28 กุมภาพันธ์ 2559

เจ้านกปี๊บ วาเลนไทน์ 2537

     วันนี้ของดตอบคำถามอีกหนึ่งวัน เพราะกำลังสาละวนเตรียมตัวที่จะไปบรรยายในการประชุมผู้บริหารบริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่ง ซึ่งเขานัดหมายมาประชุมกันที่เมืองเสียมเรียบ ผมตอบรับไปบรรยายให้ด้วยจิตใจแบบงกนิดๆ เพราะตัวเองยังไม่เคยเห็นนครวัด จึงกะถือโอกาสนี้พาลูกเมียไปเที่ยวนครวัดเสียเลย เผอิญขณะค้นหาสไลด์เก่าเพื่อเตรียมการสอนก็ไปพบเอาไฟล์ดึกดำบรรพ์ที่ผมเขียนเล่าเหตุการณ์เล็กๆในครอบครัวไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2537 คือยี่สิบกว่าปีมาแล้ว เขียนในวันวาเลนไทน์เสียด้วย เขียนแล้วและลืมไปแล้วว่าเก็บไว้ที่ไหนแล้ววันนี้กลับมาพบโดยบังเอิญ แม้จะเลยวันวาเลนไทน์มาแล้วสองสัปดาห์ แต่คิดว่าพอจะเอามาให้ท่่านผู้อ่านแก้เหงาไปพลางในขณะที่ผมเดินทางไปต่างประเทศหลายวันได้

...........................................................................

14 กุมภาพันธ์ 2537

     1. ความนำ

ด.ช.พอ อายุ 10 ขวบ เป็นนักเรียนชั้นประถมปีที่ 5 ของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บ้านของพออยู่ที่หมู่บ้านเมืองทองธานี ที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นบ้านสี่เหลี่ยมสองชั้นขนาดเล็ก ในบ้านอยู่กันสี่คน คือคุณพ่อ ซึ่งเป็นหมอผ่าตัดหัวใจทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลราชวิถี คุณแม่ซึ่งเป็นหมอเด็กอยู่ที่โรงพยาบาลเด็ก และ “พี่น้อย” ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งแม่ครัว ผู้ดูแลบ้าน และเป็นพี่เลี้ยงของพอมาตั้งแต่พอยังเป็นเด็กอนุบาล แล้วก็ตัวพอเอง

หน้าบ้านของพอมีสนามหญ้าเล็กๆขนาดสักครึ่งหนึ่งของห้องเรียน รอบสนามเป็นต้นปีบสูงใหญ่สองต้น นอกรั้วหน้าบ้านเป็นต้นประดู่และต้นตะแบกสูงใหญ่เช่นกัน ทำให้หน้าบ้านร่มรื่น มีนกมาเกาะและส่งเสียงร้องระเบ็งเซ็งแซ่เป็นประจำ พอใช้ลานหน้าบ้านเป็นที่ตั้งของบ้านเด็กเล่นชื่อ “บ้านแสงอาทิตย์” ซึ่งคุณพ่อสร้างขึ้นจากไม้ลังและมีแผงโซล่าเซลที่หลังคาไว้ให้ความสว่างในตัวบ้าน ตัวบ้านมีขนาดพอที่คุณพอกับเพื่อนอีกหนึ่งคนจะมุดเข้าไปนั่งเล่นในนั้นได้

     ข้างหลังบ้านเป็นที่ว่างขนาดเล็กประมาณสักสามคูณห้าเมตร มีกอหมากเขียวแน่นขนัดและสูงชนชายคาชั้นล่างของบ้าน พื้นที่หลังบ้านนี้พี่น้อยผูกขาดเอาเป็นที่ซักผ้าและทำอาหารแบบไทยที่มีควันโขมง  เวลาทำงานพี่น้อยจะร้องเพลงไทยบ้างเพลงอิสานบ้างเสียงดังลั่น ไม่มีใครเข้าไปยุ่งกับพื้นที่หลังบ้านของพี่น้อยมากนัก

     แม้ว่าบ้านของพอจะอยู่ในเขตจังหวัดนนทบุรี แต่วิถีชีวิตก็เป็นแบบเดียวกับคนกรุงเทพฯทั้งหลาย คือต้องตื่นแต่เช้าตีห้าครึ่ง เพื่อที่จะได้ออกจากบ้านพร้อมกันตอนหกโมงเช้า เพราะคุณพ่อต้องขับรถไปส่งพอไปโรงเรียนก่อน แล้วขับรถต่อไปให้ถึงที่ทำงานซึ่งอยู่ที่ข้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิให้ทันก่อนรถติด โชคดีที่ที่ทำงานของคุณแม่อยู่ใกล้กับของคุณพ่อเพียงแค่เดินถึง คุณแม่จึงอาศัยรถไปกับคุณพ่อได้ทุกวัน

     ทุกเย็นคุณพ่อจะขับรถกลับมารับพอที่โรงเรียน วันไหนโชคดีที่คุณพ่อไม่มีการผ่าตัดหัวใจยืดเยื้อที่โรงพยาบาล พอก็จะได้กลับถึงบ้านเร็วก่อนตะวันตกดิน แต่ส่วนใหญ่คุณพ่อมักจะต้องอยู่ที่โรงพยาบาลถึงเย็น ทำผ่าตัดบ้าง สอนนักศึกษาแพทย์บ้าง กว่าจะมารับพอกลับถึงบ้านได้ก็มักจะเป็นเวลาเกินหนึ่งทุ่มไปแล้ว

     2. หล่นจากฟ้ามาเป็นอาหารของมด

เย็นวันหนึ่งพอกลับมาถึงบ้านเร็วยังไม่ทันมืด ขณะที่กำลังทำการบ้านอยู่ก็ได้ยินเสียงพี่น้อยร้องเอะอะเรียกให้คุณพ่อไปช่วย จับความได้ว่ามีลูกนกหล่นมาจากไหนก็ไม่รู้อยู่ที่บนพื้นดินหลังบ้าน พอตามไปดูด้วย เห็นคุณพ่อหยิบลูกนกขึ้นมาวางบนฝ่ามือ

     ตัวมันมีมดไต่อยู่เต็มไปหมด คุณพ่อค่อยๆเป่าไล่มดออกจากตัวลูกนกจนหมด มันมีแต่หนัง แทบไม่มีขนเลย ถ้าขดให้เป็นก้อนกลมก็คงมีขนาดเล็กกว่าลูกปิงปอง มันนอนอยู่บนฝ่ามือของคุณพ่อ หายใจรวยริน อ้าปากพะงาบๆ แต่ไม่มีเสียงออกมา ภาพของเจ้านกน้อยที่น่าสงสารทำให้พอรู้สึกกลัวนิดๆ ไม่กล้ามองตรงๆ

     “ไม่รู้นกอะไร อาจจะเป็นนกเขา” 

     คุณพ่อว่าขณะเพ่งดู

     “จะรอดมั้ยเนี่ย” 

     พี่น้อยพูดขณะเอาเมือเท้าสะเอวเอียงคอมองลูกนกพลางส่ายหัวไปมา

     “มันก็ต้องลุ้นดู ของอย่างนี้มันบ่อแน่” 

     คุณพ่อพูดปนคำอิสานกับพี่น้อย

     ถึงตอนนี้คุณแม่เข้ามาสมทบด้วย เราทั้งสี่คนช่วยกันมองหารังของมันเพื่อจะได้ส่งกลับไปให้แม่ของมันดูแลต่อ และสำรวจไปรอบๆหลังบ้านแล้วก็มองไม่เห็นว่ารังของมันอยู่ที่ไหน และมันมานอนให้มดตอมอยู่ที่นี่ได้อย่างไร คุณพ่อจึงพูดขึ้นว่า

     “ดูท่าเราคงจะต้องช่วยเลี้ยงมันเสียแล้วละ” 

      3. โภชนาการและที่พักอาศัย

สิ่งแรกก็คือต้องหาอะไรให้มันกินก่อน ตอนนี้มันนอนหายใจแขม่ว ไม่ยอมอ้าปาก คุณพ่อเอาหลอดดูดของนมกล่องตราวัวแดงจุ่มลงไปในกล่องนมแล้วเอานิ้วอุดอีกปลายหนึ่งไว้ ใช้อีกมือหนึ่งจับเจ้าลูกนกเงยหน้าและใช้นิ้วบังคับให้มันอ้าปากออก แล้วหยอดนมลงไป

     “แม่ครับ นมวัวมันจะเลี้ยงนกได้หรือ” 

     พอถามคุณแม่ด้วยความไม่แน่ใจ คุณพ่อได้ยินเข้าจึงตอบแทนว่า

     “อาหารโปรตีนสำหรับสัตว์ทุกชนิดเมื่อย่อยลงไปแล้วก็จะกลายเป็นกรดอามิโนเหมือนกันนั่นแหละ เหมือนเวลาเราทุบตึกทุกหลังก็จะเจอก้อนอิฐเหมือนกันหมด นมนี่เป็นอาหารที่มีกรดอามิโนที่จำเป็นครบถ้วนนะ  ลูกสัตว์ชนิดไหนก็กินได้”

     ขั้นตอนต่อไปก็คือการสร้างที่ให้มันอยู่ กล่องกระดาษสำหรับใส่รองเท้าของคุณแม่ถูกเลือกมาทำเป็นรังนก คุณพ่อเอากรรไกรตัดกระดาษออกเป็นฝอยเล็กๆยาวๆคลายเส้นก๋วยเตี๋ยวจำนวนมาก แล้วขยุ้มใส่เข้าไปในกล่องกระดาษแทนหญ้าผสมกิ่งไม้แบบที่นกใช้ทำรังตามธรรมชาติ แล้วจับเจ้าลูกนกวางไว้ในรังหญ้าเทียมนั้น มันนอนนิ่งแทบไม่ไหวติง ไม่ออกอาการใดๆกับบ้านใหม่ที่เราสร้างให้

     คุณพ่อเอาโคมไฟสำหรับอ่านหนังสือซึ่งเป็นหลอดกลมขนาด 60 แรงเทียนมาเปิดส่องให้ลูกนก

     “เราจะเปิดไฟไว้ทั้งคืนเลยหรือครับ มันจะหลับได้อย่างไร” 

     พอถาม คุณพ่อตอบว่า

     “ไฟนี่ไม่ได้มีไว้ให้แสงสว่าง แต่มีไว้กกให้ความอบอุ่น เพราะลูกนกไม่มีขน ถ้าไม่มีไฟช่วยกกมันจะทนหนาวไม่ได้”

     “พ่อรู้ได้อย่างไรละครับ ว่าลูกนกจะสบายถ้าใช้หลอดไฟฟ้ากก” 

     พอยังไม่แน่ใจ

     “สมัยเป็นเด็กวัยรุ่น พ่อเคยเลี้ยงลูกไก่นะ เลี้ยงตั้งแต่เป็นลูกเจี๊ยบออกจากไข่มาเลย พ่อก็เลยเอาวิธีกกลูกไก่มาประยุกต์”  คุณพ่อตอบ

     พอเอามือไปอังใต้หลอดไฟ รู้สึกว่ามันออกจะร้อนทีเดียว จึงถามคุณพ่อว่า

     “แล้วจะรู้ได้อย่างไรละครับว่ามันร้อนเกินไปหรือเปล่า”

     “ถ้าเป็นลูกไก่เราดูการจับกลุ่มของทั้งฝูง คือถ้ามันร้อนมันจะกระจายไปอยู่ไกลแสงมากที่สุด ถ้ามันหนาวมันจะนอนสุมกันอยู่ใกล้หลอดไฟ แต่ถ้าเป็นนกตัวเดียวอย่างนี้ เราก็คงต้องสังเกตดูอาการของมัน ถ้ามันร้อนมันก็จะกางปีกอ้าปากหายใจเหมือนหมาหอบแดด ถ้ามันหนาวมันก็จะขดกลมนิ่ง”  คุณพ่ออธิบาย

     เย็นวันรุ่งขึ้นเมื่อกลับจากโรงเรียน คุณพอไม่กล้าเข้าไปดูเจ้าลูกนกด้วยตนเองเพราะกลัวจะเห็นมันตาย อยู่ที่รัง ได้แต่รอฟังข่าวจากพี่น้อยว่ามันตายหรือยัง เมื่อได้ยินพี่น้อยบอกคุณพ่อว่า

     “หมอต้องป้อนนมนกด้วยนะ หนูทำไม่เป็น”

     พอจึงรู้ว่าลูกนกยังไม่ตาย จึงค่อยๆย่องไปดู

      มันนอนอยู่กลางกล่องรองเท้า พยายามโงหัวอันใหญ่โตของมันขึ้นแล้วอ้าปากกว้าง แต่ไม่มีเสียงอะไรออกมา ดูท่าทางมันจะมีการเคลื่อนไหวมากกว่าเมื่อวานนี้

     คุณพ่อป้อนนมมันอีกอย่างเคย

     “เราจะเลี้ยงนกด้วยนมไปจนมันโตเลยหรือพ่อ มันไม่ใช่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนะ”  พอตั้งคำถาม

     “เป็นคำถามที่ดี ถ้าเป้าหมายของเราคือเลี้ยงเพื่อให้มันไปมีชีวิตของมันเองได้ เราก็ต้องหัดให้มันกินอาหารที่มันหากินได้เองตามธรรมชาติ แล้วตามธรรมชาตินกมันกินอะไรละ” คุณพ่อย้อนถาม

     “ตัวหนอน เมล็ดพืช ผลไม้” พอตอบ

     “โอเค. เราจะเริ่มอาหารเลียนแบบธรรมชาติ ตัวหนอนก็เอาหมูหยองมาทำให้เปียกน้ำเสียหน่อยก็น่าจะใช้ได้แล้ว เป็นโปรตีนเหมือนกัน รูปร่างคล้ายๆกันด้วย ส่วนเมล็ดพืชก็เอาข้าวซ้อมมือที่เรากินอยู่ทุกวันนี่แหละ” 

     คุณพ่อไม่ได้พูดเปล่า แต่ไปเปิดกระป๋องหมูหยอง หยิบเอาหมูหยองมาแช่น้ำ แล้วปั้นเป็นรูปตัวหนอน จับเจ้าลูกนกอ้าปากแล้วหย่อนตัวหนอนปลอมลงไป มันกลืนลงคออย่างรวดเร็วจนพอหัวเราะ

     4. ความแข็งแรงของปีก

เย็นวันที่สามพอรอฟังข่าวนกจากพี่น้อยเช่นเคย พี่น้อยก็เหมือนจะรู้ใจ รีบรายงานให้คุณพอฟังว่าวันนี้เจ้าลูกนกส่งเสียงร้องเพราะมันคงจะหิว พี่น้อยก็เลยมั่วๆเอาข้าวป้อนมันไปแบบได้กินบ้าง ไม่ได้กินบ้าง พอคุณพ่อว่างงานก็จึงมาป้อนตัวหนอนเทียมที่ทำจากหมูหยองให้มันไปอีกหลายตัวจนไม่น่าเชื่อว่าลูกนกตัวเล็กขนาดนั้นจะกินเข้าไปได้อย่างไร

วันต่อๆมาก็กลายเป็นกิจวัตร เมื่อลงจากรถเข้าบ้าน สิ่งแรกที่พอทำก็คือวิ่งตรงไปยังรังของลูกนก มันเริ่มมีขนสีเทาคลุมไปทั่วตัว โดยเฉพาะตรงปีกรู้สึกว่าจะมีขนเหมือนนกจริงๆขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ดูน่าเป็นห่วงว่ามันดูเหมือนจะนอนจมกองอุจจาระและปัสสาวะของตัวเอง

“เป็นเพราะกระดาษดูดซับความชื้นสู้หญ้าแห้งที่นกใช้ทำรังตามธรรมชาติไม่ได้” 

     คุณพ่ออธิบาย และไปเอาหญ้าแห้งที่นอกรั้วบ้านมาทำที่นอนให้มันแทนกระดาษ ดูมันจะอยู่แบบสุขสบายขึ้น

     หลายวันต่อมาคุณพ่อเจาะรูที่ผนังสองด้านของกล่องรองเท้าแล้วเอากิ่งไม้เล็กๆเท่าครึ่งหนึ่งของดินสอเสียบทะสุรูทั้งสอง

     “นี่เป็นคานที่มันจะใช้นอนได้ โดยวิธีนี้ปัญหาการนอนแช่อึก็จะหมดไป” 

     คุณพ่อบอกพลางเอามือจับเจ้าลูกนกขึ้นอยู่บนคาน คุณพ่อต้องเอานิ้วมือช่วยกางนิ้วของเจ้าลูกนกออกเพื่อให้มันเกาะคานได้ เวลาจะเอามันออกจากคานมากินอาหารก็ต้องเอานิ้วมือแกะนิ้วของมันออกจากคาน เพราะมันยังขึ้นและลงคานเองไม่เป็น

      นับวันมันยิ่งจะส่งเสียงร้องดังขึ้น เวลาหิวมันจะร้อง

     “ปี๊บ..ปี๊บ..ปี๊บ”

     คุณแม่จึงตั้งชื่อให้มันว่า “เจ้าปี๊บ” ซึ่งกลายเป็นชื่อที่ทุกคนใช้เรียกมันตั้งแต่นั้นมา

     ประมาณสามสัปดาห์ผ่านไป ตัวของเจ้าปี๊บโตขึ้นเกือบเท่ากำปั้นของพอได้ มีขนขึ้นคลุมรอบตัว มีปีกที่ดูเกือบจะสมบูรณ์ แต่มันดูไม่ค่อยมีชีวิตชีวา วันๆเอาแต่นั่งจุมปุ๊กอยู่บนคาน

     “มันต้องเริ่มออกกำลังกายเพื่อเตรียมปีก” คุณพ่อบอก

     ทุกเย็นหลังเลิกงาน คุณพ่อจะพาเจ้าปี๊บออกกำลังกายปีก เริ่มต้นด้วยการให้มันอยู่บนฝ่ามือ ชูฝ่ามือให้สูง แล้วเคลื่อนไหวฝ่ามือลงอย่างรวดเร็ว เจ้าปี๊บจะกางปีกออกเพื่อประคองตัวเองโดยสัญชาติญาณจนมือของคุณพ่อหยุดเคลื่อนไหวมันจึงจะหุบปีก ต่อมาคุณพ่อจับมันเกาะอยู่บนกิ่งเล็กของต้นปีบ สูงจากพื้นประมาณครึ่งเมตร แล้วโยกกิ่งปีบขึ้นลงแรงๆ เจ้าปี๊บถูกบังคับให้กางปีกและขยับขึ้นลงเพื่อประคองตัวเอง แต่ก็มีอยู่ครั้งหนึ่งมันพลัดตกหัวทิ่มลงบนพื้นสนามหญ้าแบบไม่เป็นท่า

     5. บทเรียนที่แสนสาหัส

หลายสัปดาห์ต่อมา เย็นวันหนึ่งคุณพ่อบอกว่าถึงเวลาที่เจ้าปี๊บจะต้องเริ่มหัดบิน พอรู้สึกอดเป็นกังวลแทนมันไม่ได้ และตามไปเชียร์การหัดบินครั้งแรกของมันที่สนามหน้าบ้าน

คุณพ่อยืนอยู่กลางสนามหน้าบ้าน วางเจ้าปี๊บไว้บนฝ่ามือ ชูมือขึ้นสูงเหนือศีรษะ แล้วปล่อยมือทิ้งให้เจ้าปี๊บอยู่กลางอากาศตามลำพังอย่างรวดเร็ว มันตกใจแต่ก็ขยับปีกบินได้อย่างสง่างาม บินเฉียงไปได้ประมาณสามเมตรก็เกือบลงถึงพื้น น่าภูมิใจแทนเจ้าปี๊บที่มันรู้วิธีบิน แต่เสียดายที่มันไม่รู้วิธีลงจอด มันบินจนตัวเองชนพื้นสนามหญ้า แล้วร่างของมันทั้งร่างก็ถูกแรงเฉื่อยจากการบินพาครูดไปบนสนามหญ้า ตัวเจ้าปี๊บเองหลับตาปี๋ พอดูแล้วต้องเบือนหน้าหนีด้วยความสงสาร

“นี่แสดงว่าแลนดิ้งเป็นเรื่องสำคัญกว่าการบิน” 

     คุณพ่อสรุปจากการฝึกบินวันแรก

     “พ่อครับ เจ้าปี๊บมันคงยังไม่อยากบิน ทำไมเราต้องไปบังคับมันด้วยละครับ มันอยู่กับเราก็สุขสบายดีแล้ว” 

