28 กันยายน 2566

โรคทรุดโทรมจากการเดินทาง (Travel Fatigue)

(ภาพวันนี้ / ลูกตีนเป็ดฝรั่ง)

ฝากคำถามถามคุณหมอดังนี้ค่ะ

ดิฉันอายุ 64 ปีค่ะ มีปัญหาเรื่องนอนไม่ค่อยหลับ แต่อาศัยฟังคุณหมอก็เลยออกกำลังกายออกแดด ก็ถ้าอยู่เมืองไทยจะนอนหลับสบายดี แต่ทุกครั้งที่เดินทางไปต่างประเทศจะต้องใช้ยาช่วยในการนอนหลับ เป็นยาคลายกังวลชื่อยาว่า Amitriptyline ทานทุกคืนที่ค้างต่างประเทศแล้วไปเที่ยวต่างประเทศทุกเดือน เดือนนึงค้างคืนประมาณห้าคืนถึง 10 คืนจะเป็นอันตรายไหมคะ แต่ว่ากลับถึงเมืองไทยแล้วนอนหลับปกติไม่ต้องใช้ยาช่วยเลยค่ะ

……………………………………………………..

ตอบครับ

มันเป็นธรรมดาว่าการเดินทางย่อมจะสร้างความทรุดโทรมให้ร่างกาย (travel fatigue) ทำให้เหนื่อย ปวดหัว ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นกับการเดินทางทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นรถ เรือ เครื่องบิน โดยไม่เกี่ยวอะไรกับอาการเมาเครื่องบินหรือ jet lag เลย

โรคทรุดโทรมจากการเดินมักจะแสดงอาการด้วย

  • มีปัญหากับการนอนหลับ หลับไม่ลง หลับไม่สนิท ตื่นเร็ว
  • อ่อนเพลียเปลี้ยล้าในช่วงเวลากลางวัน
  • สมองไม่เฉียบ จดจ่อความสนใจไม่ได้
  • ท้องไส้ปั่นป่วน ท้องผูก ท้องเสีย ความหิวความอิ่มรวน
  • มีความรู้สึกว่าตัวเองกำลังป่วย กำลังไม่สบาย
  • อารมณ์แปรปรวน

ยิ่งถ้าเป็นการเดินทางด้วยเครื่องบิน ความดันบรรยากาศในเครื่องบินเป็นเหตุร่วมอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการทรุดโทรม ไม่ว่าจะข้าม time zone หรือไม่ การขาดน้ำเพราะอากาศในเครื่องบินแห้งก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง

ส่วนอาการเมาเครื่องบิน (jet lag) นั้นจะเข้ามาผสมโรงเมื่อเดินทางข้าม 2 time zone ขึ้นไป โดยระยะเวลาเมานานกี่วันคำนวณได้จากเกณฑ์ของ AASM ซึ่งกำหนดมาตรฐานคำนวนว่าจะเมาไปนาน 1-1.5 วันต่อหนึ่ง time zone ที่บินข้าม ยิ่งเป็นการเดินทางจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก (สูญเสียเวลา) อาการจะยิ่งมาก ยิ่งบินบ่อยยิ่งเป็นมาก ยิ่งแก่ยิ่งเป็นมากกว่าและเป็นนานกว่า ดังนั้นถ้ารักจะมาท่องเที่ยวเอาตอนแก่ก็ต้องทำใจกับเรื่องนี้

ถามว่ากินยา Amitriptylene เป็นอันตรายไหม ตอบว่ามันก็ไม่ถึงกับอันตรายมากมายดอก แต่ถ้ากินมากๆนานๆมันทำให้สมองเสื่อมได้

ถามว่าจะป้องกันและรักษาโรคทรุดโทรมจากการเดินทางอย่างไร ตอบว่าให้ทำดังนี้

1.. ก่อนออกเดินทางให้ฟิตตัวเอง ออกกำลังกาย เล่นกล้าม พักผ่อน นอนหลับให้เต็มที่ ห้ามอดนอน

2.. ถ้าวางแผนให้ไปถึงก่อนสักสองสามวันให้เวลาร่างกายปรับตัวแล้วค่อยไปลุยเที่ยวได้ก็จะดี

3.. ค่อยๆปรับเวลานอนก่อนออกเดินทาง ถ้าบินจากตะวันตกไปตะวันออกให้ฝึกเข้านอนเร็วขึ้นวันละ 1 ชั่วโมงสองสามวันก่อนการเดินทาง ถ้าเดินทางจากตะวันออกไปตะวันตกก็ฝึกเข้านอนให้ช้าลงวันละ 1 ชั่วโมงสองสามวันก่อนการเดินทาง

4.. ถ้าไม่ขี้เหนียวจนถึงขนาดไม่ควรเกี่ยงเรื่องราคาค่าตั๋ว เพราะตั๋วจะตั้งราคาตามความทรุดโทรมของร่างกายที่จะเกิดกับผู้เดินทางในเที่ยวบินนั้น หากแม้นเลือกได้ถ้าบินจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก ควรเลือกเที่ยวบินที่ไปถึงตอนบ่ายดีกว่าไปถึงตอนเช้า

5.. จงใจออกแดด ถ้าเดินทางจากตะวันออกไปตะวันตก ให้ออกแดดตอนเย็นเพื่อให้สมองปรับตัวกับเวลาที่เลื่อนออกไป ถ้าเดินทางจากตะวันตกไปตะวันออก ให้ออกแดดตอนเช้าเพื่อเตรียมสมองสำหรับเวลาที่จะเลื่อนเข้ามาเร็วขึ้น แต่ถ้าเดินทางข้าม time zone มากถึง 8 zone ขึ้นไป สมองจะแยกไม่ออกระหว่างแดดเช้ากับแดดเย็น ดังนั้นหากเดินทางจากตะวันตกไปตะวันออกควรสวมแว่นกันแดดตอนเช้า หากเดินทางจากตะวันออกไปตะวันตก ควรสวมแว่นกันแดดตอนเย็นในช่วงสามสี่วันแรกที่ร่างกายยังปรับตัวไม่ได้

6.. ถ้าเดินทางระสั้นไม่เกินสามสี่วันควรตั้งนาฬิกาและใช้ชีวิตเสมือนอยู่ที่บ้าน จะได้ไม่ต้องปรับตัวกลับไปกลับมา แต่ถ้าเดินทางระยะยาวควรตั้งนาฬิกาและใช้ชีวิตแบบเมืองปลายทางที่จะไปเสียตั้งแต่สองสามวันก่อนออกเดินทาง ปรับเวลานอนและเวลากินอาหารตามนาฬิกาใหม่ เมื่ออยู่บนเครื่องบิน หากที่เมืองปลายทางเป็นเวลานอนหลับก็ให้นอนหลับ หลีกเลี่ยงแอลกอฮอลและคาเฟอีนเพราะจะยิ่งทำให้ขาดน้ำและยิ่งทำให้นอนไม่หลับ ใช้จุกยางอุดหู ผ้าปิดตา จะช่วยให้หลับง่ายขึ้น แต่ถ้าเมืองปลายทางเป็นเวลาตื่น อย่านอนหลับ ให้ถ่างตาตื่นด้วยการดูหนังฟังเพลงเข้าไว้

7.. ขณะเดินทาง ทุกหนึ่งหรือสองชั่วโมงควรลุกขึ้นยืนขึ้นขยับแข้งขาให้ร่างกายได้ทำงานแบบปกติบ้าง เมื่อไปถึงที่หมายแล้วให้รีบไปออกกำลังกายกลางแจ้ง ตัวหมอสันต์เองทำแบบนี้แม้แค่ขับรถจากมวกเหล็กมาบ้านกรุงเทพ มาถึงแล้วจะยังไม่รีบเข้าบ้าน แต่ไปออกกำลังกายที่สนามก่อน

8.. เมื่อไปถึงแล้วหากต้องขับรถ ให้ระวังอุบัติเหตุเป็นพิเศษ สำหรับคนอายุมากการขับรถหลังการเดินทางไกลสมรรถนะร่างกายจะลดลงไปจากเดิมมาก ยังไม่นับกฎจราจรที่ไม่เหมือนกันอีกต่างหาก ตัวผมเองเวลาไปเมืองนอกปกติชอบขับรถเอง แต่ตั้งแต่หล่นจากหลังคาลงมา เดี๋ยวนี้ไปเที่ยวเมืองนอกต้องพาลูกชายไปเป็นพลขับให้ เพราะไม่อยากพลาดท่าเสียทีซ้ำสอง

9.. การตะลอนๆเดินทางไปๆมาๆเป็นว่าเล่น ว่าไปแล้วไม่ค่อยเหมาะกับผู้สูงวัยเท่าไหร่นัก ถ้าเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยง แต่หากเป็นงานอาชีพนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตามผมขอเล่าไว้เป็นข้อมูล งานวิจัยทางการแพทย์พบว่านักบินหรือลูกเรือมักเป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรังแม้จะปลดเกษียณแล้ว นอกจากนั้นยังมีอุบัติการป่วยเป็น เบาหวาน ซึมเศร้า และมะเร็ง สูงกว่าคนทั่วไป

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

27 กันยายน 2566

มะเร็งเต้านมชนิด Triple negative ถ้าไม่เอามุมบวกไล่ความคิดลบ ก็ให้ฆ่าทุกความคิดซะเลย

(ภาพวันนี้ / บัวสวรรค์สีขาว)

เรียน อ.นพ.สันต์ 

ดิฉันอายุ 57 ปี ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมด้านซ้ายประเภท Triple negative ชนิด Metaplastic producing carcinoma grade 3 ระยะ T1,N0,M0 แต่ไม่พบว่าลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะอื่น (ตรวจทั้ง CT scan whole abdomen, Bone scan และ MRI Spinal +brain) รักษาโดย Neoadjuvant สูตร AC 4 cycles และผ่าตัดสงวนเต้า ได้ clear margin เลาะต่อมน้ำเหลือง sentinel ไม่พบการแพร่กระจายใดๆ ต่อมา ฉายแสง 16 ครั้ง tumor breast boost 4 ครั้ง ครบการรักษาไปแล้วประมาณ 1 เดือน แต่เมื่อไปพบอาจารย์แพทย์ onco ตามนัดและถามอาจารย์เรื่องโอกาส recurrence อาจารย์บอกว่า จะเป็นไปได้มากที่สุดในช่วง 1-2 ปี และถ้าผ่านไปเกิน 5 ปีแล้ว โอกาสเป็นซ้ำจะน้อยมากหรือไม่มี

ดิฉันจึงเรียนขอคำแนะนำวิธีป้องกันการ recurrence ของโรค ที่อาจารย์พบว่า น่าจะมีประสิทธิผลมากที่สุด ว่าควรจะทำอย่างไรบ้าง และอาหารเสริมต่างๆจากสมุนไพร อาจารย์มีข้อมูลและคิดเห็นว่าอย่างไร เนื่องจากประเภทมะเร็งที่เป็นค่อนข้างเกิดซ้ำได้ง่ายกว่าประเภทอื่น และเท่าที่ตามอ่านยังไม่พบบทความของอาจารย์ที่เกี่ยวกับ Triple negative breast cancer ค่ะ

ขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูง

…………………………………………………………………

ตอบครับ

ก่อนตอบคำถามผมขอนิยามศัพท์เพื่อให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นตามทันนิดหนึ่งนะ คือ

Triple negative breast cancer – TNBC หมายถึงมะเร็งเต้านมที่ผลการตรวจตัวรับฮอร์โมนสามตัวคือเอสโตรเจน (ER) โปรเจสเตอโรน (PR) และ HER2 ได้ผลว่าไม่มีตัวรับฮอร์โมนเหล่านั้นเลย ซึ่งบ่งชี้ว่าไม่สามารถใช้ยาต้านฮอร์โมน (ยาล็อคเป้า) ไปจับตัวรับเหล่านั้นเพื่อลดการเติบโตของมะเร็งได้ ซึ่งมีความหมายต่อไปอีกว่ามะเร็งชนิด triple negative เรามีอาวุธที่จะต่อสู้กับมันน้อยกว่าชนิดที่ตัวรับฮอร์โมนได้ผลบวก

Sentinel Node หมายถึงต่อมน้ำเหลืองในเต้านมที่อยู่กลางทางระหว่างต่อมน้ำเหลืองของเต้านมกับต่อมน้ำเหลืองของรักแร้ เป็นเหมือนปากทางดักจากเต้านมไปรักแร้ หากตรวจต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลนี้แล้วได้ผลลบก็ถือกันว่ายังไม่มีมะเร็งแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองในรักแร้ ไม่ต้องตามไปเลาะต่อมน้ำเหลืองในรักแร้ซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดเช่นแขนบวมเป็นต้น  การตัดต่อมน้ำเหลืองเซ็นติเนลนี้เป็นเทคนิคค่อนข้างใหม่ ต้องฉีดสีเข้าไปทางหัวนมขณะผ่าตัดเพื่อให้สีนี้ไปออกันอยู่ที่ต่อมน้ำเหลืองเซ็นติเนลให้มองเห็นง่าย หมอผ่าตัดทุกคนไม่ได้ผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองเซ็นติเนลเป็นกันทุกคน เฉพาะหมอรุ่นใหม่ๆเท่านั้นที่ทำเป็น ส่วนหมอรุ่นเก่ามักทำไม่เป็นจึงชอบเต้านมบวกเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้แบบรูดมหาราช ดังนั้นหากแฟนบล็อกหมอสันต์ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมแล้วไม่อยากผ่าตัดรุนแรงมากเกินความจำเป็นก็ควรถามถึงแผนการผ่าตัดว่าคุณหมอจะมีการเลาะต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลมาตรวจขณะผ่าหรือไม่ ถ้าคุยกันแล้วแพทย์ทำท่าไม่รู้ว่ามีต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลอยู่ในโลกนี้ก็มีทางเลือกเหลืออยู่สองทาง คือยอมรับการผ่าตัดแบบเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้แบบรูดมหาราชโดยดุษฎี หรือไม่ก็เปลี่ยนหมอ

Recurrence หมายถึงโอกาสที่มะเร็งนั้นจะกลับลุกฮือขึ้นมาเป็นใหม่อีก หลังจากที่จบการรักษาไปแล้ว

เอาละทีนี้มาตอบคำถาม

1.. ถามว่าทำไมทั้งๆที่มะเร็งยังไม่แพร่กระจาย ตัดออกไปหมดแล้ว เคมีบำบัดควบฉายแสงอีกต่างหาก แล้วทำไมจึงกลับเป็นใหม่ได้อีก ตอบว่า โห..ไม่มีใครทราบหรอกครับ ขนาดพระเจ้ายังไม่ทราบเลย (หิ หิ ขอโทษ พูดเล่น)

หมอบางกลุ่มไปไกลถึงตั้งสมมุติฐาน (เดา) ว่ามะเร็งเต้านมเป็น systemic disease แปลว่าแปลว่าโรคระดับทั่วร่างกาย เป็นกับหลายอวัยวะ หลายระบบ ยกตัวอย่างเช่นโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) ที่ทำให้หลอดเลือดตีบ พอเป็นแล้วก็ก่อปัญหาไปทั่วตัวหลายอวัยวะ ทั้งกล้ามเนื้อหัวใจตาย หลอดเลือดสมองตีบ อัมพาตอัมพฤกษ์ ความดันสูง ไตวาย เป็นต้น เป็นคำเรียกให้แตกต่างจากโรคที่เป็นปัญหาเฉพาะที่เฉพาะอวัยวะเช่นหลอดลมอักเสบเป็นการติดเชื้อเฉพาะที่หลอดลม เชื้อหมดก็จบ ไม่ไปรบกวนระบบอื่นหรืออวัยวะอื่น การตั้งข้อสันนิษฐานเช่นนี้มันเกิดจากข้อมูลสถิติที่ว่าเดี๋ยวนี้มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่หญิงเป็นกันมากที่สุด  (23% ของมะเร็งทั้งหมด) และเป็นมะเร็งที่ทำให้เสียชีวิตมากที่สุด (14% ของการตายจากมะเร็งทั้งหมด) เป็นกันทั่วโลกไม่ว่ายากดีมีจน ไม่ว่าคนไข้หรือตัวหมอเอง การรักษามะเร็งเต้านมทุกวันนี้การตัดออกให้หมดเป็นเรื่องง่าย แต่การป้องกันการแพร่กระจายนั้นยาก ทั้งๆตอนตัดก็ว่าเกลี้ยงเกลาดีแล้วแต่ 30% กลับแพร่กระจายขึ้นมาใหม่หลังจากเงียบไปนานหลายปีหรือหลายสิบปี มิใยที่จะให้การรักษาควบด้วยเคมีบำบัด ยาล็อคเป้า(targeted Rx) และรังสีรักษาก็ตาม ข้อสันนิษฐานที่ว่าโรคมะเร็งเต้านมเป็นโรคแบบ systemic นี้ไม่มีหลักฐานยืนยันดอก หลักฐานในคนนับถึงปัจจุบันนี้เราทราบเพียงแต่ว่ามีการพบเซลมะเร็งเต้านมล่องลอยอยู่ในเลือดจริงแต่มันไม่สัมพันธ์กับอัตราการเกิดแพร่กระจายหรือกลับเป็นซ้ำ มีการพบเซลมะเร็งเต้านมซุ่มเงียบอยู่ในไขกระดูกจริง แต่ก็ไม่สัมพันธ์กับอัตราการแพร่ ส่วนหลักฐานในสัตว์นั้นมีการทดลองเอาเซลมะเร็งเต้านมชนิดก้าวร้าวไปปลูกบนผิวหนังที่สีข้างด้านหนึ่งของหนูตัวหนึ่ง แล้วเอาเซลมะเร็งชนิดสงบเสงี่ยมไม่ก้าวร้าวไปปลูกที่ผิวหนังหนูตัวเดียวกันแต่ที่สีข้างอีกด้านหนึ่ง แล้วตามดูก็พบว่าเซลมะเร็งแบบก้าวร้าวสามารถ “เสี้ยม” ให้เซลแบบสงบเสงี่ยมที่อยู่ห่างไกลกันคนละซีกของร่างกายให้กลายเป็นมะเร็งแบบก้าวร้าวขึ้นมาได้ ทั้งนี้มีหลักฐานว่าการเสี้ยมหรือ instigation นี้ทำโดยเซลมะเร็งก้าวร้าวใช้วิธีปล่อยโมเลกุลข่าวสารอะไรสักอย่าง (ซึ่งวงการแพทย์ยังหาไม่พบ) ไปตามกระแสเลือด ไปกระตุ้นให้เซลไขกระดูกผลิตเซลต้นแบบของเยื่อบุหลอดเลือดและเยื่อเกี่ยวพันให้ไปช่วยให้เซลมะเร็งที่สงบเสงี่ยมกลายเป็นเซลก้าวร้าวเติบโตเป็นก้อนมะเร็งขึ้นมาได้ ก็จึงคาดเดากันต่อไปอีกว่ามีความเป็นไปได้ที่แม้ตัดก้อนมะเร็งที่เต้านมออกไปหมดแล้วแต่เซลมะเร็งที่ซุ่มอยู่ที่อื่นอาจส่ง “ซิก” ให้เซลดีๆเต้านมเกิดคึกกลายเป็นมะเร็งก้าวร้าวขึ้นมาได้อีก ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการเดา

2. ถามว่ามีวิธีกินวิธีอยู่อย่างไรที่จะช่วยลดการกลับเป็นใหม่ของมะเร็งเต้านมได้ไหม จากข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างการเป็นมะเร็งเต้านมกับการอ้วน การกินเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมาก การไม่ออกกำลังกาย การกินพืชน้อย และความเครียดเรื้อรัง ผมตอบคุณได้ว่าคุณจะป้องกันการกลับเป็นมะเร็งเต้านมได้จากการปรับวิธีกินวิธีใช้ชีวิตไปในทิศทางที่ (1) หากอ้วนให้ลดน้ำหนักลง (2) เลิกกินเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อสัตว์ในรูปของไส้กรอก เบคอน แฮม (3) กินพืชเป็นหลัก ผัก ผลไม้ ถั่ว งา นัท ธัญพืชไม่ขัดสี (4) ออกกำลังกายสม่ำเสมอ (5) จัดการความเครียด

3.. ถามว่ามีสมุนไพรอะไรจะป้องกันการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านมได้ไหม ตอบว่าตามความรู้ของแพทย์แผนปัจจุบันในขณะนี้ยังไม่มีพืชชนิดไหนที่มีหลักฐานว่าลดการเป็นหรือการกลับเป็นของมะเร็งเต้านมได้ครับ ส่วนข้อมูลของการแพทย์แผนอื่น (alternative) นั้น ผมไม่ทราบจริงๆ ตรงนี้ผมขอถือโอกาสชี้แจงแถลงไขเสียด้วยเลย คือคนจำนวนหนึ่งเข้าใจว่าหมอสันต์เป็นแพทย์แผน alternative medicine คือรู้เรื่องอื่นที่แพทย์แผนปัจจุบันไม่รู้ ความเป็นจริงก็คือหมอสันต์เป็นแพทย์แผนปัจจุบันอย่างเดียวซึ่งรู้แต่ความรู้ของวิชาแพทย์แผนปัจจุบันที่ได้จากการวิจัยเปรียบเทียบเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่มุมที่ผู้ป่วยจะใช้ดูแลดตัวเองได้ แม้วิชาเวชศาสตร์วิถีชีวิตที่หมอสันต์ถนัดนั้นก็เป็นวิชาแพทย์แผนปัจจุบัน ส่วนความรู้แผนอื่นนั้นไม่ว่าจะเป็นแผนไทย แผนจีน สมุนไพร ฝังเข็ม อายุรเวดะ หมอสันต์ไม่รู้เรื่องเลย..ทั้งสิ้น

