28 กุมภาพันธ์ 2564

ระวังข่าวที่ทำให้เข้าใจผิดว่าหม้อทอดไร้น้ำมันทำให้เกิดสารก่อมะเร็งในอาหาร

มีจดหมายหลายฉบับเขียนมาถามถึงข่าวโทรทัศน์ที่เล่าว่าสมาคมผู้บริโภคที่ฮ่องกงทำการทดสอบหม้อทอดไร้น้ำมัน 12 ยี่ห้อ แล้วพบว่าเมื่อใช้ทอดอาหารแล้วมีสารก่อมะเร็งชื่ออะคริลาไมด์ (acrylamide) เกิดขึ้นในอาหาร การออกข่าวเช่นนี้ทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดและกลัวว่าหม้อทอดไร้น้ำมันทำให้เป็นมะเร็งขณะที่การทอดด้วยน้ำมันแบบปกติไม่ทำให้เป็นมะเร็ง ควรที่จะเล่าความจริงให้คนทั่วไปทราบ ผมจึงรวบตอบจดหมายเหล่านี้ในคราวเดียว ก่อนตอบขอออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้มีเอี่ยวอะไรกับธุรกิจทอดอาหาร ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขายหม้อทอดไร้น้ำมัน ขายกะทะทอดด้วยน้ำมัน หรือขายน้ำมันผัดทอดอาหารทุกชนิด

ประเด็นที่ 1. อะคริลาไมด์มีอยู่ในอาหารปกติอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกาแฟ และมันฝรั่งทอด

อะคริลาไมด์ เป็นโมเลกุลชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นจากการให้ความร้อนระดับ 120 องศาขึ้นไปแก่อาหารที่มีโปรตีน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีกรดอามิโนชื่อ asparagine )และน้ำตาลอยู่ด้วยกันในสภาพที่มีน้ำน้อย พูดง่ายๆว่าวิธีทอด หรืออบอาหารให้สุกจนเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนๆนั่นแหละเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดอคริลาไมด์ขึ้น ดังนี้อคริลาไมด์จึงมีอยู่ในอาหารที่คนกินกันปกติทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีมากที่สุดในกาแฟและมันฝรั่งทอด งานวิจัยในร่างกายคนพบว่าคนเราได้รับอะคริลาไมด์จากอาหารเฉลี่ยวันละ 0.6 – 3.4 ไมโครกรัม/กก.น้ำหนักตัว ซึ่งองค์การความปลอดภัยอาหารยุโรป (EFSA) ถือว่าเป็นระดับที่ปลอดภัยไม่ก่อโรค

ประเด็นที่ 2. อะคริลาไมด์ไม่ใช่สารก่อมะเร็งในคน

ไม่เคยมีหลักฐานว่าอะคริลาไมด์ก่อมะเร็งในเซลของคน การที่มีผู้ผูกโยงเอาอะคริลาไมด์เข้ากับการก่อมะเร็งนั้นเนื่องจากมีหลักฐานว่าที่ระดับความเข้มข้นมากพออะคริลาไมด์ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทและเกิดการกลายพันธ์ของเซลหนูทดลองได้ จึงมีความกังวลเผื่อไว้ว่ามันอาจเป็นสารที่มีศักยภาพที่จะก่อมะเร็งในคนได้ในอนาคต เป็นแค่ความคิดกังวล ไม่ใช่หลักฐานวิทยาศาสตร์ แต่หลักฐาน ณ ขณะนี้คือมันไม่ใช่สารก่อมะเร็งในคน หลักฐานในกลุ่มคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่ได้รับอะคริลาไมด์เข้าสู่ร่างกายมากๆนานๆพบว่าอย่างมากก็ทำให้เกิดอาการปลายประสาทอักเสบซึ่งอาการหายไปเมื่อหยุดรับอะคริลาไมด์เข้าสู่ร่างกาย ไม่มีหลักฐานว่าอะคริลาไมด์สัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งในคนไม่ว่าจะที่ความเข้มข้นเท่าใด

ประเด็นที่ 3. กลไกการเกิดอะคริลาไมด์ขึ้นในอาหาร

อะคริลาไมด์ไม่ใช่โมเลกุลที่มีอยู่ในอาหารตามธรรมชาติ แต่เป็นโมเลกุลซึ่งเกิดขึ้นจากการให้ความร้อนระดับ 120 องศาขึ้นไปแก่อาหารธรรมชาติที่มีโปรตีน(โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีกรดอามิโนชื่อ asparagine)และน้ำตาลอยู่ด้วยกันในสภาพที่มีน้ำน้อย พูดง่ายๆว่าวิธีทอดอาหาร หรืออบอาหารให้สุกจนผิวนอกของอาหารเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนๆนั่นแหละเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดอคริลาไมด์ขึ้น

ประเด็นที่ 4. การทอดด้วยน้ำมันหรือทอดด้วยลม ล้วนทำให้เกิดอะคริลาไมด์ได้เท่ากัน

ดังได้กล่าวมาแล้วว่าการเกิดอะคริลาไมด์คือเอาอาหารที่มีกรดอามิโนชื่อแอสพาราจีนกับน้ำตาลมาทำให้ร้อนเกิน 120 องศาซี.ในสภาพมีน้ำน้อย ดังนั้นการทอดอาหารด้วยน้ำมันก็ดี การอบอาหารด้วยเตาอบก็ดี การทอดด้วยลมร้อนก็ดี ล้วนทำให้เกิดอะคริลาไมด์ได้เท่ากันเพราะล้วนทำให้อุณภูมิสูงเกิน 120 องศาในสภาพที่มีน้ำน้อยเหมือนกันหมด

ประเด็นที่ 5. วิธีปรุงอาหารหากกลัวอะคริลาไมด์

คำประกาศขององค์กรความปลอดภัยอาหารยุโรป (EPSA) ว่าอะคริลาไมด์เป็นสารที่มีศักยภาพที่อาจจะก่อมะเร็งขึ้นในคนในอนาคตได้ ทำให้เกิดความกลัวอะคริลาไมด์ขึ้นในหมู่คนทั่วไปแม้จะยังไม่มีหลักฐานว่ามันก่อมะเร็งในเซลของคนได้ อย่างไรก็ตามหากท่านตื่นข่าวและกลัวอะคริลาไมด์ ผมแนะนำให้หันมาเน้นการทำอาหารด้วยการต้ม หรือการนึ่ง หรือการทอดอาหารทุกชนิดด้วยน้ำ ซึ่งไม่ทำให้เกิดอะคริลาไมด์ เพราะอุณหภูมิถูกควบคุมไว้ไม่ให้สูงเกิน 100 องศาโดยกลไกการระเหยของน้ำ และจะได้ผลดีต่อสุขภาพแบบผลพลอยได้ตามมาทันทีสำหรับคนอ้วนและคนไขมันในเลือดสูง คือการปรุงอาหารด้วยวิธีต้มนึ่งหรือทอดด้วยน้ำเป็นวิธีปรุงอาหารที่ไม่เพิ่มไขมันเข้าไปในเนื้ออาหารเลยขณะที่การทอดด้วยน้ำมันจะเพิ่มแคลอรี่จากไขมันเข้าไปในอาหารได้ถึงสามเท่าของแคลอรี่เดิมของอาหารนั้น ดังนั้นหากกลัวอะคริลาไมด์มากก็ปรุงอาหารด้วยการต้ม หรือการนึ่ง หรือทอดด้วยน้ำ หรือทานสด แทน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. European Food Safety Authority. Scientific Opinion on acrylamide in food. EFSA Journal 2015;13(6):4104 DOI: 10.2903/j.efsa.2015.4104
[อ่านต่อ...]

27 กุมภาพันธ์ 2564

หมอสันต์ตอบคำถามเด็กนักเรียนอายุ 12 ขวบ

กราบเรียนนายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์

ดิฉันชื่อดญ. … อายุ 12 ปี อยู่ชั้น ประถมศีกษาปีที่ 6 โรงเรียน … ดิฉันมีคำถามที่สงสัย ถามคุณครูที่โรงเรียนแล้วได้คำตอบที่ยังไม่เข้าใจ คุณครูบอกว่าหากอยากรู้มากกว่านี้ให้เขียนมาถามนายแพทย์สันต์ คำถามของดิฉันคือ ข้อ 1. คำว่าศีลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญานั้นหมายความว่าอย่างไร ข้อ 2. มรรค 8 ที่บอกให้ทำอาชีพชอบ ทำความเพียรชอบ หมายความว่าอย่างไร ทำอาชีพชอบหมายถึงอาชีพสุจริตไม่ค้าน้ำเมาไม่ค้าชีวิตเป็นต้นถูกหรือไม่ อีกอย่างหนึ่งการมีความเพียรมันก็เป็นสิ่งที่ชอบหรือถูกต้องของมันอยู่แล้ว มีความเพียรแบบไม่ชอบด้วยหรือ ข้อ 3. มัชฌิมา ปฏิปทา หรือทางสายกลางนี้หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าทำอะไรก็ตามเอาแค่กลางๆไม่ตึงไม่หย่อนเกินไปเหมือนดีดพิณสามสายเท่านั้นหรือ แปลว่าในชีวิตเราทำได้ทุกอย่างแต่อย่าทำมากไปหรือน้อยไปใช่หรือไม่ หรือมีอะไรมากกว่านี้

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

………………………………………………….

ตอบครับ

ผมเรียกคุณว่า “คุณ” ก็แล้วกันนะ แม้ว่าคุณจะมีอายุแค่ 12 ขวบปี สมัยลูกชายของผมเป็นเด็กอายุ 7 ขวบไปเข้าโรงเรียนสาธิต ม. เกษตร เวลาผมไปรับเขาที่โรงเรียนได้ยินแม่บ้านของโรงเรียนเรียกเขาว่า “คุณพอ” ผมรู้สึกว่าเป็นการเรียกเด็กที่ให้เกียรติแก่ศักยภาพของเด็กเป็นอย่างดียิ่ง ดังนั้นให้ผมเรียกคุณว่า “คุณ” ก็แล้วกัน และผมจะตอบคำถามนี้ด้วยความเคารพในศักยภาพของการเป็นคนเปิดกว้างอย่างไม่มีขีดจำกัดของคุณ

ก่อนตอบคำถามคุณต้องเข้าใจสภาพการณ์แวดล้อมของการตอบคำถามนี้ก่อนนะ ว่า

(1) คำถามของคุณถามถึงความหมายของคำสอนที่ใช้กันอยู่ในพุทธศาสนา แต่หมอสันต์ไม่ได้มีความรู้เรื่องรู้ราวในพระพุทธศาสนามากมายอะไร ไม่เคยศึกษาเล่าเรียนวิชาพุทธในสถาบันใดๆอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ไม่มีปริญญาตรีโทเอกทางพุทธ หรือแม้แต่คุณวุฒินักธรรมตรีก็ไม่มี แค่จำขี้ปากจากการอ่านพระไตรปิฎกเหมือนที่เคยอ่านหนังสืออื่นๆมาบ้างเท่านั้นเอง คำตอบของผมจึงอาจไม่เข้าแก๊ป หรือไม่ลึกซึ้ง คุณต้องใช้วิจารณญาณ

(2) คำตอบของผมเป็นผลจากการตีความคำสอนของพระพุทธเจ้าแบบเอาแต่เนื้อหาสาระ ไม่ใช่การตีความไปตามนิรุกติศาสตร์หรือความหมายของศัพท์ในเชิงภาษา วิธีจับสาระของหนังสือพระไตรปิฎกนี้ผมจะมีวิธีของผมเองอยู่สามขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่หนึ่ง เรื่องใดที่ไม่ใช่คำพูดของพระพุทธเจ้าผมตัดทิ้งเลย อย่างเช่นประมาณหนึ่งในสามของพระไตปิฎกเป็นอภิธรรมปิฎก ผมไม่เอาเลย ตัดทิ้งหมด ไม่ใช่ว่ารังเกียจอะไร แต่มันเยอะเกิน แค่ศึกษาเฉพาะที่เป็นคำพูดของพระพุทธเจ้าก็แยะพอแล้ว

ขั้นตอนที่สอง ผมจะดูความเข้ากันได้กับเนื้อหาใหญ่ในภาพรวมก่อน เรื่องใดที่ไม่เข้ากับเนื้อหาใหญ่ในภาพรวมผมตัดทิ้งเลย เพราะพระไตรปิฎกเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้วตั้ง 460 ปี จึงอาจมีความเพี้ยนได้มาก เรื่องเล็กๆใดๆที่ขัดกับสาระใหญ่ผมตัดทิ้งเลย

ขั้นตอนที่สาม ผมจะเทียบเคียงสาระของเรื่องกับการใช้ชีวิตส่วนตัวของพระพุทธเจ้า เรื่องใดหรือคำสอนใดที่ไม่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตจริงๆของพระพุทธเจ้าผมตัดทิ้งไม่เอาเลยเช่นกัน เพราะพระพุทธเจ้าย่อมจะไม่สอนอย่างแต่ใช้ชีวิตอีกอย่าง ดังนั้น โดยวิธีกลั่นกรองสามขั้นตอนนี้ การมองของผมจึงอาจจะผิดแผกแตกต่างจากการมองของคนอื่นไปมาก คุณต้องใช้วิจารณญาณเอาเอง

เอาละ คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

1.. ถามว่าศีลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญาหมายความว่าอย่างไร ตอบว่าก่อนอื่นขอให้เข้าใจก่อนว่าคำในภาษาบาลีก็เหมือนภาษาอื่นๆ ที่บางครั้งคำเดียวมีหลายความหมาย คำว่า “ศีล” นี้ก็มีอย่างน้อยสองความหมาย

ความหมายที่ 1. หมายถึงคอก หรือวินัย หรือข้อปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นวินัยตนเอง หรือวินัยสังคม เช่นศีล 5 เป็นต้น

ความหมายที่ 2. หมายถึงความปกติของใจ ใจที่ปกติก็คือใจที่ไม่มีความคิด มีแต่ความรู้ตัว ซึ่งมันจะโล่งๆเบาๆสบายๆอยู่ นี่เรียกว่าใจที่ปกติ

คำว่าศีลอบรมสมาธิ หมายถึงศีลในความหมายที่เป็นความปกติของใจ หมายความว่าใจที่ปลอดความคิด จะเป็นพื้นฐานบ่มให้เกิดสมาธิ สมาธิหมายถึงการที่ใจหรือความรู้ตัวของเราตั้งมั่นโด่เด่อยู่ได้อย่างเดียวดายได้นานๆโดยไม่มีความคิดมาแทรกแซงยุ่งเกี่ยว

ส่วนคำว่าสมาธิอบรมปัญญาหมายความว่าเมื่อใจเป็นสมาธิดีถึงระดับหนึ่ง มันจะเกิดพลังงานขึ้น พลังงานนั้นจะพาใจเจาะทะลุทะลวงไปให้เราเห็นสิ่งต่างๆตามที่มันเป็นจริงๆโดยไม่เกี่ยวกับความคิดหรือภาษา เรียกว่าเกิดปัญญาญาณ หรือเกิดญาณทัศนะก็ได้ คล้ายกับการเกิดปิ๊งแว้บไอเดียอะไรใหม่ๆขึ้นมาเอง ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากการคิดใคร่ครวญหรือไตร่ตรองเอาตามเหตุผลของตรรกะนะ แต่เกิดจากพลังงานของสมาธิชักนำให้เกิดขึ้นล้วนๆ

ขอโทษ ขอย้อนกลับไปนิดหนึ่งซึ่งมันสำคัญ ว่าแล้วจะทำยังไงให้เกิดศีลหรือความปกติของใจขึ้นได้ละ ตอบว่าก็ต้องหัดวางความคิดให้ได้ก่อน วางอย่างไรหรือ ก็ต้องหัดแอบเหลือบมองความคิดของตัวเองให้เป็น คือเมื่อไรก็ตามที่นึกขึ้นได้ก็แอบเหลือบมองเข้าไปในใจของตัวเองเสียทีหนึ่งว่าในใจมีความคิดอะไรอยู่หรือเปล่า ความคิดเมื่อถูกแอบมองมันจะฝ่อหายไปเอง ขยันแอบมองใจของตัวเองบ่อยๆในที่สุดความคิดก็จะลดลงและหมดไปเอง ก็จะเหลือแต่ใจที่ปลอดความคิด หรือใจที่ปกติ หรือเกิดศีลขึ้น ศีลหรือความปกติของใจนี้มันดีนัก เพราะมันจะเป็นฐานที่มั่นให้เราใช้ชีวิตได้อย่างฉลุยโดยไม่มีทุกข์โศกใดๆ

2.. ถามว่ามรรค 8 ที่ให้ทำอาชีพชอบ ทำความเพียรชอบ หมายความว่าอย่างไร ทำอาชีพชอบหมายถึงทำอาชีพสุจริตไม่ค้าน้ำเมาไม่ค้าชีวิตเป็นต้นถูกหรือไม่ แล้วการมีความเพียรมันก็เป็นสิ่งที่ชอบหรือถูกต้องของมันอยู่แล้ว ทำไมจึงสอนให้ทำความเพียรชอบอีก มีความเพียรแบบไม่ชอบด้วยหรือ ตอบว่า ฮี่ ฮี่ ถามได้เด็ดสะระตี่มากนะหนู อุ๊บ..ขอโทษ นะคุณ คือมันยังงี้นะ ยังโง้นนะ ยังงั้นนะ หิ หิ คือมันตอบยาก กล่าวโดยสรุปคุณติดใจคำว่า “ชอบ” ซึ่งแปลมาจากคำว่า “สัมมา” ว่ามันหมายความว่าอย่างไร ผมจะตอบเจาะเฉพาะที่ตรงนี้นะ เมื่อตะกี้ผมตั้งต้นว่าถ้ามีศีลหรือมีความปกติของใจแปลว่ามีใจที่ปลอดความคิดแล้วมันจะเป็นฐานที่มั่นให้เราไปทำอะไรในชีวิตต่อได้อย่างฉลุยโดยไม่ทุกข์ “มรรค 8” ก็คือการทำอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการตั้งใจ การคิด การพูด การทำ การประกอบอาชีพ ฯลฯ ให้ทำออกไปจากศีลหรือออกไปจากใจที่ว่างจากความคิดทุกครั้งไป อย่าลืมว่าความคิดนั้นชงขึ้นมาโดยสำนึกว่าเรานี้เป็นบุคคลคนหนึ่งนะ ทำอะไรแบบว่างจากความคิดก็หมายถึงการทำอะไรจากมุมมองที่ว่าเรานี้ไม่ได้เป็นบุคคล เออ.. ไม่ได้เป็นบุคคลแล้วเราเป็นอะไรละ หิ หิ ในขั้นตอนนี้คุณยังไม่ต้องไปรู้หรอกว่าเรานี้แท้จริงแล้วเป็นอะไร รู้แค่ว่าเราไม่ใช่ร่างกายนี้ ไม่ใช่บุคคลที่ชื่อ … นี้ ความคิดที่ผุดขึ้นมาในใจนี้ก็ไม่ใช่ความคิดของเราแต่เป็นความคิดที่สำนึกว่าเป็นบุคคลที่ชื่อ … นี้กุขึ้นมาต่างหาก หิ หิ งงแมะ งงนะดีแล้ว จะได้ไม่รีบ “เชื่อ” หรือ “ไม่เชื่อ” อะไรง่ายๆ งงหมายความว่าไม่รู้ ไม่รู้ก็คือไม่รู้ไว้อย่างนั้นดีแล้ว วันหนึ่งอาจมีโอกาสรู้ได้ แต่หากรีบเชื่อหรือรีบไม่เชื่อทั้งๆที่ยังไม่รู้เขาเรียกว่างมงาย ดังนั้นงงย่อมดีกว่างมงาย เออ ยิ่งพูดยิ่งพาเด็กงงหนักแล้วไหมละ ข้อนี้จบแค่นี้ดีกว่า

3.. ถามว่า มัชฌิมา ปฏิปทา หรือทางสายกลางนี้หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าทำอะไรก็ตามให้ทำแค่พอดีไม่ตึงไม่หย่อนเกินไปเหมือนดีดพิณสามสายใช่หรือไม่ แปลว่าในชีวิตเราทำได้ทุกอย่างแต่อย่าทำมากไปหรือน้อยไปใช่หรือไม่ หรือมีความหมายอะไรมากกว่านี้ ตอบว่า หิ..หิ เรื่องพระอินทร์ดีดพิณสามสายนั้นผมว่าผมก็อ่านพระไตรปิฎกแยะพอสมควรแล้วนะแต่ผมไม่เห็นมีใครพูดถึงพระอินทร์ดีดพิณไว้ตรงไหนของพระไตรปิฎกเลย พูดง่ายๆว่ามันเป็นการยกเมฆกันขึ้นภายหลัง คุณอย่าไปอะไรกับตรงนั้นมากเลยเพราะมันไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องทางสายกลางดอก มาฟังการตีความเรื่องทางสายกลางของหมอสันต์ดีกว่า คุณตั้งใจฟังนะ คือการดำเนินชีวิตนี้มันมีสองแบบ แบบที่หนึ่ง คือการอยู่ในโลกของความคิดหรือโลกของภาษาที่นิยามทุกอย่างขึ้นมาโดยวิธีแยกแยะให้เห็นความแตกต่างกันเป็นสองขั้ว เช่น สูง-ต่ำ, ดี-ชั่ว, ถูก-ผิด, บริสุทธิ์-แปดเปื้อน, รัก-เกลียด, ชอบ-ชัง, แนบแน่น-ห่างเหิน, บ้ากาม-หนีจากกาม เป็นต้น เพราะสำนึกว่าเรานี้เป็นบุคคลคนหนึ่ง (ซึ่งเป็นความคิดอีกเหมือนกัน) เป็นผู้รับเอาแนวคิดสองขั้วนี้มาเพราะอยากแยกแยะตัวเองออกจากสรรพสิ่งภายนอกซึ่งมีธรรมชาติปนเปกันมั่วซั่วแบบเป็นหนึ่งเดียว ที่สำนึกว่าเป็นบุคคลแยกแยะทุกอย่างเป็นสองขั้วนี้ก็เพื่อปกป้องตัวเองให้ปลอดภัยมั่นคง แต่ว่าสองขั้วที่สำนึกว่าเป็นบุคคลอุปโลกน์ขึ้นมานี้มันไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริงในธรรมชาติ มันมีอยู่แค่ในจินตนาการของมนุษย์เท่านั้น ธรรมชาติของจริงมีแต่ความมั่วซั่วและการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่สำนึกว่าเป็นบุคคลไปพยายามต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงและพยายามจัดระเบียบความมั่วซั่ว เช่นเมื่อเรารักใคร เราก็อยากจะให้คนที่เรารักรักเรานานๆอยู่กับเรานานๆตลอดไป แต่ธรรมชาตินั้นทุกคนที่มาพบกันต้องพลัดพรากจากกันไปในที่สุด ดังนั้นการมีชีวิตอยู่ในโลกที่มีการจัดระเบียบและแบ่งทุกอย่างเป็นสองขั้วจึงมีแต่จะจบลงด้วยความผิดหวังและเป็นทุกข์ มัชฌิมาปฏิปทาก็คือการถอยออกมาจากโลกแบบที่หนึ่งนี้เสียไม่ยอมข้องแวะด้วยกับการแบ่งทุกอย่างเป็นสองขั้ว ถอยมาอยู่ในโลก แบบที่สอง ซึ่งเป็นโลกของธรรมชาติก่อนที่ความคิดจะเข้ามาจัดระเบียบแบ่งขั้ว เป็นโลกที่มองเห็นทุกอย่างเป็นกลางๆตามที่มันเป็นของมันจริงๆอยู่แล้วโดยไม่ต้องไปจัดระเบียบแยกแยะหรือแบ่งมันให้เป็นสองขั้ว ด้วยวิธีนี้ก็ไม่ต้องไปเป็นทุกข์กับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่สอดคลองกับทฤษฎีสองขั้วในใจเรา นี่แหละคือ มัชฌิมา ปฏิปทา ฉบับหมอสันต์ ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด หิ หิ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

