31 มีนาคม 2566

ทุกประเด็นเกี่ยวกับหัวใจเต้นเร็วแบบ Sinus Tachycardia

(ภาพวันนี้ : ดอกเสลา ยามใกล้จะโรย)

เรียน คุณหมอสันต์
          หนูชื่อ … มีอาการเต้นของหัวใจค่อนข้างเร็วมาก แม้แต่เวลานั่งเฉยๆ อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ 90BPM ขึ้นลงถึง 94BPM เมื่อทำงานกวาดบ้านเพียงเล็กน้อยอัตราการเต้นสูงขึ้นถึง 106BPM พอใจเต้นแรงหนูก็หยุดกวาดบ้าน อัตราการเต้นก็ลดลง แต่ก็ไม่ต่ำกว่า 90BPM เมื่อหนูออกกำลังกายโดยการเดินประมาณ 40 นาที อัตราการเต้นขณะเดินอยู่ที่ 116 BPM ช่วงนี้อัตราการเต้นของหัวใจขณะนั่งเฉยๆจะสูงตลอด 90BPM ขึ้นไป เป็นแบบนี้ตลอดเวลา
          หลังจากที่หนูออกจากแค้มป์ หนูจะทานพืชผักผลไม้เป็นส่วนใหญ่ ทานข้าวกล้องมื้อเที่ยง หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ ของผัดของทอด ออกกำลังกายตอนเช้าด้วยการเดินทุกวันประมาณ 40 นาที โดนแดดเช้า เข้านอนประมาณสามทุ่มโดยนั่งสมาธิทุกคืนประมาณ 10 นาที จะปวดฉี่เวลาตีสองกว่าๆ นอนไม่หลับจึงนั่งสมาธิตามที่คุณหมอแนะนำ นั่งอยู่เกือบครึ่ง-1ชม.ก็นอนหลับได้อีก ตื่นนอนประมาณ 6.30 น. พอตื่นนอนกินน้ำสักไม่เกิน 10 นาที ก็ขับถ่ายได้เลย ระบบขับถ่ายดีกว่าแต่ก่อนมากค่ะ
          เมื่อหัวใจเต้นแรง หนูลองทดลองนั่งหายใจลึกๆแล้วกลั้นหายใจนับ 1-30 จะรู้สึกว่าขณะกลั้นหายใจนั้นหัวใจเต้นแรงมากดูที่นาฬิกาวัดอัตราอยู่ที่ 104BPM ทดลองทำครั้งที่สอง อยู่ที่ 109BPM ขณะกลั้นหายใจรับรู้ได้ว่าหัวใจจะเต้นตุ๊บๆๆๆตลอดจนผ่อนลมหายใจออก ช้าๆ อัตราการเต้นจะผ่อนลงนิดหน่อยแต่ไม่ต่ำกว่า 90BPM ขึ้นไป มีความรู้สึกเหมือนมือสั่นเล็กน้อย
         หนูรบกวนคุณหมอด้วยค่ะ ว่าอาการเหล่านี้เกิดจากอะไร และหนูควรปฏิบัติตนอย่างไร
ด้วยความเคารพอย่างสูง

………………………………………………………………

ตอบครับ

คุณไม่ได้มีความผิดปกติอะไรเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ และคลื่นไฟฟ้าหัวใจก็แสดงว่าการเต้นของหัวใจก็ไม่ได้เต้นผิดจังหวะ เพียงแต่มันเต้นเร็ว (sinus tachycardia) ซึ่งเวลาผู้ป่วยแบบนี้มาหา แพทย์ก็จะไล่เรียงหาสาเหตุไปตามลำดับ คือ

(1) เลือดออกจากหัวใจน้อยเกินไปจนไม่พอเลี้ยงเซลล์ร่างกาย เช่น หัวใจล้มเหลวด้วยเหตุใดก็ตาม

(2) ปริมาตรเลือดลดลงจะด้วยร่างกายขาดน้ำหรือเสียเลือดหรือหลอดเลือดขยายจากการเป็นไข้ก็ตาม

(3) หัวใจเองป้อแป้ปั๊มเลือดไม่ออกแบบที่เรียกว่าหัวใจล้มเหลว จะล้มเหลวด้วยเหตุขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อพิการ หรือลิ้นหัวใจพิการก็ตาม

(4) เลือดขนส่งออกซิเจนได้น้อยกว่าปกติ เช่นเป็นโรคโลหิตจาง

(5) มีเหตุที่ปอดทำให้ปอดฟอกเลือดได้ไม่ดี เช่นเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดในปอด หรือขึ้นไปอยู่บนที่สูงจนอากาศบางกว่าปกติ

(6) การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ (ANS) เสียดุล คือเอียงข้างไปทางขาเร่ง (sympathetic) ทั้งนี้อาจเกิดจากสารหรือยากระตุ้นระบบประสาทเช่น กาแฟอีน นิโคติน หรือการลงแดง (withdrawal) จากการได้สิ่งที่เคยได้เช่น อาการลงแดงจากการขาดแอลกอฮอล์ หรือขาดยายาเบต้าบล็อกเกอร์ที่เคยใช้อยู่ประจำ หรือการติดนิสัยขี้คิด ขี้เครียด หรือมีอาการปวดใดๆในร่างกายอยู่ทำให้ร่างกายเครียด เป็นต้น

(7) ระบบต่อมไร้ท่อผลิตฮอร์โมนกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติขาเร่งมากผิดปกติ เช่นเป็นโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ทำให้ต่อมผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มาก หรือมีเนื้องอกที่ต่อมหมวกไตที่ผลิตฮอร์โมนขาเร่งมาก

ในกรณีของคุณ ผมมีข้อมูลอยู่แล้วว่าคุณไม่ได้เป็นโรคหัวใจขาดเลือด ไม่ได้เป็นโรคลิ้นหัวใจ ไม่มีภาวะหัวใจล้มเหลว การวินิจฉัยแยกสาเหตุที่ทำให้หัวใจของคุณเต้นเร็วก็จะเหลือแต่เหตุต่อไปนี้คือ (1) อาจมีโลหิตจาง (2) ต่อมไทรอยด์อาจทำงานผิดปกติไปทางไฮเปอร์ (3) อาจมีเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต (4) อาจไม่มีอะไรที่ร่างกายเลย เป็นแค่ ปสด. ประสาทแด๊กซ์ ธรรมดา

ผมแนะนำว่าให้คุณสืบค้นสาเหตุไปตามลำดับดังนี้

  1. ไปโรงพยาบาลหรือแล็บเอกชน ขอตรวจภาวะโลหิตจาง (CBC) ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ (FT4 และ TSH) ดูก่อน
  2. ถ้า CBC ไม่พบโลหิตจาง และระดับ FT4/TSH ปกติซึ่งบ่งชี้ว่าไม่มีเหตุจากต่อมไทรอยด์ ผมแนะนำให้เดินหน้าหาหมอขอตรวจ CT ช่องท้องเพื่อวินิจฉัยแยกเนื้องอกของต่อมหมวกไตเลย
  3. ถ้า CT ช่องท้องไม่พบเนื้องอกของต่อมหมวกไต ให้วินิจฉัยตัวเองว่ามีภาวะระบบประสาทอัตโนมัติขาเร่งทำงานมากเกินไป (sympathetic over activity) ให้รักษาตัวเองโดยการฝึกผ่อนคลายร่างกาย วางความคิด อยู่กับปัจจุบัน ยอมรับสิ่งต่างๆในชีวิตที่มีอยู่เป็นอยู่ที่เดี๋ยวนี้ รวมทั้งยอมรับอัตราการเต้นของหัวใจที่เร็วกว่าปกตินี้เสียด้วย โดยเลิกนับเลิกวัดชีพจรมันเสียเลย ไม่ต้องไปจินตนาการว่ามันจะเป็นยังไงต่อไปในอนาคต มีคนจำนวนมากที่เป็น sinus tachycardia โดยหมอหาสาเหตุอะไรไม่ได้แต่เขาก็อยู่ของเขาไปอย่างคนปกติได้และมีความยืนยาวของชีวิตเท่าคนปกติ

ส่วนการไปหาหมอเพื่อเอายากั้นเบต้ามากินให้หัวใจเต้นช้าลงนั้นมีประโยชน์เพียงแค่การบรรเทาอาการให้หัวใจเต้นช้าชั่วคราว เลิกยาเมื่อไหร่ก็เต้นเร็วกว่าเดิมเมื่อนั้น แต่หากคุณอยากจะกินก็อาจจะกินได้เป็นช่วงสั้นๆไม่ใช่กินตลอดชีวิต เพราะยากั้นเบต้าก็มีข้อเสียของมันเองตรงที่ทำให้เกิดความรู้สึกล้า เซ็ง นอนไม่หลับ เซ็กซ์เสื่อม และขี้ลืม ผมจึงไม่แนะนำให้ใช้ยา

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

30 มีนาคม 2566

นอนไม่หลับรุนแรง จิตแพทย์ให้กินยาแรง ไม่อยากกินจะทำอย่างไรดี

(ภาพวันนี้ : หมอสันต์ปลูกป่ามิยาวากิที่เขาใหญ่ ต้นอะรูมิไร้ อะไรมิรู้ นี้ออกลูกมา อยากกินแต่ไม่กล้ากิน ใครรู้จักช่วยบอกด้วย)

สวัสดีค่ะคุณหมอ

หนูนอนไม่หลับรุนแรง หยุดยานอนหลับแล้วเป็นมากขึ้น ไปหาจิตแพทย์ ตอนนี้เริ่มกินยาใหม่ค่ะ (กินยาที่เหลือเองค่ะ ไม่ได้ไปหาหมอ) risperidone 2 mgค่ะพร้อมยานอนหลับ lorazepam 0.5 mg กินแล้วหลับค่ะ

ครั้งสุดท้ายที่พบจิตแพทย์เพื่อขอยามากินเพื่อค่อยๆหยุดยา หมอบอกว่ายังไม่หายนะอาการที่นอนไม่หลับจะกลับมาใหม่ แล้วจะรุนแรงกว่าเก่า โรคนี้กินยากันเป็นปี อย่างเร็วสุดก็ 6 เดือน ถ้าจะหยุดยาก็แล้วแต่คนไข้นะ(ตอนนี้กินยามาได้ประมาณ 3 เดือน) หมอวินิจฉัยว่าเป็นโรค schizophrenia ให้กินยา risperidone 2 mg 1 เม็ดก่อนนอน lorazepam 0.5mg 1เม็ดก่อนนอน desirel 50mg 1/2 เม็ดก่อนนอน ยา benzhexol 2 mg 1/2 เม็ดก่อนนอน

 อยากขอความช่วยเหลือและคำแนะนำจากคุณหมอค่ะ
1.  อาการนอนไม่หลับอย่างรุนแรงนี้ เป็นอาการทางจิตหรือทางกายคะ หมอบอกว่าเกิดจากสารเคมีในสมอง ยาที่กินเข้าไปปรับสมดุลสารเคมีในสมอง

2.ไม่อยากกินยาต่อเพราะรู้สึกว่ายาทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ตาพร่ามัว ตากระตุกถี่ๆบ่อยๆ ความจำแย่ลงมากๆ เบลอๆ และมีอาการสั่นๆเล็กน้อยตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย แต่เป็นไม่มากค่ะ ท้องผูกรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของการเคลื่อนตัวของลำไส้อาการทั้งหมดที่กล่าวนี้ หมอบอกว่าไม่เกี่ยวกับยาค่ะ

3.มีอาการกระวนกระวายของจิตเป็นๆหายๆ ทั้งวัน มันรู้สึกเหมือนจิตใจถูกบีบคั้น เวลาเกิดจะใช้วิธีผ่อนคลายจดจ่ออยู่กับลมหายใจ จะค่อยๆดีขึ้น

4.มีอาการซึมเศร้า คือ วันนึงไม่รู้จะทำอะไรดี (นอกจากกิจวัตรประจำวัน) มันไม่อยากไปไหน ไม่อยากทำอะไร ไม่สนใจจะดูจะฟังอะไรทั้งสิ้น

5.ไม่อยากไปหาจิตแพทย์คนเดิมแล้วค่ะ ควรทำอย่างไรกับการนอนไม่หลับนี้คะ คุณหมอกรุณาแนะนำด้วยนะคะ หรือควรไปพบแพทย์ใหม่แผนกใดค่ะ
รอคำตอบจากคุณหมอค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ
………………………………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่าอาการนอนไม่หลับอย่างรุนแรงในโรคทางจิตเช่นโรคจิตเภทก็ดี โรคซึมเศร้าก็ดี มันเป็นอาการทางจิตหรือทางกาย ตอบว่าในทางวิทยาศาสตร์ยังตอบคำถามนี้ไม่ได้หรอกครับ เพราะยังไม่มีหลักฐานมากพอที่จะตอบ มีแต่สมมุติฐาน (แปลว่าเดาเอา) ว่ามีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีที่เชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทในสมอง แต่ก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่าการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองนี้มันเป็นผลที่เกิดขึ้นตามหลังจากเกิดโรค หรือมันเป็นเหตุที่นำไปสู่การเกิดโรค ยังไม่รู้เลย

แต่เรารู้แน่ว่าโรคเช่น schizophrenia และโรคซึมเศร้าระดับรุนแรง มีความผิดปกติในกระบวนการคิด (วกวน ซ้ำซาก กังวล หวาดระแวง) ในอารมณ์ (ซึมเศร้า) และในการรับรู้สิ่งเร้าผ่านอายตนะ (ภาพหลอน เสียงหลอน) การใช้ยาจิตเภท (antipsychotic drug) เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่วงการแพทย์รู้ ที่จะทอนความคิดผิดปกติก็ดี อารมณ์ผิดปกติก็ดี ที่จะลดภาพหลอนเสียงหลอนก็ดี อย่างน้อยก็ในช่วงแรกที่ความคิด อารมณ์ และการรับรู้สิ่งเร้าอย่างผิดปกติมีปริมาณมากในระดับที่ไม่อาจควบคุมด้วยวิธีพูดคุย (talk therapy) ได้ ความรู้นี้วงการแพทย์ได้มาจากการลองผิดลองถูกมาหมดทุกอย่างแล้ว รวมทั้งการจับผู้ป่วยใส่กรงขัง การเอาไฟฟ้าช็อค เป็นต้น ดังนั้นการตั้งใจใช้ยาเพื่อทอนความแรงของความคิดผิดปกติลงในช่วงแรก เป็นสิ่งจำเป็นแน่นอน

อนึ่ง ในการรักษาอาการนอนไม่หลับของคุณ คุณต้องมุ่งรักษาโรคทางจิตโดยรวมก่อน ไม่ใช่จะมามุ่งรักษาแต่อาการนอนไม่หลับ เพราะอาการนอนไม่หลับเป็นเพียงส่วนหนึ่งหรือเป็นผลตามหลังโรคทางจิตหรือโรคคิดมากที่ปั่นความคิดคุณให้วกวนซ้ำซากอยู่ตลอดเวลา

ในทางไสยศาสตร์ แม้หลวงพ่อที่วัดดังๆก็ยังพากันยกธงขาวไม่กล้าเล่นด้วยกับผู้ป่วยจิตเภท แต่หมอสันต์มีประสบการณ์ว่าเมื่อยาได้ทำให้คนไข้เบลอๆซึ่งมีผลทอนความคิดที่เยอะ..แยะ ลงไปได้ระดับหนึ่งแล้ว ขั้นตอนถัดไปคือการบำบัดด้วยกิจกรรมอะไรก็ได้ที่ผู้ป่วยยอมรับได้และทำให้ผู้ป่วยเกิดสมาธิจดจ่อ เช่น งานอดิเรก ดนตรี กีฬา ศิลปะ ฯลฯ ซึ่งจะช่วยทอนความคิดผิดปกติลงได้มากยิ่งขึ้นอีก จนเมื่อความคิดได้ลดลงปริมาณลงมาได้ถึงจุดหนึ่ง มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากพอที่จะสรุปได้ชัดเจนแล้วว่าการฝึกนั่งสมาธิ (meditation) ช่วยให้ลดและเลิกยาได้มากขึ้น และเพิ่มคุณภาพชีวิตได้ดีขึ้น

ดังนั้นแผนการรักษาที่เหมาะสมสำหรับคุณตามลำดับก่อนหลังคือ

(1) โฟกัสที่การตั้งใจกินยาก่อน

(2) แล้วเริ่มทำกิจกรรมสร้างสมาธิตามควบคู่ไปด้วยตัวเองทันที ทำอะไรก็ได้ที่คุณชอบและดึงดูดคุณให้จดจ่อได้ เช่นปลูกต้นไม้ ดนตรี ร้องเพลง เขียนภาพ ทำงานศิลปะ

(3) ต่อจากนั้นจึงเริ่มนั่งสมาธิฝึกวางความคิด ด้วยเครื่องมือต่างๆที่ผมเคยสอนไป เช่นการผ่อนคลายร่างกาย การตามดูลมหายใจ การตามดูพลังชีวิต การสังเกตความคิด การจดจ่อสมาธิ เป็นต้น

2.. ถามว่าไม่อยากกินยาต่อเพราะยาทำให้เกิดผลข้างเคียงมาก เช่น ตาพร่ามัว ตากระตุกถี่ๆบ่อยๆ ความจำแย่ลงมากๆ เบลอๆ และมีอาการสั่นๆเล็กน้อยตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ท้องผูก เป็นต้น ควรทำอย่างไรดี ตอบว่าอาการทั้งหมดเป็นอาการที่เกิดจากยาจริงๆ มันน่าระอาจริงๆ อันนี้เป็นของแน่ แต่ประเด็นก็คือยาเป็นทางไปทางเดียวในระยะแรก ประโยชน์ของยามันคุ้มความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงของมัน มาถึงจุดนี้ไม่มีทางเลือกไหนที่จะมีแต่ได้ไม่มีเสีย เราต้องเลือกเอาทางเลือกที่มีทั้งได้ทั้งเสียแต่โหลงโจ้งแล้วได้มากกว่าเสีย ดังนั้นผมแนะนำว่าคุณต้องกินยาไปในช่วงแรก และเริ่มการบำบัดตนเองด้วยกิจกรรมสร้างสมาธิด้วยตัวเองไปทันทีเป็นขั้นที่สอง ยิ่งคุณขยันทำกิจกรรมสร้างสมาธิมาก คุณก็จะยิ่งเลิกยาได้เร็ว แต่ทางเลือกที่จะไม่ทำอะไรเลยแล้วจะเลิกยาได้เองนั้น..ยากส์

3.. ถามว่าอาการกระวนกระวายของจิตเป็นๆหายๆ ทั้งวันเหมือนจิตใจถูกบีบคั้น จะทำอย่างไร ตอบว่าก็แค่สังเกตดูมันและยอมรับ แค่นั้นแหละครับ ถ้าสังเกตทีไรก็เผลอไปคิดต่อยอดไปในทางร้ายจนควบคุมไม่ได้ทุกทีก็ให้ใช้กิจกรรมบำบัดอย่างที่ผมแนะนำข้างต้นไปก่อน

4.. ถามว่าอาการซึมเศร้า วันนึงไม่รู้จะทำอะไร ไม่อยากไปไหน ไม่สนใจจะดูจะฟังอะไรทั้งสิ้น ควรทำอย่างไร ตอบว่าไม่ก็ไม่ต้องทำอะไรครับ ไปโฟกัสที่กิจกรรมบำบัดที่เดียว ไม่ต้องคิดวิเคราะห์คาดการณ์อะไรจากอาการที่เกิดขึ้นทั้งนั้น มีอาการอย่างไรก็สังเกต ยอมรับ เศร้าก็ยอมรับว่าเศร้า แค่นั้น และเลือกกิจกรรมที่ไม่ต้องฝืนอาการมากเกินไป เช่นเศร้ามากก็เคาะเปียโนเพลงเศร้าท่อนสั้นๆซ้ำไปซ้ำมา อย่างนี้ก็ดีกว่าเศร้าแล้วคิดโน่นคิดนี่ต่อยอด

5.. ถามว่าไม่อยากไปหาจิตแพทย์คนเดิมแล้วควรทำอย่างไร ตอบว่าก็เปลี่ยนไปหาจิตแพทย์คนอื่นสิครับ

ถามว่าควรไปหาแพทย์แผนกอื่นที่รักษาโรคนอนไม่หลับโดยตรงดีไหม ตอบว่าไม่ดีครับ เพราะอาการนอนไม่หลับของคุณเป็นผลสืบเนื่องจากปริมาณความคิดมันแยะเกิน พูดง่ายๆว่าสติแตก โรคอย่างนี้ต้องจิตแพทย์จึงจะเป็นการไปถูกที่

ประเด็นสำคัญคือสำหรับผู้ป่วยโรคความคิดแยะทั้งหลาย จิตแพทย์คือกัลยาณมิตรที่แท้จริงแต่เพียงผู้เดียว หลวงพ่อที่วัดท่านก็ไม่กล้ายุ่งด้วย คุณจึงเหลือจิตแพทย์เท่านั้นที่จะเป็นกัลยาณมิตรที่จะช่วยดึงคุณให้ขึ้นมาจากหลุมนี้ได้ ดังนั้นอย่าปฏิเสธการรักษากับจิตแพทย์ คุณจะมีแต่ได้กับได้ ผมยังไม่เห็นผลเสียอะไรเลยกับการที่ผู้ป่วยที่ควบคุมความคิดของตัวเองไม่ได้จะไปรับการรักษากับจิตแพทย์ และผมได้เคยเห็นผู้ป่วยของผมเองจำนวนหลายคนที่ได้ผ่านช่วงเวลาวิกฤตินี้ไปได้ด้วยความช่วยเหลือของจิตแพทย์

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

29 มีนาคม 2566

อายุ 68 กินยาความดันแล้วน่องบวม หัวใจเต้นช้า และหัวทิ่ม

(ภาพวันนี้ : เอื้องผึ้ง ยามแล้งและโหยหาฝนแบบสุดๆ)

เรียนคุณหมอสันต์ค่ะ

ดิฉันทานยาคุมความดันสูงมาตั้งแต่อายุ 40 ปี  ปัจจุบันอายุ 68 ปีค่ะ ก่อนหน้าจะกินยา Valsartan 80mg  ดิฉันกินยา 2 ตัว คือ Prenolol 25mg กับ Amlopine 10mg  กิน 2 ตัวนี้มาหลายปีค่ะ  ปกติหมอที่ดิฉันไปหาประจำตามนัดคือหมอตา แล้วก่อนพบหมอก็จะมีการวัดความดันก่อน  ความดันก็ปกติทุกครั้ง และมีบ้างที่ จนท จะพูดว่า หัวใจเต้นช้านะคะ  ดิฉันก็เฉยๆ เพราะไม่เคยรู้สึกมีความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ   ดิฉันก็กินยา 2 ตัวนั้น และก็ไม่ได้คิดจะไปปรึกษาหมอเรื่องความดันหากไม่มีอะไรผิดปกติ  จนเมื่อปีที่แล้ว ช่วงเดือนมีนาคม  ดิฉันสังเกตว่าช่วงน่องจะตึงๆบวมๆ เหมือนบวมน้ำ แต่ไม่มีอาการปวดอะไร  ก็หาความรู้อ่านจากกูเกิ้ลก่อน  พบว่าน่าสงสัยที่สุดคือยาความดันที่กินอยู่น่าจะมีส่วน  ก็เลยไปหาหมอหัวใจคนที่เคยไปพบและปรึกษาเรื่องยาความดันครั้งสุดท้าย เมื่อปี 2559

ก่อนพบหมอคนเดิมตั้งแต่ปี 59 คือคุณหมอ … (ที่ … ค่ะ) พยาบาลวัดความดันก็บอกว่าความดันปกติ แต่หัวใจเต้นช้ามาก  พอเจอคุณหมอๆ ก็พูดเรื่องหัวใจเต้นช้า ถามว่ามีอาการอะไรเกี่ยวกับหัวใจมั๊ย ก็ตอบไม่มีค่ะ  แล้วคุณหมอก็ให้ไปตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ  หลังจากนั้นคุณหมอสรุปว่าที่น่องบวมเกิดจากยาความดัน  และเปลี่ยนยาวาลซาแทน 80mg  แทนยา 2 ตัวเดิม  โดยบอกว่ายาตัวนี้จะช่วยเรื่องหัวใจด้วย  ดิฉันตกลงนัดคุณหมออีก 3 เดือนต่อมา นอกจากมีอะไรผิดปกติก็จะมาพบก่อนหน้าวันนัด