     คุณพ่อตอบว่า

     “เราเลี้ยงเขาเพราะเราต้องการให้เขาไปมีชีวิตข้างหน้าที่ดี เรารู้ว่าสำหรับนก ชีวิตที่บินไปบนท้องฟ้า ไปทุกหนทุกแห่งได้ดังใจต้องการ เป็นชีวิตที่ดีกว่าเดินไปเดินมาอยู่ในบ้านคน เพื่อไปสู่จุดนั้นมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เขาต้องทนฟันฝ่าความลำบาก และเราต้องทนทำเป็นใจร้ายกับเขานิดๆ”

     “พอไม่ชอบเห็นนกเจ็บครับพ่อ”  พอพูดเสียงอ่อยๆ คุณพ่อตอบว่า

“พ่อก็รู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน แต่ว่าในฐานะผู้เลี้ยงดูเขา เราต้องเลือกทางเดินสองทาง หนึ่งคือเลี้ยงดูเขาเพื่อให้ตัวเรารู้สึกสุขใจสบายใจ หรือสอง คือเลี้ยงดูเขาเพื่อให้เขาไปมีชีวิตที่ดีของเขาเองในวันข้างหน้า แล้วยูว่าเราควรจะเลือกทางไหนละ”

     พอนิ่งเฉย ไม่ยอมตอบ

     วันต่อมาคุณพ่อฝึกเจ้าปี๊บใหม่โดยเน้นการลงจด เริ่มต้นโดยปล่อยมันที่ระดับสูงกว่าพื้นเล็กน้อยให้มันรู้วิธีประคองตัวลงจอดบนพื้น แล้วปล่อยมันที่ระดับสูงขึ้นๆ จนมันลงจอดบนพื้นได้ด้วยความมั่นใจ
แต่การลงจอดบนพื้นก็ยังไม่ยากเท่าการลงจอดบนกิ่งไม้ หลังจากจอดบนพื้นสนามได้แล้ว คุณพ่อปล่อยเจ้าปี๊บให้จอดบนกิ่งไม้ ปรากฏว่ามันบินพับๆพาร่างฟาดเข้ากับกิ่งไม้แล้วหล่นลงบนพื้นแบบหมดท่า แต่เมื่อทำซ้ำไปหลายๆหน มันก็เริ่มรู้วิธีบินประคองตนเองอยู่กลางอากาศเพื่อรอจังหวะจับกิ่งไม้ให้ได้ก่อนที่จะหุบปีก และเมื่อมันทำเป็นแล้ว แม้คุณพ่อจะโยกกิ่งไม้หนีมันก็ยังลงจอดบนกิ่งไม้ด้วยตัวมันเองจนได้

     6. เรียนการจิกเมล็ดข้าว

บทเรียนที่ไม่สามารถสอนเจ้าปี๊บได้เลยก็คือการสอนให้จิกอาหารเอง เพราะแม้จะโตจนบินได้เองอย่างแข็งแรงแล้ว แต่มันก็ยังจิกอาหารเองไม่เป็น ต้องป้อนกันทุกวัน พี่น้อยพยายามเอาเม็ดข้าวมาวางบนพื้นแล้วชี้ให้มันดูแล้วพูดว่า

“กุ๊ก..กุ๊ก..กุ๊ก”

เพื่อให้มันจิกเม็ดข้าว แต่ก็ไม่ได้ผล

กลางคืนวันหนึ่ง เมื่อพาเจ้าปี๊บเข้านอนบนคานในบ้านกล่องรองเท้าของมันแล้ว คุณพ่อทำงานอยู่กับคอมพิวเตอร์ที่ด้านหน้าบ้านซึ่งห่างจากรังของเจ้าปี๊บที่อยู่ในห้องครัวแพนทรีประมาณ 7 เมตร พอทำการบ้านอยู่ใกล้ๆ คุณแม่ดูโทรทัศน์อยู่ที่โซฟาชุดรับแขก แล้วทุกคนก็ประหลาดใจเมื่อเห็นเจ้าปี๊บบินจากห้องครัวแพนทรีมาเกาะที่หัวไหล่คุณพ่อ มันจับอยู่ตรงนั้นครู่ใหญ่พลางจ้องมองดูนิ้วคุณพ่อที่พิมพ์ลงไปบนแป้นคีย์บอร์ด แล้วมันก็บินลงไปบนแป้นคีย์บอร์ด ใช้ปากไล่จิกไปตามตัวอักษร ก. ไก่ ข. ไข่ เลียนแบบนิ้วคุณพ่อ ยิ่งคุณพ่อพิมพ์เร็ว มันก็ยิ่งรีบจิกแป้นอักษรโน้น แล้วไปจิกแป้นอักษรนี้ มันเรียนรู้วิธีจิกอาหารเข้าแล้ว โดยการเลียนแบบนิ้วที่พิมพ์ลงไปบนแป้นคีย์บอร์ด

นับตั้งแต่นั้นมาเราก็ไม่ต้องป้อนอาหารเจ้าปี๊บอีกเลย มันสามารถจิกเมล็ดข้าวที่โปรยบนพื้น มันจิกเม็ดกรวดบนพื้นสนาม และจิกกินอาหารที่ใส่ไว้ในจานได้เอง

     7. ความกลัวโลกกว้าง

วันหนึ่ง คุณพ่อบอกว่าเจ้าปี๊บโตพอที่จะออกไปเผชิญชีวิตของตนเองได้แล้ว คุณพ่อไปซื้อกรงนกที่สวนจตุรจักรมาอันหนึ่ง เอาแขวนไว้นอกบ้าน ให้เจ้าปี๊บอยู่ข้างในกรงกลางวันคุณพ่อเปิดประตูกรงไว้ และให้พี่น้อยคอยดูแลไม่ให้เจ้าแมวเหมียวของเพื่อนบ้านซึ่งชอบมาป้วนเปี้ยนแถวนั้นมาทำอันตรายเจ้าปี๊บ ส่วนกลางคืนก็ปิดประตูกรงเพื่อความปลอดภัย คุณพ่อบอกว่าจะทำเช่นนี้จนกว่าเจ้าปี๊บจะออกโบยบินไปมีชีวิตของตัวเอง

แต่ปรากฏว่าเจ้าปี๊บกลัว มันเกาะคอนจ๋องอยู่ในกรงทั้งวันไม่กล้าออกไปไหน จนตกเย็นเมื่อคุณพ่อกลับจากทำงานมันจึงออกมาเกาะไหล่ และบินไปบินมาในบ้านอย่างร่าเริงและคุ้นเคย เป็นเช่นนี้อยู่หลายวัน พอบอกคุณพ่อว่า

“พ่อครับ เจ้าปี๊บมันกลัวนอกบ้าน เราให้มันอยู่กับเราในบ้านนี้ก็ดีอยู่แล้วนี่ครับ จะไปบังคับให้มันออกไปทำไม” คุณพ่อตอบว่า

     “มองอีกแง่หนึ่งสิลูก เรากำลังให้โอกาสเจ้าปี๊บในการออกไปสู่โลกกว้าง เขาจะหยิบฉวยโอกาสนั้นหรือไม่ หรือเลือกจะอยู่กับเราตลอดไป พ่อไม่รู้ แต่เรารักเขา เรารู้ว่าชีวิตอิสระที่ในโลกกว้างข้างนอกนั้นดีกว่า เราจึงพยายามให้โอกาสเขา เราจะให้เวลาเขาตัดสินใจนานเท่าที่เขาต้องการ”

เย็นวันหนึ่ง ขณะที่เจ้าปี๊บกำลังอยู่ในกรง มีนกเสรีอีกตัวหนึ่ง เป็นนกชนิดเดียวกับเจ้าปี๊บ ตัวขนาดเท่าผลมะม่วง ขนสีดำสลับน้ำตาล ร้องเสียงปี๊บ..ปี๊บ..ปี๊บ เหมือนกัน มันเกาะอยู่ที่ยอดกิ่งปีบ แล้วส่งเสียงร้อง ปี๊บ..ปี๊บ..ปี๊บ ขณะที่เจ้าปี๊บซึ่งอยู่ในกรงก็ส่งเสียงร้องตอบ ปี๊บ..ปี๊บ..ปี๊บ

     8. ความพลัดพรากที่รับไม่ได้

เย็นของอีกวันหนึ่ง เช่นเคย ทันทีที่ลงจากรถ คุณพอรุดไปยังกรงของเจ้าปี๊บเพื่อส่งเสียงทักทาย แต่ปรากฏว่าเจ้าปี๊บไม่ได้อยู่ในกรงเสียแล้ว

“พี่น้อยครับ เจ้าปี๊บอยู่กับพี่น้อยหรือเปล่า” พอถาม

     “เปล่า เจ้าปี๊บมันบินไปแล้ว” พี่น้อยตอบ

พอถึงกับร้องไห้โฮ..โฮ

คุณแม่เข้ามาลูบหลังปลอบพอว่า

     “เราช่วยชีวิตเขาไว้ เลี้ยงเขามา จนเขาไปใช้ชีวิตของเขาเองได้ เราก็ควรภูมิใจแล้ว จะหวังให้เขาอยู่กับเราไปตลอดนั้น ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขาอย่างแน่นอน”

คุณพ่อก็ช่วยพูดช่วยอธิบายว่า

“ชีวิตคนเรา เมื่อมีพบแล้วก็ต้องมีจากอย่างนี้แหละ จากกันด้วยดี จากไปเพื่อมีความสุข ถือเป็นการจากที่ดีนะลูก”

พอตอบทั้งๆที่ยังร้องไห้น้ำตานองหน้าว่า

“พอรู้ ว่าเขาจะต้องไป แต่ก่อนจากกันมันน่าจะมีเวลาได้ล่ำลากันบ้าง อีกอย่างหนึ่ง เจ้าปี๊บไม่เคยกับชีวิตข้างนอก เราไม่เคยสอนชีวิตข้างนอกให้มัน มันจะเอาตัวรอดได้อย่างไร”

คุณพ่อกับคุณแม่ได้แต่มองหน้ากัน ไม่รู้จะพูดว่าอย่างไรดี

     9. กลับมาสวัสดี

เช้าวันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุด คุณพอตื่นสายได้ แต่ก็ต้องเตรียมตัวออกจากบ้านเพื่อไปเรียนภาษาอังกฤษกับเพื่อนฝรั่งของคุณแม่ชื่อโรสแมรี่ ที่อยู่คนละฟากของหมู่บ้าน ขณะที่พอกำลังนั่งผูกเชือกรองเท้า ก็ได้ยินเสียง

     “ปี๊บ..ปี๊บ..ปี๊บ”

     พอเงยหน้ามองหาที่ยอดต้นปีบ ต้นประดู่ ต้นตะแบบ ไม่ใช่..เสียงนั้นมาจากใกล้ๆนี่เอง เสียงนั้นมาจากในกรง

     พอเดินไปที่กรงนก เห็นเจ้าปี๊บกำลังยืนอยู่บนคอน และกางปีกกวักลมอยู่ในกรง

     “ปี๊บ..ปี๊บ..ปี๊บ”

     พอเอื้อมมือเข้าไปในกรง เจ้าปี๊บไต่ขึ้นมาตามแขน มาเกาะอยู่ที่หัวไหล่ พอจับมันมาวางบนฝ่ามือ แล้วลูบหัวมันอย่างที่เคยทำบ่อยๆ มันกางปีกออกขยับขึ้นลงแล้วร้องอย่างดีใจอยู่บนฝ่ามือ

     “ปี๊บ..ปี๊บ..ปี๊บ”

     คุณพ่อเดินออกมาเห็นเข้าพอดี ขณะจ้องมองเจ้าปี๊บบนนิ้วมือ พอพูดกับคุณพ่อว่า

     “พ่อครับ เจ้าปี๊บอาจได้รับอันตรายจากการออกไปสู่ภายนอกเร็วเกินไป ทำไมเราไม่ทำกรงขนาดใหญ่มีต้นไม้อยู่ในนั้นด้วยเพื่อสอนการใช้ชีวิตข้างนอกให้เขาก่อนละครับ” คุณพ่อตอบว่า

     “จำที่พ่อเคยพูดถึงว่าสิ่งที่เราอยากให้เขาคือโอกาส จำได้ไหมลูก แต่ความรักและความเป็นห่วงของเรา คือกรงขังที่จำกัดโอกาสนั้น การเลี้ยงดูเขา เราต้องมองออกไปให้ไกลว่าวันหนึ่งถ้าไม่มีเรา เขาจะมีชีวิตอยู่อย่างไร อย่าให้กรงของความรักความห่วงใยของเราไปขังชีวิตเขาไว้ตลอดกาลเลย”

     พอไม่ตอบ ตาจ้องมองเจ้าปี๊บที่ขยับปีกอยู่บนนิ้วมือ มันร้องอีกว่า

     “ปี๊บ..ปี๊บ..ปี๊บ”

     แล้วก็..

     “ปี๊บ..ปี๊บ..ปี๊บ”

     แต่เสียงที่สองไม่ใช่ของเจ้าปี๊บ แต่มันดังมาจากบนยอดไม้ พอเงยหน้าขึ้นไปดู มองเห็นนกอีกตัวหนึ่ง รูปร่างหน้าตาเหมือนเจ้าปี๊บทุกอย่าง เกาะอยู่บนยอดต้นปีบ

     เจ้าปี๊บโผบินจากมือของพอ บินขึ้นไปยังยอดไม้ พอโบกมือตามด้วยน้ำตานองหน้า

     “ปี๊บปี๊บ..ปี๊บปิ๊บ”

     เสียงนกสองตัวร้องประสานกัน

      10. ลาก่อน.. สู่โลกกว้าง

คุณแม่ออกมาที่หน้าบ้านเตรียมจะขึ้นรถไปส่งพอไปเรียนภาษาอังกฤษ พอชี้ให้คุณแม่ดูนกสองตัวบนยอดต้นปีบ

“ตัวไหนเป็นเจ้าปี๊บครับ” พอถาม คุณแม่บอกว่า

“เหมือนกันจังเลยนะ เราน่าจะผูกเทปสีไว้ที่ขาเจ้าปี๊บ”

     คุณพ่อบอกว่า

     “เมื่อตั้งใจจะเลี้ยงดูให้เขาไปสู่เสรี แล้วจะมาสร้างสายใยผูกพันอีกทำไมเล่า”

     ถึงตอนนี้พี่น้อยตามมาสมทบ เราทั้งสี่คน คือพอ คุณพ่อ คุณแม่ และพี่น้อย พากันยืนมองเจ้าปี๊บและมิตรใหม่ในโลกกว้างของมันที่บนกิ่งไม้ จนนกทั้งสองตัวออกบิน บินไปจนลับตา ไปพร้อมกับเสียงที่ค่อยๆแผ่วลงจนเลือนหายไป

     “ปี๊บปี๊บ..ปี๊บปี๊บ.....ปี๊บปี๊บ.........”


สันต์ ใจยอดศิลป์
14 กุมภาพันธ์ 2537

[อ่านต่อ...]

22 กุมภาพันธ์ 2559

ยาลดไขมัน กับคอนเซ็พท์ NNT

เรียนคุณหมอสันต์ที่นับถือ
ดิฉันอายุ 61 ปี มีอาการขี้หลงขี้ลืม ไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล .... หมอบอกว่าเป็นไขมันในเลือดสูง คือมี Cholesterol 264 Triglyceride 145 HDL 51 LDL 152 ตรวจวิ่งสายพานแล้วได้ผลปกติ ได้ให้ยา Simvastatin 40 มก. มากิน และแนะนำว่าการกินยาจำเป็นมากเพราะจะลดโอกาสเป็นอัมพาตและเสียชีวิตจากโรคหัวใจลง แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องขี้หลงขี้ลืมเลย ตอนไปหาหมอ ตัวดิฉันไม่ได้บอกหมอหรอกว่าตัวเองเป็นเภสัชกร รู้อยู่ว่ายา statin จะทำให้สมองเสื่อมได้ แต่ที่ยังตรองไม่ตกก็คือว่าคุณประโยชน์ของยาลดไขมันในการลดโอกาสเกิดเป็นอัมพาตและ heart attack ในคนไขมันสูงอย่างดิฉันนี้มันมีประโยชน์มากคุ้มกับผลข้างเคียงของมันหรือเปล่าคะ ขอโทษนะคะ ถามเพราะอยากได้สิ่งที่เป็นของจริง ถ้าเป็นภรรยาของคุณหมอสันต์เองเป็นแบบดิฉัน คุณหมอสันต์จะให้ทานยา statin ไหมคะ

.............................................................

ตอบครับ

     สมมุติฐานที่ว่าติ๊งต่างว่าคุณเป็นภรรยาของผมนั้น มันเป็นความฝันที่ห่างไกลจากความเป็นจริงเหลือเกินตรงที่ว่า..ตัวจริงเธอไม่ยอมขี้หลงขี้ลืมเลยเนี่ยสิครับ หิ หิ ขอโทษ นอกเรื่อง ตอบคำถามของคุณดีกว่า

     คุณถามมาง่าย แต่ผมจะตอบให้มันยากเข้าไว้นะ เพราะบางอารมณ์ผมก็ชอบทำของง่ายให้เป็นของยาก แต่ว่าที่จริงในเรื่องยานี้ตัวผมเองไม่ได้เป็นคนตั้งต้นทำของง่ายให้เป็นของยากนะ บริษัทยาต่างหากที่เป็นคนทำของง่ายให้เป็นของยาก ผมก็เลยต้องเล่นตามเขา เพราะเวลาจะพูดว่ากินยาดีกว่าไม่กินยามากไหม ชาวบ้านอย่างเราก็จะบอกกันเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่นว่ากินลดไขมันทำให้เป็นอัมพาตน้อยกว่าไม่กินยากี่เปอร์เซ็นต์ ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยหนึ่งที่ตามดูผู้ป่วยเจ็ดหมื่นคนนานห้าปีแบ่งเป็นสองกลุ่มกินยาลดไขมันจริงกับกินยาหลอก พบว่าในห้าปีนั้น คนกินยาหลอก 100 คน เป็นอัมพาต 4.2 คน คนกินยา statin จริง 100 คน เป็นอัมพาต 3.3 คน เท่ากับว่ายาลดไขมันลดโอกาสเป็นอัมพาตลงได้ = 4.2 -3.3 = 0.9% ตีง่ายๆว่าหนึ่งร้อยคนกินยาห้าปีจะลดโอกาสเป็นอัมพาตได้ราวหนึ่งคนหรือ 1%

ผมพูดแบบนี้คุณเข้าใจง่ายๆเลยใช่ไหมครับ เพราะผมพูดแบบง่ายๆชาวบ้านเข้าใจ แต่บริษัทยาที่เข้าจ้างทำวิจัยเขาไม่พูดอย่างนี้นะ เขาพูดว่ายาลดไขมันลดโอกาสเป็นอัมพาตในห้าปีได้ 21% พูดแบบนี้มีอะไรแมะ

“เฮ้ย ได้ไง พูดแบบนี้ก็หลอกชาวบ้านสิ ก็หมอสันต์เพิ่งพูดหยกๆไม่ใช่หรือว่ายาลดไขมันลดโอกาสเป็นอัมพาตได้แค่ 1%” 

หิ หิ เขาไม่ได้หลอกดอกครับ แต่เขานำเสนอข้อมูลแบบมีชั้นเชิง แทนที่จะนำเสนอตัวเลขแบบตรงๆ โต้งๆ ลุุุุ่นๆ ซึ่งภาษาสถิติเรียกว่า absolute risk reduction (ARR) ซึ่งก็คือลดความเสี่ยงอัมพาตได้ 1% อย่างที่ผมบอก ไม่หงะ แบบนั้นมันขาดชั้นเชิง เขานำเสนอใหม่ด้วยคอนเซ็พท์การลดความเสี่ยงสัมพัทธ์ (relative risk reduction – RRR) ซึ่งนิยามว่าคือการบอกความเสี่ยงเพื่อให้ขายยาได้..เอ๊ย ไม่ใช่ ขอโทษ ปากเสีย พูดใหม่ ซึ่งนิยามว่าคือการบอกความสามารถในการลดความเสี่ยงเป็นเปอร์เซ็นต์บนความเสี่ยงที่มีอยู่เดิม ฮี่..ฮี่ งงดีแมะ ผมจะแสดงวิธีคำนวณให้ดูนะ

     กินยาหลอก 100 คน เป็นอัมพาต 4.2 คน
     กินยา statin 100 คน เป็นอัมพาต 3.3 คน
     เท่ากับยา statin ลดความเสี่ยงได้ 4.2-3.3 = 0.9%
     เท่ากับลดความเสี่ยงสัมพัทธ์ได้ = (0.9 x 100) / 4.2 = 21%

     ฮูเร่ เท่แมะ แค่เติมคำว่า "สัมพัทธ์" เข้าไปแค่นั้นแหละ ขายยาได้เลย (อุ๊บ ขอโทษ ปากเสียอีกละ)

     ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือเวลาเขาขายยาให้คุณ เขาเคยบอกไหมว่ามันเป็นความเสี่ยงสัมพัทธ์ ไม่ใช่ความเสี่ยงจริงๆ แท้ๆ เหน่งๆ อย่างที่เราเข้าใจ เขาจะตีขลุมว่าอย่าพูดคำว่าสัมพัทธ์กันให้ยุ่งยากเลย พูดไปคนไข้ก็ไม่เข้าใจ พูดว่าลดความเสี่ยงได้ 21% ลุ่นๆเลยดีกว่า เพื่อให้ขายยาได้ เอ๊ย ไม่ใช่ เพื่อให้สื่อความหมายผิด เอ๊ย ไม่ใช่ บ๊ะ..วันนี้ทำไมพูดผิดบ่อย เพื่อความง่าย

“จริงหรือหมอ อย่างนี้ก็เท่ากับว่าตัวหมอเองก็สมยอมกับบริษัทยาให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดเพื่อจะยอมใช้ยาง่ายขึ้นสิ”

แหม แม่คุณ อย่างนั้นมันก็ไปว่าหมอเขาหนักเกินไป หมอเขาก็มองเห็นประเด็นนี้อยู่ และก็พยายามจะหาวิธีคิดคำใหม่ขึ้นมาสื่อให้คนไข้เข้าใจเรื่องที่แท้จริงโดยไม่ถูกบริษัทยาหลอก ในเมื่อคำว่า "ความเสี่ยง" มันมีสองแง่สองง่ามและพูดกันทีไรก็เผลอเสียตัวให้บริษัทยาทุกที พวกหมอเขาจึงตกลงกันว่าเอางี้ก็แล้วกัน เราพูดกันในคอนเซ็พท์ของ “จำนวนคนไข้ที่จะต้องกินยาเพื่อให้ลดความเสี่ยงได้หนึ่งคน” (number need to treat – NNT) ก็แล้วกัน โดยนิยามว่า NNT หมายความว่าคนไข้ต้องกินยากี่คนจึงลดความเสี่ยงเช่นอัมพาตได้หนึ่งคน

      อย่างในกรณีงานวิจัยข้างต้นนี้คือการกินยา statin เพื่อลดอัมพาต  จำนวนคนไข้ที่ต้องกินยาหรือ NNT คือ 111 คน หมายความว่าการจะลดโอกาสเกิตอัมพาตได้ 1 ครั้ง คุณต้องเกณฑ์คน 111 คน กินยา statin ทุกวันนาน 5 ปี จึงจะลดคนเป็นอัมพาตได้ 1 คน ที่เหลืออีก 110 คนนั้นก็กินยาเพื่อรักษาโรคประสาทไปโดยไม่ได้มรรคผลอะไรขึ้นมา

     คอนเซ็พท์ NNT นี้วงการแพทย์พยายามเอาออกมาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารให้คนไข้เห็นความเสี่ยงและประโยชน์การใช้ยาให้ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด แต่พบว่าไม่ค่อยเวอร์คเท่าไหร่ เพราะสองเหตุผลคือ

    เหตุผลที่หนึ่ง หมอไม่เก็ท หิ หิ ผมหมายความว่าหมอส่วนหนึ่งเกิดมายังไม่เคยได้ยินคำว่า number need to treat หรือ NNT เลย และ

    เหตุผลที่สอง คนไข้ไม่เก็ท เพราะอธิบายกันจนปากฉีกถึงใบหูคนไข้จำนวนหนึ่งก็ไม่เข้าใจอยู่ดีว่าหมอพยายามจะบอกอะไร

แต่คนไข้ที่อ่านบล็อกหมอสันต์นี้ไม่ใช่คนไข้ธรรมดา ส่วนใหญ่เป็นคนไข้ที่ชอบเถียงกับหมอ เอ๊ย ไม่ใช่ ส่วนใหญ่เป็นคนไข้ที่ชอบพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่หมอบอก ผมจึงจะพูดเรื่อง NNT กับท่านผู้อ่านต่อไป กะว่าจะเอาให้หน่ายกันไปข้างหนึ่ง ข้อมูลข้างล่างนี้ผมทบทวนเอามาจากงานวิจัยชั้นดีเกือบทั้งหมดที่ผมหาได้ ซึ่งครอบคลุมคนไข้ที่มีความเสี่ยงปานกลางขึ้นไป แต่ยังไม่ได้เป็นโรค จำนวนรวมประมาณสี่แสนคน ซึ่งผมให้ชื่องานวิจัยไว้ในบรรณานุกรมท้ายบทความ ท่านที่อยากรู้มากกว่านี้ก็ตามไปอ่านเอาเองก็แล้วกัน

กล่าวคือการที่คนมีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดปานกลาง (คือมีความเสี่ยงสองอย่างขึ้นไป เช่นความดันสูงด้วย ไขมันสูงด้วย) จะได้ประโยชน์จากการกินยา โดยนำเสนอในรูปแบบจำนวนคนที่จะต้องกินยาเพื่อให้ได้ประโยชน์หนึ่งคน (NNT) เป็นดังนี้

กรณีจะป้องกันอัมพาต ต้องให้คน 154 คน กินยาไปห้าปี จึงจะได้ประโยชน์หนึ่งคน

กรณีจะป้องกันหัวใจวาย (heart attack) ต้องให้คน 104 คน กินยาไปห้าปี จึงจะได้ประโยชน์หนึ่งคน

และไหนๆก็ไหนๆแล้ว ขอแถมเสียหน่อยว่า

กรณีที่อยากจะหาเรื่องเป็นเบาหวาน (เพราะฤทธิ์ข้างเคียงของยา statin) ต้องกินยาไป 100 คน ก็จะได้เป็นเบาหวานหนึ่งคน

     กรณีที่อยากจะได้ผลข้างเคียงของยาเช่นปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อสลายตัว ต้องกินยาไป 10 คน ก็จะได้รับผลข้างเคียงของยาหนึ่งคน

     อะแฮ่ม..กิระ ดังได้สาธยายสัจจธรรมเรื่อง NNT มาก็พอสมควรแก่เวลา สาธุชนทั้งหลายจะเก็ทหรือไม่เก็ท จะกินยา statin เพื่อจะได้เป็นเบาหวาน เอ๊ย..ขออำไพ เพื่อป้องกันอัมพาตหรือไม่กิน ก็ขอให้ญาติธรรมโปรดใช้ธรรมะวิจะยะพิจารณาเอาเองเถิด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Ray KK, Seshasai SR, Erqou S, Sever P, Jukema JW, Ford I, Sattar N. Statins
and all-cause mortality in high-risk primary prevention: a meta-analysis of 11 randomized controlled trials involving 65,229 participants. Arch Intern Med. 2010 Jun 28;170(12):1024-31. Review. PubMed PMID: 20585067.

2. Thavendiranathan P. Primary prevention of cardiovascular disease with statin therapy. Arch Int Med. 2006; 166: 2307-13. CTT Collaborators. Efficacy and safety of cholesterol-lowering treatment: prospective meta-analysis of data from 90 056 participants in 14 randomised trials of statins. Lancet. 2005; 366: 1267-1278.

3. Ridker et al. Rosuvastatin to prevent vascular events in men and women with elevated c-reactive protein. NEJM. 2008; 359(21): 2195-2207.

4. Brugts JJ, Yetgin T, Hoeks SE, Gotto AM, Shepherd J, Westendorp RG, de Craen
AJ, Knopp RH, Nakamura H, Ridker P, van Domburg R, Deckers JW. The benefits of statins in people without established cardiovascular disease but with cardiovascular risk factors: meta-analysis of randomised controlled trials. BMJ. 2009 Jun 30;338:b2376. doi: 10.1136/bmj.b2376. Review. PubMed PMID: 19567909; PubMed Central PMCID: PMC2714690.

5. Mills EJ, Rachlis B, Wu P, Devereaux PJ, Arora P, Perri D. Primary prevention
of cardiovascular mortality and events with statin treatments: a network meta-analysis involving more than 65,000 patients. J Am Coll Cardiol. 2008 Nov 25;52(22):1769-81. PubMed PMID: 19022156.

6. Abramson J, Wright JM. Are lipid-lowering guidelines evidence-based? Lancet.
2007 Jan 20;369(9557):168-9. PubMed PMID: 17240267.

7. Taylor F, Ward K, Moore TH, Burke M, Davey Smith G, Casas JP, Ebrahim S.
Statins for the primary prevention of cardiovascular disease. Cochrane Database Syst Rev. 2011 Jan 19;(1):CD004816. Review. PubMed PMID: 21249663.

8. Sattar N, Preiss D, Murray HM, Welsh P, Buckley BM, de Craen AJ, Seshasai SR,
McMurray JJ, Freeman DJ, Jukema JW, Macfarlane PW, Packard CJ, Stott DJ, Westendorp RG, Shepherd J, Davis BR, Pressel SL, Marchioli R, Marfisi RM, Maggioni AP, Tavazzi L, Tognoni G, Kjekshus J, Pedersen TR, Cook TJ, Gotto AM, Clearfield MB, Downs JR, Nakamura H, Ohashi Y, Mizuno K, Ray KK, Ford I. Statins and risk of incident diabetes: a collaborative meta-analysis of randomised statin trials. Lancet. 2010 Feb 27;375(9716):735-42. Epub 2010 Feb 16. PubMed PMID: 20167359.

9. Taylor F, Huffman MD, Macedo AF, et al. Statins for the primary prevention of cardiovascular disease. Cochrane Database Syst Rev. 2013 Jan 31;1:CD004816.

[อ่านต่อ...]

18 กุมภาพันธ์ 2559

Work Life Balance สุข..โดยไม่ถูกเจ้านายไล่ออก

(บรรยายในการประชุม...)

     สวัสดีครับ ผม สันต์ ใจยอดศิลป์ครับ ดีใจที่ได้มาพบกับพวกวิชาชีพกันเองอีกครั้งที่สุราษฎร์ธานีนี่ ในวันนี้

     หัวเรื่องที่เราจะคุยกันวันนี้คือ “Work Life Balance ในงานแพทย์และสาธารณสุข” คำว่าเวอร์คไลฟ์บาล้านซ์นี้มีคำแปลกันหลายเวอร์ชั่นนะครับ แต่ผมจะขอแปลว่า

“คือการทำงานได้อย่างมีความสุข โดยไม่ถูกเจ้านายไล่ออก”

หมายความว่าบางคนก็มีความสุขเหลือเกิน คือสุขแบบไม่ทำงานเลย อย่างนั้นไม่ใช่เวร์คไลฟ์บาล้านซ์ จะเห็นว่าคำนี้จริงๆแล้วก็เป็นคำเดียวกับความสุขหรือ Happiness ของคนที่ยังทำงานอยู่นั่นเอง

ก่อนที่เราจะไปคุยกันถึงงานวิจัยเกี่ยวกับความสุขซึ่งมีเยอะมากนั้น มาคุยกันถึงประสบการณ์ในอดีตของเรากันเองก่อนนะ ผมเองก็มีช่วงหนึ่งของชีวิตที่ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข ณ ขณะนั้น ผมได้นึกย้อนไปดูถึงอดีตอันไกลโพ้นตั้งแต่จำความได้เป็นต้นมา ว่ามีช่วงไหนในชีวิตนะที่ผมมีความสุขจริงจังจนตราตรึงในความทรงจำบ้าง พยายามไล่ดูตอนที่เป็นเหตุการณ์สำคัญหรือการบรรลุเป้าหมายสำคัญของชีวิต นับตั้งแต่ได้เป็นนักเรียนทุนเด็กฉลาดในวัยเด็ก เรื่อยมาจนไปทำงานกับฝรั่งเมืองนอกได้รับรางวัลที่ปกติจะกันไว้ให้คนผิวขาวเท่านั้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นการยอมรับที่หนักแน่นมาก แต่โอกาสเหล่านั้นผมไม่พบว่าผมมีความสุขอะไรมากมายเลย ไม่ต้องไปพูดถึงเมื่อแก่ตัวแล้วได้นั่งตำแหน่งโน่นนี่นั่น ได้เหรียญตราสายสะพาย มันไม่ได้เหลือความสุขใดๆไว้ในความทรงจำเลย การได้เงินนั้นเล่า จะทำให้ผมมีความสุขบ้างไหม ยอมรับว่ามีบ้างในช่วงที่ผมยังไม่มีเงิน แต่ยิ่งมีเงินมากขึ้น ความสุขจากการได้เงินหรือได้ทรัพย์ก็แทบจะไม่เหลือเลย มีอยู่ช่วงหนึ่งที่หุ้นบูม ผมก็เล่นหุ้นกับเขาเหมือนกัน มีอยู่ครั้งหนึ่งผมขายหุ้นได้กำไรแยะพอดู แต่ผมไม่เห็นว่าผมจะมีความสุขเลย ไม่เหลือความรู้สึกดีๆอะไรให้ย้อนคิดถึงได้แม้เพียงสักนิดเดียว

แต่พอไล่ลงไปหาเหตุการณ์ย่อยๆในขั้นละเอียด ก็พบว่ามีอยู่บ้างที่เป็นเหตุการณ์ที่ผมจำได้ว่าทำให้ผมมีความสุข ซึ่งหมายความว่ามีทั้งความรู้สึกดีและมีความรื่นเริงบันเทิงใจอยู่ด้วย ซึ่งทั้งหมดเป็นเหตุการณ์เล็กๆ ผมจะยกตัวอย่างให้ฟังสักสองสามเหตุการณ์

เหตุการณ์ที่ 1. ราวปีพ.ศ. 2512 ผมเป็นนักเรียนอาชีวะเกษตรอยู่ที่แม่โจ้ ที่นั่นนักเรียกส่วนหนึ่งจะไปปลูกกระต๊อบปลูกผักเพื่อหารายได้ระหว่างเรียน ช่วงหนึ่งผมไปนอนกระต๊อบกับเพื่อน ตกกลางคืนพระจันทร์สว่างๆเราถอดเสื้อขุดดินปลูกผักกันเหงื่อไหลไคลย้อย เหนื่อยได้ที่แล้วเราก็มานั่งยองๆที่สะพานไม้ข้ามคลองริมทุ่ง ทุ่งแห่งนั้นชื่อทุ่งบางเขน แต่ว่ามันอยู่ที่แม่โจ้นะ คุยกันไป ทำภารกิจไป แบบว่า..ดาวน์โหลดของเสียลงน้ำ ป๋อม...ป๋อม..ม หิ หิ ไม่ถูกสุขลักษณะหรอกครับ แต่ว่านั่นมันพ.ศ. 2512 ที่ชายทุ่งอันมืดมิดไร้ผู้คนนะ เป็นโมเมนต์ที่ผมจำได้ว่ามีความสุขจัง ถ้าจะมีเหตุแอนตี้ความสุขอยู่บ้างก็ตรงที่เวลายุงกัดตรงจุดยุทธศาสตร์ขณะดาวน์โหลดของเสียเราตบยุงไม่ได้นี่แหละ (ขอโทษ..พูดจาเลอะเทอะ)

เหตุการณ์ที่ 2. ราวปีพ.ศ. 2514 ผมกับเพื่อนรวมสี่คนไปเดินป่ากันที่ดอยปุย กะจะเดินไปทางแม่แจ่ม แต่พอไปค้างคืนที่หมู่บ้านแม้วดอยปุยเราเห็นบ้านของหญิงแม้วชราที่อยู่คนเดียว บ้านของเธอซึ่งมีขนาดประมาณห้องส้วมมันผุพังสัปปะรังเคเต็มที พวกเราจึงตัดสินใจหยุดเดินป่าหนึ่งวันเพื่อซ่อมบ้านให้หญิงแม้วคนนั้น เราตัดไม้ในป่า แบกมาเสริมเสาเสียใหม่ ไปเอาใบตองตึงในป่ามาไพซ่อมหลังคา ทำหน้าต่างแบบเปิดปิดด้วยเถาวัลย์แถมให้ด้วย ใช้เวลาก่อสร้างเช้าจรดเย็นก็เสร็จส่งมอบให้คุณยายแม้วได้ พวกเราเหนื่อยเหงื่อโทรมกาย ยืนดูคุณยายแม้วโกงโก๊ะโกงโก้ขึ้นไปอยู่บ้านหลังใหม่ของเธอ โมเมนต์นั้นผมจำได้ว่าผมมีความสุข

เหตุการณ์ที่ 3. ประมาณปีพ.ศ. 2520 ผมเรียนแพทย์ชั้นคลินิกอยู่ที่หาดใหญ่ พอเสร็จจากเรียนผมกับเพื่อนไปตีเทนนิสกันที่สนามกีฬาเทศบาล สมัยนั้นไม่มีใครไปใช้สนาม สนามฟุตบอลเป็นที่เลี้ยววัว ตีเทนนิสเสร็จเหนื่อยได้ที่แล้วเรามานั่งพักที่ขอบสนามฟุตบอลดูวัวกินหญ้า ผมจำได้ว่าโมเมนต์นั้นผมมีความสุข

จะเห็นว่าทั้งสามเหตุการณ์เป็นเหตุการณ์เล็กๆซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องใหญ่ๆอย่างเป้าหมายชีวิต การทำอะไรสำเร็จ ได้เงิน หรือได้รางวัลเลย ผมมองหาปัจจัยร่วมในเหตุการณ์เล็กๆเหล่านั้นก็พบว่าทุกครั้งมันเกิดขึ้นหลังจากที่ผมได้ออกกำลังกายแล้วร่างกายได้พัก ได้ผ่อนคลาย และใจผมไม่ได้คิดถึงอะไรไม่ว่าจะในอดีตหรืออนาคต คือสบายกาย สบายใจ แค่นี้ก็เป็นสุขแล้ว เรียกว่าความสุขนี้จริงๆเราเรียกมันมาหาก็ยังได้ ก็แค่หายใจเข้าลึกๆ ค่อยๆผ่อนลมหายใจออก บอกกล้ามเนื้อทั่วตัวให้ผ่อนคลาย ใจอยู่กับลมหายใจไม่คิดอะไร สบายกาย สบายใจ แต่นี้ก็สุขแล้ว

คราวนี้เรามามองดูงานวิจัยที่เกี่ยวกับความสุขบ้าง

     คำถามที่ 1. จริงหรือเปล่าที่บ้างบอกว่าความสุขเกิดจากการได้จินตนาการ ยิ่งจินตนาการออกไปได้ไกลจนพ้นขอบเขตกฎเกณฑ์ข้อจำกัดทั้งหลายยิ่งเป็นสุข งานวิจัยนี้ทำขึ้นเพื่อจะตอบคำถามนี้ เป็นงานวิจัยที่ทำโดยนักเรียนปริญญาเอกที่ฮาร์วาร์ด ทำได้ดีมาก คือพวกเขาทำแอ๊พไอโฟนขึ้นมา เป็นแอ๊พบันทึกความทุกข์ความสุขส่วนตัว แจกไปให้คนหมื่นกว่าคน สุขก็บันทึก ทุกข์ก็บันทึก มีการบันทึกเหตุการณ์ลงแอ๊พนี้มากกว่า 650,000 ครั้ง ซึ่งนับว่าเป็นงานวิจัยความสุขชนิดติดตามกลุ่มคนแบบไปข้างหน้า (cohort) ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีการทำกันมา ผลที่ได้เป็นอย่างในสไลด์นี้นะครับ ปรากฏว่าพวกที่กร๊าฟเตี้ยนี้เป็นพวกที่บันทึกคะแนนความสุขขณะได้ปล่อยใจให้ล่องลอยจินตนาการคิดโน่นคิดนี้ มีคะแนนความสุขต่ำกว่าพวกที่บันทึกขณะกำลังจดจ่ออยู่กับอะไรที่อยู่ตรงหน้าแบบไม่มีความคิดอะไรแทรก คือสรุปว่าความสุขเกิดขณะใจไม่ลอย ความแตกต่างนี้เป็นจริงแม้ว่าเหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้าจะเป็นเหตุการณ์แย่ๆอย่างรถติดเป็นต้น คนที่จดจ่ออยู่กับที่นั่นเดี๋ยวนั้นก็ยังมีคะแนนความสุขมากกว่าคนที่ปล่อยใจให้ล่องล่อยพ้นรถติดไปไหนต่อไหน

     ส่วนสไลด์นี้ไม่ได้เกี่ยวกับสุขหรือไม่สุขหรอก แต่เอามาให้ดูว่าในงานวิจัยเดียวกันนี้เขากลั่นออกมาให้ดูว่าคนเรานี้ชอบใจลอยตอนไหนกันบ้าง ความจริงเขามีบันทึกไว้ถึงสามสิบกว่ากิจกรรมแต่ผมตัดเอามาบางกิจกรรม คือคิดใจลอยขณะอาบน้ำแปรงฟัน 65% ใจลอยขณะทำงาน 50%  ใจขณะออกกำลังกาย 40% ใจลอยขณะมีเซ็กซ์ 10%

