพทย์แผนปัจจุบันที่สนใจเรื่องการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคเรื้อรังด้วยหลักการดูแลรักษาแบบองค์รวม (holistic) ทั้งด้านกาย จิต สังคม จิตวิญญาณ เป็นแพทย์แผนปัจจุบันที่เปิดใจกว้างว่าสำหรับโรคที่แพทย์แผนปัจจุบันรักษาไม่หายอย่างโรคมะเร็ง ซึ่งทางที่เหลือที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยในความเห็นของเธอก็คือการผสมผสานการแพทย์ทางเลือกที่มีอยู่ทุกอย่างเข้ากับการแพทย์แผนปัจจุบัน (integrative health care) ซึ่งเป็นไอเดียที่ผมเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ รายละเอียด CR6 ของคุณหมอโบมีดังข้างท้ายนี้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

…………………………………………………………..

รีทรีตผู้ปวยมะเร็ง ครั้งที่ 6 (CR6) โดย พญ.ภัควีร์ นาคะวิโร (หมอโบ)

วันเวลา

18-21 มค. 2566

สถานที่

เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ สระบุรี

คอนเซ็พท์ วัตถุประสงค์ เนื้อหา

เอาพื้นฐานการแพทย์แผนปัจจุบันในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การใช้ชีวิต และการฟื้นฟูโรคมะเร็งหลังการรักษาด้วยการผ่าตัด ฉายแสง และเคมีบำบัด เป็นแก่นกลาง แล้วนำวิธีการรักษาโรคมะเร็งด้วยการแพทย์ทางเลือก ทั้งการแพทย์แผนไทย และอายุรเวดะ ที่เห็นร่วมกันว่าปลอดภัยเข้ามาคลุกเคล้าผสมผสาน ขึ้นมาเป็นประสบการณ์เรียนรู้สี่วันที่มีทั้งการฟื้นฟูของแผนปัจจุบันและการบำบัดรักษามะเร็งของแพทย์ทางเลือก

เนื้อหาประสบการณ์การเรียนรู้

  1. พยาธิสรีรวิทยาของโรคมะเร็ง และของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

2. การฟื้นฟูร่างกายหลังป่วยเป็นมะเร็งด้วยอาหารพืชเป็นหลัก

3. การออกกำลังกายสี่แบบหลังป่วยเป็นมะเร็ง

4. การจัดการความเครียด การวางความคิด การเปิดรับและยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในชีวิต

5. หลักการพื้นฐานของการแพทย์แผนไทยและอายุรเวทและการนำมาใช้ในการรักษามะเร็ง

6. สมุนไพรและพืชที่ใช้รักษามะเร็ง ทั้งตามหลักวิชาของแพทย์แผนไทย และทั้งตามผลวิจัยทางการแพทย์แผนปัจจุบัน

7. สุขศาสตร์การนอนหลับ

8. ทักษะการทำอาหารพืชเป็นหลักเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

9. รับการบำบัดรักษามะเร็งโดยวิธีการแพทย์แผนไทยและอายุรเวท ทั้งนวดบำบัด น้ำมันบำบัด และใช้พืชสมุนไพรในรูปแบบต่าง ๆ (สำหรับผู้ไม่ประสงค์จะรับยาบำบัดมะเร็งใดๆที่นอกเหนือจากยาเคมีบำบัดของแพทย์แผนปัจจุบัน สามารถงดเว้นการบำบัดด้วยสมุนไพรได้)

รีทรีตผู้ป่วยมะเร็งจัดเพื่อใครบ้าง

  1. ผู้ป่วยมะเร็งทุกอวัยวะ ทั้งที่ผ่านการรักษาผ่าตัดเคมีบำบัดฉายแสงครบแล้ว และทั้งที่ปฏิเสธการรักษา
  2. ผู้ทำหน้าที่ผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็ง (care giver)

ตารางกิจกรรม

วันแรก

8.00 – 9.00          Registration ลงทะเบียน เช็คอินเข้าห้องพัก

9.00 – 9.30          Camp introduction แนะนำภาพรวมแคมป์และรายละเอียดกิจกรรม (พญ.ภัควีร์ นาคะวิโร)

9.30 – 16.00        Meet doctors พบแพทย์เป็นรายคน จัดทำประวัติ ตรวจร่างกาย รับคำอธิบายแนวทางบำบัดเฉพาะบุคคล (พญ.ภัควีร์ นาคะวิโร และทีมแพทย์แผนไทย) สลับกับการบำบัดรายคนด้วยวิธีนวดน้ำมันบำบัด(Shirodhara)

** 11.00 – 14.00 รับประทานอาหารกลางวัน

** 18.00 – 20.00 รับประทานอาหารเย็น

วันที่สอง

6.30 – 8.45         

– Vapor Aroma ไอหอมระเหยบำบัด

– Exercise for cancer: Balance and barefoot walking, Flexibility exercise ออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ฝึกการทรงตัว ฝึกความยืดหยุ่น (น.พ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล และ พท.ป. สุภัสสรณ์ แก้วกลิ่น)

– Workshop: Trace element สาธิตการทำเครื่องดื่มเสริมแร่ธาติจากพืชธรรมชาติกว่า 100 ชนิด พร้อมทดลองดื่ม

– ดื่ม WeCare Tumeric Drink ช่วยปรับสมดุลและสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย

8.45 – 10.00        รับประทานอาหารเช้าและเวลาส่วนตัว

10.00 – 10.45     กลุ่มบำบัด ทำความรู้จักและแชร์เรื่องราวต่อกันและกัน

10.45 – 11.00     พักเบรค

11.00 – 12.00    

– Pathophysiology of cancer and immunity system กลไกการเกิดมะเร็งและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายกับมะเร็ง (พญ.ภัควีร์ นาคะวิโร)

– การรักษาแบบองค์รวมเพื่อให้ชีวิตสมดุล เพิ่มภูมิคุ้มกันโรคตามศาสตร์แผนไทย (พท.ป. สุภัสสรณ์ แก้วกลิ่น)

12.00 – 14.00    

Workshop PBWF Cooking สาธิตการทำอาหารเสริมภูมิคุ้มกันจากพืชเป็นหลัก และรับประทานอาหารกลางวัน

14.00 – 15.30    

– Thai Traditional Medicine Principle หลักการพื้นฐานและการรักษามะเร็งของแพทย์แผนไทย (พท.ป. สุภัสสรณ์ แก้วกลิ่น)

– Common symptoms in cancer  อาการรบกวนที่พบบ่อยจากมะเร็ง (พญ.ภัควีร์ นาคะวิโร)

– การรักษาสมดุลของธาติเพื่อรักษาอาการจากมะเร็งตามศาสตร์แผนไทย (พท.ป. จุฑารัตน์  บุญเมือง)

15.30 – 16.30     Workshop WeCare Tumeric Drink สาธิตการทำเครื่องดื่มเสริมภูมิคุ้มกัน สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เข้ารับการบำบัดในวันนี้

15.30 – 18.00     Alternative treatment เข้ารับการบำบัดโดยศาสตร์แพทย์ทางเลือก (ทีมแพทย์แผนไทย)

18.00 – 20.00     รับประทานอาหารเย็น

วันที่สาม

6.30 – 8.30          – Vapor Aroma ไอหอมระเหยบำบัด

– Taichi and mindfulness ออกกำลังกายฝึกสมาธิ (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)

– Workshop: Kombucha สาธิตการทำเครื่องดื่มเพิ่ม Probiotics

– ดื่ม WeCare Turmeric drink ช่วยปรับสมดุลและสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย

8.30 – 10.00        รับประทานอาหารเช้าและเวลาส่วนตัว

10.00 – 12.00     Stress management กลไกการเกิดความเครียดและการวางความคิด (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)

10.45 – 11.00     พักเบรค

12.00 – 14.00     Workshop PBWF Cooking สาธิตการทำเครื่องดื่มเสริมภูมิคุ้มกัน ต้านอนุมูลอิสระจากพืช               ธรรมชาติ

รับประทานอาหารกลางวัน

14.00 – 15.30     Music therapy ดนตรีบำบัด (ทีมนักดนตรีบำบัด)

15.30 15.45        เสริฟ Easing Tea ชาเพื่อการผ่อนคลาย และแนะนำสมุนไพรที่ช่วยในการนอน และนำไปใช้ด้วยตัวเองที่ห้องพักในคืนนี้

15.45 – 16.45     Workshop WeCare Tumeric Drink สาธิตการทำเครื่องดื่มเสริมภูมิคุ้มกัน สำหรับผู้ที่ไม่ได้เข้ารับการบำบัดในวันนี้

15.45 – 18.00     Alternative treatment เข้ารับการบำบัดโดยศาสตร์แพทย์ทางเลือก (ทีมแพทย์แผนไทย)

18.00 – 20.00     รับประทานอาหารเย็น

วันที่สี่

6.30 – 8.00          – Vapor Aroma ไอหอมระเหยบำบัด

– Exercise for cancer: Aerobic & strengthening exercise ออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง เสริมความแข็งแรงของหัวใจและกล้ามเนื้อ (น.พ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล)

– ดื่ม WeCare Tumeric Drink ช่วยปรับสมดุลและสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย

