31 กรกฎาคม 2556

ชอบช่วยตัวเอง (Masturbation)

มีจดหมายถามเรื่องการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง (masturbation) มาหลายฉบับ ไม่ได้จังหวะตอบสักที ส่วนใหญ่มีเนื้อหาคล้ายๆกัน คือทำมากไป ผมเลือกมาตอบสามฉบับ สำหรับท่านที่เขียนเรื่องนี้มาก่อนหน้านี้ก็ถือว่าได้ตอบไปพร้อมกันนี้ก็แล้วกันนะครับ

จดหมายฉบับที่ 1. 

เรียนคุณหมอที่เคารพ
ดิฉันอายุ35 ปีค่ะ แต่งงานแล้วแต่ยังไม่มีบุตรค่ะ สามีเป็นคนชอบช่วยตัวเองค่ะ ไม่ค่อยมีเพศสัมพันธ์ร่วมกัน จะมีประมาณหนึ่งเดือนครั้งหรือสองเดือนครั้งค่ะ ขอเรียนถามคุณหมอดังนี้ค่ะ
1. สามีดิฉันผิดปรกติรึเปล่าคะ เคยนั่งคุยกันหลายครั้งในเรื่องนี้ เค้าก็บอกว่าเค้าไม่รู้ว่าทำไม
2. บางครั้งดิฉันช่วยตัวเองค่ะ แต่จะมีเลือดออกหลังออกัสซั่มค่ะ แต่ไม่มากนะคะ แล้วหลัวจากนั้นจะปวดท้องน้อยแบบ ปวดเกร็งค่ะ จะเป็นอันตรายรึเปล่าคะ
ดิฉันอยู่ต่างประเทศ การไปตรวจร่างกายเป็นเรื่องยุ่งยาก และเสียค่าใช้จ่ายแพงมากค่ะ รบกวนคุณหมอแนะนำวิธีแก้ไขในเบื้องต้นให้ด้วยค่ะ และอีกสี่เดือนดิฉันได้กลับไทยจะรีบไปตรวจค่ะ
รบกวนคุณหมอตอบคำถามด้วยนะคะ ขอบพระคุณค่ะ

................................................

ตอบครับ

     1.. ถามว่าสามีชอบช่วยตัวเอง เป็นความผิดปกติไหม ตอบว่า ในทางการแพทย์ ได้มีการวิจัยความสัมพันธ์ของการช่วยตัวเองทั้งหญิงและชายว่าจะสัมพันธ์กับโรคทางกายหรือโรคทางจิตใดๆหรือเปล่า คำตอบนั้นวิจัยกี่ครั้งก็ได้คำตอบเดิม คือการช่วยตัวเอง ไม่มีความสัมพันธ์กับโรคทางกายหรือโรคทางจิตใดๆ ดังนั้นจึงตอบคุณได้ว่าสามีคุณไม่ได้ผิดปกติครับ งานวิจัยบางงานบอกว่าการช่วยตัวเองดีต่อร่างกายซะอีกนะ คือทำให้เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากน้อยลง ทำให้ความดันลดลง

     2.. ถามว่าทำไมภรรยาก็สุดสวย ลูกที่อยากได้กันจังก็ยังไม่ได้ แต่แทนที่จะขยันนอนกับภรรยา นี่ไม่เลย พ่อเจ้าประคุณกับขยันไปช่วยตัวเองซะนี่ ทำไม...ทำไม ตอบว่า ณ ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานจากงานวิจัยใดๆมาตอบคำถามนี้ได้ครับ แต่มีหลักฐานระดับเรื่องเล่า (anecdotal) ซึ่งวงการแพทย์ไม่ถือว่าเป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้ มาตอบคุณไปพลางก่อน ดังนี้

     2.1 ในเชิงจิตวิทยา ซิกมันด์ ฟรอยด์ เจ้าเก่า ได้เรียกความผิดปกติทางใจของผู้ชายแบบหนึ่งว่ามี “ปมแม่พระ-โสเภณีหรือ Madonna-Whore Complex ก่อนจะพูดกันละเอียดต่อไป คุณอย่าไปซีเรียสกับฟรอยด์มากนะ สมัยนี้วงการแพทย์เขาถือว่าความคิดของฟรอยด์เป็นเพียงความคิดเท่านั้น ไม่ใช่หลักฐานวิทยาศาสตร์ คือฟรอยด์ใช้คำนี้เรียกผู้ชายที่กับเมียของตัวเองละก็อ่อนเป็นมะเขือเผาเชียว แต่พอกับหญิงอื่นแม้จะเป็นหญิงชั่วตัวดำขี้เหร่ยังไงก็ตามก็มีอันเป็นคึกคักขึ้นมาน่าหมั่นไส้ ฟรอยด์อธิบายว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเพราะแต่งงานอยู่กินกันไปนานๆเข้าสามีเกิดซาบซึ้งความดีของเมียจนเห็นเมียเป็นหญิงดีเลิศประเสริฐศรีระดับแม่พระหรือแม่ของตัวเองไม่ควรแตะต้องไปเสียฉิบ ย้ำอีกที นี่เป็นความคิดของฟรอยด์เฉยๆนะ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องจริง วิธีแก้นั้นเชิงจิตวิทยาก็ต้องทำจิตบำบัดกันไป ส่วนจิตบำบัดจะได้ผลไหม อันนี้ไม่มีงานวิจัยเปรียบเทียบที่เชื่อถือได้บันทึกไว้

     2.2 ผู้ชายบางคน ชอบเที่ยว แล้วก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองจะติดโรคอยู่หรือเปล่า จึงหลบเลี่ยงไม่มีเซ็กซ์กับภรรยาเพราะกลัวเอาโรคมาฝากเมียด้วย หลบไปหลบมาเลยการเป็นหลบเป็นอาจิณ อย่างนี้ก็มี

     2.3 ผู้ชายบางคน โดยเฉพาะเมื่ออายุเข้าสู่วัยฮอร์โมนขาลง (อายุขึ้นเลขสี่ไปแล้ว) มักจะมีอาการไปไม่ถึงฝั่ง หมายความว่ามีเซ็กซ์แล้วหมดมู้ดกลางคัน ต้องมีเซ็กซ์แบบรีบๆให้เสร็จๆ ไม่งั้นทำกิจไม่สำเร็จ จึงหลีกเลี่ยงการมีเซ็กซ์กับภรรยาเพราะรู้สึกว่าจะเป็นการเอาเปรียบที่ตัวเองเอาแต่ไปข้างหน้างุดๆไม่สนคู่ขา สู้หลบมาช่วยตัวเองดีกว่า เพราะสำเร็จกิจได้ทันเวลาโดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง

     2.4 ผู้ชายบางคน มีความเครียด และต้องการใช้เซ็กซ์ระบายความเครียดเท่านั้น ไม่ต้องการอย่างอื่นเลย คือหวังเพียงภาวะผ่อนคลายหลังออร์กัสซั่มมารักษาความเครียดของตัวเอง การมีเพศสัมพันธ์ตามปกติ หากมันไม่ลงตัว มันมีส่วนให้เครียดยิ่งขึ้น เช่นอย่างน้อยก็ต้องมีความเอาใจใส่คู่ขา ว่าขณะเราอยู่ตรงนี้ เขาอยู่ตรงไหน เขารอเรา เราก็ไม่สบายใจ เราต้องรอเขา เราก็ใจร้อนไม่อยากรอ บางคนจึงเห็นว่าเซ็กซ์คู่เป็นการเพิ่มความเครียด สู้ทำเองดีกว่า แบบว่า ใช้ระบบอินสะแต๊นท์ เริ่มสตาร์ทปุ๊บ วิ่ง..ง..ง จู๊ด..ด...ด ถึง ผ่อนคลายเลย (หิ หิ พูดเล่น)

