31 พฤษภาคม 2566

เป็นโควิดแล้วลิ้นหัวใจรั่ว หมอแนะนำให้ผ่าตัด การผ่าตัดมีข้อดีข้อเสียอย่างไร

เรียนคุณหมอสันต์ค่ะ

คุณพ่อของหนูอายุ 58 ปีค่ะ เมื่อ 2 ปีก่อนตรวจเจอโควิดในช่วงที่ยังไม่ได้รับวัคซีน อาการค่อนข้างมาก และมีเชื้อลงปอดค่ะ หลังจากรักษาตัวอยู่ใน hospitel เป็นเวลา 14 วัน พอหายกลับบ้านมาน้ำหนักหายไป 8 กิโล และ ตรวจพบว่าเป็นเบาหวานค่ะ หลังจากนั้นคุณพ่อมักจะนอนไม่หลับ บอกว่ามีอาการใจสั่นตอนจะนอน หนูจึงพาไปตรวจหัวใจ พบว่าเป็นลิ้นหัวใจ mitral รั่วระดับรุนแรงค่ะ แต่อาการเหนื่อยหรือหอบไม่มีค่ะ เพราะคุณพ่อค่อนข้างเป็นคนชอบออกกำลังกาย เล่นเวทเทรนนิ่งมาตลอด 30 ปีที่ผ่านมาค่ะ พร้อมกันนี้ยังทานยาโรควิตกกังวลร่วมด้วย เพราะมีอาการนอนไม่หลับติดต่อกันเป็นสัปดาห์ค่ะ และทานมาจนถึงปัจจุบันค่ะ
หลังจากรู้ว่าคุณพ่อป่วยเป็นลิ้นหัวใจรั่ว หนูก็พาคุณพ่อไป Follow ที่ร.พ. ตรวจ echo ทุก 6 เดือนเพื่อติดตามอาการค่ะ และล่าสุดเดือนเมษายน 66 ที่ผ่านมา คุณหมอมีแจ้งว่าอาจจะต้องผ่าตัดภายใน 1-2 ปี เพราะหัวใจมีลักษณะโตขึ้น และ รั่วมากขึ้น แต่คุณพ่อไม่อยากผ่าตัดค่ะ เพราะคิดว่าตัวเองไม่ได้เป็นอะไร เนื่องจากไม่มีอาการอะไรนอกจากหัวใจที่เต้นผิดจังหวะ และใจสั่นบางครั้งค่ะ
อยากขอคำแนะนำจากคุณหมอว่าถ้าไม่ผ่าตัดจะมีผลเสียใดๆตามมาบ้างคะ หนูอยากเอาข้อมูลไปเล่าให้คุณพ่อฟังค่ะ เพราะทุกวันนี้พยายามเกลี้ยกล่อมให้คุณพ่อเข้าเข้ารับการผ่าตัด แต่ยังไม่สำเร็จค่ะ
หนูได้แนบผลตรวจ 3 ครั้งล่าสุดมาในไฟล์แนบ เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมนะคะ

ขอบคุณคุณหมอมากค่ะ สำหรับการตอบกลับ

…………………………………………………….

ตอบครับ

1.. ถามว่าตรวจพบลิ้นหัวใจไมทรัลรั่วระดับมาก หมอแนะนำให้ต้องผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ณ จุดไหนที่จะเป็นเวลาที่ควรผ่าตัดมากที่สุด ตอบว่า ณ จุดที่มีหลักฐานว่าการทำงานของหัวใจห้องล่างซ้าย (LV) เริ่มเสื่อมลง เป็นเวลาที่ควรจะลงมือผ่าตัดมากที่สุด

หากทำผ่าตัดช้าเกินไป กล้ามเนื้อหัวใจจะค่อยๆพิการลงจนกลายเป็นโรคหัวใจล้มเหลวซึ่งมีอัตราตายสูง แต่ในทางกลับกัน

หากทำผ่าตัดเร็วเกินไป ก็อาจเป็นการก่อความเสี่ยงต่อผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น เพราะผู้ป่วยโรคนี้หากหัวใจห้องล่างซ้ายทำงานปกติดีจะมีชีวิตปกติไปได้อีกนานเท่าใด 10 ปี 20 ปี หรือ 30 ปี ไม่มีใครคาดเดาได้ ต้องติดตามดูการทำงานของหัวใจห้องล่างซ้ายไปอย่างเดียว

ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่อะไรคือหลักฐานที่จะบ่งชี้ว่าการทำงานของหัวใจห้องล่างซ้ายเริ่มเสื่อมลง ตอบว่าหลักฐานที่เชื่อถือได้มากที่สุดมีอยู่สองอย่างคือ (1) อาการหอบเหนื่อยเมื่อออกแรง (functional class) ซึ่งนับกันเป็นเกรด 1-4 และ (2) เปอร์เซ็นต์เลือดที่หัวใจบีบไล่ออกไปได้ในการบีบตัวแต่ละครั้ง (ejection fraction – EF) หลักฐานทั้งสองนี้ต้องสอดคล้องต้องกันเป็นอันดี จึงจะสรุปเป็นตุเป็นตะได้ว่ากล้ามเนื้อหัวใจเริ่มถดถอยจริง

ในกรณีของคุณพ่อคุณนี้ ในแง่ของอาการ ท่านไม่มีอาการอะไรเลย (functional class =0) ยังคงออกกำลังกายได้เป็นปกติ ในส่วนของความเสื่อมของการทำงานของหัวใจที่ตรวจด้วยวิธี Echo ผมดูผลซึ่งตรวจมาแล้ว 3 ครั้ง ในระยะเวลาราวปีครึ่ง หากดูเผินๆในการตรวจครั้งที่ 3 ได้ค่า EF = 62% ลดลงจากการตรวจครั้งที่ 2 ซึ่งได้ค่า EF = 70% ก็อาจอนุมานได้ว่าหัวใจเริ่มทำงานแย่ลง แต่หากย้อนไปดูการตรวจครั้งที่ 1 ได้ค่า EF= 62.9% ซึ่งไม่แตกต่างจากครั้งที่ 3 ทำให้วินิจฉัยไม่ได้ว่าหัวใจทำงานแย่ลงจริงหรือไม่ และเมื่อเอาอาการของผู้ป่วยมาเปรียบเทียบดู ผู้ป่วยสบายดีออกกำลังกายได้ซึ่งสอดคล้องมากกว่าหากจะวินิจฉัยว่าหัวใจยังคงทำงานได้เป็นปกติ ส่วนข้อมูลเรื่องภาพการบีบตัวหรือคลายตัวของผนังหัวใจบางด้านผิดปกติไปนั้นเป็นข้อมูลอัตวิสัยและไม่สอดคล้องกับอัตราตายหรือจุดจบที่เลวร้ายของโรคนี้เหมือนอย่างค่า EF ผมในฐานะหมอผ่าตัดหัวใจจึงไม่ค่อยให้น้ำหนักกับข้อมูลเหล่านั้นเท่าการพิจารณาเอาจากอาการของผู้ป่วยประกอบกับค่า EF

2.. ถามว่าในกรณีนี้ควรทำอย่างไรต่อไป ผมแนะนำว่าควรติดตามดูการทำงานของหัวใจห้องล่างซ้าย (EF) ทุก 6 เดือนรวมกับการดูสมรรถนะในการออกกำลังกายต่อไปอีกนานไม่มีกำหนด แล้วค่อยตัดสินใจอีกครั้งเมื่อค่า EF ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ( EF ต่ำกว่า 45%) หรือมีอาการหอบเหนื่อยเมื่อออกแรงมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (functional class =2 ขึ้นไป คือออกกำลังกายอย่างที่เคยทำแล้วเหนื่อย)

อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมแนะนำให้ใจเย็นก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรรุกล้ำนั้นเป็นเพราะทุกวันนี้มีหลักฐานการผ่าศพคนตายจากโควิด 19 ทะยอยออกเรื่อยๆซึ่งบ่งชี้ไปทางว่ากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) จากโรคโควิด 19 มักทำให้ลิ้นหัวใจไมทรัลที่โผล่แลบและรั่วนิดหน่อยอยู่ก่อนแล้วเลวลงอย่างรวดเร็ว ในรายที่มีอาการมาก (function class 3) มักเสียชีวิตเลย ส่วนรายที่รอดชีวิตจาก long covid โดยมีลิ้นหัวใจรั่วรุนแรงค้างอยู่อย่างกรณีคุณพ่อคุณนี้ อนาคตจะเป็นอย่างไร จะดีขึ้นหรือจะแย่ลง อันนี้ยังไม่มีงานวิจัยใดให้ข้อมูลไว้ ดังนั้นหากรอดูได้ ควรจะรอดูไปก่อน

3.. ถามว่าหากสมัครใจจะผ่าตัดตอนนี้เลยจะได้ไหม จะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ตอบว่าผ่าได้ เพราะลำพังการที่ echo รายงานว่าลิ้นหัวใจไมทรัลรั่วระดับรุนแรงอย่างนี้ หมอผ่าตัดก็ถือเป็นข้อบ่งชี้ที่จะทำผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจได้แล้ว (ถ้าหมอหรือคนไข้อยากจะผ่า) ส่วนจะดีจะเสีย (risk/benefit) มากน้อยกว่ากันอย่างไรนั้น..

ทางด้านความเสี่ยง การผ่าตัดจะมีความเสี่ยงตายประมาณ 1.0 – 2.5% เสี่ยงทุพลภาพเช่นเป็นอัมพาตประมาณ 2.5% เช่นกัน และจะต้องกินยากันเลือดแข็งทุกวันตลอดชีวิตซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในสมองนิดหน่อย (น้อยกว่า 1% ต่อปี)

ทางด้านประโยชน์ การเปลี่ยนลิ้นหัวใจไมทรัลที่รั่วมาก จะช่วยป้องกันไม่ให้หัวใจห้องล่างซ้ายเสื่อมการทำงาน ลงไปถึงจุดหัวใจล้มเหลว ซึ่งหากเกิดขึ้นจะมีอัตราตายสูง

4,, คุณอ่านซ้ำหลายๆครั้งแล้วค่อยๆคิดตาม แล้วใช้ความคิดวินิจฉัยของคุณเองตัดสินใจเอาเองนะครับ ในระหว่างที่ยังไม่รู้จะเอายังไงดีนี้ ให้ค่อยๆออกกำลังกายใหม่มุ่งไปให้ถึงระดับหนักพอควร (หอบเหนื่อยร้องเพลงไม่ได้) อย่างดการออกกำลังกายเพราะจะทำให้อัตราตายในระยะยาวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็อย่าออกกำลังกายถึงระดับหนักมาก (หอบเหนื่อยจนพูดไม่ได้) เพราะจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันทำให้มีความเสี่ยงจะเสียชีวิตกะทันหันได้มากขึ้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Alsagaff MY, Shonafi KA, Handari SD, Sembiring YE, Lusida TTE, Nugraha RA. An unexpected overlap syndrome of mitral valve prolapse with COVID-19 related myocarditis: case report from two patients. Ann Med Surg (Lond). 2023 Apr 3;85(4):1276-1281.
[อ่านต่อ...]

30 พฤษภาคม 2566

วิธีลงทะเบียนเข้าฟังหมอสันต์พูดเรื่องอูมามิ ที่สยามมิวเซียม

ก่อนหน้านี้ผมเล่าว่าผมจะไปพูดเรื่อง “อูมามิ ชูรส ชูใจ รสอร่อยจากธรรมชาติ Naturally Umami “ ที่งานเสาร์สนามไชย วันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน 66 เวลา 10:00-11:30 น. ที่ร้าน Siam origins ในมิวเซียมสยาม 

มีแฟนบล็อกหลายท่านเขียนมาถามว่าเสียเงินหรือเปล่า ต้องลงทะเบียนล่วงหน้าไหมอย่างไร

วันนี้ทางสยามมิวเซียมเขาส่งข้อมูลมาให้แล้วว่าคนทั่วไปเข้าฟังได้ฟรี ไม่ต้องเสียเงิน แต่เพื่อให้แน่ใจว่ามีที่นั่งควรลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านทาง QR code ซึ่งผมก๊อปไว้ให้ในบล้อกนี้ แฟนบล็อกท่านใดสนใจจะไปฟังก็พบกันที่นั่นเลยนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

เพิ่งโดนยาฉีดรักษากระดูกพรุนไปเข็มเดียว จะเลิกฉีดได้ไหม

(ภาพวันนี้: ดอกเอื้องไร้ชื่อ ไร้ราคา แต่ดอกทนทายาด แถมเปลี่ยนสีได้ด้วย)

กราบสวัสดีอาจารย์สันต์

ได้อ่านบทความของอาจารย์ที่ตอบคำถาม เกี่ยวกับงานวิจัยเรื่องการฉีดยากระดูกพรุน ว่าควรหรือไม่ควรฉีด พอได้ทราบผลข้างเคียง และตัวเลขของการเกิดกระดูกหักระหว่างคนฉีดกับไม่ฉีด ที่อาจารย์อธิบายทำให้ทราบข้อเท็จจริงและเป็นมุมความจริงที่คนไข้อย่างเราถูกนำเสนอข้อมูลและตัวเลขที่สวย จากการนำเสนอของบริษัทขายยา

คำถามคือตอนนี้หากพลาดไปฉีด prolia แล้ว 1 เข็ม แต่ไม่ต้องการฉีดต่อ ในความเป็นจริงสามารถทำได้หรือไม่  อยากได้คำแนะนำในการหยุดยาที่ถูกต้องจากอาจารย์คะ

ขอบพระคุณอาจารย์มากคะที่สละเวลามาให้ความรู้

……………………………………..

ตอบครับ

ถามว่าฉีดยารักษากระดูกพรุนแบบทุก 6 เดือนไปแล้วอยากจะหยุดแต่หมอบอกว่าหากหยุดกระดูกจะหักมากขึ้น จะหยุดได้ไหม ตอบว่าหยุดได้ครับ ตำรวจไม่จับหรอก และบริษัทยาก็ไม่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากคุณด้วย

ก่อนจะต่อความยาวออกไป ผมขอพูดถึงยา denosumab ซึ่งเป็นยาฉีดรักษากระดูกพรุนว่ามันเป็นยารุ่นใหม่ที่ทำมาจากการเอาน้ำเหลืองคนไปฉีดให้สัตว์แล้วเอาน้ำเหลืองสัตว์นั้นกลับมาเป็นยาฉีดให้คน คล้ายๆกับการทำเซรุ่มสมัยก่อนที่เอาพิษงูไปฉีดให้ม้าแล้วเอาน้ำเหลืองม้ามาฉีดให้คน แต่งานนี้เอาน้ำเหลืองของคนที่มีโมเลกุลของเนื้อเยื่อ RANKL ซึ่งเป็นตัวทำหน้าที่เร่งการสลายกระดูก ไปฉีดให้สัตว์แล้วเอาแอนตี้บอดี้ที่สัตว์สร้างขึ้นต่อต้าน RANKL กลับมาฉีดให้คน

งานวิจัยการใช้ยานี้รักษาหญิงหมดประจำเดือนที่กระดูกพรุน 7,868 คนแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้ฉีดยาจริง อีกกลุ่มหนึ่งให้ฉีดยาหลอก ทำวิจัยนาน 3 ปี พบว่ากลุ่มที่ได้ยาหลอกเกิดกระดูกหัก 7.2% กลุ่มได้ยา denosumab เกิดกระดูกหัก 2.3% ซึ่งเท่ากับว่ายานี้ลดการเกิดกระดูกหักในสามปีได้ 4.9% ก็คือหนึ่งร้อยคนที่ฉีดยาต่อเนื่องกันไปสามปีได้ประโยชน์ป้องกันกระดูกหักจริงๆ 5 คน อีก 95 คนฉีดยาไปฟรีๆไม่ได้ประโยชน์อะไร

และอีกงานวิจัยหนึ่งพบว่าหากนับเอาอัตราเกิดกระดูกหักเป็นตัวชี้วัดแล้ว ยาฉีดนี้ให้ผลไม่ต่างจากยากิน

แต่ประเด็นสำคัญที่คุณถามคือฉีดยานี้แล้วหยุดฉีด แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น ทำไมหมอจึงบอกว่าห้ามหยุด ผมจะตอบจากงานวิจัย FREEDOM ซึ่งบริษัทยานี้สปอนเซอร์เองนะ ว่าเขาแบ่งผู้ป่วยออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งฉีดยาจริง อีกกลุ่มหนึ่งฉีดยาหลอก ฉีดไปได้ปีกว่า (คนละอย่างน้อยสองโด้ส) แล้วก็หยุดฉีดทั้งสองกลุ่ม แล้วตามดูไปอีก 7 เดือน พบว่ากลุ่มที่ได้ยาฉีดจริงแล้วหยุดฉีดเกิดกระดูกสันหลังหักแบบหักหลายจุดพร้อมกัน 3.4% ซึ่งมากกว่ากลุ่มที่ได้ยาฉีดหลอกแล้วหยุดฉีดซึ่งเกิดกระดูกหัก 2.2% พูดง่ายว่าการหยุดยา denosumab เพิ่มโอกาสกระดูกหักขึ้นไปอีก 1.2% ในเจ็ดเดือนหลังหยุดยา ซึ่งมันก็เป็นความเสี่ยงที่ไม่มากมายอะไร

สำหรับตัวคุณนั้นคุณเพิ่งฉีดยาไปได้โด้สเดียว การหยุดยาจะเพิ่มโอกาสกระดูกหักหรือไม่ไม่มีงานวิจัยตรงนี้ ที่ผมรู้แน่ๆก็คือถึงมันจะเพิ่มโอกาสกระดูกหัก มันย่อมต้องน้อยกว่า 1.2% แหงๆ น้อยแค่ไหนไม่รู้เพราะไม่มีงานวิจัยเป็นพื้นฐานให้ตอบได้

มันยังมีอีกประเด็นหนึ่งนะ ซึ่งคนที่ฉีดยานี้อยู่แล้วอยากหยุดยาอาจจะถามมาภายหลัง ว่าหากหยุดแล้วเปลี่ยนไปเป็นยากิน (bisphosphonate) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการสลายกระดูกเช่นกันแต่คนละกลไกการออกฤทธิ์ มันจะช่วยลดการเกิดกระดูกหักหลังหยุดยาได้ไหม ตอบว่าไม่ทราบครับ เพราะไม่มีใครทำวิจัยในประเด็นนี้ไว้

ที่ผมตอบได้แน่ๆคือ มูลนิธิกระดูกพรุนแห่งชาติสหรัฐฯ (NFO) ได้สรุปหลักฐานวิทยาศาสตร์ว่าสิ่งที่จะช่วยลดการเกิดกระดูกหักในคนสูงอายุได้แน่นอนในทุกโอกาส คือ

(1) การออกกำลังกาย เน้นทั้งแบบแอโรบิกคือเคลื่อนไหวให้เหนื่อย ทั้งแบบเล่นกล้ามเช่นยกน้ำหนัก ทั้งแบบฝึกท่าร่าง ทั้งแบบฝึกการทรงตัว ยิ่งอายุมากขึ้น เช่นแปดสิบเก้าสิบปีก็ยิ่งต้องออกกำลังกายมาก ไม่ใช่ว่าอายุมากแล้วควรออกกำลังกายน้อยลงนะ เพราะในวัยชราแค่นอนนิ่งๆ 7 วันแค่นั้นแหละกล้ามเนื้อจะลีบและเกิดความอ่อนแอแบบสะง็อกสะแง็ง (frailty syndrome) ขึ้นมาทันที

(2) การต้องออกแดดเป็นประจำ หรือถ้าออกแดดไม่ได้ก็ต้องตรวจระดับวิตามินดี. ถ้าต่ำ ต้องกินวิตามินดีเสริม จนวิตามินดีปกติ

(3) กินอาหารที่มีแคลเซียมพอเพียง แคลเซียมมีแยะทั้งในอาหารปกติทั้งพืชและเนื้อสัตว์ แคลเซียมจะดูดซึมดีขึ้นหากินพร้อมกับอาหารที่ให้วิตามินซี ซึ่งก็คือผักและผลไม้โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ออกเปรี้ยวๆ

(4) เลิกสูบบุหรี่ และเลิกดื่มแอลกอฮอล์

(5) ปรับปรุงบ้านช่องห้องหอให้ลดความเสี่ยงต่อการลื่นตกหกล้ม

(6) ลดหรือเลิกยาที่ทำให้ลื่นตกหกล้มง่าย เช่น ยาลดความดัน ยาต้านซึมเศร้า ยานอนหลับซึ่งทำให้สลึมสลือ ยาลดไขมันซึ่งทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ถ้าจำเป็นต้องกินให้ใช้ขนาดต่ำที่สุดที่ยังได้ผล

กล่าวโดยสรุป หากคุณเลิกฉีดยาต้านกระดูกพรุน แล้วหันมาจริงจังกับหกข้อนี้ ผมว่ามันเป็นวิธีตัดสินใจที่มีเหตุผลในเชิงวิทยาศาสตร์ที่โอเค.นะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Cummings SR, Ferrari S et al. Vertebral Fractures After Discontinuation of Denosumab: A Post Hoc Analysis of the Randomized Placebo-Controlled FREEDOM Trial and Its Extension. J Bone Miner Res. 2018 Feb;33(2):190-198.
  2. Cummings SR, San Martin J et al Denosumab for prevention of fractures in postmenopausal women with osteoporosis. N Engl J Med. 2009 Aug 20. 361(8):756-65.
  3. Anastasilakis AD, Polyzos SA, Makras P, Aubry-Rozier B, Kaouri S, Lamy O. Clinical Features of 24 Patients With Rebound-Associated Vertebral Fractures After Denosumab Discontinuation: Systematic Review and Additional Cases. J Bone Miner Res. 2017 Jun. 32 (6):1291-1296.
  4. [Guideline] Cosman F, de Beur SJ, LeBoff MS, Lewiecki EM, Tanner B, Randall S, et al. Clinician’s Guide to Prevention and Treatment of Osteoporosis. Osteoporos Int. 2014 Oct. 25 (10):2359-81.
[อ่านต่อ...]

