24 ตุลาคม 2553

หลักการรักษาความดันเลือดสูง

เรียนอ.สันต์ค่ะ
1. เนื่องจากคุณแม่เป็นความดันมา 4-5 ปีค่ะ ตอนแรกคุณหมอให้ APROVEL 300 mg วันละ 1 เม็ดหลังตื่นนอนตอนเช้า ต่อมาเปลี่ยนเป็น Madiplot 20 mg วันละ 1 เม็ด หลังอาหารเช้า ความดันอยู่ที่ประมาณ 138/70 ต่อมาเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาคุณหมอเปลี่ยนเป็น Prenolol 50 mg ทานครั้งละ 1 เม็ด ตอนเช้าและเย็น ตอนนี้ความดันเหลือ 117/47 แบบนี้ทานยา Prenolol มากเกินหรือเปล่าคะ และความดันเท่านี้ถือว่าปกติสำหรับคนอายุ 70 ปีหรือไม่คะ
2. คุณแม่ทานยา Damamine แก้เวียน ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น ทานแล้วรู้สึกง่วงมาก ทานแค่วันละ 2 ครั้งจะได้มั้ยคะ เพราะตอนนี้ไม่เวียน หรือสามารถหยุดยาได้เลยหรือไม่คะ
รบกวน อ.สันต์ช่วยตอบด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ
..................................

ตอบครับ

ก่อนที่จะตอบคำถาม ไหนๆก็ไหนๆแล้ว ควรรู้จักหลักการรักษาความดันเลือดสูง 6 ประการ ซึ่งเป็นมาตรฐานวิชาชีพแพทย์ไว้ดังนี้นะครับ

1. หลักการวัดความดันเลือด วิธีวัดมาตรฐานคือ (1) ก่อนวัดสามสิบนาทีควรเลี่ยงบุหรี่ กาแฟ และการออกกำลังกาย (2) วัดด้วยเครื่องแบบโบราณใช้ปรอทแบบบีบฟืดๆเสมอ ถ้าจะวัดด้วยเครื่องอัตโนมัติต้องเป็นเครื่องที่ได้สอบเทียบกับเครื่องโบราณแล้วว่าอ่านค่าได้ถูกต้อง ถ้ามีเครื่องที่ไม่เคยสอบเทียบที่บ้าน อุ้มไปสอบเทียบที่รพ.สักครั้งก็ดี (3) นั่งพักห้านาทีก่อนวัด (4) วัดในท่านั่ง สองเท้าแตะพื้น แขนวางบนโต๊ะเสมอระดับหัวใจ (5) เลือกตัวคัฟ(ถุงลมพันแขน)ให้พอดี ตัวถุงลมต้องกินพื้นที่อย่างน้อย 80%ของรอบแขน (6) วัดหลายๆครั้ง อย่างน้อยสองครั้ง เลือกเอาค่าที่เป็นตัวแทนของค่ารวมได้ดีที่สุด ค่าที่วัดออกมาได้มีสองตัว คือค่าตัวบนเรียกความดันซีสโตลิก ค่าตัวล่างเรียกไดอาสโตลิก สมัยก่อนตัวล่างสำคัญกว่าตัวบน แต่สมัยนี้ตัวบนสำคัญกว่าตัวล่าง สำหรับคนสูงอายุดูแต่ตัวบนตัวเดียวไม่ดูตัวล่างเลยก็ยังได้

2. หลักเป้าหมายความดันเลือด หมายความว่าความดันเลือดในอุดมคติที่เราอยากได้ ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน คือให้ได้ความดันเลือดไม่ต่ำกว่า 100/65 และไม่สูงกว่า 150/100 มม.ปรอท (มาตรฐานใหม่ ปีค.ศ. 2014) มีข้อยกเว้นบ้างในกรณีนักกีฬาและเด็ก ซึ่งความดันอาจปกติอาจจะลงไปได้ต่ำถึง 90/60 ก็ถือว่าโอเค.เช่นกัน

3. หลักจุดตัดที่จะใช้ยา หมายความว่าถ้าสูงไปกว่าจุดตัดนี้ไม่ดี ต้องใช้ยาหรือเพิ่มยาแล้ว ซึ่งจุดตัดนี้แตกต่างกันไปตามความเสี่ยงเฉพาะตัวของแต่ละคนดังนี้

3.1 คนทั่วไป ไม่มีโรคเรื้อรัง ใช้ยาหรือเพิ่มยาเมื่อความดันเกิน 150/100 (ตัวใดตัวหนึ่ง)
3.2 คนเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ใช้ยาหรือเพิ่มยาเมื่อความดันเกิน 140/80
3.3 คนเป็นโรคไตเรื้อรัง ใช้ยาหรือเพิ่มยาเมื่อความดันเกิน 130/80

4. หลักการลดความดันด้วยการไม่ใช้ยา ซึ่งต้องทำทุกคน ไม่ว่าจะใช้ยาแล้วหรือไม่ก็ตาม คือ

4.1 ถ้าอ้วนให้ลดน้ำหนัก ถ้าลดน้ำหนักได้ 10 กก. จะลดความดันตัวบนลงได้ถึง 20 มม.
4.2 กินอาหารที่มีไขมันต่ำมีแคลอรี่ต่ำและมีผักและผลไม้มากๆ กินมังสะวิรัติเลยได้ยิ่งดี อาหารลดความดันเลือดที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลดีคือสูตร DASH diet ประกอบด้วยมังสะวิรัติ + อาหารทะเล + นมไร้ไขมัน สามารถลดความดันได้ถึง 15 มม.
4.3 ออกกำลังกายให้ได้ระดับมาตรฐาน คือออกจนเหนื่อยหอบแฮ่กๆร้องเพลงไม่ได้อยู่นาน 30 นาทีสัปดาห์ละ 5 ครั้ง จะลดความดันได้ถึง 9 มม.
4.4 ลดเกลือในอาหารลงให้เหลือระดับจืดสนิทจะลดความดันลงได้ถึง 8 มม.
4.5 ถ้าดื่มแอลกอฮอล์อยู่มากให้เลิกจะลดความดันลงได้ 4 มม.

5. หลักการค้นหาและขจัดสาเหตุ คือการรักษาความดันเลือดสูงไม่ใช่เอาแต่ให้ยาตะพึด ต้องมุ่งค้นหาปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุที่แก้ไขได้ ง่ายๆก็เช่นนิสัยไม่ดีต่างๆมีหรือเปล่า เช่น เครียด อ้วน ไม่ออกกำลังกาย ไม่กินผัก กินเค็ม ดื่มสุรา ไปจนถึงสาเหตุที่เป็นความผิดปกติของร่างกายเช่นหลอดเลือดไปเลี้ยงไตตีบ มีเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต เป็นต้น

6. หลักการรักษาความดันเลือดสูงด้วยยา อันนี้เป็นเรื่องของหมอเขาแล้ว มันมีประเด็นเยอะแยะมากมาย คุณไม่ต้องรู้ก็ได้


เอาละ ทีนี้มาตอบคำถามของคุณ

1. เดิมความดัน 138/70 ยังต่ำไม่พออีกหรือ ทำไมต้องลดลงไปกว่านั้นอีก ตอบว่าขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของคุณแม่คุณครับ ถ้าท่านมีปัญหาเรื่องการทำงานของไตเสื่อมอยู่ด้วย ถ้าท่านไม่มีความเสี่ยงพิเศษ ไตดี หัวใจดี ความดันขนาดนี้ (ไม่เกิน 150/100) ก็ถือว่ารับได้ครับ

2. หมอลดความดันจนเหลือ 117/47 ต่ำเกินไปหรือเปล่า ตอบว่าดูตัวเลขเชิงคณิตศาตร์ไม่ต่ำเกินไปครับ แต่ต้องดูอาการประกอบด้วย ถ้ามีอาการความดันตกเมื่อเปลี่ยนท่าร่างก็ถือว่าต่ำเกินไป ชนิดของยาที่เลือกใช้ก็มีผลต่ออาการความดันตกด้วยเหมือนกัน หมายความว่าที่ความดันเดียวกัน ยาบางตัวทำให้เกิดอาการ บางต้วไม่เกิด

3. ยา dimenhydrinate (Dramamine) เป็นยาแอนตี้ฮีสตามีน (แก้แพ้) ที่ใช้บรรเทาอาการเมาหัววิงเวียนได้ด้วย การใช้ยาบรรเทาอาการ เมื่ออาการบรรเทาลงสมประสงค์แล้ว ก็เลิกกินยาได้ ไม่ต้องกินตะพึดไปจนยาหมดถุงที่หมอให้

4. ในกรณีคุณแม่ของคุณนี้ ทั้งยา irbesartan (Approvel) และยา manidipine (Madiplot) ต่างก็ทำให้เมาหัววิงเวียนได้ ไม่มีทางจะรู้ได้เลยว่าเกิดจากยาหรือเปล่า นอกจากลองหยุดยาดู นี่เป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมการรักษาความดันเลือดสูงจึงควรพุ่งเป้าไปที่การลดความดันเลือดด้วยวิธีที่ไม่ใช้ยาอย่างเข้มข้นจริงจัง เพราะยามักจะมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ติดมาด้วยเสมอ


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Aram V. Chobanian; George L. Bakris; Henry R. Black; William C. Cushman; Lee A. Green; Joseph L. Izzo, Jr; Daniel W. Jones; Barry J. Materson; Suzanne Oparil; Jackson T. Wright, Jr; Edward J. Roccella; Seventh Report of the Joint National Committee on Prevention, Detection, Evaluation, and Treatment of High Blood Pressure. Hypertension. 2003;42:1206.
[อ่านต่อ...]

ยาคุม

ดิฉันเป็นโรค pcos หมอให้ทานยาคุมกำเนิด
แต่ยาคุมที่ดิฉันทานเป็นชนิด hormone ต่ำ Gestodene 60 mcg, Ethinyl estradiol 15 mcg
อยากทราบว่าเกี่ยวกับการที่ดิฉันมีประจำเดือนออกมาน้อยหรือไม่ เพราะทานยี่ห้อนี้ทีไรประจำเดือนมาน้อยมาก และมีออกกระปิดกระปอยระหว่างรอบเดือนด้วย
ควรจะเปลี่ยนยี่ห้อมั้ยคะ ช่วยแนะนำยี่ห้อด้วยค่ะ เอาที่ไม่ทำให้บวมน้ำด้วยนะคะ
ขอบคุณค่ะ
.............................................

ตอบครับ

1. การทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนต่ำ ทำให้มีเลือดออกกะปริดกะปรอย ใช่หรือไม่ ตอบว่า ใช่ครับ การทบทวนงานวิจัยทั้งหมดที่เปรียบเทียบยาฮอร์โมนสูงกับ โดยใช้จุดตัดที่ ethinyl estradiol 20 mcg เป็นเส้นแบ่งสูงกับต่ำ ได้ข้อสรุปว่ายาคุมฮอร์โมนต่ำทำให้เกิดเลือดออกกะปริดกะปรอยมากกว่ายาคุมฮอร์โมนสูง ทั้งนี้เป็นเพราะกลไกการหยุดเลือดออกทางช่องคลอดคือการที่ระดับฮอร์โมนเพศในเลือดเพิ่มสูงขึ้นๆๆเพื่อทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวเพื่อรองรับการตั้งครรภ์ ถ้ายาคุมที่มีฮอร์โมนสูงย่อมจะทำหน้าที่นี้ได้ดีกว่ายาคุมที่มีฮอร์โมนต่ำ

2. การมีประจำเดือนมาน้อย เป็นเพราะทานยาคุมชนิดฮอร์โมนต่ำใช่หรือไม่ ก็ตอบว่าใช่อีก เพราะกลไกการเกิดประจำเดือนมากหรือน้อยขึ้นกับว่ามีฮอร์โมนมากระตุ้นการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกมากหรือน้อย ถ้ามีฮอร์โมนมากระตุ้นน้อย เยื่อบุโพรงมดลูกก็หนาตัวน้อย เมื่อหลุดลอกออกกมาเป็นประจำเดือนก็มีปริมาณน้อย

3. ขอยาคุมที่ไม่ทำให้บวมน้ำ คำตอบคือยังไม่มีใครทราบว่ายานั้นมีอยู่ในโลกนี้หรือเปล่า เพราะการทบทวนงานวิจัยเปรียบเทียบยาคุมทั้งหมดที่เป็นที่นิยมในท้องตลาดในประเด็นการลดบวมและการทำให้น้ำหนักเพิ่ม ไม่สามารถสรุปได้ว่ายาใดดีกว่ายาใด แม้กระทั้งระหว่างยาที่มีฮอร์โมนมากกับยาที่มีฮอร์โมนน้อย ก็ยังสรุปไม่ได้เลยว่ามันทำให้บวมน้ำแตกต่างกันหรือเปล่า (ผมให้ชื่องานวิจัยไว้ที่บรรณานุกรมท้ายนี้) ดังนั้น ถ้ามีคนบอกคุณว่ายาคุมยี่ห้อนี้ทำให้บวมน้อยกว่าเพื่อน แสดงว่าคนนั้นถ้าไม่หลอกขายยาก็ใช้ข้อมูลที่รู้มาไม่ครบถ้วนมาบอกคุณแบบตาบอดคลำช้าง

4. ถามว่าควรจะเปลี่ยนยี่ห้อไหม ตอบว่าถ้าใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ แต่ถ้าใช้หลักหมอไทยแผนโบราณที่ว่า “ลางเนื้อชอบลางยา” จะลองเปลี่ยนดูก็ไม่เสียหลายนะครับ

ผมตอบคำถามคุณหมดแล้วนะ คราวนี้ขอผมแถมบ้าง คือยาคุมกำเนิดนี้ ไม่ใช่อะไรที่คนเราควรจะทานต่อเนื่องนานๆหลายๆปีนะครับ ต้องชั่งน้ำหนักความเสี่ยงและประโยชน์ของมันให้ดี เพราะมันมีข้อเสียมากเหมือนกัน ข้อเสียใหญ่ๆของมันมี 5 ประเด็นคือ

1) มันทำเลือดแข็งตัวเร็ว ทำให้เกิดลิ่มเลือดขึ้นในระบบไหลเวียนเลือดได้ง่าย ซึ่งนำไปสู่โรคที่เรากลัวกันหลายโรค เช่นการเพิ่มโอกาสเป็นอัมพาต (stroke) และเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute MI) เป็นต้น

(2) ยาคุมทำให้เป็นมะเร็งของปากมดลูก เต้านม และตับเพิ่มมากขึ้น (แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เป็นมะเร็งรังไข่และเยื่อบุโพรงมดลูกน้อยลง)

(3) ยาคุมทำให้ตับเสียหายได้

(4) ยาคุมทำให้เกิดความดันเลือดสูงได้ในบางคน

(5) ยาคุมทำให้อ้วน อ้วนจริงๆนะครับ ไม่ใช่บวมน้ำ เพราะฮอร์โมนเพศที่เอามาใช้ทำยาคุมมีฤทธิ์เพิ่มการสะสมไขมันไว้ในร่างกาย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์


บรรณานุกรม
1. Gallo MF, Nanda K, Grimes DA, et al; 20 microg versus >20 microg estrogen combined oral contraceptives for contraception. Cochrane Database Syst Rev. 2008 Oct 8;(4):CD003989.
2. Gallo MF, Lopez LM, Grimes DA, et al; Combination contraceptives: effects on weight. Cochrane Database Syst Rev. 2008 Oct 8;(4):CD003987.
3. Collaborative Group on Hormonal Factors in Breast Cancer. Breast cancer and hormonal contraceptives: Collaborative reanalysis of individual data on 53,297 women with breast cancer and 100,239 women without breast cancer from 54 epidemiological studies. Lancet 1996; 347:1713–1727. Marchbanks PA, McDonald JA, Wilson HG, et al. Oral contraceptives and the risk of breast cancer. New England Journal of Medicine 2002; 346(26):2025–2032.
4. Althuis MD, Brogan DD, Coates RJ, et al. Breast cancers among very young premenopausal women (United States). Cancer Causes and Control 2003; 14(2):151–160.
5. Hankinson SE, Colditz GA, Hunter DJ, et al. A quantitative assessment of oral contraceptive use and risk of ovarian cancer. Obstetrics and Gynecology 1992; 80(4):708–714.
6. Centers for Disease Control and Prevention and the National Institute of Child Health and Human Development. The reduction in risk of ovarian cancer associated with oral-contraceptive use. The Cancer and Steroid Hormone Study of the Centers for Disease Control and the National Institute of Child Health and Human Development. New England Journal of Medicine 1987; 316(11):650–655.
7. Schildkraut JM, Calingaert B, Marchbanks PA, Moorman PG, Rodriguez GC. Impact of progestin and estrogen potency in oral contraceptives on ovarian cancer risk. Journal of the National Cancer Institute 2002; 94(1):32–38.
8. Greer JB, Modugno F, Allen GO, Ness RB. Androgenic progestins in oral contraceptives and the risk of epithelial ovarian cancer. Obstetrics and Gynecology 2005; 105(4):731–740.
9. Emons G, Fleckenstein G, Hinney B, Huschmand A, Heyl W. Hormonal interactions in endometrial cancer. Endocrine-Related Cancer 2000; 7(4):227–242.
10. Smith JS, Green J, Berrington de GA, et al. Cervical cancer and use of hormonal contraceptives: A systematic review. Lancet 2003; 361(9364):1159–1167.
11. Yu MC, Yuan JM. Environmental factors and risk for hepatocellular carcinoma. Gastroenterology 2004; 127(5 Suppl 1):S72–S78.
[อ่านต่อ...]

