28 กันยายน 2553

บัวใต้-ปริ่มน้ำ กับความหมายของชีวิต

คืออย่างนี้นะคะ
ตัวเอง ก็เป็นมนุษย์ที่เคยคิดเรื่อย ๆ ทำไม ทำไม เพื่ออะไร เพื่ออะไรกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เกิด แล้วก็สรุปตัวเองได้อีกฉากใหญ่หลังไปนั่งวิปัสสนากรรมฐานว่า เอาล่ะ เราควรวางจิตไปทางเดียวกับพุทธศาสนา เพราะยังไม่พบ ไม่เห็นทางไหนที่ดีกว่า หรือใช่กว่าเลย
แต่ตอนนี้ ผ่านมาสามปีละ ก็ยังทำได้ไม่ดีนัก หลง ๆ ลืม ๆ จนรู้สึกว่า (ตามที่เคยแจ้งไป) "สิ่งที่ตัวเองกำลังสับสน ไขว่คว้าอยู่ ไม่รู้จะไปถึงไหนหรือเปล่า"
เหมือนบัวใต้ -ปริ่มน้ำอยู่ือย่างนี้
สิ่งที่ทำได้ดี คือชอบอ่านแนวคิดของคนต่าง ๆ จนกระทั่งมา search พบบทความของหมอ และสิ่งนี้เหมือนสิ่งที่จิตของตัวเอง ได้พึ่งพักใจที่ล้าบ้าง สบายบ้าง ไม่สบายบ้าง
มีอะไรช่วยแนะนำในการดำรงชีวิตมนุษย์ ช่วย Forward มาบ้างนะคะ อยากเป็นคนดี
สุดท้ายมีกลอนให้ เพราะเป็นกลอนที่ศรัทธามากโดยส่วนตัว (หากหมอยังไม่เคยพบเจอบทนี้)
อยากเป็นเช่นหินผา
จาได้ไม่ยลยิน
ไร้ทั้งสิ้นซึ่งวิญญา
ใครด่าว่าไม่รู้สึก

ห้วงเหวลึกและลำธาร
ต้นไม้สูงตระหง่าน
เป็นเพื่อนฉันก็พอใจ...

ขอบคุณค่ะ
ด้วยความนับถือ
(สงวนนาม)

ตอบครับ

1. ขอบคุณที่ส่งกลอนมาให้ ผมชอบกลอนของคุณ

2. เรื่องที่คุณอยากเป็นคนดีนั้นไม่มีปัญหาดอก เพราะอ่านจากจดหมายคุณเป็นคนดีอยู่แล้ว แต่เป็นคนดีที่ขี้หงุดหงิด แบบว่าดิ้นรนจะปลดแอกทางใจให้ตัวเอง แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสำเร็จ

3. เรื่องอยากอ่าน ลองอ่านต่อไปนี้ดู

3.1 กามูส์ โดยเฉพาะเรื่อง “ตำนานแห่งซิสซิฟัสว่าด้วยการฆ่าตัวตายและความไร้สาระของชีวิต” มีต้นฉบับภาษาอังกฤษอยู่ในอินเตอร์เน็ททั่วไป เจ้านี้เป็นนักเขียนในค่ายเอ็กซิสตองเชียลลิสม์ งานเขียนนี้จับเอาเรื่องปรัมปราในตำนานกรีกที่ว่าซิสซิฟัสถูกพระเจ้าลงโทษด้วยการสาปให้กลิ้งหินขึ้นภูเขา เมื่อใดก็ตามที่หินนั้นขึ้นไปถึงยอดเขา มันจะกลิ้งกลับมาอยู่ที่ตีนเขาใหม่โดยอัตโนมัติ เพื่อให้ซิสซิฟัสต้องกลิ้งมันขึ้นไปใหม่ เป็นเช่นนี้ชั่วนิรันดร ถือว่าเป็นการลงโทษที่แสบยิ่งกว่าการฆ่าให้ตาย กามูส์ยกประเด็นตอนที่ซิสซิฟัสมองหินที่กลิ้งกลับลงจากเขา ว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร ความพยายาม ความยากลำบากทั้งหลายสูญสิ้น คงจะรู้สึกเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากรู้สึกว่าชีวิตมันช่างไร้สาระสิ้นดี กามูส์บอกว่าคนเราฆ่าตัวตายไม่ใช่เพราะความยากลำบากของชีวิต แต่เพราะทนความไร้แก่นสารของโลกนี้ไม่ได้ต่างหาก ตะเกียกตะกายแค่ไหน สุดท้ายก็คือความว่างเปล่า พูดแบบเราๆก็คือ..กฎเกณฑ์ทุกอย่างคือของหลอก พระเจ้าเป็นของเก๊ เวรกรรมมันไม่มีจริง นี่เป็นรากแนวคิดแบบเอ็กซิสตองเชียลลิสม์ ซึ่งมีแนวทางว่าการจะเอาชนะความรู้สึกที่ว่าชีวิตไร้ความหมายนั้นจะต้อง (1) ตระหนักว่าตัวเราเนี่ยแหละ เป็นผู้เลือกสิ่งใดๆในชีวิตเรา ทุกอย่างเราเลือกเอง รับผลเอง ไม่ต้องอ้างใคร ไม่ต้องโทษใคร (2) ความหมายของชีวิตเราต้องกำหนดเอง หันเข้าหาความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่ฝั่งอยู่ก้นบึ้งของใจเราแล้วก็ลงมือทำตามนั้น ไม่ต้องไปสนพระเจ้าหรือกฎชีวิตใดๆ

3.2 วิคเตอร์ แฟรงเคิล (Frankl) คนนี้เป็นหมอชาวยิวซึ่งเคยถูกนาซีจับขังคุก ในคุกทำให้เขามีประสบการณ์อย่างหนึ่งว่าเมื่อมีสิ่งเร้า (stimulus) มากระทบเรา ก่อนที่เราจะสนองตอบ (response) ออกไปนั้น มีช่องว่างอยู่นิดหนึ่ง ซึ่ง ณ ช่องว่างนั้นเรามีอิสระที่จะเลือกสนองตอบอย่างไรก็ได้ เรากำหนดของเราได้อย่างอิสระ ถ้าเราเลือกสนองตอบแบบหนึ่ง เราก็จะเป็นทุกข์ เลือกสนองตอบอีกแบบหนึ่ง เราก็ไม่ทุกข์ เขาเรียกอิสระที่เรากำหนดการสนองตอบนี้ว่า the last freedom of human คือเป็นอิสรภาพที่อยู่กับตัวเรานี่เอง ใครมาแย่งไปไม่ได้ หนังสือของเขาชื่อ Man search for meaning หาอ่านยากสักหน่อย แต่สรุปสาระแล้วก็มีอยู่ประมาณเนี้ยะแหละ

3.3 สตีเฟ่น โควีย์ (Covey) อันนี้รุ่นหลังแล้ว หมาดๆนี่เอง เขาเอาแนวคิดของแฟรงเคิลมาเรียกใหม่ว่า proactive หมายความว่าการรู้จักเลือกสนองตอบต่อสิ่งเร้าอย่างสร้างสรรค์ โดยมีเครื่องมือสำคัญสามอัน คือ (1) ความรู้ตัว (self awareness) (2) ปัญญาขบคิดคาดเดา (imagination) และ (3) ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในใจ (conscientious) เขาเขียนหนังสือชื่ออุปนิสัยเจ็ดประการสู่ความสำเร็จ มีคนอ่านแยะมาก จะเห็นว่าโควีย์ลากเอาแนวคิดของเอ็กซิสตองเชียลลิสม์กลับมาโผล่ที่เรื่องสติ-สัมปชัญญะ ของพุทธะอีกจนได้ และขายดีเสียด้วย

4. อย่าลืมว่าหนังสือยิ่งอ่านมากยิ่งฟุ้งสร้าน ลงมือทำดีกว่า ผมแนะนำให้คุณลงมือแก้โรคหงุดหงิดของคุณ เป็นขั้นตอน ดังนี้

4.1 วางพื้นฐานด้านร่างกายก่อน กล่าวคือ (1) นอนให้พอ เพราะความเซ็งชีวิตส่วนหนึ่งเกิดจากร่างกายขาดการพักผ่อนที่พอเพียงโดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัว (2) ออกกำลังกายให้ได้ระดับมาตรฐานทุกวัน เพราะการออกกำลังกายทำให้เกิดสารเอ็นดอร์ฟินแก้โรคหงุดหงิดชีวิตดีนัก (3) เกาะติดธรรมชาติ โดยเฉพาะแสงแดด งานวิจัยพบว่าถ้าได้ถูกแดดจังๆเสียบ้างช่วยรักษาหงุดหงิดซึมเศร้าได้

4.2 วางกรอบกิจกรรมชีวิตกว้างๆให้กับแต่ละวัน ว่าวันนี้คุณจะทำอะไร แล้วก็ทำตามนั้น ต้องเอาตรงนี้ให้ได้ก่อน ถ้าเอาตรงนี้ไม่ได้ก็ไม่ต้องไปนั่งวิปัสนากรรมฐานหรอก เพราะเปรียบเหมือนวัวหากแค่จะให้อยู่ในคอกที่ตีไว้อย่างกว้างๆมันยังอยู่ไม่ได้เลย ที่จะเอาเชือกไปผูกจูงไปมาซ้ายหันขวาหันได้นั้นอย่าหวัง

4.3 หาอะไรสักอย่างทำอย่างใส่ใจจริงจัง หมายความว่าโฟคัส ถ้าจะให้ดี อะไรที่ว่านี้ควรจะอยู่ห่างๆเงินไว้ หมายความว่าต้องไม่เป็นอะไรที่เสียเงินมาก หรือไม่เป็นอะไรที่ทำให้เราต้องลุ้นว่าจะได้เงินหรือเปล่า เพราะถ้ามีเงินมายุ่ง เราจะเสียโฟคัส แต่ถ้าการจะได้หรือเสียเงินเป็นผลพลอยได้นั้นไม่เป็นไร แต่อย่าไปโฟคัสที่เงิน เมื่อได้ทำอะไรอย่างใส่ใจจริงจังไปพักหนึ่งแล้ว คุณจะเลิกดิ้นรนหาความหมายของชีวิตไปเอง หมายความว่าคุณดูเหมือนจะพบแล้ว ถึงตอนนั้นค่อยๆเลื่อนไปโฟคัสที่การพัฒนาสติ ในสิ่งที่ทำอยู่นั่นแหละ ไม่ต้องไปนั่งหลับตากรรมฐานที่วัดดอก

ลองทำตามนี้ดู ถ้าบรรลุธรรมแล้วอย่าลืมกลับมาโปรดผมบ้างนะ..ฮิ..ฮิ


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

26 กันยายน 2553

เป็นไฮโปไทรอยด์แล้วอ้วนขึ้นอีก 20 กิโล กลัวจะอ้วนต่อ

สวัสดีค่ะ ดร.สันต์

กำลัง สับสนและ ท้อแท้มากเลยค่ะ ขออนุญาติเล่า ประวัติสั้นๆนะคะ
เมื่อห้าปีก่อน ดิฉันป่วยเปนไฮเปอไธรอยด์ ค่ะ ทานยา รักษา มาเรื่อย ๆ ปีต่อมาเป็น ตับอักเสบ ต้องทาน เสตีรอยด์ เบ็ดเสร็จ นน ขึ้นมา 20 กิโล
ช่วงหกเดือนแรก นอน อย่างเดียว เพราะ ตับอักเสบรุนแรงมาก หลังจากหายดี ... สามปีที่ผ่านมา ลด นน ได้ สิบกว่าโล โรคสงบ และเริ่มมาใช้ชีวิตปกติ ...
ทำงานที่บ้าน เล็กๆน้อยๆ เพราะ คุณหมอบอกว่าห้ามเครียด เพราะโรคอาจกลับมาอีก
หลังจากนั้น เมื่อปีที่แล้ว มีปัญหาทางบ้าน ทำให้ออกมาทำงาน บ. งานค่อนข้างหนักและ ยุ่งมาก
นน. เริ่มเพิ่มขึ้นๆๆ เราก้อรู้ตัว ดิฉันก้อพยายาม ลดอาหาร ควบคุมทุกอย่าง แต่ นน ก้อเพิ่มเรื่อย เริ่มเหนื่อยง่าย จนวันนึง ป่วยจนเข้า รพ เลยได้เจาะเลือด
ปรากดว่า หนูเป็นโรคไฮโปไธรอยด์ หมอบอกว่า มีโอกาส ที่คนเคยเปนไฮเปอ จะกลับมาเป็นไฮโป
นน จากตอนเริ่มทำงาน 60 ตอนนี้ 74 ภายใน 1 ปี และดูเหมือนว่ามันจะไปเรื่อยๆเลย
ไม่รู้จะทำอย่างไรค่ะ ยิ่งมาอ่านเจอใจลิ้งค์เค้าขึ้นไปตั้ง 100 โล หนูไม่อยากเป็นแบบนั้น
หนูขอ คำแนะนำหน่อยได้มั๊ยคะ ทุกวันนี้ปวดเมื่อยเน้อตัวไม่มีแรงเลย เดินขึ้นบันไดชั้นสองก้อหอบแล้ว สุขภาพย่ำแย่ เห็นคุณหมอบอกว่ามี หลักสามอย่าง คือ
1. การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มการเผาผลาญแคลอรี่
2. โภชนาการเพื่อลดแคลอรี่
3. ขั้นตอนของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
หนู ไม่เคยใช้บลอค ไม่รู้ว่าจะหาอ่านยังงัย คุณหมอมีหนังสือมั๊ยคะ หรือคุณหมอรับให้คำแนะนำมั๊ยคะ
หนูอยากทำทุกอย่าง ที่จะทำให้ตัวเองกลับมาแข็งแรงอีกครั้งนึง หนูไม่อยากป่วยอีกแล้ว 5 ปีที่ผ่านมา มันทรมาน มากเลยค่ะ
หนูจะรอคำแนะนำจากคุณหมอนะคะ

ขอบพระคุณอย่างยิ่งค่ะ
สงวนนาม


ตอบครับ

อามิตตาพุทธ!... พุทธัง ธัมมัง สังคัง อะไรมันจะคัน เอ๊ย.. ไม่ใช่อะไรมันจะเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัดขนาดนี้
เป็นไฮเปอร์ไทรอยด์ หมอให้กินยาต้านไทรอยด์ เอ้ากินก็กิน แต่แล้วก็เจอพิษยาต้านไทรอยด์ ตับพัง หมออัดสะเตียรอยด์เข้าไปแก้ อ้วนกลมเลยคราวนี้ แถมเป็นไฮโปไทรอยด์อีกต่างหาก โอ้..ชีวิต
พูดเล่นนะครับ ผมก็พร่ำตามประสาคนแก่งั้นแหละ เอาละ มามองวิธีแก้ปัญหาของคุณอย่างเป็นขั้นตอนนะครับ

ขั้นที่ 1. การประเมินและรักษาภาวะไฮโปไทรอยด์

ปัญหาของคุณซับซ้อนละเอียดอ่อน คุณต้องไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านต่อมไร้ท่อ เพื่อประเมินภาวะไฮโปไทรอยด์ เอาผลแล็บเก่าไปด้วย หลักการที่หมอจะประเมินก็คือ

1.1 เป็นไฮโปไทรอยด์ชนิดไหน เพราะมันรักษาไม่เหมือนกัน วิธีแบ่งประเภทง่ายๆก็คือดูระดับฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ (TSH) ถ้ามันสูงปรี๊ดก็แสดงว่าเป็นชนิดตัวต่อมไทรอยด์เดี้ยง ไม่ทำงาน เรียกว่า primary hypothyroidism ซึ่งอาจจะเกิดจากยาต้านไทรอยด์ หรืออาจจะเกิดจากโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองเช่น Hashimoto thyroiditis ก็ได้ ถ้าฮอร์โมน TSH ต่ำก็แสดงว่าต่อมไทรอยด์เขายังดีๆอยู่ แต่ปัญหาอยู่ที่สมองไม่ปล่อย TSH เรียกว่าเป็น secondary hypothyroid ซึ่งก็ต้องตามไปตรวจดูภาพสมอง (CT) ว่ามีเนื้องอกอะไรที่สมองหรือเปล่า ยังมีอีกแบบหนึ่งคือสมองไม่ปล่อยฮอร์โมนกระตุ้นฮอร์โมนกระตุ้น อย่างงนะครับมีคำว่ากระตุ้นสองที คือปกติสมองปล่อย TRH ไปกระตุ้น TSH ซึ่งจะไปกระตุ้นต่อมไทรอยด์อีกต่อหนึ่ง รวมเป็นสามทอด ถ้าสมองเบี้ยวไม่ปล่อยตั้งแต่ TRH ก็เรียกโรคแบบนี้ว่า tertiary hypothyroidism

1.2 ความรุนแรงของไฮโปไทรอยด์ขณะนี้อยู่ระดับใด ในประเด็นต่างๆเช่น

1.2.1 ระดับฮอร์โมน (T4) ต่ำแค่ไหน

1.2.2 การเผาผลาญวิตามินเอ.ยังดีอยู่ไหม เพราะปกติฮอร์โมนไทรอยด์ช่วยเปลี่ยนแคโรทีนเป็นวิตามินเอ. ถ้าฮอร์โมนไม่พอก็จะเหลืองจ๋อย (hypercarotenemia)

1.2.3 มีอาการบวมเพราะสาร glucosaminoglycans คั่งอยู่ตามที่ต่างๆหรือเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามอวัยวะสำคัญเช่นหัวใจ กระเพาะอาหาร ซึ่งจะทำให้การทำงานของอวัยวะเหล่านั้นเพี้ยนไปได้ การเจาะเลือดดูระดับโซเดียมในร่างกายก็ช่วยบอกว่ามีการบวมอยู่หรือเปล่า

1.2.4 ระดับไขมันเลว (LDL) สูงมากหรือยัง เพราะถ้าขาดฮอร์โมนไทรอยด์ก็จะไม่มีอะไรไปจับทำลายเจ้าไขมันเลวตัวนี้ ทำให้มันสูงได้

1.2.5 มีโลหิตจางเกิดขึ้นหรือยัง เพราะคนเป็นไฮโปไทรอยด์ ถ้าเป็นมาก การเผาผลาญต่ำ ร่างกายต้องการออกซิเจนน้อย ไตก็ฉวยโอกาสลดการผลิตฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด (erythropoietin) ลงไปด้วย

1.2.6 ภาวะอ่อนแรงของกล้ามเนื้อรุนแรงแค่ไหน เท่าที่คุณเล่ามาว่าเดินขึ้นสองชั้นไม่ไหวก็แสดงว่ารุนแรงพอควร

1.2.7 มีอาการที่เกิดจากสมองพยายามกระตุ้นต่อมไทรอยด์แล้วมีฮอร์โมนลูกหลงเช่น prolactin เพิ่มขึ้นหรือเปล่า ทราบได้จากมันไปกดให้ฮอร์โมนกระตุ้นรังไข่ ( gonadotropin) ลดลง ยังผลให้ไม่ตกไข่ ประจำเดือนมาไม่เสมอ หรือมามาก หรือเป็นหมัน หรือหมดความรู้สึกทางเพศ เป็นต้น

1.2.8 เป็นเบาหวานร่วมด้วยหรือยัง เพราะสองโรคนี้ชอบเป็นร่วมกัน

1.3 มีหลักฐานว่ามีภูมิคุ้มกันของร่างกาย (antibody หรือ Ab) เข้าไปจับทำลายเนื้อเยื่อของต่อมไทรอยด์ของตนเองหรือเปล่า โดยเจาะเลือดดูภูมิคุ้มกันเหล่านี้ เช่น P-Ab หรือ anti TPO และ TG-Ab หรือ anti Tg หรือ TSH-R(block)Ab เป็นต้น
ข้อมูลทั้งหมดนี้แพทย์ต้องได้ก่อนการรักษา เพราะการสนองตอบต่อการรักษาในคนไข้แต่ละแบบไม่เท่ากัน แม้ว่าไฮโปไทรอยด์ทั่วไปรักษาได้ผลดีด้วยการให้ฮอร์โมนทดแทน levothyroxine -LT4 (Synthroid) 50-200 mcg ต่อวันก็อยู่แล้ว แต่บางแบบก็ดื้อด้านต่อการรักษา ต้องให้ฮอร์โมนสูงเป็นพันไมโครกรัมจึงจะรู้สึกรู้สม บางแบบใช้ฮอร์โมน T4 รักษาได้เลยเพราะร่างกายเปลี่ยนเป็นรูปแบบที่ออกฤทธิ์ (T3) ได้เอง แต่บางแบบร่างกายเปลี่ยน T4 เป็น T3 เองไม่ได้ต้องชิ่งไปใช้ยา Armour thyroid ซึ่งมีทั้ง T3 และ T4 แทน เป็นต้น

อนึ่ง พึงทำใจไว้ก่อนเลยว่าการรักษาไฮโปไทรอยด์ต้องใช้เวลานานหลายเดือน เพราะระบบความคุมการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ( hypothalamic-pituitary axis) ต้องใช้เวลาปรับตัวนานหลายเดือนกว่า TSH จะลดลงมาสู่ระดับปกติ คือ 0.40-4.2 mIU/L ซึ่งเป็นเป้าหมายของการรักษา

2. ขั้นที่สอง การปรับวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง หลังการรักษาไฮโปไทรอยด์แล้ว

เขียนมาถึงตรงนี้ผมชักง่วงแล้วละครับ เพราะวันนี้เพิ่งกลับจากไปขุดดินในไร่มา ขอแปะไว้ก่อนแล้วผมรับปากว่าจะมาตอบให้วันหลังนะครับ..สัญญา ในระหว่างนี้คุณไปหาหมอรักษาไฮโปไทรอยด์ให้ TSH กลับมาเป็นปกติก่อนก็แล้วกัน


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

POCS โรคถุงน้ำหลายใบในรังไข่

สวัสดีค่ะะคุณหมอ ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณคุณหมอมากที่ตอบคำถามที่ตั้งไว้ตลอดเลย ดิฉันเป็นคนนึงที่ชอบคิดมากเวลามีอะไรผิดปกติในร่างกาย และกังวลว่าจะเป็นอะไรมากรึเปล่า วิธีแก้ของดิฉันคือ ขั้นแรกไปเสิร์จหาข้อมูลใน internet ก่อน ซึ่งถ้าหากข้อมูลนั้นอ่านแล้วเข้าใจ ดิฉันก็โล่ง แต่บางทีอ่านไปอ่านมาก็งง ไปหาหมอก็งง เพราะหมอบางคน พูดน้อยเหลือเกิน ไม่อธิบายที่มาที่ไปว่าทำไมเราเป็นอย่างนี้ หรือจะรักษายังไงอะไร มีแต่รีบๆตรวจ รีบๆจ่ายยา

แต่คุณหมอสันต์นี่ดิฉันประทับใจมากค่ะ มันเหมือนบางคนที่เค้าสงสัยว่าตัวเองเป็นอะไร และไม่รู้จะปรึกษาใครดี ไปหาหมอบางทีก็อาจจะไม่ได้มีเงินตรวจทุกอย่างทุกระบบขนาดนั้น การที่มาถามแล้วคุณหมอมาตอบอย่างรวดเร็วนี้ ดิฉันคิดว่าเรื่องที่ดีมากๆ ให้ความรู้ที่ถูกต้องและเข้าใจง่ายดี และคุณหมอก็ใส่ใจกับรายละเอียดที่ถามทุกอย่าง ไม่ได้ตอบเพราะสักแต่ว่าตอบ
ขอให้คุณหมอมีความสุขความเจริญนะคะ สิ่งที่คุณหมอทำมันเป็นการสร้างบุญมหาศาล ช่วยให้คนได้มีแนวทางในการแก้ปัญหาสุขภาพที่ถูกต้อง และช่วยให้คำปรึกษาเบื้องต้น เป็นเรื่องที่น่ายกย่องมากๆ ขอบคุณคุณหมอจริงๆค่ะ
ทีนี้มาถึงเรื่องที่จะถาม คือโรค pcod
ดิฉันได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น pcod มาประมาณ 3ปีกว่าแล้ว ซึ่งคุณหมอก็ได้เจาะเลือดเพื่อตรวจว่าเกี่ยวกับ*ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตกไข่ รึเปล่า ซึ่งผลคือไม่ใช่
สิ่งที่หมอให้ทำคือทานยาเม็ดคุมกำเนิด เพื่อให้ประจำเดือนมา
เท่าที่ค้นคว้าในเนตคือ ทานเพื่อให้เยื่อบุมดลูกมันหลุดลอกออกมาบ้าง ไม่งั้นมันจะหนาไป แต่ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ เพราะยังหาต้นเหตุไม่ได้ !!!!
วิธีรักษา pcod คือ ทานยาคุมเพื่อให้ประจำเดือนมา หากยังไม่ต้องการมีบุตร
แต่หากต้องการมีบุตร ก็ต้องทานยาปรับ และอีกหลายกระบวนการ แล้วแต่บุคคล
ทีนี้ดิฉันไปเจอมา เค้าบอกว่า pcod เป็น ภาวะดื้อต่ออินซูลิน และเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคเบาหวาน หัวใจ อะไรต่างๆตามมา
ดิฉันอยากถามคุณหมอว่าหากเราควบคุมน้ำหนัก (ตอนนี้น้ำหนักขึ้นมาก แต่ก่อน นน 60 กิโล ขึ้นมาเป็น 90 กิโล ซึ่งตอนนี้พยายามควบคุมอาหาร ลดลงมาเป็น 86 กิโลแล้วค่ะ) จะทำให้อาการโรคนี้ดีขึ้นด้วยมัย หรือหายได้มั้ยคะ ขอบคุณค่ะ
* ไม่แน่ใจชื่อฮอร์โมนอะไร ประมาณว่ารังไข่ หรือมดลูกอะไรเนี่ยแหละค่ะ