คำถามที่ 2. จริงหรือเปล่าที่ว่าถ้าเรามีอำนาจที่จะเลือกโน่นนี่นั่นได้ เราก็จะมีความสุข ถ้าเราถูกจับให้อยู่กับอะไรที่เรามีไม่มีทางเลือกอย่างอื่น เราจะไม่มีความสุข งานวิจัยนี้ทำเพื่อตอบคำถามนี้ ทำที่ฮาร์วาร์ดเหมือนกัน เขาเอาคนมาลงทะเบียนเรียนถ่ายรูปล้างรูปขาวดำ ให้ใช้อุปกรณ์น้ำยาและห้องล้างห้องอัดของมหาลัยฟรี เรียนกันอยู่หกเดือน ให้กล้องถ่ายรูปตะลอนไปเที่ยวถ่ายรูปที่ตัวเองชื่นชอบ แล้วให้เลือกรูปเด่นของตัวเองมาอัดเป็นภาพขนาดใหญ่ 80 ซม.คนละ 12 ภาพ แล้วให้เลือกภาพที่เด่นที่สุดไว้เป็นสมบัติของตัวเอง 1 ภาพ อีก 11 ภาพที่เหลือตกเป็นของมหาลัย ถึงจุดนี้ก็จะให้นักศึกษาจับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งครูบอกว่าภาพที่เลือกแล้วถือว่าเลือกเลย เปลี่ยนไม่ได้ อีกกลุ่มหนึ่งครูบอกว่าภาพที่เลือกแล้วมีเวลา 4 วันที่ยังเปลี่ยนใจคือเปลี่ยนเอาภาพอื่นแทนได้ แล้วก็วัดคะแนนความสุขและความพอใจภาพของตัวเองของทั้งสองกลุ่ม

     กร๊าฟสีเขียวนี่เป็นกลุ่มที่มีอำนาจเปลี่ยนภาพได้ กร๊าฟสีเหลืองคือกลุ่มที่ไม่มีอำนาจเปลี่ยนภาพ จะเห็นว่าทันทีที่ทราบว่ามีอำนาจจะเปลี่ยนภาพเมื่อไหร่ก็ได้ ความสุขและความพอใจของกลุ่มที่มีอำนาจก็ลดต่ำกว่าของกลุ่มที่ถูกมัดมือชกให้อยู่กับสมบัติเก่าทันที ยิ่งใกล้ครบกำหนดเปลี่ยนภาพคือสี่วัน ความพอใจในภาพของตัวเองยิ่งลดลง ขณะที่กลุ่มสีเหลืองที่ไม่มีสิทธิเปลี่ยนภาพ ความพอใจในภาพของตัวเองยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แม้จะเลยกำหนดเปลี่ยนภาพไปแล้ว หมายความว่าบางคนก็เอาภาพเก่ามาเปลี่ยนเอาภาพใหม่ไป ความสุขความพอใจในภาพของกลุ่มได้สิทธิ์เปลี่ยนก็ยังน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้สิทธิเปลี่ยนภาพอยู่นั่นเอง หลักฐานวิจัยชิ้นนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าความเชื่อที่ว่าการมีอำนาจเลือกได้จะทำให้เรามีความสุขมากขึ้นนั้นเป็นความเชื่อที่ไม่เป็นความจริง

ในบรรดางานวิจัยตามดูกลุ่มคนแบบไปข้างหน้าหรือ cohort study ที่มีทำกันไว้ในเรื่องความสุขนั้น งานวิจัยที่ถือกันว่าดีที่สุดคืองานวิจัยขนนาดใหญ่ของฮาร์วาร์ดชิ้นนี้ ทำกันอยู่นาน 75 ปี ตอนนี้ก็ยังกำลังทำอยู่ ใช้นักวิจัยสามชั่วอายุคนแล้ว  ตามดูคน 724 คน ครึ่งหนึ่งเป็นนักศึกษาฮาร์วาร์ด อีกครึ่งหนึ่งเป็นคนหนุ่มยากจนในสลัมบอสตัน ตามดูตั้งแต่อายุสิบเก้าจนเดี๋ยวนี้อายุเก้าสิบกว่า เหลืออยู่ 63 คน บ้างก็มีชีวิตจากสูงไปต่ำ บ้างก็จากต่ำไปสูง หนึ่งในจำนวนนี้เติบโตขึ้นไปเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐ นักวิจัยประเมินทุกคนทุกปีว่าแต่ละคนใครมีความสุขแค่ไหน อะไรเป็นเหตุให้สุขหรือให้ทุกข์ ผลสรุปตลอดที่ผ่านมา 75 ปีนั้นให้ผลที่น่าประหลาดใจมาก คือสรุปผลได้ว่ามีอยู่ปัจจัยเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นเหตุของความสุข คือ..ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง หมายความว่าแต่งงานก็ไม่ทะเลาะกับเมีย มีลูกก็ไม่ทะเลาะกับลูก ทำงานก็ไม่ทะเลาะกับนาย การมีความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพกับคนรอบข้างเป็นปัจจัยที่อยู่ยั้งยืนยงที่สุดในการกำหนดว่าจะสุขหรือทุกข์ ส่วนปัจจัยอื่นแม้กระทั่งสุขภาพ การเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายๆอย่างโรคมะเร็งโรคหัวใจก็ไม่มีอำนาจอิทธิพลที่จะลดทอนความสุขลงได้แต่อย่างใด ขอให้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนใกล้ชิดเสียอย่างก็เป็นสุขแล้ว

ลองหันมาดูงานวิจัยแบบตัดขวางหรือ cross section บ้าง อันนี้เป็นงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ทำกับคนสามหมื่นกว่าคน สรุปว่าปัจจัยที่กำหนดการมีความสุขของสามหมื่นกว่าคนนี้มีสี่อย่างคือ
(1) การมีสุขภาพดี
(2) การได้ง่วนทำอะไร เขาทราบจากการโทรศัพท์ไปถามว่าตอนนี้มีความสุขสะเกลเท่าไหร่ และตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่ แล้วก็เอามาเรียงดูคะแนน พบว่าขณะกำลังง่วนทำอะไรอยู่ จะมีความสุขมากกว่าขณะอยู่เฉยๆหรือพักผ่อนเช่นดูโทรทัศน์
(3) การมีเพื่อน
(4) ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความหมายตามความเชื่อทางศาสนาของตน

     อันนี้เป็นอีกงานวิจัยหนึ่งของสมาคมแพทย์อเมริกัน (AMA) ที่จ้างบริษัทแกลลอพมาวิจัยความสุขของแพทย์ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคม เพราะแพทย์อเมริกันเป็นกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่ามีความสุขในชีวิตน้อย มีความพึงพอใจในงานอาชีพต่ำ ชนิดที่จำนวนคนไม่มีความสุขมีมากถึง 40% เลยทีเดียว ผลวิจัยของบริษัทแกลลอพพบว่าปัจจัยที่ทำให้แพทย์อเมริกันมีความสุขมีเจ็ดอย่าง คือ

1. มีสุขภาพดี
2. ออกกำลังกายเฉลี่ย 4 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไป
3. เชื่อในศาสนาและทำงานจิตอาสา
4. มีเงิน
5. ดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ยวันละ 1-2 ดริ๊งค์
6. แต่งงานแล้วและยังแต่งงานอยู่
7. ไม่สูบบุหรี่

     ในแง่ของความสุขในการทำงานของคนอาชีพทางการแพทย์ ทีมีวิจัยไว้มากที่สุดคือของแพทย์ประจำบ้านอเมริกัน มีทำวิจัยไว้มากกว่า 199 รายการ เพราะในบรรดาแพทย์ด้วยกัน แพทย์ประจำบ้านจัดว่าเป็นกลุ่มคนที่อกไหม้ไส้ขมกับการทำงานมากที่สุด ในบรรดางานวิจัยเหล่านั้น หลายงานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าการแก้ปัญหาบางอย่างให้ผลดีกว่าไม่แก้ ตัวอย่างของการแก้ปัญหาให้แพทย์ประจำบ้านที่งานวิจัยพบว่าได้ผลก็เช่น

1. การจัดที่ปรึกษาไว้ให้
2. การปรับลดการทำงานลง ให้ได้พักบ้าง
3. การสลับงาน เช่นให้ไปทำวิจัย ให้ไปช่วยสอน
4. การมีระบบพี่สอนน้อง หรือMentorship programs
5. การสอนวุฒิภาพหรือ EQ ให้แพทย์ประจำบ้าน
6. การจัดทีมลาดตระเวนสอบถามสาระทุกข์สุกดิย เรียกว่า Wellness Teams
7. การสอนการบริหารเวลา
8. การฝึกให้ใช้เทคนิคผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรือ Relaxation response
9. การฝึกสติลดความเครียด หรือ MBSR

     งานวิจัยที่ผมเห็นว่าได้ผลชัดเจนโดดเด่นเพราะเป็นการวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบด้วย คือการฝึกสติลดความเครียดแบบ MBSR ให้กับแพทย์ประจำบ้าน คำว่า MBSR นี้ย่อมาจาก mindfulness based stress reduction ซึ่งเป็นอะไรที่พวกเราเอาไปประยุกต์ใช้ได้ เพราะการฝึกสติ รากของมันไปจากพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราคุ้นเคยอยู่แล้ว

ทั้งหมดนี้เป็นการรวบรัดเอาผลวิจัยสำคัญๆเท่าที่ตีพิมพ์มาแล้วมาสรุปให้ท่านฟังในเวลาอันสั้น ตัวผมเองหากจะสรุปสิ่งที่ผมทำเพื่อแก้ปัญหาการไม่มีความสุขของตัวเองในหลายปีที่ผ่านมาก็อาจจะสรุปได้ว่าผมทำสี่อย่างเท่านั้น คือ

(1) รักษาสุขภาพร่างกาย

(2) ฝึกจิต

(3) เปลี่ยนงานที่ไม่ชอบ มาทำงานที่ชอบ

(4) ทำงานอดิเรก เท่าที่พอจะมีเวลาทำ

      ข้อหนึ่งสองสามผมได้เดินหน้าทำไปบ้างพอควรแล้ว ข้อที่สี่กำลังพยายามอยู่ คือเมื่อเวลาในชีวิตมีจำกัดก็จำเป็นต้องจำกัดงานอดิเรกลงให้เหลือเท่าที่เวลามี เรื่องที่เคยชื่นชอบตั้งใจว่าจะเก็บเอาไว้ทำตอนเกษียณแต่ถึงเวลาจริงๆก็ต้องจำใจตัดทิ้งไปเสียมาก เพื่อนบางคนไม่เข้าใจก็ค่อนขอดว่าผมเป็นอะไรนะชวนไปกินเลี้ยงรุ่นก็ไม่ไป ชวนไปเที่ยวไหนไกลๆก็ไม่ไป ที่ว่าไกลนี่ก็คือไกลถึงขั้วโลกใต้ โถ ขนาดของง่ายๆบางอย่าง ผมลงทุนไปแยะแล้วยังไม่ได้ใช้เลย

     อย่างผมอยากจะวาดรูปสีน้ำมันบนผ้าใบ ซื้อผ้าใบมาขึงไว้แล้วไม่รู้กี่สิบผืน ซื้อสีมาเป็นกุรุส ซื้อผู้กันเป็นกล่อง ซื้อขาตั้งมาหลายตัว เพิ่งทำได้ก๊อกๆแก๊กๆ แต่ก็ต้องตัดใจเลิกไป

     หรืออย่างคิดไว้ว่าจะเล่นเปียโนตอนเกษียณ เพราะสมัยเป็นแพทย์ฝึกหัดอยากเล่นเปียโนมาก แต่ไม่มีเงินซื้อ ต้องเอากระดาษมาวาดเป็นคีย์บอร์ดเปียโน แล้วใช้นิ้วดีดพร้อมกับจินตนาการเสียงเอา พอแก่ตัวลงมีเงินซื้อเปียโนมาแล้ว แต่ก็ได้แค่ตั้งขวางหน้าไว้ ที่บ้านกรุงเทพก็ตัวหนึ่ง ที่บ้านมวกเหล็กก็อีกตัวหนึ่ง จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้เล่นซ้ากกะที ก็ต้องตัดใจเลิกไปดื้อๆ เพราะเวลาไม่พอ ตอนนี้เหลืออยู่อย่างเดียวที่ตั้งใจจะทำเป็นงานอดิเรก คือปลูกผัก เพราะกะว่าจะได้อาศัยเป็นการออกกำลังกายไปด้วย แต่จะไปรอดหรือไม่ก็ยังต้องลุ้น ดังนั้นเรื่องชวนไปเที่ยวไหนไกลๆนั้น หิ หิ ขอโทษ cannot afford! แปลว่า..มิอาจ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

12 กุมภาพันธ์ 2559

บ้านโบราณ ริมกว้านพะเยา

     วันนี้ หยุดตอบคำถามหนึ่งวัน เพราะผมต้องพาลูกชายไปเยี่ยมย่าของเขาที่บ้านนอก ไปกันทั้งสามคนพ่อแม่ลูก ไปขึ้นเรือบินที่บขส. หิ หิ พูดเล่น ไปขึ้นที่ดอนเมือง แต่บรรยากาศมันก็เหมือนบขส.นั่นแหละ เพราะว่าผมเคยเป็นลูกค้าบขส.มานานจนจำบรรยากาศได้ขึ้นใจ แต่การขึ้นเครื่องบินที่ดอนเมืองนี้บางอย่างก็เป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับผม เช่นพอเขาประกาศว่าเครื่องบินที่จะไปเชียงรายพร้อมที่จะออกเดินทางแล้ว ขอเชิญผู้โดยสารขึ้นเครื่องได้ ถ้าเป็นสมัยก่อนผมก็จะเห็นผู้โดยสารรีบไปยืนเข้าคิวออกันอยู่ที่ทางออกไปขึ้นเครื่อง แต่เดี๋ยวนี้พอเขาประกาศแล้ว ผู้โดยสารจะไปออกันอยู่ที่ประตูห้องสุขา โดยเฉพาะห้องสุขาหญิงนั้น พอสิ้นเสียงประกาศ คิวเข้าห้องสุขาจะตั้งแถวขึ้นมาพรึบทันที นี่นับว่าเป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับคนแก่ที่ไม่ค่อยได้เดินทางอย่างผม

ไปถึงเชียงราย กะว่าจะร้อน กลับหนาว ต้องขุดเสื้อกันหนาวในกระเป๋าออกมาใส่ แล้วก็ไปเช่ารถขับออกจากสนามบิน บังเอิญเขากำลังขุดถนนกันอยู่ทำให้หลงทางไปทางตรงกันข้ามกับที่จะเข้าเมืองเชียงราย ไปโผล่เอาที่ทางไปอำเภอเทิง จึงตั้งสติได้เลี้ยวขวามาขึ้นถนนพหลโยธินใหม่ แล้วก็ไปถึงอำเภอแม่ใจ และเยี่ยมคุณย่าได้สมใจหมาย คุณย่าแปดสิบกว่าแล้ว การมาเยี่ยมคุณย่าเราต่างเจียมตัวว่าจะต้องไม่เรื่องมาก คุณย่าให้กินอะไรก็ต้องกิน ให้นอนก็ต้องนอน ท่านให้กินข้าวเหนียว น้ำพริกอ่อง แคบหมู ก็ต้องกิน กินแล้วทุกคนต่างพากันง่วงสะบัดเพราะไม่เคยกินข้าวเหนียวอย่างเอาเป็นเอาตายอย่างนี้มาก่อน ผมจึงออกอุบายแก้ง่วงว่าเราไปขับรถเที่ยวตอบบ่ายรอบๆกว๊านพะเยากันดีกว่า คุณย่าอนุญาต แต่กำชับว่าให้เที่ยวแต่แถวริมน้ำห้ามขับรถขึ้นไปเที่ยบบนป่าบนเขา
บ้านโบราณริมกว๊านพะเยา

     ผมให้ลูกชายขับรถ ตัวเองหลับ พอตื่นก็ดูวิวข้างทางเพลิน เราขับเลี้ยวขวาเข้าพะเยา ขับไปตามถนนเลียบกว๊านซึ่งกว้างขวางและเงียบเชียบ อากาศซึ่งเย็นจนต้องใส่เสื้อกันหนาวในตอนเช้า เปลี่ยนเป็นแดดเปรี้ยงร้อนตับแล่บในตอนบ่าย ขณะค่อยๆคลานรถไปตามถนน ด้านขวามือซึ่งเป็นด้านบึงน้ำมองเห็นรูปปั้นพญานาคสีขาวตัวบะเล่งสองตัวลอยเท้งเต้งอยู่กลางอากาศ ความจริงเขาตั้งใจจะปั้นให้เลื้อยอยู่บนผิวน้ำ แต่ตอนนี้น้ำแห้งลงไปมาก พญานาคทั้งคู่จึงขึ้นไปเลื้อยบนท้องฟ้าแทน ผมเหลือบเห็นด้านขวามือเป็นรั้วสังกะสีสูงท่วมหัวแบบไซท์งานก่อสร้าง มองข้ามรั้วสังกะสีเข้าไปเห็นส่วนบนของตัวบ้านเป็นบ้านไม้โบราณ ยิ่งกว่านั้นหลังคาบ้านยังเป็นหลังคาประหลาด คือเป็นหลังคาคล้ายกระเบื้องว่าว แต่ปลายของแต่ละแผ่นแหลมเปี๊ยวจนน่าฉงนว่าใครนะปั้นกระเบื้องพิเรนอย่างนั้นมามุงหลังคา ด้วยความสนใจเราจึงหยุดรถ เป็นประตูสังกะสีแง้มอยู่เล็กน้อย และเห็นมีฝรั่งซำเหมาสองคนสะพายกล้องถ่ายรูปมุดประตูรั้วออกมา รู้ทั้งรู้อยู่ว่าการแอบมุดบ้านคนอื่นเขาโดยไม่บอกให้เจ้าของรู้มันไม่สุภาพ แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็นทำให้เราตัดสินใจมุดประตูที่แง้มๆอยู่นั้นเข้าไป
ประตูเข้าสวนหลังบ้าน และเรือนคนใช้
     อู้ฮูว์.. ไม่มาเห็นกับตาตัวตัวเองไม่เชื่อนะเนี่ย เป็นบ้านโบราณที่กำลังซ่อมกันอยู่จริงๆ แม้จะเก่าคร่ำคร่าลายครามอายุระดับร้อยปี แต่ความเท่ในเชิงสถาปัตยกรรมนั้นไม่ได้ทรุดโทรมไปตามตัวบ้านเลย กำลังที่ตะลึงกับความเท่ของบ้านอยู่นั้น ก็มีผู้ชายสูงวัยท่าทางใจดีคนหนึ่งเดินออกมาขึ้นรถปิ๊กอัพที่จอดอยู่ในลาน ก่อนจะขับออกไปเขายิ้มให้ผมนิดๆ ผมโค้งให้เล็กน้อยพองาม ในใจเดาเอาว่าเขาคงเป็นผู้รับเหมาที่มาซ่อมบ้านนี้

     เราเดินเลียบด้านข้างของบ้านไป มีประตูทางเข้าอยู่หลังบ้าน เราแอบด้อมๆมองๆ ช่างฝีมือที่ทำงานอยู่ในบ้านร้องบอกว่าให้เข้ามาดูข้างในได้ ได้การแล้วเรา มีหรือจะปล่อยโอกาสให้ผ่านไป เรารีบขอบคุณแล้วยกทัพเข้าไปทันที อารามรีบร้อนไปสะดุดกองแป้นเกล็ดไม้สักมุงหลังคาเก่าที่เขารื้อลงมากองไว้เข้า เมื่อก้มลงมองจึงเห็นว่าที่เห็นเป็นหลังคากระเบื้องแหลมเปี้ยวนั้นอันที่จริงไม่ใช่กระเบื้องดอก มันเป็นหลังคาไม้แป้นเกล็ด แต่เป็นไม้แป้น
กระเบื้องไม้ ไม่ใช่ปูน

เกล็ดล็อตนัมเบอร์ไหนเวอร์ชั่นไหนผมก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าผมไม่เคยเห็นมาก่อนเลยในชีวิต จึงถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน คือธรรมดาแป้นเกล็ดเขาจะต้องใช้ขวานถากให้ผิวมันมีร่องให้น้ำไหลง่าย แต่นี่เป็นแป้นเกล็ดโบราณที่ไสผิวบนเสียจนเรียบแปร้ และเมื่อโดนแดดโดนฝนไปนานเป็นสิบเป็นร้อยปีเข้าสีมันก็กลายเป็นสีเทาจนแยกไม่ออกว่าเป็นไม้หรือเป็นกระเบื้อง ยิ่งไปแต่งให้ปลายแหลมเปี๊ยวอย่างนั้นยิ่งดูยังไงก็นึกว่าเป็นกระเบื้องว่าวปูน

