เรียน คุณหมอสันต์ที่นับถือ
30 กันยายน 2563
ตรวจพบธาตุเหล็กในร่างกายสูง แล้วจะให้ทำอย่างไร
29 กันยายน 2563
จะรักษาเบาหวานประเภทที่ 1 ให้หายด้วยวิธีกินแต่พืชได้ไหม
กราบเรียนคุณหมอสันต์
ลูกสาวอายุ 19 ปี เป็นเบาหวานประเภทที่ 1 ต้องฉีดอินสุลินวันละ 20 หน่วยและมีแนวโน้มที่จะต้องฉีดมากขึ้นๆทุกเดือน ดิฉันกลุ้มใจมากกลัวว่าอีกหน่อยในตัวจะมีแต่ยาที่ฉีดเข้าไป แล้วจะไปเที่ยวที่ไกลๆเช่นจะไปเดินป่าหากทำอินสุลินหล่นหายก็ถึงตายได้ใช่ไหม วิธีการที่คุณหมอสอนอยู่จะรักษาเบาหวานประเภทที่ 1 ได้ไหม ลูกสาวควรทำตัวอย่างไรใช้ชีวิตอย่างไรคะ
....................................................
ตอบครับ
เบาหวานประเภที่ 1 เป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตับอ่อนของตัวเอง ต่างจากเบาหวานประเภทที่ 2 ที่เป็นโรคเกิดจากอาหารและการใช้ชีวิตที่ผิดวิธี แต่อย่างไรก็ตามการกินอาหารที่มีคุณค่าต่อหน่วยแคลอรี่สูง มีดัชนีน้ำตาลต่ำ มีกากมาก และการออกกำลังกายก็มีผลต่อการคุมน้ำตาลในเลือดในเบาหวานประเภทที่ 1 ด้วย
ถามว่าวิธีรักษาเบาหวานประเภทที่ 2 ที่หมอสันต์ใช้อยู่จะรักษาเบาหวานประเภทที่ 1 ให้หายด้วยได้ไหม ตอบว่าไม่ทราบครับ เพราะผมยังไม่เคยรักษาเบาหวานประเภทที่ 1 ให้หายได้ งานวิจัยเปรียบเทียบที่แสดงวิธีรักษาเบาหวานประเภทที่ 1 ให้หายก็ยังไม่มี ต่างจากเบาหวานประเภทที่ 2 ที่มีงานวิจัยเปรียบเทียบให้เห็นว่าเบาหวานประเภทที่ 2 สามารถรักษาให้หายได้ (หากนับว่าการมีน้ำตาลในเลือดปกติได้นานเกินสองเดือนโดยไม่ใช้ยาถือว่าหาย)
แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้มีแพทย์กลุ่มหนึ่งรายงานผู้ป่วยที่พวกเขารักษาเบาหวานประเภทที่ 1 จำนวน 3 ราย ด้วยวิธีให้กินอาหารที่พวกเขาเรียกว่าอาหารพืชคุณค่าสูง (nutrient-dense, plant-rich หรือ NDPR diet) อันได้แก่ ผักต่างๆ ถั่วต่างๆ นัท เมล็ดพืช ผลไม้หวานน้อย แล้วพบว่าสามารถชลอหรือป้องกันไม่ให้ภูมิคุ้มกันตัวเองทำลายตับอ่อนมากยิ่งขึ้นได้ ผมขอเจาะลึกรายงานผู้ป่วยทั้งสามรายให้ฟังนะ
รายที่ 1 แพทย์ให้เริ่มกินอาหารพืชคุณค่าสูงตั้งแต่เริ่มวินิจฉัยได้ว่าเป็นเบาหวาประเภทที่ 1 เมื่ออายุ 3 ขวบซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้เริ่มฉีดอินสุลิน ผลปรากฎว่าแม้สามปีต่อมาก็ยังคุมน้ำตาลในเลือดอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้ยาฉีดอินสุลินเลย โดยที่ระดับของภูมิคุ้มกันที่ทำลายตัวเอง (autoantibody) ก็ค่อยๆลดลงไปด้วย
รายที่ 2 เป็นเด็กที่ได้รับการฉีดอินสุลินหลังจากวินิจฉัยได้ว่าเป็นเบาหวานประเภทที่ 1 แล้วต่อมาให้กินอาหารพืชที่มีคุณค่าสูงก็พบว่าสามารถลดขนาดอินสุลินลงเหลือระดับต่ำและสามารถคงขนาดอินสุลินที่ฉีดไว้ในระดับต่ำโดยที่ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่อยู่ในระดับปกติ
รายที่ 3 เป็นผู้ป่วยที่รักษาเบาหวานประเภทที่ 1 ด้วยการฉีดอินสุลินมานาน 13 ปีจนผู้ป่วยมีอายุได้ 40 ปีแล้วจึงมาเริ่มการรักษาโดยให้กินอาหารพืชคุณค่าสูงก็พบว่าจำนวนอินสุลินที่ต้องใช้ฉีดลดลงอย่างรวดเร็ว และตัวชี้วัดการอักเสบในร่างกาย (CRP) ก็ลดลงมาอยู่ในระดับปกติด้วย
ดังนั้น แม้ผมจะตอบคุณไม่ได้ว่าอาหารพืชเป็นหลักจะรักษาเบาหวานประเภทที่ 1 ให้หายได้หรือไม่ แต่รายงานผู้ป่วยทั้งสามรายนี้พอจะชี้ช่องทางให้คุณทดลองเดินตามได้อย่างปลอดภัยว่าการกินอาหารที่เขาเรียกว่าพืชที่มีคุณค่าสูง คือ ผักต่างๆ ถั่วต่างๆ นัท เมล็ดพืช ผลไม้หวานน้อย อย่างน้อยก็ช่วยลดการใช้อินสุลินลงได้และทำให้ภูมิคุ้มกันทำลายตนเองและปริมาณการอักเสบในร่างกายลดลง การจะทดลองกินตามอย่างเขาก็ไม่มีอะไรเสียหายนะครับ มีแต่ได้กับได้
หมดคำถามแล้วนะ สำหรับท่านผู้อ่านทั่วไป ไหนๆก็คุยกันเรื่องเบาหวานประเภทที่ 1 แล้ว ผมขอพูดถึงบางประเด็นของโรคนี้เสียหน่อยนะ
1. เบาหวานประเภทที่ 1 และ 2 คืออะไร เบาหวานประเภที่ 1 คือมีเหตุ (ส่วนใหญ่เกิดภุมิคุ้มกันของตัวเองไปทำลายตับอ่อนของตัวเอง) ทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนอินสุลินซึ่งปกติผลิตมาจากตับอ่อน ทำให้ไม่มีอะไรไปกระตุ้นให้เซลรับเอาน้ำตาลเข้าไปในเซล เปรียบเหมือนจะเปิดประตูเอาน้ำตาลเข้าไปส่งให้ในห้อง แต่ดันลืมเอากุญแจมา ก็เปิดเข้าห้องไม่ได้ เพราะอินสุลินเปรียบเหมือนกุญแจไขเข้าห้อง เมื่อไม่มีกุญแจไข น้ำตาลจึงค้างอยู่ในกระแสเลือดเข้าไปในเซลไม่ได้ (insulin deficiency) ต่างจากเบาหวานประเภทที่ 2 ที่มีอินสุลินมาก แต่เซลดื้อด้านไม่ยอมฟังคำสั่งของอินสุลิน เปรียบเหมือนจะเปิดประตูเข้าห้อง กุญแจก็มี แต่ไขเข้าห้องไม่ได้เพราะคนในห้องลงกลอนไว้ไม่ยอมให้เข้า สาเหตุที่เซลร่างกายดื้อด้านต่อคำสั่งของอินสุลินนั้นเป็นเพราะก่อนหน้านั้นเมื่อร่างกายมีไขมันเหลือใช้แยะจึงอาศัยอินสุลินสั่งให้เซลซึ่งส่วนใหญ่เป็นเซลกล้ามเนื้อรับเอาไขมันเข้าไปเก็บไว้ พอเก็บไว้มากเข้าๆเซลส่วนหนึ่งก็แตกและส่งขาวสารให้เซลอื่นๆพากันประท้วงไม่ฟังคำสั่งของอินสุลิน (insulin resistance)
2. อะไรเป็นสาเหตุของเบาหวานประเภทที่ 1.
ความรู้แพทย์แต่เดิมเชื่อว่าเป็นเพราะมีพันธุกรรมเอื้อให้เกิดภูมิคุ้มกันตัวเองทำลายตับอ่อนของตัวเองมาตั้งแต่เกิดแล้ว จนเมื่อเติบโตมาได้ระดับหนึ่งแล้วเผอิญมีอะไรสักอย่างไปแหย่ (trigger) ให้ภูมิคุ้มกันของตัวเองเฮโลทำลายตับอ่อนของตัวเองขึ้น จนกลุ่มเซลตับอ่อนที่ผลิตอินสุลิน (beta cell) ตายเกลี้ยง จึงเป็นโรคนี้ขึ้น แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเชื่อ หลักฐานวิทยาศาสตร์ปัจจุบันนี้ยังแกว่งๆอยู่สรุปอะไรชัดๆยังไม่ได้ ข้อมูลเชิงระบาดวิทยาที่ว่าโรคนี้เพิ่มจำนวนขึ้นปีละ 3% และคนกลุ่มที่ย้ายประเทศอยู่ก็จะมีอุบัติการณ์เป็นเบาหวานประเภทที่ 1 เหมือนคนในประเทศใหม่ที่ย้ายไปอยู่ ซึ่งขัดกับลักษณะของโรคทางพันธุกรรม ข้อมูลใหม่ๆพบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่สัมพันธ์กับเบาหวานประเภทที่1 โดยไม่เกี่ยวกับเรื่องพันธุกรรม เช่น
(1) อาหาร (เช่น นมวัว และกลูเตนในแป้งสาลี)
(2) สารพิษ (เช่น เอ็นไนโตรโซคอมปาวด์จากเนื้อสัตว์โดยเฉพาะไส้กรอก เบคอน แฮม)
(3) ความเครียด
(4) การติดเชื้อไวรัส (เช่น coxsackie virus)
(5) สัดส่วนของบักเตรีชนิดต่างๆในลำไส้
สรุปว่ากลไกโรคเบาหวานประเภทที่1 จริงๆแล้วเป็นอย่างไรยังไม่รู้ รู้แต่ว่ามีภูมิคุ้มกันชนิดทำลายตัวเอง (autoantibody) เกิดขึ้นในร่างกายร่วมกับมีการอักเสบขึ้นที่เซลตับอ่อน แพทย์รู้แค่นี้แหละ
3. จะรักษาเบาหวานประเภทที่ 1 อย่างไร
ตอบว่ายังไม่รู้วิธีรักษาให้หาย แต่พอจะรู้วิธีชลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้บ้าง แนวปฏิบัติของสมาคมเบาหวานอเมริกัน (ADA guidelines) คือ
3.1 คุมระดับน้ำตาลให้เข้มงวด คือให้น้ำตาลสะสมไม่เกิน 7.0% เข้าไว้ ยกเว้นคนที่เป็นน้ำตาลในเลือดต่ำ (ไฮโป)อาจยอมให้ไม่เกิน 8% ทั้งนี้เพราะงานวิจัยชื่อ DCCT trial ควบคู่กับงานวิจัย EDIC study พบว่าคนเป็นเบาหวานประเภทที่ 1 หากคุมน้ำตาลในเลือดเข้มงวดแล้วในระยะยาวอัตราการเกิดภาวแทรกซ้อนทั้งทางตา ไต หัวใจ ตีน จะต่ำลง
3.2 การบริหารตัวเอง (self management) ต้องเรียนวิธีตรวจน้ำตาลในเลือดวันละ 2-4 ครั้งและจดบันทึกแล้วปรับขนาดยาอินสุลินตามด้วยตัวเอง นอกจากนี้เมื่อใดที่มีอาการที่ชวนให้สงสัยว่าคีโตนคั่งในเลือดเช่น ตัวเย็น เป็นหวัด ป่วย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปัสสาวะบ่อย น้ำตาลขึ้นสูงปรี๊ดผิดปกติ ก็ต้องหาหมอทันที
ส่วนการใช้เครื่องติดตามกลูโคสต่อเนื่อง (Continuous glucose monitors -CGM) ถ้าไม่มีปัญหาน้ำตาลในเลือดต่ำซ้ำซากผมไม่แนะนำให้ใช้ เพราะระดับน้ำตาลที่เครื่องวัดเอาที่ผิวหนังไม่ตรงและเปลี่ยนแปลงช้ากว่าน้ำตาลในเลือด มักทำให้ผู้ป่วยฉีดยามากเกินไปเพราะฉีดแล้วน้ำตาลไม่ลงสักที
ยังมีอุปกรณ์อีกชนิดหนึ่งเรียกว่าตับอ่อนเทียม (artificial pancreas) ซึ่งเอาเครืื่องติดตามน้ำตาลต่อเนื่องมาพ่วงกับเครื่องฉีดยาอัตโนมัติ (Medtronic's MiniMed 670G) อันนี้ผมเข้าใจว่าในเมืองไทยยังไม่มีใครเอาเข้ามาใช้ ถ้ามีแล้วผมก็ยังแนะนำว่าอย่าเพิ่งซื้อใช้ เพราะคนไข้ต้องมาวุ่นวายขายปลาช่อนกับการลงบันทึกอาหารให้แคลอรี่ที่กินแต่ละมื้อให้เครื่องรู้ล่วงหน้ามื้อต่อมื้อ แล้วชาติไทยเนี่ยไม่ใช่นักบันทึกนะครับ
3.3 การใช้อินสุลิน สมัยนี้ควรใช้อินสุลินชนิดของคน (recombinant human insulin) ไม่ควรใช้ของวัวของหมูแล้ว มันมีแบบ
กลุ่มออกฤทธิ์เร็วมาก (rapid acting) เช่น lispro ออกฤทธิ์ใน 5-10 นาที ฤทธิ์สูงสุดเมื่อ 45-75 นาที คงฤทธิ์นาน 2-4 ชม. แบบที่ใช้สูดดมเอาก็มีนะ (Afrezza) ได้ผลสูสีกับแบบฉีด
กลุ่มออกฤทธิ์สั้นมาก (short acting) เช่น regular insulin (RI) ออกฤทธิ์ในครึ่งชม. ฤทธิ์สูงสุดเมื่อ 2.5-5 ชม. คงฤทธิ์นาน 4-12 ชม.
กลุ่มออกฤทธิ์ปานกลาง (intermediate acting) เช่น NPH ออกฤทธิ์ใน 1-2 ชม. ฤทธิ์สูงสุดเมื่อ 4-12 ชม. คงฤทธิ์นาน 14-24 ชม.
กลุ่มออกฤทธิ์ยาว (long acting) เช่น glargine คงฤทธิ์ได้นานเกิน 24 ชม.
กลุ่มออกฤทธิ์ยาวมาก (ultra long acting) เช่น degludec คงฤทธิ์ได้นานถึง 42 ชม.
