1. ความเป็นมา
มันเริ่มจากตัวผมเองเคยป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ความที่อยากหนีจากแนวทางการรักษาแบบโรงพยาบาล (กินยา สวนหัวใจ บอลลูน ผ่าตัดบายพาส) จึงทบทวนงานวิจัยเพื่อหาทางออกอื่นและได้พบว่าการจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคโดยตัวผู้ป่วยเอง ทั้งในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด การเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง ทำให้โรคดีขึ้นกว่าการรักษาในโรงพยาบาลเสียอีก จึงลงมือทำกับตัวเอง เมื่อเห็นว่าได้ผลดีจนสามารถพลิกผันโรคให้หายจากเจ็บหน้าอกและเลิกกินยาความดันยาไขมันได้หมด จึงตัดสินใจเลิกอาชีพหมอผ่าตัดหัวใจเปลี่ยนอาชีพมาเป็นหมอส่งเสริมสุขภาพ แต่เมื่อได้นั่งตรวจและสอนคนไข้ทีละคนอยู่ที่โรงพยาบาลก็พบว่ามันใช้เวลามากและช่วยคนไข้ได้เป็นจำนวนน้อย และวิธีนั่งตรวจมันยังแก้ปัญหาสำคัญที่คนไข้ต้องการไม่ได้ นั่นคือการขาดทักษะปฏิบัติการ ผมจึงเปลี่ยนแนวทางมาให้ความรู้กับคนป่วยคราวละหลายๆคน ทั้งในรูปแบบเขียนบล็อกตอบคำถาม และในรูปแบบแค้มป์กินนอนเพื่อเรียนรู้ทักษะในการป้องกันและพลิกผันโรคเรื้อรังต่างๆทุกโรคด้วยตัวเอง (Reverse Disease By Yourself – RDBY) ซึ่งได้ผลดีมาก และทำมาได้ห้าปี 20 รุ่นแล้ว แต่ก็มีความคิดอยู่ตลอดมาว่าหากสามารถทำแค้มป์ให้ผู้ป่วยแยกแต่ละโรคได้ก็น่าจะมีประโยชน์มาก
ต่อมาก็ผมได้พบอาจารย์ พญ.ดร. สุวิณา รัตนชัยวงศ์ ซึ่งเป็นอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคเบาหวาน มาหลายสิบปีและจบปริญญาเอกที่สหราชอาณาจักรอังกฤษ ได้ทำงานวิจัยวิทยานิพนธิ์ด้านอิมมูโนพันธุกรรมของผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษ (Graves’ disease) และครอบครัว ในขณะเดียวกันก็ได้ทำการศึกษาค้นคว้าข้อมูลวิจัยพื้นฐานด้านพยาธิสรีระวิทยาและพยาธิกำเนิดของโรคเบาหวานจนเป็นที่เข้าใจทั้งประเภทที่ 1 (Type 1 diabetes) ซึ่งขาดอินซูลิน และประเภทที่ 2 (Type 2 diabetes) ซึ่งดื้อต่ออินซูลิน จนได้ตระหนักว่าวิธีการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วยยาลดน้ำตาลในเลือด หาใช่เป็นการรักษาโรคเบาหวานอย่างแท้จริงไม่ มันเป็นเพียงการบรรเทา (ช่วยลดอาการปัสสาวะบ่อย/หิวน้ำบ่อย) ของโรคเบาหวาน ด้วยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดมิให้สูงจนเกินไปเท่านั้น ผลกระทบต่อการทำงานของผนังเซลล์ในเนื้อเยื่อต่างๆ รวมทั้งผนังเซลล์เยื่อบุหลอดเลือดทุกขนาดจากการที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่าปกติยังคงมีอยู่ และดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนเกิดอาการของภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังจากโรค เบาหวาน (Chronic complications of diabetes) เช่นเบาหวานขึ้นจอตา ปลายประสาทเสื่อม/มือเท้าชา มีแผลเรื้อรังที่เท้า (Diabetic foot) หลอดเลือดสมองและหัวใจตีบ/อุดตัน การทำงานของไตเสื่อมถอยจนเกิดไตวายเรื้อรังในที่สุด
