28 ธันวาคม 2556

ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2557

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ให้สัมภาษณ์วิทยุ FM ….
ว่าด้วยสารพัดเรื่อง และ ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่

(ถอดจากสคริปต์)

FM ….

     ที่มาของหนังสือ “โรคหัวใจ” ที่คุณหมอเพิ่งเขียนออกมาใหม่ แล้วก็..คุณหมอมีแจกให้หนูอีกสักเล่มไหมคะ

นพ.สันต์

     ที่มาก็ไม่ได้มีอะไรพิสดาร ทางอมรินทร์พริ้นติ้งเขามาขอให้เขียนหนังสือเรื่องโรคหัวใจที่อ่านง่ายและครบถ้วนให้ แล้วเขาก็ขยันทวงต้นฉบับ ผมก็เลยเขียนให้ได้สำเร็จ เท่านั้นเอง หนังสือในมือผมตอนนี้ไม่มีแล้ว เพราะลิขสิทธิ์เป็นของอมรินทร์เขา เขาให้แซมเปิ้ลมาไม่กี่เล่ม ซึ่งก็หมดไปแล้ว ถ้าคุณอยากได้เพิ่มคงต้องไปหาซื้อเอาเองตามร้านหนังสือ

FM ….

แล้วเรื่องของ “เฌออ้วน” ที่เล่าในหนังสือ ตอนนี้เธอเป็นอย่างไรแล้วคะ

นพ.สันต์

     ฮะ..ฮะ..ฮะ.. เธอก็กำลังปากกัดตีนถีบเพื่อจะปกครองตัวเองให้ได้ เธอเป็นคนที่สุดโต่ง ผู้หญิงตัวคนเดียวที่ชอบสะสมสมบัติบ้า แล้วก็ที่สำคัญ อ้วนด้วย เพราะชอบกิน คนแบบนี้มีไม่ใช่น้อยนะ แต่ที่โชคร้ายถึงขนาดไฟไหม้บ้านในวันที่ตัวเองกำลังทำบอลลูนรักษาหัวใจอยู่ในโรงพยาบาลนั้น คงมีแต่เธอคนเดียวละมัง 
     ประเด็นสำคัญที่ผมอยากให้ท่านผู้ฟังเรียนรู้จากเรื่องของผู้หญิงที่ชื่อ “เฌออ้วน” นี้ก็คือร่างกายเราก็เหมือนบ้าน เมื่อเราเผลอไม่เก็บกวาดขยะก็สะสม ถึงจุดหนึ่งขยะนั้นก็เป็นเชื้อไฟเผาบ้านของเราเอง ขยะในร่างกายก็คือไขมันที่เกิดจากการตะบันกินอาหารที่ให้แคลอรี่เข้าไปมากกว่าความจำเป็นที่ร่างกายต้องใช้ พอเหลือก็สะสมเป็นไขมัน ล่องลอยอยู่ในกระแสเลือดบ้าง พอกอยู่ตามผนังหลอดเลือดและอวัยวะต่างๆบ้าง  ถึงจุดหนึ่งก็เป็นเรื่อง ดังนั้นเราต้องบันยะบันยังการเอาสมบัติบ้าเข้าบ้าน นั่นหมายถึงการกิน และขยันเก็บกวาดบ้าน นั่นหมายถึงการขยันออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมบอกเป็นการบ้านให้เฌออ้วนเอาไปทำ เธอเก็ทแล้วแน่นอน แต่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ นั่นต้องตามไปลุ้นดู

FM ….

     ปีใหม่ปีนี้ คุณหมอมีความคิดอะไรบ้างคะ

นพ.สันต์

     เป็นธรรมดาเมื่อมีเวลาว่าง โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวซึ่งผมเริ่มหยุดมาได้สองวันแล้ว ผมก็มักจะเผลอคิดทบทวน แบบที่ฝรั่งเขาเรียกว่า self reflection นั่นแหละ  เผลอคิดทีไร สารัตถะที่ผมสรุปได้ก็มักจะเหมือนเดิม ว่าสิ่งที่รอผมอยู่ไม่ไกล แน่เสียยิ่งกว่าแช่แป้ง ก็คือความตาย มาถึงวัยนี้แล้ว ผมเหลือเวลาอีกไม่มาก ผมจะใช้เวลาที่เหลือทำอะไรเป็นสิ่งที่ผมต้องตรองให้ตกผลึก และรีบลงมือทำ 

     อีกอย่างหนึ่งที่มักเป็นข้อสรุปเมื่อผมคิดทบทวนถึงการใช้ชีวิตทุกครั้งก็คือ ผมมักจบลงด้วยการเตือนตัวเองถึงการเผลอยึดถือ หมายความว่ายึดถือความคิดอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วชีวิตก็ติดกับดักความยึดถืออันนั้น อย่างโทรศัพท์มือถือที่ผมถือคุยกับคุณอยู่เนี่ย ถ้าถือแป๊บเดียวแล้ววาง มันก็ไม่หนักเลย แต่ถ้าถือทั้งวันทั้งคืนมันก็จะหนักอึ้งจนถือต่อไปต่อลำบากใช่ไหมละ ถ้าเราวางมันลงเสียในบางช่วงเวลา แล้วกลับมาถือใหม่ ก็จะสบายกว่า ดังนั้นกิจกรรมที่ตัดวงจรความคิดซ้ำซาก ไม่ว่าจะเป็นการทำสมาธิตามดูลมหายใจ การรำมวยจีน การฝึกโยคะ หรือกิจกรรมอะไรก็ได้ที่เราได้เอาใจของเราออกจากความคิดที่ครอบเราอยู่ไปจดจ่อกับอะไรสักอย่างเช่นลมหายใจหรือการเคลื่อนไหวของร่างกาย แม้จะเป็นเพียงชั่วคราววันละ 15 หรือ 20 นาที ก็เป็นการวางความคิดยึดถือลง ทำให้ใจมันเบาลง ทำให้เราสามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่หนักอึ้งมาก นี่เป็นความคิดตกผลึกที่เกิดขึ้นเสมอเมื่อผมเผลอคิดทบทวนชีวิต

FM ….

