25 กุมภาพันธ์ 2554

สาวผอมแห้งแรงน้อย และสาระพัดอาการ

อายุ 23 ปีค่ะ น้ำหนัก 44.5 สูง 164
กิจวัตรประจำวันจะตื่นเช้าประมาณ06.30น. หรือไม่ก็ไม่เกิน09.00น. ก็ทำกิจวัตรส่วนตัวเสร็จก็เข้าไปเรียนตามปกติ จะไม่ได้ออกกำลังกายเลย และเป็นคนดื่มน้ำน้อยมาก ต่อวันไม่เกิน 1 ลิตรความดันต่ำเกือบจะตลอดทุกครั้งที่ตรวจ ตัวเหลือง มีหมอเคยบอกว่าเหมือนจะมีภาวะซีด จะเป็นเหน็บชาบ่อยบิเวณปลายนิ้วมือและช่วงขาท่อนบน จะอุจจาระหนาว ช่วงที่อากาศหนาวก็จะมีอาการอีกอย่างหนึ่งคือปวดขามากมากปวดแบบเข้าไปถึงกระดูกอาการนี้เป็นมาตั้งแต่เด็กแล้วบางครั้งปวดจนร้องไห้ ต้องบีบนวดสักพักจึงจะทุเลาอาการปวดไปได้สักครู่ จะปวดทั้ง2ข้างทั้งขาช่วงล่างและชวงบน ท้องผูกบ่อยก็เป็นมาตั้งแต่เด็กแล้วตอนบางครั้งไม่ถ่ายมา5-7วันจนปวดมวนท้องแล้วก็ทนไม่ไหวก็จะเป็นลมหมดสติไปพ่อกับแม่ต้องช่วยกันดูแลตลอดเวลาปวดท้อง เพราะเป็นบ่อยก็ต้องสวน บีบนวด และให้กินยาหอม พอถ่ายอาการก็ดีขึ้น
โรคประจำตัวเท่าที่ทราบ( เป็นโรคกระเพาะ ภูมิแพ้ ไซนัส ไมเกรน )
พอตื่นปุ๊ปจะหิวต้องรีบหาอะไรกินไม่งั้นจะรู้สึกแสบท้องมากแสบมาถึงต้นคอ ยิ่งช่วงนี้บางครั้งมีอาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลมสั่นเล็กน้อยต้องรีบหาอะไรกินทันที ผิดเวลานิดเดียวก็หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม แต่บางครั้งหลังจากกินอาหารตามปกติแล้วก็ยังมีอาการหน้ามืดจะเป็นลมอยู่บ่อยๆวันนึงก็มีอาการหลายครั้ง เหนื่อยง่าย ไม่ค่อยมีแรง จะกินได้น้อยเพราะรู้สึกเบื่ออาหารกินนิดเดียวก็อิ่มแล้ว (เป็นมาหลายเดือนแล้ว) และน้ำหนักตัวจากเมื่อก่อน 49 ก็ลดลงมาเรื่อยๆ ถึง44.5 (ตอนนี้) ที่ว่าน้ำหนักลดเป็นมาประมาณ 2 ปีแล้ว ส่วนอาหารที่กินในแต่ละวันก็จะมีผลไม้เกือบทุกวันแต่วันละ1อย่าง (ไม่เยอะ5-6ชิ้น) และก็นมไวตามิ้ลค์ จะดื่มบ่อยเกือบทุกวัน ผักกินในปริมาณน้อย พวกขนมไม่ค่อยจะได้กิน จะนอนหลัง 5ทุ่มเป็นส่วนใหญ่และจะนอนไม่ค่อยหลับ บางคืนก็ครึ่งหลับครึ่งตื่น เป็นมา 2 เดือนแล้วไม่เคยใช้ยานอนหลับ
ยาที่ใช้อยู่บ่อยๆจะเป็นยาแก้แพ้อากาศเม็ดเล็กสีขาวรี ยาภูมิแพ้เม็ดเล็กสีเหลือง ยาอะม็อกซิ
ส่วนเรื่องประจำเดือนจะมานาน7 วัน ที่มามากมากก็4-5วัน เปลี่ยนวันละประมาณ 4 ครั้ง เป็นลิ่มด้วย
ตรวจสุขภาพครั้งล่าสุดประมาณต้นเดือนตุลาปี53 (ด้วยตอนนั้นมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ค่อยออก หายใจลำบากเหมือนมีอะไรหนักๆมาทับที่อกเวลาจะหายใจต้องถอนหายใจอยู่บ่อยๆเพื่อให้หายใจได้เต็มที่ บวกกับอาการสั่นตอนหิว และตอนตื่นนอนตอนเช้ามือขาอ่อนแรงไม่มีแรงแม้แต่จะกำมือ)
เพิ่มเติม ไม่รู้ว่าจะเกี่ยวข้องกันด้วยรึปล่าวนะค่ะแม่หนูมีโรคประจำตัวคือ ไทรอย ภูมิแพ้ ไวรัสตับอักเสบบี

………………………

ตอบครับ

ผมขออนุญาตทำลำดับปัญหาของคุณในเชิงการแพทย์ (problems list) ก่อนนะ ปัญหาของคุณเรียงตามลำดับความสำคัญก่อนหลังมีประมาณนี้

1. น้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ (ดัชนีมวลกาย 16.5 ซึ่งปกติอย่างน้อยควรได้ 18.5 หรือน้ำหนัก 50 กก.)

2. น้ำหนักลดโดยยังไม่ทราบสาเหตุ

3. โลหิตจาง (ยังไม่ทราบว่าจากขาดธาตุเหล็กหรือเป็นทาลาสซีเมีย)

4. อาจเป็นตับอักเสบบี.ระยะ immune tolerance phase (จากประวัติที่แม่เป็นโรคนี้)

5. อาจมีภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ (จากประวัตินอนไม่หลับ น้ำหนักลด หิวง่าย)

ผมแนะนำให้คุณทำดังนี้

ขั้นที่ 1. คุณต้องกลับไปพบแพทย์ก่อน คราวนี้จะต้องมีการประเมินข้อมูลต่อไปนี้ให้ได้คำตอบชัดเจน

1. ตรวจ CBC ใหม่ ว่ามีโลหิตจางจริงหรือไม่ ถ้ามีจริง ขนาดและรูปร่างเม็ดเลือดแดงผิดปกติไหม ถ้าผิดปกติก็ต้องตรวจลึกลงไปถึงการวิเคราะห์ฮีโมโกลบินและการตรวจยีนทาลาสซีเมียเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นทาลาสซีเมียแฝงแบบใดแบบหนึ่งหรือเปล่า ต้องตอบคำถามนี้ให้ได้ก่อนจึงจะรักษาได้ เพราะถ้าเป็นทาลาสซีเมียจะใช้เหล็กทดแทนไม่ได้

2. ตรวจสถานะการติดเชื้อและภูมิคุ้มกันโรคไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg, HBsAb) และตรวจการทำงานของตับ (SGPT) เพื่อพิสูจน์ว่ารับเชื้อมาจากแม่หรือไม่ ถ้ารับมา โรคกำลังอยู่ในระยะไหน มีการอักเสบของเซลตับแล้วหรือยัง) เพราะโรคนี้ ถ้าอยู่คนละระยะ การรักษาไม่เหมือนกัน

3. ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ อย่างน้อยก็ต้องตรวจ TSH และ FT4 เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นไฮเปอร์ไทรอยด์หรือไม่ ถ้าเป็นก็จะต้องใช้ยาต้านไทรอยด์ร่วมรักษา

4. ต้องตรวจเอ็กซเรย์ปอดเพื่อวินิจฉัยแยกวัณโรคซึ่งอาจเป็นสาเหตุของน้ำหนักลดได้


เมื่อคุณไปหาหมอ คุณต้องจดประเด็นทั้ง 4 นี้ไปด้วย ถามหมอจนได้คำตอบที่มีหลักฐานประกอบจนมั่นใจทุกประเด็น จึงจะเลิกรา

ขั้นที่ 2. คุณต้องปรับปรุงโภชนาการของคุณใหม่ โดยมีเป้าหมายเพิ่มน้ำหนักขึ้นให้ถึง 50 กก.ในเวลา 6 เดือน สาระหลักของโภชนาการเพื่อแก้ไขภาวะขาดอาหารมันมีรายละเอียดปลีกย่อยมาก คุณหาอ่านเอาเอง ผมจะเน้นเฉพาะประเด็นสำคัญสามประเด็น

(1) กินสารอาหาร (nutrient) ให้พอ ซึ่งจะได้จากผักผลไม้ ต้องกินผลไม้หั่นวันละสามจาน ผักวันละสองจาน

(2) กินโปรตีนเข้าไปให้พอ ประมาณวันละอย่างน้อย 50 กรัม หมายถึง 50 กรัมของโปรตีน ไม่ใช่กรัมของเนื้อนมไข่ ยกตัวอย่างคุณกินเนื้อหมู 100 กรัม (สะเต๊กชิ้นโตหนึ่งชิ้น)คุณจะได้โปรตีน 20% คือ 20 กรัมเท่านั้นเอง หรือถ้าคุณกินไข่ใบโตหนึ่งฟอง (70 กรัม) คุณจะได้โปรตีน 10% คือ 7 กรัมเท่านั้นเอง คุณดื่มนม 1 แก้ว (250 ซีซี.) คุณจะได้โปรตีนประมาณ 3.3% คือ 8.2 กรัมเท่านั้นเอง ดังนั้นวันหนึ่งถ้าคุณอยากได้โปรตีน 50 กรัมคุณต้องกินกินสเต๊กชิ้นโตหนึ่งชิ้น ไข่สองฟอง นม 2 แก้ว ประมาณนี้

(3) ต้องออกกำลังกายจริงจัง เพื่อให้กลไกการเผาผลาญอาหารของร่างกายกลับมาเป็นปกติ คือต้องออกกำลังกายให้ได้ระดับมาตรฐาน หมายถึงออกกำลังกายแบบต่อเนื่องจนหนักพอควร (คือเหนื่อยแฮ่กๆร้องเพลงไมได้) นาน 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้ง และเล่นกล้ามอีกสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นอย่างน้อย

คุณเอาทั้งสองขั้นตอนนี้ไปทำก่อนสักสามเดือน มีปัญหาค่อยเขียนมาอีกที แต่ถ้าคุณไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่ต้องเขียนมาก็ได้ครับ


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

24 กุมภาพันธ์ 2554

อดนอนมากตายได้ครับ

จากการที่หนูเคยปรึกษาเกี่ยวกับเม็ดเลือดขาวสูง ก็คงไม่เกี่ยวข้องอะไรกับร่างกายที่มีอาการปวดกระดูก อย่างที่คุณหมอแนะนำคือออกกำลังกาย เนื่องจากว่าหนูทำงานตอนกลางคืนติดต่อกันมา 5 เดือนแล้ว เดือนหนึ่งหยุดแค่ 2 วัน ทำงาน 2 ทุ่ม เลิก8 โมงเช้า ทุกวัน ก็เลยไม่มีเวลาออกกำลังกายเลย หนูคิดว่าอายุหนูยังน้อย ยังสู้ไหวอยู่ แต่ระยะหลังมานี่ รู้สึกปวดกระดูก ก็ไปหาหมอมาเหมือนกันแต่ไม่ได้บอกรายระเอียดว่า เข้างานตอนกลางคืนมา 5 เดือนแล้ว มันเป็นผลกระทบหรือเปล่า เนื่องจากออกกะมา วันหนึ่งนอนแค่ 5 ชั่วโมง 2เดือนแรกก็ไม่เห็นเป็นอะไรเลย พอเข้าเดือนที่3 มานี่รู้สึกว่า นอน 6 ชั่วโมงก็ไม่พอ ตื่นขึ้นมาก็รู้สึกว่าเหมือนไม่มีแรง มันเหนื่อยล้าทั้งตัว แทบเดินไม่ไหว หน้าตาซีดมาก จนตาขาวข้างในกลายเป็นสีเหลืองเลยค่ะ แต่ก็มีคนในบริษัทแนะนำให้ไปเติมน้ำเกลือที่โรงพยาบาลดู เพราะรู้สึกว่าหนูจะแย่แล้ว เพราะตัวหนูโทรมมากน้ำหนักก็ลดด้วย อยากทราบว่าในกรณีแบบนี้ทางโรงพยาบาลจะเติมน้ำเกลือให้ได้ เหมือนพวกพี่เค้าแนะนำได้หรือเปล่าค่ะ

…………………………….

ตอบครับ

1. ปวดกระดูก เหนื่อยล้าทั้งตัว เกี่ยวกับอดนอนไหม ตอบว่าเกี่ยวสิครับ การขาดการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ทำให้เกิดอาการได้ทุกชนิด ทั้งอาการทางร่างกายและจิตใจ ทำให้ตายแบบปุบปับก็ยังได้เลยนะ

2. คนในบริษัทแนะนำให้ไปเติมน้ำเกลือรักษาอ่อนเพลียจากการอดนอน แหม เพื่อนที่บริษัทเนี่ยช่างแสน ..น จะหวังดีนะ สาธุ ความเป็นจริงก็คือน้ำเกลือใช้รักษาอาการอ่อนเพลียที่เกิดจากการอดนอนไม่ได้ ไม่เกี่ยวกันเลย เหมือนเขาบอกคุณว่าให้ใส่เสื้อแดงจะป้องกันฟ้าผ่าได้ คุณจะเชื่อเขาแมะ มันเกี่ยวกันไหมละ

ผมไม่ว่าคุณนะ ที่คุณตั้งอกตั้งใจโทรมตัวเองได้ขนาดนี้ ไม่ต่อว่าด้วยว่าคุณงกเงิน เพราะมีคนไข้ของผม และคนที่ผมรู้จักอีกมาก ที่เป็นอย่างคุณ ทั้งๆที่เป็นคนมีการศึกษาดี มีเงินมีทองใช้เหลือเฟือ แต่เขาก็ยังทำตัวแบบคุณเด๊ะ คือไม่เห็นความสำคัญของการให้ร่างกายได้พักผ่อนเต็มที่ แแถมดูจะภาคภูมิใจเหลือเกินกับการได้ทำงานหนักแบกสี่จ๊อบห้าจ๊อบเพื่อให้ตัวเองป่วยเร็วขึ้น แต่ผมอยากติงคุณนิดหนึ่งว่าคนเราจะมีความสุข มีองค์ประกอบไม่มากเลย คือแค่มีสุขภาพร่างกายที่ดี และมีจิตใจที่ตั้งมั่นและผ่อนคลาย แค่เนี้ยะ ก็มีความสุขได้เต็มแม็กแล้ว การจะบรรลุการมีสุขภาพกายดีและสุขภาพใจดีนี้ ก็มีหลักไม่ยากเลย เพียงแค่คุณทำสี่ห้าอย่างนี้ คือ

1. ออกกำลังกายให้หนักจนได้เหงื่อหรือจนหอบเหนื่อยทุกวัน
2. ดูแลโภชนาการของตัวเองให้ดี อย่ากินมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่ากินแคลอรี่ที่มาพร้อมกันไขมันและน้ำตาลที่มาพร้อมกับเครื่องดื่มมากเกินไป ขณะเดียวกันก็กินผักและผลไม้ให้มากๆ ผลไม้สามจานผักสองจานต่อวัน เป็นผักที่ไม่ใช่ผัดหรือทอดด้วยนะ คือเป็นผักสดหรือต้มนึ่งย่าง
3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วันหนึ่งควรมีเวลานอนอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง คนทำงานเป็นกะอาจจะต้องนอนถึง 9 – 10 ชั่วโมงต่อวัน เพราะคุณภาพการนอนเวลากลางวันมันไม่เท่าการนอนกลางคืน นอกจากเวลานอนที่พอเพียงแล้ว ยังต้องมีเวลาผ่อนคลายจิตใจให้ใจได้สงบๆสบายๆพอควรอีกด้วยบ้าง
4. ประเมินปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพตนเองเป็นระยะ จะประเมินเองหรือไปหาหมอสักปีละครั้งก็ได้ การประเมินเองก็ไม่ยาก เช่นเรื่องการออกกำลังกายเราทำได้พอหรือยัง อาหารถูกต้องหรือยัง นอนพอหรือยัง เป็นต้น ถ้าไปหาหมอๆอาจประเมินลึกซึ้งอีกหน่อย เช่นดัชนีมวลกายเกินไปหรือเปล่า ความดันเลือดโอเค.ไหม ไขมันในเลือด น้ำตาลในเลือดเป็นอย่างไร เป็นต้น ประเมินแล้ว รู้ว่าเรายังมีความเสี่ยงสุขภาพในเรื่องไหนแล้ว ก็ลงมือจัดการความเสี่ยงนั้นเสีย
5. ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่ป้องกันได้ให้ครบถ้วน เพราะมีหลายโรคที่คนเราต้องมาป่วยมาทรมานทั้งๆมันป้องกันได้ด้วยวัคซีน

ถ้าคุณทำห้าอย่างนี้ได้ ชีวิตก็มีความสุขได้แล้ว ไม่ต้องมีเงินก็ยังได้ เพราะมีงานวิจัยทางการสังคมหลายชิ้นที่ให้ผลตรงกันว่าเงินไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะทำให้เรามีความสุข คุณอาจไม่เชื่อผมก็ได้ ชีวิตคุณ คุณเลือกทางเดินเองครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

ตั้งครรภ์กับดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) การคัดกรอง การวินิจฉัย

ถามเรื่องการคัดกรอง Down Syndrome ค่ะ ถ้าผล ultrasound ความหนาต้นคอเด็กออกมาปกติ แต่ผลเลือดออกมาเป็นผลบวก จำเป็นต้องเจาะตรวจน้ำคร่ำยืนยันผลต่อหรือไม่ หรือมีวิธีใดที่สามารถช่วยในการวินิจฉัยว่าเด็กผิดปกติหรือไม่ ขอบคุณค่ะ ประวัติเพิ่มเติม ในครอบครัวไม่เคยมีประวัติผิดปกติเกี่ยวกับเรื่องนี้ อายุคุณแม่ตอนนี้ประมาณ 34 ปีค่ะ

…………………….