ครบ 3 เดือน  ดิฉันเล่าให้คุณหมอฟังว่าช่วงอาทิตย์แรกที่กินยา ลุกจากเตียงแล้วหัวจะทิ่มเลย มึนงงมาก  แต่ตอนหลังดีขึ้น คุณหมอก็พยักหน้ารับทราบคล้ายว่าเป็นเรื่องปกติ  แล้วดูผลความดันที่ให้ดิฉันบันทึกไว้-ก็บอกว่า ดี..ความดันโอเค  เสร็จแล้วสั่งยาเหมือนเดิม นัดครั้งต่อไปอีก 6 เดือน

ปัญหาคือช่วงเดือน 2 เดือนนี้  ดิฉันพบว่าตัวเองมีอาการมึนๆ เวียนหัวบ่อยครั้งมากขึ้นจนรู้สึกกังวลว่าจะไปล้มลงเมื่อไหร่ก็ไม่รู้  ลุกขึ้นแล้วมึนๆต้องจับอะไรข้างตัวไว้  บางทีเวียนหัวจนเหมือนอยากจะอาเจียนนะคะ  ครั้งสุดท้ายที่พบหมอ คือเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา  ดิฉันก็ปรึกษาเรื่องผลข้างเคียงนี้  เค๊าบอกว่าเป็นอาการของคนแก่  และอีกประโยคคือ ถ้าไม่ใช่ยาตัวนี้-ผมก็ไม่รู้จะแนะนำยาตัวไหนให้แล้ว ตัวนี้ดีที่สุดแล้ว

ตอนนี้ดิฉันเลยคิดแต่ว่าจะไปหาหมอหัวใจที่ไหนปรึกษาดี  คือมันไม่มียาอื่นนอกจากวาลซาแทนแล้วจริงๆหรือคะ   ก็พอดีวันนี้เฟซบุ๊คขึ้นหน้าโพสของคุณหมอมาให้อ่าน  พออ่านเสร็จไม่รู้อะไรดลใจให้เช็คกูเกิ้ลว่าคุณหมอเป็นหมอด้านไหน    อ้าว..คุณหมอสันต์เป็นคุณหมอด้านโรคหัวใจนี่นา   เลยตัดสินใจเขียนมาปรึกษาคุณหมอค่ะ  หวังอย่างยิ่งว่าคุณหมอจะกรุณาให้คำแนะนำด้วย  เช่น ยาตัวอื่น หรือคุณหมอท่านอื่น เป็นต้น  และดิฉันขอขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

ปล. ดิฉันเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊คของคุณหมอค่ะ ชอบอ่านที่คุณหมอเขียนมากๆเลย  ชอบดูต้นไม้ดอกไม้ของคุณหมอด้วย  คนที่ดิฉันติดตามเค๊านำเรื่องที่คุณหมอเขียนมาแชร์  พอได้อ่านก็กดไลค์ติดตามตั้งแต่นั้นมา  เพราะสิ่งที่คุณหมอเขียนให้ความรู้และมีประโยชน์มากๆดิฉันคิดว่าเป็นโชคดีของตัวเองที่ได้อ่านเรื่องของคุณหมอนะคะ

ขอแสดงความนับถือค่ะ

…………………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่ากินยาความดันแล้วน่องบวม หัวใจเต้นช้า เมาหัวทิ่ม ทั้งหมดนี้เป็นผลจากยาลดความดันถูกต้องไหม ตอบว่า ถูกต้องแล้วคร้าบ..บ

ยา Prenolol เป็นยาในกลุ่มยากั้นเบต้า มีผลข้างเคียงทำให้หัวใจเต้นช้า

ยา Amlodipine เป็นยาในกลุ่มต้านช่องลำเลียงแคลเซียม (CCB) ทำให้น่องบวมตีนบวม

ยาความดันทุกตัวทำให้เมาหัวทิ่มได้ทั้งนั้น รวมทำเพิ่มอุบัติการลื่นตกหกล้มและกระดูกหักในผู้สูงอายุได้

2.. ถามว่าเมื่อกินยาลดความดันแล้วเกิดอาการเมาหัวทิ่มควรทำอย่างไร ตอบว่าต้องหยุดยาทันที เมื่อหายเมาแล้วหากความดันไม่สูงก็เลิกกินยาไปเลย แต่หากความดันยังสูง (คือความดันตัวบนสูงกว่า 150 มม.กรณีผู้สูงวัย) ค่อยเอายากลับมากินใหม่ในขนาดครึ่งหนึ่งของยาเดิม แล้ววัดความดันซ้ำในเวลาสัก 2 สัปดาห์ ในทุกกรณีหากเป็นผู้สูงอายุห้ามกินยาความดันจนความดันตัวบนลงต่ำกว่า 110 มม. เพราะจะทำให้ตายและทุพลภาพมากขึ้น ส่วนใหญ่ตายสืบเนื่องจากมหากาพย์ลื่นตกหกล้ม ขาหักสะโพกหัก นอนรพ.นาน ติดเชื้อในกระแสเลือด แล้ว ตาย..ย

แพทย์เราเคยเชื่อว่าอย่าปล่อยให้ความดันตัวบนสูงเกิน 140 นะมันไม่ดี จนกระทั่งเมื่อพวกหมอญี่ปุ่นได้ทำงานวิจัยครั้งใหญ่ชื่องานวิจัย  JATOS  (Japanese trial to assess optimal systolic blood pressure in elderly hypertensive patients)  โดยเอาคนเป็นความดันเลือดสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมาราว 4,400 คน จับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มละ 2200 คน กลุ่มหนึ่งคุมเข้มให้ความดันตัวบนต่ำกว่า 140 มม. อีกกลุ่มหนึ่งปล่อยให้ขึ้นไปสูงกว่า 140 มม. แต่ไม่เกิน 150 มม. แล้วติดตามการป่วยและการตายไปสองปี ปรากฏว่าการป่วยและการตายไม่ได้ต่างกันเลย แถมดูเหมือนว่าพวกที่หมอปล่อยให้ความดันสูงขึ้นไปถึง 150 ดูจะป่วยและตายน้อยกว่าเสียอีก

และก็มีอีกงานวิจัยหนึ่งทำโดยกลุ่มหมอญี่ปุ่นเช่นกัน ชื่องานวิจัย VALISH  (Valsartan in Elderly Isolated Systolic Hypertension study) เขาเอาคนเป็นความดันสูงอายุเกิน 60 ปีมาสามพันกว่าคน จับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่มๆละ 1,630 คน กลุ่มหนึ่งกดความดันไว้ไม่ให้เกิน 140 มม.อีกกลุ่มหนึ่งปล่อยขึ้นไปได้ถึง 150 เช่นกัน แต่คราวนี้ตามดูถึงสามปี คราวนี้ผลแตกต่างกันชัดเจนว่าพวกที่หมอปล่อยให้ความดันสูงขึ้นไปได้ถึง 150 มม.ป่วยและตาย “น้อยกว่า” พวกที่หมอกดความดันไว้ต่ำกว่า 140 มม. อัตราตายลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่หลังเริ่มการวิจัยได้ไม่กี่เดือนจนเข้าป้ายตอนครบสามปี

     ทั้งสองงานวิจัยนี้เป็นหลักฐานที่ดีที่สุดที่วงการแพทย์มีตอนนี้ ว่าคนสูงอายุอย่าเอายากดยากดความดันให้ต่ำตะพึด เพราะจะทำให้ตายมากขึ้น สู้ปล่อยให้ความดันขึ้นไปสูงได้ถึง 150 เลยโดยไม่ใช้ยากดจะดีกว่า

3.. ในการรักษาความดันเลือดสูงยาไม่ได้ทำให้ความดันเลือดสูงหาย แต่ความดันเลือดสูงจะหายจากการปรับเปลี่ยนวิธีกินและวิธีใช้ชีวิต ได้แก่

(1) ลดน้ำหนักถ้าอ้วน

(2) กินอาหารพืชเป็นหลัก กินผักผลไม้ถั่วนัทธัญพืชไม่ขัดสีมากๆ กินเนื้อสัตว์น้อยๆหรือไม่กินเลย

(3) ออกกำลังกายทุกวัน

(4) ลดเกลือในอาหารลงเหลือจืดสนิท

(5) จัดการความเครียดให้ดี ฝึกวางความคิด ถ้านอนไม่หลับให้แก้ไขก่อน เพราะความดันสูงจะไม่หายไปไหนถ้ามีความคิดมากและนอนไม่หลับ

4.. กล่าวโดยสรุป เฉพาะในกรณีของคุณนี้ผมแนะนำว่า

4.1 ให้หยุดยาที่หมอให้มาไว้ก่อน

4.2 แล้ววัดความดันเมื่อหยุดยาได้ครบ 2 สัปดาห์

4.3 ถ้าความดันตัวบนไม่เกิน 150 มม. ก็เลิกกินยาไปเลย

4.4 แต่ถ้าความดันตัวบนสูงเกิน 150 มม.ก็เอายาวาลซาทานกลับมากินในขนาดครึ่งหนึ่ง คือ 40 มก.ต่อวัน อย่าไปกังวลว่ากินยาไม่เต็มโด้สเพราะคนแต่ละคนตอบสนองต่อขนาดยาไม่เท่ากัน อีกอย่างหนึ่งโด้สที่เขาวิจัยมามันเป็นโด้สฝรั่งยังไงก็ต้องเอามาปรับกับคนไทยเป็นรายคน

4.5 หลังจากลดยา 2 สัปดาห์ ให้ติดตามวัดความดันอีกครั้ง หากตัวบนไม่เกิน 150 มม.ก็กินยาขนาดนั้นไป แล้วไปเข้มกับเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การลดเกลือ การจัดการความเครียด สักหลายๆสัปดาห์ แล้วค่อยทดลองเลิกกินยาดูสักอีก 2 สัปดาห์แล้ววัดความดันใหม่ ถ้าความดันไม่เกิน 150 มม.ก็เลิกกินยาไปเลย

4.6 เมื่อจะครบกำหนดนัดไปหาหมอ ห้ามเปลี่ยนหรือลดยาในช่วงเวลา 2 สปด.ก่อนพบหมอ และให้บอกหมอตามความเป็นจริงว่าได้กินยาขนาดเท่าใดตั้งแต่เมื่อไหร่ แพทย์จะใช้ดุลพินิจจากขนาดที่กินตอนนั้นกับความดันที่วัดได้ตอนนั้นมาประกอบการกำหนดแผนการรักษาใหม่ให้คุณเอง

5.. ถามว่าหมอสันต์จะช่วยแนะนำคุณหมอท่านอื่นให้ได้ไหม ตอบว่าไม่ได้ครับ แพทย์สภาเขาห้ามไว้ว่า “แพทย์ไม่พึงโฆษณาหรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณการประกอบวิชาชีพของตนเอง ” แปลไทยให้เป็นไทยได้ว่า..ห้ามแพทย์ส่งลูกค้าให้กันและกัน หิ หิ

อีกประการหนึ่ง หมอรักษาความดันสูงที่ดีที่สุดคือตัวคุณนั่นแหละ เพราะงานวิจัยของฮาร์วาร์ดซึ่งทำที่โรงพยาบาลบริกแฮมแอนด์วีแมน พบว่าหากให้ผู้ป่วยอยู่ที่บ้านดูแลตัวเองมีอะไรสงสัยก็สื่อสารกับทีมงานดูแลผ่านออนไลน์ไม่ต้องมาโรงพยาบาล วิธีนี้จะคุมความดันได้ดีกว่าเมื่อมารักษากับหมอที่โรงพยาบาลในระดับ 81% : 53% เลยทีเดียว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.       JATOS Study Group.  Principal results of the Japanese trial to assess optimal systolic blood pressure in elderly hypertensive patients (JATOS). Hypertens Res. 2008;31(12):2115-2127.

2.      Ogihara T, Saruta T, Rakugi H, Matsuoka H, Shimamoto K, Shimada K, Imai Y, Kikuchi K, Ito S, Eto T, Kimura G, Imaizumi T, Takishita S, Ueshima H, for the Valsartan in Elderly Isolated Systolic Hypertension Study Group. Target blood pressure for treatment of isolated systolic hypertension in the elderly: Valsartan in Elderly Isolated Systolic Hypertension study. Hypertension.2010; 56: 196–202

3. James PA, Oparil S, Carter BL, Cushman WC, Dennison-Himmelfarb C, Handler J, Lackland DT, LeFevre ML, MacKenzie TD, Ogedegbe O, Smith SC Jr, Svetkey LP, Taler SJ, Townsend RR, Wright JT Jr, Narva AS, Ortiz E. 2014 evidence-based guideline for the management of high blood pressure in adults: report from the panel members appointed to the Eighth Joint National Committee (JNC 8). JAMA. 2014;311(5):507-20. doi: 10.1001/jama.2013.284427.

4. Naomi D.L. Fisher, Liliana E. Fera, Jacqueline R. Dunning, Sonali Desai, Lina Matta, Victoria Liquori, Jaclyn Pagliaro, Erika Pabo, Mary Merriam, Calum A. MacRae, Benjamin M. Scirica. Development of an entirely remote, non-physician led hypertension management program. Clinical Cardiology, 2019; DOI: 10.1002/clc.23141

[อ่านต่อ...]

26 มีนาคม 2566

Solo Mum เผลอไปมีความรักแล้วก็ให้ใจเค้าหมดใจ

(ภาพวันนี้ : เอื้องสายน้ำผึ้ง)

สวัสดีค่ะคุณหมอ

เพิ่งติดตามคุณหมอวันนี้เอง แต่ไล่อ่านตั้งแต่ปัจจุบันไปให้ได้ไกลที่สุด อ่านแล้วประทับใจและคิดว่าควรส่งข้อความมาปรึกษาค่ะ ว่าด้วยเรื่องของความรัก ความ เจ็บป่วย เงิน งาน เวลาที่มีปัญหามันมักจะประดังประเดทำเราเซไม่เป็นท่า (ถึงภายนอกจะดูปกติดีก็ตาม) หนู แม่เลี้ยงเดี่ยวค่ะเผลอไปมีความรักแล้วก็ให้ใจเค้าหมดใจ!! รู้จักกันมาสี่ปีแล้วสถานะไม่ได้เป็นอะไรชัดเจนเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน ทุกครั้งที่พบเจอกันก็จะไปเที่ยวกันไปมีเวลาดีดีร่วมกัน ที่เราตกลงไว้ก็คือจะเป็นอิสระต่อกัน เจอกันสองปีครั้งค่ะ แต่ระหว่างนั้นก็คุยกันทุกวันแล้วก็เปิดกล้องคุยกันอาทิตย์ละหนึ่งครั้งเค้าอยู่ต่างประเทศค่ะอยู่อเมริกา ปีนี้เช่นกันเค้าก็กลับมา60ว้น ได้เจอกัน 1 วันถ้วน ตอนแรกมีแพลนว่าจะไปทริปกันแต่สุดท้ายไม่ได้ไปเค้าก็จะบอกแค่ว่า.. สะดวกเมื่อไหร่จะบอกนะ!! เราก็ไม่รู้ว่าที่เราเป็นอย่างนี้เฝ้ารอเขาตลอดคือรักเขาหรือเพราะปัญหาที่เรามี เราเลยไปคาดหวังว่าการกลับมาของเค้าคงจะเป็นน้ำหล่อเลี้ยงหัวใจเราเหมือนทุกทีอะไรๆๆ มันคงจะดีขึ้น แต่พอไม่ได้ดั่งใจเราก็รู้สึกแย่สุดสุด ฟ้าถล่มดินทลายเหมือนจะตายเอาให้ได้ทรมานใจเหลือเกิน นอนไม่หลับนั่งรอทุกวันไม่เข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นมีคำถาม 108 , 1009 ตอนนี้เค้าบินกลับไปแล้วค่ะความรู้สึกมันเบาขึ้นแต่ก็สับสนเหมือนกันว่ามันคืออะไรแบบนี้หนูควรจะทำยังไงดีคะ 

ปล. หนูจะรู้สึกว่าตัวเองไม่สำคัญทุกครั้งที่เค้าอยู่ไทยค่ะตอนที่เค้าอยู่อเมริกาหนูไม่เคยเป็นอะไรเลยค่ะต่อให้วันวันนึงคุยกันวันละคำก็ตาม

………………………………………………………………..

ตอบครับ

วันนี้ขอตอบจดหมายน้ำเน่าสักวันนะ ท่านผู้อ่านขาประจำสว.ที่ซีเรียสกับชีวิตและสุขภาพอย่าได้ถือสา

จับสาระความทุกข์ของคุณทั้งหมดเป็นเรื่องของความคิดในหัวคุณเอง เช่น

(1) คิดว่าตัวเรานี้ขาดความอบอุ่น ขาดความมั่นคงในชีวิต

(2) ความคาดหวังว่าวันหนึ่งจะได้แต่งงานมี ผ. เป็นตัวเป็นตนอีกสักครั้ง

(3) คิดว่าเรานี้ช่างไร้ค่า แฟนเขาไม่ให้ราคาสักกะจิ๊ดหนึ่ง

(4) เสียใจหรือผิดหวังที่เขามาแล้วควรจะได้จู๋จี๋กันแต่แล้วก็ไม่ได้จู๋จี๋กันอย่างที่คิด เป็นต้น

ก่อนจะตอบคำถามคุณ ผมขออนุญาตรำมวยก่อนนะ ว่าชีวิตคนเรานี้ประกอบด้วยร่างกาย ความคิด และความรู้ตัว เนื่องจากคุณเป็นทุกข์เพราะความคิด วันนี้เราจะเจาะลึกกันแต่ส่วนที่เป็นความคิด

ที่ประกอบขึ้นมาเป็นความคิดของคนเรานี้ มันมีสองส่วน คือตัวความคิดอ่าน และความจำ หากตัดเอาความจำออกไปก่อน ส่วนความคิดอ่าน (intelligence) มันยังซอยย่อยออกได้เป็นสองระดับคือ สัญชาติญาณ (instinct) กับเชาวน์ปัญญา (intellect) โดยทั้งสองส่วนนี้ล้วนปรุงขึ้นมาหรือชงขึ้นมาเพื่อเชิดชูหรือปกป้อง “อัตตา” หรือสำนึกว่าเป็นคนคนหนึ่งของเรานี้ให้สูงเด่นและมั่นคงปลอดภัย

ในระดับสัญชาติญาณ ในกรณีของคุณก็คือความอยากมีคู่ (sex drive) ใจเย็นๆนะ ผมไม่ได้ว่าเซ็กซ์เป็นของไม่ดี แค่บอกว่าไม่ว่าคุณจะเรียกมันว่าความรักความโรแมนติกหรูเริ่ดสะแมนแตนอะไรก็แล้วแต่ แต่พื้นฐานของมันคือสัญชาติญาณอยากมีเซ็กซ์ มันเป็นกลไกระดับฮอร์โมนและเซลล์ร่างกายซึ่งไม่มีใครไปเบรคมันได้ดอก และผมก็ไม่ได้แนะนำให้ไปกดหรือไปเบรคมันไว้แบบเอามือขยุ้มคอจะเอาให้อยู่หมัด เพราะทำอย่างนั้นมันมีแต่จะระเบิดออกมา ในทางตรงกันข้าม ผมแนะนำให้คุณยอมรับมัน ถ้ายั้งไว้ได้ก็ยั้งบ้าง บิดประเด็นไปหาทางออกอื่นบ้าง หากมันมาแรงสุดๆต้านไม่ไหวก็ตามมันไปบ้าง ในขอบเขตที่คุณเห็นว่ามันไม่ถึงกับจะพาคุณไปสู่การถูกทำร้ายในบั้นปลาย ผมหมายถึงการมีเซ็กซ์ที่ (1) มีการป้องกันการติดโรค (2) มีการป้องกันการตั้งครรภ์ และ (3) มีการป้องกันการแต่งเรื่องราวดราม่าขึ้นในใจตัวเองที่รังแต่จะนำไปสู่ความยึดถือในสิ่งที่ไม่เป็นจริง ถ้าคุณมีเกราะสามประการนี้คุ้มกัน คุณก็ปล่อยความอยากมีเซ็กซ์ให้มันเดินหน้าของมันไปได้เลย เชิญตามบาย หิ หิ

ในระดับเชาวน์ปัญญา ตรงนี้ต่างหากที่เราต้องสนใจเป็นพิเศษ เพราะเชาวน์ปัญญาของเราก็คือตรรกะการคิดใคร่ครวญที่ทำงานเพื่อรับใช้ “อัตตา” ของเรา ซึ่งอัตตานี้เป็นเรื่องที่เราปั้นแต่งขึ้นมาเอง ปัจจัยอื่นๆนอกตัวเรามันไม่ได้รู้ด้วยเห็นด้วยกับคอนเซ็พท์เรื่องอัตตาของเราที่เราอุปโลกน์ขึ้นดอก แถมสิ่งแวดล้อมที่อยู่นอกตัวเรายังมีธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาโดยที่เราไม่อาจควบคุมได้เลย ไม่ว่าจะเป็นแฟนของคุณก็ดี การที่เขามาจีบคุณก็ดี การที่เขาหนีหน้าคุณไปก็ดี ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งเร้าจากภายนอกที่คุณไม่อาจไปควบคุมได้ สิ่งที่คุณทำได้อย่างดีก็แค่ให้อภัยทาน แผ่เมตตาให้ แต่การสนองตอบต่อสิ่งเร้าด้วยการคิดของคุณต่างหากที่คุณคุมได้

ดังนั้นหากคุณอยากแก้ปัญหานี้ คุณต้องแก้ด้วยการคุมการสนองตอบต่อเรื่องนี้ด้วยการคิด หรือพูดง่ายๆว่าคุณต้องฝึกวางความคิด โดยการฝึกใช้เครื่องมือวางความคิดที่ผมพูดถึงบ่อยๆในบล็อกนี้ ได้แก่ (1) การย้ายความสนใจออกมาจากความคิดมาอยู่กับลมหายใจบ้าง (2) มาอยู่กับพลังชีวิตซึ่งปรากฎต่อคุณในรูปของความรู้สึกบนร่างกายบ้าง (3) ฝึกผ่อนคลายร่างกายเพื่อลดทอนความคิดบ้าง (3) ฝึกสังเกตดูความคิดของตัวเองเพื่อให้ความคิดมันฝ่อหายไปเองบ้าง และ (4) ฝึกจดจ่อสมาธิเพื่อให้สามารถรู้ตัวอยู่ในความว่างเปล่าที่ไม่มีความคิดบ้าง เป็นต้น

ถามว่าแล้วขั้นตอนต่อไปต้องทำอย่างไร ตอบว่าถ้าคุณฝึกวางความคิดได้ดี จนความคิดหมด ตรงนั้นคือสมาธิหรือความรู้ตัว ซึ่งเป็นบ้านของปัญญาญาณ มันเป็นของมาคู่กันเหมือนบั๊ดดี้ ผมหมายถึงความรู้ตัวกับปัญญาญาณ เหมือนกับที่ร่างกายมาคู่กับสัญชาติญาณ มันเป็นบั๊ดดี้กัน ถึงตอนนั้นคุณไม่ต้องการคำแนะนำจากใครอีกแล้ว ปัญญาญาณจะชี้นำทางไปต่อให้คุณเอง