     เราเดินผ่านประตูเข้าหลังบ้าน ผมเดาว่าบ้านนี้อายุน่าจะสักร้อยปี ช่างที่ทำประตูนี้จะต้องเป็นช่างญี่ปุ่นหรือไม่ก็ช่างจีนเป็นแน่ เพราะประตูหลังบ้านแบบนี้เป็นไม้สักประณีตทั้งชุด มีหลังคามุง แถมบนหลังคายังมีเสาสลักและคานคาดแบบประตูซินโตของญี่ปุ่นหรือประตูวังของพวกพ่อค้าผู้ร่ำรวยตามหัวเมืองของจีน พอผ่านประตูเข้ามาแล้วเราก็เข้ามายืนอยู่กลางลานหลังบ้านใหญ่ มองไปทางบ้านใหญ่ซึ่งมีสองชั้นจะเห็นผนังไม้สักซึ่งคร่ำคร่าด้วยลายน้ำฝนแต่มองให้ทะลุลอยด่างดวงของน้ำฝนก็จะเห็นความสวยงามของเนื้อไม้สักที่ได้รับการขัดถูเอาคราบไคลออกไประดับหนึ่งแล้ว ลองตั้งใจดูวงกบหน้าต่างและช่องแสงเหนือวงกบประตูที่เป็นวงกลมทับกากบาทเรียงแถวกันอยู่สิครับ มันเนี้ยบเสียจนไม่น่าเชื่อว่าจะทำขึ้นมาได้ด้วยมือคนโดยไม่ใช้เครื่องจักร
จากสวนหลังบ้าน มองย้อนดูตัวบ้านใหญ่

หันมามองทางด้านหลังบ้าน เป็นเรือนคนใช้หรือบ่าวไพร่ คงประมาณนั้น เพราะเป็นอาคารชั้นเดียวและแบ่งเป็นห้องๆ ผนังไม่สักทองซึ่งเพิ่งขัดเสร็จยังไม่ได้ทาแลกเกอร์ ยามที่แดดส่องลงมาจากด้านบน เอาเงาของหางกระเบื้องแป้นเกล็ดเลียนแบบกระเบื้องปูนที่แหลมเปี๊ยบเรียงเป็นแถวราวฟันเลื่อยทาบอยู่บนกระดานไม่สักสวยงามนัก ที่ผมชอบเป็นพิเศษคือเมื่อเงยขึ้นไปมองมุมระหว่างประตูทางเข้ากับเรือนคนใข้ เป็นฟันเลื่อยหางกระเบื้องของซุ้มประตูทางเข้า เล่นมุมกับเงาของหางกระเบื้องหลังคาเรือนคนใช้ที่ทาบอยู่บนเชิงชายและผนังแล้ว เป็นภาพเขียนแนวเพอร์สเพ็คทีฟที่จ๊าบจริงๆ
หัวบันไดทางเดินสำหรับบ่าวไพร่
   เราเดินมาจนสุดสนามหลังบ้าน มาขึ้นบันไดเฉลียง เสาบันได้สองข้างนี้ช่างพอเหมาะพอดีจริงๆ ไม่เรียบเกินไปเสียจนไร้ความรู้สึก แต่ก็ไม่สลักเสลาลวดลายเสียจนแปลกแยกกับความเป็นแค่ทางเดินหลังบ้าน วิธีสลักแบบง่ายๆแต่ไม่ถึงกับเรขาคณิตเกินไปนั้น พอแสงตกกระทบด้านนอกแล้วมันให้เงาด้านข้างและสร้างมิติได้ลึกกว่าความเป็นจริงเสียอีก

     พอขึ้นไปถึงเฉลียง มองไปทางหน้าบ้าน ความรู้สึกแรกของผมก็คือเหมือนผมกำลังอยู่ที่พนมรุ้ง หมายถึงปราสาทหินพนมรุ้งที่สร้างให้ช่องหน้าต่างประตูตรงกันชนิดมองทะลุได้ยาวมาก อาจจะเป็นความตั้งใจจะให้ลมวิ่งผ่านหน้าทะลุหลัง ข้างทะลุข้าง แต่พอทำออกมาแล้วมันเพิ่มความใหญ่ให้บ้านได้ดีจัง
มีช่องให้ลมวิ่งยาว หน้าทะลุหลัง

     ผมเลือกเข้าไปสำรวจในตัวบ้านใหญ่ก่อน ห้องโถงกลางบ้านนั้นใหญ่ก็จริง แต่ไม่ได้โล่งแบบง่ายๆ มีเสาซึ่งสลักร่องดิ่งเหมือนเสาของสิ่งปลูกสร้างในวังของจีนหรือยุโรป มีอาร์คไม้โค้งเป็นช่วงๆเพื่อรับช่องลมซึ่งเป็นซื่ไม้สักแยกโถงโล่งนั้นออกจากกันอย่างน้อยก็ด้วยความรู้สึก มองผ่านซุ้มอาร์คโค้งเหล่านั้นไปทางหน้าบ้าน จะเห็นแสงจากภายนอกแทงทะลุผ่านกระจกสีม่วงแกมแดงซึ่งเป็นช่องแสงเหนือหน้าต่างเข้ามา ทำให้แสงภายในห้องโถงเป็นแสงสีบานเย็นซึ่งอะเมซซิ่งมาก ผนังโถงแต่ละด้านไม่ใช่ผนังลุ่นๆ แต่เป็นผนังที่ซับซ้อนแต่มีเสน่ กล่าวคือเริ่มด้วยระเบียงไม้กันตกรอบโถงสูงแค่ต้นขา ประกบหลังด้วยประตูหรือจะเรียกว่าหน้าต่างสูงก็ได้ เรียงกันตลอดความยาวผนังทุกด้าน เหนือหน้าต่างมีช่องแสงสองระดับ ระดับล่างเป็นช่องแสง
โถงกลางบ้าน อาร์คโค้งแยกความรู้สึกเป็นหลายส่วน และกระจกสีสร้างความอุ่น

กระจกสี ระดับบนเป็นช่องลมเกล็ดไม้สัก ตัวบานหน้าต่างสูงแต่ละบานเองมีกลไกการเปิดสองชั้น คือเปิดทั้งบานแบบประตูทั่วไป หรือจะเปิดบานผลักเล็กเฉพาะหน้าต่างช่องลมเล็กในหน้าต่างบานใหญ่อีกทีหนึ่งก็ได้ กลไกหน้าต่างที่ซับซ้อนแบบนี้ผมเห็นใช้กันมากในอาคารไม้เก่าๆทางยุโรป
บันไดคลาสสิกแบบยุโรป


     บ้านนี้มีบันไดขึ้นชั้นบนขนาดใหญ่สองบันได้ ซึ่งเท่ไปคนละแบบ ผมชอบบันได้หลังมากกว่า เพราะมีราวบันได้ที่จ๊าบที่ลูกหลานของเจ้าของบ้านคงจะใช้เล่นกระดานลื่นได้สนุก ตัวลูกตั้งและลูกนอนของบันไดนั้นผิดวิสัยบันได้ในทางเอเชียทั่วไป คือเป็นบันไดที่มีลูกนอนกว้างระดับหนึ่งฟุตทีเดียว ขณะที่ลูกตั้งไม่ได้สูงมาก ผมคะเนว่าอย่างมากก็ 18 ซม. เป็นบันไดที่เดินสบายมากสำหรับผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังมีห้องใต้บันไดแบบที่นิยมกันในยุโรปอีกด้วย ดูชายของไม้สักที่บุห้องใต้บันไดซึ่งผุกร่อนไปพอสมควรแล้ว งานปรับปรุงคงจะต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยทีเดียว
ห้องโถงหกเหลี่ยม กำธรเสียงน่าจะดีมากกับเปียโนหรือไวโอลิน

      สิ่งที่เตะตาผมที่ชั้นบนคือห้องโถงหกเหลี่ยม ซึ่งมองเห็นวิวพาโนรามาของกว๊านพะเยา เป็นไม้สักทั้งพื้น ผนัง และเพดาน แต่ยังไม่ได้ขูดสีเก่าออก แหม..ถ้าได้เปียโนไม้วอลนัทตัวเก่าๆมาตั้งในห้องนี้สักตัว หรือมีคนสีไวโอลินมือดีๆมาสีสักคน แล้วช่วยเพื่อนฝูงมาร้องเพลงด้วยเสียงสดๆไม่ต้องใช้ไมค์กันในห้องนี้ ผมว่าเสียงจะต้องทั้งเพราะทั้งนุ่มนวลแน่ๆ

     เราชมกันจนจุใจแล้วขอบคุณช่างก่อสร้างก่อนออกมานอกบ้านใหญ่ ผมถามเขาว่าใครเป็นเจ้าของบ้านนี้หรือ เขาตอบว่าก็เถ้าแก่ที่สวนกับคุณที่ข้างนอกไง ผมนึกตำหนิตัวเองในใจว่าไปหาว่าเขาเป็นช่างผู้รับเหมา ที่แท้เขาเป็นเจ้าของบ้านตัวจริงนี่เอง

บ้านเล็กออริจินอล อยู่หลังบ้านใหญ่
     พอออกมานอกบ้านใหญ่ มีบริเวณร่มรื่นหลายไร่ ประมาณสักแปดไร่ได้ละมัง อ้าว มีบ้านหลังเล็กข้างนอกอีกหลังหนึ่งนะ ยังออริจินอลอยู่เลย หมายความว่ายังไม่ได้ซ่อม สีเดิมๆเขียวมะกอกซีดๆ มีมุ้งหมอนผ้าห่มของคนงานตากอยู่ที่ระเบียงหน้าบ้าน แต่ปิดบังความสวยงามของบ้านไม่ได้หรอก มันออกแนววิคตอเรียมากกว่าตัวบ้านใหญ่ แม้จะมอมแมมอยู่กลางสลัมแต่ก็สวยเสียจนขณะมองผมรู้สึกเหมือนได้อยู่ในอดีตที่มีแต่ความสุขกายสบายใจได้
 
     ก่อนจากบ้านโบราณที่ริมกว๊านพะเยาแห่งนี้ ผมก้มต่ำลงสำรวจเชิงวิศวกรรมบ้าง อื้อฮือ..นี่ไม่ใช่งานเล็กเลยนะเนี่ย อย่างน้อยอีกเป็นปีกว่าจะเสร็จ บ้านโกรฟเฮ้าส์ที่ผมซ่อมว่างานช้างแล้ว แต่นี่งานช้างอาฟริกาเลยละ ตงไม้ส่วนใหญ่ผุกร่อนและขาดยุ่ยที่ปลาย ต้องเอาตงใหม่สอดเข้าไปประกบแบบอันต่ออันเพื่อให้ตงถ่ายน้ำหนักลงบนคานได้ โคนเสาไม้สักส่วนใหญ่ขาดกร่อนหมดแล้ว ต้องลงตอม่อคอนกรีตแล้วตีคานพื้นขนาดใหญ่โดยรอบใหม่เพื่อรับหัวตงที่ใส่ใหม่ทั้งหลาย ไม้เคร่าฝาก็ผุกร่อนที่ปลายล่างเกือบหมด ต้องบรรจงถอดไม้ฝากระดานออกเพื่อเสริมเคร่าใหม่ก่อนที่จะเอาไม้ฝากระดานปิดกลับลงไปอีกครั้ง
ส่วนหน้าบ้าน ่งานซ่อมเกือบเสร็จแล้ว

เราเดินออกมาทางหน้าบ้าน งานซ่อมแซมด้านนี้เห็นรูปร่างมากแล้ว ผมจึงถ่ายรูปมาให้ดูหน่อย ฝีมือการซ่อมดีมาก แต่ถ้าเป็นผม ผมจะใช้น้ำมันชักเงาที่ด้านกว่านี้มากๆ คือผมชอบความใสแบบด้านๆ ผมจะชักเงาแบบไม่ให้รู้สึกว่าชักเงาเลย หิ หิ อุ๊บ..ขอโทษที่ทะลึ่งออกความเห็น คนอะไร ไม่รู้จักอายรึไง แอบมาดูของเขาฟรีๆแล้วยังมีหน้ามาเสนอความเห็นอีก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

10 กุมภาพันธ์ 2559

หลอดเลือดในสมองโป่งพอง ต้องผ่าตัดไหม (cerebral aneurysm)

สวัสดีค่ะ  คุณหมอ

มีปัญหาถามค่ะ  ดิฉันบังเอิญไปตรวจ MRI สมองด้วยเรื่องอื่น   แต่ผลกลับเจอว่า มีถุงแบบ saccular  aneurysm ขนาด 4 mm  อยู่ที่เส้นเลือด  paraclinoid segment of left ICA lateral to the origin of left ophthalmic artery.
ดิฉันทำการรักษาโดยวิธีอุดรูด้วยขดลวด  แต่ไม่สำเร็จ ดังนั้น  neurosurgeon บอกว่า วิธีต่อมา  ต้อง ผ่าตัดสมองเพื่อรักษา
ดิฉันขอเรียนปรึกษาว่า  ขนาดถุงของดิฉันนั้น  น่าจะไม่ใหญ่นัก (จากการค้นคว้าอ่าน  เค้าว่าใหญ่กว่า 7 mm จึงจะเรียกว่าขนาดกลาง)  มันจำเป็นจริงๆหรือที่ดิฉันจะต้องเปิดกะโหลดผ่าตัดสมอง  ในเมื่อตอนนี้ดิฉันไม่มีอาการอะไรเลย
ดิฉันคิดว่า  ดิฉันอยากเฝ้ารอติดตามอาการโตของถุงโป่งด้วยการทำ MRI เป็นระยะๆ  หากว่ามันเติบโตอย่างรวดเร็ว  ค่อยตัดสินเรื่องทำการผ่าตัด  หากว่าไม่โต  ก็น่าจะอยู่เฉยๆ  แต่เฝ้า monitor มันต่อไป  คุณหมอว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูกหรือไม่
ปัจจัยเสี่ยงอื่นของดิฉันนั้นควบคุมได้  นั่นคือ  ความดันปกติ  ระดับไขมันในเลือดคุมได้ต่ำด้วยยา  ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลดอฮอล์  กินอาหารสุขภาพ  งานเครียดบ้าง  แต่ตอนนี้ลดความเครียดไปมากแล้ว  และ  ถุงไม่เคยแตกค่ะ (ค้นพบว่ามี  ด้วยความบังเอิญ)
คุณหมอคิดว่า การตัดสินใจของดิฉันนั้นถูกต้องไหมคะ  ขอคำแนะนำด้วยค่ะ  ขอบคุณนะคะ

..............................................

ตอบครับ (1) 

อายุเท่าไหร่แล้วครับ มี ผ. อุ๊บ..ขอโทษ แต่งงานแล้วหรือยัง มีลูกกี่คน ขอน้ำหนักตัว ส่วนสูง อาชีพ โรคที่กำลังป่วยอยู่ และยาที่กินอยู่ประจำด้วย

สันต์
.......................................................

จดหมายจากผู้อ่าน (2)
อายุหกสิบปีค่ะ กินยาลดคลอเลสเตอรอลตัวเดียว  กินวันละเม็ดค่ะ  เพราะประวัติมีคลอเรสตอรอลสูง มานานยี่สิบปี   หมอบอกว่าเกิดจากความเครียด ( เพราะแต่ก่อนเมื่ออายุยังอ่อนกว่านี้ เครียดเรื่องงานมากๆ เพราะคิดว่างานคือชีวิตน่ะค่ะ) โรคอื่นไม่มีค่ะ แต่ก่อนงานเครียดมาก  ตอนนี้ใกล้เกษียณ ปล่อยวางมากขึ้นแล้วค่ะ
สูง149 ซม น้ำหนัก 49 กก ค่ะ อาชีพ ทำงานบริษัท ระดับหัวหน้า แต่จะเกษียณสิ้นปีนี้แล้วค่ะ โสดค่ะ ไม่เคยแต่งงานหรือมีลูกค่ะ เหล้าไม่ดื่ม บุหรี่ไม่สูบ  อาจจะขาดออกกำลัง แต่เดินทุกวันราวยี่สิบนาทีค่ะ
 ไปโบสถ์แทบทุกวัน เป็นประจำค่ะ  ตั้งแต่ยังสาว พี่น้องอายุยืนทุกคน หมายถึง อายุ 72-75  ขึ้นไปจึงเสียชีวิตค่ะ บังเอิญขี้ลืมบ่อยๆ ไปถามหมอ เนื่องจากกลัวว่าจะเป็นสมองเสื่อม หมอบอกไม่เป็น แต่แนะนำว่าจะทำMRI ก็ได้  เลยทำตามแนะนำ ผลออกมาไม่เจออะไร แต่เห็นถุงขนาด4x2 mm ตามที่บอกแหละค่ะ หมอหลอดเลือดสมองแนะนำทำการอุดด้วยขดลวด ก็ทำ แต่อุดไม่สำเร็จ หมอเลยเพิ่งแนะนำต่อว่าให้ผ่าตัดสมอง  ดิฉันก็เลยต้องเขียนมาปรึกษาคุณหมอแหละค่ะ ใจดิฉันคิดว่า น่าจะรอแต่เช็คเรื่อยๆ เช่นทุกหกเดือนด้วยMRI  ว่าโตมากขึ้นไหม หากโตอย่างรวดเร็ว ค่อยคิดเรื่องผ่าตัด( wait and watch carefully) ดีกว่าผลีผลามผ่าตัดสมอง คุณหมอว่า ตัดสินใจถูกไหมคะ

ขอบคุณที่ตอบนะคะ ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

.........................................................

