03 ตุลาคม 2567

อายุ 70 ปีถูกคนในบ้านไล่ให้ไปฉีดวัคซีนไข้เลือดออก

เรียนอาจารย์หมอสันต์ ที่นับถือ

ขอเรียนถามเรื่อง วัคซีน ป้องกันไข้เลือดออกค่ะ อายุ 70 ปี เคยป่วยเปนไข้เลือดออกแล้วเมื่อประมานอายุ 50 ปี เวลานี้ทุกคนในครอบครัวรบเร้าให้ไปฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก เพราะเขาบอกว่าถ้าเปนครั้งที่สองตอนอายุมากจะรักษาไม่ได้ค่ะ
เรียนถาม  ค่ะ ดิฉัน ควรฉีดไหมคะ และสมาชิกในครอบครัว สามี 72 ลูก 41ปี และ 36 ปี จำเป็นต้องฉีดด้วยไหมคะ      และมีผล อาการข้างเคียง ข้อห้าม ระวังอะไรบ้างคะ 
ด้วยความเคารพ และนับถือ ขอบพระคุณมากค่ะ
..... Sent from my iPhone

.........................................
ดอกขมิ้นชันบ้านหมอสันต์


ตอบครับ

    ก่อนตอบคำถามนี้ผมขอแจ้งข่าวก่อนว่าบริษัทซาโนฟีปาสเตอร์ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนไข้เลือดออกที่เชื่อถือได้และมีผลวิจัยดีที่สุดชื่อวัคซีน Dengvaxia  ได้ประกาศเลิกผลิตวัคซีนนี้สำหรับเด็กเสียแล้ว ด้วยเหตุผลว่าผลิตมาแล้วขายไม่ออก อย่างไรก็ตามยังมีวัคซีนไข้เลือดออกอีกตัวหนึ่งของบริษัททาเคดะชื่อวัคซีน Qdenga ซึ่งยังผลิตขายอยู่ แต่ไม่รู้ธุรกิจจะไปได้อีกนานเท่าไร มีอีกบริษัทหนึ่งในอเมริกาผลิตวัคซีนนี้ออกมาเช่นกันแต่การวิจัยยังไม่จบ จึงยังใช้ไม่ได้

    มูลเหตุที่วัคซีนไข้เลือดออกเด็กขายไม่ออกนั้น ผมเดาเอาว่าเป็นเพราะวัคซีนนี้ห้ามใช้ในเด็กที่ไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน เพราะหากเอาไปฉีดให้เด็กที่ไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อนจะมีความเสี่ยงที่วัคซีนจะทำให้เด็กที่ได้วัคซีนแล้วไปติดเชื้อไข้เลือดออกเข้าจะติดแบบรุนแรงมากกว่าเด็กที่ไวัคซีนหลอกเสียอีก  

    คำแนะนำมาตรฐานของศูนย์ควบคุมโรครัฐบาลสหรัฐ (CDC) ยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้เลือดออกเฉพาะในคนอายุ 9-16 ปีที่อยู่ในละแวกที่โรคชุม (เช่นเมืองไทย) และเคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาอย่างน้อยครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งการจะบอกว่าใครเคยติดเชื้อมาแล้วนี้ต้องมีหลักฐานการเจาะเลือดพบว่าติดเชื้อแน่นอนมายืนยันหมอเขาจึงจะกล้าฉีดให้ ไม่งั้นหากเกิดอะไรขึ้นหมอคนนั้นก็..เสร็จ คำแนะนำของ WHO ให้ฉีดในคนอายุ 6-19 ปี แต่ผมประเมินหลักฐานวิจัยด้วยตัวผมเองแล้วเห็นด้วยกับคำแนะนำของ CDC ที่ให้ฉีดในคนอายุ 9-16 ปีมากกว่า

    เอาละ คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

    1. ถามว่าอายุ 70 ปี เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาแล้ว ควรฉีดวัคซีนไข้เลือดออกไหม ตอบว่าไม่ว่าจะเคยหรือไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาแล้ว หากอายุเกิน 16 ปีก็ "ไม่ควร" ฉีดวัคซีนนี้ครับ แม้ว่าวัคซีนนี้ตอนออกมาใหม่ๆจะได้รับอนุมัติให้ใช้ในคนอายุ 9-45 ปีก็ตาม แต่นับถึงวันนี้ยังไม่มีงานวิจัยแม้แต่ชิ้นเดียวที่จะยืนยันว่าคนอายุมากกว่า 16 ปีจะได้ประโยชน์อะไรจากวัคซีนนี้ 

คำแนะนำของผมนี้เป็นไปตามคำแนะนำของ CDC ซึ่งแตกต่างจากคำแนะนำของ WHO ที่ได้ขยายอายุผู้รับการฉีดที่มีโรคร่วม (ที่จะเกิดเลือดออกรุนแรงหากติดเชื้อไข้เลือดออก เช่นเช่นโรคทาลาสซีเมีย เบาหวาน ความดัน โรคลำไส้ใหญ่อักเสบแบบมีแผล เป็นต้น) ออกไปถึง 60 ปี ที่ผมไม่เอาตาม WHO ก็เพราะการขยายอายุผู้รับการฉีดของ WHO เป็นการคาดเดาความเสี่ยง (ว่าคนมีโรคร่วมหากติดโรคแล้วจะแรง) โดยไม่มีหลักฐานวิจัยที่เชื่อถือได้มายืนยันเลย และไม่มีข้อมูลวิจัยในคนอายุเกิน 16 ปีเลยด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับคุณ ไม่ว่าจะใช้มาตรฐานไหน คุณอายุ 70 ปีแล้วล้วนไม่มีข้อบ่งชี้ให้ต้องฉีดวัคซีนอยู่ดี ไม่ว่าคุณจะมีโรคร่วมหรือไม่มี 

    2. ถามว่าวัคซีนไข้เลือดออกฉีดแล้วมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง ตอบว่าเรารู้แต่ผลข้างเคียงในเด็ก (เพราะวัคซีนนี้ไม่มีข้อบ่งชี้ให้ใช้ในผู้ใหญ่) ว่าผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดคือ เจ็บปวดคันตรงที่ฉีด ปวดหัว หมดแรง ไม่สบาย เป็นอยู่สองสามวัน แต่บางคนเป็นลมหมดสติก็มี และหากอยู่ไกลปืนเที่ยง หากแพ้วัคซีนแบบรุนแรงก็ตายได้เหมือนกัน

    3. ถามว่าวัคซีนนี้มีประโยชน์กับใครอย่างไรบ้าง ตอบว่ามันมีประโยชน์เฉพาะกับคนอายุ 9-16 ปีที่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาแล้ว ในแง่ที่วัคซีนจะช่วยป้องกันการ ขณะที่เด็กอายุ 9-16 ปีวัคซีนนี้มีประสิทธิผลในการลดการป่วยถึงระดับมีอาการได้ 65.6% ลดการป่วยถึงระดับรับไว้รักษาในรพ. 80.8% ลดการป่วยระดับรุนแรงได้ 93.2% โดยป้องกันการป่วยด้วยหลายสายพันธ์ (ครบสี่สายพันธุ์กรณีวัคซีน Denvaxia ได้ผลสามสายพันธุ์กรณีวัคซีน Qdenga) และมีผลป้องกันเป็นเวลานานอย่างน้อยก็ 6 ปี โปรดสังเกตว่าไม่ใช่ป้องกันได้ 100% นะ เพราะมีผู้ฉีดวัคซีนจำนวนหนึ่งที่เชื้อสามารถเจาะม่านคุ้มกันของวัคซีนเข้ามาก่อโรคได้อยู่ (vaccine breakthrough)

    4. ข้อนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมแถมให้ ว่าเรื่องวัคซีนไข้เลือดออกนี้ท่านผู้อ่าน โดยเฉพาะท่านผู้อ่านที่มีอายุต่ำกว่า 9 ปี หรืออายุสูงเกิน 16 ปี ว่าควรระมัดระวังไม่บุ่มบ่ามตัดสินใจตามคำเชียร์ของใคร เพราะมันเป็นเรื่องลึกซึ้งซับซ้อน กลไกการสร้างภูมิคุ้มกันและการป่วยของโรคไข้เลือดออกก็ซับซ้อนไม่เหมือนโรคติดเชื้ออื่นๆ กล่าวคือการติดเชื้อครั้งแรกมักไม่มีอาการและไม่รุนแรง แต่มารุนแรงเอาตอนครั้งที่สอง ข้อมูลเรื่องจังหวะหรืออายุที่จะให้วัคซีนจึงสำคัญและวงการแพทย์ก็ยังไม่รู้จริง ถ้าฉีดวัคซีนไม่ถูกจังหวะ ตัววัคซีนนั่นแหละจะเป็นตัวทำให้ป่วยจนต้องเข้านอนโรงพยาบาลเสียเอง อย่างเช่นข้อมูลในงานวิจัยก็ชัดว่าวัคซีนนี้ถ้าฉีดให้เด็กอายุ 2-5 ขวบที่ไม่ได้ติดเชื้อมาก่อน จะทำให้เด็กป่วยเป็นไข้เลือดออกถึงขั้นต้องเข้านอนรพ.มากกว่าเด็กที่ได้วัคซีนหลอกเสียอีก ส่วนผู้ใหญ่อายุเกิน 16 ปีไม่ว่าจะมีโรคร่วมหรือไม่มีก็ล้วนไม่มีข้อมูลประสิทธิผลของวัคซีนที่เชื่อถือได้เลย เพราะทุกงานวิจัยไม่ว่าจะใช้วัคซีนยี่ห้อไหนก็ล้วนทำวิจัยในคนอายุไม่เกิน 16 ปีทั้งสิ้น 


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Egger JR, Paul G. Coleman. Age and Clinical Dengue Illness. Emerg Infect Dis. 2007 June; 13(6): 924–927.
2. Capeding M.R. et.al, Clinical efficacy and safety of a novel tetravalent dengue vaccine in healthy children in Asia: a phase 3, randomised, observer-masked, placebo-controlled trial ; Volume 384, Issue 9951, 11–17 October 2014, Pages 1358–1365.
3. Villar L, Dayan GH, Arredondo-Garcia JL, Rivera DM, Cunha R, Deseda C et al. Efficacy of a tetravalent dengue vaccine in children in Latin America. N Engl J Med. 2015.
4.  Hadinegoro, Sri Rezeki S., et al. Efficacy and Long-Term Safety of a Dengue Vaccine in Regions of Endemic Disease Integrated Analysis of Efficacy and Interim Long-Term Safety Data for a Dengue Vaccine in Endemic Regions. July 27, 2015DOI: 10.1056/NEJMoa1506223.
5. QDENGA. Summary of product characteristics. European Medicines Agency (https:// www.ema.europa.eu/en/medicines/human/EPAR/qdenga, accessed April 2024). 
6. Tricou V et al. Long-term efficacy and safety of a tetravalent dengue vaccine (TAK003): 4·5-year results from a phase 3, randomised, double-blind, placebo-controlled trial. Lancet Glob Health. 2024; 12(2):e257–e270. doi:10.1016/S2214- 109X(23)00522-3.
..................................
[อ่านต่อ...]