ปกติแผนการให้จะฉีดกลุ่มออกฤทธิ์ยาวหรือยาวมากปูพรมไว้เป็นประจำ แล้วฉีดพวกออกฤทธิ์สั้นก่อนอาหารโดยคำนึงถึงอาหารที่กินและน้ำตาลในเลือดก่อนหน้านั้น เช่นหากจะลดน้ำตาลจาก 200 ลงมาเหลือ 100 ก็ให้เพิ่มยา RI ขึ้นไปอีกโด้สละ 2 หน่วย เป็นต้น รายละเอียดเหล่านี้ใหม่ๆหมอหรือพยาบาลที่คลินิกเขาจะสอน นานไปก็ทำเองได้
3.4 การจัดการน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งจะเกิดไม่จากเหตุใดก็เหตุหนึ่งในสามเหตุนี้คือ
(1) เปลี่ยนโด้สอินสุลินมากไป
(2) กินอาหารที่มีแคลอรีน้อยไปหรือลืมกิน
(3) ออกกำลังกายมากกว่าปกติ
อาการของน้ำตาลในเลือดต่ำคือหัวเบา วิงเวียน สับสน หวิวๆ เหงื่อแตก ปวดหัว เมื่อเกิดขึ้นต้องรีบหาอะไรหวานๆกินทันที ต้องพกลูกอมหวานๆติดกระเป๋าไว้ด้วย ในภาวะฉุกเฉินอาจฉีดกลูคากอนทันที (มีเข็มฉีดสำเร็จรูปแบบฉุกเฉินขาย) การปล่อยให้น้ำตาลต่ำบ่อยๆไม่ดีเพราะทำให้สมองเสื่อมได้
3.4 การจัดการน้ำตาลในเลือดสูง มันมีอยู่สองแบบนะ แบบสูงปรี๊ดแล้วช็อก (hyperosmolar hyperglycemic state HHS) กับแบบเลือดเป็นกรดเพราะคีโตนคั่ง (diabetic ketoacidosis - DKA) ซึ่งก็ทำให้ช็อกได้เหมือนกัน ปกติไตจะรับมือกับน้ำตาลในเลือดได้ไม่เกิน 240 มก./ดล. ถ้าน้ำตาลสูงกว่านั้นก็มักจะดูดเอาน้ำออกมาจากร่างกายทำให้ช็อกได้ ถ้าเกิดกรณีใดกรณีหนึ่งในทั้งสองนี้ต้องเข้ารพ.เพื่อตั้งลำใหม่ลูกเดียว
เป็นธรรมชาติของโรคนี้ที่น้ำตาลมักสูงในตอนเช้า (Dawn phenomenon) แต่บางครั้งน้ำตาลสูงตอนเช้าเพราะเป็นผลจากระบบร่างกายชดเชยการเกิดน้ำตาลต่ำเมื่อคืนที่ผ่านมา (Somogyi phenomena) ซึ่งจะรู้ว่าเป็นอะไรก็ต้องเช็คน้ำตาลตอนตี2-4 ดู หากเป็น Dawn ก็เพิ่มโด้สอินสุลินแบบออกฤทธิ์ปานกลางตอนก่อนนอน
3.5 การจัดการด้านโภชนาการ มีประเด็นหลัก คือ
(1) เวลากิน ต้องกินตรงเวลาซึ่งจัดไว้สัมพันธ์กับการฉีดยาดีแล้ว
(2) ปริมาณที่กิน ต้องไม่กินมากเกินไป แต่กินบ่อย
(3) ความถี่ของมื้อ จัดตามระดับน้ำตาลที่วัดได้ กรณีน้ำตาลต่่ำระหว่างมื้ออาจจะต้องกินของว่างแทรกระหว่างมื้อ
(4) ส่วนประกอบของอาหาร ต้องกินไขมันให้น้อย คือเบรกไม่ให้ได้แคลอรี่จากไขมันเกิน 30% ของแคลอรี่ทั้งหมด (ทั้งนี้อย่าลืมว่าไขมันให้แคลอรี่มากกว่าแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตถึงสองเท่านะ) ต้องกินกากเช่นผักผลไม้ต่างๆแยะๆ ไม่กินอาหารสกัดจนเหลือแต่แคลอรี่เช่นน้ำตาล และควรหลีกเลี่ยงน้ำมันผัดทอดอาหาร หันไปกินอาหารไขมันที่อยู่ในอาหารตามธรรมชาติเช่นถั่วต่างๆเป็นต้น
(5) การกระจายแคลอรี่ไปแต่ละมื้อ ซึ่งมีหลักว่าเช้า 20% กลางวัน 35% เย็น 30% ค่ำ 15% เป็นต้น
นอกจากคำแนะนำโภชนาการของ ADA แล้ว ข้อมูลที่เป็นประโยชน์คือมีงานวิจัยสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบในผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 ว่าการกินอาหารพืชแบบไขมันต่ำโดยงดอาหารเนื้อสัตว์สิ้นเชิงทำให้ผู้ป่วยสามารถเลิกยาเบาหวานทั้งยาฉีดยากินได้มากกว่าผู้กินเนื้อสัตว์ถึงเท่าตัว คือเลิกยาได้ถึง 46% ในเวลา 6 เดือน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีงานวิจัยลักษณะนี้ในผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 เมื่อประกอบกับผลวิจัยจำนวนมากที่ระบุว่าสารเอ็นไนโตรโซคอมปาวด์ที่ได้จากเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะไส้กรอก เบคอนแฮม สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานประเภทที่1 มากขึ้นด้วย การกินเนื้อสัตว์ให้น้อยที่สุดหรือไม่กินเลยย่อมเป็นการดี นอกจากเนื้อสัตว์แล้ว นมวัวก็ควรลดละเลิกไปเสียเพราะงานวิจัยเชิงระบาดวิทยาสรุปได้ความว่านมวัวสัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานประเภทที่1 มากขึ้น
3.6. การออกกำลังกาย ผู้ป่วยโรคนี้ต้องออกกำลังกายให้ได้ระดับมาตรฐาน กล่าวคือต้องออกกำลังกายแบบแอโรบิกให้ถึงระดับหนักพอควร (หอบจนร้องเพลงไม่ได้) วันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน ควบกับการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออีกสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และห้ามนั่งอยู่กับที่นานเกิน 90 นาที ก่อนเริ่มการออกกำลังกายครั้งแรกควรลดขนาดของอินสุลินลง 10-20% หรือเพิ่มอาหารว่างขึ้นเพื่อป้องกันน้ำตาลในเลือดต่ำจากการออกกำลังกาย และต้องดื่มน้ำให้มากเพียงพอต่่อการออกกำลังกายเพื่อป้องกันการช็อกจากการขาดน้ำที่อาจเกิดขึ้นร่วมกับการขาดน้ำจากโรคเบาหวานเอง
3.7 การจัดการภาวะแทรกซ้อน
(1) การติดเชื้อ เบาหวานทำให้ติดเชื้อง่าย หายยาก ที่พบบ่อยเช่น หูอักเสบรุนแรง ติดเชื้อทางเดินลมหายใจ ติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ติดเชื้อตามผิวหนัง ติดเชื้อที่กระดูก หากสงสัยว่าจะติดเชื้อ ต้องหาหมอทันที
(2) เบาหวานลงจอประสาทตา (proliferative retinopathy) เมื่อมีอาการเห็นอะไรลอยไปมา หรือเห็นแสงไฟแว่บๆ หรือตามัว หรือตามืด ต้องรีบหาหมอตา
(3) เบาหวานลงไต (Diabetic nephropathy) ต้องถนอมไตอย่างที่สุด ไม่กินยาที่เป็นพิษต่อไต เช่นยาแก้ปวดแก้อักเสบข้อ ยาลดกรดในกระเพาะ (omeprazol) ยาปฏิชีวนะบางชนิด และควรหลีกเลี่ยงการฉีดสีเพื่อการวินิจฉัยโรคอย่างถึงที่สุด และควรตรวจเลือดดูการทำงานของ(GFR)ไตทุกปี
(4) ประสาทเสียการทำงานจากเบาหวาน (diabetic neuropathy) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสียการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่นความดันตกเมื่อเปลี่ยนท่าร่าง ท้องอืด ปัสสาวะยาก หากเกิดขึ้นต้องหาหมอเช่นกัน
(5) เบาหวานลงตีน ต้องระวังไม่ให้มีแผล ระวังรองเท้ากัด เมื่อมีแผลต้องใส่ใจรักษาทันทีและจริงจัง
(6) โรคเบาหวานนำไปสู่โรคหัวใจหลอดเลือด จึงต้องจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจขาดเลือดอย่างเข้มงวด ทั้งจัดการภาวะไขมันในเลือดสูง รักษาความดันเลือดไม่ให้เกิน 140/90 และระวังอย่าปล่อยตัวให้อ้วน รักษาดัชนีมวลกายไว้ไม่ให้เกิน 23 กก./ตรม.ก็พอ ไม่ใช่ 25 กก./ตรม. เช่นคนทั่วไป ดังนั้นเป็นโรคนี้ให้อยู่ผอมดีกว่าอยู่อ้วน
3.8 การฉีดวัคซีนป้องกันโรค ต้องฉีดให้ครบ รวมทั้งวัคซีนป้องกันตับอักเสบจากไวรัสบี.สามเข็มตลอดชีพ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี วัคซีนป้องกันปอดอักเสบแบบรุกล้ำสองเข็มตลอดชีพ ด้วย
3.9 การจัดการด้านจิตและสังคม ควรเข้ากลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน (support group) ที่จัดให้สำหรับผู้ป่วยเบาหวานประเภท1 ด้วยกัน ซึ่งคลินิกเบาหวานขนาดใหญ่มักจัดกลุ่มให้ หรือจะจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเองก็ได้ เพื่อจะได้เรียนรู้จากกันและกันและพึ่งพากันและกันทางด้านจิตใจ
4. มีความหวังใหม่สำหรับเบาหวานประเภท 1 ไหม
ตอบว่างานวิจัยของสถาบันวิจัยเบาหวาน (DRI) โดยเอาอุปกรณ์เจาะผ่านผิวหนังที่หน้าท้องเข้าไป แล้วเอากลุ่มของเซลตับอ่อนที่เรียกว่า BioHub ที่เตรียมไว้จากห้องทดลองไปปลูกไว้ที่เยื่อไขมันปกคลุมลำไส้ (omentum) งานวิจัยนี้ได้ประสบความก้าวหน้ามาถึงระดับที่ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่าผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 คนแรกซึ่งอายุ 41 ปีและฉีดอินสุลินมาตั้งแต่อายุ 11 ปีพอปลูก BioHub ตอนนี้เลิกฉีดอินสุลินได้แล้ว นั่นหมายความว่าโรคเบาหวานประเภทที่1 นี้ต่อไปจะสามารถรักษาให้หายได้นะ
ความหวังอีกอันหนึ่งคือรายงานผู้ป่วยสามรายข้างต้นบ่งชี้ว่าหากวินิจฉัยเบาหวานประเภทที่ 1ได้เร็วและเริ่มให้กินอาหารพืชคุณค่าสูง (nutrient-dense, plant-rich หรือ NDPR diet) อันได้แก่ ผักต่างๆ ถั่วต่างๆ นัท เมล็ดพืช ผลไม้หวานน้อย เสียตั้งแต่ต้น ก็อาจคุมภูมิคุ้มกันทำลายตนเองไม่ให้กำเริบโดยที่ไม่ต้องใช้อินสุลินเลยก็ได้
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Fuhrman, J., & Ferreri, D. (2019). Treatment and Remission of Symptoms in Type 1 Diabetes with a Nutrient-Dense, Plant-Rich (NDPR) Diet: Case Studies. International Journal of Disease Reversal and Prevention, 1(1), 13 pp. Retrieved from https://ijdrp.org/index.php/ijdrp/article/view/23
2. Yeung WC, Rawlinson WD, Craig ME. Enterovirus infection and type 1 diabetes mellitus: systematic review and meta-analysis of observational molecular studies. BMJ. 2011 Feb 3. 342:d35.
3. Paronen J, Knip M, Savilahti E, Virtanen SM, Ilonen J, Akerblom HK, et al. Effect of cow's milk exposure and maternal type 1 diabetes on cellular and humoral immunization to dietary insulin in infants at genetic risk for type 1 diabetes. Finnish Trial to Reduce IDDM in the Genetically at Risk Study Group. Diabetes. 2000 Oct. 49(10):1657-65.
4. Lempainen J, Tauriainen S, Vaarala O, Mäkelä M, Honkanen H, Marttila J, et al. Interaction of enterovirus infection and cow's milk-based formula nutrition in type 1 diabetes-associated autoimmunity. Diabetes Metab Res Rev. 2012 Feb. 28(2):177-85.
5. Beyerlein A, Wehweck F, Ziegler AG, Pflueger M. Respiratory Infections in Early Life and the Development of Islet Autoimmunity in Children at Increased Type 1 Diabetes Risk: Evidence From the BABYDIET Study. JAMA Pediatr. 2013 Jul 1.
6. Mayer-Davis EJ, Lawrence JM, Dabelea D, et al. Incidence Trends of Type 1 and Type 2 Diabetes among Youths, 2002-2012. N Engl J Med. 2017 Apr 13. 376 (15):1419-29.
7. Sveen KA, Karimé B, Jørum E, Mellgren SI, Fagerland MW, Monnier VM, et al. Small- and Large-Fiber Neuropathy After 40 Years of Type 1 Diabetes: Associations with glycemic control and advanced protein glycation: The Oslo Study. Diabetes Care. 2013 Sep 11.
8. Nathan DM, Cleary PA, Backlund JY, Genuth SM, Lachin JM, Orchard TJ, et al. Intensive diabetes treatment and cardiovascular disease in patients with type 1 diabetes. N Engl J Med. 2005 Dec 22. 353(25):2643-53.
9. Hammes HP, Kerner W, Hofer S, et al. Diabetic retinopathy in type 1 diabetes-a contemporary analysis of 8,784 patients. Diabetologia. 2011 Aug. 54(8):1977-1984.
10. Hattersley A, Bruining J, Shield J, Njolstad P, Donaghue KC. The diagnosis and management of monogenic diabetes in children and adolescents. Pediatr Diabetes. 2009 Sep. 10 Suppl 12:33-42.
11. Mianowska B, Fendler W, Szadkowska A, Baranowska A, Grzelak-Agaciak E, Sadon J, et al. HbA(1c) levels in schoolchildren with type 1 diabetes are seasonally variable and dependent on weather conditions. Diabetologia. 2011 Apr. 54(4):749-56.
12. Chiang JL, Kirkman MS, Laffel LM, Peters AL. Type 1 Diabetes Through the Life Span: A Position Statement of the American Diabetes Association. Diabetes Care. 2014 Jun 16. [Medline].
13. Diabetes Research Institute (DRI). First Type 1 Diabetes Patient in Europe is Free from Insulin Therapy after Undergoing Diabetes Research Institute’s BioHub Transplant Technique. Accessed on June 29, 2017 at https://www.diabetesresearch.org/first-type-1-diabetes-patient-in-europe-is-free-from-insulin-therapy-after-undergoing-diabetes-research-institutes-biohub-transplant-technique
28 กันยายน 2563
(เรื่องไร้สาระ11) โปรเจ็คมิยาวากิเขาใหญ่
27 กันยายน 2563
ฉีดซีเมนต์เข้ากระดูกสันหลัง
เรียนคุณหมอส้นต์
ฉันอายุ 74 ปี มีอาการปวดหลังมาก ไปหาหมอกระดูกได้ยากินมานานเป็นปี อาการก็ไม่ดีขึ้นเลย ทั้งยาอาร์คอกเซีย โอเมปราโซล นอร์เจสิก ก็ไม่ดีขึ้น ครั้งสุดท้ายนี้หมอจะฉีดยาเข้าที่ตัวกระดูกสันหลัง แต่ว่าเข็มละเป็นหมื่น เบิกก็ไม่ได้ ฉันถามหมอสันต์ว่าฉันควรจะฉีดไหม ฉีดแล้วมันจะหายไหม แล้วการกินปลาเล็กปลาน้อยจะช่วยให้ดีขึ้้นไหม
.......................................
ตอบครับ
แหม ข้อมูลตรงๆจากแฟนบล็อกรุ่นเดอะเนี่ย ถ้าไม่ใช่หมอรุ่นเดอะใกล้เคียงกันจะไม่มีปัญญาแกะนะเนี่ย แต่ผมใช้เวอร์บทูเดาแกะสาระเอาได้เพราะ "เดอะ" ใกล้เคียงกันแล้ว
1. โรคที่คุณพี่เป็นผมเดาเอาว่าเป็นโรค compression fracture of spine แปลด้วยภาษาของหมอสันต์ว่าโรค "ปล้องกระดูกสันหลังยุบตัว" ความจริงคำว่า fracture ต้องแปลว่าหลังหัก แต่แปลอย่างนั้นมันชวนให้เข้าใจผิดว่าหลังมันหักแบบใครเอาไม้หน้าสามฟาดกลางหลัง เป๊าะ.. ซึ่งความจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ความจริงมันเป็นแค่ปล้องกระดูกสันหลัง (vertebral body) มันยุบหรือทรุดตัวลง ข้างหน้ายุบมากกว่าข้างหลัง ทำให้หลังค่อมหรืององุ้มเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ แล้วชักและดึงเอากล้ามเนื้อและเอ็นทั้งแผ่นหลังให้เกร็งและยืดตามทำให้มีอาการปวดหลังเรื้อรัง
2. การฉีดยาเข้ากระดูกสันหลังที่หมอบอกคุณพี่นั้นผมเดาเอาว่าคุณหมอเขาเสนอให้รับการฉีดซีเมนต์ซ่อมกระดูก (bone cement) เพื่อเข้าไปยกปล้องกระดูกสันหลังให้มันกระดกกลับขึ้นมาใหม่ ทางการแพทย์เรียกว่าการตกแต่งปล้องกระดูกสันหลัง (vetebroplasty) สารที่ใช้ฉีดเป็นสารสังเคราะห์ที่อยู่ในร่างกายได้โดยไม่มีปฏิกริยาใดๆ ไม่ใช่ซีเมนต์แบบปูนตราเสือตราช้างที่ใช้โบกปูนสร้างตึกนะครับ ประเด็นคำถามก็คือ วิธีนี้ได้ผลหรือไม่ สมัยก่อนเราเชื่อว่าได้ผลเพราะเมื่อวัดเทียบระหว่างคนที่ฉีดกับไม่ฉีดแล้ว สถิติบอกว่าคนที่ฉีดซีเมนต์ปวดน้อยลงมากกว่า แต่ต่อมาได้มีการทำวิจัยแบบเย้ยฟ้าท้าดินซึ่งตีพิมพ์ในวารสารนิวอิงแลนด์ ที่ว่าเย้ยฟ้าท้าดินคือเป็นการวิจัยผ่าตัดหลอก (sham surgery) คือเอาคนไข้โรคนี้มา 78 คน จับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม โดยบอกว่าโอเค.หมอจะฉีดซีเมนต์รักษาให้ทุกคนนะทั้งสองกลุ่มนะ แต่ในความเป็นจริงนั้นฉีดให้กลุ่มเดียว อีกกลุ่มหนึ่งก็ทำท่าปูผ้าเจาะกลางฉีดยาชาและเอาอะไรแทงๆให้เจ็บเหมือนจะฉีดซีเมนต์เหมือนกัน แต่จริงๆแล้วทำกันแค่ที่ผิวหนัง ไม่ได้ฉีดอะไรเข้าไปข้างใน คือหลอกให้คนไข้เข้าใจว่าได้ฉีดซีเมนต์ซ่อมกระดูกแล้ว แล้วตามดูคนไข้ทั้งสองกลุ่ม พบว่าอัตราการหายจากอาการปวดเท่ากันทั้งสองกลุ่ม วงการแพทย์จึงถึงบางอ้อว่า อ้อ.. ที่หายๆกันนั่นนะ เป็นเพราะโดนความรู้สึกขลังของการได้ฉีดซีเมนต์ราคาแพงๆมันกล่อมเอา ผลของการถูกหลอกแบบนี้วงการแพทย์เรียกว่า placebo effect ซึ่งหากไม่วิจัยด้วยวิธีแล้วทำผ่าตัดหลอกก็จะประเมินผลการถูกหลอกนี้ไม่ได้
ดังนั้นผมตอบคำถามให้คุณพี่โดยมีพื้นฐานอยู่บนผลวิจัยชิ้นนี้ว่าคุณพี่ไม่จำเป็นต้องไปฉีดซีเมนต์ซ่อมกระดูกหรอกครับ ไม่ใช่เพราะมันแพงดอก แต่เพราะฉีดกับไม่ฉีดมันก็ได้ผลบรรเทาปวดไม่ต่างกัน
3. ถามว่ากินปลาเล็กปลาน้อยจะช่วยได้ไหม ผมตอบวิธีดูแลตัวเองแบบสรุปรวมเลยนะ ว่าสิ่งที่เราต้องการคือ (1) หายปวด (2) ท่าร่างดีขึ้น หลังยืดตรงได้ ไม่ค่อม (3) โอกาสลื่นตกหกล้มน้อยลง (4) โอกาสกระดูกหักน้อยลง ทั้งสี่ประการนี้ เท่าที่หลักฐานวิจัยมี สิ่งที่ช่วยได้จริง มีดังนี้
3.1 การออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน ซึ่งประกอบด้วย (1) การฝึกท่าร่าง (2) การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลัง (3) การฝึกการทรงตัว ซึ่งผมขอลงรายละเอียดเล็กน้อย ว่า
3.1.1 การฝึกท่าร่าง หมายถึงการเปลี่ยนท่าร่างจากหลังงอเป็นกุ้งเป็นหลังตั้งตรงแบบเสาธงชาติเลย วิธีฝึกก็คือต้องหัดยืดกายตรงทุกครั้งที่นึกได้ ตั้งกายตรงดำรงสติมั่น คิดได้เมื่อไหร่ ยืดตัวตรงขึ้นเมื่อนั้น ขยันแขม่วพุง ขมิบก้น ยืดหน้าอกให้อกผายไหล่ผึ่ง ตั้งศีรษะขึ้นให้ตรงเข้าไว้ อะไรที่เคยก้มลงไปมอง (เช่นก้อนหินบนพื้นถนน) ให้เหลือกตาลงไปมองแทน อะไรที่เคยก้มทำงุดๆเช่นดูหน้าจอคอมพิวเตอร์ ให้ยกขึ้นมาอยู่ในระดับสายตาเสียให้หมด
3.1.2 การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลัง หมายถึงการออกกำลังกายที่มีวัตถุประสงค์ให้ได้ยืดกล้ามเนื้อรอบๆกระดูกสันหลังเช่นโยคะท่าต่างๆ และการบังคับให้กล้ามเนื้อรอบๆกระดูกสันหลังได้ออกแรง เช่นการรำกระบอง (ให้คุณพี่เปิดดูผมเคยเขียนเรื่อง "ท่ารำกระบองของป้าบุญมี" เมื่อเกือบสิบปีมาแล้ว) และการทำท่ากายบริหารบนเตียงนอนเพื่อฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลัง (ให้คุณพี่ดูวิดิโอคลิปผมสอนเรื่อง "การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ" ซึ่งผมตั้งใจให้ผู้สูงอายุทำตามได้)
3.1.3 การฝึกการทรงตัวนั้นเป็นการออกกำลังกายเพื่อฝึกประสานสายตาเข้ากับหูชั้นใน กล้ามเนื้อ และข้อ วิธีการฝึกมีหลายแบบให้คุณพี่ลองทำตามวิดิโอที่ผมสอนเรื่อง "การฝึกการทรงตัว"
3.2 เรื่องอาหารการกิน แน่นอนว่าควรกินอาหารให้ได้ปริมาณเพียงพอ กินอาหารตามธรรมชาตินั้นแหละ หากได้ปริมาณเพียงพอ หมายถึงกินแล้วอิ่ม ก็จะได้แคลเซียมเพียงพอเอง เพราะแคลเซียมมีในอาหารธรรมชาติที่หลากหลายทั้งพืชผักผลไม้และเนื้อสัตว์ การจงใจกินอาหารธรรมชาติที่อุดมแคลเซียมอย่าง เต้าหู้ ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง กะปิ และผักเช่นคะน้า แค สะเดา ก็ยิ่งดี
3.3 การขยันกินอาหารอุดมแคลเซียมนั้นก็ดีอยู่หรอก แต่จะดียิ่งขึ้นถ้าขยันออกแดด เพราะแสงแดดให้วิตามินดี.ซึ่งเป็นตัวช่วยให้ร่างกายดูดซึมเอาแคลเซียมจากอาหารไปใช้ประโยชน์ได้ คำแนะนำของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (NIH) แนะนำให้ออกแดดจัดช่วง 10.00-15.00 น. โดยเปิดแขนเปิดขาไม่ทาครีมกันแดด อย่างน้อยครั้งละ 5-30 นาที สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ก็ประมาณว่าจะได้วิตามินดี.เพียงพอ ดังนั้นผมแนะนำอย่างแข็งขันว่าคุณพี่ควรขยันออกแดดด้วย
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Buchbinder R. Osborne RH. Ebeling PR. Mitchell P. Wriedt C. Graves S. Staples MP. Murphy B. A Randomized Trial of Vertebroplasty for Painful Osteoporotic Vertebral Fractures. N Engl J Med 2009; 361:557-568.