8.00 – 10.00        รับประทานอาหารเช้าและเวลาส่วนตัว

10.00 – 10.30     Sleep hygiene สุขศาสตร์การนอนหลับ (น.พ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล)

10.30 – 10.45     พักเบรค

10.45 – 11.15     การนอนหลับกับศาสตร์แผนไทย (พท.ป. สุภัสสรณ์ แก้วกลิ่น)

11.15 – 12.00     ตอบคำถามและให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ (ทีมแพทย์แผนปัจจุบันและแผนไทย)

12.00 – 14.00     Workshop PBWF Cooking สาธิตการทำอาหารเพิ่มพลังงานจากพืช

รับประทานอาหารกลางวัน

14.00                   ปิดแคมป์

การลงทะเบียนเข้าแค้มป์ CR6

วิธีลงทะเบียนเข้าเรียน

1. โทรศัพท์ลงทะเบียนกับเวลเนสวีแคร์ที่หมายเลข  063 6394003 หรือ 02 038 5115
2. ลงทะเบียนทางไลน์ @wellnesswecare
3. ลงทะเบียนทางอีเมล host@wellnesswecare.com
ในทุกกรณีเมื่อได้ที่นั่งแล้ว จะต้องโอนเงินค่าลงทะเบียนเข้าบัญชี ธนาคารกสิกรไทย สาขาสมุทรปราการ ชื่อบัญชี  บริษัท เมก้า วี แคร์ จำกัด เลขที่บัญชี 007-368-5478 ภายใน 24 ชั่วโมงหลังได้สำรองที่เรียนแล้ว หากพ้น 24 ชั่วโมงไปแล้วถือว่าสละสิทธิ์ ที่นั่งที่สำรองไว้ให้ท่านจะถูกจัดสรรไปให้ผู้อื่นโดยอัตโนม้ติ

     9. การตรวจสอบตารางแค้มป์

สามารถตรวจสอบตารางแค้มป์ล่วงหน้าได้โดยวิธีสอบถามทางโทรศัพท์ที่หมายเลข  0636394003 หรือทางไลน์ @wellnesswecare หรือทางอีเมล host@wellnesswecare.com

 ราคาค่าลงทะเบียน

ค่าลงทะเบียนสำหรับตลอดคอร์ส (เข้าแค้มป์ 4 วัน 3 คืน) คนละ 25,000 บาทสำหรับตัวผู้ป่วยเฉพาะผู้ลงทะเบียนภายใน 31 ธค. 65 กรณีลงทะเบียนหลัง 31 ธค. 65 คนละ 29,000 บาท ค่าลงทะเบียนนี้รวมถึงใช้จ่ายในการเข้าแค้มป์ ค่าอาหารวันละ 3 มื้อ ค่าที่พัก 4 วัน 3 คืน ค่าวิทยากร ค่าอุปกรณ์การฝึกทักษะ ค่าตรวจร่างกายโดยแพทย์ ค่าเจาะเลือดฉุกเฉินกรณีที่แพทย์สั่งให้เจาะ
แต่ราคานี้ไม่ครอบคลุมถึงค่าเดินทางไปและกลับระหว่างบ้านของท่านกับเวลเนสวีแคร์ (ผู้ป่วยไปเองกลับเอง) ไม่ครอบคลุมค่ายาและค่ารักษาพยาบาลส่วนบุคคลของแต่ละท่าน ไม่ครอบคลุมบริการพิเศษที่ท่านเลือกใช้เป็นการเแพาะตัวเช่นการนวดต่างๆ

กรณีเป็นผู้ติดตาม หรือผู้ดูแล หรือ caregiver จะต้องลงทะเบียนเป็นผู้ติดตามซึ่งมีค่าลงทะเบียนคนละ 19,000 บาทสำหรับ early bird และ 23,000 บาทหลัง 31 ตค. 65 ราคานี้รวมค่ากิน ค่าอยู่ ค่าที่พักห้องเดียวกับผู้ป่วยของตน ค่าเข้าร่วมเรียน แต่ไม่รวมการตรวจรักษาโดยแพทย์ ไม่รวมการบำบัดรักษาทุกรายการ (ไม่อนุญาตให้มีผู้ติดตามแบบไม่ได้ลงทะเบียน)

พญ.ภัควีร์ นาคะวิโร (หมอโบ)

……………………………………………………..

[อ่านต่อ...]

10 ธันวาคม 2565

ถามเรื่องการผ่าตัดต่อมลูกหมากแบบใหม่โดยใช้ไอน้ำร้อน "นึ่ง" ต่อมลูกหมาก

(ภาพวันนี้: สร้อยสายเพชร)

สุขสันต์วันพ่อครับ

ขอรบกวนสอบถามคุณหมอเรื่องการรักษาต่อมลูกหมากที่มีอาการฉี่วัดค่าการฉี่ได้วามแรงแค่5 หมอแนะรักษาด้วยการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก ผมได้มาศึกษาหาความรู้จากกูเกิ้ล ได้ทราบมีวิธีรักษาแบบใหม่กับต่อมลูกหมากด้วยไอนำ้ร้อน เลยคิดไม่ออกว่าจะรักษาวิธีใหนดีกว่ากัน ขอรบกวนคุณหมอให้ข้อมูลการรักษาว่าวิธีใหนดีต่อโรคระยะยาวครับ

ขอขอบพระคุณคุณหมอเป็นอย่างสูงครับ

……………………………………………………………………………

ตอบครับ
ก่อนตอบคำถามขอย้ำให้ท่านผู้อ่านทั่วไปทราบก่อนนะว่า

1.. นี่เป็นคำถามเกี่ยวกับต่อมลูกหมากโต ไม่ใช่เกี่ยวกับมะเร็งต่อมลูกหมาก

2.. เป็นคำถามเปรียบเทียบผลดีผลเสียของการผ่าตัดต่อมลูกหมากโตระหว่าง

2.1 วิธีสมัยนิยม (TURP) ซึ่งใช้วิธีสอดเครื่องมือเข้าปลายจู๋แล้วเอาหัวแร้งที่ติดปลายด้วยไฟฟ้าบ้าง เลเซอร์บ้าง หัวร้อนบ้าง เข้าไปทะลวงทำลายเนื้อของท่อปัสสาวะและต่อมลูกหมากให้ กระจุยหรือเป็นจุลไปแล้วดูดออกทิ้งเพื่อให้เกิดความโล่งโถงฉี่สะดวก แต่มีผลเสียที่จะทำลายทั้งท่อปัสสาวะและเนื้อต่อมลูกหมาก ซึ่งมีผลเสียคือกลไกการฉีดน้ำอสุจิ (ejaculation) มักเสียไปด้วย ซึ่งผู้ชายจำนวนหนึ่งกลัวจะเสียความเป็นชายไปเพราะการนี้

2.2 วิธีใหม่ที่วงการแพทย์คิดขึ้นมาซึ่งมีเป้าหมายสงวนท่อปัสสาวะไว้เพื่อคงความสามารถในการฉีดอสุจิไว้ มีสามวิธี คือ

วิธีที่ 1. Water vapor therapy ที่คุณเรียกว่าวิธีไอน้ำแต่ผมแปลว่าวิธี “นึ่งต่อมลูกหมาก” มีวิธีทำที่พิศดาร กว่าการผ่าตัดต่อมลูกหมากแบบมาตรฐาน (TURP) เป็นอันมาก แม้จะทำโดยใส่เครื่องมือผ่านปลายจู๋เข้าไปเหมือนกันแต่ไม่มีการใช้หัวแร้งทะลุทะลวง ท่อที่ใช้ผ่าตัดมีรูเล็กๆเท่าปลายเข็มเรียงรายอยู่ด้านข้างท่อ แล้วแพทย์ใช้วิธีสอดสายฉีดปลายแหลมเล็กระดับเข็มฉีดยาแยงออกไปทางรู้ด้านข้างของท่อเครื่องมือ แทงทะลุพ้นผนังท่อปัสสาวะออกไป เข้าไปในเนื้อต่อมลูกหมาก แล้วฉีดไอน้ำร้อนออกไปนึ่งเนื้อต่อมลูกหมากให้สุกหรือพูดง่ายๆว่าให้ตาย หลังจากนั้นมันจะเปื่อยสลายถูกดูดซึมเข้าสู่หลอดเลือดดำและท่อน้ำเหลืองเพื่อเอาไปทิ้งตามระบบปกติของร่างกายเอง ส่วนตัวท่อปัสสาวะจะยังอยู่เพราะไม่ได้ถูกไอน้ำร้อนนึ่งไปด้วย กิจกรรมใดๆของความเป็นชายก็จะยังอยู่เพราะท่อไม่ถูกเผาหรือตัดทิ้ง แต่วิธีนี้ในเชิงเทคนิคก็มีข้อเสียเหมือนกันเพราะหลังทำแม้จะกลับบ้านได้เลยทันทีไม่ต้องนอนโรงพยาบาล แต่ใหม่ๆท่อปัสสาวะจะบวมมากจนต้องคาสายสวนไว้อาจนานถึง 1-2 สัปดาห์จึงจะเอาออกได้