     แล้วที่ว่าเวลาที่เหลือจะทำอะไร อันนี้ตกผลึกหรือยังคะ

นพ.สันต์

     ตกผลึกแล้ว แน่นอน เพราะผมไม่ใช่เพิ่งมาคิดปีนี้ ผมคิดมาทุกปี อันที่จริงสิ่งที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นผลจากการสรุปความคิดในปีก่อนๆ คือผมตัดสินใจเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองไปตามการคิดไตร่ตรองมาเป็นระยะๆแบบนี้ตลอดมา ตั้งแต่เลิกเป็นหมอผ่าตัดหัวใจ เลิกทำงานบริหารโรงพยาบาล กลับไปเรียนเวชศาสตร์ครอบครัวใหม่เอาเมื่ออายุห้าสิบกว่าแล้ว และหันมาทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ทุกวันนี้ที่ผมทำอยู่คือ สอนคนไข้เป็นรายคนให้ดูแลตัวเองเป็น ในรูปแบบของคลินิกในโรงพยาบาลสัปดาห์ละ 3 วัน ทำเฮลท์แค้มป์เพื่อสอนทักษะในการดูแลตัวเองให้คนเป็นกลุ่มๆเดือนละสองสามครั้งทุกเดือน เขียนบล็อกให้ความรู้คนทางอินเตอร์เน็ททุกสัปดาห์ ทำรายการทีวี.ให้ความรู้แก่คนที่ชอบดูทีวี. เขียนหนังสือด้านสุขภาพให้ความรู้คนที่ชอบอ่านหนังสือปีละเส่มสองเล่ม ทั้งหมดนี้ก็เป็นผลมาจากการตกผลึกความคิดในปีก่อนๆ

FM …. 

     พูดถึงรายการทีวี. ที่ทำอยู่ตอนนี้มีอะไรบ้างคะ

นพ.สันต์

     รายการหมอสันต์ทันโรคทางเนชั่นแชนแนลตอนนี้จบซีซั่นไปแล้ว ที่กำลังจะออนแอร์ใหม่ก็มีรายการ "เต้นเปลี่ยนชีวิต" (Dance Your Fat Off) ที่จะออกฉายที่ช่องสาม แล้วมีอีกสองรายการที่จะออกที่ช่อง 7 และอีกช่องเข้าใจว่าจะเป็นช่อง 9 ซึ่งสองอันหลังนี้ชื่อรายการคงต้องรอให้เขาประกาศอย่างเป็นทางการก่อน จะตัดหน้าพูดไปก่อนคงไม่เหมาะ ทั้งหมดนี้สาระหลักอยู่ที่การมุ่งสอนให้ผู้คนรู้จักดูแลสุขภาพตัวเองด้วยตัวเองซึ่งเป็นพันธะกิจส่วนตัวสำหรับชีวิตที่เหลืออยู่ของผม โดยแทรกไปกับเปลือกนอกหรือหีบห่อที่คนดูทีวี.เขารับได้ เช่นเป็นรูปแบบเกมโชว์บ้าง เป็นเรียลลิตี้บ้าง แล้วแต่

FM ….

     นอกจากการเผยแพร่ความรู้วิธีการดูแลสุขภาพด้วยตนเองแล้ว มีอะไรที่จะต้องรีบทำก่อนตายอีกไหมคะ

นพ.สันต์

     หึ..หึ  มี.. มี มีมานานแล้วด้วย ก็การสร้างนิคมคนแก่ไง  

FM ….

     ต๊าย.. หนูขอไม่ไปอยู่นะคะ  

นพ.สันต์

     ขอโทษที่ผมใช้ภาษาทื่อมะลื่อไปหน่อย คือตัวเองตอนนี้หกสิบกว่าแล้ว จึงใช้คำว่า “คนแก่” ได้สะดวกปากโดยไม่ต้องเกรงใจใคร คือในเรื่องนี้มันมีที่มาสามประเด็นนะ

     ประเด็นที่หนึ่ง ก็คือคุณภาพชีวิตของคนแก่เมืองไทยมันแย่ ตัวคนแก่เองก็ถูกโปรแกรมสมองว่าเมื่อตัวเองแก่แล้วต้องทำตัวให้เป็นภาระกับลูกหลานและสังคมเข้าไว้จะได้คุ้มกับการที่เราเหนื่อยยากให้กับสังคมและลูกหลานมาตลอดชีวิต ส่วนสังคมไทยโดยรวมนั้นก็ได้ค่อยๆทิ้งความเป็นสังคมเอื้ออาทรมาเป็นสังคมที่ผู้คนจะเอาแต่เรื่องผลประโยชน์ของตัวเอง นั่นหมายถึงการทิ้งคนแก่ซึ่งทำประโยชน์อะไรให้ตัวเองไม่ได้แล้วด้วย เมื่อเอาทั้งสองอย่างนี้มารวมกัน คุณภาพชีวิตของคนแก่มันเลยแย่

     ประเด็นที่สอง คือทุกวันนี้รูปโฉมของการแพทย์และสาธารณสุขของชาติได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว แต่องคาพยพของการดูแลกิจการสาธารณสุขของชาติไม่ได้เปลี่ยนตาม ไม่ต้องไปดูไกลหรอก ไล่ดูชื่อหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ ยังมีชื่อหน่วยงานอย่างเช่น กองโรคเท้าช้าง อยู่เลย แต่หากดูหลักฐานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงสุขภาพในคนไทยวันนี้แล้ว เราคาดหมายได้แน่นอนเลยว่าจากนี้ไปอย่างน้อยอีก 30 ปี ครึ่งหนึ่งของคนไทยวัยผู้ใหญ่จะป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อันหมายถึงโรคหลอดเลือดที่สมอง ที่หัวใจ ที่ไต โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง ยิ่งมีอายุมากขึ้น ยิ่งเป็นโรคเหล่านี้มากขึ้น พอมาถึงวัยเกษียณก็เป็นกันมากเกินครึ่งห้อง ผมหมายถึงห้องสอนการดูแลสุขภาพตนเองสำหรับผู้เกษียณ 

     ประเด็นก็คือวิธีจัดการโรคเรื้อรังของชาติไทยตอนนี้คือการใช้ยารักษาในโรงพยาบาลตะพึด ซึ่งหลักฐานวิทยาศาสตร์ก็ชี้ชัดแล้วว่ามันไม่ได้ผล วิธีนี้รังแต่จะเป็นภาระมหาศาลให้กับทั้งตัวคนป่วยและกับสังคม โรคเรื้อรังต้องการการจัดการที่เป็นระบบครบวงจรแบบที่เรียกว่า disease management system ซึ่งเน้นที่การป้องกันทั้งๆที่เป็นโรคแล้วหรือ secondary prevention หมายความว่าเน้นไปที่การมุ่งให้คนป่วยปรับวิธีใช้ชีวิตกินอยู่เคลื่อนไหวหลับนอนอย่างไรให้หายป่วย และเน้นไปที่การฟื้นฟูสมรรถนะที่สะง็อกสะแง็กให้สามารถเคลื่อนไหวช่วยตัวเองได้เต็มความสามารถของตัวเองจนนาทีสุดท้าย แต่สิ่งเหล่านี้ระบบการแพทย์และการสารธารณสุขของชาติไม่ได้ทำเลย พูดถึงยังแทบจะไม่พูดถึงเลย ไม่เชื่อคุณไปกระทรวงสาธารณสุขแล้วถามหา "กรมปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต" สิว่ามีไหม..ไม่มี้

