30 กันยายน 2564

อย่าปล่อยนาทีทองที่จะได้ฆ่าเชื้อโควิดให้ผ่านไป

สวัสดีค่ะคุณหมอ

ขอแนะนำตัวก่อนนะคะ ชื่อ … ค่ะ (…) และสามี … (อายุ 55 ปี สูง 170 น้ำหนัก 50 ไม่มีโรคประจำตัว ความดันปกติ ออกกำลังกายเป็นประจำ ล่าสุดตรวจพบเป็นต่อมลูกหมากโตเพิ่งเริ่มทานยา 9 กันยา 64) เราสองคนเคยเข้าแคมป์กับคุณหมอ และเคยไปพักที่มวกเหล็กบ่อยๆ ล่าสุดปลายปีที่แล้วงานดนตรีในสวนค่ะ คุณสามีมีความศรัทธาและเชื่อถือคุณหมอมากๆ ค่ะ เลยขออนุญาตนำเรื่องมาหารือค่ะ

ดิฉันไปตรวจเชื้อโควิดวันที่ 13 กันยา ทราบผลวันรุ่งขึ้น และเนื่องจากมีอาการเพียงจมูกไม่ได้กลิ่น จึงเข้ากักตัวที่ Hospitel รร. … ค่ะ (รับวัคซีน AZ 1 เข็มวันที่ 16 สิงหา 64) สามีไปตรวจเชื้อโควิดวันที่ 15 กันยา  ทราบผลวันรุ่งขึ้น สามีมีอาการไอแห้งมาก มีไข้กลางๆ ทางพยาบาลผู้แจ้งผลให้เข้ากักตัวที่ Hospitel รร. … เช่นกันค่ะ (ยังไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด)

สามีเข้ากักตัวที่ Hospitel วันพฤหัสที่ 16 กันยา ด้วยอาการไอแห้ง ไอสำลัก แค่พูดลมเข้าปากก็ไอแล้ว ทำให้ทานไม่ค่อยได้ และอ่อนเพลียค่ะ ยาหลักๆ ที่คุณหมอเจ้าของไข้ให้คือ
1. ยาฉีดสเตียรอยด์ ลดอาการอักเสบ ขยายหลอดลม ลดไข้ ลดไอ (ไม่ทราบชื่อยา)
2.  ยาฟาวิพิราเวียร์ (ได้วันแรก 18 กันยา) ปัจจุบันยังได้รับอยู่
3. Dextro 15 mg ปัจจุบันยังได้รับอยู่
4. Codesia Tab (ค)(*PL) ปัจจุบันยังได้รับอยู่
5. Acetin 200mg ปัจจุบันยังได้รับอยู่
6. Para 500mg ถ้าไม่มีไข้ก็ไม่ทานค่ะ
7. Diazepam 5 mg
8. VitC Hicee ยาเม็ด

วันเสาร์ที่ 25 ก.ย. ดิฉันได้คุยกับคุณหมอเจ้าของไข้ ยืนยันว่าเป็นคนไข้สีเขียว ผล x-ray ปอด ครั้งที่ 1 (16 ก.ย.) ปอดปกติ // ผล x-ray ปอด ครั้งที่ 2 (21 ก.ย.) ปอดปกติ มีเพียงอาการไอหนักที่หมอแปลกใจว่าทำไมยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร ส่วนค่าตัวเลขต่างๆ เช่น ค่าออกซิเจน ชีพจร ความดัน ยังถือว่าเป็นเกณฑ์ปกติ หมอสังเกตจากน้ำเสียงว่าคนไข้ดูมีความกังวลกว่าคนไข้ทั่วไป ถามถึงความเครียด จึงเล่าไปว่า อาจเป็นเพราะก่อนหน้าป่วยโควิด คนไข้มีอาการไม่สบาย ปัสสาวะขัด มีไข้ ไปอัลตร้าซาวด์ทราบผลว่าเป็นต่อมลูกหมากโตเมื่อวันที่ 9 กันยา พออาการเริ่มดีขึ้น ก็มาไอแห้งต่อเลย คงเห็นว่าตนเองป่วยในขณะที่ภูมิต้านทานต่ำจึงมีความเครียด และโดยส่วนตัวเป็นคนทำอะไรเป๊ะๆ เป็นเวลา การมากักตัวเป็นเวลานานคงส่งผลถึงจิตใจด้วย วันศุกร์ที่ 24 กันยา คุณหมอเริ่มให้ใส่ Oxygen Cannula วันอาทิตย์ที่ 26 กันยา คุณหมอเปลี่ยนเป็น หน้ากากออกซิเจนแบบมีถุงลม วันอังคารที่ 28 กันยา คุณหมอเปลี่ยนกลับมาเป็น Oxygen Cannula แจ้งว่าค่าออกซิเจนเริ่มดีขึ้น และได้รับแจ้งค่าต่างๆ จากพยาบาลดังนี้ค่ะ BP 93/67, P 76 R 20 T 36.8 OnO2 make c bag 8 lpm sat 96% เหนื่อยและเพลียเล็กน้อย

วันอังคารที่ 28 กันยา ทราบ ผล x-ray ปอด ครั้งที่ 3 (27 ก.ย.) ปอดด้านล่างทั้งสองข้างเริ่มมีฝ้า

หลังจากทราบผล x-ray ครั้งที่ 3 แล้ว คุณหมอแจ้งว่าเป็นปอดอักเสบ จะเพิ่มความเข้มข้นของยาสเตียรอยด์ให้ เริ่ม 28 กันยา และตรวจค่าน้ำตาลควบคู่ด้วย จากการสังเกต วันที่ 28-29 ก.ย. คนไข้มีการแชทมาพูดคุยกับดิฉันได้มากขึ้น และบอกว่าทานได้มากขึ้น นอนดีขึ้น เริ่มมีกำลังค่ะ ดิฉันคิดว่าเป็นสัญญาณที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม พี่น้องสามีเริ่มอยากให้ย้ายไปโรงพยาบาล เพราะคิดว่าฝ้าที่พบมาจากเชื้อโควิด และอยู่ Hospitel มา 14 วันแล้ว ทำไมไม่ดีขึ้น ดิฉันได้คุยอาการต่างๆ ให้ญาติที่เป็นหมอฟัง และช่วยวิเคราะห์ ทุกคนก็จะบอกว่า หมอเจ้าของไข้จะปรับการรักษา และหากไม่ดีขึ้นจะต้องนำส่งโรงพยาบาลแน่นอน ลักษณะฝ้าที่พบ เป็น ภูมิต้านทานตัวเองเริ่มทำลายปอด การอยู่ Hospitel ทำให้ญาติขอพูดคุยกับหมอเจ้าของไข้ยาก ไม่เหมือนการเข้าโรงพยาบาลเลยค่ะ เราต้องแชทไปแจ้งทีม Admin พยาบาล ว่าเรามีคำถามอะไรยังไง ฝากเรียนคุณหมอ ขอให้คุณหมอโทรกลับ

จากเรื่องราวข้างต้น เรียนถามคุณหมอว่ามีความคิดเห็นอย่างไร และมีข้อแนะนำอย่างไรบ้างค่ะ โดยเฉพาะการย้ายไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลตามที่ญาติสามีต้องการ ขอส่งภาพยา ภาพฟิล์ม x-ray (ถ่ายจากคอมฯ) และผล lab มาตามไฟล์แนบค่ะ
Note: สามีฝึกการหายใจ ฝึกการบริหารปอดตามบทความแนะนำของคุณหมอสันต์ค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

……………………………………………………………………

ตอบครับ

ก่อนจะตอบคำถามของคุณ และก่อนที่ผมจะลืม เพราะผมขี้ลืม ผมขอพูดกับท่านผู้อ่านทั่วไปก่อน ว่าจดหมายนี้เตือนให้ผมย้ำกับท่านสองประเด็น คือ

1.. อาการเด่นของโรคโควิดซึ่งแต่เดิมเป็นสามอาการคลาสสิก คือ ไข้ ไอ เมื่อยตัว นั้น ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว องค์กร ZOE ได้จัดทำระบบบันทึกอาการที่ใหญ่ที่สุดและเชื่อถือได้มากที่สุดในโลก สรุปว่าห้าอาการแรกของโควิดทุกวันนี้ไม่ใช่อาการสามคลาสสิก (ไข้ ไอ เปลี้ยล้า) แต่เป็นอาการ (1) น้ำมูกไหล (2) ปวดหัว (3) จาม (4) เจ็บคอ (5) จมูกไม่ได้กลิ่น ดังนั้นมองจากมุมอาการวิทยาให้ท่านสงสัยว่าเป็นโควิดไว้ก่อนหากมีอาการหนึ่งในห้านี้ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามันไม่ใช่

2.. เนื่องจากโรคโควิดตอนนี้กำลังจะถูกทั่วโลกลดชั้นยศจากการเป็นโรคระบาดใหญ่ (pandemic) ลงมาเป็นโรคประจำถิ่น (endemic) คือนับมันเป็นแค่โรคท้องถิ่นที่คาดการณ์ได้ จัดการได้ เมื่อมันเป็นโรคประจำถิ่นอย่างหวัดและไข้หวัดใหญ่ท่านจะต้องจัดการมันได้ด้วยตัวท่านเองก่อนเพื่อไม่ให้ตัวเองไปเป็นภาระกับโรงพยาบาล วิธีจัดการมันก็มีสามขั้น คือ

2.1 ท่านฉีดวัคซีนให้ครบก่อน โดยเฉพาะหากเป็นคนอายุมากและมีโรคเรื้อรัง

2.2 ทันทีที่เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโควิด ให้ลงมือรักษาตัวเองทันทีด้วยยาฆ่าไวรัสที่ตัวเองหาได้ เช่นฟ้าทะลายโจร ไอเวอร์เมคติน หรือฟาวิพิราเวียร์ มีอะไรกินไปก่อน อย่าไปรอให้แพทย์ตรวจยืนยันแล้วสั่งยาให้ มันไม่ทันดอก

2.3 เมื่อป่วยเป็นโควิดได้ 14 วันแล้ว แม้ยังสะง็อกสะแง็กอยู่ แต่หมอให้กลับบ้านก็ควรจะกลับมาฟื้นฟูตัวเองที่บ้าน อย่าไปกอดเตียงโรงพยาบาลไว้เพราะจะได้แบ่งให้คนอื่นเขาใช้บ้าง

ยกตัวอย่างคุณสามีของคุณนี้ รู้ว่าภรรยาเป็นโควิดตั้งแต่วันที่ 14 กย. มาได้ยาฆ่าไวรัสวันที่ 18 กย. วันเวลานาทีทองผ่านไปเหน่งๆ 4 วันโดยปล่อยให้ไวรัสส้องสุมกำลังฟรีๆ มันเป็นวิธีจัดการโรคที่เสียหายไหมละ เพราะการจัดการโรคโควิดนี้ควรถือตำหรับพิชัยสงครามของซุนวูที่ว่า

“พึงเอาชนะสงครามด้วยการไม่เข้าสัมประยุทธ์ทุกคราวไป

เพราะชัยชนะจากการสัมประยุทธ์เป็นของไม่แน่”

แต่นี่แทนที่เราจะลงมือตัดกำลังข้าศึกก่อน เรากลับปล่อยให้เวลาผ่านไปฟรีๆตั้งสี่วันเพื่อรอการสัมประยุทธ์ คราวนี้จะชนะหรือแพ้ก็เป็นเรื่องของดวงแล้วสิครับ เมื่อมีอาการผ่านไปถึงหกวันแล้วการไปให้ยาฆ่าเชื้อไวรัสไม่มีประโยชน์แล้ว เพราะงานวิจัยพบว่าหากนับจากวันเริ่มมีอาการไปได้หกวัน หลังจากนั้นไวรัสแม้ยังอยู่ก็เหลือแต่ซากศพ หมดชีวิต หมดฤทธิ์ไปติดต่อใครไม่ได้แล้ว แต่สงครามระหว่างภูมิคุ้มกันกับซากเชื้อของไวรัสยังไม่จบ ผลก็คือสนามรบ ซึ่งก็คือปอด แหลกราญไปเลย

ถ้าผมเป็นคุณสามีนะ ผมจะกินฟ้าทะลายโจรตั้งแต่วันแรกที่รู้ว่าภรรยาติดโควิด กินไปจนครบห้าวัน เป็นไม่เป็นไม่รู้ แต่ตัดกำลังไว้ก่อน เพราะมีหลักฐานที่ดียืนยันว่าฟ้าทะลายโจรทำลายไวรัสโควิดได้ โดยที่ไม่มีผลเสียต่อตับต่อไตหรือทำให้เลือดแข็งตัวหรือไม่เข็งตัวอย่างที่คนเขากุข่าวขู่กันเลยแม้แต่น้อย การกินฟ้าทะลายโจรทันทีที่สัมผัสผู้ติดเชื้อหรือทันทีที่มีอาการสงสัยห้าอย่างข้างต้น มันคุ้มมากกว่าที่จะมารอการสัมประยุทธ์กันเป็นไหนๆ

เอาละ จบข่าวทั่วไปแล้ว คราวนี้มาตอบคำถามคุณ

1.. ถามว่าควรย้ายสามีไปเข้ารพ.เอกชนตามที่ญาติสามีเรียกร้องไหม ตอบว่าจะสนองคำเรียกร้องของญาติสามีหรือไม่ นั่นขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนออกเงินค่ารักษา (หิ..หิ ขอโทษ พูดเล่น) ตอบจริงๆว่าก็ในเมื่อหลักฐานการตรวจติดตามก็ชัดแล้วว่าออกซิเจนดีขึ้น คนไข้ก็มีอาการน้อยลง แล้วจะดิ้นรนย้ายไปรักษาที่อื่นทำไมละครับ ควรจะมองไปที่การกลับมาฟื้นฟูตัวเองที่บ้านมากกว่า อย่าไปดิ้นรนจะย้ายจากฮอสพิเทลไปเข้าโรงพยาบาลเลย

ส่วนประเด็นที่ว่าเอ็กซเรย์ปอดแย่ลงนั้นมันมีสองประเด็นย่อยนะ คือ (1) ความเปลี่ยนแปลงอาการจะเกิดก่อนความเปลี่ยนแปลงภาพเอ็กซเรย์เสมอ หมายความว่าภาพเอ็กซเรย์ที่เห็นวันนี้มันบอกเล่าเรื่องราวสองสามวันก่อน วันนี้เราต้องดูอาการและตัวชี้วัดอื่นเช่นออกซิเจนในเลือดเป็นสำคัญ (2) ภาพเอ็กซเรย์ที่คุณส่งมาให้ดูมันเป็นโควิดลงปอดจริง แต่ออกแนวเรื้อรังไปแล้ว ไม่ใช่เฉียบพลัน และมันก็ไม่ได้แย่มาก เอ็กซเรย์ของคนไข้ long covid ที่มาฟื้นฟูที่เวลเนสนี่แต่ละคนงี้ “เขรอะ” มากกว่าของคุณสามีคุณมากนัก ดังนั้นภาพเอ็กซเรย์ปอดอย่างนี้ไม่ได้เป็นข้อบ่งชี้ว่าต้องหนีจากหอผู้ป่วยเฉพาะกิจไปเข้าโรงพยาบาลให้ได้ ไม่จำเป็นเลยครับ

2.. ถามว่าแล้วคุณสามีควรจะอยู่กับโควิดซึ่งทำท่าจะลากยาวนี้ต่อไปอย่างไร ตอบว่าพวกหมอทางฝั่งยุโรปได้คิดยุทธศาสตร์เก้าอย่างขึ้นมาสอนให้คนไข้ใช้รับมือกับ long covid คุณก๊อปไปให้สามีใช้ได้เลย คือ

  1. เรียนรู้ที่จะย่างก้าวตามมันไป เพราะโรคนี้มันไปแบบขึ้นๆลงๆ เราก็ต้องตามไปให้ได้จังหวะ มันขึ้นเราก็ขึ้น มันลงเราก็ลง
  2. เรียนรู้ที่จะรับมือกับความไม่แน่นอน เพราะ Long COVID เป็นตัวอย่างของโรคที่คาดเดาอะไรไม่ได้อย่างแท้จริง อาการบางอย่างนึกว่าหายแล้ว อ้าว กลับมาอีกละ เป็นต้น
  3. การพักผ่อนเป็นกุญแจสำคัญ อาจจะต้องนอนกลางวันวันละสองสามครั้ง คือ ต้องพักให้พอ
  4. นอนหลับให้ดี ให้ได้หลับสนิท
  5. อาหาร ต้องเปลี่ยนอาหารไปเป็นอาหารพืชที่มีความหลากหลายในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ
  6. ให้ร่างกายได้รับน้ำเพียงพอ
  7. ใช้ชีวิตกลางแจ้ง ให้ได้แสงแดด
  8. เล่นกล้าม ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพราะเอกลักษณ์อันหนึ่งของลองโควิดคือกล้ามเนื้อพิการ กล้ามเนื้ออ่อนแรง การฟื้นฟูกล้ามเนื้อจึงสำคัญ
  9. ใช้ชีวิตให้สนุก เราไม่รู้หรอกว่าลองโควิดจะอยู่กับเราไปอีกนานเท่าใดหลังจากออกจากฮอสปิเทลแล้ว อาจนานเป็นปี ดังนั้นให้อยู่กับมันแบบสนุก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

29 กันยายน 2564

นพ.สันต์ให้สัมภาษณ์เรื่องทบทวนสถานะการณ์โควิด

นสพ.

ช่วยวิเคราะห์สถานการณ์โรค

นพ.สันต์

หลายเดือนที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นคือ

1.. มีการเกิดเชื้อโควิดกลายพันธ์เดลต้าที่แพร่โรคได้เร็วขึ้น

2. วัคซีนที่คาดหมายว่าจะป้องกันการแพร่โรคและลดการตายได้ เอาเข้าจริงๆมันทำได้อย่างเดียวคือลดการตายได้แต่ป้องกันการแพร่โรคไม่ได้ เพราะมันเกิดการติดเชื้อแบบ breakthrough infection คือติดเชื้อหลังการฉีดวัคซีนครบขึ้นในอัตราที่สูง บางรายงานมากถึง 40% ของการติดเชื้อใหม่

3. เมื่อวัคซีนป้องกันการแพร่โรคไม่ได้ ความหวังที่จะใช้วัคซีนเป็นตัวสร้าง herd immunity เพื่อให้โรคสงบเกลี้ยงนั้นก็เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นโรคนี้จะสงบได้ก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่ได้ติดเชื้อจริงๆกันถ้วนหน้าหรืออย่างน้อย 70-80% แล้วเท่านั้น

4. งานวิจัยที่อิสราเอลพบว่าคนที่ได้วัคซีนแล้วไปติดเชื้อจริง จะมีภูมิคุ้มกันดีกว่าคนที่ได้วัคซีนกระตุ้นโดยไม่เคยติดเชื้อจริงหลายเท่า

ข้อมูลทั้งสี่อย่างนี้ทำให้ทั่วโลกเปลี่ยนการจัดการโรคจากจัดการแบบโรคระบาดใหญ่ (pandemic) ไปเป็นแบบโรคประจำถิ่น (endemic) คือเลิกล็อคดาวน์ ปล่อยให้มันมาและไปเป็นรอบๆของมันเอง ในแต่ละรอบก็ปล่อยให้คนได้ทยอยป่วยด้วยโรคนี้กันถ้วนหน้า ซึ่งมีประเด็นหลักสองเรื่อง คือ

(1) การจัดดุลภาพระหว่างคนจะใช้รพ.กับเตียงรพ.ที่มีอยู่ให้ได้ดุลกันก็พอ ซึ่งทำได้สามวิธี คือ

(1.1) ระดมฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุซึ่งเป็นขาประจำ (92%)ของการเข้ารพ.ด้วยโรคโควิดให้ครอบคลุมเสีย เพราะมีหลักฐานว่าวัคซีนแม้ลดการติดเชื้อได้น้อย แต่ก็ลดการเข้ารพ.ได้มาก

(1.2) ทำการรักษาผู้ป่วยด้วยยาฆ่าไวรัสที่ได้ผลทันทีตั้งแต่ผู้ป่วยยังอยู่นอกรพ. ซึ่งในเมืองไทยตรงนี้หากอาศัยระบบหาหมอจ่ายยาอย่างปัจจุบันจะไม่ทันกิน ต้องเปลี่ยนเป็นระบบสอนให้ประชาชนรักษาตัวเองแล้วเปิดให้มียาที่ใช้รักษาตัวเองไม่ว่าจะเป็นฟ้าทลายโจร ไอเวอร์เมคติน ฟาวิพิราเวียร์ ซื้อขายกันได้อย่างเสรี มีอาการกินเลย หรือสัมผัสคนติดเชื้อมาก็กินเลย ไม่ต้องรอไปโรงพยาบาลให้หมอจ่ายยา จึงจะฆ่าไวรัสได้ทันทีและทันการณ์

(1.3) การเข็นผู้ป่วยที่เชื้อในตัวหมดฤทธิ์แล้วออกจากรพ.ให้เร็วขึ้น เอาออกไปฟื้นฟูตัวเองที่บ้านหรือที่ศูนย์ฟื้นฟูที่ไม่ใช่โรงพยาบาล เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าหลังจากมีอาการได้ 6 วันเชื้อในตัวก็หมดฤทธิ์ไปติดต่อใครไม่ได้แล้ว หากไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องกักตัวไว้ในรพ.นานๆ และเรารู้อยู่แล้วว่า 30-40% จะเป็นโรคโควิดแบบลากยาว (long covid) ถ้าให้นอนแช่อยู่ในโรงพยาบาลก็จะไม่มีเตียงเหลือ

(2) คือการรับมือกับเชื้อกลายพันธ์ที่จะทยอยผลัดกันเข้ามา ถ้าค้นพบยาที่ได้ผลก็ใช้ยา ถ้าวัคซีนยังได้ผลก็ใช้วิธีฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำๆซากๆเข็ม 3, 4, 5 แต่วันหนึ่งจะมีเชื้อกลายพันธ์บางตัวที่ดื้อยาทุกตัวและแม้จะทำวัคซีนให้เจ๋งอย่างไรก็ป้องกันไม่ได้ผล ก็ต้องหันมาอยู่กับโรคไปโดยไม่มีวัคซีนไม่มียาเหมือนที่เราอยู่กับโรคหวัดและโรคไข้เลือดออกในทุกวันนี้

ทั้งหมดนั้นคือภาพใหญ่ของสถานะการณ์โรคโควิด คือจะไม่หายไปไหน ต้องปรับตัวอยู่ด้วยกันไป

นสพ.

