เรียนคุณหมอสันต์ครับ
ปัจจุบันผมอายุ 51 เป็นเบาหวานตั้งแต่อายุ 30 เดิมคุมแบบไม่กินน้ำตาลและผลไม้เลยและกินข้าวน้อยไม่กินยาจน 49 เริ่มหาหมอเข้าระบบเพราะ a1c 11 ความดัน150/95 คราวนี้หลงผิดเอาจริงเข้มงวดขนาดไม่กินยา เพราะคิดว่าดื้ออินซูลิน ไม่คิดว่าอินชุลินไม่พอ ไม่กินคาร์บ กินแต่ ผัก เนื้อ นม ไข่ ทำให้คุมเบาหวานอยู่ a1c 5.6 แต่ ldl 380 สุดท้ายเส้นเลื่อดหัวใจตีบเจ็บหน้าอกคอหอยนานติดต่อ 6 วัน(นึกว่ากรดใหลย้อน) และต้องทำขดลวดไปเมื่อ กุมภา 2564
พอกลับมาผมก็คุมเบาหวานด้วยการฉีดอินซูลิน เพราะเช็ค c peptide พบว่า ตับอ่อนผลิตอินซุลินได้น้อยมาก และเลิกกินเนื้อทุกชนิดนมไข่เด็ดขาด กิน อาหารคาร์บไม่ขัดสีเต็มเมล็ดทุกชนิด และผัก ผลไม้ทุกชนิด (ผมกินง่ายมากไม่เลือก)กินตามปริมาณอินซุลินที่ฉีด กินตามที่หมอสันต์แนะนำครับ คุมเข้มงวดมากไม่มีหลุดเพราะสนุกดี เดินทุกวัน 14,000ก้าว ตั้งแต่ กุมภา 2564 ชว่งแรกกิน atorvastatin หมอให้กิน 40 แต่ผมแบ่งออกเป็น 8 ส่วนเหลือวันละ 5มก.จ-ศ หยุด ส-อา ผลเลือด ldl 53 TG39 Hdl43 Tc105 hba1c4.6 พอเดือน กันยา ผมลองงด statin ทำตัวเหมือนเดิม ล่าสุด 14/12/64 ldl 108 TG61 Tc163 a1c4.8 ความดัน 117/79 หมอบอกว่าใส่ขดลวดldl ควรต่ำกว่า 70 ผมลองทบทวนความเข้มงวดในความประพฤติแล้วหมดความสามารถที่จะปรับปรุงได้มากกว่าที่ผ่านมา สิ่งที่ผมปฏิบัติคือ ตื่นตี 3.30 เดิน ตี4-6 กิน 7 12และ 17.00 อาหารคือ ข้าวกล้อง มัน ฟักทอง กล้วย ถั่วbean seed ทุกชนิด กิน nut เล็กน้อย เพราะไขมันสูง กิน ผลไม้ตามฤดู ผัก กินสลับไปทั่ว ไม่เคยผัดกับข้าว น้ำมัน น้ำตาล อะไรกินดิบได้ก็กิน ต้องทำสุกก็ใช้นึ่งเท่านั้น ผสมให้ได้ตามปริมาณอินซูลิน เช้า 5 เที่ยง 5 เย็น 5 สรุปกินคาร์บวันละ 15 คาร์บ ไม่สูบ ไม่ดื่ม ไม่รู้สึกลำบากในการกินเพราะไม่สนใจความอร่อย ขอมีอาหารพืชไขมันต่ำให้กินก็พอ ยาที่กินแค่ aspirin81 clopidogel 75 ถ้าครบ1ปีผมก็จะเลิก ผมกิน statin ไม่มีอาการข้างเคียง แต่ผมไม่อยากกิน statin แม้แต่น้อย เคยคิดหั่นเป้น 16 ส่วนแต่ก็ยังแหยงๆ ผมจึงต้องการความคิดเห็นของคุณหมอ ผมเคารพในความเห็นของคุุณหมอทุกประการครับ ขอบคุณครับ ผมส่งมาในเมล์เพราะส่งใน facebook ไม่เป็นครับ สิ่งที่ผมถามก็ไม่มีความลับใดๆครับ
………………………………………………………….
