29 กันยายน 2558

คุณหมอผู้หญิงเล่าเรื่องชีวิตที่ต้องเปลี่ยนกะทันหัน

     จดหมายของคุณหมอท่านนี้เขียนมาแชร์ประสบการณ์เฉยๆ ผมลงให้อ่านทั้งฉบับโดยไม่ได้ตอบ แต่ขอนิยามศัพท์เสียก่อน

practice แปลว่าการทำเวชปฏิบัติ ซึ่งก็คือการทำงานรักษาคนไข้ของแพทย์นั่นเอง
antiaging แปลว่าชะลอวัย หรือต้านความชรา ซึ่งเป็นเพียงแต่ชื่อ แต่วิธีต้านความชราจริงๆยังไม่มีดอก
cosmetic แปลว่าความงาม ซึ่งไม่ใช่กิจของสงฆ์ เอ๊ย..ไม่ใช่ กิจของแพทย์ แต่แพทย์เราชอบทำกิจหลายอย่าง จึงมีแพทย์จำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อย เข้าไปทำงานด้านนี้ด้วย
OPD ย่อมาจาก out patient department แปลว่าแผนกผู้ป่วยนอก
Cardio คำเต็มคือ cardiology แปลว่าอายุรกรรมสาขาโรคหัวใจ
Med ย่อมาจาก medicine แปลว่าสาขาอายุรกรรม ซึ่งคนต้องมาเรียนก่อนจะไปเรียนหัวใจ
CPR ย่อมาจาก cardiopulmonary resuscitation แปลว่าการปั๊มหน้าอกช่วยฟื้นคืนชีพ
ER ย่อจาก emergency room แปลว่าห้องฉุกเฉิน
voltaren เป็นชื่อยาแก้ปวดแก้อักเสบ
muscle spasm  ภาวะกล้ามเนื้อเกร็งตัว
scoliosis กระดูกสันหลังคดเป็นแบบงูเลื้อย
admit รับไว้รักษาในโรงพยาบาล
MRI ย่อจาก magnetic resonance imaging การตรวจภาพร่างกายด้วยอุโมงคลื่นแม่เหล็ก 
Ruptured disc herniation แปลว่าหมอนรองกระดูกสันหลังแตก
Ortho คำเต็มคือ orthopedist แปลว่าหมอศัลยกรรมกระดูกแลข้อ
off training แปลว่าเลิกฝึกอบรมเป็นผู้เชี่ยวชาญกลางคัน
recurrent แปลว่าการที่โรคกลับเป็นอีกซ้ำซาก
poor prognosis การมีพยากรณ์โรคแย่ คือหายยาก ตายง่าย
ENT ย่อมาจาก eye nose throat แปลว่าเรียนแพทย์เฉพาะทางสาขาหูคอจมูก
Aesthetic แปลว่าเรื่องความงาม เป็นชื่อเรียกสาขาวิชาที่หมอไปหากินกับความงามเพื่อให้ฟังดูขลังขึ้น 
prevention แปลว่าการป้องกันโรค
homeopathy เป็นการแพทย์แบบดั้งเดิมของยุโรปและอินเดีย คล้ายแพทย์แผนโบราณของไทยแต่มีหลักวิชาที่พิศดารพันลึกกว่า
life style แปลว่าวิถีชีวิต หมายถึงวิธีที่เราใช้ชีวิตในแต่ละวันทั้งการกินการอยู่

....................................................

เรียนอ.สันต์ที่เคารพค่ะ

     หนูขอแนะนำตัวค่ะ  หนูชื่อ .... ค่ะ   ตอนนี้ practice ด้าน antiaging กับcosmetic ค่ะ
   
     อาจารย์คะ หนูแค่อยากเล่า อยากแชร์ประสบการณ์เฉยๆ  เพราะคิดว่า อ่านบทความของอาจารย์แล้วชอบใจน่ะค่ะ   อาจารย์ไว้อ่านเล่นวันว่างๆนะคะ

     หนูโตมาในครอบครัวแพทย์ค่ะ  คุณพ่อจบจาก ... คุณแม่เป็นพยาบาลค่ะ  หนูมีพี่น้อง 3 คน เป็นคนโตค่ะ  ตอนเด็กๆ ก็เรียนเก่ง เรียบร้อย เป็นหัวหน้าห้อง ตามประสาเด็กทั่วไปค่ะ   ชอบอ่านหนังสือมากค่ะ ชอบเขียน ชอบวาด  โตมากับหนังสือเลยล่ะค่ะ ข้ามไปจนถึงเรียนหมอเลยนะคะ  หนูไม่เคยนึกเลยว่าอยากเป็นอะไร มันคงซึมซับจากการติดสอยห้อยตามคุณพ่อคุณแม่ไปทำงาน  เลิกเรียนก็อยู่คลินิก ช่วยหาOPD เทยาใส่ขวด เลยชินกับบรรยากาศ แล้วที่บ้านก็สอนให้หนูช่วยเหลือคนอื่นมาตลอด เวลาคนไข้หาย เราก็ดีใจกับเค้าด้วยค่ะ  สมัยนั้น ที่คลินิกเรา คิดค่ารักษาคนไข้ 60-70บาทเองค่ะ คุณพ่อคุณแม่ใจดีมากค่ะ

     ตอนม.5 หนู entrance ติดคณะวิทยาศาสตร์ มหิดลค่ะ  ทีนี้คุณแม่ชวนให้ไปสมัครแพทย์ ม. .... เพราะมีลูกเพื่อนเรียนอยู่  หนูก็ไป แล้วก็ได้เรียนจนจบค่ะ จบปี พ.ศ. 2542ค่ะ  ( จบนานแล้วค่ะ ตอนนี้อายุ 40 ปีแล้วค่ะ)

     ตอนเรียน ก็เริ่มคิดว่าอยากเป็นหมออะไร ตอนนั้น อยากเป็นจิตแพทย์ค่ะ  แค่ชอบนะคะ หาเหตุผลไม่เจอ มันเป็นความจำลางๆค่ะ  พอเรียนไปๆ ด้วยความที่เรา hyperactive ก็เริ่มอยากเรียน cardio ค่ะ
พอใช้ทุน ก็กลับมาเรียน med ค่ะ  ชีวิตช่วงนั้น ใช้ร่างกายหนักหนาสาหัสมากค่ะ อยู่เวรในเยอะแล้ว ยังอยู่เวรเอกชนอีก เพราะรู้สึกว่าเราจบแล้ว เราควรพึ่งตัวเอง ไม่อยากรบกวนคุณพ่อคุณแม่ค่ะ
พอเรียนถึงปี 3 ค่ะ วิกฤติชีวิตมาเยือนค่ะ    ร่างกายที่เราใช้เค้ามาหนักหน่วง เริ่มแสดงอาการค่ะ  หนูปวดหลังจนตัวเบี้ยว เป็นๆหายๆ  แต่คิดว่าคงเป็นกล้ามเนื้ออักเสบ  ยังคงกระโดด CPR คนไข้เป็นว่าเล่นค่ะ

     วันนั้นเป็นวันที่มีประชุม MED ที่โคราชค่ะ  พอกลับมาถึงรพ. หนูลงรถตามปกติ พอเดินไปซักพัก หนูโทรหาเพื่อนว่ามาถึงแล้ว อยู่ดีๆก็รู้สึกเหมือนมีอะไรระเบิดกลางหลัง  แล้วหนูก็ลงไปนอนกองอยู่ที่พื้น แล้วขยับตัวไม่ได้อีกเลย ซักพัก ก็มีคนมาช่วย เอาเปลตัก มารับหนูไป ER ค่ะ  ไปถึงเพื่อนก็สั่ง voltaren ฉีด แต่อาการไม่ดีขึ้นค่ะ นั่งไม่ได้ film กระดูกเป็นรูปตัว S เลยค่ะ เหมือน muscle spasm เป็น scoliosis เลยค่ะ

     ก็ต้อง admit ตามระเบียบค่ะ ไปMRI วันรุ่งขึ้น เป็น  Ruptured disc herniation ค่ะ หมอ ortho แนะนำให้ผ่าตัดค่ะ  (ปล. วันนั้นเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้ปัสสาวะใส่ bed panค่ะ ขยับตัวแค่นั้น ก็น้ำตาเล็ดเลยค่ะ) โดนยาแก้ปวดไปถึง morphine เลยล่ะค่ะ  ได้ประสบการณ์หลายอย่างเลยนะเนี่ย นอนไป 10 วันค่ะ  เริ่มขยับตัวได้บ้างเล็กน้อย ผอมแห้งหัวโตเลยค่ะ ลุกเข้าห้องน้ำไม่ได้ แถมต้องนอนทานข้าว พอนั่งแล้วมันกดทับจะปวดมาก อ่านหนังสือได้อย่างเดียว เพราะไม่ชอบดูทีวี  ปวดแขนมากค่ะ เพราะต้องนอนหงายถือหนังสืออ่าน เล่มเล็กๆก็อ่านแป๊บเดียวจบ น่าสงสารมั้ยคะ

     สรุปว่ากลับบ้านมานอนต่อที่บ้านค่ะ นอนมาในรถค่ะ กว่าจะเริ่มนั่งได้น่าจะเกือบเดือนค่ะ  เป็นคนป่วยเต็มขั้น ต้อง off training ค่ะ ตอนนั้นต้องเปลี่ยนชีวิตใหม่หมดค่ะ  เพราะนั่งได้ไม่เกิน 5-10 นาทีค่ะ ขับรถไม่ได้ ไปไหนไม่ไหว นอนอย่างเดียวค่ะ  อยากลองสู้ ไม่อยากผ่า เพราะคุณพ่อบอกเจอคนไข้ recurrent บ่อย ( แหะๆ แต่หมอ ortho บอกว่าเคสนี้ poor prognosis ค่ะ)

     ตั้งต้นชีวิตใหม่ค่ะ ผ่านไปหลายเดือน เริ่มนั่งได้นานขึ้นนิดหน่อย เริ่มอยากเรียนต่อ แต่เรียนอะไรก็ต้องนั่งนาน จะเรียน eye, ENT ก็ต้องก้มผ่าตัด เผอิญเพื่อนบอกให้ลองไปดูคลินิก skin ใกล้บ้าน เลยลองไปดู ก็ขอ observe ขออยู่สาขาใกล้ๆ คนน้อยๆ ทำงานตามสภาพร่างกายค่ะ  ถามว่าชอบมั้ย ไม่ชอบเลยค่ะ เรื่องความงาม แต่ทำได้ค่ะ เป็นหมอที่ train ฉีด botox ทำ laser รุ่นแรกๆเลยค่ะ ตอนหลังก็ไป train ด้าน Aesthetic จริงจังขึ้น  แต่จริงๆก็ไม่ได้ชอบค่ะ ทำมา 8 ปี มีการเรียน antiaging รู้สึกว่าอันนี้แหละ ตอบโจทย์มาก เราคิดว่า เรื่อง prevention มันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด สำคัญกว่าการรักษาด้วยซ้ำ  ( ในฐานะที่เป็นคนป่วยมาก่อน)

     ชีวิตที่ต้องเปลี่ยนกะทันหัน ต้องขอบคุณร่างกายที่มาเตือนให้เราคิดใหม่ทำใหม่  หนูใช้ชีวิตช้าลง ดูแลตัวเองมากขึ้น เริ่มให้เวลากับตัวเองและครอบครัวมากขึ้น   ค่อยๆทบทวน ว่าเราชอบอะไร อยากทำอะไร หลังจากคุณแม่เสียไปด้วยโรคมะเร็งเมื่อ 8 ปีก่อน  ความเศร้าเสียใจที่สุดในชีวิต ทำให้หนูได้มีโอกาสศึกษาธรรมะได้ลึกซึ้งมากขึ้น เข้าใจชีวิตมากขึ้น  ใช้ชีวิตให้คุ้มค่ามากขึ้น ตอนนี้ หนูเลือกที่จะดูแลสุขภาพตัวเองและครอบครัว ไปซื้อเครื่องปั่นตาม อ. เลยนะคะ fan club ตัวยงเลยค่ะ   นอกจากนี้ ตามประสา คน Hyperactive ที่ยังแก้ไม่หาย ก็ไปเรียนอะไรที่สนใจมากมายค่ะ เรียน homeopathy กับอาจารย์อินเดีย  ได้ประสบการณ์แปลกๆเยอะดีค่ะ    แล้วก็มีเรียนเปียโน  โยคะ วาดรูปสีน้ำ  และพยายามเจริญสติ ภาวนาด้วยค่ะ

    อยากเป็นกำลังใจให้คนที่ป่วยทุกคนค่ะ ว่าบางอย่างมันก็เกิดปาฏิหาริย์ขึ้นได้ และอยากให้เห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยน life style ทั้งทางร่างกายและจิตใจค่ะ ขอบพระคุณครอบครัวที่สร้างให้หนูเป็นคนมองโลกในแง่ดี และเป็นกำลังใจให้เราฝ่าฟันมาถึงจุดนี้ได้ ดีใจที่ได้อ่านบทความดีๆของอาจารย์ และทราบว่าอาจารย์ต้องทุ่มเทกับการหาข้อมูลมากค่ะ  อาจารย์เป็น idol ของหนูเลยค่ะ ว่างๆจะเขียนหาอาจารย์อีกนะคะ แต่หนูพิมพ์ไม่ค่อยเก่งค่ะ อันนี้ถือว่ายาวมากเลยค่ะ

     ขอบพระคุณที่อาจารย์ทนอ่านนะคะ  ไม่มีคำถามให้ตอบด้วยค่ะ แค่อยากเล่าจริงๆค่ะ

                               รักและเคารพ
                                  ..............