26 กุมภาพันธ์ 2564

การใช้ฮอร์โมนทดแทนหลังผ่าตัดรังไข่ไม่ได้เพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม

สวัสดีค่ะ คุณหมอ ชื่อ … อายุ 48 ปี นะคะ คือ ดิฉันมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ไม่มีแรง กระสับกระส่าย เป็นมา 6-7 วัน ทานยาพาราก็เหมือนจะไม่ช่วยอะไรค่ะ อาการก็ทรงๆทรุดๆ วันนี้จึงไปหาหมอ คุณหมอให้ตรวจเลือด ผลออกมาปกติหมดค่ะ เลยถามคุณหมอว่า เกี่ยวกับที่เราตัดมดลูก รังไข่ทิ้งไปหมดแล้วหรือเปล่า (ตัดทิ้งไป เนื่องจากเคยเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ คุณหมอเลยตัดทิ้งหมดค่ะ ) คุณหมอบอกว่าใช่แต่ถ้าเราทานฮอร์โมน ก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมให้ทนๆและอยู่กับอาการนี้ให้ผ่านไปอ่ะค่ะ ซึ่งทุกวันนี้ดิฉันไม่ทานเนื้อ นม ไข่ น้ำมันผ่านความร้อน น้ำตาล และใช้เทมเป้ทำอาหารทานทุกวันค่ะ อยากจะรบกวนถามคุณหมอว่า พอจะมีอาหาร หรือวิธีการดูแลตัวเองอย่างไร ให้อาการครั่นเนื้อครั่นตัวไม่มีแรงนี้ลดลงได้บ้างคะ ทั้งนี้ ดิฉันได้แนบผลเลือดมาให้ด้วยนะคะ กราบขอบพระคุณคุณหมอด้วยนะคะ

…………………………………………

1.. ตอบครับถามว่าคุณเป็นอะไร ตอบว่าผมไม่รู้ แต่ถ้าจะให้ผมเดาละก็พอได้ เนื่องจากชีวเคมีของเลือดคุณปกติหมด ไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าจะมีการติดเชื้อในตัว ผมจึง “เดาแอ็ก” ว่าคุณเป็นกลุ่มอาการหมดประจำเดือน โดยที่ในกรณีของคุณนี้เกิดจากการตัดรังไข่ ไม่ใช่เกิดจากการหมดประจำเดือนตามอายุขัย

2.. ถามว่าถ้าเป็นอาการหมดประจำเดือนจริง กินฮอร์โมนก็จะเป็นมะเร็งอีก ก็ต้องทนไปอย่างนี้ใช่ไหม ตอบว่าคุณเข้าใจผิดนะเรื่องฮอร์โมนทดแทนในเพศหญิงกับการเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น นั่นมันเป็นข้อมูลจากการใช้ฮอร์โมนทดแทนในหญิงที่หมดประจำเดือนตามอายุขัย แต่กรณีของคุณนี้ประจำเดือนหมดไปเพราะตัดรังไข่ทิ้ง การใช้ฮอร์โมนทดแทนในกรณีนี้ไม่มีความสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งเต้านมากขึ้น

งานวิจัยเรื่องนี้เป็นการติดตามดูแบบไปข้างหน้า เขาเอาหญิงที่มียีนเป็นมะเร็งเต้านมง่าย (BRCA1) และที่ถูกตัดรังไข่ออกไปแล้วมา 872 คน แบ่งเป็นสองพวก พวกที่ใช้ฮอร์โมนทดแทน กับพวกไม่ได้ใช้ ตามดูไปเฉลี่ยราว 8 ปี มีคนเป็นมะเร็งเต้านมเกิดขึ้นหลังการตัดรังไข่ 10.6% เมื่อเปรียบเทียบดูระหว่างพวกที่ใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนกับพวกที่ไม่ได้ใช้เพื่อดูว่าใครจะเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่ากัน ซึ่งตามการคาดเดาก็ต้องเดาว่าพวกที่ใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนจะเป็นมะเร็งเต้านมมากว่า แต่กลับพบว่าอุบัติการณ์เป็นมะเร็งเต้านมของจริงไม่แตกต่างกันเลย ดังนั้นเราจึงสรุปได้จากงานวิจัยนี้ว่าการใช้เอสโตรเจนทดแทนหลังการตัดรังไข่ ไม่เพิ่มอุบัติการณ์ของการเป็นมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากการใช้ฮอร์โมนทดแทนในคนที่ยังมีรังไข่อยู่ตามธรรมชาติ

ดังนั้นในกรณีของคุณซึ่งมีอาการหมดประจำเดือนมากจนคุณภาพชีวิตเสียไป ผมแนะนำให้ไปหาหมอสูตินรีเชเพื่อปรึกษาเรื่องการใช้ฮอร์โมนทดแทน จะด้วยกิน หรือแปะ หรือสอดก็ได้ ใช้ไปนานระยะหนึ่งจนอาการมันเบาลงจึงค่อยๆหยุด กรณีที่มีอาการมากอย่างคุณนี้ การใช้ฮอร์โมนทดแทนผมว่ามีคุณมากกว่าโทษนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Kotsopoulos J, Gronwald J, Karlan BY, et al. Hormone Replacement Therapy After Oophorectomy and Breast Cancer Risk Among BRCA1 Mutation Carriers [published correction appears in JAMA Oncol. 2018 Aug 1;4(8):1139]. JAMA Oncol. 2018;4(8):1059-1065. doi:10.1001/jamaoncol.2018.0211

[อ่านต่อ...]

25 กุมภาพันธ์ 2564

การจะหลุดพ้น คุณอย่าไปพิจารณาไตร่ตรองอะไรทั้งนั้น

เรียนคุณหมอสันต์

ดิฉันติดตามคุณหมอมานานทุกเรื่อง อ่านหมดที่คุณหมอเขียน โดยเฉพาะเรื่องความหลุดพ้น ตัวดิฉันเองได้ปฏิบัติตนตามแนววิปัสนาสายอาจารย์ … มานานสิบสองปี ก่อนหน้านั้นปฏิบัติเปะปะ ตอนนี้เน้นการฝึกสมาธิให้ถึงฌาน แล้วยกจิตขึ้นสู่วิปัสนาไตร่ตรองความเป็นอนิจจังของสิ่งต่างๆให้คลายกำหนัดและปล่อยวาง ทำเช่นนี้มานานก็สงบเย็นดีแต่ก็ไม่มีอะไรก้าวหน้ามากไปกว่านี้นอกจากพบเห็นนิมิตในสมาธิบ้าง อยากขอคำแนะนำคุณหมอสันต์ว่าสมควรปรับตรงไหนอย่างไรหรือไม่จึงจะไปถึงความหลุดพ้น
…………………………………………………

ตอบครับ

นานมาแล้วผมไม่ค่อยเขียนถึงเรื่องทางจิตวิญญาณเพราะเขียนอะไรออกมาแล้วมันไม่เหมือนที่ชาวบ้านเขาสอนๆกันอยู่ กลัวจะถูกรุมตื๊บเอา จึงถือภาษิตนิ่งเสียพันตำลึงทอง แต่นี่คุณเขียนมาแหย่เองนะ ทำให้ผมกลับมาพูดเรื่องนี้ใหม่

ศัพท์แสงที่คุณพูดมานั้นผมไม่เก็ทหรอก เพราะผมไม่ได้ศึกษาที่มาของศัพท์แสงเหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง ถึงถ้าหากผมศึกษาจริงจังแค่ไหนผมก็จะไม่เก็ทอยู่ดี เพราะความสนใจของผมไปอยู่ในส่วนที่ตรรกะของภาษาอธิบายไปไม่ถึง แต่ผมกับคุณต้องใช้ภาษาสื่อกัน คุณจึงต้องเป็นฝ่ายพยายามเข้าใจภาษาของผมเอาเอง เข้าใจหรือไม่เข้าใจก็สุดแต่บุญกรรม

ประเด็นที่ 1. มาจูนคำว่า “ความหลุดพ้น” ให้มันใกล้กันสักหน่อยก่อน ของผมนี่ความหลุดพ้นคือการเป็นอิสระจากการถูกครอบโดยความคิดของตัวเอง พูดง่ายๆว่าเมื่อวางความคิดได้เกลี้ยงก็หลุดพ้น นี่ว่ากันเฉพาะเดี๋ยวนี้นะ เพราะสำหร้บผมชีวิตปรากฎอยู่ในขณะเดียว คือเดี๋ยวนี้ ส่วนอนาคต ไม่ว่าจะเป็นชาติหน้า หรือจิตสุดท้ายก่อนตาย ไม่มีอยู่จริง สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงความคิด ของจริงมีแต่เดี๋ยวนี้ เพราะความหลุดพ้นหรืออิสรภาพนี้มันเป็นประสบการณ์ มันไม่ใช่ความรู้ความเข้าใจ ประสบการณ์มันมีได้แต่ที่เดี๋ยวนี้เท่านั้น คุณใช้คอมมอนเซ็นส์ก็ได้ คุณจะไปมีประสบการณ์กับอดีตหรืออนาคตได้อย่างไร อย่างดีคุณก็แค่คิดถึงมันเอาที่เดี๋ยวนี้ ถูกแมะ

ประเด็นที่ 2. สำหรับผมแค่วางความคิดก็หลุดพ้นแล้ว เดี๋ยวค่อยไปพูดกันว่าวางความคิดอย่างไร ในวาระนี้ขอเจาะเรื่องสำคัญเรื่องเดียว คือการพิจารณาไตร่ตรองนั้นมันเป็นความคิดซะเองนะ มันจะพาคุณหลุดพ้นจากความคิดไม่ได้หรอก มันมีแต่จะพาคุณจมปลักความคิดหนักขึ้น เพราะฉะนั้นหากคุณถามผมว่าจะไปทางไหนต่อดี คำตอบผมก็ง่ายมาก เลิกซะ กลับบ้านนอน คือเลิกคิดพิจารณาไตร่ตรองเสียทั้งหมด แค่เลิกคิดพิจารณาไตร่ตรองคุณก็หายปวดหัวทันที

ประเด็นที่ 3. วางความคิดวางอย่างไร ผมตอบคำถามนี้ซ้ำซากมากแต่ก็ยินดีที่จะตอบอยู่ เพราะมันเป็นสาระสำคัญ เทคนิคที่ผมเรียนรู้จากประสบการณ์ของผมเองคือวิธี “แอบสังเกต” ความคิด กำลังทำอะไรอยู่ก็ตาม พอนึกขึ้นได้ก็ “แอบ” หรือ “เหลือบดู” ซะทีหนึ่ง ว่าในใจมีความคิดอะไรอยู่ไหม ดูอยู่ข้างนอก แบบคนแอบมองลอดรูกุญแจดูเพื่อนบ้านเขาจู๋จี๋กัน แอบดูเฉยๆแต่ไม่ได้ไปขอร่วมจู๋จี๋ด้วย แล้วธรรมชาติของความคิดเมื่อมันถูกแอบดูมันจะเขินแล้วม้วนตัวหนีหายไป แค่คุณขยันฝึกขยันแอบดูหรือเหลือบดูใจของคุณ บ่อยๆ เนืองๆ ความคิดมันก็จะบางลงๆ จนคุณเริ่มสัมผัสได้ถึงการ “อยู่” โดยไม่มีความคิด คุณอาจจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร เห็นหรือได้ยินอะไร ก็ได้ แต่พื้นฐานข้างในใจคือใจที่ว่างๆโดยไม่มีความคิด อย่ามาอ้างว่าคุณฝึกไม่ได้เพราะต้องทำงานนะ คุณฝึกได้ตลอดเวลา ในการทำงานก็ดี ในการเห็นก็ดี หรือในการได้ยินก็ดี ฝึกให้มันเป็นการทำ หรือเห็น หรือได้ยิน จากใจที่ไม่มีความคิด ถ้าคุณมาถึงตรงนี้ได้คุณหลุดพ้นแล้ว จบแล้ว สงบเย็นแล้ว คุณใช้ชีวิตของคุณต่อไปอย่างสร้างสรรค์ได้ สงบเย็นและสร้างสรรค์ นั่นคือแคแรคเตอร์ของผู้หลุดพ้น อ๊ะ..อ๊ะ อย่าถามถึงจิตสุดท้ายก่อนตายหรือชาติหน้านะ นั่นเป็นความคิด อย่าไปยุ่งกับความคิด เอาแค่สงบเย็นและสร้างสรรค์ที่เดี๋ยวนี้ นี่เป็นสูตรของหมอสันต์นะ เกิดมาใช้ชีวิตได้แค่นี้..สงบเย็นและสร้างสรรค์ที่เดี๋ยวนี้ พอแล้ว..ว

ประเด็นที่ 4. โลกของภาษาเป็นโลกที่คับแคบ คุณเป็นคนเจ้าความคิด ผมจึงยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดกับคุณ มันอาจจะเป็นประเด็นใบไม้นอกกำมือสำหรับท่านผู้อ่านท่านอื่นก็ได้ หากใครรู้สึกเช่นนั้นให้ผ่านประเด็นนี้ไปเลย แต่สำหรับคุณ ผมจะบอกว่าความคิดกับภาษาคือเรื่องเดียวกัน ความคิดหรือภาษามีกำเนิดขึ้นมาจากสำนึก (concept) ว่าเรานี้เป็นบุคคลคนหนึ่ง ย้ำอีกทีนะ “สำนึกว่าเป็นบุคคล” เป็นผู้ให้กำเนิดความคิดหรือภาษา สำนึกว่าเป็นบุคคลนี้ตัวมันเองก็เป็นความคิดนะ เนื้อหาของความคิดหรือภาษาที่สำนึกนี้ให้กำเนิดออกมาสรุปได้สั้นๆได้ว่าล้วนเป็นการจำแนก หรือแบ่ง หรือพิพากษา สิ่งต่างๆที่เดิมมันเป็นหนึ่งแยกกันไม่ออกอยู่ แต่ความคิดหรือภาษาไปจำแนกมันออกเป็นสองเพื่อให้เห็นว่ามันเป็นความแตกต่าง เช่น สูง-ต่ำ ดำ-ขาว ถูก-ผิด ดี-ชั่ว ยุติธรรม-อยุติธรรม ชอบ-ชัง รัก-เกลียด เป็นต้น อย่างเช่นคุณพยายามพิจารณาว่านี่เที่ยง นั่นไม่เที่ยง นี่ก็เป็นการอยู่ในโลกของความคิดหรือโลกของภาษาแล้ว มันเป็นโลกของการมีสองขั้ว (duality) เรียกอีกอย่างว่าเป็นโลกของความสุดโต่งสองด้าน บางศาสนาสอนว่าอย่าสุดโต่งไปในทั้งสองด้าน ให้อยู่กลางๆ คนรุ่นหลังก็ตีความคำว่า “ทางสายกลาง” ไปต่างๆนาๆ ใครจะตีความว่าอย่างไรก็ช่างเขาเถอะ แต่หมอสันต์ตีความว่าทางสายกลางคือการออกมาเสียจากโลกของความคิดหรือโลกของภาษาที่มีความสุดโต่งสองด้านให้เปรียบเทียบกันตลอดเวลาอย่างนี้ การจะออกจากโลกใบนี้ คุณต้องปักหลักอยู่ ณ ที่ที่ไม่มีความคิด คุณจึงจะมองเห็นทุกอย่างตามที่มันเป็น คือของเดิมมันเป็นหนึ่งอยู่ ไม่ใช่เป็นสอง (non-duality) หมายความว่าคุณจะต้องหลุดออกไปจากสำนึกว่าเป็นบุคคล เพราะสำนึกว่าเป็นบุคคลโดยธรรมชาติมันเกิดจากการแบ่งแยกพิพากษา มันจึงชำนาญในการแบ่งแยกพิพากษา เริ่มจากนี่คือตัวเรา นั่นไม่ใช่ตัวเรา นี่เป็นของเรา นั่นไม่ใช่ของเรา เป็นต้น

แล้วเนื่องจากคุณเป็นคนเจ้าความคิด ผมขอพูดเพ้อเจ้อต่อกับคุณอีกหน่อย ความคิดของคุณนี้คุณแอบสังเกตดูเถอะ มันไม่มีอะไรใหม่หรอก มันเป็นการรีไซเคิลความจำเก่าๆของคุณนั่นเอง พูดง่ายๆว่าชื่อว่าความคิดมันล้วนหมักเม่า ซังกะบ๊วย ฝรั่งเรียกว่ามัน sucks คุณจะต้องถอยออกจากสำนึกว่าเป็นบุคคล หมายความว่าคุณจะต้องเปลี่ยนตัวตน (change of identity) จากการเป็นบุคคลที่ชื่อนี้มีหลักยึดมั่นประจำใจอย่างนี้ไปเป็น … จะว่าเป็นใครก็ไม่ใช่ อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ (no body, no place, no time) แล้วคุณจึงจะใช้ชีวิตแบบใหม่ได้ คือขณะพูดหรือขณะทำอะไรก็เหลือบมองใจตัวเองไปด้วยว่ามีความคิดอะไรอยู่หรือเปล่า พอมองบ่อยๆ ใจมันก็จะค่อยๆว่างลงจากความคิด ปักหลักอยู่ในใจที่ว่างจากความคิดนี้แล้วจึงค่อยออกไปพูด ไปทำอะไร ไปประกอบอาชีพอะไร โดยมีใจที่ว่างจากความคิดเป็นฐานที่มัน แบบนี้จึงจะเป็นการคิดชอบ ทำชอบ ประกอบอาชีพชอบ นี่เป็นเวอร์ชั่นของหมอสันต์เท่านั้นนะ คุณเก็ทก็เก็ท ไม่เก็ทก็ไม่เก็ท อย่าเอาไปเปรียบกับของคนอื่น เดี๋ยวคุณจะเป็นเหตุทำให้หมอสันต์ถูกรุมตื๊บเอา

ถ้าคุณพยายามแล้วยังเลิกนิสัยชอบพิจารณาไตร่ตรองไม่ได้ ให้หาโอกาสมาเข้า Spiritual Retreat

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

จดหมายจากท่านผู้อ่าน

ทำอย่างอาจารย์ว่าอาจสบายใจชั่วคราวที่สังเกตดูใจ แต่จะหลุดพ้นอย่างถาวรได้อย่างไร ถ้าไม่ไตร่ตรองว่าอะไรเที่ยงอะไรไม่เที่ยง

ตอบครับ

คุณพาความสนใจของคุณไปอยู่ในความรู้ตัวที่ปลอดความคิดให้ได้ก่อน ณ ตรงที่ปลอดความคิดนั้น มันจะมีความรู้อีกรูปแบบหนึ่งเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้คิดเอา จะเรียกว่าปัญญาญาณ หรือญาณทัศนะ ก็ได้ แล้วแต่จะเรียก ตัวนี้จะส่องสว่างทางไปให้คุณเอง ตรงนี้มันเป็นประสบการณ์ คุณต้องพาตัวเองไปจุ่มแช่หรือกบดานอยู่ที่ความรู้ตัวซึ่งปลอดความคิดนี้ให้นานๆก่อน นานเท่าไหร่ไม่รู้ เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน เป็นปี เป็นหลายปี กบดานอยู่อย่างใจเย็น ไม่ต้องรอคอยการมาของอะไร หรือเร่งรัดอะไร การกบดานอยู่ตรงนั้นมันไม่ได้ลำบากร้อนรนอะไรนะ มันเย็นสบายดีแถมมีพลังมากเสียอีกด้วย จุ่มแช่ตรงนั้นไป สะสมพลังงานไป ทำการงานอาชีพปกติไป จนพลังมันสะสมได้ถึงระดับหนึ่งแล้วคุณก็จะมีประสบการณ์กับสิ่งที่ผมเรียกว่าปัญญาญาณด้วยตัวคุณเอง แล้วความสงสัยทั้งหลายของคุณก็จะหมดไป ถึงตอนนั้น identity เดิมของคุณจะหายไป ชีวิตใหม่จะเป็นชีวิตที่สงบเย็น สร้างสรรค์ มีแต่การให้และเผื่อแผ่เพราะคุณจะไม่มีตัวตนเดิมๆที่ต้องคอยปกป้องสะสมพอกพูนแล้ว

สันต์

[อ่านต่อ...]