22 ตุลาคม 2553

การเล่นกล้าม (Strength Training)

การออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรง (Strength Training) หรือการเล่นกล้าม คือชนิดของการออกกำลังกายที่มุ่งเพิ่มมวลกล้ามเนื้อและเพิ่มความแข็งแร็งของกล้ามเนื้อกลุ่มต่างๆของร่างกาย เพื่อความสะดวก ต่อไปในบทความนี้จะใช้คำว่า “การเล่นกล้าม” แทน

ประโยชน์ของการเล่นกล้าม

1. ลดพุง ลดไขมัน เนื่องจากมวลกล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้นเป็นตัวเผาผลาญไขมันที่สะสมไว้ในร่างกาย

2. ป้องกันและรักษากระดูกพรุน เพราะการเล่นกล้ามก่อแรงกระทำต่อกระดูก เป็นการกระตุ้นให้มีการเสริมแคลเซี่ยมให้กระดูก

3. ป้องกันและรักษาโรคเบาหวาน งานวิจัยพบว่าการออกกำลังกายแบบเล่นกล้าม ป้องกันคนที่อยู่ในภาวะใกล้เป็นเบาหวาน (prediabetes) ไม่ให้เป็นเบาหวานได้ดีกว่าการใช้ยาลดน้ำตาลในเลือด

4. เพิ่มการทรงตัวที่ดี ป้องกันและลดความรุนแรงของการลื่นตกหกล้มและการบาดเจ็บ

5. ลดปวดข้อ การศึกษาเปรียบเทียบพบว่าคนเป็นโรคข้ออักเสบที่เล่นกล้าม มีอาการปวดข้อน้อยกว่าคนที่ไม่เล่นกล้าม เพราะกล้ามเนื้อที่แข็งแรงช่วยรับแรงแทนข้อได้ดี

6. ทำให้ร่างกายแข็งแรง เป็นการแก้ไขความอ่อนแอของร่างกายที่เกิดจากการหดลีบของกล้ามเนื้อจากการใช้งานน้อยในผู้สูงอายุ ทำให้สามารถทำงานหนัก เดินทางท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมเพิ่มคุณภาพชีวิตเช่นเล่นสกี ปีนเขา ได้ดี

หลักพื้นฐานของการเล่นกล้าม

การเล่นกล้ามมีหลักพื้นฐานสิบประการ คือ

1. หน่วยนับพื้นฐาน (basic index) ผู้จะฝึกกล้ามเนื้อ ควรทำความเข้าใจหน่วยนับพื้นฐานในการออกกำลังกายชนิดนี้ คือ
1.1 ท่า (sets) หมายถึงแบบหรือวิธีออกกำลังกายที่มุ่งเจาะจงให้มีการใช้งานกล้ามเนื้อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่ละท่าอาจจะใช้มือเปล่า ใช้น้ำหนักตัว หรือใช้อุปกรณ์เช่นลูกตุ้มหรือสปริงยืด ก็ได้ ในการฝึกกล้ามเนื้อแต่ละครั้ง ควรหมุนเวียนเปลี่ยนท่าให้ทำให้ได้ประมาณ 10-15 ท่า
1.2 จำนวนครั้งที่ทำซ้ำในหนึ่งท่า (reps) เนื่องจากการฝึกกล้ามเนื้อมุ่งให้กล้ามเนื้อได้ทำงานมากกว่าที่เคยทำมาก่อน ในแต่ละท่าจึงมีการทำซ้ำหลายครั้ง จำนวนครั้งที่ทำซ้ำในหนึ่งท่าเรียกว่า reps ส่วนใหญ่แต่ละท่าจะออกแบบให้ทำซ้ำ 10-15 reps แล้วให้กล้ามเนื้อกลุ่มนั้นหมดแรงพอดี หากทำถึง 10-15 reps แล้วยังไม่ล้าหรือยังไม่หมดแรง แสดงว่าท่าที่ออกแบบไว้นั้นอาจจะเบาเกินไปสำหรับการฝึกกล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของท่าออกกำลังกายบางท่าไม่สามารถเพิ่มน้ำหนักต้านได้ เช่นการรำกระบองเพื่อออกกำลังกายกล้ามเนื้อหลัง การเพิ่มจำนวน reps จึงเป็นทางเดียวที่จะเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ในกรณีเช่นนี้ท่าเดียวอาจจะต้องทำซ้ำถึง 100 reps ก็ได้

2. หลักอบอุ่นร่างกาย (warm up) การให้กล้ามเนื้อออกแรงมากๆทันทีพรวดพราดจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บกล้ามเนื้อ ซึ่งจะมีอาการปวดคงอยู่นานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน บางครั้งเป็นเหตุให้ต้องเลิกออกกำลังกายในท่านั้นไปเลย ก่อนฝึกกล้ามเนื้อต้องอบอุ่นร่างกายด้วยการออกกำลังกายแบบต่อเนื่องเช่น cardio เบาๆ หรือเลือกทำท่าเบาๆ ก่อน เพื่อให้เวลากล้ามเนื้อปรับตัวและป้องก้นการบาดเจ็บกล้ามเนื้อ

3. หลักฝืนกล้ามเนื้อ (overload) การจะสร้างมวลกล้ามเนื้อให้มากกว่าเดิม ต้องให้กล้ามเนื้อฝืนออกแรงมากกว่าที่เขาเคยออกอยู่เดิม ต้องให้ได้ออกแรงหนักที่สุดเท่าที่จะทำได้ครบ reps แล้วหมดแรงพอดี

4. หลักทำเพิ่มขึ้นๆ (progression) หมายความว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการให้กล้ามเนื้อออกแรงเท่าเดิม (plateaus) ซ้ำๆซากๆ ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อปรับตัวทำงานนั้นได้โดยไม่ต้องเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ (adaptation) จะต้องเพิ่มแรงต้านขึ้นไปเรื่อยๆ ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน โดยวิธีเช่นเพิ่มน้ำหนักที่ยก เพิ่มสปริงที่ดึง เพิ่มจำนวนท่า หรือเพิ่มจำนวนการทำซ้ำในแต่ละท่า

5. หลักเจาะกลุ่มกล้ามเนื้อ (specificity) กำหนดเป้าหมายว่าจะสร้างความแข็งแร็งให้กล้ามเนื้อกลุ่มใดบ้าง โดยอาศัยการเปลี่ยนท่า หนึ่งท่าก็เจาะกลุ่มกล้ามเนื้อหนึ่งกลุ่ม ในกรณีออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก ต้องหมุนเวียนออกกำลังกายไปหลายกลุ่มกล้ามเนื้อ

6. หลักพักและฟื้น (rest and recovery) คือเมื่อออกกำลังกายกลุ่มกล้ามเนื้อหนึ่งแล้ว ต้องเว้นกลุ่มกล้ามเนื้อนั้นไปอย่างน้อยหนึ่งวันเพื่อให้เวลากล้ามเนื้อเติบโตและปรับเปลี่ยนตัวเอง

7. หลักไม่พึ่งโมเมนตัม (no momentum effect) กล่าวคือในการออกกำลังกายที่อาศัยแรงต้าน เช่นน้ำหนักที่ยก สปริงที่ดึง หากเราจับตัวก่อแรงต้าน เช่นลูกตุ้มเหล็กหรือสปริงยืด ให้เคลื่อนไหวเร็วๆ โดยธรรมชาติจะมีแรงมาผลักดันให้การเคลื่อนไหวนั้นดำเนินต่อไปในทิศทางเดิม แรงนี้เรียกว่าโมเมนตัม เช่นถ้าเราดึงสปริงอย่างรวดเร็วพรวดพราด เราจะใช้แรงกล้ามเนื้อน้อยกว่าการค่อยๆดึงสปริงออกอย่างช้าๆแบบสโลว์โมชั่น เพราะเวลาดึงเร็วเกิดแรงโมเมนตัมมาช่วยมาก การฝึกกล้ามเนื้อที่ดี ต้องไม่พึ่งพาแรงโมเมนตัมให้ทำงานแทนกล้ามเนื้อ ซึ่งสามารถทำได้โดยการเคลื่อนไหวให้ช้าๆทั้งขาขึ้น ขาลง ขายืด และขาหด

8. หลักไม่กลั้นหายใจ (no breath holding) เวลาที่เราตั้งใจออกแรงหนักๆ เรามักจะเผลอกลั้นหายใจ การทำเช่นนั้นนอกจากจะทำให้ร่างกายไม่ได้ออกซิเจนแล้วยังจะเกิดความเครียดขึ้นกับระบบร่างกายทั้งหมดด้วย การฝึกกล้ามเนื้อที่ดีต้องค่อยๆทำช้าๆประกอบกับการผ่อนลมหายใจเข้าออกช้าๆให้เป็นหนึ่งเดียวกับการเคลื่อนไหวหรือการออกแรง โดยไม่มีการกลั้นหายใจเลย

9. หลักพิสัยการเคลื่อนไหว (full range of motion) กล้ามเนื้อแต่ละกลุ่มมีหน้าที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง เมื่อเราเจาะจงทำท่าออกกำลังกายกล้ามเนื้อกลุ่มใด ต้องให้กล้ามเนื้อกลุ่มนั้นได้ออกกำลังกายจนอวัยวะที่เกี่ยวข้องได้เคลื่อนไหวไปจนสุดพิสัยของการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของมัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อความยืดหยุ่นและการทรงตัวของร่างกายอย่างเต็มที่ และเป็นการป้องกันโรคบางชนิดที่เกิดจากการจำกัดพิสัยการเคลื่อนไหว เช่นโรคไหล่ติด เป็นต้น

10. หลักท่าร่าง (posture) ปัญหาที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันของคนเราในสมัยใหม่นี้มีสองประการคือ (1) มักใช้ท่าร่างที่มีแนวโน้มจะงองุ้มตัวลงและหลังโก่ง ซึ่งนำไปสู่ภาวะกระดูกสันหลังหัก (compression fracture) และหลังค่อมในวัยชรา (2) ไม่มีโอกาสที่กล้ามเนื้อหน้าท้องจะได้ออกกำลังกายเลย ทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องหย่อนและลงพุงง่าย ลงพุงมาก ในการออกกำลังกายเพื่อฝึกกล้ามเนื้อ จะต้องใส่ใจกับท่าร่างขณะออกกำลังกายเพื่อแก้ข้อเสียสองประการนี้เสมอ กล่าวคือต้องรักษาท่าร่างที่ลำตัว (body) ได้ยืดตรงขึ้นเสมอ และต้องใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องเข้าร่วมออกกำลังกายในทุกๆท่า อย่างน้อยก็ต้องมีการจงใจแขม่วพุงพร้อมกับการออกแรงในแต่ละท่า

กลุ่มกล้ามพื้นฐาน

กล้ามเนื้อกลุ่มใหญ่ที่ใช้เป็นตัวกำหนดท่าออกกำล้งกายกล้ามเนื้อ มี 8 กลุ่ม คือ

1. กล้ามเนื้อหน้าอก (Chest) ซึ่งมีกล้ามเนื้อเพ็คโตราลิสเป็นตัวหลัก


2. กล้ามเนื้อหลัง (Back) ซึ่งมีกล้ามเนื้อลาทิสซิมัส และ ทราปิเชียส เป็นหลัก


3. กล้ามเนื้อไหล่ (Shoulder) ซึ่งมีกล้ามเนื้อเดลตอยเป็นหลัก


4. กล้ามเนื้อหน้าแขน (Biceps)

5. กล้ามเนื้อหลังแขน (Triceps)

6. กล้ามเนื้อหน้าขา (Quadriceps)

7. กล้ามเนื้อหลังขา (Hamstring)

8. กล้ามเนื้อหน้าท้อง (Abs) ซึ่งมีกล้ามเนื้อเร็คทัสแอบโดมินิส เป็นหลัก


ท่าพื้นฐานในการออกกำลังกายกล้ามเนื้อทั้ง 8 กลุ่ม

1. การออกกำลังกายกล้ามเนื้อหน้าอก (Chest)

1.1 ท่านอนหงายยกบาร์เบล (Barbell bench press)

นอนหงายบนม้ายาว สองมือถือบาร์เบลโดยกางมือออกให้กว้างกว่าหัวไหล่ ยกบาร์เบลขึ้นไปจนสุดช่วงแขนแต่ไม่เหยียดตรงจนแขนล็อค เพราะหากเหยียดจนแขนล็อคกระดูกจะเป็นตัวรับน้ำหนักแทนกล้ามเนื้อทำให้ไม่ได้ออกแรงกล้ามเนื้อ แล้วค่อยๆงอศอกลดบาร์เบลลงจนข้อศอกลงมาอยู่ต่ำกว่าหน้าอก เป็นการจบหนึ่ง rep พยายามแขม่วท้องไว้ตลอดเวลาที่ยกน้ำหนักเพื่อช่วยหลังรับน้ำหนักด้วย เคลื่อนไหวช้าๆแบบสโลวโมชั่นทั้งขาขึ้นและลง เพื่อหลีกเลี่ยงการอาศัยโมเมนตัม ทำซ้ำจนได้ 10-15 reps หรือจนกล้ามเนื้อล้า

1.2 ท่านอนหงายยกดัมเบล (Dumbell chest press)

นอนหงายบนม้ายาว สองมือถือดัมเบลโดยกางมือออกให้กว้างกว่าหัวไหล่ ยกดัมเบลขึ้นไปจนสุดช่วงแขนแต่ไม่เหยียดตรงจนแขนล็อค เพราะหากเหยียดจนแขนล็อคกระดูกจะเป็นตัวรับน้ำหนักแทนกล้ามเนื้อทำให้ไม่ได้ออกแรงกล้ามเนื้อ แล้วค่อยๆงอศอกลดดัมเบลลงจนข้อศอกลงมาอยู่ต่ำกว่าหน้าอก เป็นการจบหนึ่ง rep พยายามแขม่วท้องไว้ตลอดเวลาที่ยกน้ำหนักเพื่อช่วยหลังรับน้ำหนักด้วย เคลื่อนไหวช้าๆแบบสโลวโมชั่นทั้งขาขึ้นและลง เพื่อหลีกเลี่ยงการอาศัยโมเมนตัม ทำซ้ำจนได้ 10-15 reps หรือจนกล้ามเนื้อล้า

1.3 ออกกำลังกายอกด้วยสายยืด (Chest press with resistance bands)

เอาสายยืดคล้องหลักที่มั่นคง หันหลังให้หลัก ยืนหรือนั่งห่างจากหลักพอให้เกิดแรงต้านตามต้องการ งอศอกกำด้ามสายยืดไว้ใกล้หัวไหล่ คว่ำกำมือลง สายยืดอยู่ใต้แขน เหยียดแขนไปข้างหน้าช้าๆจนสุดแต่ไม่ล็อกแขน แล้วค่อยๆงอศอกคอยออกแรงต้านสายยืดให้กลับมาอยู่ในท่าตั้งต้นอย่างช้าๆ อย่าปล่อยตามแรงหดตัวของสายยืด เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อไม่ได้ออกแรงต้าน ทำซ้ำ 10-15 reps หรือจนล้า

1.4 วิดพื้น (push up)

เป็นการออกกำลังกายกล้ามเนื้อหน้าอก แขน และลำตัวส่วนบนที่ดี วิธีคือคว่ำหน้าบนพื้น ฝ่ามือทาบพื้น แยกกันห่างจากหัวไหล่เล็กน้อย ปลายเท้าจิกพื้น ศีรษะ คอ หลัง ขา เข่า เหยี่ยดเป็นเส้นตรง แล้วค่อยๆเหยียดแขนยกน้ำหนักตัวขึ้น สลับกับลง ทำซ้ำ 10-15 ครั้งหรือจนกล้ามเนื้อล้า อย่ายกคางหรือเงยหน้าขึ้นนำ อย่าให้ตกท้องช้างที่กลางตัว แขม่วท้องขณะทำ

1.5 นอนหงายเหวี่ยงดัมเบล (Dumbell chest fly)

นอนหงายบนม้ายาว สองมือถือดัมเบล กางแขนออกกว้างให้ดัมเบลอยู่ระดับหัวไหล แล้วค่อยๆหุบแขนเข้า ยกดัมเบลขึ้นโดยแขนเหยียดแต่ไม่ล็อค จนสองแขนชูดัมเบลขึ้นสูงสุด แล้วค่อยกางแขนออกจนดัมเบลลงมาอยู่ระดับหัวไหลใหม่ ทำซ้ำ 10-15 ครั้งหรือจนกล้ามเนื้อล้า แขม่วท้องขณะทำ ถ้าทำท่านี้บนลูกบอลจะช่วยให้ต้องทรงตัวมากขึ้น

1.6 เหวี่ยงแขนด้วยสายยืด (arm fly with band)

เอาสายยืดคล้องหลักที่มั่นคง นั่งหรือยืนหันข้างให้หลัก ให้อยู่ห่างจากหลักพอให้สายยืดตึงพอดี มือกำที่จับสายยืดโดยหันฝ่ามือเข้าหาตัว ตั้งต้นด้วยท่าอ้าแขนเหยียดตรงเสมอไหล่ แล้วงอศอกดึงสายยืดจนกำมือมาจรดกับหน้าอก แล้วค่อยๆอ้าแขนกลับไปอยู่ท่าเดิม ทำซ้ำ 10-15 ครั้งหรือจนกล้ามเนื้อล้า แขม่วท้องขณะทำ ถ้าทำท่านี้บนลูกบอลจะช่วยให้ต้องทรงตัวมากขึ้น

1.7 เหวี่ยงแขนด้วยสปริงไปข้างหลัง (back arm fly with spring)


2. การออกกำลังกายกล้ามเนื้อหลัง

2.1 กรรเชียงด้วยดัมเบล (Dumbell rows)

ยืนย่อเข่าเล็กน้อย หลังตรง โน้มตัวไปข้างหน้าให้ลำตัวเกือบขนานพื้นหรือทำมุมกับพื้นไม่เกิน 45 องศา มือจับดัมเบลข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ เหยียดแขนลงพื้นจนสุดแล้วงอศอกยกดัมเบลขึ้นมาในลักษณะเหมือนกรรเชียงเรือให้ข้อศอกขึ้นมาถึงระดับลำตัว ทำซ้ำ 10-15 ครั้งหรือจนกล้ามเนื้อล้า ท่านี้เป็นการออกกำลังกายกล้ามเนื้อลาทิสซิมัส (lats) ซึ่งเชื่อมการทำงานของบั้นเอว หลัง และแขน เข้าด้วยกัน ควรให้มีการขยับแต่แขนเท่านั้น ไม่ต้องขยับตะโพกหรือเอว ถ้ารู้สึกว่าเมื่อยหลังให้ทำทีละแขนแล้วใช้มือข้างที่ว่างอยู่เท้าหน้าขาเป็นการช่วยพยุงหลัง

2.2 นั่งกรรเชียงด้วยสายยืด (Seated rows with band)

เอาสายยืดคล้องหลัก นั่งหันหน้าให้หลัก ห่างพอให้สายตึง สองมือถือที่จับสายยืดในท่าเหยียดไปข้างหน้า หลังตรงอยู่กับที่ แล้วงอศอกดึงสายยืดเข้ามาหาตัวในลักษณะคล้ายกรรเชียงเรือ ทำซ้ำ 10-15 reps หรือจนกล้ามเนื้อล้า

2.3 ท่าดึงดัมเบล (Dumbell pullover)

นอนหงายท่าสะพาน สองเท้ายันพื้น งอเข่า ส่วนหลังวางพาดบนม้ายาวหรือลูกบอล สองมือถือดัมเบลคู่เดียวอยู่บนหน้าอก แล้วค่อยๆยกดัมเบลในท่าชูไว้เหนือศีรษะแล้วค่อยๆเกร็งหลังดึงดัมเบลกลับขึ้นมาอยู่บนหน้าอกอีก ทำซ้ำ 10-15 reps หรือจนล้า

2.4 ท่าแอ่นหลัง (Back extension)

นอนคว่ำ ฝ่ามือทาบบนพื้นหรือประสานที่ศีรษะ แขม่วท้องไว้ แอ่นหลังยกหน้าอกและเท้าขึ้นคาไว้สักครู่แล้วค่อยๆลดลง ทำซ้ำ 10-15 ครั้ง ท่านี้จะช่วยออกกำลังกายกล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง ซึ่งจะต้องทำงานประสานกับกล้ามเนื้อหน้าท้องในการรักษาตำแหน่งของกระดูกสันหลัง

2.5 ท่าเหวี่ยงกลับหลัง (Reverse fly)

นั่ง สองมือกำดัมเบลที่น้ำหนักค่อนข้างเบา กางแขนออกให้ดัมเบลมาอยู่ระดับเสมอไหล งอศอกเล็กน้อยให้ศอกชี้ไปข้างหลัง แล้วแอ่นอก โยกดัมเบลไปข้างหลัง ดึงสะบักทั้งสองข้างให้เข้ามาหากัน แล้วโยกดัมเบลกลับมาในทางกางแขนปกติ ทำสลับกันซ้ำๆ 10-15 ครั้ง การทำเช่นนี้มีพิสัยการเคลื่อนไหวอยู่นิดเดียว แต่ก็ช่วยออกกำลังกายกล้ามเนื้อหลังส่วนบนเช่นรอมบอยเดียส และทราปีเชียส เป็นต้น

2.6 กางสปริงจากเหนือศีรษะ (Lats work with spring)

ยืนถือสปริงยืดชูขึ้นเหนือศีรษะ ฝ่ามือหันออกจากตัว แล้วค่อยอ้าแขนกางสปริงจนสปริงลงมาอยู่ระดับหัวไหลด้านหลังศีรษะ คาอยู่สักครู่ แล้วค่อยๆผ่อนตามแรงสปริงให้กลับไปอยู่ในท่าชูสองแขนเหนือศีรษะเช่นเดิม ทำซ้ำ 10-15 reps หรือจนล้า ท่านี้เป็นการออกกำลังกายกล้ามเนื้อมัดใหญ่ๆของหลัง โดยเฉพาะลาทิสซิมัสดอร์ไซ

3.. การออกกำลังกายกล้ามเนื้อไหล่ (Shoulder)

3.1 ท่ายกดัมเบล (Overhead press with dumbell)

นั่งหรือยืน สองมือถือดัมเบลไว้ระดับหู หลังตรง แขม่วพุง แล้วค่อยๆยกชูขึ้นเหนือศีรษะ คงไว้สักครู่ แล้วค่อยๆกลับลงมาอยู่ที่ระดับหูเหมือนเดิม ทำซ้ำ 10-15 reps หรือจนล้า เวลายกน้ำหนักขึ้น ให้ดัมเบลอยู่ค่อนมาทางด้านหน้าแทนที่จะให้อยู่เหนือศีรษะตรงซึ่งอาจทำให้เมื่อยหลังได้ กรณียกน้ำหนักมากอาจใช้วิธีนั่งม้านั่งที่มีพนักพิงเพื่อช่วยลดการเมื่อยหลัง