อาการต่างๆ ที่กล่าวมาเบื้องต้นนี้เป็นสิ่งที่ป้องกันได้ เพียงแค่รู้จักดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมี “สติ” ทั้งนี้เพราะมูลเหตุอันแท้จริงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นั้นเกิดจากความไม่รู้หรือ “อวิชชา” ในด้านอาหารโภชนาการ ร่วมกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการใช้ชีวิตประจำวัน “ขาดซึ่งสติ” ในด้านการบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสมในการบำรุงรักษา “ร่างกาย/สุขภาพกาย” ซึ่งเป็นบ้านหลังเดียวอย่างแท้จริงที่ “จิต/วิญญาณ” เราอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ เพียงที่เดียวของเรา ให้เราสามารถทำหน้าที่ตามบริบทที่ธรรมชาติได้ให้มาอยู่รับใช้ทางความคิดของผู้เป็นนายให้ดำรงตนอย่างมีสุขภาพดี ไม่ก่อให้เกิดความถดถอยในการทำงานของเซลล์และเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่ควบคุมการสร้างอินซูลินของตับอ่อนจนมีปริมาณไม่เพียงพอในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่เกณฑ์ปกติได้ จึงมองเห็นความสำคัญของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการบริโภคและการใช้ชีวิต ในการจัดการกับโรคเบาหวานเสียใหม่ โดยให้ตัวผู้ป่วยเข้ามาเรียนรู้วิธีการจัดการกับโรคของตัวเองด้วยตัวเองให้มากขึ้น เพื่อลดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังของโรคเบาหวาน เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตีบ แตก ตัน ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงหัวใจ เนื้อสมอง เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ไตวายเรื้อรัง อันเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนถึงวัยอันควร ทั้งๆ ที่เป็นโรคที่ป้องกันได้ ผมจึงได้เชิญอาจารย์มาเป็นวิทยากรหลักในการทำแค้มป์เบาหวานครั้งนี้
2. แค้มป์เบาหวานเหมาะสำหรับใครบ้าง
แค้มป์เบาหวานจัดขึ้นสำหรับ
2.1 ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ประสงค์จะลุกขึ้นมาจัดการกับโรคของตัวเองด้วยตัวเองเพื่อลดปริมาณการใช้ยาในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังอันเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนถึงวัยอันควร
2.2 ผู้ประสงค์จะป้องกันไม่ให้ตัวเองเป็นโรคเบาหวาน โดยเฉพาะผู้มีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน เช่น มีภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน โรคอ้วนลงพุง/เมตาโบลิก ซินโดรม (Metabolic syndrome) หรือเป็นว่าที่โรคเบาหวาน (Pre-diabetes) คือผู้มีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติแต่ยังไม่ถึงระดับเป็นเบาหวาน ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง หรือมีไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
2.3 ผู้ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยเบาหวาน (Care giver) ที่ต้องรับผิดชอบการตระเตรียมอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย
3. ภาพรวมของแค้มป์เบาหวาน
