29 กรกฎาคม 2555

หัวใจล้มเหลว กับเรื่องของ Lolo Jones


  ผมไม่สบายทุกวันเลย ออกแรงก็ไม่ได้ เหนื่อย เวียนหัว หายใจไม่ออก อ๋อ..ผมเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ไปนอนโรงพยาบาล 5 วันหมอยังไม่รู้เลย สุดท้ายโคม่า ทั้งที่หลอดเลือดตีบเส้นเดียวที่ต้องสวนบอลลูนและใส่ขดลวดค้ำยัน อีกเส้นตีบ 50% หมอยังไม่ทำบอลลูนให้ อีกเส้นปกติ แต่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องกล้ามเนื้อหัวใจจึงตายเป็นบริเวณกว้าง สุดท้ายต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ราคาแพงมาก ตอนยังไม่ใส่นั่งพอมึนหัว หัวใจก็หยุดเต้นเลย ตอนอยู่โรงพยาบาลเป็นหลายครั้งมาก ปั๊มหัวใจจนเรากลัว เพราะปั๊มแต่ละครั้งก็เจ็บเหมือนกัน ตอนนี้แบตเตอร์รี่ใกล้หมดแล้ว ต้องเปลี่ยนเครื่อง แต่ยังไม่มีเงินเลย ประกันสังคมก็เบิกไม่ได้ ตอนนี้หมอบอกหัวใจโตมาก ทำให้น้ำท่วมปอด อยากรบกวนคุณหมอช่วยดูรายการตรวจให้ด้วยครับ ต้องใช้โทรศัพท์มือถือถ่าย อาจไม่ชัดเท่าไหร่ มีทำเอ็คโค่ 2 ครั้งครับ วันที่ 8 กับ 12 มีนาคม 2555

…………………………………..

ตอบครับ

     ฟังตามเรื่องที่เล่า คุณเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (heart attack) จนโคม่าไป โดยมีสาเหตุคือหลอดเลือดหัวใจตีบเพียงเส้นเดียวเท่านั้น ดังนั้นผมเดาเอาว่าสาเหตุที่ทำให้หัวใจหยุดเต้นน่าจะเป็นเพราะจังหวะที่หัวใจบางส่วนขาดเลือดเผอิญทำให้หัวใจห้องล่างเกิดเต้นรัว  (VF) คุณจึงต้องถูกปั๊มหัวใจซ้ำแล้วซ้ำอีก ตัวหัวใจส่วนอื่นๆที่หลอดเลือดยังดีอยู่อาจพลอยขาดเลือดไปด้วยขณะที่ทำการปั๊มหัวใจเพราะแรงดันเลือดตอนนั้นไม่พอส่งเลือดเข้าไปเลี้ยงหัวใจ หลังจากนั้นแม้จะทำบอลลูนขยายหลอดเลือดที่ตีบแล้ว ใส่ขดลวดถ่างแล้ว แต่กล้ามเนื้อหัวใจที่ตายไปแล้วก็ไม่ยอมฟื้น จึงเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา จนต้องแก้ด้วยการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (ผมเข้าใจว่าคงเป็นเครื่อง CRT-D) มาถึงวันนี้อาการหัวใจล้มเหลวก็ยังไม่ดีขึ้น คุณยังมีอาการเหนื่อยง่าย เรามามองปัญหาของคุณทีละประเด็นนะครับ

     1.. ประเด็นที่คุณติดใจว่าการรักษาที่หมอเขาทำกันตอนนั้นมันช้าไปหรือเปล่า ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจของคุณเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ผมว่าเรื่องมันแล้วไปแล้ว อย่าไปย้ำคิดซ้ำซากวกวนอยู่กับสิ่งที่ผ่านไปแล้วในอดีตเลยครับ คิดไปก็ไลฟ์บอย ยอมรับ เรียนรู้ แล้วกลับมาอยู่กับสภาพที่เราเป็น ณ ตอนนี้ดีกว่า อย่างที่เพลงเขาว่า

     “..อยู่ที่เรียนรู้
     อยู่ที่ยอมรับมัน
     ตามความคิดสติเราให้ทัน 
     อยู่กับสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน
     และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด..”

ผมจะเล่าอะไรให้ฟังนะ คือช่วงนี้เขาแข่งโอลิมปิกกัน ผมกำลังรอดูการแข่งกระโดดข้ามรั้ว 100 เมตรหญิง คนที่ผมเชียร์ไม่ใช่เต็งหนึ่ง เธอชื่อโลโล่ โจนส์ (Lolo Jones) ตามสถิติการวิ่งล่าสุดเธอเป็นมือวางอันดับที่ 14 แต่ผมเชียร์เธอเพราะเมื่อโอลิมปิก 2008 ที่เมืองจีนโลโล่เป็นเต็งหนึ่ง คนเชื่อว่าเธอจะนอนมาแบบไม่มีพระนำ และเธอก็วิ่งนำมาตลอดจริงๆจนมาถึงรั้วที่ 9 จากทั้งหมด 10 รั้ว บังเอิญที่รั้วที่ 9 นี้ปลายเท้าของเธอไปเกี่ยวเอารั้วเข้าทำให้ตัวเองพลิกกลิ้งไปบนพื้น เธอเล่าความรู้สึกว่าความฝันอันเต็มเปี่ยมของคนทั้งชาติที่ฝากไว้กับเธอหลุดลอยหายไปทันทีที่ร่างเธอสัมผัสพื้น น้ำตาเธอไหลพร่างพรูจนมองอะไรไม่เห็น แต่ภาพที่ถ่ายทอดทีวี.ไปทั่วโลกวันนั้นคือภาพของโลโล่พยุงตัวเองลุกขึ้น มือหนึ่งบีบเค้นขาข้างที่เจ็บอีกมือหนึ่งก็แหวกว่ายอากาศพาตัวเองวิ่งข้ามรั้วสุดท้ายมาถึงเส้นชัยเอาเป็นคนที่ 7 ท่ามกลางเสียงเชียร์ของคนดูซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนดังกระหึ่มสนาม
การกลับมาที่โอลิมปิก 2012 ของโลโล่ครั้งนี้มีประเด็นคือหลังจากโอลิมปิก 2008 โลโล่ต้องผ่าตัดแก้ความพิการแต่กำเนิดที่แกนประสาทสันหลังซึ่งทำให้เกิดอาการปลายเท้าหมดความรู้สึก (ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เท้าของเธอเกี่ยวรั้วในครั้งนั้น) หมอและใครๆก็ส่ายหัวว่าเธอคงวิ่งข้ามรั้วไม่ได้อีกแล้ว แต่เธอก็ลงมือฟื้นฟูตัวเองแบบบ้าเลือดและขยันลงแข่งสารพัดแมทช์อีก ชนะบ้างแพ้บ้าง แล้วก็เกิดการบาดเจ็บกล้ามเนื้อหน้าขารุนแรงจนต้องพักเด็ดขาดไปหลายเดือน แต่ในที่สุดสามารถพาตัวเองเข้ามาอยู่ในทีมชาติชุดโอลิมปิก 2012 อีกจนได้ ผมชอบแคแรคเตอร์ที่รีบลืมความล้มเหลวในอดีตแล้วมาโฟกัสกับปัจจุบันได้ทันทีของเธอ ไม่ว่าบาดแผลในอดีตมันจะทำให้ปัจจุบันดูลางเลือนเป็นไปไม่ได้อย่างไรก็ตาม แต่ไม่เห็นเธอไปคร่ำครวญถึงมันเลย

2.. ผลตรวจคลื่นเสียงหัวใจ (Echo) ที่คุณส่งมาให้นั้น มีข้อมูลที่มีนัยสำคัญสองเรื่องเท่านั้นคือ หนึ่ง อัตราการบีบเลือดออกจากหัวใจ (EF) มีเพียง 40% ซึ่งต่ำไปหน่อย กับ สอง ลักษณะการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจเป็นแบบอ่อนปวกเปียกไปทั่วทุกส่วน (global hypokinesia) ถือเป็นข้อมูลยืนยันว่าอาการเหนื่อยง่ายเกิดจากกล้ามเนื้อเสียการทำงาน (cardiomyopathy) จนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวครับ

3.. สิ่งที่คนที่เป็นโรคหัวใจล้มเหลวจากกล้ามเนื้อเสียการทำงานอย่างคุณนี้พึงทำ นอกเหนือจากการใส่ใจกินยาที่หมอหัวใจให้มาอย่างสม่ำเสมอ และการใช้เครื่องกระตุ้นที่คุณได้ใส่ไปแล้ว ก็คือ

     3.1 ต้องฟื้นฟูร่างกายหรือพูดง่ายๆว่าต้องออกกำลังกายอย่างสุดฤทธิ์สุดเดช ยิ่งหน่อมแน้มเรื่องการออกกำลังกายยิ่งทำให้ทรุดโทรมเร็ว จะเพลาก็เฉพาะช่วงที่ซีเรียสมากๆเช่นช่วงสงสัยจะมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือช่วงหัวใจกำลังล้มเหลวแบบตกต่ำสุดขีดเท่านั้น การออกกำลังกายสำหรับคนเป็นโรคหัวใจล้มเหลวนี้ควรทำถึงระดับหนักพอควรหรือ moderate intensity (คือเหนื่อยจนร้องเพลงไม่ได้) ก็พอ ไม่ควรทำไปถึงระดับหนักมาก  (คือเหนื่อยจนพูดไม่ออก) 

     3.2 ต้องลดน้ำหนัก คนเป็นโรคหัวใจล้มเหลวทำตัวให้ผอมดีกว่าทำตัวให้อ้วน เพราะยิ่งน้ำหนักมาก หัวใจยิ่งต้องทำงานหนัก ดังนั้นจึงต้องชั่งน้ำหนักทุกวันจนเป็นกิจวัตรประจำวัน ถ้าวันไหนน้ำหนักขึ้นต้องสัมมนากับตัวเองทันทีว่าทำไม แล้วรีบลงมือปรับน้ำดื่ม อาหาร และการออกกำลังกายให้ได้ดุลพอดี

     3.3 ปรับโภชนาการในทิศทางมุ่งลดโซเดียม (ไม่เค็ม) และเพิ่มโปตัสเซียม (ผักและผลไม้แยะๆ) เรื่องโภชนาการนี้มีอีกเรื่องหนึ่งที่ผมแนะนำคือคุณควรจะกินน้ำมันปลา เพราะงานวิจัยสุขภาพหัวใจหลอดเลือด (Cardiovascular Health Study) พบว่าคนที่ยิ่งมีระดับไขมันโอเมก้า-3 ชนิดโซ่ยาว (EPA) มาก ยิ่งมีโอกาสเกิดหัวใจล้มเหลวน้อย ซึ่งสอดคล้องกับอีกงานวิจัยหนึ่งชื่องานวิจัย GISSI-HF ซึ่งเอาคนป่วยโรคหัวใจล้มเหลวเจ็ดพันคนมาแบ่งครึ่งให้กินไขมันโอเมก้า-3 เทียบกับยาหลอกแล้วพบว่ากลุ่มที่กินไขมันโอเมก้า-3 มีอัตราตายระยะยาวที่ต่ำกว่า

     3.4 ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคทางเดินลมหายใจที่ป้องกันได้เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ ซึ่งมีตัวเลือกให้สองชนิดคือ PPSV23 (pneumococcal polysaccharide vaccine 23 valent) และ PCV13 (pneumococcal conjugated vaccine 13 valent) เป็นต้น
   
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ 

บรรณานุกรม
1.       BristowMR, Saxon LA, Boehmer J, et al. Cardiac-resynchronization therapy with or without an implantable defibrillator in advanced chronic heart failure. N. Engl. J. Med. 2004;350:2140–2150
2.       Mozaffarian D, Lemaitre RN, King IB, et al. Circulating Long-Chain {omega}-3 Fatty Acids and Incidence of Congestive Heart Failure in Older Adults: The Cardiovascular Health Study: A Cohort Study. Ann Intern Med. Aug 2 2011;155(3):160-70.
3.       Marchioli R, Levantesi G, Silletta MG, et al, for the GISSI-HF investigators. Effect of n-3 polyunsaturated fatty acids and rosuvastatin in patients with heart failure: results of the GISSI-HF trial. Expert Rev Cardiovasc Ther. Jul 2009;7(7):735-48.
[อ่านต่อ...]

