ไปเที่ยวเมืองจีนขึ้นที่สูงแล้วกลับมาป่วยยาว (โรค HAPE)



ฝากคำถามค่ะ 
    หญิง 62 ปี 50 กก. ไม่มีโรคประจำตัว Lab ดีทุกตัว เคยเป็น CA breast ระยะ 1-2 ไม่คีโม รับยา Letrozole 5 ปี ไปเที่ยวจีนบริเวณที่สูงกว่าน้ำทะเลมากกว่า 3000 เมตร มีอาการจุกแน่นหน้าอก มีคลื่นไส้เล็กน้อย รู้สึกอยากถ่ายเล็กน้อย ขณะเดินทางชันเล็กๆ หรือบันได 3-4 ขั้นขึ้นไปต้องพักเป็นระยะ กลับถึงไทยเป็นไข้หวัด ตี 2 ตื่นไอมาก รู้สึกจุกแน่นหน้าอก เหนื่อยเล็กน้อย มวนท้อง ถ่ายอุจจาระ 1 ครั้งคัดจมูก หายใจทางปากโล่งดี สั่งน้ำมูก จิบน้ำร้อน นั่งรอจนจมูกโล่ง แต่อาการแน่นๆไม่หาย รู้สึกกลัว จึงไป รพ. SpO2 96 รักษาตามอาการ ผ่านไป 7-8 วัน อาการหวัดดีขึ้นมากแล้ว เวลาตี 2 มีอาการคล้ายกัน คือจุกแน่น คลื่นไส้ มวนท้องถ่ายอุจจาระ 1 ครั้ง นั่งดูลมหายใจไปเรื่อยๆจนหลับ ถามว่าเป็นเพราะผลจากการเดินทางไปที่สูง หรือ เกิดจากสาเหตุอื่นๆ อะไรได้บ้าง

...............................................

ตอบครับ

    1. ถามว่าไปเที่ยวเมืองจีน ขึ้นที่สูงกว่าสามพันเมตร ตอนขึ้นมีอาการนิดหน่อย แต่กลับมาแล้วเป็นไข้หวัดจุกแน่นหน้าอกผ่านไป 7-8 วันก็ยังไม่หาย มันเป็นโรคอะไรกันแน่ ตอบว่าคุณน่าจะเป็นโรค HAPE ซึ่งเป็นภาษาหมอ ย่อมาจาก high altitude pulmonary edema แปลว่าโรคปอดบวมน้ำจากการขึ้นที่สูง อาการของโรคนี้มันจะคงอยู่ได้ถึง 2-3 สัปดาห์แม้จะกลับลงมาที่ต่ำแล้ว

    2. ไหนๆก็พูดถึงโรคที่เกิดจากการขึ้นที่สูงแล้ว ผมขอถือโอกาสนี้ทบทวนให้ฟังเสียเลยว่าโรคในกลุ่มนี้มันมี 3 โรค ซึ่งแตกต่างกัน ดังนี้

    2.1 โรค AMS ย่อมาจาก acute mountain sickness แปลว่า "โรคป่วยเฉียบพลันจากขึ้นที่สูง" มีอาการปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน อ่อนเปลี้ย พอลงมาที่ต่ำก็หาย ไม่อันตราย ไม่ถึงตาย

    2.2 โรค HACE ย่อมาจาก high altitude cerebral edema แปลว่า "โรคสมองบวมจากการขึ้นที่สูง" มีอาการทางสมองเช่น สับสน สติเลอะเลือน หมดสติ เป็นโรคที่มีความรุนแรงถึงตายได้

    2.3  โรค HAPE ย่อมาจาก high-altitude pulmonary edema แปลว่า "โรคปอดบวมน้ำจากการขึ้นที่สูง" มีอาการเหมือนที่คุณเป็นนี่แหละ คือแน่นหน้าอก หอบเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม เป็นโรคระดับรุนแรงที่ตายได้ กลไกการเกิดโรคคือหลอดเลือดที่ปอดหดตัวจนแลกเปลี่ยนออกซิเจนไม่ได้ เป็นโรคที่ยืดเยื้อเรื้อรัง อาการเด่นๆจะคงอยู่ได้นานถึง 2-3 สัปดาห์

    3. ถามว่าวิธีรักษาโรคที่เกิดจากการขึ้นที่สูงเหล่านี้ ขณะอยู่บนเขาอยู่จะทำอย่างไร ตอบว่า

    3.1 วิธีที่ง่ายที่สุดคือดมออกซิเจน ซึ่งหมายความว่าต้องมีออกซิเจนกระป๋องขึ้นไปด้วย

    3.2 สำหรับคนที่เป็นโรคนอนกรนและใช้เครื่องช่วยหายใจแบบงวงช้าง (CPAP) อยู่แล้ว ก็ควรพกเครื่องนี้ไปด้วย และใช้เครื่องทันทีเมื่อมีอาการ

    3.3 ถ้ารุนแรงถึงขนาดมีอาการทางสมอง ก็ต้องฉีด dexamethasone 4 mg ซึ่งพวกนักปีนเขาสูงมักพกยานี้และฉีดให้ตัวเองได้ทันทีโดยไม่หวังพึ่งคนอื่น

    3.4 ในกรณีที่เป็นโรค HAPE ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดที่ปอดหดตัวเช่นคุณนี้ การกินยาขยายหลอดเลือดเช่น Nifedipine หรือยากลุ่ม phosphoesteres inhibitor (เช่น Sidenafil) ก็ช่วยบรรเทาอาการได้