ตอบครับ

ผมลงจดหมายของคุณยาวเหยียดไม่ตัดเลยเพราะเห็นว่าเป็นบทสรรเสริญคุณงามความดีของผมที่ควรจารึกไว้ เป็นการแปะทองใส่หน้าผากตัวเอง แต่ถ้าใครเขียนด่าผมมาละก็ อย่าหวังว่าผมจะลงให้นะครับ..อิ..อิ ขอโทษ นอกเรื่อง ตอบคำถามดีกว่า

1. ขอเล่าเผื่อคนอื่นนิดหนึ่งว่า PCOD คืออะไร คำนี้ย่อมาจาก polycystic ovary disease บางทีก็เรียก POCS คือเปลี่ยนคำสุดท้ายเป็น syndrome ไม่ว่าจะเรียกอะไรก็แปลเหมือนกันว่า “โรคมีถุงน้ำหลายถุงที่รังไข่” คำว่า “หลาย” ในที่นี้นิยามว่าคือตั้งแต่ 12 ถุงขึ้นไป โรคนี้หมอเก่ารุ่นผมนิยมเรียกชื่อว่า “กลุ่มอาการสไตน์และลีเวนทาล” เพราะว่าหมอสไตน์ และหมอลีเวนทาล ทั้งสองคนเป็นคนร้องเอ๊ะขึ้นมาก่อนว่า เฮ้ย..มีคนไข้จำนวนหนึ่งที่มีอาการสามอย่างมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย คือประจำเดือนขาด เสียงแหบ และผ่าท้องเข้าไปดูก็เจอว่ามีถุงน้ำที่รังไข่จำนวนมาก ทั้งสองคนนี้ลองเฉาะเอาถุงน้ำที่รังไข่ออก ก็พบว่าคนไข้กลับมามีประจำเดือนมาเป็นปกติและท้องได้ด้วยแฮะ ต่อมาเมื่อคนเราฉลาดขึ้นจึงได้ตั้งสมมุติฐานว่าโรคนี้เกิดจากรังไข่เสียดุลการสร้างและเผาผลาญฮอร์โมนเพศชาย (แอนโดรเจน) ไปเป็นฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน) โดยเชื่อว่าเป็นเพราะต่อมใต้สมองส่วนหน้าผลิตฮอร์โมนก่อการตกไข่ (LH) มากเกินไปจนไปกระตุ้นให้รังไข่ผลิตแอนโดรเจนมากขึ้น แต่ไม่ได้เพิ่มฮอร์โมนกระตุ้นโพรงไข่ (FSH) เพื่อเปลี่ยนแอนโดรเจนเป็นเอสโตรเจนให้ทันกัน ผลก็คือมีฮอร์โมนเพศชายในตัวสูงทั้งๆที่ตัวเองเป็นผู้หญิงแท้ๆ นี่เป็นความเชื่อเฉยๆนะ ของจริงเป็นอย่างไรไม่รู้ อย่างกรณีของคุณ คุณเองก็เพิ่งเล่าไปโต้งๆว่าหมอเจาะเลือดหาระดับ LH แล้วก็ไม่เห็นจะสูงแต่ประการใด

2. คนเป็นโรค POCS จะป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 (ซึ่งเกิดจากภาวะดื้ออินสุลิน) ประมาณ 10% และอีก 30-40% อยู่ในระยะใกล้จะเป็นเบาหวาน จัดว่าโรคนี้กับเบาหวานเป็นโรคพี่โรคน้องกันเลยแหละครับ ถามว่าถ้าลดความอ้วน จะลดโอกาสป่วยเป็นเบาหวานได้ไหม หลับตาตอบได้เลยครับว่าได้แน่นอน ดังนั้นโปรดอย่ารอช้า รีบลดน้ำหนักเถอะ (ขอแสดงความยินดีที่ลดจาก 90 กก. เหลือ 86 กก. ผมไม่ทราบว่าคุณสูงเท่าไร ผมเดาให้คุณสูงเท่าหญิงไทยรูปร่างสูงเลยเอ้า คือ 165 ซม. ดังนั้นดัชนีมวลกายเป้าหมายมาตรฐานคือ 23 น้ำหนักเป้าหมายคุณควรอยู่ที่ 62.6 กก. เหลือแค่ยี่สิบกก.กว่าๆเท่านั้นเอง สู้..สู้เข้าไป อย่าได้ถอย มวลชนคอย เอาใจช่วยอยู่..)

3. คุณไม่ได้ถามแต่ผมขอแถม เรื่องการป้องกันเบาหวาน มีประเด็นสำคัญที่คนทั่วไปไม่เก็ทอยู่สามประเด็น คือ

ประเด็นที่ 1. งานวิจัยสรุปได้ชัดเจนว่าการออกกำลังกายที่ป้องกันและรักษาโรคเบาหวานได้ดีที่สุดคือการ “เล่นกล้าม” หรือ strength training ดังนั้นเมื่อไปยิมวิ่งคาร์ดิโอแล้ว อย่าลืมเล่นกล้ามด้วย เพราะกล้ามเป็นตัวเผาผลาญน้ำตาล แต่พุงกะทิเป็นตัวเพิ่มน้ำตาล คุณจะเอาอันไหนไว้เลือกเอา

ประเด็นที่ 2. โภชนาการสำหรับคนเป็นเบาหวานคือการลดแคลอรี่ ตัวแคลอรี่ตัวฉกาจคือไขมัน คนเป็นเบาหวานส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ ไปกล้วของหวานกันอึขึ้นสมองเพราะชื่อมันหวานๆเหมือนกัน แต่ความเป็นจริงคือน้ำตาลนั้นเป็นคาร์โบไฮเดรตชั่วดีถี่ห่างก็ให้แค่ 4 แคลอรี่ต่อกรัม แต่ไขมันกลับไม่เห็นมีใครกลัว ทั้งๆที่มันให้ถึง 9 แคลอรี่ต่อกรัม

ประเด็นที่ 3. ผักและผลไม้ให้วิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นสำหรับป้องกันและรักษาเบาหวาน อย่ากลัวความหวานขึ้นสมองจนไม่ยอมกินผลไม้เลย ให้ลดแคลอรี่จากไขมันและคาร์โบไฮเดรตอื่นๆเช่นข้าว แป้ง น้ำตาลแทน แต่กิจผักผลไม้แยะๆ หวานบ้างไม่หวานบ้างก็กินเข้าไปเถอะ


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

24 กันยายน 2553

สิบเอ็ดคำถามเรื่อง HPV

ส่งผลการตรวจภายในมาให้ช่วยอธิบาย

ตอบครับ

1. อ่านผลให้ฟังก่อนนะ ซึ่งแบ่งเป็นสองเรื่อง

1.1 ผลตรวจ HPV-HC II ได้ผลบวก แปลว่ามีเชื้อ HPV ชนิดที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกอยู่ในตัว แต่บอกไม่ได้ว่าเป็นตัวไหน เพราะมันมีหลายตัว (16, 18) ถ้าจะให้รู้แน่ว่ามีตัวไหนบ้าง ครั้งหน้าเวลาตรวจภายในให้บอกสะเป๊กไปชัดๆว่าให้ตรวจ HPV แบบ PCR-genotype เสียเงินพอๆกัน แต่ได้ข้อมูลมากว่า คือทำให้เรารู้ว่าเชื้อที่มีอยู่ในตัวนั้นเป็น type ไหนบ้าง ชนิดที่พอจะใช้วัคซีนป้องกันได้ เรามีหมดแล้วหรือยัง ถ้ามีหมดแล้วก็ไม่ต้องไปฉีดวัคซีน เพราะว่า..สายไปเสียแล้ว แต่ถ้าบาง type ที่วัคซีนป้องกันได้ (6, 11, 16, 18)เรายังไม่ได้ติดมา การฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ก็มีประโยชน์

1.2 ผลการตรวจ Cytology (เซลมะเร็ง) ได้ผลว่ามีแต่การอักเสบ ไม่มีเซลมะเร็ง ถ้าเทียบระบบอ่านเบเทสด้าก็เรียกว่าเป็น NILM (negative for intraepithelial lesion) แปลไทยเป็นไทยว่าไม่ได้เป็นมะเร็งปากมดลูก ยังไม่ได้ทำท่าว่าจะเป็นด้วย

2. เมื่อผลตรวจออกมาเป็นเช่นนี้แล้วเป็นอันตรายมากไหม ตอบว่ายังไม่อันตรายครับ

3. มีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกมากน้อยเพียงใด ตอบว่าไม่ทราบครับ ทราบแต่ว่ามีโอกาสเป็นมากกว่าคนที่ไม่มี HPV เพราะปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าคนที่ตรวจเซลมะเร็งอยู่ในระดับ NILM แต่ตรวจ HPV ได้ผลบวก จะมีโอกาสเป็นมะเร็งกี่เปอร์เซ็นต์ มีข้อมูลแต่เพียงว่าถ้าตรวจพบเซลมะเร็งอยู่ในระดับอาจเป็นมะเร็ง (ASC-US หรือ atypical squamous cell of undetermined significance) ด้วย ร่วมกับตรวจ HPV ได้ผลบวกด้วย จะมีโอกาสเป็นมะเร็ง 13% แต่นั่นไม่ใช่กรณีของคุณ เพราะคุณเป็นระยะ NILM ไม่ใช่ระยะ ASC-US

4. แล้วในระหว่าที่มีเชื้อ HPV นั้นเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับแฟนใช่ไหม ตอบว่า..ใช่ครับ

5. การที่แฟนเคยเที่ยว ญ บริการมาถึงแม้จะสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก็ติดเชื้อ HPV ได้ใช่ไหม ตอบว่าใช่ครับ เชื้อ HPV ติดต่อจากผิวหนังสู่ผิวหนัง ส่วนที่ไม่ได้ครอบโดยถุงยางก็รับเชื้อมาได้ ถุงยางอนามัยจึงป้องกันได้ประมาณ 70% ไม่ใช่ 100%

6. แฟนไม่ได้เที่ยว ญ บริการมานานกว่า 8 ปีแล้ว ดิฉันยังจะติดเชื้อได้หรือ ตอบว่าเป็นไปได้ เพราะอาจจะติดเชื้อกันมาตั้งแต่หลายปีมาแล้ว แม้ว่า 91% ของผู้ติดเชื้อจะกำจัดเชื้อได้หมดด้วยตนเองได้ในสองปี แต่ก็ยังมีอีกประมาณ 9% ที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อได้หมด ต้องคงอยู่ในตัวต่อไปได้นาน ไม่รู้จะอีกนานกี่ปี เรียกง่ายๆว่าเชื้อดื้อ หรือกลายเป็นพาหะ

7. เมื่อพบเชื้อ HPV แล้วการดูแลตัวเองควรทำอย่างไร ต้องยกเว้นการมีเพศสัมพันธ์กับแฟนเลยไหม ตอบว่าไม่จำเป็นต้องถึงขั้น No Sex ครับ เพราะไม่มีหลักฐานใดๆบอกว่าการมีเพศสัมพันธ์จะทำให้ร่างกายเคลียร์เชื้อได้ช้าลง ส่วนที่กลัวว่าจะเอาเชื้อไปติดแฟนนั้นไม่ต้องกลัว เขามีเชื้อนี้อยู่แล้ว หรือไม่ก็มีภูมิคุ้มกันแล้ว เพราะเขาเองเป็นคนเอาเชื้อนี้มาปล่อยให้เรา

8. สมมุติว่าตัวเองดูแลตนเองจนไม่มีเชื้อ HPV แล้วนั้นจะทราบได้อย่างไรว่าแฟนยังเป็นพาหะอีก ดิฉันก็จะกลับไปติดเชื้อนั้นอีกจากแฟนได้หรือไม่ ตอบว่าหากร่างกายของเราเคลียร์เชื้อได้จริง แสดงว่าร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อนั้นได้แล้ว จะไม่ติดเชื้อนั้นอีกครับ แม้ว่าจะได้รับเชื้อซ้ำก็ตาม

9. สำหรับผู้ชาย มีอันตรายไหม มีวิธีรักษาหรือไม่ ตอบว่า HPV ทำให้ผู้ชายป่วยเป็นหงอนไก่ได้ และยังทำให้เป็นมะเร็งอวัยวะเพศ (penis) และมะเร็งทวารหนักได้เช่นกัน การรักษาจะต้องรอให้เป็นก่อน จึงจะรักษาด้วยวิธีจี้หรือตัดออก

10. มีวิธีตรวจคัดกรอง HPV ในผู้ชายไหม ตอบว่า ปัจจุบันนี้ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองเชื้อ HPV ในผู้ชาย แต่ที่อเมริกามีการทำ anal Pap test หมายความว่าเอาผู้ชายรักร่วมเพศไปตรวจทวารหนักคล้ายกับการตรวจภายของในผู้หญิง ในบ้านเราเท่าที่ผมทราบยังไม่มีใครทำกัน

11. ฉีดวัคซีนป้องกันให้ผู้ชายได้ไหม ตอบว่า ฉีดได้ครับ FDA เพิ่งอนุมัติให้ฉีดวัคซีน HPV ในผู้ชายได้เมื่อไม่กี่เดือนมานี้เอง ถ้าฉีดอย่างน้อยในเชิงทฤษฏีก็จะมีประโยชน์ในการป้องกันหงอนไก่ แต่ข้อมูลวัคซีนในผู้ชายยังมีน้อยมาก ยังแนะนำอะไรเป็นตุเป็นตะไม่ได้ตอนนี้


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

21 กันยายน 2553

อายุ 49 ขาน่องบวมตึง

คือจะมีอาการขาน่องบวมตึง ในช่วงสายๆ บ่ายๆ โดยระยะแรกไม่มีอาการปวด
แต่ตอนหลังบางวันจะมีอาการปวดร่วมด้วย เคยไป รพ.พยาบาลก็จัดให้เข้าพบ
หมอกล้ามเนื้อและกระดูก ให้ยาต้านการอักเสบมาทาน แต่ก็ไม่ดีขึ้น
ประวัติเคยผ่าตัดมดลูก ยาที่กินประจำคือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน
อยากรักษาให้หายขาด ขอคำแนะนำจากคุณหมอด้วยค่ะ ว่าควรทำอย่างไร
แลต้องตรวจอะไรเพิ่มเติมกับคุณหมอท่านใด ปัจจบันอายุ 49 ค่ะ
.............................

ตอบครับ

อาการขาบวมที่ว่ามา เกิดจากเหตุได้หลายอย่าง เช่น

1. การอยู่นิ่งๆในท่ายืนมากหรือนั่งห้อยขามาก ทำให้เลือดและน้ำในร่างกายถูกแรงโน้มถ่วงดึงไปกองอยู่ข้างล่าง ทำให้น่อง หน้าแข้ง และเท้า บวมได้โดยไม่ได้เป็นโรคอะไรเลย วิธีพิสูจน์ว่าเป็นพราะเหตุนี้หรือเปล่าง่ายนิดเดียวถ้าคุณยอมทำ คือให้คุณไปออกกำลังกายเช่นเดินเร็วหรือวิ่งให้เต็มที่ทุกวัน คำว่าเต็มที่หมายถึงออกกำลังกายให้ได้ระดับมาตรฐาน คือเหนื่อยจนหอบร้องเพลงไม่ได้ติดต่อกัน 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน ถ้าทำอย่างนี้แล้วอาการบวมหายไปก็ ซ.ต.พ.

2. ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่คุณกินทดแทนอยู่ประจำก็ทำให้ขาบวมได้ เรียกว่ามันทำให้เกิดน้ำค้างในตัว (fluid retention) ความจริงคุณอายุจะห้าสิบอยู่แล้ว ถ้าเป็นสมัยยังมีมดลูกอยู่ก็น่าจะเข้าวัยหมดประจำเดือนแล้ว การกินฮอร์โมนทดแทนหลังวัยหมดประจำเดือนโดยหลักทางการแพทย์ถือว่าได้ไม่คุ้มเสีย ผมแนะนำให้กลับไปหาหมอที่สั่งฮอร์โมนให้กิน ถามเขาว่าจะเลิกได้ไหม หรืออย่างน้อยลดปริมาณลงเป็นชนิดฮอร์โมนต่ำก็ยังดี

3. คุณไม่ได้บอกน้ำหนักและส่วนสูงมา ผมจึงไม่ทราบดัชนีมวลกายของคุณ ที่ผมอยากรู้เพราะผู้ป่วยที่คิดว่าตัวเองขาบวมส่วนหนึ่งนั้นเมื่อมาถึงหมอแล้วจึงถึงบางอ้อ ว่าอย่างนี้เขาไม่เรียกบวมหรอก เขาเรียกว่า “อ้วน”

4. ตอนนั้นคุณตัดมดลูกและรังไข่ไปเพราะอะไร ถ้าเป็นเพราะมีเนื้องอกที่รังไข่ อาการขาบวมท้องบวมอาจเป็นสัญญาณร้ายว่ามะเร็งรังไข่เจ้าเก่าอาจจะกลับมา

ยังมีโรคอื่นอีกเยอะแยะแป๊ะตราไก่ที่ทำให้ขาบวม ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องไปหาหมอเพื่อตรวจวินิจฉัย เช่นโรคหัวใจล้มเหลว โรคไตเรื้อรัง โรคขาดอาหาร โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองแบบต่างๆ เป็นต้น ผมแนะนำว่าให้คุณเริ่มด้วยการออกกำลังกายก่อน ถ้าไม่ดีขึ้นค่อยไปหาหมอ เวลาจะไปหาหมอขอให้ไปหาหมอที่คลินิกอายุรกรรม (internal medicine) หรือคลินิกอายุรกรรมโรคข้อ (rheumatology) เพราะหมอทั้งสองพันธ์นี้จะสืบค้นหาสาเหตุของอาการบวมได้เก่ง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

20 กันยายน 2553

ขอความเห็นหมอสันต์เรื่องร่างพรบ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข

ผมได้อ่านบล็อกของหมอสันต์แล้วเห็นว่าเป็นผู้มีความลึกซึ้งและอิงหลักฐานวิชาการดีมาก อยากฟังความเห็นของหมอสันต์เรื่องร่างพรบ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ... ว่ามีความเห็นอย่างไร

.................

ตอบครับ

แหม.. ต้องออกตัวก่อนนะว่าผมเนี่ยมีพันธกิจในชีวิตเป็นหมอประจำครอบครัวที่ไม่นิยมการเมืองนะครับ ไม่ชอบทะเลาะ ต่อล้อต่อเถียง ต่อปากต่อคำเอาชนะคะคาน ผมชอบเป็นไก่รองบ่อน ยอมให้คนเขาเอาเปรียบ เพื่อจะได้ไม่ต้องทะเลาะเป็นปากเสียงกัน ใครขับรถปาดหน้าผมผมก็จะพูดว่า

"..เออ ไปเถอะ ญาติผู้ใหญ่เอ็งคงไม่สบาย จึงต้องรีบไป ข้าเข้าใจ"

เรื่องจะมาเถียงกันให้ตกฟากว่าต้องอย่างนี้สิจึงจะถูก อย่างนั้้นไม่ได้ ผิด ผมไม่ทำ เพราะ..เครียด เอาเวลาในช่ีวิตที่เหลือน้อยนิดอยู่แล้วไปร้องเพลงทูล ทองใจ หรือสมยศ ทัศนพันธ์ เสียยังจะมันกว่า

เรื่องกฎบัตรกฎหมายนี่ก็เหมือนกัน ฝ่ายเอ็นจีโอ.พูดก็ถูก ฝ่ายหมอพูดก็ถูก ถึงจะไม่เหมือนกันก็ถูกทั้งคู่ ดังนั้น ยังไงก็ได้ครับ เอาไงเอากัน ผมทำตามได้ทั้งนั้น เพราะผมมีหลักประจำใจว่าชอบทำอะไรตามกฎ ยกเว้นนานๆครั้ง ขับรถตอนดึกๆ และมองแล้วไม่มีตำรวจ ผมก็..เอากับเขาบ้างเหมือนกัน แหะ..แหะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

17 กันยายน 2553

เผลอเบิ้ลยาคุม

ดิฉันรับประทานยาคุมชนิด 28 เม็ด ชนิดฮอร์โมนต่ำ ยี่ห้อ minidoz
ประกอบด้วย Gestodene 60 mcg และ Ethinylestradiol 15 mcg เป็นแบบฮอร์โมนเท่ากันทุกเม็ด
คือดิฉันเผลอทานยา ซ้ำซ้อน 2 เม็ดในวันเดียวกัน คือประมาณวันที่ 14 นับจากเม็ดแรก
พอยาชนิดที่เป็นฮอร์โมนหมดเม็ดสุดท้าย วันต่อมาดิฉันก็เอายาที่เป็นฮอร์โมนจากอีกแผงหนึ่งมาทานเพิ่มอีกหนึ่งวัน เพื่อให้ครบวัน
ปรากฏว่าวันถัดมา ( วันแรกที่จะเริ่มกินยาบำรุง ) ดิฉันเอาทิชชู่เช็ดดู มีลักษณะเหมือนประจำเดือน แต่ออกสีคคล้ำๆ ออกมาที่ช่องคลอด
อยากทราบว่ามีอะไรผิดปกติมั้ยคะ และเป็นไปได้มั้ยว่าประจำเดือนจะมาก่อนครบวัน

ขอบคุณมากค่ะ


ตอบครับ

ถามว่ามีอะไรผิดปกติไหม ตอบว่าไม่มีครับ

ถามว่าเป็นไปได้ไหมที่ประจำเดือนจะมาก่อนครบวัน ตอบว่าเป็นไปได้ครับ

ไหนๆก็ใช้ยาคุมแล้ว ควรจะรู้จักยาคุมให้ดีขึ้นในประเด็นต่อไปนี้นะ

ประเด็นที่ 1. พื้นฐานของเรื่องนี้มีสองประเด็น คือการตกไข่ และการมีประจำเดือน

(1) การตกไข่ (ovulation) เกิดจากเมื่อสมองรับรู้ว่าฮอร์โมนเพศ (เอสโตรเจนกับโปรเจสเตอโรน) ลดต่ำลงถึงขีดสุดช่วงมีประจำเดือน ก็จะปล่อยฮอร์โมนกระตุ้นไข่ (FSH) ออกมา ซึ่งจะไปกระตุ้นให้ไข่หนึ่งใบโตขึ้น ไข่ใบนี้เมื่อโตขึ้นก็จะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนไปทำให้ผนังมดลูกหนาตัวเป็นการเตรียมพร้อมรับการตั้งครรภ์ พอไข่โตเต็มที่ระดับฮอร์โมนที่มันผลิตจะตกลงวูบหนึ่ง เป็นการส่งซิกให้สมองทราบว่าไข่โตดีแล้ว สมองจึงปล่อยฮอร์โมนอีกตัวหนึ่งชื่อ LH ออกมาทำให้ไข่ตกออกจากรังไข่

(2) การมีประจำเดือน (menstruation) เกิดจากรังไข่ได้เอารูโบ๋โจ๋ที่ไข่เคยอยู่เก่ามาสร้างเป็นโรงงาน (corpus luteum) ผลิตฮอร์โมนเพศเพื่อสร้างเยื่อบุมดลูกเตรียมตั้งครรภ์ต่อ ขณะเดียวกันก็คอยฟังข่าวว่าไข่ที่ตกไปแล้วได้พบกับอสุจิและฝังตัวที่มดลูกสำเร็จหรือไม่ ข่าวนั้นจะส่งมาโดยตัวอ่อน (embrio) ในรูปของฮอร์โมน HCG หากผ่านไปเจ็ดวันก็แล้วสิบวันก็แล้วยังไม่ได้รับข่าว ไข่ก็จะปิดโรงงาน หยุดสร้างฮอร์โมนเพศ เมื่อไม่มีฮอร์โมนเพศ เยื่อบุมดลูกก็หลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน

ประเด็นที่ 2. ยาคุม (pill) ไปทำอะไรกับระบบพื้นฐานนี้ ยาคุมให้ฮอร์โมนเพศระดับสูงต่อเนื่องไม่มีวูบๆวาบๆขึ้นๆลงๆ ทำให้สมองจับซิกไม่ได้ว่าไข่โตเต็มที่แล้วหรือยัง จึงไม่ปล่อย LH การตกไข่ก็ไม่เกิดขึ้น แต่ถ้ากินยาคุมแบบเผลอเบิ้ลสองเม็ดแล้ววันต่อมากินเม็ดเดียว หรือลืมกินเสียดื้อๆ ระดับฮอร์โมนเพศจะหล่นวูบลงมาหน่อยหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นซิกให้สมองเข้าใจผิดว่าไข่โตเต็มที่แล้ว สมองก็อาจจะปล่อยฮอร์โมน LH ทำให้มีการตกไข่ ทำให้ตั้งครรภ์ได้ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมยาคุมจึงมีประสิทธิภาพเพียง 95% ไม่ถึง >99% อย่างการทำหมันหรือใส่ห่วง ก็เพราะการเผลอกินเบิ้ลหรือลืมกินนี่แหละ

ประเด็นที่ 3. ถ้าเผลอเบิ้ลยาคุม ควรหายาคุมของอีกแผงมากินแทนต่อให้ครบดีไหม ไม่ดีครับ ควรให้รอบเดือนนั้นจบไปตามยาที่มี จบสั้นกว่าปกติไปหนึ่งวันไม่เป็นไร เพราะมันไม่ใช่รอบจริงของร่างกายอยู่แล้ว เป็นรอบปลอมที่กำหนดด้วยยา การจบเร็วไปช้าไปไม่สำคัญ การหายามากินต่อมีโอกาสที่จะทำให้ระดับฮอร์โมนวูบวาบและมีเลือดออกแบบกระปริดกระปรอย (spotting) ได้

ประเด็นที่ 4. ถ้าลืมกินยาคุม ควรจะทำอย่างไร ตอบว่า ถ้าเผอิญช่วงนั้น (สองวันก่อนและสองวันหลังวันที่ลืม) มีเพศสัมพันธ์ ควรหันไปใช้วิธีกินยาคุมฉุกเฉิน ยาคุมฉุกเฉินออกฤทธิ์ในระยะการตกไข่ก่อนที่ไข่จะฝังตัว คือออกฤทธิ์ก่อนการตั้งครรภ์ ดังนั้นกำหนดเวลากินยาคุมฉุกเฉินจึงสำคัญ กล่าวคือโด้สแรกต้องกินภายใน 72 ชม.หลังมีเพศสัมพันธ์ โด้สที่สองหลังโด้สแรก 12 ชม. ถ้ากินช้ากว่านี้คือเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นแล้ว ยานี้จะทำอะไรไม่ได้ ปกติยาคุมกำเนิดที่กินอยู่ประจำสามารถใช้เป็นยาคุมฉุกเฉินได้ โดยอ่านดูที่ฉลากว่ายี่ห้อที่ตนเองกินอยู่ หากจะใช้เป็นยาคุมฉุกเฉินต้องใช้โด้สละกี่เม็ด เช่น Eugynon ใช้ 2 เม็ด Microgynon ใช้ 3 เม็ด Trinodiol ใช้ 4 เม็ด ส่วนยา Minidoz ใช้เป็นยาคุมฉุกเฉินคงไม่ได้เพราะมีระดับ ethinyl estradiol เพียง 15 ไมโครกรัม ขณะที่ยาคุมฉุกเฉินนี้ปกติจะประกอบด้วย ethinyl estradiol อย่างน้อย 100 ไมโครกรัม รวมกับ levonorgestrel อีกอย่างน้อย 500 ไมโครกรัม ถ้ายาคุมของตัวเองใช้เป็นยาคุมฉุกเฉินไม่ได้ ให้ไปหาซื้อตามร้านขายยาได้เอง ไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ เมืองไทยมีขายสองยี่ห้อ ชื่อ Postinor กับ Madonna ที่ร้านวัตสัน หรือร้านบู้ท ก็มีขาย การใช้ยาคุมฉุกเฉินต้องเข้าใจว่ามันมีประสิทธิภาพ 75-85% เท่านั้นไม่มากเท่ายาคุมปกติซึ่งมีประสิทธิภาพ 95% ส่วนที่ลือกันว่ายาคุมฉุกเฉินจะทำให้ทารกพิการนั้นเป็นเรื่องเหลวไหล มันเป็นฮอร์โมนเพศธรรมดาๆนี่เอง ยังไม่เคยมีรายงานว่าทำให้ทารกในครรภ์พิการแม้แต่รายเดียว เมื่อจำเป็นต้องใช้ก็ใช้ไปเถอะ และใช้ไปแล้วก็ไม่ต้องมานั่งวิตกจริตว่าลูกจะพิการ หลังจากกินยาคุมฉุกเฉินไปแล้ว ให้หยุดยาคุมปกติ แล้วนั่งรอประจำเดือนมาอย่างเดียว ในระหว่างนี้ถ้าจะมีเซ็กซ์ควรคุมด้วยวิธีอื่นเช่น ถุงยางอนามัย ปกติหลังกินยาคุมฉุกเฉินประจำเดือนจะมาในเวลาไม่เกิน 7 วัน เมื่อประจำเดือนมาแล้วก็เริ่มต้นยาคุมแผงใหม่ได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

16 กันยายน 2553

จะเลือกเก็บ stem cell ของบริษัทไหนดี

กำลังจะมีลูกในอีกสองสัปดาห์ค่ะ ตื่นเต้นมาก อยากถามคุณหมอสันต์เรื่อง stem cell มีบริษัทมาเสนอให้เก็บ stem cell ทั้งด้วยวิธีเก็บจาก cord blood กับวิธีเก็บจากรก บริษัทที่เก็บจากรกบอกว่าวิธีของเขาดีกว่า ใช้รักษามะเร็งได้ด้วย อยากถามว่าจำเป็นต้องเก็บ stem cell หรือเปล่า ต้องเก็บทั้งสองอย่างเลยหรือ มันแตกต่างกันอย่างไร มีบางคนบอกว่าไม่ต้องเก็บหรอก เอาไว้รอไปขอซื้อหรือขอใช้ของคนอื่นในธนาคาร stem cell เอาก็ได้ จริงหรือคะ

(สงวนนาม)

ตอบครับ

ประเด็นที่ 1. จำเป็นต้องเก็บ stem cell หรือเปล่า ตอบว่าถ้าใช้คำว่า “จำเป็น” ก็คงไม่ถึงกับจำเป็นหรอกครับ หมายความว่าถ้าไม่เก็บให้ ลูกของเราก็คงไม่ถึงกับจะเป็นจะตาย แต่ถ้าปรับคำถามไปหน่อยว่าจะเก็บดีไหม ตอบว่าถ้ามีเงิน เก็บไว้ก็ดีนะครับ เพราะข้อมูลปัจจุบันบ่งชี้ว่าการนำ stem cell หรือเซลต้นกำเนิดนี้ไปใช้ประโยชน์ในอนาคตยังจะมีอีกมาก ซึ่งในยุดสมัยที่ลูกของคุณโตขึ้น หากจำเป็นต้องใช้เซลต้นกำเนิดของตนเองก็จะได้มีใช้ ปัจจุบันนี้เซลต้นกำเนิดใช้รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ความผิดปกติต่างๆของไขกระดูกและเม็ดเลือด และกำลังทดลองใช้รักษาโรคอื่นๆเช่น โรคพาร์คินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อตนเอง, โรคหัวใจขาดเลือด, โรคเบาหวานชนิดที่ 1, โรคตับอักเสบซี. โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น ทั้งนี้มีแนวโน้มว่าในอนาคตเซลต้นกำเนิดจะช่วยรักษาโรคเหล่านี้ได้ผล

ประเด็นที่ 2. Stem cell เก็บจาก cord blood กับเก็บจากรก ต่างกันอย่างไร แหมจะเข้าใจตรงนี้ต้องอดทนฟังแบ๊คกราวด์ของเรื่องก่อนนะ คือเซลอวัยวะต่างๆของเราเนี่ย ถ้าย้อนเวลาไปจะพบว่ามันก็คือเซลต้นกำเนิด “แปลงร่าง” หรือ differentiation มาเป็นเซลของอวัยวะต่างๆ หมายความว่าตอนเป็นเซลต้นกำเนิดนั้นไม่ได้มีหน้าตาอย่างนี้หรอก มีหน้าตาโหลๆเซอๆแบบจะแปลงร่างไปเป็นเซลอวัยวะไหนก็ได้ ในการแปลงร่างนี้ก็ไม่ได้แปลงทีเดียวจบ อาจต้องแปลงกันหลายชั่วอายุของเซล เช่นว่าแบ่งตัวครั้งนี้แปลงร่างจากเซลต้นกำเนิดดั้งเดิมไปเป็นเซลต้นกำเนิดของระบบประสาทสมอง แบ่งตัวอีกทีหนึ่งแปลงร่างไปเป็นเซลสมอง ดังนั้นเซลต้นกำเนิดเองก็ยังมีหลายรุ่น แบ่งได้หยาบเป็นสามรุ่น คือ

1. เซลต้นกำเนิดตัวอ่อน (Embryonic stem cell) นี่เรียกว่ารุ่นเก๋าสุด ตั้งแต่อสุจิผสมกับไข่แล้วเซลแบ่งตัวเป็นก้อนกลมๆเรียกว่าบลาสโตซีส (blastocyst) ยังไม่ทันฝังตัวเองกับมดลูกเลย เซลในก้อนนี้มีราวสามสิบเซลจัดว่าเป็นเซลต้นกำเนิดดั้งเดิม ซึ่งมีอนาคตที่กว้างไกล จะแปลงร่างไปเป็นเซลอวัยวะใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นสมองหัวใจไตตับ รวมสองร้อยกว่าแบบแปลงได้หมด เซลแบบนี้ไม่มีใครรับจ้างเก็บเพราะมีกฎหมายห้าม นัยว่าเป็นประเด็นจริยธรรม การจะเก็บก็เท่ากับต้องฆ่าบลาสโตซีสต์ให้ตาย บาปกรรม

2. เซลต้นกำเนิดของทารกในครรภ์ (fetal stemcell) คือเซลต้นกำเนิดที่ล่องลอยอยู่ในเลือดของทารกในครรภ์ที่มีอายุไม่เกิน 12 สัปดาห์ ซึ่งเป็นระยะที่กำลังมีการแปลงร่างสร้างอวัยวะกันกันระเบิดเถิดเทิง เซลพวกนี้ก็อีกเหมือนกัน คือเล่นไม่ได้ ผิดกฎหมาย

3. เซลต้นกำเนิดของคนโตเป็นตัวแล้ว (adult stem cell) อันนี้เป็นระยะที่การสร้างอวัยวะต่างๆเสร็จแล้ว แต่ยังมีเซลต้นกำเนิดล่องลอยตกค้างอยู่บ้าง เหมือนสร้างบ้านเสร็จแล้วแต่ก็ยังมีอิฐหินปูนเกะกะอยู่บ้าง เซลพวกนี้แหละ ที่เขารับจ้างเก็บกัน คือเก็บจากเลือดในสายสะดือเด็ก (cord blood) เป็นหลัก ส่วนการเก็บจากรกซึ่งปกติถูกขว้างทิ้งไปหลังคลอดนั้น ผมทราบว่ามีรายงานวิจัยว่าเก็บเซลต้นกำเนิดจากรกได้เมื่อปีกลายนี้เอง เพิ่งมาทราบเอาจากคุณนี่แหละว่าในเมืองไทยมีคนรับจ้างเก็บแล้ว..ช่างรู้จักหากินกันเร็วดีจริงๆ

ถามว่ามันต่างกันอย่างไรระหว่างการเก็บที่สายสะดือกับที่รก ถ้าเป็นการเก็บจากเลือดตอบได้ว่าไม่ต่างกันเพราะมันก็เป็นเลือดที่วิ่งไปมาหากันและอยู่ห่างกันไม่ถึงคืบ แต่ถ้าเป็นการเก็บเอาเนื้อเยื่อรกทั้งหมดไปคุ้ยหาเซลต้นกำเนิด การเก็บจากรกก็จะได้ปริมาณเซลต้นกำเนิดจำนวนมากกว่าเก็บจากเลือดที่สายสะดือเพราะรกทั้งอันมันบะเริ่มเทิ่ม ในรายงานวิจัยการเก็บจากรกนั้นรายงานว่าเก็บได้เซลที่หลากหลายด้วย แต่บอกไม่ได้ว่าหลากหลายกว่าเก็บจากเลือดที่สายสะดือมากแค่ไหนเพราะยังไม่มีงานวิจัยเปรียบเทียบกัน แต่ประเด็นสำคัญก็คือไม่ว่าจะเก็บจากสายสะดือหรือจากรก ก็ล้วนเป็นเซลต้นกำเนิดในระยะที่คนโตเป็นตัวเรียบร้อยแล้ว (adult stem cell) ขีดความสามารถที่จะแปลงร่างไปเป็นเซลต่างๆได้สารพัดแค่ไหนก็ไม่ต่างกันเพราะเป็นเซลต้นกำเนิดระยะเดียวกัน จะให้แปลงร่างได้เก่งฟุบฟับเหมือนเซลต้นกำเนิดรุ่นก่อนนั้นเช่นของทารกระยะ 12 สัปดาห์ หรือของบลาสโตซีสต์นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นผมจึงแนะนำว่าถ้าจะเก็บก็เก็บซะอันเดียว จะเอาบริษัทสายสะดือก็สายสะดือที่เดียว จะเอาบริษัทรกก็รกที่เดียว จะเอาของบริษัทไหนดีนั้น ข้อมูลปัจจุบันยังบอกไม่ได้จะจะว่าใครดีกว่าใครครับ

ประเด็นที่ 3. ถ้าไม่เก็บ แล้วรอไปซื้อของคนอื่นใช้จะได้ไหม ตอบว่าได้ระดับหนึ่ง แต่การใช้เซลต้นกำเนิดรักษาโรคปัจจุบันนี้ในบางกรณียังต้องอาศัยความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ (HLA typing) อยู่ด้วย ถ้าไปหวังรับบริจาคหรือซื้อเซลต้นกำเนิดของคนอื่นเขาถ้าหมู่เนื้อเยื่อเข้ากับของเราไม่ได้ก็อด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Parolini O, Alviano F, Bagnara GP, Bilic G, Bühring HJ, Evangelista M, Hennerbichler S, Liu B, Magatti M, Mao N, Miki T, Marongiu F, Nakajima H, Nikaido T, Portmann-Lanz CB, Sankar V, Soncini M, Stadler G, Surbek D, Takahashi TA, Redl H, Sakuragawa N, Wolbank S, Zeisberger S, Zisch A, Strom SC. Concise review: isolation and characterization of cells from human term placenta: outcome of the first international Workshop on Placenta Derived Stem Cells. Stem Cells. 2008 Feb;26(2):300-11.

2. Children's Hospital & Research Center at Oakland (2009). Placenta: New Source For Harvesting Stem Cells. ScienceDaily. Accessed on September 16, 2010, at http://www.sciencedaily.com¬ /releases/2009/06/090623091119.htm
[อ่านต่อ...]

กลัววัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพราะเห็นคุณยายเสียชีวิต

สวัสดีค่ะหนูมีเรื่องให้รบกวนอีกแล้วค่ะ คือเมื่อวันเสาร์ที่ผ่าน เค้ามีฉีดวัคซีนหวัด2009 ให้ฟรีอ่ะค่ะแต่หนูกะที่บ้านไม่กล้าฉีดเนื่องจากยายของหนูที่เค้าเป็นเบาหวานอ่ะค่ะเค้ามีหลายโรคแทรกซ้อนค่ะก็ไปตรวจเป็นประจำทุกอาทิตย์เนื่องจากมีปัญหาเรื่องไตต้องฟอกไตตลอด แล้วแพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง(ขอไม่เอ่ยชื่อนะค่ะ)เค้าก็ให้ยายฉีดวัคซีนหวัด 2009 ฉีดได้ 1 อาทิตย์ยายหนูอาการก็ทรุดหนักเลยจะกระทั่งเสียชีวิตไปเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน เนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด แต่ยังไม่ทราบผลเลือดว่าเป็นหวัดใหญ่,2009 หรือไข้เลือดออกหรือไม่ เนืองจากผลเลือดยังไม่ออก ยายก็เสียก่อน ที่บ้านหนูจึงกลัวว่าการที่เราไปฉีดวัคซีน2009 แล้วอาจเกิดอันตรายขึ้น (หนูกลัวเป็นอะไรไปแล้วไม่มีเวลามาปรึกษาคุณหมอค่ะ)

……..

ตอบครับ

ขอตอบโฟคัสเรื่องวัคซีนนะ เรื่องการติดเชื้อในกระแสเลือดของคุณยายนั้นขอข้ามไปก่อน

ประเด็นที่ 1. การฉีดวัคซีนให้คุณยายของคุณที่ทำไปแล้วนั้น เป็นสิ่งดีไหม ตอบว่าโดยทั่วไปผู้ที่อายุมากเกิน 65 ปี มีโอกาสเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ 2009 น้อยกว่าผู้มีอายุต่ำกว่า 65 ปี ความเร่งด่วนหรือความจำเป็นต้องได้วัคซีนก็จึงน้อยกว่าด้วย แต่หากมีวัคซีนเหลือเฟือ การเสนอฉีดให้ผู้มีอายุเกิน 65 ปีก็เป็นสิ่งที่ควรทำและทำกันอยู่แล้วในอเมริกา เป็นสิ่งที่ดีและถูกต้องแน่นอน ไม่ได้ผิดหลักวิชาแต่อย่างใด
ประเด็นที่ 2. ความปลอดภัยของวัคซีน วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลฉีดไปแล้วหลายร้อยล้านโด๊ส เฉพาะวัคซีน 2009 นับถึงวันนี้ก็ฉีดไปแล้วหลายร้อยล้านโด๊สเช่นกัน ผลข้างเคียงที่พบบ่อยมีแค่เจ็บคอหรือบวมแดงกดเจ็บตรงที่ฉีดเท่านั้น ในวัยรุ่นมักมีรายงานว่ามีปวดหัว ไข้ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้บ้าง แต่ยังไม่เคยมีรายงานว่าวัคซีนทำให้ใครเป็นอะไรถึงตายแม้แต่รายเดียว ข้อมูลนี้ไม่ได้นั่งเทียนบอกนะครับ เพราะระบบติดตามความปลอดภัยของวัคซีนทั่วโลกนี้เป็นระบบแน่นหนามากเรียกว่า VAERS หรือ Vaccine Adverse Event Report System ซึ่งทั้ง CDC และ FDA ร่วมเป็นเจ้าภาพ ตัว CDC เองมีหน่วยงานสาขาอยู่ในเมืองไทยด้วย พิษภัยใดๆของวัคซีนทั่วโลกจะถูกสอบสวนความจริงแล้วรายงานเข้าที่นี่หมด ใครๆก็รายงานได้ คนธรรมดาที่เสียหายและคิดจะเอาค่าเสียหายจากบริษัทวัคซีนก็รายงานได้ นอกจากนี้ยังมีระบบ VSD หรือ Vaccine Safety Datalink ซึ่ง CDC ร่วมกับองค์กรบริการสุขภาพอื่นๆติดตามดูผู้ป่วยที่ได้วัคซีนแล้ว 9 ล้านคนโดยติดตามดูหลังฉีดไปแล้วทุกสัปดาห์ ถ้ามีพิษภัยของวัคซีนที่ไม่มีใครรายงานก็จะทราบได้จากระบบนี้ เรียกว่าในบรรดายาที่ฉีดให้คนไข้ในโลกนี้ วัคซีนเป็นอะไรที่มีระบบความปลอดภัยสูงสุด และอย่างที่บอกไปนั่นแหละ ยังไม่มีหลักฐานใดๆเลยว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ทำให้ใครเป็นอะไรถึงตายแม้แต่รายเดียว

ประเด็นที่ 3. การแพ้วัคซีน จริงๆแล้วเป็นการแพ้ตัวพาหรือ adjuvant ซึ่งวัคซีนที่ซื้อมาใช้ในบ้านเราทำจากไข่ ตัวที่จะแพ้คือแพ้ไข่ คนแพ้ไข่จึงไม่ควรฉีด เราแพ้ไข่หรือไม่ทราบได้จากกินไข่เมื่อไรเป็นได้ปากเจ่อลิ้นพองหรือแน่นหน้าออกจับหืดทุกที พูดถึงจับหืด ถ้าเป็นเด็กที่มีเป็นหืดแรงๆก็ไม่ควรฉีดวัคซีน เพราะคนเป็นหืดถ้าแพ้อะไรจะจับหืดรุนแรงมาก

ประเด็นที่ 4. อันนี้คุณไม่ได้ถาม ผมเพิ่มให้เอง คือประเด็นความกลัวว่าฉีดวัคซีนแล้วจะเป็น กีแลงเบเร่ซินโดรม (Guillain – Barr’e syndrome หรือ GBS) ผมขอเท้าความนิดหนึ่ง ว่ากีแลงเบเร่ซินโดรมนี้มันคือโรคหนึ่ง ซึ่งเกิดจากร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาทำลายเซลประสาทของตัวเอง ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ถ้าเป็นมากก็อ่อนแรงระดับอัมพาตได้ ซึ่งส่วนใหญ่กลับมาหายเป็นปกติได้ วงการแพทย์ยังไม่รู้ว่าโรคนี้เกิดจากอะไรแน่ ได้แต่เดาเอาว่าถ้ามีอะไรไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน อาจมีผลพลอยเสียให้เกิดโรคนี้ขึ้นมาได้ การติดเชื้อบางชนิดเช่นบักเตรีชื่อ Campylobacter jejuni ซึ่งทำให้ท้องเสีย เป็นเหตุร่วมที่พบบ่อยที่สุด การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือไวรัสอื่นๆเช่นไซโตเมกาโลไวรัส และ เอ็บสไตน์บาร์ไวรัส ก็เป็นเหตุร่วมได้บ้าง เหตุที่คนกลัวว่าฉีดวัคซีนแล้วจะเป็นกีแลงเบเร่ซินโดรมนี้มาจากอดีตอันไกลโพ้นเมื่อปีค.ศ. 1976 คือสามสิบกว่าปีมาแล้ว ตอนนั้นพบว่ากลุ่มประชากรที่ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีอัตราเป็นกีแลงเบเร่ซินโดรมเพิ่มขึ้นประมาณ หนึ่งคนต่อแสนคน วงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พยายามทำวิจัยมากมายเพื่อจะหาความเชื่อมโยงว่าวัคซีนทำให้เกิดเป็นกีแลงเบเร่ซินโดรมจริงหรือเปล่า งานวิจัยเกือบทั้งหมดรายงานสรุปว่าไม่มีความเชื่อมโยงกัน แต่มีอยู่สองงานวิจัยที่สรุปเชิงสถิติว่าในการฉีดวัคซีน 1 ล้านคน มีโอกาสที่จะเป็นกีแลงเบเร่ซินโดรมได้หนึ่งคน ซึ่ง CDC ได้ติดตามดูผู้รับวัคซีนทั่วโลกตลอดตั้งแต่นั้นมา แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่เห็นว่าเป็นกีแลงเบเร่ซินโดรมที่ว่าจะมีหนึ่งในล้านจริงๆ กล่าวโดยสรุปคือความสัมพันธ์ระหว่างวัคซีนกับกีแลงเบเร่ซินโดรมนั้น ณ วันนี้ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ แต่ถึงมีก็มีโอกาสน้อยระดับหนึ่งในล้าน และโรคนี้เมื่อเกิดแล้วส่วนใหญ่ก็รักษาให้กลับหายเป็นปกติได้

ประเด็นที่ 5. แถมอีกเหมือนกัน คือประเด็นคนไทยไม่เชื่อคนไทย กลัวว่าวัคซีนที่ผลิตในเมืองไทยจะอันตราย อันนี้ผมขอไม่เจาะรายละเอียดกระบวนการผลิตนะครับ แต่ขอบอกเพียงแต่ว่าวัคซีนที่ผลิตในเมืองไทยเป็นวัคซีนเชื้อเป็นซึ่งใช้พ่นจมูก ยังผลิตไม่เสร็จ ยังไม่ได้เอาออกมาใช้ วัคซีนแบบฉีดที่ใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นวัคซีนเชื้อตาย ซึ่งซื้อฝรั่งเขามา ดังนั้นประเด็นนี้น่าจะตกไปก่อน ยังไม่ต้องไปวอรี่ อย่างน้อยก็ในสองสามปีข้างหน้านี้ขณะที่วัคซีนไทยยังไม่ออกมา

ประเด็นที่ 6. สุดท้าย เรื่องการเสียชีวิตของคุณยายจากการติดเชื้อในกระแสเลือด เชื้อมาจากไหนนั้นตอบทางไปรษณีย์ไม่ได้ครับ ต้องพิสูจน์ด้วยกระบวนการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ บางทีก็พิสูจน์ไม่ได้เสียดื้อๆ ต้องใช้วิธีเดาเอาตามอุบัติการณ์ที่เคยเกิดกับคนอื่นๆทั่วๆไป เรียกว่าวิธีเดาแอ็ก ไม่ใช่ไดแอ็ก (diagnosis) กรณีของคุณยายซึ่งล้างไตประจำ หลักวิชาแพทย์เขียนเป็นตำราเลยว่าการติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยอย่างหนึ่งของการล้างไต ส่วนที่กลัวว่าการฉีดวัคซีนจะทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดถึงตายนั้น ตัดทิ้งได้เลย เพราะทั่วโลกไม่เคยมีรายงานทางการแพทย์ไว้ว่าเคยเกิดขึ้นแม้แต่เพียงรายเดียว


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

15 กันยายน 2553

Hearti benecol จริงหรือหลอกขายของ

ดิฉันเป็นไขมันในเลือดสูง กินยาลดไขมัน Simmex แล้วมีอาการปวดเมื่อยตามตัว นอนไม่หลับ จนต้องเลิกไป เพื่อนคนหนึ่งบอกว่าเขาซื้อ Hearti-benecol กินแล้วไขมันลดลงได้ ดิฉันเห็นคุณหมอสันต์ตอบคำถามเป็นวิชาการตรงไปตรงมาไม่ขายของ จึงอยากถามคุณหมอสันต์ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ควรจะลองดูไหม ยังลังเลเพราะถ้าดีจริงโฆษณาอยู่ตั้งนานทำไมคนยังไม่นิยม

..............