     กล่าวโดยสรุป สามีของคุณไม่ได้ผิดปกติอะไร เขาอยากทำอะไรก็ให้เขาทำไปเถิด อย่าเรียกเขามาสัมนาค้นหาสาเหตุเลย เดี๋ยวจะพาลอยู่กันไม่ได้เปล่าๆ

3.. ถามว่าผู้หญิงช่วยตัวเองแล้วตอนจบมีเลือดปนมูกออกมา มีอันตรายไหม ตอบว่าหลังการเกิดออร์กัสซั่มจะมีสารคัดหลั่งออกมามาก จึงอาจพัดพาเอาเลือดเก่าที่ตกค้าง (เช่นประจำเดือนเก่า) อยู่ในช่องคลอดออกมาด้วย เป็นธรรดาครับ แต่ครั้งหน้าเมื่อไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกกับสูตินรีแพทย์ควรแจ้งอาการนี้ให้หมอทราบด้วย เพื่อหมอเขาจะได้ใส่ใจตรวจดูแหล่งที่มาของเลือดที่อาจมีอยู่แถวๆปากมดลูกเช่นติ่งเนื้อปากมดลูกต่างๆ ด้วย ส่วนที่ว่าถึงออร์กัสซั่มแล้วมีอาการปวดท้องต่างๆนาๆนั้นเป็นเรื่องปกติครับ เพราะเมื่อเกิดออร์กัสซั่มกล้ามเนื้อหดตัวแรง ก็ปวดได้ 

…………………………………….

จดหมายฉบับที่ 2.

สวัสดีค่ะคุณหมอ
พอจะให้คำปรึกษาหนูได้ไหมค่ะ เริ่มเรื่องเลยน่ะค่ะ อาการที่นอนๆไปแล้วช่วยตัวเองมันเกิดจากอะไรบ้างค่ะพอจะให้คำปรึกษาแก้ไข้ได้ไหมค่ะหนูไม่อยากเป็นอาการแบบนี้เล


ตอบครับ

     1.. ถามว่าล้มตัวลงนอนทีไรเป็นอยากช่วยตัวเองทุกทีเป็นเพราะอะไร ตอบว่าก็เป็นเพราะแรงผลักดันจากฮอร์โมนเพศตามธรรมชาตินะสิครับ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร แต่ถ้ารู้สึกว่าตัวเองเป็นทาสฮอร์โมนจนโงหัวไม่ขึ้น ก็ลองหาอย่างอื่นที่หนุกๆกว่าการช่วยตัวเองทำบ้างสิครับ

     2.. ไม่อยากมีอาการเป็นแบบนี้ จะต้องทำอย่างไร ตอบว่าก็ต้องไป “ตอน” แบบที่เขาตอนไก่ตอนเป็ดนั่นแหละครับถึงจะหายจากอาการนี้ได้ แหะ..แหะ พูดเล่นนะ ตัวเอง ร่างกายธรรมชาติเขาสร้างมาอย่างนี้มันก็เป็นอย่างนี้แหละ อย่าไปหงุดหงิดกับเขาเลย

     3.. ช่วยตัวเองบ่อยมากเป็นอะไรไหม ตอบว่าไม่เป็นไรหรอกครับ จะทุกวันหรือวันละหลายครั้งก็ไม่เป็นไร สมัยหนึ่ง ไม่นานมานี้เอง คือประมาณปี 2009 รัฐบาลอังกฤษถึงกับรณรงค์ให้วัยรุ่นอังกฤษช่วยตัวเองกันวันละครั้ง ให้ช่วยตัวเองกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยออกโบรชัวร์แจกมีสโลแกนว่า “ถึงออร์กัสซั่มวันละครั้งเตะหมอทิ้งได้เลย” ("an orgasm a day keeps the doctor away") บ้าดีแมะ เออ. แล้วทำไมพวกอังกฤษซึ่งเป็นฝรั่งเก็บกดในเรื่องเพศต้องมาทำอะไรเพี้ยนๆอย่างนี้ด้วยละ เรื่องของเรื่องก็คือช่วงนั้นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะ HIV กำลังแพร่ระบาดในหมู่วัยรุ่นอังกฤษมาก พวกผู้ใหญ่ (พวกหมอเนี่ยแหละตัวดี) ก็เลยหาทางตัดกำลังวัยรุ่น โดยยุให้ช่วยตัวเองทุกวันให้หมดแรงซะก่อน จะได้ไม่ไปมีเซ็กซ์และแพร่เชื่อโรคสู่กัน ผมไม่ทราบว่าพวกวัยรุ่นอังกฤษสมัยนั้นหลงกลของผู้ใหญ่หรือเปล่า แต่นโยบายนี้ต่อมาก็แผ่วเงียบหายไป

..................................................

จดหมายฉบับที่ 3.

กราบเรียนลุงหมอสันต์
หนูอายุ 16 ปี แต่ว่าชอบช่วยตัวเองมาก และทุกครั้งต้องเอาปากกาลูกลื่นใส่เข้าไปทางช่องเล็กๆ ไม่ใช่ช่องคลอดที่ใหญ่ๆนะ เป็นช่องเล็กๆ เพราะถ้าไม่ทำอย่างนี้มันไม่ถึง บางครั้งหนูใส่จนมิดด้าม หนูทำอย่างนี้จะมีอันตรายมากไหมคะ ถ้าลุงหมอไม่ให้ทำอย่างนี้ จะต้องทำอย่างไรให้ถึงและปลอดภัยด้วยคะ

รักลุงหมอมาก ฝุดๆเบย

ตอบครับ

    1.. รูเล็กๆที่อยู่ตอนบนของช่องคลอด  (vagina) คือรูเปิดของท่อปัสสาวะ (urethra) การเอาปากกาลูกลื่นใส่เข้าไปทางนั้นสำหรับคุณมันอาจจะเสียวสะใจดี แต่สำหรับหมอละมันเป็นเรื่องน่าหวาดเสียวมากกว่า  หวาดเสียวว่ามันจะทิ่มท่อปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะทะลุ หากทะลุแล้วไม่รู้ตัวเพราะช่วงนั้นกำลังมันอยู่ พอเวลาฉี่ น้ำปัสสาวะก็จะเล็ดออกไปขังเป็นแอ่งตรงที่ทะลุ แล้วเป็นที่เพาะเชื้อ ทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือด แล้วถึงตายได้นะ จึงไม่ควรช่วยตัวเองด้วยวิธีนี้

     พูดถึงการช่วยตัวเองด้วยวิธีที่อันตรายถึงตายที่มีรายงานไว้ในทางการแพทย์ก็มีหลายแบบนะ ซึ่งไม่ควรทำ เช่นช่วยตัวเองไปด้วยบีบคอตัวเองไปด้วย (เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลงจนเบลอๆตอนถึงออกัสซั่ม จะได้มันส์ยิ่งขึ้น) หรือบางทีช่วยตัวเองอยู่คนเดียวก็เอาเชือกหรือผ้ามาพันรัดคอรัดตัวของตัวเอง พันไปพันมาบิดไปบิดมาหายใจไม่ออก ไม่รู้ว่าได้ถึงจุดสุดยอดหรือเปล่า เพราะตอนมาถึงมือแพทย์ตายไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น วัยรุ่นทั้งหลายอย่าริช่วยตัวเองแบบเสี่ยงตายเลย การช่วยตัวเองเป็นความบันเทิงและผ่อนคลาย แต่การฆ่าตัวตายเป็นความซึมเศร้ารันทด อย่าเอาสองเรื่องมาปนกัน   

     2.. ถามว่าถ้าไม่ให้ใส่ปากกาลูกลื่นแล้วจะให้ทำอย่างไร จะให้ใส่ดินสอแทนหรืออย่างไร (ผมเคยอ่านรายงานของหมอเยอรมันว่าเด็กผู้หญิงเยอรมันเอาดินสอแหลมๆใส่เข้าไป แล้วหลุดมือเข้าไปลอยเท้งเต้งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ) ตอบว่าทำอย่างไรก็ได้ที่ไม่ต้องไปยุ่งกับท่อปัสสาวะ การใช้จินตนาการช่วยก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะเพิ่มความรู้สึกโดยไม่ต้องเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

