29 มิถุนายน 2564

ท่าทางคุณจะมาตายด้วยโรคปสด. มากกว่าโรคหัวใจ ARVD นะ

เรียนคุณหมอสันต์

ผมอายุ 39ปี เพศชาย น้ำหนัก 72 ส่วนสูง 175 ความดัน 115/75 อัตราการเต้นหัวใจ 79 คลอเรสเตอรอล 177 (หลังจากกิน LIVALO 2mg 3 เดือน) ซึ่งปกติแล้ว คลอเรสเตอรอลผมจะอยู่ที่ 280 น้ำตาล 92 ไตรกลีเซอไรด์ 51 HDL 75 LDL 92
ขอเริ่มเรื่องเลยนะครับ ปกติผมค่อนข้างเป็นคนสุขภาพดี ลงงานวิ่งประจำ ออกกำลังสม่ำเสมอ มันใจในสุขภาพตลอดว่าแข็งแรง จะมีแต่คลอเรสเตอรอลตัวเดียวเท่านั้นที่ตรวจทุกปีก็จะเกินเป็นประจำ แต่ก็ไม่ยอมกินยามาตลอด เรื่องที่เกิดขึ้น เริ่มเมื่อเดือน กันยายน 2564 ผมเจ็บหน้าอกบ่อย เลยไปตรวจหัวใจแบบละเอียดที่ รพ.เอกชน ผล EKG ปกติ ผล EST ดีเยี่ยม ผล Echo ลิ้นหัวใจไม่รั่ว ไม่มีหัวใจตีบ แต่หมอบอกว่าโครงสร้างหัวใจห้องล่างขวาแปลกๆ เลยอยากให้ MRI ผล MRI สรุปว่า ผม เป็น ARVD หัวใจห้องล่างขวาบางผิดปกติ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่เจ็บหน้าอกเลย เนื่องจาก ARVD เป็นมาตั้งแต่เกิดแล้ว
พอทราบผลเรื่องโรคที่เป็น ผลก็ไป follow up ต่อที่ รพ รัฐบาลที่สามารถเบิกได้ โดยการ monitor หัวใจ 24 ชั่วโมง ผล ออกมา ปกติ หมอหัวใจ แนะนำ กิน bisloc 2.5mg อันนี้ผมเข้าใจว่าทำให้หัวใจทำงานไม่หนัก และ ให้กิน livalo 2mg เรื่องไขมัน คือ ตั้งแต่ผมทราบโรคที่เป็น ทำให้จิตใจผม เรียกว่า Down ลงแบบผิดปกติเลยครับ อาการที่เป็น นอนไม่หลับ เหงื่อแตก ตลอด ลุกมากลางดึก น้ำหนักลดลง จาก 75 เหลือ 68 กิโลกรัม มีเสียงหวีดในหู จนนอนแทบไม่ได้ ไปหาหมอหู ตรวจทุกอย่างก็ปกติ แอดมิดโรงพยาบาลไปรอบนึง เนื่องจากไข้ขึ้น ให้น้ำเกลือ พะอืดพะอม ท้องไส้ปั่นป่วน ร่างกายไม่มีแรง เวียนหัว ปวดเมื่อยตัว จนเมื่อเดือน ธันวาคม 2563 ผมตัดสินใจไปหาหมอสุขภาพจิต ได้รับยา zanor กับ ยานอนหลับ กินยาได้ 3 เดือนค่อยลดยาลง จนไม่ได้กินยาแล้ว น้ำหนักกลับมาขึ้น จาก 68 ไป 74 กิโลกรัม อีกครั้ง จนมาเมื่อเดือน มิย 2564 ผมรู้สึกมีความเครียด จากอาการปวดท้อง โรคกระเพาะ เนื่องจากผมตื่น 9 โมง กินข้าวเช้า 10 โมง เป็นแบบนี้ 2อาทิตย์ จนไปหาหมอทางเดินอาหาร ก็ได้ยาโรคกระเพาะมากินอีก จนถึงปัจจุบัน หมอแนะนำส่องกล้องทางเดินอาหาร แต่ผมคิดว่า ไม่ใช่ ละ ผมไม่ได้ส่องกล้องนะครับ เพราะผมคิดว่ามันจะทำให้ผมเจ็บตัวโดยใช่เหตุและผมคิดว่าเกิดจากความเครียด ผมจะเป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้ละ จนผมมาปรับพฤติกรรม คือ กลับมาตื่น 6.30 กินข้าว 7.30 เหมือนตอนสุขภาพดีๆ จนอาการปวดท้องดีขึ้น แต่ท้องไส้ยังปั่นป่วน ผมคิดว่าน่าจะมาจากโรคเครียด ผมค่อยข้างกังวลว่า กลัวจะเป็นโรคร้ายแรง

ผมติดตามคุณหมอตลอด คุณหมอแนะนำให้ วางความคิด แต่ผมก็ยังทำไม่ได้เลยครับ
เรื่องที่ผมจะปรึกษาคือ ผมเคยพยายามลดคลอเรสเตอรอลด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผัก ไม่กินของมัน ออกกำลังกาย ทดลองมา 3เดือน แต่ก็ลงไม่มาก ยัง200 กว่าๆ โดยหมอหัวใจอธิบายว่ามันเกิดจากที่ตับเราสร้าง เป็น กรรมพันธุ์ ทำตัวให้ดีแค่ไหนก็ลงยาก อันนี้จริงเท็จแค่ไหนครับ โรคที่ผมเป็นคือเรื่องเกี่ยวกับวิตกกังวล มีชื่อโรคไหมครับ เช่น เป็นซึมเศร้าไหมครับ ผมควรไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการบำบัดไหมครับ ช่วงฝึกทำสมาธิ เป็นแบบที่คุณหมอบอกเลยครับ คือ ผมดันไปจมอยู่กับความคิด ไม่ได้เกิดสมาธิเลย ต้องทำอย่างไรดีครับ หรือต้องพยายามไปเรื่อยๆ อาการตอนนี้ท้องไส้ปั่นป่วน ไม่มีเรื่ยวแรง พะอืดพะอม วันๆไม่อยากทำอะไรเลยครับ นอนซม อย่างเดียว
ทุกวันนี้ Work From Home ทำให้ไม่ได้เจอเพื่อนร่วมงาน รู้สึกไม่ค่อยได้คุยกับใครเลย ยกเว้นคุยกับลูกและภรรยา บางทีก็รู้สึกหงุดหงิดๆ เหมือนอารมณ์ไม่ดี
ตอนนี้น้ำหนักเริ่มลงอีกแล้วครับ แต่ลงมาแค่1กิโลกรัม ผมก็พยายามกิน เพราะน้ำหนักลง ผมก็ยิ่งกังวล ว่าเป็นโรคอะไรไหมนะ ชั่งน้ำหนักตลอดเลย
แล้วโรค ARVD นี่ให้ผมกิน bisloc 2.5mg ถูกต้องไหมครับ ตอนแรกกินเช้าเม็ดเดียว มาทีหลังกินเช้าเย็น แล้วเวียนหัว หมอเลยให้กลับมากินเช้าเม็ดเดียวเหมือนเดิม
สรุปยาที่ผมกินตอนนี้ จะมี bisloc, livalo, B12 (หมอหูจ่ายให้ครับ) และ tanakan ใบแปะก๊วย (หมอหูจ่ายยามาให้ครับ)

ขอขอบพระคุณ คุณหมอสันต์ ที่คอยให้ความรู้ทางเพจเรื่อยๆครับ และขอให้คุณหมอสุขภาพแข็งแรงนะครับ

(ส่งรายละเอียด EKG, Echo, MRI มาด้วย)

……………………………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่าที่ชอบคิดนั่นคิดนี่นี้เป็นโรคอะไรมีชื่อเรียกไหม ตอบว่ามี เขาเรียกว่าโรคปสด. ย่อมาจากประสาทแด๊กซ์ (หิ หิ ขอโทษ พูดเล่น) ชื่อจริงเขาเรียกว่าโรค anxiety disorder ซึ่งฟังตามเรื่องที่เล่าแล้วมันเป็นปัญหาหลักของคุณ ถ้าคุณจะตายก็น่าจะเพราะโรคปสด.นี่มากกว่า ไม่ใช่โรคห้วใจดอก

2. ถามว่าโรค ARVD มันแย่มากไหม ก่อนอื่นผมขอบอกก่อนว่าคุณเป็นโรค ARVD จริงหรือเปล่ายังไม่รู้นะ โรคนี้ชื่อเต็มมันคือ Arrhythmogenic Right Ventricular Dysplasia แปลว่าโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะจากกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างขวาพิการ มันเป็นโรคพันธุกรรมที่แต่เดิมต้องวินิจฉัยจากสี่มุมมอง คือ (1) เช็คพันธุกรรมพ่อแม่ปู่ย่าตายายว่ามีใครเป็นบ้าง (30-90% มีบรรพบุรุษเป็น) (2) เนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างขวาที่ตัดออกมาตรวจมีความพิการแบบมีไขมันและพังผืดแทรกเนื้อ (3) ภาพโครงสร้างการทำงานหัวใจห้องล่างขวา (จาก echo หรือ mri หรือ cag) เสียหายระดับรุนแรง (4) มีหลักฐานว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะที่สอดคล้องสัมพันธ์กับอาการที่เกิด ซึ่งมองจากเกณฑ์เก่าที่มีความแม่นยำ (specificity) สูงเป็นที่ยอมรับกัน จะเห็นว่ายังไงคุณก็ยังถือว่าเป็นโรคนี้ไม่ได้เพราะไม่มีอะไรเข้าเกณฑ์สักกะอย่าง แต่ต่อมามีการตั้งเกณฑ์ใหม่ให้มันหลวมขึ้นด้วยเหตุผลว่าเกณฑ์เก่ามันไม่ไว (ไม่sensitive) กรณีของคุณนี้หมอเขาวินิจฉัยโดยอาศัยเกณฑ์สมัยใหม่ว่ามีหนึ่งเกณฑ์ใหญ่ (พบคลื่น Epselon ในคลื่นไฟฟ้าห้วใจ) บวกอีกสองเกณฑ์ย่อย (คือภาพ mri และ echo มีความผิดปกติของโครงสร้างการทำงานระดับไม่มาก และมีภาพการแทรกของพังผืดและไขมันในผนังหัวใจล่างขวา)

ในแง่การวินิจฉัยหมอเขาได้ว่าไปตามเนื้อผ้าหรือตามบาลีอย่างถูกต้องดิบดีไม่มีที่ติแล้ว แต่ในแง่ของการตีความเอาไปใช้ประโยชน์มันมีความหมายแค่ว่าคุณมีโอกาสมากพอควรที่จะเป็นโรคนี้ แต่จะเป็นจริงหรือเปล่ายังไม่รู้ แปลไทยให้เป็นไทยว่าประโยชน์จากการวินิจฉัยครั้งนี้คือคุณควรปรับวิธีใช้ชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงการตายจากโรคนี้อันได้แก่การไม่เข้าแข่งขันกีฬาหรือออกกำลังกายแบบหนักๆเป็นต้น แต่ไม่ต้องเป็นบ้าไปกับคำวินิจฉัยที่อาจจะใช่หรือไม่ใช่นี้ อีกเหตุผลหนึ่งที่คุณไม่ควรบ้าไปกับคำวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้คือติ๊งต่างว่าคุณเป็นโรคนี้จริงๆ โอกาสตายกะทันหันก็ใช่ว่าจะมาก เพราะงานวิจัยดูสาเหตุการตายกะทันหันของคนหนุ่มสาวในอเมริกันจำนวน 286 คน พบว่าที่ตายเพราะเป็นโรค ARVD นี้มีเพียง 4% เท่านั้นเอง แล้วคุณควรจะบ้าเพราะกลัวโรคนี้หรือเปล่าละ

3.. ถามว่าหมอให้กินยา Bisloc เม็ดเดียวพอไหม ตอบว่าเหลือเฟือแล้วครับ เพราะโรคนี้วงการแพทย์ยังไม่รู้เลยว่าจะรักษามันอย่างไร ยาที่ให้ก็ให้ไปงั้นๆแหละ ผลวิจัยที่ว่ายานี้ลดอัตราตายของโรคนี้ได้หรือไม่ยังไม่มี

4. ถามว่าปรับอาหารลดไขมันแล้ว LDL ยังสูงต้องทำอย่างไร ตอบว่าต้องเลิกกินเนื้อสัตว์ทุกชนิดที่เป็นแหล่งของไขมันอิ่มตัวครับ แล้วรับประกัน LDL ลงแน่นอน

5. ถามว่าฝึกสมาธิวางความคิดแล้วยังมีความคิดแยะจะทำอย่างไร ผมอธิบายเทคนิคปฏิบัติเรื่องนี้ไปบ่อยมาก ให้คุณหาอ่านเอาจากคำตอบเก่าๆในบล็อกนี้ เช่นที่ https://drsant.com/2020/10/blog-post_11-2.html ถ้าทำไม่สำเร็จจริงๆก็ให้หาโอกาสมาฝึกใน Spiritual Retreat

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. McKenna WJ, Thiene G, Nava A, et al. Diagnosis of arrhythmogenic right ventricular dysplasia/cardiomyopathy. Task Force of the Working Group Myocardial and Pericardial Disease of the European Society of Cardiology and of the Scientific Council on Cardiomyopathies of the International Society and Federation of Cardiology. Br Heart J. 1994 Mar. 71(3):215-8.
  2. Dalal D, Nasir K, Bomma C, et al. Arrhythmogenic right ventricular dysplasia: a United States experience. Circulation. 2005 Dec 20. 112 (25):3823-32. 
  3. AE, DiMarco JP, Ellenbogen KA, et al. 2012 ACCF/AHA/HRS focused update incorporated into the ACCF/AHA/HRS 2008 guidelines for device-based therapy of cardiac rhythm abnormalities: a report of the American College of Cardiology Foundation/American Heart Association Task Force on Practice Guidelines and the Heart Rhythm Society. J Am Coll Cardiol. 2013 Jan 22. 61(3):e6-75. 

[อ่านต่อ...]