28 พฤษภาคม 2566

ทุกประเด็นเกี่ยวกับการรักษาสิวที่ดื้อด้านต่อยาปฎิชีวนะ

หนูอายุ 42 ปี แต่เป็นสิวไม่เลิกจนหนูอายคนเขา คนเขามองหนูด้วยสายตาว่าเป็นสาวเป็นแส้ทำไมปล่อยให้หน้าตัวเองสกปรก หนูรักษากับหมอผิวหนังมาสี่ปี เปลี่ยนหมอไปสามคน กินยา doxycyclin บ้าง minocycline บ้าง ยาปฏิชีวนะอื่นจำชื่อไม่ได้บ้าง กินมาตลอดแต่สิวไม่หาย หน้าก็ดำลงๆเพราะแผลเก่าจากสิวมากขึ้นๆ หนูกลุ้มใจมาก ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร รู้อยู่ว่าคุณหมอสันต์เป็นหมอหัวใจ แต่หนูหวังพึ่งคุณหมอ ขอคำแนะนำคุณหมอด้วยค่ะ

เคารพรักและศรัทธาคุณหมอ

……………………………………………………

ตอบครับ

ผมตอบคุณในฐานะที่ผมเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวนะ ตอบไปทีละประเด็นตามที่ผมจะนึกได้ เพราะคุณไม่ได้เจาะจงถามมาเป็นข้อๆ

1.. มาตรฐานการรักษาสิวทุกวันนี้ เป็นการรักษาควบ คือใช้ยาทาเฉพาะที่ (เช่น benzoyl peroxide, retinoid, หรือยาปฏิชีวนะชนิดทา) ควบกับกินยาปฏิชีวนะแบบกิน กินกันยาวจนหาย ยาปฏิชีวนะมาตรฐานเพื่อการนี้คือยาในกลุ่ม tetracycline ซึ่งตัวที่ใช้ได้ผลดีที่สุดคือ doxycycline และ minocycline ข้อเสียคือต้องกินกันยาว และเป็นที่รู้กันดีว่ายากลุ่มนี้มันเปลี่ยนสีผิวหนังให้คล้ำลงได้ และมีคนไข้จำนวนหนึ่งที่แม้จะกินยานี้ยาวหลายปีแล้วแต่สิวก็ยังไม่หาย

2,, อาหารและจุลินทรีย์รักษาสิว มีงานวิจัยซึ่งพิสูจน์ได้ว่าจุลินทรีย์ที่อยู่ปกติบนผิวหนังเองเช่น S. epidermidis สามารถหมักกลีเซอรอลบนผิวหนังให้กลายเป็นโมเลกุลกรดไขมันสายโซ่ขนาดสั้นเช่น succinic acid ซึ่งยับยังเชื้อจุลินทรีย์ P. acnes ที่เป็นต้นเหตุการเกิดสิวได้ ความรู้นี้ได้ให้แนวคิดการใช้จุลินทรีย์มารักษาสิว โดยจุลินทรีย์ที่มีศัยกภาพในเรื่องนี้ก็เช่น Staphylococcus, Streptococcus, Lactococcus, Lactobacillus, and Enterococcus เป็นต้น แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นแค่ขั้นศึกษาวิจัยในห้องทดลองต้องรอดูกันต่อไป

ในแง่ของอาหาร งานวิจัยแบบเมตาอานาไลซีสขนาดใหญ่ [2] สรุปผลในภาพรวมได้ว่าอาหารพืชเป็นหลักทั้งผัก ผลไม้ น้ำมันมะกอก ถั่ว นัท และอาหารหมักเช่นโยเกิร์ต ทำให้สุขภาพผิวหนังโดยรวมดีขึ้น ผิวหนังผุดผาดเต่งตึงขึ้น เหี่ยวย่นน้อยลง ลดความเสียหายของผิวหนังจากแสงแดดลง

ในแง่ของอาหารต่อการเป็นสิวนั้น อย่างน้อยก็มีหลักฐานเชิงระบาดวิทยาทะยอยตีพิมพ์ต่อเนื่องมาหลายปีว่าการดื่มนมวัวสัมพันธ์กับการที่วัยรุ่นทั้งชายทั้งหญิงเป็นสิวมากขึ้น [3-5]

อีกงานวิจัยหนึ่งสุ่มแบ่งผู้ป่วยกินอาหารเปรียบเทียบระหว่างอาหารดัชนีน้ำตาลสูง (หวานมาก แคลอรี่แยะ) กับอาหารดัชนีน้ำตาลต่ำ (ไม่หวาน กากแยะ แคลอรี่ต่ำ) พบว่าอาหารดัชนีน้ำตาลต่ำสัมพันธ์กับการเป็นสิวน้อยลง

อีกงานวิจัยหนึ่งสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบการให้กินชาเขียวในรูปสารสกัดเทียบกับให้กินยาหลอกพบว่ากลุ่มกินชาเขียวลดความรุนแรงของสิวลงได้ [6]

อีกงานวิจัยหนึ่งใช้สารสกัดจากต้นกุกูล (Gugulipid) ซึ่งเป็นสมุนไพรรักษาไขมันสูง เอามารักษาสิว แล้วพบว่ารักษาสิวได้ดีเท่ายา tetracycline

อีกงานวิจัยหนึ่งทำที่รัสเซียพบว่าเมื่อเกิดการสูญเสียดุลยภาพของจุลินทรีย์ในลำไส้ (dysbiosis) หากแก้ไขให้ดุลยภาพกลับมาเป็นปกติ จะทำให้การรักษาสิวง่ายขึ้น [7]

ในแง่ของการให้กินจุลินทรีย์ (probiotic) เพื่อรักษาสิวก็มีการรักษากันมานานหลายสิบปีแล้ว มีงานวิจัยเก่าชิ้นหนึ่งรายงานการใช้จุลินทรีย์แล็คโตบาซิลลัสกินรักษาสิวแล้วสรุปผลว่าได้ผลดีขึ้น 80% แต่เป็นงานวิจัยระดับต่ำที่ไม่มีกลุ่มควบคุม [8] งานวิจัยใหม่มีแต่การใช้จุลินทรีย์รักษาสิวควบกับการรักษามาตรฐานด้วยยาปฏิชีวนะสรุปผลได้ว่าทำให้การรักษาสิวได้ผลเร็วขึ้นและมีผลข้างเคียงน้อยลง [9] ข้อมูลวิจัยเหล่านี้พอจะสรุปได้ระดับหลวมๆว่าอาหารพืชเป็นหลักซึ่งสร้างดุลยภาพให้จุลินทรีย์ในลำไส้ น่าจะมีผลดีต่อการรักษาโรคสิว แม้ว่าข้อมูลวิจัยการใช้อาหารพืชเป็นหลักรักษาสิวแบบตรงๆยังไม่มีใครทำวิจัยไว้ (เพราะมันทำวิจัยยาก มีปัจจัยกวนแยะ)

3.. ปัจจุบันนี้มีการใช้ยาใหม่เกิดขึ้น เพิ่งจะหมาดๆไม่ถึงเดือนมานี้เอง ผมได้เห็นงานวิจัยขนาดใหญ่มาก [10] และการออกแบบงานวิจัยดีมากชิ้นหนึ่ง ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ ใหม่ๆซิงๆเลย ชื่องานวิจัย SAFA ในงานวิจัยนี้เขาเอาหญิงอายุ 18 ปีขึ้นไปที่เป็นสิวดื้อด้านเรื้อรังมานานเกิน 6 เดือนมาสุ่มแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินยา spinololactone (Aldactone) ซึ่งเป็นยาขับปัสสาวะและลดความดัน ในขนาด 50 มก.ต่อวันกินไปนาน 6 สัปดาห์ แล้วเพิ่มขนาดไปเป็น 100 มก.ต่อวันกินต่อไปจนครบ 24 สัปดาห์ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งให้กินยาหลอกไปนานเท่ากัน ทั้งสองกลุ่มไม่ให้กินยาปฏิชีวนะรักษาสิวเลย ผลวิจัยที่ประเมินด้วยแบบมาตรฐานการประเมินสิว (Acne-QoL) และการประเมินโดยคณะผู้วิจัย (IGA) พบว่าหากวัดเมื่อกินยาได้ 12 สัปดาห์พบว่า กลุ่มที่กินยา spinololactone โรคสิวดีขึ้น 72% ขณะที่กลุ่มกินยาหลอกสิวดีขึ้น 68% แต่เมื่อวัดเมื่อกินยาได้ครบ 24 สัปดาห์พบว่ากลุ่มกินยา spinololactone โรคสิวดีขึ้น 82% ขณะที่กลุ่มควบคุมดีขึ้น 63% ซึ่งเป็นความแตกต่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติ ในส่วนการประเมินโดยคณะผู้วิจัยก็พบความแตกต่างที่มีนัยสำคัญเช่นกันกล่าวคือเมื่อกินยาไปได้ 12 สัปดาห์แล้วประเมินได้ผลว่าการรักษาโรคสิวประสบความสำเร็จ 19% ในกลุ่มกินยาจริงและ 6% ในกลุ่มกินยาหลอก (p=0.02)

ในแง่ผลข้างเคียงของยาพบว่าเกิดอาการปวดหัวเล็กน้อยในกลุ่มกินยาจริง 20% และในกลุ่มกินยาหลอก 12% ซึ่งถือว่าต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยที่ผลข้างเคียงรุนแรงไม่มี คณะผู้วิจัยจึงสรุปว่าการใช้ยา spironolactone รักษาสิวแทนยาปฏิชีวนะได้ผลดีกว่าการใช้ยาหลอกโดยจะเห็นผลชัดเจนเมื่อใช้ไปนาน 24 สัปดาห์

4,, กล่าวโดยสรุป ในกรณีของคุณ ผมแนะนำบนพื้นฐานของงานวิจัยทั้งหมดที่มีอยู่ถึงวันนี้ ว่า

4.1 ควรเลิกกินยาปฏิชีวินะไปก่อน เพราะมันพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล มีแต่ผลข้างเคียงของยาที่ทำให้สีผิวเข้มขึ้น

4.2 ควรปรับอาหารมากินอาหารพืชเป็นหลัก เน้นที่มีความหลากหลายของชนิด หลากสี หลากรส มีกากแยะ (prebiotic) และมีอาหารหมักที่มีตัวจุลินทรีย์เป็นๆอยู่ในอาหาร (probiotic) แทรกเป็นอาหารประจำวันทุกวันด้วย

4.3 ควรเริ่มทดลองกินยา spinorolactone เพื่อรักษาสิว โดยทดลองกินไปอย่างน้อย 24 สัปดาห์ การจะกินยานี้วิธีที่ดีที่สุดคือไปปรึกษาหมอให้หมอสั่งยาให้ แม้ในเมืองไทยนี้มีข้อแตกต่างจากประเทศที่เจริญแล้วตรงที่ยาอะไรก็หาซื้อเองได้หมด ซื้อบนโต๊ะไม่ได้ก็ซื้อใต้โต๊ะ แต่ผมไม่แนะนำให้ซื้อยา spinorolactone มารักษาตัวเอง

พูดถึงยา spironolactone นี้มันออกฤทธิ์โดยระงับฤทธิ์ของฮอร์โมน aldosterone ซึ่งเป็นฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตอันเป็นฮอร์โมนกลุ่มเดียวกับฮอร์โมนที่ทำให้เป็นสิวมากขึ้น เป็นยาที่ใช้รักษาความดันสูงกันมานานแล้ว มีราคาถูก และค่อนข้างปลอดภัย

4.4 ควรปรับวิธีใช้ชีวิตที่มีผลต่อการเป็นสิวด้วย เช่น การไม่สูบบุหรี่ การไม่กินฮอร์โมนเพศ (ยาคุม) ดูแลการนอนหลับให้ดี ออกกำลังกายให้หนักพอควรจนได้เหงื่อทุกวัน หลีกเลี่ยงมลภาวะ หลีกเลี่ยงความเครียด เพราะทั้งหมดนี้ล้วนมีผลต่อสุขภาพผิวหนังและการหายของสิว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Mottin VHM, Suyenaga ES. An approach on the potential use of probiotics in the treatment of skin conditions: acne and atopic dermatitis. Int J Dermatol. 2018 Dec;57(12):1425-1432.
  2. Fam VW, Charoenwoodhipong P, Sivamani RK, Holt RR, Keen CL, Hackman RM. Plant-Based Foods for Skin Health: A Narrative Review. J Acad Nutr Diet. 2022 Mar;122(3):614-629. 
  3. Adebamowo C, Spiegelman D, Danby F, et al. High school dietary dairy intake and teenage acne. J Am Acad Dermatol. 2005;52:207–214. 
  4. Adebamowo C, Spiegelman D, Berkey C, et al. Milk consumption and acne in teenaged boys. J Am Acad Dermatol. 2008;58:787–793. 
  5. Adebamowo C, Spiegelman D, Berkey C, et al. Milk consumption and acne in adolescent girls. Dermatol Online J. 2006;12:1.
  6. Lu P.H., Hsu C.H. Does supplementation with green tea extract improve acne in post-adolescent women? A randomized, double-blind, and placebo-controlled clinical trial. Complement. Ther. Med. 2016;25:159–163.
  7. Volkova L.A., Khalif I.L., Kabanova I.N. Impact of the impaired intestinal microflora on the course of acne vulgaris. Klin. Med. 2001;79:39–41.
  8. Siver R. Lactobacillus for the control of acne. J. Med. Soc. N. J. 1961;59:52–53.
  9. Marchetti F., Capizzi R., Tulli A. Efficacy of regulators of the intestinal bacterial flora in the therapy of acne vulgaris. Clin. Ther. 1987;122:339–343.
  10. Miriam Santer, Megan Lawrence, Susanne Renz, Zina Eminton, Beth Stuart, Tracey H Sach, Sarah Pyne, Matthew J Ridd, Nick Francis, Irene Soulsby, Karen Thomas, Natalia Permyakova, Paul Little, Ingrid Muller, Jacqui Nuttall, Gareth Griffiths, Kim S Thomas, Alison M Layton. Effectiveness of spironolactone for women with acne vulgaris (SAFA) in England and Wales: pragmatic, multicentre, phase 3, double blind, randomised controlled trialBMJ, 2023; e074349
[อ่านต่อ...]

25 พฤษภาคม 2566

หมอสันต์จะไปพูดที่งานเสาร์สนามไชยของมิวเซียมสยาม 3 มิย. 66 เรื่อง"อูมามิ รสอร่อยจากธรรมชาติ"

มิวเซียมสยาม (พิพิธภัณฑ์ใหม่ของรัฐบาล) ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะรัตนโกสินทร์ ตรงสถานีรถไฟฟ้าสนามไชยพอดี เขาจะจัด “งานเสาร์สนามไชย” เพื่อให้ความรู้ความแบบแทรกความบันเทิงแก่ประชาชนในเรื่องต่างๆ งวดนี้เขาจะให้ความรู้เรื่องการใช้ รูป รส กลิ่น เสียง มาสร้างสุขภาวะและช่วยรักษาโรค โดยเชิญผมไปพูดเรื่อง “รส” อันหมายถึงรสต่างๆของอาหารในแง่มุมที่จะช่วยให้เราสุขภาพดี ซึ่งผมได้เลือกพูดถึงรส “อูมามิ” หรือรสกลมกล่อม โดยตั้งหัวข้อและสโลแกนว่า

“อูมามิ ชูรส ชูใจ

รสอร่อยจากธรรมชาติ

Naturally Umami “

งาน เสาร์สนามไชย 

เสาร์ 3 มิถุนายน 66

10:00-11:30 น.

ที่ร้าน Siam origins 

ในมิวเซียมสยาม 

ที่ผมเจาะจงพูดเรื่องรสอูมามิก็เพราะผมสนับสนุนอาหารแนวมังสวิรัติหรือกินพืชเป็นหลัก แต่คนที่เป็น “สัตว์กินเนื้อ” เปลี่ยนตัวเองได้ยากเพราะความติดรสชาติหนึ่งของอาหารเนื้อสัตว์ ซึ่งก็คือรสอูมามิ (umami) หรือรสกลมกล่อม (savory) นี่เอง ผมจึงจะพูดจากมุมของหลักฐานวิทยาศาสตร์ว่ารสอูมามิมันเกิดจากโมเลกุลกรดอามิโนสามอย่างในอาหาร คือ

กลูตาเมท (ในมะเขือเทศ ถั่วพี เห็ด บร็อกโคลิ หน่อไม้ฝรั่ง บีทรูท สาหร่ายคอมบุ)

อิโนสิเนท (ในปลา ไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว)

กัวนิเลท (ในเห็ดต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็ดหอม)

งานวิจัยสีหน้าเด็กทารกเมื่อกินอาหารรสต่างๆพบว่ารสอูมามิเป็นรสที่คนติดมาตั้งแต่เป็นเด็กเช่นเดียวกับรสหวาน เพราะโปรตีนในนมแม่มีส่วนประกอบของกลูตาเมทซึ่งให้รสอูมามิถึง 17% แตกต่างจากรสเปรี้ยวซึ่งงานวิจัยพบว่าเด็กจะแสดงสีหน้าไม่ชอบ และรสขมซึ่งเด็กจะแสดงสีหน้าปฏิเสธรุนแรง ดังนั้นคนจะเสพย์ติดรสอูมามิมาตั้งแต่อ้อนแต่ออดเช่นเดียวกับเสพย์ติดรสหวาน การเลือกวัตถุดิบอาหารที่ทำให้เกิดรสอูมามิจึงสำคัญ

การเลือกวัตถุดิบที่มีกรดอามิโนที่ก่อรสอูมามิ (กลูตาเมท อิโนสิเนท กัวนิเลท) คราวละหลายตัวในเมนูเดียวกัน ก็ยิ่งจะเสริมรสอูมามิให้เด่นชัดขึ้น

วิธีปรุงอาหารก็ทำให้เกิดรสอูมามิต่างกัน ซึ่งมีทั้งเทคนิคการทำให้โมเลกุลโปรตีนในอาหารแตกตัวออกมาเป็นกรดอามิโน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือกลูตาเมทที่ให้รสอูมามิ และมีทั้งการใช้เทคนิคการหมัก เพราะกลูตาเมทส่วนหนึ่งไม่ได้มาจากอาหารตรงๆ แต่เกิดจากจุลินทรีย์หัวเชื้อหมักอาหารมันกินน้ำตาลในอาหารที่หมักแล้วเอาไปสร้างเป็นกลูตาเมทแล้วปล่อยกลูตาเมทออกมา อาหารหมักบางชนิดเช่นผักดองกิมจิจึงมีรสอูมามิ

การรู้จักทำอาหารพืชเป็นหลักหรืออาหารแนวมังสวิรัติโดยเลือกวัตถุดิบอาหาร และเลือกวิธีปรุงอาหารให้เกิดรสอูมามิจึงเป็นกุญแจของความสำเร็จในการให้คนที่ติดรสชาติเนื้อสัตว์เปลี่ยนมากินพืชได้มากขึ้น

ถ้าจังหวะดีในงานนี้ผมจะทำอะไรเล็กๆน้อยๆที่มีรสอูมามิให้ชิมด้วย

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมจะพูดในงานนี้คือการใช้ผงชูรสช่วยสร้างรสอูมามิ

ผงชูรสมักจะถูกพูดถึงในชื่อ MSG (monosodium glutamate) และถูกตราหน้าว่าเป็นอาหารทำร้ายสุขภาพ ทั้งๆที่หลักฐานวิทยาศาสตร์สนับสนุนคำกล่าวหานี้ไม่มีเลย องค์การอนามัยโลก (FAO/WHO) และองค์การอาหารและยาสหรัฐ (US-FDA) ต่างก็จัดผงชูรสไว้ในหมวดอาหารปลอดภัย อาการเมาผงชูรสที่ถูกไฮไลท์ขึ้นมาโดยเรียกว่าเป็น Chinese Restaurant Syndrome เมื่อราวปี 1960 นั้น FDA ได้ทำการวิจัยเอาคนที่เมาผงชูรสมาแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งกินผงชูรสจริงอีกกลุ่มหนึ่งกินผงหลอกก็พบว่าทั้งสองกลุ่มมีอาการเมาไม่ต่างกัน อีกงานวิจัยหนึ่งให้กินผงชูรสเพียวๆในขนาดต่างๆพบว่าในขนาดที่กินในมื้ออาหารปกติ (0.5 กรัม) ไม่มีใครเมา แต่ถ้าเพิ่มขนาดขึ้นไปอีกหกเท่าคือ 3 กรัม บางคนจะมีอาการเมา ซึ่งเป็นอาการเล็กน้อยและหายเองในเวลา 1 ชั่วโมง ส่วนที่ว่ากินผงชูรสแล้วจะทำให้ความดันสูงเพราะมีโซเดียมนั้นก็ไม่จริง ไม่เคยมีหลักฐานว่ากลุ่มคนที่กินผงชูรสจะมีความดันเลือดสูงมากกว่ากลุ่มคนที่ไม่กิน ปริมาณโซเดียมในผงชูรสมีแค่ 12% ขณะที่ในเกลือมีถึง 39% ดังนั้นในแง่การจัดการความดันเลือดสูงหากใช้ผงชูรสแทนเกลือจะลดความดันได้ดีกว่ากินเกลือโดยไม่กินผงชูรสเสียอีก เพราะมูลเหตุหนึ่งที่คนใช้รสเค็มมากก็เพราะอาหารนั้นชิมแล้วมันไม่กลมกล่อม

การตราหน้าให้เกิดความเข้าใจผิดว่าผงชูรสเป็นอาหารอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้แม่ครัวอาหารมังสะวิรัติไม่กล้าใช้ผงชูรสช่วยสร้างรสอูมามิในอาหาร เพราะลูกค้าอาหารมังสะวิรัติส่วนใหญ่ถูกปั่นให้กลัวผีผงชูรสกันมานานหลายสิบปีแล้ว ผลพลอยเสียที่เกิดขึ้นคืออาหารมังสะวิรัติที่ทำขึ้นมาหากเลือกวัตถุดิบไม่เป็นและเทคนิคการปรุงไม่ดีจะขาดรสอูมามิ คือไม่กลมกล่อม คนที่คิดจะเปลี่ยนจากการกินเนื้อสัตว์มากินมังสะวิรัติก็เปลี่ยนไม่สำเร็จเพราะทำอาหารขึ้นมาแล้วมันกินไม่ลง การพูดของผมในงานเสาร์สนามไชยผมจึงจะพูดถึงความจริงทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับผงชูรสด้วย เพื่อให้แม่ครัวอาหารมังสะวิรัติกล้าใช้ผงชูรสช่วยสร้างรสอูมามิในอาหารนอกเหนือไปจากการเลือกวัตถุดิบอาหารและเทคนิคการทำอาหาร เป้าหมายสุดท้ายคือให้อาหารมังสวิรัติมีรสกลมกล่อมมากขึ้น จะได้ดึงคนให้มากินอาหารแนวพืชเป็นหลักหรือมังสวิรัติมากขึ้น

เสาร์สนามไชย 3 มิย. 66 เวลา 10.00-11.30 ที่ ร้านอาหารสยามออริจิน ในสยามมิวเซียม ไปง่ายๆทางรถไฟฟ้าลงสถานีสนามไชย ฟรี ไม่ต้องจองที่ งานนี้มิวเซียมสยามเขาจัดเป็นสไตล์กึ่งงานวัด แฟนๆบล็อกที่มีเวลาว่างก็เชิญไปฟังได้นะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

24 พฤษภาคม 2566

เลิกมองหน้าสามีแล้ว แต่ทำไมยังเครียด

กราบเรียนคุณหมอสันต์

หนูมีความเครียดเมื่ออยู่ใกล้สามีซึ่งเป็นคนเครียดตลอดศก เคยได้อ่านที่คุณหมอเขียนเล่างานวิจัย emotional contagion ว่าเรารับความเครียดจากคนอื่นมาโดยเรามองดูสีหน้าเขาแล้วเราเลียนแบบสีหน้าเขาโดยไม่ได้ตั้งใจแล้วความเครียดของเขาก็จะมาอยู่ในตัวเรา หนูก็เอาคำสอนนี้มาใช้ โดยเมื่อสามีเข้าบ้านมาหนูพยายามไม่มองหน้าเขา พูดอะไรกันก็พูดแบบแกล้งกำลังทำอะไรอื่นอยู่หรือมองไปคนละทาง ใหม่ๆก็ดูจะได้ผลดี แต่จนทุกวันนี้หนูก็ยังรู้สึกว่าเมื่อสามีไปทำงานหนูอยู่บ้านคนเดียวหนูชิลๆโล่งๆสบายๆ แต่พอสามีเข้าบ้านมาเท่านั้น ยังไม่ทันพูดอะไรกัน ยังไม่ทันเห็นสีหน้ากันเลย แค่เข้ามาอยู่ในห้องเดียวกันเท่านั้นแหละ หนูจะเครียดทันที คุณภาพชีวิตหายไปทันที ความเครียดจากเขายังมาถึงหนูได้อีกหรือ หนูควรจะแก้ไขอย่างไร

ขอบพระคุณคะ

………………………………………………………….