วิธีที่ 2. ใช้วิธีเอาบอลลูนคล้ายๆกับที่ใช้ในงานผ่าหัวใจแต่ใส่เข้าไปขยายท่อปัสสาวะจนบอลลูนโตคับและเบียดเนื้อต่อมลูกหมากออกไปทุกทิศ แล้วยิงฉมวกทะลุท่อปัสสาวะออกไปด้านข้างไปเกี่ยวเยื่อหุ้ม (capsule) ของต่อมลูกหมากซึ่งแข็งแรงไว้ทุกทิศทุกทาง จากฉมวกมีลวดสลิงดึงปลายอีกข้างซึ่งเป็นตะขอรั้งผนังท่อปัสสาวะไม่ให้ยุบกลับเมื่อหุบบอลลูนลงและเอาบอลลูนออกมาแล้ว คล้ายๆเวลาช่างก่อสร้างใช้ลวดแขวนห้อยฝ้าเพดานไว้กับขื่อแป วิธีนี้ก็ทำให้ท่อปัสสาวะโล่งขึ้นได้โดยไม่ต้องทำลายท่อปัสสาวะ

วิธีที่ 3. ใช้ลวดถ่างสามขาเข้าไปกางค้ำผนังท่อปัสสาวะให้เบียดค้ำเนื้อต่อมลูกหมากไว้สามทิศทางเพื่อให้เกิดรูตรงกลางท่อจนโล่งโถงคล้ายกับการใส่ลวดถ่าง (stent) ในงานรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ กางลวดถ่างไว้อย่างนั้นหลายวันจนกว่าเนื้อต่อมลูกหมากที่ถูกถ่างหรือเบียดออกไปจะเกิดพังผืดจับจนเข้ารูปแน่นไม่หดกลับอีกจึงค่อยหุบลวดถ่างแล้วลากลวดถ่างออกมาเสีย ไม่คาลวดถ่างไว้ อาศัยที่เนื้อต่อมลูกหมากถูกพังผืดยึดไม่บีบอัตกลับทำให้ท่อปัสสาวะโล่งได้

ทั้งสามวิธีนี้ในเมืองไทยมีใช้วิธีไอน้ำหรีอวิธีนึ่งต่อมลูกหมากวิธีเดียว ส่วนสองวิธีหลังเมืองไทยยังไม่มี ใครอยากทำต้องไปทำที่อเมริกา

ถามว่าจะเลือกวิธีใหม่คือใช้ไอน้ำหรือนึ่งต่อมลูกหมากแทนวิธีผ่าตัดมาตรฐานดั้งเดิม TURP ดีไหม ตอบว่ามีทั้งด้านดีและด้านเสียซึ่งคุณต้องตัดสินใจเองครับ

ด้านดีก็คือการแก้ปัญหาต่อมลูกหมากโตโดยสงวนท่อปัสสาวะไว้เป็นความฝันอันสูงสุดของวงการแพทย์มานานแล้วและมาบัดนี้ฝันนั้นเป็นจริงแล้ว ปัญหาสุขภาพเพศชายหลังผ่าตัดที่วิธีมาตรฐาน TURP แก้ไม่ตกก็จะได้กลายเป็นอดีตไปเสียที

ด้านเสียก็คือขณะที่เป็นของใหม่ก็ต้องลองผิดลองถูกกันไปก่อน หมอก็ยังทำไม่ค่อยเป็น ผลระยะยาวจะเป็นอย่างไรก็ยังไม่ทราบ ต้องอาศัยผู้ป่วยเป็นกองหน้าหรือเป็นหน่วยกล้าตายลองดูเหมือนการทดลองเปลี่ยนจากรถใช้น้ำมันมาเป็นรถใช้ไฟฟ้า คุณจะเลือกแบบเก่าหรือแบบใหม่ก็ได้สุดแล้วแต่ความกล้าของคุณ ผมสนับสนุนทั้งสองทางเลือกครับ เพราะหากปราศจากหน่วยกล้าตายในอดีต วิชาแพทย์ก็คงไม่ก้าวหน้ามาถึงอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

08 ธันวาคม 2565

เจ้าหญิงแห่งแคว้นกาสี The Princess of Kashi

(ภาพวันนี้: The Princess of Kashi)

วันนี้ผมจะเล่าเรื่องเจ้าหญิงแห่งแคว้นกาสี ซึ่งเป็นเรื่องที่เล่าไว้ในหนังสือเวดะ

เรื่องมีอยู่ว่าในยุคที่แคว้นกาสี (คือพาราณสีทุกวันนี้) ยังรุ่งเรือง วันหนึ่งฝ่ายในที่เล่นละครถวายกษัตริย์ได้ตกลงกันจะเล่นละครเรื่องเจ้าหญิงแห่งแคว้นกาสี ซึ่งเป็นเรื่องของเจ้าหญิงตัวน้อยน่ารัก แต่มาติดอยู่ที่ไม่มีเด็กคนไหนมีความเหมาะสมน่ารักพอที่จะเป็นเจ้าหญิงแห่งแคว้นกาสีตามบทนั้นได้สักคน พระราชินีจึงตรัสออกไอเดียว่าเราก็จับเจ้าชายแต่งตัวเป็นเจ้าหญิงสิ เจ้าชายซึ่งตอนนั้นอายุราวเจ็ดขวบก็เลยได้สวมบทบาทเจ้าหญิงแห่งแคว้นกาสีเล่นละคร เป็นละครที่ตรึงตาตรึงใจผู้ชม และพระราชินี้ได้ให้จิตรกรของราชสำนักวาดรูปเจ้าหญิงแห่งแคว้นกาสีไว้เป็นอนุสรณ์

วันเวลาผ่านไปร่วมยี่สิบปี ทุกคนลืมละครเรื่องนี้ไปแล้ว ตัวเจ้าชายเองเติบใหญ่เป็นยุพราชหนุ่มที่เก่งกาจสามารถทั้งบู๊และบุ๋น ผ่านเลยวัยที่สมควรอภิเษกสมรสไปแล้วแต่ก็ยังเป็นโสดอยู่เพราะหาเจ้าหญิงงามจากประเทศไหนมาเสนอก็ไม่ถูกใจพระยุพราชสักคน

วันหนึ่งพระยุพราชเข้าไปค้นสรรพาวุธในโรงเก็บของ ได้พบภาพเขียน “เจ้าหญิงแห่งแคว้นกาสี” เป็นภาพเด็กผู้หญิงที่เห็นแล้วพระยุพราชก็ตกหลุมรักทันที อ่านดูที่กรอบซึ่งระบุวันเวลาที่วาดไว้ก็ทรงคำนวณได้ทันทีว่าอายุอานามของเธอน่าจะใกล้เคียงกับตน จึงยิ่งลุ่มหลง ปักใจว่าจะต้องได้เจ้าหญิงแห่งแคว้นกาสีมาอภิเสกสมรสเป็นพระชายาให้ได้ ย้ำคิดย้ำทำจนไม่เป็นอันกินอันนอน เลิกการศึกษาวิทยายุทธ เลิกการฝึกออกว่าราชการงานเมือง จนกษัตริย์มีความกลัดกลุ้มว่าเจ้าชายเป็นอะไรไปจึงกลายเป็นคนไม่เอาไหนไปเสียแล้ว

ในที่สุดด้วยฝีมือแคะไค้ของราชครู พระยุพราชก็เผยปมความรักที่ฝังตรึงในใจออกมา ราชครูมีความยินดีที่พระยุพราชมีความรักและมีความคิดจะเข้าสู่การอภิเสกสมรส จึงขอให้พาไปดูภาพเขียนของเจ้าหญิงผู้นั้น เมื่อไปเห็นภาพเข้าจริงๆ ราชครูก็..อึ้ง กิม กี่ คิดในใจว่างานเข้าอีกแล้วตู

จึงหาจังหวะเหมาะๆ ลมดีๆ พาเจ้าชายไปนั่งใต้ร่มไม้ แล้วเล่าเรื่องราวเมื่อสิบกว่าปีก่อนที่พระมารดาจับพระยุพราชซึ่งตอนนั้นเป็นเด็กชายตัวเล็กๆกำลังน่ารักแต่งตัวเป็นเจ้าหญิงแห่งแคว้นกาสีเพื่อเล่นละครถวาย

พระยุพราชเมื่อรู้ว่าเจ้าหญิงที่ตนเองลุ่มหลงนั้นแท้จริงคือตัวเองนั่นเองก็มีความปลื้มปิติ ความอยากได้เจ้าหญิงมาครอบครองปลาสนาการไปสิ้นเพราะเจ้าหญิงก็คือตัวเองนั่นเอง

เรื่องนี้หนังสือเวดะผูกเป็นนิทานขึ้นมาเพื่อสอนถึงกลไกของเข้าถึง “ความเป็นหนึ่งเดียว” (Yoga) ของทุกชีวิตในจักรวาลนี้ หรือการเข้าถึงเมตตาธรรมที่ไม่มีขอบเขตจำกัด ว่าใครก็ตามที่พาจิตเข้าถึงตรงนี้ได้ ชีวิตอื่นทุกชีวิตก็คือตัวเองนั่นเอง ความอยากได้ชีวิตอื่นสิ่งอื่นที่น่ารักน่ายินดีมาครอบครองจะหมดไป เช่นเดียวกันความชิงชังรังเกียจอยากหนึจากชีวิตอื่นสิ่งอื่นที่น่าเกลียดน่าชังก็จะหมดไปด้วย เพราะทั้งหมดนั้นก็คือตัวเองนั่นเอง

เอวัง เรื่องของเจ้าหญิงแห่งแคว้นกาสีก็มีด้วยประการฉะนี้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

07 ธันวาคม 2565

หมอสันต์พูดกับสมาชิกแค้มป์เรื่องการเปลี่ยนตัวตน (Shift of Identity)

(ภาพวันนี้: สาบเสือ หรือดอกเม็งวาย เหมือนคนใจง่าย..)