    3.5 ถ้าอาการหนักระดับฉุกเฉินจะเป็นจะตายเอาก็ต้องนำไปเข้าถังอัดออกซิเจนความดันสูง (hyperbaric chamber) ซึ่งสมัยก่อนต้องยักแย่ยักยันขนย้ายคนป่วยไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่บนพื้นราบ แต่สมัยนี้บริษัททัวร์เขาจะซื้อเครื่องแบบเป็นถังพลาสติกพับเก็บพกพาได้เรียกว่า Gamo Bag พอสูบลมใส่เข้าไปมันก็จะเด้งออกมากลายเป็นถัง hyperbaric chamber ให้คนเข้าไปนอนอยู่ในนั้นแล้วอัดออกซิเจนความดันสูงเข้าไปได้

    4. ถามว่าการป้องกันโรคที่เกิดจากการขึ้นที่สูงสำหรับนักท่องเที่ยว ควรทำอย่างไรบ้าง ตอบว่า สิ่งที่ควรทำคือ

    4.1 กินยาป้องกันไว้เลย ชื่อยา acetazolamide (Diamox) หาซื้อตามร้านขายยาได้ กินเม็ดละ 125 มก. ทุก 12 ชั่วโมง เริ่มกินหนึ่งวันก่อนขึ้นเขา และกินไปทุกวันจนกลับลงมาถึงที่ราบ ยานี้มันไประงับการเปลี่ยนกรดคาร์บอนิกในเลือดไปเป็นก้าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยังผลทำให้เลือดเป็นกรดมากขึ้น เป็นการลดความรุนแรงของอาการหายใจไม่ออกที่เกิดจากภาวะเลือดเป็นด่างไปกดการหายใจ (คนขึ้นที่สูงเลือดจะเป็นด่างมากผิดปกติเพราะออกซิเจนที่บางเบาจะกระตุ้นสมองให้หายใจเร็วขึ้นจนร่างกายสูญเสียก้าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปมาก เลือดจึงกลายเป็นด่าง)
  
    4.2 ซื้อออกซิเจนกระป๋องพกพาไปด้วย

    4.3  ถ้าใช้ CPAP รักษาโรคนอนกรนอยู่เป็นประจำก็เอาไปเที่ยวด้วย

    4.4 กรณีเป็นหมอเป็นพยาบาลไปเที่ยวบนที่สูง ควรพกยาฉีด dexamethasone และเข็มฉีดยาไปด้วย

    4.5 ถ้าซื้อหายา Nifedipine (ADALAT 30 XR) พกไปด้วยได้ก็ยิ่งดี เผื่อเป็นโรค HAPE จะได้กินเพื่อรักษาตัวเอง

    4.6 วางแผนเที่ยวแบบให้เวลาร่างกายปรับตัว (acclimatization) คือถ้าจะขึ้นที่สูงต้องไปนอนตั้งหลักที่ตีนเขาก่อนสักหนึ่งคืน และต้องนอนพักอีกทุกหนึ่งคืนเมื่อขึ้นไปสูงกว่านั้นทุกๆ 1000 เมตร

    4.7 ขณะเดินออกกำลังกายบนที่สูง หากหายใจไม่อิ่มและมีแนวโน้มจะหายใจเร็วจนหอบ ให้หยุดพักแล้วหายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้สักพัก แล้วปล่อยลมหายใจออกทางปากแบบเป่าปากเบาๆช้าๆ คือการหายใจลึกและกลั้นไว้แล้วเป่าปากออกช้าๆเป็นการลดอัตราการหายใจลงเพื่อไม่ให้เสียคาร์บอนไดออกไซด์มากเกินไป ขณะเดียวกันก็ทำให้ร่างกายได้ออกซิเจนมากกว่าหายใจแบบปกติที่มักหายใจตื้น ไม่ได้กลั้นไว้ และไม่ได้เป่าปากในจังหวะหายใจออก 

     5. ถามว่ากรณีของคุณซึ่งกลับลงมาอยู่ที่ราบได้แล้วและอาการค่อยๆทุเลาลงแล้วต้องรักษาอย่างไรต่อไป ตอบว่า..ที่รอดมาถึงตอนนี้ได้ก็ดีแล้วครับ ไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว รอให้อาการมันค่อยๆหายไปเอง ในบางรายอาการมันไม่ได้หายเกลี้ยง คือผ่านไปหลายเดือนหรือหลายปีก็ยังมีเสียศูนย์อยู่บ้างนิดๆ เหมือนคนเจอแผ่นดินไหวแล้วเมาหัวง่ายไม่เลิก ถ้าเป็นเช่นกรณีหลังนี้ก็ต้องทำใจอย่างเดียวครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เจ็ดใครหนอ

ทะเลาะกันเรื่องฝุ่น PM 2.5 บ้าจี้ เพ้อเจ้อ หรือว่าไม่รับผิดชอบ

สอนวิธีแปลผลเคมีของเลือด

ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว

ประกาศเลิกเดินสายบรรยาย และตอบคำถามโยเกิรตกับไขมันในเลือดสูงและเบาหวาน

หมอสันต์สวัสดีปีใหม่ 2568 / 2025

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

"ลู่ความสุข" กับ "ลู่เงิน"

จดหมายถึงนายกแพรทองธาร