28 ธันวาคม 2552

ขอให้คุณหมอช่วยอธิบายเรื่อง vaginismus

ขอให้คุณหมอช่วยอธิบายเรื่อง vaginismus โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นมาก หาจิตแพทย์ก็แล้ว ทำทุกอย่างแล้ว รวมทั้งกินยา Dormicum ให้ไม่รู้ตัวขณะอยู่กับสามี ก็ยังไม่สำเร็จ ควรจะทำอย่างไรต่อไปดีtata
--------------------------------------------------------------------------------
ตอบ

คำถามเกี่ยวกับเรื่องทางเพศสัมพันธ์ของคุณทำให้ผมชะงักนิดหน่อย เพราะว่าไม่ถนัด ตัวผมเองก็เป็นคนมีอายุมากแล้ว พูดง่ายๆว่าแก่แล้ว การจะเขียนเรื่องนี้ออกใน public เกรงว่าจะใช้คำพูดคำจาได้ไม่เหมาะ แต่ก็เข้าใจปัญหาของคุณ จะตอบเพื่อช่วยแก้ปัญหา และจะใช้คำพูดอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ทะลึ่ง

Vaginismus บางทีเรียก vaginism หมายถึงอาการของผู้หญิง ที่มีระบบอวัยสืบพันธ์สตรีเป็นปกติ แต่มีความกลัวที่จะถูกสอดใส่อะไรเข้าไปในช่องคลอด ทำให้ไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์กับสามีได้ เพราะจะมีอะไรกันทีไร กล้ามเนื้อรอบๆช่องคลอดก็จะหดตัวโดยเจ้าตัวไม่ได้สั่ง ไม่ได้ตั้งใจให้มันเป็นเช่นนั้น อันที่จริงความกลัวที่จะถูกสอดใส่ เป็นความกลัวตามธรรมชาติมากๆทีเดียว หญิงสาวทุกคนมีความรู้สึกนี้ในครั้งแรก ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าอุปสรรคอยู่ที่เยื่อพรหมจารีหรือ hymen แต่อยู่ที่กล้ามเนื้อรอบๆช่องคลอด ภาวะ vaginismus นี้เป็นปัญหาใหญ่สำหรับสตรีที่แต่งงานแล้วและประสงค์จะมีบุตร เพราะความกลัวนี้กลายเป็นวงจรร้าย ยิ่งกลัวก็ยิ่งหลีกเลี่ยงการมีเซ็กซ์ เป็นภาวะที่น่าเห็นใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่แต่งงานใหม่ บางคู่ต้องทนอยู่กับปัญหานี้เป็นเวลาหลายปีโดยหาทางออกไม่ได้

สิ่งแรกที่พึงทำคือต้องไปตรวจภายในกับสูตินรีเวชแพทย์ก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าระบบอวัยวะสืบพันธ์เป็นปกติดี การตรวจภายในสำหรับผู้หญิงที่เป็น vaginismus แม้จะเป็นหญิงที่แต่งงานแล้ว เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะความกลัว แต่ก็ต้องทำ ส่วนใหญ่ต้องจบด้วยการดมยาสลบก่อนจึงจะตรวจภายในได้ เมื่อผ่านการตรวจภายในและพบว่าระบบอวัยวะสืบพันธ์เป็นปกติแล้ว จึงค่อยมาค่อยๆแก้ปัญหาเป็นสะเต็พต่อไป

ก่อนอื่นควรงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์แบบทั่วๆไปที่ต้องมีการสอดใส่ไว้ก่อน เพราะยิ่งพยายามจะยิ่งกลัว ต้องเริ่มแก้ปัญหาที่ฝ่ายหญิง ให้ผู้หญิงปลีกตัวว่างๆเงียบคนเดียว ค่อยๆทำความรู้จักและทำความคุ้นเคยกับกายวิภาคของระบบสืบพันธ์ตนเองโดยถือกระจกเงาส่องดูไปทุกซอกทุกส่วน ใช้สารหล่อลื่นที่ไม่ระคายเคือง เช่น K-Y jelly ทาชโลมมือ แล้วสัมผัสไปทั่วๆ ทำอย่างนี้ก่อนสักสองสามครั้ง จนตัวเองค่อยรู้สึกคุ้นกับบริเวณนั้นดีขึ้น

ครั้งต่อจากนั้น จึงค่อยๆลองใช้นิ้วหรืออะไรที่ขนาดเล็กพอๆกันสอดเข้าไปนิดหนึ่ง ผ่อนคลายอารมณ์ให้สบาย ถอนหายใจลึกๆ สอดเข้าไปลึกอีกหน่อย แล้วสอดทิ้งคาไว้อย่างนั้นชั่วครู่ จนรู้สึกว่าไม่เครียดและสบายๆแล้ว จึงค่อยๆดึงออก แล้วค่อยๆใส่เข้าๆออกๆอีกสักพัก จนรู้สึกผ่อนคลายเต็มที่ การช่วยตนเองให้ตัวเองถึงออร์แกสซึ่มโดยที่มีนิ้วคาอยู่ข้างในก็เป็นไอเดียที่ดี แต่ว่าต้องไม่ทำรุนแรง

หลักการรักษา vaginismus คือให้ตัวเรารู้สึกสบายๆเมื่อมีอะไรเข้าไปใน vagina เมื่อนิ้วหรือของเล็กเข้าไปได้แล้ว ครั้งต่อไปค่อยๆเพิ่มขนาดของอุปกรณ์ที่สอดใส่ จนได้ขนาดใกล้เคียงกับอวัยวะเพศชายจริงๆ อาจให้สามีช่วยสอดใส่อุปกรณ์ให้บ้างก็ได้ อย่าลืมต้องรีแลกซ์ ผ่อนคลายทุกครั้งที่มีอะไรเข้าไป ใช้ดนตรีช่วยด้วยก็ยิ่งดี จนรู้สึกว่าคุ้นเคยแล้ว จากนั้นจึงกระตุ้นตัวเองให้ถึง orgasm

จากนั้น ท้ายที่สุด ก็ลองทำอย่างเดียวกัน หมายถึงการทำความคุ้นเคย โดยทำความคุ้นเคยกับอวัยวะเพศชายของสามีบ้าง จับมันไว้ ลองเล่นกับมันดู มองดูตอนที่มันแข็งตัว มองดูความรู้สึกกลัวของตัวเองด้วย จนความรู้สึกกลัวมันหมดไปเอง จนมองดูมันได้โดยไม่มีความรู้สึกกลัว ไม่มีความรู้สึกรังเกียจ

เมื่อคิดว่ามีความพร้อมพอสมควรแล้ว ค่อยกลับมามีเพศสัมพันธ์แบบปกติอีกครั้งนั้น วันแรกที่กลับมา ให้ใช้สิ่งหล่อลื่นมากๆ เมื่อสามีสอดใส่เข้าไปได้สักนิดหนึ่งแล้ว ให้ทิ้งมันไว้ข้างในสักครู่ แล้วก็ค่อยๆถอยมันออกมา แล้วทำซ้ำอีก ช้าๆ slowly but surely ในที่สุดอวัยวะเพศชายก็จะเข้าไปอยู่ใน vagina ของเราได้เต็มที่ โดยไม่ลำบากอะไร

ค่อยๆทำตามนี้ ทีละสะเต็พ ค่อยๆไป ในที่สุดเรื่อง vaginismus ก็จะกลายเป็นแค่เรื่องในอดีตเท่านั้น ขอให้ประสบความสำเร็จนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

26 ธันวาคม 2552

เป็นอัมพาต รีบไปโรงพยาบาลแต่หมอก็ยังว่าฉีดยาไม่ทัน

คุณหมอคะ
คุณแม่มีอาการแขนอ่อนแรงหลังทานอาหารเย็น มีอาการตอน 19.10 น. ดิฉันรีบพาไปโรงพยาบาลไปถึงรพ.เอาตอนประมาณ 21.23 น. มีการปรึกษาหมอมาดูหลายคน จนคุณหมอคนสุดท้ายมาบอกว่าคุณแม่เป็นอัมพาต แต่ว่ามาถึงช้าเกินไป ไม่สามารถฉีดยาละลายลิ่มเลือดได้ คุณแม่นอนรพ.อยู่ เกือบเดือน ตอนนี้แขนก็ยังไม่มีแรงดีนัก อยากถามคุณหมอว่าการฉีดยาละลายลิ่มเลือดรักษาอัมพาตนี้ต้องฉีดภายในเวลาเท่าใด จึงจะไม่เรียกว่าช้าเกินไป เพราะขนาดดิฉันไปรพ.เร็วมาก หมอยังบอกว่าช้า แล้วจะมีใครไปรพ.ทันหรือ

ตอบ

นี่จะถามเอาคำตอบ หรือจะตีวัวกระทบคราดไปยังโรงพยาบาลโน้นกันแน่ครับ
ผมเดาว่าคุณจะถามเอาคำตอบก็แล้วกันนะ
ก่อนอื่นผมขอเท้าความมาจะกล่าวบทไปก่อน ว่าอัมพาตนั้นมีสองแบบ
แบบที่ 1. หลอดเลือดในสมองแตกดังโพล้ะแล้วเลือดออกและคั่งในสมอง ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเอาเลือดที่คั่งออก
แบบที่ 2. แบบหลอดเลือดในสมองตีบ แล้วมีลิ่มเลือดไปอุดตรงที่ตีบดัง “ป๊อก” (พูดเล่นนะครับ เวลาอุดจริงมันไม่ดังขนาดได้ยินดอก) วิธีรักษาก็คือถ้ามาเร็วก็ฉีดยาละลายลิ่มเลือด ถ้ามาช้าก็รอลุ้นให้ร่างกายฟื้นตัวเองอย่างเดียว

นาทีทองของการรักษาอัมพาตนั้น หมายถึงอัมพาตแบบที่สอง สมัยก่อนก็ถือกันว่า 3 ชั่วโมง โดยประมาณ สามชั่วโมงนี้หมายความว่านับจากเริ่มมีอาการที่บ้าน เดินทาง มาถึงห้องฉุกเฉิน พบแพทย์เวร แพทย์โทรศัพท์คุยกันไปคุยกันมา ส่งไปตรวจคอมพิวเตอร์สมอง ปรึกษาแพทย์อายุรกรรมประสาทมาวินิจฉัย แพทย์วินิจฉัยได้แล้วแต่ก็ต้องปรึกษาญาติถึงประโยชน์และความเสี่ยง พูดง่ายๆก็คือตกลงกันว่า “จะเอาไม่เอา?” พูดกันสามรอบ อธิบายชักแม่น้ำสามสาย บางทีญาติคนนี้เอา คนโน้นไม่เอา ต้องโทรศัพท์ไปถามอีกคนที่อเมริกา แล้วก็ยังตัดสินไม่ได้ก็มี ถ้าทั้งหมดนี้ใช้เวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง ก็ถือว่ายังอยู่ในนาทีทอง หากไม่มีข้อห้ามอื่นใด (เช่นความดันเลือดสูง เพิ่งผ่าตัดใหญ่มา) ก็จะได้ประโยชน์จากการฉีดยาละลายลิ่มเลือด ดังนั้นจะเห็นว่าอัมพาตเป็นเรื่องฉุกเฉินไม่ต่างจากหัวใจวาย ถ้ามาเร็ว รักษาทัน ก็กลับฟื้นได้ ความเชื่อแบบสมัยก่อนที่ว่าเป็นอัมพาตเหรอ ยังไงก็ต้องนอนหยอดน้ำข้าวต้มไปจนตาย ไม่จริงเสียแล้ว

กลับมาพูดถึงนาทีทอง แต่เดิมก็ถือกันว่า 3 ชั่วโมง แต่ไม่นานมานี้พวกหมอทางยุโรปได้ทำการวิจัย [1] เรียกว่า ECASS III โดยจับเอาผู้ป่วยอัมพาตฉุกเฉินที่มาถึงโรงพยาบาลช้าและฉีดยาไม่ทัน 3 ชั่วโมง (แต่ไม่เกิน 4 ชั่วโมงครึ่ง)จำนวน 823 คน เอามาจับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งฉีดยาละลายลิ่มเลือด (alteplase) อีกกลุ่มหนึ่งฉีดน้ำเปล่าแล้วหลอกว่าเป็นยา (งานวิจัยก็โหดงี้แหละครับ) แล้วตามไปดูผลหลังจากนั้นหนึ่งเดือนและสามเดือนว่ากลุ่มไหนจะรอดตายหรือฟื้นตัวจากอัมพาตดีกว่ากัน พบว่ากลุ่มที่ฉีดยาจริงฟื้นตัวดีกว่ากลุ่มที่ฉีดยาหลอก ไม่ว่าจะเป็นอัมพาตรุนแรงหรือไม่รุนแรง เป็นคนแก่หรือคนหนุ่ม โดยที่อัตราเลือดออกในสมองซึ่งแต่ก่อนเคยกลัวกันว่าถ้ามาถึงช้าไปฉีดยาเข้าเลือดจะออกในสมองมากนั้นก็ไม่ได้ออกมากอย่างที่กลัว คือออกพอๆกันทั้งสองกลุ่ม ผลวิจัยนี้ทำให้กลายเป็นมาตรฐานใหม่ไปเสียแล้วว่านาทีทองสำหรับการรักษาอัมพาตนั้นจะถูกขยายออกไปจากเดิม 3 ชั่วโมงเป็น 4 ชั่วโมงครึ่ง ดังนั้นคราวหน้าลองอีกทีนะครับ คราวนี้น่าจะทัน (ขอโทษ..พูดเล่น)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Bluhmki E; Chamorro A; Dvalos A; Machnig T; Sauce C; Wahlgren N; Wardlaw J; Hacke W.
Stroke treatment with alteplase given 3.0-4.5 h after onset of acute ischaemic stroke (ECASS III): additional outcomes and subgroup analysis of a randomised controlled trial. Lancet Neurol. 2009; 8(12):1095-102 (ISSN: 1474-4465)
[อ่านต่อ...]

23 ธันวาคม 2552

ช็อกโกแล็ตอาจช่วยลดการตายจากโรคหัวใจ

งานวิจัยนี้ทำที่สวีเดน [1] ติดตามดูผู้ป่วยที่เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (heart attack) โดยเลือกเฉพาะคนที่ไม่ได้เป็นเบาหวานมาจำนวน 1,169 ให้กรอกแบบสอบถามเกี่ยวกับปริมาณช็อกโกแลตที่รับประทานใน 12 เดือน แล้วเอามาแบ่งเป็นกลุ่มตามจำนวนครั้งของการรับประทานมากหรือน้อย แล้วตามดูคนทั้งหมดนี้ไปนาน 8 ปี พบว่ากลุ่มที่ทานช็อกโกแลตมากมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ทานช็อกโกแลตเลย โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างโอกาสเสียชีวิตกับการรับประทานช็อกโกแลตนี้เป็นแบบแปรผันตามปริมาณที่รับประทาน (dose dependent) กล่าวคือ


กลุ่มที่ทานช็อกโกแลตไม่เกินเดือนละครั้ง ลดอัตราตายได้ 27% เมื่อเทียบกับกลุ่มไม่ทานช็อกโกแลต


กลุ่มที่ทานช็อกโกแลตถึงสัปดาห์ละครั้ง ลดอัตราตายได้ 44% เมื่อเทียบกับกลุ่มไม่ทานช็อกโกแลต


กลุ่มที่ทานช็อกโกแลตสัปดาห์ละสองครั้งขึ้นไป ลดอัตราตายได้ 66% เมื่อเทียบกับกลุ่มไม่ทานช็อกโกแลต


ผลวิจัยนี้สรุปได้ว่าการรับประทานช็อกโกแลต “อาจ” ช่วยลดอัตราตายของผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดในระยะยาวลงได้


อย่างไรก็ตาม หากแบ่งชั้นความเชื่อถือได้ของงานวิจัยออกเป็นสามชั้นคือต่ำ กลาง สูง โดยให้งานวิจัยในห้องแล็บและในสัตว์เป็นหลักฐานชั้นต่ำ งานวิจัยในคนที่ไม่มีการสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบเป็นหลักฐานชั้นกลาง และงานวิจัยในคนที่มีการสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบเป็นหลักฐานชั้นสูง งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยในคนในแบบเชิงระบาดวิทยา โดยไม่มีการสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ (cohort study) จึงเป็นเพียงหลักฐานระดับกลางเท่านั้น จึงยังต้องฟังหูไว้หูก่อน หรือสรุปได้ว่าช็อกโกแลต “อาจจะ” ดีต่อหัวใจ ยังสรุปไม่ได้ว่าช็อกโกแลตดีต่อหัวใจแน่นอน


ผลงานวิจัยนี้สอดคล้องกับความรู้ที่วงการแพทย์ทราบมาแต่เดิมว่าช็อกโกแลต โดยเฉพาะ dark chocolate ซึ่งได้จากผลโกโก้ (cocoa) มีสารฟลาโวนอยด์ซึ่งเป็นสารเดียวกันกับในองุ่นและไวน์แดงและมีความสัมพันธ์กับการลดอัตราตายของโรคหัวใจหลอดเลือด งานวิัจัยนี้คงทำให้คนชอบช็อกโกแลตรู้สึกดีขึ้นมากพอควร


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Janszky I., Mukamal K.J., Ljung R., Ahnve, S. Ahlbom, A. Hallqvist, J. Chocolate consumption and mortality following a first acute myocardial infarction: the Stockholm Heart Epidemiology Program. Journal of Internal Medicine 2009; 266:248 – 257.
[อ่านต่อ...]

อาหารลดน้ำหนักสี่สูตร (Atkins, Zone, LEARN, Ornish)

การลดความอ้วนด้วยอาหารสูตรต่างๆนี้มีใหญ่อยู่สี่สูตร คือ

1.สูตรคาร์โบไฮเดรตต่ำของนพ.อัทคินส์ ซึ่งเป็นหมอหัวใจที่โดนบ้อมบ์จากหมอหัวใจด้วยกันมากพอควร มีสาระสำคัญว่ารับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตจากแป้งและน้ำตาลให้น้อยที่สุด คือน้อยเพียง 20 กรัมต่อวัน ไปเอาแคลอรี่จากไขมันแทน ให้ร่างกายเปลี่ยนจากการที่เคยเก่งด้านเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตมาเป็นให้เก่งในการเผาผลาญไขมันแทน

2.สูตรให้รับประทานแคลอรี่กระจายให้ได้ดุลหรือ Zone diet ของดร.เชียร์ส ซึ่งเป็นนักเคมี โดยมีหลักคิดว่ารับประทานให้ได้แคลอรี่จากคาร์โบไฮเดรต-ไขมัน-โปรตีน ในสัดส่วน 4-3-3

3.สูตรรับประทานคาร์โบไฮเดรตให้มากๆหรือพูดง่ายๆว่าเป็นพวกรับประทานผัก เรียกว่า LEARN diet ให้ได้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรต 55-60% ให้ได้พลังงานจากไขมันต่ำระดับ 10% ความจริงคำว่า LEARN นี้ย่อมาจาก Lifestyle, Exercise, Attitudes, Relationships, และ Nutrition หมายความว่าการลดความอ้วนนั้นต้องทำหลายๆอย่างปนกันไป

4.สูตร Ornish diet ของนพ.ออร์นิชซึ่งเป็นหมอหัวใจที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงการหมอหัวใจด้วยกัน เขาเป็นคนที่พิสูจน์ให้วงการแพทย์เห็นว่าโรคหลอดเลือดหัวใจที่ตีบนั้นรักษาได้โดยไม่ต้องทำบอลลูนหรือผ่าตัด แต่ใช้วิธีปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและอาหารการกินแทน สูตรอาหารของเขาเป็นแนวมังสะวิรัติเช่นกัน คือได้แคลอรี่จากไขมันต่ำระดับ 10% ที่เหลือเป็นพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนใหญ่

ทั้งสี่สูตรนี้ต่างก็มีแฟนนิยมกันเป็นจำนวนมาก แบบว่าแฟนใครแฟนมัน บางคนก็ได้ผลดีกับบางสูตร ทำนองลางเนื้อชอบลางยา

ได้มีการวิจัยเปรียบเทียบสูตรอาหารสี่สูตรนี้มากมาย แต่งานวิจัยที่ดีที่สุดทำที่แสตนฟอร์ด [1] โดยเอาหญิงอเมริกันอ้วนมา 311 คน สุ่มแบ่งเป็นสี่กลุ่มให้แต่ละกลุ่มรับประทานอาหารแต่ละอย่างโดยมีผู้แนะนำดูแลออย่างละเอียดนาน 2 เดือน แล้วตามไปดูอีก 10 เดือน เมื่อครบ 12 เดือนแล้วพบว่า
กลุ่มที่รับประทานอาหารแบบคาร์โบไฮเดรตต่ำของนพ.อัทคินส์มีอัตราน้ำหนักลด 4.7 กก.
กลุ่มที่รับประทานแบบกระจายแคลอรี่หรือแบบ Zone นน.ลดเฉลี่ย 1.6 กก.
กลุ่มที่รับประทานออกแนวมังสวิรัติของนพ.ออร์นิช นน.ลดเฉลี่ย 2.2 กก.