ตอบครับ

1.. ผมไม่รู้ว่าคุณอายุเท่าไหร่ เดาเอาว่าคงเป็นวัยที่เซ็กซ์ไม่ใช่เรื่องบันเทิงอีกต่อไปแล้ว เพราะอาการที่คุณเล่ามามันเป็นส่วนหนึ่งของ “กลุ่มอาการหน่ายสามี” ซึ่งมักจะเกิดในวัยที่เริ่มหน่ายเซ็กซ์

เรารู้ว่าความเครียดเป็นสิ่งที่ติดต่อกันได้ นั่นเป็นของแน่แท้และพิสูจน์ได้ เช่นงานวิจัยเจาะเลือดดูฮอร์โมนเครียดพบว่าห้องเรียนที่สอนโดยครูขี้เครียดนักเรียนก็พลอยเครียดเหมือนไปกันหมดทั้งห้อง กลไกที่ความเครียดแพร่จากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งโดยยังไม่ได้ทันพูดอะไรกันนั้นกลไกหนึ่งก็คือกลไกเลียนสีหน้าหรือ facial mimicry คือคนเครียดจะมีสีหน้าเครียด คนใกล้ชิดเห็นสีหน้าเครียดก็เผลอเลียนสีหน้านั้นเพราะมนุษย์เรานี้เป็นสัตว์สังคมเมื่อเข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตามอย่างเป็นอัตโนมัติ พอเผลอเลียนสีหน้าเขาไปอารมณ์ในใจของตัวเองก็เปลี่ยนไปตามสีหน้านั้นอย่างอัตโนมัติ นั่นเป็นกลไกหนึ่ง

ทีนี้คุณถามว่ามันมีกลไกอื่นอีกไหม่ เพราะหลบไม่มองหน้าคนเครียดแล้วทำไมเราก็ยังเครียดตามเขาอยู่ ตอบว่าตามหลักฐานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ มันยังมีอีกกลไกหนึ่งคือกลไกการปล่อยความเครียดให้ล่องลอยไปตามสายลม คือไปในอากาศ ในรูปของโมเลกุลที่ร่างกายผลิตขึ้นและปล่อยออกมาทางรูขุมขนหรือพร้อมกับเหงื่อ โมเลกุลเหล่านี้เอาไปให้ใครดมก็ไม่เห็นจะมีกลิ่นอะไร แต่ดมแล้วเครียดทันที

งานวิจัยของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ทำที่มหาลัย Stony Brook ที่รัฐนิวยอร์ค ทำโดยซับเอาเหงื่อของนักโดดร่มดิ่งพสุธาหน้าใหม่ขณะดิ่งพสุธาครั้งแรก (ขณะเครียด) เปรียบเทียบกับเหงื่อของคนคนเดียวกันตอนวิ่งสายพานออกกำลังกายธรรมดาๆ (ไม่เครียด) แล้วแยกเอาโมเลกุลกลิ่นที่เกิดจากทั้งสองกรณีใส่ถุงไปให้คนอื่นดม

รอบแรกให้คนดมเปรียบเทียบว่าดมแล้วได้กลิ่นอะไรไหม แตกต่างกันหรือเปล่า คนดมบอกว่าไม่ได้กลิ่นอะไรและบอกความแตกต่างของกลิ่นทั้งสองด้วยจมูกไม่ได้

รอบที่สอง ใช้เครื่อง fMRI ตรวจสมองขณะดมกลิ่น พบว่าขณะดมกลิ่นเหงื่อที่เกิดขณะเครียด สมองผู้ดมแสดงกิจกรรมบนเนื้อสมองส่วนอามิกดาลาและไฮโปทาลามัส(ซึ่งเป็นส่วนที่จะทำงานมากเมื่อเครียดหรือกลัว) สูงขึ้นแบบทันที ขณะที่การดมกลิ่นเหงื่อที่เกิดขณะไม่เครียดสมองผู้ดมไม่แสดงอะไรผิดปกติ นี่เป็นหลักฐานว่าทางที่ความเครียดแผ่มาหาเรามาได้อีกทางหนึ่ง คือ..ทางอากาศ

เขียนมาถึงตรงนี้ขอนอกเรื่องหน่อย นานหลายปีมาแล้วผมขับรถเที่ยวไปทางตอนเหนือของอเมริกากับเพื่อนๆคนแก่ด้วยกันสี่ห้าคน ขับไปจนถึงเมืองเล็กๆเมืองหนึ่งในรัฐเวอร์มอนต์ชื่อเมือง Stowe บังเอิญเป็นวันหยุดอีสเตอร์คนเยอะมากจนหาที่กินข้าวเย็นไม่ได้เพราะร้านอาหารดีๆคนจองที่นั่งเต็มหมดและที่นั่งรอคิวกันอยู่นอกร้านอีกเป็นกระตั๊ก ในที่สุดพวกเราต้องไปเข้าคิวซื้ออาหารคนจนแบบเบอริโตเม็กซิกัน เข้าคิวกระดึ๊บๆไปจนได้เข้าไปอยู่ในร้านห้องแถวเล็กๆซึ่งมีลูกค้าเป็นคนจนแน่นร้าน บรรยากาศเคร่งเครียดมาก ในที่สุดเพื่อนคนหนึ่งซึ่งผมชอบเรียกว่าป้าก็ออกอาการทนไม่ไหวจะเป็นลม ผมเข้าใจว่าเธอคงเกิดความเครียดหนักหรือน้ำตาลในเลือดต่ำ เธอส่ายหัวแล้วพูดเบาๆว่า

“ฉันเหม็นขี้เต่าจนทนไม่ไหวแล้ว”

นี่ก็เป็นอีกหลักฐานหนึ่งว่าความเครียดมาทางอากาศ

(ฮ่า ฮ่า ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น)

2.. ถามว่าแล้วจะปกป้องตัวเองไม่ให้เครียดตามสามีซึ่งเป็นคนขี้เครียดได้อย่างไร ตอบว่าให้ทำสองด้านพร้อมกันดีกว่าอย่าทำด้านเดียว

ด้านที่หนึ่ง คือเมื่อคุณรู้ว่าอารมณ์ลบแพร่ไปมาหากันได้ อารมณ์บวกมันก็แพร่ไปมาหากันได้โดยวิธีเดียวกัน ดังนั้นแทนที่คุณจะตั้งหน้าตั้งตาหนีสามีขี้เครียด ทำไม่คุณไม่แพร่อารมณ์บวกไปให้เขาแทนละครับ คือยิ้มเยอะๆ หัวเราะเยอะเมื่ออยู่ใกล้สามี ก่อนจะคุยอะไรกับเขาก็บิวด์หรือยกระดับอารมณ์ของตัวเองให้ขึ้นมาเป็นบวกก่อน ระวังท่าร่างของตัวเองที่เป็นลบ เช่นกอดอก จ้องเขม็ง บึนปากใส่ (หมายถึงทำริมฝีปากล่างยื่นพ้นริมฝีปากบน) ปรับสีหน้าให้เป็นยิ้มก่อน เปิดเผย ยินดีต้อนรับให้ได้ก่อนคุยกับเขา ถ้าทำยังไม่ได้ก็ยังไม่ต้องคุย แกล้งทำเป็นกล่องเสียงอักเสบพูดไม่มีเสียงเสียก็ได้ เมื่อคุยกับสามีแล้วก็ให้เริ่มด้วยการฟังอย่างตั้งใจ เปิดใจรับ มองให้เห็นทั้งด้านบวกและลบของ “ของ” ที่เขาปล่อยออกมา เปิดใจรับทั้งด้านบวกด้านลบ แล้วจงใจเลือกเข้าหาแต่ด้านบวก สนองตอบแต่เชิงบวก เสริมคำพูดหรืออารมณ์บวกของเขาด้วยการสบตา ใส่อารมณ์ ใช้คำพูดบันดาลใจ เอ่ยปากชม เป็นต้น แล้วก็วางแผน ตั้งใจ จงใจ ทำให้เขาประหลาดใจทุกวันด้วยการกระทำที่เมตตาของเรา คนจะมีเมตตาธรรมต้องเป็นคนไม่มีฟอร์ม เพราะฟอร์มหรือ “สำนึกว่าเป็นบุคคล” ก็คืือ “อีโก้” หรือ “อัตตา” หรือ “ตัวกูของกู” ซึ่งเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับเมตตาธรรม เมตตาคือการให้โดยไม่คาดหวังว่าเขาจะมองเห็นแล้วจะดีกับเราตอบนะ เมตตาคือให้โดยไม่หวังว่าจะได้อะไรกลับมา แม้คำขอบคุณหรือรอยยิ้มตอบก็ไม่หวัง ให้โดยไม่เลือกว่าเขาจะดีหรือไม่ดีกับเรา

ด้านที่สอง คุณอย่าเอาแต่โทษสามีว่าเป็นคนขี้เครียดวันๆเอาแต่ขนขี้มาปล่อยให้คุณ ความจริงแล้วความเครียดที่เกิดขึ้นในใจของคุณเกิดจากการสนองตอบต่อสิ่งเร้าของคุณผ่านการคิดของคุณนั่นเอง สามีเป็นเพียงหนึ่งในสิ่งเร้านอกตัวคุณ ในการจัดการความเครียดคุณอย่าไปมุ่งจัดการสิ่งเร้านอกตัวคุณ เพราะคุณไม่มีอำนาจจะทำอย่างนั้นได้ดอก คุณต้องจัดการที่การสนองตอบของใจคุณต่อแต่ละสิ่งเร้าที่เข้ามา คือคุณต้องมีสติขณะรับรู้สิ่งเร้า มีสติขณะเลือกวิธีสนองตอบต่อสิ่งเร้า และมีสติขณะบรรจงสนองตอบด้วยวิธีที่คุณเลือกแล้วออกไป คีย์เวิร์ดคือ “อย่าเผลอ” เพราะคุณจะไม่ติดเชื้อทางอารมณ์ตราบใดที่คุณมีสติและไม่เผลอ การสนองตอบด้วยวิธีที่คุณได้ตั้งสติเลือกแล้ว มันจะเป็นวิธีที่ดีกว่าการสนองตอบอัตโนมัติแบบโทษสิ่งเร้าภายนอกตะพึดเสมอ

ดังนั้น อย่าไปรังเกียจสามีคุณ นี่เป็นโอกาสที่คุณจะปฏิบัติธรรมสู่ความหลุดพ้นโดยไม่ต้องเสียเวลาไปวัดแล้วนะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Chartrand, T. L., & Lakin, J. L. (2013). The antecedents and consequences of human behavioral mimicry. Annual Review of Psychology, 64, 285-308. doi:10.1146/annurev-psych-113011-143754

2. Mujica-Parodi LR, Strey HH, Frederick B, Savoy R, Cox D, Botanov Y, Tolkunov D, Rubin D, Weber J. Chemosensory cues to conspecific emotional stress activate amygdala in humans. PLoS One. 2009 Jul 29;4(7):e6415.

[อ่านต่อ...]

21 พฤษภาคม 2566

หมอสันต์เขียนจดหมายถึงรัฐบาลใหม่ (ฉบับแผ่นเสียงตกร่อง)

 

หมอสันต์เป็นคนชอบร้อง เมื่อเห็นอันตรายจะเกิดขึ้นก็ร้อง และชอบร้องเฉพาะเวลาที่โอกาสเปลี่ยนแปลงจะมี และผมก็ทำอย่างนี้เรื่อยมา หากมองดูประวัติศาสตร์การพัฒนาระบบการแพทย์การสาธารณสุขของชาติ จะเห็นว่าการก้าวกระโดดออกจากปลักโคลนตมของปัญหายืดเยื้อเรื้อรังแต่ละครั้งเกิดขึ้นขณะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ๆ นับตั้งแต่การปฏิรูประบบสาธารณสุขครั้งใหญ่หลังการลุกฮือของนักศึกษาเมื่อ 14 ตค. 2516 แล้วก็มาถึงการเกิดระบบสามสิบบาทหลังตั้งรัฐบาลโดยพรรคไทยรักไทย พศ. 2544 แล้วก็มาถึงการเกิดระบบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หลังพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลประมาณพ.ศ. 2552 แม้ว่างานหลังนี้แบตจะหมดไปเสียก่อนกลางคันก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ได้เกิดงานจัดตั้งและเปิดป้ายขึ้นแล้ว ดังนั้นช่วงจะเปลี่ยนให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งครั้งใหม่นี่แหละ เป็นช่วงที่กระต่าย นก กา จะส่งเสียงร้องมากที่สุด และผมก็ไม่เคยทิ้งโอกาสแบบนี้แทบทุกยุคทุกสมัย บางสมัยแพทย์รุ่นน้องของผมเองเขาเป็นรัฐมนตรีผมก็ใช้วิธีจับเข่าคุย เขาก็เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง บางสมัยมีคนสนิทกันต่อท่อตรงถึงนายกรัฐมนตรีได้ผมก็เขียนจดหมายฝากไปยัดใส่มือท่าน ถึงท่านอ่านแล้วจะเฉยผมก็ไม่ว่าอะไร เพราะผมเป็นแค่กระต่าย นก กา มีหน้าที่ร้อง ผมก็ร้อง ได้ร้องแล้วผมก็พอใจละเพราะผมมีกึ๋นทำได้แค่นั้น ตอนนี้ก็เป็นเวลาที่ผมควรจะร้องอีกแล้ว และคำร้องของผมมุ่งตะโกนให้คนที่จะมามีบทบาทอำนาจในรัฐบาลฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกและรมต.สาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ผมร้องเรียนต่อเขาหรือเธอโดยตรงผ่านบล็อกนี้

    ประเด็นที่ผมจะร้องก็มีประเด็นเดียวซ้ำซากจนเป็นแผ่นเสียงตกร่องไปแล้ว คือระบบการแพทย์และสาธารณสุขของชาติกำลังไปผิดทางตรงที่เรามุ่งไปสู่การรักษาพยาบาลที่ใช้ยาและเทคโนโลยีซึ่งต้องซื้อฝรั่งเขามาและมันก็ใช่ว่าจะได้ผลกับโรคสมัยใหม่ที่เราเป็น เราต้องเลิกเดินในทิศทางนั้น กลับหลังหันมาเดินในทิศทางการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยการสนับสนุนให้ประชาชนมีศักยภาพในการสร้างเสริมสุขภาพของตัวเองได้ จัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพด้วยตัวเองได้ หากเราไม่รีบลงมือแก้เสียเดี๋ยวนี้ ระบบปัจจุบันนี้จะพาเราไปสู่ความ (ขอโทษ)..ฉิบหาย

ไม่ใช่ประเทศเราประเทศเดียวที่มีปัญหานี้ ฝรั่งอย่างเช่นอเมริกาเขาก็มีปัญหานี้ พวกนักร้องของเขาก็ร้องๆๆๆ แต่ของเขามันแก้ยากกว่าของเรา โอบามาอยู่สองสมัยก็ยังแก้ไม่สำเร็จ เพราะของเขาระบบผลประโยชน์มันถักทอกับการเมืองเสียจนแนบแน่นไม่มีทางจะแก้ปัญหาอย่างนี้ได้ แต่ของเราทำได้ เพราะเราเป็นประเทศยากจน ระบบผลประโยชน์ทางการค้าต่อการจัดการสุขภาพของผู้คนมันไม่ได้แน่นหนาขนาดนั้น เราแก้ได้ เพราะการแก้ปัญหาในปี 2516 ก็ดี ปี 2544 ก็ดี ปี 2552 ก็ดี เป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญและแหวกแนวมาก แต่ทำไมเราทำได้ละ ดังนั้นคราวนี้หากเราจะทำ เราก็ต้องทำได้แน่นอน

    ประเด็นย่อยสำคัญๆที่ผมจะร้องก็คือ

    ประเด็นที่ 1. เราจะต้องย้ายโฟกัสจากดูแลสุขภาพที่เอาโรงพยาบาลเป็นฐาน ไปสู่การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เอาศักยภาพที่จะดูแลตนเองของประชาชนที่บ้านเป็นฐาน โดยกำหนดเป็นนโยบายอย่างตรงๆ โต้งๆ และอย่างเป็นวาระแห่งชาติ และโดยกำหนดเจตนาอันแรงกล้าว่าเราจะทุ่มทรัพยากรทั้งหมดไปที่ตรงนี้ จะใช้กลไกที่มีทั้งหมดเพื่อการนี้ ไม่เว้นแม้กระทั่งกลไกภาษี

ยกตัวอย่างเช่นหากเราสร้างระบบจูงใจด้วยภาษีว่าใครที่ดัชนีสุขภาพตัวสำคัญเช่น น้ำหนัก ไขมัน ความดัน น้ำตาลในเลือด อยู่ในเกณฑ์ปกติโดยๆไม่ได้เบิกยาของรัฐมากิน ให้ใช้ผลตรวจเป็นหลักฐานลดหย่อนภาษีได้ แค่นี้คนก็จะหันมาสนใจที่จะจัดการปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังของตัวเองด้วยขึ้นมาทันที หรืออย่างเช่นหากเราขึ้นภาษีอาหารที่ทำให้เป็นโรคเรื้อรัง ลดภาษีอาหารที่รักษาโรคเรื้อรัง แค่นี้การกินอาหารของผู้คนก็จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่เอื้อต่อการป้องกันโรคเรื้อรังแล้ว

การลดคนไปโรงพยาบาลโดยให้มีอำนาจดูแลตัวเองที่บ้านได้อาศัยหมอพยาบาลเป็นผู้ช่วยแนะนำ สามารถทำได้โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารมาช่วย มีหลักฐานวิทยาศาสตร์มากเกินพอที่แสดงว่าเทคโนโลยีที่มีอยู่วันนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่บ้านได้ดีกว่าการไปโรงพยาบาลเสียอีก ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยที่ทำที่รพ.บริกแฮมแอนด์วีแมนของฮาร์วาร์ด พบว่าหากเปลี่ยนวิธีรักษาผู้ป่วยความดันเลือดสูงมาเป็นให้วัดความดันที่บ้านส่งเข้าอินเตอร์เน็ทแบบอัตโนมัติแล้วมีผู้ช่วยแพทย์ที่ได้รับการอบรมให้รู้จักใช้อัลกอริทึ่มการปรับยาติดตามให้คำแนะนำทางอินเตอร์เน็ททุกสองสัปดาห์ จะเพิ่มอัตราการความคุมความดันได้จากหากทำแบบรักษากับแพทย์ในโรงพยาบาลแบบดั้งเดิมคุมได้ 50% ขึ้นมาเป็นหากรักษาด้วยตัวเองที่บ้านคุมได้ถึง 80% ในเวลาเพียง 7 สัปดาห์ เป็นต้น

อย่าลืมว่าการปลี่ยนแปลงทางการแพทย์และสาธารณสุขที่สำเร็จอย่างดีมาแล้วในอดีตทั้งสามขั้น คือเมื่อปี 2516, ปี 2544 และปี 2552 ก็ล้วนเปลี่ยนเพื่อไปให้ถึงจุดประสงค์อันนี้ คือการมุ่งส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้สำเร็จ แต่ว่ามันเพิ่งอยู่ในระยะออกเดิน เรามาเดินต่อให้ถึงที่หมายกันเถอะ

 ประเด็นที่ 2. จะต้องย้ายโฟกัสจากการแพทย์แบบเอาโรคเป็นศูนย์กลางโดยอิงหลักฐาน (evidence based, disease centered, medicine) มาเป็นการแพทย์แบบองค์รวม (holistic medicine) โดยอิงศักยภาพในการดูแลตัวเองของประชาชน

สิ่งที่เรียกว่าการแพทย์แบบอิงหลักฐานนั้น แท้จริงแล้วมันเป็นการแพทย์แบบอิงการเบิกจ่าย (reimbursement based medicine) คืออะไรที่เบิกได้ แพทย์ก็จะทำ และสิ่งที่เรียกว่าหลักฐาน (evidence) นั้นมีข้อดีอยู่มากก็จริง แต่ขณะเดียวกันก็มีด้านมืดของมันเอง กล่าวคือหลักฐานมากกว่าครึ่งหนึ่งมันเกิดจากการลงทุนผลิตหลักฐานขึ้นมาโดยผู้ค้ายาและผู้ค้าวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เมื่อผู้ค้าเหล่านั้น “ใช้” ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้แทนขาย โดยมีหลักฐานวิทยาศาสตร์เป็นโบรชัวร์ประกอบการขาย ระบบก็ถูกมัดมือชกให้จัดสินค้าเหล่านั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่เบิกจ่ายได้ ผลก็คือเราเสียเงินมาก แต่สิ่งที่ได้กลับมาในรูปของสุขภาพของประชาชนในภาพรวมกลับน้อย

     การแพทย์แบบเอาโรคเป็นศูนย์กลางต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขามากมายยิบย่อย ผู้เชี่ยวชาญออกแบบกระบวนการผลิตได้ลึกซึ้งเฉพาะในขอบเขตความชำนาญของตนแต่มองไม่เห็นภาพรวมของปัญหา เช่นอายุรแพทย์หัวใจแบบรุกล้ำ (invasive cardiologist) สามารถออกแบบกระบวนการตรวจสวนหัวใจใส่บอลลูนขยายหลอดเลือดที่ดีที่สุดให้ได้ แต่เมื่อเราทำตามสิ่งที่เกิดขึ้นคือเราได้กระบวนการผลิตที่ใช้เงินมากแต่มีผลิตภาพโดยรวมต่ำ ยกตัวอย่างเช่น สปสช.ตั้งใจจะควบคุมโรคหัวใจจึงให้ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจมาออกแบบระบบ แต่สิ่งที่ได้มาคือศูนย์รักษาโรคหัวใจในต่างจังหวัดเป็นสิบๆแห่ง สร้างตึก ซื้อเครื่องมือ ทุกแห่งทำบอลลูนใส่สะเต้นท์ให้คนไข้ฟรีหมด ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจห้องล่างสองห้องได้ฟรี แต่ละเคสต้นทุนหลายแสนทั้งนั้น ทั้งหมดนี้ใช้เงินจำนวนมหาศาล แต่หลักฐานวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่ามันลดจุดจบที่เลวร้ายและอัตราตายของโรคหัวใจลงได้น้อยมากหรือแทบไม่ได้เลย ขณะที่อุบัติการณ์ของโรคก็เพิ่มเอาๆ

     ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัย COURAGE trial ที่ตีพิมพ์ในวารสารนิวอิงแลนด์พบว่าการทำบอลลูนใส่สะเต้นท์คนไข้โรคหัวใจขาดเลือดที่ตีบสองเส้นบ้างสามเส้นบ้างทีมีอาการเจ็บหน้าอกเกรด 1-3 ให้ผลในระยะยาวไม่ต่างจากการไม่ทำเลย

     และอีกงานวิจัยหนึ่งชื่อ OAT trial ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารเดียวกันพบว่าการเอาคนไข้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่รอดชีวิตมาได้ถึง 24 ชั่วโมงมาแบ่งรับการรักษาสองแบบคือทำบอลลูนใส่สะเต้นท์กับไม่ทำอะไร พบว่าอัตราตายและการเกิดจุดจบที่เลวร้ายในระยะยาวไม่ต่างกันเลย

     ขณะที่งานวิจัยที่รวบรวมโดยสมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Circulation พบว่าขณะที่การรักษาในระบบโรงพยาบาลลดอัตราตายโรคหัวใจลงได้ 20-30% แต่การสอนให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองด้วยดัชนีง่ายๆเจ็ดตัว (Simple 7) คือน้ำหนัก ความดัน ไขมัน น้ำตาล การกินผักผลไม้ การออกกำลังกาย และบุหรี่ มีผลลดอัตราตายลงได้ถึงประมาณ 90% (ตอนหลังเพิ่มเป็น Essential 8 คือเพิ่มการนอนหลับเข้าไปอีกหนึ่งอย่าง)

     ประเด็นที่ 3. จำเป็นต้องรีบใช้ประโยชน์จากรพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) ที่เราตั้งขึ้นมาแล้วให้เต็มที่ เราตั้งรพ.สต.มาแล้ว 14 ปี เราผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นได้ถึงปีละ 2,000 คน แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีแพทย์ไปประจำรพ.สต. แสดงว่าเรายังฝังหัวในคติเดิมว่าเราสอนแพทย์มาให้ทำแต่งานรักษาโรค ไม่ได้สอนมาให้ทำงานส่งเสริมสุขภาพเพื่อไม่ให้เกิดโรค

มันไม่สำคัญดอกว่าจะให้รพ.สต.อยู่กับกระทรวงสธ.หรืออยู่กับรัฐบาลท้องถิ่น เพราะไม่ว่าจะอยู่กับใคร รพ.สต.จะเดินหน้าได้ก็ต้องได้การสนับสนุนจริงจังจากรัฐบาลกลางอยู่ดี

ความสำเร็จของรพ.สต.นี้มันโยงใยกับการต้องเปลี่ยนคอนเซ็พท์ในการผลิตแพทย์ แพทย์ทุกวันนี้จบมาโดยที่ได้เรียนเรื่องอาหารและการโภชนาการซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ของโรคเรื้อรังคนละไม่เกิน 4 ชั่วโมงตลอดหลักสูตร 6 ปี ตัวแพทย์เองยังกินอาหารขยะและอาหารก่อโรคเป็นนิสัย และแพทย์ส่วนใหญ่เป็นโรคไขมันในเลือดสูงซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคหัวใจหลอดเลือด พูดง่ายๆว่าแพทย์ที่ผลิตออกมาแล้วทุกวันนี้ยังส่งเสริมสุขภาพตนเองไม่เป็นเลย อย่าว่าแต่จะไปช่วยส่งเสริมสุขภาพให้คนอื่น หากจะให้ไปอยู่รพ.สต.ผมว่าอยู่ได้ 7 วันก็เก่งแล้ว เพราะไม่มีใครอยากทำอะไรที่ตัวเองทำไม่เป็น ทำไปก็ไม่มีความสุข หนึไปจ่ายยารักษาโรคทำบอลลูนทำผ่าตัดอยู่ในโรงพยาบาลมันถนัดกว่า

ด้วยจำนวนแพทย์ที่จบต่อปีขณะนี้ ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องบังคับให้แพทย์ทำสัญญาใช้ทุน เพราะแพทย์จบมาแยะจนไม่มีตำแหน่งงานให้ จังหวะนี้เป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะบอกให้โรงเรียนแพทย์ผลิตแพทย์ในสะเป็คที่จะไปทำงานรพ.สต.ได้สำเร็จ โดยรัฐบาลประกันว่าจะรับเข้าทำงานทั้งหมด ถ้าไม่ได้สะเป็คนี้ไม่ประกันว่าจะรับเข้าทำงาน จะโดยวิธีตั้งโต๊ะสอบสะเป็คก่อนเข้าทำงานก็ได้ โดยวิธีนี้หลักสูตรของโรงเรียนแพทย์ก็จะเปลี่ยนได้เองอย่างรวดเร็ว โรงเรียนที่ไม่เปลี่ยนจะไม่มีใครไปเข้าเรียนเพราะเรียนไปแล้วตกงานต้องไปขายยาหรือขายเครื่องสำอางค์แทนแล้วคนที่อยากจะเป็นแพทย์จริงๆใครเขาจะไปเรียน

     ประเด็นที่ 4. ระบบการสอนสุขศึกษาและพลศึกษาในโรงเรียนจะต้องเปลี่ยน หากยังเปลี่ยนเนื้อหาหรือเปลี่ยนหนังสืออ่านประกอบไม่ได้ก็ยังไม่เป็นไร เพราะอดีตสอนเราว่าแม้มีหนังสือสุขศึกษาที่มีเนื้อหาดีเลิศและเด็กท่องจำสุขบัญญัติสิบประการได้ขึ้นใจ แต่ศักยภาพในการจะดูแลสุขภาพตัวเองของนักเรียนแทบไม่มีเลย ดังนั้นหากการเปลี่ยนเนื้อหาวิชามันยากจะเอาไว้ก่อนก็ได้ แต่ขอให้เปลี่ยนการจัดประสบการณ์เรียนรู้และสร้างทักษะในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย และการจัดการความเครียด ทักษะหมายถึงการได้ลงมือปฏิบัติ เช่นทักษะอาหารก็เกิดจากการได้ลงมือกินอาหารที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี นั่นหมายความว่าระบบอาหารของโรงเรียนจะต้องเปลี่ยน อะไรจะวางให้เด็กกินเป็นมื้อกลางวันในโรงเรียนและรอบรั้วโรงเรียนต้องเปลี่ยน เพราะถ้าไม่ได้กินอาหารสุขภาพที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีแล้วจะเกิดทักษะทางอาหารได้อย่างไร เป็นต้น

ทั้ง 4 ประการนี้คือ (1) เลิกเอาโรงพยาบาลเป็นฐาน เอาตัวประชาชนที่บ้านเป็นฐานในการสร้างเสริมสุขภาพแทน (2) เปลี่ยนวิธีดูแลสุขภาพจากการเอาโรคเป็นศูนย์กลางเป็นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (3) ใช้รพ.สต.จริงจังและเปลี่ยนวิธีผลิตแพทย์ให้ไปทำงานรพ.สต.ได้ (4) ปรับสุขศึกษาพลศึกษาในโรงเรียนเน้นการสร้างทักษะสุขภาพ เป็นคำร้องเรียนของหมอสันต์ต่อรัฐบาลใหม่ที่จะมา จะได้ผลประการใดนั้นผมเองไม่ทราบ แต่ผมร้องเรียนเพราะผมเห็นว่าเป็นหน้าที่ของหมออาชีพ เกิดมามีอาชีพนี้ ทำหน้าที่นี้มาร่วมห้าสิบปี มองเห็นภัยพิบัติในเรื่องนี้ว่ากำลังเกิดขึ้นขณะที่คนอื่นยังมองไม่เห็น ผมก็ต้องร้องให้คนอื่นมองเห็น เขาได้ยินแล้วจะเก็ทหรือไม่เก็ทจะทำหรือไม่ทำ นั่นเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ของผมแล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Boden WE, O’rourke RA, Teo KK, et al; COURAGE Trial Co-Principal Investigators and Study Coordinators.The evolving pattern of symptomatic coronary artery disease in the United States and Canada: baseline characteristics of the Clinical Outcomes Utilizing Revascularization and Aggressive DruG Evaluation (COURAGE) trial. Am J Cardiol. 2007;99:208-212.

2. Hochman JS, Lamas GA, Buller CE, Dzavik V, Reynolds HR, Abramsky SJ, Forman S, Ruzyllo W, Maggioni AP, White H, Sadowski Z, Carvalho AC, Rankin JM, Renkin JP, Steg PG, Mascette AM, Sopko G, Pfisterer ME, Leor J, Fridrich V, Mark DB, Knatterud GL; Occluded Artery (OCT) Trial Investigators. Coronary intervention for persistent occlusion after myocardial infarction. N Engl J Med. 2006 Dec 7;355(23):2395-407.

3. Naomi D.L. Fisher, Liliana E. Fera, Jacqueline R. Dunning, Sonali Desai, Lina Matta, Victoria Liquori, Jaclyn Pagliaro, Erika Pabo, Mary Merriam, Calum A. MacRae, Benjamin M. Scirica. Development of an entirely remote, non-physician led hypertension management program. Clinical Cardiology, 2019; DOI: 10.1002/clc.23141

[อ่านต่อ...]

19 พฤษภาคม 2566

ปัญหาของท่านตอนนี้คือความรู้สึกหดหู่และความคิดว่าชีวิตไม่มีค่า

ภาพวันนี้: เสจรัสเซีย (หน้า) เฟื่องฟ้า (แดงซ้าย) เข็มเศรษฐี (แดงกลาง) ทองอุไร (เหลืองขวา) หางนกยูง (แดงขวาบน)

(หมอสันต์พูดกับสมาชิก SR วัย 86 ปีท่านหนึ่ง ซึ่งมีอาชีพเป็นนักวิทยาศาสตร์)

ปัญหาของท่านตอนนี้คือความรู้สึกหดหู่และความคิดว่าชีวิตไม่มีค่า ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ถ้าตายเสียได้ก็น่าจะดีกว่า

เป้าหมายก็คือเราจะทิ้งความรู้สึกหดหู่นี้ไปแล้วทดแทนมันด้วยความรู้สึกดีๆได้อย่างไร

ท่านบอกว่าคอนเซ็พท์เรื่อง “การยอมรับ” ก็ดี คอนเซ็พท์เรื่อง “ทิ้งอัตตา” ก็ดี มันเลื่อนลอยไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์อะไรรองรับว่าทำตามนั้นแล้วจะได้ผล โอเค. เราไม่พูดจากมุมนั้นก็ได้ เรามาพูดจากมุมที่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์รองรับกันดีกว่า ว่าเราจะทำอย่างไรได้บ้างกับความรู้สึกหดหู่และความคิดลบที่ครอบเราอยู่ทุกวันนี้

วิทยาศาสตร์เรารู้แน่ชัดแล้วว่าขณะที่เรารู้สึกหดหู่อยู่ก็ดี กังวลอยู่ก็ดี เมื่อเจาะเลือดตรวจดูตอนนั้น จะพบว่ามีสารเคมีกลุ่มหนึ่งเช่น คอร์ติซอล อีพิเนฟริน หรือที่เราเรียกรวมๆกันว่าฮอร์โมนเครียด (stress hormone) สูงขึ้นในกระแสเลือดเสมอ

และเรารู้แน่ชัดจากงานวิจัยด้วยว่าขณะที่เรามีความรู้สึกดีๆ ผ่อนคลาย เบิกบาน เมื่อเจาะเลือดดู จะมีสารเคมีอีกกลุ่มหนึ่งเช่น เอ็นดอร์ฟิน โดปามีน ออกซีโตซิน เมลาโทนิน เพิ่มขึ้นอย่างเป็นจังหวะจะโคนเสมอ ขณะที่สารเคมีในกลุ่ม stress hormone กลับลดระดับลง

และเรารู้แน่ชัดแล้วจากงานวิจัยทางการแพทย์ว่ากิจกรรมอะไรบ้างที่หากเราทำแล้วจะทำให้สารเคมีในกลุ่มเอ็นดอร์ฟินเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก็มีสามสี่เรื่องใหญ่ๆได้แก่

(1) การออกกำลังกายให้ถึงระดับหนักพอควร คือหอบเหนื่อยแฮ่กๆจนร้องเพลงไม่ได้

(2) การตากแดด หรือการออกไปใช้ชีวิต out door

(3) การได้นอนหลับดีและพอเพียง

(4) การนั่งสมาธิ (meditation)

ซึ่งทั้งสี่กิจกรรมนี้บังเอิญก็เกี่ยวกันไปเกี่ยวกันมา เช่นหากเราออกกำลังกายถึงระดับเหนื่อยพอควรเราก็จะหลับง่ายขึ้น ถ้าเราขยันออกแดดเราก็จะหลับง่ายขึ้น เป็นต้น

ดังนั้น ท่านไม่ต้องไปยุ่งกับการจะต้องไตร่ตรองตีความคอนเซ็พท์ “การยอมรับ” และ “การทิ้งอัตตา” ก็ได้ แต่ขอให้ท่านลงมือทำสี่อย่างนี้ซึ่งมีงานวิจัยวิทยาศาสตร์สนับรองรับอย่างเป็นรูปธรรมแน่นอนว่าทำแล้วความรู้สึกดีๆจะเกิดขึ้นมาไล่ที่ความรู้สึกหดหู่เอง

และที่ผมอยากให้ท่านทำอีกอย่างหนึ่ง คือเมื่อท่านทำกิจกรรมเหล่านี้ เช่นหลังการออกกำลังกายจนเหนื่อยพอควรแล้วเกิดความรู้สึกดีๆขึ้น ให้ท่าน “บ่ม” หรือ “แช่” อยู่ในความรู้สึกดีๆนี้ไปให้นานเท่าที่มันจะนานอยู่ได้ นานสัก 20 นาทีได้ยิ่งดี ให้ท่าน feel ความรู้สึกดีๆนี้อย่างลึกซึ้ง อย่างละเมียด ที่ผมแนะนำอย่างนี้เพราะกลไกการเกิดความรู้สึกใดๆขึ้นในใจของเรามันเป็นผลจากการ repeat หรือการ “วนย้ำ” ความรู้สึกเดิมๆที่เคยเกิดขึ้นแล้ว มันเป็นกลไกปกติของระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งวิทยาศาสตร์รู้จักและคุ้นเคยกันดี ทุกประสบการณ์คือการ rewind เทปประสบการณ์เก่าๆในอดีต อุปมาหากเราถ่ายวิดิโอแบบแพนกล้องไปเรื่อย ต้นไม้ ภูเขา ดอกไม้ ท้องฟ้า พอเราเอาไฟล์วิดิโอนั้นมากรอกลับดูเราจะไม่เห็นอะไรโดดเด่น เพราะตอนเรากรอกลับเรากรอด้วยสปีดที่เร็วกว่าการฉายปกติเสมอ แต่ถ้าเราถ่ายวิดิโอนั้นแบบแพนกล้องไป พอมาถึงดอกไม้ เราหยุดจ่อกล้องอยู่ตรงนั้น แบบที่พวกถ่ายหนังเขาเรียกว่าฟรีซเฟรม สักพัก ก่อนที่จะแพนกล้องต่อไป พอเรามากรอวิดิโอนั้นกลับเราจะเห็นดอกไม้โดดเด่นขึ้นมา เพราะเราแช่เฟรมอยู่ตรงนั้นพักใหญ่ตอนถ่าย

ฉันใดก็ฉันนั้น ประสบการณ์ใดๆที่เราจุ่มหรือแช่อยู่ในนั้นนานๆ มันจะเป็นประสบการณ์ที่หวนกลับมาเกิดขึ้นอีกได้ง่าย ทำไมเราจึงมีแต่ความรู้สึกหดหู่ ก็เพราะอดีตที่ผ่านมาเราจุ่มแช่อยู่ในความหดหู่มากโดยไม่ได้ตั้งใจ ทางแก้ที่ผมแนะนำให้ท่านทำก็คือเมื่อท่านทำกิจกรรมสี่อย่างข้างต้นแล้วมีความรู้สึกดีเกิดขึ้น ให้ท่านจุ่มแช่อยู่กับความรู้สึกดีๆนั้นไปให้นานๆ มันจะกลายเป็นประสบการณ์ที่หวนกลับมาได้บ่อยได้ง่าย ซึ่งจะช่วย overrule ประสบการณ์หดหู่ที่ครอบครองใจเราอยู่ตอนนี้ได้

(สมาชิกทักท้วง) “แต่การออกกำลังกายถึงขั้นจะเอาให้เหนื่อยมันจะทำให้หกล้มแข้งขาหักได้”

ครับ เป็นความจริงว่าวิชาเวชศาสตร์การกีฬายังไม่มีวิธีออกกำลังกายแบบแอโรบิกสำหรับผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการลื่นตกหกล้ม แต่ผมมีหลักวิชานี้ที่จะแชร์ให้ท่านได้ ผมพัฒนามันขึ้นมาในช่วงที่ผมฟื้นฟูตัวเองหลังประสบอุบัติเหตุครั้งใหญ่ หลังหัก สะโพกหัก แขนหักสองข้าง เป็นอัมพาตสี่ตีนไปพักหนึ่ง การฟื้นฟูตัวเองในสภาพที่ตอนนั้นอายุ 69 ปีแล้ว เพิ่งลุกมาจากการนอนเตียงนานๆ การทรงตัวก็ไม่ดี แถมกระดูกเพิ่งหักไปเจ็ดตำแหน่งยังต่อกันไม่ติดดี มันมีความเสี่ยงที่กระดูกจะหักซ้ำหักซ้อนได้มาก

วิธีของผม ผมเรียกว่า free movement on soft ground หรือ “เคลื่อนไหวอิสระบนพื้นนุ่ม” พื้นที่ผมใช้ก็เป็นพื้นสนามหญ้าแต่ว่าปรับดินให้นุ่มไม่มีกรวดหิน เย็นนี้ถ้าท่านลองถอดรองเท้าถุงเท้าออกไปเดินเท้าเปล่าบนพื้นหญ้าข้างนอกก็จะเห็นว่าพื้นสนามของเวลเนสวีแคร์นี้เรียบและนุ่มเป็นพิเศษ เพราะผมตั้งใจทำให้มันเป็นอย่างนั้น ที่บ้านผมก็ทำทำพื้นหญ้าแบบทำดินนุ่มๆไว้เป็นวงกลมราวสี่ตารางวา ก็ประมาณนี้ ผมใช้เวลาออกกำลังกายทุกแบบรวมกัน ผมใช้เวลาแค่วันละ 20-30 นาที ตอนผมฟื้นฟูตัวเองใหม่ๆผมต้องฝึกการทรงตัวก่อน เวลาออกกำลังกายผมจะใช้เท้าเปล่า เพราะฝ่าเท้าของเรามีปลายประสาทที่จะช่วยกำกับการทรงตัวที่ดีมาก

(ลุกขึ้นมายืนทำท่า)

เริ่มต้นก็ปรับท่าร่างและบุคลิกก่อน เพราะผมนอนอยู่บนเตียงมานานพอกลับมาอยู่ในท่าตั้งหลังมันงุ้มไปแล้ว (ทำท่า) ผมต้องปรับท่าร่างดึงหลังให้มันตรงขึ้นมา ทำแค่นี้ก็มีปัญหากับการทรงตัวแล้ว เพราะพอดึงหลังตรงขึ้นยืดหัวขึ้นก็จะมีอาการโงงเงง ยืนจะไม่อยู่ แต่เมื่อค่อยๆยืนหยัดฝึกไปมันก็ค่อยๆหายโงงเงงไปเองในที่สุด

ปรับท่าร่างได้แล้วก็มาเริ่มเคลื่อนไหวด้วยการเดินแบบยืดหน้าอกธรรมดา แล้วก็เดินแบบพิศดารขึ้นเช่น โป้งต่อส้น (ทำท่าเดิน) เดินหน้าถอยหลัง เดินไขว้ขาไปข้าง ทำท่าคนขี้เมา แบบ body circle ยืนขาเดียวหมุนตัว ยืนขาเดียวเขย่งเท้า ถามว่าผมเคยล้มไหมขณะฝึกออกกำลังกาย ตอบว่าล้มหลายครั้งมาก แต่ด้วยการฝึกทรงตัวอย่างใส่ใจมีสติ ยิ่งล้มผมก็ยิ่งทรงตัวเก่ง คือล้มแบบรู้ตัวทุกครั้งและไม่เคยเจ็บ อาศัยว่ามีพื้นนุ่มๆช่วยด้วย

พอการทรงตัวดีแล้วผมก็มาเริ่มแอโรบิกให้ถึงระดับหนักพอควร โดยนิยามแอโรบิกระดับหนักพอควรก็คือการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดใหญ่ๆอย่างรวดเร็วจนเกิดความเหนื่อยขึ้นกับระบบหัวใจหลอดเลือดจนเรารับรู้ได้ ซึ่งเราจะรู้จากการที่เราหายใจหอบ ร้องเพลงไม่ได้เพราะมันเหนื่อย แต่พูดพอได้ มันต่างจากระดับหนักมากเหนื่อยจนซึ่งพูดไม่ได้เลย มันต่างจากระดับเบาที่ไม่รู้สึกเหนื่อยและยังร้องเพลงได้

วิธีที่จะทำตัวเองให้เหนื่อยผมก็ใช้วิธีเดินอยู่ในพื้นที่สี่วานี่แหละ เดินไป กลับหลังหัน แล้วเดินมา เมื่อเดินธรรมดาได้แล้วก็เดินยกเข่าขึ้นมาสูงเสมอสะโพกเหมือนทหารเดินแถว แบบนี้ ตึ้ง ตี้ง ตี้ง ใหม่ๆแค่นี้ก็เหนื่อยร้องเพลงไม่ได้แล้วนะ พอเก่งขึ้นผมก็เดินเร็วขึ้น กลับหลังหันแบบฟุบฟับ ต้องมีสติตลอดเวลาไม่งั้นล้ม สลับกับซอยเท้าอยู่กับที่ ถ้ายังไม่เหนื่อยก็วิ่งจ๊อกกิ้งอยู่กับที่ การซอยเท้าหรือวิ่งอยู่กับที่ก็มีหลายระดับความหนัก เราสามารถเอาจนถึงระดับหนักมากจนพูดไม่ออกก็ยังได้เลย ผมจะทำให้ดู ผมทำได้เพราะผมเพิ่ง 70 ต้นๆ ท่านไม่ต้องทำถึงขนาดนี้ก็ได้นะเพราะท่าน 86 แล้ว

(ทำท่าวิ่งยกขาสูงแกว่งแขนอยู่กับที่อย่างเร็วๆให้ดู)

“ฮึบ..ฮีบ..ฮึบ.. ฮึบ..บ”

การเคลื่อนไหวอิสระบนพื้นนุ่มให้ถึงระดับเหนื่อยพอควรที่ผมชอบทำอีกอย่างก็คือการชกลม แบบที่เขาเรียกว่า boxercise เป็นการเคลื่อนไหวแบบอิสระที่มีฟุตเวอร์คตลอดเวลา ใหม่ๆก็ทำช้าๆคล้ายๆรำมวยจีนหรือไทชิ พอแข็งแรงดีก็ทำเร็วขึ้น แบบนี้

“แย็บซ้าย แย็บขวา ฮุคซ้าย ฮุคขวา ตีศอกซ้าย ตีศอกขวา ตีเข่าซ้าย ตีเข่าขวา ถีบซ้าย ถีบขวา เตะซ้าย เตะขวา ฟาดหางซ้าย ฟาดหางขวา”

แล้วก็เอาทุกท่ามารวมกันไปอย่างต่อเนื่อง

“แย็บซ้าย แย็บขวา เตะซ้าย ฟาดหางขวา ตีเข่าซ้าย….”

