(ภาพวันนี้: ผลกระบองเพชร)
เรียนอาจารย์สันต์ที่เคารพ
ผมเป็นพชท2 อยู่ที่ … จังหวัด … ผมติดตามอาจารย์มาตั้งแต่จบแพทย์ มีความเห็นว่าการแพทย์แบบ specialty แก้ปัญหาให้ผู้ป่วยได้น้อย เมื่อได้เป็นหมอแล้ว ผมอยากจะทำอะไรก็ตามที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีขึ้นจริงๆ ผมจะปรีกษาอาจารย์ว่าตอนนี้กรมอนามัยเขาเปิดฝึกอบรมเวชศาสตร์วิถีชีวิตขึ้นมาเป็นสาขาใหม่ที่แพทยสภายอมรับและกระทรวงสธ.ยอมรับให้เอาวุฒิบัตรมาปรับเงินเดือนได้ ผมจะไปสมัครเทรนนิ่งนี้แทนการเข้าเทรน med ในโรงพยาบาลดีไหมครับ ที่ผมถามเพราะผมเองไม่เข้าใจว่าแท้จริงแล้วเวชศาสตร์วิถีชีวิตมันคืออะไร เขาฝึกอบรมกันอย่างไร ในอเมริกาซึ่งอาจารย์บอกว่าเป็นต้นแบบเขาฝึกอบรมกันอย่างไร ในเมืองไทยเขาฝึกอบรมกันอย่างไร แล้วเวชศาสตร์วิถีชีวิตนี้มันต่างจากเวชศาสตร์ป้องกันและเวชศาสตร์ครอบครัวอย่างไร การที่เป็นสาขาเปิดใหม่ คนเรียนมีน้อย คนสอนไม่มีประสบการณ์ทางด้านนี้เลย ผมจะเสียเวลาไปเปล่าๆอีกสามปีหรือเปล่าครับ
ถ้าอาจารย์มีอะไรจะชี้แนะเพิ่มก็ขอความกรุณาด้วยครับ
…………………………………………………………..
ตอบครับ
1.. คุณหมอถามว่าเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) คืออะไร ตอบว่าคือการป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง (เช่นโรคหัวใจหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคอ้วน เป็นต้น) ด้วยการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตแทนการใช้ยาให้ได้มากที่สุด โดยมีเสาหลักของวิชานี้ 6 เรื่อง คือ (1) อาหารพืชเป็นหลักแบบใกล้เคียงธรรมชาติ (WFPB) (2) การออกกำลังกาย (3) การแก้ปัญหาการนอนไม่หลับหรือหลับไม่พอ (4) การจัดการความเครียด (5) การหลีกเลี่ยงสารพิษจากนอกร่างกาย (6) การสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับคนรอบตัว โดยทั้งหมดนี้ยึดแนวทางการแพทย์แบบอิงหลักฐาน
2.. ถามว่าการฝึกอบรมสาขาเวชศาสตร์วิถีชีวิตในอเมริกาเขาทำกันอย่างไร ตอบว่าวิทยาลัยเวชศาสตร์วิถีชีวิตอเมริกัน (ACLM) เป็นผู้จัดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านและออกวุฒิบัตร วิธีเข้าฝึกอบรมเข้าได้สองทาง (pathway) คือ
Experiential pathway ต้องจบอเมริกันบอร์ดเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาใดสาขาหนึ่งมาแล้วอย่างน้อยสองปีแล้วมาเข้าเรียนและสอบเอาอเมริกันบอร์ดเวชศาสตร์วิถีชีวิต (ABLM) เนื้อหาของเรื่องที่ต้องเรียนต้องสอบหาอ่านได้ในเว็บไซท์ของ ACLM
Educational pathway เป็นการเข้าฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน 3 ปี หลังจากจบอินเทอร์น มีสถาบันที่เปิดฝึกอบรมประมาณ 25 แห่งทั่วสหรัฐฯ เนื้อหาของหลักสูตร (LMRC) ประกอบด้วยภาคทฤษฏีตามเนื้อหาที่กำหนดไม่ต่ำกว่า 100 ชม. และภาคปฏิบัติกับผู้ป่วยอย่างน้อย 400 เคส และปฏิบัติ intensive therapeutic lifestyle change program (ITLC) ไม่ต่ำกว่า 20 ชม. และฝึกอบรมผ่าน group facilitation อีก 20 ชั่วโมง ผมทราบรายละเอียดบ้างพอควร เพราะมีเพื่อนหมออเมริกันที่ยังทำงานให้ ACLM อยู่บ้าง