  
2.      Giles, G.G.; G. Severi, D.R. English, M.R.E. McCredie, R. Borland, P. Boyle and J.L. Hopper (2003). Sexual factors and prostate cancer. BJU International.doi:10.1046/j.1464-410X.2003.04319.x. Retrieved 2009-01-09.
4.      El Atat, R.; Sfaxi, M.; Benslama, R.; Amine, D.; Ayed, M.; Mouelli, B.; Chebil, M.; Zmerli, S. (Jan 2008). "Fracture of the penis: management and long-term results of surgical treatment. Experience in 300 cases".The Journal of trauma 64 (1): 121–125.doi:10.1097/TA.0b013e31803428b3.ISSN 0022-5282. PMID 18188109. edit
5.      Levine M. P., Troiden R. R. (1988). "The myth of sexual compulsivity". Journal of Sex Research 25 (3): 347–363.doi:10.1080/00224498809551467.



[อ่านต่อ...]

30 กรกฎาคม 2556

กระดูกบาง (osteopenia) ในคนอายุ 69 ปี

เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ

ดิฉันเปิด Google เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุน ได้พบข้อความของคุณหมอ และให้ e-mail address ไว้ จึงขอความกรุณาปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับโรคนี้ ดิฉันอายุ 69 ปี น้ำหนัก 46.5 กก. สูง 155 ซม. เป็นโรคกระดูกบาง ซึ่งได้รับการรักษามาหลายปีแล้ว เคยรับประทานActonel เป็นบางครั้ง พอดีขึ้นก็เลิกรับประทาน  แต่รับประทานแคลเซียมและวิตามินดีมาตลอด เมื่อปลายเดือนเมษายนนี้ได้รับคำแนะนำจากคุณหมอที่ไปรักษาอยู่ให้ฉีดยา ซึ่งต้องฉีดปีละครั้ง และตรวจเลือดทุก 3 เดือน

ค่า T score ที่กระดูกสันหลัง ได้ -2.0 (ปี2010) ลดลงเป็น -2.1 (ปี2013)
ค่า T score ที่กระดูกตะโพก ได้ -0.8 (ปี2010) ลดลงเป็น -0.7 (ปี2013)
ก่อนฉีดยาตั้งแต่ปี 2552-2556 ค่าBeta- Crosslaps อยู่ในช่วง 0.40-0.60 ng/ml, N-MID osteocalcin อยู่ในช่วง 16-29 ng/ml, Total P1NP  อยู่ในช่วง 57-71  ng/ml   
หลังฉีดยาได้ 3 เดือนได้ไปตรวจเลือด พบว่าค่าทั้ง 3 นี้ ลดลงอย่างมากคือค่าBeta- Crosslaps เท่ากับ 0.07 ng/ml, N-MID osteocalcin  เท่ากับ 10 ng/ml, Total P1NP   เท่ากับ 14  ng/ml

ไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป เพราะแสดงว่ายาที่ฉีดเข้าไปมี negative effect ต่อมวลกระดูก ใช่ไหมคะ และจะต้องทำการรักษาอย่างไรต่อไปคะ
ปกติดิฉันออกกำลังกายโดยการเดินไปมาข้างๆบ้านสลับกับการนั่งสมาธิ และใช้ Ellipical 15 นาทีโดยใช้ level 2 ในการโยกตัวไปมา ทำทุกวันยกเว้นวันที่ออกต่างจังหวัดหรือไปประชุม ต้องเรียนคุณหมอว่าดิฉันเกษียณเมื่ออายุ 65 ปี ก่อนเกษียณเป็นคน active มากทำอะไรเร็วมาก แต่เมื่อต้นเดือนเมษายน 2556 หกล้ม เลยทำให้มีอาการเข่าเสื่อม และต้องทาน glucosamine วันละ 1 เม็ดตั้งแต่ ปลายเดือนมิถุนายน อาการเจ็บและขัดที่เข่าดีขึ้นมาก แต่ไม่หายและบางที่ก็เจ็บที่ข้อศอกด้วย กระดูกคอเสื่อมมาตั้งแต่อายุ 50 ปี หลังจากหกล้มบุคคลิกแย่มาก เกิดความกลัวในการเดินและขับรถทั้งๆที่ปฎิบัติธรรมมาเป็นเวลา 8 ปี แต่ทำใจได้ยาก และเตรียมตัวตายโดยการนั่งสมาธิและเดินจงกรมตลอดเวลาเท่าที่ทำได้ กรุณาให้คำแนะนำเพื่อจะได้ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างไม่ทรมานมากนัก ดิฉันอาจคิดมากไปว่าการตายจากโรคกระดูกคงเจ็บมากเพราะมันจะจบด้วยกระดูกหักที่ใดที่หนึ่งของร่างกาย นอกจากแคลเซียมและวิตามินดีวันละ  1 เม็ดแล้ว และ glucosamine แล้ว ดิฉันทานวิตามินเค 2 เม็ดต่อวัน เช้า เย็น นอกจากนั้นก็มีวิตามินซี 1000 mg วันละ 1 เม็ด วิตามิน B complex 1 เม็ด วิตามิน บี 1, 6, 12 วันละ 2 เม็ด และทานเห็ดหลินจือ วันละ 4 เม็ด ทาน melatonin 0.75 mg 1 เม็ดก่อนนอน คุณหมอเห็นการทานยาของดิฉันแล้ว คงอยากเป็นลม อยากปรึกษาคุณหมอว่ายา Aclasta ที่ฉีดเข้าเส้นเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว เมื่อครบปีแล้ว ถ้าจะหยุดยานี้จะมีผลเสียไหมคะ


ขอบพระคุณคุณหมอเป็นอย่างสูงค่ะ

ดร.....
คณะ.....

มหาวิทยาลัย.....

......................
...............

ตอบครับ

1.. ประเด็นการใช้และแปลความหมายของตัวชี้วัดการสร้างและสลายกระดูก (bone marker)

     คำว่าตัวชี้วัดการสร้างและสลายกระดูกหรือ bone marker นี้ก็คือค่าแล็บสามตัวที่คุณถามมานั่นแหละ (Beta crosslaps, osteopcalcin, P1NP) ก่อนอื่นผมขอเกริ่นให้ทราบความจริงก่อนนะว่านับแต่อดีตมาถึง ณ วันนี้ ยังไม่มีหลักฐานใดๆเลยที่บอกว่าการเอาค่า bone marker มาใช้ประกอบการรักษา จะลดโอกาสเกิดกระดูกหักของคนไข้ลงได้...ไม่มีเลย บ๋อแบ๋ การใช้ค่าแล็บเหล่านี้ในการรักษา เป็นเพียงความชอบตามอัตวิสัยของแพทย์และบริษัทขายแล็บเท่านั้น ส่วนคนไข้จะได้ประโยชน์หรือไม่ ยังไม่มีใครทราบ ดังนั้นการอธิบายเรื่อง bone marker ให้คุณจึงเป็นอะไรแบบว่า “รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม” ไม่ใช่หนทางบรรลุธรรม คุณเข้าใจนะ

     ขอพูดถึงตัวแรกก่อน Beta-crosslaps เป็นตัวชี้วัดการสลายกระดูก (osteolysis) มีความหมายว่าค่ายิ่งมาก ยิ่งมีการสลายกระดูกมาก ยิ่งไม่ดี ในกรณีของคุณนี้ หลังจากใช้ยารักษากระดูกพรุนไป ค่า Beta-crosslaps ลดลงจากเดิมมากกว่า 25% ตามธรรมเนียมปฏิบัติ (ไม่มีหลักฐาน) ก็ถือว่าการรักษาด้วยยาที่ทำผ่านมาได้ผลดีแล้ว ดีนะ ไม่ใช่ไม่ดี

