30 พฤษภาคม 2565

สารกันบูด (Preservatives) และสารแต่งอาหาร (Additives) กับจุลชีวิตในลำไส้ (Microbiotomes) ของหญิงมีครรภ์

(ภาพวันนี้: ดอกพลาสติก ถ่ายเพราะชอบแสงยามเช้าที่ตกกระทบ)

เรียนอาจารย์สันต์ที่เคารพ

หนูกำลังจะมีน้อง คือท้องได้ 6 เดือน กำลังมีปัญหาคือเด็กทำงานที่บ้านลาออกไปทำให้ไม่มีคนทำอาหาร หนูกับสามีต้องทำงานทั้งคู่ ทุกวันนี้ต้องอาศัยอาหารกล่องอาหารถุงและกระป๋อง ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารกล่องสำเร็จรูปจากซูปเปอร์เพราะไม่มีเวลาพอที่จะไปยืนรอซื้ออาหารสดปรุงใส่ถุงจากแม่ค้า หนูพยายามจะเลือกอันที่ healthy ให้มากที่สุด อ่านฉลากให้ได้คุณค่าอาหารครบ เสริมโปรตีนผง วิตามิน และแร่ธาตุ แต่หนูยังเป็นห่วงลูกว่าหนูกินอย่างนี้ตลอดช่วงตั้งครรภ์แล้วจะมีปัญหากับสุขภาพของลูกไหมคะ

……………………………………………………..

ตอบครับ

อาหารบรรจุเสร็จ ภาษาทั่วไปเรียกง่ายว่า processed food ซึ่งก็ยังมีความแตกต่างกันในแง่ดีกรีของการแปรรูปอาหาร ถ้าเป็นกระบวนการแปรรูปแบบจิ๊บๆเช่นจับอาหารแช่แข็งแล้วใส่ซองขาย หรือเอาผลไม้อบแห้งแล้วใส่ซองขาย อย่างนี้มันมีความใกล้เคียงกับอาหารธรรมชาติมากจนจะถือว่าเหมือนอาหารธรรมชาติก็ยังได้ แต่อาหารที่ขายอยู่บนหิ้งส่วนใหญ่จะผ่านกระบวนการแปรรูปอาหารระดับซับซ้อน เรียกว่าเป็นการแปรรูประดับ ultra-processed food ได้แก่อาหารที่มีการใส่สารกันบูด (preservatives) หรือพูดแบบบ้านๆก็คือใส่ยาฆ่าเชื้อโรคเข้าไปเพราะสารกันบูดก็คือยาฆ่าเชื้อโรคนั่นแหละ และมีการใส่สารเคมีที่ไม่ใช่อาหารเข้าไปอีกสารพัดเพื่อให้อาหารมีรส มีกลิ่น มีสีสันที่ถูกใจผู้บริโภค สารในกลุ่มหลังนี้เรียกรวมๆว่า additives ซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องจาระไนไว้ที่ฉลากว่าใส่อะไรบ้าง เพราะกฎหมายบังคับแค่ว่าให้บอกสัดส่วนของแคลอรี่ โคเลสเตอรอล น้ำตาล เกลือ ต่อหน่วยบริโภค ดังนั้นอย่างซื่อสัตย์ที่สุดผู้ผลิตก็จะเขียนแค่ว่า “ใช้ preservatives และ additives” แต่ไม่มีผู้ผลิตรายไหนหรอกที่จะจาระไนว่าตัวเองใส่สารเคมีอะไรเข้าไปในอาหารเป็นรายตัวให้เห็นครบถ้วน เพราะยิ่งเขียนละเอียดก็ยิ่งขายอาหารไม่ออก

ประเด็นสำคัญก็คือ preservatives ก็ดี additives ก็ดี เกือบทั้งหมดเป็นสารที่จะมีผลทำลายดุลยภาพของชุมชนจุลชีวิตในลำไส้ (microbiomes) ซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพของแม่และเด็กในระยะยาวอย่างคาดไม่ถึง

สมัยก่อนวิชาแพทย์จะเน้นว่าจุลชีวิตอันได้แก่แบคทีเรีย ไวรัส และรา คือเชื้อโรคที่ต้องคอยระวังไม่ให้มันบุกรุกเข้ามาในร่างกายเรา แต่สมัยนี้คอนเซ็พท์นั้นเปลี่ยนเป็นว่าในร่างกายเรานี้มันมี “ชุมชนจุลชีวิตในทางเดินอาหาร” คำว่าชุมชนจุลชีวิตนี่เป็นคำที่ผมแปลจากคำว่า microbiomes คือผมจะให้หมายถึงระบบนิเวศน์วิทยา(ecosystem) ในลำไส้ นึกภาพเวลาเราไปดำน้ำดูปะการังเราจะเห็นสารพัดสัตว์น้ำและพืชน้ำอยู่ด้วยกันทั้งกุ้งหอยปูปลาหลากสีหลากรูปร่าง ม้าน้ำ ปะการัง สาหร่ายแบบต่างๆ ทั้งหมดนี้อยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืนพึ่งพาอาศัยกันและกันอย่างลงตัว ในทางเดินอาหารเราก็มีจุลชีวิตทั้งหลายทั้งแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ยีสต์ จำนวนมากอยู่อาศัยเป็นชุมชนในลำไส้ในลักษณะเดียวกันเดียวกับที่เราเห็นสัตว์และพืชเมื่อไปดูปะการังที่อยู่ก้นทะเลนี่แหละ มันมีกันเป็นจำนวนมาก ว่ากันว่ามากถึง 38 ทริลเลี่ยนชีวิต ส่วนใหญ่มันจะอยู่ในร่างกายเราแบบอยู่ดีๆ ช่วยเจ้าบ้านทำโน่นทำนี่ จนมีแพทย์บางคนเรียกร่างกายเรานี้ว่าเป็น Holobiome หรือชุมชนสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่ว่าจะมีแต่เซลร่างกายของเรานะ แต่จุลชีวิตอื่นก็อาศัยอยู่ในนี้อีกเพียบโดยไม่รู้ว่าเจ้าของร่างกายนี้ที่แท้จริงคือใคร รู้แต่ว่าถ้าบรรดาผู้อาศัยทะเลาะกันเมื่อไหร่ทั้งร่างกายก็พังทันที เพราะจุลชีวิตในลำไส้นี้มันดำรงชีวิตและสื่อสารประสานงานอย่างแนบแน่นกับเซลของระบบต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบภูมิคัุมกันโรค เพราะอย่าลืมว่า 80% ของเซลที่เป็นกำลังพลของระบบภูมิคุ้มกันมีที่ตั้งอยู่ในลำไส้นั่นแหละ หากบรรดาจุลชีวิตในลำไส้อยู่ไม่สุข ก็อย่าได้หวังว่าร่างกายของเราจะได้อยู่สุข

microbiome นี้มันเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งที่เริ่มมีการก่อร่างสร้างชุมชนกันตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์ มันเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างไว้อย่างลงตัวและถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก ผมจะเล่าให้ฟังถึงผลวิจัยที่เรารู้แน่แล้ว เช่น

(1) ในระหว่างตั้งครรภ์ แบคทีเรียจากทางเดินอาหารของแม่จำนวนหนึ่ง จะอพยพมาตามกระแสเลือด ผ่านรกแม่ เข้ามาอยู่ในลำไส้ทารกก่อนคลอด

(2) เมื่ออายุครรภ์ได้ราวเก้าเดือน แบคทีเรียในลำไส้แม่จะสื่อสารให้เม็ดเลือดขาวของร่างกายของแม่มารับเอาตัวแบคทีเรียไปปล่อยที่น้ำนม เพื่อให้ทารกดูดเอาไปตั้งหลักแหล่งในลำไส้ของทารก นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมในน้ำนมแม่จึงมีแบคทีเรียหลายชนิดรวมทั้งแล็คโตบาซิลลัสอยู่ด้วย

(3) ในน้ำนมแม่มีโมเลกุลอาหารชนิดหนึ่งชื่อโอลิโกแซคคาไรด์ซึ่งร่างกายมนุษย์ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย แต่ธรรมชาติใส่ไว้ในนมแม่ก็เพื่อเตรียมไว้เป็นอาหารแก่แบคทีเรียที่จะตั้งรกรากอยู่ในลำไส้ของทารก เด็กที่ดื่มนมวัวแทนนมแม่ตั้งแต่อายุน้อยจะมีอุบัติการณ์ของโรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (เช่นเบาหวานประเภทที่1) สูงขึ้น เพราะอย่างที่ผมบอกแล้วว่าเซลระบบภูมิคุ้มกันนั้น 80% อยู่ในลำไส้ และทำงานแนบแน่นกับจุลชีวิตในลำไส้

(4) พอเข้าสามเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ แบคทีเรียในช่องคลอดของแม่จะค่อยๆเปลี่ยนไปคล้ายแบคทีเรียในสำไส้ เพื่อให้ทารกที่คลอดผ่านทางช่องคลอดได้กินแบคทีเรียพวกนี้เข้าไป ตรงนี้สมัยผมเป็นนักเรียนแพทย์ไปหัดทำคลอด ผมก็สงสัยอยู่ครามครันว่าทำไมสารคัดหลั่งในช่องคลอดของแม่มีกลิ่นคล้ายอึทั้งๆที่ในการทำคลอดผมก็ป้องกันไม่ให้อึเข้ามาแปดเปื้อนอย่างเข้มงวดสุดๆ ตอนนี้เพิ่งถึงบางอ้อว่าเป็นธรรมชาติของการเปลี่ยนชนิดของแบคทีเรียนี่เอง

(5) แบคทีเรียในสำไส้ สามารถสื่อสารกับเซลสมอง เซลผิวหนัง เซลเส้นผม และมีส่วนร่วมกำกับการทำงานของเซลและเนื้อเยื่อเหล่านั้นด้วย รวมทั้งการร่วมกำกับอารมณ์ทั้งเชิงบวกเชิงลบด้วย ทำให้ชนิดของแบคทีเรียในลำไส้มีผลต่อความจำ อารมณ์ ภูมิคุ้มกันโรค ฮอร์โมน ความผุดผ่องของผิวหนัง และความมันของเส้นผม กลไกที่จุลชีวิตในลำไส้มีอิทธิพลต่อการทำงานของเซลร่างกายนั้นทำผ่านการที่มันผลิตโมเลกุลชนิดกรดไขมันสายโซ่สั้น (short chain fatty acid – SCFA) ซึ่งจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดไปมีผลต่างๆต่อเซลต่างๆของร่างกายได้

(6) งานวิจัยเกี่ยวกับจุลชีวิตในทางเดินอาหารปัจจุบันนี้ได้ก้าวหน้าไปจากสมัยก่อนมากจนหากแพทย์รุ่นเก๋าระดับรุ่นผมไม่ตามข่าวก็จะตกยุคไปเลย เพราะสมัยที่คนรุ่นผมเรียนแพทย์ การจะศึกษาชนิดและนับจำนวนจุลชีวิตต้องเอามันมาเพาะเลี้ยงในจาน petri dish ซึ่งเป็นจานเพาะเลี้ยงเชื้อที่มีวุ้นเป็นอาหารของมันก่อน เพาะแล้วก็ขึ้นบ้างไม่ขึ้นบ้าง แล้วจึงตักเอาที่เพาะขึ้นออกมาดูมาตรวจแยกชนิดในห้องแล็บ อย่างเก่งตรวจอุจจาระครั้งหนึ่งจะแยกแบคทีเรียได้อย่างมากก็ยี่สิบสามสิบตัว แต่สมัยนี้ไม่ต้องแล้ว อาศัยข้อมูล genome mapping การศึกษาชนิดและจำนวนแบคทีเรียแค่ใช้วิธีดูรหัสพันธุกรรม (DNA) ในสารคัดหลั่ง เยื่อบุ และในอุจจาระ ดูแค่นี้ก็รู้หมดแล้วว่ามีจุลชีวิตอยู่กี่ชนิดทั้ง แบคทีเรีย รา ไวรัส ชนิดไหนมีจำนวนเท่าไร ตรวจครั้งเดียวได้ถึงระดับห้าหมื่นชนิด ปัจจุบันนี้ ฐานข้อมูล ZOE มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับรหัสพันธุกรรมของไมโครไบโอมใหญ่มากพอจนหากตรวจทราบชนิดของแบคทีเรียในลำไส้แล้วสามารถใช้ฐานข้อมูลทำนายได้ว่าคนคนนั้นจะมีดัชนีวัดสุขภาพตัวอื่น (เช่น ความดัน น้ำหนัก น้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด) ว่าเป็นอย่างไร เพราะจุลชีวิตแต่ละชนิดต่างก็มีความสัมพันธ์กับโรคเรื้อรังแต่ละโรค

ที่เล่าให้ฟังทั้งหมดนี้ก็เพื่อขมวดมาถืงประการสำคัญสำหรับแม่ที่ตั้งครรภ์สองประการ คือ

ประการที่ 1. ไมโครไบโอมในทางเดินอาหารนี้จะอ่อนไหวและถูกทำลายโดยสารในกลุ่ม preservative เช่นสารกันบูด กละสารในกลุ่ม additives ได้แก่สารแต่งกลิ่น สารแต่งรสต่างๆ ที่ใส่เข้าไปเป็นจำนวนมากในอาหารสำเร็จรูประดับ ultra-processed food ผลของมันจะเหมือนกับเอาน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างพื้นเทลงในโถส้วม คือมันจะทำลายจุลชีวิตที่ช่วยย่อยสลายสิ่งปฏิกูลในถังบำบัดของส้วม ทำให้ส้วมที่ไม่เคยมีกลิ่นเน่าเกิดมีกลิ่นเน่าขึ้นมาได้

ประการที่ 2. ไมโครไบโอมในทางเดินอาหารของเรานี้ จะเปลี่ยนแปลงไปทางดีหรือทางร้ายได้ ตามอาหารที่เรากิน เพราะมันกินอาหารที่เรากินเข้าไปนั่นแหละแต่อาหารของพวกมันเป็นส่วนที่ร่ายกายของเราย่อยไม่ได้ ไมโครไบโอมกินอาหารที่มีกากมากและหลากหลาย กากหมายถึงอาหารพืชเท่านั้น เพราะอาหารเนื้อสัตว์ไม่มีกาก ดังนั้นเท่าที่ความรู้ของวงการแพทย์มีอยู่ขณะนี้ อาหารที่จะสร้างสรรค์ไมโครไบโอมดีที่สุดคืออาหารพืชที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ ถั่ว นัท เมล็ดพืช ธัญญพืช ถ้าเป็นไขมันก็ควรเป็นไขมันไม่อิ่มตัวจากพืชเช่นน้ำมันมะกอก การได้กินอาหารพืชธรรมชาติที่หลากหลายจึงมีความสำคัญ งานวิจัยความหลากหลายการกินพืชในแต่ละเดือนของคนอเมริกันพบว่าส่วนใหญ่ 70% กินพืชไม่เกิน 20 ชนิด มีเพียง 15% เท่านั้นที่กินพืชเกิน 30 ชนิดขึ้นไป

การที่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์จะยังชีพด้วยอาหารกล่องอาหารถุงตลอดการตั้งครรภ์นั้นย่อมต้องส่งผลเสียต่อสุขภาพระยะยาวอย่างแน่นอนโดยผ่านกลไกการทำลาย microbiomes นี้ แม้ว่าจะตั้งใจกินโปรตีนผงวิตามินแร่ธาตุเสริมมันก็ไม่เวอร์คเพราะจุลชีวิตในลำไส้ไม่ได้ยังชีพอยู่ด้วยโปรตีนผงหรือวิตามินเกลือแร่เสริม มันต้องการกาก ซึ่งจะได้จากเมื่อคุณแม่กินอาหารพืชธรรมชาติที่ปลอด preservatives และ additives เท่านั้น ดังนั้นผมแนะนำว่าให้ลดการกินอาหารกล่องอาหารถุงลงให้เหลือน้อยที่สุด ถ้าจำเป็นให้เลือกอันที่เขียนไว้บนฉลากชัดเจนว่า

“..No Preservatives, No Additives”

ถ้าไม่เขียนไว้อย่างนี้ให้เดาไว้ก่อนว่า..ใส่มาเพียบ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

28 พฤษภาคม 2565

มีคนเอารูปหมอสันต์ไปหลอกขายยาเถื่อน โดยที่หมอสันต์ไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วยเลย

ภาพวันนี้ : เคล

เรียน คุณหมอสันต์ ที่เคารพอย่างยิ่งค่ะ 

เนื่องจากมีการนำรูปภาพของคุณหมอมาเป็นพรีเซนเตอร์ยา Friocard รักษาไขมันในเลือด ดิฉันสนใจจึงได้สั่งซื้อไปแล้ว แต่สามีให้สอบถามคุณหมอเกรงว่ามีการนำภาพมาใช้ไม่ถูกต้อง  จึงขออนุญาตเรียนถามคุณหมอค่ะ ถ้าเป็นการนำภาพมาแอบอ้าง ดิฉันจะได้ยกเลิกการส่งของค่ะ เก็บเงินปลายทาง 3,240 บาท

ขอความกรุณาจากคุณหมอ ขอขอบพระคุณยิ่งค่ะ

………………………………………………………………………….

ตอบครับ

คำถามของคุณทำให้นึกถึงเพลง

“..ไปโดนเขาหลอก อีกแล้ว

น้องแก้ว ไม่เข็ด

ก่อนเคยช้ำใจ อยากได้เพชร

นึกว่าเข็ด ก็ยัง..”

ผมขอถือโอกาสนี้ประกาศอีกครั้ง ว่าหมอสันต์ไม่เคยขายอะไร ไม่ว่าจะเป็นยาเถื่อนที่คุณบอกชื่อมานี้ซึ่งเอารูปหมอสันต์ไปโฆษณาว่าล้างไขมันออกมาทีเป็นกิโล แล้วคุณเชื่อเข้าไปได้ยังไง้ พุทธัง ธัมมัง สังคัง มันช่างคัน..เอ๊ย มันช่างน่าปวดหัวเสียเสียจริง..จริ๊ง

คุณเป็นแฟนหมอสันต์ต้องหัดกลั่นกรองความเชื่อถือได้ของการหลอกขายของบนเน็ทเอาเอง เพราะผมอุตส่าห์สอนเรื่องการจัดชั้นหลักฐานวิทยาศาสตร์ให้แล้วซ้ำซากหลายครั้ง อย่าหวังให้ผมเต้นแร้งเต้นกาตามปราบ เพราะผมเองแก่แล้วไม่มีปัญญาไปทำอย่างนั้นดอก

การเอาหมอสันต์ไปหลอกเอาเงินคนอื่นนี้เท่าที่ผ่านมาได้มีการทำกันทุกรูปแบบ เช่นเอาไปหลอกขายแปรงสีฟัน ยาสีฟัน ขายเครื่องออกกำลังกาย ขายยาเถื่อน รวมไปถึงโทรศัพท์ไปหาคนที่เคยรู้จักหรือเป็นเพื่อนหรือเป็นคนไข้ของหมอสันต์ทำเสียงหล่อๆแบบหมอสันต์ว่ากำลังตรวจคนไข้ไม่มีเวลาไปก๊อกบัตรเอทีเอ็มแต่ต้องใช้เงินด่วนเป็นหลักหมื่นๆบาทขอให้โอนเงินให้ด่วน แล้วคนรับโทรศัพท์ก็โอนเงินให้จริงๆเสียด้วย โดยให้เหตุผลว่า

“ก็เสียงเหมือนหมอสันต์จริงๆนี่”

หิ หิ นี่เป็นหลักฐานที่ถือว่าเชื่อถือได้ไหมเนี่ย

ผมขอถือโอกาสนี้ประกาศตรงนี้อีกครั้งว่าหมอสันต์ไม่เคยขายอะไรทางอินเตอร์เน็ททั้งสิ้น ถ้าวันไหนหมอสันต์สิ้นไร้ไม้ตอกต้องขายสมบัติเก่ากินก็จะประกาศอย่างเป็นทางการบนบล็อก drsant.com หรือเพจ นพ. ส้นต์ ใจยอดศิลป์ นี้เท่านั้น

ส่วนท่านที่ถูกหลอกและเสียเงินไปแล้วหากอยากให้ผมช่วยตามดำเนินการทางกฎหมายอีกแรงก็ช่วยส่งหลักฐานหรือบอกเบาะแสที่อยู่ของผู้กระทำผิดมาให้ผมด้วย ผมจะยอมลงทุนจ้างนักกฎหมายไปแจ้งความดำเนินคดี ไม่ใช่ว่าผมอยากจะพิทักษ์ชื่อเสียงอะไรของตัวเองดอกนะ นั่นเป็นเรื่องไร้สาระ แต่เพื่อเห็นแก่แฟนบล็อกสายศรัทธาที่มิใยหมอสันต์จะสอนวิธีตีความกลั่นกรองจัดชั้นหลักฐานวิทยาศาสตร์อย่างไรก็ไม่เก็ท จะได้ไม่ถูกเขาหลอกซ้ำซาก

ย้ำอีกครั้งว่าในส่วนของท่านก็ต้องใช้ดุลพินิจในการรับมือกับการหลอกลวงด้วยทุกครั้ง อย่าลืมว่าที่นี่ประเทศไทย ใครใคร่ค้าช้าง..ค้า ใครใคร่ค้าม้า..ค้า ใครใคร่ทำอะไร..ทำ ใครใคร่พูดอะไร..พูด หากอยู่เมืองไทยแล้วยังไม่เข้าใจวิธีการทำมาหากินแบบไทยๆ คุณยังไม่มีคุณวุฒิครบถ้วนที่จะเป็นคนไทยนะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

26 พฤษภาคม 2565

เรื่องไร้สาระ (27) มิยาวากิเขาใหญ่ปาร์ค (Miyawaki Khao Yai Park)

(ภาพวันนี้: หมอสันต์วันสำรวจผืนดินแห้งผากไร่มันสัมปะหลัง)

วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 (วันกรรมกร) กรรมกรสองคน คือผมกับหมอพอ ได้มาที่นี่ ที่ไร่มันสัมปะหลัง บ้านท่าช้าง ซอย 11 หมู่ 16 ต. หมูสี อ.ปากช่อง พันธกิจครั้งนี้คือเพื่อปลูกสร้างป่าไม้ขึ้นแทนที่ไร่มันสำปะหลัง 10 ไร่นี้ ด้วยวิธีแบบมิยาวากิ เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นหลังได้ใช้เป็นที่ออกกำลังกายเดินวิ่งปั่นจักรยานในป่าและได้มาทำความรู้จักคุณค่าของป่า รู้จักมิยาวากิ เผื่อว่าพวกเขาจะเกิดความบันดาลใจที่จะช่วยกันปลูกป่าให้มากยิ่งๆขึ้นไป ผมตั้งชื่อโปรเจ็คนี้ว่า “Miyawaki Khoa Yai Park”