27 กรกฎาคม 2555

อยากทราบมุมมองพุทธศาสนาของหมอสันต์


ผมอ่านเรื่องราวมากมายของอาจารย์หมอ ได้ความรู้และเข้าใจในหลายๆเรื่องราวทางด้านการแพทย์และสุขภาพอนามัย รวมทั้งแง่คิดอื่นๆ (โดยเฉพาะที่มีแพทย์คนหนึ่งถามไปในทำนองที่ไม่อยากเป็นแพทย์ หรือดูจะไม่มีความสุขที่จะเป็นแพทย์) แต่สิ่งที่ผมไม่เคยเห็นในคำตอบจากอาจารย์หมอเลย คือมุมมองด้านพุทธศาสตร์หรือพุทธธรรมต่อการดำรงชีวิต เพราะเห็นแต่อ้างถึงตำราหรืองานวิจัยของนักบริหารหรือนักพฤติกรรมศาสตร์ฝรั่ง อยากฟังทัศนะด้านนั้นบ้างนะครับ

.............................................

ตอบครับ
     คุณเป็นคนที่ช่างสังเกตมากนะครับ ถ้าคุณไม่บอกผมเองก็ไม่รู้นะเนี่ยว่าผมไม่เคยแสดงมุมมองด้านพุทธศาสนาเลยในบทความที่เขียน พอคุณทัก ผมก็เห็นด้วยว่า เออ... จริงแฮะ สาเหตุมันคงเป็นเพราะผมไม่มีคุณวุฒิทางนั้น คุณวุฒิสูงสุดที่ผมมีในสายนั้นคือการได้เป็นเด็กวัด สูงกว่านั้นไม่มี แค่สามเณรยังไม่เคยเป็นเลย คนไม่มีคุณวุฒิในเรื่องใด โดยธรรมชาติย่อมเป็นคนนอกสำหรับเรื่องนั้น ย่อมจะรู้เรื่องนั้นไม่ลึกเท่าคนใน จึงย่อมสงบปากสงบคำเป็นธรรมดา เพราะถ้าจะถือตามแบบอินเดียโบราณ ท่านย่อมว่า
    
     “...ผู้โง่เขลาก็เป็นที่นับถือของที่ประชุมได้ ถ้าเขาแต่งกายงาม จนกว่าเขาจะพูดออกมา”

     นั่นไงครับ เหตุผลที่ผมไม่พูด แหะ..แหะ

     อีกเหตุผลหนึ่งคือผมมีอาชีพและมีหน้าที่ให้ความรู้คนทั่วไปในฐานะที่เป็นสมาชิกของวงการแพทย์ อันเป็นวงการของผู้ที่ทำมาหากินโดยใช้หลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมจำกัดอยู่เฉพาะเรื่องที่วิจัยชั่ง ตวง วัด และบวกลบคูณหารด้วยสูตรคณิตศาสตร์ได้ จะพูดจะสอนอะไรก็ต้องจำกัดอยู่เฉพาะเรื่องที่มีที่มาที่ไปมีงานวิจัยรองรับซึ่งคนฟังบางคนที่เขาไม่เข้าใจหรือยังไม่อยากจะเชื่อเขาจะได้ตามไปตรวจสอบให้เห็นจริงด้วยตัวเขาเองได้ ส่วนเรื่องอื่นที่ลึกซึ้งละเอียดอ่อนจนชั่งตวงวัดไม่ได้อย่างเรื่องศาสนาหรือปรัชญานั้นมันเกินหลักวิชาแพทย์ไปแล้ว ผมมีความเห็นว่าแพทย์ไม่ควรไปยุ่งในขณะที่ยังสวมหมวกของแพทย์อยู่
     ว่าจะไม่พูดแล้วเชียวนา แต่เมื่อคุณแหย่มามันก็เกิดความคันปาก ขอพูดอีกหน่อยนะ คือในเรื่องธรรมะธรรมโมนี้ ผมรู้ตัวว่าตัวเองยังอยู่ห่างไกล ตามความเข้าใจของผมพุทธศาสตร์คือทักษะการใช้ชีวิต ขึ้นชื่อว่าเป็นทักษะ (skill) มันก็ต้องมีการฝึกลงมือทำจึงจะทำเป็นแล้วเอาไปใช้ประโยชน์ได้ แต่วิชาแพทย์ที่ผมเรียนมานี้ส่วนใหญ่มันเป็นความรู้ (knowledge) ไม่ใช่ทักษะ การจะสอนทักษะให้กับคนที่สำคัญว่าตนเองมากไปด้วยความรู้เนี่ย เป็นเรื่องยากและมีโอกาสสำเร็จต่ำมากนะคุณ เพราะมันจะเป็นแบบคำพังเพยที่ว่า
   
     “สอนสังฆราชให้ว่ายน้ำ”
    
      (เกี่ยวกันมั้ยเนี่ย)   

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

26 กรกฎาคม 2555

มะเร็งรังไข่ "โกรธมากค่ะ"


กราบเรียนคุณหมอ

ได้อ่านwebคุณหมอมีประโยชน์ต่อชีวิตผู้คนมากมาย ดิฉันชอบอ่านและดูโรคและยาต่างๆ มีเรื่องที่ใคร่ขอความช่วยเหลือ คือ พี่สาวผ่าตัดแล้วพบว่าเป็นมะเร็งรังไข่ แต่หมอที่โรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงค่ารักษาแพงมากไม่อยากพูดคุยให้ข้อมูล คำที่ได้จากหมอคือ “คุณมีความรู้หรือเปล่าลองเอาไปแปลดู” โกรธมากค่ะที่ได้ยินเช่นนั้นจึงเอาผลทั้งหมดมาแปลเอง รบกวนขอคำแนะนำหรือแนะนำแพทย์ที่เราสามารถไปปรึกษาได้ค่ะ ตอนนี้ผ่าตัดเอามดลูกและรังไข่ออกทั้งหมดรวมถึงไขมันหน้าท้องด้วยค่ะ ผลที่ได้คือ
Cervix: chronic cervicities
Endometrium: proliferative phrase endometrium
Myometrium: intramural leiomyomas and adenomyosis.
Left OVERY: CLEAR CELL carcinoma with capsular invasion
Left Fallopian tube: Partubal cyst
Right OVERY: small endometriosis cyst
Right Fallopian tube: unremarkable change
OMENTUM: unremarkable change

รบกวนคุณหมดช่วยให้ความรู้ค่ะ
 1. สรุปว่าเป็นระยะที่เท่าไหร่ค่ะ
 2.  ค่า CA125 ตรวจก่อนผ่าตัดได้ 55 สูงกว่าเกณฑ์ ยังไม่ได้ไปตรวจหลังผ่าตัดค่ะ ก่อนผ่าตรวจร่างกายเลือดปรกติ ปอดปรกติ ทุกอย่างค่ะ.
 3. ตอนนี้ครบ 1 เดือนตั้งแต่วันที่ผ่าตัด ตรวจ ca125 ได้ผล 8.79 /. CEA 0.49
 4.เมื่อตัดไปหมดแล้วสามารถไปแพร่ที่ไหนค่ะ
 5. ไม่อยากทำคีโมเพราะอ่านข้อมูลต่างๆถ้าเป็นข้างเดียวผ่าตัดหมดไม่ต้องทำคีโม. รบกวนขอคำแนะนำว่าควรจะคีโมหรือเปล่าค่ะเพราะกลัวแพ้ยาค่ะ

กราบขอบพระคุณอย่างสูงมา ณ ที่นี้
.......................................................................

ตอบครับ
     1..เอาประเด็น “โกรธมากค่ะ” ก่อนนะ โจทก์ให้การฟังได้ว่า (1) โรงพยาบาลมีชื่อเสียง (2) ค่ารักษาแพงมาก (3) หมอไม่อยากพูดคุยให้ข้อมูล (4) หมอดูถูกว่าไม่มีความรู้ .
ประเด็นที่ 1. เรื่องโรงพยาบาลมีชื่อเสียง แต่คนไข้ผิดหวังนั้น โอ.เค. ผมเชื่อคุณ
ประเด็นที่ 2. เรื่องค่ารักษาราคาแพงมากนั้น โอ.เค. ผมเชื่อคุณ แต่ก็โนคอมเมนท์
ประเด็นที่ 3. ที่ว่าหมอไม่อยากพูดคุยให้ข้อมูลนี้ ผมอยากชี้ให้เห็นภาวะวิสัยในชีวิตจริงบางอย่างที่ขวางกั้นการให้ข้อมูลแก่คนไข้ แต่ก็เป็นภาวะวิสัยที่ยากจะหลีกเลี่ยง เช่น เวลามีไม่พอ มีผู้ป่วยรายอื่นรออยู่มาก เนื้อหาสาระของข้อมูลมีความซับซ้อนซึ่งหากไม่มีเวลาคลี่คลายให้ละเอียดก็จะเข้าใจผิดและเสียหาย เลยไม่พูดดีกว่า เป็นต้น
ประเด็นที่ 4. ที่ว่าหมอดูถูกว่าไม่มีความรู้ อันนี้ผมต้องขอเสียเวลาคลี่คลายคดีหน่อยนะ หมอบางคนพูดน้อยเกินไป หมอบางคนพูดแล้วจับประเด็นไม่ได้ หมอบางคนใช้ภาษาศัพท์แสงที่ฟังไม่รู้เรื่อง ทั้งหมดนี้ผมยอมรับว่ามีอยู่จริง แต่ผมสาบานว่าผมอยู่วงการนี้มาตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ผมยังไม่เคยเห็นหมอที่มีจิตใจดูหมิ่นดูแคลนคนไข้แม้เพียงสักคนเดียว เชื่อผมเถอะ คนที่มีจิตใจแบบนั้นเขาไม่มาเป็นหมอหรอกครับ ถึงแม้หมอจะมีทักษะในการสื่อสารไม่เท่ากัน แต่ทุกคนก็มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือความอยากใช้ความรู้ของตัวเองช่วยคนไข้ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ชักจูงเขาให้มาเป็นหมอ ดังนั้นเวลาพูดกับหมอผมอยากให้มองข้ามข้อด้อยเรื่องทักษะการสื่อสารซึ่งเป็นประเด็นลบไปเสีย ไปดักจับประเด็นบวกที่ว่าหมอเขาอยากจะช่วยเราอย่างไรดีกว่าครับ

      2.. ผลตรวจพยาธิที่ส่งมาให้นั้น ผมแปลให้ฟังดังนี้

     Cervix: chronic cervicities แปลว่า ปากมดลูก: มีภาวะปากมดลูกอักเสบเรื้อรัง
     Endometrium: proliferative phrase endometrium แปลว่า เยื่อบุโพรงมดลูก: อยู่ในระยะเยื่อบุกำลังหนาตัว (ก่อนมีเมนส์)
     Myometrium: intramural leiomyomas and adenomyosis. แปลว่า ผนังมดลูก: มีเนื้องอกมดลูก(ไม่ใช่มะเร็ง) และเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
     Left OVERY: CLEAR CELL carcinoma with capsular invasion แปลว่า รังไข่ซ้าย: มีมะเร็งชนิดเคลียร์เซล (มะเร็งชนิดนี้พบน้อยกว่าแต่รุนแรงกว่าชนิด serous ซึ่งคนทั่วไปเป็นกัน) มะเร็งนี้กินเข้าไปถึงในเยื่อหุ้มรังไข่ (capsule) แล้ว
     Left Fallopian tube: Paratubal cyst แปลว่า ปีกมดลูกซ้าย: มีถุงน้ำ
     Right OVERY: small endometriosis cyst แปลว่า รังไข่ขวา: มีถุงน้ำชนิดเกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูก
     Right Fallopian tube: unremarkable change แปลว่า ปีกมดลูกขวา: ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงให้เห็น
     OMENTUM: unremarkable change แปลว่า ขั้วลำไส้ : ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงให้เห็น

     สิ่งที่ผมอยากทราบเพิ่มเติม แต่คุณไม่ได้ส่งผลมาด้วย คือ
(1) ผลการตรวจเซลวิทยาของน้ำในช่องท้องที่ดูดเก็บขณะผ่าตัด
(2) ผลตรวจสิ่งที่ขูดหรือตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อกระบังลม
(3) ผลตรวจตัวอย่างชิ้นเนื้อเยื่อบุช่องท้อง
(4) ผลการตรวจต่อมน้ำเหลืองรอบหลอดเลือดใหญ่ในท้อง (paraaortic nodes) ที่เลาะออกมาได้ทุกเม็ด
(5) เกรด (Grade) ของเซลเนื้องอก หมายความว่าหน้าตาของเซลมันดูก้าวร้าวแค่ไหน หรือเกือบเหมือนเซลปกติ
      ข้อมูลทั้งห้าอย่างนี้มีประโยชน์ในการบอกระยะ (staging) และการตัดสินใจว่าจะเคมีบำบัดหรือไม่ ถ้ามีก็จะดีทีเดียว แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไรครับ

