31 สิงหาคม 2560

ปรับปรุงหลักสูตรฝึกสติรักษาโรค (MBT Day Camp)

     แค้มป์ฝึกสติรักษาโรค (Mindfulness Based Treatment - MBT) ทำมาแล้วหลายแค้มป์ ยิ่งสอนก็ยิ่งมีความเจนจัดและจับประเด็นปัญหาของผู้เรียนได้มากขึ้น ได้ปรับเปลี่ยนเนื้อหาและวิธีสอนตลอดมาจนเดี๋ยวนี้จำหน้าเดิมเกือบไม่ได้ การแก้ไขครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 ซึ่งจะเริ่มใช้ในแค้มป์ถัดไป คือ MBT8 (21 ตค.60) สาระหลักที่เปลี่ยนแปลงคือ (1) ตัดส่วนที่เป็นการคุยกันถึง concept ทิ้งหมด ไม่คุยเลย (2) ตัดภาคปฏิบัติที่มีการใช้จินตนาการหรือ visualization ทิ้งหมด เหลือแต่การปฏิบัติในการวางความคิดจริงๆล้วนๆ (3) เพิ่มการสอนในรูปแบบสนทนาโต้ตอบปัญหาเชิงปฏิบัติ (Sat Sang) ซึ่งทำให้มีการปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนมากขึ้น (4)  ขยายเวลาออกไปอีกหนึ่งชั่วโมง คือไปจบที่ห้าโมงเย็น จึงขอถือโอกาสนี้แจ้งเนื้อหาสาระของหลักสูตร MBT ใหม่มาให้แฟนๆบล้อกและผู้จะไปเรียนทราบทั่วกัน

หลักสูตรคอร์สฝึกสติรักษาโรค  
Course Syllabus
Mindfulness Based Treatment – (MBT)


     วัตถุประสงค์ (Objective)

     วัตถุประสงค์ด้านความรู้ มุ่งให้ผู้เรียนได้รู้

1. สถานะที่แท้จริงของความคิด (thought) คอนเซ็พท์ (concept) และความเชื่อ (belief)
2. กลไกการเกิดความคิด คอนเซ็พท์ และความเชื่อ
3. ความแตกต่างระหว่างกลไกของการรู้ (knowing) กับการคิด (thinking)
4. ความรู้ตัว (consciousness หรือ awareness)
5. สิบเทคนิคในการวางความคิด (Dropping the thought)
6. วิธีรับมือกับความเจ็บปวด (Coping with pain)
7. การเลือกความคิด (Choosing the thought)
8. การใช้ชีวิตประจำวันโดยใช้ประโยชน์จากความรู้ตัว

     วัตถุประสงค์ด้านทักษะ มุ่งให้ผู้เรียนสามารถ

1. “รู้” โดยไม่มี “การคิด”
2. วางความคิดจนเหลืออยู่แต่ความรู้ตัวได้
3. ใช้เทคนิคการวางความคิดสิบเทคนิคเป็น
3.1 ตั้งคำถามให้ตัวเองตอบ (Self inquiry)
3.2 ลาดตระเวณร่างกาย (Body scan)
3.3 ผ่อนคลายร่างกาย  (Body relaxation)
3.4 รำมวยจีน (Tai Chi)
3.5 การหัวเราะ (Laughing)
3.6 ฟังเสียงในหัว (Listen to voice in your head)
3.7 ขยายช่องว่างระหว่างความคิด (Expanse gap between thoughts)
3.8 ย้อนดูความคิด (Recall)
3.9 เฝ้าดูความคิดสลายตัว (Watching the thought)
3.10 นั่งสมาธิแบบตามดูลมหายใจ (Breathing meditation)
4. สามารถรับมือกับความเจ็บปวดด้วยตนเองได้
โดยให้มีทักษะเหล่านี้มากพอที่จะเอาไปฝึกปฏิบัติต่อในชีวิตประจำวันของแต่ละคนได้

     วัตถุประสงค์ด้านเจตคติ 
     มุ่งให้ผู้เรียนมีเจตคติ
4.1 ให้คุณค่าต่อการวางความคิดเพื่อให้เกิดความรู้ตัว
4.2 ชอบการแก้ปัญหาความเครียดด้วยวิธีวางความคิดแทนการใช้ยา

     การจัดประสบการณ์เรียนรู้ (Learning experience)

     ตารางเรียน
วันที่เปิดสอน MBT สามารถตรวจสอบได้จากปฏิทินที่ด้านขวามือของบล็อกนี้ (ครั้งถัดไปคือวันที่ 21 ตค. 60) รายละเอียดการเรียนการสอนในแต่ละครั้งมีดังนี้

 9.00 – 9.30 น. รู้จักกัน (Getting to know you)
 9.30 – 10.00 น. Workshop1. ฝึกปฏิบัติ "การรู้ (knowing)" และ "การคิด(thinking)"
10.00 – 10.30 น. Workshop2. ฝึกปฏิบัติการวางความคิดในชั้นเรียนแบบ Sat Sang

10.30 – 10.45 น. Coffee break

10.45 – 11.15 น. Workshop3. ฝึกปฏิบัติวางความคิดด้วยวิธีตั้งคำถามให้ตัวเองตอบ (Self inquiry)
11.15 – 11.45 น. Workshop4. ฝึกปฏิบัติทำสมาธิแบบลาดตระเวณร่างกาย (Body scan)
11.45 – 12.00 น. Workshop5. ฝึกปฏิบัติการผ่อนคลายร่างกาย  (Body relaxation)

12.00-13.00 น. Lunch break

13.00 – 13.30 น. Workshop6. ฝึกปฏิบัติวางความคิดด้วยวิธีฟังเสียงในหัว (Listen to voice in your head)
13.30 – 14.00 น. Workshop7. ฝึกปฏิบัติวางควาวมคิดด้วยวิธีขยายช่องว่างระหว่างความคิด (Expanse gap between thoughts)
14.00 – 14.30 น. Workshop8. ฝึกปฏิบัติใช้การวางความคิดด้วยวิธีย้อนดูความคิด (Recall)
14.30 – 1.30 น. Workshop9. ฝึกปฏิบัติใช้การวางความคิดด้วยวิธีเฝ้าดูความคิดสลายตัว (Watching the thought)

15.00 – 15.15 น. Coffee break (เปลี่ยนชนิดเก้าอี้)

15.15 – 15.30 น. Workshop10. ฝึกปฏิบัตินั่งสมาธิตามดูลมหายใจ (Breathing meditation)
15.30 – 16.00 น. Workshop11. ฝึกปฏิบัติการรับมือกับความเจ็บปวด (Coping with pain)
16.00 – 16.30 น. Workshop12. ฝึกปฏิบัติรำมวยจีน (Tai Chi)
16.30 – 16.45 น. Workshop13. ฝึกปฏิบัติวิธีวางความคิดด้วยการหัวเราะ (Laughing)
16.45 - 17.00 น. ถามตอบปัญหาในการปฏิบัติ

     การประเมินผล

1. ประเมินผลด้วยการพูดคุยเวลาพัก (focus group)
2. แบบสอบถามเมื่อสิ้นสุดการเรียน
3. ประเมินผลเมื่อกลับมาร่วมกิจกรรมฟรีซัทซัง

ผลการประเมินใช้เพื่อปรับปรุงฝ่ายผู้สอนและเนื้อหาหลักสูตรเท่านั้น ในการประเมินผลเพื่อปรับปรุงตัวผู้เรียน ผู้เรียนต้องประเมินผลเอง หรือไปเข้ากิจกรรมฟรีซัทซังหลังจากจบชั้นเรียน MBT เพราะชั้นเรียนนี้ไม่มีเวลาประเมินผลความสำเร็จ (achievement) ของผู้เรียนเป็นรายคน

     การติดตามระยะยาวด้วยฟรีซัทซัง (Free Satsang)

    เท่าที่ผ่านมา คนมาเรียน MBT แล้วก็หายจ้อยเข้ากลีบเมฆกลับบ้านใครบ้านมันไป บางคนผมมีโอกาสได้พบหลังจากนั้นเมื่อกลับมาเข้าแค้มป์สุขภาพอื่นๆ จึงได้ทราบว่าบางคนก็ไปได้ดีมากน่าชื่นใจ แต่บางคนก็เข้ารกเข้าพงเหมือนจะจับหลักไม่ถูกเอาโน่นผสมนี่จนตัวเองหมุนเป็นลูกข่างไม่ไปไหน บางคนก็ยังคงเป็นว่าวที่หลุดลอยไปตามกระแสชีวิตประจำวันโดยไม่อาจจะตั้งตัวตั้งใจได้  ผมจึงคิดว่าต้องหาทางเอาคนที่เรียน MBT ไปแล้วให้กลับมาเรียนรู้ปัญหาจากการปฏิบัติร่วมกันอีกเป็นระยะๆโดยไม่ต้องเสียเงิน เพราะถ้าเสียเงินคนก็มาบ่อยๆไม่ได้

     ผมชอบรูปแบบการร่วมกลุ่มปฏิบัติสู่ความหลุดพ้นที่นิยมทำกันในอินเดีย อเมริกา และ ยุโรป ในรูปแบบที่เรียกว่า "ซัทซัง"หรือ Satsang (แปลว่าการสมาคมกับสิ่งดีๆ) คือเป็นรูปแบบการพบปะรวมกลุ่มกันเพื่อปฏิบัติสู่ความหลุดพ้นในทางจิตวิญญาณ มักจะประกอบไปด้วยการสอนสั้นๆ การนั่งปฏิบัติสมาธิภาวนาร่วมกัน การถามตอบคำถามที่เกิดระหว่างปฏิบัติ ผมจึงตั้งใจว่าจะจัดให้มีฟรีซัทซังขึ้นที่เวลเนสวีแคร์เดือนละครั้ง ฟรีก็คือไม่เสียเงิน เป้าหมายหลักคือมีไว้ให้คนที่เรียน MBT ไปแล้วได้กลับมา "สอบ" ความถูกผิดเมื่อนำความรู้ไปใช้งานจริง ผู้เรียน MBT แล้วสามารถเช็คตารางเวลานัดหมายฟรีซัทซังได้ที่มุมขวาบนของบล็อกนี้ โดยครั้งแรกจะจัดวันที่อาทิตย์ 22 ตค. 60 เวลา 9.30 - 12.00 น. กรณีคนทั่วไปที่ไม่เคยเรียน MBT หรือไม่ได้มาพักที่เวลเนสวีแคร์ก็สามารถมาร่วมได้ (ทั้ง Hall จุได้สบายๆ 30 ที่นั่ง) ศิษย์เก่า MBT ทุกรุ่นและผู้พักค้างคืนที่เวลเนสวีแคร์คืนก่อนหรือคืนวันซัทซังมีสิทธิสำรองที่นั่งล่วงหน้าได้ หรือในกรณีไม่ได้สำรองที่นั่งล่วงหน้าหากมีที่นั่งเหลือก็มีสิทธิได้ที่นั่งก่อนผู้สนใจทั่วไป  สำหรับผู้สนใจทั่วไปที่มาแล้วหากไม่มีที่นั่ง..ก็ต้องยืน ผู้สนใจเข้าร่วมฟรีซัทซังดูรายละเอียดและวิธีสำรองที่นั่งได้ที่ http://visitdrsant.blogspot.com/2017/08/free-satsang.html

     ค่าเรียน MBT day camp

     คนละ 2,500 บาท ราคานี้รวมค่าอาหารกลางวัน อาหารว่างสองเบรก ค่าวิทยากร ผู้ช่วยวิทยากร ค่าสถานที่ ค่าห้องแอร์ และอุปกรณ์การเรียนที่ต้องใช้ในศูนย์ แต่ไม่รวมค่าเดินทาง ทุกคนต้องเดินทางไปเอง

     ไม่จำเป็นต้องพักค้างคืนที่เวลเนสวีแคร์ เพราะการเดินทางด้วยรถยนต์ไปกทม.ใช้เวลาไม่เกิน 2 ชม. แต่สำหรับผู้ประสงค์ที่จะพักค้างคืนที่เวลเนสวีแคร์ ก็มีห้องพักให้ (ห้องละสองเตียง) ค่าห้องรวมอาหารเช้า (สองคน) ลดพิเศษจากคืนละ 3,000 บาทเหลือ 2,500 บาทสำหรับผู้เข้าเรีียน MBT

     วิธีลงทะเบียนเข้าเรียน

1. แจ้งสำรองที่เรียน

     1.1 ทางโทรศัพท์ที่ พญ.สมวงศ์ ใจยอดศิลป์ โทร. 086 8882521 หรือคุณตู่ (ฐานวีร์ พีรกุล) โทร. 081 900 8321 หรือ 086 985 8628
     1.2 ทางอีเมล somwong10@gmail.com หรือ thannawee_pur@phyathai.com

2. ชำระเงินค่าลงทะเบียน

     โอนเงินเข้าบัญชี ธนาคารกรุงเทพ สาขาเมืองทองธานี เลขบัญชี 931 0 06792 2 ชื่อบัญชี นายสันต์ ใจยอดศิลป์

3. ยืนยันการรับลงทะเบียน

     ส่งภาพถ่ายสลิปใบโอนเงินที่เขียนชื่อของท่านด้วยปากกาทับไว้อย่างชัดเจนบนใบสลิปนั้นด้วย ส่งไปยังพญ.สมวงศ์ทางอีเมล somwong10@gmail.com  ในกรณีไม่สะดวกในการส่งภาพถ่าย จะโทรศัพท์บอกกับพญ.สมวงศ์ที่หมายเลข 086 8882521 โดยตรงด้วยตนเองก็ได้

     ขอความกรุณาอย่าส่งใบสลิปมาโดยไม่เขียนชื่อว่าเป็นเงินของใคร เพราะทางเวลเนสวีแคร์ได้รับใบสลิปแล้วก็ยังไม่รู้จะลงทะเบียนในชื่อใครอยู่ดี

     การลงทะเบียนจะเสร็จสมบูรณ์เมื่อทางเวลเนสวีแคร์ได้รับทั้งเงินและชื่อผู้ส่งเงินแล้วเท่านั้น

4. เงินค่าลงทะเบียนรับแล้วไม่มีคืน ถ้ามาไม่ได้ก็ไม่คืน เพราะเอาไปจ่ายค่าจ้างคนค่าสถานที่ค่าอาหารไปแล้ว

   การลงทะเบียนเรียนใช้สูตรเดิม คือมาก่อนได้ก่อน เต็มสิบคนแล้วปิด เพราะถ้ามากกว่านั้นจะเป็นสติแตกไม่ใช่สติรักษาโรค

     สถานที่ 

     เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์  อยู่ในมวกเหล็กวาลเลย์ ย่านมวกเหล็ก-เขาใหญ่ สามารถใช้ Google map โดยคีย์คำว่า wellness we care center  
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

Free Satsang การสมาคมกับสิ่งดีๆ

     ซัทซัง (Satsang) คืออะไร

     คำว่าซัทซัง (Satsang) แปลตรงๆว่า "การสมาคมกับสิ่งดีๆ" ในทางปฏิบัติคำนี้หมายถึงรูปแบบการร่วมกลุ่มกันฝึกปฏิบัติสู่ความหลุดพ้นทางจิตวิญญาณ นิยมทำกันในอินเดีย อเมริกา แคนาดา และยุโรป มักจะประกอบไปด้วยการสอนหรือแนะนำสั้นๆ การนั่งปฏิบัติสมาธิภาวนาร่วมกัน การถามตอบคำถามที่เกิดจากการปฏิบัติ การซักซ้อมหรือตรวจสอบทิศทางการปฏิบัติของสมาชิกแต่ละคน เหล่านี้เป็นกิจกรรมหลัก ซัทซังหลายแห่งมีการทำเสียงดนตรีหรือร้องรำทำเพลงหรือเต้นรำผสมโรงคลุกเคล้าไปด้วย

     ส่วนคำว่าฟรีซัทซัง (Free Satsang) ก็หมายถึงการเข้าร่วมซัทซังโดยไม่ต้องเสียเงิน

    ทำไมหมอสันต์มาทำซัทซัง

     ผมเองก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยในชีวิต ว่าตัวเองจะเป็นคนมาทำอะไรอย่างซัทซัง เรื่องมันเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อผมเลิกทำผ่าตัดหันมาเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว พอรักษาผู้ป่วยที่คลินิกเวชศาสตร์ครอบครัวทีละคนก็พบว่ามันไม่เวิร์คเพราะสอนไปแล้วผู้ป่วยไม่มีทักษะเสียอย่างก็ทำไม่ได้..จบข่าว และเมื่อไม่มีการติดตามทบทวนทักษะผู้ป่วยก็หลุดลอยไป จึงมาเปิดคอร์สสุขภาพเป็นแค้มป์สุขภาพดีด้วยตนเอง (GHBY) และแค้มป์พลิกผันโรคด้วยตนเอง (RDBY) เพราะเป็นรูปแบบที่ได้สอนทักษะถึงลูกถึงคนมากกว่าและสอนได้ทีละหลายคน คุ้มความเหนื่อยมากกว่า

     แต่เมื่อทำไปแล้วก็พบว่าผู้ป่วยจำนวนมาก มากเกินครึ่งก็ว่าได้ มีความเครียดร่วมเป็นปฐมเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง จึงไปค้นหาหลักฐานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยจัดการความเครียดให้ได้ผล ก็พบว่าการฝึกสติลดความเครียด (Mindfulness Based Stress Reduction - MBSR) ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยแมสซาจูเซ็ทเป็นวิธีจัดการความเครียดที่ได้ผลดีกว่าวิธีอื่น ผมก็ไปเรียน MBSR แล้วเอามาสอนผู้ป่วย สอนไปสอนมาผมต้องประยุกต์เนื้อหาและวิธีการไปมากพอควรเพื่อให้มันเหมาะกับคนไทยจนหน้าตามันแปลกไปจากของเดิมเขามาก จึงเปลี่ยนชื่อเรียกเสียใหม่ว่าการฝึกสติรักษาโรค (Mindfulness Based Treatment - MBT)

     แต่ว่าจะเอา MBT ไปยัดสอนในแค้มป์สุขภาพไม่ว่าจะแค้มป์ GHBY หรือ RDBY ก็เวลาไม่พอ จึงจัดเป็นแค้มป์ฝึกสติรักษาโรค MBT แยกต่างหาก ใช้เวลาหนึ่งวันเช้าไปเย็นกลับ เรียกว่า MBT day camp สอนไปหลายรุ่นพร้อมกับปรับวิธีการไปด้วย แต่ไม่เคยมีการติดตามดูว่าผู้ป่วยเรียนแล้วเอาไปใช้ประโยชน์ได้มากน้อยอย่างไร

     บางคนผมมีโอกาสได้พบหลังจากจบแค้มป์ MBT แล้วเขาหรือเธอกลับมาเข้าแค้มป์สุขภาพอื่นๆ ผมจึงได้ทราบว่าบางคนก็ไปได้ดีมากน่าชื่นใจ แต่บางคนก็เข้ารกเข้าพงเหมือนจะจับหลักไม่ถูกเอาโน่นผสมนี่จนตัวเองหมุนเป็นลูกข่างไม่ไปไหน บางคนก็ยังคงเป็นว่าวที่หลุดลอยไปตามกระแสชีวิตประจำวันโดยไม่อาจจะตั้งตัวตั้งใจได้ หมายความว่าการสอน MBT นี้ไม่อาจจบลงที่ตัวมันเองได้ เพราะมันต้องเอาไปปฏิบัติต่อเนื่องจึงจะเห็นผล เขาจะเอาไปปฏิบัติได้หรือไม่ได้ต้องมีกลไกติดตามช่วยตะล่อมบางคนที่ไปผิดทางหรือหลุดลอยไปให้กลับเข้าเส้นทางที่ควรเดิน สิ่งสอนไปแล้วจึงจะได้ผลดีที่สุด ผมจึงคิดว่าต้องหาทางเอาคนที่เรียน MBT ไปแล้วให้กลับมาเรียนรู้ปัญหาจากการปฏิบัติร่วมกันอีกเป็นระยะๆโดยไม่ให้เขาต้องเสียเงิน เพราะถ้าเสียเงินคนก็จะมาบ่อยๆไม่ได้

     ขณะที่มองหาวิธีการอยู่นั้น ตัวผมเองก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมซัทซังหลายครั้ง ก็เห็นว่ารูปแบบซัทซังนี้แม้จะไม่มีใครเคยทำในเมืองไทยมาก่อนแต่หากจะทำก็น่าจะได้ผลเหมือนกัน จึงเกิดปิ๊งไอเดียว่ารูปแบบซัทซังนี่แหละที่เหมาะที่สุดที่จะใช้ติดตามช่วยเหลือคนไข้หลังจากเรียน MBT ไปแล้วให้ประสบความสำเร็จในการจัดการความเครียดของตนเองในชีวิตจริง เพราะสามารถติดตามกันได้ตลอดชีวิต จึงตัดสินใจนำรูปแบบนี้มาใช้ โดยไหนๆก็ทำซัทซังแล้ว นอกจากศิษย์เก่า MBT ที่เป็นเป้าหมายหลักแล้ว ก็ถือโอกาสเปิดให้คนที่มาพักค้างคืนที่เวลเนสวีแคร์อยู่แล้ว และคนทั่วไปที่สนใจ ให้เข้ามาร่วมซัทซังได้ด้วยโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไร ยกเว้นค่ากินหากจะกิน หรือค่านอนหากจะนอน ซึ่งหากใครจะใช้บริการก็เสียเงินเอาเองในอัตราปกติของเวลเนสวีแคร์

