28 มีนาคม 2562

คนที่พูดว่าตัวเองบรรลุธรรม บอกใบ้ว่าคนนั้นไม่บรรลุ

สวัสดีค่ะอ.หมอสันต์
ก่อนอื่นขอชื่นชมและสนับสนุนแนวทางที่คุณหมอทำอยู่ในการดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นหลักการรักษาแทบทุกโรค เป็นที่น่าเสียดายที่ในวงการแพทย์แผนปัจจุบันกลับทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก และมุ่งเน้นไปในแนวทางการรักษาด้วยยา และเทคโนโลยีในการตรวจวินิจฉัยและรักษามากกว่าการป้องกัน ทำให้ในภาพรวมเรียกได้ว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ตัวชี้วัดง่ายๆคือ แม้แต่หมอ พยาบาลก็ป่วยในโรคที่สามารถป้องกันได้ บางคนก็ตายก่อนคนไข้ที่ตัวเองรักษา ถ้าไม่นับผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน แข้งขาหัก cardiac arrest ที่ยังยอมรับได้ในแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว โดยส่วนตัวคิดว่า วงการแพทย์ควรหันมาให้ความสนใจในแนวทางที่หมอสันต์ปฏิยัติอยู่ด้วยเกิดจากปัญญาญาณและประสบการณ์ที่สั่งสมมานาน เอาง่ายๆแค่ลบความเชื่อของแพทย์ส่วนใหญ่เรื่องเบาหวาน ความดันรักษาหายได้ และสุดท้ายไม่ต้องใช้ยาก็อยู่ได้ยังทำได้ยากเลย

อิอิ..เกริ่นมาซะยาวเข้าเรื่องคำถามที่ไม่เกี่ยวกับอารัมภบทเลยดีกว่า ในฐานะที่หมอสันต์ถือได้ว่าเป็นฆราวาสที่ปฏิบัติสมาธิ จนเรียกได้ว่าหลุดพ้นหรือบรรลุธรรมก็ว่าได้ คุณหมอยังมี รัก โลภ โกรธ หลงอยู่หรือเปล่า ถ้ามีสามารถหลีกเลี่ยงหรือกำจัดไปได้อย่างไร ตัวเองและสามีกำลังฝึกปฏิบัติอยู่ ในใจลึกๆก็กลัวว่าถ้าบรรลุแล้ว สามีจะหนีไปบวช หรือตัวเองจะตัดทางโลกไปเหมือนกัน ทำให้สถานภาพที่เป็นอยู่ซึ่งดีและพอเพียงอยู่แล้วเปลี่ยนไป แต่เท่าที่ติดตาม คุณหมอก็ยังอยู่กับครอบครัวดีอยู่ และคนที่มีการศึกษาสูงหลายคน(ระดับดอกเตอร์)ที่หันมานั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรม ก็ไม่ต้องไปบวชกัน เลยอยากรู้ว่าเมื่อถึงขั้นวางความคิด ตัวตนเหลือแต่ความรู้ตัวแล้ว นอกจากการอุทิศตัวทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นตามความถนัดที่ตนเองมีอยู่ แล้วความเป็นอยู่ที่ไม่อยากได้อยากมีอยากเป็นมันไม่เหลือ เท่ากับไม่มีกิเลสแล้ว การอยู่ร่วมกับคนที่ยังมีกิเลสก็คงยาก จะปลีกวิเวกโดยไม่ต้องบวชถ้าเป็นผู้หญิงก็คงไม่ปลอดภัย...อาจดูเป็นคำถามโง่ๆ ถ้าคุณหมอเห็นว่ายังไม่ทันหลุดพ้นก็มองข้ามช็อตไปแล้ว หรือไม่อยุ๋กับปัจจุบัน  แค่เพียงอยากทราบเป็นคำถามที่2ว่า คนที่ปฏิบัติดีในเพศฆราวาส เป็นอยู่อย่างไร
ขอบคุณค่ะ

...................................................

ตอบครับ

    1. ถามว่าใครบรรลุอะไรไม่บรรลุอะไร ตอบว่าคนที่พูดว่าตัวเองบรรลุธรรม หมายความว่าคนนั้นไม่บรรลุธรรม นี่เป็นเป็นเกณฑ์วินิจฉัยด้วยตัวเองที่คุณจำไปใช้เมื่อเจอคนขี้โม้ได้เลย เพราะการบรรลุธรรมนิยามง่ายๆว่าคือการหลุดพ้นไปจากสำนึกว่าเป็นบุคคล แต่ถ้ายังมานั่งพูดฉอดๆว่าตัวฉันเองบรรลุธรรมแล้วอยู่นั่นนะ หากไม่ใช่พูดจากสำนึกว่าเป็นบุคคลแล้วจะพูดจากอะไรละครับ

     การหลุดพ้นจากกรงของความคิดของตัวเองเป็นเรื่องที่เจ้าตัวคนเดียวเท่านั้นที่จะรู้ การไปเที่ยวถามเอาจากคนอื่นเป็นความบ้าชนิดหนึ่ง ครูของผมซึ่งเป็นคนฝรั่งเศษพูดภาษาอังกฤษไม่ชัด เคยเล่านิทานเซ็นให้ฟังเรื่องหนึ่งว่า พระเซ็นญี่ปุ่นรูปหนึ่งซึ่งผ่าฟืนทำครัวในวัดมานาน วันหนึ่งรู้สึกตัวเองมีความสงบเย็นขึ้นมาอย่างประหลาดไม่มีความคิดอาทรร้อนใจอะไร ก็แน่ใจว่าตัวเองบรรลุธรรมแล้ว จึงเข้าไปถามหลวงพ่อว่านี่คือการบรรลุธรรมใช่ไหม หลวงพ่อตอบโดยไม่ต้องเงยหน้ามองเลยว่า

    "No no it is not Satori, go back to kitchen work"
    "ไม่ใช่ ไม่ใช่การบรรลุธรรมหรอก กลับไปฝ่าฟืนซะไป๊"

     พระรูปนั้นก็กลับมาทำครัวต่อได้สามเดือน แต่ละวันก็รู้สึกว่าตัวเองเบิกบานยิ่งขึ้นจนไม่เหลือความทุกข์อะไรในใจเลย ก็มั่นใจว่าตัวเองต้องบรรลุธรรมแล้วแน่ๆ จึงกลับไปเล่าอาการให้หลวงพ่อฟังอย่างละเอียดเพื่อขอการวินิจฉัยยืนยันอีกครั้ง หลวงพ่อเงยหน้าขึ้นมองนิดหนึ่ง ขยับแว่น แล้วว่า

      "No no it is not Satori, go back to kitchen work"
    "ไม่ใช่ ไม่ใช่การบรรลุธรรมหรอก กลับไปฝ่าฟืนซะไป๊"

     พระรูปนั้นก็กลับมาทำครัว ต่อมาอีกหกเดือน ยิ่งอยู่นานไปก็ยิ่งมันใจว่าตัวเองต้องบรรลุธรรมแน่ๆเพราะมันเบิกบานเหลือเกิน ทำงานได้เบาดีเหลือเกิน ไร้ทุกข์ดีเหลือเกิน จึงกลับไปเล่าอาการให้หลวงพ่อฟังอีก คราวนี้หลวงพ่อตะเพิดว่า

    "No I told you it's not. No it is not Satori, go back to kitchen work"
    "ไม่ใช่  ข้าบอกเอ็งแล้วไงว่าไม่ใช่การบรรลุธรรมหรอก กลับไปฝ่าฟืนซะไป๊"

    คราวนี้พระภิกษุรูปนั้นไม่ยอม ลุกขึ้นถลกจีวรเถียงหลวงพ่อว่า

    "You said it is not Satori. You stay with your Satori. I will stay with my Satori"
    "หลวงพ่อว่าไม่ใช่บรรลุธรรมก็เรื่องของหลวงพ่อ หลวงพ่ออยู่กับการบรรลุธรรมของหลวงพ่อไปก็แล้วกัน ผมก็จะอยู่กับการบรรลุธรรมของผม"

     หลวงพ่อเซ็นได้ฟังดังนั้นก็ทำตาโตแล้วชี้นิ้วมาที่พระรูปนั้นและว่า

     "Ha ha that's it. It is Satori"
     "ฮ้า ฮ่า นั่นแหละใช่แล้ว การบรรลุธรรม"

    2. ถามว่าจะหลีกเลี่ยงหรือกำจัดรักโลภโกรธหลงได้อย่างไร ตอบว่าไม่ต้องหลีกเลี่ยง ไม่ต้องกำจัด แค่สังเกตดู แค่แยกตัวออกมาเป็นผู้สังเกต แยกให้ออก ทิ้งระยะห่างให้ได้นิดหนึ่งเสมอ ว่านี่เป็นเราซึ่งเป็นผู้สังเกต นั่นเป็นความคิด หมายความว่าที่คุณเรียกว่ารักโลภโกรธหลงทั้งหมดนั่นแหละคือความคิด มันเป็นความคิดที่ผูกโยงถักทอขึ้นมาจากความคิดแม่ความคิดหนึ่ง คือความคิดหรือสำนึกว่าตัวข้านี้เป็นบุคคล ทั้งๆที่รู้ความจริงอยู่ว่าความเป็นบุคคลของตัวข้านี้เป็นของเก๊ เป็นแค่ความคิด แต่คนเราต่างก็เพิกเฉยต่อความจริงข้อนี้ การเพิกเฉยต่อความจริงข้อนี้แหละที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า "อวิชชา (ignorance)" ซึ่งท่านสอนว่าเป็นปฐมเหตุของความทุกข์ของผู้คนทุกยุคทุกสมัย

    3. ถามว่าสองสามีภรรยาพากันปฏิบัติธรรม แต่ใจก็กลัวว่าสามีบรรลุแล้วจะหนีตัวเองไปบวชจะทำไงดี ตอบว่าอย่างคุณยังไม่ต้องรีบไปนั่งปฏิบัติอะไรให้เจ็บก้นหรอกครับ แค่ทำความเข้าใจก่อนว่าความคิดทั้งหลายของคุณรวมทั้งความกลัวสามีหนีไปบวชด้วย มันล้วนชงขึ้นมาจากความจำในอดีตของคุณเอง แล้วคาดการณ์ (project) ไปในอนาคตซึ่งก็เป็นแค่คอนเซ็พท์ในใจของคุณอีกนั่นแหละ ได้ผลออกมาเป็นขี้ขึ้นสมองคุณเอง ผมหมายถึงเป็นความกลัวที่ในใจตัวเอง รวมทั้งที่กลัวว่าเมื่อหมดกิเลสแล้วจะอยู่กับคนกิเลสหนาก็อยู่ไม่ได้ จะไปปลีกวิเวกก็กลัวถูกผู้ชายปล้ำ ฯลฯ ทั้งหมดนั้นเป็นความคิด ซึ่งดำรงอยู่ได้เพราะความเชื่อว่าอดีตและอนาคตในใจเป็นของที่มีอยู่จริง การปฏิบัติธรรมคุณไม่ต้องไปนั่งที่ไหนให้เจ็บก้นเลย แค่คุณทิ้งอดีตทิ้งอนาคตในใจคุณไปเสีย เพราะอดีตอนาคตในใจ (psychological time) มันไม่ใช่ของที่มีอยู่จริง เมื่อคุณทิ้งมันไปเสียได้ ความคิดก็จะไม่มีที่อยู่ เพราะความคิดมันเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ได้เฉพาะในมิติของเวลาเท่านั้น เมื่อความคิดที่ยึดโยงกับสำนึกว่าเป็นบุคคลหมดไปจากใจ ก็จะเหลือความรู้ตัวซึ่งตื่นอยู่และรับรู้แต่กับสิ่งที่ปรากฎอยู่ตรงหน้าที่นี่เดี๋ยวนี้ ทีละช็อต ทีละช็อต ความรู้ตัวนี้มันมีธรรมชาติตื่นรู้เยือกเย็นไม่กระโตกกระตากไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับความคิดหรือตัวตนใดๆของคุณ ตรงนี้แหละคือความสุขสงบของจริง ตรงนี้แหละคือความหลุดพ้น ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ในชีวิตแบบเดิมๆนี่แหละ คุณเอาแค่นี้ก็พอแล้ว

     4. ถามว่าคนที่ปฏิบัติดีในเพศฆราวาส เขาจะเป็นอยู่อย่างไร ตอบว่าเขาก็จะเป็นอยู่อย่างที่เขาเคยเป็นนั่นแหละครับ ทำงานอย่างที่เขาเคยทำ จะไปมีอะไรพิศดารกว่านั้นละ เพียงแต่ว่าความคิดเวิ่นเว้อในใจเขาจะมีน้อยลง และความสงบเย็นในใจของเขาจะมีมากขึ้น

หมดคำถามแล้วนะ นอนดีก่า

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

27 มีนาคม 2562

ชีวิตทุกวันนี้เหมือนนกที่มีปีก แต่ไม่มีโอกาสได้ออกบินในโลกกว้าง

    ชีวิตของผมทุกวันนี้เหมือนนกที่มีปีกรู้ว่าตัวเองบินได้ แต่ไม่มีโอกาสได้ออกบินในโลกกว้าง ภาระหน้าที่ในฐานะลูกชายคนโตที่ต้องรับผิดชอบดูแลพ่อแม่พี่น้องลูกหลานและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่เว้นแต่ละวันจนไม่เหลือชีวิตของตัวเอง มีแต่ความล้มเหลวซ้ำซาก ชีวิตช่างไร้สาระเสียเวลาที่เกิดมา เห็นก็แต่ความตายเท่านั้นที่จะเป็นทางออก ปรึกษาจิตแพทย์ และฟังคำแนะนำ คำให้กำลังใจมามากพอแล้ว มันล้วนไม่ใช่คำตอบ จนเดี๋ยวนี้ก็ยังมองไม่เห็นทางออกอื่นนอกจากความตาย

.....................................................................

ตอบครับ

     ผมตัดรายละเอียดประสบการณ์ทางจิตวิญญาณของคุณออกไปเพราะมันยาวเกินไป ผมจะตอบคุณไปทีละประเด็นเท่าที่ผมจะนึกได้นะ

     ประเด็นที่ 1. ความล้มเหลวของชีวิตเกิดเพราะคุณไปหยิบกิจกรรมมาเป็นเป้าหมาย

     ถ้าคุณคิดว่าเป้าหมายการมีชีวิตอยู่คือกิจกรรมเล็กๆในชีวิต เช่น เรียนหนังสือจบ มีงานทำ ทำธุรกิจสำเร็จ มีเงินซื้อบ้าน ซื้อรถ มีเมีย มีลูก เลี้ยงดูพ่อแม่ เจือจานลูกหลานวงศ์วานว่านเครื่อ เหล่านี้เป็นเป้าหมายของชีวิตนี้ คุณก็ตกที่นั่งลำบากแล้ว เพราะไม่ว่าจะทำอะไรคุณก็เสี่ยงที่จะล้มเหลวอยู่วันยังค่ำเพราะทุกเรื่องคุณคุมมันได้ซะที่ไหน ยิ่งถ้าคุณพยายามจะควบคุมปัจจัยเล็กๆน้อยๆเพื่อให้กิจกรรมเล็กๆของคุณสำเร็จดังหวัง คุณก็ยิ่งเสี่ยงที่จะล้มเหลวหนักขึ้นไปอีก คนทำเกษตรกรรมมาแล้วอย่างถึงกึ๋นเข้าใจความข้อนี้เป็นอันดี ให้ผมเล่านิทานให้ฟังเรื่องหนึ่งนะ ชาวนาคนหนึ่งหงุดหงิดกับพระเจ้าที่เขาปลูกข้าวแล้วฝนแล้ง เขาแหงนหน้ามองท้องฟ้าตะโกนว่า

     "ข้าแต่พระเจ้า จริง..พระองค์ดี พระองค์ยิ่งใหญ่ แต่พระองค์ไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับการทำไร่ทำนาเลย แล้วข้าจะมีพระองค์ไว้ทำไมละเนี่ย"

     พระเจ้าร้อนใจจึงลงมาหาและบอกชาวนาว่า

     "โอเค. ข้าจะให้เจ้ามีอำนาจความคุมดินน้ำลมไฟทุกสิ่งทุกอย่างแทนข้า" 

     ว่าแล้วก็มอบคธาวิเศษให้ชาวนาแล้วหายตัวแว้บไป ชาวนาเมื่อได้อำนาจมาก็ตั้งใจใช้อำนาจเพื่อให้การทำนาได้ผลดี ลงมือคราดไถหว่านดำ เมื่อดินทำท่าจะแห้งก็สั่งให้ฝนตก ข้าวโตช้าก็สั่งให้แดดออก วันไหนออกไปท้องนาแดดร้อนมากก็สั่งให้เมฆมาบัง พายุพัดแรงจนข้าวกล้าจะเสียหายก็สั่งหยุดลม นกมาจิกเมล็ดข้าวก็สั่งไม่ให้มีนก ตั้งใจทำนาอย่างนี้ ในที่สุดข้าวในนาก็งามและให้ผลดี เก็บเกี่ยวได้มาก ชาวนาพอใจ แต่พอเอาข้าวไปสี กลับพบว่าในเมล็ดข้าวนั้นว่างเปล่าไม่มีเนื้อข้าวข้างใน ชาวนากลับไปหาพระเจ้าและว่า

     "พระองค์ใช้ลูกเล่นอะไรกับข้าอีกหรือเปล่า ข้าวของข้าไม่มีเนื้อในเมล็ด" พระเจ้าหลับตาสักครู่แล้วตอบว่า

     "ก็เอ็งไม่เอาลมไม่ใช่หรือ พอไม่มีลม รากข้าวก็ไม่ลงลึก มันก็เลยไม่มีเนื้อในเมล็ด"

     ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

     แต่ถ้าคุณมองว่าแต่ละกิจกรรมของชีวิตนี้เป็นแค่ขั้นบันไดเหยียบไปสู่การเข้าถึงศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ในตัวของคุณ หมายถึงการเข้าถึงปัญญาญาณที่จะพาคุณไปสู่ความหลุดพ้น คุณไม่มีวันล้มเหลวในการใช้ชีวิต ทุกวิกฤติเป็นโอกาส ไม่ว่าอะไรจะเกิดกับชีวิต มันมีอะไรน่ากลัวซะที่ไหน ทุกอย่างล้วนเป็นเหตุการณ์เล็กๆที่หน้าคุ้นๆทั้งนั้น เพราะมนุษย์เราทำกันมาเป็นหลายร้อยปีแล้ว ทำงานเลี้ยงชีพ แต่งงาน เลี้ยงดูลูก เลี้ยงดูบุพการี ทำงานสังคม ทะเลาะเบาะแว้ง แก่งแย่งแข่งขันช่วงชิง บังคับใช้กฎกติกา แหกกฎกติกา ฯลฯ ทุกเหตุการณ์ล้วนเป็นขั้นบันไดอีกขั้นหนึ่งในการก้าวไปสู่ความหลุดพ้นทั้งนั้น ไม่มีคำว่าล้มเหลว มีแต่การเรียนรู้

     การจะมีความสุขกับชีวิต คุณอย่าพยายามพิสูจน์หรือเอาชนะอะไร แต่เรียนรู้มันตามที่มันเข้ามา มีความหนักแน่นมั่นคง (integrity) ในการเรียนรู้นี้ ไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่คุณก็จะผ่านมันไปได้อย่างฉลุย เปิดยอมรับสิ่งต่างๆที่ปรากฎตามที่มันเป็น (what is) นั่นคือการรับรู้คลื่นความสั่นสะเทือนโดยไม่ใส่ภาษา เป็นการสร้างความโปร่งใสขึ้นในการรับรู้ อย่าไปรับรู้มันแบบที่คุณคิดว่ามันควรจะเป็น ( what should be) นั่นเป็นความคิดนะ เป็นการใส่ภาษาเข้าไป เป็นการบิดเบือนการรับรู้ให้ไม่โปร่งใส และตรงนี้แหละที่เป็นที่มาของความกลัวและความหวัง ซึ่งเป็นของเก๊ทั้งคู่ ชีวิตไม่ได้มีเพื่อให้เข้าใจ แต่เพื่อให้ใช้ชีวิต อย่าคาดหมายอะไรทั้งสิ้น อย่าหลงเชื่อความคิดไปต่อสู้รับมือกับจักรวาล คุณสู้ไม่ไหวหรอก แต่ถ้าคุณลบขอบเขตของความเป็นคุณลงเสียบ้าง ให้คุณเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลนี้ คราวนี้ชีวิตจะง่ายขึ้นแยะ

     ชีวิตมีสามส่วนนะ

     (1) ความคิด ก็คืออะไรที่ชงขึ้นมาจากสิ่งเร้าที่เข้ามาเดี๋ยวนี้ (perception) คลุกเคล้ากับความจำเก่าๆ (memory) บางครั้งก็บวกกับจินตนาการ (imagination) เข้าไปด้วย