3.2 ท่ายกขึ้นด้านหน้า ( Front raise)

นั่งหรือยืน สองมือถือดัมเบลที่น้ำหนักไม่มาก เหยียดแขนตรง คว่ำด้านฝ่ามือลง กำที่จับดัมเบลแล้วยกดัมเบลขึ้นมาอยู่ในระดับเสมอไหล่ แล้วค่อยๆลดระดับดัมเบลลงไปอยู่ที่เดิมโดยให้แขนเหยียดไว้ตลอด ทำซ้ำ 10-15 ครั้ง หรือจนล้า

3.3. ท่ายกขึ้นข้าง (Lateral raise)

ยืน สองมือกำดัมเบลซึ่งน้ำหนักไม่มาก กางแขนออกยกดัมเบลขึ้นจนเสมอไหล่ ยกปีกขึ้น งอศอกเล็กน้อย ให้ข้อศอกชี้ไปข้างหลังไม่ใช่ชี้ลงพื้น แล้วค่อยๆหุบแขนลงจนดัมเบลลงมาอยู่ข้างขา ทำซ้ำ 10-15 reps หรือจนล้า

3.4 ท่ากรรเชียงแนวดิ่ง (Upright rows)

ยืนแล้วสองมือยกดัมเบลขึ้นลงในแนวดิ่ง ให้ขึ้นมาสูงสุดเท่าที่ทำให้ข้อศอกเสมอไหล่ ทำซ้ำ 10-15 reps หรือจนล้า
ท่านี้เป็นการออกกำลังกายหลังส่วนบนและไหล่ ถ้าเอามือสองข้างมาชิดกัน น้ำหนักจะไปตกที่หลังส่วนบน ถ้าแยกมือสองข้างออกห่างกัน น้ำหนักจะไปตกที่ไหล่

3.5 ท่าหมุนไหล่ออกด้วยสายยืด (External rotation with bands)

พันสายยืดไว้กับหลัก เมื่อจะออกกำลังกายไหล่ขวา ให้นั่งหรือยืนหันข้างซ้ายให้หลัก มือขวาจับที่ถือสายยืด งอศอกให้แขนขนานพื้น แล้วดึงสายยืดให้ด้วยวิธีหมุนแขนออกเหมือนตีปิงปองลูกแบ็คแฮนด์ คงไว้ในท่ายืดเต็มที่สักพัก แล้วค่อยๆผ่อนสายยืดกลับมาในท่าเดิม ทำซ้ำ 10-15 reps หรือจนล้า การออกกำลังกาย rotation ของหัวไหล่นี้เป็นการฝึกกล้ามเนื้อเล็กๆสองมัดคือเทเรสไมเนอร์ กับอินฟราสไปนาทัส ซึ่งประกอบเป็นเกราะหุ้มรอบหัวไหล่

3.6 ท่าหมุนไหล่เข้าด้วยสายยืด (Internal rotation with bands)

พันสายยืดไว้กับหลัก เมื่อจะออกกำลังกายไหล่ซ้าย ให้นั่งหรือยืนหันข้างซ้ายให้หลัก มือขวาจับที่ถือสายยืด งอศอกให้แขนขนานพื้น แล้วดึงสายยืดให้ด้วยวิธีหมุนแขนเข้ามาหาตัวจนกำมือชิดสะดือ เหมือนตีปิงปองลูกตบ คงไว้ในดึงเต็มที่สักพัก แล้วค่อยๆผ่อนสายยืดกลับมาในท่าเดิม ทำซ้ำ 10-15 reps หรือจนล้า

4. การออกกำลังกล้ามเนื้อหน้าแขน (Biceps)

4.1 ท่ายกน้ำหนักแบบงอศอก (Dumbell curl)

ทำทีละข้างหรือสองข้างก็ได้ มือกำที่จับดัมเบล แขนเหยียด ข้อศอกอยู่ที่เดิม แล้วออกแรงกล้ามเนื้อหน้าแขนเพื่อยกดัมเบลขึ้นมาโดยวิธีงอข้อศอก จนดัมเบลมาอยู่ชิดหน้าอก ยกคาไว้สักครู่ แล้วค่อยๆวางลงไปอยู่ตำแหน่งเดิมที่ในท่าเหยียดแขน ทำซ้ำ 10-15 reps หรือจนล้า

4.2 ท่าดึงสายยืดข้ามตัว (Cross body curl with bands)

ยืนใช้เท้าเหยียบสายยืดไว้ จัดความตึงให้พอดีในขณะเหยียดแขนข้างนั้นเต็มที่ แล้วดึงสายยืดขึ้นด้วยวิธีงอศอกจนกำมือขึ้นมาชิดกับหน้าอก ดึงไว้สักครู่แล้วค่อยๆผ่อนกลับไปอยู่ในท่าเหยียดแขน ทำซ้ำ 10-15 reps หรือจนล้า

4.3 ดึงสปริงจากเท้า (Biceps work with spring)

ยืน เท้าเหยียบที่จับข้างหนึ่งของสปริงยืดไว้ มีจับอีกข้างหนึ่ง เหยียดแขนลง หงายฝ่ามือขึ้น แล้วงอศอกดึงสปริงขึ้นมาจนกำมือเกือบชนกับหัวไหล่ คาไว้สักครู่แล้วค่อยๆผ่อนตามแรงสปริงให้แขนเหยียดลงใหม่ ทำซ้ำ 10-15 reps หรือจนล้า

5. การออกกำลังกายกล้ามเนื้อหลังแขน (Triceps)

5.1 ท่าเด้งหลัง (Kickbacks)

ยืน ย่อเข่าเล็กน้อย มือเดียวหรือสองมือกำดัมเบล หลังตรง แขม่วท้อง โน้มตัวไปข้างหน้าจนลำตัวทำมุมกับพื้นอย่างน้อย 45 องศา แล้วค่อยโยกดัมเบลไปข้างหลัง จนดัมเบลขึ้นไปอยู่ระดับเดียวกับลำตัว ถือคาไว้สักครู่ แล้วค่อยผ่อนกลับลงมาอยู่ในท่าตั้งตั้น ทำซ้ำ 10-15 reps หรือจนล้า

5.2 ท่ายืดกล้ามเนื้อหลังแขน (Triceps extension)

นั่ง สองมือกำดัมเบลคู่เดียวชูขึ้นเหนือศีรษะ แขนเหยียดอยู่ข้างๆหู แล้วค่อยงอศอกให้ดัมเบลตกลงไปทางด้านหลังจนงอศอกได้ 90 องศา คาไว้สักครู่ แล้วค่อยๆดึงดัมเบลกลับขึ้นมาในท่าตั้งต้น ทำซ้ำ 10-15 reps หรือจนล้า

5.3 ท่าหย่อนตัวบนกล้ามเนื้อหลังแขน(Triceps dip)

นั่งโดยใช้เท้ายันผนังหรือพื้น สองมือเท้าอยู่ที่ขอบเก้าอี้ที่อยู่ข้างหลัง ค่อยๆหย่อนตัวลง หลังเหยียดตรง แขม่วพุง จนข้อศอกงอได้ 90 องศา คงไว้สักครู่ แล้วค่อยๆยกตัวเองกลับขึ้นมาในท่าตั้งต้น ทำซ้ำ 10-15 reps หรือจนล้า

5.4 ดึงสปริงยืดขึ้นจากข้างหลัง (Triceps work with spring)

สองมือถือสปริงยืดไว้ด้านหลัง หงายฝ่ามือออก มือหนึ่งจับสปริงยืดไว้ระดับบั้นเอว อีกมือหนึ่งจับในลักษณะงอศอกชี้ไปด้านหน้า มือพาดหัวไหล่ หงายฝ่ามือขึ้น แล้วค่อยๆเหยียดข้อศอกเพื่อยืดสปริงจนแขนเหยียดเต็มที่และมืออยู่เหนือศีรษะ คงไว้สักครู่ แล้วค่อยๆผ่อนตามแรงสปริงให้กลับมาที่เดิม ทำซ้ำ 10-15 reps หรือจนล้า

6.. การออกกำลังกายกล้ามเนื้อหน้าขา (Quadriceps)

6.1 ท่านั่งยอง (Squat)

เมื่อแรกหัดท่านี้ควรเอาเก้าอี้มารองกันก้นกระแทก วิธีทำคือยืนถ่างขา หลังตรง ค่อยๆงอเข่าลงคล้ายกับเวลาจะนั่งเก้าอี้ เลี้ยงน้ำหนักไว้ข้างหลังด้วยการไม่ให้เข่ายื่นลำหน้านิ้วเท้า จนก้นอยู่เกือบถึงพื้นเก้าอี้แล้วแต่ไม่นั่ง ถ้าชำนาญแล้วให้เอาเก้าอี้ออกและหย่อนตัวลงไปจนงอเข่าได้ 90 องศา ให้เกร็งคาอยู่อย่างนั้นสักพัก แล้วค่อยๆยืดเข่ายกตัวขึ้นมาอยู่ในท่ายืนเหมือนเดิม ทำซ้ำสัก 10-15 ครั้งหรือจนกล้ามเนื้อหน้าขาล้า ถ้าขามีกำลังดีขึ้นให้เพิ่มน้ำหนักโดยการถือดัมเบลไว้ทั้งสองมือ

6.2 ท่าออกกำลังกายขาอยู่กับที่ (static lungs)

ยืนให้ขาหลังถอยไปอยู่ห่างขาหน้าสักก้าวครึ่ง หลังตรง ค่อยๆย่อตัวลงโดดวิธีงอเข่า ไม่ให้เข่าหน้าล้ำหน้านิ้วเท้า และให้เข่าหลังชี้ลงพื้นดินจนเข่าหลังเกือบจะชนพื้น คาอยู่สักครู่แล้วค่อยๆยืดตัวขึ้น ทำซ้ำๆ 10-15 reps แล้วสลับข้าง อาจจะเพิ่มน้ำหนักโดยการถือดัมเบลด้วย

7. การออกกำลังกายกล้ามเนื้อหลังขา (Hamstring)

7.1 ท่ากระดกก้นด้วยหลังขา (Hamstring curl)

นอนหงายเท้าอยู่บนเก้าอี้หรือบอล แล้วงอเข่า เกร็งขา เพื่อยกก้นและตะโพกให้แอ่นขึ้น ให้น้ำหนักตกอยู่ที่กล้ามเนื้อหลังขา คาไว้สักครู่แล้วค่อยๆกลับที่เดิม ทำซ้ำ 10-15 reps หรือจนหลังขาล้า

7.2 ท่าดึงหลังขาด้วยสายยืด (Hamstring curl with bands)

เอาสายยืดคล้องหลัก แล้วเกี่ยวที่จับไว้กับข้อเท้าทั้งสองข้าง นั่งหันหน้าเข้าหาหลัก ให้ระยะห่างพอให้เกิดความตึงพอดี ดึงสายยืดด้วยการงอเข่าทีละข้างช้าๆ แล้วค่อยๆปล่อยกลับ ทำซ้ำ 10-15 reps แล้วสลับข้าง

8. ท่าออกกำลังกายกล้ามเนื้อหน้าท้อง (Abs)

8.1 ท่าเกร็งท้อง (Crunch)

ท่านี้เป็นท่ามาตรฐานที่ถูกประยุกต์ทำกันหลายแบบ แต่มีหลักการพื้นฐานเดียวกันคือนอนหงาย เหยียดขา ยกขาและยกหัวไหล่ขึ้นพร้อมกัน หรือจะยกทีละส่วนเฉพาะขาหรือเฉพาะส่วนหัวไหล่ก็ได้ เพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าท้องเกร็งแข็ง การยกขาจะยกเพียงให้สูงพ้นจากพื้นเพียงเล็กน้อย หรือ 45 องศา หรือ 90 องศา ก็ได้ (กรณียกถึง 90 องศา จะได้ออกกำลังกายหน้าท้องมากในช่วงผ่อนขาลง จึงต้องค่อยๆผ่อนลงอย่าอาศัยโมเมนตัมและแรงโน้มถ่วง) ให้เกร็งคาอยู่ครู่ใหญ่เท่าที่จะทนได้ ในกร ขณะที่เกร็งคาอยู่นี้เมื่อทดลองเอามือจับกล้ามเนื้อหน้าท้องดูจะต้องเกร็งแข็งเป็นกระดานจึงจะใช้ได้ แล้วค่อยๆผ่อนคืนที่เดิม และทำซ้ำอีก 10-15 reps หลีกเลี่ยงการเอามือดึงท้ายทอยเพราะจะทำให้มีการบาดเจ็บของคอได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
-----------------------------------------
[อ่านต่อ...]

ที่ว่าแอลคาร์นิทีน (L-carnitine) ช่วยลดความอ้วนน้้น..ไม่จริง

แอลคาร์นิทีนนี้ใช้ลดความอ้วนได้ผลดีไหม และถ้าทานไปนานๆจะมีข้อเสียอะไรหรือเปล่า

(สงวนนาม)

ตอบครับ


ประเด็นที่ 1. แอลคาร์นิทีนลดน้ำหนักได้จริงหรือเปล่า คำตอบชัดๆของวงวิทยาศาสตร์การแพทย์มีแล้ว คือ “ไม่จริง” ตอนที่อาหารเสริมตัวนี้ออกมาใหม่ๆผมก็ให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะคนไข้ของผมส่วนใหญ่ก็เป็นคนเจ้าเนื้อทั้งนั้น ผมทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับอาหารเสริมตัวนี้ไปร้อยยี่สิบกว่างานวิจัย ส่วนใหญ่เป็นการวิจัยในสัตว์และในห้องทดลองซึ่งทางแพทย์ถือว่าเป็นหลักฐานระดับต่ำ มีอยู่สองงานวิจัยที่ทำวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบในคนซึ่งถือว่าเป็นงานวิจัยระดับสูง ผมเอามาใส่ไว้ในบรรณานุกรมท้ายนี้ด้วย คืองานวิจัยที่ 1 เขาเอาคนมา 38 คนจับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินแอลคาร์นิทีน 2 กรัมเช้าเย็น อีกกลุ่มหนึ่งให้กินอาหารเสริมหลอก แล้วให้ทั้งสองกลุ่มออกกำลังกายไปนาน 8 สัปดาห์ พบว่าทั้งสองกลุ่มต่างก็ผอมลง แต่อัตราการลดน้ำหนักได้ไม่ต่างกัน งานวิจัยที่ 2. เขาเอาคนมา 70 คนจับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม ทุกคนให้ทำเหมือนกันสามอย่างคือ(1) ปรับโภชนาการลดอาหารให้แคลอรี่ลง (2) ออกกำลังกายทุกวัน (3) กินแอลคาร์นิทีน ต่างกันเพียงแต่ว่ากลุ่มหนึ่งได้กินแอลคาร์นิทีนของจริง อีกกลุ่มได้กินยาหลอก ทำไปนาน 10 สัปดาห์พบว่าทั้งสองกลุ่มต่างก็น้ำหนักลดลงได้ไม่แตกต่างกัน หลักฐานทั้งสองนี้ยืนยันว่าแอลคาร์นิทีนไม่ช่วยลดน้ำหนักแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 2. อาหารเสริมอย่างแอลคาร์นิทีนนี้กินมากๆจะมีผลเสียอะไรไหม ตอบว่าไม่มีใครรู้ เพราะการใช้อาหารเสริมตัวนี้ไม่ได้อยู่ในความดูแลของแพทย์จึงไม่มีการบันทึกผลข้างเคียง การจะเหมาะเอาดื้อๆว่ามันเป็นอาหาร ไม่มีผลเสียอะไรหรอกนั้นไม่ได้ เพราะโมเลกุลที่อยู่ในอาหารทุกตัวหากเอามากินในปริมาณที่มากกว่าในอาหารธรรมดาก็เกิดผลเสียได้เสมอ ตัวอย่างง่ายๆโซเดียมหรือเกลือนี่ก็เป็นอาหารธรรมด้า ธรรมดา มีอยู่ในอาหารเกือบทุกชนิด แต่คุณลองเอาเกลือใส่แคปซูลกินวันหนึ่งสักสามสิบกรัมดูสิ ผมรับประกันไม่กี่วัน..เป็นเรื่อง ดังนั้นข้อมูลความปลอดภัยของอาหารเสริมสารพัดที่เอามาขายกัน ไม่มี เพราะไม่เหมือนยาที่มีงานวิจัยความปลอดภัยรองรับอย่างรอบคอบรัดกุม ใครจะกินอาหารเสริมเหล่านี้ต้องเสี่ยงเอาเอง สำหรับคนที่กินแล้วมีอาการประหลาดๆเกิดขึ้นมา ก็ไม่ควรเสี่ยงกินต่อ



นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Villani RG, Gannon J, Self M, Rich PA. L-Carnitine supplementation combined with aerobic training does not promote weight loss in moderately obese women.Int J Sport Nutr Exerc Metab. 2000 Jun;10(2):199-207.

2. Lofgren I, Zern T, Herron K, West K, Sharman MJ, Volek JS, Shachter NS, Koo SI, Fernandez ML. Weight loss associated with reduced intake of carbohydrate reduces the atherogenicity of LDL in premenopausal women. Metabolism. 2005 Sep;54(9):1133-41.
[อ่านต่อ...]

