28 กุมภาพันธ์ 2562

ยางนา ป่าเพื่อเก็บเห็ด

     ช่วงนี้เป็นช่วงทำแค้มป์ลดน้ำหนักซึ่งต่อเนื่องถึงเจ็ดวัน แค้มป์นี้มีโปรแกรมให้สมาชิกต้องออกมาใช้ชีวิต out door ทุกวัน เมื่อวานนี้ก็เพิ่งไปลุยเก็บขยะในคลองมวกเหล็กกันมา
สมาชิกแค้มป์ลดน้ำหนักกำลังลุยเก็บขยะคลองมวกเหล็ก

      วันนี้ผมอยู่ที่หลังบ้านนกฮูก ความจริงผมตั้งชื่อบ้านนี้ว่า Solitude Hut แต่คนงานเรียกกันว่า "บ้านนกฮูก" ไม่ยอมเรียก Solitude Hut โอเค. นกฮูก ก็นกฮูก วันนี้สมาชิกแค้มป์ลดน้ำหนักมาเดินป่าที่หลังบ้านนี้ หลังเดินป่าแล้วสมาชิกส่วนใหญ่แม้จะออกอาการปวดเมื่อยและเคลื่อนไหวช้าลงแต่ก็ยังขุดดินปลูกต้นไม้กลางแดดอย่างขยันขันแข็งได้อยู่

     พื้นที่ป่าหลังบ้านนี้เป็นที่สาธารณะ จะว่าเป็นป่าสงวนก็ไม่ใช่ จะเป็นวนอุทยานก็ไม่ใช่ เรียกง่ายๆว่าเป็นป่าของรัฐบาลก็แล้วกัน เดิมมันเป็นป่าเบญจพรรณผลัดใบแบบที่ภาษาป่าไม้เรียกว่า deciduous มีไม้ใหญ่อย่างสักและยางนาเป็นต้น แต่ว่าคนรุ่นก่อนได้ตัดไม้ใหญ่เสียเหี้ยนเตียน เพราะทั้งยางนาทั้งสักต่างก็เป็นไม้ยอดนิยมในการก่อสร้าง ต่อมาทางป่าไม้เขาเข้มงวดห้ามตัดต้นไม้ ป่าที่หมดสภาพแล้วนี้มันก็เริ่มฟื้นของมันเอง ตอนนี้ก็เลยกลายเป็นป่ากระถินยักษ์ กระถินยักษ์นี้มีข้อเสียตรงที่มันไม่ได้เขียวตลอดปีเพราะมันเป็นไม้เนื้ออ่อนรากตื้น แม้มันแพร่เร็วและทนแล้ง แต่ปีไหนที่แห้งมากๆมันก็แห้งกรอบเป็นสีน้ำตาลติดไฟง่ายเพราะเนื้อไม้มันฟ่าม เมื่อบวกกับชาวบ้านและคนงานชอบทำมาหากินด้วยการจุดไฟไล่ล่าสัตว์ป่าก็เลยเกิดเป็นไฟป่าซ้ำซาก แผนของผมคือผมจะใช้เวลาว่างปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นสภาพป่าหลังบ้านนกฮูกนี้แห่งนี้ให้มันกลายเป็นป่าผลัดใบที่ค่อนข้างจะเขียวตลอดปี โดยขีดวงไว้ตามกำลังของคนแก่คนเดียวจะปลูกไหว คือขีดวงไว้ว่าจะปลูกแค่เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ จังหวะไหนดวงดีมีคนมาช่วยอย่างวันนี้ก็จะมีผลเร่งให้แผนนี้สำเร็จเร็วขึ้น เมื่อพื้นที่นี้ทำสำเร็จแล้วหากผมยังไม่ตายก็ค่อยมาดูกันว่าจะปลูกต่อไหวไหม ต้นไม้ที่ผมเลือกมาปลูกมีชนิดเดียวที่เห็นต้นกล้าอยู่ตรงหน้านี่แหละ คือยางนา ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dipterocarpus alatus Roxb. 
ยางนา ในความจริง

     ความชอบใจในต้นยางนาของผมเริ่มตั้งแต่วัยหนุ่ม สมัยเป็นนักเรียนมัธยมต้น เวลาปิดเทอมผมกับเพื่อนจะชอบตามครูซึ่งเป็นพรานป่าเข้าป่า ได้เห็นต้นยางนาซึ่งทั้งสูงทั้งใหญ่สุดพรรณา ใต้ต้นยางนานั้นเต็มไปด้วยเห็ดสีเหลือง(เห็ดชะโงก) เห็ดสีเทา(เห็ดเผาะ) เรียกว่าหากเราตั้งแค้มป์พักแรมใต้ต้นยางนาริมห้วยก็แทบไม่ต้องไปหาอาหารที่ไหนไกลเลย ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2511 ผมไปสอบเข้าเรียนวิทยาล้ยเกษตรแม่โจ้ที่เชียงใหม่ การสอบต้องวิ่งจากเชียงใหม่ไปแม่โจ้ซึ่งสมัยนั้นเป็นระยะทางประมาณ 18 กม. ผมไปพักบ้านเพื่อนที่อ.สารภี แล้วทุกเช้าก็ออกซ้อมวิ่งไปตามถนนสารภี-เชียงใหม่ซึ่งสองข้างทางมีต้นยางนาใหญ่มากระดับสองคนโอบเรียงรายสวยงามและร่มเย็น ยามลมพัดลูกของมันจะหมุนติ้วไปตามลมได้ไกล ดูไม่เบื่อ นึกขอบคุณว่าใครหนอช่างกรุณาปลูกยางนาเป็นแถวเป็นแนวไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชม

     พอตัวเองเกษียณอายุแล้วมีเวลาไปเที่ยวตามป่าตามวนอุทยานต่างๆก็พบความจริงที่น่าใจหายว่าต้นยางนาขนาดใหญ่ในป่าดงดิบก็ดี ป่าผลัดใบก็ดี ได้ถูกทำลายลงไปเกือบหมดเกลี้ยง ป่าผลัดใบเกือบทั้งหมดถูกแทนที่โดยกระถินยักษ์และไผ่ เป็นไปได้ทีเดียวว่าลูกหลานรุ่นต่อไปจะไม่รู้จักต้นไม้ยักษ์อย่างยางนาเสียแล้ว จึงมีความคิดอยากจะปลูกป่ายางนาไว้ให้คนรุ่นหลังได้รู้จักหรือเอาไว้ให้ชาวบ้านได้เก็บเห็ดกินก็ยังดี ความคิดนั้นมาเป็นจริงก็เมื่อต่อมาอยู่ดีๆก็มีคนมาเสนอขายบ้านนกฮูกซึ่งอยู่ชายป่าเสื่อมสภาพนี้ให้ ผมก็เลยซื้อไว้เป็นฐานที่มั่นในการปลูกป่าครั้งนี้ เป็นเหตุให้ผมมานั่งอาบเหงื่ออยู่นี่ไง
ยางนา ในความฝัน

     พูดถึงยางนา มันเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ที่เขียวตลอดปีไม่ผลัดใบเพราะรากมันหยั่งลึกระดับบ่อน้ำบาดาลนั่นเชียว ลำต้นมันสูงตั้งตรงแหนวขึ้นไปบนท้องฟ้าถึง 40-50 เมตร เปลือกมันก็มีลวดลายคลาสสิกดูไม่เบื่อ เวลามันออกดอกสีชมพู ดอกจะออกรวมกันเป็นช่อสั้นๆ ตามง่ามใบตอนปลาย มีกลีบแดงยาวสองกลีบ เวลาร่วงสู่พื้นจะหมุนติ้วเหมือนใบพัดของเฮลิคอปเตอร์ กล่าวโดยสรุปมันเป็นไม้ป่าที่โรแมนติกเข้ากับนิสัยของหมอสันต์มาก

     วิธีปลูกของผมไม่ได้ใช้วิธีตามหลักวิชาวนศาสตร์ดอก คือไม่มีการทำเคลียริ่ง ไม่มีการทำวีดดิ้ง ใช้วิธีปลูกแบบยัดเข้าไปในท่ามกลางกระถินยักษ์นั่นแหละ หน้าแล้งอาศัยร่มเงาของกระถินยักษ์ช่วยพรางแดดให้ และอาศัยแรงงานของผมเองรดน้ำให้กล้ายางนาพอมีชีวิตรอด หน้าฝนก็ต้องอาศัยแรงงานของผมอีกนั่นแหละคอยตัดกิ่งกระถินยักษ์ให้แดดส่องถึงกล้ายางนา พากเพียรทำอย่างนี้ไปทุกปี จนกว่ายางนาจะสูงพ้นกระถินยักษ์ขึ้นไป นี่เป็นแผนที่ต้องอาศัยแรงงานตัวเองเข้าทุ่ม จึงต้องเจียมสังขาร ไม่อาจโลภมากปลูกทีละเยอะๆได้ ได้แต่ปลูกไปดูแลไป ทีละต้น ทีละต้น จนกว่าจะเต็มพื้นที่ที่ขีดไว้

     ป่าไม้ต้นไม้มันเป็นสิ่งเดียวกับชีวิตของเรา เพราะเราเกิดมาก็ได้รับโอนหุ้นบริษัทที่เราถือหุ้นคนละครึ่งร่วมกับป่าไม้มาจากท้องแม่แล้ว ผมหมายความว่าปอดของเรานั้นออกแบบมาให้เวอร์คเฉพาะเมื่อมีต้นไม้ ถ้าไม่มีต้นไม้ มีปอดก็เหมือนไม่มี เราหายใจเอาของเสียออก ต้นไม้หายใจเอาของเสียของเราเข้าไป ต้นไม้หายใจเอาของดีออกมา เราหายใจเอาของดีจากต้นไม้เข้ามาเลี้ยงชีวิตเรา ของดีนั้นก็คือออกซิเจน ซึ่งหากขาดมันแค่ห้านาทีชีวิตเราก็อยู่ไม่ได้แล้ว แต่เรากำลังทำลายหุ้นส่วนของเราไปในอัตราเร็วที่น่าใจหาย องค์การ WWF ได้แสดงตัวเลขว่าใน 25 ปีที่ผ่านมา (1990-2015) โลกได้เสียพื้นที่ป่าไป 129 ล้านเฮกตาร์ซึ่งเท่ากับทวีปอาฟริกาทั้งทวีป โอ้ โฮะ นี่หมายความว่าอย่างไรกันพี่น้อง แค่ 25 ปีเสียไปหนึ่งทวีปใหญ่ อีกไม่ถึงร้อยปีก็หมดเกลี้ยงพอดีใช่ไหมครับ ถ้าหมอพอมีลูก โลกที่ไม่มีต้นไม้คือโลกอนาคตที่หลานของผมจะต้องอยู่อาศัย (หิ หิ แต่ว่าโดยความสัตย์จริงผมไม่ได้วอรี่เรื่องหลานของของผมดอก  เพราะจนป่านนี้หมอพอยังไม่ได้แต่งงานเลย)

     กลับมาคุยเรื่องป่าต่อดีกว่า ป่าหลังบ้านนกฮูกนี้แม้จะเป็นป่าผลัดใบที่ค่อนข้างโกร๋นแล้ว แต่ก็ยังมีคุณค่าของความเป็นป่าอยู่ทุกกระเบียดนิ้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนกลางคืน ผมชอบขึ้นไปเดินป่าข้างหลังนี้ ผมแผ้วทางเดินในป่ายาว 1 กม. เป็นวงกลับมาจบที่เดิมไว้เรี่ยมเรียบร้อยแล้ว ตอนกลางคืนเวลาพระจันทร์ขึ้นเป็นเวลาสุดยอดที่ผมชอบซุ่มนั่งเงียบฟังซิมโฟนี่ที่บรรเลงโดยคณะจิ้งหรีดเรไรและแมลงไม่รู้กี่พันกี่หมื่นชีวิตในป่าแห่งนี้ ปกติผมชอบฟังเพลงคลาสสิก แต่เพลงที่บรรเลงโดยแมลงในป่ามีความคลาสสิกกว่า มันมีความแน่นอนแม่นยำเหมือนกันทุกวันจนเขียนออกมาเป็นสูจิบัตรที่รับผู้ชมวันละรอบแล้วเล่นเหมือนเดิมทุกวันได้ แบบว่า

     18.15 น. สนทนาลาก่อนกลางวัน โดยคณะนกจ๊อกแจ๊กจอแจ
     18.30 น. เพลงโหมโรงโดยคณะไม้สูง นำโดยจั๊กจั่น
     18.35 น. คอนแชร์โต้ระหว่างจิ้งหรีดเป็นดนตรีนำ คลอด้วยวงซิมโฟนี่สาระพัดแมลง
     18.48 น. เพลงร้องสด "สวัสดีราตรี" โดยนกฮูก
     19.00 น. (พิเศษเฉพาะครื้มฝน) โอเปร่าเสียงบาริโทน โดยคณะกบเขียดและอึ่งอ่าง

     ปล. ขออภัยงดแสดงเสียงน้ำไหลริน เพราะตอนนี้เป็นหน้าแล้งและเราแสดงกันบนภูเขา

     การบรรเลงมีตลอดคืน ยิ่งผู้ฟังทำตัวเงียบ นักดนตรีก็ยิ่งบรรเลงแบบมันส์ในอารมณ์ ซิมโฟนี่ในป่าเป็นความบันเทิงที่สงบเย็นอย่างแท้จริง ฟังแล้วเข้าถึงง่ายๆและซึ้งมากๆเพราะมันเป็นรากของเรา ก็เรากำเนิดมาจากป่านี่เองนะครับอย่าลืมเสียเล่า ใหม่ๆเข้าป่าผมก็เผลอตัวว่ารากของผมอยู่ในเมืองมีตัวตนอันยิ่งใหญ่คับฟ้าของตัวเองติดเข้ามาด้วย แต่งูเงี้ยว เขี้ยวขอ ตะขาบ ต่อ แตน และหนามแหลม มันสนว่าใครยิ่งใหญ่มาจากไหนเสียเมื่อไหร่ละครับ ดังนั้นชีวิตในป่าเป็นชีวิตกลับคืนสู่รากเหง้าของเราแบบไร้อัตตา ใหญ่แค่ไหนมาอยู่ในป่าแล้วเท่ากันหมด สำหรับคนมีลูกควรอย่างยิ่งที่จะหาโอกาสพาลูกๆไปเดินป่าดูและฟังความประสานสอดคล้องกัน พึ่งพากันและกัน สลับกับห้ำหั่นกันอยู่ในทีของสาระพัดชีวิตในป่า ป่าเป็นรากเหง้าของคน ให้เด็กได้รู้จักรากเหง้าของตัวเองแล้วเขาจะได้ไม่หลงทิศในการใช้ชีวิต หากไม่รู้จักป่า คนก็ไม่รู้จักรากเหง้าของตัวเอง ก็จะไปต่างอะไรกับคนตาบอดที่ไม่รู้ว่าตัวเองเดินมาจากไหนและจะเดินไปไหนต่อใช่ไหมครับ ดังนั้นการพาลูกมาเดินป่าหัดฟังเสียงจิ้งหรีดเรไรสำคัญกว่าการพาลูกไปดิสนีย์แลนด์ เดินป่าที่ไหนก็ได้ในเมืองไทยนี้เป็นเขตร้อนมีป่ามากมีวนอุทยานที่มีบ้านพักในป่าเยอะแยะ ไม่รู้จะไปที่ไหนมาเดินป่าหลังบ้านนกฮูกก็ได้ แต่ต้องเสียเงินค่าเช่าบ้านทั้งหลังคืนละ 2,000 บาทนะ (ปล. ใครจะมาจริงให้โทร.จองบ้านที่หมอสมวงศ์ 0819016013)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

 
[อ่านต่อ...]

22 กุมภาพันธ์ 2562

การวิดพื้น (push-up) กับความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ

กราบเรียนคุณหมอสันต์
สามีของดิฉันอายุ 61 ปี ตอนที่ทำงานไม่มีอาการผิดปกติอะไร พอเกษียณดิฉันจี้ให้เขาไปเข้ายิมออกกำลังกาย เขาไปกลับมาเล่าให้ฟังว่าเทรนเนอร์ให้เขาวิดพื้น เขาคุยว่าเขาวิดได้ถึงสิบที แต่อีกราวเจ็ดวันต่อมาก็มีอาการเจ็บหน้าอกตอนนั่งดูทีวี.ขยับตัวนิดเดียวก็เจ็บ ดิฉันพาไปโรงพยาบาลหมอตรวจแล้วส่งสัยว่าเป็นโรคหัวใจแต่ตรวจคลื่นหัวใจแล้วบอกว่าไม่ต้องทำอะไรเร่งด่วน แต่หมอบอกว่าเนื่องจากมีอาการเจ็บหน้าอกจึงไม่อยากเสี่ยงให้วิ่งสายพาน และแนะนำให้ตรวจสวนหัวใจ ดิฉันอยากถามคุณหมอว่าการวิดพื้นทำให้เจ็บหน้าอกได้หลายวันได้หรือเปล่า การวิดพื้นปลอดภัยต่อหัวใจไหม ควรให้เขาวิดพื้นต่อไปหรือเลิก แล้วสามีดิฉันควรจะตรวจสวนหัวใจไหม
ขอบพระคุณคะ

..............................................................

ตอบครับ

     แม่เฮย ผู้ชายรุ่นเดอะเนี่ยเห็นแมะ อายุมากจนเกษียณแล้วเมียก็ยังตามบังคับกะเกณฑ์จู้จี้จุกจิกแม้ในเรื่องการออกกำลังกายซึ่งควรจะเป็นเรื่องความสำราญส่วนตัวแท้ๆ ก็ยังไม่วายถูกภรรยาแทรกแซง พอไม่สบายเธอก็พาไปหาหมอและตัดสินใจให้เสร็จสรรพว่าจะต้องตรวจอะไรจะต้องทำอะไร ชีวิตของผู้ชายรุ่นเดอะนี้เป็นชีวิตที่ด้านหนึ่งน่าอิจฉาที่มีคนเอาใจใส่ดูแล แต่อีกด้านหนึ่งน่าเห็นใจนะที่บั้นปลายต้องมามีชีวิตแบบนกน้อยในกรงทอง ฮี่ ฮี่ ผู้ชายรุ่นหลังหากไม่อยากมีชีวิตเป็นนกน้อยในกรงทองให้หัดปกครองดูแลสุขภาพโชว์ผลงานของตัวเองให้ ม. เห็นเสียตั้งแต่ยังหนุ่มนะครับ อย่าให้ภรรยาเขาประเมินว่าเราเป็นทารกน้อยที่เอาตัวไม่รอด

    มาตอบคำถามของคุณดีกว่า

    1. ถามว่าการออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อหน้าอกไม่ว่าจะเป็นวิดพื้นหรือยกดัมเบลดึงสายยืด ทำให้เจ็บหน้าอกหลังจากนั้นหลายวันได้ไหม ตอบว่าได้สิครับ เขาเรียกว่าอาการปวดกล้ามเนื้อแบบชลอตัวเกิดหลังออกกำลังกาย (DOMS - delayed onset muscle soreness) ถือเป็นเรื่องธรรมดาหลังการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ แนวทางการรักษาคือ หากหยุดออกกำลังกายไปเลยกลับจะหายช้า แต่หากออกกำลังกายต่อไปไม่หยุดจะหายเร็วกว่า

     2. ถามว่าการวิดพื้น (push-up) ปลอดภัยต่อหัวใจไหม ตอบว่าการวิดพื้นก็เหมือนการฝึกกล้ามเนื้อแบบอื่นๆที่มีความปลอดภัยต่อหัวใจแน่นอน

     ยิ่งไปกว่านั้น ผมเพิ่งนึกได้ว่าฮาร์วาร์ดเพิ่งตีพิมพ์งานวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างการวิดพื้นกับการเป็นโรคหัวใจในวารสารการแพทย์ JAMA Network Open โดยทำวิจัยในพนักงานดับเพลิงจำนวน 1,104 คน อายุ 21-66 ปี ใช้เวลาติดตามวิจัยนาน 10 ปี โดยเปรียบเทียบความสามารถในการวิดพื้น (ได้รอบละกี่ครั้ง) กับผลการตรวจสมรรถนะหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (EST) ซึ่งทำอย่างน้อยปีละครั้ง ตลอดสิบปีที่วิจัยอยู่ มีผู้เกิดจุดจบที่เลวร้ายด้านหัวใจขึ้น 37 คน เมื่อวิเคราะห์ผลวิจัยสรุปได้ชัดว่ามีความสัมพันธ์เป็นเชิงเส้นว่าคนที่วิดพื้นได้มากจะมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจน้อย โดยความเสี่ยงจะเริ่มลดลงในคนที่วิดพื้นได้ 11 ครั้งขึ้นไป และมีความเสี่ยงลดลงถึง 96% ในผู้ที่วิดพื้นได้ถึง 40 ครั้ง ความสัมพันธ์ระหว่างการวิดพื้นกับการลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจนี้เป็นความสัมพันธ์ที่ช้ดเจนกว่าการตรวจสมรรถนะหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (EST) ดังนั้นนอกจากการวิดพื้นจะเป็นการออกกำลังกายฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อดังเช่นวิธีออกกำลังกายอื่นๆแล้ว ยังเป็นวิธีตรวจประเมินความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจได้อย่างดีซะด้วยนะ คือยิ่งวิดพื้นได้มาก ก็ยิ่งมีโอกาสเป็นโรคหัวใจน้อย และหากถือตามงานวิจัยนี้ ชายชาตรีทุกคนควรสามารถวิดพื้นได้อย่างน้อย 11 ครั้งขึ้นไปจึงจะเริ่มลดการตายจากโรคหัวใจลงได้

     3. ถามว่าสามีของคุณควรจะตรวจสวนหัวใจไหม อันนี้ผมขอตอบตามข้อมูลเท่าที่คุณให้มานะ คำตอบของผมอาจจะผิดก็ได้หากมีข้อมูลอะไรมากกว่านี้แต่คุณไม่ได้ให้มา ข้อบ่งชี้ของการตรวจสวนหัวใจมีกรณีเดียว คือเมื่อใดก็ตามที่ต้องยืนยันการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดชนิดที่มีข้อบ่งชี้ให้รักษาแบบรุกล้ำ (หมายถึงใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดหรือทำผ่าตัดบายพาส) แต่ผมดูข้อมูลของสามีคุณที่ให้มาแล้วไม่มีหลักฐานอะไรชวนให้สงสัยว่าจะเป็นโรคหัวใจขาดเลือดชนิดที่จะได้ประโยชน์จากการรักษาแบบรุกล้ำ กล่าวคือ

     3.1 โอกาสเป็นโรคหัวใจแบบไม่ด่วน (stable angina) แทบไม่มีเลย เพราะอาการเจ็บหน้าอกเกิดขณะพัก และสัมพันธ์กับการขยับตัวซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของการปวดกล้ามเนื้อหรือเอ็นบนผนังหน้าอก

    3.2 โอกาสเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute MI) ชนิดที่ต้องรีบรักษาก็ไม่มี เพราะการตรวจคลื่นหัวใจเมื่อเข้าโรงพยาบาลก็วินิจฉัยแยกได้เด็ดขาดแล้วว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจไม่มีความผิดปกติแบบเร่งด่วน