ทำจนเหนื่อยพอควร หอบแฮ่กๆ ร้องเพลงไม่ได้ อย่างนี้คึอแอโรบิกที่จะทำให้เอ็นดอร์ฟินมันออกมาในกระแสเลือด

นอกจากแอโรบิกแล้วใน 20-30 นาทีนี้ผมก็เล่นกล้ามด้วยนะ หมายถึงการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งผมก็เน้นอยู่แค่สามท่า สองท่าแรกเป็นการฝึกท่อนล่าง คือสะโพก หน้าขา หลังขา น่อง หน้าแข้ง ซึ่งเป็นท่าบังคับสำหรับผู้สูงอายุทุกคน เอ้าทุกคนลุกขึ้นมาทำตามผมไป

ท่าที่ 1. เรียกว่านั่งยองหรือ squat แบบนี้ ขึ้นลงช้าๆ ลงหายใจเข้า ขึ้นหายใจออก ครั้งที่1 ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ปกติผมจะทำ 10-15 ครั้ง

ท่าที่ 2. เรียกว่าก้าวขาย่อเข่า หรือ lunges ทำแบบนี้ ก้าวขาขวาไปข้างหน้าไปจนสุด จนส้นเท้าหลังลอยจากพื้น ยืดตัวให้ตรง แล้วย่อเข่าหลังลงไปจนเข่าเกือบไปชนพื้น ท่านย่อเท่าที่ย่อได้ก็พอ เพราะคนไม่เคยฝึกกล้ามเนื้อไม่แข็งจะย่อไม่ได้ แล้วก็ค่อยๆใช้กำลังขายกตัวเองกับขึ้นมา ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 แล้วก็สลับขา เอาขาซ้ายก้าวออกไปบ้าง

ท่าที่ 3. เป็นการฝึกท่อนบน คราวนี้ท่านไม่ต้องทำตามผมตอนนี้ก็ได้ เป็นท่าวิดพื้น แบบนี้ ช้าๆ ลงหายใจเข้า ขึ้นหายใจออก ทำครั้งละ 10-15 รอบ ใหม่ๆก็ฝึกวิดกับผนัง หรือวิดกับโต๊ะเก้าอี้ก่อนก็ได้

ทั้งหมดนี้ผมใช้เวลาราวสามสิบนาที มือเปล่า เคลื่อนไหวอิสระบนพื้นนุ่ม ผมทำจนเหนื่อย เหนื่อยแล้วผมก็หยุดชมวิว สูดอากาศ จุ่มแช่อยู่ในความรู้สึกดีๆที่เกิดขึ้นนานๆ

ใครที่ทำพื้นสนามหญ้านุ่มๆที่บ้านไม่ได้ก็ไปซื้อแทรมโปลีนที่กว้างสักหน่อยมาตั้งก็ใช้เป็นพื้นนุ่มสำหรับออกกำลังกายได้ทั้งแบบทรงตัว แอโรบิก และเล่นกล้ามโดยไม่มีความเสี่ยงกระดูกหักได้เช่นกัน

ท่านลองเอาไปประยุกต์ทำเองดูนะครับ

ผมสรุปอีกทีนะ ไม่ต้องสนใจคอนเซ็พท์การยอมรับหรือการทิ้งอัตตาก็ได้ถ้าไม่อินกับมัน แต่ให้ปฏิบัติสี่อย่างเพื่อเพิ่มเอ็นดอร์ฟินแทนคือ (1) ออกกำลังกายจนเหนื่อย (2) ออกแดดทุกวัน (3) นั่งสมาธิห้านาที (4) นอนให้พอ

ทำแล้วมีความรู้สึกดีๆเกิดขึ้นแล้ว ให้จุ่มแช่อยู่ในความรู้สึกดีๆนั้นให้นานๆ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

……………………………………………………………

[อ่านต่อ...]

16 พฤษภาคม 2566

ผมนักเรียน SR นะครับ มีคำถามครับ

(ภาพวันนี้: กลับจากท่องเที่ยวเดินป่า มาประจำการที่บ้านมวกเหล็กแล้ว มีเวลามองความสวยงามรอบบ้านอีกครั้ง)

ผมนักเรียน SR นะครับมีคำถามครับอ. พร้อมส่งรูปมาให้ดูเผื่ออ.จำผมได้

ตอนที่ได้ฝึกทำอานาปานสติกับอ.ตอนนั้น ตอนนั้นผมบอกอ.ว่าทำแล้วใจฟู แน่นๆ หลักจากนั้นผมก็ผ่านการปฏิบัติ กระบวนการเรียนรู้ต่างๆไปเรื่อยๆหลากหลาย พยายามจะครองความรู้ตัวไว้ตลอดเวลาและพิจารณาเฝ้ารอความคิดบ่อยๆ และปฏิบัติแบบนั่งสมาธิบ้างประปราย โดยทุกครั้งที่ทำอานาปาณสติหรือเจริญสติบางอย่าง จะมีความรู้สึกใจฟูอยู่เนืองๆเสมอ ผมก็พยายามเฝ้าดูความรู้ตัวนี้และมีสติไม่ให้จมกับความรู้สึกอิ่มเอม ความรู้สึกเต็มมากเกินไป และรู้ตัวอยู่ตลอด

จนกระทั่งผมได้ไปค้นพบคลิปนึงในช่องต่างประเทศเรื่องการเปิดจักรตาที่3 และทำให้ผมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปหลังทดลองทำแล้วเปิดจักระตาที่สามออก มันทำให้ผมรู้สึกเต็ม รู้สึกแน่น รู้สึกปิติเป็นล้นพ้น โดยไม่ต้องปฏิบัติ และใช้ชีวิตอย่างมีความรู้ตัวมากขึ้น เหมือนเพิ่ม awareness จากเดิมโดยที่ไม่ต้องพยายามมาก ซึ่งผมก็พยายามไม่อินกับความรู้สึกปิตินี้ และเฝ้าดูมันอยู่ห่างๆ แต่ก็รู้สึกทราบซึ้งและขอบคุณ ที่เรามาเจอสิ่งนี้ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างรู้ตัวมากขึ้น เพราะเหมือนจะมีความรู้สึกหน่วงบริเวณหัวคิ้ว ตำแหน่งที่ตรงกับจุดของpineal gland (ผมจบแพทย์มาแต่ไม่ได้practiceทางแพทย์แล้ว) สิ่งที่มหัศจรรย์คือก่อนหน้านี้ผมนอนหลับผมจะไม่เฟรชตลอดจนคิดว่าตัวเองน่าจะเป็น OSA แต่หลังเปิดตาที่ 3 ผมก็ไม่ต้องงีบช่วงบ่ายอีก ไม่ทราบว่าอ.มีความเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ครับ ตอนนี้ที่ผมอยากรู้คือผมไม่ได้คิดไปเองใช่ไหม 

เพราะสิ่งนี้ไม่ได้มาจากการคิด แต่มาจากข้างในเป็นความรู้สึก เหมือนตอนแรกหัวใจผมเปิดออกอย่างเดียว ตอนนี้ตาผมเปิดออกด้วย แต่ผมจะพยายามไม่อินมากครับ เพื่อคงความรู้ตัวในความปิตินี้ไว้ เพราะชีวิตผ่านช่วงที่มหัศจรรย์กับการปฏิบัติและยึดในตัวตนช่วงปฏิบัติมาแล้ว ตอนนี้เหมือนเป็นสิ่งที่ก้าวกระโดดแต่พยายามยั้งตัวเองไว้ไม่ให้ตื่นเต้นและรู้ตัวเวลาตื่นเต้น และบอกใครเพราะไม่อยากให้ส่งผลต่อการหลงว่ามีตัวตนของตัวเอง  ครั้งนี้ทำให้ผู้รู้สึกถึงความรัก ความเมตตากรุณา ปิติเป็นล้นพ้น จริงๆ

ถ้าอ.อ่านแล้วงง ผมสรุปคำถามคือ ผมไม่ได้บ้าหรือมีมิจฉาสมาธิใช่ไหมครับ แล้วเหมือนจะมีอะไรพยายามguideเราตลอด สิ่งนี้รึเปล่าครับที่เรียกปัญญาญาณ เวลาใจเราที่บอกว่าใช่ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราไม่ได้ติดในกับดักครับ เพราะผมเชื่อว่าทุกคนมีเส้นทางการตื่นที่แตกต่างกัน หลากหลายวิธีการ ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร 

ขอบคุณอ.ครับ

………………………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่าฝึกสมาธิแบบเปิดจักระตาที่ 3 แล้วมีความปิติตื่นเต้นลิงโลดใจเป็นล้นพ้น อย่างนี้เป็นบ้าหรือเปล่า ตอบว่าไม่ได้เป็นบ้าหรอกครับ

ก่อนจะคุยกับคุณต่อไปขอเกริ่นให้ท่านผู้อ่านนิดหนึ่ง เรื่องที่หนึ่ง ว่าจักระตาที่สามนี่มันคืออะไรกัน คำว่าจักระเป็นคำพูดของพวกโยคีที่เล่นเรื่อง “พลังชีวิต” ว่าพลังชีวิตในร่างกายเรานี้มันมีศูนย์รวมใหญ่ๆอยู่เจ็ดจุดตามแนวกระดูกสันหลังจากก้นทะลุหัว จุดที่สองนับจากข้างบนเรียกว่าจักระตาที่สาม ซึ่งมีตำแหน่งอยู่ตรงกลางหัวประมาณตำแหน่งของต่อมไพเนียลในวิชากายวิภาคศาสตร์ของแพทย์พอดี ทั้งหมดนี่เป็นแค่คำนิยามหรือคอนเซ็พท์ของโยคีแค่นั้นนะ คนที่ไม่ได้ยุ่งอะไรกับโยคีเขาไม่มีตาที่สามนี่ด้วยหรอก

เรื่องที่สอง ว่าการทำสมาธิเปิดจักระตาที่สามนี่เขาทำกันยังไง ผมเล่าให้ฟังว่ารากของคอนเซ็พท์นี้มันมาจากหลักวิชา 8 ขั้นตอนสู่ความหลุดพ้นที่เขียนไว้โดยโยคีชื่อปตัญชลีเมื่อประมาณ 2000 ปีมาแล้ว ในขั้นตอนที่ห้าชื่อการหดหรือถดถอยจากอายตนะปกติ (Pratyahara) เป็นการเลิกสนใจรับรู้อะไรที่ผ่านเข้ามาทางอายตนปกติทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง สัมผัส หรือความคิดที่โผล่เข้ามาในใจ ไม่เอาทั้งนั้นเพิกเฉยหมด เพราะทั้งหมดนั้นเป็นโลกของภาษาหรือโลกของตรรกกะเดิมๆหรือเป็น known ที่มีแต่จะชักพาให้วนเวียนอยู่ในอ่างเก่าๆไม่ไปไหนสักที จึงต้องปิดการรับรู้ผ่านอายตนเหล่านั้นทั้งหมดเสียเหมือนเต่าหดหัว หดหาง หดมือ หดตีนเข้าไปอยู่ในกระดองหมด อะไรที่บอกเป็นภาพ เสียง ภาษา หรือตรรกะได้ ไม่เอาเลย เพื่อจะเปิดตนเองออกไปสู่ unknown อันเป็นย่านที่ตนเองไม่เคยรู้จักมาก่อน การทิ้งโลกที่เป็น known ไปสู่ unknown นี่แหละที่เรียกกันเป็นสำนวนว่าเป็นการเปิดตาที่สาม กลไกการปฏิบัติที่แท้จริงก็คือการจดจ่อสมาธิ (selectively focus) ที่ทำกันอยู่ในทุกกลุ่มความเชื่อทุกศาสนานั่นเอง ต่างกันแต่เทคนิคปลีกย่อยขั้นละเอียดว่าใครจะเอาอะไรมาเป็นเป้าในการจัดจ่อแบบ selectively focus นี้

กลับมาคุยกับคุณหมอต่อ ที่ผมตอบว่าคุณหมอไม่ได้บ้าก็เพราะเราจะไปเรียกคนที่มีความกระดี๊กระด้าตื่นเต้นลิงโลดใจหรือคนที่ joyful หรือ blissful ว่าเป็นคนบ้าได้อย่างไร คนอย่างนั้นแหละคือคนแบบที่ทุกคนควรจะเป็น ส่วนคนที่หน้ายาวๆในหัวเต็มไปด้วยคอนเซ็พท์หรือความคิดยึดถือร้อยแปดจนวันๆหาความเบิกบานในชีวิตไม่ได้ ได้แต่หงิกหน้าใส่คนอื่นทั้งวัน คนแบบนี้ต่างหากคือคนบ้า จะบ้าดี บ้าเกียรติ บ้าเงิน ฯลฯ ก็ล้วนบ้าเหมือนกันหมด

2.. ถามว่าฝึกสมาธิแบบเปิดจักระตาที่ 3 แล้วเกิดความรัก เมตตา ปิติตื่นเต้นลิงโลดใจเป็นล้นพ้น เป็นมิจฉาสมาธิหรือเปล่า ตอบว่าไม่ได้เป็นมิจฉาสมาธิหรอกครับ

เรามาย้อนที่มาของคำว่า “มิจฉาสมาธิ” นี้สักนิด มันเป็นคำที่มาคู่กับคำว่า “สัมมาสมาธิ” คำว่า “สัมมา” ในภาษาบาลีนี้แปลกันเป็นภาษาไทยว่า “ชอบ” ซึ่งมาจากคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนครั้งแรกเลยเรื่องการยอมรับทุกสิ่งโดยอยู่นิ่งๆตรงกลาง ไม่แกว่งไปกอดรัดสิ่งที่อยากได้ ไม่แกว่งหนีสิ่งที่ไม่อยากได้ ซึ่งท่านได้สอนให้ปฏิบัติได้ในการทำกิจในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะคิด จะพูด จะทำ จะประกอบอาชีพ คือไม่ว่าจะทำอะไรก็ให้ทำแบบ “สัมมา” หรือแบบ “ชอบ” คือทำไปโดยประคองใจให้อยู่นิ่งๆตรงกลางไม่แกว่งไปกอดรัดสิ่งที่อยากได้ หรือแกว่งหนีสิ่งที่ไม่อยากได้ ดังนั้นการทำสมาธิแบบใดๆก็ตามที่ไม่พาใจไปกอดรัดสิ่งที่ชอบหรือพาใจหนีสิ่งที่ไม่ชอบก็ล้วนเป็นสัมมาสมาธิทั้งสิ้น  

3. ถามว่าฝึกสมาธินานไปแล้วเหมือนจะมีอะไรพยายาม guide เราตลอด สิ่งนี้เรียกปัญญาญาณหรือเปล่า ตอบว่าจะเรียกว่าปัญญาญาณก็ได้ครับ

กลไกการเกิดของสิ่งที่เรียกว่าปัญญาญาณเป็นกลไกง่ายๆไม่ซับซ้อน คือเมื่อความคิดที่ห่อหุ้มบดบังการรับรู้ของเราไว้หมด 360 องศาเริ่มจางลงหรือหมดไป เราก็เริ่มเห็นหรือรับรู้ unknown ซึ่งก่อนหน้านั้นมันก็อยู่ที่นั่นแหละแต่มันถูกบดบังด้วยความคิด ดังนั้นสังหรณ์ใดๆที่โผล่ขึ้นมาชี้นำเรายามที่เราปลอดความคิด จึงเรียกว่าเป็นปัญญาญาณได้ทั้งหมด

4.. ถามว่าเวลาที่ใจเราบอกว่าใช่ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใช่จริงโดยไม่ได้ถูกหลอกให้ติดในกับดัก ตอบว่า เราไม่มีทางรู้ได้ ต้องทดลองหยิบไปใช้ ใหม่ๆหยิบผิดหยิบถูกเป็นธรรมดา แต่นานไปเราจะจับไต๋ได้และหยิบถูกเกือบจะทุกครั้ง

ความลังเลตรงนี้มันเกิดจากเราฝึกการสนองตอบของเราโดยใช้ความคิดอ่านเชิงเหตุผลตรรกะ (intellect) มาเสียจนเคยชิน พอมีกลไกใหม่ที่นำเสนอในรูปของพลังชีวิตหรือความรู้สึกกระดี๊กระด๊า มันเป็นของใหม่ เราจึงลังเล นี่มันเป็นธรรมดา การกล้าลองเป็นทางเดินหน้าทางเดียว อย่าหันกลับไปหาตรรกะของเหตุและผลแบบเดิมๆอีก เพราะอย่าลืมว่าเรากำลังดิ้นรนออกจาก known ไปสู่ unknown ถ้าเราจำกัดจำขังตัวเองไว้ในตรรกะของเหตุและผลเดิมๆ แล้วตลอดชาติเราจะได้รู้จัก unknown ได้อย่างไรละครับ คุณหมอลองตรองดู

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ 

[อ่านต่อ...]

15 พฤษภาคม 2566

ปู่สันต์สอนเด็กๆฝึกสมาธิ

กินอื่มกันดีแล้ว คราวนี้ปู่จะชวนให้ทุกคนมาฝึกสมาธิแบบโยคี เพราะปู่สันต์มีครูเป็นโยคี จะถ่ายทอดวิชาโยคีให้

(เด็กยกมือ) “โยคีคืออะไรคะ”

โยคีก็คือคนที่ทิ้งบ้านเรือน อาศัยอยู่ตามป่าตามเขา ขออาหารเขากิน ไว้หนวดเครายาว บ้างก็ไม่นุ่งผ้านุ่งผ่อน ไม่มีทรัพย์สมบัติของตัวเอง (เด็กยกมือ)

“โยคีกับฤาษีเหมือนกันป่าวคะ”

เหมือนกันแหละ

(เด็กยกมือ) “แล้วเขาเป็นโยคีกันไปทำไมละครับ”

เขามุ่งหาความสงบสุขที่อยู่ข้างในใจ ไม่มุ่งเสาะหาหรือครอบครองเงินหรือวัตถุที่อยู่ข้างนอก เพราะเขาไม่เชื่อว่าเงินหรือวัตถุนั้นจะทำให้เกิดความสงบสุขที่แท้จริงได้

เอ้า หยุดคำถามไว้ก่อน เริ่มฝึกได้แล้วเดี๋ยวจะหมดเวลา ทุกคนนั่งขัดสมาธิแบบที่ปู่นั่งอยู่นี้ มีใครนั่งไม่ได้บ้าง ดีแล้ว นั่งได้ทุกคน

คราวนี้ยืดหลังให้ตรงขึ้น การเป็นโยคีต้องหลังตรง โยคีหลังค่อมไม่มี

ขั้นที่หนึ่ง เรามารู้จัก “ความสนใจ” หรือ attention ของเราก่อน เวลาเราไปเป็นคนโดยสารอยู่ที่สนามบิน มักได้ยินเขาประกาศว่า

“Attention please..”

คนโดยสารก็จะทิ้งความสนใจจากความคิดที่ล่องลอยคิดอะไรเรื่อยเปื่อยอยู่ หันเหความสนใจมาจดจ่อรอฟังว่าเขาจะประกาศข่าวเรื่องอะไร

เอ้าคราวนี้ปู่จะประกาศบ้าง พอประกาศแล้วให้ทุกคนดึงความสนใจออกมาจากความคิดมาจดจ่ออยู่ตรงหน้าเรานี้

“Attention please..”