     ประเด็นที่สาม ธุรกิจก็ดี กิจกรรมเพื่อสังคมหรือ NGO เช่นมูลนิธิทั้งหลายก็ดี เขามีวิธีทำงานแบบอนุรักษ์นิยม คือทำตามแบบแผนที่เคยทำกันมา ไม่มีใครกล้าคิดทำอะไรใหม่ พูดง่ายๆว่าสังคมไทยเรานี้ขาดนวัตกรรมเชิงสังคม หรือ social creativity ธุรกิจไม่กล้าทะลึ่งทำอะไรใหม่เพราะกลัวเจ๊ง แม้จะมีเงินระดับมหาเศรษฐีแล้วก็ยังกลัวเจ๊ง คนที่ทะลึ่งไปแล้วก็เจ๊งไปแล้วจริงๆ ส่วน NGO ไม่กล้าคิดทำอะไรใหม่เพราะกลัวไม่ได้เงินสนับสนุน เพราะ NGO ไทยนี้อยู่ได้เพราะเงินสนับสนุน ไม่ใช่อยู่ได้เพราะรายได้จากนวัตกรรมที่ตัวเองคิดขึ้น ผมพูดอย่างนี้ NGO คงไม่โกรธกันนะ เพราะผมเองก็เป็นประธานมูลนิธิ เป็นกรรมการมูลนิธิอยู่สองสามแห่ง ปัญหาคุณภาพชีวิตของคนแก่จึงเป็นปัญหาที่ธุรกิจและ NGO ไทยช่วยอะไรไม่ได้  

FM …. 
     
     ขอโทษ คุณหมอคะ ขอขัดนิดหนึ่งนะคะ แล้วทั้งสามประเด็นนี้ เท่าที่ดิฉันจับประเด็นได้ คือ (1) คุณภาพชีวิตผู้สูงวัยทุกวันนี้ไม่ดี  (2) รูปแบบของการเจ็บป่วยเปลี่ยนไป และ (3) องค์กรธุรกิจและมูลนิธิยึดแนวอนุรักษ์นิยม ทั้งสามอย่างนี้มันมาเกี่ยวสิ่งที่คุณหมอคิดจะทำยังไงละคะ

นพ.สันต์

     อ้าว ก็ผมคิดจะทำนิคมคนแก่นี่ อะไรที่เกี่ยวกับคนแก่มันก็ต้องเกี่ยวกับการสร้างนิคมคนแก่ถูกไหม

FM ….

     ค่ะ ค่ะ

นพ.สันต์

     คือที่ผมพูดว่านิคมคนแก่เนี่ย ไม่ใช่คอนเซ็พท์เดิมแบบบ้านบางแคนะ ไม่ใช่ว่าพอมีคนแก่จำนวนล้นหลามมากงกๆเงิ่นๆเกะกะถนนวุ่นวายนัก เราก็ทำโรงเลี้ยงคนแก่แล้วไล่ให้คนแก่ที่เกะกะเข้าไปรวมกันอยู่ในนั้น จัดคนคอยป้อนข้าวป้อนน้ำ เพื่อให้ผู้คนนอกโรงเลี้ยงได้ใช้ชีวิตกันต่อไปตามปกติ ไม่ใช่อย่างนั้น สิ่งที่ผมคิดจะสร้าง คือชุมชน หรือ community ที่คนแก่นอกจากจะใช้อยู่อาศัยแล้วยังใช้เป็นที่เรียนรู้วิธีใช้ชีวิตให้ก่อประโยชน์ต่อตนเองและสังคมเต็มศักยภาพที่ตนมี มีความเป็นชุมชนไทยที่แท้จริง หมายความว่ารู้จักกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ดูแลกันและกันได้

FM ….

     แบบว่าบ้านจัดสรรคนรวยที่ออกแบบให้เหมาะกับผู้สูงวัย

นพ.สันต์

     มันมีหลายรูปแบบนะครับ แบบที่คุณพูดถึงนั้นเขาเรียกว่า CCRC หรือ continuous care retirement community นั่นก็เป็นแบบหนึ่ง ซึ่งเมืองไทยก็มีคนลองทำอยู่บ้างแล้ว อย่างน้อยก็สองเจ้า คือกาชาดทำที่สวางคนิวาส และของคุณหมอสมชัยทำที่บางไทร อยุธยา 

     แต่รูปแบบที่ผมจะทำเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง เรียกว่า senior co-housing เรียกสั้นๆว่า CoHo เริ่มต้นด้วยการหาคนที่รู้จักกันจำนวนหนึ่ง ประมาณ 8-15 คน ที่รู้จักกันมาก่อนแล้ว หากยังไม่รู้จักกันก็มารู้จักกันเบื้องต้นจนเกิดสังคมจริงๆขึ้นมาก่อน อาจจะตั้งต้นก่อนสี่ห้าคน แล้วสมาชิกเก่าโหวตรับสมาชิกใหม่เพิ่มเติมเข้ามาภายหลัง แล้วคนเหล่านี้จึงมาทำแผนร่วมกันว่าจะสร้างสังคมที่อยู่ตอนแก่ของตัวเองขึ้นมาด้วยกัน ในรูปแบบของชุมชนเล็กๆอยู่ในรั้วเดียวกัน คนเหล่านี้จะวางแผนออกแบบที่พักร่วมกัน ที่พักอาศัยแบ่งเป็นหน่วยๆแยกของใครของมันก็จริง แต่อะไรที่จะเป็นภาระกับผู้สูงอายุเช่นการทำสวน ตัดหญ้า ซักรีด อยู่เวรยาม สนามออกกำลังกาย สวนดอกไม้ สวนผัก สวนพักผ่อน หรือแม้กระทั่งที่กินข้าวเย็น สร้างเป็นพื้นที่ร่วมอันเดียวซึ่งทุกคนเป็นเจ้าของร่วมคล้ายกับคอนโด เพียงแต่ว่าสิ่งปลูกสร้างมันอยู่แนวราบ คนเหล่านี้จะเอาความรู้ความชำนาญของตัวเองออกมาแชร์กับของคนอื่น และร่วมกันทำกิจกรรมนับตั้งแต่ออกแบบ คุมการก่อสร้าง พัฒนาพื้นที่ จนถึงเข้าไปอยู่อาศัย บางคนอาจจะยังไม่เกษียณและไปๆมาๆอยู่ บางคนเกษียณแล้วและอยู่ประจำ  รูปแบบของการอยู่อาศัยร่วมกันจะเน้นการเรียนรู้จากกันและกันหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆร่วมกัน และสร้างสรรค์ประโยชน์ให้เต็มศักยภาพที่สมาชิกมี ทั้งประโยชน์ต่อตนเอง ต่อ co-housing ลามออกไปถึงประโยชน์ต่อสังคมภายนอกถ้าชุมชนนั้นมีศักยภาพมากพอ ชุมชนแบบนี้ไม่ต้องเป็นคนรวย เพราะรูปแบบของ co-housing เป็นรูปแบบลดต้นทุนจากการใช้ร่วม เช่นแทนที่จะต้องจ้างคนสวนประจำของตัวเองก็จ้างคนสวนร่วมทั้งหมดคนเดียว แทนที่จะต้องมีพื้นที่วางเครื่องซักผ้าอบผ้าในบ้านของตัวเองก็ไปใช้เครื่องร่วมแทน เป็นต้น ถ้า CoHo อันแรกเวอร์ค ผมก็จะขยายให้มีอันที่สอง อันที่สาม เมื่อมีหลาย CoHo มาอยู่ในละแวกเดียวกัน มันก็จะกลายเป็นหมู่บ้านของผู้สูงอายุแนวใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน และที่สนองตอบต่อความต้องการของผู้สูงอายุที่จะมีชีวิตอย่างมีคุณภาพได้ แล้วเมื่อรูปแบบนี้มันดีจริง มันก็จะแพร่หลายออกไป

FM ….