[อ่านต่อ...]

25 กันยายน 2558

ลิ้นหัวใจรั่ว ต้องผ่าตัดเมื่อใด (Mitral Regurgitation)

สวัสดีค่ะ คุณหมอสันต์

     ดิฉันเพิ่งจะค้นพบบล็อกของคุณหมอที่เขียนให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ เพราะพอดีว่ามีปัญหาที่คิดไม่ตกเรื่องของคุณแม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค ลิ้นหัวใจรั่วค่ะ คือเมื่อประมาณ 2 ปี ที่ผ่านมา และหลังจากนั้น เลยไปหาคุณหมอด้านอายุรกรรมโรคหัวใจที่ รพ. ... คุณแม่มีอายุมากแล้วคืออายุประมาณ 84 ปี(2 ปีที่แล้ว) ดิฉันเป็นกังวลว่าร่างกายท่านจะรับการผ่าตัดไม่ไหว และคุณหมอที่ไปปรึกษาท่านก้อถามแต่ว่า อยากผ่าตัดหรือยัง
     แต่ทั้งตัวท่านและ ตัวดิฉัน ไม่ค่อยอยากผ่าค่ะ และล่าสุด คือเมื่อวานนี้ คุณแม่ก้อไปตามนัดอีก และก่อนหน้านี้ คุณหมอก้อให้คุณแม่ทำ echo ไปเพื่อดูอาการ ได้รับทราบข้อมูลการทำ echo แค่ว่า ก้อลิ้นหัวใจก็ยังรั่วอยู่ แต่การบีบตัวของหัวใจยังดีอยู่ แล้วคุณหมอก้อถามอีกว่าอยากผ่าตัดหรือยัง ถ้าจะผ่าจะได้ส่งไป consult หมอศัลย์
     ดิฉันรู้สึกเครียดมาก เกรงว่าร่างกายคุณแม่จะไม่ไหว และคุณหมอท่านก้อไม่ได้ให้รายละเอียดข้อดี ข้อเสีย ก่อนและหลังการผ่าตัด ใดๆเลยค่ะ พอดิฉันมา search หารายละเอียดอ่านเองจึงได้พบบล็อกของคุณหมอสันต์ ถ้าจะรบกวนปรึกษาว่า ตามความคิดของคุณหมอ คนแก่ อายุ 80ปี ++ ยังควรผ่าหรือไม่คะ คุณแม่ปรกติก้อทำงานบ้านเล็กๆน้อยๆได้ค่ะ นอนราบได้ เดิน(ช้าๆๆ) ไปข้างนอกได้

Date ; -
Left Ventricle
Contraction; Good, with EF 72.62
LVED 5.0 cm
Thickness 1.6 cm
Scare or previous MI; none
Regional wall motion abnormality; none
Diastolic function; -
Pulmonary artery; not dilated
Mitral valve; poor coaptation, severe MR anterior jet
Aortic valve ; normal
Pulmonic and tricuspid valve; normal
Inferior vena cava ; 1.8 cm collapse >50%
Other significant abnormality ; -
Impression; severe MR

.............................................

ตอบครับ

     รายงาน echo ดูเก๋ามากนะครับ เขียนด้วยมืออีกต่างหาก วันที่ก็ไม่ลง ไม่ได้ว่าหมอดอกนะ แต่ว่าพยาบาลห้องเอ็คโค ผมเดาเอาจากจดหมายของคุณว่าทำเมื่อปี 2013 ผมต้องออกตัวก่อนนะครับว่ารายงาน echo ที่คุณให้มาไม่ค่อยละเอียดในแง่มุมเชิงลึก เป็นต้นว่าในการวินิจฉัยว่าหัวใจเป่งแค่ไหนปกติเราใช้เส้นผ่าศูนย์กลางปลายจังหวะบีบตัว (LVESD) แต่ในรายงานของคุณไม่ได้วัดมา บอกมาแต่เส้นผ่าศูนย์กลายปลายจังหวะคลายตัวซึ่งเราไม่ได้ใช้ เอาเถอะ ข้อมูลไม่ครบไม่เป็นไร ผมจะใช้วิธีตอบจดหมายของคุณด้วยวิธีเดาประกอบก็แล้วกันนะ

     เอาละทีนี้มาตอบคำถามของคุณ

     ประเด็นที่1. คนเป็นโรคลิ้นหัวใจไมทราล (mitral valve) รั่ว เมื่อไหร่ จึงจะเป็นเวลาเหมาะเจาะที่จะต้องทำผ่าตัด

     หากถือเอาตามรายงาน echo นี้ แม้ว่าอัตราการรั่วของลิ้นหัวใจไมทราลจะมากโขอยู่ (ดูจากรายงานทิศทางและความแรงของเลือดที่รั่ว) แต่การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายยังปกติ นี่เป็นสาระสำคัญ

     การดำเนินของโรคนี้ตามธรรมชาติ (natural course of disease) มีอยู่ว่าคนเป็นโรคลิ้นหัวใจไมทราลรั่ว (โดยที่ลิ้นไม่ได้ตีบด้วยนะ) ชีวิตของเขาจะดำเนินไปอย่างสบายๆ จะไปได้อีกนานเท่าไหร่ ก็ไม่มีใครรู้ และไม่มีหมอเทวดาคนไหนคาดเดาได้ด้วย จะนานอีกสิบปี ยี่สิบปี สามสิบปี ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ชีวิตก็ยังดำเนินไปอย่างไม่มีอะไรเกิดขึ้น จนกระทั่งวันหนึ่ง กล้ามเนื้อหัวใจจะเริ่มทำงานมากกว่าปกติเพื่อชดเชยกับการรั่ว (compensated) ทราบจากวัดเลือดที่รั่วได้มากขึ้น (ซึ่งบังเอิญของคุณแม่คุณหมอเขาไม่ได้วัด) และจากการที่ขนาดของหัวใจห้องล่างซ้ายซึ่งติดตามดูมาอยู่ๆก็ค่อยๆเป่งโตขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าการหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจจะยังดีอยู่ แล้วโรคก็จะดำเนินไปเข้าระยะหัวใจทำท่าจะไม่ไหวแล้ว (decompensated) ทราบจากความดันของเลือดที่ค้างอยู่ในหัวใจห้องซ้ายที่เรียกว่า LVEDP สูงขึ้น และการหดตัวของกล้ามเนื้อเริ่มเลวลง (ทราบจากอัตราการไล่เลือดออกจากหัวใจหรือ ejection fraction หรือ EF เริ่มลดลง) จากจุดนี้ไปอีกไม่นาน ชีวิตก็จะเริ่มเข้าสู่ช่วงสาละวันเตี้ยลง เตี้ยลง เตี้ยลงสาละวัน เตี้ยลงแล่ว..ว สาละวันเอ๊ย..ย คือหัวใจเริ่มล้มเหลว ชีวิตเริ่มสะง็อกสะแง็ก นอนราบไม่ได้ หอบแฮ่กๆแม้ไม่ได้ออกแรง หากไม่ทำอะไรก็จะมีชีวิตที่ไร้คุณภาพไปอีกนาน นานอีกเท่าไหร่ก็ไม่มีใครเดาได้ แต่มาถึงระยะนี้จะนับกันทีละเดือนหรือทีละปี จะไม่นับกันทีละสิบปีแล้ว แล้วก็จะค่อยๆจากโลกนี้ไปอย่างหอบๆและช้าๆ

     จังหวะเวลาที่เหมาะจะผ่าตัดที่สุดนั้น ขึ้นอยู่กับว่าหมอคนไหนจะเป็นคนผ่า

     หมอที่ห้าวจะผ่าตัดทันทีเมื่อมีหลักฐานจากเอ็คโคว่าลิ้นหัวใจรั่วระดับปานกลางถึงมาก

     แต่ถ้าเป็นหมอที่ไม่ชอบทำงานหนักโดยไม่ได้อะไรอย่างหมอสันต์นี้ (Why work hard?) ก็จะใช้วิธีรอไปก่อน รอ ร้อ รอ จนกระทั่งมีสัญญาณว่าเข้าเกณฑ์คำแนะนำสมาคมหมอขี้เกียจแห่งยุโรป (หิ หิ พูดเล่น ชื่อจริงของเขาคือสมาคมหมอหัวใจแห่งยุโรป) หรือ ESC guidelines 2012 ซึ่งแนะนำว่าให้ผ่าตัดเฉพาะเมื่อผู้ป่วยมีอาการแล้ว และมีหลักฐานว่าหัวใจเป่งแล้ว (LVESD เกิน 45 mm) และหรือมีการบีบตัวแย่ลง (EFต่่ำกว่า 60%)
     ถามว่าทำไมมีหมอสองแบบละ ตอบว่าเพราะงานวิจัยประโยชน์การผ่าตัดลิ้นหัวใจในคนไข้ลิ้นหัวใจไมทราลรั่วเป็นงานวิจัยเก่าซึ่งสรุปผลได้เพียงแต่ว่าหากเริ่มผ่าตัดตั้งแต่คนไข้ยังไม่มีอาการ ความยืนยาวของชีวิตในสิบปีข้างหน้าจะไม่แตกต่างจากการอยู่เฉยๆไม่ผ่าตัดดีกว่า ความที่มันเป็นงานวิจัยเก่า หมอสมัยใหม่จึงมีความเห็นว่า โห ลุ้ง สมัยนี้การผ่าตัตปลอดภัยมากขึ้นแยะแล้ว จะไปร้องเพลงรออยู่ทำไม แถมเทคนิคการผ่าตัดก็มีให้เลือกหลากหลาย รั่วน้อยก็ซ่อม รั่วมากจึงค่อยเปลี่ยน ดังนั้นรั่วเมื่อไหร่ผ่าเลย ลุย ลุย ลุย ไม่ต้องไปรอจนมีอาการให้เห็นหรอก

     ความเห็นที่แตกต่างกันของหมอขยันและหมอขี้เกียจนี้จะคงอยู่เช่นนี้ตลอดไปชั่วกัลปาวสาน ตราบใดที่ยังไม่มีงานวิจัยสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบมายืนยันว่าวิธีไหนดีกว่าวิธีไหน ซึ่งงานวิจัยแบบนี้ต้องใช้เวลาทำสิบปีขึ้นไป และนับจนถึงวันนี้ยังไม่มีใครคิดตั้งต้นทำวิจัยแบบที่ว่าเลย

     ประเด็นที่ 2. หากรอไปจนกว่าจะเริ่มมีอาการแล้วค่อยผ่าตัด การผ่าตัดจะเพิ่มอัตราตายขึ้นอีกมากไหม ตอบว่าการจะถึงหรือไม่ถึงจุดที่สาละวันเริ่มเตี้ยลงนี้ มันไม่ใช่จะเตี้ยลงพรวดพราดจนตั้งตัวไม่ทัน ไม่ใช่อย่างนั้น โรคนี้มันเป็นโรคค่อยเป็นค่อยไป อัตราตายของการผ่าตัด ณ จุดที่เริ่มสาละวันเตี้ยลง ไม่ได้แตกต่างจากจุดที่ยังดีๆอยู่มากนักดอก คือจะมีอัตราตายต่างกันเล็กน้อยคือไม่ว่าจะผ่าตรงจดไหนอัตราตายก็อยู่ในย่าน 0.5 – 5% ทั้งคู่พอๆกัน จะเห็นว่าพิสัยอัตราตายที่ให้ไว้แตกต่างกันได้ถึงสิบเท่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฝีมือและดวงของแพทย์ผู้ผ่า

     เขียนมาถึงตรงนี้ขอนอกเรื่องหน่อยนะ พูดถึงฝีมือและดวงแล้วคิดขึ้นมาได้ คือเมื่ออาทิตย์ก่อนผมไปพักผ่อนที่บ้านบนเขาที่มวกเหล็ก ตกเย็นได้ไปกินข้าวที่บ้านเพื่อนซึ่งนัดกันมาหลายบ้านกินข้าวด้วยกันคุยกันสัพเพเหระ เพื่อนอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นวิศวกรซ่อมเครื่องบินเล่าว่าระบบการทำงานของเขาจะเป็นรูทีทุกครั้งที่เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่จะขึ้นบิน จะต้องมีวิศวกรแผนกซ่อมเครื่องบินขึ้นเวรนั่งไปกับเครื่องด้วย เพื่อทำหน้าที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าฉุกเฉินขณะอยู่กลางอากาศกรณีเครื่องขัดข้อง ช่างที่ต้องรับขึ้นเวรก็คือช่างที่ซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ของเครื่องบินลำนั้นนะแหละ เพื่อนผมคนนี้เล่าว่าจนถึงทุกวันนี้ เวลาจะขึ้นบิน ยังมีช่างจำนวนหนึ่งที่ไม่ชัวร์ฝีมือตัวเอง ก่อนขึ้นเครื่องต้องนั่งสวดมนต์ยกมือวันทาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า