28 มิถุนายน 2564

เข้าใจระบบภูมิคุ้มกัน ก่อนจะโวยว่าฉีดวัคซีนโควิดแล้วเหมือนฉีดน้ำเปล่า

เรียนนพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

ผมอายุ 42 ปี ไปฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มเข็มที่ 1 แล้วเหมือนฉีดน้ำเปล่า ไม่มีความรู้สึกอะไรเลย ได้ทราบมาจากความรู้ทางเน็ทและที่มีผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าหากฉีดแล้วมีปฏิกริยาปวดเป็นไข้ยิ่งแรงยิ่งแสดงว่าภูมิคุ้มกันขึ้นดี จึงอยากปรึกษาคุณหมอว่าผมควรจะชลอเข็มที่สองโดยไปจองฉีดวัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอนาแบบเสียเงินแทนวัคซีนซิโนฟาร์มดีไหมครับ

……………………………………………………………….

ตอบครับ

อามิตตาภะ พุทธะ นี่มันเป็นผลจากการเสพย์ข้อมูลมากเกิน “ขนาด” และเสพย์มาผิด “ขนาน” อีกต่างหาก ความรู้ที่คุณได้รับมาที่ว่าไปฉีดวัคซีนเข็มแรกถ้าวัคซีนดี ภูมิคุ้มกันขึ้นดี ต้องมีปฏิกริยามาก แบบว่าปวดแขน เป็นไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัวพับ พับ พับ จึงจะแสดงว่าภูมิคุ้มกันขึ้นดีนั้นเป็นความเข้าใจผิด ปฏิกริยาต่อการฉีดวัคซีนเข็มแรก กับภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นจากวัคซีนนั้น ไม่ได้เกี่ยวอะไรกัน การจะเข้าใจเรื่องนี้ต้องเข้าใจกลไกการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในระดับลึกซึ้งสักหน่อย ผมจะอธิบายให้คุณนะ เพราะท่านผู้อ่านท่านอื่นจะได้ทราบไปด้วย

ระบบภูมิคุ้มก้นของร่างกายเรานี้มีสองประเภท หรือหากเปรียบเทียบเป็นกระทรวงทบวงกรมก็คือกระทรวงภูมิคุ้มกันโรคนี้แบ่งออกเป็นสองกรม ดังนี้

กรมที่หนึ่งคือ Innate immunity แปลว่าระบบสร้างภูมิคุ้มกันแบบครอบจักรวาล เป็นระบบที่มีไว้คุ้มกันร่างกายจากเชื้อโรคอะไรก็ตามที่รุกเข้ามาโดยไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเป็นเชื้ออะไร ระบบนี้แยกย่อยออกเป็นส่วนหรือกองย่อยๆอีกสี่กองซึ่งทำงานไม่เกี่ยวกันแต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ
กองที่ 1. คือ external barrier แปลว่าปราการด่านนอก เช่นผิวหนังที่หุ้มร่างกายอยู่ กลไกการปั้นขี้ฝุ่นละอองหรือสิ่งแปลกปลอมในทางเดินลมหายใจให้เป็นเสมหะและน้ำมูก กลไกการใช้ขนโบกพัดเสมหะให้ออกไปจากหลอดลม กลไกการไอ สารฆ่าเชื้อโรคในน้ำตาและน้ำลาย น้ำกรดในกระเพาะ กลไกการเพาะเลี้ยงแบคทีเรียที่เป็นมิตรไว้ในลำไส้หรือในช่องคลอดเพื่อกันท่าไม่ให้แบคทีเรียที่เป็นศัตรูเข้ามาเติบโต เป็นต้น
กองที่ 2. คือ Inflammation แปลว่าการกลไกการอักเสบ เป็นปฏิกริยาที่ตั้งต้นขึ้นโดยเซลชื่อมาโครฟาจโดยการปล่อยสารเรียกเม็ดเลือดขาวมารุมกินโต๊ะสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามา ทำให้เกิดการอักเสบที่มีเอกลักษณ์ว่า “ปวด บวม แดง ร้อน หย่อนสมรรถภาพ” ผลผลิตสำคัญของการอักเสบก็คือปวดและไข้ เพราะไข้หรืออุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นเครื่องมือฆ่าเชื้อโรคโดยตรง
กองที่ 3. คือ Cellular barrier หรือ natural killer (NK) แปลว่าเซลนักฆ่า มันเป็นเม็ดเลือดขาวเล็กที่ผลิตขึ้นมาทางสายต่อมน้ำเหลือง การเรียกว่าเม็ดเลือดขาวเล็กนี้ก็เพื่อให้แตกต่างจากเม็ดเลือดขาวที่ผลิตมาทางสายไขกระดูกซึ่งมีขนาดโต เซลนักฆ่าถูกสร้างมาให้มีหน้าที่ฆ่าได้โดยไม่ต้องรอคำสั่ง คือเห็นอะไรเป็นสิ่งแปลกปลอมให้เข้าไปฆ่าได้ทันทีโดยไม่ต้องสอบสวนให้รู้จักว่าเป็นใครมาจากไหน เซลนักฆ่านี้เป็นกำลังสำคัญทั้งในการกำจัดเชื้อโรคทันทีที่เห็นและทั้งในการกำจัดเซลมะเร็งที่ไม่มีวิธีอื่นมากำจัดและทำงานได้ทันทีโดยไม่ต้องอาศัยวัคซีนหรือการรู้จักเชื้อโรค
กองที่ 4. คือ Compliment system แปลว่าระบบช่วยฆ่า มันเป็นโปรตีนหลายสิบชนิดอยู่กระจายทั่วกระแสเลือดเหมือนตำรวจนอกเครื่องแบบกระจายตัวอยู่ทั่วไป เมื่อมีเหตุการเช่นการอักเสบขึ้นตัวหัวหมู่ที่ซุ่มเงียบอยู่ก็จะลุกขึ้นมาปลุกลูกน้องให้ปลุกกันต่อๆไปเป็นทอดๆแล้วทั้งหมดเฮโลมารุบเคลือบเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมอื่นหรือกองอื่นมาฆ่าสิ่งแปลกปลอมได้ง่ายขึ้น

กรมที่ 2. คือ Adaptive immunity แปลว่าระบบสร้างภูมิคุ้มกันแบบเจาะจงเชื้อ หน้าที่หลักคือทำความรู้จักกับเชื้อโรคที่บุกรุกเข้ามาก่อน แล้วเอาหน้าตาประพิมประพายของเชื้อโรคนั้นไปสร้างผู้สามารถเจาะจงทำลายเชื้อโรคชนิดนั้นขึ้นมา กรมนี้แบ่งออกไปเป็นสองกอง
กองที่ 1. คือ Cell mediated immune response (CMIR) แปลว่าการผลิตเม็ดเลือดขาวไปฆ่า วิธีการทำงานก็คือเมื่อสดับได้แน่ชัดว่าเชื้อโรคมีหน้าตาอย่างไรต่อมน้ำเหลืองก็สร้างเม็ดเลือดขาวขึ้นมาเพื่อไปฆ่าเชื้อโรคนััน ที่รู้จักกันดีสองชนิดคือ Killer T cell ซึ่งบางครั้งเรียกตามโปรตีนที่ผิวว่า CD8 ทำหน้าที่ลงมือฆ่า และ Helper T cell ซึ่งบางครั้งเรียกตามโปรตีนที่ผิวว่า CD4 ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยฆ่า
กองที่ 2. คือ Humoral immune response แปลว่าการผลิตแอนตี้บอดี้ไปฆ่า หน่วยผลิตคือเม็ดเลือดขาวเล็กชื่อ B-cell วิธีทำงานคือเมื่อสดับข่าวทราบหน้าตาเชื้อโรคผู้บุกรุกแน่ชัดแล้ว B-cell ก็จะสร้างโปรตีนชนิดหนึ่งขึ้นมาเรียกว่าแอนตี้บอดี้ (antibody) แล้วปล่อยเข้ากระแสเลือดเพื่อให้ไปจับกับตัวเชื้อโรคให้เชื้อโรคตายโดยตรงบ้าง ให้เซลเจ้าหน้าที่กรมกองอื่นมาเก็บกินบ้าง

เมื่อเราไปฉีดวัคซีนเข็มแรก ปฏิกริยาที่เกิดขึ้นเช่น แขนบวม ปวด มีไข้สูง หนาวสั่นไม่สบาย ล้วนเกิดจากการทำงานของกรมที่ 1 หรือ innate immunity จากการเห็นสิ่งแปลกปลอมคือทั้งตัววัคซีนและหรือสิ่งปนเปื้อนที่ติดมากับวัคซีนเข้ามาในร่างกาย โดยยังไม่เกี่ยวกับว่าวัคซีนนั้นจะเป็นวัคซีนที่ดีหรือไม่ดี แรงหรือไม่แรง ดังนั้นอย่าไปด่วนสรุปว่าฉีดแล้วเหมือนฉีดน้ำเปล่าแสดงว่าวัคซีนนั้นไม่แรง

การที่วัคซีนนั้นจะดีหรือไม่ดี จะแรงหรือไม่แรงนั้นต้องอาศัยเวลาให้กรมที่ 2. คือ adaptive immunity เขาทำงาน เพราะวัคซีนมีหน้าที่เป็นตัวแทนเชื้อโรคในการเป็นเป้า (antigen) ให้ข้อมูลแก่ adaptive immunity เพื่อจะได้สร้างอาวุธทำลายขึ้นมาแบบตรงสะเป๊ก ปกติจะใช้เวลาสร้างประมาณ 2 สัปดาห์ และยิ่งมีการฉีดกระตุ้นอีกครั้งสองครั้งก็ยิ่งผลิตอาวุธทั้งในรูปแบบเม็ดเลือดขาวและในรูปแบบแอนตี้บอดี้ให้ไปทำลายเชื้อโรคได้เต็มที่ การจะบอกว่าวัคซีนนั้นดีหรือไม่ดีก็ต้องตรวจดูเม็ดเลือดขาวชนิด CD8, CD4 และแอนตี้บอดี้ หรือจะให้ดีกว่านั้นก็ลองให้สัมผัสกับเชื้อโรคดูว่าจะรอดจากการติดเชื้อสักกี่เปอร์เซ็นต์ ส่วนการดูปฏิกริยาของร่างกายหลังฉีดวัคซีนเข็มแรกนั้นใช้ประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนไม่ได้เลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

27 มิถุนายน 2564

หมอสันต์ตอบคำถามเรื่องเปิดประเทศใน 120 วัน

ผู้สื่อข่าว

ทำไมระยะหลังนี้ไม่ยอมตอบคำถามเรื่องโควิด 19

นพ.สันต์

ก็มันไม่มีข้อมูลอะไรที่จะนำมาเป็นพื้นฐานของคำแนะนำ ผมก็ตามอยู่ไม่ใช่ไม่ตาม แต่ข้อมูลที่เป็นงานวิจัยตีพิมพ์เรื่องโควิด19 นี้มันมีน้อยมาก ยกตัวอย่างเช่นแม้กระทั่งผลวิจัยวัคซีนระยะสามของวัคซีนบางตัวที่เอาออกมาใช้กันระเบิดระเบ้อแล้วแต่ข้อมูลจริงยังไม่ได้ตีพิมพ์เลย ยิ่งข้อมูลที่ว่าวัคซีนอะไรดีกว่าอะไร ต้องฉีดสองเข็มหรือสามเข็ม ยิ่งไม่มีข้อมูลใหญ่เพราะยังไม่มีการวิจัยเปรียบเทียบเลยจะรู้ได้อย่างไร ข้อมูลที่พูดกันตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นการให้ข่าวของคนทำวัคซีนขายบ้าง ผู้บริหารประเทศต่างๆบ้าง คนขายข่าวบ้าง และหมอที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องบ้าง ข่าวไม่ใช่ข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่จะเอามาออกคำแนะนำอะไรได้

ผู้สื่อข่าว

ปัญหาใหญ่ที่สุดของไทยเราในภาพรวมคืออะไร

นพ.สันต์

คือการที่ไทยเราใช้ยุทธศาสตร์กดโรค (suppression) ไม่สำเร็จ

ผู้สื่อข่าว

ไม่ใช่การขาดวัคซีนหรือ

นพ.สันต์

การขาดวัคซีนเป็นปัญหาก็จริงแต่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่สุดของไทย เพราะวัคซีนเป็นเพียงการวิ่งตามการกลายพันธ์ (mutation) ของเชื้อโรค ยังไม่รู้ว่าจะต้องวิ่งตามกันไปอีกกี่ปี แต่การใช้ยุทธศาสตร์กดโรคให้สำเร็จเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะอย่าลืมว่าเมืองไทยเรานี้โรคเพิ่งระบาดไปแค่ 0.3% ของประชากรแค่นั้นเอง มีเลขศูนย์นำหน้าจุดทศนิยมด้วยนะ เพราะเรามีกัน 67 ล้าน ติดเชื้อแล้วสองแสนสาม ถ้าเรามาดูพฤติกรรมการระบาดในปีกว่าที่ผ่านมาของโรคนี้หากเราปล่อยจริงก็ต้องดูประเทศที่เขาปล่อยในช่วงแรก อย่างเช่นที่อเมริกามันระบาดไปใน 10% ของประชากร คือมีคน 328 ล้านติดเชื้อ 33 ล้าน ที่อังกฤษ 7.8% คือมีคน 55.9 ล้านติดเชื้อ 4.7 ล้าน ของเรานี้เพิ่งติดเชื้อแค่ 0.3% เองนะ เราก็ร้องกันบ้านแตกว่าจำนวนเตียงไอซียู.และทีมแพทย์พยาบาลจะรับกันไม่ไหวแล้ว ถ้าเราปล่อยให้ติดไปสัก 10% ลองนึกภาพดูว่ามันจะเป็นอย่างไร ดังนั้นการกดโรคเป็นยุทธศาสตร์เดียวที่เราพึงทำตอนนี้ ไม่มีวิธีอื่น หากเรากดโรคไม่สำเร็จก็..จบข่าว

