28 พฤษภาคม 2564
21 พฤษภาคม 2564
แค้มป์เสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค (IIC-1, Immunity Improvement Camp)
(แจ้งประชาสัมพันธ์แค้มป์ ไม่ใช่บทความให้ความรู้)
ภาพรวม
เป็นแค้มป์หนึ่งวันหนึงคืนที่สอนโดยแพทย์ สอนเป็นกลุ่มเล็กๆไม่เกิน 10-15 คน มาฝึกวิธีสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้ตัวเอง และเรียนรู้การป้องกันตัวเองจากโรคโควิด ผ่านอาหาร การออกกำลังกาย การฝึกผ่อนคลาย วางความคิด ลดความเครียด การใช้วิตามินและแร่ธาตุที่มีผลเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันโรค นอกจากนี้ก็ถือโอกาสอยู่กับธรรมชาติ เอาเท้าเปล่าสัมผัสดิน แช่น้ำ ตากแดด ตากลม โปรแกรมนี้มีเฉพาะช่วงโควิด ลดราคาเหลือเพียงประมาณ 30% ของแค้มป์ปกติ คือมาคนเดียว พักหนึ่งห้องคนเดียวทั้งห้อง หนึ่งวันหนึ่งคืน 2,000 บาท รวมอาหารสามมื้อ
เนื้อหา
1.. การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคตามหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์
1.1 ออกกำลังกายทุกวัน
1.2 กินอาหารที่มีพืชเป็นหลักที่หลากหลายในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ
1.3 นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
1.4 จัดการความเครียดให้จิตใจผ่อนคลายปลอดความเครียด
1.5 การได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่มีผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันโรค
2.. การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคแบบนอกวิถีการแพทย์แผนปัจจุบัน
2.1 การสัมผัสดินสัมผัสหญ้าด้วยมือเปล่าเท้าเปล่า
2.2 การสัมผัสแดดสัมผัสลม
2.3 การสัมผัสหรือแช่น้ำ
2.4 การสัมผัสไฟ
2.5 การกินพืชสมุนไพรบางชนิดเช่น ขมิ้นชัน สะเดา เป็นต้น
2.6 การพาตัวเองออกจากที่แออัด ไปอยู่ในธรรมชาติ ต้นไม้ ป่าเขา ลำเนาไพร
2.8 การปฏิบัติตนเพื่อลดความคิดลดความเครียด เช่น โยคะ หรือรำมวยจีน หรือสมาธิ
วันเวลา
แค้มป์แรก IIC-1 วัน เสาร์ที่ 19 มิย. 2564 (หนึ่งวันหนึ่งคืน)
แผนกิจกรรม
สถานที่: เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ (Wellness We care Center) มวกเหล็ก-เขาใหญ่
9.00-10.00 น. เดินทางถึงเวลเนสวีแคร์ (มวกเหล็ก-เขาใหญ่) เช็คอินที่บ้าน Grove House เข้าห้องพัก ทำกิจธุระส่วนตัว
10.00-10.30 Site Tour ทัวร์สถานที่
10.30-12.00 Meet the doctor ฟังแพทย์บรรยายและตอบคำถามเรื่องภูมิคุ้มกันและโรคโควิด-19
12.00-13.00 Lunch อาหารกลางวัน
13.00-16.00 Activities with nature (เดินเท้าเปล่าเหยียบดิน, แช่น้ำ, ตากแดด, อยู่กับธรรมชาติ มีสต๊าฟดูแลอำนวยความสะดวก)
16.00-17.00 Yoga for relaxation and meditation โยคะและสมาธิ
17.00-18.00 Evening walk เดินออกกำลังกายตอนเย็น
18.00 – 19.00 Dinner อาหารเย็น
แล้วเข้าที่พักส่วนตัวของแต่ละคน
ค่าลงทะเบียน
คนละ 2000 บาท (พักคนละหนึ่งห้อง) รวมอาหาร (มังสวิรัติแบบมีไข่ เสริฟเป็นเซ็ทส่วนตัว) สามมื้อ และที่พักหนึ่งคืน
วิธีลงทะเบียนเข้าเรียน
โทรศัพท์ลงทะเบียนกับเวลเนสวีแคร์ที่หมายเลขคุณวิไลพร (เฟิร์น) 0636394003 หรือไลน์ @wellnesswecare หรืออีเมล host@wellnesswecare.com
การเตรียมตัวไปเข้าคอร์ส
แนะนำให้เตรียมเครื่องแต่งกายที่เคลื่อนไหวทำกิจกรรมและออกกำลังกายสะดวก ควรมีรองเท้าแตะที่ถอดเดินเท้าเปล่าได้ง่าย มีรองเท้าผ้าใบสำหรับเดินออกกำลังกาย และควรมีหมวกกันแดด ครีมกันแดด ในกรณีที่จะลงแช่น้ำในสระว่ายน้ำ ควรนำชุดอาบน้ำ ที่คลุมผม และแว่นกันน้ำมาด้วย
การเดินทางไปเข้าคอร์ส
เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ตั้งอยู่ในมวกเหล็กวาลเลย์ เลขที่ 204/39 ม.5 ต.มิตรภาพ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว หรือขึ้นรถตู้กทม.-มวกเหล็ก หรือรถไฟ (ลงสถานีมวกเหล็ก) ในกรณีเดินทางด้วยรถตู้หรือรถไฟ ต้องหารถรับจ้างจากตลาดมวกเหล็กเข้ามาส่งเอาเอง ค่ารถมอเตอร์ไซค์ส่งจากตลาดราว 150 บาท (เวลเนสวีแคร์ซึ่งตั้งอยู่ในมวกเหล็กวาลเลย์อยู่ห่างจากตลาดมวกเหล็กราว 4 กม.) อาจให้รถตู้จากกทม.แวะเข้ามาส่งก็ได้โดยต้องเพิ่มเงินให้เ้ขาประมาณ 150 บาท
กรณีเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ให้ใช้ Google Map โดยพิมพ์คำว่า “เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์” มวกเหล็ก สระบุรี
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
…………………………………………………….