เรามาอย่างมืออาชีพ แต่เครื่องมือของจริงราคาไม่กี่ตังค์

ของถูกเขาเรียกว่าดินแดง ไม่ใช่ดินลูกรัง

เมื่อเดินทางมาถึงปากซอยเข้าไปในไร่ เราก็พบว่าถนนเป็นคลองเพราะฝนถล่ม ขอเจาะลึกเล่าเรื่องถนนก่อนนะเพื่อให้เห็นความต่อเนื่อง วันแรกหมอพอขับรถกะย่องกะแย่งเข้าไปโดยไม่ลำบากอะไรนักเพราะรถของเราแม้ตอนที่ซื้อมามันจะราคาถูกแต่มันก็สูงใช้ได้อยู่ พอเข้าไปถึงในไร่แล้วผมก็โทรศัพท์ซื้อดินลูกรังมาถมทางเข้าไร่ บุญรักษา (ชื่อคน) ซึ่งเป็นผู้ประสานงานพื้นที่รายงานว่าคนขายเขาจะเอารถละ 2300 บาท ขณะที่อีกเจ้าหนึ่งเขาจะเอารถละ 4300 บาท ผมบอกให้ซื้อของถูก ซึ่งเขาก็มาจัดการถมซอยให้เรียบร้อย พอตกเย็นเราจะขับรถออกปรากฎว่าถนนได้กลายเป็นคลองน้ำแดงไปเรียบร้อยเพราะฝนตกทั้งวันและดินที่เราซื้อมามันไม่ได้เป็นลูกรังจริง แต่เป็นดินแบบที่ชาวบ้านเขาเรียกว่าดินแดง โห คราวนี้จะกลับบ้านมวกเหล็กไงละนี่ ผมสังเกตเห็นตรงรอยรถแทรกเตอร์ดินจะแข็งหน่อย จึงบอกให้หมอพอขับแบบเหยียบเฉพาะรอยล้อรถแทรกเตอร์นะ แต่ถึงกระนั้นรถของเราก็แกว่งก้นไปมาดุ๊กดิ๊ก ดุ๊กดิ๊ก เหมือนคนสลิดดก น่าหวาดเสียว ในที่สุดก็หลุดซอยออกมาได้แบบฟลุ้คๆ พอหลุดออกมาได้ผมโทรศัพท์บอกบุญรักษาให้ซื้อหินคลุกมาถมถนนแต่เช้า ตกสายวันรุ่งขึ้นผมมาถึงเห็นซอยราดหินคลุกแล้วเรียบร้อย แต่หมอพอยังลังเลไม่กล้าขับลุยเข้าไป ผมจึงลงจากรถไปเอาเท้าเหยียบดู พบว่าบนผิวเป็นหินก็จริง แต่ข้างล่างมันยวบๆยังกะหินลาวาภูเขาไฟที่ยังไม่เย็นตัวดี แสดงว่าหินนี้แม้จะเป็นของหนัก แต่ก็ลอยอยู่บนขี้โคลนได้ ผมบอกหมอพอว่า

แผนปลูกบนกระดาษ

“ต้องบดอัด ไม่งั้นวิ่งไม่ได้” หมอพอว่า

“จะเอารถบดที่ไหนละ” ผมตอบว่า

“ก็รถเราเนี่ยไง”

ว่าแล้วก็ให้หมอพอค่อยๆขับเข้ามาพอทำท่าจะติดก็ให้สัญญาณถอยออก ส่วนผมนั้นถือจอบทำหน้าที่โกยหินคลุกที่ถูกยางรถเบียดออกไปนอกขอบถนนเพื่อถมกลับเข้ามาอยู่ในรอยล้อรถใหม่แล้วให้สัญญาณขับเข้ามาเพื่อบดอัดซ้ำอีก เดินหน้าถอยหลัง ทำอย่างนี้คืบหน้าไปทีละนิดๆ ทำเสียจนเวลาเอาจอบโกยหินคลุกแต่ละทีผมรู้สึกว่าปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหน้าท้องอย่าบอกใครเชียว ในที่สุดเราก็เข้าไปถึงไร่ได้

ทำแผนที่คอนทัวร์ วางแผน แล้วปลูก

เรามาพร้อมกล้องส่องระดับแบบมืออาชีพ ความจริงกล้องแบบนี้สมัยนี้ราคาไม่กี่พัน สุ่มตัวอย่างวัดระดับทั่วไร่แล้วก็มาทำแผนที่คอนทัวร์หรือแผนที่เส้นระดับ แล้วก็ออกแบบแนวไม้ป่าที่จะปลูกเพื่อให้แนวปลูกตั้งขวางรับและกักเก็บน้ำฝนที่หลากมาให้ได้มากที่สุด เนื่องจากเราวางแผนจะทำเป็นป่าแบบปาร์คให้เด็กๆมาออกกำลังกาย จึงปลูกต้นไม้วนเป็นขดแบบก้นหอย ในเนื้อที่สิบไร่สามารถทำทางปั่นจักรยานหรือวิ่งพร้อมกับดูต้นไม้สองข้างทางไปด้วย ไปกลับเป็นระยะทางได้ยาวถึง 6 กม. วาดเป็นแผนผังออกมา แล้วก็ให้รถไถไถไปตามนั้น คนขับรถไถนาดูแบบแล้วส่ายหัวด๊อกแด๊กไม่เก็ท หมอสันต์จึงจำใจต้องกระโดดขึ้นไปนั่งประกบบนรถไถ เอ้า เลี้ยวไปทางนี้ เอ้าวางผานตื้นๆ ค่อยๆตีวงไปทางขวาช้าๆอย่าหักมุม ตะโกนพูดบอกทางพลางก็ต้องคอยชักมีดจากเอวขึ้นฟันกิ่งไม้ที่ฟาดระเข้ามาเป็นระยะๆไปพลาง

เจาะไม่ยาก แต่ลากสิยาก

ขั้นต่อไปก็คือการลงมือปลูก เรายังมีของเล่นอีกหลายชิ้น ส่วนใหญ่ยืมเขามา เริ่มด้วยการใช้เครื่องเจาะหลุม เห็นเครื่องตัวเล็กๆงี้เสียงดังแก้วหูแทบแตก การเจาะนั้นไม่ยาก แต่การลากเครื่องเจาะที่มีดินขี้เปรอะเกาะล้อเป็นตังเมเนี่ยสิมันกินแรงชมัด ทำไปสักพักก็ต้องหยุดยืนหอบ ไม่ใช่เหนื่อยเจาะนะ แต่เหนื่อยลากเครื่อง เมื่อเห็นท่าจะไปไม่ไหวก็มาลองของเล่นชิ้นที่สอง เป็นเสียมด้ามคู่ที่เพื่อนเขาซื้อมาจากเมืองนอก ดูดีเชียว สะเป๊คว่าขุดฉับแล้วแบะด้ามออกยกขึ้นดินจะติดขึ้นมาได้หลุมพร้อมปลูกเลย แต่การปฏิบัติจริงพบว่าเวลาขุดมันไม่ฉับ เพราะเสียมมันเบาจึงเจาะดินได้ไม่ลึก แถมเวลาแบะด้ามแล้วยก ดินกลับร่วงลงไปในหลุมใหม่เพราะมันมีรูระหว่างคมของเสียมทั้งสองข้าง สรุปว่าไม่เวอร์คอีก ในที่สุดก็มาลงเอยที่เครื่องมือดั้งเดิมทึ่หมอสันต์ถนัดที่สุด คือ จอบ จ๊อบ..บ จอบ ขุดแล้วก็มาปลูกต้นกล้า ปักหลัก ผูกกล้าเข้ากับหลัก เป็นอันเสร็จหนึ่งต้น จากจำนวนทั้งหมดที่เราวางแผนไว้ 3,000 ต้น หิ หิ ใจเย็นๆ พากเพียรทำไป เพราะท่านสอนว่า

“ความพยายามอยู่ที่ไหน ความพยายามย่อมอยู่ที่นั่น”

นอกจากงานปลูกแล้วเรื่องการกินการอยู่ก็ต้องพยายามด้วย ทั้งไร่ไม่มีม้านั่งสักตัวเดียว เวลาจะกินข้าวต้องยืนกิน เรื่องร่มเงาที่พักไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่มีต้นไม้สักต้นเดียว ก็มันเป็นไร่มันสัมปะหลังใครเขาจะปลูกต้นไม้ใหญ่กันละ พอเปรยเรื่องนี้ในวงอาหารเย็นให้เพื่อนๆฟังหลังจากนั้นก็เลยได้เก้าอี้บริจาคที่ต้องนั่งด้วยความระมัดระวังไม่ให้ผ้ารองก้นขาดมาสองตัว..ค่อยยังชั่ว

แบะด้ามได้ แต่หนีบดินไม่ขึ้น

หมอพอบอกว่าวันนี้ดื่มน้ำไปสี่ลิตรแต่ไม่เข้าห้องน้ำเลย ที่ไม่เข้าเป็นเพราะเสียเหงื่อมากหรือเป็นเพราะไม่มีห้องน้ำให้เข้าผมก็ไม่แน่ใจ ประเด็นหลังคือการไม่มีห้องน้ำนี้เป็นปัญหาที่แท้จริงของเรา จำเป็นต้องวางแผนทำห้องสุขา แรกเริ่มก็กะว่าจะเอาถังน้ำเปล่าๆที่รั่วแล้วมาตั้งแล้วเจาะเป็นประตูเข้าไปทำกิจข้างใน แต่บรรยากาศที่ฝนตกทุกวันอย่างนี้การจะขนเอาหิน ปูน ทราย มากองแล้วเทฐานรากเพื่อตั้งห้องสุขานั้นคงทำไม่ได้จนกว่าฝนจะหยุด แต่มันจะหยุดเมื่อไหร่ละเพราะนี่เพิ่งต้นหน้าฝน และย่านเขาใหญ่นี้ ตามบันทึกของ วาริงตัน สมิท ซึ่งเดินทางผ่านแถบนี้สมัย ร. 5 เล่าว่าเมื่อเดินทางมาถึงตำบลขนงพระ (อ.ปากช่อง) ต้องจอดเกวียนรอข้ามคลองน้ำเพราะฝนตกหนักเจ็ดวันเจ็ดคืนไม่หยุดเลย ถ้าจะให้เรารอกันนานขนานนั้นต่อมลูกหมากของเราคงจะระเบิดเสียก่อน หิ หิ สรุปว่าตั้งห้องสุขาบนพื้นดินแฉะยังไม่ได้ ก็หาทางย้ายไปตั้งแบบชั่วคราวในโรงเก็บของโกโรโกโสโน่นก็แล้วกัน

ขอบคุณไร่ข้างๆที่เหลือต้นมะขามไว้หนึ่งต้น

Dump Station เลี้ยงป่าไม้

ขณะคิดเรื่องทำส้วม ก็เกิดความคิดว่าน่าจะประยุกต์ระบบบำบัดน้ำเสียของส้วมธรรมดาๆไปเป็นระบบจ่ายน้ำที่บำบัดได้แล้วไปเลี้ยงต้นไม้ป่านะ ฟังดูเป็นความคิดที่ดี แต่ปริมาณอึที่ได้มันมีจำนวนน้อยนิดเกินไป ห้องสุขาจะได้ใช้งานก็เฉพาะเมื่อผมมาปลูกมาดูแลป่าเท่านั้น จะมีวิธีไหนที่จะได้ปุ๋ยมาอย่างเป็นกอบเป็นกำและต่อเนื่องบ้างหนอ ฉับพลันก็คิดถึง dump station ซึ่งเป็นจุดรับของเสียจากรถบ้าน (recreational vehicle – RV) ที่เคยเห็นสมัยทำงานอยู่เมืองนอก บางครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นบ่ายวันอาทิตย์ผมขับผ่านไปมักเห็นรถ RV จ่อคิวปล่อยของเสียเป็นแถว ฮะ ฮ้า ได้การละ ทำไมไม่ทำ dump station ขึ้นมาเสียเลยละ เขาใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงป่าเขาธรรมชาติ ไปภายหน้าคนเบื่อการท่องเที่ยวด้วยการขับรถเก๋งนอนโรงแรมก็คงจะมีบ้างแหละที่หันมาเที่ยวด้วยรถ RV แก้เบื่อ เขาใหญ่ก็จะมีรถ RV แวะเวียนมามากขึ้นๆ ถ้าผมเปิด dump station นี้ให้ใช้ฟรี ผมก็จะได้ปุ๋ยมาฟรีๆ ฮี่..ฮี่ เป็นโมเดลธุรกิจที่เริ่ดสะแมนแตนไหมละ คิดแล้วก็ทำเลย จึงไปซื้อถังแซทขนาดใหญ่มาฝังไว้ใต้ดินตรงจุดที่จะทำเป็น dump station ใช้กล้องส่องระดับวางท่อนำน้ำที่บำบัดเสร็จแล้วฝังใต้ดินเข้าไปยังป่าปลูก พอไปถึงป่าปลูกก็เอาไปเข้าบ่อพักสำเร็จรูปเล็กๆ แล้วจ่ายตามแรงโน้มถ่วงผ่านท่อพรุนใต้ดินที่หุ้มด้วยผ้าใบจีโอเท็กซ์ (geotextile) ซึ่งมีคุณสมบัติให้น้ำวิ่งผ่านออกได้แต่ป้องกันดินไม่ให้เข้ามาอุดรูพรุนของท่อ จะจ่ายไปไกลแค่ไหนก็ได้ตราบใดที่มีทรัพยากรต้นกำเนิดคือ “อึ” มากเพียงพอ เพราะอย่าลืมว่าป่าแห่งนี้มีความยาวถึง 3 กม. บัดนี้สองกรรมกรได้ช่วยกันทำระบบโครงสร้างพื้นฐานเสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อใดที่เริ่มเปิดรับอึบริจาคได้ก็จะ ฮี้ ฮ้อว์..เป็นธุรกิจ

เดินท่อนำน้ำบำบัดแล้วไปเลี้ยงต้นไม้ในป่า

ป่ามิยาวากิแบบคลาสสิก

การปลูกป่ามิยาวากิแบบคลาสสิกนั้นมีองค์ประกอบ 4 อย่าง คือ

(1) เริ่มที่ทำงานกับดินก่อน ขุดปรับโครงสร้างของดินให้ลึกจากผิวดินเดิมเป็นเมตรแล้วใส่แกลบดิบลงไปคลุกเพื่อเปลี่ยนดินที่เหนียวหนึบเวลาแฉะและแข็งโป๊กเวลาแห้งให้กลายเป็นดินที่รากพืชแทงทะลุได้ (penetrable) ให้ดินหลวมจนรากพืชวิ่งสานกันไปมาหากันได้ มิยาวากิเป็นเจ้าความคิดเรื่องสังคมวิทยาของพืช (plant sociology) คือต้องให้รากพืชกอดกันไว้ แล้วมันจะรักกันและอยู่ด้วยกันได้เอง จากนั้นก็ใส่ก็เศษพืช (biomass) ลงไปช่วยเก็บความชื้น แล้วใส่ขี้วัวลงไปเพิ่มอินทรีย์วัตถุ (organic substance) เพื่อตั้งต้นเป็นอาหารของจุลินทรีย์ในดิน ทั้งนี้หวังให้จุุลินทรีย์เหล่านี้สร้างอาหารให้พืชดูดไปกินและอยู่ร่วมกับพืชไปในอนาคต

(2) เลือกกล้าไม้ที่เป็นพืชที่เคยขึ้นอยู่ในท้องถิ่นนี้นับร้อยปีมาแล้ว ไม่เอาพืชที่นำมาจากต่างถิ่น ถิ่นเขาใหญ่นี้เป็นเขตป่าดิบเขา จึงเลือกต้นไม้ได้ง่ายและหลากหลายมาก ทั้งไม้สูง (canopy) ไม้กลาง (tree) ไม่ต่ำ (sub-tree) ไม้พุ่ม (shrub)

(3) ปลูกต้นไม้ให้แน่น คือหนึ่งตารางเมตรปลูกสี่ห้าต้น เรียกว่าแน่นเป็นบ้า เป้าหมายคือให้แสงแดดทุกเม็ดถูกใช้หมดโดยไม่เหลือส่องถึงพื้นอย่างสูญเปล่าเลย

(4) ปลูกแล้วต้องคลุมดินหรือห่มดิน (mulching) ด้วยฟางหรือหญ้าแห้งหรือเศษพืชอะไรก็ได้ เป็นการตั้งต้นเพื่อให้อุณหภูมิและความชื้นในดินเหมาะแก่เหล่าชีวิตในดิน ไปภายหน้าเมื่อวัสดุคลุมดินนี้ย่อยสลายไป ใบไม้ของพืชที่ปลูกไปก็จะร่วงหล่นลงมาทำหน้าที่แทน

เหตุผลที่ทำทั้งสี่อย่างนี้ก็เพราะมิยาวากิเห็นว่านี่เป็นวิธีเดียวกันกับที่ธรรมชาติปลูกสร้างป่าไม้ในโลกนี้ขึ้นมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ พอมันตั้งต้นของมันได้แล้ว มันก็จะเกิดดุลภาพที่จะอยู่ได้อย่างถาวรไปอีกหลายร้อยปีโดยไม่ต้องไปแทรกแซงอะไรอีกเลย

เจ้าหนูไข่มุกกับเพื่อน กำลังทดสอบทางจักรยาน ในป่าที่ปลูกยังไม่ทันเสร็จ

เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นหลังได้รู้จักแนวคิดที่แท้จริงของมิยาวากิ ผมจึงเอาที่ดินมุมหนึ่งทำการปลูกป่าด้วยวิธีคลาสสิกของมิยาวากิทุกประการโดยระดมพลสามพ่อแม่ลูกมาปลูกด้วยกัน 200 ต้นจนเสร็จในวันเดียว เรียกส่วนนี้ว่า Classic Miyawaki Plantation เผื่อคนรุ่นหลังมาเห็นแล้วจะเกิดความประทับใจในความคิดของมิยาวากิจนนำไปสู่ความคิดอยากปลูกป่าด้วยตัวเองบ้าง

ความท้าทายไม่ได้อยู่ที่การปลูก

ผมใช้เวลาราวเกือบเดือนก็ปลูกป่า 3,000 ต้นเสร็จตามแผน ในงานปลูกป่าใครๆก็รู้ว่าการปลูกนั้นเป็นส่วนที่ง่ายที่สุด แต่การดูแลให้ต้นกล้าอยู่ได้รอดผ่านหน้าแล้งสามปีแรกต่างหากที่เป็นความท้าทายอย่างแท้จริง สามพ่อแม่ลูกจะมีน้ำยาแค่ไหน ก็ต้องติดตามดูตอนต่อไป

ป่าสร้างเยาวชน เยาวชนสร้างป่า

ป่าเพิ่งปลูกเสร็จดินยังไม่ทันหมาดดี เมื่อแดดร่มลมตกเจ้าไข่มุกก็พาเพื่อนๆในหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ๆนี้มาปั่นจักรยานเล่นกันสนุกสนานแล้ว เอาไว้รอให้กล้าไม้ติดดีๆก่อนแล้วผมจะเปิด Miyawaki Khoa Yai Park ให้เด็กๆทั่วไปและผู้ใหญ่ได้มาเดินเล่นหรือวิ่งจ๊อกกิ้งหรือปั่นจักรยานในป่าปลูกนี้ได้..ฟรี ไปภายหน้าผมตั้งใจว่าสักปีละครั้งสองครั้งหากผมไม่แก่หง่อมหมดแรงไปเสียก่อน ผมจะจัดทำแค้มป์ทักษะชีวิต (Life Skill Camp) สำหรับเด็กๆขึ้นที่นี่ โดยจัดเป็นแบบ day camp เช้ามาเย็นกลับ เพื่อสอนให้เด็กๆได้เรียนรู้การใช้ชีวิตนอกห้องเรียน เรียนรู้คุณค่าของป่าไม้ และฝึกทักษะการปลูกป่าแบบมิยาวากิด้วยการลงมือปรับปรุงดินและปลูกป่าด้วยตนเอง ผมได้กันพื้นที่ไว้เพื่อการนี้ส่วนหนึ่ง ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แค่ให้เด็กๆได้มีโอกาสมาวิ่งเล่นปั่นจักรยานเล่นในป่า มามีความสุขกับป่า มารู้จักมิยาวากิ เด็กๆก็จะเริ่มซึมซับความคิดของมิยาวากิที่ตั้งหน้าตั้งตาฟื้นฟูป่าธรรมชาติในโลกนี้ขึ้นมาอีกครั้งด้วยสองมือ ความประทับใจแค่นี้ของเด็กก็คุ้มแล้ว เพราะวันหนึ่งข้างหน้าเด็กรุ่นนี้แหละที่จะเป็นผู้ฟื้นฟูโลกนี้ให้กลับน่าอยู่ขึ้นมาใหม่

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

23 พฤษภาคม 2565

จะพูดกับคนที่กำลังคิดแต่จะฆ่าตัวตายอย่างไรดี

(ภาพวันนี้: เหลืองชัชวาล)

เรียนอาจารย์สันต์ที่เคารพ

หนูเป็นนักสังคม มีผู้รับบริการเป็นโรคซึมเศร้าและมีความคิดฆ่าตัวตายแรงมาก เธอรักษาอยู่กับแผนกจิตเวช นักจิตที่ดูแลอยู่ก็เป็นเพื่อนของหนูเอง เราเคยคุยกันถึงวิธีที่จะช่วยผู้ป่วยรายนี้ในรูปแบบต่างๆนาๆ ทั้งชี้ให้เห็นว่าชีวิตเธอไม่ได้ไร้ค่า ช่วยแก้ปัญหาการเงินให้ แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะในที่สุดเธอก็ฆ่าตัวตายจริงๆ ตอนนี้เธอเสียชีวิตไปแล้ว หนูยังมีความติดค้างอยู่ในใจตรงที่ว่านอกจาก psychological support และการกระตุ้นให้กินยาสม่ำเสมอแล้ว มันมีประเด็นสำคัญที่ควรคำนึงถึงอีกไหม เราควรจะพูดคุยสนทนากับคนที่มีความคิดฆ่าตัวตายอย่างไรดี เพราะหนูรู้สึกว่าไม่ว่าจะพูดอะไรก็ดูจะเป็นการเร่งให้เธอฆ่าตัวตายเร็วขึ้นไปหมด

ขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ

…………………………………………………………………..

ตอบครับ

จดหมายของคุณทำให้นึกถึงเพลงหนึ่ง ซึ่งพรรณาว่าธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพรได้จัดงานศพให้แก่หญิงสาวที่มากระโดดน้ำฆ่าตัวตายที่วังน้ำวนหน้าน้ำตกห้วยแก้ว จ.เชียงใหม่ อย่างไร เนื้อเพลงตอนหนึ่งมีว่า

“..เอาวังน้ำไหลเย็น
นี่หรือมาเป็นเมรุทอง
เอาน้ำตกก้องเป็นกลองประโคม

เอาเสียงจักจั่นลั่นร้องระงม
เป็นเสียงประโคมร้องต่างแตรสังข์
เพดานนั้นเอาเมฆฟ้า
ภูผานั้นต่างม่านบัง
ประทีปแสงจันทร์ใสสว่าง
อยู่เดียวท่ามกลางดงดอย..”