3.. ถามว่าการฝึกอบรมสาขาเวชศาสตร์วิถีชีวิตในประเทศไทยทำอย่างไร ตอบว่า ผมสารภาพว่าผมไม่ทราบรายละเอียดมากนัก ทราบแต่ว่ากรมอนามัย โดยสถาบันปัณณฑัต (ซึ่งก็คืออาคารชั้น 6 กรมอนามัยที่ใช้ฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ป้องกันนั่นแหละ) เป็นผู้ให้การฝึกอบรม โดยฝึกอบรมอยู่กับกรมอนามัยใน 2 ปีแรก แล้วไปเรียนป.โทในสาขาที่เกี่ยวข้องอีก 1 ปี รูปแบบของการฝึกอบรมก็มีทั้ง
(1) การนั่งฟังการสอนโดยอาจารย์
(2) การสัมนาวิชาการเช่น journal club เป็นต้น
(3) การเรียนรู้จากสถาบันสมทบเช่น การดูงานในประเทศและต่างประเทศ เช่น สิงค์โปร์ และจีน เป็นต้น สถาบันในประเทศก็คงเป็นสถานพยาบาล (ศูนย์อนามัย) ในสังกัดกรมอนามัยนั่นแหละ
(4) การเรียนวิชาเลือกเช่น อาชีวเวชศาสตร์ที่รพ. นพรัตน์ฯ และเวชศาสตร์ป้องกันคลินิกที่รพ.ศิริราช และวิชาเลือกเสรี เป็นต้น
(5) ทำวิจัยขณะอยู่ปี 2 หนึ่งเรื่อง และวิทยานิพนธ์ป.โทขณะอยู่ปี 3 อีกหนึ่งเรื่อง
รายวิชาขั้นละเอียดตามที่สถาบันปัณณฑัตเปิดเผยออกมามีดังนี้
4.. ถามว่าเวชศาสตร์วิถีชีวิตต่างจากเวชศาสตร์ป้องกันและเวชศาสตร์ครอบครัวอย่างไร นี่ผมตอบตามคำนิยามของผมเองซึ่งเห็นจากพัฒนาการของทั้งสามสาขานี้ในอเมริกานะ ว่ามันต่างกันดังนี้
4.1 เวชศาสตร์วิถีชีวิต เน้นการป้องกันและรักษาโรคเรื้อรังโดยการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตแทนการใช้ยา
4.2 เวชศาสตร์ป้องกัน เน้นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และควบคุมโรค ทั้งในระดับชุมชน (เช่นการสุขาภิบาล การสอบสวนโรค) และระดับบุคคล (เช่นการฉีดวัคซีน การปฏิบัติตามหลักอนามัยส่วนบุคคล เป็นต้น)
4.3 เวชศาสตร์ครอบครัว เน้นการให้บริการสุขภาพระดับปฐมภูมิคือเป็นหมอคนแรกของคนไข้ ด้วยวิธีเอาตัวผู้ป่วยและครอบครัวเป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหา ไม่ได้เอาโรคเป็นศูนย์กลางอย่างระบบเฉพาะทางของแต่ละอวัยวะ
5, ถามว่ามีความสนใจที่จะช่วยให้คนป่วยมีสุขภาพดีแต่ขณะเดียวกันก็มองเห็นว่าระบบ specialty ช่วยอะไรได้น้อย จะไปฝึกอบรมเวชศาสตร์วิถีชีวิตดีไหม ตอบว่าแค่ (1) คุณยอมรับว่าระบบการรักษาตาม specialty ในโรงพยาบาลช่วยผู้ป่วยได้น้อยและ (2) คุณมีความอยากที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีอย่างแท้จริง แค่คุณมีสองอย่างนี้คุณจะไปเรียนต่อหรือไม่เรียน หากเรียนจะเรียนอะไร หากไม่เรียนจะไปทำอะไรต่อไป ตราบใดที่คุณการเอาสองอย่างนี้เป็นแรงผลักดัน มันดีทั้งนั้นแหละครับ คุณจะเอาแบบไหนก็ได้ทั้งนั้น ผมสนับสนุนหมด คือผมสนับสนุนการที่คุณหันหลังให้ระบบการรักษาโรคแบบ specialty ในโรงพยาบาล และสนับสนุนการที่คุณอยากช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีขึ้นอย่างได้ผลจริงๆ