19 พฤษภาคม 2564
ประชาชนคนธรรมดา จะมีอะไรช่วยจากโควิดกลายพันธ์ได้อีกบ้าง
ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม เมื่อผมบอกน้องๆในเวลเนสวีแคร์ว่าผมจะจบโปรแกรมการฟื้นฟูหลังป่วยหนักของผมปลายเดือน น้องๆถามว่าเมื่อผมแข็งแรงทำงานได้เหมือนเดิมแล้ว จะมีแผนเกี่ยวกับการใช้งานเวลเนสวีแคร์อย่างไรต่อไป ผมตอบน้องๆไปว่าให้อยู่นิ่งๆไปก่อน แล้วค่อยไปเริ่มทำแค้มป์สอนต่างๆตอนปลายปี เพราะข้อมูลที่มีอยู่ตอนนั้นผมคาดการณ์ว่าเรื่องโควิดทั่วโลกและในประเทศไทยจะซาลงจนชีวิตผู้คนจะกลับมามีกิจกรรมได้ใกล้เคียงปกติประมาณปลายปีนี้
แต่พอวันต่อมาได้อ่านข่าวชิ้นหนึ่งในหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ก็อึ้งและรู้ทันทีว่าที่ตัวเองคาดการณ์เรื่อง โควิดจะจบปีนี้นั้นผิดไปเสียแล้ว ข่าวนั้นเป็นข่าวเล็กๆตั้งแต่วันที่ 14 พค. 64 ซึ่งหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ลงข่าวว่าพนักงานสนามบินชางอีของสิงค์โปรจำนวน 28 คน ติดเชื้อโควิดสายพันธ์อินเดีย (B.1.617) โดยที่ในจำนวนนี้ 19 คนได้รับการฉีดวัคซีนชนิด m-RNA (ของไฟเซอร์และของโมเดอร์นา) ครบถ้วนสองโด้สแล้วก่อนหน้าการติดเชื้อครั้งนี้ ส่วนอีก 9 คนยังไม่เคยได้รับวัคซีนใดๆ
ข่าวนี้เป็นข่าวเล็กๆสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับคนในวงการวิจัยทางการแพทย์ นี่คือผลวิจัยแบบ match case control ที่ถูกออกแบบไว้อย่างดีโดยไม่ได้ตั้งใจ คือกลุ่มคนอายุใกล้กัน (พนักงานวิสาหกิจ) อยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบเดียวกัน ทำงานแบบเดียวกันในที่เดียวกัน ได้สัมผัสโรคเท่าๆกัน กลุ่มหนึ่งได้วัคซีนครบแล้ว อีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้วัคซีนเลย แล้วมานับหัวดูว่ากลุ่มไหนจะติดโรคมากกว่ากัน ปรากฎว่าทั้งสองกลุ่มติดโรคไม่ต่างกัน พูดง่ายๆว่างานวิจัยนี้สรุปผลได้เลยว่าวัคซีน m-RNA ไม่เวอร์คกับไวรัสโควิดสายพันธ์อินเดีย ผลวิจัยชิ้นเล็กๆและเกิดเองโดยไม่ตั้งใจนี้ได้ทำลายความเชื่อเดิมของวงการแพทย์ทั่วโลกที่ว่าการออกแบบวัคซีนที่ทำมาสามารถครอบคลุมการกลายพันธ์ได้ไปเสียแล้ว เว้นเสียแต่ว่าจะมีงานวิจัยที่ใหญ่และดีกว่านี้มาหักล้าง และได้ก่อให้เกิดวิสัยทัศน์ใหม่ว่าทุกอย่างจะต้องกลับไปตั้งต้นกันที่สนามหลวงเป็นรอบๆอีกไม่รู้กี่รอบ หมายความว่าไวรัสกลายพันธ์ตัวใหม่ๆ จะดื้อวัคซีนเก่า โลกก็ต้องเริ่มผลิตวัคซีนใหม่มาสู้กันในรอบใหม่ โดยที่ระยะเวลาของแต่ละรอบนั้นสั้นมาก เพราะเราเพิ่มติดเชื้อโควิด 19 กันมาแค่สองปีเอง มีไวรัสกลายพันธ์ระดับตัวกลั่นๆที่เรียกว่า variants of concern ขึ้นมาสี่สายพันธ์แล้ว คือพันธ์อังกฤษ อัฟริกา บราซิล และอินเดีย โดยสายพันธ์อินเดียเป็นน้องใหม่สุด แต่ก็แรงที่สุด คือแพร่เร็วกว่า แถมดื้อวัคซีนอีกต่างหาก
ถ้าท่านข้องใจว่าทำไมมันกลายพันธ์กันได้อย่างไร ผมอธิบายอย่างนี้ ลองนึกถึงกุญแจระหัสล็อคจักรยาน ในกุญแจนั้นจะมีล้อหมุนเล็กๆเรียงกันอยู่สามอัน แต่ละล้อหมุนมีตัวเลข 1-9 ให้เป็นตัวเลือก หากหมุนเอาตัวเลือกที่ถูกต้องขึ้นมาเรียงกันได้พร้อมหน้ากันทั้งสามล้อ เราก็เปิดกุญแจได้ คราวนี้ลองนึกภาพกุญแจระหัสแบบใหม่ แต่ละล้อหมุนมีแค่สี่ตัวเลือก แต่ว่ามีจำนวนล้อหมุนเรียงกันอยู่ถึง 30,000 ล้อ กุญแจแบบนี้หนึ่งอันนี่แหละคือชุดรหัสพันธุกรรม (genome) ของไวรัสหนึ่งตัว เวลามันก๊อปปี้ลูกออกมาทีหนึ่ง มันก็คัดลอกกุญแจทั้งชุดนี้ไปให้ลูกมันทีหนึ่ง แต่ในการคัดลอกมันก็มีบ้างที่ตัวเลือกบางล้อหมุนผิดเพี้ยนหรือชำรุด จึงได้ลูกที่แหกคอก หากแหกคอกแล้วอ่อนแอมันก็ตายไป แต่หากแหกคอกแล้วแข็งแร็งกว่าแม่ของมัน มันก็ยิ่งขยายตัวเร็ว อย่างเช่นไวรัสโควิดสายพันธ์อินเดียนี้เป็นต้น โปรดสังเกตว่ายิ่งไวรัสมีโอกาสก๊อปปี้เอาลูกออกมามาก ยิ่งมีโอกาสได้ลูกแหกคอกมาก ดังนั้นท่านอ่านแล้วจะคิดว่างั้นไม่ต้องฉีดวัคซีนแล้วเพราะไหนๆมันก็ไม่ได้ผลแล้วก็ยิ่งเป็นการคิดผิด เพราะเราฉีดวัคซีนเพื่อกำจัดไวรัสรุ่นแม่ที่ยังไม่ใช่พันธ์แหกคอกให้หมดก่อนที่มันจะทันได้ออกลูกแหกคอก หากไม่ฉีดวัคซีน ก็เท่ากับยิ่งเร่งให้ได้ลูกแหกคอกเร็วๆ ดังนั้นยิ่งเริ่มมีลูกแหกคอกดื้อวัคซีนออกมา เรายิ่งต้องรีบฉีดวัคซีน
อนาคตจากนี้ไป วงการแพทย์ก็ต้องดิ้นรนสอบสวนควบคุมโรครอบใหม่ๆกันต่อไป เหมือนอย่างที่สิงคโปร์กลับไปล็อคดาวน์ประเทศอีกครั้ง ขณะเดียวกันวงการยาก็ต้องตั้งหน้าผลิตวัคซีนตัวใหม่ๆกันต่อไป ผมตั้งคำถามขึ้นมาในใจว่าแล้วประชาชนคนธรรมดาละ มีอะไรที่เขาจะช่วยตัวเองได้บ้าง นอกเหนือไปจากสูตรสำเร็จสี่ประการที่สอนกันมาจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกแล้ว คือ สวมหน้ากาก, อยู่ห่าง, ล้างมือ, ฉีดวัคซีน นอกจากนี้แล้วมีอะไรที่ประชาชนตาดำๆจะทำเพื่อปกป้องตัวเองได้อีกไหม
คำตอบก็คือ มีสิ คือการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันโรคของตัวเองไง personal immunity improvement ใช่แล้ว นี่จะเป็นทางไปทางเดียวที่เหลืออยู่อย่างแท้จริงของเผ่าพันธ์มนุษย์ขณะที่การผลิตวัคซีนไล่ตามหลังไวรัสสายพันธ์ใหม่ยังตามกันไม่จบ ซึ่งไม่รู้ว่าจะต้องตามกันไปกี่ปี สองปี ห้าปี สิบปี ผมไม่อาจรู้ได้ รู้แต่ว่าสงครามระหว่างคนกับไวรัส หากไม่เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันโรคของคนให้กลับมาทำงานได้เต็มกำลังตามที่ธรรมชาติให้มา ยังไงไวรัสก็จะชนะ เพราะไวรัสหากินโดยการตัดแต่งพันธุกรรมของคนและสัตว์เพื่อให้เซลของคนและสัตว์ปั๊มลูกของไวรัสออกมาให้มันขณะเดียวกันลูกหลานของมันก็กลายพันธ์เรื่อยไปจนวัคซีนตามไม่ทัน เมื่อสัตว์ป่าสูญพันธ์ไปหมดแล้วไวรัสก็ยังมีมนุษย์ซึ่งมีมากจนเกือบจะล้นโลกและส่วนใหญ่มีระบบภูมิคุ้มกันโรคที่อ่อนแอไว้ให้มันเป็นที่อยู่อาศัยและแพร่ลูกหลาน แล้วไวรัสจะแพ้คนได้อย่างไร
การเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันส่วนตัวเป็นสิ่งที่ทุกคนทำเองได้ด้วยหลักการง่ายๆดังนี้
1.. ถ้าจะเอาตามหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็ต้อง
1.1 ออกกำลังกายทุกวัน
1.2 กินอาหารที่มีพืชเป็นหลักที่หลากหลายในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ
1.3 นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
1.4 จัดการความเครียดให้จิตใจผ่อนคลายปลอดความเครียด
1.5 การเสริมวิตามินและเกลือแร่ที่มีผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกัน เช่นวิตามินดี. วิตามินซี. และแร่ธาตุเช่นสังกะสี ในเรื่องนี้หากจะให้ง่ายก็คือออกแดดทุกวันร่วมกับกินวิตามินแร่ธาตุรวมสักวันละเม็ดก็โอเคแล้ว
2.. ถ้าจะเอาตามไสยศาสตร์ หิ หิ ความจริงเป็นหลักของโยคีอินเดียเพราะหมอสันต์มีครูเป็นโยคีอินเดียด้วย จึงทำตามที่โยคีสอน คือ
2.1 การสัมผัสดินสัมผัสหญ้าด้วยมือเปล่าเท้าเปล่า
2.2 การสัมผัสแดดสัมผัสลม
2.3 การสัมผัสน้ำหรือแช่น้ำ
2.4 การสัมผัสไฟ
2.5 การไม่กินเนื้อสัตว์
2.6 การกินพืชสมุนไพรบางชนิดเช่น ขมิ้นชัน สะเดา เป็นต้น
2.7 การพาตัวเองออกจากที่แออัด ไปอยู่ในธรรมชาติ ต้นไม้ ป่าเขา ลำเนาไพร
2.8 การปฏิบัติตนให้หมดความคิดเพื่อเข้าถึงความว่างข้างใน เช่น โยคะ รำมวยจีน สมาธิ
เขียนมาถึงตรงก็คิดขึ้นได้ว่ายังมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่มีที่ไป หมายความว่าอยู่บ้านก็แออัดหรืออึดอัด อีกจำนวนหนึ่งอยากเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคให้ตัวเองแต่ทำเองไม่ได้เพราะพลังมีไม่มากพอ น่าจะเปิดให้เวลเนสวีแคร์เป็นที่ให้คนมาเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้ตัวเองคงจะดีกว่าปิดไว้เฉยๆระหว่างรอโควิดจบ จึงเรียกประชุมน้องๆสต๊าฟแล้วแจ้งนโยบายว่าเริ่มตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ตราบใดที่ปัญหาโควิดยังไม่จบซึ่งผมคาดหมายว่ากว่าจะจบคงจะใช้เวลาอีกนาน..น เวลเนสวีแคร์จะเป็นที่สอนให้คนรู้วิธีสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง ในรูปแบบของ
(1) รีทรีตสร้างภูมิคุ้มกันโรค Immunity Improvement Retreat (IIR) เป็นการปลีกหลีกเร้นจากที่อยู่เดิมที่ไม่เอื้อต่อการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคหรือเสี่ยงต่อการติดโรค มาลี้ภัยพักผ่อนขณะเดียวกันก็ได้ฝึกปฏิบัติวิธีเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้ตัวเองเอาจากวิถีชีวิตขณะอยู่ในเวลเนสวีแคร์ หมายความว่าทำเอง ในลักษณะมาแบบตัวใครตัวมัน ไม่ยุ่งกับคนอื่น จะอยู่นานกี่วันกี่คืนก็ตามสะดวกของใครของมัน โดยช่วงโควิดนี้ลดค่าบริการลงเหลือต่ำ 50% ของเวลาปกติ คือมาคนเดียว นอนหนึ่งห้องคนเดียวทั้งห้อง กินอาหารแบบเป็นเซ็ท (มังสวิรัติแบบมีไข่) ส่วนตัวไม่ยุ่งกับใครวันละสามมื้อ เสียเงินแค่วันละ 1,000 บาท
(2) แค้มป์สร้างภูมิคุ้มกันโรค Immunity Improvement Camp (IIC) เป็นแค้มป์หนึ่งวันหนึ่งคืนที่สอนโดยแพทย์ สอนเป็นกลุ่มเล็กๆคราวละ 10-15 คน มาฝึกวิธีสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้ตัวเองผ่านอาหาร การออกกำลังกาย การฝึกผ่อนคลาย วางความคิด ลดความเครียด และเรียนการใช้วิตามินและแร่ธาตุที่มีผลเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันโรค โดยมีแพทย์สอนและตอบคำถาม นอกจากนี้ก็ถือโอกาสอยู่กับธรรมชาติ เอาเท้าเปล่าสัมผัสดินและหญ้า จุ่มน้ำ แช่น้ำ เอาผิวหนังสัมผัสแดด โปรแกรมนี้มีเฉพาะช่วงโควิด ลดราคาเหลือเพียงประมาณ 30% ของแค้มป์ปกติ คือมาคนเดียว พักหนึ่งห้องคนเดียวทั้งห้อง หนึ่งวันหนึ่งคืน รวมอาหารแบบเป็นเซ็ท (มังสวิรัติแบบมีไข่) ส่วนตัววันละสามมื้อ เสียเงิน 2,000 บาท
ท้ายนี้ จะอย่างไรเสีย ก็ขอให้ท่านเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันโรคของตัวเองนอกเหนือไปจากสวมหน้ากาก อยู่ห่าง ล้างมือ ฉีดวัคซีน ท่านจะทำเอง หรือมาทำที่เวลเนสวีแคร์ก็ได้ตามสะดวก เพียงแต่ขอให้ท่านทำ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
จดหมายจากท่านผู้อ่าน
เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพรักนับถืออย่างสูง
หนูอ่านเนื้อหาคุณหมอสันต์ละเอียดเรื่องนี้ แต่อ่านข่าวที่ลิ้งมานี้ไม่ละเอียด แค่หัวข้อเหมือนขัดแย้งกับคุณหมอสันต์ จึงส่งมา เผื่อคุณหมอจะเพิ่มการชี้แจงให้โลกรับรู้กันกว้างขวางขึ้น กับข้อมูลอีกด้านที่คุณหมอเห็นว่าเป็นหลักฐานว่าขัดแย้งกัน เพราะส่วนตัวหนูไม่มีความรู้ความสามารถวิเคราะห์อะไรได้เลย
ช่วงที่ผ่านมา หนูไม่ได้ส่งอีเมล์มารบกวนคุณหมออีก เพราะปรุงแต่งว่าอาจจะสร้างความเดือดร้อนให้คุณหมอ ตามที่คุณหมอประเมินไว้ในบล๊อก รวมถึงไม่ได้ส่งอีเมลมาโดยตรงถึงคุณหมอเมื่อมีปัญหาสุขภาพ ได้แต่ส่งความรักความห่วงใยผ่านไลน์ letmethin 1/2 กราบขออภัย????