     ตัวที่สอง Osteocalcin กับตัวที่สาม P1NP เป็นตัวชี้วัดการสร้างกระดูก (osteopgenesis) มีความหมายว่าค่ายิ่งมาก ยิ่งมีการสร้างกระดูกมาก ยิ่งดี ในกรณีของคุณยิ่งรักษาไป การสร้างมวลกระดูกยิ่งลดลง ซึ่งก็เป็นธรรมดา เพราะการสร้างมวลกระดูกย่อมลดลงไปตามอายุและการใช้งานกระดูก ยิ่งใช้งานน้อย มวลกระดูกยิ่งลดลงมาก หากจะตีความหมายรวมทั้งสารบ่งชี้การสร้างและสารบ่งชี้การสลายเข้าด้วยกันก็สรุปได้ว่าใช้ยาไปแล้วลดการสลายกระดูกลงได้ก็จริง แต่การสร้างก็น้อยลงไปด้วย หมายความว่าที่ยังอยู่เนี่ยคือเซลกระดูกเก่าๆทั้งเพ ไม่ใช่กระดูกที่ผลัดหน้ากันสร้างของใหม่มาแล้วสลายของเก่าไปตามธรรมชาติ เพราะธรรมชาติของคนเรานี้เซลกระดูกจะผลัดรุ่นทยอยตายไปหมดในเวลาไม่เกิน 7 ปี กระดูกที่เห็นอยู่เป็นของใหม่ที่ร่างกายทะยอยสร้างมาทดแทน

     ตรงนี้ขอนอกเรื่องหน่อยนะ ตรงนี้เอง คือตรงที่มีข้อมูลว่ากระดูกที่เหลือหลังการใช้ยาเป็นกระดูกเก่านี่เอง ที่เป็นที่มาของความกังวลเรื่องการใช้ยารักษากระดูกพรุนนานเกิน 5 ปี เพราะมีบางงานวิจัยรายงานว่าใช้ยานี้ไปนานๆมันทำให้กระดูกขาเปราะและหักกลางลำ แถมยังหักเป็นรูปทรงประหลาดแบบแหลมๆทิ่มหลอดเลือดได้ง่าย แต่ว่าจำนวนคนที่เกิดกระดูกหักแบบนี้มีไม่มากนัก ชั่งน้ำหนักดีเสียแล้วก็ยังทำให้การใช้ยารักษากระดูกพรุนในระยะยาวพอก้ำกึ่งกัน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลความปลอดภัยเกี่ยวกับการใช้ยานี้ไปนานเกินห้าปีถือว่าที่เป็นทางการยังไม่มี ไม่ทราบเพราะเหตุใด บริษัทยาซึ่งเคยเป็นเจ้าใหญ่ที่สนับสนุนเงินทุนวิจัยก็ไม่เคยกระดี๊กระด้าจะให้มีการวิจัยเรื่องนี้ เราก็จึงต้องอยู่กับการไม่มีข้อมูลต่อไป

2. ประเด็นที่ว่ากรณีของคุณนี้ ควรใช้ยารักษากระดูกพรุนหรือไม่

     อย่าลืมว่าปลายทางของนิยายเรื่องนี้ คือการป้องกันกระดูกหัก แต่ว่าคนจำนวนมากหลงทางไปว่าปลายทางของเรื่องนี้คือทำให้ค่าแล็บและค่าเอ็กซเรย์ที่ขยันตรวจกันจังนั้นกลับมาเป็นปกติให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นมวลกระดูก (T-score) หรือตัวชี้วัดการสร้างและสลายกระดูก (bone markers) ทั้งๆที่มวลกระดูกเป็นเพียงปัจจัยเล็กๆในฐานะปัจจัยร่วมทำให้เกิดกระดูกหักเท่านั้น ไม่ใช่ปัจจัยใหญ่ด้วยซ้ำ ส่วนตัวชี้วัดการสร้างกระดูกทั้ง osteocalcin และ P1NP และตัวชี้วัดการสลายกระดูกอันได้แก่ beta-crosslaps นั้น ไม่มีหลักฐานเลยแม้แต่น้อยนิดว่าหากนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจรักษาแล้วจะทำให้กระดูกหักน้อยลง ดังนั้นเรามาเริ่มที่หัวใจของเรื่องก่อน ว่ากรณีของคุณควรใช้ยารักษากระดูกพรุนหรือไม่ ซึ่งสามารถวินิจฉัยได้จาก 3 มุมมอง คือ
  
     มุมมองที่ 1. คือมองจากมวลกระดูก (BMD)  ซึ่งสากลตกลงกันใช้ T-score โดยคำแนะนำของมูลนิธิกระดูกพรุนแห่งชาติอเมริกัน หรือ National Osteoporosis Foundation (NOF) แนะนำว่าควรเริ่มใช้ยารักษากระดูกพรุน เมื่อ T-score ต่ำกว่า -2.5 ในกรณีของคุณคะแนน T-score ทั้งของกระดูกสันหลังและของกระดูกตะโพกล้วนไม่ได้ต่ำกว่า – 2.5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งของกระดูกตะโพกซึ่งเป็นอะไรที่เรากลัวนักกลัวหนาว่าจะหักนั้น ของคุณยังอยู่ในย่านปกติด้วยซ้ำไป คือของคุณ -0.7 (ขณะที่ค่าปกติคือไม่ต่ำกว่า -1.0) ดังนั้นมองจากมุมนี้ กรณีของคุณไม่ควรใช้ยารักษากระดูกพรุน

     มุมมองที่ 2. คือมองจาก FRAX score คำว่าแฟรกซ์สะกอร์นี้เป็นวิธีคำนวณความเสี่ยงการเกิดกระดูกหักที่องค์การอนามัยโลกนำออกมาเผยแพร่ให้ใช้เป็นมาตรฐาน โดยเอาปัจจัยเสี่ยงต่างๆใส่เข้าไป คนทั่วไปสามารถเข้าไปคำนวณแฟรกซ์สะกอร์ของตัวเองได้ที่เว็บไซท์ http://www.shef.ac.uk/FRAX/tool.jsp ผมได้ลองคำนวณของคุณแล้ว ได้คะแนนโอกาสเกิดกระดูกตะโพกหักในสิบปีข้างหน้า 0.5% และโอกาสเกิดกระดูกหักที่ไหนก็ได้ทั่วตัวในสิบปีข้างหน้า 3.5% ซึ่งเป็นโอกาสที่ต่ำมาก ต่ำกว่าเส้นตัดที่แนะนำให้ใช้ยารักษากระดูกพรุนแบบว่ายังห่างไกล (แนะนำให้ใช้ยารักษาเมื่อความเสี่ยงกระดูกสะโพกหักมีมากกว่า 3% หรือความเสี่ยงกระดูกหักโดยรวมมากกว่า 20% ดังนั้นมองจากมุมนี้คุณก็ไม่ควรใช้ยารักษากระดูกพรุน