24 กันยายน 2563
มะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะ 2-3 จะผ่ารูเล็กหรือรูใหญ่ และจะผ่าที่รพ.ไหนดี
สวัสดีค่ะคุณหมอสันต์
คุณพ่อ อายุ 72 ปี มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง มีอาการถ่ายไม่สุด ถ่ายหลายครั้ง เป็นมูกปนเลือดมาประมาณ 2 สัปดาห์ ไปตรวจที่ รพ.หัวเฉียว ตามสิทธิ์ประกันสังคม โดยสิทธิ์ปกส พึ่งทำเรื่องยกเลิกเพื่อมาใช้สิทธ์เบิกตรงของหนู แต่ยังติดสิทธิ์เก่าอยู่อีก 6 เดือน จนถึงสิ้นเดือนมกราคมค่ะ คุณหมอที่ ... คลำพบว่าเจอก้อนเนื้อ ไม่ค่อยดี นัดไปส่องกล้อง ตัดชิ้นเนื้อ และทำ CT whole abdomen เมื่อวานคุณหมอนัดไปฟังผล พบว่าเป็น CA colon มีลามไป ต่อมน้ำเหลือง แต่ยังไม่ไปตับ หมอแจ้งว่าประมาณขั้น 2,3 หมอที่หัวเฉียวแนะนำให้ผ่าตัดด่วน เนื่องจากถ่ายไม่ออกค่ะ และได้ส่งตรวจเลือด เอ็กซเรย์ปอดและตรวจคลื่นหัวใจ เพื่อเตรียมผ่าตัดแล้ว รอวันนัดผ่า คิดว่าน่าจะได้อาทิตย์หน้าค่ะ แผนการรักษาที่คุณหมอแจ้ง คือ ผ่าตัดและให้คีโมค่ะ หนูไปอ่านเจอโพสของคุณหมอ ว่าโรคนี้ควรได้รับการผ่าตัดกับหมอเฉพาะทางโดยตรง จึงแนะนำให้คุณพ่อไปตรวจที่ ... เพิ่มเติมวันนี้ค่ะ คุณหมอที่ใหม่แนะนำว่า หากผ่าที่ใหม่ สามารถผ่าแบบส่องกล้องผ่าได้เลย เจ็บตัวน้อยกว่า ฟื้นตัวเร็วกว่า หนูมาคิดในฐานะคนเป็นลูก ก็อยากให้ท่านเจ็บน้อยที่สุด แต่หากรอผ่าที่รามาอาจจะต้องเลื่อนเวลาผ่าออกไปอีกประมาณ 1 เดือน และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมดระหว่างรอสิทธิ์ค่ะ จึงอยากขอเรียนถามอาจารย์
1. ความแตกต่างของการผ่าตัดปกติและการผ่าตัดผ่านทางกล้องมีผลแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน และมีผลในการรักษาต่อเนื่องหลังจากการผ่าตัดหรือไม่คะ
2. หากตัดสินใจทำการผ่าตัดตามสิทธิ์ประกันสังคม แล้วหลังจากผ่าตัด ก่อนจะเริ่มรับยาคีโมจะสามารถขอย้ายไปรับยาต่อที่ใหม่ได้หรือไม่คะ
3. และหากเกิดมีปัญหาขึ้นในอนาคต จะดีกว่าหรือไม่ถ้าเป็นหมอท่านเดียวกันดูแลไปตลอด
4. หากตัดสินใจผ่าตัดที่ใหม่ พอมีวิธีใดบ้างที่จะลดค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุดค่ะ
ทางเลือกที่หนูคิดออกตอนนี้ คือ 1. ตามสิทธ์ คือใช้ประกันสังคมทั้งผ่า และเริ่มรับยา พอหมดสิทธ์ก็ขอย้ายไปตามสิทธ์ 2. ผ่าตัดที่ใหม่ เริ่มรับยาที่ใหม่ รอจนสิทธิ์ใช้ได้ 3. ผ่าตัดที่ใหม่ และขอกลับมาเริ่มรับยาที่ ประกันสังคมตามสิทธ์ พอหมดสิทธิ์ก็ขอย้ายไปที่ใหม่
รบกวนอาจารย์กรุณาแนะนำทางออกให้หนูด้วยค่ะ
ขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงค่ะ
......................................................................
ตอบครับ
1. ถามว่าความแตกต่างของการผ่าตัดปกติและการผ่าตัดผ่านทางกล้องในกรณีมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะ 2-3 ที่มีการอุดกั้นลำไส้บางส่วนแล้ว มีผลแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน ตอบว่ามีผลต่างกันดังนี้
1.1 การผ่าตัดมะเร็งในช่องท้องที่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองแล้วอย่างนี้ จะต้องตามเก็บต่อมน้ำเหลืองด้านหลังช่องท้องออกให้หมด การเลือกวิธีผ่าหน้าท้องตามปกติจะเก็บต่อมน้ำเหลืองได้ง่ายกว่าและเกลี้ยงกว่าวิธีผ่าผ่านกล้อง เพราะบางครั้งต่อมน้ำเหลืองยัดอยู่ในหลืบติดกับหลอดเลือดใหญ่ ยิ่งหากมีพังผืดยึดลำไส้เพราะการลุกลามของมะเร็งด้วยแล้ว การผ่าตัดผ่านกล้องจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดลำไส้ทะลุมากกว่าผ่าตัดปกติ
1.2 การผ่าตัดผ่านกล้องมีแผลเล็กกว่า สวยงามกว่า ปวดแผลหลังผ่าตัดน้อยกว่า และอยู่โรงพยาบาลสั้นกว่าประมาณสองสามวัน
1.3 ในส่วนของวิธีรักษาหลังผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นเคมีบำบัด ฉายแสง หรือโอกาสต้องมาผ่าซ้ำ ไม่ต่างกัน
ในภาพรวม จะเลือกวิธีไหนก็แล้วแต่ผู้ป่วยชอบ แต่ถ้าผมเป็นผู้ป่วย ผมจะเลือกผ่าตัดแบบปกติ เพราะผมไม่กลัวเจ็บแผล ไม่อยากสวย แต่กลัวหมอเก็บมะเร็งตามต่อมน้ำเหลืองไม่หมด
2. ถามว่าทำการผ่าตัดตามสิทธิ์ประกันสังคมแล้ว หลังจากผ่าตัดจะสามารถขอย้ายไปรับยาต่อที่ใหม่ได้ไหม ตอบว่าได้สิครับ สิทธิเบิกจ่ายย้ายไปที่ไหนก็ควรจะย้ายไปรับการรักษาต่อที่นั่น
3. ถามว่าจะดีกว่าหรือไม่ถ้าเป็นหมอท่านเดียวกันดูแลไปตลอด ตอบว่าโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะท้ายอย่างนี้ หมอที่ดูจะไม่ใช่หมอคนเดียวแน่นอน เริ่มจากหมอผ่าตัดลำไส้ใหญ่ แล้วก็ไปหมอเคมีบำบัด แล้วก็อาจจะไปหมออื่นๆอีกหากมะเร็งแพร่กระจายไปหรือมีภาวะแทรกซ้อน การเปลี่ยนหมอเมื่อมีเหตุจำเป็นต้องทำก็สมควรทำ การย้ายตามสิทธิการเบิกจ่ายเป็นเหตุจำเป็นที่สมควรทำ ดังนั้นไม่ต้องไปกังวลเรื่องความต่อเนื่องของการรักษา เพราะแพทย์เขามีระบบส่งต่อที่เอาข้อมูลจากที่เก่าไปใช้ที่ใหม่ได้
4. ถามว่าหากตัดสินใจผ่าตัดที่ไหม่จะวิธีใดบ้างที่จะลดค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุด ตอบว่าวิธีลดค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุดก็คือผ่าตัดในโรงพยาบาลที่ตัวเองมีสิทธิ์นั่นแหละครับ จะย้ายไปย้ายมาทำไมละ หมอผ่าตัดโรงพยาบาลปกส.ที่คุณเอ่ยชื่อรพ.มานั้นก็เป็นหมอเฉพาะทางศัลยกรรมลำไส้ใหญ่ อย่าไปวอรี่โน่นนี่นั่นเลย
อยู่เมืองไทยนี้ดีที่สุดแล้วตรงที่ทุกคนได้รับการรักษาพยาบาลที่จำเป็นฟรีหมด แล้วมันเรื่องอะไรจะทิ้งของดีที่มีอยู่นี้ไปเสียละครับ เหตุผลที่ถูกนำมาชักจูงว่าการทิ้งสิทธิ์สามสิบบาทหรือประกันสังคมไปรับการรักษาในรพ.ที่เราเสียเงินเพื่อจะให้ได้รับคุณภาพการรักษาที่ดีขึ้นนั้นเป็นเหตุผลที่ไม่เป็นความจริง ระบบสามสิบบาทตั้งมา 19 ปีแล้ว มีการวิจัยเชิงระบบไปแยะมากทั้งโดยสวรส.และโดยมหาวิทยาลัยต่างๆ แต่ยังไม่เคยมีหลักฐานวิจัยแม้แต่ชิ้นเดียวที่พิสูจน์ว่าอัตราตายของการรักษาโรคในระบบสามสิบบาทสูงกว่าในระบบอื่นไม่ว่าจะเป็นรพ.เอกชนหรือโรงเรียนแพทย์ในการรักษาโรคเดียวกัน ดังนั้นผมแนะนำว่าให้ทำผ่าตัดในโรงพยาบาลที่เรามีสิทธิเบิกได้
5. ข้อนี้คุณไม่ได้ถาม แต่ผมแถมให้ ความสัมพันธ์ระหว่างมะเร็งลำไส้ใหญ่กับอาหารเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทุกชนิดนั้นเป็นความสัมพันธ์ที่จริงแท้แน่นอน การจะป้องกันและรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่นอกจากการผ่าตัด ฉายแสง เคมีบำบัดแล้ว ให้คิดถึงการเปลี่ยนอาหารจากกินเนื้อสัตว์ไปกินอาหารมังสวิรัติด้วย เปลี่ยนเป็นอาหารมังสวิรัติทั้งครอบครัวได้ยิ่งดี เพราะนี่เป็นโอกาสที่จะเปลี่ยนแล้ว
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
23 กันยายน 2563
(เรื่องไร้สาระ 10) โครงการดอกหงอนนาคที่ภูสอยดาว
โปรดสังเกตมีด 63 บาท |
เธอระดมสมัครพรรคพวกเหล่าผู้สูงวัยที่เป็นคนกันเองทั้งนั้นได้ 2 รถตู้ 17 คน แล้วจ้างทัวร์ให้จัดการทุกอย่างให้ ทั้งเอารถมารับ จัดหาลูกหาบ เตรียมวัตถุดิบอาหาร เตรียมเต้นท์ สนนราคาหัวละ 4,000 บาท สี่วันสามคืน ที่ต้องใช้เวลาหลายวันกว่าชาวบ้านก็เพราะนี่เป็นชราทัวร์ ต้องเจียมบอดี้ จะรีบร้อนลนลานเหมือนหนุ่มสาวทัวร์ไม่ได้ ฟังว่าทัวร์นี้ถึงเป็นคนชราก็จะต้องเดินปีนขึ้นเขาไป 6-7 ชั่วโมงเหมือนคนอื่น แล้วไปกางเต้นท์นอนบนเขาในทุ่งดอกหงอนนาค ไม่มีอาคาร ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีอาหารขาย ถึงจะมีเงินก็ไม่มีให้ซื้อ ไม่มีน้ำก๊อก ต้องตักน้ำลำธารมาอาบเอาเอง ถ้าน้ำดื่มที่เอาติดตัวขึ้นมาหมดก็ต้องดื่มน้ำลำธารนั่นแหละ
ดังนั้น จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวบ้าง จึงวันว่างก่อนเดินทางสองสามวันผมได้ชวนหมอสมวงศ์ไปช็อปปิ้งที่ร้านดีแคทลอนเพื่อเตรียมการและเป็นการหาความเพลิดเพลินไว้ก่อน ได้สินค้าที่ตื่นเต้นเร้าใจมาหลายอย่าง เช่นไฟฉายที่ปั่นให้พลังงานด้วยมือเมื่อถ่านหมด ราคา 100 บาท โคมไฟห้อยในเต้นท์ ราคา 120 บาท เวลาจะผลัดผ้าในเต้นท์ก็สามารถเปลี่ยนไฟขาวเป็นไฟแดงได้ด้วย เข็มทิศเท่ๆจำราคาไม่ได้ ฆ้อนตอกสมอเต้นท์แบบฆ้อนสารพัดนึก แบบว่านอกจากจะเป็นฆ้อนแล้วยังเป็นมีด เป็นเลื่อย เป็นไขควง และเป็นไฟฉายได้อีกต่างหาก ราคา 260 บาท ผมอยากได้มีดเดินป่าดีๆสักเล่ม มีผู้แนะนำว่าให้ซื้อยี่ห้อ Ontario SP5 แต่ร้านที่เราไปช็อปเขาไม่มีขาย เขาบอกว่าต้องไปที่ร้านไทยแลนด์เอ้าท์ดอร์ หมอสมวงศ์ถามว่าราคามีดเท่าไหร่ มีคนบอกว่า 3,800 บาทพร้อมฝัก หมอสมวงศ์สรุปให้เสร็จสรรพว่าอย่าไปซื้อเลย ไว้วันรุ่งขึ้นค่อยไปซื้อมีดอรัญญิกที่ตลาดมวกเหล็กละกัน.. จบข่าว แต่ตอนท้ายของวันนั้นผมก็ได้มีดมาจนได้ จากร้าน Mr. DIY คราวนี้ราคา 63 บาทพร้อมฝัก หิ หิ ไม่เชื่อดูรูปถ่าย ของที่ซื้อมาในรูปจะมีทั้งเชือก (เอาไว้ตาก กกน.) กระปุกแสงสว่างในเต้นท์ (สีขาว) ขวดน้ำ (สีฟ้า) ไฟฉายปั่นไฟมีด้ามปั่น (สีส้ม) เข็มทิศ ฆ้อนสาระพัดนึก และมีด 63 บาท ผมปลอบตัวเองว่ามีดแพงๆไม่ดีหรอก เพราะเท่าที่เคยเดินป่ามาสมัยหนุ่มๆงานที่ใช้มีดทำมากที่สุดคืองานขุดหลุมฝังอึ (ขอโทษ) ดังนั้นอย่าซื้อของแพงเลย เพราะแพงแล้วจะใช้มันไม่ลง เอาด้ามละ 63 บาทนี่แหละตะกุยดินได้ดีนัก
ไฟฉายที่ได้พลังงานจากการปั่นด้วยมือ |
พูดถึงไฟฉาย ที่บ้านมวกเหล็กมีแต่ไฟฉายกระบอกบะเร้อบะร่าใช้เดินป่าไม่ได้เพราะหนัก คราวนี้ผมจึงตั้งใจซื้ออันเล็กๆ ความจริงไฟฉายอันเล็กๆที่บ้านก็พอมีอยู่ แต่เดี้ยงหมด ที่ชาร์จไฟใช้การไม่ได้บ้าง ถ่านชาร์จไฟเสียบ้าง ถ่านหมดหาถ่านขนาดนั้นไม่ได้บ้าง คราวนี้ผมจึงแก้ลำโดยซื้อแบบไม่ต้องใช้ถ่าน ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า แต่ใช้มือปั่นเอา คือพอแสงสว่างทำท่าจะหมดก็เอามือหมุนคันสีส้มที่ข้างไฟฉาย เหมือนเป็นไดนาโมคอยเติมไฟให้มัน แล้วมันก็จะกลับสว่างขึ้นมาอีก วิธีนี้ไม่ต้องกลัวถ่านหมด ไม่ต้องหาเครื่องชาร์จ ดูซิว่าไฟฉายแบบใหม่นี้มันจะไปได้สักกี่น้ำ
