สวัสดีครับคุณหมอสันต์ที่นับถือ
ผมเกษียณแล้ว
อายุ 66 ปี ได้มีโอกาสชมโทรทัศน์รายการที่คุณหมอสันต์พูดคุยกับคุณดู๋ (สัญญา คุณากร) โดยดูจากที่ช่องห้าเขาอัดไว้ทางคอมพิวเตอร์
ผมได้ฟังที่คุณหมอพูดถึงว่าเมื่อเกษียณแล้วเวลามันจะเหลือมาก
ตอนนี้ผมก็มีปัญหานั้นแล้ว ก่อนเกษียณก็เฝ้ารอว่าเมื่อไรจะได้เกษียณ เมื่อได้เกษียณจริงก็ดีใจทำโน่นทำนี่อยู่พักใหญ่
แต่พอผ่านไปได้สองปีกว่าก็รู้สึกว่าตัวเองหมดไฟ มองอะไรมันจะไปทางไม่ดีหมด
เช่นคิดถึงอนาคตของลูกหลานก็ออกมาทางไม่ดี คิดเป็นห่วงอนาคตของชาติบ้านเมือง
ภาพที่เห็นก็เป็นภาพที่ชาติบ้านเมืองจะแย่ เมื่อเลิกสนใจสิ่งรอบตัว
หันมาสนใจในบ้านของตัวเอง บ้านก็มีแต่ความว่างเปล่าเพราะลูกๆเขาก็ไปตั้งครอบครัวมีลูกกันหมดแล้ว
เหลือแต่ผมกับภรรยาอยู่สองคนกับหมา 5 ตัว แมวอีก 3 ตัว ของภรรยาเขาทั้งหมด ได้แต่เปิดทีวีทิ้งไว้แล้วนั่งมองออกนอกหน้าต่าง เรื่องเซ็กซ์มันก็ไม่มีใจแล้ว
ความจริงผมก็มีความรู้สึกทางเพศอยู่ แต่ว่ามันไม่มีแก่ใจที่จะเอาอกเอาใจคู่นอน
ไม่มีใจที่จะทำอะไรให้คู่ขาเขามีความสุขบ้าง
อยากจะรีบๆทำให้สำเร็จกิจของเราแล้วต่างคนต่างไป
ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนี้ก็เลยอายตัวเองที่จะมีเซ็กซ์กับภรรยา
เพราะมันไม่ยุติธรรมกับเขา ความมั่นใจในเรื่องต่างๆก็หดหายไปอย่างรวดเร็ว
อย่างจะไปรับเงินบำนาญที่กรมเก่าก็ไม่อยากไปแล้ว เพราะมันรู้สึกไม่มั่นใจ
ทั้งๆที่เพื่อนๆเขาก็บอกว่าให้มาเจอกันบ้างเดือนละครั้งก็ยังดี
ในความคิดมีแต่ว่าจะเอาอะไรกันอีกมากมาย อีกไม่นานจุดจบก็จะมาถึงแล้ว
อีกเรื่องหนึ่งที่บั่นทอนมากคือการที่จำอะไรไม่ค่อยได้
แม้แต่ชื่อเมียบางครั้งยังต้องนั่งนึกอยู่พักใหญ่
เวลาทำอะไรก็ทำผิดๆถูกๆเหมือนคนไม่เคยทำ
ไปหาหมอๆเขาก็บอกว่าไม่ได้เป็นอัลไซเมอร์หรือสมองเสื่อม
เป็นแค่ขี้หลงขื้ลืมแบบคนแก่ธรรมดา แต่ความแก่ที่ว่าเป็นธรรมดามันอย่างนี้เองหรือ
มันไม่มีอะไรดีเลย ถ้าเป็นอย่างนี้โดยความสัตย์จริงผมว่าตายๆไปเสียเร็วๆยังดีกว่า
ที่ผมเขียนจดหมายมาหาคุณหมอนี้ก็เพราะลูกเขาแนะนำให้อ่านบล็อกของคุณหมอ
แต่ว่าไม่เคยมีจดหมายที่เล่าปัญหาแบบของผมเลย ผมจึงขอเป็นคนเล่า
หวังว่าคุณหมอคงจะชี้แนะ คุณหมอแนะนำอะไรมา ผมสัญญาว่าจะทำ
เพราะผมก็ไม่มีทางไปอย่างอื่นแล้ว นอกจากรอวันตาย
.........................................