ตอบครับ

เครื่องดื่มที่ว่า (ชื่อการค้า Hearti-benecol) ตัวมันคือสาร stanol ที่ได้จากพืชอาหารเช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง จมูกข้าวโพด เป็นต้น
เป็นที่ทราบกันดีว่าพืชผักผลไม้ทุกชนิดไม่มีโคเลสเตอรอล แต่พืชก็มีน้ำมันที่คล้ายๆกัน ซึ่งเรียกว่า sterol และ stanol บางทีก็เขียนรวมกันว่า sterol/stanol น้ำมันพวกนี้เวลาเราทานเข้าไปแล้วมันไปทำให้ลำไส้ลดการดูดซึมไขมันในอาหารให้เข้าสู่ร่างกายเราได้น้อยลง

ได้มีงานวิจัยที่ดีสองชิ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ งานหนึ่งสุ่มตัวอย่างเอาคน 152 คนมาแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินเนยเทียมใส่ sitostanol 1.8- 2.6 กรัมต่อวัน เทียบกับกลุ่มกินเนยเทียมธรรมดาพบว่ากลุ่มที่กินเนยเทียมใส่ sitostanol ลดไขมันเลว (LDL) ในเลือดได้ 14.1% ขณะที่กลุ่มกินเนยเทียมธรรมดาลดได้เพียง 1.1%

อีกงานวิจัยหนึ่งสุ่มเอาคน 72 คนมาแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้ดื่มน้ำส้มคั้นใส่ sterol อีกกลุ่มหนึ่งให้ดื่มน้ำส้มคั้นธรรมดาทุกวัน นาน 2 เดือน พบว่ากลุ่มที่ดื่มน้ำส้มคั้นใส่ sterol ลดไขมัน LDL ในเลือดลงได้ 12.4% ซึ่งมากกว่ากลุ่มที่ดื่มน้ำส้มคั้นธรรมดาซึ่งลดได้ 7.2%
กล่าวโดยสรุปก็คือสาร sterol/stanol ลดไขมัน LDL ในเลือดได้จริงประมาณ 12-14% จากระดับเดิม จัดเป็นอาหารเสริมลดไขมันในเลือดที่มีหลักฐานว่าได้ผลจริงตัวหนึ่งครับ

ขอพูดนอกเรื่องหน่อยนะครับ ประเด็นที่คุณว่าโฆษณาอยู่ตั้งนานแต่คนทำไมไม่นิยม ผมเดาเอาว่าคงเพราะเข้ามาผิดทางมังครับ นี่พูดถึงสินค้าทั่วไปนะ ไม่เฉพาะตัวนี้ คือมันเข้ามาทางอาหารเสริม ไม่ได้เข้ามาทางยาที่แพทย์สั่ง คือเมืองไทยเรานี้อะไรที่ไม่ได้เข้ามาทางแพทย์ แพทย์ก็ไม่สั่งจ่าย ไม่แนะนำ มีอะไรแมะ เพราะถ้าแพทย์ไปแนะนำของที่คนไข้หาซื้อกินเองได้ มันก็เสียฟอร์มสิ ใช่ไหมครับ ตัวอย่างหนึ่งคือน้ำมันปลาอัดแคปซูล (โอเมก้า 3) เป็นอะไรที่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ว่าดีมากๆ เป็นอาหารชนิดเดียวที่ FDA ของสหรัฐฯยอมให้เขียนข้างขวดว่าป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจได้ แต่ผมไม่เห็นแพทย์สั่งหรือแนะนำให้คนไข้ซื้อน้ำมันปลากินกันสักเท่าไหร่เลย คนก็เลยไม่รู้จักคุณค่าของน้ำมันปลาเท่าที่ควร เทียบกับอาหารอีกตัวหนึ่ง คือกลูโคสามีน (glucosamine) ซึ่งร่างกายใช้สร้างและซ่อมแซมกระดูกอ่อนผิวข้อ เจ้านี้เขาจดทะเบียนเอาเข้ามาในรูปของยา ตัวแรกชื่อ Arthronil มีแพทย์เท่านั้นสั่งจ่ายได้ ชาวบ้านจะไปหาซื้อกินเองไม่ได้ ปรากฏว่าแพทย์สั่งจ่ายกันระเบิดเถิดเทิง จนคนไข้ปวดข้อเรื้อรังเดี๋ยวนี้แทบไม่มีเลยที่จะไม่ได้ทาน glucosamine ทั้งหมดนี่ ผมเดาเอานะครับ ผิดถูกอย่าว่ากัน และไม่เกี่ยวอะไรกับการลดไขมันของคุณด้วย ขอโทษที่นอกเรื่อง หิ..หิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Miettinen TA, Puska P, Gylling H, Vanhanen H, Vartiainen E. Reduction of Serum Cholesterol with Sitostanol-Ester Margarine in a Mildly Hypercholesterolemic Population. N Engl J Med 1995; 333:1308-1312

2. Devaraj S, Jialal I, Vega-López S. Plant Sterol-Fortified Orange Juice Effectively Lowers Cholesterol Levels in Mildly Hypercholesterolemic Healthy Individuals. Arteriosclerosis, Thrombosis, and Vascular Biology. 2004;24:e25
[อ่านต่อ...]

จริยธรรมการไอ.. Cough ethic

สวัสดีค่ะคุณหมอดิฉันมีอายุ 22 ปี ดิฉันมีอาการไอเรื้อรังติอต่อกันมาประมาณ 3 อาทิตย์แล้วค่ะ
คือเป็นหลังจากเป็นหวัด พอหวัดหายอาการไอยังอยู่ ซึ่งเป็นไอแบบไม่มีเสมหะ เป็นอาการระคายคอ และชอบเป็นตอนกลางคืน เวลาเปิดพัดลม หรือแอร์
เวลาไอจะไอรุนแรง แต่พอกินน้ำอุ่นก็หาย ไม่ไอต่อกันนาน เป็นช่วงนึงเท่านั้น
ตอนนี้มีอาการแน่นหน้าอกร่วมด้วย คือแน่นหน้าอกช่วงบนไปถึงใต้คอ
เป็นมาสามสี่วันแล้วค่ะ
ส่วนยาแก้ไอนั้น ดิฉันทานในช่วงแรก แบบน้ำและเม็ด แต่เมื่อยังไม่หายดิฉันก้อหยุดกินเลย
อยากถามคุณหมอว่าดิฉันเป็นอะไร ควรทำอะไรต่อ และจะเป็นวัณโรคมั้ย
ลืมบอกไปค่ะ ดิฉันคิดว่าเป็นโรคหัวใจเลยไปหาหมอหัวใจ เค้าทำ EKG หมอบอกหัวใจปกติค่ะ

Napraw


ตอบครับ

1. เมื่อเป็นหวัด โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดอยู่ตอนนี้ เมื่อหายแล้วจะมีอาการไอแห้งๆตามมาอีก 4-6 สัปดาห์ นี่เป็นเรื่องธรรมดา เรียกว่าเป็นการดำเนินของโรคตามปกติ (natural course)

2. ถามว่าเป็นวัณโรคได้ไหม ตอบว่าเป็นได้ เพราะใครๆก็เป็นวัณโรคได้ แต่กรณีของคุณมีโอกาสที่จะเป็นอาการไอตามหลังการเป็นหวัดหรือไข้หวัดใหญ่มากกว่า สำหรับวัณโรคนั้นอาการมันหลากหลาย อาการชัดที่สุดแบบคลาสสิกเลยก็คือไอออกมามีเลือดปน แต่ส่วนใหญ่เป็นได้ตั้งแต่ไม่มีอาการเลย ไปจนถึงไอเรื้อรังแบบแห้งๆ เป็นไข้ต่ำๆทุกวัน น้ำหนักลด เป็นต้น

3. ถามว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป คำแนะนำที่เป็นมาตรฐานทางการแพทย์ก็คือ ใครก็ตามที่ไอเรื้อรังนานเกิน 3 สัปดาห์ ควรที่จะได้รับการตรวจคัดกรองวัณโรค อันได้แก่การตรวจร่างกายและการเอ็กซเรย์ปอด นั่นเป็นมาตรฐานสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับคุณซึ่งเพิ่งเป็นไข้หวัดมา ถ้าปกติคุณตรวจร่างกายประจำปีสม่ำเสมออยู่แล้วทุกปี คุณจะรอดูไปอีกสักสามสัปดาห์ให้พ้นระยะไอหลังไข้หวัดใหญ่ให้ชัวร์ๆก่อน ถ้าอาการไอยังมีอยู่ ค่อยไปตรวจคัดกรองวัณโรคก็ไม่เสียหายนะครับ อันนี้ให้คุณตัดสินใจเลือกเอง

4. ขอแถมนิดหนึ่งเรื่อง จริยธรรมการไอ หรือ cough ethic คือการไอเป็นการไล่เชื้อโรคให้พ้นบ้านเรา แต่ก็ไม่ควรให้มันกระจายไปไหนต่อไหนให้คนอื่นเดือนร้อน เวลาไอควรใช้กระดาษทิชชูปิดปากทุกครั้ง แล้วทิ้งกระดาษลงถังขยะ ถ้าไม่มีกระดาษทิชชูให้งอศอกเอาชายเสื้อมาปิดปากเวลาไอ อย่าเอาฝ่ามือเปลือยๆปิดปากเวลาไอ เพราะเชื้อโรคจะติดอยู่ที่ฝ่ามือแล้วเราก็ไปหยิบจับอะไรต่ออะไรร่วมกับคนอื่นเขา เช่นลูกบิดประตู ปุ่มลิฟท์ ราวรถไฟฟ้า เป็นต้น ที่ยิ่งไม่ควรทำอย่างยิ่งคือการไม่ปิดอะไรเลย คันคอขึ้นมาก็อ้าปากกว้างเงยหน้าไอโต้งๆเสียงดังลั่นราวกับนางยักษ์ขิณี..น่าเกลียดชะมัด


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

ปวดคอ

หนูมีอาการปวดต้นคอมานานแล้วไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากอะไรบ้างค่ะตอนนี้หมอนที่ใช้รองคอตอนนี้ต้องใช้เป็นหมอนข้างแทนเนื่องจากให้หมอนกดตรงต้นคอไว้มิเช่นนั้นตื่นเช้ามาจะปวดคอมากๆค่ะ หรือบางทีนั่งทำงานมากๆก็จะปวดคอจนต้องกินยาแก้ปวดถ้าเกิดไม่กินยาแก้ปวดซักพักก็จะลามไปถึงหัวจนกลายเป็นคนปวดหัวไปเลยจนในที่สุดก็ต้องกินยาอยู่ดี จนพี่สาวหนูล้อเลียนว่าสงสัยผีมาขี่คอเหมือนในหนังหรือเปล่าว 555+ (ขำๆนะค่ะ ) หนูจึงอยากปรึกษาค่ะว่าควรจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง...

.........................


ตอบครับ

กระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของคอ หลัง และเอว เป็นอวัยวะที่ธรรมชาติออกแบบมาให้อยู่ในท่านอน หมายความว่าตั้งแต่สมัยก่อนที่บรรพบุรุษของเรายังร่วมกับลิง ยังคลานสี่ขาอยู่ พอเรามาใช้ชีวิตในท่าตั้งขึ้น คือใช้แค่สองขา ทำให้เป็นการยากที่จะปรับดุลให้กล้ามเนื้อที่ทำงานดึงรั้งกระดูกสันหลังในทิศทางต่างๆทำงานเฉลี่ยๆกันไปโดยไม่ไปหนักที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อาการปวด ไม่ว่าจะเป็นปวดคอ ปวดหลัง ปวดเอว จึงกลายเป็นธรรมชาติคู่กับมนุษย์ จนกว่าเราจะกลับไปคลานสี่ขาใหม่ (พูดเล่น)

อาการปวดคอหรือหลังหรือเอง ล้วนแบ่งออกตามระดับความรุนแรงได้ สามระดับคือ

(1) ปวดกล้ามเนื้อและเอ็น (myofascial pain) คือปวดเมื่อย เคล็ด ขัด ยอก ตึง

(2) ปวดแล้วเสียวแปล๊บร้าวไปที่อื่น (radiculopathy) ซึ่งมักเกิดจากโคนเส้นประสาทถูกกดหรืออักเสบ

(3) อาการกดทับแกนประสาทสันหลัง (myelopathy) เป็นมากกว่าอาการปวดธรรมดา เช่นกลั้นปัสสาวะ อุจจาระไม่อยู่ ชารอบรูทวารหนัก หรือชาหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็นบริเวณ

ในกรณีของคุณนี้เป็นการปวดกล้ามเนื้อและเอ็น (myofascial pain) เรียกว่าเป็นขั้นเบาสุด สาเหตุมีได้หลายอย่าง ตั้งแต่

1. กล้ามเนื้อต้องหดหรือเกร็งมากหรือนานเกินไป เช่น ตกหมอน นั่งทำงานหรือนอนหลับในท่าที่คอเอียง หรือก้ม หรือเงย นานเกินไป หรือแค่เหลียวมองหลังตอนถอยรถแค่นี้ก็ปวดคอไปเป็นเดือนได้แล้ว

2. การบาดเจ็บ โดยที่เรารู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็แล้วแต่ เช่น กระแทก หรือแม้แต่หมอนวดดึงคอบิดเสียงดังกร๊อก กล้ามเนื้อก็มีสิทธิ์โดนยืดจนบาดเจ็บได้

3. ป.ส.ด. หมายถึงความเครียด ทำให้ปวดกล้ามเนื้อได้ บางทีเป็นการปวดศีรษะเพราะกล้ามเนื้อตึง (tension headache) ก็ปวดลามลงมาถึงคอได้


วิธีจัดการเรื่องปวดคอของคุณมีหลักดังนี้

1. การจัดการท่าร่างตอนนอนหลับ หมอนที่ชาวบ้านหนุนกันทั่วไปนั้น ไม่ดี ไม่รู้ใครคิดขึ้นมา คือมันไปหนุนเอาที่โหนกหลังของกะโหลกศีรษะ (occiput) ซึ่งทำให้คออยู่ในท่าก้มตลอดเวลา ทำให้กล้ามเนื้อคอส่วนข้างและส่วนหน้าต้องเกร็งตัว ทำให้ปวดคอได้ เอาขอนไม้มาหนุนที่ด้านหลังของลำคอแทนยังจะดีเสียกว่า ในกรณีที่คุณนอนหมอนธรรมดา ควรนอนในท่าตะแตง อย่านอนหงาย คอจะอยู่ในท่าเป็นธรรมชาติมากกว่า ถ้าพิถีพิถันมากให้ไปหาซื้อหมอนกายภาพบำบัด (orthopedic pillow) ซึ่งมีรูปร่างเป็นหลุมให้โหนกหลังของกระโหลกศีรษะจมลงไป และมีบ่ารับน้ำหนักที่ไหล่และคอไว้ แบบนั้นนอนหงายได้ไม่ปวด หรือไม่ก็ไปหาหมอนกลมๆเล็กๆมาหนุนตรงใต้คอแทนแล้วให้หัววางบนพื้นฟูก หรือไม่ก็ไม่ต้องใช้หมอนใดๆเลย นอนไปบนพื้นฟูกเรียบๆนะแหละ ก็ยังดีกว่าเอาหมอนมาหนุนตรงโหนกหลังของกะโหลกศีรษะ

2. การจัดท่าตอนทำงาน โดยเฉพาะการทำงานกับคอมพิวเตอร์ ต้องไม่ก้ม แนวโนมคือคนมักใช้ laptop ซึ่งถ้าจะให้พิมพ์สบายต้องวางคอมพิวเตอร์ไว้ต่ำ ก็ต้องก้มจึงจะมองเห็น ครั้นจะเอาขึ้นมาวางสูงให้มองตรงได้ไม่ต้องก้ม ก็ต้องยกแขนพิมพ์ เมื่อยไหล่และข้อมืออีก วิธีดีที่สุดคือจอกับแป้นพิมพ์ต้องแยกกันอยู่ จออยู่ต่ำให้พิมพ์ได้โดยไม่ต้องงอแขนมากกว่ามุมฉาก ให้จออยู่สูงโดยมองตรงได้ไม่ต้องก้ม รอบๆโต๊ะทำงานต้องวางของที่จะต้องหยิบจับไม่ให้ต้องก้ม หรือเอี้ยวคอมาก

3. การจัดท่าตอนขับรถ เบาะหลังที่มีที่หนุนโหนกศีรษะคนขับนั้น ออกแบบมาเพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากศีรษะสะบัดกลับหลังเวลามีอุบัติเหตุ (whiplash injury) แต่เป็นต้นเหตุให้ปวดคอเวลาขับรถนานๆ เพราะคอต้องอยู่ในท่าก้มตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีขับรถในกรุงเทพที่ต้องคอยจี้ก้นคันข้างหน้าไว้ป้องกันไม่ให้เลนข้างๆแทรก วิธีแก้ไขคือต้องไปหาหมอนมามัดไว้ ให้หมอนนั้นรองรับส่วนหลังของคอได้พอดี ปรับเบาะให้เอนเล็กน้อย ตั้งเบาะให้ห่างพวงมาลัยพอเหยียดแขนได้สบายๆ เวลาขับรถก็เอนหลังพิงหมอน เหยียดแขน มองตรงไปไกลๆ อย่าตั้งอกตั้งใจก้มเอาหน้ามาจ่อพวงมาลัยเพ่งมองก้นรถคันหน้า แบบนั้นจะปวดคอแน่นอน

4. การออกกำลังกาย ไม่ว่าจะทำงาน หรือขับรถไปนานๆ ต้องมีการพักทำกายบริหารร่างกายส่วนต่างๆรวมทั้งคอและหลังด้วย การนั่งเพ่งจอคอมพิวเตอร์ครึ่งค่อนวันทำให้กล้ามเนื้อคอบางมัดต้องเกร็งอยู่นานเกินไป ทำให้ปวดหลังเรื้อรังได้

5. เจตคติ หมายถึงความเชื่อและพฤติกรรมก็สำคัญ งานวิจัยพบว่าพวกชอบคิดลบ พวกที่เชื่อว่าเมื่อมีอาการปวด แสดงว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแน่ๆ ปวดแล้วต้องรอให้หายปวดสิ้นเชิงก่อนถึงจะทำอะไรได้ ปวดแล้วก็ไม่พยายามทำอะไรเพราะกลัวปวดมากขึ้น ไม่ยอมออกกำลังกาย ปวดแล้วขอพักลูกเดียว แถมยังชอบหาหมอ ชอบกินยา ชอบทำกายภาพบำบัด ชอบหยุดงาน ชอบโวยวาย ปวดสลึงบอกว่าปวดบาท พวกนี้มักจบลงด้วยการเป็นโรคปวดคอปวดหลังเรื้อรังไม่รู้จบรู้สิ้น

6. การใช้ยา ควรใช้เมื่อจำเป็นจริงๆ ใช้แต่น้อย ใช้สั้นๆแล้วหยุดอย่าใช้ติดต่อกันนานๆ โดยยายอดนิยมที่ควรเริ่มใช้ก่อนเสมอคือยาพาราเซ็ตตามอล หรือยาแอสไพรินก็ได้ อย่าริใช้ยาแก้ปวดแก้อักเสบในกลุ่ม NSAID เพราะจะทำให้ตับและไตพังไม่ทันรู้ตัว

7. การทำกายภาพบำบัด อันนี้ต้องระวังให้ดี บางอย่างทำให้หายช้าลง หมายความว่าอยู่เฉยๆไม่ทำดีกว่า เช่น การใส่ Plaster jacket หรือ lumbar support หรือปลอกคอ (collar) นี่ไม่นับการเข้าเฝือกพวกกระดูกหักนะ บางอย่างไม่ทำให้แย่ลงแต่ก็ไม่ได้ทำให้ดีขึ้น นอกจากเสียเงินเสียเวลา เช่น การกระตุ้นไฟฟ้า (transcutaneous electrical nerve stimulation หรือ TENS) การดึงคอ การใช้อุลตร้าซาวด์ ใช้ชอร์ตเวฟ ใช้เลเซอร์ ส่วนวิธีทำกายภาพบำบัดที่มีหลักฐานว่าช่วยบรรเทาอาการได้จริงๆมีแต่การออกกำลังกายให้มีการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวให้มากขึ้น การขยับข้อ จัดกระดูก บีบนวด หรือการทำกายภาพบำบัดแบบองค์รวมที่ใช้หลายองค์ประกอบร่วมกันเท่านั้น


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. The Clinical Efficacy Assessment Subcommittee of the American College of Physicians and the American College of Physicians/American Pain Society Low Back Pain Guidelines Panel. Diagnosis and Treatment of Low Back Pain: A Joint Clinical Practice Guideline from the American College of Physicians and the American Pain Society. Annals of Internal Medicine 2007: 147(7): 478-491
[อ่านต่อ...]

อาการของเบาหวาน

เนื่องจากหนูเป็นคนที่มีรูปร่างอ้วนท้วนพอสมควรคะและยายหนูก็เป็นโรคเบาหวานด้วย หนูควรจะต้องสังเกตุอาการตัวเองอย่างไรบ้างค่ะถึงจะเรียกว่าเข้าข่ายของอาการโรคเบาหวาน เนื่องจากที่บ้านไม่ได้มีฐานะดีเท่าไหร่จึงอยากจะขอสังเกตุอาการเพื่อให้แน่ใจก่อนว่าเกิดความผิดปกติจากร่างกายแล้วคะรบกวนคุณหมอช่วยแนะนำด้วยนะค่ะ
ตุ้ยนุ้ย

......................................