     วิธีการทำฟรีซัทซังของหมอสันต์

     ฟรีซัทซังในฉบับของหมอสันต์จะทำดังนี้

1. เริ่มด้วยการคุยกันในบรรยากาศคนร่วมทางเดินเดียวกัน คือการเป็นผู้แสวงหาความหลุดพ้น
2. การถามตอบปัญหาการปฏิบัติ และการซักซ้อมทิศทางการปฏิบัติที่สมาชิกรายคนทำไปแล้ว
3. การสอนสั้นๆเล็กๆ โดยจับประเด็นปัญหาการปฏิบัติที่เข้ากับวาระและโอกาส
4. การปฏิบัติสมาธิภาวนา (meditation) ร่วมกัน แต่ละครั้งก็เลือกวิธีภาวนะตามความเหมาะสม
5. จบท้ายด้วยการพูดคุยถามตอบปัญหาการปฏิบัติภาวนาที่เพิ่งผ่านไปกันอีกรอบหนึ่ง

     วันเวลาสำหรับทำฟรีซัทซัง

     ตารางฟรีซัทซังแต่ละเดือนจะประกาศทางปฏิทินด้านขวาของบล้อกหมอสันต์นี้ โดยตั้งใจจะทำวันอาทิตย์ที่สามของทุกเดือน เวลา 9.30 -12.00 น. ยกเว้นสถานที่ไม่ว่างก็อาจมีขยับได้ โดยการทำซัทซังครั้งที่ 1 จะมีในวันอาทิตย์ที่ 22 ตค. 60

    สถานที่ 

     ฟรีซัทซัง ทำที่ Hall ของเวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ ซึ่งอยู่ในมวกเหล็กวาลเลย์ ย่านมวกเหล็ก-เขาใหญ่ สามารถใช้ Google map โดยคีย์คำว่า wellness we care center ไปหาได้
    
   สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมฟรีซัทซัง

     กรณีเป็นศิษย์เก่า MBT ทุกรุ่น หรือเป็นผู้มาพักค้างคืนที่เวลเนสวีแคร์คืนก่อนหรือคืนวันทำซัทซัง สามารถจองที่นั่งล่วงหน้าได้ที่คุณออย ผู้จัดการเวลเนสวีแคร์ โทรศัพท์ 02 038 5115 หรืออีเมล miracle__oil@live.com (มีอันเดอร์สกอร์สองตัวนะ โปรดสังเกต) สำหรัับคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นศิษย์เก่า MBT หรือไม่ได้มาพักค้างคืนที่เวลเนสวีแคร์ก็สามารถมาร่วมซัทซังได้แต่ไม่ต้องจองที่นั่งล่วงหน้า แต่ใช้หลักปฏิบัติของรฟท.แทน หมายความว่ามีที่นั่งก็นั่ง ไม่มีที่นั่งก็ยืน

     สำหรับผู้สนใจเข้าเรียน MBT ด้วย

     เนื่องจากฟรีซัทซังจะจัดตามหลังวันเรียนฝึกสติรักษาโรค (MBT day camp) หนึ่งวันเสมอ คือ MBT จัดวันเสาร์ ฟรีซัทซังจัดวันอาทิตย์รุ่งขึ้นไป บางท่านอาจสนใจที่จะเข้าเรียน MBT ด้วยแล้วพักค้างคืนเพื่ออยู่ต่อเข้าร่วมฟรีซัทซัง หากท่านสนใจจะเรียน MBT ด้วยกรุณาดูรายละเอียดที่
http://visitdrsant.blogspot.com/2017/08/mbt-day-camp.html

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

29 สิงหาคม 2560

ลดความอ้วนแบบ Ketogenic diet ดีไหม

เรียน  คุณหมอสันต์ ที่เคารพ ค่ะ

หนูติดตามคุณหมอมาสักพักนึงแล้วค่ะ  ไม่ว่าจะเป็นทางบล็อก ทางยูทูป ทางเฟสบุค  หลายๆ รายการที่คุณหมอไปออก  หนูฟังคอนเซ็ปต์ของการใช้ชีวิตแล้วรู้สึกเข้าใจมากพอสมควร  เพียงแต่การปฏิบัติในชีวิตประจำวันอาจจะยังไม่ได้ดีนัก  หนูไม่มีโรคประจำตัวอะไรค่ะ  (อายุ 44 ปี) เมื่อไม่นานมานี้ หนูได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มเฟสบุคของคนที่อยากมีสุขภาพดี และลดความอ้วน  กลุ่มนี้เน้นเฉพาะการดำเนินชีวิตด้วยวิธี Ketogenic น่ะค่ะ  ซึ่งจากที่หนูลองไล่อ่านข้อมูลย้อนหลังที่เค้าแชร์กัน  ก็ได้ความเข้าใจว่า เป็นการกินอาหารโดยเน้นการ "ห้ามกิน" คาร์โบไฮเดรต และน้ำตาล โดยเด็ดขาด  ซึ่งในสิ่งที่เค้าห้ามนั้น หนูก็ฟังเข้าใจได้  แต่สิ่งที่เค้าสนับสนุนให้กิน เค้าเน้นการกินไขมันดี และออกกำลังกาย  โดยอาหารที่แชร์กันนั้น เค้าสามารถกินเบคอน ไส้กรอก ชีส หมูสามชั้น เครื่องในสัตว์ หนังสัตว์ ฯ ประมาณนี้ ได้อย่างไม่จำกัดเลยน่ะค่ะ!
ในคลิปงานเสวนา  "ชีวิตดีไม่มีตีบตัน"  https://www.youtube.com/watch?v=LI7uD_nu-nI  ที่คุณหมอไปบรรยายนั้น  คุณหมออ้างอิงงานวิจัยต่างๆ ที่ทำให้เห็นผลกระทบของหลอดเลือดที่หดตัว เมื่อเราบริโภคไขมันเข้าไปในร่างกาย  รวมถึงการกินอาหารแปรรูปต่างๆ ที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง  คุณหมอได้เน้นย้ำว่า ให้กินอาหารธรรมชาติ ไม่สกัด ไม่ขัดสี  ถึงแม้จะเป็นไขมันดีก็ตาม น้ำมันก็ถือว่าได้มาจากการสกัด  อันนี้หนูก็ฟังเข้าใจมากๆ เลยค่ะ
หนูขออนุญาตนำเนื้อหาบางส่วน และภาพ จากในกลุ่ม มาให้คุณหมอได้อ่าน  เพราะหนูอ่านแล้วก็เกิดความสับสน น่ะค่ะ

"..สาเหตุของโรคหัวใจ (หลอดเลือดอุดตัน) มิได้เกิดจากไขมัน แต่เกิดจากการกินอาหารที่ไขมันดีๆ เยอะเช่น 
1. น้ำมันมะกอก ถั่ว ปลาทะเล ตลอดจนผักใบเขียว
2. ทานโยเกิร์ตและชีส พอประมาณ
3. ***ตัดน้ำตาลและแป้ง***
เสริมด้วย
ออกกำลัง + ลดความเครียด + เลิกสูบบุหรี่ จะช่วยลดความเสี่ยง
ส่วนสิ่งที่เพิ่มความเสี่ยง คือ
- การดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน (เบาหวาน) และ/หรือ การอักเสบทั้งร่าง
- ทานไขมันดี (โอเมก้า-3) น้อย แต่ทานไขมันเลว (โอเมก้า-6) มากเกิน (น้ำมันพืช)
- บริโภคน้ำตาล fructose (น้ำอัดลม น้ำผลไม้) และแป้ง (refined carbohydrates) เช่น ข้าว ขนมปัง เส้นก๊วยเตี๋ยว
- ปัจจัยอื่น ๆ (เห็นว่าน่าจะเกิดจากแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ที่มีตัวร้ายมากกว่าตัวดี)
ลูกศรชี้ออกคือผลที่จะตามมาได้แก่
- Hypertension คือความดันโลหิตสูง
- Type 2 diabetes คือโรคเบาหวาน
- Atherogenic Dyslipidaemia อันนี้ศัพท์ยาก ต้องแยกเป็นคำ ๆ Atherogenic คือผนังของหลอดเลือดหัวใจ ส่วน Dyslipidaemia ตรงนี้มี 2 คำซ้อนกัน คำแรกคือ Lipid แปลว่าไขมัน แล้ว Dys- คือการมีปริมาณที่มากเกินกว่าปกติ ในที่นี้เกิดจากการที่มันไปสะสมเนื่องจากความอักเสบ
โดยสรุปแล้วคือ การทาน Keto แก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือตัดคาร์บให้สนิท
ไขมันมิใช่ปัญหา ตราบใดที่ไม่มีแป้ง/น้ำตาล
อย่างไรก็ตาม  สายเนียน พวกที่ทาน Keto มื้อ คาร์บมื้อ ตายไวสุด ..."
ถ้าอ่านเฉพาะที่หนูยกมา  หนูก็พอเข้าใจอยู่บ้าง  แต่ที่หนูสงสัยหนักเลยก็คือ  เมนูอาหารที่เค้าแชร์กัน  ว่าแต่ละวันเค้าทานอะไรกันบ้าง  หนูขอยกมาบางส่วนนะคะ  เช่น  ผัดแหนมหนังหมู , ไข่ดาวทอดเนย , กระเพรามันหมูสามชั้นสับ , แกงกะทิเนื้อแดดเดียว และเค้าทาน ชีส เนย วิปปิ้งครีม รวมถึงเบค่อน กันได้แบบเต็มที่มากๆ ค่ะ  แต่หลายคนลดน้ำหนักลงได้เร็วมาก  และไม่มีโยโย่ด้วย และสามารถรักษาระดับน้ำหนักไว้ได้ โดยคนที่ทานวิธีนี้เป็นประจำ  ได้โชว์ผลการตรวจค่าไขมันและตับ ก็เป็นค่าที่เป็นปกติดีน่ะค่ะ  คือกลุ่มนี้ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อมีผล ประโยชน์ทางด้านการค้า หรือหากำไร อะไรนะคะ ไม่มีขายสินค้าใดใด  ผู้นำกลุ่มก็เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นคนที่เคยอ้วนมากๆ แล้วลดความอ้วนได้ด้วยวิธีนี้  หนูเห็นรูป before กับ after แล้ว ก็ทึ่งมากๆ เลยน่ะค่ะ
หนูก็เลยรู้สึกสนใจในวิถีของเค้า  โดยที่หนูยังไม่ได้คิดที่จะดำเนินตามนะคะ  หนูยังเชื่อมั่นในแนวทางของคุณหมอ  หนูอยากจะติดตามกลุ่มเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงไปยาวๆ  หนูยังรู้สึกอยู่ลึกๆ ว่า การกินอาหารลักษณะนี้ ไม่น่าจะดีต่อร่างกายในระยะยาวๆ น่ะค่ะ ในส่วนของคำถามที่อยากจะเรียนถามคุณหมอ ก็คือ  อยากให้คุณหมอแสดงความเห็นเกี่ยวกับ Ketogenic นี้ค่ะในระยะยาว
กราบขอบพระคุณ คุณหมอสันต์ ค่ะ
ปล. เมื่อวานที่หนูได้ส่ง e-mail มาสอบถามคุณหมอ  ปรากฏว่าหนูให้ข้อมูลคุณหมอผิดไปน่ะค่ะ  ในส่วนของผลเลือดที่หนูได้ระบุว่า ปกติ น่ะค่ะ  กลายเป็นว่า หลังจากที่ส่ง e-mail หาคุณหมอเสร็จ  หนูก็กลับเข้าไปสำรวจข้อมูลในกลุ่มย้อนหลังให้ลึกลงไปอีก นี่คือ ผลเลือดล่าสุด ของผู้นำกลุ่ม ที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย น่ะค่ะ  (ตามรูปที่แนบมาเพิ่มเติมค่ะ) และหนูขอแนบข้อมูลที่ อจ. ท่านนี้ เขียนอธิบายเกี่ยวกับผลเลือดของท่านไว้ ดังนี้ ค่ะ

"..เมื่อวานโชว์ผลเลือด มีคนสงสัยว่าดีใจทำไม ทั้งที่คอเลสเตอรอลและไขมัน "เลว" เยอะขนาดนั้น โอเค สองวงแดง คือค่าที่เกินจากช่วงไปเยอะมาก คอเลสเตอรอล ไม่ควรเกินสองร้อย พี่ล่อไป 549 ส่วน LDL ไม่ควรเกิน 130 นี่กดไป 493 หากเป็นชาวบ้านตาสียายสา คุณหมอท่านคงดุเอา  ดุทำไม ? ก็ไขมันเยอะขนาดนี้ หัวใจวายเอาง่ายๆ แต่... ตัวเองขอตรวจ CRP ย่อมาจาก C-reactive protein ที่วัดอาการอักเสบในร่างกาย เพราะ ยิ่งอักเสบมาก โอกาสที่หลอดเลือดหัวใจจะอุดตันก็มาก ปรากฏว่าได้ 1.0 จากช่วง 0-5 ทางด้านขวา เป็นคำอธิบายว่า หากค่า CRP น้อย ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจก็ยิ่งน้อย แล้วไง นั่นก็คือตราบใดที่สัดส่วนไตรกลีเซอร์ไรด์กับ HDL มีค่าน้อย ความเสี่ยงโรคหลอดเลือดอุดตันก็น้อย ลองคำนวณดู ของตัวเอง ไตรฯ 83 HDL 75 (ไตรฯ อยู่ตรงกลาง HDL ค่อนข้างสูง) จับหารกัน 83/75 ได้ 1.1 ซึ่งค่อนข้างต่ำ นั่นแปลว่า เป็นเรื่อง(โคตร)น่าดีใจ ..."

     หนูจึงมีคำถามอยากจะรบกวนคุณหมอสันต์เพิ่มเติมน่ะค่ะ  ว่า ค่าผลเลือดของ อจ. ท่านนี้  (ซึ่ง อจ. ก็ยังยืนยันที่จะปฏิบัติตัวตามวิถี Keto อย่างเคร่งครัดต่อไป)   เป็นวิถีที่ปลอดภัย และไม่อันตรายต่อร่างกาย ในระยะยาวจริงๆ เหรอคะ?  (ในกลุ่มมีผู้คนมากมายเลยค่ะ ที่กำลังดำรงชีวิตด้วยวิถีทางนี้) กราบขอบพระคุณ คุณหมอล่วงหน้า  สำหรับการสละเวลาให้ข้อมูลเป็นวิทยาทาน น่ะค่ะ

...................................................

ตอบครับ

     1. ถามว่าอาหารคีโตเจนิก (Ketogenic) และอาหารสูตรอื่นๆที่มีลักษณะงดคาร์โบไฮเดรตไปกินเนื้อสัตว์แทนคล้ายๆกันนี้ เช่นอาหารมนุษย์ถ้ำ (Palio diet) อาหารหมออัทคิน (Atkin's diet) อาหารหมอดูก็อง (Ducan diet) ลดน้ำหนักได้จริงไหม ตอบว่าลดได้จริง และเมื่อเปรียบเทียบกับสูตรอาหารอื่นๆแล้วในระยะสั้น (ไม่เกินหนึ่งปี) งานวิจัยส่วนใหญ่พบว่าอาหารสูตรไม่กินข้าวกินแต่กับหรือที่ผมชอบเรียกว่าสูตร "คาร์บต่ำโปรตีนสูงไขมันสูง" เหล่านี้ลดน้ำหนักได้เร็วกว่าสูตรอื่นเล็กน้อย แต่ว่าน้ำหนักจะไปเสมอกันเมื่อพ้นหนึ่งปีไปแล้ว

     แต่หากไปตั้งนับกันที่เมื่อกินกันครบห้าปีไปแล้ว สูตรคาร์บต่ำโปรตีนสูงไขมันสูงหรือคีโตเจนิกนี้ไม่ใช่สูตรที่ลดน้ำหนักได้ดีที่สุดนะครับ สูตรที่ลดน้ำหนักได้ดีที่สุดคือสูตร DASH diet หรือสูตรอาหารลดความดันเลือด ซึ่งเป็นสูตรกินพืชเป็นหลัก กินคาร์โบไฮเดรตในรูปธัญพืชไม่ขัดสีแยะๆ และกินผักผลไม้กันมากถึงวันละ 10 เสริฟวิ่ง

     2. ถามว่าอาหารแบบคีโตเจนิกในระยะยาวมีผลเสียต่อร่างกายไหม ตอบว่างานวิจัยที่พอจะเทียบเคียงเอามาตอบคำถามนี้ได้คืองานวิจัยแบบเมตาอานาไลซีสเพื่อเปรียบเทียบอัตราตายระยะยาว 5 ปีขึ้นไปของคนจำนวน 249,272 คน กลุ่มหนึ่งกินอาหารแบบคาร์บต่ำโปรตีนสูงไขมันสูง (ซึ่งเป็นอาหารกลุ่มเดียวกับอาหารอัทคิน อาหารปาลิโอ อาหารดูก็อง อาหารคีโตเจนิก ที่มีจุดร่วมว่าลดแคลอรี่จากคาร์โบไฮเดรตลง แตกต่างกันที่รายละเอียดปลีกย่อย) อีกกลุ่มหนึ่งกินอาหารแบบอื่น (เช่นคาร์บสูงไขมันต่ำ) งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ PLoS One ซึ่งผลวิจัยสรุปว่ากลุ่มผู้กินอาหารแบบคาร์บต่ำโปรตีนสูงไขมันสูงนี้ มีอัตราตายในระยาวสูงกว่ากลุ่มผู้กินอาหารแบบอื่นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นจึงตอบคุณได้ว่าแม้ระยะสั้นไม่เกินหนึ่งปีอาหารแบบคีโตเจนิกจะลดน้้ำหนักได้รวดเร็วดี แต่ระยะยาวแล้วอาหารแบบคีโตเจนิกไม่น่าจะดีต่อสุขภาพครับ

     แต่ว่าในเด็ก มีข้อมูลความปลอดภัยค่อนข้างเจาะจงและชัดเจนดีกว่าผู้ใหญ่ เพราะตัวอาหารคีโตเจนิกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นวิธีรักษาโรคลมบ้าหมูในเด็กมาก่อน บางงานวิจัยให้เด็กกินอาหารแบบนี้นาน 8-10 ปี ในแง่ของการเติบโตหรืออัตราตายเด็กเหล่านั้นผลวิจัยติดตามพบว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร หมายความว่าเป็นอาหารที่ปลอดภัยสำหรับเด็กที่่จะกินยาว 8-10 ปี

    3. ถามว่าผลเลือดของอาจารย์ของคุณที่ว่าโคเลสเตอรอลรวม 549 ส่วนไขมันเลว LDL 493 ระยะยาวจะมีปัญหาต่อสุขภาพไหม ตอบว่ามีสิครับ เพราะไขมันในเลือดสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักตัวหนึ่งของโรคหัวใจหลอดเลือด ระยะยาวท่านก็มีโอกาสเป็นและเสียชีวิตจากโรคหัวใจหลอดเลือดสูงกว่าคนธรรมดา ส่วนที่ว่าสารชี้บ่งการอักเสบ CRP ได้ 1.0 แล้วดีอกดีใจนั้นเป็นคนละเรื่องกัน การอักเสบก็การอักเสบ ไขมันก็ไขมัน ทั้งสองอย่างต่างก็เป็นปัจจัยเสี่ยงอิสระ หมายความว่ามีอันใดอันหนึ่งโดยไม่มีอีกอันหนึ่งก็เป็นโรคและตายจากโรคได้แล้ว ส่วนการเอาไขมันมาบวกลบคูณหารกันนั้นคุณอย่าไปสนใจเลย เพราะมันเป็นสมมุติฐานทางการแพทย์ที่ไม่มีข้อมูลอัตราตายในคนจริงๆมาสนับสนุนมากพอ

    4. อันนี้คุณไม่ได้ถาม แต่ผมแถมให้ ทุกวันนี้มีคนสนใจการมีสุขภาพดีมากขึ้น มีผู้ที่อยู่นอกอาชีพแพทย์หันมาศึกษาผลวิจัยทางการแพทย์มากขึ้น บ้างก็เผยแพร่สิ่งที่ตัวเองอ่านพบและตีความได้ออกสู่เพื่อนฝูงคนรู้จักและในอินเตอร์เน็ท ทำให้มีข้อมูลแบบนี้เป็นจำนวนมาก ประเด็นคือวิชาแพทย์กับความเป็นจริงในเรื่องสุขภาพและโรคภัยนี้ เปรียบไปก็เหมือนกับคนตาบอดคลำช้าง แพทย์เป็นคนตาบอด วิชาแพทย์เป็นช้าง ทุกเรื่องทุกประเด็นมันมีความลุ่มลึกยอกย้อนวกวนขัดกันไปขัดกันมา เป็นการยากที่คนไม่เข้าใจวิธีจัดชั้นความเชื่อถือได้ของหลักฐานวิทยาศาสตร์และคนที่ไม่มีพื้นความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์อย่างแน่นหนาหรือรู้ลึกแต่ไม่ได้ตามเรื่องนั้นๆมาอย่างต่อเนื่องจะสามารถจับสาระความจริงที่เป็นประโยชน์ออกมาจากสิ่งที่เผยแพร่กันอย่างฟั่นเฝือในอินเตอร์เน็ทได้ นี่ว่ากันถึงความยากสำหรับคนที่เรียนแพทย์มาและทำอาชีพแพทย์อยู่นะ ยิ่งสำหรับคนนอกอาชีพแพทย์ยิ่งไม่ต้องพูดถึง

     ยกตัวอย่างเช่นคุณพูดถึงการบรรยายของอาจารย์มหาวิทยาลัยของคุณซึ่งพูดประมาณว่าการดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน (คือมีระดับฮอร์โมนอินสุลินสูง) เป็นความเสี่ยงทำให้เกิดการอ้วนจากการสะสมไขมันในร่างกาย การกินอาหารคีโตเจนิกทำให้ระดับอินสุลินต่ำและลดการดื้อต่ออินสุลินก็มีผลสลายไขมันที่สะสมในร่างกายได้ เป็นกลไกการทำให้ผอมที่ดูเหมือนตรงไปตรงมา ประเด็นคืือทั้งหมดที่อาจารย์ของคุณพูดมานั้นเป็นเพีียงสมมุติฐานทางการแพทย์ แต่ความจริงในร่างกายคนมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป

     ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยหนึ่งซึ่งออกแบบการวิจัยดีมาก เขาเอาคนอ้วน 17 คนมาทดลองกินอาหารสองแบบคืออาหารคาร์บสูงไขมันต่ำกับอาหารคีโตเจนิก อย่างละ 4 สัปดาห์ แล้วก็ตรวจวัดค่าต่างๆอย่างละเอียดโดยบังคับให้กินนอนอยู่ในศูนย์วิจัยการเผาผลาญอาหารนั่นเลย ผลการวิจัยพบว่าขณะกินอาหารคาร์บสูงไขมันต่ำได้ 15 วันน้ำหนักลดลงไปเฉลี่ยคนละ 0.8 กก. โดยที่เมื่อวิเคราะห์สัดส่วนของร่างกาย (body composition) น้ำหนักที่หายไปนั้นเป็นไขมันเสีย 0.5 กก.หรือ 63% ครั้นพอเปลี่ยนมากินอาหารคีโตเจนิก 15 วัน น้ำหนักก็ลดลงไปพรวดพราดอีก 1.8 กก. แต่เมื่อวิเคราะห์สัดส่วนองค์ประกอบของร่างกายแล้วพบว่าส่วนที่ลดไปนั้นเป็นน้ำเสียตั้ง 1.6 กก. (89%) เป็นไขมันแค่ 0.2 กก.  (11%) ทั้งๆที่เมื่อผลตรวจระดับอินสุลินขณะกินอาหารคีโตเจนิกอินสุลินก็ลดต่ำลงมากกว่าตอนกินอาหารคาร์บสูงไขมันต่ำ แต่กลับสลายไขมันได้น้อยกว่า นั่นหมายความว่าสมมุติฐานที่ตั้งขึ้นว่าถ้าลดระดับอินสุลินได้จะลดไขมันได้นั้นไม่เป็นความจริง อย่างน้อยก็ในงานวิจัยนี้ และในงานวิจัยนี้เรายังเรียนรู้ด้วยว่าที่อาหารคีโตเจนิกลดน้ำหนักได้เร็วพรวดพราดก็จริง แต่ส่วนใหญ่ที่ลดไปนั้นคือน้ำ ขณะที่อาหารคาร์บสูงไขมันต่ำลดน้ำหนักได้น้อยกว่าแต่ส่วนใหญ่ที่ลดไปนั้นเป็นไขมัน

     ที่ผมพูดมานี่อาจจะ "เยอะ" หรือลึกเกินไปหน่อย แต่เพื่อให้คุณเห็นภาพว่าข้อมูลที่เอามาเผยแพร่กันในอินเตอร์เน็ทนั้นมันยังต้องวิเคราะห์เจาะลึกอีกมากหลายชั้นกว่าจะกรองเอามาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งผมสนับสนุนให้แฟนบล็อกทุกท่านหัดกลั่นกรองจัดชั้นความเชื่อถือได้ของหลักฐานวิทยาศาสตร์ด้วยตัวเอง ผมเคยเขียนเรื่องการจัดชั้นความเชื่อถือได้ของหลักฐานวิทยาศาสตร์นี้ไปแล้วบ่อยมาก คุณหาย้อนอ่านดูได้ (เช่นในบทความนี้ http://visitdrsant.blogspot.com/2011/08/blog-post_25.html ซึ่งเป็นการตอบคำถามของท่านผู้อ่านที่เป็นคนทั่วไป หรือบทความนี้ http://visitdrsant.blogspot.com/2014/08/blog-post_15.html ซึ่งเป็นการตอบคำถามของท่านผู้อ่านที่เป็นแพทย์ ) คือหัดจับให้ได้ก่อนว่าสิ่งที่เขาเล่ามาในอินเตอร์เน็ทนั้นเป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์หรือเปล่า ถ้าเป็นๆระดับไหน เชื่อถือได้หรือเปล่า การที่คุณย้ำแต่ว่าคนพูดเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยก็แปลว่าน้ำหนักทั้งหมดอยู่ที่การเป็นความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ (expert's opinion) ซึ่งไม่ใช่หลักฐานวิทยาศาสตร์ เป็นแค่คำบอกเล่า (anecdote) คุณต้องหัดเจาะลงไปให้ลึกกว่านั้นว่าเขาบอกเล่าโดยเอาหลักฐานมาจากงานวิจัยไหน แล้วตามไปดูงานวิจ้ยนั้นว่าเป็นหลักฐานระดับชั้นไหน ก่อนจะเชื่อหรืือไม่เชื่อสิ่งที่เขาบอกมา

     กลับมาพูดถึงสูตรอาหารคีโตเจนิก ตัวผมเองไม่ได้มองสูตรอาหารคีโตเจนิกว่าเลวร้ายนะครับ ขึ้นอยู่กับการรู้จักเลือกใช้ มันเป็นสูตรอาหารที่ดีเมื่อต้องการลดน้ำหนักระยะสั้นๆเร็วๆ ผมเองก็เคยใช้สูตรอาหารแบบนี้ในการลดน้ำหนักของน้องๆที่เข้ารายการเต้นเปลี่ยนชีวิต  (Dance Your Fat Off) ที่ทีวี.ช่องสามเมื่อหลายปีก่อน ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของสูตรอาหารนี้ก็คือมันช่วยดึงคนอ้วนที่มีนิสัยติดการกินเนื้อสัตว์และติดรสชาติมันๆให้เข้ามาสู่วิถีสุขภาพ เริ่มด้วยการยอมทดลองลดน้ำหนักเพราะไม่ต้องอดของอร่อยๆที่ชอบกิน พอมีผลงานลดน้ำหนักตัวเองได้แล้วก็จะเกิดความชื่นชอบวิถีสุขภาพขึ้นมา เกิดอยากสวยอยากหล่อก็ริอ่านออกกำลังกาย ทดลองเล่นกล้าม สุขภาพก็ยิ่งดีขึ้นๆ แล้วความที่อาหารเนื้อสัตว์นี้กินมากๆมันก็จะเบื่อจนอ๊วกไปเอง คนกินสูตรคีโตเจนิกนี้นานๆเข้าก็จะค่อยๆขยับไปหาอาหารพืชมากขึ้นๆจนกินอาหารพืชเป็นหลักซึ่งเป็นสูตรอาหารที่ดีต่อสุขภาพในระยะยาวได้เองอย่างเป็นธรรมชาติและเป็นอัตโนมัติ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.  Noto H, Goto A et al. Low-Carbohydrate Diets and All-Cause Mortality: A Systematic Review and Meta-Analysis of Observational Studies. PLoS One. 2013; 8(1): e55030. doi: 10.1371/journal.pone.0055030
2.  Hall KD, Bemis T et. al. Calorie for calorie, dietary fat restriction results in more body fat loss than carbohydrate restriction in people with obesity. Cell Metab. 2015 Sep 1; 22(3): 427–436.
doi:  10.1016/j.cmet.2015.07.021
[อ่านต่อ...]

แพทย์ใช้ทุนถามเรื่องจะไปเรียนต่อ

อาจารย์คะ
หนูเป็นหมอใช้ทุนปี 3 กำลังสมัครเรียนต่ออยู่ค่ะ หนูอยากทราบความเห็นของอาจารย์ว่า ถ้าอาจารย์เป็นกรรมการต้องการคนแบบไหนเข้าไปเรียน จะมองผู้สมัครในประเด็นไหนบ้าง
สถาบันที่เราเลือกคงสืบข้อมูลเรามาส่วนหนึ่ง ซึ่งตอนเราเรียนอาจมีดีบ้างไม่ดีบ้างคละๆกันไป แต่พอมาทำงานแล้วเราเปลี่ยนไปมากค่ะ

ตอนนี้หนูเป็นแพทย์ใช้ทุนในระบบสาธารณสุข หลายทีที่ทำงานรู้สึกเหนื่อยล้าและ  burn out แต่พยายามทำงานต่อไปให้ดี ไม่ขาด ไม่ลาถ้าไม่จำเป็น แต่ต้องการไปเรียนต่อส่วนหนึ่งก็ต้องการหลุดพ้นการเป็น GP ค่ะ คงทนไปจนใช้ทุนครบ 3 ปี ขอบคุณสำหรับการแนะนำนะคะ หนูอยากเรียน NeuroMed ค่ะ

ขอแสดงความนับถือ

.................................................................

     ตอบครับ

     ก่อนตอบคำถามนี้ขอนิยามศัพท์ให้คนนอกวงการตามทันก่อนนะ

     GP ย่อมาจากคำว่า General Practitioner แปลว่าแพทย์ทั่วไป หมายถึงคนที่จบแพทย์แล้วไม่ได้ฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาใดสาขาหนึ่ง จบแล้วก็ทำงานยาวเลย แต่สมัยต่อมามีการฝึกอบรมในสาขานี้ขึ้น จึงเรียกผู้จบบอร์ดสาขานี้ว่าแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งหมายถึงแพทย์ทั่วไปนั่นแหละ ไม่ใช่แพทย์วางแผนครอบครัวหรือคุมกำเนิดอย่างที่หลายท่านเข้าใจผิดอยู่

     burn out แปลว่าเอียนการทำงาน หมายถึงคนที่ทำงานไปแล้วเกิดหมดอารมณ์ที่จะทำ บางครั้งเกิดจากการทำอะไรก็ไม่สำเร็จดั่งใจหมาย บางครั้งเกิดจากตัวตนแตกแยก (depersonalization)

     NeuroMed หมายถึงสาขาอายุรกรรมประสาท คืือจบแพทย์แล้วไปฝึกอบรมเป็นแพทย์สาขานี้โดยเฉพาะ ประกอบอาชีพตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคที่เกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อของระบบประสาทและสมองด้วยยา เป็นมนุษย์คนละพันธุ์กับ Neuro ศัลย์ (Neurosurgeon) ซึ่งรักษาโรคระบบเดียวกันแต่ด้วยวิธีการผ่าตัด และเป็นคนละพันธุ์กับจิตแพทย์ (pshychiatrist) ซึ่งประกอบอาชีพรักษาโรคบ้า หิ หิ ขอโทษ พูดใหม่ รักษาโรคทางจิตเวช หมายถึงโรคที่เกิดความผิดเพี้ยนทางความคิด ความจำ การรับรู้ พฤติกรรม หรือการใช้ดุลพินิจ โดยไม่มีหลักฐานว่าเกิดความผิดปกติอะไรในเนื้อเยื่อของระบบประสาทและสมอง

     Resident หมายถึงแพทย์ประจำบ้าน คือแพทย์ที่เรียนจบแล้วเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง ทำงานเป็นผู้ช่วยอาจารย์อยู่ในสาขาใดสาขาหนึ่งนาน สามปีบ้าง ห้าปีบ้าง เจ็ดปีบ้าง สุดแล้วแต่ว่าจะอบรมสาขาที่เรื่องมากหรือเรื่องน้อย

     คราวนี้มาตอบคำถามของคุณหมอ

     1. ถามว่าถ้าผมเป็นกรรมการคัดเลือกคนเข้าเป็นแพทย์ประจำบ้าน ผมจะเลือกคนแบบไหน ตอบว่าอาชีพ resident คืออาชีพขี้ข้า การคัดเลือกคนมาเป็นขี้ข้าผมก็ต้องเลือกคนที่ "ถึก" หรือ "อึด" ทนมือทนตีน และข้อสำคัญคือทน "ปาก" ของเหล่าอาจารย์ได้ เพราะชื่อว่าอาจารย์ย่อมมีปากเป็นเครื่องมือทำอาชีพ ผมหมายถึงเป็นเครื่องมือในการสอนนะ ดังนั้น resident จะต้องเป็นคนมีอารมณ์ที่เสถียร โดยผมจะวินิจฉัยเอาจากการปรากฎกายของเขาหรือเธอว่าเป็นคนยิ้มง่ายหัวเราะง่าย อาจารย์แกล้งพูดแทงใจดำก็รู้จักทำเป็นไม่ได้ยิน หรือไม่แสดงความโกรธให้เห็น แต่ไม่ใช่ว่าฉลาดจนรู้ทันอาจารย์ไปหมด เพราะชื่อว่าอาจารย์ย่อมไม่โปรดลูกศิษย์ที่รู้มาก ถ้ามีแต่ลูกศิษย์ที่ฉลาดล้ำเลิศแล้วอาจารย์จะไปสอนลิงที่ไหนละถูกแมะ เวลาสัมภาษณ์จึงต้องเก็บงำความฉลาดของตัวเองให้มิด จะงัดออกมาใช้ก็ต่อเมื่อถูกบีบให้จนตรอกเท่านั้น อย่าแสดงความฉลาดในห้องสัมภาษณ์พร่ำเพรื่อ โดยเฉพาะการทำสีหน้าว่ารู้ทันคำถามของอาจารย์เนี่ย ห้ามทำเด็ดขาด

     นอกจากการปรากฎกายด้วยการยิ้มแล้ว เสื้อผ้าหน้าผมก็สำคัญ ต้องแต่งกายให้อยู่ในบรรทัดฐานของสังคม ไม่มากไม่น้อย ต้องมีบุคลิกที่อ่อนน้อมถ่อมตนด้วย เพราะอาจารย์เวลาสัมภาษณ์เพื่อรับศิษย์ย่อมจะมองหา "เวไนยสัตว์" แปลว่าสัตว์ที่สอนได้ พบอาจารย์ต้องยกมือไหว้ก่อนแม้ว่าอาจารย์บางท่านจะอายุน้อยกว่าเรา อย่าไปถือตัวว่าเป็นหมอใหญ่ใช้ทุนมาครบเจนจบชีวิตมาแล้วอาจารย์เด็กๆที่จบแล้วเรียนต่อเลยอยู่แต่กรุงเทพไม่เคยไปรู้ไปเห็นชีวิตจริงที่บ้านนอกจะมารู้ชีวิตดีกว่าเราได้อย่างไร ถ้าคิดแบบนี้ก็เสร็จ

     ผู้ที่ออกหนังสือแนะนำตัวให้เราก็สำคัญ ต้องเลือกคนที่จะแนะนำเราอย่างพิถีพิถัน สองในสามคนต้องเป็นคนระดับสูงของวงการแพทย์ เพราะวงการแพทย์ย่อมเชื่อถือแพทย์อาวุโสที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานสูงมากกว่าแพทย์ทั่วๆไป อย่างน้อยหนึ่งในสามต้องเป็นอาจารย์แพทย์ที่สอนอยู่ในคณะแพทย์ของมหาวิทยาลัยแห่งใดแห่งหนึ่ง เพราะอาจารย์แพทย์จะเชื่ออาจารย์แพทย์ด้วยกันมากกว่าแพทย์ที่ไปประกอบอาชีพอื่น ยิ่งแพทย์ที่ไปเล่นการเมืองด้วยแล้วคุณอย่าไปให้เขาเขียนหนังสือแนะนำตัวเด็ดขาด เพราะคุณจะได้คะแนนลบตั้งแต่เขายังไม่ได้เปิดจดหมายอ่านแล้ว

     อย่างน้อยหนึ่งคนต้องเลือกผู้แนะนำเราที่เขาเห็นว่าเราเป็นคนดีเลิศประเสริฐศรีจริงๆ เดี๋ยวนี้คนไทยชอบธรรมเนียมแบบฝรั่ง คือให้ค่ากับคำแนะนำตัวที่บอกว่าวิเศษเสียจนเลิศลอย สมัยผมจบอินเทอร์น อาจารย์ผู้เขียนคำแนะนำตัวให้ผมไปเมืองนอกเป็นหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ ซึ่งในชีวิตผมเคยเจอท่านเพียงครั้งเดียว คืนนั้นบังเอิญท่านแวะมาดูคนไข้กลางดึกของคืนสุดท้ายในชีวิตอินเทอร์นของผม คือคืนวันที่ 31 มีค. ซึ่งจบเวรก็จะต้องผลัดเปลี่ยนอินเทอร์นรุ่นใหม่ในเช้าวันที่  1 เมย. ท่านเขียนแนะนำผมให้ฝรั่งว่าผม "...เป็นแพทย์ที่มีความรับผิดชอบสูงเยี่ยม" โอ้โฮ อะไรมันจะเกินความจริงไปมากขนาดนั้น ถ้าท่านผู้อ่านรู้ความจริงว่าการประเมินว่ามีความรับผิดชอบสูงเยี่ยมนั้นได้มาจากการเห็นกันเพียงชั่วโมงเดียว ท่านผู้อ่านจะเชื่อคำประเมินนั้นไหมละครับ แต่ว่าไม่ว่าจะจริงเท็จเป็นประการใด จดหมายฉบับนั้ันมันได้ช่วยผมให้หางานได้ง่ายขึ้นมากจริงๆ

     นอกจากหนังสือแนะนำตัวก็ควรจะหา "เส้น" หมายถึงการต่อท่อเข้าถึงและฝากเนื้อฝากตัวกับอาจารย์ท่านใดท่านหนึ่งที่เป็นกรรมการสัมภาษณ์ หรืออย่างน้อยก็เป็นอาจารย์ในภาควิชาที่เราจะไปเรียนนั้น เพราะเวลาที่ไม่มีใครรู้จักเราเลย เขาจะถามเอาจากคนวงใน ถ้าเราจิ้มก้องไว้ก่อนก็ได้เปรียบ

     ขณะที่ผมบอกให้วางฟอร์มอ่อนน้อมถ่อมตน แต่เมื่ออาจารย์เขาเปิดช่องให้ว่าไหนลองบอกมาซิว่าทำไมผมถึงจะต้องเลือกคุณขณะที่มีคนอื่นให้เลือกเยอะแยะ หรือบางท่านอาจถามดื้อๆว่าไหนบอกผมซิว่าคุณมีดีอะไร เมื่อเจอคำถามเปิดอ้าซ่าให้ท่าอย่างนี้อย่าถ่อมตนเด็ดขาด ให้บรรยายสรรพคุณของตัวเองให้สุดลิ่มและอย่างมีความเชื่อมัน โดยเน้นที่การเล่าเรื่องว่าตัวเราอึดอย่างไร ถึกอย่างไร และมีความสุขกับการได้ทำงานสำบุกสำบันอย่างไร ควรจะซ้อมประโยคเหล่านี้แล้วพูดกับตัวเองหน้ากระจกบ่อยๆ จะได้ไม่ออกอาการเลี่ยนตัวเองเวลาพูดต่อหน้ากรรมการสัมภาษณ์
     
     ทั้งหมดนี้ไม่ถึงกับต้องทำได้ทุกอย่างดอก แต่ให้คุณหมอใช้เป็นแนวทาง ดีกว่าที่จะไปสมัครให้เขาเลือกโดยไม่มีแนวทางชี้นำเลย ตอนเข้าสัมภาษณ์ก็ตั้งใจให้ข้อมูลให้ดีที่สุด เมื่อสัมภาษณ์ไปแล้ว ผลจะออกมาว่าอย่างไร เขาจะรับหรือไม่รับก็ให้ยอมรับผลนั้นแบบนิ่งๆสบายๆ การมีอาชีพหมอนี้อย่าไปตั้งธงปักใจเชื่อว่าชีวิตนี้จะต้องได้เป็นหมอสาขานั้นสาขานี้เท่านั้นถึงจะประสบความสำเร็จในชีวิตหรือมีความสุขได้ เพราะการเป็นหมอสาขาไหนก็ตาม ก็ล้วนเป็นเพียงแค่ "ลีลา" คือเป็นการสวมบทบาทหนึ่งในละครชีวิตเท่านั้น สาระสำคัญของอาชีพแพทย์คือการได้ใช้เมตตาธรรมช่วยเหลือผู้ป่วย ไม่ว่าเราจะเป็นหมอสาขาไหนเราก็ใช้วิชาชีพสาขานั้นช่วยคนไข้ได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งการเป็น GP ที่คุณหมอกำลังดิ้นรนหนีหรืออยากจะไปให้พ้นอยู่ ณ ขณะนี้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

28 สิงหาคม 2560

แจ้งข่าวเรื่องโคโฮ2 (Senior Co-Housing 2) ล่วงหน้า

     วันนี้ขอหยุดตอบคำถามหนึ่งวันเพื่อเล่าเรื่องที่ผมจะทำชุมชนผู้เกษียณอายุในรูปแบบ Senior Co-Housing รุ่นที่ 2 หรือโคโฮ2 (COHO-2) ครั้งก่อนทำโคโฮ1 หลายท่านบ่นว่าเวลาแจ้งข่าวสั้นเกินไป ตั้งตัวไม่ทัน วางแผนไม่ทัน คราวนี้จึงแจ้งข่าวล่วงหน้านานหน่อย คือแจ้งข่าวตอนนี้ แต่นัดหมายดูสถานที่ดินกันจริงๆนู่น..น วันที่ 6 มค. 61 โปรเจ็คนี้เป็นหนึ่งในความฝันส่วนตััวของหมอสันต์ที่จะเปลี่ยนหมู่บ้านกึ่งร้างที่ผมอาศัยอยู่ทุกวันนี้ให้เป็นชุมชนคนเกษียณอายุแบบมีคุณภาพชีวิิต โดยเปลี่ยนมันทีละนิดๆตามกำลังที่ตัวเองจะทำได้ ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น เอาเท่าที่มีเหตุปัจจัยพอจะเอื้อให้ทำได้ แบบว่ากันเองๆ สโลว์ๆ บัทชัวร์ ตามสไตล์หมอแก่

คอนเซ็พท์ของซีเนียร์โคโฮ

     ซีเนียร์โคโฮ หมายถึงรูปแบบชุมชนที่พักอาศัยของผู้เกษียณ ที่มีการตกลงกันในทิศทางหลักของชุมชนที่จะจัดตั้งขึ้นล่วงหน้าว่า