ที่คุณควรสนใจคือนอกจากการวางความคิดด้วยการนั่งสมาธิฝึกจดจ่อแล้วมีวิธีอื่นที่จะบ่มให้ปัญญาญาณเกิดขึ้นมานำทางชีวิตตัวเองอีกไหม ตอบว่ายังมีอีกหลายวิธี เช่น (1) ฝึกจดจ่อกับงานอาชีพหรืองานอดิเรกที่คุณชอบไม่เว้นแม้กระทั่งกิจกรรมหั่นหอมหั่นกระเทียม (2) ฝึกผ่อนคลายร่างกายจนมีรอยยิ้มที่มุมปากเป็นอาจิณ (3) บางครั้งแค่อาบน้ำฝักบัวเย็นๆ เมื่อความสนใจมาอยู่กับความรู้สึกบนผิวหนัง ความคิดจะถูกทิ้งไปโดยปริยาย เปิดช่องให้ปัญญาญาณโผล่ขึ้นมาได้..ปิ๊ง..ง (4) ให้หัดตีความเอาจากร่างกาย เช่นคิดจะทำอย่างหนึ่งแล้วร่างกายมันกระดี๊กระด๊า ก็แสดงว่าปัญญาญาณชี้นำคุณไปทางนั้น (5) หัดตีความเอาจากฝันด้วย เพราะปัญญาญาณบางครั้งบอกอะไรคุณในรูปของความฝัน แต่อย่าไปคิดว่าทุกความฝันจะเป็นปัญญาญาณเสมอไปนะ บางครั้งก็เป็นแค่สัญชาติญาณซึ่งเป็นบั๊ดดี้ของร่างกาย กลางวันทำอะไรไม่ได้เพราะถูกกรงของความคิดเก็บกดไว้ กลางคืนจึงไปอาละวาดในความฝันแทน บางครั้งความฝันก็เป็นแค่ผลจากท้องอืดเพราะกินมากเกินไป จึงต้องหัดทำนายฝันแบบแยกแยะ ไม่ใช่เอะอะก็เหมาว่าฝันนี้เป็นปัญญาญาณตะพึด อีกอย่างหนึ่ง หากก่อนนอนคุณเข้านอนแบบวางความคิดให้หมดให้ได้ก่อน ผ่อนคลายร่างกายทุกลมหายใจจนถึงลมหายใจสุดท้ายที่หลับ จะมีโอกาสมากที่ฝันนั้นจะมาจากปัญญาญาณของคุณ (6) เขียนบันทึก อะไรเกิดขึ้นในใจหัดเขียนบันทึกไว้ เขียนโจทย์แล้วเขียนคำตอบที่โผล่ขึ้นมาทันทีในตอนนั้น นานๆครั้งหาเวลากลับไปอ่านดู สอบทานเทียบเคียงกับเหตุการณ์จริงหลังการเขียนบันทึกนั้น ก็จะเป็นการฝึกความแหลมคมในการรับรู้ปัญญาญาณ (7) หาเวลาไปปลีกวิเวกในธรรมชาติมีคำถามหนักๆก็ตั้งคำถามทิ้งไว้ แล้วรอคำตอบอย่างใจเย็น ปัญญาญาณจะโผล่มาชี้ทางให้เห็น (8) หัดปรับจูนเครื่องรับ ปัญญาญาณเปรียบเหมือนสถานีวิทยุร้อยสถานีที่ออกอากาศพร้อมกัน แต่ใจคุณเหมือนเครื่องรับที่จูนหาคลื่นได้ทีละคลื่นเดียว เมื่อมีสังหรณ์เกิดขึ้น อย่าไปต่อต้านขัดขืน ลองทำตามไปแบบโง่ๆโดยไม่ฟังความคิดที่ชี้แนะด้วยเหตุผลและหลักการสาระพัด

ประเด็นสำคัญคือปัญญาญาณจะไม่เกิดขณะความคิดเจ้าประจำที่ชอบพาคุณหนีจากปัจจุบันไปอยู่ในอนาคตและอดีต เช่น ความกลัว ความหวัง ความเสียใจหรือรู้สึกผิด ยังอยู่ในใจคุณ เหล่านี้เป็นความคิด “ขี้หมา” ไม่เกี่ยวอะไรกับปัญญาญาณ หมดความคิดขี้หมาเมื่อไหร่แล้วโน่นแหละ ปัญญาญาณจึงจะโผล่มาชี้นำทางให้คุณ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

25 มีนาคม 2566

ดัชนีมวลกาย และยาหลังอาหาร

(ภาพวันนี้: นกเป็ดน้ำตากแดดมาสองปี กลายเป็นนกแตกลายงาสวยแบบคลาสสิก)

กราบเรียน คุณหมอสันต์ที่เคารพ
ขอเรียนสอบถามคุณหมอเกี่ยวกับความรู้ 2 ข้อค่ะ
1. จำเป็นจริงหรือค่ะ ที่ค่า BMI ของเราต้องอย่าต่ำกว่าค่ามาตรฐาน
2.ยาหลังอาหาร อาหารที่เราทานแค่ผลไม้สักผลได้ไหมค่ะ
ขอบพระคุณค่ะ คุณหมอ

ส่งจาก iPhone ของฉัน

……………………………………………………………………………..

ตอบครับ

ก่อนตอบคำถามขออธิบายคำว่า BMI ให้ท่านผู้อ่านทั่วไปทราบเป็นแบ้คกราวด์ก่อน คำนี้ย่อมาจาก Body Mass Index แปลว่าดัชนีมวลกาย แปลไทยเป็นไทยว่าน้ำหนักที่คำนึงถึงส่วนสูงเรียบร้อยแล้ว หมายความว่าคนจะอ้วนจะผอมจะนับกันแต่น้ำหนักอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูความสูงด้วย ค่า BMI นี้ได้มาจากการคำนวณโดยเอาน้ำหนักเป็นกก.เป็นตัวตั้ง เอาส่วนสูงเป็นเมตรหารสองครั้ง

ยกตัวอย่างเช่นตัวหมอสันต์นี้น้ำหนัก 62 กก. สูง 165 ซม.หรือ 1.65 เมตร ค่า BMI ก็เท่ากับเอา 62 ตั้ง หารครั้งที่หนึ่งด้วย 1.65 ผลลัพธ์คือ 37.57 เอาผลลัพธ์ของครั้งที่หนึ่งคือ 37.57 ตั้ง แล้วหารครั้งที่สองด้วย 1.65 อีก ผลลัพธ์สุดท้ายคือ 22.7 กก./ตรม. นั่นคือดัชนีมวลกายของหมอสันต์

ทั้งนี้วงการแพทย์ทั่วโลกยอมรับค่าดัชนีมวลกายปกติที่ 18.5 – 25 กก./ตรม. กรณีเป็นคนเอเซียหมอบางท่านก็ใช้ค่าปกติที่ 18.5 – 23 กก./ตรม. จะเอาค่าไหนท่านก็เลือกเอาสักค่า แล้วแต่ชอบ

เอาละคราวนี้มาตอบคำถาม

1.. ถามว่าจำเป็นแบบหัวเด็ดตีนขาดเลยหรือว่า BMI ต้องไม่ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน ตอบว่าดัชนีสุขภาพทางการแพทย์ทุกตัวไม่มีตัวไหนศักดิ์สิทธิ์แบบหัวเด็ดตีนขาดแบบถ้าต่ำหรือสูงกว่าปกตินิดเดียวคือตาย..ย หิ หิ ไม่มีครับ ดัชนีสุขภาพทุกตัวเป็นสมมุติบัญญัติ ว่าคนส่วนใหญ่ที่มีสุขภาพดี ดัชนีมวลกายเขาอยู่ประมาณนี้ คนที่ดัชนีมวลกายหลุดไปจากนี้ เขามักจะมีสุขภาพไม่ดี เราใช้ประโยชน์จากค่า BMI ได้แค่นี้

หลายปีมาแล้วผมไปออกรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก ผมจำชื่อรายการและสถานีไม่ได้แล้ว พิธีกรเป็นนางแบบผอมกระแด๋งน้ำหนักตัว 45 กก. ผมถามส่วนสูงของเธอแล้วคำนวณดัชนีมวลกายแล้วบอกว่าอย่างน้อยเธอต้องเพิ่มน้ำหนักตัวให้ถึง 50 กก. เธอตอบว่า

“แล้วใครจะจ้างหนูละคะ”

ดังนั้นค่า BMI 18.5 กก./ตรม.เป็นอย่างต่ำนี้สำหรับอาชีพนางแบบใช้ไม่ได้ แต่สำหรับบางอาชีพค่า 18.5 กก./ตรม.นี้อาจจะใช้ไม่ได้เพราะทำงานหนักไม่ไหว นานมาแล้วอีกเหมือนกันพนักงานต้อนรับหน้าห้องที่คลินิกโรงพยาบาลเอกชนที่ผมทำงานอยู่ไปสมัครเป็นแอร์โฮสเตสแล้วก็หน้ามุ่ยกลับมาว่าเขาไม่รับหนู ผมถามว่าทำไม เธอตอบว่าเธอผอมไป ผมว่าอะไรกันอวบอย่างนี้ยังว่าผอมอีกหรือ เธอตอบว่า

“เขาจะเอา BMI 20 เป็นอย่างต่ำ ไม่งั้นยกกระเป๋าขึ้นหิ้งไม่ไหว”

ฮ่า ฮ่า ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

กล่าวโดยสรุปกรณีที่ค่่า BMI ของคุณหลุดต่ำกว่า 18.5 กก./ตรม ไปบ้างมันก็โอเคหากมันพอเหมาะพอดีกับการงานอาชีพของคุณและหากสุขภาพโดยรวมของคุณดีอยู่ แต่คุณควรจะพยายามเพิ่มดัชนีมวลกายให้ถึง 18.5 เพราะผลเสียของการมีดัชนีมวลกายต่ำเรื้อรังคือเมื่อแก่ตัวลงคุณจะกระดูกหักง่าย และมีแนวโน้มที่จะขาดอาหาร (แคลอรี่) ได้ง่ายเพราะคนผอมจะมีอาหารสำรองในร่างกายมีน้อย

2.. ถามว่ายาหลังอาหาร การกินแอปเปิลลูกเดียวจะนับเป็นอาหารหนึ่งมื้อแล้วกินยาเลยได้ไหม ตอบว่าได้ครับ ไม่มีอาหารจะกินคุณดื่มน้ำสักสองแก้วแล้วก็กินยาหลังอาหารได้แล้ว

คอนเซ็พท์ของยาหลังอาหารซึ่งยาเกือบทุกตัวเป็นอย่างนี้คือมันเป็นสารเคมีที่ระคายเคืองระบบทางเดินอาหารทำให้ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน การกินยาหลังอาหารเป็นการอาศัยเนื้ออาหารเป็นที่ดูดซับยาไว้ชั้นหนึ่งก่อนไม่ให้มันไประคายเคืองระบบทางเดินอาหารโดยตรง ถ้าคุณไม่กินอาหาร การดื่มน้ำก็ช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์นี้ได้

อย่าไปยึดตรรกะว่ายานี้ต้องกินหลังอาหารมื้อหนักให้ได้ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการกินอาหารมาก ผู้ป่วยหลายท่านซึ่งอ้วนและไขมันสูง เมื่อหมอให้กินยาลดไขมันหลังอาหารก็จะตั้งใจกินอาหารให้อิ่มเต็มพิกัดทั้งๆที่ไม่หิว แต่กินอาหารเพื่อจะได้กินยา ผลก็คือยิ่งตั้งใจกินยายิ่งอ้วน เพราะกินอาหารมากเกินที่ร่างกายต้องการ

ผู้ป่วยบางท่านกินยาเบาหวานแล้วต้องพกโค้กคลาสสิก (น้ำตาลเต็มแม็ก) หรือไม่ก็ขนมหวานติดตัวไว้ในกระเป๋าถือ ให้เหตุผลว่าเป็นแบ้คอัพป้องกันน้ำตาลในเลือดต่ำเพราะยา กลายเป็นว่ากินยารักษาน้ำตาลสูงแต่ต้องคอยกินน้ำตาลรักษาน้ำตาลต่ำเพราะยา เพื่อแก้ปัญหานี้ผมแนะนำว่าผู้ป่วยเบาหวานควรปฏิเสธที่จะกินยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำโดยตรง (sulfonylureas) ควรยอมรับแต่ยาที่ออกฤทธิ์ลดการดื้อต่ออินสุลินโดยไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ (Beguanides) เช่นยา metformin เป็นต้น เพียงอย่างเดียว แล้วไปเข้มงวดกับการปรับลดอาหารที่เป็นต้นเหตุของการดื้อต่ออินสุลินอันได้แก่อาหารไขมันทั้งหลายแทนการตะบันกินยามากมายหลายชนิด การไม่กินยาที่ออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดจะได้ไม่มีข้ออ้างให้พกโค้กหรือขนมหวาน เวลาหิวก็ให้ยอมรับว่าหิวแบบชาวบ้านทั่วไปที่เขาก็หิวได้เหมือนกันเขาไม่เห็นต้องพกโค้กหรือขนมหวานเลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

23 มีนาคม 2566

ทุกประเด็นเกี่ยวกับยารักษาโรคเบาหวาน

(ภาพวันนี้ : เอื้องโมกข์)

เรียนคุณหมอ

ฉันอายุ 74 ปี กินยาฉีดยาเบาหวานมาจนหน้าบวมตาปิด มียาจนรู้สึกว่าฉันไม่อยากตายขณะเต็มไปด้วยยากินยาฉีด มี Semaglutide ฉีดสัปดาห์ละครั้ง Novomix ฉีดทุกวัน Janumet (sitagliptin / metformin) Tanzaril(losartan) 100 mg Bestatin(simvastatin) 20mg Concor (bisoprolol)5mg Apent-m (aspirin) 81 mg ฉันตัดสินใจหนีไม่เอายาแล้ว ไปหาหมอทางเลือก ลูกๆก็เป็นห่วงแต่ฉันพอแล้วไม่อยากจะตายขณะร่างกายเต็มไปด้วยยากินยาฉีด น้ำตาลในเลือดช่วงที่แกล้งไม่ฉีดยากินยาเลยบางครั้งก็ขึ้นไปถึง 400 อยากถามคุณหมอสันต์ว่ายาพวกนี้มันช่วยอะไรฉันได้อย่างไรแค่ไหน ถ้าฉันจะไม่เอายาเลยฉันควรจะทำอย่างไร

………………………………………………

ตอบครับ

คุณได้ยาแค่ 8 ตัวยังถือว่าหน่อมแน้มนะครับ (ที่ผมนับว่ามี 8 ทั้งทั้งๆที่คุณเขียนมาแค่ 7 ตัวก็เพราะยา Janumet นั้นแท้จริงแล้วเขาเอายาสองตัวควบกันอยู่ในเม็ดเดียวกันคือ sitagliptin ควบกับ metformin) ที่ผมว่าคุณกินยาแค่นี้ยังอยู่ในระดับหน่อมแน้มก็เพราะคนไข้คนอื่นๆเขากินยิ่งกว่านี้ ยกตัวอย่างที่สุดโต่ง คนไข้ท่านหนึ่งที่มาหาผมซึ่งผมยกให้เป็นแช้มป์กินยาคือกินยาเฉพาะที่แพทย์ให้วันละ 25 ตัว ยี่สิบห้าตัวถ้วน มีอะไรแมะ หิ..หิ

เนื่องจากช่วงนี้ผมกำลังทำแค้มป์ผมนอนดึกไม่ได้ ขอตอบคุณประเด็นเดียวนะว่ายาเบาหวานที่คุณกินอยู่ซึ่งก็มีอยู่แค่ 4 ตัวคือ semaglutide, Novomix, sitagliptin, metformin มันออกฤทธิ์อย่างไร ช่วยอะไรคุณได้บ้าง และถ้าคุณเลิกกินเลิกฉีดซะให้หมดมันจะเป็นอย่างไรต่อไป เอาแค่ประเด็นนี้ประเด็นเดียวนะ แค่นี้ก็เป็นเรื่องยาเบาหวานแบบเบ็ดเสร็จครบถ้วนแล้ว ท่านผู้อ่านท่านอื่นจะได้เอาไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย ส่วนยาอื่นที่ไม่ใช่ยาเบาหวานช่างมันก่อนเถอะ

โอเค. ร่ายบท มาจะกล่าวบทไป ยารักษาเบาหวานที่มีใช้อยู่ในโลกใบนี้ ศิริรวมแล้วก็แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ได้ 6 กลุ่ม เอาแต่กลุ่มใหญ่นะ กลุ่มเบี้ยหัวแตกไม่เอา

กลุ่มที่ 1. ยาลดการดื้อต่ออินสุลิน (Beguanides) ซึ่งมียา metformin ที่คุณกินอยู่ด้วยเป็นหัวแถว ถือว่าเป็นยารักษาเบาหวานที่ดีที่สุดและมาตรฐานหลักวิชาของสมาคมเบาหวานยุโรปและอเมริกา (EASD/ADA) แนะนำให้ใช้เป็นยาแถวแรก คือต้องใช้ยาตัวนี้ก่อน ก่อนที่จะกระโดดไปใช้ยาตัวอื่น ที่ว่าดีเพราะมันไม่ทำให้เกิดน้ำตาลในเลือดต่ำ เพราะมันไปออกฤทธิ์ลดการดื้อต่ออินสุลินของเซล ไม่ได้ออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดตรงๆ แต่ของดีก็ย่อมต้องมีข้อเสียด้วยเป็นธรรมดา ยา metformin มีข้อเสียที่ทำให้โฟเลทและวิตามินบี.12 ในร่างกายต่ำ ซึ่งจะนำไปสู่สมองเสื่อม หมอที่จ่ายยานี้จึงมักจ่ายกรดโฟลิกและวิตามินบี 1-6-12 มาด้วยพร้อมกันเป็นยาชุด ซึ่งก็จะนำไปสู่อีกปัญหาหนึ่ง คือวิตามินบี.6 เมื่อมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการปลายประสาทอักเสบ รักษาไปรักษามาจึงไม่รู้ว่าปลายประสาทอักเสบจากเบาหวานหรือจากวิตามินบี.รวมกันแน่ นี่ ฮี่ ฮี่ การใช้ยามันก็มีเรื่องแยะอย่างนี้แหละครับ

กลุ่มที่ 2. ยาเสริมอินครีติน (Incretin mimetics) อินครีตินเป็นฮอร์โมนพี่น้องของอินสุลินออกฤทธิ์ช่วยกันแบบพี่น้องสองแรงแข็งขัน มีข้อดีที่ไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำเช่นกัน ทั้งหมดมีผลข้างเคียงที่เป็นมาตรฐานของยาแรงทั้งหลายครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ปวดท้อง ท้องผูก แสบลิ้นปี่ ลมขึ้น เป็นต้น ยากลุ่มนี้ยังแบ่งออกเป็นอีกสองกลุ่มย่อยคือ

กลุ่มย่อย 2.1 ยาเสริมตัวรับ (GLP-1) เช่นยาฉีด semaglutide ที่คุณใช้อยู่ หรือยากินเช่น exenatide, liraglutide

กลุ่มย่อย 2.2 ยาต้านตัวทำลาย (DPP-4) ออกฤทธิ์ต้านเอ็นไซม์ DPP-4 ซึ่งเป็นตัวทำลายอินครีติน เช่นยา sitagliptin, saxagliptin เป็นต้น

กลุ่มที่ 3. ยาต้านการดูดกลับน้ำตาลที่ไต หรือยาต้าน SGPT-2 คำนี้ย่อมาจาก Sodium-glucose Cotransporter-2 ซึ่งก็แปลว่ายาต้านการดูกน้ำตาลกลับที่ไตนั่นแหละ เช่นยา canagliflozin, dapagliflozin เป็นต้น ยาในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ได้แม้จะมีการดื้อต่ออินซูลินหรือแม้ตับอ่อนจะผลิตอินซูลินไม่ได้แล้วก็ตาม แต่ก็มืข้อเสียคือทำให้ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ทำให้เลือดเป็นกรดจากคีโตนคั่งบ้าง และที่แย่ที่สุดคืออาจทำให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น

กลุ่มที่ 4. ฮอร์โมนอินสุลิน ที่คุณต้องฉีดทุกวันนั่นแหละ มาถึงขั้นที่ต้องใช้ตัวนี้ก็คือเบาหวานประเภทที่สองใกล้จะหมดทางไปแล้วแหละ หมายความว่าตับอ่อนซึ่งเป็นผู้ผูกขาดการผลิตอินสุลินทำท่าจะเจ๊งจวนเจียนจะเลิกกิจการเสียแล้วเพราะถูกกระตุ้นให้ผลิตอินสุลินมากเกินไปจนเซลล์ของตัวเองทะยอยตาย จึงต้องอาศัยการฉีดจากภายนอกช่วย ข้อดีก็คือมันเป็นไม้สุดท้าย ข้อเสียคือมันเป็นยาฉีดที่แพ้ง่าย หรือไม่ก็ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรง มักทำให้อ้วน ซึ่งความอ้วนนี้แสลงต่อโรคเบาหวาน กรณีเป็นอินสุลินแบบสูดดมก็อาจมีพิษหากเป็นหอบหืดหรือโรคปอดเรื้อรัง

กลุ่มที่ 5. ยาลดน้ำตาลในเลือด (Sulfonylurea) มีสองรุ่น คือยารุ่นเก่าเช่นยา chlorpropamide, tolbutamide, และยารุ่นสองซึ่งแรงกว่าเช่น glipizide, glimepiride ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ (1) เพิ่มการหลั่งอินซูลินที่ตับอ่อน (2) ลดการทำลายอินซูลินที่ตับ (3) ลดการสร้างกลูโคสที่ตับ ฟังดูดี แต่มีพิษภัยและผลข้างเคียงมาก คือ (1) มักเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรง โดยเฉพาะในคนใช้ยากั้นเบต้ารักษาความดันสูงร่วมด้วย (2) ปวดหัว เวียนหัว (3) แพ้ (4) อ้วน (5) มีพิษต่อตับและไตและหญิงตั้งครรภ์

กลุ่มที่ 6. ยาต้านอัลฟ่ากลูโคสิเดส เช่นยา acarbose, miglitol ออกฤทธิ์โดยระงับเอ็นไซม์ย่อยแป้งในทางเดินอาหารทำให้การดูดซึมน้ำตาลลดลง ผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้คือ (1) มีแก๊สในกระเพาะ (2) ท้องเสีย (3) ปวดท้อง

ยาทั้ง 6 กลุ่มข้างต้น ไม่มียาตัวไหนทำให้หายจากโรคเบาหวาน อย่างดีก็ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงมาอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แลกกับการที่น้ำตาลในเลือดจะตกต่ำฮวบฮาบเป็นครั้งคราว ผมมีคนไข้ท่านหนึ่งใช้ยาเบาหวานแยะ ต้องพกโค้กคลาสสิก (น้ำตาลเต็มแม็ก) ไว้ในกระเป๋าถือสตรีตลอดเวลา เวลาน้ำตาลในเลือดตกท่านก็ดื่มโค้ก เวลาจะกินยาแต่ไม่มีเวลากินข้าวก็ดื่มโค้กแทนข้าว หิ หิ นี่ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการรักษาเบาหวานแบบบ้านๆ ที่เอาน้ำตาลในเลือดเป็นตัวตั้ง น้ำตาลขึ้นก็เอาลง น้ำตาลลงก็เอาขึ้น

มาตรฐานการรักษาเบาหวานที่แท้จริง

ตรงนี้คุณไม่ได้ถามนะ แต่ผมเอามาเล่าให้ฟังเพราะเห็นว่ามีประโยชน์ กล่าวคือสมาคมเบาหวานยุโรปและอเมริกา (EASD/ADA) ได้ร่วมกันออกมาตรฐานการรักษาเบาหวานที่เป็นของจริงที่คุณเอาไปใช้ได้เลย ซึ่งมีหลักสำคัญอยู่ 7 เรื่อง ดังนี้