21 ตุลาคม 2553

จับผู้ชายฉีดวัคซีน HPV กลัวผู้ชายเอาเชื้อมาปล่อยให้ซ้ำซาก

วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกใช้กับผู้ชายได้หรือไม่คะ ถ้าใช้ไม่ได้ เราจะป้องกันไม่ให้ผู้ชายทำตัวเป็นพาหะคอยนำเชื้อ HPV มาปล่อยใส่เราครั้งแล้วครั้งเล่า หลังจากที่ร่างกายเราเคลียร์เชื้อครั้งก่อนออกไปแล้วได้อย่างไร

ตอบครับ

ประเด็นที่ 1. วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีน HPV ใช้กับผู้ชายได้ไหม ตอบว่าใช้ได้ครับ งานวิจัยการฉีดวัคซีนนี้ในผู้ชายใช้วิธีฉีดเหมือนในผู้หญิงคือฉีด 3 เข็ม ในช่วงเวลา 6 เดือน ในแง่ของความปลอดภัยของวัคซีนนี้ในคนเพศชายนั้น งานวิจัยที่ทำไปในผู้ชายอายุระหว่าง 9-26 ปี จำนวน 4,000 คนพบว่าวัคซีนนี้มีความปลอดภัยดีใกล้เคียงกับในผู้หญิง จัดเป็นวัคซีนที่มีความเสี่ยงต่ำ

ประเด็นที่ 2. ประโยชน์ของการใช้วัคซีน HPV ในผู้ชายที่มีอายุระหว่าง 9-26 ปี ที่มีหลักฐานแน่ชัดแล้วคือ (1) ป้องกันการเป็นหงอนไก่ (2) ป้องกันมะเร็งต่างๆในตัวผู้ชายเองที่มีเชื้อเอ็ชพีวี.เป็นสาเหตุ เช่น มะเร็งอวัยวะเพศชาย (Ca penis) มะเร็งที่รอบรูทวารหนัก (Ca rectum) มะเร็งของหลอดคอและช่องปาก

ประเด็นที่ 3. ถ้าให้ผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ชายที่ชอบซุกซน ฉีดวัคซีน HPV จะมีผลลดอุบัติการณ์เป็นมะเร็งปากมดลูกของภรรยาได้หรือไม่ อันนี้ยังไม่มีใครทราบ เพราะยังไม่มีข้อมูลงานวิจัยมายืนยันครับ

ประเด็นที่ 4. ผู้ชาย ควรฉีดวัคซีน HPV หรือไม่ โดยเฉพาะผู้ชายที่อายุ 9-26 ปี ตอบว่าต้องเป็นการตัดสินใจของผู้ป่วยหรือผู้ปกครองเองครับ เพราะองค์กรวิชาชีพแพทย์ที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้กำหนดคำแนะนำในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ ถ้าแพทย์เชียร์ออกนอกหน้าคนเขาก็จะนินทาว่ามีเอี่ยวกับบริษัทขายวัคซีน

ประเด็นที่ 5. จะป้องกันไม่ให้ผู้ชายทำตัวเป็นพาหะคอยนำเชื้อ HPV มาปล่อยใส่เราครั้งแล้วครั้งเล่าได้อย่างไร ตอบว่า ก็อย่าไปยุ่งกับผู้ชายเขาสิครับ แหะ..แหะ พูดเล่นนะครับ แต่ว่า..เป็นความจริง วิธีอื่นเช่นใช้ถุงยางอนามัย (condom) ก็ป้องกันไม่ได้ 100% เพราะไวรัส HPV ติดต่อจากผิวหนังที่สัมผัสกับผิวหนังนอกถุงยางอนามัยได้ ต้องถอยร่นไปป้องกันชั้นใน คือเมื่อได้รับเชื้อแล้วให้เรามีภูมิต้านทานเชื้อและเคลียร์เชื้อได้หมด นั่นก็คือตัวเราซึ่งเป็นผู้หญิงก็ควรฉีดวัคซีน HPV เสียให้เป็นเรื่องเป็นราว งานวิจัยวัคซีนนี้ทำในผู้หญิงอายุ 9-26 ปี สำหรับผู้หญิงที่อายุมากกว่า 26 ปี ถึงองค์กรวิชาชีพแพทย์จะไม่มีคำแนะนำอย่างเป็นทางการเพราะยังไม่มีข้อมูลวิจัยรองรับ แต่กฎหมายก็ไม่ได้ห้ามคนอายุเกิน 26 ปีไม่ให้ฉีดวัคซีนนะครับ ฉีดได้ สบายมาก ส่วนคำถามที่ว่าเอ๊ะ ก็นอนกับเขามาตั้งนานแล้วป่านนี้ไม่ติดเชื้องอมไปแล้วเรอะ สมัยนี้ไปตรวจดูได้นะครับ เวลาไปตรวจภายในก็ให้เขาตรวจหาเชื้อ HPV ด้วย โดยให้เจาะจงใช้วิธีตรวจจำแนกสายพันธ์ (HPV PCR test with genotyping) ซึ่งเป็นวิธีตรวจแบบใหม่ ก็จะรู้ว่าเรามีเชื้อ HPV อยู่ในตัวหรือเปล่า ถ้ามีมีกี่สายพันธ์ มีสายพันธ์ที่มีความเสี่ยงสูง (16 และ 18) ครบทั้งสองสายพันธ์เลยหรือเปล่า ถ้ามีครบแล้วพร้อมหน้าพร้อมตา ก็คงจะสายเกินไปสำหรับการฉีดวัคซีนแล้วละครับ แต่ถ้ายังไม่มีไวรัสสายพันธ์เสี่ยงสูงเลย หรือมีสายพันธ์เดียวอีกสายพันธ์ยังไม่มี ก็ฉีดวัคซีนได้ สำหรับคนที่ไม่ชอบเรื่องมาก จะไม่ตรวจให้มันวุ่นวาย แต่จะฉีดวัคซีน HPV เลยก็ได้ เพราะวัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่ปลอดภัยมาก อย่าไปเสียดายเงินเลยครับ องค์การอนามัยโลกมีมอตโตว่า การลงทุนฉีดวัคซีน เป็นการลงทุนด้านสุขภาพที่คุ้มค่าที่สุดรองลงมาจากการลงทุนหาน้ำสะอาดไว้ดื่ม

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Block SL, Brown DR, Chatterjee A, Gold MA, Sings HL, Meibohm A, Dana A, Haupt RM, Barr E, Tamms GM, Zhou H, Reisinger KS. Clinical trial and post-licensure safety profile of a prophylactic human papillomavirus (types 6, 11, 16, and 18) l1 virus-like particle vaccine. Pediatr Infect Dis J. 2010 Feb;29(2):95-101.

2. Petaja T, Keranen H, Karppa T, Kawa A, Lantela S, Siitari-Mattila M, et al. Immunogenicity and safety of human papillomavirus (HPV)-16/18 AS04-adjuvanted vaccine in healthy boys aged 10-18 years. J Adolesc Health 2009;44:33-40.

3. Block SL, Nolan T, Sattler C, Barr E, Giacoletti KE, Marchant CD, et al. Comparison of the immunogenicity and reactogenicity of a prophylactic quadrivalent human papillomavirus (types 6, 11, 16, and 18) L1 virus-like particle vaccine in male and female adolescents and young adult women. Pediatrics 2006;118:2135-45.
[อ่านต่อ...]

20 ตุลาคม 2553

การไปหาหมอ ต้องเตรียมอะไรไปบ้าง

ดิฉันต้องขอขอบคุณคุณหมอมากๆๆๆเลยค่ะ ดิฉันอ่านแล้วก็สบายใจขึ้นมาบ้างขอให้เป็นแค่โรคไทรอยด์อย่างเดียวทีเถอะคะดิฉันจะสบายใจกว่าเดิม แล้วดิฉันจะเข้าไปทำการตรวจกับทางโรงพยาบาลนะคะ ว่าแต่ว่าดิฉันต้องเตรียมอะไรไปบ้างคะ ใช่ผลเลือดกับยาที่กำลังกินอยู่รึเปล่าคะ ขอบคุณมากๆๆๆๆอีกครั้งค่ะ

ตอบครับ

เรื่องขอบคุณ..โนพร็อบเบลมครับ ถือเสียว่าเป็นเรื่องของหมอคุยกับคนไข้ของเขาธรรมดาๆ เพียงแต่ว่ามาคุยกันทางเน็ตให้คนอื่นได้อ่านด้วย
เรื่องการเตรียมตัวไปหาหมอ ไหนๆคุณเอ่ยมาแล้วก็ขอพูดรวมๆเสียเลย สิ่งที่พึงเตรียมก็คือ

1. ต้องตั้งประเด็นให้ได้ก่อน ว่าไปหาหมอครั้งนี้ไปทำไม ต้องการแก้ปัญหาอะไร มีอะไรคาใจที่ต้องการความกระจ่างบ้าง จดเป็นข้อๆ หนึ่งสองสามสี่ห้า สมัยผมอยู่เมืองนอกคนไข้ฝรั่งมาหาต้องมีจดติดมือมาทุกคน โดยวิธีนี้เขาก็ได้เคลียร์ทุกอย่างที่เขาตั้งใจจะมาเคลียร์ แต่คนไข้ไทยไม่เห็นมีเลย คือคนไข้ไทยเป็นคนไม่ค่อยมีประเด็น บางทีหมอก็เป็นพันธ์ไม่มีประเด็นเหมือนกัน เลยพากันเข้าป่าไปเลย หมดเวลาตรวจโดยสรุปไม่ได้ว่ามาทำไม ได้สิ่งที่ต้องการกลับไปหรือเปล่า เมื่อเวลาพบหมอก็สื่อสารความคาดหวังของเราให้หมอทราบชัดๆตรงๆ อย่าอ้อมๆแอ้มๆปล่อยให้หมอเดาใจเราเอา วิธีนั้นไม่เวอร์ค

2. เอายาที่กินไปด้วย นอกจากเอายาไปด้วยแล้ว ต้องมีลิสต์ชื่อยาที่เรากิน โดยเรเป็นคนเขียนขึ้นมาเอง เขียนสั้นๆ เรียงเป็นข้อๆ ว่ายาตัวที่หนึ่งชื่ออะไร เป็นยาแก้อะไร วิธีนี้จะทำให้เรารู้จักยาของเราหมด เพราะบางทีถึงบอกชื่อยาไปหมอก็ไม่รู้จัก เพราะหมอมีหลายสาขา ยามีเป็นหมื่นตัว ต่างสาขาก็ไม่รู้แล้ว แต่เราซึ่งเป็นคนกินต้องรู้ ส่วนที่เอาเม็ดยาสีขาวสีแดงมากองบนโต๊ะโดยคาดหมายว่าหมอจะรู้ว่ายาอะไร นั่นแสดงว่าไปหาผิดหมอแล้ว แบบนั้นต้องไปหาหมอดูครับ

3. ผลการตรวจต่างๆที่สำคัญต้องนำไปหมด ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องตรวจต่อเนื่อง เช่นน้ำตาลในเลือด ความดันเลือด ระดับไขมันในเลือด ควรทำเป็นตารางของเราเองขึ้นมา แล้วเขียนเรียงตามลำดับเวลาว่าวันเดือนปีนั้นตรวจได้ค่าเท่าไร เขียนให้สั้นที่สุด เอาแต่เวลา กับค่าที่ตรวจได้ อย่าพรรณาอาการลงไปในโน้ตเพราะหมอไม่มีเวลาอ่าน เดี๋ยวท่านเห็นโน้ตแยะจะพาลไม่อ่านเสียทั้งหมด อาการใช้วิธีเล่าให้ฟังดีกว่า ซึ่งก็ลุ้นเอา ว่าท่านจะฟังหรือเปล่า เพราะบางทีท่านก้มเขียนยุกยิกๆดูเหมือนฟัง แต่ไม่เก็ทว่าเราพูดอะไร ถ้าเป็นอย่างนั้นเราก็ต้องหาจังหวะย้ำจุดสำคัญอีกครั้งๆ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

19 ตุลาคม 2553

หมอตาจะให้ทำเลเซอร์ตาเพื่อป้องกันต้อหิน..เอาดี..ไม่เอาดี

เรียนคุณหมอสันต์ที่นับถือ
ดิฉันไปตรวจเรื่องตาแห้งมา หมอบอกว่านอกจากตาแห้งแล้วทุกอย่างปกติ แต่ว่าดิฉันมีลูกตาตื้น ซึ่งจะทำให้เป็นต้อหินเฉียบพลันได้ง่าย ควรจะทำการป้องกันด้วยการใช้เลเซอร์ ดิฉันอยากทราบว่ามีความจำเป็นต้องทำไหม และการใช้เลเซอร์กับลูกตาจะมีผลต่อตาของดิฉันในระยะยาวหรือไม่
ตุ๊กตา



ตอบครับ

ก่อนอื่นขอเริ่มต้นที่สนามหลวง คือขอทำความเข้าใจเรื่องโรคต้อหินเฉียบพลัน (acute angle closure glaucoma) ซึ่งเป็นโรคที่คุณหมอตาของคุณมุ่งจะป้องกันเสียก่อน โรคนี้มีอาการแบบปุ๊บปั๊บปวดตา ตามัว ความดันลูกตาขึ้นสูง อันเนื่องมาจากกลไกการไหลของน้ำวุ้นในลูกตาส่วนหน้าไม่โล่ง เพื่อให้เข้าใจดีขึ้นผมเอารูปแปะให้ดูด้วย กล่าวคือในภาวะปกติ (ซีกซ้ายมือของรูป) น้ำวุ้นจะผลิตที่เนื้อเยื่อซึ่งมีชื่อว่า ciliary body แล้วไหลผ่านหน้าเลนส์มาออกที่หน้ารูม่านตา แล้วไปถูกดูดซับกลับที่ฟองน้ำ (trabecular meshwork) ที่มุมชายขอบแก้วตา (cornea) แต่ในคนเป็นโรคต้อหินเฉียบพลัน มีสาเหตุเยอะแยะแป๊ะตราไก่ทำให้การไหลของน้ำวุ้นนี้สะดุด สองในสาเหตุเยอะแยะเหล่านั้นก็คือ (1) ช่องลูกตาส่วนหน้าตื้นหรือ shallow anterior chamber (2) ม่านตา (iris) บางและอ่อนยวบยาบ ทำให้ม่านตาถูกดันไปติดกับแก้วตา ปิดมุมทำให้น้ำวุ้นไหลไปรับการดูดซับกลับไม่ได้ น้ำวุ้นก็เลยคั่ง ความดันในลูกตาขึ้นสูง กลายเป็นต้อหินเฉียบพลัน ซึ่งสมัยนี้ก็ไม่ใช่โรคน่ากลัวแล้ว เพราะมีวิธีรักษาเจ๋งๆ คือเอาเลเซอร์เจาะรูขอบม่านตาให้ทะลุเป็นรูโบ๋โจ๋เสียเลย เพื่อให้น้ำวุ้นไหลผ่านรูนี้ไปรับการดูดซับที่ขอบแก้วตาได้ เรียกว่าทำ laser peripheral iridotomy หรือทำ LPI


ต่อมาหมอตาส่วนหนึ่งก็เกิดไอเดียขึ้นมาว่าเอ๊ะ การทำ LPI นี่มันก็ไม่ยาก อย่ากระนั้นเลยเราจับคนไข้ที่มีช่องลูกตาส่วนหน้าตื้นมาทำ LPI เสียให้หมด เรียกว่าเป็นการทำ prophylactic LPI คือยังไม่ทันป่วน ก็ป้องกันไว้ก่อน แต่ว่าหมอตาไม่ได้ยึดแนวนี้หมดนะครับ บางคนก็ทำแบบนี้ บางคนก็ไม่ทำ การสำรวจในสิงคโปร์พบว่าหมอตา 84.9% เชื่อและเอาด้วย การสำรวจในอังกฤษพบว่าหมอตา 74.7% เชื่อและเอาด้วย ที่เหลือไม่เชื่อและไม่เอาด้วย

อีกประเด็นหนึ่งที่ควรพูดถึงเสียหน่อยคืออุบัติการของการเกิดต้อหินเฉียบพลันนี้ไม่ได้มีโอกาสเกิดมากนะ การวิจัยที่อิสราเอลซึ่งใช้เวลาตามนับถึง12 ปีพบว่ามันมีโอกาสเกิดเพียง 4.2 ครั้งต่อประชากร 100,000 คน คือ 4.2:100,000 หรือ 0.004% ใน 12 ปี เท่านั้นเอง การทราบอุบัติการตรงนี้จะทำให้เราอนุมาณความเสึ่ยงของการเกิดโรคได้ถูกต้อง จะได้ชั่งน้ำหนักกับความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนจากการทำอะไรเพื่อป้องกันว่ามันคุ้มกันหรือไม่

เอาละทราบที่มาของเรื่องแล้ว คราวนี้มาตอบคำถามของคุณนะ

ประเด็นที่ 1. การทำเลเซอร์ LPI นี้ป้องกันต้อหินเฉียบพลันได้จริงหรือเปล่า คำตอบก็คือเออ..ยังไม่มีใครรู้เหมือนกันแฮะ รู้แต่ว่าทำแล้วน้ำวุ้นมันไหลโล่งดี ความดันลูกตาที่สูงก็จะลดลง แต่ไม่รู้ว่าสำหรับคนที่ความดันลูกตายังปกติดีๆอยู่ มันจะป้องกันการเป็นโรคต้อหินเฉียบพลันได้จริงหรือเปล่า งานวิจัยที่ใหญ่ที่สุดในเรื่องนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Br J Opthalmology เมื่อเดือนมิย.ของปีนี้เอง เขาเอาคนมองโกลอายุเกิน 50 ปีซึ่งเป็นชนชาติที่ชอบเป็นโรคต้อหินแต่ยังไม่ได้เป็นมา 4,597 คน จับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้อยู่เฉยๆเหมือนเดิม อีกกลุ่มหนึ่งเอามาส่องกล้องตรวจ (gonioscopy) ว่าใครมีลูกตาช่องหน้าตื้นบ้าง ถ้าพบว่าตื้นก็จับทำเลเซอร์ LPI ซะเลย มีคนถูกทำ LPI ไป 156 คน จากนั้นก็ตามดูคนทั้งสี่พันกว่าคนนี้ไปนาน 6 ปี แล้วเอาทุกคนที่ยังมีชีวิตอยู่กลับมาตรวจตาอย่างละเอียดอีกรอบ พบว่ามีคนเป็นโรคต้อหิน 33 คน อยู่ในกลุ่มที่ทำเลเซอร์ LPI ป้องกัน 19 คน อยู่ในกลุ่มที่อยู่เฉยๆไม่ทำอะไรเลย 14 คน จึงสรุปผลวิจัยนี้ว่าการทำเลเซอร์ LPI ป้องกันการเป็นโรคต้อหินไม่ได้

ประเด็นที่ 2. การทำเลเซอร์ LPI ที่ตา มีความเสี่ยงอะไรบ้างไหม ตอบว่ามีบ้างเหมือนกัน แต่ก็ไม่มาก ภาวะแทรกซ้อนของการทำเลเซอร์ LPI เท่าที่มีรายงานไว้ได้แก่
2.1 อาจเกิดความดันลูกตาพุ่งจู๊ดขึ้นหลังทำใหม่ๆ ซึ่งจะค่อยๆลดไปเอง
2.2 อาจเกิดการอักเสบของเลนส์และเยื่อตา (uvetis)
2.3 อาจทำให้เห็นแสงจ้า (glare vision) หรือเห็นภาพซ้อน เพราะม่านตาเขามีไว้ปิดบังแสง เราไปเจาะรู แสงก็ย่อมแยงเข้าไปเป็นธรรมดา
2.4 อาจทำให้เลนส์ตาขุ่น หรือพูดง่ายๆว่าอาจทำให้เป็นต้อกระจกเร็วขึ้น ในประเด็นนี้ข้อมูลยังไม่ชัด การวิจัยของหมอสิงค์โปรบอกว่าทำให้เป็นต้อเร็วขึ้น แต่การวิจัยของหมออังกฤษที่ทำกับคนมองโกลบอกว่าไม่มีผล สรุปก็คือ ยังสรุปไม่ได้
2.5 ลำแสงเลเซอร์อาจเปะปะไปทำให้เกิดการบาดเจ็บของส่วนอื่นของตา เช่นจอประสาทตา

ประเด็นที่ 3. กรณีที่เราเป็นคนมีลูกตาช่องหน้าตื้น ควรจะทำเลเซอร์ LPI เพื่อป้องกันต้อหินไหม คำถามนี้ตัวใครตัวมันแล้วครับ กฎหมายสมัยนี้บอกว่าแพทย์มีแต่หน้าที่ให้ข้อมูล การตัดสินใจเป็นของคนไข้ ท่านต้องชั่งน้ำหนักความเสี่ยงและประโยชน์แล้วตัดสินใจเอาเอง ผมไม่เกี่ยว แต่ผมพอจะเล่าแนวปฏิบัติ (guidelines) ของวิทยาลัยจักษุวิทยาอเมริกัน (AAO) ซึ่งออกเมื่อปี 2005 คือห้าปีก่อนที่จะทราบผลวิจัยข้างต้น แต่ยังถือเป็นแนวปฏิบัติที่ใช้กันจนถึงปัจจุบัน เขาแนะนำว่าคนที่มีลูกตาช่องหน้าตื้น แพทย์ควรเสนอให้ทำเลเซอร์ LPI เมื่อมีกรณีต่อไปนี้อย่างใดอย่างหนึ่งร่วมด้วยคือ
3.1 ความดันลูกตาที่เคยปกติเกิดสูงขึ้นมา
3.2 มีหลักฐานว่ากำลังจะเกิดการอุดกั้นมุมที่ดูดซับน้ำวุ้นตา (occludable angle)
3.3 เกิดภาวะม่านตาไปหลอมติดกับมุมดูดซับน้ำวุ้นที่อยู่ด้านหน้าของม่านตา (peripheral anterior synechiae - PAS)
3.4 มีหลักฐานว่ามุมที่ดูดซับน้ำวุ้นแคบลงๆยิ่งขึ้น
3.5 มีความจำเป็นต้องให้ยาซึ่งมีฤทธิ์ข้างเคียงให้เกิดการหดตัวของม่านตา
3.6 มีอาการบ่งบอกว่าเคยเกิดต้อหินมาก่อน
3.7 อาชีพของคนไข้มาพบหมอตายากเย็น เช่นอยู่ในป่าในเขา หรือต้องเดินทางบ่อยอยู่ไม่เป็นที่
3.8 กรณีที่ตาข้างหนึ่งเป็นต้อหินไปแล้ว หากตาอีกข้างหนึ่งตื้น ก็ควรทำ LPI ป้องกัน

ทั้งหมดนี้เป็นกรณีที่แพทย์ควรแนะนำให้คนไข้ทำนะครับ แต่เมื่อแพทย์แนะนำแล้ว บอกความเสี่ยงบอกประโยชน์แล้ว คนไข้จะทำหรือไม่ทำ ก็ย่อมเป็นดุลพินิจของคนไข้เอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. He M, Friedman DS, Ge J, Huang W, Jin C, Lee PS, Khaw PT, Foster PJ. Laser peripheral iridotomy in primary angle-closure suspects: biometric and gonioscopic outcomes: the Liwan Eye Study. Ophthalmology. 2007 Mar;114(3):494-500. Epub 2006 Nov 21.
2. Ang MH, Baskaran M, Kumar RS, Chew PT, Oen FT, Wong HT, Jap A, Au Eong KG, Seah SK, Aung T. National survey of ophthalmologists in Singapore for the assessment and management of asymptomatic angle closure. J Glaucoma. 2008 Jan-Feb;17(1):1-4.
3. Sheth HG, Goel R, Jain S. UK national survey of prophylactic YAG iridotomy. Eye (Lond). 2005 Sep;19(9):981-4.
4. Lim LS, Husain R, Gazzard G, Seah SK, Aung T. Cataract progression after prophylactic laser peripheral iridotomy: potential implications for the prevention of glaucoma blindness. Ophthalmology. 2005 Aug;112(8):1355-9.
5. Glaucoma Panel, Preferred Practice Patterns Committee. Primary angle closure. San Francisco (CA): American Academy of Ophthalmology (AAO); 2005. 23 p.
6. Yip JLY, Foster PJ, Uranchimeg D, Javzandulam B, Javzansuren D, Munhzaya T, Lee PS, Baassanhuu J, Gilbert CE, Khaw PT, Johnson GJ.  Randomised controlled trial of screening and prophylactic treatment to prevent primary angle closure glaucoma. Br J Ophthalmol 2010;94:1472-1477 doi:10.1136/bjo.2009.168682
7. David R, Tessler Z, Yassur Y. Epidemiology of acute angle-closure glaucoma: incidence and seasonal variations. Ophthalmologica. 1985;191(1):4-7.