     อื้อ..ฮือ คุณหมอต้องใช้เวลาทำนานไหมเนี่ย จึงจะสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างให้เห็นจริง

นพ.สันต์

     คือการจะทำอะไรให้มีประโยชน์ถึงระดับก่อการกระเพื่อมเชิงบวกเป็นวงกว้างเนี่ย ผมว่ามันต้องใช้เวลาสิบยี่สิบปี ผมอาจจะตายไปก่อนก็ได้ แต่ผมไม่ซีเรียสนะ ถามว่าต้องใช้เวลานานไหม ตอบว่าสักสิบปียี่สิบปีละมัง ซึ่งผมตั้งใจว่าพอขึ้นปีใหม่ปีนี้ ใช้เวลาเคลียร์งานแบ็คล็อกที่ค้างคาอยู่สักสามสี่เดือนจบแล้ว ผมก็จะเริ่มทำ CoHo อันแรกเลย คือปีนี้เอาจริงแน่นอน

FM …. 

     ทำที่กรุงเทพนี่เหรอคะ

นพ.สันต์

     ทำที่มวกเหล็กครับ เพราะผมอยุ่ที่นั่น ตัวผมก็จะเข้าไปอยู่อาศัยใน CoHo นี้ด้วย

FM …. แล้วไม่กลัวล่มหรือเจ๊งหรือคะคุณหมอ

นพ.สันต์

     มันก็ต้องลุ้น คือนวัตกรรมทุกอย่างมีความเสี่ยงที่จะล้มเหลว เพราะมันเป็นอะไรที่ไม่เคยมีมาก่อน คุณเคยได้ยินชื่อหลุยส์ ปาสเตอร์ใช่ไหม หมอชาวฝรั่งเศสที่ค้นพบวัคซีนนะ คืนแรกที่เขาทดลองฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้กับเด็กที่ถูกหมาบ้ากัดมาเหวอะหวะ คืนนั้นเขานอนไม่หลับทั้งคืน คือเมื่อคิดจะทำอะไรใหม่ มันก็ต้องยอมรับความเครียดจากการลุ้น แต่ด้วยวิธีรู้จักปล่อยวางความคิดเป็นพักๆ และด้วยวิสัยทัศน์ที่ว่าที่ทำทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างสรรสิ่งดีๆให้เกิดขึ้น ผมว่าถึงเจ๊งผมก็เอาตัวรอดได้นะ อย่างน้อยใจผมก็รอด แม้กระเป๋าจะไม่รอด

FM …. 

     คุณหมอคะ ปีใหม่จะบอกอะไรกับท่านผู้ฟังบ้างคะ

นพ.สันต์

     ก็สวัสดีปีใหม่นะครับท่านผู้ชม ขอโทษ.. ท่านผู้ฟัง นอกจากการหยุดคิดไตร่ตรองถึงชีวิตที่ผ่านมาแล้ว ในแง่สุขภาพก็เป็นธรรมเนียมว่าปีใหม่เป็นเวลาที่จะเริ่มต้นทำตามความตั้งใจใหม่ แบบที่ฝรั่งเรียกว่า new year resolution ฟิตเนสฝรั่งเนี่ยพอขึ้นปีใหม่ก็จะเช่าที่จอดรถสองชั้นเพิ่มไว้เลย แต่เขาทำสัญญาเช่านานแค่สองเดือนนะ เพราะพวกฟิตเนสรู้ดีว่าลูกค้าจะเฮี้ยวทำท่าจริงจังได้ไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น แล้วก็จะแผ่วและเลิกไปเอง เนี่ย ชีวิตมันเป็นอย่างนี้แหละท่านผู้ฟังครับ คือคิดตกไตร่ตรองได้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว แล้วลงมือทำไปแล้ว แต่มันทำไปได้ไม่นานก็หล่นแอ๊กกลับมาแบะแฉะอยู่ที่เดิม 

     แต่เชื่อผมเถอะครับ ขยันตั้งต้นใหม่เข้าไว้ ล้มแล้วลุก ล้มแล้วลุก พลังมันจะค่อยๆมา แล้วมันจะติดลมเอง ตัวช่วยอีกอันหนึ่งคือเลือกกฎเหล็กประจำใจสักหนึ่งข้อ เอาข้อเดียวนะ อย่ามาก อย่างผมเคยล้มเหลวในเรื่องออกกำลังกาย จนผมตั้งกฎเหล็กต่อตัวเองขึ้นมาว่าต่อไปนี้การออกกำลังกายทุกวันเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดของชีวิต สำคัญกว่าการแปรงฟัน ชีวิตนี้ต้องทำสิ่งสำคัญสูงสุดก่อน ตื่นเช้ามาถ้ายังไม่ได้ออกกำลังกาย ห้ามแปรงฟัน โดยวิธีนี้ก็ออกจากบ้านไปไหนไม่ได้เพราะฟันยังไม่ได้แปรง จึงออกกำลังกายทุกวันได้สำเร็จ ท่านผู้ฟังลองวิธีนี้ดูก็ได้นะครับ คือตื่นขึ้นมา ทำสิ่งสำคัญให้ได้ก่อน..ก่อนการแปรงฟัน

FM …. 

     ค่ะ ท่านผู้ฟังคะ นั่นคือ นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์ หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลพญาไท 2 แขกพิเศษของเราในวันนี้นะคะ ขอบพระคุณคุณหมอคะ โอกาสหน้าคุณหมอคงจะให้เวลาคุยกันเราอีกนะคะ


..............................................................
[อ่านต่อ...]