จึงสรุปผลงานวิจัยได้ว่าเทียบกันแล้วสูตรของนพ.อัทคินส์ลดน้ำหนักได้มากที่สุด

ต่อมามีการวิจัยอีกรายการหนึ่ง [2] ได้เปรียบเทียบสูตรอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำแต่ไขมันสูงของนพ.อัทคินส์กับอาหารไขมันต่ำที่เป็นมาตรฐานทางการแพทย์ในการลดความอ้วนทั่วไป โดยเอาชายและหญิงอ้วนมา 63 คน แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้รับประทานอาหารสูตรคาร์โบไฮเดรตต่ำของนพ.อัทคินส์ อีกกลุ่มหนึ่งให้รับประทานอาหารไขมันต่ำทั่วไป พบว่าเมื่อผ่านไปสามเดือนกลุ่มที่รับประทานอาหารแบบคาร์โบไฮเดรตต่ำลดน้ำหนักเฉลี่ยได้ 6.8% ของนน.เดิมขณะที่กลุ่มที่รับประทานอาหารไขมันต่ำลดได้เฉลี่ย 2.7% แต่เมื่อติดตามไปนานถึงหนึ่งปีพบว่าทั้งสองกลุ่มลดน้ำหนักได้ไม่แตกต่างกัน คือกลุ่มรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำลดได้ 4.4% ขณะที่กลุ่มรับประทานอาหารไขมันต่ำลดได้ 2.5% ซึ่งไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ จึงสรุปว่าอาหารแบบคาร์โบไฮเดรตต่ำลดน้ำหนักได้เร็วกว่าจริงในช่วงแรก แต่เมื่อนานไปเป็นปีก็ไม่แตกต่างจากสูตรอื่น


ต่อมาได้มีงานวิจัยใหม่ [3] ที่ใหญ่กว่าและทำนานกว่าเดิม โดยได้เอาคนอ้วนมา 811 คน แบ่งเป็นสี่กลุ่มแต่ละกลุ่มให้รับประทานอาหารแต่ละแบบ คือ


กลุ่มที่ 1.อาหารที่ได้แคลอรี่จากไขมัน 20% จากโปรตีน 15% จากคาร์โบไฮเดรต 65%


กลุ่มที่ 2.อาหารที่ได้แคลอรีจากไขมัน 20% จากโปรตีน 25% จากคาร์โบไฮเดรต 55%


กลุ่มที่ 3.อาหารที่ได้แคลอรี่จากไขมัน 40% จากโปรตีน 15% จากคาร์โบไฮเดรต 45%


กลุ่มที่ 4.อาหารที่ได้แคลอรี่จากไขมัน 40% จากโปรตีน 25% จากคาร์โบไฮเดรต 35%


แล้วติดตามดูนาน 2 ปี พบว่าเมื่อครบหกเดือนแรกคนไข้ทุกกลุ่มมีน้ำหนักลดลงเฉลี่ย 6 กก. หรือ 7% ของนน.ตัวใกล้เคียงกันหมด แล้วก็น้ำหนักค่อยๆเพิ่มขึ้นมาทุกกลุ่ม จนเมื่อจบการวิจัยปลายปีที่ 2 น้ำหนักลดโดยเฉลี่ยคือคนละ 4 กก. โดยที่แต่ละกลุ่มก็มีปัญหาความอิ่ม ความหิว และความพึงพอใจในอาหารที่ตนรับประทานไม่แตกต่างกัน จึงสรุปว่าการรับประทานอาหารแคลอรี่ต่ำลดน้ำหนักได้ไม่แตกต่างกันไม่ว่าจะเน้นว่าการลดแคลอรี่จากอาหารกลุ่มไหน


จะเห็นว่าข้อมูลสูตรอาหารต่างๆนี้ หลักฐานว่าดีหรือไม่ดีกลับไม่ต่างกันมากนัก ดังนั้นขอให้ท่านเลือกสูตรเอาตามใจชอบเถิด


อย่างไรก็ตามท่านทื่ชื่นชอบสูตรโลว์คาร์โบไฮเดรตของนพ.อัทคินส์นี้อย่าได้เข้าใจผิดว่าเป็นสูตรที่รับประทานเนื้อรับประทานมันแยะๆรับประทานผักแต่น้อยนะครับ ไม่ใช่เลย สูตรอาหารของนพ.อัทคินส์เน้นที่การลดจำนวนธัญพืชแบบขัดสีและผลไม้ที่มีดัชนีน้ำตาลสูงก็จริง แต่ขณะเดียวกันก็รับประทานผักผลไม้ที่ให้กากเป็นจำนวนมากๆ นอกเหนือไปจากการรับประทานโปรตีนและไขมันซึ่งเป็นผลิตผลจากทั้งพืชและสัตว์


สำหรับท่านที่ไม่ชอบผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และไม่ชอบของมันๆ อาจชื่นชอบแนวมังสะวิรัติของนพ.ออร์นิช ซึ่งเป็นสูตรที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในการใช้รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจที่ตีบไปแล้วให้กลับโล่งมาได้ใหม่โดยไม่ต้องใช้ยาหรือทำบอลลูนหรือผ่าตัดหัวใจเลย [4], [5] แนวของนพ.ออร์นิชนี้ไม่ได้มุ่งจำกัดแคลอรี่ตะพึด แต่มุ่งที่จำกัดว่าอะไรควรรับประทาน อะไรไม่ควรรับประทาน โดยอาหารที่ควรรับประทานได้ทุกเมื่อได้แก่ถั่วต่างๆ ผลไม้ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นแอปเปิล แตงโม สับประรด ธัญพืช ผักต่างๆ ส่วนของที่ควรรับประทานแต่พอควรเท่านั้นได้แก่นมพร่องมันเนย โยเกิร์ตพร่องมันเนย ชีสไร้ไขมัน ไข่ขาว ขนมไร้ไขมันต่างๆที่ไม่หวาน ส่วนของที่ไม่ควรรับประทานเลยคือเนื้อสัตว์ทุกชนิด ของมันๆทุกชนิด รวมทั้งเนย และน้ำสลัดข้น น้ำมันมะกอก นมสด น้ำตาล น้ำผึ้ง ฟรุ้คโต้สไซรัพ แอลกอฮอล์ นพ.ออร์นิชยังแนะนำให้รับประทานอาหารมื้อเล็กๆหลายๆมื้อเพราะอาหารมังสะวิรัติมักจะทำให้หิวบ่อย
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นสูตรไหน ก็ล้วนเน้นการออกกำลังกายอย่างเอาจริงเอาจังเพื่อเผาผลาญแคลอรี่ให้ได้มากที่สุด ด้วยกันทั้งนั้น สูตรของนพ.ออร์นิชเองยังรวมไปถึงการจัดการความเครียดให้เหมาะสมด้วยวิธีต่างๆไม่ว่าจะเป็นการทำสมาธิ โยคะ และบีบนวดด้วย ดังนั้นนอกจากโภชนาการแล้ว อย่าลืมการออกกำลังกายและการจัดการความเครียดอย่างจริงจังด้วย



นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์



บรรณานุกรม

1.Gardner CD, Kiazand A, Alhassan S, Kim S, Stafford RS, Balise RR, Kraemer HC, King AC. Comparison of the Atkins, Zone, Ornish, and LEARN diets for change in weight and related risk factors among overweight premenopausal women: the A TO Z Weight Loss Study: a randomized trial. JAMA 2007: 297 (9):969-77
2.Foster GD, Wyatt HR, Hill JO, et al. A randomized trial of a low-carbohydrate diet for obesity. N Engl J Med. May 22 2003;348(21):2082-90.
3.Sacks FM, Bray GA, Carey VJ, et al. Comparison of weight-loss diets with different compositions of fat, protein, and carbohydrates. N Engl J Med 2009;360:859-873.
4.Ornish D, Brown SE, et al. Can lifestyle changes reverse coronary heart disease. The Lancet 1990; 336: 129-33 1990.
5.Ornish D, et. al. Intensive lifestyle changes for reversal of coronary heart disease. JAMA 1998; 280(23): 2001-2007 1998.
[อ่านต่อ...]

22 ธันวาคม 2552

การร้องเพลงคาราโอเกะรักษาโรคนอนกรนได้จริงหรือ

แฟนนอนกรนเสียงดังมาก หมอบอกให้ไปร้องเพลงคาราโอเกะ การรัองเพลงคาราโอเกะจะรักษาโรคนอนกรนอย่างที่คุณหมอพูดได้จริงหรือ เพื่อนอีกคนแนะนำให้ไปทำผ่าตัดเอาลิ้นไก่ออก การผ่าตัดอย่างที่ว่ามีโอกาสหายได้กี่เปอร์เซ็นต์คะ
พจน์

ตอบ

ร้องเพลงรักษาโรคนอนกรนได้หรือไม่
ไม่ทราบครับ
หมายความว่ายังไม่มีใครทราบ ไม่ใช่ผมไม่ทราบคนเดียว

เท่าที่ผ่านมามีเพียงการวิจัยแบบนำร่องขนาดเล็กซึ่งเอาคนนอนกรนมา 20 คน บันทึกเทปวัดความถี่ของการกรนไว้ 7 วัน แล้วให้ร้องเพลงทุกวันๆละ 20 นาที นาน 3 เดือน แล้วบันทึกเทปซ้ำอีกหลังจากครบ 3 เดือน พบว่าหลังจบการร้องเพลง พบว่าอัตราการนอนกรนโดยเฉลี่ยลดลง แต่เนื่องจากเป็นงานวิจัยเล็กมากและออกแบบไม่ดีนัก จึงยังสรุปอะไรเป็นตุเป็นตะไม่ได้ ต้องรอหลักฐานที่ดีกว่านี้ก่อน จึงจะสรุปได้ว่าการร้องเพลงจะช่วยรักษาโรคนี้ได้หรือไม่

เนื่องจากเมื่อพูดแบบชาวบ้านว่า “โรคนอนกรน” เขามักหมายถึงโรคหยุดหายใจระหว่างหลับ (Obstructive Sleep Apnea หรือ OSA) ดังนั้นไหนๆถามมาแล้วผมขอเล่าถึงโรคนี้เสียหน่อย ซึ่งตามนิยามของวิทยาลัยอายุรศาสตร์การนอนหลับอเมริกา (AASM) โรคนี้คือภาวะที่ทางเดินลมหายใจส่วนบนยุบตัวลงระหว่างนอนหลับ ทำให้หยุดหายใจไปเลย (apnea) นานครั้งละ 10 วินาทีขึ้นไปแล้วสะดุ้งตื่น (arousal) ไม่ต่ำกว่าชั่วโมงละ 5 ครั้ง หรือมี “ดัชนีการรบกวนการหายใจ (Respiratory Distress Index, RDI)” ซึ่งเป็นตัวเลขบอกว่าคนคนนั้นต้องสะดุ้งตื่นเพราะการรบกวนการหายใจแบบใดๆ (respiratory event–related arousals, RERA) มากกว่าชั่วโมงละ 15 ครั้งขึ้นไป ทั้งหมดนี้ต้องร่วมกับการมีอาการง่วงตอนกลางวัน โดยที่ไม่อาจบรรเทาได้โดยการใช้ยาใดๆช่วย

จะเห็นว่าการจะระบุจำนวนการเกิดการหยุดหายใจ (apnea) หรือจำนวนครั้งของการสะดุ้งตื่นเพราะการรบกวนการหายใจ (RDI) ระหว่างนอนหลับเพื่อวินิจฉัยโรคนี้นั้น จำเป็นต้องทำการตรวจวัดค่าต่างๆในขณะนอนหลับ (polysomnography, PSG) ซึ่งต้องทำในห้อง sleep lab หรือเข้าเครื่องตรวจขณะนอนหลับก่อนเท่านั้น มิฉะนั้นจะไม่สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้

คนเป็นโรคหยุดหายใจระหว่างหลับนี้มักเกิดหยุดหายใจไปเลยคืนละหลายครั้งหรือเป็นร้อยๆครั้ง ทำให้มีเสียงกรนดังในจังหวะทางเดินลมหายใจเปิดและลมที่ค้างอยู่ในปอดถูกพ่นออกมา

คนเป็นโรคนี้จะมีอาการง่วงนอนตอนกลางวัน (EDS, excessive daytime sleepiness) มึนงงตั้งแต่เช้า ความจำเสื่อม สมองไม่แล่น ไม่ว่องไว บุคลิกอารมณ์เปลี่ยนแปลง ซึมเศร้า กังวล หย่อนสมรรถภาพทางเพศ เป็นโรคกรดไหลย้อน โรคนี้มักเป็นกับคนอายุ 40-65 ปี อ้วน ลงพุง คอใหญ่ วัดรอบคอได้เกิน 17 นิ้ว หรือมีโครงสร้างของกระดูกกระโหลกศีรษะและหน้าเอื้อให้เป็น เช่นกรามเล็ก เพดานปากสูง กระดูกแบ่งครึ่งจมูกคด มีโพลิพในจมูก หรือมีกายวิภาคของทางเดินลมหายใจส่วนบนผิดปกติ เช่น เป็นไฮโปไทรอยด์ ลิ้นใหญ่ ถ้าเป็นหญิงก็มักหมดประจำเดือนแล้ว กรรมพันธ์ สิ่งแวดล้อมเช่น สูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ ยานอนหลับ OSA มักเกิดในท่านอนหงาย

ในการนอนหลับปกติจะมีระยะหลับยังไม่ฝัน แล้วจึงจะหลับลึกลงไปถึงระยะหลับฝัน ขณะที่หลับฝันนี้ผู้หลับจะมีการเคลื่อนไหวของลูกตาไปมา จึงเรียกระยะหลับฝันว่า Rapid Eye Movement หรือ REM Sleep การเกิดหยุดหายใจมักเกิดในระยะหลับฝันหรือระยะ REM sleep
โรคนี้มักสัมพันธ์กับโรคความดันเลือดสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน อัมพาต โรคซึมเศร้า อุบัติเหตุจากง่วงนอน ความจำเสื่อม ประมาณว่า 9% ของผู้ชายและ 4% ของผู้หญิงเป็นโรคนี้

การรักษามาตรฐานสำหรับโรคนี้คือ

1. มาตรการทั่วไป ได้แก่ การลดน้ำหนัก การเลิกบุหรี่ แอลกอฮอล์ และยากล่อมประสาท ยานอนหลับ การหลีกเลี่ยงท่านอนหงาย

2. การใช้อุปกรณ์ช่วย อุปกรณ์ที่ดีที่สุดและแนะนำเป็นตัวแรกคือเครื่องเพื่มความดันลมหายใจแบบต่อเนื่องผ่านจมูก (nasal CPAP) ถ้าไม่ได้ผล หรือผู้ป่วยไม่ชอบ ก็ต้องหันไปใช้อุปกรณ์ตัวที่สองคือ เครื่องครอบช่วยหายใจสองจังหวะ (BiPAP) ซึ่งผู้ป่วยปรับความดันในช่วงให้ใจเข้าและออกให้พอดีได้เอง แต่ว่ามีราคาแพงกว่าและผลการรักษาก็ไม่ได้แตกต่างจาก CPAP ถ้าผู้ป่วยยังทนไม่ได้อีก คราวนี้ก็เหลืออุปกรณ์สุดท้ายคืออุปกรณ์เปิดทางเดินลมหายใจ (OA) ที่นิยมใช้มีสามแบบคือ ตัวกันลิ้นตก (tongue retaining device, TRD) ตัวค้ำขากรรไกร และตัวค้ำเพดานปาก ข้อมูลความสำเร็จของการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในระยะยาวยังมีจำกัดมาก

3. การผ่าตัด วิธีผ่าตัดที่ใช้แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการอุดกั้นทางเดินลมหายใจอยู่ที่ระดับหลังเพดานปาก หรือหล้งลิ้น หรือคร่อมทั้งสองระดับ ถ้าการอุดกั้นเกิดที่เพดานปากส่วนหลัง การผ่าตัดก็ทำแค่ยกเพดานปากและลิ้นไก่ (uvulopalatophyarygoplasty, UPPP) ก็พอ การผ่าตัดชนิดนี้มีความสำเร็จ เพียงประมาณ 50% ของผู้เข้าผ่าตัดเท่านั้น (ความสำเร็จนี้วัดจากการลดจำนวนครั้งของการสะดุ้งตื่นเพราะการรบกวนการหายใจลงได้อย่างน้อย 50%) และมีเหมือนกันประมาณ 31% ที่ทำผ่าตัดชนิดนี้แล้วอาการกลับแย่ลง ถ้าการอุดกั้นเกิดที่ระดับหลังลิ้น ก็อาจจะต้องทำผ่าตัดดึงลิ้น (Genioglossus advancement with hyoid myotomy หรือ GAHM) หรือบางทีก็อาจจะต้องถึงกับเลื่อนกระดูกกรามล่าง (maxillomandibular advancement osteotomy หรือ MMO)ซึ่งมักจะแก้การอุดกั้นได้ทุกระดับ การเลือกผ่าตัดแบบไหนย่อมสุดแล้วแต่ผลการประเมินจุดอุดกั้นว่าเกิดตรงไหน


บรรณานุกรม
1. Ojay A, Ernst E. Can Singing Exercises Reduce Snoring? A Pilot Study. Complement Ther Med 2000; 8(3); 151-156.
2. American Academy of Sleep Medicine. International Classification of Sleep Disorders: Diagnostic and Coding Manual, Second Edition. Westchester, Ill: American Academy of Sleep Medicine; 2005.
3. Young T, Palta M, Dempsey J, Skatrud J, Weber S, Badr S. The occurrence of sleep-disordered breathing among middle-aged adults. N Engl J Med. Apr 1993;328(17):1230-5.
[อ่านต่อ...]

ตรวจเลือดก่อนแต่งงานแล้ว แต่ลูกยังเป็นทาลาสซีเมียได้ ทำไม..

ก่อนแต่งงานไปตรวจสุขภาพ แพทย์ตรวจ hemoglobin typing และบอกผลว่าปกติ พอแต่งงานแล้ว มีลูกคนแรก แพทย์บอกว่าลูกเป็นทาลาสซีเมียแบบแฝง ทำไมถึงเป็นไปได้ ในเมื่อตอนตรวจก่อนแต่งงานทั้งดิฉันทั้งสามีต่างก็ตรวจเลือดแล้วว่าปกติ
Maw

ตอบ

การจะตอบให้คุณเข้าใจว่าทำไมการทำ hemoglobin typing จึงวินิจฉัยทาลาสซีเมียแบบแฝง (trait) ได้ไม่หมด ผมจำเป็นต้องร่ายยาวแบ็คกราวด์ของโรคนี้ให้ฟังก่อน..โปรดสดับอย่างอดทน

คือในเม็ดเลือดของคนเรามีตัวพาออกซิเจนเรียกว่าฮีโมโกลบิน ซึ่งมีโมเลกุลของโกลบินเป็นเส้นสายยั้วเยี้ยอยู่สองคู่หรือสี่สาย สายนี้มีอยู่สี่แบบคืออัลฟ่า เบต้า แกมม่า เดลต้า การสร้างสายโกลบินนี้ควบคุมด้วยยีน ยีนนี้คนเราได้มาจากพ่อครึ่งหนึ่ง แม่ครึ่งหนึ่ง มาบวกกันเป็นยีนของตัวเอง เขียนคั่นกลางของพ่อกับของแม่ด้วยเครื่องหมาย “/” แต่ละข้างที่รับมา ถ้าเป็นยีนสมบูรณ์จะเขียนด้วยอักษรสองตัว เช่น αα / αα หมายความว่ารับยีนสร้างสายอัลฟาแบบสมบูรณ์มาจากทั้งข้างพ่อและข้างแม่ แต่ถ้าเป็นยีนแหว่ง หมายความว่ามียีนของโรคแฝงอยู่ เช่นคนเป็นโรคทาลาสซีเมียแบบแฝงชนิดขาดสายเบต้า ที่ภาษาแพทย์เรียกว่า beta thalassemia trait สมมุติว่ารับมายีนแฝงมาจากพ่อ ยีนที่รับมาจากพ่อจะแหว่ง แต่ของแม่จะสมบูรณ์ เมื่อมารวมกับเป็นลูกก็จะเป็น -β/ββ ซึ่งยังไม่ถึงกับเป็นโรคให้เห็น แต่การสร้างโกลบินสายเบต้าจะลดลงไปบ้าง ทำให้โกลบินสายอัลฟ่าต้องไปจับกับสายแกมม่าแทน เกิดเป็นฮีโมโกลบินชนิดเอ.2 (HbA2) ที่ตรวจพบได้เวลาตรวจชนิดฮีโมโกลบินก่อนแต่งงาน เพราะในคนปกติจะมี HbA2 น้อยมาก คนปกติฮีโมโกลบินส่วนใหญ่จะเป็นแบบสายอัลฟ่าจับกับสายเบต้า ซึ่งเรียกว่าเฮโมโกลบินเอ. (HbA) ดังนั้น โรคทาลาสซีเมียแฝงชนิดเบต้าจึงตรวจพบด้วยวิธีแยกชนิดฮีโมโกลบินก่อนแต่งงานได้

ในการตรวจเลือดก่อนแต่งงานนั้น ส่วนใหญ่จะทำเป็นขั้นๆดังนี้

ขั้นแรกคือตรวจคัดกรองด้วยการตรวจนับเม็ดเลือด ( CBC) ซึ่งให้ข้อมูลขั้นต้นว่ามีภาวะโลหิตจางหรือไม่ โดยดูจากจำนวนฮีโมโกลบิน ( Hb ) หรือดูจากปริมาตรของเซลเลือดอัด ( Hct) และดูจากลักษณะรูปร่างของเม็ดเลือดแดงว่าผิดปกติหรือไม่

ขั้นต่อไปคือการตรวจปริมาตรเฉลี่ยของเม็ดเลือดหนึ่งเม็ด ( MCV) หรือจำนวนฮีโมโกลบินเฉลี่ยของเม็ดเลือดหนึ่งเม็ด (MCH) ซึ่งคนเป็นโรคทาลาสซีเมียแมักจะได้ผลต่ำกว่าปกติ ในผู้ป่วยทาลาสซีเมีย เพราะทาลาสซีเมียเป็นโรคที่เม็ดเลือดแดงเล็กกว่าปกติ อย่างไรก็ตามการคัดกรองชนิดนี้ใช้กับผู้มียีนแฝงบางชนิดเช่นฮีโมโกลบินอี (HbE) ไม่ได้เพราะมีขนาดเม็ดเลือดปกติ ต้องใช้วิธีย้อมสีเม็ดเลือดด้วยวิธีพิเศษ (dichorophnolinophenol dye)

ขั้นต่อไปคือตรวจวิเคราะฮีโมโกลบิน (Hemoglobin analysis หรือ typing) เป็นการตรวจเพื่อบอกว่ามีฮีโมโกลชนิดต่างๆอะไรบ้าง ซึ่งตัวที่มุ่งดูในคนที่ไม่มีอาการผิดปกติที่กำลังจะแต่งงานคือ HbA2 เพราะถ้ามีจำนวนมากกว่าปกติก็แสดงว่าเป็นโรคเบต้าทาลาสซีเมียชนิดแฝง

แต่ทั้งหมดนี้จะยังไม่สามารถบอกว่าเป็นโรคทาลาสซีเมียแฝงอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่าแบบอัลฟ่า ซึ่งยีนคุมการสร้างสายอัลฟ่าที่รับมาจากพ่อหรือแม่ข้างใดข้างหนึ่งเป็นยีนแหว่ง เมื่อมารวมกันเป็นยีนลูกจึงเป็น -α / αα แทนที่จะเป็น αα / αα ความผิดปกติชนิดนี้หากไปตรวจดูชนิดของฮีโมโกลบินในเลือดจะไม่พบอะไร เพราะจำนวน HbA2 ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น จะทราบได้ก็จากการตรวจยีน (DNA tests หรือ gene tests) บางที่ก็เรียกง่ายๆว่าการตรวจด้วยวิธี PCR ซึ่งย่อมาจาก polymerase chain reaction อันเป็นเทคนิคที่ใช้ในการตรวจชนิดนี้ การตรวจชนิดนี้จะทำได้เฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่บางแห่งเท่านั้น มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,700 บาท ซึ่งการตรวจเลือดก่อนแต่งงานที่ทำกันอยู่ทั่วไปไม่ได้รวมการตรวจชนิดนี้

ในกรณีของคุณ อาจเป็นไปได้ว่าคุณหรือสามี ข้างใดข้างหนึ่งมียีนแฝงของทาลาสซีเมียแบบอัลฟ่า ลูกจึงได้รับยีนแฝงไป แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเป็นโรคทาลาสซีเมียแบบเต็มลูกสูบนะครับ ไม่ใช่ แต่ผมแนะนำว่าให้คุณและสามีไปตรวจยีน เพื่อบันทึกไว้ให้แน่ว่ามียีนแฝงอยู่ข้างเดียว เพราะถ้ามีสองข้าง ลูกคนต่อไปอาจจ๊ะเอ๋ที่ยีนแฝงกับยีนแฝงมาเจอกันและเป็นโรคแบบจังเบอร์ได้ ซึ่งไม่ดี

สำหรับท่านผู้อ่านอื่นๆที่อ่านคำตอบนี้ หากไปตรวจเลือดก่อนแต่งงาน ถ้าซีเรียสเรื่องทาลาสซีเมีย ต้องขอตรวจดูยีนอัลฟาทาลาสซีเมียเป็นกรณีพิเศษด้วยนะครับ ลงทุนเพิ่ม 1,700 บาท แต่คุ้ม เพราะทาลาสซีเมียเป็นโรคที่ไม่มีวิธีรักษา แต่ป้องกันได้ด้วยการตรวจก่อนแต่งงาน การตรวจหาโรคแฝงก่อนแต่งงานมีความสำคัญตรงที่จะได้ป้องกันไม่ให้คนมียีนแฝงมาจ๊ะเอ๋กับคนมียีนแฝง เพราะจะออกลูกมาเป็นโรคทาลาสซีเมียแบบเต็มรูปแบบซึ่งมักทำให้เด็กต้องเป็นโรครุนแรงไปตลอดชีวิต

ส่วนประเด็นที่ว่าเมื่อตกปากรับคำกับเขาว่าจะแต่งงานแล้ว ถ้าตรวจเลือดแล้วมียีนแฝงทั้งคู่จะทำอย่างไร จะไม่ถูกกล่าวหาว่าหลอกเขาหรือ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการแต่งงานแล้วละครับ ถ้าแต่งงานเพื่อที่จะทำลูก ผมแนะนำให้ทำโครงการ "จำใจจาก" แทนโครงการแต่งงานซะเลย ถ้าพูดไม่ออกถือโอกาสใช้ให้หมอพูดซะเลยสิครับ แต่ถ้าจะแต่งงานเพราะอยากจะใช้ชีวิตร่วมกันจนวันตาย ก็ go ahead แต่งเลย แต่อย่ามีลูกนะ มิฉะนั้นวันหนึ่งลูกอาจจะมาชี้หน้าด่าคุณว่ารู้ว่าเกิดมาแล้วหนูมีโอกาสจะเป็นโรคที่ทุกข์ทรมานอย่างนี้แล้วทำให้หนูเกิดมาทำไม


บรรณานุกรม
• Lee R, Foerster J, Lukens J. The thalassemias and related disorders:. In: quantitative disorders of hemoglobin synthesis. In: Wintrobe's Clinical Hematology . Philadelphia , Pa : Lippincott, Williams, and Wilkins; 1999:1405-1448.
[อ่านต่อ...]

ซีเรียส.. เรื่องความเบื่อหน่ายชีวิต

ผมผ่านมาพบเว็บบอร์ดตอบคำถามของคุณหมอสันต์โดยบังเอิญ ได้เห็นสไตล์การตอบที่มีสาระลุ่มลึกจึงคิดว่าคุณหมอจะพอช่วยได้ ผมไม่ต้องการแสดงตัวในเรื่องนี้กับใคร ปัญหาคือความเบื่อหน่าย หรืออาจจะเป็น depression มันไม่อยากทำงาน เรื่องที่เคยสนุกก็กลายเป็นน่าเบื่อ ตัวเองเคยเป็นคนพูดอะไรแล้วตลกคนหัวเราะก็กลายเป็นคนพูดอะไรอย่างเสียไม่ได้ พูดออกไปแล้วเหมือนไม่ใช่ตัวเองพูด ทำอะไรก็เหนื่อยไปหมด แม้กระทั่งเรื่องเซ็กซ์ ผมต้องการคำตอบที่ซีเรียสและลึกซึ้งนะครับ
TroubleMan

.......................