    ดังนั้นผมวินิจฉัยว่าสามีของคุณเจ็บหน้าอกจากการปวดกล้ามเนื้อแบบชลอตัวเกิดหลังการออกกำลังกาย (DOMS) มากกว่า จึงไม่มีข้อบ่งชี้ให้ทำการตรวจสวนหัวใจ

     การตรวจยืนยันเรื่องนี้หากอยากทำก็ทำได้ไม่ยาก คือรอให้พ้นระยะของการปวดกล้ามเนื้อแบบ DOMS ซึ่งปกติอยู่ไม่เกิน 14 วัน แล้วก็ไปตรวจวิ่งสายพาน (EST) ถ้าผลตรวจเป็นลบก็..จบข่าว

     4. ข้อนี้คุณไม่ได้ถาม แต่ผมแถมให้ท่านผู้อ่านทั่วไปด้วย คือคนส่วนใหญ่ไปกลัวการออกกำลังกายว่าจะทำให้หัวใจเป็นโน่นเป็นนี่ แม้แต่หมอเองบางทีก็ห้ามคนไข้ไม่ให้ออกกำลังกายเสียเอง ทั้งๆข้อมูลวิทยาศาสตร์ยืนยันแน่ยิ่งกว่าแช่แป้งว่าการออกกำลังกายเป็นคุณและจำเป็นสำหรับการป้องกันและรักษาโรคหัวใจ สำหรับท่านที่ต้องการติดตามไปสืบค้นหลักฐานวิทยาศาสตร์ว่าผมพูดจริงหรือเปล่า ผมได้ลงเอกสารอ้างอิงไว้สองอัน อันแรก [2] เป็นคำแนะนำการออกกำลังกายของของสมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA) และสมาคมพันธมิตรต่างๆ ซึ่งรวบรวมหลักฐานวิทยาศาสตร์ไว้ดีมากและตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Circulation เมื่อปีกลาย อันที่สอง [3] เป็นผลวิจัยการป่วยและตายด้วยโรคห้วใจโดยสัมพันธ์กับระดับการออกกำลังกายซึ่งทำวิจัยในคนหลายชาติหลายภาษาทั่วโลกกว่า 130,000 คน ตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Lancet เมื่อสองปีมานี้เอง ทั้งสองหลักฐานนี้เป็นหลักฐานที่มากเกินพอที่จะกระตุ้นให้ใช้การออกกำลังกายเป็นเครื่องมือทั้งป้องกันและรักษาโรคหัวใจ ส่วนความกลัวของแพทย์ส่วนหนึ่งและของคนทั่วไปที่ว่าออกกำลังกายแล้วหัวใจจะมีอันเป็นไปอย่างโน้นอย่างนี้นั้นเป็นเพียงความเชื่อหรือคอนเซ็พท์ที่ไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์รองรับเลย เราจึงไม่ควรไปให้น้ำหนัก จะเป็นการชักใบให้เรือเสียเปล่าๆ

    ดังนั้น โปรดบังคับให้สามีคุณวิดพื้นต่อไป ฮิ ฮิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Yang J, Christophi CA, Farioli A, et al. Association Between Push-up Exercise Capacity and Future Cardiovascular Events Among Active Adult Men. JAMA Netw Open. 2019;2(2):e188341. doi:10.1001/jamanetworkopen.2018.8341
2. Lobelo  F, Rohm Young  D, Sallis  R,  et al; American Heart Association Physical Activity Committee of the Council on Lifestyle and Cardiometabolic Health; Council on Epidemiology and Prevention; Council on Clinical Cardiology; Council on Genomic and Precision Medicine; Council on Cardiovascular Surgery and Anesthesia; and Stroke Council.  Routine assessment and promotion of physical activity in healthcare settings: a scientific statement from the American Heart Association.  Circulation. 2018;137(18):e495-e522. doi:10.1161/CIR.0000000000000559PubMedGoogle ScholarCrossref
3. Lear  SA, Hu  W, Rangarajan  S,  et al.  The effect of physical activity on mortality and cardiovascular disease in 130,000 people from 17 high-income, middle-income, and low-income countries: the PURE study.  Lancet. 2017;390(10113):2643-2654. doi:10.1016/S0140-6736(17)31634-3
[อ่านต่อ...]

21 กุมภาพันธ์ 2562

อ้า..ขอบคุณจริงๆ

     พ.ศ. 2523 สมัยผมจบแพทย์ใหม่ๆ ไปเป็นแพทย์ใช้ทุนอยู่ที่สุขศาลา อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ที่สุขศาลาซึ่งเป็นอาคารไม้เก่าๆสร้างมาแต่สมัยรัชกาลที่ 7 ตั้งอยู่ริมปากแม่น้ำ แต่เอาน้ำขึ้นมาใช้ไม่ได้เพราะสมัยนั้นมันเป็นน้ำเค็ม ผมต้องจำใจปล่อยให้สนามหญ้าหน้าสุขศาลาแห้งกรอบเป็นสีน้ำตาลซีดๆไร้ชีวิต ช่างผิดกับความฝันในใจของหมอหนุ่มที่ฝันอยากจะทำให้คนไข้ชนบทมีความสุขที่ได้เห็นหญ้าสีเขียวสด

     ที่นั่นสมัยนั้นไม่มีน้ำประปา ที่หลังอาคารสุขศาลามีถังเก็บน้ำฝนเป็นถังซิเมนต์ขนาดใหญ่ การจะใช้น้ำต้องให้ภารโรงปีนขึ้นไปปากถังเอากระแป๋งผูกเชือกลงไปตักเอาน้ำขึ้นมาใช้ทีละกระแป๋ง เมื่อผมเริ่มทำห้องผ่าตัดและทำการผ่าตัดเช่นทำหมันทำผ่าตัดไส้ติ่งก็รู้สึกว่าน้ำแบบนี้ไม่สะอาดไม่เหมาะจะใช้ล้างมือ จึงติดตั้งสูบน้ำเดินน้ำไปตามท่อประปาเปิดใช้เอาจากก๊อก ปรากฎว่าเมื่อติดตั้งก๊อกเสร็จชาวบ้านรอบๆสุขศาลารู้ว่ามีน้ำก๊อกก็พากันเอากระแป๋งมารองไปใช้ บ้างพอตกกลางคืนก็มามุงอาบน้ำก๊อกกันเอิกเกริก พนักงานอนามัยอาวุโสกระซิบบอกผมว่า

    "คุณหมอครับ ถ้าเราใช้น้ำอย่างนี้ อีกไม่กี่วันคงหมดถัง แล้วหน้าแล้งนี้อีกหลายเดือนสุขศาลาจะไม่มีน้ำใช้นะครับ"

     ผมรู้ตัวว่าความด้อยประสบการณ์ของผมก่อปัญหาขึ้นแล้ว จึงพยักหน้ายอมแพ้แก่ภูมิปัญญาท้องถิ่นว่า

     "โอเค. พี่จัดการตามที่พี่เห็นสมควรเถอะ"

     วันรุ่งขึ้นเขาก็ออกข่าวว่าเครื่องสูบเสีย เขาถอดสูบน้ำออก น้ำประปาก็หยุดไหล แล้วก็ไม่เคยไหลอีกเลย ทุกคนก็กลับไปอยู่กับระบบให้ภารโรงปีนขึ้นปากถังเอากระแป๋งลงจ้วงตักเอาน้ำทีละกระแป๋งๆเหมือนเดิม บนบ้านพักแพทย์ของผมเองก็ต้องอาศัยเอาขันบรรจงตักเอาน้ำจากโอ่งขึ้นมาอาบอย่างเบาๆ เพราะถ้าตักแรงตะกอนที่ก้นโองจะฟูขึ้นมาทำให้น้ำสกปรก กว่าผมจะมาวิ่งเต้นที่กรุงเทพเพื่อเอางบประมาณต่อน้ำประปาจากตัวเมืองออกไปถึงสุขศาลาได้สำเร็จก็เป็นเวลาที่ผมต้องย้ายเข้ามาฝึกอบรมต่อในกรุงเทพแล้ว

     ผมเล่าเรื่องนี้เพื่อจะเข้าประเด็นของผมที่ว่าต่อมาเมื่อผมย้ายเข้ามาฝึกอบรมต่อในกรุงเทพฯ ครั้งแรกที่ผมเปิดก๊อกน้ำแล้วมีน้ำใสไหลซู่ออกมา ผมดีใจเอาสองมือทำเป็นอุ้งรองแล้วร้องว่า

     "อ้า..น้ำสะอาด"

     มันเป็นความรู้สึกขอบคุณจริงๆ ขอบคุณชีวิต มันเป็นความอิ่มเอิบซาบซ่า มันเป็นความสุข ที่อยู่ๆก็ได้สิ่งที่ต้องการอย่างยิ่งมาเป็นของขวัญโดยไม่ต้องไปลำบากซื้อหาหรือทำงานหนักเข้าแลก ฝรั่งเรียกความรู้สึกอย่างนี้ว่า grateful น่าเสียดายที่ความรู้สึกอย่างนี้มีอยู่แค่ไม่กี่ครั้ง พอผมเปิดก๊อกทีไรมีน้ำใสสะอาดไหลซู่ออกมาทุกทีต่อมาความรู้สึกขอบคุณนี้ก็ค่อยๆจางหายไป พร้อมๆกับความสุขที่เคยมาพร้อมกับความรู้สึกขอบคุณนั้นก็หายไปด้วย

     ให้ผมเล่าอีกเรื่องหนึ่งนะ ก่อนที่จะเข้าประเด็นของบล็อกวันนี้ เรื่องนี้เป็นประมาณปีค.ศ. 1988 (ต้องขอโทษ ช่วงชีวิตที่อยู่เมืองนอกผมต้องบอกเวลาเป็นค.ศ.นะ ขี้เกียจแปลงตัวเลขในหน่วยความจำ) ผมเป็นแพทย์ประจำบ้านอยู่ที่เมืองโอ๊คแลนด์ วันหนึ่งมีคนไข้หญิงสาวไปเล่นสกีแล้วเกิดอุบัติเหตุพลัดล้มลงคลุกหิมะโดยไม่มีใครรู้เห็น รู้แต่ว่าเธอออกสกีแล้วหายไป ตามหาก็ไม่เจอ ผ่านไปตั้งหลายวันจึงมีคนพบ เธอหมดสติ ยังไม่ตาย แต่อยู่ในสภาพโคม่าหัวใจเต้นแผ่วมาก เธอถูกส่งมาแผนกผมเผื่อจะต้องใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียมเพิ่มอุณหภูมิร่างกาย แต่ในที่สุดก็ไม่ได้ใช้เพราะเธอฟื้นเอง แค่นิ้วเท้าดำเพราะหิมะกัดต้องตัดทิ้งหลายนิ้ว แล้วเธอก็รอดในที่สุด วันหนึ่งก่อนจำหน่ายเธอออกจากรพ. ผมไปราวด์ เธอนั่งแก้มแดงกินอาหารอย่างอะเร็ดอร่อย ผมถามเธอว่า

     "From now on, what do you want in life?"

     "จากนี้ไป คุณต้องการอะไรในชีวิต" เธอตอบว่า

     "๋Just living, doctor. Just living"

     "ขอแค่ได้มีชีวิตอยู่ค่ะคุณหมอ แค่มีชีวิตอยู่"

     ความหมายจากสีหน้าและน้ำเสียงของเธอก็คือการที่เธอได้ชีวิตกลับมานี้มันเป็นอะไรที่ต้องขอบคุณจริงๆ มันเป็นของขวัญฟรีๆ ที่ดีจริงๆ ได้มาแค่นี้เธอก็มีความสุขแล้ว จนเธอไม่ต้องการอะไรอื่นอีกแล้ว ขอแค่นี้ก็พอแล้ว แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว

     ผมเห็นด้วยกับเธอว่าเมื่อใดก็ตามที่ชีวิตประสบกับสิ่งที่เรารู้สึกขอบคุณจริงๆ ขอบคุณที่ได้สิ่งนั้นมา really grateful ชีวิตจะมีความสุขเต็มเปี่ยมโดยไม่โหยหาอะไรอื่นอีกเลย

     และถ้ามองให้ดี ชีวิตนี้จะแตกดับได้ทุกเมื่อแม้อีกหนึ่งลมหายใจข้างหน้านี้จะเกิดอะไรขึ้นกับเราหรือเปล่าเรายังไม่รู้เลย การที่เราได้มีชีวิตอยู่ในลมหายใจนี้ ในแว้บนี้ ในช็อตนี้ ทีละช็อต ทีละช็อต มันเป็นของขวัญล้ำค่าที่ได้มาฟรีๆโดยไม่ต้องไปซื้อหาหรือทำงานหนักแลกเอาเลยนะ การที่เราได้ชีวิตมาอีกหนึ่งช็อตนี่มันเป็นเรื่องที่น่าขอบคุณนะ มันเป็นเรื่อง really grateful ขอบคุณจักรวาลที่ให้ชีวิตเรามาอีกหนึ่งช็อต ขอบคุณที่ให้เดี๋ยวนี้มา ขอบคุณจริงๆ มองชีวิตอย่างนี้ ก็มีความสุขได้ทันทีเลยเห็นแมะ เหมือนกับครั้งแรกที่ผมเปิดก๊อกน้ำกทม.หลังจากเพิ่งย้ายกลับจากปากพนัง แต่ชีวิตที่ได้มาแต่ละช็อตมีคุณค่าและยิ่งใหญ่กว่าน้ำสะอาดจากก๊อกหนึ่งอุ้งมือมากนัก

     "อ้า..ได้ชีวิตมาอีกหนึ่งช็อต ขอบคุณจริงๆ"

      ผมคิดแบบนี้ทุกวัน

     "อ้า ได้อากาศหายใจที่มีออกซิเจนมาแบบฟรีๆ ของสำคัญนะเนี่ย ขอบคุณจริงๆ" 

     "อ้า ได้เห็นหญ้าสีเขียวๆ สดๆ ฟรีๆ หน้าบ้านแต่เช้า ขอบคุณจริงๆ" 

     "อ้า ได้ยินเสียงนกร้องเพราะๆตั้งแต่ยังไม่ทันลืมตา ขอบคุณจริงๆ"

     "อ้า ได้ตากแดดจัดๆเต็มๆช่วยเพิ่มวิตามินดี.ฟรีๆ ขอบคุณจริงๆ"

     "อ้า ได้ดื่มน้ำสะอาดๆโดยไม่ต้องลำบากไปเสาะหาหาบหิ้ว ของดีนะเนี่ย ขอบคุณจริงๆ"

     คิดอย่างนี้แล้วใจก็เป็นสุข..อย่างง่ายๆเลย

     คำว่า "ขอบคุณ" นี้เป็นหนึ่งในสี่ของคำสำคัญที่บ่งชี้ว่าเรากำลังอยู่กับปัจจุบัน ทั้งสี่คำนั้นได้แก่ (1) ขอบคุณ (2) ขอโทษ (3) ให้อภัย (4) เมตตา ทั้งสี่คำนี้มันบ่งบอกถึงการยอมรับ (acceptance) อย่างไม่มีเงื่อนไข การยอมรับนี้เป็นทั้งนิยามและเป็นทั้งสาระสำคัญที่จะบอกว่าคนเรามีชีวิตอยู่กับปัจจุบันได้อย่างแท้จริงหรือไม่ เมื่อยอมรับทุกอย่าง แค่นี้พอแล้ว แค่นี้ดีแล้ว ไม่เสาะหาอะไรอีกแล้ว นั่นแหละคือการอยู่กับปัจจุบัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

20 กุมภาพันธ์ 2562

เป็นมะเร็งจะผ่าหรือไม่ผ่าดี มันก็แล้วแต่เจ้าตัวเขาสิครับ

เป็นครั้งแรกในชีวิตของน้องชายที่เข้า รพ.และเกือบเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต เมื่อเขาถ่ายเป็นเลือดไม่มีแรงต้องหามส่ง รพ.เข้า icu หมอบอกเขาเสียเลือดมาก เป็นตับแข็งระดับท้องมานตาเหลืองแต่เขาก็รอดมาได้ หลังผ่านไปสองสัปดาห์ หมอส่องกล้องกระเพาะตรวจแผลและเจาะเลือด เจอค่า cea =9 จึงตรวจส่องกล้องอีกครั้งที่ลำไส้ใหญ่ ผลเจอก้อนมะเร็ง 2 ก้อน ก้อนที่หนึ่ง หมอคาดระยะ3-4 อีกก้อนคาดว่าระยะ 2 ปรึกษาหมอศัลย์ จะผ่าตัดสองก้อนทิ้งและต่อกลับติดกับลำไส้เล็ก ผลเลือด ล่าสุดไต 1.1 ,หัวใจปกติ ,เกล็ดเลือด 6หมื่น อีก 7 วันถ้าผลเลือดดีขึ้นหมอศัลย์จะผ่าตัดลำไส้ในวันถัดไปค่ะ
สภาพปัจจุบันน้องชายเดินได้ปกติ กินอาหารได้ มียาบำรุงตับ จิตใจแข็งแรงดี ขอคำแนะนำคุณหมอค่ะ "ผ่าตัดหรือไม่ผ่าดีกว่าคะ"
ที่บ้านมีพี่น้องสามคน ตัวดิฉันพี่สาวให้ผ่า เพราะ การผ่าเป็นโอกาสให้เขาได้ต่อสู้กับโรคตับอีกสักปี
น้องชายคนเล็กไม่ให้ผ่า เพราะ การผ่าเสี่ยงและชีวิตหลังผ่าตัดทรมานอีกหลายเรื่อง ทั้งคีโมและตับแข็งอีก ส่วนตัวผู้ปวยลังเลค่ะ เขามีแต่พี่น้องค่ะ หย่าร้างมานานแล้ว ภรรยาและลูกรับรู้แต่ก็ช่วยอะไรได้ไม่มาก เราสามพี่น้องขอกราบขอบพระคุณคำแนะนำคุณหมอมา ณ ที่นี้ล่วงหน้าค่ะ

...........................................

ตอบครับ

     1. ถามว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่จะผ่าตัดหรือไม่ผ่าดี อ้าว..มันก็ต้องแล้วแต่เจ้าตัวเขาสิครับ ผมหมายถึงตัวคนไข้ มันเป็นชีวิตของเขา และเขาก็ยังเดินเหินได้ยังมีดุลพินิจของตัวเอง คนอื่นจะไปมีสิทธิอะไรไปตัดสินแทนเขาได้ละครับ ผมเข้าใจว่าคุณเขียนมาหาเพราะรักและหวังดีอยากจะช่วยเขาตัดสินใจ แต่ผมแนะนำว่ากรณีที่ท่านเป็นญาติของผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มาถึงจุดที่จะเลือกไปทางไหนก็ล้วนแต่จะมีความเสี่ยงต่อการจบชีวิตพอๆกัน ให้เจ้าตัวเป็นคนเลือกเองดีที่สุดครับ คนอื่นหากหวังดีไปเลือกแทนให้ ท้ายที่สุดมักจบลงด้วยความรู้สึกผิดในใจผู้เลือกว่าถ้าเราไม่ไปเลือกแทนเขา เขาก็คงไม่จบชีวิตอย่างนี้ 

     2. ถามว่าเป็นตับแข็งด้วย เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วย ควรจะผ่าตัดดีไหม ตอบว่าในกรณีนี้เราคงต้องฟังคำแนะนำหมอผู้ที่ดูแลเขาไว้ก่อน เพราะนั่นเป็นคำแนะนำที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้แล้ว เนื่องจากหมอผู้ดูแลท่านมีข้อมูลครบ คำแนะนำของคนไกลอย่างหมอสันต์ซึ่งไม่เคยเห็นคนไข้ ไม่เคยตรวจร่างกายคนไข้ ไม่มีทางที่จะเป็นคำแนะนำที่ดีกว่านั้นไปได้ อย่างดีผมก็แค่ให้ข้อมูลประกอบแบบกว้างๆ ดังนี้

     2.1 ประเด็นระยะ (stage) ของมะเร็ง คุณว่าบอกว่าหมอว่าเป็นมะเร็งระยะที่ 3-4 แต่ไม่เห็นบอกว่าเอาหลักฐานอะไรมายืนยันว่าเป็นมะเร็งระยะที่สี่ซึ่งหมายถึงระยะที่มีการแพร่กระจายไปทั่วร่างกายแล้ว ตรงนี้มีนัยสำคัญในแง่ของการพยากรณ์โรค หากเป็นระยะที่ 4 เราต้องตามไปดูอวัยวะที่มะเร็งแพร่กระจายไป ว่าการผ่าตัดสามารถตัดเอามะเร็งที่กระจายไปนั้นออกด้วยได้หรือไม่ หากผ่าตัดเอาออกได้ การผ่าตัดก็จะได้ประโยชน์ในแง่ของการตัดเอาแหล่งมะเร็งที่มองเห็นด้วยตาได้หมดเกลี้ยง ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานของศัลยกรรมโรคมะเร็งที่ยังถือเป็นมาตรฐานใช้การได้อยู่จนทุกวันนี้

     2.2 ประเด็นการผ่าตัดเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต ผู้ป่วยเข้ารพ.เพราะเลือดออกในลำไส้ ซึ่งมีโอกาสมากที่สุดที่เลือดจะออกจากก้อนมะเร็ง การผ่าตัดในกรณีนี้จะได้ประโยชน์ในแง่การเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ในแง่ที่จะไม่ให้มีเลือดออกอีกซ้ำซาก ผมขอย้อนอธิบายอีกนิด ว่าเรื่องประโยชน์ของการรักษานี้แพทย์มองสองอย่างนะ คือ

     (1) ความยืนยาวของชีวิต

     (2) คุณภาพชีวิต

     ในการตัดเอาก้อนมะเร็งที่เห็นได้ด้วยตาออกหมด เราหวังผลในแง่ความยืนยาวของชีวิต ส่วนในการตัดเอาแหล่งของเลือดออกในลำไส้ออก เราหวังผลในแง่คุณภาพชีวิต ความยืนยาวของชีวิตก็ดี คุณภาพชีวิตก็ดี แม้ได้ผลอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว แพทย์ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ของการรักษา ถือเป็นข้อบ่งชี้ว่าควรจะทำผ่าตัด

    2.3 ประเด็นตับแข็ง คุณบอกว่าคนไข้เป็นโรคตับแข็ง แต่ไม่เห็นให้ข้อมูลมาว่าเป็นตับแข็งจากสาเหตุอะไร เพราะสาเหตุของตับแข็งมีตั้งหลายอย่าง เช่น (1) แอลกอฮอล์ (2) ไขมันแทรกตับ (3) ไวรัสตับอักเสบบี.หรือซี. สาเหตุของโรคตับแข็งเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาที่สำคัญว่าควรผ่าตัดหรือไม่ เพราะแต่ละสาเหตุก็มีการพยากรณ์โรคไม่เหมือนกัน อย่างถ้าเป็นตับแข็งจากแอลกอฮอลนี่ก็คือแมวเก้าชีวิตดีๆนี่เอง หมายความว่าตายยาก ยังจะอยู่ได้อีกนาน 