ผู้สื่อข่าว

ทำไมเราจึงกดโรคไม่สำเร็จ

นพ.สันต์

ผมไม่ทราบ มันเป็นการประชุมแห่งเหตุ ได้แต่เดาเอาว่าอาจเป็นเพราะวินัยของผู้คนไม่พอ ความเฉียบขาดของกลไกของรัฐไม่พอ เพราะยุทธศาสตร์กดโรคก็เหมือนยุทธการปราบผู้ก่อการร้ายภายในประเทศของทหาร ถ้าไม่เฉียบขาด มันก็ไม่สำเร็จ จริงๆแล้วมันคงมีหลายสาเหตุหลายปัจจัยที่เกินปัญญาที่ผมจะรู้ได้ แต่ที่ว่าไม่สำเร็จนี้หากเทียบกับประเทศอื่นก็ต้องถือว่าเราทำได้เจ๋งมากแล้ว เพียงแต่ว่ามันไม่เจ๋งพอที่จะให้โรคหมดเกลี้ยงได้ เพราะในเชิงระบาดวิทยา เมื่อเรากดโรคอุบัติใหม่ไว้จนพ้นระยะฟักตัวของโรค อย่างเช่นตอนที่เราทำล็อคดาวน์ครั้งแรกสองสามสัปดาห์ โรคนั้นก็น่าจะหายสาบสูญไปเกลี้ยง ที่เหลือก็จะเป็นแค่การกักกันโรคจากภายนอกไม่ให้เข้ามา

ผู้สื่อข่าว

ถ้ากดไม่สำเร็จก็เปลี่ยนยุทธศาสตร์เปิดประเทศเหมือนอย่างที่รัฐบาลจะทำใน 120 วันก็น่าจะดีใช่ไหม

นพ.สันต์

ผมเป็นหมอ ขอโทษที่ผมเออออห่อหมกกับคุณไม่ได้ เพราะตามหลักวิชา การถอยยุทธศาสตร์การกดโรคไปเป็นการยับยั้งโรค (mitigation) จะทำก็ต่อเมื่อการระบาดได้ข้ามพ้นจากระยะกระจายเป็นหย่อมๆแบบตามที่มาและที่ไปได้ (clusters of cases) ไปเป็นการระบาดในชุมชนแบบไม่รู้ว่าโรคมาจากไหนและจะไปทางไหน(community spreading) แต่นี่เรายังไม่เลวร้ายถึงขั้นนั้น ของเรายังอยู่ในระยะ clusters of cases และการระบาดของโรคก็เพิ่งกระจายไปแค่ 0.3% ของประชากรแค่น้้นเอง การกดโรคจึงเป็นทางไปทางเดียว ทางอื่นไม่มี

ผู้สื่อข่าว

ถ้ารัฐบาลเปิดประเทศจริง อะไรคือปัญหาเฉพาะหน้า

ถ้าถอยไปใช้ยุทธศาสตร์ยับยั้งโรค ปัญหาเฉพาะหน้าคือขีดความสามารถที่จะรับมือของระบบการแพทย์ มันไม่ง่ายแค่นับเตียงว่าเตียงภาครัฐมี 122,470 เตียง ภาคเอกชนมี 34,602 เตียง ในจำนวนนี้ 10% ทำเป็นไอซียู.ได้ มันไม่ง่ายแค่นั้น เพราะเมืองไทยนี้จำนวนแพทย์พยาบาลในภาพรวมอาจจะมีไม่น้อย แต่ที่จะอยู่หน้างานและอยู่ในสาขาที่รู้และชำนาญพอที่จะแก้ปัญหาให้คนไข้โควิด19ได้จริงๆมีน้อย มันก็คงเหมือนกองทัพของหลายๆประเทศละมัง กองทัพใหญ่โตมีนายพลเพียบ แต่พอออกรบจริงๆแล้วแพ้ ลางบอกมันก็มีออกมาให้เห็นแล้ว แค่การระบาดไปได้ 0.3% ของประชากร ก็มีเสียงโอดครวญจากคนทำงานหน้างานแล้วว่ากำลังจะไปต่อไม่ไหวแล้ว

ผู้สื่อข่าว

สรุปว่าหมอสันต์ไม่สนับสนุนให้เปิดประเทศเลย

นพ.สันต์

คุณพูดเองนะ

ผู้สื่อข่าว

แล้วคนไทยทั่วไปควรทำอย่างไร

นพ.สันต์

ก็ต้องทำสองอย่าง คือร่วมมือกับรัฐบาลในการกดโรค และดูแลตัวเองไม่ให้ติดโรค อันได้แก่ ใส่หน้ากาก อยู่ห่าง ล้างมือ เมื่อใดมีวัคซีนมาถึงคิวฉีดก็ไปฉีด ขณะเดียวกันทุกวันก็ต้องขยันฟูมฟักภูมิคุ้มกันของตนเองด้วยการออกกำลังกายทุกวัน กินอาหารที่มีพืชเป็นหลักที่หลากหลายในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ จัดการความเครียดให้จิตใจผ่อนคลายปลอดความเครียด ถ้ากินอาหารไม่ได้ก็ต้องเสริมวิตามินและเกลือแร่ที่มีผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกัน เช่นวิตามินดี. วิตามินซี. และแร่ธาตุเช่นสังกะสี เป็นต้น

นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

26 มิถุนายน 2564

ถ้าหนูเลิกเครียดได้ ผมจะเลิกหงอกไหม

กราบเรียนคุณหมอสันต์

หนูเพิ่งอายุ 39 เองแต่ผมหงอกไปจะหนึ่งในสามของหัวแล้ว เพื่อนๆรุมบอกว่าเพราะหนูเครียด และชอบเล่าว่านางแมรี่อังตัวเน็ทผมหงอกทั้งหัวในชั่วเวลาคืนเดียวเพราะเครียดจากกลัวการถูกใช้เครื่องกิโยตินตัดหัว หนูก็ยอมรับว่าหนูเครียดเพราะเป็นลูกจ้างเขาต้องทำยอดให้เขาให้ได้ เขาไม่ถึงกับจะตัดหัวหนูหรอก แต่ว่ามันจริงหรือคะที่เครียดแล้วจะถึงกับทำให้ผมหงอกได้ ถ้ามันจริง หากหนูหายเครียดแล้วหนูจะหายหงอกได้ไหมคะ

เคารพรักคุณหมอเหมือนญาติผู้ใหญ่

…………………………………………………………

ตอบครับ

1.. เรื่องเล่าที่ว่าพระนางแมรีอังตัวเน็ทพอถูกสั่งตัดหัวก็เกิดอาการผมหงอกเต็มหัวชั่วข้ามคืนก่อนถูกประหารนั้น ไม่เป็นความจริงหรอกครับ เพราะความจริงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คือเส้นผมที่งอกพ้นรูขนออกมาแล้วจะไม่เปลี่ยนสีดอก ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด

2.. ถามว่าความเครียดทำให้ผมหงอกได้จริงไหม ตอบว่าจริงครับ ยิ่งนานก็ยิ่งมีงานวิจัยสนับสนุนเรื่องนี้มากขึ้น มาสมัยหลังนี้วงการแพทย์สามารถหั่นซอยเส้นผมได้จนบางเฉียบระดับ 1/20 มม. ทำให้ส่องกล้องดูปริมาณเม็ดสีของเส้นผมในช่วงเวลาต่างๆได้ง่ายขึ้น อย่างเช่นระยะบนรากผมยาว 1/20 มม.นี้ก็เทียบได้กับเวลาในชีวิตที่ผ่านไป 1 ชั่วโมงพอดี เมื่อไหร่เครียดแล้วช่วงนั้นเม็ดสีในรากผมเป็นอย่างไร งานวิจัยเดี๋ยวนี้ดูได้หมด ทำให้สรุปได้แน่ชัดว่าความเครียดเป็นต้นเหตุหนึ่งของการหงอก แน่นอนย่อมมีสาเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวกับความเครียดด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความแก่” ซึ่งเป็นสาเหตุที่จริงแท้แน่นอนของการหงอกมาทุกยุคทุกสมัยไม่มีใครโต้แย้ง

3.. ถามว่าเมื่อเครียดแล้วผมหงอก พอหายเครียดแล้วจะหายหงอกได้ไหม เออ คำถามนี้ดีนะ แต่ก่อนไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้หรอก แต่ไม่นานมานี้มีงานวิจัยที่ Columbia University เขาอาศัยกลุ่มคนจริงๆ ไม่ใช่หนูทดลอง ให้ทุกคนเขียนไดอารีบันทึกดีกรีของความเครียดในแต่ละสัปดาห์อย่างละเอียด แล้วถอนผมมาฝานซอยหั่นส่องดูเม็ดสีที่รากผม โดยใช้เครื่องฝานรุ่นใหม่ที่ทำให้เช็คเม็ดสีได้ทุกระยะ 1/20 มม. อย่างที่บอกแล้วว่าทุก 1/20 มม.บนรากผมเท่ากับ 1 ชั่วโมงในการใช้ชีวิต สิ่งที่เห็นก็คือเมื่อใดที่เครียด เม็ดสีก็ลดจำนวนลง แปลว่าหงอกมากขึ้น แต่สิ่งที่งานวิจัยนี้พบเป็นครั้งแรกคือเมื่อเครียดแล้วหายเครียด เม็ดสีที่จางลงก็กลับเพิ่มจำนวนขึ้น แปลว่าเมื่อหายเครียดแล้วก็หายหงอกได้ นี่พูดถึงกรณีที่หงอกจากเครียดนะ ไม่ใช่หงอกจากแก่ ดังนั้นให้คุณสบายใจได้ว่าหายเครียดเมื่อไหร่ก็หายหงอกได้

4.. อันนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมแถมให้ หงอกไม่หงอกไม่สำคัญเท่าเครียดไม่เครียด ทำอย่างไรจึงจะไม่เครียดนั่นคือหัวใจของการมีชีวิตอยู่เลยทีเดียว ให้คุณโฟกัสตรงนี้ดีกว่าอย่ามัวแต่ไปนับผมหงอก เพราะความเครียดก่อโรคได้ทุกโรคไม่เฉพาะทำให้ผมหงอก ความเครียดเกิดจากความคิด วางความคิดได้เมื่อใดก็หายเครียดเมื่อนั้น วิธีวางความคิดคุณต้องถอนความสนใจ (attention) ของคุณออกมาจากความคิด เอามาไว้กับลมหายใจหรือกับความรู้สึกบนผิวกายก็ได้ คือสนใจลมหายใจหรือสนใจความรู้สึกบนผิวกายแทนสนใจความคิด ควบคู่ไปกับการผ่อนคลายกล้ามเนื้อของร่างกายด้วย เริ่มด้วยการยิ้มที่มุมปากให้ได้ก่อนในการหายใจเข้าแต่ละครั้ง แล้วบอกให้กล้ามเนื้อทั้งร่างกายผ่อนคลายทุกครั้งที่หายใจออก หัดทำอย่างนี้บ่อยๆทั้งวันทุกวัน แล้วคุณก็จะหายจากการเป็นคนขี้เครียดได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Ayelet M Rosenberg, Shannon Rausser, Junting Ren, Eugene V Mosharov, Gabriel Sturm, R Todd Ogden, Purvi Patel, Rajesh Kumar Soni, Clay Lacefield, Desmond J Tobin, Ralf Paus, Martin Picard. Quantitative mapping of human hair greying and reversal in relation to life stress. eLife, 2021; 10 DOI: 10.7554/eLife.67437
[อ่านต่อ...]

25 มิถุนายน 2564

พาแม่หนีเนอร์ซิ่งโฮม แต่ไปต่อไม่ถูก

เรียนนพ.สันต์ที่เคารพ

ดิฉันอายุ 69 ปี เป็นพยาบาลอยู่อเมริกา อยู่ทางนี้ถาวรแล้ว แต่มีปัญหาคือแม่ (89 ปี) ที่กรุงเทพ เดิมอยู่เนอร์สซิ่งโฮม (…) แล้วแม่ไม่ปลื้มเพราะอยู่กันแน่น ผู้ดูแลมีน้อย ถูกจับนั่งจุมปุกอยู่แต่บนเตียง แม่จึงรบกลับบ้านทุกวัน ประกอบกับโควิดมาแล้วมีคนในเนอร์สซิ่งโฮมเป็นโควิด น้องสาวจึงเอาแม่กลับมาอยู่บ้านแต่ก็ลำบากเพราะน้องสาวทำงานด้วย จ้างบริบาลผู้สูงอายุมาก็ต้องเปลี่ยนตัวเดือนละหลายคน เราเปลี่ยนเองบ้าง เด็กไม่มาเองบ้าง จนน้องสาวบอกไม่ไหวแล้ว ส่วนแม่ก็บอกว่าฉันอยู่ได้ ฉันอยู่ได้ โดยใช้วิธีคลานไปมาบนพื้นเอาเพราะเจ็บขาเจ็บเข่าเดินไม่ไหว ดิฉันฟังน้องบ่นและดูแม่ตัวเองคลานอยู่ในวิดิโอก็ได้แต่นั่งร้องไห้อยู่คนเดียว ไปต่อไม่ถูก อยากถามคุณหมอสันต์ว่าจะขอเอาแม่มาอยู่กับคุณหมอส้นต์ที่มวกเหล็กได้ไหม แบบอยู่ตลอดชีพ จะต้องมีค่าใช้จ่ายสักเท่าไร เพราะเห็นวิดิโอที่น้องส่งมาให้ดิฉันมั่นใจว่าแม่จะฟื้นฟูร่างกายของท่านได้และมีความสุขมากที่สุดดีกว่ากลับไปอยู่เนอร์สซิ่งโฮม หากคุณหมอไม่รับ คุณหมอมีคำแนะนำอย่างไรบ้างคะ

ขอบพระคุณค่ะ ขอให้คุณหมอหายวันหายคืนนะคะ

…………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าจะเอาคุณแม่มาแหมะไว้ที่เวลเนสวีแคร์ให้หมอสันต์ดูแลตลอดไปได้ไหม ตอบว่าไม่ได้ครับ เพราะที่เวลเนสวีแคร์ผมรับดูแลในรูปแบบการฟื้นฟูสมรรถนะ (rehabilitation) เท่านั้น คุณเป็นพยาบาลอยู่อเมริกา ถ้าผมอธิบายว่าผมทำ sub-acute care ไม่ได้ทำ long term care พูดอย่างนี้คุณคงเข้าใจง่ายกว่า การฟื้นฟูก็ต้องเจาะลึกเป็นรายคนว่าจะมาฟื้นฟูเรื่องอะไร เป้าหมายจะเอาแค่ไหน จะใช้เวลานานเท่าใด ซึ่งนับกันเป็นสัปดาห์หรืออย่างมากก็เป็นเดือนๆหรืออย่างมากก็อาจจะหลายเดือน แต่ไม่ได้นับกันเป็นปี ฟื้นฟูจบแล้วก็ต้องกลับบ้าน