คุณหมอช่วยสรุปบทเรียนจากโควิดในสองปีที่ผ่านมาหน่อยสิ

นพ.สันต์

สำหรับคนไข้หรือประชาชนทั่วไป

(1) เราเรียนรู้ว่าการปล่อยตัวเองให้เป็นโรคเรื้อรัง เช่นอ้วน เบาหวาน ความดัน หัวใจ ไม่ใช่จะได้พิการหรือตายด้วยโรคเรื้อรังอย่างเดียวนะ แต่ยังจะได้พิการหรือตายด้วยโรคอุบัติใหม่ด้วย อย่าลืมว่าโควิดไม่ได้ทำให้ตายได้อย่างเดียว แต่มี long covid คือโรคโควิดแบบลากยาวด้วยนะ คือพิการจากโควิด โควิดทำให้ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังอยู่ต้องหันมาจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคตัวเองอย่างจริงจัง คนอ้วนต้องลดความอ้วนจริงจัง เป็นต้น

(2) ถ้าเราดูรายงานวิธีที่หมอทั่วโลกพยายามหามารักษาโควิด ท้ายที่สุดมันจะมาจบที่สิ่งต่างๆที่เราควรจะได้จากการใช้ชีวิตที่ดี ซึ่งเราเองไม่เคยสนใจ จะเห็นว่าพวกหมอระดมใช้วิตามินดี. วิตามินซี. แร่ธาตุสังกะสี และพยายามให้ยาลดการอักเสบในการรักษาโควิด สิ่งเหล่านี้เราหากเรามีวิธีใช้ชีวิตที่ดีกินอาหารที่ดีเราจะได้เก็บไว้ในตัวเราอยู่แล้ว หากเราขยันออกกำลังกายใช้ชีวิตกลางแจ้งเราก็มีวิตามินดีเก็บไว้มาก หากเรากินอาหารพืชในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติให้หลากหลายเราก็จะได้วิตามินแร่ธาตุและสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งช่วยต้านการอักเสบเก็บไว้ในตัว ดังนั้นโควิดทำให้เราต้องทบทวนวิธีใช้ชีวิตวิธีเลือกกินอาหารของเรา

(3) โควิดทำให้เราเห็นคุณค่าของพืชรอบๆตัวเรามากขึ้น โควิดทำให้เกิดการวิจัยใช้ฟ้าทลายโจรรักษา แล้วก็พบว่ามันได้ผล มันฆ่าไวรัสได้ ลดการเกิดปอดบวมได้ โควิดทำให้เกิดการวิจัยเอาใบยาสูบมาทำวัคซีน ซึ่งสำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้วและกำลังก้าวหน้าด้วยดี ทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นคุณค่าของพืชพรรณที่หลากหลาย เห็นคุณค่าของการปลูกสร้างป่าแบบป่าธรรมชาติ ซึ่งเราเผลอทำลายไปมากแล้ว หากความหลากหลายของพรรณพืชลดลง ก็เท่ากับว่าเราฆ่าลูกหลานเราทางอ้อม เพราะต่อไปเราจะไม่มีอะไรมาแก้ปัญหาการเจ็บป่วยของร่างกายเราเอง

(4) ช่วงโควิดผู้คนเป็นทุกข์กันมาก คนในครอบครัวป่วย ตัวเองตกงาน มีความกังวลถึงอนาคต ไม่ได้ทำงาน ไม่มีเงิน ไม่ได้ไปเมืองนอก จะอยู่ได้อย่างไร จะเอาอะไรมาซื้อความสุข คือส่วนใหญ่ความทุกข์เกิดจากความคิดวิตกจริตว่าจะไม่มีเงิน แต่คนอีกจำนวนหนึ่งโควิดทำให้ได้ค้นพบครั้งสำคัญในชีวิต มีอยู่รายหนึ่งเขียนมาเล่าให้ผมฟังว่าตกงานกลับบ้านต้องไปอยู่เถียงนากักกันโรคสองสัปดาห์ แล้วก็ค้นพบว่าการอยู่เฉยๆไม่ทำอะไรไม่คิดอะไรนี่มันเป็นความสุขอย่างยิ่งแฮะ คือรากเหง้าของสังคมไทยแต่เดิมผู้คนใช้ชีวิตอยู่ในลู่วิ่งสองแบบ คือชุมชนในตลาดซึ่งเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนจะใช้ชีวิตอยู่ใน “ลู่เงิน” คือทำธุรกิจหาเงิน กับชุมชนในหมู่บ้านซึ่งใช้ชีวิตอยู่ใน “ลู่ความสุข” คือใช้ชีวิตแบบนอนเขลงสบายไม่สนใจเรื่องเงินทองทรัพย์ศฤงคารใดๆทั้งนั้น เป็นเช่นนี้มาตั้งแต่สมัยผมเป็นเด็กวิ่งเล่นในท้องนา จนเพิ่งไม่กี่สิบปีให้หลังมานี้เองที่มันมีเหตุทำให้คนไทยในชนบทเลิกวิ่งในลู่ความสุขหันมาวิ่งในลู่เงินแบบชาวตลาดเขาบ้าง แต่คนชนบทไม่สันทัดลู่เงิน วิ่งไปก็รู้สึกว่าเหนื่อยมากไม่สนุกและแพ้ซ้ำซาก โควิดทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งได้เข้าใจรากที่แท้จริงของตัวเอง และจำนวนหนึ่งเกิดความคิดจะกลับไปวิ่งในลู่ความสุขที่บรรพบุรุษเคยวิ่งมาอย่างจริงจังอีกครั้ง

(5) โควิดทำให้คนชั้นกลางในเมืองได้มองเห็นวิถีชีวิตอีกแบบหนึ่งที่เพิ่งรู้ว่าดีกว่า มีลูกของเพื่อนต้องถูกกักตัวจึงพาครอบครัวมาอยู่บ้านร้างของพ่อแม่ที่เขาใหญ่และทำงานแบบ work from home อยู่ไปสักพักเด็กๆไม่ยอมกลับกรุงเทพ เพราะสำหรับเด็กๆการได้ซุกซนในที่โล่งกลางแดดกลางฝนมันเป็นชีวิตที่มีความสุข การได้มีประสบการณ์อย่างนี้ทำให้คนชั้นกลางจำนวนหนึ่งเห็นคุณค่าของการทำธุรกิจแบบ work from home ซึ่งสานได้อย่างลงตัวกับการสร้างครอบครัวแบบให้เด็กได้เติบโตกับธรรมชาติ

ทั้งห้าประเด็นนั้นเป็นสิ่งที่คนไข้และคนทั่วไปได้เรียนรู้จากโควิด ส่วนที่ว่าทางรัฐบาลและทางแพทย์ได้บทเรียนอะไรมาบ้างในสองปีที่ผ่านมา หิ หิ อันนี้ขอโนคอมเม้นท์นะ เพื่อสวัสดิภาพของผู้สูงวัย

นสพ.

ขอให้คุณหมอเล่าถึงความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นในการระบาดครั้งนี้

นพ.สันต์

ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นจริงๆจากโควิดเรื่องที่ 1. ก็คือการสร้างวัคซีนแบบใหม่นี่ไง ผมหมายถึง mRNA และ DNA vaccine มันเป็นนวัตกรรมแบบก้าวกระโดดเลยนะ การสร้างวัคซีนแต่เดิมนั้นเราเอาเชื้อไวรัสที่ตายแล้วมาฉีดเข้าไปในคนเพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน แต่วัคซีนรุ่นใหม่อย่างเช่น DNA vaccine เราเอาไวรัสตัวพาหะมาหุ้มตัววัคซีนซึ่งเป็นรหัสพันธุกรรม (DNA) แล้วปล่อย DNA นี้เข้าไปในเซลมนุษย์ ให้มันเข้าไปแจมกับ DNA ของมนุษย์ เพื่อยังผลสุดท้ายให้มันก๊อปเอา mRNA ออกมา ซึ่ง mRNA นี้จะเป็นใบสั่งไปส่งให้ไมโตคอนเดรียของเซลนั้นผลิตหนามโปรตีนที่หน้าตาเหมือนไวรัสออกมา ผลิตแล้วก็เอาหนามนั้นมาโชว์ที่ผิวเซล เซลที่ว่านี่คือเซลดีๆของเรานี่เองนะ พอระบบภูมิคุ้มกันมาเห็นหนามนี้ก็เฮ้ย นี่มันสิ่งแปลกปลอมนี่หว่า ก็จึงระดมผลิตภูมิคุ้มกันออกมาบ้อมบ์ บ้อมบ์ใครหรือ ก็บ้อมบ์เซลที่เอาหนามประหลาดออกมาโชว์บนหัวนั่นแหละ นี่เป็นครั้งแรกนะที่เราสร้างวัคซีนด้วยวิธีนี้ คือจงใจทำให้ภูมิคุ้มกันของตัวเองทำลายเซลของตัวเอง พอฆ่าไวรัสที่ระบาดได้หมดแล้วระบบนี้มันจะลุกลามไปเป็นเกินการควบคุมหรือเปล่า เรายังไม่รู้ ต้องติดตามดูกันต่อไป การที่เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบขึ้นในผู้ได้วัคซีนจำนวนหนึ่งกลไกก็เชื่อกันว่าเกิดจากภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นไปบ้อมบ์กล้ามเนื้อหัวใจของตัวเอง เท็จจริงอย่างไรก็ต้องรอผลวิจัยที่จะออกใหม่ๆกันต่อไป

ความรู้ใหม่อีกอันหนึ่งซึ่งต่อยอดบนความรู้เดิมก็คือการสร้าง monoclonal antibody เช่นยา tocillizumab มาลดความร้อนแรงของระบบภูมิคุ้มกัน การจะเข้าใจเรื่องนี้ต้องเข้าใจก่อนว่ากลไกหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันโรคคือระบบภูมิคุ้มกันย่อยที่เรียกว่า HIR (humoral immune response) ซึ่งในระบบนี้ร่างกายมี B cell ที่ได้รับข้อมูลรู้จักเชื้อโรคแล้วเป็นผู้สร้างแอนตีบอดี้ขึ้นมาทำลายเชื้อโรค เทคโนโลยี monoclonal antibody ก็คือวิธีการที่เราเพาะชำหรือ (cloning) เม็ดเลือดขาว B Cell ที่รู้จักเชื้อโรคแล้วขึ้นมานอกร่างกายคน เช่นเอาไปเพาะชำในร่างกายสัตว์เป็นต้น เมื่อเม็ดเลือดขาว B Cell นั้นผลิดแอนตี้บอดี้ขึ้นมา ก็เก็บเกี่ยวเอาแอนตี้บอดี้นั้นไว้เอาไปฉีดเข้าหลอดเลือดให้คนป่วย ซึ่งเราเรียกแอนตี้บอดี้แบบนี้ว่า monoclonal antibody บางทีถ้าเราเอาแอนตี้บอดี้แบบนี้ไปฉีดเป็นยาเราก็เรียกว่ายาล็อคเป้า (target therapy) เพราะมันจะวิ่งไปจับกับเป้าซึ่งอาจจะเป็นเป้าที่เชื้อโรคหรือเซลมะเร็งหรือโมเลกุลกระตุ้นการอักเสบชอบเข้าไปจับ เมื่อเอายาไปล็อคเป้านั้นไว้เสียก็เท่ากับว่าเราสลายฤทธิ์ของพวกที่ตั้งท่าจะวิ่งเข้ามาจับเป้านั้นได้ ดังนั้นความรู้เรื่อง monoclonal antibody จึงใช้ได้กับทั้งการกดภูมิคุ้มกันที่มากเกินไป การยับยั้งมะเร็ง และการทำลายเชื้อโรคตรงๆ

โควิดได้เร่งความรู้อีกเรื่องหนึ่งที่เคยทำกันไว้สมัยไวรัสอีโบล่าระบาด คือโคลนนิ่งเอาเซลที่มีกลไกการทำงานแบบเม็ดเลือดขาว B Cell ขึ้นจากใบยาสูบ ทำให้เซลใบยาสูบสามารถผลิต monoclonal antibody เอาไปฉีดรักษาโรคอีโบล่าให้หายได้ และโดยเท็คนิคเดียวกันนี้ก็สามารถทำให้พืชผลิตโมเลกุลหน้าตาคล้ายเชื้อโรคได้ด้วย สารที่พืชผลิตขึ้นมาเหล่านี้เรียกกันตามโครงสร้างเคมีว่าไกลแคน (glycan) คือมีส่วนผสมของคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนอยู่ในโมเลกุลเดียวกัน จะผลิตให้มันสามารถทำตัวเป็นเชื้อโรคปลอม (antigen) ไปกระตุ้นให้ระบบร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคจริงก็ได้เช่นกัน นั่นก็คือการทำวัคซีนนั่นเอง ในเมืองไทยก็มีการวิจัยทำวัคซีนจากใบยาสูบอยู่ นี่ก็เป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์

คือไวรัสเนี่ยเป็นสิ่งมีชีวิตจากยุคดึกดำบรรพ์ โครงสร้างของมันแทบไม่แตกต่างอะไรจากรหัสพันธุกรรม(DNA)ของเซลพืช ดังนั้นพืชซึ่งมีนานาชนิดและมีความหลากหลายทางชีวภาพมากอยู่แล้วจึงมีศักยภาพมากที่จะเป็นผู้ผลิตโมเลกุลที่มีหน้าตาคล้ายไวรัส (คือสร้าง antigen) หรือที่จะเป็นตัวจับทำลายไวรัสได้ตรงๆ (คือสร้าง monoclonal antibody) เมื่อมีโรคอุบัติใหม่คุกคามความอยู่รอดของมนุษย์เรา ไม่ว่าจะเป็นไวรัสหรือมะเร็ง ตัวช่วยเราที่สำคัญก็คือ “พืช” นี่แหละครับ ดังนั้นการคงความหลากหลายของพืชพรรณ การคงสภาพหรือปลูกป่าธรรมชาติ จึงมีความสำคัญต่อสุขภาพของผู้คนในอนาคต

นั่นเป็นเรื่องความก้าวหน้าในวงการแพทย์ สำหรับคนทั่วไป ความรู้ที่เราได้จากโควิดที่คนทั่วไปที่จะเอาไปใช้ได้ทันทีมีสองเรื่อง

1) คืองานวิจัยพบว่าคนเป็นโควิดระดับหนักๆ ระดับวิตามินดี.ในร่างกายจะลดต่ำจนน่าใจหาย จนแพทย์จำนวนหนึ่งใช้วิตามินดีขนาดสูงเป็นยาร่วมรักษาโควิด ประเด็นคือความสำคัญของวิตามินดี. ซึ่งสะท้อนต่อไปถึงความสำคัญของวิถีชีวิตที่ต้องได้ออกที่โล่งแจ้งได้รับแสงแดดบ้างเป็นประจำ

(2) คืองานวิจัยกับแพทย์พยาบาลด่านหน้าในหกประเทศพบว่าหากเทียบคนกินอาหารพืชเป็นหลักหรือมังสวิรัติกับคนที่กินเนื้อสัตว์เป็นพื้น ความเสี่ยงป่วยเป็นโควิดจะลดลงถึง 73% ในพวกกินพืชเป็นหลัก นี่ก็เป็นความรู้ใหม่ว่าการกินพืชเป็นหลักไม่ใช่จะสำคัญเฉพาะในการจัดการโรคเรื้อรังเช่นอ้วนเบาหวานความดันหลอดเลือดสมองหัวใจเท่านั้น แต่สำคัญกับการลดการติดเชื้อไวรัสด้วย ตรงนี้ก็เป็นความรู้ใหม่ที่เอาไปใช้ได้เลย

นสพ.

แล้วเราจะมีวิธีดูแลตัวเองต่อจากนี้ไปอย่างไร

นพ.สันต์

หากยึดเอาตามหลักฐานที่แน่นหนาแน่นอนแล้ว การดูแลตัวเองต้องประกอบด้วย (1) อาหารที่มีพืชเป็นหลัก ในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ และมีความหลากหลาย (2) การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทั้งแอโรบิก เล่นกล้าม การยืดหยุ่นและการทรงตัว เคลื่อนไหวทั้งวัน (3) นอนหลับให้พอ (4) จัดการความเครียด วางความคิด (5) ออกแดด (6) อยู่กับธรรมชาติ น้ำ ดิน อากาศ (7) เลือกทำงานหรือทำกิจกรรมในชีวิตที่แก้ปัญหาสุขภาพให้ตัวเองได้ (8) สำหรับคนป่วยเป็นโควิดแบบลากยาวหรือคนเป็นโรคเรื้อรัง ก็ต้องเพิ่มอีกอย่างคือการฟื้นฟูตัวเองอย่างเข้มข้นจริงจัง

สิ่งที่ผมเรียนรู้ในปีที่ผ่านมาคือความสำคัญของการฟื้นฟูร่างกายด้วยตัวเอง เมื่อต้นปีตัวผมเองประสบอุบัติเหตุครั้งใหญ่ หลังหัก สะโพกหัก แขนหักสองข้าง กลายเป็นคนพิการติดเตียงช่วยตัวเองไม่ได้ในทันที ผู้สูงอายุจำนวนมากมีสภาพเหมือนผมตอนนั้น ไม่ว่าจะเจอหรือไม่เจออุบัติเหตุก็ตาม คือเป็นคนพิการติดเตียง สะง๊อกสะแง็ก ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นภาระให้คนอื่น ผมได้วางแผนฟื้นฟูตัวเองอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและลงมือทำเองอย่างต่อเนื่องจริงจัง ใช้เวลาสองเดือนผมก็ลุกขึ้นมาเดินเหินได้ ไม่ถึงกับปกติ แต่ก็ไม่เป็นภาระให้คนอื่นต้องมาเช็ดอึเช็ดฉีและพาผมอาบน้ำอีกต่อไปแล้ว ประเด็นของผมคือความสำคัญของการฟื้นฟูตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งต้องทำทุกวัน ทุกที่ ทุกเวลา นับตั้งแต่ลืมตาตื่น จนล้มตัวลงนอนหลับ ผมเอาวิธีนี้มาใช้กับคนป่วยโควิดแบบลากยาวที่มาอยู่ฟื้นฟูตัวเองที่เวลเนสนี้ก็ได้ผลดีทุกราย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

28 กันยายน 2564

แค้มป์สุขภาพดีด้วยตนเอง (GHBY-63)

แค้มป์นี้เหมาะสำหรับใคร

คนทั่วไปที่ไม่ป่วย หรือป่วยไม่มาก (ยังทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันได้) ที่ต้องการเพิ่มพูนความรู้และทักษะที่จะดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดีด้วยตัวเอง

ความเป็นมาของ GHBY 

     คอร์สหรือแค้มป์สุขภาพดีด้วยตนเอง เกิดขึ้นเมื่อหลายปีมาแล้ว จากการที่ตัวผมเองป่วยแล้วหันมาดูแลตัวเองในเรื่องการกิน การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด จนแก้ปัญหาให้ตัวเองได้ เลิกกินยาความดัน ยาไขมัน ยาหัวใจได้ ผมจึงได้ตัดสินใจเลิกอาชีพหมอผ่าตัดหัวใจ เปลี่ยนมาทำอาชีพหมอส่งเสริมสุขภาพ สอนผู้ป่วยให้รู้วิธีดูแลสุขภาพของตัวเองได้ด้วยตัวเอง ทำสถานที่ เปิดแค้มป์สุขภาพสอนคนที่ยังไม่ป่วยให้ดูแลตัวเองเป็นว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ป่วย ตั้งชื่อแค้มป์ว่า GHBY (Good Health By Yourself) แปลว่า “แค้มป์สุขภาพดีด้วยตัวเอง” ซึ่งทำไปแล้ว 62 ครั้ง โดยจับประเด็นความรู้ที่สำคัญออกมาคลี่ให้เห็นโดยใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์ประกอบ และแก้ไขปัญหาการขาดทักษะ (skill) ที่จะลงมือปฏิบัติ เช่นจะเปลี่ยนอาหารไปเป็นอาหารแบบกินพืชเป็นหลัก (PBN) แต่ก็ยังทำไม่เป็น จะออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ แต่ก็ไม่รู้วิธี ในแง่ของการจัดการความเครียด ผมก็จับเอาผลวิจัยว่าอะไรลดความเครียดได้เอามาฝึกมาสอนหมด ไม่ว่าจะเป็นโยคะ สมาธิ ไทชิ เป็นต้น ในรูปของการให้ฝึกลงมือทำ ในระยะหลัง ทั้งหมดนี้ผู้เข้าแค้มป์เก็ทดีมาก ครั้งหลังๆผมได้เพิ่มเติมวิธีสร้างความบันดาลใจ (Motivation) เข้าไปด้วยโดยเอาแง่มุมเชิงจิตวิญญาณ (spirituality) ซึ่งสกัดมาจากประสบการณ์ของตัวผมเองมาสอนด้วย และได้เริ่มวางพื้นฐานให้สามารถดูแลตัวเองได้ต่อเนื่องโดยใช้ตัวชี้วัดเจ็ดตัวบนแอ็พมือถือ

     มาถึงวันนี้ผมเห็นว่าบางประเด็นสำคัญในเนื้อหาสาระของ GHBY ได้เปลี่ยนไปตามสมัย อย่างน้อยในสามประเด็นใหญ่ๆคือ

     (1) ความจำเป็นที่คนทั่วไปจะต้องดูแลระบบภูมิคุ้มกันของตัวเองให้ดีและพาตัวเองให้พ้นจากการตกเป็นกลุ่มเสี่ยงตายจากโควิด19 ให้ได้ แม้ว่าในวันนี้เมืองไทยจะทำได้ดีเพียงใดแต่ข้อมูลบ่งชี้ว่าการระบาดของโควิด19 ในระดับโลกนั้นจะยังคงถูกลากยาวไปอีกไม่น้อยกว่า 3-5 ปี

     (2) ตัวผมเองมีประสบการณ์ตรงทางด้านจิตวิญญาณมากขึ้นกว่าเดิม และมองเห็นโอกาสที่จะนำมันมาใช้สร้างความบันดาลใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ดีขึ้น

     (3) แอ็พ Health Dashboard ที่ผมออกแบบและแต่เดิมชวนสวทช.มาช่วยทำให้นั้น ก็มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดไปเป็น Health Platform ที่คนทั่วไปนอกจากจะสามารถเข้ามาใช้เพื่อดูแลสุขภาพของตัวเองได้ง่ายขึ้น

    ผมจึงเห็นว่านี่น่าจะเป็นเวลาเหมาะที่จะปรับหลักสูตร GHBY เสียใหม่หลังการเปิดคลายล็อคดาวน์ครั้งนี้

  ……………………………………………………….