ตอบครับ

อาการที่พบบ่อยในผู้เป็นเบาหวาน มีทั้งส่วนที่เป็นผลจากภาวะน้ำตาลสูงโดยตรง และส่วนที่เป็นอาการเนื่องมาจากโรคแทรกซ้อน คือ

1.. ปัสสาวะบ่อยและมาก / ปัสสาวะกลางคืน คนปกติมักจะไม่ตื่นขึ้นมาปัสสาวะกลางดึก หรือหากจะตื่นขึ้นมาปัสสาวะกลางคืนก็มักไม่เกินคืนละ 1 ครั้ง แต่ในผู้เป็นเบาหวาน เมื่อระดับน้ำตาลสูงมาก จะมีน้ำตาลออกมากับปัสสาวะซึ่งจะดึงน้ำตามออกมาด้วย ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ มีปริมาณปัสสาวะมาก ต้องตื่นขึ้นมาปัสสาวะกลางดึกบ่อย ๆ

2.. คอแห้ง กระหายน้ำ ดื่มน้ำมาก เป็นผลจากการที่ร่างกายสูญเสียน้ำมากทางปัสสาวะ ทำให้ร่างกายขาดน้ำ เกิดการกระหายน้ำตามมา

3.. หิวบ่อย รับประทานจุ แต่น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ความหิวเกิดจากร่างกายเอาน้ำตาลกลูโคสไปใช้เป็นพลังงานได้ไม่พอเพียง ส่วนอาการน้ำหนักลด เกิดจากมีการสลายเอาโปรตีนในเซลล์กล้ามเนื้อและไขมันในเซลล์ไขมันมาเผาผลาญเป็นพลังงานแทนน้ำตาล

4.. ถ้าเป็นแผลจะหายยาก มีการติดเชื้อตามผิวหนัง หรือเกิดฝีบ่อย การที่น้ำตาลในเลือดสูงทำให้ติดเชื้อง่าย และทำให้เม็ดเลือดขาวมีความสามารถในการกำจัดเชื้อโรคลดลง

5.. คันตามผิวหนัง มีการติดเชื้อราง่าย โดยเฉพาะบริเวณช่องคลอด ซอกพับ สาเหตุของอาการคันเกิดขึ้นได้หลายอย่าง เช่น ผิวหนังแห้งเกินไป หรือการอักเสบของผิวหนังจากเชื้อรา ซึ่งพบได้บ่อยในผู้เป็นเบาหวาน

6.. ตาพร่ามัว ซึ่งเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น จากระดับน้ำตาลในเลือดสูงและน้ำตาลไปคั่งอยู่ในเลนส์ตา ทำให้จอตาผิดปกติ , หรือมีระดับน้ำตาลสูงมานานจนเกิดความผิดปกติของจอประสาทตา หรือตามัวจากต้อกระจก

7.. ชาปลายมือปลายเท้า เนื่องจากเมื่อน้ำตาลในเลือดสูงอยู่นาน จะทำให้เส้นประสาทเสื่อม การรับความรู้สึกไม่ดีดังเดิม เกิดแผลที่เท้าได้ง่าย เมื่อเกิดแผลขึ้นก็หายยาก แต่ติดเชื้อได้ง่าย

8.. หย่อนสมรรถภาพทางเพศ เนื่องจากเกิดความผิดปกติขึ้นกับเส้นประสาทอัตโนมัติ หรือเกิดจากหลอดเลือดตีบ


ที่สำคัญมากกว่าการรู้จักอาการของโรคเบาหวาน คือการป้องกันไม่ให้เป็น เพราะเบาหวานเป็นโรคที่ป้องกันได้ วิธีป้องกันไม่ให้เป็นเบาหวานมีดังนี้

1. ลดความอ้วน

2. ปรับโภชนาการ ซึ่งมีประเด็นสำคัญสองประเด็นคือ กินผักผลไม้ให้มากขึ้น และลดอาหารให้พลังงานลง คนส่วนใหญ่พอเป็นเบาหวานก็กลัวน้ำตาลอึขึ้นสมองเพราะน้ำตาลมันหวานมันคงทำให้เป็นเบาหวาน ทั้งๆที่ตัวทำให้เป็นเบาหวานคือพลังหรือแคลอรี่ส่วนเกิน น้ำตาลหนึ่งกรัมก็ให้พลังงานแค่ 4 แคลอรี่ไม่ต่างจากข้าวและขนมปัง ที่น่ากลัวกว่าคือไขมันซึ่งให้พลังงานต่อกรัมถึง 9 แคลอรี่ มากกว่าน้ำตาลถึงเท่าตัว คนไม่ยักกลัวกัน ดังนั้นคนเป็นเบาหวานต้องลดอาหารให้พลังงานทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง..ไขมัน ที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือคนเป็นเบาหวานบางคนไปจำกัดการทานผลไม้เพราะกลัวว่ามันหวาน เลยขาดส่วนของผักและผลไม้ซึ่งให้วิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นไปเสีย ดังนั้น ลดอาหารให้พลังงานเช่นไขมัน ข้าว แป้ง น้ำตาล แต่ยอมเถิดถ้ามันมากับผลไม้

3. ออกกำลังกาย หมายถึงการออกกำลังกายให้ถึงระดับมาตรฐาน คือออกกำลังกายแบบต่อเนื่องจนเหนื่อย (หอบร้องเพลงไม่ได้) ติดต่อกัน 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้ง ควบกับการ “เล่นกล้าม” หรือ strength training สัปดาห์ละ 2 ครั้ง นี่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ การเล่นกล้ามจำเป็นสำหรับการป้องกันและรักษาเบาหวานที่สุด จำเป็นมากกว่ายา เพราะการเล่นกล้ามทำให้มีกล้ามมาเผาผลาญพลังงานส่วนเกินในร่างกาย มีงานวิจัยมากมายที่พิสูจน์ว่าการเล่นกล้ามป้องกันและรักษาเบาหวานได้ดีกว่ายา


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
..............................

บรรณานุกรม

1. Wang J, Luben R, Khaw KT, et al. Dietary energy density predicts the risk of incident type 2 diabetes: the European Prospective Investigation of Cancer (EPIC)-Norfolk Study. Diabetes Care. Nov 2008;31(11):2120-5.

2. Dluhy RG, McMahon GT. Intensive glycemic control in the ACCORD and ADVANCE trials. N Engl J Med. Jun 12 2008;358(24):2630-3.

3. CDC. National Diabetes Fact Sheet, 2007. Centers for Disease Control and Prevention. Available at http://www.cdc.gov/diabetes/pubs/pdf/ndfs_2007.pdf. Accessed January 20, 2010.
[อ่านต่อ...]

ขอชื่อยาแก้แพ้ดีๆไปซี้อกินเองได้ไหมครับ เอาแบบไม่ง่วง

ขอชื่อยาแก้แพ้ดีๆไปซี้อกินเองได้ไหมครับ เอาแบบไม่ง่วง ไปหมอก็เบื่อ ทำ prick test จนเบื่อก็ไม่หายแพ้สักที
...........................

ตอบครับ

ยาแก้แพ้ ตัวหลักก็คือแอนตี้ฮิสตามีน ซึ่งมีสองรุ่น

1. แอนตี้ฮิสตามีนรุ่นดั้งเดิม ซึ่งทำให้ง่วงสะบัด ได้แก่
Chlopheniramine 4 มก. ทุก 4-6 ชม.
Diphenhydramine (Benadryl) 25-50 มก.ทุก 4-6 ชม.
Hydroxyzine (Atarax) 10-25 มก.ทุก 6-8 ชม.
Pseudoephedrine (Sudafed) 30-60 mg ทุก 4-6 ชม.

2. แอนตี้ฮิสตามีนรุ่นใหม่ (second generation) ซึ่งไม่ง่วง หมายความว่าเทียบกับยาหลอกแล้วง่วงพอๆกัน เพราะการเป็นภูมิแพ้นี้มันก็ง่วงของมันเองอยู่แล้วโดยไม่ต้องกินยาด้วยซ้ำ ยารุ่นใหม่ได้แก่
Cetirizine (Zyrtec) 5-10 มก.วันละเม็ด,
Levocetirizine (Xyzal) 5 มก. ตอนเย็น,
Fexofenadine (Allegra) 60 มก.วันละสองครั้ง
Loratadine (Claritin) 10 มก. วันละครั้ง ซึ่งเป็นคนละชนิดกับ Loratadine + pseudoephedrine (Claritin-D 24 hour)
Montelukast (Singulair) 10 มก. วันละครั้ง อันนี้ไม่ใช่แอนตี้ฮิสตามีนเป็นแอนตี้เลียวโคตรริอีน ซึ่งเป็นสารก่ออาการแพ้ที่ปล่อยออกมาจาก mast cell เช่นกัน

ยาแก้แพ้ซื้อกินเองได้ กินนานๆได้ไม่มีอันตราย ยกเว้นชนิดที่มีส่วนผสมของ pseudoephedrine ซึ่งมีฤทธิ์บีบหลอดเลือด ถ้าใช้มากๆนานๆก็ทำให้ความดันเลือดสูงและหัวใจเต้นเร็วได้เหมือนกัน

ขอให้ความรู้ทั่วไปคุณเพิ่มเติมหน่อยนะ โรคภูมิแพ้คัดจมูกน้ำมูกไหล (allergic rhinitis) มีสาเหตุจากโปรตีนจากภายนอกร่างกายเรียกว่า allergen มาแหย่ให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันชนิด IgE ขึ้นมาสู้ สนามรบก็อยู่ในรูจมูกนั่นแหละ ตัว IgE นี้ไม่ได้มาคนเดียว แต่เกาะลูกพี่ซึ่งเป็นเซลชื่อ mast cell มาด้วย พอมันจับ allergen ได้มันก็จะเขย่าลูกพี่ให้ปล่อยสารสาระพัดออกมารวมทั้งสารฮิสตามีนด้วย ทำให้เกิดอาการแพ้คัดจมูกน้ำมูกไหล คันหู ตา คอ จมูก จาม ง่วง ไม่สบาย
อาการคัดจมูกอาจเกิดจากเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการแพ้ก็ได้นะ เช่นเกิดจากยา การถุนโคเคน การตั้งครรภ์ กินยาคุม หรือมีปัญหาในจมูกเช่นเป็นริดสีดวงจมูก (โพลิป) เป็นต้น

หลักการรักษาภูมิแพ้มีสามประเด็นคือ

(1) มาตรการควบคุมสิ่งแวดล้อม เพื่อเลี่ยงสิ่งที่ทำให้แพ้ เช่นเกสรพืช ไรฝุ่น เอาพรมออกไปเสีย หลีกเลี่ยงสัตว์เลี้ยง กำจัดแมลงสาบ หลีกเลี่ยงควัน น้ำหอมที่กลิ่นแรง หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบฮวบฮาบ

(2) การใช้ยา ยาที่ใช้ได้แก่ (1) แอนตี้ฮิสตามีน เช่น (2) ยาแก้คัดจมูก (3) ยาพ่นหรือหยอดจมูกที่ทำจากสะเตียรอยด์หรือจากยาแก้แพ้ตัวอื่น

(3) การสร้างภูมิคุ้มกัน เป็นการฝึกให้ร่างกายชิน (desensitisation) โดยฉีดสารที่ทำให้แพ้บ่อยๆ ซึ่งต้องทำกันนาน 3-5 ปี และต้องทำอย่างระมัดระวังเพราะอาจแพ้รุนแรงขณะฉีดได้


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

13 กันยายน 2553

ทำไมต้องกินแคลเซียมด้วย แคลเซียมเสริมมีข้อเสียไหม

ตรวจสุขภาพประจำปีแล้ว หมอบอกว่ากระดูกบาง และให้กินแคลเซียม และกินยา fosomax อยากถามคุณหมอสันต์ว่าจำเป็นต้องกินด้วยหรือ ต้องกินนานเท่าไร แคลเซียมกินไปนานๆมีโทษไหม ยา fosomax กินไปนานๆจะมีมีปัญหาอะไรบ้าง ดิฉันอายุ 39 ปี น้ำหนัก 45 กก. สูง 162 ซม.


ตอบครับ

1. ถามว่า จำเป็นต้องกินแคลเซียมไหม ตอบว่าไม่จำเป็น เดี๋ยว.. พูดผิด พูดใหม่ดีกว่า ว่า..ความรู้ทางการแพทย์ปัจจุบันนี้ยังไม่ทราบว่าหญิงมีประจำเดือนที่มีกระดูกบางอย่างคุณนี้การกินแคลเซี่ยมเสริมจะทำให้มวลกระดูกแน่นขึ้นเมื่อเทียบกับกินยาหลอกหรือไม่ แปลไทยให้เป็นไทยอีกที ว่าก็ในเมื่อยังไม่รู้ว่ามันจะมีประโยชน์หรือไม่ จะไปกินมันทำไมละ

2. ถามว่า จำเป็นต้องกิน Fosamax ไหม ความจริงถ้าจะให้ถูกหลักมารยาทต้องเรียกเขาว่า Alendronate ตอบว่าไม่จำเป็นครับ เพราะงานวิจัยการใช้ยากลุ่ม bisphosphonate (ซึ่งมียา Alendronate เป็นสมาชิก) เป็นการวิจัยการลดโอกาสเกิดกระดูกหักในสิบปีข้างหน้าของหญิงหมดประจำเดือนที่กระดูกพรุน โปรดจับประเด็นให้ครบนะ มีสามประเด็นย่อยนะ

ประเด็นที่ 1. คือลดโอกาสกระดูกหักในสิบปีข้างหน้า อีกสิบปีคุณอายุเท่าไร สี่สิบเก้าเอง คุณคิดว่าอายุขนาดนั้นคุณจะกระดูกหักแล้วเรอะ.. ไม่อย่างแน่นอน

ประเด็นที่ 2. คือเขาทำวิจัยในหญิงหมดประจำเดือน คุณยังไม่หมดประจำเดือน พวกเขาเป็นประชากรคนละกลุ่มกับคุณ คุณจะเหมาว่ากินแล้วจะได้ประโยชน์เหมือนพวกเขาได้อย่างไร

ประเด็นที่ 3. เขาวิจัยในคนเป็นกระดูกพรุน แต่คุณเป็นกระดูกบาง คนละเรื่องเดียวกันเลย วิธีนับว่าเมื่อไรเป็นอะไรนี้เขาใช้คะแนน T score ที่รายงานออกมาจากเครื่องวัดมวลกระดูก ถ้าคะแนนได้ ต่ำกว่า -2.5 เป็นกระดูกพรุน ถ้าได้ระหว่าง -1 ถึง -2.5 เป็นกระดูกบาง ถ้าได้สูงกว่า -1 เป็นปกติ คนทั้งสามกลุ่มนี้ (ปกติ กระดูกบาง และกระดูกพรุน) มีโอกาสกระดูกหักไม่เท่ากัน การจะเอาผลวิจัยว่าลดกระดูกหักในคนกระดูกพรุนมาเหมาว่าจะลดกระดูกหักในคนกระดูกบางด้วยนั้น ในทางวิทยาศาสตร์เรียกว่าเป็นวิธีมั่วนิ่ม (extrapolation) ถือว่าเป็นหลักฐานขั้นต่ำที่ไม่เป็นที่ยอมรับ

3. ถามว่าต้องกินนานเท่าไร อันนี้ผมเดาใจคนที่แนะนำให้คุณกินนะ เขาก็คงจะให้คุณกินไป เจาะดูความแน่นกระดูไป สามเดือนที หกเดือนที ทั้งๆที่ความแน่นของกระดูกมันไม่เปลี่ยนกันง่ายๆในเวลาที่สั้นกว่าสองปีหรอก กินไปดูไป เรื่อยๆๆๆ ตราบใดความแน่นกระดูกของคุณยังผิดปกติ เขาก็คงจะให้คุณกินไปชั่วกัลปาวสาน อันนี้ผมเดาใจเขาเอานะ ผิดถูกอย่าว่ากัน เพราะผมไม่ได้เป็นคนให้คุณกิน.. อย่าลืม

4. ถามว่าแคลเซียมกินไปนานๆมีโทษไหม ตอบว่ามีครับ ตามหลักฐานคือ
(1) งานวิจัยแบบเมตาอานาไลซีส (คือขุดงานวิจัยที่ดีๆทั้งหลายในเรื่องนี้แล้วเอาข้อมูลมารวมกันวิเคราะห์) พบกว่าการกินแคลเซียมเสริม ที่ไม่มีวิตามินดี.อยู่ด้วย มีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคหัวใจขาดเลือด (MI) มากขึ้น อันนี้เป็นหลักฐานที่ใหญ่มาก และเป็นหลักฐานระดับเชื่อถือได้เสียด้วย
(2) มีการวิจัยเชิงระบาดวิทยาครั้งใหญ่ที่ติดตามนานถึง 12 ปีพบว่าหญิงที่กินแคลเซียมเสริมเป็นนิ่วในไตมากกว่าหญิงที่ไม่กิน แคลเซียมเสริมนะ หมายถึงแคลเซียมเป็นเม็ดๆ ไม่ใช่แคลเซียมในอาหารธรรมชาติ เพราะงานวิจัยเดียวกันพบว่าคนกินแคลเซียมในอาหารธรรมชาติสูง เป็นนิ่วน้อยกว่าคนกินแคลเซียมในอาหารธรรมชาติต่ำ ซึ่งนักวิจัยเขาอธิบายว่าน่าจะเกิดจากแคลเซียมในอาหารธรรมชาติ ช่วยจับกับออกซาเลทในอาหารกลายเป็นสารประกอบที่ไม่ถูกดูดซึมที่ลำไส้ ทำให้ออกซาเลทไปก่อนิ่วไม่ได้ ขณะที่แคลเซียมเสริมกินแบบโดดๆไม่มีออกซาเลทจากอาหารให้จับ จึงไม่ได้ประโยชน์ในแง่นี้

5. ถามว่ากินยา Fosamax ไปนานๆมีผลเสียอะไรไหม ตอบว่ามีครับ ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ของยานี้ได้แก่ทำให้เป็นหลอดอาหารอักเสบ ตีบ หรือทะลุ เป็นแผลในกระเพาะ ปวดท้อง คลื่นไส้ สำรอกกรด ท้องเสีย ตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ เกิดเนื้อตายที่กระดูกกราม เป็นต้น แต่เพื่อความยุติธรรมต้องพูดว่าขึ้นชื่อว่ายาแล้วก็มีผลเสียจาระไนไม่หมดทุกเม็ดนะแหละ ไม่ใช่เฉพาะยานี้ดอก

6. ขอบคุณที่บอกน้ำหนักและส่วนสูงมาด้วย คุณมีดัชนีมวลกาย (BMI) 17.15 ซึ่งต่ำกว่าเส้นต่ำสุดของค่าปกติคือ 18.5 ไปมากโขอยู่ คุณจะต้องกินโปรตีนเนื้อนมไข่และออกกำลังกายทั้งแบบแอโรบิกและเล่นกล้าให้น้ำหนักขึ้นมาเท่ากับ 48.5 กก. ซึ่งจะได้ BMI เท่า 18.5 ถือว่าต่ำสุดเท่าที่จะทำให้สุขภาพดีได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นกระดูกบางกระดูกพรุนกระดูกหัก ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเป็นคนผอมเกินพิกัดอยู่มาก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Bolland MJ, Avenell A, Baron JA, Grey A, MacLennan GS, Gamble GD, Reid IR. Effect of calcium supplements on risk of myocardial infarction and cardiovascular events: meta-analysis. BMJ 2010; 341:c3691
2. Curhan GC, Willett WC, Rimm EB, Stampfer MJ. A prospective study of dietary calcium and other nutrients and the risk of symptomatic kidney stones. N Engl J Med. 1993 Mar 25;328(12):833–838.
[อ่านต่อ...]

10 กันยายน 2553

หนูเหงา เหงาฉิบหายเลย เหงาจนอยากตาย

หนูเหงา เหงามาก ขอโทษนะคะ เหงาฉิบหายเลย เหงาจนอยากตาย มีใครช่วยได้ไหม คุณพ่อคุณแม่ก็รักหนูมาก ห่วงใยทุกวินาที กอดและปลอบหนูเกือบทุกวัน เพื่อนๆก็รักหนู BB หาตรึม แต่หนูเหงา อ่านที่เพื่อนๆ SMS มาหาก็ยิ่งเหงา อยู่ใกล้ใครต่อใครรอบตัวมากมาย แต่ก็เหมือนมีอะไรมากั้น เหมือนคนเหล่านั้นเป็นเพียงเงารางๆที่ห่างไกล คิดอะไรไม่ตก ตัดสินอะไรไม่ได้ ไม่แน่ใจว่าตัวเองยังดีๆอยู่ไหม ไม่ได้รับรู้ถึงความรู้สึกที่ใครต่อใครมอบให้ ทั้งๆที่รู้ว่าพวกเขารักหนูอย่างจริงใจ หนูเคยเห็นหน้าลุงหมอ แต่ขอไม่บอกว่าเคยเห็นที่ไหน หนูอ่านที่ลุงหมอเขียน ไม่มีใครมีปัญหาเหมือนหนู ลุงหมอช่วยหนูได้ไหม บอกหนูหน่อยสิว่าหนูเป็นอะไร

……

ตอบครับ

คุณคงเป็นสุภาพสตรีที่อายุคงจะยังไม่มากนัก แต่ความคิดมีความลึกซึ้งระดับใกล้บ้าเชียวละคุณเอ๋ย มีคนไข้อย่างคุณบ้างก็เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศดีเหมือนกัน ผมจะตอบคุณแบบคนบ้าคุยกับคนบ้า คละๆปนๆไปกับแบบหมอคุยกับคนไข้นะ คุณคงไม่ซีเรียสกับจารีตมาก

ในเชิงสังคมวิทยา ความเหงาคือความรู้สึกอ้างว้าง ไร้ค่า สูญเสียความนับถือตัวเอง

ในเชิงจิตวิทยาพัฒนาการ ความเหงาเป็นยา “ภาคบังคับ” หรือเป็นความจำเป็นในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่บางทีโด๊สมันก็มากเกินขนาด ทราบจากความรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ถูกปฏิเสธ ซึมเศร้า ไม่ปลอดภัย สิ้นหวัง ท้อแท้ ไร้ค่า และแค้นเคือง ถ้าเป็นขนาดนั้นก็ต้องลดโด๊สลง มิฉะนั้นความสามารถที่จะปฏิสัมพันธ์กับผู้คนก็จะเสียไปกลายเป็นคนแยกตัวไปเลย

สิ่งที่ก่อความเหงาคือความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ซึ่งมาในสามรูปแบบ ได้แก่

(1) เหตุการณ์ หรือสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เช่นย้ายที่อยู่อาศัย สูญเสียความสัมพันธ์กับคนที่เคยดีกันไป

(2) พัฒนาการชีวิตที่เลี่ยงไม่ได้ เช่นเมื่อมาถึงวันหนึ่งความสัมพันธ์ผูกพันอันลึกซึ้งที่เคยมีมา ก็ต้องหลีกทางให้กับความจำเป็นต้องเป็นตัวของตัวเอง

(3) เรื่องภายในใจของใครของมัน เช่นความรู้สึกสูญเสียความนับถือตัวเอง ความรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งจริงตามที่ใครต่อใครคาดหวัง ความหวั่นไหวว่าภารกิจเฉพาะหน้าเช่นการเรียนการสอบ โดยเฉพาะถ้าจะต้องสอบให้ได้อย่างที่ใครๆเขาหวังว่าเราจะได้ มันยากเกินกำลังของตัวเอง เป็นต้น

ความเหงาก่อความรู้สึกไม่พอเพียงในเชิงสังคม (social inadequacy) เชื่อว่าตัวเองไม่ดีพออย่างที่คนอื่นเขาคาดหวัง เชื่อว่าไม่มีใครเข้าใจตัวเอง เสียความมั่นใจ และไม่กล้าที่จะก่อการเปลี่ยนแปลงหรือริเริ่มอะไรใหม่ๆเพราะกลัวถูกสังคมถีบทิ้ง

ปรัชญาเอ็กซิสตองเชียลลิสม์เป็นมุมมองที่สอนให้ยอมรับความเหงาว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดมาเป็นคน คนเรามาสู่โลกนี้อย่างเดียวดาย ฟันฝ่าชีวิตอย่างเดียวดาย และตายไปจากโลกนี้อย่างเดียวดาย การรับกับความจริงอันนี้ได้ และเรียนรู้ที่จะนำพาชีวิตของตนเองฝ่าไปได้อย่างมีความสุขมีความพึงพอใจ นั่นคือความสำเร็จของการมีชีวิตแล้ว นักคิดในค่ายนี้ที่สุดโต่งบางคนเช่นซาร์ตเห็นไปไกลถึงขนาดว่าความเหงาเป็น “สิ่งดีๆ” ของชีวิต เพราะมันเป็นจุดที่ความขัดแย้งสองอย่างในใจคนได้เดินทางมาพบกัน อย่างหนึ่งคือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่พาเราดั้นด้นค้นหาความหมายของชีวิต อีกอย่างหนึ่งคือความเป็นจริงของโลกใบนี้ซึ่งมีแต่ความเหลาะแหละแปรเปลี่ยนไม่มีอะไรที่มั่นคงแน่นอนเป็นแก่นสารให้ยึดถือได้เลย ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อความคิดผิดชอบชั่วดีมาพบความไร้สาระของโลก นั่นคือความเหงา คนวิ่งหนีความเหงาโดยพยายามวิ่งหาความหมายหรือหาสิ่งที่คิดว่าดีๆยิ่งขึ้นไป แต่ยิ่งหนีก็หนีไม่พ้นเพราะความไร้สาระของโลกมันเป็นของจริงที่ปรากฏตำตาอยู่ทุกหนทุกแห่งและทุกเวลา

การเรียนรู้ที่จะรับมือการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่ผ่านมาในชีวิต จึงเป็นเครื่องมือเดียวที่จะสู้กับความเหงาได้

เอาละ หยุดพล่ามเรื่องปรัชญามาพูดถึงการรักษาปัญหาของคุณบ้าง

ในทางการแพทย์ ความเหงาถึงขั้นอยากตายก็คือโรคซึมเศร้า (depression) ซึ่งมีหลักฐานวิจัยว่ามีความสัมพันธ์กับการที่สารซีโรโทนินซึ่งทำหน้าที่ส่งต่อข้อมูลระหว่างเซลประสาทในสมองมีจำนวนลดลง ทั้งนี้ไม่รู้หรอกว่าอะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล แต่วงการแพทย์ก็ถือเอาการรักษาด้วยยาต้านซึมเศร้าเป็นมาตรการรักษาหลัก ยาที่แพทย์ใช้อยู่สองกลุ่ม คือ

(1) กลุ่ม Selective serotonin reuptake inhibitors (SSRI) เช่น Sertraline (Zoloft) 25-50 มก.ต่อวัน Paroxetine (Paxil) 10-20 มก.ต่อวัน ในการให้ยา ต้องให้นาน 2-6 สัปดาห์ก่อนที่จะบอกได้ว่าการสนองตอบต่อยาดีหรือไม่ งานวิจัยแบบเมตาอานาไลซีสเพื่อเปรียบเทียบยาในกลุ่มนี้ 12 ตัว พบว่าอัตราความล้มเหลวของยาหลัง 2-6 สัปดาห์มีถึง 38% และถ้านับรวมผู้ที่สนองตอบต่อยาบ้างแต่ไม่ถึงกับอาการหายไปด้วย อัตราความล้มเหลวของยามีถึง 54%