หมอสันต์ไร้สาระ 2 กิจวัตรยามเช้า

 

[อ่านต่อ...]

ทำบอลลูนแล้วเจ็บหน้าอกใจสั่น คนอื่นเป็นแบบนี้ไหม

 เรียนคุณหมอสันต์



พอดีผมอ่านเวปบล็อค ของคุณหมอมาครับ ผมมีปัญหาไขมันสูง รู้สึุกวูบตอนออกจากเล่นกีฬาตอนพักใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ชา ตะคริว มือเท้าเย็น ตอนนี้ผมอายุ 41 ครับ ไปฉีดสีแล้วพบว่าเส้นเลือดตีบคุณหมอเลยแนะนำให้ทำบอลลูนครับ ผมมีเรื่องยากปรึกษาคุณหมอครับเรื่องเกี่ยวกับการทำบอลลูน พอดีผมมีผลข้างเคียงของการทำมา ครับ ผมทำมาได้ 7 วันตีบไปสองเส้น อาการหลังทำวันที่ 3-5 มีอาการความดันขึ้นลงใจสั้น มือเท้าเย็น กล้ามเนื้อกระตุก และ หายใจไม่ปกติเหมือนก่อนครับ จนต้องเข้าแอดมิทดูอาการอีกรอบ1 คืน อาการเป็นๆหาย จนอาการดีขึ้นเมื่อวัน 5 ตอนอยู่บ้านครับ ผมอ่านเวปของคุณหมอ ได้ความรู้เพิ่มอีกเยอะครับ อาการ ณ ตอนนี้ หลังทำผ่านไป 6 วันอาการใจสั่นไม่เป็นจังหวะความดันสวิงหายไปครับ แต่ยังมีอาการของการเจ็บหน้าอกใจสั่น 1-2 ครั้ง บางครั้งไอรวมด้วย บางครั้งมีอาการเรอ เมื่อเราหายใจลึกหรือออกแรงครับ ตอนผมพิมพ์ส่งเมล์ถามคุณหมอก็มีอาการครับ 

ไม่ทราบว่ามีคนไข้ของคุณหมอเป็นเหมือนผมไหมครับ ขอบพระคุณๆหมอ สันต์ ใจยอดศิลป์  มากๆครับ
...................................

ตอบครับ

    1. ถามว่าไปทำบอลลูนมาแล้วมีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก ไอ คนอื่นเขาเป็นแบบนี้บ้างไหม ตอบว่าทั้งหมดที่คุณเล่ามานั้นเป็นภาวะแทรกซ้อนของการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งคนอื่นเขาก็เป็นกันบ้าง กล่าวคือ
    1.1 อาการเจ็บหน้าอกหลังทำบอลลูน (post PCI chest pain - PPCP) พบว่าเกิดได้ 41.9%  
    1.2 อาการใจสั่นที่เกิดจากการเต้นผิดปกติของหัวใจชนิดรุนแรง (VT หรือ VF) ซึ่งหากไม่รักษาจะถึงตายได้ พบประมาณ 8.9% นี่ไม่นับใจสั่นแบบไร้สาระเช่นโรค ปสด. ซึ่งพบแทบจะทุกรายหลังทำบอลลูน

    2. ถามว่าเมื่อเป็นอย่างนี้แล้วควรจะทำอย่างไรต่อไป ตอบว่าก็ต้องสืบค้นหาสาเหตุที่แน่ชัดของอาการหลังการทำบอลลูนนั้น เช่นอาการเจ็บหน้าอกก็ต้องประเมินว่ามีภาวะหัวใจขาดเลือดของเก่าค้างหรือของใหม่จากลิ่มเลือดอุดตันขดลวดไหม หรืออาการใจสั่นก็ต้องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจซ้ำดูใหม่บ่อยๆครั้งว่ามันเป็นการเต้นผิดปกติชนิดไหน ซึ่งควรต้องทำโดยหมอที่เขาทำบอลลูนให้ จะถามหมอสันต์ทางไปรษณีย์ว่าทำไงต่อดีหมอสันต์คงตอบไม่ได้เพราะข้อมูลรายละเอียดของตัวคุณผมไม่มี ผมจะมีรายละเอียดและแนะนำแผนการรักษาขั้นละเอียดได้ก็เฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยมาเข้าแค้มป์พลิกผันโรคด้วยตัวเอง (RDBY) เท่านั้นเพราะได้เห็นตัว ได้ตรวจร่างกาย ได้ตรวจหลักฐานทั้งหมดอย่างละเอียด ดังนั้น สำหรับของผมแนะนำให้เกาะติดปรึกษากับหมอที่เขาทำบอลลูนให้ ก่อนไปพบหมอให้จดข้อสงสัยหรือเรื่องที่ไม่สบายใจไปถามเป็นข้อๆทุกครั้งที่พบกันจะได้ไม่ลืม หารือและตัดสินใจร่วมกับหมอว่าจะทำอย่างไรต่อไป

     3. ข้อนี้คุณไม่ได้ถาม แต่หมอสันต์แถมให้ เผื่อคนที่กำลังจะทำบอลลูนจะได้เอาไปใช้ประโยชน์ประกอบการตัดสินใจ ว่าการทำบอลลูนนั้นมันไม่ใช่ทำแล้วจบเลย มันมีประเด็นที่ต้องตระหนักดังนี้
    3.1 มันมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ ที่ถึงตายก็มี 0.5-2.5% ที่คางเหลืองคือไม่ตายแต่เลี้ยงไม่โตก็มีสารพัดแบบ สุดแล้วแต่ว่าจะเป็นภาวะแทรกซ้อนทางสมอง ทางหัวใจ หรือทางไต เป็นต้น
    3.2 มันต้องกินยาไปตลอดชีวิต อย่างน้อยยาต้านเกล็ดเลือดก็ต้องกินไปตลอดชีวิต ไม่กินก็จะเกิดความเสี่ยงจากการมีขดลวดอยู่ในหลอดเลือดไปกระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือดขึ้น
    3.3 ขดลวดหรือ stent นี้หมอเขารับจ้างเอาใส่เข้าไปอย่างเดียว เขาไม่รับจ้างเอาออก เอาใส่แล้ว หากไม่ชอบใจ จะเอาออกนั้นเป็นไปไม่ได้
    3.4 หลังการทำบอลลูนแล้วชีวิตจะถูกบังคับให้เปลี่ยนไป อย่างน้อยก็ต้องไปพบหมอทุกระยะจะถี่กี่เดือนก็แล้วแต่หมอจะนัด จะต้องมีการปรับยาเพิ่มยาลดยากันเรื่อยไป ส่วนใหญ่จะเป็นไปทางเพิ่มมากกว่าทางลด
    3.5 เป็นข้อสำคัญที่สุด คือบอลลูนไม่ใช่วิธีรักษาโรคหัวใจขาดเลือดให้หาย เป็นแค่วิธีบรรเทาอาการของโรค คืออาการเจ็บหน้าอก ส่วนโรคนั้นจะดำเนินรุดหน้าต่อไป การจะทำให้โรคหาย ต้องเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต อันได้แก่เปลี่ยนอาหารเป็นอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว (โดยเฉพาะเนื้อสัตว์) ต่ำ มีแคลอรี่ต่ำ มีกาก (คือพืช) มาก เปลี่ยนนิสัยการออกกำลังกายและการจัดการความเครียด ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่มีใครมาทำให้ ตัวเราต้องทำเอง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Chang CC, Chen YC, Ong ET, Chen WC, Chang CH, Chen KJ, Chiang CW. Chest pain after percutaneous coronary intervention in patients with stable angina. Clin Interv Aging. 2016 Aug 18;11:1123-8. doi: 10.2147/CIA.S103605. PMID: 27574412; PMCID: PMC4993255.
2. Rymer JAWegermann ZKWang TY, et al. Ventricular Arrhythmias After Primary Percutaneous Coronary Intervention for STEMI. JAMA Netw Open. 2024;7(5):e2410288. doi:10.1001/jamanetworkopen.2024.10288
...........................
[อ่านต่อ...]

02 ตุลาคม 2567

01 ตุลาคม 2567

รักษาโรคนอนกรนด้วย CPAP จะผิดธรรมชาติหรือเปล่า

 กราบเรียนคุณหมอสันต์ที่นับถือ

    ดิฉันอยากเรียนสอบถามความคิดเห็นต่อเรื่อง sleep apnea แนวทางการวินิจฉัย  การรักษาซึ่งดูแล้วมันขัดกับวิถีทางตามธรรมชาติ การใส่เครื่องมือ ไม่แน่ใจว่าเรียก CPAP ใช่หรือไม่ค่ะ ครอบจมูก มีสายรัดให้กระชับกับศีรษะ ว่าจะรบกวนความนอนสบายๆแบบธรรมชาติค่ะ  เห็นเพื่อนใส่ บอกว่าข่วงแรกลำบากมาก นอนหลับไม่สนิทเป็นเดือนค่ะ

ขอแสดงความนับถือเป็นอย่างสูงค่
---------------------
ส่งจาก iPhone ของฉัน


ตอบครับ

    1. ถามว่าการวินิจฉัยโรคนอนกรน (Obstructive Sleep Apnea - OSA) ทำอย่างไร ตอบว่ามาตรฐานทั่วไปก็ต้องทำการตรวจใน sleep lab ซึ่งหมายถึงให้เข้าไปนอนหลับในห้องนั้นหนึ่งคืนแล้ววัดความถี่ของดัชนีรบกวนการนอนหลับ (respiratory disturbance index - RDI) หากพบว่าเกิดมากกว่า15 ครั้ง/ชั่วโมงขึ้นไปในกรณีทั่วไป หรือ 5 ครั้ง/ชั่วโมงขึ้นไปในกรณีที่มีอาการกรนหรือง่วงกลางวันหรือมีโรคที่เป็นสาเหตุร่วม ก็วินิจฉัยว่าเป็นโรคนอนกรนได้ครับ

    2. ถามว่าการรักษาโรคนอนกรนด้วยการให้ใส่งวงช้าง (continuous positive airway pressure - CPAP) จะไม่ขัดกับธรรมชาติหรือ ตอบว่า สมมุติว่าคุณเป็นต้อกระจกอ่านหนังสือพิมพ์ไม่ได้แล้วหมอเขาผ่าตัดเอาเลนส์เทียมใส่ให้แล้วอ่านได้ มันเป็นการรักษาแบบผิดธรรมชาติหรือเปล่าละครับ