1. การเปลี่ยนอาหาร/ การออกกำลังกาย/ การให้ความรู้ คือรากฐานหลักของการรักษา

2.ให้ผู้ป่วยร่วมตัดสินใจแผนการรักษาเสมอ

3. จัดการปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือด

4. กำหนดเป้าน้ำตาลในเลือดเป็นรายคน

5. ใช้ยา metformin ก่อนยาอื่นเสมอ

6. ถ้าไม่ได้ผลจึงเพิ่มยาอื่นอีก 1-2 ตัว

7. ถ้าไม่ได้ผลค่อยใช้อินสุลินฉีด

หลักทั้ง 7 ข้อนี้ สามข้อแรกคุณเอาไปใช้ได้เลย นี่เป็นมาตรฐานระดับโลก ของจริง ของแท้ ดีแน่ เพราะมันเป็นรากฐานของการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อการเปลี่ยนอาหารนั้น สาระหลักคือลดอาหารไขมันอิ่มตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อสัตว์ลง เพิ่มอาหารพืชผักผลไม้ถั่วงานัทให้มากขึ้น คุณทำสามข้อแรก แล้วรับประกันว่าคุณจะฮ้อแน่นอน ส่วนยาที่ว่ามันเยอะ..แยะ นั้น หากคุณทำสามข้อแรกได้ดี น้ำตาลในเลือดของคุณจะต่ำลงมาเองจนหมอเขาลดยาลงตามแทบไม่ทันเลยแหละ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

20 มีนาคม 2566

มะเร็งแพร่กระจายไปทั่วกระดูก จะตายอยู่แล้ว แต่ขอวิธีหลุดพ้นก่อนตายได้ไหม

(ภาพวันนี้ : ว่านสี่ทิศ สี่ดอกหันหน้าไปคนละทาง)

เรียนคุณหมอที่เคารพ

เมื่อวันที่ … หนูได้เข้า admit เพื่อรับเคมีสูตร Cisplatin + 5 FU โดยหมอเน้นว่าแค่เพื่อคุณภาพชีวิตเพราะมะเร็งได้แพร่กระจายไปกระดูกทั่วตัวแล้ว (หนูได้แนบใบสั่งการรักษามาด้วยค่ะ) จะเป็นการรักษาต่อเนื่อง 6 วันต่อครั้งค่ะ โดยรับเคมีวันแรก 18/3 วันนี้ 19/3 เป็นวันที่ 2 อยู่ระหว่างการรับ 5 FU dose ที่ 3 จนถึงตอนนี้ยังไม่มีอาการอะไรค่ะ….เมื่อจบการรักษาครั้งที่ 1 ก็จะพอรู้ผลข้างเคียงที่เกิดกับหนูว่าเป็นอย่างไรบ้าง

เมื่อคืนวันที่ยังไม่ได้รับเคมี หนูปวดกระดูกมากราวกับว่ามีจิตกรกำลังเร่งมือขึ้นรูปสลักโดยใช้เครื่องมือหนักอยู่…ไม่รู้ว่ามีความสัมพันธ์กันหรือไม่ หนูกินอาหารโรงพยาบาล มีไก่ ปลา (ก่อนหน้านั้นหลังจากที่รู้ว่าเป็นมะเร็งหนูไม่ได้กินเนื้อสัตว์เลย) วันต่อมาเลยงดเนื้อสัตว์เด็ดขาด กินอาหารปั่น มีถั่ว นัท ซีดส์ ไข่ขาว ผักสารพัดสีต้ม โชคดีห้องที่ได้มีเค้าเตอร์เตรียมอาหารเล็กๆพอวางหม้อต้มและเครื่องปั่นได้…. เมื่อคืนไม่มีอาการปวดเลยราวกับเป็นวันหยุดจิตกร…แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเคมี (ในสูตรมีสเตียรอยด์ด้วย) หรืออาหาร…จะลองทดลองกินเนื้อสัตว์ใหม่ก็กลัวไม่คุ้ม 555 เพราะมันปวดจริงจังมาก….ปลอบตัวเองว่าบางครั้งเราไม่ต้องรู้มันทุกเรื่องก็ได้เพราะชีวิตเราไม่ได้ยาวนานพอที่จะเสียเวลาพิสูจน์ในเรื่องที่ไม่มีผลต่อการตัดสินใจ ในเมื่อตัดสินใจงดเนื้อสัตว์เด็ดขาดอยู่แล้วแล้ว อิอิ….แต่อีกใจก็อยากลองจะได้สรุปไว้เป็นความรู้ตามประสาคนอยากรู้อยากเห็นด้วยตัวเอง 5555..

ตอนที่ปวดกระดูก หนูก็พยายามทำสมาธิโดยเอาความสนใจไปไว้ที่ลมหายใจแต่รวบรวมสมาธิไม่ได้เลย ใจคอยแต่จะแว๊บไปตรงจุดปวด…จากเดิมที่ที่คิดว่าตัวเองสามารถจัดการกับความปวดได้เอาเข้าจริงกระจอกงอกง่อยมาก (ตอนนั้นถึงขนาดคิดว่าเดี๋ยวพรุ่งนี้จะแก้ living will ว่ายอมรับมอร์ฟีนก็ได้ 555….แต่ตอนนี้ก็ยังคิดว่าไม่เปลี่ยนขอลองฝึกดูกอีกซักตั้ง)…แต่ก็ยังดีที่ใจยอมรับได้ ไม่เร่าร้อน หงุดหงิด ทุรนทุราย ยอมรับแบบเงียบๆจ๋อยๆ เพราะคิดว่าเมื่อเราควบคุมจัดการไม่ได้เหลืออย่างเดียวที่ทำได้คือยอมรับ…พอตั้งความสนใจไว้ที่ลมหายใจไม่ได้เลยย้ายความสนใจไปไว้ที่จุดปวด สมาธิก็ดีขึ้น แต่ทีนี้ใจก็คอยแต่แว๊บไปว่ามะเร็งกำลังเพิ่มประชากรอยู่หรือว่ากำลังรุมกินโต๊ะจีนที่หนูส่งเข้าไปให้อยู่…แต่ก็รู้ตัวเป็นระยะๆ ว่าความคิดมันมาแล้ว…ก็ตั้งสติกลับมาจดจ่อที่ความปวดต่อ..ก็ แว๊บไปแว๊ปมาจนหลับไป…

เมื่อเช้าอ่านเพจคุณหมอ “โต๋เต๋ตนเดียวในความเงียบ” ถ้าติต่างว่าเข็มคือเครื่องมือเจาะลูกโป่งที่เป็นอัตตา เพื่อให้ความรู้ตัวในลูกโป่งเป็นอิสระรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติข้างนอกที่เป็นธรรมชาติเดิมของมัน….ปัญหาของหนูคือการฝนเข็มให้ให้คมและแกร่งพอที่จะสามารถเจาะลูกโป่งอัตตาที่ทั้งแข็งทั้งเหนียว…เพราะพอฝนๆไปก็คิดว่าคมพอประมาณแล้วแต่แต่ก็จิ้มอัตตาไม่เคยแตก….วันนี้จะมาขอความเมตตาขอเคล็ดลับเพิ่มพลังเพลงเข็มให้แหลมคมแข็งแกร่งและกลยุทธ์เจาะลูกโป่งทีเดียว….โพล๊ะกระจาย….ไม่ใช่วัยรุ่นใจร้อนแต่กลัวตายก่อนเข็มแหลม 555

ด้วยความรักและเคารพ

……………………………………………………….

ตอบครับ

1.. ถามว่ามีงานวิจัยทางการแพทย์ไหมว่าการกินพืชไม่กินเนื้อสัตว์จะลดการปวดกระดูกจากมะเร็งแพร่กระจายมาที่กระดูกได้ ตอบว่างานวิจัยที่นับได้ว่าเป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ยังไม่มีครับ มีแต่รายงานผู้ป่วยหนึ่งรายที่เป็นมะเร็งแพร่กระจายมาที่กระดูก หมอยกธงขาวแล้ว แต่คนไข้ (ฝรั่ง) ไปกินวีแกน แล้วหายอยู่ 4 ปี ตรวจ bone scan มะเร็งที่กระจายทั่วทั้งตัวหายเกลี้ยง แล้วคนไข้กลับมากินเนื้อสัตว์ใหม่ แล้วก็ปวดกระดูกอีก คราวนี้พบว่ามะเร็งแพร่กระจายไปกระดูกทั่วตัวอีก คราวนี้ตายเลย แพทย์ของเขาเอาภาพ bone scan ทั้งก่อนกินวีแกน หลังกินวีแกน หลังเลิกกินวีแกน มาตีพิมพ์ไว้ในวารสารการแพทย์ เป็นเรื่องที่อะเมซซิ่งมาก ผมเคยเขียนถึงผู้ป่วยเคสนี้ในบล็อกนี้ คุณหาอ่านเอาเองเหอะ ผมเองก็จำไม่ได้แล้วว่าเขียนไปนานเท่าใดแล้ว

ทั้งนี้อย่าลืมว่ารายงานผู้ป่วยไม่ใช่งานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) วงการแพทย์ถือว่ารายงานผู้ป่วยเป็นหลักฐานระดับเรื่องเล่า (anecdotal) นะ คุณยังต้องฟังหูไว้หู

2.. ถามว่าใกล้จะตายแล้ว เวลามีน้อย ด้วยเวลาที่เหลืออยู่นี้อยากจะ “หลุดพ้น” จะต้องทำอย่างไร แหม นี่เป็นคำถามคลาสสิกเลยนะ ยิ่งถามโดยคนเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายอย่างคุณมันยิ่งคลาสสิก แต่คำตอบใช้ได้กับทุกๆคน เพราะไม่ว่ามนุษย์คนไหนก็ตาม ใครหน้าไหนจะไปรู้ว่าตัวเองเหลือเวลาอีกเท่าไหร่ ดังนั้นคำตอบสำหรับคำถามนี้ใช้ได้กับทุกคน

ตอบในภาพใหญ่ว่าการจะหลุดพ้น ที่ภาษาโยคีเรียกว่า “โมกษะ” หรือที่ชาวพุทธเรียกว่า “ละสักกายะทิฐิ” นั้น กล่าวอย่างบ้านๆก็คือการ “วางความคิด” ได้สำเร็จนั่นเอง เพราะความเห็นผิดว่าทั้งหลายทั้งปวงที่ประกอบเป็นตัวตนของเราเป็นของจริงนี้ปรากฏในรูปของความคิดทั้งสิ้น

โยคีดังท่านหนึ่งชื่อ รามานา มหารชี สรุปได้สั้นจู๋ถูกใจหมอสันต์มาก..ว่า

“..การเดินบนเส้นทางสู่ความหลุดพ้นก็คือการทิ้งความคิดเสียทันทีที่มันเกิดขึ้น

การบรรลุความหลุดพ้นเกิดเมื่อความคิดทุกความคิดถูกทิ้งไปหมดเกลี้ยง ไม่เหลือ..”

ดังนั้นผมตอบในระดับภาพใหญ่ว่า..ก็ฝึกวางความคิดซิครับ ด้วยเครื่องมือวางความคิดทั้งหลายทั้งแหล่ที่ผมพูดถึงบ่อยจนท่านผู้อ่านเบื่อแล้วนั่นแหละ

3.. ถามว่าฝึกใช้เครื่องมือวางความคิดตามที่หมอสันต์แนะนำแล้ว แต่มันไม่สำเร็จ มาบัดนี้จวนเจียนจะตายอยู่แล้ว ไม่มีวิธีลัดแบบโป๊ะเชะให้บ้างเลยหรือ ขอหลุดพ้นให้ทันก่อนตายหน่อยน่า

ตอบว่ามีนะ.. มีวิธี ผมจะบอกให้เดี๋ยวนี้เลย

ในระดับหลักการก็คือให้คุณย่นเวลาในชีวิตคุณให้เหลือแค่ลมหายใจนี้ คือมีชีวิตอยู่ในลมหายใจนี้เพียงลมหายใจเดียว ทุกครั้งที่ปลายลมหายใจเข้าคุณสังเกตหรือชำเลืองดูนิดหนึ่งว่าที่ลมหายใจนี้คุณมีความคิดอยู่หรือเปล่า ทำแค่เนี้ยะแหละ ในการสังเกตความคิดคุณจะใช้วิธีย้อนกลับไปดูความคิดหรือใช้วิธีตื่นตัวเฝ้ารอการมาของความคิดใหม่ก็ได้ทั้งนั้น จะเอาอย่างไหนก็ได้ เอาสักอย่าง แต่ขอให้สังเกตทุกลมหายใจนี้

ธรรมชาติของความคิดเมื่อถูกสังเกต มันก็จะฝ่อไป มันอาจจะกลับมาอีก แต่เมื่อถูกสังเกตซ้ำอีกมันก็จะยิ่งแผ่วลงๆจนหมดกำลังหายไปในที่สุด

ปัจจุบันนี้วงการแพทย์ค้นพบว่าเมื่อสมองคนเราเปลี่ยนเรื่องคิด ภาพที่เครื่อง fMRI ตรวจได้จะเปลี่ยนรูปไปทีหนึ่ง หนึ่งรูปยึกยือเหมือนตัวหนอนเท่ากับหนึ่งความคิด เรียกว่า thought worm ด้วยการนับความคิดด้วยวิธีนี้ คณะนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยควีนส์ รัฐออนตาริโอ แคนาดา ได้แสดงหลักฐานภาพ fMRI ว่าคนเราขณะตื่นเราเปลี่ยนเรื่องคิดวันละเฉลี่ย 6200 ความคิดต่อวัน นี่เป็นการวัดเอาจากเครื่องมือที่เชื่อถือได้ ไม่ใช่วันละหกหมื่นความคิดนะ นั่นเขาเดากันเอาเอง เชื่อถือไม่ได้ แต่นี่วัดจริง วันละ 6200 ความคิด นี่เชื่อถือได้ ถ้าวันหนึ่งตื่น 16 ชั่วโมงก็เท่ากับ 388 ความคิดต่อชั่วโมง หรือ 6 ความคิดต่อนาที คนทั่วไปหายใจนาทีละ 12 ครั้งก็เท่ากับ 1 ความคิดต่อทุก 2 ลมหายใจ ก็เรียกว่าไม่ได้มากเกินกว่าที่เราจะสังเกตได้หากเราเจาะจงปักหลักสังเกตเฉพาะลมหายใจนี้เท่านั้น เมื่อความคิดหนึ่งถูกสังเกตจนฝ่อไปแล้วกว่าที่อีกความคิดหนึ่งจะมาอย่างน้อยก็ยังมีเวลาตั้งหลักฟรีๆตั้งหนึ่งลมหายใจ แล้วความคิดทั้งหมดมันจะหนีรอดเราไปไหนได้ละครับ

ในระดับปฏิบัติก็คือคุณต้องทำโครงการ “ย่นชีวิตเหลือลมหายใจเดียว” นี้เป็นโครงการระดับชาติ ตื่นเช้ามาคุณเอาหลักการนี้ทดลองปฏิบัติขณะนั่งสมาธิสัก1 ชั่วโมงก่อน เป็นการชกลมก่อนไปใช้ชีวิตจริงในวันนั้น เพราะการสังเกตความคิดขณะนั่งสมาธิมันง่ายกว่าขณะลงสนามใช้ชีวิตจริง สังเกตความคิดไปเฉพาะที่ลมหายใจนี้เท่านั้น เอาเครื่องมือวางความคิดทั้งเจ็ดชิ้นที่ผมสอนไปแล้วซึ่งมีการผ่อนคลายและยิ้มที่มุมปากเป็นหัวหอกมาร่วมใช้ด้วยได้ จบนั่งสมาธิหนึ่งชั่วโมงแล้วคุณก็ลุกไปใช้ชีวิตจริงโดยเอาวิธีสังเกตความคิดที่ลมหายใจนี้นั่นแหละไปว่าต่อในการใช้ชีวิตจริงทั้งวัน ทำอย่างนี้ทุกวัน อย่าลืมว่าการสังเกตความคิด ก็คือการทำลายความคิดทันทีที่มันเกิดขึ้น เอาแค่ลมหายใจนี้เท่านั้น ที่แล้ว..แล้วไป ไม่เอา ที่ยังมาไม่ถึง..ไม่เอา ยิ่งเรื่องไกลตัวอย่าง..จะตายเมื่อไหร่ จะทันหลุดพ้นหรือไม่ทันหลุดพ้น จะตายปวดหรือตายไม่ปวด ตายแล้วจะไปผุดไปเกิดที่ไหน โห.. ทั้งหมดนั้นคือจินตนาการที่ไม่มีอยู่จริงซักกะอย่างจึงไร้สาระ ต้องไม่เอาเลย เอาลมหายใจนี้เท่านั้น สูดลมหายใจเข้าจนสุด ก่อนที่ลมหายใจจะวกกลับออกมา แอบดูเสียหน่อยว่ามีความคิดหรือเปล่า

วิธีนี้เป็นวิธีลัดสั้นตรงที่สุดที่คุณจะทำลายความคิดหรือ “สักกายะทิฏฐิ” ได้หมดในเวลาอันสั้น แล้วคุณก็จะหลุดพ้น ไม่เชื่อก็ลองดูสิครับ ถ้าไม่ลองแล้วเมื่อไหร่คุณจะรู้ละว่าวิธีที่ผมพูดนี้ใช้ได้หรือใช้ไม่ได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Tseng J, Poppenk J. Brain meta-state transitions demarcate thoughts across task contexts exposing the mental noise of trait neuroticism. Nat Commun. 2020 Jul 13;11(1):3480. doi: 10.1038/s41467-020-17255-9. PMID: 32661242; PMCID: PMC7359033.

………………………………………………………………………

ตอบครับ

[อ่านต่อ...]

17 มีนาคม 2566

หมอสันต์สอน Meditation ชนิดไร้รูปแบบ เรียกว่า "โต๋เต๋คนเดียวในความเงียบ"

(ภาพวันนี้ ; สวนที่เจ้าของทิ้ง มันดูแลตัวเองได้ ต้นคอสมอสที่ปลูกเมื่อหน้าหนาว ทิ้งลูกไว้มาออกดอกเองเมื่อหน้าร้อน)

(หมอสันต์พูดกับสมาชิกแค้มป์ SR)

เช้าวันนี้เราจะใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมง เพราะการเรียนในฮอลล์เรื่องใช้การทำงานสร้างสมาธิ ครูสอนเขาจะต้องเริ่มเวลาเก้าโมงครึ่งเป๊ะ เช้านี้ผมจึงจะเลิกแปดโมง จะได้มีเวลากินข้าวแล้วอาบน้ำอาบท่าได้ทัน

เช้านี้เราจะฝึกปฏิบัติ meditation ในรูปแบบที่ไม่มีพิธีรีตองหรือขั้นตอนปฏิบัติใดๆเลย เป็นการนั่งโต๋เต๋อยู่คนเดียวในความเงียบ พูดแบบบ้านๆได้ว่าเราจะฝึกอยู่กับปัจจุบัน

ก่อนอื่น เรามานิยามคำสำคัญให้เข้าใจตรงกันเสียหน่อยนะ

  1. การทำงานกับการใช้ชีวิ หรือ work life balance มาตกลงกันก่อนนะว่าเราจะแยกการทำงานออกจากการใช้ชีวิต แยกด้วยการแบ่งเวลา ให้เวลาทำงานไปเลยตามความขยัน วันละแปดชั่วโมง หรือเก้าชั่วโมง หรือสิบชั่วโมง เอาไปเลย คงไม่มีใครทำงานเกินสิบชั่วโมงนะ ถ้ามีก็คงจะเป็นคนบ้างานหรือไม่ก็เข้าใจชีวิตผิดไปว่าขณะกำลังบ้าอยู่ในวามคิดนั้นคือการทำงาน

กฎกติกาคือเวลาทำงาน เอาไปเลย แต่เวลาใช้ชีวิต อันได้แก่อาบน้ำแปรงฟันขับรถกินข้าวหรือทำอะไรอื่นๆรวมทั้งนั่งอยู่ตรงนี้เดี๋ยวนี้ เป็นเวลาใช้ชีวิตอย่าเอางานมายุ่ง ก็คือแบ่งเวลา ถ้าทำไม่ได้ก็จบข่าว การมา spiritual retreat นี้ไม่มีประโยชน์ กลับบ้านได้เลย ถ้าทำไม่ได้ให้ถามตัวเองว่าแล้วทำไมตอนเด็กๆทำได้ ชั่วโมงเรียนเราเรียนชั่วโมงพักเราพัก ทำไมเราทำได้ แถมการแบ่งเวลาหรือตารางสอนในวัยเด็กแบ่งซับซ้อนกว่านี้อีกคือวันหนึ่งต้องแบ่งให้ตั้งหลายวิชา พอโตขึ้นนี่เราแบ่งแค่สองช่อง คือเวลาทำงานกับเวลาใช้ชีวิต ใครที่แบ่งเวลาแค่นี้ไม่ได้ให้กลับไปเรียนรู้จากเด็กประถมว่าทำไมเขาทำได้

2. อดีต คือความคิดที่เราคิดขึ้นเมื่อปัจจุบัน ที่มีเนื้อหาวนเวียนอยู่กับความเสียใจ เสียดาย โกรธ เกลียด มีน้อยมากที่จะเป็นเรื่องความภาคภูมิใจ แต่ไม่ว่าจะเรื่องเป็นอะไร ทั้งหมดนั้นไม่ใช่ของดี แม้แต่ความภาคภูมิใจก็มีเนื้อแท้เป็นแค่การอวยอัตตาของเราเองให้มันใหญ่ขึ้น ซึ่งสวนทางกับทางที่เราจะเดินไปข้างหน้าที่จะมุ่งลดอัตตาลง

3. อนาคต คือความคิดที่เราคิดขึ้นเมื่อปัจจุบัน ที่มีเนื้อหาเป็นความกลัว ความกังวล ความคาดหวัง อีกนั่นแหละ ทั้งหมดนั้นไม่มีอะไรดี

ทั้งอดีตและอนาคตเป็นความคิดที่เราคิดขึ้นที่ปัจจุบัน อันที่จริงความคิดทั้งหมดมีเนื้อหาไม่เป็นเรื่องอดีตก็เป็นเรื่องอนาคตทั้งสิ้น เพราะปัจจุบันจะไม่ปรากฎเป็นเนื้อหาอยู่ในความคิด อย่าลืมว่านี่ไม่ใช่เวลาทำงานนะ เป็นเวลาใช้ชีวิต ในการใช้ชีวิตปัจจุบันปรากฎต่อเราในรูปของการรับรู้ (perception) ที่เดี๋ยวนี้ ภาพ เสียง กลิ่น รส สัมผัส และใจ ถ้าเป็นการโผล่มาของความคิด เราก็รับรู้แค่ว่าความคิดโผล่มา เราไม่ลงเนื้อหา เพราะเมื่อใดที่เราลงไปในเนื้อหา เมื่อนั้นเราทิ้งปัจจุบันไปแล้ว ดังนั้นกฏกติกาในการฝึกปฏิบัติเช้านี้ก็คือห้ามลงไปในเนื้อหาของความคิด เพราะนั่นไม่ใช่ปัจจุบัน แต่เราจะฝึกอยู่กับปัจจุบัน

แล้วการอยู่กับปัจจุบันนี่เป็น verb to be นะ ไม่ใช่ verb to do ดั้งนั้นไม่ต้องทำอะไร แค่ be ซึ่งแปลเป็นไทยว่าเป็น บวกอยู่ บวกคือ หารด้วยสาม

4. ความรู้ตัว ถามว่าอ้าว คิดก็ไม่ให้คิด ทำก็ไม่ให้ทำ แล้วจะเหลืออะไรละ ตอบว่า ก็เหลือความรู้ตัวไง