คุณอย่าไปสนใจประเด็นจิ๊บจ๊อยอื่นๆ เช่น โปรแกรมเกิดใหม่ มีคนเรียนน้อย อาจารย์ไม่มีชื่อเสียง อาจารย์ไม่มีประสบการณ์ด้านนี้เลย สิ่งเหล่านั้นไม่สำคัญเท่าสองอย่างที่คุณมีอยู่ในกระเป๋าแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวชศาสตร์วิถีชีวิตนี้ เนื้อหาวิชาจริงคือการรักษาโรคเรื้อรังโดยการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตแทนยา มันยังไม่มีใครรู้จริงสักคนว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำให้คนส่วนใหญ่เปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตได้สำเร็จอย่างแน่นอน ตัวผมเองซึ่งทำเรื่องนี้อย่างเดียวมาตลอด 15 ปีหลังมานี้ ผมก็ยังไม่รู้จริงเลย ความรู้จริงในเรื่องการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตมันมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างหลากหลายฝังอยู่ในตัวคนไข้แต่ละคน ต้องขุดเอาความรู้นั้นออกมาขยายและเรียนรู้ทีละแง่ทีละมุม วิธีขุดก็คือการวิจัยทางคลินิกนั่นแหละ ผู้ขุดก็คือแพทย์ที่สนใจศึกษาเรียนรู้ทางด้านนี้อย่างคุณอย่างผมนี่ไง มันไม่ใช่วิชาที่จะเอาอาจารย์ระดับเทพมาบรรยายให้คุณฟังแล้วคุณจะเอาคำบรรยายนั้นไปเสกให้คนไข้เปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตได้สำเร็จ ดังนั้นแค่โปรแกรมฝึกอบรมเขามีที่นั่งให้คุณเปิดคอม มีทุนให้คุณทำวิจัย ให้โอกาสคุณได้ไปทดลองรักษาคนไข้ด้วยวิธีเวชศาสตร์วิถีชีวิตในสถานพยาบาลของเขา จบแล้วมีบอร์ดที่คุณเอาไปปรับวุฒิปรับเพิ่มเงินเดือนในระบบราชการได้ แค่นี้ชาติก็ช่วยคุณแยะแล้วนะ ที่เหลือเป็นเรื่องที่คุณจะต้องช่วยชาติบ้างละมังครับ
6. ข้อนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมแถมให้ กรณีที่คุณจะไปฝึกอบรมสาขาเวชศาสตร์วิถีชีวิต อย่าลืมว่าสาขานี้คือการรักษาโรคเรื้อรังด้วยการเปลี่ยนวิถีชีวิตแทนยา สมควรที่คุณควรจะทำสองอย่างก่อน คือ (1) คุณเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวคุณเองให้สำเร็จก่อน (2) คุณควรจะหาความเจนจัดเกี่ยวกับโรคเรื้อรัง และเกี่ยวกับยารักษาโรคเรื้อรังให้ลึกซึ้งถึงกึ๋นก่อนให้ได้มากที่สุดยิ่งดี วิธีหาความเจนจัดก็คือขยันออกโอพีดี. ขยันออกอีอาร์ ขยันราวด์วอร์ด ที่รพ.ของคุณหมอนั่นแหละ มองโรคของคนไข้ให้เห็นอย่างลึกซึ้ง คือพูดง่ายๆว่าคุณควรเป็น clinician ที่รักษาคนไข้ด้วยยาอย่างเจนจัดมาก่อน มองเห็นประสิทธิผลและข้อจำกัดของยามาแล้วอย่างทะลุปรุโปร่ง อธิบายตอบคำถามคนไข้ได้ละเอียดยิบ คุณจึงจะช่วย motivate คนไข้ให้เปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตแทนการกินยาได้สำเร็จ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์