ซื้อของเสร็จแล้วก็มาเตรียมของ การเดินป่าและพักแรมในป่าต้องมีอะไรบ้าง เขียนลิสต์ไว้ก่อนเลยกันลืม (1) เสื้อ (2) กางเกง (3) ปลอกแขนกันแดด (4) ยาทากันยุงและแมลง (5) รองเท้าถุงเท้าเดินป่า (6) หมวก (7) เป้สะพาย (8) ขวดน้ำดื่ม (9) มีดเดินป่า (10) ไม้ขีดไฟ (11) เต้นท์ (12) ถุงนอน (13) โคมแขวนในเต้นท์ (14) เชือก (15) ไฟฉาย (16) รองเท้าแตะ (17) เข็มทิศ (18) พลาสเตอร์ปิดแผล (19) อาหารแห้ง (20) กระดาษทิชชู (21) ฆ้อนสาระพัดนึกไว้กางเต้นท์ ครบแล้วมั้ง ใจจริงอยากจะได้ขวดกรองน้ำเล็กๆแบบพกพาปั๊มด้วยมือเอาไว้กรองน้ำลำธารแล้วดื่มได้เลยสักอัน เพื่อนฝรั่งแนะนำว่ายี่ห้อ Katadyn ราคา 14,000 บาทดีมาก แต่ผมไม่กล้าแอะ กลัว ม. ไม่อนุมัติ หิ หิ เอาแค่นี้พอแล้ว จัดของลงเป้เลย
พอจัดของลงเป้เสร็จ ฝ่ายข่าวของทีมดอกหงอนนาคก็รายงานมาว่า
"พายุโนอึลถล่มภูสอยดาว ต้นไม้ล้มทับเต้นท์นักท่องเที่ยวบาดเจ็บ ต้องขนคนลงจากเขาแบบทุลักทุเล และสั่งปิดอุทยานไม่มีกำหนด"
แป่ว..ว...ว
ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็สนุกสนานกับการช็อปปิ้งตั้งครึ่งวันแล้ว ได้กำไรชีวิตแล้ว และไหนๆก็จัดเป้แล้ว อย่าเพิ่งรื้อเลย รอฟังข่าวอีกสองวัน เผื่อฟลุ้คเขาเปิดทัน
23 กย. 63 บริษัทที่รับจัดทัวร์ให้ แจ้งข่าวมาว่าอุทยานเขาประชุมกันเมื่อวาน ตัดสินใจไม่เปิดจนกว่าฝนจะหมด บริษัททัวร์จึงแจ้งสรุปยกเลิกทัวร์ภูสอยดาวครั้งนี้เป็นการเด็ดขาดและส่งเงินมัดจำคืน ครั้นผมจะเลื่อนการเดินทางรออุทยานก็ไม่ได้เพราะตารางการทำงานของตัวเองขึงพืดเต็มไปจนสิ้นปีเสียแล้ว ถึงตอนนั้นคงเหลือแต่ดอกหงอนไก่ ดังนั้นที่จั่วเรื่องไว้ตั้งใจจะเล่าเรื่องการไปดูดอกหงอนนาคก็เลยเล่าได้แค่นี้ คือได้แค่ไปช็อปปิ้ง แล้วก็..จบโครงการแระ หิ หิ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
21 กันยายน 2563
จะดึงลูกกลับจากเมืองนอกมาอยู่ใกล้ตัว ก็เสียดายระบบการศึกษาของที่โน่น
เรียนคุณหมอที่เคารพ
ดิฉันเป็นพยาบาล สามีเป็นแพทย์เกษียณแล้วทั้งคู่ ลูกคนเล็ก(ตอนนี้18ปี)เรียนที่ร.ร. ... (การศึกษาทางเลือก) จนจบม.2จากนั้นขอไปเรียนที่ออสเตรเลีย ไปพักกับครอบครัวน้าชาย (น้องแท้ๆของดิฉัน)เป็นเด็กขยันและเป็นเด็กperfectionist เค้าเรียนร.ร.คาทอลิค ได้คะแนนดีอันดับต้นๆแต่ไม่ถึงกับgenius ช่วงปีที่ผ่านมาเรียนหนักมาก การบ้านเยอะสุดๆ นอนตี2-3ประจำ(ตื่น7โมง) เคยเตือนเค้าเรื่องนอนดึกเกินเค้าบอกขอเต็มที่แค่ปีนี้อีก2เดือนก็จบม.ปลาย(yr.12)แล้ว ไม่งั้นที่อุตส่าห์ทุ่มเทมาตั้งแต่yr.9มันจะเสียของ ขอเข้าประเด็นคำถามนะคะ
1)ดิฉันกับสามีอายุค่อนข้างมาก(หกสิบกว่า)อยากมีโอกาสอยู่ใกล้ๆกับลูกในช่วงบั้นปลายของชีวิต
2)เนื่องจากปัญหาเรื่องโควิด มองว่าการเดินทางบ่อยจะเพิ่มความเสี่ยงจากเดิม(ที่มีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุบัติเหตุ ,Hijack)ให้มากขึ้นไปอีกเรื่องโควิดและเมืองไทยกลับน่าอยู่กว่าในเรื่องสาธารณสุขจากผลงานป้องกันการระบาดของโควิดได้ดีเยี่ยม เวลามีปัญหาเรื่องสุขภาพสามารถเข้าถึงบริการได้ดีกว่า
3)มองว่าทักษะชีวิตมีความสำคัญ การเรียนรู้ไม่ได้มีแค่ในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่เค้าคงเริ่มคุ้นชินกับความเป็นอยู่และculture ที่ออสเตรเลียแล้ว และมีกลุ่มเพื่อนที่นิสัยดีมีคุณภาพ รักเรียน และเรียนเก่ง ประมาณ5-6คน (ลูกค่อนข้างเริ่มมีแนวคิดแบบฝรั่ง)แต่ไม่ถึงกับติดเพื่อน
4)มองว่า เมืองไทยน่าอยู่ อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ทำไมเราถึงปล่อยให้ลูกต้องไปอดๆอยากๆ(น้องชายดูแลได้ดีระดับนึงค่ะ)ต้องทนกินขนมปังแห้งๆแข็งๆทุกวันในขณะที่พ่อแม่กินอาหารเอร็ดอร่อยทุกมื้อ
แต่ในความคิดของลูก คือ เค้าเสียดายเพราะอยู่ในระบบการศึกษาของที่โน่นแล้ว อยู่ๆจะทิ้งไปก็น่าเสียดายและท่าทางเค้าเริ่มชินกับความมีระเบียบของสังคมทางโน้น ดิฉันคิดว่าถ้าเค้าเรียนมหาวิทยาลัยที่โน่นมีแนวโน้มว่าเค้าจะอยู่ทำงานที่โน่นต่อ โอกาสที่จะกลับมาอยู่ไทยคงน้อยลงเรื่อยๆ
มีเพื่อน(หญิง)ที่เป็นหมอฟัน(อายุเท่ากับดิฉัน)และลูกเรียนที่ ... ห้องเดียวกัน ไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นตั้งแต่ม.3เหมือนกัน เพื่อนคนนี้กลับมองว่าเราไม่ควรไปโน้มน้าวลูก เพราะจะทำให้ลูกลังเล เกิดอาการผูกติดกันระหว่างแม่ลูก ควรให้เค้าเป็นคนตัดสินใจเองอย่างอิสระ และในสายตาเด็กสมัยนี้ถ้าต้องกลับมาเรียนและทำงานกับพวกหัวโบราณไดโนเสาร์แบบที่เป็นอยู่เค้าคงไม่มีความสุข (ปกติดิฉันชวนคุยกับลูกแทบทุกวันทางวิดีโอคอล มีอะไรก็แลกเปลี่ยนกัน ไม่มีความลับต่อกัน เล่าความคิดทัศนคติที่มี ในเรื่องเรียนมหาวิทยาลัยก็พูดถึงข้อดีข้อเสียระหว่างมหาวิทยาลัยในไทยกับที่ออสเตรเลียและเคยสรุปตอนท้ายกับลูกว่า แล้วแต่เค้าตัดสินใจ ไม่ว่าลูกอยู่ไหนแม่ก็จะไปอยู่ใกล้ๆลูก แต่ก็แอบคิดว่าอายุเราไม่ใช่วัยที่จะต้องไปเริ่มปรับตัวเข้ากับสถานที่ใหม่ๆแล้ว)
อยากขอคำแนะนำจากคุณหมอว่าเราควรจะผลักดันลูกต่อไปดีหรือควรให้เค้ากลับมาเรียนที่ไทย หรือขอความเห็นของคุณหมอในเรื่องนี้ด้วยค่ะ สามีบอกตอนนี้เรียนที่ไหนก็ตกงานเหมือนกัน ส่วนตัวดิฉันคิดว่าเค้าอยากไปเรียนเราก็สนับสนุนเค้าเต็มที่ 4 ปีกับการผจญภัยในโลกกว้างน่าจะเพียงพอแล้ว อยากได้อยู่เป็นครอบครัวพ่อแม่ลูก หรือดิฉันกำลังพยายามดึงให้เค้ากลับเข้ามาอยู่ใน comfort zone ซึ่งมันไม่ใช่การใช้ชีวิตในวัยนี้ของลูก ที่กำลังเสาะหาตัวตน คือลูกก็ไม่ชัดเจนว่าอยากเป็นอะไร อยากเรียนคณะอะไร รู้แต่ถนัด คณิต วิทย์ คงเลือกแนววิศวะ ถ้ากลับมาไทยคงเข้าเรียนเทคโนโลยีธนบุรีภาคอินเตอร์เพราะใกล้บ้าน และpractice มากกว่าTheory ลูกบอกคำเดียวว่า เหตุผลเดียวที่อยากกลับมาไทยเพราะจะได้อยู่กับแม่
สุดท้ายนี้ขอกราบขอบพระคุณคุณหมอล่วงหน้านะคะ รอคำตอบจากคุณหมอค่ะ
ด้วยความเคารพอย่างสูง
.......................................................
ตอบครับ
1. หน้าที่ของพ่อแม่คือเลี้ยงดูลูกให้เติบโตจนพ้นอกเหมือนนกเลี้ยงลูกที่มีเป้าหมายให้ลูกบินออกจากรังไปให้ได้ สามารถไปใช้ชีวิตของตัวเองได้อย่างมีความสุขเต็มศักยภาพที่ตนเองมี และหากเป็นประโยชน์ต่อโลกด้วยก็ยิ่งดี ไม่ใช่เลี้ยงลูกเพื่อมาอยู่เป็นเพื่อนเรายามแก่นะครับ นั่นเป็นการเลี้ยงลูกแบบ "เลี้ยงต้อย" หรือ "ลงทุน" หวังได้กำไรคืนมา ไม่ใช่เลี้ยงแบบเมตตาธรรมซึ่งเป็นการให้โดยไม่มีเงื่อนไข คุณอยากอยู่ใกล้ลูก นั่นเป็นธรรมดาและโอเค. ถ้าลูกเขาอยากมาอยูใกล้คุณนั่นก็โอเค. แต่ถ้าเขาไปติดลมที่อื่นไม่มาอยู่ใกล้คุณ นั่นก็ควรจะโอเค.ด้วยนะ
2. ที่สามีคุณบอกว่าเรียนอะไรก็ตกงานเหมือนกันหมดนั่นก็เป็นเรื่องจริงเพราะต่อไปหุ่นยนต์ AI จะแทนที่ทุกอาชีพหมด แต่ประเด็นสำคัญคือคนเราไม่ได้เกิดมาเพื่อทำงานนะ คนเราเกิดมาเพื่อใช้ชีวิตให้ได้เต็มศักยภาพที่ตนเองมี ดังนั้นไม่ต้องไปพะวงว่าเขาจะตกงานไม่ตกงาน ขอให้เขาได้ใช้ชีวิตเต็มศักยภาพที่เขามีก็พอแล้ว ศักยภาพนี้ผมหมายความรวมถึงศักยภาพในการใช้ชีวิตภายนอกและศักยภาพในการสำรวจค้นหาภายในว่าแท้จริงแล้วการเกิดมาเป็นคนนี้มันทำอะไรได้มากกว่านี้บ้างด้วย
3. ที่อยากให้ลูกมาอยู่เมืองไทยเพราะโควิด19บ้างเพราะการจี้เครื่องบินบ้างนั้นเป็นความคิดกังวลไร้สาระมาก โลกจากนี้ไปจะไม่มีอะไรเหมือนเดิม จะมีแต่เรื่องบ้าๆครั้งแล้วครั้งเล่า ส่วนใหญ่คุณคาดไม่ถึง ส่วนที่คุณคาดถึงนั้นจิ๊บจ๊อย ความสามารถที่จะอยู่ได้ในสภาพที่ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นไม่เคยอยู่มาก่อนเรียกว่า creativity นั่นแหละเป็นสิ่งที่คนที่จะอยู่ในโลกยุคจากนี้เป็นต้นไปต้องมี รวมทั้งตัวคุณด้วย
4. ที่อยากให้ลูกมาอยู่เมืองไทยเพราะเมืองไทยน่าอยู่ที่สุดอาหารอร่อยที่สุดนั้น นั่นเป็นความเห็นของคุณซึ่งเป็นคนไทยอยู่ที่เมืองไทยนะ ไม่นานมานี้ผมพบกับคนอินเดียคนหนึ่ง เขาบอกผมว่าอินเดียเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลกและเขาจะไม่ย้ายไปอยู่ประเทศอื่นเด็ดขาด คือการที่เราอยู่ที่ไหนแล้วเห็นว่าที่นั่นดีที่สุดเป็นเรื่องที่ดีนะ เพราะแสดงว่าเราปรับตัวเข้ากับและยอมรับสภาพรอบตัวเราได้ง่ายซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของ creativity ถือเป็นคุณสมบัติที่ดี แต่ประเทศก็ดี เส้นแบ่งเขตก็ดี ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง และการเป็นมนุษย์ที่แท้จริงนั้นไม่ได้เป็นพลเมืองของประเทศไหน จะพูดว่าเป็นพลเมืองของจักรวาลนี้ก็ว่าได้ คุณอย่าไปบ้าจี้ไปกับสมมุติบัญญัติไม่ว่าจะเป็นเรื่องประเทศ ชาติ ศาสนา ผิวพรรณ ความบ้าแบบนั้นทำให้มนุษย์เราต้องรบราฆ่าฟันกันมาจนทุกวันนี้ ลูกเขาอยากจะอยู่ที่ไหนในจักรวาลนี้ก็ช่างเขาเถอะ ให้คุณคิดเสียใหม่ว่าเขาเป็นพลเมืองของจักรวาลนี้ เขาจะได้ไม่ identify ตัวเองกับสมมุติบัญญัติอันคับแคบใดๆแบบคนรุ่นเรา ด้วยมีพลเมืองอย่างนี้ ไปภายหน้าโลกมันอาจจะสงบยิ่งกว่ายุคสมัยของเราก็เป็นได้
5. กล่าวโดยสรุป ตอนนี้มันเลยเวลาที่คุณจะไปตัดสินอนาคตแทนลูกแล้ว ต้องปล่อยให้เขาตัดสินเอง เว้นเสียแต่ว่าคุณเงินหมดนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ ถ้าคุณยังมีเงินส่งเสีย เขาอยากอยู่ที่ไหน อยากทำอะไร ก็ปล่อยเขาไปเถอะครับ มันเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของคุณอีกต่อไปแล้ว
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
18 กันยายน 2563
SIBO แบคทีเรียในลำไส้เล็กเติบโตมากเกินไป
คุณหมอสันต์ที่เคารพ
หนูอายุ 32 ปี มีปัญหาลมในท้อง ปวดท้อง ท้องอืด มาสองปี หมอส่องกล้องแล้ววินิจฉัยว่าเป็นแผลในกระเพาะมี H pylori กินยาครบไปแล้วสองชุด หายไปพักหนึ่งก็กลับมาอีก ส่องกล้องอีก คราวนี้ว่าเป็นกรดไหลย้อน ให้กินยา omeprazol และ gaviston ติดต่อกันมาแล้วปีกว่าก็ยังไม่ดีขึ้น ส่องทั้งหมดสามครั้ง ครั้งสุดท้ายไม่มีแผลแล้ว เปลี่ยนหมอทางเดินอาหารไปแล้วสองคน แต่ลมก็ยังมาก มีลมมากอยู่ตรงกลางท้อง แถวสะดือ ไม่ใช่ตรงกระเพาะ ลมมากจนดูเหมือนคนตั้งครรภ์ ท้องผูกมาก..ก ถึงมากที่สุด แล้วน้ำหนักก็ลดเอา ลดเอา จาก 47 เหลือ 42 ในเวลาปีกว่า ผอมลง ผอมลง หิวอยากจะกิน แต่กินมากก็ท้องอืด ท้องเฟ้อ บางครั้งก็ท้องเสียบ้าง หมอทางเดินอาหารเคยจับส่องตรวจลำไส้ใหญ่ก็ไม่พบอะไรผิดปกติ อยากทราบว่าถ้าเปลี่ยนมาทานอาหารแบบที่หมอสันต์แนะนำ (plant based whole food) จะดีไหมคะ จะไปเข้าแค้มป์ RDBY ของหมอสันต์ดีไหม
ขอบพระคุณค่ะ
.....................................................