1. เป็นชุมชนที่สมาชิกจะอยู่ในนั้นไปตลอดชีพ โดยไม่ต้องย้ายไปไหน (age in place)
2. เป็นสังคมที่ดูแลกันและกัน (co-care) หรือชุมชนเพื่อนบ้านเกื้อกูล ( neighborhood support) ทุกคนรู้จักกัน
3. ทุกคนเป็นเจ้าของบ้านของตัวเอง มีพื้นที่ส่วนตัว (private area)
4. มีพื้นที่ใช้งานร่วมกัน (common area) บ้านอยู่ในรั้วเดียวกัน มีทางเดินภายใน จ้างคนทำสวนคนเดียวกัน มีระบบเรียกความช่วยเหลือฉุกเฉินจากเพื่อนบ้าน (nurse call system) ร่วมกัน มีปาร์คของส่วนกลางเป็นที่พบปะพูดคุยและทำกิจกรรม
5. ตัดสินใจเรื่องของชุมชนร่วมกัน ไม่มีใครเป็นใหญ่ (unanimous decision)

บทเรียนจากโคโฮ1

1. การให้ซื้อแต่ที่ดินของใครของมันแล้วแต่ละคนไปปลูกบ้านเองไม่เวอร์ค เพราะบางคนตั้งใจปลูกแต่มีปัญหาแยะ ทะเลาะกับผู้รับเหมาไม่เสร็จ บางคนชีวิตเปลี่ยนแปลงต้องย้ายไปอยู่กับลูกเมืองนอก บางคนหมุนเงินไม่ทันจึงปลูกไม่ได้ ฯลฯ การที่ทุกคนไม่ปลูกบ้านให้พร้อมกันทันทีเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด เพราะเมื่อไม่มีบ้านก็ไม่มีคนอยู่ เมื่อไม่มีคนอยู่ชุมชนก็ไม่เกิด

2. การให้เลือกแบบบ้านเองตามใจชอบก็ไม่เวิร์ค เพราะถึงเวลาจริงแล้วคุมไม่ได้เนื่องจากทุกคนมีเอกสิทธิ์เหนือที่ดินของตนเอง ต้องบังคับให้ทำสัญญาปลูกบ้านตามแบบที่ออกให้แล้วสี่ห้าแบบตั้งแต่ก่อนซื้อเท่านั้น จะเปลี่ยนได้ก็เฉพาะรายละเอียดปลีกย่อย แต่ไม่ใช่เพิ่มความสูงไปอีกหนึ่งชั้น ขยายพื้นที่ออกไปอีกเท่าตัว ท้ายที่สุดก็ไม่ใช่หมู่บ้านผู้เกษียณอายุที่เดิมตั้งใจจะให้เป็นแค่บ้านชั้นเดียวหรือชั้นครึ่งหลังเล็กๆอีกต่อไป

3. การบังคับจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนกลางสามปีนั้นสั้นเกินไป ต้องบังคับจ่ายล่วงหน้าอย่างน้อยสิบปี เพราะสามปีชุมชุนยังเพิ่งเริ่มตั้งไข่ ยังไม่รู้จักกันดี ก็ต้องมาคุยกันเรื่องเสียเงินอีกแล้ว ทำให้เกิดความอิหลักอิเหลื่อ ถ้าเก็บสักสิบปี ถึงตอนนั้นรู้จักกันดีแล้ว มีอะไรก็คุยกันได้

สิ่งใหม่ๆที่เกิดขึ้นหลังจากโคโฮ1

     อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่มีโคโฮ1เป็นต้นมา มีสิ่งใหม่ๆหลายอย่างเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ชีวิตในโคโฮ2 ง่ายขึ้น คือ

     1. มีเวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นที่ฝึกอบรมแค้มป์สุขภาพและศูนย์กิจกรรมผู้สูงวัยเกิดขึ้นในมวกเหล็กวาลเลย์ อยู่ห่างจากโคโฮ2 เพียง 300 เมตร เดินไปใช้บริการได้ง่ายๆ

     2. มีครัวปราณาซึ่งทำและจำหน่ายอาหารสุขภาพในมวกเหล็กวาลเลย์แล้วทุกวัน และบริการส่งอาหารตามสั่งถึงบ้านภายในมวกเหล็กวาลเลย์ทุกบ้านด้วย ทำให้ผู้อาศัยที่ไม่อยากทำอาหารเองได้รับความสะดวก ครัวปราณาใช้พืชผักและวัตถุดิบอาหารจากฟาร์มออร์กานิกของตัวเองซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกัน

     3. มีศูนย์บำบัดเมก้าเวดะ ซึ่งให้บริการการแพทย์ทางเลือกแบบองค์รวมเน้นอายุรเวชเกิดขึ้นแล้วในมวกเหล็กวาลเลย์ มีแพทย์แผนไทย หมออายุรเวชจากอินเดีย และนักบำบัดเชิงหัตถเวชมาอยู่ประจำ ซึ่งผู้สูงอายุที่ชอบการแพทย์ทางเลือก กายภาพบำบัด และบีบนวดสามารถใช้บริการได้โดยง่าย และในอนาคตถ้ามีลูกค้าก็จะให้บริการดูแลผู้สูงอายุตามบ้านภายในมวกเหล็กวาลเลย์ด้วย

     4. รถตู้มวกเหล็ก-กทม.ได้เข้ามารับส่งผู้โดยสารในมวกเหล็กวาลเลย์ (ตามสั่ง) ด้วยแล้ว ทำให้คนที่ไม่ชอบใช้รถยนต์เดินทางได้สะดวกขึ้น

     5. มีทางด่วนมอเตอร์เวย์กรุงเทพโคราชมาแวะลงมวกเหล็กได้โดยตรง กำลังก่อสร้างอยู่ จะเสร็จในปี 2563 ซึ่งจะทำให้ลูกหลานจากกรุงเทพไปมาเยี่ยมเยือนสะดวกขึ้น  

รูปแบบของโคโฮ2

1. เป็นที่ดินพร้อมบ้าน 12 แปลง แบ่งเป็นสองชนิด

แปลงที่ 1-8 มีขนาด 100 - 130 ตรว. บังคับเซ็นสัญญาจ้างปลูกบ้านทันทีพร้อมกับการซื้อที่ดิน (ใช้เวลาปลูกหนึ่งปี) และห้ามเลี้ยงสัตว์ (หมา แมว ไก่) แบบปล่อยออกนอกบ้าน เพราะอยู่ในรั้้วเดียวกันกับคนอื่น จะได้ไม่รบกวนกัน

แปลงที่ 9-12 มีขนาด 135-310 ตรว. ไม่บังคับให้ปลูกบ้านทันที ไม่บังคับแบบบ้าน ไม่ห้ามเลี้ยงสัตว์ เพราะอยู่ในรั้วของใครของมัน

2. ทุกแปลงต้องจ่ายค่าส่วนกลางล่วงหน้า 10 ปี (2,000 บาทต่อตรว.ต่อ10 ปี)

3. ทุกแปลงแชร์ระบบบำรุงรักษาร่วมกัน (ตัดหญ้า, ดูแลเป็นหูเป็นตา)

4. ขออนุญาตว่าจะยังไม่แจ้งราคาที่ดินขณะนี้ แต่ราคาที่ดินจะประมาณเท่ากับราคาตลาด

5. ผู้รับเหมาต้องเป็นผู้รับเหมาที่หมอสันต์ไว้ใจเลือกให้เท่านั้น ซึ่งเป็นเจ้าเดียวซึ่งมีแค้มป์ก่อสร้างอยู่ในมวกเหล็กวาลเลย์อยู่แล้ว ณ ขณะนี้ และล็อคราคาก่อสร้างต่อตารางเมตรไว้ โดยให้ทำสัญญากันเองโดยตรง หมอสันต์ไม่มีเอี่ยวใดๆด้วยตรงนี้

สำหรับผู้สนใจที่จะมาอยู่โคโฮ2 
ปาร์คกลางหมู่บ้านที่ซอย 1 (ราชาวดี)


1. กรุณาแจ้งความจำนงไว้ที่หมอสมวงศ์ (โทร. 086 888 2521 หรืออีเมล somwong10@gmail.com โดยให้ชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ของท่านไว้

2. เชิญมาดูที่ดินและแบบบ้านตามนัดหมายในวันที่ 6 มค. 61 เวลา 9.00 น. นัดพบกันที่โคโฮ2 ซอย1(ราชาวดี) หมู่บ้านมวกเหล็กวาลเลย์ โดยตั้งโต๊ะแจกแผนผังกันที่ใต้ร่มไม้ในปาร์คกลางหมู่บ้าน (ซอย1) ดูที่จบแล้วค่อยไปสรุปกันที่ Hall ของเวลเนสวีแคร์เซนเตอร์

3. การมาดูสถานที่ก่อนหน้านั้นไม่มีประโยชน์เพราะยังเป็นป่าอยู่ยังไม่มีอะไรให้ดู

4. กรณีมีผู้ต้องการซื้อมากกว่าจำนวนหน่วยที่มี ผู้ที่แจ้งความจำนงไว้ก่อนจะได้สิทธิ์ซื้อก่อน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

27 สิงหาคม 2560

ไม่จริงหรอกที่ว่าถ้าไม่ทำบอลลูนก็จะไม่ตาย

กราบเรียนนพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
สามีของดิฉันเสียชีวิตกะทันหัน เขามีอายุ 51 ปี เมื่อต้นเดือนมีอาการเจ็บหน้าอกเวลาออกแรง พอพักก็หายไป จึงไปโรงพยาบาล... คุณหมอได้ให้ตรวจวิ่งสายพานแล้วบอกว่ามีหัวใจขาดเลือด จึงแนะนำให้สวนหัวใจ โดยบอกว่าสวนหัวใจให้ได้ข้อมูลมาก่อนแล้วค่อยตัดสินใจก็ได้ ซึ่งสามีก็ตกลง แต่ก็ได้คุยกันกับดิฉันก่อนว่ายังจะไม่ทำบอลลูนหรือผ่าตัดใดๆทั้งสิ้น วันที่ไปตรวจสวนหัวใจดิฉันตามไปไม่ทันเพราะรถติด หมอสวนหัวใจแล้วพบว่ามีตีบสามเส้นจึงแนะนำให้ทำบอลลูนใส่สะเต้นท์ไปตอนนั้นเลยเพื่อจะได้ไม่ต้องมาสวนหัวใจซ้ำอีก ลูกๆเล่าว่าสามีขอให้รอดิฉันแต่หมอบอกว่ารอไม่ได้เพราะสายสวนจะคาไว้นานไม่ได้ เลือดจะออก สามีจึงเซ็นให้ทำ ตอนที่ดิฉันไปถึงได้ทำไปแล้ว เมื่อหมอออกมาแจ้งข่าวก็บอกแต่ว่าเกิดหัวใจหยุดเต้น กำลังช่วยกันอยู่ แล้วก็มาบอกอีกว่าการปั๊มหัวใจไม่สำเร็จ จะต้องทำผ่าตัดบายพาสฉุกเฉิน ดิฉันตัดสินใจไม่ยอมเพราะขณะนี้กำลังหัวใจหยุดเต้น จะไปทำผ่าตัดใหญ่กันทั้งๆที่หัวใจหยุดเต้นจะไปทำเช่นนั้นได้อย่างไร หลังจากนั้นไม่กี่นาทีหมอก็แจ้งว่าสามีเสียชีวิต ดิฉันรับไม่ได้กับเรื่องที่เกิดขึ้น อยากถามคุณหมอสันต์ว่าหมอเชียร์ให้ทำบอลลูน แฟนขอให้รอดิฉันก่อน แต่หมอก็เร่งรัดว่ารอไม่ได้ ความจริงมันรอได้ใช่ไหมคะคุณหมอสันต์ แล้วถ้าไม่ทำบอลลูนสามีก็คงไม่ต้องเสียชีวิตใช่ไหมคะ อย่างไรเสียดิฉันก็จะให้ทนายยื่นฟ้อง แม้ว่าสามีจะไม่กลับมาอีกก็ตาม แต่การฟ้องของดิฉันอาจทำให้หมอได้คิดว่าครั้งต่อไปจะได้ไม่เชียร์ให้ผู้ป่วยทำโน่นทำนี่อย่างออกนอกหน้า
ดิฉันเป็นแฟนประจำคุณหมอสันต์ ขอโทษด้วยถ้าคำพูดไม่สุภาพ ดิฉันยอมรับว่าจิตใจยังไม่กลับมาเป็นปกติ

.................................................

ตอบครับ

     1. ถามว่าผู้ป่วยเจ็บหน้าอก พักแล้วหายเจ็บหน้าอก พอสวนหัวใจแล้วพบจุดตีบที่หลอดเลือดที่สมควรจะใช้บอลลูนขยาย เป็นกรณีที่รอได้ใช่หรือไม่ ตอบว่าอย่าใช้คำว่ารอได้หรือรอไม่ได้เลยเพราะคนอยู่วงนอกห่างไกลเหตุการณ์ย่อมไม่ทราบข้อมูลที่เกิดขึ้นณเดี๋ยวนั้นมากพอที่จะฟันธงได้ เอาเป็นว่ามันเป็นกรณีที่หากแม้นทำได้ก็ควรทำไปซะให้จบในคราวเดียว ภาษาหมอเรียกว่า ad hoc คือทำม้วนเดียวจบ ซึ่งมันก็มีข้อดีที่ไม่ต้องเข้าๆออกๆห้องสวนหัวใจหลายรอบ ไม่ต้องมาตั้งต้นอดน้ำอดอาหารเพื่อเตรียมการกันใหม่ ไม่ต้องมาสวนหัวใจกันใหม่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันข้อเสียมันก็มีอย่างที่คุณเห็นนี่แหละ คือบางครั้งผู้ป่วยหรือครอบครัวยังไม่พร้อมที่จะตัดสินใจ แต่ความจริงหมอเขาไม่ได้บังคับนะ เขาเสนอให้สามีของคุณเลือก สามีของคุณเป็นคนตัดสินใจขั้นสุดท้ายนะ และสามีคุณก็ตัดสินใจว่าให้ทำ ตอนที่ตัดสินใจนั้นสามีคุณก็ยังสติสะตังดีอยู่ ยังเซ็นชื่อได้อยู่เลย หมอเขาจึงเดินหน้าทำไงครับ

     2. ถามว่าถ้าไม่ทำบอลลูนสามีก็จะไม่เสียชีวิตจริงไหม ตอบว่าไม่จริงหรอกครับ คนเป็นโรคหัวใจขาดเลือดระดับมีอาการเจ็บหน้าอกแล้วแต่ยังไม่เคยเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันอย่างสามีของคุณนี้ งานวิจัยชื่อ COURAGE Trial ได้ทำการทดลองแบ่งคนไข้ออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งใช้วิธีรักษาแบบรุกล้ำ คือทำบอลลูนหรือบายพาส อีกกลุ่มหนึ่งให้กินยาโดยไม่ทำการรักษาแบบรุกล้ำ พบว่าอัตราตายในระยะยาวเท่ากัน คือไม่ว่าจะรักษาโดยการทำหรือไม่ทำบอลลูน ก็มีโอกาสตายในระยะยาวเท่ากัน ไม่ใช่ว่าถ้าไม่ทำบอลลูนแล้วจะไม่ตาย ตายทั้งสองแบบ ตายเท่าๆกันด้วย

     คนเป็นโรคหััวใจขาดเลือดทุกคน (รวมทั้งตัวหมอสันต์ด้วย) เปรียบไปก็เหมือนได้วีซ่าที่จะมีชีวิตอยู่สั้นกว่าคนไม่ได้เป็นโรคน่ี้โดยเฉลี่ย เพราะโรคห้ัวใจขาดเลืิอดเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของมนุษย์ ถึงจะเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิงด้วยการปรับไปกินอาหารพืชเป็นหลัก ออกกำลังกาย และจัดการความเครียดอย่างที่หมอสันต์สนับสนุนสุดลิ่มอยู่ทุกวันนี้ก็ตาม มันลดอัตราตายในระยะยาวลงได้ดีกว่าการอยู่เฉยไม่ทำอะไรเลยก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าใครก็ตามที่ทำตามหมอสันต์ว่าแล้วยมพบาลจะแตะต้องไม่ได้ มันไม่ใช่อย่างนั้น การตายของคนเรามันเป็นการประชุมแห่งเหตุ คือมีสาระพัดเหตุมาประดังเกิดในคราวเดียวกัน ไม่มีใครคาดเดาได้ล่วงหน้าว่าความตายจะเกิดกับตัวเองเมื่อใด รู้แต่ว่าทุกคนต้องตายแหงๆไม่วันใดก็วันหนึ่ง รู้แค่นั้น

     3. ประเด็นสำคัญไม่ใช่อยู่ที่แพทย์ทำอะไรผิดพลาดสมควรฟ้องร้องหรือไม่ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ท่ี่คุณมีโลกทัศน์ต่อชีวิตผิดไป คุณไปปักธงสำคัญมั่นหมายว่าชีวิตของคุณและคนใกล้ชิดจะต้องมีชีวิตอยู่ยืนยาวจนเข้าวัยชราซึ่งคุณเชื่ออย่างผิดๆว่ามันเป็นสะเป๊คมาตรฐานของการเกิดมาเป็นคน จะมาตายเร็วกว่าสะเป๊คไม่ได้ และคุณไปเชื่อผิดๆว่าถ้าทำอย่างนี้จะไม่ตาย ถ้าทำอย่างนั้นจะไม่ตาย แต่ในชีวิตจริงใครจะตายเมื่อไหร่คนกำหนดมีอยู่คนเดียวคือยมพบาล แล้วยมพบาลนี้ท่านฟังใครซะที่ไหนละครับ

     ผมแนะนำว่าสิ่งที่คุณพึงทำคืือถือโอกาสที่สูญเสียสามีไปนี้มองกลับเข้าไปค้นหาความจริงที่ข้างในตัวเองว่าคุณเป็นใคร อะไรที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นตัวคุณจริงๆ ทำไมคุณจึงเป็นทุกข์ ชีวิตนี้มีอะไรไหมที่คุณคุมได้ (ความคิดของคุณเองนั่นไงที่คุณคุมได้) อะไรที่คุณคุมไม่ได้ (ทุกอย่างนอกเหนือจากความคิดของคุณเป็นสิ่งที่คุณคุมไม่ได้) แล้วปรับวิธีมองโลกและวิธีใช้ชีวิตไปในทางที่จะทำให้คุณไม่เป็นทุกข์ คุณควรลงมือทำเฉพาะในสิ่งที่คุณคุมได้ ผมหมายถึงการวางความคิดลง ในส่วนที่คุณคุมไม่ได้นั้นคุณควรเรียนรู้ที่จะยอมรับมันตามที่มันเป็น ยอมรับว่ามันเป็นกระแสปกติของชีวิต ยอมรับว่ามันเกิดขึ้นแล้ว ทั้งสิ่งที่น่าพอใจและสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ยอมรับมันทั้งหมด อย่าไปเกาะเกี่ยวอยู่แต่กับสิ่งที่ทำให้พอใจแล้วพยายามวิ่งหนีสิ่งที่ทำให้ไม่พอใจ เพราะการทำอย่างนั้นเป็นปฐมเหตุที่จะทำให้คุณเป็นทุกข์

      4. ในเรื่องที่คิดจะฟ้องหมอนั้น ผมแนะนำว่าอย่าไปฟ้องเลย เพราะ

      4.1 คุณเป็นทุกข์เพราะคุณสำคัญมั่นหมายผิดๆว่าชีวิตคุณจะต้องมั่นคงแน่นอนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากข้อกำหนดในใจคุณ แต่ในชีวิตจริงมันไม่มีอะไรมั่นคงแน่นอนดอก อยู่ๆสามีก็เกิดตายขึ้นมาอย่างไม่คาดฝัน คุณก็ทุกข์ คุณต้องไปแก้ตรงเหตุแห่งทุกข์คือความสำคัญมั่นหมายผิดๆนั้น ไม่ใช่ไปฟาดหัวฟาดหางตรงที่อื่นซึ่งไม่ใช่เหตุที่ทำให้คุณเป็นทุกข์
     
     4.2 ผมเดาข้ามช็อตไปว่าฟ้องไปคุณก็ไม่ชนะ

       ประการแรก ไม่มีพยานหลักฐาน หรือพยานบุคคล หรือพยานแวดล้อมใดๆ บ่งชี้ว่าหมอเขามีเจตนาร้ายต่อสามีคุณ หรือคิดจะทำมาหากินบนความเสี่ยงต่อชีวิตของสามีคุณ หรือทำงานโดยประมาทเลินเล่อ อย่างน้อยเท่าที่ผมอ่านเอาจากจดหมายของคุณผมก็ไม่เห็น เมื่อเขารักษาสามีคุณด้วยเจตนาดี แล้วจะไปเอาผิดหมอเขาด้วยเหตุอะไรละครับ

     ประการที่สอง ฟังตามเรื่องที่คุณเล่า หมอเขาทำทุกอย่างไปตามหลักวิชาแพทย์แผนปัจจุบันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เจ็บหน้าอกมาเขาตรวจคัดกรองด้วยการวิ่งสายพาน พอวิ่งสายพานได้ผลบวกเขาก็แนะนำให้ตรวจยืนยันการวินิจฉัยด้วยการสวนหัวใจ พอสวนหัวใจพบรอยตีบที่หลอดเลือดหัวใจเขาก็เสนอทางเลือกการรักษา คนเป็นโรคหัวใจขาดเลือดนี้มีวิธีรักษาสองวิธีคือบอลลูนกับไม่บอลลูน หมอเขาก็เสนอให้เลือกทำบอลลูน สามีของคุณก็ตัดสินใจเลือกแล้ว ว่าจะเดินหน้าทำบอลลูน ผมไม่เห็นว่าหมอเขาจะทำอะไรผิดตรงไหนเลย
 
     ประการที่สาม  การที่สามีคุณทำบอลลูนขยายหลอดเลือดแล้วเกิดหัวใจหยุดเต้นกะทันหันเสียชีวิต เป็นภาวะแทรกซ้อนของการทำหัตถการชนิดนี้ ซึ่งมีอัตราตายตามสถิติสากลประมาณ 0.5% หมายความว่าทุก 200 คนที่เข้าทำบอลลูน จะตายเสียประมาณ 1 คน นี่เป็นข้อจำกัดของวิชาแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่ใช่ความผิดของใคร ถ้าจะถือว่าเป็นความผิดก็เป็นความผิดของมนุษยชาติที่ยังโง่อยู่ จะรักษาโรคห้วใจขาดเลือดโดยไม่ให้คนไข้ตายเลยนั้นยังทำไม่ได้ ข้อจำกัดอีกอันหนึ่งของวิชาแพทย์คือเครื่องมือที่ใช้ในการตัดสินใจว่าควรเลือกการรักษาทางไหนไม่เลือกทางไหนนั้นเป็นเพียงแค่สถิติเปรียบเทียบจากอดีตว่าทำอย่างนี้คนจะตายน้อยกว่าทำอย่างนั้น หลายปีผ่านไปหากมีสถิติใหม่ๆมาสถิติเก่าๆก็อาจจะถูกเลิกไป หมายความว่าเกณฑ์ที่ใช้ตัดสินใจเลือกวิธีรักษาวันนี้อาจจะผิดก็ได้ นี่ก็เป็นข้อจำกัดอีกอย่างหนึ่งของวิชาแพทย์ โดยไม่เกี่ยวกับว่าใครทำผิดหรือทำถูก

     สุดท้าย.. ผมเข้าใจคุณนะ เห็นใจคุณ เอาใจช่วยคุณ และขอย้ำกับคุณด้วยความรักว่าให้คุณหันเหความสนใจจากภายนอกกลับสู่ภายใน วางความคิดสาระพัดลงเสีย เมตตาและให้อภัย ทั้งคนอื่นและตัวเอง ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามันเกิดขึ้นแล้ว และมันเป็นธรรมดาของชีวิตที่จะต้องมีอะไรบ้าๆบอๆอย่างนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เมื่อวางความคิดได้ และยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้น ณ เดี๋ยวนี้ได้แล้ว จิตใจก็จะสงบลง แล้วคุณจะพบพลัง (grace) ที่จะหนุนช่วยให้คุณมีชีวิตอยู่อย่างสงบสุขและสร้างสรรค์ต่อไปได้เอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.  Boden WE, O'rourke RA, Teo KK, et al; COURAGE Trial Co-Principal Investigators and Study Coordinators.The evolving pattern of symptomatic coronary artery disease in the United States and Canada: baseline characteristics of the Clinical Outcomes Utilizing Revascularization and Aggressive DruG Evaluation (COURAGE) trial. Am J Cardiol. 2007;99:208-212.
[อ่านต่อ...]