หลักสูตรคอร์สสุขภาพดีด้วยตัวเอง Good Health By Yourself (GHBY63)

(เริ่มใช้ตั้งแต่หลังยุคโควิด19)
Motto
 “เรียน” สิ่งที่ยังไม่เคยรู้ (knowledge)
“ทำ” สิ่งที่ยังไม่เคยทำ (skill)
“ชอบ” สิ่งที่ไม่เคยชอบ (attitude)

คอนเซ็พท์ของแค้มป์ (Conceptual Design)

     ให้คนกลุ่มเล็กๆประมาณไม่เกิน 15-20 คน ได้มาพักผ่อนปลายสัปดาห์ (2 วัน 1 คืน) ร่วมกับ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ที่เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ ที่มวกเหล็ก ซึ่งอยู่ในธรรมชาติที่เงียบสงบ แล้วเรียนรู้สาระสำคัญเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพตนเอง และฝึกทักษะต่างๆที่จำเป็นต้องใช้ในการดูแลสุขภาพตนเองไปด้วยกัน ในบรรยากาศการพูดคุยและฝึกทำอะไรไปด้วยกันแบบกันเองและไม่เป็นทางการ

วัตถุประสงค์  (Objectives)

1. วัตถุประสงค์ด้านความรู้ (knowledge)

มุ่งให้ผู้เข้าคอร์สมีความรู้ในเรื่องต่อไปนี้

1.1 งานวิจัยใหม่ล่าสุดเกี่ยวกับภาพรวมของการมีสุขภาพดี
1.2 โภชนาการในแนวกินพืชเป็นหลักในรูปแบบใกล้ธรรมชาติและหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันปรุง (low fat, plant based, whole food)
1.3 หลักโภชนาการที่ดี (ประเด็นรูปแบบการกิน ประเด็นความหลากหลาย ประเด็นคุณค่าต่อหน่วยพลังงาน)
1.4 คำแนะนำทางโภชนาการขององค์กรและรัฐบาลประเทศต่างๆที่นำมาใช้ประโยชน์ได้
1.5 อาหารพืชที่มีคุณสมบัติพิเศษในการลดความดันเลือด และต่อต้านมะเร็ง
1.6 คุณค่าและวิธีทำต้นอ่อนเมล็ดงอกชนิดต่างๆ
1.7 ผลของการปรุงอาหารแบบต่างๆต่อการทำลายคุณค่าของอาหาร
1.8 การออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง (aerobic exercise) สามประเด็น (1) หนักพอควร คือหอบเหนื่อยร้องเพลงไม่ได้ (2) ต่อเนื่อง คือ 30 นาทีขึ้นไป (3) สม่ำเสมอ คือ สัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 5 วัน
1.9 การออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อ (strength training) ในประเด็น (1) กลุ่มกล้ามเนื้อหลัก (2) การยืดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ (3) ท่าร่าง (4) การหายใจ (5) การเคลื่อนไหวช้าๆ (6) การทำเพิ่ม (overload) ทีละนิด (7) หลักพักและฟื้น
1.10 การออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัว (balance exercise) รวมถึง 5 องค์ประกอบของการทรงตัว (สติ สายตา หูชั้นใน กล้ามเนื้อ ข้อ)
1.11 ความเครียด กลไกการเกิด ผลต่อร่างกาย
1.13 วิธีจัดการความเครียดด้วยการใช้เครื่องมือวางความคิด 7 ชนิด (1) การดึงความสนใจ (2) ลมหายใจ (3) การคลายกล้ามเนื้อ (4) การรับรู้ร่างกาย (5) การขยันปลุกตัวเองให้ตื่น (6) การสังเกตความคิด (7) การจดจ่อสมาธิ
1.14  สุขศาสตร์ของการนอนหลับ (Sleep hygiene)
1.15 ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพอย่างง่าย 7 ตัว (1) น้ำหนัก (2) ความดัน (3) น้ำตาล (4) ไขมัน (5) ปริมาณผักผลไม้ที่กินต่อวัน (6) เวลาที่ใช้ออกการออกกำลังกายต่อสัปดาห์ (7) บุหรี่
1.16 การดูแลระบบภูมิคุ้มกันโรคด้วยตัวเอง
1.17 ประโยชน์และวิธีใช้แอ็พ WWC Platform บนมือถือเพื่อติดตามบริหารจัดการสุขภาพตนเอง

2 วัตถุประสงค์ด้านทักษะ

มุ่งให้ผู้เข้าแค้มป์ มีทักษะ สามารถทำสิ่งต่อไปนี้ได้ด้วยตนเอง
2.1 จัดหาและเลือกอาหารแนว plant based, whole food nutrition (PBN) มาเพื่อการบริโภคของตัวเองและครอบครัวได้
2.2 อ่านฉลากอาหาร แปลความหมาย และใช้ประโยชน์จากฉลากอาหารได้
2.3 ลงมือทำอาหารแนว PBN ได้ด้วยตนเอง
2.4 ออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง (aerobic exercise) ได้ด้วยตนเอง
2.5 ประเมินและติดตามดูสมรรถนะร่างกายตนเองด้วยวิธี one mile walk test ได้
2.6 ออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (strength training) ได้ด้วยตนเอง ทั้งแบบมือเปล่า ใช้ดัมเบล ใช้สายยืด และใช้กระบอง
2.7 ออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัว (balance exercise) ได้ด้วยตนเอง
2.8 ใช้เครื่องมือ 7 อย่างวางความคิดด้วยตัวเองผ่านกิจกรรม ทำสมาธิ ไทชิ โยคะ ได้
2.9 ปฏิบัติสุขศาสตร์ของการนอนหลับได้ด้วยตนเอง
2.10 ใช้ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพอย่างง่าย 7 ตัวของ AHA ติดตามดูแลสุขภาพของตนเองได้
2.11 ใช้ประโยชน์จาก WWC Platform เพื่อดูแลสุขภาพตัวเองด้วยตัวเองได้

3 วัตถุประสงค์ด้านเจตคติ

     มีเป้าหมายให้ผู้เข้าแค้มป์มีเจตคติที่
3.1 รักการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (health promotion attitude)
3.2 ชอบการใช้ชีวิตแบบกระตือรือล้นและเคลื่อนไหวมาก (active lifestyle attitude)
3.2 ชอบดูแลตัวเองและทำอะไรด้วยตนเอง (do it yourself attitude)

แผนกิจกรรม

สถานที่: เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ (Wellness We care Center) มวกเหล็ก-เขาใหญ่

วันเวลาสำหรับแค้มป์ GHBY64

เสาร์ 23 ตค. 64 – อาทิตย์ 24 ตค. 64

ตารางกิจกรรม

วันแรก

8.30 -9.30 น.  เดินทางถึงเวลเนสวีแคร์ (มวกเหล็ก-เขาใหญ่) เช็คอินที่บ้าน Grove House เข้าห้องพัก ทำกิจธุระส่วนตัว
9.30-10.00    ทำความรู้จักกัน Getting to know each other
10.00 – 10.30 น.  Briefing1: Plant-based nutrition & Nutrition guidelines
                        โภชนาการแบบพืชเป็นหลัก และคำแนะนำโภชนาการมาตรฐานทั่วโลก
10.30 – 10.45   Coffee/Tea break พักดื่มน้ำชา/อาหารว่าง
10.45 – 12.00 น.  Workshop: Food shopping contest
                         กิจกรรมจ่ายตลาดฉลาดซื้อ
12.00 – 13.30 น.  Workshop: Plant-based nutrition skill and lunch
                         ชั้นเรียนชมการสาธิตสอนแสดงวิธีทำอาหารด้วยตนเองในแนวกินพืชเป็นหลัก แล้วรับ                              ประทานอาหาร
13.30 – 14.30 Workshop: Yoga, muscle relaxation and muscle stretching
                        ฝึกปฏิบัติโยคะเพื่อผ่อนคลายและการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
14.30 – 15.30 Workshop: Muscle strength training
                        ฝึกปฏิบัติการออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
15.30 – 16.30 Workshop: Balance and flexibility exercise
                        ฝึกปฏิบัติการออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัว
16.30 – 16.45 Coffee break
                        พักดื่มกาแฟ
16.45-17.45   Workshop: Line dance
                        ฝึกปฏิบัติการออกกำลังกายแอโรบิกด้วยวิธีไลน์ด้านซ์
17.45 – 18.15 Workshop: Herbs Spices and Sprout
                       กิจกรรมปลูกผักและเพาะเมล็ดงอกเพื่อเป็นอาหาร
18.15 – 18.45 พักผ่อนตามอัธยาศัย อาบน้ำ
18.45 – 20.30 Dinner: อาหารเย็น

วันที่สอง

7.00 – 7.30 Workshop: Six minutes walk
                        ฝึกประเมินสมรรถนะร่างกายตนเองด้วยวิธี Six minute walk
7.30 – 8.00  Workshop: Tai Chi
                        ฝึกปฏิบัติเคลื่อนไหวอย่างมีสติ ด้วยวิธี Tai Chi
08.00– 9.30  Breakfast
                        อาบน้ำ รับประทานอาหารเช้า
9.30 – 10.30 Spiritual part of stress management
                       การใช้เครื่องมือ 7 อย่างในการวางความคิดและจัดการความเครียด
10.30 – 10.45 Coffee break
10.45 – 11.15 Motivation and Total lifestyle modification
                        การสร้างพลังเพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง
11.15 – 12.00  Workshop: AHA’s Seven simple health index
                        ภาคปฏิบัติการประเมินปัจจัยเสี่ยงสุขภาพส่วนบุคคล
12.00 – 13.00 พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.00-14.00  Workshop: Health Dashboard on mobile phone
                      ฝึกปฏิบัติการใช้แอ็พติดตามสุขภาพตนเองบนโทรศัพท์มือถือ
14.00 – 16.00  Questions and Answers
                      ตอบคำถามและให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพส่วนตัวเป็นรายคน รวมทั้งปรึกษาผลแล็บ เอกซเรย์และผลการตรวจพิเศษต่างๆ โดยผู้ร่วมแค้มป์ท่านอื่นสามารถนั่งฟังและร่วมแชร์ความรู้และประสบการณ์กันในห้องได้
16,00             ปิดแค้มป์
         
ค่าลงทะเบียน

     ราคาปกติของคอร์ส GHBY คือท่านละ 9,000 บาท รวมอาหารทุกมื้อ ที่พัก อุปกรณ์การเรียน แต่ไม่รวมค่าเดินทางยังเวลเนสวีแคร์ (ผู้เรียนต้องเดินทางไปเอง)

     ในกรณีที่แชร์ห้องพักก้นได้ (ห้อง double bed) ห้องละ 2 คน จะได้ส่วนลดค่าห้องคนละ 1,000 บาท

     การเข้าพักก่อนกำหนดเปิดแค้มป์ (ล่วงหน้าไม่เกิน 1 วัน) ต้องชำระค่าห้องเองสำหรับวันที่พักล่วงหน้าในราคาคนละ 1,000 บาท)

วิธีลงทะเบียนเข้าเรียน

   1. โทรศัพท์ลงทะเบียนกับเวลเนสวีแคร์ที่หมายเลข 0636394003 หรือไลน์ @wellnesswecare หรืออีเมล host@wellnesswecare.com หรือ
   

การเตรียมตัวไปเข้าคอร์ส

     แนะนำให้เตรียมเครื่องแต่งกายที่เคลื่อนไหวทำกิจกรรมและออกกำลังกายสะดวก ควรมีรองเท้าผ้าใบที่เดินบนพื้นหินขรุขระได้ และควรมีหมวกกันแดด และครีมกันแดด

การเดินทางไปเข้าคอร์ส

     เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ตั้งอยู่ในมวกเหล็กวาลเลย์ เลขที่ 204/39 ม.5 ต.มิตรภาพ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว หรือขึ้นรถตู้กทม.-มวกเหล็ก หรือรถไฟ (ลงสถานีมวกเหล็ก) ในกรณีเดินทางด้วยรถตู้หรือรถไฟ ต้องหารถรับจ้างจากตลาดมวกเหล็กเข้ามาส่งเอาเอง เวลเนสวีแคร์ซึ่งตั้งอยู่ในมวกเหล็กวาลเลย์อยู่ห่างจากตลาดมวกเหล็กราว 4 กม. อาจให้รถตู้จากกทม.แวะเข้ามาส่งก็ได้โดยต้องเพิ่มเงินให้เขาประมาณ 150 บาท

    กรณีเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ให้ใช้ Google Map โดยพิมพ์คำว่า Wellness We Care Center

[อ่านต่อ...]

(แปล) บทสนทนากับหมอสันต์เรื่องการใช้ชีวิตร่วมกับโควิด

(ถอดเทปและแปลบทสนทนา นพ.สันต์ กับคุณวิเวก ดาวัน จากภาษาอังกฤษ ที่สื่อทางยูทูปออกไปให้พนักงานและครอบครัวในเครือเมก้าและคนทั่วไปทั่วโลก เรื่องการมีชีวิตอยู่กับโควิด ท่านที่สนใจชมวิดิโอในยูทูปกรุณาคลิกดูได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=7HfGEFC4Xn8&t=428s)

คุณวิเวก:

สวัสดีครับ ชาวเมก้าและท่านผู้ชมทุกๆท่าน สำหรับ ep2 เรื่องสุขภาพ โดยศูนย์สุขภาพเวลเนสวีแคร์ ซึ่งเป็นความริเริ่มของเมก้าวีแคร์ที่จะช่วยให้ ท่านมีสุขภาพดีนานตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่ คราวนี้ผมก็ได้ผู้เชี่ยวชาญท่านเดิม คุณหมอสันต์ มาตอบคำถามทั้งหลายทั้งปวงที่ยังตอบได้ไม่หมดหรือไม่ครอบคลุมเมื่อครั้งก่อน

ครั้งที่แล้วเราคุยกันเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับโควิด คราวนี้เราจะคุยกันถึงวิธีมีชีวิตอยู่กับโควิด ข่าวเกี่ยวกับโควิดมีแยะเหลือเกินจนชวนสับสน เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง เป็นต้นว่า เชื้อกลายพันธ์เดลต้าติดต่อง่ายกว่าเชื้อเก่า 5-8 เท่า รุนแรงกว่า หนึ่งเท่าครึ่งถึงสองเท่า คนได้วัคซีนจะมีอาการน้อยกว่า เข้าโรงพยาบาลน้อยกว่า ขณะที่คนไม่ได้วัคซีนต้องเข้าโรงพยาบาลมากกว่า

แล้วก็มาเรื่องปลายทางของการระบาด มีการคุยกันมากเหลือเกินเรื่องโรคระบาดใหญ่หรือ pandemic กับโรคประจำถิ่นหรือ endemic บ้างก็ว่าเราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันตลอดไป การเปลี่ยนจากนับหัวคนติดโรคมาลดความรุนแรงเมื่อติดโรคแล้วกำลังเป็นเรื่องที่คนสนใจกันมาก ประเทศที่เชื่อว่าคุมโควิดได้ระดับเหลือศูนย์มานานอย่างสิงค์โปร์ ออสเตรเลีย ก็ยังต้องทบทวนยุทธศาสตร์ว่าน่าจะต้องหันมาอยู่กับโควิดเสียแล้ว ท่าทางเจ้าโรคโควิดนี้คงจะไม่ไปไหน เราคงต้องอยู่กับมัน วันนี้เป็นโอกาสดีที่จะได้จับเข่าคุยกับคุณหมอสันต์ ถึงหลายๆเรื่องเหล่านี้ที่เราสงสัยกันอยู่ครามครัน

แล้วเด็กๆจะไปโรงเรียนได้หรือยัง เราจะเปิดบริษัทได้ไหม ผมเองก็อยากจะเปิดออฟฟิศเพื่อให้เพื่อนพนักงานกลับมาทำงาน เพราะนี่มันปีกว่าแล้ว น่าจะได้กลับมาพบหน้าค่าตากันอีกครั้งได้แล้วไม่ใช่หรือ นี่ก็เป็นคำถามใหญ่เช่นกัน อย่างที่ผมพูดไปเมื่อครั้งที่แล้ว เราคุยกันถึงหลักฐาน ถึงวิทยาศาสตร์ที่เป็นพื้นฐานของเรื่องโดยที่วิทยาศาสตร์ใหม่ๆก็โผล่ขึ้นมาทุกวัน ไม่กี่ชั่วโมงมานี้ทางอิสราเอลก็เพิ่งตีพิมพ์ว่าการฉีดวัคซีนเข็มสามให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นมากกว่า 10 เท่าแม้ว่าจะเป็นระยะสั้นก็ตาม ข้อมูลระยะยาวยังไม่มี ภูมิคุ้มกันมันจะแผ่วลงหรือเปล่า นี่ก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องเกาะติด.

ทุกอย่างต้องรอวิทยาศาสตร์โผล่ออกมาก่อน เราคุยกันวันนี้บนพื้นฐานของหลักฐานข้อมูลที่มีถึงวันนี้เท่านั้นนะ ก่อนจะคุยกันต่อไปขอผมแจ้งนิดหนึ่งว่าคราวนี้จะเป็นการคุยกันแบบสั้นๆ 45 นาทีจบ เหลือ 15 นาทีไว้สำหรับการถามตอบ อย่างอื่นเหมือนเดิม ก่อนอื่นผมขอประกาศก่อนว่าแม้ผมจะบริหารเมก้าวีแคร์แต่เราจะไม่มาซื้อมาขายมาโปรโมทอะไรบนเว็บไซท์นี้ เราจะคุยกันแต่เรื่องโรคโควิดและผลของโรคต่อทุกคนเท่านั้น

เราต้องกักตัวเองอยู่ในบ้านต่อไปหรือเปล่าหรือออกจากบ้านได้เสียที แล้วเราจะต้องสวมมาสก์ต่อไปอีกไหม สิ่งเหล่านี้อยู่ในใจผมเรื่อยมา เพื่อนๆครับ มาต้อนรับคุณหมอสันต์ ผู้เชี่ยวชาญของเรากัน ผมชอบเรียกเขาว่าคุณหมอ Saint นั่งถัดอยู่ข้างผมไปนี่แหละ สวัสดีครับ คุณหมอสันต์ [crosstalk 00:03:53]. ดีใจที่ได้เจอคุณหมออีกครั้ง

เพื่อไม่ให้ใช้เวลามาก ให้ผมถามคำถามคุณหมอเลยนะ ซึ่งเพื่อนๆก็คงอยากรู้ ว่าเจ้าโควิดนี้มันจะจบไหม หรือมันจะอยู่กับเราไม่ไปไหนตลอดไป ผมเคยได้ยินว่าโรค MERS โรค SARS-1 แล้วก็โรค ซึ่งมาแล้วก็ไป คราวนี้มาเชื้อซาร์สโควี 2 ซึ่งเป็นโคโรน่าไวรัสเหมือนกัน คราวนี้มันจะอยู่กับเราไปอีกนานหรือเปล่า คุณหมอคิดว่าอย่างไรครับ คุณหมอสันต์

นพ.สันต์ (04:37):

โควิดจะอยู่นี่ไม่ไปไหมหรือเปล่า ตอบว่าใช่ ผมคิดว่ามันจะอยู่ที่นี่ ออกจะโชคไม่ดีสักหน่อย มันอาจจะอยู่สักหลายปีอยู่มั้ง อย่างน้อย หรืออย่างดีมันก็มาๆไปๆ แต่ที่แน่ๆก็คือมันจะอยู่กับเราอีกนาน ซึ่งก็นำไปสู่อีกคำถามว่าก็ในเมื่อมันจะไม่ไปไหนอยู่แล้ว ต้องเป็นโรคนี้กันถ้วนหน้าอยู่แล้ว แล้วเราจะต้องฉีดวัคซีนอยู่หรือเปล่าละ คำตอบก็คือว่าเราต้องฉีดวัคซีนให้ครบอยู่ เพราะเมื่อฉีดวัคซีนครบ ถึงเวลาเป็นโรค อัตราตายและอัตราการต้องเข้าโรงพยาบาลมันลดต่ำลงมาก

ขอผมชี้แจงตรงนี้เพิ่มหน่อยนะ เนื่องจากมันเกิดปรากฏการติดเชื้อแม้ได้วัคซีนครบขึ้นมา ที่เรียกว่า breakthrough infection อัตราการติดเชื้อแม้ได้วัคซีนครบนี้ก็สูงไม่เบาอยู่ เราจึงคาดหวังว่าวัคซีนจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่หรือ herd immunity ให้เราไม่ได้ หรือพูดแบบบ้านๆก็คือวัคซีนช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไม่ได้ พวกเราเกือบทุกคนจะต้องได้เป็นโรคนี้กันถ้วนหน้าไม่เวลาใดก็เวลาหนึ่งในชีวิต อย่างดีที่สุดที่เราจะปกป้องเราเองไม่ให้ได้รับอันตรายจากโรคนี้ได้ก็คือ (1) ฉีดวัคซีนให้ครบ (2) ใครที่มีปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่ทำให้เป็นโรคเรื้อรังอะไรก็จัดการปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นเสีย (3) ทันทีที่ติดเชื้อ ต้องรีบรักษา ซึ่งถ้ามีเวลาเราค่อยคุยกันในรายละเอียด

เอาเป็นว่าในภาพใหญ่คือโควิดจะอยู่นี่แหละไม่ไปไหน แต่เราก็ต้องฉีดวัคซีนให้ครบ

คุณวิเวก:

เอาละ ดีมากครับ ขอบคุณ คุณหมอ การจะมีชีวิตอยู่กับโควิด สำคัญที่สุดอันแรกคือต้องฉีดวัคซีนให้ครบสองเข็ม มีหลักฐานมากพอที่จะบ่งชี้ว่าอย่างน้อยเราก็ป้องกันโรคไม่ให้รุนแรงได้ ป้องกันการต้องเข้าโรงพยาบาลได้ ลดภาระของโรงพยาบาลลง ทำให้จัดการโรคโควิดได้ง่ายขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องดีที่ได้ยินอย่างนี้

คุยกันไปเราก็อาจได้ข้อมูลเพิ่มขึ้นมาว่าวัคซีนมันป้องกันเราไม่ให้เป็นโรครุนแรงได้อย่างไร แต่พวกเราจำนวนมากกังขาว่าก็ในเมื่อจะต้องติดโควิดกันอยู่แล้ว จะไปฉีดวัคซีนทำไม ใช่ไหมครับ? มาคุยกันเรื่องความเสี่ยงของวัคซีนหน่อยดีกว่า เพราะฟังไปฟังมาไม่ว่าวัคซีนไหนก็มีปัญหาทั้งนั้น  ฉีด mRNA ก็ได้ยินว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ฉีด AstraZeneca หรือ vector vaccine ตัวอื่นก็เกิดเลือดแข็งตัวเป็นลิ่ม แล้วผมก็ได้ยินมาจากไหนสักแห่ง ไม่รู้ถูกหรือผิด ว่ายิ่งไม่ฉีดวัคซีนแล้วไปติดโรคจริงเข้า ความเสี่ยงที่กลัวจะได้จากวัคซีนนั้นยิ่งจะได้จากการติดโรคจริงมากเข้าไปใหญ่ อันนี้จริงไหม?