ตอบครับ

ก่อนตอบคำถาม ขอร่ายยาวเรื่องการคัดกรองและวินิจฉัยโรคดาวน์ซินโดรมในหญิงมีครรภ์ก่อนนะครับ

ประเด็นที่ 1. มันมีการตรวจสองแบบนะครับ คือการตรวจคัดกรอง กับการตรวจวินิจฉัย ที่ต้องมีการตรวจคัดกรองก่อนก็เพราะการตรวจคัดกรองคือทำอุลตร้าซาวด์กับเจาะเลือดมันไม่เสี่ยงที่จะแท้ง จะได้คัดคนที่น่าจะมีทารกเป็นโรคสูงไปตรวจวินิจฉัย ซึ่งต้องตัดรกหรือเจาะน้ำคร่ำและมีความเสี่ยงที่จะแท้ง ไม่จำเป็นก็ไม่มีใครอยากทำ

ประเด็นที่ 2. การตรวจคัดกรอง (ว่ามีโอกาสเป็นมากหรือไม่มาก) มีสองแบบ ดังนี้

1. ทำอุลตร้าซาวด์เพื่อดูความหนาท้ายทอย (nuchal pad) ของทารก หรือเพื่อดูความใสของเนื้อเยื่อท้ายทอย (nuchal translucency – NT) ซึ่งทำเมื่ออายุครรภ์ได้ 11 สปด. และ13 ปสด. + 6 วัน หากผลตรวจยิ่งพบว่าท้ายทอยมีความใสมาก แสดงว่ายิ่งมีโอกาสเกิดหัวใจล้มเหลวที่สัมพันธ์กับดาวน์ซินโดรมมาก

2. เจาะเลือดมาตรวจหาสารชี้บ่งดาวน์ซินโดรม ได้แก่

2.1 Pregnancy associated plasma protein A (PAPP-A) ซึ่งผลิตจากรก ถ้าเป็นดาวน์ซินโดรม จะผลิต PAPP-A ได้ต่ำกว่าปกติ

2.2 Beta human chorionic gonadotrophin (beta hCG) ซึ่งผลิตจากรกเช่นกัน ถ้าเป็นดาวน์ซินโดรม จะผลิต beta hCG ได้สูงกว่าปกติ

2.3 Alpha fetoprotein (AFP) ซึ่งผลิตจากถุงไข่แดงของตัวอ่อนและตับ ถ้าเป็นดาวน์ซินโดรม จะผลิต AFP ได้ต่ำกว่าปกติ

2.4 Unconjugated estriol (uE3) ซึ่งผลิตจากรกและต่อมหมวกไตของตัวอ่อน ถ้าเป็นดาวน์ซินโดรม จะผลิต uE3 ได้ต่ำกว่าปกติ

2.5 Inhibin-A ซึ่งผลิตจากรก ถ้าเป็นดาวน์ซินโดรม จะผลิตได้มากกว่าปกติ .

ประเด็นที่ 3. ชื่อเรียกที่หมอใช้พูดกับคุณเป็นภาษาอังกฤษ ฟังดูเหมือนสับสนมากมาย แต่จริงๆแล้วแยกแยะได้ง่ายๆ ดังนี้

1. Combined test หมายถึงการตรวจอุลตราซาวด์ควบกับการเจาะเลือดดู beta hCG + PAPP-A ขณะตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก

2. Double test หมายถึงการเจาะเลือดตรวจสองตัวคือ E3 + beta hCG

3. Triple test หมายถึงการเจาะเลือดตรวจ E3 + beta hCG + AFP ซึ่งเป็นการตรวจที่ให้ผลคุ้มค่าเงินที่สุด

4. Quadruple test หมายถึงการเจาะเลือดตรวจ E3 + beta hCG + AFP + inhibin-A

5. Integrated test หมายถึงการเจาะเลือดตรวจ E3 + beta hCG + AFP + inhibin-A + PAPP-A ซึ่งเป็นวิธีตรวจที่ผลวิจัยบอกว่าให้ความแม่นยำสูงสุด แม้ว่าจะแพงไปและยุ่งยากไปหน่อยตรงที่ต้องมาตรวจหลายหน

ประเด็นที่ 4. ในการเจาะเลือดหาสารชี้บ่งดาวน์ซินโดรมนี้ มีปัจจัยกวนที่จะทำให้ได้ค่าผิดปกติไปเหมือนกัน ได้แก่ แม่น้ำหนักมาก เชื้อชาติของแม่ การตั้งครรภ์แฝด การรักษาภาวะมีบุตรยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใช้ไข่บริจาคที่มาจากผู้มีอายุมาก การมีเลือดออก การเคยตั้งครรภ์มาก่อน การสูบบุหรี่ การเป็นเบาหวาน และอายุครรภ์มาก

ประเด็นที่ 5. การแปลผลการตรวจคัดกรอง ใช้วิธีเอาผลทั้งหมดมาให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์คำนวณความเสี่ยงโดยใส่ปัจจัยอื่นๆเช่นอายุของแม่ เข้าไปด้วย คอมพิวเตอร์จะรายงานตัวเลขออกมาเป็นโอกาสที่จะมีลูกเป็นดาวน์ซินโดรม ซึ่งจะถือว่าผลตรวจคัดกรองเป็นบวก เมื่อโอกาสจะมีลูกเป็นดาวน์ซินโดรมมากกว่า 1 ใน 250 ตรงนี้ถือเป็นจุดตัดที่ควรไปทำการตรวจวินิจฉัยด้วยการตัดตัวอย่างรกหรือเจาะดูดน้ำคร่ำต่อไป

ประเด็นที่ 6. การตรวจวินิจฉัย โรคนี้ (ว่าเป็นโรคนี้แน่หรือไม่เป็น) ทำได้สองวิธี

1. ตัดตัวอย่างรก (chorionic villus sampling) ถ้าอายุครรภ์ต่ำกว่า 13 สปด. ซึ่งมีความเสี่ยงแท้ง 1-2%

2. เจาะน้ำคร่ำมาตรวจ (amniocentesis) ถ้าอายุครรภ์มากกว่า 15 สัปดาห์ ซึ่งมีความเสี่ยงแท้ง 0.5-1%
ในกรณีที่ตรวจวินิจฉัยแล้วได้ผลว่าเป็นดาวน์ซินโดรมก็จะได้รับการเสนอให้เลือกว่าจะทำแท้งหรือจะตั้งครรภ์ต่อ

ประเด็นที่ 7. เราสามารถประเมินความเสี่ยงได้อีกทางหนึ่งจากการดูอายุครรภ์ของแม่กับสถิติของการมีความเสี่ยงได้ลูกเป็นดาวซินโดรม ดังนี้

ถ้าอายุแม่ 20 ปี มีความเสี่ยง 1 ใน 1,500
ถ้าอายุแม่ 30 ปี มีความเสี่ยง 1 ใน 800
ถ้าอายุแม่ 35 ปี มีความเสี่ยง 1 ใน 270
ถ้าอายุแม่ 40 ปี มีความเสี่ยง 1 ใน 100
ถ้าอายุแม่ 45 ปี มีความเสี่ยง 1 ใน 50

เอาละคราวนี้มาตอบคำถามของคุณ คุณตรวจอุลตร้าซาวด์ได้ผลปกติ แต่เจาะเลือด (ไม่ทราบเจาะแบบไหน แต่ผมเดาว่าเจาะแบบ triple test) แล้วรายงานว่าได้ผลบวก คำว่าได้ผลบวกนี้หมายความว่าซอฟท์แวร์ประมวลผลได้เอาปัจจัยเสี่ยงต่างๆของตัวคุณ รวมทั้งผลอุลตร้าซาวด์ว่า NT ปกติไปคลุกเคล้าคำนวณแล้ว สรุปออกมาว่าคุณมีความเสี่ยงสูงกว่า 1 ใน 250 (ซึ่งเป็นระดับความเสี่ยงที่วงการแพทย์ใช้เป็นจุดตัดบอกว่าบวกหรือลบ) ก็แสดงว่าคุณมีโอกาสเป็นโรคมากจนคุ้มที่จะไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง fetomaternal medicine เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีเจาะน้ำคร่ำมาตรวจต่อไปนะครับ

ยิ่งมองจากมุมอายุ คุณอายุ 34 ปีแล้ว ซึ่งความเสี่ยงที่จะเป็นโรคก็ใกล้ๆ 1 ใน 270 ซึ่งนับว่าเสี่ยงสูงไม่เบาเป็นทุนอยู่แล้ว ผมก็ยิ่งเชียร์ให้คุณไปปรึกษาแพทย์ fetomaternal med เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยมากขึ้น ครับผม

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Sepulveda W, Wong AE, Dezerega V; First-trimester ultrasonographic screening for trisomy 21 using fetal nuchal translucency and nasal bone. Obstet Gynecol. 2007 May;109(5):1040-5. [abstract]
2. Antenatal care: routine care for the healthy pregnant woman, NICE Clinical Guideline (March 2008)
3. Wald NJ, Rodeck C, Hackshaw AK, et al; First and second trimester antenatal screening for Down's syndrome: the results of the Serum, Urine and Ultrasound Screening Study (SURUSS). Health Technol Assess. 2003;7(11):1-77.
[อ่านต่อ...]

18 กุมภาพันธ์ 2554

การฝากครรภ์จำเป็นต้องตรวจอะไรบ้าง

เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ
ดิฉันติดตามอ่านการตอบคำถามคุณหมอมาตลอด คุณหมอให้ความรู้ดีมาก ตัวเองกำลังจะไปฝากครรภ์ เห็นโปรแกรมคลอดเหมาจ่ายของแต่ละโรงพยาบาลต่างลดราคาสู้กันน่าดู เมื่อดูรายการข้างในก็ไม่เท่ากัน การฝากครรภ์นี้ไม่มีมาตรฐานหรือคะว่าต้องตรวจอะไรบ้าง และโปรแกรมที่ราคาถูกๆนั้น ได้มาตรฐานหรือเปล่าคะ

จรี

……………………………..

ตอบครับ

มาตรฐานการฝากครรภ์นั้นมีอยู่แน่นอนครับ แต่ว่ามันมีหลายมาตรฐาน ตั้งแต่มาตรฐานระดับ “จปฐ.” หมายถึงจำเป็นพื้นฐาน ซึ่งประกอบด้วยการตรวจร่างกายโดยแพทย์ ชั่งน้ำหนัก วัดความดัน ตรวจครรภ์ ตรวจปัสสาวะ เจาะเลือดเพื่อตรวจหาหมู่เลือด ABC และ Rh หาระดับน้ำตาลในเลือด (FBS) และดูการติดเชื้อซิฟิลิส (VDRL) ดูการติดเชื้อเอดส์ (HIV) และดูการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี. (HBsAg) ถ้าทำตามนี้ครบก็เรียกว่าได้มาตรฐาน จปฐ.

ถามว่าทำแค่นี้พอไหม แหะ..แหะ.. คนจ่ายสะตังค์หลักให้กับระบบสามสิบบาทและประกันสังคมเขาก็ว่าแค่นี้พอแล้ว แต่มาตรฐานการฝากครรภ์สากลในปัจจุบัน ไม่ว่าจะของทางยุโรปหรืออเมริกา เขาก็จะคุยกับผู้ป่วยถึงประโยชน์และความเสี่ยงของการตรวจอีกหลายอย่างเพื่อให้เจ้าตัวตัดสินใจว่าจะทำการตรวจเพิ่มเติมต่อไปนี้หรือไม่ ได้แก่

1. การตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ โดยเจาะเลือดดูฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (TSH) และฮอร์โมนไทรอยด์ (FT4) เพื่อให้แน่ใจว่าไม่เป็นโรคไฮโปไทรอยด์ระยะไม่มีอาการ ซึ่งจะทำให้ได้ลูกที่เป็นคนสึ่งตึง หรือคนง่าวคนเอ๋อได้ ถ้าไม่ป้องกันตรงนี้เราก็จะมีคนง่าวเกิดมาแยะ รวมทั้งคนง่าวประเภท “ท่านประธานที่เคารพ ผมไม่เคารพท่านประธาน” (ขอโทษ... ผมนอกเรื่องและปากเสียอีกละ)

2. การตรวจคัดกรองโรคทาลาสซีเมียอย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผลการตรวจนับเม็ดเลือด (CBC) รายงานว่ามีเม็ดเลือดแดงขนาดเล็กกว่าปกติ (ค่า MCV ต่ำกว่าปกติ) ทั้งการตรวจวิเคราะห์ชนิดฮีโมโกลบินเพื่อหาโรคทาลาสซีเมียเบต้า และการวิเคราะห์ยีนเพื่อหาทาลาสซีเมียอัลฟ่า เพื่อให้แน่ใจก่อนว่าลูกที่จะออกมาจะไม่เป็นโรคทาลาสซีเมียระดับรุนแรง

3. การตรวจสถานะภูมิคุ้มกันโรคหัดเยอรมัน เพื่อเฝ้าระวังและวินิจฉัยการติดเชื้อหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ ซึ่งหาดเกิดขึ้นจะเป็นปัญหารุนแรงถึงขึ้นต้องตัดสินใจทำแท้ง

4. การตรวจคัดกรองโรคดาวน์ซินโดรมในขณะอายุครรภ์ระหว่าง 11-13 สปด. ในรูปแบบของ combination test หรือตรวจควบสามอย่าง คือ (1) ใช้อุลตร้าซาวด์ตรวจปริมาณของเหลวที่ท้ายทอยทารก (nuchal translucency) (2) ตรวจเลือดหา beta-HCG (3) เจาะเลือดหาโปรตีนชื่อ PAPPA (pregnancy associated plasma protein A)

5. การตรวจคัดกรองความผิดปกติของทารกด้วยอุลตร้าซาวด์เมื่ออายุครรภ์ 18-20 สปด.

6. การตรวจหาบักเตรีในปัสสาวะเพื่อคัดกรองภาวะติดเชื้อในปัสสาวะโดยไม่มีอาการ (asymptomatic bacteriuria) เป็นการป้องกันการติดเชื้อกรวยไตขณะตั้งครรภ์

คนจ่ายสะตังค์เขาจะว่าอย่างไรก็ช่างเถอะ แต่ตามความเห็นของผม มีความเห็นว่าการตรวจเพิ่มทั้ง 6 อย่างข้างต้นนี้มีความจำเป็นทุกอย่าง และแนะนำให้คุณขวานขวายตรวจให้ได้ข้อมูลทั้งหกเรื่องนี้ให้ครบ แม้จะต้องควักกระเป๋าตัวเองจ่ายก็ทำไปเถอะ เพราะมันเป็นการลงทุนป้องกันโรคอันสืบเนื่องจากการตั้งครรภ์และการคลอดที่คุ้มยิ่งกว่าคุ้มครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. National Collaborating Centre for Women's and Children's Health. Antenatal care: routine care for the healthy pregnant woman. London (UK): National Institute for Health and Clinical Excellence (NICE); 2008 Mar. 56 p. (Clinical guideline; no. 62).
[อ่านต่อ...]

ฮาชิโมโต้ ไฮโปไทรอยด์ กับโรคเอ๋อ

เนื่องจากเป็นฮาชิโมโตธัยรอยด์อยู่ เพิ่งจะตรวจพบได้ 1 อาทิตย์ และเริ่มทานยา ELTROXIN (100MCG) แต่ต้องการที่จะตั้งครรภ์ด้วย อยากสอบถามว่าสามารถจะตั้งครรภ์ได้หรือไม่ค่ะ ถ้าได้และจะมีผลต่อเด็กในครรภ์หรือไม่ค่ะ
รบกวนด้วยค่ะ
ขอบคุณมากค่ะ

FAI FAIFY

………………………………………

ตอบครับ

ก่อนตอบคำถาม ผมขอเกริ่นให้ผู้อ่านท่านอื่นรู้จักโรคต่อมไทรอยด์อักเสบแบบฮาชิโมโต (Hashimoto thyroiditis) พอเป็นไอเดียก่อน คืออีตาฮาชิโมโตซึ่งเป็นหมอผ่าตัดชาวญี่ปุ่นแกเป็นคนแรกที่ร้องเอ๊ะขึ้นมาว่ามีคนไข้จำนวนหนึ่งที่เกิดเป็นต่อมไทรอยด์อักเสบที่พอตัดชิ้นเนื้อมาส่องดูแล้วพบว่ามีเม็ดเลือดขาวเข้าไปรุมกินโต๊ะเซลต่อมไทรอยด์จนผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้น้อยลง งานวิจัยยุคหลังทำให้ทราบว่าเป็นเพราะร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน (เช่น anti-TPO, anti-Tg, anti-TSH receptor) ไปบล็อกกลไกการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ คือเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อของตนเองแบบหนึ่ง ทำให้เกิดภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ไม่พอใช้ หรือไฮโปไทรอยด์ (hypothyroidism) ซึ่งยังผลให้เป็นโลหิตจาง ไขมันในเลือดสูง อ้วน และเป็นเบาหวานตามมา โรคนี้จะค่อยๆเป็นไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว เพราะตอนแรกๆที่ต่อมเกิดอักเสบและเซลตายใหม่ๆนั้นจะมีฮอร์โมนรั่วออกมาในเลือดมากทำให้มีอาการโอเวอร์แอคทีฟแบบไฮเปอร์ไทรอยด์ด้วยซ้ำ แต่พอนานไปอาการอ่อนเปลี้ยขี้หนาวหงอยเหงาเศร้าซึมของไฮโปไทรอยด์ก็จะค่อยๆชัดขึ้น การรักษาไฮโปไทรอยด์นี้ก็มีไม้ตายอยู่อย่างเดียว คือการให้ฮอร์โมนไทรอยด์กินทดแทนจนพอ โดยดูว่าหากฮอร์โมนกระตุ้นต่อม (TSH) ที่สูงโด๊ขึ้นไปตอนเริ่มเป็นโรคนั้นลดลงมาถึงระดับปกติก็ถือว่าพอ

เอาละคราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

1. เป็นโรคไฮโปไทรอยด์แบบฮาชิโมโต (หรือแบบอื่นๆก็ตาม) จะตั้งครรภ์ได้ไหม ตอบว่าได้ครับ แต่มีประเด็นว่าต้องทดแทนฮอร์โมนให้พอ เพราะถ้าขณะตั้งครรภ์ได้ฮอร์โมนทดแทนไม่พอ ลูกจะออกมาเป็นคนสึ่งตึง หรือเป็นคนง่าว คนเอ๋อ โรคนี้จึงมีชื่อเรียกในภาษาชาวบ้านว่า “โรคเอ๋อ”

2. กินยา ELTROXIN (100MCG) จะมีผลต่อเด็กในครรภ์หรือไม่ค่ะ ตอบว่าไม่มีครับ ยา eltroxin เป็นยาที่สาระบบพิษยาจัดอยู่ใน category A คือปลอดภัยสำหรับสตรีมีครรภ์และทารก 100%

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

17 กุมภาพันธ์ 2554

OGTT การตรวจคัดกรองเบาหวานในคนตั้งครรภ์

ขอความกรุณาช่วยตอบข้อสงสัย ดังต่อไปนี้ ด้วยนะคะ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

ทำไมการตรวจเบาหวาน ต้องดื่มกลูโคส 75 กรัมคะ

ทำไมใน หญิงท้อง ที่ตรวจในไตรมาสที่ 2 ต้องดื่มกลูโคส 100 กรัม แทน 75 กรัมคะ

ถ้าหากว่า หญิง อายุ 75 ปี มีครรภ์ ระดับกลูโคสในเลือดหลังจากดื่มกลูโคส มีค่าดังต่อไปนี้
ที่ 0 นาที >> 90 mg/dl
ที่ 30 นาที >> 155 mg/dl
ที่ 60 นาที >> 193 mg/dl
ที่ 90 นาที >> 198 mg/dl
ที่ 120 นาที >> 184 mg/dl
หมายเหตุ ตรวจโดยใช้ กลูโคส 75 g นะคะ
ไม่ทราบว่า หญิงคนนี้ มีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน หรือเป็นปกติคะ

ทำไมการตรวจ OGTT ต้องเจาะทุก 30 นาทีคะ และทำไมจะต้องตรวจทั้งหมดเป็นระยะเวลา 2 ชม.คะ

ขอบพระคุณอย่างสูง ที่จะตอบข้อสงสัยนี้นะคะ

..................................................

ตอบครับ

1. ทำไมการตรวจเบาหวาน ต้องดื่มกลูโคส 75 กรัมคะ ตอบว่ามันเป็นกฎหมาย เอ๊ย.. ไม่ใช่ มันเป็นข้อตกลงที่มี WHO เป็นเจ้าภาพนานมาแล้ว ว่าผู้ใดจะทำการการตรวจหาความทนทานต่อน้ำตาลที่กินเข้าไป (OGTT) เพื่อคัดกรองเบาหวานในคนตั้งครรภ์นั้น ขอให้ใช้โด้สของกลูโคส 75 กรัมแล้วไปเจาะดูน้ำตาลที่ 2 ชม.หลังกินเหมือนกันหมด รูดมหาราช ทุกคน เรียกว่ากฎข้อนี้ว่า one step protocol จะได้ไม่ต่างคนต่างทำแล้วมั่ว

2. ทำไมใน หญิงท้อง ที่ตรวจในไตรมาสที่ 2 ต้องดื่มกลูโคส 100 กรัม แทน 75 กรัมคะ ตอบว่าเนื่องจากได้มีผู้ที่ไม่นิยมทำอะไรตามกฎ คิดดัดแปลง OGTT สำหรับคนตั้งครรภ์ใหม่ เรียกว่า two step protocol เป็นเวอร์ชั่นพิเศษ ที่มีหลักว่าลองให้กินกลูโค้สครั้งแรก 50 กรัมแล้วเจาะดูเมื่อครบหนึ่งชั่วโมงดูก่อน ถ้าน้ำตาลไม่สูงเกิน 135-140 ก็จบแค่นี้ไม่ต้องทำต่อ แต่ถ้าเห็นว่าน้ำตาลสูงเกินค่อยให้กิน 100 กรัมแล้วไปเจาะดูเมื่อครบ 3 ชั่วโมงอีกที่เพื่อวินิจฉัยให้ชัวร์ๆอีกที

3. ถ้าหากว่า หญิง อายุ 75 ปี (25 ปีมังครับ) มีครรภ์ ระดับกลูโคสในเลือดหลังจากดื่มกลูโคส มีค่าดังต่อไปนี้
ที่ 0 นาที >> 90 mg/dl
ที่ 30 นาที >> 155 mg/dl
ที่ 60 นาที >> 193 mg/dl
ที่ 90 นาที >> 198 mg/dl
ที่ 120 นาที >> 184 mg/dl
หมายเหตุ ตรวจโดยใช้ กลูโคส 75 g นะคะ
ไม่ทราบว่า หญิงคนนี้ มีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน หรือเป็นปกติคะ

ตอบว่าการวิเคราะห์ค่า OGTT ตามมาตรฐานของ WHO จะดูที่ 2 ชั่วโมงเท่านั้น ในเคสที่คุณยกตัวอย่างมานี้ ที่สองชั่วโมงได้ค่าสูงเกิน 140 แต่ไม่เกิน 200 เรียกว่าเป็นความผิดปกติระดับความทนต่อน้ำตาลผิดปกติ (impair glucose tolerance - IGT) คือทำท่าจะเป็นเบาหวาน แต่ยังไม่ถึงกับเป็นเบาหวาน