ขั้นที่สอง ให้ทุกคนเอาความสนใจมา จดจ่ออยู่ที่ลมหายใจ ให้ทุกคนหายใจไปพร้อมกัน การหายใจแบบโยคีเป็นการหายใจลึก deep breathing โดยปู่จะนับให้จังหวะ

เมื่อเริ่มหายใจเข้า ปู่จะพููดว่า “หายใจเข้า” แล้วปู่จะนับ 1, 2, 3, 4 ขณะปู่นับให้หายใจเข้าลึกๆห้ามหยุด

พอนับถึง 4 แล้วปู่จะบอกว่า “กลั้นไว้” แล้วปู่จะนับอีก 1, 2, 3, 4 ให้ทุกคนกลั้นหายใจไว้ห้ามหายใจออก

พอนับถึง 4 แล้วปู่จะบอกว่า “ปล่อยออก” แล้วปู่จะนับ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8 ให้ทุกคนผ่อนลมหายใจออกตามสบาย พอหมดลมแล้วหากปู่ยังนับไม่ถึงแปดอย่าเพิ่งหายใจเข้า ให้หยุดรอ จนปู่นับถึงแปด แล้วรอให้ปู่บอกว่า “หายใจเข้า” ก่อนจึงเริ่มหายใจเข้าใหม่ได้

เอ้าคราวนี้ทำไปพร้อมกัน ยืดตัวขึ้น อย่านั่งหลังโกง พลังชีวิตจะวิ่งไม่ได้ เพราะพลังชีวิตต้องวิ่งตามแนวกระดูกสันหลัง เอ้าเริ่ม

หายใจเข้า 1, 2, 3, 4

กลั้นไว้ 1, 2, 3, 4

หายใจออก 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8

นี่เรียกว่าหายใจแบบ 448 หรือ deep breathing เอ้า คราวนี้ทุกคนหายใจแบบ 448 เอง นับเอง หลังโกงอีกละ ยืดหลังขึ้น อย่าหลังโกง

ขั้นที่สาม เรามาฝึก ผ่อนคลายกล้ามเนื้อร่างกาย ขณะที่หายใจลึกแบบ 448 อยู่นี้ จังหวะหายใจออกให้ทุกคนผ่อนคลายกล้ามเนื้อทั่วตัวตั้งแต่หัวจรดเท้า ผ่อนคลาย relax เราผ่อนคลายกล้ามเนื้อเพื่อให้ความคิดในหัวหายไป เพราะความคิดเกิดพร้อมกับการหดตัวของกล้ามเนื้อ และหายไปเมื่อกล้ามเนื้อคลายตัว

เราจะรู้ว่าเราผ่อนคลายได้ก็ด้วยการดูที่ใบหน้าตัวเอง ดูว่าเรายิ้มที่มุมปากแบบสบายๆเหมือนพระพุทธรูปในโบสถ์ได้หรือเปล่า ถ้าเรายิ้มไม่ได้ก็แสดงว่าเราผ่อนคลายไม่ได้

เอ้าทุกคนเอามาสก์ลง ให้ปู่เห็นปาก

ปู่จะเดินดู

ใครที่ยิ้มไม่ได้แสดงว่ายังมีความคิดค้างอยู่ในหัว ปู่จะได้ช่วยเอาไม้ตะพดนี่เคาะให้ความคิดมันกระดอนออกมา

ดีมากทุกคนยิ้มได้แล้ว

ขั้นที่สี่ เราจะฝึก “แอบดูความคิด” ความคิดไม่ใช่เรานะ เราเป็นผู้สังเกตเห็นความคิดของเราได้ ในการสังเกตดูความคิดเราใช้วิธีแอบดูนิดเดียวพอให้รู้ว่าเมื่อกี้เราคิดอะไรอยู่ เอาแต่หัวเรื่อง ดูรู้แล้วก็รีบกลับมาอยู่กับลมหายใจ เพราะหากดูตรงๆนานๆเราจะถูกความคิดดูดเข้าไปคิดต่อ อย่างนั้นกลายเป็น “การคิด” ไม่ใช่ “การแอบดู” แล้ว

เราแค่ฝึกแอบดูความคิด

เอ้า นั่งสมาธิหายใจแบบ 448 และผ่อนคลายไปยิ้มไป ปู่จะตีระฆังทุกหนึ่งนาที พอได้ยินเสียงระฆังให้แอบดูความคิดตัวเองว่าเมื่อตะกี้ตัวเองคิดอะไรอยู่ รู้แล้วก็รีบกลับมาอยู่กับลมหายใจ เอ้า พร้อม เริ่ม หลับตา ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น หายใจเข้า 1, 2, 3, 4

เก๊ง..ง

เอ้า ลองย้อนกลับไปดูในใจซิ เมื่อตะกี้ก่อนระฆังจะดัง เราคิดอะไรอยู่ รู้ว่าคิดอะไรแล้วก็รีบกลับมาอยู่กับลมหายใจต่อ

ขั้นที่ห้า เราจะฝึก “จดจ่อสมาธิ” โดยอาศัยตาที่สาม ตาที่สามเป็นตาสมมุติว่าอยู่ตรงกลางหน้าผาก เมื่อเราหลับตาเรามองไม่เห็นอะไร แต่เราสมมุติว่าเราเปิดตาที่สามขึ้น มองออกไปยังความมืดที่ว่างเปล่าตรงหน้า จดจ่ออยู่ตรงนั้นให้ลึกละเอียดลงไป ลึกละเอียดลงไป

ในการจดจ่อเราเพิกเฉยต่อภาพ เสียง สัมผัส หรือความคิดใดๆที่โผล่ขึ้นมาเสียทั้งหมด ได้ยินเสียงก็แค่ได้ยิน แต่ไม่สนใจ ความคิดโผล่มาก็แค่แอบดูรู้ว่าความคิดโผล่มา แต่เราไม่สนใจไปดูรายละเอียด

ให้มุ่งสนใจจดจ่อความว่างเปล่าอันดำมืดตรงหน้าด้วยตาที่สาม จดจ่อให้เห็นที่จุดเดียวตรงหน้าให้ลึกละเอียดลงไป ลึกละเอียดลงไป ผ่อนคลายร่างกายไปด้วย ยิ้มไปด้วย ปู่จะตีระฆังทุกหนึ่งนาที เราจะนั่งฝึกจดจ่อสมาธิกันห้านาที

เก๊ง..ง

เอ้า ครบห้านาทีแล้ว ลืมตาได้

สรุปว่าเราได้เรียนวิธีนั่งสมาธิซึ่งมีห้าขั้นตอนคือ (1) ดึงความสนใจออกมาจากความคิดมาอยู่ตรงหน้าก่อน แล้ว

(2) หายใจลึก แล้ว

(3) ผ่อนคลายร่างกาย แล้ว

(4) แอบดูความคิด แล้ว

(5) จดจ่อสมาธิผ่านตาที่สาม

(เด็กยกมือ) “ผมใช้ตาที่สามแล้วไม่เห็นอะไรมีแต่ดำมืด”

ก็เห็นความว่างเปล่าอันดำมืดไง

(เด็กยกมือ) “หนูนั่งสมาธิไปแล้วสีดำกลายเป็นแสงสว่างขาวๆเรื่ออยู่อย่างนั้น เป็นไรไหมคะ”

ดีแล้ว นั่นคืออาการที่เราตื่นอยู่ รู้ตัวอยู่ โดยไม่มีความคิด หรือเรียกว่าเรากำลังมีสมาธิ ตรงนี้แหละเป็นที่ที่เราจะได้สัมผัสกับความสงบเย็นในใจเรา ให้ทุกคนหาเวลาฝึกมาที่ตรงนี้บ่อยๆ แล้วใจเราจะสงบเย็น

(เด็กยกมือ) “หนูเห็นผี มันแลบลิ้นใส่หนูด้วย”

การเห็นผีหรือเห็นอะไรก็ตามขณะนั่งสมาธิมันเป็นธรรมดา เห็นก็เห็น แค่รับรู้ แล้วเดินหน้ากับการจดจ่อของเราต่อไป ไม่ต้องไปใส่ใจผี ผีก็เหมือนความคิดนั่นแหละ มันมาเอง เดี๋ยวมันก็ไปเอง

(เด็กยกมือ) “ผีมีจริงด้วยหรือครับ”

ทุกอย่างที่เราเห็นหรือได้ยิน เราเห็นหรือได้ยินจริงๆทั้งนั้นแหละ จะพูดว่าประสบการณ์ทุกประสบการณ์เป็นของจริงก็ได้ แต่มันดำรงอยู่แค่ช่วงที่เราเห็นหรือได้ยิน มันไม่ได้ดำรงอยู่อย่างถาวร

เอ้า หมดเวลาแล้ว ทุกคนผ่อนคลายกล้ามเนื้อซิ ยิ้มที่มุมปากให้ปู่ดูซิ

เป็นหลานของปู่สันต์ต้องยิ้มที่มุมปากทุกครั้งที่หายใจออก

เป็นหลานของปู่สันต์ตัองเป็นคนเบิกบาน ต้อง joyful

เป็นหลานของปู่สันต์ต้อง joyful จำไว้นะ

เอ้า ก่อนจากกัน ไหนบอกปู่หน่อยซิ ว่าเป็นหลานของปู่สันต์ต้อง…

“JOYFUL”

โอเค้ ดีมาก ไปพักได้

……………………………………………………………………

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

14 พฤษภาคม 2566

มะเร็งกระเพาะอาหาร.. ขอให้ช่วยตั้งหลัก

(ภาพวันนี้: หมอสันต์เคยคิดทำสวนกุหลาบ แต่เห็นคนอื่นทำแล้วมันช่างยากเย็น ก็เลยถอดใจ)

คุณหมอสันต์ที่เคารพ

ดิฉันอายุ 66 ปี เพิ่งเกษียณได้หนึ่งปี เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร invasive adenocarcinoma เพิ่งทราบผลการตัดชิ้นเนื้อจากการส่องตรวจกระเพาะอาหารวันนี้แบบตั้งหลักไม่ทัน ก้อนขนาดเล็กกว่า 1 ซม. ผลเอ็กซเรย์และ CT ไม่พบว่ามะเร็งแพร่กระจายไปไหน ผลตรวจ HER2 ได้ผลลบ หมอแนะนำไปคนละทาง หมอผ่าตัดให้ผ่าตัดอย่างเดียว หมอเคมีบำบัดให้ใช้เคมีบำบัดก่อนและหลังผ่าตัด อยากปรึกษาคุณหมอสันต์ว่าควรตั้งหลักตัดสินใจอย่างไร และควรสอนลูกหลานไม่ให้เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้อย่างไร

ขอบพระคุณหมอสันต์ที่ให้ความรู้แบบเชื่อถือได้แก่ประชาชน

………………………………………………………………………….

ตอบครับ

1.. ถามว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารแล้วควรรักษาอย่างไร ตอบว่าในภาพใหญ่การรักษามะเร็งกระเพาะอาหารที่ได้ผลเชื่อถือได้มากที่สุดมีวิธีเดียวคือการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก ถ้าเอาออกได้หมดก็หายได้ ดังนั้นการผ่าตัดเป็นวิธีที่ต้องทำก่อนวิธีอื่น ส่วนการจะผ่าตัดแบบไหน (ตัดกระเพาะออกทั้งหมด (total gastrectomy) หรือตัดกระเพาะออกเกือบทั้งหมด (subtotal gastrectomy) หรือตัดกระเพาะด้วยแล้วเลาะต่อมน้ำเหลืองแบบเลาะน้อย (D1 node dissection) หรือแบบเลาะมาก (D2 node dissection) ทั้งหมดนี้ต้องมอบให้หมอผ่าตัดเป็นผู้ตัดสินใจแต่ผู้เดียว โดยหมอเขามีเป้าหมายตัดเนื้องอกออกให้หมดเป็นสำคัญ และการตัดสินใจมักจะถูกเปลี่ยนแปลงด้วยสิ่งที่เขาพบเห็นในห้องผ่าตัด จะให้เขาสัญญาก่อนว่าทำผ่าตัดแบบไหนแค่ไหนคงเป็นไปไม่ได้

ส่วนการรักษาอย่างอื่นเช่นจะให้ยาเคมีบำบัดหรือไม่ ไม่ว่าจะให้แบบทั้งนำหน้าก่อนผ่าตัดและตามหลังการผ่าตัด (neoadjuvant chemotherapy) หรือจะให้ยาเคมีบำบัดแบบตามหลังการผ่าตัดอย่างเดียว (adjuvant chemotherapy) ทั้งสองแบบเป็นวิธีการรักษาที่วงการแพทย์ทำกันมาทั้งคู่ ถือว่าทั้งเป็นการรักษามาตรฐาน และทั้งเป็นเป็นประเพณีนิยม แต่ผลการรักษายังเป็นที่โต้แย้งกันอยู่ (controversial) ว่าดีคุ้มค่าเมื่อเปรียบกับการผ่าตัดอย่างเดียวหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีประเด็นชนิดของยาเคมีบำบัดและยาใหม่ในกลุ่ม monoclonal antibody ซึ่งมีประเด็นโต้แย้งมาก ว่ายาตัวไหนดีกว่าตัวไหน สูตรไหนดีกว่าสูตรไหน แต่ในภาพใหญ่แล้วอัตรารอดชีวิตเฉลี่ย (mean survival rate) ของยาเคมีบำบัดทุกชนิดล้วนต่างกันอย่างมากก็ไม่เกิน 3-6 เดือน ยาใหม่จะมีข้อมูลดูดีกว่ายาเก่าเพราะเพิ่งทำวิจัยในคนไข้กลุ่มเล็ก แต่พอใช้นานไปข้อมูลมากขึ้นก็จะค่อยๆพบว่าไม่แตกต่างจากยาเก่ามาก ดังนั้นผมจะขอไม่พูดถึงว่ายาเคมีบำบัดตัวไหนดีตัวไหนไม่ดี เพราะผลมันแตกต่างกันน้อย แม้ว่าราคาจะต่างกันมากก็ตาม ผมจึงขอแนะนำว่าควรต้องทำผ่าตัด ส่วนจะใช้เคมีบำบัดร่วมด้วยหรือไม่ จะใช้ยาตัวไหน นั่นสุดแล้วแต่คุณชอบ

2.. ถามว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารควรดูแลตัวเองอย่างไร ตอบว่าวงการแพทย์ยังไม่มีความรู้ว่าคนเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารควรดูแลตัวเองอย่างไรเป็นพิเศษ ผมจึงได้แต่ใช้คำแนะนำการดูแลตัวเองของผู้ป่วยมะเร็งในภาพรวม ว่าควรจะ (1) กินอาหารพืชที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผักผลไม้ (2) ลดการกินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ลง (3) ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน (4) ดูแลการนอนหลับของตัวเองให้ดี รวมทั้งขยันออกแดดทุกวันเพื่อให้การนอนหลับดีขึ้น (5) ฝึกลดความเครียดในใจลง ผ่านการฝึกวางความคิด ด้วยกิจกรรมเช่นนั่งสมาธิ รำมวยจีน ฝึกโยคะเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น

3.. ถามว่าจะบอกลูกหลานให้ป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหารอย่างไร ตอบว่าข้อมูลที่วงการแพทย์มีในปัจจุบัน สิ่งที่ทำให้เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้นมีดังนี้

(3.1) การกินอาหารพวกปลาหมักและเนื้อที่หมัก หรือที่ดองเค็ม หรือที่ย่าง หรือที่เผา ทำให้เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น เฉพาะผลของอาหารดองเค็มต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารนี้รวมไปถึงผักดองเค็มด้วย

ในทางกลับกัน การกินอาหารกลุ่มผักสดและผลไม้สด ทำให้เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารน้อยลง

(3.2) การสูบบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น

(3.3) การเป็นแผลในกระเพาะชนิดเกิดจากแบคทีเรีย H. pylori เรื้อรัง ทำให้เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น ดังนั้นเมื่อตรวจพบว่าเป็นผลในกระเพาะแบบมีเชื้อนี้ ควรรับการรักษาด้วยยาปฏิชีวินะจนครบขนาด

(3.4) ความอ้วน สัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น

(3.5) การได้รับรังสี (เช่นผู้คนในเมืองที่เตาปรมาณูระเบิด) จะเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น

ทั้งหมดนั้นคือเหตุของมะเร็งกระเพาะอาหารที่วงการแพทย์ทราบและอยู่ในวิสัยที่เราจะป้องกันไม่ให้เกิดกับเราได้

อนึ่ง ที่เคยมีข่าวว่ายารักษากระดูกพรุน (bisphosphonate) สัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารและหลอดอาหารมากขึ้นนั้น งานวิจัยติดตามดูกลุ่มคนที่ใช้ยานี้จริงจังไม่พบว่ายานี้กลุ่มนี้สัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารและหลอดอาหารเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Correa P. Diet modification and gastric cancer prevention. J Natl Cancer Inst Monogr. 1992. 75-8. 
  2. Buiatti E, Palli D, Decarli A, Amadori D, Avellini C, Bianchi S, et al. A case-control study of gastric cancer and diet in Italy. Int J Cancer. 1989 Oct 15. 44(4):611-6.
  3. Cardwell CR, Abnet CC, Cantwell MM, Murray LJ. Exposure to oral bisphosphonates and risk of esophageal cancer. JAMA. 2010 Aug 11. 304(6):657-63.
[อ่านต่อ...]

11 พฤษภาคม 2566

แค้มป์พลิกผันโรคด้วยตนเอง (RDBY-27)

(ภาพวันนี้: รักเร่)

มีอะไรใหม่ใน RDBY-27

มีอยู่สามเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งจะถูกนำเข้ามาเป็นพื้นฐานในการจัดแค้มป์ RDBY-27 ด้วย คือ

1. มุมมองใหม่ที่ว่าโรคเรื้อรังทั้งหลายอย่างน้อยก็ 8 โรค คืออัมพาต หัวใจ ความดัน เบาหวาน ไขมันสูง อ้วน โรคไตเรื้อรัง และโรคสมองเสื่อม แท้จริงแล้วเป็นโรคเดียวกัน มีสาเหตุเดียวกันคือการกินและการใช้ชีวิต และเมื่อแก้สาเหตุนี้ที่เดียว ก็รักษาโรคกลุ่มนี้ได้หมด

2. ความก้าวหน้าของการตรวจยีน (genome sequencing) ทำให้เกิดความรู้ใหม่ที่บ่งชี้ถึงความสำคัญของการมีจุลินทรีย์ในลำไส้ที่หลากหลายว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความหลากหลายของจุลินทรีย์ในลำไส้ด้วยการกินอาหารเลี้ยงจุลินทรีย์ (prebiotic) และกินอาหารที่ประกอบขึ้นจากตัวจุลินทรีย์เอง (probiotic)

3. งานวิจัยอาหารไทยสุขภาพที่ผมกำลังจะทำในปีนี้ (กำลังรออนุมัติจากกก.จริยธรรม) และได้เริ่มวิจัยอาหารในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับตัวผู้ป่วยไปบ้างแล้ว ได้ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในการทำอาหารสุขภาพโดยใช้เครื่องปรุงไทยแท้ไม่มีการดัดแปลงตัดแต่ง ความรู้นี้จะนำมาสู่การสร้างทักษะด้านอาหารในแค้มป์ RDBY-27 ด้วย

ความเป็นมาของ RDBY

มันเริ่มจากตัวผมเองเคยป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ความที่อยากหนีจากแนวทางการรักษาแบบโรงพยาบาล (กินยา สวนหัวใจ บอลลูน ผ่าตัดบายพาส) จึงทบทวนงานวิจัยเพื่อหาทางออกอื่นและได้พบว่าการจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคโดยตัวผู้ป่วยเอง ทั้งในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด การเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง ทำให้โรคดีขึ้นกว่าการรักษาในโรงพยาบาลเสียอีก จึงลงมือทำกับตัวเอง เมื่อเห็นว่าได้ผลดีจนสามารถพลิกผันโรคให้หายจากเจ็บหน้าอกและเลิกกินยาความดันยาไขมันได้หมด จึงตัดสินใจเลิกอาชีพหมอผ่าตัดหัวใจเปลี่ยนอาชีพมาเป็นหมอส่งเสริมสุขภาพ แต่เมื่อได้นั่งตรวจและสอนคนไข้ทีละคนอยู่ที่โรงพยาบาลก็พบว่ามันใช้เวลามากและช่วยคนไข้ได้เป็นจำนวนน้อย และวิธีนั่งตรวจมันยังแก้ปัญหาสำคัญที่คนไข้ต้องการไม่ได้ นั่นคือการขาดทักษะปฏิบัติการ ผมจึงเปลี่ยนแนวทางมาให้ความรู้กับคนป่วยคราวละหลายๆคน ในรูปแบบแค้มป์กินนอนเพื่อเรียนรู้ทักษะในการป้องกันและพลิกผันโรคด้วยตัวเอง (RDBY) ทำไปแล้ว 24 รุ่น ทดลองมาแล้วหลายรูปแบบ ครั้งนี้ก็เป็นการทดลองในอีกรูปแบบหนึ่ง คือขณะที่ทั้งชั้นเรียนมุ่งเรียนรู้โรคทั้งหลายในฐานะที่เป็นโรคเดียวกันมีเหตุเดียวกัน แต่ในรายคนก็มุ่งแก้ปัญหาเฉพาะของแต่ละคนคู่ขนานกันไป

ภาพใหญ่ของ RDBY-27

  1. ใช้เวลามากินมานอนที่เวลเนสวีแคร์ 4 วัน 3 คืน
  2. มาเข้าแค้มป์ครั้งเดียว ติดตามผลต่อผ่านทาง app บนอินเตอร์เน็ท
  3. แยกลงทะเบียนระหว่างผู้ป่วยกับผู้ดูแล โดยผู้ดูแลจะได้ที่พัก กิน นอน เรียน ทำกิจกรรมเช่นเดียวกับผู้ป่วย แต่จะไม่ได้เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและประเมินปัญหาสุขภาพรายคน และจะไม่มีคำสรุปสุขภาพของแพทย์ใน We Care app dashboard
  4. หลักสูตรนี้เป็นการใช้วิธีการแพทย์แผนปัจจุบัน (modern medicine) ในรูปแบบการแพทย์แบบอิงหลักฐาน (evidence based medicine) มีแพทย์เป็นผู้กำกับดูแล (medically directed) โดยใช้วิธีมองปัญหาของผู้ป่วยแบบองค์รวม (holistic care) โดยเน้นส่วนที่ผู้ป่วยจะทำโดยตัวเองได้ (self management) เช่นอาหาร การใช้ชีวิต การจัดการยาด้วยตัวเอง เป็นต้น
  5. ในกรณีที่ผู้สมัครเข้าร่วมโปรแกรมนี้มีแพทย์เฉพาะทางเจ้าประจำอยู่แล้ว ป่วยไม่ต้องเลิกการรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่ดูแลกันมาแต่เดิม เพราะแพทย์ประจำตัวของท่านที่เวลเนสวีแคร์จะทำหน้าที่เป็นแพทย์ประจำครอบครัว (family physician) ของท่านและเป็นพี่เลี้ยงให้ท่านดูแลตัวเองให้เป็น ส่วนการปรึกษาและใช้บริการของแพทย์เฉพาะทางเฉพาะโรคที่ทำมาแต่เดิมนั้นก็ยังทำต่อไปเหมือนเดิม
  6. ผู้สมัครเข้าร่วมโปรแกรมนี้ไม่จำเป็นต้องยกเลิกยาหรือการรักษาที่ตนเองได้มาแต่เดิมในขณะที่เริ่มหันมาใช้วิธีดูแลตนเอง เพราะการรักษาโรคตามโปรแกรมนี้ใช้หลักวิชาการแพทย์แผนปัจจุบันเช่นเดียวกันกับการรักษาในโรงพยาบาล เพียงแต่มุ่งโฟกัสที่การเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ป่วยในเรื่องการกินการออกกำลังกายและการใช้ชีวิตจนถึงระดับที่ผู้ป่วยดูแลตัวเองได้ด้วยตนเอง จึงสามารถทำคู่ขนานไปกับการรักษาในโรงพยาบาลได้ เมื่อผู้ป่วยดูแลตนเองได้ดีขึ้นแล้ว ตัวชี้วัดสุขภาพต่างๆจะค่อยๆบ่งชี้ว่าความจำเป็นที่จะต้องพึ่งการรักษาด้วยยาในโรงพยาบาลจะค่อยๆลดลงไปเองโดยอัตโนมัติจนสามารถเลิกยาได้เองในที่สุด
  7. ในกรณีที่เป็นผู้ทุพลภาพหรือช่วยเหลือตนเองไม่ได้ซึ่งตามปกติต้องมีผู้ดูแลประจำตัวอยู่แล้ว ต้องนำผู้ดูแลมาด้วย โดยผู้ดูแลต้องลงทะเบียนเป็นผู้ดูแล ทั้งนี้นอกจากอาหารและที่พักแล้ว ผู้ดูแลยังสามารถเข้าร่วมเรียนรู้และฝึกทักษะต่างๆเพื่อประโยชน์ในการติดตามดูแลผู้ป่วย แต่ผู้ดูแลจะไม่ได้พบแพทย์เพื่อตรวจประเมินปัญหาสุขภาพของตนเอง และจะไม่มีบทสรุปสุขภาพของแพทย์ในแดชบอร์ด ในกรณีที่ประสงค์จะได้รับการตรวจสุขภาพและประเมินปัญหาโดยแพทย์ด้วย ผู้ดูแลจะต้องลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยอีกคนหนึ่งแยกจากตัวผู้ป่วยที่ตนดูแล เพื่อให้ได้คิวเวลาที่จะเข้าพบแพทย์ซึ่งจำกัดสิทธิ์ไว้เฉพาะผู้ป่วยเท่านั้น
  8. เนื้อหาแยกเป็นสองส่วน คือ