     “สา..ธุ เที่ยวนี้ขอให้ลูกช้างแคล้วคลาดปลอดภัยอย่าได้มีอะไรขัดข้องกลางอากาศเลย”

     นี่แสดงว่าไม่ใช่แต่หมอผ่าตัดเท่านั้นที่ต้องอาศัยดวง ช่างซ่อมเครื่องบินก็ต้องอาศัยดวงเหมือนกัน แล้วคนไข้กับผู้โดยสารละครับ.. หิ หิ ตัวใครตัวมันละกันนะ

ฮะ ฮ่า ฮ้า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

     ประเด็นที่ 3. ถามความเห็นของหมอสันต์ว่าคนอายุ 80ปี ++ ควรจะผ่าตัดหรือไม่ ตอบว่าอายุเท่าไหร่ไม่สำคัญ สมัยนี้หมอแทบจะไม่ได้เอาอายุมาเป็นปัจจัยคิดคำนวณว่าจะผ่าหรือไม่ผ่าดอกครับ ปัจจัยที่หมอเอามาใช้ในการตัดสินใจว่าจะผ่าตัดหรือไม่ผ่ามีอยู่สองฟากเท่านั้น

     ฟากหนึ่ง คือประโยชน์ของการผ่าตัด ว่าคนไข้จะได้ประโยชน์อะไรบ้างในแง่ความยืนยาวของชีวิตและในแง่คุณภาพชีวิต

     อีกฟากหนึ่ง คือความเสี่ยงของการผ่าตัด ว่าการผ่าตัดครั้งนี้มีความเสี่ยงกี่เปอร์เซ็นต์ คุ้มกับประโยชน์ที่จะได้ไหม ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงนี้ หมอก็จะดูคุณภาพการทำงานของอวัยวะสำคัญเป็นหลัก อันได้แก่ ตับ ไต หัวใจ ปอด ถ้าอวัยวะเหล่านี้ยังทำงานเจ๋งดีอยู่ หมอก็ไม่ยั่นดอก ไม่ว่าคนไข้จะอายุเท่าไหร่

แม้กรณีการผ่าตัดเพื่อหวังผลเพิ่มความยืนยาวของชีวิต อายุก็ยังเอามาเป็นข้อพิจารณาไม่ได้ ถ้าทำอย่างนั้นจะเป็นการผิดจริยธรรมทางการแพทย์ทีเดียว หมอจะไปพูดว่า โห คุณยาย อายุ 100 ปีแล้วยังจะหวังความยืนยาวของชีวิตที่มากกว่านี้อีกหรือ พูดไม่ได้เด็ดขาด เพราะจะเป็นการผิดหลักจริยธรรมข้อที่เรียกว่าหลักยุติธรรม ซึ่งมีอยู่ว่าหมอต้องให้การรักษาคนไข้อย่างเท่าเทียมกันโดยไม่ลำเอียงเข้าข้างคนยาก ดี มี จน ชาติเชื้อ ผิวสี ศาสนา เพศ หรือ อายุ ดังนั้นการที่คุณแม่อายุ 80++ จึงไม่ใช่ประเด็น หากตับ ไต หัวใจ ปอด ของท่านยังเวิร์คโอเค.ความเสี่ยงก็ไม่ได้สูงขึ้น

     แต่ประเด็นอยู่ตรงนี้ การวิเคราะห์การดำเนินของโรคตามธรรมชาติเปรียบเทียบกับการผ่าตัดผู้ป่วยลิ้นหัวใจรั่วที่ระยะต่างๆพบว่าการทำการผ่าตัดผู้ป่วย ณ จุดที่ยังไม่มีอาการและหัวใจยังทำงานปกติดีอยู่นั้น ไม่ได้เพิ่มความยืนยาวของชีวิตในสิบปีข้างหน้าให้ยาวขึ้น แต่หากไปผ่าเอาตอนกำลังจะเริ่มมีอาการหัวใจล้มเหลว (compensated phase) จึงจะได้ประโยชน์ในแง่ความยืนยาวของชีวิตในสิบปีข้างหน้าเพิ่มขึ้น ตรงนี้สิเป็นประเด็น เมื่อไม่ได้ประโยชน์ในแง่ความยืนยาวของชีวิตก็เหลือประโยชน์ในแง่เดียวคือคุณภาพชีวิต คุณบอกว่าคุณแม่นอนราบได้ เดินไปนอกบ้านได้ นี่เป็นคุณภาพชีวิตที่ถือว่าระดับ 100% สำหรับคนอายุ 80++ แล้วนะ การผ่าตัดจะไม่เพิ่มอะไรให้คุณแม่ของคุณในแง่คุณภาพชีวิตอีกเพราะตอนนี้คุณภาพเต็มร้อยอยู่แล้ว เมื่อประโยชน์ในแง่ความยืนยาวของชีวิตก็ไม่ได้ ในแง่คุณภาพชีวิตก็ไม่ได้ แล้วคุณจะผ่าตัดไปทำพรื้อ..อ ละครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Guidelines on the management of valvular heart disease (version 2012). Joint Task Force on the Management of Valvular Heart Disease of the European Society of Cardiology (ESC); European Association for Cardio-Thoracic Surgery (EACTS), Vahanian A et al. Eur Heart J. 2012 Oct;33(19):2451-96


[อ่านต่อ...]

21 กันยายน 2558

หมอเป็นโรคสะเก็ดเงิน (psoriasis)

อาจารย์คะ

หนูเป็น พชท.3 เป็น psoriasis ชนิด Guttate เคยรักษาทั้ง UVB / PUVA แล้วไม่ได้ผล ตอนนี้รักษาที่ ..... ได้ยา Sandimmune + Azathioprine + Neo-Tigason ยังคุมผื่นไม่ได้ กินโน่นก็ไม่ได้ กินนี่ก็ไม่ได้ จนไม่รู้จะกินอะไร บางวันผื่นขึ้นมากจนไม่กล้าออกจากบ้าน ผื่นมากกว่า 30% ของผิวหนัง คัน ปวด เครียด ทรมาน อยากจะกลับมาเรียนต่อในปีหน้า แต่ก็ไม่กล้าคิดถึงอนาคตมากมาย เบื้องนอกดูเป็นคนปกติ แต่เบื้องลึกชีวิตหนูเหมือนถูกดึงรั้งไว้ด้วยเส้นด้ายเส้นเล็กๆเพียงเส้นเดียวเท่านั้น หนูเข้าใจว่า psoriasis เป็นโรคที่ไม่มีวันหาย และไม่มีวิธีรักษาจำเพาะ แต่ก็อยากเขียนมาหาอาจารย์ เพราะอ่านบล็อกอาจารย์มาตั้งแต่เป็นนศพ. การเขียนมาหาอาจารย์จึงไม่ใช่เรื่องต้องตัดสินใจมากมายอะไร

.................................................

ตอบครับ

     มีคนเขียนมาถามเรื่องโรคสะเก็ดเงินกันค้างอยู่อย่างน้อยสามเจ้าแต่ผมยังไม่ได้ตอบ เพราะเห็นว่าเรื่องโรคสะเก็ดเงินผู้ป่วยไปหาความรู้เอาจากที่ไหนก็ได้ จดหมายของคุณหมอเป็นเจ้าที่สี่แต่ผมเห็นแล้วรีบตอบให้ทันที เพราะคุณหมอเป็นคุณหมอ ย่อมจะได้สิทธิพิเศษสำหรับผมเสมอ

     ก่อนจะตอบคำถามของคุณหมอ ผมขออธิบายศัพท์เพื่อให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นตามเรื่องได้ทันก่อนนะครับ

     -พชท. 3 แปลว่าแพทย์ใช้ทุนปี 3 คือแพทย์เมืองไทยนี้เรียนจบแล้วต้องไปทำงานรับใช้เวรกรรม เอ๊ย ไม่ใช่ รับใช้ชาติ ในชนบทเป็นเวลา 3 ปี เลข 3 ที่ตามหลังคำย่อนั้นก็หมายความว่าได้ชดใช้เวรกรรมจวนจะหมดแล้ว

     -Psoriasis แปลว่าโรคสะเก็ดเงิน ซึ่งเป็นผื่นผิวหนังที่เกิดจากอะไรไม่รู้ แต่วงการแพทย์เดาเอาว่าคงเกิดจากภูมิคุ้มกันของตัวเองไปแหย่ให้เซลผิวหนังแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว โรคนี้ไม่มีวิธีรักษาจำเพาะ

     -Guttate อ่านว่ากูแท็ด แปลว่าโรคสะเก็ดเงินชนิดมีผื่นเป็นดอกๆ ผมเอารูปในเน็ทมาให้ดูประกอบด้วย

     -UVB แปลว่าการรักษาด้วยวิธีอบรังสีอุลตร้าไวโอเล็ตบี. แบบว่าเอาคนไข้เข้าไปอยู่ในกล่องคล้ายโลงแก้วที่เปิดไฟไว้เหมือนเตาไฟย่างเขียด พอผิวเกรียมได้ที่แล้วก็เอาออกมา

     -PUVA ย่อมาจาก psoralen – ultraviolet A therapy แปลว่า วิธีย่างเขียด เอ๊ย ไม่ใช่ ใช้แสงอุลตร้าไวโอเล็ทเอ.รักษาโรคผิวหนัง แต่ว่ามักเป็นการย่างในท่ายืน ปิดตา ปิดจู๋ซะด้วยเพื่อป้องกันมะเร็งที่จู๋ โดยก่อนย่างให้กินหรือทายา psoralen ก่อน ยานี้จะเข้าไปอยู่ในยีนที่ศูนย์กลางของเซล พอเซลโดนแสงอุลตร้าไวโอเล็ทเอ.เซลก็จะแตกดังปุ๊ (apoptosis) ตายคาที่ ทำให้เซลผิวหนังที่เป็นโรคหลุดลอกออกไปง่าย

     -Sandimmune เป็นยากดภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีชื่อจริงว่า cyclosporine ซึ่งเป็นยาแรง และใช้กดภูมิคุ้มกันในคนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะเช่นเปลี่ยนหัวใจ เปลี่ยนไต เป็นต้น

     -Azathioprine เป็นยาเคมีบำบัดหรือยาทำลายเซลแบบหนึ่ง มีชื่อการค้าว่า Immuran

     -Neo-Tigason เป็นวิตามินเอ.ตัวปลอม (retinoid analog) ซึ่งออกฤทธิ์ได้เหมือนวิตามินเอ.จริงๆ ยานี้มีชื่อจริงว่า acetretin

     เอาละคราวนี้มาตอบคำถามของคุณหมอ คุณหมอไม่ได้เจาะจงถามประเด็นไหน แค่เขียนมาระบายเฉยๆ ผมก็จะตอบแบบตั้งประเด็นเองตอบเองนะ

     ประเด็นที่ 1. โรคสะเก็ดเงินไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงอะไรต่อร่างกายเลยนะครับ ถ้าเป็นโรคนี้ในระดับทั่วไปผู้ป่วยจะมีการพยากรณ์ที่ดีๆไม่แตกต่างจากคนปกติ โรคระดับรุนแรงที่สุดก็ทำให้อายุคาดเฉลี่ยต่ำลงกว่าคนปกติแค่ 3-4 ปีเท่านั้นเอง และที่ตายเร็วกว่าชาวบ้านนี้ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ตายจากโรคผิวหนัง แต่ตายจากเหตุที่สัมพันธ์กับความเครียดและภาวะซึมเศร้ามากกว่า ดังนั้นคุณหมอโฟกัสที่การรักษาใจดีกว่าโฟกัสที่การรักษากาย น่าจะเป็นการเกาถูกที่คันกว่านะครับ

     งานวิจัยระดับสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบในเรื่องนี้ก็พอมีอยู่นะ อย่างน้อยเท่าที่ผมทราบก็มีหนึ่งงาน ทำที่แมสซาจูเส็ท เป็นการวิจัยระดับสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ (RCT) ที่เอาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) ที่ต้องรักษาด้วย PUVA จำนวน 37 คนมาสุ่มตัวอย่างแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้ฝึกสติแบบ MBSR ควบไปด้วย อีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้ฝึกสติ แล้วใช้การประเมินผิวหนังหรือภาพถ่ายผิวหนังโดยแพทย์โรคผิวหนังที่ถูกปิดบังข้อมูลวิจัยเป็นตัวชี้วัด พบว่ากลุ่มที่ฝึกสติแบบ MBSR ควบมีอัตราการหายของผื่นผิวหนังมากกว่าและเร็วกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นผมแนะนำตามหลักฐานชินนี้ว่าคุณหมอฝึกสติเถอะครับ จะฝึกแบบไหนก็ได้ วิธีฝึกสติแบบ MBSR ผมเคยเขียนไว้หลายครั้งแล้วในบล็อกนี้คุณหมอหาอ่านดูได้