ตอบครับ
นี่เป็นตัวอย่างคลาสสิกของการจัดการโรคเบาหวานไปตามแบบประเพณีนิยม (conventional) คือกินอาหารโลว์คาร์บซึ่งในภาพใหญ่คือการกินเนื้อสัตว์มาก และไม่กินผลไม้เพราะกลัวความหวานในผลไม้ แล้วจบลงด้วยแม้ตัวชี้วัดน้ำตาลจะดีแต่ไขมันในเลือดกลับแย่ลง หลอดเลือดก็แย่ลงจนเกิดภาวะแทรกซ้อนกับอวัยวะปลายทาง ซึ่งในที่นี้ก็คือหัวใจ ทั้งหมดนี้เกิดจากมายาคติหรือความเข้าใจผิดในประเด็นสำตัญเกี่ยวกับเบาหวานหลายประเด็น คือ
ประเด็นที่ 1 ไปเข้าใจผิดว่าเนื้อสัตว์ไม่ทำให้เป็นเบาหวาน แต่อาหารแป้งซึ่งมาจากพืชทำให้เป็นเบาหวาน ทั้งๆที่ในความเป็นจริงคือเนื้อสัตว์นั่นแหละที่ทำให้เป็นเบาหวาน งานวิจัยแบบสุ่มตัวแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ที่ทำโดยหมอเบาหวานเอง แบ่งกลุ่มให้ผู้ป่วยกินอาหารสองชนิด กลุ่มหนึ่งกินอาหารเบาหวานที่แนะนำโดยสมาคมเบาหวานอเมริกันซึ่งมีทั้งเนื้อนมไข่ปลาตามสูตร อีกกลุ่มหนึ่งกินอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ ไม่ให้กินเนื้อสัตว์เลย นม ไข่ ปลา ก็ไม่ให้กิน พบว่ากลุ่มที่กินอาหารแบบพืชเป็นหลักเลิกยาเบาหวานได้มากกว่ากลุ่มกินอาหารปกติสองเท่าตัว ลดน้ำตาลในเลือดได้มากกว่าสองเท่าตัว ลดน้ำหนักได้มากกว่าสองเท่าตัว ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยขนาดใหญ่ที่กลุ่มประเทศทางภาคพื้นยุโรปได้ร่วมกันทำงานเพื่อติดตามดูกลุ่มคน 448,568 คนแบบตามไปดูข้างหน้า แล้วดูความสัมพันธ์ของอาหารกับการเจ็บป่วย เรียกว่างานวิจัยเอพิก (EPIC study) ซึ่งตอนนี้ได้ตามดูมาแล้วสิบกว่าปี พบว่าอาหารที่สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 นั้นไม่ใช่อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) อย่างที่คนทั่วไปเคยเข้าใจกัน แต่เป็นอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการถนอม (ไส้กรอก เบคอน แฮม)
ประเด็นที่ 2. ไปเข้าใจผิดว่าการกินผลไม้มากทำให้เป็นเบาหวาน ทั้งๆที่ในความเป็นจริงคือการกินผลไม้สดมากๆสัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานน้อยลง งานวิจัยติดตามกลุ่มคนประมาณสองแสนคนของฮาร์วาร์ดซึ่งได้เกิดผู้ป่วยเบาหวานขึ้นระหว่างการติดตาม 12,198 คน เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการกินผลไม้กับการเป็นเบาหวานพบว่าการกินผลไม้สดโดยเฉพาะอย่างยิ่งองุ่น แอปเปิล บลูเบอรี่ สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานน้อยลง แต่การดื่มน้ำผลไม้คั้นทิ้งกากกลับสัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานมากขึ้น เช่นเดียวกัน งานวิจัยขนาดใหญ่ทางยุโรปชื่อ EPIC study ก็ได้รายงานผลที่สอดคล้องกันว่าอาหารที่สัมพันธ์กับการลดการป่วยจากเบาหวานคือผักและผลไม้ ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ที่หวานหรือไม่หวานก็ตามก็ล้วนสัมพันธ์กับการลดโอกาสเป็นเบาหวานทั้งสิ้น