4. ทำไมการตรวจ OGTT ต้องเจาะทุก 30 นาทีคะ และทำไมจะต้องตรวจทั้งหมดเป็นระยะเวลา 2 ชม.คะ ตอบคำถามหลังก่อนนะ ต้อง 2 ชั่วโมงเพราะมันเป็นกฎหมาย เอ๊ย ไม่ใช่กฎกติกาของ WHO อย่างที่บอกแล้ว แต่สาเหตุที่เจาะถี่ๆทุก 30 นาทีก็เพราะเผื่อว่ามีคนไข้บางรายที่ผลน้ำตาลใน 30 นาทีแรกๆออกมาต่ำมากแบบปกติแหงๆ แพทย์ก็จะสั่งให้จบการตรวจเสียเลยไม่ต้องรอไปจนครบสองชั่วโมง แต่ในชีวิตจริงแพทย์ท่านไม่ได้มานั่งลุ้นหรอกว่า 30 นาทีแรกๆได้ค่าเท่าไหร่ ท่านก็ไปยุ่งทำอย่างอื่นปล่อยให้พนักงานเจาะเลือดหลับหูหลับตาลุยถั่วเจาะ จึ๊ก จึ๊ก จึ๊ก ไปทุก 30 นาทีจนครบสองชั่วโมง แล้วเอาผลรวมทั้งหมดไปรายงานท่านในคราวเดียว เรื่องมันก็เป็นเช่นนี้แหละค่าท่านสารวัตร

คุณนี่ชอบถามซอกแซกน่าจะมาเป็นนักเรียนแพทย์นะ เพราะนักเรียนแพทย์ที่ผมสอนมาพวกเธอเล่นเอาแต่สับปะหงกง่วงหงาวหาวนอนทั้งวันและไม่เคยถามอะไรที่ท้าทายปัญญาบ้างเลย ทำให้การสอนเป็นเรื่องน่าเบื่อชะมัด


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

ไอเรื้อรัง รักษาทั้งหอบหืดและกรดไหลย้อนก็ไม่หาย

สวัสดีครับคุณหมอ ผมอยากปรึกษาคุณหมอเรื่องอาการไอครับ คือว่าผมเคยสูบบุหรี่มาเป็นเวลาประมาณสองปี แล้วค่อยเลิกบุหรี่ แต่อาการไอกลับไม่หาย เคยไปพบแพทย์ แพทย์ก็ให้การรักษาเกี่ยวกับหอบหืด กรดไหลย้อน ร่วมกับรับประทานยาแก้ไอ แต่ก็เปลี่ยนยาแก้ไอมาสามตัวแล้ว โดยล่าสุดหมอบอกว่ายาตัวที่ให้เป็นอนุพันธ์ของมอร์ฟีน กินร่วมกันกับยาชงละลายน้ำ แต่ก็ยังมีอาการไอเหมือนเดิม รู้สึกเหมือนมีอะไรติดลำคอตลอดเวลา ต้องกระแอมหรือไอเพื่อให้คอโล่ง
แต่ไม่มีเสมหะ เป็นอาการไอแห้ง และจะเป็นมากในช่วงที่ต้องหายใจถี่ อย่างเช่นตอนออกกำลังกายครับ ส่วนผลเอ็กเรย์ปอด และสมรรถภาพปอดก็อยู่ในเกณฑ์ปกติครับ เลยอยากจะถามหมอว่ามันเป็นอาการปกติรึเปล่าครับสำหรับผู้ที่เคยสูบบุหรี่น่ะครับ เพราะผมก็กังวลว่าเลิกมานานได้ประมาณแปดเดือนแล้วครับแต่ก็ัยังไอไม่หาย เลยอยากจะปรึกษาหมอสำหรับอาการที่ผมเป็นอยู่ครับ แล้วพอจะมีตัวอย่างคนไข้ที่ไอแล้วรักษาเท่าไหร่ก็ไม่หายรึเปล่าน่ะครับ

ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ

................................................

ตอบครับ

เรื่องปัญหาการไอเรื้อรังเป็นเรื่องลึกซึ้ง แนวทางการไล่เลียงปัญหาปกติจะทำกันดังนี้

1. ยา ถ้ากินยาที่มีผลทำให้ไอ ต้องหยุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาในกลุ่ม ACEI ที่ใช้รักษาโรคหัวใจและความดันเลือด ผมเข้าใจว่าคุณไม่ได้กินยาพวกนี้อยู่

2. บุหรี่ ถ้าสูบบุหรี่อยู่ ต้องหยุด กรณีของคุณหยุดบุหรี่ไปแล้ว ประเด็นนี้ก็จบไปแล้ว ปกติการไอจากบุหรี่เกิดจากขนพัดโบกของเซลเยื่อบุหลอดลม (cilia) ถูกควันบุหรี่เผาไหม้ทำให้พัดโบกไล่ฝุ่นและเสมหะไม่ได้ ปัญหานี้จะหายไปเมื่อหยุดสูบบุหรี่ได้สัก
2 สัปดาห์ กรณีของคุณหยุดสูบบุหรี่ได้แปดเดือนแล้ว ดังนั้นประเด็นไอจากบุหรี่ถือว่าตัดทิ้งได้

3. โรคใดๆที่อยู่ที่ทางเดินลมหายใจส่วนบน เช่นโพรงไซนัสอักเสบ ก็ทำให้ไอเรื้อรังได้ เรียกว่า upper airway cough syndrome (UACS) คนที่ไอเรื้อรังจึงต้องให้หมอหูคอจมูกตรวจทางเดินหายใจส่วนบนอย่างเพื่อวินิจฉัยแยก UACS ก่อน

4. โรคหอบหืด (asthma) ก็ทำให้ไอเรื้อรังได้ กรณีของคุณได้รับการตรวจดูการทำงานของปอดแล้วว่าปกติ แสดงว่าไม่มีการอุดกั้นทางเดินลมหายใจซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของโรคหอบหืด แถมยังเคยได้รับการทดลองรักษาหอบหืดแล้วด้วย แต่ก็ไม่หายไอ แสดงว่าอาการไอไม่ได้เกิดจากหอบหืด

5. โรคกรดไหลย้อน (GERD) ก็เป็นที่ทราบกันว่าทำให้ไอเรื้อรังได้ กรณีของคุณไม่มีหลักฐานอะไรว่าเป็น GERD หรือเปล่า แต่หมอก็ให้ยารักษา GERD ไปแล้วเรียบร้อย แต่คุณก็ยังไม่หายไอ ดังนั้นในขั้นตอนนี้เราตัดโรค GERD ทิ้งไปก่อน

6. โรคหลอดลมอักเสบจากอีโอซิโนฟิลที่ไม่ใช่หอบหืด (non asthmatic eosinophilic bronchitis - NAEB) ซึ่งเป็นคล้ายกับโรคภูมิแพ้อย่างหนึ่ง เช่นแพ้ฝุ่นหรือไอระเหยบางชนิดที่มากับงานอาชีพ ทำให้มีเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิลออกมาในหลอดลมมาก ทำให้ไอเรื้อรัง การพิสูจน์คือต้องทำการใส่ท่อเข้าไปล้างและดูดเอาน้ำล้างหลอดลม (bronchial washing) ออกมาตรวจหาอีโอซิโนฟิล แต่หมอในเมืองไทยไม่นิยมทำการวินิจฉัยชนิดนี้ เพราะมันทำให้ชีวิตหมอลำบาก หมอส่วนใหญ่จึงนิยมวิธีทดลองรักษาล่วงหน้าไปเลยโดยไม่ต้องวินิจฉัยพิสูจน์ให้ยุ่งยาก คือให้พ่นยาสะเตียรอยด์เลย ถ้าพ่นแล้วหายก็ฮั่นแน่ ใช่เลย ปกติถ้าเป็นโรคนี้ถ้าได้สะเตียรอยด์จะหายไอเป็นปลิดทิ้ง กรณีของคุณเดาเอาว่าตอนที่หมอเขาทดลองรักษาหอบหืดนั้นเขาใช้ยาสะเตียรอยด์พ่นแล้ว แต่ไม่ได้ผล

7. โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังกำเริบ (acute exacerbation of chronic bronchitis - AECB) คนเป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังจะมีอาการกำเริบในหน้าหนาว ปีหนึ่งหลายเดือน ทำอย่างไรก็ไม่หายไอ ได้แต่ให้ยาบรรเทาอาการลูกเดียว แต่ผู้ป่วยบางรายก็หายจากโรคนี้ด้วยการดูแลสุขภาพทั่วไปให้ภูมิต้านทานดีขึ้น อาจจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะช่วยรักษาช่วงสั้นๆถ้ามีการติดเชื้อผสมโรง

8. นอกจากสาเหตุที่พบบ่อย 7 อย่างข้างต้น ยังมีโอกาสเป็นเรื่องที่ไม่พบบ่อยอื่นๆได้อีก เช่นมะเร็งปอด วัณโรคปอด เป็นต้น

9. ถ้าหาสาเหตุอะไรไม่ได้แล้วจริงๆ ก็ยังมีโอกาสเป็น psychogenic cough คือไอเพราะใจมันคิดแต่เรื่องจะไอก็เลยไอ ไอ ไอ ไม่รู้จบ ถ้าเป็นโรคนี้วิธีรักษาก็คือ make your heart หมายความว่าการทำใจปลงเสียอย่าไปจดจ่อกับมันมาก

โดยสรุปจากนี้ไปผมแนะนำให้คุณปฏิบัติตัวเป็นขั้นตอนดังนี้

1. งดยาที่กินอยู่ประจำไว้ก่อนทั้งหมด ก่อนที่จะเป็นโรคติดยาเสพย์ติดอีกโรคหนึ่ง

2. ตอนนี้คุณทำงานอะไรอยู่ ตรวจสอบว่าในที่ทำงาน หรือเส้นทางที่เดินทางไปทำงาน หรือที่บ้าน มีอะไรที่เป็นไอ ฝุ่น ควัน ที่จะกระตุ้นให้แพ้ได้บ้าง แล้วเลี่ยงเสีย

3. เวลามีอาการไอ ถ้าไม่มีเสมหะให้จงใจกลั้นไว้บ้าง จงใจลืมว่ามันกำลังคันคอบ้าง ถ้าไปซื้อยาแก้ไอน้ำดำที่ปากซอยมาจิบเวลาคันคอมากๆก็จะช่วยได้แยะ

4. ขุดคุ้ยเอายาพ่นรักษาหอบหืดที่หมอเคยให้มาดูฉลากว่าเป็นว่าพ่นพวกสะเตียรอยด์หรือไม่ ถ้าไม่เคยได้ยาพ่นพวกสะเตียรอยด์ ควรกลับไปหาหมอเพื่อขอลองยาพ่นสะเตียรอยด์เผื่อว่าเป็นโรค NAEB จะได้หายไอปึ๊ดเลย

5. ลงทุนฟูมฟักภูมิต้านทานของร่างกายให้ดีขึ้น ด้วยการ (1) ออกกำลังกายให้ถึงระดับหนักพอควรคือจนหอบแฮ่กๆวันละครึ่งชั่วโมงสัปดาห์ละ 5 ครั้ง บวกเล่นกล้ามอีกสัปดาห์ละ 2 ครั้ง (2) ปรับโภชนาการ ลดอาหารที่ให้แคลอรี่เช่นไขมันและคาร์โบไฮเดรตลง เพิ่มการกินผักและผลไม้ให้ได้มากน้องๆวัว คือวันละ 5 เสริฟวิ่งขึ้นไป (3) จัดเวลานอนหลับพักผ่อนให้พอ และจัดการความเครียดของตัวเองให้ดี

6. ทำอยู่อย่างนี้สามเดือน ถ้าไม่หายอีก คราวนี้ให้มาที่คลินิกหูคอจมูก ให้เขาทำ MRI หรือ CT ตรวจดูไซนัสให้ละเอียด แล้วไปที่คลินิกโรคปอด (chest clinic) เพื่อให้เขาตรวจคอมพิวเตอร์( CT chest) ว่ามีอะไรชวนให้สงสัยว่าเป็นมะเร็งปอดหรือวัณโรคหรือไม่

7. ถ้าตรวจทั้งหมดนี้แล้วยังไม่พบว่าเป็นอะไรอีก คราวนี้ก็วินิจฉัยแบบเดาสุ่มไว้ก่อนว่าคงเป็น psychogenic cough ก็ไม่มีอะไรจะต้องทำต่อแล้ว แต่ก็อย่าวางใจ ให้หมั่นไปตรวจ CT chest ทุกปีตราบใดที่ยังไออยู่ เพราะคนที่สูบบุหรี่มา หากมีอาการไอด้วย การคัดกรองมะเร็งในปอดด้วยการทำ CT chest ทุกปี จะลดอัตราตายจากมะเร็งปอดได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Pratter MR. Cough and common cold: ACCP evidence-based clinical practice guidelines. Chest 2006 ; 129 (1 Suppl): 72S-4S.
[อ่านต่อ...]

คุมกำเนิดแบบช่วงปลอดภัย ควบยาคุมฉุกเฉิน จนสับสน

สวัสดีค่ะคุณหมอ มีปัญหาอยากจะสอบถามคะ
เดือนนี้ประจำเดือนมาวันที่ 13-18 มค. แล้ววันที่ 18 มีพสพ (หลั่งใน) แต่ดิฉันไม่แน่ใจเลยกินยาคุมฉุกเฉิน หลังจากนั้นอีก 5 วัน (วันที่ 24) ประจำเดือนมาอีก (มีสีเข้มและมาแค่ 2 วัน)
แล้วค่อย ๆ ลดลงไป จนวันที่ 26 มีพสพ เสร็จแล้วรีบเข้าห้องน้ำจะมีน้ำ (เป็นสีน้ำตาล) หยดลงมา 3 หยด แต่ไม่ได้กินยาคุมฉุกเฉิน อยากทราบว่าจะท้องมั้ยคะ
คุณหมอช่วยกรุณาตอบด้วยนะคะ
ขอบพระคุณมากคะ
Awe
………………………………………..

ตอบครับ

1. เมื่อมีพสพ.ครั้งแรกวันที่ 18 มค. ซึ่งเป็นวันถัดจากประจำเดือนหมด ครั้งนี้ไม่ทำให้ท้องหรอกครับ เพราะยังไม่ใกล้วันตกไข่ ซึ่งจะเกิดขึ้นประมาณ14 วันนับจากประจำเดือนวันแรก ซึ่งกรณีของคุณก็คือตกไข่ประมาณวันที่ 1 กพ.

2. ที่คุณว่ามีประจำเดือนอีกครััง 24-25 มค.นั้น ความจริงไม่ใช่ประจำเดือน แต่เป็นเลือดออกเนื่องจากการลดระดับลงของฮอร์โมนที่ได้จากยาคุมฉุกเฉิน (withdrawing bleeding) เลือดที่ออกนี้ไม่เกี่ยวกับรอบเดือน และไม่เกี่ยวกับกำหนดการตกไข่

3. คุณมีพสพ.อีกครั้งวันที่ 26 มค. ซึ่งก็ยังห่างจากวันตกไข่อีกตั้ง 5 วัน โอกาสที่จะตั้งครรภ์ก็ยังมีน้อยครับ เพราะปกติเสปิร์มจะอ้อยอิ่งรอไข่ได้อย่างมากก็ 2 วัน

มีประเด็นที่คุณควรจะเรียนรู้จากเรื่องนี้สองสามประเด็นคือ

1. กฎประจำตัวคุณที่ว่ามีพสพ.ทันทีที่ประจำเดือนหมดแล้วจะไม่ท้อง (safety period) นั้นใช้ได้ถ้าคุณไม่กินยาคุมฉุกเฉินหรือกินยาคุมกำเนิดแบบกินบ้างลืมบ้าง เพราะทั้งยาคุมฉุกเฉินและยาคุมกำเนิดเป็นแผงล้วนเป็นฮอร์โมนเพศ พอหยุดกินระดับฮอร์โมนในตัวจะลดลง ทำให้มีเลือดออก ซึ่งทำให้คุณเข้าใจผิดว่า อ้า.. ประจำเดือนมาอีกละ มา มะ มามีอะไรกันเถอะเพราะเป็นช่วงปลอดภัย ทั้งๆที่ความจริงมันไม่ใช้ประจำเดือน มันเป็น withdrawal bleeding จากยา จะไปใช้มันเป็นหลักหมายบอกช่่วงปลอดภัยไม่ได้

2. ถ้าคุณจะใช้วิธีคุมกำเนิดแบบใช้ยาคุมฉุกเฉินควบกับการนับช่วงปลอดภัย (7 วันก่อนและหลังประจำเดือนวันแรกคือช่วงปลอดภัย) คุณจะต้องนับให้ดีว่าครั้งไหนเป็นประจำเดือนจริง ครั้งไหนเป็น withdrawal bleeding จากยาคุมฉุกเฉิน จะให้ดีกว่านั้น คุณจะต้องหัดปักธงว่าในรอบเดือนนี้วันตกไข่คือวันไหน ซึ่งโดยทั่วไปก็คือวันที่ 14 ถ้านับวันที่ประจำเดือนจริงเริ่มมาเป็นวันที่ 0 แล้วหลีกเลี่ยงพสพ. ช่วงใกล้ๆ (ทั้งก่อนและหลัง) วันตกไข่


3. ยาคุมฉุกเฉินไม่ใช่วิธีคุมกำเนิดที่ดี เพราะมีประสิทธิภาพเพียง 75- 85% เท่านั้น ถ้ามีพสพ.ประจำควรใช้วิธีอื่นที่มีประสิทธิภาพดีกว่า เช่นถุงยางอนามัย ยาเม็ดคุมกำเนิด หรือการใส่ห่วง กรณีที่มีบุตรครบแล้วก็ทำหมันไปเลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

Nutri Wheat, Gamma Oryzanol, Beta Carotene.. อะจ๊าก..ก ถอนคำพูดเดี๋ยวนี้

มีคนแนะนำให้ทานน้ำมันจมูกข้าว Nutri Wheat Mixed Caro Oryzanol ซึ่งใน 1 แคปซูลประกอบด้วย Gamma Oryzanol 14.50 มก. และ Beta Carotene 4.54 มก. บอกว่าสามารถยับยั้งสารอนุมูลอิสระได้ ป้องกันไม่ให้เกิดโรคเรื้อรัง ผมจึงอยากถามคุณหมอว่า
1.มันเป็นความจริงหรือไม่ หรือโฆษณาชวนเชื่อ
2.มีความจำเป็นที่จะต้องกินเป็นอาหารเสริมหรือไม่
3.มีผลการวิจัยเกี่ยวกับ Gamma Oryzanol และ Beta Carotene บ้างหรือไม่ ว่ามันให้ประโยชน์อะไรกับร่างกาย
4.แล้วกระทรวงสาธารณะสุข เคยเข้ามาตรวจสอบสินค้าประเภทนี้บ้างหรือเปล่า เห็นโฆษณากันเกลื่อน ตามลิงค์นี้ไปครับ (เซนเซอร์)

*ขอบคุณท่านที่กรุณาให้ความกระจ่างในทุกเรื่องครับ*

..............................................