เรามานิยามคำว่าความรู้ตัวนี้ให้เข้าใจตรงกันสักหน่อย

มีคนถามว่าความรู้ตัวเป็นอันเดียวกับความรู้สึกตัวหรือเปล่า ตอบว่าเออ ภาษามันมีข้อเสียก็ตรงนี้แหละ มันเป็นคนละอันนะ “ความรู้สึกตัว” ภาษาอังกฤษว่า “feeling” ภาษาบาลีว่า “เวทนา” เป็นเรื่องของการรับรู้พลังชีวิตผ่านความรู้สึกทางร่างกายบ้าง (เช่นความรู้สึกยิบยับซู่ซ่า หรือความปวด) ผ่านความรู้สึกทางใจบ้าง เช่นความรู้สึกอึดอัด ความรู้สึกโปร่งโล่งสบาย ไม่เกี่ยวกับความคิดนะ feeling ไม่เกี่ยวกับ thought เป็นคนละอันกัน feeling เป็นสิ่งที่ปรากฎต่อเราที่ปัจจุบัน เป็นของดี เรารับรู้มันได้ ยอมรับมันได้ อยู่กับมันได้ แต่มันมีธรรมชาติมาแล้วก็ไป ส่วนความคิดหรือ thought นั้นเป็นสิ่งที่ลากเราออกจากปัจจุบันไปหาไม่อดีตก็อนาคต ไม่เสียใจเสียดายผิดหวังก็กลัวกังวลคาดหวังหรือจินตนาการฟุ้งสร้าน ดังนั้น thought เป็นของไม่ดี เราต้องคอยหันหลังให้มัน ไม่เป็นเพื่อนกับมัน และไม่เผลอถูกมันลากไป

ส่วนความรู้ตัวนั้นคือความตื่นและความสามารถรับรู้ (consciousness) บางคนเรียกว่า “ธาตุรู้” มันเป็นตัวเราที่แท้จริง มันเป็นส่วนที่ลึกที่สุดของความเป็นเรา ดังนั้นเรามาทำความรู้จักมันให้มากขึ้นสักหน่อย มันก็เป็นพลังงานเช่นเดียวกับความคิดและพลังชีวิตนั่นแหละ แต่มันมีหลายระดับชั้นของความละเอียดลุ่มลึก และหลายระดับชั้นของความแคบความกว้าง

ในแง่ของระดับชั้นความละเอียดลุ่มลึก มีคนแบ่งความรู้ตัวออกอย่างหยาบๆเป็นสามระดับคือ

สัญชาติญาณ (instinct)

เชาวน์ปัญญา (intellect)

ปัญญาญาณ (intuition)

สังเกตว่ามีการใช้คำว่า in นำหน้าหมดนะ ซึ่งสื่อความหมายว่าทั้งสามระดับนี้ล้วนติดตัวเรามาแล้วแต่เกิด ไม่ใช่สิ่งที่จะมาสร้างเสริมพอกพูนเอาได้ มีแต่ว่าเราจะสามารถใช้ส่วนไหนได้แค่ไหนเท่านั้นแหละ

ในแง่ของระดับชั้นของความกว้างแคบ สมมุติว่าลูกโป่งที่ผมถืออยู่ในมือนี่เป็นชีวิตของเราเมื่อเกิดมาใหม่ยังเป็นเด็กเล็กๆนะ มันประกอบด้วยสองส่วน

ส่วนที่หนึ่ง คือผิวลูกโป่งเปรียบได้กับความคิด หรือคอนเซ็พท์ ที่ถักทอขึ้นเป็นอัตตาหรือความเป็นบุคคลของเรา

ส่วนที่สอง คือลมที่อยู่ข้างใน ตอนนี้ไม่ได้เป่าลูกโป่ง แต่ก็มีลมอยู่ข้างในบ้าง ลมนี้เป็นหนึ่งเดียวกับลมที่อยู่ข้างนอก แลกเปลี่ยนกันไปมาได้ เป็นหนึ่งเดียวกัน ลมนี้เปรียบได้กับความรู้ตัว หรือ consciousness

คราวนี้ผมเป่าลูกโป่งแล้วมัดปากมันไว้ ลูกโป่งใบนี้คือชีวิตเราเมื่อเติบโตขึ้นมาแล้ว เราก่อความคิดขึ้นมาเป็นคอนเซ็พท์ต่างๆถักทอสานกันแน่นหน้ากลายเป็นตัวตนหรือ identity ของเรา ก็คือผิวของลูกโป่งใบโตนี้ ส่วนข้างในก็ยังเป็นลม ซึ่งเปรียบได้กับความรู้ตัว แต่คราวนี้ลมนี้ถูกขังไว้ในลูกโป่ง เชื่อมต่อกับลมข้างนอกไม่ได้เสียแล้ว ผมเรียกมันว่าเป็นความรู้ตัวที่ถูกจำกัด (limited self) ก็แล้วกัน

คราวนี้หากเกิดมีเหตุใดก็ตามทำให้ลูกโป่งนี้แตก แล้วลมในลูกโป่งจะไปไหนเสียละ มันไม่ได้ไปไหน มันก็กลับไปหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับลมข้างนอกลูกโป่งซึ่งความจริงมันก็เป็นหนึ่งเดียวกันมาแต่ดั้งแต่เดิมอยู่แล้ว อุปมาอุปไมย เมื่อคอนเซ็พท์หรือกรอบความคิดที่ถักทอเป็นอัตตาของเราถูกทำลายหายไป ความรู้ตัวที่เคยถูกจำกัดให้รู้ให้เห็นได้แต่ภายในกรอบของอัตตาก็จะกลายเป็นอิสระ (unlimited self) กว้างไกลไร้ของเขต ซึ่งเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของมัน ไม่มีอะไรมาจำกัดการรู้การเห็นอีกต่อไป คือพูดง่ายๆว่าเมื่อหมดความคิด ความรู้ตัวส่วนละเอียดที่เป็นปัญญาญาณที่เราไม่เคยได้รับรู้สัมผัสก็จะโผล่เข้ามาสู่การรับรู้ได้

5. การยอมรับ (acceptance) คือการที่เราดำรงตนอยู่นิ่งๆ อยู่ตรงกลางๆ อะไรจะผ่านเข้ามาสู่การรับรู้ของเรา เรารับรู้ และยอมรับหมดว่ามันมาแล้ว มาอยู่กับเราแล้ว มันไปจากเราเราก็ยอมรับว่ามันไปแล้ว ไม่แกว่งไปกอดรัดยึดยื้อสิ่งที่ชอบหรือที่อยากได้เอาไว้ ไม่แกว่งหนีสิ่งที่เราไม่ชอบไม่อยากได้ อยู่นิ่งๆตรงกลาง นี่เรียกว่าการยอมรับ การยอมรับเป็นหัวใจของการอยู่กับปัจจุบัน เพราะหากเราไม่ยอมรับสิ่งที่ปรากฎต่อเราที่ที่นี่เดี๋ยวนี้ ทางไปที่เหลือทางเดียวของเราคือมุดเข้าไปในความคิดซึ่งจะพาเราหนีไปที่อดีตหรืออนาคต อดีตอนาคตไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง มันเป็นแค่ความคิดที่เราอาศัยให้มันพาเราหนีออกไปจากปัจจุบันซึ่งเรายอมรับไม่ได้ ดังนั้น การจะอยู่กับปัจจจุบันต้องยอมรับทุกอย่างที่ปรากฎต่อเราในปัจจุบันให้ได้ก่อน นี่เป็นความจำเป็นพื้นฐานของการจะอยู่กับปัจจุบัน

โอเค. เราได้นิยามศัพท์สำคัญให้เข้าใจตรงกันแล้ว คราวนี้ถึงเวลาเล่นเกม “โต๋เต๋คนเดียวอยู่ในความเงียบ”

เรารู้ตัวอยู่ว่าเรานั่งอยู่ที่นี่ บนสนามหญ้านี้ จะนั่งท่าไหนก็ได้ แต่ขอให้หลังตรง จะลืมตาหรือหลับตาก็ได้

วิธีเล่นเกมก็คือนั่งโต๋เต๋อยู่คนเดียวในความเงียบ ไม่มีพิธีกรรมใดๆทั้งสิ้น เป้าหมายคือให้ได้อยู่กับความรู้ตัวโดยไม่มีความคิดรบกวน เครื่องมือที่ใช้ก็คือเครื่องมือวางความคิดทั้งเจ็ดชิ้นที่เรียนไปแล้วนั่นแหละ อันได้แก่ (1) สติหรือความสนใจ (attention) ของเรา (2) ลมหายใจ (breathing) (3) การผ่อนคลายร่างกาย (relaxation) (4) การรับรู้พลังชีวิตผ่านความรู้สึกบนร่างกาย (body scan) (5) การสังเกตความคิด (thought observation) (6) การกระตุ้นตัวเองให้ตื่น (alertness) (7) การจดจ่อสมาธิ (concentration) ให้หยิบเครื่องมือทั้งเจ็ดขึ้นมาใช้โดยไม่ต้องคำนึงถึงจะใช้อะไรก่อนอะไรหลัง จะใช้ทีละอันหรือจะใช้ทีละหลายอัน ได้ทั้งนั้น

ผมจะให้เวลาสิบนาทีกับการโต๋เต๋นี้ โดยจะเคาะระฆังเป็นพักๆเพื่อเตือนคนใจลอย เอ้า.. เริ่ม

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

15 มีนาคม 2566

อุลตร้าซาวด์ช่องท้อง คุณไม่ได้ประโยชน์อะไรจากมันเลยนอกจากความกังวล

(ภาพวันนี้ : ไม่ใช่ท่อส่งน้ำโรมันโบราณที่เซ้าท์โพรวองซ์ แต่เป็นรถไฟทางคู่ผ่านเมืองมวกเหล็ก)

เรียน คุณหมอสันต์ สวัสดีค่ะคุณหมอ

หนูชื่อ … อายุ 31 ชีวิตกำลังจะเริ่มต้นเข้าทำงานที่ใหม่ หลังจากที่ตกงานมานานในช่วงโควิด แต่ผลตรวจสุขภาพกลับพบว่ามีก้อนเนื้อที่ตับขนาด 0.8 cm (a 0.8 oval homogeneous hyperechoic nodule at right rope) พ่วงแถมมาในปีนี้  จากเดิมที่เจอติ่งเนื้อโพลิบในถุงน้ำดีขนาด 0.5 cm ที่เป็นมา 3 ปี แล้ว (ซึ่งหมอก็ให้เฝ้าระวังทุกปี จากตรวจ 6 เดือนครั้ง) คุณหมอแนะนำให้ทำ MRI เพื่อดูว่าตกลงมันเป็นอะไรกันแน่ เพราะว่าหมอบอกว่าตรวจมาทุกปีไม่เคยเจอ อยู่ๆ พบก็เลยอยากให้ตรวจ เพราะถ้าเป็นเส้นเลือดขอดที่ตับ (หนูไม่รู้ฟังมาถูกไหมเพราะเบลอจากได้ยินว่าเจอก้อนในอวัยวะใหม่) มันน่าจะพบนานแล้วจากการตรวจมาทุกปี ตัวประกันสุขภาพที่หนูมีก็ไม่ออกค่าใช้จ่ายให้ จึงอยากขอรบกวนเรียนปรึกษาคุณหมอว่าก้อนเนื้อที่เจอน่ากังวลไหมคะ ถ้าจะติดตามแค่อัลตราซาวทุกปีเพียงพอไหม หรือจำต้องฉีดสีทำ MRI คะ ได้แต่ตัดพ้อว่าทำไมชีวิตต้องเจอโชคร้ายอะไรแบบนี้ด้วยคะ ขอบคุณคุณหมอมากค่ะ  

ด้วยความเคารพ

……………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่าอายุ 31 ไม่มีอาการอะไรตรวจอุลตร้าซาวด์พบเนื้อเยื่อขนาดต่ำกว่า 1 ซม. ที่สะท้อนคลื่นเสียงมากกว่าเนื้อตับปกติ น่ากังวลไหม ตอบว่าไม่น่ากังวลครับ เกือบทั้งหมดมักจะเป็นการขดตัวของหลอดเลือด (hemangioma) ซึ่งไม่ต้องการการรักษาอะไร

ประเด็นที่ว่าหากเป็น hemangioma ก่อนหน้านี้ทำไมตรวจไม่เจอ ตอบว่าการขดตัวของหลอดเลือดไม่จำเป็นต้องตรวจพบตั้งแต่เกิด แต่ค่อยๆมีขนาดใหญ่ขึ้นแล้วมาตรวจพบเอาตอนโตได้ ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้น

2.. ถามว่าจำเป็นต้องทำ MRI ไหม ตอบว่า ไม่จำเป็นหรอกครับ

การจะทำ MRI คุณต้องมองข้ามช็อตไปว่าหากผล MRI บ่งชี้ไปทางว่าน่าจะเป็นเนื้องอก คุณจะยอมตัดชิ้นเนื้อตับออกมาตรวจไหม เพราะภาพจาก MRI ก็มิได้สิ้นสุดว่ามันเป็นอะไรอยู่ดี ผมตอบล่วงหน้าแทนคุณได้เลยว่าแม้ MRI บ่งชี้ไปทางว่ามันน่าจะเป็นเนื้องอก ยังไงเราก็ไม่ผลีผลามตัดชิ้นเนื้อ (biopsy) ตับออกมาตรวจตอนนี้อยู่ดี เพราะมันเป็นหัตถการที่มีความเสี่ยงสูงขณะที่ประโยชน์ที่จะได้จากผลการตรวจชิ้นเนื้อมีน้อยกว่า 1 ใน 100 ยังไงเราก็ต้องดูเชิงหาข้อมูลเพิ่มเติมไปก่อนว่าหากมันเป็นเนื้องอกจริงมันมีอัตราการเพิ่มขนาดไปอีกเท่าตัวในเวลาเท่าใดก่อน หากมันเพิ่มขนาดไปเท่าตัวในเวลา 6 เดือน – 1 ปี ก็มีเหตุผลมากพอที่จะสงสัยว่ามันอาจจะเป็นมะเร็งตับ

หากติดตามดูหนึ่งปีแล้วมันเพิ่มขนาดเกินหนึ่งเท่าตัวจริงถึงตอนนั้นคุณก็ต้องมองข้ามไปอีกช็อตหนึ่งว่าหากมันเป็นมะเร็งตับ คุณจะยอมรับการผ่าตัดเอาตับออกไปส่วนหนึ่งไหม หากไม่ยอมรับก็ไม่ต้องไปทำอะไรต่อ แต่หากยอมรับว่าจะผ่าตัดก็ค่อยเดินหน้าตัดชิ้นเนื้อตับออกมาตรวจ หากผลตรวจชิ้นเนื้อแจ๊คพอตด้วยโอกาสน้อยกว่า 1 ใน 100 ว่ามันเป็นมะเร็งตับขึ้นมาจริงๆก็เดินหน้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดเอาตับออกไปบางส่วน

ทั้งหมดนี้คือภาพใหญ่ของวิธีคิดวางแผนจัดการสืบค้น (investigation) โรคต่างๆ คือทุกสะเต็พที่จะเดินหน้าทำอะไร ต้องมองข้ามช็อตไปว่าทำแล้วจะมีผลเปลี่ยนวิธีจัดการโรคไหม หากทำแล้วไม่มีผลเปลี่ยนวิธีจัดการโรค คุณอยู่เฉยๆดีที่สุด

วงการแพทย์เป็นวงการอุตสาหกรรมที่มีการคิดค้นสินค้าใหม่ๆขึ้นมาเสนอขายไม่หยุดหย่อน ทั้งด้านการสืบค้นโรค และด้านการรักษาโรค สินค้าเหล่านั้น 9 ใน 10 เป็นสินค้าที่ไร้สาระและก่อปัญหาต่อสุขภาพของผู้คนมากกว่าที่จะป้องกันหรือแก้ปัญหาสุขภาพ ยกตัวอย่างเช่นการที่คุณไปตรวจอุลตร้าซาวด์ของช่องท้องทุกปี หลักฐานวิจัยที่วงการแพทย์มีคือการทำเช่นนั้น (อุลตร้าซาวด์ทุกปี) ข้อมูลที่ได้มาไม่ได้ช่วยลดอัตราตายจากโรคต่างๆลงเลย มีแต่จะก่อความกังวลและชักนำไปสู่การสืบค้นและการสุ่มรักษาโดยขาดหลักฐานรองรับว่ามีประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่นการที่คุณขยันไปทำอุลตร้าซาวด์ทุกปีข้อมูลที่ได้มาคือมีติ่งเนื้อในถุงน้ำดีและเนื้อเยื่อสะท้อนเสียงสูงคล้ายหลอดเลือดขด ข้อมูลนี้ไม่มีประโยชน์อะไรกับคุณเลย แต่ใจคุณกังวลไปแล้วแน่นอน ตัวความกังวลนี้แหละเป็นผลพลอยเสียที่วงการแพทย์สร้างขึ้นให้คุณ มันจะไปกระตุ้นการผลิตสารเคมีหลายตัวขึ้นในร่างกายเช่นคอร์ติซอล ซึ่งสารเคมีเหล่านั้นจะไปกำกับ (upregulate) รหัสพันธุกรรมของเซลทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆขึ้นมาได้รวมทั้งโรคมะเร็งของจริงเลยคราวนี้

ดังนั้นคุณเป็นหญิงที่เพิ่งอายุ 31 ปี หากอยากมีสุขภาพดีให้อยู่ห่างๆหมอไว้ให้มากที่สุด อย่างขยันที่คุณจะทำเพื่อดูแลตัวเองคือตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกสามปี และตรวจดูเคมีของเลือดในส่วนของน้ำตาลและไขมันทุก 4-5 ปี นอกเหนือไปจากการวัดความดันเลือดและชั่งน้ำหนักตามโอกาส แค่นี้ก็พอแล้ว พออายุถึง 50 ปี อย่างขยันก็อาจจะต้องคัดกรองมะเร็งเต้านมปีเว้นปี และส่องตรวจลำไส้ใหญ่ทุกสิบปี แค่นี้พอแล้ว ทั้งหมดที่ผมว่ามานี้เป็นมาตรฐานการป้องกันโรคสากลที่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์รองรับและเป็นมาตรฐานที่คณะทำงานป้องกันโรครัฐบาลสหรัฐ (USPSTF) ใช้ หากผลตรวจตัวใดตัวหนึ่งผิดปกติไปคุณก็ต้องรีบใช้ข้อมูลนั้นขวานขวายปรับเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตของคุณเองด้วยตัวคุณเอง เช่นหากตรวจพบไขมันในเลือดสูง คุณก็ต้องขวานขวายเปลี่ยนอาหารจากกินเนื้อสัตว์ไปกินพืชให้มากขึ้นและลดปริมาณแคลอรี่โดยรวมที่บริโภคลง เป็นต้น นี่เป็นวิธีใช้ความรู้ทางการแพทย์แบบให้ได้ประโยชน์สูงสุดโดยได้รับพิษภัยจากความรู้ทางการแพทย์น้อยที่สุด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

11 มีนาคม 2566

การให้อาหารด้วยหนทางเทียม (Artificial Nutrition and Hydration - ANH)

(ภาพวันนี้ ; กล่ำปลีฝีมือปลูกหมอสันต์ เป็นภาระให้หมอสมวงศ์ลำเลียงไปแจก)

อาจารย์คะ

หนูมีปัญหา consult คนไข้ของหนูอายุ 87 เป็นผักหลัง stroke ติดเตียงอยู่ในไอซียูมาปีกว่าแล้ว (มีเส้น) คนไข้ได้สายอาหารทาง PEG ลูกสาวคนไข้เล่าว่าตอนที่ยังพูดได้แม่บอกว่าไม่ต้องการให้ใส่เครื่องช่วยหายใจไม่ต้องการให้ปั๊มหัวใจ แต่ไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับการให้อาหารทางสายยาง ตอนนี้ลูกสาวของคนไข้มาขอให้หนูเอาสาย PEG ออกเพราะเธอไปอ่านมาแล้วว่ามันจะทำให้คุณแม่ของเธอไม่สงบในวาระสุดท้าย อีกอย่างหนึ่งเธอเดาใจแม่ว่าแม่ไม่ชอบแบบนี้ ประเด็น consult คือ ถ้าหนูไม่ถอด PEG โดยให้เหตุผลว่ามันจำเป็นเพราะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสบายขึ้น อย่างนี้จะเป็นการให้เหตุผลที่โอเค.ไหม และถ้าหนู order ให้ถอด PEG มันจะไม่ขัดกับจริยธรรมตรงที่เราไม่ให้อาหารแก่คนหิว ไม่ให้น้ำแก่คนกระหายหรือคะ

ขอบคุณค่ะอาจารย์

……………………………………………………

ตอบครับ

ก่อนตอบคุณหมอ ผมขอนิยามคำสองคำให้ผู้อ่านท่านอื่นตามทันนะ

PEG ย่อมาจาก percutaneous endoscopic gastrostomy แปลว่าการส่องกล้องใส่สายยางให้อาหารตรงจากผิวหนังหน้าท้องเข้าสู่กระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นวิธีให้อาหารยอดนิยมแก่ผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 3 ของคนแก่สมองเสื่อมในเนอร์ซิ่งโฮมทั้งประเทศในสหรัฐอเมริกา เพราะใส่แล้วไม่ต้องเปลืองแรงงานมาป้อนข้าว คนไข้ก็ไม่แสดงอาการขาดอาหารซึ่งจะกลายเป็นตัวชี้วัดเชิงลบที่กรรมการตรวจรับรองคุณภาพ (HA) ชอบมองหา และ..เบิกค่าใส่ได้อีกต่างหาก หิ หิ

ANH ย่อมาจาก Artificial nutrition and hydration แปลตรงๆว่าการให้อาหารและน้ำด้วยเส้นทางเทียม หมายถึงการให้อาหารและน้ำทางนอกเหนือจากการกินหรือดื่มด้วยตนเอง จะเป็นการให้ทางสายยางผ่านจมูกหรือเจาะตรงเข้าทางกระเพาะอาหาร หรือให้แบบน้ำเกลือหยอดเข้าหลอดเลือดดำก็ตาม ผมจะใช้คำย่อ ANH นี้ในคำตอบนี้นะ เพราะมันเป็นคำที่ติดหัวผมอยู่แล้ว จะได้ไม่ต้องใช้ภาษาไทยยาวเหยียด

เอาละ คราวนี้มาตอบคำถามของคุณหมอ

1.. ถามว่าถ้าเราปฏิเสธไม่ยอมถอดสายให้อาหารทางกระเพาะโดยให้เหตุผลว่ามันจำเป็นเพราะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสบายขึ้น อย่างนี้จะเป็นการให้เหตุผลที่โอเค.ไหม ตอบว่าเป็นเหตุผลที่ไม่โอเค.เลยครับ เพราะหลักฐานวิจัยเกือบทั้งหมดที่มีอยู่ตอนนี้ล้วนชี้ไปทางว่า ANH ไร้ประโยชน์สำหรับผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยสมองเสื่อมระดับช่วยตัวเองไม่ได้แล้ว (advanced dementia) ไม่มีหลักฐานวิจัยแม้แต่ชิ้นเดียวที่ยืนยันว่าการให้ ANH ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ในทางกลับกันมีแต่หลักฐานว่า ANH ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเช่นปอดบวมจากการสำรอก ต้องมัดมือมันแขน คลื่นไส้ เสมหะมาก ท้องเสีย และต้องถูกเจาะเลือดเพื่อติดตามดูมากขึ้น

นอกจากนั้น ปัจจุบันนี้เราเข้าใจสรีรวิทยาของชีวิตระยะสุดท้ายมากขึ้น ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวอวัยวะร่างกายจะทำงานน้อยลง หมดความอยากอาหารและความกระหายน้ำ กลไกการกลืนไม่ทำงาน สติความรู้ตัวลดลง ร่างกายโดยรวมลดความต้องการอาหารลง ในภาวะขาดอาหาร (starvation) นั้นร่างกายจะหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินส์ออกมา ฤทธิ์ของเอ็นดอร์ฟินส์มีผลต่อทั้งความคิด จิตใจ และร่างกาย มันคลายความเครียด ทำให้หายปวด และทำให้ใจค่อยๆถอยห่างออกจากความจำเก่าๆและสิ่งเร้าที่ผ่านเข้ามาทางอายตนะต่างๆ ความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลายที่เคยมีจะแผ่วลงไป เหมือนจะเป็นการสร้างบรรยากาศการตายให้สงบเย็นแทนความตื่นกลัวหวาดผวา การพยายามอัดอาหารเข้าไปในร่างกายผู้ป่วยในช่วงนี้กลับจะเป็นผล “ต่อต้าน” การดำเนินการเชิงสรีรวิทยาของร่างกายเสียมากกว่า