ตอบครับ
อื้อฮือ..อ่านจดหมายของท่านแล้วผมนึกบรรยากาศออกเลย แบบว่า
“...(กล้องแพนผ่าน) ท้องฟ้าสีเทาหม่น
ป้ายบ้านพักคนชรา (ซูมอินตามทางเดินเข้าไป) จับไปที่ภาพของชายชราที่นั่งอยู่ที่เก้าอี้โยก
(ดอลลี่แล้วหยุดจับภาพนิ่งที่ใบหน้า) ใบหน้านั้นเหี่ยวย่นเล็กน้อย
แต่ดูดวงตาสิ เขาเหม่อมองอย่างไร้แววผ่านประตูบ้านออกไปอย่างไร้จุดหมาย
ประหนึ่งว่าจะรอการมาของอะไรสักอย่างที่คงจะมาถึงแบบไม่เร็วนัก จะเป็นอะไรหรือ
อาหารเย็น? หรือความตาย? เหอะน่า อะไรก็ได้
สุดแล้วแต่อย่างไหนจะมาถึงก่อนกัน (เสียงผู้กำกับตะโกน..คัท)
แหะ..แหะ
ขอโทษนะครับ แก้ง่วงยามดึกหนะ อย่าหาว่าผมล้อเลียนคนแก่เลย เพราะผมเองก็หกสิบแล้วและถืออภิสิทธิความเป็นคนแก่เหมือนกัน
มีสิทธิล้อเลียนพวกกันเองได้ มาตอบคำถามของคุณพี่ดีกว่านะครับ เรียกว่าพี่ได้นะครับ
เพราะแก่กว่าผมหกปีเอ๊ง
ประเด็นที่ 1.
อาการหมดไฟ ผมแนะนำว่าไฟของความเป็นหนุ่มสาวนี้มันไม่ได้อยู่ที่ไหนหรืออยู่ที่
ณ เวลาเมื่อใด แต่มันอยู่ที่ในใจเราตลอดเวลา มันคือความสามารถความคิดสร้างสรรค์ในตัวเราที่เราดึงออกมาใช้เพื่อชีวิตของเราและเพื่อชีวิตของคนอื่นๆ
หรือแม้กระทั่งเพื่อโลกที่เรารัก เมื่อใดที่เราเรียนรู้ที่จะแคะไฟนี้ออกมา
เมื่อนั้นเราก็ยังเป็นหนุ่มสาวอยู่ ไม่ว่าเราจะอายุเท่าใด และถ้าเราแคะไฟสามารถและไฟสร้างสรรค์นี้มาใช้เมื่อแก่
เราก็เอาชนะความแก่ได้
ความแก่อาจทำให้เรารู้สึกว่าได้สูญเสียความมีชีวิตชีวาไป
แต่จำนี่ไว้นะครับ ถ้าความเป็นหนุ่มเป็นสาวคือสถานะของร่างกายและจิตใจ
ความมีชีวิตชีวาก็เป็นสถานะของความรู้สึกและจิตวิญญาณ ถ้าเราห่อหุ้มตัวเราด้วยความมีชีวิตชีวา
ความเป็นหนุ่มเป็นสาวก็จะกลับมา ความมีชีวิตชีวาสะท้อนถึงตัวตนที่แท้จริงของเรา
ยิ่งเรารู้สึกมีชีวิตชีวามาก ชีวิตก็ยิ่งจะมีความสุข มีสุขภาพดี มีเพื่อนทุกวัย
มีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้คน
มีอาชีพหรือการงานที่กระตุ้นสมองให้เราตื่นขึ้นมารับวันใหม่
ก่อนที่นาฬิกาปลุกจะดังด้วยซ้ำ ความมีชีวิตชีวาเป็นธาตุแท้ของจิตวิญญาณของเรา
มันผลักดันเราไปในทิศทางว่าเราเป็นใครและกำลังจะมุ่งไปทางไหน
หญิงที่มีชีวิตชีวาจะเปี่ยมด้วยความมันใจและสวยจากภายใน
มีใจที่มุ่งมั่นและเข้มแข็ง ใช้ชีวิตที่เต็มเปี่ยมและมีความหมาย ชายที่มีชีวิตชีวาจะเปี่ยมไปด้วยพลังมีไฟมีฝัน
มีความเพลิดเพลินกับงานที่ทำ ความรัก เพื่อน ครอบครัว กิจกรรม ความสนใจพิเศษ
ได้อย่างดี
ประเด็นที่ 2.