ตอบ

อ่านคำถามของคุณผมก็ซีเรียสเรียบร้อยแล้วละครับ

การตอบคำถามของคุณ ผมใช้วิธี “เดาแอ็ก” นะครับ คือการวินิจฉัยโรคของแพทย์ปกติใช้วิธี “ไดแอ็ก” ซึ่งเป็นคำสั้นๆของ diagnosis หมายความว่าเอาข้อมูลที่มีอยู่ค่อนข้างจะครบถ้วนมากกางแล้วคิดวินิจฉัยออกมาว่าเป็นโรคอะไร ส่วนเดาแอ็กนั้นก็ใช้ในยามที่ข้อมูลที่มีอยู่มันกระท่อนกระแท่นจนต้องใช้เวอร์บทูเดาไงครับ คือเดาว่าของคุณมันอาจจะเป็นอะไรสักอย่างในข้อวินิจฉัยแยกโรคต่อไปนี้ คือ

1..เป็นความเซ็งมะก้องด้องธรรมดา หมายความว่าตามหาความสุขแต่หาไม่เจอ
2..วิกฤติการณ์ครึ่งชีวิต หรือ midlife crisis
3.. โรคซึมเศร้า
4.. ภาวะหน่ายสังสารวัฏฏ์ แบบว่าทนความไร้ความหมายของชีวิตไม่ได้

ถ้าเป็นกรณีที่ 1. สิ่งที่ผมพอจะช่วยได้ก็คือเล่าให้คุณฟังว่างานวิจัยทางการแพทย์เขาพบข้อมูลว่าอะไรสัมพันธ์กับความสุขบ้าง ผมจะไล่เลียงหัวข้อตามงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ผลวิจัยที่ได้นี้ ก็สอดคล้องกับผลวิจัยอื่นๆ ซึ่งสรุปว่าปัจจัยที่สัมพันธ์กับความสุขคือ

หนึ่ง “การได้ใช้ชีวิตอย่างมีความหมายตามความเชื่อในศาสนาของตน” ข้อมูลแยกไม่ออกว่าเป็นเพราะพระเจ้าหรือธรรมะดีจริง หรือเป็นเพราะการได้ไปสมาคมกับคนพันธุ์เดียวกัน แต่ก็สรุปได้แน่ชัดว่าพวกธัมมะธัมโมถือศีล ไม่ว่าจะถือสากด้วยหรือไม่ก็ตาม ล้วนมีความสุขมากกว่าพวกไม่เอาศาสนา

สอง “การมีเพื่อนซี้” หรือญาติสนิท หรือได้แต่งงานกับคนที่รู้ใจ บางงานวิจัยพบว่าถ้ามีเพื่อนที่สุขง่ายหัวเราะง่าย เราก็จะสุขง่ายไปด้วย บางงานวิจัยพบว่าเพื่อนซี้ในที่ทำงานมีผลต่อความสุขมากกว่าคู่สมรส ในประเด็นการแต่งงาน พบว่าคนได้แต่งงานมีความสุขมากว่าคนไม่แต่งงาน แต่โปรดอย่าลืมนะครับว่าเขาศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างของสองสิ่ง การที่มีความสัมพันธ์ระหว่างการได้แต่งงานกับการมีความสุข จะไปพรวดพราดสรุปว่าการได้แต่งงานเป็นสาเหตุของความสุขยังไม่ได้ มันอาจเกิดจากปัจจัยกวน (confound factors) อย่างอื่น เช่น สมมุติว่าการเป็นคนหยวนๆ (หมายถึงคนแบบเอาไงเอากัน) เป็นสาเหตุที่แท้จริงของการมีความสุข แล้วคนหยวนๆก็ได้แต่งงานมากกว่าคนโกตั๊ก (หมายถึงคนเรื่องมาก) เมื่อเรามานับดูเห็นว่าคนที่ได้แต่งงานมีความสุขมากกว่าคนไม่แต่งงาน จะสรุปว่าการได้แต่งงานทำให้เกิดความสุขยังไม่ได้ เพราะมันมีปัจจัยกวนซึ่งเป็นสาเหตุที่แท้จริงซ่อนอยู่

สาม ก็คือการได้ง่วนทำอะไร ยิ่งเป็นอะไรที่ใด้ใช้ความรู้และทักษะของตัวเองเต็มที่ด้วยยิ่งสุขมาก ในประเด็นต้องได้ทำอะไรถึงจะมีความสุขนี้ นายชิคเซนท์เมฮี (Mihaly Csikszentmihalyi) ได้ทำวิจัยไว้อย่างพิสดาร คือสุ่มเพจเข้าไปหาคนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างโดยไม่เลือกเวลาแล้วถามว่าตอนนี้คุณทำอะไรอยู่เอ่ย แล้วคุณกำลังรู้สึกยังไง ก็ได้ผลสรุปออกมาชัดเจนว่าถ้ากำลังง่วนทำอะไรอยู่ จะรู้สึกดีมีความสุขมากกว่าถ้าอยู่ว่างๆเฉยๆ ดังนั้นใครที่อยากมีความสุขก็จงอย่าได้ขี้เกียจ ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ หลายงานวิจัยสรุปได้ว่าการได้ง่วนกับอะไรที่ง่ายๆราคาถูกๆ มีความสุขมากกว่าการเล่นของยากๆราคาแพงๆ คนทำสวนเป็นงานอดิเรกมีความสุขมากว่าคนเล่นเรือยอชต์ เป็นต้น

ส่วนปัจจัยที่ไม่สัมพันธ์กับความสุข แทบทุกงานวิจัยล้วนได้ผลตรงกันคือ

(1) การมีรายได้มากขึ้นหรือความร่ำรวย
(2) การมีความรู้สูง
(3) การเป็นคนฉลาดมีไอคิวสูง
(4) วัย อันทีจริงผลวิจัยบางรายการพบว่าวัยสูงอายุมีความสุขมากกว่าวัยหนุ่มสาวเสียอีก
(5) เชื้อชาติ
(6) เพศ
(7) การมีลูกหรือไม่มี ก็ล้วนไม่ใช่ปัจจัย

กรณีที่ 2. midlife crisis คืออาการที่เป็นกับคนอายุกลางคน คือประมาณสี่สิบปี บวกลบเผื่อไว้ได้เลยสักสิบปี มันมาในรูปแบบของความรู้สึก ไม่พึงพอใจกับวิถีชีวิตหรือแม้กระทั่งกับตัวชีวิตเอง ทั้งๆที่ก็รู้สึกดีๆมาได้ตลอด เบื่อ เบื่อคน เบื่อสิ่งของ หรือสิ่งเร้าใดๆที่เคยท้าทายตนเองเป็นอย่างดีในอดีต อยากไปเสาะหา ไปทำอะไรที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง และสับสนว่า ตัวเราเองนี่เป็นใคร และกำลังจะไปไหนกัน ถ้าเป็นกรณีนี้คำแนะนำคือคุณทำล่องลอยไปตามระยะทั้ง 5 ที่คาร์ล จุง จิตแพทย์ชาวสวิสแบ่งไว้ คือ

• ระยะทำตัวให้กลมกลืน ( accommodation) คือระยะต้นของการทำงานก่อนที่จะมาถึงกลางชีวิต (ก่อนอายุ 30-50 ปี) เป็นระยะที่คนเราทำตัวให้เป็นที่ยอมรับ ให้ประสบความสำเร็จตามมาตรฐานสังคม บางครั้งอาจต้องใส่หน้ากากหรือหัวโขนพรางตัวตนที่แท้จริงของเราไว้บ้าง ทั้งโดยจงใจ หรือโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว ถ้าหัวโขนนั้นแตกต่างจากตัวตนที่แท้จริงมาก การปรับตัวสู้กับวิกฤติครึ่งชีวิตก็จะหนักไปด้วย

• ระยะถอดหัวโขน ( Separation) เป็นช่วงเวลาที่เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนนักแสดงที่ออกมาหลังเวทีแล้วถอดหัวโขนออกมองตัวเองในกระจก คำถามที่เกิดขึ้นก็เช่นว่า ตัวตนคนที่สวมหัวโขนนั้นจริงๆแล้วเป็นอย่างไร มันเหมือนหัวโขนนี่หรือเปล่า

• ระยะเคว้งคว้าง ( liminality) ตัวตนเก่าก็ไม่เอา ตัวตนใหม่ก็ยังหาไม่เจอ ชักไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นใคร จะไปทางไหน กลัวที่จะต้องตัดสินใจ

• ระยะสร้างตัวตนใหม่ที่ตัวเองยอมรับได้ขึ้นมา ( reintegration) หลังจากค้นหาตัวเองอยู่พักหนึ่ง ในที่สุดก็จะพบตัวตนใหม่ที่กล้อมแกล้มกลมกลืนกับชีวิตจริง รับได้ชัดขึ้นว่าตัวเองเป็นใครจะไปทางไหน และประเมินตัวเองใหม่เป็นระยะ

• ระยะหันหน้าสู้ความจริงและยอมรับด้านที่ไม่ค่อยเข้าท่าที่ยังอาจมีอยู่ในตัวตนใหม่ ( individuation) ยอมรับว่าโลกนี้คือละคร ชีวิตจริงมันก็ต้องแสดงกันบ้าง ยอมรับวิธีประสานความคาดหวังของคนรอบข้างให้เข้ากับเสียงเพรียกจากก้นบึ้งหัวใจของตัวเอง ตามใจงานบ้าง ตามใจตัวเองบ้าง ทนความโง่ของคนอื่นได้มากขึ้น

กรณีที่ 3. โรคซึมเศร้า อันนี้หลักวิชาแพทย์ต้องอัดยาลูกเดียวครับ ยาแก้ซึมเศร้านี้ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก ใช้กันแบบว่าคนไข้อ้าปากยังไม่ทันเห็นลิ้นไก่หมอก็จ่ายยาแก้ซึมเศร้าแล้ว แต่ว่าผมเป็นพันธ์ไม่ชอบยา ถ้าเป็นกรณีนี้ผมแนะนำให้ทำหลายๆอย่างโดยไม่ใช้ยา ได้แก่

(1) ฝึกให้ร่างกายตอบสนองต่อความผ่อนคลาย (relaxation response) อย่างสม่ำเสมอทุกวัน จะด้วยวิธีใดก็ได้ เช่น นั่งสมาธิตามดูลมหายใจเข้าออก รำมวยจีน โยคะ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น

(2) ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปสู่แนวส่งเสริมสุขภาพ ได้แก่
(2.1) ออกกำลังกายทุกวัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที การออกกำลังกายทำให้มีการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินซึ่งเป็นสารต่อต้านความเครียดโดยตรงเข้าสู่กระแสเลือด
(2.2) นอนหลับและพักผ่อนให้เพียงพอ ในการทำงานก็เบรกสั้นๆเพื่อผ่อนคลาย
(2.3) ลด ละ เลิกสารกระตุ้นต่างๆ เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ ยา กาแฟ หรือแม้กระทั่งน้ำตาล

(3) การหัวเราะ และการทำตัวเป็นคนมีอารมณ์ขันอยู่เสมอ ทำให้สุขภาพดี และต้านความเครียดได้ชะงัด ถ้าตัวเองไม่มีศักยภาพที่จะหัวเราะเองได้ ก็ควรพยายามใกล้ชิดกับคนที่หัวเราะเก่ง

(4) ตากแดดบ้าง อ้าว.. อย่าทำเป็นเล่นไป แสงแดดนี่แก้ภาวะซึมเศร้าได้จริงๆนะครับ

(5) เปลี่ยนกรอบความคิดไปสู่การคิดบวก สื่อสัมพันธ์คบหากับคนที่คิดบวก ถอนตัวเองออกจากปลักของการชิงดีชิงเด่นเอาชนะคะคานหรือเสริมอัตตาของตัวเอง หันมาสนใจการทำอะไรเพื่อคนอื่นให้มากขึ้น

(6) หันไปทำเรื่องที่ทำให้เกิดความรื่นเริงบันเทิงใจบ้าง เช่น หาเวลาไปเดินเล่น ไปอยู่กับธรรมชาติ จุดเทียนหอม เขียนบันทึก นอนแช่น้ำนานๆ เล่นกับสัตว์เลี้ยง ทำสวน ดมดอกไม้ อ่านหนังสือดีๆ ไปใช้บริการนวดคลายเครียด ฟังดนตรี ดูหนังตลก เล่นเปียโน เขียนภาพ ถีบจักรยาน ดูดาว เป็นต้น

กรณีที่ 4. ภาวะหน่ายสังสารวัฏฏ์ อันนี้หนักหน่อยนะครับ แบบว่าหมออาจจะเอาไม่อยู่ (หิ..หิ พูดเล่น) เรื่องนี้ไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์รองรับว่าจะแก้ได้อย่างไร ผมแนะนำแบบมวยวัดว่ามันต้องเข้าใจลึกซึ้งลงไปถึงใจของตัวเอง ขออนุญาตพล่ามตรงนี้ต่ออีกสักเล็กน้อย เป็นแนวคิดที่ผมมั่วขึ้นมาเองนะครับ

คือใจของเราซึ่งจะทำงานหรือมีกิจกรรมก็ต่อเมื่อเราตื่น หรือมี consciousness นี้ มันมีกิจกรรมอยู่สี่อย่างเท่านั้นเอง คือ
(1) รับรู้สิ่งเร้า (perception)
(2) คิด (think)
(3) รู้สึก (feel)
(4) สังเกตใจตัวเอง (observe)

อนึ่ง ความพิศดารของใจเรามีอยู่สองประการ ประการแรก คือกิจกรรมทั้งสี่อย่างนี้เกิดขึ้นแว่บเดียวก็หยุดไป บางที่หยุดไปแล้วก็เกิดขึ้นใหม่อยู่เนืองๆทำนอง แว่บ แว่บ แว่บ เหมือนกรณีที่เราคิดอะไรซ้ำซากวกวนไม่รู้จบ แต่กลไกพื้นฐานก็ยังเป็นแบบเกิดแล้วหยุด เกิดแล้วหยุด ใจของเราจะไม่มีกิจกรรมอะไรที่เกิดแล้วถูกบังคับว่าต้องคงอยู่ต่อเนื่องอยู่ยั้งยืนยงตลอดไป.. ไม่มี ประการที่สอง กิจกรรมทั้งสี่อย่างนี้เกิดขึ้นได้ทีละอย่างเท่านั้นเอง จะไม่เกิดซ้อนกัน เช่นถ้าเรากำลังสังเกตใจตัวเองว่าเมื่อตะกี้นี้เราคิดอะไร ขณะที่สังเกตใจตัวเองอยู่นั้นความคิดเมื่อตะกี้นี้จะหายไปแล้ว เหลือแต่ความรู้ตัวว่าเราเฝ้าสังเกตอยู่

เรามักคุ้นเคยกับกิจกรรมการรับรู้สิ่งเร้า การสนองตอบต่อสิ่งเร้าด้วยการคิด และการเกิดความรู้สึก ซึ่งเป็นไปแบบธรรมชาติโดยเราไม่ได้ตั้งใจกำหนด แต่เราไม่คุ้นเคยกับการสังเกตใจตัวเอง การสังเกตใจตัวเองนี้หมายถึงภาวะที่เราตามไปดูว่าเมื่อตะกี้นี้ ใจเรารับรู้อะไรมา หรือคิดอะไร หรือรู้สึกอะไร

องค์ประกอบของการสังเกตมีสองส่วน คือ หนึ่ง การระลึกได้ (recall) ว่าเมื่อตะกี้ใจเราไปคิดอะไร หรือมีความรู้สึกอะไร กับ สอง ความรู้สึกตัว (awareness) ว่า ณ ขณะที่เรากำลังสังเกตใจเราอยู่นี้เรารู้ตัวอยู่ไม่ได้เผลอไผลใจลอยไปไหน

การสังเกตใจตัวเองนี้เหมือนกับว่าเราแยกตัวออกมาเป็นคนอีกคนหนึ่ง มานั่งเฝ้ามองใจของเราเฉยๆ ไม่ได้เข้าไปผสมโรง หรือเลยเถิดไปสั่งสอนแนะนำอะไร เช่นเมื่อตะกี้ใจของเราครุ่นคิดเรื่องที่เพื่อนคนหนึ่งเขาทรยศเราอยู่ การสังเกตก็จำกัดอยู่เพียงเฝ้ามองว่าเออ.. เมื่อตะกี้ใจเราคิดเรื่องเพื่อนทรยศ แค่นั้นพอ คือเอาแค่หัวข้อ ไม่ลงลึกไปถึงว่าเนื้อหาสาระที่คิดมีอะไรบ้าง หรือไม่ไปสั่งสอนว่าคิดอย่างนั้นถูกหรือผิดดีหรือไม่ดี ถ้าลงลึกไปกว่าหัวข้อ ก็จะกลายเป็นการผสมโรงคิดไปเสีย ไม่ใช่การสังเกตอีกต่อไปแล้ว เพราะเมื่อมีความคิดอยู่ แสดงว่าไม่มีการสังเกต เช่นเดียวกันเมื่อมีการสังเกต ณ ขณะนั้นก็จะไม่มีความคิด เพราะอย่างที่บอกแล้วว่ากิจกรรมของใจเราจะเกิดได้ทีละอย่างเท่านั้น จะไม่เกิดพร้อมกัน ในทางสรีรวิทยาของระบบประสาทได้อธิบายปรากฏการณ์นี้ด้วยทฤษฎีประตูคุม (gate control theory) ซึ่งมีสาระว่าสมองจะรับสัญญาณต่างๆได้ทีละอย่าง เปรียบเสมือนว่าสัญญาณเหล่านั้นต้องไปแย่งกันผ่านประตูคุมแคบๆซึ่งเข้าไปหาสมองได้ทีละหนึ่งสัญญาณเท่านั้น

เมื่อมามองย้อนไปในอดีตของเราแล้ว ทุกอย่างที่ทำให้เรากลัดกลุ้มไม่มีความสุข ดูเผินๆเหมือนมันมาจากภายนอก ในรูปของสิ่งเร้าหรือความบีบคั้นต่างๆที่เรารับเข้ามา แต่ถ้ามองให้ลึกแล้ว สิ่งที่ทำให้เรากลัดกลุ้ม เหงา ว้าเหว่ หรือไม่มีความสุข แท้จริงแล้วมีอยู่สองตัวเท่านั้นเอง คือ ความคิด (though) และความรู้สึก (feeing) ที่เกิดขึ้นในใจของเราหลังจากที่เราได้รับรู้สิ่งเร้าจากภายนอกแล้ว หมายความว่าส่วนที่ทำให้เราเครียดคือส่วนที่ถูกสร้างขึ้นในใจเรา ไม่ใช่ส่วนที่มาจากภายนอก

ความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจเรานี้ มองเผินๆเหมือนกับว่าเราไม่อาจจะไปหยุดยั้งมันได้ เมื่อมันจะเกิดก็ต้องปล่อยให้มันเกิด และเมื่อมันเกิดแล้วดูเหมือนว่าก็ต้องให้มันอยู่ของมันไป เป็นชะตากรรมที่เราต้องยอมรับมัน ทนอยู่กับมัน หรือจมไป หรือตายไปพร้อมกันเลยทีเดียว

แต่ในความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นความคิดของเราก็ดี ความรู้สึกสารพัดเช่นความโกรธ ความแค้น ความเหงา ความรู้สึกไร้ค่า ก็ดี มันก็ล้วนเป็นแค่กิจกรรมอย่างหนึ่งของใจเรา ซึ่งเกิดขึ้นเป็นแว่บ แว่บหนึ่งแล้วก็หยุด แต่ทีดูเหมือนว่ามันครองใจเราไว้ได้ตลอดเวลาก็เพราะมันเกิดต่อๆกันเป็นแบบแว่บ แว่บ แว่บ... แต่หากพิจารณาประกอบความจริงที่ว่ากิจกรรมของใจเรานี้มีได้ทีละอย่างเดียว ถ้ามีกิจกรรมอย่างอื่นของใจเราแว่บเข้ามาแทรก ก็จะตัดตอนความคิดหรือความรู้สึกในใจเราได้ และถ้ากิจกรรมอย่างอื่นนั้นแทรกเข้ามาถี่ๆแบบแว่บ แว่บ แว่บ บ้าง ความคิดหรือความรู้สึกที่ทำให้เรากลัดกลุ้มไม่มีความสุขนั้นก็เกิดไม่ได้ เมื่อต้นเหตุของความเครียดเกิดขึ้นในใจเราไม่ได้ ความเครียดก็จะหมดไป

สิ่งที่เข้าจะมาแทรกเพื่อยุติความคิดและความรู้สึกได้ชะงัดนักก็คือการสังเกตใจเรานั่นเอง เช่นเรากำลังนั่งซึมเศร้าท้อแท้กับชีวิตอยู่ ตัวความซึมเศร้าคือความรู้สึก (feeling) ถ้าเราสมมุติว่ามีตัวเราอีกคนหนึ่งชื่อ “นายสังเกต” มานั่งมองดูเจ้าความรู้สึกซึมเศร้านี้ เริ่มด้วยการระลึกได้ว่าเออ.. เมื่อตะกี้นี้ ใจเรารู้สึกซึมเศร้าแฮะ แล้วตามด้วยความรู้ตัวว่าตัวเองกำลังนั่งเฝ้ามองอยู่ตรงนั้น ตัวความรู้สึกซึมเศร้าเมื่อถูกเฝ้ามองก็จะเขินอายฝ่อหายไป ธรรมชาติของใจมันเป็นอย่างนี้จริงๆ
ถ้าไม่เคยสังเกตใจตัวเองมาก่อนเลย ก็ไม่เป็นไร ลองหัดดู การสังเกตใจตัวเองเป็นทักษะ (skill) เหมือนทักษะอื่นๆเช่น การใช้ภาษา การว่ายน้ำ การร้องเพลง ถ้าไม่หัดก็ทำไม่เป็น แต่ถ้าหัดบ่อยๆก็ทำได้คล่อง และถ้าเก่งก็จะสามารถสังเกตใจตัวเองได้เนืองๆ จนความคิดความรู้สึกไม่ดีทั้งหลายเข้ามาครองใจเราอย่างแต่ก่อนไม่ได้เลย นั่นก็คือ..หายเศร้าได้

ผมตอบเสียตั้งยาว เพราะ feel guilty ว่าตอบจม.ของคุณช้า หวังว่าคุณยังอยู่ทันได้อ่านนะครับ..(พูดเล่น)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

สิ่งที่ควรมีใน emergency kit เมื่อท่องเที่ยว

(last update 3 กย. 58)

ผมเป็นนักเที่ยวแบบลุย เอารถ SUV ตลุยไปนอนค้างอ้างแรมที่ไกลๆบ่อย อยากถามคุณหมอสันต์ว่าหากจะจัดทำ kit เพื่อใช้แก้ปัญหาเรื่องการเจ็บป่วยเฉพาะหน้า ควรจะมียาและอุปกรณ์อะไรบ้างครับ และแต่ละอย่างใช้งานอย่างไร
Pong

ตอบ

สิ่งที่แนะนำต่อไปนี้เป็นอุปกรณ์และยาพื้นฐานสำหรับนักเดินทางทั่วไป

1. อุปกรณ์ปฐมพยาบาล ได้แก่
1.1 สำลี
1.2 น้ำยาฆ่าเชื้อที่แผล (Povidone iodine)
1.3 ผ้าก๊อซปิดแผล
1.4 ผ้าพันแผล (gauze bandage
1.5 พลาสเตอร์เหนียวปิดแผล (sticky tape)
1.6 ผ้ายืดพันแก้เคล็ดขัดยอก (elastic bandage)
1.7 เจลล้างมือ
1.8 ถุงมือใช้แล้วทิ้ง (disposable gloves)
1.9 น้ำเกลือล้างแผลเป็นถุง (ถ้าไม่มีใช้น้ำสะอาดล้างแทนได้)
1.10 ปากคีบหยิบสำลี (forceps)
1.11 กรรไกรตัด
2. ยาบรรเทาปวดลดไข้ (paracetamol)
3. ยาบรรเทาอาการท้องเสีย ซึ่งที่มีหลักฐานว่ามีประโยชน์แน่นอนมีอยู่ตัวเดียวคือ น้ำเกลือแร่เป็นซอง (ORS) ส่วนยาอื่นเช่นยาลดการเคลื่อนไหวของลำไส้และยาปฏิชีวนะนั้น ไม่มีหลักฐานว่ามีประโยชน์ชัดเจน ในกรณีที่ต้องการใช้ยาปฏิชีวนะ ปัจจุบันถือว่ายา fluoroquinolone (ciprofloxacin) เป็นยาที่เหมาะ [1] ในการรักษาท้องเสียจากการเดินทาง (traveller’s diarrhea) แต่ก็ต้องชั่งน้ำหนักกับผลเสียของยา ซึ่งรายงานของอย.สหรัฐ (FDA) บอกว่าทำให้เกิดเอ็นอักเสบและเอ็นขาดได้
4. ยาปฏิชีวนะรักษาการติดเชื้อทางเดินลมหายใจส่วนบนไม่จำเป็นในเจ็ดวันแรก เพราะมาตรฐานการรักษาการติดเชื้อทางเดินลมหายใจส่วนบนในเจ็ดวันแรกไม่ใช้ยา แต่กรณีที่จะพกยาเผื่อไว้กรณีการติดเชื้อนานกว่าเจ็ดวันและสงสัยมากว่าจะเกิดจากบักเตรี ก็อาจพกยา เช่น clarithromycin
5. ยาแก้แพ้เช่นยาแอนตี้ฮิสตามีน เพื่อบรระเทาอาการหวัดและแพ้
6. ยาแก้เมารถ Dramamine โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีเพื่อนร่วมเดินทางเป็นผู้หญิงจะขาดไม่ได้
7. ครีมทาผิวหนังกันยุง ควรเป็นยาที่มีส่วนผสมของสาร DEET (N, N dimethyl-m-toluamide) เพราะกันยุงได้แน่นอน อย่าหวังพึ่งสมุนไพรกันยุง เพราะประสิทธิภาพไม่แน่นอน [2]
8. ยากินรักษามาเลเรียกรณีมีไข้ในป่าแล้วออกมาไม่ทัน เช่นเมโฟลควินหรือลาเรียม 1250 มก. หรือห้าเม็ด (25 มก.กก.) กินทีเดียว
9. อุปกรณ์ดูแลฟัน เช่นไหมขัดฟัน
10. อุปกรณ์ประจำตัวกรณีมีปัญหาสุขภาพ เช่นแว่นตาและคอนแทคสำรองกรณีใช้คอนแทคเลนส์ แบตเตอรี่สำรองกรณีใช้เครื่องช่วยฟัง ขนมขบเคี้ยวหวานๆกรณีกินยาเบาหวานอยู่ประจำ อุปกรณ์ฉีดยา กรณีฉีดอินสุลินประจำ
11. ถ้าเคยเรียนรู้การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) มาแล้ว ควรมี pocket mask สำหรับช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานติดไว้ด้วย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

เอกสารอ้างอิง

1. Al-Abris SS, Beeching NJ. Nye FJ. Traveller’s diarrhea. Lancet Infect Dis. 2005 ; 5 : 349-60.
2. Fradin MS. Insect Protection. In: Keystone JS, Kozarsky PE, Freedan DO et al. Travel Medicine. Mosby, Elsevier, 2004: 61-9.
[อ่านต่อ...]