ประเด็นที่ 3. ไปเข้าใจผิดว่าอาหารไขมันไม่เกี่ยวกับโรคเบาหวาน จึงหนีหวานไปกินมัน ทั้งๆที่ในความเป็นจริงอาหารไขมันนั่นแหละที่ทำให้เป็นเบาหวานผ่านกลไกการดื้อต่ออินสุลิน งานวิจัยพิสูจน์กลไกการดื้อต่ออินสุลินพบว่าการดื้ออินสุลินเกิดจากการมีไขมันเก็บสะสมไว้ในเซลมาก งานวิจัยนี้ทำโดยทำการวัดระดับความเข้มข้นของไกลโคเจนและกลูโคสที่อยู่ในเซลกล้ามเนื้อไว้ก่อน แล้วทำให้น้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติ แล้วฉีดอินสุลินเข้าสู่กระแสเลือดให้ระดับอินสุลินในเลือดสูงผิดปกติ แล้ววัดการนำกลูโคสเข้าเซลและวัดอัตราเปลี่ยนกลูโคสเป็นไกลโคเจนในเซล ซึ่งพบว่าอินสุลินทำให้มีการนำกลูโค้สเข้าเซลมากขึ้น มีการเปลี่ยนกลูโคสในเซลไปเป็นไกลโคเจนมากขึ้น อันเป็นกลไกการทำงานของร่างกายตามปกติ ต่อมาในขั้นทดลองก็ทำการฉีดไขมันจากอาหารตรงเข้าไปไว้ในเซลกล้ามเนื้อก่อน แล้วทำให้น้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติ แล้วฉีดอินสุลินเข้าสู่กระแสเลือดให้ระดับอินสุลินในเลือดสูงผิดปกติ แล้ววัดการนำกลูโคสเข้าเซลและวัดอัตราเปลี่ยนกลูโคสเป็นไกลโคเจนในเซลอีกครั้ง ซึ่งครั้งหลังนี้พบว่าอินสุลินไม่สามารถนำกลูโค้สเข้าไปในเซล และไม่มีการเปลี่ยนกลูโคสในเซลไปเป็นไกลโคเจน ซึ่งเป็นสภาวะการณ์ที่เซลกล้ามเนื้อดื้อต่ออินสุลิน อันสืบเนื่องมาจากการมีไขมันไปสะสมในเซลกล้ามเนื้อมาก
หลักฐานที่ว่าไขมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันอิ่มตัวจากสัตว์ทำให้เกิดการดื้อต่ออินสุลินอันเป็นต้นเหตุของเบาหวานชนิดที่ 2 นี้ได้มีการวิจัยกันบ่อยครั้ง อีกงานวิจัยหนึ่งทำที่มหาวิทยาลัยลอนดอนได้เลือกผู้ไม่กินเนื้อสัตว์เลย (วีแกน) และกินคาร์โบไฮเดรตในปริมาณสูงมากอยู่แล้วมา 21 คน แล้วเลือกผู้กินเนื้อสัตว์ที่มีโครงสร้างสุขภาพคล้ายๆกันและกินคาร์โบไฮเดรตน้อยอยู่แล้วมา 21 คน ให้ทั้งสองกลุ่มออกกำลังกายเท่ากัน กินอาหารที่มีแคลอรี่เท่ากันทุกวันต่างกันเฉพาะเป็นเนื้อสัตว์หรือเป็นพืชเท่านั้น กินอยู่นาน 7 วันแล้วเจาะเลือดดูปริมาณอินสุลินที่ร่างกายผลิตขึ้นและตัดตัวอย่างชิ้นกล้ามเนื้อออกมาตรวจดูปริมาณไขมันสะสมในกล้ามเนื้อทั้งก่อนและหลังการทดลอง พบกว่ากลุ่มวีแกนที่กินแต่พืชมีระดับอินสุลินในเลือดต่ำกว่าและมีไขมันสะสมในกล้ามเนื้อน้อยกว่ากลุ่มที่กินเนื้อสัตว์มาก ซึ่งผลนี้ชี้บ่งไปทางว่าอาหารพืชหรือคาร์โบไฮเดรตไม่ได้กระตุ้นการเพิ่มอินสุลิน แต่อาหารเนื้อสัตว์หรือไขมันต่างหากที่กระตุ้นการปล่อยอินสุลินและทำให้เป็นเบาหวาน