(หมอสันต์พูดกับสมาชิกแค้มป์ ตอนเช้า ในสนามหญ้า ขณะที่ทุกคนนอนหงายบนเสื่อ มองดูท้องฟ้า)

เราเริ่มเรียนบทที่ 1. ก่อนนะ

เมื่อเรามองดูท้องฟ้า เราเห็นฟ้า เห็นก้อนเมฆ แต่นั่นเป็นเพียงครึ่งเดียวนะ สิ่งทำให้เราเห็นฟ้า เห็นก้อนเมฆ คือแสงอาทิตย์ที่สาดส่องหรือ illuminate ไปบนฟ้าและบนก้อนเมฆ หากไม่มีแสงอาทิตย์ส่อง เราก็จะไม่เห็นทั้งท้องฟ้า ไม่เห็นทั้งก้อนเมฆ

เมื่อเรามองก้อนเมฆ เราเห็นก้อนเมฆว่ามีสีขาว มีรูปทรงรีๆ อยู่ค่อนข้างสูง คือเราเห็นโดยแปลแบบอัตโนมัติออกมาเป็นชื่อ (names) เป็นรูปร่าง (forms) เป็นเรื่องราว เพราะเรามองจากอัตตาหรือตัวตน หรืออีโก้ ซึ่งมีตรรกะหรือคอนเซ็พท์ของชื่อและรูปร่างต่างๆอยู่ในหัวก่อนหน้านี้หมดแล้ว จากชื่อและรูปร่าง เรื่องราวต่างๆในรูปแบบของความคิดต่อยอดสิ่งที่เห็นผ่านตัวตนหรืออีโก้ก็จะเกิดขึ้นอย่างพร่างพรูประดังประเดต่อๆกันมาโดยอัตโนมัติ ทั้งหมดนี้เป็นการเห็นจากมุมของการเป็นตัวตนหรืออีโก้

เราอาจจะมองเห็นก้อนเมฆและท้องฟ้าได้จากอีกมุมหนึ่งนะ คือเห็นจากการเป็นแสงอาทิตย์ สมมุติว่าตัวเราเป็นดวงอาทิตย์ เราจะเห็นก้อนเมฆและท้องฟ้าอย่างไร แน่นอนเราจะไม่เห็นว่าก้อนเมฆนี้เป็นก้อนเมฆ เพราะแสงอาทิตย์ไม่มีคอนเซ็พท์เรื่องชื่อ เราจะไม่เห็นว่าก้อนเมฆนี้มีรูปร่างรีๆ เพราะแสงอาทิตย์ไม่มีคอนเซ็พท์เรื่องรูปร่าง เราจะเห็นท้องฟ้าและเมฆแค่ตามที่มันปรากฎอยู่ โดยไม่มีชื่อ ไม่มีคอนเซ็พท์หรือเรื่องราวใดๆพร้อมกับการเห็นครั้งนี้ทั้งสิ้น

โดยสรุปในบทที่ 1. นี้ เราสามารถเห็นก้อนเมฆได้จากสองสถานะ คือสถานะที่เราเป็นตัวตนหรืออีโก้ เราเห็นเป็นชื่อเป็นรูปร่างเรื่องราว กับสถานะที่เราเป็นแค่แสงอาทิตย์ เราแค่เห็นตามที่มันเป็นไม่มีชื่อไม่มีรูปร่างเรื่องราว

คราวนี้เรามาเรียนบทที่ 2.

ท้องฟ้าก็ดี เมฆก็ดี หรือสิ่งอื่นๆ เช่นต้นไม้ นก เราเขาใจว่าเราเห็นมันอยู่ที่โน่น ที่นั่น ที่ข้างนอกตัวเรา แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ วิทยาศาสตร์ชี้ให้เราเห็นว่าแสงอาทิตย์ตกกระทบสิ่งเหล่านั้นแล้วสะท้อนมาเข้าตาเรา ไปตกทึ่จอประสาทตา ซึ่งจะสร้างกระแสไฟฟ้าขึ้นในเซลประสาทที่วิ่งไปสมอง แล้วอีท่าไหนไม่รู้ ก็เกิดภาพของท้องฟ้าและก้อนเมฆขึ้นในใจของเราให้เรารับรู้ได้ ดังนั้นทุกอย่างที่เราเห็นว่าอยู่ข้างนอก แท้จริงแล้วมันเกิดขึ้นที่ในใจเราทั้งสิ้น โลกทั้งโลกเกิดขึ้นและปรากฎต่อเราที่ในใจเรา

เอ้าคราวนี้ทุกคนหลับตานะ พอผมพูดถึงอะไร ให้คุณมองภาพในใจของคุณ ผมพูดว่า

“พระเจ้าอยู่หัว ร.10” คุณเห็นภาพแว้บขึ้นมาเลยใช่ไหม

คราวนี้คุณลองนึกถึงบ้านของคุณเองซิ เอาตั้งแต่ประตูรั้วเข้าบ้าน ทางเดิน ประตูบ้าน คุณเห็นภาพในใจทันทีเลยใช่ไหม

ทั้งหมดนี้ไม่มีแสงอาทิตย์เข้ามาเกี่ยวข้องนะ เพราะคุณหลับตาอยู่

แล้วแสงอะไรละที่ส่องสว่างหรือ illuminate ให้เราเห็นภาพในใจของเราทั้งๆที่หลับตาอยู่ ผมเรียกแสงนั้นว่า “แสงแห่งความรู้ตัว” ก็แล้วกัน ซึ่งมันก็คือ awareness หรือ consciousness หรือความที่เราตื่นอยู่รู้ตัวอยู่ ถ้าเรานอนหลับและไม่ฝัน แสงแห่งความรู้ตัวไม่มี เราก็จึงไม่เห็นภาพใดๆในใจเราเลย

เช่นเดียวกันกับการเห็นภาพที่ภายนอก การเห็นภาพหรือปรากฎการณ์ใดๆที่ในใจเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดนั้น เราก็เห็นมันได้จากสองสถานะนะ คือสถานะที่เราเป็นตัวตนหรืออีโก้ กับสถานะที่เราเป็นแสงแห่งความรู้ตัว

ในสถานะที่เราเป็นตัวตนหรืออีโก้ เราเห็นปรากฏการณ์ในใจเราในรูปของชื่อ รูปร่าง และเรื่องราว แต่ในฐานะของแสงแห่งความรู้ตัวเราเห็นปรากฏการณ์ในใจเราแค่เท่าที่มันเป็น ไม่มีชื่อ รูปร่าง และเรื่องราวเข้ามาเกี่ยวข้อง

สรุปว่าในบทที่ 2. นี้เราเห็นปรากฎการณ์ในใจเราได้จากสองสถานะ คล้ายกับการเห็นก้อนเมฆที่ข้างนอกจากสองสถานะเช่นกัน

บทเรียนที่ 3.

คือการมองให้ขาดว่าการเห็นจากสถานะของตัวตนหรืออีโก้ทำให้เกิดความคิดต่อยอดที่ทำให้เราเป็นทุกข์ ขณะที่การย้ายมาเห็นจากสถานะของแสงแห่งความรู้ตัว หรือการ shift of identity จะทำให้เราไม่เป็นทุกข์

แต่ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่ตรงนี้ เพราะเด็กนักเรียนประถมที่เรียนวิชาพุทธศาสนาก็พูดได้เป็นฉากๆว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เพราะจะทำให้เป็นทุกข์ แต่ประเด็นมันอยู่ที่ในชีวิตจริงจะทำอย่างไรจึงจะเลิกหรือละวางความคิดจากสถานะของอัตตาหรืออีโก้ลงไปให้หมดก่อนเพื่อเปิดโอกาสให้ได้เห็นจากสถานะของแสงแห่งความรู้ตัวบ้าง ประเด็นมันอยู่ตรงนี้

ซึ่งมันก็นำไปสู่บทเรียนที่ 4.

ว่าเราจะฝึกเทคนิคหรือฝึกใช้เครื่องมืออะไรบ้างเพื่อให้เราวางความคิดจากสถานะที่เป็นอัตตาหรืออีโก้ได้สำเร็จ ซึ่งเราจะฝึกกันวันนี้แหละ ฝึกกันที่นี่แหละ โดยวันนี้เราจะฝึกใช้เครื่องมือสักสามชิ้นก่อน คือ

(1) การตามรับรู้ลมหายใจของเรา

(2) การผ่อนคลายร่างกาย

(3) การสังเกตสิ่งที่ปรากฏขึ้นที่ที่นี่เดี๋ยวนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสังเกตความคิดในใจเรา

ซึ่งเราจะฝึกในท่านั่งสมาธิ ดังนั้นให้ทุกท่านลืมตาขึ้น ขยับเปลี่ยนจากท่านอนหงายเป็นท่านั่งสมาธิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

…………………………………………………………….