    3. สมัยนี้มักมีความนิยมแนวทางการรักษามะเร็งแบบ ไม่ผ่าตัด ไม่ฉายแสง ไม่คีโม หรือที่เรียกแบบบ้านๆว่าใช้หลัก "สามไม่" นั่นเป็นเรื่องความชอบส่วนตัวของแต่ละคน ซึ่งใครชอบอย่างนั้นผมก็ไม่คัดค้าน แต่ผมไม่แนะนำให้ใช้หลักสามไม่กับคนทั่วไปแบบรูดมหาราชอย่างแน่นอน เพราะจะทำให้ผู้ป่วยมะเร็งส่วนหนึ่งที่มีการพยากรณ์โรคดีสูญเสียโอกาสที่จะได้รับการรักษาที่จะทำให้อัตรารอดชีวิตของเขาหรือเธอยืนยาวขึ้น ในภาพรวมการรักษามะเร็งทุกชนิดในปัจจุบันนี้ที่มีหลักฐานว่าให้อัตรารอดชีวิตดีที่สุดคือการรักษาตามวิธีการของแพทย์แผนปัจจุบันก่อน ไม่ว่าจะเป็นผ่าตัด ฉายแสง คีโม ถ้าหมอเขาแนะนำว่าทำแล้วจะมีประโยชน์มากกว่าไม่ทำก็ควรจะทำไป เมื่อได้ทำสิ่งเหล่านั้นครบแล้ว จึงค่อยหันมาดูแลตัวเองด้วยวิธีการที่ตัวเองชื่นชอบ

     4. ข้อนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมแถมให้ ว่าการดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผมแนะนำตามตามคำแนะนำของสมาคมมะเร็งอเมริกัน (ACS) ซึ่งได้ออกคำแนะนำมาตรฐานให้ผู้ป่วยมะเร็ง ดังนี้

     4.1 จำกัดการทานเนื้อสัตว์ในรูปแบบไส้กรอก เบคอน แฮม (processed meat) และจำกัดการทานเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (red meat) เช่นเนื้อหมูเนื้อวัว

     4.2 ทานผักและผลไม้ให้มากๆเข้าไว้ อย่างน้อยวันละสองถ้วยครึ่ง

     4.3 ทานธัญพืชไม่ขัดสี (เช่นข้าวกล้องหรืือขนมปังโฮลวีท) แทนธัญพืชขัดสี

     4.4 ทานอาหารในปริมาณพอดีไม่ทำให้อ้วน ถือหลักผอมไว้เป็นดี แต่อย่าผอมจนผิดปกติ (อย่าให้ดัชนีมวลกายต่ำกว่า 18.5) เพราะความอ้วนสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งมากขึ้น แต่ถ้าผอมเกินไปก็จะทำกิจกรรมประจำวันลำบาก

     4.5 ลดการดื่มแอลกอฮอล์ (ถ้าตับแข็งอยู่แล้วก็ควรเลิกดื่มไปเลย)

     4.6 ให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอด้วย คือออกกำลังกายถึงระดับหนักพอควร (หอบแฮ่กๆร้องเพลงไม่ได้) สัปดาห์ละ 150 นาที หรือหนักมาก (พูดไม่ได้) สัปดาห์ละ 75 นาที โดยทะยอยออกแบบกระจายตลอดสัปดาห์ ร่วมกับหาโอกาสทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากกว่าชีวิตประจำวันปกติบ่อยๆ

     นอกจากคำแนะนำของ ACS ข้างต้นแล้ว หมอสันต์ขอแนะนำเพิ่มเติมว่าการได้ทานผักผลไม้ให้มากและหลายหลายเป็นเรื่องสำคัญมาก อย่าลืมว่ายาเคมีบำบัดเกือบทั้งหมดเป็นพืชทั้งสิ้น การได้ทานพืชที่หลากหลายจึงสำคัญ หากทานอาหารไม่ได้ หรือทานได้ไม่พอ ควรเลือกเอาอาหารพืชที่อุดมคุณค่ามาปั่นรวมกันด้วยเครื่องปั่นความเร็วสูงโดยไม่ทิ้งกากหรือส่วนดีๆใดๆเลยให้ผู้ป่วยดื่ม เพราะงานวิจัยในเนอร์ซิ่งโฮมได้ผลสรุปว่าเป็นวิธีช่วยให้ผู้ป่วยได้อาหารครบถ้วนพอเพียงมากขึ้น มีโอกาสขาดอาหารน้อยลง

     นอกจากนี้สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง หมอสันต์ขอแนะนำเพิ่มเติมให้หาผักพื้นบ้านแปลกๆหาทานยากๆอย่างละนิดอย่างละหน่อยรวมทั้งเห็ดต่างๆตามฤดูกาลมาทานสดบ้างปั่นบ้างตามสะดวก เพราะการได้ธาตุที่หายากและที่ร่างกายใช้น้อย (trace element) ซึ่งมักมีแต่ในพืชเท่านั้นมาเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระที่ครบถ้วน จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานดีขึ้น ทั้งนี้อย่าลืมว่าระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราเป็นด่านที่เชื่อถือได้มากที่สุดที่จะทำให้มะเร็งหายได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

19 กุมภาพันธ์ 2562

โรคหัวใจจากมุมมองของชุมชนทีเอ็ม.(TM)

     มีท่านผู้อ่านส่งเอกสารเผยแพร่ในวงการผู้ปฏิบัติทีเอ็ม.มาให้ผมอ่าน เขียนโดยหมอหัวใจของวงการนั้น ชื่อ Dr Rainer Picha เนื้อหาสาระเป็นเรื่องเกี่ยวกับการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดในหมู่ผู้ปฏิบัติทีเอ็ม. (TM - trancendental meditation) ผมเห็นว่าเนื้อหาสาระง่าย จับสาระสำคัญได้ค่อนข้างครบถ้วน และไฮไลท์ประเด็นที่ควรไฮไลท์ไว้อย่างดี จึงขออนุญาตแปลให้ผู้ที่ไม่ได้เป็น "ญาติธรรม" ของทีเอ็ม.ได้อ่านกันบ้าง เผื่อเป็นความรู้ประดับกาย ดังนี้

     ประเด็นสำคัญคือผู้ปฏิบัติทีเอ็ม.ควรใส่ใจจัดการปัจจัยเสี่ยง 9 ตัวที่งานวิจัย INTERHEART Study ได้สรุปไว้ (บุหรี่ ความดัน ไขมัน ความอ้วน เบาหวาน อาหาร การออกกำลังกาย แอลกอฮอล ความเครียด ) ข่าวดีก็คือปัจจัยทั้งเก้าตัวสามารถปรับเปลี่ยนได้ด้วยการใช้ชีวิต มีเพียง 10% เท่านั้นที่จะกำหนดด้วยพันธุกรรม แม้ว่าการปฏิบัติทีเอ็ม.จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงได้เกือบหมด แต่ก็ยังมีบางปัจจัยที่พวกเราจะต้องใส่ใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกาย พวกเราหลายคนต้องให้เวลากับการออกกำลังกายมากขึ้น ไม่ใช่แค่พอใจแค่โยคะอาสนะและการเดินเล่นทอดน่องยามเย็น

ความเสี่ยงโรคหัวใจจากงานวิจัย InterHeart
     องค์การอนามัยโลกพบว่าการไม่ได้ออกกำลังกายมากพอเป็นเหตุให้เกิด

     โรคหัวใจและเบาหวาน 17% (มากกว่าเหตุจากการสูบบุหรี่เสียอีก)
     การลื่นตกหกล้มในผู้สูงอายุ 12%
     มะเร็งเต้านมและลำไส้ใหญ่ 10%

     การออกกำลังกายตลอดชีพ หรือ Lifelong exercise (LLE) ก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่วงการวิจัยให้ความสำคัญ งานวิจัยของมหาลัย Ball State University ในปีค.ศ. 2018 พบว่าคนแก่อายุ 70 ปีที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอมาหลายสิบปีมีมวลกล้ามเนื้อเทียบได้กับคนอายุน้อยกว่าตัวเอง 25 ปีและมีสภาพหัวใจเท่าคนอายุน้อยกว่าตัวเอง 30 ปี

     การออกกำลังกายมีสามแบบนะ พวกเราต้องทำให้ครบทั้งสามแบบอย่างสม่ำเสมอ คือ

     1. การออกกำลังกายแบบแอโรบิก (Aerobic) ทำให้ร่างกายใช้ออกซิเจนได้มากขึ้น เช่นปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เดินเร็ว กระโดดเชือก พายเรือ ปีนเขา เป้าหมายคือเพื่อเพิ่มความอดทน (endurance)ให้กับหัวใจและป้องกันโรคหัวใจ

     2. ออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Anaerobic) เช่นท่ากายบริหารอย่างการวิดพื้น การยกดัมเบล เป็นต้น การออกกำลังกายชนิดนี้ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง กระดูกแข็งแรง ทรงตัวดี ลดการเป็นเบาหวาน เพราะกล้ามเนื้อช่วยเผาผลาญน้ำตาล

     3. การออกกำลังกายแบบสร้างความยืดหยุ่น (Flexibility) เช่นการทำโยคะอาสนะ การทำสุริยนมัสการ เหล่านี้ช่วยให้ข้อและกล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นลดการบาดเจ็บจากการเคลื่อนไหว

     ประเด็นสำคัญคือ

     - ให้มีความสนุกด้วย เลือกกิจกรรมที่คุณชอบ เพราะถ้าคุณไม่ชอบคุณก็ทำมันได้ไม่ยืดอยู่ดี การไปเข้ากลุ่มก็ช่วยได้ การเต้นรำก็มีประโยชน์มาก

     - ทำให้สม่ำเสมอแต่ให้หนักแค่พอดี ไม่หนักเกินไป ประโยชน์จะเกิดสูงสุดหากเราออกกำลังกายให้ได้ 40-60% ของขีดความสามารถเต็มที่ร่างกายเราจะออกได้ หากจะออกให้หนักมาก (70-80%ของขีดความสามารถเต็ม) บ้างเช่นสัปดาห์ละครั้งก็ได้เช่นกัน

     - ออกทั้งแบบแอโรบิก แบบฝึกกล้ามเนื้อ และแบบเพิ่มความยืดหยุ่น

     ปริมาณการออกกำลังกายใครทำได้แค่ไหนนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยเช่น ธาตุเจ้าเรือน (dosha) ความแข็งแรง และอายุ ของแต่ละคนด้วย ดังนั้นอย่าเพิ่งท้อถอยหากเริ่มต้นยังเอาชนะความเอื่อยเฉื่อยของตัวเองไม่ได้ ถ้ายืนหยัดไป และมุ่งแค่ระดับหนักพอควร ในไม่กี่สัปดาห์ก็จะรู้สึกว่าตัวเองทำได้ดีขึ้นมาก

    ในปีหลังๆมานี้หลังจากได้รับทราบผลวิจัยข้างต้น ท่านมหาริชชีได้ตระหนักในความสำคัญของการออกกำลังกายและกระตุ้นให้แพทย์ชาวทีเอ็ม.ช่วยกันสร้างฟิตเนสโปรแกรมที่ครอบคลุมทั้งจิตใจและร่างกาย (Mind Body Fitness) ขึ้นมากๆ

     ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ

     อาหาร: ถ้าเราปฏิบัติตามแนวอาหารอายุรเวดะ (มังสะวิรัติ)เราก็ลดความเสี่ยงทางด้านนี้อย่างดีแล้ว อย่างไรก็ตามหากลดการใช้น้ำตาล (พบใน 90% ของอาหารที่ผ่านกระบวนการ ไม่เฉพาะขนมหวานเท่านั้น) ลงด้วยก็จะดี

     ความเครียด: นี่นับเป็นปัจจัยเสี่ยงตัวใหม่ที่วงการวิทยาศาสตร์เพิ่งหยิบขึ้นมาไฮไลท์ ซึ่งรวมถึงความเครียดจากสิ่งแวดล้อม ความเศร้าจากการสูญเสีย ความกดดันด้านอารมณ์ต่างๆ ตรงนี้เป็นความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความเสี่ยงอื่นๆ เช่นเมื่อเครียดความดันก็ขึ้น และมีแนวโน้มจะสูบจะดื่มมากขึ้น การทำทีเอ็ม.ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงเรื่องความเครียดนี้อยู่อย่างดีแล้ว

     การทำสมาธิแบบทีเอ็ม.เป็นที่ยอมรับของกระแสหลักมากขึ้น

     ทีเอ็ม.ซึ่งตอบโจทย์ความเสี่ยงทุกตัวนอกจากอาหารและการออกกำลังกาย กำลังเป็นที่ยอมรับเข้ามาสู่กระแสหลักมากขึ้น ตั้งแต่เมื่อสมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA) ตีพิมพ์ผลวิจัยเมื่อปี 2013 ว่าการทำทีเอ็ม. เป็นวิธีไม่ใช้ยาวิธีเดียวที่มีหลักฐานว่าลดความดันเลือดในเชิงคลินิกได้ และได้แนะนำการทำสมาธิแบบทีเอ็ม.ในการร่วมรักษาความดันเลือดสูง พัฒนาการใหม่ๆที่เกิดขึ้นก็เช่น

1. กระทรวงสาธารณสุขของลักเซมเบอร์กได้รวมเอาการทำสมาธิแบบทีเอ็ม.เป็นเครื่องมือหนึ่งในการรักษาความดันเลือดสูง
2. สมาคมความดันเลือดสูงยุโรป (ESH) ได้จัดทำทีเอ็ม.ไว้เป็นบทหนึ่งในหนังสือคู่มือความดันเลือดสูงปี 2018
3. สมาคมความดันเลือดสูงหลายประเทศได้เอาทีเอ็ม.ไว้ในแนวปฏิบัติสำหรับการลดความดันเลือดสูง

(หมายเหตหมอสันต์) : 
ทีเอ็ม.คือการฝึกสมาธิแบบหนึ่งซึ่งมีรากมาจากฮินดู เผยแพร่ในอเมริกาโดยกูรูชื่อมหาริชชีมาเหศโยคี เป็นเทคนิควางความคิดเข้าสู่สมาธิแบบใช้เสียงจากคำพูด (มันตรา) เป็นตัวเหนี่ยวนำ โดยที่ในกรณีทีเอ็ม.นี้เป็นการใช้เสียงคำพูดแบบไม่เปล่งเสียงออกมา ผมจัดให้ทีเอ็ม.เป็นรูปแบบการทำสมาธิที่คนรู้จักกันมากที่สุดในอเมริกาและในวงการวิจัยทางการแพทย์ เพราะมีการวิจัยเกี่ยวกับทีเอ็ม.ตีพิมพ์ไว้ในวารสารการแพทย์แล้ว ผมนับคร่าวๆว่าไม่น้อยกว่า 300 รายการ ชุมชนผู้ปฏิบัติทีเอ็ม.ก็เป็นชุมชนที่ค่อนข้างใหญ่มีสาขาแพร่หลายทั่วโลก และมีมหาวิทยาลัยของตัวเองด้วย  

.........................................................

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

17 กุมภาพันธ์ 2562

ป่าดิบชื้นที่ยังหลงเหลืออยู่

เช้าวันนี้ผมอยู่ที่มวกเหล็ก แต่ไม่มีสอน แต่หมอสมวงศ์มีทำคุ้กกิ้งคลาสตอนเก้าโมง
แสงแรกของอรุณทาบบนใบไม้แห้งที่ชายคลอง
ผมเปรยให้หมอสมวงศ์ฟังว่าเมื่อวันก่อนแขกต่างประเทศที่มาเยี่ยมเวลเนสวีแคร์เขาบอกว่าอยากเห็นน้ำตกเจ็ดสาวน้อย หมอสมวงศ์ถามผมว่าเราเคยไปหรือยัง เมื่อพยายามนึกก็จึงได้คำตอบว่าเรายังไม่เคยไป รู้แต่วันมันเป็นปลายทางของฉิ่งฉับทัวร์ เคยขับรถผ่านเมื่อราวสิบปีมาแล้วเห็นร้านส้มตำไก่ย่างเรียงเป็นแถวยังกับตลาดไก่ย่างเมืองวิเชียรบุรีก็เลยไม่คิดจะแวะเข้าไปดู แต่วันนี้ยังเช้าอยู่เลย อีกตั้งสองชั่วโมงจะถึงเวลาที่หมอสมวงศ์จะทำคลาส ผมจึงชวนไปดูน้ำตกเจ็ดสาวน้อยกัน ผมบอกเธอว่าผมเช็คเวลาทำงานในอินเตอร์เน็ทแล้ว เขาเปิดตั้งแต่ตีห้าถึงห้าโมงเย็น เธอพึมพัมเบาๆว่าปาร์คอะไรกันเปิดตั้งแต่ตีห้า แต่ก็ไม่ได้คัดค้านหนักแน่นจริงจังอะไร เพราะเราก็เหมือนผู้สูงอายุทั้งหลายที่อินเตอร์เน็ทว่าอะไรมาก็เชื่อหมดโดยไม่คิดเถียง
น้ำตกในคลองมวกเหล็ก เตี้ย แต่ไม่เคยขาดน้ำ

ขับจากบ้านบนเขาสิบนาทีก็ถึงเจ็ดสาวน้อย ตอนนี้เขาพัฒนา กลายเป็นอุทยานแห่งชาติไปแล้ว เราขับเข้ามาถึงประดูซึ่งปิดอยู่ ป้ายที่ตู้ยามเขียนว่าเปิด 8.00 - 17.00 น. แป่ว..ว ผมทำไก๋ถามยามไปว่ายังไม่เปิดหรือครับ ยามบอกว่าเปิดแปดโมงครับ ผมออกฟอร์มทำเสียงละห้อย

     "...โอ้ เสียดายจัง ตั้งใจจะมาถ่ายรูปน้ำตกก่อนตะวันขึ้นเสียหน่อย" ยามเห็นเป็นคนแก่เลยชวนคุยด้วยความสงสาร
   
     "มาจากไหนกันหรือครับ" ผมรีบตอบก่อนว่า

     "กรุงเทพครับ" ที่ตอบอย่างนี้เพราะการมาไกลอาจจะได้รับสิทธิพิเศษก็ได้ แล้วก็เป็นดังคาด ยามบอกว่า

     "ธรรมดาระเบียบเขาไม่ให้เข้าก่อนเวลาหรอกนะครับ แต่ครั้งนี้ผมอะลุ่มอะหล่วยให้ก็แล้วกัน"

     เราสองตายายขอบคุณแล้วรีบเอารถเข้าไปจอดตามที่ยามชี้ให้ ผมหุบปากสนิทไม่ยอมถามเรื่องค่าผ่านประตู เพราะกลัวยามเห็นว่าจะยุ่งยากเรื่องออกใบเสร็จก่อนเวลาเดี๋ยวจะพาลไม่ให้เราเข้า
She พยายามจะชี้ชวนให้ลงไปที่ๆนักท่องเที่ยวเขาชอบลงไปกัน

     เมื่อเราลงจากรถ ยามคงเห็นสาระรูปการแต่งกายของเราที่ใส่รองเท้าแตะฟองน้ำมา จึงตะโกนไล่หลังว่า

     "เมื่อคืนค้างแถวนี้หรือครับ" ผมตะโกนตอบว่า

     "คร้าบ.. เมื่อคืนค้างที่รีสอร์ทมวกเหล็กวาลเลย์" แล้วก็รอดตัวเข้าไปจนได้

     เจ็ดสาวน้อยเดี๋ยวนี้พัฒนาแล้ว ร้านไก่ย่างไม่รู้หายไปไหนหมด ที่จอดรถกว้างใหญ่ราวกับเตรียมไว้จัดงานช้างจ.สุรินทร์ แต่ทั้งลานมีรถของเราจอดอยู่คันเดียว ทั่วบริเวณสอาดสะอ้าน ไม่มีขยะแม้แต่หนึ่งชิ้น นี่ไม่ได้แกล้งชม พูดจริงๆ

     เราไปเริ่มต้นที่สะพานเหนือน้ำตกสาวน้อยที่ 1 ซึ่งมีป้ายเขียนว่าสะพานข้ามไปนครราชสีมา พอเราข้ามสะพานไปถึงฝั่งโน้น มัคคุเทศก์ก็มายืนรอรับอยู่ที่นั่น ผมเรียกเธอว่า She ก็แล้วกัน เธอคงเคยมีลูกไปหลายครอกแล้ว สังเกตจากหน้าอกหน้าใจที่ยวบยาบและแกว่งโย้ไปโย้มาเวลาเธอวิ่ง เธอเข้ามาแนะนำตัว หมอสมวงศ์บอกว่า
เรามองตามที่ She ชี้ให้ดูไป ก็เห็นบัวน้อยลอยชูช่อรออรุณอยู่

     "ไม่ต้องมาตาม ไม่มีอะไรให้กินหรอก"

     แต่เธอดูจะเป็นมัคคุเทศก์จิตอาสาที่ไม่รับค่าจ้าง เพราะถึงจะบอกไม่มีอะไรให้กิน เธอก็ทำหน้าที่นำทางเราอยู่ดี และนำทางเราตลอดหนึ่งชั่วโมงที่เราทัวร์รอบๆน้ำตกสาวน้อยทั้งเจ็ดทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา เมื่อถึงจุดที่นักท่องเที่่ยวเขาชอบปีนป่ายลงไปหาโลเกชั่นถ่ายรูปหรือเล่นน้ำกัน เธอก็จะวิ่งนำไปยืนอยู่ที่จุดปีนข้ามแล้วหันหน้ามาชี้ชวน พอเห็นเราไม่สนใจเธอก็ข้ามให้ดูเป็นตัวอย่างแล้วไปยืนอยู่กลางเกาะหันไปมองน้ำตกแล้วหันมามองเราเป็นเชิงบอกว่าตรงนี้วิวดีนะ เรามองตามที่ She ชี้ให้ดูไปก็เห็นบัวน้อยสีขาวๆหลายดอกกำลังชูช่อรอแสงอรุณอยู่อย่างน่ารัก

แสงยามเช้าจับหลังใบไม้ ให้สีเขียวที่มีชีวิตชีวิตมากขึ้น
     ฝั่งที่เราเดินนี้เป็นฝั่งโคราช ซึ่งเป็นฝั่งที่ทางเดินไม่ได้รับการพัฒนา ต้องลุ้นเอาเอง แต่ก็ยังคงความสะอาดสะอ้านไม่มีขยะ ลักษณะป่าริมคลองเป็นป่าดิบชื้นซึ่งหาเดินได้ยากแล้วสมัยนี้ ยิ่งใกล้ๆกรุงเทพนี้ป่าดิบชื้นอย่างอุดมสมบูรณ์ดูจะมีแต่ที่มวกเหล็กแห่งเดียว ที่เขาใหญ่ก็เหลือน้อยแล้วเพราะธารน้ำแห้งลงๆ เราเดินชมต้นไม้นานาพันธ์ไป แสงแดดยามเช้าสองลงมาจากหลังใบไม้ ให้สีเขียวที่มีชีวิตชีวิตกว่าธรรมดา อากาศช่างปลอดโปร่งและเย็นสบาย หายใจได้เต็มปอด พูดถึงหายใจเต็มปอด พักนี้คนชอบถามผมว่า