ตอบครับ
คุณรักษาอยู่กับหมอทางเดินอาหารอยู่แล้วก็ดีแล้ว เขามีข้อมูลของคุณเต็มมือจากการส่องกล้องทั้งข้างบนข้างล่างและจากการให้ยาและดูการสนองตอบของร่างกายคุณ นั่นเป็นการรักษาที่ตรง ลึก และดีที่สุดแล้ว ที่คุณเขียนมาหาผมนี่อย่าลืมว่าผมเป็น GP นะ หมายความว่าแพทย์ทั่วไป ถ้าจะนับเป็นมวย ผมก็เป็นมวยวัด ได้แต่มองคุณในภาพใหญ่และให้ความเห็นในภาพใหญ่เท่านั้น จะเอาข้อมูลเจาะลึกอะไรกับ GP นั้นย่อมจะไม่ได้แน่นอน
ผมไม่รู้ว่าคุณเป็นโรคอะไรหรอก ถึงคุณมาเข้าแค้มป์ผมก็จะยังไม่รู้อยู่ดีเพราะขนาดหมอเฉพาะทางเขาส่องกล้องลงไปดูทั้งข้างล่างข้างบนตัดชิ้นเนื้อมาดูแล้วก็ยังไม่รู้ แล้วผมมือเปล่าอาศัยแต่ดูโหงวเฮ้งแล้วผมจะรู้ได้อย่างไร ดังนั้นไม่ต้องมาเข้า RDBY เพราะมาผมก็ช่วยอะไรคุณไม่ได้
ผมรู้แต่ว่าคนไข้แบบคุณนี้มีอยู่จริง คือไม่ได้เป็นกรดไหลย้อน ไม่ได้เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ไม่ได้เป็นลำไส้ใหญ่อักเสบ แต่มีอาการผิดปกติในทางเดินอาหารมาก โดยหนักไปที่อาการท้องเสียเรื้อรัง ลมในท้องมากแบบที่เรียกว่าอืด..ด บางรายก็ออกอาการแบบลำไส้ดูดซึมอาหารเข้าสู่ร่างกายไม่ได้ คือผอมพุงโรและมีอาการขาดวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ราวกับเป็นโรคป่วง (sprue หรือ ciliac disease ที่เกิดจากการแพ้โปรตีนในข้าวสาลี) แต่ก็ไม่ใช่โรคป่วง สรุปว่าไม่รู้ว่าเป็นอะไร รู้แต่ว่ามีคนไข้แบบนี้อยู่
หมอรุ่นหลัง คือประมาณสิบกว่าปีมานี้ ได้ตั้งโรคใหม่ขึ้นมาโรคหนึ่งสำหรับคนที่เป็นแบบคุณนี้ เรียกว่า SIBO ย่อมาจาก small intestine bacterial overgrowth แปลว่าโรคแบคทีเรียในลำไส้เติบโตมากเกินไป โดยนิยามโรคนี้ว่าคือกรณีแบคทีเรียในลำไส้เล็กซึ่งปกติมีจำนวนไม่เกิน 103 ตัวต่อซีซี ได้เพิ่มจำนวนขึ้นมากถึง 105–106 ตัวต่อซีซี. ทำให้เกิดอาการผิดปกติ สุดแล้วแต่ว่าแบคทีเรียที่ขยายจำนวนขึ้นนั้นนิสัยเป็นอย่างไร เช่น ถ้าเป็นพวกแบคทีเรียที่ชอบย่อยน้ำดีก็จะทำให้น้ำดีทำงานไม่ได้ทำให้การย่อยอาหารไขมันเสียไปทำให้ท้องเสียเรื้อรัง ถ้าเป็นแบคทีเรียที่ชอบย่อยแป้งไปเป็นแก้สก็จะทำให้เกิดแก้สเต็มท้อง ท้องอืดตลอดกาล ถ้าเป็นแบคทีเรียที่ปล่อยพิษอย่างเช่นเชื้อ Klebsiella ก็จะทำให้เกิดเยื่อบุลำไส้อักเสบเสียหายจนดูดซึมอาหารไม่ได้คล้ายโรคป่วง (sprue) ไปเลย ทั้งนี้โดยตั้งสมมุติฐานว่าสาเหตุมักมาจากกรดในกระเพาะอาหารลดความเข้มข้นลง หรือจากการที่ลำไส้ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว เช่น กินยาระงับการเคลื่อนไหวของลำไส้ หรืออายุมาก หรือไม่ได้ออกกำลังกายดื้อๆ
ความจริง SIBO ยังไม่ถูกจัดชั้นเป็นโรคจริงๆนะ เพราะวงการแพทย์ยังตกลงกันไม่ได้ว่ามันมีอยู่จริงหรือเปล่า วิธีวินิจฉัยก็ยังตกลงกันไม่ได้ วิธีรักษาก็ย้งตกลงกันไม่ได้ แม้ระบบจำแนกโรค (ICD10) ก็ยังไม่ยอมรับให้ใส่โรคนี้ในสาระบบโรคของวิชาแพทย์ แต่ทั้งหมอไทยและหมอฝรั่งก็ชอบตรวจและวินิจฉัยโรคนี้กันเกร่อ
วิธีตรวจวินิจฉัย SIBO ที่ใช้กันทั่วไปมีอยู่สองแบบคือ (1) ส่องกล้องเอาแบคทีเรียไปเพาะเชื้อ ซึ่งเป็นวิธีที่ยุ่งยากพอควรไม่เป็นที่นิยม (2) ตรวจหาแก้สในลมหายใจออก เช่นให้กินแลคตูโลสแล้วตรวจหาไฮโดรเจน เป็นต้น ทั้งสองวิธีนี้ถึงตรวจแล้วได้ผลแล้วแพทย์ก็ยังเถียงกันไม่ตกฟากอีกว่าอย่างไรจึงจะเรียกว่าผิดปกติ
ส่วนการรักษาโรค SIBO นี้ ที่ตกลงกันได้ดิบดีแล้วมีสามขั้นตอน คือ
(1) แก้ไขสาเหตุ
(2) เสริมอาหารถ้าขาดอาหาร
(3) ใช้ยาปฏิชีวนะ (เช่นยา refaxamin) ลดจำนวนแบคทีเรียถ้าจำเป็น แต่ส่วนใหญ่ก็ได้ผลแค่ระยะสั้นๆและต้องใช้ยาซ้ำซาก
ยังมีการร่วมรักษาอีกสองแบบที่ยังตกลงกันไม่ได้ บ้างว่าควรทำบ้างว่าไม่ควรทำ คือ
(1) ให้กินโปรไบโอติกส์ (แบคทีเรียชนิดดี) ยังสรุปผลได้ไม่ชัดเจนว่าได้ผลหรือไม่
(2) การให้หลีกเลี่ยงอาหารแป้งย่อยยาก (FODMAP = ferementable oligo, di, mono-saccharide and polyols) หมายถึงพืชที่มีโมเลกุลที่ร่างกายมนุษย์ไม่มีเอ็นไซม์ย่อยต้องอาศัยแบคทีเรียย่อยให้ ซึ่งว่ากันว่าหากหลีกเลี่ยงพืชเหล่านี้ได้จะลดอาการ SIBO ได้มากกว่าไม่หลีกเลี่ยง แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นวิธีรักษาที่มาตรฐานเพราะงานวิจัยทั้งหมดล้วนทำกันในระยะสั้น ขณะที่ในความเป็นจริงแล้วอาหารพวกที่เรียกว่า FODMAP นี้หากตื๊อกินไปนานๆหลายเดือนร่างกายก็จะปรับตัวทำให้อาการท้องอืดลดลงไปได้เองโดยไม่ต้องหลีกเลี่ยงอาหารใดๆเลย
ตัวอย่างของอาหารแป้งย่อยยาก หรือ FODMAP ก็เช่น
oligosacharides เช่น ข้าวสาลี ข้าวไรน์ ถั่วต่างๆ ผลไม้ ผักบางชนิดเช่นหัวหอม กระเทียม
disaccharides เช่นนมวัว โยเกิร์ต ชีส
monosaccharides เช่น ผลไม้ต่างๆ มะเดื่อฝรั่ง มะม่วง และน้ำผึ้ง
polyols เช่นลิ้นจี่ แบล็คเบอรี่
ดังนั้น จะเห็นว่าอาหารพืชเกือบทุกชนิดมีแป้งย่อยยากหรือเป็น FODMAP หมด ถ้าจะหลีกเลี่ยงกันจริงๆก็จะไม่เหลืออะไรให้กินเลยเสียละกระมังนอกจากแป้งขัดขาวและน้ำตาล ดังนั้นเรื่องอาหาร FODMAP นี้คุณอย่าเพิ่งไปจริงจังตุตะมาก เดี๋ยวจะมาตายด้วยโรคขาดอาหารเสียก่อน
ถามว่าถ้าจะลองรักษา SIBO ด้วยอาหารพืชเป็นหลักแบบใกล้เคียงธรรมชาติ (plant based, whole food) และไขมันต่ำจะดีไหม ตอบว่างานวิจัยทางการแพทย์ที่จะสรุปมาตอบคำถามนี้ยังไม่มี แต่มีหลักฐานระดับเรื่องเล่าว่ามันได้ผลดีทีเดียวนะ เชื่อถือได้แค่ไหนยังไม่รู้เพราะเป็นแค่เรื่องเล่า คือเมื่อไปประชุมที่เมืองโอ๊คแลนด์ (แคลิฟอร์เนีย) เมื่อครั้งล่าสุดผมได้ฟังเรื่องราวของนักโภชนะบำบัดชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อแอกนีซกา (Agnieszka Gavio) เธอมาเรียนทางนี้เอาตอนแก่แล้วเพราะว่าก่อนหน้านั้นตัวเธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น SIBO นี่แหละแล้วรักษาอย่างไรก็ไม่หาย ความที่ต้องหลีกเลี่ยงอาหาร FODMAP ทำให้เธอกินแต่เนื้อสัตว์เป็นอาหารหลักจนเกิดปวดข้อๆบวมซึ่งหมอวินิจฉัยว่าเป็นข้ออักเสบรูมาตอยด์แถมมาอีกโรคหนึ่ง หมอจะให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด เธอเห็นท่าไม่ดีจึงเลิกรักษากับหมอแล้วหันมาทดลองรักษาตัวเองด้วยอาหารแนว plant based, whole food เธอเล่าว่า มื้อเช้าเธอปั่นซีเลอรี่ (คึ่นไช่) และสาระพัดผลไม้สดเป็นอาหารเช้า มื้อกลางวันเธอทำสลัดจานใหญ่ที่ประกอบด้วยผักใบเขียวเป็นหลัก มื้อเย็นเป็นกับข้าวที่ทำจากสาระพัดผักเป็นพื้น พืชอะไรที่เขาว่าฆ่าแบคทีเรียได้เธอเอามากินหมด ไม่ว่าจะเป็นกระเทียม หอมใหญ่ ขิง เครื่องเทศ กานพลู ซินนามอน ขมิ้นชัน ขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงน้ำมันทำอาหาร แป้งสาลี น้ำตาล และอาหารสำเร็จรูปทุกชนิด อาหารไขมันที่เธอกินมีแต่นัทและอะโวกาโดเท่านั้น แล้วเธอก็ดื่มน้ำปั่นผักผลไม้ใส่มินท์ หรือมะนาว หรือคาโมไมล์ แล้วก็ฝึกผ่อนคลายร่างกาย นั่งสมาธิ ตั้งใจนอนให้เต็มตาด้วย เธอเล่าว่าอาการของเธอขึ้นๆลงๆจนร่ำๆจะล้มเลิกหลายครั้ง แต่ในที่สุดอาการทั้งหมดก็ค่อยๆหายไปจนกลับเป็นปกติ เธอจึงทิ้งอาชีพเดิมหันมาเรียนเป็นนักโภชนะบำบัดซะเลย
ทั้งหมดนี้เป็นแค่หลักฐานระดับเรื่องเล่านะ ไม่ใช่ผลวิจัย แต่หากคุณจะลองกินอาหารแนวนี้ดูก็ไม่มีอะไรเสีย ผมเชียร์ให้หยุดยาลดการหลั่งกรด (omeprazol) ไปเสียด้วย เพื่อจะลดสาเหตุของ SIBO ไปได้เหตุหนึ่งคือกรดในกระเพาะอาหารมีน้อย เพียงแต่หากคุณจะทดลองอาหารพืชเป็นหลักคุณต้องให้เวลาทดลองนานหน่อย อย่างน้อยก็สักปีหนึ่งนะ อย่างที่แอกนีซกาบอกนั่นแหละ เธอเองก็ขึ้นๆลงๆอยู่นานจนร่ำๆจะยอมแพ้กลางคันเสียหลายครั้ง ทดลองแล้วได้ผลเป็นอย่างไรอย่าลืมเขียนมาเล่าให้ผมฟังด้วย
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. Agnieszka Gavio. Healing gastrointestinal and inflammatory illness on a whole food plant-based diet. Accessed on September 19, 2020 at https://medium.com/@shireenkassam/healing-gastrointestinal-and-inflammatory-illness-on-a-whole-food-plant-based-diet-54adf5da84f7.
17 กันยายน 2563
หมอจบใหม่กับความเศร้าดื้อด้าน
สวัสดีค่ะอาจารย์
หนูเป็นหมอจบใหม่ทำงานอยู่ที่รพ.ทั่วไปแห่งหนึ่งในภาค ... ค่ะ ตามอ่านที่อาจารย์เขียนมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์โดยเฉพาะเวลาท้อๆ อยากลาออก เราโดนทำลาย self esteem เพราะในคณะนี้มีคนเก่งกว่าเราเยอะมาก และหลายๆ คนก็พร้อมจะ blame เรา ซึ่งตอนนี้มีความรู้สึกแบบนั้นอีกแล้วค่ะ เกริ่นก่อนว่าหนูไม่ได้อยากเรียนหมอ แต่เข้ามาเรียนเพราะอยากให้ครอบครัวดีขึ้น(มีปัญหาเรื่องการเงินค่ะ) บวกกับสมัยมัธยมเรียนเก่ง เลยกลายๆ ว่าโดนบังคับให้เรียน ก็พยายามต่อสู้กับสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ รู้สึกตลอดว่าทำไมเราต้องมาอยู่เวร เราไม่อิน ก็จบมาได้นะคะ ได้เกียรตินิยมอันดับ 2 แถมมา พอมาทำงานเราก็รู้สึกตลอดว่าเรายังเก่งไม่มากพอ แต้ก็ไม่มีใจที่จะไปหาความรู้เพิ่มเติมเพราะเราไม่ได้ชอบแต่ทีแรก บางทีก็รู้สึกผิดที่คนไข้ต้องมาเจอหมอโง่และขี้เกียจอย่างเราแต่ก็ไม่ขยันมากขึ้นเพราะเรามีความคิดว่าเราโง่ เราอ่านไปก็สู้คนที่เก่งอยู่แล้วไม่ได้อยู่ดี เราเหนื่อย เราไม่มีความสุข เคยปรึกษาจิตแพทย์ พี่เขาว่าเราเป็น perfectionist มี adjustment disorder ให้กินยาคลายกังวล หนูก็กินตลอดนะคะแต่อาการเบื่อๆ ก็มีเท่าๆ เดิม เราอยากลาออกแต่ก็ทำไม่ได้ค่ะเพราะอยากเรียนเฉพาะทางต่อ ก็ต้องใช้ทุน ลาออกไปก็ไม่รู้จะทำอะไร ไม่มีเงิน พยายามจะอยู่กับปัจจุบันก็ทำไม่ได้ หนูไม่ค่อยมีความสุขตั้งแต่เรียนแล้วค่ะ หนูเคยผิดหวังตอนสมัครเรียนต่อสมัยเป็น ext แล้วเขาไม่เอาหนู ก็เลยไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเองอีกเลย ยังเศร้ากับเรื่องนั้นอยู่ค่ะ หนูไม่อยากเป็น GP เพราะทำงานให้ถูกใจ specialist ทุกคนไม่ได้แล้วเราก็เหมือนทำอะไรได้ไม่สุด ใครๆ ก็กดดัน GP งานหนัก เงินน้อย ความคาดหวังเยอะ นอนน้อย ทุกวันนี้ค่อนข้าง burnout เพราะระบบที่ทำให้ intern 1 ต้องทำงานหนัก อดหลับอดนอน ห้ามพลาด พูดดีกับทุกคน มันยากและเหนื่อยมากค่ะที่จะทำให้ได้ทั้งหมดในสภาวะแบบนี้ จะให้เราไม่พลาดได้ยังไงคะ หนู struggle กับตัวเองมาพักใหญ่ๆ พยายามหาทางผ่อนคลายมา 7 ปีแต่สุดท้ายจบลงด้วยการรู้สึก down แบบนี้ตลอด อาจเป็นเพราะพรุ่งนี้ต้องอยู่เวรดึกด้วยค่ะ แต่ทุกครั้งก็แอบโทษครอบครัวตลอดว่าถ้าบ้านรวยคงไม่ต้องมาเป็นหมอโง่ๆ แบบนี้ ระบายกับใครก็ไม่ค่อยมีใครเข้าใจในความทุกข์ของเราเลยค่ะเพราะเราก็ยังดูปกติ ทำงานในความรับผิดชอบได้ แต่หลักๆ คือหนูอยากมีความสุขค่ะ หนูพยายามมามากจริงๆ กับเรื่องนี้ หมดหนทางจริงๆ ค่ะ ทั้งอ่านบทความ เขียนบทความ(งานอดิเรก) หาจิตแพทย์ ระบายกับเพื่อน คุยกับตัวเอง ทำงานอดิเรก ออกกำลังกาย ลึกๆ ก็เศร้าตลอดและคิดตลอดว่าซวยมากที่ชาตินี้ได้เกิดมาเป็นหมอ
ขอบคุณค่ะ
................................................................