     ประเด็นที่ 2. ที่คุณหมอบ่นว่ากินอะไรก็ไม่ได้นั้นผมเชื่อว่าจริง แต่หลักฐานวิจัยเรื่องอาหารสำหรับคนเป็นโรคสะเก็ดเงินนั้น ที่ชัดที่สุดเห็นจะเป็นผลของการกินอาหารแบบมังสะวิรัติแบบเข้มงวดว่ารักษาโรคสะเก็ดเงินได้ชงัด ผมนึกขึ้นได้แต่งานวิจัยดั้งเดิมที่ทำมานานแล้ว เขาเอาคนไข้โรคผิวหนังต่างๆมาทดลองอดอาหารแล้วตามด้วยให้เริ่มอาหารแบบใหม่เป็นมังสะวิรัติร้อยเปอร์เซ็นต์ (vegan) คือมังแบบ ไม่เนื้อ + ไม่ไข่ + ไม่นม แล้วพบว่าคนไข้โรคผิวหนังทุกชนิดผื่นยุบลงช่วงอดอาหาร แต่พอเริ่มกินอาหารใหม่ (อาหาร vegan นะ) โรคผิวหนังชนิดอื่นผื่นกลับเห่อขึ้นมาใหม่ แต่คนไข้โรคสะเก็ดเงินผื่นหายแล้วหายเลยไม่กลับเป็นใหม่

แม้ทุกวันนี้ยังมีสถาบันอาหารบำบัดหลายแห่งใช้ผลวิจัยนี้รักษาคนไข้สะเก็ดเงินอยู่ อย่างน้อยก็มีหนึ่งแห่งที่ผมทราบคือที่ True North Health Center ประเทศสหรัฐ ซึ่งเขารักษาโดยให้อดอาหาร (กินแต่น้ำเปล่า) นานสองสัปดาห์จนผื่นยุบหมดแล้วให้เริ่มอาหารแบบมังสะวิรัติใหม่ และคนไข้ก็ต้องกินอาหารมังสะวิรัติตลอดไป เท่าที่ผมทราบสถาบันแห่งนี้ไม่เคยตีพิมพ์ผลวิจัย แต่คนไข้ของสถาบันแห่งนี้จำนวนหนึ่งซึ่งแฮปปี้กับผลการรักษามากได้เล่าเรื่องไว้ในยูทูบ คุณหมอลองดูได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=Fb2ruJ9vvSU

แล้วก็ช่างเป็นการบังเอิญเสียจริง เมื่อตอนที่ผมไปประชุมที่แคลิฟอร์เนียเมื่อไม่กี่วันมานี้ การประชุมครั้งนั้นซึ่งว่ากันแต่เรื่องหลักฐานใหม่ๆในเรื่องการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต นอกจากหมอแล้วยังมีเลย์แมนที่เป็นฮาร์ดคอร์ชอบจดจ่อเรื่องสุขภาพเข้าร่วมประชุมด้วยจำนวนหนึ่ง คนพวกนี้พอเว้นจากการประชุมก็จะชอบมาพูดมาคุยกับหมอ ช่วงพักประชุมวันหนึ่งมีคนหนึ่งเข้ามาขอคุยกับผม เป็นชายหนุ่มรูปงามชาวสวิสอายุน่าจะสัก 35 – 40 ปี คุยกันไปคุยกันมาจึงได้ทราบว่าเขาเป็นโรคสะเก็ดเงินระดับที่รุนแรงมากที่รักษาอย่างไรก็ไม่หาย จนในที่สุดเขาตัดสินใจเป็น vegan หมายความว่ากินแต่ผักหญ้าไม่ยอมกินสัตว์เลยทุกชนิดแล้วเขาก็หาย ชีวิตเขาดีขึ้นจนเขาตัดสินใจจะทิ้งอาชีพเดิม (ทำธุรกิจรถเมล์) มาเปิดชั้นเรียนสอนคนสวิสให้รู้วิธีรักษาโรคด้วยตัวเองโดยวิธีกินอาหารแบบ vegan และเขากลายเป็นคนสนใจเรื่องความรู้ใหม่ๆเรื่องสุขภาพ มีการประชุมดีๆที่ไหนทั่วโลกเรื่องการกินผักกินหญ้าเขาจะต้องขวานขวายไปร่วม ครั้งนี้ก็เช่นกัน

กล่าวโดยสรุปในประเด็นอาหารนี้ คุณหมอลองกินมังสะวิรัติแบบ 100% ดูสิครับ ลองดูสักเดือนสองเดือนก็ไม่เสียหายนะ ถ้าไม่ได้ผลก็กลับมากินแบบเดิมเมื่อไหร่ก็ได้

     ประเด็นที่ 3. ที่ว่าเครียดจนตัดสินใจเรื่องการไปเรียนต่อไม่ได้ก็อย่าเพิ่งไปคิดสิครับ การวิ่งตามฝูงเขาไปเหมือนวัวนั้นว่าไปแล้วก็สบายดีไม่ต้องคิดอะไรมากเขาเฮไปไหนเราก็เฮไปนั่น วิธีนั้นมันใช้ได้และโอเค.ถ้าชีวิตของเรามันลงตัวดีอยู่ แต่การที่คุณหมอเขียนจดหมายมาหาผมนี้แสดงว่าชีวิตมันยังไม่ลงตัว เราหันมาฟูมฟักชีวิตของเราเองก่อนไม่ดีกว่าหรือครับ ไม่จำเป็นต้องไปวิ่งตามเขาต้อยๆให้ทันเวลาดอก แม้หากอยากจะวิ่งตามเขา การวิ่งตามกันเป็นฝูงวัวนั้น ไปสมทบกับเขาเมื่อไหร่ก็ได้ แล้วผมอาศัยความแก่ยืนยันกับคุณหมอได้อย่างหนึ่ง ว่าการวิ่งตามกันไปนั้น ไปถึงช้าหรือไปถึงเร็วก็แป๊ะเอี้ย คือไปถึงแล้วก็บ๋อแบ๋ ไม่มีอะไรเหมือนกันไม่ว่าถึงช้าหรือเร็ว

     ผมแนะนำให้คุณหมอหันมาให้เวลากับการดูแลตัวเอง ปรับวิถีชีวิตตัวเองไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งการกิน การนอน การออกกำลังกาย การฝึกสติ (อย่างน้อยก็เพื่อจะได้ไม่เกา)  และการตากแดด อย่าลืมว่าโรคนี้ต้องตากแดดนะ  คือตั้งใจทำสิ่งเหล่านี้เพื่อรักษาตัวเองก่อนดีกว่า เหมือนอย่างที่ผมเคยทำเป็นตัวอย่างมาแล้ว ไม่แน่นะ ทำอย่างนี้ คุณหมออาจจะค้นพบอะไรดีๆในการรักษาโรคสะเก็ดเงินที่จะเป็นประโยชน์กับคนไข้ไปภายหน้าก็ได้ ถึงตอนนั้นจะคิดอ่านไปเรียนต่อหรือไม่ไป จะไปเรียนต่ออะไร ก็ค่อยว่ากัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Kabat-Zinn, J., Wheeler, E., Light, T., Skillings, A., Scharf, M. J., Cropley, T. G., et al. (1998). Influence of a mindfulness meditation-based stress reduction intervention on rates of skin clearing in patients with moderate to severe psoriasis undergoing phototherapy (UVB) and photochemotherapy (PUVA). Psychosomatic Medicine, 60(5), 625.
2. Lithell H, Bruce A, Gustafsson IB, Höglund NJ, Karlström B, Ljunghall K, Sjölin K, Venge P, Werner I, Vessby B. A fasting and vegetarian diet treatment trial on chronic inflammatory disorders. Acta Derm Venereol. 1983;63(5):397-403.

[อ่านต่อ...]

17 กันยายน 2558

วัยชรา เป็นอย่างนี้เองหรือ

เมืองซานตา โรซา แคลิฟอร์เนีย

     การประชุมจบแล้ว ยังแถมได้ไปดูงานที่ทรูนอร์ท เฮลท์ เซนเตอร์ ตบท้ายเป็นกำไรอีกหลายชั่วโมงด้วย ได้ความรู้ ประสบการณ์ และไอเดียใหม่ๆ ที่จะนำไปใช้ประโยชน์กับคนไข้ของตัวเองไม่น้อย นับกว่าการเดินทางมาครั้งนี้คุ้มค่าทีเดียว เพื่อนๆที่มาร่วมประชุมเขาเดินทางกลับประเทศใครประเทศมันกันไปหมดแล้ว แต่ผมจงใจอยู่อีกหนึ่งวันเพื่อพักฟื้นตัวเองด้วยความเจียมสังขาร เพราะปูนนี้แล้วการจะจบประชุมแล้วพรวดพราดวิ่งไปขึ้นเครื่องบินเหมือนตอนหนุ่มๆนั้น คงไม่ดี ผมบอกให้พนักงานโรงแรมจองแท็กซี่มารับผมไปสนามบินโซโนมาวันรุ่งขึ้นตอนห้าโมงเย็น แล้วก็กลับห้อง เคลียร์เมลและโต้ตอบเมลเรื่องงานกับคนโน้นคนนี้ ภรรยาอุตส่าห์เมลมาสำทับว่าเข้านอนได้แล้ว อย่าทำอะไรมากเกินไป หัดสโลว์ไลฟ์เสียบ้าง ซึ่งผมก็ทำตามอย่างว่าง่าย เข้านอนตอนตีสอง แล้วปล่อยให้ตัวเองตื่นสายโดยไม่ตั้งนาฬิกาปลุก และตั้งใจว่ารุ่งขึ้นจะพักรอแท็กซี่อยู่ในรีสอร์ทนี้ไม่ไปไหนให้เหนื่อยอีก กว่าจะตื่นนอนและยุรยาตรลงมาจากห้องก็สิบเอ็ดโมงเข้าไปแล้ว นั่งละเลียดกับกาแฟและสลัดแบบเคี้ยวเอื้องช้าๆอีกเป็นชั่วโมง แล้วเปลี่ยนบรรยากาศออกมานั่งตากแดดรำไรใต้ต้นไม้ในสวนริมสระว่ายน้ำกลางรีสอร์ท สระว่ายน้ำยามนี้ควันขึ้นกรุ่นอ้อยอิ่ง เพราะมันเป็นสระน้ำอุ่น มีแหม่มวัยห้าหกสิบว่ายน้ำอยู่สองคน ชายหญิงชราเดินเป็นคู่แบบสะโลว์โมชั่นไปมารอบๆสระอีกสองสามคู่ วันธรรมดากลางสัปดาห์ที่ไม่มีคอร์สสุขภาพ รีสอร์ทแห่งนี้ก็ออกจะเงียบสงบ แดดอ่อนๆเพราะมีเมฆ อากาศเย็นกัดๆกรอบๆกำลังดี ผมนั่งขัดสมาธิแบบอยู่กับปัจจุบันไม่คิดอะไรได้พักใหญ่ มองใบโอ๊คสีเหลืองแกมน้ำตาลที่ร่วงหล่นลงมาสู่พื้นหญ้าอย่างช้าๆ ใบแล้วใบเล่า ยกข้อมือขึ้นดูนาฬิกา เที่ยงครึ่ง..อีกสี่ชั่วโมงครึ่งกว่าแท็กซี่จะมารับ

     พอใจสงบ ไม่คิดอะไร ก็เกิดความว่างเปล่าขึ้นในใจ ไม่กังวล ไม่ห่วง มีแต่ความรู้สึกว่างๆสบายๆ เอ๊ะ มันสบายเกินไปหรือเปล่าเนี่ย ไม่ใช่ ไม่ใช่ มันไม่ใช่สบายเกินไปหรอก แต่มันเป็นความรู้สึกเวิ้งว้างมากกว่า นี่เราจะนั่งรอไปสี่ชั่วโมงแบบว่างๆเวิ้งๆว้างๆอย่างนี้อะหรือ หรือว่านี่เองที่เป็นความรู้สึกที่คนไข้เขาชอบรำพันให้ฟังว่าชีวิตมันช่างไร้ค่าเสียจริง คือเมื่อเรารอการมาถึงของอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแท็กซี่ อาหารเย็น หรือ..ความตาย โดยรอ รอ รอ แบบไม่ยอมทำอะไรอย่างอื่น มันจะกลายเป็นช่องว่างที่ความรู้สึกว่าชีวิตไร้ค่าดอดขึ้นมาจู่โจมได้ทันที โดยเฉพาะถ้าสิ่งที่เรารอนั้นมันใช้เวลาหลายปี หรือนานเท่าไหร่ก็ยังไม่รู้ คงเป็นเพราะอย่างนี้กระมัง งานวิจัยความสุขในผู้สูงอายุถึงให้ผลที่คล้ายๆกันไม่ว่าทำที่ประเทศไหน คือให้ผลสรุปตรงกันว่าผู้สูงอายุต้องการมีงานทำ หรืออย่างน้อยก็มีอะไรทำ จะไม่เรียกว่างานก็ได้ เพราะถ้าไม่มีอะไรทำ มันจะเกิดความรู้สึกลบต่อชีวิตที่เหลืออยู่ นั่งรำพึงอยู่ในป่าช้า เอ๊ย..ไม่ใช่ ในรีสอร์ทแห่งนี้ ผมก็ตรัสรู้ขึ้นมาอีกแล้ว อีกเรื่องหนึ่งแล้ว คือ อ้อ..ความชราเป็นอย่างนี้นี่เอง แบบว่าว่างเป็นไม่ได้ ว่างเป็นอกหักรักคุดน้อยอกน้อยใจว่าตัวเองกำลังผ่านชีวิตไปอย่างไร้ค่าไร้ความหมายเพียงแค่รอวันที่จะกลายเป็นปุ๋ยเท่านั้น