24 กุมภาพันธ์ 2564

ติดตามดูผลโครงการลดน้ำหนักออนไลน์ Weight Loss We Care รุ่นที่ 1

ดูท่าความตั้งใจที่จะรบกับโรคอ้วนของหมอสันต์มองเห็นแววชนะอยู่รำไรแล้ว ผลการทดลองลดน้ำหนักแบบออนไลน์ด้วยโครงการ Weight Loss We Care รุ่นที่ 1 ผ่านไปได้ครึ่งยก คือหนึ่งเดือนครึ่งจากเวลาเต็มสามเดือน ได้ผลสรุปว่ามีผู้เข้าร่วมได้ต่อเนื่อง 37 คน ลดน้ำหนักได้ 32 คน (86.5%%) เฉลี่ยลดได้คนละ 2.1 กก. ( 3.3 %นน.เดิม) คนที่ลดได้มากสุดลดได้ 5.9 กก. (9.0%นน.เดิม) คนที่ลดน้อยสุดลดได้ 0.8 กก. (1.0%นน.เดิม) ที่ลดไม่ได้ก็มี คือ 5 คน (13.5%) นี่แค่เดือนครึ่งนะ แถมยังเป็นโปรแกรมทางอินเตอร์เน็ทซึ่งต้องอาศัยความเอาจริงเอาจังของสมาชิกเป็นที่ตั้ง หมอก็ดี เทรนเนอร์ก็ดี นักโภชนาการก็ดี พยาบาลก็ดี อย่างดีก็ทำได้แค่แนะนำและแบ้คอัพ ไม่ได้เจอหน้ากันจริงๆ เดือนครึ่งได้ผลขนาดนี้ผมก็แฮ้ปปี้แล้ว ขอบคุณคุณหมอตุ่น (วริศรา) น้องๆในทีมงาน และสมาชิกผู้เข้าแค้มป์ทุกคน จบคอร์สนี้แล้วทางเวลเนสวีแคร์จะติดตาม support สมาชิกต่อไปจนครบหนึ่งปีโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มอีกทั้งสิ้น และอาจจะ support ต่อไปอีกหลายปีถ้าเวลเนสวีแคร์ยังมีกำลัง เพราะอยากจะเห็นผลที่ทำได้ดีอย่างที่ผ่านมานี้ตลอดไป

เมื่อเห็นว่าคอร์สแรกเวอร์คดี ผมก็ขอเปิดคอร์สที่สองต่อไปเลย โดยคงเอกลักษณ์ของ Weight Loss We Care อันได้แก่

(1) เป็นโปรแกรมที่ควบคุมใกล้ชิดโดยแพทย์ (medically directed)

(2) ปรับวิธีการไปตามลักษณะร่างกายจิตใจของแต่ละคน (individualized)

(3) เน้นการลดน้ำหนักอย่างช้าๆแต่ต่อเนื่อง (steady loss)

(4) เน้นยังผลต่อสุขภาพดีระยะยาว (long term health concern)

แต่ว่ารอบนี้จะอาศัยการเรียนรู้จากรุ่นแรกมาปรับปรุงในสองประเด็นคือ

(1) จะแยกกลุ่มที่จะลดความอ้วนจริงๆคือคนที่ดัชนีมวลกายมากกว่า 25 ออกต่างหากจากคนที่ไม่ถึงกับอ้วน (ดัชนีมวลกายต่ำกว่า 25)แต่อยากจะมาสร้างมวลกล้ามเนื้อหรือปรับเปลี่ยนท่าร่างบุคลิกหรือมาเข้ากลุ่มเพื่อหวังผลดีต่อสุขภาพ พูดง่ายๆว่าทำเป็นสองกลุ่มย่อยที่ความบันดาลใจในการลดน้ำหนักไม่เหมือนกัน

(2) จะลดจำนวนสมาชิกให้กลุ่มเล็กลงกว่าเดิม คือรับไม่เกิน 24 ท่าน

ใช้หลักมาก่อนได้ก่อนเหมือนเดิม ท่านที่สนใจจะลดน้ำหนักกับคอร์สนี้ในรุ่นที่ 2 ก็เชิญสมัครได้ครับ

ค่าใช้จ่าย

คนละ 3900 บาท ต่อคอร์ส 90 วัน (เฉพาะรุ่น 2 ลดจากราคาเต็มที่ตั้งไว้ 5000 บาท)

สิ่งที่สมาชิกจะได้รับเมื่อเข้าคอร์ส

(1) การให้คำปรึกษาทางด้านการลดน้ำหนักแบบเฉพาะบุคคลแบบหนึ่งต่อหนึ่งก่อนเริ่มโปรแกรม

(2) การให้คำปรึกษาและติดตามผลอย่างต่อเนื่องผ่านระบบออนไลน์ตลอดระยะเวลา 90 วัน

(3) การเปิดให้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การจัดการความเครียดเพื่อเตรียมพร้อมจิตใจสำหรับการลดน้ำหนัก กิจกรรมออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี และกิจกรรมเรียนทำอาหารสำหรับการลดน้ำหนักอย่างมีสุขภาพดี เป็นต้น

(4) แจกเครื่องมือหากิน อันได้แก่ เครื่องชั่งน้ำหนักวัดมวลร่างกาย และ Elastic Band ยางยืดสำหรับออกกำลังกาย

(5) แถมสิทธิพิเศษสำหรับซื้อคอร์สอาหารเพื่อสุขภาพจากร้านอาหารในแนวพืชเป็นหลัก ได้แก่ร้าน Pranaa ร้าน Always และร้านต้นกล้าฟ้าใส

กำหนดการเปิดคอร์ส รุ่น 2

เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึง 1 มี.ค. 2564

วันเริ่มต้นคอร์ส 1มีนาคม 2564

วันสิ้นสุดคอร์ส 31พฤษภาคม​ 2564 (ระยะ90วัน)

การติดต่อ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือซื้อคอร์ส

โทร: 065-586-2660

Facebook Fanpage: Weight Loss We Care

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

23 กุมภาพันธ์ 2564

(เรื่องไร้สาระ17) ภาพสลักนูนต่ำยุคทวารวดีในถ้ำ

วันนี้เราสามพ่อแม่ลูกออกจากบ้านกรุงเทพไปบ้านมวกเหล็ก เดินทางมาถึงทับกวางหมอพอก็เปรยขึ้นว่า

“ภาพสลักสมัยทวาราวดีมันอยู่ตรงไหนนะ”

ผมตอบว่า

“ต้องไปยูเทิร์นหน้าโรงปูนตรานก มองหาป้ายถ้ำพระโพธิสัตว์ พ่อก็ไม่เคยไปนะ ไม่รับประกันการหลงทาง”

เราให้อากู๋นำทาง ไปถึงเอาตอนพลบค่ำแล้ว จึงรู้ว่าต้องเดินบันไดขึ้นไปปากถ้ำอีก 350 ขั้น พอขึ้นไปเกือบถึงก็ชวนกันพิลาปรำพันว่ากระหายน้ำเหลือเกิน น่าจะเอาน้ำมาด้วย ในรถก็เผอิญไม่มีน้ำดื่มสักขวด พอขึ้นไปถึงปากถ้ำ พบว่ามืดตึ๊ดตื๋อ เห็นกล่องตู้ไฟรางๆอยู่ด้านขวามือ ผมจึงคลำเปิดสวิสต์ตู้ไฟ ไฟสว่างพรึบขึ้นให้เห็นถ้ำอันอลัง แล้ว โห อะไรนั่น ขวดน้ำดื่มหลายโหล แพคอย่างดีตั้งไว้มุมปากถ้ำ ผมรีบไปเอาน้ำดื่มออกมาแจกกันคนละขวด และบอกหมอสมวงศ์ว่า

“เดี๋ยวลงไปอย่าลืมเตือนให้ทำบุญให้หลวงพี่วัดนี้หน่อยนะ อะไรจะรู้ใจหมอสันต์ไปหมด ทั้งน้ำดื่ม และไฟส่องถ้ำ”

แล้วสิ่งแรกที่เตะตาอยู่ทางผนังถ้ำด้านซ้ายมือก็คือไฮไลท์ของการมาครั้งนี้ เป็นภาพสลักนูนต่ำบนหินผนังถ้ำ มีคนอยู่ในภาพสลักนี้อย่างน้อยห้าคน

คนที่ 1. เป็นพระพุทธแน่นอน แต่ไม่ใช่พระสมณโคดมหรือพระสิทธัตถะที่เราคุ้นเคยนะ เป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ปัทมะปาณี ซึ่งเป็นพระที่ถูกจินตนาการขึ้นมาหลังจากพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้วราว 500 ปี เป็นต้นแบบนิกายพุทธสายมหายาน พระโพธิสัตว์ปัทมะปาณีนี้ไม่เคยมีตัวตนหรือคนตัวเป็นๆเดินอยู่ในโลกนี้ มีแต่ในจินตนาการว่าจะมาเกิดหลังกลียุคหรือยุคพระศรีอารย์ ยุคพระศรีอารย์นะ ไม่ใช่ยุคภาษีอาน พระโพธิสัตว์ในถ้ำนี้นั่งบนม้านั่งรูปกลีบบัวกึ่งห้อยขา มือขวาอยู่ในท่าให้พร มือซ้ายถือดอกบัวก้านยาวอันเป็นเอกลักษณ์พระโพธิสัตว์ปัทมะปาณี

คนที่ 2. ใครจะว่าเป็นอะไรก็ช่างเขาเถอะ แต่ผมว่านี่เป็นพระอิศวร หรือ Shiva ตามคติของฮินดูชัดๆ เหตุที่ผมว่าเป็นพระศิวะก็เพราะการที่มีงูเห่าเป็นอาภรณ์ งูนี้บางครั้งก็พันคออยู่ บางครั้งก็ขึ้นไปขดเป็นหมวกอยู่บนหัวโผล่แม่เบี้ยให้เห็น มือหนึ่งถือลูกประคำและนั่งในท่าโยคีเดินลมปราณ (เอาส้นเท้าซ้ายยัดไว้ใกล้ทวารหนัก) พระศิวะนี้หากประเมินจากหนังสือเก่าของอินเดียผมว่ามีความเป็นได้สองอย่างคือ

ความเป็นไปได้อย่างแรกคืออาจจะเป็นคนจริงๆ เป็นโยคีรุ่นเก่า ผมเรียกว่ารุ่นนักกล้าม คือคนตัวเป็นๆเดินได้ มีอีกชื่อว่าอาดิโยคี ซึ่งน่าจะมีชีวิตอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าสิทธัตถะนับเป็นพันปีขึ้นไป มีความฉลาดปราดเปรื่อง สอนวิชาโยคีให้คนตัวเป็นๆสมัยนั้นทิ้งไว้เจ็ดคนก่อนที่ตัวเองจะหายไปอย่างลึกลับ

ความเป็นไปได้อย่างที่สองคืออาจจะไม่ใช่คนจริงๆ แต่เป็นแค่เทพในจินตนาการซึ่งเป็นตัวแทนของพลังจักรวาล คือพูดง่ายๆว่าสอนคอนเซ็พท์เรื่องพลังจักรวาลมันเข้าใจยาก ปั้นเทพขึ้นมาเป็นตัวแทนมันง่ายกว่า

คนที่สาม นั้นไม่ต้องสงสัยเลย ว่าคือพระวิษณุซึ่งเป็นเทพในจินตนาการของฮินดู จากหลักฐานที่มีสี่มือ มือหนึ่งถือกงจักรเงื้อง่า มือหนึ่งถือหอยสังข์ อีกสองมือกอดอกตั้งท่าเหมือนกับจะพูดว่า

“เอ็งจะเอายังไงก็ว่ามา”

เทพวิษณุนี้ ในหนังสือเก่าของอินเดียเป็นการสื่อถึงสิ่งที่เรียกรวมๆว่าพระเจ้าซึ่งสำหรับฮินดูแท้แล้วพระเจ้าไม่มีตัวตนไม่ใช่คนตัวเป็นๆ แต่เป็นพลังงานจักรวาลที่ลึกละเอียดและสถิตย์สถาพรอยู่ในทุกที่ทุกเวลาไม่เปลี่ยนแปลง แต่การพูดถึงพลังจักรวาลนี้อาศัยเทพซึ่งเป็นจินตนภาพเป็นสื่อมันง่ายกว่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่นเรื่องของคนตัวเป็นๆคนหนึ่งชื่อรามายานา หรือพระรามซึ่งเป็นพระเอกเรื่องรามเกียรติ์ ถือว่าเป็นอวตารของพระวิษณุ มีตัวตนอยู่จริงหรือเป็นแค่นิทานก็ไม่รู้นะ แต่หากมีตัวตนอยู่จริงเขาน่าจะมีชีวิตอยู่หลายร้อยปีก่อนพระพุทธเจ้า เป็นผู้มีชีวิตระหกระเหิน เป็นเจ้าชายซึ่งตามคิวต้องได้เป็นกษัตริย์แต่พ่อลำเอียงเอาบัลลังก์ไปยกให้น้องแทนตัวเองก็ต้องออกจากเมืองไปอยู่ป่าตามคำขอของพ่อ แถมเมียซึ่งมีอยู่คนเดียวถูกฉกไปเสียอีกก็ต้องใช้เวลาครึ่งชีวิตตามหาเมีย รอนแรมลงไปทางอินเดียใต้ น้องชายซึ่งช่วยตามหาเมียถูกทำร้ายปางตาย แต่ไม่ว่าชีวิตจะระหกระเหินร่อแร่อย่างไรใจเขาไม่เคยว่อกแว่ก คงตั้งหน้าใช้ชีวิตทำหน้าที่อย่างไม่มีโกรธแค้นชิงชังอะไรใครทั้งสิ้น ถึงได้กลายเป็นเทพในใจคนไปเลยไง

ส่วนคนที่ 4 และคนที่ 5 ที่ลอยอยู่กลางอากาศนั้นผมเข้าใจว่าคงเป็นเทวดากระจอก หรือผู้มาลุ้นดูการประลองกำลังของสามผู้ยิ่งใหญ่นี้ก็ไม่รู้

ผมยังงงอยู่ว่าสามผู้ยิ่งใหญ่นี้มาอยู่ด้วยกันที่นี่ในถ้ำนี้ได้อย่างไร ตามสันนิษฐาน (การเดา) ของน้กวิชาการกรมศิลป์ ระบุว่าศิลปะแบบนี้เป็นสมัยทวาราวดี น่าจะสลักไว้ช่วงปี พศ. 1300 – 1400 ซึ่งก็คือประมาณ 1200 ปีมาแล้ว ตามประมาณการของผมนี่เป็นฝีมือช่างสลักหินรุ่นทวาราวดีที่เนี้ยบที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา ณ เวลานั้นถ้ำแห่งนี้อย่างดีก็เป็นที่อาศัยของฤษีชีไพรท่ามกลางป่าดงพญาเย็น การมีคนฝีมือดีขนาดนี้มาสลักภาพปริศนาสามผู้ยิ่งใหญ่ทำท่ากำลังจะดวลกันไว้ด้วยกันตรงนี้มันน่างืด (อัศจรรย์) มาก

สำหรับท่านที่ไม่เคยสนใจประวัติศาสตร์ ทวาราวดีเป็นยุคหนึ่งในดินแดนแหลมทองนี้ ก่อนที่ขอมจะเรืองอำนาจเข้ามาปกครอง ก่อนพระร่วงจะตั้งสุโขทัย ก่อนคนไทยสิบสองปันนาจะย้ายลงมาทางเชียงแสน ได้มีผู้คนอาศัยอยู่ตรงนี้อยู่ก่อนแล้วและได้สร้างสรรค์ศิลปะถาวรซึ่งมักเลียนแบบศิลปะอินเดียสมัยปาละ เช่นพระธาตุพนม พระธาตุไชยา พระธาตุหริภุณชัย ซึ่งทั้งสามแห่งถูกบูรณะซ้ำซากจนไม่มีใครรู้ว่าของเดิมจริงๆเป็นอย่างไร ของเดิมแท้ที่ไม่ถูกแต่งเติมที่ยังพอเห็นทุกวันนี้คือซากปรักหักพังของเมืองฟ้าแดดสูงยางที่จ.กาฬสินธ์ อย่างน้อยผมก็ได้เห็นใบเสมาหิน พระพิมพ์ดินเผา และศิลาจารึกภาษาของยุคโน้นซึ่งผมอ่านไม่ออก แต่ที่ถ้ำนี้ ผมว่าเป็นศิลปทวาราวดีที่เป็นของเดิมแท้ครบเครื่องและสวยงามที่สุด ท่านที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์แหลมทองควรจะรีบมาดูไว้เสีย ไปภายหน้าผมมั่นใจว่าการระเบิดหินทำปูนโครมๆที่ทำกันอยู่ทุกวันไม่ห่างจากถ้ำนี้มากนักวันหนึ่งจะทำให้ถ้ำนี้ทรุดตัวลง เมื่อนั้นคนรุ่นหลังก็จะไม่ได้เห็นศิลปทวาราวดีที่ดีที่สุดนี้อีกแล้ว

ออกจากถ้ำเรากำลังจะกลับก็มาเจอเด็กวัดขี้เมาอายุราวสี่สิบ เขาเล่าว่าเขาเกิดและเติบโตที่นี่แล้วไปอยู่ที่วัดอื่นนานหลายปีเพิ่งกลับมา เขาบอกว่าทางด้านโน้นมีน้ำไหลออกมาจากปากถ้ำมาเป็นน้ำตก และพระพุทธเจ้าหลวงเคยมาเล่นน้ำตกนี้ และได้สลักชื่อจปร.ไว้ด้วย ผมถามว่ารอยสลักนั้นยังมีอยู่ไหม เขาบอกว่าน่าจะยังมีอยู่ แต่เขาไม่แน่ใจว่าอยู่ตรงไหน ผมจึงให้เขาพาพวกเราไปดู บรรยากาศปากถ้ำ มีน้ำลอดออกมาเป็นธารน้ำใสมีปลาเล็กปลาน้อยแหวกว่ายอยู่มาก ไม่นับลิงที่ยั้วเยี้ยอยู่บนต้นไม้ทั่วไป น้ำนั้นไหลมาเป็นน้ำตก เด็กวัดท่านนั้นพาไปชี้ดูตรงที่น่าจะเป็นรอยสลักพระปรมาภิไธย เราลงไปคุ้ยหาก็ไม่เห็นมี จึงชวนกันเดินสำรวจไปทั่วรอบๆปากถ้ำ จนไกลจากจุดที่เด็กวัดชี้ไปโข สักครู่หมอสมวงศ์ก็ชี้ไปที่หินก้อนหนึ่งข้างขวาของปากถ้ำตอนบน และว่า

“นั้นไงตัวเลข ๑๑๕”

ผมลงไปคุ้ยใบไม้ดูก็เป็นรอยสลักตัวเลข ๑๑๕จริงๆ พอคุ้ยใบไม้กิ่งไม้ที่ปกคลุมก้อนหินส่วนที่สูงขึ้นไปจึงได้เห็นรอยสลักพระปรมาภิไธยตัวเบ้ง จปร. ชัดๆ แม้ว่าตัว ร.จะเลือนไปบ้าง แสดงว่าเด็กวัดท่านนั้นแม้จะเมาแต่ก็พูดเรื่องจริง หิ หิ

ก่อนกลับผมให้เด็กวัดพาเดินไปหาตู้บริจาคเงินให้วัดเพื่อตอบแทนบุญคุณหลวงพี่ที่ทำไฟให้ส่องถ้ำและวางน้ำให้ดื่ม ผมต้องเดินตัวลีบเข้าไปในวิหารที่พระสงฆ์ประมาณสิบรูปกำลังสวดมนต์ทำวัตรกันอยู่อย่างเงียบเชียบเคร่งขรึม วัดนี้เป็นวัดป่า ผมหยอดเงินบริจาคลงตู้ด้วยความขอบคุณแล้วเดินย่องกลับออกมา กลับมาถึงบ้านมวกเหล็กผมยังติดใจเรื่องที่เด็กวัดเล่าไม่วาย จึงค้นเน็ทดู และได้ภาพในหลวง ร. 5 เล่นน้ำตกหน้าถ้ำโพธิสัตว์มาให้ท่านผู้อ่านดูประกอบ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

CR5 รีทรีตผู้ป่วยมะเร็ง เปลี่ยนแปลงแบบยกกระบิ

แค้มป์รีทรีตผู้ป่วยมะเร็งครั้งใหม่นี้ (CR5) ซึ่งจะมีในวันที่ 30 เมย. – 3 พค. 64 จะแตกต่างจากแค้มป์ก่อนหน้านี้ กล่าวคือแค้มป์ใหม่นี้ทางเวลเนสวีแคร์ได้เชิญ นพ. คมกฤช ศรีสรรพิริกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านมะเร็ง มาเป็นผู้อำนวยการสอนและทำการสอนเองเกือบทั้งหมด การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็เพื่อให้เนื้อหาสาระมุ่งมาทางด้านการรักษาโรคด้วยตนเองมากขึ้นแทนที่จะเป็นการเรียนรู้เพียงเพื่อให้อยู่กับมะเร็งได้เท่านั้น แนวทางใหม่นี้จะเป็นการผสมผสานการรักษากับการฟื้นฟูโรคมะเร็งอย่างลึกซึ้งโดยรวมเอาการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์ทางเลือกที่มีศักยภาพสูงมาผสมผสานกัน (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ช่วยสอนเฉพาะส่วนของการจัดการความเครียด)

คอนเซ็พท์ของแค้มป์

ให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งได้มาพักผ่อนเรียนรู้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง นพ. คมกฤช ศรีสรรพิริกุล ห้าวันสี่คืน เพื่อเรียนรู้และฝึกทักษะจำเพาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง โดยเฉพาอย่างยิ่งทักษะทางด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย และการใช้ประโยชน์จากการแพทย์ทางเลือก ในการรักษาและฟื้นฟูตัวเอง

ตารางกิจกรรม

สถานที่: เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ (Wellness We care Center) มวกเหล็ก-เขาใหญ่

วันเวลา: (CR5) วันที่ 20-23 พย.63

วันแรก

8.00-14.00 ลงทะเบียนเข้าแค้มป์ พบแพทย์รายคน ทำประวัติ เจาะเลือด

14.00 – 16.00 ทำความรู้จักกันและเรียนรู้เรื่องโรคของกันและกัน

16.00 – 16.30 พักรับประทานน้ำชา

16.30 – 17.30 ภาพใหญ่ของการรักษาและฟื้นฟูตนเองจากโรคมะเร็ง

วันที่สอง

7.00-8.00. กิจกรรมยามเช้า

8.00-9.00. กิจกรรมส่วนตัว

9.00-10.15. ระบบภูมิต้านทานกับมะเร็ง

10.15-10.45. พัก

10.45-12.00. อาหารที่เสริมภูมิต้านทาน

12.00 – 13.00 พักรับประทานอาหารกลางวัน

13.00-14.15. อาหารกับมะเร็ง

14.15-14.45. พัก

14.45-16.00. IF – Intermittent Fasting Diet โภชนาการแบบทิ้งช่วงระหว่างมื้อให้ห่างขึ้น

วันที่สาม

7.00-8.00. กิจกรรมยามเช้า

8.00-9.00. กิจกรรมส่วนตัว

9.00-10.15. Stress management การจัดการความเครียด

10.15-10.45. พัก

10.45-12.00. Sleep management การจัดการเรื่องการนอนหลับ

12.00 – 13.00 พักรับประทานอาหารกลางวัน

13.00-14.15. Gut microbiome ดุลยภาพของแบคทีเรียในลำไส้

14.15-14.45. พัก

14.45-16.00. Massage การนวดบำบัด

วันที่สี่

7.00-8.00. กิจกรรมยามเช้า

8.00-9.00. กิจกรรมส่วนตัว

9.00-10.15. Cancer related fatigue (CRF) อาการเปลี้ยล้าในโรคมะเร็ง

10.15-10.45. พัก

10.45-12.00. Cancer pain & coping อาการปวดในโรคมะเร็งและการรับมือ

12.00 – 13.00 พักรับประทานอาหารกลางวัน

13.00-14.15. Exercise and Cancer การออกกำลังกายกับโรคมะเร็ง

14.15-14.45. พัก

14.45-16.00. Exercise and Cancer การออกกำลังกายกับโรคมะเร็ง (ต่อ)

วันที่ห้า

7.00-8.00. กิจกรรมยามเช้า

8.00-9.00. กิจกรรมส่วนตัว

9.00-12.00 Q & A ถามตอบปัญหา

12.00 – 13.00 พักรับประทานอาหารกลางวัน

13.00 ปิดแค้มป์ เดินทางกลับ

ค่าลงทะเบียน

ท่านละ 9,000 บาท รวมอาหารทุกมื้อ ที่พัก อุปกรณ์การเรียน แต่ไม่รวมค่าเดินทางยังเวลเนสวีแคร์ (ผู้เรียนต้องเดินทางไปเอง) ที่พักนอนคู่สองคนต่อห้อง

วิธีลงทะเบียนเข้าเรียน

โทรศัพท์ติดต่อคุณเฟิร์น ที่หมายเลข 0636394003 หรือไลน์ @wellnesswecare หรืออีเมล host@wellnesswecare.com

การเตรียมตัว

แนะนำให้เตรียมเครื่องแต่งกายที่ออกกำลังกายสะดวก ควรมีรองเท้าผ้าใบเพื่อสะดวกในการออกกำลังกาย เลื้อผ้าออกกำลังกายที่ยืดหยุ่นและรัดตัวได้ยิ่งดี เพื่อความสะดวกในการเรียนเรื่องการออกกำลังกายและการประเมินแก้ไขท่าร่าง และควรมีหมวกกันแดด และครีมกันแดดด้วย

การเดินทางไปเข้าคอร์ส

สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว รถตู้กทม.-มวกเหล็ก หรือรถไฟ (ลงสถานีมวกเหล็ก) ในกรณีที่จะให้เวลเนสวีแคร์ช่วยประสานงานหารถรับจ้างเหมาไปจากกทม. ต้องติดต่อล่วงหน้า ค่าจ้างแทกซี่ประมาณ 1,500 บาทเฉพาะขาไปจากกทม.ขาเดียว หรือ 3,000 บาทสำหรับการไปส่งแล้วไปรับกลับกทม. (เวลเนสวีแคร์ไม่มีบริการขนส่ง)

เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์

………………………………….