นพ.สันต์ (07:56):

ใช่ครับ เป็นความจริง มีข้อมูลวิจัยชุดหนึ่งจากอังกฤษ เป็นงานวิจัยที่ดีมาก เปรียบเทียบผลของการฉีดวัคซีน กับการติดเชื้อแบบไม่ได้วัคซีนมาก่อน ดูว่าใครจะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเรื่องการก่อตัวของลิ่มเลือดมากกว่ากัน ผลวิจัยพบว่ากลุ่มที่ได้วัคซีนเกิดการก่อตัวของลิ่มเลือดน้อยกว่าพวกติดเชื้อจริงมาก คือพวกติดเชื้อจริงทั้งเป็นลิ่มเลือดก่อตัวมากกว่าและรุนแรงกว่า

อีกข้อมูลหนึ่งเป็นการเปรียบเทียบระหว่างคนที่ได้วัคซีนแล้วติดเชื้อภายหลัง กับพวกที่ติดเชื้อเลยโดยยังไม่เคยได้วัคซีน พบแบบเดียวกัน คือพวกที่ได้วัคซีนมาก่อน เมื่อมาติดเชื้อจะมีภาวะแทรกซ้อนเกินลิ่มเลือดก่อตัวน้อยกว่าพวกที่มาติดเชื้อโดยไม่เคยได้วัคซีนมาก่อน ดังนั้นเมื่อเทียบความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นแล้ว การได้วัคซีนอย่างไรเสียก็ดีกว่าไม่ได้เลยแน่นอน

คุณวิเวก:

โอเค ดีครับ ทำให้ผมหายข้องใจได้ เดินหน้าไปเรื่องถัดไปกันดีกว่า เรามักได้ยินเรื่องการไขว้วัคซีน บางประเทศไม่มีวัคซีนชนิดที่เราต้องการมากพอ เราอยากได้ mRNA แต่ไปได้ Astra แทนเพราะมี Astra อยู่ บางประเทศก็ต้องเอา Sinovac เพราะมีอยู่ บางประเทศก็ฉีดไขว้กัน เข็มแรก Astra เข็มสองไป หรือเข็มแรก Pfizer เข็มสองไป Astra หรือบางทีเข็มแรก Sinovac เข็มสองหรือสามเติม Astra เพิ่มเข้าไป

คุณหมอคิดว่าสูตรไหนดีกว่าเพื่อน หรือคุณหมอคิดว่ามีอะไรก็เอาอันนั้นจนกว่าจะมีวัคซีนมากพอให้เลือก คุณหมอคิดว่าอย่างไร เพราะพวกเราจำนวนมากคิดอยู่ในใจว่าเราอยากได้อันที่ดีที่สุดแก่ลูกๆของเรา แก่พ่อแม่ของเรา หรือว่าเราควรจะรีบฉีดของที่มีก่อนดีกว่าจะไปรอของที่เราคิดว่าดีที่สุด มีไหมครับ สูตรที่ดีที่สุด  

นพ.สันต์ (10:13):

เรามองได้จากสองมุมนะ มองจากมุมของประสิทธิผล ผมหมายถึงอุบัติการณ์เกิดการติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนครบ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสารนิวอิงแลนด์ เปรียบเทียบการติดเชื้อหลังได้วัคซีนระหว่างเข็มแรก Astra สองเข็ม กับ Pfizer สองเข็ม พบว่าทั้งสองแบบต่างก็ติดเชื้อหลังได้วัคซีนพอๆกัน ประมาณ 75% กับ 80% คือไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

แล้วประสิทธิผลมันเท่ากันไหมถ้าไขว้วัคซีน อันนี้เรามีแต่ข้อมูลภูมิคุ้มกันที่เจาะเลือดตรวจได้ ซึ่งเป็นคนละมุมมองกับประสิทธิผล มีข้อมูลแยะมากเพราะการตรวจภูมิคุ้มกันมันง่าย เท่าที่หลักฐานมีตอนนี้ก็รือ เข็มแรก Astra เข็มสอง Pfizer ให้ภูมิคุ้มกันดีกว่า Astra สองเข็ม ทำนองเดียวกันในประเทศไทยเข็มแรก Sinovac เข็มสอง Astra ก็ให้ภูมิคุ้มกันดีกว่า Sinovac สองเข็ม คือสรุปว่าการไขว้วัคซีนทำให้ภูมิคุ้มกันดีขึ้น ส่วนจะทำให้ประสิทธิผลของวัคซี่นดีขึ้นหรือไม่ยังไม่รู้

คุณวิเวก:

โอเค. มันมีสองเรื่องที่ไม่เหมือนกัน ประสิทธิผล และภูมิคุ้มกัน ภูมิคุ้มกันเป็นเรื่องของการสร้างแอนตี้บอดี้ และยังมี T cell, B cell เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย การไขว้วัคซีนจะให้ประสิทธิผลดีขึ้นหรือไม่ยังไม่ทราบชัด คุณหมอจะพูดอย่างนั้นหรือเปล่าครับ

นพ.สันต์ (11:51):

ใช่ครับ อะไรไขว้กับอะไร จะดีกว่ากันตอนนี้ยังไม่รู้ เพราะเรายังไม่มีผลวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบหรือ RCT ที่จะบอกตรงนี้ได้ .

คุณวิเวก:

โอ้ โอเค. ยังไม่มีงานวิจัยระดับ RCT ซึ่งเป็นหลักฐานระดับมาตรฐาน ซึ่งในอนาคตคงจะมี ตอนนี้เอาเป็นว่าข้อมูลยังไม่พอที่จะสรุปได้ ถูกไหมครับ ดี..

มาคุยกันเรื่องคำถามใหญ่ถัดไป ทั่วโลกเลย ประธานาธิบดีไบเด็นบอกว่าจะให้เข็มสามบูสเตอร์ อิสราเองฉีดเข็มสามไปแล้ว บ้างก็รอ 5 เดือน บ้างก็รอ 8 เดือนหลังเข็มสอง โดยเริ่มฉีดให้คนอายุ 60 ขึ้นไปก่อน แล้วก็มาคนอายุ 50 ขึ้นไป แล้วก็มาคนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เข้าใจว่าเพื่อลดภาระของสังคมเมื่อคนเหล่านี้ป่วย เราฟังข่าวแล้วก็อยากไปจองหรือหาซื้อวัคซีนเข็มสาม ผมเองก็อยากเหมือนกัน ผมควรจะวิ่งหาวัคซีนเข็มสาม หรือว่าควรจะรอไปอีกห้าหกเดือนเผื่อมีหลักฐานใหม่ๆขึ้นมา คุณหมอมีความเห็นอย่างไร

นพ.สันต์ (13:03):

ผมคิดว่าเราควรมองภาพใหญ่เปรียบเทียบระหว่างการติดเชื้อตามธรรมชาติล้วนๆ การฉีดวัคซีนครบโดยไม่ติดเชื้อ กับการติดเชื้อหลังการฉีดวัคซีนที่เรียกว่า breakthrough infection มีงานวิจัยหนึ่งทำการเปรียบเทียบทั้งสามกรณีนี้ที่อิสราเอล ซึ่งพบว่าการติดเชื้อตามธรรมชาติ หรือติดเชื้อจริงๆ ให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงกว่าการฉีดวัคซีนครบเป็นอย่างมาก คือมากกว่ากันประมาณ 13 เท่า

ถ้าดูข้อมูลนี้ เมื่อฉีดวัคซีนครบแล้ว รอให้ติดเชื้อตามธรรมชาติเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเพราะจะได้ภูมิคุ้มกันมากที่สุด น่าจะดีกว่าการมาคอยฉีดกระตุ้นเข็ม 3, 4, 5 เพราะเรายังไม่รู้ว่าจะต้องกระตุ้นกันต่อไปอีกกี่เข็ม ดังนั้น ณ ขณะนี้ ผมแนะนำตามข้อมูลที่ได้จากอิสราเอลนี้ว่าฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วก็พอแล้ว ใช้ชีวิตปกติไป หากติดเชื้อตามธรรมชาติก็ดี น่าได้กระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้นไปอย่างแน่นอนจริงจังกว่าการฉีดวัคซีนบูสเตอร์เข็ม 3, 4, 5

คุณวิเวก:

สงสัยเราได้วัคซีนกันครบแล้วนี่ คงจะต้องจัดโควิดปาร์ตี้เผื่อจะได้ติดเชื้อตามธรรมชาติบ้าง

ผมสกัดจากที่คุณหมอพูด นับถึงขณะนี้ข้อมูลยังไม่พอเรื่องเข็มสามดีหรือไม่ดี แต่คนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องเข็มสามอาจมีประโยชน์กับพวกเขาก็ได้เพราะภูมิคุ้มกันอาจจะขึ้นไม่ดีจากสองเข็ม คนกลุ่มนี้น่าจะได้เข็มสามก่อน ส่วนพวกเรารอไว้ให้คนทั่วโลกได้วัคซีนครบก่อนแล้วค่อยมาว่ากันก็ได้

คราวนี้มาคุยกันถึงการมีชีวิตอยู่กับโควิดบ้าง พวกเราจำนวนมากที่ผมได้พบได้คุยด้วย เขาห่วงลูกๆของเขา ตอนนี้มีวัคซีนที่ได้อนุมัติให้ใช้ในเด็กอายุ 12-18 แล้ว ในอังกฤษก็พูดกันถึงการจะขยับลงมาฉีดในอายุ 13 ปีขึ้นไป แต่อายุต่ำกว่า 12 ปียังถกเถียงกันไม่เลิก วัคซีนก็ยังไม่มี โรงเรียนก็จะเปิด เด็กจะต้องสวมมาสก์หรือเปล่า ครูต้องฉีดวัคซีนก่อนหรือเปล่า เด็กไม่ได้ฉีดวัคซีนจะไปโรงเรียนได้หรือเปล่า

คุณหมอมีความเห็นว่าอย่างไร พวกเราที่มีลูก เราอยากส่งเด็กไปโรงเรียน ถ้ายังไม่ได้วัคซีนไปแล้วก็อาจติดเชื้อกลับมา แล้วผมได้ยินว่าอัตตราเข้าโรงพยาบาลของเด็กต่ำก็จริง แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จริงหรือเปล่าไม่ทราบ คุณหมอช่วยแนะนำอะไรบ้างที่ให้เราเอาไปใช้ในชีวิตจริงได้ และให้เรามีความเข้าใจว่าจะจัดการกับเรื่องลูกๆอย่างไรดี

นพ.สันต์(15:57):

ในแง่ของการมีหรือไม่มีวัคซีน เด็กอายุเกิน 12 ปีเรามีวัคซีนฉีดให้ได้เลย เพราะทั้ง Moderna และ Pfizer ต่างก็ทำวิจัยโดยมีคนไข้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปอยู่ด้วย แต่เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปียังไม่มีวัคซีนที่จะฉีดให้ จึงยังไม่ต้องพูดว่าควรฉีดหรือไม่ควรเพราะยังไงก็ไม่มีวัคซีนให้ ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามเมื่อเราพูดถึงวัคซีนเด็กในวันนี้ เราพูดถึงเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เพราะเรามีวัคซีนพร้อมให้ได้แล้ว

ให้ผมแสดงภาพในด้านประโยชน์ของวัคซีนในเด็กก่อนนะ ประโยชน์ที่จะได้ก็คือลดอัตราตายของเด็กลง ข้อมูลจากอังกฤษพบว่าอัตราตายของเด็กจากโรคโควิดต่ำมาก ระดับสองราย ต่อล้าน 0.001 % มีเลขศูนย์สามตัวนะ ประโยชน์มันน้อยเหลือเกิน เพราะอัตราตายมันต่ำเหลือเกิน

แต่ว่าศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐหรือ CDC เชียร์ให้ฉีดวัคซีนในเด็กเพราะเขาอ้างอัตราตายของเขา แต่วิธีนับอัตราตายของ CDC คือนับเด็กทุกคนที่ตายโดยมีผลตรวจ PCR ได้ผลบวก เขาเทียบอัตราตายที่นับได้นี้กับอัตราตายของโรคที่ได้วัคซีนอื่นๆเช่นโรคหัด แล้วก็สรุปว่าอัตราตายมันมีนัยสำคัญ ก็จึงเชียร์ให้ฉีดวัคซีน

ผมมองจากสองมุมนะ ด้านประโยชน์นั้นมีน้อยมาก น้อยมากๆ คราวนี้มามองทางด้านความเสี่ยงบ้าง ผมจะพูดถึงสองสามประเด็นนะ ประเด็นที่ 1. เรายังไม่รู้ผลเสียระยะยาวของวัคซีนรุ่นใหม่ คือ mRNA และ vector virus vaccine มันเป็นวัคซีนรุ่นแรกที่ออกฤทธิ์โดยอาศัยเซลให้ผลิตโปรตีนที่ทำหน้าที่แอนติเจนให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง vector vaccine นั้นทำงานโดยเข้าไปในนิวเคลียสของเซลไปยุ่งกับรหัสพันธุกรรมของเซลมนุษย์ หรือ DNA โดยตรง เพื่อให้มีการก๊อปปี้ mRNA ออกมาสั่งให้เซลผลิตแอนติเจน เรายังไม่รู้เลยว่าในระยะยาววัคซีนแบบนี้จะมีผลตามไปถึงชั่วอายุหน้าหรือไม่ ต้องรอไปอีก 20-30 ปีจึงจะรู้

ประการที่ 2 จำนวนเด็กที่ใช้ในงานวิจัยวัคซีนเฟสสามมีจำนวนค่อนข้างน้อย ผมจำคร่าวๆได้ว่า 3,000 คนใน Pfizer 2,000 คนใน  Moderna จำนวนกลุ่มตัวอย่างที่น้อยขนาดนี้หากมีผลเสียรุนแรงของวัคซีนที่มีอุบัติการณ์สูงระดับ 1 ใน 5,000 เราก็ยังจะไม่พบผลเสียนั้นในงานวิจัยนี้  ความเสี่ยงอาจจะมีอยู่นั่นแหละ แต่เราไม่รู้ สรุปว่าประโยชน์มีน้อยมาก ความเสี่ยงยังบอกไม่ได้ ผมจึงไม่ค่อยเห็นด้วยกับการจะฉีดวัคซีนโควิดให้เด็กเท่าไหร่

คุณวิเวก:

คุณหมอไม่ค่อยจะเห็นด้วย แม้ว่าเราทุกคนไม่มีใครอยากให้เด็กเป็นอะไรไปแม้แต่คนเดียว แต่คุณหมอบอกว่าความเสี่ยงมันต่ำมาก อัตราตายก็ต่ำมาก ขณะที่ด้านความเสี่ยงยังไม่รู้ชัด  ผมเห็นงานวิจัยหนึ่งว่ามีเด็กเป็นโควิดราว 250,000 คน ต้องเข้าโรงพยาบาลราว 25,000 คน ประเด็นคือเตียงในโรงพยาบาลเด็กถูกใช้มากในบางรัฐของอเมริกา ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนในผู้ใหญ่ทั่วไปก็ต่ำด้วย  

ผมเห็นว่ามีประเด็นที่ทำให้พ่อแม่ต้องกังวล จะส่งลูกไปโรงเรียนดีไหม หรือจะไม่ให้ไปโรงเรียนดี ถ้าไปแล้วติดโรค จะเกิดอะไรขึ้นกับเด็ก ผมคิดว่าที่คุณหมอพูดคือเราต้องติดตามดูข้อมูลต่อไป ณ ขณะนี้ในเมืองไทยก็เริ่มมีการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 12-18 ปีแล้ว

นพ.สันต์ (20:20):

พูดตรงๆก็คือผมเชื่อสถิติของทางอังกฤษมากกว่าของทางสหรัฐอเมริกา เพราะทางอเมริกานับว่าเด็กที่ตรวจได้ PCR ได้ผลบวกทุกคนเป็นโรคโควิดตายจากโควิดทั้งๆที่เด็กป่วยด้วยโรคอื่นด้วยและมักตายด้วยโรคอื่น วิธีการนับและแยกแยะทางอังกฤษเชื่อถือได้มากกว่า

คุณวิเวก:

อังกฤษมีการบริหารจัดการข้อมูลดี ใช่ครับ NHS มีระบบข้อมูลที่ดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ZOE ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลโควิดที่ทำโดยองค์กรไม่แสวงกำไรเอกชน ทำได้ดีมาก ช่วยรัฐบาลเก็บข้อมูลได้แยะมาก เอาเป็นว่าเรื่องวัคซีนในเด็กนี้ยังเป็นเรื่องที่เปิดให้โต้เถียงกันได้อยู่ ผมเชื่อว่าพ่อแม่ที่กังวลจะวิ่งหาวัคซีน Pfizer มาฉีดให้ลูก ในเมืองไทยก็เริ่มมีการฉีดแล้ว ก็ดีครับ มีสองทางเลือก จะเลือกทางไหนก็แล้วแต่ท่าน

คุณหมอสันต์ครับ ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นประเด็นให้ได้ยินอยู่เรื่อย ว่าเป็นโควิดแล้วกลายเป็นโควิดแบบลากยาวหรือ long covid คือเป็นโควิดแล้วยืดเยื้อไม่เลิก มีข้อมูลบางอันบอกว่าถ้าฉีดวัคซีนแล้วไปเป็นโควิดจะมีโอกาสเป็น long COVID น้อยกว่าถึง 40-50% หมายความว่าวัคซีนลดโอกาสเป็น long covid ได้ใช่ไหม คุณหมอมีข้อมูลอะไรใหม่ๆเพิ่มเติมเรื่อง long COVID ไหม เราจะจัดการมันได้อย่างไรบ้าง ครั้งที่แล้วเราคุยกันถึงคนเป็น long COVID ผ่านไป 12 เดือนแล้วก็ยังปวด เปลี้ยล้า นอนไม่หลับ เรื่องเหล่านี้เราก็กลัวเหมือนกัน คุณหมอมีอะไรแนะนำบ้าง

นพ.สันต์(21:54):

ผมทบทวนหน่อยนะ ว่า long COVID นิยามว่าเมื่อใดก็ตามที่อาการของโควิดลากยาวไปเกิน 28 วันก็เรียกว่าเป็น long COVID แล้ว มีงานวิจัยอยู่สองสามชิ้นที่เปรียบเทียบโอกาสเป็น long COVID ระหว่างการติดเชื้อตามธรรมชาติ กับการติดเชื้อหลังฉีดวัคซีน ซึ่งพบผลตรงกันว่าการติดเชื้อหลังติดวัคซีนมีอุบัติการเป็น long COVID ต่ำกว่าประมาณครึ่งหนึ่ง วัคซีนช่วยป้องกันการเป็น long COVID อันนั้นแน่นอน ถือว่าเป็นประโยชน์อีกอันหนึ่งของวัคซีน

แล้วเราจะรับมือกับ long COVID อย่างไร ตั้งแต่คุยกันไปครั้งที่แล้วมาถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีอะใรใหม่ แต่ผมอยากย้ำตรงนี้อีกสักครั้งถึงวิธีรับมือกับ  long COVID ทางฝั่งยุโรปใช้ยุทธศาสตร์เก้าอย่างในการรับมือ คือ