ส่วนที่ 1 เจาะลึกเฉพาะโรคเรื้อรังทั้ง 8 โรค (อัมพาต หัวใจ ความดัน เบาหวาน ไขมันสูง อ้วน โรคไตเรื้อรัง โรคสมองเสื่อม) นับตั้งแต่ (1) กลไกร่วมของการเกิดโรค อันได้แก่กลไกการอักเสบของหลอดเลือด กลไกจุลินทรีย์ในลำไส้ กลไกการเผาผลาญของเซลล์ การเสียดุลยภาพของระบบประสาทอัตโนมัติ เป็นต้น (2) ปัจจัยเสี่ยง (3) อาการวิทยา (4) การวินิจฉัย (5) การรักษา รวมทั้งวิธีลดละเลิกยา

ส่วนที่ 2 เจาะลึกลงไปในปัญหาผู้ป่วยเป็นรายคน ทีละคน ตั้งแต่การประเมินสถานะและความรุนแรงของโรคจากผลการตรวจเลือด ตรวจเอ็คโค วิ่งสายพาน ตรวจหัวใจด้วยคอมพิวเตอร์ (CTA) ผลการสวนหัวใจ ตรวจพิเศษของอวัยวะต่างๆทั้ง CT, MRI ตรวจร่างกายโดยแพทย์ แล้วจัดทำแผนการรักษารายคน การตัดสินใจว่าจะใช้วิธีรุกล้ำ (invasive treatment เช่นบอลลูน บายพาส) หรือจะไม่ใช้ เจาะลึกการลด ละ เลิก ยา การฟื้นฟูหัวใจ การฟื้นฟูสมอง การดูแลตัวเองในทิศทางที่มุ่งให้โรคหาย สำหรับแต่ละคน ในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ให้ลด ละ เลิก ยาได้ก็จะจัดทำแผนการเลิกยาและเริ่มทำตามแผนตั้งแต่ในแค้มป์เลย

แค้มป์ RDBY27 เหมาะสำหรับใครบ้าง

แค้มป์ RDBY27 เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่วงการแพทย์ยังไม่สามารถรักษาให้หาย (ยกเว้นโรคมะเร็งซึ่งแยกไปจัดเป็นรีทรีตผู้ป่วยมะเร็งหรือ CR)

(1) โรคหลอดเลือดหัวใจ

(2) โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต)

(3) โรคความดันเลือดสูง

(4) โรคเบาหวาน

(5) โรคไขมันในเลือดสูง

(6) โรคอ้วน

(7) โรคไตเรื้อรัง

(8) โรคสมองเสื่อม

หลักสูตร (Course Syllabus) 

     1. วัตถุประสงค์

1.1 วัตถุประสงค์ในด้านความรู้
คาดหวังให้ผู้ป่วยรู้สิ่งต่อไปนี้
1.1.1 รู้กลไกพื้นฐานร่วมของโรคเรื้อรัง (1) กลไกการอักเสบของหลอดเลือด (2) กลไกจุลินทรีย์ในลำไส้ (3) กลไกการเผาผลาญของเซลล์ (4) กลไกการเสียดุลยภาพของระบบประสาทอัตโนมัติ เป็นต้น

1.1.2 รู้ปัจจัยเสี่ยงของโรคเรื้อรังแต่ละโรค

1.1.3 รู้วิธีการวินิจฉัยโรคเรื้อรังแต่ละโรคของแพทย์ และสามารถแปลผลการตรวจ เช่น EST, Echo, CAC, CTA, CAG, CT/MRI brain เป็นต้น

1.1.4 รู้แนวทางการรักษาในส่วนของแพทย์

1.1.5 รู้วิธีจัดการโรคด้วยตนเองในส่วนของตัวผู้ป่วย (1) ในแง่ของโภชนาการ (2) ในแง่ของการออกกำลังกาย (3) ในแง่ของการจัดการความเครียด (4) ในแง่ของการมีสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบตัว

1.1.6 รู้ทางเลือกวิธีรักษาทุกวิธี และรู้ประโยชน์และความเสี่ยงของแต่ละทางเลือกอย่างละเอียด
1.1.7 รู้จักยาทุกตัวที่ตนเองได้รับ ทั้งชื่อ ขนาด วิธีกิน กลุ่มยา ฤทธิ์ยา และผลข้างเคียงของยา

1.1.8 รู้วิธีจัดชั้นและประเมินหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่แพร่หลายในอินเตอร์เน็ทว่าอันไหนเป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้ระดับมากหรือระดับน้อย

1.1.9 รู้วิธีใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลผู้ป่วยบนอินเตอร์เน็ทในการติดตามดูแลสุขภาพของตนเอง
1.1.10 รู้ศักยภาพของตนเองว่าสามารถทำอะไรได้ด้วยตนเองบ้างเพื่อให้ตนเองหายจากโรค
1.2. วัตถุประสงค์ในด้านทักษะ
คาดหวังให้ผู้ป่วยสามารถทำสิ่งต่อไปนี้ด้วยตนเอง
1.2.1 บริหารจัดการโรคของตนเองได้โดยใช้ตัวชี้วัดพื้นฐาน 8 ตัว (1) น้ำหนัก (2) ความดันเลือด (3) ไขมันในลือด (4) น้ำตาลในเลือด (5) ปริมาณผักผลไม้ที่กินต่อวัน (6) เวลาออกกำลังกายต่อสัปดาห์ (7) การสูบบุหรี่ (8) การนอนหลับ
1.2.2 บริหารยาของตนเองได้ สามารถลดหรือเพิ่มยาของตนเองตามตัวชี้วัดและอาการที่เกี่ยวข้องได้

1.2.3 เลือกอาหารสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูปในตลาดที่เป็นอาหารพืชแบบไม่สกัดไม่ขัดสีและอาหาร prebiotic, probiotic ได้
1.2.4 ทำอาหารกินเองที่บ้านได้ เช่น ผัดทอดอาหารโดยใช้น้ำหรือใช้ลมร้อนแทนน้ำมันได้ อบถั่วและนัทไว้เป็นอาหารว่างเองได้ ทำเครื่องดื่มจากผักผลไม้โดยไม่ทิ้งกากด้วยตนเองได้
1.2.5 ประเมินสมรรถนะร่างกายของตนเองด้วยการสังเกตอัตราการหายใจ การนับชีพจรจากเครื่องช่วยนับ และการทำ One milk walk test ให้ตัวเองได้
1.2.6 ออกกำลังกายแบบแอโรบิกได้ด้วยตนเองได้
1.2.7 ออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยใช้ท่ากายบริหาร ดัมเบล สายยืด และกระบอง ได้ด้วยตนเอง
1.2.8 ออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัวได้ด้วยตนเอง
1.2.9 สามารถกำกับดูแลและแก้ไขท่าร่าง (posture) ในชีวิตประจำวันของตนเองได้
1.2.10 ผ่อนคลายความเครียดเฉียบพลันด้วยเทคนิคต่างๆ relax breathing ได้
1.2.11 จัดการความเครียดในชีวิตประจำวันด้วยการฝึกวางความคิดผ่านเทคนิคต่างๆเช่น นั่งสมาธิ ไทชิ โยคะ ได้
1.2.12 สามารถเปิดตัวเองออกไปมีชีวิตร่วมกับผู้อื่น มีสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบตัวได้

1.2.13 สามารถใช้ Wecare App ในการดูแลตนเองต่อเนื่องได้ด้วยตนเอง

1.3    วัตถุประสงค์ในด้านเจตคติ
คาดหวังให้ผู้ป่วยเกิดเจตคติต่อไปนี้
1.3.1 มีความมั่นใจว่าตนเองสามารถ (empowered) ที่จะดลบันดาลให้โรคของตัวเองหายได้
1.3.2 มีความมุ่งมั่นในพันธะสัญญา (commitment) ที่จะเป็นผู้ดูแลตนเองไม่ให้เป็นภาระแก่คนอื่น
1.3.3 มีความอยาก (motivated) ที่จะมีชีวิตอย่างมีสุขภาพดี มีความสุข

     6. ตารางกิจกรรมขณะอยู่ในแค้มป์ 

วันแรก
09.00 – 16.00     Registration and initial assessment by doctors
1) ลงทะเบียนเข้าแค้มป์
2) เช็คอินเข้าห้องพัก
3) วัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง คำนวณดัชนีมวลกาย วัด Body composition ฝึกหัดใส่ข้อมูลตัวชี้วัดเข้าเวชระเบียนส่วนบุคคลทางอินเตอร์เน็ท
4) ผลัดกันเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเป็นรายคนตามตารางเวลาที่จัดไว้ (เน้นย้ำเรื่องการพบแพทย์ตรงตามเวลาที่จัดไว้ เนื่องจากมีสมาชิกหลายท่าน)
ท่านสามารถพักผ่อนได้ตามอัธยาศัย ทางศูนย์สุขภาพ Wellness We Care Centre (WWC) มีการจัดเตรียมห้องประชุม เพื่อฉายสื่อความรู้ด้านสุขภาพในระหว่างรอคิวพบแพทย์ หากท่านต้องการนวดผ่อนคลาย ที่ WWC มีศูนย์ Herbal Treatment Centre โดยทีมแพทย์แผนไทย สามารถติดต่อขอรายละเอียดได้ที่คลินิกแผนกต้อนรับ หรือทางคลินิกแพทย์แผนไทยโดยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
15.30 – 16.00     Tea break พักดื่มน้ำชากาแฟ

16.00 – 16.30     แนะนำแคมป์สุขภาพโรคหลอดเลือดหัวใจ แนะนำการติดตั้งแอพพลิเคชั่นการติดตามตัวชี้วัดสุขภาพ (นพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล)
                            
16.30-17.10น กิจกรรมสันทนาการ : Line dance การเต้นไลน์แด๊นซ์เพื่อฝึกกล้ามเนื้อ การทรงตัว และระบบประสาท
17.10 – 19.00     cooking demonstration สาธิตสอนแสดงวิธีทำอาหารแบบพืชเป็นหลัก รูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ ไม่สกัดไม่ขัดสี ไขมันต่ำ (plant-based, whole food, low fat diet; PBWF) และรับประทานอาหารเย็น
วันที่สอง
06.45 – 7.00       BP measurement วัดความดันโลหิตตอนเช้า
(คุณโอ๋และผู้ช่วย)
07.00 – 08.00     Stretching
exercise การออกกำลังกายแบบยืดเหยียดกล้ามเนื้อ(15 นาที)
และการทดสอบพื้นฐานร่างกาย (นพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล)

(1) 1 minute sit-to-stand test ลุกนั่งภายใน 1 นาที (3 นาที)
(2) time up and go test การลุกเดินและวนกลับ ( 7 นาที)

(3) six-minute walk test ทดสอบสมรรถนะร่างกายด้วยวิธีเดิน 6 นาที ( 20 นาที)
08.00 – 9.30       อาหารเช้าและเวลาส่วนตัว
9.30 – 10.30       Learn from each other ทำความรู้จักกันและเรียนรู้จากโรคของกันและกัน (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ และ นพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล)
10.30 – 10.45     Tea break ดื่มน้ำชากาแฟ
10.45 – 12.00     Lecture: Pathophysiology of chronic diseases กลไกการเกิดโรคเรื้อรัง (1) กลไกการอักเสบของหลอดเลือด (2) กลไกจุลินทรีย์ในลำไส้ (3) กลไกการเผาผลาญของเซลล์ (4) กลไกการเสียดุลยภาพของระบบประสาทอัตโนมัติ (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)
12.00 – 14.00     รับประทานอาหารกลางวันและเวลาส่วนตัว
14.00-14.30        แปลผลการทดสอบสมรรถนะ (นพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล) (1) Six-minute walk test, (2) One-minute sit to stand, (3) Time up and go
Workshop (1) กิจกรรมการฝึกวัดความดันเลือดด้วยตนเองอย่างถูกวิธี (นพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล)
14.30 – 15.30     Lecture : Hypertension โรคความดันเลือดสูง (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์) (1) กลไกการเกิดความดันเลือดสูง (2) พยาธิวิทยาของโรคความดันเลือดสูง (3) งานวิจัยการรักษาความดันเลือดสูงโดยไม่ใช้ยา (4) ชนิดของยารักษาความดันเลือดสูง กลไกการออกฤทธิ์ และผลข้างเคียง (5) การบริหารยาลดความดันรวมถึงการลดหรือเลิกยาลดความดันด้วยด้วยตนเอง (6) งานวิจัยผลของอาหารต่อโรคไตเรื้อรัง
15.30 – 16.00     Tea break ดื่มน้ำชากาแฟ
16.00 – 17.00     strengthening exercise ฝึกปฏิบัติการออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
(นพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล)
17.00 – 19.00     cooking demonstration สาธิตสอนแสดงวิธีทำอาหารแบบพืชเป็นหลัก รูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ ไม่สกัดไม่ขัดสี ไขมันต่ำ (plant-based, whole food, low fat diet; PBWF) และรับประทานอาหารเย็น
 
วันที่สาม
06.45 – 7.00       BP measurement วัดความดันโลหิตตอนเช้า (คุณโอ๋และผู้ช่วย)
7.00 – 8.00         Stress Management การจัดการความเครียด (โยคะ สมาธิ ไทชิ) (คุณออย / นพ.สันต์)
08.00 – 10.00     อาหารเช้าและเวลาส่วนตัว
10.00 – 11.00     Lecture: Ischemic heart disease โรคหัวใจขาดเลือด (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์) (1) กลไกพื้นฐานของโรคหัวใจขาดเลือด (2) อาการวิทยาของหัวใจขาดเลือด แบบด่วน และแบบไม่ด่วน (3) การแปลผลตรวจพิเศษทางด้านหัวใจ / EST / Echo /CAC (แคลเซียมสะกอร์) / CTA / CAG (สวนหัวใจ) (4) งานวิจัยเปรียบเทียบการรักษาโรคหัวใจด้วยวิธีรุกล้ำและไม่รุกล้ำ (5) งานวิจัยการทำให้โรคหัวใจถอยกลับด้วยอาหารและการใช้ชีวิต

11.00 – 12.00     Lecture: Dyslipidemia and Obesity โรคไขมันในเลือดสูงและโรคอ้วน (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์) (1) ชนิดของไขมันในเลือด ( 2) ไขมันเลว (LDL) ชนิดอนุภาคใหญ่และชนิดอนุภาคเล็ก (3) กลไกการเกิดหลอดเลือดอักเสบตามหลังไขมันในเลือดสูง (4) กลไกการเกิดโรคอ้วน (5) กลไกการดื้อต่ออินสุลิน (6) มาตรฐานระดับไขมันในเลือด (7) ยาลดไขมันในเลือดทุกกลุ่ม กลไกการออกฤทธิ์ และผลข้างเคียง (8) วิธีบริหารยาลดไขมันในเลือด (รวมถึงการลดและเลิกยา) ด้วยตนเอง
12.00 – 14.00  รับประทานอาหารกลางวันและเวลาส่วนตัว
14.00 – 15.00     Lecture: Overview of Good health concepts Updates in Nutrition Guidelines; Plant-based, whole food, low fat diet ภาพรวมการมีสุขภาพดี และ บรรยายเรื่องโภชนาการที่มีพืชเป็นหลัก
ไม่สกัด ไม่ขัดสี (นพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล)
15.00 – 15.30     food shopping work shop กิจกรรมจ่ายตลาดฉลาดซื้อ
15.30 – 16.00     Tea break ดื่มชากาแฟ
16.00 – 17.00     Balance exercise การออกกำลังกายเสริมการทรงตัวและAerobic
exercise การออกกำลังกายแบบ high intensity interval training – HIIT (นพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล)
17.00 – 19.00     สาธิตสอนแสดงวิธีทำอาหารแบบพืชเป็นหลัก
รูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ ไม่สกัดไม่ขัดสี ไขมันต่ำ (Plant-based whole food low fat diet; PBWF) และรับประทานอาหารเย็น

วันที่สี่
06.45 – 7.00       BP measurement วัดความดันโลหิตตอนเช้า (คุณโอ๋และผู้ช่วย)
07.00 – 08.30     Stress management การจัดการความเครียด (Yoga, Tai Chi and meditation) (คุณออย / นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)
08.30 – 10.00     อาหารเช้าและเวลาส่วนตัว
10.00 – 10.30     Lecture : Prevention of NCDs การป้องกันโรคเรื้อรังด้วยตนเอง (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)
10.30-12.00        Q&A ตอบคำถามเจาะลึกเรื่องการจัดการโรครายคน
(นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ และนพ.ปัณณพัฒน์ ลาวัลย์ตระกูล)
12.00 เป็นต้นไป    ปิดแคมป์
รับประทานอาหารกลางวันและเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ
 
**** ตารางกิจกรรมอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม

การเตรียมรับภาวะฉุกเฉินขณะเข้าแค้มป์

ผู้ป่วยที่มาเข้าโปรแกรมนี้ส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วยหนัก บ้างทำผ่าตัดบายพาสมาแล้ว บ้างทำบอลลูนมาแล้วคนละครั้งสองครั้ง บ้างมีหัวใจล้มเหลวแค่เดินสองสามก้าวก็หอบหรือเจ็บหน้าอกแล้ว บ้างรอเปลี่ยนหัวใจอยู่ บ้างเพิ่งเป็นอัมพาตมา ความเสี่ยงที่จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันหรือหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันหรืออัมพาตเฉียบพลันมีอยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งขณะนั่งหรือนอนอยู่เฉยๆ ความเสี่ยงนี้ผู้ป่วยทุกคนต้องยอมรับว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ตามโรคของตัวเอง แต่ตัวหมอสันต์เองซึ่งเป็นหมอผ่าตัดหัวใจมาก่อนก็ไม่ประมาทในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย ได้เตรียมการด้านความปลอดภัยขณะเข้าแค้มป์ทุกครั้งรวมไปถึงการมีพยาบาลฉุกเฉินพร้อมอยู่ในศูนย์ตลอดเวลา มีอุปกรณ์เครื่องมือเพื่อรับมือกับภาวะฉุกเฉินได้ รวมทั้งขีดความสามารถที่จะเปิดหลอดเลือดให้น้ำเกลือหรือยาทางหลอดเลือดดำได้ทันที ขีดความสามารถที่จะใส่ท่อช่วยหายใจและช่วยการหายใจในภาวะฉุกเฉิน นอกจากนั้นยังมีขีดความสามารถที่จะช็อกไฟฟ้าหัวใจในกรณีฉุกเฉิน การประสานงานกับระบบรถฉุกเฉินและโรงพยาบาลใกล้เคียง และการมีพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติอยู่ประจำในแค้มป์ 24 ชั่วโมง มีแพทย์ที่ตามให้เข้ามาดูแลผู้ป่วยได้ในเวลา 5-10 นาทีตลอดการฝึกอบรม

ทั้งนี้อย่าได้เข้าใจผิดว่าการจะปรับวิถีชีวิตเพื่อพลิกผันโรคให้ตัวเองนั้นเป็นเรื่องอันตราย ความเป็นจริงไม่ใช่เลย การปรับการใช้ชีวิตทั้งอาหารและการออกกำลังกายเพื่อดูแลตัวเองให้ได้นั้นเป็นกลไกรักษาโรคตามธรรมชาติ มีอันตรายน้อยกว่าการรักษาด้วยยา บอลลูน หรือผ่าตัดในโรงพยาบาลอย่างเทียบกันไม่ได้ แต่ทางแค้มป์เตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยในแค้มป์ให้มากเข้าไว้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยหนักซึ่งเป็นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการเข้าแค้มป์ มาเข้าแค้มป์ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ปลอดภัยเท่าอยู่ในบ้านตัวเองเท่านั้น

ระยะก่อนเข้าแค้มป์ (Pre-camping preparation) 

ผู้ป่วยทุกท่านที่ได้รับเข้าโปรแกรมแล้ว จะต้องจัดส่งข้อมูลโรคของตนมาให้แพทย์วิเคราะห์ล่วงหน้าก่อนวันมาแค้มป์ โดยส่งข้อมูลมาทางคุณสายชล (โอ๋) พยาบาลประจำแค้มป์ ที่อีเมล totenmophph@gmail.com โดยอย่างน้อยต้องส่งข้อมูลพื้นฐานซึ่งจำเป็นต้องใช้ต่อไปนี้มา คือ

(1) ชื่อ นามสกุล
(2) วันเดือนปีเกิด
(3) เพศ
(4) เบอร์โทรศัพท์มือถือ
(5) อีเมลแอดเดรส
(6) เลขบัตรประจำตัวประชาชน
(7) ส่วนสูง
(8) น้ำหนัก
(9) ความดันเลือด
(10) น้ำตาลในเลือด (FBS) หรือน้ำตาลสะสม (HbA1C)
(11) ไขมันเลว (LDL)
(12) ตัวชี้วัดการทำงานของไต (eGFR หรือ Cr)
(13) เอ็นไซม์แสดงการทำงานของตับ (SGPT)
(14) การวินิจฉัย (ชื่อ) โรคทุกโรคที่รักษาอยู่ในปัจจบัน
(15) อาการป่วยทุกอาการที่มีในปัจจุบัน
(16) ยาทุกตัวที่กินอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งขนาด และวิธีกิน
(17) ผลการตรวจจำเพาะต่างๆ ถ้ามี เช่น ผลการตรวจเลือดอื่นๆ ภาพเอ็กซเรย์ปอด ผลตรวจสมรรถนะหัวใจ (EST) คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ผลการตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยคอมพิวเตอร์ (CTA) ผลการตรวจสวนหัวใจ (CAG) ผลการตรวจผลการตรวจ CT สมอง โดยกรณีเป็นภาพหากส่งเป็นไฟล์ดิจิตอลได้ก็จะเป็นพระคุณ แต่หากส่งไม่ได้จะเอาโทรศัพท์ถ่ายแล้วส่งไฟล์รูปมาก็ได้ กรณีเป็นใบรายงานผลให้เอาโทรศัพท์ถ่ายใบรายงานแล้วส่งไฟล์มาก็ได้
(18) คำบอกเล่าลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน เน้นที่
– การบรรยายลักษณะอาหารที่กินแต่ละมื้อทุกมื้อ
– การออกกำลังกายที่ทำในแต่ละวัน
– วิธีจัดการความเครียดที่ใช้อยู่ประจำ
– ความกังวล (concern) ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ หากมีอยู่ในใจก็ให้แจ้งมาให้หมอสันต์ทราบด้วย

สถานที่เรียน

Wellness we care center เวลเนสวีแคร์เซ็นตเตอร์ (มวกเหล็ก-เขาใหญ่)

วันเวลาสำหรับแค้มป์ RDBY-27

วันที่ 5-8 มิย. 66

จำนวนที่รับเข้าแค้มป์ RDBY-27

รับจำนวนจำกัด 15 คน

ค่าลงทะเบียน

25,000 บาทสำหรับผู้เข้าแค้มป์

15,000 บาทสำหรับผู้ติดตาม (พักห้องเดียวกันกับผู้เข้าแค้มป์)

   ราคานี้ไม่ครอบคลุมถึงค่าเดินทางไปและกลับระหว่างบ้านของท่านกับเวลเนสวีแคร์ (ผู้ป่วยไปเองกลับเอง) ไม่ครอบคลุมค่ายาและค่ารักษาพยาบาลส่วนบุคคลของแต่ละท่าน ไม่ครอบคลุมบริการพิเศษที่ท่านเลือกใช้เช่นการนวดบำบัดต่างๆ

กรณีเป็นผู้ติดตาม ผู้ดูแลหรือ caregiver จะต้องลงทะเบียนเป็นผู้ติดตาม ราคานี้รวมค่ากิน ค่าอยู่ ค่าที่พักห้องเดียวกับผู้ป่วยของตน ค่าเข้าร่วมเรียนและร่วมทำกิจกรรมทุกอย่างในแค้มป์ แต่ไม่ได้เข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจร่างกายและไม่ได้ร้บการประเมินปัญหาสุขภาพของตนโดยแพทย์ และไม่มีรายงานสรุปปัญหาสุขภาพโดยแพทย์ในเฮลท์แดชบอร์ด

ในทุกกรณีเมื่อได้ที่นั่งแล้ว จะต้องโอนเงินค่าลงทะเบียนเข้าบัญชี ธนาคารกสิกรไทย สาขาสมุทรปราการ ชื่อบัญชี  บริษัท เมก้า วี แคร์ จำกัด เลขที่บัญชี 007-368-5478 ภายใน 24 ชั่วโมงหลังได้สำรองที่เรียนแล้ว หากพ้น 24 ชั่วโมงไปแล้วถือว่าสละสิทธิ์ ที่นั่งที่สำรองไว้ให้ท่านจะถูกคอมพิวเตอร์ตัดไปจัดสรรไปให้ผู้อื่นโดยอัตโนม้ติ

การสอบถามข้อมูลและลงทะเบียน

สอบถามข้อมูลหรือลงทะเบียนได้ที่ เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ โทร : 063-6394003 หรือ Line ID : @wellnesswecare หรือ คลิก https://lin.ee/6JvCBsf CBsf 

(นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์)

[อ่านต่อ...]