ยารักษากระดูกพรุนแบบฉีดเข็มเดียวคุ้มไปหนึ่งปี

เป็นโรคกระดูกพรุน รักษาอยู่กับหมอสูตินรี ซึ่งให้ทานยา Actonel สัปดาห์ละครั้ง พอไปพบหมอกระดูกเรื่องปวดหลัง หมอบอกว่าควรจะเปลี่ยนเป็นแบบฉีดเข็มหนึ่งคุ้มไปหนึ่งปี เพราะป้องกันกระดูกหักได้ดีกว่า อยากทราบว่ายาสองแบบนี้ แบบไหนดีกว่ากัน
ญ.ว.ท.

ตอบ

ยาที่คุณกินอยู่เดิมคือ Actonel มีชื่อสามัญว่า Residonate (Actonel) ซึ่งสำหรับผู้หญิงมีวิธีกินหลายวิธีเช่น 5 mg/วันหรือ 35 mg/สปด. หรือ 75 mg กินสองวันติดกันในหนึ่งเดือน หรือ 150 mg เดือนละครั้ง สำหรับผู้ชายกิน 35 มก./สปด. ยานี้งานวิจัยพบว่าสามารถลดอัตราการเกิดกระดูกหักที่หลังใน 3 ปี ได้ 41% และป้องกันกระดูกหักใน 3 ปีที่อวัยวะอื่นได้ 39%

ส่วนยาที่คุณพูดถึงว่าฉีดปีละครั้งนั้นมีชื่อสามัญว่าZoledronic acid ชื่อการค้าว่า Reclast ในเมืองไทยชื่อการค้าว่า Zometa 4 mg จัดว่าเป็นยารักษากระดูกพรุนที่แรงที่สุดในปัจจุบัน คืองานวิจัยพบว่าสามารถลดอัตราการเกิดกระดูกหักใน 3 ปีที่กระดูกหลังได้ถึง 70% และลดกระดูกหักในสามปีที่กระดูกตะโพกได้ 41% โดยให้แบบฉีดเข้าเส้น ปีละครั้งเดียว สะดวกดี แต่ราคาแพงพอสมควร คือถ้าเป็นรพ.เอกชนเข็มละหมื่นห้าพันบาท

การรักษากระดูกพรุนอย่าหวังพึ่งยาอย่างเดียว ต้องทำอย่างอื่นด้วย ได้แก่

1. กินแคลเซียมเสริม ก่อนประจำเดือนหมดหรือก่อน 50 ปีควรได้วันละ 1000 mg ของแคลเซียมต่อวัน หลังประจำเดือนหมดหรือหลัง 50 ปีควรได้ 1200-1500 mg

2. กินวิตามินดีเสริม ก่อนอายุ 50 ปีควรได้ D3= 400-800 IU หลังอายุ 50 ควรได้ 800-1000 IU
3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบ Weight-bearing เช่นการยกดัมเบล


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์


บรรณานุกรม


1. National Osteoporosis Foundation. Clinician's Guide to Prevention and Treatment of Osteoporosis. Available at http://www.nof.org/professionals/Clinicians_Guide.htm . Accessed May 5, 2008.
2. Black DM, Delmas PD, Eastell R, et al. Once-yearly zoledronic acid for treatment of postmenopausal osteoporosis. N Engl J Med. May 3 2007;356(18):1809-22.
[อ่านต่อ...]

การกินยาป้องกันมาลาเรียก่อนไปเที่ยวป่า

เพื่อนฝรั่งจะมาเที่ยวเมืองไทย มีแผนจะไปเที่ยวดูป่าที่อุทัยธานีและกาญจนบุรี เขาบอกว่าหมอของเขาให้กินยาป้องกันมาลาเรียก่อนเข้าป่า มีความจำเป็นไหม

พ.น.

ตอบ

ในประเทศไทย ไม่แนะนำให้ใช้ยาป้องกันมาลาเรีย ไม่ว่าสำหรับนักท่องเที่ยวไทยหรือต่างชาติ ไม่ว่าจะเข้าป่าหรือไม่เข้าป่า เหตุผลเพราะ

1. หลักฐานจากงานวิจัย [1] พบว่าความเสี่ยงที่จะติดเชื้อมีน้อยมาก คือ 1 ใน 16,000 คน ข้อมูลย้อนหลัง 6 ปีของรพ.เวชศาสตร์เขตร้อนซึ่งเป็นศูนย์รักษามาเลเรียเองพบว่ามีนักท่องเที่ยวติดเชื้อมาเลเรียในประเทศไทยเพียง 3 ราย [2]
2. ไม่มียาใดป้องกันมาเลเรียได้ 100% ยาป้องกันได้แต่เชื้อฟาลซิพารั่ม แต่เชื้อนี้ในเมืองไทยก็มีดื้อยาที่ใช้ป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นยา คลอโรควิน หรือยาเมโฟลควิน
3. เมืองไทยการเข้าถึงสถานพยาบาลหลังจากมีอาการไข้ทำได้ง่ายมาก ทุกอำเภอมีรพ.อำเภอ ที่จะต้องรอนแรมกลางป่าหลายวันกว่าจะพบหมอได้นั้นไม่มีแล้ว เว้นเสียแต่ว่าจะเข้าป่าลึกหลายวัน แบบนั้นก็ขอหมอเอายาพกพาสำหรับการรักษา (standby drug) พอเป็นไข้ขึ้นมาก็กินแบบรักษาโรคเต็มรูปแบบไปเลย (เช่นเมโฟลควินหรือลาเรียม 1250 มก. หรือห้าเม็ด (25 มก.กก.) กินทีเดียว พอออกจากป่าแล้วอย่างไรก็ต้องไปให้หมอดูซ้ำอีกที

ควรบอกฝรั่งว่าที่ดีกว่าการกินยาป้องกันมาเลเรีย คือการป้องกันไม่ให้ยุงกัด ซึ่งควรทำอย่างยิ่งดังนี้
1. ใช้ยาทาผิวหนังกันยุง ยาที่งานวิจัย [3] บอกว่าทากันยุงได้จริงนั้นคือยาอ่านฉลากดูแล้วต้องมีส่วนผสมของสาร DEET (N, N dimethyl-m-toluamide) โดยเลือกยี่ห้อที่มีความเข้มข้นของ DEET สูง คือถ้าสูงถึง 35% จะกันยุงได้นาน 4-6 ชม. ถ้าเข้มข้นถึง 100% จะกันยุงได้นาน 10 ชม. ส่วนสมุนไพรกันยุงสาระพัดนั้น มีประสิทธิภาพไม่แน่นอน
2. สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด
3. นอนกางมุ้ง หรือในบ้านที่มีมุ้งลวด
4. หลีกเลี่ยงการเดินทางช่วงที่ยุงก้นปล่องออกหากิน คือพลบค่ำ กลางคืน ไปจนถึงเช้ามืด


เอกสารอ้างอิง
1. Hill DR, Behrens RH, Bradley DJ. The risk of malaria in travelers to Thailand. Trans R Soc Trop Med Hyg 1996;90:680-1.
2. Piyaphanee W, Krudsood S, et.al. Travellers’ malaria among foreigners at the Hospital For Tropical Disease, Bangkok, Thailand – a six year review (2000-2005). Korean J Parasitol. 2006;44:229-32
3. Fradin MS. Insect Protection. In: Keystone JS, Kozarsky PE, Freedan DO et al. Travel Medicine. Mosby, Elsevier, 2004: 61-9.
[อ่านต่อ...]

กินยาลดความอ้วนโดยไม่รู้ชื่อยา กลัว แต่ก็กิน

คุณหมอสันต์คะ
ดิฉันอายุ 36 เคยน้ำหนักสูงสุดถึง 69 กก. (สูง 160 ซม.) เมื่อสองปีก่อน เป็นคนอ้วนง่าย เคยขาบวม ลดน้ำหนักกับหมอที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง หมอให้กินยาสามอย่าง ไม่ได้บอกว่าเป็นยาอะไร ยาที่ให้มาก็ไม่มีชื่อยาอยู่ด้วย คงกลัวเราไปหาซื้อกินเอง แต่หมอเขาบอกว่าเขารับรองความปลอดภัย ดิฉันเองไม่ได้ออกกำลังกาย เพราะไม่มีเวลา ทั้งต้องทำงาน ต้องดูแลลูก น้ำหนักตอนนี้ลงมาเหลือ 58 กก. แต่ก็ต้องคอยกินยาไว้เป็นครั้งคราว เพราะกลัว Yo yo effect ดิฉันมีปัญหาเรื่องตามองเห็นไม่ค่อยชัดเป็นบางครั้ง บางครั้งนอนไม่หลับ แบบว่าตาค้าง อยากให้คุณหมอช่วยแนะนำว่าในระยะยาวควรจะทำอย่างไรต่อไป ควรจะกินยาของรพ.แห่งนั้นซึ่งจ่ายให้โดยแพทย์ต่อดีไหม และต้องทำอะไรเพิ่มอีก จึงจะไม่กลับไปอ้วนอีก เพราะกลัวมาก

นามสมมุติ

ตอบ

มีด้วยหรือครับในเมืองไทยนี้ที่โรงพยาบาลจ่ายยาแล้วไม่ยอมบอกชื่อยาว่าเป็นยาอะไร พุทธัง ธัมมัง สังคัง อะไรมันจะคัน..เอ๊ยไม่ใช่ อะไรมันจะล้าหลังขนาดนั้น ทำอย่างนั้นมันผิดกฎหมายนะคุณ ผิดพรบ.สถานพยาบาล ผิดพรบ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เพราะอาชีพแผนปัจจุบันนี้ต้องทำอะไรตามหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่เปิดเผยได้เท่านั้น จะเอายาผีบอกหรือยาหม้อต้มเองมาจ่ายให้คนไข้ได้ไง หมอหรือเภสัชกรที่จ่ายยาให้คุณก็ทำผิดจริยธรรมวิชาชีพเรื่องความปลอดภัยในการใช้ยากับผู้ป่วย แต่ช่างเขาเถอะ..นะหัวใจ อย่านอกประเด็นเลย มาเข้าประเด็นเรื่องของคุณดีกว่า

ประเด็นที่หนึ่ง การรักษาความอ้วนด้วยยา หลักฐานปัจจุบันนี้ “ไม่มี” ยาใดรักษาความอ้วนได้ยั่งยืนจริงจัง ยาที่ปลอดภัยและ FDA ยอมให้ใช้ในวัยรุ่นได้มีตัวเดียวคือ Olistat (Xenical) ซึ่งออกฤทธิ์ระงับการดูดซึมไขมันจากลำไส้ เลยพลอยทำให้การดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมันเสียไปด้วยเป็นผลพลอยเสีย ยานี้อาจทำให้มีไขมันเล็ดออกทางทวารหนักได้บ้างคนจึงไม่นิยม ยาลดความอ้วนตัวอื่นๆล้วนเป็นยาเบือ.. ขอโทษ ยาเบื่ออาหาร หมายความว่ากินแล้วทำไม่อยากกินอาหาร ซึ่งได้รับอนุมัติให้ใช้รักษาโรคอ้วนได้เฉพาะระยะสั้นเท่านั้น จึงไม่เวอร์ค เพราะปัญหาลดน้ำหนักเป็นปัญหาระยะยาว ยาเบื่ออาหารนี้ต้องใช้ร่วมกับมาตรการควบคุมอาหาร ได้แก่ยา Sibutramine (Reductil) ออกฤทธิ์บล็อกการจับทำลายสารเคมีปลายประสาท และยากลุ่มกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติกเช่นยา Phentermine (Panbesy) ยา Phendimetrazine (Bontril) และยา Benzphetamine (Didrex) ซึ่งเสพย์ติดง่ายๆ เป็นต้น
ยานอกเหนือจากที่ผมกล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นยาเถื่อนทั้งสิ้น ซึ่งเชื่อว่ายาที่รพ.ไม่ยอมบอกชื่อยาจ่ายให้คุณก็เป็นยาเถื่อน เพราะเมืองไทยนี้ดี ใครใคร่กินอะไรกิน ตัวอย่างของยาเถื่อนเหล่านั้นได้แก่

1. Amphetamine และ methamphetamine หรือพูดง่ายๆว่ายาบ้าดีๆนี่เอง

2. Thyroid หรือ thyroid extract อันนี้เป็นฮอร์โมนไทรอยด์ คือพูดง่ายๆว่าทำให้คุณเป็นโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ซะ จะได้ผอมซะที ถ้าจะให้สะแด่วแห้วก็ต้องจ่ายเป็นชุดคือยาบ้าบวกไทรอยด์บวกแวเลียม(กลัวคุณนอนไม่หลับ) จึงจะเป็นวิธีรักษาแบบเถื่อนแท้

3. Phenmetrazine ซึ่งถูกห้ามใช้เพราะมีผลต่อการทำงานของลิ้นหัวใจจนตายได้ แต่ยังมีแอบใช้กันอยู่อย่างลับบ้างแจ้งบ้าง

4. Dinitrophenol ถูกห้ามใช้เพราะทำให้เกิดต้อกระจกและประสาทเสื่อม

5. Rainbow pill ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างยากระตุ้นหัวใจดิจิทาลิสกับยาขับปัสสาวะ ถูกสั่งห้ามเพราะทำให้คนตายจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ

6. Aminorex ถูกห้ามใช้เพราะทำให้เกิดความดันในปอดสูง

7. Fluoxetine เป็นยาแก้ซึมเศร้า ไม่ได้รับการรับรองให้ใช้รักษาความอ้วน แต่ก็มีผู้หวังดีประสงค์อย่างไรไม่ทราบ เอามารักษาความอ้วน ทั้งๆที่รู้อยู่ว่าเมื่อชั่งน้ำหนักประโยชน์และความเสี่ยงแล้ว FDA ไม่อนุญาตให้ใช้

8. Mazindol ถูกถอนออกไปแล้วเพราะทำให้เกิดอาการประสาทเช่นชัก

9. Phenylpropanolamine ถูกห้ามใช้เพราะมีความสัมพันธ์กับการเกิดอัมพาต

10. Methylphenidate ไม่ได้รับการอนุมัติให้ใช้รักษาโรคอ้วน แต่มีคนใช้

11. Ephedrine ไม่ได้รับอนุมัติให้ใช้รักษาโรคอ้วน เพราะกระตุ้นหัวใจ

12. Topiramate ยากันชัก ไม่ได้รับอนุมัติให้ใช้รักษาโรคอ้วน แต่มีคนเอามารักษา

13. Rimonabant ยาใหม่ ท่าทางจะมาแรง แต่ FDA ยังไม่ได้อนุมัติให้ใช้เพราะข้อมูลความปลอดภัยยังไม่พอ

ไม่รู้ว่าคุณได้ตัวไหนไปบ้างใน 13 ตัวนี้ และแน่นอนยังมียาผีบอก ยาต้ม ยาหม้อ และหญ้าแห้งตำละเอียดเป็นผงอัดเม็ดที่ผมไม่รู้จักอีกมาก ที่เขาอาจจะเอามาจ่ายให้กับคนไข้ที่ยอมรับว่ายาไม่มีชื่อก็ไม่เป็นไร ยาเหล่านั้นจะชั่วดีถี่ห่างอย่างไรผมไม่ทราบ และผมมั่นใจว่าคนเอาให้คุณก็ไม่ทราบ เพราะถ้าเขาทราบว่ามันลดความอ้วนได้จริงโดยปลอดภัยเขายื่นจดทะเบียนลิขสิทธิ์รวยอื้อซ่าไปแล้ว กล่าวโดยสรุปในประเด็นนี้ ยารักษาความอ้วนที่ปลอดภัยดีมีข้อจำกัดที่ใช้ได้แต่ระยะสั้น การลดความอ้วนจึงหวังพึ่งยาได้น้อย ส่วนยาเถื่อนนั้นไม่ปลอดภัย ไม่ควรใช้

ประเด็นที่สอง ไม่ใช้ยาแล้วจะใช้อะไร ตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือ การรักษาโรคอ้วนแบบยั่งยืนต้องหวังพึ่ง

(1) การโภชนาการเพื่อลดแคลอรี่

(2) การออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญแคลอรี่

(3) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้อ้วน

(4) การจัดการด้านจิตวิทยาการสร้างความบันดาลใจและเอาจริงเอาจัง

นั่นเป็นแค่ภาพใหญ่นะ แต่ในชีวิตจริงโรคอ้วนเป็นปัญหาเฉพาะคน ต้องไปหาหมอด้านโภชนาการหรือหมอต่อมไร้ท่อที่ชำนาญการรักษาโรคอ้วนโดยเฉพาะให้เขาวินิจฉัยไล่เลียงว่าในกรณีของตัวคุณมันมีอะไรเป็นเหตุบ้าง อาหารที่กินแต่ละวันคุณกินอะไรบ้าง ระดับกิจกรรมคุณทำอะไร มีภาวะซึมเศร้าหรือเปล่า จำนวนคนอ้วนในครอบครัวมีกี่คน หรือว่าอ้วนกันทั้งตระกูล (โรคอ้วนเป็นกรรมพันธ์ด้วยนะ) ระดับความตั้งใจ (motivation) ที่จะลดความอ้วนมีมากแค่ไหน มีสาเหตุด้านฮอร์โมนหรือเปล่า ไล่ตั้งแต่ฮอร์โมนไทรอยด์ พาราไทรอยด์ต่ำ เนื้องอกของตับอ่อนที่ผลิตอินสุลิน โรคคุชชิ่งซึ่งมีฮอร์โมนสเตียรอยด์สูง โรคขาดโกรทฮอร์โมน หรือเป็นคนมีฮอร์โมนเพศต่ำ หรือกินยาหรือกินฮอร์โมนที่ทำให้อ้วน เช่นยาจิตเวช ยากันชัก ยาต้านซึมเศร้า ยาเบาหวาน เป็นต้น จะเห็นว่าเอาเข้าจริงมันเรื่องใหญ่เหมือนกันนะ หาหมอดีๆซักคนน่าจะง่ายกว่านะครับ เอาที่ยอมเปิดเผยนะว่าให้ยาอะไรคุณบ้าง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์



บรรณานุกรม

1. Flegal KM, Graubard BI, Williamson DF, et al. Excess deaths associated with underweight, overweight, and obesity. JAMA. Apr 20 2005;293(15):1861-7.
2. Goldfield GS, Lorello C, Doucet E. Methylphenidate reduces energy intake and dietary fat intake in adults: a mechanism of reduced reinforcing value of food?. Am J Clin Nutr. Aug 2007;86(2):308-15. [Medline].
3. Grudell AB, Sweetser S, Camilleri M, et al. A controlled pharmacogenetic trial of sibutramine on weight loss and body composition in obese or overweight adults. Gastroenterology. Oct 2008;135(4):1142-54.
4. Rosenstock J, Hollander P, Gadde KM, et al. A randomized, double-blind, placebo-controlled, multicenter study to assess the efficacy and safety of topiramate controlled release in the treatment of obese type 2 diabetic patients. Diabetes Care. Jun 2007;30(6):1480-6.
5. Ioannides-Demos LL, Proietto J, McNeil JJ. Pharmacotherapy for obesity. Drugs. 2005;65(10):1391-418.
6. Maggio CA. Obesity Drug Development Summit. 21-22 July, 2005, Arlington, VA, USA. IDrugs. Sep 2005;8(9):701-3.
[อ่านต่อ...]

กินผักผลไม้เป็นวัว แต่โคเลสเตอรอลกลับสูง

เรียนคุณหมอสันต์ที่นับถือ

ดิฉันเป็นคนมีสุขภาพดี ออกกำลังกายในฟิตเนสวันละสองสามชั่วโมงทุกวัน และทานอาหารที่ประกอบด้วยผักและผลไม้มากๆๆๆ ตรวจสุขภาพทุกปีก็ไม่มีอะไร แต่มาปีนี้ไปตรวจแล้วหมอโทรศัพท์ตามมาว่าให้ไปรับยาลดไขมันเพราะโคเลสเตอรอลสูงสามร้อยกว่า ดิฉันได้คัดลอกผลการตรวจมาให้ด้วยคือ

Cholesterol 301.6
LDL 131.2
HDL 153.7
Triglyceride 128.4

ขอให้คุณหมอช่วยวิเคราะห์ผลให้ฟังด้วยค่ะ ดิฉันหงุดหงิดมาก ไม่เข้าใจว่าทั้งออกกำลังกายเต็มที่และทานอาหารที่ระวังร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วยังมีโคเลสเตอรอลสูงได้อย่างไร และดิฉันควรจะทานยาลดไขมันไหม เพราะไม่ชอบทานยา ดิฉันอายุ 41 ปี รูปร่างผอม (นน. 45 กก. สูง 160 ซม.)

