ชีวิตเมื่อตายไปแล้ว
หมอสันต์พูดกับผู้ป่วย
เวลามันเหลือจำกัดมาก สิ่งที่ผมจะพูด คุณอย่าเสียเวลาตั้งข้อสงสัยเลยว่าผมเอาอะไรจากไหนมาพูด อุปมาเหมือนคุณกำลังจะขึ้นเครื่องบินไปเที่ยวนอร์เวย์ซึ่งคุณไม่เคยไป คนอื่นเขาบอกว่าไปถึงเมืองนั้นแล้วให้ขึ้นเรือต่อไปเที่ยวเมืองนี้ คุณไม่ต้องเสียเวลาสอบสวนดอก แค่เก็บข้อมูลไว้ พอไปถึงเมืองนั้นแล้วก็ดูว่ามีเรือไปเมืองนี้จริงไหม ถ้ามีจริงก็ขึ้นเรือไป ถ้าไม่มีก็เท่ากับว่าข้อมูลที่เราได้มานั้นผิด เท่านั้นเอง อย่างดีเราได้ประโยชน์ อย่างเลวเราเสมอตัว
เรื่องที่ผมจะพูดกับคุณนี้ไม่ใช่วิชาแพทย์ ดังนั้นอย่าเชื่อหรือไม่เชื่อเพราะผมเป็นแพทย์ ผมพูดกับคุณในฐานะเพื่อนสนิทของคุณคนหนึ่ง
ในการตาย "เรา" ซึ่งเป็นความรู้ตัวนี้ไม่ได้เคลื่อนย้ายไปไหน แต่ร่างกายของเราซึ่งเป็นประสบการณ์ในความรู้ตัวของเราได้มาถึงจุดเปลี่ยนที่เราไม่อาจหวนกลับมาใช้งานมันได้อีกแล้ว
บนเส้นทางของการเดินหน้าไปสู่ความตายนี้ มันมีอยู่สามช่วง สามจังหวะ ที่มันเป็นโอกาสที่คุณจะเลือกการเดินทางที่เป็นประโยชน์กับตัวคุณอย่างเอนกอนันต์ได้
จังหวะที่หนึ่ง คือเมื่อลมหายใจสิ้นสุดลงไปแล้ว คุณจะไปโผล่ที่อีกความฝันหนึ่ง ที่นั่นความรู้ตัวและความคิดของคุณจะยังมีอยู่ แต่คุณไม่มีร่างกายแล้ว แว้บหนึ่ง แว้บเดียวเท่านั้น จะปรากฎแสงสว่างเรืองๆขึ้น มันอาจจะอยู่ไกลเหมือนแสงสว่างปลายอุโมงค์ หรือมันอาจจะอยู่ใกล้เจิดจรัสจนคุณสัมผัสความสงบเย็นเบิกบานของมันได้ แต่ไม่ว่ามันจะอยู่ที่ไหน ให้คุณบอกตัวเองว่าแสงนั้นคือความรู้ตัวซึ่งเป็นแก่นกลางของความเป็นคุณนั่นเอง ให้คุณมุ่งหน้าไปยังแสงนั้นโดยไม่ลังเล เหมือนการทิ้งความคิดมุ่งเข้าสู่ความรู้ตัวอย่างที่ผมพูดถึงบ่อยๆ บอกตัวเองว่านี่เป็นการเดินทางเข้าสู่ข้างในตัวเอง นี่เป็นการก้าวข้ามจาก known ไปสู่ unknown ซึ่งคุณเพียรพยายามมาหลายปีแต่ไม่เคยไปถึง
จังหวะที่สอง คือ เมื่อคุณพลาดจากจังหวะที่หนึ่ง คราวนี้ฉากทัศน์มันจะเป็นการรีวิวภาพยนตร์ดีๆสวยๆงามๆ บางครั้งก็ปรากฎเป็นเสียงเรียกของคนที่อยู่ข้างหลัง บางครั้งก็เป็นญาติหรือคนรู้จักที่เคยดีๆกันแต่ตายไปนานแล้วเขามารอรับ ให้คุณตั้งสติ บอกตัวเองว่าทั้งหมดนั้นเป็นเพียงความจำ (memory) ของคุณเอง คุณต้องมุ่งมั่นว่าในโอกาสนี้คุณจะไม่รีไซเคิลความจำเก่าๆเดิมๆของคุณอีกต่อไปแล้ว ให้คุณมุ่งมั่นหนักแน่นจริงจังที่จะเดินออกไปสู่แสงสว่างที่เป็น unknown ที่ท้าทายกว่านั้น และที่สำคัญ แสงสว่างนั้นมันคือส่วนทึ่ลึกที่สุดของความเป็นคุณที่คุณอยากเข้าถึงมานานนั่นเอง