[อ่านต่อ...]

05 ธันวาคม 2565

เป็นโรคไตเรื้อรังแล้วความดันเลือดสูงปรี๊ดทำไงก็ไม่ลง

(ภาพวันนี้: สร้อยสายเพชร)

เรียนคุณหมอสันต์

หนูเป็นโรคไตเรื้อรังกำลังล้างไตอยู่ ตอนนี้ความดันเลือดสูงขึ้นถึง 180 หมอที่รักษาอยู่บอกว่าเกิดจากน้ำเกินและพยายามรีดเอาน้ำออก แต่ก็รีดมาหลายวันจนแห้งแล้วแต่ความดันก็ยังไม่ลง จนล้างไตแต่ละครั้งกลับมาหนูหมดแรง หลังการให้เลือดที่เคยกระปรี้กระเปร่าตอนนี้ถึงให้เลือดแล้วก็ยังรู้สึกว่าไม่สบาย ร่างกายไม่อยู่ตัว หมอก็ยังยืนยันว่ามันเป็นเรื่องของน้ำเกินอยู่นั่นแหละ คือเขาก็ทูซี้คิดแต่แบบเดิมๆที่เขาเคยคิดไม่เลิก หนูแสดงความรู้มากก็ไม่ได้ หนูอยากถามว่าสาเหตุของความดันเลือดสูงในคนเป็นโรคไตเรื้อรังมีอะไรบ้าง และหนูควรทำอย่างไรต่อไป

ขอบคุณมากค่ะ

…………………………………………………….

ตอบครับ

ยาที่ส่งมาให้ดูนั้นส่วนใหญ่เป็นวิตามิน ไม่มียาลดความดัน

มาตอบคำถามของคุณนะ

1.. ถามว่าล้างไตอยู่ ความดันตัวบนสูง 180 ทำไงก็ไม่ลง เอาน้ำออกจนตัวแห้งแล้วก็ไม่ลง มันเกิดจากอะไร ตอบว่ากลไกการเกิดความดันเลือดสูงในโรคไตเรื้อรังนั้นมันมีหลายกลไก เท่าที่ผมนึกออกได้ตอนนี้ก็มีห้าหกกลไกแล้ว เช่น

(1) น้ำเกิน (volume overload) คือน้ำเข้าไปมากออกมาน้อย ทราบจากน้ำหนักเพิ่มเอาๆ น้ำส่วนที่อยู่ในหลอดเลือดจะเป่งหลอดเลือดทำให้ความดันสูงขึ้น ตัวยืนยันการวินิจฉัยก็คือร่างกายบวม หมอฟังได้เสียงน้ำครอกแครกในปอด หรือไม่ก็ดูภาพเอ็กซเรย์ว่ามีน้ำท่วมปอด วิธีแก้ก็คือรีดน้ำออกด้วยการจำกัดน้ำดื่ม ให้ยาขับปัสสาวะบ้าง และรีดน้ำออกขณะล้างไตให้มากกว่าน้ำเข้า

(2) ระดับฮอร์โมนที่ควบคุมความดันเลือดผิดปกติไป กล่าวคือปกติร่างกายจะมีระบบผลิตฮอร์โมนควบคุมความดันโดยไตเรียกว่า rennin angiotensin system คือไตจะเป็นผู้ผลิตฮอร์โมน rennin ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนสารตั้งต้นเพื่อการบีบหลอดเลือดชื่อ angiotensinogen ให้เป็น angiotensin-I ซึ่งจะถูกเอ็นไซม์ ACE เปลี่ยนต่อไปเป็น angiotensin-II อันเป็นสารบีบหลอดเลือดตัวกลั่นที่ทำให้ความดันเลือดสูง คนเป็นโรคไตเรื้อรังเป็นที่รู้กันว่าระบบนี้จะทำงานมากขึ้น จึงมักต้องแก้ด้วยการใช้ยาบล็อกกลไกการทำงานของ angiotensin-II เช่นยา Losartan เป็นต้น

(3) เกลือคั่งในร่างกาย (salt retention) เพราะเกลือก็คือโซเดียม เมื่อคั่งอยู่ในเลือดก็จะดูดน้ำเข้าไปทำให้ปริมาตรเลือดมากขึ้นและความดันสูงขึ้น เหตุที่เกลือคั่งเกิดจากทั้งเกลือที่กินเข้าไปและกลไกระบบ rennin angiotensin ทำงานมากทำให้ไตดูดซึมเกลือกลับจากปัสสาวะได้มากกว่าปกติเพราะฤทธิ์อันหนึ่งของ angiotensin-II นอกจากจะบีบหลอดเลือดแล้วมันยังไม่เพิ่มการทำงานของ aldosterone ซึ่งเป็นฮอร์โมนดูดโซเดียมกลับจากปัสสาวะเข้าสู่เลือดด้วย

(4) ระบบประสาทอัตโนมัติขาเร่งทำงานมากเกินไป (sympathetic over activity) เรื่องแบบนี้เกิดมากเป็นพิเศษในคนเป็นโรคไตเรื้อรัง ทราบได้จากการที่ฮอร์โมนขาเร่ง (norepinephrine) ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อไปวัดไฟฟ้าที่กล้ามเนื้อคนเป็นโรคไตเรื้อรังก็พบว่ามีไฟฟ้าจากระบบประสาทขาเร่งไปกระตุ้นกล้ามเนื้อ (muscle sympathetic nerve activity-MSNA) มากขึ้น การที่ขาเร่งทำงานมากทำให้ความดันเลือดสูง วิธีแก้ยังไม่มีวิธีที่ได้ผลดีที่สุด ทุกวิธีกำลังอยู่ในระหว่างทดลอง ที่แน่ๆคือการให้ยาบล็อกระบบ rennin angiotensin ก็ช่วยลดขาเร่งลงได้ การให้ยาต้านประสาทอัตโนมัติตรงๆเช่น moxonidine ก็ได้ผลถ้าทนยาได้ การทดลองใช้ยาลดไขมัน (statin) มาลดกระแสประสาทขาเร่งก็มีผู้วิจัยตีพิมพ์ไว้ว่าได้ผลบ้างพอควร

(5) เยื่อบุหลอดเลือดผลิตไนตริกออกไซด์ได้น้อยลง คือปกติหลอดเลือดของคนเรานี้จะอ่อนยวบยาบและขยายตัวเด้งดึ๋งเป็นอันดีอยู่ได้นั้นอาศัยการที่เยื่อบุผิวด้านในของหลอดเลือด(endothelium)ทำการผลิตก้าซไนตริกออกไซด์ (NO) ออกมาได้มากเพียงพอ ความสำคัญของไนตริกออกไซด์ต่อสุขภาพของหลอดเลือดนี้เป็นเรื่องที่ทราบกันดีมาช้านานแล้วและรู้กันดีว่าหากกลไกการผลิตไนตริกออกไซด์เสียไปก็เตรียมตัวป่วยโดยโรคเรื้อรังของทุกอวัยวะที่อาศัยหลอดเลือดไปเลี้ยงได้ รวมทั้งไตด้วย ก้าซนี้มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดอย่างแรง แต่ในคนเป็นโรคไตเรื้อรังเยื่อบุผิวด้านในของหลอดเลือดผลิตก้าซไนตริกออกไซด์ได้น้อยลง เอ็นไซม์ที่ช่วยผลิตก้าซไนตริกออกไซด์ชื่อ nitric oxide synthase (NOS) มันถูกบล็อกการทำงานโดยโมเลกุลชื่อ asymmetric dimethylarginine -ADMA ซึ่งเจ้ากรรม ADMA นี้ดันมาเพิ่มสูงขึ้นในคนไข้โรคไตเรื้อรังอย่างไม่ทราบปี่ไม่ทราบขลุ่ย น่าเสียดายที่ตอนนี้ยังไม่มียาทอนพิษของ ADMA ที่ชงัด ขณะนี้กำลังมีงานวิจัยทดลองใช้ยารักษาเบาหวานชื่อ pioglitazone เพื่อการนี้อยู่ แต่ผลจะเป็นอย่างไรยังไม่ทราบ

อีกด้านหนึ่งของเรื่องการผลิตก้าซไนตริกออกไซด์ได้น้อยลงนี้ก็คือความรู้จากผลวิจัยที่ว่าคนเป็นโรคไตเรื้อรังจะตายมากตายน้อยตายช้าตายเร็วมันสัมพันธ์กับระดับสารในเลือดตัวหนึ่งชื่อ Trimethylamine N-oxide (TMAO) ซึ่งงานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า TMAO ยิ่งมีมากยิ่งทำให้เยื่อบุหลอดเลือดผลิตก้าซไนตริกออกไซด์ได้น้อยลง จึงสมควรพูดถึง TMAO สักหน่อย