     3.. ถามว่าสรุปว่าเป็นระยะที่เท่าไหร่ค่ะ ตอบว่าแหม คนที่บอกระยะของโรคได้ดีที่สุดคือคุณหมอที่ผ่าตัดคนไข้นะ จะให้หมอที่อยู่ไกลทางไปรษณีย์บอกว่าเป็นมะเร็งระยะไหนเนี่ยผิดหลักวิชาแพทย์นะครับ ผมบอกไม่ได้หรอก เอาเป็นว่าผมเล่าให้ฟังหลักวิชาในภาพรวมสำหรับคนไข้ทั่วไปที่คล้ายๆพี่สาวคุณก็แล้วกัน กล่าวคือพบมะเร็งที่รังไข่ข้างเดียวซึ่งรุกเข้าไปถึงเยื่อหุ้มรังไข่แล้ว แต่ไม่มีหลักฐานว่าไปยังอวัยวะอื่นนอกรังไข่ (ทั้งนี้เดาแบบเหมาโหลเอาว่าผลตรวจน้ำในท้อง เนื้อเยื่อกระบังลม เนื้อเยื่อบุช่องท้อง และต่อมน้ำเหลืองรอบหลอดเลือดใหญ่ ปกติหมดนะ) หากถือตามหลักการแบ่งระยะของสมาพันธ์สูตินรีเวชนานาชาติ (FIGO) ก็ถือว่าเป็น stage 1a (มะเร็งอยู่ในรังไข่ข้างเดียว และแคปซูลยังดีอยู่) แต่เนื่องจากมีโอกาสที่มะเร็งจะกินทะลุแคปซูลไปแล้วบางจุดแต่การตัดชิ้นเนื้อบังเอิญตัดไม่เจอตรงที่มันทะลุ จึงมีโอกาสที่จะเป็น stage 1c (มะเร็งอยู่ในรังไข่แต่กินทะลุแคปซูล) ก็ได้ ทีนี้ในการรักษามะเร็งหมอเรามักจะรักษาแบบหวาดระแวงไว้ก่อน หมายความว่าหมอเราจะนิยมรักษาแบบ stage 1c ครับ
      
     4..  ถามว่าค่า CA125 ลดลงต่ำกว่าก่อนผ่าแปลว่าอะไร ก็แปลว่ามันลดดีกว่ามันเพิ่มขึ้นครับ มีความหมายว่ายังไม่มีวี่แววว่ามะเร็งไปโผล่ที่ไหน ส่วนผล CEA ที่บอกมานั้นไม่มีนัยสำคัญอะไรครับ

     5.. ถามว่าถ้าตัดหมดแล้ว มะเร็งรังไข่จะแพร่ไปที่ไหนได้อีก ตอบว่าถ้าตัดหมดเกลี้ยงแท้แน่นอนก็ไม่ไปไหนอีกแล้ว แต่ถ้านึกว่าหมดแต่ไม่หมดจริง คราวนี้ โอ้โฮ ไปได้ทุกที่ที่มีทาง ส่วนใหญ่มันมักแพร่ไปทางผิวเยื่อบุช่องท้อง (peritoneum) และขั้วลำไส้ (omentum) คือพูดง่ายว่าชอบอยู่ในท้องนั่นแหละ แต่จริงๆแล้วมันไปได้ทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นรุกออกไปข้างๆ แพร่ไปกับน้ำเหลือง หกลงไปในน้ำในช่องท้อง (peritoneal fluid) หรือแพร่ไปทางกระแสเลือด แล้วไปหาอวัยวะได้ทุกอวัยวะ

     6. ถามว่าควรใช้เคมีบำบัดดีหรือเปล่า ตอบว่าให้คีโมดีแน่ครับ เพราะ
   6.1 มาตรฐานของการรักษามะเร็ง stage Ic คือให้เคมีบำบัดร่วมกับการผ่าตัด ประเด็นที่ว่าเป็นข้างเดียว มีนัยสำคัญน้อยกว่าประเด็นที่มันมีความเป็นไปได้ที่จะทะลุแคปซูลไปแล้ว
   6.2 มะเร็งชนิดเคลียร์เซลไม่ใช่มะเร็งกระหม่อมบาง หมายความว่ามีอนาคตที่แย่กว่ามะเร็งชนิดธรรมดาที่เรียกว่า  serous LMP (ย่อจาก low malignant potential) ดังนั้นการรักษาจึงต้องยึดแนวทางรุนแรงเข้าไว้ จะได้ไม่มานั่งเสียใจภายหลัง
   6.3 เนื่องจากเราไม่มีข้อมูล Grading ของตัวเซลมะเร็ง ซึ่งจะช่วยตัดสินใจว่าจะคีโมหรือไม่คีโม ดังนั้น ใช้หลักความระแวงไว้ก่อน ก็ต้องรักษาแบบเดาเอาว่าเป็นมะเร็งเกรดสูง คือต้องให้คีโมนั่นแหละครับ

     7. อันนี้เป็นข้อวิจารณ์แถมท้าย ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่คุณถามนะ คือผมมองอย่างเป็นกลางจากหลักฐานข้อมูลที่มี ขณะที่คุณตำหนิว่าโรงพยาบาลนั้นดังซะเปล่า ค่ารักษาก็โคตรแพง แถมหมอคนนั้นชอบดูถูกคนไข้ แต่โรงพยาบาลแห่งนั้น หมอคนนั้น สามารถวินิจฉัยมะเร็งรังไข่ให้พี่สาวคุณได้ตั้งแต่ stage 1 นะ ขณะที่สถิติทั่วโลก 75% ของคนไข้โรคนี้หมอจะวินิจฉัยโรคนี้ได้ก็ต่อเมื่อถึง stage 3 ขึ้นไปแล้ว ดังนั้นถึงคุณจะร้ายกับพวกเขาอย่างไร แต่ผมเลื่อมใสโรงพยาบาลแห่งนั้นกับหมอคนนั้นแฮะ (อะจ๊าก..ก เปล่าขัดคอ..พูดเล่น เอ๊ยไม่ใช่.. พูดจริง)

     8.. จะจบแล้ว แต่นึกขึ้นได้ว่าตัวเองเป็นหมอประจำครอบครัวนะ ขอพูดให้ท่านผู้อ่านทั่วไปทราบเชิงป้องกันโรคมะเร็งรังไข่สักหน่อยนะครับ เพราะมะเร็งรังไข่นี้แม้จะมีอุบัติการเป็นอันดับหลังๆในบรรดามะเร็งนรีเวชด้วยกัน แต่ก็มีอัตราตายเป็นอันดับหนึ่งเพราะมักวินิจฉัยได้ช้าอย่างว่านะแหละ ดังนั้นอย่ามองข้ามประเด็นการป้องกันและคัดกรองต่อไปนี้คือ
     8.1 พันธุกรรมเป็นเรื่องซีเรียสสำหรับมะเร็งรังไข่ ขณะที่ชั่วชีวิตของหญิงทั่วไปมีโอกาสเป็นโรคนี้ 1.6% แต่คนที่ญาติวงใน (หมายถึง first degree relatives ได้แก่ แม่ พี่สาว น้องสาว) เป็นโรคนี้ คนนั้นมีโอกาสเป็นโรคถึง 4-5% คือสามเท่าของคนทั่วไป ยิ่งถ้าญาติเป็นโรคนี้สองคนขึ้นไป โอกาสเป็นโรคจะเพิ่มเป็น 7% เลยทีเดียว นอกจากนั้นคนมียีนมะเร็งเต้านม (BRCA1 และ BRCA2) มักทำให้เป็นโรคมะเร็งเต้านมควบรังไข่ (breast ovarian cancer syndrome) คือมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม 50-85% บวกกับมีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่ 10-45% ยีนกลุ่มที่สองที่ทำให้เป็นมะเร็งรังไข่คือยีนโรคลินช์ซินโดรม (Lynch II syndrome) ซึ่งทำให้เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดเกิดจากพันธุกรรม และมะเร็งที่อวัยวะอื่นได้หลายอวัยวะ รวมทั้งโพรงมดลูก กระเพาะ ลำไส้ เต้านม ตับอ่อน และรังไข่ ดังนั้นเกิดเป็นหญิงพึงสืบสาวโคตรเหง้าศักราชของตัวเองให้ดี ไม่ว่าญาติหญิงหรือชาย และแจ้งแพทย์ในการตรวจสุขภาพประจำปีถ้ามีญาติเป็นมะเร็งอะไรก็ตาม
     8.2 หญิงที่ใช้ฮอร์โมนทดแทน เป็นมะเร็งรังไข่มากกว่าคนที่ไม่ใช้ ในอัตรา 1.38 ต่อ 1 หรือประมาณว่าในแต่ละปีคนใช้ฮอร์โมนทุก 8,300 คนจะเป็นมะเร็งรังไข่เพิ่มขึ้นมา 1 คน
     8.3 สำหรับหญิงสาว การมีโอกาสตั้งครรภ์มีลูกเป็นการลดความเสี่ยงของโรคนี้ การมีลูกลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่ลงได้ 50% ยิ่งมีลูกมาก ความเสี่ยงยิ่งน้อย การกินยาคุมกำเนิดก็ทำให้ความเสี่ยงโรคนี้ลดลงเช่นกัน
     8.4 ในแง่ของความรู้อาการวิทยาเพื่อให้ช่วยวินิจฉัยโรคนี้ได้เร็วขึ้นนั้น น่าเสียดายที่เป็นความรู้ที่มีประโยชน์น้อย เพราะกว่าจะมีอาการให้รู้ตัวก็มักเป็นเวลาที่สายเกินไปเสียแล้ว อาการของโรคนี้มักไม่เจาะจงเช่น ท้องอืด ท้องพอง แน่น ไม่สบายท้อง ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก เลือดออกทางช่องคลอด อาหารไม่ย่อย กรดไหลย้อน หายใจไม่อิ่ม เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด อิ่มเร็ว รู้สึกว่ามีก้อนในท้อง เป็นต้น
     8.5 มาตรฐานการตรวจคัดกรองโรคนี้ทั่วโลกยังแนะนำว่าให้เน้นที่การคัดกรองประวัติพันธุกรรมและอาการของโรค ส่วนการตรวจ CA125 วงการแพทย์ถือว่ามีความไวและความจำเพาะต่ำเกินกว่าที่จะใช้คัดกรองโรคนี้ได้และไม่ควรทำ การจับคนดีๆทุกคนตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) เพื่อคัดกรองโรค วงการแพทย์ก็ถือว่าเป็นการทำที่มากเกินไป เมื่อไม่ถึงปีมานี้ได้มีงานวิจัยหนึ่งในอเมริกาจับเอาผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไปที่ไม่มีอาการอะไรมาทุกคน และหญิงอายุ 25 ปีขึ้นไปที่มีประวัติมะเร็งในครอบครัว จำนวนรวมทั้งสิ้น 27,293 คน มาตรวจอุลตร้าซาวด์ทุกปี ทำอยู่นาน 34 ปี แล้วพบว่าพวกที่ถูกจับตรวจอุลตร้าซาวด์ทุกปีจะพบมะเร็งรังไข่ระยะต้นเร็วกว่าและมีอัตรารอดชีวิตใน 5 ปีมากกว่าคือรอดถึง 74.8% ซึ่งมากกว่าพวกที่ไม่ได้ตรวจอุลตร้าซาวด์ปูพรมที่พบมะเร็งระยะต้นน้อยกว่าและมีอัตรารอดชีวิตในห้าปีน้อยกว่า คือรอดเพียง 53.7% ซึ่งฟังดูก็น่าเลื่อมใสนะครับแต่ว่ามันเป็นหลักฐานระดับต่ำคือไม่ได้ทำการสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ ขณะที่อีกงานวิจัยหนึ่งชื่องานวิจัย PCLO ซึ่งเป็นหลักฐานระดับสูงกว่าเพราะทำแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบพบว่าการตรวจคัดกรองด้วยวิธีตรวจคลื่นเสียงทางช่องคลอดซึ่งถือว่าแม่นยำกว่าตรวจผ่านหน้าท้องก็ไม่ได้ช่วยลดอัตราตายของมะเร็งรังไข่ ดังนั้น นับถึงวันนี้องค์กรเจ้าใหญ่อย่างคณะทำงานป้องกันโรคอเมริกัน (USPSTF) ยังคงยืนยันคำแนะนำเดิมว่ายังไม่มีหลักฐานมั่นเหมาะว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ด้วยคลื่นเสียงทุกปีจะมีประโยชน์อะไร ไม่ว่าจะตรวจคลื่นเสียงผ่านหน้าท้องหรือผ่านช่องคลอดก็ตาม 


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1.      Hippisley-Cox J, Coupland C. Identifying women with suspected ovarian cancer in primary care: derivation and validation of algorithm. BMJ. Jan 4 2011;344:d8009.
2.      Mørch LS, Løkkegaard E, Andreasen AH, Krüger-Kjaer S, Lidegaard O. Hormone therapy and ovarian cancer. JAMA. Jul 15 2009;302(3):298-305.
3.      Chan JK, Teoh D, Hu JM, Shin JY, Osann K, Kapp DS. Do clear cell ovarian carcinomas have poorer prognosis compared to other epithelial cell types? A study of 1411 clear cell ovarian cancers. Gynecol Oncol. Jun 2008;109(3):370-6. 
4.      Yazbek J, Raju SK, Ben-Nagi J, Holland TK, Hillaby K, Jurkovic D. Effect of quality of gynaecological ultrasonography on management of patients with suspected ovarian cancer: a randomised controlled trial. Lancet Oncol. Feb 2008;9(2):124-31..
5.      van Nagell JR Jr, Miller RW, DeSimone CP, et al. Long-term survival of women with epithelial ovarian cancer detected by ultrasonographic screening. Obstet Gynecol. Dec 2011;118(6):1212-21.
6. Buys SS, Partridge E, Black A, et al. Effect of screening on ovarian cancer mortality: the Prostate, Lung, Colorectal and Ovarian (PLCO) Cancer Screening Randomized Controlled Trial. JAMA.2011;305(22):2295-303.