ดังนั้นผู้เป็นเบาหวานจึงควรจำกัดอาหารไขมันให้เหลือน้อยที่สุด ไม่กินไขมันที่ได้จากการสกัดเช่นน้ำมันที่ใช้ผัดทอดอาหารต่างๆ กินแต่ไขมันที่อยู่ในอาหารตามธรรมชาติเช่นถั่วหรือนัททั้งเมล็ด เป็นต้น
ประเด็นที่ 4. ไปเข้าใจผิดว่ากินข้าวหรือแป้งมากทำให้เป็นเบาหวานตะพึด ทั้งๆที่ความเป็นจริงคือเฉพาะข้าวขาวและแป้งแบบขัดสีเท่านั้นที่ทำให้โรคเบาหวานแย่ลง ส่วนข้าวกล้องและธัญพืชไม่ขัดสี และคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเช่นมันเทศกลับทำให้โรคเบาหวานดีขึ้น การวิเคราะห์ผลวิจัยติดตามสุขภาพแพทย์และพยาบาลของฮาร์วาร์ด พบว่าการบริโภคข้าวขาวมาก(สัปดาห์ละ 5 เสริฟวิ่งขึ้นไป) สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานชนิดที่สองมากขึ้นกว่าคนที่ไม่ได้บริโภคข้าว ขณะที่การบริโภคข้าวกล้องมาก (สัปดาห์ละ 2 เสริฟวิ่งขึ้นไป) กลับสัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานชนิดที่สองน้อยลงกว่าคนที่ไม่ได้บริโภคข้าว
การทบทวนงานวิจัยที่ทำในยุโรปเพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างการกินธัญพืชชนิดขัดสีและไม่ขัดสีกับการเป็นเบาหวานประเภท 2 ก็พบว่าการกินธัญพืชไม่ขัดสีมีผลลดความเสี่ยงการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ขณะที่การกินธัญพืชขัดสีกลับมีผลเพิ่มความเสี่ยงการเป็นเบาหวานชนิดที่2 มากขึ้น
งานวิจัยรักษาผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้อินสุลินด้วยการให้อาหารคาร์โบไฮเดรตชนิดมีกากมาก (high carbohydrate high fiber – HCF) พบว่าทำให้ต้องใช้อินสุลินน้อยลงขณะที่ทำให้ระดับน้ำตาลต่ำลงและไขมันรวมในเลือดลดลง
ผมพล่ามมาตั้งนานจนลืมไปแล้วว่าคุณถามอะไรนะ อ้อ..นึกออกละ ระดับไขมันในเลือดเท่าไหร่จึงจะเลิกยาลดไขมันได้ ตอบว่าการที่คุณหมอของคุณท่านมุ่งมั่นให้ไขมันในเลือด LDL ต่ำกว่า 70 นั่นท่านก็ทำถูกของท่านแล้วเพราะท่านเป็นหมอหัวใจท่านก็มองอัตราตายจากโรคหัวใจของคนที่เป็นโรคมาระดับเต็มแม็กแล้วอย่างคุณนี้ซึ่งอัตราตายมันจะต่ำได้ที่หากกดไขมันเลวให้ต่ำกว่า 70 แต่ชีวิตร่างกายคุณไม่ได้มีแต่หัวใจอย่างเดียว คุณยังมีสมอง มีตับอ่อน อีกด้วย ซึ่งหากมองจากมุมของสมอง งานวิจัยตามดูผู้ใช้ยา statin พบว่าการกดระดับไขมัน LDL ให้ต่ำกว่า 70 จะตามมาด้วยการเกิดอุบัติการหลอดเลือดในสมอง (hemorrhagic stroke) มากขึ้น และหากมองจากมุมของตับอ่อน การใช้ยา statin จะทำให้เป็นเบาหวานมากขึ้น งาน JUPITER trial เปรียบเทียบคนกิน statin เทียบกับยาหลอก พบว่าคนกิน statin เป็นเบาหวานมากกว่าคนกินยาหลอก 27% การตีพิมพ์งานวิจัยข้อมูลจากศูนย์รักษาเบาหวาน 27 แห่งทั่วสหรัฐก็พบว่ากลุ่มที่ใช้ยาลดไขมันเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น 33-37% โดยที่แม้จะแยกเอาปัจจัยเสี่ยงโรคเบาหวานออกไปแล้วอัตราการเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้นในคนใช้ยาลดไขมันก็ยังคงอยู่ อีกงานวิจัยหนึ่งวิจัยผู้ประกันตนของโครงการประกันสุขภาพที่โอไฮโอซึ่งไม่ได้เป็นเบาหวานจำนวน 7,064 คนซึ่งล้วนไม่ได้ยาลดไขมันตอนเริ่มวิจัยและทุกคนมีน้ำตาลในเลือดปกติ ต่อบางส่วนได้เริ่มกินยาลดไขมันและบางส่วนเริ่มมีน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ พบว่ากลุ่มที่กินยาลดไขมันมีน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติมากกว่ากลุ่มไม่กินถึงเท่าตัว งานวิจัยนี้มีข้อมูลประกอบที่ช่วยแยกปัจจัยกวนได้ค่อนข้างละเอียดจนผู้วิจัยกล้าพูดว่ายาลดไขมันมีโอกาสมาก..กส์ (มีตัวเอสต่อท้ายด้วยนะ) ที่จะเป็นสาเหตุของการทำให้น้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ
สำหรับคนที่แก่แล้ว (ผมรู้ว่าคุณยังไม่แก่ แต่ผมพูดเผื่อท่านผู้อ่านท่านอื่น) มันยังมีประเด็นความแก่อีกนะ คือคนแก่หากไปใช้ยากดไขมันในเลือดให้ต่ำลงมากๆ อัตราตายรวมจะมากขึ้น แม้ว่าอัตราตายจากโรคหัวใจจะลดลง ส่วนใหญ่ไปตายด้วยมะเร็ง นี่ยังไม่นับว่ายา statin ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงและปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายไม่ถนัดลื่นตกหกล้มง่าย และยานี้ยังมีความสัมพันธ์กับความขี้หลงขี้ลืม ซึ่งหายไปเมื่อหยุดยา
ดังนั้นการใช้ยา statin กดไขมัน LDL ให้ต่ำในกรณีของคุณนี้ หากมองร่างกายในภาพรวมไม่มองแต่หัวใจอย่างเดียว ผมแนะนำว่าระดับ LDL 70-100 mg/dl นี่ก็หรูเริ่ดสะแมนแตนแล้ว บวกลบได้นิดหน่อย และในกรณีของคุณ ถ้าผมเป็นคุณ ผมจะเลิกกินยา statin ไปเลย เพราะคุณบอกว่าเลิกแล้ว LDL ขึ้นมาเป็น 108 นี่เป็นผลเลือดครั้งแรกหลังเลิกยานะ หากคุณไม่ใจร้อนรีบกลับมากินยา ค่อยๆดูมันไปสามเดือนหกเดือนแล้วเจาะเลือดดูซ้ำ ผมพนันร้อยเอาขี้หมาก้อนเดียวว่า LDL มันจะลงไปต่ำกว่านี้อีก เพราะมันเป็นกลไกปกติของร่างกายที่จะชักเย่อกับยา พอเลิกยาพลั้วะไขมันในเลือดจะเด้งขึ้น แล้วมันจะค่อยๆลงมาเอง
ปล. ขี้หมาที่ผมได้ไม่ต้องเอามาให้ผมก็ได้
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
จดหมายจากท่านผู้อ่าน
ตอนนี้มีหมอกลุ่มหนึ่งที่ออกมาให้ข้อมูลว่าการรักษาโรคเบาหวานที่ดีและมีประสิทธิภาพคือการกินแบบคีโต (ตัดคาร์บ กินไขมันเป็นพลังงาน)โดยบอกว่านอกจากกระตุ้นอินซูลินแล้วคาร์บยังก่อให้เกิดการอักเสบระดับเซลซึ่งเป็นสาเหตุของความเสื่อมของร่างกาย แต่ไขมันไม่ก่อให้เกิดการอักเสบและมีผลตรวจเลือดมาแสดงให้เห็นถึงการอักเสบที่ลดลง ระดับน้ำตาลที่ลดลงคุณหมอมีความเห็นประเด็นเรื่องนี้ว่าอย่างไรคะ1) การรักษาเบาหวานด้วยการกินแบบคีโต และ2) คาร์บก่อให้เกิดการอักเสบระดับเซล รวมถึงการอักเสบในหลอดเลือด ทำให้ ldl ต้องมาซ่อมแผลอักเสบหลอดเลือดเลยตีบ แต่การกินแบบคีโตไม่เกิดการอักเสบ ดังนั้นถึง ldl จะสูงก็ไม่อันตรายเพราะไม่มีการอักเสบในเส้นเลือด