เรื่องปรัมปราเล่ากันมาว่าเธอชื่อ “บัวบาน” วังน้ำวนแห่งนั้นคนรุ่นหลังจึงเรียกว่า “วังบัวบาน” แต่ไม่ต้องไปหาดูตอนนี้นะ เพราะผมเข้าใจว่าคงแห้งไปหมดแล้ว ที่เล่านี่ไม่เกี่ยวอะไรกับคำถามของคุณหรอก เพียงแต่คิดถึงเพลง

กลับมาตอบคำถามของคุณ ก่อนอื่น สิ่งที่ผมจะตอบคุณไม่ใช่หลักวิชาแพทย์แผนปัจจุบันในการจัดการกับโรคซึมเศร้านะ มันเป็นหลักส่วนตัวที่ผมใช้เองเป็นประจำ ผมไม่ได้ว่าหลักวิชาแพทย์แผนปัจจุบันที่นับโรคซึมเศร้าเป็น neurobiological disorder หรือโรคเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองแล้วมุ่งให้ยาทดแทนนั้นไม่ถูกต้องนะ เพียงแต่ผมชอบวิธีของผมมากกว่า..ฮิ ฮิ

วิธีของผมนี้ทุกคนนำไปใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิชาชีพทางด้านการแพทย์ที่ต้องคุยกับผู้ป่วยของตนโดยหน้าที่เท่านั้น ใครก็ตามที่มีญาติมิตรเป็นโรคซึมเศร้าและกำลังถูกครอบด้วยความย้ำคิดอยากฆ่าตัวตายล้วนเอาวิธีของผมไปใช้ได้ทั้งนั้น

ขั้นที่ 1. ให้เริ่มด้วยการชักชวนให้ชมนกชมไม้ คือสอนให้รู้จักการสังเกตหรือ observation แบบคุยกันเรื่อยเปื่อย แก้เหงา ชักชวนให้มองดูท้องฟ้า ภูเขา ต้นไม้ ดูนก ดูปลา ดูกระรอก ดูแบบสังเกตโดยไม่คิดอะไรต่อยอด เหมือนทำตัวเป็นกล้องถ่ายรูป snapshot ถ่ายทางนั้นแชะ ถ่ายทางนี้แชะ ไม่มีการตกแต่งภาพ ไม่มีการวิจารณ์ภาพ แล้วก็ชวนให้ฟังเสียง เสียงนก เสียงไก่ เสียงหมา เสียงรถยนต์ คุณได้ยินเสียงนั่นไหม ได้ยินเสียงนี่ไหม ในขั้นตอนนี้เจตนาก็คือต้องการให้เขาหรือเธอหลุดออกจากความคิดมาตามความสนใจหรือ attention ของตัวเองให้ได้ก่อน

ขั้นที่ 2. หาจังหวะชวนให้สังเกตความคิดของตัวเอง การสังเกตความคิดก็ทำแบบเดียวกับที่เราสังเกตหรือมองท้องฟ้ามองภูเขานั่นแหละ แค่เหลือบดูเฉยๆ ว่าเมื่อตะกี้เราคิดอะไรอยู่ ดูแล้วก็ผ่านไป หันมาสนใจสิ่งอื่นตรงหน้า สักพักก็หันไปสังเกตความคิดอีก เจตนาคือต้องการให้เห็นว่าเรากับความคิดนี้มันเป็นคนละอันกัน เราก็เป็นเรา ความคิดก็เป็นความคิด เราสามารถสังเกตเห็นความคิดได้ ไม่ต้องไปตัดสินว่าความคิดนั้นดีหรือไม่ดี แค่ขยันสังเกตดูมัน ดูแล้วสักพักก็กลับไปดูอีก โดยผู้หวังดีจะต้องเป็นคนออกปากชวนทุกขั้นตอน หมายถึงชวนให้ย้อนกลับไปมองความคิด ว่าเมื่อตะกี้คิดอะไรอยู่ จะหวังให้คนเป็นโรคซึมเศร้ามีทักษะที่จะย้อนดูความคิดของตัวเองได้ด้วยตนเองนั้นคงยาก ต้องมีคนชวนให้ย้อนไปมองทีละครั้ง ทีละครั้ง แล้วทักษะที่จะสังเกตความคิดของตัวเองได้จึงจะค่อยๆเพิ่มขึ้นจนทำได้เองในที่สุด

ขั้นที่ 3. ชวนให้จดจำหรือตีทะเบียนความคิดอยากฆ่าตัวตาย กล่าวคือคนเรานี้เวลาที่อยู่ดีๆ ใจเย็นๆ ใจร่มๆอยู่ คนเราทุกคนล้วนรู้ว่าความคิดในลักษณะที่เป็นอารมณ์ (emotion) แบบไหนที่เป็นตัวอันตราย อย่างเช่นเราทุกคนรู้ว่าความโกรธเป็นพิษกับตัวเอง เป็นต้น แต่ตอนที่ใจมันไม่เย็น ใจมันไม่ร่ม เราจะเผลอไปกับอารมณ์โดยตั้งตัวไม่ติด ความซึมเศร้าจนอยากฆ่าตัวตายก็เช่นกัน เวลาใจดีๆอยู่คนเป็นโรคซึมเศร้าทุกคนรู้ว่าการฆ่าตัวตายไม่ดี โหลงโจ้งแล้วเสียมากกว่าได้ แต่พอเวลาใจมันถูกครอบด้วยความซึมเศร้าขึ้นมาก็ถูกอารมณ์ดึงไปหมด ดังนั้นเมื่อเราอยู่กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่อยากฆ่าตัวตาย เราต้องหาจังหวะที่เขาใจดีๆชักชวนเขาให้หัดจดจำหรือตีทะเบียนความคิดอยากฆ่าตัวตายไว้ ว่านี่เป็นความคิดอันตราย ไม่เข้าท่า เสียมากกว่าได้ ให้จำความคิดนี้ไว้ พอความคิดนั้นกลับมาอีก เราจะได้ตั้งหลักได้และชี้หน้ามันได้ว่า

“..เอ็งมาอีกละ”

แล้วก็ตั้งการ์ดสังเกตดูมันอยู่ห่างๆไม่ให้คลาดสายตา โดยธรรมชาติถ้าเราตั้งหลักสังเกตได้เสียตั้งแต่แรกเริ่มที่ความคิดมา ความคิดนั้นมันจะขวยอายและฝ่อหายไปเองอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าเราเผลอปล่อยให้ใจเราไปคลุกอยู่ในความคิดนั้นเป็นนานสองนาน มันเป็นการยากเสียแล้วที่เราจะถอยออกมาตั้งหลักสังเกตดูมันได้ ดังนั้นหัวใจของการจดจำตีทะเบียนความคิดก็คือทำให้เรารู้ตัวอย่างรวดเร็วว่าความคิดอันตรายนั้นมันมาอีกแล้ว เราจะได้รีบสังเกตและเกาะติดดูมันได้ทันการ เมื่อมันถูกเฝ้าดู ความคิดมันจะค่อยๆหมดพลังแล้วฝ่อหายไป

ขั้นที่ 4. หาเวลาชวนกันนั่งสมาธิวางความคิดแบบสั้นๆสัก 1 นาที ชวนกันทำพร้อมกัน หายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้สักพัก ผ่อนลมหายใจออกยาวๆ ยิ้ม ผ่อนคลาย ทำอย่างนี้ไปสักสิบลมหายใจ ซึ่งก็คือ 1 นาที ชวนให้ทำอย่างนี้ทุกครั้งที่ได้พบกันหรือมีโอกาสได้คุยกัน การได้วางความคิดลงไปบ้าง แม้เพียง 1 นาที จะเป็นการค่อยๆแง้มเปิดช่องให้ความรู้ตัวฉายแสงออกมาทีละนิดๆจนในที่สุดก็สามารถสลายความย้ำคิดเรื่องอยากจะฆ่าตัวตายได้

ขั้นตอนที่ 5. หาพลังเสริมให้ หมายถึงหาทางให้ผู้ป่วยได้รับพลังชีวิตจากบุคคลอื่นที่รักเมตตาผู้ป่วยอย่างแท้จริง เช่นพ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติสนิท มิตรสหาย ผู้ป่วยบางคนจะมีคนแบบนี้สำหรับเขาอยู่ไม่กี่คน ให้หาทาดึงคนแบบนี้มานั่งอยู่ใกล้ๆผู้ป่วยสักไม่กี่นาที แม้ไม่ต้องพูดอะไรสักคำ ผู้ป่วยก็จะได้รับพลังเสริมที่จะไปต่อสู้กับความย้ำคิดที่จะฆ่าตัวตายได้แล้ว ยิ่งหากมีการสัมผัสจับต้องโอบกอด หรือพูดอะไรที่แสดงความรักเมตตาแก่ผู้ป่วย ผลดีที่ได้แก่ผู้ป่วยก็ยิ่งมาก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

22 พฤษภาคม 2565

ผู้สูงอายุชาย เกิดอาการหนาว..ว

(ภาพวันนี้: มอสของแท้ออริจินอล ไม่ใช่มอสเลี้ยง)

กราบเรียนคุณหมอสันต์

คุณพ่ออายุ 88 ปี ชอบบ่นว่าหนาวจนทนไม่ได้ ใครเปิดแอร์ไม่ได้เลย บางวันสั่นด้วย เคยพาไปโรงพยาบาล หมอบอกว่าติดเชื้อในกระแสเลือดหมอให้นอนโรงพยาบาลแต่คุณพ่อไม่ยอมนอน จึงได้ยาปฏิชีวนะมาทานสามอย่าง ทานอยู่ 2 สัปดาห์ครบทุกเม็ดจนยาหมด อาการหนาวสั่นก็ยังไม่หาย ขอคำแนะนำจากคุณหมอด้วยค่ะว่าควรทำอย่างไรดี

ขอบพระคุณค่ะ

………………………………………………………

ตอบครับ

คุณให้ข้อมูลมาแค่นี้ผมจะไปตรัสรู้ได้อย่างไร คนแก่ผู้ชายรู้สึกหนาวผิดปกติมีสาเหตุได้ตั้งหลายอย่าง เช่นไปเจ๊าะแจ๊ะกับสาวๆแล้วภรรยามาพบเข้าก็หนาว..ว แล้ว (ฮิ ฮิ ขอโทษ เผลอพูดเล่น) ผมหมายความว่าผมต้องการข้อมูลเพิ่ม อย่างน้อยผมต้องรู้ว่า

(1) ที่ว่าหนาวๆสั่นๆนั้น อุณหภูมิร่างกายของท่านเท่าใด กี่องศา ไปซื้อปรอทร้านขายยามาให้ท่านอมก็ได้ ผมจะได้ประเมินความเป็นไปได้ของการหนาวสั่นว่าเป็นเพราะการติดเชื้อหรือไม่

(2) ที่ว่าความดันเลือดไม่ต่ำนั้นก็ดีแล้ว แต่ว่าอัตราการเต้นของหัวใจ (HR) เครื่องอ่านได้เท่าไหร่ คือเครื่องวัดความดันนั่นแหละ มันอ่านอัตราการเต้นของหัวใจหรือชีพจรด้วย ผมจะได้ประเมินการทำงานของระบบหัวใจหลอดเลือดและระบบประสาทอัตโนมัติว่ามันถูกเร่งจี๋หรือถูกหน่วงไว้

(3) คุณพ่อของคุณน้ำหนักตัวเท่าใด สูงกี่ซม. ผมจะได้ประเมินดัชนีมวลกายของท่าน หากต่ำเกินไปอาการขี้หนาวก็อาจจะเกิดจากภาวะขาดอาหาร

(4) ตอนที่ไปเข้าโรงพยาบาลครั้งที่แล้วผลตรวจนับเม็ดเลือด (CBC) เป็นอย่างไร ถ่ายรูปผลส่งมาให้ดูด้วย

(5) ผมต้องได้ทราบผลการทำงานของต่อมไทรอยด์ด้วย อย่างน้อยต้องได้ผลตรวจสองค่ามา คือ TSH และ FT4 เพื่อที่ผมจะได้ประเมินได้ว่าต่อมไทรอยด์เป็นสาเหตุหรือเปล่า

เอาข้อมูลพวกนี้มาให้ครบก่อน จึงจะตอบ ไม่งั้นไม่ตอบ แล้วเลิกกัน ไม่ใช่หมอสันต์เล่นตัวนะ แต่เป็นเพราะหมอสันต์ทำมาหากินกับวิชาแพทย์แผนปัจจุบันซึ่งวิธีหากินคือใช้ตรรกะและหลักวิชาสอบสวนไตร่ตรองเอาจากข้อมูลผลการซักประวัติตรวจร่างกายและตรวจแล็บที่ครบถ้วน ไม่ได้หากินด้วยวิชาเจโตปริยญาณจะได้ถามอะไรปุ๊บตอบปั๊บได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

จดหมายจากท่านผู้อ่าน (ฉบับที่ 2.)

กราบขอบพระคุณคุณหมอ

หนูไม่สามารถหาข้อมูลผลการตรวจจากโรงพยาบาลได้ จึงไปจ้างห้องแล็บเขาทำให้ ตอนแรกเขาไม่ยอมทำ ว่าหมอไม่ได้สั่ง พอหนูบอกว่าหมอสันต์สั่งให้ทำเขารีบทำให้เลยค่ะ 5555

น้ำหนักของคุณพ่อ 56 กก. สูง 165 ซม. วัดอุณหภูมิได้ 36.7 องศา ความดันครั้งใหม่ 120/74 ชีพจร 52 ผลตรวจเลือดและไทรอยด์ตามแนบค่ะ

…………………………………………………

ตอบครับ (ครั้งที่ 2)

ดูจากน้ำหนักส่วนสูงคำนวณดัชนีมวลกายได้ 20.56 แสดงว่าร่างกายไม่ได้เป็นโรคอดอยากขาดอาหาร ดูจากอุณหภูมิร่างกายแสดงว่าหนาวจริง ไม่ได้หนาวสั่นเพราะเป็นไข้แบบติดเชื้อ ความดันและชีพจรแสดงว่าไม่ได้อยู่ในภาวะช็อกหรือภาวะที่ระบบประสาทอัตโนมัติกำลังกระตุ้นระบบหัวใจหลอดเลือดแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามชีพจรกลับถูกกดให้ช้ากว่าปกติแสดงว่าดุลยภาพของฮอร์โมนในร่างกายเอียงไปทาง “หน่วง” ไม่ใช่ทาง “เร่ง” ผล CBC บอกว่าเม็ดเลือดแดงยังดีอยู่แสดงว่าไม่ได้หนาวเพราะโลหิตจาง การที่เม็ดเลือดขาวปกติก็สนับสนุนอีกทางว่าไม่น่ามีการติดเชื้อ ผลการตรวจไทรอยด์ทำให้วินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคไฮโปไทรอยด์ (primary hypothyroidism) ทั้งนี้ดูจากการที่ฮอร์โมนกระตุ้นต่อม (TSH) สูงผิดปกติ (= 14.761 microIU/ml) ขณะที่ตัวฮอร์โมนไทรอยด์ที่ต่อมผลิตขึ้น (FT4) ต่ำผิดปกติ (= 0.81 ng/dL) ซึ่งเข้าได้กับการมีอาการขี้หนาวและหัวใจเต้นช้าอันเป็นเอกลักษณ์ของโรคนี้

ผมวินิจฉัยโรคให้คุณแล้วนะ ที่เหลือเป็นเรื่องของการรักษาซึ่งบังเอิญโรคนี้รักษาด้วยการปรับอาหารและการใช้ชีวิตด้วยตัวเองไม่ได้เพราะการรักษาหลักมันต้องใช้ยา ผมจึงขอแนะนำให้คุณพาพ่อกลับไปโรงพยาบาลเดิม เจาะจงไปขอตรวจที่คลินิกต่อมไร้ท่อ (ก็คือคลินิกเบาหวานนั่นแหละ) เพราะหมอที่จะรักษาโรคนี้ได้ดีที่สุดคือหมอโรคต่อมไร้ท่อ (endocrinologist)

ในกรณีที่พ่อไม่ยอมไปโรงพยาบาล การซื้อยากินเองก็อาจจะพอทำได้แต่ไม่ดีเท่าไปโรงพยาบาล ยาที่ใช้รักษาชื่อ levothyroxine ให้เริ่มกินในขนาด 50-100 ไมโครกรัม วันละครั้ง อาการขี้หนาวจะดีขึ้นภายใน 5 วัน แล้วควรเจาะเลือดติดตามดูการทำงานของต่อมไทรอยด์ใน 6 สัปดาห์หลังเริ่มรักษา การรักษาโรคนี้ต้องทำนานหลายเดือนหรืออาจจะหลายปีขึ้นอยู่กับว่าต่อมไทรอยด์จะกลับมาผลิตฮอร์โมนได้เองหรือไม่และได้เมื่อไหร่ นั่นเป็นเหตุผลที่ผมแนะนำให้ไปรักษากับหมอ endocrinologist อีกเหตุผลหนึ่งคือการสนองตอบต่อการรักษาโรค primary hypothyroidism มีหลายแบบ บางแบบก็ดื้อยาต้องเพิ่มขนาดเป็นพันไมโครกรัมต่อวันจึงจะได้ผล บางแบบก็ไม่สนองตอบเลยเพราะร่างกายเปลี่ยนฮอร์โมนไทรอยด์ในรูปแบบก่อนใช้ (FT4) ไปเป็นรูปแบบพร้อมใช้ (FT3) ไม่ได้ ต้องเลี่ยงไปใช้ยาที่มีทั้ง FT4 และ FT3 อยู่ในเม็ดเดียวกัน ชื่อยา Armour thyroid แทน นอกจากนี้ยังมีประเด็นโรคร่วมอีก ซึ่งต้องค้นหาและรักษาไปพร้อมๆกัน เช่นภาวะขาดวิตามินเอ.ซึ่งเกิดจากไม่มีฮอร์โมนไทรอยด์ไปเปลี่ยนแคโรทีนไปเป็นวิตามินเอ. หรือเช่นอีกโรคหนึ่งคือโรค myxedema ซึ่งการขาดฮอร์โมนไทรอยด์ทำให้เกิดสารชื่อ glucosaminoglycans คั่งอยู่ตามที่ต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามอวัยวะสำคัญเช่นหัวใจ กระเพาะอาหาร ซึ่งจะทำให้การทำงานของอวัยวะเหล่านั้นเพี้ยนไปได้ ดังนั้นในระยะยาวเมื่อป่วยเป็นโรคไฮโปไทรอยด์ควรรักษากับหมอโรคต่อมไร้ท่อจะดีที่สุด หมอแบบนี้มีอยู่ในโรงพยาบาลรัฐบาลขนาดใหญ่ในทุกจังหวัด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

21 พฤษภาคม 2565

แค้มป์พลิกผันโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยตนเอง (RDBY22)

(ภาพวันนี้: พวงครามที่หน้ากระท่อม)

แค้มป์พลิกผันโรคด้วยตนเอง (Reverse Disease By Yourself – RDBY) ทำมาแล้ว 21 ครั้งสุดท้ายที่ผ่านมาได้ทดลองทำในรูปแบบบเจาะลึกเฉพาะโรคเบาหวาน ทำให้ผมได้เรียนรู้ข้อดีข้อเสียของการทำแค้มป์เจาะลึกเฉพาะโรคหลายอย่าง แต่เนื่องจากเบาหวานเป็นโรคที่ค่อนข้างมีเนื้อหาแคบ สิ่งที่เรียนรู้มาอาจจะแตกต่างจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นโรคที่กว้าง เพราะรวมโรคทุกโรคที่มีกลไกการเกิดต่อยอดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ไม่ว่าจะเป็นหัวใจ อัมพาต ความดัน ไขมัน โรคไตเรื้อรัง ในครั้งหน้านี้ (RDBY22) ผมจึงตัดสินใจทำแค้มป์ในรูปแบบเจาะลึกเฉพาะโรคอีกครั้ง โดยคราวนี้เจาะลึกโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease) ถือเป็นแค้มป์ทดลอง เพื่อจะเรียนรู้ก่อนที่จะสรุปว่าการจะช่วยให้ผู้ป่วยพลิกผันโรคเรื้อรังด้วยตนเองนี้ รูปแบบไหนจึงจะเหมาะที่สุด

     1. โครงสร้างของแค้มป์พลิกผันโรคหัวใจหลอดเลือดด้วยตนเอง (RDBY-22)

1.1 ใช้เวลามากินมานอนที่เวลเนสวีแคร์ 4 วัน 3 คืน
1.2 มาเข้าแค้มป์เดียว แล้วติดตามอย่างต่อเนื่องผ่าน We Care app บนอินเตอร์เน็ท โดยติดตามแบบเข้มข้น (ทุก 4 เดือน) 1 ปี แล้วติดตามแบบห่างๆ (ปีละครั้ง) ไปอีกไม่มีกำหนดสิ้นสุด

1.3 แยกลงทะเบียนระหว่างผู้ป่วยกับผู้ดูแล โดยผู้ดูแลจะได้ที่พัก กิน นอน เรียน ทำกิจกรรมเช่นเดียวกับผู้ป่วย แต่จะไม่ได้เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและประเมินปัญหาสุขภาพรายคน และจะไม่มีคำสรุปสุขภาพของแพทย์ใน We Care app dashboard

1.4 เนื้อหาแยกเป็นสองส่วน คือ

1.4.1 เจาะลึกเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือดในภาพใหญ่สำหรับผู้ป่วยทุกคน นับตั้งแต่กลไกการเกิดโรคบนหลอดเลือด ปัจจัยเสี่ยง อาการวิทยา การวินิจฉัย การรักษา

1.4.2 เจาะลึกลงไปในปัญหาผู้ป่วยเป็นรายคน ทีละคน ตั้งแต่การประเมินสถานะและความรุนแรงของโรคจากผลการตรวจเอ็คโค วิ่งสายพาน ตรวจหัวใจด้วยคอมพิวเตอร์ (CTA) ผลการสวนหัวใจ การจัดทำแผนการรักษา การตัดสินใจว่าจะใช้วิธีรุกล้ำ (invasive treatment เช่นบอลลูน บายพาส) หรือจะไม่ใช้ เจาะลึกการลด ละ เลิก ยา การฟื้นฟูหัวใจ การฟื้นฟูสมอง การดูแลตัวเองในทิศทางที่มุ่งให้โรคหาย

     2. ความเป็นมาของ RDBY

มันเริ่มจากตัวผมเองเคยป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ความที่อยากหนีจากแนวทางการรักษาแบบโรงพยาบาล (กินยา สวนหัวใจ บอลลูน ผ่าตัดบายพาส) จึงทบทวนงานวิจัยเพื่อหาทางออกอื่นและได้พบว่าการจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคโดยตัวผู้ป่วยเอง ทั้งในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด การเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง ทำให้โรคดีขึ้นกว่าการรักษาในโรงพยาบาลเสียอีก จึงลงมือทำกับตัวเอง เมื่อเห็นว่าได้ผลดีจนสามารถพลิกผันโรคให้หายจากเจ็บหน้าอกและเลิกกินยาความดันยาไขมันได้หมด จึงตัดสินใจเลิกอาชีพหมอผ่าตัดหัวใจเปลี่ยนอาชีพมาเป็นหมอส่งเสริมสุขภาพ แต่เมื่อได้นั่งตรวจและสอนคนไข้ทีละคนอยู่ที่โรงพยาบาลก็พบว่ามันใช้เวลามากและช่วยคนไข้ได้เป็นจำนวนน้อย และวิธีนั่งตรวจมันยังแก้ปัญหาสำคัญที่คนไข้ต้องการไม่ได้ นั่นคือการขาดทักษะปฏิบัติการ ผมจึงเปลี่ยนแนวทางมาให้ความรู้กับคนป่วยคราวละหลายๆคน ในรูปแบบแค้มป์กินนอนเพื่อเรียนรู้ทักษะในการป้องกันและพลิกผันโรคด้วยตัวเอง (RDBY) ซึ่งเดิมทำรวมโรคเรื้อรังทุกโรค ทำไปแล้ว 20 รุ่น ตอนนี้กำลังทดลองทำแบบแยกโรค โดยได้ทดลองทำแบบแยกโรคเบาหวานไปแล้วหนึ่งครั้ง ครั้งนี้จะเป็นการทดลองทำแบบแยกเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือด

     3. แค้มป์ RDBY22 เหมาะสำหรับใครบ้าง

แค้มป์ RDBY22 นี้จัดขึ้นเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease) ซึ่งรวมถึงโรค

(1) โรคหลอดเลือดหัวใจ

(2) โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต)

(3) โรคความดันเลือดสูง

(4) โรคไตเรื้อรังที่เกิดจากความดันเลือดสูง

(5) โรคไขมันในเลือดสูง

(6) โรคหลอดเลือดส่วนปลายและหลอดเลือดใหญ่โป่งพอง

         4. ภาพรวมของแค้มป์ RDBY

4.1 หลักสูตรนี้เป็นการใช้วิธีการแพทย์แผนปัจจุบัน (modern medicine) ในรูปแบบการแพทย์แบบอิงหลักฐาน (evidence based medicine) มีแพทย์เป็นผู้กำกับดูแล (medically directed) โดยใช้วิธีมองปัญหาของผู้ป่วยแบบองค์รวม (holistic care) โดยเน้นส่วนที่ผู้ป่วยจะทำโดยตัวเองได้ เช่นอาหาร การใช้ชีวิต การจัดการยาด้วยตัวเอง เป็นต้น

4.2 ในกรณีที่ผู้สมัครเข้าร่วมโปรแกรมนี้มีแพทย์เฉพาะทางเจ้าประจำอยู่แล้ว ป่วยไม่ต้องเลิกการรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่ดูแลกันมาแต่เดิม เพราะแพทย์ประจำตัวของท่านที่เวลเนสวีแคร์จะทำหน้าที่เป็นแพทย์ประจำครอบครัว (family physician) ของท่านและเป็นพี่เลี้ยงให้ท่านดูแลตัวเองให้เป็น ส่วนการปรึกษาและใช้บริการของแพทย์เฉพาะทางเฉพาะโรคที่ทำมาแต่เดิมนั้นก็ยังทำต่อไปเหมือนเดิม

4.3 ผู้สมัครเข้าร่วมโปรแกรมนี้ไม่จำเป็นต้องยกเลิกยาหรือการรักษาที่ตนเองได้มาแต่เดิมในขณะที่เริ่มหันมาใช้วิธีดูแลตนเอง เพราะการรักษาโรคตามโปรแกรมนี้ใช้หลักวิชาการแพทย์แผนปัจจุบันเช่นเดียวกันกับการรักษาในโรงพยาบาล เพียงแต่มุ่งโฟกัสที่การเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ป่วยในเรื่องการกินการออกกำลังกายและการใช้ชีวิตจนถึงระดับที่ผู้ป่วยดูแลตัวเองได้ด้วยตนเอง จึงสามารถทำคู่ขนานไปกับการรักษาในโรงพยาบาลได้ เมื่อผู้ป่วยดูแลตนเองได้ดีขึ้นแล้ว ตัวชี้วัดสุขภาพต่างๆจะค่อยๆบ่งชี้ว่าความจำเป็นที่จะต้องพึ่งการรักษาด้วยยาในโรงพยาบาลจะค่อยๆลดลงไปเองโดยอัตโนมัติจนสามารถเลิกยาได้เองในที่สุด

4.4 ผู้ป่วยจะต้องมาเข้าแค้มป์ หนึ่งครั้ง นาน 4 วัน 3 คืน

4.5 ในวันแรก ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกายโดยแพทย์ของวีแคร์คลินิก จัดทำฐานข้อมูลสุขภาพ วางแผนสุขภาพ และเก็บรวมรวมผลการตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษต่างๆไว้บนเฮลท์แดชบอร์ด (Health Dashboard) ซึ่งทั้งทีมแพทย์, พยาบาลของวีแคร์คลินิก และตัวผู้ป่วยเองสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้ตลอดเวลาผ่านโทรศัพท์มือถือ

4.6 ในระหว่างที่อยู่ในแค้มป์ ผู้ป่วยจะได้เรียนความรู้สำคัญเกี่ยวกับโรคของตน ได้ฝึกทักษะที่จำเป็นในการจัดการโรคของตน การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด การสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองอย่างต่อเนื่อง การโภชนาการ การตัดสินใจในการเลือกวิธีรักษา การจัดการยา ทั้งนี้ผู้ป่วยจะได้เรียนรู้การทำอาหารแบบกินพืชเป็นหลักในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ โดยไม่ใช้น้ำมัน (low fat PBWF) ด้วยตนเองด้วย

4.7 อาหารที่ใช้ในแค้มป์นี้เป็นอาหารแบบกินพืชเป็นหลัก (Plant based whole food ที่มีไขมันต่ำ) ไม่มีเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลย แม้แต่นมและไข่ก็ไม่มี

4.8 เมื่อสิ้นสุดแค้มป์ 4 วันแล้ว ผู้ป่วยจะกลับไปอยู่บ้านโดยนำสิ่งที่เรียนรู้จากแค้มป์ไปดูแลตัวเองต่อที่บ้าน โดยสื่อสารกับทีมแพทย์และพยาบาลของเวลเนสวีแคร์ผ่านเฮลท์ We Care app. ทางอินเตอร์เน็ท ผู้ป่วยสามารถติดต่อสอบถามเรื่องต่างๆรวมทั้งการปรับลดขนาดยาเมื่อตัวชี้วัดเปลี่ยนไปด้วย ทีมงานจะติดตามผู้ป่วยไปทุก 4 เดือนจนครบหนึ่งปี โดยคาดหมายว่าภายในหนึ่งปีผู้ป่วยจะสามารถดูแลตัวเองต่อไปได้ด้วยตัวเอง

สมาชิกสามารถใช้ We Care app นี้เป็นที่เก็บข้อมูลผลแล็บ รวมทั้งภาพและวิดิโอ.ทางการแพทย์ ของตนเองได้ต่อเนื่อง และสมาชิกสามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง แก้ไข ข้อมูลสุขาพของตนได้ทุกรายการ ยกเว้น Doctor’s Summary ซึ่งต้องเขียนสรุปไว้โดยแพทย์เท่านั้นเพื่อใช้เป็นเอกสารให้ข้อมูลแก่แพทย์กรณีต้องเข้าโรงพยาบาล

อนึ่ง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง สมาชิกมีหน้าที่ปรับปรุง (update) ข้อมูลดัชนีสุขภาพสำคัญเจ็ดตัวของตนคือ (1) น้ำหนัก (2) ความดัน (3) น้ำตาล (4) ไขมัน (5) จำนวนผักผลไม้ที่กินต่อวัน (6) เวลาที่ใช้ในการออกกำลังกายต่อสัปดาห์ และ (7) การสูบบุหรี่ เพื่อให้แพทย์ประจำตัวหรือทีมงานผู้ช่วยแพทย์ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงสุขภาพและวางแผนสุขภาพให้และบันทึกไว้บนแดชบอร์ดทุกปี

สมาชิกสามารถขอรับคำปรึกษาปัญหาจากแพทย์ประจำตัวของหรือทีมงานผู้ช่วยแพทย์โดยเขียนคำถามผ่านมาทาง We Care app คำถามของสมาชิกจะได้รับการสนองตอบโดยผู้ช่วยแพทย์ที่เฝ้าแดชบอร์ดอยู่ ซึ่งจะปรึกษาแพทย์ประจำตัวของสมาชิกในกรณีที่เป็นปัญหาที่ต้องแนะนำโดยแพทย์ การตอบคำถามด้วยวิธีนี้จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเพราะขณะตอบแพทย์หรือทีมงานมีข้อมูลสุขภาพของสมาชิกรายนั้นอยู่ตรงหน้าอยู่แล้ว

สมาชิกสามารถสั่งพิมพ์ใบสรุปข้อมูลสุขภาพ (Doctor’s Summary) แบบหน้าเดียวซึ่งเขียนโดยแพทย์ประจำตัวของตน ไปใช้เพื่อเวลาไปรับการตรวจรักษาในสถานพยาบาลต่างๆได้ทุกเมื่อ

4.9 ในกรณีที่เป็นผู้ทุพลภาพหรือช่วยเหลือตนเองไม่ได้ซึ่งตามปกติต้องมีผู้ดูแลประจำตัวอยู่แล้ว ต้องนำผู้ดูแลมาด้วย โดยผู้ดูแลต้องลงทะเบียนเป็นผู้ดูแล ทั้งนี้นอกจากอาหารและที่พักแล้ว ผู้ดูแลยังสามารถเข้าร่วมเรียนรู้และฝึกทักษะต่างๆเพื่อประโยชน์ในการติดตามดูแลผู้ป่วย แต่ผู้ดูแลจะไม่ได้พบแพทย์เพื่อตรวจประเมินปัญหาสุขภาพของตนเอง และจะไม่มีบทสรุปสุขภาพของแพทย์ในแดชบอร์ด ในกรณีที่ประสงค์จะได้รับการตรวจสุขภาพและประเมินปัญหาโดยแพทย์ด้วย ผู้ดูแลจะต้องลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยอีกคนหนึ่งแยกจากตัวผู้ป่วยที่ตนดูแล เพื่อให้ได้คิวเวลาที่จะเข้าพบแพทย์ซึ่งจำกัดสิทธิ์ไว้เฉพาะผู้ป่วยเท่านั้น

     5. หลักสูตร (Course Syllabus) 

     5.1 วัตถุประสงค์

     5.1.1 วัตถุประสงค์ในด้านความรู้
คาดหวังให้ผู้ป่วยรู้สิ่งต่อไปนี้
a. รู้เรื่องโรคหลอดเลือด ทั้งกลไกการเกิดโรค การดำเนินของโรค อาการวิทยา
b. รู้วิธีวัดและวิธีใช้ประโยชน์ตัวชี้วัดที่ใช้เฝ้าระวังการดำเนินของโรค

c. รู้วิธีแปลผลการตรวจพิเศษทางด้านหัวใจและหลอดเลือดอย่างละเอียด ทั้งผลการตรวจสวนหัวใจ EST, CAC, CTA, CT brain เป็นต้น
d. รู้ทางเลือกวิธีรักษาทุกวิธี และรู้ประโยชน์และความเสี่ยงของแต่ละทางเลือกอย่างละเอียด
e. รู้จักยาทุกตัวที่ตนเองได้รับ ทั้งชื่อ ขนาด วิธีกิน กลุ่มยา ฤทธิ์ยา และผลข้างเคียงของยา

f. รู้วิธีจัดชั้นและประเมินหลักฐานวิทยาศาสตร์ว่าอันไหนเป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้ระดับมากหรือระดับน้อย

g. รู้วิธีใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลผู้ป่วยบนอินเตอร์เน็ทในการติดตามดูแลสุขภาพของตนเอง
h . รู้ศักยภาพของตนเองว่าสามารถทำอะไรได้ด้วยตนเองบ้างเพื่อให้ตนเองหายจากโรค
– ในแง่ของโภชนาการ รู้ประโยชน์ของอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำต่อการดำเนินของโรค และรู้วิธีเปลี่ยนอาหารและจัดหาหรือปรุงอาหารนั้นด้วยตนเอง
– ในแง่ของการออกกำลังกาย รู้ประโยชน์และวิธีออกกำลังกายทั้งสามแบบในการฟื้นฟูหัวใจและช่วยพลิกผันโรค คือแบบแอโรบิก (aerobic exercise) แบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (strength training) และแบบเสริมการทรงตัว (balance exercise)
– ในแง่ของการจัดการความเครียด รู้ประโยชน์และวิธีจัดการความเครียดด้วยเทคนิคต่างๆทั้งสมาธิ ไทชิ โยคะ ซึ่งรวมศูนย์อยู่ที่การฝึกวางความคิด
– ในแง่ของการร่วมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน รู้ประโยชน์ของการเผื่อแผ่เอื้ออาทรแก่ชีวิตอื่น และรู้วิธีร่วมกลุ่มอย่างมีการให้มีการรับจากกันและกัน

– ในแง่ของการจัดการโรค รู้หลักวิธีชั่งน้ำหนักประโยชน์และความเสี่ยงของทางเลือกวิธีรักษาแบบต่างๆไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การทำบอลลูนใส่ขดลวด การใช้ยา รู้วิธีที่จะลดละเลิกยาที่มากเกินความจำเป็นด้วยตนเอง

     5.1.2. วัตถุประสงค์ในด้านทักษะ
คาดหวังให้ผู้ป่วยสามารถทำสิ่งต่อไปนี้ด้วยตนเอง
a.       บริหารจัดการโรคของตนเองได้โดยใช้ตัวชี้วัดพื้นฐาน 7 ตัว (1) น้ำหนัก (2) ความดันเลือด (3) ไขมันในเลือด (4) น้ำตาลในเลือด (5) ปริมาณผักผลไม้ที่กินต่อวัน (6) เวลาออกกำลังกายต่อสัปดาห์ (7) การสูบบุหรี่
b.       บริหารยาของตนเองได้ สามารถลดหรือเพิ่มยาของตนเองตามตัวชี้วัดและอาการที่เกี่ยวข้องได้

c. เลือกอาหารสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูปในตลาดที่เป็นอาหารพืชแบบไม่สกัดไม่ขัดสีได้
d.       ทำอาหารทานเองที่บ้านได้ เช่น ผัดทอดอาหารโดยใช้น้ำหรือใช้ลมร้อนแทนน้ำมันได้ อบถั่วและนัทไว้เป็นอาหารว่างเองได้ ทำเครื่องดื่มจากผักผลไม้โดยไม่ทิ้งกากด้วยตนเองได้
e.        ประเมินสมรรถนะร่างกายของตนเองด้วยการสังเกตอัตราการหายใจ การนับชีพจรจากเครื่องช่วยนับ และการทำ One milk walk test ให้ตัวเองได้
f.       ออกกำลังกายแบบแอโรบิกได้ด้วยตนเองได้
g.       ออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยใช้ท่ากายบริหาร ดัมเบล สายยืด และกระบอง ได้ด้วยตนเอง
h.         ออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัวได้ด้วยตนเอง
i.         สามารถกำกับดูแลและแก้ไขท่าร่าง (posture) ในชีวิตประจำวันของตนเองได้
j.       ผ่อนคลายความเครียดเฉียบพลันด้วยเทคนิคต่างๆ relax breathing ได้
k.         จัดการความเครียดในชีวิตประจำวันด้วยการฝึกวางความคิดผ่านเทคนิคต่างๆเช่น นั่งสมาธิ ไทชิ โยคะ ได้
l.     สามารถเปิดตัวเองออกไปมีชีวิตร่วมกับผู้อื่นในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อนได้
m. สามารถใช้เครื่องมือบนอินเตอร์เน็ทและ Wecare App ในการดูแลตนเองต่อเนื่องได้ด้วยตนเอง

5.1.3    วัตถุประสงค์ในด้านเจตคติ
คาดหวังให้ผู้ป่วยเกิดเจตคติต่อไปนี้
a.       มีความมั่นใจว่าตนเองมีอำนาจ (empowered) ที่จะดลบันดาลให้โรคของตัวเองหายได้
b.       มีความมุ่งมั่นในพันธะสัญญา (commitment) ที่จะเป็นผู้ดูแลตนเองไม่ให้เป็นภาระแก่คนอื่น
c.       มีความอยาก (motivated) ที่จะมีชีวิตอย่างมีสุขภาพดี มีความสุข

     6. ตารางกิจกรรมขณะอยู่ในแค้มป์ 

วันแรก (4 มิ.ย. 2565)

09.00 – 15.00 Registration and initial assessment by doctors

1) ลงทะเบียนเข้าแค้มป์

2) เช็คอินเข้าห้องพัก

3) วัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง คำนวณดัชนีมวลกาย วัด Body composition ฝึกหัดใส่ข้อมูลตัวชี้วัดเข้าเวชระเบียนส่วนบุคคลทางอินเตอร์เน็ท

4) ผลัดกันเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเป็นรายคนตามตารางเวลาที่จัดไว้ (เน้นย้ำเรื่องการพบแพทย์ตรงตามเวลาที่จัดไว้ เนื่องจากมีสมาชิกหลายท่าน)

          ท่านสามารถพักผ่อนได้ตามอัธยาศัย ทางศูนย์สุขภาพ Wellness We Care Centre (WWC) มีการจัดเตรียมห้องประชุม เพื่อฉายสื่อความรู้ด้านสุขภาพในระหว่างรอคิวพบแพทย์

หากท่านต้องการนวดผ่อนคลาย ที่ WWC มีศูนย์ Herbal Treatment Centre โดยทีมแพทย์แผนไทย สามารถติดต่อขอรายละเอียดได้ที่คลินิกแผนกต้อนรับ หรือทางคลินิกแพทย์แผนไทยโดยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

15.00 – 15.30 Tea break พักดื่มน้ำชากาแฟ

15.30 – 17.00 Getting to know each other and learn from each other ทำความรู้จักกันและเรียนรู้จาก
                     โรคของกันและกัน (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)

                     แนะนำแคมป์สุขภาพโรคหลอดเลือดหัวใจ (นพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล)

17.00 – 19.00 cooking demonstration สาธิตสอนแสดงวิธีทำอาหารแบบพืชเป็นหลัก รูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ ไม่สกัดไม่ขัดสี ไขมันต่ำ (plant-based, whole food, low fat diet; PBWF) และรับประทานอาหารเย็น

วันที่สอง (5 มิ.ย. 2565)

06.45 – 7.00   BP measurement วัดความดันโลหิตตอนเช้า (คุณโอ๋และผู้ช่วย)

07.00 – 08.00 07.00 Aerobic exercise การออกกำลังกายแบบแอโรบิก
(1) six-minute walk test ทดสอบสมรรถนะร่างกายด้วยวิธีเดิน 6 นาที 

(2) การออกกำลังกายแบบ high intensity interval training – HIIT

08.00 – 10.00 อาหารเช้าและเวลาส่วนตัว

10.00 – 12.00  Lecture: Pathophysiology of atherosclerosis กลไกการเกิดโรคหลอดเลือด (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)

(1) ระบบหัวใจหลอดเลือดยามปกติ

(2) ระบบประสาทอัตโนมัติยามปกติ

(3) การทำงานของเยื่อบุหลอดเลือด (endothelial function)

(4) กลไกการเกิดความดันเลือดตัวบนและตัวล่าง (mechanism of blood pressure)

(5) กลไกการอักเสบของผนังหลอดเลือด (vascular inflammation)

(6) ปัจจัยเสี่ยงการอักเสบของผนังหลอดเลือด (สารพิษ/การติดเชื้อ/ภูมิคุ้มกัน/การบาดเจ็บ)

(7) กลไกการเกิดโรคไตเรื้อรังจากโรคหลอดเลือดแดงแข็ง

(8) อาหารเนื้อสัตว์กับกลไกการเกิด TMAO และโรคหลอดเลือด

(9) อาหารพืชกับกลไกการต้านการอักเสบ

(10) จุลชีวิตในลำไส้กับการเกิดการอักเสบของหลอดเลือด (microbiotome and vascular diseases)

12.00 – 14.00  รับประทานอาหารกลางวันและเวลาส่วนตัว

14.00-15.00 Lecture: Ischemic heart disease โรคหัวใจขาดเลือด (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)

(1) กลไกพื้นฐานของโรคหัวใจขาดเลือด

(2) อาการวิทยาของหัวใจขาดเลือด แบบด่วน และแบบไม่ด่วน

(3) การแปลผลตรวจพิเศษทางด้านหัวใจ / EST / Echo /CAC (แคลเซียมสะกอร์) / CTA / CAG (สวนหัวใจ)

(4) งานวิจัยเปรียบเทียบการรักษาโรคหัวใจด้วยวิธีรุกล้ำและไม่รุกล้ำ

(5) งานวิจัยการทำให้โรคหัวใจถอยกลับด้วยอาหารและการใช้ชีวิต

15.00 – 15.15 พัก

15.15 – 15.45 (1) กิจกรรมการฝึกวัดความดันเลือดด้วยตนเองอย่างถูกวิธี (นพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล)

15.45 – 16.45 Hypertension โรคความดันเลือดสูง (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)

(1) กลไกการเกิดความดันเลือดสูง

(2) พยาธิวิทยาของโรคความดันเลือดสูง

(3) งานวิจัยการรักษาความดันเลือดสูงโดยไม่ใช้ยา

(4) ชนิดของยารักษาความดันเลือดสูง กลไกการออกฤทธิ์ และผลข้างเคียง

(5) การบริหารยาลดความดันรวมถึงการลดหรือเลิกยาลดความดันด้วยด้วยตนเอง

(6) งานวิจัยผลของอาหารต่อโรคไตเรื้อรัง

วันที่สาม (6 มิ.ย. 2565)

06.45 – 7.00   BP measurement วัดความดันโลหิตตอนเช้า (คุณโอ๋และผู้ช่วย)

7.00 – 8.00 Stress Management การจัดการความเครียด
                     (โยคะ สมาธิ ไทชิ) (คุณออย / คุณแพรว/ นพ.สันต์)

08.00 – 10.00 อาหารเช้าและเวลาส่วนตัว

10.00 – 12.00 Lecture: Dyslipidemia and Obesity โรคไขมันในเลือดสูงและโรคอ้วน (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)

(1) ชนิดของไขมันในเลือด

(2) ไขมันเลว (LDL) ชนิดอนุภาคใหญ่และชนิดอนุภาคเล็ก

(3) กลไกการเกิดหลอดเลือดอักเสบตามหลังไขมันในเลือดสูง

(4) กลไกการเกิดโรคอ้วน

(5) กลไกการดื้อต่ออินสุลิน

(6) มาตรฐานระดับไขมันในเลือด

(7) ยาลดไขมันในเลือดทุกกลุ่ม กลไกการออกฤทธิ์ และผลข้างเคียง

(8) วิธีบริหารยาลดไขมันในเลือด (รวมถึงการลดและเลิกยา) ด้วยตนเอง

12.00 – 14.00  รับประทานอาหารกลางวันและเวลาส่วนตัว

14.00 – 16.00 Strength training & balance exercise ฝึกปฏิบัติการออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเสริมการทรงตัว

17.00 – 19.00 สาธิตสอนแสดงวิธีทำอาหารแบบพืชเป็นหลัก รูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ ไม่สกัดไม่ขัดสี ไขมันต่ำ (Plant-based whole food low fat diet; PBWF) และรับประทานอาหารเย็น