[อ่านต่อ...]

ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เชื่องช้า จำอะไรไม่ได้ สงสัย secondary hypothyroid

คุณหมอครับ ผมอายุ 58 ปี เคยทำงานธนาคาร และได้ขอเกษียณก่อนกำหนดเมื่อ งันที่ 1 ตค.2553 ที่ผ่านมา เนื่องจากความจำเริ่มไม่ดี เชื่องช้า ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น บ่อยครั้งเป็นตะคริวตอนกลางคืน นำหนักเพิ่ม ขณะนี้ 72 กก.ครับ ความสูง 162 ซม.ครับ มีอาการหัวใจขาดเลือดเป็นบางครั้ง 1-2ปีจะมีอาการสักครั้งจะเจ็บหน้าอก ร้าวไปที่รักแร้และคอ ขณะนี้กินยาแอสเพ้น m 81mg วันละ1 เม็ดและ Verapin 40 mg ครึ่งเม็ด 2 มื้อ เช้าเย็นครับ มีผลการตรวจสุขภาพประจำปี 2551 Total bilirubin 1.3 mg/dl ปี2552 Total bilirubin 2.2 mg/dl ตาไม่หลืองและท่อน้ำดีก็ปกติ ผลการตรวจ FT4 ปี2551 1.31ng/dl ปี2552 1.57 ng/dl ปี2553 1.28 ng/dl ส่วนผลการตรวจ TSH เมื่อวันที่ 4 ตค 2553 0.120 L uIU/ml (ซึ่งปกติควรเป็น 0.465-4.608) ผลการตรวจ FT3 3.53 pg/ml ผมได้อ่านบทความของคุณหมอแล้วอาการของผมคล้ายอาการ secondary Hypothyroid แต่ปริมาณ FT3 FT4ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ แพทย์ผู้วินิจฉัยบอกว่ายังไม่มีอาการ ยังไม่ต้องทำอะไร รอดูไปก่อน แต่ผมไม่ค่อยสบายตัว จึงอยากรบกวนขอคำแนะนำจากคุณหมอ ว่าผมควรทำอย่างไรหรือต้องไปพบคุณหมอก็ยินดีครับ ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับ
(สงวนนาม)

ตอบครับ

1. เอาทีละเรื่องนะ เอาเรื่องโรคหัวใจของคุณก่อนนะ สรุปก็คือว่าหมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด (chronic stable angina) รักษาด้วยยา aspirin และ verapamil (Verapin) ประเด็นสำคัญของโรคนี้มีสองประเด็นคือ

1.1 ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจเพื่อจัดชั้นความเสี่ยงของโรค ซึ่งอาจเป็นการตรวจด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งคือ วิ่งสายพาน (EST) หรือทำ stress Echo หรือทำ MRI เพื่อดูว่ามีความเสี่ยงที่จะตายจากหัวใจขาดเลือดในระดับใด ถ้าเสี่ยงต่ำก็รักษาเบาๆด้วยยาไป ถ้าเสี่ยงสูงก็ต้องไปตรวจสวนหัวใจ หากพบว่าหลอดเลือดตีบในตำแหน่งสำคัญก็จะได้ลงมือแก้ไขเสียก่อนที่จะเกิดเรื่อง

1.2 ผู้ป่วยต้องเข้าใจว่าสิ่งสำคัญสูงสุดในการรักษาโรคนี้ไม่ใช่การใช้ยา แต่คือการจัดการปัจจัยเสี่ยง อันได้ บุหรี่ ไขมัน ความดัน เบาหวาน ในชีวิตจริงหมายถึงการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปโดยสิ้นเชิงในสองเรื่อง คือ (1) เปลี่ยนจากไม่ออกกำลังกายไปออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน (2) เปลี่ยนโภชนาการที่เคยกินอาหารให้พลังงานมากแต่มีผักผลไม้น้อย ไปกินอาหารที่มีผักผลไม้มากโดยมีอาหารให้พลังงานแต่น้อยและมีเกลือน้อย

2. ปัญหาปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เชื่องช้า จำอะไรไม่ได้ และอ้วน ซึ่งคุณอยากรู้ว่ามันเป็นจากอะไรกันแน่ ผมประเมินจากข้อมูลเท่าที่คุณให้มามันมีความเป็นไปได้ตามลำดับก่อนหลังดังนี้

2.1 Secondary hypothyroid

2.2 โรคข้ออักเสบจากภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune arthritis) เช่นข้ออักเสบรูมาตอยด์

2.3 โรคปวดกล้ามเนื้อและเอ็น (fibromyalgia หรือ FM)

2.4 โรคสมองเสื่อมธรรมดา (Dementia)

ผมมีความเห็นว่าการจะรู้แน่ว่าเป็นอะไร ควรทำเป็นขั้นตอนดังนี้

ขั้นที่ 1. เจาะเลือดตรวจดูภูมิคุ้มกันชนิดต่างๆและดูปฏิกริยาการอักเสบ เช่น ANA, RF, ESR, CRP เพื่อวินิจแยกโรคกลุ่มข้ออักเสบจากภูมิคุ้มกันทำลายตนเองออกไปก่อน

ขั้นที่ 2. ต้องแยกโรค secondary hypothyroidism ก่อน โดยการตรวจ CT หรือ MRI ของสมองเพื่อดูว่ามีเนื้องอกหรืออะไรที่ต่อมใต้สมองที่ทำให้การปล่อยฮอร์โมน TSH เสียไปหรือเปล่า โอกาสที่จะพบว่ามีเนื้องอกหรือสิ่งผิดปกติมีน้อยมาก แต่จำเป็นต้องตรวจ เพราะการจะเริ่มรักษาโรคอื่นซึ่งไม่มีสาเหตุ ต้องวินิจฉัยแยกโรคนี้ซึ่งเป็นโรคมีสาเหตุชัดเจนให้ได้ก่อน

ขั้นที่ 3. วินิจฉัยแยกโรคสมองเสื่อม โดยการตรวจประเมินการทำงานของสมอง ด้วยวิธีประเมินแบบย่อ ( Mini Mental Status Examination หรือ MMSE ) ซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต้นในการวินิจฉัยโรคนี้ ถ้าประเมินแล้วพบว่าไม่มีสมองเสื่อม จึงค่อยไปขั้นที่ 4.

ขั้นที่ 4. ก็คือวินิจฉัยว่าเป็นโรคปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและเอ็น (myofascial pain syndrome) และทำการรักษาไปตามขั้นตอนของโรคนี้
ขั้นตอนการวินิจฉัยเหล่านี้ คุณต้องไปหาหมอให้หมอทำให้ หาหมอที่ไหนก็ได้ที่คุณสะดวกที่สุด

3. ในระหว่างที่ยังไม่ได้ไปหาหมอนี้ สิ่งที่คุณพึงทำไปได้เลยไม่ต้องรอการวินิจฉัยใดๆคือ

3.1 การลดน้ำหนัก ตอนนี้นน.ของคุณ 72 กก. เท่ากับดัชนีมวลกาย 27.4 ซึ่งมากเกินไป ให้คุณวางเป้าหมายน้ำหนักไว้ที่ 65 กก. ซึ่งเท่ากับดัชนีมวลกาย 25 โดยใช้เวลาสัก 7 เดือน คือเอาลงประมาณเดือนละ 1 กก.

3.2 การออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ ถ้าคุณเคยวิ่งสายพานต่อหน้าหมอมาแล้วก็ให้ลุยออกกำลังกายได้เลย แต่ถ้าไม่เคยวิ่งสายพาน ควรค่อยๆฝึกออกกำลังกายไป ดูอาการของตัวเองไป เป้าหมายคือให้ออกกำลังกายได้ถึงระดับมาตรฐาน คือการออกแรงจนเหนื่อยพอควร (หอบจนร้องเพลงไม่ได้) ต่อเนื่องกันไปอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละอย่างน้อย 5 ครั้ง บวกกับการเล่นกล้าม (strength training) อีกสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

3.3 การปรับโภชนาการ ลดหรือเลิกกินอาหารที่ให้แคลอรี่สูงเช่นไขมัน ข้าว แป้ง เปลี่ยนมากินผักและผลไม้แทน โดยให้กินผักและผลไม้ให้ได้อย่างน้อยรวมกันวันละไม่ต่ำกว่า 5 เสริฟวิ่ง ผักสลัดสดหนึ่งจานเท่ากับหนึ่งเสริฟวิ่ง ผลไม้ลูกเขื่องๆเช่นแอปเปิลหนึ่งลูกเท่ากับหนึ่งเสริฟวิ่ง คุณต้องกินรวมกันให้ได้วันละอย่างน้อย 5 เสริฟวิ่ง เรียกว่าคุณต้องกินผักจนเป็นวัวเลยละครับ ขณะที่งดไขมันงดข้าวงดแป้งหันมากินผักและผลไม้นี้ อาหารโปรตีนเช่นเนื้อนมไข่ คุณยังกินได้ตามปกติ

การรักษาที่ลึกซึ้งกว่านี้ ต้องให้หมอวินิจฉัยก่อนครับ


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

12 ตุลาคม 2553

เป็นหวัดบ่อย และอยากรู้เรื่องยาปฏิชีวนะ

ช่วงปีนี้ดิฉันเป็นหวัดหลายครั้งแล้ว และล่าสุดดิฉันเพิ่งหายไปประมาณเดือนเดียวก็เป็นอีก
ดิฉันเคยเป็นหวัด แล้วหมอจ่ายยาปฏิชีวนะ ดิฉันทานไม่หมด ครั้งต่อมาที่เป็นหวัด เลยไม่ทายาปฎิชีวนะเลย เพราะเคยเรียนหมอ อาจารย์เคยบอก อย่ากินยาปฎิชีวนะสุ่มสี่สุ่มห้า ต้องรอให้อาการครบหลายๆอย่างก่อนถึงไปกิน เช่นทั้งไอ ไข้ หวัด จาม น้ำมูก อะไรประมาณนี้ และถ้ากินไม่ครบก็จะดื้อยา ดิฉันกลัวจะดื้อยาจากครั้งที่แล้วที่ทานไม่ครบ เลยไม่กล้ากินอีก ค่อยๆให้มันหายเอง ทานน้ำอุ่น ดูแลร่างกาย ประมาณนั้น แต่พอหวัดหาย อาการไอก้อไอนานกว่าจะหาย
ตอนนี้เป็นหวัดอีกแล้ว ดิฉันไม่ทรบว่าภูมิดิฉันไม่ดี หรืออากาศเปลี่ยนใครๆก็เป็นกัน หรือเพราะทานยาปฎิชีวนะไม่ครบ เชื้อเลยลุกลาม หรือภูมิแพ้ หรืออะไร
อยากให้คุณหมอตอบรื่องยาปฎิชีวนะอย่างละเอียดด้วย และที่ดิฉันกินไม่ครบนี่จะทำไงต่อไป
ขอบคุณมากค่ะ


ตอบครับ


1. เอาเรื่องยาปฏิชีวนะ (antibiotic) กับโรคหวัดก่อนนะครับ ซึ่งมีประเด็นปลีกย่อยดังนี้

1.1 หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งยังไม่มียาอะไรรักษาได้ ส่วนยาปฏิชีวนะเป็นยาฆ่าเชื้อบัคเตรี เชื้อบักเตรีนี้ไม่ได้เป็นญาติกับเชื้อไวรัส เหมือนทักษิณไม่ได้เป็นญาติกับอภิสิทธิ์ จะกินยาฆ่าเชื้อบัคเตรีเพื่อหวังจะให้ไปฆ่าไวรัสนั้น เป็นไปไม่ได้เลย โรคหวัดเป็นโรคที่เป็นเองหายเอง ไม่ได้หายเพราะการรักษา หมอคนไหน หรือคนขายยาเจ้าไหนอ้างว่ารักษาหวัดให้หายได้คนนั้นโกหกแน่นอน ความเชื่อเดิมที่ว่าการกินยาปฏิชีวนะลดอุบัติการเกิดโรคแทรกซ้อนของหวัดได้นั้นเดี๋ยวนี้ก็ถึงบางอ้อกันแล้วว่าเป็นความเชื่อที่เหลวไหลไม่เป็นความจริง

1.2 มาตรฐานการรักษาโรคหวัดที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน คือห้ามใช้ยาปฏิชีวนะ การซี้ซั้วใช้ยาปฏิชีวนะในขณะที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน ไม่มีประโยชน์อะไรเลย มีแต่โทษ โทษที่ว่าคือ (1) ได้รับพิษจากยาโดยไม่จำเป็น (2) เป็นภัยต่อสังคม คือทำให้เชื้อบัคเตรีในสังคมคุ้นกับยาและดื้อยา จนยาที่เคยดีๆเดี๋ยวนี้ใช้ฆ่าเชื้อไม่ได้แล้ว เพราะดื้อหมด เนื่องจากการใช้ยาปฏิชีวนะกันแบบสามล้อถูกหวย ใช้กันอุตลุต ใช้กันหมดตั้งแต่คนเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่เลี้ยงหมูก็เอายาปฏิชีวนะให้ไก่กินแก้เซ็ง คนคนโง่ก็ใช้ คนฉลาดก็ใช้ หมอก็ใช้ แต่ผมขอประกาศไว้ที่นี้เลยว่าหมอคนไหนใช้ยาปฏิชีวนะรักษาหวัดที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน หมอคนนั้นเป็นหมอเถื่อน ทำการรักษานอกรีต ให้คุณแจ้งแพทยสภาจัดการได้

1.3 ยาปฏิชีวนะใช้รักษาเฉพาะโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากเชื้อบักเตรี ดังนั้นก่อนจะให้ยาปฏิชีวนะต้องตอบคำถามหลักสี่ข้อต่อไปนี้ก่อนคือ (1) จะฆ่าเชื้ออะไร (2) เชื้อนั้นอยู่ที่ไหน อยู่ที่ลำคอ ที่โพรงไซนัส หรือที่ปอด (3) ยาที่จะให้ มันเข้าถึงที่นั้นหรือเปล่า เพราะยาบางชนิด เข้าไปได้เฉพาะบางที่ (4) มีเหตุให้ต้องปรับขนาดยาไหม เพราะบางคนตับไม่ดีใช้ยานี่ไม่ได้ บางคนไตไม่ดีใช้ยานั่นไม่ได้ จะเห็นว่าการจะตอบคำถามสี่ข้อนี้ได้ต้องวินิจฉัยให้ได้ก่อนว่าที่ว่ามีโรคแทรกซ้อนนะ มันคือโรคอะไร ประมาณ 80% ของหวัดเป็นแล้วหายเองโดยไม่มีโรคแทรกซ้อน แต่อีก 20% มีโรคแทรกซ้อน อันได้แก่

1.3.1 คออักเสบจากเชื่อสะเตร็พ (streptococcal pharyngo-tonsilitits) ซึ่งทราบได้แน่ชัดจากการเอาสำลีกวาดเมือกที่คอไปเพาะเชื้อ หรืออาจจะใช้วิธีเดาเอาจากการที่มีไข้สูงปรี๊ด คอแดงโร่ เจ็บคอจนกลืนน้ำลายแล้วเหมือนมีดบาด มาตรฐานการรักษาคือกินยาเพ็นนิซิลลินนาน 7 วัน

1.3.2 ไซนัสอักเสบเฉียบพลันจากบัคเตรี (bacterial sinusitis) ซึ่งโรคนี้กว่าจะวินิจฉัยได้จะจะก็ผ่านไปอย่างน้อย 7 วันแล้ว ในเจ็ดวันแรกวินิจฉัยไม่ได้เพราะการเป็นหวัดธรรมดาถ้าทำซีที.สะแกนดูภาพของโพรงไซนัสก็จะเห็นน้ำขังขุ่นๆเหมือนกัน คำแนะนำของสมาคมอุรุแพทย์อเมริกัน (ACCP) จึงไม่ให้ผลีผลามรักษาไซนัสอักเสบในเจ็ดวันแรก แม้ว่าจะมีน้ำมูกเขียวเหลืองข้นก็ไม่ให้ยาปฏิชีวนะ ต้องรอให้พ้นเจ็ดวันไปก่อนจึงค่อยทำซีที.สะแกนดูโพรงไซนัส หรือใช้วิธีเดาเอาจากอาการอันได้แก่ปวดที่โพรงไซนัส (สองข้างจมูก) หรือที่กราม หรือปวดฟัน ร่วมกับมีน้ำมูกข้น มาตรฐานการรักษาปัจจุบันใช้ยาดุเดือดมากซึ่งผมขอไม่พูดถึงเพราะกลัวคนจะไปซื้อยากินเอง ไปให้หมอเขารักษาให้ดีกว่า

1.3.3 หูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (acute otitis media) ซึ่งมาตรฐานการรักษาในเจ็ดวันแรกคือไม่กินยา ไม่หยอดหู หากพ้นเจ็ดวันแล้วไม่หายค่อยไปหาหมอหู

1.3.4 ฝาปิดกล่องเสียงอักเสบ (epiglottitis) ทราบจากหายใจเข้าลำบากมีเสียงอื๊ด อี๊ด แถมอาจมีอาการเสียงแหบ แบบนี้ต้องไปหาหมอแน่นอน

1.3.5 หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน (acute bronchitis) ซึ่งเด่นด้วยอาการไอมีเสมหะ ซึ่งมาตรฐานการรักษาของ ACCP คือไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเลยไม่ว่าจะไอนานเท่าใด เพราะคนเป็นหวัดหรือไข้หวัดใหญ่มักไอแห้งๆตามหลังได้เป็นเดือนๆโดยไม่เกี่ยวกับเชื้อใดๆ การไม่ใช้ยาปฏิชีวนะนี้มีข้อยกเว้นเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงอันได้แก่อายุมากกว่า 60 ปีหรือมีโรคเรื้อรังหรือติดตามดูอาการไปพักใหญ่แล้วไม่ดีขึ้น