3.1 หลักสูตรนี้เป็นการใช้วิธีการแพทย์แผนปัจจุบัน (modern medicine) ในรูปแบบการแพทย์แบบอิงหลักฐาน (evidence based medicine) โดยมองปัญหาของผู้ป่วยแบบองค์รวม (holistic care) มาช่วยทำให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถจัดการโรคของตนเองด้วยตนเอง
3.2 ในกรณีที่ผู้สมัครเข้าร่วมโปรแกรมนี้มีแพทย์เฉพาะทางเจ้าประจำอยู่แล้ว ป่วยไม่ต้องเลิกจากแพทย์เฉพาะทางที่ดูแลกันมาแต่เดิม การปรึกษาและใช้บริการของแพทย์เฉพาะทางเฉพาะโรคที่ทำมาแต่เดิมนั้นก็ยังทำต่อไปเหมือนเดิม หลักสูตรนี้จะเติมเต็มเฉพาะส่วนที่ผู้ป่วยต้องทำด้วยตนเอง
3.3 ก่อนเริ่มแค้มป์ ผู้สมัครเข้าค่ายอบรมทุกท่านต้องตอบแบบสอบถาม (ผ่าน Google form) เพื่อให้แพทย์ได้ทราบพื้นฐานของการใช้ชีวิตประจำวัน (อาหารและเครื่องดื่มที่บริโภคบ่อย รวมทั้งกิจกรรมในการดำเนินชีวิตที่ยังเป็นอยู่ในปัจจุบัน) จะช่วยวิเคราะห์ให้เห็นถึงพฤติกรรมที่ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาล ไขมัน และความดันโลหิต เป็นไปได้ไม่ดีได้ล่วงหน้า
3.4 ในวันแรกที่มาเข้าแค้มป์ ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกายโดยแพทย์ จัดทำฐานข้อมูลสุขภาพ วางแผนสุขภาพ และเก็บรวมรวมผลการตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษต่างๆไว้บนเฮลท์แดชบอร์ด (Health Dashboard) ซึ่งทั้งทีมแพทย์, ผู้ช่วยแพทย์ของเวลเนสวีแคร์ และตัวผู้ป่วยเองสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้ตลอดเวลา
3.5 ในระหว่างที่อยู่ในแค้มป์ ผู้ป่วยจะได้เรียนความรู้สำคัญเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ได้ฝึกทักษะที่จำเป็นในการจัดการโรคเบหวาน ซึ่งรวมถึงทักษะโภชนาการ การทำอาหารแบบพืชเป็นหลัก การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด การสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองอย่างต่อเนื่อง
อนึ่ง โภชนาการขณะอยู่ในแค้มป์จะเป็นแบบ low fat, plant-based, whole food คือไม่มีเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลย
3.6 เมื่อสิ้นสุดแค้มป์ 4 วันแล้ว ผู้ป่วยจะกลับไปอยู่บ้านโดยนำสิ่งที่เรียนรู้จากแค้มป์ไปปฏิบัติที่บ้าน โดยสื่อสารกับทีมแพทย์และพยาบาลของเวลเนสวีแคร์ผ่านเฮลท์ Wecare App ทางอินเตอร์เน็ท ผู้ป่วยสามารถติดต่อสอบถามเรื่องต่างๆรวมทั้งการปรับลดขนาดเมื่อตัวชี้วัดเปลี่ยนไปด้วย โดยคาดหมายว่าภายในหนึ่งปีผู้ป่วยจะสามารถดูแลตัวเองต่อไปได้ด้วยตัวเอง
สมาชิกสามารถใช้ Wecare App นี้เป็นที่เก็บข้อมูลผลแล็บใหม่ๆ รวมทั้งภาพและวิดิโอ.ทางการแพทย์ ของตนได้ต่อเนื่อง สมาชิกสามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง แก้ไข ข้อมูลสุขภาพของตนได้ทุกรายการ ยกเว้น Doctor’s Summary ซึ่งต้องเขียนสรุปให้โดยแพทย์เท่านั้น
อนึ่ง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง สมาชิกมีหน้าที่ปรับปรุงข้อมูลดัชนีสุขภาพสำคัญ 7+5 ตัวของตนคือดัชนีสุขภาพทั่วไป 7 ตัวคือ (1) น้ำหนัก (2) ความดัน (3) น้ำตาล (4) ไขมัน (5) ปริมาณผักผลไม้ที่กินต่อวัน (ข้อนี้อาจใช้พฤติกรรมในการขับถ่ายอุจจาระแทนได้) (6) เวลาที่ใช้ในการเดินและหรือออกกำลังกายต่อสัปดาห์ และ (7) การสูบบุหรี่