26 ธันวาคม 2556

ลูกที่อาจจะพิการอยู่ในท้องเรียบร้อยแล้ว จะทำอย่างไรดี (Beta thal-HbE disease)

เรียนคุณหมอสันต์
ดิฉันได้อ่านบทความเกี่ยวกับโรคธาลัสซีเมียที่คุณหมอเขียนตอบกับผู้ป่วยท่านหนึ่งในบทความสุขภาพ
ณ ตอนนี้ เวลานี้ ดิฉันมีเรื่องกลุ้มใจมากที่สุด ที่อยากจะเรียนขอคำปรึกษากับคุณหมอ ดิฉันตั้งครรภ์ได้11สัปดาห์ ตรวจพบว่าดิฉันเป็นพาหะธาลัสซีเมียชนิด HB E และที่โชคร้ายกว่านั้นสามีตรวจพบพาหะธาลัสซีเมียชนิดเบต้า ตอนนี้ได้ส่งเจาะเลือดไปยังโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ โอกาสที่ดิฉันจะได้ลูกเป็นปกติมันริบรี่เหลือเกิน ตอนนี้กลุ้มใจมากค่ะ รอฟังผลอีก 4 อาทิตย์ กินไม่ได้นอนไม่หลับและเครียดมาก ดิฉันอยากทราบว่ามีโอกาสกี่ % ที่ลูกจะเป็นธาลัสซีเมีย และทุกคู่ที่ตรวจพบแบบนี้ส่วนใหญ่เด็กจะรอดหรือไม่ค่ะ ดิฉันควรจะทำอย่างไรดี

ขอบพระคุณมากค่ะ

..............................................

ตอบครับ

     ฟังตามเรื่องที่เล่า คุณพบรัก แต่งงาน แล้วก็มีลูก พอมีลูกแล้วก็พากันไปหาหมอ ไปตรวจสุขภาพและฝากครรภ์ แล้วก็พบว่าแม่เป็นพาหะของโรคฮีโมโกลบินอี. หมอจึงตรวจสามี ก็พบว่าสามีเป็นพาหะของทาลาสซีเมียชนิดเบต้า เอ่อ...เอ้อ...เออ...เอย นิยายรักเรื่องนี้ เริ่มต้นและดำเนินมาอย่างนี้ มาสะดุดอยู่ตรงนี้ แล้วไม่รู้จะไปยังไงต่อ

     คุณไม่ใช่คู่แรกที่แต่งงานกันและลงมือผลิตลูกโดยไม่ได้ตรวจสอบพันธุกรรมของทั้งสองฝ่ายให้ดีเสียก่อนว่าจะผลิตลูกได้ดีสมใจหรือไม่ มิใยที่หมอสันต์จะตอบคำถามแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกมาตั้งหลายปี แต่นิยายรักเรื่องนี้ก็ยังมีอยู่ เออ ท่ามันจะเป็นความผิดของหมอสันต์ที่อธิบายอะไรให้คนฟังไม่รู้เรื่องซะละมัง

     ก่อนจะตอบคำถามของคุณ ผมขอคุยกับคู่รักที่จะตัดสินใจแต่งงาน และคู่แต่งงานที่กำลังตัดสินใจจะมีลูกก่อนนะ ว่าก่อนจะเลิกคุมกำเนิดเพื่อมีลูก ควรไปตรวจความพร้อมของการมีลูกร่วมกันเสียก่อน เรียกว่า marital counseling อย่างน้อยก็ต้องตรวจคัดกรองโรคร้ายสารพัดที่จะตกไปถึงลูกหรือเป็นอันตรายกับลูก เช่น เอดส์ ซิฟิลิส หัดเยอรมัน ตับอักเสบบี เป็นต้น และอย่างน้อยก็ต้องตรวจพันธุกรรมของโรคทาลาสซีเมีย ซึ่งก็ต้องตรวจทั้งพ่อทั้งแม่ ทั้งสายเบต้า และสายอัลฟ่า ย้ำ สายอัลฟ่าด้วย เพราะหมอทั่วไปที่ไม่ใช่หมอทางโลหิตวิทยามักจะไม่เข้าใจ นึกว่าวิเคราะห์ฮีโมโกลบิน (hemoglobin typing) แล้วก็จบแล้ว แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะข้อมูล hemoglobin typing ไม่ได้บอกถึงพันธุกรรมของสายอัลฟ่า ต้องวิเคราะห์ยีนสายอัลฟ่าด้วยเทคนิคเช่น PCR จึงจะบอกได้ ผมเขียนรายละเอียดเรื่องนี้ไปแล้วหลายครั้งมาก ท่านที่สนใจเป็นพิเศษให้ย้อนหาอ่านดูได้ ครั้งสุดท้ายรู้สึกจะเป็นบทนี้ http://visitdrsant.blogspot.com/2012/07/beta-thalassemia-hemoglobin-e-disease.html

เมื่อได้ตรวจ marital counseling ครบแล้วก็เอาผลมาดูว่าจะมีลูกได้ไหม ถ้ามีความเสี่ยงที่จะได้ลูกที่พิการ ก็อย่ามีลูก ถ้าการแต่งงานหรือการมารักกันครั้งนั้นมุ่งหมายเพื่อจะทำลูกโดยเฉพาะ ก็บอกเลิกกันไปซะ แล้วแยกย้ายกันไปหาคู่ใหม่เพื่อทำลูกของใครของมัน ไม่คุ้มกันดอกกับการปล่อยปละละเลยทำให้เด็กเกิดมาพิการแล้วเขาต้องมาทนทุกข์ทรมานเพราะความไม่ใส่ใจของพ่อแม่

     เอาละ นั่นผมพูดกับคนอื่นที่ยังไม่มีลูกนะ คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

     1.. ถามว่า ตัวเองเป็นพาหะฮีโมโกลบินอี. (HbE) สามีเป็นพาหะเบต้าทาลาสซีเมีย โอกาสจะมีลูกผิดปกติ หมายถึงเป็นโรคที่เรียกว่า betathalassemia hemoglobin E disease มีกี่เปอร์เซ็นต์ ตอบว่ามีโอกาสเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ครับ

     2.. ถามว่าทุกคู่ที่ตรวจพบแบบนี้ส่วนใหญ่เด็กจะรอดหรือไม่ค่ะ จะเป็นตายร้ายดีอย่างไร ตอบว่า งานวิจัยย้อนหลังผู้ป่วยที่ศิริราช เฉพาะคนเป็นโรคเบต้าทาลาสซีเมียจ๊ะกับฮีโมโกลบินอีนี้ จำนวน 378 คน แล้วติดตามดูตั้งแต่เกิดจนตาย พบว่าเกือบทั้งหมดเกิดมาจะยังไม่มีอาการ แล้วจะเริ่มแสดงอาการเมื่ออายุ  10 ปีขึ้นไป อาการก็เช่น ซีด ดีซ่าน ม้ามโต เป็นไข้บ่อย มีอาการเกี่ยวกับทางเดินอาหารบ่อย  (34%) โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการปวดท้อง (10%) ถุงน้ำดีอักเสบ  (5.1%) มีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจ (21%) หัวใจล้มเหลว (11.9%) และอาการปลีกย่อยอื่นๆเช่นปวดกระดูก เป็นแผลที่ขาซ้ำซาก อาการชักจากความดันเลือดสูงหรืออัมพาต เลือดออกในสมองจากการถ่ายเลือดซ้ำซาก เป็นต้น  ในจำนวนทั้งหมดนี้  26.5% ต้องถูกตัดม้าม และจากจำนวนทั้งหมดนี้ ส่วนใหญ่  (67%) จะเสียชีวิตช่วงอายุ 20-40 ปี จากหัวใจล้มเหลวหรือไม่ก็ติดเชื้อในกระแสเลือด พูดง่ายๆว่าอายุไม่ยืนเท่าคนปกติเขา