     ยกนาฬิกาขึ้นดู อะไรกัน นั่งสะโลว์ไล้ฟตามใบสั่งภรรยามาแล้วตั้งนาน เพิ่งเที่ยงสี่สิบห้าเอง โห เหลือเวลาอีกสี่ชั่วโมงเต็มๆกว่าจะได้ไปสนามบิน น่าจะมาทำอะไรให้ชีวิตมีค่าขึ้นมาบ้างดีกว่า คิดได้แล้วก็เดินไปบอกให้พนักงานโรงแรมเปลี่ยนแผนเรียกแท็กซี่มาเลย และบอกว่าผมจะใช้บริการเช่าเหมาเขาจนถึงห้าโมงเย็น อีกชั่วหม้อข้าวเดือนแท็กซี่ก็โผล่หน้ามา เขารูปร่างใหญ่อย่างกับช้าง ช้างตัวพ่อเลยละไม่ใช่ลูกช้าง ผมยื่นมือให้เขาจับ

     “ผมชื่อแซ้นท์ คุณชื่ออะไร” เขาจับมือผมด้วยสองมืออย่างนอบน้อม และว่า

     “แซม ยินดีที่ได้พบคุณ”


บ้านสวนของลูเธอร์ เบอร์แบงค์
   การที่เขาอ้วนอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเขาเป็นชาวแคลิฟอร์เนีย แคลิฟอร์เนียเป็นถิ่นคนหลายชาติหลายภาษา มีทั้งสูง ต่ำ ดำ ขาว แต่เมื่อมาอยู่แคลิฟอร์เนียจนเข้าฝักดีแล้ว จะต้องอ้วนเหมือนกันหมด นี่เป็นสัจจะธรรม ดังนั้นคำนิยามคนแคลิฟอร์เนียก็คือสูงอ้วน ต่ำอ้วน ดำอ้วน หรือขาวอ้วน ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง

      เราคุยกันถึงแผนการใช้เวลาสี่ชั่วโมงจากนี้ไป ผมบอกว่าค่อยๆไปทีละจุดๆ จนใกล้เวลาเครื่องบินออกจึงค่อยไปสนามบิน ผมถามเขาว่าควรจะเริ่มที่ไหนก่อน เขาถามว่าผมสนใจ ลูเธอร์ เบอร์แบงค์ ไหม ผมเลิกคิ้ว

     “ลูเธอร์ เบอร์แบงค์ นักผสมพันธุ์พืชนะหรือ?” 


พันธ์ไม้ตัดดอกที่ผสมขึ้นโดยลูเธอร์
     เขาตอบว่าใช่ ผมรู้สึกคึกคักหายจากโรคชราทันที ลูเธอร์ เบอร์แบงค์ เป็นฮีโร่ของผมมาตั้งแต่วัยเด็กแล้ว ผมไม่ยักรู้ว่าเขาเป็นคนท้องถิ่นที่ซานตา โรซา นี่เอง เรื่องราวของเขามีอยู่ในหนังสือเรียนสมัยผมเรียนระดับประถมหรือมัธยมต้นเนี่ยแหละ เขาเป็นคนทำสวนและเป็นนักผสมพันธุ์พืชที่ไม่ได้เรียนหนังสือหนังหาอะไรมาก แต่อาศัยเป็นคนฉลาดช่างสังเกตและหมั่นศึกษาเพิ่มเติม เขาอาศัยหลักวิวัฒนาการของดาร์วินทำการผสมพันธ์พืชจนก่อให้เกิดพืชพันธ์ใหม่ๆขึ้นมาหลายร้อยชนิด ตัวเขาคบหาเป็นเพื่อนกับโทมัส เอดิสัน ฮีโร่ในดวงใจอีกคนหนึ่งของผมเช่นกัน เรื่องราวของเอดิสันก็อยู่ในหนังสือเรียนชั้นประถม เขาเป็นนักประดิษฐ์ที่ครูไล่ออกจากโรงเรียนเพราะครูว่าเขาปัญญาทึบ แต่เขาได้ประดิษฐ์คิดค้นอะไรต่างๆไว้มากมาย ผลงานของเขาที่บ้านผมยังมีอยู่ชิ้นหนึ่งเลย คือเครื่องเล่นแผ่นเสียงครั่ง “ตราหมาหอน” ยังตั้งทิ้งไว้ที่บ้านโกรฟเฮ้าส์ มวกเหล็ก ผมเก็บไว้เพื่อให้ตัวเองคอยระลึกถึงคนที่ครีเอทีฟอย่างเขาไว้บ่อยๆ ตัวเองจะได้มีครีเอทิวิตี้บ้าง

เรือนเพาะชำหลังบ้านลูเธอร์ เบอร์แบงค์
     เรามุ่งหน้าไปสวนของลูเธอร์ เบอร์แบงค์ ซึ่งห่างจากรีสอร์ทที่ผมพักไม่ถึงยี่สิบนาที ไปถึงก็ไม่ผิดหวัง บ้านชนบทแบบคอทเท็จเล็กๆสีขาว รั้วเตี้ยๆสีขาวเช่นกัน เรือนกระจก และสวนพรรณไม้ต่างๆที่เบอร์แบงค์คิดผสมพันธ์ขึ้น เดินชมไป อ่านเรื่องราวบนป้ายไป ดูรูปเก่าๆในบ้านไป เป็นอะไรที่รื่นรมย์มาก

     ออกจากสวนของลูเธอร์ เบอร์แบงค์ เราขึ้นรถเดินทางต่อไป แซมถามผมว่าคุณรู้จากการ์ตูนชาร์ลี บราวน์ ไหม แหม ใครจะไม่รู้จักการ์ตูนชุดพีนัท มีชาร์ลีบราวน์เป็นตัวเอกกับหมากวนโอ๊ยของเขาชื่อสนูปี้ กับเด็กหญิงปากร้ายชื่อลูซี่ ใครๆก็รู้จักกันทั้งนั้นแหละ ผมเซอร์ไพรส์อีกครั้งเมื่อแซมบอกว่าบ้านของชุลซ์ (Charles M. Schulz) คนเขียนการ์ตูนชาร์ลีบราวน์ อยู่ที่นี่ เขาทำมิวเซียมด้วย ผมตกลงไปดู คราวนี้เราต้องขับรถบ่ายหน้าเข้าเมือง ขับมาได้ราวยี่สิบนาทีก็ถึง เข้าจอดได้โดยง่าย เพราะเมืองซานตา โรซา นี้เล็กนิดเดียว พอลงจากรถก็บรรยากาศเงียบเชียบ มีเจ้าหมาสนูปี้นอนเฝ้าหน้าบ้านอยู่ พอมองไปใต้ต้นไม้จึงเห็นชาร์ลีบราวน์ตัวเบ้อเร้ออมยิ้มพลางชี้นิ้วมือไปที่ป้าย ซึ่งเขียนว่า
เห็นแต่สนูปี้นอนเฝ้าหน้าบ้าน

     “วันนี้มิวเซียมปิด” 

     แป่ว..ว...

     ผมถามแซมว่าเฮ้ย ยูรู้ไหมทำไมถึงปิดละ แซมบอกว่าไม่รู้ ก็ไอมาทุกทีไม่เคยเห็นมันปิดเลย ผมเข้าไปอ่านป้ายเวลาเปิดปิด จึงพบว่าเขาเปิดทุกวันยกเว้นวันอังคาร และวันนี้ก็เป็นวันอังคาร โธ่..ถัง ก็คุณเอาช้างมาเป็นมัคคุเทศก์ มันไม่ใช่งานที่เขาเคยทำคุณจะไปว่าเขาได้อย่างไร


เกอรูวิล เมืองคาวบอยชายป่า
     คราวนี้แซมขยาดกลัวจะผิดพลาดอีก เขาไม่กล้าเสนอความเห็นแล้ว แต่หันมาหารือเป็นเชิงขอรับคำสั่งว่าผมอยากไปที่ไหนต่อ ผมบอกว่าเมื่อวันก่อนผมไปดื่มเบียร์ในตลาด ในร้านชื่อรัสเชียนริเวอร์ (Russian River) ซึ่งฟังว่าเขาต้มกลั่นเบียร์นี้กันที่ย่านหุบเขาชื่อเดียวกัน ผมจึงบอกแซมว่าผมอยากเห็นหุบเขารัสเชียนริเวอร์ เขาถามว่าคุณเจาะจงจะไปตรงไหน ผมบอกว่าไปแบบไม่เจาะจง ขับรถเข้าไปในหุบเขาแล้วก็ดูมันเรื่อยเปื่อยไป

เราขับขึ้นเนินลงเนิน ผ่านไร่องุ่นเขียวแกมเหลืองสุดลูกตา แล้วก็ขึ้นเขา แล้วก็ลงห้วย ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำรัสเชียน แซมเล่าว่าแม่น้ำนี้เคยน้ำสูงปริ่มสะพาน แต่เดี๋ยวนี้แล้งน้ำ ผมบอกให้เขาจอดเพื่อดูน้ำ ปรากฏว่าน้ำอยู่ต่ำมากจนน่ากลัว แซมเล่าว่าช่วงนี้แล้งจัด ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมามีฝนตกแค่หกครั้ง พยากรณ์อากาศบอกว่าอีกสองวันฝนจะตก แต่ชาวบ้านไม่มีใครเชื่อกันแล้วเพราะบอกว่าจะตกๆก็ไม่เห็นตกสักที แซมยังเล่าอีกว่าเมื่อสองวันก่อนไฟไหม้ป่าแถวเลคทาโฮซึ่งสูงจากที่นี่ขึ้นไป ทำให้บ้านถูกไหม้ไปตั้งกว่า 600 หลัง ผมแย้งว่าดูป่ายังเขียวอยู่เลย แซมบอกว่านั่นแหละ มันเขียวแต่ก็จริง แต่ติดไฟได้ เพราะมันแห้ง ติดไฟง่ายมาก
ไฟป่ามาที บ้านแบบนี้ก็..เรียบร้อย

     เราขับไปตามถนนเลียบแม่น้ำในหุบเขา จนมาถึงหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งดูเหมือนตลาดคาวบอยในหนัง ผมบอกให้แซมหยุดรถเพื่อลงไปถ่ายรูป เป็นตำบลเล็กๆชายป่า ชื่อเกอรูวิล (Guerueville) มีธนาคาร ร้านเหล้า ร้านทำผม ผู้คนที่เดินถ้าไม่เป็นคาวบอยใส่หมวกจริงๆก็เป็นฮิปปี้ผมยาว ขี้ยา และพวกสิงห์มอเตอร์ไซค์ใส่เสื้อหนัง ดูมาดเวลาพวกเขายืนจับกลุ่มกันแล้วผมอยากจะถ่ายรูปยังไม่กล้าถ่ายเลย กลัวจะถูกเหยียบ ผมเดินลงไปริมน้ำ บรรยากาศเป็นธารน้ำนิ่งไหลผ่านป่าเรดวู้ด มีนกเป็ดน้ำสีขาวบินว่อนและลอยน้ำฟ่องอยู่เป็นจุดๆ มีบ้านหลังเล็กหลังน้อยซุกอยู่ตามชายป่า บ้างแทรกอยู่ระหว่างโคนต้นเรดวู้ดขนาดใหญ่ มิน่า เวลาไฟป่ามาทีจึงวอดที่ละหลายร้อยหลัง

     เดินมาถึงสี่แยก เห็นป้ายบอกว่าไปป่าอาร์มสตรอง ผมเดินไปถามแซมซึ่งหลับกรนคร่อกๆรออยู่ในรถว่าป่าอาร์มสตรองอยู่ไกลไหม แซมบอกว่าสักยี่สิบนาทีมั้ง ช่างเป็นโชคจริงๆ เพราะผมชอบเดินป่าเรดวู้ด และป่าอาร์มสตรองนี้ก็เป็นป่าเรดวู้ดที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของแคลิฟอร์เนียทีเดียว ผมบอกแซมว่าเราไปที่นั่นกันดีกว่า
บรรยากาศในป่าเรดวู้ดอาร์มสตรอง วันโชคดีที่ไม่เจอไฟป่า

     ขับมาราวครึ่งชั่วโมงก็ถึงทางเข้าป่า ผมให้แซมส่งผมที่ป้อมพนักงานรักษาป่าแล้วไปรอผมที่ที่จอดรถ ผมจะเข้าไปเดินป่า แซมจอดรถเปิดประตูให้แล้วหันมาถามผมว่า

     “เวลาเจอหมี คุณรู้นะว่าจะต้องทำอย่างไร” ผมตอบว่า

     “รู้ ทำเสียงดังๆเข้าไว้ แล้วทำตัวให้พองแบบอึ่งอ่าง” แซมหัวเราะ และว่า

     “ถ้าผมให้คุณยืมหุ่นผมไปได้ ผมจะไม่ลังเลเลย”

     ผมเริ่มออกเดินเข้าไปในป่าซึ่งเงียบเชียบ แซมร้องตามหลังมาด้วยความเป็นห่วงว่า

     “เวลาไฟป่ามา เสียงของมันจะมาก่อนกลิ่นนะ” ผมตะโกนกลับไปว่า

     “ถ้าอีกสองชั่วโมงผมไม่โผล่กลับมา คุณบอกพวกแรงเจอร์ให้ไปตามหาผมก็แล้วกัน”