ตอบครับ

1. มันเป็นความจริงหรือไม่ หรือโฆษณาชวนเชื่อ ตอบว่า มันมีส่วนของการโฆษณาชวนเชื่อ มากกว่าส่วนของความจริงครับ ขยายความว่า

1.1 ส่วนของความจริงคือ (1) สารสองตัวนี้เป็นสารในกลุ่มสารต้านอนุมูลอิสระ (2) มีหลักฐานในห้องทดลองว่าสารต้านอนุมูลอิสระยับยั้งการเสื่อมของเซลและยับยั้งกระบวนการเกิดโรคเรื้อรังและมะเร็งได้ แต่นั่นก็เป็นเพียงหลักฐานในห้องทดลอง ซึ่งทางการแพทย์ถือว่าหลักฐานจากห้องทดลองและสัตว์ทดลองเป็นหลักฐานระดับต่ำสุดในบรรดาหลักฐาน 5 ระดับ

1.2 ส่วนที่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อก็คือการทำให้คนเข้าใจเขวว่าสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้ในรูปของอาหารเสริมช่วยป้องกันโรคเรื้อรังและโรคมะเร็งในคนได้ ซึ่งเป็นความเท็จ เพราะงานวิจัยในคนที่เป็นหลักฐานระดับสูงสุด คืองานวิจัยสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบทุกงานที่ผ่านมาล้วนพิสูจน์แล้วว่าสารต้านอนุมูลอิสระในรูปของอาหารเสริมทุกตัว ไม่มีตัวไหนช่วยป้องกันมะเร็งและโรคเรื้อรังในคนได้

2. มีความ “จำเป็น” ที่จะต้องกินเป็นอาหารเสริมหรือไม่ ตอบว่า “ไม่จำเป็น” ครับ เพราะหากอยากให้ร่างกายได้รับสารต้านอนุมูลอิสระก็ให้กินเอาจากอาหารในกลุ่มผักผลไม้ที่หลากหลายสาระพัด มาตรฐานโภชนาการปัจจุบันคือให้กินผักและผลไม้วันละไม่น้อยกว่า 5 เสริฟวิ่ง (หนึ่งเสริฟวิ่งเท่ากับสลัดสดหนึ่งจานและเท่ากับผลไม้เช่นแอปเปิ้ลหนึ่งลูก) หากกินผักผลไม้ให้ได้ตามมาตรฐานโภชนาการ ก็จะได้ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระที่มากกว่าที่เขาใส่ขวดขายหลายร้อยเท่าเสียอีก

3. มีผลการวิจัยเกี่ยวกับ Gamma Oryzanol และ Beta Carotene บ้างหรือไม่ ตอบว่า มีครับ

3.1 งานวิจัยเรื่องการเสริมเบต้าแคโรทีนที่ทำครั้งใหญ่ที่สุดตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ เขาเอาคนมา 29,000 มาแบ่งกลุ่มให้กินเบต้าแคโรทีนบ้าง กินยาหลอกบ้าง แล้วตามดูนานถึง 5 ปีบ้าง 8 ปีบ้าง ก็พบว่าทั้งสองกลุ่มมีอัตราการเป็นมะเร็งไม่ต่างกัน อีกงานวิจัยหนึ่งทำคล้ายกันแต่ตามดูการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดก็พบว่าเบต้าแคโรทีนไม่ได้ทำให้เป็นโรคหัวใจหลอดเลือดน้อยกว่ากลุ่มกินยาหลอก

3.2 ในส่วนของแกมม่าอริซานอล ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม plant stanol ไม่เคยมีงานวิจัยเรื่องการป้องกันโรคเรื้อรังหรือป้องกันมะเร็งในคน แต่มีงานวิจัยในคนขนาดเล็ก 2 รายการ ที่ทำในคนจำนวนไม่มากราวห้าหกสิบคน โดยใช้แกมม่าอริซานอลลดไขมันในผู้ป่วยที่เป็นไขมันในเลือดสูงระดับไม่มาก (mild dyslipidemia) เปรียบเทียบกับยาหลอก ก็พบว่าแกมม่าอริซานอลลดไขมันเลว (LDL) ในเลือดลงได้ประมาณ 6% ผลอันนี้สอดคล้องกับงานวิจัยเกี่ยวกับสารในกลุ่ม plant stanol อื่นๆ บางตัว เช่น Hearti-benecol ลดไขมัน LDL ได้ในระดับ 10-15% สรุปว่าแกมม่าอริซานอลลดไขมัน LDL ได้เช่นเดียวกับสาร stanol อื่นๆที่ได้จากพืชผักและผลไม้ทั้งหลาย

4. แล้วกระทรวงสาธารณะสุข เคยเข้ามาตรวจสอบสินค้าประเภทนี้บ้างหรือเปล่า ตอบว่า กระทรวงสาธารณะสุขท่านไม่มีน้ำยาหรอกครับ อะจ๊าก..ก คุณพูดอย่างนี้ได้ไง นี่เป็นการดูหมิ่นสถาบันของรัฐนะ ถอนคำพูดซะเดี๋ยวนี้.. ผมไม่ถอน ถอนเดี๋ยวนี้.. ผมไม่ถอน.. ถ้างั้น ปิดประชุม!

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.. The Alpha-Tocopherol, Beta-Carotene Cancer Prevention Study Group. The effect of vitamin E and beta-carotene on the incidence of lung cancer and other cancers in male smokers. N Engl J Med. 1994;330:1029-1035.
2.. Berger A, Rein D, Schäfer A, Monnard I, Gremaud G, Lambelet P, Bertoli C. Similar cholesterol-lowering properties of rice bran oil, with varied gamma-oryzanol, in mildly hypercholesterolemic men. Eur J Nutr. 2005 Mar;44(3):163-73.
[อ่านต่อ...]

16 กุมภาพันธ์ 2554

ไม่กระจ่างเรื่องไวรัสตับอักเสบบี.

คือว่า กำลังจะไปตรวจหาเชื้อและภูมิต้านทานไวรัสตับอักเสบบี เพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานประกอบการสมัครเรียน (เกี่ยวกับอาหาร) แต่เครียดมากเลยค่ะ กลัวว่าจะมีเชื้ออยู่ ทำให้ไม่ได้เรียน ลองเสิร์ชหาข้อมูลจากในเน็ตแล้วก็ยังไม่มีเว็บไหนให้คำตอบในสิ่งที่สงสัยได้ เลยค่ะ จึงอยากจะรบกวนถามคุณหมอในสิ่งที่สงสัยเกี่ยวกับการเป็นพาหะที่สามารถแพร่ เชื้อ ของโรคไวรัสตับอักเสบ บีค่ะ คือ อยากทราบว่า คนที่เป็นพาหะแพร่เชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้นั้น หมายถึง คน(ส่วนน้อย)ที่ได้รับเชื้อแล้วร่างกายไม่สามารถกำจัดไวรัสออกไปจากร่างกาย ได้ ร่างกายยังคงมีเชื้อไวรัสอยู่ ถึงแม้ว่าร่างกายจะไม่แสดงอาการป่วยเลย ใช่หรือเปล่าคะ แล้วกรณีของคนที่เคยได้รับเชื้อไวรัสแล้ว อาจโดยไม่รู้ตัวเพราะไม่มีอาการป่วยหรือมีเพียงเล็กน้อย แต่ว่าร่างกายมีการกำจัดไวรัสออกไปจากร่างกายได้และมีภูมิต้านทานต่อโรคนี้ แล้ว คนๆ นั้นจะยังคงเป็นพาหะที่สามารถแพร่เชื้อไปติดคนอื่นได้อีกหรือเปล่าคะ แล้วกรณีที่ตรวจแล้วพบว่าไม่มีเชื้อและไม่มีภูมิต้านทาน ซึ่งแสดงว่ายังไม่เคยเป็นมาก่อน จะป้องกันโดยการฉีดวัคซีนจำนวน 3 เข็มนั้น จะสามารถป้องกันได้ตลอดชีพหรือเปล่าคะ

ขอบคุณล่วงหน้าสำหรับคำตอบค่ะ

..........................


ตอบครับ

1. คนที่เป็นพาหะ หมายถึงคนที่ได้รับเชื้อแล้วร่างกายไม่สามารถกำจัดไวรัสออกไปจากร่างกาย ได้ ร่างกายยังคงมีเชื้อไวรัสอยู่ ถึงแม้ว่าร่างกายจะไม่แสดงอาการป่วยเลย ใช่หรือเปล่าคะ ตอบว่าใช่แล้วครับ

การได้รับเชื้อมานี้ หากเป็นการได้รับมาจากแม่ตั้งแต่สมัยอยู่ในท้อง ร่างกายจะไม่รู้ว่าไวรัสนี้เป็นสิ่งแปลกปลอม จึงปล่อยให้ไวรัสขยายจำนวนอยู่ในตัวเป็นจำนวนมาก เป็นระยะการติดเชื้อที่เรียกว่า “ระยะไม่รู้จักกัน” (immune tolerance phase) บางคนกว่าร่างกายจะรู้ว่าไวรัสนี้เป็นศัตรูก็อายุปาเข้าไปยี่สิบสามสิบกว่าปีก็มี ถึงตอนนั้นจึงค่อยเริ่มสู้กัน นั่นหมายถึงเริ่มมีอาการของตับอักเสบ

2. คนที่เคยได้รับเชื้อไวรัสแล้ว ร่างกายมีการกำจัดไวรัสออกไปจากร่างกายได้และมีภูมิต้านทานต่อโรคนี้ แล้ว คนๆ นั้นจะยังคงเป็นพาหะที่สามารถแพร่เชื้อไปติดคนอื่นได้อีกหรือเปล่าคะ ตอบว่าไม่แพร่เชื้อให้คนอื่นแล้วครับ เพราะไม่มีเชื้อจะแพร่ เนื่องจากเชื้อตายหมดแล้ว

3. กรณีไม่มีเชื้อและไม่มีภูมิต้านทาน จะป้องกันโดยการฉีดวัคซีนจำนวน 3 เข็มนั้น จะสามารถป้องกันได้ตลอดชีพหรือเปล่าคะ ตอบว่าวงการแพทย์เชื่อว่าป้องกันได้ตลอดชีพครับ แต่หลักฐานที่มีอยุ่ตอนนี้ยังมีไม่ครบสามสิบปีดี หลักฐานที่มีอยู่ยืนยันว่าวัคซีนนี้ป้องกันโรคได้ต่อเนื่องเกินสิบปี แม้ระดับภูมิคุ้มกันจะตกต่ำไปมากแล้ว แต่เมื่อติดเชื้อเข้าจริงๆร่างกายก็รีบระดมสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้ทัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

หญิงอายุ 20 จะตรวจสุขภาพประจำปี

อยากทราบว่าการตรวจสุขภาพประจำปี สำหรับหญิง อายุ 20 ปี
ควรจะตรวจอะไรบ้างเพื่อให้ครอบคลุม
แล้วมะเร็งปากมดลูก รังไข่ เต้านม ต้องตรวจด้วยหรือไม่คะ
เป็นการจะไปตรวจสุขภาพประจำปีครั้งแรกเลยค่ะ

………………………………..

ตอบครับ

1. การตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับหญิงอายุ 20 ปี อย่างน้อย ควรทำเรื่องต่อไปนี้

1.1 การซักประวัติความเสี่ยงสุขภาพและการตรวจร่างกายทั่วไปโดยแพทย์ ซึ่งรวมถึงการประเมินดัชนีมวลกาย การวัดความดันเลือด

1.2 การตรวจเลือดเพื่อหาข้อมูลความเสี่ยงสุขภาพพื้นฐาน เช่น การตรวจเม็ดเลือด (CBC) ไขมันในเลือด (HDL, LDL, triglyceride) น้ำตาลในเลือด (FBS) หรือน้ำตาลสะสม (HbA1c) ค่าชี้บ่งการทำงานของไต (eGFR) เอ็นไซม์ของตับ (SGPT) ตรวจหาเชื้อ (HBAg) และภูมิคุ้มกันของไวรัสตับอักเสบบี.(HBAb)

1.3 ในกรณีที่ไม่เคยเอ็กซเรย์ปอดมาหลายปี ควรเอ็กซเรย์ปอดเพื่อเก็บภาพไว้เป็นข้อมูลพื้นฐาน

1.4 การทำอุลตร้าซาวด์ช่องท้องเพื่อดูอวัยวะสืบพันธ์สตรีเช่นรังไข่ มดลูก ถ้าทำก็มีประโยชน์ แต่ไม่ถึงกับจำเป็น เพราะอายุขนาดนี้โอกาสพบความผิดปกติมีน้อยมาก

1.5 การตรวจเต้านมโดยวิธีให้แพทย์คลำเต้านมเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอ แต่ถ้าอยากตรวจให้ละเอียดจะทำอุลตร้าซาวด์เต้านมแถมด้วยก็มีประโยชน์ แต่การทำแมมโมแกรมเต้านมไม่มีประโยชน์ เพราะเนื้อเต้านมยังแน่น ทำแมมโมแกรมไปก็ไม่เห็นอะไร เสียเงินเปล่า

1.6 การตรวจภายในไม่จำเป็นในวัยของคุณ เพราะมาตรฐานปัจจุบันจะเริ่มตรวจภายในเมื่ออายุ 21 ปี โดยไม่สนว่าเคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนหรือไม่

1.7 การตรวจอื่นๆนอกจากนี้เป็นการตรวจตามสมัยนิยม แต่ไม่มีประโยชน์อะไรในแง่การประเมินปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจสารชี้บ่งมะเร็งต่างๆรวมทำมะเร็งรังไข่ ลำไส้ ตับ ตับอ่อน ผมแนะนำว่ามีประโยชน์น้อย ไม่จำเป็นต้องทำ

1.8 ในกรณีที่ผลการตรวจเม็ดเลือด (CBC) สงสัยว่าจะมีโรคทาลาสซีเมียแฝง ควรตรวจวิเคราะห์ฮีโมโกลบินเพื่อดูว่าเป็นทาลาสซีเมียชนิดเบต้าหรือไม่ ควบกับการตรวจยีนอัลฟ่าทาลาสซีเมีย ข้อมูลนี้จะมีประโยชน์ตอนที่จะแต่งงาน

2. เมื่อตรวจจบแล้ว ก็ต้องคุยกับหมอให้ได้ความว่าตกลงเรามีปัจจัยเสี่ยงสุขภาพอะไรบ้าง และจะต้องมีแผนหรือทำตัวอย่างไรในหนึ่งปีข้างหน้านี้ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้น ตรงนี้สำคัญ ถ้าตรวจจบแล้วกลับบ้านโดยไม่มีไอเดียเลยว่าเรามีความเสี่ยงสุขภาพอะไรบ้าง และต้องปรับตัวอย่างไร การมาตรวจสุขภาพครั้งนี้ก็เสียเที่ยวเปล่า ทั้งนี้เพราะเป้าหมายการตรวจสุขภาพประจำปีคือเพื่อประเมินความเสี่ยงสุขภาพส่วนบุคคลและเพื่อจัดทำแผนสุขภาพประจำปีสำหรับตัวเรา

3. นอกจากการตรวจสุขภาพ สิ่งที่สำคัญคือการฉีดวัคซีนที่จำเป็นให้ครบ ได้แก่

3.1 ในกรณีที่ไม่เคยได้วัคซีน MMR มาก่อน ควรฉีดวัคซีน MMR เพื่อป้องกันหัดเยอรมัน ซึ่งเป็นโรคที่อันตรายมากหากไปเป็นตอนตั้งครรภ์

3.2 ถ้ายังไม่ได้ฉีด ควรฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV vaccine)

3.3 ถ้าผลตรวจเลือดพบว่าไม่มีภูมิคุ้มกัน ควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี. ซึ่งเป็นโรคที่ก่อความเสียหายใหญ่หลวงถ้าเป็นขึ้นมา

3.4 ถ้ายังไม่เคยได้วัคซีนป้องกันไข้สุกใส ควรฉีดเสีย เพราะโตเป็นสาวแล้วถ้าเป็นไข้สุกใสจะรุนแรง

3.5 ถ้าว่างเว้นการฉีดกระตุ้นวัคซีนบาดทะยักมาเกิน 10 ปี ควรฉีดกระตุ้นวัคซีนบาดทะยัก 1 ครั้ง (ทุก 10 ปี) เพราะเป็นลูกผู้หญิงจะต้องตั้งท้อง ต้องคลอด จะได้ไม่เสี่ยงต่อการเป็นบาดทะยัก

3.6 ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี ปีละครั้ง เพราะไข้หวัดใหญ่สมัยนี้มาแรง ไม่คุ้มเสี่ยง ฉีดวัคซีนป้องกันดีกว่า

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

Quantum Xrroid อุปกรณ์ซังกะบ๊วย

เรียนถามคุณหมอ

พอดีดิฉันบังเอิญได้เห็น report ของการตรวจร่างกายจากระบบQUANTUM XRROID อยากทราบว่าความน่าเชื้อถือของการตรวจแบบนี้มีมากน้อยแค่ไหน แล้วเขาแปลผลการตรวจยังไง เพราะว่าอ่านดูแล้วมันมี cord หรือ NO ที่อ่านไม่เข้าใจ
รบกวนคุณหมอที่ทราบรายละเอียดหรือสามารถบอกแหล่งสืบค้นให้ได้จักเป็นพระคุณยิ่งคะ

ขอบคุณล่วงหน้านะคะ

………………………………………

ตอบครับ

เครื่อง Quantum Xrroid นี้ เรียกอีกชื่อว่า QXCI เคยได้รับอนุญาตให้นำเข้าไปขายในอเมริกาโดยอ้างว่าเป็นเครื่อง Biofeedback ก่อนอื่นผมขออธิบายหลักการของ biofeedback ก่อน คือมันเป็นเทคนิคส่งเสริมให้ร่างกายตอบสนองแบบผ่อนคลาย โดยการต่อขั้วไฟฟ้าของเครื่อง biofeedback เข้ากับตัวผู้ป่วย เครื่องก็จะส่งสัญญาณบอกการทำงานของอวัยวะที่สัมพันธ์กับความเครียด เช่นอัตราการเต้นของหัวใจ ระดับของการหดตัวของกล้ามเนื้อ เป็นต้น ให้ผู้ใช้ทราบ เพื่อผู้ใช้ค่อยๆเรียนรู้วิธีควบคุมการสนองตอบของร่างกายของตนเอง จนสามารถทำได้เองโดยไม่มีเครื่อง biofeedback ในที่สุด

แต่เมื่อนำเครื่อง Quantum Xrroid นี้เข้าไปได้แล้ว คนขายก็จัดแจงเร่ขายว่าเป็นเครื่องสร้างสมดุลของพลังชีวิต (bioenergy force) ซึ่งเป็นพลังที่หลักวิชาการแพทย์แผนปัจจุบันถือว่าเป็นสิ่งเหลวไหลไม่มีอยู่จริง เครื่องนี้จะส่งสัญญาณไฟฟ้าขนาดต่ำเข้าสู่ร่างกาย แล้ววัดความต้านทานไฟฟ้าของผิวหนังแล้วรายงานกลับมายังเครื่อง ซึ่งตัวเครื่องจะเอาค่าความต้านทานนี้ไปกระตุ้นหน่วยความจำให้แสดงผลออกมาเป็นเรื่องยกเมฆร้อยแปดพันเก้าใช้ทั้งศัพท์แสงของการแพทย์ปัจจุบันและศัพท์ที่ฟังเหมือนวิทยาศาสตร์ล้ำลึกแต่เก๊ (pseudoscience) ทั้งวินิจฉัยให้เสร็จเช่นบอกว่ากำลังมีมะเร็งก่อตัวขึ้นที่นั่นที่นี่ มีสารพิษชนิดนั้นอยู่ปริมาณเท่านี้ เป็นต้น หนังสือพิมพ์ Seattle Times ได้เปิดโปงกลโกงวิธีหากินนี้เมื่อปี 2008 จน FDA ได้ถอนใบอนุญาตให้จำหน่ายเครื่องนี้ในอเมริกาไป แต่ก็ยังไม่วายมีคนเอาเครื่องนี้มาเที่ยวหลอกคนอยู่ทั่วไปรวมทั้งในเมืองไทยเราด้วย

ตัวผมเองมองว่าอุปกรณ์ซังกะบ๊วย (bogus devices) พรรค์นี้มีอันตรายต่อสาธารณชน คือ (1) คนที่ถูกเครื่องวินิจฉัยว่าเป็นโน่นนี่นั่นร้อยแปดต้องเดือดร้อนเสียเงินเสียเวลาเสาะหาการพิสูจน์เพื่อให้ตัวเองพ้นจากความทุกข์กังวล (2) ถ้าเครื่องขี้หมานี้วินิจฉัยซี้ซั้วว่าไม่เป็นโรคอะไร ถ้าเผอิญเป็นโรคอยู่ก็จะเสียโอกาสที่จะได้รับการรักษาทันท่วงที (3) ไม่ว่าเครื่องนี้จะแนะนำการวินิจฉัยหลอกๆ หรือการรักษาเก๊ๆ ก็ล้วนเป็นเรื่องทำให้คนเสียเงิน

คนที่เอาเครื่องนี้เข้ามาหากินจึงเป็นคนอันตราย ถ้าท่านผู้อ่านท่านใดพบเห็นว่ามีแพทย์แผนปัจจุบันคนไหนใช้เครื่องนี้ทำมาหากินอยู่ที่ใดช่วยบอกผมเอาบุญด้วยนะครับ ผมจะพาแพทยสภาไปจัดการกำจัดออกไปจากวงการแพทย์เสียให้สิ้นทราก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์


บรรณานุกรม

1. Willmsen, Berens MJ. Miracle machines: 21st century snake oil. Seattle Times. Series that began in November 2007.
[อ่านต่อ...]

มีจุดที่ปอด

1. X-ray ปอด3ครั้งแล้วยังพบจุดและcheckเสมหะ3วัน คุณหมอบอกไม่พบเชื้อและจะให้ส่องกล้องอีก
อยากทราบว่า 1 มีโอกาสเป็นมะเร็งใหม
2. อายุ 63 ปี เลิกบุหรี่มา 7 ปีแล้ว น้ำหนัก82 kg น้ำหนักไม่ลดทานข้าวได้ เล่นgolf ได้
3. ขอรบกวนช่วยให้ความระจ่างด้วยครับ

ขอบพระคุณมากครับ

………………………………………….