ด้วยความเคารพรักนับถืออย่างสูง
ตอบครับ
ขอบคุณครับ
เป็นความหวังของทุกคนตั้งแต่ผลิตวัคซีนแล้วว่ามันจะครอบคลุม variants ได้หมด ซึ่งมันก็ครอบคลุมได้เป็นส่วนใหญ่ ที่แน่ๆก็คือวัคซีนป้องกันการเกิด variants ทุกตัวได้ด้วยการลดการติดเชื้อไวรัสตัวแม่ เมื่อแม่ไม่ออกลูก ก็ไม่มี variant และแม้เมื่อติดเชื้อ variants วัคซีนก็ยังลดความรุนแรงและอัตราตายลงได้ นี่เป็นความจริงที่ Dr. Fauci พูดถึงในคลิปจากข้อมูลพื้นฐานแต่ไม่ใช่จากผลวิจัยเปอร์เซ็นต์การดื้อวัคซีนของสายพันธ์อินเดียเพราะงานวิจัยผลของวัคซีนต่อสายพันธ์อินเดียในคนตรงๆยังไม่มี ส่วนงานวิจัยใน bioRxiv.org ที่นสพ.ที่คุณส่งมาอ้างถึงนั้นเป็นงานวิจัยในห้องทดลอง ซึ่งเป็นข้อมูลระดับที่ยังต้องรอฟังหลักฐานในคน ข้อมูลที่สิงค์โปร์เป็นหลักฐานในคนชิ้นแรกที่ทำให้เราทราบว่าวัคซีน m-RNA ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ variants สายพันธ์อินเดียได้มากอย่างที่เราหวัง นั่นเป็นเหตุผลที่รัฐบาลสิงค์โปร์ lockdown ประเทศอีกครั้งทั้งๆที่ฉีดวัคซีน m-RNA ไปแล้ว 3.4 ล้านโด้สจากประชากร 5.7 ล้าน
สันต์
14 พฤษภาคม 2564
ข้อเท็จจริงล่าสุดเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19
บทความนี้เป็นการรวบตอบอีเมลที่เข้ามาเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงของวัคซีนโควิด19 โดยจะค่อยๆจับไปทีละประเด็นที่ถามเข้ามา และเพิ่มเติมประเด็นสำคัญตามแต่ผมจะคิดขึ้นได้
เปรียบเทียบวัคซีนโควิด-19 ทั้งสามชนิด
การเปรียบเทียบวัคซีนเราอยากรู้ในสามประเด็น คือ (1) วิธีผลิตและกลไกการออกฤทธิ์ (2) ประสิทธิผลในการป้องกันโรค (3) ความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนของวัคซีน
แต่ความจริงก็คือว่า ณ ขณะนี้เรามีแต่ข้อมูลที่จะเปรียบเทียบในประเด็นวิธีผลิตและกลไกการออกฤทธิ์เท่านั้น ส่วนการเปรียบเทียบประสิทธิผลและความเสี่ยงทำไม่ได้เพราะยังไม่เคยมีงานวิจัยแบ่งกลุ่มสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ (RCT) อย่างดีก็ได้แต่เดาเอาจากข้อมูลที่มาคนละทิศคนละทางซึ่งข้อมูลแบบนั้นไม่สามารถเปรียบเทียบตามแบบวิทยาศาสตร์และเชื่อถือได้น้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อท่านถามมา มีหลักฐานแค่นี้ ผมก็จะเปรียบเทียบให้ดูตามหลักฐานที่มี แล้วท่านใช้ดุลพินิจเอาเองว่าจะเชื่อมันแค่ไหน
1.. เปรียบเทียบวิธีผลิตและกลไกการออกฤทธิ์
1.1 วัคซีนเชื้อตาย (inactivated vaccine) เช่นวัคซีน Sinovac ของจีน ผลิตจากการเอาซากศพของไวรัสโควิด19ที่ทำให้ตายแล้วฉีดเข้าไปในร่างกาย ไวรัสพวกนี้มีหนามที่หัวเรียกว่า spike protein ซึ่งทำหน้าที่เป็นเป้า (antigen) ให้ร่างกายรู้ว่านี่เป็นสิ่งแปลกปลอม เมื่อเซลของระบบภูมิคุ้มกันไปพบเข้าก็จะจดจำหน้าตาหนามที่หัวแล้วส่งข้อมูลไปกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวสร้างภูมิคุ้มกัน (immunity) ที่เจาะจงทำลายไวรัสนี้ได้ขึ้นมาใช้ นี่เป็นวิธีผลิตวัคซีนที่ทำกันมาช้านานและเป็นวิธีผลิตที่ปลอดภัยไม่ต้องกลัวผลเสียในระยะยาว แต่มีข้อเสียทำการผลิตได้ช้า
1.2 วัคซีนที่อาศัยไวรัสตัวพา (vector virus vaccine) เช่นวัคซีน AstraZineca ของอังกฤษ การจะเข้าใจกลไกการทำงานของวัคซีนชนิดนี้ต้องเข้าใจวิธีที่เซลของมนุษย์ทำงานก่อน คือทุกเซลจะมีรหัสพันธุกรรม (DNA) เมื่อเซลจะผลิตโปรตีนหรือโมเลกุลอะไรไปใช้งานก็จะคัดลอกระหัสลงใน “ใบสั่งผลิต” ซึ่งเรียกว่า m-RNA แล้วใบสั่งผลิตนี้จะถูกส่งไปให้โรงงานผลิตที่เรียกว่าไรโบโซมทำการผลิตโมเลกุลที่ต้องการขึ้นมา
ทางด้านไวรัสนั้น ไวรัสทุกชนิดแท้จริงแล้วทุกตัวประกอบด้วยแกนซึ่งเป็นยีนหรือรหัสพันธุกรรม (DNA) และปลอกหุ้ม แค่นั้นเอง ไม่มีกลไกที่จะแบ่งตัวหรือขยายพันธ์ด้วยตัวเองได้ วิธีขยายพันธ์ของมันก็คือเอาตัวของมันเองมุดเข้าไปในเซล มุดไปถึงใจกลาง (nucleus) ของเซล แล้วมุดต่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งรหัสพันธุกรรมของเซลมนุษย์ พูดง่ายๆว่าไวรัสทำงานโดยวิธีตัดต่อรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ ผลที่ได้ก็คือรหัสพันธุกรรมผสมของคนกับไวรัสซึ่งเมื่อคัดลอกรหัสลูกผสมนี้เป็นใบสั่งผลิต m-RNA มันกลายเป็นใบสั่งผลิตตัวไวรัสเสียฉิบ ทำให้เซลของเราเองผลิตไวรัสออกมาจนล้นเซลจนเซลเจ้าบ้านอกแตกตาย นี่..ไวรัสปกติมันทำมาหากินอย่างนี้
วิธีผลิตวัคซีนชนิดอาศัยไวรัสตัวพาเช่นวัคซีน AstraZineca นี้ก็คือเอาเชื้อไวรัสโควิด19ตัวเป็นๆมา แล้วเอารหัสพันธุกรรมหรือใบสั่งผลิตของมันมาตัดเป็นท่อนๆ เลือกเอาแต่ท่อนที่สั่งผลิตหนามบนหัว (spike protein) แล้วเอาใบสั่งผลิตท่อนนั้นยัดไส้ฝากไว้ในรหัสพันธุกรรมของไวรัสตัวพา (vector) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดไม่ก่อโรคในคน แล้วฉีดไวรัสตัวพานี้เข้าไปในร่างกายคน ซึ่งมันก็จะมุดเข้าไปในนิวเคลียสของเซลไปปลอมตัวหรือทำตัวเป็นรหัสพันธุกรรมของเซลร่างกายแล้วปั๊มใบสั่งผลิต (m-RNA) ออกมา ใบสั่งนี้จะไปสั่งให้โรงงานไรโบโซมผลิตหนามบนหัวไวรัสโควิด-19 ออกมาเต็มไปหมด หนามเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นเป้า (antigen) ให้ร่างกายรู้ว่านี่เป็นไวรัสบุกรุก เมื่อเซลของระบบภูมิคุ้มกันไปพบเข้าก็จะจดจำหน้าตาหนามแล้วส่งข้อมูลไปกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวสร้างภูมิคุ้มกัน (immunity) ที่เจาะจงทำลายไวรัสโควิด-19 ขึ้นมา นี่เป็นวิธีผลิตแบบใหม่ที่ไม่เคยใช้ผลิตวัคซีนมาก่อน ข้อดีก็คือผลิตได้เร็ว ผลิตได้มาก แต่ผลเสียระยะยาวจะมีหรือไม่..ยังไม่รู้
1.3 วัคซีนที่ทำหน้าที่เป็นใบสั่งผลิต (m-RNA) เช่นวัคซีนวัคซีน Moderna ของฝั่งยุโรป และวัคซีน BNT162b2 ของไฟเซอร์หุ้นกับ BioNTech SE ของเยอรมันนี วิธีผลิตคือเอารหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิด19 ออกมาตัดแต่งในจานเพาะเลี้ยงให้กลายเป็น m-RNA ตัวปลอม ซึ่งจะนำส่งเฉพาะคำสั่งผลิตหนามที่ผิว (spike protein) ของเชื้อโควิด19 เป็นหลัก แล้วฉีดเข้าไปในร่างกายมนุษย์ ตัว m-RNA นี้ก็จะบรื๋อไปส่งใบออร์เดอร์สั่งผลิตให้โรงงานไรโบโซมทำการผลิตโปรตีนหนามโควิด-19 โดยตรงโดยไม่ไปยุ่งอะไรกับนิวเคลียสของเซล นี่ก็เป็นเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนแบบใหม่ที่เพิ่งนำออกใช้ครั้งแรกเช่นกัน
2. เปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีนแต่ละชนิด
มาตรฐานของ WHO เรื่องความสามารถป้องกันโรคได้หรือประสิทธิผลของวัคซีนคืออย่างน้อยต้องได้ 50% ก่อนอื่นขอย้ำอีกครั้งนะ ว่า ณ ขณะนี้ทั่วโลกยังไม่เคยทำวิจัยเปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีนแต่ละอย่าง ดังนั้นยังพูดไม่ได้ว่าวัคซีนอะไรดีกว่าอะไรอย่างหนักแน่น ได้แต่อาศัยข้อมูลวิจัยวัคซีนแต่ละตัว ดังนี้
1. วัคซีนเชื้อตาย (inactivated vaccine) คือวัคซีน Sinovac และ Sinopharm ซึ่งจีนฉีดไปแล้วอย่างน้อย 243 ล้านคน ผลวิจัยทั้งหมดเป็นการแถลงข่าว ยังไม่ใช่ผลวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ กล่าวคือ WHO แถลงว่างานวิจัยระยะที่สามวัคซีนนี้มีประสิทธิผล 79% ต่อมาก็มีการแถลงข่าวผลวิจัยการใช้วัคซีนนี้ในบราซิลโดย Butantan Instutute ว่าวัคซีนมีประสิทธิผล 78% ถ้านับเฉพาะพวกมีอาการเบาถึงหนัก แต่หากนับรวมพวกที่มีอาการเบามากด้วยวัคซีนนี้มีประสิทธิผล 50.4% นอกจากนี้ยังมีการแถลงข่าวจากตุรกีว่าวัคซีนนี้มีประสิทธิผล 83.5% แถลงข่าวจากชิลีว่ามีประสิทธิผล 67% และแถลงข่าวจากอินโดนีเซียว่ามีประสิทธิผล 65.3% จะเห็นว่าประสิทธิผลแตกต่างกันมากในแต่ละประเทศซึ่งผมไม่อาจวิเคราะห์เชิงลึกได้เพราะทุกประเทศที่แถลงข่าวและแม้แต่ WHO เองไม่เคยตีพิมพ์ผลวิจัยอย่างเป็นเรื่องเป็นราวไว้ในวารสารการแพทย์
นอกจากการป้องกันการติดเชื้อแล้ว งานวิจัยที่บราซิลซึ่งตีพิมพ์ใน medRxiv [1] พบว่าวัคซีนที่ฉีดที่นั่น (77.3% Sinovac 15.9% AstraZeneca) แม้เพิ่งฉีดได้เข็มเดียวก็สามารถลดอัตราตายของโรคโควิด-19 ในคนอายุมาก (80 ปีขึ้นไป)ลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ข้อมูลนี้ทำให้ทราบว่าความเข้าใจเดิมที่ว่าวัคซีนนี้ไม่เหมาะกับคนสูงอายุจึงเป็นความเข้าใจที่ผิดข้อเท็จจริง
2. วัคซีนที่อาศัยไวรัสตัวพา (vector virus vaccine) คือวัคซีน AstraZineca ของอังกฤษ งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet [2] ฉีดในอังกฤษและบราซิลพบว่าให้ประสิทธิผลรวม 70.4% ทั้งนี้ถ้าฉีดแบบสองเข็มปกติให้ประสิทธิผล 62.1% แต่ถ้าฉีดแบบเข็มแรกขนาดต่ำเข็มสองขนาดปกติให้ประสิทธิผล 90.0% นอกจากประสิทธิผลในการป้องกันโรคแล้วงานวิจัยการใช้วัคซีนจริงในคนสูงอายุ (70 ปีขึ้นไป) จำนวน 7.5 ล้านคนที่อังกฤษ [3] พบว่าแม้ฉีดวัคซีนไปแล้วเพียงเข็มเดียวหากผู้รับวัคซีนติดเชื้อโควิด-19 วัคซีนก็ยังช่วยลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลแบบฉุกเฉิน ลงได้ 37%
3. วัคซีนที่ทำหน้าที่เป็นใบสั่งผลิต (m-RNA) เช่นวัคซีน BNT162b2 ของไฟเซอร์ งานวิจัยแรกเริ่มที่ตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal [4] พบว่ามีประสิทธิผล 95% ต่อมาศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ (CDC) ได้รายงานผลวิจัย [5] ในสนามกับบุคลากรทางการแพทย์ช่วงเดือนมค.-มีค. 2021 ว่ามีประสิทธิผล 94% โดยกลุ่มที่มีประสิทธิผลต่ำสุดคือกลุ่มผู้สูงอายุ (เกิน 65 ปี)ที่ได้วัคซีนไม่ครบซึ่งมีประสิทธิผล 64% นอกจากประสิทธิผลในการป้องกันโรคแล้ว งานวิจัยการใช้วัคซีนจริงที่อังกฤษ [3] พบว่าแม้ฉีดวัคซีนไปแล้วเพียงเข็มเดียวหากผู้รับวัคซีนติดเชื้อโควิด-19 วัคซีนก็ยังมีผลลดความเสี่ยงที่จะต้องเข้ารพ.ฉุกเฉินลงได้ 43% และลดอัตราตายลงได้ 51%
3. ภาวะแทรกซ้อนหรือความเสี่ยงของวัคซีนแต่ละชนิด
ประเด็นที่ 1. อัตราตายจากวัคซีน
นับถึงวันนี้ซึ่งทั่วโลกได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 1,380 ล้านโด้ส ยังไม่มีรายงานว่าวัคซีนเป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตแม้แต่รายเดียว มีแต่รายงานการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่พบร่วมกับการฉีดวัคซีนในอัตราอุบัติการณ์ปกติของโรคเหล่านั้น
ประเด็นที่ 2. การเกิดลิ่มเลือดแข็งตัวผิดปกติระดับรุนแรงร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ
มีข้อมูลองค์การแพทย์ยุโรป (EMA) [6] ว่าพบภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติรุนแรงที่สมองร่วมกับการฉีดวัคซีนชนิดใช้ไวรัสตัวพา (AstraZineca ของอังกฤษ) โดยมีอุบัติการเกิด 1 ต่อ 100,000 คน ในขณะที่อุบัติการของโรคนี้ในประชากรทั่วไปอยู่ที่ 0.5-1.5 ต่อ 100,000 คนต่อปี ณ ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าเป็นเพียงการพบร่วมกัน (co-incidence) หรือเป็นความสัมพันธ์แบบเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน
ทางฝั่งอเมริกา เดิมก็มีข้อกังวลว่าวัคซีนของ J&J (ซึ่งเป็น vector virus vaccine ชนิดฉีดเข็มเดียว) อาจเป็นต้นเหตุให้เลือดแข็งตัวเร็วจนถึงขั้นมีการแจ้งระงับการใช้วัคซีนชั่วคราว แต่ต่อมาศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ (CDC) และองค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ได้ทบทวนหลักฐานวิทยาศาสตร์ร่วมกันแล้วสรุปว่าให้ใช้วัคซีน J&J ในประชากรวัยผู้ใหญ่ของสหรัฐได้ต่อไปเหมือนเดิม ด้วยเหตุผลว่าอุบัติการเกิดเลือดแข็งตัวและเกล็ดเลือดต่ำ (TTS) ซึ่งพบในหญิง (อายุ 18-59 ปี) จำนวน 15 คน (3 คนเสียชีวิต) เป็นอุบัติการณ์ที่ต่ำมาก (1.9 คนต่อ 1 ล้านคนที่ฉีดวัคซีน) ขณะที่การฉีดวัคซีนนี้ 1 ล้านโด้สจะป้องกันการป่วยจนต้องเข้ารพ.ของหญิงอายุเกิน 50 ปีได้ 4,700 คน และป้องกันการตายได้ 650 คน