     วันนี้เป็นวันทำงานกลางสัปดาห์ ทางเดินในป่าจึงเงียบเชียบไร้ผู้คน ผมชอบเดินป่าเรดวู้ด เพราะบรรดาต้นเรดวู้ดที่สูงใหญ่เป็นร้อยๆเมตรมันทำให้เราตระหนักว่าตัวเรานี้มันเล็กจิ๊บจ๊อยขนาดไหน เดินไปตามทางเดิน ซึ่งวกวนผ่านต้นไม้ขนาดใหญ่ระดับห้าถึงสิบคนโอบ ต้นที่เก๋ากึ๊กจริงๆจะมีป้ายบอกสรรพคุณไว้ ต้นที่คลาสสิกของป่านี้มีชื่อว่าผู้การอาร์มสตรอง (Colonel Armstrong) มีอายุพันกว่าปี สูงถึงกว่าหนี่งร้อยเมตร เดินผ่านไปที่ต้นหนึ่ง มีลักษณะพิเศษเป็นเอกลักษณ์จนเขาปักป้ายตั้งชื่อให้ว่าต้นน้ำแข็งย้อย (icicle tree) เพราะเปลือกอันใหญ่โตหนาเตอะของมันห้อยงุ้มลงมาเหมือนหิมะรูปหินย้อยตามชายคาบ้านในหน้าหนาว บางตอนก็เดินผ่านต้นไม้เรดวู้ดยักษ์ที่ล้มตายพาดก่ายกองกันอยู่ เห็นแล้วคิดถึงคนสวนของผมที่มวกเหล็กซึ่งชอบไปสมคบกับเพื่อนๆของเขาทำอุตสาหกรรมเผาถ่านเป็นอาชีพเสริม ถ้ามาเห็นต้นเรดวู้ดยักษ์ตายระเกะระกะอย่างนี้เขาคงน้ำลายหกแน่ เส้นทางที่วกวนบางตอนก็มีสะพานไม้เล็กทอดผ่านธารน้ำ ซึ่งตอนนี้แห้งขอดสนิท นอกจากธารน้ำที่แห้งขอดแล้ว ใบไม้แห้งก็ร่วงเกลื่อนพื้นหนาเตอะ มิน่า แซมถึงบอกว่าป่าเขียวก็จริงแต่ก็ติดไฟได้
เรื่องราวของ "ผู้การอาร์มสตรอง"

     ผมเดินป่าสูงขึ้นไป สูงขึ้นไป เดินไปได้ราย 45 นาที ยังอยากจะเดินสำรวจต่อไปอีก แต่ก็กลัวแซมจะส่งแรงเจอร์มาตาม จึงตัดสินใจเดินกลับทางเดิม มาถึงที่แซมจอดรถไว้ ใช้เวลาเดินชั่วโมงครึ่ง เหงื่อออกเปียกชุ่มเสื้อไปหมด ทั้งๆที่อากาศหนาวเย็น

     เราขับออกมาจากป่าอาร์มสตรอง ผ่านบ้านไม้หลังหนึ่ง ผมร้องบอกให้แซมหยุดเพื่อลงไปดู แซมเบรกพรืดแล้วเลี้ยวยูเทอร์นกลับไปจอดที่หน้าบ้าน มันเป็นบ้านไม้ล้วนๆที่สร้างได้วิจิตรไม่เบา โดดเด่นจากบ้านทั้งหลายในย่านนี้ซึ่งเป็นบ้านคนจนชายป่าชายเขาจึงสร้างแบบง่ายๆลักษณะคอทเทจ แต่บ้านหลังนี้สร้างแนวสวิสชาเล่ต์ (Swiss Chalet) หรือแนวอะดีรอนแด็ค (Adirondac) ซึ่งเป็นงานไม้ที่พิถีพิถัน การวางหมุดวางตะปูทำอย่างเนี้ยบไม่ซี้ซั้ว บ้านแบบนี้ปกติสร้างกันแถบเทือกเขาอะดีรอนแด็คที่นิวยอร์คและสร้างกันหลังใหญ่เบ้อเร่อบ้าร่า แต่นี่อยู่ที่แคลิฟอร์เนีย แถมสร้างหลังเล็กน่ารักกำลังดี
บ้านไม้ทรงอะดีรอนแดค หรือสวิสชาเลต์ที่ชายป่า

     ชมบ้านประสาคนชอบสร้างบ้านจนพอใจแล้วก็เดินทางกันต่อ ออกจากชายป่าเข้าสู่ดงไร่องุ่นกว้างใหญ่อีกครั้ง คราวนี้แซมเลี้ยวลงถนนลาดยางเล็กๆเพื่อลัดไปสนามบิน ซึ่งเขาเรียกมันว่าถนนหลัง (back road) ผ่านประตูเข้าไร่กระจุ๋มกระจิ๋มโน่นนิดนี่หน่อย ผมบอกแซมว่าเราแวะชิมไวน์ในไร่เล็กๆนี่กันก่อนดีกว่า แซมทำทีเป็นเหลือบมองนาฬิกาที่จอจีพีเอส. ผมจึงเปลี่ยนใจว่าโอเค. ไม่แวะก็ได้ เขาจึงขับลิ่วไปยังสนามบินโซโนมา (Sonoma) ซึ่งเป็นสนามบินขนาดเล็กประมาณบ้านหนึ่งหลังเท่านั้น ถ้าไม่เห็นเครื่องบินจอดอยู่ ก็คงจะหาสนามบินไม่เจอ

     จากโซโนมา ขึ้นเครื่องบินเล็กตกหลุมตกบ่อกระดอนๆมาอีกชั่วโมงครึ่งก็ถึงสนามบินแอลเอ.หรือ LAX ในสภาพที่กระเซอะกระเซิงเต็มที่ กางเกงยีนเปื้อนยางไม้ป่า และรองเท้าหนังเขรอะฝุ่นจนมองหนังแทบไม่เห็น แต่สาระรูปอย่างนี้ก็ไม่ได้เป็นคนแปลกหน้าสำหรับสนามบินนี้แต่อย่างใด ผมไม่ได้มาที่นี่เกือบสิบปี คาดมิถึง สนามบิน LAX สมัยนี้กลายเป็นบขส.ไปเสียแล้ว ผู้คนแน่นขนัด ตรงที่วางม้านั่งอยู่อย่าว่าแต่จะไม่มีที่นั่งเลย ที่ยืนยังไม่มีเพราะผู้โดยสารเอากระเป๋าเดินทางวางกันไว้เต็มไปหมด ผู้คนต้องนั่งบนพื้นตามมุมและตั้งวงกินอะไรกันเป็นหย่อมๆ เวลาเดินต้องเยื้องย่างให้ดีจะได้ไม่ไปเหยียบอาหารของพวกเขาเข้า แต่พอเช็คอินเสร็จแล้วไปนั่งในห้องนั่งรอของสายการบิน บรรยากาศก็ค่อยเปลี่ยนไปบ้าง แม้จะมีกลุ่มอาซิ้มคุยกันเสียงล้งเล้ง แต่ผู้คนบางตากว่าทำให้ค่อยหายใจได้เต็มปอดหน่อย
 
16 กย. 58
ที่สนามบิน LAX
(บขส.แห่งชายฝั่งตะวันตก)

   

[อ่านต่อ...]

13 กันยายน 2558

เพื่อนใหม่ที่น่าสนใจ

     ผมยังอยู่ที่สหรัฐ กำลังพักระหว่างประชุมสัมมนาเกี่ยวกับความก้าวหน้าในเรื่องการหาวิธีทำให้สุขภาพดีด้วยการปรับวิถีชีวิตแทนการใช้ยาและผ่าตัด โดยการประชุมครั้งนี้เน้นเรื่องอาหาร นั่งคุยกันมาสองวันแล้ว และยังจะต้องคุยกันต่อ สถานที่ประชุมเป็นรีสอร์ทชื่อฟาร์มิงโกรีสอร์ท อยู่ในเมืองเล็กๆชื่อซานตาโรซา อยู่ตอนเหนือของแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีข้อดีตรงที่กลางคืนไม่มีที่จะไปไหน จึงมีเวลาว่างนั่งเขียนบล็อกของวันนี้

    ผมมาประชุมครั้งนี้แบบไม่ได้ตั้งใจเพราะเพื่อนเขาชวนมา ก็มา ปกติหมอแก่ย่อมจะไม่ชอบตะลอนเดินทางไปประชุมที่ไหนไกลๆ นี่เป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อมาจริงๆแล้วกลับพบอะไรที่เกินความคาดหมาย ได้พบเพื่อนใหม่ๆที่น่าสนใจหลายคน ซึ่งผมจั่วไว้เป็นหัวเรื่องที่เขียนในวันนี้

     คนแรกที่ผมอยากพูดถึงก็คือ แดน บิวท์เนอร์ (Dan Buettner) เขาเป็นคนหนุ่มออกแนวจิ๊กโก๋ คุยไปหัวเราะไป ผมเผ้าเป็นกระเซิง ใส่เสื้อปล่อยชาย กางเกงยีนคับขา ผิวเกรียมแดด เพราะเขาทำงานเป็นนักข่าวให้หนังสือเนชั่นแนลจีโอกราฟฟี แดนเป็นคนเขียนหนังสือขายดีติดอันดับเบสต์เซลเลอร์เล่มหนึ่งชื่อ บลูโซน (Blue Zone) ซึ่งเล่าเรื่องที่เขารับหน้าที่นำทีมไปตระเวนค้นหาชุมชนที่คนอายุยืนไปทั่วโลก เขียนเล่มแรกดังเขาก็เขียนเล่มสองต่อ ชื่อบลูโซนเหมือนกันแต่คราวนี้เจาะเรื่องอาหาร

     พูดถึงเนื้อหาในหนังสือของแดน หลังจากการตระเวนค้นหาไปทั่วโลกและดูสถิติต่างๆแล้ว ในที่สุดเขาก็เลือกชุมชนอายุยืนที่สุดมาห้าแห่ง คือ

1.      แคว้นบาราเจีย ซึ่งอยู่บนเขาสูงในประเทศซาร์ดิเนีย มีผู้ชายอายุเกิน 100 ปีมากที่สุด

2.      ย่านอิคาเรีย บนเกาะอีเจียน ประเทศกรีซ ซึ่งเขาว่าเป็นที่ที่อัตราการเป็นสมองเสื่อมต่ำที่สุดและอัตราตายในวัยกลางคนต่ำที่สุด

3.      แหลมนิโคยา ประเทศคอสตาริกา เป็นที่ที่มีอัตราตายในวัยกลางคนต่ำที่สุดและมีกจำนวนชายอายุเกินร้อยมากเป็นที่สองรองจากบาราเจีย

4.      โลมา ลินดา ชุมชนผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายเซเวนเดย์แอดเวนตีสที่แคลิฟอร์เนีย มีอายุเฉลี่ยยาวกว่าชาวอเมริกันทั่วไป 10 ปี

5.      เกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น มีหญิงอายุเกิน 70 ปีมากที่สุดในโลก

     เขาเรียกเขตที่คนอายุยืนนี้ว่าบลูโซน แดนบอกว่าไม่มีเหตุผลอะไรเป็นพิเศษหรอก แค่เรียกตามสีเข็มหมุดที่ปักบอกเขตเหล่านี้ในแผนที่ที่ออฟฟิศเขาแค่นั้นเอง เหตุที่คนในชุมชนเหล่านี้อายุยืนนั้น แดนสรุปว่าเกิดจากปัจจัยร่วมเก้าประการคือ

1.      เคลื่อนไหวแบบธรรมชาติ ไม่ขับ หรือขี่ยวดยานใดๆ ไม่วิ่งมาราธอนหรือเข้ายิมแต่อย่างใด พวกเขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่บังคับให้ต้องเคลื่อนไหวไปมาทำโน่นทำนี่แบบเป็นธรรมชาติ ทำเกษตรด้วยแรงงานตัวเอง อยู่ในบ้านที่ไม่ได้มีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือเครี่องทุ่นแรงอะไรมากนัก

2.      ใช้ชีวิตแบบมีเป้าหมาย ตอบตัวเองได้ทุกวันว่า “วันนี้ตื่นขึ้นมาเพื่อทำอะไร” แม้จะอายุเป็นร้อย แต่เขาก็มุ่งมั่นว่าแต่ละวันเขาจะทำอะไร ยังทำไร่ ผ่าฟืน กันเป็นปกติ

3.      มีวิธีคลายเครียด ชุมชนที่อายุยืนทุกแห่งมีวิธีคลายเครียดของตัวเองซึ่งกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน ชาวโอกินาวาใช้สองสามนาทีตั้งใจรำลึกถึงบรรพบุรุษทุกวัน ชาวแอดเวนติสสวดมนต์ ชาวอิคาเรียนใช้วิธีงีบหลับกลางวัน ชาวซาร์ดิเนียนมีกิจกรรมชั่วโมงสนุกทุกวัน