7. Addendum to Screening for Ovarian Cancer: Evidence Update for the U.S. Preventive Services Task Force Reaffirmation Recommendation Statement. Accessed at http://www.uspreventiveservicestaskforce.org/uspstf12/ovarian/ovarartaddend.htm  on July 26, 2012
[อ่านต่อ...]

24 กรกฎาคม 2555

เจาะใจ คุณดู๋ (สัญญา คุณากร) คุยกับนพ.สันต์ ใจยอดศิลป์


รายการเจาะใจ 19 กค. 55 คุณดู๋ (สัญญา คุณากร) คุยกับนพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
ถอดเทป คำต่อคำ
คุณสัญญา: เรื่องราวของแขกรับเชิญนะครับ เป็นคุณหมอผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคหัวใจ ท่านได้ลงมีดผ่าตัดรักษาคนไข้โรคหัวใจมามากกว่า 2,000 ราย แต่คุณหมอเองก็เป็นโรคหัวใจด้วย ฟังดูก็ไม่น่าแปลกนะครับ เพราะคนเราเป็นคุณหมอได้ และก็เป็นคนไข้ได้ แต่ที่น่าสนใจก็คือวิธีคิดของคุณหมอที่มีต่อโรค วิธีคิดของคุณหมอที่มีต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ รายการเจาะใจขอต้อนรับนายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์ ครับ

(เสียงปรบมือ)