1.3.6 ปอดบวม (pneumonia) ทราบจากไข้สูงปรี๊ด หอบ เหนื่อย หายใจไม่อิ่ม แบบนี้ก็ต้องไปนอนรักษาในรพ.
สรุปในประเด็นยาปฏิชีวินะในโรคหวัดคือไม่กินเลย โดยเฉพาะเอย่างยิ่งในเจ็ดวันแรก หลังเจ็ดวันไปแล้วถ้ามีโรคแทรกซ้อน ซึ่งต้องบอกได้ว่าโรคอะไร ถ้าบอกไม่ได้ว่าเป็นโรคอะไรแทรก อย่าเพิ่งกิน ให้ไปหาหมอวินิจฉัยให้ได้ก่อนว่าเป็นโรคอะไรแทรก แล้วจึงเจาะจงรักษาโรคนั้น ซึ่งถึงตอนนั้นอาจมีการใช้ยาปฏิชีวนะ

2. เป็นหวัดแล้วจะรักษาอย่างไร ก็บอกแล้วไงว่าหวัดเป็นเองหายเองไม่ต้องรักษา แต่ถ้าอดไม่ได้ อยากจะรักษา มีหลักการรักษาดังนี้

2.1 บรรเทาอาการคัดจมูกน้ำมูกไหลและไอ ACCP แนะนำยาแอนตี้ฮิสตามีนรุ่นโบราณผสมยาลดน้ำมูก เช่น brompheniramine ผสม pseudoephedrine ส่วนแอนตี้ฮิสตามีนรุ่นใหม่ที่ไม่ง่วง ไม่แนะนำเพราะบรรเทาอาการไอได้ไม่ดีเท่ารุ่นโบราณที่ทำให้ง่วง

2.2 กรณีมีอาการน้ำมูกไหลแบบแพ้รุนแรง อาจใช้ยาสะเตียรอยด์หยอดจมูกบรรเทาอาการ

2.3 ต้องติดตามอาการทุกสามวัน ว่าดีขึ้นหรือเลวลง ถ้าเลวลงก็ควรไปให้หมอตรวจว่ามีโรคแทรกซ้อนที่ต้องรักษาหรือไม่ และอย่าทำเซ่อเถียงหมอถ้าหมอไม่ให้ยาปฏิชีวนะ ประโยชน์ของการไปหาหมอคือการวินิจฉัยโรคแทรก ไม่ใช่ไปเอายาปฏิชีวนะมากินแบบสามล้อ ถ้าอยากกินยาซี้ซั้ว โน่น ร้านขายยา ง่ายกว่าแยะ

3. ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นหวัดบ่อย มีหลักอยู่สองอย่างเท่านั้นคือ

3.1 การป้องกันการกระจายเชื้อ อันนี้เป็นประเด็นจริยธรรม คนเป็นหวัดแล้วจามฮาดเช้ยเสียงดังลั่นไปในอากาศคือพวกไม่มีจริยธรรม การเอามือปิดปากไอแล้วเอามือนั้นเที่ยวไปจับลูกบิดประตูหรือราวรถไฟฟ้าก็ไม่มีจริยธรรม ต้องใช้ผ้าปิดจมูกเวลาเป็นหวัด ถ้าไอก็ใช้กระดาษทิชชูปิดปากแล้วทิ้งถังขยะ ถ้าไม่มีกระดาษทิชชูก็งอแขนขึ้นมาไอใส่แขนเสื้อของตัวเองนะแหละ จะได้ไม่กระจายไปให้คนอื่นเขา

3.2 การดูแลตัวเองให้มีภูมิต้านทานโรคสูงไว้ตลอดเวลา อันได้แก่ (1) การได้นอนหลับพักผ่อนพอเพียง (2) การได้ออกกำลังกายถึงระดับมาตรฐานสม่ำเสมอ ถึงระดับมาตรฐานหมายความว่าออกกำลังกายให้เหนื่อยถึงขั้นร้องเพลงไม่ได้ติดต่อกันครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้ง บวกการเล่นกล้ามอีกสัปดาห์ละสองครั้ง (3) การรับประทานอาหารที่มีสัดส่วนของผักและผลไม้สูง อย่างน้อยวันละ 5 เสริฟวิ่ง หนึ่งเสริฟวิ่งเท่ากับผักสลัดหนึ่งถ้วยหรือผลไม้ลูกเขื่องๆเช่นแอปเปิ้ลหนึ่งลูก (4) อย่าพาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่ปิดที่แออัดยัดเยียดหายใจไอจามรดกันบ่อยนัก เพราะถึงภูมิคุ้มกันดีอย่างไรแต่ถ้าตั้งหน้าตั้งตาสูดเอาเชื้อเข้าสู่ร่างกายแบบไม่บันยะบันยังมันก็ไม่แคล้วต้องป่วยแหละครับ


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

11 ตุลาคม 2553

ปวดข้อ หมอกระดูก รูมาติสซั่ม ไฮโปไทรอยด์..ยุ่ง

มีอาการปวดตามข้อมาประมาณ 2 เดือนได้แล้วค่ะ ไปพบคุณหมอด้านกระดูกและข้อแล้วคุณหมอเจาะเลือดไปตรวจ 3 ครั้ง ครั้งแรกผลออกมามีอาการของเลือดจางและมีการอักเสบของข้อสูง คุณหมอบอกว่าอาจจะเป็นโรค "sle" แต่สุดท้ายคุณหมอก็บอกว่าเป็นโรค"รูมาติสซั่ม" โดยให้ทานยา fbc tap ,prednisolone 5 mg (1 เม็ด 1 ครั้ง),mobic (meloxicam) 7.5 mg ,synflex (naproxen sodium) 275 mg ยาตัวหลังคุณหมอเปลี่ยนเป็นยา mobic แล้วค่ะ แต่ดิฉันไม่แน่ใจค่ะว่าจะใช่มั๊ยเพราะดิฉันเป็นโรคไฮโปไทรอยด์อยู่และทานฮอร์โมนไทรอยด์มาได้ประมาณหกปีแล้ว ดิฉันสงสัยว่าที่ดิฉันมีอาการมันจะเกี่ยวกับยาไทรอยด์รึเปล่าคะ แล้วดิฉันควรทำอย่างไรดีคะ ควรทานยาที่คุณหมอให้มาหรือควรหยุดยาดีคะ คุณหมอช่วยตอบดิฉันหน่อยนะคะเพราะดิฉันปวดมากเลยตอนนี้


ตอบครับ

คำว่ารูมาติสซึ่มนี้ทางแพทย์เขาไม่ใช้กันแล้วนะครับ เพราะมันเป็นภาษาโบราณที่ใช้เรียกอาการปวดข้อและกล้ามเนื้อสะเปะสะปะ บ้างก็พาลใช้เรียกอาการปวดกล้ามเนื้อและเอ็นแบบกึ่งปสด.ที่เรียกว่า fibromyalgia ไปด้วย สมัยนี้ถ้าเป็นโรคในกลุ่มนี้จริงจังเขาเรียกว่าเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) แต่เอาเถอะ ผมไม่ว่าคุณหรอก เพราะขนาดชื่ออย่างเป็นทางการของสมาคมอายุรแพทย์โรคข้อยังชื่อว่า “สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย” อยู่เลยครับ แคว่กๆๆๆ ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

ขอโทษ นอกเรื่อง มาตอบคำถามของคุณดีกว่า

1. อาการปวดข้อที่เป็นเกี่ยวกับยาไทรอยด์หรือเปล่า ตอบว่าอาการปวดข้อ. หมดแรง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดไปทั่ว ( widespread pain ) เป็นอาการของไฮโปไทรอยด์ แต่ไม่เกี่ยวกับยาฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ที่คุณกินรักษาไฮโปไทรอยด์ครับ

2. คำถามที่ผมขออนุญาตถามแทรกคือโรคไฮโปไทรอยด์ของคุณที่ว่ารักษามาหกปีนั้นเอาอยู่หรือยัง ระดับฮอร์โมน TSH ที่เป็นตัววัดความสำเร็จของการรักษาลงมาเป็นปกติหรือยัง เพราะถ้ายัง อาการปวดข้อก็ไม่หาย แล้วที่ผมแปลกใจเล็กน้อยก็คือหมอไทรอยด์กับหมอข้อเนี่ยเขาเป็นมนุษย์คนละพันธ์กันนะครับ ที่คุณไปรักษากับหมอโรคข้อนั้น หมอไทรอยด์เขาส่งตัวคุณไปหรือเปล่า หรือคุณไปเสาะหาหมอดียาดีเอาเอง ถ้าเป็นคุณไปเสาะหาเองโดยหมอเขาไม่ได้ส่งต่อข้อมูลให้กันก็มีแนวโน้มที่คุณจะโดนรักษาแบบ “ดับเบิ้ลอาร์เอ็กซ์” เข้าแล้ว หมายความว่าหมอโน่นก็เอาที หมอนี่ก็เอาอีกที คนละเรื่องเดียวกัน คนละตุ๊บ คนละตั๊บ ผลก็คือ คุณโดนยาน่วมละสิครับ

3. ถามว่าจะทำอย่างไรดี จะหยุดยา หรือจะกินยา ตอบว่าคุณไปทำให้หมอสองคน (หมอไทรอยด์กับหมอข้อ) เขารู้ข้อมูลของกันและกันก่อน ถามจนเขาทั้งคู่ตอบเหมือนกันเด๊ะว่าคุณเป็นโรคอะไรก่อน แล้วจึงจะกินยา ถ้าเขาพูดไม่เหมือนกัน หรือเขาไม่ยอมพูดกัน คราวนี้คุณมีทางเลือกสองทางแล้วละครับ คือไปหาหมอคู่ใหม่ที่ยอมพูดกัน หรือไม่คุณก็เป็นหมอร่วมแจมเสียเอง กรณีคุณเป็นหมอร่วมแจมเสียเอง ผมแนะนำให้ถอยกลับไปตั้งต้นที่สนามหลวง ไปหาหมอไทรอยด์ รักษาไฮโปไทรอยด์ให้อยู่ก่อน ตัวบอกว่าอยู่ไม่อยู่ก็คือค่า TSH ต้องกลับมาเป็นปกติก่อน ถ้าTSH เป็นปกติแล้วอาการปวดข้อยังอยู่ ค่อยไปหาหมอข้อ ถึงตอนนั้นหมอข้อจะวินิจฉัยว่าเป็น SLE หรือเป็นข้ออักเสบรูมาตอยด์ ค่อยมาว่ากัน ถึงตอนนั้นไม่ยาก เพราะเกณฑ์วินิจฉัยมาตรฐานมันมีอยู่ ถึงถ้าวินิจฉัยแยกกันไม่ออก ก็ไม่ซีเรียส เพราะการรักษามันคล้ายๆกัน ไว้เคลียร์เรื่องไฮโปไทรอยด์แล้วคุณเขียนมาหาผมอีกทีก็ได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

หัวใจเต้นช้า จนหน้ามืด

เรียนสอบถามค่ะ เนื่องจากมีอาการหน้ามืดเวียนศีรษะชาบริเวณใบหน้าเมื่อใช้เครื่องวัดความดันและชีพจร พบว่า มีความดัน ที100,60 และหัวใจเต้นที่40ไม่ทราบว่าอาการดังกล่าวจะเป็นโรคหัวใจหรือไม่และต้องไปทำการตรวจ EKCO อีกหรือไม่ค่ะ

ตอบครับ


1. ทีหลังรบกวนให้ช่วยบอกข้อมูลพื้นฐานเช่นอายุ น้ำหนักตัว ส่วนสูง กิจกรรมที่ออกแรงทำได้อยู่เป็นประจำวัน และปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจขาดเลือดเช่น บุหรี่ ไขมัน เบาหวาน ยาที่กินอยู่ประจำ มาด้วย ก็จะช่วยให้ผมวิเคราะห์ปัญหาของคุณได้ละเอียดรอบคอบขึ้นครับ เพราะอยู่ๆก็บอกอาการมาเลย ก็เหมือนกับโทรศัพท์ไปถามช่างที่อู่ปากซอยว่ารถของผมเสียงดังแก๊กๆ โดยไม่ยอมบอกว่าเป็นรถเก๋ง หรือรถบรรทุก หรือรถสามล้อ ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐาน นี่ยังไม่ต้องพูดข้อมูลเชิงลึกขึ้นไปเช่นว่ามันเป็นรถเบ้นซ์หรือโตโยต้า ผมเชื่อว่าช่างบางคนอาจจะแนะนำคุณได้ก็จริงว่าไปซื้อล้อแม็กมาเปลี่ยนสิครับหายแน่ แต่รถคุณเป็นรถสามล้อมันจะใส่ล้อแม็กได้ไหมเนี่ย..เป็นต้น

2. จากข้อมูลที่มี ถ้าชีพจรช้าระดับ 40 ครั้งต่อนาที เรื่องนี้อย่างเดียวก็เป็นความผิดปกติที่ทำให้หน้ามืดหมดสติได้แล้วครับ สาเหตุของชีพจรช้าจนหน้ามืดนี้ อาจเกิดจาก

2.1 ยาที่กิน โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดอยู่ก่อนแล้วหมอให้กินยากั้นเบต้า (betablocker) หรือกรณีเป็นหัวใจล้มเหลวแล้วหมอให้กินยา digoxin ภาวะหัวใจเต้นช้าจากพิษของยา เป็นเรื่องอันตราย และทำให้เสียชีวิตได้ กรณีเช่นนี้รักษาไม่ยาก เพียงแต่หยุดยา อาการก็จะหาย

2.2 จากปุ่มคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ (SA node) ป่วยเป็นครั้งคราว เป็นๆหายๆ หมายความว่ามันทำงานบ้างไม่ทำงานบ้าง (sick sinus syncdrome) มักจะเป็นกับคนอายุมากแล้ว แต่นานๆครั้งก็เจอในคนอายุน้อยระดับสามสิบสี่สิบได้ กรณีเช่นนี้รักษาโดยการฝังเครื่องให้จังหวะ (pace maker) ไว้ที่ใต้ผิวหนัง เพื่อให้ทำหน้าที่ให้จังหวะแทนปุ่มคุมจังหวะในช่วงที่ปุ่มคุมจังหวะป่วย

2.3 โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือกล้ามเนื้อหัวใจพิการ

2.4 เป็นโรคหัวใจขาดเลือด ทำให้ปุ่มคุมจังหวะก็ขาดเลือดกับเขาไปด้วย เลยทำงานเพี้ยนไป

3. ถ้าคุณไปหาหมอ ผมเดาว่าขั้นตอนที่หมอเขาจะทำมีดังนี้

3.1 ถามว่ากินยาอะไรอยู่บ้าง ถ้ามียาที่ทำให้หัวใจเต้นช้าก็ให้หยุดยา แล้วกลับมาดูใหม่หลังจากนั้นสัก 7 วัน ถ้าชีพจรเร็วขึ้นก็จบ

3.2 ตรวจคลื่นหัวใจดู ถ้าคลื่นหัวใจปกติดีหมด คราวนี้ต้องให้คุณห้อยเครื่องติดตามคลื่นหัวใจ (Holter monitoring) ห้อยนานแค่ไหนก็สุดแล้วแต่อยากห้อย ส่วนใหญ่ก็ให้ห้อยกัน 7 วัน ถ้าเกิดมันเต้นช้าลงอีกก็จะได้เอาคลื่นหัวใจออกมาวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะปุ่มให้จังหวะป่วยจริงหรือเปล่า ถ้าจริงก็ต้องฝังเครื่องกระตุ้น

3.3 ประเมินว่ามีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจพิการซึ่งมักพบร่วมกับหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยหรือไม่ โดยเครื่องมือที่ใช้ประเมินก็คือ echo ถือเป็นมาตรฐานการตรวจประเมินหัวใจเต้นผิดจังหวะว่าต้องตรวจประเมินกล้ามเนื้อหัวใจพิการร่วมด้วยเสมอ

3.4 ประเมินว่ามีภาวะหัวใจขาดเลือดร่วมด้วยหรือไม่ เพราะบางทีปุ่มให้จังหวะป่วยเพราะมันได้เลือดไม่พอ หมายถึงว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบด้วย จึงเป็นมาตรฐานการประเมินหัวใจเต้นผิดจังหวะว่าต้องประเมินภาวะหัวใจขาดเลือดด้วยเสมอ วิธีประเมินที่นิยมก็คือวิ่งให้สายพาน (EST) แต่ก็สามารถประเมินด้วยวิธีอื่นเช่นทำ stressed echo หมายความว่าตรวจคลื่นเสียงขณะที่ฉีดยาบีบให้หัวใจทำงานมาก เพื่อดูว่ามันจะขาดเลือดหรือเปล่า

3.5 ทั้งหมดนั้นควรจะได้คำตอบ แต่ถ้ายังไม่ได้คำตอบอีก และปัญหาหน้ามืดยังคงอยู่ ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องทำการตรวจสวนหัวใจ (CAG) เพื่อวินิจฉัยแยกว่ามี หรือไม่มี โรคหัวใจขาดเลือดกันแน่ ถ้าไม่มี ก็จะได้รักษาด้วยการฝังเครื่องกระตุ้นอย่างเดียว แต่ถ้ามี ก็ต้องรักษาเรื่องหลอดเลือดหัวใจตีบซึ่งเป็นต้นเหตุให้หัวใจเต้นช้าเสียก่อน แล้วถ้าจำเป็นก็ฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจทีหลัง
จะเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่เหมือนกันนะครับ ก็แน่นอนละ ถ้าอะไรเกิดไกลหัวใจ เราถือว่าเรื่องเล็ก แต่นี่เหตุเกิดที่หัวใจโดยตรง ยังไงก็ต้องยอมลำบากไปหาหมอหน่อยละครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

เพิ่งออกจากรพ.ตจว. เป็นหลอดเลือดหัวใจตีบ

เพิ่งออกจาก รพ ตจว.ครับ เนื่องจากอาการหนักหน้าอก หมอให้พักอยู่ 5วัน ตรวจเบื้องต้นพบว่า เป็นอาการเส้นเลือดหัวใจตีบ และกล้ามเนื้อเสียบางส่วน ตอนนี้ทานยาอยู่ อาการทุเลามากแล้ว ออกกำลังกายได้ ถ้าไปตรวจหัวใจแบบละเอียดจะเจอความผิดปกติได้อย่างไรครับ กลัวว่าจะเสียเที่ยว

ตอบครับ


ฟังตามเรื่องที่เล่า คุณเป็นโรคหัวใจขาดเลือด จริงแท้แน่นอน และเป็นถึงระดับกล้ามเนื้อหัวใจตาย (acute nyocardial infarction) แต่ยังรอดชีวิตมาได้ การรักษาโรคหัวใจสำหรับคนที่เป็นโรคแล้ว มีหลักดังนี้

1. ส่วนที่สำคัญที่สุดคือการป้องกันไม่ให้โรคหัวใจที่เป็นแล้ว เป็นมากขึ้นไปอีก หรือให้มันเป็นน้อยลง หรือแม้กระทั่งให้มันหาย (secondary prevention) มันหายได้นะ ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจว่าแทบจะไม่มีหมอหัวใจที่ไหนพูดกับเรื่องนี้กับคนไข้อย่างจริงจังเลย ไหนๆคุณก็เขียนมาแล้ว ผมขอถือโอกาสอบรมคุณเสียเลย ว่าหลักการป้องกันโรคสำหรับคนเป็นโรคแล้วมีดังนี้

1.1 ถ้าสูบบุหรี่อยู่ ต้องเลิก ถ้าคุณไม่ยอมเลิกบุหรี่ เลิกอ่านข้ออื่นได้เลย เพราะหากทำเรื่องใหญ่ไม่สำเร็จ เรื่องเล็กไม่ต้องไปทำหรอก ทำไปก็ไลฟ์บอย

1.2 คุณต้องรู้ว่าความดันเลือดของคุณเท่าไร สูงหรือไม่ ซื้อที่วัดความดันอัตโนมัติมาวัดเองที่บ้านเลย สำหรับคนทั่วไปความดันเลือด 140/90 ถือว่าสูง แต่สำหรับคนอย่างคุณซึ่งเป็นโรคหัวใจขาดเลือดแล้ว ความดัน 140/80 ถือว่าสูง ต้องเอาความดันลงมา ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเสียใหม่ ดังนี้

1.2.1 ถ้าอ้วนต้องลดน้ำหนัก แค่เอาน้ำหนักลงความดันก็ลงได้ถึง 20 มม.