ผมทำแค่การฟื้นฟูสมรรถนะ ไม่ทำมากกว่านั้น ที่รับทำฟื้นฟูนี้ด้วยเหตุผลอย่างเดียว คือเมื่อตัวผมเองป่วยหนักและต้องการการฟื้นฟูแบบจริงจัง ผมหาที่ฟื้นฟูตัวเองไม่ได้ หมอฟื้นฟูที่ดีมากๆในกรุงเทพผมสามารถหาได้ แต่เธอบอกผมว่าต้องมาหาเธอแบบเช้ามาเย็นกลับ ส่วนกลางคืนให้ไปหาคอนโดนอนเอาเองแถวใกล้ๆ โถ ผมกระดิกมือกระดิกเท้ายังยากเย็นจะขึ้นๆลงๆคอนโดไปหาเธอได้อย่างไร ผมจึงต้องมาฟื้นฟูที่มวกเหล็กซึ่งเป็นที่ของผมเองทำไว้จัดคอร์สฝึกอบรมการดูแลสุขภาพด้วยตนเองให้ลูกค้า เผอิญจังหวะเหมาะโควิด19 ทำให้จัดคอร์สดูแลสุขภาพไม่ได้สถานที่ก็ว่างพอดี พอผมฟื้นฟูตัวเองจบก็เห็นประโยชน์ของการมีสถานที่ฟื้นฟูที่ดีเพื่อให้คนที่จำเป็นต้องใช้ได้มาใช้ เช่นคนเพิ่งเป็นอัมพาตเฉียบพลันมา หรือเพิ่งฮาร์ทแอทแทคมา หรือเพิ่งผ่านการผ่าตัดใหญ่มา หรือแค่สะง็อกสะแง็กแต่ไม่สามารถลุกขึ้นมาใช้ชีวิตที่แอคทีฟได้เอง คนเหล่านี้น่าจะได้ประโยชน์จากการฟื้นฟูแบบจริงจังนี้ จึงเปิดรับเป็นที่ฟื้นฟูอย่างที่เห็น แต่ว่าไม่ได้มีกำลังที่จะทำได้มากมายเพราะพยาบาลและผู้ดูแลมีจำกัด นักออกกำลังกายนักกายภาพก็ต้องไปจ้างมาจากข้างนอก จึงรับได้เต็มที่คราวละไม่เกินสี่คน (ตอนนี้มีรอคิวเข้าอยู่สี่สิบกว่าคน!)

2.. ถามว่าคุณแม่ไม่ยอมอยู่เนอร์สซิ่งโฮม อยู่บ้านน้องก็ดูแลไม่ไหว จ้างคนมาดูแลก็หาจ้างได้ยาก จะไปทางไหนต่อดี ตอบว่านี่เป็นคำถามระดับโลกแตก แม้ในอเมริกาเองก็ยังตอบคำถามนี้ไม่ได้ รู้แน่แต่ว่าเมื่อโควิด19มาทำให้รู้ว่ารูปแบบเนอร์สซิ่งโฮมซึ่งมีปัญหาเดิมสาระพัดอยู่แล้วยิ่งมีปัญหาหนักขึ้นในเรื่องการควบคุมโรคได้ยาก ผมทราบว่าตอนนี้มีการทดลองรูปแบบใหม่ๆอยู่หลายแห่ง ผมเคยอ่านผลวิจัยที่จอห์น ฮอพคินส์ลองทำโครงการชื่อ CAPABLE ย่อมาจากอะไรผมจำไม่ได้แล้ว แต่คอนเซ็พท์คือโครงการดูแลคนแก่ที่ช่วยตัวเองไม่ได้แล้วที่ในบ้านคนแก่นั่นเอง รูปแบบคือเป็นบริษัทเอกชน รับดูแลคนแก่ตามบ้านโดยมีวิธีดูแลแบบผสมผสานปัญหาทุกด้าน คือบริษัทส่งทีมดูแลเข้าไปบ้านละ 5 เดือน (หมายความว่าบริษัทรับดูแลทีเดียวหลายๆบ้าน) เข้าไปฝึกสอนทั้งแง่อาชีวะบำบัด กายภาพบำบัด การพยาบาล และสาระพัดช่างเพื่อช่วยซ่อมและปรับปรุงบ้านให้คนแก่พิการอยู่ได้ เข้าไปก็เริ่มสัมภาษณ์รับฟังอย่างตั้งใจแล้วใช้หลักโค้ชสอนให้คนแก่ค่อยๆกลับมาทำอะไรเองในบ้านตัวเองด้วยตัวเองได้ให้มากที่สุดนานที่สุด ที่เหลือจึงจะอาศัยความช่วยเหลือจากภายนอกแบบน้อยที่สุด ผลวิจัยนั้นรายงานว่าผู้ที่ใช้บริการแบบนี้ได้ห้าเดือนต้นทุนค่าดูแลลดลง 3,000 เหรียญ แต่ที่แน่ยิ่งกว่านั้นคือต้นทุนการบริโภคยาและการรักษาลดลง 22,000 เหรียญ และบรรดาคนแก่ที่เป็นลูกค้าก็แฮ้ปปี้ดี้ด๊ากันมากเพราะได้ทำอะไรด้วยตัวเองและได้อยู่ในบ้านของตัวเองไม่ต้องไปนั่งล้อเข็นนิ่งบื้อรอเวลาอาหารเย็นอยู่ในเนอร์สซิ่งโฮม นี่ก็เป็นตัวอย่างของทางไปอีกทางหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นทั่วโลกในอนาคต

กลับมาสู่ชีวิตจริงที่เมืองไทย ผมเองก็เคยมีความคิดจะทำอะไรคล้ายๆ CAPABLE โดยคิดว่าจะทดลองเปิดบริการให้ลูกค้าคนแก่ที่มีบ้านพักอาศัยอยู่ในมวกเหล็กวาลเลย์ แต่ก็ได้แต่คิดยังไม่ถึงเวลาทำ (คงต้องรอให้ตัวหมอสันต์เองต้องคลานไปคลานมาในบ้านของตัวเองก่อนกระมังจึงจะเริ่มได้ หิ หิ) ในกรณีของคุณแม่ของคุณเนื่องจากยังไม่มีบริการแบบนี้ ผมแนะนำว่าให้น้องของคุณนั่นแหละทำตัวเป็นบริษัท CAPABLE ปรึกษากูเกิ้ลดูว่าเรื่องโน้นเรื่องนี้เขาทำกันยังไง แล้วจ้างนักกายภาพบ้างนักอาชีวบำบัดบ้างมาสอนแม่แค่เท่าที่จำเป็นแล้วตัวเองก็ครูพักลักจำเพื่อทำให้แม่เองต่อ ส่วนการปรับปรุงบ้านตรงไหนต้องทำอะไรก็จ้างสาระพัดช่างเข้ามาทำโดยคุมเอง กายอุปกรณ์เพื่อการดูแลคนแก่ในบ้านที่ดีๆและทันสมัยก็หาซื้อได้ไม่ยาก เป้าหมายสุดท้ายคือให้คุณแม่ลุกขึ้นมาช่วยตัวเองได้มากที่สุด นานที่สุด ถ้าทำไปสักห้าหกเดือนแล้วไม่สำเร็จหรือสู่ไม่ไหวก็คงจะหลือทางเดียวแล้วหละครับ คือ…กลับเข้าเนอร์สซิ่งโฮม

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

24 มิถุนายน 2564

คำพูดใดที่ออกนอกแนวทั้ง 6 ประการนี้ ไม่ใช่ของหมอสันต์แน่นอน

อาจารย์ครับ

รบกวนสอบถามอาจารย์ว่า ตาบทความใน line นี้ อาจารย์เป็นคนเขียนจริงหรือไม่ครับ

……………………………………………………..

ตอบครับ

เป็นบทความของผม แล้วมีผู้เอาไปเขียนใส่สีตีไข่ต่อท้าย (ในกรณีนี้คือ ด่าผู้นิยมอเมริกา) แล้วร่อนต่อๆกันไปว่าโดยมีชื่อนามสกุลผมจั่วหัวเป็นบรรทัดแรก

เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยมาก และมีแฟนบล็อกที่หวังดีเขียนเข้ามาฟ้องแยะมาก บ้างเอาบทความของผมไปเขียนต่อเพื่อใส่ส่วนที่ตัวเองต้องการแพร่กระจายแล้วอ้างว่าผมเขียน บ้างเอาบทความของผมไปเขียนขยายเพื่อขายสินค้าแล้วอ้างว่าหมอสันต์ว่าสินค้านี้ดี บ้างเอาชื่อนามสกุลและรูปถ่ายของผมไปขายของเช่นยาสีฟันแปรงสีฟันดื้อๆโดยไม่มีบทความ บ้างเอาแต่ชื่อไปไม่ใส่นามสกุลแล้วเขียนอะไรให้คนเข้าใจผิดว่าหมอสันต์เป็นคนเขียน ฯลฯ ผมได้รับฟังคำฟ้องแล้วก็ได้แต่นั่งฟังและทำตาปริบ ปริบ เพราะผมไม่มีแรงที่จะไปตามล้างตามเช็ดความเข้าใจผิดใดๆดอก ยิ่งจะไปปกป้องชื่อเสียงเกียรติยศตัวเองยิ่งไม่ใช่วิสัยเพราะผมแก่จวนจะเข้าโลงอย่างนี้ไม่มีอะไรที่จะต้องปกป้องอีกแล้ว จึงได้แต่ทิ้งให้เป็นวิจารณญาณของท่านผู้อ่านเอาเองว่าส่วนไหนหมอสันต์เขียนจริง หรือส่วนไหนคนเอาไปใส่สีตีไข่เพิ่มเข้ามา หรือจะให้ดีกว่านั้นก็หากอยากอ่านบทความของหมอสันต์ก็มาอ่านที่เฟซบุ้ค (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์) หรือเว็บของหมอสันต์ (drsant.com) สิครับ รับประกันว่าจะได้อ่านของแท้ออริจิน่อนรวมทั้งสิ้นกว่าสองพันบทความ ไม่ต้องเสียเวลาเขียนจดหมายมาถามว่านี่ของแท้หรือเปล่า

ไหนๆก็พูดถึงเรื่องการปลอมบทความแล้ว ผมขอถือโอกาสนี้ให้แนวทาง..แบบว่า guidelines ในการวินิจฉัยไว้เสียเลย ว่าคำบอกเล่าใดๆที่ออกนอกแนวดังต่อไปนี้ ไม่ใช่ของหมอสันต์แน่นอน กล่าวคือ

หมอสันต์ไม่ด่ารัฐบาล เพราะหมอสันต์โปรรัฐบาลทุกสมัย ไม่ว่าจะมาจากการลากตั้งหรือเลือกตั้งเนื่องจากต้องการนวดแข้งนวดขาทุกรัฐบาลให้เปลี่ยนนโยบายการสาธารณสุขของชาติให้ลดการเน้นการรักษามาเน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเสียที และจะทำอย่างนี้ไปจนกว่าจะตายจากกันไปข้างหนึ่ง หากไปด่ารัฐบาลเสียแล้วจะญาติดีให้รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายมาทำอย่างใจตัวเองอยากได้ได้อย่างไร อย่างดีนานๆก็จะแค่เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกบ้างถึงรัฐมนตรีบ้างเป็นการเตือนกลัวท่านลืม แต่ไม่มีด่าหรือตำหนิรัฐบาลเด็ดขาด

หมอสันต์ไม่ด่านักการเมือง เพราะนักการเมืองและผู้ใหญ่ผู้โตจำนวนมากเป็นคนไข้ของหมอสันต์เอง ไปด่าเขาเข้าตัวเองก็จะเสียลูกค้าสิครับ

หมอสันต์ไม่ด่าประเทศโน้นประเทศนี้ สมัยเป็นนักศึกษาหมอสันต์อาจไฮด์ปาร์คด่าจักรวรรดินิยม แต่พอแก่แล้วหมอสันต์มองการไฮไลท์ identity ไม่ว่าจะเป็นเพศ ผิวพรรณ ประเทศ ชาติ ศาสนา ว่าล้วนเป็นการเสี้ยมให้มนุษย์ทำสงครามกันตลอดมาและจะทำให้ลูกหลานต้องทำสงครามกันตลอดไปตราบใดที่ยังไม่เลิกจำแนกเพศ ผิวพรรณ ประเทศ ชาติ ศาสนา ดังนั้นหมอสันต์ ณ ปูนนี้แล้วจึงไม่ด่าประเทศไหนหรือชาติไหนทั้งสิ้น ถือว่าทุกคนเป็นพลเมืองของโลกเหมียนกัลล์หมด

หมอสันต์ไม่ค่อนแคะแนะแหนแพทย์คนอื่น ไม่ว่าจะเป็นแพทย์โปรรัฐบาล แพทย์ต้านรัฐบาล เพราะการทำอย่างนั้นเป็นการทำผิดข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งบังคับไว้ว่า แพทย์พึงยกย่องให้เกียรติเคารพในศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน ต้องไม่ทับถมให้ร้ายหรือกลั่นแกล้งกัน ต้องไม่ชักจูงผู้ป่วยของผู้อื่นมาเป็นของตน ซึ่งทั้งสามประเด็นนี้หมอสันต์ยึดถือเคร่งครัดเช่นเดียวกับแพทย์แผนปัจจุบันรุ่นโบราณท่านอื่นๆทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นสุดท้ายที่ว่าแพทย์ต้องไม่ “แฮ็บ” ผู้ป่วยของผู้อื่นมาเป็นของตนนั้นหมอสันต์เคร่งครัดมากจนถูกผู้ป่วยพูดใส่หน้าว่าเป็น “หมอใจดำ” หิ หิ เออ..ดำก็ดำละครับ ทำไงได้ล่ะ เพราะแพทยสภาเขาห้ามไว้

หมอสันต์ไม่พูดว่าสินค้านั้นดี สินค้านี้ไม่ดี เพราะหมอสันต์มีเพื่อนเป็นคนค้าขายอยู่หลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องวิตามินและอาหารเสริมซึ่งมีผู้ชอบเขียนถามเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่หมอสันต์มีเพื่อนซี้ทำวิตามินและอาหารเสริมขาย จะไปพูดได้อย่างไรว่ายี่ห้อนี้ดี ยี่ห้อนั้นไม่ดี พูดไปก็เสียเพื่อนหมด