คุณสัญญา: สวัสดีครับคุณหมอครับ
นพ.สันต์: สวัสดีครับ
คุณสัญญา: เรียนท่านผู้ชมว่าคุณหมอเป็นบุคคลที่ผมคุ้นเคย เป็นพิธีกรร่วมกับผมในอีกรายการหนึ่งชื่อว่า The Symptom เกมหมอยอดนักสืบ ขออนุญาตเอ่ยถึงนึดหนึ่งนะครับ ถ้าท่านเคยติดตามรายการนั้นละก็ แหม คุณหมอสันต์เป็นขวัญใจนะฮะ เป็นพิธีกรที่ทำงานหนัก ทั้งข้อมูล ทั้งแสดงด้วย ผมยังทำงานน้อยกว่านะฮะ
 กลับมาถึงเรื่องของคุณหมอ คุณหมอเป็นผู้เชี่ยวชาญหลายอย่าง แต่ข้อมูลที่ผมมีอยู่ในมือคือคุณหมอเป็นผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ครอบครัว ของเครือโรงพยาบาลพญาไท
นพ.สันต์: ครับ
คุณสัญญา: อันนี้เป็นอันล่าสุดใช่ไหมฮะ หลังจากเชี่ยวชาญมาหลายเรื่อง
นพ.สันต์: หึ..หึ ไม่ได้หลายเรื่องนะครับ คือผมเป็นหมอผู้เชี่ยวชาญผ่าตัดหัวใจ พอเลิกอาชีพผ่าตัดหัวใจ ผมก็ไปฝึกอบรมเป็นหมอเวชศาสตร์ครอบครัว
คุณสัญญา: ถ้าพูดกันง่ายๆ เวชศาสตร์ครอบครัวคืออะไรครับคุณหมอ
นพ.สันต์: ก็เป็นวิธีส่งเสริมสุขภาพ
คุณสัญญา: อือ..ฮึ
นพ.สันต์:  เนื่องจากการมองสุขภาพของคนเนี่ย มันต้องมองว่าคนอยู่ในครอบครัว มันจะเกี่ยวพันกันไปหมด คำว่าเวชศาสตร์ครอบครัวนี่มันก็เลยดูจะมีความครอบคลุมดีกว่า แต่จริงๆก็คือ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
คุณสัญญา: แปลว่าบทบาทของคุณหมอเนี่ย ถ้าเราจะนึกถึงหมอเรามักจะนึกว่าหมอจะเข้ามาตอนหลังเมื่อเราเป็นโรคแล้ว แล้วจึงค่อยเจอหมอ แต่จริงๆแล้วก่อนเราเป็นโรคเนี่ย มันน่าจะได้เจอหมอ หรือได้เจอความรู้ ที่จะทำให้เราไม่เป็น
นพ.สันต์: ถูกต้อง
คุณสัญญา:  ถ้าจะย้อนกลับไปนะคุณหมอ เอาตอนคุณหมอเป็นผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ แล้วคุณหมอไปเป็นโรคหัวใจได้ไงนะ ผมยังงงเลย หมอเชี่ยวชาญโรคนี้ แล้วคุณหมอก็เป็นโรคนี้เอง ฮะ..ฮะ..ฮะ มันมายังไงฮะ
นพ.สันต์: คือ..เรื่องรู้แล้วไม่ทำเนี่ย มันธรรมดาใช่ไหมครับ
คุณสัญญา: ครับ
นพ.สันต์: แต่หมอเนี่ย เป็นอาชีพพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือถูกสอนให้รู้เรื่องโรค แต่ไม่ได้ถูกสอนให้ดูแลตัวเองเป็น ยิ่งไปกว่านั้นยังถูกกีดกันไม่ให้ส่งเสริมสุขภาพของตัวเองด้วย
คุณสัญญา: ใครจะไปกีดกันด้าย..ย
นพ.สันต์: ก็หลักสูตรการเรียนการสอนไง คือ ยัด ยัด ยัด ยัด
คุณสัญญา: หมอปกติเรียนหกปี ถูกไหมฮะ
นพ.สันต์: หกปี แต่ต้องอ่านหนังสือสิบสองปี คือต้องอ่านทั้งกลางคืนด้วย กลางวันด้วย หึ..หึ..หึ
คุณสัญญา: หกปีที่คุณเรียนเป็นหมอเนี่ย ปริมาณหนังสือที่ต้องอ่านคือสิบสองปี
นพ.สันต์: ช่าย..ย
คุณสัญญา: คุณต้องยัดมันลงไปในหกปีให้ได้
นพ.สันต์: ช่าย..ย แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปส่งเสริมสุขภาพตัวเอง ถ้าคุณออกไปวิ่งจ๊อกกิ้ง คือสมัยหนึ่งช่วงผมฝึกอบรม (แพทย์ประจำบ้าน) ที่โรงพยาบาลจุฬา สวนสาธารณะก็อยู่ข้างๆ
คุณสัญญา: สวนลุมอยู่ข้างๆนั่นแหละ
นพ.สันต์: ฮะ มองลงไปจากหน้าต่างตึกก็เห็นสีเขียวๆ เห็นเขารำมวยจีนกันอยู่ที่นั่น แต่เราไม่สามารถ ถ้าเราไปวิ่งชั่วโมงหนึ่ง เพื่อนเขาไปไหนต่อไหนแล้วใช่ไหมฮะ ไม่ทัน
คุณสัญญา: โหย..จริงเอ๋อ
นพ.สันต์: จริง...ง หึ..หึ
คุณสัญญา: แล้วอย่างนี้หมอมีข้อมูลไหมว่าหมอในประเทศเราเนี่ย ท่านมีโอกาสได้ดูแลสุขภาพของตัวเองไหม ท่านป่วยกันหนักไหม หรืออย่างไร
นพ.สันต์: ในประเทศเราเนี่ยผมมีแต่ข้อมูลที่ไม่เป็นทางการนะฮะ คือเป็นการศึกษาในหมู่กันเอง ว่าแพทย์มีอัตราการออกกำลังกายประมาณห้าเปอร์เซ็นต์กว่าๆ ซึ่งต่ำกว่าคนทั่วไปนะฮะ คนทั่วไปมีอัตราการออกกำลังกายประมาณเจ็ดเปอร์เซ็นต์กว่าๆ
คุณสัญญา:  แปลว่าหมอร้อยคน มีคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำห้าคน
นพ.สันต์: ถูกต้องครับ
คุณสัญญา: คราวนี้สิ่งที่เกิดขึ้น คุณหมอไปรู้ตัวตอนไหนครับ
นพ.สันต์: ก็มาถึงจุดหนึ่ง เมื่ออายุมาก ก็ต้องตรวจสุขภาพประจำปี ใช่ไหมฮะ อาการผิดปกติมันก็มีนิดๆหน่อยๆแต่เราก็ปฏิเสธมันไป แต่พอตรวจสุขภาพประจำปี ดัชนีสุขภาพต่างๆเริ่มโผล่มาละ ไขมันในเลือดสูงถึงขั้นต้องใช้ยา อันนี้ตามเกณฑ์ของหมอโรคหัวใจ เกณฑ์นี้ สำหรับคนที่มีความเสี่ยงขนาดนี้ ต้องใช้ยา ของผมเจาะปุ๊บ..ปุ้ง ต้องใช้ยาลดไขมันละ
คุณสัญญา: มีไขมันในเลือดสูง
นพ.สันต์: อ้า.. ความดันเลือดสูง เรารู้ว่าถ้าต่อไปอีกสักหน่อยก็ต้องใช้ยาละ ตรวจแคลเซียมที่หลอดเลือดหัวใจมีแคลเซียมพอกที่หลอดเลือดหัวใจ
คุณสัญญา: ฮะ
นพ.สันต์: แสดงว่ามีการหนาตัวของหลอดเลือด เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจแล้วแหละ พูดง่ายๆ
คุณสัญญา: ฮะ
นพ.สันต์: มีปัจจัยเสี่ยงอยู่ครบถ้วน มีหลักฐานว่าเป็นโรคแล้ว อนาคต...เดาได้
คุณสัญญา: ขึ้นเขียง
นพ.สันต์: ฮึ..ฮึ.. ขึ้นเขียง ใช่
คุณสัญญา: โรคหัวใจเนี่ย เดี๋ยว.. เอาภาษาชาวบ้านนะ มีเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ มันมีการจะอุดตันอยู่ละ
นพ.สันต์: ฮะ มันมีการตีบ
คุณสัญญา: เพราะมีไขมันพอก มีแคลเซียมเกาะ
นพ.สันต์: ใช่
คุณสัญญา: ปกติเขาจะรักษายังไงครับ คุณหมอครับ
นพ.สันต์: ก็ต้องใช้ยา
คุณสัญญา: หนึ่งใช้ยา
นพ.สันต์: แล้วก็ไปทำบอลลูน
คุณสัญญา: อันดับสอง ทำบอลลูน ส่งลูกโป่งเข้าไป ไปขยายปู๊ด แล้วเอาลวดค้ำไว้
นพ.สันต์: ใช่ ถ้าไม่สำเร็จ ก็ไปผ่าตัดบายพาส
คุณสัญญา: บายพาสคือ?
นพ.สันต์: เอาหลอดเลือดต่อ พาเลือดข้ามไป
คุณสัญญา: ไอ้ตรงที่ตีบ ตัดมันทิ้งไป แล้วต่อใหม่ แบบนี้หรือเปล่าฮะ
นพ.สันต์: อ้า..ไม่ใช่หงะ เอาหลอดเลือดจากที่แขน หรือที่ขา หรือที่หน้าอก มาต่อเชื่อมจากต้นทาง ข้ามไปปลายทาง ข้ามจุดตีบไป เหมือนเป็นทางเบี่ยง
คุณสัญญา: อ๋อ..อ ทำทางเบียง ไอ้เส้นที่มันตีบ เอาเส้นเลือดจากตรงอื่น ไปทำถนนให้มันใหม่
นพ.สันต์: ใช่ ถูกต้อง
คุณสัญญา: สามละ แล้วถ้ายังมีปัญหาอีก
นพ.สันต์: ส่วนใหญ่มันก็จะสงบไปสักสิบปี แล้วก็มาบายพาส...อีกละ
คุณสัญญา: ไอ้เส้นนี้ตีบอีกละ
นพ.สันต์: หึ..หึ บางทีเส้นอื่น
คุณสัญญา: แปลว่าคุณหมอรู้เส้นทางตัวเองละ พอตรวจเจอ ก็จะเป็นอย่างงี้แหละ กินยา บอลลูน บายพาส
นพ.สันต์: ประเด็นก็คือ เราไม่อยากจะมานอนบน...เขียง ซึ่งเรา...
คุณสัญญา: เราเคยเป็น..
นพ.สันต์: เรามองเขียงนั้นอยู่ประจำ หึ..หึ เราไม่อยากเป็นลูกค้า ฮะ..ฮะ..ฮะ พูดง่ายๆก็แล้วกัน
คุณสัญญา: คงไม่มีใครอยากหรอก
นพ.สันต์: ฮะ..ฮะ...ฮะ ใช่ ใช่..ใช่
คุณสัญญา: แล้วยังไงต่อครับ แล้วคุณหมอทำยังไง เพราะมันเป็นไปแล้ว
นพ.สันต์: เออ..ใหม่ๆเราก็ปฏิเสธก่อน ไม่เป็นไรหรอก แล้วก็ทำงานไป แต่ทีนี้มันก็มีเหตุการณ์ประกอบหลายอย่างนะฮะ คือ.. ความเครียด
คุณสัญญา: นี่คือเหตุการณ์เมื่อไหร่ฮะ คุณหมอตรวจเจอเมื่อไหร่
นพ.สันต์: อายุ..สัก 51 ปี ตอนนี้ 60
คุณสัญญา: ตอนอายุ 51 ตอนนี้ 60 เก้าปีที่แล้ว
นพ.สันต์: ครับ อ้า.. งานมันมาก ไม่มีเวลานอนหลับ มีความเครียด พูดง่ายๆ เบื่อ..อ..อ
คุณสัญญา: ไม่มีความสุขกับทุกวันของชีวิต
นพ.สันต์: ใช่ ก็ต้องหาทางออกว่าจะทำยังไงกับชีวิต เพราะว่าชีวิตยังอยู่อีกยาว ถ้าเราจะถูลู่ถูกังไปอย่างนี้
คุณสัญญา: คุณหมอเครียดแล้วคุณหมอไปหาจิตแพทย์บ้างไหมฮะ ในฐานะอยู่ในแวดวงนี้
นพ.สันต์: เราก็ถามน้องๆ ถามน้องๆที่เขาเก่งทางด้านนี้ ถามว่าเอ.. ยังงั้นยังงี้ เขาก็มีคำแนะนำตามหลักวิชาเค้าหงะ แนะนำให้กินยา
คุณสัญญา: กินยา
นพ.สันต์: ยาแก้เซ็ง..พูดง่ายๆ
คุณสัญญา: ยาคลายเครียดเงี้ยเหรอ
นพ.สันต์: ทำนองนั้น
คุณสัญญา: ฮะ
นพ.สันต์: มันไม่เวอร์ค ก็เลยต้องถอยกลับมาศึกษาหลักวิชาของเราใหม่
คุณสัญญา: เพราะไม่อยากขึ้นเขียง
นพ.สันต์: เฮอะ..เฮอะ ใช่ คือผมจบแพทย์มาตอนนั้นก็ร่วมสามสิบปี บางอย่างที่เรียนเมื่อสามสิบปีก่อนมันเปลี่ยนไปเยอะละ กลับมาเรียนใหม่ กลับมาอ่านหนังสือใหม่ เราก็เลยได้ความรู้ว่าบางอย่างที่เราคิดว่าเรารู้แล้วนั้น มันไม่ใช่ เมื่อมาทบทวนงานวิจัยต่างๆเกี่ยวกับการออกกำลังกายแล้ว ก็ได้ความรู้ว่าการออกกำลังกายเนี่ยมีผลต่อโรคมากกว่ายา อย่างเช่น โรคหัวใจหลอดเลือดเนี่ย ทำให้โรคถอยกลับได้
คุณสัญญา: ฮ้า
นพ.สันต์: ทำให้หลอดเลือดหัวใจที่ตีบไปแล้วเนี่ย ถอยกลับได้ อันนี้พิสูจน์ได้จากการสวนหัวใจซ้ำ ซ้ำ ซ้ำ
คุณสัญญา: ฮะ
นพ.สันต์: รักษาโรคบางโรค อย่างเช่นเบาหวานเนี่ย ได้ดีกว่ายา
คุณสัญญา: หมายความว่าถ้าปริมาณน้ำตาลผมสูง ผมออกกำลังกายสามารถแก้อาการนี้ได้
นพ.สันต์: ใช่ โภชนาการก็มีผลต่อความดันเลือด ผลต่อโรคเนี่ย ดีกว่ายา อันนี้เป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ซึ่งสมัยก่อนเรา
คุณสัญญา: เราไม่มีความรู้