    การเป็นโรคนอนกรน แปลว่าร่างกายทำงานผิดไปจากสะเป๊คดั้งเดิมของมัน กล่าวคือเดิมลมหายใจวิ่งเข้าออกได้สะดวก แต่ต่อมาจะด้วยอ้วนเกินไปหรือจะด้วยอะไรก็แล้วแต่ลมหายใจมันเกิดวิ่งเข้าออกไม่สะดวกเพราะเนื้อเยื่อช่วงบนของปากและลำคอมันยวบลงมาอุดกั้นทางเดินลมหายใจ นี่เป็นเรื่องผิดธรรมชาติแล้ว การรักษาก็ต้องพยายามแก้ให้ลมหายใจมันวิ่งเข้าออกได้อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งมีหลายวิธีทั้งลดความอ้วน ทั้งฝึกการนอนแบบตะแคง ทั้งทำผ่าตัด ทั้งใส่อุปกรณ์ยัดเข้าไป ทั้งใช้ CPAP ทั้งหมดนี้วิธีใช้ CPAP เป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด

    3. ถามว่าจมูกเค้าโล่งอยู่ดีๆเอา CPAP ไปครอบไว้มันจะยิ่งทำให้หายใจไม่ออกไม่ใช่หรือ ตอบว่าไม่ใช่หรอกครับ การหายใจนี้ร่างกายทำขึ้นเพื่อให้ออกซิเจนเข้าไปในเลือดได้มากพอ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการแลกเปลี่ยนออกซิเจนที่ถุงลมในปอด (alveoli) การแลกเปลี่ยนนี้เกิดขึ้นตลอดเวลาทั้งช่วงหายใจเข้าและช่วงหายใจออก ช่วงหายใจออกหากระบบการหายใจไม่แข็งแรงถุงลมในปอดจะแฟบทำให้แลกเปลี่ยนก้าซได้น้อย แต่หากช่วยเพิ่มความดันในลมหายใจออกขึ้นไปสักหน่อย (เช่นการหายใจเข้าลึกๆแล้วทำปากจู๋ค่อยๆเป่าลมออกจากปากอย่างที่นักกีฬาชอบทำกันเวลาเหนื่อยมาก) ถุงลมจะพองอยู่นานขึ้นและเกิดการแลกเปลี่ยนก้าซได้มากขึ้น ตัวเครื่อง CPAP มันแค่ทำหน้าที่ช่วยเราทำปากจู๋ค่อยๆเป่าลมออกจากปากเวลาเรานอนหลับด้วยการอัดความดันอากาศขนาดเบาะๆ (1-5 ซม.น้ำ)เข้าไปในทางเดินลมหายใจ เป็นวิธีเลียนแบบธรรมชาติ แต่เมื่อใส่ CPAP ใหม่ๆจะรู้สึกแน่นอึดอัดทนไม่ได้ ทำให้ผู้ซื้อ CPAP มาแล้วราว 80% ซืัอมาแล้วไม่ได้ใช้ นี่ยังไม่นับพวกที่เลิกใช้เพราะเมียตกใจเมื่อตื่นมาพบมนุษย์ต่างดาวนอนอยู่ข้างๆ (หิ..หิ พูดเล่น) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะ CPAP เป็นตัวช่วยหลักของคนเป็นโรคนอนกรนที่ไม่สามารถลดน้ำหนักและปรับนิสัยการนอนของตัวเองได้ 

ดังนั้นหากคุณเป็นโรคนอนกรน ให้ญาติดีกับ CPAP ให้ได้ ทู่ซี้ใช้มันไป มันจะอัดลมเข้ามาขัดขวางการหายใจออกของเราก็ช่างมัน ปล่อยให้มันอัดเข้ามา อย่าไปหายใจออกไล่สู้ จะเปลืองแรงเปล่าๆ เพราะความดันลมที่อัดเข้ามานั้นจิ๊บจ๊อยไม่ผิดธรรมชาติและไม่ก่อความเสียหายอะไรแน่นอน มีแต่ได้กับได้

ในกรณีที่คุณญาติดีกับ CPAP ไม่ได้เลย คุณก็ต้องหันมาทุ่มเทกับการเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อรักษาโรคนอนกรน ซึ่งต้องรวมถึง (1) การลดน้ำหนักอย่างเอาเป็นเอาตาย (2) การฝึกนอนตะแคง ไม่นอนหงาย (3) การปรับสุขศาสตร์การนอนหลับ เช่น ออกกำลังกายให้หนัก ตากแดดทุกวัน จัดเวลานอนให้พอ เข้านอนเป็นเวลา ตื่นเป็นเวลา ทำสมาธิวางความคิดให้สนิทก่อนนอน เป็นต้น เพราะสาเหตุของการสะดุ้งตื่นกลางดึกส่วนหนึ่งเกิดจากสมองไม่ยอมหยุดคิด ซึ่งหา่กคุณลองปฏิบัติจริงจังดูสักพัก คุณเองก็อาจจะเปลี่ยนทัศนคติว่า..เออใส่ CPAP ง่ายกว่าแยะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ 
[อ่านต่อ...]

30 กันยายน 2567

ออกกำลังกายแบบนักรบวันหยุด (Weekend warrior) จะดีไหม


กราบเรียนคุณหมอ

    ดิฉันชวนสามีว่าเราไปออกกำลังกายวันอาทิตย์กันเถอะ ซึ่งเป็นวันเดียวที่เราว่างพร้อมกันทั้งคู่ เขาตอบว่าไม่มีประโยชน์หรอก เพราะการออกกำลังกายต้องทำสม่ำเสมอ ถ้าจะทำแบบนานๆทำทีอย่าไปทำดีกว่า คำถามของดิฉันคือการออกกำลังกายแบบนานๆออกทีไม่มีประโยชน์จริงหรือคะ
    ขอบคุณค่ะ

.............................................................
Scream ของ Edward Munch ถ่ายจากของจริง 



ตอบครับ

    ถามว่าการออกกำลังกายแบบนานๆออกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบนักรบวันหยุด (weekend warrior) อย่างคุณจะชวนสามีไปทำนี้ ไม่มีประโยชน์จริงไหม ตอบว่าไม่จริงหรอกครับ

    หลักฐานที่ผมใช้ตอบคือเมื่อไม่นานมานี้กลุ่มรพ.แมสเจนและบริกแฮม (ฮาร์วาร์ด) ได้ตีพิมพ์ผลวิจัยพฤติกรรมการออกกำลังกายของคนทำงานจำนวน 89,573 คนที่คาดนาฬิกาวัดกิจกรรมร่างกาย (accelerometer) ไว้ที่แขนตลอดเวลา ทำวิจัยแบบตามดูไปข้างหน้าอยู่นาน 6 ปี แล้วเอาข้อมูลมาแยกเป็นสามกลุ่ม คือกลุ่มกระจายการออกกำลังกายสม่ำเสมอเกือบทุกวัน กลุ่มนักรบวันหยุด ที่ออกกำลังกายเฉพาะปลายสัปดาห์ และกลุ่มขี้เกียจที่ออกกำลังน้อยกว่าคำแนะนำมาตรฐาน (ออกแบบหนักพอควรไม่ถึง 150 นาทีต่อสัปดาห์) แล้วเทียบข้อมูลดูความสัมพันธ์ระหว่างนิสัยการออกกำลังกายกับโอกาสป่วย 678 ชนิด แยกเป็น 16 กลุ่มโรค ซึ่งรวมทั้งโรคจิตด้วย ผลวิจัยพบว่าทั้งกลุ่มออกกำลังกายแบบสม่ำเสมอเกือบทุกวัน และกลุ่มนักรบวันหยุด ต่างก็มีความเสี่ยงการป่วยเป็นโรคสำคัญประมาณ 200 โรคต่ำกว่ากลุ่มขี้เกียจ ผลต่างนี้ชัดเจนมากในโรคที่เกี่ยวกับการเผาผลาญและโรคหัวใจหลอดเลือด

    นี่เป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่บ่งชี้ว่าการออกกำลังกายนั้นดีแน่ แบบไหนก็ได้ สม่ำเสมอหรือไม่สม่ำเสมอก็ไม่เป็นไร ขอให้เลือกเอาซักแบบหนึ่งที่เหมาะกับวิถีชีวิตของคุณ และที่สำคัญคือ..ขอให้ตั้งต้นออกซะที

     อีกประเด็นหนึ่งที่ควรย้ำในที่นี้คือผลวิจัยก่อนหน้านี้ล้วนบ่งชี้ว่าประโยชน์ของการออกกำลังกายต่อสมรรถนะร่างกายก็ดี ต่อสุขภาพก็ดี มีความสัมพันธ์กับปริมาณพลังงานทั้งหมดที่ใช้ไป (energy expedition - EE) ต่อหนึ่งหน่วยเวลาขนาดใหญ่ เช่นต่อสัปดาห์ หรือต่อเดือน มากกว่าความสัมพันธ์กับเวลาที่ใช้ออกกำลังกายและความสม่ำเสมอที่ได้ออกกำลังกาย กล่าวคือยิ่งใช้พลังงานรวมต่อสัปดาห์ไปมาก ยิ่งดี ข้อมูลนี้นำมาซึ่งคำแนะนำการออกกำลังกายมาตรฐานสากลที่แนะนำว่าให้ออกกำลังกายแบบหนักพอควร (moderate intensity) อย่างน้อย 150-300 นาทีต่อสัปดาห์ หรือหนักมาก (high intensity) อย่างน้อย 75-150 นาทีต่อสัปดาห์

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

    1. Shinwan Kany, Mostafa A. Al-Alusi, Joel T. Rämö, James P. Pirruccello, Timothy W. Churchill, Steven A. Lubitz, Mahnaz Maddah, J. Sawalla Guseh, Patrick T. Ellinor, Shaan Khurshid. Associations of “Weekend Warrior” Physical Activity With Incident Disease and Cardiometabolic Health. Circulation, 2024; DOI: 10.1161/CIRCULATIONAHA.124.068669

[อ่านต่อ...]