     มุมมองที่ 3. คือมองจากโหงวเฮ้ง หมายความว่าแพทย์ตัดสินใจจากดุลพินิจส่วนตัว โดยไม่อ้างอิง score หรือ guidelines อะไรทั้งสิ้น วิธีนี้ก็เป็นมาตรฐานอย่างหนึ่งในการรักษาโรคเหมือนกัน ซึ่งแพทย์ของคุณตัดสินใจจากมุมมองนี้ อันนี้ไม่มีถูกผิด แพทย์ของคุณมองเห็นคุณจะจะ รักษาคุณมานานปี ย่อมจะเป็นผู้อยู่ในฐานะใช้ดุลพินิจได้เหมาะสมดีที่สุด แต่หากจะให้ผมเป็นผู้ใช้ดุลพินิจ ผมก็จะอาศัยแค่ข้อมูลที่คุณส่งมาทางไปรษณีย์เท่าที่มี โดยไม่ได้เห็นโหงวเฮ้งของคุณ ผมก็จะออกความเห็นว่ากรณีของคุณเป็นกรณีที่ไม่ควรใช้ยารักษากระดูกพรุน เพราะปัญหาหลักของคุณไม่ใช่เรื่องกระดูกพรุน เพราะคะแนนความแน่นกระดูกก็บอกอยู่แล้วว่ายังไม่พรุน หรือไม่ใช่การมีความเสี่ยงพิเศษที่จะเกิดกระดูกหักอันสืบเนื่องจากกระดูกพรุน (เช่นใช้สะเตียรอยด์ สูบบุหรี่ ติดเหล้า เป็นเบาหวาน เป็นโรครูมาตอยด์) แต่ปัญหาหลักของคุณคือความเสี่ยงที่จะลื่นตกหกล้ม หากจะเกาให้ถูกที่คัน ต้องไปจัดการที่นั่น (ซึ่งผมจะกล่าวถึงต่อไป)  ไม่ใช่มานั่งฉีดยาหรือกินยารักษากระดูกพรุน นี่เป็นความเห็นทางไปรษณีย์ของผมเพื่อประกอบการศึกษาของคุณเท่านั้นนะ ไม่ใช่จะรักษาคุณทางไปรษณีย์ เพราะผมตั้งตัวรับรักษาคนไข้ทางไปรษณีย์ไม่ได้ มันผิดหลักวิชาแพทย์ที่ต้องมีการดูคลำเคาะฟังเป็นแก่นหลัก

3.. ถามว่าหากคุณหยุดยา zoledronic acid (Aclasta) แล้ว จะเกิดความเสียหายอะไรไหม 

     คำถามนี้สามารถตอบได้จากงานวิจัยซึ่งทำกันที่ซานฟราน (UCSF) ในงานวิจัยนี้เขาหยุดยารักษากระดูกพรุนเมื่อครบห้าปีแล้วตามดูต่อไปอีกห้าปี (ปีที่หกถึงปีที่สิบ) ก็พบว่าอัตราการเกิดกระดูกหักทั่วไปหลังหยุดยาไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใดเมื่อเทียบกับผู้ไม่ได้หยุดยา ยกเว้นแต่การเกิดปล้องกระดูกสันหลังทรุดซึ่งกลุ่มที่หยุดยาเกิดได้มากกว่าเล็กน้อย ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลในคนเป็นโรคกระดูกพรุนนะ คุณไม่ได้เป็นโรคกระดูกพรุน แต่ข้อมูลความปลอดภัยของการหยุดยาก็พอจะอณุโลมใช้ในคุณได้

4. ถามว่าคนเป็นกระดูกบางอย่างคุณนี้ หากไม่ต้องใช้ยารักษากระดูกพรุน ควรจะทำตัวอย่างไร 

     ตอบว่ามูลนิธิกระดูกพรุนแห่งชาติอเมริกันได้แนะนำให้แพทย์ทำสิ่งต่อไปนี้กับผู้ป่วยแบบคุณนี้ คือ

     4.1 อธิบายให้คนไข้ทราบถึงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดกระดูกพรุนและกระดูกหัก ได้แก่ เป็นหญิง, อายุมาก, ผอม, สูบบุหรี่, เคยกระดูกหักมาก่อน, พ่อแม่เคยกระดูกหักมาก่อน, ใช้ยาสะเตียรอยด์, เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, ดื่มแอลกอฮอล์จัด, ตรวจมวลกระดูกได้คะแนน T-score ต่ำกว่า -2.5 หรือเป็นโรคที่ทำให้กระดูกพรุน เช่น โรคเบาหวานประเภทที่ 1, โรคไฮเปอร์ไทรอยด์, โรคขาดอาหาร เป็นต้น

     4.2 แนะนำให้กินอาหารที่มีผักผลไม้มากๆ โดยให้ได้รับแคลเซียมจากอาหารระดับวันละ 1200 มก.ขึ้นไป และให้ได้รับวิตามินดี.จากอาหารวันละ 800 มก.ขึ้นไป หากมีหลักฐานว่าไม่สามารถกินอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีพอเพียงจึงค่อยเสริมแคลเซียมบวกวิตามินดีในเม็ดเดียวกันวันละเม็ด

     โปรดสังเกตว่าในคำแนะนำนี้ซึ่งเป็นคำแนะนำเพิ่งออกใหม่ปีนี้  (2013) เน้นให้กินแคลเซียมจากอาหารเป็นหลักไม่เน้นให้กินเป็นเม็ด ทั้งนี้เป็นเพราะมาถึงวันนี้มีงานวิจัยสรุปผลได้ชัดแล้วว่าในคนทั่วไปแคลเซียมเสริมเป็นเม็ดไม่ได้ลดการเกิดกระดูกหัก แถมยังเพิ่มโอกาสการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดอีกต่างหาก อาหารที่มีแคลเซียมมากชัวร์ก็คือนม นมไร้ไขมัน 1 แก้วให้แคลเซียมประมาณ 300 มก.  

     4.3 แนะนำให้เล่นกล้ามทุกวัน ตรงนี้สำคัญมาก ยิ่งอายุมากยิ่งต้องขยันเล่นกล้าม สำคัญที่สุดจนผมต้องย้ำแล้วย้ำอีกหลายรอบ ทุกวันนี้ผมเปิดสอนคนป่วยและคนสูงอายุให้มาเรียนฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหรือเล่นกล้ามด้วย ผมเคยเขียนสอนวิธีเล่นกล้ามไว้ในบล็อกนี้ด้วยแล้วหลายครั้ง คุณย้อนอ่านดูได้ที่ http://visitdrsant.blogspot.com/2012/10/strength-training.html

     4.4 ทำการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดลื่นตกหกล้ม (fall risk) ของคนไข้แต่ละคน แล้วจัดการปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นให้หมดทุกตัว ซึ่งเรื่องนี้สำหรับคุณผมจะเขียนบอกให้ละเอียดอีกหนตอนท้ายบทความนี้

     4.5 แนะนำให้เลิกสูบบุหรี่ และลดการดื่มแอลกอฮอล์เหลือระดับพอควร

     4.6 แนะนำให้วัดส่วนสูงทุกปี เพราะถ้าความสูงลดลงฮวบฮาบต้องรีบประเมินการทรุดตัวของกระดูกสันหลังใหม่ หากกระดูกสันหลังทรุดจริง ก็จะต้องทำการรักษา

     ทั้งหกมาตรการที่เขาให้หมอบอกคนไข้นี้ คุณอ่านแล้วก็ให้ถือว่าหมอเขาบอกคุณแล้ว ให้คุณนำไปปฏิบัติได้เลย

5. มาตรการป้องกันการลื่นตกหกล้ม

     ในเรื่องนี้ สาระก็คือการประเมินความเสี่ยงส่วนบุคคลที่จะเกิดการลื่นตกหกล้ม แล้วจัดการปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นเสีย ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าปัจจัยต่อไปนี้เป็นความเสี่ยงทำให้ลื่นตกหกล้มง่าย ถ้าคุณมีต้องรีบจัดการ

     5.1 ไม่มีราวจับในห้องน้ำและทางเดินในบ้าน

     5.2 พื้นบ้านวางแผ่นพรมหรือผ้าเช็ดเท้าไว้แบบหลวมๆที่เหยียบแล้วลื่น หรือสะดุดขอบได้

     5.3 ดวงไฟในบ้านติดไว้ต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเดินลงบันได ทำให้ไฟแยงตา เพราะคนแก่ม่านตาปรับตัวช้า หากถูกไฟแยงตา ตาจะพร่ามองอะไรไม่เห็นแล้วพลาดล้มได้ง่าย

     5.4 กินยาที่ทำให้ง่วงหรือทำให้เมา เช่นยาแก้ปวดกลุ่มมอร์ฟีน ยากันชัก ยาคลายกังวล ยาต้านซึมเศร้า ยานอนหลับ ยาแก้แพ้ หากกินอยู่ต้องรีบหยุดยาพวกนี้ให้เร็วที่สุด

     5.5 เป็นคนขี้กังวลงกๆเงิ่นๆ ขาดสติ

     5.6 มีปัญหาความดันเลือดตกเมื่อเปลี่ยนท่าร่าง (Orthostatic hypotension)

     5.7 มีปัญหาหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmias)

     5.8 การมองเห็นไม่ดี

     5.9 ใช้แว่นตาแบบ bifocals

     5.10 ร่างกายขาดน้ำ

     5.11 เป็นโรคซึมเศร้า

     5.12 เป็นโรคสมองเสื่อม ความคิดอ่านไม่แหลมคม

     5.13 มีปัญหาเดินเหินได้ไม่คล่องแคล่ว

     5.14 ขาดอาหาร

     5.15 ขาดวิตามินดี.