[อ่านต่อ...]

22 กุมภาพันธ์ 2564

ถูกแมวเลี้ยงเองกัด ต้องฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าอย่างไร

เรียนถามคุณหมอสันต์

ถูกแมวที่เลี้ยงเองข่วนและกัดเอามีรอยเล็บมีเลือดซิบที่นิ้วมือ ต้องฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าหรือไม่ถ้าแมวฉีดวัคซีนครบ หากยังต้องฉีดวัคซีน ต้องฉีดแบบกี่เข็มคะ

………………………………………………………….

ตอบครับ

ไหนๆก็มีโอกาสได้คุยกันถึงหมาแมวกัดและการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าแล้ว ขอถือโอกาสนี้ทบทวนหลักปฏิบัติในเรื่องนี้ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ปรับคำแนะนำไปเมื่อปีค.ศ. 2018 ทำให้คำตอบที่ผมเคยตอบคำถามเรื่องนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อหลายปีก่อนล้าสมัยไปเสียแล้ว โดยผมจะอธิบายแยกทีละประเด็น

ประเด็นที่ 1. การจำแนกความรุนแรงของการสัมผัสโรคขององค์การอนามัยโลก (WHO category) พูดง่ายๆว่าความรุนแรงของบาดแผล ซึ่งจำแนกเป็น 3 ระดับ (category) โดยปรับรายละเอียดใหม่ดังนี้ คือ

สัมผัสโรคระดับที่ 1. คือสัตว์กัดหรือข่วนหรือเลียบนผิวหนังปกติโดยไม่เกิดบาดแผลหรือรอยช้ำ

สัมผัสโรคระดับที่ 2. คือสัตว์กัดหรือข่วนลงบนผิวหนังจนเกิดรอยถลอก หรือฟกช้ำแต่ไม่มีเลือดให้เห็น หรือกินเนื้อสัตว์ที่สงสัยเป็นโรคโดยไม่ได้ทำให้สุกก่อน

สัมผัสโรคระดับที่ 3. คือสัตว์กัดหรือข่วนลงบนผิวหนังปกติโดยทะลุผิวหนังจนมีเลือดออกให้เห็น หรือน้ำลายของสัตว์สัมผัสเยื่อบุ (เช่นในปาก) หรือถูกสัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง (เช่นค้างคาว) กัดหรือข่วน

ประเด็นที่ 2. การฉีดวัคซีนแบบหลังสัมผัสโรค หรือ PEP ย่อจากคำเต็มว่า post exposure prophylaxis ก็คือการฉีดหลังถูกสัตว์กัดแล้วอย่างคุณนี่แหละ ซึ่งเป็นการฉีดวัคซีนแบบเต็มยศ ห้าเข็มเข้ากล้าม ในวันที่ 0, 3, 7, 14, 28 นับจากวันถูกสัตว์กัด หรือฉีดครั้งละสองเข็มเข้าใต้ผิวหนัง(แขนซ้ายขวาพร้อมกัน) สี่ครั้ง ในวันที่ 0, 3, 7, 28 ซึ่งการฉีดวัคซีนแบบ PEP นี้องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ฉีดในทุกคนที่สัมผัสโรคระดับ 2 และระดับ 3 โดยไม่ต้องรอสังเกตสัตว์ เว้นเสียแต่ว่าในกรณีที่ความเสี่ยงต่ำมากจริงๆจึงจะใช้วิธีรอสังเกตสัตว์

ในประเด็นการรอสังเกตสัตว์นี้ คำแนะนำใหม่ล่าสุดของสถานเสาวภา สภากาชาดไทย (พ.ศ. 2561) ได้ให้เกณฑ์ไว้ว่าการจะใช้วิธีรอสังเกตอาการสัตว์ 10 วันก่อนตัดสินใจฉีดวัคซีน จะต้องมีเงื่อนไขครบสามข้อดังนี้

(1) สัตว์นั้นได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี มีการกักบริเวณ มีโอกาสสัมผัสสัตว์อื่นน้อย

(2) สัตว์ได้รับวัคซีนมาแล้วอย่างน้อยสองครั้ง ครั้งสุดท้ายนานไม่เกิน 1 ปี

(3) การกัดของสัตว์มีสาเหตุจูงใจ เช่น ไปแหย่สัตว์ ไปรังแกสัตว์ เป็นต้น

หากไม่มีครบทั้ง 3 ข้อนี้ ก็ควรเดินหน้าฉีดวัคซีนแบบเต็มยศไปเลยโดยไม่ต้องรอสังเกตอาการของสัตว์

ประเด็นที่ 3. การฉีดวัคซีนแบบก่อนสัมผัสโรค หรือ PrEP ย่อจากคำเต็มว่า pre exposure prophylaxis ซึ่งเป็นการฉีดวัคซีนแบบย่อมเยา 2 เข็ม ในวันที่ 0 และวันที่ 7 แล้วจบแค่นั้น (ยกเว้นกรณีมีอาชีพยุ่งกับสัตว์ซึ่งมีความเสี่ยงสูงหรือกรณีมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ฉีด 3 เข็ม คือวันที่ 0, 7, 21)

ประเด็นที่ 4. การฉีดอิมมูโนโกลบูลิน หรือ RIG ย่อมาจาก rabies immunoglobulin เป็นโมเลกุลภูมิต้านทานเชื้อพิษสุนัขบ้าแบบสำเร็จรูปที่ร่างกายของคนหรือม้าสร้างขึ้น สมัยก่อนเรียกว่าซีรั่ม จึงออกฤทธิ์ยับยังเชื้อโรคได้ทันที องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ผู้สัมผัสโรคระดับที่ 3 ทุกคนควรฉีด RIG การทำการทดสอบการแพ้ไม่จำเป็นเพราะสมัยนี้การผลิตซีรั่มดีขึ้นมีอาการแพ้น้อย การฉีดต้องฉีดเข้ารอบๆแผล ไม่ใช่ไปฉีดเข้ากล้าม และต้องฉีดให้ทันภายใน 7 วันหลังถูกสัตว์กัด ในกรณีที่ RIG ไม่พอฉีด ให้จัดลำดับความจำเป็นสูงสุดแก่ผู้สัมผัสโรครุนแรงต่อไปนี้คือ (1) ถูกกัดหลายแผล (2) แผลกัดลึก (3) แผลกันสูงใกล้สมอง เช่น ศีรษะ คอ และมือ (4) มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (5) สัตว์ที่กัดเป็นโรคแน่ (6) สัมผัสโรคจากค้างคาว

ประเด็นที่ 5. การล้างแผลทำแผล จะต้องล้างแผลทันที ล้างด้วยสบู่ ใช้น้ำก๊อก ล้างซ้ำๆซากๆ ล้างมากๆ ใช้น้ำเยอะเหลือเฟือ ใช้เวลาล้างอย่างน้อย 15 นาที ถ้ามีก็ให้เอายาใส่แผลที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบใส่แผลด้วย (ไอโอดีนฆ๋าไวรัสพิษสุนัขบ้าได้) ไม่ต้องเย็บแผล

ประเด็นที่ 6. การใช้ยาปฏิชีวนะ แนะนำให้ใช้ในกรณีแผลสกปรก แผลใหญ่ แผลลึก โดยใช้ยาในกลุ่มเพ็นนิซิลลิน

ประเด็นที่ 7. การป้องกันบาดทะยัก หากผู้สัมผัสโรคไม่ได้รับการฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคบาดทะยักภายใน 10 ปีที่ผ่านมา ควรฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันบาดทะยักด้วย

ประเด็นที่ 8. การฉีดวัคซีนกรณีเคยฉีดแล้วและถูกสัตว์กัดซ้ำ ถ้าวัคซีนเข็มสุดท้ายที่เคยได้ยังเพิ่งผ่านไปไม่นานเกิน 6 เดือน ให้ฉีดแค่วัคซีนกระตุ้นหนึ่งเข็ม แต่ถ้าวัคซีนเข็มสุดท้ายที่เคยได้ผ่านไปนานเกิน 6 เดือนแล้ว ให้ฉีดแค่วัคซีนกระตุ้น 2 เข็ม คือในวันที่ 0 และวันที่ 3 นับจากวันที่ถูกสัตว์กัดซ้ำ

ผมน่าจะสรุปได้ครบทุกประเด็นแล้วนะ สำหรับตัวคุณเอง ผมแนะนำว่าคุณควรเริ่มต้นฉีดวัคซีนแบบก่อนสัมผัสโรค (PrEP) คือสองเข็มวันที่ 0 และวันที่ 7 ไปเลยเพราะคุณเลี้ยงสัตว์ย่อมจะมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้มากกว่าคนธรรมดาจึงควรฉีดวัคซีนแบบก่อนสัมผัสโรคไว้ไม่เสียหลาย ขณะเดียวกันก็สังเกตอาการของแมวคุณไปด้วย หากมันยังสุขสบายดีครบ 10 วันก็จบแค่นั้น แต่หากแมวของคุณมีอันเป็นไปเมื่อใดคุณก็ต้องรีบตาลีตาเหลือกไปฉีด RIG และฉีดวัคซีนต่อเต็มยศแบบ PEP คือจนครบห้าเข็ม

ถามว่าควรจะฉีด RIG (ซีรั่ม) ไปด้วยภายใน 7 วันแรกเลยไหม ตอบว่าตรงนี้ไม่มีหลักฐานใดๆมากพอที่จะตอบคุณได้ WHO แนะนำให้ผู้มีแผลรุนแรงฉีด RIG ภายใน 7 วัน (กรณีของคุณถูกกัดสูง ถือว่าเป็นแผลรุนแรง) แต่นั่นเป็นข้อมูลจากการถูกสัตว์ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคสูงกัดเอา ยังไม่เคยมีงานวิจัยว่าในกรณีที่สัตว์ที่กัดมีความเสี่ยงเป็นโรคต่ำมากแม้ว่าแผลจะรุนแรงแต่ประโยชน์ของการฉีด RIG จะมากคุ้มความเสี่ยงหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ ยิ่งหากในระหว่างการสังเกตที่ผ่านไปในแต่ละวันสัตว์ยังสบายดีอยู่ ความเสี่ยงก็ยิ่งลดลง หากสัตว์ไม่ตายใน 10 วันความเสี่ยงลดลงเหลือ 0% เลยทีเดียว ดังนั้นการจะฉีด RIG หรือไม่ฉีด ในกรณีของคุณนี้คุณตัดสินใจเองเหอะ เพราะยังไม่มีผลวิจัยมากพอที่จะตอบคุณได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. WHO Expert Consultation on Rabies, third report: WHO Technical Series Report, Geneva 2018 (in press) ISBN 978-92-4-121021-
  2. คลินิกป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สถานเสาวภา สภากาชาดไทย. แนวทางการดูแลรักษาผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า สถานเสาวภา สภากาชาดไทย พ.ศ. 2561 และคำถามที่พบบ่อย. Available on February 21, 2019 at http://www.lpnh.go.th/newlp/wp-content/uploads/2013/10/Rabies-book-2018-4-09-2018-ok.pdf
  3. Medley AM, Millien MF, Blanton JD, Ma X, Augustin P, Crowdis K et al. Retrospective cohort study to assess the risk of rabies in biting dogs, 2013–2015, Republic of Haiti. Trop Med Infect Dis. 2017;2(2):14.
[อ่านต่อ...]

21 กุมภาพันธ์ 2564

PM 2.5 กับปัญหาแม่ผัว-ลูกสะใภ้

สวัสดีค่ะ คุณหมอ
เนื่องจากคุณแม่สามีชอบหุงหาอาหารโดยใช้เตาฝืน และก่อไฟไล่ยุง ด้วยเศษใบไม้ กิ่งไม้ และบ่อยครั้งก็มีเผาขยะ ถุงพลาสติก กระป๋อง ฯลฯ เคยบอกไปแล้วว่าเราแสบตา หายใจไม่ค่อยสะดวก มีลูกอายุ 2 ขวบด้วยค่ะ เราบอกว่ามันไม่ดี อันตราย แกบอกคนสมัยก่อนก็ทำแบบนี้ไม่เห็นจะเป็นอะไร แข็งแรง อายุยืน ลูกก็จะได้มีภูมิ แกจุดควันมันเข้ามาคลุ้งอยู่ในบ้าน แสบตา หายใจไม่สะดวกค่ะ หนูอคติไปเอง หรือเปล่าคะ ไปหาข้อมูลในเน็ตมา มีแต่โทษค่ะ เช่นสะสมจะเป็นมะเร็งปอด มีละอองฝุ่น PM2.5 เป็นต้น แต่ก็ไม่สามารอธิบายแกได้ว่า ทำไมคนสมัยก่อนไม่เป็นอะไร รบกวนคุณหมอด้วยนะคะ
ด้วยความเคารพค่ะ

……………………………………………………………

ตอบครับ

“ข้าแต่ศาลที่เคารพ เรื่องนี้มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับจำเลยเล้ย มันเป็นประเด็นแม่ผัว-ลูกสะใภ้ แต่จำเลยถูกลูกหลง โดนคู่กรณีฝ่ายหนึ่งลากเข้ามาร่วมวงด้วย”

หิ หิ ขอโทษ พูดเล่น มาตอบคำถามคุณดีกว่า

1.. ถามว่าควันจากการเผาทุกรูปแบบมีอันตรายไหม ตอบว่ามีสิครับ ควันทุกชนิดเมื่อสูดเข้าไปล้วนเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งสิ้น เขม่าควันไฟมีสารก่อมะเร็งอยู่นับได้หลายสิบตัวสุดแล้วแต่ว่าจะเป็นไฟที่ก่อจากอะไร นอกจากนั้นยังทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับปอดและหัวใจมากขึ้น ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองที่มีรถยนต์มากหรือมีฝุ่น PM2.5 มากก็มีโอกาสตายจากโรคหัวใจและโรคปอดมากขึ้น พูดถึงฝุ่น PM 2.5 มันก็คือเขม่าควันจากการเผานี่แหละแต่นับเอาเฉพาะที่เม็ดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนลงไปซึ่งเป็นขนาดที่ลงลึกไปถึงทางเดินลมหายใจส่วนล่างได้ง่ายและก่อโรคได้มากกว่าเม็ดควันขนาดใหญ่ คนที่ปลูกบ้านใกล้ร้านอาหารที่โดนควันไฟรมอยู่ประจำก็มีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าคนที่ปลูกบ้านอยู่ในที่ไม่มีควัน คนที่ชอบกินอาหารเช่นเนื้อย่าง ปลาเผา ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าคนที่ปรุงอาหารด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การย่างหรือเผา เป็นต้น

พูดถึงเรื่องถูกรมควันขอเล่านอกเรื่องหน่อยนะ สมัยผมเป็นเด็ฏหนุ่มยังเรียนมัธยมต้น ประมาณพ.ศ. 2511 ได้รวมสมัครพรรคพวกได้สี่ห้าคนไปเดินป่าที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ไปนอนค้างแรมบนบ้าน “เสี่ยว” หรือสหายชาวแม้ว บ้านของเขาเป็นกระท่อมซึ่งหลังคาและผนังทำจากหญ้าคาปลูกติดดินอยู่บนชะง่อนเขาสูง เราไปถึงเอาตอนค่ำก็เข้านอนเลย ธรรมเนียมของแม้วเขาเวลานอนเขาจะต้องติดฮีตเตอร์สร้างความอบอุ่นซึ่งก็คือเตาฟืนบนพื้นดินในบ้านเขานั้นแหละ ควันจากเตาก็อบอวลไปทั่วทั้งบ้าน เพราะกลางคืนเขาปิดหน้าต่างหมด ในบ้านนอกจากจะมีคนแล้วยังมีหมูและม้าด้วย ผมนอนหายใจไม่ออกจึงแอบแหวกผนังซึ่งโชคดีเป็นหญ้าคาเพื่อหายใจ ลมหนาวเป่าสวนทางเข้ามาแต่ละทีเย็นเหมือนจะเฉือนจมูกทิ้งได้เลยเชียว พอรุ่งเช้าผมแอบถามเด็กลูกเสี่ยวว่าในบ้านที่นอนอยู่ด้วยกันนี้มีกี่ชีวิต จึงพบว่านอกจากตัวเสี่ยวแล้วยังมีเมียเขาอีก 2 คน ลูกอีก 5 คน หมูอีก 2 ตัว ม้าอีก 1 ตัว และพวกเราซึ่งเป็นแขกอีก 5 คน รวมแล้ว 15 ชีวิตยัดเข้าไปในกระต๊อบเล็กๆนั้นแล้วรมควันแบบหมูแฮม โห..ผมรอดชีวิตมาได้ไงเนี่ย

2.. ข้อนี้คุณไม่ได้ถาม แต่ผมแนะนำด้วยความปรารถนาดี ว่าการจะใช้ชีวิตอยู่ในบ้านแม่ผัวให้มีความสุขและมีสวัสดิภาพนั้น คุณควรปรับโลกทัศน์ของคุณไปบ้าง ดังนี้

2.1 ให้เอาคำพังเพยโบราณสองคำมาบวกกัน คือ “อย่าสอนหนังสือสังฆราช” กับ “อย่าสอนจรเข้ให้ว่ายน้ำ” บวกกันแล้วหารสองกลายเป็น “อย่าสอนสังฆราชให้ว่ายน้ำ” แปลว่าแม้สังฆราชจะว่ายน้ำไม่เป็น แต่คุณไม่ต้องไปสอน ถึงสอนท่านก็ว่ายไม่เป็นอยู่ดี เพราะท่านแก่เกินจะฝึกว่ายน้ำได้แล้ว

2.2 เมื่อผู้สูงวัยตัดสินว่าอะไรดีไม่ดีจากความจำของท่าน หากคุณไม่เห็นด้วยให้เงียบเสีย ฝึกหูให้ฟังเสียงระดับปรมัตถ์ให้เป็น คือจับเอาเฉพาะโน้ตดนตรีของเสียง อย่าจับเอาสาระในเชิงภาษา คุณต้องเข้าใจว่าสมองของคนที่ยังไม่บรรลุธรรมยังไม่มีปัญญาญาณพาให้รู้แจ้ง จะวินิจฉัยอะไรได้ก็จากความจำดั้งเดิมของตนเองเท่านั้น แก่นแท้ของความคิดมนุษย์ก็คือการรีไซเคิลความจำเก่าๆ ไม่มีอะไรมากกว่านั้น แต่ละคนมีความจำไม่เหมือนกัน ผลของการรีไซเคิลก็ออกมาไม่เหมือนกัน คุณต้องเปิดใจยอมรับโดยดุษฎี แปลว่ายอมรับแบบนิ่งๆเงียบๆ อย่าเถียง

เขียนถึงตรงนี้ขอนอกเรื่องอีกหน่อยนะ หลายปีก่อนมีแพทย์ฝึกหัดท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเนื่องจากมีแพทย์อยู่ชนบทไม่ได้ต้องลาออกโดยจ่ายเงินใช้ทุนกันมาก ทางกระทรวงสธ.จึงส่งแพทย์อาวุโสไปเยี่ยมดูแลสาระทุกข์สุกดิบรับฟังความคับข้องใจของหมอรุ่นคุณหนู แพทย์ฝึกหัดเมื่อมีคนมาฟังก็ระบายกันใหญ่ โน่นก็ไม่ดี นี่ก็มีปัญหา ซึ่งแพทย์ใหญ่ที่ออกไปรับฟังก็จะพูดซ้ำซากว่า