Guest

ตอบ

ประเด็นที่ 1. โคเลสเตอรอล 301 ต้องกินยาหรือเปล่า ขอตอบว่าสมัยก่อนเรายึดค่าโคเลสเตอรอลซึ่งหมายถึงโคเลสเตอรอลรวมเป็นหลัก ถ้าสูงก็ต้องกินยา แต่สมัยนี้เราไม่เอานิยายกับค่าโคเลสเตอรอลรวมแล้ว เรามองเจาะไปถึงองค์ประกอบย่อยทีละตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโคเลสเตอรอลชนิดดี. (HDL) ว่าต่ำเกินไปหรือเปล่า (ถ้าสูงเกิน 40 ก็ถือว่าโอเค) โคเลสเตอรอลชนิดเลว(LDL) ว่าสูงเกินไปหรือเปล่า (ถ้าสูงเกิน 100 ถือว่าเกินพอดี) และไตรกลีเซอรไรด์ว่าสูงเกินไปหรือเปล่า (ถ้าสูงเกิน 150 ถือว่าสูงเกินพอดี)

ในกรณีของคุณนี้ HDL = 153.7 ซึ่งถือว่าสูงมาก หมายความว่ายิ่งสูงยิ่งดี ถ้ามีการประกวด HDL นานาชาติ ผมจะส่งคุณเข้าประกวด คงจะได้รับรางวัลแน่ ค่าไตรกลีเซอไรด์ของคุณ 128.4 ซึ่งยังต่ำกว่า 150 จึงยังถือว่ายังพอดีอยู่ มีก็แต่ค่า LDL ซึ่งได้ 131.5 ซึ่งถือว่าสูงเกินพอดี ก็ต้องมาวินิจฉัยว่าคุณจะต้องกินยาลดไขมันเพื่อลด LDL หรือไม่ โดยสรุปในประเด็นนี้ โคเลสเตอรอล 301 ไม่มีความหมายอะไร เพราะมันสูงจากไขมันชนิดดี.ไม่ต้องไปกระต๊ากหรือตื่นเต้น แต่ LDLสูง 131.5 มีความหมาย ดังจะกล่าวต่อไป

ประเด็นที่ 2. คุณจะต้องกินยาลดไขมันเพื่อลด LDL หรือเปล่า ปัจจุบันนี้แพทย์ทั่วโลกใช้เกณฑ์ของโครงการศึกษาโคเลสเตอรอลแห่งชาติอเมริกัน (NCEP) ในการตัดสินใจว่าเมื่อไรจะใช้ยาลดไขมัน โดยมีหลักการว่าคนที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจหลอดเลือดหรือเบาหวานมาก ก็จะใช้ยาเร็ว การบอกว่าใครมีความเสี่ยงมากมีสองขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนที่หนึ่ง เป็นโรคแล้วหรือยัง ถ้ามีข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ถือว่าเป็นโรคแล้ว คือ
1. มีอาการทางคลินิกว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดแล้ว
2. เป็นโรคหลอดเลือดแคโรติดตีบ (ทีคอ) ที่มีอาการอัมพฤกษ์
3. เป็นโรคหลอดเลือดส่วนปลายตีบที่ขา peripheral arterial disease
4. เป็นโรคหลอดเลือดใหญ่เอออร์ต้าที่ท้องโป่งพอง abdominal aortic aneurysm
5. เป็นโรคเบาหวาน (ถือว่าเทียบเท่ากับเป็นโรคหัวใจขาดเลือด)

ในกรณีของคุณไม่มีทั้งห้าข้อนี้ก็ถือว่ายังไม่เป็นโรค ก็ไปขั้นตอนที่สอง

ขั้นตอนที่สอง นับคะแนนความเสี่ยง ซึ่งมีหลักดังนี้
• สูบบุหรี่ ได้ +1 คะแนน
• ความดันเลือดสูง (>140/90 หรือกินยาความดัน) ได้ +1 คะแนน
• HDL ต่ำ (<40 mg/dL) ได้ +1 คะแนน แต่ถ้า HDL สูง (>60 mg/dl) ได้ -1 คะแนน
• ญาติสายตรงตายจากหัวใจขาดเลือดเมื่ออายุน้อย (ชาย<55 ปี หญิง <65 ปี)ได้ +1 คะแนน
• ตัวเองมีอายุมาก (ชาย>45 ปี หญิง >55 ปี) ได้ +1 คะแนน
ในกรณีของคุณผมเดาว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ตายด้วยโรคหัวใจขาดเลือดตั้งแต่อายุน้อย คุณจึงได้คะแนนความเสี่ยง 0 ความจริงได้ -1 ด้วยซ้ำไปเพราะคุณมีไขมันดี HDL สูงจึงได้คะแนนลบไปหนึ่ง แต่เนื่องจาก 0 ถือว่าต่ำสุดแล้ว หมายความว่าคุณมีความเสี่ยงน้อยมากๆๆ สำหรับคนอื่นๆทีมีคะแนนความเสี่ยง +2 คะแนนขึ้นไป จะต้องไปทำขั้นตอนที่ 3

ขั้นตอนที่ 3 คนที่ได้คะแนนความเสี่ยง +2 ขึ้นไป ต้องไปดูคะแนนความเสี่ยงฟรามิงแฮม ซึ่งเป็นวิธีประเมินความเสียงโรคหัวใจหลอดเลือดมาตรฐานอีกวิธีหนึ่งซึ่งผมขอไม่พูดในที่นี้เพราะของคุณไม่ต้องใช้ ดังนั้นจึงไปขั้นตอนที่สี่ ได้เลย

ขั้นตอนที่ 4. เอาคะแนนมาเทียบดูว่าจะรักษา LDL สูงด้วยวิธีใด ซึ่งมีหลักดังนี้

กลุ่มที่ 1. คนเป็นหรือเทียบเท่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด (CHD) หรือคะแนนความเสี่ยงสิบปีของฟรามิงแฮม >20 ; LDL เป้าหมาย = <100 mg/dl เริ่มปรับวิถีชีวิตเมื่อ LDL =>100 mg/dl เริ่มใช้ยาเมื่อ LDL =>130 mg/dl

กลุ่มที่ 2. มีคะแนนปัจจัยเสี่ยงหลัก +2 ขึ้นไป และคะแนนความเสี่ยงสิบปีของฟรามิงแฮม 10-20% ; LDL เป้าหมาย = <130 mg/dl เริ่มปรับวิถีชีวิตเมื่อ LDL =>130 mg/dl เริ่มใช้ยาเมื่อ LDL =>130 mg/dl

กลุ่มที่ 3. มีคะแนนปัจจัยเสี่ยงหลัก +2 ขึ้นไป และคะแนนความเสี่ยงสิบปีของฟรามิงแฮม <10 % ; LDL เป้าหมาย = <130 mg/dl เริ่มปรับวิถีชีวิตเมื่อ LDL =>130 mg/dl เริ่มใช้ยาเมื่อ LDL =>160 mg/dl

กลุ่มที่ 4. มีคะแนนปัจจัยเสี่ยงหลัก 0 หรือ +1 ; LDL เป้าหมาย = <160 mg/dl เริ่มปรับวิถีชีวิตเมื่อ LDL =>160 mg/dl เริ่มใช้ยาเมื่อ LDL =>190 mg/dl (อาจใช้เกณฑ์ optional เริ่มให้ยาที่ LDL =>160 mg/dl ก็ได้)

จะเห็นว่าของคุณนั้นอยู่ในพวกบรรทัดสุดท้าย คือพวกมีคะแนนปัจจัยเสี่ยงหลัก 0 หรือ +1 วิธีจัดการคนอย่างคุณก็คือ LDL ไม่ควรสูงกว่า 160 ถ้าเกินนั้นต้องเริ่มปรับวิถีชีวิต (หมายความว่าปรับอาหาร และการใช้ชีวิตเช่นการออกกำลังกาย การคลายเครียด) ส่วนจุดที่จะใช้ยานั้นคือ LDL มากกว่า 190 (จะเห็นว่าเขามีเกณฑ์ optional ให้ด้วยว่าจะเริ่มใช้ยาที่ LDL =160 กำได้ คำว่า optional นี้เป็นเกณฑ์สำหรับหมอที่นิสัยห้าว ชอบบังคับให้คนไข้กินยายันเต จะได้อ้างเกณฑ์ optional นี้ให้ยาคนไข้เร็วๆได้โดยไม่ต้องทะเลาะกับใคร)

กล่าวโดยสรุป ไม่ว่าหมอห้าวหรือไม่ห้าว คุณมี LDL 131.5 ยังเป็นระดับที่พอดีสำหรับตัวคุณ ยังไม่ต้องปรับวิถีชีวิตหรือกินยาลดไขมันหรอกครับ

ประเด็นที่ 3. อันนี้คุณไม่ได้ถาม แต่ผมขออนุญาต ส.ใส่รองเท้า ตอบแถมให้เอง คือคุณมีน้ำหนัก 45 กก. สูง 160 ซม. คำนวณดัชนีมวลกายหรือ BMI (เอาส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสองคือ 1.6 x 1.6 = 2.56 แล้วเอาน้ำหนักเป็นกก.ตั้งเอาค่าที่ได้นี้ไปหาร = 45/2.56 = 17.5 หมายความว่าดัชนีมวลกายของคุณวัดได้ 17.5 ซึ่งต่ำกว่าพิสัยปกติตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกที่ควรจะอยู่ที่ 18.5 – 24.99 [2] หรือถ้าจะใช้เกณฑ์เอเซีย [3] ซึ่งกำหนดค่าปกติที่ 18.5 – 22.99 คุณก็ยังผอมเกินไปอยู่ดี ไม่ทราบว่าคุณมีอาชีพเป็นนางแบบหรือนักบัลเลต์ที่บูชาความผอมหรืออย่างไร แต่ผู้หญิงวัยคุณที่ผอมเกินไป สิ่งที่รออยู่ก็คือภาวะกระดูกพรุน..ผรุ่น..พรุ่น พอแก่ตัวกระดูกก็จะหักดังโป๊ะ ซึ่งไม่ดี ผมแนะนำให้คุณเพิ่มน้ำหนักขึ้นมาเป็นอย่างน้อย 48 กก. โดยกินอาหารพวกโปรตีนอันได้แก่เนื้อ นม ไข่ ให้มากขึ้น ถ้าไม่ชอบสัตว์ก็กินนมถั่วเหลืองก็ได้

สันต์ ใจยอดศิลป์


บรรณานุกรม
1. Scott M. Grundy; James I. Cleeman; C. Noel Bairey Merz; H. Bryan Brewer, Jr; Luther T. Clark; Donald B. Hunninghake*; Richard C. Pasternak; Sidney C. Smith, Jr; Neil J. Stone, for the Coordinating Committee of the National Cholesterol Education Program, Endorsed by the National Heart, Lung, and Blood Institute, American College of Cardiology Foundation, and American Heart Association. Implications of Recent Clinical Trials for the National Cholesterol Education Program Adult Treatment Panel III Guidelines (NCEP Report). Circulation. 2004;110:227-239.
2. WHO Global Database on Body Mass Index. Accessed on May 11, 2009 at http://apps.who.int/bmi/index.jsp?intro ... tro_3.html
3. WHO expert consultation. Appropriate body-mass index for Asian populations and its implications for policy and intervention strategies. The Lancet, 2004; 157-163.
[อ่านต่อ...]

คนดื้อวิตามินดี.

ผมอายุ 56 ปี เป็นกระดูกพรุนมีกระดูกสันหลังหักแบบ compression fracture ด้วย แต่ไม่ถึงกับหลังค่อม คุณพ่อของผมก็เป็นกระดูกสันหลังหักและหลังค่อมชัดเจน หมอที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งให้กินยา Bonviva และแคลเซี่ยมนาน 1 ปี ไปตรวจความแน่นกระดูกก็ยังไม่ดีขึ้น หมอที่โรงพยาบาลที่ 2 เจาะเลือดตรวจดูระดับวิตามินดี.3 พบว่ามิตามินดี3ต่ำ (29.1 mg/ml) จึงให้กินวิตามินดี3 นานสองเดือน แล้วไปเจาะเลือดดูวิตามินดี3 พบว่ายิ่งต่ำไปกว่าเดิม (15.4 mg/dl) คุณหมอก็ไม่อธิบายเหตุผลให้ทราบ และให้กินวิตามินดี3 ต่อ แล้วนัดเจาะเลือดอีกสามเดือน ผมอยากถามคุณหมอสันต์ว่า (1) ทำไมกินวิตามินดี3 แล้วระดับวิตามินดี3 ถึงไม่ขึ้น (2) ผมจะต้องทำอย่างไรต่อดี

ผมต้องการความเข้าใจ และไม่รังเกียจเลยถ้าคุณหมอจะอธิบายลึกซึ้งมากๆแม้จะฟังเข้าใจยากบ้างก็ไม่ว่า ผมเพียงแค่อยากเข้าใจ
Passakorn

ตอบ

เอาแบบลึกนะ โอเค้. ลึกก็ลึก

ร่างกายได้วิตามินดี มาจากสองทาง คือ

ทางที่ 1 ได้จากอาหาร ซึ่งแหล่งอาหารที่ให้วิตามินดีนี้มีจำกัดจำเขี่ยมาก แหล่งหลักได้แก่น้ำมันตับปลาค็อด ปลาซาลมอน เห็ดตากแดด ปลาทูฝรั่ง (mackerel) ปลาทูน่ากระป๋อง ปลาซาร์ดีน นอกจากนี้ยังได้เล็กน้อยจิ๊บจ๊อยจากตับ เนื้อวัว และไข่ วิตามินดีจากอาหารนี้จะเข้าสู่ร่างกายในรูปวิตามินดี 3 (cholecalciferol)

ทางที่ 2. ได้จากรังสี UVB ในแสงแดดเปลี่ยนไขมันชั้นใต้ผิวหนังชื่อ 7-Dehydro-cholesterol ไปเป็นวิตามินดี 3


วิตามินดี 3 จะถูกร่างกายเปลี่ยนไปอีกสองขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่ 1 เปลี่ยนไปเป็น ไฮดร๊อกซีวิตามินดี. หรือ 25(OH)D หรือ calciferol ที่ตับเป็นอวัยวะหลัก โดยอาศัยเอ็นไซม์ชื่อ ซิป 27 เอ 1 (CYP27A1) ตัวไฮดร๊อกซี่วิตามินดีนี้ครึ่งหนึ่งจะสลายไป (half life) ในเวลา 15 วัน ทำให้ใช้เป็นตัวเจาะเลือดบอกระดับของวิตามินดีของร่างกายได้ดีที่สุด

ขั้นตอนที่ 2 คือเปลี่ยนไฮดร๊อกซี่วิตามินดี ไปเป็นไดไฮดร๊อกซี่วิตามินดี (หรือ 1,25-dihydroxyvitamin D หรือบางทีก็เรียกว่า 25(OH)2D หรือ calcitriol ที่ไตเป็นอวัยวะหลัก โดยใช้เอ็นไซม์ชื่อซิป 27 บี 1 (CYP27B1)

ตัวไดไฮดร๊อกซี่วิตามินดีนี้เป็นสารออกฤทธิ์ตัวจริงที่จะไปออกฤทธิ์เพิ่มการดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้เข้ากระแสเลือด และกระตุ้นให้เซลล์กระดูกสร้างมวลกระดูก แต่ในการตรวจระดับวิตามินดีในเลือด จะไม่ตรวจหาตัวนี้ ไปตรวจหาไฮดร๊อกซี่วิตามินดีหรือ 25(OH)D แทน เพราะตัวไดไฮดร๊อกซี่วิตามินดีเมื่อผลิตออกกมาแล้วมันอายุสั้น ครึ่งหนึ่งจะสลายไป (half life) ในเวลาเพียง 15 ชั่วโมง อีกทั้งระดับของไดไฮดร๊อกซีวิตามินดีจะไม่ตกต่ำลงไปง่ายๆแม้ร่างกายเริ่มขาดวิตามินดีแล้วก็ตาม เพราะระดับของมันจะถูกชดเชยอย่างรวดเร็วโดยฮอร์โมนพาราไทรอยด์ จึงไม่เหมาะที่จะใช้บอกระดับของวิตามินดีในร่างกาย

หน่วยนับของไฮดร๊อกซี่วิตามินดี หรือ 25(OH)D มีสองหน่วย คือ ng/mL และ nmol/L โดยที่ 1 ng/mL = 2.5 nmol/L) ค่ามาตรฐานยุคเก่าถือว่าถ้าวัดได้มากกว่า 15 ng/mL เป็นอันพอเพียง [3] ตามมาตรฐานของสถาบันการแพทย์ อเมริกัน (IOM) อย่างไรก็ตาม การทบทวนงานวิจัยในหลายปีต่อมาพบว่าการจะให้ปลอดโรคขาดวิตามินดีในด้านต่างๆไม่เฉพาะโรคกระดูกอ่อนนั้น ต้องให้มีระดับไฮดร๊อกซี่วิตามินดีสูงเกิน 30 mg/mL ขึ้นไป [4] ซึ่งสูงกว่าที่สถาบันการแพทย์แนะนำไว้ถึงหนึ่งเท่าตัว

ในกรณีของคุณ ที่บอกว่าผลเลือดเจาะหาวิตามินดี 3 นั้น ผมไม่แน่ใจว่าเป็นวิตามินดี 3 จริงหรือเปล่า เพราะเขาน่าจะเจาะดูไฮดร๊อกซี่วิตามินดี มากกว่า เพราะทั่วโลกเขาก็เจาะดูตัวนี้ทั้งนั้น คนที่กินวิตามินดี 3 แล้วเจาะเลือดดูไฮดร๊อกซี่วิตามินดีไม่ขึ้น
อาจมีสาเหตุจากอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่าง คือ

1. ขนาดที่กินต่ำไป เพราะขนาดที่ถือเอาตามสถาบันการแพทย์อเมริกัน (IOM)แนะนำคือวันละ 400 - 600 IU ในผู้ใหญ่นั้น งานวิจัยระยะหลังพบว่าขนาดแค่นั้นไม่พอรักษาพวกขาดวิตามินดีเรื้อรัง แม้ให้ในขนาดสูงสุดที่ปลอดภัย (UL)ที่สถาบันการแพทย์แนะนำคือ 2000 IU ต่อวันก็ยังไม่ค่อยจะพอเลย
2. เอ็นไซม์ที่ร่างกายใช้เปลี่ยนวิตามินดี 3 ไปเป็นไฮดร๊อกซี่วิตามินดี (CYP27A1)ของตัวเราอาจมีไม่พอหรือทำงานไม่ดี ซึ่งอาจจะเป็นเพราะพันธุกรรมได้

3.เอ็นไซม์ที่ใช้ดูดซึมวิตามินดีที่กินเข้าไปเข้าสู่ร่างกายที่ลำไส้ของตัวเราอาจมีไม่พอหรือทำงานไม่ดี


ถามว่าจะต้องทำอย่างไรต่อดี ผมแนะนำว่า

1. ต้องกลับไปหาหมอใหม่ คุยกันเรื่องโด๊สที่ใช้ว่าจะเพิ่มให้มากกว่าเดิม แบบมากๆๆ และติดตามดูอีกสามเดือนได้ไหม

2. กรณีที่เพิ่มขนาดชนิดเต็มแม็กแล้วแต่ระดับไฮดร๊อกซี่วิตามินดีก็ยังไม่ขึ้น ผมแนะนำว่าให้ก็กินวิตามินดี.ในรูปของสารออกฤทธิ์ขั้นสุดท้าย คือไดไฮดร๊อกซี่วิตามินดี หรือ 1,25-dihydroxyvitamin D หรือเรียกอีกชื่อว่า Calcitriol เสียเลยสิครับ คือข้ามขั้นตอนการทำงานของผิวหนัง ตับ ไต ไปซะเลยเพราะเราไม่รู้ว่าร่างกายขาดเอ็นไซม์ในขั้นตอนไหนบ้าง ส่งมอบผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายแบบพร้อมใช้งานให้ร่างกายท่านเสียเลย โดยไปที่ร้านหมอตี๋ ขอซื้อยาวิตามินดีชนิด Calcitriol ชื่อการค้าเรียกว่า Rocaltrol ราคามันแพงกว่าวิตามินดี.3 แต่ก็เป็นทางเลือกที่เหลืออยู่ แคปซูลหนึ่งมี 0.25 mcg ให้กินวันละหนึ่งแคปซูลก่อน แล้วเพิ่มทีละเท่าตัวทุกสองสัปดาห์จนได้ถึงขนาดสูงสุดวันละ 1 mcg หรือสี่แคปซูล จะให้ดีเมื่อเริ่มกินยานี้ควรหยุดกินแคลเซียมไว้ก่อนเพราะ Calcitriol นี้จะเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้เข้ากระแสเลือดมากขึ้น กินแต่แคลเซียมจากแหล่งอาหารธรรมชาติเช่นนมพร่องมันเนย หรือนมถั่วเหลืองก็พอ เมื่อกิน Calcitriol ไปได้สักสามเดือนแล้วก็ค่อยไปตรวจระดับแคลเซียม (กลัวมันสูงเกิน)แล้วค่อยลดขนาดลงมาเหลือวันละ 0.5 mcg ไม่ต้องไปตรวจระดับไฮดร๊อกซี่วิตามินดีซ้ำดูอีก เพราะตัวที่กินเข้าไปใหม่นี้คือไดไฮดร๊อกซี่วิตามินดี มันคนละตัวกัน ตัวไดไฮดร๊อกซีวิตามินดีนี้ถ้าจะตรวจระดับที่เมืองไทยตรวจไม่ได้ ต้องส่งไปตรวจเมืองนอก อย่าตรวจเลย ไม่คุ้ม

นอกจากวิตามินดี.และแคลเซี่ยม และยาเพิ่มมวลกระดูกแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการรักษากระดูกพรุนคือการออกกำลังกาย โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแร็งของกล้ามเนื้อ(strength training) เช่นการเล่นกล้ามหรือยกน้ำหนัก ต้องไม่ลืมทำให้สม่ำเสมอทุกวันด้วยนะครับ


สันต์ ใจยอดศิลป์


(ปรับปรุงครั้งสุดท้าย 21 มิย. 53)

บรรณานุกรม

1.U.S. Department of Agriculture, Agricultural Research Service. USDA Nutrient Database for Standard Reference, Release 22, 2009.
2. Holick MF, Biancuzzo RM, Chen TC, et al. Vitamin D2 is as effective as vitamin D3 in maintaining circulating concentrations of 25-hydroxyvitamin D. J Clin Endocrinol Metab. Mar 2008;93(3):677-81.
3.Institute of Medicine, Food and Nutrition Board. Dietary Reference Intakes: Calcium, Phosphorus, Magnesium, Vitamin D, and Fluoride. Washington, DC: National Academy Press, 1997.
4.Bischoff-Ferrari HA, Giovannucci E, Willett WC, Dietrich T, Dawson-Hughes B. Estimation of optimal serum concentrations of 25-hydroxyvitamin D for multiple health outcomes. Am J Clin Nutr. 2006 Jul;84(1):18-28. 2006.
5.Vieth R, Bischoff-Ferrari H, Boucher BJ, Dawson-Hughes B, Garland CF, Heaney RP, et al. The urgent need to recommend an intake of vitamin D that is effective. Am J Clin Nutr 2007;85:649-50. [PubMed abstract]
6.Yetley EA. Assessing the vitamin D status of the US population. Am J Clin Nutr 2008;88:558S-64S.
7.Holick MF. Vitamin D: the underappreciated D-lightful hormone that is important for skeletal and cellular health. Curr Opin Endocrinol Diabetes 2002;9:87-98.
8.Cranney C, Horsely T, O'Donnell S, Weiler H, Ooi D, Atkinson S, et al. Effectiveness and safety of vitamin D. Evid Rep Technol Assess (Full Rep). 2007 Aug;(158):1-235.
9.Jackson RD, LaCroix AZ, Gass M, Wallace RB, Robbins J, Lewis CE, et al. Calcium plus vitamin D supplementation and the risk of fractures. N Engl J Med 2006;354:669-83.
10.Jones G. Pharmacokinetics of vitamin D toxicity. Am J Clin Nutr 2008;88:582S-6S.