2.. ถามว่าถ้าแพทย์เขียน order ให้ถอดสายให้อาหาร มันจะไม่ผิดจริยธรรมตรงที่เราไม่ให้อาหารแก่คนหิว ไม่ให้น้ำแก่คนกระหายหรือ ตอบว่า แหม หิ หิ คุณหมออย่าไปมองอะไรข้างเดียวสิครับ ให้มองอีกข้างหนึ่ง คือ ติ๊งต่างว่าถ้าร่างกายของคนไข้ในระยะสุดท้ายเขาไม่ได้ต้องการอาหารแล้ว แต่เราในฐานะแพทย์ไปสั่งให้ “ยัดเยียด” (force feeding) อาหารเข้าไปมันจะเป็นการให้คุณหรือให้โทษกับคนไข้ละครับ ประเด็นของผมก็คืองานวิจัยผู้ป่วยระยะสุดท้ายส่วนใหญ่ล้วนบ่งชี้ไปในทางว่าร่างกายไม่ได้ต้องการอาหารในระยะนั้น

ซึ่งงานวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งพบด้วยว่าแพทย์ส่วนใหญ่มอง ANH ว่าเป็นเรื่องมีประโยชน์หากมองจากมุมหลักฐานการแพทย์ โดยที่ไม่รู้ความจริงว่าแท้จริงแล้วผลวิจัยล้วนบ่งชี้ไปทางว่า ANH ให้ผลเสียกับผู้ป่วยเมื่อมองจากมุมหลักฐานทางการแพทย์

3.. ข้อนี้ผมแถมให้นะ เรื่องการตีความจริยธรรมทางการแพทย์ นอกจากหลักจริยธรรมห้าหกข้อที่เราเรียนมาแล้ว ผมแนะนำว่าม็อตโต้ที่เขียนไว้บนปกสมุดที่เราใช้ตอนเราเป็นนักเรียนแพทย์ที่ว่า “อัตตานัง อุปมัง กเร” นั่นแหละเป็นตัวเช็คว่าอะไรผิดหรือไม่ผิดจริยธรรมที่ง่ายดี คือเมื่อสงสัยว่าเราทำถูกจริยธรรมไหม ให้สมมุติว่าเราเป็นคนไข้นอนบนเตียงพะงาบรอความตายด้วยโรคที่รักษาไม่หายอยู่พูดสื่อสารกับใครก็ไม่ได้ เราอยากให้หมอทำกับเราอย่างไร คุณหมอทำตามนั้นแหละ ถูกต้องตามหลักจริยธรรมแน่นอน

ว่าจะจบแล้วนึกขึ้นได้ ไหนๆคุณพูดถึงหลักจริยธรรมขึ้นมาแล้วซึ่งหมอรุ่นใหม่เขาไม่ค่อยพูดถึงกัน คุณจำได้ไหมว่าหลักข้อหนึ่งคือ “หลักไร้ประโยชน์ (principle of futility)” ซึ่งมีสาระอยู่ว่า “แพทย์ไม่พึงทำการรักษาที่ไร้ประโยชน์” คุณจำข้อนี้ได้ใช่ไหม

การให้ ANH หรือให้อาหารทางสายยางแก่ผู้ป่วยติดเตียงที่หมดโอกาสจะลุกขึ้นมาเดินเหินมีชีวิตที่มีคุณภาพได้อีกต่อไปแล้ว เป็นการรักษาที่ไร้ประโยชน์นะ เป็น futile treatment นี่ผมไม่ได้ยุให้คุณหมอทำตามหรือไม่ทำตามลูกสาวคนไข้ เพียงแต่อยากให้คุณหมอใช้ดุลพินิจของคุณหมอเองหลังจากได้ทราบข้อมูลวิจัยครบถ้วนแล้ว ผมได้ให้งานวิจัยชิ้นที่สำคัญๆไว้ท้ายคำตอบนี้ด้วย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Finucane TE, Christmas C, Travis K. Tube feeding in patients with advanced dementia. JAMA. 1999;282:1365–70. doi: 10.1001/jama.282.14.1365. [PubMed] [CrossRef] [Google Scholar]

2. Gillick MR. Rethinking the role of tube feeding in patients with advanced dementia. N Engl J Med. 2000;342:206–10. doi: 10.1056/NEJM200001203420312. [PubMed] [CrossRef] [Google Scholar]

3. Sanders DS, Carter MJ, D’Silva J, et al. Survival analysis in percutaneous endoscopic gastrostomy feeding: a worse outcome in patients with dementia. Am J Gastroenterol. 2000;95:1472–75. doi: 10.1111/j.1572-0241.2000.02079.x. [PubMed] [CrossRef] [Google Scholar]

4. Garrow D, Pride P, William M, et al. Feeding alternatives in patients with dementia: examining the evidence. Clin Gastroenterol Hepatol. 2007;5:1372–78. doi: 10.1016/j.cgh.2007.09.014. [PubMed] [CrossRef] [Google Scholar]

5. Ganzini L. Artificial nutrition and hydration at the end of life: ethics and evidence. Palliat Support Care. 2006;4:135–43. doi: 10.1017/S1478951506060196. [PubMed] [CrossRef] [Google Scholar]

6. Dy SM. Enteral and parenteral nutrition in terminally ill cancer patients: a review of the literature. Am J Hosp Palliat Care. 2006;23:369–77. doi: 10.1177/1049909106292167. [PubMed] [CrossRef] [Google Scholar]

7. Murphy LM, Lipman TO. Percutaneous endoscopic gastrostomy does not prolong survival in patients with dementia. Arch Intern Med. 2003;163:1351–53. doi: 10.1001/archinte.163.11.1351. [PubMed] [CrossRef] [Google Scholar]

8. Cervo FA, Bryan L, Farber S. To PEG or not to PEG: a review of evidence for placing feeding tubes in advanced dementia and the decision-making process. Geriatrics. 2006;61:30–. [PubMed] [Google Scholar]

[อ่านต่อ...]

หมอตรวจพบ PSA สูง จึงไปต่อกับชีวิตไม่ถูก

(ภาพวันนี้ : ลูกสตาร์แอปเปิล ของฝากจากเพื่อนบ้าน)

สวัสดีครับคุณหมอ

ผมติดตามบทความคุณหมอมาตลอด  มีเรื่องเรียนถามเพื่อประกอบการตัดสินใจดังนี้ครับ  

      เมื่อเดือนก่อนผมมีอาการปัสสาวะติดจัด เจ็บปวดมาก จึงไปหาหมอที่ รพ หมอให้ยามาทาน อาการก็ดีขึ้นจนขับถ่ายได้ปรกติ กลางคืนถ้าดื่มน้ำน้อยก็ไม่ต้องลุกมาปัสสาวะกลางดึก หมอได้ทำการนัดส่งตัวผมให้แพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมเดินปัสสาวะตรวจ  แพทย์ให้เจาะเลือดตรวจหาค่า psa ได้ผลออกมาที่ค่า psa 30  หมอบอกอาจจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก จึงนัดผมให้มาทำการเจาะตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก โดยหมอนัดให้ไปตรวจวันที่ 23 มีนาคมนี้  ผมติดตามอ่านบทความคุณหมอเรื่องมะเร็งต่อมลูกหมาก ผมอยากขอความเห็นคุณหมอว่า  ผมควรไปตรวจชิ้นเนื้อมั้ยครับ ด้วยค่า psa 30 จากผลเลือด เพราะผมยังกังวลกับผลข้างเคียงของการตัดชิ้นเนื้อ หรือผมควรใช้วิธีปรับเปลี่ยนอาหารและออกกำลังกาย นั่งสมาธิ

      ปัจจุบันผมออกกำลังกายด้วยการเดินเร็ววันละ 40 นาที  สลับกับว่ายน้ำวันละ 30 รอบ  เหล้า บุหรี่ เลิกมานานแล้ว  ผมอายุ 60  ส่วนสูง 165  นน 59  ในครอบครัวไม่มีคนเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก

             ด้วยความเคารพอย่างสูงครับ 

 ………………………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่า PSA สูงผิดปกติ แล้วควรจะเดินหน้ากับชีวิตอย่างไรดี ก่อนตอบคำถามนี้ผมขอทบทวนที่ผมพูดไปบ่อยๆก่อนนะ ว่าคำแนะนำของคณะทำงานป้องกันโรคสหรัฐ (USPSTF) แนะนำว่าผู้ชายที่ไม่มีอาการอะไรไม่จำเป็นต้องไปตรวจดูค่า PSA ทุกปี เพราะการทำเช่นนั้นไม่ได้ทำให้การตายจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากลดลง มีแต่จะทำให้ได้รับการรักษามากเกินความจำเป็นและก่อนเวลาอันควร ท้ายที่สุดโหลงโจ้งก็ตายครือๆกันกับคนที่เขาไม่ขยันตรวจ

แต่ว่าในกรณีของคุณนี้มีอาการปัสสาวะขัดลำกล้อง ซึ่งแพทย์ต้องวินิจฉัยแยกว่าเป็นเพราะท่ออักเสบ หรือเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือเป็นต่อมลูกหมากโต จะได้รักษาอาการขัดลำกล้องได้ถูก ดังนั้นในกรณีของคุณนี้เป็นการตรวจเมื่อมีอาการปัสสาวะผิดปกติ เป็นเรื่องจำเป็นต้องทำ ปัญหาก็คือทำแล้วได้ผลออกมาแล้ว ไม่รู้จะทำอย่างไรกับชีวิตต่อไป

การวินิจฉัยแยกโรคที่เป็นไปได้ตอนนี้คือ (1) การอักเสบของท่อปัสสาวะและหรือต่อมลูกหมาก (2) ต่อมลูกหมากโต (3) มะเร็งต่อมลูกหมาก

การวางแผนจะทำอะไรต่อไป คุณต้องคิดข้ามช็อตไปก่อนว่าหากติ๊งต่างว่าคุณเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจริง คุณจะเลือกการรักษาแบบไหน ซึ่งมาตรฐานปัจจุบันนี้ผู้ป่วยจะถูกเสนอให้เลือก 5 แบบ คือ


(1) ผ่าตัดต่อมลูกหมากออกแบบยกยวง (radical prostectomy)

(2) การใช้รังสีรักษา (radiation therapy)

(3) การลดอิทธิพลฮอร์โมนเพศชาย (androgen deprivation therapy – ADT) ซึ่งมีทั้งแบบใช้ยาและแบบตัดลูกอัณฑะทิ้ง

(4) การดูเชิงแบบอยู่ไม่สุข (Active surveillance) หมายความว่าทุกสามเดือนเจาะเลือดดู PSA บวกกับทุก 1-2 ปีก็ตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากออกมาตรวจเสียทีหนึ่ง

(5) การดูเชิงแบบอยู่นิ่งๆ (watchful waiting) ไม่ทำอะไรทั้งนั้น ยกเว้นมีอาการก็ทำอะไรเพื่อบรรเทาอาการเสียทีหนึ่ง

     ไม่ว่าจะรักษาแบบไหนในห้าแบบข้างต้นนี้  ผลก็คล้ายกันหมด คือส่วนใหญ่..ไม่หาย ใครจะหายหรือไม่หาย ใครจะตายช้าหรือตายเร็ว มีปัจจัยร่วมกำหนดโชคชะตาห้าปัจจัย คือ (1) ค่า PSA (ว่าสูงขึ้นๆเร็วแค่ไหน), (2) คะแนนกลีสันสะกอร์ ซึ่งได้จากการดูภาพของเซลเมื่อตรวจชิ้นเนื้อ (3) ระยะของโรคมะเร็ง (4) เปอร์เซ็นต์ชิ้นเนื้อที่ตรวจพบมะเร็งจากจำนวนชิ้นเนื้อที่ตัดออกมาทั้งหมด และ (5) อายุของผู้ป่วย

การจะตอบคำถามข้อนี้ได้ คุณต้องมองข้ามช็อตไปก่อนว่าคุณจะเลือกการรักษาแบบไหน หากจะเลือกแบบสี่ข้อแรกคุณต้องเดินหน้าตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก แต่หากจะเลือกแบบข้อห้า คือ watchful waiting คุณก็อยู่บ้านเฉยๆไม่ต้องไปหาหมอ จะไปก็ต่อเมื่อฉี่ไม่ออกเท่านั้น

ในการใช้ดุลพินิจ ทางแพทย์มีข้อแนะนำประกอบว่า

(1) ถ้าเป็นคนไข้ที่มีความเสี่ยงต่ำ (เช่นปัจจัยกำหนดโชคชะตาห้าปัจจัยข้างต้นยังมีไม่มากหรือไม่รุนแรง) ไม่ควรใช้วิธีรักษาที่มีความเสี่ยงสูง

(2) ถ้าคนไข้ที่เหลือเวลาในชีวิตน้อย ไม่ควรวิธีรักษาที่มีความเสี่ยงสูง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจะเลือกวิธีการดูเชิง หากคะเนว่าเวลาในชีวิตเหลือมากกว่า 20 ปีแนะนำให้ใช้วิธีดูเชิงแบบอยู่ไม่สุข (active surveillance) แต่หากเวลาในชีวิตเหลือน้อยกว่า 10 ปี แนะนำให้เลือกวิธีดูเชิงแบบอยู่นิ่งๆ (watchful waiting) เป็นต้น

คุณจะเลือกแบบไหนคุณต้องตัดสินใจเอง เอาแบบที่ชอบ ที่ชอบ ในฐานะหมอ ผมไม่อาจตัดสินใจแทนคนไข้ได้ในกรณีที่ทุกทางเลือกมีข้อดีและข้อเสียใกล้เคียงกันเช่นนี้ คนไข้ต้องตัดสินใจเอง หมอทำได้แค่ให้ข้อมูล

2.. ถามว่าในระหว่างสองตัวเลือกคือไปหาหมอรักษากับใช้วิธีปรับเปลี่ยนอาหาร ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ จะเลือกทางไหนดีกว่ากัน ตอบว่าการเปลี่ยนอาหาร ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ มันไม่ใช่ตัวเลือก มันเป็นสิ่งที่คุณจะต้องทำอยู่แล้ว ไม่ว่าคุณจะไปหาหมอผ่าตัดหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นประเด็นคือคุณจะไปหาหมอผ่าตัดหรือไม่ไป ประเด็นมีแค่นั้น ส่วนการเปลี่ยนอาหาร ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ ยังไงคุณก็ต้องทำอยู่แล้ว

นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Hayes JH, Ollendorf DA, Pearson SD, Barry MJ, et al. Active surveillance compared with initial treatment for men with low-risk prostate cancer: a decision analysis. JAMA. 2010 Dec 1. 304(21):2373-80.

2. Wilt TJ, Brawer MK, Jones KM, Barry MJ, Aronson WJ, et al. Radical prostatectomy versus observation for localized prostate cancer. N Engl J Med. 2012 Jul 19. 367(3):203-13.

3. Holmberg L, Bill-Axelson A, Helgesen F, Salo JO, Folmerz P et al. A randomized trial comparing radical prostatectomy with watchful waiting in early prostate cancer. N Engl J Med. 2002 Sep 12. 347(11):781-9.

4. Thompson I, Thrasher JB, Aus G, Burnett AL, et al. Guideline for the management of clinically localized prostate cancer: 2007 update. J Urol. 2007 Jun. 177(6):2106-31.

5. Lu-Yao GL, Albertsen PC, Moore DF, Shih W, Lin Y, DiPaola RS, et al. Fifteen-Year Survival Outcomes Following Primary Androgen-Deprivation Therapy for Localized Prostate Cancer. JAMA Intern Med. 2014 Jul 14. [Medline].

6. National Comprehensive Cancer Network. NCCN Clinical Practice Guidelines in Oncology. Prostate Cancer [serial online]: Version 3.2016. Available at http://www.nccn.org/professionals/physician_gls/pdf/prostate.pdf. Accessed: October 1, 2016.

7. Bill-Axelson A, Holmberg L, Ruutu M, Garmo H, Stark JR, Busch C, et al. Radical prostatectomy versus watchful waiting in early prostate cancer. N Engl J Med. 2011 May 5. 364(18):1708-17.

8. Sheets NC, Goldin GH, Meyer AM, Wu Y, Chang Y, et al. Intensity-modulated radiation therapy, proton therapy, or conformal radiation therapy and morbidity and disease control in localized prostate cancer. JAMA. 2012 Apr 18. 307(15):1611-20. [Medline].

9. D’Amico AV, Chen MH, Renshaw AA, Loffredo M, Kantoff PW. Androgen suppression and radiation vs radiation alone for prostate cancer: a randomized trial. JAMA. 2008 Jan 23. 299(3):289-95.

10. Cooperberg MR, Vickers AJ, Broering JM, Carroll PR. Comparative risk-adjusted mortality outcomes after primary surgery, radiotherapy, or androgen-deprivation therapy for localized prostate cancer. Cancer. 2010 Nov 15. 116(22):5226-34.

[อ่านต่อ...]

10 มีนาคม 2566

การอยู่นิ่งๆ (immobilization) คือวิธีรักษากระดูกหักที่วงการแพทย์ใช้อยู่

(ภาพวันนี้: คืนพระจันทร์วันเพ็ญลานหน้าบ้าน ของจริงบรรยากาศดีมาก แต่ถ่ายรูปออกมาได้แค่เนี้ยะ)

เรียน คุณหมอสันต์ ที่เคารพ

รบกวนปรึกษาปัญหากระดูกเท้าร้าวจากการเท้าพลิก
เหตุการเกิดขึ้นคือเท้าพลิกบริเวณพื้นต่างระดับไม่ถึง 5 cm ไม่ได้ล้ม การดูแลเบื้องต้นไม่ดีไม่ได้ประคบเย็น เท้าบวมไปพบคุณหมอกระดูกให้ทานยา อะค๊อกเซียหยุดยาเองเมื่อครบ 1 สัปดาห์   27 พย. ไป Xray พบกระดูกร้าวที่บริเวณโคนนิ้วก้อย 27 ธ.ค.Xray อีกครั้ง พบกระดูกสมานกันดีขึ้นแต่คุณหมอบอกยังไม่สนิท ต้องระมัดระวังการเดินไม่ให้เท้าพลิกซ้ำ ต้นเดือนมกราคมเรื่มกลับมาเดินออกกำลังกายตอนเช้าระยะสั้นๆประมาณหนึ่งกิโล แล้วค่อยๆเพิ่มระยะทางขึ้นเรื่อยๆเป็น 3 กิโลช่วงปลายเดือน มกราคม ต้นเดือน กพ  พยายามเดินให้ได้ระยะทางมากขึ้นแต่พบว่ามีอาการปวดแปล๊บๆมากขึ้น ถี่ขึ้นบางครั้งยืนเฉยๆก็ปวดแปล๊บๆขึ้นมาให้คุณหมอกระดูกท่านเดิมดู ก็โดนดุว่าไปเดินมากขึ้นในพื้นที่ไม่เรียบทำให้อักเสบซ้ำสั่งหยุดพักการเดินออกกำลังตอนเช้าและ ต้องทานอะค๊อกเซีย กับมิราซิด อีก ตอนนี้ทานมา 4 วันแล้ว ยังมีอาการปวดแปล๊บๆอยู่ โดยเฉพาะหลังทานยาแก้อักเสบประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง แล้วก็จะค่อยๆปวดลดลง แต่ก็ยังมีปวดบ้าง
ตอนนี้เริ่มมีอาการเครียดเพราะความสุขของดิฉันหลังจากได้เข้าคอร์สต่างๆ( SR9, RD15, SQ1) ของคุณหมอคือการได้เดินออกกำลังกายตอนเช้ารอบหมู่บ้านประมาณ 4-5 กิโล คำถามดิฉันควรทานยาแก้อับเสบต่อไปอีกหรือหยุดยาดีค่ะ ถ้าหยุดยาแล้วยังปวดอยู่ควรทำอย่างไรดีค่ะ ดิฉันควรปฏิบัติตัวอย่างไรในการกลับไปเดินให้ได้อย่างเดิมคะ รบกวนคุณหมอแนะนำการปฏิบัติตัวในการออกกำลังเพื่อรักษากระดูกเท้าด้วยค่ะ
(ดิฉันได้รับการผ่าตัดเอามดลูกและรังไข่ออกตั้งแต่อายุ 46 ปัจจุบัน 64 ไม่ได้ทานฮอร์โมนทดแทนค่ะ)

ด้วยความเคารพและนับถือ

ปล. ขอบพระคุณคุณหมอมากค่ะ ที่กรุณาให้คำแนะนำให้ลดอัตตาตัวเองและใช้สติระงับความไม่พอใจให้มากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาทุกข์ใจจากพฤติกรรม ไม่พึงประสงค์ของคนใกล้ตัว ใช้ได้ดีทีเดียวค่ะ ปล่อยวางและใจใสมากขึ้นค่ะ

…………………………………………………………

ตอบครับ

1.. กลไกการหายของกระดูกหัก กระดูกร้าว (ซึ่งก็คือหักแต่ไม่ขยับออกจากที่ตั้ง) ก็คือการทอดเวลาให้กระดูกสองท่อนที่หักได้จ่อกันอยู่แบบนิ่งๆ (immobilization) นานๆ 6 สัปดาห์ถึง 3 เดือนหรือนานกว่านั้นในคนแก่ นี่เป็นวิธีเดียวในการรักษากระดูกหัก ซึ่งแพทย์อาจทำผ่านการเอาผ้ายืดพันเพื่อลดการเคลื่อนไหวบ้าง เข้าเฝือกบ้าง ผ่าตัดเสียบเหล็กเข้าไปเพื่อดามให้ปลายหักมันนิ่งบ้าง ส่วนยาแก้อักเสบเช่นยาอาร์คอกเซีย ไม่ได้มีผลอะไรต่อการหายของกระดูกหัก เพียงแค่ลดอาการปวดจากการอักเสบที่เกิดจากกลไกการหายปกติของร่างกายเท่านั้น

2.. อาการปวดเป็นกลไกธรรมชาติที่บังคับให้ลดการเคลื่อนไหวส่วนที่หักหรือร้าวเพื่อให้เวลาร่างกายซ่อมส่วนที่หัก ดังนั้นการใช้ยาแก้ปวดเป็นการลดประสิทธิภาพของกลไกธรรมชาติอันนี้ กรณีของคุณเป็นตัวอย่างที่ดี ถ้าไม่ใช่ยาแก้ปวดแก้อักเสบ คุณก็จะปวดมากไม่สามารถไปเดินเหินได้พักใหญ่ เปิดโอกาสให้ร่างกายซ่อมแซมรอยหักได้ แต่พอคุณได้ยาแก้ปวดแก้อักเสบ พอคุณปวดน้อยลงคุณก็ได้ปลื้มว่าสุขภาพกลับมาดีแล้วจึงไปเดินไปออกกำลังกาย ทำให้กลไกการรักษากระดูกหักของร่างกายทำไม่สำเร็จเพราะปลายหักมันขยับจะไปเชื่อมมันได้อย่างไร ดังนั้นวิธีรักษากระดูกหักกระดูกร้าวหรือข้อพลิกก็คือหากยังปวดให้ลดการใช้งานลง ไปใช้งานร่างกายส่วนอื่นออกกำลังกายแทน