29 กันยายน 2567

หมอสันต์สนับสนุนรมต.สมศักดิ์ เทพสุทิน ใช้มาตรการภาษีลดโรค NCD แบบสุดลิ่ม

          ผมอ่านพบในสื่อ Hfocus.org ว่าเมื่อวันที่ 26 กย. 67 รมต.สธ.ได้จัดแถลงข่าวที่สถาบันบำราศนราดูร และได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำให้คนทั่วไปตั้งใจดูแลสุขภาพตนเอง โดยท่านรัฐมนตรีได้ตอบว่า

        "อาจมีรางวัล หรือมาตรการลดหย่อนภาษี เพราะสถาบันพระบรมราชชนกได้คำนวณวิจัยว่าในคน 50,000 คน มีคนป่วยเป็น NCDs ราว 800 คน จะลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 153 ล้านบาท ถ้าห้าแสนคนก็ลดไป 1,530 ล้านบาท"

         และได้พูดว่า

        "ถ้าจะลดความเจ็บป่วยและเสียชีวิตของคน ต้องมีทั้งทางเป็นคุณและทางลบ อย่างเช่นคนที่ปฏิบัติตัวตนที่ดีแล้ว จะมีแรงจูงใจอะไรให้บ้าง ได้ฝากให้คณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นเป็นทางการในวันที่ 30 กย. 2657 จะต้องไปพิจารณาว่าจะให้อะไรบ้าง"

        นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินจากปากของรัฐมนตรีสาธารณสุข ถึงการจะนำแนวคิด Tax Incentive หรือมาตรการจูงใจทางภาษีมาใช้ในการส่งเสริมสุขภาพและลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แค่ท่านพูดออกมาได้นี่ผมก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องสรรเสริญกันแล้ว 

       บรรทัดนี้ผมจึงขอประกาศยกย่องท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อย่างออกนอกหน้า เพราะบ้านเมืองของเราหลังการประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ในการสร้างระบบสามสิบบาทรักษาทุกโรคมาแล้ว หมอสันต์ต้องคอยมาอกหักกับรัฐมนตรี กับนายกรัฐมนตรีซ้ำซากเรื่อยมาทุกยุค ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือเป็นทหาร เขียนจดหมายไปหาก็แล้ว พูดกันแบบตัวต่อตัวก็แล้ว ฝากญาติสนิทมิตรสหายไปบอกก็แล้ว เงียบ..สุน ขอโทษ เงียบสูญไปหมดทุกราย แต่คราวนี้ตัวท่านรัฐมนตรีพูดออกมาเอง ผมจึงเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว

     ท่านผู้อ่านอาจจะแปลกใจว่าทำไมหมอสันต์ต้องมาอะไรนักหนากับพวกนักการเมืองด้วย คือเรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ ในการจะแก้ปัญหาให้คนหายป่วยจากโรคเรื้อรังนั้น มันต้องเปลี่ยนนิสัยการกินการใช้ชีวิตของคนให้ได้ ซึ่งงานวิจัยทางการแพทย์ในหลายสิบปีที่ผ่านมามันมีวิธีที่ใช้ได้ดีที่สุดประมาณสองวิธีเท่านั้น วิธีแรกคือการเปิดให้คนเห็นแรงบันดาลใจของตัวเองจนมีแรงลุกขึ้นมาเปลี่ยนตัวเองได้ (Motivational Interview - MI) กับวิธีที่สองคือการสร้างระบบใหญ่ในระดับประเทศหรือระดับสังคมบังคับเอา (Social Ecology Model - SCM) ในระหว่างสองวิธีนี้วิธีที่สองเวอร์คในชีวิตจริงดีที่สุด พิสูจน์มาแล้วในประเทศที่ผู้คนเขาสุขภาพดีกว่าบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิงคโปร์และญี่ปุ่น ในเมืองไทยเราก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วในบางเรื่องเช่นการออกกฎหมายห้ามใช้ไขมันทรานส์ทำอาหารสำเร็จรูปขาย ซึ่งได้ผลลดการใช้ไขมันทรานส์อันเป็นต้นเหตุตัวเอ้ของโรคหลอดเลือดไปได้แบบปึ๊ด..ดเดียวจบเลย แล้วกฎหมาย Tax incentive นี่มันเป็นเครื่องมือหลักของทฤษฎี SEM ในแง่ที่จะเปลี่ยนนิสัยการกินการใช้ชีวิตของผู้คนได้สำเร็จ หมอสันต์ก็เลยต้องคอยร้องแรกแหกกะเฌอด้วยเหตุนี้

      ก่อนจบ โปรดอย่าลืมเลือก เอ๊ย..ไม่ใช่ โปรดอย่าลืมช่วยกันเชียร์ ช่วยกันสรรเสริญ ท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน ให้เข็นกฎหมาย Tax incentive ด้านสุขภาพออกมาใช้ให้เสร็จทันในสมัยของท่าน เพราะผู้จะได้ประโยชน์คือคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งตอนนี้หากถือตามสถิติสาธารณสุขล่าสุด (พ.ศ.2564) คนไทยตายด้วยโรคเรื้อรังเสีย 40.6% ของการตายทั้งหมด และมีอัตราป่วยและตายด้วยโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (ยกตัวอย่างเช่นโรคเบาหวานตายเพิ่ม 20.5% ใน 5 ปี เป็นต้น)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

[อ่านต่อ...]

28 กันยายน 2567

หนังสือคัมภีร์สุขภาพดี (Healthy Life Bible) จะพิมพ์ครั้งที่ 3 แน่นอนแล้ว เชิญสั่งซื้อได้




      ผลการสำรวจความต้องการคนที่ไม่ชอบหนังสืออีบุ้คแต่อยากได้หนังสือเป็นกระดาษพบว่ามีอยู่มากพอที่จะพิมพ์ออกมาเป็นกระดาษขายในราคาเดิม คือเล่มละ 495 บาท ได้โดยส่งให้ฟรีทาง EMS ได้ด้วย หมอสันต์ขอขอบคุณแฟนบล็อกที่ช่วยกรอกแบบสอบถามแสดงความจำนงอยากซื้อเข้ามาทำให้ผมตัดสินใจพิมพ์ครั้งที่สามเป็นการแน่นอนแล้ว โดยหนังสือจะได้ประมาณ กลางเดือน พย. 67 เร็วกว่านี้ไม่ได้เพราะโรงพิมพ์เขามีหนังสือที่จะรีบออกงานหนังสือแห่งชาติคาแท่นพิมพ์อยู่แยะ

     การพิมพ์ครั้งที่ 3 นี้จะเป็นการพิมพ์ครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะเปลี่ยนวิธีการเผยแพร่ไปเผยแพร่ต่อในระยะยาวในรูปแบบของอีบุ้คบนอินเตอร์เน็ทให้สมเจตนารมณ์เดิมของหมอสันต์ที่อยากจะเผยแพร่ความรู้ด้วยวิธีที่ไม่สร้างขยะให้รกโลกในระยะยาว และการพิมพ์ครั้งนี้จะเป็นการพิมพ์แบบ limited edition คือพิมพ์น้อยตามจำนวนผู้ที่แสดงความจำนงซื้อไว้ทาง Google form ก่อนหน้านี้ มีเผื่อเหลือเผื่อขาดแค่นิดหน่อยเท่านั้น แม้ว่าจะสงวนสิทธิ์ให้ผู้ที่ได้แสดงความจำนงซื้อไว้แล้วทางกูเกิ้ลฟอร์มได้สิทธิ์ซื้อก่อน แต่ทุกคนก็ต้องทำการซื้อและจ่ายเงินทางไลน์เหมือนกันหมด พิมพ์ครั้งนี้แล้วหมดแล้วก็คือหมด ไม่มีการพิมพ์อีก  เพราะไหนๆจะเลิกกิจการบนดินเพื่อย้ายวิกไปหากินบนอินเตอร์เน็ทกันทั้งทีแล้วผมก็ไม่อยากมีหนังสือเหลือค้างบานเบอะรกบ้าน 

     การสั่งซื้อและจ่ายเงินสามารถทำได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยขอให้เข้าใจให้ตรงกันก่อนว่าถึงจ่ายเงินแล้ววันนี้แต่หนังสือกว่าจะได้ก็กลางเดือนพย. 67 นะครับ วิธีสั่งซื้อให้เข้ามาทางไลน์หนังสือหมอสันต์หรือพิมพ์ Iine ID ว่า @healthylife (มีคำว่า @นำหน้าด้วย เขียนด้วยตัวพิมพ์เล็กหมดและเขียนติดกันหมด) สั่งซื้อแล้วก็จ่ายเงินตามระบบของไลน์ก่อนจึงจะถือว่าซื้อได้สำเร็จและจบกิจ ไม่ต้องห่วงว่าหนังสือหมดหรือยัง เพราะถ้ายังจ่ายเงินซื้อได้ก็แปลว่ายังไม่หมด หมดเมื่อไหร่ก็ปิดเก๊ะหยุดรับเงินเมื่อนั้น ง่ายดี

     ในการจ่ายเงิน หากมีปัญหาก็คุยกับแอดมินทางไลน์ได้เลย หรือหากอยากคุยทางโทรศัพท์ก็โทรหาหมอสมวงศ์ (0868882521) หรือเขียนอีเมลหาเธอ (somwong10@gmail.com) หรือเขียนติดต่อมาทางเฟซบุ้คเพจ (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์) แต่ไม่ว่าจะติดต่อเข้ามาทางไหน ท้ายที่สุดก็ยังต้องไปซื้อขายกันที่ไลน์ที่เดียวและวิธีเดียวเท่านั้น เพราะไลน์เขาบังคับให้จ่ายเงินทางเขาหมด 

ปล. ผมต้องขอโทษด้วยที่ลืมปลดล็อครับเงินก่อนการประกาศเปิดรับสั่งซื้อหนังสือ ทำให้ท่านที่สั่งซื้อเข้ามาท่านแรกๆซื้อไม่สำเร็จ ตอนนี้ได้แก้ไขปลดล็อคแล้ว (ตั้งแต่ 8.30 น./29 กย. 67) ต่อจากนี้ทุกท่านล้วนสามารถสั่งซื้อได้ตามสบายครับ ทุกท่านรวมทั้งท่านที่ได้แสดงความจำนงซื้อเข้ามาทางกูเกิ้ลฟอร์มก่อนหน้านี้แล้วก็ขอให้ยืนยันเจตจำนงเดิมด้วยการสั่งซื้อจ่ายเงินทางไลน์ด้วยนะครับ เพราะการติดต่อกลับเพื่อเตือนท่านเป็นรายคนอาจทำไม่ได้หมดทุกคนเนื่องจากข้อมูลที่ได้มาทางกูเกิ้ลฟอร์มของหลายท่านยังไม่ละเอียดพอที่จะเอื้อให้ติดต่อกลับไปยังท่านเป็นการส่วนตัวได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์


     สำหรับท่านที่ไม่รู้เรื่องหนังสือนี้มาก่อน ผมขอให้รายละเอียดไว้ข้างท้ายนี้ด้วย

…………………………………………………………

ชื่อหนังสือ คัมภีร์สุขภาพดี   (Healthy Life Bible)

     หนังสือ..คัมภีร์สุขภาพดี โดยนพ.สันต์ ใจยอดศิลป์และพญ.ดร.พิจิกา วัชราภิชาต เป็นหนังสือมีภาพประกอบแบบเข้าใจง่าย พิมพ์สี่สี ขนาดหนา 423 หน้า ราคาเล่มละ 495 บาท ค่าส่งฟรี