ในขณะเดียวกันก็มีผลวิจัย [7] การเกิดลิ่มเลือดแข็งตัวในสมอง (cerebrovenous thrombosis – CTS) ทำวิจัยโดยออกซฟอร์ดกับประชากรจำนวน 503,913 คนที่เป็นโรคโควิด-19 ช่วงมค.-มีค. 2021 เปรียบเทียบกับประชากรที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 (ชนิด m-RNA) ที่อายุเพศใกล้เคียงกันจำนวน 366,869 คน และกับกลุ่มคนที่ไม่เกี่ยวกับโรคโควิดเลยแต่มาฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อีก 392,424 คน แล้วพบว่ากลุ่มคนที่เป็นโรคโควิดมีอัตราเกิดลิ่มเลือดแข็งตัวในสมองภายในสองสัปดาห์หลังการวินิจฉัย 42.8 คนต่อล้านคน ซึ่งมากกว่าอัตราเกิดเลือดแข็งตัวในสมองของกลุ่มที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยไม่เกี่ยวกับโควิดเลยถึง 3.83 เท่าตัว และมากกว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีน 6.67 เท่าตัว
ข้อมูลของออกซ์ฟอร์ดนี้บ่งชี้ว่าการเกิดเลือดแข็งตัวรุนแรงเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับการเป็นโรคโควิด-19 เพราะเมื่อวินิจฉัยว่าเป็นโควิดโอกาสเกิดเลือดแข็งตัวรุนแรงเพิ่มขึ้น 3.83 เท่าในสองสัปดาห์ การที่คนทั่วไปเข้าใจว่าวัคซีนโควิดเป็นต้นเหตุทำให้เกิดเลือดแข็งตัวผิดปกตินั้นอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะนอกจากอุบัติการณ์เกิดจะใกล้เคียงกับกรณีคนทั่วไปแล้วยังไม่มีหลักฐานใดๆบ่งชี้ถึงความเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน (ว่าวัคซีนทำให้เกิดเลือดแข็งตัว) เลย
อนึ่ง งานวิจัยของออกซ์ฟอร์ดนี้ยังพบด้วยว่าการได้รับวัคซีนโควิดชนิด m-RNA สัมพันธ์กับการเกิดอุบัติการณ์เลือดแข็งตัวผิดปกติน้อยกว่าคนทั่วไป (ที่มาฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่) เสียอีก ข้อมูลนี้ฉายให้เห็นภาพกว้างได้ชัดขึ้น เพราะสมมุติว่าหากผลวิจัยวัคซีน m-RNA ได้ผลในทางกลับกันว่าวัคซีนสัมพันธ์กับอุบัติการเกิดเลือดแข็งตัวที่สูงขึ้น มันก็จะกลายเป็น circumstantial evidence ชิ้นหนึ่งที่ทำให้เราเหล่มากขึ้นว่าอาจมีกลไกเชิงเป็นเหตุเป็นผลต่อกันว่าวัคซีนทำให้เกิดเลือดแข็งตัวผิดปกติขึ้นจริง เพราะอย่าลืมว่ากลไกการออกฤทธิ์ของ vector virus vaccine ก็คือการทำให้เซลผลิต m-RNA นั่นเอง หมายความว่าผลผลิตปลายทางของวัคซีนทั้งสองชนิดไม่ว่าจะเป็น vector virus vaccine หรือ m-RNA vaccine ล้วนมีผลผลิตปลายทางเป็นตัวเดียวกันคือ m-RNA นั่นเอง ดังนั้นข้อมูลที่ได้จากวัคซีนหนึ่ง ก็เป็นภาพกว้างฉายให้ความรู้เกี่ยวกับอีกวัคซีนหนึ่งแบบอ้อมๆได้ระดับหนึ่ง การที่ข้อมูลบ่งชี้ว่าวัคซีน m-RNA สัมพันธ์กับการเกิดเลือดแข็งตัวน้อยลงนี้ก็ทำให้เรามีแนวโน้มจะมองการเกิดเลือดแข็งตัวง่ายในคนฉีดวัคซีน vector virus ไปทางว่าน่าจะเป็นการพบร่วม (co-incidence) มากกว่าจะเป็นผลจากวัคซีนไปก่อน จนกว่าจะมีหลักฐานแสดงว่าวัคซีนเป็นหรือไม่เป็นต้นเหตุของเลือดแข็งตัวหรือไม่โผล่ออกมาให้เห็นชัดเจนแล้ว
ประเด็นที่ 3. ภาวะแทรกซ้อนระดับรุนแรงอื่นๆ
ภาวะแทรกซ้อนระดับรุนแรงนิยามว่าคือ “ผลอันไม่คาดหมายที่มีผลให้ตาย หรือเกือบตาย หรือต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล หรือทำให้อยู่โรงพยาบาลนานขึ้น หรือทำให้พิการหรือทุพลภาพ” ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ (CDC) ได้รายผลวิจัยการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในผู้รับวัคซีนโควิด-19 จริงเทียบกับผู้ที่ได้รับวัคซีนหลอก พบว่ากลุ่มได้วัคซีนจริงเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง (อย่างน้อยหนึ่งอย่าง) มีจำนวน 0.6% ขณะที่กลุ่มที่ได้รับวัคซีนหลอกเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง 0.5% องค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ได้วิเคราะห์ผลวิจัยนี้แล้วสรุปว่ามีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงสองอย่างเท่านั้นที่เป็นผลสืบเนื่องจากการได้วัคซีนโควิด คือ (1) การบาดเจ็บบริเวณหัวไหล่ (2) ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้บวมโต ส่วนภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอย่างอื่นนั้นเป็นการพบร่วม (co-incidence) เพราะเกิดได้มากพอๆกันระหว่างกลุ่มได้วัคซีนจริงและได้วัคซีนหลอก
ประเด็นที่ 4. ภาวะแทรกซ้อนระดับเบาและปานกลาง
ข้อมูลของศูนย์ความคุมโรคสหรัฐ (CDC) พบว่าภาวะแทรกซ้อนอื่นๆที่มีความรุนแรงในระดับน้อยถึงปานกลางที่หายไปได้ใน 4 วันหลังฉีดวัคซีน เช่น ปวด บวม แดง ร้อน ไข้ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ของการฉีดวัคซีน เกิดขึ้นกับวัคซีนทั้งสามแบบในอัตราใกล้เคียงกันคือ 88.7% ของคนอายุไม่เกิน 55 ปี และ 79.7% ของคนอายุเกิน 55 ปีรายงานว่ามีอาการระดับเบาถึงปานกลางอย่างน้อยหนึ่งอาการ โดยอาการที่รายงานมากที่สุดคืออาการปวด อาการเหล่านี้ถือว่าเป็นการสนองตอบต่อวัคซีนของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และถือว่าเป็นเรื่องปกติ
ประเด็นที่ 5. อาการทางระบบประสาทในผู้ฉีดวัคซีนในประเทศไทย
ก่อนที่จะดูข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ในวงการแพทย์นี้เป็นที่รู้กันดีว่าเมื่อนำวัคซีนใหม่ออกฉีดแล้วจะเกิดเรื่องแนวดราม่าขึ้นเช่นมีอาการแปลกๆทางระบบประสาทคล้ายๆกันในหมู่คนจำนวนหนึ่ง นี่เป็นเรื่องธรรมดา องค์การอนามัยโลกได้บัญญัติศัพท์เรียกเรื่องแบบนี้ว่า Immunization-stress related response (ISRR) ซึ่งผมขออนุญาตใช้ศัพท์แบบบ้านๆของผมเองว่า “โรคอุปาทานหมู่” ตัวอย่างของเหตุการณ์แบบนี้ที่ชัดที่สุดเกิดในประเทศญี่ปุ่นราวปีคศ. 2013 เมื่อรัฐบาลนำวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกออกฉีดให้เด็กสาวญี่ปุ่นฟรี ได้มีกรณีเด็กสาวจำนวนหนึ่งอายุ 14-18 ปีมีอาการป่วยต่างๆหลังฉีดวัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการปวดหัวรุนแรง ชัก และแขนขาอ่อนแรง จนกลุ่มทนายความญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งได้รวมหัวกันยื่นคำร้องให้กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นยกเลิกการฉีดวัคซีนเอ็ชพีวี.