บวกดัชนีเฉพาะเบาหวานอีก 5 ตัวคือ (1) ส่วนสูง (2) เส้นรอบเอว (3) ปริมาณน้ำเปล่าที่ดื่มต่อวัน (4) ปริมาณเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหรือแอลกอฮอลเป็นองค์ประกอบ (5) จำนวนครั้งของการลุกขึ้นปัสสาวะหลังเข้านอน เพื่อให้แพทย์ประจำตัวหรือทีมงานผู้ช่วยแพทย์ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงสุขภาพและวางแผนสุขภาพให้และบันทึกไว้บนแดชบอร์ด
3.7 สมาชิกสามารถขอรับคำปรึกษาปัญหาจากแพทย์ประจำตัวของท่านหรือทีมงานผู้ช่วยแพทย์โดยเขียนคำถามผ่านมาทาง Wecare App คำถามของสมาชิกจะได้รับการสนองตอบโดยผู้ช่วยแพทย์ที่เฝ้าแดชบอร์ดอยู่ ซึ่งจะปรึกษาแพทย์ประจำตัวของสมาชิกในกรณีที่เป็นปัญหาที่ต้องแนะนำโดยแพทย์ การตอบคำถามนี้จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเพราะขณะตอบแพทย์หรือทีมงานมีข้อมูลสุขภาพของสมาชิกอยู่ตรงหน้าอยู่แล้ว
สมาชิกสามารถสั่งพิมพ์ใบสรุปข้อมูลสุขภาพ (Patient Summary) แบบหน้าเดียวซึ่งเขียนโดยแพทย์ประจำตัวของตน ไปใช้เพื่อเวลาไปรับการตรวจรักษาในสถานพยาบาลต่างๆได้ทุกเมื่อ
3.8 ในกรณีที่เป็นผู้ทุพลภาพหรือช่วยเหลือตนเองไม่ได้ซึ่งตามปกติต้องมีผู้ดูแลประจำตัวอยู่แล้ว ต้องนำผู้ดูแล (Care giver) มาด้วย โดยผู้ดูแลต้องลงทะเบียนเป็นผู้ดูแล ทั้งนี้นอกจากอาหารและที่พักแล้ว ผู้ดูแลยังสามารถเข้าร่วมเรียนรู้และฝึกทักษะต่างๆเพื่อประโยชน์ในการติดตามดูแลผู้ป่วย แต่ผู้ดูแลจะไม่ได้พบแพทย์เพื่อตรวจประเมินปัญหาสุขภาพของตนเอง และจะไม่มีบทสรุปสุขภาพของแพทย์ในแดชบอร์ด ในกรณีที่ประสงค์จะได้รับการตรวจสุขภาพและประเมินปัญหาโดยแพทย์ด้วย ผู้ดูแลจะต้องลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยอีกคนหนึ่งแยกจากตัวผู้ป่วยที่ตนดูแล เพื่อให้ได้คิวเวลาที่จะเข้าพบแพทย์ซึ่งจำกัดสิทธิ์ไว้เฉพาะผู้ป่วยเท่านั้น
4. หลักสูตร (Course Syllabus)
4.1 วัตถุประสงค์
4.1.1 วัตถุประสงค์ในด้านความรู้
คาดหวังให้ผู้ป่วยเรียนรู้และเข้าใจสิ่งต่อไปนี้
a. รู้เรื่องโรคเบาหวาน ทั้งพยาธิสรีระวิทยาและพยาธิกำเนิด พยาธิวิทยา อาการวิทยา
b. รู้จักตัวชี้วัดที่ใช้เฝ้าระวังการดำเนินของโรค
c. รู้ทางเลือกวิธีรักษาทุกวิธี และรู้ประโยชน์และความเสี่ยงของแต่ละทางเลือกอย่างละเอียด
d. รู้จักยาทุกตัวที่ตนเองได้รับ ทั้งชื่อ ขนาด วิธีกิน กลุ่มยา ฤทธิ์ยา และผลข้างเคียง
e . รู้วิธีการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อบรรเทาอาการและบำบัดตนเองให้หายจากโรคโดยอาศัย “สติ” ในการดำเนินชีวิตประจำวัน
f. ในแง่ของโภชนาการ รู้ประโยชน์ของอาหารพืชเป็นหลักแบบไขมันต่ำในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ (low fat, plant based, whole food) รู้โทษของเนื้อแดงและเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการปรับแต่งหรือถนอม