4. ถามว่าทำไมหมอสันต์ไม่เคยพูดถึงมะเร็งเต้านมชนิด triple negative ตอบว่าปกติผมจะพูดถึงเรื่องอะไรก็ต่อเมื่อมีคนถาม มะเร็งชนิด triple negative มันเป็นมะเร็งชนิดหายาก มีคนเป็นน้อย จึงไม่มีใครถามมา คุณเป็นคนแรกที่ถาม

ผมเดาใจว่าคุณกังวลว่ามะเร็งชนิด triple negative เป็นมะเร็งชนิดที่แรงกว่า มีการพยากรณ์โรคที่แย่กว่ามะเร็งชนิดอื่น การปะติดปะต่อข้อมูลแบบนี้จะทำให้คุณใจเสียและทุกข์ฟรี ผมแนะนำว่าในการจะออกจากความกังวลนี้ให้คุณทำในทั้งสองระดับ คือ

ระดับที่ 1. ในระดับความคิด ให้คุณมองหามุมที่มันเป็นบวกเอามาไว้ไล่ความคิดลบ อย่าไปใจเสียเพราะคำพูดคนอื่น เพราะบ้างพูดว่า

โอ้โฮ.. หมอบอกว่าเป็นมะเร็งระยะที่ 3 เลยหรือ ให้มองว่าของคุณเนี่ยไม่มีหลักฐานการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองเลยนะ และยังไม่ได้รุกออกไปไหนเลย มันยังอยู่ในที่ตั้ง ข้อมูลจริงอีกด้านหนึ่งมีอยู่ว่าที่มะเร็งเต้านมทุกชนิดที่ยังอยู่ในที่ตั้ง มีอัตรารอดชีวิตใน 5 ปีข้างหน้า = 98.6% เลยทีเดียว ซึ่งก็คือเท่ากับคนปกติที่ไม่ได้เป็นมะเร็ง

หรือบ้างก็พูดว่า

โอ้โฮ.. เป็นมะเร็งชนิด triple negative เลยหรือ มันไม่มียาล็อคเป้ามาช่วยนะ ข้อมูลจริงอีกด้านหนึ่งมีอยู่ว่า FDA สหรัฐได้อนุมัติยาล็อคเป้าที่ออกฤทธิ์เป็นแอนตี้บอดี้ซึ่งเจาะจงทำลายมะเร็งชนิดนี้ออกมาใช้กับผู้ป่วยที่เกิด recurrence แล้ว ดังนั้นอนาคตหากมันกลับเป็นขึ้นมาจริงๆมันก็มีตัวช่วยให้อุ่นใจอยู่ ไม่ใช่ไม่มี

หรือบ้างก็พูดว่า

โอ้โฮ.. เขาว่ามะเร็งชนิด triple negative นี่เป็นชนิดร้ายแรงนะ แต่ว่าข้อมูลจริงมันไม่ใช่อย่างนั้นดอก หากไม่นับว่าใช้หรือไม่ใช้ยาล็อกเป้า มะเร็งชนิดที่ไม่มีตัวรับฮอร์โมนไม่ได้มีความรุนแรงแตกต่างจากชนิดมีตัวรับฮอร์โมน ผมยกตัวอย่างงานวิจัยเล็กๆสองงาน

งานวิจัยที่ 1. ติดตามคนไข้ Her2 +ve จำนวน 113 คน พบว่าอัตรารอดชีวิตในห้าปีเท่ากับ 38.0%

งานวิจัยที่ 2. ติดตามคนไข้ Her2 -ve จำนวน 62 คน พบว่าอัตรารอดชีวิตในห้าปีเท่ากับ  12.3%

จะเห็นว่ามะเร็งชนิด negative ไม่ได้แย่กว่าแต่อย่างใด

ระดับที่ 2. ในระดับความหลุดพ้น ให้คุณฝึกวางความคิด หรือ “ฆ่าทุกความคิด ทันทีที่มันเกิดขึ้น” ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญกว่ายาล็อคเป้าหรืออะไรอื่นทั้งสิ้น จำคำพูดของผมไว้ว่า สำหรับคนเป็นมะเร็ง ตัวทำร้ายเราไม่ใช่มะเร็ง แต่คือความคิดของเราเอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Redig AJ, McAllister SS (Brigham and Women’s Hospital, Harvard Medical School, Boston, MA, USA; Harvard Stem Cell Institute, Boston, MA, USA; Broad Institute of Harvard and MIT, Cambridge, MA, USA). Breast cancer as a systemic disease: a view of metastasis (Review). J Intern Med 2013;274:113–126.
  2. Elkabets M, Gifford AM, Scheel C et al. Human tumors instigate granulin-expressing hematopoietic cells that promote malignancy by activating stromal fibroblasts in mice. J Clin Invest 2011; 121: 784–99.
  3. Kuznetsov HS, Marsh T, Markens BA et al. Identification of luminal breast cancers that establish a tumor supportive macroenvironment defined by pro-angiogenic platelets and bone marrow derived cells. Cancer Discov 2012; 2: 1150–65
  4. Solomayer EF, Diel IJ, Krempien B et al. Results of iliac crest biopsies taken from 1465 patients with primary breast cancer. J Cancer Res Clin Oncol 1998; 124: 44–8.
  5. Sanpaolo P, Barbieri V, Genovesi D. Prognostic value of breast cancer subtypes on breast cancer specific survival, distant metastases and local relapse rates in conservatively managed early stage breast cancer: a retrospective clinical study. Eur J Surg Oncol 2011; 37: 876–82.
  6. Visvanathan K, Chlebowski RT, Hurley P, Col NF, Ropka M, Collyar D, et al. American Society of Clinical Oncology clinical practice guideline update on the use of pharmacologic interventions including tamoxifen, raloxifene, and aromatase inhibition for breast cancer risk reduction. J Clin Oncol. Jul 1 2009;27(19):3235-58.
[อ่านต่อ...]

26 กันยายน 2566

เรื่องต้มจับฉ่าย และหลักหกประการของการกินที่ดี

เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ

ผมติดตามเป็น FC คุณหมอมาระยะหนึ่งทาง Youtube ครับ และชอบสิ่งที่คุณหมอสอนมาตลอด ผมอายุ 68 แล้วครับ สุขภาพโดยรวมแข็งแรงดีครับ น้ำตาลดี หัวใจดี คอเลสเตอรัล OK ไม่มีโรคประจำตัวมาตลอด จนกระทั้งตัวเองมาพบโรคเข้าจนได้ ธรรมดาผมวัดความดันที่โรงพยาบาลกับที่บ้านเปรียบเทียบกันตลอดมา เพราะรู้อย่างคุณหมอบอกว่า ที่ โรงพยาบาลจะสูงกว่า เพราะ White Coat Syndrome วัดได้ 150/95 บ้าง 155/97 บ้างแต่ถ้าวัดที่บ้านก็ 138/85 131/88 บ้าง คือผมยอมรับครับว่าความดันผมปริ่มๆจะเป็นไม่เป็นแหร่ แต่ล่าสุดไปตรวจร่างกายประจำปี ค่าไตสูงขึ้น Critinine จาก 4-5 ปีที่เคยมีค่าอยู่ที่ 1.38, 1.39 มาเป็น 1.41 คุณหมอเลยให้ไปติดตามกับหมอไตครับ และพบว่าผมมีค่าความดันสูงขึ้นด้วย ครั้งล่าสุดเจอว่าความดันสูง (วัดที่ ร.พ. 151/100 160/99 และพอกลับมาวัดที่บ้าน 150/95, 151/98 ซึ่งไม่เคยเป็นมาก่อน) หมอจึงเริ่มให้ยา Favotan 5/50 mg มาทาน วันละเม็ด แต่หลังจากได้ฟัง Podcast ของคุณหมอเรื่อง “รักษาโรคความดันด้วยตัวเอง” ผมก็อยากลองทำอย่างที่คุณหมอแนะนำ 5 หัวข้อ เพื่อไม่ต้องกินยา

  1. ลดความอ้วน
  2. ออกกำลังสม่ำ เสมอ
  3. กินผักเป็นวัว เป็นควาย
  4. ลดเค็ม
  5. ลดความเครียด

ข้อ 1, 2 ผมผ่านครับ  ผมถือว่าผมไม่อ้วนครับ สูง175 ซม หนัก 72.5 ออกกำลังอาทิตย์ละ 4-5 หน หนักสลับเบาครับ ข้อ 4 พยายามอยู่ครับ และ ข้อ 5 ก็นานๆเป็นที่ เวลาต้องมีไป Lecture ก็จะต้องเตรียมพูด เลยเครียดบ้าง ส่วนข้อ 3 ตอนนี้พยายามกินผัก และจดโน้ตตามที่คุณหมอบอกเรื่องผักอะไร จำนวนเท่าไหร่ เช่น Flax Seed และน้ำผัก ก็เริ่มแล้วครับ แต่ที่สงสัยคือ

  • ถ้าผมต้มจับฉ่าย หรือ Vegetable Soup หม้อใหญ่ไว้กินไปเรื่อยๆ ที่บ้าน ผมใส่ปิกไก่ หรือกระดูกหมูเข้าไปให้น้ำซุปมันมีรสชาติ นี่ผิดไหมครับ หรือต้องเฉพาะผักอย่างเดียวเลย
  • ไข่ลวก ไข่ต้มยังทานได้ไหมครับ

ขอบคุณคุณหมอล่วงหน้าครับ และขอบคุณที่ทำ Youtube ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และสร้างแรงบันดาลใจอย่างดีครับ เร็วๆนี้ผมอาจไปร่วม Workshop ของคุณหมอด้วยครับ

ด้วยความนับถือ

……………………………………………………….

ตอบครับ

1.. ถามว่ากินต้มจับฉ่ายเป็นอาหารประจำวัน ใส่ปีกไก่กระดูกหมูในน้ำซุปด้วย ผิดไหม ตอบว่าของอย่างนี้มันจะไปมีผิดมีถูกได้อย่างไรละครับ การปรุงอาหารเป็นลูกเล่นของแต่ละคน เครื่องปรุงก็เป็นลูกเล่นของแต่ละคน น้ำซุปหรือน้ำสต๊อกที่คุณทำขึ้นเพื่อเพิ่มรสชาติของอาหารเป็นส่วนของ “เครื่องปรุง” ซึ่งไม่ใช่ “วัตถุดิบหลัก” ของอาหาร ในมุมมองของสุขภาพผมแนะนำให้สนใจวัตถุดิบหลักของอาหารในแต่ละเมนู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่ามันเป็น “พืช” หรือมันเป็น “เนื้อสัตว์” เพราะหลักฐานวิทยาศาสตร์ปัจจุบันนี้บ่งชี้ไปทางเดียวกันกว่าหากกินพืชให้มากขึ้น กินเนื้อสัตว์ให้น้อยลง มีความสัมพันธ์กับการป่วยจากโรคเรื้อรังลดลง ดังนั้นหากทิศทางการเปลี่ยนวัตถุดิบหลักอาหารของคุณมุ่งไปทางกินพืชมากขึ้นกินสัตว์น้อยลงมันโอเคทั้งนั้นแหละ

ประเด็นปลีกย่อยสำหรับแฟนต้มจับฉ่าย ผมแนะนำว่าในการกินผักให้กินหลากหลายรูปแบบการปรุงหน่อย ไม่ใช่มีแต่รูปแบบกินต้มจับฉ่ายอย่างเดียวทั้งชาติ ควรกินแบบต้มจับฉ่ายบ้าง กินแบบสลัดหรือแบบน้ำพริกผักจิ้มบ้าง สลับกันไป เพราะในมุมมองของสารอาหาร (nutrient) โฟเลทเป็นสารอาหารตัวหนึ่งที่มีมากในผักและผลไม้สด แต่จะลดจำนวนลงเหลือน้อยเมื่อเราใช้ความร้อนทำอาหาร ยิ่งใช้ความร้อนนานโฟเลทยิ่งเหลือน้อย ในงานวิจัยของกองโภชนาการ กรมอนามัย โฟเลทในต้มจับฉ่ายจะหายไปได้ถึง 95% ดังนั้นการชอบกินต้มจ้บฉ่ายเป็นประจำนั้นโอเคไม่มีปัญหาอะไรเพราะเราได้คุณประโยชน์ของพืชซึ่งมีมากมายในจับฉ่ายอยู่แล้ว แต่ควรกินผลไม้และผักสดจากเมนูอื่นด้วยสลับกันไป

2.. ถามว่าไข่ลวกไข่ต้มกินได้ไหม ตอบว่า อ้าว..ว ทำไมจะกินไม่ได้ละ ถ้าคุณกินไข่ต้มตำรวจที่ไหนจะไปจับคุณหรือครับ คืออาหารของมนุษยเรานี้มันไม่มีอันไหนที่ดีเลิศสมบูรณ์แบบ (superfood) และไม่มีอาหารไหนที่เลวสมบูรณ์แบบชนิดที่กินไม่ได้เลย อย่าไปบ้าคอนเซ็พท์แบบว่านี่กินไม่ได้เพราะเขาว่าอย่างนั้น นั่นกินไม่ได้เพราะเขาว่าอย่างนี้ อาการอย่างนั้นเป็นความเจ็บป่วยทางใจชนิดหนึ่งเรียกว่า food aversion ซึ่งจะนำไปสู่ความเจ็บป่วยทางกายอื่นๆตามมา

ผมแนะนำให้ถือหลักในการกินเพื่อสุขภาพหกประการ คือ

ข้อแรก กินพืชเป็นหลัก กินเนื้อสัตว์น้อยๆ

ข้อสอง คือกินให้หลากหลาย ทั้งหลายหลายเชิงวัตถุดิบ หลากหลายเชิงวิธีปรุงวิธีหมัก

ข้อสาม คือกินอาหารในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ

ข้อสี่ หลีกเลี่ยงอาหารที่เอาไปผ่านกระบวนการเชิงอุตสาหกรรมหรือเติมสารเคมีมากๆ (ultra-processed food) เสียจนจำหน้าไม่ได้ว่าวัตถุดิบดั้งเดิมมันคืออะไร

ข้อห้า กินแค่ใกล้จะอิ่มแล้วหยุดอย่ากินจนถึงกับอิ่มแปร้

ข้อหก หาเรื่องอดอาหารบ้างก็ดี เช่นหากน้ำหนักมากก็ลองงดมื้อเย็นดูบ้าง เป็นต้น

กลับมาเรื่องไข่ต้ม คนเขารู้กันทั่วว่าไข่เป็นอาหารที่ดีมีสารอาหารค่อนข้างครบถ้วนและเป็นอาหารหลักสำหรับคนส่วนใหญ่ งานวิจัยพบว่าคน 95% กินไข่เป็นประจำมากกว่าสัปดาห์ละเจ็ดฟองอยู่นานเป็นสิบๆปีก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่จะมีประมาณ 5% คือคนที่มีปัญหาไขมันในเลือดสูงและ/หรือเป็นเบาหวานเท่านั้นที่กินไข่มากแล้วจะทำให้โรคเป็นมากขึ้น ดังนั้นตัวชี้วัดว่าคุณควรกินไข่ได้มากแค่ไหน สัปดาห์ละกี่ฟอง ไม่ใช่ต้องรอให้หมอบอก แต่ให้ดูที่ระดับไขมัน (LDL) หรือระดับน้ำตาล (FBS) ในเลือดของคุณ (เพราะไขมันอิ่มตัวเป็นต้นเหตุของการดื้อต่ออินสุลินซึ่งเป็นปฐมเหตุของเบาหวาน) ถ้าคุณมีไขมันในเลือดสูงหรือมีน้ำตาลในเลือดสูงคุณก็ควรบันยะบันยังเรื่องการกินไข่ลง แต่ถ้าไขมันในเลือดและน้ำตาลในเลือดของคุณปกติดีด้วยอาหารอยู่แล้ว (ไม่ใช่ปกติดีด้วยยา) คุณจะกินไข่สัปดาห์ละกี่ฟองมันก็โอเคทั้งนั้นแหละครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

24 กันยายน 2566

จะรู้ได้อย่างไรว่าความคิดไหนไม่ดี ควรปล่อยไป ความคิดไหนดี ควรจับไว้

ก่อนตอบคำถามวันนี้ขอนอกเรื่องแจ้งข่าวเกี่ยวกับการซื้อหนังสือ “คัมภีร์สุขภาพดี” นิดหนึ่งว่า ตั้งแต่ 1 ตค 66 เป็นต้นไปทางไลน์เขาจะบังคับใช้ระบบจ่ายเงินใหม่ผ่านบัตรเครดิต/เดบิต และแอป mobile banking ของไลน์เอง จะไม่อนุญาตให้ผู้ซื้อโอนเงินตรงเข้าบัญชีผู้ขายแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นตั้งแต่ 1 ตค 66 เป็นต้นไป หากท่านจะซื้อหนังสือผมรบกวนให้ท่านทำรายการเองและเลือกวิธีจ่ายเงินที่ไลน์เปิดให้เลือกได้เลย หากสั่งซื้อแล้วมีปัญหาท่านก็ยังสามารถแจ้งไลน์ @healthylife ให้ช่วยแก้ปัญหาได้อยู่เหมือนเดิมครับ

………………………………………………………………….

เรียนคุณหมอ

อ่านเรื่อง space, time และ silence แล้ว เข้าใจอธิบายดีครับ เหมือนเห็นภาพได้ชัด เวลาระหว่างความคิดคือความว่างสงบเย็น อาจเป็นช่วงเวลาแว็บเดียวถ้ารู้สึกได้ก็ยังดี ยิ่งถ้าเราปล่อยไม่จับความคิดระหว่างความว่างที่เหมือนเสาประตูสองเสา ก็จะได้ช่วงความว่างสงบเย็นที่นานขึ้น

ความคิดที่วางน่าจะเป็นประเภทคิดไปก็ไม่ก่อประโยชน์ แต่ถ้าเป็นความคิดเพื่อแก้ปัญหาหรือคิดแนวทางเพื่อสร้างอนาคตจะต้องปล่อยไปหรือจับไว้ดีครับ

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าอันไหนควรจับอันไหนควรปล่อย?