ตอบครับ (2)

     ประเด็นที่ 1. ถามว่าโอกาสที่หลอดเลือดสมองที่โป่งพอง (cerebral arterial aneurysm) ที่ไม่มีอาการอะไรเลย มีโอกาสจะแตกมากไหม ตอบว่าคนที่เดินถนนอยู่ทั่วไป โอกาสที่จะตรวจพบ หรือความชุก (prevalence) ของหลอดเลือดสมองโป่งพองมีอยู่ 5 -10% สำหรับคนที่ตรวจพบว่ามีหลอดเลือดสมองโป่งพองแล้วแต่ยังไม่มีอาการอะไรอย่างคุณนี้ งานวิจัยนานาชาติเรื่องหลอดเลือดสมองโป่งพองที่ไม่แตก (ISUIA) พบว่าโอกาสแตกมีน้อยมาก คือถ้าขนาดต่ำกว่า 10 มม. มีโอกาสแตก 0.05% ต่อปี หรือหนึ่งในพันในเวลาสองปี แปลไทยให้เป็นไทยก็คือโอกาสที่มันจะแตกในสองปี เท่ากับโอกาสที่คุณจะถูกหวยใต้ดินสามตัวหนึ่งครั้ง จากการซื้อสามตัวเพียงครั้งเดียว คุณว่ามันเป็นโอกาสที่มากไหมละ คุณน่าจะตอบได้ดีกว่าผมมั้ง เพราะตัวผมเองไม่เล่นหวย (เคยซื้อหวยใต้ดินครั้งเดียวเมื่อนานมาแล้ว ขนาดฝันเห็นตัวเลขเหน่งๆเลยนะ แต่ก็ยังไม่วายถูกกิน)

     ในอีกด้านหนึ่ง อัตราตายของการผ่าตัดชนิดนี้สูงได้ถึง 3.8% และอัตราเกิดภาวะแทรกซ้อนระดับไม่ตายอีก 15.7% สองตัวเลขหลังนี้คุณจะได้รับทันที่ตัดสินใจผ่าตัด

     บรรดาตัวเลขที่ผมเล่ามานี้เป็นเหตุให้วงการแพทย์ยังเถียงกันไม่ตกฟาก (controversy) ว่าควรจะจับคนไข้แบบคุณนี้ผ่าตัตหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่หมอและคนไข้ต้องใช้ดุลพินิจเอาเอง ผมเองก็แนะนำอะไรคุณไม่ได้เพราะโดยจริยธรรมแพทย์ต้องประกอบวิชาชีพแบบอิงหลักฐาน แต่ว่าหลักฐานมันไม่ชัด ก็เลยต้องตัวใครตัวมัน ผมเล่าความในใจให้ฟังได้ว่า ติ๊งต่างว่าผมเป็นคุณ หมายถึงผมเป็นผู้หญิงอายุเกินห้าสิบไปแล้ว ตัวคนเดียว ไม่มีลูก ไม่มี ผ.คอยห้อยแข้งห้อยขา มีแต่หลอดเลือดสมองโป่งพองขนาดไม่ถึง 10 มม.อย่างคุณนี้ ผมจะไม่คิดอ่านทำอะไรกับมันเลย จะไม่ไปตรวจติดตามดูด้วย แต่ว่าผมมีคำแนะนำให้คุณในสองสามเรื่องดังต่อไปนี้

     ประเด็นที่ 2. คุณควรรู้จัก "ปวดศรีษะอย่างร้าย 5 แบบ” ที่ถ้าเกิดขึ้นกับคุณหรือกับท่านผู้อ่านท่านอื่นก็ตามเมื่อใด เมื่อนั้นต้องรีบไปโรงพยาบาล คือ

     2.1 ปวดศีรษะแบบสายฟ้าฟาด (thunderclap) คือปวดเร็ว ปวดแรง ปวดทันที ปวดถึงขีดสุดสะใจในเวลาไม่เกิน 5 นาที หรือปวดจนปลุกให้คนที่หลับอยู่ดีๆให้ตื่นขึ้นได้ หรือปวดแบบไม่เคยเป็นมาก่อน

     2.2 ปวดศีรษะแรงๆครั้งแรกแบบไม่เคยเจอมาก่อนในคนไข้อายุมากเกิน 50 ปี หรือคนไข้เอดส์ หรือคนไข้มะเร็ง

     2.3 ลักษณะการปวดที่เคยปวดอยู่ประจำมาแต่เดิม แต่มาเปลี่ยนไป เช่น ปวดถี่ขึ้น ปวดแรงขึ้น

     2.4 ปวดศีรษะแบบมีอาการและอาการแสดงของระบบประสาทร่วมด้วย เช่น มีการมองเห็นผิดปกติ หรือคอแข็ง หรือสูญเสียการทรงตัว สูญเสียความจำ หรืออาเจียนพุ่ง เป็นต้น

     2.5 ปวดศีรษะร่วมกับมีข้อมูลอื่นส่อว่าเป็นโรคระดับทั่วร่างกาย (systemic disease) อยู่ด้วย เช่น เป็นไข้ มีความดันเลือดสูง น้ำหนักลด เป็นต้น

     ประเด็นที่ 3. การที่คุณมีไขมันในเลือดสูงมานานหลายปีนั้น เป็นของแสลงอย่างยิ่งกับโรคหลอดเลือดในสมองโป่งพอง เพราะไขมันและความดันเป็นตัวกัดกร่อนความแข็งแรงของผนังหลอดเลือดที่เลวร้ายที่สุด สมัยที่ยังผ่าตัดอยู่ เวลาที่ผมผ่าตัดหลอดเลือดที่โป่งพองทีไร ผมก็จะเห็นแต่ไขมัน ไขมัน ไขมัน เละตุ้มเป๊ะเหลวแหลกเป็นขยะแทรกผนังหลอดเลือดอยู่เต็มไปหมดจนผนังจริงๆแทบไม่เหลือ การที่คุณได้ปลื้มว่าคุณกินยาลดไขมันจนไขมันในเลือดลดลงมาอยู่ระดับปกติแล้วนั้นเป็นความเข้าใจชีวิตที่ผิดไป เป็นสิ่งที่หลอกให้คุณเพิกเฉยต่อสิ่งที่ควรทำอย่างแท้จริงต่อการดูแลตัวเอง นั่นคือการลดอาหารที่มีแคลอรี่สูงลงจนไขมันในเลือดของคุณกลับมาปกติได้โดยไม่ต้องใช้ยาลดไขมัน

     งานวิจัยเปรียบเทียบพบว่ายาลดไขมันไม่อาจทดแทนวิธีลดไขมันด้วยการกินอาหารที่มีพืชเป็นหลักได้ งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารหัวใจอเมริกัน (Am J of Cardiol) เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เปรียบเทียบผู้นิยมบริโภคอาหารเนื้อสัตว์ที่มีไขมันในเลือดสูงแต่ใช้ยาลดไขมันอยู่จนไขมันในเลือดลดลงต่ำพอดี เทียบกับผู้ที่พยายามลดไขมันในเลือดลงจนพอดีเท่ากันได้ด้วยการปรับอาหารมากินพืชเป็นหลักโดยไม่ใช้ยา พบว่าผู้กินเนื้อสัตว์ควบยาลดไขมัน มีอัตราการเกิดจุดจบที่เลวร้ายและอัตราตายจากโรคหลอดเลือดสูงกว่าผู้ที่บริโภคอาหารพืชเป็นหลักที่มีไขมันในเลือดต่ำเท่ากันโดยไม่ต้องใช้ยา ดังนั้นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการขยันไปตรวจ MRI ก็คือการปรับอาหารมาสู่อาหารพืชเป็นหลักและไม่ใช้น้ำมันปรุงอาหาร เพื่อให้ไขมันในเลือดของคุณลดต่ำลงจากการแก้ไขที่ต้นเหตุ จนไม่ต้องใช้ยาลดไขมันซึ่งเป็นการแก้ปลายเหตุเลย คุณจึงจะมั่นใจได้ว่าตัวคุณไม่ได้ไปขย่มให้ผนังหลอดเลือดของคุณให้แตกง่ายยิ่งขึ้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Vernooij MW, Ikram MA, Tanghe HL, Vincent AJ, Hofman A, Krestin GP, et al. Incidental findings on brain MRI in the general population. N Engl J Med. 2007 Nov 1. 357(18):1821-8. [Medline].
2. Aoki N, Beck JR, Kitahara T. Reanalysis of unruptured intracranial aneurysm management: effect of a new international study on the threshold probabilities. Med Decis Making. 2001 Mar-Apr. 21(2):87-96.
3. Bederson JB, Awad IA, Wiebers DO. Recommendations for the management of patients with unruptured intracranial aneurysms: A Statement for healthcare professionals from the Stroke Council of the American Heart Association. Stroke. 2000 Nov. 31(11):2742-50.
4. Ferenczi EA, Asaria P, Hughes AD, Chaturvedi N, Francis DP. Can a statin neutralize the cardiovascular risk of unhealthy dietary choices? Am J Cardiol. 2010 Aug 15;106(4):587-92. doi: 10.1016/j.amjcard.2010.03.077.

[อ่านต่อ...]

06 กุมภาพันธ์ 2559

หัวอกแม่นักศึกษาแพทย์ที่กำลังจะถูกรีไทร์

  เรียนอาจารย์สันต์ที่เคารพ

     ดิฉันมีปัญหาหนักใจที่เหมือนภูเขาทับอกอยู่ที่ทำให้เครียดจนตอนนี้ไม่มีกะใจจะทำอะไรทั้งนั้นแม้แต่ทำงานให้ได้ดีหรือเล่นกีฬาที่ชอบ มันอยากนอนให้ไม่ต้องรู้สึก แต่ความกังวลก็ตามไปในความฝัน พยายามทำอย่างที่คุณหมอเคยบอกว่าถ้าแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้ ก็ต้องทำใจ แต่ก็ทำไม่ได้สักที เรื่องมีอยู่ว่า ลูกชายดิฉันซึ่งตอนนี้เรียนแพทย์ปี3 (ที่สถาบันในกทม.) ในตลอดชีวิตนักเรียนก็สามารถสอบเข้าเรียน รร.ท็อปๆของประเทศได้แบบไม่ต้องใช้ความพยายามทุ่มเทอะไรมาก จนมาสอบเข้าแพทย์คะแนนสอบเข้าหลายวิชาก็หวือหวาทีเดียวจนดิฉันก็รู้สึกวางใจแล้วว่าคงหมดภาระแล้วก็ปล่อยให้เรียนไปจนจบแล้วก็ทำงานไปตามปกติ แต่ก็บอกให้ลูกทำเกรดดีๆ ให้ได้เกียรตินิยมเพื่อจะได้สามารถเลือกเรียนต่อเฉพาะทางอย่างที่ต้องการหรือขอทุนต่างๆได้ แต่เหมือนสวรรค์หมดโปรโมชั่นพอจบปี1ได้เกรด 3 ต้นๆ ติดD มาด้วย หมดสิทธิได้เกียรตินิยม พอปี2เกรด เหลือ 2ต้นๆ F 2ตัว ก็บอกลูกพยายามหน่อยขอแค่พอเรียนให้จบ พอปี3 เกรดเหลือ1 กว่าF อีก2 ตัว ตอนนี้เลยอดคิดไม่ได้ว่าพอขึ้นปี4,5,6 จะเป็นไง จะโดนรีไทล์ตอนปีไหน ถ้าไทล์ตอนปีสูงๆแล้วจะต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ที่ไหน ประกอบกับลูกเป็นคนไม่เข้าสังคมเท่าไรดูแลตัวเองก็ไม่ค่อยเป็นถ้าไม่มีวิชาชีพแพทย์ไว้ปกป้องตัวแล้วจะไปทำงานอะไรได้  สามีก็ปลอบว่ายังไงซะลูกเราก็สอบหมอติดน่าจะเรียนได้อยู่ใน 1% แรกๆของประชากรในรุ่นเดียวกันถ้าต้องไปเรียนอย่างอื่นที่หนักน้อยกว่านี้คงทำได้ดี แต่ตอนนี้ก็เป็นห่วงความรู้สึกลูกว่าจะเหนื่อยหน่ายท้อแท้ขนาดไหน ที่ต้องใช้เวลาปิดเทอมอันน้อยนิดมาเรียนซ่อม จะไปบอกคนอื่นๆที่คอยเฝ้าชื่นชมลูกเรายังไงกลัวเขาผิดหวัง. ลูกจะอายและเครียดขนาดไหนที่ต้องไปเรียนซ้ำชั้นกับรุ่นน้อง จะทำไงไม่ให้ความเครียดของพ่อแม่แผ่ซ่านไปกดดันลูก และกับ ตัวเอง ที่ ต้องแบกภูเขาความกังวลไปอีกเป็นปีๆจนกว่าลูกจะจบหรือโดนไล่ออกจึงจะขอรบกวนปรึกษาคุณหมอดังนี้ค่ะ
     1.จะพูดกับลูกยังไงให้เขามีกำลังใจฮึดสู้โดยไม่เครียด
     2.จะจัดการกับความรู้สึกของดิฉันให้มีกะใจจะดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขได้อย่างไรโดยต้องฝืนทำเป็นเข้มแข็งเพื่อไม่ให้คนรอบตัวเครียด
     3.ดิฉันเคยเห็นตามกระทู้ต่างๆว่ารุ่นนึงๆมีคนที่เรียนแพทย์ไม่จบน้อยมาก สัก 3-4คน     เท่าที่คุณหมอรู้สถานการณ์อย่างลูกดิฉันเข้าใกล้ 3-4คนนั้นแค่ไหนคะ แล้วถึงเกิดฟลุ๊คๆจบได้ ด้วยเกรดแค่นี้จะมีทางต่อเฉพาะทางได้ลำบากยากเย็นขนาดไหนคะ
     4.เป็นไปได้ไหมคะที่ลูกเรียนแย่อย่างไม่น่าเชื่อเพราะที่ผ่านมาไม่เคยชินกับความต้องพยายามอ่านหนังสือมากๆก็ผ่านมาได้พอมาเรียนอะไรที่เนื้อหามากๆก็รับไม่ไหว หรือคุณหมอคิดว่ามีสาเหตุจากอะไรได้บ้างแล้วจะแก้ไขอย่างไรดีคะ
     5.เป็นไปได้หรือไม่คะว่าขีดจำกัดของสมองลูกไม่ถึงพอที่จะเรียนแพทย์ ควรไปเรียนอย่างอื่นแทน

   สุดท้ายนี้ขอกราบขอบพระคุณในการช่วยกรุณารับฟังความทุกข์ของดิฉันและคำแนะดีๆค่ะ
ขอให้อาจารย์มีแต่ความสุขความเจริญยิ่งๆขึ้นไปค่ะ ขอบคุณค่ะ

………………………………………………….

     1. ถามว่า เมื่อมาตกอยู่ในที่นั่งของคุณแม่ที่ลูกเรียนหนังสือทำท่าจะไม่จบ จะจัดการกับความรู้สึกของตัวเองให้มีแก่จิตแก่ใจจะดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างไร ก่อนตอบขอบอกก่อนว่าผมเข้าใจคุณนะ ผมนี้แม้จะไม่เคยเป็น “แม่” ของใครมาก่อน แต่ผมก็เคยเป็น “ลูก” ของแม่มาก่อน ความรักที่แม่มีต่อลูกนั้น มันไม่ใช่มีแค่เมตตาธรรม (kindness) ซึ่งเป็นของบริสุทธิ์เย็นๆใสๆเพียวๆ แต่มันยังมีความเกาะเกี่ยวผูกพัน (attachment) และความคาดหวัง (expectation) ซึ่งเป็นของร้อนที่ห้อยต่องแต่งอยู่บนเส้นด้ายของความไม่แน่นอนและพร้อมจะขาดผึงทุกเมื่อด้วย ดังนั้นต่อคำถามของคุณ ผมตอบว่าวิธีที่จะดำเนินชีวิตต่อไปก็คือคุณควรจะเดินหน้าไปกับเมตตาธรรมที่มีต่อลูกอย่างที่เคยมีไม่ต้องลดละ แต่ควรจะปล่อยวางความยึดถือเกี่ยวพันและความคาดหวังบนตัวลูกลงเสีย ความยึดถือเกี่ยวพันก็คือความรู้สึกที่ว่าเขาเป็นลูกเรา เขาเจ็บเราเจ็บ เขาอาย เราอาย รวมไปถึงความกังวลว่าคนอื่นที่คอยเฝ้าชื่นชมลูกเราจะผิดหวังก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความยึดถือเกี่ยวพัน ส่วนความคาดหวังก็คือความคิดแบบว่าเขาเป็นลูกเราเขาควรจะต้องได้อย่างนั้นอย่างนี้ ที่ผมบอกให้คุณวางทั้งสองอย่างนี้ลงก็เพราะทั้งสองอย่างนี้มันห้อยต่องแต่งอยู่บนความไม่แน่นอนชนิดที่คุณไม่มีทางไปควบคุมบังคับอะไรได้ การมีชีวิตอยู่ของคนเรานี้มันมีความแน่นอนอยู่อย่างเดียวเท่านั้น..คือความไม่แน่นอน หิ หิ ขอโทษที่กวน สรุปว่าถ้าคุณไม่วางมันลง คุณก็มีแต่จะหล่นแอ๊กลงมาบาดเจ็บเท่านั้น

     กลเม็ดที่จะวางความยึดถือเกี่ยวพันลงก็คือการฝึกอยู่แต่ในโลกของวันนี้ การอยู่กับสิ่งที่คุณกำลังมีอยู่ กำลังเป็นอยู่ ในปัจจุบัน being here and now กำลังอยู่ตรงนี้ หายใจเข้า หายใจออก ตามองเห็นภาพ หูได้ยินเสียง ผิวได้รับสัมผัสกระแสลม ใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้า ไม่ต้องไปคิดคร่ำครวญถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ยิ่งไม่ต้องไปคิดพะวงถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เฉยไว้..เดี๋ยวทุกอย่างดีเอง การจะทำตรงนี้ได้สำเร็จคุณต้องฝึกสติ ผมเคยเขียนตอบในบล็อกนี้ไปหลายครั้งเรื่องการฝึกสติ ทั้งแบบ MBT (http://visitdrsant.blogspot.com/2015/10/blog-post_17.html) และแบบ MBSR (http://visitdrsant.blogspot.com/2014/06/mbsr.html) คุณลองย้อนหาอ่านแล้วหัดทำตามนั้นเลย นี่เป็นหนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาให้คุณได้ หนทางอื่นผมมองไม่เห็น  

     2. ถามว่าการจะฝืนทำเป็นเข้มแข็งเพื่อไม่ให้คนรอบตัวเครียด มีวิธีทำอย่างไร ตอบว่า คุณก็ใช้วิชา “ใจดีสู้เสือ” สิครับ ประเด็นสำคัญคืออย่าไปกังวลสนใจถึงคนอื่นเลย เอาตัวคุณเองให้รอดก่อน สงครามของคุณเกิดขึ้นในตัวคุณ ตัวคุณที่มีเนื้อหนังจากหัวถึงเท้าบวกจิตใจและความจำจากอดีตอยู่ในหัวด้วยเนี่ยแหละ คุณต่อสู่ที่นี่ ไม่ต้องไปต่อสู้ที่อื่นเลย วิธีสู้ก็คือ..ใจดีสู้เสือ คุณเดินคนเดียวในป่า เจอะเสือโคร่งตัวใหญ่จ๊ะกันซึ่งๆหน้า คุณจะทำไงละ คุณก็ต้องตั้งสติใช่แมะ ไม่ คุณวิ่งหนีไม่ทันแล้ว ถ้าหันหลังวิ่งหนี คุณตายแน่ แต่หากตั้งสติเผชิญหน้า คุณอาจรอด ไม่มีเวลาสนใจความกลัวแล้วตอนนี้ ยืดหน้าอกขึ้น หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกช้าๆ คุณกำลังเผชิญหน้ากับเสือ ย่อเข่าลงเล็กน้อย พร้อมขยับ กางแขนและมือสองข้างของคุณออก คุณกำลังใช้ความใหญ่ของคุณให้เป็นประโยชน์ คุณหายใจเข้าช้าๆ ออกช้าๆ ตาจ้องตาเสือ จิตนิ่ง เคลื่อนไหวมือที่กางออกไปอย่างช้าๆ รู้ตัวทุกขณะ ว่าคุณกำลังมีสติขณะเคลื่อนไหว คำรามในคอเบาๆด้วยความมั่นใจและด้วยสติที่แน่วแน่ สนใจแต่ขณะจิตนี้ ไม่สนใจขณะจิตหน้า รู้แต่ว่าวินาทีต่อจากนี้ไป ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คุณก็ตัดสินใจสนองตอบช็อตต่อช็อต นี่แหละคือเทคนิคใจดีสู้เสือ จะว่าเป็นการแสร้งทำเป็นเข้มแข็งก็ไม่เชิงนัก เป็นการใช้ความเข้มแข็งทั้งหมดที่เรามีในยามวิกฤติมากกว่า  

     3..ถามว่าหมอสันต์เห็นว่าสถานการณ์อย่างลูกของคุณมีโอกาสจะเรียนแพทย์ไม่จบสักแค่ไหน ตอบว่า ปีหนึ่งสอบได้เกรด 3 ปีสองสอบได้เกรด 2 ปีสามสอบได้เกรด 1 แถมติด F อีกสองตัว โอกาสเรียนจบอยู่ในระดับ..ลูกผีลูกคนครับ ถ้าแก้ F สองตัวนี้ไม่ได้ก็..ปิ๋ว..ว ถ้าแก้ได้ก็เท่ากับได้ระฆังหมดยกช่วย มีโอกาสได้ไปลุ้นอีกทีตอนปีสี่

     4. ถามว่าจะพูดกับลูกยังไงให้เขามีกำลังใจฮึดสู้ ตอบว่าก็พูดแบบสอนให้คนทำใจดีสู้เสือนั่นแหละครับ แต่ว่าคำสอนอย่างเดียวไม่พอ ลูกของคุณอยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมมาก ผมแนะนำว่าคุณควรทำสิ่งต่อไปนี้เพิ่มด้วย

     4.1 ปลดความคาดหวังออกจากบ่าของลูกด้วย เพราะลำพังการเรียนการสอบก็สาหัสอยู่แล้ว แต่การต้องแบกความคาดหวังของพ่อแม่และคนรอบข้างนี้สาหัสกว่า วิธีปลดความคาดหวังก็คือตัวคุณต้องเลิกคาดหวังให้ได้จริงๆก่อน แล้วสื่อสารให้ลูกรู้ ให้ลูกสบายใจ ว่าทำสุดฝีมือไปเถอะ ข้างหน้าจะได้จะตกอย่างไรพ่อแม่รับได้ทั้งนั้น

     4.2 ปลดความยึดถือผูกพันลงไปเสียด้วย การที่เห็นลูกเป็นทุกข์แล้วเราก็แสดงความทุกข์ให้ลูกเห็นด้วย ภาษาจิตแพทย์เขาเรียกว่าเป็นสถานะการณ์ “อารมณ์ซ้อนอารมณ์” ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่จะซ้ำเหงาให้คนใกล้บ้า กลายเป็นบ้าไปจริงๆ