     (2) ร่างกาย ก็คือเนื้อหนังตันๆของเรา

     (3) ความรู้ตัว คืออะไรที่ไม่ใช่ร่างกายที่ยังตื่นอยู่แม้เมื่อไม่มีความคิด

     ที่เขาพูดกันว่าชีวิตคือมายานั้นไม่ได้หมายความว่ามันเป็นของไม่จริง "มายา" หมายความว่ามันเป็นของจริงนี่แหละเพียงแต่มันดำรงอยู่แค่ชั่วคราว ไม่ถาวร ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นภาพหลอน (illusion) ทั้งสามส่วนของชีวิตนี้ ความคิดนั้นมาแล้วก็ไป แม้ร่างกายก็มาแล้วก็ไปและเปลี่ยนแปลงอย่างโต้งๆอยู่ตลอดเวลา ทั้งความคิดและร่างกายจึงไม่ใช่เราที่แท้จริง มันเป็นแค่ส่วนประกอบหรือ accessory ของความเป็นเราที่เราเก็บตกหรือพอกพูนเพิ่มเข้ามาจากภายนอก ความรู้ตัวเท่านั้นที่เป็นสิ่งที่จีรังที่สุด อย่างน้อยมันก็อยู่กับเรามาตั้งแต่จำความได้จนเดี๋ยวนี้โดยไม่เปลี่ยนแปลง

     ประเด็นที่ 2. ปัจจัยของความสำเร็จไม่ใช่การมีเจตนาดี
   
     คุณอย่าเข้าใจชีวิตผิดไปว่าปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การใช้ชีวิตประสบความสำเร็จมีความสุขคือการมีเจตนาดีหรือมีความปรารถนาดีนะหรือทำสิ่งที่ดีๆ ไม่ใช่หรอก ปัจจัยของความสำเร็จคือการลงมือทำสิ่งที่ถูกจุดหรือการเกาให้ถูกที่คันต่างหาก การที่คุณคิดว่าตัวเองเป็นคนดีมีความกตัญญูทำแต่ความดีแต่ว่าชีวิตกลับมีแต่ความทุกข์ นั่นเพราะคุณมีเจตนาดีแต่ลงมือทำสิ่งที่เป็นการเกาไม่ถูกที่คัน ผลที่ได้ก็คือความทุกข์ คุณต้องเข้าใจว่าเรื่องถูกผิด ดีชั่ว เป็นเพียงคอนเซ็พท์ที่มนุษย์คิดขึ้นมา แต่การมีชีวิตอยู่นั้นเป็นเรื่องของธรรมชาติซึ่งไม่ได้ให้ราคาอะไรกับสิ่งที่มนุษย์คิดขึ้นมานี้หรอก คุณต้องลงมือทำให้ถูกจุด ซึ่งคุณก็รู้อยู่แล้วว่าจุดอยู่ที่ไหน ความทุกข์ของคนเรามันอยู่ที่การเพิกเฉย (ignorance) ต่อความจริงที่ว่าสำนึกว่าเป็นบุคคลหรือตัวตนของเรานี้เป็นเพียงความคิด ความทุกข์ของคุณเกิดจากการเพิกเฉยต่อความจริงตรงนี้ การเพิกเฉยหมายความว่าคุณเป็นคนที่ตื่นอยู่ แต่แกล้งหลับ แล้วใครจะปลุกคนแบบนี้ให้ตื่นได้ละ ถ้าไม่ใช่ตัวคุณเอง

     ประเด็นที่ 3. การเห็นตามที่มันเป็น

     เมื่อตะกี้ผมพูดถึงการเห็นตามที่มันเป็น ผมขอขยายความหน่อย คำว่า "เห็นตามที่มันเป็น" ไม่ใช่การเห็นผ่านอายตนะ เพราะอายตนะไม่ได้เห็นตามที่มันเป็น แต่เห็นตามความสามารถของอายตนะนั้น หรือเห็นตามความสามารถวินิจฉัยแยกแยะของผู้สังเกตคนนั้น ยกตัวอย่างเราเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นตอนเช้า เห็นดวงอาทิตย์ตกตอนเย็น นี่คือการเห็นตามอายตนะ แต่การเห็นตามที่มันเป็นไม่ใช่เห็นอย่างนี้ เพราะตามที่มันเป็นจริงดวงอาทิตย์ไม่ได้ขึ้นไม่ได้ตก แต่โลกต่างหากที่หมุนรอบตัวเองทำให้เราซึ่งอยู่บนผิวโลกเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นและเห็นดวงอาทิตย์ตก การเห็นตามที่มันเป็นจึงต้องอาศัยสิ่งที่มีความสามารถมากกว่าอายตนะ แม้เชาวน์ปัญญา (intellect) ของเราเองจะหลักแหลมเพียงใดก็ยังช่วยให้เราเห็นสิ่งต่างๆตามที่มันเป็นได้ไม่มากนัก สิ่งที่จะเปิดให้เราเห็นตามที่มันเป็นได้อย่างแท้จริงคือปัญญาญาณ (intuition) ซึ่งจะโผล่ขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อสมองบางส่วนที่เคยเปิดถูกปิดลง และสมองบางส่วนที่เคยปิดอยู่ถูกเปิดออก พลังงานบางคลื่นอันได้แก่ความคิดซึ่งเคยครอบจิตสำนึกรับรู้เสียมิดได้ถูกลบให้ดับไป จิตที่ถูกครอบด้วยความคิดกลายเป็นจิตที่อยู่ในสมาธิ พลังงานบางคลื่นอันได้แก่ปัญญาญาณซึ่งไม่เคยมีโอกาสได้ไหลเข้ามาก็มีโอกาสได้ไหลเข้ามา ปัญญาญาณนี้แหละที่จะเป็นตัวสาธิตสอนแสดงให้เราเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามที่มันเป็น การวางความคิดให้จิตเป็นสมาธิจำเป็นต้องฝึกฝน เหมือนการเขียน ก.ไก่ถึง ฮ. นกฮูก หากเราไม่ฝึกเป็นร้อยๆครั้ง เราจะเขียนมันได้อย่างสบายมืออย่างทุกว้นนี้หรือ

   มนุษย์มีความสามารถจดจำและสร้างจินตนาการได้มากกว่าสัตว์อย่างเทียบกันไม่ได้ เรียกว่าความจำและจินตนาการนี้เป็นความสามารถพิเศษของคน แต่เรากลับเป็นทุกข์เพราะเราใช้ความสามารถพิเศษของเราไม่เป็น แล้วใครจะช่วยเราได้ละ แม้ในส่วนของอายตนะเราคิดว่าเราเจนจบแล้ว แต่จริงๆหาเป็นเช่นนั้นไม่ เราจะรู้อะไรที่อยู่พ้นไปจากอายตนะทั้งห้าด้วยการอาศัยอายตนะทั้งห้าไม่ได้ จำเป็นที่จะต้องพัฒนาอะไรมาเสริมการรับรู้ของเราให้มันแหลมคมยิ่งขึ้นนอกเหนือจากอยาตนะทั้งห้าที่มีอยู่ การฝึกฝนทางจิตวิญญาณก็คือการสนใจทุกแง่มุมของชีวิตอย่างจริงจัง pay attention ในรายละเอียดในชีวิต ก่อนอื่นแยก ความคิด ความจำ จินตนาการ และความเป็นจริงตามที่มันเป็นที่เรารับรู้เข้ามา (reality) ออกจากกันให้ได้ก่อน เมื่อคุณนั่งหลับตาอยู่ตรงนี้ ต้องไม่มีอะไรเกี่ยวกับความเป็นบุคคลของคุณซึ่งเป็นความคิดเข้ามาในใจ โลกในจินตนาการต้องหยุดลง แล้วจดจ่ออะไรที่จะเข้ามาที่เดี๋ยวนี้ทีละช็อตๆ คุณจะได้ไม่พลาดอะไรที่เข้ามาที่เดี๋ยวนี้ เมื่อมันเข้ามา คุณรับรู้ตามที่มันเป็นซึ่งเป็นของจริงที่เดี๋ยวนี้ โดยไม่ให้ความจำและจินตนาการต่อยอดไปหาสภาวะที่คุณคิดว่ามันควรจะเป็นซึ่งเป็นสมมุติที่คุณวาดไว้ในอนาคตในใจของคุณเอง

     ประเด็นที่ 4. อย่าไปค้นหาการตรัสรู้

     ผมเห็นด้วยที่คุณคิดจะหยิบเอาเรื่องการหลุดพ้นจากความทุกข์มาเป็นเรื่องเอกเพียงเรื่องเดียว แต่คุณอย่าออกเดินทางไปค้นหาการตรัสรู้ มันไม่ใช่สิ่งที่ค้นหาได้ คุณยังไม่รู้จักมันเลยว่ามันคืออะไร คุณจะค้นหาสิ่งที่คุณไม่รู้จักได้อย่างไร เพราะการตรัสรู้เป็นแค่ไอเดีย ไอเดียคือสิ่งที่เราคิดขึ้นมา ผมแนะนำให้คุณเริ่มใช้เครื่องมือที่คุณมี คือ "กาย" นี้ กับ "ใจ" นี้ คุณไม่ต้องเข้าใจหรอกว่ามันมีกลไกการทำงานอย่างไร แค่คุณรู้จักใช้มันก็พอ อย่างคุณใช้โทรศัพท์มือถือ คุณไม่ต้องรู้ว่าไส้ในของโทรศัพท์มันมีกลไกการทำงานได้อย่างไร แต่ขอให้รู้ว่าวิธีกดโทรออก กดรับสายก็พอ ในการใช้ชีวิตคุณก็รู้แค่ว่าสิ่งที่คุณจะเวิร์คด้วยมี "กาย" และ "ใจ" นี้เท่านั้น อย่าไปยุ่งกับสิ่งอื่นที่ข้างนอกเพราะสิ่งเหล่านั้นล้วนไม่เกี่ยว แม้ในเรื่องกายและใจนี้ก็ยังมีประเด็นสำคัญคือกายและใจนี้มันสร้างมาดีจนทำงานได้เองแทบจะเป็นอัตโนมัติ คุณไม่ต้องไปพยายามควบคุม แค่คุณให้ความสนใจ pay attention ปลดปล่อยแต่ละส่วนให้เป็นอิสระไม่ครอบงำกันและกันมันก็จะทำงานของมันเอง แค่คุณสร้างบรรยากาศรอบๆให้กายและใจมันมีอิสระมันก็เวอร์คของมันเองได้แล้ว ถ้าคุณรับรู้สิ่งเร้าที่เข้ามาที่เดี๋ยวนี้อย่างโปร่งใสตามที่มันเป็น ไม่ไปหลงติดกับดักของสำนึกว่าเป็นบุคคล กายและใจนี้ก็จะสนองตอบต่อสิ่งเร้าแบบผ่อนคลายสบายๆได้เอง

      ในการพยายามสร้างสรรค์สิ่งดีๆในชีวิต ปัญหาอีกอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเราจมอยู่ในความคิดคือเราเอาประสบการณ์อดีตมากำหนดว่าอะไรเป็นไปได้อะไรเป็นไปไม่ได้ที่ปัจจุบัน ให้คุณตั้งต้นด้วยการยอมรับว่าอะไรเราไม่รู้ เราไม่รู้ อย่าเชื่อสิ่งที่เราไม่รู้ ในความเป็นจริงนั้นอะไรเป็นไปได้หรือไม่ได้ไม่ใช่เรื่องของคุณที่จะตัดสิน ธรรมชาติเป็นผู้ตัดสิน หน้าที่ของคุณคือให้มุ่งอยู่แต่สิ่งที่คุณอยากให้เกิดโดยไม่มีความคิดขัดแย้งหรือต่อต้านสองฝักสองฝ่ายอยู่ในใจตัวเอง ไม่ระแวงสงสัย แล้วสิ่งนั้นมันจึงจะเกิด

     การที่คุณอยากทิ้งสิ่งรอบตัวออกไปแสวงหาวิเวก คุณรู้หรือเปล่าว่าวิเวกแท้เกิดได้แม้ในกลางฝูงชน ไม่ว่าเวลาไหน เงื่อนไขไหน จริงอยู่หากคุณอยู่ในชีวิตครอบครัวหากมันถ่วงคุณจนขยับไม่ออกการปลีกวิเวกเป็นทางเลือกที่ดี ผมไม่คัดค้าน ยิ่งไปกว่านั้นผมไม่ให้น้ำหนักเลยในการที่คุณจะทำอะไรสวนหรือไม่สวนกระแสคนรอบตัว เพราะการเดินทางทางจิตวิญญาณก็คือการว่ายทวนน้ำขณะที่คนอื่นเขาไหลไปตามน้ำ ผมจะไปคัดค้านทำไม แต่ผมขอเตือนคุณไว้ล่วงหน้าหน่อยหนึ่งเท่านั้นเอง ว่าถ้าคุณปลีกตัวออกไปอยู่คนเดียวแล้วคุณอาจจะได้เป็นอิสระเฉพาะตอนนั่งอยู่ในสมาธิ พอออกจากสมาธิก็กลับรู้สึกวุ่นวายใจ นั่นไม่ใช่วิเวกแล้วนะ นั่นคุณกำลังติดคุกสมาธิ คุณกำลังไปผิดทิศ ทิศทางที่ถูกคือคุณต้องเลิกควบคุม ไปสู่การปลดปล่อย

ประเด็นที่ 5. ความอยากฆ่าตัวตายเป็น "ความคิด" ไม่ใช่ "คุณ"

    ส่วนที่ว่าคุณจะไปฆ่าตัวตายหรือไม่ไปฆ่าตัวตายดีนั้น นั่นมันเป็นความคิดนะ ไม่ใช่คุณ ถ้าคุณให้ความสนใจว่ามีช่องว่างระหว่างสองสิ่งนี้อยู่นิดหนึ่ง คือความคิดของคุณ กับคุณในฐานะผู้สังเกต คุณรักษาช่องว่างนี้ไว้ ทำแค่นี้ คุณก็จะรับมือกับความคิดทุกความคิดได้ด้วยตัวคุณเอง รวมทั้งความคิดที่จะไปฆ่าตัวตายด้วย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ 
[อ่านต่อ...]

26 มีนาคม 2562

คำแนะนำมาตรฐานการป้องกันโรคหัวใจปี 2019 (AHA/ACC guidelines)

     ปีนี้เป็นปีที่สมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA) ซึ่งผมเป็นสมาชิกอยู่ ได้ร่วมกับวิทยาลัยแพทย์โรคหัวใจอเมริกัน (ACC) ออกคำแนะนำการป้องกันโรคหัวใจหลอดเลือดเสียใหม่ (2019 Guidelines) ผมเห็นว่ามีหลายประเด็นที่เป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจเช่น 
     (1) การแนะนำให้คนอ้วนหรือคนน้ำหนักเกินไปเข้าโปรแกรมเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิงนาน 6 เดือน เพื่อเปลี่ยนนิสัยการกินและการออกกำลังกาย 
     (2) การแนะนำอาหารมังสะวิรัติและอาหารเจเป็นอาหารรักษาโรคนี้เทียบเท่ากับอาหารเมดิเตอเรเนียนและอาหารลดความดัน (DASH) 
     (3) การระบุว่าการกินเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (red meat) และเนื้อที่ผ่านการปรับแต่งเช่นไส้กรอกเบคอนแฮม (processed meat) เป็นอาหารก่อโรคนี้ 
     (4) การระบุว่าอาหารลดน้ำหนักที่มุ่งกินคาร์โบไฮเดรตต่ำๆแต่กินไขมันหรือเนื้อสัตว์มากๆแทน มีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคนี้มากขึ้น
     (5) การแนะนำให้เลิกใช้ยาแอสไพรินในผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจระดับถูกหามเข้ารพ.มาก่อน (primary prevention) เพราะจากหลักฐานวิจัยนับรวมถึงวันนี้ประโยชน์ที่ได้ไม่คุ้มความเสี่ยงเสียแล้ว 
     (6) การเบรคแพทย์ไม่ให้ใช้ยาลดไขมัน (statin) ในคนไข้อายุเกิน 75 ปีแบบตะพึด ซึ่งเป็นการปรับตามข้อมูลที่บ่งชี้ว่าในคนอายุเกิน 75 ปี การมีไขมันในเลือดต่ำมีความสัมพันธ์กับอัตราตายรวมที่สูงขึ้น 

      ...เป็นต้น  ดังนั้น เผื่อแฟนบล็อกที่ไม่ใช่แพทย์จะสนใจรายละเอียด ผมได้แปลสรุปย่อ Guideline ฉบับนี้ให้ ดังนี้

.....................................................

     การประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจหลอดเลือด

     สิ่งที่เรียกว่าปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจหลอดเลือดที่พบบ่อย นับรวม

(1) ความดันเลือดสูง
(2) ไขมันในเลือดสูง กล่าวคือไขมันเลว LDL สูงกว่า 160 มก./ดล. หรือโคเลสเตอรอลส่วนที่หักไขมันดีออกแล้วสูงกว่า 190 มก./ดล.
(3) สูบบุหรี่
(4) เป็นเบาหวาน
(5) บรรพบุรุษตายด้วยโรคหัวใจหลอดเลือดตั้งแต่อายุน้อย (ชายน้อยกว่า 55 ปี หญิงน้อยกว่า 65 ปี)
(6) เป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรัง เช่นข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือมีตัวชี้วัดการอักเสบ (CRP) สูงกว่า 2 มก./ล.
(7) โรคไตเรื้อรังระยะที่สามขึ้นไป (GFR น้อยกว่า 60)
(8) ประจำเดือนหมดเร็วกว่าอายุ 40 ปี
(9) มีดัชนี้เลือดไหลผ่านข้อเท้าและขา (ABI) ต่ำกว่า 0.9
   
     หากยังอยู่ในช่วงอายุ 20-39 ปีควรตรวจประเมินตัวชี้วัดปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ทุก 4-6 ปี

     วิธีประเมินความเสี่ยงแบบอื่นๆที่แพทย์เลือกใช้ได้มีหลายวิธี วิธีหนึ่งคือคิดคะแนน Pooled Cohort Equation (PCE) ซึ่งอาศัยสมการคณิตศาสตร์คำนวณ % โอกาสตายในสิบปีออกมาเป็นตัวเลข (คะแนนนี้เชื่อถือได้สำหรับประชากรผิวขาว ยังไม่มีข้อมูลสำหรับคนเอเซีย) เมื่อได้ % โอกาสตายออกมาแล้วก็เอามาจัดกลุ่มความเสี่ยง ดังนี้

     ความเสี่ยงตายในสิบปีต่ำกว่า 5% ถือว่าเป็นกลุ่มความเสี่ยงต่ำ
     ความเสี่ยงตายในสิบปี 5-7.5% ถือว่าเป็นกลุ่มคาบเส้น (borderline)
     ความเสี่ยงตายในสิบปี 7.5-20% ถือว่าเป็นกลุ่มมีความเสี่ยงปานกลาง
     ความเสี่ยงตายในสิบปีสูงกว่า 20% ถือว่าเป็นกลุ่มมีความเสี่ยงสูง

     ในรายที่ประเมินความเสี่ยงได้ไม่ชัด อาจตรวจแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ (CAC) ซึ่งอ่านผลว่าเป็นกลุ่มความเสี่ยงต่ำหากได้คะแนน CAC = 0 หรือเป็นกลุ่มความเสี่ยงปานกลางหากได้คะแนน CAC 100 ขึ้นไป หรือได้ตำแหน่งเมื่อเรียงลำดับความเสี่ยงตามอายุเพศสูงกว่าเปอร์เซ็นไตล์ที่ 75

     ผลการประเมินระดับชั้นของความเสี่ยงนี้ นำไปใช้ประกอบการตัดสินใจใช้ยาลดไขมันในคนเป็นโรคไขมันในเลือดสูง

     โภชนาการ

     รูปแบบอาหารที่สัมพ้นธ์กับการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดคือการ

     (1) กินน้ำตาลมาก

     (2) กินอาหารแป้ง (คาร์โบไฮเดรต)น้อยเกินไป หรือมากเกินไป

     (3) กินธัญพืชชนิดขัดสี

     (4) กินไขมันทรานส์

     (5) กินน้ำมันชนิดอิ่มตัว

     (6) กินเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (red meat)

     (ุ7) กินเนื้อที่ผ่านการปรับแต่งถนอม (processed meat) เช่นไส้กรอก เบคอน แฮม

     ผู้ใหญ่ทุกคนควรกินอาหารที่มีพืชเป็นหลักหรืออาหารแบบเมดิเตอเรเนียนซึ่งมีผักผลไม้ นัท ธัญพืชไม่ขัดสี โปรตีนจากพืชหรือสัตว์ซึ่งควรจะเป็นปลา และอาหารควรมีกากเส้นใยมาก ซึ่งทั้งหมดนี้มีข้อมูลแน่ชัดแล้วว่าดีกว่าอาหารที่กินกันปกติทั่วไป

     อาหารชนิดที่มุ่งกินคาร์โบไฮเดรตแต่น้อยขณะเดียวกันก็กินไขมันและโปรตีนจากสัตว์มากๆ และชนิดที่มุ่งกินแป้ง (คาร์โบไฮเดรต โดยเฉพาะชนิดที่เป็นแป้งขัดสี) มากๆ ล้วนสัมพันธ์กับการตายจากโรคหัวใจหลอดเลือดมากขึ้น