TMAO มันเริ่มต้นจากโมเลกุล choline และ L-carnitine ในอาหารเนื้อสัตว์รวมทั้งไข่และปลา หากกินมากจนอาหารเหลือลงไปถึงลำไส้ใหญ่ หากในลำไส้ใหญ่มีจุลินทรีย์ที่ชอบกินอาหารไขมันสูงเช่น Anaerococcus hydrogenalisClostridium asparagiformeClostridium hathewayi คือจุลินทรีย์พวกชอบส่งกลิ่นเหม็นทั้งหลายนั่นแหละ จุลินทรีย์พวกนี้จะเปลี่ยนโมเลกุล choline และ L-carnitine ในอาหารเนื้อสัตว์รวมทั้งไข่และปลา ให้กลายเป็นโมเลกุล trimethylamine (TMA) ซึ่งพอเข้ากระแสเลือดผ่านไปถึงตับก็จะถูกออกซิไดส์เป็น TMAO แล้วมาก่อเรื่องให้เยื่อบุหลอดเลือดผลิตไนตริกออกไซด์ได้น้อยลง นี่อาจเป็นคำอธิบายว่าทำไมในงานวิจัย NHANES คนไข้โรคไตเรื้อรังพันกว่าคนที่ติดตามดูแปดปี กลุ่มที่กินมังสวิรัติจึงมีอัตรารอดชีวิตสูงกว่าคนไข้โรคไตเรื้อรังที่กินอาหารที่มีเนื้อนมไข่ไก่ปลาถึง 5 เท่า

2.. ถามว่าความดันสูงปรี๊ดอย่างนี้แล้วควรทำอย่างไรต่อไป ตอบว่าให้ทำดังนี้

(1) ร่วมมือกับหมอเรื่องการควบคุมไม่ให้น้ำเกิน ชั่งน้ำหนักทุกวัน ตวงน้ำเข้าน้ำออกได้ยิ่งดี ขยันไปล้างไตตามรอบ

(2) หารือกับหมอในการใช้ยาลดความร้อนแรงของระบบ rennin angiotensin system ยายอดนิยมที่ใช้กันก็เช่นยาในกลุ่ม ARB inhibitor เช่นยา losartan

(3) หารือกับหมอในการใช้ยาลดกระแสประสาทอัตโนมัติขาเร่ง เช่นลองใช้ยา statin หรือยาต้านขาเร่งโดยตรงเช่น moxonidine เป็นต้น

(4) ควบคุมเกลือให้เข้มขึ้น งดอาหารเค็ม กินจืดสนิท

(5) ลดหรือเลิกกินเนื้อนมไข่ไก่ปลาชั่วคราวสักหลายๆเดือนจนความดันลงมาปกติ กินพืชผักผลไม้ถั่วงานัทแทนเพื่อลดทอน choline และ L carnitine ที่เป็นวัตถุดิบผลิต TMA ซึ่งแสลงต่อโรคไตเรื้อรัง ขณะเดียวกันก็ลดการกินอาหารที่ปรุงด้วยการผัดทอดเพื่อลดสัดส่วนของไขมันในอาหารลง เพราะจุลินทรีย์ในลำไส้ที่นิสัยไม่ดีชอบเปลี่ยนเนื้อสัตว์เป็น TMA นั้นเป็นพวกชอบกินอาหารไขมัน

นอกจากนี้ยังควรตั้งใจกินอาหารทั้ง prebiotic และ probiotic ทุกวัน เพราะยิ่งจุลินทรีย์ในสำไส้มีความหลากหลาย พวกที่นิสัยไม่ดีก็ยิ่งจะออกฤทธิ์ออกเดชได้น้อย และงานวิจัยพบว่าคนที่กินพืชมากกินเนื้อสัตว์น้อยเป็นอาจิณในสำไส้ใหญ่จะไม่มีแบคทีเรียที่ชอบเปลี่ยนอาหารเป็น TMA

(6) การลดความร้อนแรงของระบบประสาทอัตโนมัติขาเร่งที่ดีที่สุดคือการวางความคิด เพราะความคิดและความเครียดคือต้นเหตุตัวเบ้งที่จะทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติเร่งเครื่อง ดังนั้นคุณควรฝึกปฏิบัติการ “วางความคิด” อย่างที่ผมเขียนซ้ำซากบ่อยมากในบล็อกนี้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Zhou, Z., Jin, H., Ju, H., Sun, M., Chen, H., and Li, L. (2022). Circulating trimethylamine-N-oxide and risk of all-cause and cardiovascular mortality in patients with chronic kidney disease: A systematic review and meta-analysis. Front. Med. 9, 828343. doi:10.3389/fmed.2022.828343
  2. Li, T., Gua, C., Wu, B., and Chen, Y. (2018). Increased circulating trimethylamine N-oxide contributes to endothelial dysfunction in a rat model of chronic kidney disease. Biochem. Biophys. Res. Commun. 495 (2), 2071–2077. doi:10.1016/j.bbrc.2017.12.069
  3. Chen X, Wei G, Jalili T, Metos J, Giri A, Cho ME, Boucher R, Greene T, Beddhu S. The Associations of Plant Protein Intake With All-Cause Mortality in CKD (NHANESIII).  Am J Kidney Dis. 2016 Mar;67(3):423-30. doi: 10.1053/j.ajkd.2015.10.018.

[อ่านต่อ...]

04 ธันวาคม 2565

เรื่องไร้สาระ (31) ไปเที่ยวงานคาวบอยมวกเหล็ก

วันนี้เสร็จจากแค้มป์ RDBY25 ซึ่งสอนติดต่อกันมาสี่วัน ผมหมดแรงนอนตากแดดบนสนามหน้าบ้านสักพักแล้วก็หลับไป ตื่นขึ้นมาก็ตะวันตกพอดีจึงชวนหมอสมวงศ์ไปซ้อมวิ่งจ๊อกกิ้งเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าวิ่งที่สมัครไว้แล้ว เขาจะจัดขึ้นที่ฟาร์มโคนมมวกเหล็ก ตกค่ำก็รู้สึกตาสว่างและมีเรี่ยวมีแรงดีจึงชวนกันไปเที่ยวงานเทศกาลคาวบอยในตลาดมวกเหล็ก ความจริงควรจะไปเมื่อวานเพราะได้ข่าวว่ามีลุงหงา (สุรชัย จันทิมาธร) มาดีดกีตาร์ร้องเพลงด้วย แต่ติดงานสอนอยู่ไปไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ไปวันนี้แทนละกัน

เด็กตัวเล็กตัวน้อยชักหุ่นกระบอกที่ตัวเองทำมาอยู่หลังม่านดำ

ในงานคนเยอะมาก ส่วนใหญ่แต่งตัวเป็นคาวบอยสวมหมวกปีก บางคนแต่งตัวเกือบเหมือนคาวบอย ถ้าเอากะทะหรือกะละมังที่มัดติดพุงใบนั้นออกก็จะเหมือนคาวบอยตัวจริงเลย (ฮิ ฮิ)

ที่เป็นหญิงสาวแต่งตัวเป็นคาวบอยก็มี ความจริงต้องเรียกว่าคาวเกิร์ลจึงจะถูก สวมหมวกปีกกว้าง คาดเข็มขัดกระสุน และพกปีน แต่ว่าขึ้นขี่ม้าไม่ได้นะ เพราะกระโปรงของเธอสั้นจู๋และแค้บ แคบ ถ้าขี่ม้ามีหวัง..แคว่ก..ก

มีวงดนตรีร็อคชื่อวงอะไรไม่ทราบแต่งตัวแบบคาวบอยเล่นเพลงฝรั่งซึ่งผมไม่รู้จักอยู่บนเวที ผู้ฟังนั่งฟังกันบนกองฟางบ้าง บนสนามหญ้าบ้าง คะเนจำนวนผู้ฟังในสนามมีไม่ต่ำกว่าสองพันคน เสียงดนตรีดังยิ่งกว่าเสียงระเบิด มันไม่แสบแก้วหู แต่มันกระแทกหน้าอก บึก บึก บึก จนผมรู้สึกว่าหากอยู่ละแวกใกล้เวทีนานๆอาจเกิด blunt trauma คือหัวใจบาดเจ็บจากการถูกกระแทกได้

นักแสดงที่น่ารักพากันแนะนำตัวตอนจบ บางคนภาษาไทยยังไม่แข็งแรง

เดินมาตามถนนที่คนเที่ยวงานแน่นขนัดก็เห็นโปสเตอร์ชวนให้เข้าไปชมละครหุ่นและละครใบ้ ในโปสเตอร์แสดงภาพดาราซึ่งเป็นเด็กๆชายหญิงระดับประถมหน้าตาบ้องแบ๊วน่ารักราวสิบคน เราสองตายายจึงตัดสินใจเข้าไปชม เขาให้เข้าชมฟรี เป็นห้องติดแอร์มีม้านั่งทำด้วยไม้ไผ่ง่ายๆให้ผู้ชมนั่ง ผู้ชมส่วนหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กนั่งชมกันอยู่บนพื้นหน้าเวที มีม่านสีดำกั้น เด็กผลัดกันออกมาแสดงละครใบ้ แล้วก็เริ่มแสดงละครหุ่นโดยเด็กๆตัวเล็กตัวน้อยนั่งอยู่หลังม่านสีดำชักหุ่นกระบอกซึ่งเด็กๆทำขึ้นมาจากวัสดุเหลือใช้ในบ้าน เล่นเป็นละครเล่าเรื่องชีวิตของกุ้งหอยปูปลาในคลองมวกเหล็กซึ่งกำลังถูกมลภาวะไล่ที่ แสดงได้แป๊บเดียวก็จบ แล้วเหล่านักแสดงก็ออกมายืนหน้าม่านแนะนำตัวกับผู้ชม บางคนก็พูดภาษาไทยไม่ได้เพราะเป็นเด็กต่างชาติจากโรงเรียนนานาชาติที่ม.เอเซียแปซิฟิกซึ่งตั้งอยู่ในมวกเหล็กนี่เอง แต่ก็น่าพิศวงที่เด็กจากหลายโรงเรียนมาทำกิจกรรมร่วมกันได้อย่างกลมกลืนน่ารัก