(2) ยากลุ่ม Tricyclic antidepressants เช่น amitriptyline วันละ 50-150 มก. ยาในกลุ่มนี้อาจทำให้ทำให้สับสนมากขึ้น และง่วงตอนกลางวันได้

แม้ปากจะค่อนแคะวิธีรักษาด้วยยา แต่ผมก็แนะนำอย่างแข็งขันว่าคุณควรพบกับจิตแพทย์เพื่อรักษาด้วยยา เพราะหลักฐานวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่ามันได้ผลดี อย่างน้อยก็ได้ผลดีกว่ายาหลอก

มาตรการอื่นในทางการแพทย์ที่ไม่เกี่ยวกับการใช้ยา ได้แก่

1. การทำจิตบำบัด ซึ่งมุ่งไปค้นหาว่าอะไรเป็นเหตุ แล้วพลิกกลับความคิด ความรู้สึก และเจตคติอันเป็นลบที่สืบเนื่องจากสาเหตุนั้นให้เป็นบวกเสีย พูดง่ายๆว่าคิดใหม่ ข้อนี้ก็อีกนะแหละ คุณต้องพบจิตแพทย์ เว้นเสียแต่ว่าคุณจะมีเพื่อนที่เก่งๆดีๆสักคนสองคนก็อีกเรื่อง

2. การออกกำลังกายให้ได้ถึงระดับมาตรฐาน คือหนักพอควร (เหนื่อยจนร้องเพลงไม่ได้) ต่อเนื่องกันวันละอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละอย่างน้อย 5 วัน ควบกับการออกกำลังกายแบบสร้างความแข็งแร็งให้กล้ามเนื้อ (เล่นกล้าม) อีกสัปดาห์ละอย่างน้อย 2 ครั้ง การออกกำลังกายทำให้มีสารเอ็นดอร์ฟินเข้ามาสู่กระแสเลือด ซึ่งเป็นสารต้านภาวะซึมเศร้าที่ตรงตัวที่สุดยิ่งกว่ายาใดๆ ดังนั้นวิธีออกกำลังกายจึงเป็นวิธีที่ผมแนะนำมากที่สุด

3. การพักผ่อนอย่างพอเพียง บางครั้ง โดยเฉพาะในกรณีนักเรียนนักศึกษา การทำข้อนี้เพียงข้อเดียวก็แก้ปัญหาได้ทั้งหมดแล้ว เพราะร่างกายเป็นฐานของจิตใจ เมื่อร่างกายได้นอนหลับมากพอ ได้พักจากภาวะเครียดมากพอ ก็จะมีพลังสู้กับความท้อแท้ ความเหงา ได้โดยไม่ต้องพึ่งอย่างอื่นเลย ดังนั้นพักให้พอ ถ้ามันจำเป็นต้องหยุดเรียนไปชั่วคราว เป็นเดือน เป็นเทอม หรือเป็นปี ก็ต้องทำ

4. การพยุงทางจิตวิทยา (psychological support) หมายถึงการรับการสนับสนุนจากสังคมรอบตัว เช่นไปหาเพื่อน หาญาติ โทรศัพท์ปรับทุกข์กับคนที่สนิท ไม่ควรตัดขาดจากคนรอบข้าง การคุยกัน face to face จับมือถือแขนมองตากัน ดีกว่าการจิ้ม BB หรือส่ง SMS

5. การมีสัตว์เลี้ยงเช่น หมา แมว กระต่าย หนู ก็มีหลักฐานว่ารักษาโรคเหงาและซึมเศร้าได้ดีกว่าไม่มี

6. การถูกแสงแดด (phototherapy) ก็มีหลักฐานการแพทย์ว่าช่วยรักษาโรคเหงาเศร้าได้

7. การช็อกสมองด้วยไฟฟ้า (ECT) ฟังดูเถื่อนและโหด แต่ก็ยังเป็นทางเลือกมาตรฐานในการรักษาโรคนี้อยู่

ทั้งหมดข้างต้นนั้นคือคำแนะนำตามหลักวิชาแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ผมมีคำแนะนำของผมเองเพิ่มเติม ไม่ใช่หลักวิชาแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ก็ไม่ถึงกับขัดแย้ง

คือผมแนะนำให้คุณฝึกทักษะทางจิตใจสองเรื่องคือ

(1) ฝึกระลึกรู้ (recall) ความรู้สึก (feeling) และความคิด (though) ของตัวเอง ว่าเมื่อตะกี้นี้ เรารู้สึกอะไร เราคิดอะไร ฮั่นแน่ เรารู้สึกเหงาอีกละ ทำนองนั้น

(2) ฝึกความรู้ตัว (self awareness) ว่า ณ ขณะนี้เรารู้ตัวทั่วพร้อมอยู่นะ ว่าเรานั่งอยู่ตรงนี้ ทำอะไรอยู่ ร่างกายมีความรู้สึกอะไร (ร้อน เย็น ปวด เมื่อย) จิตใจมีความรู้สึกอะไร (เหงา เบื่อ โกรธ) และจิตใจคิดอะไร แค่ตามดูและรับรู้เฉยๆ ไม่ต้องไปแทรกแซงบังคับกดข่มอะไร

ทักษะทั้งสองอย่างนี้ คือการระลึกรู้ และความรู้ตัว เป็นเครื่องมือหลักที่จะทำให้เราตามความรู้สึกและความคิดของเราทัน และธรรมชาติของจิตเรานี้ หากความคิดหรือความรู้สึกถูกสติตามทันและเฝ้ามองอยู่ ความคิดหรือความรู้สึกนั้นจะฝ่อไปเอง เหลือแต่จิตใจที่ว่างๆสบายๆ ไม่เหงา ไม่เศร้าซึม นั่นหมายความว่าเมื่อเราตามดูทันจริงๆ ความรู้สึกจะต้องไม่มี ถ้ามีความรู้สึก แสดงว่าเราไม่ได้ตามดู เช่นเดียวกับความคิด เมื่อเราตามดูทันจริงๆ ความคิดต้องไม่มี ถ้ายังมีความคิด แสดงว่าเรายังไม่ได้ตามดู หรือตามดูยังไม่ทัน พอตามดูเก่งๆเข้า คุณก็จะเห็นเองว่าความรู้สึกเหงาหรือเศร้านั้น แท้จริงมันไม่ได้เกาะกินใจเราตลอดเวลาดอก มันเกิดขึ้นมาได้สักพัก พอเราตามดูทันมันก็หายไป มันเป็นของชั่วคราว ไม่ใช่ของถาวร และถ้าเราระลึกรู้ถี่ๆ รู้ตัวถี่ๆ ถี่ขนาดทุกลมหายใจเข้าออก ความเหงาหรือเศร้านั้นก็ไม่มีที่อยู่ ก็จะหายไป แน่นอนมันไม่ได้ไปไหนไกล เมื่อเราเผลอ มันจะมาเกาะกินใจเราอีก ดังนั้นก็อย่าเผลอ ตามดูใจเรา รู้ทันใจเรา ถี่ๆ ทุกลมหายใจเข้าออกยิ่งดี

ย้ำอีกทีว่าคำตอบของผมเป็นเพียง "เพื่อน" นำทางที่อยู่ห่างไกลเท่านั้น ผมยังยืนยันให้คุณไปพบจิตแพทย์ให้ได้ ซึ่งเขาจะช่วยคุณได้ใกล้ชิด และทันเวลาที่คุณต้องการ


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

คีลอยด์ (Keloid) แผลเป็นนูนน่าเกลียด

กลุ่มใจเรื่องคีลอยด์ที่ต้นแขนมากค่ะ นูนน่าเกลียด ยาฮิรูดอยด์ก็แล้ว ฉีดยาก็แล้ว เลเซอร์ก็แล้ว เสียเงินไม่ว่า เสียเวลาไปสองปี สุดท้ายทุกอย่างแย่เท่าเดิม อยากให้คุณหมอสันต์พูดถึงเรื่องคีลอยด์แบบของจริงที่ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงด้วยค่ะ ว่ามีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง ได้ผลสักเท่าไร

ตอบครับ

คีลอยด์ (Keloid) หรือแผลเป็น คือภาวะที่มีเนื้อเยื่อพังผืดเกิดนูนขึ้นมาบนแผลของผิวหนังที่หายสนิทแล้ว เนื้อพังผืดนี้นอกจากจะนูนขึ้นแล้วยังเติบโตลามออกไปพ้นขอบแผลดั้งเดิมของผิวหนังอีกด้วยเหมือนขาปูออกไปจากตัวปู ถ้าผ่าตัดเอาออก ก็จะโตขึ้นมาอีกเหมือนเดิมหรือมากกว่าเดิม
ถ้าเป็นกรณีคล้ายๆ กัน คือแผลที่หายแล้วเกิดเนื้อเยื่อพีงผืดแดง นูน และคันแต่ไม่ออกไปนอกขอบแผลดั้งเดิม เรียกว่า hypertrophic scar แบบหลังนี้มักเป็นกับแผลที่ถูกความร้อนลวกหรือนาบ

ทั้งคีลอยด์และ hypertrophic scar ต่างก็มีกลไกการเกิดคล้ายกัน คือการสร้างและการสลายพังผืด (collagen fiber) ขณะแผลหายไม่ได้ดุลพอดีกัน เมื่อสร้างพังผืดขึ้นมาสมานแผลมากแต่กลไกการลบทำลายพังผืดส่วนเกินไม่มากพอ จึงเกิดเป็นคีลอยด์

วิธีป้องกัน

การป้องกันไม่ให้เกิดเป็นสิ่งที่ดีที่สุด นั่นคือเวลามีสิว หรือเป็นสุกใส อย่าแกะ เวลาจะฉีดยาหรือวัคซีน ต้องฉีดในที่ๆจะถูกปกปิดด้วยเสื้อผ้ามิดชิด เวลาจะผ่าตัด ต้องเลือกวิธีที่มีแผลเล็ก แผลผ่าตัดไม่ควรตัดผ่านร่องตามธรรมชาติของผิวหนัง (skin crease) ไม่ตัดผ่านข้อพับ และหลีกเลี่ยงแผลที่กลางหน้าอกซึ่งเกิดคีลอยด์ง่าย เวลาเย็บปิดแผลต้องไม่ให้สองข้างขอบแผลตึงเกินไป

วิธีรักษา

1. การฉีดสะเตียรอยด์เข้าไปในเนื้อคีลอยด์ โดยใช้ triamcinolone acetonide (TAC) 10-40 mg/mL โดยใช้เข็มเบอร์เล็กขนาดเบอร์ 25 – 27 ฉีดทุก 4 – 6 สัปดาห์ ได้ผล 50-100% จัดว่าเป็นวิธีรักษาที่ได้ผลดีที่สุดตอนนี้ แต่ก็มีอัตราการกลับเป็นใหม่หลังรักษาประมาณ 9 – 50% แต่การฉีดสะเตียรอยด์บ่อยๆก็มีข้อเสียที่ทำให้ผิวเหี่ยวย่น ผิวเปลี่ยนสี และมีเส้นเลือดฝอยขึ้น (telangiectasia )

2. วิธีอัดหรือรัดคีลอยด์ (compression dressing) ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าผิวหนังหากถูกอัดหรือรัดนานๆจะบางลง วิธีอัดหรือรัดทำได้หลายอย่าง รวมทั้งการรัดด้วยผ้ายืด ในงานวิจัยหนึ่งซึ่งใช้กระดุมอัดสองข้างของคีลอยด์ที่ติ่งหู พบว่าป้องกันการกลับเกิดคีลอยด์ไปได้นาน 8 เดือนถึง 4 ปี อีกวิธีหนึ่งคือวิธีพอก (occlusive dressing) โดยใช้แผ่นซิลิโคนพอกคีลอยด์ไว้ ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง งานวิจัยพบว่าถ้าพอกแผลด้วยซิลิโคน 24 ชั่วโมงต่อวันนาน 1 ปี คีลอยด์จะดีขึ้นมาก 37.5% แต่ก็ยังมีอีก 27.5% ที่จะไม่ดีขึ้นเลย ปัจจุบันนี้มี Cordran tape ซึ่งเป็นแผ่นพลาสเตอร์แบนเหนียวใสอาบสะเตียรอยด์ เมื่อใช้แผ่นนี้พอกไประยะหนึ่งจะทำให้คีลอยด์นุ่มและแบนขึ้น อย่างไรก็ตาม ทั้งวิธีอัด รัด หรือพอกนี้ไม่เป็นที่นิยมเพราะยุ่งยากในการทำ เมื่อหยุดทำก็มีปัญหาการกลับเป็นใหม่

3. วิธีฉีดสารใหม่ๆ ที่ยังไม่ใช่วิธีรักษามาตรฐาน เป็นการทดลองฉีดสารต่างๆเข้าไปในเนื้อคีลอยด์ เช่น อินเตอร์เฟียรอน ยารักษามะเร็งหลายตัว โบท็อกซ์ สารสกัดหัวหอม วิตามินอี ฯลฯ วิธีรักษาเหล่านี้ ยังไม่มีผลวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบขนาดใหญ่พอมาเป็นหลักประกันว่าเป็นวิธีรักษาที่ได้ผลดีกว่าการฉีดสะเตียรอยด์อย่างเดียว จึงยังไม่ใช่วิธีมาตรฐานในปัจจุบัน

4. การรักษาด้วยการฉายรังสี เป็นวิธีรักษาที่ยังเป็นที่โต้แย้งกันอยู่ว่าได้ผลดีจริงหรือไม่ จึงยังไม่ใช่วิธีมาตรฐานเช่นกัน

5. การใช้ความเย็น (cryotherapy) โดยใช้ไนโตรเจนเหลวจี้ ทำให้คีลอยด์เย็นจนเนื้อเยื่อถูกทำลาย ได้ผล 51-74% เมื่อประเมินใน 30 เดือน แต่มีภาวะแทรกซ้อนคือสีผิวจะ “ตกสี” กลายเป็นสีขาว

6. การผ่าตัดออก แต่ว่าแม้จะผ่าตัดออกโดยใช้เทคนิคที่ดี ไม่ให้มีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อมาก ไม่ให้มีความตึงของผิวหนังสองข้างเมื่อเย็บปิดใหม่ ก็ยังมีอัตราการกลับเป็นคีลอยด์ใหม่ถึง 40-100% การผ่าตัดจึงไม่ใช่วิธีรักษาที่ดี จะเลือกใช้ในกรณีเฉพาะเท่านั้น หากผ่าตัดร่วมกับฉีดสะเตียรอยด์ อัตราการกลับเป็นจะลดลงเหลือต่ำกว่า 50%

7. การใช้เลเซอร์แบบต่างๆ ปัญหาก็คล้ายๆการผ่าตัดคืออัตราการกลับเป็นใหม่สูง ถ้าใช้คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ทำลายคีลอยด์ จะมีอัตราการกลับเป็นใหม่อีก 39-92% แต่หากใช้ร่วมกับการฉีดสะเตียรอยด์ จะมีอัตราการกลับเป็นใหม่ 25-75% เลเซอร์ชนิดอื่นก็ให้ผลต่างกันไม่มากนัก เมื่อดูที่อัตราการกลับเป็นใหม่ของคีลอยด์แล้ว การใช้เลเซอร์ก็เหมือนกับการผ่าตัด คืื่อยังไม่ใช่วิธีที่ดี

วิธีรักษาทั้งเจ็ดกลุ่มข้างบนนี้ บางหมอก็ผสมกัน คือเอาวิธีนั้นมาผสมวิธีนี้ สูตรใครสูตรมัน มาถึง ณ ขณะนี้ยังไม่มีรายงานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบที่มีขนาดใหญ่พอให้เชื่อได้ว่ามีวิธีรักษาแบบไหนไม่ว่าจะแบบเดี่ยวหรือแบบผสม ที่ดีกว่าการฉีดสะเตียรอยด์เข้าไปในเนื้อคีลอยด์อย่างเดียว

กล่าวโดยสรุปให้คุณแล้วใจก็คือยังไม่มีวิธีรักษาคีลอยด์ที่ได้ผลดีโดยไม่กลับเป็นอีก ดังนั้นวิธีรักษาคีลอยด์ที่ดีที่สุดคือวิธี make your heart แปลว่า..ทำใจเสียเถิดครับ

แถมอีกนิดหนึ่ง ยาฮิรูดอยด์ที่คุณใช้ทานั้น ไม่ใช่ยาป้องกันหรือรักษาคีลอยด์ คงไม่มีหมอคนไหนบ้องตื้นให้คุณเอาฮิรูดอยด์ป้องกันหรือรักษาคีลอยด์ เข้าใจว่าคุณคงจะซื้อทาเอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Lee JH, Kim SE, Lee AY. Effects of interferon-alpha2b on keloid treatment with triamcinolone acetonide intralesional injection. Int J Dermatol. Feb 2008;47(2):183-6.
[อ่านต่อ...]

09 กันยายน 2553

ผ้าอนามัยแบบสอด (tampon) เสี่ยงต่อการติดเชื้อจริงไหม

ผ้าอนามัยแบบสอดใส่หรือแทมปอน (tampon) ที่มีขายในตลาดสมัยปัจจุบันนี้ สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย และมีอุบัติการติดเชื้อต่ำมากจนอยู่ในระดับยอมรับกันได้ ทั้งนี้มีข้อแม้ว่าต้องปฏิบัติตามคำแนะนำข้างกล่องเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็น

1. เวลาจะสอดแทมปอน ล้างมือให้สะอาดเสียก่อน จับส่วนเนื้อของแทมปอนให้น้อยที่สุด เพราะความสกปรกอาจจะอยู่ที่มือแล้วติดแทมปอนเข้าไป

2. ถ้าเป็นสาวแรกรุ่นที่ยังไม่เคยใช้แทมปอน อย่าใช้ชนิดมีกลิ่นหอม เพราะอาจแพ้สารเคมีที่ใช้ทำกลิ่น

3. อย่าใส่แทมปอนตัวเดียวนานเกิน 6 - 8 ชม. เพราะความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่สอดคาไว้

4. เลือกแทมปอนที่มีพลังดูดซับต่ำสุดเท่าที่จำเป็น เพราะยิ่งแทมปอนมีพลังดูดซับสูง ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาก ไม่ว่ากรณีใดๆ อย่าใช้แทมปอนที่มีพลังดูดซับเกิน 15 เท่า

5. หลีกเลี่ยงการใช้แทมปอนหลายตัวติดต่อกันแบบวิ่งผลัดมาราธอน ควรเปลี่ยนใช้ผ้าอนามัยแบบธรรมดาสลับบ้าง โดยเฉพาะกลางคืนตอนนอนหลับ เพราะไม่ต้องไปกระโดดโลดเต้นหรือโชว์อะไร

6. ควรหลีกเลี่ยงการใช้แทมปอนในระยะหลัง 12 สัปดาห์แรกหลังตั้งครรภ์ซึ่งเป็นระยะติดเชื้อง่าย

7. ถ้าประจำเดือนมีสีหรือกลิ่นผิดปกติ อย่าใช้แทมปอน เพราะอาจมีการติดเชื้อเกิดขึ้นแล้ว

8. ในระหว่างใช้แทมปอน หากมีไข้สูงทันทีทันใดต้องรีบไปหาหมอทันที แล้วบอกหมอด้วยว่าใช้แทมปอนอยู่

ความกลัวแทมปอนมาจากอดีตอันไกลโพ้น คือเมื่อปี ค.ศ. 1980 หรือยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ตอนนั้นมีการผลิตแทมปอนแบบพลังดูดซับสูงออกมาใหม่ๆแล้วมีหญิงสาวๆใช้แล้วมีไข้สูงทันทีทันใดเป็นจำนวนหลายร้อยคน และมีหลายสิบคนเสียชีวิต การสอบสวนโรคพบว่าการป่วยนั้นเกิดจากพิษของเชื้อบักเตรีชื่อสะแตฟฟิโลคอคคัส และเรียกชื่อโรคนั้นว่า toxic shock syndrome และพบว่าการติดเชื้อเกิดขึ้นในช่องคลอดขณะใส่แทมปอนที่มีพลังดูดซับสูงและใส่ไว้นานเกิน 12 ชั่วโมงขึ้นไป บริษัทผู้ผลิตแทมปอนได้ถอนสินค้าออกไปจากตลาด เปลี่ยนวัสดุ ลดพลังดูดซับ และสอนผู้ใช้ให้รู้จักใช้อย่างถูกวิธี อุบัติการณ์ของ toxic shock syndrome ในหญิงมีประจำเดือนก็ลดลงจนเหลือต่ำกว่าหนึ่งต่อแสนในอเมริกาในปัจจุบัน


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. CDC. Toxic-shock syndrome--United States. MMWR 1980;29:229-30.
2. Schlech WF, Shands KN, Reingold AL, et al. Risk factors for development of toxic shock syndrome: association with a tampon brand. JAMA 1982;248:835-9.
3. Berkley SF, Hightower AW, Broome CV, Reingold AL. The relationship of tampon characteristics to menstrual toxic shock syndrome. JAMA 1987;258:917-20.
4. Gaventa S, Reingold AL, Hightower AW, et al. Active surveillance for toxic shock syndrome in the United States, 1986. Rev Infect Dis 1989;2(suppl S1):S35-42.
[อ่านต่อ...]