“..สมัยผมมันแย่กว่านี้นะ”

จนในที่สุดแพทย์สาวท่านหนึ่งอดไม่ได้จึงพูดแซวผู้ใหญ่ขึ้นมาว่า

“..ถ้าจะเอาทุกอย่างเท่าสมัยอาจารย์ แล้วอาจารย์มาเยี่ยมหนูทำไมละคะ”

ฮะ ฮะ ฮ่า แคว่ก แคว่ก แคว่ก ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

2.3 ชื่อว่าคนแก่ แม้อะไรจะเสื่อมไปมาก แต่สิ่งที่ยังแข็งแรงเหนียวแน่นไม่เสื่อมคลายคือ “อัตตา” การจะอยู่กับคนแก่คุณต้องสวามิภักดิ์ด้วยท่านอย่างชาญฉลาด คือตัวคุณต้องเข้าไปช่วย จะทำอะไรใหม่ก็ต้องให้เป็นวินิจฉัยหรือเป็นอนุมัติของท่าน เช่น

“คุณแม่คะ หนูขออนุญาตเอาใบไม้ของคุณแม่ไปทดลองทำปุ๋ยอินทรีย์ด้วยวิธีฝังกลบได้ไหมคะ”

เป็นต้น

2.4 การจะอยู่กับเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกที่ต่างวัยคุณต้องอยู่ด้วยหัวใจ ไม่ใช่อยู่ด้วยความคิด ความคิดจะถูกเสี้ยมโดยอัตตาของเราเอง ทำให้ทั้งสองฝ่ายต่าง “กลัว” อีกฝ่ายหนึ่งว่าจะมาลบหลู่อัตตาของตัวเอง เมื่อคนขี้กลัวมาอยู่กับคนขี้กลัว การห้ำหั่นกันก็พร้อมจะเกิดได้ทุกเมื่อ สมองของคนเราถูกโปรแกรมให้ขี้กลัว ขี้สงสัย และขี้ขาดแคลน ยิ่งถ้าเป็นลูกสะไภ้สมองก็จะถูกโปรแกรมอย่างแรงให้กลัวแม่ผัว คุณต้องพาตัวเองออกจากตรงนั้น มาอยู่ในมู้ดของความรักเมตตา ร่าเริง และมีพลังที่เหลือล้นพร้อมที่จะเผื่อแผ่อย่างสร้างสรรค์ เริ่มต้นด้วยอะไรเล็กน้อยๆในบ้านของแม่ผัวที่คุณชอบหรือมีความตื่นเต้นที่จะได้ทำ ที่จะได้เป็นผู้ “ให้” ก่อน เริ่มจับที่ตรงนั้น แล้วลงมือทำโดยไม่ต้องคำนึงถึงเหตุผล ไม่คำนึงถึงผลลัพท์ ทำไปเพราะความรัก เพราะความอยากให้ การให้มันไม่ยากดอก ยิ่งให้โดยไม่หวังอะไรตอบแทนยิ่งไม่ยาก แค่ยิ้ม คุณก็เป็นผู้ให้แล้ว ทำอย่างนี้แล้วในชีวิตจริงผลลัพท์ดีๆมันจะตามมาเอง ผมจะบอกความจริงของชีวิตอย่างหนึ่งให้นะ ตัวเราเป็นผู้สร้างความเป็นจริงรอบตัวขึ้นมาจากความกลัวของเราเอง ไม่ว่าในระดับจิตสำนึกหรือจิตใต้สำนึก ทั้งหมดนั้นมันเกิดจากความกลัวว่ามันจะเกิด หรือความเชื่อว่ามันจะเกิดทั้งนั้นแหละ

3. ข้อนี้ไม่ใช่สำหรับคุณ แต่สำหรับท่านผู้อ่านทั่วไป โดยเฉพาะสำหรับหญิงสาวที่กำลังจะแต่งงาน หมอสันต์แนะนำว่าจะแต่งงานทั้งทีอย่าแต่งงานแบบเข้าไปอยู่ในอาณาจักรของแม่ผัว นี่เป็นคำแนะนำเชิงป้องกันที่ดีที่สุดที่ผมจะให้ได้ แต่หากคุณมีเหตุผลสารพัดที่จะต้องแต่งงานแล้วไปอยู่กับแม่ผัวให้ได้ ก็ โอเค้. โอเค. ซึ่งในกรณีเช่นนั้นผมแนะนำให้คุณใช้ชีวิตแบบอยู่กับหมอฟัน คือ

“…..อ้าปาก แล้วฟังอย่างเดียว”

หิ หิ จบดีกว่า เดี๋ยวหมอฟันเขาจะโกรธเอา

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

20 กุมภาพันธ์ 2564

หมอสันต์เริ่มยอมรับเวชศาสตร์ชลอวัย (Anti-aging)

หมอสันต์เริ่มยอมรับ “เวชศาสตร์ชลอวัย” ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นมองเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องมีสาระในทางวิทยาศาสตร์น้อยมาก เพราะผมมองการดำเนินของโรคสมองเสื่อมว่าโรคนี้เป็นตัวชี้วัดว่า “เวชศาสตร์ชลอวัย” เป็นเรื่องจริงหรือเป็นแค่เรื่องวิทยาศาสตร์เทียมเพื่อหาทางขายวิตามินและอาหารเสริมในราคาแพงๆให้ชาวบ้าน เพราะสำหรับผมตราบใดที่วงการแพทย์ยังไม่มีปัญญาชลอหรือรักษาโรคสมองเสื่อมได้ ตราบนั้นก็อย่ามาพูดให้ยากเลยว่าความชราของคนเรานี้มันจะชลอได้

เมื่อประมาณห้าปีก่อน ผมได้เห็นรายงานทางการแพทย์ชิ้นเล็กชิ้นหนึ่งเสนอโดยหมอด้านประสาทวิทยาที่มหาลัยยูซีแอลเอ. แคลิฟอร์เนีย ชื่อดร.เบรเดเซน (D E Bredesen) เนื้อหาสาระมีอยู่ว่าเขารายงานผลการรักษาคนไข้สมองเสื่อมของเขาสิบคนว่าได้ผลดีมาก ตอนนั้นผมไม่ได้สนใจ เพราะแค่นี้มันเป็นหลักฐานระดับ “เรื่องเล่า” ซึ่งมีโผล่มาให้เห็นแทบทุกวันแล้วก็ดับหายไป เป็นอย่างนี้มาหลายสิบปีแล้ว โดยที่โรคสมองเสื่อมยังค่อยๆขยับลำดับการเป็นสาเหตุของการตายขึ้นมาทีละนิดๆจนปัจจุบันนี้กลายมาเป็นสาเหตุการตายอันดับสามตามหลังโรคหัวใจและโรคมะเร็งแล้ว

พอไม่นานมานี้มีเพื่อนแพทย์ท่านหนึ่งซึ่งคุ้นเคยกันดีได้เปรยให้ผมฟังถึงงานของดร.เบรเดเซนอีก โดยเธอได้นำห้ผลวิจัยของเขาซึ่งตีพิมพ์ไว้ในวารสารโรคอัลไซเมอร์มาให้อ่านด้วย คราวนี้เขารายงานผลการรักษาโรคอัลไซเมอร์ 100 รายว่าประสบความสำเร็จด้วยดีเป็นเวลาติดต่อกันนานหลายปี รูปแบบของการรายงานก็ยังเป็นเรื่องเล่าอยู่ คือไม่ใช่หลักฐานวิจัยระดับสูงที่มีการสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ แต่จำนวนคนไข้ที่มากเป็นร้อยทำให้ผมยอมนั่งอ่านรายงานของเขาอย่างจริงจัง พบว่าในคนไข้ร้อยคนที่โรคอัลไซเมอร์ดีขึ้นนี้เขาใช้วิธีหลายอย่างผสมผเสกันเปะปะ จนไม่รู้ว่าคนไข้ดีขึ้นจากอะไร ผมสรุปให้ว่าแต่ละคนเขาใช้สักยี่สิบวิธีปนกันไปดังนี้

  1. กินอาหารที่มีพืชผักผลไม้ถั่วและนัทมาก มีเนื้อสัตว์น้อย
  2. ลดน้ำตาลและแป้งขัดขาวลงเหลือน้อยที่สุด
  3. อดอาหารแบบ IF12/12 คืองดกินวันละ 12 ชั่วโมง
  4. ทำให้สุขภาพลำไส้ดีจนการขับถ่ายปกติ โดยใช้ prebiotic, probiotic
  5. ออกกำลังกาย
  6. ลดความเครียด ด้วยโยคะบ้าง สมาธิบ้าง ดนตรีบ้าง
  7. แก้ไขการนอนหลับให้ได้ 8 ชั่วโมง ถ้ามีโรคนอนกรนก็แก้เสีย ถ้าจำเป็นก็ใช้เมลาโทนิน 0.5 มก.ก่อนนอน หากยังตื่นกลางดึกก็ให้กิน Tryptophan 500 มก. นานสามสัปดาห์
  8. ทำกิจกรรมกระตุ้นสมอง
  9. ตรวจดู Homocystein หากสูงกว่า 7 ก็ทำการรักษาโดยใช้วิตามินบี.12 บี.6 โฟเลท และ Trimethylglycine
  10. รักษาระดับวิตามินบี.12 ในเลือดให้สูงกว่า 500
  11. วัดและแก้ไขการอักเสบในร่างกายโดยเจาะเลือดดู CRP ถ้าสูงก็ใช้ขมิ้นชันและ DHA/EPA ช่วย
  12. รักษาระดับน้ำตาลสะสมให้ต่ำกว่า 5.5% และให้อินสุลินหลังอดอาหารต่ำกว่า 7.0
  13. รักษาระดับฮอร์โมนไทรอยด์ เอสโตรเจน คอร์ติซอล ให้ปกติ
  14. รักษาระดับวิตามินดีให้อยู่ระหว่าง 50-100 ng/ml โดยเสริม D3+K2 ถ้าจำเป็น
  15. ตรวจระดับโลหะหนัก ปรอท ดีบุก แคดเมียม ตะกั่ว ถ้ามีพิษก็หาทางแก้พิษ
  16. ลด Amyloid beta โดยใช้ขมิ้นชันและโสมอินเดีย (Ashwagandha)
  17. ให้กินสมุนไพรอินเดีย Bacopa monnieri (สกุลเทียนเกล็ดหอย) และแมกนีเซียม รักษาความจำ
  18. ให้กิน MCT ในรูปของน้ำมันมะพร้าว
  19. ให้กินสารต้านอนุมูลอิสระและสารช่วยไมโตคอนเดรียเพียบ ทั้ง vitE, vitC, NAC, alphalipoic acid, Se, blueberry, CoQ10, thiamine, resveratrol, PQQ, ALCAR, Se, Zn เป็นต้น

ผมดูวิธีรักษาโรคอัลไซเมอร์ของดร.เบรเดเซนแล้วให้คิดถึงที่แพทย์จำนวนหนึ่งที่ทำเวชปฏิบัติในสาขาที่เขาเรียกตัวเองว่า “เวชศาสตร์ชลอวัย” หรือ Antiaging ว่าช่างเป็นวิธีที่ละม้ายคล้ายคลึงกันเสียจริง แม้ว่าแพทย์พวกนี้จะยังไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นสาขาความชำนาญอย่างเป็นทางการของอเมริกา แต่ก็มีการตั้งวิทยาลัยขึ้นและออกวุฒิบัตรของตัวเองเรียกว่า ABAARM ซึ่งย่อมาจาก American Board of Antiaging and Regenerative Medicine แพทย์ในสายหลักก็เหล่แพทย์เวชศาสตร์ชลอวัยว่าเป็นพวกแหกคอกออกไปหากินด้วยการขายวิตามินและอาหารเสริมในราคาแพงๆให้คนไข้ ส่วนตัวแพทย์ที่ทำงานด้านนี้เองผมเข้าใจว่าคงจะมีสองพวก พวกหนึ่งอาจจะเป็นอย่างที่แพทย์ในกระแสหลักเขาว่า แต่อีกพวกหนึ่งผมมั่นใจว่าเป็นพวกที่มีความเชื่อในศักยภาพของแนวทางเวชศาสตร์ชลอวัยว่าจะทำได้ในสิ่งที่การแพทย์กระแสหลักยังทำไม่ได้ พวกหลังนี้เป็นหน่วยกล้าตายในการเสาะหาสิ่งใหม่ เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ว่าพวกเขาไปถูกทางหรือไปผิดทาง

งานวิจัยของเบรเดเซนกระตุกให้ผมหันมามองเวชศาสตร์ชลอวัยอย่างจริงจัง การรักษาโรคอัลไซเมอร์ซึ่งมาพร้อมกับความชราเป็นสมรภูมิใหม่ของวิชาแพทย์ หากไม่สนับสนุนคนที่แหกคอกออกไปเสาะหาวิธีใหม่ แล้ววงการแพทย์จะก้าวหน้าไปได้อย่างไร คิดอย่างนี้ใจผมจึงยอมรับเวชศาสตร์ชลอวัยมากขึ้น และตั้งใจว่าหากมีโอกาสจะช่วยสนับสนุนการบุกเบิกแนวรบด้านนี้ให้ก้าวหน้าไป อาจจะโดยให้เงิน เวลา สถานที่ หรือชวนหรือดึงน้องๆแพทย์รุ่นหลังที่จบบอร์ด ABAARM และทำงานด้านนี้มานานพอแล้วมาทำอะไรด้วยกันในลักษณะการวิจัยตามดูกลุ่มคน (cohort) เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่อาจเป็นการกรุยทางให้การแพทย์กระแสหลักเดินตามได้ในที่สุด หิ หิ คิดนะ ตอนนี้ได้แต่คิด ยังไม่ได้พูดอะไรกับใคร และแน่นอนว่ายังไม่ได้ลงมือทำ คิดอยู่ว่าวันหนึ่งถ้าไม่ตายเสียก่อนคงจะได้ลงมือทำ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Bredesen DE, Sharlin K, Jenkins D, Okuno M, Youngberg W, et al. (2018) Reversal of Cognitive Decline: 100 Patients. J Alzheimers Dis Parkinsonism 8: 450. DOI: 10.4172/2161-0460.1000450
[อ่านต่อ...]

19 กุมภาพันธ์ 2564

ถอยไปตั้งต้นสนามหลวง ที่พื้นฐานของการมีสุขภาพดี

เรียนนพ.สันต์ที่นับถือ

หนูอยากมาเข้าแค้มป์ของคุณหมอ แต่ไม่มีโอกาส ถ้าหนูไม่ได้มาเข้าแค้มป์ แต่ตั้งใจทำตามคุณหมอแนะนำ หนูจะมีสุขภาพดีได้ไหม สำหรับคนที่มีความรู้น้อย คุณหมอจะแนะนำหนูว่าควรดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง หนูขอโทษที่หนูถามคำถามไม่เหมาะ แต่หนูยิ่งอ่านข้อมูลจากเน็ทนานไป หนูยิ่งกลายเป็นจับใจความไม่ได้ว่าอะไรคือพื้นฐานสำคัญในการดูแลสุขภาพ

……………………………………………………………………………………………..

ตอบครับ

1.. ถามว่าไม่ได้มีโอกาสมาเข้าแค้มป์หมอสันต์แต่อ่านเอาแล้วขยันนำไปปฏิบัติจะมีสุขภาพดีได้ไหม ตอบว่าได้แน่นอนครับ ได้มากกว่าคนที่ขยันมาเข้าแค้มป์แต่ไม่ได้ขยันเอาไปปฏิบัติ หิ หิ..เปล่าทบเทียบใครนะ แค่พูดความจริง

2. ถามว่าหลักพื้นฐานของการจะมีสุขภาพดีมีอะไรบ้าง ตอบว่าถ้าจะให้ถอยกลับไปตั้งต้นที่สนามหลวงเลยนะ หลักพื้นฐานการมีสุขภาพดีสำหรับยุคปัจจุบันนี้ แม้ว่าใครๆก็รู้กันทั่่วไปจนจะท่องจำได้กันอยู่แล้วแต่ผมทบทวนให้คุณฟังได้ จะได้ถือเป็นโอกาสเตือนผู้ที่รู้ดีไปหมดแล้วว่าที่รู้แล้วนั้นได้ลงมือปฏิบัติหรือยัง หลักพื้นฐานทั้งหมดมีเจ็ดประการ ดังนี้

2.1 กินอาหารที่มีพืชเป็นหลัก ในรูปแบบที่ใกล้เคียงธรรมชาติ คือถ้าเป็นอาหารธัญญพืชก็ไม่มีการขัดสีเอาส่วนผิวของเมล็ดทิ้งออกมากจนเหลือแต่แป้งหรือน้ำตาล เช่นถ้าเป็นข้าวก็กินข้าวกล้อง ถ้าเป็นอาหารไขมันก็ไม่มีการหีบหรือสกัดเอาแต่น้ำมันออกมากิน คือควรกินอาหารแบบทั้งหมดทั้งเมล็ดในรูปแบบที่ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด (whole food) การปรุงอาหารก็ไม่ควรใช้น้ำมันในการผัดทอดเพราะจะทำให้ได้รับไขมันมากเกินไป ส่วนเนื้อสัตว์นั้นถ้าจะกินควรกินแต่น้อย โดยหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ในรูปแบบไส้กรอก เบคอน แฮม และเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่นเนื้อวัว เนื้อหมู รวมถึงผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่น นมวัว และเนย ด้วย เพราะมันสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็ง นอกจากนี้ไม่ควรกินตลอดวัน ควรมีช่วงให้ร่างกายเว้นว่างจากการกินอย่างน้อยวันละ 12 ชั่วโมงเพื่อเปิดโอกาสให้เซลร่างกายได้พักเครื่องซ่อมแซมตัวเองบ้าง

2.2 ออกกำลังกาย ให้สม่ำเสมอ ทั้งแบบแอโรบิก คือเคลื่อนไหวให้ตัวเองเหนื่อยพอควร คือหอบแฮ่กๆจนร้องเพลงไม่ได้ วันหนึ่งอย่างน้อยสัก 30 นาที สัปดาห์หนึ่งอย่างน้อยสัก 5 ครั้ง นอกจากนี้ควรมีโอกาสได้เล่นกล้ามหรือฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออีกสัปดาห์ละอย่างน้อย 2 ครั้ง ถ้าเป็นคนอายุมากก็ต้องฝึกการทรงตัวและออกแบบชีวิตประจำวันให้มีการเคลื่อนไหวตลอดวันด้วย

2.3 จัดการความเครียดให้ดี โดยตั้งใจทำกิจกรรมเพื่อการผ่อนคลาย เช่นฝึกสมาธิ (meditation) หรือโยคะ หรือรำมวยจีน ทุกวัน อย่างน้อยวันละ 20-30 นาที เป้าหมายก็คือให้สามารถวางความคิดได้ง่าย ไม่แค้นเตืองยึดติดถวิลหาหรือหวาดกลัวอะไร เพราะทั้งหมดนั้นคือความคิด และความคิดคือต้นเหตุของความเครียดทั้งมวล โดยเป็นที่รู้กันดีแล้วว่าความเครียดเป็นตัวผสมโรงให้ป่วยเป็นโรคต่างๆแทบทุกโรค

2.4 ดูแลการนอนหลับให้ดี ให้ได้หลับสนิทคืนละประมาณ 8 ชั่วโมง โดยปฏิบัติตามสุขศาสตร์ของการนอนหลับที่ดี เช่น หลีกเลี่ยงยาหรือสารกระตุ้น เข้านอนเป็นเวลา ตื่นเป็นเวลา ตื่นแล้วรีบตื่นเลยไม่นอนอ้อยอิ่งอยู่บนเตียง หลีกเลี่ยงการงีบตอนกลางวันนานๆ ปรับสภาพห้องนอนให้มืด เงียบ เย็น ไม่ใช้ที่นอนเป็นที่ทำงาน ไม่ทำกิจกรรมเช่นดูทีวี อ่านหนังสือ กินของว่าง เล่นไพ่ คิด วางแผนอะไรบนที่นอน ไม่ทานอาหารภายใน 3 ชม. ก่อนนอน ก่อนนอนก็ต้องหยุดงานทุกอย่างสัก 30 นาที หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่กระตุ้นจิตใจ อารมณ์ ใส่ชุดนอน ลดไฟให้สลัวก่อนนอน ลดเสียงดนตรีเป็นดนตรีเบาๆ นั่งเฉยๆหรือนั่งสมาธิก็ได้ เป็นการบอกร่างกายว่าถึงเวลานอน การขยันออกแดดจะทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น คุณต้องตั้งใจดูแลการนอนหลับให้ดี หากการนอนไม่ดี ก็ยากจะเอาดีกับสุขภาพโดยรวมได้

2.5 ดูแลสุขภาพลำไส้ให้ดี ประเด็นหลักคือควรได้ขับถ่ายอย่างปกติทุกวัน การขับถ่ายจะเป็นปกติดีหากดื่มน้ำมากพอและมีแบคทีเรียดีๆในลำไส้มากพอ เพราะงานวิจัยพบว่ามวลของอุจจาระ 50% เป็นตัวแบคทีเรีย ซึ่งมันจะอยู่ได้ก็ต้องมีอาหารให้มันกิน อาหารของมันก็คือกาก (fiber) ที่เกิดจากการที่เรากินอาหารพืชเป็นหลักนั่นแหละ ข้อมูลวิจัยยุคใหม่บ่งชี้ว่าจำนวนและดุลของแบคทีเรียในลำไส้ (microbiome) สัมพันธ์กับการมีสุขภาพดีอย่างที่สุด ถ้าดุลนี้เสียไป ก็ป่วยเป็นโรคได้สาระพัดโรค

2.6 สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว มีการเกื้อหนุนกันทางสังคม เป็นผู้ให้บ้าง เป็นผู้รับบ้าง อย่าคอยแต่จะเป็นผู้รับอย่างเดียว ยึดหลักประจำใจสี่ข้อ ขอบคุณ ขอโทษ ให้อภัย เมตตา งานวิจัยพบว่าคนที่มีความสัมพันธ์กับคนรอบตัวดี จะมีสุขภาพดี

2.7 หลีกเลี่ยงสารพิษและภยันตรายต่างๆในสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับวันก็มีแต่จะหลีกเลี่ยงยากขึ้น ข้อนี้ตัวใครตัวมันละกันนะครับ