………………………………………………

ตอบครับ

1.. ชื่อว่าความคิดที่โผล่ขึ้นมาในใจเรา มันแบ่งได้เป็น 3 แบบ

แบบที่ 1. Instinct (สัญชาติญาณ) เป็นวิธีสนองตอบต่อสิ่งเร้า (ด้วยการคิด) แบบอัตโนมัติ เป็นวงจรระบบประสาทอัตโนมัติที่ฝังแฝงอยู่ในร่างกายเรามาแต่อดีตอันไกลโพ้นโน่นเลยแหละ เช่นหิวแล้วเรามีความคิดอยากหาอะไรกิน ปวดอึขึ้นมาเราคิดหาที่ขับถ่าย ง่วงเราอยากหาที่นอน เห็นเพศตรงข้ามแล้วเราเกิดพลังขับดันทางเพศ เป็นตัน ข้อดีของมันคือมันทำให้เราเอาตัวรอดและดำรงเผ่าพันธ์มาได้ แต่ก็มีข้อเสียตรงที่เราเป็นสัตว์สังคมต้องรู้บันยะบันยังจึงจะอยู่ร่วมกับคนอื่นเขาได้โดยสงบสุข หากตามสัญชาติญาณไปอย่างไม่บันยะบันยังก็มักพาเราไปสู่ความเดือดร้อน

แบบที่ 2. Intellect (เชาว์ปัญญาหรือความคิดอ่าน) เป็นวิธีการคิดแบบซ้ำซากที่เราผูกขึ้นมาจากการเรียนรู้ในอดีต เป็นการคิดแบบตรรกะ มีเหตุ มีผล เช่นความคิดเชิงคณิตศาสตร์หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง มีคอนเซ็พท์เชิงสังคมประกอบ เช่นดี ชั่ว กตัญญา ยุติธรรม เป็นต้น ข้อดีก็คือมันทำให้เราใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นได้อย่างเหมาะสม ข้อเสียก็คือความที่มันคาดคำนวณเป็น ทำให้เรามักวาดภาพอนาคตที่น่ากลัวขึ้นในหัวแล้วทำให้ตัวเองเครียดโดยไม่จำเป็น

แบบที่ 3. Intuition (ปัญญาญาณ) เป็นความคิดที่ไม่เคยเกิดกับเรามาก่อน ไม่เคยเรียนรู้เรื่องนี้มาก่อน อยู่ๆก็โผล่เข้ามา แบบปิ๊ง…ง มักมาในจังหวะที่เราว่างจากความคิดสองแบบแรก มักมาในจังหวะที่ใจเราสงบเย็น อยู่เงียบๆกับธรรมชาติหรืออยู่เฉยๆคนเดียวโดยไม่ได้ตั้งใจทำอะไรเป็นพิเศษ มักนำเสนอความรู้ที่เราอยากได้อยู่พอดี ข้อเสียก็คือมันจะโผล่มาเมื่อเราไม่ได้คิดสองแบบข้างต้นอยู่เท่านั้น ซึ่งเป็นโอกาสที่น้อยมากในชีวิตปกติของคนเราที่มักจมอยู่ในความคิดตลอดเวลา

2.. ถามว่าจะมีหลักในการเลือกอย่างไรว่าความคิดไหนเป็นของดี ตอบว่าไม่ต้องห่วงเรื่องจะไม่รู้วิธีเลือก แต่ให้ห่วงเรื่องความผลีผลาม เพราะกลไกการคิดของคนเรามักเป็นแบบอัตโนมัติ เคยคิดแบบไหนก็จะคิดแบบนั้นซ้ำอีกทันทีโดยไม่มีการยั้ง ดังนั้นให้ใส่ใจตรงความสามารถที่จะยั้ง จะนิ่งไว้ก่อน อยู่นิ่งๆ อย่าผลีผลาม อย่าสนองตอบแบบอัตโนมัติ อย่ารีบ ชลอไว้ นิ่งไว้ รอไว้สักพักก่อน ให้แรงขับแบบอัตโนมัติมันสงบลงก่อน แล้วจึงค่อยวินิจฉัย แล้วค่อยสนองตอบ ทั้งนี้เพื่อลดการตกเป็นเบี้ยล่างของสัญชาติญาณและวงจรการคิดแบบอัตโนมัติซึ่งเป็นวิธีดำเนินชีวิตแบบหุ่นยนต์รุ่นโบราณ (automatron) หุ่นยนต์รุ่นใหม่แบบ AI เขาจะมีวงจรทำงานอีกแบบหนึ่ง คือเขาจะนิ่งก่อนแล้ววินิจฉัยอย่างไม่ผลีผลาม ซึ่งเขาจะเหนือกว่ามนุษย์ก็ตรงนี้แหละ

3.. ที่ผมพูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเก็บกดสัญชาติญาณ แต่ขอให้เราเป็นนายของสัญชาติญาณ เราอาจไปตามสัญชาติญาณก็ได้หากเราวินิจฉัยแล้วว่าเราได้มากกว่าเสีย เหมือนเช่นเราเลี้ยงหมาเลี้ยงแมว ถ้าเราตามใจหมาแมวตลอด มันก็จะกลายเป็นนายเรา การเลี้ยงมันก็มีแนวโน้มจะไม่สนุก ถ้าเราไม่ตามใจมันเลย การเลี้ยงก็ไม่สนุกอีกเช่นกันเพราะมันจะหงอทำอะไรต้องคอยกลัวเราจนเราเองก็พลอยหมดสนุกไปด้วย

4.. เมื่อนิ่งได้แล้วให้รีบใช้เชาวน์ปัญญาวิเคราะห์ตามตรรกะของเหตุและผลแล้วตัดสินใจเลือกทันที ในการพิจารณาเลือกนี้ควรโยงไปถึงคอนเซ็พท์หลักสามประการของชีวิตเสมอ คือ

คอนเซ็พท์ 1. Acceptance การยอมรับว่าทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราคุมไม่ได้ ถ้าไปสำคัญผิดว่าเราคุมมันได้เราเองก็จะเดือดร้อนและเลือกผิด

คอนเซ็พท์ 2. Wrong Identity การเข้าใจเรื่องอัตตาว่าไม่ใช่ของจริง ควรอวยอัตตาแค่พอให้อยู่ร่วมกับคนอื่นเขาได้ แต่ไม่อินกับอัตตามากเกินไปจนชีวิตเราอึดอัดขัดข้อ

คอนเซ็พท์ 3. Focus on Living โฟกัสที่การใช้ชีวิต(Living) คือการหายใจเข้าออกอยู่ที่ปัจจุบันขณะ อย่าไปโฟกัสที่สถานะการณ์ในชีวิต (Life situation)

5. หัดฟังหรือหยั่งดูพลังชีวิตด้วยเสมอ พลังชีวิตปรากฎในรูปของความรู้สึกกระดี๊กระด้าในใจ ความรู้สึกสังหรณ์ในใจ หรือการรับรู้ถึงพลังความเร่าร้อนซู่ซ่าบนร่างกาย ซึ่งพลังชีวิตนี้จะสนองตอบต่อสิ่งเร้าแต่ละตัวไม่เท่ากันและไม่เกี่ยวกับหลักการเหตุผล จึงต้องหัดตัดสินใจเลือกโดยเชื่อพลังชีวิตแม้บางครั้งจะขัดกับหลักของเหตุและผลหรือคอนเซ็พท์ที่สังคมพร่ำสั่งสอน การตัดสินใจตามพลังชีวิตเป็นวิธีเดียวที่จะวัดว่าความคิดนั้นเป็นปัญญาญาณของจริงหรือของปลอม ปัญญาญาณเป็นความคิดชี้นำที่บ่อยครั้งขัดแย้งกับตรรกะเหตุผล ถ้าเรากล้าหลับหูหลับตาเลือกตามไปก็จะพบว่ามักเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเสมอ ถึงบางครั้งเลือกผิดไปก็ไม่เป็นไร ชีวิตเป็นการลองผิดลองถูก อย่าไปซีเรียส

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

23 กันยายน 2566

จบแพทย์แล้วอยากเรียน Health Informatics

(ภาพวันนี้ / Grove House ที่รับแขกของเวลเนสวีแคร์)

เรียนอาจารย์สันต์ที่เคารพ

หนูเป็นนศพ.6 จบแพทย์แล้วหนูอยากจ่ายเงินใช้ทุนเพื่อไปเรียนทางด้าน Medical Informatics มากกว่าไปใช้ทุนเพื่อรอฝึกอบรมเป็นแพทย์ประจำบ้าน แต่ยังไม่เข้าใจนักว่าเขาเรียนอะไร จบมาแล้วจะทำอะไร จะมีคนจ้างให้ทำงานไหม ขอคำแนะนำจากอาจารย์ค่ะ ถ้าจะไปเรียนที่อเมริกา อาจารย์แนะนำที่ไหนคะ

ขอบพระคุณค่ะ

……………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่า Health Informatics เขาเรียนเขาสอนเรื่องอะไรกัน ตอบว่าชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าคือการควบงานด้านการแพทย์การดูแลสุขภาพเข้ากับการวิเคราะห์ข้อมูลโดยคอมพิวเตอร์ ดังนั้นเนื้อหาของมันมีสองด้าน

ด้านหนึ่ง ก็คือ เป้าหมายของการแพทย์ อันได้แก่ การควบคุมการระบาดของโรค การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ การวินิจฉัยโรค การรักษาโรค การจ่ายยา การผ่าตัดต่างๆ การฟื้นฟูสมรรถนะ

อีกด้านหนึ่ง คือ เครื่องมือและวิธีการทางคอมพิวเตอร์ที่จะวิเคราะห์ข้อมูล ในเชิงที่จะสร้างปัญญา (insight) เพื่อกรุยทางไปสู่นวัตกรรมทางการแพทย์ต่างๆ

หรือหากคุณจะมองทีละมุม มันก็มองได้สองสามมุม

มุมที่หนึ่ง มันเป็นการเล่นเกมส์ big data ผมหมายถึงการเข้าไปเล่นกับข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีอยู่แล้วเพื่อเล่นแร่แปรธาตุออกมาเป็น รูปแบบ (pattern) หรือแนวโน้ม (trend) ต่างๆที่เอาไปสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆในชีวิตจริงได้ ซึ่งวงการแพทย์ไทยยังขาดคนเล่นเกมนี้เป็น เรามีแต่ข้อมูลใหญ่ ใหญ่มาก ใหญ่ที่สุด แต่ไม่มีปัญญาจะเข้าไปเล่นกับมัน เพราะเราเล่นเป็นแต่ข้อมูลเล็กๆ กะป๊อด กะแป๊ด กะบ่อน กะแบ่น ของใครของมัน

มุมที่สอง มันเป็นการสร้างหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์หรือ artificial intelligence (AI) ขึ้นมาช่วยการทำงานดูแลสุขภาพผู้คน ผมไม่รู้ว่าเจ้าหุ่นยนต์นี้ในอนาคตสมองมันจะดีกว่าแพทย์ตัวเป็นๆสักแค่ไหน แต่ผมเชื่อว่าวันหนึ่ง 90% ของงานที่แพทย์ทำอยู่ทุกวันนี้จะถูกแทนที่โดยปัญญาประดิษฐ์

มุมที่สาม มันเป็นการสร้างฐานข้อมูลทางการแพทย์ขนาดใหญ่เก็บไว้บนก้อนเมฆ (cloud-based) หิ หิ สำหรับท่านผู้อ่านทั่วไปผมไม่ได้หมายความว่าเอาขึ้นไปไว้บนก้อนเมฆจริงๆนะครับ แต่หมายถึงการมีฐานข้อมูลที่ใหญ่มากและเข้าถึงทางอินเตอร์เน็ทได้ง่ายทันทีทุกที่ทุกเวลา อันจะทำให้ฐานข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลเชื่อมโยงกันได้ในระหว่างทุกหน่วยงานภายในประเทศแบบว่าจะย้ายจากโรงพยาบาลไหนไปโรงพยาบาลไหนไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัวกันอีกต่อไปแล้ว แถมยังเชื่อมโยงต่อไปถึงเครื่องมืออุปกรณ์ประดับกายที่แต่ละคนสวมใส่เช่นนาฬิกานับก้าว เป็นต้น (แต่ว่าก็ว่าเถอะ ความฝันแบบนี้ไม่ใช่เพิ่งมี มันมีมาตั้งแต่เริ่มเกิดคอมพิวเตอร์ สมัยนั้นผมยังเป็นแพทย์ประจำบ้านอยู่ที่เมืองนอก เวลานั่งประชุมอ่านวารสารกันก็มีคนฝันเฟื่องเรื่องนี้ให้ฟังแล้ว ห้าสิบปีผ่านไป ไวเหมือนโกหก ความฝันนี้ก็ยังคงเป็นความฝันอยู่..เหมียน..น เดิม)

อนึ่ง ผมจะขอแยกแยะให้เห็นความแตกต่างตรงนี้นิดหนึ่งนะ ว่ามันมีสองอย่างที่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว

อย่างที่หนึ่ง คือการจัดการข้อมูลสุขภาพ ( health information management) ซึ่งเป็นการเก็บเวชระเบียนผู้ป่วยแล้วควักออกมาใช้ในการให้บริการผู้ป่วยเช่นการรับไว้รักษา การจ่ายยา เป็นต้น กับ

อย่างที่สอง คือ health informatics ซึ่งเป็นการควักเอาข้อมูลเยอะแยะแป๊ะตราไก่ที่เก็บไว้ออกมาสร้างปัญญาญาณทางการแพทย์ (health care insight) แปลไทยเป็นไทยว่าปัญญาที่เราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นและคิดไม่ถึงมาก่อน ไม่ว่าจะเรียนจบด็อค หรือจบซูเปอร์ด็อค หรือเป็นแพทย์มาห้าสิบปีหกสิบปีก็ไม่เคยรู้ไม่เคยได้ยิน อุปมาแบบพระหรือหมอผีนั่งทางในแล้วอยู่ๆก็ปิ๊งรู้ขึ้นมา แต่นี่เราอาศัยคอมพิวเตอร์สร้างปัญญาญาณขึ้นมาจากข้อมูลขนาดใหญ่แทน ซึ่งเราก็หวังว่าปัญญาแบบนี้จะทำให้วงการแพทย์พ้นจากความสึ่งตึ่งทำอะไรงี่เง่าซ้ำๆซากๆทั้งที่หลักฐานก็ปรากฎอยู่ทนโท่ว่ามันไม่ได้ผลเสียที โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางแผนนโยบายทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของรัฐนั้น เราต้องการปัญญาญาณนี้อย่างยิ่ง ดังนั้นตัวหมอสันต์เองมองว่า health informatics เป็นสาขาจำเป็นเร่งด่วนของชาติ

2.. ถามว่าถ้าจะไปเรียนเรื่องนี้ในอเมริกาต้องไปเรียนที่ไหน ตอบว่าในอเมริกาสำหรับคนจบหมอแล้วเขาสอนกันแต่ในระดับเฟลโลว์ แปลว่าคุณต้องจบอเมริกันบอร์ดสาขาใดสาขาหนึ่งมาก่อน ที่เขาเปิดรับก็เช่นที่ U of Minnesota แต่ว่ามันเป็นเส้นทางยาวนานและยากเย็น ผมไม่แนะนำ

อีกวิธีหนึ่งคือไปนั่งเรียนระดับป.ตรีบ้าง ป.โทบ้าง ตามมหาลัยต่างๆซึ่งมีสอนกันเกร่อทั่วไป หรือแม้กระทั่งเรียนทางอินเตอร์เน็ท เนื้อหาของหลักสูตรแตกต่างหลากหลายสุดแล้วแต่ว่าอาจารย์ของที่นั้นๆเขาถนัดเรื่องอะไร เพราะ Health Informatics นี้เป็นเรื่องสหสาขาโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว มันจึงโย้ไปทางนั้นก็ได้ทางนี้ก็ได้ตามความถนัดของแต่ละสถาบันแต่ละผู้สอน

3.. ถามว่าถ้าไปเรียนทางด้านนี้เรียนจบแล้วจะมีใครจ้างให้กินเงินเดือนเท่าไหร่ หิ หิ ตอบว่าผมไม่รู้เพราะอาชีพนี้ในเมืองไทยยังไม่มี และยังเดาทางไม่ได้ว่างานพวกนี้ต่อไปมันจะทำกันมากทางรัฐหรือทางเอกชน

แต่ผมอยากจะให้คนที่คิดอ่านจะมาเรียน medical informatics รุ่นแรกๆอย่าไปมองว่าจะได้เงินเดือนเงินดาวจากความรู้นี้อย่างไร อาจจะไม่มีใครจ้างงานคุณจนคุณต้องไปรับจ้างอยู่เวรห้องอีอาร์.เพื่อหาเงินยาไส้อยู่นานหลายปีก็เป็นได้ แต่ผมอยากให้มองที่โอกาสที่คุณจะได้ทำอะไรที่ใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ และที่ท้าทาย ซึ่งในการแพทย์แบบดั้งเดิมนั้นโอกาสแบบนี้แทบหาไม่ได้เลยนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟังสำบัดสำนวนแล้วคุณน่าจะเป็นลูกคนรวย เลิกเสียทีได้ไหมที่คิดแต่จะเรียนอะไรจบมาแล้วจะเป็นลูกจ้างใครจะได้เดือนเท่าไหร่ ใช้ความเป็นลูกคนรวยถือโอกาสหาอะไรที่มันยากๆแต่สร้างสรรค์ทำดีกว่า เลิกห่วงที่จะคิดแต่ทำมาหากินยาไส้ซะที ชีวิตสำหรับคนฉลาดมันมีอะไรให้ทำมากกว่าแค่ทำมาหากินยาไส้ตั้งเยอะ…แยะ

4.. เหตุที่ผมหยิบจดหมายของคุณขึ้นมาตอบวันนี้ ทั้งๆที่คุณถามมาตั้งนานแล้ว เป็นเพราะโดยบังเอิญเมื่อวานนี้ผมไปบรรยายให้ที่ประชุม National Conference ครั้งที่ 1 ของสมาคมเวชศาสตร์วิถีชีวิต ได้พบกับแพทย์ท่านหนึ่งจากสมาคมเวชศาสตร์ป้องกัน ท่านเล่าให้ฟังว่าสมาคมของท่านกำลังจัดทำหลักสูตร Medical Informatics เป็นหลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน 3 ปี ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนรออนุม้ติจากแพทยสภา ผมเดาเอาจากน้ำเสียงของท่านว่าปีหน้านี้ (2567) ก็น่าจะเปิดฝึกอบรมได้แล้ว หรืออย่างมากก็ปีถัดไปเป็นอย่างช้า คุณไปใช้ทุนหาประสบการในรพช.ไปพลางก่อนแล้วมาเข้าโปรแกรมฝึกอบรมนี้ในเมืองไทยก็ไม่เลวนะ ผมมั่นใจว่าพอมีสถาบันรับฝึกอบรมให้ ก็จะมีโรงพยาบาลใหญ่ๆรับเป็นต้นสังกัดทำให้การหาต้นสังกัดง่าย เพราะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทุกโรงอยากได้แพทย์ไปนั่งดูระบบข้อมูล แน่นอนส่วนนั้นคือ HIS ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับ health informatics แต่ผมเดาใจว่าผอ.รพ.ใหญ่ๆเขาไม่สนดอกว่ามันต่างกันอย่างไร เขาแค่อยากมีหมอมาคุมแผนกข้อมูลเท่านั้นเอง

เมื่อเข้ามาฝึกอบรมแล้วก็ไม่ต้องไปกังวลอีกว่าอาจารย์ที่ไหนจะมาสอน เขาจะมีความรู้ไหม เขาจะเอาอะไรมาสอน เพราะความเป็นจริงก็คือสำหรับสาขาวิชาใหม่ทุกสาขา ตัวคุณในฐานะแพทย์ประจำบ้านรุ่นแรกของสาขานี้นั่นแหละที่จะเป็นผู้สร้างองค์ความรู้นี้ขี้นมาผ่านการทดลองทำและการวิจัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรม เขาให้โอกาสเข้ามาเรียน มาทำวิจัย มีเงินเดือนให้กิน นั่นก็น่าจะพอแล้ว ที่เหลือเป็นเรื่องของคุณที่ควรจะลงแรงทำอะไรให้ชาติบ้าง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

21 กันยายน 2566

Transcendentalism กับ Transcendental Meditation เหมือนกันไหม

(ภาพวันนี้ / กลุ่มผู้สูงวัย กำลัง slow life อยู่หลังดงดอกไม้แดง)

เรียนอาจารย์สันต์ที่เคารพ

ผม ชื่อ นพ. … ตอนนี้จบการเป็นพชท.แล้ว ตัดสินใจไม่ฝึกอบรมต่อแต่อยู่ทำงานที่รพช. … คิดว่าจะหาโอกาสสอบอนุมัติบัตรเวชศาสตร์วิถีชีวิตแทน ผมติดตามอาจารย์มาตลอด ที่เขียนมานี้เพื่อถามนอกเรื่องเพราะอ่านพบเรื่องเกี่ยวกับ Transcendentalism จึงอยากรู้ว่ามันเป็นเรื่องเดียวกับ Trancendental Meditation ไหมครับ

ขอบคุณครับ

…………………………………………………………………

ก่อนตอบขอแสดงความยินดีกับคุณหมอที่อยู่ชนบทได้ ถ้าจะชมว่าเป็นความกล้าหาญสวนกระแสได้ก็คงไม่ใช่คำยอที่เกินจริง

ถามว่า Trancendentalism กับ Transcendental Meditation (TM) เหมือนกันไหม ตอบว่าไม่เหมือนครับ คนละเรื่อง แต่มันอาจมีรากมาจากที่เดียวกันก็ได้

TM เป็นวิธีทำสมาธิโดยใช้เสียงที่ไม่ได้เปล่งออกมาเป็นตัวพาความสนใจให้หลีกหนีจากความคิดเพื่อเข้าสู่ภาวะรู้ตัวซึ่งปลอดความคิด โดยเรียกวิธีเข้าสมาธิแบบนี้ว่าเป็นการ transcend เป็นเทคนิคซึ่งเผยแพร่ในอเมริกาโดยโยคีอินเดียตนหนึ่งชื่อ มหาริชชี มาเหศ โยคี ซึ่งดังมากในช่วงประมาณปี ค.ศ. 1960-1970

ส่วน Transcendentalism เป็นปรัชญาแขนงหนึ่ง ซึ่งหัวหอกก็คือนักเขียนใหญ่อเมริกันคนหนึ่งชื่อ Emerson ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงย้อนยุคไปถึงราวปี ค.ศ. 1800 นู้น โดยมีหลักคิดว่ามนุษย์ไม่ควรไปหลงเชื่อสิ่งหลอกลวงที่รัฐบาลหรือศาสนาปั้นแต่งขึ้นมาว่าเกิดมาเป็นคนแล้วต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะสิ่งเหล่านั้นมองย้อนไปในประวัติศาสตร์แล้วมันมีแต่เรื่องสั่วๆทำลายและกดขี่มนุษย์ด้วยกันทั้งนั้น แบบที่เชอร์ชิลเรียกว่า “เรื่องระยำเรื่องแล้วเรื่องเล่า (one damn thing after another)” ที่ถูกที่ควรคือมนุษย์ควรจะทิ้งตรรกะเปลือกนอกเหล่านี้ไปให้หมดแล้วเข้าไปหาส่วนลึกในตัวเองซึ่งนอกจากจะทำให้ชีวิตสงบเย็นแล้วยังเป็นแหล่งของศักยภาพ (insight) ที่จะทำให้คนๆหนึ่งมีชีวิตที่สงบเย็นและสร้างสรรค์ได้ แน่นอนว่าความคิดของอีเมอร์สันถูกแบนโดยนักปกครองและนักบวชสมัยนั้นจนต้องแอบสุมหัวกันใต้ดินแบบสมาคมลับ