นพ.สันต์: คือความจริงตอนนั้นมันยังไม่มีหลักฐานพวกนี้
คุณสัญญา: ครับ
นพ.สันต์: แล้วเราก็เข้าไปอยู่ในสาขาลึกๆจนเราไม่มีเวลามาดูมัน เมื่อเราถอยกลับมาศึกษาแล้วเราถึง..เอ๊อะ ตรงนี้น่าจะหยิบมาใช้ได้ ก็เลยถอยมาตั้งตรงนี้ มาเริ่มต้นปรับชีวิตของตัวเองใหม่ บังเอิญในช่วงนั้นเนี่ย คือเมื่อสิบปีที่แล้วเนี่ย วงการแพทย์ทั่วโลกกำลังคิดคำใหม่ขึ้นมาคำหนึ่ง ว่า Total Lifestyle Modification คือปฏิวัติพฤติกรรมเพื่อต้านโรคเรื้อรัง สาระของมันก็คือว่า หนึ่งออกกำลังกายละ
คุณสัญญา: ฮะ
นพ.สันต์: ให้ได้ระดับมาตรฐาน สอง ปรับโภชนาการ สาม จัดการเรื่องความเครียดและการพักผ่อน
คุณสัญญา: สามเรื่อง เอาทีละเรื่องนะฮะ ท่านผู้ชมอาจจะได้ประโยชน์จากอันนี้เอาไปทำนะฮะ หนึ่ง คุณหมอปฏิวัติเรื่องออกกำลังกายยังไงครับ
นพ.สันต์: การออกกำลังกายให้ถึงระดับมาตรฐานที่เรียกว่าการออกกำลังกายแบบต่อเนื่องหรือแอโรบิกเนี่ย มันมีสามประเด็น อันที่หนึ่ง ต้องออกกำลังกายให้ถึงระดับหนักพอควร
คุณสัญญา: คือ?
นพ.สันต์: นิยามคำว่าหนักพอควรก็คือต้องให้หอบแฮ่ก แฮ่ก จนร้องเพลงไม่ได้ ถ้ายังร้องเพลงได้ ก็ยังไม่หนักพอควร
คุณสัญญา: (ทำท่าหอบ) ฮีด..ฮื่อ ฮีด..ฮื่อ ฮีด..ฮื่อ ฮีด..ฮื่อ ต้องประมาณนี้
นพ.สันต์: อ้า..นั่นแหละ
คุณสัญญา: ประมาณนี้อยู่นานแค่ไหนฮะ
นพ.สันต์: สามสิบนาที อย่างน้อย อย่างน้อยสามสิบนาที
คุณสัญญา: สามสิบนาที
นพ.สันต์: ครับ อ้า แล้วก็สม่ำเสมอ นิยามสม่ำเสมอก็คืออย่างน้อย อาทิตย์ละ 5 วัน
คุณสัญญา: สัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที
นพ.สันต์: อ้า แฮ่ก แฮ่ก นะ
คุณสัญญา: หอบแฮ่ก แฮ่ก ร้องเพลงไม่ได้
นพ.สันต์: ครับ บวกการออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อ ก็เล่นกล้ามหงะ พูดง่ายๆ
คุณสัญญา: ยกเวท ยกน้ำหนัก
นพ.สันต์: ฮ่ะ ยกเวท ทำท่ากายบริหาร อะไรแบบนี้ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
คุณสัญญา: ครั้งละ?
นพ.สันต์: ครั้งหนึ่งก็ต้องเล่นไปทุกกลุ่มกล้ามเนื้อ คือกล้ามเนื้อกลุ่มหลักมันมีอยู่เก้ากลุ่ม ก็ต้องเล่นไปทุกกลุ่ม ก็ใช้เวลา ร่วมๆชั่วโมง
คุณสัญญา: ร่วมชั่วโมง
นพ.สันต์: ครับ
คุณสัญญา: ได้ระดับนี้ ความถี่อย่างงี้ จะเป็นยาวิเศษของจริง
นพ.สันต์: ช่าย..ย ใช่
คุณสัญญา: อันที่สอง โภชนาการ
นพ.สันต์: มีหลักง่ายๆว่า อันที่หนึ่ง ต้องลดแคลอรี่ลง นะฮะ ลดอาหารให้พลังงานลง พวกแป้ง คาร์โบไฮเดรต น้ำตาล ที่สำคัญที่สุดไขมันในอาหารอุตสาหกรรมทั้งหลาย เค้ก คุ้กกี้ ขนมกรุบกรอบ พวกนี้เขาเรียกไขมันทรานส์ ไขมันทรานส์ก็คือไขมันที่เป็นผงหงะ
คุณสัญญา: มันเป็นยังไงต่อร่างกาย
นพ.สันต์: มันเป็นไขมันที่ก่อโรค ถ้าเรียงลำดับความชั่วร้ายของไขมัน ไขมันทรานส์นี่แย่ที่สุด
คุณสัญญา: หัวหน้าใหญ่เลย
นพ.สันต์: ไอ้พวกน้ำมันหมู ที่เราเรียกไขมันอิ่มตัวที่คนกลัวกัน ไอ้นี้ยังสู้ไขมันทรานส์ไม่ได้ เบบี้เลย
คุณสัญญา: อ๋อ
นพ.สันต์: น้ำตาลในเครื่องดื่ม มีแต่แคลอรี่ ไม่มีอย่างอื่นเลย อันนี้ก็ต้องหยุด แล้วก็มาเพิ่มผักและผลไม้เยอะๆ เยอะๆนี่ นิยามเค้าก็คือว่าห้าเสริฟวิ่งต่อวัน เสริฟหนึ่งเนี่ย สมมุติว่าผลไม้หั่นจานเล็กๆนี่คือหนึ่งเสริฟ ประมาณเท่าแอปเปิ้ลหนึ่งลูก
คุณสัญญา: ลูกหนึ่ง เรียกว่าหนึ่งเสริฟ วันหนึ่งให้ได้ห้าเสริฟ โอ้ เยอะเหมือนกัน
นพ.สันต์: ถ้าเป็นผักก็ ผักสลัดหนึ่งจาน นี่คือหนึ่งเสริฟ
คุณสัญญา: อู้ ฮู มันจะไปกินยังไงหมด อาจารย์
นพ.สันต์: อะ ฮ้า วิธีของผมก็คือใส่โถปั่นความเร็วสูง ปั่น ปรู๊ด กลายเป็นน้ำ หนึ่งลิตร แล้วก็ดื่ม
คุณสัญญา: รวมห้าเสริฟปั่นทีเดียวยังงี้เลยหรือ ได้น้ำลิตรหนึ่ง
นพ.สันต์: ฮะ แล้วก็ใช้เวลาดื่มประมาณสองสามชั่วโมงก็หมด
คุณสัญญา: อันนี้ทั้งผัก ทั้งผลไม้ ใส่เข้าไปปั่นรวมกันเลยงี้เหรอ
นพ.สันต์: ใส่รวมกันในนั้นแหละ อยากจะปรุงรส อยากจะ..
คุณสัญญา: ไม่ได้แยกกาก?
นพ.สันต์: ไม่แยก ไม่แยก เครื่องปั่นความเร็วสูงนะ ความเร็วสามหมื่นรอบต่อนาทีขึ้นไป ปั่นแล้วมันจะ เม็ดน้อยหน่านี่กลายเป็นน้ำเลย เรียกว่ารักษาโรคท้องผูกหายเป็นปลิดทิ้งเลย
คุณสัญญา: เดี๋ยวๆ  ถามแบบ คนที่เขาบอกว่า โอ้ย มันไม่อยู่ท้อง คือเดี๋ยวมันก็หิวอีก หิวอีก เงี้ย
นพ.สันต์: หิวก็กินผลไม้สิ ผลไม้ก็เป็นแหล่งแคลอรี่ ไอ้คำว่าไม่อยู่ท้องคือแคลอรี่ไม่พอใช้ ใช่ไหม แต่จริงๆแล้วแคลอรี่มันเกินแล้วนะ มันอยู่ที่พุง แต่ถ้ามันโหยๆ ก็ผลไม้ไง อย่างกล้วยงี้ ผลไม้อะไรก็ตามถึงจะมีรสหวานก็ตามนะ
คุณสัญญา: แต่มันก็ยังเป็นผลไม้
นพ.สันต์: มันก็ยังแคลอรี่ต่ำกว่าข้าว ต่ำกว่ากันเยอะเลย
คุณสัญญา: เอ้า ถามแทนคนที่ชอบติดใจในรสอาหาร ใช้ชีวิตแบบนี้มันกลายเป็นความทุกข์ไหม อาจารย์
นพ.สันต์: ไม่ทุก.ก...กข์ อยู่ที่ฝืมือของเมียด้วยนะ คือเมียต้องมีฝีมือปรุงรสบ้างเล็กน้อย ใส่มะนาวใส่อะไร
คุณสัญญา: ใส่เกลือบ้างได้ไหม
นพ.สันต์: ก็ได้บ้าง ให้มันมีรสนิดหน่อย
คุณสัญญา: ออกกำลังกาย โภชนาการ อันที่สาม
นพ.สันต์: อันที่สามก็เป็นเรื่องการจัดการความเครียด
คุณสัญญา: เรื่องใหญ่
นพ.สันต์: อ้า ฮะ ก็ไม่ใหญ่นะ จริงๆเรื่องความเครียดเนี่ย อย่างเดียว ขอให้นอนให้พอก่อน ผมเองบังเอิญมีบุญเก่าที่เป็นเด็กวัด
คุณสัญญา: คือ
นพ.สันต์: ก็อยู่กับพระ พระสอนญาติโยมเรื่อง ญาติโยมมีความทุกข์มา หลวงพ่อก็สอนว่าปล่อยวางเสียบ้างลูกเอ๋ย หัดสติ อะไรเงี้ย เราก็
คุณสัญญา: ซึมซับมา
นพ.สันต์: เราถูพื้นล้างกระโถนอยู่เราได้ยินเราก็เก็ท พอมาเจอปัญหาจริง เราก็เอาสิ่งเหล่านั้นมาใช้  คือการฝึกสติในชีวิตประจำวัน พูดง่ายๆ ซึ่งผมเห็นว่ามีประโยชน์มาก เมื่อเอามาประกอบกับการมีเวลานอนพอ การจัดการความเครียดมันก็ได้ผล
คุณสัญญา: เดี๋ยวนี้อาจารย์นอนกี่โมง
นพ.สันต์: เดี๋ยวนี้นอนสามทุ่มครึ่ง
คุณสัญญา: ตื่น
นพ.สันต์: ตื่นตีห้า ตื่นมาออกกำลังกาย
คุณสัญญา: ตื่นมาแล้วออกกำลังกายก่อน
นพ.สันต์: ตื่นมาแล้วออกกำลังกาย คือ พอทำอย่างนี้แล้ว ตัวชี้วัดต่างๆ
คุณสัญญา: อ๊ะ..โอเค. ที่จะถามเนี่ย ท่านผู้ชมครับ เมื่อเราปฏิวัติพฤติกรรมไปแล้ว เราเปลี่ยนชีวิตไปเลย เราจะได้อะไรกลับมา จากคนที่จะต้องกินยา แล้วต่อไปจะต้องไปบอลลูน แล้วก็บายพาส เคยทำคนอื่นมาแล้วด้วย ยังไงครับ
นพ.สันต์: ตัวที่หนึ่ง ก็ไขมันในเลือด ตอนแรกต้องใช้ยาใช่ไหมฮะ ก็กลับมาสู่ระดับปกติ
คุณสัญญา: ไม่ต้องกินยาด้วย
นพ.สันต์: ไม่ต้องกินแล้ว ความดันเลือดที่ขึ้นไประดับใกล้เป็นความดันเลือดสูง pre hypertension ก็กลับมาสู่ระดับ
คุณสัญญา: ปกติ
นพ.สันต์: ปกติ น้ำหนักซึ่งสูงเนี่ย ดัชนีมวลกายที่สูงผิดปกติก็กลับมาสู่ระดับปกติ ก็ต้องเปลี่ยนกางเกงตาม เปลี่ยนกางเกงตามแทบไม่ทัน แล้ว อานิสงจากการเล่นกล้าม มันก็ทำให้มีหน้าอกมีอะไรขึ้นมาหน่อย สมัยก่อนยังกับไอ้เท่งหนังตะลุงใช่ไหมฮะ มีแต่พุง
คุณสัญญา: พุงนำนม                                                                                                                                  
นพ.สันต์: อ้า ฮะ..ฮะ เดี๋ยวนี้มันก็ค่อนข้างจะมีรูปมีร่างขึ้นมาหน่อย ก็ดี เป็นข้อดีของมัน
คุณสัญญา: แปลว่าผ่านมาแปดปี อาจารย์ไม่อยู่ในหมวดของคนไข้โรคหัวใจแล้ว
นพ.สันต์: อ๋อ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแล้ว
คุณสัญญา: โอ้โฮ
นพ.สันต์: แต่ว่าไม่ได้ไปตรวจแคลเซียมนะ  คือ
คุณสัญญา: แต่ตรวจอย่างอื่นไม่เจออะไร ไม่มีปัจจัยเสี่ยงเลย
นพ.สันต์: ตัวชี้วัดดีหมด แล้วชีวิตทุกวันนี้ออกกำลังกายเต็มสตีม แล้วชีวิตมันไปได้ดีเราก็ไม่อยากจะไปตรวจ ฮะ..ฮะ..ฮะ
คุณสัญญา: มีแอบไว้ให้สบายใจนิดหนึ่ง แต่อย่างน้อยเท่าที่ตรวจมาก็ไม่เจออะไร
นพ.สันต์: แต่ แต่มีคนไข้ของผมนะ ซึ่งเขาตรวจแคลเซียมที่หลอดเลือดห่างกันห้าปี เขาทำตัวแบบเนี้ยนะ ไอ้แคลเซียมที่เคยเป็นครั้งแรกนะหายไปเลยนะ
คุณสัญญา: ออ
นพ.สันต์: เพราะฉะนั้นโรคนี้เนี่ยหายได้ แล้วเมื่อเราพูดถึงโรคหลอดเลือด มันไม่ได้หมายความแค่หัวใจนะ มันหมายความรวมไปถึงที่สมองด้วย อัมพาต อัมพฤกษ์
คุณสัญญา: เออ. คือพวกที่ตู้ม.ม..ม แล้วไปเลย
นพ.สันต์: เออ มันหมายถึงที่ไตด้วย โรคไตเรื้อรัง คือโรคหลอดเลือดเนี่ยมันกินความไปถึงโรคเรื้อรังเกือบทั้งหมด
คุณสัญญา: เบาหวานอะไรนี้ก็เกี่ยวด้วยใช่ไหมฮะ
นพ.สันต์: เบาหวานก็เกี่ยว เบาหวานยิ่งเป็นโรคที่รักษาได้ด้วยการปฏิวัติพฤติกรรมนี่แหละ
คุณสัญญา: มีตัวอย่างไหมครับ