อาการคิดแต่ด้านลบ
ผมแนะนำว่าความแก่นำหลายอย่างมาสู่ชีวิตเราก็จริง แต่ไม่ได้ปิดกั้นไม่ให้เราคิดบวก
ไม่ได้ห้ามเราแชร์ความรักและเสียงหัวเราะกับคนรอบตัว
ไม่ได้ห้ามเราให้สิ่งที่เรามีแก่โลก
ไม่ได้ห้ามเราส่งยิ้มกว้างๆและสายตาเปี่ยมพลังให้ใคร
ไม่ได้ห้ามเราไม่ให้กระตือรือร้นที่จะใช้ชีวิต ไม่ได้ห้ามเราขอบคุณสิ่งดีๆในชีวิต
หรือแสดงความรักหรือความขอบคุณใครๆ ความคิดเราเปลี่ยนมันได้ภายในเสี้ยววินาที
เปลี่ยนมันเสียสิครับ ติ๊ก ตอก ติ๊ก ตอก เปลี่ยนหรือยัง
นี่ผ่านไปหลายเสี้ยววินาทีแล้วนะ
ประเด็นที่ 3.
ความแก่นำมาซึ่งบ้านร้าง
ซึ่งรังอันว่างเปล่าก็จริงอยู่ แต่ขณะเดียวกัน มันก็นำมาซึ่งโอกาสที่จะเริ่มทำอะไรใหม่ๆที่ตื่นเต้นท้าทาย
ทำไมไม่ใช้โอกาสและความท้าทายนี้ละครับ นั่นก็น่าลอง นี่ก็น่าทำ อะไรจะเป็นอันต่อไปดีละ
What next? โอกาสแบบนี้พี่เคยมองและหยิบฉวยบ้างไหมครับ ถ้าไม่เคย ลองเลย
ประเด็นที่ 4.
ความแก่มาพร้อมกับความโรยราของเซ็กซ์ แต่ว่านั่นเป็นเซ็กซ์ในรูปแบบที่เราเคยรู้จัก ความจริงเซ็กซ์
โดยเฉพาะความเซ็กซี่นี่ มันมีหลายรูปแบบนะครับ ตราบใดที่เรายังมีใจชอบผจญภัยและมีอารมณ์ขัน
เราก็จะไม่ขาดความรู้สึกเซ็กซี่ ไม่ขาดความรู้สึกว่าเรายังมีมาด ยังเท่ สง่า
และฟู่ฟ่า ตราบนั้น
ประเด็นที่
5. ความแก่อาจกระทบความมั่นใจ ของเราบ้างไม่มากก็น้อย
แต่มันก็ไม่ได้ห้ามเราวาดภาพรูปลักษณ์ในอุดมคติของเราขึ้นมา
และไม่ได้ห้ามเราแกล้งทำเป็นว่าเรามีรูปลักษณ์อย่างนั้นจริงๆ ทำไปทำมา เราก็จะกลายเป็นมีรูปลักษณ์อย่างนั้นจริงๆ
นั่นคือคนแก่ที่เท่ เปิดเผย โอ่อ่า เผื่อแผ่ความรักความเมตตาแก่ทุกๆคน
ประเด็นที่
6. ความรู้สึกว่าจุดจบกำลังจะมาถึง แหม ผมชอบที่พี่ใช้คำนี้จังเลย ผมเห็นว่า ณ จุดที่จุดจบกำลังจะมาถึง
นั่นคือจุดที่จะได้เริ่มต้นสิ่งใหม่ ถูกไหมครับ
ความแก่นำมาซึ่งความรู้สึกว่าจุดจบกำลังจะมาถึง แต่ไม่ได้ห้ามการเริ่มต้นอะไรใหม่ๆนะครับ
ผมเคยอ่านหนังสือของครูที่ฮาร์วาร์ดคนหนึ่งชื่อโปรเฟสเซอร์มอรี
เขาถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรค multiple sclerosis ระยะท้ายๆซึ่งจะอยู่ไปได้อีกไม่เกินหกเดือน
ณ จุดนั้นเขาทำอะไรเองไม่ได้แล้ว เพราะแขนสองข้างเป็นอัมพาต
เช็ดก้นตัวเองยังไม่ได้เลย แต่เขาเรียกลูกศิษย์คนหนึ่งมาหา
ชวนกันทำวิทยานิพนธ์ชิ้นสุดท้ายของเขา คือวิทยานิพนธ์เรื่อง “หกเดือนก่อนตาย” ลูกศิษย์ของเขาซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวกีฬาก็ตกลง
และมาหาเขาทุกวันอังคาร มาจดตามคำบอกถึงเรื่องที่เขาบอกให้เขียน