  1. เรียนรู้ที่จะย่างก้าวตามมันไป เพราะโรคนี้มันไปแบบขึ้นๆลงๆ เราก็ต้องตามไปให้ได้จังหวะ
  2. เรียนรู้ที่จะรับมือกับความไม่แน่นอน เพราะ Long COVID เป็นตัวอย่างของโรคที่คาดเดาอะไรไม่ได้อย่างแท้จริง อาการบางอย่างนึกว่าหายแล้ว อ้าว กลับมาอีกละ เป็นต้น
  3. การพักผ่อนเป็นกุญแจสำคัญ อาจจะต้องนอนกลางวันวันละสองสามครั้ง ต้องพักให้พอ
  4. นอนหลับให้ดี ให้ได้หลับสนิท
  5. อาหาร ต้องเปลี่ยนอาหารไปเป็นอาหารพืชที่มีความหลากหลายในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ
  6. ให้ร่างกายได้รับน้ำเพียงพอ
  7. ใช้ชีวิตกลางแจ้ง ให้ได้แสงแดด
  8. เล่นกล้าม ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพราะเอกลักษณ์อันหนึ่งของลองโควิดคือกล้ามเนื้อพิการ คือรู้สึกกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  9. ใช้ชีวิตให้สนุก เราไม่รู้หรอกว่าลองโควิดจะอยู่ด้วยนานเท่าใด อาจนานเป็นปี ดังนั้นให้อยู่กับมันแบบสนุก

คุณวิเวก:

โอเค. เยี่ยมมาก กลับมาเรื่องเก่าที่เราเคยคุยกันว่าการดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดีด้วยตัวเองเป็นเรื่องสำคัญในการจัดการโรคโควิด ผมจำได้ว่าคุณหมอพูดถึงงานวิจัยในวารสาร British Medical Journal ที่ตามดูเจ้าหน้าที่สุขภาพเจ็ดล้านคนแล้วพบว่ายิ่งกินอาหารดี ออกกำลังกายดี ก็ยิ่งเกิดลองโควิดน้อย ตรงนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่สำคัญแค่วัคซีน เราดูแลตัวเองอย่างไรก็สำคัญในการมีชีวิตอยู่กับโควิด ซึ่งกำลังจะกลายมาเป็นโรคประจำถิ่นของเรา

เมื่อครู่เราพูดถึงวัคซีนกับภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ มันหมายความว่าอย่างไร จะดีไหมถ้าให้คนติดโควิดก่อนที่จะมาเจอสายพันธ์ใหม่อย่างอัลฟา เพราะพอติดอัลฟ่าแล้วก็ไม่มีภูมิต่อสายพันธ์เดลต้า แต่ถ้าติดเดลต้าแล้วฉีดวัคซีน หรือฉีดวัคซีนแล้วติดเดลต้า ข้อมูลที่คุณหมอพูดถึงเมื่อครู่มีรายละเอียดไหมที่ว่าได้วัคซีนครบแล้วมาติดเชื้อโรคจริงมันให้ภูมิคุ้มกันสูงมาก 13 เท่า ถ้าอย่างนั้นเมื่อได้วัคซีนสองเข็มแล้วเราหาเรื่องพบปะผู้คนเผื่อติดเชื้อธรรมชาติจะดีไหม จะได้ไม่ต้องคอยฉีดกระตุ้น

คุณหมอมีความเห็นอย่างไรเรื่องฉีดวัคซีนแล้วมาติดเชื้อธรรมชาติ นั่นเป็นคำถามแรก อีกคำถามหนึ่ง คุณหมอพูดถึงว่าภูมิคุ้มกันหมู่หรือ herd immunity ว่ามันเป็นไปไม่ได้แล้ว มันไม่เวอร์คแล้ว ไม่ว่าจะ 50, 70% โดยเฉพาะกับเดลต้าซึ่งติดต่อง่ายมากกว่า 5-8 เท่ามันต้องให้คนเป็นโควิดให้ได้ 100% เลยหรือเปล่าโรคถึงจะจบ ทางแก้ปัญหาคืออย่างไร การให้ทุกคนติดเชื้อโควิดเป็นคำตอบหรือเปล่า จากนี้ไปต้องทำยังไงกันต่อดี

นพ.สันต์ (26:55):

ให้ผมลงลึกถึงงานวิจัยที่ทำในอิสราเอลในเรื่องนี้หน่อยนะเพราะมันตอบคำถามของคุณได้ ในงานวิจัยนี้เขาดูคนไข้จำนวนมาก ราว  600,000 คน แบ่งเป็นสามกลุ่ม

กลุ่มที่ 1. ติดเชื้อธรรมชาติ ไม่ได้วัคซีนเลย

กลุ่มที่ 2. ติดเชื้อธรรมชาติ แล้วมาฉีดวัคซีนหนึ่งเข็ม

กลุ่มที่ 3. ได้วัคซีนครบสองเข็ม ไม่เคยติดเชื้อ  

จากนั้นตามดูการติดเชื้อครั้งใหม่หลังจากนั้น แล้วประเมินออกมาเป็นตัวเลขความเสี่ยงของการติดเชื้อครั้งใหม่ ได้ผลว่าในสองกลุ่มที่เคยติดเชื้อธรรมชาติมามีความเสี่ยงในการติดเชื้อครั้งใหม่ซ้ำต่ำมาก ต่ำกว่าพวกที่ได้วัคซีนครบสองเข็มแต่ไม่เคยติดเชื้อธรรมชาติมาก่อนถึง 13 เท่า มองจากมุมของงานวิจัยนี้เรามีทางไปสองทาง คือ

ทางเลือกที่ 1. รับวัคซีนให้ครบสองเข็มเพื่อลดการเข้าโรงพยาบาลและการตายหากติดเชื้อ แล้วออกมาใช้ชีวิตกับโควิด ซึ่งเป็นทางเลือกที่เข้าท่าหากมองจากงานวิจัยอิสราเอลนี้

ทางเลือกที่ 2. รับวัคซีนให้ครบสองเข็ม แล้วคอยฉีดกระตุ้นเรื่อยไป ผมไม่รู้หรอกว่าต้องฉีดกระตุ้นกันไปอีกนานกี่ปี จนกว่าจะมีวัคซีนที่ให้ประสิทธิผลดีจริงๆออกมาใช้โน่นแหละ ไม่รู้เมื่อไหร่

ตัวผมเชียร์ให้เลือกทางเลือกที่ 1. คือฉีดวัคซีนให้ครบ แล้วออกมาใช้ชีวิตกับโควิด พร้อมเมื่อเกิดการติดเชื้อตามธรรมชาติก็รับได้และถือว่าก็ดีที่จะได้มีภูมิคุ้มกันที่ถาวรกว่า

คุณวิเวก:

โอเค. นั่นตอบคำถามผมเรื่อง herd immunity ไปด้วย คืออย่ากังวลมากเกินไป ออกมาใช้ชีวิต หลังจากนี้ผมก็อยากกลับเข้าออฟฟิศ เพื่อนร่วมงานทั่วโลกก็คงคิดเหมือนกัน แต่ด้านหนึ่งรัฐบาลก็ยังมีกฎเกณฑ์ห้ามโน่นห้ามนี่ อีกด้านหนึ่งเราเองก็ยังไม่พร้อม ไม่รู้ว่าเพื่อนร่วมงานคนไหนได้วัคซีนแล้วหรือยัง เขาเป็นโควิดอยู่หรือเปล่า ครอบครัวของเขาได้วัคซีนกันครบหรือยัง แล้วเราจะเปิดออฟฟิศของเราอย่างไรดี

คนในออฟฟิศบางคนอาจไม่ได้วัคซีนเลย บางคนได้มาครบสองเข็ม แล้วการนั่งละ ผมนั่งกับคุณหมอวันนี้นี่เป็นการพบกันหลังจากที่ต่างก็ได้วัคซีนครบมาเกินสองสัปดาห์แล้ว ซึ่งว่ากันว่าได้สร้างแอนตี้บอดี้แล้ว เราก็อาจจะปลอดภัยกว่าก่อนหน้านี้ ถ้าอย่างนั้นเรานั่งอยู่ด้วยกันโดยไม่สวมมาสก์ได้ใช่ไหม ก่อนหน้านี้เรานั่งอย่างนี้ไม่ได้ นี่ก็เป็นประโยชน์อย่างหนึ่งของการได้วัคซีน

เราจะไปต่อยังไงดี มีคำแนะนำอะไรไหมในเรื่องการเปิดออฟฟิศ ต้องมีระเบียบปฏิบัติอย่างไร มันถึงเวลาที่เราจะเปิดออฟฟิศแล้ว พวกเราส่วนใหญ่ก็ได้วัคซีนครบสองเข็มแล้ว คุณหมอมีคำแนะนำยังไงครับ

นพ.สันต์ (30:19):

มองจากมุมของปัจเจกบุคคล ทุกคนที่ได้วัคซีนครบแล้วก็ควรจะไปไหนมาไหนทำอะไรอิสระได้ แต่มองจากมุมของสังคม สิ่งที่เรียกว่ามาตรการป้องกันสากลคือสวมหน้ากาก อยู่ห่าง ล้างมือ ก็ยังต้องทำอยู่จนกว่าคนที่มีความเสี่ยงสูงทั้งหมดในสังคมจะได้รับวัคซีนครบแล้ว เพราะทุกวันนี้คนที่มีความเสี่ยงสูงจำนวนหนึ่ง ก็ยังได้วัคซีนไม่ครบ

เมื่อคนที่มีความเสี่ยงสูงทุกคนได้วัคซีนครบแล้ว ถึงตอนนั้นทุกคนเป็นอิสระไปไหนมาไหนได้ โดยที่มาตรการป้องกันสากลก็จะเป็นเพียงทางเลือก ไม่ใช่ข้อบังคับ

คุณวิเวก:

เมื่อคุณหมอพูดถึงมาตรการป้องกันสากล หมายถึงเฉพาะในห้องที่ใช้ร่วมกัน หรือรวมทั้งในที่เปิดด้วย ทั้งการสวมมาสก์ เป็นต้น ยังต้องสวมอยู่ไหม

นพ.สันต์ (31:33):

อยู่ห่าง สวมมาสก์.

คุณวิเวก:

อยู่ห่าง สวมมาสก์

นพ.สันต์ (31:34):

ล้างมือบ่อย

คุณวิเวก:

มาตรการเหล่านี้ยังถือว่าเป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมอยู่ ควรจะทำต่อไป แต่ถ้านั่งอยู่กับคนที่ฉีดวัคซีนมาครบแล้ว 100% คุณก็อาจจะ..

นพ.สันต์ (31:42):

ใช่ครับ

คุณวิเวก:

ในครอบครัว ลูกเมียผมฉีดวัคซีนครบหมดแล้ว ผมก็ไม่ต้องสวมมาสก์เวลานั่งกับพวกเขาใช่ไหม

นพ.สันต์ (31:51):

ไม่ต้อง มาตรการป้องกันสากล ใช้ในสังคมที่ยังมีคนที่ความเสี่ยงสูงส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบ เราปฏิบัติมาตรการป้องกันสากลเพื่อปกป้องคนส่วนนั้น

คุณวิเวก:

โอเค. มาถึงอีกคำถามหนึ่ง คุณหมอพูดถึงเด็ก เมื่อจะต้องให้เด็กกลับไปโรงเรียน พ่อแม่ก็กังวลอยากให้เด็กได้วัคซีน เมื่อเด็กไปโรงเรียนแล้ว เด็กต้องสวมมาสก์ไหม ผมหมายถึงเด็กอายุ 12-18 แล้วเด็กอายุต่ำกว่า 12 ซึ่งยังไม่มีวัคซีนจะไปโรงเรียนได้ไหม หรือว่าต้องรอให้รัฐบาลอนุญาต

นพ.สันต์ (32:35):

มันขึ้นอยู่กับว่า.. มันขึ้นอยู่กับว่าเรามองออกจากมุมไหน หากมองออกจากมุมที่มุ่งจะปกป้องผู้มีความเสี่ยงสูงที่อยู่ที่บ้านคือพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เราจะเปิดโรงเรียนและให้เด็กไปโรงเรียนได้ก็ต่อเมื่อผู้มีความเสี่ยงสูงที่บ้านได้รับวัคซีนครบแล้วทุกคน นั่นเป็นมุมมองที่ 1

หากมองออกมาจากอีกมุมหนึ่ง คือมองจากมุมของอัตราตายของเด็กจากโรคโควิด ถ้าใช้สถิติของอังกฤษ เมื่อผู้มีความเสี่ยงสูงที่บ้านได้วัคซีนครบก็เปิดโรงเรียนได้เดี๋ยวนี้เลยไม่ต้องรอให้เด็กได้วัคซีน เพราะอัตราตายของเด็กจากโรคโควิดต่ำมากจนตัดทิ้งไม่ต้องเอามาพิจารณายังได้เลย

แต่ถ้าใช้สถิติแบบอเมริกาซึ่งเขาอ้างว่าอัตราตายของเด็กมากอย่างมีนัยยะ หากถือตามเขาก็ต้องรอจนกว่าเด็กทุกคนจะได้วัคซีนครบจึงจะเปิดโรงเรียนได้ ที่อายุต่ำกว่า 12 ปีก็ต้องรอจนมีวัคซีนก่อน

คุณวิเวก:

ตอนนี้วัคซีนเด็กเล็กยังไม่ได้รับอนุมัติ ผมเข้าใจว่าคงจะได้รับอนุมัติเร็วๆนี้ คุณหมอพูดถูก เราต้องรอดู เปิดโรงเรียน ใช่ เข้าใจ กลับมาพูดถึงผู้มีความเสี่ยงสูงที่บ้าน ถ้าเด็กได้วัคซีนไปโรงเรียน กลับบ้านก็ยังปลอดภัยต่อคนที่บ้าน นั่นเป็นวิธีคิดวิธีหนึ่ง ผมอยากพูดถึงเรื่องมีความเสี่ยงสูง ผมอยากเข้าใจว่าคุณหมอหมายความว่าอย่างไรที่ว่ามีความเสี่ยงสูง เด็กเองก็อาจมีความเสี่ยงสูงถ้าอ้วน หรือถ้าเป็นโรคบางโรค เป็นต้น

นพ.สันต์ (34:10):

เมื่อผมพูดถึงผู้มีความเสี่ยงสูง ผมหมายถึงผู้สูงอายุที่บ้านของเด็ก ที่บ้านนะ ไม่ได้หมายถึงตัวเด็กเอง เพราะหากถือตามสถิติของอังกฤษ ไม่มีเด็กที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งประเทศมีเด็กตายแค่ 25 คน ในจำนวนนี้ 15 คนเป็นโรคเรื้อรัง เนื่องจากจำนวนที่ตายรวมมีน้อยมาก จึงไม่มีประเด็นว่าเด็กคนไหนความเสี่ยงสูง

คุณวิเวก:

คุณหมอไม่แยกเด็กอ้วนหรือเด็กเป็นโรคเรื้อรังอื่นๆหรือ เด็กกลุ่มนี้ควรได้รับการป้องกันมากกว่าเด็กอื่นที่สุขภาพดีกว่าไม่ใช่หรือ

นพ.สันต์ (34:51):

ผมเห็นด้วยกับนโยบายของอังกฤษนะ คือปฏิบัติต่อเด็กทุกคนเหมือนกันหมด ไม่จำแนกใครเสี่ยงสูงต่ำ ไม่มีการฉีดวัคซีนให้เด็ก อัตราตายรวมมันต่ำเกินกว่าที่จะไปเสียเวลาลงมือทำอะไร

คุณวิเวก:

เข้าใจละ เข้าใจละ มีอีกอย่างหนึ่งที่ผมอยากจะเข้าใจ ผมยังไม่เคลียร์ ว่าคุณหมอนิยามว่าอย่างไรเมื่อเราพูดว่าโควิดเป็นโรคระบาดใหญ่หรือ pandemic เดี๋ยวนี้คนมาเรียกว่าเป็นโรคประจำถิ่นหรือ endemic ว่ามันจะมีอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง สิงค์โปร์เองก็เปลี่ยนจุดยืนจากเดิมที่จะมีโควิดเป็นศูนย์มาใช้แนวนี้เหมือนกัน เมื่อมันกลายเป็นโรคประจำถิ่นนั่นหมายความว่าทุกคนต้องมีโอกาสเป็นโรคนี้กันหมดใช่ไหม เหมือนอย่างหวัด หรือไข้หวัดใหญ่ และมันจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราใช่ไหม คุณหมอหมายความว่าอย่างนั้นหรือเปล่า เราทุกคนต้องอยู่กับมัน และมันก็จะไม่ไปไหน คุณหมอช่วยไขข้อข้องใจตรงนี้หน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วทำไมเราต้องตรวจ ต้องกักตัว หากโรคจะมีอยู่ในทุกหนทุกแห่งแล้ว มันถึงตรงนั้นแล้ว หรือว่ายัง

นพ.สันต์ (35:54):

เรามีอยู่สองคำนะ คำแรกคือโรคระบาดใหญ่หรือ pandemic ซึ่งนิยามว่าโรคที่แพร่กระจายไปทั่วโลกพ้นการควบคุมใดๆ ซึ่งโควิดตั้งต้นแบบนั้น อีกคำหนึ่งคือโรคประจำถิ่น หรือ Endemic ซึ่งหมายถึงว่าเป็นโรคประจำถิ่น คาดเดาได้ จัดการได้ ทุกประเทศพยายามเปลี่ยนโควิดจากการเป็นโรคระบาดใหญ่ให้เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องสร้างดุลยภาพระหว่างความต้องการใช้เตียงโรงพยาบาล กับจำนวนเตียงโรงพยาบาลที่มีอยู่ เพราะถ้าตรงนี้มีดุลยภาพ มีเตียงพอกับคนไข้ โรคก็จัดการได้ในระดับท้องถิ่น ไม่มีปัญหา

ในฝั่งความต้องการใช้เตียงนั้น เราจะทำอะไรได้บ้าง เราลดความต้องการใช้เตียงลงได้โดย

  1. ต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่า 92% ของคนป่วยโควิดที่กินเตียงโรงพยาบาลและตายคือผู้สูงอายุ เราจึงต้องฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงนี้ก่อน
  2. มองจากมุมมองปัจเจกบุคคล เราทุกคนต้องจัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพของเราให้ดี ทั้งเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย เป็นต้น
  3. เมื่อใดก็ตามที่ติดเชื้อ ต้องเริ่มการรักษาทันที อย่าลืมว่าเราพูดถึงโรคประจำถิ่นอย่างหวัดและไข้หวัดใหญ่เราต้องจัดการมันได้ด้วยตัวเราเอง ขึ้นอยู่กับว่าประเทศของท่านมีอะไรให้ใช้ อย่างในประเทศไทยที่ใช้ง่ายที่สุดคือฟ้าทะลายโจร บางประเทศมีไอเวอร์เมคติน อะไรก็ตามที่ท่านมีในประเทศของท่าน เริ่มการรักษาให้เร็วที่สุด นั่นเป็นวิธีรับมือกับโรคประจำถิ่น

คุณวิเวก:

ถ้ามีเตียงพอและเข้าถึงได้ คนสูงอายุได้วัคซีนครบ ความต้องการใช้เตียงก็น้อยลง โรคก็จัดการได้ เรียกว่าเป็นโรคประจำถิ่นได้ คุณหมอหมายความว่าอย่างนั้น โอเค. ดีมาก คำถามต่อไปอย่างเร็วเลย เพราะเวลาเรางวดลงแล้ว คุณหมอนิยามว่าความเสี่ยงสูงว่าอย่างไร ผู้สูงอายุเป็นความเสี่ยงสูง แล้วโรคเรื้อรังอื่นๆละ เช่นโรคหัวใจหลอดเลือด เบาหวาน มะเร็ง ได้ยากดภูมิคุ้มกัน พวกนี้ก็เป็นความเสี่ยงสูงด้วยใช่ไหม แล้วเด็กมีอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงพิเศษไหม แล้วหญิงตั้งครรภ์ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงด้วยไหม ขอความเข้าใจตรงนี้หน่อย

และอยากเข้าใจด้วยว่าผมจะทำตัวผมเองเพื่อเปลี่ยนจากคนเสี่ยงสูงเป็นเสี่ยงต่ำได้ไหม ผมจะทำอะไรได้บ้าง ผมต้องเปลี่ยนตัวเองตอนนี้เลยไหม หรือว่ามันเป็นไปไม่ได้ มีวิธีไหม

นพ.สันต์ (38:59):

เราแบ่งกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงต่อโรคนี้ออกเป็นสามกลุ่ม

  1. ผู้สูงอายุ แน่นอนว่าอายุอย่างเดียวก็เป็นปัจจัยเสี่ยงใหญ่แล้ว เราจัดการอะไรกับอายุไม่ได้
  2. โรคเรื้อรัง เมื่อพูดว่าโรคเรื้อรัง ผมหมายถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเจ็ดแปดโรค เช่น โรคอ้วน ความดันสูง โรคหัวใจหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรัง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทุกโรคเหล่านี่เพิ่มอัตราตายให้โรคโควิดหมด
  3. หญิงมีครรภ์ ใช่ ตอนนี้เราจำแนกหญิงมีครรภ์เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง เพราะหญิงมีครรภ์เมื่อติดโควิดแล้วจะมีอัตราตายและทุพลภาพสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาวะครรภ์เป็นพิษซึ่งอาจจบลงด้วยการเสียชีวิตได้

ทั้งสามกลุ่มนี้เราลดความเสี่ยงลงได้ทั้งนั้นแหละ แม้แต่ผู้สูงอายุก็ลดความเสี่ยงลงได้ ผู้สูงอายุที่ดูแลสุขภาพตัวเองได้ มีภูมิคุ้มกันโรคดีก็มีอัตาตายต่ำกว่าผู้สูงอายุที่ดูแลสุขภาพตัวเองไม่ดี กลุ่มคนเป็นโรคเรื้อรังหากจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคของตัวเองให้โรคของตัวเองลดความรุนแรงลงอัตราตายจากโควิดก็ลดลง ยกตัวอย่างเช่นคนเป็นโรคหัวใจอยู่หากจัดการไขมันในเลือด จัดการความดันเลือด จัดการอาหาร และออกกำลังกาย ได้ดี ความเสี่ยงจากโควิดก็ลดลง

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ เป็นที่เห็นพ้องกันทั่วโลกว่าเราควรเชียร์ให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับวัคซีนให้ครบเพื่อลดความเสี่ยงจากความรุนแรงของโรคโควิด

คุณวิเวก:

ตอนนี้เป็นที่ยอมรับแล้วว่าหญิงมีครรภ์ควรได้วัคซีน และคุณหมอบอกว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ และสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะในกลุ่มเสี่ยงไหน ก็ควรมุ่งหน้าเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตให้สุขภาพตัวเองดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกินอาหารที่ถูกต้องโดยมุ่งไปทางกินพืชเป็นหลัก มีกากมาก มีผลไม้มาก เคลื่อนไหวมากขึ้น ด้วยการเดิน หรือออกกำลังกาย นอนหลับให้ดีและให้พอ ทั้งหมดนี้มีผลต่อสุขภาพและภูมิคุ้มกันของท่าน แนวนี้จะช่วยท่านให้พ้นจากผลข้างเคียงรุนแรงของโรคโควิดได้

เอาละ ตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่าความเสี่ยงสูงหมายถึงอะไรและจะจัดการมันอย่างไร อีกเรื่องหนึ่งที่เข้ามาคือการที่มันมีข่าวให้กังวลว่าเชื้อกลายพันธ์ใหม่เกิดขึ้นอีกแล้วและจะเกิดตามมาอีก เดลต้ามาแล้วพร้อมกับติดต่อเร็วขึ้น 5-8 เท่า แล้วก็มี “มิว” เข้ามาอีก มันจะจบแบบเดลต้าหรือเปล่า แล้วจะมีเชื้อกลายพันธ์ใหม่อื่นเข้ามาอีกหรือเปล่า เราจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง มันจะมีผลกับชีวิตข้างหน้าอย่างไร

นพ.สันต์ (42:21):

ผมคิดว่าเราเดาได้นะว่าเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ๆจะทยอยเข้ามาเรื่อยๆเพราะอัตราการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมในระดับทั่วโลกยังต่ำมาก ตราบใดที่ในระดับโลกโรคยังแพร่ไปได้เร็ว ตราบนั้นเชื้อกลายพันธ์ใหม่ๆก็ยังจะเกิดขึ้น

สำหรับสายพันธ์มิว ผมยังไม่เห็นอะไรที่น่ากังวล ประเด็นเดียวที่ทำให้คนสนใจมิวก็คือมันมีโครงสร้างในเชิงภูมิคุ้มกันวิทยาที่เอื้อต่อการหลบรอดวัคซีนได้ แค่นั้นเอง พิษสงจริงๆในแง่การติดต่อเร็วมีน้อย ในชีวิตจริงมันถูกแซงหน้าด้วยเดลต้าไปแล้วแบบไม่เห็นฝุ่น ดังนั้นมิวไม่ใช่เชื้อกลายพันธ์ที่น่ากังวง เดลต้าต่างหากที่น่ากังวล.