     ความอ้วน

     คนอ้วนหรือน้ำหนักเกิน มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจหลอดเลือด หัวใจล้มเหลว หัวใจห้องบนเต้นรัว (AF) มากกว่าคนน้ำหนักปกติ ดังนั้นคนอ้วนหรือคนน้ำหนักเกินควรเข้าโปรแกรมเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิงเป็นเวลา 6 เดือนเพื่อช่วยให้เปลี่ยนมากินอาหารแคลอรี่ต่ำ (ลดจากเดิม 500 แคลอรี่หรือกินต่อวัน 800-1500 แคลอรี่) ร่วมกับออกกำลังกายมาก (200-300 นาทีต่อสัปดาห์) ได้สำเร็จ นอกเหนือจากอาหารและการออกกำลังกาย แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาลดความอ้วนและการผ่าตัดมัดกระเพาะ (bariatric) ตามความจำเป็น

     การออกกำลังกาย

     ยิ่งออกกำลังกายระดับหนักปานกลางและหนักมากเป็นปริมาณมากเท่าใด ยิ่งลดความเสี่ยงการตายจากโรคหัวใจหลอดเลือดได้มากเท่านั้น คนผู้ใหญ่ควรออกกำลังกายระดับหนักพอควรอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือหนักมากอย่างน้อย 75 นาทีต่อสัปดาห์

     เบาหวาน

     เบาหวานประเภทสองนิยามว่าคือเมื่อน้ำตาลสะสม (HbA1c) มากกว่า 6.5% การเกิดและการดำเนินของโรคสัมพันธ์กับ (1) อาหารที่กิน (2) การไม่ออกกำลังกาย และ (3) ความอ้วน คนเป็นเบาหวานทุกคนควรเปลี่ยนอาหารเพื่อลดอัตราตาย โดยอาจเลือกอาหารที่ช่วยลดน้ำหนักและคุมเบาหวานได้ง่าย เช่นอาหารแบบเมดิเตอเรเนียน อาหารลดความดัน (DASH diet) อาหารมังสะวิรัติ (vegetarian) / อาหารเจ (vegan) สำหรับผู้ป่วยอายุน้อยและผู้ป่วยที่น้ำตาลสะสมยังไม่มาก แพทย์สามารถรักษาด้วยการเปลี่ยนวิถีชีวิตนาน 3-6 เดือนก่อนที่จะตัดสินใจใช้ยา

     ยาตัวแรกที่ควรเลือกใช้คุมน้ำตาลและลดการตายจากหัวใจหลอดเลือดคือยา metformin ซึ่งลดอัตราตายรวมได้ดีกว่าการเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างเดียว เป้าหมายการรักษาคือให้น้ำตาลสะสมอยู่ระหว่าง 6.5-7% ยารักษาเบาหวานกลุ่มอื่นหลายกลุ่มลดน้ำตาลในเลือดได้จริงแต่ไม่ลดอัตราตายจากโรคหัวใจขาดเลือด รวมทั้งยาในกลุ่ม sufonylurea. ยาเบาหวานอีกสองกลุ่มที่ลดอัตราตายจากโรคหัวใจขาดเลือดได้คือยากลุ่ม  Sodium-glucose cotransporter 2 (SGLT-2) inhibitors และยากลุ่ม glucagon-like peptide-1 receptor (GLP-1R) agonists

     ไขมัน

     แนะนำให้ประเมินระดับความเสี่ยงโรคหัวใจหลอดเลือดเสียตั้งแต่วัยเด็ก เมื่ออายุเกิน 19 ปีแล้วหากพบว่ามีภาวะไขมันในเลือดสูงจากพันธุกรรมในครอบครัว ควรรักษาด้วยยา statin แต่เมื่ออายุ 20-39 ปีแล้วหากมีไขมันในเลือดสูงควรประเมินระดับความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดก่อนและโปรโมทการเปลี่ยนวิถีชีวิต จะใช้ยา statin ในคนไขมันในเลือดสูงก็ต่อเมื่อ

     (1) ผู้ป่วยอายุ 20-75 ปีที่ LDL สูงเกิน 190 ควรให้ยาแบบโหมยามาก (high intensity หมายถึงมุ่งลด LDL ลงจากเดิมมากกว่า 50%)

     (2) ผู้ป่วยเบาหวานประเภทสองที่อายุ 40-75 ปี ควรให้ยาแบบโหมยาปานกลาง (ลด LDL ลงจากเดิมมากกว่า 30%) หรือให้แบบโหมยามาก แบบเข้มข้นถ้ามีความเสี่ยงเสริมเช่น เป็นเบาหวานมามากกว่าสิบปี (หรือมากกว่า 20 ปีกรณีเบาหวานประเภท1) เบาหวานลงไต เบาหวานขึ้นตา เส้นประสาทเสียจากเบาหวาน เป็นโรคไตเรื้อรัง หรือตรวจ ABI ได้ผลต่ำกว่า 0.9 หรือมีปัจจัยเสี่ยงหลักหลายตัว

     (3) ผู้ป่วยอายุมากกว่า 75 ปี ไม่ควรรีบให้ยา statin ตะพึด แต่ควรประเมินภาพรวมทางคลินิกแล้วหารือกับผู้ป่วยถึงความเสี่ยงก่อน

     (4) ผู้ป่วยอายุ 40-75 ที่ไขมันเลว LDL อยู่ระหว่าง 70 - 190 มก./ดล. ให้ตัดสินใจว่าจะใช้หรือไม่ใช้ยา statin เอาจากผลการประเมินความเสี่ยง กล่าวคือหากเป็นกลุ่มความเสี่ยงต่ำที่ไม่มีความเสี่ยงเสริมใดๆก็ไม่ใช้ยา หากเป็นกลุ่มความเสี่ยงปานกลางก็ใช้ยาแบบโหมยาปานกลาง ถ้าเป็นกลุ่มความเสี่ยงสูงก็ใช้ยาแบบโหมยามาก ทั้งนี้หากไม่สามารถจัดชั้นความเสี่ยงได้ชัดอาจตรวจดูแคลเซียมในหลอดเลือด (CAC) หากได้คะแนน CAC = 0 ไม่ควรใช้ยา แล้วติดตามตรวจ CAC ทุก 5-10 ปี

ในการใช้ยา ควรประเมินการสนองตอบใน 6-8 สัปดาห์

     ความดันเลือดสูง

     โรคความดันเลือดสูงขั้นที่ 1 นิยามว่าคือภาวะที่ความดันตัวใดตัวหนึ่ง (บน/ล่าง) สูงกว่า 130/80 มม. ซึ่งในอเมริกามีความเป็นโรคนี้ 46% ความเสี่ยงของโรคหัวใจหลอดเลือดเพิ่มขึ้นตามความดันเลือดในช่วงความดัน 115/75 ไปจนถึง 180/105 มม. หรือเมื่อความดันเพิ่มมากกว่า 20/10 มม.อัตราตายจากโรคหัวใจหลอดเลือดจะเพิ่มเท่าตัว

ดังนั้นเมื่อความดันเริ่มคาบเส้น (เกิน 120/80 แต่ไม่เกิน 130/80) จะต้องเริ่มแนะนำให้

(1) ลดน้ำหนัก

(2) เปลี่ยนอาหารมากินอาหารที่ทำให้สุขภาพดีเช่นอาหารลดความดัน (DASH) หรืออาหารเมดิเตอเรเนียนหรืออาหารมังสะวิรัติ ซึ่งมีพืชผักผลไม้อันเป็นแหล่งของโปตัสเซียมสูง

(3) จำกัดเกลือในอาหารไม่ให้เกินวันละ 1.5 กรัม

(4) ออกกำลังกายให้ได้ตามที่อธิบายไว้ข้างต้น

(5) จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์

     คนเป็นความดันเลือดสูงระยะที่ 1 ไม่จำเป็นต้องใช้ยายกเว้นมีความเสี่ยงสูงกว่า 10% ส่วนคนเป็นโรคความดันเลือดสูงระยะที่ 2 (ความดันสูงกว่า 140/90) ควรใช้ยาลดความดัน เป้าหมายการรักษาคือให้ความดันไม่เกิน 130/80

     บุหรี่

     การสูบบุหรี่และดมควันบุหรี่ของคนอื่นเป็นหนึ่งในสามของการตายจากโรคหัวใจหลอดเลือดและอัมพาตทั้งหมด บุหรี่ชนิด Electronic Nicotine Delivery Systems (ENDS) หรือ e-cigarettes ปล่อยฟองอากาศเล็กๆซึ่งมีเขม่าละเอียด มีนิโคติน มีแก้สพิษที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจและปอดได้ การใช้บุหรี่แบบนี้ไปนานๆในคนหนุ่มสาวจะกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติและเพิ่ม oxidative stress ซึ่งเป็นปฐมเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆ

     แพทย์ควรถามถึงสถานะการสูบบุหรี่ทุกครั้ง เมื่อพบว่าผู้ป่วยคนใดสูบบุหรี่ก็ควรแนะนำให้เลิกอย่างแรงทุกครั้งที่พบหน้ากัน ถ้าจำเป็นก็ส่งต่อไปหาผู้เชี่ยวชาญการเลิกบุหรี่รวมถึงใช้ตัวช่วยเช่น ทำพฤติกรรมบำบัด ใช้นิโคตินทดแทน ใช้ยาช่วยอดบุหรี่เช่น nicotine receptor blocker (varenicline), propion และยาต้านซึมเศร้า

แอสไพริน

     การใช้แอสไพรินในขนาด 75-100 มก.ต่อวันเพื่อป้องกันโรคหัวใจหลอดเลือดทำกันมานานหลายสิบปี ยานี้ลดความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดแต่ก็เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดเลือดออกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางเดินอาหาร งานวิจัยปัจจุบันพบว่าไม่ควร ใช้แอสไพรินป้องกันโรคหัวใจหลอดเลือดในคนที่ยังไม่เคยเป็นโรคชัดเจนแล้ว (primary prevention) เพราะไม่มีประโยชน์ ยกเว้นผู้มีความเสี่ยงพิเศษที่ไม่มีปัญหาเลือดออกจากยา ซึ่งต้องเลือกใช้เป็นการเฉพาะราย

     การใช้แอสไพรินมีประโยชน์เฉพาะในการลดการตายในคนที่เป็นโรคหัวใจหลอดเลือดถึงระดับเคยเข้าโรงพยาบาลมาแล้ว (secondary prevention) ซึ่งในกรณีนี้ยานี้ลดการเกิดจุดจบที่เลวร้ายซ้ำซากในโรคนี้ลงได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. 2019 ACC/AHA Guideline on the Primary Prevention of Cardiovascular Disease: A Report of the American College of Cardiology/American Heart Association Task Force on Clinical Practice Guidelines. J Am Coll Cardiol 2019;March 17:[Epub ahead of print].


[อ่านต่อ...]

22 มีนาคม 2562

อยากจะรักษาเบาหวานด้วยวิธีย้อนคืนตัดแป้งและน้ำตาล

เรียนคุณหมอสันต์
    ผมได้รับทราบมาว่าเบาหวานหายได้ด้วยขบวนการย้อนคืนคือตัดแป้งและน้ำตาล จากคุณหมอ ... ดูได้จากลิ้งค์นี้ครับ ...  อยากขอความเห็นจากคุณหมอสันต์ว่ามันเป็นไปได้หรือไม่ครับ
ขอแสดงความนับถือ

...........................................................

ตอบครับ

     ขอบพระคุณที่ส่งเทปมาให้ดูนะครับ เนื่องจากเป็นเทปที่เผยแพร่โดยแพทย์แผนปัจจุบัน ผมจึงให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ แต่ผมขออนุญาตไม่ลงลิงค์ตรงนี้ เพราะ ประการแรก เนื้อหาที่แพทย์ท่านที่ทำเทปนี้เผยแพร่เป็นเนื้อหาที่ไปคนละทิศกับแนวทางการรักษาโรคเบาหวานของแพทย์แผนปัจจุบันในกระแสหลัก ผมไม่อยากให้บล็อกนี้กลายเป็นเวทีให้แพทย์กระแสหลักกับแพทย์หัวใหม่โต้แย้งกัน ประการที่สอง เทปยาวมากเกินไปจนหากลงไปท่านผู้อ่านอาจจะเลิกดูกลางคันและจับประเด็นเอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้อยู่ดี

     เรื่องราวในเทปเป็นการเอางานวิจัยจำนวนหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยในห้องแล็บมาอธิบายขยายความ ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นความจริงครับ แต่สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นแพทย์อาจใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ได้ไม่เต็มที่ เพราะการมองงานวิจัยทางการแพทย์ก่อนเอามาใช้งานจริงจะต้องมองงานวิจัยจากทุกมุม คือขณะที่อ่านผลวิจัยที่ให้ผลไปทางนี้ ต้องอ่านผลวิจัยเรื่องเดียวกันที่ให้ผลไปทางตรงกันข้ามด้วย นอกจากมองงานวิจัยที่บอกผลระยะสั้นแล้ว ต้องมองงานวิจัยที่บอกผลระยะยาวด้วย และในทุกกรณีจะต้องเป็นการมองผ่านการกลั่นชั้นของหลักฐาน (level of evidence) ยกตัวอย่างเช่นผลวิจัยในห้องทดลองย่อมมีน้ำหนักน้อยกว่าผลวิจัยแบบแบ่งกลุ่มสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบในคน ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเป็นเรื่องซับซ้อนเกินกว่าที่คนทั่วไปที่ไม่ใช่แพทย์จะเข้าใจได้ง่ายๆ ผมเห็นว่าข้อมูลในเทปที่คุณส่งมานี้จะมีประโยชน์สำหรับแพทย์มากกว่า แต่สำหรับคนทั่วไปต้องระวังไม่ถูกดึงให้มองเห็นภาพใหญ่ของโรคเบาหวานและโรคอ้วนแบบเอียงไปข้างเดียว ผมแนะนำว่าให้คุณหาอ่านที่หมอคนอื่นเขาเขียนสรุปแนะนำไว้ทั่วๆไปในอินเตอร์เน็ทในเรื่องเดียวกันนี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำแนะนำและข้อมูลของหมอเบาหวาน (endocrinologist) ซึ่งทำเวชปฏิบัติอยู่ในกระแสหลักของการแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อจะได้เอาข้อมูลทั้งสองข้างถ่วงน้ำหนักกันให้เห็นภาพใหญ่ของข้อมูลทั้งหมด ก่อนที่จะนำข้อมูลไปใช้กับตัวเอง

     อย่างไรก็ตาม ไหนๆคุณก็เขียนมาแล้ว ผมขอสรุปสั้นๆให้คุณดังนี้

     1. สิ่งที่พูดถึงในเทปที่ส่งมานี้ เป็นความจริงทั้งหมด ซึ่งบางความจริงเป็นสิ่งที่วงการแพทย์ในกระแสหลักก็ได้มองข้ามหรือเพิกเฉยมานาน สมควรที่ผมจะหยิบมาไฮไลท์ตรงนี้อีกครั้ง ได้แก่

     1.1 เบาหวานเป็นโรคที่หายได้ ไม่ใช่โรคที่เป็นแล้วมีแต่จะเป็นมากขึ้นจนตาย 100% อย่างที่เคยเชื่อกัน

     1.2 ระดับน้ำตาลในเลือด ไม่ได้เป็นตัวบอกจุดจบรุนแรงของโรคเบาหวานในระยะยาว และการพยายามลดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยยาก็ไม่ได้ทำให้โรคเบาหวานหาย

     1.3 การพยายามจะกดระดับน้ำตาลในเลือดลงไว้ข้างต่ำด้วยยากินและยาฉีดอินสุลิน ทำให้คนไข้เบาหวานตายมากขึ้น

     1.4 เป็นความจริงว่าระดับอินสุลินในเลือดมีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรคเบาหวาน ยิ่งอินสุลินในเลือดสูง ยิ่งเป็นโรคมากขึ้น นี่เป็นประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างของสองสิ่งนะ ไม่ใช่ประเด็นอะไรเป็นสาเหตุให้เกิดอะไร การสรุปว่าการที่อินสุลินสูงเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน ไม่ใช่การที่มีน้ำตาลในเลือดสูงเป็นสาเหตุ นี่เป็นเพียงการเดาเอาจากข้อมูลหลักฐานในห้องทดลอง ซึ่งยังไม่ใช่กลไกการเป็นสาเหตุชัดแจ้งที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป (established) ในวงการแพทย์

     1.5 เป็นความจริงว่าการกินอาหารในภาพรวมให้ได้แคลอรี่น้อยลงกว่าเดิม ไม่ว่าจะกินน้อยแบบไหน กินน้อยแบบน้อยรูดมหาราชทุกมื้อ แบบงดบางมื้อเช่นงดมื้อเย็น แบบกินน้อยเป็นช่วงสั้นๆ หรืออดอาหารเป็นช่วงสั้นๆ (IF) ล้วนมีผลทำให้ระดับอินสุลินที่สูงกลับมาเป็นปกติได้ง่ายขึ้นทั้งนั้น

     1.6 เป็นความจริงว่ายากินรักษาเบาหวานกลุ่มที่ออกฤทธิ์กระตุ้นตับอ่อนให้ผลิตอินสุลินมากขึ้น ทำให้คนไข้ตายมากขึ้น

     1.7 เป็นความจริงที่ว่าการกินคาร์โบไฮเดรตชนิด refined carbohydrate (เช่นน้ำตาล เครื่องดื่มใส่ฟรุ้คโต้ส แป้งขัดขาว) เป็นปริมาณมาก สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานมากขึ้น

       2. สิ่งอื่นๆที่เป็นความจริงและมีหลักฐานวิทยาศาสตร์สนับสนุนแน่ชัดแล้ว แต่ในเทปนี้ไม่ได้พูด ซึ่งสมควรพูดถึงเพื่อให้เห็นข้อมูลอีกด้านหนึ่ง คือ

     2.1 คำว่าคาร์บ หรือ carbohydrate มีสองอย่างคือ

     (1) refined carbohydrate เช่นน้ำตาล เครื่องดื่มใส่ฟรุคโต้สไซรัพ และแป้งขัดขาว กับ

     (2) complex carbohydrate หรือคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนคือพืชผักผลไม้ที่มีกากถั่วนัทเมล็ดและธัญพืชไม่ขัดสีต่างๆ

     ภาพรวมงานวิจัยพบว่าคาร์โบไฮเดรตอย่างแรก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำตาลและแป้งขัดขาวที่ใช้ทำอาหารสำเร็จรูปวางขายบนหิ้ง) ทำให้โรคเบาหวานแย่ลง ส่วนคาร์โบไฮเดรตอย่างหลังหรือคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนซึ่งสมัยนี้เรียกว่าอาหารคาร์โบไฮเดรตชนิดมีกากมาก (high carbohydrate high fiber - HCF) งานวิจัยพบว่าทำให้โรคเบาหวานดีขึ้นหรือหายได้ ทำให้ความจำเป็นต้องใช้ยาฉีดอินสุลินลดลง ระดับน้ำตาลต่ำลง และไขมันรวมในเลือดลดลง ดังนั้นอย่าไปเข้าใจผิดว่าขึ้นชื่อว่าเป็นคาร์โบไฮเดรตแล้วจะมีผลเสียต่อโรคเบาหวานเหมือนกันไปหมดตะพึด

     การลดหรือเลิกน้ำตาล เครื่องดื่มใส่น้ำตาลทุกชนิด ธัญพืชขัดสีและแป้งขัดสี หากทำได้จริงก็ดีมากครับ ผมสนับสนุนให้ทำเลยสุดลิ่มทิ่มประตู ดีแน่นอน แต่ไม่ใช่งดกินอาหารคาร์โบไฮเดรตชนิดมีกากมาก (เช่นธัญพืชไม่ขัดสี ผลไม้ ถั่ว งา นัท พืชหัวในดินต่างๆ) ไปด้วย นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ

      2.2 งานวิจัยเปรียบเทียบการกินอาหารสองแบบ คือ (1) อาหารแบบมีเนื้อสัตว์กับ (2) อาหารแบบมีแต่พืชไม่มีเนื้อสัตว์เลย พบว่าอาหารแบบมีแต่พืชไม่มีเนื้อสัตว์เลยรักษาโรคเบาหวานให้หายได้มากกว่าอาหาแบบมีเนื้ัอสัตว์ถึงหนึ่งเท่าตัว

     2.3 การเลิกกินอาหารคาร์โบไฮเดรตแล้วหันมากินน้ำมันพืชชนิดไขมันไตรกลีเซอไรด์แบบสายโซ่ขนาดกลาง (MCT) เช่นน้ำมันมะพร้าว เป็นแหล่งแคลอรี่แทนคาร์โบไฮเดรต ยังไม่มีผลวิจัยในคนว่าในระยะยาวจะทำให้ตายมากขึ้นเหมือนการใช้ไขมันอิ่มตัวจากสัตว์หรือไม่ ตรงนี้เป็นช่องว่างของความรู้วิชาแพทย์ ผู้จะทดลองกินแบบนี้คงต้องเสี่ยงเอาเองไปจนกว่าจะมีผลวิจัยออกมา

     2.4 งานวิจัยอาหารเมดิเตอเรเนียนซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลโภชนาการการรักษาโรคเรื้อรังที่ดีที่สุดงานหนึ่ง ใช้พืชเป็นแหล่งหลักของแคลอรี่ทั้งในรูปแบบของคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนและไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว งานวิจัยนี้พบว่าอาหารแบบเมดิเตอเรเนียนเป็นอาหารที่ดีกว่าในแง่ของการลดอัตราตายเมื่อเทียบกับอาหารทั่วไปที่อาศัยเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์เป็นแหล่งหลักของแคลอรี่