นพ.สันต์: ผมมีคนไข้คนหนึ่ง เป็นวิศวกรใหญ่นะครับ อายุอานามก็ใกล้ๆกับคุณดู๋นี่แหละ ประมาณนี้แหละ ถึงจุดหนึ่งก็ไม่ค่อยสบายเนื้อสบายตัวก็มาตรวจสุขภาพประจำปี สมัยก่อนเนี่ยไม่เคยตรวจ ได้แต่ให้ลูกน้องตรวจ เพราะโรงงานกฎหมายเขาบังคับต้องเอาหมอไปตรวจ แต่นายใหญ่ไม่ตรวจหรอก เพราะถือว่าตัวเองสุขสบายดีแล้ว มาตรวจ พลั้วะ ครั้งแรก น้ำตาลออกมาสามร้อยเก้าสิบกว่า
คุณสัญญา: ปกติต้องเท่าไหร่
นพ.สันต์: ปกติมันไม่เกินหนึ่งร้อย ผมก็บอกว่าต้องพบหมอเบาหวานแล้ว ไม่มีทางแล้ว เพราะมันไปไกลเกินไปแล้ว
คุณสัญญา: อ้อ
นพ.สันต์: แต่เขาก็บอกว่าขอเวลาผมสักหน่อยก่อน คือคนมีความรู้เนี่ย
คุณสัญญา: ทำใจไม่ได้
นพ.สันต์: คนมีความรู้เนี่ย มักจะเข้าใจว่าการกินยาเนี่ยมันเหมือนกับจะกู่ไม่กลับแล้ว ถ้าไม่กินยาไว้ก่อนจะดี ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดนะ ความจริง แต่ผมก็บอกว่าโอเค. ถ้าคุณจะไม่กินยาคุณต้องปฏิวัติพฤติกรรมตัวเองใหม่นะ หนึ่ง สอง สามเนี่ย
คุณสัญญา: สามเรื่องแบบที่คุณหมอทำเนี่ย
นพ.สันต์: สามเรื่อง เขาก็บอกเอา.า..า  ขอให้
คุณสัญญา: ไม่กินยา
นพ.สันต์: ใช่ เขาอยู่ระยอง ตื่นเช้าก็ออกไปวิ่งที่ชายหาดทุกวัน อาหารก็ให้หน้าห้องเปลี่ยนหมด มื้อเช้าก็เปลี่ยน มื้อกลางวันก็เปลี่ยน เดือนครึ่งแค่นั้นแหละ ผมนัดเขาสามเดือนนะ แต่เขาใจร้อน
คุณสัญญา: เดือนครึ่งมาขอตรวจเลย
นพ.สันต์: ขอเจาะเลือด ก็น้ำตาลจากสามร้อยกว่าเหลือร้อยสามสิบ
คุณสัญญา: โอ้โฮ
นพ.สันต์: ใกล้ๆจะปกติแล้ว รูปร่างเนี่ยดีขึ้นชัดเจน คือเขาเนี่ยเป็นคนที่ดื่มกาแฟวันละ 6 แก้ว แล้วก็ต้องใส่ครีมเทียม นะครับ
คุณสัญญา: ทีมงาน ทีมงาน (ชี้ไปที่ทีมงานของตัวเอง) ดูไว้ มีแบบนี้เยอะเลยฮะในนี้
นพ.สันต์: ผมก็สอนว่าครีมเทียมเนี่ยมันเป็นไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นไขมันชั่วร้ายอย่างที่เราว่าเมื่อกี้หงะ แล้วน้ำตาลนี่ก็ให้แต่แคลอรี่โดยที่
คุณสัญญา: ไม่ให้คุณค่า
นพ.สันต์: ไม่ให้คุณค่าอย่างอื่นเลย ผมก็แนะนำว่าถ้าจะดื่มกาแฟ ถ้าติดรสมัน ให้ใช้นมไร้ไขมันแทน และถ้าติดรสหวานก็เอาสารทดแทนความหวานใส่แทน แต่เขาเป็นนายช่างใหญ่นี่ เขาตัดหมดเลย เหลือแต่กาแฟ
คุณสัญญา: กาแฟกับน้ำเลย
นพ.สันต์: เออ  แล้วผมก็ถามว่าแล้วเปลี่ยนตัวเองได้หรือ เพราะตอนแรกๆก็ติดรสหวานรสมัน เขาบอกว่าตอนแรกๆก็รู้สึกแย่ แต่พอไปได้สองสามวันเท่านั้นแหละคุณดู๋
คุณสัญญา: ฮะ
นพ.สันต์: ไอ้กาแฟใหม่ๆที่ขมปี๋เนี่ย กลายเป็นของอร่อยไปเลย นี่เขาพูดเองนะ
คุณสัญญา: มนุษย์มันเปลี่ยนได้ ใช่ไหมฮะ
นพ.สันต์: อ้า.า..า คือรสชาตินี่มันเป็นของที่มาเรียนรู้เอาตอนเป็นผู้ใหญ่แล้ว มันไม่ได้ติดมาตั้งแต่
คุณสัญญา: มันไม่ได้เกิดมาแล้วก็ชอบรสนี้ ใช่ไหมฮะ
นพ.สันต์: ใช่
คุณสัญญา: ผลของคุณนายช่างคนนั้นเนี่ย เดือนครึ่งกลับมาเกือบปกติ แปลว่าป่านนี้ปกติแล้วสิฮะ
นพ.สันต์: ป่านนี้ปกติแล้ว แล้วก็กลายเป็นคนที่อบรมสั่งสอนลูกน้องในเรื่องสุขภาพ ถามลูกน้องว่า เฮ้ยเอ็งนี่ออกกำลังกายบ้างหรือเปล่า กลายเป็นยังงั้นไป
คุณสัญญา: ฮะ นี่คือเรื่องราวที่เป็นเรื่องจริงของคุณหมอเองและของคนไข้อีกหลายคน
นพ.สันต์: ฮะ
คุณสัญญา: เอามาฝากท่านผู้ชมว่าเพียงแค่นี้ เพียงแค่สามเรื่องนี้ท่านเปลี่ยนชีวิตของท่านเองได้ ไม่ต้องโดนขึ้นเขียง โดนแหวะอก เอาหัวใจออกมาแก้ไขกัน อย่างนั้น
นพ.สันต์: คือคำว่าเพียงแค่นี้เนี่ย หัวใจมันอยู่ที่เวลา ตัดเวลาออกมาให้ได้ก่อน
คุณสัญญา: วันละชั่วโมง
นพ.สันต์: วันละชั่วโมง
คุณสัญญา: จากเวลา 24 ชั่วโมง ขอชั่วโมงเดียว
นพ.สันต์: ใช่ ถ้าตัดเวลาออกมาได้ อะไรอะไรมันจะเป็นไปได้
คุณสัญญา: อ้า นี่คือเรื่องสุขภาพนะ ผมจะกลับไปเรื่องความคิดต่อชีวิต ผมได้ยินมาว่าคุณหมอสันต์เนี่ย ไม่ได้อยากเป็นคุณหมอ
นพ.สันต์: ไม่ใช่อาชีพในฝัน ผมมีอาชีพในฝันอยู่สามอย่าง 
อันที่หนี่งก็ อยากจะเป็นจิตรกรวาดภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ 
อันที่สองก็อยากจะเป็นเกษตรกรคนทำไร่ทำสวน เกษตรกรรม 
อันที่สามก็อยากเป็นทหาร สามอันนี้เป็นอาชีพในฝัน
คุณสัญญา: อือ.อ..ม ไม่ใช่หมอสักอัน
นพ.สันต์: ถ้าได้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอันนี้รุ่งแน่
คุณสัญญา: เพราะชอบ
นพ.สันต์: เพราะชอบ
คุณสัญญา: ชอบมาจากอะไร เอ้า เอาแบบสั้นๆ จิตรกรนี่มาจากอะไรฮะ
นพ.สันต์: จิตรกรก็ ที่หน้าวัดที่ผมอยู่เนี่ย มีจิตรกรท้องถิ่นเปิดสตูดิโอ โอ้โฮ เกิดมาไม่เคยเห็น สมัยโน้นจะไปหาสตูดิโอที่ไหน แล้วไม่ใช่จบอะไรมานะ ไม่เลย เป็นช่างชาวบ้านเนี่ยแหละ เปิดสตูดิโอ
คุณสัญญา: เขาวาดอะไร
นพ.สันต์: วาดป้ายติดรถสิบล้อ
คุณสัญญา: เดี๋ยวนี้อาจจะไม่ค่อยเห็นละ
นพ.สันต์: ใช่ หลายคนเกิดไม่ทัน คุณดู๋เกิดทันหรือเปล่า
คุณสัญญา: ทันฮะ ทัน
นพ.สันต์: ที่มีวิว มีกระท่อม
คุณสัญญา: เป็นวิว มีกระท่อม มีต้นไม้ เป็นแผ่นไม้ติดรถสิบล้อ
นพ.สันต์: ฮะ
คุณสัญญา: แล้วคุณหมอฝีมือใช้ได้ไหมฮะ
นพ.สันต์: ผม สมัยโน้น ผมก็วาดภาพสีน้ำมันบนผ้าใบนะ (กางมือบอกขนาด)
คุณสัญญา: ฮะ
นพ.สันต์: แล้วผมใช้สองมือนะคุณดู๋
คุณสัญญา: ทำไมฮะ
นพ.สันต์: เพราะว่าผมเนี่ยเกิดมาถนัดซ้าย แต่ครูบังคับให้เขียนหนังสือมือขวา
คุณสัญญา: อ้า ผมก็โดน
นพ.สันต์: ฮ้า โดนเหมือนกันเหรอ
คุณสัญญา: รุ่นเก่าก็มักจะโดนบังคับแบบนี้ คุณหมอก็เลยเขียนได้สองมือ
นพ.สันต์: คือผมเขียนมือขวา แต่เวลาวาดภาพต้องวาดมือซ้าย คือถ้าต้องการความเที่ยง
คุณสัญญา: ต้องมือซ้าย เวลาถือมีดผ่าตัดถือมือไหนฮะ
นพ.สันต์: มือซ้ายดิ เพราะกำเนิดของเรา คุณดู๋เข้าใจนี่  
คุณสัญญา: ฮ่า ใช่ ใช่
นพ.สันต์: ผ่าตัดมือซ้าย ตีเทนนิสมือซ้าย ถือพู่กันมือซ้าย แต่เขียนหนังสือมือขวา
คุณสัญญา: อันนี้คือจิตรกร เกษตรกรมาจากไหนฮะ
นพ.สันต์: เกษตรกรมันฝังอยู่ในสายเลือดแล้ว พ่อแม่ปู่ย่าตายายทำนา แล้วผมทำเกษตรสมัยใหม่ตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียนแล้ว เลี้ยงไก่ ผมซื้อไก่ ไก่ไฮบริดจ์ จากยุทธนา สมัยก่อนซี.พี.เขาชื่อยุทธนา
คุณสัญญา: กี่ปีก่อน
นพ.สันต์: สี่สิบปีแล้วมั้ง
คุณสัญญา: อ๋อเคยทำฟาร์มตัวเองแล้วด้วย
นพ.สันต์: ใช่ผมซื้อไก่ใส่กล่องมา เปิดออกมาไก่ขาวไปทั้งเล้า ชาวบ้านมาดูกันทั้งหมู่บ้านเลย ไก่อะไรวะขาวเหมือนกันหมด
คุณสัญญา: เท่มากสมัยนั้น เพราะไก่ชาวบ้านมันจะลายอุตลุต
นพ.สันต์: เท่มาก แล้วสมัยนั้นไม่มีความรู้ว่าไก่พันธ์ผสมเนี่ย มันต้องเลี้ยงถึงแค่อายุประมาณแปดเดือน เอ๊ย ไม่ใช่ แปดอาทิตย์แล้วก็ขาย ไอ้เราไม่รู้เราก็เลี้ยงจนโตเป็นผู้ใหญ่เอามาผสมกัน ปรากฏว่ามันทยอยตาย เราก็ผ่ามันดู ผ่าศพไก่
คุณสัญญา: มีแววเป็นหมอ
นพ.สันต์: ฮะ ฮะ ชาวบ้านมาดูกันใหญ่ ผ่าศพไก่ สมัยโน้นไม่มีใครเขามาพิสูจน์กันหรอกว่าไก่ตายเพราะอะไร เขาไม่สนใจกันหรอก
คุณสัญญา: อ๋อ แล้วทหารละครับ
นพ.สันต์: ทหารนี่มันเป็นเพราะครู ครูสอนลูกเสือ ปิ๊ด..ปี้..ปิ๊ด เนี่ย แหม มันชอบ
คุณสัญญา: มันดูมีระเบียบวินัย
นพ.สันต์: ฮื่อ แล้วครูเขาให้เราเป็นหัวหน้าใช่ไหม ซ้าย... หั้น
คุณสัญญา: อ๋อ ได้สั่งคนอื่นด้วย
นพ.สันต์: เออ.. มัน มัน ฮะ..ฮะ แล้วก็นัดแนะเพื่อนไว้นะ คนหนึ่งจะไปสอบเตรียมทหาร โอเค.นัดไว้ อีกคนชวนไปแม่โจ้ โอเค.นัดไว้ อีกคนจะไปเพาะช่างก็นัดไว้
คุณสัญญา: แล้วเดี๋ยวมาเจอกัน เจอกันเพื่อ
นพ.สันต์: ไอ้คนไปแม่โจ้มาก่อน มาหาที่บ้าน แล้วก็ไปเชียงใหม่กัน ก็เลยได้ไปเรียนที่แม่โจ้
คุณสัญญา: ตกลงคุณหมอได้เรียนเกษตรด้วย
นพ.สันต์: ใช่ เกษตรแม่โจ้
คุณสัญญา: จบไหมฮะ
นพ.สันต์: จบซิครับ ผมเนี่ยมีคุณวุฒินะ ปวช. เกษตร อ้า
คุณสัญญา: แล้วมันมาเป็นหมอได้ตอนไหนอะครับ
นพ.สันต์: คือตอนมาเรียนต่อมหาวิทยาลัยเกษตรได้ปีหนึ่ง น้องสาวที่อยู่โรงเรียนเตรียมอุดมเขาไม่สบาย ไอ้เราเห็นหมอรักษาน้องสาวแล้วก็รู้สึกว่าหมอเกาไม่ถูกที่คัน ก็เลยลาออก ผมเนี่ยลาออกจากมหาลัยนะ เขาเรียกดร๊อพ
คุณสัญญา: ดร๊อพ
นพ.สันต์: ฮะ แล้วก็เอาน้องสาวไปรักษาที่บ้าน ความที่รักน้องไง รู้สึกว่าถ้าให้หมอรักษาน้องเราสงสัยจะเดี้ยง ฮะ..ฮะ เพราะวิธีของหมอจะใช้ยาเป็นหลัก
คุณสัญญา: แต่เรารักษาด้วยอะไร
นพ.สันต์: เราก็รักษาด้วยการ คือดูว่าเขาขาดเหลืออะไร เราก็ช่วยเหลือเขา
คุณสัญญา: อ๋อ ปลอบโยน พูดคุย ดูแล           
นพ.สันต์: ทำนองนั้น พอน้องหายกลับมาเรียนได้ ผมก็ต้องกลับมาเรียน ตอนนี้มันเกิดความรู้สึกอยากเป็นหมอขึ้นมาแว้บ.บ..บ..บ หนึ่ง ไม่รู้มันมาจากไหน ก็เลยไปสอบเข้าแพทย์
คุณสัญญา: กลับไปเอ็นทร้านซ์ใหม่อีก
นพ.สันต์:  ใช่
คุณสัญญา: อือม.. นี่คือที่มาของการเป็นหมอ
นพ.สันต์: ก็เลยกลายเป็นหมอ
คุณสัญญา: แปลว่าจากอายุยี่สิบถึงหกสิบนี้ไม่ได้ตามความฝันของตัวเองเลย
นพ.สันต์: ไม่ได้ตามเลย
คุณสัญญา: ใช้ชีวิตเป็นหมอผู้เชี่ยวชาญ