ที่ผมบอกว่ามันอาจจะเป็นคนละเรื่องเดียวกันนั้นก็เพราะหัวหอกตัวเอ้อีกคนหนึ่งของลัทธินี้คือนักเขียนใหญ่อเมริกันอีกคนหนึ่งในยุคเดียวกันชื่อ Thoreau เขาเคยมาอินเดียและอ่านหนังสือเวดะไปหลายรอบ โดยเฉพาะคัมภีร์อุปนิษัทนั้นเขาแทบจะพูดออกมาด้วยปากเปล่าได้ทีเดียว

คุยกับคุณหมอซึ่งสนใจสาขาเวชศาสตร์วิถีชีวิต เขียนมาถึงตอนนี้ทำให้ผมนึกถึงหมอรุ่นก่อนผมคนหนึ่งชื่อ Travis สมัยเขาเป็นแพทย์ประจำบ้าน (เวชศาสตร์ครอบครัว) เขาเป็นคนแรกที่ตั้งคำถามว่าจริงหรือที่ว่าถ้าหากเราทำให้คนหายป่วยมีสุขภาพดีเป็นปกติแล้วเขาจะมีความสุข มันไม่จริงเสมอไป เพราะการจะมีความสุขนั้นการมีสุขภาพดีมันเป็นแค่ครึ่งทาง มันยังต้องเดิบโตทางจิตวิญญาณต่อไปอีกจึงจะมีความสุขแท้จริงได้ พอจบการเป็นแพทย์ประจำบ้าน (รู้สึกจะจบที่จอห์น ฮอพคินส์) เขาก็หันหลังให้การใช้วิชาแพทย์รักษาคนป่วย แต่ไปเปิดรีสอร์ท Health and Wellness Center เพื่อสอนให้คนมีความสุขแทน ผลก็คือรีสอร์ทของเขาเจ๊งไปตามระเบียบ ในการทำรีสอร์ทนั้นเขาได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่ออะไรผมจำไม่ได้แล้ว มีสาระว่าองค์ประกอบที่จะทำให้คนมีความสุขมี 12 อย่างคือ (1) ความรับผิดชอบต่อตัวเองและเมตตาธรรม (Responsibility and Love) (2) การหายใจ (Breathing) (3) การรับรู้สิ่งเร้า (Sensing) (4) การกินอาหาร (Eating) (5) การขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว (Moving) (6) ความรู้สึก (Feeling) (7) การคิด (Thinking) (คิดบวกมากกว่าลบ) (8) การเล่นและทำงาน (Playing and Working) (9) การสื่อสารปฏิสัมพันธ์ (Communicating) (10) ความใกล้ชิดสนิทสนม (Intimacy) (11) การค้นหาความหมาย (Finding meaning) (12) การฝ่าข้ามมิติการรับรู้ (Transcending)

ทราวิสเป็นเจ้าของคอนเซ็พท์ว่าสุขภาพกับความสุขเป็นของที่ต่อเนื่องกันและต้องเสริมกันและกัน (Health and Wellness Continuum) ซึ่งคอนเซ็พท์นี้กลายมาเป็นพื้นฐานของแนวคิดเวลเนสทุกวันนี้

ที่ผมเล่าถึงนี่ก็เพื่อชี้ให้คุณหมอเห็นองค์ประกอบสุดท้ายของทราวิสคือ Trancending ซึ่งเป็นคำที่คุณหมอถามถึง ผมไม่รู้ว่าเขาเอาไอเดียมาจากอีเมอร์สันหรือจากมหาริชชี เพราะสมัยที่เขาเขียนหนังสือนี้คือราวปี ค.ศ. 1970 ซึ่งเป็นช่วงมหาริชชีดังอยู่พอดี

เห็นคุณหมอชอบอยู่บ้านนอกคอกนา ขอกลับมาพูดถึงโทเรียวอีกหน่อยนะ มีอยู่ช่วงหนึ่งเขาตัดสินใจทิ้งชีวิตในเมืองออกไปปลูกกระต๊อบอยู่ในป่าคนเดียวสองปีเต็ม ใช้ชีวิตแบบพอเพียงกับธรรมชาติ กินง่ายอยู่ง่าย แล้วเขียนหนังสือดังมากชื่อ Walden ซึ่งเป็นชื่อบึงน้ำที่กระต๊อบเขาตั้งอยู่ เป็นวรรณกรรมอเมริกันคลาสสิกที่น่าอ่านอีกเล่มหนึ่ง

เมื่อก่อนโควิดมาผมไปขับรถเที่ยวอเมริกา ตั้งแต่แถวเวอร์มอนต์ลงมาทางแมสซาจูเซ็ท กลับมาถึงบ้านกรุงเทพแล้วรู้สึกว่าตัวเองลืมแวะที่ไหนสักแห่งหนึ่ง แต่คิดยังไงก็คิดไม่ออกว่าลืมแวะที่ไหน เพิ่งมาคิดได้ตอนตอบจดหมายคุณหมอนี่เอง ว่าผมลืมแวะดูกระท่อมของโทเรียวที่เมืองคอนคอร์ดซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเส้นทางที่ผมขับรถผ่านนัก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

17 กันยายน 2566

ผ่าตัดใส่ข้อเทียมไปสองเข่ากับอีกหนึ่งสะโพก แต่ยังเดินไม่ได้ จะฟื้นฟูตัวเองอย่างไรดี

(ภาพวันนี้ / ดอกคอสมอสของหน้าหนาวนี้บานแล้ว ที่อัธยาวิลเล็จ ในมวกเหล็กวัลเลย์)

เรียนคุณหมอสันต์

ดิฉันอายุ 75 ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าสองข้างและข้อสะโพกอีกหนึ่งข้างมา 1 ปีแล้วยังเดินไม่ได้ต้องอาศัยไม้เท้าและทำท่าจะล้มตลอดเวลาเผลอไม่ได้ นับตั้งแต่ออกจากโรงพยาบาลมาก็ไปทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละครั้งมาตลอด แต่ก็ยังเดินไม่ได้ ลูกๆจ้างผู้ดูแลคนหนึ่งให้มาค่อยเป็นคนประคอง ดิฉันอยากจะเดินเหินได้ทำอะไรได้เองอีกครั้ง จะต้องฟื้นฟูตัวเองอย่างไร

ขอบพระคุณที่คุณหมอเขียนสิ่งดีๆให้อ่านตลอดมา

………………………………………………………..

ตอบครับ

หลังผ่าตัดเปลี่ยนเข่าเปลี่ยนสะโพก จะกี่ข้อก็แล้วแต่ หลักในการทำกายภาพบำบัดเหมือนกันหมด ซึ่งทำได้เองที่บ้านโดยมีผู้ดูแลคอยประกบ ดังนั้นวันนี้เราคุยกันเรื่องการฟื้นฟูตัวเองหลังการใส่ข้อเทียมก็ดีเหมือนกัน

มันมีหลักการสำคัญหกประการ คือ

1. เพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหว (range of motion – ROM) ของข้อเทียม

ก่อนอื่นคนใส่ข้อเทียมต้องมีความรู้ก่อนว่าข้อเทียมออกแบบให้มีพิสัยการเคลื่อนไหว (อ้า หุบ งอ เหยียด) เท่าข้อธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่นข้อเข่า คนปกติหากนับเมื่อยืนตรงเหยียดเข่าเต็มเรียกว่ามุมงอของเข่าอยู่ที่ศูนย์องศา เมื่อนั่งเก้าอี้เข่าจะงอเข้ามาเป็น 90 องศา (มุมหน้าหัวเข่านะ ไม่ใช่มุมหลังหัวเข่า) เมื่อนั่งยองๆเข่าจะงอเข้ามาได้มากถึง 140 องศา ดังนั้นการใส่ข้อเข่าเทียมเราคาดหมายให้เตะและงอเข่าได้เท่าข้อธรรมชาติ

ข้อสะโพกเทียมก็เช่นกัน เขาออกแบบมาให้ทำงานได้เท่าข้อธรรมชาติ คือหากถือว่าในท่ายืนตรงคือ 0 องศา ข้อสะโพกจะกางขาออกด้านข้าง (abduction) ได้ 45 องศา และหุบขาเข้า (adduction) ได้ 45 องศาเช่นกัน จะยกขาเอาเข่าชันขึ้นหาหน้าอก (flexion) ได้ 135 องศา จะเตะตอกส้นเอาขาไปข้างหลัง (extension) ได้ 30 องศา จะหมุนปลายเท้าออกนอกตัวโดยเอาส้นเท้าเป็นจุดหมุน (external rotation) ได้ 45 องศา หมุนปลายเท้าเข้าข้างใน (internal rotation) ได้ 45 องศาเช่นกัน ดังนั้นข้อสะโพกเทียมเมื่อใส่แล้วเราก็คาดหมายให้ใช้ข้อได้เท่าข้อธรรมชาติเต็มตามองศาดังกล่าว

แต่ความไม่รู้ทำให้เจ้าของข้อเทียมคิดเอาเองว่าการมีข้อเทียมต้องคอย “หนีบ” เอาไว้ไม่กล้าอ้ามากหุบมากเพราะกลัวข้อแตก ทำให้ยิ่งนานไปพิสัยการเคลื่อนไหวก็ยิ่งจะหดแคบลงๆเพราะการหดตัวของกล้ามเนื้อและเอ็นรอบๆข้อ อย่างเก่งก็จึงทำได้แค่เดินแบบตัวแข็งทื่อมะลื่อโดยต้องคอยถือไม้เท้ากำกับด้วย บางคนเปลี่ยนข้อแล้วสมัครใจนอนติดเตียงไม่ยอมลุกเดินเพราะกลัวล้มครั้งที่สอง กลัวต้องเปลี่ยนข้ออีก “กลัวเปลืองเงินลูกๆ” จึงกลายเป็นคนพิการถาวรไปอย่างน่าเสียดายท้้งที่อุตส่าห์เสียเงินเสียเวลาใส่ข้อเทียมแล้ว

หลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อแล้วต้องฝึกเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อให้ได้มากขึ้นๆจนใกล้เคียงองศาปกติหรืออย่างน้อยให้ดำรงชีวิตทำกิจประจำวันด้วยตัวเองได้ วิธีฝึกทำได้สองแบบ แบบแรกเรียกว่าแบบให้คนอื่นทำให้ (passive) คืออาศัยมือคนอื่นจับอ้าจับหุบ แบบที่สองเรียกว่าแบบทำเอง (active) คือเอาใจของตัวเองสั่งให้อ้าให้หุบเอง ใหม่ๆก็อ้าๆหุบๆบนเตียง พอลุกเดินได้ก็อ้าๆหุบๆในท่ายืน โดยอย่างน้อยต้องทำท่าต่อไปนี้ทุกวัน


Single Leg Extension
  • ทำท่านั่งยองแล้วยืนขึ้นนั่งลง (squat) เพื่อเพิ่มองศาการอ้าหุบข้อเข่า
  • ทำท่าเดินซอยเท้ายกเข่าสูงเพื่อเพิ่มองศาให้ข้อสะโพกงอขาขึ้นข้างหน้า (flex) ได้มากขึ้นๆ
  • ทำท่ายืนขาเดียวเตะตอกส้น (single leg extension) เพื่อเพิ่มองศาให้ข้อสะโพกได้เหยียดขาไปข้างหลังได้มากขึ้น
  • ทำท่ายืนขาเดียวกางขาออกข้างแล้วหุบขาเข้าเพื่อให้ข้อสะโพกได้เพิ่มองศาการอ้าและหุบขาได้
  • ทำท่าปักส้นแล้วหมุนเท้าเข้าออกเพื่อเพิ่มองศาให้ข้อสะโพกหมุนขาได้มากขึ้น

2. เพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและเอ็นท่อนล่าง (lower body) และกลางตัว (core)

โยคะเป็นวิธียืดเหยียดและสร้างความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อที่ดีมาก อย่างน้อยต้องทำท่าต่อไปนี้ทุกวัน

  • ฝึกหายใจลึกแบบโยคะ นับ4-4-8 (เข้า-กลั้น-ออก) หายใจเข้าท้องพองหายใจออกท้องยุบ ตั้งใจผ่อนคลายกล้ามเนื้อทั่วร่างกายขณะหายใจออก
  • ท่าไหว้พระอาทิตย์ (sun salutation) ซึ่งมีการก้มลงมาข้างหน้า (ยืดเหยียดกล้ามเนื้อหลัง) และเงยไปข้างหลัง(ยืดเหยียดหน้าท้อง)
  • ท่ายืดเอวด้านข้าง (Waist stretch) ยืนกางขายกมือพนมเหนือศีรษะแล้วโยกมือที่พนมไปทางซ้ายที ทางขวาที ให้เอวด้านข้างได้ยืดเต็มที่
  • รำกระบอง เอากระบองพาดหัวไหล่ แล้วทำท่าต่างๆเช่น เอียงข้าง ว่ายน้ำ ตีกรรเชียง เป็นต้น

3. ฝึกความแข็งแรง (strength training) ของกล้ามเนื้อ เน้นท่อนล่าง คือ หน้าขา (quadriceps) หลังขา (hamstring) ก้น (gluteus) น่อง (gastrocnemius) และกล้ามเนื้อลำตัว (core) โดยอย่างน้อยต้องทำสองท่าต่อไปนี้ทุกวัน คือ

  • ท่านั่งยองแล้วยืนขึ้น (squat)
  • ท่าก้าวขาย่อเข่า (lunge) บางทีเรียกกันว่าท่าถอนสายบัว

4. ปรับท่าร่าง (posture) ให้ตั้งตรง ไม่งุ้มไปหน้า ไม่โก้งโค้งไปหลัง และได้ดุลไม่เอียงซ้ายเอียงขวา ใช้กายอุปกรณ์ (เช่นรองเท้าเสริมส้น) ถ้าจำเป็น

5. ฝึกเพิ่มความสามารถในการทรงตัว (balance exercise)

ความสามารถในการทรงตัวเป็นการทำงานร่วมกันของห้าส่วนคือ (1) สติ (2) สายตา (3) หูชั้นใน (4) กล้ามเนื้อทั่วตัว (5) ข้อต่างๆทั่วตัว

การฝึกการทรงตัวเป็นการควบรวมทั้งท่าร่าง พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เข้าด้วยกัน เป็นการฝึกที่สำคัญและจำเป็น ต้องทำทั้งวันตลอดเวลาที่ตื่นอยู่ โดยผมแนะนำให้ฝึกท่าต่อไปนี้ทุกวัน

  • One leg stand ยืนขาเดียว วิธีทำก็คือยืนสองขาชิดกันก่อน แล้วงอเข่ายกขาขึ้นยืนขาเดียว ทำทีละข้าง
  • Single leg extension จ๊อกกิ้งขาเดียว ขาอีกข้างยืนนิ่งตลอดเวลา ค่อยๆฝึกจากขยับน้อยไปจนขยับมากสุดพิสัยของข้อได้ สลับทำทั้งสองข้าง
  • Eye tracking กลอกตาตามหัวแม่มือ วิธีทำคือยืนตั้งศีรษะตรงนิ่ง ยื่นมือออกไปให้ไกลสุดตัว ยกหัวแม่มือขึ้น แล้วเคลื่อนมือไปทางซ้ายจนสุด ขณะเคลื่อนมือไปให้กลอกตามองตามหัวแม่มือไป โดยศีรษะยังหันหน้าตรงไปข้างหน้าไม่หันไปตามหัวแม่มือ แล้วก็เคลื่อนมือไปทางขวาจนสุดและกลอกตาตาม ทำซ้ำหลายๆครั้ง
  • Clock reach ทำตัวเป็นเข็มนาฬิกา วิธีทำคือยืนตรงเสมือนยืนอยู่บนหน้าปัดนาฬิกาขนาดใหญ่ แล้วยกขาข้างหนึ่งขึ้นเป็นยืนขาเดียว แล้วกางแขนสองข้างเหยียดเสมอไหล่ออกไปให้สุดทั้งทางซ้ายและขวา ตามองตรง แล้วค่อยๆหมุนตัวและแขนแต่ไม่ศีรษะและคออยู่นิ่ง ให้แขนซ้ายชี้ไปที่ 12.00 น. แขนขวาชี้ไปที่ 6.00 น. แล้วหมุนใหม่ให้แขนขวาชี้ไปที่ 12.00 น. แขนซ้ายชี้ไปที่ 6.00 น. บ้าง แล้วหมุนโดยชี้แขนไปที่ตำแหน่งต่างๆบนหน้าปัดตามเวลาที่สมมุติขึ้น แล้วสลับขา
  • Staggered stance ยืนต่อเท้าบนเส้นตรง วิธีทำคือยืนตรงอยู่บนเส้นตรงสมมุติเส้นเดียวที่ลากจากหน้าไปหลัง หรือบนขอนไม้หรือไม้กระดานแผ่นเดียว ให้หัวแม่เท้าซ้ายไปต่ออยู่หลังส้นเท้าขวา แล้วสลับขา
  • Heal to toe เดินต่อเท้าบนเส้นตรง วิธีทำคือทำท่ายืนต่อเท้าบนเส้นตรง บนขอนไม้หรือไม้กระดานแผ่นเดียว กางมือออก มองไปข้างหน้า แล้วเดินแบบเอาส้นเท้าซ้ายย้ายไปต่อหน้าหัวแม่เท้าขวา ทำเช่นนี้สลับข้างกันไป จนเดินไปสุดขอนไม้หรือแผ่นไม้กระดาน แล้วเดินถอยหลังกลับจนสุดขอนไม้
  • Just walk เดินธรรมดา วิธีทำตั้งท่าร่าง ตัวตรง เอาถ้วยกาแฟใส่น้ำทูนไว้บนหัว มองไปข้างหน้า แล้วเดินไปแบบเดินแกว่งแขนธรรมดา ไม่ให้น้ำหก
  • Knee marching เดินแถวทหาร วิธีทำคือ เดินสวนสนาม เวลาเดินยกเข่าสูงเสมอข้อตะโพก แกว่งแขนสูงเสมอไหล่
  • Grapevine เดินไขว้ขาไปทางข้าง วิธีทำคือเดินไปทางข้างซ้ายโดยเอาเท้าขวาไขว้ไปทางด้านหลังของเท้าซ้าย เดินแบบนี้ไปหลายก้าว แล้วเดินกลับมาทางข้างขวา
  • Body circle ท่าขี้เมา วิธีทำคือยืนบนพื้นสนามหญ้าที่นุ่ม กางขา แล้วโยกตัววนเป็นวงกลม โยกวนไปแล้ววนมาแบบคนเมาเหล้า ลองพยายามแกล้งจะล้มแล้วพยายามประคองตัวเองไม่ให้ล้ม
  • Dynamic walking เดินและเหลียว วิธีทำคือเดินบนขอนไม้ ตั้งศีรษะตรง มองไปข้างหน้า แล้วกวาดสายตามองจากหัวไหล่ซ้ายไปจนถึงหัวไหล่ขวา แล้วกวาดสายตากลับ โดยขณะกวาดสายตาให้เดินไปด้วยโดยไม่ให้เสียจังหวะการเดิน หรืออาจจะถือหนังสืออ่านขณะเดินไปด้วย
  • Stepping ก้าวข้าม วิธีทำคือเดินแบบยกเข่าสูงเพื่อก้าวข้ามตอไม้ที่วางไว้เป็นช่วงๆ โดยไม่ให้เสียจังหวะการเดิน
  • Balancing wand เลี้ยงกระบองไว้บนมือ วิธีทำคือ ยืนบนพื้นราบ เอาไม้กระบองตั้งไว้บนฝ่ามือ ย่อเข่าลง ตามองที่กระบอง ปล่อยมือที่ประคองกระบอง แล้วเลี้ยงกระบองให้ตั้งอยู่บนมือ ขณะเดียวกันก็ซอยเท้าอยู่กับที่ แล้วออกเดินหน้า ถอยหล้ง แล้วเดินไขว้ขาไปข้างแบบ grape vine โดยไม่ให้กระบองหล่นจากฝ่ามือ
  • Head the ballโหม่งบอล วิธีทำคือจินตนาการว่าเราเล่นฟุตบอลแล้วกระโดดโหม่งบอลที่มาทางซ้าย ที่มาทางขวา และที่มาตรงกลาง กระโดดขึ้นแต่ส้นเท้า โดยคงปลายเท้าให้แตะพื้นไว้
  • Ski สกี วิธีทำคือจินตนาการว่าเรากำลังเล่นสกีลงมาจากภูเขา มีต้นไม้ขวางหน้า ต้องเอียงตัวสกีหลบต้นไม้ไปทางซ้ายที ไปทางขวาที แบบเร็วๆ และแบบหลบสิ่งกีดขวาที่ไม่คาดฝัน
  • Jump กระโดด วิธีทำคือจินตนาการว่าเรากำลังเป็นรักษาประตูในเกมฟุตบอล แล้วกระโดดขึ้นรับลูกตรงๆเหนือศีรษะ แล้วทิ้งตัวกลับลงบนพื้นอย่างนุ่มนวล
  • Footwork ฟุตเวอร์ค ถือไม้เทนนิสหรือไม้แบตมินตันแล้วเคลื่อนไหวเท้าเหมือนกำลังวิ่งรับลูกและวิ่งตีเทนนิสหรือตีแบตมินตันอยู่ ด้วยท่าตีโฟร์แฮนด์ แบ้คแฮนด์ และท่าตบลูก
  • Dancing เต้นรำ แบบไหนก็ได้ ได้ทุกชนิดตามถนัด ตั้งแต่รำมวยจีนไปจนถึงเต้นรำแบบบอลรูม
  • Trampoline แทรมโปลีน ทำท่ากายบริหารรวมทั้งกระโดดโลดเต้นบนแทรมโปลีน
  • Hula hoop ฮูลาฮุป ทำท่าหมุนเอวเหมือนกำลังเล่นห่วงฮูลาฮุป
  • Jogging วิ่งจ๊อกกิ้งเบาๆให้การเคลื่อนไหวร่างกายเป็นไปอย่างเสถียรและนุ่มนวลเหมือนการเคลื่อนไหวของแมวหรือของเสือ