ตอบครับ

1. อายุ 63 ปี เคยสูบบุหรี่มา มีจุดที่ปอด มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดไหม ตอบว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งปอดสูงมากอย่างแน่นอนครับ

2. การที่หมอแนะนำให้ส่องกล้อง (bronchoscopy) เพื่อล้างเอาเยื่อเมือกมาตรวจดูเซลมะเร็ง ผมเห็นว่าเป็นคำแนะนำที่ดีแล้ว และควรทำ

3. ถ้าส่องกล้องตรวจแล้วไม่พบเซลมะเร็ง ผมแนะนำว่าให้ตรวจด้วยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT chest) เพื่อประเมินขนาดและรูปร่างของก้อนหรือจุดนั้น ถ้าลักษณะก้อนเป็นเนื้องอกแนะนำว่าควรทำผ่าตัดเอาปอดส่วนนั้นออกมาตรวจ (lobectomy) แต่ถ้าลักษณะก้อนไม่ใช่เนื้องอกก็อย่าเพิ่งวางใจ ควรติดตามทำ CT chest ซ้ำอีกทุก 3 -6 เดือนจนแน่ใจว่าขนาดมันไม่เปลี่ยน จึงค่อยลดความถี่ของการติดตามเป็นทุก 1 ปี

4. กรณีของคุณนี้ ผมแนะนำว่าให้คิดว่ามันเป็นมะเร็งไว้ก่อน จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่ ดังนั้นอย่าลังเลที่จะทำทุกอย่างให้รู้ดีรู้ชั่วในเวลาอันสั้น เพราะมะเร็งปอดระยะแรก ผลการรักษาดีกว่าระยะแพร่กระจายอย่างเทียบกันไม่ได้

5. น้ำหนัก 80 กก. แต่ไม่บอกส่วนสูงมา ผมบอกไม่ได้ว่าน้ำหนักพอดีหรือไม่ แต่ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมานั่งดูเรื่องน้ำหนักหรือภาคภูมิใจกับการกินข้าวได้อร่อย ไปโฟคัสที่การคัดกรองมะเร็งในปอดก่อนดีกว่าครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

อายุขนาดนี้ สุขภาพโทรมขนาดนี้ ไม่ได้แก่ตายแน่

ผมอายุ 37 ปี สูง 175 ซ.ม. หนัก 80 กก.
ไม่สูบบุหรี ดื่มสุราบ้างบางครั้งไม่หนัก ไม่ดื่มทุกวัน (บางสัปดาห์ไม่ดื่ม)
ไปตรวจสุขภาพมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ผลเลือดออกมา
Cholesterol = 237
HDL=42.9
LDL=169.5
Triglyceride= 123
SGOT = 32
SGPT= 49
FBS=104
Creatinine = 0.75
Uric Acid = 7.1
eGFR = 124.55
ความเข้มข้นของเลือดปกติ ไม่มีโลหิตจาง
จำนวนเม็ดเลือดขาวปกติ
ปริมาณเกล็ดเลือด ปกติ
ลักษณะเม็ดเลือดแดง ปกติ
คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ปกติ
ผลอัตราซาวนด์ => ไขมันเกาะตับ
ผลการตรวจสารบ่งชี้มะเร็งตับ (AFP) อยู่ระดับปกติ (2.24)
รบกวนขอคำปรึกษาด้วย ครับ

.........................

ตอบครับ

สรุปปัญหาของคุณคือ

1. น้ำหนักเกินพอดี (ดัชนีมวลกาย = 26.1)
2. ไขมันเลว (LDL) สูงผิดปกติ
3. มีภาวะไขมันแทรกตับและตับเริ่มเสียการทำงาน (SGPT สูง)
4. อยู่ในภาวะใกล้เป็นเบาหวาน

อายุขนาดนี้ สุขภาพไปขนาดนี้แล้วก็คาดหมายได้เลยว่าถ้าไม่ทำอะไรเลย ไม่ได้แก่ตายแน่ เสียดายที่คุณไม่บอกความดันเลือดมาด้วย เพราะความดันเลือดก็เป็นดัชนีสุขภาพที่สำคัญอีกตัวหนึ่งในการตรวจสุขภาพประจำปี

แผนสุขภาพประจำปีนี้ที่ผมแนะนำให้คุณทำคือ

1. กำหนดเป้าหมายสุขภาพ
1.1 เป้าหมายน้ำหนักคือให้ต่ำกว่า 76 กก. (BMI<25)
1.2 ไขมัน LDL ให้ต่ำกว่า 130 mg%
1.3 น้ำตาลในเลือด (FBS) ให้ต่ำกว่า 100 mg%

2. เริ่มออกกำลังกายจนได้ระดับมาตรฐาน กล่าวคือออกกำลังกายแบบแอโรบิกให้ถึงระดับหนักพอควร (จนหอบเหนื่อยร้องเพลงไม่ได้) นานครั้งละอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละอย่างน้อย 5 ครั้ง บวกกับการฝึกกล้ามเนื้อ (เล่นกล้าม) อีกสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

3. ปรับโภชนาการ ในประเด็น
3.1 ลดแคลอรี่ในอาหารลง โดย (1) ลดไขมันทรานส์ หมายถึงไขมันที่ใช้ทำเค้ก คุ้กกี้ ไอศครีม ขนมกรุบกรอบต่างๆ ครีมเทียม เนยเทียม (2) ลดน้ำตาลที่เพิ่มเข้ามาในเครื่องดื่มและอาหารต่าง เช่นโค้ก น้ำผลไม้ ชาเชียว ที่ปรุงกันซะหวานเจี๊ยบ (3) ลดอาหารคาร์โบไฮเดรต เช่นลดข้าวมื้อเย็นลงให้เหลือมื้อละช้อนเดียว
3.2 เพิ่มการกินผักและผลไม้ให้มากขึ้น ให้ได้มากว่าวันละ 5 เสริฟ (ผลไม้ลูกโตเช่นแอปเปิลหนึ่งลูกนับเป็นหนึ่งเสริฟ ผักสลัดหนึ่งจานนับเป็นหนึ่งเสริฟ) คือกินกันแบบวัวเลย ถ้ากินไม่ไหวให้ใช้เครื่องปั่นความเร็วสูง (ไม่แยกกากทิ้ง) ปั่นให้เป็นของเหลวแล้วดื่ม

4. ทำอย่างนี้อย่างเข้มงวด 3 เดือน จนน้ำหนักลดได้ที่ แล้วกลับไปเจาะเลือดใหม่ ถ้า LDL ยังสูงเกิน 160 อยู่อีก คราวนี้คงต้องกินยาลดไขมัน ยานี้กินแล้วมักต้องกินกันจนตาย และมีพิษต่อตับด้วย แต่ถ้าลดด้วยมาตรการออกกำลังกายและปรับอาหารไม่สำเร็จก็ต้องกินยา เพราะพิษไขมันต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดมีมากกว่าพิษของยาต่อตับ

5. ถ้าทำเต็มที่แล้วมันไม่สำเร็จ ค่อยเขียนมาหาผมอีกทีนะครับ

นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

ปัสสาวะเป็นเลือด

เรียนคุณหมอค่ะ

ขอเรียนปรึกษาคุณหมอ เนื่องจากคุณแม่อายุ 59 ปี ตรวจสุขภาพแล้วปัสสาวะมีเม็ดเลือดแดงปนออกมา ก็เลยทำการรักษา โดยเริ่มต้นให้ยาฆ่าเชื้อมาทาน พอทานได้สักระยะ ก็ปัสสาวะแล้วมีเลือดปนออกมา ปัสสาวะเป็นสีออกแดงใส คุณหมอก็เลยส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะ พบว่าท่อปัสสาวะตีบ และได้ทำการฉีดสีตรวจการทำงานของไต แล้วไม่พบว่ามีนิ่ว ก็เลยให้ยาฆ่าเชื้อมาทานและยาแก้อักเสบลดบวม ทานมาได้ 1 อาทิตย์ ก็เริ่มกลับมามีอาการอีก คือปัสสาวะแล้วปวดหน่วงและมีเลือดปนออกมาอีกค่ะ ขอปรึกษาว่าควรต้องรักษาเพิ่มเติ่มอย่างไรต่อดีค่ะ ขอคำแนะนำด้วยค่ะ ขอบพระคุณมากนะคะ

......................

ตอบครับ

ข้อมูลที่คุณให้มามันไม่พอที่จะแนะนำอะไรเพิ่มเติมได้ครับ เพราะสาเหตุของปัสสาวะเป็นเลือด นอกจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบมีเลือดออก (hemorrhagic systitis) แล้ว ยังมีสาเหตุอื่นได้มากมายหลายหลาก ตัวอย่างข้อมูลที่ผมต้องการก็เช่น

1. ในระหว่างนี้คุณแม่กินยาหรือสมุนไพรหรืออะไรแปลกบ้างไหม เพราะสารพิษต่อไตทำให้ปัสสาวะเป็นเลือดได้ เช่นยาซัลฟา สมุนไพรที่เข้าพวกปรอท หรือแม้กระทั่งเลือดที่ได้รับการถ่ายเลือดมาจากคนอื่นก็เป็นพิษต่อไตได้

2. ก่อนหน้านี้ได้รับบาดเจ็บอะไรมาหรือเปล่า เพราะการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อไม่ว่าที่ไหน ก็ทำให้เลือดออกที่ไตได้

3. คุณแม่มีไข้ด้วยหรือเปล่า ถ้ามีวัดไข้ได้เท่าไร เพราะการติดเชื้อในระดับทั่วร่างกาย อาจทำให้เกิดเม็ดเชื้อโรค (septic emboli) ล่องลอยมาตามกระแสเลือด มาทำให้เลือดออกที่ไตได้

4. ตัวชี้วัดผลการทำงานของไต (GFR) เป็นเท่าไร เพราะโรคไตอักเสบ (glomerulonephritis) และลิ่มเลือดอุดที่ไต (renal vein thrombosis) ก็ทำให้ฉี่เป็นเลือดได้ ทั้งนี้ต้องดูว่ามีปัญหาสืบเนื่องจากการทำงานของไตหรือไม่ด้วย เช่นความดันเลือดสูงหรือเปล่า สูงเท่าไร มีภาวะโลหิตจางไหม ค่าเม็ดเลือดแดง (Hb หรือ Hct) เป็นเท่าไร

5. เคยได้ทำการตรวจภาพของช่องท้องด้วยอุลตร้าซาวด์หรือซีที. (เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์) ไปหรือยัง เพราะนอกจากนิ่วแล้ว เนื้องอกหลายชนิดที่ไต รวมทั้งความผิดปกติในรูปทรงของไตแต่กำเนิด (polycystic kidney) ก็ทำให้ปัสสาวะเป็นเลือดได้ ความผิดปกติเหล่านี้บางครั้งมองไม่เห็นจากการฉีดสีดูกรวยไต

6. เมื่อดูข้างต้นหมดแล้วไม่พบอะไร ก็ต้องตรวจเลือดเพื่อคัดแยกให้แน่ใจว่าไม่เป็นอีกสามโรค คือ (1) โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองเช่นโรค SLE ซึ่งทำให้เลือดออกง่ายได้ (2) โรคไฮเปอร์พาราไทรอยด์ ซึ่งทำให้ระดับแคลเซียมสูงเกิดนิ่วได้ง่าย (3) โรคเก้าท์ ซึ่งทำให้เกิดผลึกนิ่วในไตทำให้เลือดออกได้เช่นกัน

ผมแนะนำว่าคุณรอดูผลของการรักษา hemorrhagic cystitis ด้วยยาปฏิชีวนะไป 2 สัปดาห์ ถ้ามันไม่หาย คราวนี้ต้องกลับไปหาหมอใหม่ หมอคนเดิมนะแหละ โดยคราวนี้หารือกับหมอถึงการตรวจวินิจฉัยแยกสาเหตุทั้งหกกลุ่มข้างต้น ว่าข้อมูลอะไรมีแล้ว อะไรไม่มี ที่ไม่มีก็ควรตรวจเพิ่ม จนตีวงให้แคบเข้ามาได้ว่าปัญหาน่าจะเกิดจากอะไร เมื่อรู้เหตุแล้วค่อยวางแผนรักษากันใหม่

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

15 กุมภาพันธ์ 2554

จะไปตรวจภายในกับหุ่นยนต์ 20 ล้านแห่งเดียวในเมืองไทยดีไหม

คุณหมอสันต์คะ

ดิฉันได้อ่านข่าวว่าสถาบันมะเร็งซื้อหุ่นยนต์ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกราคา 20 ล้านบาทมาเป็นตัวแรกตัวเดียวของเมืองไทย และออกข่าวว่าตรวจได้แม่นกว่าวิธีธรรมดามาก ดิฉันจะไปตรวจกับหุ่นยนต์จะดีกว่าตรวจกับสูตินรีแพทย์ธรรมดาไหม

(สงวนนาม)

............................

ตอบครับ

เครื่องตรวจที่ว่านั้น มีชื่อการค้าว่า ThinPrep Imaging System เรียกย่อว่าเครื่อง TIS มันเป็นอุปกรณ์ใช้งานในห้องแล็บ ไม่ใช่หุ่นยนต์ตรวจภายในที่จะมายืนจังก้าตรวจคนไข้แทนหมอ คือมันเป็นกล้องจุลทรรศน์สำหรับส่องตรวจแผ่นสไลด์เพื่อหาเซลปกติคล้ายกล้องจุลทรรศน์ที่ใช้ในห้องแล็บทั่วไป แต่ต่างจากกล้องจุลทรรศน์ทั่วไปตรงที่มันมีโปรแกรมช่วยอ่านเซลด้วย เมื่อมันอ่านแล้วเห็นว่าตรงไหนน่าจะมีเซลผิดปกติอยู่ มันก็จะเขียนกรอบคร่อมไว้เพื่อให้สะดุดตาเท็คนิเชียน เวลาเทคนิเชียนมาตรวจสไลด์ก็จะได้ตั้งใจดูในกรอบนั้นให้ละเอียดว่ามีเซลผิดปกติอยู่จริงหรือเปล่า เป็นการช่วยให้เทคนิเชียนทำงานได้เร็วขึ้น

ประเด็นสำคัญคือการมีเครื่องนี้มาช่วยอ่าน เพิ่มความไวของการตรวจพบเซลผิดปกติจริงหรือไม่ เรื่องนี้ได้มีงานวิจัยพิสูจน์ไว้แล้ว ดังนี้

งานวิจัยหนึ่ง ทำโดยเอาผลการอ่านสไลด์ก่อนมีเครื่อง TIS ใช้ กับหลังจากมีเครื่อง TIS ใช้แล้ว ประมาณอย่างละ 1 แสน แผ่น มาดูอัตราการตรวจพบเซลผิดปกติระดับที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่ (ASC-US) ว่าระหว่างยุคมีเครื่องกับยุคไม่มีเครื่อง ยุคไหนจะตรวจพบได้มากกว่ากัน ผลปรากฏว่าตรวจพบมากได้พอๆกัน ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

อีกงานวิจัยหนึ่งทำในสถาบันที่มีการตรวจทั้งแบบใช้เครื่อง TIS ช่วยและแบบไม่ใช้เครื่อง TIS ช่วยเลย เขาวิจัยโดยใช้วิธีสุ่มเอาสไลด์ที่ได้วินิจฉัยว่าเป็นความผิดปกติระดับที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่ (ASC-US) มาจำนวน 23,103 แผ่น แล้วเอามาแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ตรวจโดยมีเครื่อง TIS ช่วย กลับกลุ่มที่ตรวจโดยไม่มีเครื่อง TIS ช่วย ก็พบว่าอัตราการตรวจพบเซลผิดปกติ ASC-US ไม่แตกต่างกัน และเมื่อตามไปดูผลการตรวจหาภูมิคุ้มกันไวรัสเอ็ชไอวี.ก็พบว่ามีความผิดปกติไม่ต่างกัน และเมื่อตามไปดูจนถึงผลการตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกมาตรวจ ก็พบว่าอัตราการพบมะเร็งก็ไม่ต่างกันอีก

โดยสรุปงานวิจัยพบว่าการมีเครื่อง TIS นี้ไม่ได้ทำให้อัตราการตรวจพบเซลผิดปกติมากขึ้นกว่าการตรวจโดยเท็คนิเชียนแบบดั้งเดิมโดยไม่มีเครื่องช่วย แปลไทยให้เป็นไทยได้ว่าสำหรับคนไข้แล้วรพ.จะมีหรือไม่มีเครื่อง TIS ผลการตรวจก็แม่นยำเท่าเดิม

คุณอาจจะว่า เฮ้ย.. อย่างนี้ก็หลอกกันสิ หลังจากได้อ่านคำถามของคุณแล้วตัวผมเองก็สงสัยเหมือนกัน จึงไปค้นดูในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ซึ่งเป็นต้นตอข่าว เขาให้ข่าวไว้แยกเป็นเรื่องๆได้ดังนี้

1. “...รุกหน้าด้านเทคโนโลยีการตรวจค้นหาความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกอย่างต่อเนื่อง สำหรับ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ นำโดย นพ....ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ที่เตรียมเปิดตัว “โรบอตเทคโนโลยีสุดล้ำ ระบบการตรวจมะเร็งปากมดลูกที่สมบูรณ์แบบ (ThinPrep Imager system) เครื่องแรกในประเทศไทย..ตัวเครื่องมีราคาถึง 20 ล้านบาท.. ” ตรงนี้เขาก็ไม่ได้หลอกอะไรนะครับ เขาเรียกชื่อเครื่องนี้ว่าโรบอต ซึ่งก็เป็นเรื่องของชื่อ เขาจะเรียกยังไงก็ได้ และเขาบอกว่าเขาเป็นเจ้าแรกที่ซื้อเครื่องนี้เข้ามา ซึ่งก็จริง ราคาเท่าไรเขาก็คงไม่โกหกหรอก

2. “…มะเร็งปากมดลูก ยังเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ของผู้ป่วยใหม่ รองจาก มะเร็งเต้านม และมีจำนวนผู้ป่วยใหม่ 1 หมื่นคนต่อปี การตรวจด้วยเทคนิคเซลล์วิทยาจะช่วยให้พบความผิดปกติระยะก่อนเป็นมะเร็งได้ถึง 50% อีกทั้งการตรวจที่แม่นยำจะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องมาตรวจซ้ำเป็นประจำทุกปี หรือ 5 ปี ครั้ง สำหรับสตรีที่แต่งงานแล้ว และอายุ 30 ปีขึ้นไป..” อันนี้ก็เป็นความจริง เพียงแต่ว่ามันไม่เกี่ยวอะไรกับการมีหรือไม่มีเครื่อง TIS (จะมีที่ผมติงนิดหนึ่งก็คือว่าการตรวจคัดกรองที่ว่าควรทำห่างออกไปนั้น มาตรฐานปัจจุบันยอมรับกันที่ทุก 3 ปี ยังไม่ห่างไปถึงทุก 5 ปี แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นซีเรียส)

3. “……ทั้งนี้ นอกจากเทคนิคการตรวจคัดกรอง มะเร็งปากมดลูก ด้วยเครื่องตินเพร็พ อิมเมเจอร์ แล้ว ในทางการแพทย์ยังได้พัฒนาเครื่องมือช่วยตรวจหามะเร็งปากมดลูกจากไวรัสเอสพีวี ซึ่งมีความจำเพาะต่อโรคมากกว่า โดยเทคโนโลยีใหม่สามารถตรวจหาได้ละเอียดถึงระดับเซลล์ในตำแหน่งที่ 16 และ 18 ของเชื้อไวรัสเอชพีวี ที่ก่อมะเร็งได้สูงถึง 70%..” อันนี้ก็จริงอีก คือวงการแพทย์พัฒนาการตรวจ HPV co test ขึ้นมาซึ่งช่วยเพิ่มความไวของการค้นหามะเร็งปากมดลูกได้ (ซึ่งเป็นคนละเรื่องไม่เกี่ยวกับเครื่อง TIS ราคา 20 ล้าน)

จะเห็นว่าสาระสำคัญของข่าวนี้คือเขาบอกว่าเขาซื้อกล้องจุลทรรศน์ TIS ราคายี่สิบล้านมาใช้ในห้องแล็บเท่านั้นเอง ไม่มีตอนไหนเลยที่เขาบอกว่าเครื่อง TIS นี้จะทำให้การตรวจคัดกรองมะเร็งแม่นยำขึ้น แต่คุณในฐานะผู้บริโภคบังเอิญเข้าใจไม่ถูกต้องเอง

ส่วนประเด็นที่คุณถามผมว่าควรจะไปตรวจที่นั่นหรือไม่ อันนี้อยู่ที่ดุลพินิจของคุณก็แล้วกันนะครับ ผมทำหน้าที่ให้ข้อมูลเท่านั้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Miller FS, Nagel LE, Kenny-Moynihan MB. Implementation of the ThinPrep Imaging System in a high volume metropolitan laboratory. Diag Cytopath. 2007;35:213-7.
2. Thrall MJ, Russell DK, Bonfiglio TA, Hoda RS. Use of the ThinPrep(R) Imaging System does not alter the frequency of interpreting Papanicolaou tests as atypical squamous cells of undetermined significance. CytoJournal 2008;5:10
3. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 18:36. ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์ โชวฺหุ่นยนต์ตรวจมะเร็งปากมดลูก http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/it/science/20110207/375930/
[อ่านต่อ...]