เสร็จจากชมละครหุ่นของเด็กๆ เราแวะไปอาคารริมถนนอีกอาคารหนึ่งซึ่งเขียนป้ายชวนให้เข้าชมนิทรรศการเล่าเรื่องเมืองมวกเหล็ก มีไกด์กิตติมศักดิ์นำชมด้วย ในโถงแสดงภาพเก่าๆเล่าวิถีชีวิตชาวมวกเหล็กตั้งแต่สมัยอยู่กระต๊อบใช้โคเทียมเกวียนมาจนสมัยเลี้ยงวัวนมรีดนมวัว มีภาพถ่ายมุมสวยๆงามๆของเมืองหลายภาพ ที่ผมชอบใจมากเป็นพิเศษคือภาพสพานรถไฟข้ามคลอองมวกเหล็กซึ่งเปรียบเทียบให้เห็นตั้งแต่สมัยร.5 กับสมัยปัจจุบัน

เสือลายเมฆกำลังเดินผ่านกล้อง

แต่สิ่งที่เซอร์ไพรส์ผมมากที่สุดก็คือภาพและวิดิโอคลิปที่ได้จากการตั้งกล้องอัตโนมัติทิ้งไว้ที่ป่าชุมชนบ้านมวกเหล็กใน ต. มิตรภาพ อ.มวกเหล็ก ซึ่งเป็นผืนป่าเล็กๆเนื้อที่ 514 ไร่ ทำให้ได้ทราบว่าสัตว์ที่เดินผ่านกล้องดังกล่าวมีสัตว์ป่าที่หายากซึ่งผมไม่เคยคิดเลยว่าจะยังมีอยู่ในมวกเหล็ก เช่นเสือดาวลายเมฆ แมวดาว เลียงผา หมีชนิดต่างๆ กระทิง หมูป่า เป็นต้น ป่าชุมชนแห่งนี้เป็นพื้นที่ปิดจึงรักษาสภาพธรรมชาติและสัตว์ป่าไว้ได้ดีเยี่ยมจนผมตั้งใจว่าจะต้องหาเวลาไปเยี่ยมสักครั้ง

หมีก็มีหลายชนิด ตัวนี้เรียกว่าหมีอะไรจำไม่ได้แล้ว
เลียงผาแม่ลูก ซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นสัตว์สูญพันธ์ไปแล้ว

น่าเป็นห่วงนิดหนึ่งตรงที่ป่าชุมชนแห่งนี้อยู่ติดกับเหมืองขุดปูนซิเมนต์ของบริษัทเอกชนหนึ่งซึ่งกำลังคิดอ่านจะขยายเขตสัมปะทานเข้ามาในผืนป่าแห่งนี้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออกและเป็นไม้เบื่อไม้เมากับชุมชนในอำเภอมวกเหล็กอยู่เนืองๆ ผมเข้าใจว่านักอุตสาหกรรมหรือเจ้าของกิจการก็ย่อมจะคิดแต่จะขยายกิจการเพิ่มยอดขายให้แก่ผู้ถือหุ้น ซึ่งมันเป็นธรรมดาของการทำธุรกิจ เหมือนกับผมสมัยที่เป็นหมอผ่าตัดหัวใจก็คิดแต่จะทำผ่าตัดหัวใจให้คนไข้ให้ได้มากที่สุด เหมือนกับว่าเราถูกปั้นให้มาทำสิ่งนั้น เราก็มุ่งมั่นที่จะทำ ทำ ทำ มันให้ได้แบบสุดๆไปเลย อันนี้ผมเข้าใจได้

อย่าเข้าใจผิดว่าเป็นแบบที่บ้านเรียกว่าควายนะ นี่เขาอยู่ป่า เรียกว่ากระทิง
แมวดาว ไม่ใช่เสือดาว

แต่ว่านอกจากงานอาชีพหรือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ทำแล้ว เราทุกคนยังเป็นอีกอย่างหนึ่งเหมือนกันหมด คือเป็น “คน” เหมือนกัน ในความเป็นคนนี้ทุกคนย่อมจะมีสำนึกผิดชอบชั่วดี มีสำนึกที่จะแบ่งปันโลกใบนี้ให้สัตว์อื่นได้อยู่อาศัยบ้าง ที่จะรักษาสิ่งสวยๆงามๆไว้ให้ลูกหลานได้ดูบ้าง และที่จะรู้จักทำอะไรเพื่อสนองความอยากของตนแค่ “พอดี”

ดังนั้นผมจึงหวังว่าด้วยความเป็น “คน” ของทุกคนที่เกี่ยวข้องกับผืนป่าแห่งนี้ สัตว์ป่าหายากในผืนป่าชุมชนบ้านมวกเหล็กในนี้จะยังได้มีชีวิตอยู่ต่อไป คงจะไม่ถูกขยายเป็นเขตสำประทานให้ระเบิดปูนซิเมนต์เพื่อเอาไปขายเป็นกำไรให้ผู้ถือหุ้นบริษัทปูนเสียหมด

เอ๊ะ เที่ยวงานเทศกาลคาวบอยอยู่ดีๆไหงมาลงที่ความเป็นห่วงสัตว์ป่าได้เนี่ย จบดีกว่า

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

03 ธันวาคม 2565

สาระพัดคำถามจากพยาบาลผู้ดูแลผู้ป่วยสูงอายุ

(ภาพวันนี้: มากาเร็ตสีม่วง)

เรียนอาจารย์..สันต์..ที่เคารพ

ตอนนี้หนูมีหน้าที่ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุท่านหนึ่ง ผู้ป่วยตัดขาข้างซ้ายไป ใช้ขาเทียม  มีโรคความดัน เบาหวาน อย่างละเม็ด หลังอาหารเช้า เจาะ  DTX เอง ทุกเช้า บางครั้ง ปกติ บางครั้งสูงเกินปกติเล็กน้อย ช่วยเหลือตัวเองได้เหมือนคนปกติทุกอย่าง BMI ปกติ ยังนั่งทำงานที่บริษัททุกวัน

     1. เมื่อ  5  วันที่ผ่านมา  หนูแนะนำให้เขาทาน  Vit  B Complex ( จากสวิต  มี vit B = 8 ตัว เม็ดละเกือบ 40 บาท )

     2. เช่นกัน  หนูแนะนำให้ทาน สารสกัดจากงาดำ (ไม่ใช่..น้ำมันงาดำสกัดเย็น นะคะ ) ยี่ห้อ … ซึ่งเป็นงานวิจัย..ของ ศ.ดร. … ภาควิชาชีวเคมี  มหาวิทยาลัย … เนื่องจากหนูเห็นเขากิน Tramal เป็นบางครั้งเวลาปวดเข่า ส่วนระดับน้ำตาลปกติ  แม้ทานอาหารมาก (Pt ไม่ เคร่งครัดเรื่องอาหาร)  และระดับความดันเฉลี่ย  3 ครั้ง ต่อวัน  อยู่ที่ประมาณ  132/72 HR = 76/m วันนี้ ( 3 Dec 2022 ) วัดความเฉลี่ย  3 ครั้งได้ 118 / 65  HR = 86/m  พอดีเขากำลังจะทานยาลดความดัน  หนูเลยให้เขาหยุดยาก่อนค่ะ  เพราะหนูกลัวว่า..B.P .มันจะ Drop

คำถามคือ

1. ควรกิน เซซามิน  ต่อหรือไม่  

2.  ควรงด..ยาลดความดันหรือไม่  กรณีวัดความดันได้ต่ำ

3. ระหว่างทาน เซซามิน แล้ว คุม  DM & H.T.  ได้ ควรหยุดยา ความดัน  เบาหวาน  แล้ว  Observe  สักระยะ  ดีใหมคะ(คำว่าสักระยะ  ควรนานแค่ใหนคะ)

4.  กรณีตัดขา  ทำให้ผู้ป่วย ไม่ได้ตรวจ  EKG เลยมาหลายปี  เนื่องจากไม่ครบวงจรไฟฟ้า  ผู้ป่วยควรตรวจการทำงานของห้วใจแบบใหนดีคะ..ที่ไม่สิ้นเปลืองมาก  ทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย

 5. เรื่อง Vit B Complex ( 8 ตัว ) หนูทำถูกหรือไม่ (หนูก็หยิบในห้องพยาบาลทานค่ะ  MTV มั่ง B-Co มั่ง แต่ไม่ครบ  8 ตัว)