     5.16 อั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปวดขึ้นมาต้องไปทันที

     5.17 กล้ามเนื้อไม่มีแรงทรงตัว

     5.18 หลังไม่ตั้งตรง หลังโกง หลังค่อม ทำให้มองเห็นไม่ชัด

     5.19 เป็นคนขี้ล้ม คือเคยลื่นตกหกล้มมาก่อน

     5.20 เป็นคนกลัวล้ม จะขยับจะเดินก็กลัว กลัวจนขาดสติในการเดิน จึงได้ล้มจริงๆ

     เมื่อคุณได้ประเมินปัจจัยเสี่ยงทั้ง 20 ปัจจัยด้วยตัวคุณเองแล้ว ปัจจัยไหนที่คุณมี คุณก็จัดการมันเสีย อย่าเสียดายเงินที่จะจัดการปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ เช่นให้ช่างเข้ามาติดราว เอาพรมออกไป ย้ายหลอดไฟใหม่ เพราะถ้าคุณล้มแล้วสะโพกหัก คุณจะเสียมากกว่า ในบรรดาปัจจัยเสี่ยงทั้ง 20 ตัวนี้ ตัวที่ผมกังวลมากที่สุดในกรณีของคุณคือการที่กล้ามเนื้อของคุณไม่แข็งแรง เพราะดูจากดัชนีมวลกายของคุณ (18.7) คุณเป็นคนค่อนข้างผอม กล้ามเนื้อไม่ค่อยมี ดังนั้นผมจินตนาการได้เลยว่าการทรงตัวของคุณไม่ดี กล้ามเนื้อลีบระดับนี้ ที่จะไปเต้นร็อกหมุนตัวไปมานั้นคุณคงทำไม่ได้ ดังนั้นตอนนี้ไม่ต้องไปทำงานแล้ว ควรเอาเวลาที่มีมาเล่นกล้าม และทำกิจกรรมฝึกกล้ามเนื้อและเสริมการทรงตัว เช่นไปรำมวยจีน (tai chi) หรือไปเรียนเต้นรำ เป็นต้น

6. ถามว่าในบรรดายาที่กินอยู่ ควรปรับอะไรบ้าง 

     ตอบว่าหากไม่นับยารักษากระดูกพรุน ยาบำรุงทั้งหมดที่คุณกินแต่ละตัวก็ไม่ได้มีโทษอะไรมาก แต่ตัวที่มีหลักฐานว่ามีประโยชน์นั้น ผมขอพูดถึงเพียงสองตัว

     ตัวแรก คือแคลเซียมเป็นเม็ดหรือแคลเซี่ยมเพียวๆหรือฟู่ๆนั้น ตกกระป๋องไปเรียบร้อยแล้ว คือทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่าไม่ควรกิน เพราะเสียมากกว่าได้ คือทั้งไม่ได้ลดอุบัติการณ์ของกระดูกหักทั้งอาจจะได้โรคหัวใจหลอดเลือดและนิ่วในไตเพิ่มขึ้น ส่วนแคลเซี่ยมบวกวิตามินดี. (เช่น Caltrate Plus) นั้นเป็นอะไรที่ยังโต้แย้งถกเถียงกันอยู่ไม่ตกฟาก พวกที่หากินกับกระดูกพรุนโดยตรงเช่นมูลนิธิกระดูกพรุนแห่งชาติ (NOF) ก็ยังแนะนำอยู่ว่าควรใช้เพราะดีกว่าอยู่เปล่าๆ ส่วนพวกที่ดูแลสุขภาพแบบองค์รวมเช่นคณะทำงานป้องกันโรคสหรัฐ (USPSTF) นั้นฟันธงโป๊กเลยว่าไม่ควรใช้เพราะไม่มีหลักฐานว่ามีประโยชน์อะไร อยู่เปล่าๆดีกว่า แบบว่ามากหมอก็มากความนั่นแหละ ผมนั้นเป็นคนเถรตรงตามหลักฐานและมองการรักษาคนไข้แบบองค์รวม จึงแนะนำคนไข้ของผมว่าไม่กินไม่เกินมันทั้งหมดนั่นแหละไม่ว่าจะแคลเซียมเพียวๆหรือแคลเซียมบวกวิตามินดี ยกเว้นคนที่เจาะเลือดแล้วพบว่าระดับวิตามินดีต่ำ จึงจะให้กินแต่วิตามินดีเพื่อรักษาโรคขาดวิตามินดีจนระดับวิตามินดีกลับมาเป็นปกติแล้วก็หยุด ผมได้ให้รายงานวิจัยหลักๆใหม่ๆที่ทำให้คนเขาทะเลาะกันแนบไว้ในบรรณานุกรมท้ายบทความนี้ด้วย เผื่อคุณข้องใจว่าจะเชื่อตามใครดีจะได้ตามไปอ่านเองแล้วเลือกเชื่อเอาเองตามใจชอบ

     ตัวที่สอง คือวิตามินบี.12 คืองานวิจัยคนแก่ในอเมริกาพบว่ามักจะขาดวิตามินบี.12 และโฟเลทจนมีกฎหมายบังคับให้ใส่วิตามินบี.12 และโฟเลทในอาหารต่างๆ แต่ในคนไทยไม่มีหลักฐานว่าขาดแบบฝรั่งเขาหรือเปล่า หากอยากรู้ก็ต้องไปเดจาะเลือดดูระดับวิตามินบี.12 และโฟเลทดู แต่ถ้าไม่ต้องการเจาะเลือดและจะมั่วนิ่มกินวิตามินบี.12 และโฟเลทเสริมไปเลย ผมก็ว่าเป็นการตัดสินใจที่มีพอจะมีเหตุผล

     ส่วนยาตัวอื่น รวมทั้งกลูโคซามีน, วิตามินซี., วิตามินเค., บีโค. นั้น ล้วนเป็นยาผีบอก หมายความว่าไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่สรุปได้เด็ดขาดในภาพรวมว่ามีประโยชน์จริงจังแต่อย่างใด คุณจะกินไม่กิน ผมก็ไม่ซีเรียสหรอกครับ


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.       National Osteoporosis Foundation. The 2013 CLINICIAN’S GUIDE TO PREVENTION AND TREATMENT OF OSTEOPOROSIS. Accessed on July 30, 2013 at http://www.nof.org/files/nof/public/content/resource/913/files/580.pdf
2.       Shane E (May 2010). "Evolving data about subtrochanteric fractures and bisphosphonates"N. Engl. J. Med. 362 (19): 1825–7. doi:10.1056/NEJMe1003064.PMID 20335574.
3.       Prentice RL, Pettinger MB, Jackson RD, et al. Health risks and benefits from calcium and vitamin D supplementation: Women's Health Initiative clinical trial and cohort study. Osteoporos Int. 2012; Dec 4. [Epub ahead of print]2012. http://link.springer.com/article/10.1007%2Fs00198-012-2224-2.
4.       Reid IR, Bolland MJ. Calcium supplements: bad for the heart? Heart. 2012;98(12):895-6.
5.       Bolland MJ, Grey A, Avenell A, Gamble GD, Reid IR. Calcium supplements with or without vitamin D and risk of cardiovascular events: reanalysis of the Women's Health Initiative limited access dataset and meta-analysis. BMJ. 2011; 19;342:d2040.
6.       Moyer VA; on behalf of the U.S. Preventive Services Task Force*.Vitamin D and Calcium Supplementation to Prevent Fractures in Adults: U.S. Preventive Services Task Force Recommendation Statement. Ann Intern Med. 2013;[Epub ahead of print].
7.       LeBoff MS, Hawkes WG, Glowacki J, et al. Vitamin D-deficiency and post-fracture changes in lower extremity function and falls in women with hip fractures. Osteoporos Int. 2008;19(9):1283-90. 