     "หมออยู่สระบุรีหายใจได้หรือครับ เพราะผมดูในเว็บเห็นฝุนพีเอ็มเพียบ" ผมถามว่า

     "เขาวัดตรงไหนของสระบุรีละครับ" ก็ได้รับคำตอบว่า

     "หน้าพระลาน" 
พาโรนามา ที่หน้าน้ำตกสาวน้อย 2

     ผมนึกในใจว่าปั๊ดโธ่ นั่นมันหน้าโรงโม่หินนะคุณ ช่างเข้าใจเลือกตำแหน่งที่ตั้งเครื่องวัดฝุ่นจริงๆนะ

     เราค่อยๆเดินลงเขาตามหลัง She ไป ตอนแรกผมนึกว่าน้ำตกสาวน้อย1 อยู่ต่ำสุด แล้วสาวน้อย 7 คงจะอยู่สูงสุด แต่ของจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ สาวน้อย 1 อยู่สูงสุด แล้วค่อยๆเดินลงไปหาสาวน้อยอื่นๆตามลำดับ เราเดินมาถึงสาวน้อยสอง ซึ่งมีวิวพาโนรามาหน้าน้ำตกขนาดเตี้ย น้ำตกที่อยู่ในคลองมวกเหล็กนี้แม้จะเตี้ยเหมือนกันหมด แต่ก็ไม่เคยขาดน้ำนะ บางปีที่แล้งน้ำบรรดาน้ำตกในเขาใหญ่แห้งเหือดกันไปหมด แต่น้ำตกในคลองมวกเหล็กไม่เคยแล้ง เพราะคลองมวกเหล็กเป็นแหล่งรวมน้ำจากพื้นที่อันกว้างใหญ่ของเขาใหญ่ ทั้งไหลมาตามผิวดิน และที่มุดใต้ดินขึ้นมา "ผุด" ขึ้นที่มวกเหล็ก พูดถึงน้ำผุดซึ่งเป็นเอกลักษณ์อันวิเศษที่มีแต่ที่มวกเหล็กเท่านั้นมันเป็นตาน้ำที่น้ำไหลออกมาจากโพรงหินระดับต่ำกว่าผิวน้ำในคลองใสแจ๋วผุดขึ้นมาปุดๆๆๆจากปากรูหินขนาดกว้างประมาณหนึ่งฟุต น้ำไหลแรงพลุ่งพล่านน่ารัก คนท้องถิ่นลงไปว่ายเล่นกันเป็นที่สนุกสนานทุกวัน แต่เมื่อวานนี้ผมขับรถจะแวะไปชื่นชมน้ำผุดเสียหน่อยหลังจากไม่ได้เห็นกันหลายปี พอไปถึงปรากฎว่า แถ่น..แทน..แท้น

     น้ำผุดหาย อ้าว หายไปไหนละ ยัง ยังไม่หายไปไหน แต่ว่าถูกบาทา เอ๊ย..ไม่ใช่ฐานรากอันมหึมาของทางด่วนบางปะอินโคราชที่กำลังก่อสร้างกันอย่างขมีขมัน บาทายักษ์นั้นปักฉึกลงต้นทางที่น้ำผุดออกมาพอดี๊ พอดี เมื่อยืนอยู่ตรงน้ำผุดเงยหน้าขึ้นมอง อ้า ฮ้า ทางด่วนขนาดมหึมาอยู่เหนือศีรษะเป๊ะ ไม่มีแล้วต้นไม้ใหญ่ๆเขียวขจีรอบๆน้ำผุดที่เคยเห็น เห็นแต่หมู่แค้มป์ก่อสร้างคนงาน มองไปทางฟาร์มโคนมไทยเดนมาร์คที่เคยเป็นทุ่งข้าวโพดสีเขียวเดี๋ยวนี้กลายเป็นทางด่วนมหึมาห้อโครมๆลงมาจากภูเขาแบบไม่เหลือความโรแมนติกใดๆทั้งสิ้น น้ำที่ผุดออกมาก็ไม่ใสเสียแล้ว กลายเป็นน้ำขุ่นสีขาว ก็จะไม่ขุ่นได้ไงละครับ เพราะปั้นจั่นขนาดยักษ์กำลังเจาะรูฐานรากอยู่ครืดคราด ครีดคราดๆ..อามิตตาพุทธ สำหรับเยาวชนคนรุ่นหลังที่เกิดมาไม่เคยเห็นน้ำผุดมวกเหล็ก คงหมดโอกาสได้เห็นเสียแล้ว และก็คงไม่มีใครบันทึกเรื่องน้ำผุดมวกเหล็กไว้ ขอให้เยาวชนที่สนใจทั้งหลายอ่านคำบรรยายในบล็อกนี้แทนก็แล้วกัน หิ หิ
หลุมฝังศพของราเบค ที่ใต้ต้นโพธ์ยักษ์ ซึ่งบัดนี้หายจ้อยไปแล้ว

    พอเห็นชะตากรรมของน้ำผุดผมก็สังหรณ์ใจเป็นห่วงหลุมฝังศพของราเบคที่ซุ่มอยู่อย่างคลาสสิกที่ใต้ต้นโพธ์ขนาดใหญ่หน้าสถานีรถไฟมวกเหล็กขึ้นมาครามครัน ที่เป็นห่วงเพราะเขากำลังก่อสร้างอีกมหึมาโปรเจ็คหนึ่งที่นั่น คือทางรถไฟอะไรบ้างก็ไม่รู้ทั้งรางคู่ทั้งหัวกระสุนไม่รู้อะไรเป็นอะไรรู้แต่ว่าลอยฟ้ามาสูงขนาดตึกสิบชั้นได้ จึงรีบขับรถไปดูที่สถานีรถไฟมวกเหล็ก แล้วสังหรณ์ก็เป็นจริง ต้นโพธ์ยักษ์หายไปไหนเสียแล้ว มีต้นไม้ยักษ์ทำด้วยเหล็กสูงใหญ่หมุนไปหมุนมาได้ราวสิบต้นมาแทน ผมหมายถึงปั้นจั่นนะครับ แหะ แหะ แล้วหลุมฝั่งศพราเบคไปไหนเสียละ เดินหาอยู่ตั้งนานจึงไปพบแอ้งแม้งอยู่กับกองเศษปูนปรักหักพังใต้ทางรถไฟลอยฟ้าพอดี หินหลุมศพยังเหลือเค้าพอให้อ่านป้ายได้ แต่ไม้กางเขนนั้นเข้าใจว่าถูกเลาะเอาไปขายเป็นของเก่าเสียแล้ว คนงานก่อสร้างอุตส่าห์ใจดีเอาเหล็กขี้สนิมมาอ๊อคทำเป็นไม้กางเขนรุ่นเส็งเคร็งแทนไว้ให้ พุทธัง ธัมมัง สังคัง อะไรมันจะคัน เอ๊ย..ไม่ใช่ อะไรมันจะน่าเสียดายอย่างนี้ บรรทัดนี้หมอสันต์ต้องขอไว้อาลัยแก่คะนุท ราเบค วิศวกรช่างสำรวจชาวเดนมาร์คผู้มีจิตวิญญาณของการสำรวจและสร้างสรรค์ เขาเอาชีวิตมาทิ้งที่นี่เพื่อสร้างทางรถไฟสายแรกของเมืองไทยในสมัยร.5 แต่ว่าไข้ป่าแห่งดงพญาเย็นได้จบชีวิตของเขาที่นี่ และเขาก็นอนอยู่ตรงนี้มาร้อยกว่าปี คนรุ่นหลังได้เรียนรู้วีรกรรมของเขาจากหินหน้าหลุมศพนี้ แต่ต่อแต่นี้ไปคงจะไม่มีใครรู้จักเขาอีกแล้ว และเพื่อประกอบคำไว้อาลัยนี้ ผมขอเอารูปถ่ายหลุมศพของเขาตอนที่ยังดีๆอยู่มาลงให้ดูเป็นครั้งสุดท้าย
ยืมขนาดจิ๋วของคนเป็นไม้บรรทัดวัดยางนา

     กลับมาเดินชมเจ็ดสาวน้อยของเราต่อดีกว่า เราผ่านสาวน้อยที่สาม ที่สี ซึ่งน่าจะเป็นน้ำตกที่สูงที่สุด แล้วก็สาวน้อยที่ 5, 6, 7 แล้วเดินขึ้นไปบนเนินชมวิว เดินลงเนินข้ามสะพานกลับมาทางฝั่งมวกเหล็ก เห็นต้นยางนาขนาดยักษ์ต้นหนึ่งผมชอบใจจึงขอยืมขนาดจิ๋วของหมอสมวงศ์เป็นไม้บรรทัดเปรียบเทียบความใหญ่ของต้นยางนาแถบริมคลองมวกเหล็ก เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจว่าทำไมหมอสันต์จึงเจาะจงปลูกยางนาที่ป่าหลังบ้านนกฮูก

    จากนั้นเราก็เดินกลับมาตามเส้นทางอีกฝั่งหนึ่งของคลอง She ยังตามมาส่ง หมอสมวงศ์บอกผมว่าที่รถมีขนมปังโฮลวีทอยู่จะเอาให้ She สักหน่อย ผมนึกในใจว่าหมาที่ไหนจะกินขนมปังมังสะวิรัติ แต่ก็ไม่ได้พูดอะไร ดูเหมือน She จะได้ยินผมคิด และคงเห็นด้วยว่าใช่ค่ะ ใช่ค่ะ หมาที่ไหนจะเป็นมังสะวิรัติกันละคะ ดังนี้พอเรามาถึงรถหมอสมวงศ์เหลียวหา She เธอหายแว้บไปไหนเสียแล้วก็ไม่รู้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

16 กุมภาพันธ์ 2562

นั่งสมาธิแล้วเกิดเรื่องราวที่เจ็บปวด

 สวัสดีค่ะอ.หมอสันต์ที่นับถือ
ขอปรึกษาเรื่อง การนั่งสมาธิแล้วเรื่องราวต่างๆในอดีตที่เจ็บปวดต่างๆผุดขึ้นมา ทำให้ต้องร้องไห้ เสียใจแทนที่จะเป็นความสงบสุข ส่วนใหญ่เป็นการถูกกระทำ เช่น ถูกพวกพี่ๆด่าตะคอก พ่อแม่ทะเลาะกันถึงกับลงไม้ลงมือ บางทีถึงกับจะอุ้มแม่โยนลงหน้าต่างคอนโด เพื่อนๆไม่ค่อยคบด้วย เรียนหนังสือไม่เก่งทำให้แม่ไม่ปลื้ม คล้ายกับเป็นปมด้อย แม้ว่าตอนนี้ทุกอย่างลงตัว มีครอบครัวอบอุ่น อาชีพการงานดี เวลาส่วนใหญ่จะอยู่กับครอบครัว และตระเวณเข้ากลุ่มนั่งสมาธิ...แม้ไม่ได้คิดถึงเรื่องราวที่เจ็บปวดในอดีตแล้ว แต่มันเหมือนผ่านเข้ามาเองในจิตใต้สำนึก ฟังดูเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเก็บมาคิด แต่เราไม่ได้ติดแล้ว มักเกิดขึ้นเมื่อทำdynamic meditation เช่น shaking meditation  เคยมีคนบอกให้แผ่เมตตา หรือให้อภัย หรือขอโทษต่อเจ้ากรรมนายเวร พ่อแม่พี่น้องที่กระทำกับเรา แต่ก็ยังมีความเศร้า เสียใจเกิดขึ้นระหว่างทำสมาธิ จะแก้ไขอย่างไรดีคะ
ขอบคุณค่ะ

........................................................

ตอบครับ

     ฟังตามเรื่องที่เล่า คุณประสบความสำเร็จในการฝึกสมาธิในระดับที่ย้ายความสนใจจากสิ่งภายนอกมาจดจ่ออยู่กับอะไรสักอย่างเช่นลมหายใจหรือคำบริกรรมได้แล้ว แต่พอหลุดออกจากสมาธินั้นมาได้นิดเดียว ความคิดในรูปของความจำเก่าๆก็ผุดขึ้นมา แล้วคุณก็เผลอไปคิดต่อยอดจนต้องร้องห่มร้องไห้ นั่นประเด็นหนึ่ง

     มีผู้หวังดีสอนให้คุณแผ่เมตตา ขอโทษ ให้อภัย แต่คุณลองคิดอย่างนั้นแล้วมันก็ยังไม่เวอร์คอยู่ดี นั่นเป็นประเด็นที่สอง

     ผมจะตอบคุณทีละประเด็นนะ

     ประเด็นที่ 1. จะวางความคิดเจ้าประจำที่ผุดขึ้นมาให้หายต๋อมไปอย่างถาวรได้อย่างไร ตอบว่า สำหรับผู้ที่ได้ฝึกสมาธิมาดีระดับหนึ่งแล้วอย่างคุณนี้ สามารถทำได้โดยใช้สองยุทธวิธีควบกัน คือ

     ยุทธวิธีที่ 1. ให้คุณหัดแยกให้ออกว่าตัวคุณ(ความรู้ตัว) กับความคิด เป็นคนละอันกัน นั่นความคิดกำลังผุดขึ้นมาและกำลังขยายตัวออกไป  นี่คือคุณซึ่งเป็นความรู้ตัว กำลังเฝ้าสังเกตมองความคิดนั้นอยู่ คุณเป็นผู้สังเกต (the observer) ความคิดเป็นสิ่งที่ถูกสังเกต (the observed) ฝึกตรงนี้ให้ได้ก่อน เอาตรงนี้ให้ได้ก่อน ตรงนี้เป็นเบสิก ทุกครั้งที่มีความคิดเกิดขึ้น ไม่ว่าตอนนั่งสมาธิหรือนั่งรถเมล์ก็ฝึกได้ทั้งนั้น เมื่อความคิดเกิดขึ้น

     "นั่นความคิดนะ..ไม่ใช่เรา" 

     "นี่เรานะ..ไม่ใช่ความคิด"

      ถ้าตรงนี้ไม่ได้ก็ไม่ต้องไปนั่งสมาธิให้ปวดหัวคิ้ว เพราะถ้าคุณถอยออกมาสังเกตความคิดของคุณไม่ได้ ก็แปลว่าคุณอยู่ในความคิด หรือคุณนั่นแหละเป็นความคิด แล้วคุณจะไปวางความคิดได้อย่างไร

     ยุทธวิธีที่ 2. ให้คุณทำความเข้าใจกับกลไกการเกิดความคิดต่อยอด แล้วฉวยลงมือทำการเสียตั้งแต่ความคิดต่อยอดยังไม่ทันได้เกิด

     กลไกการเกิดความคิดต่อยอด หรือความคิดปรุงแต่ง พระพุทธเจ้าได้อธิบายกลไกนี้โดยใช้ตรรกะพื้นฐานที่ว่า..เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น จึงมีสิ่งนี้เกิดขึ้นตามมา กลไกการเกิดความคิดปรุงแต่งที่ท่านสอนไว้ ผมขอย่นย่อให้ง่ายต่อการเข้าใจว่ามันมีสี่ขั้นตอนใหญ่ๆ คือ

     ขั้นที่ 1. สิ่งเร้าจากภายนอกซึ่งผ่านอายตนะ (sense organs) เข้ามา จะถูกนำไปเช็คกับความจำเก่าๆที่เกี่ยวข้องกัน แล้วประมวลออกมาเป็นชื่อหรือรูปภาพ ซึ่งเป็นภาษาที่เรารู้จักและเข้าใจขึ้นในใจ นี่เป็นขั้นตอนการแปลงคลื่นความสั่นสะเทือน (สิ่งเร้า)ซึ่งเป็นภาษาธรรมชาติ ให้เป็นภาษาพูดหรือภาษาเขียนของมนุษย์ มันเกิดขึ้นเร็วแบบสายฟ้าแลบ สิ่งเร้านี้นับรวมทั้งความจำเก่าๆที่ผุดขึ้นมาเองในใจด้วย

     ขั้นที่ 2. ภาษาที่ใจตีความได้และเข้าใจความหมายระดับหนึ่งแล้วนี้จะตกกระทบ (contact) บนร่างกาย ปั้ง..ง

     ขั้นที่ 3. การตกกระทบครั้งนี้จะก่อให้เกิดความรู้สึก (feeling) ขึ้นทั้งบนร่างกายและทั้งในใจ ความรู้สึกบนร่างกายก็เช่นแน่นหน้าอก หายใจขัด ใจสั่น ใจเต้นรัว กล้ามเนื้อเกร็งปวด หรือเย็นสบายวาบหวิวสุดแล้วแต่ภาษาจะตีความว่าสิ่งเร้านั้นเป็นอะไร ส่วนความรู้สึกในใจก็เช่นชอบหรือไม่ชอบ อึดอัดหรือโปร่งโล่ง

     ขั้นที่ 4. ความรู้สึกหรือ feeling นี่แหละ จะไปเหนี่ยวนำให้เกิดความคิดต่อยอด หากเป็นฟีลลิ่งที่ชอบก็คิดอยากได้อยากหามาไว้ครอบครอง หากเป็นฟีลลิ่งที่ไม่ชอบก็อยากหนีไปให้พ้นๆ ความอยากได้หรืออยากหนีนี่คือความคิดต่อยอดหรือความคิดปรุงแต่งที่ทำให้คุณเป็นทุกข์

     พิเคราะห์กลไกการเกิดความคิดต่อยอดนี้จะเห็นว่ามีตัวการอย่างน้อยห้าตัวคือ (1) สิ่งเร้า (2) อยาตนะที่รับสิ่งเร้า (3) ภาษา (ตัวแสบที่สุด) (4) ความจำ  (5) ฟีลลิ่งหรือความรู้สึก ถ้าขาดตัวใดตัวหนึ่งไป ความคิดต่อยอดก็จะเกิดขึ้นไม่ได้
   
     พระพุทธเจ้าสอนว่าเมื่อเกิดความรู้สึกหรือฟีลลิ่งขึ้นบนร่างกายหรือใจแล้ว ให้รีบถอยออกมาสังเกตดูฟีลลิ่งนั้น สังเกตอยู่เฉยๆงั้นแหละ เมื่อมันเกิดฟิลลิ่งจนสะใจแล้ว มันก็จะดับ นี่เป็นธรรมชาติของฟีลลิ่งใดๆ ถ้าเฝ้าสังเกตอยู่ตั้งแต่มันเกิดจนมันดับ มันก็จบแค่นั้น จะไม่มีอะไรไปเหนี่ยวนำให้เกิดความคิดต่อยอดอีก

    แต่ถ้าไม่ได้ถอยออกมาสังเกตดูฟีลลิ่ง ฟีลลิ่งนี้มันจะเหนี่ยวนำให้เกิดความคิดต่อยอดขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะมันเคยของมันอย่างนั้น คราวนี้จากความคิดหนึ่ง ก็จะมีอีกความคิดหนึ่งมาต่อยอด ต่อๆๆกันไปไม่รู้จบจนคุณต้องนั่งร้องไห้

     ดังนั้นการรู้จักสังเกตดูอาการบนร่างกายก็ดี ความรู้สึกในใจก็ดี เสียตั้งแต่ก่อนที่ความคิดต่อยอดจะเกิดขึ้น เป็นสุดยอดวิชา ย้ำ..สุดยอดวิชา ของการที่คนเราจะปลดแอกตัวเองจากความจำสั่วๆหรือจากกรรมเก่าของตัวเราเอง

     ประเด็นที่ 2. ทำไมแผ่เมตตาก็แล้ว แต่ความคิดลบไม่ยอมหายไป ตอบว่าเป็นเพราะคุณเข้าใจผิดว่าแผ่การแผ่เมตตานี้คือการคิดเอา แบบว่านั่งคิดหรือพูดพึมพัมๆว่าส้ตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขๆเถิด ฮี่ ฮี่ ความคิดมันจะไปดับความคิดด้วยกันได้อย่างไร มีแต่จะกระทุ้งความคิดให้กระพือยิ่งขึ้น สิ่งที่เรียกว่าเมตตาธรรมหรือ grace นี้มันไม่ใช่ความคิด มันเป็นพลังงานพื้นฐานของจักรวาลนี้เปรียบเหมือนแสงสว่างซึ่งปรากฎอยู่ทั่วไปในเวลากลางวันและทำให้สรรพชีวิตดำรงอยู่ได้ หากคุณปิดหน้าต่างประตูปิดม่านหมด บ้านคุณก็จะมืด ไม่ได้รับแสงสว่างจากภายนอก แต่ถ้าคุณเปิดหน้าต่าง แสงสว่างจากภายนอกก็จะเข้ามาส่องให้บ้านสว่างได้ การเปิดหน้าต่างหมายถึงการไว้วางใจ (trust) สิ่งต่างที่ไม่ใช่ตัวตนที่คุณสมมุติขึ้นว่าเป็นคุณ หมายความว่าคุณยอมรับการเชื่อมโยงระหว่างคุณกับสิ่งภายนอกตัวคุณ ยอมรับว่าคุณกับคนอื่นชีวิตอื่นแท้จริงแล้วก็เป็นอันเดียวกันแชร์แสงสว่างเดียวกัน พูดอีกอย่างว่าการเปิดหน้าต่างเหมือนการยอมรับ (acceptance) ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่เป็นอยู่โดยไม่รังเกียจเดียดฉันท์ ดังนั้น trust หรือ acceptance นี่แหละคือการแผ่เมตตา มันเป็นกลไกตรงๆที่สุดที่จะทำลายตัวตนสมมุติของคุณซึ่งเป็นต้นเหตุของความคิดกลัว โศกเศร้าเสียใจ ฯลฯ ได้อย่างชงัด ขอให้คุณเข้าใจมันและใช้มันให้เป็นเท่านั้น

     ผมทำได้แค่การสื่อสารคอนเซ็พท์ก้บคุณ ให้คุณเอาคอนเซ็พท์ไปทดลองใช้ในชีวิต ใช้แล้วหากมันติดขัดตีบตันหรือไม่เวอร์ค นั่นอาจจะเป็นเพราะคุณขาดทักษะ ให้คุณลองมาหัดมีประสบการณ์กับความจริงดู โดยหาเวลามาเข้า Spiritual Retreat