ตอบครับ
อามิตตาภะ พุทธะ
ตัวคุณหมอเองก็น่าจะวินิจฉัยตัวเองได้ อย่างนี้เขาเรียกว่าโรคเศร้าดื้อด้าน (dysthymia หรือ persistent depressive disorder) ไม่ใช่โรคซึมเศร้านะ แต่เศร้าดื้อด้าน หิ หิ นี่เป็นคำแปลที่หมอสันต์แปลเอง เพราะชื่อโรคนี้ในภาษาไทยไม่มี หรือมีหมอสันต์ไม่รู้ก็เป็นได้ สำหรับท่านที่ไม่ใช่แพทย์ โรคนี้ไม่หนักเท่าโรคซึมเศร้า แต่ยืดเยื้อเรื้อรังกว่า เกณฑ์วินิจฉัยของ DSM5 คือ นอกจากจะเศร้าดื้อด้านนานเกินสองปีแล้วยังต้องมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อยสองอย่างควบ คือ (1) กินไม่ลงหรือกินมากเกิน (2) นอนไม่หลับหรือหลับมากเกิน (3) ถ่านหมด เปลี้ยล้า (4) เสียความนับถือตัวเอง (5) จดจ่อไม่ได้ ตัดสินใจยาก (6) ต๊อแต๊สิ้นหวัง
การรักษาโรคนี้ตามหลักวิชาแพทย์ก็ใช้สูตรมาตรฐานของโรคทางใจส่วนใหญ่ หมายถึงรักษาแบบสองอย่างควบ คือให้ยาบวกจิตบำบัด แปลว่ารักษาด้วยการพูดคุย (talk therapy) ในกรณีของคุณหมอนี้ก็ผ่านการรักษาตามหลักวิชามาครบสูตรหมดแล้ว แต่มันก็ยังเศร้าดื้อด้านอยู่ สมชื่อที่หมอสันต์ตั้งให้เลยจริงๆ
ก่อนที่จะคุยกันไปถึงว่าเราจะทำยังไงกันดี ผมอยากจะชวนให้คุณหมอสอบสวนความคิดของตัวเองสักหน่อยนะ ว่าความคิดของคุณหมอนั้นขมวดลงมาแล้วก็มีอยู่สี่เรื่องเท่านั้น คือ (1) เสียใจกับอดีต (2) กลัวอนาคต (3) เปรียบเทียบตัวตนกับคนที่เก่งกว่าดีกว่า (4) ปฏิเสธปัจจุบัน สี่อย่างแค่เนี้ยะ ไม่เชื่อผมจะทบทวนให้ดูนะ
1. ไม่ได้อยากเรียนหมอ แต่ต้องมาเรียนเพราะอยากหาเงิน (เสียใจกับอดีต)
2. ทำไมเราต้องมาอยู่เวร (ปฏิเสธปัจจุบัน)
3. รู้สึกผิดที่คนไข้ต้องมาเจอหมอโง่และขี้เกียจอย่างเรา (เสียใจกับอดีต)
4. เรามีความคิดว่าเราโง่ เราอ่านไปก็สู้คนที่เก่งอยู่แล้วไม่ได้อยู่ดี (เปรียบเทียบตัวตน)
5. ลาออกไปก็ไม่รู้จะทำอะไร ไม่มีเงิน (กลัวอนาคต)
6. ผิดหวังตอนสมัครเรียนต่อ เขาไม่เอาหนู ยังเศร้ากับเรื่องนั้นอยู่ค่ะ (เสียใจกับอดีต)
7. ไม่อยากเป็น GP ทำอะไรได้ไม่สุด ใครๆ ก็กดดัน GP งานหนัก เงินน้อย (ปฏิเสธปัจจุบัน)
8. อาจเป็นเพราะพรุ่งนี้ต้องอยู่เวรดึกด้วยค่ะ (กลัวอนาคต)
9. โทษครอบครัวตลอดว่าถ้าบ้านรวยคงไม่ต้องมาเป็นหมอโง่ๆ แบบนี้ (เสียใจกับอดีต)
10. คิดตลอดว่าซวยมากที่ชาตินี้ได้เกิดมาเป็นหมอ (ปฏิเสธปัจจุบัน)
ทั้งหมดนั้นไม่ว่าจะเป็นความเสียใจกับอดีต กลัวอนาคต เปรียบเทียบตัวตนกับคนที่เก่งกว่าดีกว่า และการปฏิเสธปัจจุบัน มันเป็นเพียง "ความคิด" นะ เป็นความคิดสั่วๆอีกต่างหาก เท่ากับว่าทุกวันนี้คุณหมอแม้จะเรียนหนังสือจบแล้วแต่ก็ยังไม่ได้ใช้ชีวิตเลย เพราะคุณหมอมัวแต่ไปจมอยู่ในความคิด แล้วถ้าคุณหมอไม่ทำอะไรกับชีวิตสักอย่าง จากนี้ไปจนตายคุณหมอจะไม่ได้ใช้ชีวิตเลยนะ และจะจมอยู่ในความคิดสั่วๆทั้งสี่สาขานี้ตลอดไป เพราะความคิดมันเป็น conditioned reflex มาแล้วมันก็จะกลับมาอีก ในฟอร์มที่ใหญ่ขึ้น จริงจังขึ้น
อดีตและอนาคตนั้นมันไม่ได้มีอยู่จริงดอก เมื่อเราคิดถึงอดีตหรืออนาคต เราคิดขึ้นที่ปัจจุบัน ดังนั้นที่เรียกว่าอดีตอันหมองเศร้าและอนาคตอันหดหู่นั้น มันล้วนเป็นความคิดที่คุณหมอคิดขึ้นที่ปัจจุบันทั้งสิ้น แต่ว่ามันช่างมีอำนาจอิทธิพลเสียนี่กระไร เพราะเราไปซบอกความคิดแล้วให้มันพาเราไปด้วยเชื่อว่ามันคือผู้บัญชาการชีวิตเรา มันจึงมีอำนาจ ความจริงมันเป็นแค่ความคิด เป็นแค่ลม ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แค่วางความคิดลงไปเสีย เราก็เป็นอิสระจากความคิดแล้ว
เมื่อเป็นอิสระแล้ว แล้วไงต่อ แล้วไงต่อหรือ แล้วก็เริ่มมองไปรอบๆตัวสิ คราวนี้จะเป็นการใช้ชีวิตจริงแล้วนะ เพราะชีวิตก็คือการมีชีวิตอยู่ ณ ขณะนี้ มองไปรอบๆตัว มองด้วยสายตาค้นหาเรียนรู้แบบคนขี้เล่น มองโลกรอบตัวให้เห็นว่ามันเป็นความท้าทาย เป็นความแปลกใหม่ เป็นความมหัศจรรย์ wonderful ที่ผลัดกันเข้ามาหา วินาที ต่อวินาที ต่อวินาที ไม่อาจคาดเดาได้ เราทำได้แค่มองดูและรับรู้ตามที่มันเป็น แล้วบรรจงเลือกวิธีสนองตอบต่อมันไปทีละช็อต ทีละช็อต นี่คือการใช้ชีวิต
เขียนมาถึงตรงนี้ขอนอกเรื่องหน่อยนะ เมื่อสามสี่วันก่อนเพื่อนที่เป็นนักแต่งเพลงพาลูกน้องมาเล่นดนตรีร้องเพลงที่บ้านโกรฟเฮ้าส์และพักค้างคืนที่นี่ พอรุ่งเช้าผมก็ชวนพวกเขาขึ้นมาเดินเล่นที่บ้านบนเขา นักร้องของคณะมีลูกสาวคนหนึ่งน่ารักเชียวอายุเก้าขวบชื่อน้องวันนา เมื่อเดินไปมาในบริเวณบ้าน เธอบอกผมว่า
"บ้านของคุณปู่ช่างลึกลับ"
นี่คือตัวอย่างของการใช้ชีวิต คือมองออกไปยังโลกรอบตัวว่ามันช่างลึกลับ ตื่นเต้น ท้าทายให้เรียนรู้ แล้วแต่ละโมเมนต์ของชีวิตก็จะเป็นความมหัศจรรย์ ผมหยิบตัวกระสุนพระอินทร์ที่ขดตัวเป็นก้อนกลมขึ้นมาวางบนอุ้งมือให้เธอดูแล้วถามเธอว่า
"นี่คืออะไร" เธอเอียงคอมองไปมาอย่างละเอียดแล้วตอบว่า
"คงเป็นกิ้งกือขดตัวเป็นก้อน" ผมถามว่ารู้ได้อย่างไร เคยเรียนมาหรือ เธอส่ายหัว เธอบอกว่าเห็นมีเส้นวิ่งจากขอบไปหาศูนย์กลางเป็นเส้นๆจึงเดาเอา ผมบอกให้เธอลองสัมผัสมันดู เธอบอกว่า
"ฮึ ไม่เอาหงะ กลัว" ผมบอกว่า
"ความกลัวเป็นแค่ความคิดต่อสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นนะ ใช่ไหม" เธออึ้งไปสักพักแล้วพยักหน้า
"ถ้าเราเชื่อความคิดของเราโดยไม่ยอมสำรวจเรียนรู้ของจริงที่ตรงหน้า เราก็จะไม่รู้จักอะไรเลยนอกจากความกลัวในหัวของเราสิ ใช่ไหม"
เธอค่อยๆพยักหน้า แล้วทดลองเอามือสัมผัสกระสุนพระอินทร์ด้วยความกลัวๆกล้าๆ แล้วก็กลายเป็นความกล้าจากความอยากรู้จนเอากระสุนพระอินทร์วางบนฝ่ามือตัวเองได้
ผมอธิบายให้เธอฟังว่ากระสุนพระอินทร์จะคลายตัวออกมาคลานใหม่ก็ต่อเมื่อมันมั่นใจว่ามันปลอดภัยแล้ว ถ้าอยากเห็นต้องวางมันลงบนพื้น แล้วนั่งสังเกตอย่างใจเย็น เมื่อใดก็ตามที่เราแตะตัวมัน มันก็จะขดตัวกลมดิกอีก แล้วก็ทิ้งเธอให้เล่นเองตามลำพัง ราวครึ่งชั่วโมงต่อมาเธอก็วิ่งมารายงานด้วยความตื่นเต้น
"คุณปู่คะ หนูสามารถลูบตัวมันโดยมันไม่ขดตัวได้" แล้วชักชวนให้ผมตามไปดู เธอบอกว่า
"ถ้าเราลูบหลังมันจากข้างหน้ามาข้างหลัง มันจะรีบขดตัว แต่ถ้าเราลูบจากหลังไปหน้า มันจะคลานตามปกติโดยไม่กลัวเรา" แล้วเธอก็ทำให้ดู ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้นโดยที่ผมเองไม่เคยรู้มาก่อน
สิ่งที่หนูวันนาแสดงออก นั่นคือ creativity คือความสามารถที่จะค้นหาค้นพบสิ่งใหม่ๆที่ตื่นตาตื่นใจในท่ามกลางสถานที่หรือบรรยากาศที่ไม่รู้จัก ไม่คุ้นเคย ความสามารถนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หรอก ถ้าเราจมอยู่ในความคิด แต่จะเกิดขึ้นได้เมื่อเราวางความคิดลง แล้วมองไปรอบตัวอย่างผู้สำรวจ มองโลกทั้งข้างนอกข้างในตัวว่าเป็นดินแดนลึกลับที่ตื่นเต้นท้าทาย
กลับมาคุยเรื่องของคุณหมอต่อ สิ่งเดียวที่คนรุ่นคุณหมอต้องการเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกยุคถัดจากนี้ไป คือ creativity เท่านั้น ไม่ต้องมีอย่างอื่น มีตัวนี้ตัวเดียวพอ โลกจากนี้ไปจะเป็นโลกที่มีแต่ความเปลี่ยนแปลงแบบที่ไม่มีใครเคยพบเคยเห็น creativity เป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกแบบนั้นได้อย่างมีความสุขและสร้างสรรค์
กล่าวโดยสรุป การจะแก้ปัญหาของคุณหมอก็คือวางความคิดขี้หมาทั้งสิบตัวอย่างข้างต้นลงไปก่อน แล้วค่อยๆบ่มเพาะ creativity ให้กับชีวิต ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้ลงมือฝึกสมาธิ (meditation) อย่างต่อเนื่องจริงจัง ผมเคยเขียนเทคนิควิธีการไปบ่อยมากจนลูกบล็อกนี้แทบจะเดาคำตอบของผมล่วงหน้าได้ ให้คุณหมอหาอ่านย้อนหลังเอาเอง หากมีปัญหาทำไม่สำเร็จ ให้หาเวลามาเข้า Spiritual Retreat หรือหากลงมือทำแล้วติดขัดและไม่สะดวกจะมาเข้า SR ก็เขียนถามประเด็นปฏิบัติมาทางเมลนี้ก็ได้ แต่หากไม่ได้ลงมือทำเลยแต่อยากจะหาคำปลอบโยนซ้ำซาก ไม่ต้องเขียนมาอีกนะ แค่กินยาต้านซึมเศร้าที่พี่จิตแพทย์เขาให้และขยันไปคุยกับพี่เขาอย่างที่เคยทำมาก็พอแล้ว
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
16 กันยายน 2563
การกินโปรไบโอติกส์ลดความอ้วนได้ดีกว่ายาหลอก
คุณหมอสันต์คะ
การกินโยเกิตทำจากถั่วเหลืองแบบไม่มีน้ำตาลจะช่วยลดน้ำหนักได้ดีขึ้นไหมคะ
................................................
ตอบครับ
มีคนทำอย่างที่คุณว่าอยู่นะครับ คือเอาแบคทีเรียอัดแคปซูล หรือที่เรียกกันว่า probiotics มากินเป็นยาลดความอ้วนบ้าง หรือกินโยเกิร์ตซึ่งมีแบคทีเรียโปรไบโอติกอยู่แล้วเป็นอาหารลดความอ้วนบ้าง จะเรียกว่าเป็นสาขาใหม่หรือสายใหม่ของการลดความอ้วนก็ว่าได้ ถ้าจะให้ผมตั้งชื่อเรียกผมคงต้องตั้งชื่อว่าพวกลดความอ้วนสายสร้างชุมชนจุลชีพ (microbiome) หมายถึงการอาศัยดุลภาพของแบคทีเรียในลำไส้มาช่วยลดความอ้วน ถามว่าการทำอย่างนี้มันได้ผลไหม อย่างน้อยก็มีหนึ่งงานวิจัยที่ทำเรื่องนี้ในเด็กและวัยรุ่นแล้วได้ข้อสรุปว่า..ได้ผลนะ
งานวิจัยนี้นำเสนอในการประชุม e-ECE 2020 ซึ่งเพิ่งประชุมกันเสร็จไปเมื่อต้นเดือนกย.นี้เอง วิธีวิจัยคือเอาเด็กและวัยรุ่นที่อ้วนมา 100 คนมาเข้าโครงการลดน้ำหนัก แล้วจับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้คุมอาหารโดยไม่ให้มีแคลอรีมากด้วยและให้กินแบคทีเรียชนิดมีประโยชน์ (โปรไบโอติกส์) ในรูปแคปซูลด้วย (Bifidobacterium breve สายพันธ์ BR03 และ B632) อีกกลุ่มหนึ่งให้กินอาหารแบบเดียวกันควบกับกินยาหลอกแทน แล้วก็ติดตามชั่งน้ำหนัก วัดเส้นรอบพุง เจาะเลือด และตรวจอุจจาระอยู่นาน 8 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มที่กินโปรไบโอติกส์ลดน้ำหนักได้ดีกว่า เส้นรอบพุงลดลงมากกว่า มีภาวะดื้อต่ออินสุลินน้อยกว่า และมีปริมาณแบคทีเรียตัวเลว (E. coli) ในลำไส้ลดลงเหลือน้อยกว่า
งานวิจัยนี้เป็นหลักฐานชิ้นแรกที่บ่งชี้ว่าโปรไบโอติกส์ช่วยลดน้ำหนักได้ ถือเป็นความรู้เพิ่มเติมเรื่องคุณประโยชน์ของโปรไบโอติกส์ซึ่งวงการแพทย์รู้ดีมาก่อนหน้านี้แล้วว่ามันช่วย (1) บรรเทาอาการท้องร่วงจากติดเชื้อหลังการใช้ยาปฏิชีวนะแบบครอบจักรวาลนานๆ (2) บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก ท้องเสียในคนทั่วไป ทำให้ท้องไส้ทำงานปกติมากขึ้น (3) ลดเอ็นไซม์และแบคทีเรียที่ส่งเสริมให้เกิดของเน่าเหม็นและสารก่อมะเร็งในลำไส้ (4) ป้องกันและบรรเทาผื่นผิวหนังจากการแพ้ในเด็กทารก และ (5) ป้องกันและบรรเทาการติดเชื้อทางเดินลมหายใจส่วนบน (เช่นหวัด)
ไหนๆก็พูดถึงโปรไบโอติกส์แล้ว และนี่กำลังเข้าสู่ยุคบ้าแบคทีเรียในลำไส้ ก่อนจบผมอยากจะถือโอกาสนี้อธิบายศัพท์แสงที่คนบ้าแบคทีเรียในลำไส้เขาชอบพูดกันไว้ตรงนี้เสียเลยให้คุ้นหูท่าน
ไมโครไบโอม (microbiome) หมายถึงชุมชนของแบคทีเรียในตัวคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลำไส้ ซึ่งประกอบด้วยแบคทีเรียทั้งชนิดดีและชนิดเลวอยู่ร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยคุมเชิงกันอยู่ในที
โปรไบโอติกส์ (probiotics) หมายถึงแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่นแลคโตบาซิลลัส ไบฟิโดบาซิลลัส เป็นต้น
พรีไบโอติกส์ (prebiotics) หมายถึงอาหาร(ไร้ชีวิต)ที่แบคทีเรียชนิดโปรไบโอติกอาศัยกินเลี้ยงตัวเองและออกลูกหลาน เช่น ผัก เมล็ดพืช ถั่วต่างๆ ผิวธัญพืช และอาหารกากใยทั้งหลาย
ซินไบโอติกส์ (synbiotics) หมายถึงการเอาโปรไบโอติกส์มาผสมกับพรีไบโอติกส์เพื่อกิน (เช่นถั่วต้มราดโยเกิร์ต) หรือเพื่อใส่แคปซูลขายเอาเงินจากคนอื่นเป็นรายได้เลี้ยงชีพ
กรดไขมันสายโซ่สั้น (SCFA) เช่นกรดบิวไทริก เป็นกรดที่เกิดขึ้นในลำไส้จากการหมักอาหารที่เอ็นไซม์ของคนปกติย่อยไม่ได้ (เช่นเปลือกกิ่งไม้หรือเส้นใยหยาบๆหรือโมเลกุลโอลิโกแซคคาไรด์ในถั่ว) โดยมีแบคทีเรียชนิดโปรไบโอติกส์เป็นผู้ทำการหมัก กรดไขมันชนิดนี้ตัวมันก็เป็นอาหารให้พลังงานนั่นแหละแต่เมื่อเข้าไปในกระแสเลือดแล้วจะช่วยเบรกไม่ให้ตับผลิตโคเลสเตอรอลมากเกินไป เท่ากับว่าช่วยคุมไขมันในเลือดโดยอ้อม นอกจากนี้ยังไปเอื้อปฏิกริยา histone acetylation ทำให้การก๊อปปี้ยีนและแบ่งตัวของเซลไวขึ้น และทำให้ระบบเม็ดเลือดขาวเพิ่มจำนวนและทำงานดีขึ้น พูดง่ายๆว่ามีความสัมพันธ์กันอยู่ระหว่าง SCFA กับระบบภูมิคุ้มกันโรค
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. European Society of Endocrinology. "Probiotics may help manage childhood obesity." ScienceDaily. ScienceDaily, 7 September 2020. <www.sciencedaily.com/releases/2020/09/200907080342.htm>.