3. ในการจะประเมินตัวเองว่าคุณดูแลตัวเองได้ดีแค่ไหน ให้คุณใช้ดัชนีวัดเจ็ดตัวต่อไปนี้ก็พอ คือ (1) น้ำหนัก (2) ความดันเลือด (3) ไขมันในเลือด (4) น้ำตาลในเลือด (5) จำนวนพืชผักผลไม้ที่กินต่อวัน (6) การออกกำลังกายต่อสัปดาห์ และ (7) การไม่สูบบุหรี่ หากคุณอ่านบทความนี้แล้วตั้งใจทำตาม ตั้งใจใช้ดัชนีทั้งเจ็ดตัววัดตัวเองอย่างน้อยปีละครั้ง ดัชนีตัวไหนยังไม่เข้าเกณฑ์ปกติก็ปรับเปลี่ยนแก้ไขการกินการใช้ชีวิตจนดัชนีตัวนั้นกลับมาปกติ คุณก็ไม่จำเป็นไม่ต้องมาเข้าแค้มป์เข้าคอร์สอะไร ผมรับประกันว่าโอกาสตายก่อนเวลาอันควรของคุณจะลดลงไปถึง 91% ซึ่งไม่มีหมอคนไหนทำให้คุณได้ เพราะเทียบกับคนที่ขยันไปหาหมอกินยาตามหมอบอกทำบอลลูนทำผ่าตัดตามหมอแนะนำแต่ดัชนี้ทั้งเจ็ดตัวนี้ยังไม่อยู่ในเกณฑ์ปกติ โอกาสตายก่อนเวลาอันควรของเขาจะลดลงได้อย่างมากก็แค่ 20-30% เท่านั้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

18 กุมภาพันธ์ 2564

SR17 รีทรีตทางจิตวิญญาณ (ในยุคโควิด19)

  1. Spiritual Retreat คืออะไร

Spiritual หมายถึงองค์ประกอบของชีวิตที่ข้ามพ้นส่วนที่เป็นร่างกายและความคิด นั่นก็คือองค์ประกอบส่วนที่เรียกว่าเป็นความรู้ตัว (awareness)

Retreat คือการปลีกวิเวกหลีกเร้น ไปอยู่ในสถานที่สงบเงียบเป็นธรรมชาติ เพื่อให้ได้มีเวลาที่สันโดษและเป็นส่วนตัวไม่ถูกรบกวนหรือชักใบด้วยสื่อชักนำความคิดจากภายนอก อันจะทำให้เข้าถึงความรู้ตัวได้ง่าย

Spiritual retreat ก็คือการปลีกวิเวกหลีกเร้นเพื่อหันเหความสนใจจากโลกภายนอก ที่ผ่านเข้ามาทางอายตนะทั้งหกคือตาหูจมูกลิ้นผิวหนังและความคิดที่ผุดขึ้นมาในใจ กลับเข้าไปสนใจความตื่นรู้และสงบเย็นที่ภายในตัวในสภาวะที่ไร้ความคิด แล้วอ้อยอิ่งซึมซับรอดูอยู่ที่นั่นว่าแต่ละวินาทีที่ผ่านไปจะมีอะไรโผล่เข้ามา เป็นการขยายการรับรู้ (perception) ให้ลึกละเอียดยิ่งไปกว่าอายตนะ โดยเรียนรู้ผ่านการอยู่ในสถานที่สงบเงียบเป็นเวลานานหลายวันบ้าง หลายสัปดาห์บ้าง หลายเดือนบ้าง อาจจะอยู่คนเดียว หรืออยู่กับกลุ่มที่ต่างมุ่งแสวงหา “ความหลุดพ้น” เหมือนกัน

ถึงแม้ว่าแค้มป์นี้จะกำเนิดจากความตั้งใจที่จะช่วยให้ผู้ป่วยจัดการความเครียด แต่ผ่านไปหลายปีมาถึงป่านนี้แล้วแค้มป์ได้เปลี่ยนหน้าตาตัวเองมาจนไม่เหลือความเกี่ยวข้องกับวิชาแพทย์แผนปัจจุบันหรือวิทยาศาสตร์เลย แค้มป์นี้เลือกเอาคำสอนที่เด่นของทุกศาสนามาใช้ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาใดๆทั้งสิ้น (spiritual but not religious) ไม่มีพิธีกรรม ไม่ต้องปฏิบัติบูชา แต่งกายตามสบาย ไม่ต้องนุ่งห่มแบบใดแบบหนึ่งเป็นการเฉพาะ ไม่มีการใช้ศัพท์แสงของทางศาสนา ไม่ต้องนอนตื่นเช้าเกินเหตุ (เริ่มกิจวัตร 7.00 น.)ไม่ต้องอดอาหาร แต่อาหารที่มีให้เป็นอาหารแบบมังสะวิรัตแบบมีไข่ด้วย (ovo-vegetarian)เพื่อให้ร่างกายไม่มีความเปลี้ยล้าจากอาหารเนื้อสัตว์ เนื้อหาสาระที่เรียนเป็นการเรียนทักษะ (ปฏิบัติ) ไม่ใช่เรียนความรู้หรือคอนเซ็พท์ ในแค้มป์จะพูดหรือทำสิ่งเดียวเท่านั้น คือเรื่องที่จะหลุดพ้นไปจากความยึดติดในความเป็นบุคคลไปสู่ความตื่น โดยโฟกัสที่..ที่นี่ เดี๋ยวนี้

  1. การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใน SR-17

SR ทำมาแล้ว 16 ครั้ง ถูกเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา ขยายเวลาจาก 1 วันเป็น 2 แล้วก็เป็น 3 แล้วก็เป็น 4 วัน รูปแบบก็เปลี่ยนจากการฝึกปฏิบัติแบบหนึ่งต่อหนึ่งมาเป็นการแชร์ประสบการณ์ในกลุ่ม ซึ่งถูกจำกัดไว้ไม่ให้เกิน 25 คน ใน SR-17 นี้เนื่องจากเป็นช่วงโควิด19 จะต้องเพิ่มข้อจำกัดอีกข้อคือห้องหนึ่งนอนได้แค่ 1 คน ยกเว้นคนที่มาด้วยกันให้นอนด้วยกันได้ จะไม่ให้นอนกับคนแปลกหน้า เนื้อหาสาระก็ค่อยๆเปลี่ยนจากการอิงคอนเซ็พท์ของศาสนาต่างๆมาเป็นการมุ่งตรงไปสู่การฝึกปฏิบัติเลยโดยไม่ยุ่งกับศาสนาใดๆทั้งสิ้นแม้ว่าจะอาศัยคำสอนที่โดดเด่นของแต่ละศาสนาอยู่ หลักคิดพื้นฐานของการฝึกเพื่อหลุดพ้นจากกรงความคิดของตัวเองนี้คือ ให้มองว่าสิ่งที่เราได้มา คือชีวิตนี้ เป็นเหมือนเครื่องยนต์ที่ซับซ้อนมากๆชิ้นหนึ่ง เมื่อเราได้เครื่องยนต์ที่ซับซ้อนมา สมมุติว่าได้สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่มาเครื่องหนึ่ง สิ่งแรกที่เราจะทำคือการอ่านคู่มือการใช้งาน (user’s manual) ว่าในการจะใช้งานอุปกรณ์ใหม่ที่ได้มานี้เราจะต้องใช้เครื่องมืออะไรเข้าไปกดไปจิ้มไปหมุนตรงไหนบ้าง SR ก็คือการเรียนรู้ถึงรายละเอียดของคู่มือการใช้งานอุปกรณ์ชิ้นสำคัญคือชีวิตนี้และทดลองใช้เครื่องมือเหล่านั้น มาถึง SR-17 ซึ่งเป็นชั้นเรียนที่กำลังจะเปิดนี้ ผมคัดเครื่องมือในกล่องที่ต้องเรียนอยู่แค่ 7 ชิ้น คือ

(1.) Attention หมายถึงความสนใจของเรา ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุด เมื่อความสนใจไปจดจ่ออยู่ที่สิ่งใด สิ่งนั้นก็จะมีความสำคัญยิ่งใหญ่ล้นฟ้าขึ้นมาทันที ไฮไลท์ของการใช้เครื่องมือชิ้นนี้คือการถอยความสนใจออกมาจากความคิด

(2.) Breathing หมายถึงลมหายใจหรือการหายใจซึ่งเป็นกลไกพื้นฐานของร่างกาย ตรงนี้เป็นหลักกิโลเมตรที่หนึ่ง มันเป็นจุดพักระหว่างทางที่จะฝึกถอยความสนใจออกมาจากความคิด นอกจากนั้นตัวลมหายใจเองยังเป็นความเชื่อมต่อระหว่างร่างกายซึ่งเป็นเสมือนเนื้อตันๆกับพลังชีวิตซึ่งเป็นเสมือนพลังงานที่หล่อเลี้ยงร่างกายให้ดำรงอยู่ได้ ในแง่นี้ลมหายใจจึงเป็นปากทางที่จะนำความสนใจไปสู่ชีวิตในส่วนที่เป็นพลังงานลึกละเอียดลงไปยิ่งกว่าเนื้อหนังตันๆนี้

(3.) Relaxation การผ่อนคลายร่างกาย อาศัยประสบการณ์ของผมที่สรุปได้ว่าธรรมชาติของความคิดปรากฎเป็นสองขา ขาหนึ่งคือเนื้อหาสาระของความคิด อีกขาหนึ่งปรากฎเป็นอาการบนร่างกาย โดยเมื่อลงมือกระทำบนขาหนึ่ง ก็จะมีผลต่ออีกขาหนึ่ง เช่นเมื่อผ่อนคลายร่างกาย ความคิดก็จะฝ่อลงไป เทคนิคนี้เป็นการใช้ประโยชน์จากวิธีรับรู้ข้อมูลป้อนกลับ (bio-feedback) ที่นิยมใช้ในทางตะวันตกด้วย เพียงแต่ว่าไม่ได้ใช้อุปกรณ์อีเล็คโทรนิกใดๆเข้ามาเกี่ยวข้อง

(4) Life energy หมายถึงพลังชีวิต ที่ภาษาจีนเรียกว่า “ชี่” และภาษาแขกเรียกว่า “ปราณา” ทั้งนี้ผมแบ่งง่ายๆว่าชีวิตนี้เป็นการประกอบกันขึ้นจากสี่ชั้น คือ ร่างกาย พลังชีวิต ความคิด และ ความรู้ตัว พลังชีวิตรับรู้ได้จากอาการบนร่างกาย การเรียนให้รู้จักและเพิ่มพูนพลังชีวิตทำได้โดยฝึกดึงความสนใจออกจากความคิดให้มาอยู่กับความรู้สึกต่างๆบนร่างกายเช่นความรู้สึกวูบๆวาบๆ ซู่ๆซ่าๆ จิ๊ดๆจ๊าดๆ เจ็บๆคันๆ โดยใช้เทคนิคลาดตระเวณความสนใจไปรับรู้ความรู้สึกบนร่างกาย (body scan)

(5) Aware of a thought เมื่อถอยความสนใจออกมาจากความคิดหนึ่ง อีกความคิดหนึ่งจะผุดขึ้นมาแทนแบบไม่ขาดสาย เทคนิคที่จะวางความคิดใช้วิธีสังเกตดูความคิดจากข้างนอกโดยไม่ไปผสมโรงคิด ให้ความคิดฝ่อไปเอง

(6.) Alertness หมายถึงเทคนิคการกระตุ้นตัวเองให้ตื่นมารับรู้ปัจจุบันอยู่เสมอ เพราะเมื่อประสบความสำเร็จในการวางความคิดได้ระดับหนึ่งแล้ว เป็นธรรมชาติว่าความง่วงจะเข้ามาครอบครองที่ว่างนั้นแทน การฝึกใช้เทคนิคนี้จะช่วยพาฝ่าข้ามความง่วงไปสู่การตื่นอย่างยิ่ง คือตื่นขึ้นมาในภาวะที่ปลอดความคิด ซึ่งเป็นสภาวะจำเป็นก่อนที่จะฝ่าข้ามอายตนะทั้งหกไปสู่ความรู้ตัวในความว่างได้สำเร็จ

(ุ7.) Concentration ก็คือการจดจ่อให้เกิดสมาธินั่นเอง การเน้นเครื่องมือนี้มากเกิดจากประสบการณ์ของผมเองที่พบว่าเมื่อจดจ่อที่อะไรก็ตามอย่างยิ่งโดยผ่อนคลายไปด้วย นอกจากความคิดจะหมดไปแล้ว สิ่งที่ตั้งใจจดจ่อก็จะหายไปด้วย เหลือแต่ความรู้ตัวในความว่างโดยไม่มีความคิดอะไร ตรงนี้เป็นหลักกิโลเมตรที่สาม ณ ตรงนี้คือการเปิดรับหรือขยายการรับรู้ (perception) ให้กว้างขวางลึกซึ้งโดยไม่ผ่านอายตนะทั้งหก เป็นจุดเปลี่ยนที่จะทำให้ได้เห็นทุกอย่างตามที่มันเป็น

ตลอดสี่วันที่อยู่ด้วยกัน เราจะวนเวียนอยู่กับการฝึกปฏิบัติใช้เครื่องมือทั้ง 7 ชิ้นนี้

  1. Spiritual Retreat เหมาะสำหรับใครบ้าง

(1.) ผู้ที่มีความเครียดซึ่งแก้เองไม่ตก และผู้ที่ป่วยเป็นโรคต่างๆที่มีความเครียดเป็นสาเหตุร่วม

(2.) ผู้ที่ต้องการแสวงหาความสงบทางใจ ด้วยการฝ่าข้ามหรือหลุดพ้นไปจากกรงความย้ำคิดของตัวเอง

(3.) ผู้ที่ต้องการค้นหาความหมายของชีวิต ว่ามีอะไรอยู่อีกบ้าง นอกเหนือจากสิ่งเร้าที่รับรู้ได้ผ่านอายตนะทั้งหก และนอกเหนือจากกิจกรรมหลักของชีวิตทั่วไปอันได้แก่การเกิดมา กิน ขับถ่าย สืบพันธุ์ นอน แก่ แล้วตายไป

  1. ตารางกิจกรรม Spiritual Retreat

(สี่วันสามคืน) สำหรับ SR17 คือ 11 – 14 มีค. 64

สถานที่: เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ อ.มวกเหล็ก

วันแรก

11.00 – 12.00 น. Learn from previous experience เรียนรู้จากประสบการณ์ของกันและกัน

12.00 – 14.00 น. Lunch break พักกลางวัน ในความเงียบสงบ

14.00 – 15.30 น.

  1. Attention ความสนใจ
  2. Breathing ลมหายใจ
  3. Muscle Relaxation การผ่อนคลายร่างกาย
  4. Feeling & Life energy ความรู้สึกและพลังชีวิต
    3,1 Feeling the breath
    3.2 Where are my hand
    3.3 Body scan การรู้ตัวทั่วพร้อม
  5. Sheaths of life องค์ประกอบของชีวิต

15.30 – 16.00 น. Coffee Break พักผ่อนในความเงียบสงบ

16.00 – 17.00 น. Muscle relaxation through Yoga
โยคะภาวนา วางความคิดผ่านการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

17.00 – 18.00 น. เวลาส่วนตัว

18.00 – 19.00 น. Dinner อาหารเย็น

วันที่สอง

07.00 – 08.00 น. Morning routine กิจวัตรยามเช้า (โยคะ+สมาธิ+ชี่กง)

8.00 – 09.30 น. Breakfast รับประทานอาหารเช้า เวลาส่วนตัว

09.30 – 10.45 น.Thought ความคิด (Thought formation กลไกการเกิดความคิด, Identity สำนึกว่าเป็นบุคคล, Compulsive thinking, Thinking a thought การคิด, Aware of a thought การสังเกตความคิด),

10.45-11.15 Break พักผ่อนในความสงบ

11.15 – 12.00 Thought enquiry การสอบสวนความคิด, Though dismissal การทิ้งความคิด, Acceptance การยอมรับยอมแพ้

12.00 – 14.00 น. Lunch break พักกลางวัน ในความเงียบสงบ

14.00 – 15.00 น. Alertness + Pranayama การกระตุ้นตัวเองให้ตื่นและใช้พลังชีวิตทิ้งความคิด

15.00 – 15.30 น. Meditative Concentration การจดจ่ออย่างผ่อนคลาย

15.30 – 16.30 น. Break พักในความเงียบสงบ

16.30-17.30 น. Balance in movement

วันที่สาม

07.00 – 08.00 น. Forest Bath  เดินป่า

08.00 – 09.30 น. Breakfast รับประทานอาหารเช้า และเวลาส่วนตัว

09.30 – 10.30 น. Painting to focus on process เขียนภาพลายเส้นและสีน้ำ

10.30 – 11.00 น. Coffee Break พักในความเงียบสงบ

11.00 – 12.00 น. Painting assignment ทำการบ้านเขียนภาพสีน้ำ

12.00 – 14.00 น. Lunch Break พักกลางวัน

14.00 – 15.30 Awareness ความรู้ตัว, Mantra มันตรา, และ Anapanasati อานาปานสติ เทคนิคการปล่อยจิตไปไม่ควบคุม

15.30 – 16.00 น. Break ในความเงียบสงบ ไตร่ตรองสิ่งที่ได้เรียนรู้

16.00 – 17.00 น. Sat Sang สนทนาถามตอบแก้ไขปัญหาการปฏิบัติ

วันที่สี่ (วันสุดท้าย) 

06.00 – 08.00 น. Sunrise meditation นั่งสมาธิรับอรุณที่ลานบนเขา + Managing Prana การปลูกพลังชีวิต

08.00 – 09.30 น. รับประทานอาหารเช้าและทำกิจส่วนตัว

09.30 – 10.30 น. Acceptance การหลุดพ้นด้วยวิธียอมรับยอมแพ้
10.30 – 11.00 น. Coffee Break ในความเงียบสงบ

11.00 – 12.00 น. Satsang: Summary of techniques สรุปเทคนิคการวางความคิด

12.00 – 13.00 น. ปิดแค้มป์ รับประทานอาหารกลางวันแล้วอำลา

ตารางอาจเปลี่ยนได้ตามความจำเป็น

………………………………………..

  1. ค่าใช้จ่ายในการมาเข้าแค้มป์ Spiritual Retreat

คนละ 9,000 บาท ราคานี้รวมอาหารวันละสามมื้อ อาหารว่างวันละสองเบรค ค่าที่พักห้องพักเตียงคู่ห้องละ 2 คน สี่วัน สามคืน ทั้งหมดนี้ไม่รวมค่าเดินทาง ทุกคนต้องเดินทางไปและกลับด้วยค่าใช้จ่ายของตนเอง (ช่วงโควิด19 คนที่ไม่ได้มาด้วยกันต้องนอนคนเดียว

  1. จำนวนที่รับเข้าแค้มป์

รับไม่เกิน 25 คน

  1. วิธีลงทะเบียนเข้าแค้มป์

ลงทะเบียนบนเว็บและจ่ายเงินทางออนไลน์ โดยท่านสามารถลงทะเบียนได้โดยโทรศัพท์ติดต่อคุณเฟิร์น ที่หมายเลข 0636394003 หรือไลน์ @wellnesswecare หรืออีเมล host@wellnesswecare.com

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

17 กุมภาพันธ์ 2564

คนมียีน CYP2C19 อาจทำให้ยา clopidogrel ไม่เวอร์ค

เรียนปรึกษาคุณหมอสันต์

ผมอายุ 58 ปี มีปัญหาว่าทำไมเกิด heart attack ซ้ำซาก และต้องทำบอลลูนซ้ำซาก ตอนนี้ทำไป 4 ครั้งแล้วในช่วงเวลาแค่ 6 ปี ทั้งที่ดูแลตัวเองอย่างดีตามที่คุณหมอส้นต์แนะนำ ขยันกินยาลดไขมันจน LDL 66 เอง กินยาความดัน Plendil 10 mg ความดันตัวบนเหลือ 110 เท่านั้น เดิมกินยาต้านเกล็ดเลือดสองตัวคือ baby aspirin บวก clopidogrel 75 mg ต่อมากิน aspirin แล้วปวดท้องมากทนไม่ไหว้ แม้จะกินยา omeprazol ก็ยังปวด จึงเหลือแต่ยา clopidogrel ผมขยันออกกำลังกายทุกวัน กินอาหารที่มีพืชเป็นส่วนใหญ่ มีปลามีไก่เป็นส่วนน้อย ทำตัวดีจนไม่รู้จะดีอย่างไรแล้วแต่ทำไมจึงเกิด heart attack ซ้ำซาก

ปรึกษาคุณหมอสันต์ว่าเป็นเพราะอะไร จะทำอย่างไรต่อดี

,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,

ตอบครับ

เออ.. แล้วผมจะรู้ไหมเนี่ย การที่คุณเกิดฮาร์ท แอทแทคบ่อย สาเหตุมันมีเยอะแยะแป๊ะตราไก่ แค่ฝุ่น PM 2.5 หรือการได้มาอาศัยอยู่ในเมืองที่รถติดหนึบอย่างกรุงเทพฯ ก็มีหลักฐานวิจัยยืนยันว่าทำให้คุณเป็นฮาร์ท แอทแทคเพิ่มขึ้นได้แล้ว

เองงี้ ผมจะไล่สาเหตุที่เป็นไปได้ให้ฟังในภาพรวมนะ มันมีสองอย่างคือปัจจัยเสี่ยงให้เป็นโรค กับเมื่อเป็นโรคแล้วมันมีปัจจัยเหนี่ยวไก (trigger) ให้เกิดฮาร์ทแอทแทค เอาปัจจัยเสี่ยงให้เป็นโรคก่อนนะ ก็มี (1) บุหรี่ (2) ไขมัน (3) ความดัน (4) เบาหวาน (5) บรรพบุรุษสายตรงตายด้วยโรคนี้ตั้งแต่อายุไม่มาก (6) ไม่ได้ออกกำลังกาย (7) มีการอักเสบเกิดขึ้นในร่างกายซึ่งรวมถึงติดเชื้อและภูมิคุ้มกันทำลายตนเองด้วย (8) มีการคั่งของสารโฮโมซีสเตอีนซึ่งมักเกิดจากขาดวิตามินบี.12