ป้องกันมะเร็งปากมดลูก [8] โดยมีหมอคนหนึ่งชื่อซาโตะ (Satora Sato) เป็นหัวหอกนำให้การเป็นพยานโจทก์ว่าผู้ป่วยเหล่านั้นมีอาการของโรคสมองอักเสบ (encephalitis) ทั้งนี้โดยไม่มีหลักฐานยืนยันว่าอาการป่วยนั้นเกิดจากวัคซีน แต่หมอซาโตะตั้งข้อสงสัยว่าสมองอักเสบอาจเกิดจากวัคซีนไปกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เมื่อเกิดเรื่องที่ญี่ปุ่น คณะทำงานแนะนำความปลอดภัยวัคซีน (Global Advisory Committee on Vaccine Safety – GACVS) ขององค์การอนามัยโลกได้ใช้เวลา 6 เดือนทบทวนข้อมูลผลของการใช้วัคซีนเอ็ชพีวี.ทั่วโลกซึ่ง ณ ขณะนั้นได้ฉีดไปแล้ว 175 ล้านครั้ง แล้วสรุปผลการทบทวนครั้งนั้น [9] ว่าวัคซีนมีความปลอดภัยดี อาการป่วยรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน ทั้งนี้เมื่อดูอุบัติการณ์เกิดอาการป่วยเหล่านั้นในหมู่ผู้ฉีดวัคซีนก็พบว่ามีอุบัติการณ์เกิดโรคนั้นเท่ากันกับหมู่คนอายุเพศเดียวกันที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ทั้งนี้รวมถึงการเกิดสมองอักเสบและปลอกประสาทอักเสบ (Guillain-Barré syndrome) ชัก อัมพาต ด้วย ทั้งอุบัติการณ์ของโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองก็ไม่ได้สูงขึ้นในหมู่ผู้ได้รับวัคซีนแต่อย่างใด นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่าอุปาทานหมู่
เหตุการณ์ในประเทศไทยเกิดเมื่อมีการนำวัคซีนของ Sinovac ลงฉีดรอบแรก ข้อมูลวิชาการที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่มีเลย มีแต่การแถลงข่าวซึ่งไม่ใช่หลักฐานวิทยาศาสตร์แต่ผมก็จำเป็นต้องอาศัยแค่การแถลงข่าวนี่แหละเพราะไม่มีหมอคนไหนที่เกี่ยวข้องได้ตีพิมพ์รายงานเชิงวิชาการไว้เลย กระทรวงสธ.ก็ไม่เคยตีพิมพ์ข้อมูลเชิงวิชาการออกมา ทั้งๆที่ท่านมีทั้งศูนย์ AEFI มีทั้ง Immunization Center dashboard มีทั้งการให้คนไข้รายงานความผิดปกติหลังฉีดผ่านแอ็พหมอพร้อม หากท่านจะเอาข้อมูลเหล่านี้สรุปเชิงวิชาการออกมาทุกสัปดาห์ก็ง่ายนิดเดียวแต่ท่านไม่ทำ (หิ หิ ขอโทษ เผลอบ่น คุยเรื่องของเราต่อดีกว่า)
เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อวันที่ 21 เมย. 64 คณะทำงานติดตามอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีนของกระทรวง สธ.ได้แถลงข่าวว่ามีผู้ป่วยที่ฉีดวัคซีน Sinovac ระหว่างวันที่ 5-9 เมย. 64 ที่ระยอง ได้เกิดอาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซึกบ้าง ชาครึ่งซีกบ้างจำนวน 6 ราย ทุกรายเป็นผู้หญิงอายุ 21-25 ปีและทำงานเป็นบุคลกรทางการแพทย์ เกิดอาการหลังฉีดวัคซีน 5-30 นาที การตรวจสมองด้วย CT/MRI ไม่พบความผิดปกติ ทุกรายอาการหายจนกลับบ้านได้ภายใน 3 วัน และว่าวัคซีนล็อตเดียวกันได้ฉีดไปทั่วประเทศแล้วสามแสนกว่ารายโดยไม่พบภาวะแทรกซ้อนลักษณะดังกล่าว
ต่อมาวันที่ 22 เมย. 64 อธิบดีกรมควบคุมโรคได้แถลงข่าวเพื่อตอบคำถามสื่อมวลชนเรื่องพบผู้ป่วยมีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนที่ลำปางอีก 40 ราย ซึ่งรายละเอียดของการแถลงข่าวสรุปได้ว่าผู้ป่วยทั้งหมดที่ลำปางที่มีอาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซึกแท้จริงมีเพียงรายเดียวและเป็นผู้หญิงซึ่งผลการตรวจสมองด้วย CT พบว่ามีหลอดเลือดสมองหดตัวแต่เนื้อสมองปกติและผู้ป่วยดีขึ้นด้วยยาละลายลิ่มเลือดแต่ยังชาอยู่ หลังจากนั้นได้ฉีดสีตรวจหลอดเลือดพบว่าหลอดเลือดปกติจึงวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองหดตัวชั่วคราว (RCVS) และรักษาด้วยยาขยายหลอดเลือดแล้วผู้ป่วยก็กลับมีอาการปกติ
ข้อมูลทั้งหมดมีแค่นี้ ใครมีข้อมูลเชิงวิชาการมากกว่านี้ก็ช่วยบอกผมเอาบุญด้วย เพราะกระทรวงสธ.ท่านไม่เคยแพล็มข้อมูลเชิงวิชาการใดๆออกมาให้หมอวงนอกอย่างผมได้อ่านเลย จากข้อมูลแค่นี้ผมขอวิเคราะห์เลยนะว่า
(1) ที่ว่าผู้ป่วยที่ลำปางฉีดวัคซีนแล้วเป็นโรคหลอดเลือดสมองหดตัวชั่วคราว (reversible cerebral vasoconstriction syndrome – RCVS)นั้น เป็นข้อมูลที่ยังต้องฟังหูไว้หู เพราะหลักฐานสนับสนุนไม่มี การวินิจฉัยโรคนี้ต้องตรวจหลอดเลือดด้วยการฉีดสี (angiogram)เท่านั้นจะไปอาศัยภาพ CT มันไม่ชัวร์ ซึ่งตามคำแถลงของท่านอธิบดี ท่านว่าที่ลำปางเขาก็ได้ทำการฉีดสีแล้วและพบแล้วด้วยว่าหลอดเลือดของผู้ป่วยรายนั้นปกติดีไม่ได้หดตัว จึงเป็นหลักฐานว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคนี้ ครั้นจะบอกว่ามันเป็นแล้วหายแล้วเพราะได้ยาละลายลิ่มเลือดหรือยาขยายหลอดเลือดก็ฟังไม่ขึ้นอีก เพราะการวินิจฉัยโรคนี้ไม่ได้วินิจฉัยจากผลการใช้ยา แต่วินิจฉัยจากภาพที่ตรวจด้วยการฉีดสีเท่านั้น หิ..หิ ที่ผมติงการวินิจฉัยเนี่ยผมไม่ได้มีเอี่ยวอะไรกับบริษัทวัคซีนนะ แต่การด่วนสรุปว่าฉีดวัคซีนแล้วทำให้หลอดเลือดสมองหดตัวนั้นเป็นคำสรุปที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงอันจะมีผลเสียไปถึงภายหน้า ข้อเท็จจริงคือเหตุการณ์ที่ลำปางไม่มีหลักฐานใดๆเลยที่จะพูดได้ว่าฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วเกิดหลอดเลือดสมองหดตัว
(2) ข้อเท็จจริงในผู้ป่วยทั้ง 7 รายทั้งที่ระยองและลำปางคือผู้ป่วยทุกคนอาการทางระบบประสาทหายไปใน 3 วันหลังฉีดวัคซีนและผลการตรวจ CT/MRI พบว่าปกติหมดทุกคน ข้อมูลแค่นี้ก็พอวินิจฉัยได้แล้วว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นอัมพาตเฉียบพลัน (stroke) ไม่ได้เป็นโรคสมองอักเสบหรือปลอกประสาทอักเสบ (Guillain-Barré syndrome) ไม่ได้เป็นโรคอื่นใดในสารบบโรคทางประสาทวิทยา ก็เหลือคำวินิจฉัยเดียวคือเป็นโรคอุปาทานหมู่ (ISRR) ซึ่งเป็นแล้วหายเลยไม่ใช่เรื่องซีเรียสและไม่ใช่เหตุที่จะทำให้คนรุ่นหลังต้องมากลัวการฉีดวัคซีน Sinovac กันไม่รู้จบรู้สิ้น
4. ความเห็นสรุปของหมอสันต์
ประเด็นที่ 1. ฉีดวัคซีนดีหรือไม่ดี ตอบว่าฉีดวัคซีนดีแน่ เพราะ
มองในแง่ประเทศชาติ ถ้าไม่มีวัคซีน สำหรับโรคอุบัติใหม่ที่ไม่มีใครมีภูมิคุ้มกันเลยแถมเป็นโรคที่แพร่เร็วอย่างโควิด-19 นี้ หากไม่มีวัคซีนและกดโรคไม่อยู่ โรคจะระบาดไปถึง 80% ของประชากร แปลว่าคนไทย 56 ล้านคนจะติดเชื้อนี้ หากคิดอัตราตายเฉลี่ยทั่วโลก (2.07%) คนไทยก็จะตายจากโรคนี้ 1.1 ล้านคน การฉีดวัคซีนแม้คำนวนจากประสิทธิผลต่ำสุด (50%) วัคซีนก็ยังช่วยชีวิตคนไทยไว้ได้ถึง 550,000 คน ขณะที่ผลเสียของวัคซีนที่ซีเรียสยังไม่มีเลย แม้ขณะนี้จะฉีดวัคซีนไปทั่วโลกถึง 1,380 ล้านโด้สแล้วก็ยังไม่ปรากฎผลเสียที่ซีเรียสใดๆ