[อ่านต่อ...]

28 กรกฎาคม 2556

ทำอย่างไรจะไม่แก่ (Anti-aging กับ telomere)

สวัสดีค่ะ คุณหมอสันต์ ดิฉันเป็นคนเกษียณแล้วเหมือนกันค่ะ ได้ดูคุณหมอสันต์ในรายการโทรทัศน์วันอาทิตย์ที่แนชั่นแชนแนล เห็นว่าคุณหมอสันต์แม้จะเกษียณแล้วแต่ก็ยังดูหนุ่ม ยังเคลื่อนไหวคล่องแคล่ว ตัวดิฉันเองตั้งแต่เกษียณมาแล้วเห็นชัดว่าตัวเองแก่ลงมาก ช้าลงมาก ขี้หลงขี้ลืมเป็นที่หนึ่ง วันไหนไม่ได้แต่งหน้าไม่อยากมองหน้าตัวเองในกระจกเพราะเหมือนแก่ล่วงหน้าไปแล้วสักสิบปี วันๆมันรู้สึกไม่อยากออกไปไหน แต่ก็ต้องพยายามออก เพราะเบื่อคุณสามีที่ชอบบังคับให้อยู่เป็นเพื่อนและเอ่ยปากขอให้หาโน่นหานี่ให้ทานเหมือนสมัยที่เขายังทำงานอยู่ ทั้งๆที่ตอนนี้เกษียณแล้วน่าจะหัดทำอะไรเองบ้าง แต่ว่าออกจากบ้านแล้วก็ไม่ค่อยมีที่ไป เพราะเพื่อนๆก็ห่างหายกันไปหมดเพราะเราเอาแต่ดูแลลูกและสามีอยู่หลายสิบปีไม่ได้ติดต่อกับใครจึงไม่ได้ข่าวคราวของคนอื่น อยากให้คุณหมอสันต์แนะนำว่าทำอย่างไรจึงจะไม่แก่อย่างคุณหมอสันต์บ้าง คุณหมอทานอย่างไร อยู่อย่างไร ทานวิตามินหรืออาหารเสริมอะไรอยู่บ้าง คุณหมอสันต์ฉีดสะเต็มเซลหรือเปล่า คืออยากรู้ว่าในเรื่อง anti-aging นี้ อะไรเป็นจริง อะไรหลอก ขอบคุณค่ะ (ชื่อ..) ดิฉันต้องขอโทษด้วยที่เขียนติดกันหมดเพราะทำย่อหน้าไม่เป็น เพิ่งหัดส่งอีเมล ยังไม่ถนัด 

.....................................

ตอบครับ

ผมหายศีรษะไปหลายวัน เพราะไปทำแค้มป์สุขภาพให้กับคณะผู้เกษียณอายุจำนวนราว 50 คน ขององค์กรใหญ่แห่งหนึ่ง ผมพาท่านเหล่านั้นไปกินไปนอนอยู่ในรีสอร์ทแห่งหนึ่งที่นครนายกสามสี่วัน เพื่อเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็นผู้เกษียณ เพิ่งกลับมาวันนี้ จึงหยิบจดหมายฉบับนี้ขึ้นมาตอบเพราะยังอยู่ในอารมณ์ของ “ผู้เกษียณ” อุ่นๆอยู่เลย

1.. ประเด็นอะไรจริงอะไรหลอก ตัวหมอสันต์ในทีวีที่ดูหนุ่มเป็นของหลอก แต่ตัวจริงที่แก่เหลาเหย่แล้วเป็นของจริง หิ..หิ

2.. ประเด็นส่องกระจกแล้วไม่อยากมองหน้าตัวเอง ผมว่าทางแก้ที่ชะงัดที่สุดน่าจะเป็นศัลยกรรมตกแต่งนะครับ (อะจ๊าก..ก พูดเล่น)

3.. ถามว่าทุกวันนี้ผมกินวิตามินอาหารเสริมอะไรบ้าง ตอบว่ากินแต่น้ำมันปลาวันละ 1 เม็ด (1 กรัม) ครับ อย่างอื่นไม่ได้กินอะไร เคยพยายามจะกินเบบี้แอสไพรินวันละเม็ดเพื่อลดการเป็นมะเร็งกับเขาบ้าง แต่ก็ไปไม่รอดเพราะกินแล้วปวดท้อง ส่วนวิตามินรวมซิลเวอร์เซ็นทรัม แต่ก่อนก็เคยกินวันละเม็ด แต่พอหลักฐานวิจัยสุขภาพแพทย์ (Physician Health Study) ได้ผลออกมาแล้วว่าไม่มีประโยชน์ ผมก็เลิกกิน

4. ถามว่าผมเคยฉีดสะเต็มเซลหรือเปล่า ตอบว่า ไม่เคยครับ โธ่ ผมจะหาเรื่องเจ็บตัวไปทำพรื้อ..อ เพราะมันเป็นเรื่องที่ไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์รองรับเลยแม้แต่น้อยนิด ยกเว้นกรณีสำหรับคนเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเท่านั้น อีกอย่างหนึ่ง หุ..หุ.. คุณรู้จัก ผบ. ทบ. ของผมน้อยไปเสียแล้ว เธอไม่มีวันอนุมัติงบประมาณให้กับเรื่องเหลวไหลอย่างนั้นหรอก

5. ถามว่าในเรื่อง anti-aging นี้มีอะไรได้ผลจริงจังบ้าง ตอบว่า คือหลักฐานวิทยาศาสตร์เรื่อง anti-aging (ในคน) ทุกวันนี้มีน้อย เพราะตัวชี้วัดที่เชื่อถือได้ไม่มี หากจะเอาความยืนยาวของชีวิตเป็นตัวชี้วัด งานวิจัยก็ต้องทำกันนานถึง 20 - 40 ปีเป็นอย่างน้อย ซึ่ง ณ วันนี้ยังไม่มีใครทำงานวิจัยแบบนี้สักชิ้นเดียว
    ในบรรดาตัวชี้วัด anti-aging ที่พอใช้ได้ทุกวันนี้ วงการแพทย์ดูจะยอมรับการยืดหรือหดตัวของทีลอเมียร์ (telomere) ว่าเป็นอะไรที่มีความสัมพันธ์กับการแก่ช้าหรือเร็วมากที่สุด ทีลอเมียร์ก็คือส่วนปลายของเส้นโมเลกุลของโครโมโซม ซึ่งเป็นแหล่งรวมระหัสพันธุกรรมที่เรียกว่า "ยีน (gene)" ตัวยีนเป็นระหัสพันธุกรรมที่ควบคุมหรือบ่งชี้ว่าเซลลูกที่เกิดจากการแบ่งตัวจากเซลแม่จะมีหน้าตาและความสามารถในการทำงานอย่างไร พูดง่ายว่ายีนคือผู้บงการชะตาชีวิตของเซลร่างกายเรา ส่วนเทลอเมียร์มีหน้าที่คุ้มกันยีนไม่ให้หลุดลุ่ยเสียหายจากการแบ่งตัวของเซลซ้ำๆซากๆ เปรียบเหมือนตรงปลายของเชือกผูกรองเท้าจะมีปลอกพลาสติกหรือปลอกเหล็กเล็กๆรัดไว้ไม่ให้ปลายเชือกผูกรองเท้าลุ่ย ทีลอเมียร์ก็มีหน้าที่เช่นเดียวกัน ประเด็นก็คือเมื่อเซลแบ่งตัวรุ่นแล้วรุ่นเล่า ทีลอเมียร์จะหดสั้นลงจนหมดเกลี้ยงในที่สุด เมื่อทีลอเมียร์หมดเกลี้ยง ยีนจะเริ่มหลุดลุ่ยเสียหาย ทำให้เซลรุ่นต่อไปจะออกอาการผิดเพี้ยน เหลาเหย่ เป็นมะเร็ง หรือหมดอายุ พูดง่ายๆว่าความแก่มาเยือน