วันที่สี่ (มิ.ย. 2565)

07.00 – 08.30  Stress management การจัดการความเครียด
                     (Yoga, Tai Chi and meditation) (คุณออย / นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)

08.30 – 10.00 อาหารเช้าและเวลาส่วนตัว

10.00 – 11.00  Lecture: Overview of Good health concepts Updates in Nutrition Guidelines; Plant-based, whole food, low fat diet ภาพรวมการมีสุขภาพดี และ บรรยายเรื่องโภชนาการที่มีพืชเป็นหลัก ไม่สกัด ไม่ขัดสี (นพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล)

11.00-12.00 Nutrition work shop กิจกรรมจ่ายตลาดฉลาดซื้อ

12.00 – 13.00   รับประทานอาหารกลางวันและเวลาส่วนตัว

13.00 – 15.00  Q&A ตอบคำถามเจาะลึกเรื่องการจัดการโรครายคน (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ และนพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล)

15.00 ปิดแคมป์

     7. การเตรียมรับภาวะฉุกเฉินขณะเข้าแค้มป์

ผู้ป่วยที่มาเข้าโปรแกรมนี้ส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วยหนัก บ้างทำผ่าตัดบายพาสมาแล้ว บ้างทำบอลลูนมาแล้วคนละครั้งสองครั้ง บ้างมีหัวใจล้มเหลวแค่เดินสองสามก้าวก็หอบหรือเจ็บหน้าอกแล้ว บ้างรอเปลี่ยนหัวใจอยู่ บ้างเพิ่งเป็นอัมพาตมา ความเสี่ยงที่จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันหรือหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันหรืออัมพาตเฉียบพลันมีอยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งขณะนั่งหรือนอนอยู่เฉยๆ ความเสี่ยงนี้ผู้ป่วยทุกคนต้องยอมรับว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ตามโรคของตัวเอง แต่ตัวหมอสันต์เองซึ่งเป็นหมอผ่าตัดหัวใจมาก่อนก็ไม่ประมาทในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย ได้เตรียมการด้านความปลอดภัยขณะเข้าแค้มป์ทุกครั้งรวมไปถึงการมีพยาบาลฉุกเฉินพร้อมอยู่ในศูนย์ตลอดเวลา มีอุปกรณ์เครื่องมือเพื่อรับมือกับภาวะฉุกเฉินได้ รวมทั้งขีดความสามารถที่จะเปิดหลอดเลือดให้น้ำเกลือหรือยาทางหลอดเลือดดำได้ทันที ขีดความสามารถที่จะใส่ท่อช่วยหายใจและช่วยการหายใจในภาวะฉุกเฉิน นอกจากนั้นยังมีขีดความสามารถที่จะช็อกไฟฟ้าหัวใจในกรณีฉุกเฉิน การประสานงานกับระบบรถฉุกเฉินและโรงพยาบาลใกล้เคียง และการมีพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติอยู่ประจำในแค้มป์ 24 ชั่วโมง มีแพทย์ที่ตามให้เข้ามาดูแลผู้ป่วยได้ทันทีตลอดการฝึกอบรม

ทั้งนี้อย่าได้เข้าใจผิดว่าการจะปรับวิถีชีวิตเพื่อพลิกผันโรคให้ตัวเองนั้นเป็นเรื่องอันตราย ความเป็นจริงไม่ใช่เลย การปรับการใช้ชีวิตทั้งอาหารและการออกกำลังกายเพื่อดูแลตัวเองให้ได้นั้นเป็นกลไกรักษาโรคตามธรรมชาติ มีอันตรายน้อยกว่าการรักษาด้วยยา บอลลูน หรือผ่าตัดในโรงพยาบาลอย่างเทียบกันไม่ได้ แต่ทางแค้มป์เตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยในแค้มป์ให้มากเข้าไว้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยหนักซึ่งเป็นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการเข้าแค้มป์ มาเข้าแค้มป์ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ปลอดภัยเท่าอยู่ในบ้านตัวเองเท่านั้น

     8. การลงทะเบียนเข้าแค้มป์ RDBY

วิธีลงทะเบียนเข้าเรียน

1. โทรศัพท์ลงทะเบียนกับเวลเนสวีแคร์ที่หมายเลข  063 6394003 หรือ 02 038 5115
2. ลงทะเบียนทางไลน์ @wellnesswecare
3. ลงทะเบียนทางอีเมล host@wellnesswecare.com
ในทุกกรณีเมื่อได้ที่นั่งแล้ว จะต้องโอนเงินค่าลงทะเบียนเข้าบัญชี ธนาคารกสิกรไทย สาขาสมุทรปราการ ชื่อบัญชี  บริษัท เมก้า วี แคร์ จำกัด เลขที่บัญชี 007-368-5478 ภายใน 24 ชั่วโมงหลังได้สำรองที่เรียนแล้ว หากพ้น 24 ชั่วโมงไปแล้วถือว่าสละสิทธิ์ ที่นั่งที่สำรองไว้ให้ท่านจะถูกจัดสรรไปให้ผู้อื่นโดยอัตโนม้ติ

     9. การตรวจสอบตารางแค้มป์

สามารถตรวจสอบตารางแค้มป์ล่วงหน้าได้โดยวิธีสอบถามทางโทรศัพท์ที่หมายเลข  0636394003 หรือทางไลน์ @wellnesswecare หรือทางอีเมล host@wellnesswecare.com

   10. ราคาค่าลงทะเบียน

ค่าลงทะเบียนสำหรับตลอดคอร์ส (เข้าแค้มป์ 4 วัน 3 คืน ติดตามทางเฮลท์แดชบอร์ด อย่างน้อยหนึ่งปี) คนละ 23,000 บาทสำหรับตัวผู้ป่วย สำหรับผู้ติดตามคนละ 14,000 บาท ค่าลงทะเบียนนี้รวมถึงใช้จ่ายในการเข้าแค้มป์ ค่าอาหารวันละ 3 มื้อ ค่าที่พัก 4 วัน 3 คืน การติดตามทางเฮลท์ แดชบอร์ด นานหนึ่งปี ค่าวิทยากร ค่าอุปกรณ์การฝึกทักษะ ค่าตรวจร่างกายโดยแพทย์ ค่าเจาะเลือดฉุกเฉินกรณีที่แพทย์สั่งให้เจาะ ค่าใช้จ่ายในการติดตามโดยแพทย์และพยาบาลทางเฮลท์แดชบอร์ดหลังจากออกจากแค้มป์กลับไปอยู่บ้านแล้ว
แต่ราคานี้ไม่ครอบคลุมถึงค่าเดินทางไปและกลับระหว่างบ้านของท่านกับเวลเนสวีแคร์ (ผู้ป่วยไปเองกลับเอง) ไม่ครอบคลุมค่ายาและค่ารักษาพยาบาลส่วนบุคคลของแต่ละท่าน ไม่ครอบคลุมบริการพิเศษที่ท่านเลือกใช้เช่นการนวดบำบัดต่างๆ

กรณีเป็นผู้ติดตาม ผู้ดูแลหรือ caregiver จะต้องลงทะเบียนเป็นผู้ติดตามซึ่งมีค่าลงทะเบียนคนละ 12,000 บาท ราคานี้รวมค่ากิน ค่าอยู่ ค่าที่พักห้องเดียวกับผู้ป่วยของตน ค่าเข้าร่วมเรียนและร่วมทำกิจกรรมทุกอย่างในแค้มป์ แต่ไม่ได้เข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจร่างกายและไม่ได้ร้บการประเมินปัญหาสุขภาพของตนโดยแพทย์ และไม่มีรายงานสรุปปัญหาสุขภาพโดยแพทย์ในเฮลท์แดชบอร์ด

     11. ระยะก่อนเข้าแค้มป์ (Pre-camping preparation) 

ผู้ป่วยทุกท่านที่ได้รับเข้าโปรแกรมแล้ว จะต้องจัดส่งข้อมูลโรคของตนมาให้แพทย์วิเคราะห์ล่วงหน้าก่อนวันมาแค้มป์ โดยส่งข้อมูลมาทางคุณสายชล (โอ๋) พยาบาลประจำแค้มป์ ที่อีเมล totenmophph@gmail.com โดยอย่างน้อยต้องส่งข้อมูลพื้นฐานซึ่งจำเป็นต้องใช้ต่อไปนี้มา คือ

(1) ชื่อ นามสกุล
(2) วันเดือนปีเกิด
(3) เพศ
(4) เบอร์โทรศัพท์มือถือ
(5) อีเมลแอดเดรส
(6) เลขบัตรประจำตัวประชาชน
(7) ส่วนสูง
(8) น้ำหนัก
(9) ความดันเลือด
(10) น้ำตาลในเลือด (FBS) หรือน้ำตาลสะสม (HbA1C)
(11) ไขมันเลว (LDL)
(12) ตัวชี้วัดการทำงานของไต (eGFR หรือ Cr)
(13) เอ็นไซม์แสดงการทำงานของตับ (SGPT)
(14) การวินิจฉัย (ชื่อ) โรคทุกโรคที่รักษาอยู่ในปัจจบัน
(15) อาการป่วยทุกอาการที่มีในปัจจุบัน
(16) ยาทุกตัวที่กินอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งขนาด และวิธีกิน
(17) ผลการตรวจจำเพาะต่างๆ ถ้ามี เช่น ผลการตรวจเลือดอื่นๆ ภาพเอ็กซเรย์ปอด ผลตรวจสมรรถนะหัวใจ (EST) คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ผลการตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยคอมพิวเตอร์ (CTA) ผลการตรวจสวนหัวใจ (CAG) ผลการตรวจผลการตรวจ CT สมอง โดยกรณีเป็นภาพหากส่งเป็นไฟล์ดิจิตอลได้ก็จะเป็นพระคุณ แต่หากส่งไม่ได้จะเอาโทรศัพท์ถ่ายแล้วส่งไฟล์รูปมาก็ได้ กรณีเป็นใบรายงานผลให้เอาโทรศัพท์ถ่ายใบรายงานแล้วส่งไฟล์มาก็ได้
(18) คำบอกเล่าลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน เน้นที่
– การบรรยายลักษณะอาหารที่กินแต่ละมื้อทุกมื้อ
– การออกกำลังกายที่ทำในแต่ละวัน
– วิธีจัดการความเครียดที่ใช้อยู่ประจำ
– ความกังวล (concern) ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ หากมีอยู่ในใจก็ให้แจ้งมาให้หมอสันต์ทราบด้วย

     12. สถานที่เรียน

คือ เวลเนสวีแคร์เซ็นตเตอร์ (มวกเหล็ก-เขาใหญ่) ตามแผนที่ข้างล่างนี้

(รายละเอียดอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความจำเป็นและความต้องการของผู้เรียนแต่ละแค้มป์)

13. วันเวลาสำหรับแค้มป์ RDBY-22

วันที่ 4-7 มิย. 65

14. จำนวนที่รับเข้าแค้มป์ RDBY-22

รับจำนวนจำกัด 15 คน

(นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)

[อ่านต่อ...]

20 พฤษภาคม 2565

กลัวเป็นอัลไซเมอร์แล้วจะถูกแฮ้บสมบัติ

(ภาพวันนี้: แอบมองผ่านระเบียงของเพื่อนบ้านหลังหนึ่งในมวกเหล็กวาลเลย์)

เรียน คุณหมอสันต์ที่เคารพ

          เนื่องด้วยดิฉันเป็นสาวโสดอายุ 56 ปี ค่ะ อนาคตข้างหน้าคงได้พึ่งตัวเอง ปัจจุบันหมั่นดูแลสุขภาพทุกด้าน แต่มีความกังวลหากบั้นปลายเป็นอัลไซเมอร์ขึ้นมา ห่วงเรื่องเงินทองค่ะ กังวลใจจะทำอย่างไรที่จะให้ทรัพย์สินที่เก็บสะสมมาปลอดภัยและใช้เลี้ยงดูตัวเองตามที่ตั้งใจไว้ หากเป็นอัลไซเมอร์ขึ้นมา เกรงว่าจะถูกหลอกเอาสมบัติไปค่ะ เพราะคงหลงลืม ใช้ชีวิตประจำวันไม่ได้ จึงเรียนขอคำแนะนำ เตรียมความพร้อม ว่าเราจะทำอย่างไรกับเงินทอง ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ไม่ให้ถูกญาติพี่น้องหลอกเอาเงินสมบัติไปค่ะ

            ขอบพระคุณอย่างสูง

ส่งจาก iPhone ของฉัน

………………………………………………………………….

ตอบครับ

ก่อนตอบคำถามของคุณ ขอนอกเรื่องหน่อยนะ นานมาแล้วผมไปงานศพที่จ.ระยอง หลวงพ่อที่มาเทศน์งานศพเล่าว่ามีโยมผู้หญิงสูงอายุเอาเงินมาฝากหลวงพ่อสี่แสนและว่า

“ถ้าฉันตายฝากหลวงพ่อเอาเงินนี้ทำศพให้ฉันด้วยนะ เพราะฉันจะเอาให้ลูกไว้ก็กลัวมันเอาไปกินหมด”

หลวงพ่อก็รับไว้และตอบแบบติดตลกว่า

“โยมกับอาตมาใครจะไปก่อนกันไม่รู้ ถ้าอาตมาไปก่อนก็ตัวใครตัวมันนะ”

อย่างนี้เรียกว่ามีลูก แล้วระแวงลูก

อีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นเศรษฐีตัวคนเดียวเล่าให้ผมฟังว่าเธอเป็นห่วงทรัพย์เมื่อเธอแก่ตัวว่าจะถูกคนอื่นเล่นแร่แปรธาตุ จึงเลือกคนรู้จักที่ท่าทางน่าไว้ใจได้คนหนึ่งแล้วมอบให้เป็นผู้ดูแลทรัพย์ แต่ต่อมาก็รู้สึกว่าผู้ดูแลจะเริ่มทะยอยขนทรัพย์ออกจากบ้านของเธอไป จึงปรึกษานักกฎหมาย นักกฎหมายแนะนำให้แต่งตั้งผู้ดูแลอีกคนหนึ่งขึ้นมาดูแลร่วมกัน เธอก็ทำตาม นานไปผู้ดูแลคนที่สองก็ออกฟอร์มว่าทำไมผู้ดูแลคนแรกได้นั่นได้นี่แต่ผมไม่ค่อยได้อะไรเลย เธอจึงชักไม่ไว้ใจ หันไปใช้หลานของตัวเองให้ไปเบิกเงินธนาคารแทน ต่อมาอ่านบล็อกหมอสันต์เรื่องสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องทำเองให้ได้ 7 อย่างก็ได้คิดว่าน่าจะกลับมาดูแลบัญชีตัวเองดีกว่าจึงบอกหลานว่าเอาบัญชีมาย่าจะเอาไปเบิกเงินเอง หลานตอบว่าอย่าเลยครับ เดี๋ยวคุณย่ากรอกตัวเลขผิดๆถูกๆ เธอก็เอะใจว่า เอ๊ะ นี่เจ้าหลานก็ท่าจะเป็นกับเขาไปอีกคนแล้วกระมัง อย่างนี้เรียกว่ามีหลาน แล้วระแวงหลาน

อีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นคนไข้ของผมเอง มาขอร้องผมว่าให้ผมช่วยรับเป็นผู้จัดการมรดกให้เธอหน่อยเพราะเธอตัวคนเดียวมีแต่คนจะมาตอดเอาเงินจนน่ารำคาญ ถ้าเธอตายไปแล้วทรัพย์ของเธอผมจะเอาไปทำอะไรก็ตามใจผมเถอะ ผมตอบเธอว่า

“ไม่ได้อะ เดี๋ยวผมไปสวรรค์ไม่ได้” เธอทำหน้างงๆ ผมจึงเฉลยมุขให้เธอฟังว่า

“ก็จีซัสบอกว่าอูฐจะลอดรูเข็ม ยังง่ายกว่าที่คนรวยจะไปสวรรค์ ได้เงินของคุณมาผมก็จะกลายเป็นคนรวย แล้วผมจะไปสวรรค์ได้ไงละครับ”

ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

เอาเถอะ เอาเถอะ เลิกพล่ามไร้สาระ มาตอบคำถามของคุณดีกว่า

1.. ถามว่าอยากจะวางแผนป้องกันคนอื่นมาแฮ้บเงินของตัวเองเมื่อตัวเองสมองเสื่อมไปแล้ว ควรจะทำอย่างไร ตอบว่า

1.1 ทำสมบัติของคุณให้อยู่ในรูปที่จัดการได้ง่าย อย่างน้อยทำบัญชีสินทรัพย์ของคุณขึ้นมาก่อน เมื่อสองวันก่อนผมได้ไปกินข้าวเย็นกับคนรู้จักที่ไม่ได้พบกันสิบกว่าปีมาแล้ว เขาอายุเกือบ 80 แล้ว เขาได้โชว์ให้ผมดูว่าเขาจัดทำไฟล์บันทึกสินทรัพย์ของเขาไว้ในมือถือเป็นหมวดหมู่ ไม่ว่าจะเป็นโฉนดที่ดิน หุ้น บัญชีธนาคาร แถมยังมีรูปถ่ายตัวโฉนดหรือตัวบัญชีเก็บแยกกันไว้เป็นโฟลเดอร์อย่างเป็นระเบียบอีกด้วย ทั้งหมดนี้มีแบ้คอัพอยู่บนก้อนเมฆ นั่นแหละตัวอย่างที่ดี คุณทำอย่างนั้นเลย ว่างๆก็หมั่นเอาขึ้นมา “ท่อง” ว่าตัวเองมีทรัพย์สมบัติอะไรอยู่บ้างเป็นการทวนความจำ

1.2 หาเรื่องจัดการด้านการเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีบ่อยๆ เช่นโอนเงินบัญชีโน้นไปบัญชีนี้ ซื้อของออนไลน์ จ่ายคนละครึ่ง เป็นต้น นานๆครั้งก็ควรหาเวลาไป update บัญชีธนาคารแต่ละเล่มเสียบ้าง

1.3 แปลงทรัพย์ที่จะถูกแฮ้บได้ง่ายไปอยู่ในรูปแบบที่คนอื่นแฮ้บยากแต่เรายังใช้ประโยชน์ได้ เช่นพวกหลานๆชอบมาตื้อขอยืมโฉนดบ้านไปค้ำประกันเงินกู้ คุณก็เอาบ้านไปตึ๊งออมสินแลกเป็นบำนาญรายเดือนมาใช้จ่ายเองซะจะได้ไม่มีโฉนดว่างให้ใครยืมใช้ เป็นต้น

1.4 ทำบันทึกลับส่วนตัวไว้สักหนึ่งหน้า ทั้งเป็นโน้ตในมือถือและทั้งเป็นกระดาษซ่อนไว้ ในนี้ให้คุณเขียนเรื่องที่คุณจะต้องจำได้จนวาระสุดท้ายของชีวิต เช่นพาสเวิร์ดเข้ามือถือ อีเมล หรือเข้าแอ๊พของธนาคาร เป็นต้น อย่าหวังว่าสมองของคุณจะจำรหัสเหล่านี้ได้ตลอดไป วันหนึ่งคุณจะต้องได้ใช้บันทึกลับนี้

2.. วางแผนแล้วก็ทำตามแผนและเลิกกังวลถึงมันซะ โรคสมองเสื่อมจะเกิดหรือไม่ยังไม่รู้ แต่โรคกังวลได้เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้วตอนนี้ ดังนั้นสิ่งที่เร่งด่วนกว่าการกังวลว่าจะถูกต้มตุ๋นในอนาคตก็คือการฝึกใช้ชีวิตไปทีละขณะอย่างปลอดความคิดลบที่เดี๋ยวนี้ ความกังวลเป็นจินตนาการว่าสิ่งร้ายๆจะเกิดขึ้นกับเราในอนาคต ซึ่งอนาคตนั้นเป็นความคิดที่เกิดขึ้นที่เดี๋ยวนี้ อนาคตไม่ใช่ของที่มีอยู่จริง ความกังวลเป็นความสูญเปล่าของการเกิดมามีชีวิต สิ่งที่คุณกังวลนั้นไม่ได้มีอยู่จริง สิ่งที่มีอยู่จริงคือเดี๋ยวนี้ ให้คุณหัดใช้ชีวิตที่เดี๋ยวนี้อย่างสงบเย็นและสร้างสรรค์ไปทีละขณะ ทีละขณะ อย่าไปกังวลถึงอนาคตที่ไม่ได้มีอยู่จริงเลย

3.. ถ้าคุณมีทรัพย์แยะก็แจกจ่ายออกไปเสียบ้าง เป็นวิธีลดความกังวลเรื่องทรัพย์ได้อีกทางหนึ่ง อย่าลืมว่าเรามาสู่โลกนี้ด้วยมือเปล่านะ ขากลับเราก็ต้องกลับมือเปล่า ถ้าคุณห่วงทรัพย์มาก ตายไปแล้วคุณจะไม่ไปไหนแต่จะกลายเป็นปู่โสมหรือย่าโสมเฝ้าทรัพย์อยู่แถวนั้นแหละ คุณอยากเป็นอย่างนั้นหรือ อย่าไปคิดว่าญาติมิตรลูกหลานแต่ละคนล้วนแต่เป็นเปรตที่จะคอยมาสูบเรา การคิดอย่างนั้นเป็น “อีโก้” ที่แยกเราออกมาจากชีวิตอื่นซึ่งมีแต่จะทำให้วัยชราของเราเต็มไปด้วยความคิดหวาดระแวงไม่เป็นสุข ให้เปลี่ยนความคิดเสียใหม่ ว่าชีวิตเรากับชีวิตอื่นแท้จริงแล้วมันก็ล้วนมาจากที่เดียวกันและจะกลับไปสู่ที่เดียวกันทั้งนั้นแหละ ความเป็นเราเป็นเขาเป็นแค่เส้นสมมุติชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้นเอง แม้เงินทองทรัพย์สินที่เราครอบครองอยู่ก็เป็นของสมมุติชั่วคราว มันจะหล่นหายไปบ้าง ถูกลูกหลานหรือถูกโจรจิ๊กไปบ้างก็ช่างมันเถอะ ให้คุณหัดมองชีวิตในภาพใหญ่ ใน bigger perspective อุปมาชีวิตเหมือนเราเดินทางไปเมืองนอกต้องแวะเปลี่ยนเครื่องบิน เราจะไปหงุดหงิดกับการแย่งกันครอบครองเก้าอี้ที่นั่งใน transit hall ซึ่งเป็นแค่จุดรอขึ้นเครื่องแป๊บเดียวทำไม เพราะอีกไม่กี่นาทีเราก็ต้องไปขึ้นเครื่องแล้ว ชีวิตก็เหมือนกัน เราเกิดมาใช้ชีวิตแป๊บเดียวก็ตายแล้ว อย่าไปเสียเวลากับเรื่องที่เรารู้อยู่แล้วว่าเป็นเรื่องชั่วคราวที่ไม่ใช่สารัตถะที่แท้จริงของการเกิดมามีชีวิต

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

17 พฤษภาคม 2565

กลุ้มใจกับคำวินิจฉัยว่าเป็น Brugada Syndrome จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ

(ภาพวันนี้: ดอกแก้วมังกร ที่ Tarzan Staycation)

เรียนถามคุณหมอสันต์

ผมอายุ 51 ปี มีอาการวูบหมดสติมาแล้วสองครั้ง ครั้งแรกเกิดตอนกลางคืนขณะนอนแต่นอนไม่หลับ (กังวล) ครั้งที่สองเกิดขณะเข้าห้องน้ำ ไปหาหมอสมองทำ CT ไม่พบอะไร หมอหัวใจตรวจเอ็คโค ให้วิ่งสายพาน ให้ติดโฮลเตอร์หนึ่งสัปดาห์ ก็ไม่พบอะไร ผมส่งผลทั้งหมดและยาที่หมอให้กินทั้งหมดมาให้ดูพร้อมนี้ หมอหัวใจท่านหนึ่งว่าเป็น Brugada Syndrome แต่หมออีกท่านว่าไม่ใช่ ผมมาศึกษาดูด้วยตนเองแล้วเกิดความวิตกกังวลอย่างมากจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ อยากรบกวนถามคุณหมอสันต์ โรคนี้มันคืออะไรกันแน่ เป็นโรคพันธุกรรมเท่านั้นใช่ไหม พันธุกรรมของผมไม่มีใครเป็นโรคนี้ หมอแนะนำให้ผมไปตรวจ MRI หัวใจต่อ ผมควรจะไปตรวจไหม หมอท่านเดียวกันแนะนำให้ผมตรวจสวนหัวใจเพื่อวินิจฉัยด้วยการลองใช้ไฟฟ้ากระตุ้น ผมควรจะทำไหม หมอห้ามออกกำลังกายด้วย ผมต้องหยุดออกกำลังกายเลยใช่ไหม หมอบอกว่า ECG แบบนี้(ที่ส่งมาให้) เป็นโรคนี้ ผมอยากทราบว่า ECG แบบนี้เกิดจากอะไรได้บ้างนอกจากโรคนี้ มีวิธีที่จะวินิจฉัยโรคนี้ชัวร์ๆ100% ไหม มียารักษาหรือเปล่า ถ้าไม่มียาต้องรักษาอย่างไร ผมควรจะทำอย่างไรต่อไปดีครับ

………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่าโรค บรูกาด้า ซินโดรม (Brugada Syndrome) คืออะไร ตอบแบบบ้านๆก็คือโรคตายกะทันหัน หรือ “ไหลตาย” จากการเคลื่อนย้ายของประจุเข้าออกเซลหัวใจผิดปกติไป มันเป็นโรคในกลุ่มที่วงการแพทย์เรียกว่า channelopathy แปลว่าความผิดปกติของช่อง (channel) ช่องในที่นี้ไม่ใช่ช่องทีวี สาม ห้า เจ็ด เก้า นะ แต่เป็นช่องบนเยื่อหุ้มเซลที่โมเลกุลที่มีประจุไฟฟ้าเช่น โซเดียม(Na+) โปตัสเซียม (K+) วิ่งเข้าวิ่งออกทะลุผ่านเยื่อหุ้มเซลแล้วทำให้เกิดไฟฟ้าวิ่งไล่กันเป็นระนาด (action potential) ไปตามเยื่อหุ้มเซลนั้น ถ้าช่องนี้ทำงานผิดปกติไป ไฟฟ้าที่วิ่งบนเยื่อหุ้มเซลโดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลเส้นประสาทที่เลี้ยงหัวใจอยู่ก็จะผิดปกติไปจนอาจทำให้หัวใจเต้นเพี้ยนไป อย่างเบาะๆก็ยังผลให้ไฟฟ้าที่วิ่งในแขนงสายไฟในหัวใจเส้นขวาสะดุดไปบางส่วน (right bundle branch block – RBBB) อย่างหนักๆก็ถึงขั้นทำให้หัวใจห้องล่างเต้นรัว (VF) อยู่นานพอที่จะทำให้ตายได้ รายละเอียดของภาพคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ในโรคนี้ท่านผู้อ่านอย่าไปรู้เลยเพราะนั่นมันเป็นวิชาดูโหงวเฮ้งซึ่งมีไว้ให้แพทย์เถียงกันเล่น ตัวอย่างคุณก็เห็นแล้ว แม้แต่หมอหัวใจสองคนก็ลงความเห็นไม่เหมือนกันแล้วว่า EKG แบบนี้เป็นหรือไม่เป็นบรูกาด้าซินโดรม

2.. ถามว่าโรคนี้ต้องมีพันธุกรรมใช่หรือไม่ ตอบว่าไม่จำเป็น สถิติพบว่าเพียง 30% ของคนเป็นโรคนี้เท่านั้นที่จะตรวจพบว่ายีน SCN5A ซึ่งคุมการวิ่งเข้าออกของประจุโซเดียม ได้กลายพันธ์ไปเป็นยีนผิดปกติ

3.. ถามว่าที่หมอแนะนำให้ตรวจ MRI หัวใจนั้นควรทำไหม มีประโยชน์ไหม ตอบว่าในกรณีของคุณไม่มีประโยชน์ ไม่ควรทำ เพราะ MRI หัวใจสำหรับโรคนี้เราใช้วินิจฉัยแยกโรคกล้ามเนื้อหัวใจห้องขวาล่างพิการชนิดทำให้หัวใจเต้นรัวได้ (arythmogenic RV cardiomyopathy) แต่ในกรณีของคุณผมดูภาพเอ็คโคหัวใจที่ส่งมาให้แล้วกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างขวาปกติดี ไม่ได้พิการ ข้อมูลแต่นี้พอแล้ว ไม่ต้องไปวินิจฉัยแยกซ้ำอีก

4.. ถามว่าที่หมอแนะนำให้ตรวจสวนหัวใจเอาไฟฟ้าจี้ (EP study) เพื่อพิสูจน์โรคนี้นั้น ควรทำหรือไม่ ตอบว่าไม่ควรทำ เพราะการวินิจฉัยโรคบรูกาด้าซินโดรมด้วยการใช้ EP study มีความไวในการพยากรณ์โรคไม่แน่นอนและวงการแพทย์โรคหัวใจเองยังตกลงกันไม่ได้ว่าควรใช้วิธีนี้ทำนายหรือวินิจฉัยโรคหรือไม่ ขืนทำไปไม่ว่าได้ผลบวกหรือลบความลังเลก็ยังไม่หายไปไหน ไม่เปลี่ยนแปลงแผนการจัดการโรคไปได้มากนัก

5.. ถามว่า ECG ที่เป็นแบบบรูกาด้าซินโดรมเกิดจากสาเหตุอื่นได้ไหม ตอบว่าได้..เพียบ เช่นถ้าโปตัสเซี่ยมในเลือดคุณต่ำไปหรือสูงไปนี่ก็เป็นได้ละ ถ้าคุณดื่มแอลกอฮอลหรือเสพย์โคเคน นี่ก็เป็นได้ละ ถ้าคุณกินยาลดความดันที่ต้านช่องแคลเซียมเช่นยา amlodipine ที่คุณกินอยู่นี่ก็เป็นได้ละ ถ้าคุณกินยารักษาต่อมลูกหมากที่ออกฤทธิ์ต้านตัวรับอัลฟ่าเช่นยา tamsulosin ที่คุณกินอยู่ นี่ก็เป็นได้ละ ยาช่วยนอนหลับในกลุ่มยาต้านซึมเศร้าก็เป็นเหตุได้ และการที่คุณกระตุ้นเส้นประสาทเวกัสของตัวเอง เช่นเบ่งอึ เบ่งฉี่ หรือโมโห หรือกลัว นี่ก็เป็นสาเหตุได้ละ

6.. มีวิธีวินิจฉัยที่ทำให้รู้ว่าเป็นโรคบรูกาด้าซินโดรมชัวร์ๆ 100% ไหม ตอบว่า ไม่มีครับ การทดสอบด้วยการฉีดยาที่ออกฤทธิ์อุดกั้น channel ก็ไม่ได้ให้ผลที่เด็ดขาด อย่างเก่งก็วินิจฉัยเอาจากการแยกโรคอื่นที่แยกได้ง่ายๆออกไปให้หมดก่อน แล้วตัดสินใจรักษาหากมีหลักฐานว่ามีการเต้นผิดปกติถึงขั้นตายได้ (VF) เกิดขึ้นแล้วจริงๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดแบบซ้ำซากก็ทำการรักษาเลยโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นโรคนี้ 100%

7.. ถามว่ามียากินรักษาโรคบรูกาด้าซินโดรมไหม ตอบว่าไม่มีครับ โดยทฤษฎียาที่ออกฤทธิ์แก้ไขดุลภาพของการวิ่งเข้าออกของประจุไฟฟ้าที่หัวใจ เช่นยา quinidine น่าจะใช้รักษาโรคนี้ได้ แต่ในชีวิตจริงยังไม่มีงานวิจัยแม้แต่ชิ้นเดียวที่จะเป็นหลักฐานว่ามียาใดลดการตายจากโรคนี้ลงได้

8.. ถามว่าถ้าเป็นโรคบรูกาด้าซินโดรมจริงต้องรักษาอย่างไร ตอบว่าถ้าเป็นจริงแต่ไม่มีอาการอะไรก็ไม่ต้องรักษา แต่ถ้าเป็นจริงและมีอาการหัวใจหยุดเต้นแล้วตายไปเลยก็ไม่ต้องรักษาอีกเช่นกัน แต่หากรอดตายมาได้ การรักษามาตรฐานคือการฝังเครื่องช็อกหัวใจแบบอัตโนมัติ (automatic internal cardiac defibrillator – AICD) ราคาหลายแสนอยู่ แต่ถ้าเป็นโรคนี้จริงหลวงเขาใส่ให้ฟรี คือเบิกสามสิบบาทได้

9.. หมอห้ามออกกำลังกาย ควรงดออกกำลังกายใช่ไหมครับ ตอบว่าไม่ควรครับ คุณยังไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไรเลยจะมาเที่ยวงดโน่นงดนี้มันไม่ชอบด้วยหลักเหตุผลนะครับ ถึงคุณเป็นบรูกาด้าซินโดรมจริง ที่เขาห้ามคือการเล่นกีฬาในระดับการแข่งขันเท่านั้น ด้วยเหตุผลในเชิงทฤษฎีว่าการ “เบ่ง” ขณะออกแรงแข่งขันจะกระตุ้นให้หัวใจเต้นรัวได้ แต่ในความเป็นจริง ผมยังไม่เห็นหลักฐานวิทยาศาสตร์แม้แต่ชิ้นเดียวที่ยืนยันว่าคนป่วยบรูกาด้าซินโดรมจะเป็นอะไรไปเพราะการออกกำลังกาย

10.. ถามว่าหมอสันต์มีความเห็นว่าควรจะทำอย่างไรต่อไปในแง่ของการวินิจฉัยและรักษา ตอบว่าให้ทำสิ่งที่ทำได้ง่ายๆก่อนสิครับ คือ

10.1 ฝึกหลีกเลี่ยงการกระตุ้นเส้นประสาทคู่ที่สิบโดยไม่รู้ตัว เวลาเข้าห้องน้ำก็ให้ทำกิจแบบผ่อนคลาย อย่าเบ่ง เวลาโมโหก็รับรู้อย่างผ่อนคลาย อย่าใส่อารมณ์ ฝึกวางความคิดตามแบบที่หมอสันต์สอนบ่อยๆได้ก็จะยิ่งดี เพราะความเครียดทุกชนิดเกิดจากความคิด และความเครียดทุกชนิดก็ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติได้ทุกแบบ

10.2 เลิกยาที่มีผลต่อ channel ให้หมด รวมทั้งยา amlodipine ยา tamsulosin และยาต้านซึมเศร้า ที่คุณกินอยู่ด้วย

10.3 นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการนอนไม่หลับเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ทุกแบบ

10.4 อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำหรือขาดเกลือแร่ในน้ำนานๆ เพราะการขาดน้ำหรือสูญเสียดุลของเกลือแร่โดยเฉพาะขณะออกกำลังกายหนัก ทำให้หัวใจเต้นรัวได้

10.5 ทำทั้งสี่อย่างข้างต้นแล้วก็รอสังเกตอาการไป หากเกิดเรื่องหมดสติกะทันหันขึ้นอีกทั้งๆที่ได้ทำทั้งสี่อย่างข้างต้นดิบดีแล้วและหาสาเหตุอะไรก็ไม่เจอ คราวนี้คุณเดินทางมาถึงทางสองแพร่งที่ต้องเลือกแล้ว คือ

(1) เลี้ยวซ้าย หมายความว่าไม่ทำอะไรทั้งนั้น อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด คิดเสียว่าตายกะทันหันได้ก็ยิ่งดี จะได้ไปนิพพานเร็วขึ้น

(2) เลี้ยวขวา หมายความว่าไปหาหมอ ขอเขาใส่เครื่อง AICD เพื่อรักษาโรคประสาทเสียให้รู้แล้วรู้รอด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Brugada J, Campuzano O, Arbelo E, Sarquella-Brugada G, Brugada R. Present status of Brugada syndrome: JACC state-of-the-art review. J Am Coll Cardiol. 2018 Aug 28. 72(9):1046-59.
  2. Nademanee K, Veerakul G, Chandanamattha P, et al. Prevention of ventricular fibrillation episodes in Brugada syndrome by catheter ablation over the anterior right ventricular outflow tract epicardium. Circulation. 2011 Mar 29. 123(12):1270-9. 
  3. Zorzi A, Migliore F, Marras E, et al. Should all individuals with a nondiagnostic Brugada-electrocardiogram undergo sodium-channel blocker test?. Heart Rhythm. 2012 Jun. 9(6):909-16. 
  4. Priori SG, Blomstrom-Lundqvist C, Mazzanti A, et al. 2015 ESC guidelines for the management of patients with ventricular arrhythmias and the prevention of sudden cardiac death: The Task Force for the Management of Patients with Ventricular Arrhythmias and the Prevention of Sudden Cardiac Death of the European Society of Cardiology (ESC). Endorsed by: Association for European Paediatric and Congenital Cardiology (AEPC). Eur Heart J. 2015 Nov 1. 36(41):2793-867. 
[อ่านต่อ...]

11 พฤษภาคม 2565

ความเบื่อ เหงา เศร้า แท้จริงแล้วก็เป็นพวกเดียวกับความอิจฉานั่นเอง

(ภาพวันนี้ : ช้างน้าว ช่วงเปลี่ยนสีดอกจากเหลืองเป็นแดง)

สวัสดีค่ะคุณหมอสันต์
ชื่อ … ค่ะ เคยไปเข้าคอสรีทรีตกับคุณหมอมา เมื่อหลายปีก่อน เพราะคิดไม่ตก และกำลังจะเป็นซึมเศร้า
หลังจากกลับมา ใช้หลักการที่เรียนมา ก็ไม่ได้ใช้ยาซึมเศร้าใดๆ เพราะคุณหมอให้ปรับแนวคิดโดยใช้หลักธรรมะเข้าช่วยก็ได้ผลดี แต่มาตอนนี้ โควิดไม่ได้ทำงานมาเข้า 3 ปีแล้ว อยู่บ้านตลอดเวลา ช่วงหลัง เริ่มนอนไม่หลับ ไปปรึกษาจิตแพทย์ หมอบอกเป็นซึมเศร้า(อีกแล้ว) จำใจต้องทานยา 2 อาทิต พอนอนเองได้ จึงกลับมาถามตัวเองว่าเราเป็นซึมเศร้า จริงหรือ เราไม่ได้อยากคิดสั้น เพียงแค่เบื่อเรื่องจำเจที่ต้องอยู่บ้าน ทำให้อารมเสียและคิดมากอยู่บ่อยครั้ง และหนูจัดระเบียบกับความคิดตัวเองลำบากมากค่ะ บวกกับเป็น sle อยู่แล้ว ถ้าเป็นซึมเศร้าเหมือนที่หมอว่าจริงๆ มันชักจะเยอะไปยิ่งคิดมากไม่อยากป่วย วนเวียนแบบนี้ จนแย่กว่าก่อนตอนไปพบจิตแพทย์อีกค่ะ หนูพยายามโยคะ ฝึกจิตเหมือนตอนเข้าคอส แต่ก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง นอนหลับได้ เพียงแต่ถ้าวันไหนคิดเยอะจะนอนยาก บางวันก้อนั่งร้องไห้ เพราะไม่อยากป่วย (แต่หนูไม่ได้อยากคิดสั้นเพราะอยากรวยก่อนค่ะ)

????

แบบนี้ หนูควรจัดการกับความคิดตัวเองอย่างไร ก่อนดีคะ คุณหมอ
ขอบคุณคุณหมอด้วยนะคะ

Sent from my iPhone

……………………………………………………………………………

ตอบครับ

ไหนๆคุณเขียนมาเรื่องโรคซึมเศร้าแล้ว ก่อนตอบคำถามขอรีวิวโรคนี้ (major depressive disorder) ตามหลักวิชาแพทย์ให้ท่านผู้อ่านทั่วไปได้ทราบสักหน่อยนะ เผื่อท่านผู้อ่านท่านอื่นจะเอาไปไว้วินิจฉัยตัวเอง ว่ามันไม่มีวิธีตรวจแล็บหรือเอ็กซเรย์เพื่อบอกว่าใครเป็นโรคนี้จริงหรือไม่ การวินิจฉัยอาศัยดูโหงวเฮ้ง หมายความว่าอาศัยฟังจากประวัติและมองดูหน้าคนไข้ อนึ่ง เพื่อให้วิธีดูโหงวเฮ้งของแพทย์ทั่วโลกทำได้ใกล้เคียงกัน วงการแพทย์ (DSM5) จึงได้กำหนดเกณฑ์การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยควรมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 5 อย่างภายในระยะ 2 สัปดาห์ต่อกัน โดยในห้าอย่างนั้นต้องมีอย่างที่ 1 และ 2 อยู่ด้วย คือ
(1) มีอารมณ์ซึมเศร้า
(2) ไม่สนใจเรื่องใดๆ หรือสิ่งบันเทิงใดๆ
(3) น้ำหนักลด หรือน้ำหนักเพิ่มผิดตา
(4) นอนไม่หลับ หรือเอาแต่นอนหลับทั้งวัน
(5) การเคลื่อนไหวลนลาน หรือเชื่องช้าผิดจากเดิม
(6) เปลี้ยล้าหรือหมดพลัง
(7)  รู้สึกตัวเองไร้ค่า
(8) ตั้งสติไม่ได้ คิดอะไรไม่ตก ตัดสินใจอะไรไม่ได้
(9) คิดวนเวียนเรื่องความตาย อยากตาย การฆ่าตัวตาย

โรคนี้ยังไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ใดๆที่จะยืนยันสาเหตุของโรคได้ ที่มีคนพูดเป็นคุ้งเป็นแควว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากสาเหตุนั้นสาเหตุนี้ นั่นเป็นการเดาเอาทั้งนั้น เช่น

(1) โทษการเปลี่ยนแปลงระดับของสารเคมีที่ใช้เชื่อมต่อกระแสไฟฟ้าระหว่างเซลประสาท (neurotransmitter) ซึ่งในความเป็นจริงวงการแพทย์ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล หมายความว่าอาจเกิดโรคซึมเศร้าขึ้นก่อนแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงระดับสารเคมีตามหลังก็เป็นได้ อีกทั้งการให้กินยาต้านซึมเศร้าซึ่งเป็นสารเคมีทดแทนก็ได้ผลดีกว่ายาหลอกในคนไข้เพียง 10% เท่านั้นเอง นี่เป็นข้อมูลจากการวิจัยยา Prosac ซึ่งเป็นสุดยอดของยากลุ่มนี้ในสมัยหนึ่ง

(2) โทษกรรมพันธ์ุ เพราะคนไข้จำนวนหนึ่งมีปัจจัยพันธุกรรมเกี่ยวข้องด้วย งานวิจัยคู่แฝดพบว่าหากคนหนึ่งเป็นโรคซึมเศร้าอีกคนหนึ่งก็มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้า 40-50% งานวิจัยอุบัติการณ์ของโรคในกลุ่มผู้สืบสันดานสายตรง (first degree relative) พบว่าหาในสายตรงมีคนเป็นโรคซึมเศร้า คนอื่นในสายตรงด้วยกันจะมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าสูงกว่าคนทั่วไปประมาณ 3 เท่า

(3) โทษการสนองตอบต่อสิ่งเร้าภายนอก (stressors) อย่างผิดวิธี หมายความว่ามีเรื่องเกิดขึ้นที่ภายนอกตัว แต่ตัวเองรับรู้เรื่องนั้นในเชิงลบ เช่นคู่สมรสตาย พ่อตาย แม่ตาย แฟนทิ้ง ตกงาน กลัวการสอบ เล่นหุ้นแล้วเจ๊ง ป่วยเป็นมะเร็ง เป็นโรคสมองเสื่อม โรคพาร์คินสัน โรคปวดเรื้อรัง พิการ นอนไม่หลับ ขาดญาติมิตรเกื้อหนุน มีภาระต้องดูแลพ่อแม่ที่ชรา เหงา เศร้า เบื่อ เป็นต้น ที่ว่าสนองตอบอย่างผิดวิธีก็หมายความว่าคนอื่นเขาก็มีความเครียดแบบเดียวกันนี้แต่ที่เขาไม่เป็นโรคซึมเศร้าก็มีถมไป

(4) โทษยาและสารพิษที่กินเข้าไป เพราะผู้ป่วยบางรายโรคซึมเศร้าเกิดเพราะยา เช่น ยาลดความดัน ยาสะเตียรอยด์ หรือเสพย์โคเคน ยาบ้า เฮโรอีน กัญชา และแอลกอฮอล

(5) โทษว่าไม่ได้แสงแดด เพราะเป็นความจริงที่ว่าประเทศฝรั่งเมื่อเข้าฤดูหนาวที่ไม่เห็นดวงอาทิตย์นานๆ ผู้คนก็จะป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากัน

(6) โทษการเลี้ยงดูที่ผิดวิธี เพราะงานวิจัยจำนวนหนึ่งพบว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในวัยเด็กมีความสัมพันธ์กับพ่อแม่แบบไม่ค่อยดี หรือพ่อแม่เลี้ยงแบบปกป้องเกินเหตุ หรือพ่อแม่รักลูกไม่เท่ากันเป็นต้น

(7) โทษพยาธิสภาพที่เนื้อสมอง เช่น หลอดเลือดสมองอุดตัน เพราะคนไข้ที่เป็นอัมพาตเฉียบพลัน หรือโรคหัวใจ หรือเบาหวาน หรืออัลไซม์เมอร์ ก็จะเป็นโรคซึมเศร้ามากด้วย

ย้ำว่าทั้งหมดนี่เป็นเพียงการเดานะ สาเหตุที่แท้จริงของโรคซึมเศร้ายังไม่ทราบ

เมื่อไม่ทราบสาเหตุ ก็จึงยังไม่ทราบวิธีการรักษาที่แท้จริง การรักษาที่ทำอยู่ทุกวันนี้คือ (1) ให้กินยาซึ่งเป็นสารเคมี (SSRI) ทดแทนส่วนที่คาดหมายว่าขาดไปจากสมอง บวกกับ (2) การทำจิตบำบัดด้วยการพูดคุย (talk therapy) (3.) มีหมอจำนวนหนึ่งนำการฝึกสติสมาธิ (meditation) มาร่วมรักษาด้วย ซึ่งก็มีงานวิจัยเปรียบเทียบยืนยันว่าได้ผลดี ศาสตร์เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าสำหรับทางการแพทย์ มีอยู่แค่นี้