     3. ถามว่ามาถึงป่านนี้แล้ว ท้องได้ 11 สัปดาห์แล้ว จะทำอย่างไรดี ตอบว่าคุณมีทางเลือก 2 ทางครับ คือ

     วิธีที่ 1. ปล่อยทุกอย่างไปตามที่พระพรหมท่านลิขิต บนบานศาลกล่าว ไหว้พระไหว้เจ้า แล้วก็รอไปจนถึงคลอด มีโอกาส 75% ที่ลูกจะปกติ แต่มีโอกาส 25% ที่ลูกจะเป็นโรคนี้ ถ้าเขาเป็นโรคนี้ก็เลี้ยงดูเขาไป เขาป่วยก็รักษาเขาไป เขาตายจากกันก็กรวดน้ำคว่ำขัน หมดเวรหมดกรรมกันไปเสียที

     วิธีที่ 2. ไปหาหมอโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีขีดความสามารถตรวจวิเคราะห์พันธุกรรมทารกในครรภ์ได้ แล้วไปร้องขอให้เขาตรวจพันธุกรรมของทารกในครรภ์ ในช่วงอายุครรภ์ 10 – 12 สัปดาห์อย่างคุณนี้ วิธีที่เหมาะคือ การใช้เข็มตัดตัวอย่างผิวรก (chorionic villus) ออกมาตรวจ แต่ถ้าปล่อยผ่านไปถึงอายุครรภ์ 15 สัปดาห์ขึ้นไป วิธีที่เหมาะก็คือการเจาะน้ำคร่ำออกมาตรวจเพาะเซล (amniotic fluid cell culture) ทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับที่หมอเขาส่งเลือดของคุณไปตรวจที่เชียงใหม่ก่อนหน้านี้นะ อันนั้นคงเป็นการตรวจหายีนของสายอัลฟ่าซึ่งตรวจไปถึงได้ข้อมูลมาก็ไลฟ์บอยเพราะลูกเขาเกิดขึ้นมาแล้ว การมีความรู้เรื่องพันธุกรรมของแม่ตอนนี้จะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ต้องมุ่งตรวจพันธุกรรมของลูกเท่านั้น จึงจะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้ กล่าวคือหากผลการตรวจพบว่าลูกเป็นโรคเบต้าทาลาสซีเมียจ๊ะกับฮีโมโกลบินอี (beta thal-HbE disease) จริง ก็ทำแท้งเสีย...จบ อย่าเอาแต่โอ้เอ้ ลังเล เพราะยิ่งโอ้เอ้ อายุครรภ์จะมากขึ้น แล้วจะไม่มีหมอคนไหนยอมทำแท้งให้ ถึงตอนนั้นลำบากนะ จะบอกให้ ดังนั้นขอให้คุณเป็นแม่ที่มีเหตุผล ทำในสิ่งที่ควรทำ มีใจหนักแน่น แน่นอน อย่าเรรวน เพราะ..

          "...คุณเรรวน ผมเลยรวนเร
ซดเหล้าหยำเป เดินเซร้องไห้
เที่ยวเสเพล พเนจรไป
เพราะความเสียใจ ที่รักคนรวนเร..."

          (เกี่ยวกันมั้ยเนี่ย)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1.      Fucharoen SKetvichit PPootrakul PSiritanaratkul NPiankijagum AWasi P. Clinical manifestation of beta-thalassemia/hemoglobin E disease. J Pediatr Hematol Oncol. 2000 Nov-Dec;22(6):552-7.
[อ่านต่อ...]

23 ธันวาคม 2556

ภาวะหูดับเฉียบพลัน (SNHL)

 เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ

หนูถูกลูกสาวอายุ 6 ขวบ ตะโกนใส่หู สองพี่น้องเขาทะเลาะกันแล้วเรียกร้องความสนใจจากแม่ คนหนึ่งล็อคคอหนูไว้แล้วตะโกนใส่รูหูของหนู แล้วหลังจากนั้นหนูเอาน้ำไปบริจาคให้ที่ม็อบ เขาพากันเป่านกหวีดขอบคุณจนหูอื้อทั้งสองข้าง หลังจากนั้นหูข้างที่ลูกสาวตะโกนใส่ก็ได้ยินลดลงๆจนต้องเปลี่ยนข้างรับโทรศัพท์ ไปตรวจการได้ยินที่แผนกหูของรพ.... และที่รพ. .. แล้วหมอบอกว่าต้องรักษาด้วยการกินยา prednisolone 5 มก. วันละ 6 เม็ด Tranxene 5mg วันละครั้ง Methycobal 500ไมโครกรัม วันละสองครั้ง Sermion 10 mg วันละ 2 ครั้ง คุณหมอ .... บอกว่าหนูมีโอกาสหาย
เพียง 40% ค่ะ อยากปรึกษาคุณหมอสันต์ว่า

1. ถ้าอยากมีโอกาสหายมากกว่านี้ เพิ่ม Dose ของ Prednisolone ได้มั๊ยคะ และเพิ่มเท่าไรดี
2. Serc หมอหูที่รพ. ... ไม่ได้สั่ง แต่หมอที่รพ. ... สั่ง ควรทานเหมือนเดิมได้มั๊ยคะคือ Serc 16 mg วันละสามครั้ง

3. หมอที่.. ให้ทานยา NacLong ด้วย ควรทานต่อไปเรื่อยๆได้ มั๊ยคะ
4. คุณหมอที่ ... นัดไปตรวจ ABR สัปดาห์หน้า การตรวจอันนี้ต่างจากการตรวจการได้ยินที่ทำไปแล้วอย่างไร จำเป็นต้องตรวจมั๊ยคะ

ขอบคุณมากๆค่ะ

...................................................