     4.3 สิ่งที่ลูกต้องการตอนนี้ไม่ใช่แค่การสนับสนุนทางจิตใจ แต่การเรียนของเขามีปัญหามากเสียจนต้องการการช่วยเหลือเรื่องการเรียนด้วย คุณหรือสามีจะต้องหาทางช่วยเรื่องการเรียนของเขา ขอดูคะแนนรายวิชา รับฟังปัญหา คิดหาทางช่วยแก้ไข ตัวเองช่วยไม่ได้ก็ไปหาคนอื่นที่ช่วยได้มาช่วย เช่นไปขอพบหารือกับอาจารย์ที่ปรึกษาของลูก ไปเสาะหาคนที่ช่วยการเรียนของลูกได้มาช่วย เช่นญาติพี่น้องที่เรียนแพทย์หรือเป็นหมอ หรือแม้กระทั่งจ้างนักเรียนแพทย์รุ่นพี่สักคนให้เข้ามาช่วย เป็นต้น  

     5. ถามว่าถ้าจบด้วยเกรดต่ำ จะมีทางต่อเฉพาะทางได้ไหม ตอบว่า โถ..คุณแม่ขา เอาเรื่องของวันนี้ก่อนได้ไหม อย่างไกลที่สุดเอาแค่ขอให้เขาได้รอดขึ้นปีสี่ก่อนดีไหม เอาทีละช็อต อย่าข้ามช็อตไปไกลถึงจบแพทย์แล้วจะอย่างไรต่อเลย มันผิดหลักชีวิตข้อที่ว่าให้อยู่กับปัจจุบัน

     6. ถามว่าเป็นไปได้ไหมที่ลูกเรียนแย่เพราะไม่เคยชินกับการเรียนที่เนื้อหามากจนรับไม่ไหว หรือว่าสมองลูกมีไม่ถึงพอที่จะเรียนแพทย์ หรือหมอสันต์คิดว่ามีสาเหตุจากอะไร ตอบว่าเป็นไปได้ทั้งนั้นแหละครับ สาเหตุมีได้ร้อยแปด และส่วนใหญ่เป็นการประชุมแห่งเหตุ การจะรู้ได้ต้องตะล่อมคุยกับตัวลูกเอง คุยเพื่อนของลูก คุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาของลูก หรือแม้กระทั่่งพาลูกไปคุยกับจิตแพทย์ เป็นต้น การค้นหาสาเหตุเป็นเรื่องที่ดีและควรทำ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือเมื่อรู้สาเหตุแล้วควรรีบช่วยแก้ไขทันที ควรจะแก้ตั้งแต่เมื่อเทอมแรกที่รู้ว่าผลการเรียนเริ่มแย่ลง

     7. ถามว่าถ้าสมองไม่พอควรไปเรียนอย่างอื่นแทนดีไหม  ตอบว่าตอนนี้อย่าเพิ่งคิดไปถึงโน่นเลยครับ ตอนนี้มาโฟกัสที่การแก้ปัญหาการเรียนก่อนดีกว่า ถ้าแก้ไม่สำเร็จ ถูกรีไทร์แน่นอนแล้วค่อยมาคิดถึงการไปเรียนอย่างอื่นก็ยังไม่สาย

     พูดถึงการมีอาชีพ อาชีพอะไรก็ดีเหมือนกันหมดแหละครับ ขอให้เป็นสัมมาอาชีพเถอะ การเกิดมาเป็นคนนี้ประเด็นสำคัญไม่ใช่อยู่ที่การจะมีอาชีพอะไร แต่อยู่ที่การรู้วิธีใช้ชีวิตให้ตัวเองมีความสุขหรือเปล่ามากกว่า

     นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
.........................................................

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 1

     ขออนุญาติแชร์ประสบการณ์ครับ ผมเรียนผ่านปี 1-3 มาด้วยเกรด GPAX 3.8 ไม่มีปัญหาด้านการเรียนเลยแม้แต่นิด แต่พอขึ้นปี 4 เจอปัญหาเรื่องอื่นจนสุดท้ายก็มากระทบกับการเรียน เริ่มเรียนไม่รู้เรื่อง หัวช้า ฟังไม่ทัน ปฎิบัติไม่รอดจนสูญเสียความมั่นใจสุดๆ และWithdraw ไป 2 ครั้ง รวมถึงมาเป็น mdd กับ anxiety อย่างหนัก ไม่ว่าจะกินยาก้แล้ว ทำจิตบำบัดก็แล้ว ท้ายที่สุดผมเสีย self esteem ไปจนหมดสิ้น ถึงขนาดยื่นขอจบปี 4 ด้วยซ้ำ ผมคิดด้วยซ้ำว่าผมมันโง่ วิชาหมอเรียนไม่สนุกเลย ไม่เหมาะกับเรา ยากเกินไป ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้เคยชอบมัน(บ้าง) สุดท้ายผมก็ตัดสินใจดรอป 1 ปี ตอนนั้นผมคิดว่าชีวิตคงหมดหนทางเดินต่อแล้ว เรียนมาตั้ง4ปี จะไปเริ่มใหม่ก็ลำบาก เนื้อหามัธยมก็ลืมซะหมดจะไปเอ็นใหม่ก็ยาก ผมเข้าใจความคิดคุณแม่ยครับว่ารู้สึกหมดอนาคตมันเป็นยังไง ช่วงที่ดรอปผมโชคดีมากที่ผมกล้าตัดสินใจไปสมัครงานpart time เป็นreceptionist ที่hostel

     หลังจากที่ดรอปมานอนให้เวลาผ่านไปวันๆ ผมเริ่มเรียนรู้ใหม่ จากอะไรที่ทำไม่ได้ก็เริ่มทำได้(ถึงการเรียนหมอมันยากกว่ามาก) มันก็เหมือนกับการเรียนหรือการทำอะไรก็ตามที่แม้ว่ามันจะยาก แต่ถ้าเราทำมันไปเรื่อยๆทีละนิดมันก็ดีขึ้นได้ ซึ่งผมก็ได้ยินประโยคนี้มานานแต่พึ่งมาเข้าใจด้วยตัวเองไม่นานมานี้ (ถึงแม้เวลามันจำกัดมากก็ตามในระบบการเรียน แต่หมอเขาให้เรียนตั้ง12 ปีนะครับ) ผมเริ่มไปออกกำลังกายทุกวัน จากร่างกายอ่อนแอสุดๆก็กลับมาแข็งแรงมากๆได้ สุดท้ายผมก็หยุดยา mdd และanxiety กลับมาเป็นคนเดิมๆที่มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น และมีทัศนคติต่อโลกที่ดีขึ้นด้วย และกำลังจะกลับไปเรียนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าครับ

     ผมบอกไม่ได้ว่าผมจะกลับไปเรียนรอดหรือเปล่า แต่หลังจากผมออกมาจากโรงเรียนแพทย์จากเดิมที่คิดว่าเรียนไม่จบที่นี้ชีวิตจะตายแล้วแน่หมดหนทาง แต่พอผมไปทำ hostel เจอผู้คนมากขึ้น คุยกับคนมากขึ้น ผมรู้แล้วว่าจริงๆแล้วชีวิตมันยังมีหนทางอีกมาก ถึงแม้เรียนหมอไม่ไหว แต่ไม่ได้หมายความว่าชีวิตมันจะจบแค่นั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผมได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์ และนักจิตวิทยา ผมคิดว่าน่าจะดีถ้าน้องได้ปรึกษานักจิตวิทยาครับ สาเหตุที่เรียนได้ไม่ดีมีมากมาย สมาธิ ความสนใจ ความถนัด เทคนิกการเรียน แต่ทุกสาเหตุมีทางออกครับ

............................................

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 2

     ตอนผมสอบติดแพทย์แล้วเข้าเรียนแพทย์ สิ่งที่แม่ผมกลัวที่สุดนั้นไม่ใช่กลัวผมเรียนไม่จบครับ แต่แม่กลัวว่าผมจะเรียนไม่ไหวจนเครียดแล้วเป็นบ้าไป แม่กลัวที่สุดคือกลัวผมบ้า ท่านก็มักบอกผมเสมอว่าเรียนไม่ไหวไม่เป็นไรนะ อย่าเครียดจนเป็นบ้าละกัน ผมเลยเรียนแบบสบาย ๆ ไม่ต้องแบกความคาดหวังของพ่อแม่อยู่ตลอดเวลา แล้วผมก็เรียนจนจบแบบสบาย ๆ ผมก็เลยเรียนไปด้วย ทำกิจกรรมต่าง ๆ ไปด้วย มีเพื่อนคณะต่าง ๆ มากมาย ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยเป็นช่วงที่ชีวิตมีคสามสุขที่สุด ทุกวันนี้ยังคิดขอบคุณ คุณแม่คนดีที่หนึ่งเลย

.........................................................

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 3

     ชอบคำตอบคุณหมอ และความปรารถนาดีของทุก comment นะคะ แต่อ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นความทุกข์ใจของคุณแม่ที่คิดว่าลูกเรียนไม่ไหวเพราะสาเหตุต่างๆที่คุณแม่คาดว่า หรือกังวลว่าเป็นเช่นนั้น เป็นไปได้หรือไม่คะว่าการเรียนที่ตกต่ำลงเกิดจากสาเหตุอื่น เช่นลูกไม่ได้อยากเรียนหมอตั้งแต่แรก แต่เรียนดีมาตลอดจึงคิดว่าเป็นทางเลือกที่เหมาะ อย่างที่คุณแม่คิดว่าถ้าไม่มีวิชาแพทย์ปกป้องแล้วลูกจะลำบาก หรือลูกอาจจะอยากเรียนทีแรกแต่เรียนไปแล้วอาจพบว่าไม่ใช่สิ่งที่ชอบ หรืออาจมีปัญหาส่วนตัวที่คิดไม่ตก อะไรต่างๆที่ไม่ใช่เรียนไม่ไหวนะคะ คุณแม่ลองคุยหาสาเหตุก่อนดีไหมคะ อาจจะเข้าใจเรื่องราวและแก้ไขได้ถูกทางค่ะ เป็นกำลังใจให้นะคะ และต้องขอโทษด้วยถ้าออกความเห็นไปโดยข้อมูลไม่ครบถ้วนค่ะ
............................................

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 4

     นอกเหนือจากที่คุณหมอสันต์ท่านแนะนำแล้ว ดิฉันว่าควรพาลูกชายไปพบจิตแพทย์ด้วยค่ะ ไม่ใช่ว่าเขาเป็นบ้าอะไรนะคะ แต่การไปพบจะช่วยทางด้านจิตใจ ให้เขาได้ระบายหรือพูดคุยสิ่งที่เป็นความทุกข์ในใจ อย่างน้อยจิตแพทย์ก็เป็นผู้ที่เรียนเหมือนเขา เรียนหนัก เรียนยาก ต้องใช้ความพยายามสูง จะเข้าใจเขา เพราะเคยเดินผ่านเส้นทางแสนโหดนั้นมาแล้ว ลองดูนะคะ เผื่อว่าเขาจะปรับเปลี่ยนตัวเองไปในทิศทางที่ดีขึ้น เป็นกำลังใจให้ค่ะ
.........................................

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 5

     ดิฉันเป็นป้า เจอปัญหาเดียวกะคุณ ครั้งแรกในชีวิต ที่หลานสอบไม่ผ่าน ดิฉันก็จะบอกว่า ป้าก็เคยสอบตกนะ แนะนำให้อ่านหนังสือร่วมกับเพื่อนเป็นกลุ่ม บางทีเราอาจเข้าใจไม่ถูกต้อง เพือนๆก็ช่วยเราได้ หลานก็กลัวเกรดไม่ดี ไม่ได้เรียนต่อเฉพาะทาง ดิฉันก็บอกว่า หมอบางคนเกียรตินิยม แต่ทำงานไม่ได้เรือง และเวลาคนไข้มาหาหมอ ไม่เคยถามว่า หมอได้เกรดเท่าไร ทำวันนี้ให้ดีที่สุด เอาแค่ให้สอบผ่านก่อน เรื่องอื่นๆไม่ต้องคิด คุณแม่ควรให้กำลังใจ ทุกครั้งที่หลานสอบ จะโทรมาขอคำอวยพร ดิฉันเป็นกำลังใจให้นะคะ
..................................................

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 6

     บอกคุณลูกนะค้า เรียนแค่ผ่านทําให้เต็มที่ได้แค่ใหนแค่นั้นแม้จะซ่อม ก็ค้องซ่อมไม่แปลกเลย ได้2.00 แม่ก็ดีใจแล้ว บอกลูกไปเลยว้าแม่ไม่ได้คาดหวังว่าลูกต้องได้เกียตินิยม แค่ผ่านแม่ก็ดีใจ
แล้วลูกจะไม่เครียดเรียนสบายเพราะไม่มีแรงกดจากพ่อแม่ ทั้งๆที่ใจของพ่อแม่วิตกกังวลแทนลูก แต่ต้องแสดงให้ลูกเห็นว่าเรื่องเรียนธรรมดา เราเรียนแค่ผ่านทําเต็มที่แล้ว แม้ตกก็ไม่แปลก คนอื่นๆเขาก็ตกกัน
ลูกจะรู้สึกสบายใจที่พ่อแม่ไม่คาดหวังในตัวลูก จากประสบการณ์นะค้า ขอให้โชคดีค้า

..................................................

จดหมายจากท่านผู้อ่าน 7

     ได้เรียนรู้ปรัชญาชีวิตจากบทความนี้มากมาย ขอบคุณอาจารย์มากๆนะคะ ขอฝากกำลังใจให้คุณแม่และน้องด้วยค่ะ เรียนเก่งจนสอบเข้าได้ขนาดนี้ น้องต้องผ่านเรื่องนี้ไปได้แน่ๆ ^^ 

     สำหรับคนเป็นครูและนักแปลอย่างหนู ทั้งๆที่เป็นคนสอนวิชาการให้ลูกศิษย์ แต่ในทางกลับกัน ตัวหนูเองก็ได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากลูกศิษย์ในทุกๆวันนะคะ ลูกศิษย์หลายคนเรียนวิชาการเก่ง เรียนรู้เร็วและเข้าใจง่าย ทุกคนเชื่อว่าเด็กกลุ่มนี้จะมีอนาคตและอาชีพการงานที่ดีแน่ๆ 

     ในขณะที่ลูกศิษย์บางคนเรียนได้แค่ปานกลางหรืออ่อน แต่เด็กๆกลุ่มนี้ หนูคิดว่าพวกเขายังมีความฉลาดทางอารมณ์มากกว่าหนูเสียอีกนะคะ เด็กๆกลุ่มนี้มักไม่ค่อยอ่อนไหวกับเรื่องต่างๆ พวกเขาเข้ากับใครๆได้ง่ายไม่ว่าจะรุ่นเดียวกัน รุ่นน้อง หรือผู้ใหญ่กว่า เด็กๆกลุ่มนี้มักให้ความรักผูกพันกับเพื่อนและครูมากกว่า พวกเขาแม้จะเรียนเพียงปานกลาง แต่เป็นที่รักของคนรอบข้าง พวกเราที่เป็นครูจึงมักเอ็นดูและพร้อมจะช่วยเขาเสมอ หนูเชื่อว่าเมื่อโตขึ้นเด็กๆกลุ่มนี้ก็จะมีทางเดินชีวิตของตัวเองเช่นกันค่ะ 

     แต่สิ่งที่หนูตั้งคำถามกับตัวเองก็คือเด็กสองกลุ่มนี้ กลุ่มไหนกันแน่ที่จะมีความสุขในชีวิตมากกว่ากัน และแม้ว่าหนูจะพยายามทำงานให้ดีให้สำเร็จ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่หนูหวังให้ตัวเองมีกลับเป็นความสุขสงบในใจมากกว่า

     ในที่สุดหนูเชื่อว่าน้องจะพบทางเดินของตัวเองได้ และที่ปลายทางนั้นจะมีความสุขของน้องรวมอยู่ด้วย


ขอเอาใจช่วยทั้งคุณแม่และน้องนะคะ ^^
.........................................
[อ่านต่อ...]

03 กุมภาพันธ์ 2559

โรคหัวใจระดับที่หมดหนทางไปต่อ

     ดิฉ้นขอเรืยนถามคุณหมอเกื่ยวกับเรื่องโรคหัวใจค่ะ คือสามีดิฉ้นไปทำบายพาสมา3เสัน แล้วพร้อมทั่งใส่กล่องกระตุ้นหัวใจมาด้วยเพราะกล้ามเนื้อแกตายไปแล้ว 75 เปอรเซ็นแต่ขณะนี้ไปตรวจมาพบว่ามีเส้นเลือดอุดตันอีกเส้นหนึ่งแล้วทำให้แกเหนื่อยง่ายหงุดหงิดง่าย
ไปหาคุณหมอทื่เคยผ่าตัดก็บอกว่าอันตรายผ่าไม่ได้อีกแล้ว ตอนนี้ก็ให้ยามาทานปกติยังไม่ได้ทำอะไรต่อไม่ทราบว่าคุณหมอพอจะแนะนำการปฎิบัติตัวอย่างไรได้บ้างคะ

..................................

     ตอบครับ

     ก่อนตอบคำถาม ผมขอสรุปสถานการณ์เจ็บป่วยของคุณสามีก่อนนะ เพราะคุณให้ข้อมูลมาน้อยเหลือเกิน ผมต้องใช้วิชาเดาแอ็ก (ไม่ใช่ diag) ประกอบ แต่ผมไม่ได้ต่อว่าอะไรคุณนะ เพราะแฟนบล็อกหมอสันต์ส่วนใหญ่ก็วัยเดียวกับหมอสันต์ขึ้นไปทั้งนั้น บ้างเพิ่งมาหัดเข้าเน็ตเอาตอนที่หาคนคุยด้วยไม่ได้แล้วเพราะทนเหนื่อยจากการตะโกนใส่หูกันไม่ไหว การจะพิมพ์อะไรยาวๆจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เริ่มพิมพ์คอมเมื่อกินข้าวอิ่ม กว่าจะจิ้มอักษรบนแป้นได้แต่ละตัวจบก็ถึงเวลาอาหารมื้อต่อไปพอดี ผมจึงขออนุญาตสรุปเอาเองว่าคุณสามีอายุน่าจะประมาณ 60-70 แล้ว ป่วยเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute MI) ถูกหามเข้าโรงพยาบาล หมอรักษาด้วยการทำผ่าตัดแก้ไขหลอดเลือดหัวใจตีบ (bypass) แล้วมีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจตายเป็นบริเวณกว้าง (large infarct) มีอาการหัวใจล้มเหลว (CHF) หมอเขาจึงใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจห้องล่างแบบกระตุ้นสองห้องให้เต้นเข้าขากัน เพื่อให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้นอีกสักเล็กน้อย และผมเดาต่อเอาว่าเขาใส่เครื่องรุ่นมีเครื่องช็อกไฟฟ้าในตัวเผื่อกรณีหัวใจหยุดเต้น (cardiac resynchronization therapy defibrillator - CRT-D ) มาให้ ประเด็นปัญหาที่คุณอยากถามก็คือ

     1. เมื่อโรคเป็นมากจนหมอบอกว่าทำอะไรให้ไม่ได้แล้ว ได้แต่ให้ยามากิน จะมีวิธีดูแลตัวเองต่อไปเองไหม หรือว่าต้องสิ้นสุดกันแค่นี้ รอวันตายอย่างเดียว

     2. ความรู้สึกซึมเศร้าหรือโมโหฉุนเฉียวที่ตามหลังการเจ็บป่วยขนาดใหญ่อย่างนี้ จะทำอย่างไรกับมันดี

     เอาละ ทีนี้มาตอบคำถามของคุณ

     1.. ถามว่าคนเป็นโรคหัวใจขาดเลือดระดับ..เยอะ อย่างคุณสามีนี้ ถ้าหมอเขาไม่รับเย็บ..เอ๊ย ไม่ใช่เขาผ่าให้แล้วก็ยังเป็นอีกจนเขาไม่ยอมผ่าให้อีกแล้ว ควรทำอย่างไรต่อไป ตอบว่า ผมจะเล่างานวิจัยเท่าที่มีทำกันมาในวงการแพทย์ว่าคนที่เป็นโรคหนักระดับสามีของคุณนี้ มีใครเคยวิจัยวิธีรักษาอย่างไรไว้บ้าง และมันได้ผลอย่างไร ให้ฟังนะ