    2.5 การลดน้ำหนักได้สำเร็จเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้โรคเบาหวานหายได้ ไม่ว่าจะลดน้ำหนักด้วยวิธีไหน ไม่ว่าจะใช้สูตรอาหารแบบไหน แม้แต่วิธีมัดกระเพาะก็ทำให้โรคเบาหวานหายได้หากน้ำหนักลดลงมากพอ

   2.6 การกินไขมันหรือโปรตีนเป็นแหล่งพลังงานแทนคาร์โบไฮเดรต พูดง่ายๆว่ากินโลว์คาร์บ, อัทคิน, ดูก็อง หรือคีโต หากแคลอรี่ทดแทนเป็นไขมันอิ่มตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันจากสัตว์ สามารถลดน้ำหนักและรักษาโรคเบาหวานได้ดีในระยะสั้นๆก็จริง แต่จะมีความสัมพันธ์กับการตายด้วยโรคหัวใจหลอดเลือดมากขึ้นในระยะยาว (หลังห้าปีไปแล้ว) ข้อมูลนี้ได้จากการวิเคราะห์แบบเมตาอานาไลซีสงานวิจัยแบ่งกลุ่มคนไข้เปรียบเทียบที่มีจำนวนคนไข้ถึง 272,216 คน ติดตามนานถึง 25 ปี ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจมากสำหรับแพทย์ งานวิจัยนี้เพิ่งตีพิมพ์ใน LANCET ไปเมื่อปีกลายนี้เอง ผมขอเจาะลึกลงไปกว่านี้สักเล็กน้อยว่างานวิจัยนี้มีผลสรุปได้สองประเด็นคือ

     (1) มองในแง่การอาศัยแคลอรี่จากคาร์โบไฮเดรต หากกินอาหารคาร์โบไฮเดรตน้อยเกินไป (น้อยกว่า 40%) จะมีอัตราตายมากขึ้น และในอีกด้านหนึ่ง หากกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป (มากกว่า 70%) ก็จะมีอัตราตายมากขึ้นเช่นกัน

     (2) มองในแง่การทดแทนแคลอรี่ในอาหารคาร์โบไฮเดรตด้วยการกินอาหารประเภทอื่น หากทดแทนด้วยอาหารเนื้อสัตว์ไม่ว่าจะเป็นไขมันหรือเนื้อๆก็ล้วนจะสัมพันธ์กับการมีอัตราตายสูงขึ้น แต่หากเป็นการทดแทนด้วยอาหารพืชเป็นหลักจะสัมพันธ์กับการมีอัตราตายต่ำลง

     นี่เป็นหลักฐานชิ้นใหญ่ที่สุดที่เรามีอยู่ตอนนี้ ซึ่งบ่งชี้ว่าเราควรกินคาร์โบไฮเดรต(ชนิดมีกากมาก) ให้เป็นแหล่งของพลังงานในปริมาณพอควร (40-70%) และหากจะเอาแหล่งพลังงานอื่นเช่นไขมันหรือโปรตีนมาทดแทน ควรเป็นแหล่งจากอาหารพืช ไม่ใช่แหล่งจากเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์

     3. ตัวผมเอง แนะนำหลังจากที่ได้ประเมินภาพรวมของงานวิจัยทั้งหมดและกลั่นชั้นของหลักฐานร่วมด้วยแล้ว ว่า คนเป็นเบาหวานถ้าอ้วนอยู่ต้องลดน้ำหนักลงให้ได้ก่อนไม่ว่าจะด้วยเล่ห์หรือด้วยกล ในแง่ของชนิดของอาหารรักษาเบาหวาน ผมแนะนำให้ใช้อาหารแบบกินพืชเป็นหลักในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติและมีไขมันต่ำ (low fat, plant-based, whole food) ซึ่งหลักฐานวิจัยระดับสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบในคนพบว่าทั้งให้ผลดีในแง่ที่ทำให้เบาหวานหายได้ในระยะสั้น ทั้งลดน้ำหนักได้ดี และทั้งลดอัตราตายด้วยโรคหัวใจหลอดเลือดในระยะยาว ในกรณีที่ยังติดอาหารเนื้อสัตว์มากก็อาจจะค่อยๆลดอาหารเนื้อสัตว์ลง โดยเริ่มลดเนื้อสัตว์ที่ปรับแต่ง (processed meat) เช่นไส้กรอกเบคอนแฮม และเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (red meat) ก่อน

     ส่วนอาหารโลว์คาร์บแบบกินแต่เนื้อสัตว์และไขมันจากสัตว์โดยไม่กินคาร์โบไฮเดรตใดๆเลยนั้น หากอยากจะกินผมแนะนำว่าลองกินระยะสั้นๆที่นับกันเป็นเดือนๆก็โอนะครับ สมัยหนึ่งผมทำรายการเต้นเปลี่ยนชีวิต (Dance Your Fat Off) ที่ช่อง 3 ตัวผมเองก็ใช้อาหารแบบโลว์คาร์บลดน้ำหนักให้ผู้เข้าแข่งขัน เพราะเด็กพวกนั้นเขาติดเนื้อสัตว์กันงอมแงม ในเวลาแค่สามสี่เดือนจะไปห้ามเขาไม่ให้กินเนื้อสัตว์มันเป็นไปได้ยาก แต่นั่นเป็นเรื่องของการลดน้ำหนักในระยะสั้น หากเป็นเรื่องการดูแลตนเองในระยะยาวที่นับกันเป็นหลายๆปีอย่างไรเสียผมก็ยืนยันแนะนำว่าควรค่อยๆเปลี่ยนมาเป็นกินพืชเป็นหลักในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติและมีไขมันต่ำ (low fat, plant-based, whole food) กินพืช 100% ไม่ได้ก็กินพืชให้ได้มากที่สุดโดยกินเนื้อสัตว์ระดับปูปลากุ้งหอยเป็ดไก่แต่น้อยๆ ก็ยังดีกว่าที่จะไปกินโลว์คาร์บแบบอัดเนื้อสัตว์และไขมันจากสัตว์กันแบบไม่บันยะบันยัง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Lean ME, Leslie WS, et al. Primary care-led weight management for remission of type 2 diabetes (DiRECT): an open-label, cluster-randomised trial. Lancet. 2018 Feb 10;391(10120):541-551. doi: 10.1016/S0140-6736(17)33102-1. Epub 2017 Dec 5.
2. Barnard, N.D., et al., A low-fat vegan diet improves glycemic control and cardiovascular risk factors in a randomized clinical trial in individuals with type 2 diabetes. Diabetes Care. 2006 Aug;29(8):1777-83.
3. Porrata C, Sánchez J, Correa V, Abuín A, Hernández-Triana M, Dacosta-Calheiros RV, Díaz ME, Mirabal M, Cabrera E, Campa C, Pianesi M. Ma-pi 2 macrobiotic diet intervention in adults with type 2 diabetes mellitus. MEDICC Rev. 2009 Oct;11(4):29-35.
4. Andreea Soare,1 Yeganeh M Khazrai,1 Rossella Del Toro,1 Elena Roncella,1Lucia Fontana,2 Sara Fallucca,1 Silvia Angeletti,3 Valeria Formisano,1Francesca Capata,1 Vladimir Ruiz,4 Carmen Porrata,5 Edlira Skrami,6Rosaria Gesuita,6 Silvia Manfrini,1 Francesco Fallucca,7 Mario Pianesi,8 andPaolo Pozzilli 1, for the MADIAB Group. The effect of the macrobiotic Ma-Pi 2 diet vs. the recommended diet in the management of type 2 diabetes: the randomized controlled MADIAB trial. Nutr Metab (Lond). 2014; 11: 39. Published online 2014 Aug 25. doi:  [10.1186/1743-7075-11-39]
5 Soare A, Del Toro R, Khazrai YM, Di Mauro A, Fallucca S, Angeletti S, Skrami E, Gesuita R, Tuccinardi D, Manfrini S, et al. 6-month follow-up study of the randomized controlled Ma-Pi macrobiotic dietary intervention (MADIAB trial) in type 2 diabetes. Nutr Diabetes. 2016 Aug; 6(8): e222.
6. InterAct, C., et al., Association between dietary meat consumption and incident type 2 diabetes: the EPIC-InterAct study. Diabetologia, 2013. 56(1): p. 47-59.
7. InterAct, C., Adherence to predefined dietary patterns and incident type 2 diabetes in European populations: EPIC-InterAct Study. Diabetologia, 2014.57(2): p. 321-33.
8. Roden, M., et al., Mechanism of free fatty acid-induced insulin resistance in humans. J Clin Invest, 1996. 97(12): p. 2859-65.
9. Goff, L.M., et al., Veganism and its relationship with insulin resistance and intramyocellular lipid. Eur J Clin Nutr, 2005. 59(2): p. 291-8.
10. Muraki, I., et al., Fruit consumption and risk of type 2 diabetes: results from three prospective longitudinal cohort studies. BMJ, 2013. 347: p. f5001.
11. Christensen, A.S., et al., Effect of fruit restriction on glycemic control in patients with type 2 diabetes--a randomized trial. Nutr J, 2013. 12: p. 29.
12. Rock, W., et al., Effects of date ( Phoenix dactylifera L., Medjool or Hallawi Variety) consumption by healthy subjects on serum glucose and lipid levels and on serum oxidative status: a pilot study. J Agric Food Chem, 2009.57(17): p. 8010-7.
13. Sun, Q., et al., White rice, brown rice, and risk of type 2 diabetes in US men and women. Arch Intern Med, 2010. 170(11): p. 961-9.
14. Aune, D., et al., Whole grain and refined grain consumption and the risk of type 2 diabetes: a systematic review and dose-response meta-analysis of cohort studies. Eur J Epidemiol, 2013. 28(11): p. 845-58.
15. Anderson, J.W. and K. Ward, High-carbohydrate, high-fiber diets for insulin-treated men with diabetes mellitus. Am J Clin Nutr, 1979. 32(11): p. 2312-21.
16. Kahleova H, Hrachovinova T, Hill M, Pelikanova T. Vegetarian diet in type 2 diabetes--improvement in quality of life, mood and eating behaviour. Diabet Med. 2013;30(1):127-9. doi: 10.1111/dme.12032. PubMed PMID: 23050853.
17. Mishra S, Xu J, Agarwal U, Gonzales J, Levin S, Barnard ND. A multicenter randomized controlled trial of a plant-based nutrition program to reduce body weight and cardiovascular risk in the corporate setting: the GEICO study. Eur J Clin Nutr. 2013;67(7):718-24. doi: 10.1038/ejcn.2013.92. PubMed PMID: 23695207; PubMed Central PMCID: PMCPMC3701293.
18. Yao B, Fang H, Xu W, Yan Y, Xu H, Liu Y, et al. Dietary fiber intake and risk of type 2 diabetes: a dose-response analysis of prospective studies. Eur J Epidemiol. 2014;29(2):79-88. doi: 10.1007/s10654-013-9876-x. PubMed PMID: 24389767.
19.        Dunaief DM, Fuhrman J, Dunaief JL, Ying G. Glycemic and cardiovascular parameters improved in type 2 diabetes with the high nutrient density (HND) diet. Open Journal of Preventive Medicine. 2012;02(03):364-71. doi: 10.4236/ojpm.2012.23053.
20.        Anderson JW, Ward K. High-carbohydrate, high-fiber diets for insulin-treated men with diabetes mellitus. Am J Clin Nutr. 1979;32(11):2312-21. PubMed PMID: 495550.
21. Yang WS, Wang WY, Fan WY, Deng Q, Wang X. Tea consumption and risk of type 2 diabetes: a dose-response meta-analysis of cohort studies. Br J Nutr. 2014;111(8):1329-39. doi: 10.1017/S0007114513003887. PubMed PMID: 24331002.
22. Muley A1, Muley P, Shah M. Coffee to reduce risk of type 2 diabetes?: a systematic review. Curr Diabetes Rev. 2012 May;8(3):162-8.
23. Bunner AE, Wells CL, Gonzales J, Agarwal U, Bayat E, Barnard ND. A dietary intervention for chronic diabetic neuropathy pain: a randomized controlled pilot study. Nutr Diabetes. 2015;5:e158. doi: 10.1038/nutd.2015.8. PubMed PMID: 26011582; PubMed Central PMCID: PMCPMC4450462.
24. Kempner W, Peschel RL, Schlayer C. Effect of rice diet on diabetes mellitus associated with vascular disease. Postgrad Med. 1958;24:359-371.
25. Cai Chen, 1 , 2 Yan Yang, 3 Xuefeng Yu, 3 Shuhong Hu, 3 and Shiying Shao  3 Association between omega‐3 fatty acids consumption and the risk of type 2 diabetes: A meta‐analysis of cohort studies. J Diabetes Investig. 2017 Jul; 8(4): 480–488.
26. Sievenpiper JL1, Kendall CW, Esfahani A, Wong JM, Carleton AJ, Jiang HY, Bazinet RP, Vidgen E, Jenkins DJ. Effect of non-oil-seed pulses on glycaemic control: a systematic review and meta-analysis of randomised controlled experimental trials in people with and without diabetes. Diabetologia.  doi: 10.1007/s00125-009-1395-7. Epub 2009 Jun 13.
27. William S Yancy, Jr, 1,2 Marjorie Foy,1 Allison M Chalecki,1 Mary C Vernon,3and Eric C Westman2
. A low-carbohydrate, ketogenic diet to treat type 2 diabetes.   Nutr Metab (Lond). 2005; 2: 34. doi:  [10.1186/1743-7075-2-34]
28. Hussain TA, Mathew TC, Dashti AA, Asfar S, Al-Zaid N, Dashti HM. Nutrition. 2012 Oct; 28(10):1016-21. Epub 2012 Jun 5.
29. Seidelmann SB, Claggett B, et al. Dietary carbohydrate intake and mortality: a prospective cohort study and meta-analysis. Lancet Public Health. 2018 Sep;3(9):e419-e428. doi: 10.1016/S2468-2667(18)30135-X.
[อ่านต่อ...]

21 มีนาคม 2562

แค้มป์สุขภาพดีด้วยตนเอง GHBY

     คอร์สสุขภาพดีด้วยตัวเอง (GHBY) แก้ไขปรับปรุงครั้งสุดท้ายเมื่อ GHBY29 ตอนนี้มาถึง GHBY40 จำเป็นต้องปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนอีกแล้ว จึงขอแจ้งรายละเอียดการปรับปรุงดังนี้

ความเป็นมาของ GHBY  

     เมื่อหลายปีมาแล้ว ตอนที่ตัวผมเองป่วย ผมหันมาดูแลตัวเองในเรื่องการกิน การออกกำลังกาย การดูแลจัดการความเครียด จนแก้ปัญหาให้ตัวเองได้ เลิกกินยาความดันยาไขมันยาหัวใจได้ ผมได้ตัดสินใจเลิกอาชีพหมอผ่าตัดหัวใจเปลี่ยนมาทำอาชีพหมอส่งเสริมสุขภาพ สอนผู้ป่วยให้รู้วิธีดูแลสุขภาพของตัวเองได้ด้วยตัวเอง ทำสถานที่ เปิดแค้มป์สุขภาพสอนคนที่ยังไม่ป่วยให้ดูแลตัวเองเป็นว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ป่วย ตั้งชื่อว่า GHBY (Good Health By Yourself) แปลว่า "คอร์สสุขภาพดีด้วยตัวเอง" ผมรู้ว่าคนส่วนหนึ่งยังขาดความรู้ในประเด็นสำคัญ ผมจึงจับประเด็นที่คนยังไม่รู้นั้นออกมาคลี่ให้เห็นโดยใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์ประกอบ ผมรู้ว่าบางคนมีความรู้แล้วแต่ขาดทักษะ (skill) ที่จะลงมือปฏิบัติ เช่นจะเปลี่ยนอาหารไปเป็นอาหารแบบกินพืชเป็นหลัก (PBWF) แต่ก็ทำไม่เป็น จะออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ แต่ก็ไม่รู้วิธี ผมจึงสอนทักษะด้วย ในแง่ของการจัดการความเครียด ผมก็จับเอาผลวิจัยว่าอะไรลดความเครียดได้เอามาฝึกมาสอนหมด ไม่ว่าจะเป็นโยคะ สมาธิ ไทชิ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ผู้เข้าแค้มป์เก็ทดีมาก หลายคนนำไปใช้กับตัวเองได้ผลดีมาก แต่เมื่อพบกันนานหลายเดือนหรือหลายปีต่อมา หลายคนยังดูแลตัวเองดีอยู่ได้ แต่ผมพบว่าหลายคนมีอาการ "ถ่านหมด" หรือพลังมอด ความบันดาลใจหดหาย กลับไปจมอยู่กับการสิ่งเสพย์ติดเดิมๆคืออาหารหวานอาหารมันและการนั่งจุมปุ๊กอยู่กับที่เหมือนเดิม ต่อมาผมจึงได้ปรับปรุงหลักสูตรโดยเพิ่ิมเติมวิธีสร้างความบันดาลใจ (Motivation) เข้าไปด้วย แต่ก็ยังพบว่าแค่นั้นก็ยังไม่พอ เพราะความบันดาลใจที่กระตุ้นขึ้นมาด้วยวิธีทางจิตวิทยานั้นมีสภาพเหมือนไฟไหม้ฟาง กระพือขึ้นแล้วก็มอดไป มาคราวนี้หลังจากที่ทดลองกับคนจำนวนหนึ่งมาแล้ว ผมตัดสินใจเปลี่ยนจากการใช้วิธีเชิงจิตวิทยาในการกระตุ้นความบันดาลใจมาเป็นการให้รู้จักฟูมฟักพลังชีวิตของตัวเองแล้วอาศัยพลังจากตรงนั้นพาตัวเองไปให้ต่อเนื่อง ควบกับการมีระบบติดตามตัวชี้วัดที่จะช่วยให้ดูแลตัวเองได้อย่างต่อเนื่องทางอินเตอร์เน็ท

     หน้าตาของคอร์ส GHBY ใหม่ที่จะเริ่มตั้งแต่ GHBY40 จะเป็นดังนี้

  ................................................................

หลักสูตรคอร์สสุขภาพดีด้วยตัวเอง

Good Health By Yourself (GHBY) Camp Syllabus

Motto
 “เรียน” สิ่งที่ยังไม่เคยรู้ (knowledge)
“ทำ” สิ่งที่ยังไม่เคยทำ (skill)
"ชอบ" สิ่งที่ไม่เคยชอบ (attitude)

คอนเซ็พท์ของแค้มป์ (Conceptual Design)

     ให้คนกลุ่มเล็กๆประมาณไม่เกิน 24 คน ได้มาพักผ่อนปลายสัปดาห์ (2 วัน 1 คืน) ร่วมกับ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ที่เวลเนสวีแคร์เซ็นตเตอร์ ที่มวกเหล็ก ซึ่งสงบเงียบและไม่มีบุคคลภายนอกมารบกวนยุ่งเกี่ยว แล้วเรียนรู้สาระสำคัญเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพตนเอง และฝึกทักษะต่างๆที่จำเป็นต้องใช้ในการดูแลสุขภาพตนเองไปด้วยกัน รวมทั้งจับกันเป็นกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และช่วยเหลือกันและกันในอนาคต ในบรรยากาศการพูดคุยแบบกันและไม่เป็นทางการ

วัตถุประสงค์  (Objectives)

1. วัตถุประสงค์ด้านความรู้ (knowledge)

มุ่งให้ผู้เข้าคอร์สมีความรู้ในเรื่องต่อไปนี้

1.1 ภาพรวมงานวิจัยใหม่ล่าสุดเกี่ยวกับภาพรวมของการมีสุขภาพดี
1.2 ภาพรวมโภชนาการในแนวกินพืชเป็นหลักในรูปแบบใกล้ธรรมชาติและหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันปรุง (low fat, plant based, whole food)
1.3 คำแนะนำทางโภชนาการของรัฐบาลประเทศต่างๆที่นำมาใช้ประโยชน์ได้
1.4 วิธีเลือกอาหารโดยการอ่านฉลากและแปลความหมายฉลากอาหาร (1) ประเด็นหน่วยบริโภค (2) ประเด็นแคลอรี่ (3) ประเด็นคุณค่าต่อแคลอรี่ (4) ประเด็นชนิดของไขมัน (5) ประเด็นกากใยอาหาร
1.5 อาหารพืชที่มีคุณสมบัติพิเศษในการลดความดันเลือด ลดน้ำตาลในเลือด และต่อต้านมะเร็ง
1.6 Sprout & microgreen เรียนรู้คุณค่าและวิธีทำต้นอ่อนเมล็ดงอกชนิดต่างๆ
1.7 ผลของการปรุงอาหารแบบต่างๆต่อการทำลายคุณค่าของอาหาร
1.8 การออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง (aerobic exercise) สามประเด็น (1) หนักพอควร คือหอบเหนื่อยร้องเพลงไม่ได้ (2) ต่อเนื่อง คือ 30 นาทีขึ้นไป (3) สม่ำเสมอ คือ สัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 5 วัน
1.9 การออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อ (strength training) ในประเด็น (1) กลุ่มกล้ามเนื้อหลัก (2) การยืดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ (3) ท่าร่าง (4) การหายใจ (5) การเคลื่อนไหวช้าๆ (6) การทำเพิ่ม (overload) ทีละนิด (7) หลักพักและฟื้น
1.10 การออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัว (balance exercise) รวมถึง 5 องค์ประกอบของการทรงตัว (สติ สายตา หูชั้นใน กล้ามเนื้อ ข้อ)
1.11 ความเครียด และกลไกการเกิด และผลต่อร่างกาย
1.12 วิธีจัดการความเครียดด้วย (1) การคลายกล้ามเนื้อ (2) การรับรู้ร่างกาย (3) การฝึกสมาธิ (4) โยคะ (5) ไทชิ
1.13  สุขศาสตร์ของการนอนหลับ (Sleep hygiene)
1.14 ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพอย่างง่าย 7 ตัวของ AHA (1) น้ำหนัก (2) ความดัน (3) น้ำตาล (4) ไขมัน (5) ปริมาณผักผลไม้ที่กินต่อวัน (6) เวลาที่ใช้ออกการออกกำลังกายต่อสัปดาห์ (7) บุหรี่
1.15 การบริหารสุขภาพตนเองด้วยดัชนีง่ายๆ 7 ตัว