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

15 กุมภาพันธ์ 2562

ปัญหาของแพทย์ใช้ทุนปี 3 กับการเลือกแนวทางชีวิต

ผมชื่อ นพ. ... ตอนนี้เป็นแพทย์ใช้ทุนปีที่ 3 อยู่ โรงพยาบาลชุมชน ... จังหวัด ... และยังได้รับหน้าที่อันยิ่งใหญ่คือ เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2561 ครับ ผมเป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิด บิดาเป็นวิศวกร มารดาเป็นนักบัญชี เป็นธรรมดาที่เมื่อใช้ทุนครบ เพื่อนๆแทบจะทุกคนก็จะวิ่งหาที่เรียนไม่หวาดไม่ไหว ผมเองพอเพื่อนไปเรียนต่อก็รู้สึกไม่ stable รู้สึกว่าเราต้องไปเรียนเหมือนกัน ประกอบกับการทำงานเป็นผู้อำนวยการภาระและความรับผิดชอบมาก ยิ่งเราเป็นเด็กยิ่งทำให้คิดว่าเราไม่เหมาะกับที่นี่ เราไม่ใช่คนที่นี่ (ตอนนั้นคติไม่ดี) อีกอย่างคือคิดว่าการอยู่ รพช. เป็น ผอ. ที่เป็น GP จะทำให้เราพบกับทางตัน
ช่วงมิถุนายน-กรกฎาคม มีทุนของสถาบันการแพทย์ ... รพ. ... ทำให้ผมคิดว่าจะเอาทุนที่นี่ เนื่องจากใกล้บ้าน แล้วสาขาที่ผมสมัครคือ ศัลยศาสตร์ เพราะตอนนั้นคิดว่า
- เป็นสาขาที่ดูเป็นเฉพาะทางจริงๆ มีความต้องการสูง
- ได้ดูแลคนไข้ครบวงจร
- เป็นที่ยอมรับ หากในอนาคตได้ขึ้นทำบริหารก็จะมีโอกาสมากขึ้น
แต่หลังจากนั้นผมได้ไปอบรมที่อุบลราชธานี เกี่ยวกับการบริหารสาธารณสุข ได้เปิดวิสัยทัศน์ให้กว้างขึ้น ได้เห็นมุมมองใหม่ๆในการทำงาน เจอ ผอ.ที่เค้ามีที่ไปต่อในอนาคต ทำให้รู้สึกว่าจริงๆแล้วที่เรามองมันแคบมาก จนตอนนี้ผมสับสนมากเหลือเกินว่าควรเดินทางต่อไปทางไหนดี
ทางเลือกที่ 1 ; เดินทางต่อในสายเฉพาะทาง จบแล้วมาอยู่โรงเรียนแพทย์
  ข้อดี - พ่อแม่สบายใจ ได้อยู่ในสถานที่ที่ดี รายได้ดี ไม่ต้องทำงานจับฉ่ายทั่วๆไป
  ข้อเสีย  -  เรียนศัลยกรรมใช้เวลาทุ่มเทมาก เวลาที่จะใช้กับครอบครัวก็จะน้อยลง (ถ้าเทียบกับ รพช. เสาร์อาทิตย์กลับบ้านได้เลย) อาจจะไม่ได้ทำในสิ่งที่ชอบอีกหลายๆอย่าง เช่น ท่องเที่ยว เดินทาง ถ่ายรูป
ทางเลือกที่ 2 ; ใช้ทุนต่อปีที่ 4 แล้วค่อยหาสาขาที่เรียนแบบไม่หนักมาก พอมีเวลาว่าง
  ข้อดี - ได้ใช้เวลาเพิ่มอีกซักปี เพื่อตัดสินใจในอนาคต
  ข้อเสีย - เสียเวลาเพิ่มอีก 1 ปี โอกาสที่จะได้กลับบ้านน้อยลง เพราะถ้าอยู่ต่อคงต้องขอทุนสาธารณสุข ซึ่งเน้นแต่ต่างจังหวัด
ทางเลือกที่ 3 ; ใช้ทุนต่อปีที่ 4 เดินคู่สายบริหาร
  ข้อดี - สามารถเปลี่ยนแปลงองค์กรได้ดี ได้บริหารจัดการสิ่งต่างๆ แล้วหาเวลาไปศึกษาเกี่ยวกับการบริหารเพิ่มเติม ระบาดวิทยา เวชศาสตร์ชุมชน  มีเวลาว่างที่จะไปทำสิ่งอื่นๆเพื่อเติมเต็มชีวิต
  ข้อเสีย - รายได้ไม่ดีเท่าเรียนเฉพาะทางอยู่ในกรุงเทพ อยู่ห่างไกลบ้านที่กรุงเทพ เสียโอกาสในการรับทุนโรงเรียนแพทย์ เพราะ discredit ตัวเอง พ่อแม่ยังไม่ค่อยเข้าใจบริบทของการทำงานอยู่ต่างจังหวัด และตัวผมเองก็ยังกังวลว่าในอนาคตจะเป็นยังไง เป็นปัญหาที่ผมลองพิจารณาแล้วคิดไม่ค่อยตกครับ

อยากได้คำแนะนำจากอาจารย์ ในมุมมองที่กว้างขึ้นว่าถ้าการอยู่ รพช. จะทำให้เรามีช่องทางที่ไปต่อมั๊ย มันจะตันมั๊ย หรือผมควรเลือกไปเรียนเฉพาะทาง ไม่ได้เรียนเลยก็รอหาที่เรียนอีกที
ขอบคุณครับ

ตอบครับ

     ต้องขอโทษด้วยที่ทิ้งจดหมายของคุณหมอไว้นานมาก แต่ในที่สุดก็หยิบมาตอบให้เผื่อหมอรุ่นราวคราวเดียวกันที่มีปัญหาคล้ายกันจะใช้ประโยชน์ได้  ปกติผมจะตอบจดหมายหมอรุ่นใหม่เป็นไพรออริตี้เสมอ มีสาระไม่มีสาระก็จะพยายามตอบ เพราะสมัยตัวเองเป็นหมอหนุ่มๆอึดอัดขัดข้องอะไรไม่รู้จะหันไปหาใคร เมื่อตัวเองกลายมาเป็นหมอแก่ก็เลยตั้งใจว่าหมอหนุ่มๆสาวๆอยากรู้อะไรเกี่ยวกับอาชีพนี้ถามอะไรมาผมจะตอบให้หมดเปลือก

     ประเด็นที่ 1. การเกิดความรู้สึกว่าชีวิตตัวเองไม่เสถียร เมื่อเพื่อนๆเขาพากันกลับไปเรียนต่อ อันนี้ผมเข้าใจ แต่ผมอยากจะชี้ให้คุณหมอมองให้ลึกไปอีกนิดหนึ่ง ใครกันนะ..ที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เสถียร ก่อนที่เราจะคุยกันต่อ ผมขอเล่านอกเรื่องเพื่อประกอบหน่อยนะ ทุกวันนี้ผมทำศูนย์เวลเนสวีแคร์อยู่ที่มวกเหล็ก มีลูกน้องอยู่ราวสิบกว่าคน ในจำนวนนี้ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นน้องๆระดับคนงานเงินเดือนประมาณหมื่นกว่าสองหมื่นกว่า ทุกคนขับมอเตอร์ไซค์มาทำงาน ชีวิตก็ดำเนินมาด้วยดี จนวันหนึ่งมีคนงานคนหนึ่งซื้อรถยนต์ คนงานคนอื่นก็เกิดอาการ "ไม่เสถียร" ขึ้นมาทันที ภายในเดือนสองเดือนหลังจากนั้นมีคนงานซื้อรถยนต์ตามกันมาอีกสี่คน กลไกมันเหมือนกับที่คุณหมอรู้สึกไม่เสถียรเมื่อเพื่อนๆเขาได้ไปเรียนต่อนั่นแหละ ประเด็นคือ

     "ใครกันนะ..ที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เสถียร"

     ใครกันนะที่เป็นผู้ส่งเราเข้าประกวดเปรียบเทียบกับเพื่อนๆแล้วบอกเราว่าเฮ้ย เขาไปกันแล้วนะ เราจะตามเขาไม่แล้วทันนะ

     ชีวิตคนเราประกอบด้วยสามส่วนคือ ร่างกาย ความคิด และความรู้ตัว ความคิดเป็นผู้ผูกโยงร่างกายเข้ากับเรื่องราวอันเกิดจากประสบการณ์ในอดีตเพื่อฟอร์มคอนเซ็พท์ว่า "ฉันเป็นบุคคล" ขึ้นมา มีชื่อ มีปริญญา มีตำแหน่งหน้าที่ มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี มีศีลธรรมประจำใจ มีสังกัด อันได้แก่ครอบครัว ก๊วนเพื่อน ราชการ มหาลัย ศาสนา และประเทศ นี่คือ identity หรือสำนึกว่าเราเป็น someone สำนึกว่าเราเป็นบุคคล นี่คือความเป็นเราในส่วนนอก

     ส่วนความเป็นเราในส่วนในนั้นคือความรู้ตัวหรือจิตเดิมแท้ที่เป็นผู้สังเกตความเป็นไปของร่างกายนี้และความคิดต่างๆที่เกิดขึ้นถักทอผูกโยงกับร่างกายนี้โดยไม่ได้มีส่วนได้เสียหรือมีเอี่ยวอะไรด้วยทั้งสิ้น แค่เป็นผู้สังเกตรับรู้เฉยๆ

     ผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เสถียรนั้นคือ identity หรือเราที่ส่วนนอกนะ ส่วนเราที่ส่วนในซึ่งเป็นความรู้ตัวนั้นแค่รับรู้ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่นิ่งๆ

     แล้วชีวิตเราจะพล่านหรือจะนิ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะปล่อยให้ความสนใจของเราไปเข้าด้วยกับ "เราตัวนอก" หรือ "เราตัวใน" ถ้าเราไปเข้าด้วยกับเราตัวนอก ไป identify กับความเป็นบุคคลของเราซึ่งเป็นเพียงความคิด ชีวิตเราก็จะพล่านไปจนตาย ต้องวิ่งตามคนอื่นไปเหมือนวัววิ่งตามกันไปเป็นฝูงโดยไม่รู้ว่าไปไหนกัน เพราะ identity นั้นมันเป็นความคิด มันจะนิ่งได้เสียที่ไหนละ มันต้องกุคอนเซ็พท์สมมุติเรื่องโน่นนี่นั่นขึ้นมาเปรียบเทียบแข่งขันชิงรักหักสวาทกันและกันตลอดเวลาเพราะเราถูกสอนให้คิดอย่างนั้นมาแต่อ้อนแต่ออดเราก็ต้องคิดอย่างนั้นต่อไป แต่ถ้าเราเอาความสนใจไปเข้าด้วยกับเราตัวในเราก็จะสงบเย็น เพราะความรู้ตัวนั้นมีธรรมชาติว่าเป็นความสามารถสังเกตรับรู้ที่ตื่นตัวและสงบเย็นโดยไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวดองใดๆทั้งสิ้นกับ identity

     การจะดับความพล่านหรือความไม่เสถียรนี้จึงไม่ใช้ด้วยการพยายามใช้ดุลพินิจคิดไตร่ตรองว่าจะวิ่งตามเพื่อนเขาไปเรียนต่อดีหรือไม่ แต่ด้วยการถอยความสนใจออกมาจากความคิดมาอยู่กับความรู้ตัว ความสงบเย็นที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้น เมื่อสงัดจากความคิดทั้งหลายได้แล้ว ปัญญาญาณจากส่วนลึกของเราจะส่องสว่างชี้ทางให้เราเองว่าทางเลือกทางไหนดีที่สุด

     ประเด็นที่ 2. ทางชีวิตบางเส้นทางมันจะ "ตัน" ไหม คอนเซ็พท์ตันนี่มันต่อยอดบนคอนเซ็พท์เรื่องเวลานะ ต่อยอดบนความเชื่อที่ว่าเวลาในใจเป็นของจริง เพราะถ้าคุณไม่เชื่อว่าเวลาในใจเป็นของจริง ความ "ตัน" หรือความ "โล่ง" ก็ไม่มี เพราะตันหรือโล่งเป็นคำบอกสถานะการณ์ที่คุณสมมุติว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ผมแก่พอที่จะบอกคุณหมอได้อย่างมั่นใจว่าอนาคตในใจเรานั้น มันไม่มีอยู่จริงดอก ชีวิตมีอยู่แค่ที่นี่เดี๋ยวนี้เท่านั้น แล้วที่นี่ เดี๋ยวนี้มันตันหรือเปล่าละ มันไม่ตัน เพราะไม่มีใครมาบีบคอหอยคุณให้หายใจไม่ออก ในการใช้ชีวิต อย่าไปห่วงว่าไปทางนี้จะตีบ ไปทางนั้นจะตัน อย่าไปห่วงทั้งสิ้น ให้ใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ที่นี่เดี๋ยวนี้ ทำตรงนี้ให้ดี ทีละช็อต ทีละช็อต เดี๋ยวทางเลือกมันจะโผล่มาเอง มันจะโผล่ที่เดี๋ยวนี้นี่แหละ และหากคุณยังอยู่ที่เดี๋ยวนี้ คุณก็จะเลือกได้สิ่งดีๆ แต่หากคุณหนีเดี๋ยวนี้ไปอยู่กับความคิดเรื่องตีบเรื่องตันเสียที่ในอนาคต ความจำเรื่องสั่วๆจากอดีตของคุณนั่นแหละจะเลือกอนาคตให้คุณเองอย่างอัตโนม้ติ เพราะความคิดใหม่ๆของคนเราชงมาจากความจำเก่าๆทั้งสิ้น มันเกิดจากการเอาความจำมาคลุกกับความเชื่อเรื่องเวลา แล้วความจำในอดีตของเรามันมีเรื่องดีซะที่ไหนละ หมายความว่าถ้าคุณคิดถึงแต่อนาคตโดยลืมที่นี่เดี๋ยวนี้ไป สิ่งเลวๆในอดีตนั่นแหละจะมาเป็นอนาคตของคุณ พูดอย่างนี้คุณอาจจะงงว่าผมหมายความว่าอย่างไร ช่างมันเถอะ ถ้างงก็ช่างมันเถอะ ผ่านไปก่อน มันไม่สำคัญเร่งด่วนนักหรอก

     ประเด็นที่ 3. การเป็นหมอสาขาไหนรายได้มาก สาขาไหนรายได้น้อย ในเมืองไทยไม่มีใครมีข้อมูลที่จะตอบคุณได้หรอก ถ้าเป็นฝรั่งเขาตอบได้จากบัญชีการเสียภาษีของแพทย์ แต่ของไทยแพทย์ที่เสียภาษีแยะไม่ได้หมายความว่าเป็นแพทย์ที่มีรายได้แยะกว่าแพทย์ที่เสียภาษีน้อย การดูยี่ห้อรถที่เขาขี่อาจจะพอบอกอ้อมๆได้บ้าง แต่ก็ไม่เคยมีใครทำวิจัยไว้ว่าแพทย์ไทยสาขาไหนขี่รถอะไรกัน ดังนั้นผมตอบคุณจากข้อมูลของสมาคมแพทย์อเมริกัน (AMA) ก็แล้วกันนะว่าแพทย์สาขาต่างๆมีรายได้ต่อปีเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยดังนี้

1. ศัลยกรรมพลาสติก Plastic surgery: $501,000
2. ศัลยกรรมกระดูก Orthopedics: $497,000
3. อายุรแพทย์โรคหัวใจ Cardiology: $423,000
4. อายุรแพทย์ทางเดินอาหาร Gastroenterology: $408,000
5. รังสีแพทย์ Radiology: $401,000
6. แพทย์โรคผิวหนัง Dermatology: $392,000
7. วิสัญญีแพทย์ Anesthesiology: $386,000
8. แพทย์หูคอจมูก Otolaryngology: $383,000
9. ศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ Urology: $373,000
10. แพทย์มะเร็งวิทยา Oncology: $363,000
11. จักษแพทย์ Ophthalmology: $357,000
12. แพทย์เวชบำบัดวิกฤติ Critical care: $354,000
13. แพทย์เวชบำบัดฉุกเฉิน Emergency medicine: $350,000
14. ศัลยแพทย์ทั่วไป Surgery, general: $322,000
15. อายุรแพทย์โรคทรวงอก Pulmonary medicine: $321,000
16. สูตินรีแพทย์ OB-GYN: $300,000
17. อายุรแพทย์โรคไต Nephrology: $294,000
18. พยาธิแพทย์ Pathology: $286,000
19. จิตแพทย์ Psychiatry: $273,000
20. แพทย์โรคภูมิแพ้ Allergy and immunology: $272,000
21. แพทย์เวชศาสตร์ ฟื้นฟู Physical medicine and rehabilitation: $269,000
22. แพทย์โรคข้อ Rheumatology: $257,000
23. อายุรแพทย์โรคประสาท Neurology: $244,000
24. แพทย์โรคติดเชื้อ Infectious diseases: $231,000
25. อายุรแพทย์ทั่วไป Internal medicine: $230,000
26. แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว Family medicine: $219,000
27. แพทย์โรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ Diabetes and endocrinology: $212,000
28. กุมารแพทย์ Pediatrics: $212,000
29. แพทย์เวชศาสตร์ป้องกันและสาธารณสุข Public health and preventive medicine: $199,000

     มองในแง่รายได้จากข้อมูลนี้ก็จะเห็นว่าแพทย์เวชศาสตร์ป้องกันนั้นมีรายได้รั้งท้ายเขาเพื่อน และหากตั้งใจจะรักษาคนไข้แบบแพทย์ทั่วไป (GP) ก็ยังไม่วายมีรายได้ติดหนึ่งในสี่ของสาขาที่มีรายได้ต่ำสุด คุณเห็นเข้าก็คงจะกลับไปเรียนต่อเป็นมั่นคงหากจะเอารายได้เป็นสรณะ

     แต่ผมให้ข้อมูลคุณเพิ่มเติมนิดหนึ่งในฐานะที่ผ่านชีวิตในอาชีพนี้มาก่อน ว่าการดิ้นรนแถกเหงือกพยายามจะมีรายได้มากๆเพื่อให้พอเลี้ยงลูกเมีย (surviving) นั้นผมทำมาหมดแล้วและผมสรุปว่ามันเป็นส่วนที่ทำให้เวลาในชีวิตของผมสูญเปล่ามากที่สุด ผมแนะนำคุณว่าคุณไม่ต้องห่วงว่าชีวิตนี้จะเอาตัวไม่รอดดอก แม้แต่หมาแมวมันก็ยังเอาตัวรอดได้ มันยังได้กิน ได้นอน ได้ขับถ่าย ได้สืบพันธ์เท่ากับที่คุณกับผมได้ครบถ้วนทุกประการไม่มีตกหล่น แต่หมาแมวมันไม่ต้องแถกเหงือกเลือดตากระเด็นหาเงินหาทองอย่างมนุษย์เลย คุณมัวแต่ดิ้นรนแถกเหงือกจนลืมใช้ชีวิต แล้วพอคุณจะตายคุณก็ใช้นิสัยดิ้นรนแถกเหงือกหนีความตายอีก ซึ่งคุณก็หนีไม่พ้น คือตายอยู่ดี แต่ตายอย่างทุเรศยิ่งขึ้น ตรงนี้เป็นความผิดพลาดของการใช้ชีวิตที่คุณซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ควรจะเรียนรู้จากผมซึ่งเป็นคนรุ่นเก่าที่เจนจบชีวิตมาก่อน ผมแนะนำคุณว่าเงินในบัญชีธนาคาร ถาวรวัตถุต่างๆที่สะสมไว้ได้ไม่ว่าจะเป็น บ้าน โฉนดที่ดิน หุ้น กรมธรรมประกันชีวิต และการได้ครอบครองสมบัติบ้าต่างๆ นั้นล้วนเป็นเรื่องไร้สาระและเสียเวลาเปล่าๆ คุณไม่ได้เกิดมาเพื่อตะเกียกตะกายหนีตาย แต่คุณเกิดมาเพื่อใช้ชีวิต ทิ้งความคิดที่จะเอาเวลาไปทำอะไรให้ร่ำให้รวยไปเสีย ทิ้งคำวิจารณ์หรือห่วงใยของคนอื่นรวมทั้งพ่อแม่ไปเสียด้วย นั่นเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้คุณเสียเวลาในชีวิต ให้คุณหันมาใช้ชีวิตอย่างเป็นตัวของตัวเองโดยเอาวันนี้เป็นหลัก ใช้ชีวิตแบบเบาๆ ทำเรื่องมีสาระบ้าง ไร้สาระบ้าง ยิ้มบ้าง หัวเราะบ้าง มีเวลาให้ตัวเองในแง่ของการออกกำลังกาย การพักผ่อน และการจัดการความเครียด ใช้ชีวิตแบบมองเห็นตัวเองกระโดดโลดเต้นไปตามหน้าที่แต่ว่าทิ้งระยะห่างเล็กน้อย ไม่อินมาก ด้วยความ "รู้" ว่าชีวิตมันเป็นเพียงละครที่ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน พวกเพื่อนแพทย์ด้วยกันเขาจะเก่งกาจอย่างไรหรือหาเงินหาทองได้มากอย่างไรคุณไม่ต้องไปสน เพราะนั่นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของคุณ ไม่ต้องไปเปรียบเทียบ การเปรียบเทียบจะทำให้คุณเสียความเป็นตัวของตัวเองและหลงทางตามเขาไป ให้คุณรับมือกับสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตด้วยวิธีสงบนิ่ง ปล่อยให้เหตุการณ์คลี่คลายตัวมันเองทีละช็อต ทีละช็อต ไม่ต้องไปกะเกณฑ์วางแผนอะไรมากมาย การเลี้ยงดูลูกเมียก็ทำแบบง่ายๆ simple simple อย่าไปทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก โรงเรียนต้องได้โรงเรียนนั้น รถต้องได้ยี่ห้อนี้ แม้จะตาย เพื่อนผมคนหนึ่งเป็นคนฝรั่งเศสบอกผมแบบตลกๆว่าคนฝรั่งเศสจะตายอยู่แล้วยังสั่งเสียว่า

     "ผ้าห่อศพของผม..ต้องดิออร์นะ"

     คุณอย่าไปบ้าอย่างนั้น เสียเวลาในชีวิตไปเปล่าๆ ทั้งหมดนั้นมันเป็นเพียงสิ่งสมมุติที่ไม่ใช่สาระที่แท้จริงของการใช้ชีวิต ให้คุณใช้ชีวิตไปกับเดี๋ยวนี้ ไปกับความรู้ตัวที่สงบเย็น ถ้าคุณสงบเย็นได้ ปัญญาญาณจากส่วนลึกจะโผล่มาชี้ให้คุณเห็นทุกอย่างในชีวิตตามที่มันเป็นเอง นี่คือสาระที่แท้จริงของการใช้ชีวิต เมื่อจะต้องเลือกงานก็ให้เลือกทำสิ่งที่คุณชอบ การจะเป็นหมอสาขาไหนไม่สำคัญ เพราะไม่ว่าจะทำสาขาไหน ทำอาชีพอะไรก็ล้วนเป็นเพียงแค่ "ลีลา" คือเป็นการสวมบทบาทหนึ่งในละครชีวิตเท่านั้น สาระสำคัญของอาชีพแพทย์คือการได้ใช้เมตตาธรรมช่วยเหลือผู้ป่วย ไม่ว่าเราจะเป็นหมอสาขาไหนเราก็ใช้วิชาชีพสาขานั้นช่วยคนไข้ได้ เมื่อเลือกแล้วก็ลงมือทำไปทีละช็อต ทีละช็อต อย่างสงบเย็น ไม่ต้องไปอาลัยหาอดีต ไม่ต้องไปกังวลถึงอนาคต อย่างนี้จึงจะเป็นการใช้ชีวิตที่คุ้มค่า

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

14 กุมภาพันธ์ 2562

รักษาอาการกลืนลำบากด้วยสารเพิ่มความหนืด (thickener)

คุณหมอที่เคารพ
เมื่อ 3 เม.ย.61 คุณหมอได้ตอบคำถามเกี่ยวกับอาการกลืนลำบากของหนูในบล็อกแล้ว (http://visitdrsant.blogspot.com/2018/04/blog-post_3.html ) หนูได้ไปตรวจเพิ่มเติมแล้วค่ะที่ รพ. ... ทั้งกลืนแป้งแบเรี่ยม ตรวจการทำงานของหลอดอาหาร(ใส่สายทางจมูก) และส่องกล้องทางเดินอาหาร(ทางปาก) หมอวินิจฉัยว่า หนูไม่ได้เป็น โรค Achalasia cardia ค่ะ และได้แนะนำให้หนูไปตรวจรักษาเพิ่มเติมต่อ ที่ รพ. ... แต่หนูไม่ทราบว่าจะไปเริ่มตรงไหนอีกค่ะ เพราะตรวจมาหมดแล้ว แบบนี้ถ้าพยาธิสภาพของหลอดอาหาร กระเพาะอาหารไม่ได้ผิดปกติ แล้วจะเกิดจากความผิดปกติส่วนไหนได้อีกไหมคะคุณหมอ หนูทรมานมากๆเลยค่ะ กลืนน้ำไม่ได้จะสำลักน้ำ ทำให้ดื่มน้ำน้อย กลัวเป็นโรคต่างๆตามมาอีกค่ะ

....................................................