15 กันยายน 2563
วิธีขโมยอ่านข้อมูลวิจัยบนอินเตอร์เน็ทโดยไม่เสียเงิน
เรียนอ.สันต์คะ
หนูจบแพทย์แล้วทำงานเป็น medical consultant ให้กับบริษัท ... ต้องอ่านงานวิจัยต้นฉบับเพื่อเอามาทำข้อมูลประกอบโปรดักส์ แต่มีปัญหาว่าต้องออกเงินค่าเปเปอร์ต่างๆเองเพราะบริษัทไม่ยอมออกให้ เพื่อนบอกว่า อ.มีวิธีเปิดอ่านฟูลเปเปอร์จากเน็ทโดยไม่ต้องจ่ายเงิน แต่หนูกูเกิ้ลไม่เจอบทความนั้น อยากรบกวนอ.อีกสักรอบ ว่าหนูต้องทำอย่างไรจึงจะได้อ่านเปเปอร์จากเน็ทได้ไม่จำกัดโดยไม่ต้องเสียเงิน
.........................................................................
ตอบครับ
มาอีกละ พวกชอบหลอกล่อให้หมอสันต์ทำผิดกฎหมาย นี่เป็นคำถามถึงวิธีขโมยสินค้าแบบโต้งๆ คือขโมยอ่านผลวิจัย ซึ่งผิดทั้งกฎหมายและผิดทั้งจริยธรรม แต่ผมเองต้องสารภาพตามตรงว่าตัวผมเองก็อะไรผิดๆแบบนี้มาตลอดชีวิต หิ หิ จะไม่ตอบคุณตามตรงก็เท่ากับผมโกหก เพราะผมคิดแบบเอาสีข้างเข้าถูว่าประชาชนทั่วโลกเสียภาษีให้รัฐบาล รัฐบาลเอาเงินภาษีไปจ้างทำวิจัย แต่พอผลวิจัยออกมาแล้ว ผู้ตีพิมพ์ผลวิจัยเหล่านั้นคือวารสารการแพทย์ขององค์กรเอกชนกลับเอามาตั้งขาย หากประชาชนจะอ่านก็ต้องเสียเงินให้ผู้ตีพิมพ์อีกหน ทั้งๆที่ประชาชนเสียเงินจ้างทำวิจัยไปแล้วแท้ๆ มันไม่ยุติธรรม
แหล่งที่จะขโมยอ่านวารสารการแพทย์ในอินเตอร์เน็ทนี้มันย้ายที่เรื่อยมาเพราะมันเป็นของเถื่อนอยู่ที่เดียวนานไม่ได้ และมันมีหลายแหล่ง แหล่งที่ผมพึ่งพาอยู่ทุกวันนี้คือ Sci-Hub มันเป็นเว็บไซท์ที่ก่อตั้งโดยยอดหญิงในดวงใจของผมซึ่งเป็นเด็กสาวชาวคาซัคสถานอายุคราวลูก ชื่อเอลบาคยัน (Alexandra A. Elbakyan) ซึ่งถึงจะไม่รู้จักกันแต่ผมก็รักชอบในความเป็นอัจฉริยะของเธอ และยิ่งชอบในการทำอะไรที่ต้องใช้ creativity อย่างสูงเช่นการเปิดเว็บไซท์หัวขโมยความรู้อย่างนี้เป็นพิเศษ
เธอใช้อัจฉริยภาพทางแฮกกิ้งโปรแกรมมิ่งของเธอสร้างเว็บไซท์ซึ่งทำให้ลูกค้าทั้งแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ระดับซำเหมาทั่วโลกสามารถเปิดอ่านนิพนธ์ต้นฉบับจากวารสารวิทยาศาสตร์ทุกวารสารทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 64 ล้านเปเปอร์ได้ฟรี ย้ำ ฟรี เว็บไซท์แรกที่เธอตั้งในอเมริกา (https://scihub.org/) ถูกสั่งปิดและศาลสั่งจ่ายค่าเสียหายบักโกรก แต่เธอแอบกระจายฐานข้อมูลไปไว้ในสิบกว่าประเทศทั่วโลก เดี๋ยวเปิดตรงนั้น เดี๋ยวปิดตรงนี้ ถ้าคุณอยากจะลองใช้บริการฟรีของเธอถ้าเป็นเปเปอร์ที่เจ้าของเขาไม่หวงจะลองค้นที่ https://scihub.org/ ก่อนก็ได้ เพราะเป็นเว็บไซท์ที่ใช้งานสะดวกมีระบบอ้างอิง (citation) ให้ฟรีด้วย แต่ถ้าเป็นเปเปอร์ที่เจ้าของเขาหวง ให้คุณลอง google หาคำว่า sci-hub จะมีเว็บใหม่ที่เปิดแทนเว็บเก่าโผล่ขึ้นมาเพียบ แต่ถ้าเว็บเหล่านั้นไม่เวอร์ค ให้คุณเข้าไปที่ google แล้วพิมพ์คำว่า sci-hub not working 2020 แล้วเอนเทอร์ คราวนี้มันจะมียูทูปแนะนำให้คุณถึงเว็บปลายทางที่จะไปหาอ่านเปเปอร์ได้ฟรีซึ่งยังไม่ถูกตำรวจจับ ณ เวลานั้น ซึ่งเว็บจะเปลี่ยนหน้าไปเรื่อยเพื่อหลบหนี แต่ถ้าตั้งใจตามไปที่วิดิโอยูทูปนี้ชี้ช่องให้ก็จะเข้าไปอ่านเปเปอร์ฟรีได้ทุกที
ผมไม่รู้จักคุณนะ ถ้าคุณต้องขึ้นศาลอย่าซัดทอดผมละ หิ หิ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
14 กันยายน 2563
เก็บตกจากครูโยคีอินเดีย
ผมเรียนวิชาโยคี (เรียนวิธีฝึกสมาธิวางความคิดสู่อิสรภาพจากความคิด ไม่ใช่เรียนโยคะห้อยโหนบริหารร่างกาย) กับครูที่เป็นโยคีชาวอินเดีย คอนเซ็พท์ที่เรียนมาบางเรื่องมีประโยชน์ จึงนำมาถ่ายทอดต่อไว้ให้แฟนบล็อกได้อ่านเท่าที่คิดขึ้นได้
เรื่องอาหาร
จะด้วยรู้ว่าผมเป็นหมอจึงสอนอย่างนี้ หรือมันเป็นวิชาดั้งเดิมของโยคีเขาอย่างนี้ก็ไม่ทราบ ครูสอนว่าอย่าเป็นคนบ้าอาหาร (food fanatic) เพราะอาหารไม่ใช่ศาสดา ไม่ใช่ศาสนา เป็นแค่สิ่งให้เลือกกิน ดังนั้นจึงควรกินตามความต้องการของร่างกาย โดยพื้นฐานโยคีกินแต่พืชไม่กินเนื้อสัตว์ แต่แม้จะกินแต่พืชตามหลักของโยคีก็ยังแบ่งอาหารพืชออกเป็นสามแบบ โดยจำแนกตามความสามารถในการเพิ่มพลังชีวิต (ปราณา) หมายความว่าเพิ่มความไวในรับรู้สื่อสารเชื่อมโยงกับสรรพชีวิต (sensitivity to life) เช่นเมื่อเราไปเดินในป่า ถ้าเราไม่สามารถรับรู้ความมีชีวิตของต้นไม้ ก็เท่ากับว่าตัวเราเองยังไม่มีพลังชีวิตมากพอ
อาหารทั้งสามแบบ ได้แก่ (1) อาหารเพิ่มพลังชีวิต (2) อาหารลดพลังชีวิต (3) อาหารไม่เพิ่มไม่ลดพลังชีวิต
1. อาหารเพิ่มพลังชีวิต ได้แก่ ใบพืช รากพืช ทุกพืช ทุกราก ทุกใบ ล้วนเป็นยาหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟักแฟงแตงกวา (ash gourd) แตงไทย แตงโม น้ำผึ้ง ผลไม้ ผัก อาหารทุกอย่างที่กินควรจะอยู่ในสภาพที่มีชีวิตหรือสดมากที่สุด แต่ยกเว้นพวก ถั่ว นัท ผลไม้แห้ง ซึ่งโยคีก็ชอบกินแม้จะไม่ใช่ของสด
3. อาหารไม่เพิ่มไม่ลดพลังชีวิต ได้แก่มันเทศ มันฝรั่ง
เรื่องสีและเสียง
ครูบอกว่าขณะที่สีทั้งปวงเกิดจากแม่สีสามสี ถ้าผสมทุกแม่สีให้สัดส่วนเท่ากันก็จะได้สีขาว เสียงก็เกิดจาก "แม่เสียง" สามเสียง คือ (1) อ้า (2) อู (3) อืม (ไม่ใช่ลิ้น) เมื่อผสมกันให้ทุกเสียงมีสัดส่วนเท่ากันก็จะออกมาเป็นเสียง "โอม" เมื่อเริ่มเปล่งเสียงอ้า ความสั่นสะเทือนจะเริ่มที่ท่อนล่างของร่างกายใต้สะดือลงไป พอใส่เสียงอูความสั่นสะเทือนจะย้ายมาอยู่ที่หน้าอก พอใส่เสียงอืมความสั่นสะเทือนก็ขึ้นมาอยู่ที่คอขึ้นไปถึงศีรษะ คือเมื่อเปล่งแม่เสียงครบสามเสียงทั้งร่างกายก็จะสั่นสะเทือนทั่วร่างกาย จากเสียงโอมนี้ ด้วยมีลิ้นอยู่ ก็สามารถเปลี่ยนแม่เสียงเป็นเสียงทุกเสียงได้
รากของแม่สีทั้งสามคือไม่เป็นสีอะไรเลย ฉันใดก็ฉันนั้น รากของเสียงโอมซึ่งมาจากแม่เสียงทั้งสามก็คือความเงียบ ความเงียบจึงเป็นพื้นฐานของเสียงทุกเสียง ความเงียบเป็นสภาวะหรือมิติที่มีพลังมากที่สุดของชีวิต ทุกชีวิตต้องได้กลับไปที่นั่นจึงจะมีพลัง การกลับไปสู่ความเงียบ ก็ด้วยการนอนหลับโดยไม่ฝัน และด้วยการเปล่งเสียงโอมแล้วให้เบาลง เบาลง เบาลง จนไม่มีเสียง แต่ความสั่นสะเทือนเล็กๆยังมีอยู่อย่างอัตโนมัติ ความเงียบเป็นเสียงที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง เป็นพื้นฐานของชีวิตทุกชีวิต แต่เป็นเสียงที่ไร้เสียง คือสั่นสะเทือนอยู่แต่หูไม่ได้ยิน
ทุกอย่างในจักรวาลนี้เป็นความสั่นสะเทือนเล็กในระดับเสียงที่ไร้เสียง ทุกสิ่งทุกอย่างมีการสั่นสะเทือนและมีเสียงที่เป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง แล้วสัมพันธ์กันขึ้นอย่างสอดประสานจงใจขึ้นมาเป็นจักรวาลนี้ เสมือนเวลาเราไปนั่งในป่าตั้งแต่ตอนค่ำถึงกลางดึก การเล่นออร์เคสตร้าของพวกแมลงซึ่งแต่ละตัวสร้างเสียงอย่างมีเอกลักษณ์ของตนเอง ตรงเวลาของตนเอง และสอดประสานกับเสียงอื่นๆอย่างจงใจ ทำให้ป่าทั้งป่าถูกบริหารโดยเสียงของเหล่าแมลง
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
13 กันยายน 2563
เป็นคุณหมอ วางแผนเลี้ยงลูกด้วยอาหารแบบวีแกน
สวัสดีค่ะ อ.หมอสันต์
หนูจบหมอตั้งแต่ปี 2555 ตอนนี้ลาออกมาเลี้ยงลูกค่ะ มีเรื่องที่คิดหนักมากๆเลยคือหนูอยากเลี้ยงลูกเป็นวีแกน แต่หนูกลัวลูกขาดอะไรรึป่าว ก็เลยว่าจะให้กินไข่แดงบ้าง อยากทราบว่า จำเป็นต้องกินไข่มั้ยคะ ปัจจุบัน อายุ10เดือน กิน 3 มื้อ ลูกกินดังนี้ค่ะ ( วนๆค่ะ)
– ถั่วหลากสีปั่น
– ข้าว ควีนัว ผสมแฟกซีด ขี้ม้อน
2 เมนูบน สลับกัน มาผสมกับ
– อะโวคาโด กล้วย ผลไม้สลับๆ
และให้หยิบกินเล่นด้วย ตามนี้
– ผักโขม บรอคโคลี ผักบุ้ง ฟักทอง
มะเขือเทศ มันหวาน แครอท
ล่าสุดหมอว่าซีดก็มีป้อนเหล็กเสริมบ้างค่ะ กับเสริม b12 spray(ผู้ใหญ่) แบ่งมาเสี้ยวนึง ประมาณเดือนละครั้งค่ะ อาจารย์มีอะไรแนะนำเพิ่มมั้ยคะ กับไข่แดงค่ะ อยากทราบว่าถ้าไม่ให้กินจำเป็นต้องเสริมอะไรมั้ยคะ
กราบขอบพระคุณค่ะ
…
ตอบครับ
ผมจะขอตั้งประเด็นตอบเพื่อให้ครอบคลุมทุกประเด็นที่ท่านผู้อ่านจำเป็นต้องนำไปใช้ในการเลี้ยงเด็กเลยนะ
ประเด็นที่ 1. เมื่อเราพูดถึงอาหารวีแกนและมังสวิรัติ มันมีข้อแตกต่างกันในรายละเอียด เพราะมันหมายถึงอาหารหลายแบบที่มีผลต่อการเติบโตพัฒนาการของเด็กแตกต่างกัน ผมจะลองแยกประเภทให้ดูนะ
ประเภที่ 1. มังกินปลา (pescovegetarian)
ประเภทที่ 2. มังกินไข่กินนม (lacto-ovovegetarian)
ประเภทที่ 3. มังกินนมไม่กินไข่ (lactovegietarian)
ประเภทที่ 4. พวกเจเขี่ย (flexitarian) คือกินอาหารทุกชนิดแต่พยายามเพิ่มส่วนที่เป็นพืชและลดส่วนเนื้อสัตว์ โดยเขี่ยเอาเนื้อสัตว์ออกไปให้มากที่สุด
ประเภทที่ 5. พวกวีแกน (vegan) คือไม่กินสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นเนื้อ นม ไข่ ไก่ ปลา หอย กรณีเป็น “เจ” ชนิดที่มีความเชื่อทางศาสนาหรือลัทธิเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็อาจจะแถมไม่กินอาหารหมักดองและผักหรือเครื่องเทศที่มีกลิ่นฉุนเช่นกระเทียม เป็นต้น
ประเภทที่ 6. พวกแมคโครไบโอติก ซึ่งคล้ายๆกับพวกเจ แต่ว่ามีข้อจำกัดในประเด็นความหลากหลายของอาหารพืชมากกว่า กล่าวคือในกลุ่มที่สุดโต่งไปด้านเข้มงวด 100% จะกินได้แต่ธัญพืชส่วนถั่วและงาจะกินไม่ได้
คำตอบของผมในวันนี้จะไม่รวมกลุ่มที่ 6 คือกลุ่มกินแมคโครไบโอติกสายฮาร์ดคอร์ที่ไม่ยอมกินถั่วและงา เพราะเป็นวิธีกินอาหารที่ปฏิบัติการเฉพาะในกลุ่มคนเล็กๆที่มีความเชื่อทางศาสนาจำเพาะเท่านั้นซึ่งกลุ่มคนดังกล่าวไม่มีอยู่ในประเทศไทย
ประเด็นที่ 2. ผลของอาหารวีแกนต่อเด็กวัยหลังหย่านม
งานวิจัยติดตามดูการเติบโตของเด็กส่วนใหญ่มักเหมาเข่ง “มังสวิรัติ” ไปอยู่เข่งเดียวกันหมดเพราะมันเป็นการยากที่จะแยกแยะเช่นเด็กกินไข่ปีละฟองสองฟองว่ายังจะนับเป็นวีแกนได้หรือเปล่า เป็นต้น ผลของงานวิจัยแบบเหมาเข่งเอามังสวิรัติทุกนิกายไปรวมอยู่ในเข่งเดียวกันเหล่านี้ล้วนให้ผลสรุปที่ตรงกันว่าการเติบโตและพัฒนาการของเด็กที่กินเนื้อสัตว์กับกินมังสวิรัติไม่แตกต่างกัน เช่นการวิจัยตามดูการเติบโตของเด็กกลุ่มกินมังสวิรัติกับกลุ่มกินเนื้อสัตว์ที่ประเทศอังกฤษพบว่าการเติบโตไม่ต่างกัน และพบว่าเด็กกินมังได้พลังงานจากอาหารพอเพียง อีกงานวิจัยหนึ่งงานวิจัยเปรียบเทียบความสูงของเด็กในโรงเรียนศาสนา(เซเวนเดย์แอดเวนทิส) ซึ่งกินมังจำนวน 870 คน กับโรงเรียนของรัฐซึ่งกินเนื้อสัตว์ 895 คน ที่เมืองโลมา ลินดา สหรัฐ พบว่าเด็กกินมังสวิรัติ (ซึ่งนับว่าถ้ากินเนื้อสัตว์ก็กินน้อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ถือว่ากินมัง) มีความสูงเฉลี่ยมากกว่าเด็กกินเนื้อสัตว์แบบไม่มังที่อายุเท่ากันและเรียนระดับชั้นเดียวกัน 2.5 ซม.กรณีเด็กชาย และ 2.0 ซม.กรณีเด็กหญิง ในขณะที่ในแง่ของความอ้วนนั้นเด็กที่กินมังสวิรัติมีอัตราอ้วนน้อยกว่า โดยที่เด็กทั้งหมดในทั้งสองกลุ่มล้วนมีการเติบโตปกติค่อนไปทางโตมาก (สูงกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 50) ทุกคน