ตอบครับ

     สมัยผมจบแพทย์ใหม่ๆ คนแผดเสียงคือแม่ จนมีคำวินิจฉัยโรคหนึ่งที่ผมจำได้ขึ้นใจว่า housewife nodule แปลว่าตุ่มที่สายเสียงของแม่บ้าน หมายความว่าแม่บ้านมีลูกยั้วเยี้ยต้องตะเบ็งตะโกนเอะอะลูกทั้งวันจนเสียงแหบเสียงแห้ง และมีตุ่มขึ้นที่สายเสียง แต่สมัยนี้กลับกัน เนื่องจากลูกสมัยนี้เป็นเด็กจักรพรรดิ คนตะโกนกลายเป็นลูก ไม่ใช่แม่ แล้วโรคใหม่ที่คุณแม่อย่างคุณเป็นนี้ เขาเรียกว่าภาวะหูดับในส่วนตัวรับเสียงและประสาทเสียงอย่างกะทันหัน หรือ sudden sensorineural hearing loss (SNHL) สาเหตุของภาวะนี้จริงๆแล้วไม่มีใครทราบ ได้แต่เสนอแนะกันไปต่างๆนาๆว่ามันอาจจะเกิดจากอย่างใดอย่างหนึ่งในสี่ห้าอย่างต่อไปนี้ คือ

     - อาจเกิดจากติดเชื้อไวรัส เชื้อไวรัสอะไรก็ได้ เช่น หัด คางทูม หัดเยอรมัน ไวรัส CMV ไวรัส EB ไวรัสเริม (herpes) เป็นต้น
     - อาจเกิดจากเลือดไปเลี้ยงหูชั้นในไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม เช่นมีลิ่มเลือดอุดหลอดเลือด เป็นต้น แม้กระทั่งการมีไขมันในเลือดสูงก็เคยมีคนรายงานไว้ว่าเกี่ยวข้องกับหูดับเฉียบพลันนี้ได้เช่นกัน
     - อาจเกิดจากการฉีกขาดของเยื่อหูชั้นใน (intracochlear membrane) ซึ่งหนึ่งในหลายๆสาเหตุที่ทำให้เยื่อฉีกขาดก็รวมถึงการถูก “บ้องหู” หรือถูกบาดเจ็บจากเสียงก็ได้
     - อาจเกิดจากโรคภูมิคุ้มกันตัวเองไปทำลายหูชั้นในก็ได้
     -อาจเกิดจากเนื้องอกค่อยๆเกิดในหู แล้วอยู่ๆก็กดเส้นประสาทปึ๊ก..ก็ได้

     กล่าวโดยสรุปก็คือเกิดจากอะไรแน่ๆก็ยังไม่มีใครรู้เลย การรักษาโรคนี้จึงไม่มีวิธีรักษาที่เป็นเอกฉันท์ ได้แต่รักษากันไปตามประเพณี ได้ผลหรือไม่ได้ผล วิธีไหนดีกว่าวิธีไหน ล้วนไม่มีใครบอกได้เพราะไม่เคยมีงานวิจัยเปรียบเทียบ เอกสารอ้างอิงที่ใช้เป็นพื้นฐานในการรักษาโรคนี้ส่วนใหญ่ตีพิมพ์ก่อนปี 2,000  นั่นหมายความว่าเราอยู่กับความรู้เก่าๆมาจนทุกวันนี้โดยไม่มีงานวิจัยใหม่ๆจ๊าบๆมาช่วย หนึ่งในประเพณีที่ทำกันมาช้านานก็คือการรักษาด้วยสะเตียรอยด์ซึ่งมีคนแนะนำไว้ตั้งแต่ปีค.ศ. 1980 บ้างให้กิน บ้างให้ฉีดแบบแยงเข็มทะลุเยื่อแก้วหูฉีดเข้าไปในหูชั้นกลางเลย การศึกษาเปรียบเทียบทั้งวิธีกินและวิธีฉีดทะลุหูพบว่าอัตราการหายมันก็แป๊ะเอี้ย.. คือไม่ต่างกัน การรักษาที่แปลกประหลาดพิสดารกว่าการใช้ยา เช่น เอาคนไข้ไปเข้าห้องออกซิเจนแรงอัดสูง (hyperbaric oxygen) ก็ยังมีทำกัน แต่ไม่ค่อยแพร่หลาย

     เอาละ ได้ทราบแบ้คกราวด์คร่าวๆแล้ว คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

     1..ถามว่าการตรวจ ABR คืออะไร ต่างจากการตรวจการได้ยินอย่างไร ตอบว่าการตรวจ ABR ซึ่งมีชื่อเต็มว่า auditory brainstem response แปลว่าตรวจเพื่อดูว่าเส้นประสาทเสียงและก้านสมองทำงานยังทำงานดีอยู่ไหม วิธีทำก็คือติดขั้วไฟฟ้าไว้ที่หนังศีรษะ แล้วส่งเสียงเข้าไปทางหู แล้ววัดดูว่าก้านสมองตอบสนองต่อเสียงโดยปล่อยคลื่นไฟฟ้าออกมาอย่างไรบ้าง การตรวจแบบนี้ใช้วินิจฉัยแยกความเสียหายที่ส่วนรับเสียง (sensory) อันหมายถึงตัวหู กับส่วนเส้นประสาทนำเสียง (neural)  ออกจากกัน จึงต่างจากการตรวจการได้ยิน (audiometry) ที่คุณทำไปแล้ว เพราะ audiometry เป็นการตรวจแบบปล่อยเสียงใส่หูแล้ววัดการได้ยิน จึงบอกได้เพียงแต่ว่าได้ยินมากหรือน้อย แต่แยกระหว่างส่วน sensory กับ neural ออกจากกันไม่ได้ คือไม่รู้ว่าสาเหตุอยู่ที่ตัวหู หรืออยู่ที่เส้นประสาท

     2..ถามว่าจำเป็นต้องตรวจ ABR ไหม ตอบว่าสำหรับคุณไม่จำเป็นหรอกครับ เพราะการตรวจชนิดนี้ในกรณีผู้ใหญ่เขาทำเพื่อคัดกรองภาวะเส้นประสาทหูถูกกดโดยเนื้องอก เพื่อจะได้เลือกเอาคนที่สงสัยว่าเส้นประสาทหูถูกกดไปทำการตรวจหาเนื้องอกด้วยคลื่นแม่เหล็ก (MRI) ผมอ่านดูสำบัดสำนวนคุณแล้วเป็นคนมีเงิน ทำ MRI เสียทีเดียวหมดเรื่อง อีกประการหนึ่ง ABR นี้มันคัดกรองกรณีเนื้องอกขนาดเล็กไม่ได้นะครับ หมายความว่าถึงจะได้ผลว่าเส้นประสาททำงานปกติ แต่ก็ยังอาจเป็นเนื้องอกได้อยู่ดี เพราะฉะนั้นทำ MRI ไปซะเลย ย้ำหน่อยนะว่า MRI นะ ไม่ใช่เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) เพราะ CT คัดกรองเนื้องอกที่กดเส้นประสาทหูได้ไม่ดีเท่า MRI