26 สิงหาคม 2560

การปกป้องลูกไม่ให้ง่าว เอ๋อ สึ่งตึง คือพันธกิจหลัก

หนูมีเรื่องจะสอบถามนะค่ะ
หนูผ่าตัด CA Thyroid  ไปเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2556  และกลืนแร่ ไปเมื่อวันที่ 9 ส.ค.2556  ตอนนี้หนูตั้งครรภ์ได้ 6 เดือนแล้วค่ะ หนูปรึกษากับหมอที่รักษาหนูแล้วค่ะ หมอบอกว่าสามารถตั้งครรภ์ได้ และตอนปลายเดือน พ.ย.2559 หมอปรับยาให้หนูใหม่ เนื่องจากแคลเซียมต่ำ (ยาที่กินอยู่เป็นประจำ)ยาแอลฟ่าแคลซิดลอล0.25มคก(ALFACALCIDOL) กิน 1 เม็ด เช้า  ยาแคลเซียมคาร์บอเนต600มก(CALCIUM CO3) กิน 3 เม็ด  4 เวลา เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน(เคยกิน 2 เม็ด 4 เวลา)  และยาเอลทรอกซิน 0.1 มก(ELTROXIN) 1 เม็ด ก่อนอาหารเช้า   และเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2560 หนูไปหาหมอตามนัด แต่กลับไม่เจอหมอคนที่ผ่าตัดให้หนู  หมอย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้วค่ะ  เจอหมอคนใหม่  หนูบอกว่าหนูตั้งครรภ์อยู่  เขาบอกหนูว่า ทำไมปล่อยให้ท้อง รู้ไหมว่ามีโรคประจำตัว  เขาเลยบอกให้หนูมาคุยกับหมอที่หนูฝากท้อง  เขาบอกว่ากลัวมีผลกระทบกับเด็ก  หนูเครียดมาก  หนูก็เลยไปเจาะเลือดที่โรงพยาบาล ผลเลือดวันที่ 4 ก.ค.60 free T4 = 0.761  , TSH = 75.72 , Free T3 = 1.56 และ แคลเซียม 9.13 หนูก็เลยเอาไปให้หมอใกล้บ้านที่หนูเคยรักษาดู  หมอเลยปรับยาให้ใหม่   ยาแอลฟ่าแคลซิดลอล0.25มคก(ALFACALCIDOL) กิน 1 เม็ด เช้า  ยาแคลเซียมคาร์บอเนต600มก(CALCIUM CO3) กิน 3 เม็ด  4 เวลา เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน  และยาเอลทรอกซิน 0.1 มก(ELTROXIN) 1 เม็ดครึ่ง ก่อนอาหารเช้า(เคยกิน 1 เม็ดเช้า) และหมอนัดเจาะเลือดใหม่ ผลเลือดวันที่ 15 ส.ค.2560 หลังจากที่ปรับยาไทรอยด์แล้วค่ะ free T4 = 1.21 , TSH = 3.01  ,Free T3 = 2.06 และ แคลเซียม 9.30 ค่ะ

หนูอยากทราบว่า
1. ยาที่หนูกินอยู่ทั้ง แคลเซียม  ไทรอยด์ และวิตามินดี มีผลต่อลูกในท้องไหมค่ะ  โดยเฉพาะยาไทรอยด์ค่ะ เห็นเภสัชที่ รพ.ที่หนูไปรับยาถามว่าทำไมหมอไม่ให้หยุดยาไทรอยด์ หนูเลยบอกว่า ถ้าหนูหยุดยาไทรอยด์ ไทรอยด์หนูจะต่ำค่ะ หนูกลัวมากเลยค่ะ ไม่รู้จะปรึกษาใครค่ะ แต่หนูเคยอาจเพจของคุณหมอ หนูเลยคิดว่ายาไทรอยด์ไม่มีผลต่อเด็กค่ะ
2.ขณะหนูตั้งท้อง หนูต้องกินยาไทรอยด์ไปตลอดจนคลอดใช่ไหมค่ะ

....................................................................

ตอบครับ

     1. ถามว่ายาที่กินทั้งแคลเซียม ฮอร์โมนไทรอยด์ และวิตามินดี.มีผลต่อทารกในครรภ์ใหม ตอบว่า "ไม่มี" ครับ การที่เภสัชกรที่รพ.บอกว่ายาฮอร์โมนไทรอยด์มีผลต่อเด็กนั้น ท่านคงจะเข้าใจข้อมูลผิดไป หรือท่านอาจจะจำยาสับสน ยาฮอร์โมนไทรอยด์ (Eltroxin)นั้น ในทำเนียบพิษยาเขาจัดเป็นยา category A แปลว่ามีความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์สูงสุดคือ 100% การไม่กินยาต่างหากที่จะมีผลต่อทารกในครรภ์ เพราะหากขาดฮอร์โมนไทรอยด์ทารกในครรภ์จะกลายเป็นคนง่าว คนเอ๋อ คนสึ่งตึง คุณรู้จักคำสามคำนี้ไหม มันแปลได้ความหมายเดียวกัน ผมจะอธิบายคำแปลด้วยเพลงคำเมืองเหนือที่ผมชอบร้องตอนผมเป็นเด็กหนุ่มๆนะ

    "...เขาว่าตัวอ้าย เป็นคนสึ่งตึง
     มีสองสลึง ป๋ายแถมซาวห้า
     คิดๆขึ้นมา ใคร่หุย กินยาหมูตุ้ย ตะวา
     เปิ้นจุ๊อ้ายว่า มีวิตามิน..."

    แปลเป็นภาษาไทยภาคกลางได้ความว่า

    "...เขาว่าตัวพี่นี้เป็นคนปัญญาทึบ
    มีสองสลึง บวกอีกยี่สิบห้าสะตางค์ ก็แปลว่าเป็นคนสามสลึง หรือไม่เต็มบาทนะแหละจ๊ะ
    คิดๆขึ้นมามันน่าร้องไห้ เมื่อวานนี้พี่กินยาหมูอ้วนไป
    เขาหลอกพี่ว่ามันมีวิตามิน...อะจ๊าก..ก"

    แคว่ก แคว่ก แคว่ก ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

    ขอโทษ เผลอนอกเรื่อง กลับมาเข้าเรื่องดีกว่า ที่เภสัชกรของคุณบอกว่ายาไทรอยด์มันอันตรายกับทารกในครรภ์ ท่านคงจำสลับกับยาต้านไทรอยด์เช่นยาพีทียู.(PTU) และยาเมทิมาโซล (methimazole) ผมขอพูดถึงด้วยเสียเลยเผื่อแฟนบล้อกที่เป็นไฮเปอร์ไทรอยด์ที่ต้องกินยาพวกนี้แล้วตั้งท้อง เพราะเคยมีรายงานทางระบาดวิทยาและรายงานเคสผู้ป่วยไม่กี่รายว่าการกินยานี้สัมพันธ์กับการเกิดความพิการของทารกในครรภ์ ทำให้แม้แต่หมอก็เกิดความกลัวยาเมทิมาโซลกันทั่วไป แต่ว่ามันเป็นความกลัวแบบคนกลัวผี ไม่เคยมีใครเห็นผีจริงๆสักคน กล่าวคือหลักฐานทั้งสองแบบ (งานวิจัยระบาดวิทยาและรายงานเคสผู้ป่วย) นี้ ไม่ใช่หลักฐานที่จะเอามาบอกได้ว่าอะไรทำให้เกิดอะไร หมายความว่าไม่ใช่หลักฐานที่ปรักปรำได้ว่ายาเมทิมาโซลทำให้ทารกพิการ อาจเป็นแค่ว่าการพบทารกพิการร่วมกันการใช้ยาเมทิมาโซลนั้นเป็นความฟลุ้คที่สองอย่างมาจ๊ะเกิดในคนๆเดียวกันโดยบังเอิญโดยที่ทั้งสองอย่างนั้นไม่มีผลต่อกันเลย อธิบายอย่างนี้จะรู้เรื่องไหมเนี่ย ไม่รู้เรื่องก็ไม่เป็นไร ผ่านไปก่อน ต่อมาได้มีการทำวิจัยแบบแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบแบบตามดูไปข้างหน้า (cohort study) ซึ่งเป็นหลักฐานระดับสูงกว่าเชื่อถือได้มากกว่า โดยเอาหญิงตั้งครรภ์ที่กินยาเมทิมาโซล 241 คน มาติดตามดูเปรียบเทียบกับหญิงตั้งครรภที่กินยาอื่นที่รู้แน่ชัดว่าไม่มีผลต่อทารกในครรภ์รวมทั้งยาพีทียู. จำนวน 1089 คน ผลปรากฎว่าทั้งสองกลุ่มมีอัตราการเกิดทารกพิการไม่แตกต่างกันเลย นั่นหมายความว่าหลักฐานที่สูงกว่านี้บ่งชี้ว่ายาเมทิมาโซลไม่ได้ทำให้เกิดความพิการของทารกในครรภ์มากไปกว่าความพิการตามความฟลุ้คหรือตามดวง ต่อมาก็มีงานวิจัยอีกสองชุดที่ทำการวิจัยเปรียบเทียบแบบย้อนหลัง (retrospective study) ก็ไม่พบว่าการกินยาเมทิมาโซลทำให้ทารกพิการเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แล้วก็มีอีกงานวิจัยหนึ่งเปรียบเทียบความเสี่ยงของการเกิดไฮโปไทรอยด์ในเด็กทารกที่แม่กินยาเมทิมาโซลเทียบกับแม่ที่กินยาโพรพิลไทโอยูราซิลหรือพีทียู. (PTU) ก็พบว่าโอกาสเกิดความพิการไม่แตกต่างกันเช่นกัน กล่าวโดยสรุป ยาไทรอยด์ ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนไทรอยด์ หรือยาต้านไทรอยด์ ไม่มีผลก่อความพิการต่อทารกในครรภ์แต่อย่างใดทั้งสิ้น

     การเป็นโรคไทรอยด์แล้วไม่กินยานั่นแหละที่มีผลต่อทารก กล่าวคือถ้าเป็นไฮโปไทรอยด์ก็จะทำให้ลูกเป็นคนสึ่งตึงอย่างที่เล่าไปแล้ว ถ้าเป็นไฮเปอร์ไทรอยด์ก็จะทำให้เกิดปัญหากับการตั้งครรภ์และการคลอดสาระพัดแบบ รวมทั้งการตายขณะคลอด คลอดมาน้ำหนักน้อย คลอดมาเป็นคอหอยพอก หรือเป็นไฮโปไทรอยด์ ดังนั้นแม่ที่เป็นโรคของต่อมไทรอยด์ไม่ว่าแบบไฮโปหรือไฮเปอร์แม้ขณะตั้งครรภก็ต้องกินยาต่อเนื่อง ห้ามหยุดยาเด็ดขาด

     พูดถึงความกลัวยาเมทิมาโซลของแพทย์นี้ลามไปถึงหมอเด็กนู่นเลยนะ คือกลัวว่าแม่กินยาเมทิมาโซลแล้วให้ลูกดูดนมลูกจะกลายเป็นเด็กสึ่งตึง ซึ่งเป็นความกลัวที่ไร้สาระ หลักฐานวิทยาศาสตร์มีอยู่ว่าเป็นความจริงที่เมื่อตามไปตรวจดูน้ำนมแม่แล้วพบว่ายาพีทียู.และเมทิมาโซลออกไปอยู่ในน้ำนมแม่ (พีทียู.ออกไปน้อยกว่า) แต่งานวิจัยเปรียบเทียบแม่ที่กินยาเมทิมาโซลด้วยให้นมลูกด้วยจำนวน 139 คนก็ไม่พบว่าลูกของแม่ที่กินยาเมทิมาโซลด้วยให้นมบุตรด้วยจะมีปัญหาในเรื่องพัฒนาการของเด็กหรือง่าวเอ๋อแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าให้ยาในขนาดที่ต่ำกว่า 20 มก.ต่อวันนั้นไม่ได้ทำให้ทารกเป็นไฮโปไทรอยด์แน่นอน

     2. ถามว่าขณะตั้งท้อง ต้องกินยาไทรอยด์ไปตลอดจนคลอดใช่ไหม ตอบว่า ก็ใช่อะสิครับ ถ้าคุณไม่อยากให้ลูกของคุณถูกหลอกให้กินยาหมูตุ้ย อย่าลืมว่าคุณเป็นแม่คนแล้วนะ ภาระกิจหลักของคุณคือการปกป้องลูกไม่ให้เป็นคนง่าว คนเอ๋อ คนสึ่งตึง ดังนั้นคุณต้องตั้งใจกินยาไปจนคลอด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Martínez-Frías ML, Cereijo A, Rodríguez-Pinilla E, Urioste M. Methimazole in animal feed and congenital aplasia cutis. Lancet. 1992;339(8795):742–3.
2. Clementi M, Di Gianantonio E, Pelo E, Mammi I, Basile RT, Tenconi R. Methimazole embryopathy: delineation of the phenotype. Am J Med Genet. 1999;83(1):43–6.
3. Valdez RM, Barbero PM, Liascovich RC, De Rosa LF, Aguirre MA, Alba LG. Methimazole embryopathy: a contribution to defining the phenotype. Reprod Toxicol. 2007;23(2):253–5. Epub 2006 Nov 28.
4. Barbero P, Ricagni C, Mercado G, Bronberg R, Torrado M. Choanal atresia associated with prenatal methimazole exposure: three new patients. Am J Med Genet A. 2004;129A(1):83–6.
5. Di Gianantonio E, Schaefer C, Mastroiacovo PP, Cournot MP, Benedicenti F, Reuvers M, et al. Adverse effects of prenatal methimazole exposure. Teratology. 2001;64(5):262–6.
6. Momotani N, Ito K, Hamada N, Ban Y, Nishikawa Y, Mimura T. Maternal hyperthyroidism and congenital malformation in the offspring. Clin Endocrinol (Oxf) 1984;20(6):695–700.
7. Wing DA, Millar LK, Koonings PP, Montoro MN, Mestman JH. A comparison of propylthiouracil versus methimazole in the treatment of hyperthyroidism in pregnancy. Am J Obstet Gynecol. 1994;170(1 Pt 1):90–5.
8. Marchant B, Brownlie BE, Hart DM, Horton PW, Alexander WD. The placental transfer of propylthiouracil, methimazole and carbimazole. J Clin Endocrinol Metab. 1977;45(6):1187–93.
9. Azizi F, Khoshniat M, Bahrainian M, Hedayati M. Thyroid function and intellectual development of infants nursed by mothers taking methimazole. J Clin Endocrinol Metab. 2000;85(9):3233–8.
10. Azizi F, Hedayati M. Thyroid function in breast-fed infants whose mothers take high doses of methimazole. J Endocrinol Invest. 2002;25(6):493–6.
[อ่านต่อ...]

25 สิงหาคม 2560

คอนเซ็พท์จะไร้ความหมายหากไม่ได้ทดสอบในประสบการณ์จริง

     ได้อ่านที่อาจารย์เขียนเรื่องความคิด คอนเซ็พท์ และความเชื่อ แล้วมีความทึ่งและชอบมาก แต่เมื่อคิดไตร่ตรองไปก็มาติดขัดตรงที่ว่าทุกอย่างก็คือความคิดหมด ต้องวางหมดเลยหรือ ถ้าวางหมด แล้วชีวิตนี้จะเหลืออะไรละคะ

................................................

ตอบครับ

     1. ถามว่าในการจะพบกับความสงบเย็นที่ภายในนี้ ต้องวางความคิดทุกชนิดหมดเลยหรือ ไม่ว่าจะเป็นความคิด คอนเซ็พท์ และความเชื่อใดๆ ตอบว่าต้องวางหมดเลยครับ ต้องวางหมดเกลี้ยงเลย จึงจะเข้าถึงความรู้ตัว อันเป็นบ่อเกิดของความสุขสงบที่ภายในได้ แต่ว่าการวางนี้มันมีสองแบบนะ

     1.1 คอนเซ็พท์ที่เป็นเครื่องมือทำมาหากิน เช่นคอนเซ็พท์ทางคณิตศาสตร์ บวก ลบ คูณ หาร เมื่อใช้เสร็จแล้วเราวางแบบเก็บเข้ากล่องเครื่องมือ เหมือนเก็บไขควงที่ใช้แล้วเข้ากล่อง ไปภายหน้าหากจำเป็นต้องใช้ เราก็เปิดกล่องหยิบขึ้นมาใช้ได้อีก

     1.2 คอนเซ็พท์ที่เป็นขี้หมา คือไม่มีอะไรเป็นจริงเลยมีแต่จะทำให้ชีวิตเราจมลง ให้วางแบบทิ้งไปเลย เช่นความเชื่อที่ว่าความเป็นบุคคลที่ชื่อนี้มีเพศนี้มีการศึกษามาอย่างนี้ได้รับยศฐาบรรดาศักดิ์และการยกย่องเกียรติรางวัลต่างๆอย่างนี้ ให้วางแบบทิ้งไปเลย เพราะมันเป็นขี้หมาล้วนๆ เอาไปใช้การอะไรไม่ได้ มีแต่จะทำให้เราติดหล่มไปไหนไม่รอด

     2. ถามว่าเมื่อวางความคิด คอนเซ็พท์ และความเชื่อไปหมดแล้ว ชีวิตจะเหลืออะไร อ้า นี่แหละ มาถูกที่เลย ถามถูกจุดเลยนะคะคุณเจ้าขา ตอบว่า..เมื่อทิ้งสิ่งที่เราคิดว่าเป็นของจริง (ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ใช่ของจริง) ทั้งหมดแล้ว ก็จะเหลือสิ่งที่เราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นว่ามันมีอยู่ แต่ว่ามันมีอยู่และเป็นของจริง คือเหลือความว่างที่มีแต่ความต่ื่น และความสามารถรับรู้อยู่ นี่แหละ ของจริง และนี่แหละคือการบรรลุความหลุดพ้น ที่เขาว่าหลุดพ้น หลุดพ้น (enlightenment) หรือตื่น (awakening) ก็คือตรงนี้แหละ

     อุปมาอุปไมยว่าโลกทัศน์ของมนุษย์ทั่วไปนี้เปรียบได้กับการมองเห็นเชือกกล้วยเป็นงู ตราบใดที่ยังเชื่อว่ามันเป็นงู ตราบนั้นก็มิอาจเข้าไปจับต้องใช้ประโยชน์จากเชือกกล้วยได้ ต้องทิ้งความเชื่อที่ว่ามันเป็นงูไปอย่างสิ้นเชิงก่อน จึงจะเข้าไปจับต้องใช้งานเชือกกล้วยได้ ฉันใดก็ฉันเพล ตราบใดที่ยังเชื่อว่าความคิด คอนเซ็พท์ และความเชื่อต่างๆรวมทัั้งสมมุติบัญญัติทั้งหลายไม่ว่าที่เราเห็นเป็นรูปร่าง (forms) และที่เราตั้งชื่อให้ได้ (names) เหล่านี้เป็นเรื่องจริง เป็นของที่มีอยู่จริง ตราบน้้นก็ไม่มีวันจะได้รู้จักความรู้ตัว ซึ่งจะปรากฎให้เห็นเมื่อวางความคิดทุกรูปแบบไปหมดแล้วเท่านั้น