     คำนำ ของ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

     ในวัย 70 ปี ในยุคสมัยที่โรคของคนส่วนใหญ่คือโรคเรื้อรังที่เกิดจากการกินและการใช้ชีวิตซึ่งแพทย์ไม่มีปัญญาที่จะไปรักษาให้หายได้ และหลักฐานวิทยาศาสตร์ก็ล้วนบ่งชี้ไปทางว่าการเปลี่ยนวิธีกินวิธีใช้ชีวิตต่างหากที่จะทำให้ผู้คนหายจากโรคเรื้อรังได้ เวลาในชีวิตที่เหลืออยู่ของผมนี้ สิ่งที่ผมอยากทำมากที่สุดก็คือทำอย่างไรจึงจะช่วยให้คนทั่วไปสามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้ด้วยตัวเอง กล้าเปลี่ยน lifestyle หรือเปลี่ยนวิธีกินวิธีใช้ชีวิตเพื่อให้ตนเองมีสุขภาพดีไม่เป็นโรคเรื้อรัง ที่เป็นแล้วก็หายจากโรคเรื้อรังได้   

     นั่นทำให้ผมคิดจะเขียนหนังสือสักเล่มไว้เป็นคู่มือสุขภาพสำหรับคนทั่วไปแบบปูความรู้พื้นฐานเรื่องร่างกายมนุษย์และผลวิจัยเกี่ยวกับโรคเรื้อรังที่สำคัญไว้ให้อย่างหนักแน่น คนในบ้านใครเป็นอะไรหรืออยากรู้อะไรก็มาเปิดอ่านดูได้ทุกเมื่อ สอนวิธีกลั่นกรองข้อมูลหลักฐานวิจัยที่ตีพิมพ์กันอย่างดกดื่นในอินเตอร์เน็ทด้วยว่าอะไรเชื่อได้มากน้อยแค่ไหน ผมคิดมาหลายปีแล้ว แต่มันมาติดตรงที่ผมยังไม่สามารถสื่อเรื่องกลไกการทำงานของร่างกายและกลไกการเกิดโรคเรื้อรังให้เข้าใจง่ายๆได้ จะไม่พูดถึงเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ก็ไม่ได้ เพราะสมัยหนึ่งผมเคยไปสอนในชั้นที่ผู้เรียนเป็นกลุ่มแพทย์ที่จบแพทย์จากต่างประเทศแต่สอบใบประกอบโรคศิลป์ไม่ได้สักที พอสอนไปได้ชั่วโมงเดียวผมสรุปได้ทันทีว่าแพทย์เหล่านั้นมีปัญหาตรงที่ความรู้พื้นฐานเรื่องร่างกายมนุษย์ไม่แน่นทำให้สร้างความรู้ต่อยอดไม่ได้ ดังนั้นเมื่อจะเขียนหนังสือเล่มนี้ผมจะต้องมีวิธีสื่อให้ผู้อ่านซึ่งไม่มีพื้นอะไรเลยให้เข้าใจหลักพื้นฐานวิชาแพทย์อย่างถ่องแท้ก่อน การจะสื่อเรื่องยากให้ง่ายมันต้องใช้ภาพช่วยบ้าง ใช้การ์ตูนบ้าง แต่ผมเองวาดภาพไม่เป็น ผมเคยลองจ้างช่างวาดภาพเวชนิทัศน์มาลองวาดให้ก็ไม่ได้อย่างใจ จึงทำได้แค่ “ซุกกิ้ง” คือจับโครงการเขียนหนังสือเล่มนี้ใส่ลิ้นชักไว้ตั้งหลายปี

     จนกระทั่งผมได้พบกับคุณหมอมาย นักอาหารบำบัด (พญ.ดร.พิจิกา วัชราภิชาต) ตอนที่พบกันนั้นเธอตั้งรกรากอยู่ที่อังกฤษ มีครอบครัวอยู่ที่นั่น ซื้อบ้านอยู่ที่นั่น ทำงานอยู่ที่นั่น ได้ใบอนุญาตให้เป็นผู้พำนักตลอดชีพ (PR) ของประเทศอังกฤษแล้วด้วย หมอมายนอกจากจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่เรียนมามากทั้งปริญญาแพทย์จากจุฬาและปริญญาโทปริญญาเอกจากมหา’ลัยลอนดอนแล้ว ยังเป็นผู้ที่ได้ศึกษาต่อเนื่องและปฏิบัติด้วยตนเองอย่างลึกซึ้งในเรื่องอาหารบำบัด ยิ่งไปกว่านั้นเธอมีงานอดิเรกเป็นนักวาดภาพวาดการ์ตูนด้วย เมื่อเธอยอมรับคำชวนของผมให้กลับมาทำงานด้วยกันที่เมืองไทย หนังสือเล่มนี้จึงได้เกิด 

     ผมมั่นใจว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นคู่มือให้ท่านดูแลสุขภาพตัวเองด้วยตัวเองได้ 99% โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นความรู้ทางการแพทย์มาก่อนเลย มันเป็นหนังสือที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย ใช้เวลาอ่านสั้น จบสมบูรณ์ในแต่ละเรื่องแต่ละตอนโดยไม่ต้องอ่านจนหมดเล่มถึงจะเข้าใจ สงสัยเรื่องใดเมื่อใดก็เปิดอ่านเฉพาะเรื่องนั้นได้เมื่อนั้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์…”

สารบัญ Table of content

บทนำ

1. ทำอย่างไรเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินทางการแพทย์

1.1 การเรียกรถฉุกเฉิน และแอ็พมือถือ EMS 1669  

1.2 เจ็บหน้าอกแบบด่วน

1.3 อัมพาตเฉียบพลัน

1.4 แพ้แบบเฉียบพลัน (Anaphylaxis)

1.5 หน้ามืด เป็นตะคริว เป็นลม หมดสติ

1.6 ปวดศีรษะเฉียบพลันแบบอันตราย

1.7 ปวดท้องเฉียบพลันและท้องร่วง

1.8 กินสารพิษเข้าไป

1.9 สัมผัสสารพิษ

1.10 แผล ผิวหนังฉีกขาด 

1.11 แผลถลอก

1.12 กระดูกหัก

1.13 การยกย้ายผู้บาดเจ็บ 

1.14 ฟันหัก ฟันหลุด

1.15 สัตว์กัด งูกัด แมลงต่อย

1.16 พิษแมงกะพรุน

1.17 จมน้ำ

1.18 ไฟฟ้าดูด

1.19 บาดเจ็บกล้ามเนื้อ

1.20 ชัก

1.21 วิธีใช้สิทธิเบิกเงิน UCEP ในภาวะฉุกเฉิน

2. ทำความเข้าใจกลไกการเกิดโรคเรื้อรังแบบไม่ติดต่อ

2.1 ไมโครไบโอม ชุมชนจุลชีพในลำไส้

2.2 อนุมูลอิสระและสารต้านอนุมูลอิสระ

2.3 การอักเสบในร่างกาย

2.4 การสูญเสียดุลยภาพของระบบประสาทอัตโนมัติ

2.5 การดื้อต่ออินซูลิน

3. สุขภาพดีด้วยตนเอง

3.1  โภชนาศาสตร์สมัยใหม่สำหรับทุกคน

3.1.1 คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate)

(1) คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว

(2) คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน

(3) ทำไมเราจึงควรเลือกกินคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน

(4) Resistant starch คืออะไร

3.1.2 เส้นใยอาหาร (Fiber)

(1) เส้นใยแบบละลายน้ำได้

(2) เส้นใยแบบละลายน้ำไม่ได้

(3) ทำไมเราจึงควรเลือกกินอาหารที่มีเส้นใย

3.1.3 ไขมัน (Fat)

(1) ไขมันแบบอิ่มตัว (Saturated fat)

(2) ไขมันแบบไม่อิ่มตัว (Unsaturated fat)

3.1.4 ไขมันแบบไม่อิ่มตัว

(1) ไขมันแบบไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (Monounsaturated fat)

(2) ไขมันแบบไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (Polyunsaturated fat)

3.1.5 ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับไขมันที่ควรรู้

ประเด็นที่ 1. แคลอรีจากไขมัน

ประเด็นที่ 2. การกระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัว 

ประเด็นที่ 3. การก่อโรคทางหลอดเลือด 

ประเด็นที่ 4. น้ำมันประกอบอาหารต่างชนิดทนความร้อนไม่เท่ากัน 

ประเด็นที่ 5. เปรียบเทียบน้ำมันมะกอกแบบเวอร์จินกับแบบธรรมดา

3.1.6 คอเลสเตอรอล (Cholesterol)

(1) ไขมันเลว (LDL)

(2) ไขมันดี (HDL)

(3) LDL(C) และ LDL(P) คืออะไร

(4) LDL pattern A และ LDL pattern B คืออะไร

3.1.7 โปรตีน (Protein)

3.1.8 ความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับโปรตีนที่ควรรู้

ข้อที่ 1. เข้าใจผิดว่าอาหารโปรตีนต้องได้มาจากเนื้อนมไข่ไก่ปลาหรือสัตว์เท่านั้น

ข้อที่ 2. เข้าใจผิดว่าพืชมีกรดอะมิโนจำเป็นไม่ครบ 

ข้อที่ 3. เข้าใจผิดว่าการขาดโปรตีนเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในทางโภชนาการ

3.1.9 ผลเสียของโปรตีนจากสัตว์

3.1.10  แคลอรี (Calorie)

3.1.11 วิตามิน (Vitamins)

3.1.12 ความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับวิตามินที่ควรรู้

          ข้อที่ 1. เข้าใจผิดว่าพืชมีวิตามินไม่ครบ

ข้อที่ 2. เข้าใจผิดว่าวิตามินสกัดเม็ดมีคุณสมบัติเหมือนกับวิตามินที่พบในอาหารธรรมชาติ

ข้อที่ 3. เข้าใจผิดว่าการกินวิตามินเสริมไม่มีโทษ

3.1.13 แร่ธาตุ (Minerals)

(1) ธาตุหลัก (Major elements) 

(2) ธาตุเล็กธาตุน้อย (Trace elements)

3.1.14 น้ำ

(1) ทำไมเราต้องดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน

(2) เราควรดื่มน้ำวันละเท่าไร

3.1.15 Prebiotic 

3.1.16 Probiotic 

3.1.17 พฤกษาเคมี (Phytonutrients) 

3.1.18 โภชนาการที่ดีหน้าตาเป็นอย่างไร

3.1.19 รูปแบบอาหารที่ใช้พืชเป็นหลักและไขมันต่ำ

3.1.20 อาหารรูปแบบเมดิเตอเรเนียน (Mediterranean)