g. ในแง่ของการออกกำลังกาย รู้ประโยชน์และวิธีออกกำลังกายทั้งสี่แบบ คือแบบแอโรบิก (aerobic exercise) แบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (strength training) การยืดเหยียด (stretching exercise) และแบบเสริมการทรงตัว (balance exercise)
h. ในแง่ของการจัดการความเครียด รู้ประโยชน์และวิธีจัดการความเครียดด้วยเทคนิคต่างๆซึ่งรวมศูนย์อยู่ที่การฝึกวางความคิด
i. ในแง่ของแรงบันดาลใจ รู้จักพลังงานของร่างกาย (internal body) และการใช้พลังงานของร่างกายเป็นแหล่งบ่มเพาะแรงบันดาลใจให้ต่อเนื่อง
k. ในแง่ของการร่วมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน รู้ประโยชน์และพลังของกลุ่มและรู้วิธีทำกิจกรรมในกลุ่ม
l. ในแง่ของการติดตามดูแลตนเอง รู้วิธีใช้ Health Dashboard ในการป้องกันและพลิกผันโรคด้วยตนเอง
4.1.2. วัตถุประสงค์ในด้านทักษะ
คาดหวังให้ผู้ป่วยสามารถทำสิ่งต่อไปนี้ด้วยตนเอง
a. บริหารจัดการโรคของตนเองได้โดยใช้ตัวชี้วัดพื้นฐาน 7 ตัว (1) น้ำหนัก (2) ความดันเลือด (3) ไขมันในเลือด (4) น้ำตาลในเลือด (5) ปริมาณผักผลไม้ที่กินต่อวัน (6) เวลาออกกำลังกายต่อสัปดาห์ (7) การสูบบุหรี่
b. เลือกอาหารสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูปในตลาดที่เป็นอาหารพืชแบบไม่สกัดไม่ขัดสีได้
c. ทำอาหารทานเองที่บ้านได้ เช่น ผัดทอดอาหารโดยใช้น้ำหรือใช้ลมร้อนแทนน้ำมันได้ อบถั่วและนัทไว้เป็นอาหารว่างเองได้ ทำเครื่องดื่มจากผักผลไม้โดยไม่ทิ้งกากด้วยตนเองได้
f. ประเมินสมรรถนะร่างกายของตนเองด้วยการสังเกตอัตราการหายใจ การนับชีพจรจากเครื่องช่วยนับ และการทำ One mile walk test ให้ตัวเองได้
g. ออกกำลังกายแบบแอโรบิกได้ด้วยตนเองได้
h. ออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยใช้ท่ากายบริหาร ดัมเบล สายยืด และกระบอง ได้ด้วยตนเอง
i. ออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัวได้ด้วยตนเอง
j. สามารถกำกับดูแลท่าร่าง (posture) ในชีวิตประจำวันของตนเองได้
k. ผ่อนคลายความเครียดเฉียบพลันด้วยเทคนิค relax breathing ได้
l. จัดการความเครียดในชีวิตประจำวันด้วยการฝึกวางความคิดผ่านเทคนิคต่างๆเช่น นั่งสมาธิ ไทชิ โยคะ ได้
m. สามารถร่วมกิจกรรมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน ทั้งในเชิงเป็นผู้เปิดแชร์ความรู้สึกและเป็นผู้ให้การพยุงได้
n. สามารถใช้ Health Dashboard ในการดูแลตนเองต่อเนื่องได้ด้วยตนเอง
4.1.3 วัตถุประสงค์ในด้านเจตคติ
คาดหวังให้ผู้ป่วยเกิดเจตคติต่อไปนี้
a. มีความมั่นใจว่าตนเองมีอำนาจ (empowered) ที่จะดลบันดาลให้โรคของตัวเองหายได้
b. มีความมุ่งมั่นในพันธะสัญญา (commitment) ที่จะเป็นผู้ดูแลตนเองไม่ให้เป็นภาระแก่คนอื่น
c. มีความอยาก (motivated) ที่จะมีชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีความสุข
5. ตารางกิจกรรมขณะอยู่ในแค้มป์
วันที่ 1 (ของ 4 วัน)
ผู้มาเข้าแค้มป์ควรเดินทางมาถึงเวลเนสวีแคร์ก่อน 9.00 น.
9.00-12.00 Registration & Initial assessment by doctor.