     3. ข้อนี้คุณไม่ได้ถามนะ แต่ผมแถมให้เผื่อสำหรับท่านผู้อ่านทั่่วไปด้วย

     ประเด็นที่หนึ่ง โลกทัศน์ของคนทั่วไปเป็นคอนเซ็พท์ที่เห็นว่าชีวิตนี้มีเป้าหมายคือความสุข และวิธีจะบรรลุความสุขก็คือพยายามอยู่กับสิ่งที่เราพอใจ และหลีกหนีสิ่งที่เราไม่พอใจ นี่เป็นคอนเซ็พท์แบบคนทั่วไปหรือพูดง่ายๆว่าแบบโลกิยะ

    ขณะที่คอนเซ็พท์แบบโลกุตระหรือแบบจิตวิญญาณซึ่งแทบทุกศาสนาใช้คอนเซ็พท์เดียวกัน คือชีวิตนี้มีเป้าหมายคือความสุข ตรงนี้เหมือนกันนะ แต่ต่างกันที่การจะบรรลุความสุขนั้นไม่ใช่ด้วยวิธีแสวงหาและอยู่กับสิ่งที่พอใจแล้วหลีกหนีสิ่งที่ไม่พอใจ การจะบรรลุความสุขที่ยั่งยืนนั้นต้องมองให้เห็นว่าความพอใจก็ดี ความไม่พอใจก็ดีมันหมุนเวียนเปลี่ยนหน้ากันมาหาแบบเป็นกระแสการไหลไปของชีวิต จะต้องมองให้เห็นว่าทั้งสองอย่างเป็นกระแสชีวิตธรรมดาๆ มองให้เห็น และยอมรับมันอย่างที่มันเป็น ไม่ไปเกาะเกี่ยว (ถ้าสุข) หรือหนี (ถ้าทุกข์) จึงจะได้พบกับความสงบเย็นที่ภายใน อันเป็นความสุขที่แท้จริง
  
     ประเด็นที่สอง คอนเซ็พท์ทุกคอนเซ็พท์เป็นเพียงความคิด แม้แต่คำสอนของบรมศาสดาใดๆไม่ว่าจะดังแค่ไหนก็เป็นเพียงความคิด แต่มันจะมีความหมายขึ้นมาหากถูกนำไปทดสอบในประสบการณ์จริง บางคอนเซ็พท์ซึ่งถูกยกเมฆขึ้นมา เมื่อถูกทดสอบก็อาจจะเจ๊งกะบ๊งไป บางคอนเซ็พท์ที่ได้มาจากประสบการณ์ตรงของผู้บอกเล่า เมื่อถูกทดสอบก็อาจจะก่อประสบการณ์จริงตรงตามนั้น

     ยกตัวอย่างเช่นผมได้ยินได้ฟังมานานแล้วถึงคำเตือนที่ว่าอย่าไปยิ้มให้ลิงเชียวนะ เพราะมันจะก้าวร้าวใส่เราทันที ผมได้แต่คิดว่าจริงหรือวะ มันจะเป็นไปได้อย่างไร ลิงก็คล้ายกับคน เราเมตตาต่อมันมันก็น่าจะรับรู้ได้ จนกระทั่งวันหนึ่งผมไปเที่ยววัดบนเขาแห่งหนึ่ง เดินผ่านฝูงลิง มีลูกลิงตัวหนึ่งนั่งอยู่เดี่ยว ผมมองมันด้วยความทึ่งในรายละเอียดของสีหน้าแววตามือไม้นิ้วเล็บ ช่างละเอียดและเหมือนคนเสียนี่กระไร ผมเผลอยิ้มให้มันอย่างเอ็นดู ทันใดที่ผมยิ้มให้เจ้าลิงน้อยก็แยกเขี้ยวร้องแว้ก..ก กระโดดถอยไป เข้าใจว่าธรรมเนียมลิงการแยกเขี้ยวใส่กันเป็นการโหมโรงก่อนจะลงมือตบตีกัน ผมจึงนึกขึ้นได้ว่าเออ ที่เขาว่าอย่ายิ้มให้ลิงนั้นท่าจะจริงแฮะ ผมติ๊กลงไปบนเช็คลิสต์ในใจผมได้หนึ่งข้อแล้ว ว่าเรื่องยิ้มกับลิงนี่เป็นของจริงแฮะ นี่เป็นตัวอย่างของการเอาคอนเซ็พท์ไปทดสอบในประสบการณ์จริง คอนเซ็พท์เป็นความคิดที่เราเรียนรู้มาด้วยความจำและความคิดอ่าน (intellect) แต่ประสบการณ์จริงเป็นการรู้ (knowing) ที่เราได้รับผ่านการสัมผัสรับรู้ จะด้วยผ่านอายาตนะตาหูจมูกผิวหนัง (sensation) หรือผ่านการรู้จากส่วนลึกๆข้างใน (intuition) ก็ตาม

     สิ่งที่ผมจะเน้นในประเด็นนี้คือคอนเซ็พท์ทางจิตวิญญาณไม่ว่าจะเลิศสะแมนแตนอย่างไรก็ตาม มันย่อมไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิงหากไม่ได้นำไปทดสอบในประสบการณ์จริง เพราะความสุขสงบที่เราไขว่คว้าหานั้นเป็นประสบการณ์จริง ไม่ใช่เป็นแค่คอนเซ็พท์ การเรียนรู้จดจำคอนเซ็พท์ทางจิตวิญญาณหรือคำสอนทางศาสนาไว้มาก หรือเรียนจบหลักสูตรศาสนาหรืือปรัชญาป.ตรีโทเอกจนโต้วาทีเถียงกับชาวบ้านได้คอเป็นเอ็นนั้น เป็นเพียงการเพิ่มความคิดที่มีมากอยู่แล้วให้เฟอะฟะขึ้นไปอีก ผมจึงพูดบ่อยๆว่าหยุดอ่านหนังสือเสีย หยุดตระเวณฟังอะไรที่โน่นที่นี่เสีย ทิ้งความสนใจต่อสิ่งภายนอกใดๆเสีย หันเข้าหาภายในตัวเอง สั่งสมประสบการณ์จริงเพื่อทดสอบคอนเซ็พท์ที่ได้เรียนมาว่าอะไรใช่ อะไรไม่ใช่ จึงจะบรรลุความสงบสุขที่ภายในได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

24 สิงหาคม 2560

เด็กหญิงสาวเจ็บหน้าอก บางกรณีมันเป็นของจริง

สวัสดีค่ะคุณหมอ
      หนูชื่อ...นะคะ อายุ 21 ปี คือหนูเริ่มเจ็บหน้าอกตั้งเเต่สมัยมัธยมต้นเเล้วค่ะ มักจะเป็นตอนวิ่งออกกำลังกายรู้สึกมีอะไรมาทิ่มที่หน้าอกด้านซ้ายเวลาหายใจ เลยคิดว่าอาจจะเหนื่อยเกินไป พอช่วงมัธยมปลายบางวันเดินๆอยู่ หรือนั่งเฉยๆอยู่ก็เจ็บเวลาหายใจขึ้นมาดื้อๆ
       มีวันนึงตอนมัธยมปลายขณะอยู่บนรถโดยสารกำลังจะเอื้อมมือไปกดกริ่ง อยู่ดีหน้าอกด้านซ้ายก็เจ็บขึ้นมา ซึ่งครั้งนี้ไม่เหมือนกับครั้งก่อนๆ เพราะมันไม่ได้เจ็บเเบบเข็มทิ่ม เเต่มันเหมือนะไรเกิดขึ้นที่หน้าอกเเต่อธิบายไม่ถูก เเล้วความเจ็บก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รู้สึกได้ว่ามันเเผ่มาที่ใต้รักเเร้ ช่วงอกซ้ายด้านหน้า ลามไปถึงเเขนซ้าย ไหล่ ตอนนั้นช่วงตัวด้านซ้ายไม่มีเเรงเลย รู้สึกชา ด้วยความที่ตกใจมากเลยยืนเฉยๆตรงนั้นซักพัก จนอาการหายไป
     จนตอนนี้หนูเรียนอยู่มหาวิทยาลัยเเล้ว อาการเจ็บเเบบเข็มทิ่มเเทบไม่มีเลยเลย เเต่กลับเป็นเวลาออกกำลังกาย(ไม่ออกกำลังกายก็เคยเจ็บ)หน้าอกด้านซ้ายมันจะรู้สึกเหมือนเอ็นหรืออะไรบางอย่างผิดปกติเเล้วค่อยๆเจ็บเเบบเเผ่ คือมันจะปวดเเบบมีอาการมาบีบรุงเเรง ตรงหน้าอกฝั่งซ้ายจนเเละรู้สึกเกร็งช่วงนั้น เเต่ไม่ชา รุนเเรงเท่ารอบที่อยู่บนรถโดยสาร สามารถพูดได้ว่าทุกครั้งที่ออกกำลังกายต้องมีอาการนี้เกิดขึ้น1ครั้ง ซึ่งพักหลังเกิดขึ้นถี่จนเริ่มกลัวจริงๆจังๆขึ้นมาเเล้วค่ะ
      จึงอยากรบกวนถามคุณหมอว่าอาการเเบบนี้อันตรายไหมคะ หรือเป็นเพราะร่างกายไม่ทนต่อการออกกำลังเฉยๆ หรือเพราะใช้งานกล้ามเนื้อหนักเกินไปคะ
     ขอบพระคุณค่ะ

............................................................

ตอบครับ

     เด็กหญิงสาวอายุอานามขนาดคุณนี้ มองเผินๆเหมือนเป็นโรคประสาทชนิดขี้กังวลเจ็บโน่นเจ็บนี่จิ๊ดๆจ๊าดๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ็บแปล๊บ..บ แปล๊บ ที่หัวใจเหมือนมีใครเอามีดมาทิ่มมาแทง ซึ่งกรณีเช่นนั้นเป็นเรืื่องไม่ซีเรียส ไม่ต้องทำอะไร แค่ทำความเข้าใจว่ามันเป็นอาการที่ไม่มีนัยสำคัญ มันเจ็บขึ้นมากก็เพิกเฉยต่อมันเสีย เรื่องก็จบ

     แต่กรณีของคุณนี้ หากฟังให้ดี อาการที่คุณเล่ามันเป็นอาการแบบคลาสสิกของการที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดชนิดไม่เร่งด่วน (stable angina) ที่ว่าคลาสสิกคือเจ็บแบบแน่นๆตื้อๆหนักๆ เมื่อเจ็บมากจะแผ่ออกไป หรือร้าวไปถึงแขน และมักมีความสัมพันธ์กับเวลาที่หัวใจต้องใช้เลือดมาก เช่นขณะออกกำลังกาย พอพัก อาการเจ็บก็ทุเลาลง อย่างนี้เรียกว่าเป็นการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือดแบบไม่เร่งด่วน ถ้าเป็นผู้ใหญ่อายุมาก เราก็จะเหมาเข้าเข่งกลุ่มคนเป็นโรคหัวใจขาดเลือด หมายถึงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่กรณีของคุณนี้อายุแค่นี้คงไม่ใช่โรคหัวใจขาดเลือดแน่ จึงจำเป็นจะต้องสืบค้นเอาคำตอบว่ามันเกิดอะไรขึ้นที่หัวใจ

     พูดมาถึงตอนนี้ผมขอเล่านอกเรื่องหน่อย เป็นคนละเรื่องเดียวกัน นานหลายปีมาแล้ว วันหนึ่งผมได้รับโทรศัทพ์จากเพื่อนที่เป็นหมออยู่ต่างจังหวัดว่าลูกชายของเขาซึ่งเป็นเด็กหนุ่มรูปร่างดีอายุยี่สิบกว่าและเป็นนักออกกำลังกายกำลังถูกแอดมิทไว้ที่รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง หมอวินิจฉัยว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันโดยมีคลื่นหัวใจเปลี่ยนแปลงและมีเอ็นไซม์ของหัวใจออกมาในเลือดมากผิดปกติ และหมอจะทำการตรวจสวนหัวใจฉีดสีเป็นการฉุกเฉิน เพื่อนของผมไม่แน่ใจว่าจะเป็นการตรวจโดยไม่จำเป็นหรือเปล่าจึงโทรศัพท์มาปลุกผมตอนค่อนรุ่ง ผมนึกในใจว่าดูเถอะ วงการหมอของเรานี้ แม้แต่หมอด้วยกันยังระแวงหมอด้วยกันเลย ความระแวงนี้เกิดจากความเชื่อว่ากล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเป็นเรื่องของผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ที่มีปัจจัยเสี่ยงมาหลายปีเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องของเด็กวัยรุ่น จึงไม่เชื่อว่าลูกชายของตัวเองจะเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้ แต่ผมฟังเรื่องเล่าก็รู้แล้วว่านี่แหละของจริง คือผู้ป่วยกำลังเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและเวลาที่ผ่านไปแต่ละนาทีก็มีค่าเพราะกล้ามเนื้อกำลังทะยอยตายเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ความที่เป็นเพื่อนสนิทเรียนหนังสือด้วยกันมา ลูกของเขาก็เหมือนลูกของเรา ผมจึงลุกจากที่นอนเอารถพยาบาลไปรับผู้ป่วยมาจากรพ.แห่งนั้น ไม่ไปรับเองก็ไม่ได้ เพราะคนไข้หนักอย่างนี้ไม่มีหมอคนไหนเซ็นอนุญาตให้เคลื่อนย้ายออกจากรพ.หรอก เมื่อไปรับมาถึงรพ.ที่ผมทำงานอยู่แล้วผมก็ให้สวนหัวใจเลยทันที ผลปรากฎว่าเป็นความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจแต่กำเนิดชนิดเส้นเลือดโป่งพอง (coronary aneurysm) แล้วเลือดไหลวนจนลิ่มเลือดเกิดขึ้นในส่วนที่โป่งพองนั้นแล้วอุดการไหลของเลือดทั้งหมด ความพยายามที่จะเอาบอลลูนเข้าไปดึงหรือดูดเอาเลือดออกก็ไม่สำเร็จเพราะหลอดเลือดมันขนาดใหญ่กว่าตัวบอลลูนมาก จึงให้ทำผ่าตัดบายพาสกันเดี๋ยวนั้นเลย โชคดีที่ทุกอย่างยังไม่สาย กล้ามเนื้อยังไม่ตายเป็นบริเวณกว้างเกินไป หลังผ่าตัดผู้ป่วยฟื้นตัวดีกลับไปใช้ชีวิตแบบนักออกกำลังกายตามปกติได้ ที่เล่าให้ฟังนี้เพื่อให้เห็นของจริงว่าอาการเจ็บหน้าอกในเด็กหนุ่มเด็กสาว ไม่ใช่เรื่องไร้สาระเสมอไป บางครั้ง แม้จะนานๆครั้ง มันเป็นของจริง ซึ่งหากมองข้ามไปแบบเหมาโหลว่าเป็นปสด.ก็อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

      กรณีของคุณนี้ อาศัยหลักฐานเท่าที่ให้มา ยังไม่ได้ตรวจฟังเสียงหัวใจ ผมวินิจฉัยทางอากาศด้วยการเดาล่วงหน้าว่าคุณเป็นโรคความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจแต่กำเนิดชนิดเลือดแดงต่อตรงกับเลือดดำ (congenital coronary AV malformation) จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ จะต้องพิสูจน์ด้วยการสืบค้นเป็นขั้นเป็นตอน ดังนั้นผมแนะนำว่าคุณต้องไปหาหมออายุรกรรมหัวใจ (cardiologist) หรือไม่ก็หาหมออายุรกรรมหัวใจเด็ก (pediatric cardiologist) และสิ่งที่ควรทำอย่างน้อยคือควรตรวจสมรรถนะหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (EST) เพื่อให้เห็นจะๆว่าจริงหรือเปล่าเมื่อออกแรงแล้วหัวใจจะขาดเลือด หากวิ่งสายพานแล้วได้ผลบวก ผมแนะนำว่าให้คุณเดินหน้าทำการตรวจสวนหัวใจ (CAG) ไปเลยทันที รับประกันว่ากรณีเช่นนี้ไม่ใช่การตรวจที่มากเกินไปแม้ว่าคุณจะอายุเพิ่งจะ 21 ก็ตาม ส่วนการตรวจที่รุกล้ำน้อยกว่านี้เช่นการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ดูหลอดเลือดหัวใจ (coronary CTA) นั้น ผมแนะนำให้ข้ามไปไม่ต้องทำ เพราะหากมันให้คำตอบที่กำกวมมันก็ต้องไปจบด้วยการตรวจสวนหัวใจอยู่ดี

     เรืื่องทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นเรื่องเร่งด่วน จะรอไว้ไปทำตอนปิดเทอมก็ได้ ในระหว่างนี้ข้อปฏิบัติก็คือ ไม่ต้องกินยาอะไร ให้ออกกำลังกายไปตามปกติทุกวัน แต่เมื่อถึงจุดที่เจ็บหน้าอกก็ต้องผ่อนการออกกำลังกายลง พอคลายเจ็บแล้วจึงจะค่อยเดินหน้าออกกำลังกายต่อไปได้ อย่าไปพยายามท้าทายหรือฝึกหัวใจด้วยการฝืนทำให้ได้มากขึ้น เพราะกรณีของคุณนี้ อาการเจ็บหน้าอก หากแปลเป็นภาษาบ้านๆก็จะแปลว่า

      "ยมพบาลถือสามง่ามมายืนรออยู่หน้าประตูบ้านแล้ว"

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

ปล. เมื่อตรวจครบแล้ว ในกรณีที่หมอเขาแนะนำให้ผ่าตัดหรือทำอะไรก็ตาม อย่าเพิ่งผลีผลาม ให้ส่งผลการตรวจโดยละเอียดมาให้ดูอีกครั้ง ผมอาจมีคำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อประกอบการตัดสินใจ
[อ่านต่อ...]

22 สิงหาคม 2560

ให้หัดเรียงลำดับปัญหาสุขภาพของตัวเอง

เริ่มเลยนะครับผม อายุ 51 ปี สูง 172 หนัก 96.5 กก. และส่งผลตรวจอื่นๆมาด้วย
ข้อมูลด้านสุขภาพคือผมกินยาลดไขมัน Fenofibrate 300 mg มานาน 10 กว่าปีแล้ว โดยค่า ไตรกลี ถ้าไม่กินยาจะสุง เกือบๆ 500  LDL ระยะแรกไม่สุงเกินค่าปกติ แต่มาระยะหลังสุงขึ้น163 ไขมันดี HDL ต่ำ อยู่ในระดับ 24 บ้าง 30 บ้าง ไม่เคยเกิน 45 น้ำตาล อยู่ที่ 105 ระยะหลังจึงมี ยากลุ่ม Statin 10 mg มาเพิ่มอีกตัว รวมทั้งยังเป็นพวกกรดไหลย้อยเป็นๆ หายๆเสมอ แต่เคยส่องกล้องแล้วไม่พบปัญหาใหญ่อะไรครับ
ปัญหาที่รบกวนชีวิตผมมากและไม่มีทางออกที่ ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติครับ ขอย้อนไปเมื่อ
สักเมื่อ ก.ย. 2557 ผมได้ถูก แตน หรือตัวต่อ บางชนิดต่อยเพียงตัวเดียว แล้วเกิดภาวะ แพ้รุนแรง anaphylaxis แต่ดีที่เพื่อนพาไป รพ.บนเกาะได้เร็ว หมอได้ฉีด อะดินาลีน ให้ทำให้รู้ว่าต่อไปต้องระวังสัตว์ต่อยพวกนี้ ตอนออกจาก รพ. ได้ไปอาบน้ำเย็นพยาบาลให้ไปอาบน้ำ จนได้อาการแพ้ความเย็นแถมมาอีกตัวนึง ไปจับแก้วน้ำเย็นนิ้วจะบวมแดงเลย ลงสระน้ำ ขึ้มมาผื่นขึ้นทั้งตัวผมเข้าใจว่าตอนที่พยาบาลให้ไปอาบน้ำ ทำพิษผมแน่ๆ ให้เป็นแบบนี้ ปัจจุบันผมพกยาฉีด Epinephrine
ติดไว้เสมอและไม่กล้าไปประเทศหนาว

เข้าปัญหาครับ สักปี 58 ผมก็เริ่มมีการใจสั่นๆ และมากขึ้นเรื่อยๆ นานเข้ามันรบกวนชีวิตผมมากครับผมได้พบหมอหัวใจอยู่และรักษาด้วยการกินยา atenolol 25 ช่งแรกกินครึ่งเม็ดเช้า เย็น ช่วงหลังกิน 1 เม็ดเช้าเท่านั้น ผลที่ได้คืออาการจะมีกำเริบในทุกรอบ เดือนกว่าถึงสองเดือน จะเป็นที่ 5-7 วัน ตอนเป็นจะนอนไม่ได้มันเต้นแบบ มาเป็นตัวๆ เป็นระยะๆ ถืี่หน่อยก็ เต้น 3 ครั้ง มา 1 ตัว (คือใจมันจะบีบตัวรั่วขึ้นมาแปปนึง ถ้าจับชีพจรดูจังหวะนั้นชีพจรจะเว้น) ไม่ไม่สม่ำเสมอ และจนในที่สุดแพทย์ส่งผมไปทำ EP หลังทำหมอให้งดยาทุกตัวผมก็นึกว่าจะหายเลยที่ไหนได้ กลับบ้านไปเต้นผิดปกติทุกวันและตลอดเวลาเลยครับ ผมทนจน 2 สัปดาห์นัดไปพบหมอว่า ตามที่ผมเข้าใจ เข้าไปเจอตัว SVT และทำลายวงจรไปแล้วแต่มีตัว PAC ที่หมอว่ามันไม่คุ้มจี้ อันตราย หมอให้กิน amiodarone 200  โดยให้หักกินวันละครึ่งเม็ด อาการเหมือนดีขึ้น แต่ว่าเพียง 2 สัปดาห์ อาการมันมาอีกแล้วครับ และตอนพิมพ์นี้ เข้าวันที่ 4 แล้วครับเหนื่อยใจมาก ไม่มีทางออก
อ๋อผมเคยสงสัยว่าผม แพนิกรึป่าว จึงไปพบ จิตรเวช  มียา Fluoxetine และยา Clorazepate มากินด้วย แต่ผมหยุดกิน Fluoxetine ก่อนช่วง กิน amiodarone
คำถามครับ
1. ในเมื่อ PAC จี้ไม่ได้เท่ากับผมยังต้องกินยาต่อไป ยาตัวไปจะเหมาะสมและทำให้ผมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น       ครับ ผมกลัวยา amiodarone เพราะหาข้อมูลว่ามันเป้นพิษต่อปอด ตับ มากครับ ควรกลับมากิน Atenolol vอย่างเดิมดีกว่ามัียครับ
2.  ผมมีอารการของแพนิก หรือโรคซึมเศร้าร่วมด้วยหรือมัียครับ เพราะผมจะเครียดและไม่ค่อยมีความสุขใน        ทุกๆ ด้าน ทั้งสุขภาพและชีวิตครอบครับ การงาน
3. ยา Fluoxetine และยา amiodarone ใช้ร่วมกันได้มั๊ยครับ ถ้าผมยังสงสัยว่าแพนิกคือสาเหตุของการเต้นผิดปกติ
4. ถ้าผมโดยต่อต่อยอีก ผมจะฉีด Epinephrine  ได้มั๊ยครับมันทำงานสวนทางกันกับยาหัวใจ ที่กินอยู่ใช่มั๊ยครับ
5. เรืองภุมิแพ้ เรื่องต่อต่อยมันเกี่ยวกันโรคใจเต้นผิดปกติ หรือโรคแพนิก มั๊ยครับ
ผมรู้ว่าผมต้องลดความอ้วนด่วน บางที่มันคือสาเหตุหนึ่งด้วย และงด กาแฟ ของชอบ ตัดออกให้หมดใช่มั๊ยครับ ครับ หิหิ ผมออกกำลังกายโดยการตีแบด สัปดาห์ละ 3 ครั้งครับ
ผมเป็นแฟนติดตามอ่านคุณหมอเป็นประจำ รบกวนคุณหมอด้วยครับ

...............................................................