2 วัตถุประสงค์ด้านทักษะ

มุ่งให้ผู้เข้าแค้มป์ มีทักษะ สามารถทำสิ่งต่อไปนี้ได้ด้วยตนเองที่บ้านได้
2.1 จัดหาและเลือกอาหารแนว plant based, whole food (PBWF) มาเพื่อการบริโภคของตัวเองและครอบครัวได้
2.2 อ่านฉลากอาหาร แปลความหมาย และใช้ประโยชน์จากฉลากอาหารได้
2.3 ลงมือทำอาหารแนว low fat, plant based, whole food ได้ด้วยตนเอง
2.4 ออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง (aerobic exercise) ได้ด้วยตนเอง
2.5 ประเมินและติดตามดูสมรรถนะร่างกายตนเองด้วยวิธี one mile walk test ได้
2.6 ออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (strength training) ได้ด้วยตนเอง ทั้งแบบมือเปล่า ใช้ดัมเบล ใช้สายยืด และใช้กระบอง
2.7 ออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัว (balance exercise) ได้ด้วยตนเอง
2.8 ลดความเครียดให้ตัวเองด้วยวิธี ทำสมาธิ ไทชิ โยคะ ได้
2.9 ปฏิบัติสุขศาสตร์ของการนอนหลับได้ด้วยตนเอง
2.10 ใช้ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพอย่างง่าย 7 ตัวของ AHA ติดตามดูแลสุขภาพของตนเองได้
2.11 ฟูมฟักพลังงานในตัวเองและนำพลังงานในตัวมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตได้ต่อเนื่อง

3 วัตถุประสงค์ด้านเจตคติ

     มีเป้าหมายให้ผู้เข้าแค้มป์มีเจตคติที่
3.1 รักแนวทางดูตนเองแบบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (health promotion attitude)
3.2 ชอบการใช้ชีวิตแบบกระตือรือล้นและเคลื่อนไหวมาก (active lifestyle attitude)
3.2 ชอบดูแลตัวเองและทำอะไรด้วยตนเอง (do it yourself attitude)

แผนกิจกรรม

สถานที่: เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ (Wellness We care Center) มวกเหล็ก-เขาใหญ่

วันแรก

8.30 -9.30 น.  เดินทางถึงเวลเนสวีแคร์ (มวกเหล็ก-เขาใหญ่) เช็คอินที่บ้าน Grove House เข้าห้องพัก ทำกิจธุระส่วนตัว
9.30-10.00    ทำความรู้จักกัน Getting to know each other
10.00 -10.30 Briefing: Evidence based total lifestyle modification
                        หลักฐานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการปรับวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง
                        และชีวิตมีคุณภาพ
10.30-11.00 Briefing: Low fat PBWF and Nutrition Guidelines
                        บรรยายโภชนาการแบบกินพืชเป็นหลักในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ และคำแนะนำโภชนาการปัจจุบัน
11.00 – 12.00 Workshop : Food shopping
                        กิจกรรมจ่ายตลาด ฉลาดซื้อ
12.00 – 13.30 Workshop: Cook your own meal
                        ชั้นเรียนทำอาหารด้วยตนเองในแนวกินพืชเป็นหลักในแบบใกล้เคียงธรรมชาติ Whole food, plant-based แล้วรับประทานอาหารกลางวันที่ตัวเองทำ
13.30 – 14.30 Workshop: Yoga, muscle relaxation and muscle stretching
                        ฝึกปฏิบัติโยคะเพื่อผ่อนคลายและการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
14.30 – 15.30 Workshop: Muscle strength training
                        ฝึกปฏิบัติการออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
15.30 – 16.30 Workshop: Balance and flexibility exercise
                        ฝึกปฏิบัติการออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัว
16.30 – 16.45 Coffee break
                        พักดื่มกาแฟ
16.45-17.45   Workshop: Line dance
                        ฝึกปฏิบัติการออกกำลังกายด้วยวิธีไลน์ด้านซ์
17.45 – 18.15 Workshop: Herbs Spices and Sprout
                       ทัวร์สวนครัวผักพื้นบ้านและพืชเครื่องเทศ หรือทำกิจกรรมปลูกผักและเพาะเมล็ดงอกเพื่อเป็นอาหาร
18.15 – 18.45 พักผ่อนตามอัธยาศัย อาบน้ำ
18.45 – 20.30 Dinner: อาหารเย็น

วันที่สอง

6.30 – 7.30 Workshop: One mile walk test
                        ฝึกประเมินสมรรถนะร่างกายตนเองด้วยวิธี One mile walk test
7.30 – 8.00  Workshop: Tai Chi
                        ฝึกปฏิบัติเคลื่อนไหวอย่างมีสติ ด้วยวิธี Tai Chi
08.00– 9.30  Breakfast
                        อาบน้ำ รับประทานอาหารเช้า
9.30 – 10.30 Motivation and Total lifestyle modification
                        การสร้างพลังเพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง
10.45-11.00 Coffee break
           พักรับประทานอาหารว่าง
11.00 – 12.00 Workshop: AHA's Seven simple health index
                        ภาคปฏิบัติการประเมินปัจจัยเสี่ยงสุขภาพส่วนบุคคล
12.00 - 13.00 พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.00 - 14.00 Health Dashboard
                      เรียนรู้การใช้งานฐานข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลบนอินเตอร์เน็ท
14.00 - 16.00  Questions and Answers
                      ตอบคำถามและให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพส่วนตัวเป็นรายคน รวมทั้งปรึกษาผลแล็บ เอกซเรย์และผลการตรวจพิเศษต่างๆ โดยผู้ร่วมแค้มป์ท่านอื่นสามารถนั่งฟังและร่วมแชร์ความรู้และประสบการณ์กันในห้องได้
16,00             ปิดแค้มป์
           
ค่าลงทะเบียน

     ราคาปกติของคอร์ส GHBY คือท่านละ 9,000 บาท รวมอาหารทุกมื้อ ที่พัก อุปกรณ์การเรียน แต่ไม่รวมค่าเดินทางยังเวลเนสวีแคร์ (ผู้เรียนต้องเดินทางไปเอง)
     สำหรับท่านที่เดินทางมาไกล อาจเข้าพักได้ตั้งแต่หนึ่งคืนก่อนเปิดคอร์สโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่อย่างใด ทั้งนี้ต้องแจ้งล่วงหน้า

วิธีลงทะเบียนเข้าเรียน

   1. โทรศัพท์ลงทะเบียนกับเวลเนสวีแคร์ที่หมายเลขคุณวิไลพร (เฟิร์น) 0636394003 หรือไลน์ @wellnesswecare หรืออีเมล host@wellnesswecare.com
   2. ลงทะเบียนผ่านเว็บไซท์และจ่ายเงินทางออนไลน์ได้ที่ https://www.wellnesswecare.com/th/program/good-health-by-yourself-th/13

การเตรียมตัวไปเข้าคอร์ส

     แนะนำให้เตรียมเครื่องแต่งกายที่ออกกำลังกายสะดวก ควรมีรองเท้าผ้าใบที่เดินบนพื้นหินขรุขระได้ และควรมีหมวกกันแดด และครีมกันแดด

การเดินทางไปเข้าคอร์ส

     สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว รถตู้กทม.-มวกเหล็ก (ขึ้นที่ใต้ทางด่วนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) หรือรถไฟ (ลงสถานีมวกเหล็ก) ในกรณีเดินทางด้วยรถตู้หรือรถไฟ ต้องหารถรับจ้างจากตลาดมวกเหล็กเข้ามาส่ง ค่ารถมอเตอร์ไซค์ส่งจากตลาดราว 100 บาท ที่เวลเนสวีแคร์ ซึ่งตั้งอยู่ในมวกเหล็กวาลเลย์ อยู่ห่างจากตลาดมวกเหล็กราว 4 กม. อาจให้รถตู้จากกทม.แวะเข้ามาส่งก็ได้โดยต้องเพิ่มเงินให้เ้ขาประมาณ 120 บาท ในกรณีที่จะให้เวลเนสวีแคร์ช่วยระสานงานหารถรับจ้างเหมาไปจากกทม. ต้องติดต่อล่วงหน้า ค่าจ้างแทกซี่ 1,500 บาทเฉพาะขาไปจากกทม.ขาเดียว หรือ 3,000 บาทสำหรับการไปส่งแล้วไปรับกลับกทม.

    กรณีเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ให้ใช้ Google Map โดยพิมพ์คำว่า Wellness We Care Center



ปล. 
(22 มีค. 62) โควต้าสปอนเซอร์สำหรับแพทย์พยาบาลและคนทำงานส่งเสริมสุขภาพ 10 ที่เต็มหมดแล้วครบ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

20 มีนาคม 2562

จากผู้ชอบเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์

สวัสดีค่ะอาจารย์หมอสันต์
สึบเนื่องจากหัวข้อ อย่า "เชื่อ" หรือ "ไม่เชื่อ" เพราะจะปิดโอกาส "รู้"  ศิษย์ผู้น้อยที่ยังไม่บรรลุถึงความหลุดพ้นได้แต่พยายามนั่งสมาธิดูลมหายใจ ยังไปไม่ถึงไหน และไม่มีโอกาสไปเข้าคอร์สสมาธิใดๆในขณะนี่ได้ ได้แต่อาศัยเข้ายูทูปแล้วปฏิบัติตามเกจิอาจารย์ทั้งหลายด้วยความสับสนว่าจะเอาวิธีไหนกันแน่ ถ้าจะอาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์อาทิศาสดาของศาสนาที่ตัวเองนับถือ ขงจื้อ เล่าจื๊อ หรือพลังของจักรวาลต่างๆ จะช่วยได้ไหมคะ ที่สงสัยเพราะเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มีอยู่จริง ตามหลักฐานที่ปรากฎและในคัมภีร์ของศาสนาต่างๆ เพียงแต่ท่านเหล่านี้อยู่ในอีกภพภูมิหนึ่ง ในส่วนตัวคิดว่า ศาสดา นักบุญต่างๆ หรือเทวดามีอยู่จริง และตัวเองไม่แก่กล้าพอที่จะสถาปนาตัวเองเป็นพระเจ้าได้ ถ้าจะมีคล้ายกับหลักยึดเหนี่ยวที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตัวเองนับถือ โดยภาวนาขอความช่วยเหลือ จะเป็นไปได้ไหม และอธิษฐานอย่างไร หรืออาจารย์คิดว่างมงายเปล่าๆ มันต้องรู้ได้ด้วยตัวเองเท่านั้น
ความจริงคนเราเกิดมา ไม่สามารถรู้อะไรได้ด้วยตัวเองทั้งหมด การที่เราอาศัยผู้รู้ หรือผู้เกิดก่อน ที่ได้สั่งสมประสบการณ์มาบอกหรือชี้แนะทางลัดสู่ความสำเร็จ ก็น่าจะเป็นการดีกว่างมหาทางแบบผิดๆถูกๆ แต่บางครั้งการรับรู้ของแต่ละคนไม่เหมือนกันทำให้การแปลผลไม่เป็นไปตามความต้องการของผู้ที่จะสื่อให้เข้าใจ และด้วยข้อจำกัดของการใช้และความเข้าใจภาษาก็มีผลต่อการรับรู้ของคนได้เช่นกัน ขออาจารย์อย่าได้เบื่อหน่ายที่จะคลายข้อสงสัยแก่ศิษย์ผู้ด้อยปัญญาเลยนะคะ
ขอบคุณค่ะ

..................................................

ตอบครับ

      1. ถามว่าคนเราเกิดมาไม่สามารถรู้อะไรได้ด้วยตัวเองทั้งหมดไม่ใช่หรือ ตอบว่าไม่ใช่ครับ ในความเป็นจริงนั้นคนเราไม่ได้เกิดมาแบบไม่รู้อะไร แต่คนเราเกิดมาพร้อมกับความรู้ตัว หมายถึงว่าความสามารถรู้สิ่งต่างๆตามที่มันเป็นนั้นเป็นสมบัติที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด อย่างน้อยตอนอายุสองเดือนเราก็มีคุณสมบัติข้อที่เรียกว่าความรู้ตัวนี้ครบถ้วนแล้ว แต่ต่อมาเราค่อยๆพอกพูนสะสมความคิดประสานโยงใยขึ้นเป็นคอนเซ็พท์หรือสำนึกว่าฉันนี้เป็นบุคคลหุ้มหรือครอบและบดบังความรู้ตัวที่เป็นของติดตัวเราตั้งแต่เกิดซะมิด การจะกลับไปหาความรู้ตัว เราก็แค่วางความคิดที่คุณสะสมพอกพูนมาทั้งหมดลงเสีย ก็หลุดพ้นแล้ว แค่นั้นเอง

     2. ถามว่าการอาศัยผู้รู้หรือผู้เกิดก่อนที่ได้สั่งสมประสบการณ์มาบอกหรือชี้แนะทางลัดสู่ความสำเร็จก็น่าจะเป็นการดีกว่าการงมหาทางแบบผิดๆถูกๆไม่ใช่หรือ ตอบว่าใช่ครับ แต่ว่าท่านเหล่านั้นทำได้แค่ชี้ทางนะ ในการรับฟังคำชี้ทางนั้นหากคุณตั้งใจฟังแล้วลองทำตามคำชี้ทางนั้นดูคุณก็เก็ทแล้ว หนังสือทางจิตวิญญาณทุกเล่มล้วนสอนเหมือนกันหมดว่าให้วางความคิดยึดมั่นถือมั่นลงเสีย อ่านแค่นี้คุณก็เก็ทแล้ว ลงมือทำได้แล้ว แล้วคุณจะไปตะบันอ่านหนังสือเป็นตู้ๆ หรือขยันไปเข้าคอร์ส ขยันถกเถียงกับคนอื่นว่าอะไรเป็นวจนะของแท้อะไรเป็นวจนะปลอมอีกทำไมกันละ

     อย่าลืมว่าชีวิตนี้มันซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆจากหยาบไปถึงละเอียดนะหรือพูดเอาง่ายว่าจากนอกเข้าใน กล่าวคือหยาบที่สุดก็ร่างกายที่เป็นเนื้อตันๆนี้ (physical body) รองลงไปก็คือพลังงานที่ขับเคลื่อนร่างกายนี้อยู่ (energy body) ละเอียดลงไปกว่านั้นก็เป็นความคิดและอารมณ์ความรู้สึก (thought่ and emotion) ละเอียดลงไปอีกเมื่อหมดความคิดก็เป็นปัญญาญาณ (intuition) ละเอียดที่สุดและมีศักยภาพสูงสุดก็เป็นความรู้ตัว (consciousness / awareness) ซึ่งเป็นชั้นในสุด การจะหลุดพ้นจากความคิดของคุณเองคุณต้องสนใจฝึกหัดฝึกทำจากนอกเข้าไปข้างใน แต่ว่าหนังสือทั้งหลายเป็นตู้ๆหรือยูทูปที่เปิดทุกวันนั้นมันอยู่ข้างนอกนะ มันไม่ได้อยู่ข้างใน มันอยู่คนละทางกับทิศทางที่คุณจะไป

     3. ถามว่า ตามหลักฐานที่ปรากฎและในคัมภีร์ของศาสนาต่างๆนั้นแสดงว่าศาสดาน่าจะมีอยู่จริงเพียงแต่ท่านเหล่านี้อยู่ในอีกภพภูมิหนึ่ง ในส่วนตัวผู้ถามเองก็คิดว่า ศาสดา นักบุญต่างๆ หรือเทวดามีอยู่จริง เป็นอย่างนั้นไม่ใช่หรือ ตอบว่า ศาสดาหรือนักบุญต่างๆจะมีอยู่จริง หรือไม่มีอยู่จริง จะอยู่ที่ภพภูมิโน้นหรือภพภูมินี้ มันก็ไม่ใช่กงการอะไรของเรานะครับ เพราะเราแค่อยากจะหลุดออกไปให้พ้นจากอิทธิพลความคิดของเราเองแค่นั้นเอง เมื่อเราได้รับฟังคำบอกต่อๆกันมาว่าศาสดาสอนให้วางความคิดเสีย แล้วเราเดินไปตามทางนั้นด้วยการลงมือวางความคิด เราก็ได้ใช้ประโยชน์จากการได้เกิดมาพบกับคำสอนของศาสดาแล้ว ไม่เห็นจะต้องไปเกี่ยวอะไรกับการที่ศาสดามีอยู่จริงหรือไม่มีอยู่จริง และอยู่ที่ภพภูมิไหนเลย

     คุณอย่าหลงติดกับดักให้วนอยู่ในความคิด อย่างเช่นการจะ "เชื่อ" หรือ "ไม่เชื่อ" ว่าศาสดามีอยู่จริงหรือไม่มีอยู่จริง นี่เป็นตัวอย่างของกับดักที่จะล่อให้คุณวนอยู่ในความคิด คุณไปติดเสียที่ในความคิด แล้วคุณจะหลุดพ้นจากกรงของความคิดได้อย่างไรละครับ

    4. ถามว่า ด้วยข้อจำกัดของภาษามีผลต่อการรับรู้ของคน หมอสันต์จะช่วยแนะนำวิธีลัดตรงนี้ให้หน่อยได้ไหม ตอบว่าการที่ภาษามีข้อจำกัดไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความรู้ตัวซึ่งเป็นสิ่งที่คุณอยากจะเข้าถึงนั้นเป็นพลังงานที่ไม่อาจอาศัยความเข้าใจในภาษาเป็นตัวพาไปให้ถึงได้ ทางที่ลัดสั้นตรงที่สุดคือให้คุณทิ้งภาษาไปเสีย เพราะภาษาคือความคิด ให้คุณสนใจแต่พลังงานหรือคลื่นความสั่นสะเทือน กล่าวคือเมื่อมีสิ่งเร้าผ่านเข้ามาทางอายตนะและถูกแปลงเป็นภาษาที่คลุกเคล้ากับความจำจากอดีตแล้วตกกระทบเป็นความรู้สึกที่กายและใจก่อนที่จะเกิดเป็นความคิดต่อยอด ให้คุณรับรู้และยอมรับสิ่งเร้านั้นตามที่มันเป็นขณะที่มันยังสดๆใหม่ๆซิงๆก่อนที่มันจะถูกเจือเข้ากับความบูดๆอับๆของความจำจากอดีต การสัมผัสกับสิ่งเร้าสดๆใหม่ๆตามที่มันเป็น จะทำให้คุณรู้ได้ว่าอะไรที่ก่อให้เกิดพลังงานขึ้นในตัวคุณในรูปของสิ่งที่ "ถูกจริต (passion)" หรือความกระดี๊กระด๊า พลังงานนี้แหละที่จะชักจูงให้คุณจดจ่ออยู่กับกิจกรรมที่ถูกจริตคุณยิ่งขึ้นๆ แล้วพลังมันก็จะใหญ่ขึ้นๆเหมือน snow ball ที่ใหญ่ขึ้นๆขณะที่มันกลิ้งลงมาจากเขา พลังงานของความถูกจริตนี้จะเป็นตัวพาคุณเข้าไปสู่ความรู้ตัวและหลุดพ้นจากความคิดของคุณได้ในที่สุด

     5. ถามว่าหากตัวเองไม่แก่กล้าพอที่จะสถาปนาตัวเองเป็นพระเจ้า หากจะภาวนาขอความช่วยเหลือจากหลักยึดเหนี่ยวที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตัวเองนับถือจะได้ไหม ตอบว่า เอ้อ แล้วทำไมจะไม่ได้ละครับ นี่ไม่ใช่ยุโรปสมัยกลางที่หากคุณยุ่งกับพระเจ้าคนละองค์กับที่พวกพระหรือนักปกครองเขานับถือกันอยู่คุณอาจถูกจับเผาทั้งเป็น แต่นี่มันโลกเสรียุคหลังลุงตู่แล้วนะ คุณจะอธิษฐานกับพระเจ้าองค์ไหน ตำรวจไม่จับหรอกครับ

     6. ถามว่าถ้าจะภาวนาขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตัวเองนับถือ ขงจื้อ เล่าจื๊อ หรือพลังของจักรวาลต่างๆจะต้องอธิษฐานอย่างไร ตอบว่า หิ หิ การคบหาหรือเล่นกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (divine) นี่ไม่ใช่เรื่องที่ผมถนัดนะครับ ผมตอบเท่าที่ผมเห็นคนเขาทำกันอยู่ทั่วไป มันมีวิธีทำอยู่สามแบบนะ