ถึงตรงนี้ผมนอกเรื่องหน่อยนะ ตอนผมร่วงลงมาจากหลังแคและกระดูกหักทั่วตัวรวมทั้งกระดูกสันหลังหักด้วย ผมพยายามจะลุกขึ้นเดินให้เร็วขึ้น ผู้หวังดีท่านหนึ่งส่งวิดิโอคลิปชิ้นหนึ่งมาให้ดูเป็นการขู่ไม่ให้ผมเร่งรัดการฟื้นตัวเร็วเกินไป คลิปนั้นเป็นเรื่องของหมอหนุ่มๆคนดังคนหนึ่งที่อังกฤษซึ่งออกไปจ๊อกกิ้งแล้วถูกรถชนสะโพกหักเหมือนผม ความที่เป็นหมอนักกีฬา เขาประกาศว่าจะลุกขึ้นมาเดินทางไกล 100 ไมล์เพื่อหาเงินบริจาคให้มูลนิธิผู้ป่วยเด็กภายในเวลา 2 เดือน แล้วเขาก็ถ่ายคลิปให้แฟนๆดูทุกวันว่าเขาทำงานหนักในการฟื้นฟูตัวเองอย่างไร แค่ไม่ถึงเดือนเขาก็ลุกขึ้นมาเริ่มจ๊อกกิ้ง ต่อมาปรากฎว่าเขาปวดสะโพกมากจนยาแก้ปวดอย่างแรงก็เอาไม่อยู่ (เขาเป็นหมอประสาทวิทยา) เอ็กซเรย์แล้วพบว่าปลายกระดูกเกิดเคลื่อนออกจากกัน เขาต้องกลับเข้านอนโรงพยาบาล ผ่าตัดตรึงกระดูกใหม่ คราวนี้อยู่โรงพยาบาลนานอีกหลายเดือน นี่เป็นตัวอย่างที่ดีของการรักษากระดูกหักที่เพิกเฉยต่อความสำคัญของการอยู่นิ่งๆ และการเพิกเฉยต่ออาการปวดที่เป็นสัญญาณให้อยู่นิ่งๆให้นานพอที่ร่างกายจะมีเวลาซ่อมรอยต่อได้สำเร็จ

ตอนที่ผมกระดูกหักทั่วตัวผมจึงระมัดระวังมาก ผมไม่กินยาแก้ปวดแก้อักเสบเลยสักเม็ดเพราะไม่อยากให้ยามาบดบังอาการปวดซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่ากลไกการหายของผมไปถึงไหนแล้ว ผมปฏิบัติตามนัดหมายการตรวจสอบตำแหน่งปลายกระดูกทุกชิ้นที่หัก (ของผมหักถึง 7 จุด) อย่างเคร่งครัด คือเมื่อหมอนัดไปติดตาม ผมไม่อยากไปก็ต้องไป และผมเงี่ยหูฟังอาการของร่างกายของผมตลอดเวลาขณะตั้งใจเคลื่อนไหวตัวเองให้มากที่สุดในขอบเขตที่ร่างกายของผมไม่ได้ฟ้องร้องว่ามีอาการปวดตรงไหนมากเป็นพิเศษ ด้วยวิธีนี้ผมก็สามารถกลับบ้านและทำกิจประจำวันได้ในเวลาเพียงสองเดือนทั้งๆที่หมอจะให้ผมนอนโรงพยาบาลนานถึงหกเดือน นี่เป็นตัวอย่างที่ดีว่าการไม่รีบเกินไปและใช้ยาแก้ปวดแต่น้อย กลับทำให้หายได้เร็วกว่าการเร่งรีบและใช้ยาแก้ปวดมากๆ

ถามว่าอายุหกสิบกว่าแล้ว กระดูกบางกระดูกพรุนด้วย ควรปฏิบัติตัวเพื่อรักษากระดูกเท้าอย่างไร ตอบว่าขอเปลี่ยนเป้าหมายไม่ใช่แค่รักษากระดูกเท้าแค่นั้นได้ไหม แต่ขอตั้งเป้าหมายคือการสามารถเคลื่อนไหวทรงตัวได้คล่องแคล่วจนไม่ลื่นตกหกล้ม เพราะการลื่นตกหกล้มกระดูกหักเป้าหมายที่เราต้องการลดอย่างแท้จริง วิธีการจะบรรลุเป้าหมายนี้คือ

(1) ดูแลโภชนาการตัวเองให้ดี ไม่ให้ดัชนีมวลกายต่ำเกินไป พูดง่ายๆว่าไม่ให้ผอมเกินไป ถ้าผอมให้กินอาหารให้แคลอรี่ให้มากเกินพอ คือกินให้อิ่ม กินอาหารให้แคลอรี่แยะๆ อย่ารังเกียจอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี มันเทศ เป็นต้น และอย่ารังเกียจอาหารไขมันสูงซึ่งให้พลังงานได้มาก เช่น ถั่ว งา นัท อะโวกาโด้ เป็นต้น

(2) ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (เล่นกล้าม) อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง สามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องไปเคลื่อนไหวท่อนกระดูกที่หักหากมันยังเจ็บอยู่ ผมเขียนเรื่องการเล่นกล้ามไปบ่อย คุณหาอ่านเอาเองและฝึกทำเอง

(3) ฝึกการทรงตัว ซึ่งเป็นการประสานงานของตา หูชั้นใน สติ กล้ามเนื้อ และข้อ ผมเคยเขียนเรื่องการฝึกการทรงตัวไปบ่อยแล้วเช่นกัน คุณหาอ่านของเก่าเอาเอง

(4) ขยันออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้ง ได้แดด ได้ลม แสงแดดให้ทั้งวิตามินดี ทั้งฮอร์โมนช่วยการนอนหลับ ฮอร์โมนต้านซึมเศร้าและกระตุ้นเซลภูมิคัุ้มและกลไกการหายของร่างกายให้ทำงานดี การเกิดมาเป็นมนุษย์อยู่ในโลกใบนี้ ไม่มีอะไรทดแทนแสงแดดได้

(5) เพิ่มพลังชีวิตให้ตัวเอง ด้วยกิจกรรมเช่น สมาธิ รำมวยจีน โยคะแบบปราณายามา และด้วยการเข้าหาธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ สายลม แสงแดด การเคลื่อนไหวอย่างกระฉับกระเฉงคล่องแคล่วลื่นตกหกล้มยากจะเป็นไปไม่ได้เลยหากขาดพลังชีวิตที่คึกคักกระดี๊กระด๊าอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้คนเป็นโรคซึมเศร้าจึงมีอัตราการลื่นตกหกล้มกระดูกหักสูง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

08 มีนาคม 2566

เป็นความดันเลือดสูง ไม่ยอมกินยา แต่ความดันปกติ ควรจะกินยาที่หมอให้ต่อไปไหม

ภาพวันนี้ : ไก่อัตตา (ตัวกูใหญ่) ท่ามกลางแสงจันทร์วันมาฆะ

อยากถามคุณหมอค่ะ

กินยาความดันมาสามปี พอช่วงโควิตขาดยามาประมาณปีกว่าๆแต่ร่างกายก็ปกติ ครั้งล่าสุดไปหาหมอ วัดความดันหมอชมว่าความดันดีมาก ไม่กล้าสารภาพค่ะว่าหยุดยามานาน  ตอนนี้กลับไปเอายามาต่อเหมือนเดิม ควรทานต่อมั้ยคะ ถ้าไม่ทาน ยาที่ได้มาจำนวนมากจะเอาไปคืนโรงพยาบาลได้ไหม

……………………………………………………………….

ตอบครับ

1..ถามว่าหยุดยาความดันมาปีกว่า แล้ววัดความดันได้ปกติดี ควรจะกินยาลดความดันต่อไหม ตอบว่าจะกินไปทำไมละครับ ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่ากินเพื่อลดความดัน หากไม่มีความดันสูงให้ลดก็ไม่ต้องกินยาลด ตรรกะมันมีแค่นั้นแหละ คุณใช้ดุลพินิจตัวเองตัดสินใจได้เลย เพราะยาลดความดันไม่ใช่ยารักษาโรคความดันให้หายขาด มันเป็นแค่ยาบรรเทาความดันสูงชั่วครั้งชั่วคราว เมื่อความดันไม่สูงก็ไม่ต้องกิน

2.. ถามว่าเป็นโรคความดันสูงมาสามปีแล้วทำไมเลิกกินยาแล้วความดันไม่เห็นสูงเลย ตอบว่ามันเป็นได้หลายสาเหตุ เช่น

2.1 คุณไม่ได้เป็นโรคความดันสูง แต่หมอวินิจฉัยผิดตั้งแต่แรก ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยมากโดยเฉพาะหากการวินิจฉัยนั้นเกิดจากการที่แพทย์วัดความดันครั้งเดียวหรือวัดติดๆกันหลายครั้งแต่วัดในวันเดียวกัน มาตรฐานการวินิจฉัยโรคความดันสูงคือต้องวัดแล้ววัดอีก วัดอย่างน้อยสองครั้งห่างกันอย่างน้อยสองสัปดาห์ ก่อนวัดต้องขจัดเหตุที่ทำให้ความดันเลือดสูงชั่วคราวออกไปให้หมด เช่นเพิ่งดื่มกาแฟมา เพิ่งรีบๆมา เพิ่งโมโหเจ้าหน้าที่หน้าห้องตรวจมา เมื่อคืนอดนอนมา กำลังปวดฉี่อยู่ กำลังปวดหัว เป็นต้น

2.2 คุณเป็นโรคความดันสูงจริง แต่คุณทำตัวดีจนเหตุที่ทำให้ความดันเลือดสูงนั้นลดลงหรือหายไป เช่น (1) เดิมคุณอ้วนอยู่แล้วน้ำหนักลดลง (2) คุณกินผักผลไม้มากขึ้น (3) คุณออกกำลังกายมากขึ้น (4) คุณกินเกลือหรือกินเค็มน้อยลง (5) เดิมคุณเครียดต่อมาคุณจัดการความเครียดของคุณได้ดีขึ้น อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างเหล่านี้ล้วนทำให้คุณหายจากโรคความดันเลือดสูงได้

3.. ถามว่าหมอให้ยามา ไม่ได้กิน แต่ไม่กล้าบอกหมอ จะทำอย่างไรดี ตอบว่าคุณต้องทำตัวเป็นคนไข้ที่ดีเวลาไปหาหมอ อย่าทำตัวเป็นเด็กนักเรียนซุกซนที่ถูกครูเรียกพบแล้วคอยให้การเท็จหลบนี่หลบนั่น ความสัมพันธ์หลอกๆระหว่างหมอกับคนไข้แบบนั้นไม่สร้างสรรค์และไม่เอื้อให้การรักษาโรคสำเร็จ เวลาคุณไปหาหมอมีข้อมูลอะไรคุณต้องบอกหมอให้หมดตามความเป็นจริง ไม่งั้นหมอเขาจะรักษาคุณได้ถูกต้องอย่างไรเล่าครับ คุณหยุดยาไปตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ต้องบอกหมอ หมอส่วนใหญ่จะรับได้ เพราะหมอทุกคนที่อ่านงานวิจัยทางการแพทย์อยู่เป็นประจำก็จะไม่ตกข่าวว่าอัตราการกินยาตามแพทย์สั่ง (compliance) นั้นต่ำมาก งานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเยลซึ่งใช้วิธีติดไมโครชิพไว้ที่ฝาขวดยาพบว่าคนไข้โรคเรื้อรังเปิดยากินครบตามที่แพทย์สั่งเพียง 25% เท่านั้น แล้วหมอที่รู้เรื่องอย่างนี้ดีเต็มอกแล้วเขาจะออกแขกหรือกระต๊ากให้เสียพลังงานตัวเองไปทำไมละครับ

เว้นเสียแต่ว่าถ้าหมอของคุณเป็นคนเจ้าอารมณ์ หรืออารมณ์ร้าย ซึ่งมีหมอน้อยมากที่เป็นอย่างนี้ ถ้าคุณเจอหมออย่างนี้ผมเห็นใจ คุณก็อาจจะต้องเตรียมลูกเล่นข้างๆคูๆไว้รับอารมณ์ร้ายๆของหมอ อันนี้ก็ถือว่าไม่ผิดกฎกติกามารยาท มันเป็นไปตามทฤษฏีผีกับโลง คือเมื่อเจอหมออารมณ์ร้ายผู้ป่วยก็ต้องมีวิธีเอาตัวรอดแบบน้ำขุ่นๆเพราะไม่อยากถูกด่าข้างเดียวฉอดๆๆๆ คุณจึงอาจต้องใช้ลูกเล่นเฉพาะกรณีเจอหมออารมณ์ร้าย เช่น “หนูกินยาแล้วลุกแล้วหน้ามืด วัดความดันแล้วมันต่ำ หนูกลัวล้มหัวฟาด จึงหยุดยา” นี่ก็ถือว่าเป็นเหตุผลที่ดีซึ่งหมอก็จะเอะอะเอ็ดตะโรไม่ได้เพราะถ้าคุณกินยาแล้วลุกแล้วหน้ามืดตามหลักวิชาแพทย์สิ่งแรกที่แพทย์พึงทำคือต้องให้คุณหยุดยาก่อนทันทีเหมือนกัน

4.. ถามว่ายาที่หมอให้มา ให้มา แล้วไม่ได้กิน เก็บรวมๆกันไว้ได้เป็นปี๊บ ควรจะเอาไปบริจาคให้ใครที่ไหนดี ตอบว่าระบบการสั่งใช้ยาของโรงพยาบาลในปัจจุบันยาที่ออกมาจากห้องยาแล้วเขาจะไม่รับกลับเข้าไปอีกเพราะเขามีมาตรฐานการจัดเก็บของเขา การเอายาที่ไปจัดเก็บข้างนอกระยะหนึ่งแล้วซึ่งอาจจัดเก็บไม่ดีเข้าไปปะปนก็จะทำให้ยาในคลังยาของเขากลายเป็นเชื่อถือไม่ได้ นี่เป็นมาตรฐานที่ปฏิบัติกันสำหรับห้องยาแทบทุกโรงพยาบาล ดังนั้นจะเอากลับไปคืนโรงพยาบาลนั้นยาก ยกเว้นถ้าเป็นคลินิกเอกชนบางแห่งเขาอาจรับคืนเพื่อไม่ให้เสียน้ำใจกับคนไข้ ทุกวันนี้มีผู้ป่วยใช้สิทธิสามสิบบาทบ้าง ประกันสังคมบ้าง สวัสดิการราชการบ้าง ประกันเอกชนบ้าง สิทธิสวัสดิการบริษัทบ้าง รับยาจากหมอไปแล้ว ไม่กิน จึงเหลือยาใส่ถุงใส่ปี๊บไว้และในที่สุดก็ต้องทิ้งไปเป็นจำนวนมาก ด้านหมอก็ชอบจ่ายยามาก ด้านคนไข้ก็ชอบรับยาแพงๆมาคราวละมากๆเพราะได้มาฟรี แต่รับมาแล้วไม่กิน นี่เป็นปัญหาของชาติ ผมเองก็ไม่รู้ว่าจะต้องแก้ไขปัญหานี้อย่างไร และพูดก็พูดเถอะ ชาติก็ไม่ใช่ของผมคนเดียว ดังนั้นเรื่องนี้ช่างมันก่อนเถอะครับ หิ หิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

06 มีนาคม 2566

สุนทรียะ (Aesthetic) จปฐ. สำหรับการเป็นผู้สูงวัย

(ภาพวันนี้ : ฮอลลี่ ฮอค ต้นฤดูร้อน)

วันนี้ของดตอบคำถามหนึ่งวัน เพื่อเขียนเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ก่อนอื่นโปรดสังเกตว่ามีคำใหม่เพิ่มเข้ามาสองคำ คือ “สุนทรียะ” กับ “จปฐ.”

ขอขยายคำว่า จปฐ. ก่อนนะว่ามันคืออะไร คำนี้ย้อนหลังไปประมาณปีพ.ศ. 2532 รัฐบาลได้กำหนด “ความจำเป็นพื้นฐาน” เขียนย่อว่า จปฐ. ขึ้นมาเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนาชนบท โดยนิยามว่าเกิดเป็นคนไทยต้องได้ จปฐ. ครบถ้วนซึ่งแยกเป็นหมวดสุขภาพ สิ่งแวดล้อม การศึกษา การมีงานทำ และการมีค่านิยมในชีวิตที่ดี รายละเอียดกว่านี้ผมจำไม่ได้แล้วและไม่ใช่สิ่งที่ผมจะเขียนถึง เพราะผมแค่ยืมคำว่า จปฐ. มาใช้เพราะเห็นว่ามันเท่ดีเท่านั้นเอง

อีกคำหนึ่งซึ่งเป็นคำหลักของวันนี้ “สุนทรียะ” มันคืออะไร

ผมนิยามว่าสุนทรียะ (aesthetic) คือการเกิดความรู้สึกดีๆ (good feeling) เมื่อเห็นสิ่งสวยๆงามๆ

ฟังดูเหมือนจะไม่เกี่ยวอะไรกับผู้สูงวัย แต่มันเกี่ยวแบบเกี่ยวต่อๆกันมาเป็นทอดๆ ท่านต้องตั้งใจอ่านจึงจะเข้าใจ

ทำไมคนแก่ต้องสนใจสุนทรียะ

กล่าวคือปัญหาของผู้สูงวัยคือการป่วยเป็นโรคเรื้อรังสารพัด ต้องกินยาเป็นกำมือ และสะง็อกสะแง็ก เดินเหินลำบาก หรือไม่ก็ติดเตียง มีชีวิตที่ไม่มีคุณภาพ

ซึ่งโรคเรื้อรังทั้งหมดนั้นมันเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของโมเลกุลในร่างกายที่เรียกรวมๆว่า metabolites จำนวนเท่าที่วงการแพทย์รู้จักแล้วอย่างน้อยก็ 2,600 ตัว บางตัวเร่งให้เป็นโรคเรื้อรัง บางตัวเร่งให้หายจากโรคเรื้อรัง

ซึ่งโมเลกุลเหล่านั้นล้วนถูกสร้างขึ้นมาโดยเซลล์ต่างๆของร่างกายเอง โดยสร้างขึ้นตามคำสั่งของรหัสพันธุกรรมหรือยีนที่กำกับเซลล์นั้นอยู่

ซึ่งสวิสต์ประจำรหัสพันธุกรรมเหล่านี้ถูกเปิด (upregulate) หรือปิด (down regulate) โดยปัจจัยแวดล้อม อันได้แก่อาหาร เชื้อโรค สารพิษ/สารเคมีจากภายนอก และความคิดและอารมณ์ของเจ้าของร่างกายนั้นเอง

งานวิจัยพบว่าอารมณ์ลบเช่น กลัว กังวล โกรธ เกลียด หงุดหงิด เศร้า เสียใจ ทำให้เซลล์ของร่างกายช่วยกันผลิตฮอร์โมนเครียดเช่นคอร์ติซอล และสารเร่งการอักเสบต่างๆที่จะไปมีผลต่อการเกิดโรคเรื้อรังได้ทุกโรค

ขณะเดียวกันอารมณ์บวกเช่นการผ่อนคลาย ความรัก ความเมตตา เอื้ออาทร โอนอ่อนผ่อนปรน จะชักนำให้เซลล์ร่างกายผลิตฮอร์โมนที่จะไปมีผลดีต่อการรักษาโรคเรื้อรังเช่น เอ็นดอร์ฟิน ออกซีโตซิน โดปามีน ไนตริกออกไซด์ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นการออกฤทธิ์ผ่านยีนของแต่ละเซลล์นั่นเอง

เซลล์ร่างกายของคนป่วยเป็นโรคเรื้อรังเกือบร้อยทั้งร้อยได้ผ่านการฝึกซ้อมการสนองตอบต่ออารมณ์ลบและบ่มความเครียดให้เกิดขึ้นซ้ำๆซากๆมานานหลายสิบปีจนทำได้เก่ง ทำได้คล่อง โดยไม่รู้ตัว ขณะที่อารมณ์บวกนั้นทำไม่เป็นเพราะไม่ได้ฝึกซ้อมมา

ผลสรุปโหลงโจ้งก็คือชีวิตที่วนเป็นลูกข่างสาละวันเตี้ยลง หรือจะเรียกว่ามันเป็นปรากฎการณ์ “กรรมเก่า” ก็ได้ คือยิ่งบ่มอารมณ์ลบมามาก เมื่อแก่ตัวก็ยิ่งมีอารมณ์ลบมากขึ้น โรคเรื้อรังก็จึงยิ่งมากขึ้นตาม

การแก้ไขโรคเรื้อรังจึงต้องแก้ที่ต้นเหต คือต้องเริ่มฝึกบ่มอารมณ์บวกเสียแต่เดี๋ยวนี้เป็นต้นไป อารมณ์บวกที่สร้างขึ้นวันนี้ นอกจากจะให้ผลดีทันทีในวันนี้แล้ว ยังจะฝังเป็นความจำ หรือเป็น “กรรมดี” ไปโผล่เป็นอารมณ์บวกในวันข้างหน้า

นั่นเป็นเหตุผลที่ผู้สูงอายุต้องรู้จักสุนทรียะ และรู้จักใช้ประโยชน์จากสุนทรียะ

ธรรมชาติที่แท้จริงของสุนทรียะเป็นอย่างไร

ผมได้ให้นิยามไปแล้วว่าสุนทรียะคือความรู้สึกดีๆที่เกิดขึ้นเมื่อพบเห็นสิ่งสวยๆงามๆ

เราพูดถึงความรู้สึก (feeling) นะ เราไม่ได้พูดถึงความคิด (thought)

สุนทรียะมันเป็นธรรมชาติประจำเผ่าพันธ์มนุษย์ มันมาก่อนภาษา อย่าลืมว่าภาษาเป็นที่มาของคอนเซ็พท์หรือความคิด แต่สุนทรียะมันเป็นลักษณะประจำตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด ทำไมคนทุกชาติทุกภาษาจึงมีความรู้สึกเบิกบานคล้ายๆกันเมื่อเห็นตะวันขึ้น เมื่อเห็นตะวันตก เมื่อเห็นหยาดฝนค้างบนใบไม้หลังฝนตกใหม่ๆ หรือเมื่อเห็นลูกของสัตว์ตัวเล็กๆที่น่ารัก ทำไมพ่อแม่จึงรักและผูกพันกับลูก ทำไมเมื่อเห็นคนเศร้าแล้วเรามีเมตตาธรรมอยากปลอบโยน นี่มันเป็นลักษณะร่วมที่คนทุกชาติทุกภาษามีเหมือนกันหมด

ส่วนสำนึกว่าเราเป็นบุคคลหรืออีโก้ก็ดี คอนเซ็พท์ต่างๆก็ดี มันเป็นภาษา มันมาทีหลัง

การฝึกเปลี่ยนความคิดจึงไม่สำคัญเท่าการฝึกเปลี่ยนความรู้สึก เพราะความรู้สึกเป็นรากเหง้ารองรับการเกิดความคิด ความรู้สึกที่ดีจะชักนำให้เกิดความคิดดีแทบจะเป็นอัตโนมัติ ขณะที่ความคิดดีๆนั้นบ่มขึ้นในใจตรงๆได้ยากเพราะต้องมีตรรกะของเหตุผลและความเป็นห่วงที่จะต้องปกป้องตัวตนมาคอยขัดแย้งทำให้ความคิดดีๆเกิดไม่ได้ แต่ความรู้สึกดีๆจากการเห็นสิ่งสวยๆงามๆเกิดขึ้นได้ทันทีโดยไม่ขัดผลประโยชน์ของตัวตน เพราะมันเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์

ย้ำอีกทีว่าสุนทรียะมันเกิดขึ้นจากภาวะปลอดความคิดนะ เมื่อสงัดจากความคิด เหลือแต่ความรู้ตัวอยู่ในความว่าง อาจจะแว้บหนึ่ง แว้บนี้แหละจะมีพลังงานจากข้างนอกไหลเข้ามาสู่เราในรูปของความรู้สึกดีๆ ส่วนหนึ่งเป็นความเบิกบาน อีกส่วนหนึ่งเป็นปัญญาญาณที่จะช่วยชี้นำให้เราเข้าถึงสุนทรียะต่อสิ่งรอบตัว ดังนั้นต้องปลอดความคิดก่อน สุนทรียะจึงจะเกิดขึ้นได้