1.2.2 เปลี่ยนอาหารการกินไปเป็นแบบมังสวิรัติแคลอรี่ต่ำ หมายความว่ากินผักผลไม้เป็นหลัก จะลดความดันได้ถึง 14 มม.

1.2.3 ออกกำลังกายให้ได้ระดับมาตรฐาน คือออกกำลังกายแบบต่อเนื่องให้หนักพอควร คือเหนื่อยจนร้องเพลงไม่ได้ ครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้ง ควบกับการเล่นกล้ามสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ทำได้ครบตามนี้จึงจะเรียกว่าเป็นการออกกำลังกายถึงระดับมาตรฐาน

1.2.4 ลดเกลือในอาหารลง แปลว่าให้กินอาหารจืดสนิท จะลดความดันได้ถึง 8 มม.

1.2.5 ถ้าดื่มแอลกอฮอล์อยู่ ให้เลิก จะลดความดันได้ถึง 4 มม.

1.2.6 ถ้าทำทุกอย่างแล้วความดันยังไม่ลง ต้องไปหาหมอเพื่อกินยาลดความดัน

1.3 คุณต้องรู้ว่าไขมันเลว (LDL) ในเลือดของคุณเป็นเท่าใด คนธรรมดาเขาอาจปล่อยให้ไขมัน LDL ขึ้นไปได้ถึง 190 แต่ของคุณซึ่งเป็นโรคหัวใจขาดเลือดแล้ว LDL แค่ 100 คุณก็ต้องรีบเอาลงด้วยการปรับโภชนาการ ดังนี้ ถ้ายังไม่ลงก็ต้องไปหาหมอเอายามากินจนลง หลักโภชนาการสำหรับลด LDL นอกจากโภชนาการที่เน้นผักและผลไม้แล้ว ได้แก่

1.3.1 ลดไขมันทรานส์ (trans fat) ซึ่งเป็นตัวร้ายที่สุด ไขมันทรานส์คือน้ำมันพืชที่อุตสาหกรรมใช้ไฮโดรเจนทำให้แข็งเป็นไขหรือผงได้ เช่นครีมเทียมใส่กาแฟ เนยเทียม ขนมกรุบกรอบ เค้ก คุ้กกี้ ไอศกรีม

1.3.2 ลดอาหารพวกไขมันอิ่มตัว เช่นไขมันสัตว์ต่างๆยกเว้นปลา

1.3.3 เปลี่ยนอาหารธัญพืชเป็นชนิดไม่ขัดสี เช่น ข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง ขนมปังขาวเป็นขนมปังโฮลวีท เพิ่มเส้นไยชนิดละลายได้ซึ่งช่วยลดการดูดซึม LDL ได้

1.4 คุณต้องรู้ระดับน้ำตาลในเลือด (FBS) ของคุณด้วย ว่าจะต้องไม่สูงเกิน 100 ถ้าเกินก็ต้องลดโดยการลดการบริโภคอาหารที่ให้แคลอรี่ลง ควบกับการออกกำลังกายเผาผลาญแครอลี่ให้มากกว่าที่กินเข้าไป
การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตทั้งสี่หัวข้อข้างต้นเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่มีใครมาสนใจใยดีทำให้คุณ มีแต่ตัวคุณเท่านั้นที่จะช่วยตัวคุณเองได้ งานวิจัยพิสูจน์ว่าหมอก็ช่วยอะไรไม่ได้ คุณต้องช่วยตัวเอง วัดดัชนีความเสี่ยงของตัวเอง เช่นน้ำหนัก ความดัน ไขมันในเลือด เบาหวาน แล้วบริหารความเสี่ยงด้วยตัวเอง หมดท่าต้องใช้ยาจึงค่อยไปหาหมอ

2. เมื่อได้จัดการปัจจัยเสี่ยงทั้งหลายด้วยตัวเองอย่างดีแล้ว ต้องทำอีกอย่างหนึ่งคือไปหาหมอเพื่อตรวจจัดชั้นความเสี่ยงว่าเป็นพวกเสี่ยงตายมากหรือเสี่ยงตายน้อย ถ้าเสี่ยงตายมาก หมอก็จะเอาไปตรวจสวนหัวใจเพื่อใช้บอลลูนขยายหรือผ่าตัดแก้ไขจุดตีบเสียก่อน การตรวจจัดชั้นความเสี่ยงที่นิยมทำก็คือการให้วิ่งสายพาน (EST) เพื่อดูว่าหัวใจจะขาดเลือดเมื่อต้องออกแรงหรือไม่ สำหรับคุณซึ่งออกกำลังกายเองได้ดีแล้ว ผมแนะนำว่าคุณไม่ต้องรีบร้อนไปหาหมอก็ได้ ให้ค่อยๆออกกำลังกายมากขึ้นๆ ทุกวันๆ จนถึงระดับมาตรฐาน ถ้าทำได้โดยไม่เจ็บหน้าอก ก็ไม่ต้องไปหาหมอเพื่อตรวจจัดชั้นความเสี่ยงก็ได้ เพราะถ้าออกกำลังกายถึงระดับมาตรฐานได้โดยไม่เจ็บหน้าอกก็เป็นพวกความเสี่ยงต่ำอยู่แล้ว ให้ดูแลตัวเองด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตามข้อ 1 ก็เพียงพอ

ขอประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิงแล้วหายจากโรคหัวใจนะครับ ย้ำ มันหายได้นะ ท่องตามที่ผมบอกไว้ เพราะมันเป็นความจริง


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

05 ตุลาคม 2553

เจ็บหน้าอกอย่างนี้เป็นโรคหัวใจหรือเปล่า

คุณหมอครับ
ผมอายุ 30 ปี น้ำหนัก 74 กก. สูง 170 กก. มีอาการแน่นหน้าอก ตรงกลางหน้าอกพอดี เหมือนมีใครเอาอะไรมารัด เป็นอยู่พักเดียวแล้วก็หายไป เวลาผมทำอะไรมากๆเช่นขึ้นบันไดสองชั้นก็จะเป็น พอพักสักครู่ก็หาย ไปหมอที่คลินิก หมอบอกว่าอายุแค่นี้ไม่เป็นโรคหัวใจหรอก ไปหาหมอที่รพ. (ไม่ใช่พญาไท) หมอตรวจคลื่นหัวใจ เจาะเลือด นอนรพ.หนึ่งคืน แล้วบอกว่าผมไม่ได้เป็นโรคหัวใจ ให้กลับบ้านได้ ขอให้คุณหมอช่วยอธิบายให้ผมสบายใจหน่อยว่าอย่างนี้ไม่ใช่โรคหัวใจใช่ไหม และเจ็บหน้าออกอย่างไรจึงจะเป็นโรคหัวใจครับ
ปอง

ตอบครับ

1.. เจ็บหน้าอกแบบคุณนี้แหละ เป็นโรคหัวใจขาดเลือดแน่นอน คือการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด ทางหมอเรียกว่า angina มีสองแบบคือแบบคลาสสิกต้นตำรับ เรียกว่า Typical angina ซึ่งต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนสามอย่างคือ
1.1 เจ็บตื้อๆกลางอก
1.2 เจ็บมากขึ้นถ้าออกแรง
1.3 ดีขึ้นถ้าพักหรืออมยา

ซึ่งของคุณตรงสะเป๊กทุกประการ เพราะฉะนั้นเจ็บหน้าอกแบบคุณนี้เป็นโรคหัวใจขาดเลือดแน่นอนไม่มีข้อสงสัยเลย

ส่วนการเจ็บแบบไม่ตรงสะเป๊ก เรียกว่า Atypical angina เป็นการเจ็บแบบอื่นที่ไม่เข้าเกณฑ์ทั้งสามข้อ เช่นเจ็บหน้าอกแบบแหลมๆเสียด หรือเจ็บที่ข้างซ้ายไม่ตรงกลาง หรือเป็นอาการอื่นไกลไปเลยเช่น ท้องอืดอาหารไม่ย่อย หอบเหนื่อยหายใจไม่อิ่ม เวียนหัวหน้ามืดเป็นลม อาการเหล่านี้เป็น atypical ยังคือยังแน่ใจไม่ได้ว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดหรือไม่เป็น ต้องไปตรวจเพิ่มเติมให้ละเอียดอีกที

2.. อายุไม่ใช่ประเด็นแล้ว ผู้ชายไทยอายุ 30 ปีสมัยนี้ เป็นโรคหัวใจขาดเลือดได้สบายมาก อายุไม่ถึงสามสิบต้องถูกผ่าตัดแก้ไขหลอดเลือดหัวใจตีบแล้วก็มีให้เห็นบ่อยๆ สิ่งที่เป็นประเด็นมากกว่าคือปัจจัยเสียงของโรค ซึ่งคุณควรจะบอกหมอด้วยทุกครั้ง ว่าคุณมีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง จากปัจจัยเสี่ยงทั้งหมด 6 ตัวคือ
2.1 บุหรี่
2.2 ไขมันในเลือดผิดปกติ (โดยเฉพาะ HDL ต่ำ)
2.3 ความดันเลือดสูง
2.4 เบาหวาน
2.5 ตัวเองอายุมาก (ชายเกิน 55 หญิงเกิน 65 ถือว่ามาก)
2.6 พ่อแม่ปู่ย่าตายายตายด้วยโรคหัวใจแต่อายุยังน้อย (ชายตายก่อนอายุ 45 หญิงก่อนอายุ 55 ปี ถือว่าตายอายุน้อย)

3.. การตรวจคลื่นหัวใจ (EKG) และเจาะเลือดหาเอ็นไซม์หัวใจ (cardiac marker) วินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือดชนิด stable angina ที่คุณเป็นอยู่ไม่ได้หรอกครับ คือคุณควรทราบไว้ด้วยว่าอาการเจ็บหน้าอกแบ่งชนิดตามความเร่งด่วนได้สองแบบ คือ

3.1 Stable angina ก็คืออย่างที่คุณเป็นเนี่ยแหละ ออกแรงแล้วเจ็บ พักแล้วหาย พวกนี้เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่ยังมีรูให้เลือดวิ่งไปเลี้ยงหัวใจได้ พอออกแรงมาก เลือดไหลไม่พอก็เจ็บหน้าอก พอพัก หัวใจใช้เลือดน้อย เลือดไหลทัน ก็หาย ตอนหายเจ็บไปตรวจคลื่นหัวใจก็ไม่เจออะไรเพราะกล้ามเนื้อไม่ได้ขาดเลือด เจาะเลือดตรวจหาเอ็นไซม์หัวใจก็ไม่เจอเพราะกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้ตาย จึงไม่มีเอ็นไซม์ออกมาในเลือด

3.2 Unstable angina คือคนที่เจ็บหน้าแบบ angina โดยมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างนี้ คือ
3.1.1 เจ็บนานต่อเนื่องนาน พักไม่หาย (เกิน 20 นาที)
3.1.2 เพิ่งเจ็บเป็นครั้งแรกก็เจ็บแรงเลย
3.1.3 เจ็บแบบเพิ่มขึ้นๆๆแบบเจ็บ..เจ้บ..เจ๊บ.. เหมือนจังหวะ crescendo ของเพลงซิมโฟนี่
ถ้าเจ็บแบบใดแบบหนึ่งในสามแบบนี้เรียกว่า unstable angina หรือพูดง่ายๆว่าเจ็บแบบหัวใจจะวาย พวกนี้เกิดจากมีลิ่มเลือดไปอุดรูตีบที่เดิมเลือดเคยวิ่งผ่านได้ ทำให้เลือดวิ่งผ่านไม่ได้เลย ตรวจคลื่นหัวใจจะเห็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และเจาะเลือดจะพบมีเอ็นไซม์หัวใจออกมาเพราะกล้ามเนื้อหัวใจเริ่มตายลง พวกนี้ฉุกเฉินสุดๆ ต้องรีบรักษาโดยเปิดหลอดเลือดด้วยวิธีฉีดยาละลายลิ่มเลือดหรือสวนหัวใจใช้บอลลูนขยายทันที ถ้าไปรพ.ช้าก็มีหวัง..ซี้หม่งเซ็ก

4. รู้สึกผมจะตอบคำถามคุณครบแล้วนะ คุณเป็นหรือไม่เป็น..ตอบแล้ว และเจ็บอย่างไรจึงจะเป็นโรคหัวใจ..ตอบแล้ว สรุปอีกทีว่าคุณเป็นโรคหัวใจขาดเลือดชนิด stable angina แนะนำให้ไปรับการรักษาที่ศูนย์หัวใจที่ไหนสักแห่ง การรักษาโรคนี้มีหลักการดังนี้ คือ
4.1 การจัดการปัจจัยเสี่ยงที่จัดการได้ทั้ง 4 ตัว(บุหรี่ ไขมัน ความดัน เบาหวาน) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดและมีประเด็นปลีกย่อยมากพูดกันสามวันสามคืนไม่จบ
4.2 ให้กินยาบรรเทาอาการเจ็บหน้าอก
4.3 ตรวจจัดชั้นความเสี่ยง (risk stratification) เพื่อดูว่าเป็นพวกที่เสี่ยงตายสูงหรือเปล่า วิธีประเมินมีหลายแบบ หนึ่งในวิธีเหล่านั้นคือการให้วิ่งสายพาน (EST) ถ้าได้ผลว่าเป็นพวกมีความเสี่ยงสูง ก็ต้องตรวจสวนหัวใจ (CAG) เพื่อดูว่ามีจุดตีบทีอยู่ในตำแหน่งสำคัญหรือเปล่า ถ้ามีก็จะได้รักษาซะเลยเป็นการป้องกันไม่ให้อายุสั้น

แต่ในกรณีของคุณ ผมว่าคุณไม่ต้องไล่ระดับการรักษาไปตามหลักการหรอกครับ เพราะแค่ที่คุณเล่าว่าเดินขึ้นบันได 2 ชั้นก็เจ็บหน้าอกแล้วนี่ผมประเมินว่าคุณเป็นกลุ่มมีความเสี่ยงสูงได้แล้ว ไม่ต้องไปวิ่งสายพานหรอก เพราะเดี๋ยวจะไปป๊อกคาสายพานเสียก่อน ผมเสนอแนะว่าให้คุณขอทำการตรวจสวนหัวใจ (CAG) เลย โดยบอกหมอว่าคุณไม่ประสงค์ที่จะเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันคาสายพาน

เมื่อได้รับการรักษาจะด้วยทำบอลลูนหรือผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว เขียนมาเล่าให้ผมฟังด้วยนะครับ จะได้คุยกันเรื่องการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในระยะยาว


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

04 ตุลาคม 2553

ไตรกลีเซอไรด์สูง ทั้งที่ยังหนุ่มๆ

เพื่อนชายอายุ 26 ปี ไม่มีประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว น้ำหนักและเส้นรอบพุงปกติ ตรวจสุขภาพประจำปี พบ Chol 206 HDL 40.1 TG 446 ควรให้คำแนะนำหรือต้องปฏิบัติตัวอย่างไรคะ และขอถามเพิ่มเติม เรื่อง การตรวจไขมัน ควรเริ่มตรวจกันที่อายุเท่าไร จึงจะเหมาะสมคะ

น้ำใส

ตอบครับ

1. เพื่อนผู้ชายของคุณเป็นโรคไขมันผิดปกติชนิดไตรกลีเซอไรด์สูง (hypertriglyceridemia) คำแนะนำคือ

1. ลดอาการพวกคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลลงอย่างเข้มงวด เพราะอาหารพวกนี้เมื่อเหลือใช้แล้วร่างกายจะเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์
2. ถ้าดื่มแอลกอฮอล์ ต้องเลิก เพราะคนเป็นโรคนี้ตับก็แย่อยู่แล้ว ยังจะต้องอุทิศพื้นที่และเวลามาสลายพิษของแอลกอฮอล์อีก ตับจะสู้ไม่ไหว นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรทส่วนเกินอีกด้วย
3. ออกกำลังกายให้ได้ระดับมาตรฐานสากล หมายความว่าออกกำลังกายต่อเนื่องให้ถึงขั้นเหนื่อยพอควร (เหนื่อยจนร้องเพลงไม่ได้) ติดต่อกันไปครึ่งชั่วโมง สัปดาห์ละ 5 ครั้ง บวกการเล่นกล้ามอีกสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ทำอย่างนี้ได้จึงจะถือว่าได้ออกกำลังกายถึงระดับมาตรฐานสำหรับคนทั่วไป การออกกำลังกายเป็นวิธีลดไขมันได้แน่นอนที่สุด
4. เปลี่ยนธัญพืชที่กินอยู่ให้เป็นธัญพืชไม่ขัดสี เช่นเปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวซ้อมมือหรือข้าวกล้อง ขนมปังขาวเป็นขนมปังโฮลวีท เป็นต้น เพราะธัญพืชไม่ขัดสีมีกากชนิดละลายได้ช่วยดูดซับไขมันไม่ให้เข้าสู่ร่างกายมาก
5. กินนำมันปลาเสริม ใช่แล้ว น้ำมันปลาหรือโอเมก้า 3 ที่เขาทำเป็นเม็ดขายนั่นแหละ ปกติหนึ่งเม็ดคือหนึ่งกรัม ให้กินวันละ 2-4 กรัม น้ำมันปลาลดไตรกลีเซอไรด์ได้แน่นอน แถมยังเป็นอาหารเสริมชนิดเดียวที่ FDA ยอมให้เขียนข้างขวดว่า “ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้”
6. ทำทั้งหมดนี้ให้ได้ต่อเนื่องไปสัก 6 เดือนแล้วไปเจาะเลือดใหม่ รับประกันว่าไตรกลีเซอไรด์จะลงมาเป็นปกติ คือต่ำกว่า 150 แต่ถ้าทำแล้วเจาะเลือดแล้วไตรกลีเซอไรด์ยังสูงเกิน 200 (ซึ่งโอกาสเป็นเช่นนั้นน้อยมาก) แนะนำว่าให้ไปหาหมอหัวใจเพื่อของยาลดไตรกลีเซอไรด์มากิน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะไตรกลีเซอไรด์สูงส่งผลเสียระยะยาว คือทำให้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดง่ายขึ้น

2. การตรวจไขมันในเลือดควรเริ่มเมื่อใด ตอบว่าในวัยรุ่น ควรเจาะระดับไขมันในเลือดดูสักหนึ่งครั้งเอาไว้เป็นข้อมูลพื้นฐานของเรา หลังจากนั้น ถ้าผลครั้งแรกปกติดี จะดูถี่แค่ไหน ดูทุกปีดีหรือเปล่า หรือสักห้าปีทีหนึ่งพอใหม่ คำตอบก็คือไม่มีหลักฐานการแพทย์ระบุชัดว่าวัยรุ่นควรเจาะเลือดดูไขมันบ่อยแค่ไหน เอาเป็นว่าชอบแบบไหนทำแบบนั้นละกัน คำแนะนำส่วนตัวของผมก็คือ ให้ไปสนใจที่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต (หมายถึงอาหารการกินและการออกกำลังกาย) ของตัวเองเป็นสำคัญ อย่าเอาแต่เจาะเลือดแล้วไม่ปรับเปลี่ยนอะไรตัวเองเลย ไม่มีประโยชน์ครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

ช่วยอ่านผลด้วย ไปตรวจสุขภาพได้ค่าไตค่าตับสูง

ไปตรวจสุขภาพ ได้ผลตรวจเลือดค่า Creatinine 1.24 แล้วก็ค่าSGPT(ALT) 58 ครับในใบมันบอกว่าสูงควรไปหาหมอเพื่อตรวจเช็คอะไรไหมครับ แล้ววิธีลดค่าพวกนี้ทำยังไงบ้างครับผมอายุ 22 ปีครับ อ้วนด้วยครับ LDL ก็สูงครับ 142
ช่วยบอกทีนะครับ ขอบคุณครับ
>>>>>

ตอบครับ

1. ทีหลังบอกมาด้วย ที่ว่าอ้วนน่ะ น้ำหนักเท่าไร สูงเท่าไร ผมจะได้ดูดัชนีมวลกายว่าเป็นเท่าไร เพื่อจะได้เทียบมาเป็นความเสี่ยงทางการแพทย์ได้ว่าปัญหาอยู่ระดับที่ซีเรียสแค่ไหน