6. รู้วิธีโค้ชตัวเอง (self coaching)

การทำกายภาพบำบัดตัวเองแม้จะให้ผลดีกว่า แต่ก็มีความท้าทายมากกว่าการไปหานักกายภาพบำบัดหรือจ้างโค้ชมาช่วยทำให้ เพราะคนเรามักไม่รู้วิธีโค้ชตัวเอง ท้ายที่สุดก็คือ ต๊อแต๊ หมดพลัง ทำเป็นยุ่ง ทำเป็นลืม หรือขี้เกียจทำดื้อๆ

แต่คุณสามารถโค้ชตัวเองได้นะ ถ้าทำไม่เป็นผมจะสอนให้ วิธีโค้ชตัวเองก็เป็นวิธีเดียวกับที่โค้ชอาชีพเขาใช้นั่นแหละ

ก่อนอื่นคุณจะต้องเข้าใจก่อนว่าในตัวเรานี้มันมีอยู่สองตัวตน ตัวตนหนึ่งก็คือ “ความคิด” นับเป็นตัวตนที่ 1 ซึ่งเจ้าตัวนี้แหละที่จะเป็นตัวงอแง ขี้เกียจ และดราม่า กับอีกตัวหนึ่งคือ “ความรู้ตัวยามที่ปลอดความคิด” ซึ่งนับเป็นตัวตนที่ 2 เจ้าตัวหลังนี้ไม่อินังขังขอบชอบชังอะไรกับใครทั้งสิ้น มันแค่รับรู้สิ่งต่างๆตามที่มันเป็น

ในการโค้ชตัวเอง เราต้องสมมุติตัวตนที่เป็น “ความคิด” ให้เป็นนักเรียน หรือคนที่จะถูกโค้ช แล้วสมมุติให้ตัวตนที่เป็น ความรู้ตัวยามที่ปลอดความคิด” ให้เป็นโค้ช

ก่อนจะทำการโค้ชใครไม่เว้นแม้แต่การโค้ชตัวเอง ตัวโค้ชจะต้องมีทักษะมาตรฐาน 17 ทักษะ แต่เพื่อความง่ายผมจะให้คุณปฏิบัติแค่ 5 ทักษะ คือ

  • การรู้อารมณ์ตนเอง (awareness)
  • การมีเมตตาและทอดไมตรี (compassion and rapport)
  • การฟังอย่างตั้งใจ (deep listening)
  • การเอานักเรียนเป็นศูนย์กลาง (student-centered)
  • การสะท้อน (reflection)
  • การปลุกพลัง (evocation)

สามทักษะแรกผมคงไม่ต้องอธิบาย ขออธิบายแค่สามทักษะหลังว่ามันคืออะไร ก่อนที่คุณจะทดลองโค้ชตัวเอง

การเอานักเรียนเป็นศูนย์กลาง (student-centered) หมายถึงตลอดเวลาที่คุยกันระหว่างนักเรียนกับโค้ช โค้ชจะต้องปล่อยให้นักเรียนเป็นผู้นำการสนทนาตลอด เอาความสนใจหรือความอยากของนักเรียนเป็นตัวตั้ง ห้ามไม่ให้โค้ช สั่ง หรือสอน หรืออบรม หรือให้ข้อมูล หรือยกตัวอย่าง หรือเล่าประสบการณ์ของตัวโค้ชเองให้นักเรียนฟังเด็ดขาด เว้นเสียแต่นักเรียนจะร้องขอหรืออนุญาต ดังนั้นเวลาคุณโค้ชตัวเอง ต้องปล่อยให้ตัวตนที่เป็นความคิดเขาพล่ามหรือเพ้อเจ้อของเขาไป เขาอยากทำอะไรก็เออออตามเขาไปห้ามขัด อย่างมากก็ชวนให้เป็นการทดลองแล้วประเมินผลว่าจะทำต่อดีไหม

การสะท้อนคำพูด (reflection) หมายถึงการที่หลังจากได้ตั้งใจฟังนักเรียนพูดแล้ว โค้ชสะท้อนสิ่งตัวเองจับความได้จากคำพูดของนักเรียนแล้วพูดออกมาเป็นคำพูดของโค้ชเอง การสะท้อนคำพูดทำเพื่อเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่งในห้าอย่างต่อไปนี้เท่านั้น คือ (1) เพื่อแสดงว่าเข้าใจอย่างลึกซึ้ง (2) เพื่อแสดงความเห็นใจ (3) เพื่อ “ขยาย” คำพูดอยากเปลี่ยนตัวเอง (change talk) (4) เพื่อ “ย่อ” คำพูดที่ไม่อยากเปลี่ยนตัวเอง (sustain talk) (5) เพื่อตอกย้ำยืนยัน (affirmation) จุดแข็งหรือความมุ่งมั่น

เวลาโค้ชตัวเองด้วยการคุยกับตัวเอง ตัวตนที่ 2 ในฐานะโค้ช ก็ต้องสะท้อนคำพูดของตัวตนที่ 1 ด้วยเจตนาที่จะให้ได้ผลลัพธ์ทั้งห้าประการข้างตน

การปลุกพลัง (evocation) การฟื้นฟูตัวเองก็คือการสร้างนิสัยใหม่นั่นเอง หัวเชื้อที่จะทำให้การสร้างนิสัยใหม่สำเร็จคือ “ความอยาก” หรือเรียกให้สุภาพกว่านั้นว่า “พลังความบันดาลใจ (motivation)” พอนักเรียนลืมไปว่ามีความอยากนี้อยู่นักเรียนก็จะเริ่มขี้เกียจและหาเรื่องไม่ทำนิสัยใหม่ วิธีปลุกพลังหรือ evocation ก็คือการที่ตัวตนที่ 2 ในฐานะโค้ช คอยสะท้อนคำพูดของตัวตนที่ 1 ในฐานะนักเรียนออกมา ในลักษณะที่ให้นักเรียนมองเห็นความอยากนั้นของตัวเองอยู่เสมอ หรือคอยสะกิดให้ “ชูธงความมุ่งมั่นให้สูงเด่น” อยู่เสมอ ด้วยเทคนิคเช่น

(1) ถามหรือชวนคุยว่านักเรียนอยากได้อะไร อยากทำอะไร อยากเป็นอะไร หรือแม้กระทั่งชีวิตที่เหลืออยู่นี้อยากจะบรรลุอะไร เช่นคอยถามว่า ทำไมถึงคิดมาฟื้นฟูตัวเอง เป็นต้น แล้วสะท้อนคำพูดแบบตอกย้ำยืนยันให้นักเรียนเห็นความมุ่งมั่นของตัวเอง

(2) ถามหรือชวนนักเรียนคุยถึงจุดแข็งหรือความสำเร็จในอดีตของตัวนักเรียนเอง สะท้อนคำพูดแบบตอกย้ำยืนยันให้นักเรียนเห็นจุดแข็งและผลงานของนักเรียนในอดีตว่าทำอะไรสำเร็จได้

(3) ถามความเห็นของนักเรียนว่าจะเอาจุดแข็งและความสำเร็จในอดีตของนักเรียนเองมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง

ในการฟื้นฟูตัวเอง คุณลองใช้ทักษะทั้งหกอย่างที่ผมเล่ามานี้โค้ชตัวเองดู เป้าหมายก็คือ “ชูธงความมุ่งมั่นให้สูงเด่น” ไว้เสมอ แล้วคุณก็จะฟื้นฟูตัวเองสำเร็จ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

15 กันยายน 2566

หมอสันต์ไม่กลัวแบคทีเรียและยาฆ่าแมลงที่ตกค้างในผัก แต่กลัว..อึมนุษย์

เรียน อจ.หมอสันต์ ที่เคารพ

ผมหันมากินผักเป็นหลักและกินหลากหลาย โดยเฉพาะสีม่วงหรือรสขมจะชอบมาก เพราะเชื่อว่าการกินของแปลกๆ จะช่วยเพิ่มสายพันธ์ของจุลินทรีย์ในลำไส้ ผักอะไรที่ไม่รู้จักถ้าแม่ค้าบอกกินได้ ผมกินหมด และผมเน้นกินสดๆ ไม่อยากลวกหรือต้มหรือผ่านความร้อนใดๆ เพราะกลัวความร้อนทำลายสารอาหารบางอย่าง เนื่องจากผมไม่ได้ปลูกเอง ต้องซื้อมา จึงต้องล้างเพื่อกำจัดสารตกค้าง จุลชีพ ไข่พยาธิ ด้วยการล้างด้วย Baking Soda ซึ่งอ้างว่าได้ผลดีที่สุด พอดีผมได้เจอคลิปของ อจ.นายแพทย์ชื่อดังท่านหนึ่งแนะนำว่าถ้าจะล้างผักจำนวนมากๆ ให้ล้างด้วยเครื่องผลิตโอโซน จึงขอความเห็น อจ.ว่า ได้ผลมากน้อยแค่ไหนครับ

ขอบพระคุณครับ

(นายแพทย์ … )

……………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่ามีคนเขาว่าล้างผักจำนวนมากๆให้ล้างด้วยเครื่องล้างผักแบบมีโอโซนจะดีไหม ตอบว่าดีครับถ้ามีผักมาก เพราะเครื่องที่ว่านั้นเขาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตผักขายนะครับ มันเป็นเครื่องใหญ่แบบเครื่องซักผ้า ต้องเด็ดผักออกเหลือทีละใบ่แล้วใส่เข้าเครื่อง กลไกการทำงานของมันมีสองอย่างคือ (1) แช่น้ำโอโซน (ozonated water) (2) ล้างและเหวี่ยงเอาน้ำออกจากผัก เมื่อล้างครบสามรอบแล้วก็บรรจุลงถุงซีลแล้วจึงจะติดป้ายว่า prewashed ซึ่งเป็นการตีตราว่ากินได้เลยโดยไม่ต้องล้างซ้ำได้ และการล้างอย่างนี้พบว่าผักและผลไม้เก็บไว้บนหิ้งได้นานขึ้น

แต่ว่าเครื่องโอโซนฉบับกระเป๋าที่ขายกันเกร่อทางอินเตอร์เน็ททุกวันนี้นั้นไม่ใช่เครื่องล้างนะครับ เป็นแค่เครื่องทำน้ำโอโซนสำหรับแช่ผัก ซึ่งหากคุณหมออยากซื้อมาใช้มันก็ใช้ได้ เพราะแม้โอโซนจะเป็นแค่ยาฆ่าเชื้อโรคระดับอ่อนๆ (อ่อนกว่าคลอรีนในน้ำก๊อก) แต่มันก็มีข้อดีที่สลายตัวแล้วกลายเป็นโมเลกุลออกซิเจนซึ่งไม่มีเศษสารอะไรเหลือตกค้างติดใบผักไปเหมือนน้ำยาแช่ผักอื่นๆ แต่ผมย้ำไว้ตรงนี้นิดหนึ่งว่าในเรื่องความสะอาดของผักนี้ความสำคัญมันอยู่ที่การล้างนะ ไม่ใช่อยู่ที่การแช่

2.. ถามว่าของที่ใส่ในน้ำแช่ผัก อย่างไหนฆ่าเชื้อโรคได้ดีกว่ากันระหว่างแช่น้ำก๊อกหรือน้ำคลอรีน น้ำโอโซน น้ำใส่ผงฟู น้ำเกลือ น้ำส้มสายชู น้ำมะนาว ตอบว่างานวิจัยเปรียบเทียบล้วนให้ผลแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับการจัดสภาพแวดล้อมของการวิจัย เช่นเปอร์เซ็นต์ความเข้มข้นของสารที่ใส่น้ำล้าง ความสกปรกของผักที่เอามาแช่ ความเก่าเก็บของเชื้อที่ใช้ทดลอง (เชื้อยิ่งเก่าเก็บยิ่งดื้อด้าน) เป็นต้น อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยหนึ่งที่ผมเห็นว่าควบคุมสภาพแวดล้อมได้ค่อนข้างดี ทำวิจัยเปรียบเทียบความสามารถในการลดปริมาณเชื้อไทฟอยด์ (salmonella) ที่จงใจใส่ไว้ในผัก พบว่าความสามารถลดปริมาณเชื้อไทฟอยด์ได้มากน้อยตามลำดับคือ (1) น้ำส้มสายชู (acetic) น้ำมะนาว (citric) น้ำคลอรีน (ก็คือน้ำก๊อกเนี่ยแหละ) ลดได้มากที่สุดพอๆกัน (2) น้ำโอโซนและน้ำเกลือลดได้รองลงมา (3) น้ำเปล่าแบบไม่มีคลอรีนเลย ลดได้น้อยที่สุด

3.. ถามว่าแล้วในแง่ของการเอายาฆ่าแมลงออกจากผัก แช่ผักในอะไรจึงจะดีที่สุด ตอบว่างานวิจัยกับยาฆ่าแมลงสามชนิดคือ endosulfan, bifenthrin and cypermethrin พบว่าการแช่ในกรดอาเซติก 10% (ที่อยู่ในน้ำส้มสายชู) ลดยาฆ่าแมลงสามตัวนี้ได้ดีที่สุด กรดซิตริก (ในน้ำมะนาว) ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ น้ำเกลือ ผงฟู และน้ำเปล่า ลดได้รองๆลดหลั่นกันลงมาตามลำดับ ในภาพรวมคือทั้งหมดลด endosulfan, ได้ 12-41% ลด bifenthrin ได้ 14-60% ลด cypermethrinsodium ได้ 21-75% ผมตั้งข้อสังเกตสามข้อนะ ข้อหนึ่ง คือไม่มีสารแช่ตัวไหนลดยาฆ่าแมลงได้หมด 100% ข้อสอง กรดอาเซติกที่ใช้ในงานวิจัยนี้ใช้ความเข้มข้น 10% แต่น้ำส้มสายชูที่เราใช้ทำอาหารมีความเข้มข้นแค่ 5% นะ ยิ่งถ้าเอามาเจือจางในน้ำแช่ผักอย่างที่นิยมทำกันก็ยิ่งมีผลน้อยลงไปอีก ข้อสาม แช่น้ำก๊อกก็ลดยาฆ่าแมลงสามตัวนี้ได้ ดังนั้นเมื่อเทียบประโยชน์กับความยุ่งยากแล้ว หมอสันต์เลือกแช่ในน้ำก๊อกเพราะง่ายสุด

4.. ถามว่าในบรรดาสารปนเปื้อนทั้งสามกลุ่มที่ถามมาคือยาฆ่าแมลง แบคทีเรีย และไข่พยาธิ หมอสันต์กลัวอะไรมากที่สุด ตอบว่าหมอสันต์กลัวไข่พยาธิตัวตืดมากที่สุด ซึ่งมันมาจากอุจจาระของมนุษย์ แปลว่า “ขี้คน” คนเอาขี้มาเป็นปุ๋ยผัก คนอีกคนมากินเข้าไปไข่พยาธิก็ไปเป็นซีสต์ของพยาธิตัวตืดฝังอยู่ในส่วนต่างๆของร่างกายรวมทั้งสมอง ซึ่งเป็นแล้ววินิจฉัยยาก และกำจัดก็ยาก ดังนั้นผมจึงป้องกันไข่พยาธิตัวตืดสุดฤทธิ์ ด้วยการ

4.1 เลือกกินผักสดที่อยู่สูงพ้นดิน ไม่มีโอกาสเปื้อนดินหรือปนเปื้อนอึ รวมทั้งผักไฮโดรก็ดีกว่าผักดินในแง่ของการปลอดไข่พยาธินี้

4.2 เลือกแหล่งปลูกผักที่รู้แน่ชัดว่าไม่ได้เอาอึมนุษย์มารดผักเป็นปุ๋ย หลีกเลี่ยงผักจากประเทศที่เอาอึมนุษย์ทำปุ๋ย ถ้าซื้อผักจากแหล่งไม่ชัวร์ก็ต้มกินไม่กินสด

4.3 ที่ปลูกกินเองได้ก็ปลูกเอง

4.4 ล้างผักที่ปลูกจากดินหรือที่ซื้อมาและจะกินสดให้มากๆด้วยน้ำก๊อก เอามือลูบไล้ใบผักเอาสิ่งปนเปื้อนที่ตามองเห็นออก เด็ดผักออกมาล้างทีลำใบ ไม่ล้างผักทั้งกอเพราะอาจมีดินหรืออุจจาระตกค้างอยู่ในซอกกอผัก

ทั้งนี้ผมไม่หวังพึ่งน้ำยาล้างผักหรือน้ำยาแช่ผักใดๆทั้งสิ้นเพราะไม่มีน้ำยาใดๆฆ่าไข่พยาธิตัวตืดได้ ยกเว้นฟอร์มาลินเข้มข้นซึ่งหมอสันต์ไม่เอามาแช่ผักกินแน่นอน เพราะกลัวตัวเองถูกแช่ หิ..หิ

5.. ถามว่าทำไมหมอสันต์ไม่กลัวแบคทีเรียปนเปื้อนหรือยาฆ่าแมลงตกค้างในผัก ตอบว่าก็เพราะแบคทีเรียปนเปื้อนในผักไทยอย่างมากก็ทำให้ท้องเสียวันสองวัน ส่วนยาฆ่าแมลงนั้น ขณะที่ข่าวร้ายคือวงการแพทย์ยังไม่พบวิธีขจัดยาฆ่าแมลงที่ตกค้างในผักที่ได้ผลจริงๆสักวิธีเดียว แต่ข่าวดีก็คือวงการแพทย์ยังไม่พบโรคหรือการเจ็บป่วยจริงจังที่เกิดจากยาฆ่าแมลงตกค้างในผักเลยเช่นกัน ที่ผมพูดนี่ไม่เกี่ยวกับการได้รับยาฆ่าแมลงจากการฉีดพ่นคราวละมากๆแบบที่เกษตรกรได้รับนะ นี่เราพูดกันเฉพาะยาฆ่าแมลงที่ตกค้างในผัก ไม่เคยมีหลักฐานสักรายเดียวว่ามีคนไข้ที่กินผักคนไหนเป็นอะไรไปเพราะยาฆ่าแมลงที่ตกค้างในผัก ได้แต่เดากันไปว่ามันอาจจะทำให้เป็นมะเร็งได้ แต่นั่นก็เป็นเพียงการเดาซึ่งไม่ใช่หลักฐานวิทยาศาสตร์ ดังนั้นผมจึงไม่กลัว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณนุกรม

  1. Quansah JK, Adhikari K, Chen J. Validating the Efficacy of Sanitation Methods Commonly Used by Ghanaian Households in Inactivating Artificially Inoculated Salmonella enterica on Leafy Green Vegetables. J Food Prot. 2022 Apr 1;85(4):653-659. doi: 10.4315/JFP-21-365. PMID: 35051280.
  2. Baur S., Klaiber R., Hammes W.P., Carle R. Sensory and microbiological quality of shredded, packaged iceberg lettuce as affected by pre-washing procedures with chlorinated and ozonated water. Innov. Food Sci. Emerg. Technol. 2004;5:45–55. doi: 10.1016/j.ifset.2003.10.002.
[อ่านต่อ...]