ตอบครับ
- ถามว่ากินคีโตรักษาเบาหวานได้ผลไหม ตอบว่าได้ผลครับ ตัวชี้วัดต่างๆของโรคเบาหวานดีขึ้น แต่งานวิจัยติดตามดูนานาน 5 ปีพบว่ากลุ่มที่กินอาหารแบบโลว์คาร์บอย่างนี้อัตราตายจากโรคหัวใจหลอดเลือดสูงกว่ากลุ่มกินคาร์บตามปกติ ดังนั้นท่านที่ชอบกินคีโตรักษาเบาหวานก็ทำได้ถ้าอยากจะทำแต่ผมแนะนำว่าพอได้ผลแล้วให้ค่อยๆเปลี่ยนมาเป็นอาหารพืชเป็นหลัก(plant based)
- ถามว่าจริงหรือที่ว่าโคเลสเตอรอลสูง (LDL) สูงแต่ไม่อันตราย ตอบว่าไม่จริงครับ ความสัมพันธ์ระหว่างระดับ LDL ในเลือดกับการเกิดจุดจบที่เลวร้ายของโรคหัวใจหลอดเลือดเป็นของจริงแท้แน่นอนมีงานวิจัยสนับสนุนแน่นหนาครับ ตรงนี้ทำให้อาหารคีโตซึ่งทำให้ LDL สูงเสมอ เป็นอาหารที่ไม่ดีกับหัวใจครับ หากชอบคีโตจริงผมแนะนำให้กินแบบคีโตวีแกน คือไม่กินเนื้อสัตว์เลย LDL จะไม่สูง โอเคกว่าครับ
ประเด็นหมอคนโน้นว่ายังงั้น หมอคนนี้ว่าอย่างงี้ ผมแนะนำสองอย่างครับ (1) ให้ตรวจสอบหลักฐานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ที่แบ้คอัพคำพูดของหมอแต่ละคน โดยการจะทำอย่างนี้ต้องรู้จักวิธีจัดชั้นความเชื่อถือได้ของหลักฐานด้วย หรือ (2) ลองทำวิจัยกับตัวเองเลยครับ คือลองกินมันทั้งสองแบบ แบบละประมาณ 1 ปี แล้วพบว่าตัวเองชอบแบบไหนค่อยเลือกแบบนั้นก็ได้ครับ
สันต์
บรรณานุกรม
1. Barnard, N.D., et al., A low-fat vegan diet improves glycemic control and cardiovascular risk factors in a randomized clinical trial in individuals with type 2 diabetes. Diabetes Care. 2006 Aug;29(8):1777-83.
2. InterAct, C., et al., Association between dietary meat consumption and incident type 2 diabetes: the EPIC-InterAct study. Diabetologia, 2013. 56(1): p. 47-59.
3. InterAct, C., Adherence to predefined dietary patterns and incident type 2 diabetes in European populations: EPIC-InterAct Study. Diabetologia, 2014.57(2): p. 321-33.
4. Muraki, I., et al., Fruit consumption and risk of type 2 diabetes: results from three prospective longitudinal cohort studies. BMJ, 2013. 347: p. f5001.7. Christensen, A.S., et al., Effect of fruit restriction on glycemic control in patients with type 2 diabetes–a randomized trial. Nutr J, 2013. 12: p. 29.8 Rock, W., et al., Effects of date ( Phoenix dactylifera L., Medjool or Hallawi Variety) consumption by healthy subjects on serum glucose and lipid levels and on serum oxidative status: a pilot study. J Agric Food Chem, 2009.57(17): p. 8010-7.