คุณวิเวก:

ยังเป็นเบอร์หนึ่งอยู่ ถ้าท่านผู้ชมมีคำถามกรุณาคีย์เข้ามาในยูทูปหรือเฟซบุ้คของคุณได้เลยนะครับ เรามีทีมที่ปรึกษาทางแพทย์ดูแลอยู่ เผื่อว่ามีอะไรที่ท่านผู้ชมอยากทราบแต่เราไม่ได้พูดถึง เรายินดีที่จะตอบให้ในช่วง 15 นาทีสุดท้าย

ผมเข้าใจว่าคุณหมอคาดเดาไม่ได้ว่าอีกกี่ปีโควิดจึงจะหมด แต่อยากจะเข้าใจว่าเราจะอยู่กับโควิดนี้ไปอย่างไรหลังจากได้วัคซีนครบสองโด้สแล้ว และผ่านไปสองสัปดาห์แล้ว แล้วเราควรทำอย่างไรต่อไป ผมได้ยินคุณหมอพูดเลาๆแต่อยากจะขอยืนยันว่าผมออกมาจากบ้านได้แล้ว ออกไปข้างนอกได้ พบผู้คนที่ฉีดวัคซีนแล้วได้ แต่ยังควรปฏิบัติมาตรการป้องกันสากลอยู่ มีอะไรที่คุณหมออยากพูดเรื่องเราจะมีชีวิตอยู่กับโควิดต่อไปอย่างไรอีกไหม   

ข้อมูลสถิติบอกว่า 28 เดือนเข้ามาแล้ว เราคงอยู่อย่างนี้ต่อไปไม่ได้ มันน่าจะได้เวลากลับไปเดินทาง กลับไปท่องเที่ยว กลับไปทำธุรกิจ คุณหมอคิดว่าอย่างไร

นพ.สันต์ (44:42):

การฉีดวัคซีนให้ครบเป็นสิ่งต้องทำก่อน ทุกคนต้องได้วัคซีนครบ สองเข็ม

วิถีชีวิตที่มุ่งสู่การมีสุขภาพดีก็เป็นสิ่งต้องทำ กินอาหารพืชเป็นหลัก ในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ  ออกกำลังกาย นอนหลับให้พอ ใช้ชีวิตกลางแจ้ง ให้ได้แสงแดด ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ

มาตรการป้องกันสากลคือสวมมาสก์ อยู่ห่าง ล้างมือ ก็ต้องทำไปจนคนมีความเสี่ยงสูงในประเทศจะได้วัคซีนครบกันหมดแล้ว

ประเด็นสำคัญคือ เมื่อได้วัคซีนครบแล้ว ออกจากถ้ำ มาเริ่มใช้ชีวิตกันเถอะ

คุณวิเวก:

ชีวิตจะกลับไปสู่ปกติแล้ว แต่ว่าเรายังต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์บางอย่าง คุณหมอว่าถ้าอยู่ในที่สาธารณะก็ยังควรสวมหน้ากากแม้ว่าจะได้วัคซีนครบแล้ว ทำอย่างนั้นไม่มีอะไรเสีย ใช่ไหมครับ เว้นเสียแต่ว่าทั้งประเทศได้วัคซีนกันครบหมดแล้ว อันนี้ใช้ได้กับการกลับไปสู่ชีวิตปกติด้วยใช่ไหม

อีกเรื่องหนึ่งที่เราทราบดีและคุณหมอได้ทำสิ่งนี้กับผู้ป่วย COVID ที่นี่ ที่ศูนย์ Wellness We Care คุณหมอได้ดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มีความเสี่ยงสูงทุกประเภท โรคที่เกิดจากวิถีชีวิตของเราเอง และคุณหมอได้สอนพวกเขามาเป็นเวลานานเพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิต การมีสุขภาพดีขึ้นอาจหมายถึงการลดความเสี่ยงของโรค ตามที่ผมได้ยินจากคุณหมอ และข้อมูลยังแนะนำว่าไม่เพียงแต่วิตามินดี สังกะสี วิตามินซี ฯลฯ เท่านั้น ที่จะช่วย แต่ยังรวมถึงปัจจัยอื่นๆ ทั้งหมด การรับประทานอาหารที่ดี การออกกำลังกาย น้ำหนักดี การนอนหลับ ก็สำคัญ ทำให้คุณมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ทำให้คุณมีสุขภาพที่ดีขึ้น เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ

ก่อนที่เราจะสรุป คุณหมอช่วยให้ข้อคิด เพราะเราเข้าใจดีว่าโลกกำลังเคลื่อนจากการเอาแต่นับหัวคนติดเชื้อไปสู่การจัดการดูแลคนป่วยให้ทันและให้ลงตัว การประเมิน ตามติด และจัดการรับมือผู้ป่วย นั่นหมายถึงให้มีเตียงโรงพยาบาลเหลือเพียงพอ ทำให้เราอยู่กับโรคประจำถิ่นนี้ไปได้ นั่นเป็นสิ่งที่รัฐโดยหน่วยงานทางด้านสุขภาพกำลังทำให้เรา ในส่วนของตัวเราก็ต้องมีมีสุขภาพที่ดีด้วยตัวเอง ตราบเท่าที่คุณมีชีวิตอยู่ ผมคิดว่าก่อนที่เราจะจบและไปช่วงคำถามและคำตอบ คุณหมอช่วยให้คำแนะนำอะไรสักหน่อยในเรื่องที่เราจะกลับไปใช้ชีวิตในแต่ละวันต่อไป เชิญคุณหมอครับ

นพ.สันต์ (47:34):

นานมาแล้วองค์การอนามัยหรือ WHO โลกใช้คำว่า “การจัดการตนเอง” ผมชอบคำนี้นะ การจัดการตัวเอง มันมีองค์ประกอบหกประการสำหรับยุคโควิดนี้

อันดับหนึ่ง คืออาหาร ต้องหันไปหาอาหารจากพืชหลากหลายชนิด นั่นคืออันดับหนึ่ง

อันดับสอง คือการออกกำลังกายเป็นประจำ ก็คือออกกำลังกายทุกวัน

อันดับสาม คือการนอนหลับที่เพียงพอเพราะการนอนหลับมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการทำงานของภูมิคุ้มกัน

อันดับที่สี่ คือการจัดการความเครียด และเรียนรู้ที่จะวางความคิดของคุณลง อย่าไปมั่วอยู่กับความคิดของคุณมากเกินไป

อันดับห้า คือการใช้ชีวิตกลางแจ้ง ถูกแสงแดดบ้าง

นี่คือวิธีใช้ชีวิตกับโควิด โดยเฉพาะกับโควิดแบบลากยาว เท่าที่ผมดูคนไข้โควิดแบบลากยาวที่นี่ การใช้ชีวิตกลางแจ้งทำให้พวกเขาดีขึ้นได้เร็วมาก ผมขอแนะนำอย่างยิ่งให้ออกไปกลางแจ้ง รับแสงแดด อย่างน้อยก็ในช่วงยุคโควิดนี้

อันดับที่หก คือ อาหารเสริมวิตามินและแร่ธาตุ หากการรับประทานอาหารตามธรรมชาติมีจำกัดหรือไม่เพียงพอ มีการศึกษามากมายที่ผู้ป่วยโควิดระดับรุนแรง พวกเขามีวิตามินและแร่ธาตุในระดับต่ำ เช่น วิตามินดี วิตามินซี และสังกะสี เป็นต้น ดังนั้น หากรับประทานอาหารไม่เพียงพอ ผมแนะนำให้เสริมวิตามินและแร่ธาตุด้วย นั่นคือองค์ประกอบหกประการของสิ่งที่ WHO เรียกว่าการจัดการตนเอง

คุณวิเวก:

เยี่ยมมาก คุณหมอสันต์ อย่างน้อยตอนนี้เราก็รู้แล้วว่าต้องอยู่กับโควิดอย่างไร เรากำลังคิดว่าในเดือนตุลาคมเราคงฉีดวัคซีนกับเกือบครบแล้วและน่าจะกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ ทุกวันนี้ผมเองพยายามจะออกแดดให้มากๆ และอยู่กลางแจ้ง ทานวิตามินบางชนิด นั่นเป็นทางเลือกของผม เอาละ.. ผมคิดว่าเราใกล้จะสิ้นสุดการพูดคุยกันแล้ว 
ผมมีคำถามสองสามข้อจากผู้ชม ผู้ที่เคยเข้าร่วม บางคำถามเาคุยกันไปแล้ว ผมจะขอให้หมอสันต์ตอบบางข้ออีกครั้ง ผมคิดว่าคำถามหนึ่งคือ ถ้าฉันได้รับวัคซีนครบแล้ว และหลังจากนั้นฉันก็ติดเชื้อตามธรรมชาติ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหรือไม่? คุณบอกว่ามันสูงขึ้น หรือว่ามันไม่เปลี่ยนความเสี่ยง 
นพ.สันต์(50:34):
คำถามนี้ถามถึงภาวะแทรกซ้อนในการติดเชื้อหลังจากฉีดวัคซีนครบแล้ว ตอบว่าความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันมีน้อยมาก นั่นเป็นข่าวดี การติดเชื้อหลังการฉีดวัคซีนความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันมีน้อยมากเมื่อเทียบกับการติดเชื้อตามธรรมชาติโดยไม่ได้ฉีดวัคซีนมาก่อน ดังนั้นคุณฉีดวัคซีนแล้วคุณปลอดภัยกว่าแน่นอนในแง่ของการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน
คุณวิเวก:              
การฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อตามธรรมชาติ ยังจะช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อครั้งต่อไปเหลือต่ำมาก คำถามต่อไปคือถ้าวัคซีนป้องกันโรคโควิดในหลายประเทศไม่มีให้บริการสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี คุ้มหรือไม่ที่จะให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่แก่เด็กไหม? 
นพ.สันต์ 
วัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนปกติที่แนะนำให้ประชาชนทั่วไปรับทุกปี ปีละครั้ง. ฉีดได้ ไม่มีอะไรจะเสีย วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันเด็กจากโควิดได้หรือไม่ ยังไม่มีใครรู้ ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ระหว่างวัคซีนไข้หวัดใหญ่กับภูมิคุ้มกันโควิด ไม่มีหลักฐาน ผมขอเน้นที่นี่อีกครั้งเกี่ยวกับโรคโควิดในเด็ก ว่าอัตราการตายของเด็กจากโควิดนั้นน้อยมากจนเราไม่ต้องกังวลอะไรเกี่ยวกับเด็กเลยดีกว่า
คุณวิเวก:
อายุต่ำกว่า 12 ปี คุณยังไม่รู้ว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ใช้ได้ผลหรือไม่ อย่าไปฉีดเลยดีกว่า เพราะมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะป้องกันเด็กจากโควิดได้ คำถามต่อไป ผมคิดว่าคุณหมอได้ตอบไปแล้วขณะคุยกัน แต่ผมจะอ่านอีกครั้ง ถามว่าฉีด Astra เข็มแรก แล้วไฟเซอร์เข็มที่สอง ปลอดภัยไหม มันมีประสิทธิภาพหรือไม่? ฉันคิดว่าคุณหมอตอบว่าสิ่งที่เรารู้คือภูมิคุ้มกัน ไม่ใช่ประสิทธิภาพ ถูกต้องไหม
นพ.สันต์(52:38):
ใช่ครับ. ถูกต้อง. ดีกว่าแอสตร้าบวกแอสตร้า
คุณวิเวก:
หรือไฟเซอร์บวกไฟเซอร์? หรือแอสตร้าบวกแอสตร้า
นพ.สันต์ (52:42):
ในขณะนี้แอสตร้าบวกไฟเซอร์ เป็นส่วนผสมที่ดีที่สุดในแง่ของระดับภูมิคุ้มกัน ในแง่ของระดับภูมิคุ้มกันนะ
คุณวิเวก:
นั่นอาจเป็นข้อมูลระดับภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นข้อมูลระยะสั้น ข้อมูลระยะยาวคงต้องรอก่อน ผมเข้าใจว่าที่อังกฤษกำลังรับสมัครคนเข้าวิจัย 8,000 คนต่อวัน วิจัยว่าพัฒนาการของภูมิคุ้มกันและการติดเชื้อซ้ำว่ามันจะเป็นอย่างไรในระยะยาว  คงจะมีข้อมูลตามมาอีก
นพ.สันต์ (53:17):
สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะพูดถึงที่นี่อีกครั้งก็คือ การติดเชื้อหลังได้รับวัคซีนครบ บางรายงานมีสูงถึง 40% ของการติดเชื้อทั้งหมด ด้วยการติดเชื้อหลังการฉีดวัคซีนที่มากขนาดนี้ ในที่สุดพวกเราเกือบทุกคนคงจะติดเชื้อจริงกันสักครั้งในชีวิต แม้จะฉีดวัคซีนครบแล้ว 
คุณวิเวก:
คำถามสุดท้ายก่อนที่เราจะจากกัน ฉันได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดครบถ้วนแล้ว แต่ฉันต้องเดินทาง ฉันจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือไม่? มันเป็นคนละเรื่องกันไหม การเดินทางและไข้หวัดใหญ่? ฉันไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มาก่อน แต่ฉันต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือไม่ถ้าฉันเป็นโควิด
นพ.สันต์ (54:06):
มันเป็นสองประเด็นที่แยกจากกัน ผมแนะนำว่าทุกคนที่มีอายุมากกว่าหกเดือนควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้งหรือสองครั้ง นั่นคือคำแนะนำระดับโลก จนถึงตอนนี้ ไม่เกี่ยวอะไรกับโควิด แต่การเกิดภูมิคุ้มกันข้ามโรคนั้นยังไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ว่ามันเกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม ผมแนะนำว่าสำหรับนักเดินทาง การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ครบควบกับฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปีเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด
คุณวิเวก:
สำหรับนักเดินทาง ตกลง. มีคนถามว่าเราควรเริ่มเดินทางเมื่อไร? ถ้ารัฐบาลอนุญาต เราควรเริ่มเดินทางได้เลยหรือควรรอดู? หากคุณได้รับวัคซีนครบสองเข็มและและติดเชื้อโควิดมาแล้วด้วย คุณมีภูมิคุ้มกันมากกว่าคนได้วัคซีนอย่างเดียว 13 เท่า ดีกว่าคนอื่น ผมไม่รู้ เมื่อรัฐบาลอนุญาต สำหรับผม และเมื่อรัฐบาลเลิกกักตัวอยู่คนเดียว 14 วัน ผมก็จะเริ่มเดินทาง นั่นคือมุมมองของผมนะ คุณหมอสันต์มีความเห็นอย่างไรบ้างว่า หลังฉีดวัคซีน หลังติดโควิด เดินทางดีไหม หรือยังอันตรายอยู่ เพราะอยู่ในห้องเล็กๆ ที่ปิดมิดชิด และอยู่ในเครื่องบิน?
นพ.สันต์ (55:37):
การแยกตัวเองไม่จำเป็นสำหรับตัวเราเองเมื่อเราได้วัคซีนครบแล้ว แต่จำเป็นเพื่อปกป้องคนอื่นที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบ 
คุณวิเวก:
ผมคิดว่าในประเทศที่คุณเดินทางไป อาจจะเป็นอย่างที่คุณหมอพูด ผมคิดว่าความท้าทายที่ผมได้ยินคือโลกจะไม่ได้รับการฉีดวัคซีนครบจนถึงปีหน้า ครึ่งปีหน้าหรือจนกว่าจะสิ้นปีหน้า น่าจะเป็นต้นปี 2565 ความพร้อมของวัคซีน มีความต้องการวัคซีนหนึ่งหมื่นสี่พันล้านทั่วโลก ในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนเพียงพอในแอฟริกาและอีกหลายประเทศ ที่ได้ไปแล้วคือ 35, 40% สหรัฐอเมริกาน่าจะ 50 บวก อังกฤษน่าจะ 76 บวก มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ไปถึงระดับนั้น 100% หรือ 70 ถึง 80%
คงต้องใช้เวลาสักพัก นั่นเป็นความท้าทายที่อาจมากกว่าสิ่งอื่นใด คุณสบายดี แต่เมื่อคุณไปพบคนอื่นที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเขาอาจติดเชื้อจากคุณ และคุณก็มีโอกาสติดเชื้อจากเขา เพราะคนที่ฉีดวัคซีนก็สามารถแพร่เชื้อ COVID ไปยังผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนได้เช่นกัน ตัวคุณเองติดเชื้อแล้วอาจไม่มีผลกระทบมากหรือไม่ตาย แต่คนที่ยังไม่ได้วัคซีนเขาติดเชื้อแล้วเขามีผลกระทบมากอาจถึงตายได้ ในประเทศที่มีการฉีดวัคซีนต่ำอาจเป็นกรณีนี้
นพ.สันต์ (56:59):
ถูกต้อง.
คุณวิเวก:
บางทีนั่นอาจเป็นเหตุผลประกอบการวางแผนเดินทางของคุณ ผมคิดอย่างนั้น นั่นเป็นหนึ่งในคำถาม เรามาถึงจุดสิ้นสุดของการพูดคุยของเรา ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ เพื่อนร่วมงานของผมจากส่วนต่างๆ ของโลก ขอบคุณมากที่รับฟังเราและให้โอกาสเราได้พูดคุยกับท่าน ผมหวังว่าการพูดคุยนี้จะเป็นประโยชน์และให้ความคิดใหม่ๆ แก่ท่าน บางทีท่านอาจรู้ทุกอย่าง แต่เรากำลังพยายามอย่างเต็มที่ที่จะแบ่งปันหลักฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในภาษาง่ายเพื่อให้ท่านเข้าใจ ครอบครัวของท่านเข้าใจ และท่านสามารถอยู่ได้โดยปราศจากความกลัวและเริ่มออกมาใช้ชีวิต ขอขอบคุณคุณหมอสันต์ ผู้เชี่ยวชาญของเรา สวัสดีจากประเทศไทย 
นพ.สันต์ (57:47):
ขอขอบคุณครับ. ลาก่อน.
คุณวิเวก:
ลาก่อน. พบกันกันเร็วๆนี้. ขอขอบคุณ.......................................
[อ่านต่อ...]