ส่วนปัจจัยเหนี่ยวไกให้เกิดฮาร์ท แอทแทคมี (1) ความเครียดเฉีบพลัน (ปรี๊ดแตก) (2) ร่างกายขาดน้ำ (3) มีเกลือโซเดียมเพิ่มสูงฉับพลันในกระแสเลือด (4) มีไขมันเพิ่มสูงฉับพลันในกระแสเลือด (5) อดนอน (6) ได้รับสารพิษเข้าไปในกระแสเลือด เช่นยาฆ่าหญ้า และรายงานใหม่ที่จีนบอกว่าฝุ่น PM 2.5 นี่ก็เป็นสารพิษที่เหนี่ยวไกหรือสัมพันธ์กับการเกิดฮาร์ทแอทแทคด้วย

สรุปว่าแปดปัจจัยเสี่ยง บวกอีกหกปัจจัยเหนี่ยวไก คุณไปไล่เอาเองก็แล้วกันว่าอะไรเป็นสาเหตุในกรณีของคุณ

อ้อ ยังมีอีกอย่างหนึ่งเพิ่งนึกขึ้นได้ คือยาคลอพิโดเกรลที่คุณกินอยู่นั้น วงการแพทย์ทราบดีว่าในคนบางชาติพันธ์เช่นคนเอเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอเซียใต้ จะมีความบกพร่องของยีนชื่อ CYP2C19 ซึ่งจะทำให้ยานี้ออกฤทธิ์ได้น้อย นี่อาจจะเป็นสาเหตุได้อีกอันหนึ่งในกรณีของคุณซึ่งพึ่งยาตัวนี้อยู่ ผมนึกขึ้นได้เพราะเคยอ่านข่าวศาลที่รัฐฮาวายสั่งให้บริษัทบริสตอลเมเยอร์ซาโนฟีซึ่งเป็นผู้ร่วมผลิต Plavix ออกมาขายจ่ายค่าปรับราวแปดร้อยล้านเหรียญโทษฐานไม่แปะฉลากข้างขวดว่าคนที่มีความบกพร่องของยีน CYP2C19 ยานี้จะไม่ได้ผล ถ้าคุณอยากรู้ชัวร์ๆว่าคุณมีความบกพร่องของยีนนี้หรือเปล่าก็ไปตรวจเลือดดูยีน CYP2C19 โรงพยาบาลใหญ่หลายแห่งทำได้ ค่าตรวจในรพ.ราชการก็ราว 3000 บาท หากตรวจแล้วพบว่ามีความบกพร่องของยีนตัวนี้ก็ต้องปรึกษากับหมอของคุณว่าจะเอาไงดี กลุ่มเภสัชพันธุศาสตร์ชาวดัช (DPWG) ได้ออกคำแนะนำให้เพิ่มขนาดด้วยการให้กินตั้งต้น 600 มก.แล้วเบิ้ลขนาดต่อวันขึ้้นไปเป็น วันละ 150 มก.สำหรับคนมีความบกพร่องของยีน CYP2C19 แต่ไม่รู้นะว่าผลระยะยาวจะดีชั่วเป็นประการใด เพราะยังไม่มีผลวิจัยติดตามดูในระยะยาว ทางเลือกอีกทางถ้ามีความบกพร่องของยีน CYP2C19 ก็คือเปลี่ยนไปใช้ยาต้านเกล็ดเลือดตัวอื่น เช่น prasugrel, ticagrelor เป็นต้น ยาสองตัวหลังนี้ยังไม่มีประวัติเสีย เข้าใจว่าเพราะประวัติมันยังสั้นอยู่ ไม่เหมือนคลอพิโดเกรลซึ่งใช้กันมายาวนานจนสิทธิบัตรหมดแล้ว

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญนะ การจะเปลี่ยนยาหรือเบิ้ลขนาดยาต้านเกล็ดเลือดนี้คุณต้องปรึกษาหมอหัวใจที่เขาจ่ายยานี้ให้คุณอย่างดิบดีเสียก่อนนะ ไม่ใช่แอบทำเอง เพราะยาพวกนี้หากกินมากเกินขนาดก็เลือดออกในสมอง..เด๊ดสะมอเร่ได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Zhang, S., Routledge, M.N. The contribution of PM2.5 to cardiovascular disease in China. Environ Sci Pollut Res 27, 37502–37513 (2020). https://doi.org/10.1007/s11356-020-09996-3
  2. Mark Y. Chan, Clopidogrel pharmacogenetics of east, south and other Asian populations, European Heart Journal Supplements, Volume 14, Issue suppl_A, February 2012, Pages A41–A42, https://doi.org/10.1093/eurheartj/sur035
  3. Dean L. Clopidogrel Therapy and CYP2C19 Genotype. 2012 Mar 8 [Updated 2018 Apr 18]. In: Pratt VM, Scott SA, Pirmohamed M, et al., editors. Medical Genetics Summaries [Internet]. Bethesda (MD): National Center for Biotechnology Information (US); 2012-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK84114/
  4. Lunenburg, C.A.T.C., van der Wouden, C.H., Nijenhuis, M. et al. Dutch Pharmacogenetics Working Group (DPWG) guideline for the gene–drug interaction of DPYD and fluoropyrimidines. Eur J Hum Genet 28, 508–517 (2020). https://doi.org/10.1038/s41431-019-0540-0

[อ่านต่อ...]

16 กุมภาพันธ์ 2564

ยาลดไขมันลดการกลับเป็นอัมพาตซ้ำได้มากแค่ไหน

เรียนอาจารย์สันต์

ผมเป็นทันตแพทย์ ชื่อ … กลับจากแค้มป์ผมเปลี่ยนอาหาร และเริ่มการออกกำลังกายตามที่อาจารย์แนะนำ ได้ไปตรวจครั้งสุดท้ายที่รพ. … ผลพบว่าอุลตราซาวด์หลอดเลือดที่คอ 8/2/64 U/S carotid artery=A calcified plaque at the rt carotid bulb measuring 11 mm in length with 16.5% diameter reduction,A calcified plaque at the lt carotid bulb measuring 11 mm in length with 16.6% diameter reduction,Several cysts and colloid cysts in the thyroid,A nodule with midly suspicious features in the Lt lobe measuring 9×6 mm.TI – RADS 3

และตรวจ calcium scoring ได้ผลว่า Total calcium score 180.86 ขณะที่ผลตรวจเลือดครั้งสุดท้าย LDL ลดเลือด 98 ยังกินยา rosuvastatin5mg

อยากปรึกษาคุณหมอว่าควรจะลดหรือเลิกยาลดไขมันอีกได้ไหม ยาลดไขมันมีประโยชน์ในการป้องกันไม่ให้กลับเป็นอัมพาตใหม่จริงหรือไม่ หากป้องกันได้ มันป้องกันได้มากหรือน้อยเพียงใด

………………………………………………..

ตอบครับ

1..ถามว่าเป็นอัมพาตมาแล้วเรียบร้อยหนึ่งครั้ง การกินยาลดไขมันจะช่วยลดโอกาสการเป็นอัมพาตซ้ำให้น้อยลงได้ไหม ตอบว่าด้าย..ย…ครับ แต่ว่าได้นิดหน่อยนะ งานวิจัยที่ให้คำตอบนี้ชื่องานวิจัย SPARCL ตีพิมพ์ไว้ในวารสารนิวอิงแลนด์ โดยเอาผู้ป่วยหลังเป็นอัมพาตหมาดๆมา 4731 คน มีระดับไขมันเลว (LDL) ในเลือดระหว่าง 100 – 190 มก./ดล. เอามาสุ่มจับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินยาลดไขมัน atorvastatin 80 มก.ต่อวัน อีกกลุ่มให้กินยาหลอก แล้วติดตามไปเฉลี่ยห้าปี พบว่าพวกกินยาลดไขมันจริงมีระดับไขมันเลวในเลือดเฉลี่ย 73 มก./ดล. เป็นอัมพาตซ้ำ 11.2% ขณะที่กลุ่มกินยาหลอกมีระดับไขมันเลวเฉลี่ย 129 มก./ดล. และเป็นอัมพาตซ้ำ 13.1% จึงสรุปผลวิจัยว่าการกินยาลดไขมันป้องลดความเสี่ยงการารกลับเป็นอัมพาตซ้ำ (ARR) ลงได้ 1.9% หากนับความเสี่ยงการเกิดเรื่องร้ายทางหลอดเลือดทั้งหมดรวมทั้งทางหัวใจได้ก็ลดลงได้ 3.5% แลกกับการขยันกินยาทุกวันนาน 5 ปี และการเกิดตับอักเสบจากยาบ้าง พูดง่ายๆว่า 100 คนกินยาไป 5 ปี จะลดการเป็นอัมพาตได้ราว 2 คน ซึ่งไม่มาก แต่วงการแพทย์ก็ถือว่าดีกว่าอยู่เปล่าๆ

สำหรับท่านผู้อ่านท่านอื่นที่ไม่ได้เป็นหมอ เวลาเห็นเขาสรุปงานวิจัยว่าการกินยาลดไขมันลดความเสี่ยงการเกิดอัมพาตซ้ำ (RRR) ได้ 14.5% ก็อย่าเป็นงงนะว่าทำไมหมอสันต์บอกว่าลดได้แค่ 1.9% เพราะการลดความเสี่ยงในภาษาสถิตินี้มันมีสองแบบ คือแบบบ้านๆเรียกว่าความเสี่ยงสมบูรณ์ หรือ absolute risk reduction หรือ ARR คือร้อยคนป่วยหรือตายมากกว่ากันข้างละกี่คนเอามาลบกันผลต่างที่ได้ก็คือการลดความเสี่ยงแบบ ARR นั่นเป็นการพูดแบบหมอสันต์ อีกแบบหนึ่งคือพูดแบบวิชาสถิติการใช้ยารักษาโรคเขานับกันแบบการลดความเสี่ยงสัมพัทธ์หรือ relative risk reduction (RRR) คือเอาดูว่ากลุ่มกินยาจริงป่วยน้อยกว่าการป่วยของกลุ่มกินยาหลอกเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของคนป่วยในกลุ่มกินยาหลอกทั้งหมด เช่นในงานวิจัยSPARCL นี้ กลุ่มกินยาจริงป่วย 11.2% กลุ่มกินยาหลอกป่วย 13.1% ป่วยต่างกัน 1.9% ก็คิดต่อไปว่า 1.9% นี้เป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของ 13.1% คำตอบก็คือ 14.5% แล้วเวลาเขารายงานความเสี่ยงหากเขาอยากจะให้มันฟังแล้วดูดีเขาไม่บอกคุณหรอกนะว่าเขากำลังพูดในภาษา RRR ไม่ใช่ในภาษา ARR ถือว่าเป็นการละไว้ในฐานที่เข้าใจ ไม่ผิดกติกา แต่ชาวบ้านที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ว่าความเสี่ยงนี้มันมีสองภาษาก็จะหลงเข้าใจผลของยาผิดไปว่ายาดีเกินกว่าที่มันเป็นจริงไปเยอะ…มาก

อีกอย่างหนึ่งขอแทรกไว้ตรงนี้หน่อย ประโยชน์ของยาลดไขมันที่พบจากงานวิจัย SPARCL นี้เป็นเรื่องการลดการเป็นอัมพาตซ้ำเท่านั้นนะ ส่วนอัตราตายนั้นกินยาไม่กินยาก็ตายเท่ากัน

2. ถามว่าควรกินยาลดไขมันเพื่อป้องกันการกลับเป็นอัมพาตซ้ำไหม ตอบว่าก็คุณหมอรู้ข้อมูลแล้วนี่ว่าประโยชน์มันคือลดการเป็นอัมพาตซ้ำได้ 1.9% ในห้าปี แลกกับความเสี่ยงของยาจิ๊บๆนิดๆหน่อยๆ หากคุณหมอว่าควรกินก็กิน หากคุณหมอเห็นว่าไม่ควรกินก็ไม่ต้องกิน คุณหมอต้องตัดสินใจเอง ผมให้ข้อมูลหมดแล้ว ถามหมอสันต์หมอสันต์ก็ตอบว่าถึงมันจะลดความเสี่ยงได้น้อยคือลดแค่ 1.9% มันก็ยังดีกว่าอยู่เปล่าๆนะ เว้นเสียแต่ว่าคุณหมอจะปรับอาหารให้ไขมันเลวลงไปต่ำกว่า 73% ได้โดยไม่ต้องพึ่งยา ถึงตรงนั้นยาก็ไม่จำเป็น

3.. ถามว่าตอนนี้กินยาลดไขมันอยู่ 5 มก.ได้ไขมันเลวในเลือด 93 มก./ดล. จะหยุดยาลดไขมันได้ไหม ตอบว่าคุณหมอต้องตอบคำถามที่สองก่อนว่าตัวคุณหมอเองจะตัดสินใจไปทางกินยาหรือไม่กินยา หากตัดสินใจไปทางกินยาก็ควรจะเพิ่มขนาดยาลดไขมันให้ไขมันเลวลดลงมาถึงประมาณ 73มก./ดล ให้ได้ เพราะนั่นเป็นค่าเฉลี่ยของ LDL ที่งานวิจัย SPARCL บอกว่าลดโอกาสเป็นอัมพาตซ้ำได้ 1.9% ย้ำอีกที เว้นเสียแต่ว่าคุณหมอจะปรับอาหารให้ไขมันเลวลงไปต่ำกว่า 73% โดยไม่ต้องพึ่งยาได้ ถึงตรงนั้นยาก็ไม่จำเป็น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  1. Amarenco P, Bogousslavsky J, Callahan A 3rd, Goldstein LB, Hennerici M, Rudolph AE, Sillesen H, Simunovic L, Szarek M, Welch KM, Zivin JA; Stroke Prevention by Aggressive Reduction in Cholesterol Levels (SPARCL) Investigators. High-dose atorvastatin after stroke or transient ischemic attack. N Engl J Med. 2006 Aug 10;355(6):549-59. doi: 10.1056/NEJMoa061894. Erratum in: N Engl J Med. 2018 Jun 13;:null. PMID: 16899775.
[อ่านต่อ...]

14 กุมภาพันธ์ 2564

(เรื่องไร้สาระ16) ป่ามอสและกล้วยไม้

เมื่อเดือนก่อนไปหาซื้อกล้วยไม้ เจ้าของไม่เอาเงิน แถมให้กล้วยไม้สกุลแวนด้ามาอีกเป็นกระตั๊ก หมอสมวงศ์บอกว่ากล้วยไม้กลุ่มนี้ต้องการความชื้นสูง แต่ว่าที่บ้านมวกเหล็กนี้มีแต่ความแห้ง ความชื้นไม่มี ผมจึงคิดจะทำสวนแบบป่าชุ่มฉ่ำ กะว่าจะใช้พื้นที่ใต้ต้นไม้ใหญ่นอกระเบียงข้างตะวันตกของบ้านนี่แหละ มือระดับนี้จะไม่ทำแบบเรือนกล้วยไม้ที่เขาทำกันทั่วไปเพราะมันเชย แต่จะทำให้เป็นสวนป่าธรรมชาติข้างบนมีกล้วยไม้ขึ้นตามต้นไม้ใหญ่ ข้างล่างบนพื้นดินมีมอสเขียวๆ เวลานั่งทำงานบนระเบียงบ้านจะได้มองเห็นและได้สัมผัสความเย็นหิ หิ ฝันไปพลางๆก่อน ตัวเองยังไม่มีความรู้เลยว่ามอสเขาปลูกกันอย่างไร รู้แต่ว่ามันต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างความชื้นก่อน

ก่อนเริ่มโครงการผมชวนหมอสมวงศ์ไปหาซื้อหัวพ่นหมอกและมอสที่สวนจตุรจักร ไปพบพ่อค้าญี่ปุ่นคนหนึ่งพูดไทยกระท่อนกระแท่น เขาเห็นผมถือต้นมะกอกฝรั่งที่ผมกะซื้อมาไว้กินใบก็เข้ามาถามว่านี่ต้นอะไร คุยกันไปมาจึงรู้ว่าเขาพยายามขายต้นเมเปิลซึ่งเขาเอามาจากญี่ปุ่นให้ผม ผมถามว่าเขาขายต้นเท่าไหร่ เขาบอก 1500 บาท ปกติผมไม่ชอบต่อราคาสินค้า แต่ฟังราคาของเขาแล้วผมหัวเราะและบอกด้วยความจริงใจว่าผมไม่มีเงินมากขนาดซื้อต้นไม้ต้นละพันกว่าบาทหรอก ถ้า 500 ละก็พูดกันได้ เขาซื้ดลมเข้าปากเหมือนกินอะไรเผ็ดๆ เหลียวซ้ายแลขวาเหมือนจะพูดความลับและบอกว่าเขาจะขายให้ผมเป็นพิเศษในราคา 600 บาทละกัน ผมชั่งใจนิดหนึ่ง เอาไปปลูกไว้ข้างสวนป่ามอสและกล้วยไม้ก็ไม่เลวนะ โอเค. คิดในใจว่าไม่เป็นไร ซื้อเหอะ อย่างมากก็ถูกคนญี่ปุ่นหลอก

ต้นเมเปิล อย่างมากก็ถูกคนญี่ปุ่นหลอก

กลับมาถึงมวกเหล็กแล้วก็เริ่มต้นด้วยสร้างกลไกให้ความชื้นด้วยวิธีที่ประหยัดที่สุดคือยกหัวสปริงเกลอร์น้ำบาดาลของเดิมให้สูงขึ้นไปเหนือระดับกิ่งไม้ใบไม้ คือปลดหัวสปริงเกลอร์เดิมออก เอาท่อเหล็ก 4 หุน สูง 6 เมตรบ้าง 2 เมตรบ้าง 1.5 เมตรบ้าง มาคั่นกลางแล้วใส่สปริงเกิ้ลที่ปลายท่อ แล้วตั้งท่อสูงขึ้นไป ท่อหกเมตรมันสูงมากเอาการอยู่ ต้องแหงนดูคอตั้งบ่า แล้วทดสอบน้ำ แถ่น แทน แท้น มันพ่นน้ำเป็นฝอยระไปตามใบไม้ยืนต้นสี่ห้าต้นในละแวกนั้น หัวสปริงเกิ้ลเดิมนี้ตั้งไว้ให้พ่นครั้งละ 10 นาที วันละ 2 ครั้งโดยพ่นแต่ระดับผิวดิน คราวนี้พ่นแต่ละครั้งน้ำจะไปเกาะอยู่ตามใบไม้สูงเหนือศีรษะ แล้วก็ค่อยๆทะยอยย้อย หยด ลดหลั่นกันลงมา แหมะ..แหมะ.. แหมะ กว่าจะหมดและแห้งก็เป็นชั่วโมงอยู่ ทั้งหมดนี้ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในระยะยาวเพิ่ม เพราะใช้ระบบให้น้ำเดิมที่มีอยู่แล้วและฉีดนานเท่าเดิมแค่ยกหัวฉีดให้สูงขึ้น

ตั้งสปริงเกลอร์ขึ้นไปสูง 6 เมตร

กลไกที่สองที่ผมตั้งใจจะทำขึ้นคือระบบพ่นหมอก น้ำที่จะใช้พ่นหมอกนี่ใครๆเขาก็ห้ามใช้น้ำบาดาลเพราะว่าจะทำให้หัวพ่นหมอกมันตันทันทีจากหินปูนอุดรูพ่น จึงต้องใช้น้ำฝน หมายความว่าต้องไปต่อท่อมาจากระบบจ่ายน้ำฝนที่ใช้อยู่ในบ้าน ผมจึงถือโอกาสนี้ตรวจปริมาณน้ำฝนที่เหลืออยู่ซะเลย ด้วยการเดินเคาะฟังเสียงถังเก็บที่หลังบ้านไปทีละใบ แล้วก็ต้องตกใจ

“..แว้ก..ก น้ำหมด”

เคาะแล้วจึงพบว่าน้ำในทุกถังรวมทั้งสิ้น 7 ถังได้แห้งลงเกือบถึงพื้นดิน เอ๋อ.. อะไรกันเนี่ย นี่มันเพิ่งเดือนกุมภาเองนะ แล้วก็มาถึงบางอ้อ เมื่อเห็นน้ำรั่วออกมาจากก้นถังใบหนึ่ง กลไกการรั่วก็เป็นแบบโจ๋งครึ่มเลย คือส่วนก้นของถังปริแตกออกเอง ที่เจ็บหัวใจยิ่งไปกว่านั้นคือผมเปิดวาล์วทุกตัวทิ้งไว้เพื่อให้น้ำทุกถังวิ่งเชื่อมต่อกันได้เพราะขี้เกียจมาคอยเปิดทีละถังเมื่อน้ำหมด ผลก็คือน้ำวิ่งเชื่อมกันได้สมใจ แต่วิ่งออกไปหมด ฮือ ฮือ ฮือ เวร..คำเดียวเลยจริงๆ

เย็นวันนั้นผมไปกินข้าวเย็นบ้านเพื่อน จึงบ่นให้เพื่อนฟังว่าถังน้ำนาโนที่คุยว่าทนแดดทนฝนรับประกันนานถึง 10 ปีนั้น เอาเข้าจริงๆก้นมันก็ปริแตกออกเพราะทนแรงอัดน้ำในตัวมันเองไม่ได้ เพื่อนซึ่งเป็นนายช่างรีบแนะนำว่า

“เคลมเลยสิครับคุณหมอ เคลมเลย คุณหมอซื้อมานานหรือยัง” ผมตอบว่า

“ผมเพิ่งซื้อมา 16 ปีเอง”

(ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น)

มอส 200 บาท ปลูกได้แค่ 1 ตรม.