หมอสันต์ไม่ขายของ ยกเว้นการขายคอร์สวิธีดูแลและฟื้นฟูสุขภาพด้วยตนเองและขายอาหารพืชเป็นหลักให้คนหัดลดการกินเนื้อสัตว์มาหัดกินพืชอยู่ที่เวลเนสวีแคร์ที่มวกเหล็ก ซึ่งเป็นการค้าขายเดียวที่หมอสันต์ทำอยู่ด้วยเห็นว่ามันเป็นสินค้าที่มีประโยชน์ต่อผู้คน ส่วนสินค้าอื่นๆเช่นสบู่ ยาสีฟัน วิตามิน อาหารเสริม เครื่องสำอางค์ สมุนไพร ยา นม โปรตีนผง เครื่องดื่ม เครื่องกรองน้ำ เครื่องทำน้ำกรดน้ำด่าง หมอสันต์ไม่เคยขายเลยแม้ว่าจะมีคนสำเนาบทความหรือคำพูดของหมอสันต์ไปประกอบการขายเป็นจำนวนมากก็ไม่ได้หมายความว่าหมอสันต์เป็นคนขายสินค้าเหล่านั้น

คำพูดเหล่าใดที่ออกนอกแนวทั้ง 6 ประการข้างต้นนี้ ท่านวินิจฉัยได้เองเลยนะครับ ว่าไม่ใช่ของหมอสันต์แน่นอน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

20 มิถุนายน 2564

สามเทคนิคที่จะหลุดจากความคับข้องในชีวิต

คุณหมอสันต์ที่นับถือ

การพยายามเอาชนะความซึมเศร้า การย้ำคิดย้ำทำซ้ำซาก ช่างเป็นเรื่องที่ทำให้ดิฉันเหนื่อยและอ่อนล้า คนบางคนก็ต้้งใจบีทและทิ่มตำเราจริงๆ จนดิฉันรู้สึกว่าการมีชีวิตอยู่นี้ช่างยากเย็นเหลือเกิน ไม่รู้จะมีชีวิตอยู่อย่างนี้ต่อไปอีกทำไม ความคิดนี้ชักจะมาบ่อยขึ้น ควรจะแก้ไขความคิดนี้อย่างไรดี

…………………………………………………………………

ตอบครับ

ถามว่า การเอาชนะความย้ำคิดซ้ำซาก ช่างเป็นเรื่องที่เหนื่อย อ่อนล้า จนรู้สึกว่าการมีชีวิตอยู่นี้ยากเย็นเหลือเกิน ไม่รู้จะอยู่อย่างนี้ไปทำไม ควรจะแก้ไขอย่างไรดี ตอบว่า เหตุของทุกข์ของคุณเป็นแค่ความคิดของคุณเองนะ คนจะแก้ไขเรื่องนี้ได้มีคุณคนเดียว คนอื่นแก้ให้ไม่ได้ วิธีแก้ก็มีวิธีเดียว คือวางความคิดเหล่านั้นลงไปเสีย

เพื่อขยายความคำว่า “วางความคิด” ผมแนะนำให้คุณใช้เทคนิคสามอย่างต่อไปนี้

เทคนิคที่หนึ่ง คือให้คุณใช้ความคิดเชิงตรรกะชี้ให้ตัวเองเห็นบ่อยๆ ว่าคุณที่แท้จริงนี้คือใคร หรือคืออะไร ชีวิตประกอบด้วยอย่างน้อยก็สามส่วนคือ (1) ร่างกาย (2) ความคิด (3)ความรู้ตัว ประเด็นสำคัญคือคุณไม่ใช่ร่างกาย จริงอยู่คุณอาจอ้างได้ว่าคุณเป็นเจ้าของร่างกายนี้ แต่นั่นก็เป็นเพียงเรื่องชั่วคราว ถ้าคุณลองทบทวนเหตุการณ์ชีวิตที่ผ่านมา คุณจะประจักษ์เองว่าร่างกายนี้เปลี่ยนแปลงตลอดมาโดยที่คุณสั่งการหรือคุมอะไรได้น้อยมากตั้งแต่เด็กเล็กมาเป็นหนุ่มสาว จนเป็นผู้สูงวัย ส่วนความเป็นคุณนั้นคุณยังคงเป็นคุณคนเดิมไม่มีเปลี่ยนแปลง

ประเด็นสำคัญอีกอันหนึ่งคือคุณไม่ใช่ความคิด แม้สำนึกว่าเป็นบุคคลหรืออีโก้ซึ่งคุณมักเผลอคิดว่าเป็นตัวคุณนั้น มันก็เป็นเพียงความคิดซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วก็ดับหายไป แต่การเกิดขึ้นมาซ้ำซากทำให้คุณถูกหลอนให้เข้าใจว่ามันเป็นสิ่งถาวรและคุณคือมัน ทำให้คุณเจ็บช้ำน้ำใจว่าคุณถูกทิ่มตำ แท้จริงผู้ถูกทิ่มตำคือตัวตนที่ความคิดของคุณอุปโลกน์ขึ้นมาว่าเป็นคุณ คุณที่แท้จริงซึ่งคือความรู้ตัวอันหมายถึงความตื่นและความสามารถรับรู้ได้ขณะที่คุณตื่นอยู่ที่เดี๋ยวนี้นั้นไม่ได้เป็นเดือดเป็นร้อนหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอะไรกับตัวอีโก้นี้เลย

คุณอาจจะงงว่าแล้วคุณจะแยกความคิดออกจากความเป็นคุณได้อย่างไรเพราะมองไปทางไหนก็เห็นแต่ความคิด ตอบว่าให้คุณเริ่มที่ความสนใจ (attention) ของคุณ ด้วยการใช้ความสนใจแอบชำเลืองมองดูความคิด หัดแอบมอง หัดชำเลืองมอง ว่าเมื่อตะกี้มีความคิดอะไรอยู่ในหัว หัดทำอย่างนี้ถึงจุดหนึ่งก็จะค่อยๆเห็นเองว่าเอ๊ะ เรากับความคิดนี่เป็นคนละอันกันนะ ความคิดอยู่ตรงนั้น เราอยู่ตรงนี้ แล้วเรามองเห็นความคิดได้ เมื่อมาถึงจุดนี้แล้วก็จะเห็นจุดอ่อนของความคิดว่า พอถูกเราแอบมองหรือชำเลืองมองดูมันจะค่อยๆฝ่อหายไป พอคุณจับจุดอ่อนของมันได้การปลดแอกจากอิทธิพลของความคิดก็กลายเป็นเรื่องง่าย

เทคนิคที่สอง ให้คุณเปลี่ยนวิธีทำงานของคุณเสียใหม่ ทำงานผมไม่ได้หมายถึงแค่การทำอาชีพเพื่อให้มีเงินเดือน แต่ผมหมายถึงการทำกิจทุกอย่างในชีวิตประจำวัน ไม่เว้นแม้กระทั่งล้างหน้าแปรงฟัน สาระสำคัญของการทำงานก็คือ เดิมคุณทำงานด้วยมุ่งไปที่ผลลัพธ์ของงาน (outcome) ยกตัวอย่างเช่นคุณทำงานบริษัทคุณก็มุ่งไปที่ให้มีผลงานไปเสนอเจ้านายเอาความดีความชอบ นี่เป็นตัวอย่างของการมุงที่ผลลัพธ์ ผลลัพธ์นี้ชงขึ้นมาด้วยอีโก้ของเราเอง มีจุดประสงค์เพียงเพื่อเชิดชูอีโก้หรืออัตตาของเรานี้ให้ปลอดภัย การทำงานโดยมุ่งถึงผลลัพธ์จะทำให้เราตกเป็นทาสของความคิดที่ชงขึ้นมาโดยอีโก้อย่างถอนตัวไม่ขึ้น

ให้คุณเปลี่ยนไปทำงานแบบมุ่งที่การกระทำ (process) เฉพาะขั้นตอนที่อยู่ตรงหน้าคุณเดี๋ยวนี้ ส่วนผลลัพธ์นั้นให้คุณตั้งใจไว้เลยว่าเอาแค่ศูนย์ บอกอีโก้ของคุณไว้เลยว่ามันจะไม่ได้ดิบได้ดีอะไรจากการทำงานชิ้นนี้หรอก คุณไม่สนใจด้วยว่าถ้างานออกมาไม่ดีเจ้าตัวอีโก้ของคุณจะถูกประนามหยามเหยียดหรือทิ่มตำอย่างไร เพราะคนถูกประนามคืออีโก้ไม่ใช่คุณ ดังนั้นการทำงานแบบมุ่งที่กระบวนการทำเฉพาะขั้นตอนเดี๋ยวนี้เป็นวิธีการทอนอำนาจของอีโก้นั่นเอง เมื่อใดก็ตามที่คุณรู้สึกว่าชีวิตจมอยู่ในสถานการณ์ที่ยุ่งยากเละตุ้มเป๊ะ นั่นหมายความว่าคุณกำลังถูกครอบด้วยความคิดหรือเรื่องราวที่ชงขึ้นมาโดยอีโก้ซะอยู่หมัด ให้คุณหันมาโฟกัสที่การทำงานแบบจดจ่อที่ขั้นตอนเดี๋ยวนี้โดยไม่สนใจผลลัพธ์ แล้วคุณก็จะออกมาจากอิทธิพลของความคิดที่ชงขึ้นมาโดยอีโก้ได้ทุกครั้งไป

เทคนิคที่สาม ผมแนะนำให้คุณทำความเข้าใจและฝึกปฎิบัติคอนเซ็พท์ “เมตตาธรรม” ต่อคนรอบข้างเสียใหม่ คำว่าเมตตาธรรมของผมไม่ได้หมายถึงนั่งหลับตาและพูดว่า สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขเถิด อย่าเบียดเบียนกันเลย ไม่ใช่อย่างนั้น เพื่อให้คุณเข้าใจคอนเซ็พเมตตาธรรมที่ผมพูดถึง ผมอธิบายอย่างนี้นะ

ทำไมเมื่อคิดถึงคุณแม่คุณจึงรู้สึกอบอุ่นและรู้สึกว่าคุณแม่รักและเมตตาคุณ เพราะคุณแม่ของคุณเปิดรับเอาคุณเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของท่านใช่ไหม การเปิดรับชีวิตอื่นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของคุณ นั่นคือเมตตาธรรม คราวนี้ผมจะให้คุณจินตนาการว่าถ้าคุณแต่งงานและมีลูกหนึ่งคน เป็นไปได้ไหมว่าคุณจะเปิดรับเอาลูกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคุณ มันเป็นไปได้แน่นอนใช่ไหม คราวนี้ให้คุณลองจินตนาการต่อ ถ้าคุณมีลูก 3 คนละ หรือ 10 คนละ มันเป็นไปได้ไหมที่คุณจะเปิดรับเอาลูกทั้งสิบคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคุณ มันก็ยังเป็นไปได้ใช่ไหม เพราะเมื่อเราปลดกรอบความคับแคบของความเป็นตัวตนของเราออกไปได้ จิตใจของเราก็จะกว้างใหญ่ไพศาลเปิดรับชีวิตอื่นว่าเป็นหนึ่งเดียวกับเราได้ไม่อั้น ผมเคยคุยกับผู้ดูแลสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าท่านหนึ่ง เธอบอกผมว่าเธอมีลูกสองร้อยกว่าคน ผมเข้าใจว่าเธอหมายความว่าอย่างไร คราวนี้ผมให้คุณจินตนาการใหม่ สมมุติว่าชีวิตอื่นทุกชีวิตในโลกนี้เป็นลูกของคุณ แค่ลองจินตนาการดู ถ้าคุณนึกภาพออก นั่นแหละ..เมตตาธรรม

เมตตาธรรมก็คือการที่คุณเปิดรับเอาชีวิตอื่นทุกชีวิตเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตคุณ หากคุณทำได้ อีโก้ของคุณจะเลิกเสี้ยมความคิดลบต่างๆขึ้นในหัวคุณทันที เพราะเมื่อไม่มีเส้นแบ่งว่านี่คือชีวิตคุณ นั่นคือชีวิตอื่น อีโก้หรือความคิดซึ่งเป็นนิยามของเส้นแบ่งนี้ก็จะหายตัวไปเอง ความคิดลบที่เคยถูกชงขึ้นมาเพื่อปกป้องอีโก้หรือตัวตนของคุณก็จะหมดไปเอง

อ่านคำตอบของผมจบแล้วคุณอาจจะคิดว่าคุณถามเรื่องไปไหนมา ผมตอบสามวาสองศอก ไม่เป็นไรครับ ให้คุณใจเย็นๆ อ่านหลายๆครั้ง แล้วลองปฏิบัติดู ถึงจุดหนึ่ง มันมีโอกาสที่คุณจะเก็ทสิ่งที่ผมตอบด้วยประสบการณ์ของคุณเอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

16 มิถุนายน 2564

ถามเรื่องอาหารลดความเครียด

เรียนคุณหมอสันต์

ตอนนี้ที่บ้านมีความเครียดกันมาก โควิดก็เรื่องหนึ่ง แต่ผมชักสงสัยปัจจัยอื่นที่ทุกคนอาจแชร์ร่วมกัน เช่นอาหาร จึงอยากถามคุณหมอสันต์ว่าหากถือตามหลักฐานวิทยาศาสตร์แล้วมันมีอาหารที่ทำให้เครียดมากหรือน้อยได้ไหม หรือมีปัจจัยอื่นที่เป็นเหตุมากกว่าอาหารครับ

………………………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่าอาหารที่แตกต่างกันทำให้เครียดต่างกันได้ไหม ตอบว่าได้สิครับ เรื่องนี้มีงานวิจัยแล้วหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายหมาดๆนี้เป็นงานวิจัยของสถาบันวิจัยโภชนาการมหาลัยอีดิธโคแวน (ที่เพิร์ธ ออสเตรเลีย)ตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Clinical Nutrition ผมขอเล่าให้ฟังเฉพาะงานวิจัยนี้นะ เขาตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างชนิดของอาหารกับระดับความเครียดในคนไข้อายุระหว่าง 25-91 ปี จำนวนมากกว่า 8600 คน ผลวิจัยพบว่าคนที่กินผักผลไม้ทุกวันมาก จะมีระดับความเครียดน้อยกว่าคนที่กินผักผลไม้ทุกวันน้อย เช่นหากกินผักผลไม้เฉลี่ยวันละ 470 กรัมขึ้นไปจะมีระดับความเครียดน้อยกว่าคนกินผักผลไม้น้อยกว่า 230 กรัมอยู่มากเกิน 10%

ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าทำไมต้องไปตัดตัวเลขกันที่ 470 กรัม ซึ่งก็เท่ากับวันละราวครึ่งกก.ทีเดียวใครที่ไหนจะกินผักผลไม้กันมากขนาดนั้น หิ หิ แต่เรื่องนี้องค์การอนามัยโลกเคยออกคำแนะนำนานมาแล้วว่าให้กินผักผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม ก็น้องๆครึ่งกิโลนั่นแหละ ดังนั้นหากท่านจะเอาดีทางลดความเครียดด้วยอาหารก็ตั้งเป้าตัวเลขครึ่งกิโลไว้ก็ง่ายดี กินได้ถึงไม่ถึงก็ไม่เป็นไร ไม่ซีเรียส

ถามว่าทำไมกินผักผลไม้มากถึงเครียดน้อยลง เออ เหตุผลที่แท้จริงก็ไม่มีใครรู้เหมือนกัน ได้แต่คาดเดากันไปต่างๆนาๆ ถ้าจะให้หมอสันต์ช่วยเดาอีกคน หมอสันต์เดาว่าคงเป็นเพราะพืชผักผลไม้เป็นแหล่งของสารอาหารที่หลากหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามิน แร่ธาตุ ฟลาโวนอยด์ และแคโรตินอยด์ซึ่งวงการแพทย์รู้อยู่แล้วว่าลดการอักเสบ (inflammation) และลดกลไกสร้างความเสื่อมของเนื้อเยื่อ (oxidative stress) ซึ่งเป็นสิ่งตรวจพบในเนื้อเยื่อประสาทสมองและเนื้อเยื่ออื่นๆของผู้มีความเครียด

2.. ถามว่ามีเหตุอื่นอีกไหมที่เป็นเหตุร่วมของความเครียดในหมู่คนที่อยู่ใกล้ชิดกัน ตอบว่ามีสิครับ เหตุที่แท้จริงของความเครียดในยุคนี้ก็คือนิสัย “ขี้คิด” หรือการชอบรีไซเคิ้ลความคิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความคิดเก่าๆบูดๆเน่าๆที่วนเวียนอยู่ในหัวซ้ำซากไม่ไปไหนสักที เปรียบง่ายๆหากความคิดเป็นขี้ อุ๊บ..ขอโทษ เป็นอุจจาระ คนขี้เครียดก็คือคนที่ท้องเสียบักโกรกไม่หยุดหย่อนเบรคไม่อยู่ เรียกว่าเป็นท้องเสียทางใจ หรือ mental diarrhea หิ หิ คำนี้ไม่ใช่ศัพท์แพทย์ดอกนะ แต่หมอสันต์คิดขึ้นมาอธิบายให้ท่านผู้อ่านเข้าใจง่าย ในชีวิตจริงเวลาที่คนไข้ท้องเสียบักโกรกรุนแรง วิธีรักษามาตรฐานของแพทย์คือขั้นแรกต้องห้ามกินอะไรเข้าทางปากทั้งสิ้น หมอและพยาบาลเรียกสั้นๆว่าทำ NPO ย่อมาจาก nothing per mouth อาศัยแต่ให้น้ำเกลือเข้าทางหลอดเลือดอย่างเดียว พอไม่มีอะไรเข้าไปถึงลำไส้อาการท้องเสียก็จะค่อยๆหาย หลักอันนี้ใช้รักษาครอบครัวของคุณซึ่งเป็นท้องเสียทางใจได้ด้วย การ NPO ทางใจก็คือการหยุดรับสื่อกระตุ้นความคิดทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นข่าว ทีวี วิดิโอคลิป ไลน์ เฟซ ไอแพด ไอโฟน เม้าท์ เม้นท์ หยุดรับหมด หากได้ยินมาโดยบังเอิญก็ทิ้งไปเสียไม่ไปคิดอะไรต่อยอด หากแม้จะหยุดรับหมดแล้วยังมีความคิดป๊อบขึ้นมาในหัวเองก็ให้เพิกเฉยต่อมันเสียไม่ไปคิดอะไรต่อยอด ให้ฝึกอยู่โดยไม่คิดอะไรเลยสักวันสองวัน แล้วอาการท้องเสียทางใจหรือ mental diarrhea มันก็จะหายไปเอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Simone Radavelli-Bagatini, Lauren C. Blekkenhorst, Marc Sim, Richard L. Prince, Nicola P. Bondonno, Catherine P. Bondonno, Richard Woodman, Reindolf Anokye, James Dimmock, Ben Jackson, Leesa Costello, Amanda Devine, Mandy J. Stanley, Joanne M. Dickson, Dianna J. Magliano, Jonathan E. Shaw, Robin M. Daly, Jonathan M. Hodgson, Joshua R. Lewis. Fruit and vegetable intake is inversely associated with perceived stress across the adult lifespanClinical Nutrition, 2021; 40 (5): 2860 DOI: 10.1016/j.clnu.2021.03.043
[อ่านต่อ...]

15 มิถุนายน 2564

ถามเรื่องเครื่อง Bio feedback

สวัสดีค่ะ นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์

พอดีหนูได้มีโอกาสไปตรวจร่างกายด้วยเครื่องที่ทางคลีนิคเรียกว่า Biofeedback scan แล้วผลออกมาเลวร้ายมากบอกว่ามีค่ามะเร็งสูง อยากทราบว่าการตรวจลัษณะนี้เชื่อถือได้มั้ยคะ เพราะหลังจากตรวจเสร็จเค้าเสนออาหารเสริมช่วยซ่อมแซมนู่นนั่นนี่สรุปทั้งหมดเกือบหมื่นบาทค่ะหนูก็ซื้อมา แถมขายโปรแกรมนำเลือดไปตรวจมะเร็งอีกหมื่นกว่าบาทอีกค่ะ ตอนนี้หนูหาข้อมูลการตรวจแบบนี้อ่านก็เห็นว่าส่วนใหญ่ใช้ในการบำบัดความเครียด อยากทราบว่าการทำงานของเครื่องตรวจเซลล์ที่มีการแบ่งตัวผิดปกติได้ด้วยหรือไม่คะ
แนบภาพตัวอย่างวิธีการตรวจมาด้วยและผลที่เครื่องอ่านออกมาค่ะ

ขอบคุณ​มากๆค่ะ และขออภัยที่รบกวนด้วยนะคะ

…………………………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าไปตรวจเครื่อง Biofeedback scan แล้วผลบอกว่ามีค่ามะเร็งสูง อยากทราบว่าการตรวจลักษณะนี้เชื่อถือได้มั้ยคะ ตอบว่าเชื่อถือไม่ได้หรอกครับ ไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์นอกจากการตรวจด้วยภาพเช่น เอ็กซเรย์ MRI, CT, Ultrasound ที่ใช้กันอยู่ตามโรงพยาบาลทั่วไปแล้ว ไม่มีหลักฐานวิทยาศาตร์แม้แต่ชิ้นเดียวที่ยืนยันว่ามีเครื่องแบบอื่นใดที่ตรวจแล้วบอกได้เลยว่าจะเป็นหรือไม่เป็นมะเร็ง

2. ถามว่าหลังจากตรวจเสร็จเค้าเสนออาหารเสริมช่วยซ่อมแซมนู่นนั่นนี่ หมายความว่าอย่างไรคะ แถมขายโปรแกรมนำเลือดไปตรวจมะเร็งอีกหมื่นกว่าบาทอีกค่ะ ตอบว่าก็หมายความว่าเขาสร้างการตรวจขึ้นมาเพื่อหาทางขายของให้คุณนะสิครับ

ก่อนอื่นอย่าเข้าใจผมผิด ผมไม่ได้ต่อต้านการซื้อของการขายของนะ โลกของเราทุกวันนี้เป็นโลกของการตลาดหรือ market economy ถ้าไม่มีการซื้อขายอะไรกันโลกมันก็ดูเหมือนจะหยุดหมุนเอาเลยทีเดียว ดังนั้นใครใคร่ซื้อซื้อ ใครใคร่ขายขาย ผมไม่ได้ต่อต้าน แต่คุณถามมาว่าเขาพูดอย่างนั้นมันจริงหรือเปล่า ในฐานะหมออาชีพซึ่งรู้เรื่องตื้นลึกหนาบางดีกว่าคนนอกวงการผมก็ต้องตอบคุณไปตรงๆว่ามันไม่จริง ส่วนประเด็นที่คุณอยากซื้อวิตามินของคุณหมื่นกว่าบาทไปกินผมก็โอเค.กับคุณไม่ได้ว่าอะไร แต่ถ้าคนทั่วไปถามผมว่าอยากกินวิตามินอาหารเสริมทำอย่างไรดี ผมแนะนำว่าให้ไปร้านขายยาที่มีเภสัชกรอยู่แล้วขอคำแนะนำจากเขา ซึ่งสนนราคามันควรจะเป็นหลักร้อย อย่างมากก็หลักพันสองพัน ไม่ใช่หลักหมื่น สำหรับคนที่ไม่อยากเสียเงินเลยก็กินพืชผักผลไม้ให้หลากหลายแทน เพราะพืชผักผลไม้ ถั่ว งา นัท นั่นแหละคือแหล่งวิตามินแร่ธาตุและอาหารเสริมตามธรรมชาติ กินให้หลากหลายเข้าไว้รับประกันว่าพอแน่ไม่มีขาด ยกเว้นวิตามินดีซึ่งต้องขยันตากแดดเอา

3.. ถามว่าหาข้อมูลการตรวจด้วยเครื่องแบบนี้อ่านแล้วก็เห็นว่าส่วนใหญ่ใช้ในการบำบัดความเครียด ถูกต้องไหม ตอบว่าถูกต้องแล้วคร้าบ เครื่อง biofeedback ผลิตขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการฝึกผ่อนคลายร่างกาย แต่การจะผ่อนคลายร่างกายมันทำได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไรวัดก็ได้ หายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้สักพัก ยิ้มที่มุมปาก แล้วหายใจออกช้าๆ พร้อมกับสั่งให้กล้ามเนื้อทั่วให้ผ่อนคลาย ผ่อนคลาย ทิ้งความคิดไปเสียด้วย ไม่ต้องคิดอะไร ทำซ้ำๆอย่างนี้หลายๆครั้งก็ผ่อนคลายร่างกายหายเครียดได้แล้ว ไม่ต้องใช้เครื่องอะไรเลย ถ้าเครื่องมันดีกว่าไม่ใช้เครื่องป่านนี้คนขายเครื่องก็คงบรรลุธรรมกันไปหมดแล้ว

4.. ถามว่าการทำงานของเครื่องนี้ตรวจเซลล์ที่มีการแบ่งตัวผิดปกติได้ด้วยหรือไม่คะ (แนบภาพมาด้วย) ตอบว่าภาพการตรวจที่แนบมานั้นเป็นการตรวจดูอัตราการหายใจ และอัตราการเต้นของหัวใจโดยใช้ไฟฟ้าจากร่างกายมาแปลงเป็นตัวเลขแสดงบนจอภาพครับ ไม่เกี่ยวอะไรกับการแบ่งตัวของเซล การตรวจการแบ่งตัวของเซล (ว่าแบ่งตัวแบบเซลมะเร็งหรือเปล่า) มีวิธีเดียวคือต้องตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อของอวัยวะนั้นๆมาย้อมสีส่องกล้องดู โดยต้องให้ศัลยแพทย์หรือสูตินรีแพทย์เป็นคนตัด และให้พยาธิแพทย์ที่ฝึกอบรมมาดีแล้วเป็นคนอ่านจึงจะบอกผลได้ในระดับที่น่าเชื่อถือ

5.. ข้อนี้หมอสันต์แถมให้โดยคุณไม่ได้ถาม ถ้าคุณอยากมีสุขภาพดี คุณไม่ต้องขยันไปตรวจนู่นนี่นั่นหรอกครับ ยิ่งตรวจมากเดี๋ยวคุณจะได้เจ็บตัวฟรีและป่วยเพราะการตรวจเหล่านั้น ถ้าคุณอยากมีสุขภาพดี อยากลดอัตราตายของตัวเองลง ผมแนะนำให้คุณใช้ตัวชี้วัดง่ายๆเจ็ดตัวซึ่งตรวจวัดโดยแพทย์ที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ คือน้ำหนัก ความดัน ไขมัน น้ำตาล การกินพืชผักผลไม้ การออกกำลังกาย และการไม่สูบบุหรี่ เมื่อได้ผลตรวจมาแล้วตัวไหนผิดปกติก็ขยันทำให้มันปกติเสียด้วยการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตก็จะช่วยให้คุณทำให้ทั้งเจ็ดตัวนี้ปกติได้ ซึ่งข้อมูลที่วงการแพทย์มีบ่งชี้ว่าหากดัชนีทั้งเจ็ดตัวนี้ปกติโอกาสที่คุณจะเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรจะลดลงกว่าของคนทั่วไปถึง 91% ขณะที่การขยันไปตรวจโน่นนี่นั่นไม่ได้ลดโอกาสเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรของคุณลงมาเลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

14 มิถุนายน 2564

โรคหลอดเลือดแดงอักเสบแบบเป็นปม Polyarteritis Nodosa

เรียนคุณหมอสันต์

อยากถามถึงโรค polyarteritis nodosa (PAN) ว่ามันเป็นอย่างไร มันเกิดจากอะไร หมอจะรักษาโดยสะเตียรอยด์แต่ไม่อยากได้ มันจำเป็นหรือเปล่าเพราะไม่ชอบใช้ยากดภูมิคุ้มกันอย่างสะเตียรอยด์ มีวิธีรักษาอย่างอื่นไหม เช่นใช้การรักษาทางเลือก หรืออาหาร หรือธรรมชาติบำบัด

ตอบครับ

1.. ถามว่าโรค polyarteritis nodosa คืออะไร ตอบว่าคือโรคที่เกิดการอักเสบของหลอดเลือดแดงขนาดกลางที่ส่วนใหญ่เลี้ยงอวัยวะภายใน เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ จนทำให้หลอดเลือดแดงโป่งพองหรือแตกจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

2..ถามว่าโรคนี้มีอาการอย่างไรและวินิจฉัยได้อย่างไร ตอบว่าวิทยาลัยโรคข้ออเมริกัน (ACR) ได้ให้เกณฑ์ไว้ว่าการจะวินิจฉัยจากอาการว่าใครเป็นโรคนี้ต้องมีอย่างน้อยสามข้อในสิบข้อต่อไปนี้ โดยที่ไม่มีสาเหตุจากโรคอื่น