4.      กฎ 80% คือก่อนกินก็ให้ตั้งใจไว้ก่อนว่าจะหยุดกินเมื่อกระเพาะเต็ม 80% ไม่รอให้เต็ม 100% ตรงช่องว่างระหว่างความรู้สึกว่าหายหิวแล้วกับความรู้สึกว่าอิ่มแล้วนี่แหละที่เป็นตัวกำหนดว่าน้ำหนักจะลดหรือน้ำหนักจะเพิ่ม คนในย่านบลูโซนกินอาหารมื้อเล็กที่สุดตอนบ่ายแก่หรือหัวเย็น แล้วไม่กินอะไรอีกเลยหลังจากนั้น

5.      กินพืชเป็นพื้น  ถั่วทุกชนิดทุกสีเป็นอาหารหลักของคนอายุยืนในเขตบลูโซน พวกเขากินเนื้อสัตว์น้อยมาก คือเฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 5 ครั้งแต่ละครั้งกินเนื้อน้อยมาก ไม่เกิน 90 – 120 กรัม หรือประมาณครึ่งฝ่ามือเท่านั้น

6.      ดื่มไวน์ ชาวบลูโซนทุกแห่งยกเว้นชุมชนแอดเวนตีสล้วนดื่มแอลกอฮอล์กันพอควร คือวันหนึ่งแค่ 1 – 2 แก้ว เกือบทุกวันโดยดื่มกับเพื่อนๆพร้อมกับการกินอาหาร แต่ไม่ได้ดื่มแบบเว้นไปหลายวันแล้วมาก๊งหนักซะหนึ่งวัน ไม่ใช่แบบนั้น

7.      มีสังกัด คือรู้ว่าตัวเองเป็นใครมาจากไหนและตายแล้วจะไปไหน เขานับให้ฟังว่าคนอายุเกินร้อยปี 263 คน มีอยู่แค่ห้าคนที่ไม่เอาพระเอาเจ้า ที่เหลือจะเอาพระเอาเจ้าเข้าวัดเข้าวาสวดมนต์กันเดือนละประมาณ 4 ครั้ง พวกเอาพระเอาเจ้าเอาศาสนานี้จะอายุยืนกว่าพวกไม่เอาประมาณ 4-14 ปี

8.      รักตัวเองและครอบครัว ชุมชนบลูโซนมีคนแก่คนเฒ่าอยู่ร่วมในครอบครัว อยู่กินกันฉันผัวเมียแบบยืนยงตลอดชีพและให้เวลาฟูมฟักพร่ำสอนอบรมคนรุ่นลูกรุ่นหลาน ทำให้รุ่นลูกหลานมีแนวโน้มจะดูแลคนแก่เฒ่าตอบแทนเมื่อตัวเองโตขึ้น

9.      ชุมชนดี คนอายุยืนเกิดและเป็นสมาชิกชุมชนที่เอื้ออาทรเกื้อหนุนกันและกัน

     คุยกันมาถึงตอนนี้แดนเล่าว่าคนแก่ที่โอกินาวาแต่ละคนจะมีก๊วนเรียกว่า “moais” แปลว่ากลุ่มเพื่อนร่วมสาบาน ซึ่งเป็นกลุ่มเพื่อนห้าคนที่ร่วมสาบานกันมาตั้งแต่วัยเด็กหรือวัยหนุ่มสาวว่าจะดูแลกันและกันตลอดไป ในห้าคนนี้ใครมีอะไรครอบครัวของใครมีคนเจ็บป่วยตายเขาจะช่วยเหลือกันและกันตลอดชีวิตตั้งแต่หนุ่มจนแก่อายุเป็นร้อยก็ไม่ทิ้งกัน

     ผมบอกว่าระบบนี้ชนบทเมืองไทยก็มี เพื่อนในวงอีกคนเลิกคิ้วถามว่า

     “จริงหรือ” ผมตอบว่า

     “จริ๊ง..ง ผมมีคนสวนคนหนึ่ง บ้านเขาอยู่ขอนแก่น ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ วันหนึ่งเขามาลากลับบ้าน บอกว่าจะไปเซ็นค้ำประกันให้กับเพื่อนใน “กลุ่มค้ำ” ผมถามกลุ่มค้ำนี้เป็นอย่างไร เขาเล่าว่า ธกส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) เป็นผู้สอนให้ตั้งกลุ่มค้ำ แต่ละกลุ่มจะมีห้าคน ชาวบ้านต้องจับกลุ่มกันมาเป็นกลุ่มค้ำ เวลาคนในกลุ่มจะกู้เงินธกส. อีกสี่คนก็เป็นคนค้ำประกัน แบบว่าค้ำกันไปแล้วก็ค้ำกันมา” 

     เขาฟังแล้วทำหน้าเคร่ง ผงกหัวช้าๆแบบยอมรับว่า

     “แบบนี้ถือว่าเป็นเพื่อนร่วมสาบานกันจริง มีหลักฐานด้วย ถ้าเบี้ยวกันก็ถึงขั้นถูกยึดทรัพย์”

     ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

     เพื่อนที่น่าสนใจอีกคนหนึ่งคือ ฮันส์ ดีล (Hans Diehl) เขามาจากโลมาลินดา ชุมชนคนกินเจที่แดนเพิ่งพูดถึงนั่นแหละ ฮันส์จบปริญญาเอก เขาได้ก่อตั้งโครงการ CHIP ซึ่งย่อมาจาก Complete Help Improvement Program แปลว่าโครงการสร้างสุขภาพดีแบบองค์รวมด้วยตัวเอง โครงการของฮันส์ทำในชุมชน โดยมีอาสาสมัครขององค์กร CHIP เข้าไปช่วย แบบว่าจัดประชุมเข้าค่ายสัมนากันในหมู่บ้านนั่นแหละ ว่าการจะมีสุขภาพดีต้องปรับวิธีกินอาหาร ออกกำลังกาย และจัดการความเครียดอย่างไร แล้วก็ตั้งกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนติดตามดูแลกันไปโดยมีตัวชี้วัดการมีสุขภาพดีที่เป็นรูปธรรม เช่น การเลิกกินยาได้ หรือการหายจากโรค โครงการของฮันส์แพร่หลายไปหลายประเทศ และที่สหรัฐเองฮันส์ก็กำลังทำเรื่องให้โครงการ CHIP นี้เบิกเงินจากประกันสุขภาพ คือไปเข้าโครงการก็เบิกได้เสมือนหนึ่งไปโรงพยาบาล เรื่องการให้เบิกค่าเข้าโครงการดูแลสุขภาพตัวเองได้นี้ ความจริง ดีน ออร์นิช ได้ทำสำเร็จมาก่อนหน้านี้แล้ว คือเขาแสดงหลักฐานให้องค์กรผู้จ่ายเงินยอมรับจนยอมให้คนมาเข้าแค้มป์ปรับวิถีชีวิตในโครงการของดีนเบิกประกันสุขภาพได้แล้วในหลายๆรัฐ

     คุยกันไปคุยกันมา ฮันส์ถามผมว่า

     “แล้วคุณคิดจะทำอะไร ในห้าปีข้างหน้าเนี่ย คุณจะทำอะไร”

     ผมชี้ไปที่เพื่อนที่มาด้วยกัน แล้วยืดหน้าอกเบ่งกล้ามแบบคนขี้โม้ตอบว่า

     “เราจะเปลี่ยนรูปโฉมการดูแลสุขภาพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสียใหม่ ด้วยการเปิดทางเลือกให้ผู้คนหันมาใช้แนวทางปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยตัวเองการแทนการใช้ยาหรือการรักษาที่รุกล้ำ”

     คราวนี้ฮันส์หันไปทางเพื่อนของผมซึ่งเป็นนักธุรกิจแล้วถามแบบเอาจริงเอาจังว่า

     “แล้วคุณจะทำสิ่งนี้ทำไม (Why do you do this?)”

     ผมพูดแซงขึ้นก่อนที่เพื่อนเขาจะได้อธิบายเหตุผลที่แท้จริงว่า

     “อ้าว..ก็เขามีเงินไง ฮ้า ฮ่า ฮ่า”

     ผมชวนฮันส์ว่ามาทำอะไรที่คล้ายๆกับ CHIP ที่เมืองไทยด้วยกันไหม เขาพูดถึงเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเคยเขียนหนังสือร่วมกับเขา พูดมาถึงตอนนี้เขาเปรยแบบคุยนิดๆว่าหนังสือของเขาขายไปสองล้านกว่าเล่ม แต่ดันจำชื่อเพื่อนที่ร่วมเขียนไม่ได้ ขมวดคิ้วคิดเท่าไหร่ก็คิดไม่ออก ประเด็นคือ ฮันส์เล่าว่าผู้หญิงคนนี้(อเมริกัน) ครั้งหนึ่งนานมาแล้วเธอได้เคยเข้ามาทำงานเรื่องนี้กับเซเวนเดย์แอดเวนติสที่เมืองไทยแล้วก็เลิกราไป คุยกันไปคุยกันมาเราก็ตกลงกันดิบดีว่าจะลองทำอะไรร่วมกันใหม่อีกสักตั้ง ฮันส์ขอนามบัตรผม ผมยิ้มแก้ขวยแล้วตอบว่า

     “หิ หิ ขอโทษ หมอไทย ถ้าเป็นพันธ์แท้นะ เขาไม่มีนามบัตรกันหรอก” 

     ผมใช้วิธีจดอีเมลของผมลงไปในนามบัตรของฮันส์ ธรรมเนียมการแลกนามบัตรกันนี้ผมไม่ค่อยเห็นความสำคัญนัก เพราะแลกกันไปแล้วก็เอาไปกองเต็มบ้าน สิ่งที่ชวนกันว่าจะทำวันนี้ จบการประชุมไปแล้วจะมีอะไรตามหลังจริงจังแค่ไหนนั้น คนแก่เจนโลกอย่างผมไม่ค่อยตั้งความหวังเท่าไหร่ จะทำอะไรกันจริงจังแค่ไหน ก็ต้องติดตามดูกันต่อไป

     เพื่อนใหม่ที่น่าสนใจอีกคนคือไมค์ เกรกเกอร์ (Michael Greger) เขาเป็นหมอ แล้วเปิดเว็บไซท์ชื่อ www.NutritionFacts.org  ให้ความรู้ที่เป็นข้อมูลวิทยาศาสตร์แก่ผู้คนทั่วโลกแถมยังทำวิดิโอให้ความรู้ออกฉายใหม่ๆทุกวันๆดัวย ทั้งหมดนี้เขาทำให้ฟรีๆ คนดูไม่ต้องเสียเงินสักบาท พอถูกหมออีกคนถามว่าเขาทำอย่างนี้ทำไม ไมค์ตอบว่า

     “อ้าว..เรามาเรียนแพทย์ทำไมละ เรามาเรียนแพทย์เพราะเราอยากช่วยคนอื่นไม่ใช่เรอะ ถ้าเราอยากได้เงินเราไม่มาเรียนแพทย์กันหรอก เราก็ไปตลาดหุ้นซะนานแล้ว เพราะเงินอยู่ที่นั่น”

     คำตอบของไมค์ฟังดูเหมือนจะไม่มีใครให้ราคา เพราะในสังคมที่เงินเป็นตัวกำหนดทุกอย่างอย่างในปัจจุบันนี้ ใครคิดจะทำอะไรที่ไม่เอาเงินจงก็ทำไปเถอะพ่อคุณ เพราะคนส่วนใหญ่เขาจะเอาเงินกัน

     แต่ว่าที่ในการประชุมนี้เอง วันต่อมามีชายคนหนึ่งคะเนอายุหกสิบกว่าได้ เขาเห็นผมนั่งอยู่คนเดียวจึงเข้ามาขอคุยด้วย คุยไปคุยมาจึงทราบว่าเขาเป็นคนไข้เบาหวานที่เคยน้ำตาลสะสมสูงถึง 10% ทำอย่างไรก็ไม่หาย จนต่อมาเขาได้รับความรู้จากหมอแมคดูกอล (Jon McDougall คนที่เป็นเจ้าภาพจัดประชุมในวันนี้) จึงหันมากินเจและหายจนน้ำตาลสะสมลดลงมาเหลือ 5.5% ประเด็นคือเขาเล่าให้ผมฟังว่าเขาคลิกบริจาคเงินเดือนละ 50 เหรียญให้เว็บไซท์ NutritionFacts.org ของไมค์ เกรกเกอร์ ทุกเดือนแบบต่อเนื่องด้วย และนี่เขากำลังคิดจะเพิ่มวงเงินบริจาคขึ้นไปอีกสักหน่อย ผมฟังแล้วถึงบางอ้อเลย สังคมอเมริกันที่เราเห็นว่ามีแต่คนงกเงินและเอาแต่ได้นั้น แท้จริงแล้วมันยังมีผู้คนอีกแบบนะ แบบไมค์กับแบบคนไข้ที่บริจาคเงินให้เขานี่ไง คนแบบนี้จะมีมากแค่ไหนในสังคมอเมริกันผมไม่ทราบ แต่เอาแค่ที่มาประชุมกันแค่สองวันมานี้ ผมก็เจอแบบฟลุ้คๆเข้าไปหลายคนแล้ว
 
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

01 กันยายน 2558

ลูกซึ่งจบแพทย์ฟิลิปปินส์อ้างว่าแพทยสภาให้กลับไปเรียนเพิ่ม..เขาพูดจริงหรือหลอก

เรียนคุณหมอสันต์

        ขอถามคุณหมอหน่อยครับคือผมมีลูกชายเรียนแพทย์ที่ฟิลิปปินส์มาหลายปีแล้วแต่ยังไม่เป็นแพทย์ซักที ล่าสุดเค้ากลับมาเมืองไทยแล้วยื่นใบจบให้แพทย์สภาเพื่อจะเข้าฝึกงานที่โรงพยาบาลตำรวจ
        แต่ทางแพทย์สภาไม่อนุญาตเพราะที่เค้าฝึกงานที่ประเทศฟิลิปปินส์ (ที่เรียกว่าexternไม่รู้ใช่ไหม) ทางแพทย์สภาไม่รับรอง แล้วบอกให้ลูกชายผมกลับไปฝึกงานอีก 6 เดือนตามที่เค้าระบุโรงพยาบาลมา ตอนนี้ลูกชายเตรียมตัวจะกลับไปฟิลิปปินส์เพื่อฝึกงานอีก 6 เดือน ผมเลยอยากถามคุณหมอว่ามีเรื่องแบบนี้จริงไหม ตัวผมไม่รู้เรื่องเลยเกี่ยวกับอาชีพหมอ ผมกลัวจะโดนลูกชายหลอกเค้าเรียนมาตั้ง 6 ปีและฝึกงานที่นั้นตั้งหนึ่งปีแล้ว ผมอยากให้เค้าจบไวๆจะหมดห่วง ขอคุณหมอช่วยตอบผมด้วยนะครับ
ขอบคุณมากครับคุณหมอ

ส่งจาก iPhone ของฉัน

...............................................................................