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอะไรที่รับประกันนานสิบปีนั้น อย่าเข้าใจผิดว่ามันจะอยู่ทนไปจนชั่วอายุขัยของคุณ หิ หิ เอ้า กลับมาอยู่กับถังเปล่าเจ็ดใบต่อกันดีกว่า เมื่อวัวหายแล้วก็ต้องล้อมคอก คราวนี้ผมเดินปิดวาลว์แยกน้ำในถังทุกใบทีละใบๆไม่ให้เชื่อมต่อถึงกัน พลางเอ่ยปากท่องโคลงสี่สุภาพที่จำได้จากสมัยเป็นนักเรียน

“…วัวหายจึงล้อมคอก กันวัว
ไม่เห็นวัวสักตัว คิดล้อม
แต่ก่อนบ่ห่อนกลัว วัวจัก หายนา
พูดแต่ทางอ้อมค้อม หมดเค้า เข้าตำราฯ…”

ฮี่ ฮี่ ยัง..ยัง โบราณว่าคนล้มอย่าข้าม ผมยังไม่หมดเค้า ผมยังมีน้ำฝนตุนไว้ที่ตีนเขาอีกสามถังใหญ่ น่าจะเกินสิบห้าคิว ขอบคุณโครงการเกี่ยวน้ำฝนของหมอสันต์ที่ทำไว้ตั้งแต่ปีกลาย คราวนี้ก็ต้องคิดอ่านเอาน้ำจากตีนเขาขึ้นมาบนเขา ต้องหาสูบน้ำชั่วคราวมาใช้ ความสูงในแนวดิ่งประมาณสามสิบเมตร สูบน้ำที่มีอยู่ในสวนแรงส่งไม่พอ จึงกัดฟันจ่ายสี่พันกว่าบาทซื้อสูบน้ำหอยโข่งขนาดเล็กมิตซูหนึ่งแรงม้า อ่านฉลากเขาคุยว่ามีแรงส่งในแนวดิ่ง (pump head) ถึง 38 เมตร ซึ่งเมื่อเอามาใช้งานจริงก็ดีสมราคาคุย

ย้ายน้ำฝนจากข้างล่างขึ้นมาข้างบนสำเร็จแล้ว คราวนี้ก็มาต่อระบบพ่นหมอก โดยต่อออกมาจากระบบจ่ายน้ำในบ้านซึ่งเป็นน้ำฝน พอต่อเสร็จทดลองพ่น แทนที่มันจะพ่นออกมาเป็นหมอกฟู่ฟ่า กลับออกมาเป็นน้ำหยดติ๋ง ติ๋งอย่างกับผู้ชายเป็นโรคต่อมลูกหมากโต เอ..เกิดผิดพลาดตรงไหนหรือ กลับไปค้นหาความรู้ในเน็ทดูใหม่ เขาบอกว่าหัวพ่นหมอกแบบนี้ต้องใช้แรงดัน 4-20 บาร์ หา.. อะไรนะ 4 บาร์เลยหรือ 1 บาร์ก็เท่ากับหนึ่งความดันบรรยากาศ คือดันน้ำขึ้นไปได้สูงราว 10 เมตร ปั๊มน้ำที่จ่ายน้ำฝนในบ้านมีแรงอย่างมากก็ 1.5 บาร์แค่นั้นเอง ก็ต้องทำระบบใหม่แยกออกมาสิ เสียเงิน ไม่เอาดีกว่า เอาระบบมินิก็แล้วกัน ผมหมายถึงมินิสปริงเกิ้ล ชัวร์ว่าไม่ตันแน่นอน ต่อระบบมินิสปริงเกิ้ลออกจากก๊อก แล้วจ่ายน้ำผ่าน timer ซึ่งเป็นตัวควบคุมเวลาของจีนที่ผมซื้อมาราคาสามร้อยบาท ของแบบเดียวกันนี้สมัยก่อนซื้อของอเมริกาตัวละสามพันบาท ขอบคุณประชาชนชาวจีนที่ช่วยผลิตของราคาถูกมาตัดหน้าอเมริกามหามิตร

ทดลองฉีดน้ำเมื่อติดสปริงเกลอร์เสร็จ

สร้างความชื้นได้แล้วคราวนี้ก็มาทดลองปลูกมอส ความอยากจะปลูกมอสนี้มีในใจมานานราว 20 ปีแล้ว เพิ่งจะมาสมประสงค์ก็ตอนวันนี้ซึ่งอาศัยบารมีของโควิด19 นี่แหละ ผมซื้อมอสรุ่นบุกเบิกสีเขียวๆมาเป็นก้อนเหมือนขนมปังก้อนเล็ก 5 ก้อน ก้อนละ 50 บาท ผมลองคลี่มันกระจายๆบนหินบ้าง บนเศษไม้เก่าบ้าง บนดินบ้าง ในร่มรำไรบ้าง ในที่อับแดดบ้าง แล้วจะคอยติดตามดูมันไปว่ามันชอบแบบไหนมากที่สุด แล้วค่อยขยายการปลูกไปบนพื้นที่แบบนั้น พื้นที่ตรงนี้มีทั้งหมดราว 20 ตารางเมตร แต่มอสที่มีอยู่พอคลี่ปลูกได้แค่ 1 ตารางเมตร เอาเหอะ มีเงินน้อยก็ทำน้อยๆไปก่อนอย่าเพิ่งโลภมาก มีคนบอกว่าหากอยากปลูกมากคราวเดียวให้เอามอสไปปั่นแล้วผสมกับนมบูดและนมเปรี้ยวแล้วราดไปบนพื้นที่ เท็จจริงเป็นอย่างไรไม่ทราบ ท่านผู้อ่านใครมีประสบการณ์เรื่องวิธีสร้างสวนมอสช่วยแนะนำหมอสันต์เอาบุญด้วย

หมอสมวงศ์แวะมาดูผลงานแล้วเปรยว่าเอากล้วยไม้ไปแปะสูงอยู่บนต้นไม้อย่างนั้นเธอไปดูแลไม่ได้ ก็จึงต้องคิดอ่านทำราวแขวนกล้วยไม้ที่หมอสมวงศ์จะเดินดูบนพื้นดินได้ด้วยอย่างน้อยสักหนึ่งราว ไปหาไม้ไผ่ต้นใหญ่มาทำเสาสองต้น ดูเท่เชียว เอาพลาสติกหุ้มตีนเสากันปลวก ตั้งเสาขึ้น แล้วบอกลุงดอนว่าผมจะไปส่งหมอสมวงศ์จ่ายตลาดก่อนนะ เดี๋ยวจะกลับมาทำราวแขวนต้นไม้ คิดไว้ในใจว่าจะทำแบบเท่ๆ คือเจาะรูเสาด้วยสิ่วแล้วเอาราวไม้ไผ่กลมแยงรอดรูจนทะลุเสาสองต้น จึงบอกให้ลุงดอนฝังเสาไปก่อน แต่พอกลับจากตลาดมาถึงบ้านปรากฎว่าลุงดอนฉวยโอกาสช่วงเจ้านายไม่อยู่ใช้ครีเอทีฟไอเดียของเขาเองบากหัวเสาไผ่ตงและพาดราวไม้ไผ่ไปแล้วเรียบน้อย หิ หิ อย่าได้เผลอเชียว ยิ่งอยู่กับผมมานาน ลุงดอนยิ่งชอบฉวยโอกาสแย่งใช้ความคิดสร้างสรรค์แซงหน้าเจ้านายบ่อยๆ นี่ถ้าเป็นอยู่ในกองทัพเยอรมันมีหวังถูกเลี้ยะพะไปนานแล้ว แต่อยู่กับหมอสันต์ไม่เป็นไร เพราะใครก็ตามที่มาอยู่กับหมอสันต์นานๆไปท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นคนมีนิสัยชอบทำอะไรแหกคอก แต่เรื่องที่เจ้านายจ้ำจี้จ้ำไชให้ทำโดยเฉพาะการเก็บเครื่องมือเข้าที่กลับไม่ชอบทำ อามิตตาภะ..พุทธะ

ทำราวไม้ไผ่เสร็จแล้วก็เอากล้วยไม้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้สกุลแวนด้าที่คนเขาให้มาเข้าประจำที่ ผูกไว้ตามต้นไม้บ้าง แขวนห้อยต่องแต่งอยู่บนราวไม้ไผ่บ้าง พวกกล้วยไม้สกุลหวายก็ใส่กระถางยัดกาบมะพร้าววางไว้บนดินในตำแหน่งที่ได้แสงมากหน่อย เพราะหมอสมวงศ์บอกว่าพวกหวายต้องการแดดมากกว่าพวกแวนด้า ส่วนพวกฟาแลนก็ใส่กระถางตั้งบนราวไม้กระดานอยู่ห่างออกไป เพราะเขาบอกว่าฟาแลนอย่ารดน้ำมาก

รุ่งเช้าวันต่อมาผมตื่นแต่เช้ามาใช้จอบถากกระดุมทองซึ่งคลุมอยู่บนพื้นออกเพื่อเตรียมขยายพื้นที่ปลูกมอส ยังไม่มีความรู้เลยว่าจะขยายมอสอย่างไร แต่ถากไว้ก่อน ฝันไว้ว่าอยากจะมีมอสคลุมพื้นเขียวขจีหลายตารางเมตรที่แตะแล้วนุ่มมือและเย็นฉ่ำ ทำอยู่จนสาย โปรเจ็คป่าสวนมอสและกล้วยไม้ซึ่งเป็นการทำงานในบรรยากาศเย็นฉ่ำก็เสร็จ ปิดจ๊อบได้ จากนี้ไปกล้วยไม้ฟรีจะตายหรือจะรอด และมอสที่ซื้อมา 200 บาทจะกลายเป็นทุ่งมอสเขียวขจีหรือซากมอสกระดำกระด่าง นั่นเป็นเรื่องของอนาคตที่จะต้องติดตามดูกันต่อไป

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

12 กุมภาพันธ์ 2564

โอ้โฮ..หลวงพี่ช่างมีความรู้เรื่อง B12 ดีจริงๆ

เจริญพรคุณหมอสันต์
อาตมาติดตามงานของคุณหมอมาโดยตลอดจะรบกวนขอคำแนะนำจากคุณหมอดังนี้
อาตมาอายุ 60 ปี เมื่อต้นปีมีอาการความจำเสื่อมคือตื่นนอนตอนเช้ามืดแล้วไม่รู้ว่าเป็นกลางวันหรือกลางคืนและไม่รู้ว่านอนอยู่ที่ไหน ต้องใช้เวลาสักเกือบนาทีจึงรู้สึกตัว นอกจากนั้นยังมีอาการเท้าขวาและมือขวาสั่นเข้าใจว่าเป็น Parkinson ต้องกินยาMadoparอยู่ และยืนขาเดียวไม่ได้ (เวลาฝึกจงกรม) จะล้มลงต้องเอาสองเท้าแตะพื้น นอกจากนั้นบางครั้งยังมีอาการเวียนหัวบ้านหมุน คลื่นไส้ เป็นเรื้อรัง คุณหมอ อจ. … แห่งรพ. … ตรวจพบค่า homocysteine ได้ประมาณ 23 ไมโครโมลต่อลิตร แปลว่าร่างกายขาด vitamib B12 เพราะ Intrinsic facter ในกระเพาะไม่ทำงานอันเนื่องมาจากเป็นกรดไหลย้อนเรื้อรัง แล้วกินยา Omeprazole มานานเกิน คุณหมอจึงให้ฉีด vitamin B12 เข้ากล้ามเนื้ออยู่หลายเดือนจนปัจจุบันตัวเลขค่อยๆลดลงอยู่ที่10 ไมโครโมลต่อลิตร อาการที่กล่าวมาข้างต้นก็หายไปเป็นปลิดทิ้ง คงเหลือไว้เป็นที่ระลึกอย่างเดียวคือ Parkinson แต่เป็นนิดเดียวเฉพาะที่นิ้วโป้งขวา จะสั่นเวลาเผลอเท่านั้น ไม่ถึงกับสั่นทั้งมือทั้งเท้าเหมือนเมื่อก่อน
ปัญหาของอาตมาคือได้ทดลองบริโภค vitamin B12 แบบอมไว้ใต้ลิ้นที่เรียกว่า Bilingual เดือนแรกตรวจเลือดดูก็พบว่าค่าเท่ากันกับวิธีฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ก็น่าจะดีใจว่าใช้แทนกันได้ แต่ปรากฏว่าเดือนที่2 อาการความจำสะดุดเริ่มมีมาให้เห็นอีก อาการมือชาเท้าชาเริ่มมีให้เห็นอีก อาการเวียนหัวคลื่นไส้กลับมาเป็นอีกถึงกับอาเจียนเลย อาตมาสรุปเอาเองว่าค่า homocysteine ที่บอกว่าปรกติจากการใช้ยาอมใต้ลิ้นไม่น่าจะเชื่อถือได้ อาตมาว่าจะเริ่มกลับมาใช้แบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อใหม่ แล้วประเมินผลใหม่ต่อไป แต่ข้อสรุปของอาตมาดูจะไม่ค่อยมีเหตุผลสักเท่าไร จึงขอเจริญพรปรึกษามายังคุณหมอสันต์เพื่อขอคำแนะด้วยครับ

หมายเหตุ บริบทแวดล้อมประกอบให้คุณหมอพิจารณา (1) อาตมาอยู่ตจว. ตรวจเลือดกับlabเอกชน รอสามวันจึงจะรู้ผล (2) การฉีดอยู่ที่วันเว้นวันต่อครั้ง ครั้งละ 1000ไมโครกรัม (3) ถ้าอมใต้ลิ้น ใช้อมทุกวันและ 1000 ไมโครกรัม

ขอให้คุณหมอสันต์ประสบความเจริญทั้งทางกายและทางใจตลอดไป

…………………………………………………….

ตอบครับ

อามิตตาภะ พุทธะ พุทธัง ธัมมัง สังคัง อะไรมันจะคัน เอ๊ย..ขอประทานโทษ อะไรมันจะเจ๋งขนาดนี้ หลวงพี่ช่างมีความรู้ในวิชาแพทย์ชนิดเชื่อมต่อได้อย่างจบถ้วนกระบวนความจนแพทย์ต้องเขินอาย เพื่อประโยชน์แก่สาธุชนทั่วไปผมขอฉายซ้ำสิ่งที่หลวงพี่ได้เทศนาอบรมธรรมะสาขาสุขภาพไปแล้ว ซึ่งมีประโยชน์มากดังนี้

  1. การกินยาลดการหลั่งกรดเช่น omeprazole ซ้ำซากยาวนาน จะทำให้กลไกการผลิตโมเลกุลตัวหนึ่งชื่อ intrinsic factor ของกระเพาะอาหาร เสียไป ทำให้ร่างกายขาด intrinsic factor
  2. โมเลกุลชื่อ intrinsic factor นี้เป็นโมเลกุลที่ทำหน้าที่นำพาเอาวิตามินบี.12 จากอาหารให้ถูกดูดซึมผ่านลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดได้ หากไม่มี intrinsic factor มากพอเพียง จะทำให้ร่างกายขาดวิตามินบี.12 แม้ว่าจะกินวิตามินบี.12 อย่างเหลือเฟือก็ช่วยอะไรไม่ได้
  3. หลวงพี่ได้วินิจฉัยภาวะขาดวิตามินบี.12 โดยวิธีตรวจเลือดดูระดับโมเลกุลตัวหนึ่งชื่อโฮโมซีสเตอีน ซึ่งเป็นของเสียที่จะสะสมในร่างกายเมื่อไม่มีวิตามินบี 12 มาเปลี่ยน homocysteine ไปเป็นเมไทโอนีนซึ่งเป็นของดีที่ร่างกายเอาไปใช้การใหม่ได้
  4. เมื่อร่างกายขาดวิตามินบี.12 ก็จะมีอาการได้สามแบบ (โรคสมอง โรคหลอดเลือด โรคโลหิตจาง) ซึ่งของหลวงพี่นี้หวยไปออกที่โรคสมอง คือสมองเสื่อม อันแสดงออกทางการสูญเสียความจำและความสามารถในการเคลื่อนไหวและการทรงตัว
  5. เมื่อทดแทนให้ร่างกายได้วิตามินบี.12 ด้วยวิธีฉีดอาการเกือบทั้งหมดก็หายไปเป็นปลิดทิ้ง
  6. เมื่อเปลี่ยนการทดแทนวิตามินบี.12 จากวิธีฉีดไปเป็นวิธีอมใต้ลิ้น นานไปพบว่าอาการทางสมองกลับมาอีก แม้ว่าตรวจระดับโฮโมซีสเตอีนแล้วจะยังต่ำอยู่ ทำให้หลวงพี่ตั้งข้อสงสัยเอากับความรู้วิชาแพทย์ว่า (1) การดูดซึมวิตามินบี.12 ผ่านเยื่อบุในปากด้วยวิธีอมยาที่คุยว่ามีการดูดซึมได้ไม่แพ้การฉีดนั้นท่าจะไม่จริง (2) ระดับโฮโมซีสเตอีนที่ว่ายังต่ำอยู่นั้นไม่สะท้อนภาวะขาดวิตามินบี.12 อย่างแท้จริง เพราะตัวท่านทำไมมีอาการขาดวิตามินบี.12 ทั้งๆที่ระดับโฮโมซีสเตอีนยังไม่ทันสูงเลย จึงเขียนจดหมายมาหาหมอสันต์เป็นเชิงปุจฉาวิสัชนา ว่าข้อสังเกตสองประการของท่านนี้มีสาระหรือไร้สาระ หิ หิ

ทั้ง 6 ข้อนั้นคือข้อมูลความจริงในทางการวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องโรคขาดวิตามินบี.12 ข้อ 1-5 นั้นมันเป็นความจริงที่เข้าใจกันได้ทันทีอยู่แล้วไม่ต้องไปพูดถึงซ้ำ วันนี้ผมจะตอบหลวงพี่เฉพาะข้อ 6 นะครับ ซึ่งมีประเด็นย่อยอยู่สี่ประเด็น

ประเด็นที่ 1. การดูดซึมวิตามินบี.12 ในคนป่วยมากแล้วกับคนไม่ป่วยอาจไม่เหมือนกัน งานวิจัยเปรียบเทียบการดูดซึมวิตามินบี.12 ระหว่างแบบอมบ้าง กินบ้าง ฉีดบ้าง ล้วนเป็นงานวิจัยกับคนทั่วไปที่อาจมีความเสี่ยงขาดวิตามินบี.12 มากบ้างน้อยบ้าง เช่นคนกินอาหารวีแกน แต่ไม่มีงานวิจัยไหนเลยที่สุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบคนที่เป็นโรคขาดวิตามินบี.12 ระดับแสดงอาการจ๋าแล้วอย่างกรณีของท่านนี้ว่าการอม กิน ฉีด จะให้ผลบำบัดอาการต่างกันอย่างไรหรือไม่ ได้แต่คาดการณ์เอาข้อมูลจากคนที่ยังไม่ป่วยไปใช้กับคนที่ป่วยแล้ว ซึ่งวิธีคาดการณ์แบบนี้เรียกว่า extrapolation ยังไม่ใช่วิธีการใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์ที่ดี จัดเป็นข้อมูลระดับต้องฟังหูไว้หู

ประเด็นที่ 2. การขาดวิตามินบี.12 จะเกิดขึ้นก่อนการคั่งของโฮโมซีสเตอีน ข้อมูลจากผู้ป่วยส่วนใหญ่พบว่าร่างกายจะต้องขาดวิตามินบี.12 นาน 3-5 ปีจึงจะมีการคั่งของโฮโมซีสเตอีนและอาการป่วยตามมาให้เห็นเพราะร่างกายมีวิธีกักตุนวิตามินบี.12 ไว้ใช้ได้นานหลายปี ในทางกลับกันเมื่อเราทดแทนวิตามินบี.12 จนระดับในเลือดปกติและอาการป่วยหายไปแล้วและระดับโฮโมซีสเตอีนก็ลดลงมาปกติแล้ว แต่เราก็ยังไม่ทราบดอกว่านานแค่ไหนร่างกายจึงจะกักตุนวิตามินบี.12 ไว้ในระดับที่พอเพียงไม่ขาดง่ายๆอีก และไม่ทราบด้วยว่าในระหว่างนี้การทดแทนด้วยวิธีไหนจึงจะดีที่สุด ตรงนี้เป็นช่องว่างทางความรู้ที่ยังไม่มีข้อมูลการวิจัยตีพิมพ์ไว้เลย

ประเด็นที่ 3. ตัวชี้วัดการรักษาต้องใช้ข้อมูลหลายอย่างประกอบกัน ตัววัดผลของการรักษาที่ดีที่สุดก็คืออาการป่วย วิธีไหนที่ทำแล้วอาการป่วยไม่หายก็เป็นวิธีรักษาที่ไม่เวอร์ค ตัวชี้วัดทั้งหมดที่นิยมใช้ในการรักษาโรคขาดวิตามินบี.12 มีอยู่สี่ตัวตามลำดับความสำคัญ คือ (1) อาการป่วย (2) ระดับวิตามินบี.12 เอง (3) ระดับโฮโมซีสเออีน และ (4) ระดับ methylmalonic acid (MMA) ซึ่งเป็นของเสียอีกตัวหนึ่งที่จะคั่งเมื่อขาดวิตามินบี.12 เพราะปกติวิตามินบี.12 จะช่วยเปลี่ยน MMA กลับไปเป็น AcetylCoA ซึ่งเป็นของดีที่ใช้การได้ การจะใช้ตัวชี้วัดตัวไหนบ้างก็สุดแล้วแต่ความสะดวกของแต่ละสถานที่

ประเด็นที่ 4. ประเพณีนิยมในการรักษา การรักษาโรคขาดวิตามินบี.12 ที่รุนแรงถึงขั้นมีอาการทางระบบประสาทแล้วคือฉีด 1 มก.วันเว้นวันจนอาการหมดหรือจนอาการนิ่ง ซึ่งปกติใช้เวลา 6 สปด. ถึง 3 เดือน หลังจากนั้นบ้างก็ค่อยๆฉีดห่างไปเป็นเดือนละสองครั้ง เดือนละครั้ง สามเดือนครั้ง โดยที่ในระหว่างนั้นก็ใช้วิตามินแบบกินยาวันละ 1000 – 2000 ไมโครกรัมควบคู่ไปด้วย ถ้าอาการไม่มีก็เลิกยาฉีด เหลือแต่ยากิน นี่เป็นการรักษาแบบประเพณีนิยมนะ เพราะหลักฐานวิธีรักษาที่ดีที่สุดจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแบบมาตรฐานทองคำเลยยังไม่มี แพทย์และตัวผู้ป่วยเป็นผู้ร่วมกันกำหนดรายละเอียดเอาเอง ความยาวนานของการรักษาก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้ขาดวิตามินบี.12 ถ้าสาเหตุนั้นคงอยู่ถาวร เช่นการผลิต intrinsic factor เสียหายถาวร การทดแทนวิตามินบี.12 ก็ต้องทำตลอดชีวิต

กรณีของหลวงพี่ ยาอมไม่เวอร์คก็ต้องเลิกยาอม กลับมาตั้งต้นที่สนามหลวง คือใช้ยาฉีดใหม่ แล้วก็ค่อยๆควบยากินเข้าไป ค่อยๆถอยยาฉีดออกมา ค่อยๆเข้า ค่อยๆออก อย่างนี้แหละที่เขาเรียกว่าการประกอบโรคศิลป์ เพราะบางกรณีการใช้วิทยาศาสตร์หรือประเพณีนิยมตะพึดมันใช้ไม่ได้ ต้องหารือกับแพทย์ที่รักษาท่านอยู่เพื่อปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ไปตามความจำเป็น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]