14 กันยายน 2566

การยอมรับ-การใช้ชีวิต-เมตตาธรรม

(ภาพวันนี้ / เมื่อวานซืนไปเที่ยวบ้านชนบทแบบฝรั่งเศสหลังหนึ่ง สามพ่อแม่ลูก และเพื่อนๆ นั่งดื่ม afternoon tea ร้อนๆ ในวันฝนตกพรำๆเย็นๆ บ้านหลังนั้นอยู่ที่เขาใหญ่นี่เอง หิ..หิ ชื่อ La Purinee)

(หมอสันต์พูดกับสมาชิกแค้มป์พลิกผันโรคด้วยตนเอง – RDBY)

พวกเราทุกคนป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งแปลว่าโรคที่วงการแพทย์ไม่รู้ว่ามันเกิดจากอะไร ไม่รู้ว่าทำอย่างไรมันจึงจะหาย ได้แต่ลองผิดลองถูกกันไปแบบตาบอดคลำช้าง คลำกันมานานหลายสิบปี แต่ก็ยังคลำได้ไม่ถึงไหน เรา

เรามาที่นี่เพื่อเสาะหาหนทางที่จะช่วยตัวเองโดยที่ไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูกเช่นกัน แต่โดยสามัญสำนึกเรารู้ในภาพใหญ่ว่าร่างกายและจิตใจของเรามันไม่ลงตัว มันปั่นป่วน มันไม่สุขสบาย

ในระหว่างพักรอเพื่อนๆนี้ผมอยากจะคุยนอกเรื่อง เพื่อแชร์ประสบการณ์ของตัวผมเอง ซึ่งก็ป่วยเป็นโรคเรื้อรังเช่นเดียวกัน แต่ว่าป่วยมาก่อน ได้ลองผิดลองถูกมาก่อน ผมสรุปเป็นวิธีของตัวเองว่าทางที่จะทำให้ร่างกายและจิตใจนี้มันสุขสบายหรือลงตัวนั้น มันมีสามมุมมองสามด้านด้วยกัน คือ

1.. การยอมรับ (Acceptance) หมายถึงการที่เราผ่อนคลาย ยิ้ม นิ่ง กับแต่ละโมเมนต์ของชีวิต “นิ่ง” หมายความว่าเราอยู่นิ่งๆตรงกลาง ไม่แกว่งไปกอดรัดสิ่งที่ชอบที่อยากได้ ไม่แกว่งหนีสิ่งที่ไม่ชอบหรือไม่อยากได้ อะไรโผล่เข้ามาในชีวิตเรา เราก็โอเค.หมด เรายอมรับหมด อะไรที่จะจากเราไปเราก็โอเค.หมด ยอมรับหมด ไม่ต่อสู้ ไม่ดิ้นรน ไม่ร้อนรนกระวนกระวาย กระต๊าก..ก ปกป้อง หรือต่อต้านอะไร เน้นเป็นพิเศษกับการยอมรับคนรอบตัว แบบยอมรับเขาตามที่เขาเป็น ไม่ไปหงุดหงิดหรือพยายามอยากจะให้เขาเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น

2.. การใช้ชีวิต (Living) หมายถึงการที่เราให้ความสำคัญกับการมีชีวิตอยู่หรือการดำรงชีวิตอยู่ ณ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ หรือจะขยายให้กว้างที่สุดก็ไม่เกินลมหายใจนี้ คือชีวิตดำรงอยู่ทีละลมหายใจ เริ่มจากหายใจเข้าไปสิ้นสุดที่ปลายของการหายใจออก ณ ที่ปลายของลมหายใจออก หากไม่มีการหายใจเข้าครั้งใหม่ ชีวิตก็จบแค่นั้น ดังนั้นการใช้ชีวิตเป็นเรื่องง่าย ตราบใดที่ยังหายใจเข้าออกได้ ก็ยังใช้ชีวิตได้ ประเด็นคือเราจะใช้ชีวิตในลมหายใจนี้อย่างไรให้มันเป็นชีวิตที่สงบเย็น และสร้างสรรค์

ต่างจากอีกมุมหนึ่งของชีวิต ซึ่งคือ “สถานะการณ์ในชีวิต (Life situation)” ซึ่งเป็นเรื่องราว เป็นนิยาย เป็นดราม่า เป็นนิทาน ที่เราแต่งขึ้นจากฉากหรือเหตุการณ์รอบตัวโดยมีตัวตนหรืออีโก้ของเราเป็นศูนย์กลาง มีเรื่องราวเป็นตุเป็นตะ ในมิติของเวลา มีอดีต มีอนาคต เหมือนหนังที่เราสร้างขึ้นมาเองแล้วฉายให้ตัวเองดู แต่ว่าเผอิญเรามีความสามารถสร้างได้แต่หนังห่วยๆ ดูแล้วก็มีแต่จะเป็นทุกข์ น้อยมากที่การสร้างหนังให้ตัวเองดูจะมีคนสร้างหนังดีๆที่ตัวเองดูแล้วเป็นสุข ดังนั้นประเด็นของผมคืออย่าไปยุ่งกับสถานะการณ์ในชีวิตมากนัก ให้โฟกัสที่การใช้ชีวิตทีละลมหายใจ

3.. การเปลี่ยนตัวตน (Change of identity) คนเรานี้แท้จริงแล้วมีสองตัวตน “ตัวตนแรก” ที่เรารู้จักคุ้นเคยคือการเป็นบุคคลคนนี้ มีชื่อนี้ นามสกุลนี้ เรียนจบมาเรื่องนี้ ทำมาหากินอาชีพนี้ อยู่ในสังคมในประเทศนี้ มีเกียรติ ศักดิ์ศรี มีทรัพย์ที่ขึ้นทะเบียนไว้เท่านี้ มีความผูกพันกับคนรอบตัวกันคนนี้ในสถานะนี้ กับคนนั้นในสถานะนั้น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็อีกแหละเป็นแค่เรื่องราวที่เราวาดภาพตัวของเราขึ้นในสมองของเราเอง พูดง่ายว่าตัวตนเป็นเพียงความคิด เป็นเพียงชุดของความคิดที่เราสมมุติขึ้นและพยายามยึดถือปกป้องให้มันดูเป็นจริงเป็นจัง

“ตัวตนที่สอง” ก็คือตัวเราเองในภาวะที่ปลอดตัวตนที่แรก หรือผมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าคือ “ความรู้ตัวในขณะปลอดความคิด” หรือเรียกให้เข้าใจง่ายที่สุดว่าคือ “เมตตาธรรม” ในตัวตนที่สองนี้ความเป็นบุคคลเป็นเราเป็นเขาไม่มีแล้ว มีแต่ความรู้ตัวในความว่างเปล่าที่เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตอื่นทุกชีวิต และมีศักยภาพที่จะรับรู้ เรียนรู้ และดลบันดาลอะไรได้ในแบบแมจิก หรือแบบที่ภาษาไม่อาจอธิบายไปถึง

การเปลี่ยนตัวตน ผมหมายถึงเราตั้งใจย้ายการเป็นตัวตนแรกมาเป็นตัวตนที่สอง จากการเป็นบุคลลคนหนึ่งที่มีทรัพย์มีความยึดถือเกี่ยวพันที่ต้องปกป้องดูแล มาเป็นเมตตาธรรมต่อทุกชีวิตอย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่มีผลประโยชน์ อุปมาเหมือนเรามีบ้านหลังหนึ่งอยู่ในกรุงเทพ ต่อมาปลูกอีกหลังหน้าที่ต่างจังหวัด แล้วเราก็ค่อยๆย้ายจากหลังแรกมาอยู่หลังที่สองมากขึ้นๆ

ผมสรุปเองเออเองแบบไสยศาสตร์ว่าการหายป่วยแบบแมจิกจะไม่เกิดขึ้นหากผมยังต่อสู้กับความเจ็บป่วยอยู่ แต่มันเกิดขึ้นเมื่อผมยอมรับการเจ็บป่วยนั้นแล้ว และการหายมันค่อยๆหนักแน่นยิ่งขึ้นเมื่อผมเริ่มโฟกัสที่การใช้ชีวิต เลิกสนใจหรือกังวลกับสถานะการณ์ในชีวิต และมันหายสนิทเมื่อผมเปลี่ยนตัวตนจากการเป็นคนๆหนึ่งที่ต้องปกป้องอะไรต่อมิอะไรที่สมมุติว่าเป็นของตัวเอง ไปเป็นเมตตาธรรมที่ไม่มีอะไรต้องคอยปกป้อง มีแต่ ให้ ให้ ให้ โดยไม่หวังอะไรตอบแทน..แม้คำขอบคุณก็ไม่หวัง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

07 กันยายน 2566

เรื่องไร้สาระ (33) ไปดู "มารแบก" ที่ปลดเกษียณแล้ว

กดก

วันนี้เราเจียดเวลาได้ สามคนพ่อแม่ลูกตกลงไปเดินถ่ายรูปแถวเกาะรัตนโกสินทร์สักวัน แน่นอนต้องไปตั้งต้นที่สนามหลวง เห็นตึกแดงแต่ไกลๆมานานแต่ไม่เคยสนใจว่ามันคืออะไร วันนี้จึงตั้งใจถ่ายรูปมาให้ดู โดยเอารูปสวนดอกไม้หน้าวัดพระแก้วเป็นโฟร์กราวด์ มีรูปปั้นสตรีหลั่งน้ำอยู่ด้วย จากมุมนี้เห็นตึกแดงจ๊าบเชียว ถ่ายมาเผื่อคนที่ไม่เคยชายตามองตึกแดง หรือคนที่อาจไม่รู้ว่มีตึกแดงอยู่แถวๆสนามหลวงด้วย

จากนั้นเดินวนรอบสนามหลวงไปดูแม่ธรณีบีบมวยผม เพราะไม่เคยดูใกล้ๆ เดินไปถึงมีปาร์คเล็กๆอยู่กลางถนน แม่พระธรณีเป็นโลหะเข้าใจว่าเป็นสัมฤทธิ์ สร้างขึ้นก่อนผมเกิดอีก ด้วยเจตนาจะให้ทานน้ำแก่ผู้ไม่มีน้ำสะอาดดื่มและใช้ คือที่ปลายมวยผมของแม่ธรณีจะมีน้ำประปาไหลออกมาโจ๊กๆเลยเชียว เพื่อให้สมจริงตามคำลือผมจึงจงใจถ่ายภาพให้เห็นน้ำไหลโจ๊กๆออกจากปลายมวยผมอันยาวเหยียดของเธอจะจะ

เมื่อเข้าไปเพ่งพินิจใกล้ๆ เธอเป็นผู้หญิงสวยทีเดียว ใบหน้าสงบเย็นมีเมตตาอยู่ในที ท่วงท่าที่เคลื่อนไหวบีบมวยผมก็อ่อนช้อย หากไม่ติดว่ามวยผมของเธอยาวไปหน่อยก็จะเป็นรูปปั้นที่ไม่มีที่ติ มีคนเอาเสื้อผ้าหลากสีมาให้เธอใส่ เอากำไลมาสวมตามมวยผมของเธอ และเอาสายสร้อยมาใส่มือเธอให้ถือไว้เต็มไปหมด ซึ่งเป็นธรรมดาของรูปปั้นในเมืองไทย สงสัยเพราะคนไทยมีนิสัยกลัวรูปปั้นหนาว


แล้วเราเข้าไปเดินในม.ศิลปากร เขามีสวนซึ่งตั้งแสดงงานปฏิมากรรมน่าสนใจอยู่ ผมถ่ายรูปมาให้ดูสองชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นเด็กผู้หญิงกระโดดเชือก อีกชิ้นหนึ่งเป็นหญิงนุ่งผ้าถุงนั่งชันเข่าปล่อยหน้าอกต่องแต่งแบบเซ็งชีวิต ที่ผมถ่ายรูปหลังนี้เพราะผมชอบแบ้คกราวด์ที่เป็นตึกเหลืองวงกบประตูสีชมพูอ่อน ไม่มีวาระซ่อนเร้น

บริเวณท่าช้าง ข้าง ม. ศิลปากร ตึกแถวถูกรีโนเวทให้ใหม่เอี่ยมอ่องแต่ยังคงสถาปัตยกรรมเดิมไว้ครบถ้วน ทาสีเหลือง หน้าต่างวงกบสีขาว บานสีครามอมน้ำเงิน จ๊าบซะ ผมถ่ายรูปมาให้ดูเป็นหลักฐาน

ตรงถนนหน้าพระลานที่หน้าศิลปากรเดี๋ยวนี้เขาขุดอุโมงให้นักท่องเที่ยวลงไปหลบร้อนและเข้าห้องน้ำที่ข้างล่าง มีบันไดเลื่อนขึ้นลงสะดวก ลงไปแล้วไม่อยากขึ้นเพราะเย็นดี

พวกมารแบกรุ่นน้อง หล่อเชียว

ค่ำแล้วเรากินข้าวและหาที่พักค้างคืนแถวนี้ กะว่าจะตื่นแต่เช้าไปเที่ยววัดพระแก้วโดยจะไปให้ถึงก่อนที่นักท่องเที่ยวจะมา แต่ว่าเอาเข้าจริงๆสามพ่อแม่ลูกมัวแต่ละเลียดโจ๊กที่หน้าวัดโพธิ์อยู่นาน เที่ยววัดโพธิ์อีกพักหนึ่ง กว่าจะไปถึงวัดพระแก้วก็พบว่านักท่องเที่ยวเจ็ดแสนเจ็ดหมื่นคนไปรออยู่ที่นั่นแล้วเรียบร้อย

เมื่อเดินเข้าไปถึงวัดพระแก้วชั้นในจึงได้พบว่า “มารแบก” หรือ “The demon who supports” ที่เขาใช้ให้ยกเจดีย์ทองไว้นั้นเปลี่ยนรุ่นไปแล้วยกรุ่น เป็นพวกมารรุ่นใหม่แต่งตัวกันจ๊าบมากสีสันสดใสสะดุดตา เสื้อลายตาโมเสคและชิ้นกระเบื้องดินเผาแปะ มีทั้งม่วงครามน้ำเงินเขียวเหลืองแสดแดง พวกนักท่องเที่ยวทั้งฝรั่งทั้งเอเซียมาตั้งแถวหน้ากระดานแล้วทำท่ายกเจดีย์เหมือนพวกมารแบกเพื่อถ่ายรูปกันเป็นที่สนุกสนาน

ผมคิดถึงมารแบกรุ่นออริจินอลจึงแอบตามไปดูพวกที่เขาปลดระวางออกมา พบว่าต่างก็ชำรุดทรุดโทรม แข้งขาหัก มือกุดตีนกุด สมควรเปลี่ยนรุ่นจริงๆ รุ่นเก่าให้เกษียณไปเสียก็ดีแล้ว แต่เพื่อเป็นเกียรติผู้เกษียณ ผมถ่ายรูปมาให้ดูท่านหนึ่งด้วย

มารแบกรุ่นพี่ที่เกษียณแล้ว

ในวัดพระแก้วมีรูปหินอ่อนแกะสลักเป็นชาวฝรั่งมังค่าขนาดเท่าคนจริงๆทั้งชายทั้งหญิงตั้งอยู่ตามที่ทั่วไปแยะมากซึ่งสมัยก่อนมาไม่มี ผมไม่ได้นับแต่กะคร่าวๆน่าจะมีมากกว่ายี่สิบขึ้นไป ฟังว่าเขาขุดขึ้นมาได้จากใต้ดินขณะทำอุโมงใต้ถนนหน้าพระลาน ผมไม่ได้ถ่ายรูปมาให้ดูเพราะแต่ละคนมีสีหน้าซึมเศร้า กลัวแฟนบล็อกจะเผลอเลียนสีหน้าพวกเขาเข้า ดูแต่รูปมารไปก่อนละกัน เผลอเลียนสีหน้าก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ต้องเลียนก็เป็นอยู่แล้ว (อุ๊บ.. ขอโทษ ล้อเล่น หิ..หิ)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

ปล. แถมภาพหอนาฬิกาหลังวัดโพธิ์ (แถวสวนเจัาเชตุ) ภาพบ้านสีชมพู (วังสราญรมย์) ภาพฝึมือการตกแต่งเสาและหน้าจั่วด้วยเศษกระเบื้องแปะปูน และภาพบ้านน้ำเงินขาวในมหาราชวังให้ดูด้วยรวมเป็นอีกสี่ภาพ

หอนาฬิกาแถวสวนเจ้าเชตุ
วังสีชมพู “สราญรมย์”
ฝีมือการตกแต่งเสาและหน้าจั่วด้วยเศษกระเบื้องสังคโลกแปะลงบนปูน
วังขาว-น้ำเงิน ภายใน Grand Palace
[อ่านต่อ...]

06 กันยายน 2566

เป็นโรคขาดวิตามินบี.12 ทั้งกินทั้งฉีดก็ไม่หาย แต่ทำโปรไบโอติกกินเองแล้วหาย

(ภาพวันนี้ / รำลึกความหลังบ้านบนเขาเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ให้เห็นอนิจจังว่าความเจริญมาความโรแมนติกก็ไป)

ส่งจาก iPhone ของฉัน

เรียนหมอสันต์ครับ

ผมชื่อ … อายุ 80 เป็นแฟนคลับของคุณหมอครับ ผมเป็นคนที่มีปัญหาเรื่อง Homosystein สูง 18.5 มาหลายปี ซื้อ วิตามิน B12 มากินอยู่หลายปี ของญี่ปุ่นแพงๆเม็ดละ 26 บาทก็ลองซื้อมากิน ค่า Homosysteine ก็ไม่ลง
ผมเคยปรึกษาคุณหมอครั้งหนึ่งประมาณ ปี2564 คุณหมอแนะนำให้ผมทดลองฉีดวิตามินB12 ผมฉีดวันเว้น
อยู่ 6 เดือนครับ ค่าHomosysteine ของผมก็ไม่ลง มีโลหิตจางชนิดเม็ดเลือดแดงโตจนครั้งหนี่งวูบและล้ม และเมื่อผมได้ฟังบทสนทนาของคุณหมอในรายการเจาะใจ คุณหมอพูดถึงโปรไบโอติค ที่เป็นผู้ผลิต B12 ผมก็เลยลงมือทำน้ำคอมพูชา กินเองเป็นเวลา 4 เดือน ผลการตรวจค่า Homosysteine ลงมาเหลือ 13.69  ผมจึงอยากเรียนให้คุณหมอเป็นข้อมูลเผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อคนกินมังสวิรัติครับ แล้วทุกวันนี้ผมทำคอมพูชาได้อร่อยมาก เอามะม่วงปั่นลงไปผสม ทำแจกเพื่อนๆ ใครได้กินก็ชอบ คุณหมอจะเอาสูตรผมยินดีไปสอนให้ที่เวลเนสเลยครับ

ผมทำเท็มเป้ อาหารถั่วไบโอติคของอินโดนีเซียด้วย และเมื่อเข้าไปดูวิธีการกินเท็มเป้ในยูทูป เกือบทุกคลิปที่แนะนำการบริโภคเท็มเป้หรืออาหารประเภทโปรไบโอติคทั้งหลาย ผู้ทำคลิปทุกรายบอกให้เอาเท็มเป้ไปทอดบ้าง ไปอบบ้าง เอากิมจิไปผัดบ้าง ผมมีความคิดว่าผู้ที่ทำคลิปเกี่ยวกับการกินอาหารประเภทโปรไบโอติค แนะนำประชาชนแบบผิดๆ เพราะการที่การกินอาหารประเภทโปรไบโอติคแบบใช้ความร้อนจุลินทรีย์หรือโปรไบโอติค จะตายหมดเราก็จะไม่ได้ประโยชน์ใช่มั้ยครับ เราต้องบริโภคอาหาร ประเภทขณะที่เชื้อไบโอติคยังมีชีวิตอยู่ใช่ไหมครับ ผมอยากขอความเห็นของคุณหมอหน่อยครับ ขอโทษครับ
ผมปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของคุณหมอมาเกือบ 10 ปีแล้วครับ ผมทานผักและผลไม้ปั่นทุกวัน ประมาณวันละ 1,700 CC ทุกวัน ไม่ทานเนื้อหมูและเนื้อวัว ปลาและสัตว์ปีกเล็กน้อย ทุกวันนี้ไม่ต้องกินยาอะไรเลย ดรรชนีมวลกาย 22 blood sugar 98HbA1c5.3 cholesterol 136 triglyceride 71 HDL39 LDL94 eGFR 78.18 ผมออกกำลังด้วยการเดินอาทิตย์ละ1-2วันและไปร้องเพลงที่ … ทุกวัน และยังทำงานเป็นที่ปรึกษาธุรกิจอยู่
ถามปัญหามโนสาเร่ไปหน่อยครับ ขอบคุณครับ

…………………………………………………….