 อีกอย่างคือเรื่อง  Collagen  หนูก็เริ่มมีอาการ  ข้อเข่ากรอบแกรบแล้วค่ะ

 กราบขอบพระคุณค่ะ

………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่ากินเซซามินแก้ปวดเข่าดีไหม ตอบว่าไม่ทราบครับ เพราะเซซามินเป็นอาหาร ไม่ใช่ยา ไม่เคยมีงานวิจัยว่ามันใช้เป็นยาแก้อะไรได้หรือไม่สักโรคเดียว อีกอย่างหนึ่งไปภายหน้าแฟนๆบล็อกหากคิดจะถามเรื่องวิตามินและอาหารเสริมอีกไม่ต้องถามหมอสันต์มานะครับ เพราะผมพยายามจะไม่ตอบ เนื่องจากตอบแล้วเดี๋ยวไปทำให้คนที่ทำมาค้าขายเขาเดือดร้อนจะเป็นบาป จึงเย็บปากไม่พูดถึงวิตามินและอาหารเสริมใดๆดีกว่า

ในภาพใหญ่ผมแนะนำว่าใครว่าอะไรดี หากมันเป็นพืชที่เรารู้อยู่แล้วว่ามนุษย์เขากินกันมาช้านานไม่มีพิษภัยอะไร คุณอยากลองกินก็ลองไปเถอะ เพราะหลักง่ายๆในการมีสุขภาพดีคือกินพืชให้มากๆ กินพืชให้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพร เครื่องเทศ ลองได้ทั้งนั้น

2.. ถามว่าคนเป็นความดันสูง เมื่อวัดความดันได้ต่ำ ควรงดยาความดันหรือไม่ ตอบว่าควรงดสิครับ ไม่งั้นจะมีเครื่องวัดความดันไว้ทำไมละ งานวิจัยพบว่าคนสูงอายุที่กินยาลดความดันอยู่ ไม่ควรให้ความดันตัวบนวิ่งขึ้นสูงเกิน 150 มม.หรือวิ่งลงต่ำกว่า 110 มม. นี่พูดถึงแต่ตัวบน (systolic BP) นะ ไม่เกี่ยวกับตัวล่าง เพราะหากสูงกว่า 150 หรือต่ำกว่า 110 แล้วพบว่าอัตราตายจะสูงขึ้น

3.. ถามว่าหากระดับน้ำตาลในเลือดและความดันเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติดีแล้ว ควรลดหรืองดยาดีไหม ตอบว่า ดีครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปลี่ยนอาหารไปกินพืชมากขึ้นได้สำเร็จ ความดันจะลดลงของมันเอง น้ำตาลในเลือดก็จะลดลงของมันเอง ก็ควรจะลดยาลงตาม โดยมีหลักว่าลดลงไปทีละครึ่งหนึ่ง (half dose) ก่อนแล้วติดตามวัดความดันในสองสัปดาห์ต่อมาถ้าเป็นยาความดัน หรือติดตามวัดน้ำตาลในเลือดหนึ่งหรือสองวันต่อมาถ้าเป็นยาเบาหวาน หากระดับความดันและน้ำตาลยังปกติอีกก็ลดลงไปได้อีกครึ่งของครึ่ง ก็คือเหลือเสี้ยวเดียวต่อวัน หากยังปกติอยู่อีกก็หยุดยาแล้วติดตามดูตัวชี้วัดไปโดยไม่ต้องกินอะไรยาเลย การบริหารยาความดันและยาเบาหวานนั้นง่ายมากเพราะมีตัวชี้วัดคือความดันและน้ำตาลเป็นตัวบ่งชี้ว่าควรให้หรือควรงดยา ความยากอยู่ที่การเปลี่ยนพฤติกรรมการกินการใช้ชีวิตเพื่อให้ความดันและน้ำตาลในเลือดลดลงต่างหาก ความยากอยู่ตรงนั้น

ย้ำอีกที่ว่าการติดตามดู “สักระยะ” หลังลดยาคือ 2 สัปดาห์หลังการลดยาความดัน และ 1-2 วันหลังการลดยาเบาหวาน

4.. ตัดขาไปข้างหนึ่งแล้วตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจไม่ได้จะทำไงดี ตอบว่า ป๊าด..ด คุณอย่าไปเถรตรงขนาดนั้นซิจ๊ะ จริงอยู่วิชาการตรวจคลื่นหัวใจต้องเอาขั้วไฟฟ้าไปแปะข้อเท้าสองข้างพอขาดข้อเท้าไปข้างหนึ่งก็สรุปว่าจบข่าว..ตรวจไม่ได้ หิ หิ อย่างนั้นมันเถรตรงเกินไปนะแม่คุณ ขาข้างนั้นไม่มีคุณก็แปะขั้วไปที่โคนขาที่เหลืออยู่ก็ได้ ถ้าโคนยังแปะไม่ได้คุณก็แปะที่สะโพกข้างนั้นแทนก็ได้ เพราะขั้วไปฟ้าแปะแขนขา (limb leads) นั้น เจตนาคือแปะสี่ทิศประมาณโคนแขนและโคนขาทั้งสองข้าง ประมาณ แปลว่าตรงไหนก็ได้ในทิศทางเดียวกันจากหัวใจ

5.. ถามว่าคุณเป็นพยาบาลเอาวิตามินให้คนไข้กินคุณทำถูกไหม ตอบว่าการกินวิตามินมันจะไปมีถูกมีผิดอะไรละครับ คนทั่วโลกเขาก็ซื้อวิตามินกินกันเองโครมๆ ไม่มีถูกไม่มีผิด ส่วนหลักฐานการกินวิตามินว่ามันมีประโยชน์อะไรไหมนั้น สำหรับคนที่มีโภชนาการดีอยู่แล้วการขยันกินวิตามินเสริมไม่จำเป็น คือจะขยันหรือขี้เกียจกินก็ให้ผลในแง่ของอัตราตายและการป่วยไม่ต่างกัน ยกเว้นกรณีผู้สูงอายุที่ขี้หลงขี้ลืม งานวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Alzheimer’s Dement. สรุปผลได้ว่าหากกินวิตามินรวม (MTV) วันละเม็ดนานสามปีพบว่าชลอความขี้หลงขี้ลืมได้ ดังนั้นหากคุณจะให้เป็นการกินวิตามินแบบอิงหลักฐานหน่อยคุณก็ให้วิตามินรวมวันละเม็ดสิครับ เพราะอย่างน้อยก็มีหลักฐานหนึ่งชิ้นบ่งชี้ว่าลดความขี้หลงขี้ลืมได้

อนึ่ง เพื่อให้แฟนบล็อกทุกท่านได้ทราบข้อมูลละเอียดผมขอเอารายการวิตามินและแร่ธาตุในหนึ่งเม็ดของวิตามินรวม (MTV) ที่งานวิจัยนี้ใช้มาลงให้ดูดังนี้ (โปรดดูให้ดีนะครับ เพราะแร่ธาตุบางตัวเขาจงใจตัดออกให้เหลือ 0 เพราะผู้วิจัยเขากลัวว่าจะทำให้คนแก่ขี้หลงขี้ลืมมากขึ้น)

Vitamin or Mineral ชื่อวิตามินและหน่วยCOSMOS Multivitamin-Mineral ขนาด
Vitamin A, IU2500 (40% β‐c)
Vitamin C, mg60
Vitamin D, IU1000
Vitamin E, IU50
Vitamin K, µg30
Thiamin, mg1.5
Riboflavin, mg1.7
Niacin, mg20
Vitamin B6, mg3
Folic Acid, µg400
Vitamin B12, µg25
Biotin, µg30
Pantothenic Acid, mg10
Calcium, mg220
Iron, mg0
Phosphorus, mg20
Iodine, µg150
Magnesium, mg50
Zinc, mg11
Selenium, µg19
Copper, mg0.5
Manganese, mg2.3
Chromium, µg50
Molybdenum, µg45
Chloride, mg72
Potassium, mg80
Boron, µg0
Nickel, µg5
Vanadium, µg10
Silicon, mg2
Lutein, µg250
Lycopene, µg300

6. ถามว่าการกินคอลลาเจนรักษาข้อเข่ากรอบแกรบได้ไหม ตอบว่าไม่ทราบครับ เพราะวงการแพทย์ไม่มีหลักฐานใดๆที่สรุปได้ว่าคอลลาเจนรักษาโรคอะไรเกี่ยวกับหัวเข่าได้สักโรคเดียว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

ปล. สำหรับท่านที่จะจองแค้มป์สุขภาพกรุณาลงทะเบียนหรือสอบถามข้อมูลได้ที่

เวลเนสวีแคร์ โทร : 063-6394003 หรือ

Line ID : @wellnesswecare หรือ

คลิก https://lin.ee/6JvCBsf CBsf 

บรรณานุกรม

  1. Baker, LD, Manson, JE, Rapp, SR, et al. Effects of cocoa extract and a multivitamin on cognitive unction: A randomized clinical trial. Alzheimer’s Dement. 2022; 1- 12. https://doi.org/10.1002/alz.12767
[อ่านต่อ...]