     งานวิจัยที่ 1. โรคที่สามีของคุณเป็นนี้จริงๆแล้วมันคือโรคหลอดเลือดแดงตีบแข็ง (atherosclerosis) แต่กรณีสามีของคุณโรคมาเป็นหนักที่หลอดเลือดหัวใจเราจึงเรียกว่าโรคหัวใจ ย้อนหลังไปตั้งต้นในยุคที่วงการแพทย์ยังไม่รู้วิธีผ่าตัดบายพาสและไม่รู้วิธีทำบอลลูนนะ ราวปีค.ศ. 1940 (ขอโทษนะที่สมองผมจำเรื่องที่เมืองนอกเป็น ค.ศ. มันแก้ไม่ได้ คุณไปบวก 543 ให้มันเป็นพ.ศ.เอาเองก็แล้วกัน) สมัยนั้นคนป่วยแบบสามีคุณนี้เขาเหมาเข่งเรียกรวมๆกันว่าโรคความดันสูงอย่างร้าย คือเป็นโรคหลอดเลือดแดงตีบแข็งระดับหลายอวัยวะรวมกันมีทั้งปัญหาหัวใจ ไขมัน ความดัน แต่หมอสมัยนั้นถนัดวัดความดันอย่างเดียวก็เลยรักษาความดันเป็นหลัก รักษาแบบไม่มียาดีๆแบบสมัยนี้ด้วยนะ ให้นอนนิ่งๆ ให้อยู่ดีๆ ให้กินดีๆ แต่คนไข้ก็จะความดันสูงขึ้น ๆๆๆ จนหลอดเลือดแตกโพล้ะ..ตาย คือไม่แตกในท้องก็แตกในสมองหรือไม่ก็แตกในลูกตา

     ในยุคนั้นมีหมอคนหนึ่งชื่อแคมป์เนอร์ (Walter Campner) อยู่ที่มหาลัยดุ๊ค ได้เกิดความคิดแหกคอกขึ้นมาว่าทำไมกุลีจีนในเหมืองทองไม่เห็นพวกเขาจะเป็นหัวใจวายหรือความดันเลือดสูงจนเส้นเลือดแตกตายกันบ้างเลย มันต้องเป็นเพราะฝรั่งอยู่ดีกินดีกินหมูเห็ดเป็นไก่นี่แหละจึงทำให้ป่วยเป็นโรคประหลาดอย่างนี้ หมอแคมป์เนอร์ก็เอาคนไข้ที่ป่วยระดับเหลือกำลังลากเหล่านี้มาทดลองรักษาด้วยวิธีของตัวเอง วิธีของหมอแคมป์เนอร์คือไม่ให้กินดีๆ ให้กินแต่ข้าวต้มขาวๆอย่างที่กุลีจีนเขากินกัน กินแค่เนี้ยะ ทุกวัน ทุกมื้อ แล้วไม่ให้อยู่ดีๆด้วยนะ บังคับให้ลุกเดินเหินออกกำลังกายแบบกุลีทุกวัน ตัวชี้วัดที่เขาใช้คือความดันเลือด ไขมันในเลือด น้ำหนัก (เพราะคนไข้ส่วนใหญ่อ้วน) ภาพถ่ายตัวคนไข้ และภาพถ่ายจอประสาทตา คือคนเราถ้าโรคหลอดเลือดแดงตีบแข็งนี้เป็นมากถึงขนาด หลอดเลือดที่จอประสาทตาจะตีบเพราะไขมันพอก ไขมันบางส่วนเล็ดออกนอกหลอดเลือดออกมาจับกลุ่มอยู่บนพื้นจอประสาทตา หลอดเลือดฝอยบางส่วนจะแตก เลือดเปรอะจอประสาทตา เรียกว่าถ่ายรูปจอประสาทตาออกมาให้นักเรียนแพทย์ทุกคนดูก็จะวินิจฉัยได้ว่าคนนี้เป็นโรคหลอดเลือดแดงตีบแข็ง หมอแคมป์เนอร์รักษาคนไข้ไปกี่คนไม่มีใครรู้ รู้แต่ว่าภาพถ่ายคนไข้ก่อนและหลังการรักษา ภาพถ่ายจอประสาทตาก่อนและหลังการรักษา และตารางความดันเลือดและน้ำตาลในเลือดก่อนและหลังการรักษาที่เขาเอามาแสดงในที่ประชุมแพทย์และตีพิมพ์ไว้ในวารสารการแพทย์นั้นมันให้ผลดีอย่างเหลือเชื่อ คือที่อ้วนก็กลับผอม จอประสาทตาที่เคยมีเลือดออกเลอะเทอะเจียนบอดก็กลับเป็นปกติ ความดันที่เคยสูงก็กลับเป็นปกติ ไขมันในเลือดที่สูงก็กลับมาปกติ ที่เป็นความดันสูงจนไตวายไตก็กลับมาทำงานเป็นปกติ

     แต่วงการแพทย์สมัยนั้นไม่ยอมรับความสำเร็จของหมอแคมป์เนอร์ และเรียกร้องให้หมอแคมป์เนอร์ทำการวิจัยพิสูจน์ด้วยการเอาคนไข้มาจับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่มเปรียบเทียบวิธีรักษากัน หมอแคมป์เนอร์ก็ยั้วะว่าอะไรกันว่ะ (นี่หมอสันต์ “ว่ะ” เองนะ หมอแคมป์เนอร์ตัวจริงเขาเป็นคนสุภาพ ไม่พูดอย่างนี้ดอก) หมอแคมป์เนอร์บอกว่าหลักฐานแค่นี้มันมากเกินพอที่จะยืนยันแล้วว่าผลการรักษามันดี ถ้าทำวิจัยแบบจับฉลากแบ่งกลุ่ม ในกลุ่มที่จับฉลากได้ว่าต้องรักษาด้วยวิธีห้ามกินหมูเห็ดเป็ดไก่ให้กินแต่ข้าวต้มและถูกบังคับออกกำลังกายไม่ให้นั่งๆนอนๆ คนไข้บางคนก็จะไม่ยอมทำ เพราะไปบังคับเขา เขาไม่ได้สมัครใจอยากทำ งานวิจัยแบบนี้ก็จะล้มเหลว จึงไม่ยอมทำวิจัยแบบนั้น เมื่อไม่ทำวิจัยแบบนั้น เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมแพทย์ก็ไม่เชื่อวิธีของหมอแคมป์เนอร์ หมอปากไม่ดีบางคนก็ว่าหมอแค้มป์เนอร์มั่วตัวเลขขึ้นมา หมอแค้มป์เนอร์ก็ยั้วะอีกว่ารูปถ่ายจอประสาทตาแบบเนี้ยะ มีใครหน้าไหนทำปลอมขึ้นมาได้ไหม สรุปก็คือว่าไม่มีใครยอมใครจึงต้องเลิกประชุมกลับบ้านใครบ้านมันโดยที่มาตรฐานวิธีการรักษาคนไข้โรคนี้ก็ยังทำกันแบบเดิม คือใครเป็นโรคหัวใจให้นอนนิ่งๆ จะลุกไปอึยังไม่ได้เลย ต้องอึบนเตียงนั้นแหละ (จริงๆ)  ให้กินดีๆ กินหมูเห็ดเป็ดไก่ และกินยากันต่อไป

     งานวิจัยที่ 2. ในช่วง 10 ปีต่อจากนั้น มีวิศวกรที่ร่ำรวยเงินทองคนหนึ่งชื่อพริตติคิน (Nathan Pritikin) เขาป่วยเป็นโรคหัวใจแบบสามีของคุณนี้แหละ แต่เขาเป็นตั้งแต่อายุสี่สิบกว่า เขาตระเวนรักษากับหมอหัวใจดังๆได้ 4-5 คน แล้วก็ถอดใจ รำพึงกับตัวเองว่า..

     "..ถ้าขืนรักษาต่อไปกับหมอพวกนี้ ข้าคงต้องตายแน่ๆ.." 

     หิ หิ คำรำพันเนี่ยหมอสันต์มั่วให้เองนะ เพราะหมอทุกคนก็จะรักษาเขาด้วยการให้อยู่นิ่งๆ ห้ามออกกำลังกาย เขาจึงตัดสินใจทำวิจัยโดยใช้ตัวของเขาเองเป็นหนูทดลอง วิธีการของเขาคือเขาไม่ยอมอยู่นิ่งๆตามหมอบอก เขาเดินออกกำลังกาย พออาการเจ็บหน้าอกทุกเลาเขาก็วิ่งซะเลย พอวิ่งแล้วเจ็บเขาก็เดิน ทำแบบนี้ทุกวัน เรื่องการกินเขาก็ไม่ยอมทำตามหมอบอก คือหมอบอกให้เขากินดีๆ แต่เขาไม่กิน เขากินแต่ผักแต่หญ้า คือทำตัวเป็นมังสะวิรัติ เขารักษาตัวเองทำวิจัยกับตัวเองแบบว่าเจาะเลือดตัวเองทุกเดือน แต่ละเดือนตรวจสองร้อยกว่ารายการ คือตรวจสารพัดที่ความรู้แพทย์สมัยนั้นตรวจได้ คือมีเงินเสียอย่างก็ทำมันหมด แต่ประเด็นคือเขารักษาตัวเองจนหายเจ็บหน้าอก วิ่งจ๊อกกิ้งได้ปร๋อทุกวันวันละหลายกิโลเมตร เขามั่นใจในวิธีการของเขามาก จึงลงทุนจ้างนักวิจัยและชวนหมอชวนคนไข้มาทำโครงการวิจัยวิธีรักษาโรคหัวใจแบบใหม่ ซึ่งผลการรักษาได้ผลดีมาก เขาพยายามตระเวนพูดในที่ประชุมแพทย์ว่าโรคหัวใจมันต้องรักษากันอย่างนี้ แพทย์ส่วนหนึ่งฟังเขา แต่ส่วนใหญ่ไม่มีใครฟังเขาเพราะเขาไม่ใช่หมอ

     ในที่สุดเขาก็ไปเปิดรีสอร์ทรับรักษาคนไข้เสียเอง เดิมเปิดที่แคลิฟอร์เนีย แล้วต่อมาย้ายไปอยู่ที่ใหญ่กว่าเดิมที่ฟลอริดา รับรักษาโรคหัวใจระดับเหลือกำลังลากทั่วราชอาณาจักร ด้วยวิธีสอนให้ดูแลตัวเองด้วยการกินอาหารที่มีพืชเป็นหลัก ไขมันต่ำ ควบกับการออกกำลังกาย เขารายงานความสำเร็จของรีสอร์ทของเขาในวารสารการแพทย์บ่อยมาก เท่าที่ผมจำได้ มีรายงานหนึ่งเขารับคนป่วยโรคหัวใจที่แพทย์วางแผนการรักษาว่าต้องผ่าตัดบายพาสแต่คนไข้กลัวแล้วหนีมาหาเขาจำนวน 64 คน เขาแนะนำคนพวกนี้ให้รู้วิธีดูแลตัวเองด้วยการกินอาหารแบบพืชเป็นหลักไขมันต่ำและให้ออกกำลังกาย แล้วตามดูคนกลุ่มนี้ไป 5 ปี พบว่าในจำนวนนี้ 80% กลับมามีชีวิตปกติไม่เจ็บหน้าอกโดยไม่ต้องผ่าตัดบายพาสเลย เป็นต้น

     งานวิจัยที่ 3. ประมาณปี ค.ศ. 1953 มีการค้นพบวิธีผ่าตัดหัวใจ และต่อมาหมอชาวอาร์เจนตินาคนหนึ่งก็ค้นพบวิธีทำบายพาสแก้ไขหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยเริ่มทำผ่าตัดที่โรงพยาบาลคลีฟแลนด์ (สหรัฐ) วงการแพทย์ก็เฮโลเข้าหาวิธีรักษาด้วยยาและการผ่าตัดบายพาสกันหมด แล้วต่อมาก็มีการค้นพบวิธีทำบอลลูน แต่ปัญหาก็คือกินยาไปก็แล้ว ผ่าตัดไปก็แล้ว บอลลูนก็แล้ว คนไข้ก็ยังไม่หาย มีหมอรักษาเบาหวานที่คลีฟแลนด์นั่นแหละคนหนึ่งชื่อเอสซี่ (Caldwell Esselstyn) เฝ้าดูคนไข้ของตัวเองที่เป็นหลอดเลือดหัวใจตีบตายไปต่อหน้าคนแล้วคนเล่าไม่ว่าจะทำบายพาสหรือไม่บายพาสก็ตายเหมือนกันหมด เขาจึงไปบอกเพื่อนหมอหัวใจให้ช่วยหาคนไข้มาให้เขาทำวิจัยสักหน่อยสิ เขาจะทดลองรักษาคนไข้หัวใจโดยไม่ให้กินเนื้อสัตว์และไม่ให้กินของมันเลย เขาได้คนไข้มา 24 คน ส่วนใหญ่เป็นคนไข้ที่หมดทางไปแล้วทั้งสิ้น บ้างผ่าตัดมาแล้ว บ้างบอลลูนมาแล้ว แล้วกลับมาเจ็บหน้าอกใหม่ ก่อนการวิจัยเขาฉีดสีสวนหัวใจถ่ายรูปไว้หมด ปรากฏว่าคนไข้ของเขามีอยู่ 18 คนที่ทนกินผักกินหญ้าได้ตลอดรอดฝั่ง พบว่าล้วนมีอาการดีขึ้น รายที่มีโอกาสได้ฉีดสีหลังการทดลองก็พบว่าหลอดเลือดที่เคยตีบกลับโล่งขึ้น เขารายงานความสำเร็จในการรักษาคนไข้ด้วยการกินอาหารมังสะวิรัติไขมันต่ำไว้ในวารสารการแพทย์ระดับดีๆหลายฉบับ

     งานวิจัยที่ 4. ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่หมอเอสซี่ทำวิจัยรักษาโรคหัวใจด้วยการให้กินอาหารมังสะวิรัติอยู่นั้น ก็มีหมอรุ่นหนุ่มอีกคนหนึ่งชื่อออร์นิช (Dean Ornish) ตอนเป็นนักเรียนแพทย์เขาได้มีโอกาสเดินทางไปถึงอินเดีย ได้เห็นวิถีชีวิตแบบตะวันออกซึ่งกินผักกินหญ้าและนั่งสมาธิทำโยคะดัดตน เมื่อกลับมาฝึกอบรมเป็นหมอหัวใจเขาได้วางแผนทำวิจัยตั้งแต่ยังเป็นแพทย์ประจำบ้าน งานวิจัยของเขาเป็นการเอาคนไข้โรคหัวใจมาจับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งรักษาไปตามวิถีปกติ อีกกลุ่มหนึ่งรักษาแบบเปลี่ยนชีวิตอย่างสิ้นเชิงในสี่ประเด็น คือ
(1) ให้กินอาหารมังสะวิรัติไขมันต่ำ
(2) ให้ออกกำลังกายจนหอบแฮ่กๆร้องเพลงไม่ได้วันละ 30 นาทีอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน
(3) ให้ฝึกสมาธิทำโยคะทุกวัน
(4) ให้เข้ากลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนสัปดาห์ละครั้ง

     ก่อนเริ่มการทดลองเขาตรวจสวนหัวใจฉีดสีถ่ายรูปไว้หมด และสวนหัวใจซ้ำเมื่อครบหนึ่งปี และสวนหัวใจซ้ำเป็นครั้งที่สามเมื่อครบห้าปี ผลวิจัยของเขายืนยันได้เด็ดขาดว่าการรักษาด้วยวิธีกินอาหารมังสะวิรัติไขมันต่ำควบการออกกำลังกายนั่งสมาธิทำโยคะและพบเพื่อน ให้ผลดีกว่าการรักษาแบบเดิมๆชัดเจนไม่ว่าจะประเมินจากอาการป่วย อัตราการเข้าโรงพยาบาล หรือภาพรอยตีบของหลอดเลือดหัวใจ หมอออร์นิชคนนี้ ต่อมาประธานาธิบดีบิล คลินตัน ป่วยเป็นโรคหัวใจผ่าตัดก็แล้วบอลลูนก็แล้วก็ยังกลับมาเจ็บหน้าอกอีก หมอก็จะจับทำบายพาสอีก แต่ท่านไม่เอาแล้ว ท่านได้มาให้หมอออร์นิชแนะนำและหันมายึดแนวทางกินมังสะวิรัติไขมันต่ำจนน้ำหนักลดลงไปยี่สิบกว่าปอนด์และกลับมาสบายดีแล้ว

     สรุปว่าจากงานวิจัยทั้ง 4 รายการนี้ ผมตอบคำถามของคุณว่าเมื่อสามีคุณเป็นโรคหัวใจระดับแพทย์บอกว่าหมดวิธีรักษาแล้ว ไม่ได้หมายชีวิตจะจบแค่นี้ต้องนอนรอวันตายอย่างเดียว ไม่ใช่อย่างนั้น งานวิจัยทั้งสี่รายการนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่าคนป่วยหนักระดับสามีของคุณนี้ หากหันมาดูแลตัวเองด้วยการเปลี่ยนมากินอาหารที่มีพืชเป็นหลักและไขมันต่ำ ออกกำลังกาย จัดการความเครียด และมีการเกื้อหนุนทางสังคมตามสมควร โรคจะถอยกลับได้ พูดง่ายๆว่าหายได้ เป็นการหายด้วยตัวเอง ไม่ใช่หายด้วยหมอ ไม่ต้องกลัวว่าป่วยหนักไปออกกำลังกายจะไม่ตายไวหรือ มีงานวิจัยมากเกินพอที่จะยืนยันว่าคนเป็นหัวใจล้มเหลวขนาดหนักอย่างสามีคุณนี้ ต้องออกกำลังกายจึงจะดี (เพื่อให้ท่านผู้อ่านทั่วไปที่เป็นแบบเดียวกับสามีคุณกล้าออกกำลังกาย ผมได้เอางานวิจัยดีๆในเรื่องเหล่านี้มาไว้ให้ดูในบรรณานุกรมท้ายบทความนี้ด้วย) ผมจึงแนะนำว่าคุณและสามีควรจะลองทำดู หากทำไปแล้วไปไม่รอด หรือไม่แน่ใจว่าทำแล้วทำถูกหรือเปล่า ก็ให้หาโอกาสมาเข้าคอร์สพลิกผันโรคด้วยตัวเอง รุ่นต่อไปเป็นรุ่นที่สอง (RD2) ผมจะเปิดสอนเดือนสค. 59 (http://visitdrsant.blogspot.com/2015/10/reversing-disease-by-yourself-rd-camp.html)

     ผมตอบคำถามแรกยาวจนหิวข้าวเสียแล้ว คำถามที่สองแปะไว้ก่อนนะ คุณเอาคำตอบแรกไปปฏิบัติก่อนก็แล้วกัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Kempner W. Treatment of heart and kidney disease and hypertension and atherosclerotic vascular disease with rice diet. Ann Intern Med. 1949;31(5):821-56
2. Prittikin N. A five-year follow-up of 64 people who went to Pritikin instead of having coronary bypass surgery found that 80% had never needed the surgery. Journal of Cardiac Rehabilitation 1983;3:183.
3. Esselstyn CB Jr, Ellis SG, Medendorp SV, Crowe TD. A strategy to arrest and reverse coronary artery disease: a 5-year longitudinal study of a single physician’s practice. J Fam Pract 1995;41:560 –568.
4. Esselstyn CB Jr. Updating a 12-year experience with arrest and reversal therapy for coronary heart disease (an overdue requiem for palliative cardiology). Am J Cardiol 1999;84:339 –341.
5. 11. Esselstyn CB Jr. Resolving the coronary artery disease epidemic through plant-based nutrition. Prev Cardiol 2001;4:171–177.
5. Ornish D, Brown SE, et al. Can lifestyle changes reverse coronary heart disease. The Lancet 1990fb 336: 129-33 1990.
6. Ornish D, et. al. Intensive lifestyle changes for reversal of coronary heart disease. JAMA 1998; 280(23): 2001-2007 1998
7. Monchamp T1, Frishman WH. Exercise as a treatment modality for congestive heart failure. Heart Dis. 2002 Mar-Apr;4(2):110-6.
8. Davies EJ, Moxham T, Rees K, et al. Exercise training for systolic heart failure: Cochrane systematic review and meta-analysis. Eur J Heart Fail.2010;12:706–15.
9. Austin J, Williams R, Ross L, et al. Randomised controlled trial of cardiac rehabilitation in elderly patients with heart failure. Eur J Heart Fail.2005;7:411–7.
10. McKelvie RS. Exercise training in patients with heart failure: clinical outcomes, safety, and indications. Heart Fail Rev. 2008;13:3–11.
11. O’Connor CM, Whellan DJ, Lee KL, et al. Efficacy and safety of exercise training in patients with chronic heart failure: HF-ACTION randomized controlled trial. JAMA. 2009;301:1439–50.
12. Pina IL, Apstein CS, Balady GJ, et al. Exercise and heart failure: a statement from the American Heart Association Committee on Exercise, Rehabilitation, and Prevention. Circulation. 2003;107:1210–25.
13. Smart N, Marwick TH. Exercise training for patients with heart failure: a systematic review of factors that improve mortality and morbidity. Am J Med. 2004;116:693–706.
14. Piepoli MF, Davos C, Francis DP, et al. Exercise training meta-analysis of trials in patients with chronic heart failure (ExTraMATCH). BMJ.2004;328:189.

[อ่านต่อ...]