ตอบครับ

     ตอนที่คุณเขียนมาครั้งที่แล้ว ผมให้ไปตรวจวินิจฉัยโรคพื้นๆที่พบบ่อย แต่เมื่อตรวจแล้วได้ผลว่าไม่ใช่ คราวนี้มันก็ต้องตรวจลึกลงไปอีก ก็ต้องคุยกันแบบเจาะลึกละสิครับ ท่านผู้อ่านท่านอื่นที่ไม่ชอบอะไรลึกๆให้ผ่านบทความนี้ไปเลย คุณกับผมมาคุยกันแบบเจาะลึกนะ เริ่มด้วยสรีรวิทยาหรือกลไกของการกลืนก่อน

     กลไกการกลืน

     ขั้นที่ 1. ขั้นตอนช่องปากและลำคอ (oropharyngeal stage) เริ่มด้วยการหดตัวของลิ้นและกล้ามเนื้อที่ใช้บดอาหารเพื่อคลุกเคล้าอาหารเข้ากับน้ำลายโดยอาศัยเพดานส่วนแข็ง (hard palate) เป็นเขียงทุบ จนอาหารเป็นเหมือนแป้งโดเด็กที่ไม่เหลวเป็นน้ำแต่ก็ไม่แข็งสามารถเปลี่ยนรูปร่างไปแบบไหนก็ได้เรียกว่าโบลัส (bolus) แล้วก็ขับดันให้ก้อนโบลัสนี้ออกจากปากลงไปในลำคอ (oropharynx) ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การบริหารของสมองส่วนหลัง (cerebellum) โดยส่งคำสั่งผ่านเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5, 7, 12 ใช้เวลาไม่เกินหนึ่งวิ

     ขั้นที่ 2. ขั้นตอนผ่านกล่องเสียง พอโบลัสลงไปถึงลำคอ เพดานอ่อนจะยกตัวขึ้นปิดไม่ให้อาหารวิ่งย้อนขึ้นไปทางไปจมูกไว้ พร้อมๆกับที่ฝาปิดกล่องเสียง (epiglottis) ก็จะคว่ำปิดกล่องเสียงไว้ไม่ให้อาหารเข้าไปในหลอดลม ขณะเดียวกันกล้ามเนื้อยกกล่องเสียง (suprahyoid) ยกเอากล่องเสียงขึ้นมารับการปิดฝานี้ราวกับนัดกันไว้ แล้วกล้ามเนื้อลำคอก็จะหดตัวบีบให้โบลัสวิ่งผ่านวงแหวนของกล้ามหูรูดส่วนบนของหลอดอาหาร (cricopharyngeus) จังหวะนี้กล้ามเนื้อวงแหวนก็คลายตัวเพื่อเปิดวงแหวนอ้าซ่าให้โบลัสผ่านลงหลอดอาหารไปแต่โดยดี ทั้งหมดนี้บริหารโดยทั้งสมองเล็กและสมองใหญ่ผ่านเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 และ 10 ใช้เวลาไม่เกินหนึ่งวิเช่นกัน ความมีประสิทธิภาพของระบบนี้เจ๋งระดับที่แม้คุณจะตีลังกาเอาหัวลงก็ยังสามารถกลืนอาหารและน้ำได้โดยไม่สำลัก

     ขั้นที่ 3. ขั้นตอนที่หลอดอาหาร เมื่ออาหารถูกกลืนลงลำคอไปแล้ว คำสั่งให้กลืนจากสมองจะสั่งให้กล้ามเนื้อส่วนบนของหลอดอาหาร (esophagus) บีบไล่อาหารไปหาส่วนกลางและส่วนล่าง พร้อมกันนั้นก้านสมอง (medulla) ก็จะบริหารในลักษณะปฏิกริยาสนองตอบอัตโนมัติ (reflex) ให้กล้ามเนื้อหูรูดที่ปลายล่างที่หลอดอาหาร (lower sphinctor) คลายตัวปล่อยให้อาหารผ่านลงกระเพาะอาหารไป ช่วงนี้ใช้เวลาราว 20 วิ

     การวินิจฉัยแยกโรค

     จากกลไกการกลืน มีความเป็นไปได้มากมายเหลือเกินว่าจะเป็นโรคอะไรได้บ้าง เรียกว่าการวินิจฉัยแยกโรค ผมขอนำเสนอแบบเบาะๆเฉพาะโรคที่เป็นไปได้ระดับต้นๆดังนี้

     1. กลุ่มโรคของระบบประสาทกลาง เช่น

1.1 โรค Achalasia ที่ผมไล่ให้คุณไปตรวจครั้งที่แล้ว
1.2 อัมพาต อัมพฤกษ์
1.3 กลุ่มโรคกล้ามเนื้อหดเกร็ง (Spastic motor disorders)
1.4 โรคพาร์คินสัน (Parkinson's disease)
1.5 โรคหลอดอาหารหดตัวทั้งแท่ง (diffuse esophageal spasm)
1.6 เนื้องอกบริเวณก้านสมอง
1.7 โรคกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารตอนล่างหดเกร็ง (Hypertensive lower esophageal sphincter)

2. กลุ่มโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น

2.1  โรคหลอดอาหารบีบแรงระดับลูกนัทแตก (Nutcracker esophagus) คือกล้ามเนื้อหลอดอาหารบีบตัวแรงระดับ 180 มม.ปรอท
2.2  โรคเซลประสาทขาสั่งการออกแรงเสื่อมลง (amyotrophic lateral sclerosis - ALS)
2.3 โรคหนังแข็ง (Scleroderma)
2.4 โรคสตีเฟ่นฮอว์คินส์ หิ หิ ล้อเล่น ชื่อจริงคือโรคปลอกเซลประสาทเสื่อมแบบก้าวหน้า (multiple sclerosis - MS)
2.5 โรคพันธุกรรมเซลสมองตายก่อนวัย (Huntington's disease)

3. เกิดอะไรไม่รู้มาอุดกั้นทางเดินอาหาร เช่น

3.1 หลังติดเชื้อแผลฝีหนอง
3.2 เนื้องอก
3.3 โปลิโอ (Poliomyelitis)
3.4 หลอดอาหารตีบแคบ (strictures)
3.5 ซิฟิลิส
3.6 กรดไหลย้อนหรือแผลในกระเพาะ
3.7 กลืนสิ่งแปลกปลอมลงไป เช่นขอเบ็ด เข็มหมุด
3.8 มีพังผืดอุดรูหลอดอาหาร (Schatzki's ring)
3.9 หูรูดบนไม่คลายตัว (Cricopharyngeal achalasia)

4. กลุ่มโรคของระบบประสาทส่วนปลาย

4.1 การฉายแสง
4.2 ปลายประสาทอักเสบ Peripheral neuropathy
4.3 เจอสารเคมี เช่นยาฆ่าหญ้า (กินเข้าไป)

5. กลุ่มโรคของจุดเชื่อมต่อระหว่างเส้นประสาท เช่น

5.1 โดนยาสลายฤทธิ์หรือยาเพิ่มฤทธิ์สารเชื่อมต่อปลายประสาท (เช่นยาฆ่าแมลงที่พ่นผัก)
5.2 โรคตาปรือ หิ หิ ชื่อนี้ผมตั้งให้เอง ชื่อจริงเขาชื่อ Myasthenia gravis ไม่มีชื่อภาษาไทย

6. กลุ่มโรคของกล้ามเนื้อ เช่น

6.1 กล้ามเนื้ออักเสบ (myopathies) ที่เกิดได้จากสาระพัดเหต รวมทั้งจากยาลดไขมัน
6.2 กล้ามเนื้อควบผิวหนังอักเสบ Dermatomyositis
6.3 กล้ามเนื้อหดเหี่ยว Muscular dystrophy

7. โรคหลอดเลือดตีบ

8. กลุ่มสาเหตุการถูกกดจากภายนอก

8.1 หลอดเลือดใหญ่โป่งพอง
8.2 หัวใจห้องบนซ้ายโต
8.3 หลอดเลือดผิดปกติมากด
8.4 ต่อมน้ำเหลืองโตเกินขนาดมากด
8.5 ผลจากการบาดเจ็บทรวงอกหรือจากการผ่าตัด
8.6 ต่อมไทรอยด์ย้อยลงไปกด
8.7 โรคเกิดถุงอาหารในทรวงอก (Zenker's diverticulum)
8.8 เงี่ยงกระดูกสันหลังระดับคอกด

     แหะ แหะ นี่เป็นแซมเปิ้ลของการวินิจฉัยแยกโรคของอาการกลืนลำบากอาการเดียวนะ คุณเห็นหรือยังว่าการเป็นนักเรียนแพทย์นี้มีชีวิตที่ระทมขนาดไหน พวกเขาต้องจดจำข้อมูลพวกนี้ได้ให้หมดก่อนวันเข้าสอบ และต้องลืมมันได้ทันทีหลังสอบ ไม่งั้นเขาสอบตก ไม่ตกวิชานี้ก็จะตกวิชาถัดไป

     กลับมาเรื่องของเราต่อ กรณีของคุณนี้เมื่อครั้งแรกตรวจโดยโฟกัสที่โรคของกลไกการกลืนขั้นที่ 3 แล้วไม่พบอะไร ก็ต้องหันมาเพ่งเล็งที่กลไกการกลืนขั้นที่ 1 และ 2 ซึ่งโรงพยาบาลที่เขาแนะนำให้คุณไปตรวจต่อนั้นแผนกหูคอจมูกของเขาเป็นเต้ยในการวินิจฉัยกลไกการกลืนขั้นที่ 1 และ 2 คุณไปตรวจตามที่หมอเขาแนะนำให้ไปนั้นก็ดีแล้วครับ

อาการวิทยา

     การกลืนลำบากมีอาการได้สาระพัด ตั้งแต่ไอ สำลัก รู้สึกว่ามีอาหารติดในคอหรือหน้าอก แพทย์จะต้องแอบฟังอาการแล้วอนุมาณเอาว่าปัญหาน่าจะอยู่ที่ขั้นตอนไหนของกลไกการกลืนและเกิดจากอะไร เช่นถ้ามันเริ่มเป็นน้อยๆก่อนแล้วค่อยๆหนักขึ้น ก็น่าจะเกิดจากระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ถ้าเป็นทันทีก็น่าจะเกิดจากสิ่งแปลกปลอมหรือการอักเสบ ถ้าเป็นทันทีในขั้นตอนแรกก็น่าจะมีเหตุที่ส่วนบน ถ้ากลืนแล้วสักพักใหญ่ถึงมีอาการก็น่าจะเกิดเหตุที่ส่วนล่าง ถ้ากลืนของแข็งยากกว่าของเหลวก็น่าจะมีการอุดตันเช่นเนื้องอก ถ้ากลืนของแข็งง่ายกว่าของเหลวก็น่าจะเป็นเรื่องของระบบประสาทหรือกลไกสนองตอบเฉียบพลันแบบอัตโนมัติ เป็นต้น ยาที่กินอยู่ก็มีผลต่อการกลืน เช่นยาปฏิชีวนะ ยากระดูกพรุน ยาแก้อักเสบ ยาต้านไวรัส วิตามินซี. ยารักษาโรคจิต แคลเซียม ยาลดความดัน ยาหัวล้าน ยาแก้แพ้ เป็นต้น ซึ่งต้องดูรายละเอียดไปทีละตัว

     การตรวจวินิจฉัย

     นอกจากการกลืนแบเรียมและส่องตรวจหลอดอาหารกระเพาะอาหาร (esophagogastroscopy) ที่คุณทำไปแล้ว หมอเขาอาจส่องจมูกและคอ (nasopharyngoscopy) วัดความดันหลอดอาหาร (manometry) เพื่อดูการหดตัวของกล้ามเนื้อหลอดอาหาร หรือตรวจวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหารเพื่อประเมินการสำรอกอาหารขึ้นมาจากกระเพาะอาหาร อาจตรวจภาพเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ของทรวงอก (CT chest) ตรวจได้ข้อมูลมาก็เป็นช่องทางให้หมอเขาตัดสินใจว่าจะตรวจไปทางไหนต่อ การวินิจฉัยโรคมันก็ต้องอย่างนี้แหละ อะไรที่รพ.ที่รักษาคุณอยู่เขาทำไม่ได้ เขาก็ส่งต่อ (refer) ไปรพ.ที่ทำได้ นั่นเป็นวิธีช่วยกันวินิจฉัยโรคยากๆที่วงการแพทย์เขาถือปฏิบัติกันอยู่เป็นประจำ การส่งต่อนี้ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคยากๆได้ทั่วราชอาณาจักร แม้จะมีแพทย์ที่ชำนาญโรคนั้นอยู่ทั้งประเทศแค่คนสองคนก็ตาม เมื่อโรคที่จะต้องวินิจฉัยแยกมันมาก มันก็ต้องใช้เวลาในการตรวจวินิจฉัยหลายวันหลายเดือนหรือบางทีก็หลายปี เพราะกระบวนการวินิจฉัยของแพทย์ต้องรอหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ตาหรือหูของแพทย์รับรู้ได้ อย่างดีก็อาศัยเครื่องมือขยายการรับรู้ของตาหรือหูไปอีกหน่อย เผอิญวิชาแพทย์ไม่ได้สอนให้วินิจฉัยโรคด้วยปัญญาญาณหยั่งรู้นอกเหนืออายตนะปกติ ดังนั้น ใจเย็นๆ โปรดรอสักหลายๆครู่ อย่าเพิ่งไปกระต๊ากว่าเมื่อไหร่แพทย์จะวินิจฉัยได้สำเร็จสักที

     การใช้สารเพิ่มความหนืด ขณะรอผลการวินิจฉัย   

     ในระหว่างที่แพทย์ทำการตรวจวินิจฉัยอยู่นี้ การทดลองรักษาตัวเองของผู้ป่วยอย่างหนึ่งที่คุณควรทำ คือการทดลองใช้สารเพิ่มความหนืด (Thickener) ผสมกับอาหารที่กินทุกมื้อเพื่อให้อาหารมาอยู่ในรูปของโบลัสได้ง่าย ทำให้ไม่สำลัก และทำให้การกลืนง่ายขึ้น

     วิธีทำก็ปั่นอาหารทุกชนิดที่จะกินไม่ว่าจะเป็นก๋วยเตี๋ยวหรือราดหน้าหรือข้าวราดแกง ปั่นด้วยเครื่องปั่นความเร็วสูงจนเป็นของเหลวระดับดื่มได้ แล้วเอาสารเพิ่มความหนืดซึ่งเป็นแป้งใสๆไม่มีสีไม่มีกลิ่นนี้ผสมอาหารนิดหน่อยแล้วคนๆๆๆจนอาหารหนืดเหมือนแป้งโดเด็กเล่นแล้วจึงค่อยตักกินแบบกลืนได้เลยโดยไม่ต้องเคี้ยว เป็นวิธีแก้ปัญหากลืนลำบากในส่วนของผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด เวลาดื่มน้ำเปล่าแล้วสำลักก็เอาแป้งใสนี้ใส่น้ำเปล่าแล้วคนๆๆๆจนได้ที่แล้วก็กลืนก็จะไม่สำลัก

      แป้งที่ว่านี้ใช้มากในอเมริกา แคนาดา และญิ่ปุ่น ที่ผมเอามาใช้กับผู้ป่วยอัมพาตที่เวลเนสวีแคร์ผมเอามาจากญี่ปุ่น แต่ผมได้ข่าวว่าเดี๋ยวนี้เมืองไทยก็มีขายแล้ว คุณลองถามอากู๋เอาเองก็แล้วกัน ตัวผมต้องสงบปากสงบคำเวลาจะพูดจะเขียนถึงสินค้า เพราะเวลาผมเขียนอะไรเกี่ยวกับสินค้ามากไป คนขายก็จะเอาคำพูดของผมไปทำเป็นโบรชัวร์แจกจ่าย จนคนเขานึกว่าหมอสันต์เดี๋ยวนี้แก่แล้วว่างงานจึงมารับจ๊อบกินเปอร์เซ็นต์จากการขายของไปเสียแล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

13 กุมภาพันธ์ 2562

ปรับปรุงแค้มป์สุขภาพดีด้วยตนเอง (GHBY39)

     แค้มป์สุขภาพดีด้วยตนเอง ปรับปรุงครั้งสุดท้ายเมื่อ GHBY-29 คือสิบแค้มป์ที่แล้ว มาบัดนี้ได้มีเหตุให้ต้องปรับปรุงอีกครั้ง

ความเป็นมาของ GHBY  

     เมื่อหลายปีมาแล้ว ตอนที่ตัวผมเองป่วย ผมหันมาดูแลตัวเองในเรื่องการกิน การออกกำลังกาย การดูแลจัดการความเครียด จนแก้ปัญหาให้ตัวเองได้ ผมได้ตัดสินใจเลิกอาชีพหมอผ่าตัดหัวใจเปลี่ยนมาทำอาชีพหมอส่งเสริมสุขภาพ สอนผู้ป่วยให้รู้วิธีดูแลสุขภาพของตัวเองได้ด้วยตัวเอง ทำสถานที่ เปิดแค้มป์สุขภาพสอนคนที่ยังไม่ป่วยให้ดูแลตัวเองเป็นว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ป่วย ตั้งชื่อว่า GHBY (Good Health By Yourself) แปลว่า "คอร์สสุขภาพดีด้วยตัวเอง" ผมรู้ว่าคนส่วนหนึ่งยังขาดความรู้ในประเด็นสำคัญ ผมจึงจับประเด็นที่คนยังไม่รู้นั้นออกมาคลี่ให้เห็นโดยใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์ประกอบ ผมรู้ว่าบางคนมีความรู้แล้วแต่ขาดทักษะ (skill) ที่จะลงมือปฏิบัติ เช่นจะเปลี่ยนอาหารไปเป็นอาหารแบบกินพืชเป็นหลัก (PBWF) แต่ก็ทำไม่เป็น จะออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ แต่ก็ไม่รู้วิธี ผมจึงสอนทักษะด้วย ในแง่ของการจัดการความเครียด ผมก็จับเอาผลวิจัยว่าอะไรลดความเครียดได้เอามาฝึกมาสอนหมด ไม่ว่าจะเป็นโยคะ สมาธิ ไทชิ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ผู้เข้าแค้มป์เก็ทดีมาก หลายคนนำไปใช้กับตัวเองได้ผลดีมาก แต่เมื่อพบกันนานหลายเดือนหรือหลายปีต่อมา หลายคนยังดูแลตัวเองดีอยู่ได้ แต่ผมพบว่าหลายคนมีอาการ "ถ่านหมด" หรือพลังมอด ความบันดาลใจหดหาย ต่อมาผมจึงได้ปรับปรุงหลักสูตรโดยเพิ่ิมเติมวิธีสร้างความบันดาลใจ (Motivation) เข้าไปด้วย โดยใช้จิตวิทยาคิดบวกและเพื่อนช่วยเพื่อน แต่ก็พบว่าแค่นั้นก็ยังไม่พอ

เหตุที่ต้องปรับปรุง GHBY

     ประเด็นที่ความบันดาลใจหดหายเหมือนไฟไหม้ฟางกระพือขึ้นแล้วก็มอดไปนั้น ผมประเมินว่ามีอยู่สองสาเหตุ

     (1) วิธีสร้างความบันดาลใจที่ผ่านมาใช้วิธีกระตุ้นให้คิดบวก ซึ่งผลของมันไม่ซึมลึก มันจะต้องใช้วิธีวางความคิดให้หมดเพื่อเปิดให้เข้าถึงพลังชีวิตในตัวเองที่เรียกว่า "ปราณา"ในภาษาแขก หรือ "ชี่" ในภาษาจีน ใจอันสงบเย็นที่ปลอดความคิดนี้จะเป็นช่องให้พลังชีวิตฉายแสง แล้วการเปลี่ยนชีวิตอย่างสิ้นเชิงแท้จริงจึงจะเกิดขึ้น นี่เป็นยุทธศาสตร์ใหม่ถอดด้ามที่หมอสันต์คิดขึ้นเองและจะนำมาใช้จริงแล้ว ได้ผลไม่ได้ผลก็ต้องติดตามกันต่อไป

     (2) การขาดการสื่อสารสนับสนุนกันต่อเนื่องหล้งจบแค้มป์ก็เป็นสาเหตุให้ "ลืม" ความตั้งใจ แต่ก่อนการสื่อสารเพื่อตามสนับสนุนกันเมื่อจบแค้มป์ไปแล้วมันกระท่อนกระแท่น โทรศัพท์ถามอะไรมาก็ตอบได้แค่ผิวๆเพราะลืมไปแล้วว่าโครงสร้างสุขภาพสมาชิกท่านนี้เป็นอย่างไร แต่ตอนนี้เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์มีระบบฐานข้อมูลสมาชิกบนอินเตอร์เน็ทที่เรียกว่า health dashboard ที่ใช้งานได้ดีแล้วกับสมาชิกแค้มป์พลิกผันโรคด้วยตนเอง (RDBY) ในระบบนี้สมาชิกถามอะไรมาตอบได้ตรงจุดหมดเพราะเปิดดูข้อมูลสุขภาพของสมาชิกคนถามได้ทันที ระบบนี้จะเอื้อให้มีการสื่อสารติดตามกระตุ้นสมาชิกที่จบแค้มป์ไปแล้วได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นคือความสามารถที่ระบบจะพ่วงอุปกรณ์ผูกติดตัวผู้ป่วยเช่นเครื่องนับก้าว เครื่องวัดความดัน เครื่องเจาะน้ำตาล เข้ากับอินเตอร์เน็ท ผ่านบลูทูธของมือถือ ทำให้ข้อมูลสามารถโยงขึ้นมาไว้บนฐานข้อมูล health dashboard ของเวลเนสวีแคร์ได้อย่างเป็นอัตโนมัติ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการติดตามสมาชิกที่มาเข้าแค้มป์ GHBY ไปตลอดชีวิตแบบสองทาง คือทางด้านสมาชิกก็เอาข้อมูลสุขภาพขึ้นแดชบอร์ด มีอะไรก็ถามเข้ามา อีกด้านหนึ่งทางด้านเวลเนสวีแคร์ก็สามารถตามดูดัชนีสุขภาพสมาชิกได้ต่อเนื่องและตอบคำถามได้อย่างตรงประเด็นและเจาะลึกตรงปัญหารายคน

     แค้มป์ที่จะปรับปรุงใหม่ตั้งแต่ GHBY39 ไปนี้ โครงของหลักสูตรจะเป็นดังนี้

1. โภชนาการแบบพืชเป็นหลักและไขมันต่ำ
2. การออกกำลังกาย ทั้งแอโรบิก เล่นกล้าม และเสริมการทรงตัว
3. การสร้างความบันดาลใจผ่านการเข้าถึงพลังชีวิตของตัวเอง
4. การใช้ดัชนีง่ายเจ็ดตัว (simple 7) ในการบริหารสุขภาพตนเอง
5. การสร้างกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน
6. การติดตามสื่อสารกันต่อเนื่องผ่าน health dashboard

     ดังนั้นหน้าตาของคอร์สใหม่จะเป็นดังนี้

  ................................................................