10 กุมภาพันธ์ 2554

มะเร็งลำไส้ใหญ่ กับตู๊ดโตโลจิสต์

สวัสดีครับคุณหมอ

ผมกำลังค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งลำไส้ แล้วมาเจอบทความของคุณหมอ ถูกใจบทความของคุณหมอมาก หลายๆบทความ เหมือนอ่านธรรมะเลย คุณแม่ผมอายุ 77 ปวดท้อง ถ่ายเป็นเลือด เลยไปส่องกล้อง แล้วเอาชิ้นเนื้อไปพิสูจน์ เมื่อวันที่ 5 มกราคมนี้ ได้ผลว่า เป็นมะเร็งลำไส้ คุณหมอแนะนำให้ผ่าตัด แต่คุณหมอเป็นห่วงเรื่อง สภาพร่างกายคุณแม่ ที่อ่อนแอ ปกติคุณแม่เป็นคนแข็งแรง ไม่เคยเจ็บป่วยเลย แต่ตอนนี้คุณแม่ ผอมลงมาก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แล้วก็ปวดเข่าด้วย ทำให้เดิน แทบไม่ได้ ต้องใช้รถเข็น ผมมีคำถามดังนี้ครับ

1. อาการ ปวดเมื่อย และปวดเข่าเป็นผล มาจากมะเร็งหรือไม่ครับ (ไปหาหมอ แล้วหมอบอกว่าอาจจะเป็นเก๊าท์เทียม ให้ยาเก๊าท์ กับ Nurofen 400 มาทาน แต่ก็ไม่ดีขึ้น)
2. ในช่วงที่ร่างกาย อ่อนแอ จะมีวิธีการรักษา หรือทางเลือกอื่น ที่ไม่ใช่การผ่าตัดหรือปล่าวครับ (ตอนนี้ผมซื้อ เห็ดหลินจือ และ อาหารเสริม โปรตีนถั่วเหลือง กับ เกสรดอกไม้ ให้ท่านทาน เพราะคิดว่าจะช่วยให้ คุณแม่มีเรี่ยวแรงขึ้น แต่ ดูเหมือน ไม่ช่วยอะไรเลย ทานมาได้ 1อาทิตย์ ระหว่างที่รอผลการพิสูจน์ ชิ้นเนื้อ)
3. คุณหมอกรุณา แนะนำในการรักษาเพิ่มเติมด้วยครับ

ขอบคุณมากครับ

(สงวนนาม)

..........................

ตอบครับ

1. อาการ ปวด เมื่อย และอาการไม่สบาย เป็นผลจากมะเร็งได้แน่นอน แต่ถ้าปวดเจาะจงลงไปที่เข่า ไม่เกี่ยวกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ น่าจะเป็นปัญหาที่หัวเข่าเช่นข้อเข่าเสื่อมมากกว่า หรือถ้าซวยสุดๆก็คือมะเร็งแพร่กระจายไปถึงกระดูก

2. วิธีรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่โดยไม่ผ่าตัด ไม่มี เพราะมะเร็งชนิดนี้การผ่าตัดเป็นไม้ตายที่ทำให้หายได้ หมายความว่ายังไม่เป็นถึงระยะแพร่กระจายแล้วนะครับ สมัยนี้การผ่าตัดควบกับเคมีบำบัดทำให้มะเร็งลำไส้ใหญ่แม้จะเป็นมากถึงระยะสองระยะสามก็ยังหายขาดได้ ดังนั้นการผ่าตัดจึงดีที่ซู้ด อย่าคิดหนีไปหาวิธีรักษาอื่นเลย ส่วนการคุณจะให้เห็ดหลินจือ อาหารเสริม โปรตีนถั่วเหลือง เกสรดอกไม้ ผมเห็นว่าก็ไม่มีอะไรเสียหายนะครับ ถ้ามันไม่แพงมากเกินไป เพียงแต่ว่าในเชิงวิทยาศาสตร์มันไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามันดีกว่าอาหารที่ครบหมู่ตามปกติทั่วไปหรือไม่

3. คำแนะนำเพิ่มเติมของผมเป็นเรื่องการป้องกันซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้ คือมะเร็งลำไส้ใหญ่นี้เป็นโรคที่ป้องกันได้ กลไกการเกิดของมันคือจะเริ่มต้นด้วยการที่มีติ่งเนื้อคล้ายๆเห็ดเกิดขึ้นที่ผิวของเยื่อบุลำไส้ใหญ่ก่อน เรียกว่าโพลิป (polyp) ซึ่งโพลิปนี้จะใช้เวลานานประมาณ 10 ปีในการพัฒนาตัวเองไปเป็นมะเร็ง ดังนั้นหากเราส่องตรวจลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) ทุกสิบปี เมื่อพบติ่งเนื้อนี้ก็คีบออกมาเสีย ก็จะป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ วิธีป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่มีสามวิธีคือ

3.1 ส่องตรวจลำไส้ใหญ่ทุก 10 ปี สำหรับผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปีทุกคน หรือผู้ที่มีความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นพิเศษเช่นมีพันธุกรรมในครอบครัว ถ้าส่องตรวจลำไส้ใหญ่ทุก 10 ปี ก็จะป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ในยุโรปและอเมริกาที่การส่องตรวจลำไส้ใหญ่ทำกันเป็นว่าเล่นอัตราป่วยและตายจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ลดลงอย่างรวดเร็ว น่าเสียดายที่ในเมืองไทยเรานี้การคัดกรองมะเร็งด้วยการส่องตรวจลำไส้ใหญ่ไม่แพร่หลาย เหตุหนึ่งเป็นเพราะหมอเองก็ยังไม่รู้ จึงไม่ได้บอกคนไข้ อีกเหตุหนึ่งเป็นเพราะคนไทยเรานี้เป็นพันธุ์ที่ไม่ชอบให้ใครมาทำอะไรแถวก้นของตัวเอง คงจะกลัวผีปอบหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ (พูดเล่น) อัตราการป่วยจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ของเราจึงอยู่ในทิศทางเพิ่มขึ้น ขณะที่ของฝรั่งเขาอยู่ในทิศทางลดลง

3.2 ทานผักและผลไม้ให้มากๆ มากประมาณน้องๆวัว ก็จะมีส่วนช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ เพราะการวิจัยเชิงระบาดวิทยาจำนวนมากให้ผลตรงกันว่ากลุ่มคนที่ทานผักและผลไม้มาก จะมีอัตราเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่น้อยกว่ากลุ่มคนที่ทานผักและผลไม้น้อย และว่าคนที่ทานเนื้อสัตว์และมันสัตว์มาก จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก

3.3 การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลดอุบัติการณ์ของมะเร็งชนิดนี้ได้ อันนี้ก็มาจากงานวิจัยเชิงระบาดวิทยาหลายงานที่ให้ผลตรงกันเช่นกัน ว่าการออกกำลังกายนี้นอกจากจะทำให้เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่น้อยลงแล้ว ยังทำให้คนที่เป็นแล้วเกิดมะเร็งกลับกำเริบ (recurrence) ต่ำกว่าคนที่เอาแต่นั่งๆนอนๆไม่ออกกำลังกายอีกด้วย

3.4 ปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งชนิดนี้แน่นอนและป้องกันได้คือโรคอ้วน การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่

3.5 กรรมพันธุ์เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไมได้ แต่เฝ้าระวังให้ถี่ขึ้นได้ คนที่มีกรรมพันธุ์เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่จึงต้องเฝ้าระวังมากเป็นพิเศษ เพราะกรรมพันธุ์กับมะเร็งชนิดนี้นั้นเป็นของแท้แน่นอนพิสูจน์ได้แล้ว กรรมพันธุ์บางชนิดเช่นโรคเป็นโพลิปกันทั้งครอบครัว (familial adenomatous polyposis - FAP) นั้น แทบจะเชื่อขนมเจ๊กกินได้เลยว่าต้องเป็นมะเร็ง 100% ตั้งแต่อายุยังไม่ทันพ้น 40 ปีเสียอีก

4. สำหรับคนที่หัวเด็ดตีนขาดอย่างไรก็ไม่ยอมให้ใครมาส่องก้น ควรจะเฝ้าระวังอาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ อาการแรกมักจะเป็นโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก เนื่องจากเลือดค่อยๆออกมาโดยไม่รู้ตัว ถ้ามากขึ้นก็จะเห็นเลือดปนออกมากับอุจจาระ อาการอื่นก็เช่น ปวดท้องเรื้อรัง นิสัยการขับถ่ายเปลี่ยนไป เช่นท้องกลายเป็นท้องผูก หรือกลายเป็นถ่ายเหลวประจำ เป็นต้น

5. การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นก็ไม่พ้นการผ่าตัด ควบกับการให้เคมีบำบัด แต่การฉายแสงไม่ใช้ในการรักษามะเร็งชนิดนี้ยกเว้นมะเร็งทวารหนัก เมื่อถึงขั้นต้องรักษาแล้ว ควรขวานขวายไปรักษากับหมอที่เป็นผู้เชี่ยวชาญโรคนี้โดยตรง ซึ่งเรียกว่า Colorectal surgeon หรือศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก สมัยก่อนเรียกว่า proctologist ทำให้หมอไทยเรียกกันเล่นๆว่า “ตู๊ดโตโลจิสต์” จริงอยู่ศัลยแพทย์ทั่วไปก็ทำผ่าตัดมะเร็งชนิดนี้ได้ แต่การรักษากับตู๊ด..เอ๊ย ขอโทษ กับพร็อคโตโลจิสต์ดีกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ตรงที่มะเร็งชนิดนี้เป็นโรคเชิงซ้อน มีประเด็นปัญหาปลีกย่อยแยะมาก ต้องคนที่ทำกับโรคนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันจึงจะทำได้ดี คนที่นานๆทำทีจะหลุดลืมนั่นลืมนี่ ดังนั้นโรคนี้ถ้ายังไม่เป็น ส่องก้นป้องกันไว้ แต่ถ้าเป็นแล้ว โน่นเลย ตู๊ด.เอ๊ย พร็อคโตโลจิสต์

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

............................

17 กพ. 54
ตอนนี้คุณแม่กระดูกหัก คุณหมอเลยตัดสินใจผ่าตัดด่วน
แล้วก็พบว่า มะเร็งกระจาย และมีเนื้องอก ตรงกระดูกต้นขา ทำให้กระดูกหักง่าย
ผมปรึกษากับหมอ เขาบอกว่าทำอะไรเพิ่มไม่ไ้ด้แล้ว เพราะมะเร็งกระจายแล้ว
และไม่ได้พูดถึง เคมีบำบัดเลย
ไม่แน่ใจว่า หมอที่ผ่าตัด ใช่ พร็อคโตโลจิสต์ หรือปล่าว

ขอบคุณ คุณหมอ มากครับ
(สงวนนาม)
[อ่านต่อ...]

09 กุมภาพันธ์ 2554

อายุ 71 ปีเป็นลมหน้ามืดหมดสติ 3 ครั้งใน 10 วัน

คุณพ่อ อายุ 71 ปี หน้ามืดเป็นลมถึงขั้นหมดสติล้มลง เป็นสามครั้ง ใน 10 วัน ไม่ธรรมดาใช่ไหมคะ ปกติคุณพ่อเป็นคนแข็งแรง ยังทำงานเป็นที่ปรึกษาธุรกิจและเดินเหินไปมาคล่องแคล่ว ไม่มีโรคประจำตัวเลย ยกเว้นปัสสาวะขัดจากต่อมลูกหมากโตซึ่งรักษาด้วยการทานยามาหลายปีแล้วซึ่งก็ได้ผลดีโดยไม่มีปัญหาอะไร อยากถามคุณหมอว่า อาการอย่างนี้เป็นอะไรได้บ้าง จะรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ไหม และจะต้องไปตรวจที่ไหน ต้องตรวจพิเศษอะไรบ้างค่ะ

...........................

ตอบครับ

ไม่ธรรมดา ใช่แล้วครับ เพราะอาจตายได้ ขอโทษถ้าพูดตรงไป เจตนาเพียงแต่อยากให้เห็นว่ามันซีเรียส
อาการหน้ามืดเป็นลมหมดสติ (syncope) เกิดได้จากหลายสาเหตุมากเลยครับ ที่พบบ่อยก็เช่น

1. เป็นเพราะยาที่กิน กรณีคุณพ่อคุณกินยารักษาต่อมลูกหมากโต ผมเดาเอาว่าเป็นยาในกลุ่ม alpha blocker ซึ่งมีผลข้างเคียงคือทำให้ความดันตกเมื่อเปลี่ยนท่าร่าง (orthostatic hypotension) เป็นสาเหตุของอาการเป็นลมหน้ามืดได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะในคนสูงอายุที่ใช้ยาไปนานๆ

2. ไม่ได้เป็นโรคอะไร แต่ร่างกายขาดน้ำ จะเป็นเพราะดื่มน้ำน้อยแล้วไปอยู่ในที่ร้อนๆ หรือเป็นเพราะกินยาขับปัสสาวะรักษาโรคสาระพัดตั้งแต่โรคความดันยันโรคไม่อยากอ้วน

3. เป็นโรคซีดธรรมด๊า ธรรมดา หมายถึงโลหิตจาง (anemia) เลือดไม่พอไหลเวียนไปสมอง ก็หน้ามืด สาเหตุของโลหิตจางอาจจะเพราะเสียเลือด หรือเพราะวัตถุดิบในการสร้างเม็ดเลือดไม่พอ เช่นขาดอาหาร ขาดธาตุเหล็ก หรือเพราะกลไกการสร้างเม็ดเลือดเสียไปเช่นเป็นโรคเลือดแบบต่างๆรวมทั้งมะเร็งเม็ดเลือดขาว

4. หัวใจเต้นผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนสูงอายุหัวใจมักขี้เกียจเต้น เพราะตัวให้จังหวะมันป่วย (sick sinus syndrome) จังหวะที่มันงดเต้นก็จะหน้ามืด

5. น้ำตาลในเลือดต่ำ ถ้าเป็นเบาหวานกินยาอยู่ก็ใช่เลย เพราะยาเบาหวานมักทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ แต่คนไม่เป็นเบาหวานก็น้ำตาลในเลือดต่ำได้ จากสาเหตุอื่นเช่นเนื้องอกที่ตับอ่อน (insulinoma) หรือความผิดปกติของต่อมหมวกไตชนิดทำงานได้น้อย (Addison’s disease) เป็นต้น

6. เป็นอัมพาตหรืออัมพฤกษ์ คือบางทีนึกว่าเป็นลมธรรมดา แต่จริงๆแล้วเป็นอัมพฤกษ์ หมายความว่าอัมพาตชั่วคราวแล้วกลับเป็นปกติ พวกนี้มีสาเหตุจากเลือดก่อตัวเป็นลิ่มแล้วไปอุดหลอดเลือดในสมอง อุดแล้วถ้าสลายไปเองก็เป็นอัมพฤกษ์ แต่ถ้าอุดแล้วไม่สลายไปก็เป็นอัมพาต คือแขนขาอ่อนแรงถาวรไปเลย

7. กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เสียการทำงาน ส่งเลือดไม่ถึงสมอง

8. หัวใจปล่อยเม็ด (emboli) ให้ล่องลอยไปในเลือดแล้วไปอุดหลอดเลือดสมอง ซึ่งอาจจะเป็นเม็ดเชื้อโรคที่ติดอยู่ที่ลิ้นหัวใจ (bacterial endocarditis) หรือเป็นเม็ดเนื้องอกในหัวใจ (myxoma) หรืออาจจะเป็นลิ่มเลือดธรรมดาๆที่ก่อตัวขึ้นที่หัวใจห้องบนเพราะหัวใจห้องบนเต้นแบบรัว (atrial fibrillation) ซึ่งมักเป็นในคนสูงอายุ

ทั้งแปดสาเหตุนี้เป็นสาเหตุที่พบบ่อย เมื่อไปหาหมอ สิ่งที่หมอจะทำ (ถ้าเขาไม่ทำคุณก็ต้องถาม) ก็คือ

1. ตรวจเลือดเพื่อดูองค์ประกอบต่อไปนี้ก่อน
a. มีภาวะเลือดจางหรือเปล่า โดยดูจากฮีโมโกลบิน (Hb)
b. น้ำตาลในเลือดต่ำหรือเปล่า ถ้าอดข้าวมาก็ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (FBS) ถ้าไม่ได้อดข้าวมาก็ตรวจน้ำตาลสะสม (HbA1c)
c. มีความผิดปกติของแร่ธาตสำคัญในเลือดหรือเปล่า เช่นโซเดียม โปตัสเซียม แคลเซียม ซึ่งใช้บอกความผิดปกติของการทำงานของต่อมหมวกไตได้
d. ควรจะตรวจฮอร์โมนของต่อมพาราไทรอยด์ และไทรอยด์ด้วย เพราะโรคต่อมไร้ท่อที่มีผลต่อการผลิตอินสุลินมักเกี่ยวข้องกันหลายต่อม รวมไปถึงต่อมไทรอยด์และพาราไทรอยด์ด้วย

2. ตรวจปัสสาวะเพื่อดูความเข้มข้น (osmolarity) ของปัสสาวะ เพื่อใช้วินิจฉัยภาวะร่างกายขาดน้ำ (dehydration)

3. เอ็กซเรย์ปอดดู เพราะเนื้องอกในปอดบางชนิดก็ปล่อยอินสุลิน ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำได้ การเอ็กซเรย์ปอดยังจะทำให้ทราบโรคอื่นๆที่ปอดซึ่งเป็นสาเหตุของการเป็นลมได้เช่นกัน เช่นลมคั่งในช่องปอด (pneumothorax)

4. ตรวจคลื่นหัวใจ (EKG) เพื่อวินิจฉัยแยกภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ถ้าจำเป็นหมออาจจะของตรวจแบบห้อยเครื่องติดตัวหลายๆวัน (Holter monitoring)

5. ตรวจ tilt table test เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นความดันตกเพราะเปลี่ยนท่าร่างจริงหรือไม่

6. ถ้าอาการส่อ หมออาจจะขอตรวจลึกไปถึงการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียง (echo) เพื่อวินิจฉัยแยกภาวะมีเม็ดเชื้อโรคที่ลิ้นหัวใจ (BE) หรือเม็ดจากเนื้องอก (myxoma) ในหัวใจ หรืออาจให้วิ่งสายพาน (stress test) เพื่อวินิจฉัยแยกกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

7. ถ้ามีหรือส่อว่ามีอาการทางระบบประสาทที่ทำให้หมอสงสัยว่าจะเป็นอัมพาตหรืออัมพฤกษ์ หมออาจจะขอตรวจสมองด้วยคอมพิวเตอร์ (CT) หรือคลื่นแม่เหล็ก(MRI)

เมื่อตรวจทั้งหมดนี้ คาดว่าคงต้องเจอสาเหตุ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งแหละครับ อาการเป็นลมหน้ามืดนี้ ต้องตรวจให้ทราบสาเหตุก่อน จึงจะรักษาได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

กลัวไวรัส HPV จะมากับสายชักโครกและน้ำในคอห่าน

พอดีได้อ่านบทความ เกี่ยวกับการติดไวรัส HPV น่ะค่ะ มีความกังวลมาก คือ อยากทราบว่ามันสามารถอยู่ในอากาศได้นานเท่าไหร่ มันสามารถติดต่อ เช่นการเข้าห้องน้ำสาธารณะแล้วมีน้ำกระเด็นขึ้นมาจากโถ มาโดนอวัยวะเพศ หรือ การใช้ขันอาบน้ำ สายชำระ ตลอดจนใช้เสื้อผ้าของใช้ร่วมกัน หนูขอคำแนะนำว่า การฉัดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก มีราคาเท่าไรคะ ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ

เบลล์

..........................................