11. Ganong, WF. Review of Medical Physiology 18 th ed. 1997; p 359-371.
[อ่านต่อ...]

การฉีด Carboxy กับการให้นมบุตรและแผลผ่าคลอด

รบกวนสอบถามหน่อยค่ะ ว่าการฉีด carboxy เนี่ย มีผลกับการให้นมลูกมั๊ย เพราะตอนนี้ก็ให้นมลูกอยู่ เกรงว่าเมื่อฉีดไปแล้ว ก๊าซอยู่ในร่างกายจะส่งผลอะไรกับน้ำนมหรือเปล่า กลัวเป็นอันตรายกับลูกเมื่อทานน้ำนมเข้าไป อีกอย่างคือ ผ่าคลอดมาค่ะ สามารถฉีดได้หรือเปล่า ผ่าแนวบิกีนี่ มาได้สิบเดือนแล้ว แต่แผลผ่าเพิ่งเริ่มมานูนและแดงตอนเข้าเดือนที่ห้าหลังผ่า ตอนนี้กดๆที่แผลมันเป็นคีย์ลอยด์แดงนูนและแข็งก็เจ็บๆ ไม่รู้ว่าฉีดเข้าไปจะเป็นอะไรมั๊ย กลัวแผลปริ
ช่วยแนะนำหน่อยค่ะ ว่าทำได้หรือเปล่า
ปล. โพสถามตามบอร์ดของคลีนิค ก็เห็นตอบว่าทำได้ แต่ไม่แน่ใจ กลัวว่าเค้าอยากจะขายของอย่างเดียว เลยมาคุณหมอถามในนี้ดีกว่า ขอบคุณมากค่ะ

m

ตอบ

ก่อนตอบคำถามของคุณ ผมขอให้ข้อมูลของผมก่อนนะครับ ว่า

1. ยังไม่มีหลักฐานหรือผลการวิจัยเปรียบเทียบทิ่พิสูจน์ได้ว่าการฉีดใดๆเข้าไปละลายไขมันนั้นมีความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นฉีดก๊าซหรือฉีดของเหลว ซึ่งทางการแพทย์เรียกรวมว่า injection lipolysis แปลไทยให้เป็นไทยคือว่าไม่ว่าจะคาร์บอกซี่ หรือเมโสเทราปี่ หรืออะไรก็ตามสุดแต่จะเรียกกัน มันไม่มีใครบอกได้ว่าปลอดภัย

2. FDA ซึ่งเป็นองค์การอาหารและยาอเมริกัน ไม่อนุมัติให้ฉีด carboxy ละลายไขมันในอเมริกา อย่าถามว่า FDA ไทยหรืออย.ของกระทรวงสาธารณสุขท่านว่าอย่างไรนะครับ ผมเข้าใจว่าลำพังเรื่องทุจริตซื้อคอมพิวเตอร์ในกระทรวงก็คงปวดหัวท่านพอแรงแล้ว อย่ารบกวนท่านเลย

3. คำโฆษณาที่ว่า FDA approved นั้นเป็นความเท็จ เช่นอ่านในรายละเอียดแล้วจะเห็นว่าจริงๆแล้วเป็นการอนุมัติให้ใช้เครื่องมือนั้นไปทำอย่างอื่น ไม่ใช่อนุมัติให้ฉีด carboxy ละลายไขมันใต้ผิวหนัง

4. คำโฆษณาที่ว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นของธรรมชาติในร่างกายอยู่แล้ว ฉีดเข้าไปปลอดภัยแน่นอนนั้นไม่จริง เพราะยังไม่มีหลักฐานว่าการฉีดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าร่างกายมีความปลอดภัย จะเหมาง่ายๆว่ามันเป็นของมีในร่างกายอยู่แล้วฉีดเข้าไปได้นั้นไม่ใช่วิธีประเมินทางวิทยาศาสตร์ ยกตัวอย่างง่ายๆก๊าซออกซิเจนก็มีอยู่ในร่างกาย แต่ยังทำให้เด็กตาบอดได้เลย เป็นต้น ความปลอดภัยต้องมาจากการวิจัยเปรียบเทียบระหว่างฉีดกับไม่ฉีดเท่านั้น จะมั่วนิ่มสรุปลอยๆขึ้นมาไม่ได้

5. เมื่อเดือนกค. 52 ภาคีแพทย์เพื่อความปลอดภัยในการฉีดสารเพื่อการรักษาในอเมริกาและแคนาดา (The Physicians Coalition for Injectable Safety) ได้ออกโรงเตือนผู้ป่วย [1] ว่าการฉีดคาร์บอกซี่ไม่ใช่สิ่งที่ FDA อนุมัติและไม่มีหลักฐานเรื่องความปลอดภัย ทั้งยังแนะนำให้ผู้ป่วยถามหมอสามคำถามก่อนฉีดว่า (1) สิ่งที่จะฉีดให้นี้หมอแผนปัจจุบันทั่วไปและสถานพยาบาลมาตรฐานที่มีอุปกรณ์ครบถ้วนเขาฉีดรักษาเรื่องนี้กันหรือเปล่า (2) สิ่งที่จะฉีดให้นี้ FDA อนุมัติให้ฉีดได้โดยปลอดภัยหรือเปล่า (3) คุณหมอได้บอกทางเลือกในการรักษาอื่นๆเพื่อรักษาเรื่องเดียวกันโดยบอกความเสี่ยงและประโยชน์ของทางเลือกครับถ้วนหรือเปล่า รวมทั้งความเสี่ยงการมีอุปกรณ์เครื่องมือช่วยชีวิตในสถานพยาบาลไม่ครบในกรณีเกิดอะไรขึ้น

6. การฉีด carboxy เข้าร่างกายไม่ใช่การทำเวชปฏิบัติ ไม่ใช่การรักษาโรค ไม่ใช่กิจของแพทย์ ผิดกฎหมายพรบ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และผิดหลักจริยธรรมวิชาชีพแพทย์ แต่คุณอย่าถามนะครับว่าแล้วทำไมเขายังทำกัน

เอาละผมพล่ามข้อมูลที่ผมอยากพล่ามไปแล้ว คราวนี้มาตอบคำถามของคุณทีละข้อ

1. การฉีด carboxy มีผลกับการให้นมลูกมั๊ย ตอบว่าวงการแพทย์ยังไม่ทราบ เพราะไม่มีการวิจัย และที่แอบๆฉีดกันอยู่ก็ยังไม่มีเรื่องแดงขึ้นมา

2. เมื่อฉีดไปแล้ว ก๊าซอยู่ในร่างกายจะส่งผลอะไรกับน้ำนมหรือเปล่า ตอบว่าไม่มีใครทราบเช่นเดียวกันครับ ใครที่กล้าบอกว่าปลอดภัยโดยไม่มีหลักฐานรองรับนั้น เขาโกหกแน่นอน

3. อีกอย่างคือ ผ่าคลอดมาค่ะ สามารถฉีดได้หรือเปล่า ตอบว่า อีกนั่นแหละครับ ผลของการฉีดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อแผลผ่าตัดก็ยังไม่มีใครทราบ ทราบแต่ว่าไม่มีหลักฐานว่ามันปลอดภัย

4. โพสถามตามบอร์ดของคลีนิค ก็ตอบว่าทำได้ แต่ไม่แน่ใจ กลัวว่าเค้าอยากจะขายของอย่างเดียว เลยมาคุณหมอถามในนี้ดีกว่า อันนี้ผมขอตอบว่าแหล่งข้อมูลด้านสุขภาพนี้จะมาจากไหนไม่สำคัญหรอกครับ แต่ขอให้บอกประเด็นสำคัญอันได้แก่ (1) หลักฐานงานวิจัยรองรับ ซึ่งต้องเป็นงานวิจัยที่มีลำดับชั้นของหลักฐานสูง เช่นวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ เป็นต้น และต้องเป็นงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ที่เชื่อถือได้ ไม่ใช่พิมพ์ในจดหมายข่าวของบริษัทเครื่องมือ (2) หลักฐานการรับรองความปลอดภัยจากองค์กรที่มีหน้าที่ดูแลโดยตรง ซึ่งในกรณีของอาหารและยาก็ต้องมีคำรับรองของ FDA (3) ถ้าคนพูดมีผลประโยชน์คาบเกี่ยวกับเรื่องที่พูด ต้องด้วยว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่อย่างไร เขาเรียกว่าการ declare conflict of interest ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลของการให้ข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่ทำกันทั่วโลก ข้อมูลจากไหนก็ตาม ถ้ามีองค์ประกอบทั้งสามอย่างนี้ครบ ก็เป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ครับ


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์


บรรณานุกรม

1. Carboxytherapy and Mesotherapy Unproven, Physician Group urges consumers to be aware of non-approved cosmetic injections. Accessed at http:// www. injectablesafety. org/ media/ news_release/31, on December 10, 2009.
[อ่านต่อ...]

ตกลงดิฉันเป็นโรคอ้วนหรือไม่เป็นกันแน่

ดิฉันไปตรวจที่รพ.มีชื่อแห่งหนึ่ง หมอเอาน้ำหนักส่วนสูงมาคำนวณดัชนีมวลกายได้ 27.5 และวินิจฉัยว่าดิฉันเป็นโรคอ้วน (obesity) และแนะนำให้ใช้ยาลดความอ้วน แต่ต่อมาเพื่อนของเพื่อนที่เป็นหมอเขาเอาตัวเลขไปดูแล้วบอกว่านี่ยังไม่ได้เป็นโรคอ้วน อยู่ในระดับน้ำหนักเกิน (overweight) เท่านั้น ทำไมหมอใช้เกณฑ์ไม่เหมือนกัน คุณหมอสันต์ช่วยสรุปด้วยว่าตกลงดิฉันเป็นโรคอ้วนหรือไม่เป็นคะ
F Lady

ตอบ

ประเด็นที่หนึ่ง ดัชนีมวลกายคำนวณมาอย่างไร ผมเดาเอาว่าคุณเข้าใจแล้ว แต่ขอสรุปอีกทีเผื่อเหนี่ยว ว่าดัชนีมวลกาย ( Body Mass Index – BMI) คำนวณจากการเอาส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง แล้วเอาค่าที่ได้ไปหารน้ำหนักเป็นกิโลกรัม

BMI = นน.เป็นกก / (ส่วนสูงเป็นเมตร) ยกกำลังสอง

ตัวอย่างเช่นน้ำหนัก 70 กก.สูง 175 ซม. เอาส่วนสูงเป็นเมตร (1.75) ยกกำลังสอง หมายความว่า 1.75 x 1.75 ได้ = 3.0625 แล้วเอาน้ำหนัก 70 ตั้ง เอาค่าที่ได้คือ 3.0625 ไปหาร 70 ได้ BMI = 22.9 เป็นต้น

ประเด็นที่สอง ดัชนีมวลกายของคุณ = 27.5 ทำไมหมอคนหนึ่งว่าเป็นโรคอ้วน หมออีกคนว่าไม่ใช่ สาเหตุก็เพราะหมอทั้งสองคนไปยึดเกณฑ์มาตรฐานคนละอันกัน
หากถือตามองค์การอนามัยโลก ดัชนีมวลการเป็นค่าเดียวกันทั้งเพศชายและหญิง โดยพบว่ามีความเสี่ยงสุขภาพ "มากกว่าปกติ" ตั้งแต่ BMI = 25 กก./ตรม. ขึ้นไป จึงใช้ตัวเลข 25 เป็นเกณฑ์นิยามคำว่าน้ำหนักเกิน ( overweight ) และพบว่าความเสี่ยงจะอยู่ในระดับ "สูง" ถ้า BMI = 30 กก./ตรม.ขึ้นไป จึงใช้ตัวเลข 30 เป็นเกณฑ์นิยามคำว่าเป็นโรคอ้วน ( obesity)

แต่พวกหมอๆของประเทศเอเซียไม่ยอมรับเกณฑ์นี้ และอ้างหลักฐานว่าความสัมพันธ์ระหว่าง BMI กับความเสี่ยงต่อการเป็นโรคแตกต่างกันไปตามเผ่าพันธ์ จึงพยายามที่จะหาค่าที่เจาะจงต่อประชากรเอเชีย [4,5] ต่อมา WHO จึงได้จัดประชุมผู้เชี่ยวชาญขึ้นที่สิงค์โปร์ [6] แล้วสรุปว่าโอเค้.. โอเค. ที่ประชุมมีมติยอมรับว่าความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงต่อโรคกับ BMI นั้นแตกต่างไปตามชาติพันธ์ โดยสรุปได้หลวมๆว่าความเสี่ยงระดับต้น (เกณฑ์น้ำหนักเกิน) จะเริ่มเกิด ณ ตรงไหนก็ได้ที่ BMI = 22-25 กก./ตรม. ส่วนความเสี่ยงระดับสูง (เกณฑ์โรคอ้วน) จะเริ่มเกิด ณ ตรงไหนก็ได้ที่ BMI = 26-31 กก./ตรม. ให้คุณหมอๆกำหนดเกณฑ์เลือกจุดที่จะลงมือจัดการรักษาหรือจัดการปัจจัยเสี่ยงเอาได้เองตามใจชอบ แบบว่าชาติใครชาติมัน แต่มีข้อตกลงกลางว่าถ้าจะพูดจาเพื่อเปรียบเทียบข้ามเผ่าพันธ์ว่าใครน้ำหนักเกิน ใครอ้วนละก็ ขอให้ใช้เกณฑ์ของ WHO เกณฑ์เดียวเท่านั้น

สรุปว่า โดยนิตินัยตามมาตรฐาน WHO คุณแค่น้ำหนักเกิน ยังไม่ได้เป็นโรคอ้วน แต่โดยพฤตินัย ในฐานะที่คุณเป็นคนเอเซีย BMI = 27.5 หมายความว่าคุณมีความเสี่ยงสุขภาพอยู่ในระดับสูงแล้ว สมควรจะดำเนินลดน้ำหนักอย่างขมีขมันเต็มแม็ก โดยไม่ต้องรอให้ได้เป็นคนอ้วนตามเกณฑ์อนามัยโลกก่อนหรอกครับ

ป.ล.
ผมขออนุญาตสอด เพื่อป้องกันไม่ให้คุณเข้าใจคำอธิบายของคุณหมอของคุณผิดไป คือสิ่งสำคัญที่สุดในการลดน้ำหนักต้องเป็นการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง (total lifestyle modification) อันได้แก่การเปลี่ยนนิสัยไปออกกำลังกายสม่ำเสมอ และการโภชนาการที่มุ่งปรับลดแคลอรี่รวมลง ไม่ใช่การใช้ยา...นะครับ

เอกสารอ้างอิง
1. WHO Global Database on Body Mass Index. Accessed on May 11, 2009 at http://apps.who.int/bmi/index.jsp?intro ... tro_3.html
2. WHO. Physical status: the use and interpretation of anthropometry. Report of a WHO Expert Committee. WHO Technical Report Series 854. Geneva: World Health Organization, 1995.
3. WHO. Obesity: preventing and managing the global epidemic. Report of a WHO Consultation. WHO Technical Report Series 894. Geneva: World Health Organization, 2000.
4. WHO/IASO/IOTF. The Asia-Pacific perspective: redefining obesity and its treatment. Health Communications Australia: Melbourne, 2000.
5. James WPT, Chen C, Inoue S. Appropriate Asian body mass indices? Obesity Review, 2002; 3:139.
6. WHO expert consultation. Appropriate body-mass index for Asian populations and its implications for policy and intervention strategies. The Lancet, 2004; 157-163.

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

กลุ้มมาก เรื่องคำวินิฉัยของหมอว่าเป็นฮีโมโกลบินอี.

สวัสดีค่ะ คุณหมอสันต์

เรื่องมีอยู่ว่า ลูกสาวอายุ 4 ปี 11 เดือน ไม่สบายปวดท้องเลยพาไปตรวจที่ รพ.แห่งหนึ่ง คุณหมอท่านบอกลูกซีด ขอเจาะเลือดตรวจโรคซีดหน่อยนัดฟังผลอีกที
วันฟังผลไม่ได้ไปฟังเองเลยไม่เข้าใจ ถามคนพาไปก็ตอบไม่รู้เรื่องกลุ้มใจสุดๆ คะ ผลการตรวจออกมาว่า : Hb E heterozygote อาจมี alpha-thalassemia ร่วมด้วย
ต้องรบกวนคุณหมดช่วยอธิบายและแนะนำวิธีการดูแลให้ด้วยคะ มีรายละเอียดจากผลการตรวจดังนี้
HEMATOLOGICAL DATE HEMOGLOBIN TYPING
Hb 11.3 g/dI Hemoglobin type: EA
MCV 75.4 fl Hb A2(E) 25.7 %
MCH 24.0 pg Hb F 3.0 %
MCHC 31.8 g/dI Hb A 63.7 %
RDW 15.6 % Abnormal Hb %
Others %
ขอบคุณมากคะ
พัชรีย์

ตอบ

เย็นไว้ครับ เย็นไว้ ชีวิตนี้มันไม่มีอะไรซีเรียสขนาดนั้นหรอก

ประเด็นที่ 1. เอาเรื่องการวินิจฉัยโลหิตจางก่อน แพทย์วินิจฉัยโลหิตจางจางค่าฮีโมโกลบิน (Hb) ซึ่งหมายถึงตัวขนส่งอ๊อกซิเจนที่ติดอยู่ในเม็ดเลือดแดง ค่านี้ของลูกสาวคุณวัดได้ Hb = 11.3 g/dI แปลว่ามีฮีโมโกลบิน 11.3 กรัมต่อเลือด 100 ซีซี. ค่าที่ได้นี้มองเผินๆถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็เรียกว่าเป็นโลหิตจางแน่ แต่การตีความค่านี้ในเด็กมันยุ่งยากกว่าปกติ คือค่าปกติของ Hb มันแปรเปลี่ยนตามอายุและเพศดังนี้ครับ

เด็กเกิดใหม่ ค่าปกติ Hb = 17-22 gm/dl
เด็กอายุ 7 วัน ค่าปกติ Hb = 15-20 gm/dl
เด็กอายุ 1 เดือน ค่าปกติ Hb = 11- 15 gm/dl
เด็กอายุเกิน 1 เดือน ค่าปกติ Hb = 11-13 gm/dl
ผู้ใหญ่ผู้ชาย ค่าปกติ Hb = 14-18 gm/dl
ผู้ใหญ่ ผู้หญิง ค่าปกติ Hb = 12-16 gm/dl
ผู้ใหญ่ผู้ชายอายุมากพ้นวัยกลางคน ค่าปกติ Hb = 12.4-14.9 gm/dl
ผู้ใหญ่ผู้หญิงอายุมากพ้นวัยกลางคน ค่าปกติ Hb = 11.7-13.8 gm/dl

ดังนั้นจะเห็นว่าลูกสาวของคุณซึ่งเป็นเด็กอายุ 4 ปี ก็มีค่าปกติอยู่ที่ 11-13 กรัม ของลูกสาวเจาะได้ 11.3 กรัม ก็ยังถือได้ว่าปกติอยู่นะครับ ไม่ถึงกับเป็นโลหิตจาง

ประเด็นที่ 2. ผลวิเคราะห์รูปร่างของเม็ดเลือดแดงของลูกสาวคุณ เป็นดังนี้

MCV ย่อจาก mean corpuscular volume หมายถึงปริมาตรของเม็ดเลือดแดงแต่ละเม็ด ของลูกสาวคุณได้ 75.4 fl ขณะที่ค่าปกติอยู่ที่ 80-100 ก็หมายความว่าเม็ดเลือดแดงของเขามีขนาดเล็กกว่าปกตินี๊ดเดียว นิดเดียวจริงๆ

MCH ย่อจาก mean corpuscular hemoglobin หมายถึงจำนวนของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ของลูกสาวคุณได้ 24.0 pg ค่าปกติอยู่ที่ 27-33 ก็หมายความว่าเม็ดเลือดแดงของเขาฮีโมโกลบินน้อยกว่าปกติไปบ้างจริง

MCHC ย่อจาก mean corpuscular hemoglobin concentration หมายถึงความเข้มข้นของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ของลูกสาวคนวัดได้ 31.8 g/dI ขณะที่ค่าปกติอยู่ที่ 32-36 ก็ช่วยยืนยันว่ามีฮีโมโกลบินน้อยไปนิดหนึ่ง

RDW ย่อจาก red cell distribution width หมายถึงความแตกต่างหลากหลายของรูปทรงเม็ดเลือดแดง ของลูกสาวคุณวัดได้ 15.6 % ขณะที่ค่าปกติ 11-14% ก็หมายความว่าเม็ดเลือดของเขามีที่รูปทรงบิดๆเบี้ยวไปบ้าง นิดหน่อย

โดยสรุปผลการวิเคราะห์ขนาดเม็ดเลือดแดงบ่งบอกว่าเม็ดเลือดขนาดเล็ก มีฮีโมโกลบินน้อย และรูปร่างเพี้ยนๆไปบ้าง น่าสงสัยว่าอาจมีพันธุกรรมของโรคเลือดแฝงอยู่ ซึ่งหมอเขาได้ตรวจยืนยันก็โดยการตรวจชนิดของฮีโมโกลบิน ดังจะกล่าวต่อไปในประเด็นที่สาม

ประเด็นที่สาม การตรวจชนิดของฮีโมโกลบิน อันนี้ต้องขอย้อนไปถึงโคตรเหง้าศักราชของฮีโมโกลบินก่อน ว่าโมเลกุลของมันประกอบขึ้นจากสาย (chain) สองคู่ สี่สาย แต่ละคู่มียีนหรือระหัสพันธุกรรมควบคุมการก่อสร้างคนละตัว ลองมาดูผลวิเคราะห์ชนิดของฮีโมโกลบินของลูกสาวคุณกันนะครับ

Hb A ซึ่งประกอบด้วยสายอัลฟ่าและเบต้าอย่างละคู่ เขียนย่อว่า (α2β2) ของลูกสาวคุณมี 63.7 % ซึ่งปกติคนทั่วไปจะมีฮีโมโกลบินชนิดนี้อยู่มากกว่า 90% ขึ้นไป แสดงว่าลูกสาวคุณมีฮีโมโกลบินชนิดอื่นที่ไม่เหมือนชาวบ้านเขาปนอยู่ด้วย

Hb F ซึ่งประกอบด้วยสายอัลฟ่าและแกมม่าอย่างละคู่ เขียนย่อว่า (α2γ2) ของลูกสาวคุณมี 3.0 % ซึ่งปกติคนทั่วไปจะมีฮีโมโกลบินชนิดนี้เฉพาะตอนเป็นเด็กทารกในท้องแม่ พอออกมาแล้วก็จะไม่มีแต่ของลูกสาวคุณยังมีหลงเหลืออยู่ อาจบ่งบอกว่าฮีโมโกลบินปกติมันไม่พอใช้จึงต้องมีเจ้าตัวนี้ไว้ แต่ไม่สำคัญนัก เพราะไม่มาก

Hb A2 ซึ่งประกอบด้วยสายอัลฟ่าและเดลต้าอย่างละคู่ เขียนย่อว่า (α2δ2) ของลูกสาวคุณมี 25.7 % ซึ่งปกติคนทั่วไปจะมีกัน 1.5 - 3.5% เท่านั้นเอง ทำไมของลูกสาวเรามีมากกว่าคนอื่น ยิ่งไปกว่านั้นเขายังบอกว่ามันเป็น Hb A2(E) หมายความว่ามันเป็นฮีโมโกลบินพันธ์พิเศษที่ประกอบจากสายอัลฟาและแกมม่าชนิดไม่เหมือนชาวบ้านเรียกว่าแกมม่าชนิดอี. เขียนย่อว่า (α2βE2) เพราะยีนหรือระหัสพันธุกรรมที่คุมการสร้างสายเบต้านั้นมันกลายพันธุ์แผกจากชาวบ้านไป แต่เนื่องจากความผิดปกติของเม็ดเลือดเกิดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ได้เกิดแบบโจ๋งครึ่ม แสดงว่ามันเป็นยีนแฝง หมายความว่าได้มาจากพ่อหรือแม่ข้างหนึ่งข้างใดเพียงข้างเดียว

โดยสรุปผลการวิเคราะห์ชนิดฮีโมโกลบินบอกได้ว่าลูกสาวมียีนแฝงของโรคทาลาสซีเมียชนิดฮีโมโกลบินอี. ซึ่งไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย คนไทยที่มียีนแฝงฮีโมโกลบินอี.แบบลูกสาวคุณมีอยู่ถึง 13% นั่นเป็นผลสำรวจทั้งประเทศ ที่ศิริราชเคยสำรวจหญิงที่มาฝากครรภ์ที่นั่นพบว่ามียีนแฝงฮีโมโกลบินอี.ถึง 25% ดังนั้นไม่ต้องตื่นเต้ล..ล

ประเด็นที่สี่ แล้วทำไมจึงบอกไว้ในรายงานผลเลือดว่า “อาจมี alpha thalassemia ร่วมดัวย” หมายความว่ายังไง แค่นี้ยังไม่พออีกหรือ..