     3. หมอบอกว่าจะหายแค่ 40% จริงไหม ตอบว่าอันนี้ไม่มีตัวเลขชัดแจ้งเป๊ะๆหรอกครับ ยังไม่รู้เลยว่าของคุณเกิดจากอะไร สัมพันธ์กับการถูกตะโกนใส่หูหรือไม่ ถ้ามันสัมพันธ์กัน สถิติเฉพาะสาเหตุบาดเจ็บจากเสียงก็ยังไม่มีใครรายงานไว้ มีแต่สถิติที่เก็บอัตราการหายของภาวะ SNHL ที่ไม่รู้สาเหตุที่เป็นกับหูข้างเดียวนั้น พบว่า 60% หายไปได้เอง

     4.. ถามว่าถ้าอยากมีโอกาสหายมากกว่านี้ เพิ่ม dose ของ Prednisolone ได้มั๊ยคะ ตอบว่าเพิ่มหนะเพิ่มได้ เพราะไม่มีกฎหมายห้ามไว้ แต่จะเพิ่มโอกาสหายให้หายมากขึ้นหรือไม่นั้นไม่มีใครทราบ โธ่ถัง ผมจะบอกความจริงให้นะ การใช้ยาสะเตียรอยด์จะเพิ่มโอกาสหายหรือไม่พวกหมอเองก็ยังเถียงกันไม่ตกฟากเลย เพราะการวิจัยเปรียบเทียบระดับเชื่อถือได้ยังไม่มี แต่ขณะที่เถียงกันก็ใช้สะเตียรอยด์ไปก่อน อาจจะดีกว่าอยู่เปล่าๆ (มั้ยเนี่ย)  

     5. ถามว่ายา Serc หมอคนนั้นสั่ง แต่หมอคนนี้ไม่สั่ง จะกินได้ไหม ตอบว่ายา Serc ชื่อจริงของเขาชื่อ betahistine เป็นยาแก้เมา คุณเมาหรือเปล่าละครับ ถ้าคุณเมาก็กิน ถ้าไม่เมาก็ไม่ต้องกิน เพราะยา Serc ไม่ใช่ยารักษาโรค แต่เป็นยาบรรเทาอาการ

     6. ถามว่าหมอคนก่อนให้ยา NacLong ด้วย จะกินต่อได้ไหม ตอบว่ายา NacLong นี้ชื่อจริงของเขาคือ acetylcysteine เป็นยาผีบอกขนานแท้ ความจริงเมื่อเริ่มต้นยานี้วงการแพทย์เอามาใช้กัดเสมหะในคนเสมหะเหนียว แต่ความที่ในห้องแล็บมันมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบของเซลในจานทดลองได้ ในยุคบ้าสารต้านอนุมูลอิสระ จึงมีคนเอา acetylcysteine มาใช้เป็นยาผีบอกรักษาได้ทุกโรค รวมทั้งโรคถูกบ้องหูด้วย เมื่อมันเป็นยาผีบอก คุณจะกินหรือไม่กินก็อยู่ที่คุณเชื่อเรื่องผีหรือเปล่าละครับ ถ้าเชื่อเรื่องผีก็กินเข้าไปเถอะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.     Stachler, RJ et al. Clinical Practice Guideline: Sudden Hearing Loss. Otolaryngol Head Neck Surg. March 2012;146:S1 - S35
2.     Eggermont, Jos J.; Burkard, Robert F.; Manuel Don (2007). Auditory evoked potentials: basic principles and clinical application. Hagerstwon, MD: Lippincott Williams & Wilkins. ISBN 0-7817-5756-8OCLC 70051359.
3.     Don M, Kwong B, Tanaka C, Brackmann D, Nelson R (2005). "The stacked ABR: a sensitive and specific screening tool for detecting small acoustic tumors".Audiol. Neurootol. 10 (5): 274–90. doi:10.1159/000086001PMID 15925862.
4.     Rudack C, Langer C, Stoll W, Rust S, Walter M. Vascular risk factors in sudden hearing loss. Thromb Haemost. Mar 2006;95(3):454-61. [Medline].
5.     Toubi E, Ben-David J, Kessel A, Halas K, Sabo E, Luntz M. Immune-mediated disorders associated with idiopathic sudden sensorineural hearing loss. Ann Otol Rhinol Laryngol. Jun 2004;113(6):445-9. [Medline].
6.     Wei BP, Mubiru S, O'Leary S. Steroids for idiopathic sudden sensorineural hearing loss.Cochrane Database Syst Rev. Jan 25 2006;CD003998. [Medline].
7.     Ho HG, Lin HC, Shu MT, Yang CC, Tsai HT. Effectiveness of intratympanic dexamethasone injection in sudden-deafness patients as salvage treatment. Laryngoscope. Jul 2004;114(7):1184-9. [Medline].
8.     Gouveris H, Selivanova O, Mann W. Intratympanic dexamethasone with hyaluronic acid in the treatment of idiopathic sudden sensorineural hearing loss after failure of intravenous steroid and vasoactive therapy. Eur Arch Otorhinolaryngol. Feb 2005;262(2):131-4. [Medline].
9.     Lamm K, Lamm H, Arnold W. Effect of hyperbaric oxygen therapy in comparison to conventional or placebo therapy or no treatment in idiopathic sudden hearing loss, acoustic trauma, noise-induced hearing loss and tinnitus. A literature survey. Adv Otorhinolaryngol. 1998;54:86-99. [Medline].
10.  Narozny W, Sicko Z, Przewozny T, Stankiewicz C, Kot J, Kuczkowski J. Usefulness of high doses of glucocorticoids and hyperbaric oxygen therapy in sudden sensorineural hearing loss treatment. Otol Neurotol. Nov 2004;25(6):916-23. [Medline].
11.  Bennett MH, Kertesz T, Yeung P. Hyperbaric oxygen for idiopathic sudden sensorineural
12.  Rauch SD, Halpin CF, Antonelli PJ, et al. Oral vs intratympanic corticosteroid therapy for idiopathic sudden sensorineural hearing loss: a randomized trial. JAMA. May 25 2011;305(20):2071-9. [Medline].
13.  Fetterman BL, Saunders JE, Luxford WM. Prognosis and treatment of sudden sensorineural hearing loss.Am J Otol. Jul 1996;17(4):529-36. [Medline].
14.  Wilson WR. The relationship of the herpesvirus family to sudden hearing loss: a prospective clinical study and literature review. Laryngoscope. Aug 1986;96(8):870-7. [Medline].
15.  Matthies C, Samii M. Management of 1000 vestibular schwannomas (acoustic neuromas): clinical presentation. Neurosurgery. Jan 1997;40(1):1-9; discussion 9-10. [Medline].
16.  Ullrich D, Aurbach G, Drobik C. A prospective study of hyperlipidemia as a pathogenic factor in sudden hearing loss. Eur Arch Otorhinolaryngol. 1992;249(5):273-6. [Medline].
17.  Wilson WR, Byl FM, Laird N. The efficacy of steroids in the treatment of idiopathic sudden hearing loss. A double-blind clinical study. Arch Otolaryngol. Dec 1980;106(12):772-6. [Medline].
[อ่านต่อ...]