จังหวะที่สาม คือ เมื่อคุณพลาดจากจังหวะที่สองอีก คราวนี้ฉากทัศน์การรีวิวภาพยนตร์มันจะกลายเป็นสิ่งน่ากลัว (fear) หรือความห่วงกังวล (attachment) มันยิ่งมีกำลังแรงกว่าความสวยๆงามๆ คุณจะถูกผลักเข้าไปในหลุมพรางของความกลัว รวมทั้งความกลัวการพลัดพราก ความกลัวการสูญเสีย ตรงนี้คุณยิ่งต้องตั้งสติให้มั่นยิ่งกว่าเดิม บอกตัวเองย้ำแล้วย้ำอีก ว่าทั้งหมดนั้นคือการฉายภาพความจำเก่าๆของคุณเอง ซึ่งคุณจะไม่รีไซเคิลความจำเหล่านั้นอีกแล้ว คุณจะมุ่งหน้าก้าวออกไปสู่แสงสว่างของ unknown ที่ใหม่น่าพิศวงและท้าทายกว่า และบอกตัวเองว่าแสงสว่างนั้นไม่ใช่อะไรที่ไหน มันเป็นแก่นแท้ของความเป็นคุณนั่นเอง
ถ้าคุณพลาดจากจังหวะที่สามนี้อีก จากนี้ความจำเก่าๆที่คุณกลัว หรือที่คุณยึดติด หรือที่คุณถวิลหา มันจะพาคุณไป เพื่อไปมีประสบการณ์แบบเก่าๆเดิมๆที่คุณกลัวหรือที่คุณยึดติด อีกครั้งๆๆๆ ซึ่งทางไปทางนั้นผมไม่รู้หรอกว่ามันจะเป็นไปยังไงต่อ ผมรู้แต่ว่าถ้าคุณตั้งสติทิ้งความจำที่หลอกหลอนหรือที่ลากดึงคุณอยู่ได้สำเร็จ คุณมุ่งหน้าไปเสาะหาอะไรใหม่ๆในแสงสว่างเรื่อเรืองนั้น คุณจะได้พบกับความมหัศจรรย์และเกิดการเรียนรู้ครั้งใหญ่แบบก้าวกระโดดอย่างที่คุณคิดไม่ถึง และมันมีแต่ประโยชน์ ไม่มีโทษเลย
อนึ่ง ในชีวิตหลังตาย สติของคุณจะไม่แข็งแรงเหมือนเมื่อก่อนตาย มันเป็นชีวิตที่ออกจะล่องลอยและถูกลากดึงไปได้ง่ายๆในเวลาแว้บเดียว ดังนั้นอย่ารอให้วันที่คุณตายมาถึงก่อนแล้วจึงจะเทคแอคชั่น ถ้าคุณรอตอนนั้น สติของคุณอาจจะมีกำลังแค่แผ่วเบาจนคุณกำกับชีวิตคุณไม่ได้เลย ดังนั้นผมแนะนำให้คุณซ้อมเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เวลาที่คุณจะตื่นแบบรู้ตัวดีๆมีเหลือไม่มาก คุณจะต้องใช้ทุกวินาที ทุกช็อต ทุกลมหายใจ ไปกับการสร้างความแข็งแรงให้สติของคุณ คุณจะต้องใช้ชีวิตช่วงนี้แบบ intense คือเข้มข้นไปด้วยสติ สังเกตรับรู้ทุกครั้งเมื่อมีประสบการณ์ใดๆเกิดขึ้นในใจ ทดลองยั้งการสนองตอบอัตโนมัติแบบหุ่นยนต์ของคุณไว้บ้างทีละนิด ทีละนิด ในทุกประสบการณ์ให้คุณได้เสริมความแข็งแรงให้สติของคุณให้มากขึ้นๆ ด้วยวิธีนี้เท่านั้นเมื่อคุณตายคุณจึงจะพร้อมที่จะรับมือกับทั้งสามจังหวะนั้นโดยไม่พลาดท่าเสียที
ที่ถามผมเรื่องการสวดมนต์นั้น หากคุณอยากจะสวดคุณก็สวดได้ เอาแบบที่คุณชอบ แต่ขณะสวด ควรให้การสวดมนต์นั้นปลุกปลอบ ตักเตือน สร้างความแข็งแรงให้แก่สติของคุณยิ่งขึ้นๆๆๆ เช่น
"พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ" คือคุณตั้งใจมุ่งเอา "ความตื่นรู้" เป็นที่พึ่ง ที่อาศัย
"ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ" คือคุณยอมรับเอา "ธรรมชาติที่แปรเปลี่ยนตลอดเวลา" เป็นที่พึ่งที่อาศัย
"สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ" คือคุณยอมรับ "หมู่หรือเพื่อนที่ดี" เป็นที่พึ่งที่อาศัย
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์