ตอบครับ

1. ไวรัส HPV ติดต่อโดย skin to skin contact หมายถึงเมื่อผิวหนังของคนเป็นโรค มาสัมผัสกับผิวหนังของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการมีเพศสัมพันธ์ เป็นวิธีแพร่เชื้อนี้ที่บ่อยที่สุด

2. เชื้อไวรัส HPV ปกติจะสิงสู่อยู่ในชั้นเซลผิวหนัง (basal cell หรือ epidermis) แต่ก็ทนอยู่ในบรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมทั่วไปได้นานมากหลายเดือนโดยไม่ตาย มีหลักฐานว่าคนที่เป็นหูดที่ฝ่าเท้าแล้วเดินเท้าเปล่า สามารถแพร่เชื้อไวรัสนี้ไปให้กับคนอื่นที่เดินเท้าเปล่าในพื้นที่เดียวกันด้วยกันอีกหลายคน

3. การแพร่เชื้อโดยน้ำในโถส้วมกระเด็นใส่ หรือการใช้ขันอาบน้ำ สายชำระร่วมกัน เท่าที่ผมทราบ ยังไม่เคยมีรายงานทางการแพทย์ว่ามี ผมจึงตอบคุณไม่ได้ว่ามีความเสี่ยงจากการแพร่เชื้อทางนี้จริงหรือไม่ ดังนั้นอย่ากลัวถึงขนาดไม่ยอมใช้สายชำระเลยครับ

4. การฉีดวัคซีนป้องมะเร็งปากมดลูก ทุกคนฉีดได้ (งานวิจัยสนับสนุนการฉีดตั้งแต่อายุ 9-45 ปี ทั้งนี้ต้องไม่ตั้งครรภ์อยู่นะ เพราะวัคซีนนี้ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์) ฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ที่เดือน 0, 2, 6 หมายความว่าเข็มแรกฉีดทันที เข็มสองห่างเข็มแรก 2 เดือน เข็มสามห่างเข็มแรก 6 เดือน

5. ราคาวัคซีน HPV ถ้าเป็นวัคซีน 4 สายพันธ์ สามเข็ม 7,500 บาท แพงเหมือนกันนะครับ แต่ในแง่ของการป้องกันมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง มันคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม งดทาลิปสติกสักปีสองปีเพื่อเก็บเงินฉีดวัคซีนนี้ยังคุ้มเลย ผมแนะนำให้ฉีดเลย ไม่ต้องลังเล

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

08 กุมภาพันธ์ 2554

มีประจำเดือนแล้วปวดท้องหงุดหงิด

อายุ 28 ปี เวลามีประจำเดือนจะปวดท้อง หงุดหงิด ท้องอืด คลืนไส้ จะไม่รู้สึกเลยช่วงมีประจำเดือนวันแรก ไปตรวจภายในมาผลออกมาปกติคะแต่ทำไมปวดท้องมาก จนต้องพึ่งยาแก้ปวด เลยหันมาทานพริมโรส เป็นตัวช่วย ก็ดีขึ้นแต่ยังมีอาการท้องอืด หงุดหงิด เหมือนจะไม่สบาย ทำให้เป็นอุปสรรคการทำงานพอสมควร ทำไมวิถึงมีอาการปวด ทั้งๆ การตรวจภายในก็ปกติน่ะคะ

………………………

ตอบครับ

1. อาการที่มาเป็นกลุ่มตอนเลือดจะไปลมจะมา ภาษาแพทย์เรียกว่า premenstruation syndrome หรือ PMS หมายถึงอาการผิดปกติที่เกิดเฉพาะช่วงก่อนและขณะประจำเดือนมา ปวดท้องน้อย ปวดหลัง ท้องอืด เรอ เบื่ออาหาร อยากกินอะไรเฉพาะอย่างแบบคนแพ้ท้อง ท้องผูก สิวขึ้น ซึมเศร้า ร้องไห้ แสบหน้าอก หงุดหงิด เพลีย ปวดหัว วูบวาบ ปวดข้อ อารมณ์แปรปรวน ไม่มีอารมณ์เซ็กซ์ เต้านมตึง ขาดสมาธิ นอนไม่หลับ มือเท้าบวม อยากอยู่คนเดียว น้ำหนักขึ้น ฯลฯ เป็นต้น

2. ถามว่าทำไมถึงมีอาการพวกนี้ มันเกิดจากอะไร ตอบว่าไม่มีใครทราบ ทราบเพียงแต่ว่ามันสัมพันธ์กับรอบเดือน

3. ถามว่ามีวิธีรักษาอาการที่มาตามรอบเดือนไหม ตอบว่าไม่มี

4. ลองทำสิ่งต่อไปนี้ดูสิครับ แม้จะไม่รู้สาเหตุแต่ก็มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่าทำให้กลุ่มอาการที่มาตามรอบเดือนดีขึ้น คือ

4.1 การออกกำลังกายให้ถึงระดับมาตรฐาน (คือออกกำลังกายแบบแอโรบิกให้หนักพอควรถึงขั้นร้องเพลงไม่ได้และให้ต่อเนื่องอย่างน้อย 30 นาทีสัปดาห์ละอย่างน้อย 5 ครั้ง ควบกับการออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อหรือเล่นกล้ามสัปดาห์ละอย่างน้อยสองครั้ง)

4.2 ปรับโภชนาการให้ถูกส่วน ให้มีสัดส่วนของผักและผลไม้มากพอ และลดปริมาณเกลือให้เหลือต่ำมากๆ ลดสารกระตุ้นเช่นกาแฟ แอลกอฮอล์

4.3 จัดเวลานอนให้พอเพียง อย่างน้อยวันละ 7-8 ชม. และนอนให้เป็นเวลา

4.4 การจัดการความเครียด เช่นการฝึกสมาธิ โยคะ มวยจีน ตรงนี้ผมขอแนะนำนอกตำรานิดหนึ่ง ไม่ถือว่าผิดจริยธรรมวิชาชีพนะครับ เพราะบอกแล้วว่านอกตำรา ลองฝึกวิปัสสนาแบบตามดูอาการปวดของร่างกาย (เวทนานุสติปัฐฐาน)มีคนลองแล้วเขาว่าทำให้ความทนทานต่ออาการปวดดีขึ้น เท็จจริงอย่างไรไม่ทราบ เพราะเป็นหลักฐานขั้นคำบอกเล่า ไม่ใช่งานวิจัย

4.5 ใช้ยาช่วย บรรเทาอาการถ้าจำเป็น ทั้งนี้ต้องยอมแลกกับผลเสียที่อาจเกิดจากยา ยาที่ใช้มากได้แก่

4.5.1 ยาแก้ปวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาแก้ปวดแก้อักเสบที่ไม่ใช่สะเตียรอยด์ (NSAID)

4.5.2 ยาขับปัสสาวะ ใช้บรรเทาอาการบวมมาก

4.5.3 ยาแก้ซึมเศร้า ถ้ามีอาการหงุดหงิดซึมเศร้ามาก แต่ยาพวกนี้ต้องกินต่อเนื่องทุกวันจึงจะได้ผล

4.5.4 ยาคุมกำเนิด เพื่อปรับระดับฮอร์โมนไม่ให้หวือหวามาก ได้ผลในบางราย

5. พูดถึงยาผีบอกที่ใช้รักษากลุ่มอาการที่มากับรอบเดือน หมายถึงวิตามินหรือสมุนไพรที่มีผู้แนะนำไว้ตามเว็บไซท์มากมายนั้น ยังไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์รองรับว่าได้ผลจริงหรือไม่ เช่น วิตามินบี.6 วิตามินอี แคลเซียม แมกนีเซียม แมงกานีส ทริปโตแฟน น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส เป็นต้น เนื่องจากหลักฐานทางการแพทย์ยังไม่มี ผมจึงแนะนำอะไรไม่ได้ ถ้าคุณอยากลองก็ลองเถอะครับ


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

02 กุมภาพันธ์ 2554

ถ้าการตายจากนิวโมเนียมีวัคซีนป้องกัน ทำไมหมอไม่บอก

คุณหมอครับ

คุณแม่ผมอายุ 68 ปี ป่วยเป็นปอดอักเสบ อยู่ไอซียูเดือนกว่าแล้วเสียชีวิต หมอบอกว่าเป็นโรค IPD ซึ่งเชื้อดื้อยาทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิต และได้ยินหมออีกคนหนึ่งถามว่าเคยฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมเนียหรือเปล่า ผมอยากถามคุณหมอว่า
1. โรค IPD ในคนสูงอายุนี้ป้องกันด้วยวัคซีนได้ใช่ไหม
2. ถ้าป้องกันได้ ทำไมหมอไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีน
3. ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีนนี้
4. วัคซีนราคาเท่าไร ฉีดที่ไหนได้บ้าง ข้าราชการเบิกได้หรือเปล่าครับ

Pakorn

.............................

ตอบครับ

ก่อนตอบคำถามของคุณ ผมขอพูดถึงโรค IPD พอให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นรู้แบ๊คกราวด์นิดหนึ่ง โรคนี้ย่อมาจาก invasive pneumococcal disease แปลว่าโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมเนีย (S. pneumoniae) ชนิดรุกล้ำเข้ากระแสเลือด เป็นสาเหตุใหญ่ของการเสียชีวิตในผู้สูงอายุ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง และเด็ก ปีหนึ่งๆในสหรัฐมีผู้ป่วยเป็นปอดบวมประมาณ 5 แสนคน โดยที่หนึ่งในสามเกิดจากเชื้อนี้ เมื่อเชื้อนี้ผ่านทางเดินลมหายใจเข้ามาสู่ตัวเราแล้ว จะทำให้เจ็บป่วยได้หลายแบบ นับตั้งแต่ติดเชื้อทางเดินลมหายใจส่วนบน เป็นปอดบวม และติดเชื้อแบบรุกล้ำเข้าสู่กระแสเลือด (invasive pneumococcal disease - IPD) ทำให้มีผู้เสียชีวิตในสหรัฐฯเพราะเชื้อนี้ปีละประมาณ 40,000 คน โดยเฉพาะผู้สูงอายุนั้น หากติดเชื้อนี้แล้ว 30-40% เชื้อจะรุกล้ำเข้ากระแสเลือด และ 36% จะเสียชีวิต

เอาละคราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

1. โรค IPD ในคนสูงอายุนี้ป้องกันด้วยวัคซีนได้ใช่ไหม ตอบว่าใช่ครับ การฉีดวัคซีนป้องกันชื่อ PPSV23 (pneumococcal polysaccharide vaccine 23 strains) เป็นวิธีที่เชื่อถือได้วิธีเดียวที่จะป้องกันการเสียชีวิตจากโรค IPD ได้อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือเมื่อได้รับวัคซีนแล้ว เกิน 80% ของผู้รับจะสร้างภูมิคุ้มกันซึ่งเพิ่มจำนวนตัวเองขึ้นได้เกิน 2 เท่าภายในเวลา 2-3 สัปดาห์ วัคซีนนี้มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือด (IPD) ได้ประมาณ 75% ในผู้สูงอายุ และ 65-84% ในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

2. สาเหตุที่หมอไม่ได้แนะนำให้ฉีดวัคซีน อาจเป็นเพราะ

2.1 หมอลืม

2.2 หมอไม่มีเวลาพูด

2.3 หมอไม่รู้ คืออาจจะไม่รู้ว่ามีวัคซีน PPSV23 อยู่ในโลกนี้ หรืออาจจะไม่รู้ว่ามาตรฐานการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุทั่วไป ต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกันนิวโมเนียด้วย การที่หมอจะไม่รู้อะไรบ้างนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะความรู้แพทย์กว้างใหญ่ไพศาลเรียนกันจนตายก็ไม่หมด เรียนได้หน้าลืมหลัง ไม่มีหมอคนไหนจะแสนรู้ไปหมดทุกเรื่องหรอกครับ รวมทั้งหมอสันต์ด้วย (แหะ..แหะ พูดเล่น)

3. ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีนนี้ องค์กรนำทางด้านการแพทย์เช่นองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรวิชาชีพที่สำคัญๆในสหรัฐ เช่นศูนย์ควบคุมโรค (CDC) วิทยาลัยอายุรแพทย์ (ACP) วิทยาลัยเวชศาสตร์ครอบครัว (AAFP) ล้วนแนะนำว่าคนต่อไปนี้มีความเสี่ยงสูง ควรฉีดวัคซีนป้องกันนิวโมเนีย คือ

3.1 ผู้สูงอายุทุกคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

3.2 ผู้มีอายุระหว่าง 2-64 ปี ที่

3.2.1 เป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้อวัยวะสำคัญเสียการทำงาน เช่น (1) โรคหัวใจและระบบไหลเวียนเลือด

3.2.2 โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง (3) โรคตับเรื้อรัง (4) พิษสุราเรื้อรัง (5) โรคเบาหวานระยะที่มีปัญหากับระบบไหลเวียนเลือด หรือกับไต

3.2.3 มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่นเป็นโรคเอดส์ เป็นมะเร็งต่างๆ

3.2.4 ม้ามเสียการทำงาน หรือถูกตัดม้ามไปแล้ว

3.2.5 ผู้พักอาศัยในแหล่งที่มีการระบาดของเชื้อนิวโมเนียบ่อย รวมทั้งในบ้านพักผู้สูงอายุ

3.2.6 ผู้ที่เพิ่งฟื้นจากการเป็นปอดบวมเพื่อป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือด (WHO)

4. วัคซีนราคาเข็มละประมาณ 1500 – 2000 บาท ฉีดเข็มเดียวใช้ได้ตลอดชีวิต ยกเว้นคนที่ตัดม้ามไปแล้วซึ่งมีความเสี่ยงติดเชื้อนิวโมเนียสูงมากเป็นพิเศษอาจฉีดเบิ้ลทุกห้าปีได้

5. ข้าราชการ ผมเข้าใจว่าเบิกไม่ได้ครับ สมัยก่อนการป้องกันโรคทุกชนิดไม่ว่าวัคซีนอะไรก็เบิกไม่ได้เลย แต่การรักษาปลายเหตุของโรคจะเสียเงินกี่แสนกี่ล้านก็เบิกได้ ตลกดีแมะ สมัยนี้ดีขึ้นหน่อย วัคซีนราคาถูกๆเริ่มเบิกได้บ้างแล้ว อย่างน้อยวัคซีนบาดทะยักและวัคซีนหมาบ้าก็เบิกได้ละน่า (ขอโทษ..ติดนิสัยปากเสียอีกละ)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

....................................................................

.........................................................
Update 2 มีค. 58

ในปีนี้ (พ.ศ. 2558) คณะกรรมการแนะนำเวชปฏิบัติการสร้างภูมิคุ้มกัน ได้สรุปหลักฐานและออกคำแนะนำใหม่  (ACIP .2015) ว่าต่อไปนี้ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปทุกคนไม่ว่าจะมีความเสี่ยงพิเศษหรือไม่ ให้ฉีดวัคซีนควบสองตัวคือฉีด PCV13 แล้วหลังจากนั้นก็ฉีด PPSV23 ตามหลังภายใน 6-12 เดือน ในกรณีที่เคยได้ PPSV23 มาตัวเดียว ให้รอไปอย่างน้อย 12 เดือนแล้วฉีด PCV13 หนึ่งเข็มตามหลัง

นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Prevention of Pneumococcal Disease: Recommendations of the Advisory Committee on Immunization Practices (ACIP) MMWR 1997: 46(RR-08);1-24

2. Fedson DS, Musher DM, Eskola J. Pneumococcal vaccine. In: Plotkin SA, Orenstein WA eds. Vaccines (3rd ed.). Philadelphia: WB Saunders Company; 1999. pp. 553–607.
[อ่านต่อ...]

ถูกเจาะเลือดโดยคนเจาะไม่เปลี่ยนถุงมือ

หนูไปตรวจเลือดหาไวรัสตับอักเสบบีที่คลินิกแถวบ้าน วันนั้นมีคนนั่งรอเจาะเลือดก่อนหน้าหนูประมาณห้าถึงหกคน หนูนั่งมอง เห็นว่าคนเจาะเลือดเค้าไม่ได้เปลี่ยนถุงมือ คือตอนเจาะเค้าเอายางมารัดที่แขนแล้วเช็ดแอลกอฮอล์ เรียบร้อย แต่พอตอนจะเจาะพี่เค้าเอามือที่สวมถุงมือมาแตะที่เส้นเลือดอีกที คงจะกันเจาะพลาดน่ะคะ แล้วก็เจาะเลือดเลยไม่ได้เช็ดแอลกอฮอล์ที่พี่เค้าแตะอีกที หนูกังวลว่าถุงมือปนเปื้อนหรือเปล่า หนูวิตกจริตมากไปหรือเปล่าคะ กรณีนี้เสี่ยงเชื้อเอดส์หรือเปล่าคะ

............................

ตอบครับ

1. คุณเป็นคนละเอียดละออดีมากครับ

2. การที่พนักงานเจาะเลือดใส่ถุงมือคู่เดียวโดยไม่เปลี่ยนถุงมือเลยแล้วผลัดเปลี่ยนเจาะเลือดผู้ป่วยไปหลายคน เป็นเทคนิคที่ไม่ถูกต้อง เพราะป้องกันแต่ตัวพนักงานผู้เจาะเลือดอย่างเดียว แต่ไม่ป้องกันผู้ป่วยที่ถูกเจาะเลือด

เทคนิคที่ถูกต้องทำได้สองอย่าง คือ

2.1 หากใช้เทคนิคสวมถุงมือปราศจากเชื้อ จะต้องเปลี่ยนถุงมือทุกครั้ง

2.2 หากใช้เทคนิคไม่สวมถุงมือ หมายความว่าเจาะแบบฟรีแฮนด์ จะต้องล้างมือด้วยสบู่และเช็ดให้แห้ง หรือชโลมมือด้วยเจลฆ่าเชื้อโรคทุกครั้งที่เปลี่ยนผู้ป่วย หลักเดียวกันนี้ใช้กับการตรวจร่างกายผู้ป่วยที่จะมีการถูกเนื้อต้องตัวด้วย

3. การที่พนักงานเจาะเลือดทาแอลกอฮอล์ตรงที่จะเจาะเลือด เมื่อแอลกอฮอล์แห้งแล้วไม่แทงเข็มหลังจากนั้นทันที แต่เอานิ้วมือมากดตรงตำแหน่งที่จะเจาะเลือดอีกครั้ง แล้วค่อยแทงเข็ม เป็นเทคนิคที่ไม่ถูกต้อง เพราะนิ้วมือที่มากดตำแหน่งที่จะเจาะนั้นไม่สะอาด อาจทำให้แผลติดเชื้อได้

4. ประเด็นที่คุณกังวลว่าจะติดเชื้อเอดส์หรือเปล่า ผมตอบให้สบายใจได้ว่าไม่ติดหรอกครับ เพราะเชื้อเอดส์ไม่ทนสภาพสิ่งแวดล้อมนอกร่างกายโดยเฉพาะสภาพที่แห้งๆ (เช่นปลายนิ้วของถุงมือ) นั่นเป็นเหตุผลที่ 1. ปลายนิ้วของถุงมือของพนักงานเจาะเลือดก็ไม่ได้เปื้อนเลือดใดๆให้เห็น นั่นเป็นเหตุผลที่ 2. ดังนั้นโอกาสที่คุณจะติดเอดส์มีความเป็นไปได้ต่ำมาก อย่าวิตกกังวลไปเลย

5. สิ่งที่ผมอยากจะขอแรงคุณให้ช่วยทำคือ ให้เขียนคำร้องเรียนเข้าสู่ระบบรับคำร้องเรียนผู้รับบริการของสถานพยาบาลแห่งนั้น ให้เบอร์โทรศัพท์ของคุณไว้ บอกเขาว่าคุณอยากทราบว่าทางสถานพยาบาลจะปรับปรุงแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร แล้วเมื่อไปได้สักพักหนึ่งก็โทรศัพท์ไปติดตามผล จนกว่าเขาจะมีการแก้ไข ถ้าเขาไม่แก้ไข คุณมีทางเลือกเหลืออยู่สองทางคือ เปลี่ยนสถานพยาบาลซะ หรือตามไปร้องเรียนที่กองประกอบโรคศิลป์ ทั้งนี้เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่คุณในฐานะผู้ป่วยจะร้องเรียนให้มีการแก้ไข และเป็นจริยธรรมของนายแพทย์ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลจะต้องแก้ไปปัญหานี้ ซึ่งเป็นปัญหาความปลอดภัยของผู้ป่วยและเป็นปัญหาคุณภาพงานคลินิกของสถานพยาบาล

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

01 กุมภาพันธ์ 2554

อายุ 21 ไม่มีเซ็กซ์จะไปตรวจภายในดีไหม

อาจารย์คะ

หนูอายุ 21 ปี ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ นะคะ แล้วทีนี้หนูเคยเข้าห้องน้ำสาธารณะไปถ่าย แล้วตักน้ำมาชำระ หรือไม่ก็ น้ำจากชักโครกกระเด็นขึ้นมาโดนอวัยวะเพศ ทีนี้ พอหนูไปอ่านเรื่องเกี่ยว กับ HPV หนูก็เกิดอาการกังวลขึ้นมาค่ะ อีกเรื่อง หนูแอบทราบมาว่า พี่ชายของหนูไปเที่ยวผู้หญิงมา ซึ่งหนูต้องใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับเค้า เช่น ขันอาบน้ำ ชักโครก หรือ แม้กระทั่ง ผ่านขนหนูทีบางทีพาดตากทับซ้อนกัน หนูจะติดหรือไม่คะ หนูควรจะทำอย่างไรดีคะ คือหนูต้องไปตรวจภายในหรือไม่

………………………………..