ตอบครับ

     ในการดูแลสุขภาพด้วยตัวเองนี้ จำเป็นจะต้องหัดเรียงลำดับปัญหาของตัวเองให้ได้ก่อน วิธีนี้เป็นวิธีมาตรฐานที่หมอทุกคนใช้ในการดูแลคนไข้ ผมกำลังจะสอนให้คนไข้ใช้วิธีเดียวกับหมอ คนไข้หลายคนดูแลตัวเองแบบสับสนจับต้นชนปลายไม่ถูก บางคนไปตรวจต่างๆมามากมายแต่สรุปไม่ได้ว่าตัวเองมีปัญหาอะไรบ้าง ที่แย่กว่านั้นก็คือกำลังกินยาอะไรอยู่บ้างยังไม่รู้เลย ทั้งนี้โดยคาดหมายว่าตัวเองไม่รู้ก็ไม่เป็นไรหรอก หมอเขาก็คงจะรู้ นั่นเป็นการคาดหมายที่มีส่วนถูกนิดเดียว แต่มีส่วนผิดมาก จะผิดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคุณมีหมอเฉพาะทางดูแลคุณกี่คน คือยิ่งมีหมอเฉพาะทางดูแลคุณอยู่หลายคน โอกาสที่หมอจะไม่รู้ปัญหาของคุณครบถ้วนก็ยิ่งมากขึ้น เพราะหมอแต่ละคนเขาโฟกัสเฉพาะอวัยวะที่เขารับผิดชอบ ส่วนที่หมอคนอื่นดูอยู่แล้วนั้นเขาจะไม่ไปยุ่ง เหตุผลหนึ่งเพราะมันเป็นจริยธรรมวิชาชีพว่าแพทย์ไม่พึงก้าวก่ายงานของกันและกัน และอีกเหตุผลหนึ่งคือแพทย์อ่านลายมือของกันและกันไม่ออก..อามิตตาพุทธ

     ยกตัวอย่างกรณีของคุณนี้ฟังเรื่องเล่าเผินๆเหมือนคุณไม่ได้มีปัญหาอะไรมาก แต่หากจับเอาเรื่องที่เล่าและผลแล็บที่คุณส่งมา ผมเขียนลำดับของปัญหา โดยเรียงตามลำดับเรืื่องใหญ่ไปหาเรื่องเล็ก จะได้ดังนี้

     ปัญหาเรียงตามลำดับ (Problems List) ห้าคน โอกาสจะผิดก็มี

     1. หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ (tachyarrythmia) (อยู่ในระยะหลังการรักษาด้วยการจี้ - EP)
     2. มีความเสี่ยงต่อพิษของยา finofibrate จะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ
     3. โรคอ้วน (อ้วนขนานแท้ ดัชนีมวลกาย 32)
     4. โรค Subclinical hypothyroidism (TSH = 10.65 , FT4 = 1.13)
     4. ไขมันในเลือดสูง ที่อาจเกิดจากไฮโปไทรอยด์
     5. โรคกลัวเกินเหตุ (panic disorder) อยู่ในระหว่างรักษาด้วยยาโดยจิตแพทย์
     6. มีความเสี่ยงจากพิษของต่อต่อยต่อหัวใจเต้นผิดจังหวะ
     7. เคยแพ้แมลงต่อยแบบรุนแรง anaphylaxis

     เห็นไหมครับ ดูเผินๆก็ว่าไม่มีอะไร แต่พอเขียนเรียงลำดับปัญหาแล้วก็จะเห็นว่ามีปัญหาแยะเหมือนกัน แล้วการเรียงลำดับปัญหานี้ หากเรียงให้ดีมันจะชี้ทางให้เราแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น

     ประเด็นที่  1. เมื่อเรามองว่าเรื่องหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นเรื่องสำคัญสูงสุดตอนนี้ แล้วยา finofibrate ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะก็กลายเป็นของแสลงที่ต้องรีบจัดการทันที 

     ประเด็นที่  2. เมื่อเราตรวจพบว่ามีไฮโปไทรอยด์อยู่ มันบอกใบ้ไปถึงว่าภาวะไขมันในเลือดสูงที่ดื้อด้านต่อยาขณะนี้และโรคอ้วนมันอาจจะเกิดจากไฮโปไทรอยด์ก็ได้ ดังนั้นการแก้ไขต้องแก้ไปพร้อมกันทั้งสามอย่าง

     ประเด็นที่ 3. เมื่อทราบภูมิหลังว่าเคยแพ้ต่อรุนแรง และทางการแพทย์รู้อยู่แล้วว่าสารพิษจากเหล็กไนของต่อทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ แล้วเวลาเกิดเรื่องก็สอดรับกันเป็นอันดี คือถูกต่อต่อยก่อนแล้วหัวใจเต้นรัวทีหลัง ก็แสดงว่าที่หัวใจเต้นสั่นๆรัวๆอยู่นี้อาจจะไม่ใช่เพราะโรคปสด. (ประสาทแด๊กซ์) หรือโรคกลัวเกินเหตุก็ได้ หมายความว่าคำวินิจฉัยว่าเป็นโรคกลัวเกินเหตุอาจจะเป็นปลายเหตุ และยารักษาโรคนี้ที่กินอยู่ก็อาจจะยังไม่จำเป็นเร่งด่วน

     เห็นไหมครับ แค่หัดเรียงลำดับปัญหาของตัวเองให้ดี เราก็เริ่มมองเห็นทางแก้ปัญหาไรๆแล้ว ดังนั้นวันนี้ผมจึงอยากจะย้ำให้แฟนบล้อกหมอสันต์ทุกท่านหัดเรียงลำดับปัญหาสุขภาพของตัวเองให้เป็น การใช้ตัวชี้วัดสุขภาพง่ายๆเจ็ดอย่าง  (Simple7 ได้แก่น้ำหนัก ความดัน ไขมัน น้ำตาล การกินพืชผักผลไม้ การออกกำลังกาย การสูบบุหรี่) จะทำให้จับประเด็นปัญหาได้ง่ายขึ้น จับประเด็นปัญหาได้แล้วก็เขียนมันลงไปในสมุดสุขภาพ เอาการเรียงลำดับปัญหานี้เป็นแม่ในการวางแผนสุขภาพในแต่ละปี แล้วก็ลงมือทำตามแผน ปีหนึ่งก็มาปรับปรุงแก้ไขเสียทีหนึ่ง นี่คือการดูแลตัวเองแบบที่เจ๋งที่สุด ซึ่งจะให้ผลดีชนิดที่ไม่มีหมอคนไหนจะมาทำให้คุณได้ดีเท่าคุณทำเอง 

     โอเค. ผมจบวาระของผมแล้ว คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

     1. ถามว่าในการรักษา PAC จะเปลีี่ยนจากยา amiodarone ซึ่งมีพิษมาก มากินยา Atenolol ซึ่งมีพิษน้อยกว่าและเคยกินมาแล้วจะดีไหม ตอบว่า "ดีครับ" 

     2.  ถามว่าคุณมีอาการของแพนิกหรือโรคซึมเศร้าร่วมด้วยไหม ตอบว่ามีครับ เกณฑ์วินิจฉัยโรคกลัวเกินเหตุและโรคซึมเศร้าผมเคยเขียนไปแล้วบ่อยครั้ง คุณหาอ่านดูได้ (เช่นใน http://visitdrsant.blogspot.com/2010/07/major-depression.html และ http://visitdrsant.blogspot.com/2010/11/panic-disorder.html ) แต่ประเด็นสำคัญคือมันมีโอกาสมากที่คุณไม่ได้มีกลไกพื้นฐานทางจิตจวนเจียนจะเป็นบ้า..เอ๊ย ไม่ใช่ที่เอื้อต่อการเป็นโรคนี้อย่างคนอื่นเขา แต่คุณเป็นโรคนี้เพราะต่อต่อยแล้วหัวใจเต้นรัวแล้วคุณก็กลัวตายขึ้นมา การรักษามันจึงอาจจะไม่ยากเหมือนคนที่มีกลไกพื้นฐานทางจิตผิดปกติมาก่อนก็ได้ ส่วนคำบ่นของคุณที่ว่าคุณไม่ค่อยมีความสุขใน     ทุกๆด้าน ทั้งสุขภาพและชีวิตครอบครัวการงานนั้น มันเป็นเอกลักษณ์ของชีวิตปุถุชนหรือ "วิถีโลกิยะ" หากคุณอยากกจะออกจากตรงนี้คุณต้องไปทาง "โลกุตระ" โน่น ไปโน่นเลย
 
     3. ถามว่ายา Fluoxetine และยา amiodarone ใช้ร่วมกันได้ไหม ตอบว่าได้ครับ แต่ว่ายา amiodarone นี้เป็นปฏิปักษ์อย่างรุนแรงกับยา Adrenalin หรือ epinephrine ที่คุณพกพาไว้แก้แพ้ ดังนั้นจะอย่างไรเสียคุณก็ต้องเลิกยา amiodarone

     4. ถามว่าถ้าโดยต่อต่อยอีก จะฉีด Epinephrine  ได้ไหม  ตอบว่าได้หากเลิกยา amiodarone เสีย

     5. เรื่องภูมิแพ้ เรื่องต่อต่อยมันเกี่ยวกันโรคใจเต้นผิดปกติไหม ตอบว่าเกี่ยวครับ พิษของต่อมีสารชื่อ  a­pompilidotoxin (a-PMTX) ซึ่งเป็นสารพิษต่อระบบประสาทที่มีผลต่อเส้นประสาทนำไฟฟ้าในหัวใจโดยตรง รายงานผู้ป่วยถูกต่อต่อยแล้วเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะก็มีอยู่บ่อยพอควร เรื่องพิษของต่่อเนี่ยยิ่งไปกว่านั้นนะ ต่อต่อยจึ๊งเดียวสามารถทำเอาคนที่หลอดเลือดหัวใจดีๆอยู่กลายเป็นกล้ามเนื้้อหัวใจตายเฉียบพลันแล้วตายได้เลยนะคุณ

    6. ข้อนี้คงไม่ใช่คำถาม แต่เป็นคำสาบานตนว่า "รู้ว่าต้องลดความอ้วนด่วน จะงดกาแฟ ของชอบ ตัดออกให้หมด จะออกกำลังกายโดยการตีแบดสัปดาห์ละ 3 ครั้ง" ตอบว่า โอม..ม ชานติ สาธุ..สาธุ

    หมดคำถามแล้วนะ ขอสรุปส่งท้ายว่าปัญหาของคุณเรื่องหยูกเรื่องยาและเรื่องฮอร์โมนไทรอยด์กับโรคอ้วนมันพันกัน อาจจะเกินปัญญาที่คุณจะแก้ไขตามลำพัง ผมแนะนำให้คุณหาหมอเจ้าประจำไว้สองหมอ คือหมอโรคต่อมไร้ท่อ (endocrinologist) กับหมออายุรกรรมหัวใจ (cardiologist) ส่วนหมอจิตเวชนั้นเอาไว้ก่อนก็ได้ ให้คุณสื่อสารแบบจับเข่าคุยกับสองหมอนี้แล้วทำตามคำแนะนำของเขาหรือเธอไปอย่างขมีขมัน ปัญหาทั้งหลายมันก็จะค่อยๆดีขึ้นเอง หรือหากพยายามตามที่แนะนำนี้แล้วไม่สำเร็จ ให้หาโอกาสมาเข้าแค้มป์ RDBY ซึ่งในแค้มป์นี้ผมจะเป็นหมอประจำตัวให้ทุกคนไปนานหนึ่งปี ถ้าวิธีนี้ยังไม่สำเร็จอีกก็..ชีวิตใครชีวิตมัน ตัวใครตัวมันละกันนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Wagdi P, Mehan VK, Burgi H, Salzmann C. Acute myocardial infarction after wasp stings in a patient with normal coronary arteries. Am Heart J 1994;128:820-3.
2. Ferrari S, Pietroiusti A, Galanti A, Compagnucci M, Fontana L. Paroxysmal atrial fibrillation after insect sting. J Allergy Clin Immunol 1996;98:759-61. 
3. Sahara Y, Gotoh M, Konno K, Miwa A, Tsubokawa H, Robinson HP, et al. A new class of neurotoxin from wasp venom slows inactivation of sodium current. Eur J Neurosci 2000;12:1961-70. 
[อ่านต่อ...]

20 สิงหาคม 2560

Spirituality คืออะไร Retreat คืออะไร

อาจารย์หมอสันต์คะ
อย่าว่าหนูไร้สาระเลยนะคะ แต่หนูอดสงสัยมาหลายวันจนทนไม่ได้ต้องเขียนมาถามอาจารย์ตรงๆ คือหนูอ่านปฏิทินในบล็อกของอาจารย์เห็นอาจารย์จัด Spiritual retreat มันคืออะไรคะ

..............................................

ตอบครับ

     ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ มีจดหมายแบบนี้มา 4 ฉบับ ถามว่า spirituality คืออะไรบ้าง retreat คืออะไรบ้าง จึงขอรวบตอบไปพร้อมกันทีเดียวนะ

     1. ถามว่า Spirituality คืออะไร ตอบว่าเมื่อเรายกคำๆหนึ่งขึ้นมาพูด ไม่ว่าจะเป็นคำในภาษาไหน มันมักจะสื่อได้ถึงหลายๆอย่าง เป็นเรื่องเดียวกันบ้าง คนละเรื่องเดียวกันบ้าง คนละเรื่องแบบไม่เกี่ยวกันเลยบ้าง นี่เป็นธรรมชาติของภาษา ดังนั้นเราอย่าเสียเวลามานิยามศัพท์ในเชิงภาษากันเลย มาเจาะกันตรงไปที่ผมจะใช้คำนี้สื่ออะไรดีกว่า

     คำว่า spirituality ผมต้องการใช้สื่อถึงการเสาะหาหรือฝ่าข้ามชีวิตส่วนที่เป็นวัตถุคือร่างกายนี้และความเป็นไปต่างๆของโลกภายนอกร่างกายนี้ หันกลับเข้าไปสู่ภายใน ไปสู่ส่วนลึกที่สุดที่ภายใน ด้วยเป้าหมายสุดท้ายที่จะหวนคืนไปสู่ต้นกำเนิดที่แท้จริงที่เป็นแหล่งก่อกำเนิดชีวิตนี้มา ทั้งนี้โดยอาศัยการภาวนา (medition) เป็นกลไกปฏิบัติการหลัก ซึ่งงานนี้มีอยู่สองก๊อก หรือสองสะเต็พ คือ

     ก๊อกแรก จากความคิด (mind) ฝ่าข้ามไปสู่ความรู้ตัวที่ข้างใน (consciousness)

     ก๊อกที่สอง จากความรู้ตัวที่ข้างใน ฝ่าข้ามไปสู่ความรู้ตัวที่ข้างนอก (cosmic consciousness หรือ source) ซึ่งสอนต่อๆกันมาว่าเป็นแหล่งกำเนิดที่แท้จริงของทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้ รวมทั้งของชีวิตทุกชีวิตด้วย

     คนที่เดินในเส้นทาง spiritual path นี้มักเป็นคนที่มีความไม่พอใจชีวิตนี้เป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว จะด้วยเคยประสบความเปลี่ยนแปลงในชีิวิตที่ช็อกตนเอง (เช่นการตายของคนใกล้ชิด หรือแม้กระทั่ง..อกหัก) หรือมองเห็นว่าชีวิตเท่าที่เป็นอยู่แค่ กิน ขับถ่าย นอน สืบพ้นธ์ุ แล้วตายไปแล้วเวียนว่ายมาเกิดใหม่อยู่อย่างนี้เป็นชีวิตที่ไร้สาระ ไร้คุณค่า ไร้ความหมาย หรือไม่เชื่อว่าชีวิตจะมีเพียงแค่นี้ จึงเสาะหาด้วยการอ่าน การฟัง การปฏิบัติต่างๆ จนมีความเชื่อมั่นว่า "ความรู้ตัว" เป็นตัวตนส่วนลึกของตัวเอง และเป็นแหล่งพลังงานที่จะผลักดันชีวิตตัวเองให้ก้าวลึกลงไปจนถึงปลายทางที่แท้จริงของชีวิต คือ "ความหลุดพ้น" ไปจากการเวียนว่ายตายเกิดอันเป็นมายา กลับไปสู่รากกำเนิด (source) ของสรรพชีวิตซึ่งเป็นภาวะนิรันดร จึงมุ่งหน้าเดินไปทางนี้
   
      ต่างจากคนที่ไม่สนใจเส้นทางนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนมีความพึงพอใจดีอยู่แล้วกับชีวิตปัจจุบันแม้ว่ามันจะสุขบ้างทุกข์บ้างแต่ก็โอ ไม่แคร์ด้วยซ้ำไปว่าความรู้ตัวคืออะไร ขอแค่ได้ใช้ชีวิตไปตามแรงขับดันของร่างกายและแรงขับดันของความคิดอย่างที่คนทั่วไปเขาก็ทำกันมาหลายร้อยหลายพันปีก็พอแล้ว

     2. ถามว่ารีทรีท (retreat) คืืออะไร ตอบว่ารีทรีทก็คือการปลีกวิเวกหลีกเร้น ไปอยู่ในสถานที่สงบเงียบเป็นธรรมชาติ เพื่อให้ได้มีเวลาที่สันโดษและเป็นส่วนตัว

     3. ถามว่า Spiritual retreat คืออะไร ตอบว่าก็คือการปลีกวิเวกหลีกเร้น ไปอยู่ในสถานที่สงบเงียบเป็นเวลานานหนึ่งสัปดาห์บ้าง หนึ่งเดือนบ้าง สามเดือนบ้าง อาจจะอยู่คนเดียว หรืออยู่กับกลุ่มที่ต่างมุ่งแสวงหา "ความหลุดพ้น" เหมือนกัน ทั้งหลุดพ้นจากความคิดลบของตัวเองในมุมมองของเดี๋ยวนี้ และหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในมุมมองของชีวิตนี้

     ในสถานที่นั้นก็มักจะมีแต่กิจกรรมที่มุ่งไปทางนั้น เช่นมีการภาวนา (meditation) ทั้งในรูปแบบโดดเดี่ยวและรวมกลุ่ม มีชั่วโมงสนทนาแนะนำปัญหาการปฏิบัติ (sat sang) อาหารการกินก็เป็นอาหารพืชล้วนๆปราศจากเนื้อสัตว์ การออกกำลังกายก็เป็นรูปแบบที่เอื้อต่อการฝึกปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น เช่น ทำสวน ปลูกผักปลูกดอกไม้ โยคะ รำมวยจีน บางรีทรีทก็มีการดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงเต้นรำด้วย บางรีทรีทที่หรูหน่อยก็จะมีการนวดผ่อนคลาย การบำบัดเชิงอายุรเวช โดยที่แก่นกลางของทุกกิจกรรมนั้นมุ่งไปที่เดียวกัน..คือแสวงหาความหลุดพ้น

     4. ถามว่าหมอสันต์ทำ Spiritual retreat เพื่ออะไร ตอบว่าก่อนอื่นขอพูดถึงการทำเวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ให้เป็น Retreat ก่อน เมื่อผมกับเพื่อนทำเวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ขึ้นมา ผมตั้งใจจะทำมันให้เป็น Retreat มาแต่แรก โดยจงใจสร้างให้เป็นที่สงบเงียบ เป็นธรรมชาติ มีอาหารมังสวิรัติกิน มีการบำบัดเชิงอายุรเวชในรูปแบบต่างๆรวมทั้งการนวดด้วย มีที่พักที่สะอาด สะดวก ปลอดภัย เพื่อให้คนมาใช้เป็นที่ปลีกวิเวกหลีกเร้นได้ โดยรูปแบบของการมาปลีกวิเวกหลีกเร้นนี้ก็มาได้หลายแบบ บ้างมาลดน้ำหนัก บ้างมาเยียวยาตัวเองหลังเกิดหัวใจวาย บ้างมาฟื้นฟูตัวเองหลังเป็นอัมพาต บ้างมาฟืื้นฟูตัวเองหลังเคมีบำบัดครบคอร์ส บ้างมายกเครื่องร่างกายหรือจิตใจตัวเอง บ้างมาแสวงหาความหลุดพ้น โดยแต่ละรูปแบบผมก็จะมีคำแนะนำในการกินการอยู่ขณะปลีกวิเวกนี้อย่างไรให้เหมาะกับวัตถุประสงค์การมาของแต่ละคน โดยจะเริ่มเปิดบริการแบบรีทรีทนี้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป ไม่ต้องมีกลุ่ม ไม่ต้องมีตารางแค้มป์ มีแค่วัตถุประสงค์การมา มีเวลากี่วัน จองห้องได้ แล้วก็หิ้วกระเป๋าเข้ามารีทรีทตัวเองได้เลย

     และเพื่อเป็นการประเดิม ตัวผมเองก็จะเป็นลูกค้ารีทรีทคนแรก คือตัวหมอสันต์นี้เป็นคนแบบที่เรียกว่า "Spiritual but not Religious" หมายความว่าชอบแสวงหาความหลุดพ้นแต่ไม่ชอบยุ่งหรืออิงกับศาสนาใดๆ ผมจึงจัดรีทรีทแรกเป็น Spiritual retreat โดยมีตัวผมเองเป็นลูกค้า แล้วไปหาครูมาสอนผมเองในรูปแบบรีทรีทคือทั้งครูทั้งนักเรียนกินนอนอยู่ในนั้น 7 วัน 7 คืน แต่เมื่อไหนๆก็ปิดเวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์เพื่อการนี้ทั้งที เพื่อไม่ให้เสียเที่ยวผมจึงเปิดรับคนที่ชอบแสวงหาความหลุดพ้นเหมืิอนกันมาเรียนพร้อมกันไปกับผมด้วยรวมสิบคน ที่มาของเรื่องก็เป็นอย่างนี้แหละครับ

ปล. (Spiritual retreat ครั้งแรกนี้เต็มแล้ว ท่านที่สนใจและมาไม่ทันก็เอาไว้รีทรีทครั้งหน้านะครับ)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

19 สิงหาคม 2560

คนไข้เบาหวานเลิกยาเบาหวานได้จริงหรือ?