บางจังหวะก็ช่วยเช็ดอึเช็ดฉี่ด้วย บางตอนก็มีการถกเถียงปรึกษาหารือ เมื่อมอรีตาย
ลูกศิษย์เขาได้ตีพิมพ์วิทยานิพนธ์ฉบับนั้น
ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นหนังสือพอกเก็ตบุ๊คขายดีระดับโลกชื่อ “วันอังคารกับมอรีส์” (Tuesdays with Morrie) ซึ่งกลายเป็นหนังสือเรียนของนักเรียนมหาวิทยาลัยทั่วโลกด้วย
ประเด็นที่
7. ความขี้หลงขี้ลืม หมอเขาก็บอกแล้วว่าระดับของพี่เนี่ยไม่ถึงกับเป็นโรค แค่เป็นส่วนหนึ่งของความแก่
พี่ก็ปรับตัวสิครับ พี่บอกว่าเมียพี่เลี้ยงหมาเลี้ยงแมวใช่แมะ เคยแอบดูเมียพี่เขาฝึกสอนหมาสอนแมวไหม
ว่าเวลาจะให้มันฉี่อึเป็นที่เป็นทางต้องทำอย่างไร นั่นแหละ หลักเดียวกัน ฝึกทำซ้ำๆ
ทำผิดก็ตำหนิแล้วจับทำใหม่ ทำถูกก็ตบหัวให้รางวัล พี่ก็ต้องหัดตัวเองให้เก็บของที่ใช้ให้เป็นที่เป็นทางเหมือนกับเมียพี่ฝึกหมานั่นแหละ
ใช้ของแล้วกวดขันตัวเองให้เก็บตรงที่เดิม การทำอะไรที่ต้องมีขั้นมีตอนก็ตั้งสติ
ท่องขั้นตอนแบบออกเสียงเวลาจะทำอะไรผิดขั้นตอน จินตนาการภาพตัวเองทำสิ่งนั้นทีละขั้น
พูดออกเสียงสองหรือสามครั้ง เช่น ฉันเอากุญแจรถไว้ในลิ้นชักห้องนอนนะ หัดคิดให้เป็นระบบอ้างอิงกับหน่วยเวลา
เรื่องเก่าๆจับผูกกับพ.ศ. ให้หมด เวลาของหาย หัดคิดย้อนเวลาไปทีละวินาที แล้วก็จะหาของที่หายพบ
เรื่องสำคัญที่จะลืม เช่นจอดรถที่ไหน ต้องจดไว้ ชื่อคนหรือชื่อสิ่งของที่ชอบลืมก็ต้องซ้อมท่องหรือสะกด
การจำชื่อเมื่อพบคน ให้สนทนา พูดชื่อเขาบ่อยๆ จดชื่อเขา
และรายละเอียดที่จำเป็นทันทีที่จบการสนทนา อะไรที่จะต้องทำวันนี้ก็เขียนรายการจดไว้
เรื่องการพัฒนาความจำเนี่ยมันไม่ใช่วิทยาศาสตร์ล้ำลึกที่เขาใช้ทำจรวดนะครับ (ผมมีครูเก่าเป็นหมออยู่ที่ฮิวส์ตันซึ่งเป็นเมืองที่เขาทำจรวดกัน
ครูคนนี้เล่าให้ฟังว่าพวกที่ทำจรวดก็ไม่มีวิทยาศาสตร์ล้ำลึกเหมือนกัน เพราะครูเล่าว่าบางทีแผ่นสไลด์ติดอยู่ในเครื่องขณะบรรยาย
กว่าพวกนักวิทยาศาสตร์ทำจรวดจะแคะออกได้ก็แทบตาย) คือว่าการพัฒนาความจำเนี่ยมันเป็นเรื่องหญ้าปากคอก
เป็นคอมมอนเซ็นส์ หรือเป็นสามัญสำนึก ประเด็นมันอยู่ที่ว่าลงมือทำเสียทีสิ
เท่านั้นแหละ
ผมคิดว่าผมตอบคลุมประเด็นที่พี่ตั้งมาครบแล้วนะ
ขอผมแถมให้นิดหนึ่ง เมื่อไม่กี่วันมานี้ผมตอบจดหมายของเด็กคนหนึ่ง
รู้สึกผมจะตั้งชื่อว่า “หมอสันต์ด่าคนรุ่น Gen-Y" พี่ลองย้อนหาอ่านดูนะครับ
นั่นแหละ สมมุติตัวพี่เองว่าเป็นเด็กที่ถูกผมด่า รับรองคราวนี้พี่เก็ทเลย
แต่อ่านแล้วพี่อย่าด่าผมกลับนะ เพราะกฎของบล็อกผมมีอยู่ว่าใครที่ด่าหมอสันต์
ผมไม่เอาจดหมายลงให้ หิ..หิ
นพ.สันต์
ใจยอดศิลป์