นพ.สันต์: จะเลิกอาชีพหมอตั้งหลายครั้งนะ
คุณสัญญา: ครับ
นพ.สันต์: แต่ว่ามันเลิกไม่ลง เพราะว่าการเรียนผ่าตัดหัวใจนี่มันเรียนมาก โดนโขกโดนสับมาแยะ กว่าผมจะจบมาผ่าหัวใจคนได้ผมอายุสี่สิบแล้ว คุณดู๋คิดดู ผมเข้าโรงเรียน..
คุณสัญญา: หึ หึ ลองคิดภาพเราเข้าเรียนตั้งแต่ประถม มัธยม จนอายุสี่สิบก็ยังเรียนอยู่เลยหงะ
นพ.สันต์: แล้วพอได้ทำงานไปแค่สิบกว่าปีจะเลิกเนี่ยมันเลิกไม่ลง เพราะมันเรียนมาแยะ
คุณสัญญา: ลงทุนไปเยอะ
นพ.สันต์: ก็เลยปักหมุด ตอนแรกก็ปักหมุดที่อายุห้าสิบ ก็เลื่อนหมุดมาเรื่อย มาถึงหกสิบเนี่ย มันคล้ายๆเป็นมาตรฐานสากลใช่ไหมละ
คุณสัญญา: เกษียณ
นพ.สันต์: ฮะ หกสิบนี้คราวนี้หมุดนี้ก็ปึ๊กละ ไม่เลื่อนอีกละ หกสิบนี้ต้องเกษียณแน่
คุณสัญญา: กลายเป็นว่าสิ่งที่เป็นความฝันของคุณหมอเนี่ยนะฮะ เป็นเรื่องดีสำหรับผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณ หลายคนมีความทุกข์ว่าเกษียณแล้วต่อไปจะทำอะไร จะไม่มีอะไรทำ จิตใจจะแย่ลง ร่างกายแย่ลง แต่คุณหมอบอกว่าไม่ใช่
นพ.สันต์: การเกษียณเนี่ยไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย มองย้อนไปในอดีตว่าสมัยเด็กๆเราใฝ่ฝันอยากจะทำอะไรเหลือเกิน แล้วก็กลับไปทำมัน แค่นั้นแหละ
คุณสัญญา: คุณหมอจะไปทำอะไรครับ ทหารคงไม่ใช่แล้วละ
นพ.สันต์: ฮ่า..ฮ่า..ฮ่า ผมไปเดินเล่นที่ค่ายทหารหน้าโรงพยาบาล ทหารเล็กทหารน้อยเห็นผมตะเบ๊ะกันใหญ่นึกว่าผมเป็นนายพล ฮะ..ฮะ แสดงว่าหุ่นให้นะ
คุณสัญญา: ภูมิฐาน  ภูมิฐาน                             
นพ.สันต์: สิ่งที่ผมจะไปทำเหรอ อันที่หนึ่งก็ผมต้องไปปลูกผัก ทำไร่ อันนี้แน่นอน ทำวิจัยเกี่ยวกับพืชผัก ในแนวที่เรียกว่าเกษตรอินทรีย์หงะ         
คุณสัญญา: ฮะ ฮะ
นพ.สันต์: ความจริงผมทำมาแล้วบ้างละ ภรรยาก็บ่น บ๊น บ่น บ่น เพราะมีแต่เสียเงิน แต่คราวนี้ภรรยาจะไม่บ่นเพราะผมไปทำเอง ไม่ต้องใช้เงิน
คุณสัญญา: ฮะ
นพ.สันต์: อันที่สองผมก็จะเขียนรูป
คุณสัญญา: เอ้อ
นพ.สันต์: อ้า เขียนรูปสีน้ำมันบนผ้าใบ Oil On Canvas เขียนสองมือ (ทำท่า)
คุณสัญญา: อ้อ ถนัดทั้งซ้ายทั้งขวา
นพ.สันต์: นี่คือความฝัน พูดถึงเกษียณนะคุณดู๋
คุณสัญญา: ฮะ
นพ.สันต์: ตัวเลขเร็วๆนี้ผมจำไม่ได้แล้วว่ามาจากไหน ว่าอายุคาดเฉลี่ยของคนไทยที่มีอายุ 50 ปี ณ ปัจจุบัน นับเฉพาะคนที่มาถึงอายุห้าสิบปีแล้วนะ คุณดู๋ถึงหรือยัง ขอโทษ
คุณสัญญา: ยังครับ
นพ.สันต์: โอเค. ณ จุดที่อายุห้าสิบ ผู้หญิงจะอยู่ไปจนถึง 84 ปี
คุณสัญญา: หลังอายุห้าสิบ ผู้หญิงคาดเฉลี่ยว่าจะอยู่ไปจนถึงอายุ 84 ปีจึงจะเสียชีวิต
นพ.สันต์: ครับ ผู้ชายจะอยู่ไปจนถึงอายุ 80 ปี ดังนั้นหลังเกษียณแล้วมีเวลาเหลือ 20-25 ปี โดยประมาณ     
คุณสัญญา: เออ ถ้าเอาตามค่าเฉลี่ย
นพ.สันต์: ยาวมากนะ
คุณสัญญา: ทำอะไรได้เยอะเหมือนกันนะ
นพ.สันต์: ใช่ ถ้าช่วงนี้เป็นเวลาที่ไม่มีคุณภาพ เป็นโรคเรื้อรัง สะง็อกสะแง็ก
คุณสัญญา: อ๋อ
นพ.สันต์: ตั้งยี่สิบกว่าปีคิดดูสิ มันจะ
คุณสัญญา: จะใช้เวลายี่สิบกว่าปีอยู่บนเตียงต่อสายไว้ หรือจะอยู่แบบได้ขุดดินได้วาดรูป
นพ.สันต์: ไม่ได้อยู่บนเตียงนะ แต่เดี้ยงโดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว คนไข้ผมมีอยู่คนหนึ่งเลี้ยงหลานใช่ไหม
คุณสัญญา: ฮะ
นพ.สันต์: อยู่ไปอยู่มาวันหนึ่งพบว่าแขนข้างที่ไม่ได้อุ้มหลานนั้นใช้ไม่ได้เสียแล้วเพราะยกไม่ขึ้น คนไข้ผมอีกคนหนึ่ง ตอนแรกก็ขับรถได้นะ ต่อมาขับไม่ได้ ถามว่าทำไม ตอบว่าจ่ายค่าทางด่วนไม่ได้เพราะ
คุณสัญญา: อ๋อ มือมันยกไม่ขึ้น
นพ.สันต์: ยกไม่ขึ้น ความที่ไม่ได้ออกกำลังกาย ไม่ได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว อันนี้เป็นชีวิตที่ไม่มีคุณภาพ นี้ขนาดยังไม่ได้เป็นโรคนะ ถ้าเป็นโรคเรื้อรังแล้วก็ไม่ต้องพูดถึง
คุณสัญญา: หนักกว่านี้อีก
นพ.สันต์: หนักกว่านี้ แล้วตั้งยี่สิบปี ยี่สิบกว่าปี ใช่ไหมฮะ เพราะฉะนั้น
คุณสัญญา: จะใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไรก็ต้องคิดเตรียมการตั้งแต่บัดนี้
นพ.สันต์: ช่าย..ย
คุณสัญญา: สุดท้ายคุณหมอจะฝากอะไรให้กับท่านผู้ชมครับ ในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว และได้ลองปฏิบัติกับตัวเอง
นพ.สันต์: คือคนไทยเราทุกวันนี้ ที่เราเห็นเดินถนนเนี่ย เป็นคนละพันธ์กับคนไทยสมัยก่อนนะ คนละพันธ์กับรุ่นพ่อรุ่นแม่เรา
คุณสัญญา: ทำไมฮะ ก็พันธ์เดียวกันนี่แหละ          
นพ.สันต์: แต่ว่าถ้าเราดูองค์ประกอบของสารเคมีในเลือด เป็นคนละชุด
คุณสัญญา: เหรอฮะ
นพ.สันต์: อย่างโคเลสเตอรอลเนี่ย สมัยผมเป็นนักเรียนแพทย์ โรคโคเลสเตอรอลสูงไม่มี มีอยู่คนหนึ่งเป็นโรคหัวใจขาดเลือด คนเดียวนะ ต้องเรียกมาดูทั้งโรงเรียน มาดู มาดู
คุณสัญญา: เพิ่งเจอหนึ่งคน
นพ.สันต์: โคเลสเตอรอลสูง ต่อไปจนจบอาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว มาดูไว้ซะ
คุณสัญญา: อันนั้นคือสมัยก่อน
นพ.สันต์: พันธ์ไทยสมัยก่อนไม่รู้จักคนโคเลสเตอรอลสูง
คุณสัญญา: แล้วสมัยนี้ละครับ
นพ.สันต์: สมัยนี้ถ้าเราไปหยิบคนผู้ใหญ่ที่เดินตามถนนเนี่ยมา 100 คน เกิน 50 คน จะเป็นโคเลสเตอรอลสูงถึงระดับที่ต้องใช้ยา
คุณสัญญา: เอาง่ายๆน้องๆที่อยู่ในนี้ ครึ่งหนึ่งมีโอกาสจะไปสู่การใช้ยา
นพ.สันต์: ใช่ครับ คือผมทำวิจัยที่โรงพยาบาล
คุณสัญญา: อ๋อผมรู้ละ อย่าไปชี้น้องๆในนี้ ทีมงานเจาะใจครับที่มีโอกาสสูงมาก
นพ.สันต์: คนดีๆนี่นะครับท่านผู้ชม มาตรวจสุขภาพประจำปี คนที่อายุเกินสี่สิบแล้วเนี่ย สามพันกว่าคน เราเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ดูเนี่ย เกินครึ่งไขมันในเลือดสูงถึงระดับต้องใช้ยา
คุณสัญญา: โอ้โฮ จากสมัยก่อนนานๆเจอคน
นพ.สันต์: ฮะ เกินครึ่ง อีกหนึ่งในสามเป็นความดันเลือดสูงถึงระดับต้องรักษา อีกหนึ่งในสามใกล้จะเป็นเบาหวาน แล้วดัชนีมวลกายเฉลี่ยสูงเกินค่าปกติ ปัจจัยเสี่ยงดาหน้ามาแบบนี้ อนาคต...ชัวร์
คุณสัญญา: ขึ้นเขียง
นพ.สันต์: ฮึ..ฮึ คือชีวิตต้องสะง็อกสะแง็กเป็นโรคเรื้อรัง แล้วชีวิตเกษียณตั้งยี่สิบกว่าปี
คุณสัญญา: ต้องเข้าออกโรงพยาบาล
นพ.สันต์: มันมีทางออกนะครับท่านผู้ชมครับ ถ้าเราจะเตรียมตัวนะครับ ก็การปฏิวัติพฤติกรรมเพื่อต้านโรคเรื้อรังเนี่ยแหละครับ หนึ่ง การออกกำลังกายให้ได้ระดับมาตรฐาน สองปรับโภชนาการให้แคลอรี่ต่ำ ผักผลไม้เยอะๆ สาม พักผ่อนให้พอและจัดการความเครียดให้ดี อันนี้พิสูจน์ได้จากงานวิจัยทางการแพทย์ คือเป็นสัจจะธรรมไปแล้ว ว่าสามารถทำให้โรคเรื้อรังเนี่ยถอยกลับได้
คุณสัญญา: ผมจะแถมให้อีกอันหนึ่งครับ ว่าถ้าคุณทำวันนี้ ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ คุณจะดูดี เหมือนที่คนอายุหกสิบแล้วดูดีอย่างงี้ (ผายมือไปที่นพ.สันต์) ก็ไม่ค่อยเห็นบ่อยๆนะครับ
นพ.สันต์: ขอบคุณมาก ฮะ..ฮะ...ฮ่า
คุณสัญญา: ขอบคุณคุณหมอครับ ท่านผู้ชมครับ วันนี้ผมเอาเรื่องดีๆมาฝาก ทั้งวิธีคิดที่เราได้จากคุณหมอ ทั้งวิธีการดูแลร่างกายตัวเราเอง เหมือนที่บอกแล้วอะครับ ถ้าเราจะไปรอให้หมอทำให้ร่างกายเราดี ก็ผมป่วยแล้วคุณหมอมีหน้าที่ทำให้ผมดีอะ แล้วเราไม่ทำอะไรอย่างงั้นหรือ หรือเราจะทำอะไรเองจะได้ไม่ต้องเจอหมอ
นพ.สันต์: ผมแทรกตรงนี้นิดหนึ่งได้ไหมฮะ
คุณสัญญา: ครับ
นพ.สันต์: ไอ้ที่ว่าไม่สบายแล้วไปโรงหมอ หมอว่าอะไรก็จะทำตามเนี่ย มีงานวิจัยนะครับ ทำในยุโรป ใช้คน 17,000 คน ตามดู 12 ปี
คุณสัญญา: 17,000 คน ตามดู 12 ปี
นพ.สันต์: ครับ เป็นคนไข้ดีๆทั้งนั้นเลย ว่านอนสอนง่าย
คุณสัญญา: หมอสั่งกินยาผมก็กินยา แต่ใช้ชีวิตเหมือนเดิม
นพ.สันต์: อ้า แล้วตามไปสิบสองปี ปรากฏว่ามีแต่แย่กับแย่นะครับ ทุกสี่ปีเขาเช็คทีหนึ่ง ดัชนีสุขภาพต่างๆแย่ลงหมด เพราะฉะนั้นเส้นทางนั้นไม่ใช่
คุณสัญญา: โอ้
นพ.สันต์: ต้องปฏิวัติพฤติกรรมสุขภาพ ถึงจะเอาตัวรอดได้
คุณสัญญา: ขอบคุณมากครับ ตอนนี้เป็นประโยชน์กับทุกคน รวมทั้งผมด้วย เราต้องปฏิวัติ เราจะอยู่เฉยๆไม่ได้ และเส้นทางกินยาไปเรื่อยๆก็ไม่มีดีขึ้น มีแต่ลงกับลงอย่างเดียว ขอบพระคุณคุณหมอสันต์มากครับ
นพ.สันต์: ครับ สวัสดีครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์


..........................................................
28 กค. 55 (จากผู้อ่าน)


เป็นสัจธรรมจริงๆค่ะ อาหาร ออกกำลังกาย การพักผ่อนไม่เครียด ช่วยได้จริงๆคะ 
ดิฉันชื่นชมคุณหมอมากคะ ภาพวาดสวยจัง
ไม่ทราบว่าคุณหมอได้เคยพบ Dr. Dean Ornish ด้วยไหมคะ อีกคนที่ดิฉันชื่นชอบมากเลย 
ดิฉันกำลังรอย้ายหนีน้ำท่วมไปเกษียณที่หมู่บ้านสุขภาพของคุณหมอนะคะ
[อ่านต่อ...]