2.1 น้ำหนักลดอย่างน้อย 4 กก.ขึ้นไป

2.2 มีผื่นผิวหนังแบบตาข่ายแห (Livedo reticularis)

2.3 มีอาการปวดหรือกดเจ็บที่ลูกอัณฑะ (ถ้าเป็นชาย)

2.4 ปวดหรือเปลี้ยหรือกดเจ็บที่กล้ามเนื้อขา

2.5 ปลายประสาทเสียการทำงานเส้นเดียวหรือหลายเส้น

2.6 ความดันเลือดตัวล่างสูงเกิน 90 mm/Hg

2.7 ไตเสียการทำงานโดย BUN หรือ creatinine โดยที่ร่างกายไม่ได้ขาดน้ำ

2.8 มีตัวเชื้อ (HBsAg) หรือมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบบี. (HBsAb) อยู่ในเลือด

2.9 ตรวจหลอดเลือดด้วยการฉีดสีพบหลอดเลือดเลี้ยงอวัยวะภายในโป่งพองหรืออุดตัน

2.10 ตัดชิ้นเนื้อหลอดเลือดขนาดกลางมาตรวจพบเม็ดเลือดขาวนิวโตรฟิลแบบหลากหลายรูปร่าง (PMN) อยู่ในผนังหลอดเลือด

3.. ถามว่าโรคนี้รักษาอย่างไร ตรงนี้มันเป็นเรื่องของหมอเขา หมอที่รักษาโรคนี้คือหมอโรคข้อ (rheumatologist) ผมตอบแค่ให้คุณรู้ไว้แค่นั้นแต่คุณจะเอาไปรักษาตัวเองไม่ได้นะ ว่าหมอเขารักษาโดยใช้ยากดภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งสะเตียรอยด์ซึ่งอาจให้ร่วมกับ cyclophosphamide ในกรณีมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี.ร่วมด้วยก็ให้ยาต้านไวรัสร่วม กรณีดื้อสะเตียรอยด์ก็อาจใช้ยา “ล็อคเป้า” ที่ได้จากการโคลนนิ่งเม็ดเลือดขาว (monoclonal antibody) เช่นยา tocilizumab, infliximab กรณีรุนแรงมากทำอย่างไรก็เอาไม่อยู่เลยก็อาจต้องถ่ายน้ำเหลือง (plasma exchange)

4. ถามว่าหมอเขาจะให้สะเตียรอยด์แต่ไม่อยากเอาจะดีไหม ตอบว่าคิดอย่างนั้นไม่ดีครับ โรคนี้ตั้งใจให้หมอโรคข้อเขารักษาให้จบเป็นดีที่สุด ส่วนการจะใช้อาหารหรือธรรมชาติบำบัดคุณก็ทำควบคู่ไปกับการรักษาของหมอเขาได้ เพราะโรคนี้ยามที่มัน “เห่อ” ขึ้นมาแล้ว หากไม่รักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกันเลยโอกาสรอดตายใน 5 ปีมีเพียง 13% มิใยว่าคุณจะใช้อาหารหรือธรรมชาติบำบัดอย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่จะเส็งไปภายในสามเดือนแรกนับตั้งแต่โรคเริ่มเกิดขึ้น แต่ถ้าได้สะเตียรอยด์อัตรารอดชีวิตเพิ่มเป็น 50-60% ยิ่งถ้ามีการควบยากดภูมิคุ้มกันหลายตัวอัตรารอดชีวิตยิ่งเพิ่มขึ้นถึงมากกว่า 80% ซึ่งก็ถือว่าเป็นอัตรารอดชีวิตที่ใกล้เคียงกับคนปกติ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Lightfoot RW Jr, Michel BA, Bloch DA, Hunder GG, Zvaifler NJ, McShane DJ. The American College of Rheumatology 1990 criteria for the classification of polyarteritis nodosa. Arthritis Rheum. 1990 Aug. 33(8):1088-93. [Medline].
  2. de Menthon M, Mahr A. Treating polyarteritis nodosa: current state of the art. Clin Exp Rheumatol. 2011 Jan-Feb. 29(1 Suppl 64):S110-6. [Medline].
  3. Akiyama M, Kaneko Y, Takeuchi T. Tocilizumab for the treatment of polyarteritis nodosa: a systematic literature review. Ann Rheum Dis. 2020 Sep 9. [Medline].

[อ่านต่อ...]

07 มิถุนายน 2564

โปรแกรมฟื้นฟูสุขภาพหลังป่วย (Active and Goal-oriented Rehabilitation Program - AGRP)

คอนเซ็พท์

ให้ผู้อยู่ในระยะหลังการเจ็บป่วยระดับหนัก แต่จบขั้นตอนการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว ได้มาฟื้นฟูร่างกายและจิตใจให้กลับมามีความพร้อมที่จะใช้ชีวิตปกติต่อไปได้ โดยใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนหากจำเป็น ใช้แนวทางฟื้นฟูตัวเองอย่างจริงจังและมีเป้าหมาย (active and goal oriented rehabilitation) ด้วยแนวทางการผสมผสาน (1) การออกกำลังกายฟื้นฟูและฝึกกล้ามเนื้อ (2) โภชนาการที่มีพืชเป็นหลักแบบหลากหลาย (3) การฟื้นฟูจิตใจด้วยการผสานโยคะ ไทชิ สมาธิ และการวางความคิด (4) การบำบัดทางเลือกแบบแพทย์แผนไทยและอายุรเวดะแบบอินเดีย (5) การทำอาชีวะบำบัดเพื่อเตรียมความพร้อมในการกลับไปทำงานและใช้ชีวิต

โปรแกรม AGRP เหมาะสำหรับใครบ้าง

  1. ผู้ป่วยหลังเกิดอัมพาตเฉียบพลัน ที่จบการรักษาในโรงพยาบาลและกลับมาบ้านแล้วแต่ต้องการฟื้นฟูตัวเองแบบเข้มข้น
  2. ผู้ป่วยหลังผ่าตัดขนาดใหญ่ เช่นผ่าตัดหัวใจ ทำบอลลูนใส่ขดลวด ผ่าตัดกระดูก ที่จบการรักษาในโรงพยาบาลและกลับบ้านแล้วแต่ต้องการฟื้นฟูตัวเองเต็มกำลัง
  3. ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เป็นโรคที่พลิกผันได้ด้วยตนเอง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน
  4. ผู้สูงอายุที่มีปัญหาอ่อนเปลี้ยไร้เรี่ยวแรง (Frailty syndrome) ที่ประสงค์จะเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงเพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
  5. คนทั่วไปที่ประสงค์จะปลีกมาตัวฟูมฟักดูแลสุขภาพตนเองกับธรรมชาติสักระยะหนึ่ง

โปรแกรม AGRP ไม่เหมาะสำหรับใครบ้าง

  1. ไม่เหมาะกับผู้ป่วยหรือผู้สูงวัยที่เป็นกลุ่มต้องพึ่งพา (dependent) ยกเว้นกรณีที่มีผู้ดูแล (care giver) ประจำตัวมาด้วย เพราะ AGRP เป็นโปรแกรมเฉพาะช่วงกลางวัน ช่วงกลางคืนต้องอยู่เองโดยไม่มีใครมาดูแล
  2. ไม่เหมาะกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย (end of life) เพราะ AGRP มุ่งฟื้นฟูผู้ที่มีศักยภาพที่จะกลับไปใช้ชีวิตปกติอย่างมีคุณภาพได้ ไม่ได้มุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตในระยะสุดท้ายซึ่งเป็นกิจกรรมที่แตกต่างกัน
  3. ไม่เหมาะผู้ป่วยโรคติดต่อหรือโรคติดเชื้อ เพราะไม่มีระบบรักษาโรคติดเชื้อ
  4. ไม่เหมาะกับผู้ที่ทนความเหงาไม่ได้ เพราะแนวทางของ AGRP คือมุ่งมั่นฟื้นฟูตัวเองจนเป็นเอกเทศไม่ต้องพึ่งใคร ต้องฝึกอยู่กับตัวเองแบบปลีกวิเวก โดยพยายามไม่คลุกคลีกับใคร

โปรแกรม AGRP ไม่ใช่กรณีต่อไปนี้

  1. ไม่ใช่สถานพยาบาลชนิดรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน แต่เป็นโปรแกรมฝึกสอนให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองในบรรยากาศของบ้าน โดยจัดที่พักให้เช่นเดียวกับผู้เข้าฝึกอบรมในโปรแกรมสุขภาพอื่นๆ การฝึกอบรมทำโดยทีมงานที่ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล แพทย์แผนไทย ผู้ช่วยแพทย์ ครูสอนออกกำลังกาย และนักกายภาพบำบัดรับเชิญ โดยให้การฝึกอบรมและช่วยฟื้นฟูเฉพาะเวลากลางวัน นอกเวลาผู้เข้ารับการฟื้นฟูต้องอยู่ด้วยตนเองในที่พักสำหรับผู้เข้ารับการฝึกอบรมในโปรแกรมต่างๆของเวลเนสวีแคร์
  2. ไม่ใช่บ้านพักคนชรา โปรแกรมฟื้นฟูมีระยะเวลาจำกัดและมีเป้าหมายเฉพาะกิจสำหรับผู้รับการฟื้นฟูแต่ละคน ไม่ใช่บ้านพักระยะยาวที่จะมาอยู่ต่อเนื่องไปตลอดเป็นการถาวร
  3. ไม่ใช่สถานดูแลผู้ป่วยกลุ่มต้องพึ่งพา (nursing home) เวลเนสวีแคร์เป็นสถานฝึกอบรมด้านสุขภาพ ไม่ใช่สถานพยาบาล จึงไม่สามารถรับดูแลผู้ป่วยกลุ่มต้องพึ่งพาในช่วงนอกเวลาทำการ (กลางคืน) ได้ เว้นเสียแต่จะมีผู้ดูแล (care giver) ส่วนตัวมาเองและดูแลกันเองเหมือนอยู่ที่บ้านตนเอง

ข้อด้อยของโปรแกรม AGRP

  1. ทีมงานแพทย์พยาบาลรับผิดชอบให้การฝึกสอนและดูแลผู้มารับการฟื้นฟูเฉพาะช่วงเวลาทำการของศูนย์ (กลางวัน) เท่านั้น นอกเวลาทำการผู้มารับการฟื้นฟูที่เข้าพักในที่พักที่เวลเนสวีแคร์จัดให้สำหรับผู้เข้าฝึกอบรมทุกโปรแกรมต้องรับผิดชอบสุขภาพและความเป็นอยู่ของตัวเองเสมือนอยู่ที่บ้านโดยไม่มีแพทย์หรือพยาบาลอยู่ดูแลประจำ (ยกเว้นกรณีจ้างผู้ดูแลส่วนตัว) ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์เกิดขึ้นในระหว่างกลางคืน เวลเนสวีแคร์จะช่วยประสานงานให้ได้รับบริการของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติและของรพ.มวกเหล็ก เวลเนสวีแคร์เป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านสุขภาพไม่ใช่สถานพยาบาล จึงไม่มีห้องฉุกเฉินของตัวเอง และไม่มีแพทย์หรือพยาบาลอยู่ประจำตลอดเวลา
  2. ผู้เข้ามารับการฟื้นฟูจะได้พบกับแพทย์ผู้เป็นหัวหน้าทีมฟื้นฟูเฉพาะครั้งแรกหนึ่งครั้งเพื่อประเมินและวางแผนการฟื้นฟู หลังจากนั้นแพทย์จะมาติดตามดูผลการฟื้นฟูเป็นครั้งคราวตามความจำเป็น ส่วนใหญ่ประมาณสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในระหว่างการฟื้นฟูจะมีพยาบาลและผู้ดูแล (caregiver) คอยแนะนำดูแลในเวลาทำการทุกวัน แต่จะไม่มีแพทย์มาตรวจเยี่ยมทุกวัน

ข้อดีของโปรแกรม AGRP

  1. มุ่งฟื้นฟูร่างกายอย่างหวังผล (goal-oriented) ด้วยวิธีกระตุ้นให้ผู้มารับการฟื้นฟูลงมือทำด้วยตัวเอง (active)
  2. มองการฟื้นฟูร่างกายแบบองค์รวม ทั้งการออกกำลังกาย อาหาร และการฟื้นฟูจิตใจ ในบรรยากาศแบบบ้านและแบบธรรมชาติ
  3. ใช้ประโยชน์จากการบำบัดทางเลือกของแพทย์แผนไทยและอายุรเวดะแบบอินเดีย
  4. ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเช่น ต้นหมากรากไม้ แสงแดด ดิน น้ำ ไฟ และอากาศบริสุทธิ์ ช่วยในการฟื้นฟูร่างกาย
  5. การฟื้นฟูร่างกายสามารถทำคู่ขนานไปพร้อมกับการรักษาโรคด้วยยาที่ได้จากโรงพยาบาลในลักษณะเสริมซึ่งกันและกันได้

ค่าลงทะเบียนเข้าโปรแกรม AGRP

สัปดาห์ละ 20,000 บาท รวมโปรแกรมการฝึก อาหาร (มังสวิรัติแบบมีไข่) สามมื้อ และที่พักหนึ่งห้อง การบำบัดนวดน้ำมันแบบอายุรเวดะหนึ่งครั้ง การนวดบำบัดแบบแพทย์แผนไทยหนึ่งครั้ง

ในกรณีที่นำผู้ดูแล (care giver) ส่วนตัวมาด้วย หากพักห้องเดียวกันเก็บเงินเพิ่มวันละ 500 บาท แต่หากพักห้องแยกออกไปต้องจ่ายค่าห้องเหมือนผู้มาพักค้างคืนทั่วไป (ราคาเฉพาะกาลถึง 31 สค. 64 คือวันละ 1000 บาทพร้อมอาหารสามมื้อ)

วิธีลงทะเบียนเข้าโปรแกรม AGRP

โทรศัพท์สมัครลงทะเบียนกับพยาบาลผู้ดูแลโครงการ คุณศุภรัตน์ (โอ๋) เบอร์​โทร 065-586-2660, หรือ 0937095482 หรือไลน์​ไอดี 0655862660 หรืออีเมล์​totenmophph@gmail.com