เอาละ คราวนี้มาตอบคำถามของคุณว่าควรจะจัดการกับความคิดของตัวเองอย่างไรดี ก่อนอื่นต้องย้ำก่อนนะว่าวิธีรักษาโรคซึมเศร้าของหมอสันต์ไม่เหมือนที่ทำกันอยู่ทั่วไปที่รักษาด้วยการให้ยาต้านซึมเศร้าและยานอนหลับบวกกับการพูดคุยทำจิตบำบัด แต่ของหมอสันต์ไม่ใช้ยา ไม่พูดคุยปลอบโยนหรือทำจิตบำบัดใดๆทั้งสิ้น แต่มุ่งเน้นให้ฝึกทักษะในการวางความคิดซึ่งต้องทำด้วยตนเอง

ก่อนจะลงลึกถึงทักษะการวางความคิด ขอซักซ้อมให้เข้าใจตรงกันก่อนว่าในมุมมองของหมอสันต์นั้น “ความคิด” ที่เป็นรากของโรคซึมเศร้าอันได้แก่ความเบื่อ ความความเหงา ความคิดว่าตัวเองไร้ค่า ความเศร้าและการร้องไห้สงสารตัวเอง แท้จริงแล้วมันเป็นกลุ่มความคิดเดียวกับ “ความอิจฉา” ซึ่งเป็นกลุ่มความคิดที่ถูกชงขึ้นมาโดยสำนึกว่าตัวเรานี้เป็นบุคคลคนหนึ่ง (ego) ซึ่งสมควรได้รับการทนุถนอมเชิดชูให้สูงเด่น ถ้ามันไม่สูงเด่นอย่างที่เราตั้งสะเป๊คไว้ ความคิดลบเหล่านี้ก็จะพร่างพรูออกมาต่อยอดกันไปไม่รู้จบ จนถึงที่สุดของที่สุดก็คือความคิดที่ว่าหากความเป็นบุคคลคนนี้สูงเด่นดั่งใจหมายไม่ได้ก็ตายเสียดีกว่า แล้วก็ฆ่าตัวตายไปจริงๆแบบวางแผนล่วงหน้ามาอย่างดีบ้าง แบบตกกระไดพลอยโจนบ้าง โดยที่ผมย้ำไว้ตรงนี้ด้วยว่าสำนึกว่าเป็นบุคคลหรืออีโก้นี้มันก็เป็นเพียงชุดของความคิดที่เราเผลอปั้นมันขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อยตั้งแต่เล็กเริ่มจำความได้จนโต มันไม่ใช่ของที่มีอยู่จริง เป็นเพียงเราคนเดียวไปเป็นตุเป็นตะกับสิ่งที่เราเองเผลอปั้นขึ้นมาเท่านั้น

ประเด็นคำถามของคุณคือว่าเมื่อความคิดเหล่านี้โผล่ขึ้นมาในหัวแล้วจะรับมือกับมันอย่างไรให้ยั่งยืน เพราะมาเข้ารีทรีตเรียนก็ดีอยู่พักเดียวแล้วก็เอาอีกแล้ว เป็นอีกแล้ว

คำตอบของผมคือคุณต้องขยันทำ meditation ทุกวัน วันละหลายเวลา รวมทั้งทำขณะตื่นและทำกิจต่างๆอยู่ด้วย ซึ่งคุณต้องทำเอง นี่เป็นวิธีเดียว วิธีอื่นไม่มี คำปลอบโยนใดๆไม่เกี่ยว และไร้ประโยชน์อีกต่างหาก คุณต้อง meditation ทุกวันเท่านั้น

Meditation ก็คือการฝึกปฏิบัติใช้เครื่องมือต่างๆในการวางความคิด ซึ่งถ้าคุณยังจำได้ ผมสอนให้ใช้เครื่องมือเจ็ดอย่าง คือ (1) การผ่อนคลายร่างกาย (relaxation) (2) การสังเกตลมหายใจ (breathing) (3) การสังเกตอาการบนร่างกาย (body scan) (4) การสังเกตความคิด (observing thought) (5) การกระตุ้นตัวเองให้ตื่น (alertness) (6) การจดจ่อสมาธิ (concentration) (7) การไม่พิพากษา (no judgement) หรือเรียกอีกอย่างว่าการเห็นตามที่มันเป็น

วันนี้ผมจะไฮไลท์เครื่องมือเพียงตัวเดียวคือการกระตุ้นตัวเองให้ตื่นอยู่เสมอ (alertness) เพราะตอนคุณมาเข้า SR รีทรีตครั้งกระโน้นผมยังไม่เจนจัดในเรื่องนี่ แต่ตอนนี้หลังจากผ่านการหล่นลงมาจากหลังคาปางตายนอนเดี้ยงอยู่หลายเดือนแล้วผมมีความเจนจัดในการใช้เครื่องมือนี้มากขึ้น จึงมีอะไรจะมาแชร์ให้คุณลองเอาไปใช้ได้ลึกซึ้งขึ้น คำว่า alertness นี้คือการที่เราทำตัวให้ตื่นตาตื่นใจพร้อมรับรู้สิ่งใหม่ๆที่จะเข้ามาในหนึ่งวินาทีข้างหน้านี้

ผมจะยกอุปมาอุปไมยขยายความการใช้เครื่องมือ alertness เพื่อให้คุณเข้าใจมากขึ้นนะ

ตัวอย่างที่ 1. เปรียบเหมือนคุณตื่นนอนขึ้นมากลางดึกอันเงียบสงัดกลางดึกขณะนอนอยู่คนเดียวในบ้าน แล้วคุณได้ยินเสียงแปลกๆดัง “แก๊ก..ก” คุณหูผึ่งทันที ลืมตา ตั้งใจฟัง ว่ามันเป็นเสียงอะไร อาการที่คุณหูผึ่งด้วยความสนใจนั่นแหละ คือ alertness

ตัวอย่างที่ 2. เหลาจื่อเขียนไว้ในหนังสือเต๋าเต็กเก็งถึงอาการของ alertness ว่า “..ระแวดระวังราวคนข้ามธารน้ำแข็ง ตื่นตัวราวกับนักรบขณะอยู่ในเขตศัตรู”

ตัวอย่างที่ 3. ในคัมภีร์ไบเบิลฉบับใหม่ ได้เล่าถึงจีซัสพูดถึงเรื่องนี้ว่า “..เปรียบเหมือนเหล่าคนใช้ที่เฝ้ารอเจ้านายที่กำลังจะกลับบ้านหลังจากเสร็จงานเลี้ยง เมื่อเจ้านายมาเคาะที่ประตู พวกเขาต้องพร้อมที่จะเป็นประตูรับทันที ไม่ว่าเจ้านายจะมาถึงเอาตอนดึกดื่นค่อนคืนหรือรุ่งสาง”

จากสามตัวอย่างนี้ผมหวังว่าคุณพอจะเข้าใจแล้วนะว่าเครื่องมือที่เรียกว่า alertness นี้มันเป็นอย่างไร คราวนี้เราจะใช้มันอย่างไร ในการใช้งานเครื่องมือชิันนี้ เราจะต้องมองชีวิตว่าชีวิตนี้มันเป็นความมหัศจรรย์ (wonder) ช่างมีแต่ความน่าตื่นเต้น น่าตื่นตาตื่นใจตลอดเวลา เพราะเราไม่รู้หรอกว่าในอีกวินาทีข้างหน้านี้อะไรจะเกิดขึ้น อย่างน้อยเราก็ไม่รู้หรอกว่าในอีกหนึ่งวินาทีข้างหน้านี้ความคิดที่จะโผล่ขึ้นมาในหัวเราจะเป็นเรื่องอะไร เราตื่นตาตื่นใจเขม้นมองหามันด้วยความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งแน่ละ ขณะที่เราตื่นตาตื่นใจมองหามัน มันจะไม่โผล่มา และถ้าเราตื่นตาตื่นใจอยู่ต่อเนื่อง มันก็จะไม่โผล่มาเลย นั่นหมายความว่าเครื่องมือ alertness นี้เป็นเครื่องมือดับความคิดได้ชงัดเสียตั้งแต่มันยังไม่ทันโผล่ด้วยซ้ำไป ดังนั้น ให้คุณหัดใช้เครื่องมือนี้ทุกวัน ทุกที่ ทุกเวลา แล้วพวกความคิดที่เป็นรากของโรคซึมเศร้าอันได้แก่ความเบื่อ ความความเหงา ความคิดว่าตัวเองไร้ค่า ความเศร้า ความหงุดหงิด ความสงสารตัวเอง มันจะหายไปจากหัวของคุณโดยอัตโนมัติ

ลงมือทดลองปฏิบัติดู ถ้าคุณไม่ลองดู แล้วจะรู้เรอะ ว่าที่หมอสันต์พูดนี้ จริงหรือไม่จริง เวอร์คหรือไม่เวอร์ค

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

ปล. Spiritual Retreat ครั้งต่อไป (SR-22) วันที่ 18 – 21 พค. 65 (ยังไม่เต็ม)

จดหมายจากท่านผู้อ่าน (13 พค. 65)

โรคซึมเศร้าแก้ได้ง่ายมากๆค่ะ…ลองปากกัดตีนถีบดูค่ะ..ต้องดิ้นรนทำทุกอย่างด้วยตนเองเพื่อความอยู่รอดค่ะ.ต้องเป็นแม่บ้านทำทุกอย่าง,ลองเป็นชาวสวนตัดหญ้าแต่งกิ่งปลูกพืชผักกินเอง,ลองเป็นช่างประปาช่างไฟฟ้าช่างปูนช่างสีเอง.ลองทำในสิ่งที่ยากลำบากดูนะคะ.ชีวิตที่หิวโหยจะทำให้โรคขี้เกียจโรคซึมเศร้าหายไปในทันทีเลยค่ะ.ลองดูนะคะสู้ๆค่ะ

………………………………………………………….

[อ่านต่อ...]

08 พฤษภาคม 2565

รักษาเบาหวานให้ตัวเองแต่ไปต่อไม่ถูกเพราะหมอพูดไม่เหมือนกัน

(ภาพวันนี้: ดอนย่าสีขาว)

เรียนคุณหมอสันต์ครับ

ผมดูคลิปของคุณหมอสันต์ที่ตอบคำถามเรื่องการรักษาเบาหวานด้วยตนเองแล้วพยายามทำตามแต่คุณหมอ … ที่ดูแลเรื่องเบาหวานผมอยู่แนะนำตรงกันข้ามกับคุณหมอสันต์ทุกอย่างทำให้ผมดูแลตัวเองไม่ถูก ยกตัวอย่างเช่นหมอของผมบอกว่าการกินน้ำตาลและแป้งทุกชนิดมากทำให้เกิดการดื้อต่ออินสุลินแล้วเป็นเบาหวาน ให้กินอาหารพวกเนื้อนมไข่ไก่ปลาให้อิ่มแทน แต่หมอสันต์สอนว่าต้องลดหรือเลิกเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทั้งหมดและลดอาหารไขมันด้วยเพราะอาหารเนื้อสัตว์และไขมันทำให้ดื้อต่ออินสุลิน หากจะกินให้อิ่มให้กินถั่ว นัท ผลไม้และแป้งหรือข้าวที่เป็นธัญพืชไม่ขัดสีมากๆแทน หมอของผมห้ามกินผลไม้มากและห้ามผลไม้รสหวานทุกชนิดและห้ามทุเรียนเด็ดขาดแต่หมอสันต์ให้กินผลไม้มากๆ หวานหรือไม่หวานก็กินเข้าไปเหอะทุเรียนก็กินได้ หมอของผมสอนให้ขยันนับแคลอรี่ แต่หมอสันต์บอกว่าให้ตั้งใจกินแต่อาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำโดยกินให้อิ่ม ไม่ต้องสนใจการนับแคลอรี่ หมอของผมเน้นให้กินยาเพื่อรักษาระดับน้ำตาลให้ต่ำกว่า 126 แต่หมอสันต์บอกว่าให้ตั้งใจกินแต่พืชงดอาหารเนื้อสัตว์และลดไขมันไม่ต้องกินยามากโดยยอมรับน้ำตาลในเลือดได้ถึง 150-180 ผมเห็นว่าหมอทั้งสองท่านต่างก็มีคุณวุฒิเป็นอาจารย์สอนแพทย์ทั้งคู่ แล้วผมจะปฏิบัติตัวอย่างไรดีละครับ

………………………………………………………………………….

ตอบครับ

1.. ถามว่าทำไมหมอพูดไม่เหมือนกัน ตอบว่าเรื่องที่หลักฐานวิทยาศาสตร์มีชัดเจนแล้วหมอจะพูดเหมือนกัน ยกตัวอย่างถ้าคุณไปถามหมอคนไหนก็ได้ว่าถ้าไส้ติ่งแตกอึทะลักเต็มท้องวิธีการรักษาต้องทำอย่างไร ผมรับประกันว่าหมอทุกคนจะตอบเหมือนกันว่าต้องผ่าตัดล้างอึออกก่อนแล้วเรื่องอื่นค่อยว่ากัน

แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ความรู้แพทย์ไปไม่ถึง สถานะของแพทย์ก็เหมือนคนตาบอดช่วยกันคลำช้าง คนคลำได้หัวก็ตอบอย่าง คนคลำได้หางก็ตอบอย่าง โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเช่นเบาหวานเป็นตัวอย่างของโรคที่ความรู้แพทย์ยังไปไม่ถึง คือยังไม่รู้วิธีรักษาให้หาย รู้แต่ว่ายิ่งรักษาคนป่วยเป็นเบาหวานยิ่งมีมากขึ้น คือหลักวิชายังไม่ลงตัว หลักฐานมีแบบโน้นนิดแบบนี้หน่อย แถมหลักฐานก็ขัดกันไปขัดกันมา หมอคนโน้นจับหลักฐานชิ้นนี้มาพูด หมอคนนี้จับหลักฐานชิ้นโน้นมาพูด มันจึงไม่เหมือนกัน ยิ่งไปกว่านั้นหมอแต่ละคนยังมีวิธีให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือของหลักฐานวิทยาศาสตร์แต่ละชิ้นไม่เท่ากันเสียอีกด้วย บางคนให้ความสำคัญกับข้อมูลเชิงระบาดวิทยาเพราะถือว่าเป็นข้อมูลจริงในคนจำนวนมาก แต่บางคนให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ได้จากการชั่งตวงวัดในห้องแล็บเพราะถือว่าได้ตัดปัจจัยกวนออกไปหมดเกลี้ยงแล้ว ตรงนี้มันมีรายละเอียดของหลักวิธีวิจัยและแนวคิดเกี่ยวกับสถิติมาเกี่ยวข้อง เอาเป็นว่าวิทยาศาสตร์บางแง่มุมมันก็ถูกยึดถือแบบศาสนา คนที่รักศาสนาของตัวเองใครมาว่าพระเจ้าของตูไม่ดีก็มีหวังต้องเป็นเรื่อง ดังนั้นขอให้เข้าใจว่าที่หมอพูดไม่เหมือนกันนี้มันเป็นเรื่องธรรมดา

2.. ถามว่าเมื่อหมอพูดไม่เหมือนกันแล้วคนไข้จะทำตามใครดี ตอบว่าคนไข้ก็ต้องใช้ดุลพินิจของตัวเองว่าจะเลือกทำตามหมอคนไหนดี การใช้ดุลพินิจนี้มันจะถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้นถ้าคนไข้รู้วิธีกลั่นกรองหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่หมออ้าง ซึ่งผมเคยสอนวิธีจัดชั้นกลั่นกรองหลักฐานวิทยาศาสตร์ไปหลายครั้งแล้ว เช่นในบทความนี้ https://drsant.com/2011/08/blog-post_25-10.html คือคนไข้ต้องฟังว่าหมออ้างงานวิจัยชิ้นไหน งานวิจัยนั้นเป็นหลักฐานระดับน่าเชื่อถือแค่ไหน ถ้าสงสัยว่าหมอจะอำเอาก็ตามไปอ่านงานวิจัยนั้นด้วยตัวเองในอินเตอร์เน็ท แล้วใช้ดุลพินิจของตัวเองตัดสินว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ในกรณีที่ไม่อยากไปอ่านงานวิจัยด้วยตัวเองผมแนะนำให้ใช้วิธีง่ายๆ คือทดลองไปทีละแบบ อย่างการดูแลตัวเองเรื่องเบาหวานนี้ง่ายมาก คุณก็ทดลองทำตามหมอของคุณอย่างจริงจังสัก 6 เดือน แล้วเปลี่ยนมาทดลองทำตามแบบหมอสันต์อย่างจริงจังอีกสัก 6 เดือนแล้วเปรียบเทียบผลว่าแบบของใครดีกว่ากัน ถ้าพอๆกันคุณก็เลือกเอาว่าคุณชอบแบบไหนมากกว่า แล้วก็ทำตามแบบนั้น ประเด็นคือคุณเป็นผู้กุมอำนาจและเป็นผู้ตัดสินชีวิตของคุณเอง อย่าอ้างว่าหมอพูดไม่เหมือนกันทำให้ชีวิตของคุณไปต่อไม่ถูก หมอเป็นเพียงผู้ให้คำปรึกษาเท่านั้น เหมือนนายกรัฐมนตรีนั่งฟังที่ปรึกษาคนโน้นว่ายังงั้นคนนี้ว่ายังงี้แล้วร้องแง แง ว่าผมบริหารประเทศไม่ได้เพราะที่ปรึกษาพูดไม่เหมือนกัน คุณว่าอย่างนี้เข้าท่าแมะ

การที่หมอพูดไม่เหมือนกันไม่ใช่เหตที่ผู้ป่วยจะไม่หายจากโรค แต่การที่ผู้ป่วยไม่ลงมือดูแลตัวเองจริงจังสักแบบเดียวนั่นแหละเป็นเหตุที่ทำให้ไม่หายจากโรค การที่หมอพูดหลายอย่างไม่เหมือนกัน เป็นการดีเสียอีกที่ผู้ป่วยจะได้รับรู้ทางเลือกที่หลากหลายและตัดสินใจใช้ดุลพินิจของตนเองได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งมาตอนหลังนี้ผมได้นำแนวคิดนี้มาเป็นแนวทางในการทำแค้มป์สุขภาพของผมด้วย ยกตัวอย่างเช่นสัปดาห์หน้าผมจะทำแค้มป์ผู้ป่วยเบาหวาน ผมได้เชิญพญ.ดร. สุวิณา รัตนชัยวงศ์ มาร่วมสอนด้วย แต่ว่าจริงๆแล้วผมกับดร.สุวิณามีความเห็นหลายเรื่องอยู่คนละข้างคล้ายๆกับที่คุณเล่ามานั่นแหละ แต่การที่หมอสองคนความเห็นต่างกันมาสอนด้วยกันผู้ป่วยกลับเป็นผู้ได้ประโยชน์เพราะได้รู้ทางเลือกครบถ้วน ส่วนจะเลือกเชื่อใครหรือจะเลือกลองวิธีของใครก่อนอันนั้นเป็นดุลพินิจของผู้ป่วยเอง

3.. ประเด็นอะไรเป็นเหตุของเบาหวานแรงกว่ากันระหว่างเนื้อสัตว์และไขมันฝ่ายหนึ่ง กับแป้งและน้ำตาลอีกฝ่ายหนึ่ง คำแนะนำของผมที่แนะนำว่าเนื้อสัตว์และไขมันเป็นต้นเหตุของเบาหวานนั้นมีพื้นฐานอยู่บนงานวิจัยของนพ.นีล บาร์นาร์ด ที่สนับสนุนโดยสถาบัน NIH ของรัฐบาลสหรัฐ เขาแบ่งกลุ่มให้ผู้ป่วยกินอาหารสองชนิด กลุ่มหนึ่งกินอาหารเบาหวานที่แนะนำโดยสมาคมเบาหวานอเมริกันซึ่งมีทั้งเนื้อนมไข่ปลาตามสูตร อีกกลุ่มหนึ่งกินอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ ไม่ให้กินเนื้อสัตว์เลย นม ไข่ ปลา ก็ไม่ให้กินแต่ไปเอาแคลอรี่จากคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนและธัญพืชไม่ขัดสี พบว่ากลุ่มที่กินอาหารแบบพืชเป็นหลักเลิกยาเบาหวานได้มากกว่ากลุ่มกินอาหารปกติสองเท่าตัว ลดน้ำตาลในเลือดได้มากกว่าสองเท่าตัว ลดน้ำหนักได้มากกว่าสองเท่าตัว จากงานวิจัยนี้จึงสรุปได้ว่าอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานคืออาหารที่มีพืชเป็นหลัก ไม่ใช้น้ำมันผัดทอด ไม่มีเนื้อสัตว์แม้กระทั่งไข่ นม และปลาเลย งานวิจัยข้างต้นสอดคล้องกับงานวิจัยขนาดใหญ่ที่กลุ่มประเทศทางภาคพื้นยุโรปได้ร่วมกันทำงานเพื่อติดตามดูกลุ่มคน 448,568 คนแบบตามไปดูข้างหน้า แล้วดูความสัมพันธ์ของอาหารกับการเจ็บป่วย เรียกว่างานวิจัยเอพิก (EPIC study) ซึ่งตอนนี้ได้ตามดูมาแล้วสิบกว่าปี พบว่าอาหารที่สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 นั้นไม่ใช่อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) อย่างที่คนทั่วไปเคยเข้าใจกัน แต่เป็นอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการถนอม (ไส้กรอก เบคอน แฮม)

4.. ประเด็นกินผลไม้มากกินผลไม้น้อยอย่างไหนทำให้เป็นเบาหวาน คำแนะนำของผมมีพื้นฐานอยู่บนงานวิจัยของฮาร์วาร์ดซึ่งติดตามกลุ่มคนประมาณสองแสนคน ซึ่งได้เกิดผู้ป่วยเบาหวานขึ้นระหว่างการติดตาม 12,198 คน เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการกินผลไม้กับการเป็นเบาหวานพบว่าการกินผลไม้สดโดยเฉพาะอย่างยิ่งองุ่น แอปเปิล บลูเบอรี่ สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานน้อยลง แต่การดื่มน้ำผลไม้คั้นทิ้งกากกลับสัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานมากขึ้น เช่นเดียวกัน งานวิจัยขนาดใหญ่ทางยุโรปชื่อ EPIC study ก็ได้รายงานผลที่สอดคล้องกันว่าอาหารที่สัมพันธ์กับการลดการป่วยจากเบาหวานคือผักและผลไม้ ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ที่หวานหรือไม่หวานก็ตามก็ล้วนสัมพันธ์กับการลดโอกาสเป็นเบาหวานทั้งสิ้น