3.1.21 DASH อาหารรักษาความดันเลือดสูง

3.1.22 โภชนาการสำหรับแม่และเด็ก

3.2 การออกกำลังกาย

3.2.1 ประโยชน์ของการออกกำลังกาย

3.2.2 ชนิดของการออกกำลังกาย

3.2.3 มาตรฐานของการออกกำลังกาย

3.2.4 การประเมินตนเองก่อนออกกำลังกาย

3.2.5 การออกกำลังกายแบบแอโรบิก

3.2.6 กลุ่มกล้ามเนื้อพื้นฐานของร่างกาย

3.2.7 ระยะ (phase) ของการออกแรงกล้ามเนื้อ

3.2.8 การออกกำลังกายแบบยืดหยุ่น(flexibility)

3.2.9 การออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ

3.2.10 การออกกำลังกายเพื่อเสริมการทรงตัว

3.2.11 การออกกำลังกายแก้ไขออฟฟิศซินโดรม

3.2.12 ความปลอดภัยของการออกกำลังกาย

3.3 การจัดการความเครียด

3.3.1 ทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบประสาทอัตโนมัติ ANS (Autonomic nervous system)

3.3.2 Simplest meditation เทคนิคการวางความคิดแบบง่ายที่สุด

3.3.3 เทคนิคการตัดกระแสความคิด

3.3.4 Identity การสำนึกว่าเป็นบุคคล

3.3.5 Self inquiry เทคนิคการสอบสวนและลงทะเบียนความคิด

3.3.6 Body scan พลังชีวิตและการรับรู้พลังชีวิต

3.3.7 Concentrative meditation การฝึกสมาธิและเข้าฌาน

3.3.8 Breathing meditation อานาปานสติ

3.3.9 Coping with pain การรับมือกับอาการปวดด้วยวิธีทำสมาธิ

          3.4 การนอนหลับ

3.5 การสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้าง

3.6 Simple-8 ดัชนีสุขภาพสำคัญ 8 ตัวง่ายๆ 

          3.6.1 น้ำหนัก (ดัชนีมวลกาย)

3.6.2 ความดันเลือด

3.6.3 ไขมันในเลือด

3.6.4 น้ำตาลในเลือด

3.6.5 จำนวนผักผลไม้ที่กินต่อวัน

3.6.6 เวลาที่ใช้ออกกำลังกายต่อสัปดาห์

3.6.7 การสูบบุหรี่

3.6.8 การนอนหลับ

3.7 Tiny Habit การสร้างนิสัยใหม่ด้วยการทำนิดเดียว

3.8 การตรวจสุขภาพประจำปีและฉีดวัคซีนป้องกันโรค 

3.9 ระยะสุดท้ายของชีวิต

4. พลิกผันโรคด้วยตนเอง         

          4.1 โรคหลอดเลือดแดงแข็ง ต้นทางของโรคเรื้อรัง

4.2 โรคหัวใจขาดเลือด

                     4.2.1 โรคหัวใจขาดเลือดคืออะไร

                     4.2.2 อาการของโรคหัวใจขาดเลือดเป็นอย่างไร

4.2.3 การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ

4.2.4 การจัดการโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

4.2.5 การจัดการโรคหัวใจขาดเลือดชนิดไม่ด่วน

4.2.6 อาหารสำหรับโรคหัวใจขาดเลือด

4.2.7 การออกกำลังกายสำหรับโรคหัวใจขาดเลือด

4.2.8 การรับมือกับความเครียดเฉียบพลันในโรคหัวใจ

4.2.9 การดื่มแอลกอฮอล์ในโรคหัวใจ

4.2.10 การตัดสินใจว่าจะทำบอลลูน/บายพาสหรือไม่

4.2.11 หัวใจเต้นผิดจังหวะแบบต่างๆ

4.2.12 เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบต่างๆ

4.2.13 ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นอย่างไร

4.2.14 การป้องกันการตายกะทันหัน

4.3 โรคความดันเลือดสูง

4.3.1 โรคความดันสูงคืออะไร

4.3.2 นัยสำคัญของความดันเลือดสูง

4.3.3 สาเหตุของความดันเลือดสูง

4.3.4 การวัดความดันด้วยตัวเองอย่างถูกต้อง

4.3.5 ความดันวัดที่บ้านกับที่โรงพยาบาลจะเชื่อตัวไหนดี

4.3.6 อาการของโรคความดันเลือดสูง

4.3.7 วิธีรักษาความดันเลือดสูงด้วยตนเอง

4.3.8 ยารักษาความดันเลือดสูงชนิดต่างๆ

4.3.9 การป้องกันโรคความดันเลือดสูง

4.3.10 ผลวิจัยความดันที่เอาไปพลิกผันโรคให้ตัวเองได้

4.3.11  วิธีลดและเลิกยารักษาความดันเลือดสูง

4.4 โรคเบาหวาน

4.4.1 โรคเบาหวานคืออะไร      

4.4.2 ชนิดของโรคเบาหวาน

4.4.3 กลไกการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1

4.4.4 กลไกการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (การดื้อต่ออินซูลิน)

4.4.5 การวินิจฉัยโรคเบาหวาน

4.4.6 มายาคติเกี่ยวกับโรคเบาหวาน

4.4.7 วิธีรักษาโรคเบาหวานโดยไม่ใช้ยา

4.4.8 วิธีลดและเลิกยาเบาหวาน

4.5 โรคไขมันในเลือดสูง

                     4.5.1 โรคไขมันในเลือดสูงคืออะไร

4.5.2 การรักษาไขมันในเลือดสูงด้วยตนเอง

4.5.3 ระดับ LDL ที่พึงประสงค์ตามระดับความเสี่ยงแต่ละคน

4.5.4 ความเสี่ยงและประโยชน์ของยาลดไขมัน

4.5.5 การลดและเลิกยาลดไขมัน

4.6 โรคอัมพาต

          4.6.1 โรคอัมพาตคืออะไร

4.6.2 การวินิจฉัยอัมพาตเฉียบพลัน

4.6.3 การจัดการโรคอัมพาตเฉียบพลัน

4.6.4 การฟื้นฟูหลังการเป็นอัมพาต

4.7 โรคสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์

4.7.1 นิยามโรคสมองเสื่อม

4.7.2 การตรวจคัดกรองโรคอื่นที่อาการคล้ายสมองเสื่อม

4.7.3 การรักษาสมองเสื่อมด้วยตนเอง 

4.7.4 ยารักษาโรคสมองเสื่อม

4.7.5 อย่าเร่งให้ตัวเองเป็นสมองเสื่อมเร็วขึ้น

4.7.6 ยารักษาโรคสมองเสื่อม

4.8 โรคมะเร็ง

                     4.8.1 โรคมะเร็งคืออะไร

4.8.2 สาเหตุของโรคมะเร็ง

4.8.3 การวินิจฉัยโรคมะเร็ง

4.8.4 ข้อมูลเรื่องอาหารกับโรคมะเร็ง

4.8.5 การตรวจคัดกรองมะเร็ง

4.8.6 การรักษามะเร็งตามแบบแพทย์แผนปัจจุบัน

4.8.7 งานวิจัยรักษามะเร็งต่อมลูกหมากด้วยอาหาร

4.8.8 การดูแลรักษาตนเองหลังการผ่าตัดเคมีบำบัดฉายแสง

4.8.9 การแพทย์เลือกในการร่วมรักษามะเร็ง

4.9 โรคอ้วน

4.9.1 นิยามของโรคอ้วน

4.9.2 หลักฐานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการลดน้ำหนัก

4.9.3 การลดน้ำหนักด้วยอาหารพืชเป็นหลัก

4.10 โรคไตเรื้อรัง

4.10.1 นิยามโรคไตเรื้อรังและเกณฑ์วินิจฉัย

4.10.2 การรักษาโรคไตเรื้อด้วยตัวเองตามหลักฐานใหม่

4.10.4 โปตัสเซียมกับโรคไตเรื้อรังระยะต่างๆ

4.10.5 ฟอสเฟตจากอาหารพืชและสัตว์ต่อโรคไตเรื้อรัง

4.10.6 การป้องกันโรคไตเรื้อรัง

4.10.7 การบำบัดทดแทนไตแบบต่างๆ

5. Human body ร่างกายมนุษย์

          5.1 พื้นฐานโครงสร้างทางกายภาพในร่างกายของเรา

5.1.1 อวัยวะ

5.1.2 เนื้อเยื่อ

5.1.3 เซลล์

5.1.4 อวัยวะย่อยในเซลล์ (organelles)

5.1.5 โมเลกุลขนาดใหญ่

5.1.6 โมเลกุลขนาดเล็ก

5.1.7 อะตอม

5.1.8 อิเล็กตรอน โปรตอน และควาร์ก

          5.2 ระบบการทำงานต่างๆในร่างกายของเรา

                     5.2.1 Integumentary system ระบบผิวหนัง

5.2.2 Nervous system ระบบประสาท

5.2.3 Muscular system ระบบกล้ามเนื้อ

5.2.4 Skeletal system ระบบกระดูก

5.2.5 Respiratory system ระบบการหายใจ

5.2.6 Circulatory system ระบบการไหลเวียน

5.2.7 Alimentary system ระบบทางเดินอาหาร

5.2.8 Urinary system ระบบทางเดินปัสสาวะ

5.2.9 Reproductive system ระบบสืบพันธ์

5.2.10 Hematology system ระบบเลือด

5.2.11 Lymphatic system ระบบน้ำเหลือง

5.2.12 Endocrine system ระบบต่อมไร้ท่อ

5.2.13 Microbiomes ชุมชนจุลชีพในร่างกาย

5.2.14 Homeostasis ร่างกายนี้ซ่อมแซมตัวเองได้

6. อาการผิดปกติที่พบบ่อย (Common Symptoms)