สังคมไทยไม่เคยพูดถึงสุนทรียะ ทั้งๆที่มันมีความจำเป็น ชีวิตผู้คนทุกวันนี้มัวไปขลุกอยู่ในความคิด ในรูปของการปากกัดตีนถีบทำมาหากินหรือการไล่ตามความต้องการเชิงวัตถุ การไปทางนั้นไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จในแง่ของการได้เงินได้วัตถุ แต่สุดท้ายมันก็จะเป็นทางตันอยู่ดีเพราะความเบิกบานในชีวิตไม่ได้เกิดจากการได้ครอบครองอะไร การลำพองว่าได้ครอบครองอะไรนั้นมันเป็นเพียงความคิด แต่ความเบิกบานมันเป็นความรู้สึก มันเป็น feeling มันคนละเรื่องกับความคิด ท้ายที่สุดจึงจะพบว่าทางนั้นเป็นทางตันเสมอ ถึงตรงนั้นแล้วจึงค่อยรู้สึกว่าชีวิตมันควรจะมีอะไรมากกว่าการมาหมักเม่าอยู่กับความคิดเชิงวัตถุนิยมอย่างนี้ การจะผ่าทางตันนี้ มันต้องวางความคิดแล้วถอยกลับมาสู่รากของความเป็นมนุษย์ของเรา นั่นก็คือสุนทรียะ คนไทยจึงควรจะหันมาพูดถึงสุนทรียะและทดลองปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงสุนทรียะกันให้มากขึ้น

วิธีใช้ประโยชน์จากสุนทรียะ

มันมีอยู่สองประเด็น

ประเด็นที่ 1. หัดมองให้เห็นสุนทรียะในทุกสิ่งรอบตัว

แค่มี แสง ความสวยงามก็เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแสงอาทิตย์ขึ้น อาทิตย์ตก แสงจันทร์ แสงดาว นอกจากแสงแล้วเงาก็เป็นความสวยงาม ความจริงสำหรับนักเรียนศิลปะ ครูมักจะสอนว่าแสงและเงาคือทุกสิ่งทุกอย่างของการสร้างสรรค์งานศิลปะ

นอกจากแสงแค่มี เสียง ความสวยงามก็เกิดขึ้นได้แล้ว สรรพเสียงในธรรมชาติมีความไพเราะ ประณีต บรรจง และสอดประสานกันอย่างลงตัวของมันเอง หากรู้จักสนใจจับประเด็นก็จะจับความไพเราะนั้นได้ เสียงดนตรีก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของสุนทรียะ

แค่มี การเคลื่อนไหว ความสวยงามก็เกิดขึ้นได้แล้ว จึงไม่แปลกเลยที่ความพริ้วไหว (vertuosity) เป็นแง่มุมหลักอันหนึ่งของสุนทรียะ ทำไมเราชอบดูทีวีถ่ายทอดแข่งบัลเลต์โอลิมปิกทั้งๆที่เรายังไม่รู้กติกาของเขาด้วยซ้ำไป หรือทำไมเรามองเห็นความสวยงามของภาพเขียนภู่กันจีนที่ตวัดแค่สองสามที ในภาพมีแค่กิ่งไผ่ลู่ลมกิ่งเดียวและใบไผ่ปลิวลมสองสามใบเท่านั้น

นอกจากแสง เงา เสียง และการเคลื่อนไหวแล้ว สไตล์ ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชีวิตก็เป็นความสวยงามโดยตัวของมันเอง แค่เรามองเห็นกระรอกลุกลี้ลุกลนอุ้มผลไม้ไปซ่อนเราก็เกิดความรู้สึกดีๆได้แล้ว หรือเวลาเรามองภาพเขียนของจิตรกร บางคนเขียนภาพซะเรียบร้อยละเอียดด้วยความพากเพียร เราเห็นแล้วยังชอบไม่มากเท่าอีกคนหนึ่งที่ป้ายโน่นป้ายนี่เปะปะแต่มีสไตล์ของตัวเองมากกว่า เพราะสไตล์ ก็เป็นอีกแง่มุมหนึ่งของสุนทรียะ

ขั้นแรกนี้คือให้หัดมองเห็นสุนทรียะจากทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว เพื่อให้ความรู้สึกดีๆได้มีโอกาสเกิดขึ้นในใจก่อน

ประเด็นที่ 2. แต่ละครั้งให้หัดบ่มความซาบซึ้งในสุนทรียะให้อยู่ในใจนานๆ

เมื่อเกิดความรู้สึกดีๆอะไรขึ้นในใจครั้งหนึ่ง ให้บ่มความรู้สึกนั้นไว้อย่างน้อยสัก 20 นาที เช่นพบวิวสวยๆก็ให้หยุดมองอย่างซาบซึ้งพักใหญ่ เพราะประสบการณ์ใดๆที่เกิดขึ้นในใจเรานี้มันเหมือนกับการแพนหรือการส่ายกล้องวิดิโอไปเรื่อยเปื่อย เวลาเรากรอม้วนวิดิโอกลับเพื่อเลือกดูตอนสำคัญ เราหาตอนสำคัญไม่เจอเพราะมันเหมือนกันไปหมด การบันทึกประสบการณ์ไว้เป็นความจำของใจเราก็เช่นเดียวกัน แต่หากเราบ่มความรู้สึกดีๆที่เกิดขึ้นไว้ในใจนานๆ มันเหมือนกับเราฟรีซเฟรมของวิดิโอให้เป็นภาพนิ่งไว้พักหนึ่งก่อนที่จะแพนกล้องผ่านไป ทุกครั้งที่เรากรอวิดิโอกลับมาดูเราก็จะเห็นเฟรมที่ฟรีซไว้นี้

โดยธรรมชาติของการรีไซเคิลความจำ ความรู้สึกดีๆที่เราทำเป็นฟรีซเฟรมไว้นี้จะถูกฉายขึ้นเป็นความรู้สึกดีๆซ้ำๆ อีกในอนาคต นั่นคือเราสร้างความรู้สึกดีไล่ที่ความรู้สึกลบที่เป็นเจ้าประจำอยู่ในหน่วยความจำของเราได้สำเร็จ

ผมจึงบอกว่าการรู้จักสุนทรียะ รู้จักใช้ประโยชน์จากสุนทรียะ เป็น จปฐ. สำหรับการเป็นผู้สูงวัยและการเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังทุกคน เพราะมันเป็นทางเดียวที่จะเปลี่ยนตัวเองด้วยการสร้างอารมณ์บวกไล่อารมณ์ลบได้สำเร็จ ซึ่งจะมีผลไปเปลี่ยนการทำงานของยีนที่เคยแต่จะทำให้เราเป็นโรคให้กลายเป็นยีนที่ทำให้เราหายจากโรคได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

05 มีนาคม 2566

อายุน้อย เป็นโรคหัวใจขาดเลือด จะรุกล้ำหรือไม่รุกล้ำ แล้วลูกน้อยห้องแข้งจะทำยังไงดี

(ภาพวันนี้: ดอกกล้วยไม้เหลืองจันทร์ ที่บ้านบนเขา)

เรียน  นายแพทย์ สันต์ ใจยอดศิลป์

สิ่งที่ ส่งมาด้วย  ประวัติการรักษา

        เนื่องด้วยกระผม นาย … อายุ  49  ปี น้ำหนัก 74 กก ส่วนสูง  169 มีอาการเดินออกกำลังกายเเล้วช่วงห้านาทีแรกจะเหมือนจุกเสียด พอเดินผ่านช่วงห้านาทีเเรกไปเเล้วเป็นปกติ ตรวจเดินสายพานพบว่าการฟื้นตัวจากการออกกำลังกายช้า ได้รับการวินิจฉัยว่าเส้นเลือดหัวใจตีบหลังจากเดินสายพานเเล้วในช่วงนาที ที่ 6  เครื่องได้ครวจผิดความผิดปกติ  ทางคุณหมอได้วินิจฉัยว่า เส้นเลือดหัวใจตีบ เเนะนำทำการฉีดสี  ซึ่งจากการศึกษาก้อมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นใหม่ได้  ซึ่งกระผมมีความคิดเห็นว่าจะลองทางเลือก ปรับพฤติกรรม การทานอาหาร เเละบริหารความเครียดดูก่อน เเต่เนื่องจากการที่เลือกไม่ทำบอลลูน ทำให้ไม่กล้าที่ไปพบเเพทย์ที่เเนะนำทำบอลลูนได้ จึงอยากจะขอคำเเนะนำจากอาจารยว่า สามารถพบอาจารย์สันต์ เพื่อเเนะนำการดูเเล  เเละ การทานยาอะไรเเละปรับพฤติกรรมการทานอาหาร  เพื่อจะรักษาโดยไม่ทำบอลลูน เเละถ้าอาจารย์ไม่ออกตรวจเเล้ว จะมีอาจารยท่านใดที่ ข้าพเจ้าสามารถไปรับคำเเนะนำเเละจ่ายยาเพื่อรักษาอาการพร้อมกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้หายจากโรคนี้ ซึ่งข้าพเจ้ายังมีลูกสี่คนที่ยังเล็ก ที่ต้องดูเเล ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลังจากทานยาละลายไขมัน กระผมสามารถที่จะกลับมาเดินได้ เเต่การขึ้นที่สูงยังไม่กล้าทำ ส่วนน้ำหนักปัจจุบัน ลดลงเหลือ 72 กก  ซึ่งต้องการคำเเนะนำที่ถูกต้องเเละ วางแผนควบคุมการทานอาหารให้ดีพอ  

คุณหมอ ได้ สั่งยา 1) ละลายไขมัน Chlovas 40  mg 2) Aspirin  81 mg 1*1 3) Apolet 75 Mg 1*1 4) Pronolol 50 Mg 1*1     

เเละเรียน สอบถามอาจารย์ว่าบุตรสาวข้าพเจ้าอายุ 14 year เป็นนักกีฬาเเบตมินตัน  มีอาการเหงื่อออกที่มือ  มากกว่าคนทั่วไปควรไปตรวจไหมว่ามีโอกาสเกี่ยวกับเรื่องหัวใจ 

ขอสอบถาม อาจารย์มีออกตรวจ ที่ไหน บ้างครับ หรืออาจารย์ไม่ออกตรวจเเล้วจะมีอาจารย์ท่านใดที่แนะนำการรักษาทางไม่ลุกล้ำ เวลานี้น้ำหนัก 72 กก  

ข้าพเจ้าขอความอนุเคราห์ ในการเเนะนำเพื่อจะวางแผนชีวิตต่อไป 

ด้วยความเคารพอย่างสูง 

นาย ….

………………………………………………………

ตอบครับ

1.. ถามว่ามีอาการเจ็บหน้าอกเวลาออกแรง ไปตรวจวิ่งสายพานแล้วพบว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจซึ่งแสดงภาวะขาดเลือดกลับคืนตัวช้า แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด หมอสันต์เห็นว่าไง ตอบว่าเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยนั้นครับ ว่าคุณป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือดชนิดไม่ด่วน (stable angina) คำวินิจฉัยนี้แน่นอนชัดเจนแล้ว ไม่ต้องขวานขวายไปตรวจยืนยันอะไรอีก ให้เริ่มดูแลรักษาตัวเองแบบคนเป็นโรคนี้ไปได้เลย ด้วยการกินอาหารพืชเป็นหลักแบบไม่ผัดไม่ทอด ออกกำลังกาย และวางความคิดกังวลลงไม่ให้เครียด

2.. ถามว่าหมอแนะนำให้ไปตรวจสวนหัวใจ (CAG) สมควรจะไปตรวจไหม ตอบว่าคนที่เจ็บหน้าอกเพราะหลอดเลือดหัวใจตีบสองเส้นบ้างสามเส้นบ้าง โดยที่ระดับการเจ็บหน้าอกไม่มากถึงเกรด 4 (ของคุณนี้เป็นเกรด 1-2) การรักษาแบบรุกล้ำ (บอลลูน บายพาส) กับการรักษาแบบไม่รุกล้ำ ให้ผลไม่ต่างกันในแง่ของอัตราตายระยะยาว

ดังนั้นการคิดจะทำการรักษาแบบรุกล้ำจึงทำเพื่อแก้ไขคุณภาพชีวิต (บรรเทาอาการ) เท่านั้น หากคุณเห็นว่าอาการที่เป็นอยู่นี้มันหนักหนาสาหัสจนรบกวนคุณภาพชีวิตมาก อยากจะบรรเทาอาการด้วยการทำบอลลูนบายพาส ก็ไปสวนหัวใจได้ แต่หากคุณเห็นว่าอาการที่เป็นมันไม่ได้รบกวนอะไรคุณมาก ก็ไม่ต้องคิดรักษาแบบรุกล้ำ จีงไม่ต้องไปตรวจสวนหัวใจ แต่เลือกวิธีรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตแทน เพราะการตรวจสวนหัวใจจะทำก็ด้วยเหตุผลเดียว คือเพื่อจะคัดเลือกคนป่วยไปทำการรักษาแบบรุกล้ำ (บอลลูน บายพาส) หากหัวเด็ดตีนขาดก็ไม่ทำการรักษาแบบรุกล้ำอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องไปตรวจสวนหัวใจให้เกิดความเสี่ยงตายจากการตรวจเปล่าๆ (อัตราตายหรือเกิดอัมพาต 1:1,000 ถึง 1:2,000)

การรักษาแบบรุกล้ำยังมีประเด็นต้องคำนึงถึงอีกหนึ่งอย่าง คือต้องกินยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันตรงที่ใส่ขดลวด (in-stent stenosis) ไปตลอดชีวิต ซึ่งพ่วงมาด้วยยาลดการหลั่งกรดแบบตลอดชีพเพราะหมอคนใส่ขดลวดกลัวเลือดออกจากการระดมอัดยาต้านเกล็ดเลือด โดยที่ยาต้านการหลั่งกรดนี้เป็นยาที่สัมพันธ์กับการเป็นโรคไตเรื้อรัง จึงมีโอกาสจะได้โรคไตเรื้อรังแถม

อีกประการหนึ่ง การซื้อบริการรักษาแบบรุกล้ำนี้เป็นการซื้อตั๋วเครื่องบินขาเดียว คือหมอเขารับจ้างเอาขดลวดใส่เข้าไปเท่านั้น ไม่มีหมอคนไหนรับจ้างเอาขดลวดออก มีหลายคนเขียนมาหาหมอสันต์ว่าอยากเอาขดลวดออกเพราะไม่อยากกินยาสาระพัดตลอดกาล คำตอบก็คือใส่แล้วเอาออกไม่ได้ ต้องอยู่กับขดลวดไปจนตายไปด้วยกัน

3.. ถามว่าหมอสันต์ออกตรวจอยู่ไหม ตอบว่าไม่ออกตรวจแล้วครับ เพราะอายุมากแล้วและหมอสันต์เห็นว่าการออกตรวจคนไข้ที่คลินิกทีละคนผลที่ได้ต่อผู้ป่วยทั้งมวลมันไม่คุ้มความเหนื่อยของตัวผมเอง จึงหันมาสอนทางบล็อกและทำแค้มป์พลิกผันโรคด้วยตนเอง (RDBY) ซึ่งสอนคนไข้ได้ทีละมากๆ อย่างการทำแค้มป์สอนได้ทีละยี่สิบคนมันคุ้มความเหนื่อยมากกว่า แถมสอนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะมีเวลาอยู่ด้วยกันหลายวันคนไข้ก็จำได้แม่นและเอาไปทำเองเป็น หากคุณอยากพบหมอสันต์ก็มีทางเดียวคือต้องสมัครมาเข้าแค้มป์ RDBY ครับ ถ้ามาไม่ได้ก็ให้อ่านเอาจากบล็อกแล้วเอาไปทำเอง ซึ่งมีคนป่วยจำนวนมากประสบความสำเร็จในการพลิกผันโรคหัวใจด้วยตนเองด้วยการอ่านเอาจากบล็อกนี้แล้วเอาไปทำโดยไม่เคยเจอตัวหมอสันต์เลย ผมทราบเพราะคนเหล่านี้มักเข้ามาทักมาเล่าให้ผมฟังเมื่อเจอกันโดยบังเอิญ

4.. ถามว่าถ้าหมอสันต์ไม่ออกตรวจแล้วจะแนะนำให้ไปหาหมอคนไหนที่รับรักษาแบบไม่รุกล้ำบ้าง ตอบว่าหมอทุกคนมีหน้าที่แค่ให้คำแนะนำทางเลือกการรักษา ส่วนการตัดสินใจจะเลือกวิธีรักษาใดเป็นเรื่องของผู้ป่วย การรักษาโรคหัวใจขาดเลือดด้วยวิธีปรับเปลี่ยนการกินการใช้ชีวิต คนลงมือรักษาคือตัวผู้ป่วยเอง หมอไม่ได้เป็นคนทำ ดังนั้นหมอคนที่สำคัญที่สุดคือตัวคุณเอง อ่านวิธีกินวิธีใช้ชีวิตเอาจากบล็อกนี้แล้วก็เอาไปรักษาตัวเองก็ได้แล้ว ส่วนเรื่องยานั้นไม่ใช่ส่วนสำคัญของการรักษา ยาทุกตัวเปลี่ยนจุดจบอันเลวร้ายของโรคหัวใจได้น้อยมาก น้อยระดับหากนับกันตามจำนวนคนที่ต้องรักษาเพื่อให้เกิดผลดีกับคนหนึ่ง (number need to treat – NTT) เช่นยาลดไขมัน งานวิจัยพบว่าต้องให้คน 104 คนขยันกินยาลดไขมันทุกวันอยู่ 5 ปีจึงจะมีคนได้ประโยชน์ 1 คน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงมีคนไข้โรคหัวใจเต็มบ้านเต็มเมืองทั้งๆที่เราก็ขายยาสารพัดให้คนไข้กินจนจวนเจียนจะกินยาแล้วอิ่มแทนข้าวได้แล้ว แต่โรคหัวใจก็ยังเพิ่มขึ้นๆ ดังนั้นอย่าไปโฟกัสที่การกินยา ให้โฟกัสที่การเปลี่ยนวิธีกินอาหารและวิธีใช้ชีวิต อย่างไรก็ตามถ้าคุณต้องการปรึกษาหมอเรื่องยา คุณปรึกษาหมอคนไหนก็ได้ครับเพราะยารักษาโรคหัวใจทุกตัวเป็นยาพื้นๆมีกลไกการออกฤทธิ์ง่ายๆซึ่งหมอทุกคนรู้ และยาทุกตัวมีคุณสมบัติเท่าเทียมกันอย่างหนึ่งคือไม่มีผลรักษาโรคหัวใจให้หายได้เลยแม้แต่ตัวเดียว

5.. ถามว่าลูกสาวอายุ 14 เป็นนักแบตมินตันมีอาการเหงื่อออกที่มือมากกว่าคนทั่วไปควรไปตรวจว่ามีโอกาสเกี่ยวกับเรื่องหัวใจดีไหม ตอบว่าไม่จำเป็นหรอกครับ ไม่เกี่ยวกันเลย คนปกติทั่วไปบางคนเหงื่อออกที่มือมากน้อยไม่เท่ากัน แต่ถ้ากังวลเรื่องเหงื่อออกที่มือมากก็ไปตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ แต่ไม่เกี่ยวอะไรกับหัวใจ

6.. ตรงนี้คุณไม่ได้ถาม แต่ผมแถมให้ คือความทุกข์กังวลว่าตัวเราเองนี้อายุยังน้อยก็จะมาตายด้วยโรคหัวใจเสียแล้ว มีคนที่ยังหวังพึ่งพิงเราอยู่อีกมาก อันได้แก่เมียและลูกๆเป็นต้น ช่างน่ากังวลเสียจริงๆ ผมเข้าใจที่คุณปริวิตกดี เพราะตอนผมเริ่มป่วยด้วยโรคหัวใจขาดเลือดผมก็ยังมีลูกที่ไม่พ้นอกและมีความวิตกกังวลเช่นเดียวกับคุณนี้แหละ

แต่ผมจะบอกความจริงทางการแพทย์อย่างหนึ่งว่าความคิดวิตกกังวลเป็นปัจจัยใหญ่ที่กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติให้ทำงานขาเร่ง (sympathetic) มากขึ้น และเป็นตัวเปิดสวิสต์ของยีนก่อโรคเรื้อรัง ปิดสวิสต์ของยีนรักษาโรคเรื้อรังผ่านการที่ยีนเหล่านั้นกระตุ้นเซลให้สร้างโมเลกุลตัวกระตุ้นต่างๆขึ้นในร่างกายเป็นพันๆชนิด (วิชาแพทย์รู้จักอยู่ราว 2,600 ชนิด) อันจะทำให้เกิดจุดจบที่เลวร้ายของโรคหัวใจได้ง่ายและเร็วขึ้น เพราะระบบประสาทอัตโนมัติของร่างกายแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นแค่ความคิด อะไรเป็นเรื่องร้ายๆที่เกิดขึ้นกับชีวิตแล้วจริงๆ ดังนั้นในการจัดการโรคนี้ การฝึกวางความคิดกังวลถือเป็นขาใหญ่ขาหนึ่งของการจัดการโรค คุณต้องฝึกหัดวางความคิด หันไปใช้ชีวิตอยู่กับความรู้ตัวซึ่งมีธรรมชาติเป็นสงบเย็นอยู่เนืองๆ ผมเขียนเรื่องการฝึกวางความคิดไปบ่อยมาก คุณหาอ่านย้อนหลังเอาเองแล้วเอาไปฝึกทำเองได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ 

บรรณานุกรม

1. Ray KK, Seshasai SR, Erqou S, Sever P, Jukema JW, Ford I, Sattar N. Statins
and all-cause mortality in high-risk primary prevention: a meta-analysis of 11 randomized controlled trials involving 65,229 participants. Arch Intern Med. 2010 Jun 28;170(12):1024-31. Review. PubMed PMID: 20585067.

2. Thavendiranathan P. Primary prevention of cardiovascular disease with statin therapy. Arch Int Med. 2006; 166: 2307-13. CTT Collaborators. Efficacy and safety of cholesterol-lowering treatment: prospective meta-analysis of data from 90 056 participants in 14 randomised trials of statins. Lancet. 2005; 366: 1267-1278.

3. Brugts JJ, Yetgin T, Hoeks SE, Gotto AM, Shepherd J, Westendorp RG, de Craen
AJ, Knopp RH, Nakamura H, Ridker P, van Domburg R, Deckers JW. The benefits of statins in people without established cardiovascular disease but with cardiovascular risk factors: meta-analysis of randomised controlled trials. BMJ. 2009 Jun 30;338:b2376. doi: 10.1136/bmj.b2376. Review. PubMed PMID: 19567909; PubMed Central PMCID: PMC2714690.

4. Mills EJ, Rachlis B, Wu P, Devereaux PJ, Arora P, Perri D. Primary prevention
of cardiovascular mortality and events with statin treatments: a network meta-analysis involving more than 65,000 patients. J Am Coll Cardiol. 2008 Nov 25;52(22):1769-81. PubMed PMID: 19022156.

5. Taylor F, Ward K, Moore TH, Burke M, Davey Smith G, Casas JP, Ebrahim S.
Statins for the primary prevention of cardiovascular disease. Cochrane Database Syst Rev. 2011 Jan 19;(1):CD004816. Review. PubMed PMID: 21249663.

6. Sattar N, Preiss D, Murray HM, Welsh P, Buckley BM, de Craen AJ, Seshasai SR,
McMurray JJ, Freeman DJ, Jukema JW, Macfarlane PW, Packard CJ, Stott DJ, Westendorp RG, Shepherd J, Davis BR, Pressel SL, Marchioli R, Marfisi RM, Maggioni AP, Tavazzi L, Tognoni G, Kjekshus J, Pedersen TR, Cook TJ, Gotto AM, Clearfield MB, Downs JR, Nakamura H, Ohashi Y, Mizuno K, Ray KK, Ford I. Statins and risk of incident diabetes: a collaborative meta-analysis of randomised statin trials. Lancet. 2010 Feb 27;375(9716):735-42. Epub 2010 Feb 16. PubMed PMID: 20167359.

7. Taylor F, Huffman MD, Macedo AF, et al. Statins for the primary prevention of cardiovascular disease. Cochrane Database Syst Rev. 2013 Jan 31;1:CD004816.

[อ่านต่อ...]