ตอบครับ

1. เชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่รุนแรง เช่นเอดส์ เป็นเชื้อที่ไม่ทนสภาพแวดล้อมนอกร่างกาย หมายความว่ามันต้องออกจากคนไปสู่คนเลย หากต้องไปพักในสภาพแวดล้อม เช่นในสระว่ายน้ำ ขันน้ำ โถชักโครก มันตายเสียก่อน ดังนั้นไม่ต้องไปวิตกกังวลว่าจะติดเชื้อกามโรคชนิดรุนแรงมาจากสิ่งแวดล้อม

2. การเอาผ้าขนหนูชื้นๆมาทับซ้อนหรือปะปนกันอาจแพร่เชื้อราตามผิวหนังได้ แต่ยังไม่เคยมีหลักฐานทางการแพทย์ว่าแพร่กามโรคชนิดรุนแรงใดๆได้ ถ้าคุณกังวลมากก็รักษาผ้าขนหนูของคุณให้แห้ง และแยกเก็บสิครับ

3. พูดถึงการตรวจภายใน คำแนะนำมาตรฐานของ วิทยาลัยสูตินรีแพทย์อเมริกันที่เพิ่งออกใหม่ (ACOG 2009) แนะนำว่าผู้หญิงทุกคนควรเริ่มตรวจภายในครั้งแรกเมื่ออายุ 21 ปีโดยไม่สนใจว่าเคยมีเพศสัมพันธ์แล้วหรือยัง แล้วตรวจต่อเนื่องไปปีเว้นปีจนอายุได้ 29 ปี พออายุได้ 30 ปีถ้าการตรวจสามครั้งที่ผ่านมาปกติดีก็ให้ตรวจแค่ปีเว้นสองปีก็พอ ไม่ต้องตรวจทุกปี ถ้าถือเอาตามคำแนะนำนี้ คุณก็ควรจะเริ่มตรวจภายในปีนี้ได้ครับ

4. ที่สำคัญกว่าการตรวจภายในคือคุณควรฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV vaccine) เป็นการลงทุนที่คุ้มที่สุดในโลกซึ่งผมขอเชียร์สุดลิ่มทิ่มประตู

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

โรคกังวลเกินเหตุ (GAD)

เรียนคุณหมอสันต์

เนื่องจากผมได้เคยปรึกษาทางเว็ปบอร์ดแห่งนี้ เกี่ยวกับการตรวจเลือดของผมที่ผมไปตรวจมา คุณหมอบอกว่า 99.99 % เป็นลบแน่ๆ ผมก็พยายามไม่สนใจหาอะไรอย่างอื่นทำ แต่ก็ไม่วายเอามาคิดในส่วนของ 0.01 % อีกว่าเราจะโชคร้ายในกานติดโรคนี้มัย ผมทำอย่างไงก็ไม่หายจากความกังวลนี้เลยครับ ผมไม่รู้จะทำอย่างไงเหมือนกันเพราะเวลาเราอยู่ว่างๆ เราจะคิดถึงเรื่องนี้ตลอดเวลา ผมกังวลจนนอนไม่หลับ กลัวว่าถ้า 6 เดือนไปตรวจอีกรอบแล้วผลมันไม่ใช่แบบ 3 เดือนที่ตรวจมาเราจะทำอย่างไง ภาระต่างๆ ของผมมันเยอะ จนผมต้องเอามาเป็นกังวล ไม่กล้าบอกใครรวมถึงที่บ้าน ยิ่งทำให้เราเครียดไปอีก ตอนนี้การเป็นโรคเครียดไปแล้วครับ นอนไม่ค่อยหลับสุขภาพเริ่มเสีย ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไงครับ ยิ่งไปอ่านบทความแปลกว่าไปทานยาต้านฉุกเฉินตรวจ แล้วตรวจ PCR 2 เดือนหลังเสี่ยงไม่เจอ ตรวจ AB ที่ 3 เดือน ไม่เจอไปเจอตอน 6 เดือน เอาเข้าไปใหญ่เลยครับ จิตตกอีก ผมเลยอยากปรึกษาว่าอย่างผมควรทำอย่างไงดีครับ ขอบคุณครับ

สงวนนาม

……………………………………

ตอบครับ

ผมเคยอธิบายไปอย่างละเอียดแล้วถึงความหมายของ window period ความเป็นไปได้ที่จะติดเชื้อในระยะเวลาต่างๆ และผลกระทบจากยาป้องกัน ดังนั้นวันนี้เราจะมาเจาะปัญหาเดียวนะ คือปัญหาความวิตกกังวล

ตามเกณฑ์วินิจฉัยทางการแพทย์ (DSM-IV) โรคนี้ชื่อ GAD (ย่อมาจาก gerneralized anxiety disorder) คือภาวะที่มีความกังวลซ้ำซาก เกินเหตุ ไม่สมจริง และบั่นทอนร่างกายจิตใจ ซึ่งก่ออาการไปทุกระบบเช่น ระบบประสาทอัตโนมัติ (ใจสั่น เหงื่อแตก ความดันขึ้น) ระบบกล้ามเนื้อกระดูก (เปลี้ยล้า ปวดกล้ามเนื้อ) ระบบทางเดินอาหาร (คลื่นไส้ ท้องร่วง) ระบบหายใจ (หายใจไม่อิ่ม หอบหืด) จิตประสาท (กลัวเกินเหตุ ตั้งสติไม่ได้ หงุดหงิดโมโหง่าย นอนไม่หลับ ซึมเศร้า) เป็นต้น เป็นกันตั้งแต่วัยเด็ก ติดมาจนเป็นผู้ใหญ่ ความที่ไม่สามารถคุมความกังวลของตัวเองได้จึงมักกลายเป็นคนเถรตรงเจ้าระเบียบจนทำอะไรก็ไม่ค่อยสำเร็จ มีปัญหาสลึงเดียวก็ร้องกระต๊ากสิบบาทร้อยบาท สาเหตุของโรคนี้ส่วนหนึ่งมาจากกรรมพันธุ์ อีกส่วนมาจากการเลี้ยงดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ในอดีตแบบช็อกซีเนม่า เช่นพ่อตายกะทันหัน จะเป็นเชื้อปะทุให้โรคนี้ดีนัก

ในทางการแพทย์ การรักษาโรคนี้ที่ได้ผลดีที่สุดคือการใช้ยา เช่นยาคลายกังวล ยาต้านซึมเศร้า ยาแก้บ้า (antipsychotic drug) ร่วมกับการทำพฤติกรรมบำบัดแบบให้คิดใหม่ทำใหม่ (cognitive behavioral therapy - CBT) แต่งานวิจัยการรักษาแบบอื่นๆที่พิสูจน์ว่าได้ผลแล้วก็มี เช่น การสอนให้ผ่อนคลาย การฝึกสติแบบพุทธศาสนา เป็นต้น

ในกรณีของคุณผมแนะนำให้เริ่มต้นรักษาด้วยยา นั่นหมายความว่าต้องไปหาจิตแพทย์ เพราะการใช้ยาพวกนี้มักมีประเด็นปัญหาแยะ ให้จิตแพทย์เป็นคนให้จะดีที่สุด ขณะใช้ยาก็ทำการรักษาแบบพฤติกรรมบำบัดไปด้วย แล้วก็ค่อยถอนยาทีหลัง วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุด

ควบคู่ไปกับการใช้ยา คุณต้องรักษาตัวเองด้วย ซึ่งต้องลงไปให้ถึงรากของปัญหา ผมจะชี้แนะ คุณต้องอ่านอย่างอดทนนะ เพราะมันอาจจะเข้าใจยากอยู่ คือต้องทำความเข้าใจกับสมองของเราก่อน ความกังวลก็คือความคิดนั่นแหละ โดยธรรมชาติเมื่อได้รับสิ่งเร้า (stimulus) สมองจะเอาข้อมูลนี้ไปผสมกับความจำในอดีตแล้วก่อร่างความคิดหรือความรู้สึกใหม่ (though formation) ขึ้นมา สิ่งเร้าที่ว่านี้บางทีก็เป็นข้อมูลที่ผ่านเข้ามาทางอวัยวะรับรู้เช่นตา หู จมูก ลิ้น ผิวหนัง บางทีก็เป็นความคิดที่ป๊อบขึ้นมาในสมองเองดื้อๆแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เมื่อก่อเป็นความคิดใหม่ขึ้นมาแล้ว สมองก็จะบันทึกไว้ในความจำ แล้วความคิดนั้นก็ฝ่อไป ถูกแทนที่ด้วยความคิดที่ใหม่กว่าอีกๆๆ โดยที่ความจำที่บันทึกไว้นั้น จะกลายมาเป็นวัตถุดิบสำหรับก่อความคิดครั้งใหม่ๆในอนาคต เป็นเช่นนี้วนเวียนอยู่ไม่รู้จบ คนที่กังวลจึงมักคิดกังวลซ้ำๆซากๆ กลไกการก่อความคิดนี้เกิดขึ้นแทบจะเป็นอัตโนมัติ ความคิดเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไปมีผลต่อพฤติกรรม นั่นก็คือความคิดนั้นจะเป็นนายเรา จนดูเผินๆคล้ายกับเป็นวงจรการเกิดพฤติกรรมในสัตว์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมใดๆ

แต่อันที่จริงสมองยังมีความสามารถอีกแบบหนึ่งคือสามารถเฝ้ามองการเกิดขึ้นและการฝ่อไปของความคิดที่ก่อตัวขึ้นมาได้ หรือพูดอีกอย่างได้ว่าสมองมีความสามารถที่จะเลือกได้ว่าจะสนองตอบต่อสิ่งเร้าแต่ละครั้งแบบไหน ไม่จำเป็นต้องสนองตอบออกไปแบบอัตโนมัติเสมอไป จิตแพทย์ชาวยิวชื่อวิคเตอร์ แฟรงเคิล ได้อธิบายกลไกนี้ว่าเมื่อมีสิ่งเร้าเข้าสู่การรับรู้ของสมอง ก่อนที่จะมีปฏิกิริยาสนองตอบออกไป จะมีช่องว่างอยู่นิดหนึ่ง ซึ่งผู้ที่ฝึกทักษะความรู้ตัว (awareness) มาดีพอ จะสามารถแทรกเข้าไปในช่องว่างนี้เพื่อเลือกได้ว่าจะสนองตอบต่อสิ่งเร้านั้นแบบใด เช่นเมื่อตัวเขาเองถูกนาซีทรมาน แทนที่เขาจะสนองตอบด้วยการโกรธแค้น กลัว หรือโศกเศร้า แต่ด้วยการมีทักษะความรู้ตัวที่ดี เขาสามารถเลือกสนองตอบอีกแบบหนึ่ง คือเขาสมมุติว่านี่เป็นเหตุการณ์ที่เขาใช้ประกอบการสอนนักเรียนแพทย์ว่านาซีทรมานเชลยอย่างไร สมมุติให้ตัวเขาออกไปยืนเป็นผู้ยืนบรรยายเหตุการณ์นี้อยู่ที่หน้าห้องสอน ขณะที่ร่างกายของเขากำลังถูกพวกนาซีทรมานอยู่นั้น คือเขาเปลี่ยนสิ่งเร้าเดิมที่เคยทำให้เขาโกรธ กลัวหรือเศร้า ไปเป็นความรู้สึกยินดีที่ได้เผยแพร่ความรู้แทน

การที่เราจะพลิกบทบาทจากการเป็นทาสของความคิดที่ก่อตัวขึ้นในหัวของเราได้นั้น กุญแจสำคัญคือต้องมีทักษะที่จะรู้ตัว (aware) ว่า ณ ขณะนั้นมีสิ่งเร้าใดมากระตุ้นสมอง และสมองก่อความคิดอะไรขึ้นมา เมื่อเราพลิกกลับขึ้นมาเป็นผู้ดูการเกิดความคิดได้สำเร็จ สถานการณ์ก็จะเปลี่ยนมาเป็นเราคือผู้รู้ทันความคิดนั้น ไม่ใช่เป็นทาสของความคิดนั้นโดยไม่ทันรู้ตัวอีกต่อไป

แดเนียล โกลแมน ได้ตีพิมพ์งานวิจัยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนักบริหารธุรกิจในหนังสือฮาร์วาร์ดบิสิเนสรีวิว เขาพบว่าการสร้างทักษะความรู้ตัวทำได้ด้วยวิธีกระตุกให้ระลึกได้ (recall) ว่าเมื่อตะกี้คุณคิดอะไรหรือทำอะไรไป แล้วให้ผู้บริหารทำเรื่องนั้นซ้ำอีกทีแต่คราวนี้ทำแบบใหม่ที่ถูกต้อง ในงานวิจัยนี้เขาใช้เลขานุการซึ่งเป็นคนจริงๆเดินติดตามผู้บริหารที่ต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างไปทุกหนทุกแห่ง เมื่อผู้บริหารเผลอทำพฤติกรรมนั้นอีกเลขาก็จะกระตุกทันที ว่า “ท่านคะ ท่านเผลอด่าลูกน้องอีกแล้วค่ะ” เป็นต้น เทคนิค recall หรือการกระตุกให้ระลึกได้ว่าเมื่อตะกี้คิดอะไร จึงเป็นเทคนิคที่มีหลักฐานว่าใช้สร้างความรู้ตัวได้ ซึ่งในชีวิตจริงเราสามารถฝึกสมมุติให้มีตัวเราอีกคนหนึ่งเดินตามตัวเราไปแล้วคอยกระตุกตัวเราเอง โดยไม่ต้องจ้างคนมาเดินตามเหมือนในงานวิจัยนั้นก็ได้
สรุปว่าการจะเอาชนะความกังวลให้ถาวร คุณจะต้องฝึกเทคนิค recall คือกระตุกตัวเองให้ระลึกรู้ว่าเมื่อตะกี้นี้เผลอคิดอะไรไป เมื่อระลึกรู้แล้วก็จะเกิดความรู้ตัว (awareness) อยู่พักหนึ่ง แล้วก็จะเผลออีก เป็นธรรมดา เราก็ต้องคอยกระตุกอีก กระตุกบ่อยๆ ยิ่งรู้ตัวว่า “เผลอบ่อย” เท่าไร ยิ่งดีเท่านั้น เพราะโรคของคุณคือโรค “เผลอนาน” ต้องเปลี่ยนมาเป็น “เผลอบ่อย” เสียก่อน จึงจะไปเป็น “ไม่เผลอ” ได้ ทั้งนี้จำไว้ว่าทั้ง recall และ awareness เป็นทักษะ (skill) เหมือนการว่ายน้ำ ต้องลงมือทำ ทักษะจึงจะเกิด ไม่ใช่เป็นความรู้ (knowledge) ที่อ่านเข้าใจแล้วก็พอ ลำพังคุณอ่านคู่มือการว่ายน้ำแล้วยังว่ายน้ำไม่เป็นตราบใดที่ไม่เคยลงน้ำฉันใด การพัฒนาทักษะก็ฉันนั้น

เอาไปทำดู ได้ผลอย่างไรเขียนมาเล่าให้ผมฟังบ้างนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

5 สัญญาณร้ายของอาการปวดหัว

คือมีปัญหา ปวดหัวบ่อย ปวดบริเวณด้านหน้าศรีษะ ไม่ทราบเพราะเหตุใด แต่จะแจ้งให้หมอทราบว่า ระดับ แคลลอรี่สูงถึง 300 เลยค่ะ ไม่แน่ใจว่ามันเป็นสาเหตุที่ทำให้ปวดหัวหรือป่าว เคยได้ยินมาว่า เส้นเลือดอาจอุดตัน เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
รบกวนคุณหมอแนะนำด้วยค่ะ และถ้าจะเข้าไปตรวจ ที่ รพ. ต้องเช็คที่แผนกไหนหรือป่าวค่ะ

…………………………………

ตอบครับ

ประเด็นที่ 1. ที่ว่าสูง 300 นั้นผมเข้าใจว่าโคเลสเตอรอลสูงใช่ไหมครับ ไม่ใช่แคลอรี่ ไม่เป็นไรพูดผิดพูดใหม่ได้ ถ้าโคเลสเตอรอลรวมสูง 300 (mg/dl) ต้องรีบไปตรวจดูไขมันย่อยเป็นรายตัวว่ามันสูงจากตัวไหน ถ้าสูงจากไขมันตัวดี (HDL) ก็แล้วไป แต่ถ้าสูงจากไขมันตัวเลว (LDL) หรือไขมันไตรกลีเซอไรด์ ก็ต้องแก้ไขด้วยการปรับโภชนาการ การออกกำลังกาย และการใช้ยาถ้าจำเป็น แต่ทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องปวดหัวครับ

ประเด็นที่ 2. อาการปวดหัวมีหลายชนิด ทั้งชนิดหาสาเหตุและหาสาเหตุไม่พบ ส่วนใหญ่จะเป็นชนิดหาสาเหตุไม่พบ ซึ่งก็ยังแยกย่อยไปเป็น

1. ปวดหัวแบบกล้ามเนื้อตึง (tension headache) มักปวดระดับน้อยถึงปานกลาง ไม่มีคลื่นไส้อาเจียน ไม่มีอาการของระบบประสาท ไม่เกี่ยวกับการออกแรงหรือเคลื่อนไหว มักสัมพันธ์กับความเครียด อดนอน หิว ใช้ตามาก หรือเมื่อตำแหน่งศีรษะอยู่ผิดที่ การรักษาคือนอนให้พอ ลดการใช้สายตาลง ออกกำลังกายให้หายเครียด ถ้าปวดเมื่อยแถวคอ สาหลังหูก็บีบๆนวด ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาก็ใช้แค่พาราเซ็ตตามอลครั้งละ 500-1000 มก. หรือแอสไพรินครั้งละ 300-600 มก. ก็พอ

2. ปวดหัวแบบไมเกรน (Migraine) เป็นการปวดแบบตึ๊บๆ (vascular headache) ปวดครั้งหนึ่งกินเวลา 4-72 ชม. ถ้ามีอาการนำ (aura) ที่เกิดจากการเสียการทำงานของระบบประสาทเป็นการชั่วคราวเช่นเห็นแสงสีวูบวาบ เรียกว่า classic migraine ถ้าไม่มีอาการนำเรียกว่า common migraine มักคลื่นไส้อาเจียน มักเป็นข้างเดียว มักเป็นกรรมพันธุ์ มักมีอาการแพ้แสง นอนไม่หลับ และซึมเศร้า ร่วมด้วย

3. ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (Cluster headache) เป็นการปวดรุนแรงเฉพาะบริเวณที่เลี้ยงโดยประสาทสมองคู่ที่ห้า (trigeminal nerve) มักเป็นที่หลังลูกตาหรือที่เบ้าตา ร่วมกับมีอาการจากการทำงานของเส้นประสาทอัตโนมัติเช่นน้ำมูกน้ำตาไหล หรือเหงื่อหน้าออก หรือตาแดง หรือหนังตาบวม หรือหนังตาตก โดยที่เป็นอยู่ซีกเดียว มักเป็นมากจนลุกลี้ลุกลน อยู่ไม่สุข

ส่วนพวกปวดหัวกลุ่มที่มีสาเหตุ ยังแยกย่อยออกเป็นสองพวกคือ พวกสาเหตุอยู่นอกสมอง เช่นตา หู โพรงไซนัส เป็นต้น และพวกสาเหตุอยู่ในสมอง เช่น หลอดเลือดโป่งพอง หลอดเลือดแตก ลิ่มเลือดอุดหลอดเลือด เนื้องอกสมอง เป็นต้น

ประเด็นที่ 3. วิธีวินิจฉัยด้วยตัวเองว่าการปวดหัวครั้งนี้ซีเรียสหรือเปล่า ก็เช็คง่ายๆก่อนว่ามี “สัญญาณร้าย” อย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้หรือเปล่า

1. ปวดแบบสายฟ้าฟาด (thunderclap) เร็ว แรง ทันที ถึงขีดสุดในเวลาไม่เกิน 5 นาที หรือปวดจนปลุกให้ตื่นขึ้น หรือปวดแบบไม่เคยเป็นมาก่อน

2. ปวดศีรษะครั้งแรกในคนไข้อายุมากเกิน 50 ปี หรือคนไข้เอดส์ หรือคนไข้มะเร็ง

3. ลักษณะการปวดปลี่ยนไปจากที่เคยเป็น รวมถึงความถี่ และอาการร่วม

4. มีอาการและอาการแสดงของระบบประสาทร่วม รวมถึง การมองเห็นผิดปกติ หรือคอแข็ง หรืออาการไม่เฉพาะที่ (non-focal) เช่น เสียความจำ

5. มีข้อมูลส่อว่าเป็นโรคระดับทั่วร่างกาย (systemic disease) เช่น เป็นไข้ ความดันเลือดสูง น้ำหนักลด เป็นต้น

ถ้ามีสัญญาณร้ายเหล่านี้ ก็แจ้นไปหาหมอได้ เพราะถ้าช้าอาจตายได้

ประเด็นที่ 4.
ถ้าจะไปรพ. ไปแผนกไหนดี กรณีของคุณดูท่าจะมีปัญหาสุขภาพโดยรวมหลายเรื่องนับตั้งแต่เรื่องหญ้าปากคอกเช่นอาหารการกินและการออกกำลังกาย ผมแนะนำให้ไปตรวจที่ศูนย์ตรวจสุขภาพหรือศูนย์ check up ก่อนจะดีที่สุด สำหรับท่านอื่นที่มีอาการปวดหัวซ้ำซากโดยไม่มีปัญหาสุขภาพอื่นก็แนะนำให้ไปตรวจที่คลินิกประสาทวิทยา (neurology clinic) ครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]