     แบบที่หนึ่ง คือคุณยอมมอบกายถวายชีวิตแบบศิโรราบให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคุณ สมมุติว่าเป็นพระเจ้าของคุณก็แล้วกันนะ คุณไว้วางใจ (trust) พระเจ้าของคุณ มั่นใจในพระเจ้าของคุณร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าทุกสิ่งที่พระเจ้าให้คุณมามี มาเป็น มาประสบ ที่เดี๋ยวนี้นั้น ท่านให้คุณมาด้วยความหวังดีว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นที่คุณจะต้องได้มี จะต้องได้เป็น จะต้องได้พบอย่างนี้ ดังนั้นคุณจึงยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับคุณที่เดี๋ยวนี้ได้หมดเพราะว่ามันเป็นประสงค์ของพระเจ้า แม้ว่าบางทีคนหรือสิ่งที่พระเจ้าส่งมาให้อยู่กับคุณนั้นคนอื่นอาจจะมองว่าช่างตกสะเป๊คขนาด แต่คุณไว้วางใจพระเจ้าจึงรับได้หมดไม่มีการแอะหรืออิดออดแม้แต่นิดเดียว มิหนำซ้ำคุณยังเปิดอ้าซ่า คือนอกจากจะเปิดรับพลังเมตตา (grace) จากพระเจ้าเข้ามาสู่ตัวแล้ว คุณยังเปิดยอมรับอะไรก็ตามที่พระเจ้าจะใส่เข้ามาอีกในแต่ละโมเมนต์ ในแต่ละแว้บ อะไรที่เข้ามาแล้วก่อให้เกิดความรู้สึกแย่ๆท้อถอยคุณก็จะดูดซับมันไว้ว่าชั่วดีถี่ห่างมันก็เป็นสิ่งที่พระเจ้าให้มา อะไรที่เข้ามาแล้วก่อให้เกิดความรู้สึกดีๆพลังดีๆขึ้นในตัวคุณ คุณก็เผื่อแผ่มันออกไปให้คนอื่นแบบที่เรียกว่าแผ่เมตตาออกไปไม่เลือกหน้าแม้จะเป็นคนที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับคุณเอง เพราะว่าคนอื่นหรือชีวิตอื่นทุกชีวิตล้วนเป็นเลือดเป็นเนื้อของพระเจ้าเช่นเดียวกับคุณเหมือนกัน ถ้าคุณใช้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้แบบนี้ คุณอาจหลุดพ้นได้ง่ายๆเลยนะ เพราะคุณอาศัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำให้คุณยอมรับปัจจุบันได้ 100% ใครก็ตามที่ยอมรับปัจจุบันได้ 100% ไม่โหยหาอดีตหรือร้องเรียนคาดหวังอะไรกับอนาคต คนนั้นย่อมหลุดพ้นในทันที

     แบบที่สอง. คุณอาศัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้เป็นที่อ้อนวอนอธิษฐานหรือลี้ภัยทางใจ การอ้อนวอนหรืออธิษฐานใดๆเนี่ยมันเป็นความคิดที่เกิดจากการที่เราไม่ยอมรับสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  พูดง่ายๆว่าเราอ้อนวอนอธิษฐานเพราะเราอยากหนีจากปัจจุบันไปเกาะอยู่กับ "ความหวัง" ซึ่งเป็นความคิดพาเราลี้ภัยออกจากปัจจุบันไปจินตนาการว่าสิ่งดีๆจะเกิดขึ้นกับเราในอนาคต วิธีหนีจากปัจจุบันอีกวิธีหนึ่งที่คนนิยมทำกันคือการเกาะอยู่กับ "ความกลัว" ซึ่งก็เป็นความคิดที่พาเราหนีไปจากปัจจุบันไปจินตนาการว่าสิ่งร้ายๆจะเกิดขึ้นกับเราในอนาคต การจะหนีตามผู้ชายทั้งทีก็ควรจะหนีตามผู้ชายน่ารักมากกว่าหนีตามผู้ชายที่น่าชังถูกแมะ ฉันใดก็ฉันเพล ใครก็ตามที่พลังยังไม่มากพอที่จะยอมรับปัจจุบันได้แบบนิ่มๆนิ่งๆ การหนีไปกับความหวังก็ย่อมดีกว่าหนีไปกับความกลัว พูดง่ายๆว่าไหนๆก็จมอยู่ในความคิดอยู่แล้ว ความคิดบวกย่อมดีกว่าความคิดลบ ดังนั้นการอ้อนวอนอธิษฐานก็คือการใช้ความคิดบวกไล่ความคิดลบ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่มีประโยชน์สำหรับคนที่ยังไม่มีพลังถึงขั้นจะยอมรับทุกอย่างในปัจจุบันตามที่มันเป็นได้ คือเมื่อยังไม่เจ๋งถึงขั้นจะขึ้นไปเล่นในสนามพลังงาน (ปรมัติ) ก็ต้องเล่นในสนามความคิด (สมมุติบัญญัติ) ไปก่อน เปรียบเหมือนนักฟุตบอลอังกฤษ ฝีเท้าไม่ถึงขั้นจะไปเตะในพรีเมียร์ลีก ก็ต้องตระเวณเตะในดิวิชั่นต่ำๆไปพลางๆก่อน

     แบบที่สาม คุณเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้เป็นเป้าดึงให้คุณจมอยู่ในความคิดซ้ำซากหรือเติมความยึดมั่นในความเป็นบุคคลของคุณ ยกตัวอย่างเช่นการพยายามจะสรุปหรือจำแนกว่าคุณเป็นคน "เชื่อ" หรือ "ไม่เชื่อ" เคารพ หรือไม่เคารพในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คุณวางตัวเองว่าเป็นคนหัววิทยาศาสตร์หรือเป็นคนหัวนิยมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การปักใจเชื่อหรือไม่เชื่อสิ่งที่คุณไม่รู้ เช่น เล่าจื้อมีอยู่จริงหรือไม่มี พลังจักรวาลมีจริงหรือไม่มี พระสยามเทวาธิราชมีจริงหรือไม่มี พระแก้วมรกตศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ศักดิ์สิทธิ์ ชาติหน้ามีจริงหรือไม่มี หรือการทะเลาะกันว่านี่เป็นวจนะของแท้หรือเป็นวจนะของเทียม เป็นต้น วิธีเล่นกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบนี้ผมรับประกันได้เลยว่าคุณจะเวียนว่ายตายเกิดอยู่กับสำนึกว่าเป็นบุคคล(อัตตา)ของตัวเองและความสงสัยของคุณเองอยู่นั่นแหละ ไม่มีวันได้หลุดพ้นไปไหนหรอก

     สำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่ได้มีไอเดียว่าอะไรศักดิ์สิทธิ์ไม่ศักดิ์สิทธิ์ ผมขอชี้ประเด็นว่าความเชื่อหรือไม่เชื่อล้วนเป็นเพียงความคิด ชีวิตนี้ประกอบด้วยสามอย่างนะ ความคิด ร่างกาย และความรู้ตัว ความคิดก็ดี ร่างกายนี้ก็ดี เป็นเพียงของแถมหรือ accessory หมายความว่ามันเป็นสิ่งที่เพิ่งมาสะสมพอกพูนเอาภายหลัง ความคิดเราพอกพูนขึ้นมาจากการศึกษาเรียนรู้จดจำของเรา ร่างกายเราพอกพูนขึ้นมาจากอากาศ น้ำ และอาหารซึ่งมาจากดินโดยที่วันหนึ่งก็ต้องกลับไปสู่ดิน ทั้งความคิดและร่างกายนี้จึงไม่ใช่ตัวชีวิตจริง ความรู้ตัวซึ่งเป็นตัวชีวิตจริงจะโผล่ให้เราเห็นต่อก็เมื่อเราถอยความสนใจออกมาจากสิ่งที่เป็น accessory ทั้งหลายเหล่านี้ให้ได้ก่อน เมื่อนั้นก็จะเหลืออยู่แต่ความรู้ตัว เมื่อเราหันมามีประสบการณ์กับของจริงที่เหลืออยู่ นั่นแหละคือเส้นทางที่จะบรรลุศักยภาพสูงสุดของการเกิดมาเป็นคน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

19 มีนาคม 2562

กังวลเพราะไม่เข้าใจความหมายผลตรวจมะเร็งปากมดลูก

สวัสดีค่ะคุณหมอ​
คือดิฉันไปตรวจมะเร็งปากมดลูกมา ผลออกมาแบบนี้คุณหมอช่วยอธิบายหน่อยได้ไหมคะ คุณหมอที่ตรวจไม่ได้อธิบายอะไรเลยค่ะ
Atypical squamous cells of undetermined significance, cannot excluded  HSIL(Asc-H)
คือกังวลมากค่ะกลัวเป็นมะเร็ง
รบกวนคุณหมอช่วยตอบด้วยนะคะ

..................................................................

ตอบครับ

     มีผู้หญิงที่มีการศึกษาดีเป็นแบบคุณนี้เยอะมาก เขาให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกก็ตรวจ ตรวจแล้วได้ผลเป็นอย่างไรไม่รู้ ถามว่าอ้าว เขาไม่ให้รายงานมาหรือ ตอบว่าให้มา แต่อ่านไม่เข้าใจ แล้วก็ทิ้งไปไหนไม่รู้นานแล้ว รู้แต่หมอบอกว่า "ไม่เป็นไร" แต่ถ้าหมอบอกว่าอาจจะผิดปกติ รายละเอียดเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ เหมือนกัน รู้แต่ว่าประสาทกินไปเรียบร้อยแล้ว การใช้การตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันมะเร็งแบบนี้จึงมีภาวะแทรกซ้อนอันสำคัญอันหนึ่งคือโรคปสด. (ประสาทแด๊กซ์) ทั้งๆที่การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคควรเป็นเรื่องที่มีแต่ได้ไม่มีเสีย แต่นี่กลับมีทั้งได้ทั้งเสีย โหลงโจ้งแล้วไม่รู้ว่าได้กับเสียอะไรจะมากกว่ากัน 

     แล้วอีกอย่างหนึ่งเวลาเขียนจดหมายมาหมอทั้งที ข้อมูลพื้นฐานเช่น อายุเท่าไหร่ น้ำหนักส่วนสูงเป็นอย่างไร หากไม่บอกมา ผมก็ขาดข้อมูลที่หากผมรู้แล้วอาจจะทำให้คำแนะนำของผมเป็นประโยชน์ต่อตัวคุณมากขึ้น

    การเกิดมาเป็นผู้หญิงนี้ หากวิชาแพทย์ไม่เปลี่ยนเนื้อหาไปมาก คุณจะต้องตรวจภายในเพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไปจนถึงอายุ 65 ปีโน่นแหละ ดังนั้นจึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหากคุณจะนั่งลงทำความเข้าใจกับวิธีประมวลผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่ผมจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้

     ก่อนอื่น ผมขอรีวิวให้คุณทราบระบบอ่านผลการตรวจภายในของแพทย์ทั่วโลกก่อน เขาเรียกว่าระบบอ่านแบบเบเทสด้า (Bethesda) ซึ่งแบ่งผลการอ่านเป็นขั้นๆไปดังนี้

     ขั้นที่ 1. NILM ย่อมาจาก negative for intraepithelial lesion แปลว่าปกติ ยังไม่ได้ทำท่าว่าจะเป็นมะเร็งเลยแม้แต่น้อย

     ขั้นที่ 2. ASC-US ย่อมาจาก Atypical squamous cells of undetermined significance แปลว่ามีเซลผิดปกติแบบไม่เจาะจงว่าจะเป็นอะไรกันแน่ ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อ HPV ซึ่งต่อมามักจะหายไปเอง มีโอกาสเป็นมะเร็งน้อยมาก ตรงนี้ขอเสริมเพื่อความงุนงงมากขึ้นอีกนิดหนึ่ง จะได้เข้าใจว่าทำไมวิชาแพทย์จึงเรียนกันนาน เพราะมันวกไปวนมาอย่างนี้นี่เอง คือเรื่องนี้วงการแพทย์มีสามมุมมอง คือ

    ขั้นที่ 3. ASC-H ย่อมาจาก Atypical squamous cells of high significance แปลว่ามีเซลผิดปกติค่อนข้างชัดเจนถึงขั้นน่าจะเป็นมะเร็งนะ

     ส่วนคำย่ออื่นๆที่แทรกเข้ามาหรือวงเล็บไว้ในคำอ่านเสมอนั้น เป็นเพราะวิชาแพทย์มองการเกิดมะเร็งปากมดลูกมาจากสามมุมมอง นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมวิชาแพทย์จึงต้องเรียนกันนาน เพราะมันวกไปวนมาอย่างนี้นี่เอง สามมุมมองที่ว่า คือ

     มุมมองที่ 1. คือมองจากนัยสำคัญของความผิดปกติของเยื่อบุผิวปากมดลูก จากมุมนี้หากผิดปกติระดับไร้สาระก็เรียกว่า ASC-US แต่หากผิดปกติระดับน่าจะมีสาระก็เรียก ASC-H

     มุมมองที่ 2. คือมองจากพยาธิสภาพของแผลที่ปากมดลูก (Squamous intraepithelial lesion) ว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งมากหรือน้อย เรียกย่อว่า SIL ถ้ามองจากมุมนี้ ตรวจพบ ASC-US ถือว่าเป็น Low-SIL หรือบางทีก็เขียนรวบว่า LSIL คือมีความผิดปกติน้อย ถ้ามีความผิดปกติมากจนน่าจะเป็นมะเร็งหรือ ASC-H ก็เรียกว่า High SIL ซึ่งมักเขียนย่อๆว่า HSIL

     มุมมองที่ 3. คือมองจากมุมการวินิจฉัยโรคมะเร็ง เรียกว่า CIN ย่อมาจาก Cervical Intraepithelium Neopasia หากมองจากมุมนี้ ผลเป็น ASC–US หมายถึงไม่เป็นมะเร็ง เรียกว่าเป็น CIN1 ถ้าผลเป็น ASC-H ก็หมายถึงน่าจะเป็นมะเร็งนะ เรียกว่า CIN2 แต่ถ้าถึงขั้นเป็นมะเร็งแน่นอนชัวร์ป๊าดไปแล้วเรียบร้อยก็เรียกว่า CIN3 หรือเรียกอีกอย่างว่า Carcinoma in situ (CIS)

     เอาละครับ เมื่อได้ทราบความหมายของคำอ่านผลแป๊บที่แพทย์ใช้แล้ว คราวนี้มาพิจารณาปัญหาของคุณ

     1. คุณตรวจพบ ASC-US แปลว่ามีเซลผิดปกติแบบไม่เจาะจงที่หน้าตาไม่เหมือนเซลมะเร็ง แปลไทยเป็นไทยว่า คุณไม่ได้เป็นมะเร็ง ถ้ามีข้อมูลแค่นี้หมอเขาก็จะไม่ทำอะไร แต่จะนัดตรวจภายในถี่ขึ้นเช่นทุก 6 เดือน เผื่อว่ามันจะกลับมาเป็นปกติเอง แต่หากตรวจไปครั้งหนึ่งก็แล้ว สองครั้งก็แล้ว ก็ยังเป็น ASC-US อยู่ หมอเขาก็มักจะส่องกล้องเข้าไปดูปากมดลูก (colposcopy) แล้วตัดตัวอย่างเนื้อปากมดลูก (biopsy) ออกมาตรวจให้รู้ดำรู้แดง

     แต่ในกรณีของคุณนี้ รายงานผลได้อ่านแบบ "แทงกั๊ก" มาด้วย ว่านอกจากจะวินิจฉัยว่าเป็น ASC-US แล้ว
     "ผมวินิจฉัยว่าผิดปกติระดับไม่เป็นมะเร็ง แต่ผม (หมอคนอ่านผล) ยังไม่ชัวร์นะว่าจะผิดปกติถึงระดับน่าจะเป็นมะเร็ง (ASC-H) ด้วยหรือเปล่า" 

     เห็นรายงานอย่างนี้แล้วคุณอย่าไปตีความว่าหมอคนอ่านเขาปกป้องตัวเองกลัวอ่านผิดนะ แต่เป็นเพราะวิธีอ่านที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันมันเป็นการดูโหงวเฮ้งของเซลแล้ววินิจฉัย บางครั้งโหงวเฮ้งมันไม่ชัด มันจึงแยกแยะเพะๆเลยไม่ได้ก็เลยต้องอ่านแบบแทงกั๊กอย่างนี้แหละ นี่เป็นเรื่องธรรมดา

     สรุปว่าหมอเขาวินิจฉัยว่าคุณมีความผิดปกติของเซลที่เบาะๆก็ไม่เกี่ยวกับมะเร็ง (ASC-US) แต่เผลอๆก็อาจจะเป็นมะเร็ง (ASC-H หรือ HSIL) ก็ได้ หิ หิ ซึ่งการอ่านแบบนี้มันก็ต้องทำให้ปสด.เป็นธรรมดา การจะหายจากปสด.ได้มีทางเดียว คือ ต้องส่องกล้องเข้าไปดูปากมดลูก (colposcopy) แล้วตัดตัวอย่างเนื้อปากมดลูกออกมาตรวจชิ้นเนื้อให้รู้แล้วรู้แร่ด

     ถามว่าถ้าส่องกล้องดูปากมดลูกและตัดเนื้อมาตรวจแล้วได้ผลปกติละ จะทำอย่างไรต่อ คำแนะนำมาตรฐานก็คือให้ตรวจภายในทุก 6 เดือนควบกับตรวจ HPV ทุกหนึ่งปี จนกว่าหมอและคนไข้จะเบื่อหน้ากันไปข้างหนึ่ง หรือจนกว่าทุกอย่าง (ทั้ง ASC-US และ HPV) จะกลับมาเป็นปกติอย่างน้อยในการตรวจติดต่อกันสองครั้งขึ้นไป จึงจะหายบ้า เอ๊ย ขอโทษ จึงจะลดระดับการตรวจคัดกรองมาเท่าผู้หญิงทั่วไปได้
 
     ก่อนจบขอแถมให้ท่านผู้อ่านทั่วไป ว่าคณะทำงานป้องกันโรครัฐบาลสหรัฐ (USPSTF) ได้ออกคำแนะนำล่าสุด (2018) เกี่ยวกับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสำหรับผู้หญิงว่า

1. ผู้หญิงอายุ 21-65 ปี ควรได้รับการตรวจคัดกรองด้วยวิธีตรวจภายในดูเซล (Pap cytology) หรือตรวจภายในควบกับตรวจ HPV ทุก 3 ปี ในกรณีที่อายุ 30-65 ปี หากอยากจะยืดการตรวจให้ห่างออกไปอาจทำการตรวจควบ Pap cytology + HPV ทุก 5 ปีก็ได้
2. ไม่แนะนำให้ตรวจ HPV ในหญิงอายุไม่เกิน 30 ปี
3. ไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในหญิงอายุน้อยกว่า 21 ปี
4. ไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในหญิงอายุเกิน 65 ปีที่ผลตรวจที่ผ่านมาปกติ
5. ไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในหญิงที่ตัดมดลูกทั้งอัน (total hysterectomy) ไปแล้วหากไม่เคยตรวจพบเซลผิดปกติระดับ CIN2 หรือ CIN3 มาก่อน

ลองดูให้ดีนะครับ ปัจจุบันนี้เราตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมากเกินความจำเป็นที่บ่งชี้โดยหลักฐานวิทยาศาสตร์ไปมากเพราะความเคยชินของคนไข้เองบ้าง ของแพทย์บ้าง ของที่ไม่จำเป็น ก็คือไม่จำเป็น ไม่ต้องทำก็ได้นะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Solomon D, Davey D, Kurman R, Moriarty A, O'Connor D, Prey M, et al. The 2001 Bethesda System: terminology for reporting results of cervical cytology. JAMA. 2002;287:2114–9.
2. Einstein MH, Martens MG, Garcia FA, et al. Clinical validation of the Cervista(R) HPV HR and 16/18 genotyping tests for use in women with ASC-US cytology. Gynecol Oncol 2010 May 18. doi:10.1016/j.ygyno.2010.04.013
3. Aerssens A , Claeys P , Garcia A, Sturtewagen Y, Velasquez R, Vanden Broeck D, Vansteelandt S, Temmerman M, Cuvelier CA . Natural history and clearance of HPV after treatment of precancerous cervical lesions. Histopathology . 2008; 52(3):381 – 386.
4. USPSTF. Final Recommendation Statement 2018 Cervical Cancer: Screening. Accessed on March 19, 2019 at https://www.uspreventiveservicestaskforce.org/Page/Document/RecommendationStatementFinal/cervical-cancer-screening2

[อ่านต่อ...]