ไม่ใช่ยังงั้น คือมันยังงี้ครับ การตรวจชนิดของฮีโมโกลบินนี้มันบอกได้แต่ความผิดปกติของยีนแฝงที่คุมการสร้างสายเบต้า แต่มันบอกความผิดปกติของยีนแฝงที่คุมการสร้างสายอัลฟ่าไม่ได้ ต้องไปตรวจยีนตรงๆเลย เรียกว่าทำ PCR หรือ polymerase chain reaction จึงจะพบ ทางรพ.เขาก็เลยเขียนเอาตัวรอดไว้ก่อนว่ามีอัลฟ่าผิดปกติด้วยหรือเปล่าไม่รู้นะ ฉันไม่เกี่ยว ทำนองนั้น

ประเด็นที่ห้า ทีนี้จะทำยังไงต่อไปดี ผมแนะนำว่า

1. สำหรับลูกสาวนั้นเขายังเล็กอยู่ อย่าไปยุ่งกับเขาเลย ให้เขากินอาหารที่อุดมด้วยโปรตีน ธาตุเหล็ก วิตามินบี 1-6 - 12 และกรดโฟลิก เพื่อให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็พอแล้ว รอจนเขาโตเป็นสาวค่อยพาไปเจาะเลือดตรวจ PCR ดูว่ามียีนแฝงของโรคทาลาสซีเมียแบบอัลฟ่าร่วมด้วยหรือเปล่า ข้อมูลนี้มีประโยชน์เวลาเขาจะแต่งงาน ถ้าไปประจวบกับชายหนุ่มที่มียีนแฝงแบบเดียวกันจะได้นั่งลงทบทวนสถานะการณ์กันเสียก่อนว่าการแต่งงานนี้จะแต่งเพื่อทำลูกหรือแต่งเพื่อการอื่น ถ้าแต่งเพื่อทำลูกก็จะได้ล้มเลิกแผนการหันไปหาแฟนใหม่เสียเลยโดยไม่ผิดอาญารัก เพราะคนมียีนแฝงถ้ามาจ๊ะกับคนมียีนแฝง ไม่ว่ายีนอัลฟ่า หรือเบต้า ทั้งเบต้าธรรมดาและเบต้าอี. ก็ล้วนรับไม่ได้ เพราะหลานที่ได้จะมีโอกาสเป็นโรคทาลาสซีเมียแบบเจ๋งๆเหน่งๆไม่ใช่แบบแฝงๆ ซึ่งไม่ดีแน่นอน

2. สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ขึ้นอยู่กับว่าคิดจะมีลูกอีกหรือเปล่า ถ้าจะมีลูกอีก ผมแนะนำให้ทั้งคุณพ่อคุณแม่เกี่ยวก้อยกันไปตรวจเลือดแบบก่อนแต่งงานอีกครั้งอย่างละเอียด คือตรวจทั้งชนิดของฮีโมโกลบินและตรวจทั้งยีนทาลาสซีเมียด้วย เพราะมีโอกาสที่ลูกคนแรกอาจโชคดีที่ยีนแฝงข้างพ่อเจอยีนปกติข้างแม่ ถ้าลูกคนที่สองเป็นยีนแฝงข้างพ่อเจอยีนแฝงข้างแม่ก็จะกลายเป็นแจ๊คพอตสนั่น ดังนั้นป้องกันไว้ดีกว่าแก้ครับ อันนี้เฉพาะกรณีจะมีลูกอีกนะ แต่ถ้าปิดโรงงาน ไม่มีลูกอีกแล้ว ก็อย่าลำบากเลย อยู่เฉยๆยังงี้นะดีแล้วครับ

สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

ขอให้คุณหมออธิบายปัญหาไทรอยด์ของดิฉันอย่างละเอียด

- ปี เม.ย.2549 มีอาการใจสั่น มือสั่น เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง หมอ(1) ตรวจ THS อย่างเดียว(ไม่ทราบค่าหมอไม่ได้บอก) แต่บอกว่าเป็นไทรอยด์เป็นพิษ ให้ทานยาPROPYLและTAPAZOLE อย่างละ 1 เม็ด เช้า,เย็น
- หลังทานยา 3 เดือน ได้ตรวจกับหมอ (2) ค่า THS=0.009 T3=120 ระบุเป็นไฮเปอร์ไทรอยด์ ให้ทานยา PROPYL 1 เม็ด เช้า,กลางวัน,เย็น /PROPRANOLOL(BETALOL)1 เม็ด เช้า และ สั่งงดTAPAZOLE ที่หมอ (1) สั่งให้กิน
- และได้ทานยา PROPYL อย่างเดียว ก.ค.2549 ถึง พ.ย.2551 โดยค่อยๆลดปริมาณยาลง เป็นวันละ 2 เม็ด / 1 เม็ด /วันเว้นวัน/เลิกทานยาส่วน PROPRANOLOL(BETALOL) ทานเฉพาะเมื่อมีอาการใจสั่น ระหว่างทานยา ผลตรวจ THS เพิ่มสูงขึ้น แต่ T3 ลดลง (THS=1.8 T3=78) หมอให้เลิกทานยา
- หลังเลิกทานยา ได้ตรวจเลือดทุก 3 เดือน ค่า THS ลดลง แต่ T3 เพิ่มขึ้น (ล่าสุด 25 พ.ย. 2552 THS=0.545 T3=102.80)
คำถาม
1) อาการดังกล่าวน่าจะเป็น hyperthyroidism หรือ secondary hypothyroidism หรือ tertiary hypothyroidism หรือ อื่นๆ
2) และถ้าเป็นsecondary hypothyroidism หรือ tertiary hypothyroidism การที่หมอรักษาและจ่ายยาสำหรับการรักษา hyperthyroidism จะส่งผลเสียหรือมีผลกระทบอย่างไรบ้างคะ (ทานยา PROPYL ระยะเวลา 2 ปี 7 เดือน)
3) นัดเจาะเลือดครั้งหน้า พ.ค. 2553 ควรจะรอดีหรือไม่ หรือควรไปตรวจกับหมอที่ ร.พ.อื่น ดีคะ และต้องตรวจอะไรบ้าง ปัจจุบันมักมีอาการอ่อนเพลีย และตัวร้อนบ่อยๆ ทานยาพารา ก็ไม่ค่อยหาย อาการจะเป็นช่วงๆ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ( ร.พ.เดิม ใช้สิทธิประกันสังคม ถามอะไรหมอก็ไม่ค่อยตอบ บอกแต่ว่าก็ดีแล้วนี่ )

รู้สึกกังวลใจมาก กลัวค่าTHS จะลดลงกว่านี้อีก แล้วจะมีอาการเหมือนเดิมก่อนรักษา คุณหมอช่วยแนะนำด้วยนะคะ ขอบคุณมากๆคะ

นิรนาม


ตอบ

ผมสรุปการเจ็บป่วยของคุณดังนี้นะ

หมอคนที่หนึ่ง พบว่าคุณมีอาการเริ่มต้นคือ ใจสั่น มือสั่น เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง เจาะเลือดดู TSH (เข้าใจว่าได้ค่าต่ำกว่าปกติ) แล้ววินิจฉัยว่าคุณเป็นไฮเปอร์ไทรอยด์ จึงรักษาด้วยยา Propyl thyouracil (PTU) ควบกับยา Tapazole อย่างละ 1 เม็ด เช้า,เย็น

สามเดือนต่อมา หมอคนที่สองตรวจได้ THS=0.009 (ค่าปกติ =0.4 – 4.2) T3=120 (ค่าปกติ = 80-220) แล้ววินิจฉัยว่าไฮเปอร์ไทรอยด์ยังเป็นอยู่ เปลี่ยนยาเหลือ PTU อย่างเดียววันละสามเม็ด เลิก Tapazole และเพิ่ม Propanolol วันละเม็ด กินยาอยู่นาน สองปีสี่เดือนจนเลิกทานยา PTU ได้

ตรวจเลือดครั้งสุดท้าย 25 พ.ย. 2552 THS=0.545 T3=102.80) ตอนนี้ยังมีอาการเพลีย ตัวร้อน ต้องใช้ยาพารา

เอาละทีนี้มาตอบคำถามของคุณไปทีละข้อ

1) ถามว่า อาการดังกล่าวน่าจะเป็น hyperthyroidism หรือ secondary hypothyroidism หรือ tertiary hypothyroidism หรือ อื่นๆ ใช่หรือไม่ ขอตอบว่า ไม่ใช่ทั้งสามอย่างนั้นหรอกครับ ผลเลือดครั้งสุดท้ายเป็นภาวะปกติ ที่ทางหมอเรียกว่า euthyroid เพราะทั้งค่า TSH ก็ไม่ได้ต่ำ และค่า T3 ก็ไม่ได้ต่ำ คุณจะไปหาว่าตัวเองเป็น secondary hypothyroid ได้อย่างไร (secondary และ tertiary hypothyroid หมายถึงกรณีที่มีโรคที่สมอง ทำให้การผลิตฮอร์โมน TSH ลดลง เมื่อขาดฮอร์โมน TSH ซึ่งเป็นเจ้านายมาคอยกระตุ้น ต่อมไทรอยด์ก็พาลขี้เกียจผลิตฮอร์โมนทัยรอยด์ลดลงกว่าที่ร่างกายต้องการ)

2) ถามว่า ถ้าเป็นsecondary hypothyroidism หรือ tertiary hypothyroidism การที่หมอรักษาและจ่ายยา (PTU นาน 2 ปี 7 เดือน) จะส่งผลเสียหรือมีผลกระทบอย่างไรบ้างคะ ขอตอบว่า ก็คุณไม่ได้เป็นไฮโปไทรอยด์ไม่ว่าแบบไหนนี่ครับ มันจึงไม่มีผลกระทบอะไร ถ้าคุณเป็นไฮโปไทรอยด์จริงแล้วหมอทะลึ่งให้กิน PTU สิครับ ต้องมีผลกระทบแน่นอน คือหมอคนนั้นต้องถูกส่งเข้ารพ.สมเด็จเจ้าพระยา

3) นัดเจาะเลือดครั้งหน้า พ.ค. 2553 ควรจะรอดีหรือไม่ หรือควรไปตรวจกับหมอที่ ร.พ.อื่น ดีคะ ( ร.พ.เดิม ใช้สิทธิประกันสังคม ถามอะไรหมอก็ไม่ค่อยตอบ บอกแต่ว่าก็ดีแล้วนี่) ขอตอบว่า อันนี้แล้วแต่คุณละครับ ความเห็นของผมก็คือ (1) หมอทีมเดิมเขาก็ดูแลคุณมาถูกต้องตามหลักวิชาทุกอย่างแล้ว (2) เปลี่ยนหมอโดยไม่จำเป็นมีโอกาสที่การส่งต่อข้อมูลระหว่างหมอด้วยกันจะขาดหายไม่ครบถ้วน จึงมักต้องไปเริ่มต้นรักษากันที่สนามหลวงใหม่ ไม่ดีหรอกครับ (3) อย่าไปว่าระบบประกันสังคมกับระบบสามสิบบาทนะครับ เพราะผมมีความเห็นว่านี่เป็นระบบดูแลสุขภาพประชาชนที่ดีที่สุดในโลกแล้ว (4) การที่เราถามอะไรแล้วหมอท่านไม่ค่อยตอบนั้นผมต้องขอความเห็นใจให้เขาบ้าง เพราะถ้าหมอขยันตอบคนไข้ก็ขยันถามต่อยอด ต่อ ต่อ ต่อไปอีกไม่รู้จบ แล้วคิวที่นั่งรออยู่หน้าห้องตรวจละครับ เที่ยงนี้จะได้หยุดกินข้าวกันไหมละเนี่ย หมอก็หิวเป็นเหมือนกันนะ หมอเลยต้องชิ่งไปใช้ยุทธวิธีนิ่งเสียพันตำลึงทอง..หมดเรื่อง

4) จะต้องตรวจอะไรเพิ่มเติมบ้าง อันนี้สำคัญ ผมแนะนำดังนี้

4.1 ต้องประเมินอาการอ่อนเพลียในสามประเด็น คือ (1) เวลาพักผ่อน โดยประเมินจากแบบแผนการใช้ชีวิตของคุณเอง ว่าวันๆคุณทำอะไรบ้าง นอนวันละกี่ชั่วโมง เวลานอนพอไหม (8 ชม.ถึงจะพอ) นอนหลับสนิทหรือเปล่า ใช้ยานอนหลับไหม (2) การออกกำลังกาย คุณได้มีโอกาสออกกำลังลังกายสม่ำเสมอหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ออกกำลังกายทุกวันก็ไม่ต้องมาบ่นเรื่องเพลีย เพราะยังไงก็เพลียอยู่แล้ว เนื่องจากร่างกายจะขาดสารเอ็นดอร์ฟินซึ่งควรจะได้จากการออกกำลังกาย ทำให้อ่อนระโหยโรยแรง อันนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับไฮเปอร์ไทรอยด์หรอก (3) การจัดการความเครียด ระดับความเครียดคุณสูงไหม คุณมีวิธีจัดการความเครียดที่ดีหรือยัง ได้เปิดให้ร่างกายมี relaxation response บ้างหรือเปล่า ถ้าคุณเครียดสติแตกอยู่ทุกวันก็อย่ามาโทษไฮเปอร์ไทรอยด์ว่าทำให้เพลีย เพราะคุณทำตัวเองต่างหาก

4.2 ต้องประเมินอาการตัวร้อนให้ชัดๆ ที่ว่าตัวร้อนจนต้องกินยาพารานั้นมันเป็นของจริงหรือของปลอม เพราะความรู้สึกว่าตัวร้อนๆรุมๆ บ่อยครั้งไม่ใช่ของจริง มันเป็นอาการของโรค ป.ส.ด. (ย่อมาจาก ประ-สาท-แด๊กซ์ นะครับ ขอโทษ..ล้อเล่น) วิธีพิสูจน์มีอย่างเดียว คือไปซื้อปรอทที่ปากซอยมาเก็บไว้ที่บ้าน พอรู้สึกตัวร้อนก็อม อม อม แล้วดูด เอ๊ย..ไม่ใช่ อมแล้วบันทึกไว้ว่าวันๆมีไข้ตัวร้อนจริงหรือเปล่า ถ้ามีไข้เรื้อรังจริง (อุณหภูมิเกิน 37 องศาขึ้นไป) ค่อยเอาแผ่นบันทึกนั้นไปให้หมอดู

4.3 ต้องประเมินการเต้นของหัวใจ ในสองประเด็นคือ (1) มันเต้นยังไง เร็วไปไหม โดยจับแมะตัวเองดู ถ้าเต้นไม่เกิน 72 ครั้งต่อนาทีก็ถือว่ายังโอเค แต่ถ้าเร่งเครื่องเต้นเร็วจี๋ก็ไม่ดี (2) จังหวะการเต้นเป็นอย่างไร มันเต้นเป็นจังหวะจะโคนตุ๊บตั๊บ ตุ๊บตั๊บ ดีหรือเปล่า หรือเต้นไม่เป็นส่ำ แบบบุ่ม..บ่าดีบุม..บ้าดีบุ่ม..บุ้มบุ้ม แบบนั้นทางหมอเขาเรียกว่าเป็น AF ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของไฮเปอร์ไทรอยด์ ต้องรีบรักษา

4.4 ต้องตรวจบันทึกความดันเลือด ซึ้อเครื่องมาวัดเองก็ได้ เพราะคนเป็นไฮเปอร์ไทรอยด์มักมีความดันเลือดสูง ถ้าสูงเกิน 120/80 ก็เรียกว่าใกล้เป็นความดันสูง ถ้ามากกว่า 140/90 ก็ถือว่าเป็นความดันสูงไปแล้วเรียบร้อย ต้องรีบรักษาเช่นกัน

4.5 ต้องชั่งน้ำหนัก ว่าน้ำหนักปัจจุบันนี้มันมากไปหรือน้อยไป มันมีทิศทางเพิ่มหรือลด ถ้ามันน้อยอยู่แล้ว แถมมีทิศทางลดลงไปอีกแบบสาละวันเตี้ยลง ก็แสดงว่าไฮเปอร์ไทรอยด์ยังคุมไม่ได้

4.6 ต้องตรวจน้ำตาลในเลือด เพราะคนเป็นไฮเปอร์ไทรอยด์มักเป็นเบาหวานด้วย เพราะมันเป็นโรคพี่น้องกัน หมอรักษาไทรอยด์ถึงเป็นคนเดียวกันกับหมอรักษาเบาหวานไง..เกี่ยวกันมั้ยเนี่ย

4.7 ต้องตรวจความแน่นของกระดูกด้วย เพราะไฮเปอร์ไทรอยด์ทำให้กระดูกพรุน ถ้าพบว่ากระดูกพรุนจริงก็จะได้รักษาเสียแต่เนิ่นๆ ดีกว่ารอให้มันหัก

4.8 ถ้าคุณยังอยู่ในวัยที่คิดจะมีลูก ก็ควรต้องประเมินการเจริญพันธ์ (fertility) ว่ามีลูกยากหรือเปล่า เพราะไฮเปอร์ไทรอยด์มักทำให้มีลูกยาก ถ้ามียากแต่ก็ยังอยากมี ก็ต้องหาหมอด้านการเจริญพันธ์มาเป็นตัวช่วย

5. คุณกลัวว่าจะกลับเป็นใหม่ ขอตอบว่าไม่ต้องกลัว ให้คุณ make your heart แปลว่าทำใจเสียเถิดครับ เพราะโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ อัตราการหายขาดจากการรักษาด้วยยามีเพียง 25-30% เท่านั้น แต่ไม่ต้องวอรี่ ถ้ามันกลับเป็นจริงๆก็ยังมีก๊อกสอง คือการรักษาด้วยการกิน Radioactive iodine (I-131) ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้มากที่สุดในอเมริกา เป็นวิธีที่ปลอดภัย มีอัตราหาย 75-100% และไม่ได้ทำให้เป็นหมันหรือเป็นมะเร็งอย่างที่คนไม่รู้จริงกลัวกัน [1] แต่ว่ามีข้อเสียคือทำให้มักต้องกินฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทน (Levothyroxine sodium) ไปตลอดชีวิต


สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Singer RB. J Insur Med. 2001;33(2):138-42. Long-term comparative cancer mortality after use of radio-iodine in the treatment of hyperthyroidism, a fully reported multicenter study. J Insur Med. 2001;33(2):138-42.
[อ่านต่อ...]

ผีอำ.. ขอความช่วยเหลือจากภาวะผีอำ

คุณหมอสันต์ที่เคารพ
ผมมีปัญหาเรื่องผีอำ คือเวลานอนแล้วตื่นขึ้นมาเคลิ้มๆจะขยับตัวไม่ได้ หายใจไม่ถนัดเหมือนจะขาดใจตาย ร้องก็ไม่มีเสียงออกมา เรียกให้คนข้างๆช่วยก็ไม่ได้ เป็นแบบนี้บ่อยมาก ไปหาหมอๆก็บอกว่าผมเป็นโรคกังวล ให้ยากล่อมประสาทมากินก็ไม่หาย ขอคำแนะนำคุณหมอครับ
ประชา

ตอบ

ผีอำ มีชื่อเรียกในทางการแพทย์ว่า Isolated sleep paralysis หรือ ISP (MeSH = D020188) มีอาการที่เป็นเอกลักษณ์คือตื่นขึ้นมาพบว่าตัวเองเป็นอัมพาต รู้ตัวดี เห็นรอบๆตัวดี แต่ขยับแขนขาไม่ได้ ร้องให้คนช่วยก็ร้องไม่ออก เต็มไปด้วยความกลัว ภาพที่เห็นบางทีก็จริงบ้างหลอกบ้าง อาจจะเป็นอยู่เพียงไม่กี่วินาทีจนถึงหลายนาที

ทางการแพทย์เองก็ยังไม่ทราบกลไกการเกิดผีอำอย่างชัดเจนนัก ทราบแต่ว่าในการนอนหลับตามปกติ เมื่อหลับลงไปถึงระยะหลับฝันซึ่งจะมีการเคลื่อนไหวของลูกตาด้วย (Rapid Eye Movement หรือ REM sleep) จะมีระยะที่แขนขาถูกระงับทำให้เคลื่อนไหวไม่ได้ (REM atonia) อยู่ช่วงหนึ่ง ภาวะเช่นนี้เป็นภาวะปกติของการนอนหลับ ภาวะ REM atonia นี้จะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับการเกิดผีอำนี้อย่างไรยังพิสูจน์ไม่ได้ แต่มีความเชื่อว่าเป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกันอยู่
ผีอำเป็นได้กับทุกคน งานวิจัยกับนักศึกษาแพทย์อิหร่านพบว่า 24.1% เคยมีประสบการณ์ผีอำนี้อย่างน้อยคนละครั้งสองครั้งในชีวิต

งานวิจัยอื่นหลายรายงานสรุปได้ว่าโอกาสเกิดผีอำจะมีมากขึ้นถ้า
1. นอนหงาย
2. อดนอน
3. เข้านอนไม่เป็นเวลา
4. มีความเครียด
5. เปลี่ยนวิถีชีวิตหรือสิ่งแวดล้อมไปแบบทันทีทันใด

การรักษาผีอำประกอบด้วย (1) อธิบายให้เข้าใจธรรมชาติของ REM sleep (2) อธิบายให้เข้าใจ REM atonia ว่าเกิดขึ้นเป็นธรรมชาติของ REM sleep (3) อธิบายว่าผีอำเป็นปรากฏการณ์ปกติที่เป็นได้กับทุกคนที่มีปัจจัยร่วมทั้ง 5 ข้อข้างต้น (4) ให้ปรับนิสัยการนอน ให้นอนตะแคงแทนนอนหงาย (5) เข้านอนตรงเวลาทุกวัน (6) อย่าปล่อยตัวเองให้อดนอนเรื้อรัง (7) พักผ่อนสมองและผ่อนคลายร่างกายก่อนนอน อย่าทำงานหรือหมกมุ่นครุ่นคิดอะไรจนชนเวลานอน (8) จัดการความเครียดให้เป็นระบบ จัดระเบียบชีวิตให้ลงตัว ทำงานเท่าที่ตัวเองมีเวลาและพลังพอทำได้ อย่าพยายามทำอะไรมากเกินเวลาและเกินพลังที่ตนเองมีจนงานการคั่งค้างสะสม
การรักษาผีอำไม่ต้องใช้ยา ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดจะหายเมื่อแก้ปัญหาเรื่องอดนอนเรื้อรังได้สำเร็จ


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

เอกสารอ้างอิง

1. Solomonova, E., Neilsen, T., Stenstrom, P. Simard, V. Frantova, E., & Donderi, D. (2008). Sensed Presence as a correlate of sleep paralysis distress, social anxiety and waking state. Consciousness and Cognition 2008;17:49-63.
2. Cheyne, J. A. & Girard, T. A. (2007). Paranoid delusions and threatening hallucinations: A prospective study of hypnagogic/hypnopompic hallucinations during sleep paralysis. Consciousness and Cognition 2007;1: 959-974.
3. Girard, T. A. & Cheyne, J. A. (2006). Timing of spontaneous sleep paralysis episodes. Journal of Sleep Research, 15, 222-229.
4. Otto, M. W., Simon, N. M., Powers, M., Hinton, D., Zalta, A. K., Pollack, M. H. (2006) Rates of isolated sleep paralysis in outpatients with anxiety disorders. Journal of Anxiety Disorders, 20, 687-693.
5. McNally, R. J. & Clancy, S. A. (2005a). Sleep Paralysis in Adults reporting repressed, recovered, or continuous memories of childhood abuse. Journal of Anxiety Disorders, 19, 595-602.
6. Cheyne, J. A. (2003). Sleep paralysis and the structure of waking-nightmare hallucinations. Dreaming, 13, 163-179.
[อ่านต่อ...]