หลักสูตรคอร์สสุขภาพดีด้วยตัวเอง

Good Health By Yourself (GHBY) Camp Syllabus

Motto
 “เรียน” สิ่งที่ยังไม่เคยรู้ (knowledge)
“ทำ” สิ่งที่ยังไม่เคยทำ (skill)
"ชอบ" สิ่งที่ไม่เคยชอบ (attitude)

คอนเซ็พท์ของแค้มป์ (Conceptual Design)

     ให้คนกลุ่มเล็กๆประมาณ 24 คน ได้มาพักผ่อนปลายสัปดาห์ (2 วัน 1 คืน) ร่วมกับ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ที่เวลเนสวีแคร์เซ็นตเตอร์ ที่มวกเหล็ก ซึ่งสงบเงียบและไม่มีบุคคลภายนอกมารบกวนยุ่งเกี่ยว แล้วเรียนรู้สาระสำคัญเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพตนเอง และฝึกทักษะต่างๆที่จำเป็นต้องใช้ในการเข้าถึงพลังชีวิตของตนเองและการดูแลสุขภาพตนเองไปด้วยกัน รวมทั้งจับกันเป็นกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และช่วยเหลือกันและกันในอนาคต ตลอดถึงการติดตามสื่อสารกันผ่านอินเตอร์เน็ทในอนาคต ในบรรยากาศการพูดคุยแบบกันเองอย่างไม่เป็นทางการ

แค้มป์นี้เหมาะสำหรับใคร

     GHBY เหมาะสำหรับคนทั่วไปที่สนใจที่จะมีสุขภาพดีด้วยการลุกขึ้นมาดูแลตัวเองอย่างจริงจัง อาจจะเป็นคนที่ตอนนี้ยังไม่ป่วย หรือเริ่มป่วยเป็นโรคเรื้อรังที่จะได้ประโยชน์จากการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี แต่ยังไม่ได้ป่วยมากถึงขั้นที่จะต้องเจาะลึกปัญหาเรื่องโรคเรื่องยาของตนเป็นพิเศษ (กรณีป่วยถึงขั้นใช้ยามากควรไปเข้าแค้มป์พลิกผันโรคด้วยตัวเองRDBY)

วัตถุประสงค์  (Objectives)

1. วัตถุประสงค์ด้านความรู้ (knowledge)

มุ่งให้ผู้เข้าคอร์สมีความรู้ในเรื่องต่อไปนี้

1.1 สรุปงานวิจัยใหม่ล่าสุดเกี่ยวกับภาพรวมของการมีสุขภาพดี
1.2 โภชนาการในแนวกินพืชในรูปแบบใกล้ธรรมชาติ (Whole food, plant based)
1.3 คำแนะนำโภชนาการของอนุกรรมการวิทยาศาสตร์ USDA 2015-2000 และ Canada Food Guide 2019
1.4 วิเคราะห์คำแนะนำเรื่องอาหารที่ปรับแต่ง (processed food) และเนื้อแดง (red meat) ของ WHO 2015
1.5 วิธีอ่านและแปลความหมายฉลากอาหาร (1) ประเด็นหน่วยบริโภค (2) ประเด็นแคลอรี่ (3) ประเด็นกากเส้นใย (4) ประเด็นชนิดของไขมัน
1.6 อาหารพืชที่มีคุณสมบัตดีต่อสุขภาพอย่างโดดเด่น
1.7 Sprout & microgreen เรียนรู้คุณค่าและวิธีทำต้นอ่อนเมล็ดงอกชนิดต่างๆ
1.8 งานวิจัยผลของการปรุงอาหารแบบต่างๆต่อการทำลายคุณค่าของอาหาร
1.9 การออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง (aerobic exercise) สามประเด็น (1) หนักพอควร คือหอบเหนื่อยร้องเพลงไม่ได้ (2) ต่อเนื่อง คือ 30 นาทีขึ้นไป (3) สม่ำเสมอ คือ สัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 5 วัน
1.10 การออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อ (strength training) สิบประเด็น (1) กลุ่มกล้ามเนื้อหลักสิบกลุ่ม (2) การฝึกทีละกลุ่มกล้ามเนื้อ (3) การยืดกล้ามเนื้อก่อน (4) การฝึกท่าร่าง (5) การทำซ้ำจนล้า (6) การทำเพิ่ม (overload) ทีละนิด (7) หลักการหายใจ (8) หลักเคลื่อนไหวช้า (9) หลักพิสัยการเคลื่อนไหว (10) หลักพักและฟื้น
1.11 การออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัว (balance exercise) รวมถึง 5 องค์ประกอบของการทรงตัว และ 7 ปัจจัยที่ทำให้ลื่นตกหกล้มง่าย
1.12 ความเครียด และกลไกการเกิด และผลต่อร่างกาย
1.13 การเข้าถึงพลังชีวิตผ่านการฝึกสติสมาธิ โยคะ ไทชิ
1.14  สุขศาสตร์ของการนอนหลับ (Sleep hygiene)
1.15 ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพอย่างง่าย 7 ตัวของ AHA (1) น้ำหนัก (2) ความดัน (3) น้ำตาล (4) ไขมัน (5) อาหารพืช (6) การออกกำลังกาย (7) บุหรี่
1.16 การบริหารสุขภาพตนเองด้วยดัชนีง่ายๆ 7 ตัว
1.17 การใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลสุขภาพส่วนตัวบนอินเตอร์เน็ท (health dashboard)
1.18 หลักพื้นฐานการปฏิบัติการช่วยชีวิต

2 วัตถุประสงค์ด้านทักษะ

มุ่งให้ผู้เข้าแค้มป์ มีทักษะ สามารถทำสิ่งต่อไปนี้ได้ด้วยตนเองที่บ้านได้
2.1 เลือกอาหารแนว whole food, plant based มาเพื่อการบริโภคของตัวเองและครอบครัวได้
2.2 อ่านฉลากอาหาร แปลความหมาย และใช้ประโยชน์จากฉลากอาหารได้
2.3 ลงมือทำอาหารแนว whole food, plant based ได้ด้วยตนเอง
2.4 เลือกซื้อและ/หรือปลูกผักสวนครัว ผักพื้นบ้าน และเครื่องเทศที่ดีต่อสุขภาพได้ด้วยตนเอง
2.5 ออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง (aerobic exercise) ได้ด้วยตนเอง
2.6 ประเมินและติดตามดูสมรรถนะร่างกายตนเองด้วยวิธี one mile walk test ได้
2.7 ออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (strength training) ได้ด้วยตนเอง ทั้งแบบมือเปล่า ใช้ดัมเบล ใช้สายยืด และใช้กระบอง
2.8 ออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัว (balance exercise) ได้ด้วยตนเอง
2.9 ฝึกปฏิบัติเพื่อการเข้าถึงพลังชีวิตของตนเองต่อได้เองที่บ้าน
2.10 ปฏิบัติสุขศาสตร์ของการนอนหลับได้ด้วยตนเอง
2.11 ใช้ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพอย่างง่าย 7 ตัวของ AHA ติดตามดูแลสุขภาพของตนเองได้
2.12 ใช้ health dashboard ด้วยตนเองได้

3 วัตถุประสงค์ด้านเจตคติ

มีเป้าหมายให้ผู้เข้าแค้มป์มีเจตคติที่
3.1 รักแนวทางดูตนเองแบบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (health promotion attitude)
3.2 ชอบการใช้ชีวิตแบบกระตือรือล้นและเคลื่อนไหวมาก (active lifestyle attitude)
3.2 ชอบดูแลตัวเองและทำอะไรด้วยตนเอง (do it yourself attitude)

แผนกิจกรรม

สถานที่: เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ (Wellness We care Center) มวกเหล็ก-เขาใหญ่

วันแรก

8.30 -9.30 น.  เดินทางถึงเวลเนสวีแคร์ (มวกเหล็ก-เขาใหญ่) เช็คอินที่บ้าน Grove House เข้าห้องพัก ทำกิจธุระส่วนตัว
9.30-10.00 ทำความรู้จักกัน เรียนรู้จากกันและกัน Getting to know each other
10.00 -10.30 Briefing: Evidence based total lifestyle modification
                        หลักฐานวิทยาศาสตร์ที่สรุปได้ว่าการปรับวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง ทำให้อายุยืน
                        และชีวิตมีคุณภาพ
10.30-11.00 Briefing: USDA's Guidelines for Nutrition และ Canada Food Guide
                        บรรยายคำแนะนำโภชนาการปัจจุบัน อะไรควรกิน อะไรไม่ควรกิน
11.00 – 12.00 Workshop : Food shopping
                        กิจกรรมจ่ายตลาด ฉลาดซื้อ
12.00 – 13.30 Workshop: Cook your own meal
                        ชั้นเรียนทำอาหารด้วยตนเองในแนวกินพืชเป็นหลักในแบบใกล้เคียงธรรมชาติ Whole food, plant-based แล้วรับประทานอาหารกลางวันที่ตัวเองทำ
13.30 – 14.00 Workshop: Access your Prana through Yoga
                        ฝึกปฏิบัติโยคะเพื่อผ่อนคลายและการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
14.00 – 15.00 Workshop: Muscle strength training
                        ฝึกปฏิบัติการออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
15.00 – 16.00 Workshop: Access your Prana through balanced movement
                        ฝึกปฏิบัติการเข้าถึงพลังชีวิตด้วยการเคลื่อนไหวร่างกาย
16.00 – 16.30 Coffee break
                        พักดื่มกาแฟ
16.30-17.30 Workshop: Balance exercise with Line dance
                        ฝึกปฏิบัติการออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัวด้วยวิธีไลน์ด้านซ์
17.30 – 18.30 Workshop: Herbs Spices and Sprout
                        ทัวร์สวนครัวผักพื้นบ้านและพืชเครื่องเทศ แล้วทำกิจกรรมปลูกผักและเพาะเมล็ด                             งอกเพื่อเป็นอาหาร
18.30 – 20.30 Dinner: อาหารเย็น ร้องเพลงเล่น พูดคุยแลกเปลี่ยน
20.30         กลับห้องพัก พักผ่อน เตรียมความพร้อมสำหรับเช้าวันรุ่งขึ้น

วันที่สอง

6.30 – 7.30 Workshop: One mile walk test
                        ฝึกประเมินสมรรถนะร่างกายตนเองด้วยวิธี One mile walk test
7.30 – 8.00  Workshop: Tai Chi
                        ฝึกปฏิบัติเคลื่อนไหวอย่างมีสติ ด้วยวิธี Tai Chi
08.00– 9.30  Breakfast
                        อาบน้ำ รับประทานอาหารเช้า
9.30 - 10.30 Access your Prana through meditation
                        การเข้าถึงพลังชีวิตด้วยการฝึกสมาธิ
10.30 – 12.00 Workshop: AHA's Seven simple health index
                        ภาคปฏิบัติการประเมินปัจจัยเสี่ยงสุขภาพส่วนบุคคล
                        ทำแผนสุขภาพส่วนบุคคลและการติดตามผ่าน personal dashboard
                        Coffee break ในขณะเรียน
12.00 - 13.00 พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.00-14.00 Workshop: Hands only CPR
                        ฝึกปฏิบัติการช่วยชีวิตด้วยมือเพียงอย่างเดียว
14.00 - 16.00 Questions and Answers
                       นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ตอบคำถามและให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพทั้งในแง่การส่งเสริมสุขภาพแลป้องกันโรค และในแง่การรักษาโรคเรื้อรังของแต่ละบุคคล รวมทั้งปรึกษาผลแล็บ เอกซเรย์และผลการตรวจพิเศษต่างๆ โดยผู้ร่วมแค้มป์ท่านอื่นสามารถนั่งฟังและร่วมแชร์ความรู้และประสบการณ์กันในห้องได้
16,00             ปิดแค้มป์
             
ค่าลงทะเบียน

     ราคาปกติของคอร์ส GHBY คือท่านละ 9,000 บาท รวมอาหารทุกมื้อ ที่พัก อุปกรณ์การเรียน แต่ไม่รวมค่าเดินทางยังเวลเนสวีแคร์ (ผู้เรียนต้องเดินทางไปเอง)

วิธีลงทะเบียนเข้าเรียน

   (1) ลงทะเบียนและจ่ายเงินผ่านเว็บไซท์ได้ที่
https://www.wellnesswecare.com/th/program/good-health-by-yourself-th/13
   (2) ลงทะเบียนทางโทรศัพท์โดยโทรศัพท์ติดต่อคุณครีม (จุฑารัตน์) ที่หมายเลข 0636394003 หรือไลน์ @wellnesswecare หรืออีเมล host@wellnesswecare.com แล้วโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทย ชื่อบัญชี  บริษัท เมก้า วี แคร์ จำกัด เลขที่บัญชี 007-368-5478

การเตรียมตัวไปเข้าคอร์ส

     แนะนำให้เตรียมเครื่องแต่งกายที่ออกกำลังกายสะดวก ควรมีรองเท้าผ้าใบที่เดินบนพื้นหินขรุขระได้ และควรมีหมวกกันแดด และครีมกันแดด

การเดินทางไปเข้าคอร์ส

     สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว รถตู้กทม.-มวกเหล็ก (ขึ้นที่หมอชิตใหม่ โทร. 081-7802713,089-0222508,094-5153556) หรือรถไฟ (ลงสถานีมวกเหล็ก) ในกรณีเดินทางด้วยรถตู้หรือรถไฟ ต้องหารถรับจ้างจากตลาดมวกเหล็กเข้ามาส่ง ค่ารถมอเตอร์ไซค์ส่งจากตลาดราว 100 บาท ที่เวลเนสวีแคร์ ซึ่งตั้งอยู่ในมวกเหล็กวาลเลย์ อยู่ห่างจากตลาดมวกเหล็กราว 4 กม. อาจให้รถตู้จากกทม.แวะเข้ามาส่งก็ได้โดยต้องเพิ่มเงินให้เ้ขาประมาณ 120 บาท ในกรณีที่จะให้เวลเนสวีแคร์ช่วยประสานงานหารถรับจ้างเหมาไปจากกทม. ต้องติดต่อล่วงหน้า ค่าจ้างแทกซี่ 1,500 บาทเฉพาะขาไปจากกทม.ขาเดียว หรือ 3,000 บาทสำหรับการไปส่งแล้วไปรับกลับกทม.

สำหรับท่านที่เดินทางมาไกล หากต้องการมาพักเหนื่อยหนึ่งคืนก่อนเข้าเรียน สามารถเช็คอินเข้าพักได้ฟรีตอนเย็นวันศุกร์เพื่อนอนรอการเปิดเรียนเช้าวันรุ่งขึ้น

    กรณีเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ให้ใช้ Google Map โดยพิมพ์คำว่า Wellness We Care Center

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
[อ่านต่อ...]

12 กุมภาพันธ์ 2562

คำแนะนำอาหารของรัฐบาลแคนาดา Canada Food Guide 2019

     แต่ไหนแต่ไรมา แคนาดาอิงสหรัฐฯเสมอมาในเรื่องมาตรฐานทางการแพทย์และการออกคำแนะนำต่างๆในเรื่องสุขภาพ แต่มาเดี๋ยวนี้เริ่มเห็นว่าแคนาดาจะแสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมามากขึ้น ที่เห็นชัดที่สุดก็คือในคำแนะนำโภชนาการล่าสุดของรัฐบาลแคนาดาที่สรุปไว้ในรูปของจานอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับหนึ่งมื้อ ที่แนะนำให้น้ำเปล่าเป็นเครื่องดื่มอย่างเดียวโดยไม่แนะนำให้ดื่มนมเลย และภายในจานอาหารซึ่งแบ่งออกเป็นสี่ส่วนประกอบด้วยผักผลไม้สองส่วน ธัญพืชไม่ขัดสีหนึ่งส่วนและโปรตีนหนึ่งส่วนซึ่งเป็นสัดส่วนที่เหมือนกับคำแนะนำของสหรัฐฯนั้น มองให้ดีจะเห็นว่าเสี้ยวที่เป็นอาหารโปรตีนไม่ได้มีเนื้อสัตว์มากมายอย่างในจานอาหารของรัฐบาลสหรัฐฯ มีแต่เต้าหู้ ถั่ว นัท แม้แต่ไข่ก็มีแค่เสี้ยวเดียวไม่ถึงครึ่งฟองด้วยซ้ำ ปลาก็มีชิ้นๆเล็กๆชิ้นเดียว ซึ่งภาพแบบนี้ในจานอาหารแนะนำของสหรัฐฯคงทำไม่ได้เพราะอุตสาหกรรมนม ไข่ และเนื้อสัตว์คงยอมยาก

     วันนี้ผมขอถือโอกาสแปลคำแนะนำอาหารของรัฐบาลแคนาดาแบบจับความให้กับท่านผู้สนใจ ดังนี้

คำแนะนำอาหารของรัฐบาลแคนาดา Canada Food Guide 2019

1. วิธีเลือกอาหารสุขภาพ

1.1 เลือกกินอาหารให้หลากหลายในแต่ละวัน

      กินผักผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี และอาหารโปรตีน ในการเลือกอาหารโปรตีนให้เลือกกินโปรตีนจากพืชมากกว่าหรือบ่อยกว่า ถ้าจะกินของมีรสมัน ให้เลือกไขมันที่ทำให้สุขภาพดีแทนไขมันอิ่มตัว

1.2 เลือก "รูปแบบการกิน" ที่ทำให้สุขภาพดี

     คำว่ารูปแบบการกินหรือ eating pattern  หมายถึงอะไรที่เรากินเราดื่มอยู่ประจำทุกเมื่อเชื่อวันนั่นแหละ ซึ่งมีผลตรงต่อสุขภาพ ส่วนของที่นานๆกินทีนั้นไม่ค่อยมีผลอะไรต่อสุขภาพนัก

     รูปแบบการกินที่ดีต้องมีลักษณะดังนี้
      (1) มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน
      (2) ทำให้สุขภาพดี และ
      (3) ทำให้รู้สึกดี

     ภาพรวมของงานวิจัยสรุปได้ว่ารูปแบบการกินที่ดีคือการกินอาหารพืชเป็นหลัก กินอาหารพืชเยอะๆซึ่งรวมถึง
     (1) ผัก ผลไม้
     (2) ธัญพืชไม่ขัดสี และ
     (3) อาหารโปรตีนต่างๆเช่น ถั่วต่างๆ โยเกิร์ต เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน

     การกินอาหารพืชเป็นหลักเป็นประจำทำให้ร่างกายได้รับกากเส้นใยมากในขณะเดียวกันก็ได้ไขมันอิ่มตัวน้อย ซึ่งจะมีผลลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคเบาหวานประเภท2

     รูปแบบของอาหารที่ดีไม่ใช่อาหารที่ผ่านกระบวนการปรับแต่งและถนอมมากเกินไป (highly processed food) อันได้แก่ (1) เครื่องดื่มใส่น้ำตาล (2) อาหารทอดในน้ำมัน (3) คุ้กกี้และเค้ก (4) ไส้กรอก เบคอน แฮม (processed meat) (5) ช็อกโกแลตและทอฟฟี่หวาน (6) ซีเรียลทำอาหารเช้าที่เคลือบน้ำตาล (7) อาหารบรรจุกล่องหรือแพ็คแบบเข้าเครื่องเวฟแล้วกินได้ทันที

     คุณสามารถสร้างรูปแบบการกินที่ดีโดยเลือกกินสิ่งต่อไปนี้สม่ำเสมอคือ

    (1) ธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ควินัว ข้าวป่าซ้อมมือ (wild rice) พาสต้าแป้งโฮลเกรน

     (2) ผักและผลไม้เช่น แอปเปิล แครอท บร็อคโคลี

     (3) โปรตีนเช่น ถั่วต่างๆ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน โยเกิร์ตไร้ไขม้น

  1.3 จำกัดอาหารที่ผ่านกระบวนการสกัด ปรับแต่ง หรือถนอมมากๆ ถ้าจะกินก็ให้กินแต่ปริมาณน้อยๆ

     อาหารและเครื่องดื่มที่ผ่านกระบวนการปรับแต่งและถนอมมากๆ (highly processed food) เป็นอาหารที่ใช้เกลือ น้ำตาล และน้ำมันอิ่มตัวในกระบวนการทำ ซึ่งรวมถึงอาหารต่อไปนี้ คือ

    (1) เครื่องดื่มใส่น้ำตาล

    (2) ช็อกโกแล็ตและทอฟฟี่หวาน

    (3) ไอศครีมที่ทำจากนมและขนมหวานแช่แข็ง

    (4) อาหารด่วนเช่นเฟรนช์ไฟรด์ เบอร์เกอร์

    (5) อาหารคาวแช่แข็งเช่นพาสต้าหรือปิซซา

    (6) เบเกอรี่เช่นขนมมัฟฟิน เค้ก ขนมแป้งต่างๆ

     (7) ไส้กรอก เบคอน แฮม ที่ทำจากเนื้อสัตว์

     ชีวิตปัจจุบันทำให้ง่ายต่อการซื้อหาอาหารที่ผ่านกระบวนการปรับแต่งและถนอมมากๆมาทาน แต่การทานอาหารแบบนี้ทำให้ได้รับเกลือ น้ำตาล และน้ำมันอิ่มตัวมาก อันจะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคเรื้อรัง

     เกลือ

     การทานเกลือมากทำให้เป็นเหตุของโรคความดันเลือดสูง ซึ่งเป็นเหตุนำไปสู่โรคหัวใจ เกลือถูกนำมาใช้เพื่อการถนอมอาหาร ดังนั้นอาหารที่ผ่านกระบวนการปรับแต่งและถนอมจึงเป็นอาหารที่มีเกลือสูง