2. ค่า Creatinine หรือ Cr เป็นตัวบอกการทำงานของไต ค่า 1.24 หมายความว่าการทำงานของไตเสื่อมลงไปจากปกติ ปัจจุบันนี้วงการโรคไตทั่วโรครวมทั้งสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยด้วย ได้เปลี่ยนไปใช้ค่าปริมาณเลือดที่ไหลผ่านตัวกรองของไตในหนึ่งนาที (GFR) ในการบอกสถานะโรคไตแทนค่า Cr โดยห้องแล็บจะเอาค่า Cr ไปคำนวณกับเพศ อายุ และเชื้อชาติของแต่ละคน แล้วรายงานผลแล็บออกมาเป็นค่า GFR เนื่องจากได้จากการคำนวณจึงเรียกว่า eGFR แต่ก็ใช้แทนกันไปมากับ GFR ได้ อย่างเช่นของคุณผมคำนวณให้ได้ eGFR =70 ซีซี.ต่อนาที ปกติเลือดควรผ่านตัวกรองของไตได้นาทีละ 90 ซีซี. ถ้าน้อยกว่านั้นก็คือไตเสื่อม หรือพูดง่ายๆว่าเป็นโรคไตเรื้อรัง ซึ่งสมาคมโรคไตทั่วโลกแบ่งโรคไตเรื้อรังเป็น 5 ระยะ คือ

ระยะที่ 1. มีพยาธิสภาพที่ไตแล้ว (เช่นมีนิ่ว เป็นกรวยไตอักเสบ ไตบวม) แต่ GFR ยังปกติ (>90)
ระยะที่ 2. มีพยาธิสภาพที่ไตแล้ว และ GFR ต่ำกว่า 90 แต่ไม่ต่ำกว่า 60
ระยะที่ 3. ใครก็ตามที่ GFR ต่ำกว่า 60 แต่ไม่ต่ำกว่า 30 ระยะนี้ถือว่าเป็นโรคไตเรื้อรังโดยสมบูรณ์แบบแล้ว
ระยะที่ 4. ใครก็ตามที่ GFR ต่ำกว่า 30 แต่ไม่ต่ำกว่า 15
ระยะที่ 5. ใครก็ตามที่ GFR ต่ำกว่า 15 ระยะนี้คือไตพังไปแล้วเรียบร้อย ต้องใช้ไตเทียมล้างไตจึงจะมีชีวิตอยู่ได้

อย่างกรณีของคุณ GFR ยังไม่ต่ำกว่า 60 ถ้าไม่มีนิ่วหรือไตพิการอยู่ก่อน ก็ยังไม่ถือว่าเป็นโรคไตเรื้อรัง แต่ก็พึงสังวงไว้ว่าไตคุณไม่ได้เจ๋งแล้วนะ ต้องป้องกันไตไม่ให้แย่ไปกว่านี้ โดยการ (1) ดื่มน้ำมากเป็นนิสัย วันละ 2 ลิตรขึ้นไป (2) อย่าเที่ยวกินยาอะไรเปะปะที่อาจทำให้ไตพังได้ โดยเฉพาะยาแก้ปวดกลุ่ม NSAID (3) เวลาหมอเขาจะของตรวจพิเศษด้วยการฉีดสารทึบรังสี อย่าทำ ให้เลี่ยงไปตรวจวิธีอื่นที่ไม่เป็นพิษต่อไตแทน (4) ตรวจสุขภาพปีหน้า ให้ตรวจอุลตร้าซาสด์ดูนิ่วในไต และตรวจปัสสาวะโดยเจาะจงดูสาร microalbumin ในปัสสาวะเป็นกรณีพิเศษด้วย เพราะทั้งสองอย่างนี้เป็นข้อมูลช่วยบอกว่าเรามีพยาธิสภาพที่ไตหรือเปล่า ถ้ามีจะได้แก้ไข

3. SGPT เป็นเอ็นไซม์ที่จะออกมาในเลือดเมื่อเซลตับเสียหาย กรณีของคุณ SGPT 58 เป็นค่าที่สูงผิดปกติแสดงว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นที่ตับ จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม จากข้อมูลที่คุณให้มาอย่างน้อยก็มีหนึ่งสาเหตุแล้วคือไขมันแทรกตับ (fatty liver) ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบแบบที่เรียกว่า NAFLD หรือโรคตับจากไขมันโดยไม่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ สิ่งที่คุณพึงทำคือ

3.1 ลดน้ำหนัก
3.2 ออกกำลังกายออกกำลังกายให้ได้ระดับมาตรฐานสากล หมายความว่าออกกำลังกายต่อเนื่องให้ถึงขั้นเหนื่อยพอควร (เหนื่อยจนร้องเพลงไม่ได้) ติดต่อกันไปครึ่งชั่วโมง สัปดาห์ละ 5 ครั้ง บวกการเล่นกล้ามอีกสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ทำอย่างนี้ได้จึงจะถือว่าได้ออกกำลังกายถึงระดับมาตรฐานสำหรับคนทั่วไป การออกกำลังกายเป็นวิธีลดไขมันได้แน่นอนที่สุด
3.3 ลดการบริโภคไขมันอิ่มตัว อันได้แก่หมูเห็ดเป็ดไก่ทั้งหลาย
3.4 ลดการบริโภคไขมันทรานส์ อันได้แก่ครีมเทียม เนยเทียม ขนมกรุบกรอบ เค้ก คุ้กกี้ ไอศกรีม
3.5 เปลี่ยนธัญพืชที่กินอยู่ให้เป็นธัญพืชไม่ขัดสี เช่นเปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวซ้อมมือหรือข้าวกล้อง ขนมปังขาวเป็นขนมปังโฮลวีท เป็นต้น เพราะธัญพืชไม่ขัดสีมีกากชนิดละลายได้ช่วยดูดซับไขมันไม่ให้เข้าสู่ร่างกายมาก
3.6 อย่ายุ่งกับแอลกอฮอล์เด็ดขาด
3.7 ไปตรวจดูสถานะของโรคตับอักเสบจากไวรัส ทั้งไวรัสเอ. ไวรัสบี. ไวรัสซี. ว่ามีเชื้ออยู่ในตัวหรือเปล่า ถ้าไม่มี มีภูมิคุ้มกันหรือยัง ถ้าไม่มีภูมิคุ้มกันก็จะได้ฉีดวัคซีนป้องกันเสีย เพราะตับแย่ๆอยู่แล้ว ถ้าเจอโรคพวกนี้เข้าอีกก็..เรียบร้อย
3.8 อยู่ห่างๆสารพิษต่อตับไว้ โดยเฉพาะอะฟลาทอกซินที่พบมากในถั่วลิสงบด
3.9 ยาที่มีพิษต่อตับก็อย่ากิน แม้แต่ยาเช่นพาราเซ็ตตามอลก็มีพิษต่อตับ ควรหลีกเลี่ยง สมัยก่อนที่ยังไม่มียาพาราเซ็ตตามอลใช้ มนุษย์เราก็อยู่กันได้ ไม่เห็นตาย ยาพาราเซ็ตตามอลกินพร้อมกับแอลกอฮอล์ เป็นสูตรทำลายล้างตับที่ชะงัดที่สุด เป็นตับว่าเพราะสูตรนี้มานักต่อนักแล้ว

ข้อมูลตรวจสุขภาพที่ให้มา บ่งบอกว่าต้องทำตัวเสียใหม่ดังข้างต้น อ่านแล้วก็ทำซะด้วยนะครับ ถ้าไม่ทำ ปีหน้าไม่ต้องไปตรวจสุขภาพ เสียเงินให้หมอ เสียเวลาทำงาน ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเลย


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

02 ตุลาคม 2553

กินแคลเซียมเสริมขณะที่กำลังเป็นนิ่วอยู่

เป็นกระดูกบาง และมีนิ่วในไตด้วย หมอสูติกรรมให้กินแคลเซียมเสริม อยากทราบว่าแคลเซียมเสริมทำให้เป็นนิ่วได้หรือไม่ ถามหมอสูติบอกว่าไม่เกี่ยวกัน แต่ดิฉันไม่แน่ใจ อยากฟังความเห็นคุณหมอสันต์

รดา

ตอบครับ

90% ของนิ่วในไต เกิดจากการจับกันของแคลเซียมกับออกซาเลท โดยที่ 20-40% ของคนเป็นนิ่วจะพบว่ามีแคลเซียมในปัสสาวะมาก
งานวิจัยขนาดใหญ่ในพยาบาลกว่าเก้าหมื่นคนติดตามนานเกิน 7 ปีพบว่าการกินแคลเซียมเสริมในภาวะที่ไม่ได้กินอาหารที่มีออกซาเลทในอาหารควบคู่ไปด้วย ทำให้เกิดนิ่วในไตมากขึ้น เช่นกินแคลเซียมเสริมเพียวๆ ไม่ได้กินหลังอาหาร หรือกินหลังอาหารมื้อเช้าซึ่งอาหารไม่มีออกซาเลทมากนัก

ในงานวิจัยเดียวกันพบว่าถ้ากินอาหารธรรมชาติที่มีแคลเซียมสูง อันนี้หมายถึงแคลเซียมจากอาหารธรรมชาตินะ ไม่ใช่แคลเซียมเสริมเป็นเม็ด จะทำให้เป็นนิ่วที่ไตน้อยลง ทั้งนี้เดากันเอาว่าคงเป็นเพราะแคลเซียมจากอาหารจับกับออกซาเลทในลำไส้เกิดเป็นตะกอนที่ดูดซึมไม่ได้ เป็นการกีดกันไม่ให้ออกซาเลทไปก่อนิ่วในไตน้อยลง

อีกงานวิจัยหนึ่งพบว่าการกินอาหารโปรตีนมากทำให้เป็นนิ่วในไตมากขึ้น ขณะที่การดื่มน้ำมากทำให้เป็นนิ่วในไตลดน้อยลง

อีกงานวิจัยหนึ่งพบว่าเกลือ (โซเดียม) ในอาหารมีความสัมพันธ์กับการเกิดนิ่ว ยิ่งกินเค็มมากยิ่งเป็นนิ่วง่าย

อีกงานวิจัยหนึ่งพบว่าออกซาเลทมีความสัมพันธ์กับการเป็นนิ่ว และระบุอาหารที่มีออกซาเลทสูง เช่น นัท (ถั่วเปลือกแข็ง) น้ำชา ช็อกโกแล็ต ผักกาดหัว รำข้าวสาลี (wheat bran) และเครื่องดื่มโซดาที่ทำจากฟอสเฟต

สรุปก็คือว่า การป้องกันนิ่วในไตควรทำดังนี้ คือ

1. ดื่มน้ำให้มากๆ วันละสองลิตรขึ้นไป อันนี้ดีแน่ และเป็นปัจจัยเดียวที่หมอทุกคนเห็นพ้องกัน

2. อย่ารับประทานอาหารเค็ม

3. ไม่ควรรับประทานโปรตีนมากเกินความจำเป็นของร่างกาย

4. ควรรับประทานอาหารธรรมชาติที่อุดมด้วยแคลเซียม ให้มากพอต่อความต้องการของร่างกาย

5. การรับประทานแคลเซียม (เป็นเม็ด) เสริมแนะนำว่าควรทำได้ในกรณีที่ประสงค์จะป้องกันหรือรักษากระดูกพรุน ทั้งนี้ควรรับประทานหลังอาหารกลางวันหรืออาหารเย็น

6. ในกรณีของคนที่เป็นนิ่วแล้ว สถาบันสุขภาพแห่งชาติ(NIH) แนะนำว่าให้ใช้ความระมัดระวังในกรณีรับประทานแคลเซียมเสริม แปลไทยให้เป็นไทยก็คือข้อมูลยังไม่พอจะบอกว่าคุณควรจะทำตัวอย่างไร ดังนั้นคุณไปลุ้นเอาเองก็แล้วกัน อยากทานแคลเซียมเสริมก็ทาน ไม่อยากทานก็เสริมก็อย่าทาน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

........................................

Updated (20 สค. 2556)

เมื่อต้นปี 2556 คณะทำงานป้องกันโรคของรัฐบาลอเมริกัน (USPSTF) ได้ออกคำแนะนำใหม่ว่าผู้หญิงหมดประจำเดือน "ไม่ควร" กินแคลเซียมเป็นเม็ดเสริมเพื่อป้องกันกระดูกหัก เพราะการทบทวนหลักฐานใหม่ๆแล้วสรุปได้ผลชัดว่าการกินแคลเซียมเป็นเม็ดเสริมไม่ได้ป้องกันการเกิดกระดูกหักแต่อย่างใด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Curhan, G.C. et al., "A Prospective Study of Dietary Calcium and Other Nutrients and the Risk of Symptomatic Kidney Stones," New England Journal of Medicine, 328:833838, 1993.
2. Sakhaee, K. et al., "Limited Risk of Kidney Stone Formation During Long-Term Calcium Citrate Supplementation in Nonstone Forming Subjects," Journal of Urology, 152:324-327, 1994.
3. Burtis, William J. et al., "Dietary Hypercalciuria inn Patients with Calcium Oxalate Kidney Stones," American Journal of Clinical Nutrition, 60:424-429, 1994.
4. Massey, L.K., and S.J. Whiting, "Dietary Salt, Urinary Calcium, and Kidney Stone Risk," Nutrition Reviews, 53:131-139, 1995.
5. Massey, Linda K., et al., "Effect of Dietary Oxalate and Calcium on Urinary Oxalate and Risk of Formation of Calcium Oxalate Kidney Stones, " Journal of the American Dietetic Association, 93:901-906, 1993.
6. Shuster, J. et al., "Soft Drink Consumption and Urinary Stone Recurrence: A Randomized Prevention Trial," Journal of Clinical Epidemiology, 45-911-916, 1992.
7. Jaeger, P. et al., "Low Bone Mass in Idiopathic Renal Stone Formers: Magnitude and Significance," Journal of Bone and Mineral Research, 9:1525, 1994.
8. "Optimal Calcium Intake," NIH Consensus Development Panel on Optimal Calcium Intake, Journal of the American Medical Association, 272:1942-1948, 1994.
9. Curhan, G.C., et al., "Comparison of Dietary Calcium with Supplemental Calcium and Other Nutrients as Factors Affecting the Risk for Kidney Stones in Women," Annals of Internal Medicine, 126:497-504, 1997.
10.  Moyer VA; on behalf of the U.S. Preventive Services Task Force*.Vitamin D and Calcium Supplementation to Prevent Fractures in Adults: U.S. Preventive Services Task Force Recommendation Statement. Ann Intern Med. 2013;[Epub ahead of print].
[อ่านต่อ...]

ชอบรองเท้าส้นสูงมาก มีผลเสียต่อสุขภาพมากไหม

เป็นคนรูปร่างไม่สูง (155 ซม.) ต้องใส่รองเท้าส้นสูงมากๆจึงจะมีความมั่นใจ แต่ก็มีคนทักว่าใส่รองเท้าส้นสูงแล้วจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อยากถามว่าผลของการใช้รองเท้าส้นสูงต่อสุขภาพมีมากเพียงใด

นุช

ตอบครับ

ยังไม่เคยมีรายงานการสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบนะครับ ว่าระหว่างคนใส่ส้นสูงกับคนไม่ใส่ สุขภาพของเท้า เข่า และหลังใครจะดีไม่ดีกว่ากันอย่างไร เข้าใจว่าคงไม่มีผู้หญิงยอมให้สุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่มไม่ให้ใส่ส้นสูงนะครับ งานวิจัยนี้จึงไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม วงการแพทย์มีการคาดเดาจากหลักท่าร่างกลไกการทำงานของกระดูกและกล้ามเนื้อ ว่าการใส่รองเท้าส้นสูงน่าจะมีผลเสีย เท่าที่ตีพิมพ์ไว้ในวารสารการแพทย์ที่ผมพอรวบรวมได้มีดังนี้

1. การสวมรองเท้าส้นสูงต้องอยู่ในท่าเหยียดฝ่าเท้า (plantarflex) ตลอดเวลา ทำให้น้ำหนักไปตกหน้กอยู่ที่ฝ่าเท้าส่วนหน้า ร่างกายต้องปรับไปใช้ท่าแบบย่องเบา โดยโดยแอ่นพุงไปข้างหน้าและหงายหลังส่วนบนมากขึ้นเพื่อรักษาดุล ซึ่งไม่ใช่ท่าร่างตามปกติ ถ้าต้องอยู่ในท่าแบบนี้เป็นประจำก็ทำให้ปวดหลังได้

2. เวลาเดินด้วยรองเท้าส้นสูง เท้าหลังจะออกแรงถีบตัวได้น้อย ทำให้กล้ามเนื้อเข่าต้องทำหน้าที่แทนมากขึ้น นอกจากนี้เวลาเดินต้องเดินเหมือนกับเดินกายกรรมบนขอนไม้ ข้อเท้าถูกบีบให้อยู่ในท่าแบะออก (supinate) กระดูกหน้าแข้ง (tibia) จะหมุนบิดเข้าใน (varus) ทำให้มีแรงกดที่ด้านในของผิวข้อเข่าซึ่งเป็นจุดเกิดเข่าอักเสบ (OA) ง่าย นอกจากนี้รองเท้าส้นสูงยังเพิ่มระยะระหว่างหัวเข่ากับพื้น ทำให้เกิดแรงกระทำ (torque) ที่หัวเข่ามากขึ้น จึงน่าจะทำให้เข่าเสื่อมเร็วได้

3. การอยู่ในท่าเขย่งเท้านานๆทำให้กล้ามเนื้อน่อง (gastrocnemius) และเอ็นร้อยหวาย (achilles tendon) หดสั้น ทำให้เกิดแรงดึงของเอ็นร้อยหวายต่อกระดูกส้นเท้า (cacaneus) น่าจะเป็นต้นเหตุนำไปสู่ภาวะเอ็นอักเสบเรื้อรัง (insertional Achilles tendinitis)

4. การเดินแบบเขย่งทำให้น้ำหนักย้ายไปกดที่ฝ่าเท้าส่วนหน้า ยิ่งส้นสูง ยิ่งกดมาก ถ้าส้นสูง 3 ¼ นิ้ว แรงกดจะเพิ่มขึ้น 76% ทำเกิดตาปลา (bunion) ขึ้นที่ฝ่าเท้าส่วนหน้าและหัวแม่เท้า ทำให้เจ็บ

5. รูปทรงของรองเท้าที่บีบปลายทำให้นิ้วเท้าเบียดซ้อนกัน มีการบาดเจ็บของผิวหนังเป็นตุ่มน้ำพองหรือเป็นไตแข็งได้ง่ายเมื่อใช้รองเท้าไปนานเข้าหรือเมื่ออายุมากขึ้น

ดังนั้น ถ้ามองว่าคนเราควรการถนอมรักษาการใช้งานอวัยวะร่างกายให้อยู่ในท่าใกล้เคียงปกติให้มากที่สุด ก็แนะนำว่าควรสวมรองเท้าส้นสูงเฉพาะเวลาจำเป็น และเมื่อสวมก็ไม่ควรสวมรองเท้าที่ส้นสูงเกินไป เช่นส้นสูงประมาณ 1 ½ นิ้วก็น่าจะถือว่าโอเค.แล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Ebbeling CJ, Hamill J, Crussemeyer JA. Lower extremity mechanics and energy cost of walking in high-heeled shoes. J Orthop Sports Phys Ther. 1994 Apr;19(4):190-6.
2. Esenyel M, Walsh K, Walden JG, Gitter A. Kinetics of high-heeled gait. J Am Podiatr Med Assoc. 2003 Jan-Feb;93(1):27-32.
3. Kerrigan DC, Johansson JL, Bryant MG, Boxer JA, Della Croce U, Riley PO. Moderate-heeled shoes and knee joint torques relevant to the development and progression of knee osteoarthritis. Arch Phys Med Rehabil. 2005 May;86(5):871-5.
4. Kerrigan DC, Todd MK, Riley PO. Knee osteoarthritis and high-heeled shoes. Lancet. 1998 May 9;351(9113):1399-401.
5. Opila KA, Wagner SS, Schiowitz S, Chen J. Postural alignment in barefoot and high-heeled stance. Spine. 1988 May;13(5):542-7.
[อ่านต่อ...]