03 พฤษภาคม 2566

มะเร็งระยะที่สี่ ลามไปจนถึงศิวราตรี

กราบคุณหมอสันต์และคุณหมอสมวงศ์ค่ะ

Update การรักษาค่ะ มีหลายเรื่องราวในระหว่างที่ได้รับเคมีรอบ 1

1. หลังกลับจากการรับเคมีรอบที่ 1 (ออก 23 มี.ค.)ได้ 2 วัน ปัสสาวะไม่ออก  ตั้งสมมติฐานไว้มากมาย…. เช่น ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ไตวาย กินน้ำน้อยไป ก้อนมะเร็งที่กระดูกกดทับทางเดินปัสสาวะ ฯลฯ เลยไป รพ. … (ใกล้บ้าน)

    – ตรวจปัสสาวะ (ไม่ได้ส่งเพาะเชื้อ) bacteria ได้ few

    – เช็คการทำงานของไต BUN สูง 26 mg/dl น่าจะกินโปรตีนมากไปหน่อย Creatinine .67 eGFR 99

    – เช็ค CBC เม็ดเลือดขาวได้ 8,080 cell/mm3 

หมอบอกว่าอาจติดเชื้อแต่ยังขึ้นไม่มากเลยให้ยาปฏิชีวนะมากินกันไว้แต่จุ๊ไม่ได้กิน เพราะเห็นค่าเม็ดเลือดขาวยังดีน่าจะไม่ติดเชื้อ และเห็นไตยังดีเลยลองดื่มน้ำเพิ่มขึ้นมากจากเดิมที่เดิมก็ดื่มมากๆๆๆๆอยู่แล้ว ผ่านไปครึ่งวันก็ปัสสาวะได้ดีขึ้น และก็ปัสสวะได้ปรกติในที่สุด จนถึงตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่าเป็ยอะไรกันแน่

2.ความดัน และอัตราการเต้นของหัวใจ swing มากจากเดิมออกไปทางต่ำๆ 100+- / 60+- อัตราการเต้นหัวใจก็ 50-60 ตลอดมา ตอนนี้ บางครั้งความดันโดยเฉพาะตัวบน swing ระหว่าง 90-160+- ตัวล่างขึ้นไม่มาก 50-70+- และอัตราการเต้นหัวใจ บางครั้งขึ้นไป 100+

3. มีอาการเพลีย อยากอาเจียน ไม่อยากอาหาร ในระยะสัปดาห์แรกหลังออกจาก รพ. แต่ก็พยายามกิน ในสัปดาห์แรกยังกินไข่ขาวเป็นโปรตีนหลัก โปรตีนพืชเสริม แต่ตอนนี้ตัดโปรตีนสัตว์เด็ดขาดไข่ขาวก็ไม่กิน น้ำหนักขึ้น 1 กก. (ชั่งวันรับเคมีครั้ง 2 เปรียบกับวันรับเคมีครั้ง 1) 

4. เดินออกกำลังกายตอนเย็นเกือบทุกวันวันละ 30 นาที (ถ้า pm 2.5 ไม่หนักหน่วงมาก) เดินบนพื้นหญ้าเพื่อลดแรงกระแทกกระดูก แต่วันที่ 6 เม.ย.เดินไป 60 นาที ตกกลางคืนปวดกระดูกสะโพกที่เป็นมะเร็งกระดูกจุดใหญ่ เลยงดโปรตีนสัตว์เด็ดขาดเลิกกินไข่กินแต่ถั่ว seeds (ยกเว้นงาไม่กิน) nuts ผักผลไม้ เสริม Peaโปรตีน และลดออกกำลังกายเหลือ 30 นาที ก็ไม่เคยปวดอีก

5. วันที่ 5 เม.ย. ตรวจเลือดเพื่อให้เคมีรอบ 2 แต่ผลเลือดปริ่มๆ เม็ดเลือดขาว 3.7 จากก่อนให้ 8.81 หมอเลยยังไม่นัดให้รอบ 2 เพราะไม่แน่ใจว่าผลเลือดเป็นขาลงหรือขาขึ้น นัดใหม่วันที่ 11 เม.ย. ผลเลือดดีขึ้นเม็ดเลือดขาว 4.51 แต่เลือดแดงยังเท่าเดิมไม่ลดไม่เพิ่ม เกล็ดเลือด ลดลงจาก 359 เป็น 160 แต่ยังอยู่ใน range ปรกติ น้ำหนักเพิ่ม 1 กก. จากก่อนให้เคมีครั้งแรก หมอเลยนัดให้เคมีรอบ 2 ในวันที่ 12 เม.ย. ตอนนี้นอนรับเคมีอยู่ รพ. รับสูตรเดิม คือ Cisplatin+ 5FU จะออกวันที่ 18 นี้ค่ะ

6.หนูแจ้งเรื่องปวดกระดูกที่เล่าในข้อ 4 คุณหมอเลยนัดฉายแสงโดยหมออายุรกรรมเคมี อยากให้เคมีครบคอร์สคือ 4 ครั้งแล้วตรวจผลการตอบสนองเคมีก่อนแล้วค่อยฉายแสง โดยให้ฉีดยา Zoledronic acid ไปก่อน……แต่หมอรังสีอยากให้ฉายเลยหลังการรับเคมีรอบ 2 โดยนัดทำ CT และจำลองการฉาย วันที่ 3 พ.ค. หัวหน้าพยาบาลแผนกรังสีแจ้งว่าเดี๋ยวประสานงานให้หมอทั้ง 2 คนปรึกษากันก่อน หาข้อสรุปได้ว่าอย่างไรจะแจ้งหลังหยุดสงกรานต์ยาวค่ะ

7.หนูกิน Beta glucan จากยีสต์ขนมปังยี่ห้อ transfer point กิน high dose เช้า 4 เม็ด ตามที่ brand แนะนำ ร่วมด้วย

8. สมองไม่สดใสเหมือนเดิม เหมือนเป็น brain fog ตลอดเวลา และขี้ลืมมากขึ้นด้วย

หนูจะรบกวนเรียนปรึกษาคุณหมอค่ะ

1. เคยอ่านในเพจคุณหมอว่าการฉีดยาลดอัตราการสลายกระดูก (ที่เคยอ่านคือเคสปรกติไม่ได้เป็นมะเร็ง และไม่ใช่ยาตัวนี้) ประโยชน์ที่ได้รับไม่มาก แต่ต้องฉีดตลอดไป และมีผลข้างเคียงในระยะยาวเช่นกรามตาย ฯลฯ ในกรณีของหนูที่เป็นมะเร็ง การรับยา Zoledronic acid เปรียบเทียบประโยชน์และผลข้างเคียงแล้วได้คุ้มเสียไหมคะ (เพราะหนูคิดว่าหนูจะยังไม่ตายไว อาจได้รับผลข้างเคียงระยะยาว…อิอิ)

2.ส่วนทางการฉายรังสี หมอรังสีจะฉายให้ในตำแหน่งที่ปวด แต่จะไม่ฉายให้ทุกข้อที่เป็นเพราะมีหลายข้อเก็บ bone marrow ไว้สร้างเลือดบ้าง หนูจะปรึกษาคุณหมอว่าในกรณีที่เคยปวดแค่ 2 ครั้ง (ครั้งแรกเคยเล่าคุณหมอไปก่อนหน้านี้ และครั้งที่ 2 ที่เล่าในเมลล์ฉบับนี้) ควรฉายรังสีไปเลยหลังการรับเคมีครั้งที่ 2 หรือรอดูผลหลังเคมีครบคอร์สแล้วดูผลการตอบสนองก่อนค่อยตัดสินใจ หมอยังเห็นต่างคนไข้เลยสับสน 555

3.ตรวจ ไวรัส EBV ได้ 251,000++ สรุปว่าหนูเป็นมะเร็งจากเชื้อ EBV หมอบอกว่าไม่มีวิธีการรักษาที่เจาะจง ก็เข้าใจว่าเป็นไวรัสซึ่งไม่มียารักษา แต่หนูสงสัยว่าถ้าอย่างนั้นคนที่ได้รับเชื้อไวรัสตัวนี้ก็ต้องคอยลุ้นว่าจะปุ๊บปั๊บรับโชคหรือวืด…อย่างเดียวเลยเหรือคะ….

4.ข้อนี้ไม่อยากถามเป็นคำถามแต่ห้อยติ่งไว้ค่ะ เรื่อง Beta Glucan 1,3/1,6 (คุณหมอเคยแจ้งไว้ชัดเจนว่าไม่ตอบเรื่องอาหารเสริม แต่เผื่อคุณหมอมีข้อมูลเรื่องนี้ในคลังแสง อิอิ) ไม่รู้จะถามว่าอะไรดี แล้วแต่คุณหมอพิจารณาว่าจะตอบอย่างไรแล้วกันค่ะ 5555

ส่วนทางด้ายจิตใจ

1.ก่อนนอนหนูทำสมาธิโดยวิธีอานาปาณสติ มีอยู่วันหนึ่ง นอนไม่หลับ พอจะนอนมันจะเด้งมาเข้าสมาธิอัตโนมัติพยายามออกจากสมาธิเพื่อมานอนมันก็เด้งกลับเป็นสามธิตลอด จนต้องยอม ถ้าเจอเหตุการณ์นี้อีกหนูควรแก้ไขอย่างไรคะ

2.มีอยู่ 1 คืนระหว่างให้เคมีรอบ 1 หนูอยู่ในสมาธิ พยาบาลเข้ามาวัดความดัน ความดันต่ำมาก ตัวตัวบนหนูจำไม่ได้แต่ตัวล่างต่ำว่า 50 (น่าจะ 48 ถ้าจำไม่ผิด) และอัตราการเต้นหัวใจ 44 (จำแม่น) พยาบาลตกใจมาก ลดอัตราการให้ยาเคมี แล้วรีบไปแจ้งแพทย์ ผ่านไป 1 ชั่วโมงทั้งความดันและอัตราการเต้นหัวใจก็ดีขึ้น ถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นเพราะปรับอัตราการให้ยาหรือว่าออกจากสมาธิ….เป็นไปได้ไหมคะว่าเกิดจากอยู่ในสมาธิเลยทำให้ทั้งความดันและอัตราการเต้นหัวใจต่ำ

3.ตอนกลางวันหนูพยายามเอาความรู้ตัวไว้ที่ลมหายใจ พอแว๊บไปคิดอะไรก็รับรู้แล้วเอาความรู้ตัวมาไว้ที่ลมหายใจเป็นฐานที่ตั้ง ตอนนี้รู้สึกว่าพอแว๊บไปคิดจะรู้ตัวไวขึ้นมากๆๆๆ แต่ก็มีบางครั้งที่เผลอคิดตามไปยาวๆ แต่ก็ไม่นานมากเหมือนเมื่อก่อน

4.ทางด้านจิตใจ เบาโล่งสบายมากขึ้น เรื่องของน้องก็วางได้มากขึ้นเยอะ จากเมื่อก่อนเป็นกังวลมากว่าถ้าหากหนูตายก่อนน้องใครจะดูแลและจะอยู่อย่างไร หนูก็ใช้วิธีนั่งคุยกับเขา ถามเขาว่าถ้าหนูตายก่อนเขาจะทำอย่างไรกับชีวิตเขา ให้เขาลองเขียนแผนมาให้หนูช่วยดู ก็ช่วยกันคิดวางแผน ก็ดูเขาจัดการชีวิตตัวเองได้ดีระดับหนึ่ง กลายเป็นหนูเองที่กังวลมากมายไปกว่าเหตุ

กราบคุณหมอด้วยความรักและเคารพอย่าสูงงงงง

……………………………………………………………..

ตอบครับ

1. ผมอยู่สนามบิน

2. Zoledronic acid ในกรณีมีการสลายกระดูกมากเช่นมะเร็งกระดูก การใช้ยานี้มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง ฉีดก็ดีครับ

3. การฉายรังสีเพื่อคุณภาพชีวิต (หมายถึงเพื่อบรรเทาปวด) จะฉายเมื่อปวดจนทนไม่ได้ ถ้าปวดทนได้ ก็ไม่คุ้มฉาย

4. Beta Glucan ดีแน่สำหรับภูมิค้มกันต้านมะเร็ง แต่ข้อมูลทั้งหมดได้มาจากอาหารธรรมชาติ เช่น เห็ด สาหร่าย ส่วนสารสังเคราะห์อัดเม็ดขาย ยังไม่มีหลักฐานข้อมูลว่าจะได้เรื่องหรือเปล่า

5. ถ้าติดอยู่ในสมาธิก็ไม่ต้องออก ไม่ต้องแก้ มันจะพาไปโผล่อีกด้านหนึ่งเอง

6. ความดัน ชีพจร หายใจ ใกล้หยุดขณะสมาธิเป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องแก้

7. ตรวจพบไวรัส EBV เป็นเรื่องดี อย่างน้อยก็รู้ว่าสาเหตุการเป็นมะเร็งของเราเกิดจากไวรัสตัวนี้ ย่อมจะดีกว่าไม่รู้ว่ามะเร็งของเรามันเกิดจากอะไร

แม้ปัจจุบันนี้จะยังไม่มีวิธีรักษาการติดเชื้อไวรัส EBV แต่เราก็รู้ว่าร่างกายสามารถขจัดไวรัสทุกชนิดได้เองผ่านระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หน้าที่ของเราจึงต้องดูแลระบบภูมิคุ้มกันให้เขาทำงานได้ท็อปฟอร์ม กล่าวคือ

ถ้าจะเอาตามหลักวิทยาศาสตร์ก็ต้อง ออกกำลังกายทุกวัน, กินอาหารที่มีพืชเป็นหลักที่หลากหลายในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ, นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ, จัดการความเครียดให้จิตใจผ่อนคลายปลอดความเครียด, เสริมวิตามินดี หรือ

ถ้าจะเอาตามไสยศาสตร์ ก็ต้องสัมผัสดินสัมผัสหญ้าด้วยมือเปล่าเท้าเปล่า, ตากแดด ตากลม สัมผัสน้ำ แช่น้ำ พาตัวเองออกจากที่แออัดไปอยู่กับธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพร รับความอบอุ่นจากไฟ เลิกกินเนื้อสัตว์ทุกชนิด กินสมุนไพรเช่นขมิ้นชัน สะเดา และวางความคิดให้เกลี้ยงมีชีวิตอยู่แต่ในความรู้ตัวผ่านการทำสมาธิ โยคะ รำมวยจีน เป็นต้น

8. เวลาในชีวิตของคนเราทุกคนไม่มีใครรู้ว่าเหลืออยู่มากหรือน้อย ให้ถือว่ามันเหลือน้อยไว้ก่อน ในเวลาที่เหลืออยู่ อย่าไปเที่ยวสงสัยอะไรมาก คุณเป็นชาวพุทธ ให้ดูคำสอนพุทธแค่สามบท 

(1) ธัมจักรกัปปะวัตนสูตร เป็นการสอนครั้งแรก (วันอาสาฬหะ) นักเรียนมีห้าคน ผมสรุปให้ฟัง เนื้อหาเกี่ยวกับ acceptance ยอมรับทุกอย่างให้ผ่านเข้ามา อยู่ตรงกลางนิ่ง ไม่แกว่งไปกอดรัดสิ่งที่ชอบหรืออยากได้ หรือแกว่งหนีสิ่งที่ไม่ชอบไม่อยากได้ ตรงนี้คือหัวใจนะ acceptance คือคีย์เวอร์ด ในบทสอนนี้ยังได้พูดถึงกลไกการเกิดและดับของทุกข์ ว่าทุกข์เกิดจากความคิด (desire) เมื่อวางความคิดไปหมดทุกข์ก็หมด ซึ่งทำได้ในชีวิตประจำวันคือไม่ว่าจะคิดพูดทำประกอบอาชีพอะไรก็ให้ทำในลักษณะที่ “ชอบ” คือทำในแบบที่จะทำให้อยู่นิ่งๆตรงกลางได้ไม่แกว่งไปหาไปยึดหรือแกว่งหนีอะไร

(2) อนัตตลักขณสูตร สอนวันที่ห้านับจากวันสอนวันแรก งวดนี้นักเรียนมีแค่สี่คน คือคนที่ไม่เก็ทจากการสอนวันแรก เป็นการพูดถึงเรื่องเดียวกันแต่คนละมุม คือความคิดที่ก่อทุกข์หรือ desire เกิดจากความเข้าใจผิดว่าชีวิตเราซึ่งประกอบขึ้นจากร่างกาย พลังชีวิต ความจำ ความคิด และความรู้ตัวนี้เป็นของที่สถิตย์สถาพร ทำให้พาลเข้าใจว่าความเป็นบุคคล (อัตตา) ของเรานี้มันเป็นของจริง โดยที่เราเป็นเจ้าของ แต่แท้จริงแล้วมันเป็นการมาบรรจบกันแค่ชั่วคราวและเราก็ไม่ได้เป็นเจ้าของ เมื่อแยกแยะชิ้นส่วนย่่อยออกไปแล้วสิ่งที่เรียกว่าอัตตาก็ไม่มี ไม่มีอะไรเหลือเลย .. บ๋อแบ๋

(3) โอวาทะปาฏิโมกข์ สอนพวกโยคีสาวกที่มาเยี่ยมพระพุทธเจ้าในวันศิวราตรี เล่ากันว่าพวกโยคีก่อนจะมาเข้าค่ายพระพุทธเจ้าเขานับถือพระศิวะกันมาแต่ดั้งแต่เดิม ถึงวันเพ็ญเดือนสามก็ต้องทำกิจบูชาพระศิวะซึ่งถือว่าเป็นคืนสำคัญของปีเรียกว่าศิวราตรี เมื่อมาเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าซึ่งไม่ยุ่งกับพระศิวะแล้ว แต่พอถึงวันเพ็ญเดือนสามมันรู้สึกว่าวันนี้เป็นวันดีจะต้องไปทำอะไรดีๆที่ไหนสักแห่ง ไม่รู้จะไปทำอะไรที่ไหนก็จึงเดินไปหาลูกพี่ คือพระพุทธเจ้า โยคีทุกคนก็คิดอย่างนี้ จึงโผล่หน้ามาพบพระพุทธเจ้าเป็นโขลงพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย

แต่ที่สำคัญซึ่งผมตั้งใจจะพูดถึงคือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนสาวกในคืนศิวราตรีนี้ ที่เรียกว่าโอวาทะปาฏิโมกข์ มีเนื้อหาโดยสรุปพูดถึง 6 ขั้นตอนปฏิบัติสู่ความหลุดพ้น คือ (1) ฝึกตนเป็นคนนิ่ง (ขันติ) เยือกเย็น ยอมรับ (2) ทำตัวเป็นคนมีศีล ไม่ทำร้ายชีวิตอื่น (3) ฝึกสำรวมอินทรีย์ หมายถึงคอยระแวดระวังเฝ้าดูว่าอะไรจะผ่านเข้ามาทางอายตนะทั้งหกในแต่ละนาที (4) ฝึกประมาณในการกิน กินใกล้จะอิ่มก็พอ ไม่กินจนอิ่มอึดอัด (5) ฝึกตื่นตัวรู้ตัวในทุกอริยาบทไม่ว่าจะลุก นั่ง ยืน เดิน (6) ฝึกนั่งสมาธิ คู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ตามดูลมหายใจ ใช้เครื่องมือวางความคิดอันได้แก่ สติ การผ่อนคลาย สมาธิ เป็นต้นเพื่อเข้าถึงภาวะที่ตื่นอยู่โดยไม่มีความคิด (ฌาณ) เกิดปัญญาญาณเห็นความจริงของชีวิตจนละวางความคิดยึดถือในอัตตาลงได้ในที่สุด

เวลาในชีวิตที่เหลืออยู่ คุณใช้สามสูตรนี้นำทางชีวิตก็พอแล้ว อย่าไปว่อกแว่กกับเรื่องอื่นมาก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ฺ

[อ่านต่อ...]