มองในแง่ปัจเจคบุคคลการฉีดวัคซีนจะลดความเสี่ยงการป่วยเป็นโรคโควิดลงได้ถึง 50-94% การไม่ฉีดวัคซีนจะทำให้เราติดโรคนี้ในไม่เวฟใดก็เวฟหนึ่งซึ่งจะมาเป็นระลอกๆ เมื่อติดโรคแล้วเรามีโอกาสตายถึง 2.07% ซึ่งมันเป็นอัตราตายที่สูงกว่าการเข้าผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจเสียอีกนะ แล้วมันเรื่องอะไรที่เราจะปล่อยตัวเองไปรับความเสี่ยงนั้นในเมื่อมันป้องกันได้ด้วยวัคซีน
อนึ่ง การไม่ฉีดวัคซีนแล้วคิดจะไปรอใบบุญจากภูมิคุ้มกันฝูง (herd immunity) ผมบอกล่วงหน้าได้เลยว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ส่วนตัวที่ผิดพลาดเพราะ
(1) คนไทยจำนวนมากตั้งใจจะไม่ฉีดวัคซีนเพราะความไม่เข้าใจข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ทำให้หวาดกลัวพิษภัยของวัคซีนแบบกลัวขี้ขึ้นสมองเหมือนคนกลัวผีทั้งๆที่ในชีวิตไม่เคยเห็นผี เพียงแค่คนไทยคิดแบบนี้หนึ่งในสี่ ภูมิคุ้มกันฝูงที่ท่านหวังพึ่งก็ไม่มีวันได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะมันจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อคนไทยทั้งประเทศมีภูมิคุ้มกันแล้วประมาณ 80%
(2) การบริหารจัดการระบบการฉีดวัคซีนของรัฐอย่างที่ผ่านมา ท่านใช้ตรรกะง่ายๆคำนวณดูก็ได้ว่าหากจะต้องฉีดวัคซีนถึง 56 ล้านคนหรือ 112 ล้านโด้ส รัฐบาลจะใช้เวลากี่ปี ในระหว่างที่รออยู่หลายปีนี้ ท่านอาจจะติดเชื้อเสียก่อน
(3) วัคซีนโควิดไม่ใช่ของที่หาซื้อเอาในตลาดได้ ผู้ผลิตเจาะจงขายให้กับรัฐเท่านั้นด้วยเหตุผลที่ผมขอไม่พูดถึง แถมการส่งมอบวัคซีนยังเป็น “โรคเลื่อน” และ “โรคขาด” เป็นประจำ แล้วท่านจะหวังได้หรือว่าจะมีวัคซีนมาส่งมอบให้ฉีดได้ครบ 80% ก่อนที่ตัวท่านจะติดเชื้อโควิด
ประเด็นที่ 2. วัคซีนอะไรดีกว่าอะไร
มองในแง่ประสิทธิผล วัคซีน m-RNA เช่นของไฟเซอร์และโมเตอร์นามีประสิทธิผลดีที่สุด (94% ถ้าฉีดครบสองโด้ส) วัคซีนไวรัสตัวพา เช่น AstraZineca ดีรองลงมา (62.1-90.0%) และวัคซีนเชื้อตายเช่น Sinovac ซึ่งให้ประสิทธิผลต่ำแต่อยู่ในระดับยอมรับได้ (50.4-83.5%)
มองในแง่ความปลอดภัยระยะสั้น วัคซีนทั้งสามแบบมีความปลอดภัยเท่าเทียมกัน คือไม่มีผลเสียที่คนหวาดกลัวกันไปต่างๆนาๆ ไม่ว่าจะเป็นเลือดแข็งตัวในสมอง การเกิดภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง การเป็นอัมพาต เหล่านี้ยังไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ใดๆทั้งสิ้นว่าเกิดจากวัคซีนโควิด ไม่ว่าวัคซีนชนิดไหน
มองในแง่ความปลอดภัยระยะยาว ตรงนี้เป็นเพียงจินตนาการเพราะยังไม่มีข้อมูล ผมขออนุญาตไม่เปรียบเทียบ เพราะต้องการให้บทความนี้เป็นข้อเท็จจริงไม่ใช่นิยายวิทยาศาสตร์
ย้ำอีกทีว่าผลการเปรียบเทียบทั้งหมดนี้มาจากข้อมูลวิจัยแบบแยกส่วน (cohort study) ร้อยพ่อพันแม่ ไม่ใช่การวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) จึงมีความเชื่อถือได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น
ควบคู่ไปกับมุมมองว่าอะไรดีกว่าอะไร ต้องมองจากมุมที่ว่าอะไรหาได้อะไรหาไม่ได้ด้วย เพราะของที่ว่าดีแต่หากหาไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ สู้ยอมรับของที่ดีรองลงมาซึ่งวงการแพทย์ยอมรับว่ามีประโยชน์คุ้มความเสี่ยงและหาได้ในชีวิตจริงดีกว่า
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Victora OP, Castro MP, Gurzenda S, Barros AJD. Estimating the early impact of immunization against COVID-19 on deaths among elderly people in Brazil: analyses of secondary data on vaccine coverage and mortality. medRxiv 2021.04.27.21256187 doi: https://doi.org/10.1101/2021.04.27.21256187
2. Voysey M, Clemens SAC, Madhi SA. Safety and efficacy of the ChAdOx1 nCoV-19 vaccine (AZD1222) against SARS-CoV-2: an interim analysis of four randomised controlled trials in Brazil, South Africa, and the UK. Lancet. 2020 doi: 10.1016/S0140-6736(20)32661-1. published online Dec 8.
3. Bernal JL, Andrews N, Gower C, Stowe J, Robertson C, Tessier E et.al. Early effectiveness of COVID-19 vaccination with BNT162b2 mRNA vaccine and ChAdOx1 adenovirus vector vaccine on symptomatic disease, hospitalisations and mortality in older adults in England. medRxiv 2021.03.01.21252652; https://doi.org/10.1101/2021.03.01.21252652
4. Polack FP, Thomas SJ, Kitchin N, et al. Safety and efficacy of the BNT162b2 mRNA Covid-19 vaccine. N Engl J Med 2020;383:2603-2615.
5. Tenforde MW, Olson SM, Self WH, et al. Effectiveness of Pfizer-BioNTech and Moderna Vaccines Against COVID-19 Among Hospitalized Adults Aged ≥65 Years — United States, January–March 2021. MMWR Morb Mortal Wkly Rep 2021;70:674–679. DOI: http://dx.doi.org/10.15585/mmwr.mm7018e1external icon
6. European Medicine Agency. AstraZeneca’s COVID-19 vaccine: benefits and risks in context. Accessed on May10, 2021 at https://www.ema.europa.eu/en/news/astrazenecas-covid-19-vaccine-benefits-risks-context
7. Taquet M, Husain M, Geddes JR, Luciano S, Harrison PJ. Cerebral venous thrombosis and portal vein thrombosis: a retrospective cohort study of 537,913 COVID-19 cases. medRxiv 2021.04.27.21256153 doi: https://doi.org/10.1101/2021.04.27.21256153.Sanevax, Inc.
8. AUGUST 24, 2013 Breaking News: Japan and HPV Vaccines. Accessed on Jan 23, 2017 at http://sanevax.org/breaking-news-japan-and-hpv-vaccines/
9. Full report of GACVS meeting of 11-12 December 2013, published in the WHO Weekly Epidemiological Record on 14 February 2014. Accessed on 23 Jan 2017 at http://www.who.int/wer/2014/wer8907/en/