ตอบครับ

ก่อนจะตอบคำถามของคุณพี่ ผมอยากให้แฟนบล้อคทุกท่านอ่านจดหมายของคุณพี่อีกครั้ง ว่าของจริงมีอยู่นะ คนตัวเป็นๆ อายุ 80 ปี ไม่กินยาอะไรเลย มีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ออกกำลังกายปานกลางสม่ำเสมอ ร้องรำทำเพลงทุกวัน แถมยังทำงานธุรกิจได้อยู่ด้วย และโปรดสังเกตรูปแบบการกินของท่านนะครับ อาหารพืชเป็นหลัก มีปลาเล็กน้อย ไก่เล็กน้อย ทำอาหารโปรไบโอติกกินเองแยะๆ

เอาละ คราวนี้มาตอบคำถาม

1.. ถามว่าคนที่เป็นโรคขาดวิตามินบี.12 ต่ำ มีโฮโมซีสเตอีนสูง รักษาด้วยยากินยาฉีดไม่หาย จะรักษาด้วยการกินอาหารโปรไบโอติกได้ไหม ตอบว่า อ้าว.. ก็พี่เพิ่งพิสูจน์ให้เห็นแหม็บๆนี่ไงว่ามันรักษาได้ ส่วนในทางการแพทย์นั้นงานวิจัยเอาอาหารโปรไบโอติกรักษาโรคนี้ตรงๆยังไม่มี แต่มีงานวิจัยที่อียิปต์เอาอาหารโปรไบโอติกให้เด็กกินโดยวัดระดับวิตามินบี.12 ก่อนและหลังได้อาหารโปรไบโอติกแล้วพบว่าหลังได้อาหารโปรไบโอติกเด็กมีระดับวิตามินบี.12 ในเลือดสูงขึ้น งานวิจัยแบบนี้ในผู้ใหญ่ก็มีหลายงาน มีผู้เอาข้อมูลมาวิเคราะห์รวมกันแบบเมตาอานาไลซีสก็ได้ผลสรุปแบบเดียวกันว่าการกินอาหารโปรไบโอติกทำให้ระดับวิตามินบี.12 สูงขึ้น ดังนั้นนักกินอาหารมังสวิรัติสาย “ศรัทธาแบบดั้งเดิม” คือปฏิเสธวิตามินเป็นเม็ดตะพึด จะแก้ปัญหาขาดวิตามินบี.12 โดยการกินอาหารโปรไบโอติกก็เป็นวิธีที่สอดคล้องกับหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ครับ

2.. ถามว่าการทำอาหารโปรไบโอติกแล้วเอาไปผัด ไปทอด หรือถูกบังคับให้นึ่ง (กรณีที่จะเอาตรา อย.) จะเป็นการทำลายจุลินทรีย์ให้ลดประสิทธิภาพและความหลากหลายลงไหม ตอบว่าก็แหงแซะสิครับ เพราะจุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิต ต้องขนย้ายด้วยความทนุถนอม แต่ว่าโดยธรรมชาติมันผ่านกรดในกระเพาะอาหารไปได้นะเพราะตัวมันเองสร้างกรดหุ้มรอบตัวมันไว้ไม่ต้องลงทุนถึงขั้นกินยาลดการหลั่งกรด ในธรรมชาติเวลาจะเคลื่อนย้ายจุลินทรีย์ในร่างกายต้องทำอย่างปกป้องจงใจ เช่นเมื่อมารดาตั้งครรภ์ใกล้คลอด ร่างกายจะส่งเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งทำหน้าที่แบบตำรวจลับไปรับเอาจุลินทรีย์แล็คโตบาซิลลัสที่ลำไส้แล้วพามาตามพามาส่งไว้ที่เต้านมเพื่อเอาไปเพาะเลี้ยงในลำไส้ของลูกน้อยเมื่อดูดนม จะปล่อยให้จุลินทรีย์ว่ายมาเองตามกระแสเลือดเป็นไปไม่ได้เพราะจะถูกระบบหลักของร่างกายจับทำลายหมด

แต่อย่างไรก็ตาม การขยายจุลินทรีย์ในลำไส้นี้เรามีสองวิธี คือกินจุลินทรีย์ตัวเป็นๆที่เรียกว่าโปรไบโอติก กับการกินอาหารเลี้ยงจุลินทรีย์ที่เรียกว่าพรีไบโอติก (prebiotic) การเอาอาหารโปรไบโอติกไปทำให้สุกทำให้จุลินทรีย์ตายหมดก็จริง แต่ซากศพของมันทำหน้าที่เป็นพรีไบโอติกให้จุลินทรีย์ในลำไส้ขยายตัวได้ ข้อสรุปนี้ได้มาจากสองงานวิจัย งานวิจัยหนึ่งคืองานวิจัยที่สะแตนฟอร์ดที่พบว่าเราเอาอาหารนมเปรี้ยวให้คนกินแล้วตามเช็คอุจจาระก่อนและหลังเทียบกับกลุ่มควบคุม พบว่ากลุ่มกินนมเปรี้ยวมีชนิดของจุลินทรีย์เพิ่มขึ้นเกินชนิดที่ใส่ให้กินในนมเปรี้ยวได้ อีกงานวิจัยหนึ่งเป็นการเช็ค (เช็คนะไม่ใช่เช็ด) อุจจาระของคนที่ทดลองให้กินขนมปังปกติกับขนมปังซาวโด (ขนมปังเปรี้ยวจากการหมักจุลินทรีย์) พบว่ากลุ่มที่กินขนมปังซาวโดมีจุลินทรีย์มากขึ้นทั้งปริมาณและชนิด ดังนั้นหากหาตัวเป็นๆกินได้ก็ดีที่สุด แต่หากหาไม่ได้ กินซากศพของมันก็ยังพอมีประโยชน์อยู่

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Mohammad MA, Molloy A, Scott J, Hussein L. Plasma cobalamin and folate and their metabolic markers methylmalonic acid and total homocysteine among Egyptian children before and after nutritional supplementation with the probiotic bacteria Lactobacillus acidophilus in yoghurt matrix. Int J Food Sci Nutr. 2006 Nov-Dec;57(7-8):470-80. doi: 10.1080/09637480600968735. PMID: 17162326.
  2. Barkhidarian B, Roldos L, Iskandar MM, Saedisomeolia A, Kubow S. Probiotic Supplementation and Micronutrient Status in Healthy Subjects: A Systematic Review of Clinical Trials. Nutrients. 2021 Aug 28;13(9):3001. doi: 10.3390/nu13093001. PMID: 34578878; PMCID: PMC8472411.
[อ่านต่อ...]

05 กันยายน 2566

คิดจะกินแบบเมดิเตอเรเนียนก็ดีอยู่ แต่ควรใช้วิถีชีวิตแบบเมดิเตอเรเนียนด้วยจึงจะดีที่สุด

กราบเรียนอาจารย์สันต์

หนูกำลังคิดจะเปลี่ยนมาทานอาหารแบบ Mediterranean จริงจัง ชอบอาหารตะวันตกเพราะอยู่เมกาสิบกว่าปี ไปยุโรปและศึกษาอาหาร Mediterranean แล้วสรุปไม่ได้ว่ามันคืออะไรแน่ ไปตามเมืองต่างๆก็เห็นแต่อาหาร junk อยากถามอาจารย์ว่าอาหาร Mediterranean ของแท้คืออะไร เป็นอาหารแบบดั้งเดิมไม่มีอิทธิพลภายนอกเลยหรือเปล่า ของเก่ากับของใหม่ต่างกันไหม

ขอบพระคุณมากนะคะ

……………………………………………………………….

ตอบครับ

1.. ถามว่าอาหารเมดิเตอเรเนียนที่แท้เป็นอย่างไร ตอบว่าคำถามนี้แม้ในวงการแพทย์เองก็เถียงกันไม่ตกฟาก ผมจะยกคำนิยามของ UNESCO มาตอบนะ เพราะอาหารเมดิเตอเรเนียนยูเนสโกรับรองเป็นมรดกทางวัฒนธรรมชนิดจับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ซึ่งเขาได้อธิบายถึงรูปแบบของอาหารชนิดนี้ไว้ว่า

“อาหารเมดิเตอเรเนียน (Mediterranean Diet) เป็นชุดของทักษะ ความรู้ การปฏิบัติ ประเพณีปฏิบัตินับตั้งแต่ในเรือกสวนไร่นามาจนถึงโต๊ะอาหาร ซึ่งรวมไปถึง การเลือกพืชที่ปลูก การเก็บเกี่ยว การหาปลา การถนอม การเตรียม การทำ และการกินอาหาร เป็นรูปแบบของอาหารที่ยั่งยืน ผ่านกาลเวลามานาน มีองค์ประกอบหลักคือ น้ำมันมะกอก ธัญพืชไม่ขัดสี ผักและผลไม้ทั้งสดและแห้ง เครื่องปรุง เครื่องเทศ ในปริมาณมาก ปลาและผลิตภัณฑ์นม เหล้าไวน์ ในปริมาณพอควร ส่วนเนื้อสัตว์กินในปริมาณน้อย ทั้งนี้ยังขึ้นกับความเชื่อของแต่ละชุมชนด้วย นอกจากอาหารแล้วยังหมายถึงการส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กันในทางสังคมผ่านการกินร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่ (communal meals) และงานสังคม ซึ่งเป็นที่ก่อกำเนิดความรู้ เพลง ดนตรี นิทาน เรื่องเล่า สืบต่อกันมาหลายศตวรรษ อาหารแบบเมดิเตอเรเนียนมีรากเหง้ามาจากความเคารพต่อท้องถิ่น ความหลากหลายทางชีวภาพ ประเพณีวัฒนธรรม และหัตถกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการทำสวนทำไร่ และการประมง ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการสืบทอดความรู้ความชำนาญและวัฒนธรรมของโต๊ะอาหารจากรุ่นสู่รุ่น”

2.. ถามว่าอาหารเมดิเตอเรเนียนที่คลาสสิกเป็นอาหารดั้งเดิมที่ไม่มีอิทธิพลจากอาหารส่วนอื่นของโลกเลยใช่ไหม ตอบว่าไม่ใช่หรอกครับ จริงอยู่ อาหารเมดิเตอเรเนียนเป็นอาหารดั้งเดิมมาแต่โบราณที่เกาะครีทประเทศกรีซ พอถึงสมัยกลางก็ถูกผสมเข้ากับอาหารของโรมันและของเยอรมันเผ่านอร์แมด เครื่องเทศ ผลไม้ และวิธีทำอาหารบางอย่างได้รับมาจากอาหรับ พอมาถึงยุคที่มีการค้นพบอเมริกาก็ได้รับอาหารใหม่เช่นมะเขือเทศ มันฝรั่ง เข้ามา ตอนได้มะเขือเทศมาใหม่ๆชาวเกาะครีทเขาเอาถือว่าเป็นยาพิษ แต่เดี๋ยวนี้มะเขือเทศเป็นตัวชูโรงของอาหารเมดิเตอเรเนียน มันก็เหมือนอาหารไทยนั่นแหละ สืบโคตรเหง้าศักราชไปแล้ว แม้แต่พริกและขนมหวานนี่ยังไม่ใช่ของไทยดั้งเดิมเลย

3. ถามว่าอาหารเมดิเตอเรเนียนปัจจุบันต่างจากอดีตอย่างไร ตอบว่างานวิจัยอาหารเมดิเตอเรเนียนครั้งแรกทำเมื่อปี ค.ศ. 1940 ตีพิมพ์ไว้ในชื่อ Crete: A Case Study of an Underdeveloped Area. ซึ่งได้ข้อสรุปว่าอาหารของชาวเกาะครีทเป็นอาหารพืชเป็นหลัก (61%) มีผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้อย (7%) และมีการกินไขมันในปริมาณมาก (29% ส่วนใหญ่จากน้ำมันมะกอก)

ต่อมางานวิจัย Seven Country Study ที่นำโดย Ancel Keys ได้สรุปความสัมพันธ์ระหว่างระดับโคเลสเตอรอลรวมในอาหารว่าแม้ระดับโคเลสเตอรอลรวมเท่ากันแต่รูปแบบการกินต่างกันก็มีผลต่ออัตราตายด้วยโรคหัวใจหลอดเลือดต่างกัน กล่าวคือที่โคเลสเตอรอลรวม 210 มก./ดล.เท่ากัน อัตราตายของคนกินอาหารแบบเมดิเตอเรเนียนและอาหารแบบแญี่ปุ่นมีอัตราตายจากโรคหัวใจหลอดเลือด 4-5% ขณะที่คนกินอาหารแบบอเมริกันและแบบยุโรปเหนือมีอัตราตาย 15% แสดงว่ามันมีปัจจัยอื่นนอกเหนือจากระดับไขมันด้วย

ตัว Keys และภรรยาของเขาหลังจากจบงานวิจัยแล้วเขาลงหลักปักฐานที่ตอนใต้ของอิตาลีนาน 35 ปี และเสียชีวิตในปีค.ศ. 1998 ด้วยวัย 101 ปี เขาพูดถึงอาหารเมดิเตอเรเนียนว่า

“เราชอบอาหารที่มีรสชาติง่ายๆมาก ซุปผักต้มเองในบ้าน พาสต้าเป็นพันๆแบบล้วนแล้วแต่ปรุงสดๆราดซอสมะเขือเทศและโรยชีสบด น้อยมากที่จะมีเนื้อสัตว์หรือปลา ได้พาสต้าอร่อยๆและถั่ว ขนมปังปิ้งสดๆเยอะๆโดยไม่มีการทาเนยเลย ผักสดหลากหลายมากๆ เหล้าไวน์ในท้องถิ่น และผลไม้แทนของหวาน แค่นี้แหละอร่อยละ

          อาหารเมดิเตอเรเนียนในปัจจุบัน มีความแตกต่างหลากหลายไปตามชุมชนและประเทศ แต่มีลักษณะร่วมกันหลายอย่าง เช่น เป็นอาหารพืชเป็นหลักซึ่งกินธัญพืชไม่ขัดสี ขนมปัง ผลไม้ ผัก ถั่ว นัท เมล็ดพืชต่างๆมาก กินเนื้อสัตว์น้อย ผลิตภัณฑ์นมที่กินส่วนใหญ่กินในรูปของโยเกิร์ตและชีส กินไข่แดงไม่มาก ได้รับพลังงานจากอาหารไขมันมาก (40%ในกรีซ 30%ในอิตาลี) ส่วนใหญ่จากน้ำมันมะกอกซึ่งเป็นไขมันไม่อิ่มตัว แต่กินไขมันอิ่มตัวต่ำ (8%) กินสัดส่วนของไขมันโอเมก้า 3 ต่อโอเมก้า6 ประมาณ 2:1 ถึง 1:1 ดื่มไวน์แดงพอพระมาณทุกมื้อยกเว้นมื้อเช้า นอกจากอาหารแล้ว วิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการทำและการกินอาหารก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของอาหารเมดิเตอเรเนียนไม่เปลี่ยนแปลง

4.. ข้อนี้ผมแถมให้ คุณคิดจะกินอาหารแบบเมดิเตอเรเนียนเป็นเรื่องดี แต่ควรฝึกวิถีชีวิตแบบเมดิเตอเรเนียนด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง (หรืออาจจะเป็นส่วนหลัก) ที่ทำให้คนที่เกาะครีทมีสุขภาพดี คือ

4.1 กินอาหารร่วมกับคนอื่นเสมอ ในบรรยากาศที่รื่นรมย์

4.2 กินแบบกระเหม็ดกระแหม่ กินพอประมาณ ไม่กินล้างกินผลาญ

4.3 ทำอาหารด้วยกันในบ้าน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อย่างสนุกสนาน

4.4 ใช้วัตถุดิบอาหารที่หาได้ในท้องถิ่นตามฤดูกาล

4.5 ทำงานมาก เคลื่อนไหวมาก ร้องรำทำเพลง กระโดดโลดเต้น ซึ่งเป็นที่มาของคอนเซ็พท์ “ออกกำลังกายในวิถีชีวิต (lifestyle physical activity)” คือทุกคนเลือกกิจกรรมที่ตนชื่นชอบให้ได้ออกแรง 30 นาทีต่อวันขึ้นไปโดยไม่ต้องมีชั่วโมงตั้งใจออกกำลังกาย ไม่ต้องไปยิม

4.6 สัมผัสใกล้ชิดธรรมชาติ ถูกแดด ได้อากาศบริสุทธิ์

4.7 หลับมาก รวมทั้งหลับตอนบ่ายๆด้วย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Allbaugh, L.C. (1953). Crete: A Case Study of an Underdeveloped Area. Princeton, NJ: Princeton University Press.
  2. Bach‐Faig, A., Berry, E.M., Lairon, D. et al. (2011). Mediterranean Diet Pyramid today. Science and cultural updates. Public Health Nutr. 14 (12A): 2274–2284. https://doi.org/10.1017/S1368980011002515. PMID: 22166184.
  3. Estruch, R. and Bach‐Faig, A. (2019). Mediterranean diet as a lifestyle and dynamic food pattern. Eur. J. Clin. Nutr. 72 (Suppl 1): 1–3.
  4. Keys, A., Menotti, A., Karvonen, M.J. et al. (1986). The diet and 15‐year death rate in the Seven Countries Study. Am. J. Epidemiol. 124 (6): 903–915.
  5. Diolintzi, A., Panagiotakos, D.B., and Sidossis, L.S. (2019). From Mediterranean diet to Mediterranean lifestyle: a narrative review. Public Health Nutr. 22 (14): 2703–2713.
  6. Dunn, A.L., Andersen, R.E., and Jakicic, J.M. (1998). Lifestyle physical activity interventions: history, short‐and long‐term effects, and recommendations. Am. J. Prev. Med. 15 (4): 398–412.
  7. He, D., Xi, B., Xue, J. et al. (2014). Association between leisure time physical activity and metabolic syndrome: a meta‐analysis of prospective cohort studies. Endocrine 46 (2): 231–240.
[อ่านต่อ...]

02 กันยายน 2566

อยากให้หมอสันต์แนะนำสถานที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัด ที่ไปอยู่แล้วมีสุขภาพดี

(ภาพวันนี้ / ต้นปีบผ่าหิน)

เรียน คุณหมอสันต์

ผมเกษียณแล้วกำลังชั่งใจว่าจะย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดเพื่อการมีสุขภาพดี อย่างน้อยจะได้ออกกำลังกายปลูกต้นหมากรากไม้มากขึ้น เพราะอยู่ในกรุงเทพฯก็เอาแต่นั่งจิ้มจอทุกวัน อยากให้หมอสันต์แนะนำสถานที่ในต่างจังหวัดที่ไปอยู่แล้วจะมีสุขภาพดีครับ

ขอบคุณครับ

………………………………………………..

ตอบครับ

ถามว่าการจะมีอายุยืนมีสุขภาพดีต้องหนีความแออัดของกรุงเทพฯไปอยู่ต่างจังหวัดใช่หรือไม่ ตอบว่าไม่ใช่ครับ ไม่เกี่ยวกันเลย การอยู่ในเมืองใหญ่หรือการอยู่ในชนบทไม่ใช่ประเด็น แต่สไตล์การใช้ชีวิตคือการกินการเคลื่อนไหวออกกำลังกายต่างหากที่เป็นประเด็น

ผมยกตัวอย่างประเทศสิงค์โปร์ เกาะเล็กนิดเดียวพื้นที่ 728 ตร.กม. (ประมาณครึ่งหนึ่งของเกาะภูเก็ต) มีคน 5.8 ล้านคน คือแทบจะทุกตารางนิ้วกลายเป็นเมืองใหญ่ไปหมดแล้ว เมื่อปีค.ศ. 1960 ทารกแรกเกิดในสิงค์โปร์มีอายุคาดเฉลี่ย 65 ปี แต่ทุกวันนี้อายุคาดเฉลี่ยเด็กแรกเกิดที่สิงค์โปร์คือ 84.9 ปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีที่สุดในโลก และถ้าจะวัดอายุคาดเฉลี่ยเฉพาะช่วงที่มีสุขภาพดี (healthy life expectancy) สิงค์โปร์ก็เป็นที่หนึ่งของโลกอยู่ดี ที่ผมสนใจมากเป็นพิเศษในฐานะหมอหัวใจก็คือสิงค์โปร์เป็นประเทศที่มีอัตราตายด้วยโรคหัวใจหลอดเลือดต่ำที่สุดในโลก พูดง่ายๆว่าไม่ว่าจะมองมุมไหน หากถือตามตัวชี้วัดทางการแพทย์สากลตอนนี้คนสิงค์โปร์เป็นคนสุขภาพดีที่สุดในโลกและมีคุณภาพชีวิตบั้นปลายดีที่สุดในโลก ทั้งๆที่เขาอยู่กันอย่างแออัดในเกาะเล็กนิดเดียว

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ถึงเขาจะอยู่ในเมือง แต่ผู้สูงอายุสิงค์โปร์มีอัตราการเดินมาก แดน บิวน์เนอร์ขณะสำรวจสิงค์โปร์เพื่อจัดลำดับเมืองสุขภาพ เขาสัมภาษณ์และขอดูเครื่องนับก้าวของเหล่าผู้สูงอายุที่มาเดินในปาร์คของสิงค์โปร์ พบว่าผู้สูงอายุเหล่านั้นเดินกันเฉลี่ยวันละ 8000 – 14000 ก้าวซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศตะวันตกที่นิยมการเดินอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาซึ่งมีอัตราการเดินเฉลี่ย 4000 ก้าวต่อวันเท่านั้น จะอ้างว่ากรุงเทพฯบ้านเรามันร้อนเดินยากก็ไม่ได้ เพราะสิงค์โปร์ร้อนกว่าบ้านเราเสียอีก อีกอย่างหนึ่ง ผมมีคนไข้ฝรั่งคนหนึ่งอยู่ในกรุงเทพเขาเดินเท้าตลอดไม่ขับรถยนต์เลย จากสีลมมาหาผมที่รพ.พญาไท2 ที่อนุสาวรีย์ชัย ประมาณ 9 กม. กลางวันแสกๆ เขาเดินมา ดังนั้นที่เราไม่เดินกันนั้นมันเป็นแค่เหตุอ้างกันไปเท่านั้นเอง