อย่างไรก็ตาม ที่รัฐเทนเนสซี่ มีชุมชนที่จัดตั้งกันขึ้นมาโดยกลุ่มคนอเมริกันที่มีการศึกษาสูง มาอยู่ร่วมกันมาแล้วยาวนาน เรียกว่าชุมชน The Farm ใช้ชีวิตร่วมกันเป็นคอมมูนแบบผลิตพืชอาหารบริโภคเองและนับถือศาสนาที่ไม่กินเนื้อสัตว์เลย คือเป็น “วีแกน” แท้ๆ ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ (CDC) ได้เข้าไปทำงานวิจัยชื่อดังชื่อ FARM Study เพื่อสำรวจตามดูการเติบโตของเด็กกินอาหารวีแกน 404 คนที่กินอาหารวีแกนตั้งหย่านมและใช้ nutrition yeast เป็นแหล่งวิตามินบี.12 ขณะทำวิจัยเด็กเหล่านี้มีอายุ 4-10 ขวบ พบว่าเด็กเหล่านี้มีพัฒนาการทางร่างกายอยู่ในช่วงเปอร์เซ็นไทล์ที่ 25-75 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็แปลว่าปกติอยู่ตรงกลางๆไม่ผอมแห้งแรงน้อยเกินไปไม่อ้วนเกินไป ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าชุมชนนี้พ่อแม่เด็กล้วนมีการศึกษาสูงและรู้วิธีเสริมวิตามินที่อาจขาดแคลน
ดังนั้นผมตอบคุณได้ในภาพใหญ่ว่าเด็กที่กินมังสวิรัติทั้งแบบไม่แยกนิกายหรือแยกเฉพาะพวกวีแกนออกมาก็ตาม หลักฐานวิทยาศาสตร์เท่าที่มีถึงทุกวันนี้พบว่าหากรู้วิธีเสริมวิตามินที่อาจขาดแคลนโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินบี.12 อัตราการเติบโตและพัฒนาการของเด็กไม่แตกต่างจากเด็กที่กินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร
ประเด็นที่ 3. ปัญหาการขาดแคลนธาตุเหล็กถ้ากินไม่เป็น
การวิเคราะห์ทั้งอาหารพืชและอาหารเนื้อสัตว์พบว่าต่างอุดมด้วยเหล็กทั้งสิ้น โดยที่เหล็กในเนื้อสัตว์จับอยู่กับโมเลกุลฮีม (heme iron) ซึ่งร่างกายดูดซึมเข้าไปใช้ได้ง่าย ขณะที่เหล็กในพืชอยู่ในรูปของเหล็กอิสระ (non heme iron) ซึ่งร่างกายดูดซึมไปใช้ตรงๆได้น้อย ต้องอาศัยวิตามินซี.เป็นตัวพาเข้าไป ดังนั้นถ้าไม่กินอาหารอุดมวิตามินซี.ในมื้ออาหารนั้นด้วยก็อาจจะดูดซึมเหล็กได้น้อย นอกจากนั้นเหล็กอิสระยังอาจจะถูกไฟเตทซึ่งเป็นโมเลกุลในเส้นใยอาหารดึงไม่ให้เหล็กถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่ายๆอีกด้วย นอกจากนั้นอีกที ยังอาจจะถูกสารแทนนินในน้ำชาหรือกาแฟจับไว้ไม่ให้ถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดอีกด้วย ดังนั้นหากกินอาหารแล้วกลั้วตามด้วยชากาแฟทันทีก็มีโอกาสได้เหล็กน้อยลงไปอีก ดังนั้นหากกินอาหารวีแกนก็ควรจะพิถีพิถันให้มีอาหารอุดมธาตุเหล็ก (ถั่ว นัท ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท) โดยกินควบกับอาหารอุดมวิตามินซี. (ผลไม้ต่างๆ)ในมื้อเดียวกัน เพื่อให้วิตามินซีเป็นตัวพาเหล็กอิสระเข้าสู่ร่างกาย และระวังไม่ดื่มชากาแฟตามหลังอาหารหลักทันที
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเชิงระบาดวิทยายุคปัจจุบันนี้เพื่อเปรียบเทียบความชุกของโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในคนกินเนื้อสัตว์ กับคนกินมังสวิรัติพบว่าต่างเป็นโรคโลหิตจางชนิดเกิดจากการขาดธาตุเหล็กไม่ต่างกัน
เช่นเดียวกัน งานวิจัยระดับเหล็กที่อยู่ในรูปของการจับกับโปรตีน (ferritin) ของคนกินเนื้อสัตว์และกินมังสวิรัติต่างก็มีระดับ ferritin ในเลือดปกติทั้งคู่ เพียงแต่ว่าคนกินมังสวิรัติมีระดับต่ำกว่าคนกินเนื้อสัตว์มีค่าปกติไปทางสูงแต่ของคนกินมังสวิรัติมีค่าปกติไปทางต่ำ โดยที่ความแตกต่างนี้ไม่มีนัยสำคัญทางคลินิกแต่อย่างใด
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการกินอาหารมังสวิรัติไม่ได้เป็นสาเหตุให้ขาดธาตุเหล็ก
ประเด็นที่ 4. โอกาสขาดโปรตีน
ร่างกายของสัตว์ทุกชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นอาหารหลักของเราเช่น หมู วัว ล้วนไม่สามารถผลิตกรดอามิโนจำเป็น (essential amino acid) ขึ้นใช้งานเองได้ ต้องเอามาจากอาหาร เพราะพืชเป็นผู้ผลิตกรดอามิโนจำเป็นที่แท้จริง เนื่องจากมนุษย์กินทั้งสัตว์และพืชจึงได้โปรตีนจากทั้งสัตว์และพืช กรณีที่กินอาหารแบบวีแกน ก็มีโอกาสได้กรดอามิโนจำเป็นครบเพราะพืชหลายชนิดมีกรดอามิโนจำเป็นครบถ้วนในตัวมันเอง เช่น ถั่วเหลือง งา คีนัวร์ เป็นต้น
แม้ว่าพืชส่วนใหญ่จะมีกรดอามิโนจำเป็นไม่ครบ แต่ธรรมชาติของมีคุณสมบัติพิเศษคือสามารถเลือกเอาของจำเป็นจากทางโน้นนิดทางนี้หน่อยมาประกอบกันแล้วใช้งานครบถ้วนได้ ดังนั้นการกินอาหารพืชที่หลากหลายก็ทำให้ได้รับกรดอามิโนจำเป็นครบถ้วนโดยปริยาย จนถึงวันนี้ยังไม่เคยมีหลักฐานทางการแพทย์ชิ้นใดบ่งชี้ว่าการกินอาหารมังสวิรัติหรือวีแกนที่มีพืชหลากหลายจะทำให้ป่วยเป็นโรคขาดโปรตีน
ส่วนการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและน้ำหนักลดหรือผอมลงนั้นมีสาเหตุหลักอยู่ที่การได้รับแคลอรีจากอาหารน้อยเกินไป จนร่างกายต้องสลายเอากล้ามเนื้อมาเผาผลาญเป็นพลังงาน ดังนั้นการแก้ปัญหาน้ำหนักลดหรือดัชนีมวลกายต่ำผิดปกติต้องโฟกัสที่การเพิ่มอาหารให้แคลอรี่ให้มากพอก่อน ร่างกายจึงจะสามารถเพิ่มน้ำหนักได้
ประเด็นที่ 5. อาหารมาโครไบโอติกแบบจำกัดถั่วและงาไม่เหมาะกับเด็ก
มีหลักฐานจากทางเนเธอแลนด์ว่าเด็กที่เลี้ยงดูด้วยอาหารมาโครไบโอติกแบบเข้มงวดจำกัดถั่วและงา ให้กินแต่ธัญพืชเป็นหลัก พบว่า 58% ของเด็กเหล่านั้นได้รับโปรตีนไม่ถึง 80% ของที่แนะนำว่าควรได้ต่อวัน (RDA) อีกงานวิจัยหนึ่งทำที่เนเธอร์แลนดเช่นกันเด็กเล็กที่กินมังแบบแมคโครไบโอติกแบบเข้มงวดขาดธาตุเหล็กมากกว่าเด็กกินเนื้อ อีกงานวิจัยหนึ่งพบว่าเด็กที่กินอาหารมาโครไบโอติกแบบเข้มงวดจะขาดวิตามินบี.12 ถึงระดับที่ส่งผลต่อพัฒนาการของระบบประสาท
ประเด็นที่ 6. อาหารวีแกนที่ทดแทนวิตามินใช้กับเด็กได้ตั้งแต่หลังหย่านม
งานวิจัยในเด็กตั้งแต่หลังหย่านมที่กินมังสวิรัติหรือวีแกนที่ได้รับการทดแทนวิตามินบี.12 เพียงพอ พบว่าอัตราการเติบโตไม่ได้ต่างจากเด็กปกติ ผมจะยกตัวอย่างมาไว้ที่นี้สองงานวิจัยคือ
งานวิจัยที่1. เป็นการสำรวจเด็กกินมังแบบไขมันต่ำหลังหย่านม 51 คนที่อะริโซนาโดยดร.สตีเว่น โกลเบิร์กและดร.เกลน ฟรีดแมน ตีพิมพ์ไว้ในวารสารกุมารเวช (J of Pediatrics) ปีค.ศ. 1976 พบว่าเมื่อเด็กเหล่านี้มีอายุถึง3 ปี ก็ยังมีอัตราการเติบโตเท่ากับเด็กหสรัฐทั่วไปที่กินเนื้อและดื่มนมวัว
งานวิจัยที่ 2. ทำในเด็กก่อนวัยเรียนที่ใต้หวัน ดูเด็กที่กินมังสวิรัติ 42 คนเทียบกับที่กินเนื้อ 56 คน โดยวัดความสูงและดัชนีมวลกาย วัดความหนาผิวหนังหลังแขน เจาะเลือดดูสารอาหาร พบว่าทั้งสองกลุ่มมีดัชนีการเติบโตทุกตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ประเด็นที่ 7. เด็กหลังหย่านมหากจะให้กินวีแกนควรให้กินไข่แดงไหม
ประเด็นนี้ไม่มีงานวิจัยที่จะตอบตรงๆได้ว่าการเสริมไข่แดงหรือนมให้เด็กที่กินอาหารวีแกนหลังหย่านมจะดีกว่าอยู่เปล่าๆหรือไม่ ผมจึงไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ ตรงนี้มันเป็นย่านที่ปลอดข้อมูล เอาเป็นว่าคุณชอบแบบไหนเอาแบบนั้นก็แล้วกัน
ประเด็นที่ 8. เด็กที่ยังไม่หย่านมจะกินอาหารวีแกนควบได้ไหม
หลักวิชาแพทย์ปัจจุบันนี้ถือว่านมแม่เป็นอาหารอย่างเดียวก็พอแล้ว จนอายุถึงวัยหย่านมคืออย่างเร็วก็ 6 เดือนเป็นต้นไป หลังจากนั้นจึงจะให้เริ่มอาหารแข็ง แต่ในชีวิตจริงอาหารเสริมสำหรับเด็กวัยก่อน 6 เดือนมีขายเกลื่อนตลาดและขายดีด้วยเพราะแม่ที่เอาแต่ทำมาหากินไม่มีเวลาหรือไม่นิยมให้น้ำนมลูก วงการแพทย์ไม่มีข้อมูลหรอกว่าอาหารแข็ง (เสริมกับนมแม่) เหล่านั้นแบบไหนดีกว่าแบบไหน รู้แต่ว่าหากให้ดื่มนมวัวตั้งแต่อายุน้อยเด็กจะเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 1 (ซึ่งเป็นโรคในกลุ่มภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง) มากขึ้นกว่าเมื่อไม่ให้ดื่มนมวัว ดังนั้นช่วงให้นมแม่ไม่ควรให้ดื่มนมวัวหรืออาหารเสริมใดๆ แต่หากจำเป็นต้องให้เพราะมีเหตุให้นมแม่ไม่ได้ก็ควรจะเป็นอาหารธรรมชาติมากกว่านมวัว ส่วนจะเป็นอาหารธรรมชาติแบบมีเนื้อสัตว์หรือแบบวีแกน แบบไหนดีกว่ากัน ตรงนี้ยังไม่มีใครทราบ คุณต้องตัดสินใจเอาเอง
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
1. O’Connell JM, Dibley MJ, Sierra J, Wallace B, Marks JS, Yip R. Growth of vegetarian children: The Farm Study. Pediatrics. 1989 Sep; 84(3):475-81.
2. Nathan I, Hackett AF, Kirby S. A longitudinal study of the growth of matched pairs of vegetarian and omnivorous children, aged 7-11 years, in the north-west of England. Eur J Clin Nutr. 1997 Jan; 51(1):20-5.
3. Sabaté J1, Lindsted KD, Harris RD, Sanchez A. Attained height of lacto-ovo vegetarian children and adolescents. Eur J Clin Nutr. 1991 Jan;45(1):51-8.
4. Dagnelie PC, van Staveren WA. Macrobiotic nutrition and child health: results of a population-based, mixed-longitudinal cohort study in The Netherlands. Am J Clin Nutr. 1994 May; 59(5 Suppl):1187S-1196S.
5. Roberts IF, West RJ, Ogilvie D, Dillon MJ. Malnutrition in infants receiving cult diets: a form of child abuse. Br Med J. 1979 Feb 3; 1(6159):296-8.
6. van Dusseldorp M, Schneede J, Refsum H, Ueland PM, Thomas CM, de Boer E, van Staveren WA. Risk of persistent cobalamin deficiency in adolescents fed a macrobiotic diet in early life. Am J Clin Nutr. 1999 Apr; 69(4):664-71.
7. Yen CE1, Yen CH, Huang MC, Cheng CH, Huang YC. Dietary intake and nutritional status of vegetarian and omnivorous preschool children and their parents in Taiwan. Nutr Res. 2008 Jul;28(7):430-6. doi: 10.1016/j.nutres.2008.03.012.
8. Sanders TAB. Growth and development of British vegan children. Am J Clin Nutr. 1988;48:822–5. [PubMed] [Google Scholar]
9. Sabaté J, Lindsted K, Harris RD, Johnston PK. Anthropometric parameters of schoolchildren with different life-styles. Am J Dis Child. 1990;144:1159–63. [PubMed] [Google Scholar]
10. Sanders TA, Reddy S. Vegetarian diets and children. Am J Clin Nutr. 1994;59:1176S–81S. [PubMed] [Google Scholar]
11. Paronen J, Knip M, Savilahti E, Virtanen SM, Ilonen J, Akerblom HK, et al. Effect of cow’s milk exposure and maternal type 1 diabetes on cellular and humoral immunization to dietary insulin in infants at genetic risk for type 1 diabetes. Finnish Trial to Reduce IDDM in the Genetically at Risk Study Group. Diabetes. 2000 Oct. 49(10):1657-65.
12. Lempainen J, Tauriainen S, Vaarala O, Mäkelä M, Honkanen H, Marttila J, et al. Interaction of enterovirus infection and cow’s milk-based formula nutrition in type 1 diabetes-associated autoimmunity. Diabetes Metab Res Rev. 2012 Feb. 28(2):177-85.