ตอบครับ

     1. เอาประเด็นที่ผมนึกขึ้นได้ก่อนนะ เดี๋ยวจะลืม คือประเด็น “อาชีพรับจ้างเรียนหนังสือ” คือพ่อแม่สมัยใหม่ส่งลูกไปเรียนเมืองนอกเมืองนา ส่งเสียให้ร่ำเรียนกันกันอยู่ตั้งนาน ไม่จบสักที ลูกก็ไม่ยอมบอกรายละเอียดอะไร ไม่เคยบอกว่าแต่ละปีสอบได้หรือสอบตก ได้แต่จม.มาขอเงินอย่างเดียว พ่อแม่ก็ให้ลูกเดียว ให้ไปๆจนชักเอะใจว่า เอ๊ะ นี่ตัวเองกำลังถูกลูกหลอกเอาหรือเปล่าเนี่ย ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวคลาสสิกที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

     ความเป็นจริงของชีวิตก็คือว่าในบรรดาอาชีพทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ หนึ่งในบรรดาอาชีพที่สุขสบายที่สุดก็คืออาชีพรับจ้างเรียนหนังสือ ยิ่งเรียนไปนานก็ยิ่งมีความคุ้นเคยกับวิถีชีวิตสถานที่และผู้คน รู้สึกว่าตัวเองกำลังอยู่ในสถานะที่มั่นคงปลอดภัยดีจัง แล้วความรู้สึกไม่อยากจบไม่อยากทำงานก็ค่อยๆบ่มเพาะขึ้น กลายเป็นโรคติดอาชีพรับจ้างเรียนหนังสือไปโดยไม่รู้ตัว อาการของโรคนี้ก็คือถ้าเรียนเก่งจบแล้วก็มักจะโอ้เอ้หาเรื่องขอต่อโน่นต่อนี้ จบ ป.ตรีขอต่อ ป.โท จบ ป.โทขอต่อด๊อกเตอร์ จบด๊อกเตอร์ขอต่อซูเปอร์ด๊อก ถ้าเรียนไม่เก่งก็จะมีอาการแบบว่าย้ายจากหลักสูตรโน้นไปหลักสูตรนี้ ย้ายจาก ม.โน้นไป ม.นี้ ตราบใดที่พ่อแม่ยังส่งเงินให้ก็จะเรียนมันไปแบบไม่มีจบ เรียนกันทั้งชาติ

     นี่คือวิบากกรรมอีกอย่างหนึ่งของการเป็นพ่อแม่คน คุณจึงมิต้องตื่นเต้ล..ล ที่มีปัญหาแบบนี้ เพราะพ่อแม่คนอื่นเขาก็มีปัญหาแบบเดียวกันนี้เพียบ..บ ที่พูดนี่ผมไม่ได้มีสถิติอย่างเป็นทางการดอกนะ แต่เดาเอาจากเปอร์เซ็นต์ของครอบครัวผู้ป่วยที่ผมดูแลแล้วมีปัญหาแบบนี้ขึ้น ผมจึงปลอบได้ว่าคุณไม่โดดเดี่ยวหรอก ส่วนวิธีแก้ปัญหาผมไม่ทราบดอกนะครับ คุณไปหาวิธีแก้เอาเองก็แล้วกัน มีเหมือนกันที่พ่อแม่บางรายมาขอให้หมอสันต์ช่วยพูดให้คุณลูกท่านรีบจบการศึกษาออกมาทำมาหากินเสียที ผมก็พูดให้เพราะเป็นหมอประจำครอบครัวเรื่องอะไรในครอบครัวช่วยได้ก็ยินดีช่วยทุกเรื่อง พูดไปแล้วบ้างก็ได้ผล บางทีคุณลูกสำเร็จวิชาหูทวนลมไปเสียแล้วก็ไม่ได้ผล คือท่านได้แต่คร้าบ..บ ด้วยความเคารพลูกเดียว

     2. ถามว่าที่ลูกชายบอกว่าต้องกลับไปเรียนต่ออีกเพราะยื่นปริญญาให้แพทย์สภาเพื่อขอเข้าเป็นแพทย์ฝึกหัด (intern) แล้วแพทยสภาไม่อนุญาตแล้วไล่ให้กลับไปฝึกงานปีสุดท้าย (extern) ในสถาบันที่แพทยสภารับรองก่อน เป็นเรื่องจริงได้ไหม หรือเป็นเรื่องที่ลูกชายกุขึ้นเพื่อหาเหตุไปเสวยสุขที่เมืองนอกต่อ ตอบว่าเป็นเรื่องจริงได้ครับ

    เรื่องมันเป็นอย่างนี้ คือในอดีต ผู้จบแพทย์ต่างประเทศซึ่งถูกแพทยสภาบังคับว่าต้องเป็นแพทย์ฝึกหัดในเมืองไทยให้ครบหนึ่งปีก่อนจึงจะมีสิทธิสอบใบประกอบวิชาชีพได้ ล้วนมีปัญหา หาที่ฝึกงานเป็น intern ไม่ได้ ยิ่งไม่มีเส้นยิ่งหายาก ทำให้เดือดร้อนกันไปทั่ว แต่ปัจจุบันนี้แพทยสภาได้หันมาช่วยเหลือผู้จบแพทย์จากต่างประเทศเองโดยจัดตั้งระบบจัดหาสถานที่ฝึกงานเป็น intern ให้แก่ผู้จบแพทย์ต่างประเทศ โดยให้ผู้จบแพทย์ต่างประเทศไปสมัครตรงกับแพทยสภาภายในวันที่ 31 สิงหาคม ของแต่ละปี โดยเลือกได้ว่าอยากไปฝึกที่รพ.ไหนจากรายชื่อรพ.ที่แพทยสภาประสานงานให้ แล้วแพทยสภาก็จะจัดสรรให้แยกย้ายกันไปฝึกงานให้ลงตัวคล้ายกับการจัดสรรแพทย์ไปทำงานชนบท โดยประกาศผลการจัดสรรประมาณเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ได้ที่ถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้างเป็นธรรมดา ตัวแพทย์เมื่อถูกจัดสรรไปที่ไหนแล้วก็ต้องไปรายงานตัวเพื่อเข้าฝึกงาน ณ โรงพยาบาลผู้รับภายในวันที่ 15 มีนาคม เพื่อจะได้เริ่มฝึกงานในวันที่ 1 เมษายน ของทุกปี จะได้จบและสมัครเข้าทำงานได้พร้อมกับแพทย์ที่เรียนในประเทศ ทั้งหมดนี้แพทยสภาช่วยหาที่ฝึกงานให้เท่านั้นนะ เขาหาให้แล้วจะกระบิดกระบวนไม่อยากได้จะให้หาให้ใหม่นั้นไม่ได้เด็ดขาด และเมื่อไปฝึกแล้วจะได้เงินเดือนเท่าไหร่ จะฝึกจบหรือถูกไล่ออกกลางคันแพทยสภาก็ไม่เกี่ยวแล้ว เป็นเรื่องของโรงพยาบาลผู้รับเขาจะจัดการของเขาเอง

     ทั้งหมดนี้มันมีข้อแม้สำคัญอยู่หนึ่งข้อ คือในการสมัครขอเข้าฝึกเป็น intern นี้ จะต้องมีเอกสารชิ้นหนึ่ง คือหนังสือรับรองจากแพทยสภาว่าสถาบันที่ตนเองจบมาเป็นสถาบันที่แพทยสภารับรองหลักสูตรแล้ว ถ้าไม่มีหนังสือรับรองนี้ก็สมัครอินเทอร์นไม่ได้อยู่ดี

     ทุกวันนี้มีบ่อยครั้งมากที่ผู้จบแพทย์จากต่างประเทศเดินดุ่มๆเด๋อด๋าเอาใบปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยเหมืองห้วยในเขาที่ไหนก็ไม่รู้ซึ่งแพทยสภาไม่รู้จักเลยมายื่นสมัครเข้าเป็นแพทย์ฝึกหัดในเมืองไทย แบบนี้แพทยสภาเขาก็ไม่รับ เพราะตกสะเป๊คว่าไม่ได้จบมาจากสถาบันที่เขารับรอง แต่ว่าคนเรียนก็สู้อุตสาห์ไปเรียนมาตั้งหลายปีจนจบมาได้แล้ว จะทำอย่างไรดี แพทยสภาก็อุตส่าห์แก้ปัญหาโดยเปิดรูหายใจให้สองก๊อก คือ

     (1) ให้ไปเอาหลักสูตรแพทยศาสตร์ศึกษาของสถาบันนั้นมายื่นขอให้แพทยสภาพิจารณารับรอง ซึ่งก็ย่อมต้องแน่นอนว่าจะต้องใช้เวลาพอควร และ

     (2) หากแพทยสภาพิจารณาแล้วเห็นว่ารับรองไม่ได้ เพราะหลักสูตรไม่เข้มพอ ก็อาจจะแนะนำให้ไปเรียนหรือฝึกงานก่อนปริญญา (extern) เพิ่มเติมที่สถาบันซึ่งแพทยสภารับรองแล้วเป็นเวลานานเท่านั้นเท่านี้เพื่อให้นับโหลงโจ้งแล้วได้สะเป๊คที่แพทยสภากำหนดไว้

     ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่ลูกชายของคุณอาจจะไปเรียนจบมาจากสถาบันที่แพทยสภาพไม่รับรอง แล้วลูกชายเอาหลักสูตรมาให้แพทยสภาดูแล้ว แพทยสภาดูแล้วและได้วินิจฉัยแล้วว่าเป็นหลักสูตรที่ยังรับรองไม่ได้เพราะเนื้อหาวิชาหรือเวลาฝึกงานก่อนปริญญาไม่ครบถ้วน แล้วแนะนำให้กลับไปเรียนหรือฝึกงานเพิ่มในสถาบันที่แพทยสภาโอเค. ก็เป็นไปได้ ดังนั้นผมแนะนำว่าไหนๆคุณก็หลวมตัวเชื่อลูกชายมาตั้งเจ็ดปีแล้ว เชื่อเขาอีกหกเดือนก็คงไม่เสียหายอะไรอีกมากมายกระมังครับ

     3. อันนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมแถมให้สำหรับผู้ที่คิดจะไปเรียนหรือกำลังเรียนแพทย์อยู่ที่ต่างประเทศว่าควรทำดังนี้

     3.1 ถ้ายังไม่ได้ไปเรียน ควรตรวจสอบชื่อสถาบันที่จะไปเรียนก่อนว่าได้รับการรับรองจากแพทยสภาหรือเปล่าก่อน และควรเลือกไปเรียนสถาบันที่แพทยสภารับรองหลักสูตรแล้ว

     3.2 ถ้าไปเรียนแล้ว และขณะนี้กำลังเรียนอยู่แต่ยังไม่จบ ก็ควรเอาชื่อของสถาบันที่ตัวเองกำลังเรียนอยู่มาขอตรวจสอบกับแพทยสภาว่าสถาบันนี้แพทยสภาให้การรับรองแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ได้ให้การรับรอง ก็ต้องยอมลำบากลำบนเองเอาเอกสารชี้แจงหลักสูตรของสถาบันของตนมาให้แพทยสภาตรวจสอบเพื่อรับรอง ขึ้นตอนนี้ให้รีบทำตอนนี้ได้เลย ไม่ต้องรอให้เรียนจบแล้วมาถูกเด้งดึ๋งเข้าฝึกเป็นอินเทอร์นไม่ได้แล้วค่อยคิดทำ เพราะจะเสียเวลาไปอีกเป็นปี หรือเผลอๆหลายปี

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]