5.. ประเด็นกินผลไม้หวานไม่หวานก็กินเข้าไปเถอะ ไม่ทำให้เบาหวานแย่ลงหรอก คำแนะนำนี้ของผมมีพื้นฐานอยู่บนงานวิจัยระดับสูงชิ้นหนึ่งซึ่งได้สุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มคนไข้เบาหวานที่กำลังรักษาด้วยยาอยู่ออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้จำกัดผลไม้ไม่ให้เกินวันละสองเสิรฟวิ่ง อีกกลุ่มหนึ่งให้กินผลไม้มากๆเกินสองเสริฟวิ่งขึ้นไปและไม่จำกัดจำนวนทั้งไม่จำกัดว่าหวานหรือไม่หวานด้วย ทำวิจัยอยู่ 12 สัปดาห์แล้ววัดน้ำตาลสะสมในเลือด และภาวะดื้อต่ออินซุลินก่อนและหลังการวิจัย พบว่าทั้งสองกลุ่มมีการเปลี่ยนแปลงของน้ำตาลไม่ต่างกัน

ในเรื่องผลไม้หวานกับไม่หวานนี้ผมกับพญ.ดร.สุวิณาก็มีความเห็นไม่ลงรอยกัน จนในแค้มป์เบาหวานสัปดาห์หน้านี้เราต้องทดลองเพื่อพิสูจน์ไปด้วย คือวันนี้กินแต่ผลไม้ไม่หวาน แล้วเจาะเลือด วันรุ่งขึ้นกินผลไม้หวาน แล้วเจาะเลือด เพื่อจะเอาหลักฐานมายุติความเห็นที่ไม่ลงรอยกัน นี่คือความสวยงามของวิทยาศาสตร์ มันพิสูจน์ได้หากทั้งสองฝ่ายต่างเป็นนักวิทยาศาสตร์ แล้วผู้ป่วยที่เป็นพยานของการพิสูจน์ครั้งนี้ก็จะได้ประโยชน์คือได้เรียนจากของจริงจะจะเห็นๆ

6.. ประเด็นการคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วยยาว่าไม่ต้องเอาน้ำตาลลงไปต่ำกว่า 150-180 (HbA1c ต่ำกว่า 7.0-7.9) นั้น คำแนะนำของผมมีพื้นฐานอยู่บนงานวิจัย ACCORD trial ซึ่งได้เอาผู้ป่วยเบาหวานมา 10,251 คน สุ่มแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้ยารักษาระดับน้ำตาลสะสมไว้ที่ 7.0 -7.9% อีกกลุ่มหนึ่งให้ยาแบบเข้มข้นโดยมุ่งให้น้ำตาลสะสมลงไปต่ำกว่าระดับ 6.0% ทำการทดลองอยู่ 1 ปี กลุ่มที่ยอมให้น้ำตาลสูงมีค่าน้ำตาลสะสมเฉลี่ย 7.5% ขณะที่กลุ่มที่จงใจใช้ยากดน้ำตาลให้ลงต่ำมีค่าเฉลี่ยน้ำตาลสะสม 6.4% ผลวิจัยพบว่ากลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยยาแบบเข้มข้นเพื่อเอาน้ำตาลในเลือดลงมาต่ำใกล้ 6.0% กลับตายและพบจุดจบที่เลวร้ายทางด้านหัวใจและอัมพาตมากกว่ากลุ่มที่รักษาแบบยอมคงระดับน้ำตาลสะสมไว้ในระดับ 7.0- 7.9% อย่างไรก็ตาม งานวิจัย ACCORD นี้ทำในคนไข้ส่วนใหญ่ที่โรคเป็นมากแล้ว อายุมากแล้ว คือระดับ 60 ปี มีโรคร่วมหลายโรค อีกทั้งใช้ยาลดน้ำตาลในเลือดรุ่นเก่าซึ่งเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำง่าย การจะใช้ข้อมูลจากงานวิจัยนี้กับยารุ่นใหม่ผมเองอาศัยใช้ดุลพินิจประกอบแทนการยึดถือตัวเลขน้ำตาลในเลือดตายตัว

อย่างไรก็ตาม ทั้งผมและดร.สุวิณาต่างเห็นพ้องกันในเรื่องนี้ว่าการพยายามเอาน้ำตาลในเลือดลงต่ำไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือการเปลี่ยนอาหารต่างหาก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Barnard, N.D., et al., A low-fat vegan diet improves glycemic control and cardiovascular risk factors in a randomized clinical trial in individuals with type 2 diabetes. Diabetes Care. 2006 Aug;29(8):1777-83.
2. InterAct, C., et al., Association between dietary meat consumption and incident type 2 diabetes: the EPIC-InterAct study. Diabetologia, 2013. 56(1): p. 47-59.
3. InterAct, C., Adherence to predefined dietary patterns and incident type 2 diabetes in European populations: EPIC-InterAct Study. Diabetologia, 2014.57(2): p. 321-33.

4. Christensen, A.S., et al., Effect of fruit restriction on glycemic control in patients with type 2 diabetes–a randomized trial. Nutr J, 2013. 12: p. 29.
5. Muraki, I., et al., Fruit consumption and risk of type 2 diabetes: results from three prospective longitudinal cohort studies. BMJ, 2013. 347: p. f5001.7. Christensen, A.S., et al., Effect of fruit restriction on glycemic control in patients with type 2 diabetes–a randomized trial. Nutr J, 2013. 12: p. 29.8 Rock, W., et al., Effects of date ( Phoenix dactylifera L., Medjool or Hallawi Variety) consumption by healthy subjects on serum glucose and lipid levels and on serum oxidative status: a pilot study. J Agric Food Chem, 2009.57(17): p. 8010-7. 2006. 29(8): p. 1777-83.
6.        Anderson JW, Ward K. High-carbohydrate, high-fiber diets for insulin-treated men with diabetes mellitus. Am J Clin Nutr. 1979;32(11):2312-21. PubMed PMID: 495550.
7. Action to Control Cardiovascular Risk in Diabetes Study Group, Gerstein HC, Miller ME, Byington RP, Goff DC, Jr., Bigger JT, et al. Effects of intensive glucose lowering in type 2 diabetes. N Engl J Med. 2008;358(24):2545-59. doi: 10.1056/NEJMoa0802743.

……………………………

[อ่านต่อ...]

07 พฤษภาคม 2565

มีพันธุกรรมเบาหวาน กำลังจะท้อง จะป้องกันเบาหวานขณะตั้งท้องได้อย่างไร

(ภาพวันนี้: เข็มเหลือง)

กราบเรียนคุณหมอสันต์

หนูมีพันธุกรรมเป็นเบาหวาน เป็นกันหมดทั้งบ้าน ทั้งแม่และพี่ๆเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์กันหมด ตอนนี้หนูเริ่มตั้งครรภ์ หนูกลัวมากว่าจะเป็นเบาหวาน กลัวจนความสุขจากการจะมีลูกหายไปเลย เปรยกับคุณหมอสูติซึ่งเผอิญเป็นหมอผู้ชายท่านก็ตอบสั้นๆว่าไม่ต้องกลัว เป็นมาผมรักษาได้ หนูอยากถามคุณหมอสันต์ว่าหนูจะหนีพันธุกรรมของตัวเองไม่ยอมเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้อย่างไร

………………………………………………….

ตอบครับ

มีงานวิจัยหนึ่งซึ่งเพิ่งทำอุ่นๆที่ฟินแลนด์จะตอบคำถามของคุณได้พอดี ในงานวิจัยนั้นเขาเอาหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงจะเป็นเบาหวานมา 1,000 คน สุ่มตัวอย่างแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งฝากครรภ์และกินอยู่ตามปกติ อีกกลุ่มหนึ่งทำการแทรกแซงด้วยการให้เปลี่ยนการกินอาหารและการใช้ชีวิตดังนี้

  1. ให้ออกกำลังกายวันละอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละอย่างน้อย 5 วัน หรือวันละ 50 นาทีสัปดาห์ละอย่างน้อย 3 วัน
  2. เปลี่ยนอาหารที่เคยกินไปกินผัก ถั่วต่าง ผลไม้ เบอร์รี่ ธัญพืชไม่ขัดสี และกาก ให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ลดนมและผลิตภัณฑ์จากนมลงเหลือน้อยที่สุด ลดน้ำมันปรุงอาหารลง โดยทำอาหารจานตัวอย่างให้ดูซึ่งหากปรุงตามนั้นจะได้พลังงาน 1600-1800 แคลอรี่ต่อวัน โดยที่พลังงานที่ได้จากอาหารตัวอย่างนี้ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นพลังงานจากคาร์โบไฮเดรต 30% จากไขมัน และ 20% จากโปรตีน
  3. มีทีมผู้วิจัยซึ่งมีทั้งพยาบาลเบาหวาน นักโภชนาการ และนักออกกำลังกายไปเยี่ยมบ้านทุกสามเดือนและถี่ขึ้นช่วงก่อนคลอดเพื่อช่วยให้เปลี่ยนอาหารและออกกำลังกายได้ตลอดรอดฝั่ง

ผลวิจัยปรากฎว่าผู้ที่มีความเสี่ยงเชิงพันธุกรรม(ซึ่งพิสูจน์ได้ว่ามียีนที่เสี่ยงเป็นเบาหวานอยู่ด้วย) ที่อยู่ในกลุ่มเปลี่ยนการกินและการใช้ชีวิตป่วยเป็นเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์น้อยกว่าผู้มียีนเสี่ยงที่อยู่กลุ่มกินอยู่ตามปกติถึงเกือบสามเท่าตัว (OR = 0.37)

ดังนั้นคำตอบของผมคุณก็ถือเอาตามงานวิจัยนี้ได้เลย คือมีพันธุกรรมเบาหวาน จะตั้งครรภ์ ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ก็ต้องออกกำลังกายวันละอย่างน้อย 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน ควบกับเลิกกินอาหารแบบเดิมๆไปกินอาหารที่มีผัก ถั่วต่าง ผลไม้ เบอร์รี่ ธัญพืชไม่ขัดสี และกาก ให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ลดนมและผลิตภัณฑ์จากนม ลดน้ำมันปรุงอาหารลง ตามงานวิจัยนี้เลยครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Emilia Huvinen, Jari Lahti, Miira M. Klemetti, Paula H. Bergman, Katri Räikkönen, Marju Orho-Melander, Hannele Laivuori, Saila B. Koivusalo. Genetic risk of type 2 diabetes modifies the effects of a lifestyle intervention aimed at the prevention of gestational and postpartum diabetesDiabetologia, 2022; DOI: 10.1007/s00125-022-05712-7
[อ่านต่อ...]

06 พฤษภาคม 2565

ทางเลือกของผู้ประกันตนตามมาตรา 39

เรียนถามค่ะ

เคยทำงานอยู่ ม.33 ลาออกจากงานเดือน พค. ปี 59 ตอนลาออกเงินเดือน 33000 พอลาออกมาต่อ 39 โดยไม่ได้ศึกษาค่ะก้อเท่ากับตอนนี้ต่อ 39 มา 6 ปีนี้แล้วค่ะและมีเงินสะสม 170000 กว่า ตอนแรกคิดว่าจะส่งถึง55ปีแล้วลาออกเพื่อรับบำนาญรายเดือนพอทราบว่าเขาจะคิดฐานเงินเดือนให้ที่ 4800 หนูควรทำไงต่อดีค่ะ ส่งต่อเรื่อยๆเป็นมรดกหรือพอแค่นี้คือหยุดส่งรออายุ55ปี รับรายเดือนนะคะ

…………………………………………………………

ตอบครับ

นี่ไม่ใช่คำถามเรื่องสุขภาพ แต่เป็นเรื่องคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย คือเป็นเรื่องสิทธิประโยชน์ของระบบประกันสังคมสำหรับพนักงานวัยใกล้เกษียณ อย่างว่าแหละ แฟนบล็อกหมอสันต์เกือบทั้งหมดก็เป็นคนระดับใกล้เกษียณขึ้นไปทั้งนั้น คำถามแบบนี้จึงมีเข้ามาประปรายไม่ขาด สมัยหนึ่งที่ผมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่รับประกันสังคมแห่งหนึ่ง ต้องตอบคำถามเรื่องพวกนี้จากคนไข้บ่อยมากจนผมเองจำกฎหมายประกันสังคมได้แยะ ก่อนตอบคำถามผมขออธิบายศัพท์เกี่ยวกับประกันสังคมก่อนนะ

มาตรา 33 เป็นการกำหนดสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างในสถานประกอบการที่ลูกจ้าง(ในฐานะผู้ประกันตน)จ่ายเงินสมทบเดือนละ 5% ของค่าจ้างแต่สูงสุดไม่เกิน 750 บาท/เดือน แล้วระบบประกันสังคมให้ความคุ้มครอง 7 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย, กรณีคลอดบุตร, กรณีทุพพลภาพ, กรณีเสียชีวิต, กรณีสงเคราะห์บุตร, กรณีชราภาพ, กรณีว่างงาน

มาตรา 39 เป็นการกำหนดสิทธิประโยชน์ของที่ได้ออกจากสถานะเดิมในมาตรา 33 มาสมัครเข้ามาเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจไม่มีนายจ้างมาจ่ายสมทบ มีแต่ตัวผู้ประกันตนเองเป็นผู้จ่ายเงินสมทบ 432 บาท/เดือน แล้วระบบประกันสังคมให้ความคุ้มครอง 6 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย, กรณีคลอดบุตร, กรณีทุพพลภาพ, กรณีเสียชีวิต, กรณีสงเคราะห์บุตร, กรณีชราภาพ (ไม่มีกรณีว่างงาน)

มาตรา 40 เป็นการกำหนดสิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบอาชีพอิสระที่สมัครเข้ามาเป็นผู้ประกันตน สามารถเลือกสมัครได้ 3 ทางเลือกคือ ทางเลือกที่ 1 ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 70 บาท/เดือน คุ้มครอง 3 กรณี คือกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย, กรณีทุพพลภาพ, กรณีเสียชีวิต ทางเลือกที่ 2 ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน คุ้มครอง 4 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีชราภาพ ทางเลือกที่ 3 ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน
คุ้มครอง 5 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีชราภาพ กรณีสงเคราะห์บุตร

ประเด็นคำถามของแฟนท่านนี้ก็คือตอนที่สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 นั้นเข้าใจผิดว่าเขาจะให้บำนาญโดยคิดเงินเดือนขั้นสุดท้ายสูงสุดที่ 15000 บาทเหมือนมาตรา 33 แต่ต่อมามาทราบความจริงว่าเข้าใจผิด ของจริงคือผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะต้องคิดเงินเดือนเฉลี่ยระหว่างอยู่ในมาตรา 39 ที่เดือนละ 4800 บาท พอรู้เข้าอย่างนี้ก็เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ เอ๊ย..ไม่ใช่ เกิดความรู้สึกว่าตัวเองจะได้ไม่คุ้มเสียหากจ่ายเงินสมทบต่อไปจนอายุครบ 55 ปี จึงเขียนมาถามหมอสันต์ว่าจะจ่ายต่อดี หรือไม่จ่ายต่อดี เอาละ คราวนี้มาตอบคำถาม

การจะตอบคำถามนี้ได้ คุณก็ต้องคำนวนประโยชน์ที่คุณจะได้จากทางเลือกทั้งสองแบบ ผมจะคำนวณให้ดูเป็นตัวอย่าง แต่ว่าคุณยังไม่บอกอายุผมมาเลยแล้วผมจะคำนวณได้ไหมเนี่ย ผมสมมุติว่าตอนนี้คุณอายุ 50 ปีก็แล้วกันนะ แล้วผมสมมุติว่าคุณจะมีอายุยืนยาวไปถึง 90 ปีนะ

ทางเลือกที่ 1. เลิกจ่ายสบทบตอนนี้แล้วไปรอรับบำนาญเอาตอนอายุ 55 ปี คุณก็จะได้บำนาญ 20% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายซึ่งก็คือ 4800 บาท 20% ก็คือได้บำนาญเดือนละ 960 บาท รับบำนาญอยู่นาน 90-55 = 35 ปี หรือ 420 เดือน เป็นเงิน 403,200 บาท บวกเงินที่ประหยัดไว้ไม่ต้องจ่ายสมทบจากนี้ไปจนอายุ 55 ปี (ุอีก 5 ปี) เป็นเงิน 432 บาท x 60 เดือน = 25,920 บาท รวมโหลงโจ้งได้เงินเมื่อนับถึงอายุ 90 ปีเป็นเงิน 429,120 บาท

ทางเลือกที่ 2 ยอมจ่ายสมทบต่อไปจนอายุครบ 55 ปี คัวคูณ 20% จะได้เพิ่มมาอีกปีละ 1.5% ห้าปีก็ 7.5% ดังนั้นตัวคูณของคุณก็คือ 27.5% คูณกับเงินเดือน 4800 บาท = ได้บำนาญเดือนละ 1320 บาท รับอยู่นาน 420 เดือน ก็เป็นเงิน 554,400 บาท

คำตอบก็ออกมาชัดอยู่แล้วว่าหากมีอายุยืนไปถึง 90 ปี การจ่ายเงินสมทบต่อไปจนอายุครบ 55 ปีก็มีประโยชน์มากกว่าครับ คุณเข้าใจวิธีคิดนะ คุณเอาไปคิดต่อเอาเอง เพราะผมไม่รู้อายุจริงของคุณตอนนี้เท่าไหร่ และไม่รู้ว่าคุณจะตายตอนอายุเท่าไหร่ หิ หิ ถ้าคุณมีแผน เอ๊ย..ไม่ใช่ ถ้าคุณคิดว่าจะอายุสั้น การหยุดส่งเสียเดี๋ยวนี้อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ว่าที่จริงแล้วการมีมาตรา 39 หรือการเปิดให้คนที่ออกจากงานต่อสิทธิได้ด้วยการเป็นผู้ประกันตนเองนั้น เป็นลูกเล่นที่จะชลอการจ่ายบำนาญนั่นเอง ถ้าสมาชิกขยันต่อบัตรกันมากและขยันจ่ายสมทบไปจนตายคาทั้งๆที่ยังเป็นสมาชิกอยู่ ระบบก็จะอยู่ได้ยั่งยืนกว่าการมีแต่สมาชิกที่จ้องจะออกไปนั่งกินบำนาญท่าเดียว

ตอบคำถามคุณจบแล้ว ไหนๆก็คุยกันถึงสิทธิผู้ประกันตนแล้วผมอยากจะพูดกับแฟนบล็อกที่เป็นผู้ประกันตนตอนนี้เสียเลยว่าส่วนที่ดีที่สุดของบัตรประกันสังคมก็คือสิทธิประโยชน์ชราภาพ หรือบำนาญเนี่ยแหละ เพราะในบรรดาเงินประกันสังคมที่เก็บไปทั้งหมด ราว 90% จะไปเป็นกองทุนชราภาพก็คือบำนาญนั่นเอง ดังนั้นผู้ที่ทำงานมาจนจวนจะครบ 180 เดือนอยู่แล้วแต่มีเหตุให้ต้องออกจากงานขอให้อดทนจ่ายสมทบผ่านมาตรา 39 ไปจนครบ 180 เดือนเพื่อเอาบำนาญ เพราะเป็นประโยชน์ที่เป็นเนื้อเป็นหนังที่สุดของระบบประกันสังคม

อย่างไรก็ตามทุกอย่างเป็นอนิจจัง ขณะที่จ่ายๆไปแล้วก็ให้ทำใจเผื่อไว้ด้วย เพราะผมเดาเอาจากตัวเลขปัจจุบันว่าบบประกันสังคมไปได้อย่างเก่งก็อีกไม่เกินสามสิบปี เพราะตามข้อมูลเท่าที่เปิดเผยออกมา เราเริ่มจ่ายบำนาญในปี พ.ศ. 2557 ปีแรกก็มีคนรับบำนาญราว 1.3 แสนคน จ่ายเงินไป 4,700 ล้านบาท คำนวณแบบง่ายๆพอไปถึงปี 2587 เงินออก (20% ของค่าจ้าง 60 เดือนสุดท้าย) ก็จะเริ่มมากกว่าเงินเข้า (ฝ่ายละ 3%ของค่าจ้าง) แปลไทยให้เป็นจีนว่า “บ้อจี๊” ยิ่งคนมีแต่จะอายุยืนขึ้น ท้ายที่สุดระบบจะไปต่อไม่ได้และต้องหาสนามบินลง จะลงอีท่าไหนนั้น ผมเองก็เดาไม่ถูกเหมือนกัน

อีกประการหนึ่ง ในการจะเป็นคนเกษียณหรือคนชรานี้ คุณอย่าไปมัวนั่งนับสิทธิประโยชน์เบี้ยหวัดบำนาญ ช่างเป็นเรื่องที่ไร้สาระสิ้นดี ในการจะเป็นผู้ชราที่ประสบความสำเร็จนี้มันไม่มีอะไรดีกว่าการรู้จักใช้ชีวิตให้สงบเย็นและสร้างสรรค์แบบพึ่งตัวเองได้ 100% ไปทีละวันจนชนวันสุดท้ายของชีวิต นั่นหมายความถึงการดูแลสุขภาพตัวเองเสียตั้งแต่วันนี้ กินอาหารที่มีพืชเป็นหลักและไขมันต่ำ ออกกำลังกายทุกวัน จัดการความเครียดโดยหัดวางความคิดลบๆทิ้งไปเสีย นอนหลับให้ได้ดีโดยไม่ใช้ยา ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ตากแดด ขุดดิน ฟันหญ้า ปลูกต้นไม้ ใส่ใจที่จะฝึกฝนทำกิจวัตรสำคัญ  (IADL) เจ็ดอย่าง และกิจวัตรจำเป็น (ADL) ห้าอย่าง ให้ได้ด้วยตัวเองให้ได้นานจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

     กิจวัตรสำคัญเจ็ดอย่าง (IADL) ได้แก่

     (1) อยู่คนเดียวได้ หมายความว่าทนเหงาได้
     (2) ขนส่งตัวเอง เช่นถีบรถ ขับรถ หรือไปขึ้นรถเมล์ ได้
     (3) ทำอาหารกินเองได้
     (4) ช้อปปิ้งเองได้
     (5) บริหารที่อยู่ตัวเองได้ เช่นปัดกวาดเช็ดถู
     (6) บริหารยาตัวเองได้
     (7) บริหารเงินของตัวเองได้

     ส่วนกิจวัตรจำเป็นห้าอย่าง (ADL) ได้แก่

     (1) อาบน้ำแปรงฟันได้เอง
     (2) แต่งตัวสวมเสื้อผ้าได้เอง
     (3) กินเองได้
     (4) อึฉี่เองได้
     (5) เดินเหินเองได้

     กิจวัตรจำเป็นห้าอย่างนี้ หากทำไม่ได้แม้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว ก็หมายความว่าพึ่งตัวเองไม่ได้แล้ว ต้องปล่อยชีวิตให้ไหลไปตามแต่พระพรหมจะลิขิต ว่ามันจะไปจบที่โรงเลี้ยงคนแก่ของ อบต. หรือห้องบริบาลใต้ถุนรพ.สต. หรือไปจบร่วมกับหมาแมวที่ใต้ถุนศาลาวัดก็ช่างมันเถอะ เพราะจบที่ไหนท้ายที่สุดก็แป๊ะเอี้ย..คือ ตายเหมือนกัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]