6.1 ปวดหัว 

6.2 ไข้ 

6.3 เจ็บคอ 

6.4 คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม 

6.5 ไอ 

6.6 หอบ หายใจไม่อิ่ม 

6.7 ปวดท้อง 

6.8 ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอ อาหารไม่ย่อย 

6.9 ท้องเสีย 

6.10 ท้องผูก 

6.11 เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก 

6.12 หน้ามืด เป็นลม 

6.13 หมดสติ 

6.14 ชัก 

6.15 แขนขาอ่อนแรง 

6.16 พูดไม่ชัด 

6.17 ปากเบี้ยว 

6.18 ตามืดเฉียบพลัน 

6.19 ทรงตัวไม่อยู่ 

6.20 ปวดฟัน เสียวฟัน 

6.21 ปวดท้องเมนส์ 

6.22 ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตามตัว 

6.23 ปวดกระดูก 

6.24 ปวดนิ้วมือ ปวดข้อมือ 

6.25 ปวดหู 

6.26 ปวดต้นคอ ปวดคอ 

6.27 ปวดหัวไหล่ 

6.28 ปวดหลังปวดเอว 

6.29 ปวดสะโพก 

6.30 ปวดเข่า 

6.31 ปวดน่อง 

6.32 ปวดข้อเท้า 

6.33 ปวดส้นเท้า 

6.34 ปวดฝ่าเท้า 

6.35 ปวดนิ้วเท้า 

6.36 ปวดแสบเวลาปัสสาวะ 

6.37 ปวดก้น 

6.38 ปวดอวัยวะเพศ 

6.39 ปวดตอนร่วมเพศ 

6.40 ปวดอัณฑะ 

6.41 เจ็บเต้านม ปวดเต้านม 

6.42 เจ็บตา 

6.43 ก้อนผิดปกติ 

6.44 นอนไม่หลับ 

6.45 นอนกรน 

6.46 อ้วน ลงพุง น้ำหนักเพิ่ม 

6.47 ผอม น้ำหนักลดโดยไม่ได้ตั้งใจลด 

6.48 หนาวสั่น 

6.49 ไม่สบาย 

6.50 อ่อนเพลีย เปลี้ยล้า ไม่มีแรง 

6.51 ลื่นตกหกล้มง่าย 

6.52 หลังค่อม 

6.53 ซีด โลหิตจาง 

6.54 ดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง 

6.55 เขียว เล็บเขียว ปากเขียว มือเขียว 

6.56 บวม 

6.57 เหน็บ / ชา 

6.58 สะอึก 

6.59 ผิวสีคล้ำ 

6.60 ลมพิษ 

6.61 จ้ำเลือด 

6.62 ผมร่วง 

6.63 รังแค 

6.64 ใจสั่น / ใจเต้นเร็ว 

6.65 ตะคริว 

6.66 มือสั่น 

6.67 เวียนหัว บ้านหมุน 

6.68 ขี้หลงขี้ลืม 

6.69 เมารถเมาเรือ 

6.70 เลือดกำเดาไหล 

6.71 จมูกไม่ได้กลิ่น 

6.72 แผลในปาก ร้อนใน 

6.73 กลิ่นปาก 

6.74 น้ำลายไหลจากมุมปาก 

6.75 เสียงแหบ 

6.76 กลืนลำบาก 

6.77 คลื่นไส้ / อาเจียน 

6.78 เรอเปรี้ยว / กรดไหลย้อน 

6.79 เบื่ออาหาร 

6.80 ถ่ายดำ ถ่ายเป็นเลือด 

6.81 กลั้นอุจจาระไม่อยู่ 

6.82 กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ /ปัสสาวะบ่อย 

6.83 ปัสสาวะเป็นเลือด 

6.84 เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด 

6.85 ประจำเดือนไม่มี / ไม่มา 

6.86 ตกขาว 

6.87 ร้อนวูบวาบ 

6.88 อวัยวะเพศไม่แข็งตัว 

6.89 การคุมกำเนิด 

6.90 ของเหลวหรือน้ำนมไหลจากเต้านม 

6.91 ตามีอะไรลอยไปมา (Floaters) 

6.92 ตาเห็นแสงระยิบระยับ 

6.93 ตาแห้ง 

6.94  ตาโปน 

6.95  ตามัว / ตามืด 

6.96  หนังตาตก 

6.97 เสียงในหู 

6.98 คันหู 

6.99 หูตึง หูหนวก 

6.100 หูน้ำหนวก 

6.101 กังวล / เครียด 

6.102 กลัวเกินเหตุ (panic) 

6.103 ซึมเศร้า (depress) 

6.104 ย้ำคิดย้ำทำ 

6.105 เห็นภาพหลอน / ได้ยินเสียงหลอน

7. การแปลผลการตรวจทางการแพทย์

7.1 CBC การตรวจนับเม็ดเลือด

7.2 UA การตรวจปัสสาวะ

7.3 Blood chemistry การตรวจวิเคราะห์ทางชีวเคมีของเลือด

8. รู้จักใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์

9. บรรณานุกรม

10.  เกี่ยวกับผู้เขียน

…………………………………………………………….


[อ่านต่อ...]

เรื่องไร้สาระ (42) เมืองมืด Rjukan


          หากนับรวมการที่เครื่องบินมาช้าไปหนึ่งชั่วโมง กับเจอด่านตม.อีกสองชั่วโมง เวลาสามชั่วโมงที่เราสำรองไว้ก็หมดพอดี แต่ก็ขับรถออกจากสนามบินออสโลด้วยความหวังว่าเราจะทำเวลาได้ทันตามแผน พอขับมาได้พักใหญ่จึงได้เรียนรู้ว่าที่เขาบอกว่าที่นี่จำกัดความเร็ว 80 กม./ชม.นั้นไม่จริงดอก ส่วนใหญ่จำกัดที่ 60 กม./ชม ช่วงผ่านบ้านเรือนผู้คนก็จำกัดให้วิ่งแค่ 40 พอถึงช่วงที่เปิดให้วิ่ง 80 กม.จริงๆก็วิ่งไม่ได้ เพราะถนนฉวัดเฉวียนและแคบถึงขนาดตีเส้นขาวแบ่งครึ่งไม่ได้ ต้องปล่อยให้รถที่สวนกันลุ้นกันเอาเอง ทำให้ใด้บทเรียนที่หนึ่งว่าการวางแผนเวลาเที่ยวนอร์เวย์นี้ต้องคูณสองไม่โลภมาก ถึงกระนั้นก็ยังมีรถขับแซงหน้าเราไปเฟี้ยว เฟี้ยว เป็นว่าเล่น ไปได้สักพักก็เห็นพวกเฟี้ยวเหล่านั้นถูกตำรวจดักจับเข้าแถุวจ่ายค่าปรับที่ข้างทาง ทำให้กัปตันของเราถึงกับออกปากชมตัวเองที่มีความอดทนอดกลั้นไม่เหยียบคันเร่งตามคนอื่นเขา    

          เป้าหมายแรกของเราคือจะไปสวมหมวกกันน็อกใส่ที่ครอบหูเพื่อนั่งรถไฟขนแร่ลงไปชมเหมืองเงินที่นอกเมือง Kongsberg ฟังว่าเราต้องเดินทางลงลึกไปจากผิวดินถึง 1 กม. ซึ่งเป็นระดับลึกกว่าน้ำทะเล 500 เมตร น่าจะอลังการ์อยู่ แต่เราต้องไปให้ทันรอบเที่ยงวันเมื่อออกจากเหมืองจึงจะเดินทางต่อไปให้ทันถึงที่พักได้ก่อนมืด นี่ก็เที่ยงแล้วเรายังอยู่ห่างเหมือนอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง จึงตัดสินใจปลง เปลี่ยนแผนแวะดูโบสถ์ไม้โบราณแบบสะเตวี ชื่อ Heddal stave church ซึ่งเป็นอันที่เก๋าที่สุด ใหญ่ที่สุด สงวนไว้ดีที่สุดในบรรดาโบสถ์ไม้โบราณซึ่งทั้งประเทศมีเหลืออยู่แค่ 28 แห่ง แห่งนี้สร้างมาตั้งแต่ปี 1300 และได้เป็นมรดกโลกด้วย

 


     เสร็จจากการชมโบสถ์ พวกเราซึ่งมีกันแค่ห้าคนก็ถือโอกาสควักเอาแซนด์วิชที่ซื้อมาจากสนามบินออกมาปิกนิคที่โต๊ะริมทุ่งนานั่นเลย จากนั้นก็เดินทางต่อไปอย่างไม่รีบร้อน ขับรถขึ้นทางเล็กไปบนเขาสูงมากที่ไม่มีต้นไม้เลย เห็นชาวบ้านนอร์เวย์เอารถยนต์มาจอดอยู่ริมทางเป็นจำนวนมากหลายสิบคัน เข้าใจว่าคงจะมีอะไรน่าสนใจจึงแวะดู ปรากฎว่าพวกเขาแค่มาจอดรถเพื่อเดินไพรขึ้นไปบนยอดเขาสูง นี่สมดังคำกล่าวที่ว่าการจะเดินไพรแบบชาวนอร์เวย์ไม่ต้องไปมองหาป้าย trail ใดๆทั้งสิ้น วันไหนแดดดีเห็นเขาจอดรถออกันอยู่ที่ไหนก็คือที่นั่นแหละเป็นแหล่งเดินไพรของเขา เดินดุ่มๆไปได้ทุกที่ไม่ตัองกลัวว่าจะไปบุกรุกที่ใครเพราะกฎหมายมีว่าที่ส่วนบุคคลที่ไม่ได้ล้อมรั้วไว้ทำการใดการหนึ่งโดยเฉพาะประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปเดินได้

ขับขึ้นไปสูงมาก หนาวเย็น ที่คนมาเดินไพรกันเป็นร้อย


           เราหารือกันว่าวันนี้แดดดี เวลาที่พอมีจากการไม่ได้ลงเหมืองน่าจะพากันไปนั่งรถไฟแนวดิ่ง Tuddalsvegen ซึ่งจะพาเราวิ่งขึ้นตามอุโมงที่เจาะเป็นไส้ไว้ในภูเขาที่มีทิศทางเกือบตั้งดิ่ง พาเราขึ้นไปสูงถึง 1800 เมตรจากระดับน้ำทะเล เขาว่าวันที่แดดดีอย่างนี้สามารถมองเห็นไกลได้ถึงสวีเดน จะได้ขึ้นไปเดินยืดเส้นยืดสายหลังจากนั่งเครื่องบินมานานบ้าง ตกลงกันดิบดีแล้วจึงขับไปสถานีขึ้นรถ เตรียมไม้เท้าเดินไพรกันดิบดี เห็นกองหน้าที่เข้าไปในห้องขายตั๋วออกมาทำหน้าจ๋อยๆพิกลผมจึงตามไปดู ได้ความจากคนขายตั๋วซึ่งพูดภาษาอังกฤษอย่างชัดเจนสุภาพเรียบร้อยแต่เย็นเฉียบว่า

     "คุณจะขึ้นไปตอนนี้ก็ขึ้นได้ แต่วันนี้ตอนนี้มีคนอยู่ข้างบนยอดเขาแล้วจำนวนมาก ขากลับลงมาคุณจะต้องรอคิวขึ้นรถไฟกลับอย่างน้อยสองชั่วโมง ถึงคุณจะเดินกลับเองก็ยิ่งใช้เวลาหลายชั่วโมงเหมือนกัน"