18 มีนาคม 2562

อย่า "เชื่อ" หรือ "ไม่เชื่อ" เพราะจะปิดโอกาส "รู้"

     วันหนึ่งผมคุยกันในวงเล็กๆในแค้มป์ Spiritual Retreat มีคนถามผมว่าทำอย่างไรจึงจะมีศรัทธาต่ออะไรสักอย่างจริงจังได้เหมือนคนอื่นเขาบ้าง ผมตอบว่า

     "ไม่จำเป็นหรอก มันมีสองวิธีให้คุณเลือกซึ่งจะพาคุณไปถึงฝั่งได้ทั้งคู่ คือ ถ้าคุณนับถือพระเจ้า คุณก็ทำงานร่วมกับพระเจ้าของคุณ ถ้าคุณไม่นับถือพระเจ้า คุณก็เป็นพระเจ้าเสียเอง" 

     แล้วก็มีคนถามผมว่า

     "หมอสันต์เชื่อเรื่องพระเจ้าด้วยหรือ" ผมตอบว่า

     "ผมไม่ "เชื่อ" อะไรทั้งนั้น และไม่ "ไม่เชื่อ" อะไรทั้งนั้น" 

     วันนั้นๆไม่มีโอกาสได้คุยกันเจาะลึกนอกจากคำตอบสั้นๆ จึงขอใช้บล็อกวันนี้เพื่อการนี้สักหน่อยนะ

     คืออะไรก็ตามที่เรารู้อย่างชัดเจนแล้วเช่นน้ำเป็นของเหลว หรือไฟเป็นของร้อน อย่างนี้ไม่ต้องมีใครมาถามว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ เพราะไม่จำเป็น มันชัดอยู่แล้ว คำถามว่าเชื่อหรือไม่เชื่อเกิดเฉพาะกับของที่เราไม่รู้

     ประเด็นของผมคือในการจะหลุดพ้นออกไปจากกรงความคิดของคุณเองนี้ อย่า "เชื่อ" หรือ "ไม่เชื่อ" อะไรทั้งสิ้น

     เพราะโมเมนต์ที่คุณเชื่อ (belief) คุณได้สะกดจิตตัวเองหรือจัด (identify) ตัวเองว่าเป็นคุณเป็นพวกเดียวกันหรือแบบเดียวกันกับความเชื่อนั้นไปเรียบร้อยแล้ว ความเชื่อนั้นจะฝังลงไปเป็นความจำของคุณ รอเวลาที่จะกลับขึ้นมาเป็นความคิดใหม่ซึ่งจะบงการชีวิตของคุณไปตามทิศทางนั้น

     เช่นเดียวกันเมื่อคุณ "ไม่เชื่อ" อะไร คุณก็สะกดจิตตัวเองหรือ identify ตัวเองว่าอยู่ตรงข้ามกับสิ่งนั้นไปเรียบร้อยแล้วอีกเช่นกัน ผลก็จะเป็นแบบเดียวกัน เพียงแต่ว่าคุณไปอยู่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่คุณไม่เชื่อ

     ทั้งการ "เชื่อ" หรือ "ไม่เชื่อ" เป็นการปิดโอกาสที่คุณจะได้ "รู้" เพราะการที่คุณจะรู้ขึ้นมาได้ คุณต้องตั้งต้นจากการที่คุณยอมรับก่อนว่าคุณไม่รู้

     ทั้งการเชื่อหรือไม่เชื่อเป็นความคิด ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นแบบอัตโนมัติ ผ่านกลไกที่สิ่งเร้า (stimuli) ผ่านเข้ามาทางอายตนะ (sensors) ถูกแปลงเป็นภาษา (names and forms) เทียบเคียงคลุกเคล้ากับความจำ (memory) ที่ได้บันทึกไว้ แล้วตกกระทบกลายเป็นความรู้สึก (feeling) บนกายและใจ แล้วเกิดเป็นความคิด (thought) เชื่อหรือไม่เชื่อขึ้นต่อยอดความรู้สึกนั้น

     แต่การยอมรับว่าไม่รู้ ไม่ใช่ความคิดนะ เป็นการเปิดรับ (receptive) สิ่งต่างๆที่ผ่านเข้ามาทางอายตนะตามที่มันเป็นโดยไม่คิดอะไรต่อยอด ไม่พิพากษา ไม่วิเคราะห์ตัดสิน ไม่ "เชื่อ" และไม่ "ไม่เชื่อ" เพียงเปิดรับรู้ตามที่มันเป็น และยอมรับว่ายังไม่รู้อะไรที่มากกว่าที่มันปรากฎตรงๆโต้งๆต่ออายตนะ

     การใช้ชีวิตอยู่กับความเชื่อหรือไม่เชื่อ เป็นการใช้ชีวิตแบบถูกกำกับโดยความจำแต่หนหลัง ไม่ว่าจะในรูปของการศึกษาอบรม การยึดมั่นในคอนเซ็พท์ถูกผิด ดีชั่ว ศีลธรรม ประเพณี จึงเป็นการใช้ชีวิตในแบบที่บูดๆ จืดๆ ชืดๆ หรือบางครั้งก็เน่าๆ ซ้ำๆซากๆ ไม่มีวันที่จะหลุดออกมาได้

     ขณะที่การใช้ชีวิตอยู่กับการเปิดรับสิ่งที่เข้ามาที่เดี๋ยวนี้ตามที่มันเป็นโดยหากไม่รู้ก็ยอมรับว่ายังไม่รู้ เป็นการใช้ชีวิตแบบน่าตื่นเต้น ตื่นตา ตื่นใจ กับสิ่งใหม่ๆที่เข้ามาตลอดเวลา ทีและแว้บ ทีละแว้บ เพราะใครจะไปรู้ได้ว่าแว้บต่อไปอะไรจะเข้ามา มันจึงเป็นชีวิตที่น่าตื่นเต้น น่าพิศวง ท้าทาย ชวนให้ทำความรู้จัก

     ความเชื่อทำให้คุณ "กลายเป็น" หรือ becoming ซึ่งในการเกิดมามีชีวิตครั้งหนึ่งนี้ ยิ่งคุณกลายเป็นอะไรต่ออะไรมากเท่าใด คุณก็ยิ่งติดกับดักความเป็นบุคคลของคุณมากเท่านั้น หมดโอกาสที่จะเปิดรับอะไรในรูปของสิ่งใหม่ๆ สดๆ ซิงๆ อย่างปลอดอิทธิพลของตัวตนหรืออีโก้ได้

     ชีวิตนี้มีอยู่สามส่วนนะ คือ ร่างกาย ความคิด และ ความรู้ตัว ตัวความรู้ตัวซึ่งเป็นส่วนที่สถาพรที่สุดของชีวิตนั้นเป็นพลังงานหรือคลื่นความสั่นสะเทือนชั้นที่ละเอียดและมีศักยภาพสูงสุดที่อยู่นอกบัญญัติของภาษา การจะเข้าถึงพลังงานชั้นในสุดนี้ได้เราจำเป็นต้องอาศัยคลื่นความสั่นสะเทือนหรือพลังงานเป็นตัวพาเราไป ไม่ใช่อาศัยความเข้าใจภาษาพาไป พลังงานนั้นปรากฎต่อเราในรูปของอาการถูกจริต (passion) หมายความว่าเราชอบอะไรมากๆมันจะเกิดพลังงานคึกคักกระดี๊กระด๊าขึ้นในตัว นั่นแหละคือสะพานที่ทอดให้เราเดินเข้าไปสู่ความรู้ตัว หรือสู่ความหลุดพ้น

     เราจะได้รู้จักว่าอะไรเป็นสิ่งที่เราชอบจริง หรือสิ่งที่ถูกจริต หรือ passion ของเรา ก็ต่อเมื่อเรามีโอกาสได้มีชีวิตอยู่กับสิ่งใหม่ๆ สดๆ ซิงๆ อยู่ตลอดเวลา เราก็จะรู้ได้โดยอัตโนมัติว่าเราถูกจริตกับอะไร ไม่ถูกจริตกับอะไร แต่ถ้าหากเราไปจมอยู่ในความคิดคือความเชื่อหรือความไม่เชื่ออันเป็นแกงเก่าๆชืดๆบูดๆเสียแล้ว เราจะไปมีโอกาสได้สัมผัสเปรียบเทียบได้อย่างไรว่าอะไรคือสิ่งที่เราชอบจริง อะไรใช่ อะไรไม่ใช่ อย่างดีเราก็ทำได้แค่สะกดจิตตัวเองให้อยู่ในความเชื่อหรือความไม่เชื่อนั้นไปจนตาย หมดโอกาสที่จะได้ออกมาจากชีวิตแบบเก่าๆบูดๆอย่างชั่วนิรันดร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนของเราที่ถูกครอบด้วยระบบการศึกษาแบบถูกบังคับให้เชื่อ ชนิดที่พอโตขึ้นเมื่อเปิดให้เลือกทำอะไรที่ตัวเองชอบ เขาหรือเธอก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าในชีวิตนี้เขาหรือเธอไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร มีแต่ความเชื่อว่าตัวเองเป็นคนดี เชื่อว่าคนอื่นเป็นคนไม่ดี เป็นต้น แต่ไม่มีประสบการณ์ว่าทำอะไรอย่างไรจึงจะทำให้ชีวิตตัวเองเบิกบาน กลายเป็นคนไม่รู้วิธีที่จะใช้ชีวิตให้มีความสุข ได้แต่คอยเอาความเชื่อของตัวเองไปพิพากษาตัดสินคนอื่น ถ้าคนอื่นเขาทำตรงกับสะเป๊คในใจของตัวเองก็ดีไป ถ้าเขาทำไม่ถูกสะเป๊คตัวเอง ตัวเองในฐานะผู้พิพากษาก็เป็นทุกข์ไปเพราะการกระทำของคนอื่นเขา น่าเสียดายนะ ในชีพที่แสนสั้นนี้ หากเสียเวลาไปกับเรื่องแบบนี้เสียชั่วชีวิต ก็จะเสียชาติเกิดเปล่าๆ

     นอกจากจะเป็นตัวปิดหนทางไปสู่ความหลุดพ้นแล้ว ความเชื่อ (belief) ยังมีผลข้างเคียงอีกนะ มันเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเราต้องทะเลาะกันหรือทำสงครามฆ่ากันตายทีละเป็นเบือเพื่อปกป้องความเชื่อหรือตัวตน (identity) ของเราไม่ว่าจะในรูปของศาสนา เผ่าพันธ์ ประเทศชาติ เพศ ผิวสี สถาบัน ก็ตาม

     อนึ่ง อย่าเอาความเชื่อ (belief) ไปสับสนกับความไว้วางใจ (trust) ในสิ่งที่ปรากฎต่อเราตรงหน้าเดี๋ยวนี้นะ ความไว้วางใจในสิ่งที่ปรากฎอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรายอมรับปัจจุบัน และทิ้งความคิดไร้สาระอย่างความกลัวและความหวังได้ ดังนั้นความไว้วางใจไม่ปฏิเสธสถานะการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วตรงหน้าจึงเป็นของมีประโยชน์ แต่ความเชื่อในความคิดเป็นตุเป็นตะเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ตัวเองยังไม่รู้นั้นเป็นของมีโทษ อย่าเอามาปนกัน เพราะการพูดถึงสิ่งนี้ด้วยภาษามีความเสี่ยงมากที่จะเอาสองสิ่งนี้มาสับสนปนเปกัน เช่นคำว่าศรัทธา (faith) มักถูกใช้ไปในสองความหมายตามแต่ผู้ใช้จะหยิบไปใช้ บ้างใช้ในความหมายว่าเป็นความเชื่อ บ้างใช้ในความหมายว่าเป็นความไว้วางใจ จะใช้ศัพท์ตัวไหนในความหมายไหนไม่สำคัญเพราะมันเป็นแค่ภาษา แต่ขอให้จับสาระให้ได้ว่าความเชื่อเป็นของมีโทษ ความไว้วางใจเป็นของมีประโยชน์

ปล. 
     คำว่า อายตนะ หมายถึงเครื่องมือที่เราใช้รับรู้สิ่งเร้า ซึ่งในภาษาวิทยาศาสตร์หมายถึงห้าอย่างคือ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวหนัง แต่ในทาง spiritual ต้องหมายความรวมถึงอย่างที่หก คือ "ใจ" ด้วย ผมขอให้สนใจตรงนี้เป็นพิเศษนะ ตรงที่ "ใจ" ในฐานะที่เป็นอายตนะ เพราะหากไม่สนใจก็จะไม่เข้าใจว่ามันเป็นอย่างไร เพราะใจ (mind) นี้ปรากฎอยู่ได้ในสองสถานะ ขึ้นอยู่กับว่าความสนใจ (attention) จะไปจดจ่อคลุกเคล้าอยู่ที่ตรงไหน หากความสนใจไปคลุกเคล้าอยู่ในความคิด (thinking a thought) ใจก็จะปรากฎในสถานะของความคิด แต่หากความสนใจถอยกลับมาเป็นผู้สังเกตความคิด (aware of a thought) ใจก็จะปรากฎเป็นผู้สังเกต ใจที่เป็นผู้สังเกตนี่แหละคือใจที่ทำหน้าที่เป็นอายตนะ ไม่ใช่ใจที่ปรากฎเป็นความคิดอันเป็นสิ่งที่ถูกส้งเกตนะ อย่าเอามาสับสนปนเปกัน 

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

17 มีนาคม 2562

หัวใจขาดเลือด ควรวิ่งออกกำลังกายอย่างไร

สวัสดีค่ะ คุณหมอ
ขอส่งคำถามของสามีมาดังนี้ค่ะ ขอขอบพระคุณคุณหมอล่วงหน้าค่ะ
ผมชื่อ ... อายุ 68ปี สูง 174 ซม น้ำหนัก 66กก ขณะนี้ ออกกำลังโดยการวิ่งตอนเช้า สัปดาห์ละ 4 วัน ระยะทาง 26 กม/สัปดาห์ (วันละ 5-7 กม) ความเร็วเฉลีย 8-9 นาที/กม โดยเริ่มวิ่งตั้งแต่ 20 สค 61 ผมมีปัญหาคือ ขณะวิ่งจะรู้สึกเจ็บหน้าอกซ้าย ทำให้ไม่สามารถวิ่งได้เร็วกว่า 7.5 นาที/กม ได้ ถ้าวิ่งช้าลงความรู้สึกเจ็บจะลดลง อยู่ในระดับแค่พอรู้สึกได้ ผมเคยลงวิ่ง  mini marathon ระยะ 10กม ทำเวลาได้ 1ชม 22นาที
ผมได้แนบผลการตรวจเลือดมาด้วยแล้ว ซึ่งปรากฎมีค่า cholesterol และ triglyceride  สูงกว่าค่ามาตรฐาน
ผมขอสอบถามว่า
1 อาการเจ็บหน้าอกขณะออกกำลังกายเกิดจากอะไร
2 ผมควรจะออกกำลังอย่างไร วิ่งให้เร็ว ให้รู้สึกเจ็บแล้วค่อยลดความเร็วลง หรือวิ่งช้าๆ นานๆ แต่ไม่ให้รู้สึกเจ็บหน้าอกมาก
3 ควรมีการตรวจหัวใจอย่างไรบ้าง เพื่อให้ทราบสาเหตที่แท้จริง
4. อยากถามว่าในที่สุด การฉีดสีเป็นหนทางเดียวหรือเปล่าที่จะทำให้ทราบสภาวะของหัวใจที่แท้จริง
ปล. ผมเคยไปเช็คร่างกายและได้ทำการวิ่งสายพาน ผลออกมาว่ามีความผิดปรกติเล็กน้อย

.............................................

ตอบครับ

     1. ถามว่าอาการเจ็บหน้าอกขณะออกกำลังกายเกิดจากอะไร ตอบว่า แพทย์จะวินิจฉัยอาการเจ็บหน้าอกขณะออกกำลังกายว่าเกิดจากโรคหัวใจขาดเลือด (หลอดเลือดหัวใจตีบ) ไว้ก่อนเสมอ เว้นเสียแต่จะพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่

     สาเหตุที่เป็นไปได้อื่นๆเช่น (1) เจ็บจากกล้ามเนื้อผนังหน้าอกขาดเลือดซึ่งมักเกิดในคนที่ร่างกายไม่ฟิต ไม่เคยออกกำลังกายมากๆเป็นประจำแล้วมาออกทีเดียวแรงๆ (2) เจ็บจากกระดูกหรือกระดูกอ่อนที่ผนังหน้าอกขยับหรือปลายที่บาดเจ็บอยู่ก่อนเสียดสีกันจากการออกกำลังกาย (3) เจ็บจากเยื่อหุ้มปอดที่อักเสบแล้วมีการขยับเยื่อหุ้มปอดมากเมื่อหายใจแรงหรือไอ (4) เจ็บจากหลอดอาหารเช่นเป็นกรดไหลย้อน เป็นแก้สในท้อง เป็นแผลในกระเพาะ (5) เจ็บจากความเครียด (stress) หรือกลัวเกินเหตุ (panic disorder) ซึ่งสมัยก่อนเรียกรวมๆกันว่าเป็นโรคประสาท เป็นต้น

     2. ถามว่าควรจะวิ่งอย่างไร ตอบว่าควรวิ่งตามวิธีออกกำลังกายแอโรบิกแบบมาตรฐาน คือมีการวอร์มอัพเบาๆก่อน แล้วค่อยๆเพิ่มความเร็วขึ้นไปจนถึงระดับหนักปานกลาง (หอบแฮ่กๆ ร้องเพลงไม่ได้) เอาแค่นั้นพอ ไม่ต้องเอาถึงระดับหนักมาก (คือพูดไม่ได้)

     ส่วนอาการเจ็บหน้าอกนั้น ถ้าถึงระดับหนักปานกลางแล้วมันไม่เจ็บ ก็ดีแล้ว ไม่ต้องไปพยายามออกให้หนักขึ้นเพื่อให้มันเจ็บ ไม่จำเป็น แต่ถ้าแค่ออกในระดับหนักปานกลางแล้วเจ็บแน่นหน้าอก ต้องชลอลงมาอยู่ในระดับที่ไม่มีอาการเจ็บ และต้องอยู่ระดับที่ไม่เจ็บนี้ไปอีกหลายวัน อย่างน้อยสองสัปดาห์ จึงจะค่อยๆขึ้นไปลองให้ถึงระดับหนักปานกลางใหม่ ถ้าเจ็บอีก ก็ถอยอีก ถอยสักสองสัปดาห์แล้วค่อยๆลองขึ้นไปแหยมใหม่ คือเอาอาการเจ็บหน้าอกเป็นตัวบอกว่าอย่าออกให้ถึงระดับนี้ อาศัยยุทธศาสตร์ขี่ม้าเลียบค่าย หลายๆวันถ้าอาการเจ็บหน้าอกเผลอก็ลองแหยมดูสักที ถ้ายังเจ็บก็ถอยลงมาเลียบค่ายใหม่ วิธีนี้จะทำให้หลอดเลือดฝอยสำรองที่มีอยู่มากมายทั่วหัวใจถูกเปิดใช้งานเพื่อให้เลือดไหลเบี่ยงหรือไหลอ้อมจุดตีบได้มากจนพอแก่ความต้องการได้ แน่นอนว่าการออกกำลังกายจะต้องใช้ควบคู่กับการปรับอาหารไปเป็นกินพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำเพื่อให้รอยตีบนั้นกลับมาโล่งขึ้นด้วย

      อย่าไปวิ่งแบบต่อสู้กะเอาชนะอาการเจ็บหน้าอกแบบซึ่งๆหน้าตรงๆเด็ดขาด เพราะวิธีนั้นมีความเสี่ยงที่หัวใจจะขาดเลือดมากจนกระตุ้นให้เกิดหัวใจห้องล่างเต้นรัว (VF) อันเป็นสาเหตุให้เด๊ดสะมอเร่ ทันที ณ ที่เกิดเหตุ ได้

     3. ถามว่าควรตรวจหัวใจอย่างไรบ้าง เพื่อให้ทราบสาเหตที่แท้จริง ตอบว่าต้องแบ่งเป็นสองกรณี

     กรณีที่ 1. หากอาการเจ็บหน้าอกขณะออกกำลังกายเป็นไม่มาก ไม่รบกวนคุณภาพชีวิตถึงขั้นที่จะต้องทำการบรรเทาอาการด้วยการรักษาแบบรุกล้ำ (บอลลูนหรือบายพาส) ควรจำกัดการตรวจวินิจฉัยไว้แค่การตรวจที่ไม่รุกล้ำถึงเลือดตกยางออก เช่นตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ตรวจหัวใจขณะวิ่งสายพาน (EST) ตรวจคลื่นเสียงหัวใจ (Echo) ตรวจแคลเซียมที่หลอดเลือดหัวใจ (CAC) หรืออย่างมากก็ตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CTA) ก็พอแล้ว จะไม่ตรวจอะไรเลยก็ยังได้ เพราะลำพังแค่อาการเจ็บหน้าอกขณะออกแรงบวกกับการมีปัจจัยเสี่ยงเช่นไขมันในเลือดสูงก็เป็นข้อมูลที่เพียงพอที่จะวินิจฉัยแบบกึ่งเดา (provisional diagnosis) ว่าคุณเป็นโรคหัวใจขาดเลือดได้แล้ว และเริ่มจัดการโรคด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงด้วยการปรับการใช้ชีวิตและการกินอาหารได้แล้ว หากทำแล้วปัจจัยเสี่ยงยังไม่กลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติก็ใช้ยาช่วย (เช่นยาลดไขมัน ยาลดความดัน ถ้ามีข้อบ่งชี้) ถึงคุณตรวจเพิ่มเติมไปได้ข้อมูลมาแยะ การจัดการโรคก็ทำแค่นี้ คือข้อมูลที่ได้มาไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงแผนการจัดการโรค

     กรณีที่ 2. หากอาการของโรคมันเป็นมากถึงระดับทำให้คุณภาพชีวิตเสียไปจนใช้ชีวิตปกติไม่ได้ สมควรที่จะใช้วิธีรักษาแบบรุกล้ำ (คือทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหรือผ่าตัดบายพาส) เพื่อบรรเทาอาการนั้น ควรจะมุ่งไปทำการตรวจสวนหัวใจ (CAG) เลยทันที โดยหากผลตรวจยืนยันว่าเป็นโรคจริงก็ทำบอลลูนหรือบายพาสต่อไปเลยแบบม้วนเดียวจบ

     ขอย้ำตรงนี้หน่อยนะว่า หากคุณไม่อยากเอามือไปซุกหีบ กรณีที่อาการของคุณไม่มากถึงขั้นต้องรักษาแบบรุกล้ำ ลำพังข้อมูลอาการเจ็บหน้าอกขณะออกกำลังกายร่วมการมีปัจจัยเสี่ยงก็เพียงพอที่จะวินิจฉัยโรคนี้และจัดการโรคนี้ได้แล้ว การไปตรวจหัวใจเพิ่มเติมจะไม่เปลี่ยนแปลงแผนการรักษา อย่าไปตรวจหัวใจไม่ว่าจะเป็นการตรวจ EST, CTA หรือแม้กระทั้งการสวนหัวใจ (CAG) เพียงเพื่อจะรักษาโรคประสาท หมายความว่าไปตรวจเพื่อหวังว่าจะได้ผลปกติ แล้วจะได้สบายใจว่าหัวใจยังดีอยู่ จะได้กินสบายอยู่สบายแบบเดิมๆต่อไป การทำอย่างนั้นคุณมีความเสี่ยงที่จะตกลงไปในสถานะการณ์น้ำตก (cascade phenomenon) คือเหมือนคนตกน้ำตกเจ็ดสาวน้อย ตกไปชั้นหนึ่ง แล้วก็จะไหลไปตกอีกชั้นหนึ่งๆๆๆ แล้วไปจบตรงที่คุณคิดไม่ถึงว่าจะจบอย่างนั้นได้ ยกตัวอย่างเช่นตรวจวิ่งสายพานแล้ว ผลไม่แน่ใจ ไม่ชัด สวนหัวใจดีกว่านะ เอ้า สวนหัวใจดู สวนหัวใจแล้ว..เอ๊ะมีรอยตีบอยู่นะ ใช้บอลลูนขยายใส่ขดลวด (stent) ค้ำไว้ดีกว่า ทำไปแล้ว..อ้าว ลิ่มเลือดอุดตันที่ขดลวด หรือทำแล้วบังเอิญสายสวนทะลุหลอดเลือด ต้องผ่าตัดบายพาส เอ้า ผ่าตัดแล้ว..บังเอิญมีภาวะแทรกซ้อนไตเสียการทำงาน ต้องล้างไต อะไรอย่างนี้เป็นต้น คือแค่ตั้งต้นด้วยการจะรักษาโรคประสาทของตัวเองเท่านั้นเอง แต่กระแสน้ำตกจะพาคุณไปได้ไกลอย่างคุณคาดไม่ถึง และในบางกรณี ไกลจนกู่ไม่กลับ

     4. ถามว่าในที่สุดการฉีดสีเป็นหนทางเดียวหรือเปล่าที่จะทำให้ทราบสภาวะของหัวใจที่แท้จริง ตอบว่าปัจจุบันนี้วงการแพทย์ยอมรับให้การตรวจสวนหัวใจ (ฉีดสี) เป็นมาตรฐานทองคำ (gold standard) ในการวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือด เฉพาะโรคนี้โรคเดียวนะ ไม่เกี่ยวกับโรคหัวใจแบบอื่นๆซึ่งการสวนหัวใจไม่ใช่เป็นเครื่องมือวินิจฉัยโรค เช่นโรคลิ้นหัวใจและโรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการก็ต้องวินิจฉัยด้วย Echo โรคหัวใจเต้นผิดปกติก็ต้องวินิจฉัยด้วย EKG เป็นต้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

15 มีนาคม 2562

ประเทศชาติของเราต้องการอะไร

อาจารย์นพ.สันต์ที่เคารพ
ได้อ่านบทความของอาจารย์ที่เพื่อนแชร์มาให้เรื่องที่คุณหมออยากถือโอกาสนี้พูดกับคนจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ผมสงสัยว่าทำไมคุณหมอไม่ทำงานการเมืองครับ เพราะคุณหมอมีศักยภาพที่จะทำอะไรได้เยอะ หรือว่าคุณหมอเห็นว่าจริงๆแล้วประเทศชาติต้องการอะไร แล้วขอแอบถามนอกรอบหน่อยว่าคุณหมอจะเลือกพรรคไหนครับ

ตอบครับ

     ช่วงนี้มีจดหมายมโนสาเร่เกี่ยวกับการเมืองมาถึงผมถี่มากแต่ผมไม่เคยตอบเลย วันนี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศ ขอตอบฉบับนี้ฉบับเดียวแล้วให้ถือว่าตอบหมดนะ

     1. ถามว่าประเทศชาติของเราต้องการอะไร โธ่ถังคำถามนี้ใครๆก็ตอบได้นะ หมอสันต์ก็ตอบได้แบบแทบไม่ต้องคิดเลย ว่าประเทศชาติของเราต้องการคนที่ไม่โลภ (sufficient) ไม่คดโกง (corruption free) โปร่งใส (clear)  ตั้งใจจดจ่อ (focus) ที่จะอุทิศชีวิตสร้างสรรค์สังคม (dedicate) มีความซื่อสัตย์และมีสำนึกผิดชอบชั่วดีที่หนักแน่นมั่นคง (integrity) ทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่เราขาด โดยเฉพาะประการสุดท้ายซึ่งผมขอเรียกตามภาษาฝรั่งว่า integrity นี้ คนที่มี integrity เป็นสิ่งที่ประเทศชาติของเราขาดแคลน คนที่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นคนที่มี integrity ควรจะเข้ามาทำงานการเมือง นั่นเป็นหลักการทั่วไปของการสร้างสรรค์สังคมไม่ว่าสังคมไหนก็ตามในโลกนี้ ซึ่งผมเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์

     2. ถามว่าทำไมหมอสันต์ไม่สนใจทำงานการเมือง หิ หิ ตอบว่าผมเคยทำงานการเมืองมาแล้วนะ ทำอยู่หลายปี สมัยนั้นเป็นยุค 14 ตค. 2516 - 6 ตค. 2519 การเมืองสมัยนั้นเล่นกันถึงตาย การจะผลัดเปลี่ยนอำนาจทางการเมืองแต่ละทีต้องฆ่ากันตายเป็นเบือจึงจะผลัดอำนาจกันได้ แล้วอย่าว่ายังโง้นยังงี้เลย สีเขียวนี่แหละ ผมหมายถึงสีเขียวสมัยโน้นนะ เล่นแรงมาก เพื่อนของผมตายไปหลายคนรวมทั้งที่เป็นเพื่อนสนิทกันที่สุดก็ถูกฆ่าตายอย่างโหดเหี้ยมไปคนหนึ่ง ตัวผมไม่ได้มีความแค้นฝังหุ่นอะไรกับใครหรอกนะเพราะผมเป็นคนไม่ขี้แค้น และเป็นคนกลัวตาย อย่างน้อยก็ในตอนนั้น ก็เลยสาบานกับตัวเองว่าขอเลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมืองตั้งแต่นั้นมา เมื่อสาบานกับตัวเองแล้วก็ต้องรักษาคำพูดถูกแมะ ถ้าไม่รักษาคำพูดที่พูดกับตัวเองแล้วจะหาความนับถือตัวเองได้จากไหนละ

     สมัยนี้การเมืองของเราพัฒนาดีขึ้นมาก เปลี่ยนรัฐบาลแต่ละที่มีคนตายไม่กี่คน คือจากยิงกันเราเปลี่ยนมาเป็นด่ากันแทน ซึ่งผมถือว่าเป็นพัฒนาการที่ดี แต่ว่าการเขวี้ยงคำด่าประจานและเปิดโปงกันและกันใส่กันทุกวันวันละสามเวลาหลังอาหารก็เป็นเรื่องที่สูญเสียเวลาและพลังงานที่จะสร้างสรรค์อะไรไปหมด คุณเปิดดูในทีวีหรือโซเชียลอะไรสักอย่างก็ได้ เวลาและพลังงานของนักการเมืองเกือบทั้งหมดเสียไปกับการด่ากัน เมื่อเราบ่มเพาะความคิดลบๆแล้วโยนมันออกมาใส่กันไม่เว้นแต่ละวัน ความเป็นอารยชนของตัวเราเองก็จะค่อยๆเสื่อมถอยลงไปโดยอัตโนมัติทุกวันๆเช่นกัน แล้วเราจะเอาเวลาที่ไหนมาบ่มเพาะ integrity ซึ่งเป็นสิ่งที่เราขาดให้กับตัวเราเองและให้กับเยาวชนของเราละครับ

    3. ถามว่าไม่ทำงานการเมืองแล้วจะใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร ตอบว่าการที่คนเราจะเป็นประโยชน์ต่อโลกต่อสังคมได้เต็มๆ เขาควรจะหลุดพ้นไปจากสำนึกว่าเป็นบุคคล (อีโก้) ของเขาก่อน เพราะถ้าเขายังติดอยู่ตรงนั้น โอกาสที่เขาจะเป็นคนที่มี integrity คือมีความซื่อสัตย์และมีสำนึกผิดชอบชั่วดีที่หนักแน่นมั่นคงอย่างแท้จริงนั้น..ยากส์ เพราะเขาจะยังห่วงความเป็นบุคคลของเขา ไม่ห่วงทรัพย์ก็ห่วงชื่อเสียง ไม่ห่วงทรัพย์ไม่ห่วงชื่อเสียง ก็ยังห่วงลูกห่วงเมีย แล้วก็จะจบลงด้วยการที่เขาเองก็จะเขวี้ยงคำด่าใส่คนอื่นเพื่อปกป้องความเป็นบุคคลของเขา ดังนั้นผมเห็นว่าวิธีดีที่สุดที่คนๆหนึ่งจะทำประโยชน์ให้สังคมหรือโลกที่ตัวเองอยู่อาศัยได้ดีที่สุดก็คือเขาต้องมุ่งมั่นพาตัวเองหลุดพ้นจากอีโก้ของตัวเองไปหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตอื่นๆให้ได้ก่อน หลังจากนั้นเรื่องอื่นๆมันก็จะทำได้โดยฉลุยเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำเรื่องใหญ่ๆอย่างทำงานการเมืองหรือเป็นการทำเรื่องเล็กๆอย่างเช่นฝึกตัวเองให้ทิ้งขยะลงถัง (ซึ่งคนในประเทศเราจำนวนหนึ่งก็ยังทำไม่ได้เลย หิ หิ)

    4. ถามว่าในฐานะผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง หมอสันต์จะเลือกพรรคไหน ตอบว่า หุ หุ คำถามนี้ตอบไม่ได้ครับ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้มีสองทางเลือกเท่านั้นแหละ คือจะเอาลุงตู่ หรือไม่เอาลุงตู่ คนไข้ของหมอสันต์มีราว 50% ที่จะเอาลุงตู่ อีกราว 50% จะไม่เอาลุงตู่ ถ้าขืนผมพูดอะไรออกไปผมก็จะมีปัญหาทางใจกับคนไข้ของผมเองตั้งครึ่งหนึ่งอะสิครับ เรื่องอะไรผมจะเสียลูกค้าไปโดยใช่เหตุ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

14 มีนาคม 2562

เรื่องของคนแก่ว่างงานในฤดูแล้ง

     เดิมผมวางแผนไว้ว่าจากนี้ไปถึงต้นหน้าฝนจะค่อยๆปลูกกล้ายางนาสัปดาห์ละต้นสองต้น เพราะการปลูกเองคนเดียวมันใช้เวลาเหมือนกัน คือต้องขุดดินลูกรังแต่ละหลุมกว้างสี่สิบลึกสี่สิบเซ็นต์ แล้วใส่น้ำในหลุมแช่ไว้ให้มันซึมจนเปียกโชก แล้วแบกปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นไปรองก้นหลุม แล้วเอาใบไม้กิ่งไม้แห้งสุมทับลงไป ตัดก้นถุงพลาสติกที่ใช้ปลูกกล้ายางนาออกเพื่อให้รากเดินได้ก่อน แล้วเอาต้นกล้ายางนาวางในหลุม แล้วโกยดินผสมหินลูกรังที่กองอยู่ปากหลุมกลับลงไปใหม่ แล้วปักหลักผูกกล้าไม้กันลมโยก เป็นอันเสร็จพิธีปลูกหนึ่งต้น แต่ว่าแค่นี้สำหรับคนแก่คนเดียวก็ใช้เวลาอย่างน้อยสองสามชั่วโมงเข้าไปแล้ว ผมจึงประมาณว่าจากนี้ถึงต้นหน้าฝนคงจะปลูกป่าหลังบ้านที่ลากสายยางไปรดน้ำถึงได้หมด ซึ่งก็จะได้ประมาณ 30 ต้น ส่วนบริเวณที่ต้องขึ้นเขาไปไกลกว่านั้นซึ่งลากสายยางไปไม่ถึงนั้นต้องรอให้หุ้นส่วนใหญ่คือเทวดาส่งฝนมาก่อนแล้วค่อยว่ากัน ผมรู้จักรอเมื่อควรรอและยอมรับเมื่อสิ่งที่อุตสาห์รอนั้นไม่มา นี่เป็นกระบวนทัศน์ทางเกษตรกรรม (agricultural paradigm) ซึ่งหากใครไม่เก็ทตรงนี้ก็ควรอยู่ห่างๆงานเกษตรกรรมไว้จะได้ไม่เป็นทุกข์เพราะหุ้นส่วนใหญ่เขาพูดภาษาคนไม่ค่อยรู้เรื่อง
ชาวแค้มป์ลดน้ำหนัก (WL1) ปลูกป่ายางนาแทนกระถินยักษ์

     กลับมาเรื่องปลูกป่ายางนากันดีกว่า แล้วอยู่มาวันหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ผมเผอิญได้แรงงานฟรีจากแค้มป์ลดน้ำหนักมาช่วยปลูกต้นยางนา ทำให้สามารถปลูกยางนาบริเวณหลังบ้านนกฮูกในวันเดียวตูม..ม ได้ครบสามสิบต้น เท่ากับว่าตาแก่ไม่ต้องยักแย่ยักยันทำคนเดียวไปอีกสองสามเดือนแล้ว ผมก็เลยกลายเป็นคนว่างงานจากนี้ไปจนกว่าฝนจะมา แล้วจะเอาเวลาว่างไปทำอะไรดีละ เกิดเป็นปัญหาขึ้นมาเสียแล้ว จะหันไปหางานอดิเรกที่ชื่นชอบคือปลูกบ้านหลังเล็กหลังน้อยหมอสมวงศ์ก็ห้ามว่าพอแล้ว..ว เดี๋ยวคนเขาจะนินทาว่าหมอสันต์ชอบมีบ้านเล็กบ้านน้อย เออ..แล้วจะเอาเวลาว่างไปทำอะไรที่เอื้อให้ได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวออกกำลังกายดีละ
แฟมิลี่ปิคนิคคลองมวกเหล็ก ความบันดาลใจให้ปลูกป่าดิบชื้น

     คิดขึ้นมาได้ว่าวันหนึ่งเคยพาภรรยา ลูกชาย และลูกสาว ไปแฟมิลี่ปิคนิคและพายเรือเล่นกันที่คลองมวกเหล็ก ขณะนั่งเรืออยู่ในคลอง มองไปรอบๆก็ได้เห็นว่านี่มันเป็นป่าดิบชื้นหรือ rain forest นี่นา เพียงแต่ต้นไม้มันโกร๋นไปหน่อย แต่บรรยากาศมันยังได้อยู่ สัตว์ป่าธรรมชาติอย่างเช่นกิ้งก่ายักษ์ที่ชาวบ้านเรียกว่าตะกอง และคุณองอาจ (ตัวเหี้ย) ขนาดน้องๆจรเข้ก็ยังมีให้เห็น

     พูดถึงตรงนี้ขอนอกเรื่องหน่อย วันไปปิคนิคพอดีไปเห็นชาวบ้านเก็บเต่าใหญ่ตัวหนึ่งไปจากแถวน้ำตกที่อยู่ใกล้ๆ ผมจึงยอมเสียเงินไถ่เต่าตัวนั้นแล้วอุ้มมา มันหนักประมาณ 5 กก. เอามาปล่อยตรงที่พวกเราปิคนิคซึ่งเป็นที่ปลอดภัยกว่า ผมมองหน้าเต่าที่หดหัวอยู่ในกระดองแล้วพูดกับมันว่า



ลุงอยู่มาร้อยกว่าปีแล้วไม่เคยมีปัญหา
     ""อยู่ทางนี้นะ อย่าไปยุ่งกับทางน้ำตก เดี๋ยวก็ถูกพวกนั้นเขาจับไปทำลาบกินหรอก"

     เต่ามองหน้าผมแบบมีแววเมตตา เหมือนมันจะพูดกับผมว่า

     "ไอ้หลานเอ๊ย ลุงก็อยู่ของลุงมาร้อยกว่าปีแล้วไม่เคยมีปัญหา ตัวเอ็งนั่นแหละยังไม่เจ็ดสิบก็ป่วยกระเสาะกระแสะแล้ว ดูแลตัวเองให้ดีก็แล้วกัน"

     ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น
น้ำตกนิรนาม ในคลองมวกเหล็ก

     กลับมาคุยเรื่องป่าดิบชื้นกันต่อดีกว่า หากริมคลองมวกเหล็กนี้ได้รับการฟื้นฟูสภาพด้วยการปลูกไม้สูงแบ็คอัพเพื่อพรางแดดให้มากขึ้น ปลูกไม้กลางและไม้ต่ำที่เป็นไม้ธรรมชาติของป่าดิบชื้นเช่นหวายและปาล์มต่างๆแทรกกลับเข้ามา ก็จะได้ป่าดิบชื้นกลับมาใหม่ ได้การละ ผมตัดสินใจว่าเวลาว่างที่มีอยู่จากนี้ไปถึงหน้าฝนเอามาทำโครงการฟื้นฟูป่าดิบชื้นที่คลองมวกเหล็กดีกว่า

     ผมเลือกพื้นที่ชายคลองเฉพาะส่วนที่เจ้าของที่ข้างคลองพอพูดกันรู้เรื่อง ได้พื้นที่มีความยาวตามคลองประมาณ 200 เมตร กะว่าจะปลูกแค่นี้น่าจะพอดีกับกำลังเรี่ยวแรงของสองตายาย การขุดดินทางนี้ง่ายกว่าเพราะเป็นดินชายคลอง การรดน้ำยิ่งหมูเลยเพราะเอากระแป๋งจ้วงตักน้ำในคลองมารดเมื่อไหร่ก็ได้ มีน้ำตกอยู่ในพื้นที่โครงการนี้ด้วย ผมขอเรียกว่า "น้ำตกนิรนาม" ไปก่อน ตอนนี้ผมได้เริ่มลงมือปลูกไม้สูงแบคอัพไปบ้างแล้วโดยใช้ยางนาเพราะว่าผมชอบยางนาและมีกล้าอยู่แล้ว เมื่อปลูกไม้สูงได้ครบ ซึ่งกะว่าจะต้องปลูกราว 20 ต้น ขั้นตอนต่อไปที่คิดจะทำคือต้องเสาะหาไม้กลางสำหรับป่าดิบชื้นอย่าง หลุมพอ สะตอ ยวน หยี  พุงทะลาย ท้ายเภาขาว พระเจ้าห้าองค์ ซึ่งคงมีที่ให้ลงได้อย่างมากอย่างละต้นสองต้น
ไม้สูงต้นแรกเพื่อฟื้นฟูป่าดิบชื้นคลองมวกเหล็ก

ส่วนไม้เตี้ยชั้นล่างนั้นจะปลูกเป็นลำดับสุดท้ายแบบยัดๆกันเข้าไปในจำนวนที่รับได้ไม่อั้นไม่ว่าจะเป็นหวาย ระกำ จั๋ง ปาล์มบังสูรย์ ปาลม์เล็กปาล์มน้อย เถาวัลย์ เฟิร์น มอส แฟนๆบล็อกท่านใดมีพันธ์ไม้สำหรับปลูกป่าดิบชื้นเหลือใช้ก็บริจาคได้นะครับ ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าต้องส่งถึงชายคลองมวกเหล็กด้วยตัวผู้บริจาคเอง เพราะผมไม่มีปัญญาไปรับจากที่อื่นดอก ท่านสะดวกเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น เพราะโครงการนี้เป็นโครงการหวานเย็น หน้าร้อนก็ทำทางนี้ หน้าฝนก็กลับไปทั้งทางโน้น หมายถึงไปปลูกป่าผลัดใบที่หลังบ้านนกฮูกควบคู่กันไปด้วย ค่อยๆทำไปทั้งสองทาง ว่างเมื่อใดก็ทำไป ไม่มีรีบร้อน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]