ยาเม็ดคุมกำเนิดทำให้เป็นมะเร็งมากขึ้นจริงหรือไม่

ยาคุมกำเนิดเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งต่างๆหรือไม่

ข้อมูลเท่าที่วงการแพทย์มี มีอยู่ห้าประเด็นคือ

1. ยาคุมกำเนิดกับมะเร็งเต้านม เราทราบแน่นอนแล้วว่าโอกาสเป็นมะเร็งจะเพิ่มขึ้นถ้ามีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายสูงอยู่นานๆ เช่น (1) กรณีคนมีประจำเดือนครั้งแรกเร็ว(ก่อนอายุ 12 ขวบ) หรือ (2) หมดประจำเดือนช้า (หลังอายุ 55 ปี) หรือ (3) มีลูกคนแรกช้า (เมื่ออายุเกิน 30 ปี) หรือเป็นสาวตลอดไม่มีลูกเลย สำหรับผลยาคุมกำเนิดซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศเหมือนกันนั้น ในปีค.ศ. 1996 วารสาร Lancet ได้ตีพิมพ์ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงระบาดวิทยาขนาดใหญ่ที่สุด คือรวมรวมข้อมูลจากประมาณ 90% ของงานวิจัยระบาดวิทยาในเรื่องนี้ทั้งโลกเลยทีเดียว พบว่าหญิงที่กินยาคุมกำเนิดมีอุบัติการณ์เป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าหญิงทั่วไปเล็กน้อย แต่จะกลับมาเหมือนคนทั่วไปเมื่อเลิกกินยาคุมกำเนิดได้นาน 10 ปีขึ้นไป

ต่อมาในปี 2002 ได้มีการวิจัยชื่อ CARE study แบบซึ่งวิจัยหญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมอายุ 35-64 ปีจำนวน 4,575 คน เทียบกับหญิงที่ไม่เป็นมะเร็งเต้านมจำนวนเท่าๆกับ พบว่าการกินยาคุมกำเนิดไม่ได้เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งเป็นผลที่ขัดแย้งกับงานวิจัยแรก

ต่อมาในปี 2003 สถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐฯ ได้จ้างทำวิจัยด้วยวิธีสำรวจหญิงเป็นมะเร็ง 907 คนเปรียบเทียบกับหญิงที่ไม่เป็นมะเร็ง 1,700 คนโดยเน้นประเด็นการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ตั้งแต่เริ่มใช้เมื่อไร หยุดเมื่อไร แล้วพบว่าหญิงที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดอยู่หรือใช้แล้วแต่เพิ่งเลิกไปไม่นาน มีอุบัติการณ์เป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าหญิงทั่วไป ซึ่งเป็นผลที่กลับไปเหมือนผลการวิจัยเชิงระบาดวิทยาเมื่อปี 1996

อย่างไรก็ตาม การวิจัยทั้ง 3 รายการแม้จะเป็นการวิจัยขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่การวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ จึงมีความเชื่อถือได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ข้อมูลที่วงการแพทย์มีอยู่ ณ ขณะนี้จึงสรุปได้เพียงว่า ผู้หญิงที่กินยาเม็ดคุมกำเนิดอยู่ หรือกินแล้วแต่เลิกไปแล้วไม่เกิน 10 ปี “อาจจะ” มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนไม่ได้กินยาเม็ดคุมกำเนิด

2. ยาเม็ดคุมกำเนิดกับมะเร็งรังไข่ งานวิจัยทุกรายการให้ผลตรงกันอย่างคงเส้นคงว่าคนกินยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นมะเร็งรังไข่น้อยกว่าคนไม่ได้กินยาเม็ดคุมกำเนิด ยิ่งกินอยู่นาน ก็ยิ่งมีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่น้อยลง ทั้งนี้โดยไม่เกี่ยวกับชนิดของฮอร์โมนที่ใช้ในยาเม็ดที่กิน

3. ยาเม็ดคุมกำเนิดกับมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (endometrial cancer) งานวิจัยพบว่าคนกินยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกน้อยกว่าคนทั่วไป

4. ยาเม็ดคุมกำเนิดกับมะเร็งปากมดลูก หลักฐานปัจจุบันบ่งชี้ว่าการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดนานๆ มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูดที่เด่นและชัดเจนกว่าคือการติดเชื้อไวรัสเอ็ชพีวี. ขณะที่ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เล็กกว่ามาก

5. ยาเม็ดคุมกำเนิดกับมะเร็งตับ งานวิจัยหลายรายการสรุปผลว่ายิ่งใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดนาน ยิ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับมากขึ้นสำหรับผู้หญิงผิวขาวและผิวดำ แต่ไม่เพิ่มความเสี่ยงสำหรับผู้หญิงเอเชียและอัฟริกาซึ่งมีอัตราการเป็นมะเร็งตับอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว

สรุปสุดท้ายก็คือยาคุมกำเนิดทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับเพิ่มขึ้น และอาจทำให้เป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เป็นมะเร็งรังไข่และมะเร็งโพรงมดลูกลดลง โดยยิ่งใช้นาน ยิ่งมีผลมากขึ้น ดังนั้น ในแง่ของการป้องกันมะเร็ง ยาเม็ดคุมกำเนิดจึงไม่เหมาะกับสตรีที่มีแผนคุมกำเนิดเป็นการถาวรหลายสิบปี เช่นสตรีที่สมรสแล้วและมีบุตรครบแล้ว การคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นเช่นการทำหมันหรือการใส่ห่วงเป็นวิธีที่นอกจากจะได้ผลแน่นอนกว่าแล้ว ยังปลอดภัยจากการเป็นมะเร็งมากกว่าด้วย


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Collaborative Group on Hormonal Factors in Breast Cancer. Breast cancer and hormonal contraceptives: Collaborative reanalysis of individual data on 53,297 women with breast cancer and 100,239 women without breast cancer from 54 epidemiological studies. Lancet 1996; 347:1713–1727.
2. Marchbanks PA, McDonald JA, Wilson HG, et al. Oral contraceptives and the risk of breast cancer. New England Journal of Medicine 2002; 346(26):2025–2032.
3. Althuis MD, Brogan DD, Coates RJ, et al. Breast cancers among very young premenopausal women (United States). Cancer Causes and Control 2003; 14(2):151–160.
4. Hankinson SE, Colditz GA, Hunter DJ, et al. A quantitative assessment of oral contraceptive use and risk of ovarian cancer. Obstetrics and Gynecology 1992; 80(4):708–714.
5. Centers for Disease Control and Prevention and the National Institute of Child Health and Human Development. The reduction in risk of ovarian cancer associated with oral-contraceptive use. The Cancer and Steroid Hormone Study of the Centers for Disease Control and the National Institute of Child Health and Human Development. New England Journal of Medicine 1987; 316(11):650–655.
6. Schildkraut JM, Calingaert B, Marchbanks PA, Moorman PG, Rodriguez GC. Impact of progestin and estrogen potency in oral contraceptives on ovarian cancer risk. Journal of the National Cancer Institute 2002; 94(1):32–38.
7. Greer JB, Modugno F, Allen GO, Ness RB. Androgenic progestins in oral contraceptives and the risk of epithelial ovarian cancer. Obstetrics and Gynecology 2005; 105(4):731–740.
8. Emons G, Fleckenstein G, Hinney B, Huschmand A, Heyl W. Hormonal interactions in endometrial cancer. Endocrine-Related Cancer 2000; 7(4):227–242.
9. Smith JS, Green J, Berrington de GA, et al. Cervical cancer and use of hormonal contraceptives: A systematic review. Lancet 2003; 361(9364):1159–1167.
10. Yu MC, Yuan JM. Environmental factors and risk for hepatocellular carcinoma. Gastroenterology 2004; 127(5 Suppl 1):S72–S78.
[อ่านต่อ...]

08 กันยายน 2553

วิธีคุมกำเนิดแบบไหนได้ผล แบบไหนไม่ได้ผล

องค์การอาหารและยาสหรัฐฯได้ทำวิจัยและสรุปผลเปรียบเทียบประสิทธิภาพของวิธีคุมกำเนิดแบบต่างๆ เป็น % ของผู้หญิงที่ใช้วิธีนั้นครบ 1 ปีโดยไม่ตั้งครรภ์ ดังนี้


วิธีคุมกำเนิด = ....% ไม่ท้อง

1. ไม่มีเซ็กซ์เลย = 100%

2. ทำหมันหญิง = >99%(ถาวร)

3. ทำหมันชาย = >99%(ถาวร)

4. ใส่ห่วงคุมกำเนิด (IUD)= >99% (ให้แพทย์ใส่ค่าไว้ในมดลูก เอาออกได้เมื่อต้องการ)

5. แท่งฮอร์โมนคุมกำเนิดฝังใต้ผิวหนัง (Implantable rod) = >99%(ให้แพทย์ฉีดเข้าไปใต้ผิวหนังทีเดียวอยู่ได้ 3 ปี)

6. ฝังขดลวดทำหมันถาวรไว้ที่ปีกมดลูก (Sterilization implant) = >99% (แพทย์ใช้เครื่องมือผ่านเข้าไปทำทางช่องคลอด)

7. ยาฉีดคุมกำเนิด = >99% (ฉีดสามเดือนครั้ง)

8. ยาเม็ดคุมกำเนิด = >95% กินทุกวัน

9. แผ่นแปะผิวหนังคุมกำเนิด (The Patch) = 95% (แปะไว้สามสัปดาห์แล้วเอาออกหนึ่งสัปดาห์)

10. วงแหวนชุบฮอร์โมนใส่ในช่องคลอด (Vaginal contraceptive ring) = 95% (ใส่คาไว้สามสัปดาห์แล้วเอาออกหนึ่งสัปดาห์)

11. ถุงยางอนามัยสำหรับชาย = 84-89 % (ใช้ป้องกันเอดส์ได้ด้วย)

12. แผ่นไดอาแฟรมครอบปากมดลูก ใช้ร่วมกับยาฆ่าอสุจิ = 85% (ถ้าทิ้งคาไว้เกิน 24 ชม. จะเกิดช็อกจากพิษได้ (toxic shock syndrome)

13. ยาคุมฉุกเฉิน = 75-85% (เม็ดแรกกินภายใน 72 ชม.หลังมีเซ็กซ์ เม็ดที่สองกินหล้งเม็ดแรก 12 ชม.)

14. ถุงยางอนามัยสำหรับหญิง = 80% (ป้องกันเอดส์ได้ไม่ดีเท่าถุงยางชาย)

15. ฟองน้ำแช่น้ำยาฆ่าอสุจิ = 68-84% (ถ้าทิ้งคาไว้เกิน 30 ชม. จะเกิดช็อกจากพิษได้ (toxic shock syndrome)

16. ครีมฆ่าอสุจิ = 70%

17. มีเซ็กซ์แต่ไม่คุมเลย = 15%

อนึ่ง ก่อนเลือกวิธีคุมกำเนิด ควรคำนึงถึงประเด็นต่อไปนี้

• สุขภาพทั่วไป บางวิธีทำให้แพ้ง่าย

• มีเซ็กซ์บ่อยแค่ไหน บางวิธีถาวร บางวิธีชั่วคราว

• มีคู่นอนกี่คน วิธีอื่นนอกจากถุงยางอนามัยชาย ป้องกันเอดส์ไม่ได้

• ยังคิดจะมีลูกในอนาคตหรือเปล่า บางวิธีเช่นยาฉีดคุมกำเนิดหากใช้นานไปอาจมีลูกยาก แม้อยากจะมี

• บางวิธีต้องพึ่งหมอทำให้ บางวิธีทำเองได้

• % ที่วิธีนั้นป้องกันการตั้งครรภ์ได้ บางวิธีเช่นยาคุมฉุกเฉินดูเหมือนง่าย แต่ % ป้องกันได้ต่ำ

ต้องบอกหมอเรื่องต่อไปนี้ด้วย

• ถ้าสูบบุหรี่ เพราะวิธีที่ใช้ฮอร์โมนไม่เหมาะกับคนสูบบุหรี่

• ถ้าเป็นโรคตับ เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่เหมาะกับคนเป็นโรคตับ

• ถ้ามีปัญหาเลือดแข็งตัวง่าย เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนมีปัญหากับการแข็งตัวของเลือด

• ถ้าคนในครอบครัวมีปัญหาเลือดแข็งตัวง่าย

• กินยาอย่างอื่นอยู่ เพราะยาหลายชนิดตีกับยาคุมกำเนิดได้

• กินสมุนไพร เช่น ยาสตรี หรือ St. Johns Wort เพราะสมุนไพรหลายตัวให้สาร phytoestrogen และสารอื่นๆซึ่งเสริมฤทธิ์ฮอร์โมนที่ใช้คุมกำเนิดได้


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์


บรรณานุกรม

1. US Food and Drug Administration Birth Control Guide 2010. Accessed on September 7, 2010 at http://www.fda.gov/ForConsumers/ByAudience/ForWomen/ucm118465.htm
[อ่านต่อ...]

กล้ามเนื้อใต้ตากระตุก

สวัสดีครับ...ผมไม่ทราบว่าเป็นอะไรใต้ตาข้างขวากระตุกตลอดเวลา มา 3 วันแล้วครับ...รบกวนสอบถามดังนี้ครับ..
1. สาเหตุของอาการ
2. แนวทางการตรวจรักษา
3. แนวทางการป้องกัน
ขอบคุณครับ...

ตอบครับ

1. กล้ามเนื้อกระตุกเฉพาะที่ (muscle twitches) มีสาเหตุที่เป็นไปได้หลายอย่าง ดังนี้
1.1 ไม่ได้เป็นโรคอะไร แต่กล้ามเนื้อส่วนนั้นล้าจากการใช้งานมาก นานๆก็กระตุกดึ๊กๆๆได้ แบบนี้หายไปเอง ไม่ต้องทำอะไร
1.2 ภาวะที่เกิดปัญหากับระบบสมอง หรือไขสันหลัง หรือเส้นประสาท เช่น ได้รับบาดเจ็บ หรือมีเนื้องอกกดทับ
1.3 ระบบสมองและประสาทไม่มีอะไรผิดปกติที่ตรวจวัดได้ แต่บางจุดของมันปล่อยสัญญาณไฟฟ้าออกมาดื้อๆ แบบเดียวกับในคนไข้ที่เป็นลมบ้าหมูหรือชัก เพียงแต่เป็นสัญญาณเล็กแค่ให้กล้ามเนื้อเฉพาะที่กระตุกนิดๆ ไม่ถึงกับชักทั้งตัว บางครั้งเป็นอยู่พักหนึ่งแล้วหายไปเอง บางครั้งเป็นแล้วขยายมากขึ้นๆ เอาแน่ไม่ได้ ไม่รู้ด้วยว่าไฟฟ้ามาจากที่ไหน
1.4 ภาวะที่ระดับแร่ธาตุสำคัญบางตัวในร่างกายต่ำผิดปกติ เช่น แคลเซี่ยม หรือโปตัสเซียม หรือแมกนีเซียม อาจะเป็นเพราะกินเข้าไปน้อย หรือมีเหตุให้สูญเสียแร่เหล่านี้ไป เช่นเป็นโรคเกี่ยวกับไต หรือใช้ยาขับปัสสาวะ หรือเป็นโรคที่ทำให้ฮอร์โมนพาราไทรอยด์ที่คุมระดับแคลเซียม เป็นต้น
1.5 ได้ยาหรือสารบางอย่าง เช่น กาแฟ ยาขับปัสสาวะ ยาแก้คัดจูมกที่มีส่วนผสมของ epinephrine ยารักษาโรคจิตหลายชนิด ยาบ้า ยาฆ่าแมลงพวก organophosphate หรือ ดีดีที. เห็ดพิษ สมุนไพรบางชนิดและพืชพวกมันสัมปะหลัง พวกนี้ทำให้กล้ามเนื้อกระตุก ได้ทั้งนั้น อย่างหมาแมวที่อยู่ใกล้ไร่นาที่เขาฉีดยาฆ่าแมลงบางที่ก็นอนขากระตุกดึ๊กๆๆประจำ บางทีตัวชาวนาเองก็กระตุกไปด้วยเพราะฤทธิ์ของยาพวกนี้
1.6 โรคกังวล อาการหอบเหนื่อยที่ตั้งต้นจากความเครียด (hyperventilation syndrome) หรือโรคกลัวอะไรแบบสุดขีด (panic disorder) ก็ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งและกระตุกได้

2. แนวทางการตรวจวินิจฉัยและรักษากล้ามเนื้อชักกระตุกเฉพาะที่ของแพทย์ คือ
2.1 จะเริ่มด้วยการตรวจร่างกายทางด้านประสาทวิทยาอย่างครบถ้วน เพื่อสรุปผลขั้นต้นก่อนว่ามีสัญญาณว่าเหตุเกิด ณ ที่ใดของระบบสมองและประสาทหรือเปล่า (localizing sign) ก่อน ถ้ามีสัญญาณดังกล่าว ก็เจาะจงเจาะลึกตรวจต่อไปเฉพาะตรงนั้น แต่ถ้าไม่มีสัญญาณผิดปกติใดๆ ก็อาจจะจบม้วนที่หนึ่งแค่นี้ แล้วรอดูเชิงไปก่อน อาจจะนานเป็นหลายเดือน ถ้าอาการมันหายไปก็เลิกกัน ในขั้นตอนนี้มักจะประเมินปัญหาของระบบร่างกายโดยรวมไปด้วย ซักประวัติยาหรือสารเคมีที่ใช้หรือสัมผัสประจำ เจาะเลือดดูระดับแร่ธาตุสำคัญเช่นแคลเซียม และฮอร์โมนสำคัญบางตัวเช่นพาราไทรอยด์ เป็นต้น ถ้าหลังจากรอดูเชิงไปหลายเดือนแล้วอาการไม่หายไป หรืออาการมากขึ้น ก็อาจจะต้องสืบค้นต่อไปอีก คือ
2.2 ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) เพื่อดูว่ามีที่ไหนของระบบปล่อยไฟฟ้าออกมาแบบคนชักหรือเป็นลมบ้าหมูหรือเปล่า ถ้ามีก็รักษาแบบโรคลมชัก (epilepsy) ถ้าไม่มีก็ตรวจต่อไปอีก คือ
2.3 ตรวจภาพของสมอง จะด้วยการทำ brain CT หรือ brain MRI ก็แล้วแต่ เพื่อดูว่ามีเนื้องอกผิดปกติอะไรอยู่ในบริเวณสมองและเส้นทางของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อที่กระตุกนั้นหรือเปล่า ถ้ามีก็ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเอาออก
2.4 ถ้าตรวจทุกอย่างข้างต้นแล้วไม่พบอะไร แต่อาการกระตุกดึ๊กๆๆๆ ยังอยู่ ก็คงต้องสรุปการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะกล้ามเนื้อชักกระตุกเฉพาะที่ซึ่งหาสาเหตุโดยเจาะจงไม่ได้ ถ้าอาการมันไม่มากไม่ทำให้คุณภาพชีวิตเสียไปก็ไม่ต้องรักษา แต่ถ้าอาการมันมากจนคุณภาพชีวิตเสียไปก็รักษาด้วยการใช้ยากดไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือยากันชักแบบต่างๆนั่นเอง ซึ่งเป็นยาอันตรายไม่ใช่เล่น หากไม่จำเป็นก็ไม่มีใครอยากกินกันหรอก

3. สำหรับคนทั่วไป แนวทางการป้องกันกล้ามเนื้อชักกระตุกเฉพาะที่โดยจำเพาะเจาะจงไม่มีครับ เว้นเสียแต่ว่าจะมีอาชีพคลุกคลีกับสารพิษสารเคมีที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท การป้องกันก็ง่าย คือถ้าเลิกอาชีพนั้นได้ก็เลิกไปซะเลย ถ้าเลิกไม่ได้ก็ต้องหาอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลเวลาทำงาน เช่นหน้ากาก ถุงมือ เป็นต้น


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

น้ำคาวปลาปกติกี่วันถึงจะหมด

อยากสอบถามปัญหา เพิ่งคลอดลูกโดยวิธีผ่าคลอดทางหน้าท้องตั้งแต่วันที่ 5 สิงหา พอกลับมาบ้านน้ำคาวปลาก็เริ่มจางแต่ก็ยังมีกระปริบประปรอย แต่ทางบ้านให้ทานยาจีนขับเลือดเสีย พอทานยาจีนเข้าไปปรากฏว่า น้ำคาวปลาที่ออกมากลายเป็นสีแดงสดและมีจำนวนออกมามากจนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ บางทีก็เปรอะกางเกงที่นุ่งข้างนอก ไปหาหมอมาวันที่ 7 กันยา หมอนัดตรวจหลังคลอด 1 เดือน หมอสันนิฐานว่าจะอักเสบเลยให้ยาแก้อักเสบมากิน และหมอกลัวจะตกเลือด อยากทราบว่าน้ำคาวปลาจะหมดเมื่อไหร่ มีมา 1 เดือนก้อไม่มีแววว่าจะหมดและจะมีโอกาสตกเลือดได้ไหม ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเพศสัมพันธ์กับแฟนเลยตั้งแต่คลอดลูก รบกวนขอคำตอบด้วยนะค่ะ กังวลมากเลยค่ะ

เจี๊ยบ

ตอบครับ

1. น้ำคาวปลา หมายถึงของเหลวที่ออกมาทางช่องคลอดหลังคลอด ปกติจะแบ่งออกเป็นสามระยะ คือ
1.1 น้ำคาวปลาแดง (lochia rubra) ออกมาตั้งแต่วันแรกหลังคลอดแล้วออกอยู่นาน 3-5 วัน มีสีแดงช้ำๆคล้ำๆเพราะประกอบด้วยเลือด เมือก และเศษรก
1.2 น้ำคาวปลาเหลืองใส (lochia serosa) ออกต่อจากน้ำคาวปลาแดงไปจนถึงประมาณวันที่ 10 หลังคลอด โดยจะจางลงและสีจะเริ่มเปลี่ยนเป็นน้ำตาลหรือชมพูแล้วก็ค่อยๆกลายเป็นเหลืองใส ในน้ำช่วงนี้จะประกอบด้วยน้ำเหลือง เยื่อเมือก เม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดขาว
1.3 น้ำคาวปลาขาว (lochia alba) มีสีเหลืองขุ่นจนออกไปทางขาว ออกต่อจากน้ำคาวปลาเหลืองใสไปอีกจนถึง 6 สัปดาห์หลังคลอด ในน้ำจะมีเม็ดเลือดแดงน้อยลง แต่มีเม็ดเลือดขาว ไขมัน เมือก และเซลบุผนังช่องคลอดมากขึ้น ปริมาณน้ำคาวปลาจะค่อยๆลดลงจนแห้งสนิท
น้ำคาวปลาจะมีกลิ่นเหมือนประจำเดือนในยามปกติ หากมีกลิ่นเหม็นก็หมายความว่ามีการติดเชื้อขึ้น

2. ในกรณีของคุณ ผ่านไปหนึ่งเดือนแล้วน้ำคาวปลายังเป็นสีแดงสดและมีปริมาณมากจนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ ถือว่าเป็นภาวะเลือดออกผิดปกติหลังคลอด ซึ่งอาจมีสาเหตุเป็นไปได้ตามลำดับมากไปหาน้อย ดังนี้
2.1 เป็นเพราะยาจีนขับเลือด เนื่องจากยาสมุนไพรในกลุ่มยาสตรีและยาขับเลือดล้วนประกอบด้วยพืชที่ให้สาร phytoestrogen ซึ่งมีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งเมื่อระดับฮอร์โมนสูงจะมีผลให้มีการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกแบบเตรียมตั้งครรภ์ พอระดับฮอร์โมนต่ำลง ก็จะมีผลให้เยื่อบุนั้นหลุดลอกออกมาเป็นเลือด ทีนี้ระดับฮอร์โมนในสมุนไพรเหล่านี้ไม่สม่ำเสมอ ระดับฮอร์โมนจึงสูงๆต่ำๆ เป็นสาเหตุให้เกิดเลือดออกผิดปกติได้
2.2 เป็นเพราะมีชิ้นส่วนรกค้างอยู่ข้างใน (retained conceptual product) ซึ่งถ้าเป็นเพราะเหตุนี้ต้องไปขูดมดลูก
2.3 เป็นเพราะการติดเชื้อในเยื่อบุโพรงมดลูก (endometritis)
2.4 เป็นเพราะมดลูกเข้าอู่ไม่สนิท (subinvolution) ซึ่งรักษาได้ด้วยการใช้ยาช่วยการหดตัวของมดลูก
2.5 เป็นเพราะมีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด (coagulopathy)

ผมแนะนำว่าให้คุณหยุดยาจีนทันที แล้วรอดูเชิงไปอีกเจ็ดวัน ในระหว่างนี้ให้อมปรอทดูว่ามีไข้หรือเปล่าทุกวัน ให้ทำใจไว้เลยว่าในเจ็ดวันแรกหลังหยุดยาจีน จะมีเลือดออกมามาก และหลังจากนั้นแล้วเลือดควรจะแห้ง ถ้ายังมีเลือดออกอีก ก็ต้องกลับไปหาหมอเพื่อหาสาเหตุจริงจังแล้วละ หรือถ้ามีไข้ขึ้น ก็แสดงว่ามีการติดเชื้อลุกลามจนที่ยาปฏิชีวนะที่คุณหมอให้มาเอาไม่อยู่ ก็ต้องกลับไปหาหมอเช่นกัน


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Sherman D, Lurie S, Frenkel E, Kurzweil Y, Bukovsky I, Arieli S. "Characteristics of normal lochia". Am J Perinatol 1999; 16 (8): 399–402
[อ่านต่อ...]