2006. 29(8): p. 1777-83.
5. Roden, M., et al., Mechanism of free fatty acid-induced insulin resistance in humans. J Clin Invest, 1996. 97(12): p. 2859-65.
6. Goff, L.M., et al., Veganism and its relationship with insulin resistance and intramyocellular lipid. Eur J Clin Nutr, 2005. 59(2): p. 291-8.11. Sun, Q., et al., White rice, brown rice, and risk of type 2 diabetes in US men and women. Arch Intern Med, 2010. 170(11): p. 961-9.12. Aune, D., et al., Whole grain and refined grain consumption and the risk of type 2 diabetes: a systematic review and dose-response meta-analysis of cohort studies. Eur J Epidemiol, 2013. 28(11): p. 845-58.13. Anderson, J.W. and K. Ward, High-carbohydrate, high-fiber diets for insulin-treated men with diabetes mellitus. Am J Clin Nutr, 1979. 32(11): p. 2312-21.
7. Ridker P, et al “Cardiovascular benefits and diabetes risks of statin therapy in primary prevention: an analysis from the JUPITER trial” Lancet 2012; 380: 565-571.
8. Crandall JP, Mather K, et al. on behalf of the DPPRG. Statin use and risk of developing diabetes: results from the Diabetes Prevention Program. BMJ Open Diabetes Res Care. 2017; 5(1): e000438. doi: 10.1136/bmjdrc-2017-000438
9. Victoria A. Zigmont, Abigail B. Shoben, Bo Lu, Gail L. Kaye, Steven K. Clinton, Randall E. Harris, Susan E. Olivo‐Marston. Statin users have an elevated risk of dysglycemia and new‐onset‐diabetes. Diabetes/Metabolism Research and Reviews, 2019; e3189 DOI: 10.1002/dmrr.3189
10. Chaoran Ma, M. Edip Gurol, Zhe Huang, Alice, H. Lichtenstein, Xiuyan Wang, Yuzhen Wang, Samantha Neumann, Shouling Wu, Xiang Gao. Low-density lipoprotein cholesterol and risk of intracerebral hemorrhage: A prospective study. Neurology Jul 2019, 93 (5) e445-e457; DOI: 10.1212/WNL.0000000000007853
11. Richardson K, Schoen M, French B, et al. Statins and cognitive function: a systematic review. Ann Intern Med. 2013;159:688–697.[PubMed]
12. Corti MC, Guralnik JM, Salive ME, et al. Clarifying the direct relation between total cholesterol levels and death from coronary heart disease in older persons. Ann Intern Med. 1997;126:753–760.[PubMed]
13. Sever PS, Dahlöf B, Poulter NR, et al. Prevention of coronary and stroke events with atorvastatin in hypertensive patients who have average or lower-than-average cholesterol concentrations, in the Anglo-Scandinavian Cardiac Outcomes Trial-Lipid Lowering Arm (ASCOT-LLA): a multicentre randomised controlled trial. Lancet.2003;361:1149–1158. [PubMed]
13. Neil HA, DeMicco DA, Luo D, et al. Analysis of efficacy and safety in patients aged 65-75 years at randomization: Collaborative Atorvastatin Diabetes Study (CARDS) Diabetes Care. 2006;29:2378–2384. [PubMed]
14. Nakaya N, Mizuno K, Ohashi Y, et al. Low-dose pravastatin and age-related differences in risk factors for cardiovascular disease in hypercholesterolaemic Japanese: analysis of the management of elevated cholesterol in the primary prevention group of adult Japanese (MEGA study) Drugs Aging. 2011;28:681–692. [PubMed]
15. Ornish, D., Scherwitz, L.W., Billings, J.H., Brown, S.E. et al (1998), Intensive lifestyle changes for reversal of coronary heart disease. JAMA;280(23):2001-7. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/9863851
16. Kossof, E., (2014), Danger in the pipeline for the ketogenic diet? Epilepsy Curr.;14(6):343-4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4325592