(1) ลงทะเบียนเข้าแค้มป์ (2) เช็คอินเข้าห้องพัก (3) วัดดัชนีมวลกาย วัดความดันเลือด ประเมินดัชนี 15 ตัว จัดทำเวชระเบียนส่วนบุคคลผ่าน app ของตนเอง (4) ผลัดกันเข้าพบกับแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเป็นรายคน เพื่อให้แพทย์จัดทำสรุปปัญหาสุขภาพเก็บไว้ในเวชระเบียน ทุกท่านต้องมาพบแพทย์ตรงตามเวลานัด เพราะท่านจะไปใช้เวลาของคนอื่นมิได้
13.30-15.00 น. แนะนำทีมงานและทำความรู้จักซึ่งกันและเรียนรู้จากโรคของกันและกัน
15.00-16.00 น. ภาพใหญ่ของโภชนาการเพื่อพลิกผันโรคเรื้อรัง และกิจกรรมที่ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม
และซักถามข้อสงสัย (ถ้ามี) โดยทีมงานหลัก (นพ. ปัณณพัฒน์ ดร.พญ.สุวิณา และนพ.สันต์)
วันที่ 2. (ของ 4 วัน)
07.00 – 08.30 การออกกำลังกายแบบสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (strength training)
08.30 – 10.00 สาธิตสอนแสดงการทำอาหาร / ทานอาหารเช้า / เวลาส่วนตัว
10.00 – 12.00 เหตุและปัจจัยอันใดที่ทำให้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน (ดร.พญ.สุวิณา รัตนชัยวงศ์)
Tea break included
12.00 -14.00 สาธิตสอนแสดงการทำอาหาร / ทานอาหารกลางวัน / เวลาส่วนตัว
14.00 – 16.00 คำแนะนำโภชนาการขององค์กรวิชาชีพต่างๆ และกิจกรรมจ่ายตลาดฉลาดซื้อ
การอ่านเพื่อทำความเข้าใจกับฉลากอาหารเมื่อซื้อผลิตภัณฑ์แปรรูปและการเลือกซื้อ
17.00 – 19.00 สาธิตสอนแสดงการทำอาหาร / ทานอาหารเย็น
วันที่ 3. (ของ 4 วัน)
7.00 – 8.30 น. การจัดการความเครียดผ่าน โยคะ สมาธิ และไทชิ
8.30 – 10.00 ทานอาหารเช้า / เวลาส่วนตัว
10.00 – 12.00 การจัดการโรคเบาหวานด้วยตนเองโดยอาศัย “สติ” ในการเลือกบริโภคเพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหาร ได้โดยไม่ต้องใช้ยา หรือใช้ยาที่ไม่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลตกในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 และเรียนรู้ว่าเหตุใดจึงต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและน้ำตาลสะสมให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้?
12.00 -14.00 ทานอาหารกลางวัน / เวลาส่วนตัว
14.00 – 16.00 โรคร่วมกับโรคเบาหวาน (หัวใจ ความดัน ไขมัน โรคไต โรคอ้วน โรคสมองเสื่อม)
17.00 – 19.00 สาธิตสอนแสดงการทำอาหาร / ทานอาหารเย็น
19.00 – 20.00 แบ่งกลุ่มย่อยให้ผู้เข้าค่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้สนทนาเกี่ยวกับเบาหวานและปัญหาที่มี
วันที่ 4. (ของ 4 วัน)
7.00 – 8.30 น. การออกกำลังกายแบบเสริมการทรงตัว (balance exercise)
8.30 – 10.00 ทานอาหารเช้า / เวลาส่วนตัว
10.00 – 12.00 อาหารคือยา ฝึกสติในการเลือกบริโภค เพื่อลดการใช้ยา ในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 การใช้ยาในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสมในผู้เป็นเบาหวานที่ขาดอินซูลิน
12.00 -14.00 ทานอาหารกลางวัน / เวลาส่วนตัว