เวลเนสวีแคร์สงวนสิทธิ์จะรับเฉพาะผู้สมัครที่แพทย์ได้ประเมินจากข้อมูลเบื้องต้นแล้วเห็นว่าจะได้ประโยชน์จากโปรแกรมอย่างแท้จริงเท่านั้น ในกรณีที่มีผู้รอคิวเข้าโปรแกรมหลายคน จะให้สิทธิ์ผู้จองก่อนได้ก่อน ในกรณีที่ผู้ที่กำลังฟื้นฟูอยู่ขยายเวลาการฟื้นฟูออกไป ท่านที่รอคิวก็จะต้องยืดเวลารอต่อไปอีกด้วย

อนึ่ง เวลเนสวีแคร์สงวนสิทธิ์ที่จะลัดคิวให้ผู้มีความต้องการเร่งด่วนให้ได้เข้ารับการฟื้นฟูก่อน โดยถือว่าผู้ที่เพิ่งเกิดอัมพาตเฉียบพลัน หรือผู้เพิ่งผ่านอุบัติเหตุครั้งใหญ่ หรือเพิ่งผ่านการผ่าตัดครั้งใหญ่มาหมาดๆ เป็นกรณีเร่งด่วน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

06 มิถุนายน 2564

03 มิถุนายน 2564

เรื่องเล่าเฉพาะสำหรับผู้แสวงหาด้านจิตวิญญาณ

ผมประสบอุบัติเหตุอย่างไม่คาดฝัน ต้องเข้าผ่าตัดครั้งใหญ่ ได้เลือดมาก ได้น้ำเกลือมาก เรื่องที่จะเล่าเริ่มตรงที่เมื่อการผ่าตัดเสร็จแล้ว ผมมารู้ตัวอีกครั้งเหมือนมีใครมาปลุกให้ตื่นแรงๆ ผมตื่นขึ้นมาตามองอะไรไม่เห็น รู้แต่ว่าอึดอัดหายใจไม่ออก พยายามดิ้นก็ไม่สำเร็จเพราะพบว่าทั้งตัวขยับไม่ได้เลย รู้แต่ว่าเตียงที่ตัวเองนอนกำลังเคลื่อนที่ไป ผมเดาว่าคงจะเป็นระหว่างการขนย้ายผู้ป่วยออกจากห้องผ่าตัดไปห้องไอซียู. ผมพยายามพูดให้ทุกคนรู้ว่าผมหายใจไม่ออก แต่ก็ไม่เป็นผล ขณะที่ความอึดอัดกำลังถึงจุดจะไปต่อไม่ได้แล้วนั้น ข้างนอกก็พลันมีแสงเรื่อๆสีนวลๆขึ้น ค่อยๆแผ่เข้ามาใกล้เตียงที่ผมนอน ผมรู้สึกสบาย หายอึดอัดเป็นปลิดทิ้งจนลืมร่างกายไปเลย

ผมเป็นคนที่นานๆครั้งจะมีประสบการณ์ฝันแบบที่ฝรั่งเขาเรียกว่า vivid dream คือผมมักจะฝันว่าผมออกจากตัวเองที่นอนอยู่แล้วลอยไปไหนต่อไหน และที่ที่ผมชอบไปบ่อยจะเป็นที่หนึ่งซึ่งผมเองก็ไม่รู้ว่าเป็นที่ไหนในโลกนี้ แต่ผมไปที่นั่นบ่อยจนผมจำหุบเขาและบ้านทรงเสปญเก่าๆโทรมๆของคนจนในชนบทสี่ห้าหลังได้ มาคราวนี้การที่ผมออกมาอยู่นอกร่างกายอีกครั้งจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพียงแต่ว่าคราวนี้มันเป็นความตื่นมากกว่าความฝันเท่านั้น ผมมองไม่เห็นร่างกายของตัวเอง เพราะแสงเรื่อๆข้างนอกนั่นจ้าขึ้นๆจนมองอะไรอย่างอื่นไม่เห็นเลย รู้สึกแต่ความสบายผ่อนคลาย และรู้สึกว่าผมกับแสงนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน นี่เป็นประสบการณ์ใหม่อย่างที่ 1. ที่ต้องย้ำไว้หน่อยนะ ว่าในยามที่ไม่มีร่างกายแล้ว ความเป็นเราหรือเป็น “ฉัน” นี้มีเพียงแค่ความตื่น ความสามารถรับรู้อย่างสบายๆบวกกับความเป็นแสงอุ่นๆเรื่อๆ แค่นั้นก็ประกอบกันเป็น “ฉัน” ได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ไม่ต้องมี หัว หู หน้า ตา แขน ขา อย่าง “หมอสันต์” ตัวเป็นๆเลย

แล้วผมก็ได้ยินความคิดสองความคิดสนทนากัน

“ข้างนอกบรรยากาศดีมาก ไปเดินเล่นกันก่อนไหม ทางนี้เดี๋ยวค่อยกลับมาก็ได้ “

นี่เป็นประสบการณ์ใหม่อย่างที่ 2. ว่าแม้ในที่ที่พ้นไปจากร่างกายแล้ว พ้นไปจากการรับรู้ของอายตนะทั้งห้าของร่างกายแล้ว แต่ความคิดยังมีอยู่นะ นี่เป็นประเด็นสำคัญ เพียงแต่ว่าความคิดในภาวะที่ไม่มีร่างกายนี้มันเป็นความคิดที่แตกต่างจากความคิดปกติซึ่งมีการใช้ตรรกะเหตุผลและมีผลประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่นี่มันเป็นแค่ความคิดที่ลอยขึ้นมาแบบเนิบๆไร้ฟีลลิ่งใดๆ ไม่มีเอี่ยวอะไรกับบุคคลที่ชื่อ “หมอสันต์” ด้วย แล้วก็ได้ยินอีกความคิดหนึ่งตอบด้วยอารมณ์เนิบๆพอๆกันว่า

“แต่กรณีนี้เป็น air way obstruction (ทางเดินลมหายใจถูกอุดกั้น) นะ ตามหลักมันต้องแก้ไขตรงนี้ก่อน เรื่องอื่นค่อยว่ากัน”

ฟังสองความคิดเขาคุยกันราวกับฟังอาจารย์แพทย์กับแพทย์ประจำบ้านคุยกันเรื่องคนไข้หรือกำลังสอนวิชาซี.พี.อาร์.กันอยู่ ไม่มีความรู้สึกเร่งรีบกังวลเป็นห่วงลูกเมียหรืออยากกลับหรือไม่อยากกลับใดๆทั้งสิ้น เป็นแค่โยนความคิดขึ้นมาแชร์กันเฉยๆแบบไร้อารมณ์

ยังไม่ทันที่จะรู้ว่าข้อสรุปสุดท้ายจะเป็นอย่างไรผมก็เหมือนคนถูกโยนโครมลงบนพื้นแข็ง ความอึดอัดขัดข้องเจ็บปวดแน่นหน้าอกหายใจไม่ออกกลับมาเกิดขึ้นทันทีและคุกคามจนอกแทบระเบิด แสงเรื่อๆที่เคยสว่างจ้านั้นหายไปไหนไม่รู้แล้ว ผมพยายามลืมตา เห็นหัวคนมุงอยู่รอบผมไม่ต่ำกว่าห้าคน หนึ่งในนั้นเห็นเป็นผมฟูๆของหมอสมวงศ์ ผมพยายามพูด และได้ยินเสียงพูดของตัวเองกระท่อนกระแท่น ว่า

“ผมหายใจไม่ออก ผมหายใจไม่ออก”

ผมทดลองหายใจให้แรงขึ้น กลับยิ่งหายใจไม่ออกยิ่งขึ้น ผมคิดว่าผมคงจะเกิดภาวะลมคั่งในทรวงอก (tension pneumothorax) ซึ่งมักพบนานๆครั้งในคนประสบอุบัติเหตุระดับรุนแรง จึงพยายามเอานิ้วชี้ทั้งสองข้างชี้ที่ปอดตัวเองเพื่อให้ใครสักคนเอาหูฟังมาฟังเสียงหายใจของผมจะได้วินิจฉัยได้ว่าผมเป็นอะไร แต่ไม่ได้ผล เพราะผมขยับมือผมไม่ได้ ผมไม่รู้ว่ามือและแขนมันอยู่ในเฝือกทั้งสองข้าง ผมพยายามหาวิธีช่วยพวกเขาวินิจฉัยให้ได้ทันเวลา จึงรวบรวมเสียงตะโกนว่า

“ออกซิเจน แซท”

ความหมายคือให้พวกเขาตรวจเปอร์เซ็นต์ของออกซิเจนในเลือด จะได้วินิจฉัยได้ว่าผมมีปัญหากับการหายใจ และก็ได้ผล อย่างน้อยผมก็ได้ยินเสียงหมอพอตะโกนตอบกลับว่า

“แซท 100%”

ผมได้ยินแล้วก็บอกตัวเองว่าใจเย็นๆ ใจเย็นๆ ยังมีเวลาอีกอย่างน้อยสี่นาที เพราะเมื่อทางเดินลมหายใจถูกอุดกั้น สมองมีเวลานับจากที่ออกซิเจนในเลือดค่อยๆลดลงจากภาวะปกตินานถึง 4 นาที ผมจึงผ่อนคลายตัวเองลง แล้วก็ได้ยินเสียงคนรอบตัวคนหนึ่งพูดว่า

“ออกซิเจนแซทดร็อป”

นั่นเป็นข่าวดี เพราะแสดงว่าตอนนี้พวกเขารู้แล้วว่าผมกำลังมีปัญหากับระบบการหายใจ ขั้นต่อไปคงต้องมีคนใดคนหนึ่งฟังปอดของผม แล้วก็ได้ยินอีกเสียงร้องสั่งการว่า

“เปลี่ยนนาซอลแคทเป็นมาสค์วิทแบ็ก”

แปลว่าเขาหาทางเพิ่มออกซิเจนให้ผมโดยการเปลี่ยนสายออกซิเจนทางจมูกซึ่งให้ออกซิเจนแค่ยี่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์เป็นหน้ากากที่มีถุงเก็บออกซิเจนอยู่ด้วย ซึ่งจะให้ออกซิเจนได้มากถึง 70% ข่าวนั้นยิ่งทำให้ผมผ่อนคลายได้มากขึ้น ผมตั้งสติค่อยๆทดลอง ค่อยๆหายใจเข้า ทำไม่ได้ เพราะลมมันคับอยู่เต็มปอดแล้ว ผมทดลองค่อยๆผ่อนเอาลมหายใจออก มันพอออกได้แฮะ จากนั้นก็ใจเย็นๆค่อยๆหายใจเข้า มันก็พอเข้าออกได้นิดหนึ่งๆแล้วค่อยๆได้มากขึ้นๆ แถมได้ยินเสียววี้ดในจังหวะหายใจเข้า อย่างน้อยก็ทำให้ผมวินิจฉัยได้แล้วว่าผมไม่น่าจะเป็นลมคั่งในทรวงอก น่าจะเป็นสายเสียงเกร็งตัวเฉียบพลัน (vocal cord spasm) จากการใส่และถอดท่อช่วยหายใจมากกว่า จึงค่อยๆตั้งใจหายใจเข้าช้าๆ ออกช้าๆอย่างบรรจง ความสามารถรับรู้ก็ค่อยกลับมา จนลืมตาเห็นและพูดกับหมอและพยาบาลที่มะรุมมะตุ้มรอบตัวผมอยู่ในเตียงที่ไอซียู.ได้

เหตุการณ์ครั้งนี้ให้ประสบการณ์ใหม่อย่างที่ 3. ด้วย เป็นประสบการณ์เกี่ยวกับความใกล้ชิดระหว่างความเป็นกับความตายว่าชีวิตกับความตายนั้นมันสัมพันธ์กันแนบแน่นเป็นเกลียวเชือก ทำให้ผมยอมรับคอนเซ็พท์การตายว่าเป็นของที่อยู่คู่กับการใช้ชีวิตแบบโมเมนต์ต่อโมเมนต์ โดยรอบเวลาที่จะตัดสินว่าจะอยู่หรือจะตายนั้นสั้นแค่ทุกๆหนึ่งลมหายใจเท่านั้นเอง เพราะที่ปลายของการหายใจออก หากไม่มีการหายใจเข้าเมื่อใด ก็เสร็จมะก้องด้องเมื่อนั้น ดังนั้นอยู่กับตายมันเต้นแทงโก้ไปด้วยกันทุกลมหายใจ ถ้าเผลอปล่อยความรู้ตัวไปขลุกอยู่กับความคิดแม้เพียงลมหายใจเดียว ก็อาจจะเผลอตายไปเรียบร้อยแล้วโดยไม่รู้ตัว

และประสบการณ์ใหม่อย่างที่ 4. ก็คือความตายซึ่งเริ่มด้วยการที่ “ฉัน” ออกไปอยู่นอกร่างกายนี้ แท้จริงแล้วเป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านหรือการมีประสบการณ์อีกอย่างหนึ่งในชีวิตเท่านั้น เพราะแม้องค์ประกอบที่สร้างอีโก้หรือความเป็น “หมอสันต์” อันได้แก่ร่างกาย ความรู้สีก ความจำ และความคิดนี้จะไม่มีแล้ว แต่ “ฉัน” ที่แท้จริงซึ่งอยู่ลึกลงไปนั้นยังมีอยู่ในรูปของความตื่นที่สามารถรับรู้อะไรได้อย่างสบายๆและสงบเย็น และที่สำคัญ การเปลี่ยนผ่านนี้ไม่ได้อึกทึกครึกโครมหรือลำบากหรือน่ากลัวอะไรเลย น่าขำที่ตลอดชีวิตสิ่งที่ผมกลัวมากที่สุดคือความตาย แต่ตอนนี้สิ่งที่ผมกลัวมากที่สุดไม่ใช่ความตายแล้ว แต่ผมกลัวว่าในแต่ละลมหายใจที่กำลังมีชีวิตอยู่นี้ผมจะหมดเวลาในชีวิตไปกับการเผลอปล่อยให้ความสนใจไปขลุกอยู่ในความคิดไร้สาระซึ่งจะพาให้ตัวเองทุกข์ฟรีมากกว่า แทนที่จะได้ใช้เวลานั้นวางความคิดแล้วทำความรู้จักกับ “ฉัน” ที่แท้จริงที่อยู่ข้างในให้มากขึ้น เพราะนั่นน่าจะเป็นหนทางที่จะเปิดให้ผมใช้ชีวิตที่เหลือได้อย่างสงบเย็นและสร้างสรรค์ได้มากที่สุด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]