เมารถอย่างแรง จะป้องกันและรักษาทางแพทย์อย่างไร

เรียนคุณหมอสันต์ที่นับถือ
ดิฉันมีอาการเมารถง่าย เมาอย่างแรง ทรมานทุกครั้งที่เดินทาง ตอนนี้จะไปทัวรถบัสจากเขมรไปถึงเวียตนาม วิธีป้องกันและรักษาที่เพื่อนๆเขาแนะนำก็ทำหมดแล้วแต่ก็ไม่ได้ผล ขอทราบวิธีของทางแพทย์แบบที่ได้ผลจริงๆด้วยคะ
Wipapan

ตอบ

อาการเมาเกิดขึ้นกับการโดยสารยวดยานที่พาเราเคลื่อนที่ไปได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น รถ เรือ เครื่องบิน มักจะเกิดขึ้นแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เริ่มรู้สึกผะอืดผะอมไม่สบาย ไปจนถึงเหงื่อออกตัวเย็น เวียนหัว คลื่นไส้ แล้วก็อาเจียนออกมา อาการเมารถ เกิดจากขณะเคลื่อนไหวสมองเกิดความสับสนแบบประสาทหลอน (hallucination) เนื่องจากข้อมูลที่รายงานเข้ามาจากหูและตา ไม่สอดคล้องกับข้อมูลจากอวัยวะคุมการทรงตัวของร่างกาย (balancing organ) ที่อยู่ในหูชั้นใน ถ้าหยุดการเคลื่อนไหว อาการเมาก็จะค่อยๆหายไป คนที่เดินทางบ่อยๆมักจะปรับตัวเองให้คุ้นเคยกับการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นและเมาน้อยลง เทคนิคอื่นๆที่จะช่วยบรรเทาการเมารถ ได้แก่

1. นั่งแถวหน้าๆ หันหน้าไปทางหน้ารถ เพราะการนั่งหน้ารถและมองไปข้างหน้า จะทำให้ทั้งตาและหูของเรารับรู้การเคลื่อนไหวของรถไปพร้อมๆกับอวัยวะควบคุมการทรงตัวที่อยู่ในหูชั้นใน จึงมีโอกาสเมาน้อยกว่า

2. จินตนาการว่าตัวเองเป็นคนขับรถเสียเอง เพราะคนขับจะไม่เมารถ เวลารถจะเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาก็คาดการณ์ล่วงหน้า และรู้ตัวขณะที่ร่างกายต้องหมุนเลี้ยวตามรถ สมองก็จะเกาะติดสถานะการณ์ได้ชัดเจนขึ้นไม่สับสน

3. มองไปไกลๆ จับเส้นขอบฟ้าไว้เป็นครั้งคราว เพื่อให้สมองมั่นใจว่าอะไรอยู่บน อะไรอยู่ล่าง อะไรอยู่ซ้าย อยู่ขวา ขณะที่รถหรือพาหนะเคลื่อนไหววกวนไปมา ต้องหามองอะไรที่ไกลๆและนิ่งๆ และรู้ตัวว่าตัวเรากำลังเคลื่อนไหวไป ขณะที่จุดนั้นนิ่ง เพื่อให้สมองทราบสถานะและตำแหน่งของตัวเองได้ถูกต้อง

4. อย่าอ่านหนังสือหรือตั้งใจมองอะไรที่เป็นของเล็กๆและเขย่าๆหรือเคลื่อนไหวบนรถ เพราะการเคลื่อนไหวของตัวเรากับวัสดุในรถจะไม่ไปด้วยกันทำให้สมองสับสนถึงต่ำแหน่งที่แท้จริงของตัวเอง

5. ตั้งศีรษะให้ตรง ให้ศีรษะได้อยู่นิ่งๆ เวลารถเลี้ยวก็ตั้งใจรู้ตัวว่ากำลังหันไปตามการเลี้ยวของรถ อย่าให้ศีรษะไปพิงกับส่วนของของรถที่เขย่าๆไปตามแรงกระแทกและการเคลื่อนไหว ถ้าจะพิงพนักก็ให้ใช้หลังพิงโดยให้ศีรษะตั้งตรงขึ้น อย่าฟุบหน้าลง หรือเอนศีรษะไปพิงอะไรข้างๆ จะทำให้ตัวเองอยู่ในสภาพถูกจับแกว่งไกวขณะที่รถเลี้ยวไปมา

6. อย่าสูบบุหรี่ หรือนั่งใกล้คนสูบบุหรี่ เพราะแค่ควันบุหรี่อย่างเดียวโดยไม่ต้องมีการเคลื่อนไหวใดๆก็เมาได้แล้ว

7. เวลาเดินทางอย่าเห็นแก่กิน อย่ารับประทานอาหารให้อิ่มจนเต็มท้อง เพราะถ้ามีของเต็มกระเพาะ ก็มีแนวโน้มจะออกมาง่าย

8. ไม่รับประทานของที่มันหรือเลี่ยน เพราะย่อยยาก ค้างอยู่ในกระเพาะนาน อาเจียนง่าย

9. ไม่รับประทานอาหารที่มีกลิ่นแรง อันจะกระตุ้นให้ตัวเอง หรือคนข้างๆ ให้คลื่นไส้อาเจียน

10. ไม่รับประทานอาหารรสจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เผ็ดจัด เพราะเวลาอาเจียน ยิ่งถ้าพรูผ่านจมูกออกมาด้วยแล้ว จะแสบแบบไม่รู้ลืม

11. ก่อนเดินทางควรขับถ่ายให้เรียบร้อย อย่าให้ปวดถ่ายจนต้องกลั้นอุจจาระขณะเดินทาง เพราะการกลั้นอุจจาระ จะทำให้การเคลื่อนไหวของลำไส้ที่ปกติจะไล่กันเป็นลูกระนาดจากบนลงล่างถูกติดเบรคเสียกระบวนไป

12. งดดื่มแอลกอฮอล์ เพราะลำพังแอลกอฮอล์ไม่ต้องขึ้นรถก็เมาอยู่แล้ว

13. ก่อนออกเดินทางครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ให้รับประทานยาแก้เมา เช่นยาแอนตี้ฮิสตามีน ชื่อ ดรามามีน (Dramaine หรือ dimenhydrinate) หนึ่งเม็ด และพกยานี้ติดตัวไปด้วย ให้คาดหมายไว้เลยว่ายานี้อาจทำให้มีอาการง่วงได้ ถ้าจะเดินทางไกล ยาอีกตัวที่ช่วยได้คือแผ่นปาสเตอร์แปะแก้เมาชื่อ ทรานสเดิร์ม สค็อป (Transderm Scop หรือ scopalamine) โดยแปะไว้ที่หลังหูล่วงหน้าก่อนเดินทาง 2 – 3 ชั่วโมงขึ้นไป ยานี้จะมีฤทธิ์ป้องกันได้นาน 72 ชั่วโมง

14. ถ้าท้องไส้ปั่นป่วนมาก สำหรับบางคน การได้ดื่มน้ำอัดลมในปริมาณพอเหมาะ จะช่วยได้

15. เมื่อเริ่มวิงเวียน การสูดหายใจลึกๆ รับลมเย็นๆจากหน้าต่างรถ หรือใช้ผ้าเย็นเช็ดหน้าผากและหน้า ช่วยลดอาการได้

16. ถ้าเริ่มมีอาการวิงเวียน ใช้ยาดม ยาลม ยาหอม และกลิ่นพืชสมุนไพร ตามที่แต่ละคนชอบ จะช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนได้ รวมไปถึงการดมกลิ่นเปลือกส้มเขียวหวาน (บีบให้มันพ่นกลิ่นออกมา) และกลิ่นเปลือกพริกขี้หนู (เอาพริกขี้หนูหลายๆเม็ดใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อ)

17. จิตวิทยาก็สำคัญ วางฟอร์ม ตั้งสติ ไม่ยอมแพ้แก่การเมา จะช่วยได้มาก เพราะสมองรับอิทธิพลจากสัญญาณทั้งที่มาจากจิตสำนึกและจากประสาทอัตโนมัติ ควรคอยบอกตัวเองว่าอย่าเสียฟอร์มต่อหน้าคนอื่นนะ คู่สนทนาขณะเมารถต้องเป็นคนที่ดึงจิตเราให้สูงขึ้น เช่นเป็นคนให้กำลังใจ อย่าสนทนากับคนที่กำลังพ่ายแพ้แก่อาการเมาเหมือนกัน จะพากัน...อ๊วก..ก...ก

18. ในวิชากดจุดของจีนโบราณ เขาว่าจุดคุมอาการเมาอยู่ที่เหนือข้อพับด้านในของข้อมือขึ้นไปสักหนึ่งนิ้ว ลองกดปล่อยๆบริเวณนั้นดูก็ได้ เผื่อฟลุ้คได้ผล มีบางคนทำกำไรเป็นปุ่มตรงนั้นออกมาขายแก้เมาเรือ เรียกว่า sea band ในกรุงเทพมีขายที่ร้าน Planet Scuba อันนี้ผมไม่ทราบว่าได้ผลจริงหรือไม่ หรือแค่หลอกเต้ยเอาเงิน เพราะผมไม่มีความรู้หลักวิชาแพทย์แผนจีน ท่านใช้วิจารณะญาณเอาเองก็แล้วกัน

19. หากทำท่าจะแพ้ หมดแรงสู้ ให้นอนลงแล้วหลับตาเพื่อปิดการส่งสัญญาณภาพเข้าสมองเป็นการลดความสับสน ให้สมองได้รับสัญญาณจากอวัยวะคุมการทรงตัวที่อยู่ที่หูชั้นในเพียงอย่างเดียว อาการจะดีขึ้น ถ้าม่อยหลับไปจริงๆเลยได้ยิ่งดี เพราะขณะนอนหลับ สมองส่วนคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายจะปิดรับสัญญาณเข้าใดๆ ความสับสนที่สัญญาณขัดแย้งกันไม่มี อาการเมารถจึงหายไปเอง

นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

หนูเป็นไฮโปไทรอยด์ น้ำหนัก 100 กก.เครียดมาก

ตอนนี้หนูเป็น ไฮโปไทรอยด์ อยู่ เป็นมา 5 ปี แล้วคะ จากน้ำหนักไม่ถึง 60 ตอนนี้ 100 นิดแล้วคะ เครียดมาก

- หนูจะกินยาลดความอ้วนได้ไหมคะ(สมุนไพรนะคะ) แล้วมันจะลดหรือเปล่า

- มีทางไหนที่จะช่วยลดได้บ้างคะ ไม่ไหวแล้ว เครียดมาก บางทีไม่อยากจะอยู่เลยคะ
ช่วยตอบด้วยนะตะ ขอบคุณคะ
มูตู้

ตอบ

ก่อนจะไปถึงว่าจะทำยังไงกับคุณดี ผมต้องได้คำตอบจากคุณในสี่ประเด็นต่อไปนี้ก่อน ถ้าคุณซีเรียสให้เขียนมาบอกผมอีกครั้ง ทางอีเมลก็ได้

1. โรคไฮโปไทรอยด์ของคุณเป็นชนิดใด เป็นเพราะเกิดจากตัวต่อม (primary) หรือเป็นเพราะสาเหตุจากสมอง (secondary) ตัวช่วยบอกก็คือฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (TSH) ถ้าสูงก็แสดงว่าสาเหตุเกิดจากตัวต่อม ถ้าต่ำก็แสดงว่ามีเหตุจากสมอง ต้องตามไปสืบค้นในสมองเช่นตรวจ CT หรือ MRI ดูภาพสมองว่ามีเนื้องอกอะไรที่ต่อมใต้สมองหรือเปล่า เป็นต้น
2. โรคไฮโปไทรอยด์ของคุณได้รับการรักษาพอเพียงหรือยัง ที่สำคัญคือระดับฮอร์โมนกระตุ้น (TSH) กลับมาเป็นปกติหรือยัง ต้องเอาตรงนี้ให้รู้เรื่องก่อน ก่อนจะไปรักษาโรคอ้วน เพราะถ้าไฮโปไทรอยด์ยังอยู่ โรคอ้วนก็จะไม่ไปไหน
3. สมมุติว่าไฮโปไทรอยด์คุมได้แล้ว ผมก็ยังต้องการทราบอีกว่ามีภาวะโลหิตจางอยู่ด้วยหรือไม่ ผลตรวจเลือดครั้งสุดท้ายเป็นอย่างไร เพราะถ้ายังมีโลหิตจาง แสดงว่าฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด (erythropoietin) ยังต่ำอยู่ ก็แสดงว่าการเผาผลาญอาหารของร่างกายยังต่ำ ร่างกายจึงไม่ต้องการออกซิเจนมาก จึงไม่สร้างเม็ดเลือดมาก ต้องไปค้นหาสาเหตุก่อนว่าทำไมเมตาโบลิสม์จึงต่ำอยู่ มิฉะนั้นก็แก้โรคอ้วนไม่ได้
4. ผมต้องการทราบด้วยว่าคุณกินยาอะไรอยู่บ้าง เพราะยาบางตัวเช่น amiodarone และยาทางจิตเวชไปต่อต้านไทรอยด์โดยตรง ต้องขจัดเหตุพวกนี้เสียก่อนจึงจะรักษาโรคอ้วนได้ผล

เอาละ..ทีนี้สมมุติว่าปัญหาทั้งสี่ข้อแก้ไขหมดแล้ว ตรวจสมองแล้วไม่มีอะไร ไฮโปไทรอยด์ก็รักษาจนฮอร์โมน TSH กลับมาปกติแล้ว และไม่มีโลหิตจาง ไม่ได้กินยาอะไรที่ไปต่อต้านไทรอยด์ คราวนี้เราจึงค่อยมาว่าเรื่องการลดความอ้วนกัน.. ดังต่อไปนี้

ประการแรก เรื่องจะกินสมุนไพรลดความอ้วนนั้น นับถึงวันนี้ ยังไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ใดๆสนับสนุนว่าสมุนไพรตัวใดลดความอ้วนได้เป็นเนื้อเป็นหนัง ดังนั้นผมตอบคุณได้เลยว่าเลิกคิดเรื่องที่จะกินยาสมุนไพรเสีย เพราะมันไม่ช่วย

ประการที่สอง การลดความอ้วนมันเป็นเรื่องใหญ่นะคุณ สุดปัญญาที่ผมจะบอกวิธีให้ได้ครบถ้วนแบบม้วนเดียวจบ เอาแต่หัวข้อก็แล้วกันนะ มันมีหลักอยู่สามอย่าง คือ
1. การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มการเผาผลาญแคลอรี่
2. โภชนาการเพื่อลดแคลอรี่
3. ขั้นตอนของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

แต่ละหัวข้อก็เรื่องมาก.ก..ก รายละเอียดเรื่องการออกกำลังกายและโภชนาการวันหลังผมจะค่อยๆทะยอยเขียนให้อ่านในเว็บไซท์นี้ก็แล้วกัน วันนี้ขอพูดถึงแต่หัวข้อสุดท้ายที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก คือการออกกำลังกายก็ดี การปรับโภชนาการก็ดี มันเป็นการปรับวิถีชีวิตครั้งใหญ่ ทางการแพทย์มีทฤษฎีเรียกว่าขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง (Stage of Change Model) ซึ่งแบ่งระยะของการเปลี่ยนตัวเองออกเป็นหกขั้นคือ

(1) ขั้นยังไม่สนใจ (Precontemplate) มองยังไงก็ยังไม่เห็นวี่แววว่าจะเอาจริง อย่างน้อยก็ยังไม่เอาจริงใน 6 เดือนข้างหน้านี้ คนมักจะติดอยู่ที่ขั้นนี้นาน ส่วนใหญ่เป็นเพราะได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วนถ่องแท้อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะเคยลองมาแล้วไม่สำเร็จเลยไม่เชื่อว่าตนเองจะทำได้ เรียกว่ามีวิกฤติความเชื่อถือตนเอง จึงใช้วิธีหันหลังให้ ไม่สนใจ ไม่ทำ

(2) ขั้นสนใจแต่รอฤกษ์ (Contemplate) สนใจที่จะทำแล้ว แต่ยังรั้งรออยู่บ้าง ประมาณว่าในหกเดือนข้างหน้านี้คงจะได้ลงมือทำแน่

(3) ขั้นตัดสินใจทำ (Preparation) ตั้งใจเอาจริงแน่นอน วางแผนเป็นตุเป็นตะแล้ว ประมาณว่าไม่เกินหนึ่งเดือนข้างหน้าที่คงได้ลงมือทำจริง

(4) ขั้นลงมือทำ (Action) คือลงมือทำไปแล้ว แต่ยังต่อเนื่องมาได้ไม่เกินหกเดือน

(5) ขั้นทำได้ยืด (Maintenance) ทำได้แล้ว ต่อเนื่องเกิน 6 เดือน แต่ยังไม่เกิน 5 ปี ยังพยายามทำอยู่ มีความเสี่ยงจะกลับไปใช้นิสัยเดิมอยู่เหมือนกัน แต่ก็พยายามที่จะไม่กลับไป

(6) ขั้นสำเร็จแน่แล้ว (Termination) เปลี่ยนพฤติกรรมได้แน่นอนแล้ว ไม่กลับไปทำแบบเก่าอีกเด็ดขาด

เวลาจะลดความอ้วน คุณต้องไปทีละขั้น อย่าข้ามขั้น ในแต่ละขั้นตอนก็ต้องมีกระบวนการช่วยการเปลี่ยนแปลง (Process of Change) เช่น ในระยะที่ยังไม่สนใจที่จะเปลี่ยนแปลง วิธีที่ช่วยได้คือการปลูกจิตสำนึก ให้ข้อมูล ชักจูงให้เกิดอารมณ์อยากทำด้วยวิธีต่างๆ ในระยะที่สนใจแต่ยังไม่ตัดสินใจ วิธีที่ช่วยได้คือการใคร่ครวญผลต่อตนเองและต่อสังคม พอมาอยู่ในขั้นตัดสินใจทำ สิ่งที่ช่วยได้คือการมีทางเลือกให้ตัวเองหลายๆแบบจะได้เลือกทำซะสักแบบ มีแผนที่ดีชัดเจน วางเป้าหมายที่วัดได้ เช่น จะลดน้ำหนักลงจาก 100 กก. เหลือ 90 กก. ภายในวันที่ 31 ธค. 52 เป็นต้น พอมาอยู่ในขั้นลงมือทำ สิ่งที่ช่วยได้คือการกระตุ้น การบังคับ และการมีกัลยาณมิตร

บนเส้นทางนี้คุณต้องประคองตัวเองระหว่างความยืนหยัดกับสิ่งเย้ายวน ต้องมั่นคงในทิศทางที่ตั้งใจไว้แม้ในสถานะการณ์ที่สั่นคลอน ต้องต่อสู้กับสิ่งเย้ายวน ซึ่งหมายถึงความแรงของสิ่งที่มาชักจูงให้ใจอ่อนหันเหกลับไปสู่วิถีเดิมๆก่อนการเปลี่ยนแปลง การจะเปลี่ยนแปลงให้สำเร็จต้องคอยเสริมสร้างความยืนหยัดให้หนักแน่นขึ้นทุกวัน และลดทอนสิ่งเย้ายวนให้เหลือน้อยที่สุด

ระหว่างทำ แม้มีความคืบหน้าเล็กน้อย ก็อย่าลืมให้รางวัลตัวเองเสียหน่อย เช่นออกกำลังกายได้ทุกวันครบหนึ่งสัปดาห์แล้ว อย่างนี้ก็ควรได้รางวัล ประเมินและถามตัวเองเป็นระยะว่า “สำเร็จไหม?” ถ้าไม่สำเร็จ ก็ประเมินสาเหตุว่าทำไม เป้านั้นมันสูงเกินไปหรือเปล่า หรือมีอะไรมาขัดให้คุณเสียจังหวะ ประเมินแล้วก็วางแผนแก้ แล้วทำใหม่อีกหนๆๆ จนปรับวิถีชีวิตได้สำเร็จ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
................................
บรรณานุกรม
1. Prochaska JO, Velicer WF. The transtheoretical model of health behavior change. Am J Health Promot 1997 Sep-Oct;12(1):38-48.
[อ่านต่อ...]

ไม่เข้าใจผลการตรวจโรคไวรัสตับอักเสบ นี่เป็นบวกนั่นเป็นลบ

ดิฉันไม่เข้าใจผลการตรวจโรคไวรัสตับอักเสบบี. ซึ่งมีทั้งการตรวจแอนติเจน แอนติบอดี้ และแอนติบอดี้ก่อมีหลายตัว ทั้งแอนตี้บอดีต่อ surface และต่อ core ของไวรัส นี่เป็นบวก นั่นเป็นลบ ปนเปกันมั่ว ขอให้คุณหมอสันต์ช่วยอธิบายให้เข้าใจด้วยค่ะ
พาริน

ตอบ

ผมอธิบายง่ายๆนะ การต่อสู้กันระหว่างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายกับเชื้อโรคนี้มันมีสองฝ่าย คือฝ่ายภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้น เรียกว่าแอนตี้บอดี้ (Antibody) เขียนย่อว่า Ab กับฝ่ายตัวเชื้อโรคซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวบุกมาล่อเป้า หรือเป็นฝ่ายแอนติเจน (Antigen) เขียนย่อว่า Ag

สำหรับโรคตับอักเสบบีนี้ภาษาหมอ เรียกว่า Hepatitis B เขียนย่อว่า HB ทีนี้ตัวร่างกายของเชื้อไวรัสบีนี้แบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆคือส่วนเปลือก (surface) ของมัน ซึ่งเขียนย่อว่า s กับส่วนแกน (core) ของมัน ซึ่งเขียนย่อว่า c นอกจากนี้ร่างกายของไวรัสอาจมีชิ้นส่วนของยีนส่วนหนึ่งซึ่งเขียนย่อว่า e ซึ่งจะออกมาเฉพาะช่วงที่ไวรัสกำลังแอคทีฟมีการแบ่งตัวมาก
เพื่อความสั้น ทางการแพทย์นิยมเอาคำย่อมาต่อๆกัน จึงสมควรทำความคุ้นเคยกับตัวย่อในเรื่องนี้ก่อน ได้แก่

HBsAg หมายถึงเปลือกของเชื้อไวรัส
HBsAb หมายถึงภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นต่อต้านเปลือกของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี.

จากค่าแล็บทั้งสองค่านี้ก็พอจะใช้ตีความหมายการติดเชื้อโรคนี้ได้แล้ว ซึ่งมักจะเป็นแบบใดแบบหนึ่งในสี่แบบ กล่าวคือ

ถ้า HBsAg ได้ผลลบ และ HBsAb ก็ได้ผลลบ หมายความว่าไม่มีเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกาย และไม่มีภูมิคุ้มกันด้วย คือยังบริสุทธิ์ผุดผ่องไม่เคยติดเชื้อ กรณีเช่นนี้ก็ควรจะรีบๆฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี.ป้องกันเสีย เพราะคนไทยตายด้วยมะเร็งเป็นเหตุอันดับหนึ่ง และมะเร็งตับก็เป็นท็อปของมะเร็งคนไทย และ 80% ของมะเร็งตับเกิดจากไวรัสตับอักเสบบี. ดังนั้นป้องกันไว้ดีแน่

ถ้า HBsAg ได้ผลลบ แต่ HBsAb ได้ผลบวก หมายความว่า ณ ขณะนี้ว่าไม่มีเชื้อโรคอยู่ในร่างกายแล้ว แต่เรามีภูมิคุ้มกันโรคนี้อยู่ หมายความว่าอาจได้ภูมิคุ้มกันมาจากที่เคยติดเชื้อมาก่อนในอดีตแล้วร่างกายกำจัดเชื้อไปหมดแล้ว หรือเนื่องจากเคยได้รับการฉีดวัคซีนก็แล้วแต่

ถ้า HBsAg ได้ผลบวก แต่ HBsAb ได้ผลลบ อันนี้ก็คือเรามีเชื้อไวรัสอยู่ในตัว ถ้าไม่มีอาการอะไรก็หมายความว่าร่างกายเรายอมเป็นพาหะให้เชื้อโรคนี้อยู่อาศัยโดยดี เราอาจเอาเชื้อนี้ไปแพร่ให้ใครต่อใครก็ได้ กรณีเช่นนี้ก็ต้องให้คนใกล้ชิดเช่นคู่สมรสและลูกเต้าไปตรวจดูสภาวะภูมิคุ้มกัน ถ้าไม่มีภูมิก็ควรให้พวกเขาฉีดวัคซีนเสียให้หมด ส่วนตัวเราเองก็ควรไปหาหมอโรคตับ เพราะสมัยนี้มียาดีกำจัดเชื้อในคนที่เป็นพาหะได้

ถ้า HBsAg ได้ผลบวก ขณะที่ HBsAb อาจได้ผลบวกหรือลบ โดยที่มีอาการป่วยอยู่ด้วย แสดงว่าเรากำลังติดเชื้อและร่างกายก็กำลังสู้กับเชื้ออยู่ยังไม่ยุติ ก็ต้องรีบไปหาหมอโรคตับเพื่อรักษาโรคตับอักเสบโดยด่วน

นั่นเป็นภาคความรู้ปกติที่ควรรู้นะครับ ภาคพิศดารก็คือของจริงมันยังมีทั้งแอนตี้บอดี้และแอนติเจนชนิดอื่นๆนอกเหนือจาก HBsAg และ HBsAb กล่าวคือ

HBcAg หมายถึงส่วนแกนของตัวเชื้อไวรัส

HBeAg หมายถึงชิ้นส่วนของยีนของไวรัสซึ่งมักตรวจพบในร่างกายในช่วงที่ไวรัสกำลังแบ่งตัว แสดงว่าโรคกำลังเป็นขาขึ้นหรือแอคทีฟอยู่

HBV-DNA หมายถึงตัวดีเอ็นเอ.หรือยีนต้นกำเนิดของไวรัสบี.เลย ซึ่งถ้าตรวจพบก็เป็นตัวบอกที่แน่นอนที่สุดว่าไวรัสกำลังแบ่งตัวอาละวาดอยู่

HBcAb หมายถึงภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นต่อต้านส่วนแกนของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี. ถ้าตรวจพบก็หมายความว่าเราเคยติดเชื้อ คือตัวเชื้อจริงๆมา (ไม่ใช่วัคซีน เพราะวัคซีนคือตัวเปลือกไวรัส) และร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไว้แล้ว ซึ่งแอนตี้บอดี้ชนิดนี้แบ่งออกได้เป็นสองแบบ (subtype) คือ IgM กับ IgG หากเป็นแบบ IgM จะบ่งบอกถึงการติดเชื้อเฉียบพลัน แต่หากเป็นแบบ IgG จะบ่งบอกถึงการติดเชื้อระยะเรื้อรัง

HBeAb หมายถึงภูมิคุ้มกันต่อชิ้นส่วน e ของยีนไวรัส ซึ่งหากตรวจพบก็บ่งบอกว่าโรคได้ผ่านระยะที่ไวรัสแบ่งตัวไปแล้ว เข้าสู่ระยะกำจัดเชื้อไวรัสได้เด็ดขาดแล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Blumberg BS. Australia antigen and the biology of hepatitis B. Science. Jul 1 1977;197(4298):17-25.
1. Norder H, Courouce AM, Magnius LO. Complete genomes, phylogenetic relatedness, and structural proteins of six strains of the hepatitis B virus, four of which represent two new genotypes. Virology. Feb 1994;198(2):489-503.
2. Keeffe EB, Dieterich DT, Han SH, et al. A treatment algorithm for the management of chronic hepatitis B virus infection in the United States: an update. Clin Gastroenterol Hepatol. Aug 2006;4(8):936-62.
3. Lok AS, McMahon BJ. AASLD Practice Guidelines: Chronic hepatitis B. Hepatology. Feb 2007;45(2):507-39.
[อ่านต่อ...]