ความดันตกจากการเปลี่ยนท่าร่าง (orthostatic hypotension)

คือนู๋มีอาการขยับตัวเร็วแล้วใจสั่นกับ เวลาก้มหยิบของ บางที่ถ้าก้มเร็วจะใจสั่นบางที่ก็ไม่สั่น บางครั้งแถมเหมือนหน้ามืดไปวูบหนึ่งด้วยค่ะ อยากทราบว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเปล่าคะ

เคยมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะอยู่ครั้งนึงด้วยค่ะ แต่หมอก็ให้ยาคลายเคลียดค่ะ)


ตอบ

ไม่ได้เป็นโรคหัวใจครับ

โรคหัวใจชนิดมีความผิดปกติของการเต้นของหัวใจ ไม่มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนท่าร่าง

แต่การเปลี่ยนท่าร่างที่ฝืนแรงโน้มถ่วง เช่นจากนั่งเป็นยืน จากก้มเป็นเงย ทำให้มีอาการใจสั่นเนื่องจากหัวใจเต้นเร็วขึ้นได้ เพราะเมื่อขยับในลักษณะดังกล่าวเร็วๆ แรงดันจากหัวใจจะไม่พอส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง จนบางครั้งอาจมีอาการหน้ามืด ทำให้หัวใจปรับตัวโดยเต้นเร็วขึ้นและแรงขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นการปรับตัวของระบบหัวใจหลอดเลือดตามปกติ เรียกภาวะเช่นนี้ว่าความดันตกจากการเปลี่ยนท่าร่าง (orthostatic hypotension)

การป้องกันไม่ให้ภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นทำได้สี่อย่าง คือ

(1) เรียนรู้วิธีเคลื่อนไหวในแนวดิ่งแบบช้าๆไม่วูบวาบ

(2) ออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง (aerobic) วันละไม่น้อยกว่า 30 นาทีทุกวัน เพราะคนที่เป็น orthostatic hypotension ส่วนใหญ่มีระบบไหลเวียนเลือดที่อ่อนแอและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้น้อย การออกกำลังกายแบบแอโรบิกจะทำให้ระบบแข็งแรงขึ้น

(3) ฝึกนิสัยดื่มน้ำมากเป็นอาจินต์ วันหนึ่งดื่มให้ได้ 2-3 ลิตร โดยตั้งน้ำไว้ทุกหนทุกแห่งที่หยิบดื่มได้ง่ายๆไม่ต้องรอไปเอาจากตู้เย็น คนที่หน้ามืดหรือใจสั่นเวลาเคลื่อนไหวร่างกายมักอยู่ในภาวะขาดน้ำ (dehydration) การดื่มน้ำมากนี้ยังมีผลดีต่อการทำงานของอวัยวะอื่นนอกจากหัวใจด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไต

(4) ในกรณีเป็นผู้หญิงวัยสาว อาการใจสั่นหน้ามืดมักมีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กร่วมอยู่ด้วย เพราะเหล็กจำนวนหนึ่งเสียไปพร้อมกับประจำเดือน ปัญหามักรุนแรงยิ่งขึ้นกรณีเป็นผู้รักษารูปทรงให้ผอมไว้ตลอด วิธีแก้คือต้องหมั่นรับประทานอาหารโปรตีน (เนื้อ นม ไข่) ให้พอเพียงที่ร่างกายจะนำไปสร้างเม็ดเลือดทดแทน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

07 กันยายน 2553

การดูแลตนเองหลังทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ (PCI)

การดูแลตัวเองหลังทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ (PCI)

1. ในสัปดาห์แรก ต้องการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่รอยแทงเข็ม การมีรอยฟกช้ำรอบๆรอยแทงถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ภาวะแทรกซ้อน ภาวะแทรกซ้อนได้แก่ (1) มีเลือดออกแล้วคั่ง (hematoma) (2) เลือดเซาะจนผิวหนังโป่งขึ้นเป็นก้อนแล้วเต้นตุบๆ (pseudoaneurysm) (3) เกิดการเชื่อมต่อระหว่างหลอดเลือดดำและแดง (AV fistula) จนเกิดเสียงฟู่ๆขึ้น (4) ปลายแขนหรือปลายขาขาดเลือดเลี้ยง (limb ischemia) (5) อักเสบติดเชื้อเป็นฝี (6) ลามไปเกิดฝีหรือเลือดคั่งที่หลังช่องท้อง (retroperitoneal hematoma) ซึ่งไปทำให้เกิดอาการปวดหลังหรือบั้นเอวหรือความดันตกจากการเสียเลือดเข้าไปในช่องหลังช่องท้องได้ ภาวะแทรกซ้อนทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ 2-6% เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ ในสัปดาห์แรกจึงไม่ควรออกกำลังกายมากหรือยกของหนัก แต่ออกกำลังกายตามแผนการฟื้นฟูหัวใจได้

2. การติดตามดูการทำงานของไตซึ่งอาจเสียไปจากพิษของสารทึบรังสี ปัจจุบันห้องสวนหัวใจส่วนใหญ่ใช้สารทึบรังสีชนิด non-ionic ซึ่งเป็นพิษต่อไตน้อยลง แต่ก็ยังมีพิษอยู่พอควร โดยเฉพาะในคนสูงอายุและคนเป็นเบาหวาน หากเจาะเลือดดูครีอาตินินซึ่งบอกการทำงานของไตจะพบว่าการทำงานของไตจะทรุดลง 2-5 วันแรกหลังทำแล้วจะค่อยๆกลับเป็นปกติใน 2 สัปดาห์ ในระยะสองสัปดาห์แรกนี้ การดื่มน้ำให้เพียงพอช่วยป้องกันความเสียหายต่อไตได้

3. การประเมินอาการเจ็บหน้าอกหลังทำ PCI เนื่องจากประมาณ 50% ของผู้ทำ PCI จะมีอาการเจ็บหน้าอกหลังทำ เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอกต้องไปหาหมอเพื่อประเมินร่วมกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ถ้าเจ็บหน้าอกไม่มาก โดย ECG ปกติ ก็ช่วยยืนยันได้ว่าไม่มีอะไรซีเรียส

4. การเฝ้าระวังภาวกลับมาขาดเลือดอีก (Recurrent Ischaemia) ซึ่งอาจเกิดจาก (1) การกลับตีบใหม่ (restenosis) ที่มักจะเป็นช่วง 3-12 เดือน (2) โรคเดินหน้าต่อไป ไปตีบที่หลอดเลือดอื่นอีก กรณีนี้มักเป็นเมื่อพ้น 12 เดือนไปแล้ว (3) กล้ามเนื้อหัวใจต้องการออกซิเจนมากขึ้นด้วยเหตุใดก็ตาม เช่นโลหิตจาง ลิ้นห้วใจตีบ ออกกำลังกายมากขึ้น เป็นต้น แผนการเฝ้าระวังนี้แพทย์จะเป็นผู้แนะนำ ในรายที่มีความเสี่ยงต่อการกลับตีบใหม่สูง แพทย์อาจเฝ้าระวังด้วยการตรวจสมรรถนะหัวใจ (EST) เมื่อครบหกเดือน แม้ว่าจะเป็นการตรวจที่ไม่ดีนักเพราะมีความไวเพียง 50% หรือแพทย์อาจตรวจหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็ก (MRI) ซึ่งทำได้โดยไม่ต้องกลัวขดลวดวิ่งเพราะแรงแม่เหล็ก หรือกรณีที่ใส่ขดลวดไว้ที่จุดสำคัญ (left main) แพทย์อาจเฝ้าระวังโดยการสวนหัวใจฉีดสีดูซ้ำหลังทำ PCI แล้ว 3-9 เดือน ก็ได้

5. การให้ยาป้องกันการกลับตีบใหม่ มาตรฐานปัจจุบันคือให้ยาแอสไพรินควบกับคลอพิโดเกรล (พลาวิกซ์) ทุกรายนานอย่างน้อยสี่สัปดาห์ เนื่องจากมีข้อมูลใหม่เรื่องการกลับตีบแบบล่าช้า (late stent thrombosis) แพทย์บางท่านจึงให้ควบนี้ไปนานถึง 1 ปี หลังจากนั้นก็ให้แต่แอสไพรินตัวเดียวไปตลอดชีวิต ในกรณีพิเศษที่มีการผ่าตัดใส่ลิ้นหัวใจเทียมด้วย แพทย์อาจให้ตัวที่สามคือยาวาร์ฟารินควบเข้าไปด้วย

6. การจัดการหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งหากมีขึ้นแพทย์ต้องเลือกใช้ยาอย่างระมัดระวัง ยากั้นเบต้าเป็นตัวเลือกที่เลือกใช้ได้อย่างปลอดภัย ส่วนยา amiodarone ซึ่งเป็นยายอดนิยมนั้นก็ใช้ได้อย่างปลอดภัยถ้าไม่มีหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย แต่ว่ายานี้ไม่ได้ทำให้อัตราตายลดลงแต่อย่างใด ในกรณีที่กล้ามเนื้อหัวใจเสียหายไปแล้วอย่างถาวร แพทย์อาจแนะนำให้ฝั่งเครื่องช็อกหัวใจอัตโนมัติหรือ ICD เพื่อรับมือกับภาวะหัวใจเต้นรัวหรือหยุดเต้นที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้น

7. การจัดการภาวะหัวใจล้มเหลว เมื่อเกิดหัวใจล้มเหลวขึ้น หมายถึงมีอาการหอบเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม นอนราบไมได้ บวม แพทย์จะรักษาด้วยยาในกลุ่ม ACEIs ร่วมกับยาขับปัสสวะในกลุ่มยาต้าน Aldosterone เฉพาะรายที่ทนยา ACEi ไม่ได้ จึงจะใช้ยาในกลุ่ม ARB แทน กรณีที่หัวใจล้มเหลวดื้อต่อการรักษาและคลื่นหัวใจมี prolonged QT ซึ่งบ่งบอกว่าหัวใจห้องล่างสองข้างทำงานไม่เข้ากัน (dyssynchrony) แพทย์อาจแนะนำให้ฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจแบบคู่ (biventricular pacing) ซึ่งเรียกว่าเป็นการรักษาให้หัวใจเต้นเข้าขากัน (cardiac resynchronisation therapy หรือ CRT)

8. การป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดไม่ให้เป็นมากขึ้นไปกว่าเดิม (secondary prevention) ได้แก่การปรับวิถีชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงของโรคลง กล่าวคือ
(1) เลิกบุหรี่
(2) ลดการดื่มแอลกอฮอล์
(3) ออกกำลังกายให้ถึงระดับเหนื่อยพอควรวันละอย่างน้อยครี่งชั่วโมงสัปดาห์ละไม่น้อยกว่าห้าวัน
(4) ปรับโภชนาการให้มีสัดส่วนของผัก ผลไม้สูง และมีส่วนของแคลอรี่ ไขมัน และเกลือ ต่ำ
(5) ถ้าไขมันในเลือดยังสูงอยู่ต้องใช้ยาลดไขมันในเลือด โดยมีจุดที่จะต้องใช้ยาต่ำกว่าคนทั่วไป กล่าวคือหากไขมัน LDL สูงเกิน 100 ก็เริ่มใช้ยาแล้ว
(6) ถ้าความดันเลือดสูงอยู่ก็ใช้ยาลดความดัน โดยมีจุดที่จะใช้ยาต่ำกว่าคนทั่วไป กล่าวคือถ้าความดันเลือดเกิน 140/80 ก็เริ่มใช้ยาแล้ว
(7) วางแผนชีวิตใหม่ ให้มีเวลาพักผ่อนพอเพียง และจ้ดการความเครียดอย่างเหมาะสม


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

โมโหแล้วหอบหายใจไม่อิ่มเป็นลม กลัวเป็นเจ้าหญิงนิทรา

มีเรื่องรบกวนปรึกษาคุณหมอนะคะเกี่ยวกับเรื่องโรคหัวใจ ก่อนอื่นขอเล่ารายละเอียดก่อนนะคะ ขณะนี้หนูอายุ22ปีในช่วงที่อายุประมาณ15ปีเคยมีปัญหาทะเลาะกับครอบครัวแล้วเกิดอาการเครียดร้องไห้จนหายใจไม่ทัน และหลังจากครั้งนั้นเมื่อมีปัญหาใดๆ หรือเกิดภาวะที่เครียดมากหรือร้องไห้จะมีอาการแบบนี้ทุกครั้ง และทุกๆครั้งครอบครัวจะพาส่งโรงพยาบาลพญาไท3มาโดนตลอด หนูจำอะไรไม่ได้นะคะในระหว่างที่ร่างกายเป็นแบบนั้น หนูจำได้เพียงแค่ว่าพยาบาลฉีดอะไรให้ไม่ทราบแล้วหนูก็สงบไป แต่พอตื่นขึ้นมาอีกครั้งหนูก็เป็นอาการเดิมซ้ำอีกทุกครั้งที่ตื่น หนูได้ยินคุณหมอท่านหนึ่งพูดกับคุณพ่อว่า ถ้าหากหนูยังเป็นแบบนี้บ่อยครั้งจะทำให้หนูอยู่ได้น้อยลงเรื่อยๆหรือไม่แน่อาจจะกลายเป็นเจ้าหญิงนิทราไปเลยก็ได้ หนูมีประวัติการพบหมอจิตแพทย์ด้วยนะคะ อยู่ในการดูแลของจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลวชิระมาตั้งแต่อายุ15จนถึงปัจจุบัน แต่ปัจจุบันนี้หนูได้หยุดยาที่หมอให้มาทานเปนเวลานานแล้ว ตั้งแต่ครั้งแรกที่เกิดอาการหายใจไม่ทัน ตัวเกร็ง จนบางครั้งเพื่อนๆบอกว่าหนูแทบจะกัดลิ้นตัวเองมาจนถึงทุกวันนี้ ระยะหลังๆน่าจะประมาน2-3ปีค่ะ หนูมีอาการเจ็บหัวใจบ่อยครั้ง ช่วงแรกๆนานๆครั้งเปนทีนึง แต่พอเริ่มนานวันหนูเริ่มเจ็บหัวใจบ่อยขึ้น ถี่ขึ้น และเจ็บมากกว่าทุกๆครั้งที่เคยเป็นมา หนูมีอาการเจ็บหัวใจเหมือนมีคนเหยียบหัวใจหนู บางครั้งปวดลามมาถึงไหล่ซ้ายของหนู แล้วหนูก็มีการเปนลมหน้ามืดหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุ2ครั้งเมื่อปี52 เรียกได้ว่า2ครั้งนั้นเกิดขึ้นแบบเดือนเว้นเดือนค่ะ ระยะ2-3อาทิตย์ที่ผ่านมานี้หนูมีอาการเจ็บหัวใจมากจนหนูไม่สามารถที่จะทำอะไรได้เลย บางครั้งเดินๆอยู่ก้อเจ็บจี๊ดขึ้นมาจนแทบล้ม เวลาออกกำลังกาย หรือเดินขึ้นบันไดก็ตาม หนูจะเหนื่อยหอบมากผิดปกติทั้งที่ไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อนเลย อ่อ...ลืมเรียนคุณหมอไปอย่างค่ะ หนูสูบบุหรี่มาเป็นเวลาประมาณ3-4ปีแล้วค่ะ ปัจจุบันนี้ไม่ดูดจัดมากเหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่ก็มีสูบบ้างเป็นบางครั้งค่ะ เรื่องเหล้า เบียร์แต่ก่อนก้อดื่มทุกวันเช่นกันค่ะ แต่ตอนนี้เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ทุกประเภทมาเปนเวลา2-3ปีแล้วค่ะ และหนูเคยใช้ยาเสพติด(ยาไอซ์)มาประมาณ3ปีค่ะ ตั้งแต่รู้สึกว่าเจ็บหัวใจบ่อยและหนักขึ้นหนูเลยเลิกยุ่งกับยาเสพติดค่ะ เวลาป่วยนิดๆหน่อยๆ พอไปหาหมอ เคยลองปรึกษาถามคุณหมออายุรกรรม ท่านบอกว่าอาการที่หนูเล่าว่าเจ็บหัวใจแบบไหน คุณหมอบอกว่ามีอาการเสี่ยงอยู่ แต่อยากให้ตรวจที่ศูนย์หัวใจมากกว่าจะได้ผลที่ชัดเจนกว่า ล่าสุดที่หนูเกิดอาการหายใจไม่ทันแบบนี้เกิดขึ้นล่าสุดวันที่30 มิ.ย. 53 ค่ะ คุณหมอที่รักษาบอกกับหนูหลังจากที่ฟื้นขึ้นมาแล้วว่า จากที่ดูประวัติหนูจะเป็นแบบนี้ทุก3เดือน หรือบางครั้งเกิดขึ้น2-3ครั้งใน1เดือน คุณหมอบอกว่าส่งผลเสียกับหนูเป็นอย่างมาก หมอไม่อยากให้เป็นแบบนี้บ่อยๆค่ะ

หนูรบกวนคุณหมอตอบหนูด้วยนะคะว่าหนูมีโอกาสที่จะเปนโรคหัวใจรึเปล่า ถ้ามีโอกาสเสี่ยงจะเป็นโรคหัวใจแบบไหนคะ แล้วหนูควรที่จะต้องทำอย่างไร หนูสงสารพ่อแม่มากค่ะ ที่ต้องเป็นห่วงหนูเพราะกลัวว่าหนูจะเป็นอะไรไปถ้าหากรู้เมื่อสายไปจนไม่มีทางแก้แล้ว แต่หนูไม่กล้าที่จะไปพบหมอเลย เพราะหนูกลัวที่จะได้รับคำตอบ หรือเจอกับคำตอบที่ว่าหนูอยูได้อีกไม่นานค่ะ


ตอบครับ

1. อาการที่เวลามีปัญหาทะเลาะกับครอบครัวแล้วเกิดอาการเครียด ร้องไห้จนหายใจไม่ทัน หมดสติ ต้องเข้ารพ.เป็นอย่างนี้บ่อยๆ ไม่ได้เป็นอาการของโรคหัวใจ แต่เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากร่างกายสนองตอบต่อความเครียดด้วยการหายใจเร็วจนเลือดมีความเป็นด่างสูงมาก (hyperventilation syndrome หรือ HVS) ทำให้หมดสติ หรือชักเกร็งได้ โรคนี้วงการแพทย์ย้งไม่ทราบสาเหตุ การป่วยด้วยโรคนี้ ไม่ได้เป็นโรคที่รุนแรงคอขาดบาดตายอะไร ไม่ได้ทำให้อายุสั้นลง และไม่ได้ทำให้กลายเป็นเจ้าหญิงนิทราด้วย เป็นเรื่องเหลวไหลที่ว่าคนเป็นโรคนี้จะกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา เลิกวิตกกังวลในประเด็นนั้นได้ โรคนี้ไม่ใช่โรคร้าย และมีอัตราตายน้อยมาก (rare) แต่ว่าคนเป็นโรคนี้เรื้อรังมักจะมีอาการของระบบประสาทและระบบหัวใจร่วมด้วย ทำให้มีแนวโน้มจะถูกหมอจับทำการตรวจวินิจฉัยมากมาย แล้วก็ไม่พบอะไร

2. อาการเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนมีใครเหยียบ หรือพูดง่ายๆว่าเหมือนโรคหัวใจขาดเลือดไม่มีผิด เป็นอาการหนึ่งของโรค HVS ถ้าเป็นแบบเรื้อรัง มีคนไข้แบบคุณนี้จำนวนมากถูกจับตรวจสวนหัวใจ บ้างถูกให้ยาละลายลิ่มเลือด มีรายงานหนึ่งทำวิจัยคนไข้ที่ตรวจสวนหัวใจแต่ไม่พบอะไรผิดปกติ 45 คน พบว่าท้ายที่สุดคนไข้เหล่านี้ทุกคนถูกวินิจฉัยว่าเป็น HVS และเมื่อตามดูคนไข้เหล่านี้ไปอีกสามปีครึ่งก็พบว่า 67% ของคนไข้เหล่านี้มีอาการเจ็บหน้าอกเข้ารพ.อีกและถูกรับไว้รักษาเพราะเข้าใจว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดซ้ำอีก ทั้งๆที่ไม่ได้เป็น มีบางรายถูกจับตรวจสวนหัวใจซ้ำอีก..กรรมจริงๆ

3. การรักษาโรค HVS มีหลักดังนี้

3.1 อย่าเอาถุงกระดาษครอบปากและจมูกให้หายใจในนั้น ซึ่งเป็นวิธีรักษาแบบโบราณด้วยความเชื่อว่าจะทำให้เลือดเป็นด่างน้อยลงแล้วอาการจะดีขึ้น การทำแบบนั้นทำให้คนไข้จำนวนหนึ่งซึ่งเป็นโรคหัวใจขาดเลือดอยู่แล้วแต่ถูกวินิจฉัยผิดว่าเป็น HVS ขาดออกซิเจนตายไปเลย

3.2 ฝึกหัดเทคนิคการควบคุมการหายใจของตนเอง ก่อนอื่นต้องเข้าใจกลไกการหายใจของคนเราในภาวะปกติก่อนว่าจะหายใจเอาลมเข้าออก (tidal volume) เพียง 35-45% ของลมที่ไล่ออกมาได้เต็มที่ (vital capacity) เท่านั้น ถ้าเราหายใจเอาลมเข้าออกมากกว่านี้ (เช่นการหายใจลึกเมื่อกลุ้มใจ) จะก่อความรู้สึกว่าเรากำลังหอบเหนื่อยหายใจไม่อิ่ม ความรู้สึกดังกล่าวจะกระตุ้นให้เราหายใจแรงขึ้นและมากขึ้นอีกเพื่อให้อิ่ม เป็นวงจรของการหายใจเร็วขึ้นๆแบบไม่รู้จบ เทคนิคที่พึงหัดคือหัดหายใจเข้าออกช้าๆแบบผ่อนลม เทคนิคดังกล่าวลดการหายใจเร็วเกินไปแบบฟืดฟาดๆได้ดี

3.3 หัดหายใจด้วยท้อง หมายถึงแขม่วท้องช่วยเวลาหายใจออก เพราะคนเป็นโรคนี้มักหายใจด้วยทรวงอกส่วนบนอย่างเดียวทำให้ปอดขยายตัวเต็มที่เกือบตลอดเวลาไม่ว่าจะหายใจเข้าหรือออก พอจะเพิ่มลมหายใจเข้าออกปอดขึ้นไปอีกก็รู้สึกว่าเพิ่มไมได้แล้ว หายใจไม่อิ่มแล้ว จึงต้องหายใจให้เร็วขึ้น แต่หากหัดใช้ท้องช่วยหายใจ ท้องจะช่วยดันกระบังลมขึ้นลงทำให้เพิ่มลมเข้าออกปอดได้ตามต้องการจึงไม่ต้องหายใจเร็ว

3.4 การลองหายใจหอบฟืดฟาดดูสัก 3-4 นาทีเพื่อให้เกิดอาการต่างๆขึ้นมา แล้วควบคุมการหายใจด้วยตัวเองให้อาการต่างๆเหล่านั้นหายไป ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เราควบคุมอาการเวลาเครียดมากๆได้

3.5 ใช้ยาช่วยรักษา ก็คือยากล่อมประสาท เช่นยาในกลุ่ม benzodiazepine ทั้งนี้ต้องให้แพทย์สั่งยาให้และติดตามดูแลการใช้ เพราะเป็นยาอันตราย

3.6 สำหรับประเด็นความกลัวโรคหัวใจนั้น คุณมีทางเลือกสองทาง ทางเลือกที่หนึ่ง คือ เชื่อตามข้อมูลวิจัยข้างต้นว่าอาการคล้ายหัวใจขาดเลือดในโรค HVS มีได้โดยไม่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่จริง จึงไม่ต้องไปตรวจเพิ่มเติมทางหัวใจให้ยุ่งยาก แต่ให้โฟคัสที่การรักษา HVS อย่างเดียวก็พอ กับทางเลือกที่สอง คือ ไปตรวจกับหมอโรคหัวใจเพื่อให้สบายใจว่าไม่ได้เป็นโรคหัวใจจริง ซึ่งทางเลือกที่สองนี้คุณต้องทำใจก่อนนะว่าอาจจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด และได้รับคำแนะนำให้ตรวจสวนหัวใจ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน คุณจะเลือกทางไหนคิดเอาเองและตัดสินใจเองนะครับ

3.7 ข้อสุดท้าย อันนี้ไม่ใช่มาตรฐานการรักษาโรคนี้ของวิชาแพทย์แผนปัจจุบันนะ แต่เป็นคำแนะนำส่วนตัวของผมเอง คือ

3.7.1 ผมแนะนำให้คุณเอาชนะอาการ HVS โดยฝึกเทคนิคการสนองตอบต่อสิ่งเร้าแบบผ่อนคลาย (relaxation response) คือธรรมชาติร่างกายคนเรานี้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้สองแบบ แบบเครียด (stress response) ก็คือหัวใจจะเต้นเร็วขึ้น ความดันเลือดเพิ่มขึ้น หายใจฟืดฟาดเร็วขึ้น ร่างกายใช้ออกซิเจนมากขึ้น แบบว่าพร้อมจะหนีหรือสู้ (fight or flight) กับอีกแบบหนึ่งคือการสนองตอบแบบผ่อนคลาย (relaxation response) คือหัวใจจะเต้นช้าลง ความดันเลือดลดลง หายใจช้าลง ใช้ออกซิเจนน้อยลง การตอบสนองแบบผ่อนคลายนี้จะเกิดเมื่อสมองอยู่ในภาวะปลอดความคิด เช่นขณะฝึกสมาธิตามดูลมหายใจ (meditation) ทำโยคะ รำมวยจีน หรืออะไรที่คล้ายๆกัน คุณต้องไปฝึกของพวกนี้จนร่างกายของคุณรู้วิธีสนองตอบแบบผ่อนคลายเป็น แล้วคุณจะหายจากโรคนี้เอง

3.7.2 ผมแนะนำให้คุณฝึกจิตใจของคุณในสองประเด็น คือ (1) ฝึกระลึกรู้ (recall) ว่าเมื่อตะกี้นี้คุณคิดอะไรไป ฝึก recall ความคิดของตัวเองให้ได้บ่อยๆ (2) ฝึกสังเกตใจตัวเอง (self awareness) ให้รู้ตัวอยู่เสมอว่า ณ ขณะนี้ใจตัวเองเป็นอย่างไร เครียดหรือผ่อนคลาย มีความคิดหรือความรู้สึกอะไรครอบอยู่หรือเปล่า สังเกตดูเฉยๆ อย่าทำอะไรมากว่านั้น ทั้งความสามารถในการ recall และความรู้ตัวนี้ จะเป็นพื้นฐานในการดับ ”ความคิด” ที่เกิดขึ้นโดยเราไม่ได้ตั้งใจคิด เพราะโรคของคุณมีต้นกำเนิดจากความคิด ความคิดนำไปสู่ความกังวลหรือโมโห ซึ่งนำไปสู่อาการทางร่างกาย เมื่อดับการเกิดของความคิดเสียได้ โรคของคุณก็จะหาย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์


บรรณานุกรม

1. Castro PF, Larrain G, Perez O, et al. Chronic hyperventilation syndrome associated with syncope and coronary vasospasm. Am J Med. Jul 2000;109(1):78-80.

2. Callaham M. Hypoxic hazards of traditional paper bag rebreathing in hyperventilating patients. Ann Emerg Med. Jun 1989;18(6):622-8.

3. DeGuire S, Gevirtz R, Hawkinson D, et al. Breathing retraining: a three-year follow-up study of treatment for hyperventilation syndrome and associated functional cardiac symptoms. Biofeedback Self Regul. Jun 1996;21(2):191-8.

4. Folgering H. The pathophysiology of hyperventilation syndrome. Monaldi Arch Chest Dis. Aug 1999;54(4):365-72.
[อ่านต่อ...]