     แป่ว..ว เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าการจะวางแผนใช้เวลาเที่ยวในประเทศนอร์เวย์นั้นคูณสองก็ยังอาจจะไม่พอ จะให้ดีต้องคูณสาม เพราะมีเรื่องเซอร์ไพรส์แยะ หิ..หิ ไม่เป็นไร ถ้างั้นเราแวะเที่ยวที่ Tinn Museum ซึ่งเข้าดูได้ฟรีสักสิบนาที เพราะของฟรีคงไม่มีอะไรให้ดูมาก แล้วก็เข้าไปเที่ยวที่จตุรัสเมืองรุคาน (Rjukan) ก่อนจากขับตรงดิ่งไปยังเมืองเรินดอล (Rondal) ซึ่งเป็นที่พัก 

     ทินน์มิวเซียมไม่ใช่ที่เขาขุดดีบุกนะครับ เป็นปาร์คเล็กๆเข้าฟรีที่เขาย้ายเอาบ้านชนบทแบบโบราณของจริงมาตั้งให้ชม มีห้องน้ำให้ด้วย แต่เราไม่ได้ทดสอบว่าใช้ได้หรือเปล่า มีพื้นที่ประมาณสิบไร่ มีบ้านประมาณสิบหลัง แต่ละบ้านมีหน้าต่างกระจกให้มองแบบถ้ำมองเข้าไปข้างในเพื่อดูเฟอร์นิเจอร์ข้าวของเครื่องใช้ที่ชาวนายุคกลางใช้กันอยู่และจัดแสงไว้ให้สวยงามพอดี เดินได้สักพักก็ทั่วและสมความคาดหมายว่าของฟรีไม่มีอะไรมาก ที่น่าเซอร์ไพรส์ก็คือปาร์คฟรีนี้แม้จะไม่มีใครอยู่ประจำทำงานดูแลรักษาแต่ก็สอาดเรียบร้อยไม่มีขยะแม้แต่ชิ้นเดียว

เดินเล่นและถ้ำมองดูทินน์มิวเซียม


ยังพอมีเวลาเหลือ เราแวะเข้าไปเที่ยวในเมืองรุคาน (Rjukan) กันดีกว่า เมืองนี้ผมตั้งชื่อให้ว่า "เมืองมืด" กล่าวคือที่คนเขาล่ำลือกันว่ากันว่าที่เมืองทรอมโซ (Tromso) ตอนเหนือของประเทศผู้คนบ่นว่าสามเดือนในหนึ่งปีจะไม่ได้เห็นตะวันเลยนั้นเด็กๆ ที่เมืองมืดแห่งนี้ แต่ละปีคือจากปลายเดือนกันยาถึงต้นเดือนมีนา จะไม่ได้เห็นตะวันเลย ทั้งเมืองอยู่ในความมืดตลอดห้าเดือน เพราะเมืองนี้ยัดอยู่ในก้นหุบเขาที่เกิดจากเทือกเขาสูงสองเทือกวางขนานกันในแนวตะวันตก-ตะวันออก ที่ตรงนี้มันอยู่ราวเส้นละติจูด 60 องศาเหนือ แปลว่าตอนเที่ยงวันแดดมันจะไม่ตั้งหัวแบบบ้านเรา แต่มันจะสองเฉียงๆเลียดดินทำมุมเงยอยู่แค่ 30 องศา อาการจะหนักเป็นพิเศษในหน้าหนาวเพราะตะวันมันอ้อมข้าว เดือดร้อนกันจนเมื่อราวร้อยปีก่อนถึงต้องทำรถไฟแนวตั้งดิ่งเอาคนขึ้นไปหาแดดที่บนเขา มาเมื่อราวสิบกว่าปีมานี้ชาวเมืองได้ลงขันกันสร้างกระจกยักษ์ขนาด 17 ตารางเมตร จำนวนสามบาน ตั้งเรียงตระหง่านไว้บนเขาด้านทิศเหนือ แล้วทำระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมให้กระจกหมุนตามดวงอาทิตย์ตลอดเวลาไม่ว่ากี่โมงกระจกก็จะสะท้อนแสงแดดให้ส่องลงมาที่จตุรัสกลางเมืองพอดี เห็นไหมครับว่าแดดมันเป็นของดีมีราคาแค่ไหน ถ้าไม่มีมันถึงจะเห็นคุณค่า

โปรดสังเกตกระจกสะท้อนแสงแดดวับๆบนเขานู้นลงมา

กระจกยักษ์ทั้งสามบานตั้งตระหง่านอยู่บนเขา

     เรามาเมืองมืดในเดือนที่ยังไม่มืด จึงมีโอกาสได้เดินเล่นชมเมือง เป็นเมืองเล็กๆที่มีความสวยงามเพราะทั้งเมืองสร้างขึ้นโดยบริษัทไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อให้พนักงานของบริษัทที่ต้องมาทำงานในเมืองมืดนี้ได้เอาครอบครัวมาอยู่ด้วยได้ และได้มีสังคมแบบชาวบ้านชาวเมืองอื่นๆเขา สถาปัตย์กรรมจึงเป็นแบบว่าถ้าเป็นระดับวิศวะก็อยู่บ้านแบบหนึ่ง ถ้าเป็นระดับพนักงานขุดก็อยู่บ้านอีกแบบหนึ่ง เป็นต้น จึงเป็นเมืองเล็กระดับตำบลแห่งเดียวในโลกที่มีทั้งผังเมืองและผังชนิดของบ้านที่ทำไว้ร้อยปีแล้ว เมืองรุคานนี้เป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกด้วย ไม่ใช่เพราะมันมืด แต่เพราะมันเป็นเมืองที่ทั้งเมืองคนตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อรับใช้อุตสาหกรรมรุ่นปี 1900 โน่น

เดินเล่นในเมืองมืด ในเดือนที่ยังไม่มืดดี

     จากนั้นก็ขับรถต่อไปมุ่งหน้าตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านพื้นที่สูงอันเปล่าเปลี่ยว มีหิมะดารดาษตามยอดเขา นานๆมีบ้านคนเสียทีหนึ่ง บางครั้งขับไปนานมาเจอบ้านอยู่หลังเดียวตั้งอยู่โดดเดี่ยวในทางกลางความหนาวเย็นและควันไฟกรุ่นลอยขึ้นมาจากปล่องบนหลังคาซึ่งมุงด้วยหญ้า ผมขอให้กัปตันหยุดรถเพื่อถ่ายรูปบ้านหลังนี้มาให้ดูด้วย 

     นั่งรถกันต่อมาอีกหนึ่งอสงไขยเวลาก็มาถึงเมืองรอนดาล (Rondal) เข้าพักในกระท่อมในที่จอดรถบ้าน ที่ข้างบ้านพักมีบ้านหลังหนึ่งที่หลังคาบ้านไม่ใช่แค่ปลูกหญ้าเท่านั้น แต่ปลูกเป็นป่าเลยทีเดียว ผมถ่ายรูปมาให้ดูด้วย 

บางหลังไม่ปลูกแค่หญ้าบนหลังคา แต่ปลูกป่าเลย

     สไตล์การมุงหลังคาด้วยหญ้ามีเป็นเอกลักษณ์ของสะแกนดิเนเวียมาหลายร้อยปีแล้ว ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในนอร์เวย์ บ้างมีหลังคาเขียวเรียบร้อยเหมือนสนามหญ้า บ้างเป็นป่าอย่างหลังที่อยู่ข้างบ้านที่ผมพักนี้ บ้างทำเป็นสวนดอกไม้ บ้างเป็นที่นกกาอาศัยทำรัง มีคนเล่าว่าบ้างเอาแพะแกะขึ้นไปเล็มหญ้าบนหลังคาก็มี แต่ผมยังไม่เคยเห็นด้วยตาตัวเอง ทำไมถึงทำหลังคาแบบนี้กันมาแต่โบราณก็ไม่มีใครทราบได้ ได้แต่เดาเอาว่าอาจเพื่ออาศัยพืชเป็นฉนวนทำให้อุ่นในหน้าหนาวและเย็นสบายในหน้าร้อน และสบายหูจากเสียงดังข้างนอกด้วย บ้างเดาว่าน่าจะเอาไว้ดูดซับน้ำฝนซึ่งตกปรอยๆทั้งปีเพราะมันลดการไหลทิ้งจากหลังคาได้ถึงปีละ 40-90% ผมไปศึกษาวิธีทำหลังคาชนิดนี้เมื่อไปเยี่ยมหมู่บ้านไวกิ้งในอีกสองวันต่อมา จึงได้ทราบว่าสมัยก่อนวิธีทำเขาต้องถากเอาเปลือกไม้เบิร์ช (berch) มามุงเป็นชั้นล่างเพื่อกันน้ำก่อน แล้วใส่ดินใส่ปุ๋ยแล้วปลูกหญ้าหรือพืชอื่นลงไป แต่สมัยนี้การใช้เปลือกไม้เบิร์ชนั้นเด็กๆแล้ว เขาหันมาใช้ของสมัยใหม่ที่กันน้ำได้เริ่ดกว่าที่เรียกว่า.. พลาสติก แทน หิ หิ  

    นี่ทนเมาเครื่องบินนั่งเขียนมาตั้งนานเพิ่งเล่าได้วันเดียวนะเนี่ย การเดินทางรอบนี้นาน 14 วัน จะให้เขียนเล่าทุกวันก็ไม่ไหวเพราะพรุ่งนี้ผมก็ต้องเริ่มสางงานที่กองสุมไว้รอคงไม่มีเวลาเขียนแล้ว จึงขอตัดช่องน้อยเอารูปมาแปะต่อท้ายให้ดูประมาณวันละรูปแทนก็แล้วกัน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

สองตายา บนหน้าผ่า pulpit rock

บริกเกน ห้องแถวมหาชน ถ่ายตอนโพล้เพล้




ปิคนิกที่ฟาร์มบนเขา ที่เห็นลิบๆข้างล่างโน้นคือเมืองฟร็อม

จากบนเขาตำบล Loen ตั้งใจถ่ายกลาเซียร์สีขาวบนสุดของภาพ


กระท่อมทึ่พักของเราบนเขาที่ปลายสุดของ Geiranger fjord

นั่งปล่อยอารมณ์ข้างถนนตอนขับเลียบสันเขาจากกีแรงเกอร์

ถ่ายจากหัว "เรือเงียบ" ขณะล่อง Trollfjord ที่โลโฟเทน

สองตายายในคืนออกล่าแสงเหนือที่โลโฟเทน

โรงแรมที่พักที่ตำบลฮอมเนย (Hamnøy)

หัวปลาขนาดบะเร่อบะร่าที่เอามาตากให้แห้งลมเย็น



ปิกนิกกันที่หาด Haukland ที่โลโฟเทน ก่อนไฮกิ้งขึ้นเขา





ซุปไวกิ้งเลี้ยงแขก ถ้วยละ 160 โครน

แพ Kon Tiki ของแท้ที่พิพิธภัณฑ์ในเมืองออสโล


........................................................
[อ่านต่อ...]