14.00-15.00 ผู้เข้ารับการอบรมให้ข้อมูลย้อนกลับถึงสิ่งที่ได้รับหรืออยากได้เพิ่มเติมในการเข้าค่ายนี้
15.00 ปิดแค้มป์
******************
หมายเหตุ 1. อาจมีการเปลี่ยนแปลงตารางการอบรมบ้างตามความเหมาะสมเพื่อประโยชน์ของผู้เข้ารับการอบรม
6. วิธีลงทะเบียนเข้าเรียน
6.1 โทรศัพท์ลงทะเบียนกับเวลเนสวีแคร์ที่หมายเลข 063 6394003 หรือ 02 038 5115
6.2 ลงทะเบียนทางไลน์ @wellnesswecare
6.3 ลงทะเบียนทางอีเมล host@wellnesswecare.com
ในทุกกรณีเมื่อได้ที่นั่งแล้ว จะต้องโอนเงินค่าลงทะเบียนเข้าบัญชี ธนาคารกสิกรไทย สาขาสมุทรปราการ ชื่อบัญชี บริษัท เมก้า วี แคร์ จำกัด เลขที่บัญชี 007-368-5478 ภายใน 24 ชั่วโมงหลังได้สำรองที่เรียนแล้ว หากพ้น 24 ชั่วโมงไปแล้วถือว่าสละสิทธิ์ ที่นั่งที่สำรองไว้ให้ท่านจะถูกจัดสรรไปให้ผู้อื่นโดยอัตโนม้ติ
7. ราคาค่าลงทะเบียน
ค่าลงทะเบียนสำหรับตลอดคอร์ส (เข้าแค้มป์ 4 วัน 3 คืน ติดตามทางเฮลท์แดชบอร์ด อย่างน้อยหนึ่งปี) คนละ 15,000 บาท ค่าลงทะเบียนนี้รวมถึงใช้จ่ายในการเข้าแค้มป์ ค่าอาหารวันละ 3 มื้อ ค่าที่พัก 4 วัน 3 คืน การติดตามทางเฮลท์ แดชบอร์ด นานหนึ่งปี ค่าวิทยากร ค่าอุปกรณ์การฝึกทักษะ ค่าตรวจร่างกายโดยแพทย์ ค่าเจาะเลือดฉุกเฉินกรณีที่แพทย์สั่งให้เจาะ ค่าใช้จ่ายในการติดตามโดยแพทย์และพยาบาลทางเฮลท์แดชบอร์ดหลังจากออกจากแค้มป์กลับไปอยู่บ้านแล้ว
แต่ราคานี้ไม่ครอบคลุมถึงค่าเดินทางไปและกลับระหว่างบ้านของท่านกับเวลเนสวีแคร์ (ผู้ป่วยไปเองกลับเอง) ไม่ครอบคลุมค่ายาและค่ารักษาพยาบาลส่วนบุคคลของแต่ละท่าน
กรณีเป็นผู้ติดตาม ผู้ดูแลหรือ caregiver จะต้องลงทะเบียนเป็นผู้ติดตามซึ่งมีค่าลงทะเบียนคนละ 12,000 บาท ราคานี้รวมค่ากิน ค่าอยู่ ค่าที่พักห้องเดียวกับผู้ป่วยของตน ค่าเข้าร่วมเรียนและร่วมทำกิจกรรมทุกอย่างในแค้มป์ แต่ไม่ได้เข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจร่างกายและไม่ได้ร้บการประเมินปัญหาสุขภาพของตนโดยแพทย์ และไม่มีรายงานสรุปปัญหาสุขภาพโดยแพทย์ในเฮลท์แดชบอร์ด
8. การตรวจสอบตารางแค้มป์
สามารถตรวจสอบตารางแค้มป์ล่วงหน้าได้โดยวิธีสอบถามทางโทรศัพท์ที่หมายเลข 0636394003 หรือทางไลน์ @wellnesswecare หรือทางอีเมล host@wellnesswecare.com
9. ระยะก่อนเข้าแค้มป์ (Pre-camping preparation)
9.1 ผู้ป่วยทุกท่านที่ได้รับเข้าโปรแกรมแล้ว จะต้องกรอกแบบฟอร์มเกี่ยวกับโรคของตนซึ่งพยาบาลจะประสานงานส่งไปให้
9.2 ทุกท่านควรเดินทางมาถึงเวลเนสวีแคร์ในเช้าวันแรกก่อน 9.00 น.
9.3 พยาบาลประจำโปรแกรมนี้คือคุณสายชล (โอ๋) ซึ่งสมาชิกสามารถติดต่อได้ทางโทรศัพท์ 065 586 2660 หรืออีเมล totenmophph@gmail.com
10. สถานที่เรียน
คือ เวลเนสวีแคร์เซ็นตเตอร์ (มวกเหล็ก-เขาใหญ่) กรณีมารถยนต์สามารถใช้กูเกิลแม็พ Wellness We Care Center Saraburi
11. วันเวลาสำหรับแค้มป์ DM-1
วันที่ 12-15 พค. 65
12. จำนวนที่รับเข้าแค้มป์ DM-1
รับจำนวนจำกัด 15 คน
…………………………………………………………………
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์