19 กันยายน 2564

การไม่รู้จริง + ความไม่เป็นมืออาชีพในการทำงานวิชาชีพ = ทุกข์ฟรี

ตอบครับ

ถามว่าฉีดยาให้พ่อแล้วเข็มตำมือ พ่อเพิ่งไปถ่ายเลือดมา ตัวเองกังวลว่าต้องไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจคัดกรอง HIV ไหม ตอบว่าไม่ต้องไปหรอกครับ เรื่องของคุณนี้มันมีประเด็นที่ควรพูดถึงสองประเด็นนะ

ประเด็นที่ 1. ทุกข์จากการไม่รู้จริง

ฉีดยาให้พ่อซึ่งเพิ่งถ่ายเลือดมาแล้วเข็มตำมือจึงกลัวติดเชื้อ HIV นี่เป็นประเด็นทุกข์จากการไม่รู้จริง โอกาสที่คนไปถ่ายเลือดมาจะติดเชื้อ HIV ที่เจ้าหน้าที่ให้เซ็นใบยินยอมว่ายอมรับโอกาส 1% ที่จะติดเชื้อ HIV นั้น ถ้าเขาระบุตัวเลขเช่นนั้นจริงผมเข้าใจว่าเขาคงแค่ตั้งใจจะป้องกันปัญหาเรื่องคดีความที่อาจจะตามมาภายหลังมากกว่า ไม่ใช่ตั้งใจจะสื่อสารข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ เพราะข้อมูลจริงของการติดเชื้อ HIV จริงหลังการถ่ายเลือดในยุคปัจจุบันมันต่ำกว่านั้นชนิดคนละเรื่อง ซึ่งผมนับยุคปัจจุบันว่าเริ่มตั้งแต่มีการนำเทคนิคตรวจกรดนิวคลิก (NAT) มาใช้ในการคัดกรองเลือด ยกตัวอย่างเช่นข้อมูลของฝรั่งเศส มีโอกาสติดเชื้อ HIV จากการถ่ายเลือด 1 ใน 8,300,000 ข้อมูลของสเปญมีโอกาสติดเชื้อ HIV จากการถ่ายเลือด 1 ใน 1,000,000 เป็นต้น หากจะระบุเป็นเปอร์เซ็นต์ก็คือมีโอกาสน้อยกว่า 0.0001% คือเรียกว่าเป็นโอกาสที่ต่ำมากจนตัดทิ้งได้ ดังนั้นในการรับการถ่ายเลือดหากจำเป็นต้องรับก็ควรรับ โดยไม่ต้องคิดกังวลเรื่องโอกาสจะได้รับเชื้อ HIV เพราะมันเป็นความคิดกังวลที่เวิ่นเว้อเกินความเป็นจริง

ประเด็นที่ 2. ทำงานวิชาชีพแต่ไม่ได้เป็นมืออาชีพ

ใช้เข็มฉีดยาแล้วเข็มตำมือ นี่เป็นประเด็นการทำงานวิชาชีพโดยไม่มีความเป็นมืออาชีพ งานใช้เข็มฉีดยาเป็นงานระดับวิชาชีพ หมายความว่าต้องเรียนรู้ฝึกฝนในวิชาจึงจะทำได้ดี คนทำงานระดับนี้ต้องมีความเป็นมืออาชีพ หมายความว่าเป็นคนที่ได้เรียนรู้ฝึกฝนขั้นตอนของระเบียบปฏิบัติในเรื่องนั้นและได้ลงมือทำมาช่ำชองเป็นอย่างดีแล้ว อย่าว่าแต่คุณซึ่งเป็นคนทั่วไปไม่รู้อิโหน่อิเหน่ (lay man) เลย แม้แต่นักวิชาชีพมีปริญญาเช่นแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และนักเทคนิคการแพทย์ ก็ยังมีอยู่จำนวนหนึ่งที่ไม่วายที่จะขาดความเป็นมืออาชีพในงานของตน คือไม่วายจะโดนเข็มตำมือเหมือนอย่างชาวบ้านเขาเหมือนกัน คือมีแต่ปริญญาวิชาชีพแต่ไม่มีความเป็นมืออาชีพ สมัยที่ผมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลอยู่ต้องปากแฉะกับเรื่องนี้มากเพราะโรงพยาบาลอยู่ในระบบการรับรองคุณภาพนานาชาติ (JCI) เกิดเรื่องขึ้นทีต้องมีรายการซ่อม (remedy action) กันเสียจนเมื่อย วันนี้ผมจึงขอถือโอกาสนี้พูดถึงระเบียบปฏิบัติ (work instruction) ในการใช้เข็มฉีดยาอย่างมืออาชีพสักหน่อย โดยจะโฟกัสที่การฉีดอินสุลินรักษาโรคเบาหวาน โดยเอาเฉพาะการฉีดจากเข็มและไซรินจ์รุ่นโบราณซึ่งคนทั่วไปตามบ้านยังนิยมใช้กันอยู่

ก่อนที่จะไปถึงระเบียบปฏิบัติ work instruction พึงเข้าใจว่าระเบียบนี้มันได้มาจากการวิเคราะห์อันตรายที่ได้เกิดขึ้นแล้ว ว่ามันเกิดขึ้นจากตรงไหนบ้าง ซึ่งผลวิเคราะห์พบว่าเข็มตำมือเกิดขึ้นมากที่สุดจากการที่

(1) ทำงานโดยขาดการจดจ่อ เพราะมัวทำงานหลายอย่างพร้อมกัน

(2) ฉีดยาเสร็จ แล้วถอนเข็มโดยมีการยั้งมือ ทำให้จังหวะที่ยั้งมือนั้นเข็มกลับลงทิ่มอีกมือหนึ่งซึ่งจับผิวหนังคนไข้อยู่

(3) พยายามจะเอาเข็มสอดกลับเข้าปลอกเข็มเลยจิ้มมืออีกข้างตัวเองที่ถือปลอกเข็มอยู่

(4) ถือไซรินจ์ติดเข็มเปลือยเดินโทงๆจะไปหาที่ทิ้งเข็ม แล้วเอาปลายเข็มไปจิ้มตัวเองหรือใครต่อใครเข้า

(5) ทิ้งเข็มเปะปะนอกที่รับขยะมีคม ทำให้ตัวเองหรือคนอื่นเช่นแม่บ้านถูกเข็มจิ้มเอาเมื่อมาเก็บขยะนั้น

ระเบียบปฏิบัติ (Work instruction) ในการใช้เข็มฉีดยามีดังนี้

  1. ก่อนฉีดยา ต้องมีทุกอย่างพร้อมอยู่ตรงหน้าหรือเอื้อมมือถึง รวมทั้ง ไซรินจ์, เข็มฉีด, ยา, สำลีแอลกอฮอล์สองก้อน, สำลีแห้งหนึ่งก้อน, ถังรับขยามีคม (sharp receptacle)
  2. ล้างมือให้สอาดด้วยสบู่ เช็ดมือให้แห้งด้วยผ้าหรือทิชชูสอาด
  3. เตรียมสำลีชุบแอลกอฮอล 2 ก้อน สำลีแห้ง 1 ก้อน วางเรียงกันไว้บนพื้นผิวทำงานที่สอาด
  4. หยิบขวดยาอินสุลินมาวางบนฝ่ามือแล้วเอาสองฝ่ามือกลิ้งยาไปมา 10 รอบเป็นการคลุกยา (ตั้งใจนับหนึ่งถืงสิบ)
  5. เอาสำลีแอลกอฮอล์ก้อนที่ 1 เช็ดจุกยางฝาขวด
  6. ฉีกซองเอาไซรินจ์ที่มีเข็มติดปลายออกมา ดึงปลอกหุ้มปลายเข็มออกแบบไม่มีการยั้งมือ (คือดึงพรวดให้พ้นเข็มโดยถือเสมือนว่าเข็มนั้นยาวเป็นคืบ)
  7. ตั้งไซรินจ์ขึ้น ดูดอากาศเข้าไปเป็นปริมาณเท่าปริมาณยาที่ตั้งใจจะดูดออกมา
  8. ตั้งขวดยาไว้บนพื้นโต๊ะ ปักเข็มทะลุจุกยางลงไปในขวดโดยไม่ต้องเอามือจับขวดยา เมื่อปักเข็มได้แล้วจึงเอาอีกมือหนึ่งจับขวดยายกขึ้นระดับสายตาแล้วคว่ำขวดลง เดินลมจากไซรินจ์เข้าไปในขวดแล้วดูดยากลับออกมาตามปริมาณที่ต้องการ ฉีดเข้าดูดออกเพื่อไล่ฟองอากาศหากจำเป็น
  9. ดึงขวดยาออกจากเข็มมาวางบนโต๊ะ แล้วเอาสำลีแอลกอฮอล์ก้อนที่ 2 เช็ดบนผิวหนังตรงจุดที่จะฉีดยา เอานิ้วโป้งและนิ้วชี้จับขยุ้มผิวหนังตรงนั้นให้นูนขึ้นมา
  10. ถือไซรินจ์ในท่าเตรียมฉีดให้ถนัด ตั้งใจปักเข็มฉีดยาลงไปตรงๆให้ตั้งฉากกับผิวหนังจนมิดเข็ม (0.6 ซม.) แล้วเดินยาจนหมด แล้วกดเข็มไว้นิ่ง นับ 1-10 ในใจก่อนถอนเข็ม
  11. ถอนเข็มออกโดยไม่ยั้งมือ
  12. อีกมือหนึ่งเอาสำลีแห้งกดตรงที่ฉีดยาไว้เบาๆ ไม่ต้องคลึง
  13. ทิ้งทั้งไซรินจ์ที่มีเข็มคาอยู่ซึ่งใช้เสร็จแล้วลงในที่รับขยะมีคมโดยไม่ต้องสวมปลอกเข็มคืน

ทั้งหมดนี้เป็นระเบียบปฏิบัติการฉีดยาที่ใช้กันอยู่ในรพ.ที่มีมาตรฐานคุณภาพระดับสากลทั่วโลก โปรดสังเกตว่าไม่มีการสอดเข็มกลับเข้าปลอก ไม่มีการถือเข็มเดินโทงๆไปหาที่ทิ้งไกลๆ ไม่มีการทิ้งเข็มในถังขยะทั่วไปเปะปะ และทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นจนจบต้องทำอย่างใส่ใจจดจ่อไม่ว่อกแว่ก อย่างนี้จึงจะเป็นการทำงานวิชาชีพ อย่างมืออาชีพ

ในกรณีที่ใช้การฉีดด้วยปากกาฉีดอินสุลิน คนไทยนิยมใช้เข็มเดิมซ้ำ (เพื่อการประหยัด?) จึงจำเป็นต้องสอดเข็มกลับเข้าไปในปลอกเข็มก่อนเก็บปากกาและเข็มนั้นไว้ใช้ครั้งต่อไป วิธีสอดเข็มกลับเข้าปลอกเข็มนี้สำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นสาเหตุของเข็มทิ่มมือบ่อยที่สุด วิธีที่ปลอดภัยคือต้องวางปลอกเข็มไว้บนพื้นผิวสอาดเช่นพื้นผิวผ้าที่คลี่ไว้บนโต๊ะ หันเอารูของปลอกเข็มมาทางตัวเอง ปล่อยปลอกเข็มนั้นไว้บนโต๊ะ ไม่ต้องเอาอีกมือไปจับปลอกเข็ม ถ้าทำไม่ได้หรือไม่ถนัดให้ใช้คืม (forceps) จับปลอกเข็มแทนมือเปล่า จากนั้นค่อยๆตั้งใจถือปากกาเอาปลายเข็มบรรจงสอดเข้าไปในรูจนเข็มเข้าไปในรูได้เกินครึ่งลำแล้วจึงเอาอีกมือหนึ่งจับปลอกเข็มเพื่อกดให้เข้าล็อค อย่าสอดเข็มคืนปลอกโดยมือหนึ่งถือปากกาที่มีเข็มติดปลาย อีกมือหนึ่งถือปลอกเข็มเป็นอันขาด เดี๋ยวจะหาว่าหล่อไม่เตือน..ฉึ๊ก..ก (หุ หุ)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. M. Vermeulen, N. Lelie, C. Coleman, et al., Assessment of HIV transfusion transmissionrisk in South Africa: a 10-year analysis following implementation of individual donationnucleic acid amplification technology testing and donor demographics eligibilitychanges, Transfusion 59 (2019) 267–276. https://doi.org/10.1111/trf.149
[อ่านต่อ...]

18 กันยายน 2564

ความกลัวคือความคิดว่าสิ่งร้ายๆที่รู้มาในอดีตจะเกิดขึ้นกับตัวตนของพี่ในอนาตต

คุณหมอคะ

ขอคำแนะนำว่าถ้ามีอาการเหมือนเป็นหวัด น้ำมูกไหล เจ็บคอ ควรไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจว่าเป็นโควิตหรือเปล่าคะ ไปเร็วที่สุดก็จะรักษาได้ทัน ใช่ไหมคะ ก่อนไปควรกินฟ้าทะลายโจรไปก่อนไหมคะ เพราะคิดว่าทุกคนอาจติดโควิตได้ ถึงแม้ไม่ได้ออกจากบ้าน แต่มีคนเข้ามาที่บ้าน เช่นมาทำความสอาดบ้าน มาซ่อมไฟฟ้า ประปา แอร์ หรือต้องเปลี่ยนพี่เลี้ยงมาดูแลคนป่วย เป็นต้น

โรคนี้เป็นแล้วต้องไปนอนโรงพยาบาลสนาม และติดต่อลูกและญาติไม่ได้ ทำให้พี่มีความกังวลใจค่ะ
ได้รับคำแนะนำจากคุณหมอเรื่องการเพิ่มน้ำหนักด้วยความขอบคุณมาก พี่ออกกำลังกายแบบยืดกล้ามเนื้อที่เรียนและฝึกกับคุณหมอมา ทำทุกวันไม่เคยเว้นค่ะ สาเหตุที่น้ำหนักลด อาจเป็นเพราะความเครียดกับการระบาดของโควิตโดยไม่รู้ตัว เพราะจะไปธุระหลายอย่างไม่ได้เลยค่ะ

พี่ทำสมาธิ ท่องปฏิจจสมุปบาท ฟังคำสอนพระพุทธเจ้า (พุทธวจน) ทุกวัน ได้ผ่อนคลายพอสมควร แต่ก็คิดถึงความตายทุกวัน อาจมีส่วนทำให้เครียด และทานอาหารที่ทำเองที่บ้าน ซ้ำไปซ้ำมา ไม่อร่อยเลย น้ำหนักก็ลดลงเรื่อยๆ ไม่สามารถทำจิตใจให้เบิกบานได้้ค่ะ แต่จะพยายามลดความกังวลใจค่ะ เดี๋ยวจะตายด้วยความเครียด ไม่ใช่ตายเพราะโควิต
ขอบคุณคุณหมอมากค่ะ

……………………………………………………………………….

ตอบครับ

1.. แค่เจ็บคอคัดจมูกน้ำมูกไหลโดยที่ไม่มีประวัติสัมผัสโรคโควิดที่แน่ชัดอะไร ไม่ต้องไปรพ. ดอก แค่กักกันตัวเองก่อนสัก 14 วัน ในระหว่างนี้ถ้าอยากกินฟ้าทลายโจรก็กินฟ้าทลายโจรได้ทันทีได้ มันมีประโยชน์คุ้มความเสี่ยงอยู่แล้ว ดูอาการตัวเองไป 3 วัน 7 วัน ถ้าอาการดีขึ้นก็จบ ถ้าอาการไม่ดีขึ้น จึงค่อยไปโรงพยาบาล

2.. เรื่องการไม่กล้าออกจากบ้าน ถ้าได้วัคซีนครบสองเข็มแล้ว หากอยากออกจากบ้านก็ออกจากบ้านได้ อย่าไปกลัวเกินเหตุ สำหร้บคนที่ได้วัคซีนครบแล้ว ให้เริ่มมองโรคโควิดว่าเป็นโรคประจำถิ่นอย่างหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ วันหนึ่งเราก็ต้องเป็นโรคกับเขาจนได้เพราะวัคซีนไม่ได้ป้องกันไม่ให้เป็นโรคได้สนิทปึ๊ก แต่วัคซีนช่วยเป็นหลักประกันว่าเมื่อเป็นโรคแล้วโอกาสต้องเข้ารพ.หรือโอกาสตายจะลดลงกว่าคนไม่ได้วัคซีนอย่างมาก

สำหรับคนที่ได้วัคซีนครบแล้ว การติดเชื้อโควิดหลังได้วัคซีน (breakthrough infection) ถือว่าเป็นอานิสงใหญ่ในแง่ของการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้อยู่ได้นานๆ เพราะงานวิจัยที่อิสราเอลเปรียบเทียบการติดเชื้อซ้ำระหว่าง (1) ผู้ไม่เคยได้วันซีน แต่เคยติดเชื้อธรรมชาติ (2) ผู้เคยได้วัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็มแล้วมาติดเชื้อธรรมชาติหนึ่งครั้ง (3) ผู้ได้วัคซีนครบสองเข็ม แต่ไม่เคยติดเชื้อธรรมชาติเลย แล้วตามดูว่าทั้งสามกลุ่มจะเกิดการติดเชื้อซ้ำมากน้อยต่างกันอย่างไร พบว่าสองกลุ่มแรกที่เคยติดเชื้อธรรมชาติมาแล้วมีความเสี่ยงเกิดติดเชื้อซ้ำน้อยกว่าผู้ได้วัคซีนครบถ้วนถึง 13 เท่า ดังนั้นเมื่อได้วัคซีนครบแล้ว ให้มองการติดเชื้อธรรมชาติว่าเป็นคุณในแง่ของการป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อซ้ำอีกในระยะยาว ไม่ใช่มองแต่ด้านที่จะเป็นโทษ

3. การคิดถึงความตายทุกวันมันเป็นคนละเรื่องกับการใช้ “ความคิด” เกี่ยวกับ “ความตาย” นะ ไม่ใช่การคอยคิดว่าฉันจะตายอย่างไร ตายแล้วฉันไปไหน ทั้งหมดนั้นเป็นความคิด ชื่อว่าความคิดล้วนเป็นของแสลงไม่มีอะไรดี

มรณานุสติของแท้ออริจินัลหมายถึงการตั้งใจที่จะอยู่กับเดี๋ยวนี้ การตระหนักว่าชีวิตมีแต่เดี๋ยวนี้เท่านั้น มีแต่ลมหายใจนี้เท่านั้น หมดลมหายใจนี้แล้วอาจจะไม่มีลมหายใจหน้ามาต่อแล้ว ดังนั้นให้ใช้ชีวิตอยู่แต่กับลมหายใจนี้เท่านั้น ทุ่มเทพลังและศักยภาพทั้งหมดที่ตัวเองมีเพื่อใช้ชีวิตในลมหายใจนี้ให้สงบเย็นและสร้างสรรค์เต็มศักยภาพที่ตนมี อย่าเสียเวลาไปกับเรื่องเหลวไหลไร้สาระ เพราะลมหายใจหน้าอาจจะไม่มีแล้ว นี่คือสารัตถะที่แท้จริงของมรณานุสติ ถ้าพี่ใช้มรณานุสติแบบของแท้ออริจินอลพี่จะไม่เครียด เพราะมีแต่เดี๋ยวนี้ไม่มีอดีตไม่มีอนาคตพี่จะไปเครียดได้อย่างไร ที่พี่เครียดอยู่ตอนนี้เพราะพี่กลัว

ความกลัวคือความคิดว่าสิ่งร้ายๆที่รู้มาในอดีตจะเกิดขึ้นกับตัวตนของพี่ในอนาตต ฟังให้ดีนะ ผมแตกความกลัวให้พี่เห็นในสี่ประเด็น

3.1 ความกลัวเป็นความคิด ไม่ใช่เรานะ ความคิดกับเราเป็นคนละอันกัน

3.2 ความกลัวเป็นความคิดที่เก็บเอาสิ่งเลวร้ายที่เคยประสบมาหรือได้ยินได้ฟังมาเป็นเชื้อ พูดง่ายๆว่าเป็นความคิดลบ

3.3 ความกลัวดำรงอยู่ได้เพราะในใจมีอดีตมีอนาคต คือเก็บเอาสิ่งร้ายๆจากอดีต มาวาดภาพว่ามันจะเกิดขึ้นในอนาคต ถ้าในใจไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ความกลัวก็ไม่มีที่อยู่

3.4 ความกลัวมีขึ้นเพื่อปกป้องตัวตันหรือ identity ของเรา ดังนั้นตราบใดที่เรายังไม่ทิ้ง identity นี้ไปเป็นเพียงผู้สังเกตที่ไม่มีเอี่ยวอะไรด้วย ตราบนั้นในชีวิตนี้ก็จะมีแต่ความกลัวไม่รู้จักเลิก

5. การฟังเทปหรือดูวิดิโอ.พุทธวจนะหรืออะไรก็ตาม เหล่านั้นก็ล้วนเป็นสื่อความคิดนะ หากดูหรือฟังแล้วมีความคิดมากขึ้นก็กลับเป็นเรื่องไม่ดี ไม่ดูไม่ฟังอะไรเลยแล้วไม่มีความคิด ย่อมดีเสียกว่า เพราะการปลอดความคิดเป็นโอกาสเดียวที่จะได้สังเกตเห็นสิ่งต่างๆตามที่มันเป็น ขณะที่ความคิดที่เกิดจากการขยันฟังขยันดูวิดิโอเป็นตัวปิดโอกาสที่จะได้เห็นสิ่งต่างๆตามที่มันเป็น

6. ความเครียดของพี่มาจากความคิด ชื่อว่าความคิดเกือบร้อยทั้งร้อยถูกนำเสนอโดยสำนึกว่าเป็นบุคคลของเรา หรือ identity ของเรา หรือตัวตนของเรา หรืออีโก้ของเรา ผมใช้หลายคำสื่อถึงสิ่งเดียวกันเพื่อย้ำให้พี่เก็ท พี่ต้องฝึกวางความคิด เปลี่ยน identity เสียว่าเราไม่ใช่บุคคลที่ชื่อนี้ บุคคลที่ชื่อนี้ มีการศึกษาสูงขนาดนี้ มีหน้าที่การงานหลักฐานเป็นที่นับถือขนาดนี้ ทั้งหมดนั้นเป็นความคิด เราไม่ใช่ความคิด ความคิดก็คือความคิด เราก็คือเรา คนละอันกัน เราสามารถสังเกตเห็นความคิดของเราได้ เราเป็นแค่ no body ที่มาอาศัยร่างกายนี้สังเกตเรียนรู้การมีชีวิตและทำอะไรที่เราคิดว่าสร้างสรรค์เท่าที่เราจะทำได้ เราเป็นผู้สังเกต ย้ำ การสังเกตเรียนรู้อะไรไม่ทำให้ใครเครียดดอก พี่เป็นนักวิทยาศาสตร์ย่อมเข้าใจความข้อนี้ดี แต่การมองสิ่งรอบตัวไปพร้อมกันการพยายามปกป้อง identity ที่เราเหมาเอาว่าเป็นเรานั่นแหละทำให้คนเราเครียด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