เรียนคุณหมอสันต์ครับ
ผมอายุ 51ปี เป็นเบาหวานมา 6 ปี กินยา Glucophage 850 mg วันละสองเม็ด และ Januvia วันละเม็ด ได้ปรึกษาหมอที่รพ. ... ซึ่งผมมีประกันสังคมอยู่ว่าผมอยากจะหาทางลดยา หมอซึ่งเป็นหมอเบาหวานด้วยบอกผมว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่มีทางจะลดยาเบาหวานได้ แค่ไม่ต้องเพิ่มยาก็ดีถมไปแล้ว และว่าเบาหวานเป็นโรคประจำตัวซึ่งรักษาไม่หาย การรักษาเบาหวานต้องใช้ยาเป็นหลักและต้องใช้ยาตลอดชีวิต ผมไม่ได้เถียงหมอหรอกครับ เพราะทะเลาะกับหมอผมก็เปลืองตัวเปล่าๆ แต่ผมก็ไม่สบายใจว่าที่หมอเบาหวานท่านนั้นพูดเป็นความจริงหรือเปล่า เพราะผมอ่านจากคุณหมอสันต์บอกว่าเบาหวานสามารถหยุดยาได้ถ้าปรับการกินการอยู่ให้ดีพอ การจะลดยาและหยุดยาในชีวิตจริงต้องเริ่มอย่างไรครับ ผมต้องมาเข้าแค้มป์กับคุณหมอสันต์หรือเปล่าจึงจะหยุดยาได้

.........................................

ตอบครับ

     1. ถามว่าระหว่างหมอเบาหวานที่รักษาคุณอยู่กับหมอสันต์จะเชื่อใครดี ตอบว่าคุณเคยได้ยินคำพังเพยที่ว่า "มากหมอ ก็มากความ" ไหมครับ ยิ่งในยุคอินเตอร์เน็ทอย่างนี้ ที่ทำให้มากความมีทั้งเป็นหมอและที่ไม่ได้เป็นหมอว่ากันให้นัวไปหมด จำเป็นที่คุณจะต้องใช้ดุลพินิจของคุณประกอบแล้วตัดสินใจว่าจะเลือกวิธีไหนดี คือเชื่อดุลพินิจของคุณ ไม่ใช่เชื่อหมอคนไหน

     คำแนะนำที่ผมแนะนำว่าการเป็นเบาหวาน หากปรับอาหารการกินอย่างจริงจังจะเลิกใช้ยาเบาหวานได้นั้น เป็นคำแนะนำที่มีพื้นฐานอยู่บนงานวิจัยสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบซี่งทำโดยหมอเบาหวานชาวอเมริกันคนหนึ่งชื่อนีล บาร์นาร์ด งานวิจัยนี้ทำที่อเมริกาและตีพิมพ์ในวารสาร Diabetic Care วิธีทำคือเขาเอาคนเป็นเบาหวานที่ใช้ยาอยู่ทั้งยากินยาฉีดมา 99 คน เอามาจับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม ให้กินอาหารคนละชนิดกัน กลุ่มหนึ่งกินอาหารเบาหวานที่แนะนำโดยสมาคมเบาหวานอเมริกัน (ADA) ซึ่งมีทั้งเนื้อนมไข่ปลาตามสูตร อีกกลุ่มหนึ่งกินอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำ (low fat plant based diet) ไม่ให้กินเนื้อสัตว์เลย นม ไข่ ปลา ก็ไม่ให้กิน พบว่ากลุ่มที่กินอาหารแบบพืชเป็นหลักเลิกยาเบาหวานได้มากกว่ากลุ่มกินอาหารปกติสองเท่าตัว คือเลิกได้เกือบครึี่งหนึ่ง ลดน้ำตาลในเลือดได้มากกว่าสองเท่าตัว ลดน้ำหนักได้มากกว่าสองเท่าตัว คือกลุ่มกินอาหารเจไขมันต่ำลดน้ำหนักได้ 6 กก. กลุ่มที่กินอาหารสมาคมเบาหวานลดได้ 3 กก. จากงานวิจัยนี้จึงสรุปได้ว่าอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานคืออาหารที่มีพืชเป็นหลัก ไม่ใช้น้ำมันผัดทอด ไม่มีเนื้อสัตว์แม้กระทั่งไข่ นม และปลาเลย นอกจากนั้นสิ่งที่น่าสังเกตจากงานวิจัยนี้คือคนไข้เบาหวานกลุ่มที่กินอาหารพืชเป็นหลักนั้น การสามารถเลิกยาทั้งยากินยาฉีดได้เกือบครึ่่งหนึ่งก็ดี การลดน้ำหนักได้เฉลี่ยถึง 6 กก.ก็ดี ทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียงหกเดือนเท่านั้น

     เมื่อไม่นานมานี้ก็ได้มีการตีพิมพ์งานวิจัยที่ดีมากขึ้นอีกงานหนึ่งซึ่งเป็นหลักฐานที่สนับสนุนคำแนะนำของผมที่ให้ผู้ป่วยตั้งใจปรับการกินการอยู่โดยมีเป้าหมายที่การเลิกยาเบาหวานได้เป็นอย่างดี งานวิจัยนี้ทำที่เดนมาร์ค ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA เมื่อเดือนสิงหาคม คือเดือนนี้นี่เอง เขาเอาคนไข้เบาหวานอายุเฉลี่ย 55 ปีมาราว 100 คนมาจับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้ปรับเปลี่ยนชีวิตอย่างเข้มข้น คือให้ออกกำลังกายครั้งละ 30-60 นาทีทั้งออกแบบเล่นกล้ามและแบบแอโรบิกให้หอบแฮ่กๆต่อเนื่อง สัปดาห์หนึ่งให้ออกกำลังกาย 5 ครั้งเป็นอย่างน้อย โดยมีครูฝึกให้ด้วยในตอนแรก บวกกับให้กินอาหารที่มีกากแยะๆ (โดยเฉพาะกากชนิดละลายได้เช่นธัญพืชไม่ขัดสี) มีผลไม้แยะ ขณะเดียวกันก็ลดไขมันอิ่มตัว (เช่นไขมันจากสัตว์) ลงเหลือน้อยๆ และไม่ให้กินไส้กรอก เบคอน แฮมเลย ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็ให้กินให้อยู่ตามปกติที่เคยทำ ทำการวิจัยอยู่ 12 เดือน ผลวิจัยปรากฎว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มที่ปรับเปลี่ยนชีวิตอย่างเข้มงวดสามารถเลิกยาเบาหวานได้หมดเลยโดยที่น้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติได้ มีตัวชี้วัดทุกตัวทั้งน้ำตาลและไขมันในเลือดดีกว่า และลดน้ำหนักได้มากกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มปรับเปลี่ยนชีวิตอย่างเข้มงวดลดน้ำหนักได้ 5.9 กก. ส่วนกลุ่มที่กินอยู่ตามปกติลดได้เพียง 1.8 กก.เท่านั้นเอง

     จะเห็นว่าผลวิจัยอันที่สองนี้ซึ่งต่างก็เป็นหลักฐานชั้นหนึ่ง คือเป็นงานวิจัยสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) อันถือว่าเป็นหลักฐานที่ดีที่สุดในทางการแพทย์ ต่างให้ผลเหมือนกันว่าในเวลา 6-12 เดือน การปรับการกินอยู่ทำให้เลิกยาเบาหวานได้ถึงครึ่งหนึ่งของผู้เข้าร่วมวิจัย และลดน้ำหนักเฉลี่ยได้ถึง 6 กก. ความแตกต่างของสองงานวิจัยนี้อยู่เพียงที่งานวิจัยแรกเน้นอาหารเจไขมันต่ำที่ห้ามเนื้อสัตว์ทุกชนิดเลย แต่งานที่สองเน้นกินอาหารกากพืชผักผลไม้มากๆแต่ไม่ถึงบังคับว่าต้องเป็นเจ บังคับแค่ไม่ให้กินไส้กรอก เบคอน แฮม เท่านั้น โดยที่งานวิจัยที่สองเน้นการออกกำลังกายแบบจริงจังด้วย

     ดังนั้นผมยังยืนยันแนะนำว่าคนเป็นเบาหวานสามารถหายได้ หมายความว่าเลิกใช้ยาได้ ถ้าเอาจริงเอาจังเรื่องการปรับอาหารและการออกกำลังกาย ในชีวิตจริงผมก็เห็นคนไข้เบาหวานตัวเป็นๆหลายคนที่เอาจริงแล้วสามารถเลิกยาได้ เอาจริงหมายความว่าในส่วนของอาหารนั้น มีสาระสำคัญว่าต้องมีธัญพืชไม่ขัดสีและผักผลไม้มากๆ มีไขมันน้อยๆ จะกินเนื้อสัตว์บ้างก็ได้แต่ว่าจะต้องไม่มีไส้กรอก เบคอน แฮม ส่วนการออกกำลังกายก็ต้องมีทั้งแอโรบิกและเล่นกล้าม

     2. ถามว่าในชีวิตจริงการเลิกยาเบาหวานต้องทำอย่างไร ตอบว่าตัวผมเองนั้นไม่อยากให้คนไข้แอบเลิกยาเองโดยไม่ยอมบอกหมอ เพราะจะมีผลเสียมากกว่าผลดี ผมแนะนำให้คุณเลือกทำแบบใดแบบหนึ่งตามลำดับที่เป็นไปได้ ดังนี้

     2.1 ปรึกษาหมอเบาหวานหรือหมออายุรกรรมเจ้าประจำที่ดูแลคุณอยู่ ถ้าเขาหรือเธอไม่เอาด้วยคุณก็เปลี่ยนไปหาหมอคนอื่นที่เอาด้วย โดยปรึกษาหารือเพื่อทำแผนการลดยาร่วมกับหมออย่างจริงจังแล้วคุณก็ตั้งใจทำตามแผนนั้น ถ้าทำแบบนี้ไม่ได้ ให้ไปทำแบบข้อ 2.2

     2.2 คุณมาเข้าแค้มป์พลิกผันโรคด้วยตนเอง (RDBY) ซึ่งในแค้มป์นี้ผมจะเป็นหมอประจำตัว (family physician) ให้ทุกคนเป็นเวลา 1 ปี จะเป็นพี่เลี้ยงในการลดและเลิกยาโดยติดตามความสำเร็จของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการเปลี่ยนแปลงของตัวชี้วัดจนสามารถลดหรือเลิกยาได้สำเร็จ แต่ถ้าทำวิธีนี้ทำไม่ได้ ก็ให้ไปทำแบบข้อ 2.3

     2.3 คุณลดยาด้วยตัวเอง โดยไม่หนีหน้าหมอและไม่โกหกหมอด้วย แต่วิธีนี้คุณต้องรู้จักอาการของน้ำตาลในเลือดต่ำ (ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยามากเกินไป) และภาวะเลือดเป็นกรด (ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยาน้อยเกินไป) รู้จักยาทุกตัวและรู้ผลข้างเคียงของมันเป็นอย่างดี วิธีทำก็คือช่วงระหว่างการนัดของหมอซึ่งส่วนใหญ่ก็นาน 2-3 เดือน ให้คุณลดยาลงทีละตัว จบตัวหนึ่งค่อยไปลดอีกตัวหนึ่ง ในแต่ละตัวให้ลดทีละครึ่งโด้ส หมายความว่าลดจำนวนมิลลิกรัมลงไปคราวละครึ่งหนึ่งก่อน แต่ละสะเต็พใช้เวลานาน 2 สัปดาห์ แล้วปรับอาหารและการออกกำลังกายตาม ลดยาก่อนอย่างน้อยหนึี่งวันแล้วปรับอาหารและออกกำลังกายตามนะ อย่าปรับอาหารหรือออกกำลังกายก่อนแล้วค่อยลดยา เพราะอาจทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป เมื่อลดยาและปรับอาหารและการออกกำลังกายครบ 2 สัปดาห์ก็แล้วเจาะเลือดดูน้ำตาลในเลือด หากน้ำตาลยังไม่สูงก็ลดยาลงสะเต็พต่อไปอีก อาจจะมีการลดๆเพิ่มๆตามที่คุณเห็นสมควร ทำเช่นนี้ทุกสองสัปดาห์ โดยมีข้อแม้ว่าก่อนวันไปพบแพทย์สองสัปดาห์ห้ามเปลี่ยนยา และเมื่อไปพบแพทย์แล้วต้องบอกแพทย์ให้หมดว่าที่ผ่านมาคุณลดยาของคุณเองลงไปอย่างไรบ้างแล้วสองสัปดาห์ที่ผ่านมานี้คุณกินยาอยู่อะไรบ้างอย่างละเท่าใด วิธีนี้จำเป็นที่คุณกับแพทย์จะต้องมีเวลาคุยกัน หากคุณกับแพทย์ไม่มีเวลาคุยกันก็ตัวใครตัวมันแล้วละครับ เพราะวิชาแพทย์แผนปัจจุบันนี้มันมีพื้นฐานอยู่บนความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์กับคนไข้ นั่นหมายความว่าทั้งสองฝ่ายต้องมีเวลาพูดคุยทำความเข้าใจกัน ถ้าไม่มีเวลาคุยกัน วิชาแพทย์แผนปัจจุบันนี้ไม่เวอร์คแน่นอน คุณคงต้องไปเสาะหาความช่วยเหลือจากวิชาอื่นซึ่งอาจจะเวอร์คดีกว่า

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Barnard, N.D., et al., A low-fat vegan diet improves glycemic control and cardiovascular risk factors in a randomized clinical trial in individuals with type 2 diabetes. Diabetes Care. 2006 Aug;29(8):1777-83.

2. Johansen MY, MacDonald CS, Hansen KB, Karstoft K, Christensen R, Pedersen M, Hansen LS, Zacho M, Wedell-Neergaard A, Nielsen ST, Iepsen UW, Langberg H, Vaag AA, Pedersen BK, Ried-Larsen M. Effect of an Intensive Lifestyle Intervention on Glycemic Control in Patients With Type 2 DiabetesA Randomized Clinical Trial. JAMA. 2017;318(7):637–646. doi:10.1001/jama.2017.10169
[อ่านต่อ...]

18 สิงหาคม 2560

ปฏิทินเวลเนสวีแคร์ ช่วงปีใหม่

 
คุณออย (ผู้จัดการ WWC)
วันนี้ขอใช้พื้นที่เพื่อโฆษณา
  
    เพื่อเป็นการหารายได้ไว้เลี้ยงตัวเองขณะอยู่ว่างๆ เปล่าๆ ในวันธรรมดาที่ไม่ใช่วันเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดพิเศษหรือคริสตมาสตรุษจีน ถ้าไม่มีแค้มป์สุขภาพ เวลเนสวีแคร์เซนเตอร์ (WWC)ได้เปิดรีสอร์ทให้คนทั่วไปเข้ามาพักค้างคืน หรือให้องค์กรเข้ามาจัดกิจกรรมกลุ่มตามอัธยาศัย ในราคาลด 20% จากราคาปกติ (ราคาปกติคือคืนละ 3,000 บาท สำหรับห้องเดี่ยวสองเตียง รวมอาหารเช้าสำหรับสองคน)

     เวลเนสวีแคร์มีห้องพักที่สะอาด สะดวกสบาย มีบริเวณที่ร่มรื่นและเป็น  privacy เหมาะแก่การพักผ่อนจิตใจเงียบๆ ท่านที่นิยมการนวดผ่อนคลายหรือการบำบัดแบบอายุรเวชก็สามารถใช้บริการจาก MegaVeda ซึ่งตั้งอยู่ภายในเวลเนสวีแคร์ได้โดยสะดวก


     ท่านที่สนใจจะจองที่พัก กรุณาติดต่อผู้จัดการ คุณออย (สุภัสสร) ที่เบอร์ 02 038 5115 หรือทางอีเมล miracle__oil@live.com ย้ำว่ามี underscore หรือขีด_สองอันติดกันนะครับ ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเธอมีอีเมลพิศดารอย่างนี้ ถ้าไม่สำเร็จเธอมีอีกเบอร์หนึ่งคือ supassorn@wellnesswecare.com

      ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ปีนี้ (22 ธค. 60 - 2 มค. 61) เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์เปิดรีสอร์ทให้เป็นโรงแรมที่พักวันหยุดสำหรัับคนทั่วไปโดยคิดค่าที่พักในราคาปกติ โดยที่ผู้เข้าพักสามารถเข้าร่วมกิจกรรมตามเทศกาลที่เวลเนสวีแคร์จัดให้ฟรีแก่ผู้มาพักในช่วงนั้นได้ตามปฏิทินข้างล่าง

23 ธค. 60: 16.00 - 22.00 น.
Christmas Muaklek Valley คริสตมาส มวกเหล็กวาลเลย์ ที่บ้านโกรฟเฮ้าส์ มีกิจกรรมเช่น
Flea market ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยน,
Dinner อาหารเย็น (บุฟเฟต์หัวละ 300 บาท)
Silent night with Santa ซานตาคลอสมาร่วมร้องเพลงไซเลนท์ไนท์ เวลา 20.00 น.
Singing ร้องเพลงสนุกๆ

30 ธค. 60: 15.00 - 18.00 น.
Music at GroveHouse ดนตรี (เพลงเก่า) ที่บ้านโกรฟเฮ้าส์
(คลิปนี้ถ่ายเมื่อวันหนึ่งนานมาแล้วเพื่อนๆมาสีไวโอลินเล่นเปียโนที่บ้านโกรฟเฮ้าส์ โปรดสังเกตกำธรเสียงของบ้าน)

31 ธค. 60: 18.00 - 24.00 น.
Sing-dance-count down ร้องเพลง เต้นรำบอลรูม และส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ มีครูสอนร้องเพลงและสอนเต้นรำสอนให้ฟรีด้วย




1 มค. 61: 13.30 - 18.00 น. 
Hiking historical trail ไฮกิ้งกับหมอสันต์ เส้นทางประวัติศาสตร์ หลุมศพราเบค ช่องหินลับ ผาเสด็จ ดงพญาเย็น
หินลับ เล็ก แต่เท่

10.00 น. พร้อมกันที่เวลเนสวีแคร์ (ล้อหมุน) เดินทางไปสถานีรถไฟมวกเหล็ก
10.30 น. เยี่ยมหลุมศพ Knud Lyhne Rhabek และฟังเรืื่องราวของฮีโร่สร้างทางรถไฟผ่านดงพญาเย็น จากบันทึกของวาริงตัน สมิธ
10.56 น. ขึ้นรถไฟสาย ธ.234 ไปสถานีผาเสด็จชมสถานีรถไฟขนาดเล็กที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของไทย เดินเที่ยวผาเสด็จ ชมหินสลักปรมาภิไธย ร.5 เรียนรู้เรื่องราวของคนงานสร้างทางรถไฟกลัวผีป่าดงพญาเย็น ปิคนิคอาหารกลางวัน แล้วเดินขึ้นเขาไปนมัสการพระพุทธรูปที่ยอดเขาวัดผาเสด็จ
14.24 น. ขึ้นรถไฟสาย ธ. 233 ไปสถานีหินลับ ชมสถานีรถไฟที่เล็กแต่เท่ เรียนรู้เรื่องราวของช่องหินลับจากบันทึกของอองรี มูโอต์ แล้วออกเดินไพรผ่า่นป่าดงพญาเย็น 5 กม. มาโผล่ที่มวกเหล็กวาลเลย์
17.00 น. กลับถึงเวลเนสวีแคร์

ไฮกิ้งแปลว่าเดิน..เดิน..เดินทั้งวัน


















ท่านที่สนใจจะจองที่พัก กรุณาติดต่อผู้จัดการ คุณออย (สุภัสสร) ที่เบอร์ 02 038 5115 หรือทางอีเมล miracle__oil@live.com (underscor สองอันติดกัน..อย่าลืม!) หรือ supassorn@wellnesswecare.com

[อ่านต่อ...]