     น้ำตาล
   
     การกินและดื่มอาหารและเครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาลนำไปสู่การเป็นโรคต่อไปนี้คือ

     (1) โรคอ้วน

     (2) โรคเบาหวาน

     (3) โรคฟันผุในเด็ก

     ไขมันอิ่มตัว

     ไขมันอิ่มตัวได้แก่ไขมันจากสัตว์ทุกชนิดรวมทั้ง ไขมันในนม เนย ชีส  น้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว

     น้ำมันอิ่มตัวทำให้เป็นโรคหัวใจมากขึ้น น้ำมันที่ควรใช้ทดแทนไขมันอิ่มตัวควรเป็นไขมันที่ดีต่อสุขภาพ

     ทดแทนด้วยน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพ เช่น

     (1) น้ำมันมะกอก

     (2) น้ำมันคาโนลา

     (3) ถั่วลิสง

     (4) ถั่วเหลือง

     (5) งา

     (6) แฟลกซีด

     (7) ดอกทานตะวัน

     เนื้อสัตว์ที่ผ่านการปรับแต่งและถนอม

     เนื้อสัตว์ที่ผ่านการปรับแต่งและถนอม (processed meat) หมายถึงไส้กรอก เบคอน แฮม เป็นอาหารที่มีเกลือมากและมีไขมันอิ่มตัวมากและมีสารก่อมะเร็งที่เกิดขึ้นในกระบวนการถนอมอาหาร การกินไส้กรอก เบคอน แฮม มากทำให้เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมากขึ้น

      หากท่านมีนิสัยชอบกินอาหารที่ผ่านกระบวนการสกัด ปรับแต่ง และถนอม อยู่เป็นประจำ ควรเริ่มด้วย (1) การจงใจกินให้ห่างออกไป (2) กินแต่ละคร้้งก็ให้กินแต่น้อย (3) เอาอะไรอย่างอื่นที่ดีต่อสุขภาพมาทดแทน

     ในการลดปริมาณอาหารที่ผ่านกระบวนการปรับแต่งและถนอมมากๆ คุณควรจะ

     (1) ดื่มน้ำเปล่าทดแทนเครื่องดื่มใส่น้ำตาล

     (2) ล้างตู้เย็นเอาอาหารสกัดปรับแต่งและถนอมออกจากบ้าน

     (3) เมื่อกินอาหารนอกบ้าน เลือกเมนูที่ดีต่อสุขภาพมากกว่า

     (4) เลือกอาหารที่ผ่านกระบวนการปรับแต่งและถนอมน้อยกว่า เช่น

     - ไก่อบเหลือจากเมื่อวาน ก็ยังดีกว่าเบคอนบรรจุเสร็จในซอง

     - ข้าวโอ๊ตจริงๆล้วนๆก็ย่อมดีกว่าข้าวโอ๊ตอินสแตนท์ที่เคลือบน้ำตาล

     ถ้าคุณชอบอาหารที่ต้องผ่านกระบวนการปรับแต่งและถนอมก็ทำมันเองเสียเลย เช่น

     - ชอบขนมมัฟฟินก็ทำมันเสียเองในแบบที่ดีต่อสุขภาพ

     - ชอบอาหารแช่แข็งแบบเอามาอุ่นกินก็ทำอาหารดีๆต่อสุขภาพแบ่งแช่แข็งไว้เสียเองในขนาดพอดีมื้อ

     -ทำอาหารว่างดีแล้วเก็บไว้ทานเอง เช่น นัทอบ ผลไม้แห้ง แครอทหั่นแท่ง ไข่ต้ม

     - วางแผนอาหารและอาหารว่างล่วงหน้า เช่น หั่นผักผลไม้ไปทานกลางวัน

     - จำกัดการใช้แยมหรือเนยปาดขนมปังหรือแครกเกอร์ที่ทำด้วยกระบวนการปรับแต่งถนอมมากๆ

     กรณีไหนที่กระบวนการปรับแต่งและถนอมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอาหารที่ดี 

     พึงระวังอย่าปฏิเสธกระบวนการปรับแต่งและถนอมอาหารตะพึด เพราะบางกรณีกระบวนการปรับแต่งและถนอมอาหารก็เป็นการสร้างอาหารที่ดี เช่น

     (1) การทำลายเชื้อแบบพาสเจอไรซ์ช่วยทำให้เก็บอาหารได้นานขึ้นโดยไม่ทำลายเพิ่มสิ่งไม่ดีเช่นเกลือ น้ำตาล น้ำมันอิ่มตัวในอาหาร

     (2) การตากแห้ง ไม่ได้เพิ่มสิ่งไม่ดีเข้าไปในอาหาร แต่ทำให้เก็บอาหารได้นาน

     (3) การแช่เย็นหรือแช่แข็ง ไม่ได้เปลี่ยนคุณภาพอาหารไปมากนักและไม่ได้เพิ่มสิ่งไม่ดีเข้าไปในอาหาร แต่รักษาความสดของอาหารไว้

     1.4 เอาน้ำเปล่าเป็นเครื่องดื่มประจำตัว  

     เครื่องดื่มมีเยอะแยะ ส่วนใหญ่มีส่วนประกอบที่ให้แคลอรี่ เกลือโซเดียม น้ำตาล ไขมันอิ่มตัว ซึ่งมีผลเสียต่อสุขภาพ ขณะที่น้ำเปล่ามีข้อดีที่ช่วยดับกระหายและแก้ไขภาวะร่างกายขาดน้ำได้โดยร่างกายไม่ได้รับแคลอรี่ส่วนเกิน

     ร่างกายสูญเสียน้ำตลอดเวลาไปทางเหงื่อ ลมหายใจ ปัสสาวะ อุจจาระ คุณจำเป็นต้องทดแทนน้ำที่เสียไปให้เหลือเท่าเดิมอยู่เสมอ วิธีที่จะใช้น้ำเปล่าเป็นเครื่องดื่มประจำตัวได้คือ

     (1) ดื่มน้ำเปล่าทั้งแบบเย็นแบบร้อนตามใจชอบ

     (2) เมื่อทานอาหารนอกบ้าน สั่งน้ำเปล่าแทนเครื่องดื่มอื่นๆเสมอ

     (3) พกพาขวดน้ำเปล่าแบบล้างใช้ซ้ำได้

     (4) ทานผลไม้หรือสมุนไพรที่ปั่นหรือผสมในน้ำบ้างก็ได้

     (5) ดื่มน้ำมากระหว่างและหลังทำกิจกรรมที่ต้องออกแรง

     (6) ตั้งเหยือกน้ำดื่มไว้ให้พร้อมบนโต๊ะ ในตู้เย็น และที่ต่างๆที่หยิบสะดวก

     ห้าวิธีเพิ่มรสชาติให้น้ำเปล่า โดยใส่

     (1) แบล็คเบอรี่ผสมมินท์

     (2) ราสเบอรรี่ผสมแตงกวา

     (3) สตรอเบอรรี่ผสมโหระพาสด

     (4) แอปเปิลหั่นผสมแท่งซินนามอน

     (5) ลูกแพร์ฝานผสมหยดน้ำสกัดวานิลลา

     เพื่อให้ได้รสชาติมากขึ้น ควรบี้เบอรรี่ หั่นหรือฉีกใบสมุนไพร หั่นผลไม้เป็นลูกเต๋า ถ้าชอบให้น้ำซ่าก็ใช้น้ำโซดาแทนน้ำเปล่า

     เครื่องดื่มแทนน้ำที่ถือว่าดีต่อสุขภาพ

     (1) นมไร้ไขมันไม่ใส่น้ำตาล

     (2) เครื่องดื่มจากพืชที่ไม่ใส่น้ำตาลเพิ่ม เช่น นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ กาแฟ ชา (ที่ไม่ใส่น้ำตาล)

     เครื่องดื่มที่ต้องจำกัด 

     คือเครื่องดื่มที่ใส่

     (1) เกลือโซเดียม

     (2) น้ำตาล

     (3) น้ำมันอิ่มตัว

     ทั้งสามตัวนี้มักใส่มาในเครื่องดื่มรสหวาน เครื่องดื่มอัลกอฮอล น้ำผักผลไม้ปั่นเติมน้ำตาล

     เอาน้ำแทนเครื่องดื่มใสน้ำตาล

     การดื่มน้ำแทนเครื่องดื่มใส่น้ำตาลช่วยลดปริมาณน้ำตาลที่บริโภคลง น้ำตาลเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรค (1) อ้วน (2) เบาหวานประเภท2 (3) ฟันผุในเด็ก

     เครื่องดื่มใส่น้ำตาล รวมถึง (1) ไอซ์ที (2) น้ำผลไม้ (3) ซอฟท์ดริงค์ (4) สปอร์ตดริงค์ (5) เครื่องดื่มชูกำลัง (6) เครื่องดื่มรสผลไม้และพั้นช์ (7) เครื่องดื่มรสหวานทุกชนิด (8) นม ชา กาแฟ ชอกโกแล็ต ที่มีรสหวาน

     จะเอาน้ำแทนเครื่องดื่มใส่น้ำตาลได้อย่างไร

     (1) เรียกหาน้ำเปล่าทุกครั้งที่จะดื่ม

     (2) ระวังจังหวะที่จะถูกนำเสนอเครื่องดื่มใส่น้ำตาล

     - เมื่อกระหาย

     - เมื่อทานนอกบ้าน

     - เมื่ออยู่ในงานเลี้ยงหรือการฉลอง

     - การพักเบรคในวันทำงาน

     - เมื่อเล่นกีฬาหรือทำงานเหนื่อยๆ

     - เมื่อจะหาเครื่องดื่มให้เข้ากับอาหาร

     ในโอกาสเหล่านี้ ระวัง สถานะการณ์จะพาไปหาเครื่องดื่มใส่น้ำตาล ให้เจาะจงเรียกหาน้ำเปล่าเสมอ


     1.5 อ่านฉลากทุกครั้ง

     ฉลากให้ข้อมูลที่ช่วยให้ตัดสินใจซื้ออาหารที่ดีได้ถูกต้องขึ้น ช่วยบอกส่วนผสมของอาหารนั้น บอกปริมาณแคลอรี่ บอกสัดส่วนทางโภชนาการ บอกธาตุอาหารที่มี บอกปริมาณสารอาหารที่มีโทษหากได้รับมาก เช่นเกลือ น้ำตาล น้ำมันอิ่มตัว เป็นต้น

     วิธีใช้ประโยชน์จากฉลากอาหาร

     ตารางข้อมูลโภชนาการ (Nutrition facts table) ให้ข้อมูลหน่วยบริโภค แคลอรี่ สารอาหารบางตัว ปริมาณที่มีเทียบกับปริมาณที่ควรได้ในหนึ่งวัน (%DV - daily value)  คุณสามารถใช้ %DVนี้เป็นตัวบอกว่าได้สารอาหารชนิดนั้นมากหรือน้อย เช่นไม่เกิน 5% ก็ถือว่าน้อย แต่ถ้าเกิน 15% ก็ถือว่ามาก

     รายการส่วนประกอบ (Ingredient list) เป็นรายการแสดงส่วนผสมของอาหารนั้นทุกตัวตามน้ำหนัก โดยเอาส่วนผสมที่มีสัดส่วนมากที่สุดขึ้นก่อนแล้วลดหลั่นกันลงไปตามลำดับ

     สรรพคุณ (Nutrition claims) คำบอกสรรพคุณทั้งในแง่ว่ามีสารอาหารอะไรบ้าง และในแง่ว่าทำให้สุขภาพดีอย่างไรบ้าง สรรพคุณอาหารนี้จะแสดงไว้ในฉลากได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากทางการแล้วว่าเป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น

     ข้อมูลอาหารแพ้ง่าย (Food allergen labeling)  เป็นข้อมูลว่ามีสารที่แพ้ง่ายอะไรบ้าง เพื่อให้คนที่แพ้อาหารใช้ตรวจสอบก่อนซื้อ

     วันบรรจุและเวลาที่ควรบริโภค (Date labeling) เป็นข้อมูลว่าอาหารนั้นทำการผลิตมาตั้งแต่เมื่อใด เมื่อเปิดแล้วควรบริโภคให้หมดในกี่วัน

     1.5 ระวังวิธีการทำตลาดของผู้ขายอาหาร

     การทำตลาดของผู้ขายอาหาร คือการโฆษณาส่งเสริมการขายอาหาร อาหารที่โฆษณาจำนวนมากมีปริมาณน้ำตาล เกลือ และไขมันอิ่มตัวมากเกินไป จนทำให้รูปแบบของการกินอาหารที่ดีเสียไป การทำตลาดให้อาหารมีหลายวิธีเช่น

     (1) การสร้างตราให้คุ้นเคย

     (2) การเป็นสปอนเซอร์โอกาศพิเศษและเทศกาลต่างๆ

     (3) การเอาดารามาช่วยขาย

     (4) การแข่งขันหรือลดแลกแจกแุถม

     (5) การโพสต์ทางโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์ พินเทอเรสท์ เฟซบุ้ค อินสตาแกรม ทีวี วิทยุ อินเตอร์เน็ท โฆษณาก่อนหนังฉาย ในแมกกาซีน ในวิดิโอดนตรี

     รูปแบบใหม่ๆของวิธีโพสต์เพื่อส่งเสริมการขายมักทำแบบแนบเนียนจนยากจะรู้ได้ว่านี่เป็นการโฆษณาหรือส่งเสริมการขาย บางครั้งการทำตลาดเจาะจงมาที่ตัวคุณเพราะคุณมีข้อมูลส่วนตัวที่เป็นเป้าของตลาดอาหารนั้นเช่น เพศ อายุ ประวัติการซื้อของ ประวัติการเบร้าส์เว็บ

     การทำตลาดให้อาหารมีผลต่อการเลือกอาหารของคุณอย่างไร

     การทำตลาดให้อาหารวนเวียนอยู่รอบตัวเราตลอดเวลา มันออกแบบมาเพื่อสร้างแนวโน้มหรือค่านิยมทางอาหาร กระตุ้นให้คุณซื้อ ล่อให้คุณอยากได้ลดแลกแจกแถม คะแนนสะสม ตั๋วหนังตั๋วดนตรีกีฬา คูปองซื้ออาหารในอนาคต สร้างความซื่อสัตย์ต่อตราให้คุณให้คุณอยากซื้อของเขาตลอดไป

     ประโยชน์ของการรู้ทันการทำตลาดให้อาหาร

     การรู้ท้นการทำตลาดของผู้ขายอาหารถือเป็นทักษะทางอาหารที่ช่วยให้คุณ

     (1) รู้ว่าเมื่อใดที่อาหารกำลังถูกเสนอหรือยัดเยียดขายให้คุณ

     (2) ต้ดสินใจใช้ข้อมูลบนฉลากมากกว่าอาศัยข่าวสารจากการทำตลาด

     (3) สอนคนใกล้ชิดที่อาจตกเป็นเหยื่อของการทำตลาดให้อาหารได้ง่าย

     วิธีไม่เสียรู้ให้กับการทำตลาดของผู้ขายอาหาร

     (1) ใช้ข้อมูลบนฉลากเสมอ

     (2) ตั้งใจไปจากบ้านว่าจะซื้ออะไรบ้าง แล้วซื้อแค่นั้น

     (3) ถามตัวเองว่าทำไมต้องซื้ออาหารหรือเครื่องดื่มนี้

        - เพื่อความเท่
        - เพื่อสุขภาพ
        - เพื่อให้มีอารมณ์ดี
   
     (4) ถามตัวเองว่าข้อมูลอาหารนี้มาสู่คุณทางไหน

        - โพสต์จากบล็อกที่มีสปอนเซอร์
        - ดารามาชักจูงให้ทำตาม
        - โฆษณา
        - ข้อมูลจากตัวผลิตภัณฑ์เอง

     ทำอย่างไรจึงจะถูกโฆษณาจี้น้อยลง

     (1) อยู่กับจอให้น้อยลง

     (2) หลีกเลี่ยงหน้าจอที่มีโฆษณา

     (3) ดาวน์โหลดซอฟท์แวร์ที่กลั่นกรองโฆษณา

     (4) เรียนรู้สักหน่อยว่าจะป้องกันไพรเวซีของตัวเองได้อย่างไร

         - ประวัติการเบราส์เว็บของคุณถูกใช้ไปล้อคเป้าการโฆษณามาที่คุณได้อย่างไร

         - ก่อนที่คุณจะแชร์อะไร ถามตัวเองหน่อยว่าคุณอยากจะแชร์โฆษณาอาหารเครื่องดื่มนี้จริงหรือเปล่า

         - คุยกับคนรอบตัวว่าโฆษณามีผลต่อคุณและเขาอย่างไรบ้าง เคยไหมที่ซื้อของไปโดยที่ไม่ได้ตั้งใจจะซื้อ ทำไม แล้วยุทธวิธีอะไรที่คุณใช้ไม่ให้โฆษณาอาหารโจมตีคุณได้ง่ายเกินไป

     2. นิสัยการรับประทานอาหาร

     การทานอาหารเพื่อสุขภาพไม่ใช่แค่จะทานอะไร แต่รวมถึงจะทานที่ไหน เมื่อไร ทำไม อย่างไร ด้วย ซึ่งรวมถึงประเด็น

     2.1 การกินอาหารอย่างมีสติ 

     รู้ตัวเสมอว่าคุณกินอย่างไร ทำไม กินอะไร เมื่อไหร่ ที่ไหน มากแค่ไหน การกินอย่างมีสติช่วยให้ (1) เลือกทานแต่อาหารที่ดีได้ (2) เปลี่ยนนิสัยการกินไปทางบวก (3) รู้ตัวเมื่อจะตัดสินใจทานอาหาร (4) เชื่อมโยงการรับประทานอาหารเข้ากับความรู้ตัวในเรื่องความรู้สึกบนร่างกาย ความคิด อารมณ์ พฤติกรรม

     2.2 จะสร้างนิสัยกินอาหารอย่างมีสติได้อย่างไร

     คุณควรสร้างสิ่งแวดล้อมการกินอาหารไปในทางให้มีสุขภาพดี ซึ่งขึ้นกับการใช้ชีวิต การเรียน การทำงาน การเล่น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้การเลือกอะไรที่ทำให้สุขภาพดีเป็นทางเลือกที่ทำได้ง่าย

     2.3ใช้เซ็นส์ของคุณ

     มีสติกับการกิน ใส่ใจกลิ่น เท็กซเจอร์ รส

     นึกถึงการกินที่ผ่านไป คุณกินอย่างไร ช้าไหม ใจลอยไหม กินกับใคร ทำไมจึงกิน เพราะหิวหรือเปล่า หรือมีใครยัดเยียดให้ กินเวลาไหน ครั้งสุดท้ายกินอาหารนี้เมื่อไหร่ ตั้งใจจะกินหรือเปล่า

     กินช้าๆ สังเกตความหิว ความอิ่ม

     3. เข้าครัวทำอาหารบ่อยๆ

     การทำอาหารทำให้คุณพัฒนานิสัยการกินที่ดี การทำอาหารทำให้คุณ

     (1) เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ

     (2) พึ่งอาหารที่ต้องผ่านกระบวนการปรับแต่งและถนอมน้อยลง

     (3) ควบคุมปริมาณเกลือ น้ำตาล และเครื่องปรุงได้

     (4) ทำอาหารที่คุณและครอบครัวชอบ

     (5) ประหยัดเงิน

     (6) เลือกวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผลไม้ ผัก ธัญพืชไม่ขัดสี

     (7) เมื่อจะเลือกอาหารโปรตีนก็สามารถเลือกโปรตีนจากพืชได้มากที่สุด

     3.1 ทำอย่างไรจึงจะเข้าครัวได้บ่อย

     (1) เรียนรู้ที่จะทำอาหารให้ได้เร็วขึ้นและง่ายขึ้น

     (2) ทำครั้งเดียวทานสองมื้อ แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเหมือนกันเพะทั้งสองมื้อ

     (3) เอาอาหารเหลือมาใส่นวัตกรรมให้เป็นอาหารใหม่

     - หุงข้าว เผื่อไว้ทำข้าวต้มถั่วธัญพืช

     - ปรุงไก่ไว้เผื่อทำสลัดมื้อหน้า

     - ทำอาหารตั้งต้นรสง่ายๆเรียบๆ จะได้ทานได้หลายมื้อด้วยการใช้เครื่องปรุงปรับรสในมื้อถัดไป

     - ทำอาหาร หั่นผักผลไม้เผื่อเป็นอาหารว่างด้วย

     - ทำอาหารหม้อใหญ่วันหยุด แล้วตักเป็นแพ็คเล็กๆแช่แข็งไว้อุ่นกินวันทำงาน เช่นข้าวต้ม ซุป สตู

     - ใช้เครื่องทุ่นแรงในครัว

     - ทำน้ำสต็อคไว้

     - มีผักสลัดใส่ถุงไว้พร้อมเสมอ


     3.2 วิธีปรุงโดยไม่ใช้น้ำมัน

     เปลี่ยนมาปรุงอาหารโดยไม่ใช้น้ำมัน เช่นใช้วิธี อบ ต้ม นึ่ง ย่าง ตุ๋น

     3.3 การสนุกกับการทำอาหาร จะทำให้

    - รับรู้รสใหม่ๆ

     - เปิดให้ทดลองอาหารใหม่

     - สร้างทัศนคติอาหารสุขภาพ

     - สนุกกับการช้อป

     - สนุกกับการทำอาหาร

     - สนุกกับการปลูกและเก็บเกี่ยวอาหาร

     - สนุกกับการแลกเปลี่ยนกับคนอื่น

     - วางแผนช่วยกันทำช่วยกันเก็บล้าง

     3.4 ทำอย่างไรจึงจะสนุกกับอาหาร

     - เลือกอาหารสุขภาพที่รสดี

     - มีวัฒนธรรมอาหารที่ดี

     - วางงบประมาณ

     - ปรับให้ไลฟ์สไตล์แบบไหนก็สนุกกับอาหารได้

     - เรียนรู้ทดลองอาหารใหม่

     - สร้างสิ่งแวดล้อมทางบวกในการกิน เช่น กินกับเพื่อน กินในที่ที่น่ารื่นรมย์ กินโดยมีดนตรีเป็นแบคกราวด์

     3.5 ประโยชน์ของการกินอาหารกับคนอื่น

     - มีเวลาคุณภาพด้วยกัน

     - แชร์อาหาร ประเพณี วัฒนธรรม

     - ได้สำรวจอาหารใหม่

     3.6 ทำอย่างไรจึงจะกินด้วยกันได้มากขึ้น

     - นัดกินอาหารเช้ากับเพื่อน

     - ร่วมงานฉลองชุมชน

     - มีมื้อร่วมกันของเพื่อนบ้านเป็นประจำ

     - มื้อกลางวันกับเพื่อนร่วงงาน

     - สร้างวงสังสรรค์ในผู้สูงอายะโดยใช้อาหารสุขภาพเป็นสื่อ

.............................................................

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Government of Canada. Canada Food Guide 2019. Accessed on February 12, 2019 at https://food-guide.canada.ca/en/

[อ่านต่อ...]