บรรทัดนี้ผมขอหยุดหนึ่งนาทีเพื่อคารวะต่อนักศึกษาป.โทสาวชาวออสซี่คนหนึ่งชื่อ แครอล กรีเดอร์ (Carol W. Greider) ซึ่งเป็นผู้ค้นพบเอ็นไซม์ทีลอเมียเรส (telormerase) ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันการหดสั้นของทีลอเมียร์ ขณะทำวิทยานิพนธ์ป.โทของเธอ และผลงานนี้ส่งผลให้เธอได้รับรางวัลโนเบลร่วมในสาขาชีวะโมเลกุล

มีงานวิจัยที่สรุปผลได้ว่าความเครียดเรื้อรังทำให้ความแอคทีฟของเอ็นไซม์ทีลอเมียเรสลดลง ทำให้ทีลอเมียร์หดสั้นเร็วกว่าปกติ จึงอาจมีผลให้อายุสั้นลงด้วย

แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคืองานวิจัยที่แคลิฟอร์เนีย ทำโดยกลุ่มคนที่เชื่อถือได้รวมทั้งผู้ที่ได้รางวัลโนเบลในเรื่องทีลอเมียร์ด้วย ในงานวิจัยนี้เขาเอาคนอายุมากตัวเป็นๆมา 30 คน มาวัดกิจกรรมของเอ็นไซม์ทีลอเมียเรสและความยาวของทีลอเมียร์ไว้หมด แล้วให้เข้าโปรแกรมปรับวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิงเป็นเวลานาน 3 เดือน โดยไปเริ่มต้นกันที่รีสอร์ทแห่งหนึ่ง ซึ่งในโปรแกรมนี้ทุกคนจะต้องทำสิ่งต่อไปนี้ คือ

1.. เปลี่ยนอาหารที่เคยกิน ไปกินอาหารแคลอรี่ต่ำ ไขมันต่ำ (มีแคลอรี่จากไขมันไม่เกิน 10%) เป็นอาหารออกแนวมังสะวิรัติ (plant based) มีผักผลไม้มากๆ ถั่วต่างๆมาก กินธัญพืชไม่ขัดสีแทนแป้งและคาร์โบไฮเดรตจากธัญพืชขัดสี และบังคับให้กินเต้าหู้และน้ำมันปลาทุกวันทุกคน โดยมีนักโภชนาการคอยจัดอาหารและคุมอาหารให้

2.. ออกกำลังกายแบบแอโรบิกด้วยวิธีเดินเร็วจนถึงระดับหนักพอควร (หอบจนร้องเพลงไม่ได้) อยู่นานอย่างน้อย 30 นาทีต่อครั้ง สัปดาห์ละ 6 ครั้ง

3.. จัดการความเครียดโดยใช้เวลาวันละ 1 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 6 วัน ด้วยวิธีต่างๆเช่น โยคะแบบผ่อนคลาย หรือฝึกสติตามดูลมหายใจ (breathing meditation) หรือฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

4.. เข้าพบปะกันในกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน สัปดาห์ละอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ทุกสัปดาห์

ทำอยู่อย่างนี้นาน 3 เดือน แล้ววัดดูตัวชี้วัดต่างๆรวมทั้งกิจกรรมของทีลอเมียเรสและความยาวของทีลอเมียร์ พบว่าทุกคน นอกจากจะได้รับผลดีที่ตัวชี้วัดสุขภาพพื้นฐานดีขึ้น เช่นดัชนีมวลกายที่สูงเกินปกติลดลง ไขมันเลวในเลือดที่สูงลดลง ความดันเลือดที่สูงลดลง น้ำตาลในเลือดและการใช้ยาเบาหวานลดลงแล้ว ยังพบว่าทุกคนมีกิจกรรมของทีลอเมียเรสเพิ่มขึ้น และความยาวของทีลอเมียร์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

     แม้ว่าความรู้เรื่องทีลอเมียร์ยังเป็นเรื่องใหม่ที่ยังมีประเด็นถกเถียงค้างคากันอยู่บ้าง แต่งานวิจัยนี้เป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ว่าอย่างน้อยก็มีอยู่หนึ่งสิ่ง ที่สัมพันธ์กับการเพิ่มกิจกรรมของเอ็นไซม์ทีลอเมียเรสและความยาวของทีลอเมียร์ซึ่งเป็นสภาวะของยีนที่พบร่วมกับการมีอายุยืนหรือการแก่ช้า สิ่งนั้นก็คือการปรับวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิงในสี่ประเด็นข้างต้นนั่นเอง

     ดังนั้น ถ้าคุณเชื่อหลักฐานวิทยาศาสตร์หนึ่งเดียวที่มีอยู่ในเรื่องนี้ ทางเลือกสำหรับคุณนอกจากศัลยกรรมตกแต่งแล้ว ก็คือ “การปรับวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง” ไงครับ แบบว่า 1, 2, 3, 4 ข้างต้นนั่นแหละ

5.. ถามว่าตัวผมเองใช้ชีวิตอย่างไรทุกวันนี้ ตอบว่าผมก็พยายามทำตามหลักการปรับวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิงทั้ง 1, 2, 3, 4 เหย็งๆอยู่นี่ไงครับ ตอนนี้ข้อ 1, 2 ทำได้แล้วพอควร แต่ข้อ 3, 4 ยังทำไม่ได้ แต่ก็กำลังพยายามอยู่ ความยากอยู่ที่เวลาไม่พอใช้ จะให้จัดเวลาโยคะหรือนั่งสมาธิตามดูลมวันละหนึ่งชั่วโมง โห.. จะตัดกิจกรรมในชีวิตตรงไหนออกไปดีละ ทุกเรื่องก็ต้องทำหมด จึงยังตัดไม่ขาด แหะ..แหะ แบบว่าป่วยเป็นโรคคลาสสิก "กลุ่มอาการเวลาไม่พอใช้" หรือ "Not Enough Time Syndrome" เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องตัดใจโช้ะ จึงจะรักษาให้หายได้ แต่ตอนนี้ยังตัดใจไม่ขาด เอาไว้รอให้รายการทีวี.หมดซีซั่นก่อนนะ คราวนี้จะ..โช้ะ ปรับวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง  เอาให้หายขาดแน่  

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม


1.      Ornish D, Lin J, Daubenmier J, Weidner G, Epel E, Kemp C,  Magbanua MJW, Marlin R,  Yglecias R, Carroll PR, Blackburn EH. Increased telomerase activity and comprehensive lifestyle changes: a pilot study. The Lancet Oncology 2008;  9 (11): 1048 – 1057. doi:10.1016/S1470-2045(08)70234-1http://www.thelancet.com/images/clear.gif
[อ่านต่อ...]