11 กันยายน 2564

เมื่อใดจะใช้ยารักษาความดันเลือดสูง

ช่วงนี้ผมเปิดรับฟื้นฟูผู้ป่วย มีผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังและเป็นโรคโควิดแบบลากยาวมาใช้บริการจำนวนหนึ่ง หลายคนแพทย์สั่งจ่ายยารักความดันเลือดสูงระหว่างเป็นโควิดบ้าง ก่อนหน้านั้นบ้าง ได้มาตั้งแต่เมื่อไหร่จำไม่ได้แล้วบ้าง ซึ่งเกือบทั้งหมดผมตั้งต้นด้วยการให้หยุดยาเพื่อวินิจฉัยโรคใหม่ก่อนที่จะเริ่มยาใหม่โดยใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน พบว่าแทบไม่มีใครต้องกลับไปกินยาเลย ผมจึงคิดว่าน่าจะหาโอกาสคุยกันกับผู้ที่กำลังกินยารักษาโรคความดันเลือดสูงทั้งหลายสักครั้งว่าเมื่อใดควรจะเริ่มใช้ยารักษาความดันเลือดสูง

มาตรฐานที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ยังคงเป็นคำแนะนำ International Society of Hypertension Global Hypertension Practice Guidelines (ISH 2020) ที่กำลังใช้กันอยู่ทั่วโลก ซึ่งผมเคยเขียนในส่วนของการรักษาที่ไม่ต้องใช้ยาตอนที่คำแนะนำนี้ออกมาใหม่ๆเมื่อปีกลาย

การรักษาแบบไม่ใช้ยา

ก่อนที่จะพูดถึงส่วนที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยและการใช้ยาในวันนี้ ผมขอทบทวนสิ่งที่ผมพูดไปเมื่อครั้งที่แล้วก่อนนะ ว่าคนเป็นความดันเลือดสูงต้องทำสิ่งต่อไปนี้ก่อน คือ

1. ลดเกลือ (โซเดียม) ในอาหารลง โดย     

1.1 เลิกเติมเครื่องปรุงที่มีเกลือ (เช่นน้ำปลาพริก) ลงในอาหารที่นำมาเสริฟ     

1.2 ลดการกินอาหารฟาสต์ฟูดและอาหารบรรจุเสร็จซึ่งใช้เกลือเป็นปริมาณมาก     

1.3 ลดขนมปังและซีเรียลที่ปรุงโดยมีส่วนของเกลือมาก      

2. เปลี่ยนอาหาร

2.1 กินอาหารพืชเป็นหลักที่อุดมด้วยธัญพืชไม่ขัดสี ผลไม้ ผักต่างๆที่มีไนเตรทมาก (เช่นบีทรูทและผักใบเขียว) และมีแมกนีเซียม โปตัสเซียม แคลเซียม มาก (เช่นอะโวกาโด นัท เมล็ดพืช ถั่วต่างๆ และเต้าหู้) หรือกินตามสูตรอาหารเพื่อการลดความดัน (DASH diet)     

2.2 ลดน้ำตาล     

2.3 ลดไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์      

3. เลือกดื่มเครื่องดื่มอย่างฉลาด     

3.1 ดื่มกาแฟ ชาเขียว ชาดำ ชาขาว (ไม่ใส่ครีมไม่ใส่น้ำตาล) ในปริมาณพอควร เพราะคนดื่มชากาแฟเป็นความดันสูงน้อยกว่าคนไม่ดื่มเลย     

3.2 ดื่มน้ำพืชสมุนไพรที่ลดความดันได้ เช่น น้ำทับทิม น้ำบีทรูท โกโก้ ชาฮิบิสคัส เป็นต้น     

3.3 ลดการดื่มแอลกอฮอล์ลงเหลือระดับพอดี (ไม่เกิน 2 ดริ๊งค์ในผู้ชาย ไม่เกิน 1.5 ดริ๊งค์ในผู้หญิง) เพราะหลักฐานมีอยู่ว่าหากคนเป็นความดันสูงที่ดื่มมากลดการดื่มลงได้ ความดันก็จะลดลง      

4. ควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้อ้วน ให้ดัชนีมวลกายปกติ หรือให้เส้นรอบพุงไม่เกิน 50% ของส่วนสูง      

5. เลิกบุหรี่      

6. ออกกำลังกาย อสม่ำเสมอ โดยควบรวมการออกกำลังกายหลายแบบ     

6.1 ออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (เล่นกล้าม) สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง          

6.2 ออกกำลังกายแบบแอโรบิกให้ถึงระดับหนักพอควร (เช่น เดินเร็ว จ๊อกกิ้ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ) ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละอย่างน้อย 5 ครั้ง หรือ     

6.3 ออกกำลังกายแบบเร่งให้หนักสลับเบาเป็นช่วงๆ (HIIT – high intensity interval training)       

7. ลดความเครียด เพราะความเครียดทำให้ความดันสูง      

8. ฝึกสติสมาธิ (meditation/mindfulness) ให้เป็นกิจวัตรประจำวัน เพราะหลักฐานวิจัยบ่งชี้ว่าลดความดันได้          

9. หลีกเลี่ยงภาวะสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ (รวมทั้งรถติด) เพราะหลักฐานวิจัยบ่งชี้ว่าทำให้เกิดความดันเลือดสูงได้

การวินิจฉัยก่อนการใช้ยา

อย่าลืมว่านิยามของโรคความดันปกติและความดันสูงคือ

ความดันเลือดปกติ (Normal BP) = ไม่เกิน 130/85 มม.      

ความดันเลือดปกติแบบค่อนไปทางสูง (High-normal BP) = 130–139 / 85–89 มม.    

โรคความดันเลือดสูงเกรด1 = 140–159/90–99 มม.

โรคความดันเลือดสูงเกรด2 =  160 /100 มม.ขึ้นไป

ประเด็นสำคัญที่เป็นเหตุให้วินิจฉัยผิด

  1. งานวิจัย Pamela trial พบว่าความดันวัดที่บ้านสัมพันธ์กับโรคปลายทางของความดันมากกว่าความดันวัดที่โรงพยาบาล ในการวินิจฉัย คำแนะนำ ISH 2020 แนะนำว่าทุกครั้งที่เป็นไปได้ การวินิจฉัยความดันต้องเช็คก่อนว่ามีความสอดคล้องกันทั้งความดันที่บ้านและที่รพ. ถ้าไม่สอดคล้องกันอย่าเพิ่งรีบวินิจฉัย
  2. การวินิจฉัยความดันผิดง่ายมากหากวินิจฉัยจากการเจอกับแพทย์ครั้งเดียว ต้องทอดเวลาวัดความดันอย่างน้อยสองรอบขึ้นไป แต่ละรอบห่างกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ จะให้ดีควรใช้เวลาเป็นเดือนก่อนที่จะวินิจฉัยว่าใครเป็นความดันสูง แต่คนไข้ส่วนใหญ่ได้รับการวินิจฉัยจากการได้พบกับแพทย์ครั้งเดียว
  3. การวัดความดันที่ถูกต้องและแม่นยำมีประเด็นสำคัญว่า (1) ห้องที่วัดต้องเงียบ อุณหภูมิสบายๆไม่ร้อนไม่เย็นเกินไป (2) ครึ่งชั่วโมงก่อนวัดต้องเข้าห้องน้ำปัสสาวะมาก่อนให้เรียบร้อย ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มกาแฟ ไม่ออกกำลังกาย แล้วนั่งพักสบายๆ 3-5 นาทีก่อนวัด (3) ก่อนวัดให้นั่งพิงพนัก วางแขนบนพื้นโต๊ะ พันคัฟ (cuff) ที่พอดีกับแขนให้คัฟอยู่ระดับหัวใจ และไม่พูดไม่คุยไม่ลุ้นตัวเลขบนจอขณะวัน (4) วัดสามครั้ง แต่ละครั้งห่างกันหนึ่งนาที แล้วเอาค่าอย่างน้อยสองครั้งมาเฉลี่ยกัน หรือหากจะเอาแบบหมอสันต์ก็เอาค่าครั้งที่ได้ต่ำสุด หากวัดที่บ้านควรวัดเวลาเดิมของแต่ละวัน

เมื่อใดจะต้องใช้ยารักษาความดัน

ก่อนใช้ยาต้องทำการรักษาโดยไม่ใช้ยา 9 วิธีที่ผมเล่าข้างต้นดูก่อน ให้เวลาอย่างน้อย 3-6 เดือน ถ้าทำจริง เท่าที่ผมเห็นมา ถ้าทำจริงนะ เลิกยาความดันได้หมด แต่เมื่อให้เวลาพอควรแล้วความดันยังสูง จึงจะเริ่มใช้ยาลดความดัน ซึ่งต้องแยกเป็นสองกรณี คือ

  1. กรณีที่เป็นคนที่ไม่มีความเสี่ยงที่จะตายเร็วขึ้นจากโรคความดันเลือดสูงห้าโรค ให้เริ่มใช้ยาเมื่อความดันเลือดสูงถึง 160/100 มม. ตัวบนหรือตัวล่างใดตัวหนึ่งนะ ไม่ต้องรอทั้งสองตัว ความเสี่ยงที่จะทำให้ตายจากโรคความดันเลือดสูงเร็วขึ้นมีสี่โรค คือ (1) CVD โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งรวมโรคหลอดเลือดสมองด้วย (2) CKD โรคไตเรื้อรัง (3) DM โรคเบาหวาน (4) HMOD โรคอวัยวะปลายทางเสียหายจากความดันสูง คือถ้าไม่มีโรคเหล่านี้ จะจำเป็นต้องใช้ยาก็ต่อเมื่อเป็นความดันสูงเกรด 2 แต่ว่าขณะที่เป็นความดันสูงเกรด1 อยู่ก็ไม่ใช่ว่าไม่รักษานะ ต้องรักษาตัวเองด้วยวิธีไม่ใช้ยาทั้ง 9 วิธีที่ผมบอกข้างต้นแล้วอย่างเข้มข้น ล้มแล้วลุกใหม่ ล้มแล้วลุกใหม่ ให้เวลาตัวเองให้นานพอ เป้าหมายคือเอาความดันกลับมาเป็นปกติ (130/85)ให้ได้
  2. กรณีที่เป็นคนที่มีความเสี่ยงตายเร็วขึ้นจากโรคความดันเลือดสูงทั้งห้าโรคข้างต้น ให้เริ่มใช้ยาเมื่อความดันเลือดสูงถึง 140/90 มม. คือถ้าเป็นโรคเสี่ยงห้าโรคนี้ แค่เป็นความดันสูงเกรด 1 ก็ต้องใช้ยาแล้ว โดยที่การรักษาตัวเอง 9 วิธีนั้นก็ทำคู่ขนาดไปกับการใช้ยา

ทั้งหมดนี้คงช่วยให้ท่านที่กินยาความดันเลือดสูงอยู่สามารถใช้บทความนี้ (1) วินิจฉัยตัวเอง (2) รักษาตัวเองก่อนด้วยวิธีไม่ใช้ยา (3) ตัดสินใจว่าตัวเองต้องใช้ยาเมื่อใด

สำหรับท่านที่กำลังกินยาความดันเลือดสูงอยู่แล้ว หากอยากลดยาหยุดยาความดันควรปรึกษาแพทย์ของท่านและควรเป็นการร่วมกันระหว่างคนไข้กับแพทย์ในการจัดทำแผนการลดยาหยุดยา เพราะยาความดันมีหลายชนิด กลไกการทำงานแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน บางชนิดหากหยุดยาพรวดพราดระบบของร่างกายตั้งรับไม่ทันก็มีผลเสียได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Unger T, Borghi C, Charchar F, Khan NA, Poulter NR, Prabhakaran D, Ramirez A, Schlaich M, Stergiou GS, Tomaszewski M, Wainford RD, Williams B, Schutte AE. 2020 International Society of Hypertension Global Hypertension Practice Guidelines. Hypertension. 2020 Jun;75(6):1334-1357. doi: 10.1161/HYPERTENSIONAHA.120.15026. Epub 2020 May 6. PMID: 32370572.

[อ่านต่อ...]

09 กันยายน 2564

ควรฉีดวัคซีนโควิดให้เด็กไหม

สวัสดีค่ะคุณหมอ

อยากรบกวนขอความคิดเห็นคุณหมอเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิดในเด็ก อายุต่ำกว่า 18ปีค่ะ (ลูก2คนอยู่ในกลุ่ม12-17ปี ไม่มีโรคประจำตัว)
1. ควรฉีดวัคซีนหรือไม่คะ (เพราะจากที่ติดตามข่าว เด็กกลุ่ม 12-17ปี มีอัตราการเข้า รพ. น้อย และอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กไม่มีโรคประจำตัว
2. หากมีทางเลือก ควรเลือกประเภทไหนคะ ระหว่าง วัคซีนเชื้อตาย และ mrna

หวังว่าอาจารย์จะช่วยให้แนวทางผู้ปกครองเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจด้วยค่ะ เพราะ หลายโรงเรียนเริ่มรวบรวมรายชื่อเด็กที่จะฉีดแล้วค่ะ

ขอบคุณค่ะ

………………………………………………………….

ตอบครับ

1.. ถามว่าเด็กอายุ 12-17 ปีมีวัคซีนให้ฉีดไหม ตอบว่ามีครับ แต่อายุต่ำกว่า 12 ปียังไม่มีวัคซีนที่วิจัยมาสำหรับกลุ่มอายุนี้โดยเฉพาะ ต้องรองานวิจัยใหม่

2. ถามว่าในแง่ของประโยชน์ ควรฉีดวัคซีนโควิดให้เด็กไหม ตอบว่าข้อมูลของศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐแนะนำให้ฉีดวัคซีนให้เด็กโดยอ้างอัตราตายของเด็กจากโควิดว่ามากอย่างมีนัยสำคัญพอที่จะใช้วัคซีนหากเทียบกับโรคอื่นๆที่ใช้วัคซีนอยู่เช่นวัคซีนหัด แต่ว่าที่เขาไปนับนั้นเป็นการตายของเด็กที่ตรวจ RT-PCR ได้ผลบวกทั้งหมด คือตายจากอะไรไม่รู้นับหมด ผมจึงไม่เชื่อถือข้อมูลของ USA-CDC

ข้อมูลทางอังกฤษเชื่อถือได้มากกว่า คือทั้งเกาะอังกฤษซึ่งมีประชากรเด็กราว 12 ล้านคน ตายเพราะโควิดเสีย 25 คน อัตราตาย 2 คนต่อล้านคน (0.001%) ในจำนวน 25 คนที่ตายนี้ 15 คนเป็นโรคเรื้อรังทางระบบประสาทและระบบอื่น จะเห็นว่าอัตราตายต่ำมากจนไม่คุ้มค่าที่จะไปฉีดวัคซีนแม้ว่าวัคซีนนั้นจะไม่มีความเสี่ยงเลยก็ตาม รัฐบาลอังกฤษจึงไม่ยอมฉีดวัคซีนให้เด็กแม้กระทั่งเด็กที่เป็นโรคเรื้อรังก็ไม่ยอมฉีดให้ เพราะประโยชน์ที่ได้มันน้อยเกินไป

การจะฉีดวัคซีนเพื่อหวังประโยชน์ไม่ให้เด็กเอาโรคไปติดปู่ย่าตายายที่บ้านนั้นเป็นตรรกะที่ไร้สาระ เพราะปู่ย่าตายายถูกจับฉีดวัคซีนไปเกือบหมดแล้ว เช่นในกทม.ฉีดผู้สูงอายุไปแล้ว 95%

การจะฉีดวัคซีนเด็กเพื่อช่วยให้สังคมเกิด herd immunity โดยเร็วก็เป็นเรื่องไร้สาระ เพราะด้วยอัตราการติดเชื้อหลังฉีดวัคซีน (breakthrough infection) ที่มากอย่างปัจจุบันนี้ herd immunity จากวัคซีนไม่มีวันเกิดขึ้น คนส่วนใหญ่จะต้องได้เป็นโรคโควิดกันถ้วนทั่วไม่วันใดก็วันหนึ่งข้างหน้า ไม่ว่าจะได้วัคซีนแล้วหรือไม่ได้ก็ตาม

3. ถามว่าในแง่ความเสี่ยงของการฉีดวัคซีนให้เด็กมีอะไรบ้าง ตอบว่ายังไม่รู้ เพราะงานวิจัยระยะที่สามของวัคซีนทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นามีเด็กอายุ 12-17 ปีเป็นอาสาสมัครร่วมวิจัยน้อยมาก ถ้าผมจำไม่ผิดไฟเซอร์มีราวสามพันคน โมเดอร์นามีราวสองพันคน สมมุติว่าถ้ามีผลร้ายของวัคซีนต่อเด็กเกิดในอัตรา 1:5000 (ซึ่งถือว่าเป็นอัตราสูงมาก) แต่งานวิจัยทั้งสองอาจไม่พบผลร้ายนั้นเลยเพราะกลุ่มตัวอย่างน้อยเกินไป ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีนั้นยังไม่มีงานวิจัยเลย ต้องรองานวิจัยใหม่แน่นอน

4. ถามว่าถ้าพ่อแม่อยากจะฉีดวัคซีนให้เด็กควรเลือกฉีดวัคซีนตัวไหน ตอบว่าข้อมูลปัจจุบันนี้ยังมีไม่พอที่จะให้คำแนะนำนี้ได้ เพราะความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีนในเด็กไม่มีข้อมูลเลย

แต่ถ้าจะให้ผมแนะนำโดยถือเอาตามอคติส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับหลักฐานวิทยาศาสตร์ ผมแนะนำให้เลือกวัคซีนเชื้อตายเช่น sinovac เป็นอันดับแรก คือปลอดภัยสูงสุด รองลงมาผมแนะนำวัคซีน mRNA โดยผมไม่แนะนำวัคซีน virus vector (DNA vaccine) คำแนะนำของผมมีพื้นฐานอยู่บนความกลัวกลไกการทำงานของวัคซีนชนิดไวรัสเว็คเตอร์ซึ่งต้องอาศัยไวรัสเอาตัววัคซีนซึ่งเป็น DNA เข้าไปปล่อยในเซลของมนุษย์ ซึ่งมันจะเข้าไปในนิวเคลียสของเซล ไปแจมกับรหัสพันธุกรรม (DNA) ของคน เพื่อให้เกิดการก๊อปปี้เอาคำสั่งผลิต (mRNA) ออกมาเพื่อส่งคำสั่งนี้ไปให้ไรโบโซมซึ่งเป็นโรงงานผลิตของเซลทำการผลิตโปรตีนชื่อ spike protein ออกมาเป็นเป้าล่อให้ระบบภูมิคุ้มกันผลิตแอนตี้บอดี้ออกมาทำลายเป้านี้ ประเด็นสำคัญคือยังไม่มีใครรู้ว่า DNA vaccine เข้าไปแจมกับ DNA ของคนอีท่าไหน แจมแล้วจะทิ้งบางท่อนไว้กลายเป็นรหัสพันธ์ุกรรมถาวรหรือเปล่า พูดง่ายๆว่ายังไม่มีใครรู้ว่าวัคซีนชนิดนี้จะเกิดการเปลี่ยนยีนของมนุษย์หรือเปล่า กว่าจะรู้ก็ต้องรอให้เด็กที่ได้วัคซีนออกลูกมาแล้วโน่นแหละ

ส่วนกลไกการทำงานของวัคซีน mRNA ซึ่งเป็นของใหม่เหมือนกันนั้นไม่ฉวัดเฉวียนเท่า คือตัววัคซีนทำหน้าที่เป็นใบสั่งผลิตวิ่งตรงไปหาไรโบโซมเพื่อสั่งผลิต spike protein เลยโดยไม่เข้าไปในนิวเคลียส ไม่ไปยุ่งกับ DNA ของเซลมนุษย์

สำหรับวัคซีนเชื้อตายนั้นไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นวัคซีนที่เด็กๆได้กันมาตั้งแต่เล็กจนโต

พูดถึงวัคซีนที่เด็กๆได้สมัยนี้คุณเชื่อไหมเด็กคนหนึ่งกว่าจะโตมาได้ต้องได้วัคซีนกี่เข็ม ต้องได้ถึง 40 เข็มเชียวนะ เพราะยิ่งวิชาความรู้แพทย์เจริญ มีบริษัทผู้ผลิตมาก มีหมอมาก วัคซีนยิ่งออกมามาก ลูกค้าซึ่งก็คือเด็กก็ต้องเดือดร้อนและเจ็บตัวกันไปตามระเบียบ พูดก็พูดเถอะ ความเจริญของวัคซีนนี้ แม้แต่ไก่ก็ยังเดือดร้อนเลย วันก่อนผมมีความคิดจะหาซื้อไก่สาวไปให้สามีของเด็กแม่บ้านเลี้ยงเป็นการให้หัดผลิตอาหารกินเองแบบเศรษฐกิจพอเพียง จึงไปช็อปไก่ดู คนขายไก่คุยว่าไก่ของเขาสุขภาพดีและได้วัคซีนครบถ้วน ผมถามว่าแต่ละตัวได้วัคซีนไปทั้งหมดกี่เข็ม คนขายไก่ตอบว่าได้ตัวละ 18 เข็ม

“…ฮ่า ฮ่า ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น”

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]