กลับมาพูดถึงเมืองสิงค์โปร์ เขาอาจจะดีกว่าเราตรงที่เขาสร้างให้มันเป็นเมืองที่เอื้อคนเดินเท้ามากกว่าเอื้อคนขับรถยนต์ ทางเดินเท้าของเขาส่วนใหญ่มีหลังคาคลุมกันแดดกันฝน และเชื่อมโยงกับปาร์ค 350 แห่งทั่วทั้งเกาะแบบที่เดินถึงได้กันหมด การออกแบบตึกสูง โดยเฉพาะกรณีที่อยู่ของผู้สูงอายุเขาก็เน้นให้ผู้สูงอายุในตึกได้มีโอกาสออกมาเดินสัมผัสธรรมชาติ ไม่มีที่ว่างบนดินก็ปลูกต้นไม้สร้างธรรมชาติไว้ชั้นบนของตึก รัฐบาลเองก็ส่งเสริมการเดินจริงจังโดยทำเป็นโครงการระดับชาติเปิดบริการแอ็พ National Steps Challenge ในโทรศัพท์มือถือ ใครก็ตามที่เดินได้ถึงวันละ 10000 ก้าวก็กดเอา Healthpoints จากแอ็พวันนั้นได้เลย เอาไปจับจ่ายซื้อข้าวของได้เหมือนเงินจริงๆ

ในแง่ของอาหารการกิน เพื่อนคนหนึ่งที่เพิ่งเดินทางแวะเที่ยวสิงค์โปร์เล่าว่าเวลาสั่งเมนู Chilli crab (คล้ายปูผัดเผ็ด) คำถามแรกที่พนักงานถามกลับก็คือจะเอาแบบ vegetarian หรือแบบดั้งเดิม คือคนสิงค์โปร์เขาใส่ใจเรื่องอาหารสุขภาพมากเหมือนกัน มันซึมลึกเข้าไปถึงในโรงพยาบาล ที่โรงพยาบาล Khoo Teck Puat (KTPH) ใช้พื้นที่ดาดฟ้าราว 5 ไร่ของตึกโรงพยาบาลปลูกผักให้คนไข้กิน มีจิตอาสามาทำงานในแปลงผักทั้งวันทุกวัน

กล่าวโดยสรุป คุณจะอยู่ในกรุงเทพ หรือจะย้ายออกไปต่างจังหวัด จังหวัดไหนก็ได้ เอาแบบที่คุณชอบ แต่การจะมีสุขภาพดีคุณต้องเปลี่ยนสไตล์การกินและการเคลื่อนไหวออกกำลังกาย ไม่ว่าคุณจะอยู่ในเมืองหรืออยู่บ้านนอก เพราะที่ไหนไม่สำคัญ สำคัญที่กินอะไรและเคลื่อนไหวมากไหม

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

01 กันยายน 2566

Epigenetics คืออะไร

(ภาพวันนี้ / สร้อยอินทนิล)

กราบเรียนคุณหมอสันต์

หนูเป็นครูสอนวิทย์ จบวิทยา … ได้มีโอกาสฟังคุณหมอพูดถึง Epigenetics ว่าพันธุกรรมของคนเราถูกเปลี่ยนแปลงด้วยอาหารและการออกกำลังกายได้ มีความสนใจมากเพราะไม่เคยได้ทราบเรื่องอย่างนี้มาก่อน พยายามไปหาอ่านก็ไม่สำเร็จ คือไม่เข้าใจ หนูอยากเข้าใจว่าในระดับปฏิกริยาทางเคมีมันเกิดได้อย่างไร จะเอาไว้สอนเด็ก อยากให้คุณหมอช่วยอธิบาย Epigenetics ว่ามันคืออะไร มันเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อใดจึงจะเกิด และเราจะใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างไร

ขอบพระคุณค่ะ

……………………………………………………..

ตอบครับ

ฟังคำถามแล้วท่าทางคำตอบจะไม่สนุกแล้วนะ เพราะนี่เรากำลังจะคุยเรื่องวิทยาศาสตร์กับคนจบปริญญาวิทยาศาสตร์ ท่านผู้อ่านที่ไม่ถนัดเรื่องอะตอมโมเลกุลจะผ่านเรื่องนี้ไปไม่ต้องอ่านก็ได้นะครับ

1.. ถามว่าอีพิเจเนติกส์ (Epigenetics) คืออะไร ตอบว่าคือวิชาที่ศึกษาว่าปัจจัยพฤติกรรมเช่นการกินอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด และปัจจัยสิ่งแวดล้อมนอกร่างกาย สามารถเปลี่ยนแปลงการทำงานของยีนได้อย่างไร

2.. ถามว่าพฤติกรรมของเราไปเปลี่ยนยีนได้อย่างไร ตอบว่าสิ่งที่เราเรียกว่านิสัยก็ดี พฤติกรรมก็ดี การกินอาหารก็ดี มันคือการผลิตโมเลกุลที่มีฤทธิ์ทางเคมีขึ้นในร่างกายนั่นเอง โมเลกุลเหล่านี้เท่าที่เรารู้จักแล้วก็มีหลายหมื่นชนิด ทั้งโมเลกุลที่ดูดซึมมาจากอาหารโดยตรง ทั้งโมเลกุลที่จุลินทรีย์ในลำไส้ผลิตขึ้นจากอาหารแล้วร่างกายดูดซึมเอามาใช้อีกต่อหนึ่งซึ่งเฉพาะกลุ่มนี้ก็มีตั้งห้าหมื่นชนิดแล้ว ทั้งโมเลกุลที่ต่อมต่างๆของร่างกายเราผลิตขึ้นเพื่อสนองตอบต่อการทำนิสัยบางอย่าง เช่น การผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลและอีพิเนฟรินของต่อมหมวกไตเพิ่มขึ้นในภาวะเครียด หรือการเพิ่มระดับของเอ็นดอร์ฟินขึ้นในร่างกายหลังการออกกำลังกายหรือหลังการนั่งสมาธิ เป็นต้น คือร่างกายนี้เราโมโหก็เกิดโมเลกุลแบบหนึ่ง เรามีความรักก็เกิดโมเลกุลอีกแบบหนึ่ง โมเลเลกุลเหล่านี้แหละที่ไปทำปฏิกริยากับโมเลกุลดีเอ็นเอ.หรือยีนของเรา

การเปลี่ยนแปลงในเชิงอีพิเจเนติกส์นี้ไม่ใช่การเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมหรือเปลี่ยนการเรียงลำดับของโมเลกุลเบสพื้นฐานสี่ตัวในยีนซึ่งจะมีผลเปลี่ยนแปลงยีนอย่างถาวรนะ แต่อีพิเจเนติกส์เป็นการเปลี่ยนวิธีที่ร่างกายอ่านหรือคัดลอกลำดับของโมเลกุลบนยีนขณะคัดสำเนาทำใบสั่งของยีนไปให้ตัวเซลล์ผลิตโปรตีน นั่นหมายความว่าอีพิเจเนติกส์เปรียบได้กับการ “เปิด” หรือ “ปิด” สวิสต์ว่าจะให้ยีนนั้นทำงานหรือไม่ให้ทำงาน

พูดมาถึงตรงนี้ผมขอทวนความรู้ของท่านผู้อ่านที่เป็นเด็กสายวิทย์หน่อยนะว่าทุกเซลล์ในร่างกายของเรามันทำหน้าที่ของมันได้โดยการผลิตโมเลกุลโปรตีนออกมาทำการต่างๆตามใบสั่ง โรงงานผลิตชื่อไรโบโซมซึ่งตั้งอยู่ในเซลล์นั่นเอง ไรโบโซมจะผลิตตามใบสั่งผลิตซึ่งเรียกว่า m-RNA (ชื่อคุ้นๆแฮะ) ตัวใบสั่งผลิต m-RNA นี้ก็คือสำเนาระหัสพันธุกรรมที่ก๊อปตรงๆออกมาจากยีนหรือดีเอ็นเอ.ซึ่งเป็นโมเลกุลระหัสพันธุกรรมของแท้อยู่ที่แก่นกลางของเซลล์นั่นเอง อีพิเจเนติกส์คือปฏิกริยาเคมีที่ควบคุมกลไกการคัดลอกสำเนานี้อีกต่อหนึ่ง

2.. ถามว่าปฏิกริยาเชิงเคมีของอีพิเจเนติกส์เป็นอย่างไร ตอบว่าโห.. คำถามนี้มันเยอะเกินกว่าที่จะเอาไปสอนนักเรียนแล้วกระมัง แต่ถามมาผมก็ตอบให้ได้ ปฏิกริยาเชิงอีพิเจเนติกส์เกิดได้หลายแบบ เช่น

2.1 DNA Methylation

คือการเกิดปฏิกิริยาเคมีที่มีผลให้กลุ่มของอะตอมที่เรียกว่าเมทิลกรุ๊พ (methyl group) ถูกผนวกเข้าไปในโมเลกุลของยีนหรือดีเอ็นเอ.ในลักษณะที่ไปบล็อคโปรตีนที่ต้องใช้ในการอ่านรหัสบนยีนพอดี ทำให้อ่านรหัสเพื่อก๊อปปี้คำสั่งจากยีนไปใช้ไม่ได้ เป็นการ “ปิด” สวิสต์ของยีน ถ้าปิดยีนก่อโรคก็เป็นเรื่องดี ถูกแมะ หากเกิดปฏิกริยาอีกแบบที่ดึงเอาเมทิลกรุ๊พนี้ออกมา (demethylation) ก็จะทำให้ยีนนั้นกลับมาก๊อปปี้รหัสได้เป็นการ “เปิด” สวิสต์ของยีนอีกครั้ง

2.2 Histone modification

คือการเพิ่มโมเลกุลสารเคมีเข้าไปทำให้ฮีสโตน (ซึ่งเป็นโมเลกุลที่โครงสร้างของมันพันหรือหุ้มรอบเกลียวดีเอ็นเอ.เอาไว้) ให้ฮีสโตนบีบรัดดีเอ็นเอ.แน่นขึ้น ยังผลให้การก๊อปปี้ระหัสดีเอ็นเอทำไม่ได้ เป็นการ “ปิด” สวิสต์ยีน หากเอาโมเลกุลที่เพิ่มเข้าไปนี้ออกมาเสีย ฮีสโตนก็จะคลายการรัดดีเอ็นเอ.ให้หลวมจนการก๊อปปี้รหัสดีเอ็นเอ.กลับมาทำได้ตามปกติ เป็นการ “เปิด” สวิสต์ยีน

2.3 Non-coding RNA

ในภาวะปกติการก๊อปปี้ระหัสบนดีเอ็นเอ.ทำโดยการสร้าง m-RNA ให้มีระหัสพันธุกรรมเหมือนดีเอ็นเอ.เปี๊ยบ ซึ่งเรียกอาร์เอ็นเอ.ชนิดที่เอาไปสั่งผลิตได้นี้ว่า coding RNA แต่ปฏิกริยาเคมีบางแบบในบางสภาวะจะเกิดการสร้างอาร์เอ็นเอ.อีกแบบหนึ่งเรียกว่า non coding RNA ผูกติดมากับ coding RNA ด้วย แล้วมีผลให้ coding RNA สูญเสียสภาพที่จะส่งรหัสให้ไรโบโซมเอาไปสร้างโปรตีนได้ จึงเป็นการ “ปิด” สวิสต์ของยีน

3. ถามว่าเมื่อใดจึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบอีพิเจเนติกส์ขึ้น ตอบว่ามันมีหลายโอกาส ดังนี้ 

3.1 เกิดจากพัฒนาการปกติ

การเปลี่ยนแปลงเชิงอีพิเจเนติกส์เริ่มตั้งแต่มนุษย์เกิดมา แม้เซลล์สองเซลล์จะมียีนเหมือนกันแต่กลไกการเปลี่ยนแปลงเชิงอีพิเจเนติกส์ทำให้ทั้งสองเซลล์กลายเซลคนละชนิดและทำหน้าที่คนละอย่างได้ บ้างไปเป็นเซลล์ประสาท บ้างไปเป็นเซลล์หัวใจ บ้างไปเป็นเซลล์ผิวหนัง เป็นต้น

ยกตัวอย่างเช่นเซลล์กล้ามเนื้อกับเซลล์ประสาทของคนๆหนึ่งมีชุดระหัสในดีเอ็นเอ.เหมือนกันทุกอย่างแต่ทำงานต่างกัน เซลล์ประสาทแปลงร่างตนเองไปเป็นเหมือนสายไฟฟ้าที่นำสัญญาณประสาทไปสู่เซลล์อื่นๆทั่วร่างกาย ส่วนเซลล์กล้ามเนื้อแปลงร่างตนเองไปเป็นกล้ามเนื้อช่วยให้ร่างกายขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้ ทั้งนี้เป็นเพราะกลไกเชิงอีพิเจเนติกส์เปิดให้เซลล์กล้ามเนื้อ “เปิด” ยีนที่มีรหัสคำสั่งให้สร้างกล้ามเนื้อ และ “ปิด” ยีนที่มีระหัสคำสั่งให้สร้างเส้นประสาท

3.2 เกิดจากการมีอายุมากขึ้น

กลไกอีพิเจเนติกส์เปลี่ยนตัวมันเองไปตามวัย กลไกที่ใช้ตอนแรกคลอดออกมา เป็นคนละกลไกกับตอนเป็นเด็ก หรือตอนเป็นผู้ใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยคนสามช่วงอายุ คือเมื่อแรกเกิด เมื่ออายุ 26 ปี และเมื่ออายุ 103 ปี โดยการวัดการเกิด DNA methylation หลายล้านตำแหน่งบนยีนของคนทั้งสามวัย พบว่าการเกิด DNA methylation ลดปริมาณลงตามวัย โดยที่เด็กแรกเกิดมี DNA methylation มากที่สุด คนอายุ 26 ปีมีปานกลาง คนอายุ 103 ปีมีน้อยที่สุด

3.3 เกิดจากการถอยกลับของกลไกอีพิเจเนติกส์เอง

การเปลี่ยนแปลงเชิงอีพิเจเนติกส์ส่วนหนึ่งไม่ถาวร มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงเพิ่มหรือลดตามอิทธิพลของพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม

ยกตัวอย่างเช่นการสูบบุหรี่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบนยีน กล่าวคือยีน AHRR gene ของคนสูบบุหรี่มี DNA methylation เกิดขึ้นน้อยกว่ายีนเดียวกันของคนไม่สูบบุหรี่ ยิ่งสูบบุหรี่มากและสูบบุหรี่นานก็ยิ่งมีน้อยกว่ามาก แต่เมื่อหยุดสูบบุหรี่แล้วการเกิด DNA methylation ก็ค่อยๆกลับเพิ่มขึ้น จนมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับคนไม่สูบบุหรี่ในเวลาช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับสูบบุหรี่มามากและมานานแค่ไหน

4. ถามว่าอีพิเจเนติกส์มีผลต่อสุขภาพอย่างไร ตอบว่าในภาพใหญ่ก็คือมันเป็นตัวบอกว่าพฤติกรรมการกินการใช้ชีวิตของเรามีอิทธิพลเหนือยีนของเราอีกต่อหนึ่ง ในภาพเล็กผมยกตัวอย่างบางตัวอย่างแสดงผลของอีพิเจเนติกส์ต่อสุขภาพ เช่น

4.1 การติดเชื้อ

จุลินทรีย์สามารถเปลี่ยนแปลงกลไกอีพิเจเนติกส์บนยีนของมนุษย์ได้ ซึ่งมักจะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์อ่อนแอลง ทั้งนี้เพื่อให้ตัวจุลินทรีย์เองรอดชีวิตในร่างกายมนุษย์ได้นานขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น เชื้อวัณโรค (Mycobacterium tuberculosis) เมื่อเข้าไปในร่างกายผู้ติดเชื้อแล้วจะสามารถเปลี่ยนฮีสโตนของเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันบางชนิดยังผลให้เกิดการ “ปิด” ยีน IL-12B gene ซึ่งมีผลให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลงและทำให้เชื้อวัณโรคเองรอดชีวิตอยู่ในร่างกายได้นานขึ้น คืออาจซุ่มอยู่ได้นานตลอดชีวิตของตัวมนุษย์ผู้เป็นเจ้าบ้านเอง

4.2 การเป็นมะเร็ง

การเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมอย่างกะทันหัน (mutation) เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเซลล์มะเร็งขึ้นในร่างกาย ในทำนองเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงเชิงอีพิเจเนติกส์ของยีนในบางกรณีก็เพิ่มอัตราการเป็นมะเร็งได้ ยกตัวอย่างเช่นกรณีที่ 1 เมื่อใดที่มีการกลายพันธุ์ในยีน BRCA-gene ไม่ให้มันทำงานได้ตามปกติ โอกาสเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งอวัยวะอื่นจะเพิ่มขึ้น ในทำนองเดียวกัน ในกรณีที่ 2. หากมีการเพิ่ม DNA methylation ที่ยังผล “ปิด” สวิสต์ยีน BRCA1 gene ก็จะทำให้อุบัติการณ์เป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น  

เซลล์มะเร็งแต่ละชนิดที่ดูคล้ายกันแต่รูปแบบของการเกิด DNA methylation มักแตกต่างกัน ความรู้อีพิเจเนติกส์อาจช่วยให้การค้นหาว่าคนๆหนึ่งอาจมีมะเร็งชนิดไหนได้มากกว่าคนอื่น แต่ลำพังอีพิเจเนติกส์อย่างเดียวใช้วินิจฉัยมะเร็งไม่ได้ ต้องอาศัยกลไกการคัดกรองอย่างอื่นร่วมด้วย ยกตัวอย่างเช่นมะเร็งลำไส้ใหญ่มี DNA methylation ผิดปกติเกิดขึ้นในยีนหลายตัวซึ่งการตรวจคัดกรองหา DNA methylation เหล่านี้จากตัวอย่างอุจจาระที่เก็บมาตรวจสามารถทำได้ แต่เมื่อตรวจพบแล้วก็ต้องยืนยันการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งจริงหรือไม่ด้วยการส่องตรวจลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) และตัดชิ้นเนื้อ จึงจะวินิจฉัยขั้นสุดท้ายได้

4.3 แม่กินอาหารมีผลต่อยีนของลูกในครรภ์  

อาหารที่แม่กินระหว่างตั้งครรภ์มีผลต่อกลไกอีพิเจเนติกส์ในทารกซึ่งผลนั้นอาจคงอยู่กับทารกไปนานปีแม้เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงอดอยากอาหารระหว่างสงคราม (ค.ศ. 1944-1945) เด็กทารกที่คลอดในช่วงเวลานั้นมีแนวโน้มจะป่วยเป็นโรคบางโรคมากกว่าปกติ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวานประเภท 2 โรคจิตเภท งานวิจัย 60 ปีต่อมาพบว่าทารกเหล่านี้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีลระดับของ methylation ในยีนต่างๆแตกต่างจากพี่น้องท้องเดียวกันที่ไม่ได้คลอดตอนช่วงอดอยาก

5.. สำหรับท่านผู้อ่านท่านอื่นที่ไม่ชอบเรื่องของเด็กสายวิทย์แต่หลวมตัวอ่านมาจนจบ ผมแถมข่าวสารกลับบ้านให้จะได้ไม่กลับบ้านมือเปล่า..ว่า เอะอะเกิดอะไรไม่ดีกับร่างกายตัวเองก็อย่าเอาแต่โทษพันธุกรรม ซึ่งเป็นการกล่าวโทษผิดที่ซะ 95-97% เพราะแม้เราจะมียีนก่อโรคเหมือนพ่อแม่ปู่ย่าตายายก็จริง แต่ปัจจัยพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมสามารถปิดหรือเปิดการทำงานยีนเหล่านั้นได้เกือบหมด ดังนั้นเมื่อเกิดโรคขึ้นกับตัวเอง ให้สำรวจพฤติกรรมสุขภาพของตัวเองแล้วแก้ไขตรงนั้นซะ อย่าเอาแต่โทษพันธุกรรมซึ่งไม่นำไปสู่การแก้ไขอะไรเลย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Ferreira H, et al., Distinct DNA methylomes of newborns and centenariansProc Natl Acad Sci U S A 2012; 109:10522-7
  2. McCartney D, Stevenson A, Hillary R, et al., Epigenetic signatures of starting and stopping smokingEBioMedicine 2018; 37:214-220
  3. Chandran A, Antony C, Jose L, et al., Mycobacterium Tuberculosis Infection Induces HDAC1-Medicated Suppression of IL-12B Gene Expression in MacrophagesFront Cell Infect Microbiol 2015; 5:90.
  4. Tang Q, Cheng J, Cao X, et al., Blood-based DNA methylation as biomarker for breast cancer: a systematic reviewClin Epigenetics 2016; 8: 115.
  5. Chan SCH, Liang JQ. Advances in tests for colorectal cancer screening and diagnosisExpert Rev Mol Diagn 2022; 22: 449-460.
  6. Roseboom T., Epidemiological evidence for the developmental origins of health and disease: effects of prenatal undernutrition in humansJ Endocrinol 2019. 242:T135-T144
  7. Heijmans B, Tobi E, Stein A, et al., Persistent epigenetic differences associated with prenatal exposure to famine in humansProc Natl Acad Sci U S A 2008; 105: 17046-17049

[อ่านต่อ...]